เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 16142 ความรู้ในลิ้นชัก
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 27 มิ.ย. 21, 18:07

ตื่นเช้าขึ้นมา ทำใจให้สดใสแล้วเตรียมหาทางออกจากป่า เริ่มด้วยการการ ดับไฟกองไฟให้เรียบร้อย เดินไปหาแหล่งน้ำ ล้างหน้าให้รู้สึกสดชื่น กรอกน้ำใส่กระติก ยังไม่ต้องไปกังวลว่าน้ำมันจะสะอาดเพียงใด เพียงเลือกเอาจากจุดที่น้ำพอจะไหลหรือไม่ก็ขุดบ่อทรายเอา

จากความคุ้นเคยและประสบการณ์ของผม การหาทางออกจากป่าเมื่อหลงทางนั้นมีอยู่ 2 วิธีที่ทำได้ไม่ยาก คือ การใช้ทิศและเข็มทิศ และการเดินตามลำห้วย

การใช้ทิศนั้นได้กล่าวถึงไปบ้างแล้ว คือใช้เมื่อรู้แต่แรกเดินว่าบริเวณที่เราเดินเที่ยวป่านั้นมันอยู่ด้านทิศใดของถนน แม่น้ำ ฯลฯ    หากหลง แม้ว่าจะไม่มีเข็มทิศพกติดตัว ก็สามารถรู้ทิศได้จากวิธีการต่างๆ รู้จากการดูดวงอาทิตย์ขึ้นและตกนั้นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่หากเป็นช่วงวันที่ฟ้ามืดอึมครึม หรือมีหมอกแดด (haze) ก็มีวิธีอื่นๆที่สามารถจะใช้การได้ดีพอสมควร

   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 27 มิ.ย. 21, 18:58

สำหรับการใช้เข็มทิศนั้น มิได้หมายถึงเพียงการใช้บอกทิศเหนือ ใต้ ออก ตก เท่านั้น   มีวิธีการใช้เข็มทิศในเรื่องต่างๆอย่างหลากหลาย ซึ่งเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องของการเก็บและใช้ข้อมูลที่อ้างถึงพิกัดและทิศทาง(direction)  ทำให้มีการออกแบบเข็มทิศในเชิงของการใช้งานเฉพาะทางที่มีลักษณะและรูปทรงต่างๆกันออกไป  เช่นชนิดที่ผมใช้ในการสำรวจหรือทำแผนที่ทางธรณีวิทยา เรียกว่า Brunton compass ซึ่งมีลักษณะต่างไปจากแบบอื่นๆตรงที่ ตัวอักษรบอกทิศตะวันออกกับตะวันตกจะสลับที่อยู่กัน (หมายความว่า เมื่อเข็มทิศชี้ทิศเหนือ ทางขวาจะเป็นทิศตะวันตก ทางซ้ายจะเป็นทิศตะวันออก) เป็นเข็มทิศที่มีอุปกรณ์วัดมุมลาดเอียงอยู่ในตัว สามารถปรับตั้งตัวให้เหมาะสมกับเส้นแรงแม่เหล็กโลกได้ทั้งในด้าน declination และ inclination  มีด้านในของฝาปิดเป็นกระจกเพื่อใช่ในการทำ survey  มีขีดบอกองศาบนหน้าปัทม์แบบไปทางซ้ายของทิศเหนือ 90 องศา และไปทางขวาของทิศเหนือ 90 องศา ก็มี และก็มีชนิดที่มีขีดบอกองศาไปทางขวาของทิศเหนือต่อเนื่องจนครบ 360 องศาก็มี ...ฯลฯ     เข็มทิศที่ใช้ในทางทหารก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่ออกแบบให้สามารถใช้วัดระยะทางโดยทาบบนแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ได้...ฯลฯ    เข็มทิศบางชนิดก็ทำเป็นเสมือนกล้อง Theodolite ที่ใช้งานทางวิศวกรรมหรือที่ดิน แต่ทำเป็นแบบพกพาอันเล็กๆขนาดห้อยอยู่ในอุ้งมือได้ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 27 มิ.ย. 21, 19:29

