เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 07, 09:15



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 07, 09:15
เว็บวิชาการและเรือนไทย เป็นเว็บที่ผู้พิการทางสายตา เข้ามาอ่านได้โดยใช้โปรแกรมพิเศษ อ่านคำให้ฟัง
โปรแกรมนี้อ่านคำจากการผสมอักษร สระและวรรณยุกต์เข้าด้วยกัน   
ถ้าหากว่าคนเขียน สะกดถูก  โปรแกรมก็อ่านถูก
ถ้าคนเขียนสะกดผิด  โปรแกรมก็อ่านผิด  ผู้อ่านก็จะไม่รู้เรื่องว่าคำนั้นหมายถึงอะไร
เนื้อหาส่วนนั้นก็จะเสียไป สำหรับเขา  ทำให้เขาเสียความรู้อันพึงได้รับ

ดิฉันจึงขออนุญาตทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ ว่าคำที่ท่านพิมพ์ผิดพลาด เคาะคีบอร์ดผิด  หรือผิดเพราะท่านไม่ทราบว่าคำที่สะกดถูกเป็นยังไง  เลยพิมพ์ไปตามความเข้าใจ
ดิฉันจะแก้ไขคำให้ถูกต้องเอง   โดยไม่แตะต้องเปลี่ยนแปลงเนื้อหา หรือเรื่องที่ท่านแสดงความเห็น   ไม่ตัดทิ้งคำและประโยคใดๆ

ถ้าเห็นชื่อดิฉันเข้าไปแก้ไขข้อความในค.ห.ของท่าน  กรุณาทราบว่าเป็นการแก้ตัวสะกดอย่างเดียว  ไม่ใช่การเซนเซอร์
เพื่อผลดีสำหรับเพื่อนผู้สายตาพิการ จะได้รับอรรถรสในเนื้อหาได้เต็มที่ค่ะ

ขอขอบคุณมาล่วงหน้า ณ ที่นี้


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 02 ต.ค. 07, 09:46
รับทราบด้วยความยินดีครับ เพิ่งทราบว่าเว็บของเราเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าที่ผมเคยนึก
ต่อไปเวลาพิมพ์กระทู้หรือความเห็น จะระวังมากขึ้นครับ เพื่อสะกดได้ไม่ผิด


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ต.ค. 07, 10:36
ขอบคุณครับ
ต่อไปจะระวังเป็นสามเท่า
ผมเองพิมพ์ผิดบ่อยที่สุด เพราะตามัว ต้องรบกวนอาจารย์ล่วงหน้าแน่ๆครับ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 02 ต.ค. 07, 10:54
ขอบพระคุณค่ะ อาจารย์
ดีใจที่เว็บเราเป็นประโยชน์กับผู้อื่นค่ะ
หลังจากห่างหายไปนาน เรียนอาจารย์ว่าหนูจะเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นให้มากขึ้นและจะระวังการพิมพ์และสะกดคำด้วยค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 ต.ค. 07, 11:03
อาจารย์ยอมทุ่มเวลาให้เว็บขนาดนี้ พวกเราโชคดีมากค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 02 ต.ค. 07, 13:45
กระทู้ปักหมุดกระทู้แรกของเรือนไทย  หมายความว่าอาจารย์จะสามารถแก้ไขความคิดเห็นของท่านอื่นได้ใช่ไหมครับ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 07, 14:10
ในฐานะ admin ของเรือนไทย คุณอาชาผยองและดิฉันแก้ไขได้ทุกกระทู้ และทุกค.ห.ของทุกคนค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 02 ต.ค. 07, 14:25
ท่านเจ้าเรือนซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเรือนอยู่ ท่านจะลบความเห็นหรือกระทู้ทิ้งเลยทั้งอัน ยังได้เลยนะครับ อย่าว่าแต่แก้ไขเฉยๆ เลย แล้วก็ไม่ใช่เพิ่งจะลบหรือแก้ไขได้ตอนนี้ ท่านทำได้มานานแล้วด้วย ในขอบเขตอำนาจความรับผิดชอบของท่าน ตามเหตุผลที่สมควร กรณีอย่างนี้ผมเองเห็นว่าสมควร แล้วที่อาจารย์กรุณามาบอกเล่าเก้าสิบกันนั้น ก็เป็นการแสดงมารยาทอันดีของท่าน

ทราบแล้วเปลี่ยน


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: Ply ที่ 02 ต.ค. 07, 14:36
คำสะกดผิดนี้รวมทั้งภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ ด้วยใช่ไหมค่ะ
แล้วอย่างภาษาเขียนที่แพร่หลายมากขึ้นอย่าง ใจ=จาย จะไปไหน=จาปายหนาย อย่างนี้โปรแกรมจะสามารถอ่านได้ไหมค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ต.ค. 07, 14:53
ทั้งไทยและอังกฤษค่ะ
ใจ=จาย จะไปไหน=จาปายหนาย  ถ้าสะกดแบบนี้โปรแกรมก็อ่านเป็นเสียงยาว ตามที่สะกด น่ะค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 03 ต.ค. 07, 01:29
ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์มากๆ เลยครับ ที่มีระบบนี้ขึ้นมา

แต่ปัญหาสะกดคำผิดของผมคือ คิดจะพิมพ์คำหนึ่ง แต่ดันไปพิมพ์อีกคำหนึ่ง เช่น (แต่เป็นตัวพยัญชนะเดียวกัน)

ตั้งใจว่าจะพิมพ์ "แต่ดันไปพิมพ์อีกคำหนึ่ง" ก็จะพิมพ์เป็น "แต่ได้ไปพิมพ์อีกคำหนึ่ง"

คือ นิ้วมันไปเองครับ  ;D ไม่เข้าใจเหมือนกันแต่เป็นอยู่บ่อยๆ ครับ ก็พยายามระวังอยู่เหมือนกัน คงเป็นเพราะผมพิมพ์สัมผัส ไม่ได้มองแป้น นิ้วมันเลยไปโดยอัตโนมัติ

ถ้าอาจารย์เจอ ก็แก้ได้เลยครับ ขณะเดียวกัน ผมก็จะอ่านทวนอีกทีก่อนโพสด้วยครับ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: สไบแพร ที่ 03 ต.ค. 07, 14:09
โปรแกรมที่ว่านี้ มีให้โหลดมาใช้ไหมค่ะ
หรือว่ามีเฉพาะคอมพิวเตอร์บางเครื่อง
คิดว่าเป็นประโยชน์มากหากสามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 07, 14:21
ไม่ทราบรายละเอียดว่ามีให้โหลดฟรี หรือว่าต้องซื้อ หรือต้องติดต่อไปที่ไหน
ใครทราบช่วยบอกด้วยนะคะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 03 ต.ค. 07, 15:07
ขออนุญาตเข้ามาลงชื่อรับทราบด้วยคนครับ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: จิตแผ้ว ที่ 03 ต.ค. 07, 16:29
ขอบพระคุณล่วงหน้าเป็นอย่างสูง การแต่งกลอนของผมจะต้องมีการใช้คำผิดอย่างแน่นอน ขอความกรุณา อ.เทาชมพูแก้ไขให้ถูกต้องได้เลยครับ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: OBORO ที่ 03 ต.ค. 07, 23:30
รับทราบครับ   เพราะบางครั้งรีบพิมพ์รีบโพสต์ พลาดเพราะนิ้วจิ้มคีย์ผิด  ครั้งต่อไปพยายามทวนข้อความก่อนโพสต์ทุกครั้ง  เพื่อจะได้ไม่รบกวนอาจารย์ครับ... ;D

ขอขอบพระคุณอาจารย์ที่เสียสละเวลามาสำหรับส่วนนี้ด้วยครับ 8)


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 04 ต.ค. 07, 08:03
รับทราบครับ

แต่กำลังสงสัย ถ้าเขียนภาษต่างประเทศที่ไม่ใช่อังกฤษโปรแกรมจะอ่านออกมาเป็นอย่างไร:-)


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 04 ต.ค. 07, 09:21
เรื่องโปรแกรม "ตาทิพย์" สำหรับผู้บกพร่องทางสายตา  ได้ข้อมูลมาจาก อาจารย์รักศักดิ์ ที่ ร.ร.สอนคนตาบอดกรุงเทพ นะคะ  อาจารย์บอกว่า  โปรแกรมตัวนี้เป็นแค่ plug in เสสิมกับโปรแกรมหลัก John for window ที่เป็นโปรแกรมสำหรับแปลงตัวหนังสือเป็นเสียง  โปรแกรม"ตาทิพย์"ก็ทำให้John for windowอ่านภาษาไทยได้เท่านั้นเองค่ะ  ดังนั้นถ้าจะใช้โปรแกรม"ตาทิพย์"ได้ ก็ต้องมีโปรแกรม John มาก่อน  ซึ่งโปรแกรมนี้มีลิขสิทธิ์ซื้อขายราคาสูงอยู่เหมือนกันค่ะ  มีDemoให้ใช้เหมือนกัน  แต่ใช้ได้คราวละ 40 นาที ก็ต้องBoot เครื่องใหม่ค่ะ  ใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติม  ติดต่ออาจารย์ได้ที่ ร.ร.สอนคนตาบอดกรุงเทพฯ นะคะ  โทร.02-3548365-7 ค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ต.ค. 07, 12:38
เมื่อ ๑๕ ปีก่อน มีอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬา ท่านหนึ่งทำวิจัยเรื่องนี้อยู่ จำได้ว่าตอนนั้นอยู่ในขั้นที่ใช้งานได้แล้ว เสียดายที่นานมากจนลืมชื่ออาจารย์ท่านนั้นไปแล้ว

แปลกใจอยู่เหมือนกันครับว่าโครงการนี้หายไปไหน


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: ntp ที่ 07 ต.ค. 07, 09:27
ขอบพระคุณค่ะ ขณะนี้มีความรู้สึกว่านับวันภาษาทั้งอังกฤษและไทย เขียนผิดมากขึ้นเพราะไม่มีโอกาสเขียนหนังสือมากเหมือนตอนที่ยังทำงานอยู่ ขณะนี้มีโอกาศ :(เขียนหนังสือเพียงในเว็ปนี้เท่านั้นค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 ต.ค. 07, 16:23
ผมใช้แมคเมื่อร่วมสิบปีมาแล้ว เขามีโปรแกรมออกเสียง ติดตั้งเป็นของฟรีๆ
ปรับเสียงได้ตั้งหลายแบบ เป็นสิบกระมัง....

ทำไมทางฝั่งพีซีเขาเห็นเงินกับของแค่นี้เนาะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 09 ต.ค. 07, 08:34
อาจารย์รักศักดิ์บอกว่าที่เป็นfree programeก็มีอยู่ค่ะ  แต่โปรแกรมเหล่านั้นไม่ได้นำมาพัฒนาให้มีเสียงภาษาไทย  ทีมพัฒนาเลือกพัฒนาภาษาไทยจาก John for window ค่ะ  ซึ่งดิฉันนึกตั้งคำถามเหมือนกันว่า  ทำไมไม่เลือกที่เป็นfree programe แต่ก็นึกคำตอบเองว่า  John for window คงต้องมีข้อดีเด่นเป็นพิเศษ  ไม่อย่างนั้นเขาคงขายไม่ได้


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 10 ต.ค. 07, 00:06
แอบเข้ามากระซิบบอกสาวก msn ครับ
ว่าถ้าคุณใช้แมคแล้วคุณจะพูดได้แค่คำเดียวว่า....... โอว มันยอดมาก
ทุกอย่างสวยกว่า PC เยอะเลยครับ อิอิ


ปล. พูดไปซะไกลลิบไอ้เครื่องที่พิมพ์ๆมานี่ก็ยัง PC อยู่ครับ แหะๆ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: Mastermander ที่ 19 ต.ค. 07, 01:51
รับทราบครับ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: รำเพย ที่ 25 พ.ย. 07, 18:08
 :) ดีมากค่ะ ถ้าทุกเวปเป็นแบบนี้ เราคงได้อ่านภาษาที่สะอาดตามากขึ้น

ทุกวันนี้การเตือนให้คนไทยใช้ภาษาไทยถูกต้องกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปเสียแล้ว จะเตือนใครในกระทู้ก็กลายเป็นเรายุ่ง วุ่นไม่เข้าเรื่อง หรือเราไปคอยจับผิดเขา เฮ้อ

อยากให้คนไทยรักภาษาไทยมากกว่านี้จริงๆ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: Package ที่ 09 ธ.ค. 07, 19:15
ด้วยความยินดีอย่างยิ่งครับ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ธ.ค. 10, 14:09
ขออนุญาตขึ้นทะเบียนไว้ก่อน ๒ คำ

อนุญาต และ สังเกต  เห็นบ่อย ๆ ว่าเขียนเป็น อนุญาติ และ สังเกตุ

คำที่มักเขียนหรือพิมพ์ผิดบ่อย ๆ ภาค ๒
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/02/K5115945/K5115945.html

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ธ.ค. 10, 09:07
ทำไมจะต้องเป็น สังเกต-อนุญาต


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 09 ธ.ค. 10, 12:16
มาลงทะเบียนเรียนวิชานี้ด้วยความยินดีค่ะ
ดิฉันเขียนภาษาไทยผิดมาก ถึงขนาดไม่เคยได้คะแนนวิชาเขียนไทยเลยสักคะแนน

เกรงใจคุณชูพงศ์เป็นที่สุด
 
จะตามอ่านตามเรียนนะคะ ตัวอย่างคำที่คุณเพ็ญชมพูนำมานั้น ดิฉันผิดประจำค่ะ ไม่รุ้เลยว่าอะไรถูก


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ธ.ค. 10, 14:14
ขอบพระคุณที่คุณร่วมฤดีสนใจ

อีกสองคำต่อมา เป็นคำในวงการโลกออนไลน์นี้เอง เว็บ (web) และ คลิก (click) มักเขียนผิดเป็น เว็ป, เว๊ป, เว๊บ และ คลิ๊ก

ทำไมจึงผิด เรียนเชิญทุกท่านช่วยกันวิสัชนา

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 10, 22:28
ขอบพระคุณที่คุณร่วมฤดีสนใจ

อีกสองคำต่อมา เป็นคำในวงการโลกออนไลน์นี้เอง เว็บ (web) และ คลิก (click) มักเขียนผิดเป็น เว็ป, เว๊ป, เว๊บ และ คลิ๊ก

ทำไมจึงผิด เรียนเชิญทุกท่านช่วยกันวิสัชนา

 ;D
web ลงท้ายด้วย b   เมื่อสะกดเป็นไทยจึงตรงกับ บ ใบไม้
ถ้าสะกดว่า เว็ป   ภาษาอังกฤษ ก็จะกลายเป็น wep
เว๊บ ,เว๊ป   ว เป็นอักษรต่ำ  บ / ป เป็นตัวสะกด คำตาย 
อักษรต่ำคำตาย  ถ้าไม่มีวรรณยุกต์ ออกเสียงเป็นโท   ถ้าผันด้วยไม้โท ออกเสียงเป็นตรีอยู่แล้ว จึงไม่ผันด้วยไม้ตรีอีก   


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ธ.ค. 10, 08:33
คำว่า เว็บ และ คลิก เป็นอักษรต่ำคำตายสระเสียงสั้นเหมือนกัน ผันได้สองเสียงคือใช้ไม้เอกเป็นเสียงโท และไม่มีวรรณยุกต์เป็นเสียงตรี

ฉะนั้น เว็บ และ คลิก จึงมีเสียงตรีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องใช้ไม้ตรี

คำประเภทนี้ที่ใช้ผิดมีอยู่มากมายเช่น สนุกเกอร์ ไม่ใช่ สนุ๊กเกอร์ ปุ๊กลุก ไม่ใช่ ปุ๊กลุ๊ก  คุกกี้ ไม่ใช่ คุ๊กกี้ ฟลุก ไม่ใช่ ฟลุ๊ก

ส่วนคำอธิบายของคุณเทาชมพูเป็นเรื่องของอักษรต่ำคำตายสระเสียงยาว ผันได้สองเสียงเช่นกันคือไม่มีวรรณยุกต์เป็นเสียงโท และใช้ไม้โทเป็นเสียงตรี

เว็บ และ เว้บ จึงออกเสียงตรีเหมือนกัน แต่คำหนึ่งเสียงสั้น อีกคำหนึ่งเสียงยาว  

ตัวอย่างของคำประเภทนี้ที่ใช้ผิดเช่น โน้ต ไม่ใช่ โน๊ต   ฟู้ด ไม่ใช่ ฟู๊ด  เค้ก ไม่ใช่ เค๊ก  

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 13 ธ.ค. 10, 11:31
มารายงานตัวเข้าห้องเรียนค่ะ

อ้างถึง
อักษรต่ำคำตาย  ถ้าไม่มีวรรณยุกต์ ออกเสียงเป็นโท   ถ้าผันด้วยไม้โท ออกเสียงเป็นตรีอยู่แล้ว จึงไม่ผันด้วยไม้ตรีอีก

เรื่องผันวรรณยุกต์นี่แหละค่ะ ดิฉันทำไม่เป็น จนวันนี้ ก็สับสน ผันเสียงเป็นเฉพาะเสียงกลางเท่าันั้น

ไม่ทราบว่าเกิดอะไรกับสติปัญญา จึงผันเสียงสูงและเสียงต่ำไม่เป็น ทำให้เกิดปัญหาในการสะกดคำมาก


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ธ.ค. 10, 13:34
ตารางผันเสียงวรรณยุกต์นี้อาจช่วยคุณร่วมฤดีได้บ้าง

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/12/K7333938/K7333938-0.gif)

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 13 ธ.ค. 10, 14:06
รีบวิ่งมากราบเท้าค่ะ คุณเพ็ญชมพูคะ ขอบพระคุณมาก
ดิฉันได้เห็นภาพแบบนี้ คงช่วยได้เยอะค่ะ

ต้องรีับSaveแล้วพิมพ์มาแปะไว้ดูทุกวัน จนกว่าจะผันเป็นค่ะ

ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 13 ธ.ค. 10, 14:12
มีคำถามค่ะ อาจจะเป็นด้านกลับของเจตรมย์ของกระทู้ก็ได้ค่ะ

คำว่า อาจารย์ หากจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ควรสะกดแบบไหนจึงจะถูกต้องคะ

Ajahn  หรือ  Ajarn  หรือ  Archarn หรือ  Ajhan

อีกคำค่ะ บารมี หรือ ปารมี หากจะเขียนภาษาอังกฤษ จะเขียนอย่างไร  Parami หรือ Barami


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 10, 14:25
ถ้าเขียนให้ฝรั่งอเมริกันออกเสียงใกล้เคียงที่สุด คือ ajarn ค่ะ  แต่ถ้าถอดจากไทยเป็นโรมัน  คงต้องสะกดด้วยตัวอื่น

คำที่สะกดผิดบ่อยๆ
๑     กิริยา  ไม่ใช่ กริยา
กริยา ใช้ในหลักภาษาไทย  คือ"คำกริยา"  แต่ถ้าพูดถึงเดินเหินลุกนั่ง   คำที่ถูกต้องคือ "กิริยา"
๒     มุก(ตลก)   ไม่ใช่ มุข
๓     จลาจล   ไม่ใช่ จราจล  คนมักจะสะกดแบบ จราจร
๔     กาลเทศะ  ไม่ใช่ กาละเทศะ
๕     กะเทย  ไม่ใช่ กระเทย


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ธ.ค. 10, 14:57
หากยึดหลักของราชบัณฑิตยสถาน ลิ้งก์ข้างล่างคงมีประโยชน์อยู่บ้าง

หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง
http://www.royin.go.th/upload/246/FileUpload/416_2157.pdf

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ธ.ค. 10, 15:08
ใน ๕ คำของคุณเทาชมพูมีอยู่่คำหนึ่งยังมีปัญหา

มุก (ตลก) ไม่ใช่ มุข

มีเหตุผลการใช้อยู่สองฝั่ง

มุก - เหตุผลของราชบัณฑิตยสถาน  ความคิดเห็นที่ ๑๑๘

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/02/K5115945/K5115945.html#118

มุข - เหตุผลของคณะกรรมการพจนานุกรม สำนักพิมพ์มติชน ความคิดเห็นที่่ ๑๑๙

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/02/K5115945/K5115945.html#119

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 10, 15:22
ราชบัณฑิตยสถานมีเหตุผลที่มาที่ไปของคำว่า "มุก" ชัดเจนกว่าค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ธ.ค. 10, 08:26
อีก ๒ คำ ซึ่งควรแก้ไข

แก๊ง (gang)   มักเขียนผิดเป็น  แก๊งค์

เกม (game)  มักเขียนผิดเป็น  เกมส์

ทำไมจึงผิด เรียนเชิญทุกท่านเข้ามาวิสัชนาอีกที

 ;D





กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 10, 08:36
ดิฉันก็สะกดผิด เป็นแก๊งค์    ในเว็บนี้คงเห็นคำว่า แก๊งค์ลูกน้ำ อยู่ในบางกระทู้
เพราะดิฉันจำได้ว่า g ถ้าถอดจากโรมันเป็นไทย  คือตัว ค 
แต่ในที่นี้ราชบัณฑิตท่านบอกว่าถอดจากภาษาอังกฤษ  gang ไม่มีตัว ค   ลงท้ายด้วย ng สะกดเป็น ง 

game  เป็นเอกพจน์  ไม่ใช่ games  ถอดออกมาเป็นเกม    ไม่ต้องมี ส์


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ธ.ค. 10, 13:34
แก๊งกับเกมเมื่อดูตัวศัพท์ภาษาอังกฤษแล้ว บอกได้เลยว่าไม่ควรมี ค์ และ ส์ ข้างท้าย เช่นเดียวกับ เซ็น (ชื่อ) - sign ก็ไม่ควรเป็น เซ็นต์

แล้วคำเหล่านี้ล่ะ

จำนงค์, ชัชวาลย์, ดำรงค์, ปรัศนีย๋, สถิตย์, สังวาลย์, สำอางค์

ถ้าเป็นชื่อคนก็ไม่มีปัญหา

แต่ใช้สื่อความแล้วละก็

ควร ค์ หรือ ย์ ออกทั้งสิ้น

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 10, 14:10
เซ็น ที่สะกดผิดเป็นเซ็นต์  เพราะคงจะเอาไปปนกับ เซ็นต์ ที่ถอดมาจาก cent
สถิต ที่มี ย ตามมา   มีอยู่ในคำว่า   สถิตยศาสตร์    = วิชากลศาสตร์แขนงหนึ่ง ซึ่งว่าด้วยแรงที่กระทําต่อเทหวัตถุซึ่งเป็นของแข็ง โดยที่เทหวัตถุนั้น ๆ หยุดนิ่งอยู่กับที่.    (อ. statics).


