เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Koratian ที่ 28 ส.ค. 15, 08:15



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 28 ส.ค. 15, 08:15
อาจเป็นได้ว่า ผลงานชั้นเยี่ยมเหล่านั้นแต่งโดยกวีนิรนามในสำนักของพระองค์ครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ส.ค. 15, 08:48
^
เป็นไปได้มาก


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 15, 09:52
ทำไมไม่คิดว่าเป็นพระนิพนธ์ล่ะคะ
ท่านอาจจะนิพนธ์ตั้งแต่ก่อนประชวรก็ได้นี่นา


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: สาคร ที่ 28 ส.ค. 15, 13:50
พระโรคที่ท่านเป็นมันทำลายสมองด้วยหรือเปล่าครับ?


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 28 ส.ค. 15, 18:23
พระโรคที่ท่านเป็นมันทำลายสมองด้วยหรือเปล่าครับ?

Morbus Gallicus หรือ French Pox ก็คือซิฟิลิสครับ ซึ่งก็เข้าใจว่าเป็นโรคเดียวกับ 'คุดทะราด' หรือ 'คชราด' โรคสำหรับบุรุษที่กล่าวถึงในพงศาวดาร(ปัจจุบันคุดทะราดใช้เรียกโรค yaws แต่เข้าใจว่าสมัยอยุทธยาจะใช้เรียกรวมกับซิฟิลิสด้วย ทั้งสองโรคติดเชื้อ Treponema pallidum เหมือนกัน) ถ้าเป็นในระยะที่สาม(Tertiary state)หรือระยะสุดท้ายก็จะสามารถลุกลามไปทำลายระบบต่างๆของร่างกายรวมถึงระบบสมองและไขสันหลังได้ครับ แต่มักจะพบในคนที่เป็นเรื้อรังนานๆเป็นสิบปีครับ

รูปผิวหนังผู้ป่วยซิฟิลิสระยะที่สอง
(http://img.medscape.com/pi/features/slideshow-slide/derm-hiv/fig9.jpg)

หลายๆแหล่งอ้างว่าที่เรียกพระนามพระองค์ว่า 'เจ้าฟ้ากุ้ง' เพราะพระองค์ตัวงอเนื่องจากโรคลุกลามไปถึงเส้นประสาท(อาจจะส่งผลให้เกิด abnormal gait ได้) บางที่ก็ว่าต้องเดินงอตัวเพื่อลดความเจ็บปวดจนดูเหมือนกุ้ง แต่บางแห่งก็แย้งว่าโรคซิฟิลิสรวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(STD)อื่นๆไม่ทำให้ตัวงอได้ ก็อยากทราบเหมือนกันครับว่าในทางการแพทย์ โรคซิฟิลิสสามารถทำให้เกิดการงอตัวได้อย่างที่อ้างมั้ยครับ เพราะเท่าที่ทราบก็ยังไม่มีหลักฐานที่ระบุชัดถึงเรื่องที่มาของพระนาม ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการตีความกันไปเองหรือเปล่า

ว่าแต่ทำไมถึงสงสัยว่าโรคนี้ทำลายสมองครับ เพราะเท่าที่ทราบก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าน่าจะทรงมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับสมองแต่อย่างใดครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 28 ส.ค. 15, 18:28
อาจเป็นได้ว่า ผลงานชั้นเยี่ยมเหล่านั้นแต่งโดยกวีนิรนามในสำนักของพระองค์ครับ

^
เป็นไปได้มาก

สงสัยเหมือน อ.เทาชมพูครับ ว่าทำไมถึงทั้งสองท่านถึงคิดว่าพระองค์ไม่น่าจะนิพนธ์ด้วยพระองค์เองล่ะครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 28 ส.ค. 15, 19:02
ลองเทียบเหตุการณ์ตามพระราชพงศาวดารกับหลักฐานของ VOC ให้ดูง่ายๆครับครับ

๑ เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๕๖(พ.ศ.๒๒๙๙) เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในราชสำนักไทย
๒ เป็นเวลาราวๆ 1 ปีที่ "Kpoomprincs" ( มกุฎราชกุมาร / อุปราช ) ประชวรด้วยโรค Morbus Gallicus กามโรคชนิดหนึ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "French Pox" เลยเข้าวังหลวงไม่ได้ทรงประทับอยู่แต่ในวังของพระองค์เอง ( วังหน้า )
"ณ เดือน ๖ ปีกุนสัปตศก(จ.ศ.๑๑๑๗ พ.ศ.๒๒๙๘) ฉลองวัดพระยาคำ อนึ่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประชวรพระโรคสำหรับบุรุษกลายไปเป็นโรคคชราค แต่ไม่ได้เสด็จเข้าเฝ้าถึง ๓ ปีเศษ..."


๓ ในช่วงที่ทรงพระประชวร พระมหาอุปราชทรงสั่งลงโทษข้าหลวง ( แม้ข้าหลวงที่สำคัญ ) อย่างรุนแรง นอกจากนั้นแล้วยังทรงวิวาทกับพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษอีกพระองค์หนึ่ง Tjauw Sakew ( ถอดเสียงออกเป็น "เจ้าสระแก้ว" น่าที่จะหมายถึง กรมหมื่นสุนทรเทพ ซึ่ง พระราชพงศาวดารว่าทรงประทับอยู่ ณ พระตำหนักสระแก้ว ) เจ้าฟ้ากุ้งได้สั่งให้ลูกน้องไปล้อมที่ประทับของ "Tjauw Sakew" แต่กรมหมื่นสุนทรเทพพร้อมบรรดาพระราชโอรสของพระองค์ทรงสามารถหลบหนีไปได้ แล้วเข้าไปที่พระราชวังหลวง เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษและกราบบังคมทูลเรื่องราวทั้งหมด
"วันหนึ่งมีพระบัณฑูรให้มาเอาตัวเจ้ากรม ปลัดกรม นายเวร กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี มาถามว่า เจ้ากรมเป็นแต่หมื่น จัดกันในกรมตั้งเป็นขุน แล้วทำสูงกว่าศักดิ์ ให้ลงอาญาโบยหลังคนละ ๑๕ ทีบ้าง ๒๐ ทีบ้าง เพลากลางคืนให้คนเข้ามาด้อมมองอยู่ประตูสระแก้ว กรมหมื่นสุนทรเทพเกรงจะทำร้าย เพลากลางคืนเสด็จประชุมอยู่ที่ข้างโรงเตียบ ต่อมาเพลากลางวันเสด็จไปอยู่ ณ ตำหนักสระแก้ว ได้ประมาณ ๙ วัน ๑๐ วัน  กรมหมื่นสุนทรเทพทำเรื่องราวกราบทูล พระกรุณาเป็นการลับ ว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จเข้ามาทำชู้ด้วยเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาล ถึงในพระราชวังหลวงเป็นหลายครั้ง..."


๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงออกพระโอษฐ์เรียกพระมหาอุปราชเข้าเฝ้า ทีแรกนั้นพระมหาอุปราชหายอมไม่ แต่ในที่สุดพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงขู่ว่า ถ้าไม่มาเข้าเฝ้าแล้วไซร้พระองค์จะทรงมาจับตัวไปเอง เจ้าฟ้ากุ้งจึงทรงยอมเข้าไปในพระบรมหาราชวัง พระมหาอุปราชทรงนำอาวุธ ( ดาบ ) ติดพระองค์ไปด้วย พร้อมทั้งบริวารก็ถืออาวุธจำนวนหนึ่ง ทรงเดินถือดาบเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ( แต่บริวารของพระองค์ไม่สามารถเข้าไปได้ ) แต่ในที่สุดก็ทรงยอมยื่นดาบให้ "เจ้านายพระองค์หนึ่ง" ( ไม่กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี หรือไม่ก็ กรมหมื่นเทพพิพิธ ) ก่อนเข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงตรัสถามพระมหาอุปราชเรื่องการถืออาวุธเข้ามาในวังเพื่อที่จะฆ่า "Tjauw Sakew" แต่พระมหาอุปราชไม่ทรงตอบคำถามดังกล่าว
"...พระเจ้าอยู่หัวให้ชำระกรมฝ่ายในเป็นสัตย์ แล้วจึงสั่งพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าธิดา เจ้าฟ้าสุริยวงศ์ ให้ไปเชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าธิดา เจ้าฟ้าสุริยวงศ์ กราบทูลว่า เป็นอริอยู่จะไปเชิญเสด็จมิได้ เจ้าจอมจันท์มารดาพระเจ้าลูกเธอพระองค์กระแหจึงไปเชิญเสด็จ กรมพระราชวังมาจะขึ้นฉนวนวังหน้า มหาดเล็กที่ล่วงมารับเสด็จนั้นกราบทูลว่า ประตูเสาธงชัยปิด ก็หาเสด็จ ขึ้นไม่ล่องลงไปประทัพอยู่ที่ฉนวนน้ำประจำท่า ประตูฉนวนก็ปิด เรือพระที่นั่งล่วงลงมาเสด็จขึ้นสะพานใต้ระหัดน้ำ ทรงพระเสลี่ยงมาถึงศรีสำราญ ทอดพระเนตรเห็นคนนั่งอยู่ริมศาลาลูกขุนท้ายสระเป็นอันมาก จะให้กลับพระเสลี่ยง หลวงศรีผาวังทูลว่า ขอพระราชทานเสด็จไปเฝ้าจึงจะชอบ ก็เสด็จเข้าไปอยู่ ณ ทิมดาบ จึงมีพระราชโองการสั่งมหาดเล็ก ให้ออกมาเชิญเสด็จไป ณ ตำหนักสองห้องข้างทิมสงฆ์..."


๖ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงให้จับตัวพระมหาอุปราชไว้และล่ามโซ่ทั้งที่มือและเท้า ( การจองจำห้าประการ ) ทรงห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหาถ้าไม่ได้รับพระราชานุญาติจากพระองค์ ให้เจ้าองค์หนึ่ง ( ไม่กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี หรือไม่ก็ กรมหมื่นเทพพิพิธ ) ขุนนาง ๒ คน คอยเฝ้าคุมอยู่ระหว่างที่เสวยพระกระยาหาร เนื่องจากพระมหาอุปราชไม่อยากเสวยพระกระยาหารนัก พระองค์จึงทรงเสวยได้น้อยมากในเวลา ๓ วัน ที่พระมหาอุปราชติดคุกอยู่ก้ได้มีคนนำเอาเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับพระมหาอุปราชมากราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษหลายเรื่อง
๗ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ "Tjauw Sakew" กับ
"Tjauw Cromme Kiesa Poon" ( กรมหมื่นจิตรสุนทร ) พร้อมทั้งเจ้าพระยาจักรี , เจ้าพระยาพระคลัง เป็นผู้สอบสวนพระมหาอุปราช แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบอะไรเลย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงลงพระอาญาให้โบยพระมหาอุปราช ๒๐ ที แต่ก็ไม่ได้ผล หลังจากนั้นพระมหาอุปราชทรงถูกโบยอีก ๒๐ ที และให้เผา “ ปลายพระบาท “ อีกด้วย ( นาบพระบาท ) ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้ผลนัก จึงมีพระราชดำรัสให้จับข้าหลวงสำคัญๆของพระมหาอุปราชเข้าคุกให้หมด เพื่อสอบสวนความต่างๆ ซึ่งได้มีการทรมานเฆี่ยนตีข้าหลวงเหล่านี้
"...แล้วสั่งพระมหาเทพให้จำห้าประการ แล้วมีกระทู้ถามกรมพระราชวังรับเป็นสัตย์ วันแรมค่ำหนึ่งเดือน ๕ ให้เฆี่ยน ณ ริมตำหนักสองห้องได้ ๒๐ ที กรมหมื่นสุนทรเทพขึ้นไปกราบทูลว่าจุกนักให้แก้เสีย ทรงพระกรุณาให้ริบ ครั้นแรม ๒ ค่ำเฆี่ยน อีก ยกหนึ่ง ๒๐ นาที แรม ๓ ค่ำอีกยกหนึ่ง ๒๐ ที แล้วให้นาบพระบาท..."


๑๐ พอเจ้านาย ๒ องค์ เสนาบดี ๒ คนนี้ ( ดูข้อ ๗ ) รายงานเรื่องราวต่างๆนี้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ
"...กรมหมื่นสุนทรเทพขึ้นไปกราบทูลว่าจุกนักให้แก้เสีย...กรมหมื่นเทพพิพิธทูลว่า ได้ลงพระราชอาชญา ๖๐ ทีแล้ว..."


๑๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษทรงตกพระทัยมาก พอได้ยินเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระมหาอุปราช จึงทรงมีรับสั่งให้เฆี่ยนตีพระมหาอุปราชอีก ๕๐ ที และให้เอาเหล็กร้อนๆมาจ่อที่หน้าผาก แขน และขา
"...แล้วให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทปรึกษาพร้อมกันว่า โทษถึงตายเป็นหลายข้อ ขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามประเพณี จึงทรงพระกรุณาตรัสขอชีวิตไว้ แต่ให้นาบพระนลาฎ..."


๑๓ ส่วนพระมเหสีและพระสนมทั้งสี่องค์นั้นทรงถูกเฆี่ยนตีองค์ละ ๕๐ ที จนสิ้นพระชนม์ทั้งหมด บริวารของพระมหาอุปราชต่างถูกโบยทั้งสิ้นและมีที่เสียชีวิต ๒ ราย
"...เจ้าฟ้าสังวาลนั้น ให้เฆี่ยนยกหนึ่ง ๓๐ ที อยู่ ๓ วันก็ถึงแก่พิราลัย กรมพระราชวังนั้น เฆี่ยนอีก ๔ ยกเป็น ๑๘๐ ก็ดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงให้นำเอาศพไปณวัดชัยวัฒนารามทั้งสององค์"


๑๔ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ค.ศ. ๑๗๕๖ พวกชาวฮอลันดาได้ข่าวว่า "พระมหาอุปราชทรงสิ้นพระชนม์แล้ว" พระองค์ก็ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้โบยพระมหาอุปราชอีก ๕๐ ที มีการซักถามพระมหาอุปราชอีกด้วยว่า ทรงรับสั่งให้ทำกุญแจเข้าไปในพระบรมหาราชวังเพื่อการอันใด ทรงตอบว่าเพื่อที่จะได้เข้าไปหา ( เป็นชู้ ) พระมเหสีและพระสนมถึง ๔ องค์ด้วยกัน
"...แลให้ต่อว่ากรมพระราชวังว่า อ้ายปิ่นกลาโหม คบหากับมารดา เจ้ามิตร เป็นแต่เมียข้าเฆี่ยนถึง ๗๐๐ จนตายกับคา นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย ๓ องค์ ๔ องค์ จะแบ่งเป็น ๓ ส่วน ยกเสีย ๒ ส่วน จะให้เฆี่ยนส่วนหนึ่งแต่ ๒๓๐ ที จะว่าประการใด กรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่า จะขอรับพระราชอาชญาตามจะทรงพระกรุณาโปรด..."



น่าสนใจว่านอกจากเจ้าสามกรมแล้ว ก็ยังปรากฏว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรก็ทรงมีความขัดแย้งกับเจ้านายฝ่ายในอย่างเจ้าฟ้าธิดากับเจ้าฟ้าสุริยวงศ์ซึ่งเป็นพระขนิษฐาร่วมพระมารดาด้วย โดยพงศาวดารระบุว่าถึงเป็น 'อริ' จนไม่สามารถไปทูลเชิญเสด็จมาเฝ้าได้ทั้งๆที่เป็นพระราชโองการของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สันนิษฐานว่าความขัดแย้งในที่นี้น่าจะเป็นอะไรที่มากกว่าเรื่องทำนองพี่น้องไม่ชอบกันแบบธรรมดาครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 28 ส.ค. 15, 23:02
ภาพลักษณ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรตามหลักฐานที่ปรากฏ
แตกต่างไปจากภาพของเจ้าชาย กวีเอก นักรัก หนุ่มรูปงามในอุดมคติมากทีเดียวครับ

ตามหลักฐานที่เห็นเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ท่านนี้จะออกไปทาง มาเฟีย จอมกร่าง ลูกนักการเมืองใหญ่
ที่นิยมการท่องเที่ยวและขยันเสาะหา ดารา นักร้อง พริตตี้สาวๆมาไว้ใกล้ตัวมากกว่า

จากพฤติกรรมจอมกร่างของท่านในหลายๆคราว ยากที่จะเชื่อได้ว่าเป็นคนเดียวกันกับยอดกวีที่ฝากผลงานไว้  
เป็นกาพย์และโคลงอันเยี่ยมยอด ที่เหลือตกมาให้เราได้ศึกษากันในปัจจุบัน
(ถ้าไม่เชื่อพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ เราก็ควรพิจารณาเอกสารที่น่าจะเป็นกลางแบบ wikileak อย่างเอกสารของ VOC ครับ)

ทั้งฐานะและทุนทรัพย์ของท่านก็สามารถชุบเลี้ยงบริวารติดสอยห้อยตามได้มาก
ทั้งนี้อาจรวมถึงเหล่ากวีนิรนาม หรือ ghost writer ที่ร่วมกัน collaborate สร้างผลงานให้ท่าน
ได้พิจารณาขัดเกลาและลงชื่อท่านผู้อุปถัมภ์กำกับไว้อีกต่อหนึ่ง

คล้ายกับกรณี กำสรวลสมุทร ที่น่าจะแต่งโดยกวีในสำนักของ เจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์
(เรื่องเจ้าฟ้าน้อยกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็จบคล้ายๆกัน)




กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 28 ส.ค. 15, 23:20

กาพย์เห่เรือ
https://th.wikisource.org/

        พระเสด็จโดยแดนชล   ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย   พายอ่อนหยับจับงามงอน
        นาวาแน่นเป็นขนัด   ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
เรือริ้วทิวธงสลอน   สาครลั่นครั่นครื้นฟอง
        เรือครุฑยุดนาคหิ้ว   ลิ่วลอยมาพาผันผยอง
พลพายกรายพายทอง   ร้องโห่เห่โอ้เห่มา
        สรมุขมุขสี่ด้าน   เพียงพิมานผ่านเมฆา
ม่านกรองทองรจนา   หลังคาแดงแย่งมังกร
        สมรรถชัยไกรกาบแก้ว   แสงแวววับจับสาคร
เรียบเรียงเคียงคู่จร   ดั่งร่อนฟ้ามาแดนดิน
        สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย   งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์   ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม

จากภาพที่ปรากฏกวีผู้เขียนน่าจะมีมุมมองจากบนฝั่ง หรือนอกขบวนเรือพระที่นั่งครับ
เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรในฐานะพระราชโอรสองค์โตจะเป็นผู้ตามเสด็จใกล้ชิดมุมมองจะต่างออกไป