เรื่องการใช้เข็มทิศในรูปแบบต่างๆนั้น แล้วค่อยพิจารณาว่ากันอีกที ครับ

ในกรณีของคนทั่วไป ผมมีความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้เข็มทิศที่มีความละเอียดหรือมีราคาสูงมากนัก เพราะลักษณะการใช้งานโดยทั่วๆไปไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการต้องเอาแผนที่(มาตราส่วน)ใดๆมาร่วมใช้งานด้วย เรามักจะใช้ในกรอบจำกัดเพียงเพื่อบอกว่าทิศใดเป็นทิศใด และสิ่งที่เห็นนั้นอยู่ทิศใด     การใช้เข็มทิศที่มีความละเอียด แม่นยำ และมีคุณภาพสูงนั้น มีความจำเป็นสำหรับกิจกรรมประเภทที่ใช้แผนที่ภูมิประเทศเป็นพื้นฐานในการไปสู่พิกัดที่ต้องการพร้อมๆไปกับการต้องการรู้ว่าพิกัดที่อยู่ของตน ณ ขณะนั้นอยู่ ณ จุดใดในแผนที่    ซึ่งในปัจจุบันนี้ กระบวนการดังกล่าวนี้ดูจะอยู่ใน app ในมือถือของเราพร้อมอยู่แล้ว เว้นแต่เราจะไปอยู่ในพื้นที่ๆอับสัญญาณโทรศัพท์ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 28 มิ.ย. 21, 18:35

หลักพื้นฐานในการใช้เข็มทิศและพิกัดก็คือ การใช้บอกทิศทางที่เป็นเส้นตรง(ระยะสั้นที่สุด)ระหว่างจุดพิกัด 2 จุด  ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่า ในการเดินไปหรือมาระหว่าง 2 จุดนี้ ในพื้นที่ภูมิประเทศจริงๆนั้น การเดินเป็นเส้นตรงมันเป็นไปไม่ได้ และระยะทางที่เดินจริงก็มิใช่ดังที่วัดได้จากแผนที่ จะยาวมากกว่าเสมอ  อีกทั้งระยะเวลาในการเดินที่คาดการณ์เอาไว้นั้นก็จะมากกว่าที่คิดไว้เสมอ ซึ่งก็อาจจะมากกว่าได้ถึงสองหรือสามเท่า

เมื่อเราได้ทิศทางไปสู่พิกัดที่เราต้องการแล้ว ก็จะเดินตามทิศทางที่เข็มทิศบ่งชี้  ก็เป็นกรณีที่ทำให้เกิดการหลงได้อย่างง่ายๆ ซึ่งอาจจะยังให้เกิดอาการเสียขวัญ/สติแตกได้ง่ายๆ    สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ในใจคิดว่า "เดินมาถูกทิศตั้งนานแล้วนี่ ทำไมยังไม่ถึงสักที"  แต่ในความเป็นจริง อาจจะเดินไปตามทิศทางที่ถูกต้อง แต่เป็นเส้นทางที่ขนานกับเส้นทางที่พึงจะเดินจริงๆ  หรือเพี้ยนทิศทางเนื่องจาก ณ จุดที่ตรวจสอบเข็มทิศนั้นมีลักษณะของ Geomagnetic field บางประการ  หรืออ่านข้อมูลทิศทางจากเข็มทิศหยาบมากไป         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 28 มิ.ย. 21, 19:10

เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเราเดินในพื้นที่โล่งแจ้งที่ไม่เห็นหรือไม่มีจุดอ้างอิงใดๆ หากเป็นการเดินเป็นเส้นทางตรงระยะทางหนึ่ง ที่เราคิดว่าตัวเรานั้นเดินเป็นเส้นทางตรงนั้น แท้จริงแล้วเราจะเดินเป็นเส้นทางโค้ง ซึ่งนานเข้าก็จะเป็นกลายเป็นเส้นทางวงกลม ซึ่งส่วนมากจะวนออกไปทางขวาตามการหมุนของเข็มนาฬิกา ?      เช่นกัน ในพื้นที่ป่าที่มีต้นไม้เหมือนๆกันหรือคล้ายๆกันทั่วไปหมด ที่เราจะต้องเดินอ้อมบ้าง เดินหลบบ้าง รวมทั้งเดินวกไปวนมาในป่าไผ่หนาม ...ฯลฯ 