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 10, 10:08
อีก ๒ คำที่อาจทำให้งง

รถยนต์     มักเขียนผิดเป็น  รถยนตร์
ภาพยนตร์  มักเขียนผิดเป็น  ภาพยนต์

ทำไมจึงผิด  เข้ามาช่วยคิด กันหน่อยเถิดนา

 ;D



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ธ.ค. 10, 16:05
เรื่องของ ยนต์-ยนตร์


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ธ.ค. 10, 10:07
คำที่ลงท้ายด้วย ต์ และ ตร์ ที่มีปัญหาอีก ๒ คำ

สวดมนต์ หรือ สวดมนตร์

เวทมนต์  หรือ เวทมนตร์

คำไหนดี

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 10, 08:53
คำที่ถูกต้องคือ สวดมนต์  และ เวทมนตร์

อาจารย์จำนงค์ ทองประเสิรฐ ให้เหตุผลไว้ดังนี้


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 10, 12:04
อีกสองคำ

คำแรกมีผู้เขียนผิดกันมาก  - โคตร   (http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=75c04bec40dee1b7) มักเขียนผิดเป็น โครต   (http://www.google.co.th/#hl=en&source=hp&biw=1020&bih=622&q=%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%95&btnG=Google+Search&aq=f&aqi=&aql=&oq=%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%95&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e)  

ตำทีสองมีผู้เขียนผิดกันบ้าง - เพชร  (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%A3)  เขียนผิดเป็น    เพรช    (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%8A&aq=f&aqi=&aql=&oq=%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%8A&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e)

ใครเขียน ๒  คำนี้ผิดบ้าง

ยกมือขึ้น

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ธ.ค. 10, 08:35
พยัญชนะสองตัวนี้ ท ทหาร และ ฑ มณโฑ มักมีหลายท่านสับสนในการใช้

ทูต  หรือ  ฑูต

ทีฆายุโก หรือ ฑีฆายุโก

คำไหนดีหนอขอถามหน่อย   

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 10, 09:34
ท ทหาร ค่ะ
ทั้งสองคำ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ธ.ค. 10, 09:47
คำถามเดิม

ใครใช้ ๒ คำนี้ผิดบ้าง

ยกมือขึ้น

ทำไมถึงใช้ ท ทหาร คุณเทาชมพูคงจะอธิบายความได้

 ;D



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 10, 13:35
 ทีฆายุโก - ฑีฆายุโก, ทีฆายุกา - ฑีฆายุกา โดย ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ     
 
ทีฆายุโก - ฑีฆายุโก, ทีฆายุกา - ฑีฆายุกา

          เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ไม่ว่าจะเป็น ๕ ธันวาคม หรือ ๑๒ สิงหาคม ก็ตาม มักจะพบป้ายหรือข้อความถวายชัยมงคลว่า ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา หรือ ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี ตามสถานที่ราชการ หรือในหนังสือพิมพ์ ตลอดจนวารสารรายสัปดาห์ รายปักษ์ หรือรายเดือนอยู่ทั่วไป เขียนกันถูกบ้าง ผิดบ้าง นั่นคือคำว่า ทีฆายุโก หรือ ทีฆายุกา ซึ่งจะต้องใช้ ท นั้น บางทีก็ใช้ ฑ อยู่บ่อย ๆ

          คำว่า ทีฆายุโก เป็นภาษาบาลี ใช้ ท แปลว่า มีอายุยืน เมื่อรวมข้อความที่ว่า ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา ตามตัวอักษรก็แปลว่า ขอพระมหาราชาจงทรงมีพระชนมายุยั่งยืนนาน แปลอย่างรวบรัดว่า ขอจงทรงพระเจริญ ที่ใช้ว่า ทีฆายุโก สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ทีฆายุกา สำหรับพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้น เป็นการเปลี่ยนรูปตามไวยากรณ์ เพราะคำว่า มหาราชา เป็น ปุงลิงค์ คือ เพศชาย จึงต้องใช้ ทีฆายุโก ส่วน มหาราชินี เป็น อิตถีลิงค์ คือ เพศหญิง จึงใช้ ทีฆายุกา

          เหตุที่บางคนเขียนเป็น ฑ นั้น คงเป็นเพราะตัว ฑ อยู่ใกล้กับ ฆ ซึ่งมีหัวหยัก เลยทำให้ ท มีหัวหยัก เลยกลายเป็น ฑ ตามไปด้วย

          คำในภาษาไทยที่มาจากภาษาบาลีที่เดิมเป็น ท แล้วมีผู้เขียนเป็น ฑ ในสมัยก่อน ๆ นั้น มีอยู่หลายคำ เช่น คำว่า ทูต  ซึ่งเป็นภาษาบาลี ใช้ ท ก็มีพบอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในหนังสือเก่าเขียนเป็น ฑูต  โดยใช้ ฑ หรือคำว่า มนเทียรบาล หนังสือเก่า ๆ เช่นในเรื่อง กฎมณเฑียรบาล  ก็ดี หรือ หมู่พระราชมณเฑียร  ก็ดี ที่คำว่า มณเฑียร  ก็ใช้ ฑ แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้เขียนเป็น มนเทียร  ใช้ ท เพราะคำนี้มาจากคำบาลีว่า มนฺทิร   ซึ่งแปลว่า เรือน  เมื่อแผลง อิ เป็น เอีย คำว่า มนฺทิร  จึงกลายเป็น มนเทียร  ทำนองเดียวกับแผลงคำว่า วชิร  เป็น วิเชียร หรือ พาหิร  เป็น พาเหียร   และ ปกีรณกะ  เป็น ปเกียรณกะ   ฉะนั้น

          จึงขอให้เขียนคำว่า ทีฆายุโก ให้ถูกต้อง ในฐานะที่เราเป็นประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงไม่ควรที่จะใช้ข้อความใด ๆ ที่เกี่ยวกับพระองค์ให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

          นอกจากนั้น ตามหนังสือพิมพ์รายวันแทบทุกฉบับ ก็มีทั้งคำว่า ทีฆายุโก และ ฑีฆายุโก ปะปนกันอยู่ในฉบับเดียวกัน จึงควรจะระมัดระวังให้มาก ความจริงก็มิได้ทำให้ความหมายเสียไป แต่ไม่ถูกต้องตามหลักภาษาเท่านั้นเอง เพราะคำว่า ฑีฆ  ในภาษาบาลีหรือสันสกฤตที่แปลว่า ยาว  นั้นไม่มี มีแต่ ทีฆ  เท่านั้น ความจริงเรื่องนี้ก็ได้มีผู้สอบถามมาอยู่เสมอ แต่การเขียนก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ยังมีที่ผิด ๆ ให้เห็นอยู่ แม้จะน้อยลงบ้างก็ตาม ยิ่งคำว่า ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี ด้วยแล้ว บางทีก็เขียนเป็น ทีฆายุโก โหตุ มหาราชินี และบางทีที่คำว่า "ทีฆายุโก" ใช้ ฑ แต่ในปัจจุบันการเขียนถูกต้องเกือบ ๑๐๐% แล้ว เพียงแต่คำว่า ทีฆายุโก และ ทีฆายุกา บางทียังใช้ ฑ แทน ท อยู่บ้างเท่านั้น จึงขอให้ช่วยกันระมัดระวังและเขียนให้ถูกต้องด้วย.

ผู้เขียน :  ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ  ราชบัณฑิตประเภทปรัชญา สาขาวิชาตรรกศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
ที่มา :  จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๙, สิงหาคม ๒๕๓๗

 


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ธ.ค. 10, 16:23
เรื่องนี้มีอีกยาว เคยได้มีการอภิปรายกันมาแล้วในเรือนไทย

ทีฆายุโก โหตุ VS ฑีฆายุโก โหตุ ------------- ทูต VS ฑูต
มาอีกแล้วครับ คำที่มักเขียนผิดบ่อยๆ พอดีวันนี้พิมพ์คำว่า "ทูต" แต่นิ้วพาไปเป็น "ฑูต" ก็เลยคิดได้ว่า อืม ก็น่าจะมีคนเขียนผิดบ่อยอยู่ ก็เหมือนเดิมครับ ใช้ google หาคะแนนซะเลย ผลได้ดังนี้ครับ

ทูต ได้ 904 รายการ

ฑูต ได้ 343 รายการ

ก็แสดงว่า อย่างน้อยในอินเตอร์เน็ต ก็มีคนเขียนผิด 1 ใน 3 ครับ


ุุุุุุุ---------------------------

ทีฆายุโก โหตุ

ส่วน ทีฆายุโก โหตุ กับ ฑีฆายุโก โหตุ นั้น คำที่ถูกต้องคือ "ทีฆายุโก โหตุ" (ใช้ "ท" และ เว้นวรรคตรง"โหตุ") ผมใช้ google ดูแล้วน่าตกใจครับ เพราะผิดกันมากจริงๆ

ทีฆายุโกโหตุ ได้ 80 รายการ (ผิดเพราะไม่วรรคก่อนโหตุ ด้วยครับ)

ฑีฆายุโกโหตุ ได้ 185 รายการ (ผิดกำลังสอง เพราะนอกจากไม่วรรคแล้ว ยังใช้ "ฑ" อีก)


ทีฆายุโก โหตุ ได้ 373 รายการ

ฑีฆายุโก โหตุ ได้ 402 รายการ

เห็นแล้วน่าตกใจครับ เขียนผิดกันเกินครึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานราชการเขียนผิดก็มีมากเสียด้วย

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไม่มีคำว่า "ทีฆายุโก โหตุ" ให้สำหรับตรวจสอบหรือเปล่า ? ซึ่งผมมองว่าจริงๆ "ต้องมี" นะครับ เพราะ คำนี้ ถึงจะเป็นภาษาบาลีก็จริง แต่เราจะต้องได้อ่านกันอย่างน้อยก็ปีหนึ่ง 2 ครั้ง คือ 12 สิงหา (ทีฆายุกา โหตุ) กับ 5 ธันวา (ทีฆายุโก โหตุ) ไม่รู้ว่า พจนานุกรมฉบับมติชนมีหรือเปล่า ? ใครมีอยู่ใกล้มือช่วยลองเปิดตรวจดู แล้วแจ้งผลด้วยนะครับ



ยังมีต่ออีกหลายความคิดเห็น

ขอเชิญเข้าไปอ่านต่อได้

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ธ.ค. 10, 08:53
คำที่ใช้ ทร กับ ซ ก็มีคนใช้ผิดบ่้อย ๆ

ทราก (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%81&aq=&aqi=&aql=&oq=%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%81&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e)       หรือ  ซาก (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%81&aq=&aqi=&aql=&oq=%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%81&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e)

แทรกแซง   (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%8B%E0%B8%87&aq=f&aqi=&aql=&oq=%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%8B%E0%B8%87&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e) หรือ  แซกแซง (http://www.google.co.th/#hl=en&source=hp&biw=1020&bih=622&q=%E0%B9%81%E0%B8%8B%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%8B%E0%B8%87&aq=f&aqi=&aql=&oq=&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e)

คำไหนถูกต้อง

 ;D



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 10, 08:35
ซาก
แทรกแซง
ถูกต้อง

คำที่สะกดผิด เช่นซากสะกดว่า ทราก   เป็นคำที่สะกดกันมาสมัยก่อน  เคยเห็นในเนื้อเพลงเก่าๆสัก ๕๐-๖๐ ปีก่อน สะกด ทราก กันบ่อย
อาจเป็นว่าพจนานุกรมสมัยปี 2493  ไม่ได้แพร่หลายนัก    แม้แต่โรงพิมพ์บางแห่งหรือนักเขียนเองก็ไม่ได้มีพจนานุกรมวางไว้ข้างตัว
จึงสะกดกันไปตามความนิยม

ทร ใช่ที่ไหนบ้าง ดูได้จากบทกลอนข้างล่าง
" ทรวดทรงทราบทรามทราย    ทรุดโทรมหมายนกอินทรี
มัทรีอินทรีย์มี                            เทริดนนทรี พุทราเพรา
ทรวงไทรทรัพย์แทรกวัด          โทรมมนัสฉะเชิงเทรา
ตัว "ทร " เหล่านี้เรา                 ออกสำเนียงเป็นเสียง " ซ "

สังเกตว่า โทรมมนัส ไม่ใช้กันแล้วเดี๋ยวนี้ ใช้แต่ โทมนัส


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ธ.ค. 10, 14:18
คำที่ใช้ไม้ม้วนมี ๒๐ คำ ใคร ๆ ก็ท่องได้

ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่       ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ         มิหลงใหลใครขอดู
จะใคร่ลงเรือใบ        ดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้           มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบ้ถือใยบัว         หูตามัวมาใกล้เคียง
เล่าท่องอย่าละเลี่ยง   ยี่สิบม้วนจำจงดี

๒ คำนี้ไม่มีใน ๒๐ คำข้างต้น

หลับไหล (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5&aq=&aqi=&aql=&oq=&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e)  หรือ  หลับใหล (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A5&aq=&aqi=&aql=&oq=%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A5&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e)

ไหลตาย   (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2&aq=&aqi=&aql=&oq=%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e) หรือ  ใหลตาย (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2&aq=&aqi=&aql=&oq=%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e)

 ;D





กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 28 ธ.ค. 10, 15:18
ร่วมด้วยช่วยกันค่ะ   ;D

มีอีกหลายคำที่มักเขียนกันผิดค่ะ
เทิด         มักเขียนผิดเป็น     เทอด
ทูนหัว       มักเขียนผิดเป็น     ทูลหัว
ทระนง      มักเขียนผิดเป็น     ทรนง
บุคลากร    มักเขียนผิดเป็น     บุคคลากร
บุคลิกภาพ  มักเขียนผิดเป็น     บุคคลิกภาพ
บูชายัญ     มักเขียนผิดเป็น    บูชายันต์
โพทะเล     มักเขียนผิดเป็น    โพธิ์ทะเล
แมงมุม      มักเขียนผิดเป็น    แมลงมุม
แมลงสาบ   มักเขียนผิดเป็น    แมลงสาป
รสชาติ      มักเขียนผิดเป็น    รสชาด
ไอศกรีม    มักเขียนผิดเป็น    ไอศครีม
อุกกาบาต   มักเขียนผิดเป็น    อุกาบาต
วิ่งเปี้ยว     มักเขียนผิดเป็น    วิ่งเปรี้ยว
.......



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ธ.ค. 10, 15:41
๒ คำนี้ไม่มีใน ๒๐ คำข้างต้น

หลับไหล (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5&aq=&aqi=&aql=&oq=&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e)  หรือ  หลับใหล (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A5&aq=&aqi=&aql=&oq=%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A5&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e)

ไหลตาย   (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2&aq=&aqi=&aql=&oq=%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e) หรือ  ใหลตาย (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2&aq=&aqi=&aql=&oq=%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e)




คำไหนถูกหนอ รอคำตอบ

;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 28 ธ.ค. 10, 17:36
คำว่า "ใหล" ในพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณทิตสถาน พ.ศ. 2542 ไม่มีความหมายค่ะ

ส่วนคำว่า "ไหล" หมายถึง
 
ไหล ๑ น. (๑) ชื่อปลารูปร่างกลมยาวคล้ายงู มีหลายวงศ์ในหลายอันดับ เช่น
 ไหลนา หรือ ไหลบึง (Fluta alba) ในวงศ์ Flutidae ไหลทะเล (Ophichthys
 microcephalus) ในวงศ์ Ophichthyidae, อีสานเรียก เอียน หรือ เอี่ยน.
 (๒) ดู มังกร ๒.

ไหล ๒ น. ส่วนของพืชบางชนิดเช่นบอนและบัว ซึ่งเลื้อยชอนไปแตกเป็นหน่อ
 ขึ้น, หางไหล ก็เรียก.
  
ไหล ๓ น. โลหะชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่าเอาไฟเทียนลนก็ไหลย้อยออกได้ เรียกว่า
 เหล็กไหล.
 
ไหล ๔ ก. เคลื่อนที่ไปอย่างของเหลวเช่นนํ้า, เลื่อนไป.


ดังนั้น คำว่า "หลับไหล" และ "ไหลตาย" จึงควรใช้ "ไหล" ที่มีความหมายว่า เคลื่อนที่ไป ค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ธ.ค. 10, 08:04
คุณดีดีลองใคร่่ครวญดูอีกที

คำว่า "ใหล" คำเดียว ไม่มีในพจนานุกรม

แต่ถ้าประกอบคำอื่นเช่น "หลงใหล" อย่างในกาพย์ "ยี่สิบม้วนจำจงดี" -  มิหลงใหลใครขอดู ก็ใช้ได้  และในพจนานุกรมก็มีคำนี้นะ

คำว่า "หลับใหล" และ "ใหลตาย" ไม่มีในพจนานุกรมก็จริงอยู่

แต่เป็นคำที่ราชบัณฑิตสถานแนะนำให้ใช้


มีคำอธิบายไว้หลายประการทีเดียวแแหละ


คุณศิลา คงให้คำอธิบายในเรื่องนี้ได้

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ธ.ค. 10, 09:21
ดูจำนวนคนที่ใช้ผิดสิคะ... รวมทั้งหนูดีดีด้วย .... :o


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ธ.ค. 10, 14:31
คุณศิลาเคยพูดถึงเรื่อง "หลับใหล" ไว้เมื่อต้นปีนี้เอง

บันทึกวิชาการท้ายกระทู้ ครับ

หลับใหล

          คำว่า ใหล ที่ใช้ไม้ม้วน ไม่ใช้ลำพัง ต้องใช้ซ้อนกับคำอื่น ได้แก่ ใช้ซ้อนกับคำว่า หลง เป็น หลงใหล  และ
ซ้อนกับคำว่า หลับ เป็น หลับใหล     

          คำว่า ใหล ที่ใช้ไม้ม้วนนี้น่าจะหมายถึงละเมอ เพราะในภาษาลาวมีคำว่า ใหล (สะกดด้วยสระไอ ไม้ม้วน)
หมายถึง ละเมอหรือพูดในเวลาเผลอสติอย่างคนบ้าจี้ที่ถูกหลอกให้ตกใจแล้วพูดโพล่งออกมา และในภาษาไทขาว
ซึ่งเป็นภาษาของชาวไทที่อยู่ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีคำที่ออกเสียงคล้าย ๆ เหล่อ หมายถึง ละเมอ
เช่น นอนเหล่อ หมายถึง นอนละเมอ   
          คำว่า เหล่อ ในภาษาไทขาว น่าจะเป็นคำเดียวกับคำว่า ใหล ในภาษาไทยและภาษาลาว

ที่มา :  บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย"  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.


ส่วนคำว่า "ใหลตาย" มีคำอธิบายจากราชบัณฑิตสถานดังนี้


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ธ.ค. 10, 08:31
เรื่องไม้ม้วน -ไม้มลายอีก ๒ คำ

คุณเคยใช้คำไหน ระหว่าง

เหล็กไน   (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%99+&aq=&aqi=&aql=&oq=%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%99+&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e) กับ  เหล็กใน (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%99+&aq=&aqi=&aql=&oq=&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e)

หมาไน    (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%99&aq=&aqi=&aql=&oq=%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%99&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e) กับ   หมาใน (http://www.google.co.th/#hl=en&biw=1003&bih=622&q=%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99&aq=&aqi=&aql=&oq=%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99&gs_rfai=&fp=8fcb44a5c7d67b5e)

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 10, 08:45
เคยใช้เหล็กไน  กับ หมาไน    แต่ราชบัณฑิตให้ใช้ เหล็กไน  กับ หมาใน

ขอถามกลับไปบ้าง

ก๋วยเตี๋ยวลาดหน้า  ก๋วยเดี๋ยวราดหน้า
ถนนราดยาง  ถนนลาดยาง
ผัดไทย   ผัดไท
คำไหนถูก


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ธ.ค. 10, 08:59
เคยใช้เหล็กไน  กับ หมาไน    แต่ราชบัณฑิตให้ใช้ เหล็กไน  กับ หมาใน[/color]


ราชบัณฑิตก็ให้ใช้ เหล็กใน ด้วย   ;D

คำว่า "ไน" ราชบัณฑิต นอกจากจะหมายถึงเครื่องปั่นด้ายด้วยมือแล้ว ท่านให้หมายถึง "ปลาไน" อย่างเดียว

คำว่า "หมาไน" อาจารย์จำนงค์  ทองประเสริฐ มีคำอธิบายไว้ในเรื่อง หมาใน - หมาไน  (http://www.tpschamnong.iirt.net/article/basa_5nt091.html) รายการ ภาษาไทย ๕ นาที ดังนี้

      วันนี้จะขอนำเรื่อง "หมาใน - หมาไน" มาเสนอท่านผู้ฟังอีกสักครั้งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ได้เคยนำมาพูดในรายการนี้มาครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ แล้ว เพราะมีผู้เขียนวิจารณ์ลงในบัญชร "พูดไทย เขียนไทย" ของ "เปรียญ ๗" ใน น.ส.พ. สยามรัฐ ทั้งนี้เนื่องจากมีบางคนเห็นว่าควรจะเขียนว่า "หมาไน" โดยที่ "ไน" ใช้สระไอไม้มลาย โดยบอกว่า ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเขียนว่า "หมาใน" โดยใช้สระใอ ไม้ม้วนนั้น ไม่ถูกต้อง และยังบอกว่า "ผิดที่สุดในโลก" ก็ไม่ทราบว่าท่านเอาอะไรมาเป็นเครื่องวัด

      คำว่า "หมาใน" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็ใช้สระใอไม้ม้วน และให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. หมาป่าพวกหนึ่ง ตัวขนาดเล็ก ขนสั้นเกรียน มักไปเป็นฝูง."

      คำว่า "หมาใน" นี้ หนังสือปทานุกรม ฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้เก็บเข้าชุดกับ "หมาจิ้งจอก" และ "หมาป่า" โดยให้บทนิยามอย่างเดียวกันดังนี้ "น. สัตว์ในป่ารูปคล้ายหมา ลักษณะและขนต่าง ๆ กัน." แสดงว่า พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ ให้รายละเอียดมากขึ้น ส่วนคำว่า "หมาจิ้งจอก" พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. หมาป่าชนิดหนึ่ง มักเที่ยวหากินเป็นฝูง (อ. Jackal) ; หมาป่าชนิดหนึ่ง ตัวขนาดเล็ก หางเป็นพวง." ส่วนคำว่า "หมาป่า" ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น.หมาจำพวกหนึ่ง หากินเป็นฝูงดุร้ายมาก มีในประเทศหนาว (อ. Wolf)."