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 28 ส.ค. 15, 23:56

กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง

https://th.wikipedia.org/wiki/กาพย์ห่อโคลง


   ๑ เกลื่อนกรูหมู่จัตุรงค์ เปนกันกงเรียบเรียงไป
      ทรงช้างระวางใน เทพลีลาหลังคาทอง ฯ
      เกลื่อนกรูหมู่แห่ห้อม เรียงไสว
      เสด็จพุดตานทองไคล หว่างเขรื้อง
      ทรงช้างระวางใน มีชื่อ
      เทพลีลาเยื้อง ย่างแหน้หลังดี ฯ
  ๒ เครื่องสูงเพราเพริศพราย ชมชุมสายซ้ายขวาเคียง
     ธงไชยธงฉานเรียง ปี่กลองชนะตะเต่องครึมฯ
     กลองทองตีครุ่มครึ้ม เดิรเรียง
     จ่าตะเติงเติงเสียง ครุ่มครื้น
     เสียงปี่รี่เรื่อยเพียง กระเวก
     แตร้นแตร่นแตรฝรั่งขึ้น หวู่หวู้เสียงสังข์ ฯ
  ๓ นักสนมกรมชแม่มี่ ขี่ช้างกูบรูปโลมใจ
     พักตราอ่าผ่องใส นุ่งห่มโอ่โสภาจริง ฯ
     นักสนมกรมชแม่เจ้า ทังหลาย
     ขี่ช้างกูบดาวราย แจ่มหน้า
     พักตราผ่องใสสาย สุดสวาท
     นุ่มห่มโอ่โถงผ้า อร่ามริ้วทองพราย ฯ
 ๔ เพริศเพราเหล่านางห้าม รูปทรงงามตามเสด็จไป
    ผมมวยรวยริมไร ม่านปีกนกวกวงวัง ฯ
    เพริศเพราเหล่าฝ่ายห้าม งามนัก
    รูปงามตามแลลักษณ์ ลูบท้อง
    ผมมวยรวยไรอรรค ชาเยศ
    ม่านปีนกปกป้อง ห่อหุ้มคลุมเดิร ฯ


มุมมองของผู้แต่งคล้ายกับเป็นผู้ชมขบวนอยู่ที่พื้นดิน ไม่ได้ขี่ช้างอยู่ในขบวน


   ๕๒ ดู หนู สู่ รู งู งู สุด สู้ หนู สู้ งู
        หนู งู สู้ ดู อยู่ รูป งู ทู่ หนู มู ทู ฯ
        ดู งู ขู่ ฝูด ฝู้ พรู พรู
        หนู สู้ รู งู งู สุด สู้
        งู สู้ หนู หนู สู้ งู อยู่
        หนู รู้ งู งู รู้ รูป ทู้ มู ทู


บทนี้อยู่ในแบบเรียนจินดามณี


  ๑๐๗ จบเสร็จชมนกไม้ ในแหล่งไพรพนัศสถาน
         หญิงชายฟังสำราญ ที่ผิดอ่านวานแต้มเขียน ฯ
         จบเสร็จชมนกไม้ โคลงการ
         ชมแหล่งไพรพนัศสถาน เถื่อนกว้าง
         หญิงชายชื่นชมบาน ใจโลกย์
         ใคร่อ่านวานเติมบ้าง ช่วยแต้มเขียนลง ฯ
   ๑๐๘ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร จำเนียรกาลนานสืบไป ฯ
          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เจ้า ทรงเขียน
         ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร เลิศหล้า
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร ในโลกย์
         จำเนียรกาลนานช้า อ่านอ้างสรรเสริญ ฯ
   ๑๐๙ เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช กุมาร
         ธรรม์ ธำรงกลอนการ ยั่วแย้ม
         ธิเบศร์ วราสถาน ไชยเชษฐ
         สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม แต่งไว้วานสงวน ฯ
         เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ สมพาร
         กรมขุน หลวงพญากราน กราบเกล้า
         เสนา นราบาน ใจชื่น ชมนา
         พิทักษ์ รักษาเช้า ค่ำด้วยใจเกษม ฯ
         จบ จนจอมโลกย์เจ้า คืนวัง
         บ พิตรสถิตบัลลังก์ เลิศหล้า
         ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง ชนโลก อ่านนา
         บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ
         อักษรเรียบร้อยถ้อย คำเพราะ
         ผู้รู้อ่านสารเสนาะ เรื่อยหรี้
         บรู้อ่านไม่เหมาะ ตรงเทิ่งไปนา
         ทำให้โคลงทั้งนี้ ชั่วช้าเสียไป
         อักษรสรรค์สร้างช่าง ชุบจาน
         โคลงก็เพราะเสนาะสาร แต่งไว้
         ผู้รู้อ่านกลอนการ พาชื่น ใจนา
         ผู้บ่รู้อ่านให้ ขัดข้องเสียโคลง ฯ


เป็นไปได้มากที่สองบทสุดท้ายนี้ท่านไม่ได้แต่งเอง
จากมุมมองของ ผู้บ่รู้อ่านให้ ขัดข้องฯ ครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ส.ค. 15, 07:06
ภาพลักษณ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรตามหลักฐานที่ปรากฏ
แตกต่างไปจากภาพของเจ้าชาย กวีเอก นักรัก หนุ่มรูปงามในอุดมคติมากทีเดียวครับ

ตามหลักฐานที่เห็นเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ท่านนี้จะออกไปทาง มาเฟีย จอมกร่าง ลูกนักการเมืองใหญ่
ที่นิยมการท่องเที่ยวและขยันเสาะหา ดารา นักร้อง พริตตี้สาวๆมาไว้ใกล้ตัวมากกว่า

จากพฤติกรรมจอมกร่างของท่านในหลายๆคราว ยากที่จะเชื่อได้ว่าเป็นคนเดียวกันกับยอดกวีที่ฝากผลงานไว้  
เป็นกาพย์และโคลงอันเยี่ยมยอด ที่เหลือตกมาให้เราได้ศึกษากันในปัจจุบัน
(ถ้าไม่เชื่อพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ เราก็ควรพิจารณาเอกสารที่น่าจะเป็นกลางแบบ wikileak อย่างเอกสารของ VOC ครับ)

ทั้งฐานะและทุนทรัพย์ของท่านก็สามารถชุบเลี้ยงบริวารติดสอยห้อยตามได้มาก
ทั้งนี้อาจรวมถึงเหล่ากวีนิรนาม หรือ ghost writer ที่ร่วมกัน collaborate สร้างผลงานให้ท่าน
ได้พิจารณาขัดเกลาและลงชื่อท่านผู้อุปถัมภ์กำกับไว้อีกต่อหนึ่ง

คล้ายกับกรณี กำสรวลสมุทร ที่น่าจะแต่งโดยกวีในสำนักของ เจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์
(เรื่องเจ้าฟ้าน้อยกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็จบคล้ายๆกัน)

เมื่อวานนี้ไม่มีเวลาเข้ามาตอบคำถามว่าทำไมผมจึงเห็นคล้อยตามคุณคนโคราช แต่ถ้าตอบก็คงตอบได้เพียงสั้นๆว่า จิตใจของคนที่มีอารมณ์สุนทรีย์ขนาดเขียนกวีนิพนธ์ได้ระดับนั้น ย่อมจะมีจิตใจคนละชนิดกับคนอย่างเจ้าฟ้ากุ้ง ที่เราเรียนรู้จากหน้าตำนานประวัติศาสตร์

เช้านี้เห็นที่คุณคนโคราชอรรถาธิบายแล้ว ผมคงจะไม่ต้องเพิ่มในประเด็นนี้


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ส.ค. 15, 07:08
๑๐๘   เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์     ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร จำเนียรกาลนานสืบไป ฯ

          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เจ้า  ทรงเขียน
         ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร  เลิศหล้า
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร    ในโลกย์
         จำเนียรกาลนานช้า      อ่านอ้างสรรเสริญ ฯ

กาพย์ท่อนบนและโคลงสี่ที่ตามต่อมานี้เอง ที่ทำให้คนทั้งปวงคล้อยตามว่าผู้นิพนธ์คือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์     


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ส.ค. 15, 07:10
แต่ถ้าดูสำนวนของโคลงบทต่อมาเหล่านี้ จะเห็นร่องรอยของผู้แต่งถวาย มีหรือที่เจ้านายพระองค์ใดจะทรงนิพนธิ์ยกยอตัวเองอะไรจะขนาดนั้น ผมไม่เคยเห็น ปกติพระนิพนธ์ของเจ้านายพระองค์ใดหากจะทรงออกพระนามก็จะไม่มีพระยศนำ จะใช้พระนามเฉยๆ

แต่นี่ ถ้านำเฉพาะสามบทนี้ไปแสดง คนอ่านก็ต้องบอกว่าเป็นอื่นที่ไม่ใช่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ จึงจะแต่งขึ้นแบบนี้
ถ้าเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ทรงนิพนธิ์ด้วยพระองค์เองอย่างนี้ คงโดนเจ้านายด้วยกันโห่แน่นอน

   ๑๐๙ เจ้าฟ้าหนุ่มน้อยราช       กุมาร
         ธรรม์ธำรงกลอนการ     ยั่วแย้ม
         ธิเบศร์วราสถาน         ไชยเชษฐ
         สุริย์วงศ์ทรงโคลงแต้ม    แต่งไว้วานสงวน ฯ

         เจ้าฟ้าเลิศล้ำโพธิ           สมภาร
         กรมขุนหลวงพญากราน    กราบเกล้า
         เสนานราบานใจชื่น         ชมนา
         พิทักษ์รักษาเช้า            ค่ำด้วยใจเกษม ฯ

         จบจนจอมโลกย์เจ้า         คืนวัง
         บพิตรสถิตบัลลังก์          เลิศหล้า
         ริร่างกาพย์โคลงหวัง        ชนโลก อ่านนา
         บูรณ์พระโคลงเจ้าฟ้า       ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 29 ส.ค. 15, 08:13
ไม่เคยสังเกตจุดนี้เลย เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆครับ บทที่ ๑๐๙ อ่านแล้วชัดเจนว่าเป็นการแต่งยอพระเกียรติ ผิดธรรมชาติที่จะเขียนชมตนเองอย่างที่ว่าครับ

ในเรื่องของกาพย์เห่เรือตอนเห่ชมกระบวนเรือซึ่งอยู่ในมุมมองบุคคลที่ ๓ จะเป็นไปได้ไหมครับว่ากาพย์เห่เรือนี้ไม่ได้แต่งขึ้นเพื่อบันทึกภาพการเดินทางสดแบบนิราศ แต่แต่งเพื่อใช้ในการเห่เรือแบบที่ในยุคปัจจุบันจะมีการแต่งบทเห่เรือเพื่อเฉลิมพระเกียรติเมื่อมีกระบวรพยุหยาตราชลมารคเป็นคราวๆไป ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้มั้ยครับว่าแต่งเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อน(แต่ใครแต่งจริงๆนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 29 ส.ค. 15, 08:33

คล้ายกับกรณี กำสรวลสมุทร ที่น่าจะแต่งโดยกวีในสำนักของ เจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์
(เรื่องเจ้าฟ้าน้อยกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็จบคล้ายๆกัน)

ผมเอนเองไปตามข้อสันนิษฐานที่ว่ากำสรวลสมุทรน่าจะเป็นวรรณคดียุคต้นอยุทธยามากกว่าครับ เพราะรูปแบบภาษาเก่าแก่กว่าภาษาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อเทียบกับวรรณกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์เองหรือการสะกดคำในบันทึกของออกพระวิสุทสุนธร(ปาน)ที่ไปฝรั่งเศส ภาษานั่นใกล้เคียงกับทวาทศมาสหรือยวนพ่ายมากกว่า รวมถึงเส้นทางการเดินทางที่ไม่ได้ผ่านคลองลัดสายต่างๆที่ได้ขุดขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์

นอกจากนี้ในจินดามณีที่แต่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เขียนว่า "ผิจะเอากลอนห้าใส่ ให้เอาด้วยกันทั้งสี่บท อย่าได้ลดโคลงต้น คืออุปาทวาทศ คำสวรสมุทร สมุทรโฆษ พระนนท์ กษัตรีสังวาส ศรีอุมาธิการย พระยศราชาพิลาป อย่าได้เอาคำบูราณนั้นมาใส่ ผิจะดูเยี่ยงให้ดูเยี่ยงกลบท"  เป็นการสื่อว่ากำสรวลสมุทรเป็นวรรณกรรมเก่า ซึ่งมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ครับ

“บาสรีจุฬาลักษณ์” อาจจะไม่จำเป็นว่าต้องเป็นน้องสาวของพระเพทราชา เพราะ 'ศรีจุฬาลักษณ์' เป็นตำแหน่งสนมเอกที่มีอยู่ในกฎมณเฑียรบาลอยู่แล้ว

ดูจากร่ายตอนแรกสุดที่มีข้อความว่า "ราเมศไท้ท้าวต้งง แต่งเอง ฯ" สันนิษฐานได้ว่าผู้แต่งเป็นพระมหากษัตริย์ครับ(แต่จะแต่งเองหรือเปล่าอันนี้ไม่ทราบ)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 29 ส.ค. 15, 09:07
ภาพลักษณ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรตามหลักฐานที่ปรากฏ
แตกต่างไปจากภาพของเจ้าชาย กวีเอก นักรัก หนุ่มรูปงามในอุดมคติมากทีเดียวครับ

ตามหลักฐานที่เห็นเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ท่านนี้จะออกไปทาง มาเฟีย จอมกร่าง ลูกนักการเมืองใหญ่
ที่นิยมการท่องเที่ยวและขยันเสาะหา ดารา นักร้อง พริตตี้สาวๆมาไว้ใกล้ตัวมากกว่า

จากพฤติกรรมจอมกร่างของท่านในหลายๆคราว ยากที่จะเชื่อได้ว่าเป็นคนเดียวกันกับยอดกวีที่ฝากผลงานไว้  
เป็นกาพย์และโคลงอันเยี่ยมยอด ที่เหลือตกมาให้เราได้ศึกษากันในปัจจุบัน


ผมคิดว่าจิตใจนิสัยของแต่ละคนสามารถสื่อออกมาผ่านบทกวีได้บ้างแต่ก็ไม่น่าจะตายตัวว่านิสัยแบบไหนแล้วจะต้องแต่งสำนวนออกมาแบบนั้นตลอด กวีหลายๆคนก็ใช้ว่าจะมีอุปนิสัยที่ดีนัก แต่ก็สามารถแต่งบทประพันธ์ที่ไพเราะได้

ตัวอย่างเช่นเพลงยาวเรื่องตีเมืองพม่า พระราชนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงใช้สำนวนภาษาที่ดุดัน แข็งกร้าว สอดคล้องกับที่กล่าวกันว่าทรงมีพระอุปนิสัยดุดัน แต่ในบางครั้งก็ปรากฏว่าพระองค์ทรงใช้สำนวนที่แตกต่างออกไปอย่างในนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จไปปราบพม่าเมืองนครศรีธรรมราชก็ทรงใช้ภาษาบรรยายถึงนางอันเป็นที่รักได้ผิดกันเป็นคนละคนเลย

นอกจากนี้ในเรื่องอุปนิสัยของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรเท่าที่ปรากฏนอกจากเรื่องเคยไปลอบทำร้ายกรมขุนสุเรนทร์พิทักษ์ในผ้าเหลืองหรือหาเรื่องเจ้าสามกรม จะตัดสินเลยว่าทรงมีอุปนิสัยอย่างที่ว่ามาทั้งหมดจนไม่น่าจะแต่งบทกวีที่ไพเราะได้ ความเห็นส่วนตัวผมว่ายังมีหลักฐานไม่เพียงพอครับ


ผิดถูกอย่างไรขออาจารย์ทั้งหลายชี้แนะด้วยครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 15, 09:34
มันไม่มีธรรมเนียมที่กวีผู้ไม่ได้แต่งผลงานเอง จะประกาศอย่างองอาจว่าตัวเองเป็นผู้แต่ง ค่ะ  
ส่วนเรื่องชมหรือยอเกียรติตัวเอง ไม่ได้อยู่ในข้อห้ามว่าทำไม่ได้     กวีไทยมี -ไม่ใช่ไม่มี - ที่ชมตัวเอง   อย่างสุนทรภู่ที่ประชาสัมพันธ์ตัวเอง ในเพลงยาวถวายโอวาท ว่า

"อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว               ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว              เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร"


เจ้าฟ้ากุ้งทรงนิพนธ์อีก 2 เรื่องคือนันโทปนันทสูตรคำหลวง และพระมาลัยคำหลวง   ระหว่างหลบราชภัยไปผนวช      เป็นหนังสือที่แต่งยาก และไพเราะด้านถ้อยคำอย่างสูง    
ที่น่าสังเกต คือคำหลวง ใช้กับพระราชนิพนธ์ของพระมหากษัตริย์  ไม่ว่าจะทรงแต่งเองหรือเป็นองค์อุปถัมภ์ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งก็ตาม   เช่นมหาชาติคำหลวง    ไม่ใช่พระนิพนธ์ของเจ้านาย     เจ้าฟ้ากุ้งท่านทรงใช้คำหลวงกับพระนิพนธ์ของท่านถึง 2 เรื่อง  ก็แสดงความมั่นใจในพระองค์เองอยู่มากโข กว่าจะต้องขึ้นครองราชย์แน่นอน
เรื่องนี้ก็คงเป็นเสี้ยนตำพระทัยพระราชบิดาอยู่เหมือนกัน     ว่ากงเกวียนจะย้อนรอยกำเกวียน  เพราะพระเจ้าบรมโกศเองก็ขึ้นครองราชบัลลังก์ด้วยการแย่งชิงราชสมบัติ

หรือท่านทั้งหลายจะคิดว่า กวีนิรนามตามไปแต่งคำหลวงถวายถึงในวัด  ถ้างั้นก็จนใจค่ะ

พูดถึงนิสัยหรือความประพฤติส่วนตัวของกวีหรือศิลปิน   ที่แตกต่างจากความงดงามของผลงานจนเหมือนเป็นคนละคน เกิดจากความเข้าใจผิดของคนอ่านโดยมากที่คิดว่าคนที่สร้างอะไรที่ละเอียดอ่อนสวยงามได้ขนาดนี้ น่าจะมีจิตใจอ่อนโยน ห่างไกลความโหดเหี้ยม หรือความไม่ดีไม่งามทั้งปวง     เพราะฉะนั้นรับไม่ได้กับกวีหรือศิลปินที่ส่วนตัวห่างไกลจากภาพลักษณ์
ความจริง พรสวรรค์ก็เป็นอย่างหนึ่ง   ศีลธรรมก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
ถ้าจะเอาไม้บรรทัดศีลธรรมมาวัด   กวีจำนวนมากคงลงกระทะทองแดงมากกว่าขึ้นสวรรค์ชั้นกวี     เชคสเปียร์ทิ้งเมียทิ้งลูกเล็กๆมาอยู่ลอนดอนตั้งแต่หนุ่มจนแก่ แถมมีนางบำเรออยู่ทางนี้ด้วย  ผิดศีลข้อกาเมเต็มๆ  สุนทรภู่ก็เป็นคนขี้เมา สารภาพเอาไว้เอง ผิดศีลข้อสุรา  

ถ้าจาระไนเรื่องส่วนตัวของกวีหรือศิลปินบันลือโลก จะพบว่าส่วนใหญ่ก็สีเทาๆตามประสามนุษย์ปุถุชนกันทั้งนั้นละค่ะ



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ส.ค. 15, 10:44
นิดเดียวแหละครับ

ถ้ากวีหรือศิลปินจะประพฤติผิดศีลธรรมจรรยาในเรื่อกาเมสุมิฉา หรือสุราเมรยะ ผมก็เห็นว่าเป็นธรรมดา ถือเป็นธรรมชาติของคนเหล่านี้ก็คงได้ แต่การผิดในข้อปาณาติบาตชีวิตมนุษย์มิได้เป็นปัจจัยของอารมณ์สุนทรีย์ กวีที่มีจิตใจเหี้ยมเกรียมคงไม่สะท้อนออกมาในบทกวีที่งามสลวยได้ขนาดนี้

อ้างถึง
และยังมีการกล่าหาพระมหาอุปราชอีกด้วยว่า ทรงรับสั่งให้ประหารชีวิตพระสงฆ์และคนอื่นๆอีกหลายคน ทรงรับสั่งให้ตัดมือตัดนิ้วมือของคนจำนวนหนึ่ง


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 15, 10:46
ต้องถามหลวงเสนียบริรักษ์ (คงแป๊ะ )ค่ะ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 29 ส.ค. 15, 11:05
ชั่วโมงนี้หญ้าแพรกขอหลบออกไปฟังห่างๆก่อน
อาจารย์ใหญ่ กับ อาจารย์ใหญ่ !!