ทำให้ เมื่อใดที่เราเอาเข็มทิศขึ้นมาตรวจสอบ จุดนั้นจะมิใช่จุดบนเส้นทางตรงที่เราคิดว่าเราเดินมา ก็คงพอจะนึกออกว่าการเดินของเรานั้นจะเป็นลักษณะของการเดินเป็นเส้นตรงที่ขนานกัน ซึ่งล้วนแต่มีทิศทางที่ถูกต้อง  จะทำให้พลาดเป้าหมายไปได้มากน้อยเช่นใด
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 28 มิ.ย. 21, 19:44

รู้เหตุแล้วก็ลองมาดูการแก้ปัญหา   ก็ทำง่ายๆได้ด้วยการการกำหนดเส้นทางเดินในทิศทางที่ต้องการนั้นๆเป็นระยะสั้นๆ โดยใช้จุดพิกัดแต่ละจุดที่เห็นได้ชัดต่อเนื่องกันบนเส้นทางเดินตามทิศทางนั้นๆ  จะมองไปข้างหน้าหรือมองกลับหลังก็เห็นจุดที่เป็น way point เหล่านั้นเป็นแนวเส้นตรงต่อเนื่องกัน   

หากพอจะนึกออก ก็คงจะพอยังจำได้ถึงการใช้หลักไม้ 3 หลัก ปักและเล็งให้มันเป็นเส้นตรง แล้วย้ายหลักแรกเอาไปวางต่อปลาย เล็งให้ตรง ทำต่อเนื่องสลับต่อไป เราก็จะได้แนวที่เป็นเส้นตรง  ก็เป็นหลักการเช่นเดียวกับที่นำไปใช้เมื่อใช้เข็มทิศกับ way point ที่มองเห็น แทนที่จะต้องใช้การปักหลักไม้    ก็เป็นหลักการของชาวบ้านป่าที่ได้พบเห็นเป็นธรรมดาตลอดมา
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 29 มิ.ย. 21, 18:43

มาถึงการหาทางออกจากการหลงป่าด้วยการเดินตามลำห้วย   

โดยหลักพื้นฐานก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของผลจากการที่ห้วยมีน้ำไหลหรือค่อนข้างจะมีความชุมชื้น  ซึ่งทำให้มักจะมีหมู่บ้านป่าเล็กๆตั้งอยู่ริมห้วยเช่นนี้อยู่บ้าง หรือ ย่อมต้องมีชาวบ้านเดินเข้าไปเก็บพืชผัก กบเขียด ปูปลา   กระทั่งในเขตป่าหวงห้ามก็ยังมีเจ้าหน้าที่ๆต้องเดินตรวจตราการบุกรุก หรือไม่ก็เดินเก็บข้อมูลเกี่ยวกับป่าและสัตว์ป่าต่างๆ   เป็นหลักพื้นฐานที่ใช้ได้ดีในไทยและประเทศข้างเคียง

ก็มีข้อพึงเกตที่พึงทราบไว้บ้างเล็กน้อย คือ รูปตัดขวางตัวห้วยและตะกอนหินดินทรายนั้น  -ห้วยต่างๆจะมีรูปตัดขวางเป็นรูปตัว V  ยิ่งมีความแคบ ไม่มีตลิ่ง สองฝั่งข้างห้วยมีความลาดชันสูง และค่อนข้างตรง จะแสดงว่าเป็นห้วยสาขาเล็กๆ เป็นต้นทางของห้วยใหญ่  ก้อนหินในห้วยจะมีทรงเป็นเหลี่ยม แต่ละก้อนยังคงมีสันเด่นชัด และเป็นก้อนใหญ่    แต่หากยิ่งใกล้พื้นที่ราบมากเท่าไร ลักษณะของรูปทรงตัว V ก็จะยิ่งกว้าง จะมีตลิ่งลำห้วย มีตะพักลำน้ำเป็นที่ราบปกคลุมด้วยทรายและต้นไผ่ ก้อนหินต่างๆจะยิ่งมีขนาดเล็กลง มีความมนกลมมากขึ้น และจะยิ่งพบว่ามีหาดทรายเล็กๆที่บริเวณสบห้วยต่างๆมากขึ้นและกว้างขึ้น         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 29 มิ.ย. 21, 19:41