      จากบทนิยามของหมาทั้ง ๓ ชนิดนี้ ก็จะเห็นว่าเป็นพวกหมาป่าทั้งสิ้น เพียงแต่หมาป่าที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Wolf นั้น อยู่ในประเทศแถบหนาว ส่วนหมาในกับหมาจิ้งจอกนั้น ท่านมิได้บอกไว้ว่าอยู่ในประเทศหนาว แสดงว่าในประเทศแถบอบอุ่นและแถบร้อนก็มี "หมาใน" แตกต่างกับ "หมาจิ้งจอก" ตรงที่หมาในอยู่แต่ในป่า หมาจิ้งจอกชนิดหนึ่งชอบหากินเป็นฝูง อีกชนิดหนึ่งตัวขนาดเล็ก หางเป็นพวงเท่านั้น ท่านมิได้เขียนเป็น "หมาไน" โดยใช้ น สระไอ ไม้มลาย ทั้งนี้ก็คงเป็นเพราะมันไม่มี "ไน" ซึ่งคงมีลักษณะคล้ายเครื่องสำหรับกรอฝ้ายหรือไหมเข้าหลอดกระมัง

      คำว่า "หมาใน" ที่ "ใน" ใช้สระใอไม้ม้วนนั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือสมัยรัชกาลที่ ๑ แล้วเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้เพราะในคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงฉบับของพระมหาจันทร์และพระมหาช่วย ซึ่งจารอยู่บนใบลานทั้ง ๒ ฉบับ ล้วนจารว่า "หมาใน" ดังมีข้อความว่า "เทพยดาและครุฑราชนาคราชและยักษ์คนธัพพะกินนรกินนรี และวิทยาธรแลผีหมาในและราชสีห์แลหมีแลเสือเหลืองเสือโคร่งก็มาไว้มากมายท่านนี้..." ส่วนหนังสือไตรภูมิพระร่วง ฉบับกรมศิลปากร ซึ่งอาจารย์พิทูร มลิวัลย์ เป็นผู้ชำระ และกรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในการประชุมสัมมนาเรื่องไตรภูมิพระร่วงในโอกาสฉลอง ๗๐๐ ปีลายสือไทย วันที่ ๑๔ - ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๖ ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาตินั้น คำว่า "หมาใน" ได้แก้เป็นหมาไน" ที่ "ไน" ใช้สระไอไม้มลาย ตามพจนานุกรมภาคอีสาน-ภาคกลางซึ่งอาจารย์พิทูร มลิวัลย์เป็นกรรมการจัดทำด้วยผู้หนึ่ง

      ในหนังสือ "บทกลอนกล่อมเด็ก บทปลอบเด็ก และบทเด็กเล่น" ซึ่งเก่ามาก จนกระดาษจะกรอบอยู่แล้ว อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ได้นำมาให้ดู พบว่า ในบทที่ ๒ ซึ่งเป็น "บทปลอบเด็ก" นั้น บทแรกชื่อ "จิงโจ้" มีข้อความ ดังนี้

  "จิงโจ้เอย มาโล้สำเภา  หมาในไล่เห่า
  จิงโจ้ตกน้ำ หมาในไล่ซ้ำ  จิงโจ้ดำหนี
  ได้กล้วยสองหวี ทำขวัญจิงโจ้  โห่ฮิ้ว โห่ฮิ้ว"

      คำว่า "หมาใน" ในบทปลอบเด็ก ซึ่งมีอยู่ ๒ แห่ง ท่านก็ใช้ "หมาใน" ที่ "ใน" ใช้ไม้ม้วนเช่นกัน

      ในหนังสือ "ธรรมาธรรมะสงคราม" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มีตอนหนึ่งว่าดังนี้

  "รถทรงกงกำทั้งหมด ตลอดงอนรถ ล้วนแล้วด้วยไม้ดำดง
  บัลลังก์มียักษ์ยรรยง ยืนรับรองทรง สลักกระนกมังกร
  ลายสิงห์เสือหมีสลอน หมาในยืนนอน อีกทั้งจรเข้เหรา"

      คำว่า "หมาใน" ในพระราชนิพนธ์เรื่อง "ธรรมาธรรมะสงคราม" ก็ใช้ น สระใอไม้ม้วนเช่นกัน

      ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่านักปราชญ์รุ่นก่อน ๆ รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งชาวไทยได้ยกย่องเทิดทูนเป็น "พระมหาธีรราชเจ้า" นั้นล้วนโง่เขลา ใช้ภาษาผิด ๆ ด้วยกระนั้นหรือ ผู้ที่คิดว่าตนถูกที่สุดในโลก ผู้อื่นผิดที่สุดในโลกนั้น จะเข้าลักษณะที่ Pope กวีเอกคนหนึ่งของโลกได้เขียนไว้ว่า

  "We think our father's fools, so wise we grow;  
  Our wiser sons no doubt will think us so."  

ซึ่งกรมพิทยลาภพฤฒิธาดา ได้ทรงนิพนธ์เป็นภาษาไทยไว้ดังนี้

  "พวกเราคิดบิดาเราเฉาฉงน เราเป็นคนมีปัญญาจะหาไหน
  บุตรของเราคงดีจริงยิ่งขึ้นไป จิตต์ใจเขาคงคิดเหมือนบิดา"

      ขอฝากเป็นของขวัญในวันขึ้นพุทธศักราชใหม่ ๒๕๓๖ แต่ท่านผู้มีความรักภาษาไทยทุกท่าน.

จำนงค์   ทองประเสริฐ
๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๕









กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ธ.ค. 10, 09:01
เรื่องการใช้ไม้ม้วน - ไม้มลาย คุณโฮเคยเอาบทความของคุณรัชตพล ชัยเกียรติธรรมมาเสนอ

อ่านแล้วน่าสนใจ

ลองอ่านกันดู



ก็เลยไปเจอบทความที่น่าสนใจ จึงนำมาให้อ่านกันครับ


-------------------------------------------


ใครว่าไม้ม้วนมี 20 คำ


รัชตพล ชัยเกียรติธรรม


     เห็นชื่อหนังสือ หรือที่เรียกกันว่า พ็อกเกตบุ๊ก "บนแผ่นดินร้องไห้" ของ "ใฮ ขันจันทา" แล้วนึกแปลกใจว่า ตกลงสะกดชื่อ ยายไฮ (ไม้มลาย) หรือ ยายใฮ (ไม้ม้วน) กันแน่ เพราะชื่อที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ส่วนมากใช้ ยายไฮ (ไม้มลาย) เช่น เสนอ 12 หญิงไทย "ยายไฮ" รับโนเบล (ข่าวสด. 1 กรกฎาคม 2548 : 1) "บ้านใร่กาแฟ" ชื่อร้านกาแฟเพิ่งเปิดใหม่แถวถนนสุขุมวิท ย่านเอกมัย กรุงเทพฯ ก็ใช้ "ใร่" ไม้ม้วนแทนไม้มลาย


    หลักการใช้ไม้ม้วน (ใ -) หลายคนทราบดีกว่ามีอยู่ 20 คำ จะมีคำอะไรบ้างนั้น ต้องฟื้นความจำบทอาขยายสมัยเด็ก ๆ ที่ท่องเป็นกาพย์ยานี 11 ว่า "ผู้ใหญ่หาผ้าใหม" หรือบางคนอาจท่องเป็นโคลงสี่สุภาพ "หลงใหลมิใช่ใบ้ ใฝ่ใจ...." ฯลฯ ส่วนคำอื่น (ที่นอกเหนือจาก 20 คำ) ใช้ไม้มลาย ( ไ - )  


    ไม้ม้วนทั้ง 20 คำนี้ เป็นคำไทยแท้มีอยู่ 8 คำ ที่มีเสียงซ้ำกับไม้มลาย คือ

ใจ (จิต, ศูนย์กลาง) - ไจ (ส่วนหนึ่งของเข็ดด้ายหรือไหม)

ใด (อะไร, สิ่งไร) - ได (มือ)

ใต้ (ข้างล่าง, ต่ำ, ตรงข้ามกับเหนือ) - ไต้ (วัตถุสำหรับใช้จุดไฟ)

ใน (ข้างใน, ภายใน, ตรงข้ามกับนอก) - ไน(เครื่องปั่นฝ้ายหรือไหม)

ใย (สิ่งที่เป็นเส้นเล็กยาว ๆ ขาว ๆ, นวลบาง ผ่องใส) - ไย (ไฉน, ทำไม, ส่งไป)

ใส สว่าง, สะอาด, กระจ่าง - ไส (เสือกไป, ส่งไป)

ให้ (สละ, มอบ , อนุญาต ) - ไห้ (ร้อง)

ใหล (หลง) - ไหล (เลื่อนไป, เคลื่อนไป)


คำอื่นนอกจากนี้ เช่น ใคร่ กับ ตะไคร่ ใบ กับ สไบ จะเรียกว่าซ้ำกันไม่ได้ เพราะเป็นคำพยางค์เดียวกับสองพยางค์ ย่อมแสดงความแตกต่างกันอยู่ในตัวอยู่แล้ว (กำชัย ทองหล่อ, 2540 : 66)

 ด้วยเหตุนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่สะกดไม้ม้วนและไม้มลายผิดบ้างถูกบ้าง เช่น ลำใย - "ลำไย", น้ำแข็งใส - "น้ำแข็งไส", และ "หลงใหล" - หลงไหล (คำที่อยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศ " " คือคำที่สะกดถูกต้อง) ลองดูตัวอย่างการใช้ ใ - ผิด จากโฆษณานาฬิกายี่ห้อหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 หน้า 19 เขียนไว้ว่า "สื่อภาพชวนหลงไหลหรือสื่อภัยเข้าหาตัว"


    ฉะนั้น "ยายไฮ" และ "บ้านไร่กาแฟ" น่าจะใช้ไม้มลายมากกว่า แม้กระนั้น ผมก็มีข้อแย้งขึ้นมาในใจ ชื่อ "ยายใฮ" และ "บ้านใร่กาแฟ" เขียนเป็นไม้ม้วนก็ได้ เพราะเป็นคำนามประเภทวิสามานยนาม เป็นชื่อเฉพาะที่บัญญัติขึ้นมา สำหรับใช้เรียกร้องชี้เฉพาะเจาะจงลงไป จะสะกดอย่างไรหรือเขียนอย่างไรก็ได้ เหมือนกับคำว่า เท่ ที่นักร้องชื่อดังสะกดผิดว่า เท่ห์ ทำเอาหลายคนเขียนสะกดผิดเมื่อนำคำเหล่านั้นมาใช้เป็นคำนามประเภทสามานยนาม เช่น สวย เท่ห์ ทันสมัย ใส่.......


    แค่ไม้ม้วน 20 คำแบบสามานยนามยังใช้กันผิด ๆ ถูก ๆ เกิดมีไม้ม้วนแบบวิสามานยนามขึ้นมาอีก เชื่อได้เลยว่าไม้ม้วนไม่ได้มีแค่ 20 คำอีกต่อไป


_______________________________________________________________________________

กำชัย ทองหล่อ. 2540. หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์

 ;D




กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ธ.ค. 10, 09:03
ขอถามกลับไปบ้าง

ก๋วยเตี๋ยวลาดหน้า  ก๋วยเดี๋ยวราดหน้า
ถนนราดยาง  ถนนลาดยาง
ผัดไทย   ผัดไท
คำไหนถูก


คำถามของคุณเทาชมพู  คุณดีดีลองตอบก่อนเป็นไร

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 10, 09:16
ขออภัย  อ่านผิด  ราชบัณฑิตให้ใช้ เหล็กใน และ หมาใน


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ธ.ค. 10, 15:49
พูดถึงเรื่องอาหารการกิน

เคยเดินตาม ถนนลาดยาง  เพื่อไปซื้อ ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า  และ ผัดไทย (http://writer.dek-d.com/ubyi/story/viewlongc.php?id=204778&chapter=22)

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ม.ค. 11, 08:26
สายลมหนาวพริ้วแผ่วมาเวลาค่ำ
ยินเสียงพร่ำร่ำลามารศรี
ก่อนจะจากโฉมสุดายามราตรี
โปรดปรานีคิดถึงบ้างยามห่างไกล


ข้อความข้างบนนี้   มีคำที่ผิดบ้างไหม
เร็วเร็วมาไวไว      มาช่วยคิดพินิจที

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 11, 08:36
เลือกตอบ 1 คำ  ที่เหลือยกเป็นการบ้านให้ท่านอื่นค่ะ

"พริ้ว"      รอยอิน ท่านให้สะกดว่า พลิ้ว
พลิ้ว   [พฺลิ้ว] ก. บิด, เบี้ยว, เช่น คมมีดพลิ้ว; สะบัดเป็นคลื่นไปตามลม
   เช่น ธงพลิ้ว.


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ม.ค. 11, 09:00
เหตุผลของท่านรอยอิน

พลิ้ว กับ ปลิว มีความหมายเดียวกัน

ปลิว [ปฺลิว] ก. ลอยตามลม, ถูกลมพัด, (ใช้แก่สิ่งที่มีลักษณะเบา), โดยปริยายใช้เป็นคําเปรียบเทียบ มีความหมายคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น เดินตัวปลิว.

สายลมหนาวปลิวแผ่วมาเวลาค่ำ

ฟังดูแปลก ๆ หู

คุณเทาชมพูว่าอย่างไร

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 11, 09:04
ขนนก ปลิว ไปตามลม   กับ ขนนก พลิ้ว ไปตามลม  เหมือนกันไหมล่ะคะ คุณเพ็ญชมพู
ถ้าเหมือนกันก็ถือว่าเป็นคำเดียวกัน
ถ้าไม่เหมือนกัน   ก็คือคนละคำ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ม.ค. 11, 08:44
เลือกตอบ 1 คำ  ที่เหลือยกเป็นการบ้านให้ท่านอื่นค่ะ

ยังไม่มีการบ้านส่ง

เห็นทีคุณเทาชมพูต้องลงมาเฉลยเองเสียแล้ว

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 11, 08:51
ยินเสียงพร่ำร่ำลามารศรี

พร่ำ      รอยอินบอกว่าถูกแล้ว
ร่ำลา     รอยอินใช้คำว่า ล่ำลา  แต่อนุญาตให้ใช้ ร่ำลา ก็ได้
                  ล่ำลา   ก. อําลา, ลา, ร่ำลา ก็ว่า.

เป็นอันว่าถูกทั้ง ๒ คำ

โปรดปรานีคิดถึงบ้างยามห่างไกล
ปรานี        รอยอินสะกดตามนี้    เรามักจะสะกดผิดเป็น ปราณี
              ปรานี   [ปฺรา-] ก. เอ็นดูด้วยความสงสาร.


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ม.ค. 11, 07:38
เมื่อไม่นานมานี้ รอยอินท่านอนุญาตให้ใช้ ล่ำลำ ได้อย่างเดียว

คุณโฮฯยังเึคยรำพันถึงสองคำนี้ไว้ในคำที่มักเขียนหรือพิมพ์ผิดบ่อยๆ ความคิดเห็นที่ ๒๙ - พันทิป (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/02/K5110885/K5110885.html#29) เืมื่อสี่ปีที่แล้ว

ร่ำลา กับ ล่ำลา เห็นราชบัณฑิตยฯ ว่า "ล่ำลา" ถูกครับ

แต่คนส่วนมากจะคิดว่า "ร่ำลา" ถูก

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า "ร่ำลา" น่าจะถูกนะ อิอิ คงต้องขุดรากกันดูครับว่า "ร่ำ" แปลว่าอะไร แล้ว "ล่ำ" แปลว่าอะไร

ผมก็ไม่ทราบเหตุผลของราชบัณฑิตฯ เหมือนกันว่า ทำไมจึงบัญญัติให้ "ล่ำลา" ถูก ??? ท่านใด มี copy เหตุผลของราชบัณฑิตฯ โปรดนำมาเป็นวิทยาทานด้วยนะครับ

-----------------------------------------
"ร่ำลา" ถูก ?

ที่ผมคิดว่า "ร่ำลา" น่าจะถูก เพราะว่า ดูจากศัพท์อื่นๆ ที่มีคำว่า "ร่ำ" ประกอบด้วยแล้ว เช่น ร่ำไห้ (ร้องไห้ฟูมฟาย คือ ร้องไห้ซ้ำๆ ต่อๆ กันไป) ร่ำลือ (ลือกันไปเป็นวงกว้าง คือ ลือซ้ำๆ ต่อๆ กันไป) ซึ่งมันจะเกี่ยวกับอาการที่ต้องออกเสียง และต้องซ้ำๆ ต่อเนื่องกันไป

ดังนั้น "ร่ำลา" (พูดจากันอยู่นานก่อนจากกัน คือ พูดจาซ้ำๆ จะไปก็ไม่ยอมไป อิอิ) ก็น่าจะอยู่ในชุดคำกลุ่มนี้ด้วย

สังเกตว่า "ร่ำลา" มักจะใช้ในประโยค เช่น "นี่ จะร่ำลากันอีกนานไหม ?" ซึ่งมันก็ส่อให้เห็นความหมายในเชิง อ้อยอิ่ง พูดลากันไม่ยอมไปเสียที

ถ้าจะขุดรากจริงๆ สงสัยต้อง หาประโยคตัวอย่างมาวิเคราะห์เยอะๆ ครับ

ผมคิดว่า คำว่า "ร่ำ" น่าจะมีรากเดียวกับ "พร่ำ" มีความหมายว่า "ซ้ำๆ" "บ่อยๆ" "เป็นเวลานาน"

"ร่ำๆ ว่าจะไปเที่ยวทะเล" --- ร่ำๆ คือ คิดอยู่หลายครั้งแล้ว, คิดอยู่บ่อยๆ

------------------------------------

ส่วน "ล่ำ" นึกได้แต่ "ล่ำสัน" "ล่ำบึ้ก" คือ รูปคำมันออกไปทาง แข็งแรง หนักแน่น ถ้าเอาความหมายนี้ไปใช้กับ "ลา" ก็อาจแปลได้ว่า

"ล่ำลา" ๑. (ก.) การกล่าวคำจากกันอย่างหนักแน่น กล่าวลากันอย่างจริงจัง เอาเป็นเอาตาย
"ล่ำลา" ๒. (น.) ลาตัวใหญ่ ร่างกายกำยำ ล่ำบึก บึกบึน ทรหด อดทน (ลาล่ำ ก็เรียก)

.... อิอิ ....

จากคุณ : OMICRON (Hotacunus)  - [ 6 ก.พ. 50 04:25:56 ]



มาปีนี้ รอยอินท่านใจดีอนุญาตให้ใช้ได้ทั้ง ๒ คำ

ร่ำลา  ก. อำลา, ลา, ล่ำลา ก็ว่า.

ล่ำลา  ก. อําลา, ลา, ร่ำลา ก็ว่า.


รออีกสักหน่อย ท่านอาจใจดีให้ใช้ พริ้ว  และ พลิ้ว ได้ทั้ง ๒ คำก็เป็นได้


 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ม.ค. 11, 07:49
โปรดปรานีคิดถึงบ้างยามห่างไกล
ปรานี        รอยอินสะกดตามนี้    เรามักจะสะกดผิดเป็น ปราณี
              ปรานี   [ปฺรา-] ก. เอ็นดูด้วยความสงสาร.

ปราณี  ก็ไม่ผิดถ้าใช้ถูกที่

ปราณี [ปฺรานี] น. ผู้มีชีวิต, สัตว์, คน. (ส. ปฺราณิ, ปฺราณินฺ; ป. ปาณี).


เช่นเดียวกับ มานพ และ มาณพ

มานพ [-นบ] น. คน. (ป.). (มาจากศัพท์ มนุ).

มาณพ  [-นบ] น. ชายหนุ่ม, ชายรุ่น. (ป., ส.).

จะใช้คำไหนควรตรวจดูความหมายเสียก่อน

 ;D
 
 

 
 


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 11, 08:24
คำว่า ปราณี ที่ถูกต้องก็เห็นแต่เป็นชื่อคน  ยังหาประโยค(ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน)  มีคำนามว่า ปราณี ไม่ได้  คุณเพ็ญชมพูช่วยหามาหน่อยปะไร
มีปราณีมากมายอยู่ตามท้องถนน   หรือว่า  ผู้ชาย และผู้หญิง  ต่างก็เป็นปราณี  ;D


หลังๆนี้รอยอินค่อนข้างใจดี  อนุโลมให้ใช้คำที่เมื่อก่อนท่านว่าผิด  แต่ประชาชนใช้กัน  ในที่สุดรอยอินเห็นว่าไหนๆก็ใช้กันมาแพร่หลาย จนชิน   คำถูกของท่านเสียอีกไม่ค่อยมีใครใช้กัน  ท่านก็อนุโลมตามความนิยม ให้ใช้ได้
เช่นประวัติศาสตร์   รอยอินเคยกำหนดให้อ่าน ประหวัดติสาด    ต่อมาก็อนุโลมให้อ่านประหวัดสาดได้ เพราะชาวบ้านออกเสียงอย่างนี้กัน

หนักๆเข้าจะกลายเป็นว่า อะไรที่แพร่หลายถือว่าหยวนๆกันไป   ซึ่งไม่สมควร

มีคำหนึ่งที่ดิฉันรับการตัดสินของรอยอินไม่ได้  คือคำว่า ขะมักเขม้น   
คำนี้ยังไงก็ต้องอ่านว่า ขะมักขะเม่น
แต่รอยอินอนุโลมให้อ่านทั้ง  ขะมักขะเม่น และ ขะหฺมักขะเม่น
คำหลังยังไงก็ผิดตามหลักไวยากรณ์  เพราะไม่ได้สะกดว่า "ขมัก" ซึ่งถ้าสะกดแบบนี้   อนุโลมได้ให้ออกเสียง ห นำ  อย่างคำว่า ยักษ์ขมูขี  ขมู  คำหลังออกเสียง ห นำ  
แต่นี่มีสระ อะ คั่นกลางอยู่ทั้งตัว   รอยอินไปอนุโลมได้ยังไง ไม่เข้าใจ

ขอให้ดูคำอธิบายของรอยอิน ว่าขะมักเขม้นแปลว่าอะไร
ก. ตั้งใจทําอย่างรีบเร่งเพื่อให้แล้ว     เสร็จไป, ก้มหน้าก้มตาทํา, เขม้นขะมัก ก็ว่า.
เขม้นขะมัก ท่านอนุโลมให้ออกเสียงว่า ขะเม่นขะหมักหรือเปล่านะ?