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 15, 11:33
อาจารย์ใหญ่ กับ อาจารย์ใหญ่ !!
เค้าชื่อ"อาจารย์ใหญ่กว่า"นะคะ คุณ Jalito


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 15, 11:40
เชิญชมภาพวาดฝีมือฮิตเลอร์
พระแม่มารีกับพระกุมารเยซู

http://sobadsogood.com/2013/07/22/25-rarely-seen-artworks-painted-by-adolf-hitler/ (http://sobadsogood.com/2013/07/22/25-rarely-seen-artworks-painted-by-adolf-hitler/)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 29 ส.ค. 15, 11:40
นิดเดียวแหละครับ

ถ้ากวีหรือศิลปินจะประพฤติผิดศีลธรรมจรรยาในเรื่อกาเมสุมิฉา หรือสุราเมรยะ ผมก็เห็นว่าเป็นธรรมดา ถือเป็นธรรมชาติของคนเหล่านี้ก็คงได้ แต่การผิดในข้อปาณาติบาตชีวิตมนุษย์มิได้เป็นปัจจัยของอารมณ์สุนทรีย์ กวีที่มีจิตใจเหี้ยมเกรียมคงไม่สะท้อนออกมาในบทกวีที่งามสลวยได้ขนาดนี้

อ้างถึง
และยังมีการกล่าหาพระมหาอุปราชอีกด้วยว่า ทรงรับสั่งให้ประหารชีวิตพระสงฆ์และคนอื่นๆอีกหลายคน ทรงรับสั่งให้ตัดมือตัดนิ้วมือของคนจำนวนหนึ่ง


เรื่องนี้ผมยังคิดว่าเป็นหนึ่งในข้อกล่าวหาที่ซัดทอดกรมพระราชวังบวรซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ครับ เพราะพระองค์ก็มีศัตรูทางการเมืองอยู่มาก

ส่วนเรื่องตัดมือตัดนิ้ว ถ้ายึดตามบรรทัดฐานของชาวตะวันตกอาจจะดูโหดร้ายแต่ผมคิดว่าเป็นการลงโทษที่ค่อนข้างธรรมดาของไทยซึ่งก็มีปรากฏการลงโทษโหดๆเช่นเอามะพร้าวห้าวยัดปาก ตัดปาก ตัดหู ตัดเท้า ผ่าอกเอาเกลือทา

การตัดนิ้วตัดมือเองก็มีปรากฏเป็นบทลงโทษอยูในพระไอยการอาญาหลวงหลายมาตราครับเช่นการหมิ่นประมาทพระบัณฑูร ซึ่งน่าจะเข้าข่ายนี้ครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ส.ค. 15, 12:07
อาจารย์ใหญ่กว่าขอมุดลงเวทีไปก่อนนะครับ บ๋ายบาย


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 15, 12:20
Shane! come back, Shane

 (http://www.youtube.com/watch?v=2lAY-rRRa4o[/url)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ส.ค. 15, 12:35
กลับทำพรื๊อ กลับไปก็ตายโลด ;D


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 15, 12:37
อะน่า...
ไม่ถึงตายหรอกค่ะ  อย่างมากก็โคม่า
แต่ไม่เป็นไร เรือนไทยมีคุณหมอชุมนุมกันแยะ   คงช่วยทัน


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ส.ค. 15, 13:11
เชนไปแล้วไปลับน่ะนายจ๋า ถ้าหันหลังคืนกลับก็บ่ใช่หนังคลาสสิกแร้ว


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 29 ส.ค. 15, 14:39
อ้าวอย่างนี้ก็เหลือผมอยู่ฝ่ายนี้คนเดียวสิครับ แย่แน่


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ส.ค. 15, 15:11
ไม่เป็นไรครับ คุณคนโคราชสู้ต่อได้เลย เดี๋ยวถ้าชนะแล้วผมค่อยออกมาช่วย


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 15, 15:42

         อักษรเรียบร้อยถ้อย      คำเพราะ
         ผู้รู้อ่านสารเสนาะ         เรื่อยหรี้
         บรู้อ่านไม่เหมาะ          ตรงเทิ่งไปนา
         ทำให้โคลงทั้งนี้         ชั่วช้าเสียไป
         อักษรสรรค์สร้างช่าง     ชุบจาน
         โคลงก็เพราะเสนาะสาร แต่งไว้
         ผู้รู้อ่านกลอนการ         พาชื่น ใจนา
         ผู้บ่รู้อ่านให้               ขัดข้องเสียโคลง ฯ
[/color]

เป็นไปได้มากที่สองบทสุดท้ายนี้ท่านไม่ได้แต่งเอง
จากมุมมองของ ผู้บ่รู้อ่านให้ ขัดข้องฯ ครับ
[/size]

ไม่เข้าใจว่าคุณ Koratian ตีความอย่างไรถึงคิดว่าสองบทสุดท้ายเจ้าฟ้ากุ้งไม่ได้แต่งเอง

การแต่งกวีนิพนธ์กาพย์กลอนโคลงฉันท์หรือร่าย ในสมัยอยุธยา เขามีไว้ออกเสียงดังๆ  จะเอาไว้เทศน์หรือเอาไว้ขับก็แล้วแต่จุดประสงค์  แต่ไม่ได้มีเอาไว้อ่านกันเงียบๆในใจอย่างสมัยนี้   
กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งก็เช่นกัน เอาไว้เห่  ต้องเห่เป็นด้วย  จึงจะฟังเพราะ
โคลงสองบทนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า กาพย์ห่อโคลงของเจ้าฟ้าท่าน ต้องอ่านเป็นเสียงขับ เรียกว่าทำนองเสนาะ    ถ้าขับไม่เป็น ออกเสียงไปตรงๆอย่างอ่านหนังสือ ก็จะฟังไม่เพราะ    กวีท่านก็เลยเขียนกำกับเอาไว้
คนที่พิถีพิถันแม้กระทั่งการอ่านออกเสียง กำชับกำชาไว้ว่าอย่ามาอ่านทื่อๆเหมือนอ่านหนังสือ   ก็น่าจะเป็นเจ้าของเรื่องเขียนเอาไว้เอง   คนอื่นจะมาบอกแทนได้อย่างไร


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 15, 15:59
    พงศาวดารไทยกับจดหมายเหตุฝรั่งให้น้ำหนักสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ต่างกัน     ของไทยเราไปให้น้ำหนักเรื่องชู้สาว  ของฝรั่งออกมาในรูปของความมั่นคงภายใน และความระแวงในการชิงอำนาจกันเอง
     เรื่องเจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานว่าเป็นองค์เดียวกัน    เห็นได้จากเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว มีการบันทึกถึง "สองพระองค์" คือฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง   ถูกนำศพไปไว้ที่วัดไชยวัฒนาราม   ไม่ใช่ "สามพระองค์"   ทุกวันนี้ก็ยังมีร่องรอยเจดีย์เหลืออยู่องค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งสูญหายไปเหลือแต่ร่องรอยฐาน

   ทีนี้มาพูดถึงข้อเท็จจริงที่ตรงกันทั้งฝรั่งและไทย    คือเรื่องการประชวรพระโรคซิฟิลิสของเจ้าฟ้ากุ้ง    ทรงพระประชวรนานเป็นปี (คือตั้งแต่ 1 ปีเศษถึง 3 ปี) ขนาดพระโรคแสดงออกทางร่างกายให้เห็น  จนเข้าวังหลวงไม่ได้  ประทับอยู่แต่ในวังของพระองค์เอง  คนที่ป่วยขนาดนี้ยังลอบเข้าวังไปคบชู้อย่างสม่ำเสมอได้ก็แปลกประหลาดมาก     ผู้หญิงคนไหนยอมต้อนรับได้โดยไม่รังเกียจก็ยิ่งประหลาดหนักเข้าไปอีก  จึงคิดว่า มันทะแม่งจนไม่น่าจะเป็นความจริง
   ทั้งนี้  ไม่ได้หมายความว่า ท่านบริสุทธิ์ 100% ในเรื่องนี้  แต่คิดว่าเป็นเรื่องเดิมที่เกิดขึ้นนานมาแล้วก่อนประชวร   เพราะมีการกล่าวถึงในพงศาวดารเล่มไหนจำไม่ได้แล้วว่า ทรงรักใคร่กับเจ้าฟ้าสังวาลย์มาก่อนฝ่ายหญิงจะต้องมาเป็นพระมเหสีของพ่อ   แต่เมื่อเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นฝ่ายในไปแล้ว  ก็คงต้องเลิกรากันไป   หรือถ้าไม่เลิกก็คงแอบพบปะกันอยู่อีกระยะหนึ่งตอนยังหนุ่มสาว ก่อนจะเลิกกันไปเองเมื่ออายุมากขึ้น    เจ้าฟ้าสังวาลย์เองก็มีพระธิดากับพระเจ้าบรมโกศ 2 พระองค์คือเจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้ามงกุฎ

   หลักฐานที่นำมาแสดงตอนต้นกระทู้นี้ คือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)เล่าว่า
    "นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย ๓ องค์ ๔ องค์"
   ถ้าเป็นจริง เจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้ามงกุฎก็ไม่น่าจะรอดพระราชอาญาไปได้  เพราะเป็นลูกชู้     พ่อแม่ตายคาหลักประหารลูกคงไม่รอดอยู่ดี     แต่ก็ไม่เห็นมีการบันทึกในเรื่องนี้   ท่านก็ยังรอดมาแต่งพระนิพนธ์ดาหลังกับอิเหนาให้เหลือร่องรอยมาแต่งต่อกันในสมัยรัตนโกสินทร์   แสดงว่าทั้งสองพระองค์เป็นพระราชธิดาพระเจ้าบรมโกศ   ไม่ใช่ลูกอันเกิดจากเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 29 ส.ค. 15, 16:20
เจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นคนละองค์ครับ ดูจากข้อความในพงศาวดารที่ว่า "นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย ๓ องค์ ๔ องค์" แล้วพระนามก็ห่างไกลกันมาก แต่พระราชพงศาวดารกลับไม่ได้กล่าวถึงการลงอาญาเจ้าฟ้านิ่ม ไม่รู้ว่าบันทึกตกหล่นไปหรือไม่ บางทีอาจจะโดนลงอาญาแต่ไม่ถึงตายเลยไม่มีการกล่าวถึงว่าถูกนำไปฝังที่วัดชัยวัฒนารามครับ

เจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นพี่น้องกันครับ บิดาคือพระองค์เจ้าดำซึ่งเป็นโอรสของสมเด็จพระเพทราชา พระมารดาคือเจ้าฟ้าเทพเป็นพระธิดาของพระเจ้าท้ายสระครับ
ขอแก้ตรงชื่อพระบิดาเป็นพระองค์เจ้าแก้วครับ(ไปจำสับสนกับพระองค์เจ้าดำซึ่งเป็นโอรสพระเพทราชาเหมือนกัน)  ที่ว่าเจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นพี่น้องกันมีอยู่ความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุทธยาตอนปลาย ซึ่งเนื้อความใกล้เคียงกับคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับหลวงจะระบุว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมีพระนัดดาที่เป็นเจ้าฟ้า ๓ องค์ตามลำดับพระชนมายุคือ เจ้าฟ้าจิต กรมขุนสุรินทรสงคราม เจ้าฟ้าสังวาลย์ และเจ้าฟ้านิ่มครับ เคยเจอหลักฐานอื่นที่ระบุแบบตรงๆเลยว่าทั้งสององค์เป็นพี่น้องกัน แต่จำไม่ได้ว่าเอามาจากไหร ตอนนี้กำลังหาอยู่ครับ

เรื่องที่ว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงเคยรักใคร่กับเจ้าฟ้าสังวาลย์มาก่อน เท่าที่อ่านพงศาวดารมาหลายฉบับ(ซึ่งก็ชำระมาใกล้เคียงกันเกือบหมด)ยังไม่เคยเจอที่ระบุไว้เลยครับ แต่อาจจะเป็นคนสมัยหลังตีความเอาจากพระนิพนธ์ของพระองค์ซึ่งทรงรำพันถึงนางผู้เป็นที่รัก ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าทรงเคยรักใคร่ชอบพอกันมาก่อนตามที่อ.เทาชมพูกล่าวมาครับ อาจจะเป็นไปได้ว่าจะทรงเคยลอบเข้าวังหลวงขณะก่อนจะประชวรคุดทะราด


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 29 ส.ค. 15, 16:54
สำหรับเจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้ามงกุฏ ส่วนตัวก็คิดว่าคงจะเป็นพระเจ้าลูกเธอของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครับ ในพงศาวดารยังกล่าวว่ามีเจ้าฟ้าสังวาลยังมีโอรสอีกสององค์คือเจ้าฟ้าอาภรณ์กับเจ้าฟ้าสังคีต(หรือสังขีต)  แต่ใน 'บาญชีพระนามเจ้านาย' ในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่าที่แปลจากภาษาพม่ากลับระบุว่ามีโอรสธิดา ๓ องค์(แต่ตอนเขียนพระนามกลับมี ๔?) คือเจ้าฟ้าหญิงขวันตง(น่าจะเพี้ยนจาก กุณฑล) เจ้าฟ้าชายอัมพร(อาภรณ์) เจ้าฟ้าหญิง(ไม่ระบุชื่อ แต่น่าจะเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ) เจ้าฟ้าหญิงอีกองค์หนึ่ง ไม่มีเจ้าฟ้าสังคีต อันนี้ไม่แน่ใจว่าจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนของเอกสารในการจดชายเป็นหญิง หรือพงศาวดารคลาดเคลื่อน หรือจริงๆมีเจ้าฟ้าหญิงที่ไม่ระบุชื่อองค์เดียวแต่เขียนซ้ำเป็นสอง(หรือผิดพลาดตอนพิมพ์ก็ไม่ทราบ)

อิงตามความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุทธยาตอนปลาย ซึ่งเนื้อความใกล้เคียงกับคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับหลวง ระบุลำดับอายุของโอรสธิดาเจ้าฟ้าสังวาลย์คือเจ้าฟ้ากุณฑล เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ามงกุฎ เจ้าฟ้าสังคีต สำดับใกล้เคียงกับบัญชีแต่ไม่มีเจ้าฟ้าสังคีต

ลองคิดเล่นๆแบบไม่มีหลักฐานยืนยันดูว่าในกรณีที่มีเจ้าฟ้าสังวาลมีโอรสธิดา ๓ องค์ตามบัญชีพระนามเจ้านายจริง(เจ้าฟ้าหญิงอีกองค์อาจจะเขียนเกิน) จะเป็นไปได้มั้ยครับที่เจ้าฟ้าสังคีตซึ่งมีอายุน้อยสุดอาจจะเป็นลูกชู้ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร เลยถูกตัดชื่อไปจากบัญชีพระนามเจ้านายที่น่าจะเขียนในเมืองพม่า


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 15, 17:03
ก็น่าคิดว่า พระนามที่หายไปคือเจ้าฟ้าสังคีตหรือเปล่า   ว่าแต่เจ้าฟ้าสังคีต มีหลักฐานไหมคะ  ว่าเป็นหญิงหรือชาย

เจ้าฟ้าทั้งสี่พระองค์น่าจะมีชีวิตมาถึงตอนปลายอยุธยา  จึงเป็นที่จดจำได้ของคนที่เขียนคำให้การชาวกรุงเก่า    ถ้าหากว่าถูกสำเร็จโทษตามพระมารดาไป   ในบันทึกน่าจะมีบอกเอาไว้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่น่าถูกมองข้ามไปได้

ถ้าทรงอยู่ดีมีสุข ไปจนตลอดรัชกาลก็น่าจะไม่ใช่ลูกชู้   


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 29 ส.ค. 15, 17:06
เจ้าฟ้าสังคีต ตามพระราชพงศาวดาร และความแทรกคำให้การระบุตรงกันว่าเป็นพระโอรสครับ

อย่างที่อ.เทาชมพูว่าครับ เรื่องใหญ่ขนาดนี้ถ้าจะสำเร็จโทษก็ควรจะบันทึกไว้ อย่างในกรณีที่พระองค์เจ้าชื่น พระองค์เจ้าเกิด ลูกเธอของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ในข้อหาไปลวงเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์มาให้พระบิดาทำร้าย แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าเรื่องมีลูกชู้เป็นเรื่องเสื่อมเสียต่อพระเกียรติของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ(น่าจะมากกว่าการที่มเหสีเป็นชู้)เลยปิดเงียบไม่กล่าวถึง

แต่ที่กล่าวมานี่ก็เป็นเพียงการตั้งสมมติฐานเล่นๆครับ ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยัน

คลิปประกอบการสนทนาครับ
http://www.youtube.com/watch?v=5g9eLiUfr8k (http://www.youtube.com/watch?v=5g9eLiUfr8k)

http://www.youtube.com/watch?v=zYpdDZ-If-k (http://www.youtube.com/watch?v=zYpdDZ-If-k)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 29 ส.ค. 15, 22:21

เอาละครับพระเอกเชนของเราขอถอยไปตั้งหลักก่อน เหลือเพียงลูกกระจ๊อกอย่างกระผมไว้ล่อเป้าถ่วงเวลาไว้ก่อน
เดี๋ยวกระสุนเบาบางลงพระเอกคงแย้มม่านออกมาใหม่ครับ