ในบ้านเรา น้ำในห้วยสาขาเล็กๆจะไหลไปในหลายทิศทาง แต่เมื่อเริ่มเป็นห้วยสาขาหลัก ในภาพหลวมๆแล้ว ส่วนมากมักจะไหลลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้หรือทางตะวันออกเฉียงใต้    ดูจะมีที่ต่างออกไปอย่างชัดเจนก็คือในผืนป่าที่เป็นพื้นที่รับน้ำของแม่น้ำเมย (จ.ตาก) และห้วยบ้องตี้ (จ.กาญจนบุรี)ที่กลับทางกัน เพราะวา่ลำน้ำทั้งสองสายนี้ไหลขึ้นไปทางทิศเหนือ

เรื่องเกี่ยวกับการไหลของน้ำในธรรมชาตินี้ (Drainage pattern) เป็นศาสตร์หนึ่งที่ใช้ในการแปลความหมายทางด้านธรณีวิทยาจากภาพถ่ายทางอากาศและดาวเทียม  ใช้เพื่อจำแนกแต่ละชนิดหินตามคุณสมบัติของการถูกกัดกร่อนโดยกระบวนการทางธรรมชาติ (น้ำ น้ำแข็ง ลม การขยับตัว/เคลื่อนตัวของผิวโลก) ในการยกร่างแผนที่ทางธรณีฯ (บนดิน ใต้ดิน และ 3D) ก่อนที่จะออกไปเดินสำรวจในภาคสนาม    ก็มีหินหลายชนิดที่สามารถจะบอกได้เลยว่าเป็นหินอะไร และก็มีที่สามารถบอกได้แต่เพียงว่าน่าจะเป็นหินอัคนี หินชั้น หรือหินแปร    ในการแปลความหมาย ก็จะใช้ข้อมูลในภาพที่แสดงขอบเขตของความต่างระหว่างสรรพสิ่งต่างๆทั้งบนพื้นฐานของความรู้ทางธรณีฯและความสัมพันธ์กับพืชพรรณไม้       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 30 มิ.ย. 21, 17:46

ขอย้ำหน่อยหนึ่งว่า ที่เล่ามาแต่ต้นนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ในสภาพแวดล้อมโดยทั่วๆไป  สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ประมาณ จ.ชุมพร ลงไป เป็นลักษณะของสิ่งแวดล้อมในอีกลักษณะหนึ่ง ลักษณะของป่าเขาที่ดูจะเป็นตัวแทนที่ดีของพื้นที่น่าจะเป็นอุทธยานแห่งชาติเขาสก ซึ่งดูจะไม่ค่อยนิยมไปเดินท่องไพรกันนัก    การหลงทางจริงๆน่าจะเป็นการหลงในพื้นที่สวนยางพารา สวนปาล์ม สวนกาแฟ สวนผลไม้ต่างๆ และในพื้นที่ๆทำเกษตรกรรมไร่นาสวนผสม  ซึ่งเป็นการหลงในลักษณะของการหลงทิศเนื่องมาจากการเดินข้ามไปมาในพื้นที่สวนที่มีผังการปลุูกต้นพืชที่ต่างกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 30 มิ.ย. 21, 19:07

โดยสรุปจากที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นก็คือ รู้พื้นที่ให้ดีมากพอเท่าที่จะพึงทำได้ก่อนที่จะกระทำกิจกรรมที่เป็นความสุขของเรา  ก็คือ รู้ตำแหน่งและความสัมพันธ์ทางทิศทางของสถานที่ต่างๆทั้งรอบนอกและในพื้นที่ (ชุมชน หน่วยงาน...) รู้ลักษณะภูมิประเทศ (หน้าผา น้ำตก...) รู้ลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขาที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ (ทิศทางการไหล ปริมาณน้ำที่มีตลอดปี...) รู้ลักษณะและธรรมขาติของพื้นที่ (พืชพรรณ สัตว์ที่อันตราย...)   และที่สำคัญ คือ รู้ตัวเองว่าจะไหวไม้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 30 มิ.ย. 21, 20:17