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ม.ค. 11, 08:52
คำว่า ปราณี ที่ถูกต้องก็เห็นแต่เป็นชื่อคน  ยังหาประโยคที่มีคำนามว่า ปราณี ไม่ได้  คุณเพ็ญชมพูช่วยหามาหน่อยปะไร
มีปราณีมากมายอยู่ตามท้องถนน งั้นหรือ   หรือว่า  ผู้ชาย และผู้หญิง  ต่างก็เป็นปราณี  ;D

นอกจาก ปราณี จะอยู่ในชื่อคน ยังอาจมีที่ใช้ได้อยู่อีกแห่งหนึ่งคือในคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง

หากขาดลมปราณี           ทุกชีวีไร้ชีวิต
โปรดเถิดช่วยโปรดคิด      ไว้ชีวิตด้วยปรานี

ถ้าไม่มี สระอี คงจะสะดวกให้การใช้หน่อย

ปราณ [ปฺราน] น. ลมหายใจ; สัตว์มีชีวิต, ชีวิต, ใจ. (ส. ปฺราณ; ป. ปาณ).

การฝึกลมปราณนี้ มีพื้นฐานจากการฝึกสมาธิให้ใจสงบ

 ;D
 
 


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ม.ค. 11, 09:18
มีคำหนึ่งที่ดิฉันรับการตัดสินของรอยอินไม่ได้  คือคำว่า ขะมักเขม้น   
คำนี้ยังไงก็ต้องอ่านว่า ขะมักขะเม่น
แต่รอยอินอนุโลมให้อ่านทั้ง  ขะมักขะเม่น และ ขะหฺมักขะเม่น
คำหลังยังไงก็ผิดตามหลักไวยากรณ์  เพราะไม่ได้สะกดว่า "ขมัก" ซึ่งถ้าสะกดแบบนี้   อนุโลมได้ให้ออกเสียง ห นำ  อย่างคำว่า ยักษ์ขมูขี  ขมู  คำหลังออกเสียง ห นำ  
แต่นี่มีสระ อะ คั่นกลางอยู่ทั้งตัว   รอยอินไปอนุโลมได้ยังไง ไม่เข้าใจ

ขอให้ดูคำอธิบายของรอยอิน ว่าขะมักเขม้นแปลว่าอะไร
ก. ตั้งใจทําอย่างรีบเร่งเพื่อให้แล้ว     เสร็จไป, ก้มหน้าก้มตาทํา, เขม้นขะมัก ก็ว่า.
เขม้นขะมัก ท่านอนุโลมให้ออกเสียงว่า ขะเม่นขะหมักหรือเปล่านะ?


ที่จริง ถ้าราชบัณฑิตยฯ จะอนุโลมให้อ่าน ขะมักเขม้น ว่า ขะหมักขะเม่น   ได้  ก็ต้องทำมากกว่ายอมให้อ่านผิดๆ   ซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ
จะให้ถูก คือต้องแก้ไขตั้งแต่การสะกดคำ    ให้เขียนว่า ขะมักเขม้น หรือ ขมักเขม้น  ก็ได้
ตัดสระอะ ออกไป คำนี้จึงอ่านได้ว่า ขะหมักขะเม่น   

แต่ท่านไม่ทำอย่างนั้น  ไปอนุโลมว่า การอ่านผิด ถ้าอ่านกันมานาน  จนชินกันไปหมดแล้วก็ถือว่ายอมรับได้  ไม่ว่าจะสะกดยังไงก็ตาม
เลยไม่ต่างอะไรกับการตั้งสินค้าบนทางเท้าสาธารณะ   ถ้าปล่อยให้ตั้งมานาน  จนไล่ไม่สำเร็จ   ก็ให้ถือว่าถูกต้อง รู้แล้วรู้รอดไป

เห็นด้วยกับคุณเทาชมพู

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 11, 11:54

ลับสมองลองปัญญา

มีปัญหามาถามคำอังกฤษ
โปรดช่วยคิดทับศัพท์ใช้อย่างไรหนา
footpath, pump  เขียนอย่างไรให้ถูกนา
อีก tent ภาษาไทยอย่างไรดี

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 11, 12:00
ขอผ่านให้ท่านอื่น
เพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีทับศัพท์ของราชบัณฑิตฯปัจจุบัน


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 21 ม.ค. 11, 15:28
ขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์เทาชมพูและท่านผู้รู้ทุกท่านด้วยครับ

ปัจจุบัน ผมยังประสบปัญหาเมื่อต้องเขียนคำสองคำนี้ การ กับ การณ์ ครับ

   ถ้าเมื่อไรจะเขียน “เหตุการณ์” นั่นพอจะนึกออกหละครับว่า กอไก่ สระอา รอเรือ นอเณร การันต์ หรือ “อุดมการณ์” ก็พอจำได้ว่าต้องเขียนเช่นนี้ แต่พอยามใดจะเขียนคำที่มีความหมายว่า ผู้กระทำความไม่สงบให้แก่อาณาจักร ก็งงชะงักครับ มิรู้ว่าควรเขียน “ผู้ก่อการร้าย” หรือ “ผู้ก่อการณ์ร้าย” ผมเคยพิมพ์ “แถลงการณ์” แล้วคุณน้าท่านติงเตือนให้ว่า “มีนอเณรการันต์ด้วย” สรุปแล้ว พอจะมีหลักเกณฑ์จดจำหรือไม่ครับ เมื่อใดพึงใช้ “การ” แหละยามไหนจึงควรใช้ “การณ์”

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 11, 15:52
การ ๑ น. งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา, มักใช้เข้าคู่กับคํา งาน เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน, ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่, เช่น การบ้าน การครัว การคลัง การเมือง, ถ้าอยู่หน้ากริยา ทํากริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน.

การณ์ [กาน] น. เหตุ, เค้า, มูล, เช่น รู้เท่าไม่ถึงการณ์ สังเกตการณ์. (ป., ส.).

 
อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ เขียนเรื่อง อุดมการณ์ - อุดมการ ไว้ คุณชูพงศ์ลองไปอ่านดู

http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1187 (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1187)


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 21 ม.ค. 11, 15:56
ขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูอย่างยิ่งครับ หมดคู่ การ กับ การณ์ แล้ว ต่อไป ผมยังมี กาล กับ กาฬ อีกคู่หนึ่งด้วยครับ แหะๆ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 11, 16:01
กาล ๑, กาล- [กาน, กาละ-] น. เวลา, คราว, ครั้ง, หน. (ป., ส.).
กาล ๒ [กาน] (โบ) น. คําประพันธ์.

กาฬ, กาฬ- [กาน, กาละ-, กานละ-] น. รอยดําหรือแดงที่ผุดตามร่างกายคนเมื่อตายแล้ว. ว. ดํา, มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส. (ป.).



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 11, 16:02

ลับสมองลองปัญญา

มีปัญหามาถามคำอังกฤษ
โปรดช่วยคิดทับศัพท์ใช้อย่างไรหนา
footpath, pump  เขียนอย่างไรให้ถูกนา
อีก tent ภาษาไทยอย่างไรดี

 ;D

คุณชูพงศ์ลองให้ความเห็นคำข้างบนหน่อยเป็นไร

 8)


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ม.ค. 11, 11:00
บางทีการบ้านอาจจะยากไป

เอาใหม่

footpath - ฟุตบาท หรือ ฟุตปาธ

pump     - ปั๊มพ์  หรือ ปั๊ม

tent      - เต๊นท์ หรือ เต็นท์

เชิญคุณเทาชมพูลองมาช่วยวิจารณ์หน่อยว่าควรใช้คำไหน

ไม่ต้องเกรงใจท่านรอยอิน

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 11, 18:35
ดิฉันไม่ค่อยจะขัดแย้งท่านรอยอิน เพิ่งมายกเว้นเรื่องทับศัพท์  เพราะท่านไม่ยอมให้ใช้วรรณยุกต์    ทำนองท่านอ้างว่าเวลาฝรั่งเขาออกเสียง  เสียงสูงต่ำเปลี่ยนแปลงได้ไม่คงที่ตามลักษณะของประโยค   ท่านเลยไม่ให้ใช้วรรณยุกต์กำกับคำไทยที่ถอดเสียงจากคำฝรั่ง
ส่วนดิฉันเห็นว่าคำไทยไม่ว่ามีวรรณยุกต์หรือไม่มี  คำนั้นมีเสียงวรรณยุกต์กำกับตายตัวอยู่แล้ว   ยิ่งไม่ใส่วรรณยุกต์ยิ่งออกเสียงเพี้ยนหนักเข้าไปอีก
เช่น tent  ไปออกเสียง เตนท์  หรือเต็นท์   มันก็กลายเป็นเสียง เตน (สามัญ) หรือเต็น (เสียงสั้น)อย่างนกกระเต็น  ยังไงฝรั่งเขาก็ไม่ออกเสียง tent ว่า  เต็น อยู่แล้ว
สรุป อยากเขียนว่า
footpath -หรือ ฟุตปาธ
pump     - ปั๊มพ์
tent      - เต๊นท์
แต่บางทีอยากเอาใจรอยอินขึ้นมา เพราะสอนการแปล ต้องเป็นแม่ปูที่ดีเดินตามรอยผู้ใหญ่  จึงจำต้องสะกดตามรอยอินกำหนดให้ ทั้งๆไม่เห็นด้วย
หวังว่าอีกไม่นาน รอยอินจะอนุโลม เหมือนอนุโลมให้อ่าน ขะหมักขะเม่น มาแล้ว


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ม.ค. 11, 08:50
เห็นด้วยกับคุณเทาชมพู

tent - เต็นท์  เป็นตัวอย่างของหลักการไม่ใส่วรรณยุกต์ในคำทับศัพท์ที่มาจากภาษาอังกฤษของท่านรอยอิน

๕. การใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ การเขียนคำทับศัพท์ ไม่ต้องใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ ยกเว้นในกรณีที่คำนั้นมีเสียงซ้ำกับคำไทย จนทำให้เกิดความสับสน อาจใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ได้ เช่น

coke           =      โค้ก
coma          =      โคม่า (http://www.royin.go.th/th/profile/index.php?SystemModuleKey=127&SystemMenuID=1&SystemMenuIDS=)

จะเห็นว่าท่านรอยอินให้ข้อยกเว้นไว้เหมือนกัน หากทำให้สับสนมากนัก อาจใส่วรรณยุกต์ได้

pump - ปั๊ม  นี่คงไม่อยู่ในหลักการทับศัพท์ของท่านรอยอิน น่าจะอนุโลมให้เขียนตามความนิยมมากกว่า (หรืออย่างไร ?)

สุดท้าย

footpath - ฟุตบาท = สองบาทา นี่เป็นความผิดเต็ม ๆ ของผู้ใช้ ไม่เกี่ยวกับท่านรอยอิน

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 11, 09:33
ก็เห็นเขานิยมสะกดว่า ปั๊มน้ำมัน กับ ปั็มหัวใจ   คำแรกเป็นคำนาม  คำที่สองเป็นคำกริยา
เพื่อไม่ให้สับสนว่า คุณไปทำกิริยาปั๊มน้ำมัน แบบเดียวกับปั๊มหัวใจ   ก็เลยใส่ พ์ เข้าไปในคำแรก


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.พ. 11, 15:24
 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 11, 16:16
พิลาปร่ำน้ำตานอง                พิราบสองตัวบินหนี
พระพิราพนาฏศิลปี                ถูกต้องดีใช่ไหมเอย


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.พ. 11, 16:49

         ถูกต้องและครบถ้วน          ทุกกระบวนการใช้คำ
     ตัวอย่างมีแนะนำ              ดูเอาไว้ใช้ช่วยกัน

                    พิราบพิลาปร่ำ                 เหมือนน้องคร่ำครวญจาบัลย์     
          จากพรากเหมือนพรากขวัญ   เนตรพี่ไว้ให้เกรียมกรอม

            กาพย์เห่เรือ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (http://www.reurnthai.com/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7)

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: fishstar ที่ 05 ก.พ. 11, 03:02
สวัสดีค่ะ 

    เป็น น.ร.ใหม่  เข้ามารับความรู้ด้วยคนค่ะ
ขอบคุณทุกๆ ท่าน ที่มีน้ำใจแบ่งปัน  ได้จดหลายๆ คำเอาไว้
สำหรับใช้ให้ถูกต้องยิ่งขึ้นแล้วค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.พ. 11, 14:15
เรื่องของชื่อ ว่ากันว่าเป็นเอกสิทธิ์เขียนอย่างไรก็ไม่ได้ไม่ถือว่าผิด

เป็นจริงตามนั้นหรือ   ???

มีใครชื่อ ณัฐ กับ นัฐ บ้าง

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 21 ก.พ. 11, 14:44
ความหมายต่างกันลิบลับ ใครใช้ นัฐ นัฏฐ เปลี่ยนมาเป็น ณัฐ ณัฏฐ เถิดครับ

ผมเคยเห็นชื่อลูกผู้น้องคนนึงในสาแหรกสกุล มี นัฏฐ์- นำหน้าชื่อ
ก็ไม่กล้าไปทักอะไร เพราะไม่ได้สนิทมาก

แต่ตอนนี้ เห็นใช้ ณัฏฐ์- แทนแล้ว 
ไม่ทราบว่าเปลี่ยนชื่อ หรือ ในสาแหรกสะกดผิด 
แต่ก็โล่งใจ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.พ. 11, 16:31
คุณภาณุเมศวร์กลัวอย่างนี้เอง   ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: fishstar ที่ 22 ก.พ. 11, 22:08
รบกวนถามค่ะ  ว่า stand cheer ของ น.ร.ที่แปรอักษร
น่าจะเขียนเป็นภาษาไทยอย่างไรถึงจะถูกต้องคะ
สแตนด์ หรือ แสตนด์  ขอบคุณค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ก.พ. 11, 15:19
คำนี้ไม่มีในพจนานุกรม แต่ถ้าดูตัวอย่างคำภาษาอังกฤษแนวนี้ซึ่งมีอยู่ในพจนานุกรม

skate - สเกต   scandium - สแกนเดียม   slang - สแลง

ดังนั้น คำว่า stand ควรเขียนว่า สแตนด์

มีอยู่ในคำหนึ่งผิดไปจากนี้

stamp - แสตมป์

อยากทราบเหมือนกันว่า

ทำไมไม่ใช้ว่า สแตมป์

???


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: fishstar ที่ 23 ก.พ. 11, 17:56
ขอบคุณค่ะ คุณเพ็ญชมพู
เพราะเห็นคำว่า แสตมป์ สแตนดาร์ด สแกน ฯลฯ เลยชวนให้งงและสงสัย


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 11, 15:12
ปรกติสระอาหลังตัว ฤ ตัว ฦ ต้องหางยาว  แต่พบบ่อย ๆ ว่ากลายเป็นหางสั้นเสียงอย่างนั้น เหตุผลเข้าใจว่าหา "สระอาหางยาว" บนแป้นพิมพ์ไม่เจอ (หรือไฉน)

ขอแนะนำให้รู้จกตำแหน่งของสระอาหางยาวบนแป้นพิมพ์

อยู่ตรงนี้นี่ไง

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 มิ.ย. 11, 19:04
มานั่งท้าวคางรอฟังด้วย ...

ท้าวคาง น่าจะเป็นคำโบราณ ... ต้องไปดูที่กระทู้คำไทยที่หายไปว่าบรรจุคำนี้แล้วหรือยัง์

คำไหนถูก

เท้าคาง หรือ ท้าวคาง

 ;)


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 11, 19:13
นึกแล้วว่าคุณเพ็ญชมพูต้องเข้ามาขีดกากะบาทแดง

รอยอินให้ใช้ว่า เท้าคาง

คำนี้เวลาอ่านออกเสียง เราอ่านเป็นเสียงยาว ว่าท้าว- คาง    ไม่ใช้เสียงสั้น  แต่รอยอินท่านให้สะกดสระ เ-า ซึ่งเป็นสระเสียงสั้น
คำที่รอยอินให้สะกดด้วยสระเสียงสั้น   แต่กลับออกเสียงเป็นเสียงยาว มีอยู่หลายคำ   
เช่นคำว่า เจ้า  ในคำว่า ข้าวเจ้า  หรือ เจ้านายฝ่ายเหนือ  ออกเสียงยาวกว่า เจ้า ที่เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2  หรือ 3 อย่าง  เจ้าส้มฉุน

ดิฉันก็เลยเห็นใจคนที่สะกดผิดในเรื่องนี้  ไม่อยากเข้าข้างรอยอิน


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 มิ.ย. 11, 20:26
มีตัวอย่างอีกหลายคำ

คำว่า                             ออกเสียงว่า

น้ำ                                น้าม
ไม้                                ม้าย
ไหว้                              ว่าย
ได้                                ด้าย
ใต้                                ต้าย
เก้า                               ก้าว
เช้า                               ช้าว
เปล่า                              ปล่าว

การออกเสียงเช่นนี้เป็นสำเนียงกรุงเทพ  สำเนียงอยุธยาอาจเป็นอีกอย่างหนึ่ง

หากให้เจ้าส้มฉุนมาอ่านคำข้างบน อาจจะอ่านได้ถูกต้องตามตัวเขียนก็ได้

และอาจจะแอบบ่นด้วยว่า

"ทำไมคนกรุงเทพพูดเหน่อจัง"

 ;D




กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 08 มิ.ย. 11, 21:00
มานั่งท้าวคางรอฟังด้วย ...

ท้าวคาง น่าจะเป็นคำโบราณ ... ต้องไปดูที่กระทู้คำไทยที่หายไปว่าบรรจุคำนี้แล้วหรือยัง์

คำไหนถูก

เท้าคาง หรือ ท้าวคาง

 ;)


ถ้าเปรียบเทียบลักษณะของคำสองคำนี้ คือ "ไม้เท้า" กับ "ท้าวคาง" ความหมายทางกริยาก็คงจะคล้ายคลึงกัน คือ ค้ำเอาไว้
รอยอินจึงกำหนดให้ใช้คำว่า เท้า
ผมอาจจะอธิบายเรื่องหลักภาษาไทยไม่ถูกต้องมากนัก ก็เป็นเรื่องธรรมดาของเด็กที่เรียนสายวิทย์ที่ไม่ค่อยจะถูกกับวิชาภาษาไทย เหมือนเด็กที่เรียนสายศิลป์ที่ไม่ค่อยจะถูกกับวิชาคณิตศาสตร์


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 มิ.ย. 11, 22:18
^
^
ข้างบนนี้ลุงไก่พูดถึงคำว่า กริยา

มีอีกคำหนึ่งเขียนคล้าย ๆ กัน คือ กิริยา

กริยา และ กิริยา ต่างกันอย่างไร

ลองอ่านบทความของอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐดู


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 มิ.ย. 11, 03:31
หาตัวอย่างของจริงมาให้ดูกัน ... ที่พันทิบมีภาษาไทยแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 มิ.ย. 11, 14:38
วิเคราะห์จากตัวอย่างข้างบน

การสะกดคำผิดเกิดขึ้นด้วย ๒ เหตุผล

๑. ไม่ทราบคำที่ถูกต้อง ตัวอย่าง พันทิบ, อ่ะ

๒. ทราบคำที่ถูกต้องแต่ต้องการเขียนให้แปลกออกไป มักเป็นพวกวัยรุ่น ตัวอย่างเช่น เรว, คับ

เหตุผลที่สองแก้ง่าย พ้นวัยก็เขียนได้ถูกเอง  แต่เหตุผลแรกแก้ยากกว่า ต้องแก้ไขโดยการเรียนรู้ว่าคำที่ถูกต้องเขียนอย่างไร และพร้อมที่จะแก้ไข

 :D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ก.ย. 11, 11:51
ไก่ป่า ครับผ๊ม...! (http://www.o2blog.com/myblog/blog.php?month=&year=&user=assanee1&page=&syear=&smonth=&sdate=&style=1&id=1626)

ครับผ๊ม คำนี้ดูท่าจะมีปัญหา

คำที่ถูกต้องน่าจะเป็นอย่างไรเอ่ย

 ;D



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 11, 12:32
ครับพ้ม!