จะขอเรียนตอบคุณศรีสรรเพชญ์ และท่านอาจารย์เทาชมพูไปทีละประเด็นครับ

1. เรื่องกำสรวลสมุทร ชื่อสถานที่ต่างๆมีอยู่ในสมัยพระนารายณ์ด้วยครับ ผมเชื่อตามท่าน ดร.วินัย พงษ์ศรีเพียร ที่ว่าเรื่องนี้
เกี่ยวข้องระหว่างเจ้าฟ้าน้อยกับพระสนมศรีจุฬาลักษณ์ ในสมัยอยุธยาไม่น่าจะมีมากกรณีที่เจ้านายชั้นสูงแอบรักกับพระสนมเอกแล้วยังแต่งกลอนเผยแพร่ได้

2. เรื่องพระราชนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไม่น่ามีข้อขัดแย้งครับ ท่านน่าจะเป็นผู้แต่งหลักในงานพระราชนิพนธ์

กรณีของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรนี้ ถ้าเป็นผู้แต่งงานมาสเตอร์พีซของวรรณคดีไทยถึง สี่เรื่องต้องนับว่าเป็นอัจริยะของอัจฉริยบุคคลที่แท้จริง
แต่ที่แปลกคือไม่มีพงศาวดารฉบับใดบอกเลยว่าท่านแต่งโคลงกลอนเก่ง มีแต่กล่าวถึงรายละเอียดความเกเรของท่าน
ถ้าท่านเก่งในระดับอัจฉริยะ ร้อยปีมีคน ทำไมถึงไม่มีผู้กล่าวถึงความสามารถนี้ในเอกสารร่วมสมัยครับ

3. เรื่องสุนทรภู่ติดเหล้า น่าจะเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำครับ ดีไม่ดีต้องกินเหล้าก่อนจึงจะแต่งได้ดีครับ

4. เรื่อง เชคสเปียร์ จนถึงปัจจุบันนี้ยังมีบางคนเถียงกันอยู่เลยว่า ใครเป็นผู้แต่งงานของเชคสเปียร์

5. ฮิตเลอร์ตอนหนุ่มก็เป็นจิตรกรวาดภาพหาเลี้ยงตนเอง เมื่อได้อำนาจรัฐแล้วแกก็ยังชอบพบปะกับศิลปินและจิตรกรที่เชิญมาอยู่เนืองๆ
แต่ว่าแกไม่ชอบศิลปะสมัยใหม่ ที่สำคัญคือไม่มีงานชิ้นไหนของแกที่จัดว่าป็นมาสเตอร์พีซนะครับ
ที่ขายได้มีราคาหลังจากแกมีชื่อเสียงแล้วเพราะว่าท่านผู้นำวาด
อีกอย่างที่กรมโฆษณาการของอเมริกาและอังกฤษไม่คอยพูดถึงคือ ฮิตเลอร์และพวกนาซีส่วนใหญ่เป็นคริสต์และเป็นพวกอนุรักษ์นิยม
เหมือนกับกองทัพญี่ปุ่นที่ฆ่าคนเป็นผักเป็นปลาก็เป็นชาวพุธเหมือนไทย ไหว้พระถือศีลได้บ้างเหมือนกัน
เห็นด้วยครับว่าคนโหดเหี้ยมก็สามารถมีด้านที่ละเอียดอ่อนได้ แต่ไม่ใช่ระดับสร้างผลงานอัจฉริยะได้หลายผลงานในคนเดียวกัน

ถ้าเจ้าฟ้ากุ้งท่านเขียนผลงานในระดับ พระมะเหลเถไถ มะไหลโถ ก็คงไม่จำเป็นต้องตั้งข้อสงสัยนะครับ
แต่นี่คืองานชิ้นเอกสี่ชิ้น ในวงการวรรณคดีไทย โดยบุคคลเดียวเท่านั้น เอกลักษณ์บุคคลไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์เลยครับ
ยังมีข้อน่าสงสัยอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของ คำหลวง ทั้งสองฉบับครับ

เดี๋ยวมาต่อครับ

พระเอกเชน กลับมาด่วน  ;D


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 29 ส.ค. 15, 22:37
เจอเรื่องที่ว่าเจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลเป็นพี่น้องกันอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาแล้วครับ แต่กล่าวว่าพระบิดาคือพระองค์เจ้าดำ โอรสพระเพทราชาที่ถูกสำเร็จโทษในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ไม่ใช่พระองค์เจ้าแก้วซึ่งถูกประหารตอนต้นรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

"ฝ่ายเจ้าพระยาพิศณุโลกก็ยกกองทัพไปช่วยรบพม่าณเมืองศุโขไทยด้วย  ขณะนั้นเจ้าฟ้าจีดเปนบุตรพระองค์เจ้าดำ  ซึ่งต้องสำเร็จโทษครั้งเจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าบรเมศร   พระมารดานั้นเจ้าฟ้าเทพ   เปนพระราชธิดาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินทรงปลา   แลเปนเจ้าพี่เจ้าฟ้านิ่มเจ้าฟ้าสังวาลซึ่งเปนโทษครั้งกรมพระราชวังนั้น  แลเจ้าฟ้าจีดต้องโทษจำอยู่ในพระราชวัง  หลวงโกษาผลเมืองพระพิศณุโลกช่วยคิดอ่านให้หนีออกจากโทษได้  ไปรับณค่ายภูเขาทอง  แล้วพากันหนีไปเมืองกับทั้งบ่าวไพร่ในกองของตัว"

ตรงกับความแทรก "คำให้การ" เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุทธยาตอนปลาย ที่ระบุว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมีพระนัดดาที่เป็นเจ้าฟ้า ๓ องค์ตามลำดับพระชนมายุคือ เจ้าฟ้าจิต(หรือจีด)ที่เป็นกรมขุนสุรินทรสงคราม เจ้าฟ้าสังวาลย์ และเจ้าฟ้านิ่มครับ  โดยได้ศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าจากเจ้าฟ้าเทพพระมารดา

ส่วนเรื่องพระบิดา เข้าใจว่าพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาน่าจะคลาดเคลื่อน น่าจะเป็นพระองค์เจ้าแก้วอย่างที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ใน 'บาญชีพระนามเจ้านาย' ว่าพงศาวดาร(ไม่รู้ฉบับไหน)กล่าวไว้ ซึ่งสอดคล้องกับตอนอื่นๆของพงศาวดารที่กล่าวว่าพระองค์เจ้าแก้วเป็นพี่เขยของเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์(เจ้าฟ้าเทพเป็นพระพี่นางของทั้งสององค์) ส่วนพระองค์เจ้าดำพงศาวดารก็ระบุว่าได้พระองค์เจ้าแก้วที่เป็นพระธิดาของพระเจ้าเสือเป็นบาทบริจาริกาครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 29 ส.ค. 15, 22:38

ขออภัยครับ ที่ผมบอกว่าบทที่ท่านไม่น่าแต่เองแน่ๆ คือตรงนี้ครับ

 ๑๐๘ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร จำเนียรกาลนานสืบไป ฯ
          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เจ้า ทรงเขียน
         ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร เลิศหล้า
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร ในโลกย์
         จำเนียรกาลนานช้า อ่านอ้างสรรเสริญ ฯ
   ๑๐๙ เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช กุมาร
         ธรรม์ ธำรงกลอนการ ยั่วแย้ม
         ธิเบศร์ วราสถาน ไชยเชษฐ
         สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม แต่งไว้วานสงวน ฯ
         เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ สมพาร
         กรมขุน หลวงพญากราน กราบเกล้า
         เสนา นราบาน ใจชื่น ชมนา
         พิทักษ์ รักษาเช้า ค่ำด้วยใจเกษม ฯ
         จบ จนจอมโลกย์เจ้า คืนวัง
         บ พิตรสถิตบัลลังก์ เลิศหล้า
         ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง ชนโลก อ่านนา
         บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ

บอกชื่อผู้แต่งแบบโต้งๆ โจ่งแจ้งเกินไป
ตรงนี้น่าสงสัยครับว่าท่านเป็นผู้อุปถัมภ์ หรือผู้แต่งหลัก


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 29 ส.ค. 15, 22:48

นันโทปนันทสูตรคำหลวง


อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล ในเมื่อกาลบรรพัธ ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์
เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์
เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า


ตรงนี้ก็น่าสงสัยครับว่าท่านไม่ได้แต่งเอง

เชน คัมแบ็ค กลับมาช่วยด่วน


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 29 ส.ค. 15, 23:35

ระหว่างรอ เชนคัมแบ็ค ผมขอคัดพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ในส่วนที่เกี่ยวข้องมาบางส่วน

https://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร_ภาคที่_๖๔

ปลายแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ

 ปีมะแม นพศก (พ.ศ. ๒๒๗๐ ) ชักชะลอพระพุทธไสยาศน์ไปได้กึ่งทางแล้วให้หยุดไว้สมโภช ๓ วัน แล้วชักต่อไปจนถึงที่
แล้วให้ดีดขึ้น สูงกว่าที่เดิมนั้นศอกเศษ แล้วจึงให้ก่อขึ้นรับองค์พระ แล้วถอด ฟากตะเฆ่ออกเสีย
แล้วให้สร้างพระวิหาร พระอุโสถ การเปรียญ และฉนวนยาว ๔ เส้นเศษ ทำ ๖ ปีแล้วยังหาได้ฉลองไม่
พอทรงพระประชวรลง ทรงพระกรุณาสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอภัยเสวยราชสมบัติสืบไป
ฝ่ายสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่ย่อม ถ้าจะให้เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสวยราชสมบัติ สืบไปจะยอมด้วย
ฝ่ายเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทร์พิทักษ์ไม่ย่อม ก็หาลาพระผนวชออกไม่


รัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ

ครั้นถึงเดือน๕ปีฉลู (๑) เสด็จขึ้นปราบดาภิเษกณพระที่นั่งพิมานรัตยา พระราชวังบวรสถานมงคล
แล้วให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง กราบถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒสัจจาตามพระราชประเพณี
แล้วจึงมีพระราชโองการมานพระบันทูลสุรสิงหนาท สั่งให้ขุนชำนาญเป็นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดี
ให้หลวงจ่าแสนยากรนั้นพระยาสุรศรีว่าที่จักรี พระยาราชสงครามซึ่งว่าที่จักรีนั้น ให้เป็นพระยาราชนายกว่าที่กลาโหม
ข้าหลวงเดิมทั้งปวงซึ่งมีความชอบนั้น ทรงพระกรุณาตั้งแต่งตามสมควรสิ้น
แลพระพันวษาใหญ่เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต พระพันวษาน้อยให้เป็นกรมหลวงพิพิมนตรี
แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเดจ้าฟ้าธิเบศร์ ให้เป็นกรมหลวงพิทักษ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าเอกทัศ ให้เป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี
และ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าแขก ให้เป็นกรมหมื่นเทพิพิธ พระองค์ เจ้ารถให้เป็นกรมหมื่นสุนทรเทพ

(๑) บางทีจะเป็นฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๐๙๕ พ.ศ. ๒๒๗๖


เจ้าฟ้ากุ้งลอบทำร้ายพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์

ครั้น ณ เดือน ๗ ปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๐๙๗ (พ.ศ. ๒๒๗๘ ) ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงพระประชวร
ทรงพระผนวชกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์คิดว่าจริง จึงเสด็จเข้ามา ให้เสด็จขึ้นหน้าพระชัย
เจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ทรงถือพระแสงดาบแอบประตูอยู่
ครั้นเจ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ เสด็จเข้ามาประตูที่เจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ๆ ฟันถูกแต่ผ้าจีวรสังฆาฏิขาด หาเข้าไม่
เจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์เข้าไปข้างใน
เจ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จกลับลงจากพระชัยมา
เสด็จล้นเกล้า ล้นกระหม่อมทอดพระเนตรเห็นจีวรสังฆาฏิจีวรขาด มีพระราชโองการตรัสถามว่าเป็นไรผ้าสังฆาฏิจีวรจึงขาด
กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพระว่าเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์เอาพระแสงดาบฟัน
จึงทรงพระกรุณาสั่งให้หาเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ไม่พบให้ค้นหาในพระราชวัง
แลเจ้ากรมหลวงอภัยนุชิตเสด็จออกมาตรัสเจ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ว่า พ่อมิช่วยก็ตาย
แลเจ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ตรัสว่า จะช่วยได้แต่กาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยพระอรหัตต์
เจ้ากรมหลวงอภัยนุชิตได้พระสติขึ้น จึงเสด็จไปขึ้นพระวอ ทั้งเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ด้วย
ให้เปิดประตูฉนวนออกไปทรงพระผนวชเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ณ วัดโคกแสง
ทรงพระกรุณาค้นหาได้แต่พระองค์เจ้าเทิด พระองค์เจ้าชื่นจึงทรงพระกรุณาสั่งให้ประหารเสียด้วยท่อนจันทน์



เมื่อผ่านสองปีในรัชสมัยพระบรมโกษ เจ้าฟ้ากุ้งในวัยหนุ่มก็เริ่มสร้างวีรกรรมแอบลอบทำร้ายพระ
แต่พระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์นี้เกือบได้เป็นกษัตริย์ และน่าจะเป็นพระญาติที่พระเจ้าบรมโกษรักและนับถือมาก
แล้วเจ้าฟ้ากุ้งท่านมีเหตุอะไรที่ต้องไปลอบทำร้ายพระองค์นี้หรือครับ

ผลสุดท้ายพระนางเจ้าอภัยนุชิต ต้องขอให้พระช่วย
เรียนย้ำนะครับปีนั้นคือ พ.ศ. ๒๒๗๘ นักเลงหนุ่มเลือดร้อนหนีไปบวชพระทิ้งให้เจ้าชายเล็กๆต้องรับเคราะห์แทน
ไม่เห็นว่าท่านจะรู้สึกผิด เขียนอะไรบ้างในเรื่องนี้เลย
เกณฑ์อายุน่าจะประมาณ ยี่สิบต้น ๆ แล้วท่านทรงพระนิพนธ์ กาพย์ และโคลงต่างๆ ตอนไหนครับ



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 30 ส.ค. 15, 00:08


เจ้าฟ้ากุ้งพ้นโทษ


ครั้น ณ ปีมะเส็งนพศก (จ.ศ. ๑๐๙๙ พ.ศ.๒๒๘๐) เจ้ากรมหลวงอภัยนุชิตทรงประชวรหนัก จึงกราบทูลพระกรุณาขอโทษสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมเสนาพิทักษ์
พระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตรพระเจ้าอยู๋หัว มีพระราชโองการตรัสว่า ถ้าไม่กบฏต่อล้นเกล้าล้นกระหม่อมแล้วไม่พิฆาตเสีย
แล้วเจ้ากรมหลวงอภัยนุชิตนิพพาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สั่งอัครมหาเสนาให้ทำพระเมรุหน้าพระศพขนาดน้อย ขื่อ ๕ วา ๒ ศอก
ครั้น ณ เดือน ๕ ปีมะเมียสัมฤทธิศกศักราช ๑๑๐๐ (พ.ศ. ๒๒๘๑ ) ทำพระเมรุแล้ว เชิญพระศพขึ้นบนมหาพิชัยราชรถ
แห่แหนเป็นกระบวนเข้าในพระเมรุ พระสงฆ์สดับปกรณ์ ๑๐๐๐๐ คำรบ ๓ วัน ถวายพระเพลิงแล้ว เก็บพระอัฐิใส่พระโกศน้อย
แห่แหนเข้าไปบรรจุไว้ท้ายจระนำพระวิหารใหญ่วัดศรีสรรเพ็ชญ์

ทานบวชได้สองปีก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
มีที่เขียนไว้ใน นันโทปนันทสูตรคำหลวง ว่าแต่งปี พ.ศ.๒๒๗๙
และ พระมาลัยคำหลวง  แต่งปี พ.ศ.๒๒๘๐ กว่าๆ

พระบวชใหม่ ปีเดียวหรือ สองปี นะครับ ที่แปลภาษาบาลีได้หมดจดแล้วรังสรรค์วรรณกรรมชิ้นเอกที่เกี่ยวกับศาสนามาได้ถึงสองชิ้น
ถ้าไม่นับว่าเป็นสุดยอดอัจฉริยะบุคคลก็แปลกใช่ไหมครับ
สำนวนที่ใช้ไม่มีวี่แววว่าเป็นสำนวนพระพรรษาน้อยเลย


พระเจ้าบรมโกษเสด็จประพาศ

และ ณ เดือน ๖ ปีมะเมียสัมฤทธิศก ฉลองวัดหานตรา ถึง ณ ปีมะแมเอกศก (จ.ศ. ๑๑๐๑ พ.ศ. ๒๒๘๒ ) เสด็จขึ้นไปสมโภชพระพุทธบาท
ครั้นเดือน ๑๒ ปีวอกโทศก (จ.ศ. ๑๑๐๑๒ พ.ศ. ๒๒๘๓ ) พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปสมโภช พระชินราช พระชินศรี ณ เมืองพระพิษณุโลก ๓ วัน
เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมโภชพระสารีริกบรมธาตุ ณ เมืองสวางคบุรี ๓ วัน แล้วเสด็จกลับยังกรุงพระนครศรีอยุธยา

สองปีหลังจากสึก ท่านน่าจะได้ตามเสด็จประพาสพระบาท
กาพย์ห่อโคลงธารทองแดง และ โคลงนิราศพระบาท น่าจะแต่งช่วงนี้

         เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช กุมาร
         ธรรม์ ธำรงกลอนการ ยั่วแย้ม
         ธิเบศร์ วราสถาน ไชยเชษฐ
         สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม แต่งไว้วานสงวน ฯ

แต่จะแต่งโดยเจ้าฟ้าหนุ่มน้อยเหมือนที่เขียนในโคลงหรือครับ เกณฑ์อายุไม่น่าเข้ากัน

แต่งตั้งกรมพระราชวัง
 
ครั้นเดือน ๕ ปีระกาตรีศก (จ.ศ. ๑๑๐๓ พ.ศ. ๒๒๘๔ )
พระราชโกษาบ้านวัดระฆังกราบทูลว่า จะขอให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมขุนเสนาพิทักษ์เป็นกรมพระราชวัง
จึงดำรัสให้ปรึกษาอัครมหาเสนาทั้งปวง ครั้นพร้อมกันเห็นควรแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ดำรงฐานาศักดิ์อุปราชโดยประเพณี

แปดปีหลังจากสึกท่านถึงได้เป็นอุปราชวังหน้า

เราลองกลับไปดูส่วนที่เขียนว่าท่านแต่งใน นันโทปนันทสูตรคำหลวง กันดีกว่าครับ

     อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล ในเมื่อกาลบรรพัธ ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์
     เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์
     เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า

ท่านบอกว่าวรรณกรรมนี้แต่งโดยวังหน้าในขณะที่บวชอยู่
ตกลงเราควรให้ นันโทปนันทสูตรคำหลวง แต่งใน พ.ศ. ไหนครับ

และ ในพระมาลัยคำหลวง

       สมุดมาลัยเลิศล้ำ       ลิลิต
       กรมพระราชวังคิด       ว่าไว้
       จบเสร็จเรื่องราวประดิษฐ์       (ประดับ?) แต่ง
       เพราะพร่ำทำยากได้       (แจ่มแจ้ง?) ใจจริง