เมื่อรู้อะไรๆพอสมควรแล้วก็มาถึงเรื่องของการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์   

สำหรับท่านผู้อาวุโสน่าจะมีประสบการณ์เหมือนๆกัน คือ ในครั้งเมื่อยังเยาว์วัยอยู่นั้น เมื่อจะต้องเดินทางไกลไปใหนมาใหน จะเป็นปู่-ย่า-ตา-ยาย พ่อหรือแม่ก็ตาม  มักจะต้องจัดเตรียมเสบียงเพื่อใว้ใช้กินในระหว่างการเดินทาง  ก็จะมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มกินเป็นหลัก มีของกินเล่นเล็กน้อย แล้วก็มีพวกข้าวหรืออาหารนิยมในยุคสมัยนั้นๆ จัดใส่ตะกร้า (มักจะเป็นตะกร้าไม้ไผ่สานทรงเหลี่ยม) โดยมักจะมีเหตุผลหรือคำพูดที่อ้างถึงว่า แก้หิว เผื่อรถเสีย เอาไว้กินกลางทาง ของเราสะอาดกว่า ...ฯลฯ     ซึ่งผมยังเห็นว่า ก็ยังคงป็นหลัการที่พึงปฎิบัติอยู่ในยุคปัจจุบัน  ของในตะกร้าในอดีตที่ดูรุ่มร่ามและไม่น่าดูอยู่นั้น ในปัจจุบันนี้ มันได้แปลงรูปร่างไปเป็นของชิ้นเล็กและในสภาพที่สามารถพกพาติดตัวของแต่ละคนได้

ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เรารับรู้ฝังลึกไว้มานานตั้งแต่เล็ก ซึ่งก็มักจะกระทำกันเมื่อเราเติบใหญ่ เพียงแต่ทำกันในชื่ออื่นที่เรียกว่า snack
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 01 ก.ค. 21, 19:11

สำหรับตัวผมก็ยังคงทำอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนจากใช้ตะกร้าไปเป็นการใช้ถุงผ้า ส่วนของกินนั้นก็แล้วแต่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยพาหนะอะไร ใช้เวลาในการเดินทางนานเพียงใด และมีการพักระหว่างทางในลักษณะใด  ก็เป็นการทำสำหรับครอบครัวและเป็นพิเศษสำหรับลูกๆหลานๆ    เป็นการกระทำที่ถูกฝังลึกตกทอดมา มาผนวกกับประสบการณ์ของชีวิตที่มีการเดินทางค่อนข้างมาก ก็เลยทำเพื่อเป็นการส่งต่อให้ตกทอดเป็นลักษณะนิสัยถึงลูกหลานต่อๆไป 

ในการเดินทางใดๆนั้น มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอที่จะเกิดการล่าช้าจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ทั้งจากด้านต้นทาง กลางทาง และปลายทาง แม้กระทั่งในโลกสมัยปัจจุบัน เช่น ระยะทาง 200 กม. ขับรถด้วยความเร็ว 100 กม.ต่อ ชม. ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ชม. แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในระหว่างทางอาจจะมีการซ่อมถนน ตั้งด่าน อุบัติเหตุ ไฟแดง รถติดโดยไม่มีสาเหตุสำคัญ ... ฯลฯ  ทำให้ระยะทางที่จะต้องเดินทางหากยิ่งยาวก็จะยิ่งมีอุปสรรคเพิ่มมากขึ้นทั้งในเชิงของรูปแบบและในเชิงปริมาณ       ผมเคยพบกับเหตุเครื่องบิน delay ที่ภูเก็ต  เป็นเที่ยวเวลาประมาณ 2 ทุ่ม เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ   ก็ delay ไปเรื่อยๆแบบไม่มีการให้บริการอื่นใด (น้ำ, snack, communication, entertainment)  จนได้บินกลับในเวลาประมาณเที่ยงคืน ไม่มีข้อมูลไม่มีข่าวสารใดๆให้สามารถนำมาคาดเดา หรือคาดการณ์ วางแผนได้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าได้ว่าจะต้องทำหรือจะทำอะไรได้บ้าง  มีเพียงข่าวสารทุก 1 ชม บอกว่า ยังต้อง delay อยู่     การเดินป่าท่องไพรก็จึงควรจะมีการเตรียมพร้อมและจะต้องมีมากกว่าในการเดินทางในพื้นที่ๆมีความเจริญ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 01 ก.ค. 21, 20:06