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ก.ย. 11, 17:56
พม ผ่ม ผ้ม/พ่ม พ้ม ผม  ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ก.ย. 11, 09:33
เรื่องของ "ไม้ตรี" ซึ่งมักอยู่ผิดที่ในอีกหลายคำ

คำว่า เว็บ และ คลิก เป็นอักษรต่ำคำตายสระเสียงสั้นเหมือนกัน ผันได้สองเสียงคือใช้ไม้เอกเป็นเสียงโท และไม่มีวรรณยุกต์เป็นเสียงตรี

ฉะนั้น เว็บ และ คลิก จึงมีเสียงตรีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องใช้ไม้ตรี

คำประเภทนี้ที่ใช้ผิดมีอยู่มากมายเช่น สนุกเกอร์ ไม่ใช่ สนุ๊กเกอร์ ปุ๊กลุก ไม่ใช่ ปุ๊กลุ๊ก  คุกกี้ ไม่ใช่ คุ๊กกี้ ฟลุก ไม่ใช่ ฟลุ๊ก

ส่วนคำอธิบายของคุณเทาชมพูเป็นเรื่องของอักษรต่ำคำตายสระเสียงยาว ผันได้สองเสียงเช่นกันคือไม่มีวรรณยุกต์เป็นเสียงโท และใช้ไม้โทเป็นเสียงตรี

เว็บ และ เว้บ จึงออกเสียงตรีเหมือนกัน แต่คำหนึ่งเสียงสั้น อีกคำหนึ่งเสียงยาว 

ตัวอย่างของคำประเภทนี้ที่ใช้ผิดเช่น โน้ต ไม่ใช่ โน๊ต   ฟู้ด ไม่ใช่ ฟู๊ด  เค้ก ไม่ใช่ เค๊ก  

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.พ. 12, 12:58
^
^
ฝาก มะเมียะ ที่ไม่ใช่ มะเมี๊ยะ ไว้ในอ้อมใจอีกคำ

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 12, 21:26
นึกแล้วว่า มะเมี๊ยะ คงไม่พ้นระบบกรองคำของคุณเพ็ญชมพูไปได้  :)

ขอทวนภาษาไทยชั้นมัธยมอีกครั้ง

อักษรต่ำ ผันด้วยสระเสียงสั้น    ออกเสียงเป็นเสียงตรี  โดยไม่ต้องมีวรรณยุกต์กำกับ
มะ    ไม่ใช่    ม๊ะ
เยาะ  ไม่ใช่    เย๊าะ
วะ    ไม่ใช่    ว๊ะ
มุทะลุ    ไม่ใช่    มุ๊ท๊ะลุ๊
อายิโนะโมะโต๊ะ     ไม่ใช่ อายิโน๊ะโม๊ะโต๊ะ       
ป.ล.   ต. เป็นอักษรกลาง ผันด้วยสระเสียงสั้นออกเสียงเป็นเสียงเอก  ถ้าให้เป็นเสียงตรีต้องใส่ไม้ตรี


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.พ. 12, 21:39
จำได้ว่า อายิโน๊ะโม๊ะโต๊ะ กันอยู่หลายปีทีเดียว

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: กระต่ายหมายจันทร์ ที่ 16 ก.พ. 12, 23:35
^
^
ฝาก มะเมียะ ที่ไม่ใช่ มะเมี๊ยะ ไว้ในอ้อมใจอีกคำ

 ;D

แหะๆๆๆ ขอโทษค่ะ  :-[ :-[


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ก.พ. 12, 22:42
แหม๊ พ้มก็ไม่เคยลองนั่งซะด้วย (คุณเพ็ญไม่ต้องแก้ตัวสะกดนะครับ อ่านออกเสียงอย่างไรผมก็อุทานอย่างนั้น)

ไม่แก้ (ก็ไม่แก้) แต่อยากแนะ        แม้และแหม๊เสียงเดียวกัน
อยากให้ดูการผัน                       แม-แหม่-แม่-แม้-แหม เอย

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 12, 06:32

ผมว่าแล้ว

ยังไงก็ต้องโดนแน่



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 08:13
อึ๊ ฮือออ โอ่ะ โฮ (เชิญคุณเพ็ญตามถนัดเลยครับ)

ครั้งนี้อยากชี้ชวน      เพื่อนพี่ล้วนเก่งภาษา
ช่วยพิจารณา          "โอ่ะ" นั้นหนาผิดอย่างไร

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/12/K7333938/K7333938-8.jpg)

ตำราประถมสาม       ตอบคำถามข้างบนไว้
พิศดูให้แน่ใจ          ภาษาไทยไม่ยากเลย   

 ;D        


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 09:44
อ อ่าง เป็นอักษรกลาง   ผันด้วยสระ เสียงสั้น  ออกเสียงเป็นเอก  โดยไม่ต้องใส่ ไม่เอก
โอ่ะ ----> ออกเสียงเท่ากับ  โอะ
แต่ถ้าคุณนวรัตนเปลี่ยนจาก อ เป็น ฮ 
โฮ่ะ----จะไม่ออกเสียงเท่ากับ  โฮะ   คำแรกเป็นเสียงโท  คำที่สองเป็นเสียงตรี   ถ้าจะออกเสียงเอกให้ได้ ต้องใช้อักษรสูงที่คู่กับ ฮ  คือ ห   
โห่ะ

เรื่องน่าเวียนหัวของการผันวรรณยุกต์ไทย คือมันขึ้นกับอักษรสูง กลาง ต่ำ   ทำให้สระเดียวกัน ถ้าอยู่กับอักษรคนละกลุ่มก็ออกเสียงต่างกัน    จึงเป็นเรื่องน่าเห็นใจที่เด็กสมัยนี้ผันกันไม่ถูก   เพราะหลักสูตรสอนให้จำเป็นคำๆ  ไม่ได้จำอักษรเป็นตัวๆ   พอมาเรียนอักษรสูง กลาง ต่ำก็จะสับสน   หรือไม่บางโรงเรียนอาจไม่ได้สอนเลย
ส่วนคุณนวรัตน ท่านเป็นเด็กสมัยก่อน  เรียนหลักสูตรเดียวกับดิฉัน   เรื่องผันวรรณยุกต์ก็น่าจะผันเป็นแน่นอน  แต่ไปเรียนทางสาขาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทย ก็อาจจะลืมไปบ้าง   ดิฉันเองถ้าไม่ได้เป็นครูก็คงลืมเหมือนกัน 


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 10:34
อ อ่าง เป็นอักษรกลาง   ผันด้วยสระ เสียงสั้น  ออกเสียงเป็นเอก  โดยไม่ต้องใส่ ไม่เอก
โอ่ะ ----> ออกเสียงเท่ากับ  โอะ
แต่ถ้าคุณนวรัตนเปลี่ยนจาก อ เป็น ฮ  
โฮ่ะ----จะไม่ออกเสียงเท่ากับ  โฮะ   คำแรกเป็นเสียงโท  คำที่สองเป็นเสียงตรี   ถ้าจะออกเสียงเอกให้ได้ ต้องใช้อักษรสูงที่คู่กับ ฮ  คือ ห    
โห่ะ   


"โห่ะ" หนาว่าถูกไหม      ลองดูใหม่กันอีกที
ผันอักษรสูงนี้              กรณีเดียวกับกลาง

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 11:05
มายืนเข้าแถวเดียวกับคุณ Navarat   :-[
โห่ะ  ต้องสะกดว่า โหะ
เห็นไหม ลืมจนได้


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 14:23
คำที่พบบ่อยบ่อย              มิใช่น้อยนั้นคือ "อ่ะ" (http://www.google.co.th/webhp?hl=th&tab=ww#hl=th&site=webhp&q=%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B0+&oq=%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B0+&aq=f&aqi=g1&aql=&gs_sm=12&gs_upl=203188l203188l6l204891l1l1l1l0l0l0l0l0ll0l0&bav=on.2,or.r_gc.r_pw.,cf.osb&fp=1c37ddd9f7e8e04b&biw=1024&bih=625)
"โอ่ะ" "โห่ะ" พบน้อยจ้ะ      "อ่ะ" เป็น "อะ" จะปลอดภัย
 
;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 17:10
เป็นลม


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 17:45
ภาษาไทยเป็นเสียงดนตรี คนไทยจึงออกเสียงได้สารพัดตั้งแต่เสียงสูงไปหาต่ำหรือต่ำไปหาสูง บางทียังมีลูกเล่นได้อีกตั้งแต่ใช้หลอดเสียงในคำคอ ไปจนถึงริมฝีปาก เพื่อแสดงอารมณ์

ภาษาไทยจึงไม่ใช่ศาสตร์อย่างเดียว แต่ยังมีศิลป์ด้วย

โอะ ก็อ่านว่าโอะแหละครับ ทำนองเดียวกับเด็กหัดเรียนผันคำว่า อะ อา อิ อี อึ อือ โอะ โอ เสียงมันมาอยู่ตรงกลางๆเกือบจะปลายลิ้นแล้ว ไร้ความรู้สึก

แต่ โอ่ะ ที่เป็นคำอุทานด้วยความทึ่งในสติปัญญาของคุณตั้ง ต้องอ่านให้ออกเสียงจากกลางอกมาสุดที่ลำคอ คนอ่านก็จะได้ความรู้สึกว่าผมมีความจริงใจต่อความทึ่งที่มีต่อคุณตั้งจริงๆ

แน่ะ ว่าเข้านั่น
พอรับฟังได้ไหมครับ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 18:50
ถึงคิวของ The Love Guru  ( ชื่อภาคไทย "ปรมาจารย์รักสูตรพิสดาร"  )เป็นหนังตลกที่ยัดเยียดมุก (ระวังอย่างยิ่งที่จะไม่สะกด ข. ไข่ให้คุณเพ็ญชมพูพิมพ์ตัวแดงกลับมาให้)

ใน ๕ คำของคุณเทาชมพูมีอยู่่คำหนึ่งยังมีปัญหา

มุก (ตลก) ไม่ใช่ มุข

มีเหตุผลการใช้อยู่สองฝั่ง

มุก - เหตุผลของราชบัณฑิตยสถาน  ความคิดเห็นที่ ๑๑๘

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/02/K5115945/K5115945.html#118

มุข - เหตุผลของคณะกรรมการพจนานุกรม สำนักพิมพ์มติชน ความคิดเห็นที่่ ๑๑๙

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/02/K5115945/K5115945.html#11
9

ราชบัณฑิตยสถานมีเหตุผลที่มาที่ไปของคำว่า "มุก" ชัดเจนกว่าค่ะ

คุณเทาชมพูใช้ "มุก" เพราะให้คะแนนท่านรอยอิน

หากใครให้คะแนนท่านมติชนใช้ "มุข"

ก็คงไม่ว่ากัน

 ;)



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 20:11
ก็เห็นมีแต่คุณเพ็ญชมพูนั่นแหละที่จะว่าหรือไม่ว่า     ;)


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 15:00
แว่ว ๆ คำว่า "เท่ห์ป่ะ"

เท่ห์

คำนามประเภทวิสามานยนาม เป็นชื่อเฉพาะที่บัญญัติขึ้นมา สำหรับใช้เรียกร้องชี้เฉพาะเจาะจงลงไป จะสะกดอย่างไรหรือเขียนอย่างไรก็ได้ เหมือนกับคำว่า เท่ ที่นักร้องชื่อดังสะกดผิดว่า เท่ห์ ทำเอาหลายคนเขียนสะกดผิดเมื่อนำคำเหล่านั้นมาใช้เป็นคำนามประเภทสามานยนาม เช่น สวย เท่ห์ ทันสมัย ใส่.......

ป่ะ

คำที่พบบ่อยบ่อย              มิใช่น้อยนั้นคือ "อ่ะ" (http://www.google.co.th/webhp?hl=th&tab=ww#hl=th&site=webhp&q=%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B0+&oq=%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B0+&aq=f&aqi=g1&aql=&gs_sm=12&gs_upl=203188l203188l6l204891l1l1l1l0l0l0l0l0ll0l0&bav=on.2,or.r_gc.r_pw.,cf.osb&fp=1c37ddd9f7e8e04b&biw=1024&bih=625)
"โอ่ะ" "โห่ะ" พบน้อยจ้ะ      "อ่ะ" เป็น "อะ" จะปลอดภัย


ป่ะ เป็น ปะ ก็จะปลอดภัยเหมือนกัน

 ;D



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 15:30
ปัญหาของการสะกดวรรณยุกต์ไทย ในปัจจุบันนี้   คือความเปลี่ยนแปลงด้านออกเสียงในภาษาพูด  ทำให้เสียงวรรณยุกต์แต่เดิมของเราครอบคลุมไปไม่ถึงเมื่อมาเป็นภาษาเขียน
อย่างคำว่า ป่ะ ที่คุณเพ็ญชมพูท้วงว่าควรสะกดว่า ปะ   ถ้าพิจารณาจากรูปประโยคจะเห็นว่า สองคำนี้ออกเสียงไม่เหมือนกัน  จะให้สะกดเหมือนกันคงไม่เหมาะ

ปะผ้า กับ  เท่ป่ะ  ออกเสียงไม่เหมือนกัน  คำว่า ป่ะ ออกเสียงสั้นกว่า ปะ

คุณก. ไม่ชอบปะผ้า  ใช่ปะ?  ออกเสียงไม่เหมือนกับ คุณก. ไม่ชอบปะผ้า ใช่ป่ะ?

เชิญอ่านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย

แซ่บ (๑) โดย รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ    

มีผู้สงสัยว่าคำว่า "แซ่บ" ที่เราออกเสียงสั้นๆ กันนั้น ทำไม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ จึงกำหนดให้เขียนว่า "แซบ" โดยไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ ถ้าไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับก็ย่อมหมายความว่าคำนี้ออกเสียงยาวเท่าๆ กับคำว่า "แซม" ใช่หรือไม่

ก่อนที่จะตอบข้อสงสัยนี้ได้ สมควรที่จะพิจารณาระบบการเขียนของภาษาไทยเสียก่อน ดังนี้

๑. การเขียนสัญลักษณ์แสดงเสียงสั้นของภาษาไทยนั้นแสดงได้ด้วยสระสั้น อันได้แก่ อะ อิ อึ อุ เอะ แอะ โอะ เอาะ เออะ เอียะ เอือะ อัวะ
๒. สระอะ หากมีตัวสะกด รูปอะ เปลี่ยนเป็นไม้หันอากาศ เช่น
ปะ + น = ปัน
๓. สระเอะ และ สระแอะ หากมีตัวสะกด รูปอะ เปลี่ยนเป็นไม้ไต่คู้ เช่น
เปะ + น = เป็น
แกระ + น = แกร็น
๔. สระโอะ หากมีตัวสะกด รูปโอ กับ อะ ลดรูปหายไป เช่น
โกะ + ล = กล
๕. สระเอาะ หากมีตัวสะกด เปลี่ยนรูปเหลือเพียง ตัวออ เช่น
เคร่าะ + ก = คร่อก
๖. สระเออะ หากมีตัวสะกด ตัวออ และ รูปอะ เปลี่ยนเป็น รูปอิ เช่น
เงอะ + น = เงิน
๗. สระเอียะ และ สระเอือะ หากมีตัวสะกด รูปอะ หายไป เช่น
เจี๊ยะ + ก = เจี๊ยก
เอื๊อะ + ก = เอื๊อก
๘. สระอัวะ หากมีตัวสะกด รูปไม้หันอากาศ กับ รูปอะ หายไป เช่น
จั๊วะ + ก = จ๊วก

ใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ปรากฏคำสั้นยาวตามเกณฑ์ที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนี้
กลุ่มแรก หากพยัญชนะต้นเป็นพยัญชนะเสียงกลาง (อักษรกลาง) หรือพยัญชนะเสียงสูง (อักษรสูง) เสียงวรรณยุกต์คงเดิม เช่น
เสียงยาว เสียงสั้น มีไม้ไต่คู้กำกับ
เสียงวรรณยุกต์ไม่เปลี่ยน
เลียนแบบ นอนแบ็บ
เปรต เป็ด
เศรษฐี เสร็จ
เหตุ เห็ด
เอน เอ็น
เอดส์ (อ. AIDS) เอ็ด

กลุ่มที่สอง หากพยัญชนะต้นเป็นพยัญชนะเสียงต่ำ (อักษรต่ำ) และเป็นคำเป็น เสียงวรรณยุกต์คงเดิม เช่น
เสียงยาว เสียงสั้น มีไม้ไต่คู้กำกับ
เสียงวรรณยุกต์ไม่เปลี่ยน
นิกายเซน ลายเซ็น
ของแพง ผักแพ็งแพว
วอมแวม ว็อมแว็ม
วอมๆ แวมๆ ว็อมๆ แว็มๆ
แวมๆ แว็มๆ
หนวดแหยม อย่าไปแหย็ม

กลุ่มที่สาม หากพยัญชนะต้นเป็นพยัญชนะเสียงต่ำ (อักษรต่ำ) และเป็นคำตาย เสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงตรี เช่น
เสียงยาว เสียงสั้นมีไม้ไต่คู้กำกับ
เสียงวรรณยุกต์ตรี
นกแสก แซ็กคาริน (saccharin) (แซะ + ก)
กระแทก แท็กซี่ (แทะ + ก)
พิเภก หญ้าเพ็ก (เพะ + ก)
แลก แล็กเกอร์ (และ + ก)
แล็กโทส (อ. lactose)
เมตตา เม็ด (เมะ + ด)
ยอก, แยก ย็อกแย็ก (เยาะ + ก, แยะ + ก)
ย็อกแย็กๆ
ย็อกๆ แย็กๆ
แยบคาย แย็บ (อ. jab) (แยะ + บ)
แรก แร็กเกต (อ. racket) (แระ + ก)
ลอก ล็อก (เลาะ + ก)
ล็อกเกต (อ. locket)
แวบเดียว แว็บเดียว (แวะ + บ)

ส่วนคำที่มีแต่เสียงสั้น ก็มี เช่น
หลับผล็อย หลับผล็อยๆ เผล็ดดอก มันแผล็บ เผ่นแผล็ว แลบลิ้นแพล็บ แลบลิ้นแพล็บๆ แลบลิ้นแผล็บ แลบลิ้นแผล็บๆ
ว็อบแว็บ ว็อบๆ แว็บๆ

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 15:37
แซ่บ (๒)

คําที่ออกเสียงสั้น แต่ไม่มีรูปไม้ไต่คู้กำกับก็มี เช่น

เสียงยาว เสียงสั้น

แปดเปื้อน บีบแตรแป๊ด

ถั่วแปบ แป๊บเดียว

แปรงลวด เสียงแปร่ง

เจ็บแปลบ เจ็บแปล๊บ

เจ็บแปลบๆ เจ็บแปล๊บๆ

ขุนแผน แผ่นดิน

ถั่วงอก ง่อกแง่ก

นอนแซ่ว

แนบชิด โกยแน่บ

แวดล้อม ตวาดแว้ด

หากพิจารณาโดยผิวเผินอาจจะกล่าวได้ว่า รูปวรรณยุกต์ที่กำกับอยู่ทำให้ออกเสียงสั้น แต่จะทำให้ตอบคำถามมิได้ว่า เหตุใดคำว่า "ง่อกแง่ก" และ "แน่บ" จึงใช้รูปวรรณยุกต์เอกกำกับ เพื่อให้ออกเสียงโท ทั้งๆ ที่ "งอกแงก" และ "แนบ" เป็นเสียงโท อยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีรูปวรรณยุกต์กำกับอีก

ตามหลักการใส่รูปวรรณยุกต์กำกับนั้น ถ้าพยัญชนะต้นเป็นพยัญชนะเสียงต่ำ (อักษรต่ำ) มีสระเสียงยาว และตัวสะกดเป็นคำตาย จะเป็นเสียงโทได้ทันทีโดยไม่ต้องมีรูปวรรณยุกต์กำกับ เช่น งาก แต่ถ้าเป็นสระสั้น ต้องใช้รูปวรรณยุกต์เอกกำกับ เพื่อให้เป็นเสียงโท เช่น งั่ก

เพราะฉะนั้น การที่คำว่า ง่อกแง่ก และ แน่บ มีรูปวรรณยุกต์เอกกำกับ เพื่อให้เป็นเสียงโทได้ ย่อมแสดงว่า คำนี้มีสระสั้น

มีทางเดียวที่จะชี้ได้ว่า คำนี้ใช้สระสั้น ก็คือต้องถอยหลังกลับไปที่รูปเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลง นั้นคือ "ง่อก" น่าจะมาจากสระเอาะ ไม่ใช่สระออ และ "แง่ก" กับ "แน่บ" น่าจะมาจากสระแอะ ไม่ใช่ สระแอ ดังนี้

เง่าะ + ก = ง่อก

แง่ะ + ก = แง่ก

แน่ะ + บ = แน่บ

หากพิจารณาในแง่นี้คำที่เขียนด้วยสระยาวอีกหลายคำ แท้ที่จริงน่าจะเป็นสระสั้นที่เปลี่ยนแปลงมา จึงน่าจะใช้รูปวรรณยุกต์กำกับได้โดยไม่ผิด เช่น

คำที่ปรากฏในพจนานุกรม คำที่น่าจะเขียนได้

ม่อลอกม่อแลก ม่อล่อกม่อแล่ก

มะลอกมะแลก มะล่อกมะแล่ก

ลอกแลก ล่อกแล่ก

วอกแวก ว่อกแว่ก

ในกรณีของสระสั้นที่เปลี่ยนรูปไปเป็นไม้ไต่คู้นั้นอาจจะพิจารณาได้ยากกว่ากรณีของการลดรูปอย่างธรรมดา ทั้งนี้เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปการเขียน ไม่ให้ไม้ไต่คู้ปรากฏคู่กับรูปวรรณยุกต์ เมื่อเครื่องหมายบอกเสียงสั้นหายไป ผู้เรียนภาษาจึงต้องจำเป็นคำๆ ว่า รูปสระสั้นและสระยาวที่เหมือนกันนั้น คำใดเป็นสระสั้น คำใดเป็นสระยาว เช่น เก่ง กับ เก้ง ทำไมคำแรกออกเสียงสั้น ทำไมคำหลังออกเสียงยาว ทั้งๆ ที่รูปสระเหมือนกัน สองคำนี้สามารถสันนิษฐานได้ว่า

เก่ะ + ง = เก่ง

เก้ + ง = เก้ง

ในพจนานุกรม สัพะ พะจะนะ ภาษาไทย ของ ปัลเลอกัวซ์ ยังปรากฏรูปวรรณยุกต์เอกวางอยู่เหนือไม้ไต่คู้ในคำว่า เก่ง ซึ่งพิมพ์ดีดหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ปัจจุบันไม่สามารถแสดงรูปได้แล้ว

หากพิจารณาในแง่นี้คำที่เขียนด้วยสระยาว แต่ความจริงออกเสียงสั้นก็น่าจะใช้รูปวรรณยุกต์กำกับได้ เช่น

คำที่ปรากฏในพจนานุกรม คำที่น่าจะเขียนได้

คุยกันแซด คุยกันแซ่ด

เซแซดๆ เซแซ่ดๆ

อาหารแซบมาก อาหารแซ่บมาก

นอกจากนี้ ก็ยังอาจจะทำให้เขียนคำอื่นๆ ที่ออกเสียงสั้นได้อีก เช่น

คำที่ปรากฏในพจนานุกรม คำที่น่าจะเขียนได้

เสียงกรนครอก เสียงลิงขู่คร่อกๆ

คอยเงก เง็กลั้ง

ซอกเขา ซ็อกเกอร์

เสกคาถา เซ็กซ์

เข้าเซตกัน เข้าเซ็ตกัน

เมืองนอก ถูกน็อก

ขันนอต ขันน็อต

หญ้าแพรก แพ็กของ

มอบหมาย ม็อบ

รอก เพลงร็อก

แรด แร่ด

เวช เว็บ

เนตบอล เน็ตบอล

ยางแฟบ

ผงซักฟอกแฟ้บ ผงซักฟอกแฟ็บ

ส่วนคำอื่นๆ ที่ไม่มีตัวเทียบในพจนานุกรมก็น่าจะเขียนได้ เช่น ไอ้กรั๊วก ชักแหง็กๆ ชักแง็กๆ เรื่องนั้นแป้กไปแล้ว

แม้แต่คำที่พจนานุกรมกำหนดให้เขียนเป็นเสียงยาว ก็อาจจะทำให้เป็นเสียงสั้นได้ เช่น ล็อกเก็ต แร็กเก็ต โดยไม่จำเป็นต้องเขียนด้วยสระยาว แล้วกำหนดให้อ่านเสียงสั้น ดังในคำว่า