      
       เมื่อเสร็จศักราชได้       สองพัน
       สองร้อยแปดสิบสรร       เศษเหล้า

ถ้าส่วนอื่นแต่งตอนบวชจริง ก็แปลว่าข้อความตอนนี้มีคนเขียนแทรกเข้ามาทีหลัง เพราะตอนบวชยังไม่เป็นวังหน้า
ถ้าเขียนแทรกได้แล้วเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าท่านเป็นคนแต่งจริงๆ หรือไม่ประการใดครับ

เชน จะกลับมาช่วย หรือยังครับท่าน


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 30 ส.ค. 15, 01:22

จากตู้หนังสือเรือนไทยครับ

http://www.reurnthai.com/wiki/ (http://www.reurnthai.com/wiki/)กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก


  ๑๕๑
        เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ     ไชยเชฐสุริย์วงศ์ทรง
   นางรักนักสนมองค์         อ่าห้อมล้อมพร้อมบริบูรณ์ ฯ
      เจ้าฟ้าธรรมธิเบศเชื้อ      รพิพงศ์
   ไชยเชฐสุริย์วงศ์ทรง      เลิศหล้า
   นางรักนักสนมองค์         อภิชาติ
   คับคั่งนั่งเรียงหน้า         เฟ่าพร้อม บริบูรณ์
 ๑๕๒
      นักปราชญ์หมู่เมธา      มีปัญญาอันฉับไว
   พินิจผิดบทใด         วานช่วยแซมแต้มเขียนลง ฯ
   กลกลอนบวรเกลี้ยง         คำแขง ก็ดี
   นักปราชญ์ฉลาดวานแปลง      เปลี่ยนให้
   กลอนเกินเขินคำแคลง      ขัดข้อง
   วานเพิ่มเติมลงไว้         อยู่ยื้นหญิงชาย ฯ
      จบ จนจอมโลกเจ้า      คืนวัง
   บ พิตรสถิตบัลลังก์         เลิศหล้า
   ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง      ชนโลก อ่านนา
   บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า      ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ      
      เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช      กุมาร
   ธรรม พงศ์ทรงกลอนการ      อยู่แย้ม
   ธิเบศร์ วราสถาน         ไชยเชฐ
   สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม      แต่งไว้อ่านสงวนฯ
      เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ      สมภาร
   กรมขุน หลวงพญากราน      กราบเกล้า      
   เสนา นราบาล ใจชื่น      ชมนา
   พิทักษ์ รักษาเช้า         ค่ำด้วยใจเกษม ฯ

ตรงที่บอกว่าใครแต่ง ซ้ำกับ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง เกือบเป๊ะ
ทำไมต้องแต่งให้ซ้ำกันครับ




กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ส.ค. 15, 07:21
ผมขอสารภาพความจริงว่าผมสนใจเจ้าฟ้ากุ้งในแง่ของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ในยามเด็กชอบอ่านไปเสียทุกเรื่อง ไม่ใช่อยากจะเป็นนักประวัติศาสตร์นะครับ แต่เห็นว่ามันสนุกกว่านิทานเท่านั้นเอง เรื่องของเจ้าฟ้ากุ้งอ่านแล้วก็สลดใจว่า อะไรสถาบันกษัตริย์ในสมัยปลายอยุธยาจึงได้โหดร้ายกันถึงขนาดนั้น ในส่วนงานนิพนธ์ของท่านก็เรียนรู้แต่เรื่องกาพย์เห่เรือในชั่วโมงเรียนชั้นมัธยมกลางเท่านั้น ท่านนิพนธ์อะไรไว้อีกก็ไม่ได้ติดตามต่อไปค้นหามาอ่าน เพราะแยกไปเรียนสายวิทย์ ไปจบที่สถาปัตย์ และทำงานหมกมุ่นอยู่ในวิชาชีพ จะออกความเห็นอะไรในเรื่องกวีนิพนธ์ก็เจียมตน กลัวจะไปเหมือนพวกเกรียนในเวปอื่นที่ไม่ค่อยจะรู้ แต่อวดรู้กันนัก

การที่ปรากฏบุคคลอย่างคุณคนโคราชและคุณศรีสรรเพชญอีกท่านหนึ่ง ที่สมัครใจเข้ามาร่วมกับชุมชนในเรือนไทย ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะดึงดูดให้ชุมชนนี้อุดมไปด้วยปัญญาขน นำเสนอและสนทนากันด้วยเรื่องที่ทุกคนสนใจและถูกใจ
 
ส่วนเนื้อหาที่คุณคนโคราชเอารายละเอียดมาลง ผมก็ได้แต่ชื่นชมตามอ่านตามวิจารณ์ ล่าสุดนี้ยิ่งเห็นชัดในสมมติฐานที่เชนกล่าวไปแล้ว ว่าเจ้าฟ้ากุ้งท่านมีมือปืนรับจ้างคอยเขียนคอยแต่งแน่นอน ตัวท่านอาจจะริเริ่มแต่งขึ้นบ้าง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด มีคนช่วยขัดเกลาแต่งเสริม เข้ารูปแบบพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่… ซึ่งแต่งโดยผู้แต่งนิรนามแต่ยกเครดิตให้รัชกาลนั้นๆ
อ้างถึง
๑๕๒
  
   นักปราชญ์หมู่เมธา      มีปัญญาอันฉับไว
   พินิจผิดบทใด            วานช่วยแซมแต้มเขียนลง ฯ

 
   กลกลอนบวรเกลี้ยง                 คำแขง ก็ดี
   นักปราชญ์ฉลาดวานแปลง          เปลี่ยนให้
   กลอนเกินเขินคำแคลง              ขัดข้อง
   วานเพิ่มเติมลงไว้                    อยู่ยื้นหญิงชาย ฯ

ว่าแล้ว เชนก็ขอเดินทางต่อนะครับ มีภูมิจะว่าเท่านี้เอง


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 30 ส.ค. 15, 07:43

เอาละครับพระเอกเชนของเราขอถอยไปตั้งหลักก่อน เหลือเพียงลูกกระจ๊อกอย่างกระผมไว้ล่อเป้าถ่วงเวลาไว้ก่อน
เดี๋ยวกระสุนเบาบางลงพระเอกคงแย้มม่านออกมาใหม่ครับ

จะขอเรียนตอบคุณศรีสรรเพชญ์ และท่านอาจารย์เทาชมพูไปทีละประเด็นครับ

1. เรื่องกำสรวลสมุทร ชื่อสถานที่ต่างๆมีอยู่ในสมัยพระนารายณ์ด้วยครับ ผมเชื่อตามท่าน ดร.วินัย พงษ์ศรีเพียร ที่ว่าเรื่องนี้
เกี่ยวข้องระหว่างเจ้าฟ้าน้อยกับพระสนมศรีจุฬาลักษณ์ ในสมัยอยุธยาไม่น่าจะมีมากกรณีที่เจ้านายชั้นสูงแอบรักกับพระสนมเอกแล้วยังแต่งกลอนเผยแพร่ได้

2. เรื่องพระราชนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไม่น่ามีข้อขัดแย้งครับ ท่านน่าจะเป็นผู้แต่งหลักในงานพระราชนิพนธ์

กรณีของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรนี้ ถ้าเป็นผู้แต่งงานมาสเตอร์พีซของวรรณคดีไทยถึง สี่เรื่องต้องนับว่าเป็นอัจริยะของอัจฉริยบุคคลที่แท้จริง
แต่ที่แปลกคือไม่มีพงศาวดารฉบับใดบอกเลยว่าท่านแต่งโคลงกลอนเก่ง มีแต่กล่าวถึงรายละเอียดความเกเรของท่าน
ถ้าท่านเก่งในระดับอัจฉริยะ ร้อยปีมีคน ทำไมถึงไม่มีผู้กล่าวถึงความสามารถนี้ในเอกสารร่วมสมัยครับ

3. เรื่องสุนทรภู่ติดเหล้า น่าจะเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำครับ ดีไม่ดีต้องกินเหล้าก่อนจึงจะแต่งได้ดีครับ

4. เรื่อง เชคสเปียร์ จนถึงปัจจุบันนี้ยังมีบางคนเถียงกันอยู่เลยว่า ใครเป็นผู้แต่งงานของเชคสเปียร์

5. ฮิตเลอร์ตอนหนุ่มก็เป็นจิตรกรวาดภาพหาเลี้ยงตนเอง เมื่อได้อำนาจรัฐแล้วแกก็ยังชอบพบปะกับศิลปินและจิตรกรที่เชิญมาอยู่เนืองๆ
แต่ว่าแกไม่ชอบศิลปะสมัยใหม่ ที่สำคัญคือไม่มีงานชิ้นไหนของแกที่จัดว่าป็นมาสเตอร์พีซนะครับ
ที่ขายได้มีราคาหลังจากแกมีชื่อเสียงแล้วเพราะว่าท่านผู้นำวาด
อีกอย่างที่กรมโฆษณาการของอเมริกาและอังกฤษไม่คอยพูดถึงคือ ฮิตเลอร์และพวกนาซีส่วนใหญ่เป็นคริสต์และเป็นพวกอนุรักษ์นิยม
เหมือนกับกองทัพญี่ปุ่นที่ฆ่าคนเป็นผักเป็นปลาก็เป็นชาวพุธเหมือนไทย ไหว้พระถือศีลได้บ้างเหมือนกัน
เห็นด้วยครับว่าคนโหดเหี้ยมก็สามารถมีด้านที่ละเอียดอ่อนได้ แต่ไม่ใช่ระดับสร้างผลงานอัจฉริยะได้หลายผลงานในคนเดียวกัน

ถ้าเจ้าฟ้ากุ้งท่านเขียนผลงานในระดับ พระมะเหลเถไถ มะไหลโถ ก็คงไม่จำเป็นต้องตั้งข้อสงสัยนะครับ
แต่นี่คืองานชิ้นเอกสี่ชิ้น ในวงการวรรณคดีไทย โดยบุคคลเดียวเท่านั้น เอกลักษณ์บุคคลไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์เลยครับ
ยังมีข้อน่าสงสัยอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของ คำหลวง ทั้งสองฉบับครับ

เดี๋ยวมาต่อครับ

พระเอกเชน กลับมาด่วน  ;D


1.จริงๆผมเคยอ่านงานของดร.วินัย พงษ์ศรีเพียรครับ แต่จำไม่ได้แล้ว อยากขอรายละเอียดเพิ่มเติมที่จะสนับสนุนว่ากำสรวลสมุทรแต่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์หน่อยครับ เพราะทั้งการใช้คำและภาษาและเนื้อความนั้นไม่สอดคล้องกับภาษาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ครับ

2.มีเจ้านายหลายองค์ที่ทรงมีความสามารถด้านการประพันธ์ เช่น สมเด็จพระนารายณ์ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือรัชกาลที่ ๑ ผมก็ไม่เคยเห็นพงศาวดารหรือหลักฐานร่วมสมัยยกย่องความสามารถด้านนี้เลยครับ ทั้งนี้พงศาวดารเป็นเอกสารที่เน้นหลักในเรื่องเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองและพระมหากษัตริย์ ไม่ค่อยเน้นเรื่องความสามารถส่วนพระองค์ ส่วนมากถ้าจะมีการยอพระเกียรติก็จะเป็นการยกย่องว่าทรงมีบารมีมาก เกิดนิมิตมีพระบรมสารีริกธาตุ หรือฝ่าผ่าโดนพระองค์ไม่เป็นอะไรมากกว่าจะยกย่องความสามารถส้วนพระองค์

ถ้าเราพิจารณาจากพงศาวดารที่มีเนื้อความเก่าจริงๆอย่างพระราชพงษาวดาร ความเก่าตามต้นฉบับหลวง เขียนครั้งกรุงธนบุรี เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๖ หรืออย่างพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด)ตอนสมเด็จพระนารายณ์(น่าจะชำระตั้งแต่สมัยอยุทธยา)แทบไม่มีข้อความพิสดารอะไรเลย จะเน้นบรรยายเหตุการณ์สำคัญเท่านั้น แล้วจะรู้เลยว่าความพิสดารและบทสนทนาต่างๆถูกเพิ่มมาในสมัยรัตนโกสินทร์นั่นเองครับ เทียบจากฉบับธนบุรีกับฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)จะทราบได้    ส่วนฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด)มีการยกย่องความสามารถในการขี่ม้าล่อแพนช้างของพระเพทราชาตอนยังไม่ครองราชย์ แต่ยกย่องแบบอ้อมๆ และไม่เกิดขึ้นบ่อย

ภาพอัธยาศัยส่วนพระองค์และความสามารถของเจ้านายมักจะพบได้จากเอกสารประเภท 'คำให้การ' อย่างคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด (ซึ่งน่าเชื่อว่ามีการเอาความจากเอกสารเหล่านี้มาแทรกในพงศาวดารที่ชำระหลังจากฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)คือในฉบับพระพนรัตน์เป็นต้นมา)อย่างเช่นความสามารถในการปราบช้างม้าพยศของออกหลวงสุรศักดิ์(พระเจ้าเสือ) วิชาศิลปศาสตร์ช้างของสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นว่า "อันการช้างของพระองค์นี้ยกเป็นยอดยิ่งนัก เป็นอัครมหากษัตริย์ในพงศาวดาร ไม่มีกษัตริย์องค์ใดในการวิชาช้างนี้ จักเสมอพระองค์ได้" แต่ด้วยเนื้อหารวมๆของเอกสารที่ไม่สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยหลายอย่างและหลายตอนมีเนื้อหาพิสดารเกินจริง ทำให้เอกสารคำให้การนี้มีความน่าเชื่อถือน้อย น่าจะเป็นเรื่องที่เล่ากันปากต่อปากมากกว่า

ส่วนข้อ 3 4 5 ผมก็ยังคิดเหมือน อ.เทาชมพูครับว่าเรื่องอุปนิสัยกับความสามารถน่าจะแยกจากกันครับ ผมไม่ปฏิเสธว่าบางบทดูเหมือนจะไม่ใช่พระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ซึ่งอาจจะเกิดจากการเขียนเสริมในสมัยหลังหรือหรืออาจจะมีคนช่วยแต่งให้ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่น่าจะนำพระอัธยาศัยส่วนพระองค์มาเป็นตัวชี้วัดว่าพระองค์ต้องไม่สามารถแต่งบทประพันธ์ดีๆได้ครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 30 ส.ค. 15, 08:08

เมื่อผ่านสองปีในรัชสมัยพระบรมโกษ เจ้าฟ้ากุ้งในวัยหนุ่มก็เริ่มสร้างวีรกรรมแอบลอบทำร้ายพระ
แต่พระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์นี้เกือบได้เป็นกษัตริย์ และน่าจะเป็นพระญาติที่พระเจ้าบรมโกษรักและนับถือมาก
แล้วเจ้าฟ้ากุ้งท่านมีเหตุอะไรที่ต้องไปลอบทำร้ายพระองค์นี้หรือครับ

ผลสุดท้ายพระนางเจ้าอภัยนุชิต ต้องขอให้พระช่วย
เรียนย้ำนะครับปีนั้นคือ พ.ศ. ๒๒๗๘ นักเลงหนุ่มเลือดร้อนหนีไปบวชพระทิ้งให้เจ้าชายเล็กๆต้องรับเคราะห์แทน
ไม่เห็นว่าท่านจะรู้สึกผิด เขียนอะไรบ้างในเรื่องนี้เลย
เกณฑ์อายุน่าจะประมาณ ยี่สิบต้น ๆ แล้วท่านทรงพระนิพนธ์ กาพย์ และโคลงต่างๆ ตอนไหนครับ



เหตุที่พระองค์ไปทำร้ายพระภิกษุกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ แม้พงศาวดารจะไม่ได้กล่าวไว้ตรงๆก็คงจะประมาณได้ว่าท่านอิจฉาครับ แต่เรื่องนี้ผมก็ไม่เห็นว่าจะเป็นเหตุผลที่จะทำให้ท่านไม่สามารถแต่งบทประพันธ์ดีๆได้ครับ แล้วก็ต่อให้ท่านจะทรงรู้สึกผิดก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ท่านจะต้องเขียนออกมาเลยนี่ครับ

เรื่องพระชันษาของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร อาจจะลองประเมินโดยเทียบจากตาราง รายนามพระเจ้าแผ่นดินในคำให้การชาวกรุงเก่า ว่าพระเจ้าเอกทัศขึ้นครองราชย์ตอนพระชนม์ได้ ๓๙-๔๐ ในพ.ศ.๒๓๐๑ ก็จะประมาณปีพระราชสมภพอยู่ที่ พ.ศ.๒๒๖๑-๖๒ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรน่าจะมีพระชนม์สูงกว่าเล็กน้อย ในพ.ศ.๒๒๗๘ น่าจะมีพระชันษาราว ๒๐ ปลายๆครับเกือบ ๓๐ ครับ เวลาผ่านมาประมาณนี้สำหรับคนที่เป็นกวีเองก็น่าจะมีเวลาสร้างสรรค์ผลงานได้มากอยู่ครับ



พระบวชใหม่ ปีเดียวหรือ สองปี นะครับ ที่แปลภาษาบาลีได้หมดจดแล้วรังสรรค์วรรณกรรมชิ้นเอกที่เกี่ยวกับศาสนามาได้ถึงสองชิ้น
ถ้าไม่นับว่าเป็นสุดยอดอัจฉริยะบุคคลก็แปลกใช่ไหมครับ
สำนวนที่ใช้ไม่มีวี่แววว่าเป็นสำนวนพระพรรษาน้อยเลย
ประเมินพระชันษาแบบคร่าวๆ สันนิษฐานว่าน่าจะทรงเคยผนวชตามประเพณีเมื่อพระชนม์ ๒๑ พรรษามาก่อนแล้ว และการจะเรียนภาษามคธนั้น ตามความเห็นส่วนตัวของผมคือถ้าอยากจะเรียนรู้ให้แตกฉานจริงๆก็สามารถเรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องผนวชครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 30 ส.ค. 15, 08:16


พระเจ้าบรมโกษเสด็จประพาศ

และ ณ เดือน ๖ ปีมะเมียสัมฤทธิศก ฉลองวัดหานตรา ถึง ณ ปีมะแมเอกศก (จ.ศ. ๑๑๐๑ พ.ศ. ๒๒๘๒ ) เสด็จขึ้นไปสมโภชพระพุทธบาท
ครั้นเดือน ๑๒ ปีวอกโทศก (จ.ศ. ๑๑๐๑๒ พ.ศ. ๒๒๘๓ ) พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปสมโภช พระชินราช พระชินศรี ณ เมืองพระพิษณุโลก ๓ วัน
เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมโภชพระสารีริกบรมธาตุ ณ เมืองสวางคบุรี ๓ วัน แล้วเสด็จกลับยังกรุงพระนครศรีอยุธยา

สองปีหลังจากสึก ท่านน่าจะได้ตามเสด็จประพาสพระบาท
กาพย์ห่อโคลงธารทองแดง และ โคลงนิราศพระบาท น่าจะแต่งช่วงนี้

         เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช กุมาร
         ธรรม์ ธำรงกลอนการ ยั่วแย้ม
         ธิเบศร์ วราสถาน ไชยเชษฐ
         สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม แต่งไว้วานสงวน ฯ

แต่จะแต่งโดยเจ้าฟ้าหนุ่มน้อยเหมือนที่เขียนในโคลงหรือครับ เกณฑ์อายุไม่น่าเข้ากัน



การเสด็จไปพระพุทธบาทเป็นราชประเพณีที่ทำเป็นประจำในเดือน ๔ ครับ ซึ่งมีระบุในเอกสารประเภทคำให้การว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จไปเป็นประจำ นอกจากนี้ก็มีตำรากระบวนเสด็จไปพระพุทธบาทแบบละเอียด การรักษาพระนครเมื่อเสด็จไปพระพุทธบาท ลพบุรี เพชรบุรี(ซึ่งเป็นที่เสด็จประจำ) รวมถึงตำราทรงพระเครื่องต้น ซึ่งระบุเครื่องทรงที่ใช้ในงานพระพุทธบาทอย่างละเอียดก็ย่อมเป็นหลักฐานให้เห็นว่าการไปพระพุทธบาทเป็นงานที่จัดเป็นประจำจนต้องมีตำราเขียนไว้เป็นแบบแผนครับครับ 

พ.ศ.๒๒๘๒ ในพระราชพงศาวดารน่าจะจัดเป็นงานสมโภชใหญ่เป็นพิเศษมากกว่าถึงได้บันทึกไว้ในพงศาวดาร

ดังนั้นหากจะประพันธ์เรื่องกาพย์ห่อโคลงธารทองแดง ก็น่าจะแต่งตอนไหนที่เสด็จไปก็ได้ครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 30 ส.ค. 15, 08:57

แต่งตั้งกรมพระราชวัง
 
ครั้นเดือน ๕ ปีระกาตรีศก (จ.ศ. ๑๑๐๓ พ.ศ. ๒๒๘๔ )
พระราชโกษาบ้านวัดระฆังกราบทูลว่า จะขอให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมขุนเสนาพิทักษ์เป็นกรมพระราชวัง
จึงดำรัสให้ปรึกษาอัครมหาเสนาทั้งปวง ครั้นพร้อมกันเห็นควรแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ดำรงฐานาศักดิ์อุปราชโดยประเพณี

แปดปีหลังจากสึกท่านถึงได้เป็นอุปราชวังหน้า

เราลองกลับไปดูส่วนที่เขียนว่าท่านแต่งใน นันโทปนันทสูตรคำหลวง กันดีกว่าครับ

     อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล ในเมื่อกาลบรรพัธ ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์
     เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์
     เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า

ท่านบอกว่าวรรณกรรมนี้แต่งโดยวังหน้าในขณะที่บวชอยู่
ตกลงเราควรให้ นันโทปนันทสูตรคำหลวง แต่งใน พ.ศ. ไหนครับ

และ ในพระมาลัยคำหลวง

       สมุดมาลัยเลิศล้ำ       ลิลิต
       กรมพระราชวังคิด       ว่าไว้
       จบเสร็จเรื่องราวประดิษฐ์       (ประดับ?) แต่ง
       เพราะพร่ำทำยากได้       (แจ่มแจ้ง?) ใจจริง

      
       เมื่อเสร็จศักราชได้       สองพัน
       สองร้อยแปดสิบสรร       เศษเหล้า

ถ้าส่วนอื่นแต่งตอนบวชจริง ก็แปลว่าข้อความตอนนี้มีคนเขียนแทรกเข้ามาทีหลัง เพราะตอนบวชยังไม่เป็นวังหน้า
ถ้าเขียนแทรกได้แล้วเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าท่านเป็นคนแต่งจริงๆ หรือไม่ประการใดครับ

เชน จะกลับมาช่วย หรือยังครับท่าน


ข้อความสองตอนนี้ผมเห็นด้วยครับว่าแต่งเพิ่มในสมัยที่ทรงได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว

ถ้าดูจากข้อความท้ายเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวง ซึ่งข้อความระบุว่าระบุนันโทปนันทสูตรคำหลวงแต่งโดย 'เจ้าฟ้าธรงพระผนวชกรมขุนเสนาพิทักษ์' แต่งเสร็จเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘(หลัง) พ.ศ.๒๒๗๙ ปีมะโรง ครับ

มีการ 'ชุบบาฬัี' โดย นายสังกับนายสา และ 'ชุบเนื้อความ' โดย นายทองสุก     ชุบ ในที่นี้ผมไม่แน่ใจความหมายที่แท้จริงแต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการคัดลอกมาลงโดยอาจจะรวมถึงแก้ไขตรวจทานด้วยครับ ซึ่งจากเนื้อความเห็นได้ว่าน่ามีการนำมาเขียนลงสมุดเล่มใหม่ครับ ซึ่งอาจจะมีการแต่งเพิ่มเติมไปด้วยในตอนที่เขียนลงสมุดเล่มใหม่เพื่อทูลเกล้าถวายนั่นเองครับ อาจจะเป็นไปได้ว่าทรงพระนิพนธ์ไว้นานแล้วโดยไม่ได้นำทูลเกล้าถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อาจจะมาถวายเมื่อครั้งได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว

ข้อความท้ายเรื่องครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 30 ส.ค. 15, 09:05
ข้อความท้ายนันโทปนันทสูตรคำหลวง สำเนาอักษรไทยย่อครับ



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 15, 09:53
ตอบจากความทรงจำ เรื่องความสัมพันธ์ของพระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์ พระเจ้าบรมโกศ และเจ้าฟ้ากุ้งค่ะ

เจ้าฟ้านเรนทร์เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าท้ายสระ    พระเจ้าท้ายสระเป็นพี่ชายของเจ้าฟ้าพรหรือพระเจ้าบรมโกศ   นับญาติกันแล้วพระเจ้าบรมโกศเป็นอาของเจ้าฟ้านเรนทร์
การสืบราชสมบัติในสมัยอยุธยาเป็นจุดอ่อนสำคัญของรัฐประหารในราชอาณาจักรที่เกิดขึ้นไม่เว้นในแต่ละราชวงศ์    คือพระเจ้าแผ่นดินมักจะมีทั้งน้องชายและลูกชาย      คนสมัยนั้นอายุไม่ยืนเท่าคนสมัยนี้ พระเจ้าแผ่นดินมักจะเสด็จสวรรคตไปตั้งแต่พระชนม์ยังไม่ทันจะแก่หง่อม  น้องชายก็ยังไม่ทันแก่เฒ่า  ส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน   ส่วนลูกชายก็ยังเป็นเด็กบ้าง หรือโตเป็นหนุ่มน้อยแล้วบ้าง       
เมื่อพ่อรักลูกมากกว่าน้อง  ราชสมบัติก็จะตกกับลูกชาย  ซึ่งขาดประสบการณ์การปกครองและขาดบารมีเท่าอา    จึงเกิดการชิงราชสมบัติจากอากระทำต่อหลานกันหลายครั้ง   ส่วนใหญ่หลานก็ถูกสำเร็จโทษไปตามระเบียบของผู้แพ้
หนึ่งในหลานน้อยรายที่ฉลาดพอจะเล็งเห็นความจริง ทำนอง Survival of the fittest ตามทฤษฎีของชาร์ลสส์ ดาร์วิน    ว่าผู้เหมาะสมที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่ได้  คือเจ้าฟ้านเรนทร์     ท่านรู้ว่าขืนรับมรดกราชสมบัติจากพระราชบิดาก็จะไปไม่รอด เพราะมีเจ้าฟ้าพรผู้เป็นอานั่งทะมึนอยู่พร้อมด้วยฝีมือและกำลังขุนนางหนุนหลังอีกเพียบ  เจ้าฟ้านเรนทร์ก็หาทางออกที่ปลอดภัยที่สุด คือผนวชแล้วไม่สึก
การผนวชของเจ้านายในสมัยนั้น มีความหมายตรงๆคือสละสิทธิ์ในราชสมบัติ   รองลงมาคือหลบหลีกราชภัย


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 15, 10:09
       พระเจ้าบรมโกศทรงทราบดีว่าเจ้าฟ้านเรนทร์ทำเช่นนี้เพราะไม่ต้องการจะกีดหน้าขวางตาอา     ผิดกับพระอนุชาของเจ้าฟ้านเรนทร์อีกสององค์คือเจ้าฟ้าอภัยและน้องชายชื่ออะไรลืมไปแล้ว ที่ฮึดสู้อา ก็เลยเกิดศึกกลางเมืองนองเลือดขึ้นมา   หลานก็พ่ายแพ้อาไปตามระเบียบ
       นอกจากจะเอาชีวิตไม่รอดแล้ว บรรดาแม่ทัพนายกองที่จงรักภักดีต่อนาย ก็พลอยถูกประหารไปด้วยอีกมาก   เพื่อให้สิ้นเสี้ยนหนามแผ่นดิน     นี่ก็คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กำลังพลของกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลง  เพราะขุนศึกเก่งๆตายไปเยอะตั้งแต่ต้นรัชกาล  หาแม่ทัพนายกองมาสืบทอดฝีมือรบกันไม่ได้ในสมัยปลายอยุธยา

       ความเจียมตัวรู้แพ้รู้ชนะของพระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าบรมโกศ    ก่อนหน้านี้ทั้งสองพระองค์ก็คงจะสนิทสนมเป็นที่โปรดปรานกันมาก่อนน่ะละค่ะ     ดังนั้น เจ้าฟ้านเรนทร์จึงเข้าวังมาเฝ้าพระเจ้าอาได้บ่อยๆตามพระราชประสงค์     ใครๆก็เลยมองว่าพระเจ้าบรมโกศทรงรักหลานองค์นี้มากเป็นพิเศษ     แม้ว่ามีพระราชโอรสหลายพระองค์ ก็หาได้มีองค์ใดเป็นที่โปรดปรานเท่าเจ้าฟ้านเรนทร์ไม่
       เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์พระราชโอรสองค์ใหญ่ จึงมองเจ้าฟ้านเรนทร์เป็นคู่แข่ง   พระนิสัยไม่กินเส้นกับพี่น้องแทนที่จะรักใคร่กลมเกลียว เป็นที่ประจักษ์ในพงศาวดาร  เห็นได้จากทรงชิงชังน้องรองๆลงไปอีกสามองค์ที่เรียกรวมกันว่าเจ้าสามกรมเอาเสียเลย     ดังนั้นถ้าหากว่าจะทรงวู่วามขึ้นมาถึงขั้นกำจัดเจ้าฟ้านเรนทร์ เอาง่ายๆ  ก็เป็นไปได้   
      ถ้าเราเชื่อจดหมายของฝรั่ง ที่กล่าวถึงในต้นกระทู้นี้  ก็จะเห็นว่า อย่าว่าแต่เจ้าฟ้านเรนทร์ที่เจ้าฟ้ากุ้งพระเอกกระทู้นี้คิดกำจัดเลย  แม้แต่พระเจ้าบรมโกศเอง ก็ทรงอยู่ในภาวะฉิวเฉียดเป็นอันตรายจากพระราชโอรสอยู่ไม่น้อย     ดังนั้นการสำเร็จโทษที่เกิดขึ้น ถึงไม่มีเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นสาเหตุ ก็มีแนวโน้มจะเกิดได้เพราะเหตุอื่นอยู่ดี
       นี่ยังไม่รวมว่า เป็นแผนของเจ้าสามกรม ชิงกำจัดเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์โดยอาศัยมูลเหตุเรื่องเจ้าฟ้าสังวาลย์อีกด้วยนะคะ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 15, 10:14
   ดิฉันยังไม่เห็นเหตุผลว่า บทกวีที่ประกาศตัวผู้แต่งเอาไว้ชัดเจน เหตุใดจึงยิ่งเป็นข้อสงสัยว่าไม่ได้แต่งแน่ๆ  ต้องมีกวีนิรนามอยู่เบื้องหลัง
   เทียบง่ายๆ ก็ถ้าในเรือนไทยนี้กระทู้ไหนลงชื่อ NAVARAT.C ไว้ว่าเป็นคนเขียน   ท่านทั้งหลาย   ให้พึงสงสัยว่าเป็นของเทาชมพูแน่ๆ  กระนั้นหรือคะ

   กุลบุตรในสมัยอยุธยาตอนปลาย เล่าเรียนวิชามาตั้งแต่เยาว์  ยิ่งถ้าระดับเจ้าฟ้าพระองค์เจ้าจะต้องเรียนกับพระเถระที่เชี่ยวชาญด้านพระปริยัติธรรม อาจจะระดับพระสังฆราชเลยก็ได้      เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ท่านต้องเรียนภาษาไทย บาลีและขอมด้วยมาตั้งแต่เด็กแล้ว    คนที่มีสติปัญญาและพรสวรรค์ทางภาษาขนาดนี้  เมื่อเป็นหนุ่มใหญ่ มีลูกตั้งหลายองค์ ไปบวช ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะแต่งคำหลวงทั้งสองเรื่อง


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ส.ค. 15, 10:27
สมมติฐานที่เชนกล่าวไปแล้ว ว่าเจ้าฟ้ากุ้งท่านมีมือปืนรับจ้างคอยเขียนคอยแต่งแน่นอน ตัวท่านอาจจะริเริ่มแต่งขึ้นบ้าง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด มีคนช่วยขัดเกลาแต่งเสริม เข้ารูปแบบพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่… ซึ่งแต่งโดยผู้แต่งนิรนามแต่ยกเครดิตให้รัชกาลนั้นๆ

รัชกาลที่ 1 ก็มีเหมือนกัน  แต่พระราชนิพนธ์บทละครอย่างรามเกียรติ์   คือประชุมกวีมาแต่งเสียมากกว่าทรงเอง

ในรัชกาลที่ ๒ อิเหนาของเดิมของเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ ต้นฉบับสูญหายไป    สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯถึงประชุมกวีหน้าพระที่นั่ง แต่งของเดิมขึ้นมาใหม่

เห็นด้วยกับเชน   ;D


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 30 ส.ค. 15, 10:49
      พระเจ้าบรมโกศทรงทราบดีว่าเจ้าฟ้านเรนทร์ทำเช่นนี้เพราะไม่ต้องการจะกีดหน้าขวางตาอา     ผิดกับพระอนุชาของเจ้าฟ้านเรนทร์อีกสององค์คือเจ้าฟ้าอภัยและน้องชายชื่ออะไรลืมไปแล้ว ที่ฮึดสู้อา ก็เลยเกิดศึกกลางเมืองนองเลือดขึ้นมา   หลานก็พ่ายแพ้อาไปตามระเบียบ

อนุชาอีกองค์ชื่อเจ้าฟ้าปรเมศวร์ บางที่ก็เขียน บรเมศร์ บรเมศวร  จริงๆที่ฮึดสู้ก็เพราะพระเจ้าท้ายสระพระบิดาทรงหนุนหลังอยู่ด้วยครับ ตามพงศาวดารจริงๆเจ้าฟ้านเรนทร์ทรงพระผนวชอยู่ก่อนแล้ว พระเจ้าท้ายสระเลยยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย ทำให้พระเจ้าบรมโกศซึ่งเป็นวังหน้าไม่พอพระทัยเพราะข้ามหน้าข้ามตาพระองค์ แต่ถ้ายกราชสมบัติให้เจ้าฟ้านเรนทร์พระองค์ทรงยอมได้ครับ แต่เจ้าฟ้านเรนทร์ท่านก็ไม่ยอมสึกออกมา

แต่ถ้าเจ้าฟ้านเรนทร์ได้ราชสมบัติเพราะพระเจ้าบรมโกศทรงหลีกทางให้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตบรรดาโอรสสายวังหน้าจะลุกขึ้นมาชิงอำนาจเมื่อพระเจ้าบรมโกศสิ้นไปแล้วครับ


ดิฉันยังไม่เห็นเหตุผลว่า บทกวีที่ประกาศตัวผู้แต่งเอาไว้ชัดเจน เหตุใดจึงยิ่งเป็นข้อสงสัยว่าไม่ได้แต่งแน่ๆ  ต้องมีกวีนิรนามอยู่เบื้องหลัง
เทียบง่ายๆ ก็ถ้าในเรือนไทยนี้กระทู้ไหนลงชื่อ NAVARAT.C ไว้ว่าเป็นคนเขียน   ท่านทั้งหลาย   ให้พึงสงสัยว่าเป็นของเทาชมพูแน่ๆ  กระนั้นหรือคะ

   กุลบุตรในสมัยอยุธยาตอนปลาย เล่าเรียนวิชามาตั้งแต่เยาว์  ยิ่งถ้าระดับเจ้าฟ้าพระองค์เจ้าจะต้องเรียนกับพระเถระที่เชี่ยวชาญด้านพระปริยัติธรรม อาจจะระดับพระสังฆราชเลยก็ได้      เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ท่านต้องเรียนภาษาไทย บาลีและขอมด้วยมาตั้งแต่เด็กแล้ว    คนที่มีสติปัญญาและพรสวรรค์ทางภาษาขนาดนี้  เมื่อเป็นหนุ่มใหญ่ มีลูกตั้งหลายองค์ ไปบวช ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะแต่งคำหลวงทั้งสองเรื่อง
ความเห็นส่วนตัวส่วนตัวผมคิดว่าพระองค์น่าจะทรงพระนิพนธ์เองเป็นหลัก แต่อาจจะมีคนแต่งเสริมหรือขัดเกลาเพิ่มเติมครับอย่างในบทท้ายๆพระราชนิพนธ์ที่เป็นการบอกว่าใครเป็นคนแต่งน่าจะเป็นคนอื่นแต่งเสริมเพื่อยกย่องผู้ประพันธ์ครับ

ย่อหน้าล่างเห็นด้วยครับ เรื่องภาษาขอม มีหลักฐานว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงทำจารึกแม่อักษรขอมขุดปรอทไว้ด้วยครับ เป็นจารึกอักษรขอมอยู่ภายในกรอบ แสดงการสะกดคำในแม่ ก กา เรียงลำดับอยู่ตามช่องตาราง มีอักษรไทยอธิบายไว้ตอนบน ด้านข้างและด้านหลัง เข้าใจว่าทำไว้เพื่อใช้ในการเรียนภาษาขอมเบื้องต้นของพระภิกษุ มีข้อความจารึกไว้ว่า

"วัน ๖ .๔. ๓ ค่ำพระพุทธศักราช ๒๒๙๐ จุลศักราช ๑๑๐๙ ปีถอะนพศก สมเดจพระราชโอระสาธิราชเจ้า ธรงพระนามเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐาสูริยวงษ ได้เสวอยราชพระราชวังบอวอรสถานมงคล ธรงแต่งแม่อักษอรขอมขุดบรอดนี้ไว้สำรับพระพุทธสาษนา"