จากประสบการณ์ ก็มีความห็นว่า ในการเดินทางใดๆควรจะมีเป้หลัง หรือกระเป๋าถือ/สะพายข้าง หรือย่าม  ใช้ใส่ของใช้สำคัญที่จำเป็นเฉพาะตน  ก็จะมียาที่ต้องกินเป็นประจำวันสัก 2-3 ชุด มียาแก้ปวดที่คลุมอาการได้ในรอบ 1 วัน มีพลาสเตอร์ยาสองสามชิ้น มียาธาตุน้ำขาวขวดเล็กสักขวดนึงหรือยาถ่าน activated carbon สัก 2 เม้ด  มียาหม่องหรือยาทาแก้เคล็ดขัดยอกหลอดเล็ก มียาอมแก้ไอ/แก้เจ็บคอ  มีน้ำดื่มขนาดประมาณครึ่งลิตร 1 ขวด  มี energy bar 1-2 อัน  อาจเพิ่มยาชูกำลังที่มี caffeine หรือกาแฟสัก 1 ขวด/กระป๋อง  มีกระดาษเช็ดหน้า/มือห่อเล็กๆ  มีมีดพับใช้สอยอันเล็กๆ  มีไฟแช็ค     นอกเหนือไปจากนี้ก็เป็นไปตามจริตของแต่ะบุคคล
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 02 ก.ค. 21, 18:36

คงพอจะสังเกตสิ่งของที่กล่าวถึงเหล่านี้ได้ว่าเป็นของใช้ในภาวะฉุกเฉินทั้งนั้น เป็นสิ่งของที่ช่วยบรรเทาในเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วยและการสุขอนามัย     แต่หากเป็นกรณีเดินท่องไพรชมนกชมไม้ ก็ควรจะต้องมีของจำเป็นบางอย่างเพิ่มเข้าไป เช่น ไฟฉายและถ่านสำรอง  มีหมวก  อาจจะมีอาหารกระป๋อง (ปลากระป๋อง ถั่วขาวในซอสมะเขือเทศ...) มีเกลือแร่ที่ทำในรูปผงละลายน้ำ  มีแว่นตาสำรอง และอื่นๆที่เห็นว่าสำคัญ

หากเป็นกรณีชอบทำกิจกรรมประเภท outdoor หรือ off road  ก็ควรจะต้องเพิ่มเข็มทิศ มีดสำหรับฟันไม้ น้ำมันไฟแช็คสำหรับจุดกองไฟ เสื้อแจ็คเก็ตกันลม ถั่วเขียวและน้ำตาล ยากันยุง ยาใส่แผลสด ตะไกรตัดเล็บ และอื่นๆที่เหมาะสมตามสถานการณ์ที่คาดไว้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 02 ก.ค. 21, 19:41

คงจะต้องขยายความว่า เหตุใดจึงนำเสนอสิ่งของที่ควรจะมีของพร้อมไว้เป็นเช่นนั้น  ก็จะขอขยายความในรูปของเรื่องสิ่งละอันพันละน้อยที่อาจจะเป็นประโยชน์เพื่อการเอาตัวให้ผ่านสถานการณ์ที่ไม่พึงปราถนาบางอย่าง จะเรียกว่าเป็น survival trick ก็อาจจะมากเกินไป 

ค่อยเริ่มเรื่องกันครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.078 วินาที กับ 18 คำสั่ง