แฟลกซ์ [แฟฺล็ก] ชื่อไม้ล้มลุก (อ. flax)

ด้วยเหตุผลการวิเคราะห์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ คำว่า "แซบ" ถ้าออกเสียงสั้นก็น่าจะเขียนว่า "แซ่บ" ได้

จึงเสนอมาเพื่อพิจารณา

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน
 
ถ้างั้นก็ควรมีคำที่ออกเสียงสั้นกว่าเสียงปกติ  สะกดต่างกัน เช่นคำว่า  ปะ-ป่ะ    อะ-อ่ะ   แรด-แร่ด  ฯลฯ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 16:12
ถ้างั้นก็ควรมีคำที่ออกเสียงสั้นกว่าเสียงปกติ  สะกดต่างกัน เช่นคำว่า  ปะ-ป่ะ    อะ-อ่ะ   แรด-แร่ด  ฯลฯ

คำว่า แรด-แร่ด แซบ-แซ่บ กับ ปะ-ป่ะ อะ-อ่ะ   เป็นคนละกรณีกัน

แรด-แร่ด แซบ-แซ่บ เป็นเรื่องที่ไม้ไต่คู้สามารถปรากฏร่วมกับเครื่องหมายวรรณยุกต์ได้  ทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ งง

ลองอ่านบทความเรื่อง ตำแหน่งของไม้ไต่คู้ (๒) (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1988) โดยอาจารย์นิตยา กาญจนะวรรณ เช่นกัน

ไม้ไต่คู้ อักขระตัวแรกที่ค้นพบใน พ.ศ.๒๐๐๐ ดูเหมือนว่าจะเป็นอักขระที่อยู่คู่กับภาษาไทยมาอย่างยืนยงที่สุด เพราะในปัจจุบันนี้ก็ยังคงใช้กันอยู่ และคำว่า ก็ ก็ยังคงเป็นคำพิเศษคำเดียวในภาษาไทยที่เขียนในลักษณะนี้

อย่างไรก็ตาม การใช้ไม้ไต่คู้ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปมิใช่น้อย เมื่อ ดร.นันทนา ด่านวิวัฒน์ ได้ค้นพบว่า ไม้ไต่คู้ ปรากฏครั้งแรกในศิลาจารึกวัดจุฬามณี พ.ศ.๒๒๓๐ มีหน้าที่ ทำให้สระเสียงยาวในพยางค์ที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์กลายเป็นเสียงสั้น นั้น อาจจะเป็นเพราะว่าในขณะนั้นยังไม่มีรูปวรรณยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นในสมัยหลัง และถึงแม้ว่าจะมีหน้าที่บังคับให้เสียงสั้นลงในทำนองเดียวกับไม้ตรี ดังที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ประถม ก กา แต่ตำแหน่งของไม้ไต่คู้กลับถูกจำกัดลงไป ดังนี้

๑. ในอดีตทั้งไม้ไต่คู้และไม้ตรีปรากฏอยู่เหนือสระบนได้ แต่ในปัจจุบันไม้ไต่คู้ไม่สามารถปรากฏอยู่เหนือสระบนได้ ดังที่ปรากฏในเอกสารต่อไปนี้

(จากหนังสือ แบบเรียนเร็ว ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ : เล่ม ๑ หน้า ๙๑)

๒. ในอดีตไม้ไต่คู้สามารถปรากฏร่วมกับเครื่องหมายวรรณยุกต์ ได้ แต่ในปัจจุบันปรากฏร่วมไม่ได้ ดังปรากฏในเอกสารต่อไปนี้

(จากหนังสือ แบบเรียนเร็ว ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ : เล่ม ๑ หน้า ๗๑)


การนำไม้ไต่คู้กลับมาสู่ตำแหน่งเดิมอาจจะให้ทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีคือ ทำให้การอ่านง่ายขึ้น เพราะสามารถระบุได้ชัดเจนว่า สระที่เปลี่ยนรูปไปนั้นมาจากสระสั้นหรือสระยาว เช่น

เก่ง อ่านเสียงสั้น เพราะมาจาก เกะ + ง เปลี่ยนรูปสระอะ เป็นไม้ไต่คู้ แล้วใช้ร่วมกับไม้เอก

เก้ง อ่านเสียงยาว เพราะมาจาก เก + ง แล้วใช้รูปไม้โทอย่างเดียว

ในปัจจุบันนี้ที่เราอ่านได้ว่าตัวหนึ่งสั้นตัวหนึ่งยาวก็เพราะความเคยชิน แต่รูปการเขียนมิได้ช่วยอะไรเลย

ข้อเสียคือ จะต้องมีการปรับปรุงรูปการเขียนภาษาไทยเสียใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ใช้ภาษาสับสน นอกจากนี้ ยังต้องปรับปรุงทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของคอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถแสดงตำแหน่งได้ เพราะในปัจจุบันนี้ทำอย่างไรก็ไม่สามารถจะพิมพ์ไม้ไต่คู้ร่วมกับรูปวรรณยุกต์อื่นหรือสระบน (สระอิ สระอี สระอึ สระอือ) ได้ นอกจากจะใช้วิธีแทรก (insert) สัญลักษณ์ (symbol) ซึ่งทำให้ไม่สามารถส่งผ่านทางอีเมล์ได้

ใครมีความเห็นหรือข้อเสนอแนะอย่างไร เชิญได้เลยจ้ะ



ถ้าไม่ให้งง แร่ด  และ แซ่บ ต้องเขียนตามคำแนะนำข้างบนดังนี้

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 16:32
ไม่อาจจะรับแซ่บได้ เพราะยังสงสัย
แรด - แร็ด   คำแรกเป็นเสียงโท คำที่สองเป็นเสียงตรี  ไม้ไต่คู้มาเปลี่ยนเสียงคำเสียแล้ว  จนเมื่อเติมไม้เอกเข้าไป จึงถูกกำหนดให้เป็นเสียงเอก
ถ้างั้นจะให้เขียนว่าอะไรดี


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 18:56
แรด - แร็ด   คำแรกเป็นเสียงโท คำที่สองเป็นเสียงตรี  ไม้ไต่คู้มาเปลี่ยนเสียงคำเสียแล้ว  จนเมื่อเติมไม้เอกเข้าไป จึงถูกกำหนดให้เป็นเสียงเอก

เสียงวรรณยุกต์เป็นดังนี้

อักษรต่ำ คำตาย สระเสียงยาว (สระแอ)   แหรด (เอก)  แรด (โท)    แร้ด (ตรี)      

อักษรต่ำ คำตาย สระเสียงสั้น  (สระแอะ)  แหร็ด (เอก)   แร่ด (โท)   แร็ด (ตรี)

เติมไม้เอกเข้าไป ก็ยังเป็นเสียงโทอยู่นั่นเอง

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 19:25
ปัญหาของการสะกดวรรณยุกต์ไทย ในปัจจุบันนี้   คือความเปลี่ยนแปลงด้านออกเสียงในภาษาพูด  ทำให้เสียงวรรณยุกต์แต่เดิมของเราครอบคลุมไปไม่ถึงเมื่อมาเป็นภาษาเขียน
อย่างคำว่า ป่ะ ที่คุณเพ็ญชมพูท้วงว่าควรสะกดว่า ปะ   ถ้าพิจารณาจากรูปประโยคจะเห็นว่า สองคำนี้ออกเสียงไม่เหมือนกัน  จะให้สะกดเหมือนกันคงไม่เหมาะปะผ้า กับ  เท่ป่ะ  ออกเสียงไม่เหมือนกัน  คำว่า ป่ะ ออกเสียงสั้นกว่า ปะ

คุณก. ไม่ชอบปะผ้า  ใช่ปะ?  ออกเสียงไม่เหมือนกับ คุณก. ไม่ชอบปะผ้า ใช่ป่ะ?


วรรณยุกต์มีไว้สำหรับกำกับระดับเสียง มิใช่กำกับความสั้นยาวของเสียง

สิ่งที่ต้องใส่ไปไม่ใช่ไม้เอก แต่ควรเป็นเครื่องหมายอะไรสักอย่างที่กำกับความสั้นยาวของเสียง

ในภาษาไทยมีเครื่องหมายที่ว่านี้ไหมหนอ

 ???


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 19:51
 :-\
คุณเพ็ญชมพูออกเสียง ปะผ้า กับ ใช่ป่ะ เหมือนกันเลยหรือ



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 21:03
ปะ-ป่ะ ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร ก็ไม่พ้นเสียงเอก

คงอาจมีต่างกันเพียงความสั้นยาวของการออกเสียง

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 มี.ค. 12, 21:07
(ดั้งเดิมน่าจะสะกดว่า รัตนชาด คือ แก้วสีแดง มากกว่า เหมือนกับคำว่า ธงชาติ ดั้งเดิมก็น่าจะเป็น ธงชาด คือธงแดง)        

ความเห็นของคุณตั้งน่าสนใจ

มีอีกคำหนึ่งที่หลายคนคิดว่าน่าจะใช้ "ชาด" คือคำว่า "รสชาด"  ทั้งที่รสไม่น่ามีอะไรเกี่ยวกับสีแดงเลย

รอยอินท่านให้ความหมายของ "ชาติ" ไว้ ๓ ประการ คือ

๑. ชาติ [ชาด, ชาติ, ชาดติ] น. การเกิด เช่น ชาตินี้ ชาติหน้า; กําเนิด เช่น มีชาติมีสกุล; เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาติเสือ ชาติขี้ข้า; ชนิด, จําพวก, ชั้น, หมู่; คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิมหรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.(ป., ส.).

รัตนชาติน่าจะอยู่ในความพวกหลังนี้  
 
๒. ชาติ [ชาด, ชาดติ] น. ประเทศ; ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ, กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน, ประชาชาติ ก็ว่า.

ความหมายของธงชาติอยู่ในข้อนี้
 
๓. ชาติ [ชาด, ชาติ, ชาดติ] น. รส เช่น ไม่เป็นรสไม่เป็นชาติ.

น่าแปลก ชาติ แปลว่า รส ด้วย  

 ;D
 
 


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 มี.ค. 12, 21:26
ฮึ๊บ ! (ฮื้บ ?- ไม่ทราบสะกดอย่างใดจึงจะถูกต้องที่จะแสดงอาการ"ตกใจตื่น" รอคุณเพ็ญชมพูมาฟันธงก็แล้วกัน)

สองคำข้างบนออกเสียงตรีทั้งคู่ ต่างกันเพียงการออกเสียง

คำหนึ่งสั้น คำหนึ่งยาว

เขียน ฮึบ ดีกว่า ฮึ๊บ

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 12, 07:04
มีคำที่เขียนคล้าย ๆ กันอยู่ ๓ คำ แต่ความหมายต่างกัน

หลายท่านใช้ไม่ใคร่ถูก

เรื่องของ เกษียร-เกษียณ- เกษียน

เกษียร = น้ำนม  เกษียณ = สิ้นไป  เกษียน = เขียน

สองคำแรกมาจากภาษาสันสกฤต ส่วนคำหลังเป็นคำไทยที่ล้อสันสกฤต

เกษียร  มาจากสันสกฤตว่า กฺษีร บาลีว่า ขีร เมื่อแปลงเป็นไทย กฺษีร ก็เป็น  เกษียร โดยแปลง สระ อี เป็น สระ เอีย  เมื่อนำมาประกอบเป็นคำว่า "เกษียรสมุทร" จึงได้ความหมายว่า "ทะเลน้ำนม"  อันใช้เรียกสถานที่ในตำนานว่า เป็นอาสนสถานของพระนารายณ์ เทพเจ้าสำคัญในศาสนาฮินดู ทรงบรรทมอยู่เหนือ อนันตนาคราช ที่ลอยอยู่ในทะเลน้ำนม หรือ เกษียรสมุทรแห่งนี้นี่เอง

เกษียณ สันสกฤตว่า  กฺษีณ แปลว่า สิ้นไป บาลีใช้ ขีณ   พอเป็นไทยก็เป็น เกษียณ (เอา อี เป็น เอีย เหมือนกัน)  เมื่อนำมาสร้างเป็นคำเช่นคำว่า "เกษียณอายุ" จึงมีความหมายว่า หมดสิ้นอายุไป แต่คำนี้ไม่ได้หมายความเดียวกับตาย หากแต่มักใช้กับการสิ้นกำหนดการต่าง ๆ เช่น เกษียณอายุราชการ หมายถึง หมดภาระหน้าที่ราชการแล้ว ไม่ต้องรับราชการอีกต่อไปด้วยถึงวาระอันควร พูดสั้น ๆ ว่า เกษียณ ก็มีเป็นต้น

เกษียน เป็นภาษาไทยนี่เอง มาจากคำว่า เขียน  ความแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างบาลีและสันสกฤต คือ ข ในบาลี จะเปลี่ยนเป็น กษ  ในสันสกฤต (ข - กษ)   ดังนั้นคำว่า เขียน จึงถูกแปลงเป็นคำสันสกฤตโดยอาศัยหลักการแปลงคำจากบาลีเป็นสันสกฤต ข เปลี่ยนเป็น กษ  จากคำไทย เขียน จึงถูกแปลงเป็นคำล้อสันสกฤต เกษียน ด้วยประการฉะนี้ จนบางครั้งผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีสันสกฤตยังแปลไม่ถูก   คำนี้นำไปใช้ในคำว่า "เกษียนหนังสือ" ทำนองเดียวกับ เขียนหนังสือ แต่ทั้งนี้ คำ "เกษียนหนังสือ" นี้เป็นคำสร้างใหม่ เพื่อใช้ในความหมายว่า “ข้อความที่เขียนแทรกไว้”  เช่น ในใบลาน หรือข้อความที่เขียนไว้บนหัวกระดาษคำสั่งหรือหนังสือราชการ เรียกว่า หัวเกษียน

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: MrMiu ที่ 05 เม.ย. 12, 05:27
ขอรบกวนถามข้อสงสัยสักเล็กน้อยนะคะ  ;)

ทำไมเดี๋ยวนี้มองไปทางไหนในโลก internet ก็มักจะเจอแต่คำที่ผิดอย่างไม่น่าให้อภัย ...

- ทรมาน เป็น ทรมาณ , ทรมาร      (ดีนะคะเนี่ย ที่ยังไม่มี "ทรมาล" แบบที่วัยรุ่นยอดฮิตนิยมคำ ล มาแทน น  8) )
- ลอง เป็น รอง  ( เอ่อ ... ช่างสรรหาคำมาพิมพ์ให้ผิดกันจังเลยนะ คนเรา ... )
- พลิ้ว เป็น พริ้ว  ( พลิ้ว ร เรือ นี่ กระทั่งชื่อร้านอาหารก็มีเลยนะคะ ฮ่า ๆ)
- ภาพยนตร์ เป็น ภาพยนต์
- รถยนต์ เป็น รถยนตร์


คำข้างต้น ก็คิดว่าแย่แล้ว ... แต่คำด้านล่างต่อไปนี้แย่กว่า ..

- ใช้  เป็น  " ไช้ "
- ไหน เป็น " ใหน "
- ให้ เป็น " ไห้ "

... พบเจอเยอะมากๆค่ะ จนทำให้แอบคิดว่า ปุ่มไม้มลายบนคีย์บอร์ดพังหรืออย่างไร?

ยังไม่นับเรื่องการผันวรรณยุกต์แบบผิดๆอีกที่แสนเยอะนัก ...


เหล่าคนที่เขียนผิด ก็บอกว่า "เขียนผิด/วิบัติก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย ไม่ได้ทำให้ชีวิตฉันเป็นอะไรเสียหน่อย"

อา ... อาจใช่ค่ะ ถ้าคุณไม่ได้ "จำ" คำนั้นๆไปใช้ในชีวิตจริงๆเข้า แต่ หากมีการจำคำที่ผิดเหล่านั้นไปใช้จริงๆ ไม่คิดหรือว่ามันจะน่าอายเพียงใด?
(และผลเสียอาจไม่หยุดอยู่แค่ น่าอาย ด้วย อาจกระทบไปถึง "แค่ภาษาไทยยังใช้ผิดเลย แล้วอย่างอื่นจะรอดหรอ?" กันเลยทีเดียว)

อยากให้ทุกคนใส่ใจกับภาษาให้มากกว่านี้จังเลย ...  :(


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 12, 09:02
การสะกดคำผิดเกิดขึ้นด้วย ๒ เหตุผล

๑. ไม่ทราบคำที่ถูกต้อง ตัวอย่าง พันทิบ, อ่ะ

๒. ทราบคำที่ถูกต้องแต่ต้องการเขียนให้แปลกออกไป มักเป็นพวกวัยรุ่น ตัวอย่างเช่น เรว, คับ

เหตุผลที่สองแก้ง่าย พ้นวัยก็เขียนได้ถูกเอง  แต่เหตุผลแรกแก้ยากกว่า ต้องแก้ไขโดยการเรียนรู้ว่าคำที่ถูกต้องเขียนอย่างไร และพร้อมที่จะแก้ไข

ตัวอย่างที่คุณ MrMiu (อ่านว่าอะไรดีหนอ) ให้มา 

ชุดที่ ๑  พลิ้ว, ภาพยนตร์, รถยนต์  อยู่ในเหตุผลข้อที่ ๑

ชุดที่ ๒  ไช้, ใหน, ไห้ อยู่ในเหตุผลข้อที่ ๒

เรื่องไม้ม้วน ไม้มลายนี้ ในแง่ของการค้า บางทีต้องการเขียนผิดเพื่อสร้างจุดเด่นให้กับชื่อสินค้าหรือบริการ

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/12/K7333938/K7333938-84.jpg)

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 12, 09:04
สินค้านี้น่าจะเขียนผิดตามเหตุผลข้อที่ ๑

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/12/K7333938/K7333938-83.jpg)

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 12, 09:09
บางทีการเขียนคำผิดอาจเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/12/K7333938/K7333938-88.jpg)

เรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ  โดยเฉพาะเมื่อพลั้งเผลอในการพิมพ์ข้อความ

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 12, 09:16
แต่ไม้เอกในคำว่า "นะค่ะ" นี้คงไม่ใช่เกิดจากการพลั้งเผลอ

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/12/K7333938/K7333938-82.jpg)

เหตุผลข้อที่ ๑ อีกเช่นกัน

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/12/K7333938/K7333938-115.jpg)

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: MrMiu ที่ 09 เม.ย. 12, 23:17
ขอบคุณมากเลยค่ะ คุณเพ็ญชมพู  ;)

แต่ก็อยากให้รณรงค์ใช้ภาษาไทยให้ถูกจังเลยน้า  :(


อ๊ะ

ขอข้อสงสัยกับอีกคำหน่อยนะคะ คำว่า "ลายเซ็น / ลายเซ็นต์" น่ะค่ะ

เท่าที่ลองเช็ค ก็คือ "ลายเซ็น" ไม่มี ต การันต์
แต่ดูจากหลายๆที่มากเหลือเกินมี ต์  :'(


ปล. ถ้าจะแวะมาถามไถ่ภาษาไทยที่ถูกต้องที่กระทู้นี้บ่อยๆคงจะไม่เป็นไรใช่ไหมคะ?  :-[



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 เม.ย. 12, 09:22
ขอข้อสงสัยกับอีกคำหน่อยนะคะ คำว่า "ลายเซ็น / ลายเซ็นต์" น่ะค่ะ

เท่าที่ลองเช็ค ก็คือ "ลายเซ็น" ไม่มี ต การันต์
แต่ดูจากหลายๆที่มากเหลือเกินมี ต์  :'(

ให้การบ้านคุณมิอู (ขออภัยหาก เรียกผิด   :))

ทำไมคำว่า "ลายเซ็น" ถึงไม่มี ต การันต์

 ;D



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: MrMiu ที่ 12 เม.ย. 12, 12:27
ขอข้อสงสัยกับอีกคำหน่อยนะคะ คำว่า "ลายเซ็น / ลายเซ็นต์" น่ะค่ะ

เท่าที่ลองเช็ค ก็คือ "ลายเซ็น" ไม่มี ต การันต์
แต่ดูจากหลายๆที่มากเหลือเกินมี ต์  :'(

ให้การบ้านคุณมิอู (ขออภัยหาก เรียกผิด   :))

ทำไมคำว่า "ลายเซ็น" ถึงไม่มี ต การันต์

 ;D




(มิอุ ค่ะ คล้ายกัน ฮ่าๆ)

เป็นการบ้านที่ยากมากเลยค่ะ เพราะจะคิดเอาเองก็กลัวผิดมั่วซั่วไปหมด อายเปล่าๆ  :-[

รบกวนเป็นครูให้ดีกว่าค่ะ เพื่อความถูกต้อง  :-[


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 เม.ย. 12, 12:34
คุณมิอุลองตั้งใจอ่านกระทู้นี้ทุก ๆ หน้า (โดยเฉพาะหน้าสาม) 

แล้วจะทราบว่าคำตอบอยู่หนใด

ฮ่า ฮ่า ฮ่า

;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: MrMiu ที่ 14 เม.ย. 12, 04:01
ถ้าหน้าสามล่ะก็ เคยอ่านมาก่อนหน้านี้แล้วล่ะค่ะ   :-[

แต่นึกว่าจะมีรากชัดเจนมากกว่านี้ อย่างเช่นว่า ทำไมถึง เป็น "ลายเซ็น"

"เซ็น" ในที่นี้ มาจากอะไร หรืออะไรแบบนี้น่ะค่ะ ฮ่าๆ


แต่จะว่าไป เรื่องของคำทับศัพท์นี่ พูดยากแท้น้อ  :-X


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 เม.ย. 12, 06:50
แก๊งกับเกมเมื่อดูตัวศัพท์ภาษาอังกฤษแล้ว บอกได้เลยว่าไม่ควรมี ค์ และ ส์ ข้างท้าย เช่นเดียวกับ เซ็น (ชื่อ) - sign ก็ไม่ควรเป็น เซ็นต์

เซ็น ที่สะกดผิดเป็นเซ็นต์  เพราะคงจะเอาไปปนกับ เซ็นต์ ที่ถอดมาจาก cent

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 08:28
ข่าวจาก ข่าวสด (http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdOekV3TURRMU5RPT0=&sectionid=TURNd01RPT0=&day=TWpBeE1pMHdOQzB4TUE9PQ==)

ชาวบ้านร้อง-วัดป่าเลไลยก์ เขียนชื่อผิดตัวเอกวรรณคดี "พิมพิลาไลย"เป็น"นางพิมพ์"

"พิมพิลาไลย" มาจาก พิม + .... หรือ พิมพ์ + ..... ?  แปลว่าอะไร ?