เมื่อ ๒ อาทิตย์ก่อนผมเพิ่งเห็นที่หอสมุดแห่งชาติ แผนกเอกสารโบราณ คิดว่าน่าจะเป็นอันเดียวกันครับ
(http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/uploads/images/314_1.jpg)

อักษรไทย ๒ บรรทัด
๑. แถวบนนี้ แต่คำต้นเปนกันทุกตูว คำปลายเป็นเหล่า กะกำไปสิ้นเหนซ้ำกันอยู่หา
๒. วิเศศมิได้

อักษรขอม ๒ บรรทัด
๑. กนฺน กนฺนา กนฺนิ กนฺนี กนฺนุ กนฺนู กนฺเน กนฺโน
๒. อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ

อักษรไทย ๑๕ บรรทัด
๑. แถว ๘ บันทัดล่าง
๒. นี้ ธรงแต่งใหม่ คำหน้า
๓. เปลี่ยนเป็นกันกาน
๔. กินครบทังสระ ๘
๕. นั้นทัง ๘ แม่สำรับ
๖. สามะเณระแลพระ
๗. ภิกขุอันยังมิแจ้ง
๘. จะได้บอกกลาวเล่า
๙. เรียนสืบไปสำรับ
๑๐. พระพุทธสาษนาจึ่ง
๑๑. จะได้อ่านในท้องพระ
๑๒. คำพีมีอำทิคือ โภนฺโต
๑๓. แล สพฺโพปฺปาทา เปน
๑๔. ต้นจึ่งจะเหนวิเศศใน
๑๕. หย่ำงซึ่งธรงไว้นี้ ฯะะะ

ที่มา http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=627 (http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=627)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 15, 11:23
สมมติฐานที่เชนกล่าวไปแล้ว ว่าเจ้าฟ้ากุ้งท่านมีมือปืนรับจ้างคอยเขียนคอยแต่งแน่นอน ตัวท่านอาจจะริเริ่มแต่งขึ้นบ้าง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด มีคนช่วยขัดเกลาแต่งเสริม เข้ารูปแบบพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่… ซึ่งแต่งโดยผู้แต่งนิรนามแต่ยกเครดิตให้รัชกาลนั้นๆ

รัชกาลที่ 1 ก็มีเหมือนกัน  แต่พระราชนิพนธ์บทละครอย่างรามเกียรติ์   คือประชุมกวีมาแต่งเสียมากกว่าทรงเอง

ในรัชกาลที่ ๒ อิเหนาของเดิมของเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ ต้นฉบับสูญหายไป    สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯถึงประชุมกวีหน้าพระที่นั่ง แต่งของเดิมขึ้นมาใหม่

เห็นด้วยกับเชน   ;D

ย้ายค่ายเถอะคุณหมอ
รามเกียรติกับอิเหนา ไม่มีตรงไหนที่บอกว่ารัชกาลที่ 1 กับรัชกาลที่ 2 ท่านแต่งเองเลย   มีประวัติบอกไว้ชัดเจน ว่าชุมนุมกวีหน้าพระที่นั่ง  อิเหนาในตอนท้ายก็บอกที่มาไว้เหมือนกัน
เรื่องยาวเหยียดขนาดนี้พระเจ้าแผ่นดินจะเอาเวลาที่ไหนมาทรงแต่งแต่องค์เดียว
แต่กาพย์เห่เรือ กับเรื่องอื่นๆบอกไว้ชัดเจนว่าเจ้าฟ้ากุ้งแต่ง  ไม่มีบอกสักคำว่าชุมนุมกวีวังหน้าแต่ง   ก็ยกเครดิตให้ท่านเถอะ 
ถ้ามีกวีแต่งได้เลิศเลอขนาดนี้ น่าจะมีผลงานอื่นออกมาให้เห็นบ้าง  ก็ไม่เห็นมีเลย  วรรณคดีตอนปลายอยุธยา ฝีมือคนละระดับกับเจ้าฟ้ากุ้งทั้งนั้น


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ส.ค. 15, 12:25
เชนคัมแบค อีกแล้ววว
มารับคุณหมอเพ็ญไปด้วยกัน

เอาน่า เรามันสายวิทย์ ปล่อยให้สายศิลป์เค้าว่าไป เราไปขี่ม้าเล่นเป็นคนดูไปก่อนแล้วกัน


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ส.ค. 15, 12:34
หัวข้อเรื่อง "ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์" เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

อาจเป็นได้ว่า ผลงานชั้นเยี่ยมเหล่านั้นแต่งโดยกวีนิรนามในสำนักของพระองค์ครับ

หากจะแยกเป็นกระทู้ใหม่เพื่อให้เห็นหัวข้อชัดเจน และถ้าผู้ใดมีข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องเดิม "การสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้ากุ้ง" จะได้นำเสนอต่อได้โดยไม่สะดุด  ;D


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 15, 13:09
แยกกระทู้แล้วนะคะ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 30 ส.ค. 15, 13:32
เชนคัมแบค อีกแล้ววว
มารับคุณหมอเพ็ญไปด้วยกัน

เอาน่า เรามันสายวิทย์ ปล่อยให้สายศิลป์เค้าว่าไป เราไปขี่ม้าเล่นเป็นคนดูไปก่อนแล้วกัน


ผมก็เรียนสายวิทย์นะครับ ;D


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 15, 13:40
คุณศรีสรรเพชญ์จะไปกับเชนอีกคนหรือคะ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ส.ค. 15, 14:11
เชนไม่ไหวจะกลับไปรับหามิได้


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 30 ส.ค. 15, 14:52
เพิ่มความมั่นใจให้เชนครับ

ผมเรียนประวัติศาสตร์ไทยครั้งสุดท้ายตอน ป.6 ได้คะแนนสูงสุดในชั้น
ตอนเรียนมัธยม ได้คะแนนภาษาไทยต่ำที่สุดในชั้น

ปัจจุบัน ทำงานเป็นครู สอนหนังสือวิชาสายคำนวณ วิทยาศาสตร์ขั้น ก.กา และพื้นฐานวิชาช่างครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 30 ส.ค. 15, 15:09
เชนคัมแบค อีกแล้ววว
มารับคุณหมอเพ็ญไปด้วยกัน

เอาน่า เรามันสายวิทย์ ปล่อยให้สายศิลป์เค้าว่าไป เราไปขี่ม้าเล่นเป็นคนดูไปก่อนแล้วกัน


ผมก็เรียนสายวิทย์นะครับ ;D

ส่วนดีฉันนั้นสายสิญจน์  ;D จึ่งเจียมตนติดตามเพิ่มปัญญา สลับกับทัศนาเรื่องฟ้าใหม่ ทว่าขัดใจกับนางเอกเป็นยิ่งนัก เพียงฉากแรกที่เจ้าหล่อนโผล่มา ก็ให้รู้สึกราวกับว่ากำลังดูหนังคนละเรื่องในทันใด  :(


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 30 ส.ค. 15, 15:58

ขอเรียนเพิ่มเติมข้อสมมุติฐาน ตามแนวทางของเชน ไว้ดังนี้ครับ

1. ในสมัยนั้น งานที่ทรงนิพนธ์ อาจหมายรวมถึงงานที่ทรงเป็นผู้อุปภัมภ์ให้แต่ง หรือ รวบรวมขึ้นก็ได้
2. อาจเป็นไปได้ว่าในสำนักของเจ้าฟ้ากุ้ง เมื่อมีการพิจารณาผลงานที่ได้มาใหม่ลงตัวแล้ว ท่านก็จะพิจารณาใส่
    เครื่องหมายการค้า หรือ logo แทรกเนื้อความลงไปในผลงานนั้น

    เนื้อความแทรกต่อไปนี้ อาจเป็นเครื่องหมายการค้าของสำนักของท่าน

          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร จำเนียรกาลนานสืบไป ฯ
             เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เจ้า ทรงเขียน
          ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร เลิศหล้า
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร ในโลกย์
          จำเนียรกาลนานช้า อ่านอ้างสรรเสริญ ฯ
             เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช กุมาร
         ธรรม์ ธำรงกลอนการ ยั่วแย้ม
        ธิเบศร์ วราสถาน ไชยเชษฐ
        สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม แต่งไว้วานสงวน ฯ
            เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ สมพาร
         กรมขุน หลวงพญากราน กราบเกล้า
         เสนา นราบาน ใจชื่น ชมนา
         พิทักษ์ รักษาเช้า ค่ำด้วยใจเกษม ฯ
            จบ จนจอมโลกย์เจ้า คืนวัง
        พิตรสถิตบัลลังก์ เลิศหล้า
        ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง ชนโลก อ่านนา
         บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ


     ปรากฏอยู่ซ้ำกัน ทั้งใน กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง และ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ครับ

3. นันโทปนันทสูตรคำหลวง และ พระมาลัยคำหลวง อาจเป็นผลงานของกวีอีกกลุ่มแต่ใส่ logo ของสำนักนี้

   เนื่องจากชื่อผู้แต่งน่าจะถูกเขียนแทรกมาในภายหลัง

4. อาจเป็นไปได้ว่ามีงานดีๆ ที่ใส่ logo ของสำนักนี้อีกแต่สูญหายไปแล้วครับ

เมื่อวานผ่านไปทางวัดในหมู่บ้านเห็นมีชื่อผู้มีกำลังทรัพย์บนซุ้มประตู ว่าสร้างถวายวัดปีไหนๆ
แต่ผมเข้าใจว่าตอนสร้างท่านเหล่านั้นเป็นผู้ออกเงิน แต่มีช่างมาสร้างให้ครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 ส.ค. 15, 16:21
ผมก็สายวิทย์ครับ แต่ขอถือหางข้าง ธรรมาธิเบศร์ไท้  ธ ตั้งแต่งเองฯ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 30 ส.ค. 15, 16:25
คุณศรีสรรเพชญ์จะไปกับเชนอีกคนหรือคะ

ไม่ครับ ผมมีจุดยืนของตนเองครับอาจารย์ เอนเอียงไปทางทรงแต่งเองมากกว่า


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ส.ค. 15, 16:54
คุณคนโคราชอย่าเพิ่งท้อถอยเพราะผมนะครับ คือผมไม่มีภูมิทางวรรณกรรมเปรียบเทียบว่ากวีนิพนธ์ของคนโน้นคนนี้ เหมือนไม่เหมือนกันตรงไหนอย่างไร

ข้อสันนิฐานของผมมิได้เป็นวิชาการ แต่เป็นความรู้สึกล้วนๆ ที่ว่ากวีมีจิตใจอย่างนี้ไม่ได้ ท่านก็เอางานเขียนสีน้ำมันของฮิตเลอร์มาหักล้าง ผมก็ไม่รู้ว่าภาพนั้นฮิตเลอร์เขียนจริงเปล่า แต่ก็ต้องรับฟังไว้ก่อน

กรณีย์ที่บอกว่าไม่เคยเห็นกวีเขียนยกยอตนเองถึงขนาดนั้น มีแต่จะถ่อมตนว่าไม่เก่ง รู้น้อย จนแทบจะเป็นธรรมเนียมเสียด้วยซ้ำ กระทั่งพระสงฆ์องค์เจ้า ไม่ว่าเจ้าคุณหรือสมเด็จ เวลาเทศน์หน้าพระที่นั่ง จะต้องลงแบบว่า หากผิดพลาดประการใด ขอทรงพระเมตตางดโทษต่ออาตมภาพผู้รู้น้อย ..ฯลฯ ขอถวายพระพร เป็นต้น
แต่ท่านก็ว่ามีเยอะ ยกตัวอย่างสุนทรภู่ ซึ่งผมอ่านแล้วท่านก็เบ่งเพียงท้วมๆพยางค์สองพยางค์ ไม่ได้ล่อเป็นบทเป็นบาตรมากมายเกินเว่อร์ถึงขนาดนั้น แต่ก็จนใจ ไม่สามารถหากวีนิพนธ์สมัยอยุธยามาเทียบได้ อย่างว่า พม่ามันเผาทิ้งไปแยะ

กระทู้นี้ผมจึงได้แต่แจมๆขึ้นมาพอแก้เหงาเท่านั้น ส่วนมหากวีนิพนธ์ดังกล่าวใครจะแต่งไม่แต่ง สำหรับผมไม่เป็นไร ไม่ศรัทธาในองค์เจ้าฟ้ากุ้งก็เท่านั้น



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 30 ส.ค. 15, 17:24
ตอนนี้ผมเริ่มคิดแล้วว่า บทประพันธ์ที่เขียนเหมือนโฆษณาผลงานให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร อย่างสองตอนนี้

   ๑๐๘ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร จำเนียรกาลนานสืบไป ฯ
          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เจ้า ทรงเขียน
         ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร เลิศหล้า
          แต่งไว้ให้สถิตเสถียร ในโลกย์
         จำเนียรกาลนานช้า อ่านอ้างสรรเสริญ ฯ
   ๑๐๙ เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช กุมาร
         ธรรม์ ธำรงกลอนการ ยั่วแย้ม
         ธิเบศร์ วราสถาน ไชยเชษฐ
         สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม แต่งไว้วานสงวน ฯ
         เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ สมพาร
         กรมขุน หลวงพญากราน กราบเกล้า
         เสนา นราบาน ใจชื่น ชมนา
         พิทักษ์ รักษาเช้า ค่ำด้วยใจเกษม ฯ
         จบ จนจอมโลกย์เจ้า คืนวัง
         บ พิตรสถิตบัลลังก์ เลิศหล้า
         ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง ชนโลก อ่านนา
         บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ

ดูๆ ไปก็เข้ากับพฤติกรรมของพระองค์ที่ปรากฏตามหลักฐานต่างว่าทรงเป็นคน 'กล้า' ทำอะไรได้โดยไม่เกรงใจใครและดูจะไม่คิดถึงผลได้ผลเสีย ทั้งเรื่องลอบทำร้ายกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ จับข้าของเจ้าสามกรมมาลงโทษ ทั้งเรื่องลอบคบชู้ รวมถึงการกระทำหลายๆอย่างตามหลักฐานของ VOC ในกระทู้เก่า(http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6388.0 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6388.0)) ที่มีแนวโน้มว่าพระองค์จะก่อการใหญ่ถึงขั้นชิงบัลลังก์

ลองคิดดูเล่นๆแบบไม่อิงวิชาการก็อาจจะเป็นไปได้ที่ว่า คนประเภทที่กล้าทำอะไรแบบไม่เกรงกลัวใคร ก็ดูจะมีแนวโน้มที่จะโฆษณาผลงานตนเองแบบไม่เกรงใจใครได้เหมือนกันครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 30 ส.ค. 15, 17:49
3. นันโทปนันทสูตรคำหลวง และ พระมาลัยคำหลวง อาจเป็นผลงานของกวีอีกกลุ่มแต่ใส่ logo ของสำนักนี้

   เนื่องจากชื่อผู้แต่งน่าจะถูกเขียนแทรกมาในภายหลัง

4. อาจเป็นไปได้ว่ามีงานดีๆ ที่ใส่ logo ของสำนักนี้อีกแต่สูญหายไปแล้วครับ

เมื่อวานผ่านไปทางวัดในหมู่บ้านเห็นมีชื่อผู้มีกำลังทรัพย์บนซุ้มประตู ว่าสร้างถวายวัดปีไหนๆ
แต่ผมเข้าใจว่าตอนสร้างท่านเหล่านั้นเป็นผู้ออกเงิน แต่มีช่างมาสร้างให้ครับ


ข้อ 3 ตามความเห็นส่วนตัวคิดว่าแค่มีชื่อผู้แต่งมาอยู่ตรงท้าย แต่จะสรุปเลยว่าทรงไม่ได้แต่งเองหรือเป็นกวีสำนักอื่นดูยังไม่มีน้ำหนักมากพอครับ ถ้าเป็นแบบนี้บทประพันธ์ต่างๆที่มีชื่อผู้แต่งเขียนอยู่ก็คงจะไม่สามารถเชื่อได้เลยว่าชื่อผู้เขียนที่ลงไว้เป็นผู้แต่งจริง   นอกจากนี้หากเป็นกวีสำนักอื่นแอบอ้างชื่อเจ้านายแต่ง(ในกรณีเจ้านายไม่ได้สั่ง)ก็จะไม่ต่างอะไรกับการหมิ่นเบื้องสูงครับ ซึ่งคงจะมีโทษมหันต์

ส่วนเรื่องการสร้างวัดหรืออาคารต่างๆ แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงผู้สร้างน่าจะเข้าใจได้ว่าเป็นผู้ว่าจ้างหรือผู้สั่งให้สร้าง ซึ่งไม่ใช่คนที่ลงไปทำงานก่ออิฐฉาบปูนด้วยตนเองแน่นอนครับ และการสร้างอาตารก็ต้องใช้คนงานจำนวนมากและต้องมีหลายหน้าที่ จึงไม่น่าจะเอามาเทียบกับการประพันธ์วรรณกรรมได้ครับเพราะมีความแตกต่างกัน ถ้าจะเทียบน่าจะเทียบเกี่ยวกับองค์ประกอบย่อยของอาคารเช่นการแกะสลักบานประตู จิตรกรรมฝาผนัง หรือการปั้นพระพุทธรูป ซึ่งเป็นงานฝีมือเฉพาะอย่างมากกว่าครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 15, 21:01
ธรรมเนียมบอกชื่อกวีไว้ตอนท้ายของผลงาน มีมาตั้งแต่เรื่องทวาทศมาส แล้วค่ะ

การกลอนนี้ตั้งอาทิ        กวี หนึ่งรา
เยาวราชสามนตไตร        แผ่นหล้า
ขุนพรหมมนตรีศรี        กวีราช
สารประเสริฐฤาช้า        ช่วยแกล้งเกลากลอน


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 30 ส.ค. 15, 21:44

เรียน ท่านอาจารย์นวรัตน์ และท่านอาจารย์ทุกท่าน

งานนี้ต้องบอกว่าผมถูกหวยครับ แต่ก่อนนี้ได้แต่แอบมาด้อมๆมองๆ หาความรู้ในเรือนไทย
แบบครูพักลักจำ มาสักสิบกว่าปีเห็นจะได้ ไม่กล้าลงทะเบียนเพราะเดี๋ยวครูถามหาการบ้านจะทำไม่ทันส่ง
พอตัดสินใจลงทะเบียน ก็ได้ความรู้เกินคาด
ได้ความคิดเห็นโดยตรงจาก ท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านอาจารย์ใหญ่กว่า คุณหมอเพ็ญชมพู และสมาชิกหลายๆท่านที่มีดาวเยอะๆ
แสดงให้ว่าชาวเรือนไทยนี่เป็นนักวิชาการที่ใจกว้างกันจริงๆ

อย่างน้อยตอนนี้ ฝ่ายพระเอกเชน ก็มีอยู่ตั้งสามคน (แผนกลยุทธของฝ่ายเราเอาสีข้างเข้าเถียงไปเรื่อยๆ ค่ายโน้นเขาก็จะล้าไปเองครับ)