เรียกสั้น ๆ ว่า "นางพิมพ์"

ได้หรือไม่

 ???


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 10:59
.........................
เลี้ยงก็ได้ห้าขวบปลาย                รูปกายงามยิ่งพริ้งเพรา
ทรวดทรงส่งศรีไม่มีแม้น              อรชรอ้อนแอ้นประหนึ่งเหลา
ผมสลวยสวยขำงามเงา               ให้ชื่อเจ้าว่าพิมพิลาไลย

พิม  แปลว่า รูปแบบ   พิลาไลย แผลงมาจาก พิไล    แปลว่ารูปแบบอันงดงาม
กวีท่านสะกดชื่อนางเอกเรื่องนี้ ว่าพิม  ไม่ใช่ พิมพ์   ก็ควรเคารพท่านเถิด


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 12:06
พิม  แปลว่า รูปแบบ   พิลาไลย แผลงมาจาก พิไล    แปลว่ารูปแบบอันงดงาม
กวีท่านสะกดชื่อนางเอกเรื่องนี้ ว่าพิม  ไม่ใช่ พิมพ์   ก็ควรเคารพท่านเถิด

มีคำชวนสงสัยอยู่ ๒ คำ

๑. พิม - ในความหมายว่า รูปแบบ รอยอินท่านให้ใช้ว่า พิมพ์

๒. พิลาไลย หากเป็นคำแผลงน่าจะมาจาก พิไลย = พิลัย = วิลัย 

รอยอินท่านว่า

วิลย, วิลัย [วิละยะ, วิไล] น. ความย่อยยับ, การสลาย, การทําให้สลาย. (ป., ส.).

เพราะชื่อว่า "พิลัย" ชีวิตจึงไม่ "พิไล" ดังชื่อแล

 ;)


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 12:22
ขอทำความเข้าใจอย่างหนึ่งนะคะ
อย่าเอารอยอินเป็นมาตรฐานการสะกดคำ  ในหนึ่งร้อยกว่าปีก่อนกรรมการคนแรกของรอยอินจะเกิดมา


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 13:58
พิมพิลาไลยเกิดก่อนท่านรอยอิน

แต่พิมมาลาเห็นทีจะเกิดหลัง

แหะ แหะ

;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 14:17
เอามาให้ทาสีข้างค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: MrMiu ที่ 18 เม.ย. 12, 22:13
เหมือนจะเคยเห็นถกกันเรื่องของ ปะ - ป่ะ  8)


จากความเข้าใจของเราเอง คิดว่า ปะ ป่ะ ออกเสียงเหมือนกัน

แต่เนื่องจากเสียงสามัญของอักษรกลาง ออกเสียงเอก

จึงไม่มีรูปเอก แต่ใช้เป็นรูปสามัญเลย จึงเป็น "ปะ" ไม่มีไม้เอก


พอจะถูกต้องตามที่คิดบ้างไหมคะ?


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 เม.ย. 12, 06:15
แต่เนื่องจากเสียงสามัญของอักษรกลาง ออกเสียงเอก

แก้ไขให้นิดหนึ่งเป็น รูปสามัญ

อะ - อ่ะ ก็กรณีเดียวกัน

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: MrMiu ที่ 25 เม.ย. 12, 05:27
แต่เนื่องจากเสียงสามัญของอักษรกลาง ออกเสียงเอก

แก้ไขให้นิดหนึ่งเป็น รูปสามัญ

อะ - อ่ะ ก็กรณีเดียวกัน

 ;D


เขินเลย  :-[


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: slur_tattoo ที่ 08 พ.ค. 12, 17:12
แต๊งกิ้วววววววววววววววว  ^^


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: MrMiu ที่ 14 พ.ค. 12, 18:18
มีข้อสงสัยมาอีกแล้วล่ะค่ะ พยายามค้นใน google แล้ว ก็ไม่มั่นใจเอาซะอีก  :-\

คือกริยาที่เรียกได้ว่า "ตื๊อจนน่ารำคาญ" น่ะค่ะ

ที่เจอมาคือ

เล้าหลือ / เร้าหรือ / เล้าหรือ ประมาณนี้น่ะค่ะ

แต่ไม่มั่นใจเลยค่ะว่าคำไหน เพราะค้นใน รอยอิน ก็ไม่เจอเสียด้วย


รบกวนผู้รู้ชี้แนะค่ะ  :-[



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 12, 18:50
ไม่เคยได้ยินคำนี้   เคยได้ยินแต่ "เซ้าซี้"
ขอส่งไม้ต่อให้คุณเพ็ญชมพูค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 พ.ค. 12, 20:35
ไม่เคยได้ยินเช่นกัน

แต่พอวิเคราะห์ได้ว่าเป็นศัพท์ที่ใช้กันในกลุ่มวัยรุ่น

เมื่อเป็นศัพท์ที่ใช้พูดกันเล่น ๆ คงไม่มีใครอยากออกเสียง ร เรือ ให้ยากนัก 

"เล้าหลือ" น่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย สำหรับการสะกดคำตามวิธีที่วัยรุ่นสามารถออกเสียงได้สะดวก

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: MrMiu ที่ 14 พ.ค. 12, 22:29
ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ทั้ง 2 ท่านเลย  :)




ขอรบกวนอีกสักนิดนะคะ

เกี่ยวกับเรื่อง คำอุทาน น่ะค่ะ

อย่างเช่นเวลาอ่านการ์ตูนต่อสู้ ก็จะมีเสียงอุทานออกมาเช่น

"ว้ากกกกก"

"ย้ากกกกก"

คนโดนกระทำก็จะ

"อัก!!" "อึก!!" "โอ๊ย!"

แต่มีอีกคำนึงที่สงสัยมากๆเลยค่ะ จะออกเสียงประมาณว่า "ออก" (แต่เป็นเสียงสั้น) (สมมติภาพโดนรัดคอ ก็จะรู้สึกแน่นที่คอจนร้องออกมาว่า ออก)

เลยอยากทราบว่า คำคำนี้ ควรจะเขียนว่าอย่างไรดี เพื่อให้มันออกเสียงว่า ออก แต่ออกเสียงเร็วๆ?

อ่อก?  อ็อก?

การใส่ ไม้เอก ลงไปในคำ จะช่วยให้คำนั้นเสียงสั้นลงหรือคะ? ถึงแม้ว่าคำคำนั้นจะออกเสียงเอกอยู่แล้วอย่างเช่นคำนี้

ขอรบกวนด้วยอีกคำค่ะ  :-[


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 พ.ค. 12, 08:08
๑.
การใส่ ไม้เอก ลงไปในคำ จะช่วยให้คำนั้นเสียงสั้นลงหรือคะ? ถึงแม้ว่าคำคำนั้นจะออกเสียงเอกอยู่แล้วอย่างเช่นคำนี้

วรรณยุกต์มีไว้สำหรับกำกับระดับเสียง มิใช่กำกับความสั้นยาวของเสียง

สิ่งที่ต้องใส่ไปไม่ใช่ไม้เอก แต่ควรเป็นเครื่องหมายอะไรสักอย่างที่กำกับความสั้นยาวของเสียง


๒.
แต่มีอีกคำนึงที่สงสัยมากๆเลยค่ะ จะออกเสียงประมาณว่า "ออก" (แต่เป็นเสียงสั้น) (สมมติภาพโดนรัดคอ ก็จะรู้สึกแน่นที่คอจนร้องออกมาว่า ออก)

เลยอยากทราบว่า คำคำนี้ ควรจะเขียนว่าอย่างไรดี เพื่อให้มันออกเสียงว่า ออก แต่ออกเสียงเร็วๆ?

อ่อก?  อ็อก?

ในกรณีนี้เครื่องหมายที่กำกับความสั้นยาวของเสียงคือ "สระ"

ขอให้พิจารณาคำว่า "ออก" และ "อ็อก" สองคำนี้มีสระต่างกัน การออกเสียงก็ต่างกัน

ออก = อ + สระออ   + ก    เสียงยาว

อ็อก = อ + สระเอาะ + ก    เสียงสั้น

คุณมิอุจะเลือกคำไหนเอ่ย

 ;)


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 พ.ค. 12, 08:49
กรุณาเลือกคำที่ถูกต้อง

จะเขียนคำว่า slang ในภาษาไทยว่ากระไรดีหนอ

แสลง / สะแลง / สแลง

เชิญชาวเรือนไทยเข้าร่วมสนุก

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 16 พ.ค. 12, 13:41
สแลง ค่ะ ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 พ.ค. 12, 15:09
 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: MrMiu ที่ 19 พ.ค. 12, 02:06
ขอบคุณมากๆเลยค่ะ สำหรับคำตอบที่เข้าใจได้ง่าย  :-[

เป็นความรู้ให้หลายๆคนเลยค่ะ


ปล. เห็นคนพิมพ์คำว่า "อ่ะ" บ่อยมากๆ จนอยากจะบอกว่า "ถ้าจะใส่ ไม้เอก ลงไปในคำว่า อะ ก็ใส่ลงไปในคำว่า อะไร ให้เป็น อ่ะไร ด้วยเลยละกันนะ" เลยล่ะค่ะ ฮ่าๆๆๆ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 10:49
อีกสองคำต่อมา เป็นคำในวงการโลกออนไลน์นี้เอง เว็บ (web) และ คลิก (click) มักเขียนผิดเป็น เว็ป, เว๊ป, เว๊บ และ คลิ๊ก

ทำไมจึงผิด เรียนเชิญทุกท่านช่วยกันวิสัชนา

มีอีกคำให้ช่วยพิจารณา

youtube เขียนเป็นภาษาไทยว่ากระไรดีหนอ

 ;)


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 12:17
คุณเพ็ญชมพูอยากจะเขียนว่าอะไรล่ะคะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 14:13
ดิฉันเขียนแบบอเมริกันว่า ยูทูป   ถ้าออกแอคเซ่น ก็ ยู้ถูป   แต่ถ้าเป็นอังกฤษ คำว่า tube ออกเสียง อิว หน่อยๆ สะกดคล้าย ยูทิวฺป


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 16:01
หาก b = บ

web เขียนว่า เว็บ ฉันใด

youtube แบบอเมริกัน ก็น่าจะเขียนว่า ยูทูบ  ฉันนั้น

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 16:28
ครูเพ็ญขุดหลุมเป็นเหมือนกัน


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: MrMiu ที่ 30 ก.ค. 12, 00:21
Youtube

ก็เป็นอีกคำที่ดิฉันไม่เข้าใจเช่นกันค่ะ ว่าเหตุใดจึงใช้ "ป ปลา"

ทั้งที่ b = บ  :-X


(แต่ดิฉันเขียน ยูทูบ ตลอด แต่ออกเสียงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 09:54
เป็นการใช้กันผิดๆตามมาด้วยความเคยชินน่ะค่ะ   
ถามตัวเองเหมือนกันว่าทำไมไม่เขียน ยูทูบ  ได้คำตอบว่าเกิดจากความรู้สึกล้วนๆ ไม่ใช่เกิดจากการผันวรรณยุกต์ ว่า ทูบ มันออกเสียงเหมือน ธูป   แต่พอเป็น ทูป แล้วกลับออกเสียงกับตัวเองว่า ทู้บ   ตรงกับออกเสียง youtube


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: changny ที่ 30 ก.ค. 12, 15:02
มีข้อสงสัยมาอีกแล้วล่ะค่ะ พยายามค้นใน google แล้ว ก็ไม่มั่นใจเอาซะอีก  :-\

คือกริยาที่เรียกได้ว่า "ตื๊อจนน่ารำคาญ" น่ะค่ะ

ที่เจอมาคือ

เล้าหลือ / เร้าหรือ / เล้าหรือ ประมาณนี้น่ะค่ะ

แต่ไม่มั่นใจเลยค่ะว่าคำไหน เพราะค้นใน รอยอิน ก็ไม่เจอเสียด้วย


รบกวนผู้รู้ชี้แนะค่ะ  :-[


เล้าหลือ--คำพูดภาษาลิเก อย่าเล้าหลือ แปลว่าอย่ายุ่ง อย่ายวนกวนใจ ประมาณนี้
(อย่าเล้าหลือ ไม่งั้นคนข้างบ้านเอ็งเจ็บ เป็นต้น)

พูดกันทั่วไปในแถบจังหวัดอ่างทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการลิเก
เคยได้ยินคุณโน้ต เชิญยิ้ม พูดออกโทรทัศน์ด้วย


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: changny ที่ 30 ก.ค. 12, 15:19
Youtube

ก็เป็นอีกคำที่ดิฉันไม่เข้าใจเช่นกันค่ะ ว่าเหตุใดจึงใช้ "ป ปลา"

ทั้งที่ b = บ  :-X


(แต่ดิฉันเขียน ยูทูบ ตลอด แต่ออกเสียงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ฺb อาจไม่เท่ากับ บ เสมอไป  อาจเท่ากับ ป ก็ได้
ครูแหม่ม อเมริกัน บอกว่าชื่อ แป้ง ต้องสะกดว่า  Baeng ไม่ใช่ Paeng จึงจะออกเสียงได้ใกล้เคียงกว่า



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: MrMiu ที่ 30 ก.ค. 12, 19:03
ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำว่า "เล้าหลือ"

ทราบความหมายดีเลยล่ะค่ะ แต่ไม่ทราบคำเขียน เพราะปกติพูดอย่างเดียว  :-[



ส่วน b ใน Youtube คิดว่าอย่างไรก็น่าจะเป็น บ ล่ะค่ะ เพราะเป็นตัวสะกด ไม่ได้เป็นตัวหน้า

แต่ก็บอกไม่ได้หรอกค่ะ ก็มิได้เก่งอังกฤษขนาดนั้น เพราะเวลาฝรั่งออกเสียง Youtube ให้ฟังเค้าก็ไม่ได้มาออกชัดถึงขั้น

"ยูทูบบุ หรือ ยูทุบปุ" (ประมาณนี้) ซะด้วย (ยกตัวอย่างเพื่อการเปรียบเทียบเท่านั้น)


ที่คิดว่า ชื่อ แป้ง สมควรสะกดว่า Baeng มากกว่า เป็นเพราะ B จะออกเสียง บ คล้าย ป ที่สุด เพราะ P เค้าก็จะออก พ พาน ไปเลย


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 13 ส.ค. 12, 00:01
ไม่เคยได้ยินเช่นกัน

แต่พอวิเคราะห์ได้ว่าเป็นศัพท์ที่ใช้กันในกลุ่มวัยรุ่น

เมื่อเป็นศัพท์ที่ใช้พูดกันเล่น ๆ คงไม่มีใครอยากออกเสียง ร เรือ ให้ยากนัก 

"เล้าหลือ" น่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย สำหรับการสะกดคำตามวิธีที่วัยรุ่นสามารถออกเสียงได้สะดวก

 ;D

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
เล้า ๑   น. คอกสําหรับให้สัตว์เช่นเป็ดและหมูอยู่.
เล้า ๒   (ถิ่น–พายัพ) น. ปีระกา.
เล้าโลม   ก. กอดจูบลูบคลำแสดงความรัก, พูดปลอบโยนให้โอนอ่อนตาม, โลมเล้า ก็ว่า.

เร้า   ก. กระตุ้นเตือน เช่น เร้าอารมณ์; ปลุกใจ เช่น พูดเร้าใจ. ว. ที่กระตุ้น เตือน เช่น สิ่งเร้า.

ผมขอแสดงความเห็นต่างออกไปว่าที่ถูกต้องน่าจะเป็นคำว่า เร้าหรือ ซึ่งอาจมาจากคำว่า รบเร้า ซึ่งเป็นการสร้างความรำคาญหรือหงุดหงิดใจให้คนฟัง แต่เอาคำท้ายมาคือ เร้า แล้วใช้วิธีออกเสียงซ้ำเป็นคำคู่เสียงสระ เป็น เร้าหรือ แต่เนื่องจากคนไทยพูด ร ไม่ชัด ก็อาจกลายเป็นเล้าหลือไปทั้งที่ตั้งใจหมายถึง เร้าหรือ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: นิลนนท์ ที่ 13 ส.ค. 12, 00:14
ขอโทษทีครับ เร้าหรือ "หรือ" น่าจะเป็นเสียงซ้ำประเภทสร้อยคำที่ไม่มีความหมาย
ตัวอย่างสร้อยเช่น คำว่าล้าง เวลาอารมณ์เสียก็อาจพูดเป็น ล้างเลิ้ง  แล้วแต่ลิ้นพาไป
แต่ถ้าใช้ เล้าหลือ นึกหาที่มาไม่ออก ภาษาจีนก็ไม่น่าใช่


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: MrMiu ที่ 14 ส.ค. 12, 19:03
ในความเห็นส่วนตัวก็คิดว่า "เร้าหรือ" เช่นกันค่ะ เพราะ น่าจะมาจาก รบเร้า  :'(

แต่ไม่มีที่ไหนอธิบายให้ได้แบบถูกต้องแน่นอนเลย จึงไม่มั่นใจ ได้แต่ตามส่วนใหญ่ไป


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 15 ธ.ค. 12, 15:27
คำนี้ไม่ได้เขียนผิดนะคะ  ;D
แต่ไม่รู้จะเอาไปไว้ในกระทู้ไหนค่ะ
คำว่า จุงเบย  ค่ะ
ชักจะอ่านเจอถี่ขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 12, 16:00
คุณเพ็ญชมพูไปไหนไม่ทราบค่ะ เลยไม่เข้ามาตอบ

 จุงเบย คืออะไร แปล ความหมายของจุงเบย
“จุงเบย” เพี้ยนมาจาก จังเลย แสดงความแอ๊บแบ๊ว บางคนบอกว่าปัญญาอ่อน
ที่มา

จุง – จัง
สระ อุ และ ไม้หันอากาศ (–ั) เป็นสระที่อยู่ใกล้กันในคีย์บอร์ด ทำให้พิมพ์ผิด โดยพิมพ์สลับกันบ่อยๆ จนเลยเถิดกลายเป็นศัพท์วัยรุ่น

เบย – เลย
ล และ บ เป็นตัวอักษรที่อยู่ใกล้กันในคีย์บอร์ด ทำให้พิมพ์ผิด โดยพิมพ์สลับกันบ่อยๆ จนเลยเถิดกลายเป็นศัพท์วัยรุ่น
http://www.guchill.com/%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%A2-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 12, 16:11
กำลังนั่งฟังคำบรรยายอยู่ที่อยุธยา  ::)

จุงเบยน่าจะมาจากการเลียนแบบภาษาแดนโสมของคำว่าจังเลยมากกว่า

 ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 พ.ย. 16, 09:55
ตอนนี้ดูข่าวในสื่อไหน ๆ ข่าวดังที่สุดเห็นจะไม่พ้นข่าว "น็อต กราบรถ" แต่หลายสื่อรวมทั้งนักวิชาการดัง ๆ หลายท่านเขียนชื่อคุณน็อตผิด เป็น "น๊อต" (ใช้ไม้ตรี)

เชิญอ่านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย

กลุ่มที่สาม หากพยัญชนะต้นเป็นพยัญชนะเสียงต่ำ (อักษรต่ำ) และเป็นคำตาย เสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงตรี เช่น
เสียงยาว เสียงสั้นมีไม้ไต่คู้กำกับ
เสียงวรรณยุกต์ตรี
นกแสก แซ็กคาริน (saccharin) (แซะ + ก)
กระแทก แท็กซี่ (แทะ + ก)
พิเภก หญ้าเพ็ก (เพะ + ก)
แลก แล็กเกอร์ (และ + ก)
แล็กโทส (อ. lactose)
เมตตา เม็ด (เมะ + ด)
ยอก, แยก ย็อกแย็ก (เยาะ + ก, แยะ + ก)
ย็อกแย็กๆ
ย็อกๆ แย็กๆ
แยบคาย แย็บ (อ. jab) (แยะ + บ)
แรก แร็กเกต (อ. racket) (แระ + ก)
ลอก ล็อก (เลาะ + ก)
ล็อกเกต (อ. locket)
แวบเดียว แว็บเดียว (แวะ + บ)

ส่วนคำที่มีแต่เสียงสั้น ก็มี เช่น
หลับผล็อย หลับผล็อยๆ เผล็ดดอก มันแผล็บ เผ่นแผล็ว แลบลิ้นแพล็บ แลบลิ้นแพล็บๆ แลบลิ้นแผล็บ แลบลิ้นแผล็บๆ
ว็อบแว็บ ว็อบๆ แว็บๆ

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 พ.ย. 16, 10:13
ท่านรอยอินให้เขียนคำนี้ว่า "นอต" ให้ความหมายไว้ ๒ อย่าง

นอต ๑ น. หน่วยแสดงความเร็วของสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามระบบการเดินเรือ มีค่าเท่ากับ ๑ ไมล์ทะเลต่อชั่งโมง หรือ ๑.๘๕๒ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เช่น เรือแล่นได้เร็ว ๘ ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง เรียกว่า เรือมีความเร็ว ๘ นอต ลมมีความเร็ว ๕๐ ไมล์ทะเลต่อชั่วโมล เรียกว่า ลมมีความเร็ว ๕๐ นอต. (อ. Knot).

นอต ๒   น. เครื่องตรึงหรือขันสิ่งอื่นให้แน่น ประกอบด้วยแท่งและแป้นโลหะ, ตัวที่เป็นแท่งมีปลายข้างหนึ่งเป็นปุ่ม อีกข้างหนึ่งมีเกลียวด้านนอก เรียกว่า นอตตัวผู้ และตัวที่เป็นแป้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยมมีรูตรงกลาง และมีเกลียวด้านใน เรียกว่า นอตตัวเมีย. (อ. nut).

จาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔

ถ้าเขียนอย่างนี้ต้องออกเสียงยาว แต่ที่ออกเสียงกันจริง ๆ น่าจะเป็นเสียงสั้น ซึ่งต้องเขียนว่า "น็อต"  ;D



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 พ.ย. 16, 11:09
เรื่องของคุณน็อตตามข่าว ท่านรอยอินเรียกว่า "นอตหลุด"

นอตหลุด (ปาก) ก. คุมสติไม่อยู่ เช่น เมื่อวานฉันเกือบนอตหลุดตอนที่ทะเลาะกับเขา, หลุด ก็ว่า

ปจฺฉา  โส  วิคเต  โกเธ  อคฺคิทฑฺโฒว  ตปฺปติ  

ภายหลังเมื่อความโกรธหายแล้ว  เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้  

พุทธภาษิต

ความโกรธเป็นโทษเช่นนี้แล  :o


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 16, 11:11
น๊อตตรงนี้เป็นวิสามัญนามนะครับ เขาจะสะกดอย่างไรก็เรื่องของเขา ราชบัณฑิตไม่เกี่ยว

บังเอิญว่าชื่อเล่นของลูกชายผม(คนละคนกับน๊อตกราบรถนะครับ) เขาก็เขียนว่า "น๊อต" ถามว่าราชบัณฑิตคิดว่ามันมาจากภาษาไหน คำไหน



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 พ.ย. 16, 15:10
จริงอยู่ที่วิสามัญนามจะสะกดอย่างไรก็ได้ แต่นั่นเพียงแต่ในด้านของความหมาย ชื่อเล่นของลูกชายคุณนวรัตนอาจจะเขียนว่า ณ็อต น็อต หรือเปลี่ยน ต เป็นพยัญชนะใดก็ได้ในแม่กด โดยไม่ต้องคำนึงความหมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรอยู่กฎเกณฑ์ของการผันเสียงวรรณยุกต์

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/12/K7333938/K7333938-0.gif)

คำว่า น็อต พยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำ คำตาย เสียงสั้น เทียบได้กับคำว่า งะ ในตารางข้างบน ผันวรรณยุกต์ได้ดังนี้ น่อต-เสียงโท น็อต-เสียงตรี (น๋อต-เสียงจัตวา)  

น็อต มีเสียงตรีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใส่ไม้ตรีเข้าไปกำกับเสียงอีก ทำนองเดียวกับ นุกนิก ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ไม้ตรีเป็น นุ๊กนิ๊ก ให้รกรุงรัง  ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: bbbadboyza ที่ 03 ต.ค. 17, 13:57
เข้ามาเก็บข้อมูลครับผม


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 03 ต.ค. 17, 16:30
เข้ามาเก็บข้อมูลครับผม

นอต เสียงโท เทียบกับคำว่า รอด  ผันกับสระ ออ ซึ่งเป็นสระเสียงยาว  ใช้ ไม้ไต่คู้ กำกับ เป็น น็อต ให้ออกเสียงแบบสระเสียงสั้น ได้เสียงตรี
นุกนิก สระ อิ เสียงสั้น ได้เสียงตรี อยู่แล้ว โดยไม่ต้องผันวรรณยุกต์


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: พี่น็อต ที่ 09 มี.ค. 18, 09:56
เรียนคุณ NAVARAT.C

กฏการเขียนภาษาไทย ต่อให้เป็นวิสามัญนามหรืออะไร ก็ต้องเคารพการสะกดตามหลักการผันเสียงครับ
คุณ เพ็ญชมพู  นำตารางผันเสียงวรรณยุกต์มาวางให้ ซึ่งสุดมากครับ เยี่ยมเลย

แต่นึกกฏการผันเสียงไม่ออก ให้นึกถึงกฏสรุปคร่าวๆดังนี้ครับ
  ก อักษรกลาง  กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า              อักษรกลาง ผันได้ครบ 5 รูป ทั้งรูปและเสียงตรงกัน
  ข อักษรสูง     ขา ข่า ข้า                      อักษรสูง ผันได้ 3 รูป  รูปสามัญ ออกเสียงจัตวา               รูปเอก ออกเสียงเอกตรง          และรูปโท ออกเสียงโทตรง
  ค อักษรต่ำ     คา ค่า ค้า                     อักษรต่ำ ผันได้ 3 รูป  รูปสามัญ ออกเสียงสามัญเป็นปกติ    รูปเอก ออกเสียงโท               และรูปโท ออกเสียงตรี
ผมเลือกใช้อักษร    ก   ข   ค    ซึ่งเป็นกลุ่มพยัญชนะต้นๆชองชุดอักษรไทยเรา ซึ่ง    จำง่ายดีครับ     555

อักษร ฐาน น คืออักษรต่ำครับ สามารถผันเสียงได้ แค่ 3 รูป เท่านั้น  คือ รูปสามัญ  รูปเอก  และ  รูปโท  ตัวอย่างเช่น   นา น่า น้า
ดังนั้น การเขียนที่เป็นไปได้คือ น้อด น้อท น้อต น้อจ ฯลฯ แต่เนื่องจากต้องการออกเสียงให้สั้น จึงเป็น อักษรต่ำคำตายครับ จึงใช้ไม้ไต่คู้ควบเสียงแทนรูป โท
ดังนั้น รูปเขียนที่ถูกต้องจึงเป็น น็อด น็อท น็อต น็อจ ฯลฯ
และชื่อผมเลือก น็อต เพราะชื่อของผมมาจากคำว่า NOT คณิตศาสตร์ ซึ่งกลับรูปมาจาก Tonn คือต้น (คือเป็นลูกคนแรก) ซึ่งเป็นชื่อผมเหมือนกัน  [NOT - Tonn]
(น้องชายผมชื่อ นัท-NUT กลับรูปเป็น ตุลย์- Tunn คือเกิดราศีตุลย์  [Nut - Tunn] โปรดอย่าว่าไรเลยนะครับ ชื่อบ้านผมเป็นอย่างนี้ คุณย่าตั้งให้ครับ ลูกหลานทุกคนมีชื่อเล่น ไทย-อังกฤษ...)

ดังนั้น จะมากล่าวว่า ราชบัณฑิตไม่เกี่ยว คงไม่ได้นะครับ
เอิ่ม..ผมเป็นวิศวกรคอมฯครับ แต่แม่นเรื่องนี้   ;D

ป.ล. ถ้าขืนจะเขียน  น๊อต  อย่าพยายามอ่านออกเสียงครับ เดี๋ยวเสียภาษาหมด


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: พี่น็อต ที่ 09 มี.ค. 18, 10:25
เข้ามาเพิ่ม อาขยานกลุ่มอักษร สมัยผมเรียนครับ

อักษรกลาง    ไก่ จิก เด็ก ตาย    เฎ็ก ฏาย บน ปาก โอ่ง     (อันนี้ยอดฮิต)
อักษรสูง    ไข่ ฃวด ฉิ่ง ถิ่น ฐาน    ผึ่ง  ฝา  ศาล  ฤาษี เสื้อ หีบ      (สมัยนี้ ของลูกสาวเปลี่ยนไปอีกแระ)
อักษรต่ำ อันนี้ถูกใจมากมายครับ

ควาย ฅน ระฆัง ช้าง โซ่               เฌอ มณโฑ เฒ่า ทหาร
ธง ไฟ สำเภา ยักษ์ พาน               นกฮูก หญิง  ลิง เณร หนู                     
ม้า เรือ จุฬา  งู แหวน
                  จำให้แม่น หมั่นควรดู               
ยี่สิบสื่คำ ควรต้องรู้                     อักษรต่ำ  จำจงดี


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: พี่น็อต ที่ 09 มี.ค. 18, 10:26
เข้ามาเพิ่ม อาขยานกลุ่มอักษร สมัยผมเรียนครับ

อักษรกลาง    ไก่ จิก เด็ก ตาย    เฎ็ก ฏาย บน ปาก โอ่ง     (อันนี้ยอดฮิต)
อักษรสูง    ไข่ ฃวด ฉิ่ง ถิ่น ฐาน    ผึ่ง  ฝา  ศาล  ฤาษี เสื้อ หีบ      (สมัยนี้ ของลูกสาวเปลี่ยนไปอีกแระ)
อักษรต่ำ อันนี้ถูกใจมากมายครับ

ควาย ฅน ระฆัง ช้าง โซ่               เฌอ มณโฑ เฒ่า ทหาร
ธง ไฟ สำเภา ยักษ์ พาน               นกฮูก หญิง  ลิง เณร หนู                     
ม้า เรือ จุฬา  งู แหวน
                  จำให้แม่น หมั่นควรดู               
ยี่สิบสื่คำ ควรต้องรู้                     อักษรต่ำ  จำจงดี


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 18, 10:52
สรุปว่า Not  หรือ Knot   สะกดภาษาไทยว่า น้อต
 
อ่านไปอ่านมาชักงง   ขอถามเพื่อความแน่ใจ
ไม้ไต่คู้ ทำให้เสียงของคำ(สะกดด้วยอักษรต่ำ)ที่เป็นเสียงโท  อย่างคำว่า นอต  หรือ นอก  กลายเป็นเสียงตรีได้ไหม
เช่น นอก (เสียงโท) น็อก (เสียงตรี)  นอต(เสียงโท) น้อต( เสียงตรี)
ปัญหาคือ ไม้ไต่คู้ ทำให้เสียงตรี สั้นลงกว่าเขียนไม้โท หรือเปล่าคะ?

ชื่อสตรีชาวอังกฤษ Maude เมื่อก่อนราชบัณฑิตไม่ให้ทับศัพท์โดยมีวรรณยุกต์ประกบ    พอแปลเป็นไทย กลายเป็นนางสาวมอด   ซึ่งอ่านแล้วน่าเกลียดมาก   ก็เลยต้องขัดใจท่านรอยอิิน  ใส่ไม้โทเข้าไปเป็น ม้อด 
แต่ถ้า ม็อด จะออกเสียงตรีแต่สั้นกว่า ม้อด ใช่ไหมคะ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 มี.ค. 18, 11:58
สรุปว่า Not  หรือ Knot   สะกดภาษาไทยว่า น้อต
  
อ่านไปอ่านมาชักงง   ขอถามเพื่อความแน่ใจ
ไม้ไต่คู้ ทำให้เสียงของคำ(สะกดด้วยอักษรต่ำ)ที่เป็นเสียงโท  อย่างคำว่า นอต  หรือ นอก  กลายเป็นเสียงตรีได้ไหม
เช่น นอก (เสียงโท) น็อก (เสียงตรี)  นอต(เสียงโท) น้อต( เสียงตรี)
ปัญหาคือ ไม้ไต่คู้ ทำให้เสียงตรี สั้นลงกว่าเขียนไม้โท หรือเปล่าคะ?

คุณเทาชมพูสับสนเรื่อง เสียงสั้น และ เสียงยาว

น็อต และ น้อต มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำและเป็นคำตายทั้งคู่ ต่างกันที่ คำแรกมีเสียงสั้น ส่วนคำหลังมีเสียงยาว  การผันวรรณยุกต์มีดังนี้

คำแรก (เสียงสั้น)   น่อต-เสียงโท น็อต-เสียงตรี (น๋อต-เสียงจัตวา) ทุกคำถ้าเขียนเพื่อให้เห็นชัด ๆ ว่าเป็นคำเสียงสั้นต้องมีไม้ไต่คู้อยู่ระหว่างพยัญชนะและวรรณยุกต์ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการพิมพ์ (และอาจทำให้สับสนยิ่งขึ้น) * เทียบกับคำในตาราง คือ ง่ะ งะ ง๋ะ

คำหลัง (เสียงยาว)  นอต-เสียงโท น้อต-เสียงตรี (น๋อต-เสียงจัตวา) เทียบกับคำในตารางคือ งาด ง้าด ง๋าด

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/12/K7333938/K7333938-0.gif)

*
ลองอ่านบทความเรื่อง ตำแหน่งของไม้ไต่คู้ (๒) โดยอาจารย์นิตยา กาญจนะวรรณ

ไม้ไต่คู้ ถึงแม้ว่าจะมีหน้าที่บังคับให้เสียงสั้นลงในทำนองเดียวกับไม้ตรี ดังที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ประถม ก กา แต่ตำแหน่งของไม้ไต่คู้กลับถูกจำกัดลงไป ดังนี้

๑. ในอดีตทั้งไม้ไต่คู้และไม้ตรีปรากฏอยู่เหนือสระบนได้ แต่ในปัจจุบันไม้ไต่คู้ไม่สามารถปรากฏอยู่เหนือสระบนได้ ดังที่ปรากฏในเอกสารต่อไปนี้

(จากหนังสือ แบบเรียนเร็ว ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ : เล่ม ๑ หน้า ๙๑)

๒. ในอดีตไม้ไต่คู้สามารถปรากฏร่วมกับเครื่องหมายวรรณยุกต์ ได้ แต่ในปัจจุบันปรากฏร่วมไม่ได้ ดังปรากฏในเอกสารต่อไปนี้

(จากหนังสือ แบบเรียนเร็ว ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ : เล่ม ๑ หน้า ๗๑)
[ /size]


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 18, 16:04
เปล่า ไม่ได้สับสน
คุณเพ็ญชมพูแยก นอต เป็น 2 คำ คือน็อต กับน้อต  ดิฉันตั้งโจทย์เป็นคำเดียว
คือคำว่า นอต  ถ้าใส่ ไม้ไต่คู้เข้าไป ออกเสียงเป็นเสียงตรี แต่ออกเสียงสั้น
คำว่านอต ถ้าใส่ไม้โทเข้าไป ออกเสียงเป็นเสียงตรี แต่ออกเสียงยาว
แต่พอถึงเสียงจัตวา ของน็อต และน้อต    กลับสะกดเหมือนกัน  แต่เวลาผันเสียงก็ยังสั้นและยาวต่างกันอยู่นั่นเอง


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ย. 18, 17:52
ขออนุญาตแก้คำว่า "สร่าง" เป็น "สร้าง"  ;D  ;D

ภาพจาก http://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/2190


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 11 ก.ย. 18, 18:52

เทียบคำว่า​ สร้าง​ กับ​ ข้าง
ในลายมือข้างบนน่าจะสะกดถูกแล้วครับ


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 12 ก.ย. 18, 09:10
ท่านนายกฯ เขียนไม้โท ถึง 3 แบบ
1) แบบ เกือบเป็นเส้นตรง อย่างที่ปรากฎในคำว่า "สร้าง" และ "ข้าง"
2) แบบโค้งคว่ำ อย่างที่ปรากฎในคำว่า "เข้ม"
3) แบบเลข 2 อย่างที่ปรากฎในคำว่า "ด้วย" และ "ทิ้ง"


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 12 ก.ย. 18, 21:32
4) แบบขีดหางยาว​ เช่น​ คำว่า​ "ให้"


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 เม.ย. 19, 07:15
แสบสันต์ - แสบสัน  ;D

บทเรียนที่แสบสันต์ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6994.0)
ต การันต์ถูกต้องไหม
รอยอินท่านว่าไร
เปิดดูให้ใช้จงดี


จาก พจนานุกรมคำใหม่เล่ม ๓ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (http://www.e4thai.com/e4e/images/pdf/new_words_royal_dict_3.pdf?fbclid=IwAR2PP7sqgNK4_FTPvSN5-KEVdwiozfQOfg1EpY9toP8aEvmDyZGgcrw_e2s) หน้า ๑๑๕


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 19, 09:31
พลาดจนได้


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ค. 20, 07:32
คะ-ค่ะ สะกดคำผิด มีสิทธิ์เกิดดราม่า  ;D

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างมีการแชร์แชตของหญิงสาวรายหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย กำลังติดต่อสถานทูตไทยประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ถึงประเด็นตั๋วเครื่องบินกลับไทย ซึ่งกลายเป็นดราม่าดังชั่วข้ามคืน โดยรายละเอียด มีดังนี้

หญิงสาวได้ลงทะเบียนกลับประเทศไทย ซึ่งจะบินในวันที่ ๒๖  พฤษภาคม นี้ อย่างไรก็ตาม เธอไม่มั่นใจว่าเที่ยวบินนี้มีแน่ ๆ หรือไม่ จึงได้ติดต่อสถานทูตเพื่อสอบถามความชัดเจนอีกครั้ง ถ้าหากได้คำตอบที่ชัดเจนก็จะโอนเงินเข้าบัญชีทันที

ทว่าทางฝั่งสถานทูตได้ตอบคำว่า "คะ" คำเดียว ทำให้หญิงสาวสงสัยว่าหมายถึงอะไร จึงได้ถามกลับไป ส่วนทางสถานทูตก็ตอบกลับมาถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งหมด ๖ ประเด็นด้วยกัน

เมื่อหญิงสาวเห็นเป็นเช่นนั้น ก็ถามกลับว่าเที่ยวบินจะมีแน่ ๆ ใช่หรือไม่ หากได้รับการยืนยันจากสถานทูต เธอก็จะโอนเงินให้ ซึ่งทางสถานทูตก็ตอบมาสั้น ๆ ว่า "คะ"

เจอตอบมาสั้น ๆ แบบนี้ทำให้หญิงสาวเริ่มรู้สึกไม่ดี เพราะคำตอบอีกฝ่ายนั้นชวนงง จึงถามกลับว่า

"คะ คือคำถาม ค่ะ คือตอบรับ สรุปอันไหน ?" ซึ่งทางแอดมินสถานทูตก็เหมือนจะไม่รู้สึกสบอารมณ์ จึงตอบกลับเหวี่ยง ๆ ว่า "ก็คุณถามว่ามีแน่ ๆ ใช่ไหม ตอบว่า คะ ยังไม่ตอบคำถามคุณหลอคะ"

สุดท้าย หญิงสาวก็เข้าใจว่าความผิดพลาดทางการสื่อสารครั้งนี้ เป็นเพราะว่าใช้ คะ หรือ ค่ะ ไม่ถูกต้อง จึงได้ตอบสถานทูตว่า ให้ใช้คำว่า คะ ค่ะ ให้ถูกด้วย เพื่อที่จะไม่เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด และเวลาตอบคำถามก็อยากให้ระวังเอาไว้ เพราะแอดมินที่ตอบนั้น เป็นการตอบในนามสถานทูต อย่าให้ความไม่เป็นมืออาชีพทำลายภาพลักษณ์

https://hilight.kapook.com/view/202389

นอกจากคำว่า คะ-ค่ะ แล้ว ยังมีคำที่สะกดผิดอีกหลายคำเช่น ก้อ (ก็), หลอ (หรอ-หรือ) และสถานฑูต (สถานทูต)


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 20, 14:49
คะ-ค่ะ  เป็นคำสะกดง่ายที่เขียนถูกได้ยากที่สุดสำหรับคนไทยยุคนี้
ใช่คะ        X
นะค่ะ             X
ไปไหมค่ะ        X
กรุณาแจ้งชื่อด้วยคะ X
ไม่เป็นไรคะ         X
หรือค่ะ              X

ถูกต้องไหมค่ะ คุณเพ็ญชมพูค่ะ   ;) ;) ;)



กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ค. 20, 16:01
ถูกต้องไหมค่ะ คุณเพ็ญชมพูค่ะ   X

สาวนางหนึ่งหิ้วตะกร้าผลไม้ไปเยี่ยมไข้หัวหน้างาน พร้อมแนบการ์ดใบเล็ก ๆ เขียนว่า ขอให้หายนะค่ะ

หลังจากสาวนางนั้นกลับไปแล้ว หัวหน้างานอ่านข้อความในการ์ดนั้น

ไม่ทราบว่าอนาคตการงานของเธอจะเป็นอย่างไรหนอ ?

หมายเหตุ : ขอให้หายนะค่ะ (อ่านว่า ขอ-ให้-หาย-ยะ-นะ-ค่ะ) อันที่จริงเธอคงตั้งใจเขียนว่า ขอให้หายนะคะ (ขอ-ให้-หาย-นะ-คะ) มากกว่า  ;D ;D ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 20, 16:51
หลังจากอ่าน
"ขอให้หายนะ-ค่ะ"
ซองขาวอาจจะถูกนำมาวางที่โต๊ะทำงานในเช้าวันจันทร์


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.ค. 20, 20:17
แม่ปูกับลูกปู  ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 20, 20:59
คำที่เขียนให้ถูกได้ยากที่สุดในประเทศไทย


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 08 ก.ค. 20, 19:15
เรื่องครูเขียนค่ะ คะผิดเหมือนจะเห็นเยอะเหลือเกิน 555


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 20, 08:32
วิธีสะกดคำให้ถูก  เห็นจะต้องท่องเอาอย่างเดียว


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.ค. 20, 07:20
พยายามจะสื่อสาร      ไม่ชำนาญในการเขียน
ความรู้จากโรงเรียน    เลือนลบไปไม่ครบครัน
 


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 20, 08:31
 :D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: azante ที่ 10 ก.ค. 20, 11:27
สรรค์ คือคำต่อท้ายที่ถูกต้องใช่มั้ยครับ

สังสรรค์
สร้างสรรค์
รังสรรค์

แต่คำเหล่านี้ต้อง สรร

คัดสรร
เลือกสรร


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 20, 15:41
ใช่ค่ะ
สรรค์ แปลว่า  สร้างขึ้น, ทำให้มี ให้เป็นขึ้น, มักใช้คู่กับคำว่า สร้าง เป็น สรรค์สร้าง หรือสร้างสรรค์
ส่วน
สรร (ไม่มี ตัว ค์) แปลว่า คัด เลือก เช่น จัดสรร คัดสรร

บ้านจัดสรร   ไม่ใช่ บ้านจัดสรรค์
สรรหา        ไม่ใช่  สรรค์หา


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 20, 07:30
สรรค์ แปลว่า  สร้างขึ้น, ทำให้มี ให้เป็นขึ้น, มักใช้คู่กับคำว่า สร้าง เป็น สรรค์สร้าง หรือสร้างสรรค์

นอกจากคำว่า "สรรค์สร้าง" ที่ท่านรอยอินเสนอแล้ว

แต่ขอเสนอท่านรอยอินเพื่อโปรดพิจารณาคำนี้อีกด้านหนึ่ง คำว่า "สรรสร้าง" ก็น่าจะใช้ได้เหมือนกัน เมื่อใช้ในความหมายว่า เลือกแต่สิ่งดี ๆ เพื่อการสร้าง


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 20, 07:39
วิธีสะกดคำให้ถูก  เห็นจะต้องท่องเอาอย่างเดียว

คำว่า มงกุฎ แผลงมาจากคำว่า มกุฎ (เขียนว่า มกุฏ ในบาลีสันสกฤต)

ตามหลักแล้ว คำว่า มกุฎ ใช้ ฎ ชฎา เป็นตัวสะกด แต่ไม่แน่เสมอไป เพราะชื่อเฉพาะหรือวิสามานยนามบางชื่อใช้ ฏ ปฏัก เป็นตัวสะกด (ตามคำเดิมในภาษาบาลีสันสกฤต)  เช่น มหามกุฏราชวิทยาลัย, วัดมกุฏกษัตริยาราม และวัดมกุฏคีรีวัน (ปากช่อง)

ซึ่งต้องใช้วิธีท่องจำเอาอย่างเดียว  ;D


กระทู้: ขออนุญาตแก้คำที่สะกดผิด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 21, 22:17
เชิญต่อที่กระทู้นี้ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=7249.msg177936#msg177936