ตอนนี้ผมขอสรุป ผลการสังเกตการณ์ ที่ทั้งสองค่ายเห็นตรงกันก่อนนะครับ

1. ตามประวัติศาสตร์ เจ้าฟ้ากุ้งมี character ที่ต่างออกไปจาก ลักษณะสุนทรีย์ของกวีที่แสดงในพระนิพนธ์
2. ผมอ้าง คุณศรีสรรเพชญ์ มาบางส่วน
  "พฤติกรรมของพระองค์ที่ปรากฏตามหลักฐานต่างว่าทรงเป็นคน 'กล้า' ทำอะไรได้โดยไม่เกรงใจใครและดูจะไม่คิดถึงผลได้ผลเสีย"
3. น่าจะมีการแต่งแทรกชื่อผู้แต่งภายหลังใน นันโทปนันทสูตรคำหลวง และ พระมาลัยคำหลวง
4. โคลงบทบอกชื่อผู้แต่ง ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง และนิราศธารโศก ซ้ำกันอย่างผิดสังเกต

ต่อไป สมุนของพระเอกเชน จะสวมบทบาทมหาเกรียน กล่าวหาตัวเอกของท้องเรื่อง โดยไม่มีหลักฐานรองรับนะครับ

ก. การฆ่าพระสงฆ์ และตัดนิ้วมือ นิ้วเท้า อาจเกี่ยวข้องกับกรณี plagiarism โดยเจ้าฟ้ากุ้ง
ข. นันโทปนันทสูตรคำหลวง และ พระมาลัยคำหลวง อาจเป็นเอกสารที่มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว

เอกลักษณ์เกรียนคือ กล่าวหาลอยๆ เล่นสาดโคลน ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานยืนยันครับ  ;D  



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ส.ค. 15, 07:15
ธรรมเนียมบอกชื่อกวีไว้ตอนท้ายของผลงาน มีมาตั้งแต่เรื่องทวาทศมาส แล้วค่ะ

การกลอนนี้ตั้งอาทิ        กวี หนึ่งรา
เยาวราชสามนตไตร        แผ่นหล้า
ขุนพรหมมนตรีศรี        กวีราช
สารประเสริฐฤาช้า        ช่วยแกล้งเกลากลอน

ผมไม่ได้เคยบอกว่า ไม่มีธรรมเนียมบอกชื่อกวีไว้ท้ายผลงาน ตรงข้าม ผมบอกว่ามี แต่ดูจะเป็นธรรมเนียมว่าจะบอกแบบถ่อมๆตน อย่างโคลงตัวอย่างข้างบน ก็บอกเพียงตนเองเป็นเยาวราช และยังเอื้อเฟื้อบอกนามผู้ช่วยเกลากลอนอีกด้วย ซึ่งผมถือเป็นตัวอย่างที่มาสนับสนุนความคิดของผมด้วยซ้ำว่า กวีของเจ้าฟ้ากุ้ง น่าจะมีคนอื่นช่วยแต่ง แต่นิรนาม เพราะกลัวท่านจะเอาไปตัดมือฐานอยากดังแข่งกับท่าน คำสรรเสริญเจ้าฟ้ากุ้งจึงออกแนวประชดๆด้วยซ้ำ ถ้ามองในเหลี่ยมนี้

นี่ออกความเห็นแบบไม่ได้ติดเกรียนมาจากโคราชนะครับ ไปแวะกินหมี่มาเฉยๆ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 31 ส.ค. 15, 10:06
โคลงบทบอกชื่อผู้แต่งนี่ฟังแปลกๆ จริงนะคะ  โดยเฉพาะ
เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ    สมพาร
กรมขุน หลวงพญากราน   กราบเกล้า
เสนา นราบาน             ใจชื่น ชมนา
พิทักษ์ รักษาเช้า    ค่ำด้วย ใจเกษม ฯ
จบ จนจอมโลกย์เจ้า     คืนวัง
บ พิตรสถิตบัลลังก์        เลิศหล้า
ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง     ชนโลก อ่านนา
บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า    ธิเบศร์เจ้า จงสงวน ฯ

ถ้าเจ้าฟ้ากุ้งท่านแต่งเอง  ท่านก็อวยตัวเองมากเลย แต่ถ้าเป็นผู้อื่นแต่งแทรกเข้ามาภายหลังก็ไม่แน่ใจว่าตั้งใจให้เป็นการสรรเสริญเยินยอจนเลิศเลอ หรือแอบประชดประชันอย่างท่าน อจ. Navarat.c ว่า  หรืออย่างแรงกว่านั้นคือวางยาให้คนอ่านเขม่นเจ้าฟ้ากุ้ง  บาทที่ว่า
 “จบ จนจอมโลกย์เจ้า     คืนวัง
บ พิตรสถิตบัลลังก์        เลิศหล้า”
ไม่ทราบว่าจะหมายถึงใคร


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 15, 18:59
ในที่สุด เชนก็คัมแบ๊ค

วันนี้ตั้งใจจะเข้ามาโพสว่า  กระทู้นี้จะน่าสนุกกว่า หากเราเดินหน้าต่อไปในแง่ที่ว่าเจ้าฟ้ากุ้งไม่ได้แต่งพระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้ง แต่มีกวีนิรนามแต่งแทน
มันดีกว่าที่จะยุติลงง่ายๆว่า ในเมื่อพิสูจน์ไม่ได้ว่าคนอื่นแต่งก็ต้องถือว่าท่านแต่ง     เพราะทำแบบนี้จะไม่ได้กระตุ้นรอยหยักในสมองให้เพิ่มขึ้นเลยละค่ะ

ดิฉันจะถอยไปนั่งข้างฉาก ให้จอมยุทธใหม่ชาวโคราชมาแสดงฝีมือกระบี่     มีเชนควบม้าประกบเหมือนซอร์โร   พร้อมเพื่อนอีกสองหรือสาม ทยอยมาเรื่อยๆ
จะเล่าอะไรต่อไปก็เล่าตามสบาย
สมมุติว่ามีกวีนิรนามแต่งแทนเจ้าฟ้าท่าน  แล้วต่อไปเป็นไงล่ะคะ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 31 ส.ค. 15, 19:46
งั้นผมก็ขอเงียบตาม อ.เทาชมพูไปก่อนนะครับ แต่จะแวะเวียนกลับมาเสริมเป็นระยะครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 31 ส.ค. 15, 19:51

จะขอเรียนตอบคุณศรีสรรเพชญ์ และท่านอาจารย์เทาชมพูไปทีละประเด็นครับ

1. เรื่องกำสรวลสมุทร ชื่อสถานที่ต่างๆมีอยู่ในสมัยพระนารายณ์ด้วยครับ ผมเชื่อตามท่าน ดร.วินัย พงษ์ศรีเพียร ที่ว่าเรื่องนี้
เกี่ยวข้องระหว่างเจ้าฟ้าน้อยกับพระสนมศรีจุฬาลักษณ์ ในสมัยอยุธยาไม่น่าจะมีมากกรณีที่เจ้านายชั้นสูงแอบรักกับพระสนมเอกแล้วยังแต่งกลอนเผยแพร่ได้


1.จริงๆผมเคยอ่านงานของดร.วินัย พงษ์ศรีเพียรครับ แต่จำไม่ได้แล้ว อยากขอรายละเอียดเพิ่มเติมที่จะสนับสนุนว่ากำสรวลสมุทรแต่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์หน่อยครับ เพราะทั้งการใช้คำและภาษาและเนื้อความนั้นไม่สอดคล้องกับภาษาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ครับ

คุณ Koratian ยังไม่ได้เอาเรื่องที่ผมขอมาลงเลยนะครับ รออยู่นะครับ ขอบคุณครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 15, 21:00
ผู้แต่งกำสรวลสมุทร น่าจะเป็นเจ้านายระดับสูง  ถึงขั้นกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งของอยุธยา ย้อนหลังจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นไป อาจจะอยู่ยุคเดียวกับทวาทศมาส เพราะภาษาอยู่ประมาณนั้น
ทั้งตัวกวีและนางที่เรียกว่า บาศรีจุฬาลักษณ์ เป็นสามีภรรยากัน  ไม่ใช้ชู้    เพราะหลายตอนกล่าวถึงกิจวัตรประจำวันของนาง อย่างสามีที่รู้จักคุ้นเคยกับงานประจำวันของภรรยา   รู้ว่าชอบโน่นทำนี่   เป็นการกล่าวอย่างเปิดเผย    และมีระยะเวลาอยู่ด้วยกันนาน  ไม่ใช่นานๆแอบพบกันที

นางในกำสรวล ไว้ผมยาวเกล้ามวย   หาหนังสืออยุธยาอาภรณ์ในตู้ไม่พบ  ไม่งั้นคงเช็คได้ว่าอยุธยายุคไหนที่สาวๆไว้ผมยาว แต่ไม่ได้ปล่อยประบ่าอย่างอยุธยาตอนปลาย  หากแต่เกล้าเป็นมวย


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 31 ส.ค. 15, 21:20
ผู้แต่งกำสรวลสมุทร น่าจะเป็นเจ้านายระดับสูง  ถึงขั้นกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งของอยุธยา ย้อนหลังจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นไป อาจจะอยู่ยุคเดียวกับทวาทศมาส เพราะภาษาอยู่ประมาณนั้น
ทั้งตัวกวีและนางที่เรียกว่า บาศรีจุฬาลักษณ์ เป็นสามีภรรยากัน  ไม่ใช้ชู้    เพราะหลายตอนกล่าวถึงกิจวัตรประจำวันของนาง อย่าง
สามีที่รู้จักคุ้นเคยกับงานประจำวันของภรรยา   รู้ว่าชอบโน่นทำนี่   เป็นการกล่าวอย่างเปิดเผย    และมีระยะเวลาอยู่ด้วยกันนานอย่างเปิดเผย   ไม่ใช่นานๆแอบพบกันที

นางในกำสรวล ไว้ผมยาวเกล้ามวย   หาหนังสืออยุธยาอาภรณ์ในตู้ไม่พบ  ไม่งั้นคงเช็คได้ว่าอยุธยายุคไหนที่สาวๆไว้ผมยาว แต่ไม่ได้ปล่อยประบ่าอย่างอยุธยาตอนปลาย  หากแต่เกล้าเป็นมวย

อย่างที่ อ.เทาชมพูว่ามาครับ นอกจากเรื่องของภาษา เนื้อความ และบทประพันธ์ที่เป็นโคลงดั้นที่ใช้กันในสมัยอยุทธยาตอนต้น กำสรวลสมุทรบางตอนโวหารนั้นใกล้เคียงกับทวาทศมาสซึ่งเป็นโคลงดั้นเหมือนกันมาก จนอาจจะเป็นไปได้ด้วยว่าเป็นผู้แต่งคนเดียวกันครับ ซึ่งในทวาทศมาสก็มีการกล่าวถึง 'ศรีจุฬาลักษณ์' อยู่เช่นกันครับ ซึ่งก็สันนิษฐานว่าคงจะเป็นคนเดียวกับ 'บาศรีจุฬาลักษณ์' ในกำสรวลสมุทร ซึ่งคงจะเป็นมเหสีของกษัตริย์อยุทธยาในตอนนั้น

"     อาณาอาณาสเพี้ยง     เพ็ญพักตร์
"อกก่ำกรมทรวงถอน         ถอดไส้
ดวงศรีจุฬาลักษณ์            เฉลิมโลก กูเอย
เดือนใหม่มามาได้            โสกสมร ฯ"

ถ้าเป็นเจ้าฟ้าน้อยอนุชาสมเด็จพระนารายณ์ที่คบชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ การเขียนโคลงโดยชื่อชู้รักแบบเปิดเผยไม่กลัวคนจับสังเกตได้ก็ยิ่งจะดูผิดธรรมชาติมากขึ้นไปอีกครับ

ผู้แต่งน่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ โดยพิจารณาจากร่ายตอนต้นคือ "ศรีสิทธิวิวิทธบวร นครควรชํ ไกรพํรหรงงสรรค สวรรคแต่งแต้ม แย้มพื้นแผ่นพสุธา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานี บูรียรมยเมืองมิ่ง แล้วแฮ ราเมศไท้ท้าวต้งง แต่งเอง ฯ"     
นอกจากพระมหากษัตริย์แล้ว ไม่น่าจะมีการเรียกผู้อื่นว่า ไท้ นะครับ 


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 31 ส.ค. 15, 21:27

เรื่องกำสรวลสมุทรผมเชื่อ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ครับ ตามเล่มนี้

100 เอกสารสำคัญ :สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 4 (กำสรวลสมุทร สุดยอดกำสรวลศิลป์ :มรดกค
ผู้แต่ง : วินัย พงศ์ศรีเพียร
ผู้แปล :
Barcode : 9789742255275
ISBN : 9789742255275
ปีพิมพ์ : 1 / 2553

เป็นเรื่องระหว่างเจ้าฟ้าน้อย กับ พระสนม ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 31 ส.ค. 15, 21:34

เอาเรื่องตามกระทู้นี้ก่อนนะครับ

1. ถ้าเราเห็นตรงกันว่า ข้อความบอกชื่อผู้แต่งใน นันโทปนันทสูตรคำหลวง และ พระมาลัยคำหลวง
    เป็นข้อความที่แต่งแทรกขึ้นมาภายหลัง เราต้องลบข้อความที่แต่งแทรกออกไปก่อนใช่ไหมครับ (เพราะเป็นข้อความอันเป็นเท็จ)

2. ถ้าลบข้อความที่แต่งแทรกออกไปแล้ว ทางค่ายโน้น มีหลักฐานยืนยันที่น่าเชื่อถือไหมครับว่่า เจ้าฟ้ากุ้งแต่ง นันโทปนันทสูตรคำหลวง และ พระมาลัยคำหลวง



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 31 ส.ค. 15, 21:40

3. ถ้าเจ้าฟ้ากุ้งแต่ง กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง และ นิราศธารโศก
    ได้ความสละสลวยด้วยตัวท่านเอง
    ทำไมถึงไม่มีปัญญาแต่งให้ บทบรรยายสรรพคุณตัวเอง ให้ต่างกันครับ
    ทำไมต้องลอกกันมาแปะไว้ทั้งสองที่


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 15, 21:45
คำถามคุณชาวโคราช ทำเอางงๆ   เห็นจะต้องวานคุณศรีสรรเพชญ์มาตอบ ว่ามีบอกไว้ในพงศาวดารหรือหลักฐานที่ไหนอีก เพราะรายนี้ดูจะอ่านพงศาวดารเยอะพอควร
ส่วนตัวดิฉัน  ในเมื่อวรรณคดีเรื่องไหนมีระบุเอาไว้ชัดเจนว่าใครแต่ง   ก็ถือว่าเรื่องนี้มีเจ้าของบอกชื่อแซ่ไว้เรียบร้อยแล้ว  เป็นอันรู้กันว่าเรื่องนี้ท่านผู้นี้แต่ง
ถ้าหากว่าไปค้นเจอว่าข้อความที่ว่านั้นมีมือดีดอดมาบวกเพิ่มเข้าไปทีหลัง  ตามหลักฐานในหอสมุดแห่งชาติ  หรือเป็นฉบับเชลยศักดิ์เจ้าไหนก็ตาม มองเห็นชัดเจนว่าบวกเพิ่มเข้าไปแน่ๆ  ก็ค่อยมาว่ากันใหม่

สมองยังคิดไม่ไกลถึงขั้นที่ว่า ต่อให้ระบุชื่อคนแต่งไว้ชัดเจนแล้วก็ยังสงสัยว่าไม่ได้แต่ง    ถ้าจะให้เชื่อว่าแต่งต้องไปเอาหลักฐานที่อื่นมายืนยัน
ตอนนี้พอมีคุณชาวโคราชมาสะกิด  เลยชักอยากรู้ขึ้นมาอีกละค่ะว่ามีไหม


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 31 ส.ค. 15, 22:56
เผลอไม่ได้เข้ามาแป๊บเดียว กระทู้วิ่งปรู๊ดปร๊าดไวมาก ทั้งยังน่าสนใจกระตุ้นรอยหยักในสมอง  คุณโคราชและคุณศรีสรรเพชญ์นี่วรยุทธไม่ธรรมดาจริงๆ ระดับยอดฝีมือเพลงกระบี่ล้ำลึกพริ้วไหวที่เพิ่งตัดสินใจลงจากเขาเข้าสู่ยุทธจักรแท้ๆ ดูท่าน่าจะท่องยุทธภพได้อีกนาน


ในฐานะที่เคยเรียนวิทย์มานิดๆ หน่อยๆ  อ่านเหตุผลจากหลายๆ ท่านแล้ว ผมขอโหวตตามเชนอีกเสียงนึงครับ  ;D  ;D  ;D

อีกเรื่องที่คิดคือไทยเราแต่ไหนแต่ไรมาดูจะไม่ค่อยมีธรรมเนียมเรื่องสิทธิของกวีนิพนธ์ผู้ประพันธ์เท่าไหร่ บทกวีต่างๆ แม้จะลงชื่อว่าเป็นของเจ้านายหรือพระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่ง แต่จริงๆ น่าจะเป็นองค์อุปถัมภ์มากกว่า แต่มีการใส่ชื่อเพื่อยอพระเกียรติ

นอกจากนั้นการจะฝึกปรือวิทยายุทธจนรจนาภาษาแต่บทโคลงกลอนได้สละสลวยงดงาม ต้องสั่งสมประสบการณ์อย่างยาวนาน ทั้งต้องใช้เวลามาก ต้องทุ่มเทใจรัก ดูจากลักษณะเจ้าฟ้ากุ้งแล้ว คงแค่ใช้คำว่าแค่เป็นเสเพลไม่ได้  กิจกรรมเลวร้ายต่างๆ น่าจะต้องใช้เวลาไปไม่น้อยจนเจ้าตัวไม่น่ามีเวลาไปฝึกปรือฝีมือขนาดนั้นได้ กวีขี้เหล้ามีมากมาย กวีเสเพลเจ้าชู้ก็มีไม่น้อย จริงๆ เป็นส่วนใหญ่ของกวีเลย แต่กวีซาดิสก์หรือกวีจอมโหดเหี้ยมนี่นอกจากเจ้าฟ้ากุ้งนี่ผมนึกไม่ออกซักคน  ดังนั้นการใช้หรืออุปถัมภ์ใครซักคนหรือหลายคนแต่ง แล้วใส่ชื่อเพื่อองค์อุปถัมภ์ให้เครดิต น่าจะเป็นไปได้มากกว่า  ยิ่งคิดยิ่งเห็นด้วยกับเชน


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ก.ย. 15, 00:35
ขอตั้งข้อสังเกตเรื่องหนึ่งนะครับ

กาพย์ห่อโคลงทั้งสองเรื่องนี้มีรูปแบบเหมือนกัน คือมีส่วนความหลักที่เป็นกาพย์ห่อโคลง แล้วมีส่วนยอพระเกียรติปะหัวท้าย (นิราศธารทองแดงมีแต่ปะท้าย ความตอนต้นหายไปบางส่วน) สำนวนภาษาที่ใช้ในส่วนความหลักกับส่วนยอพระเกียรติต่างกันมาก ถ้าไม่ใช่เพราะว่าแต่งเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกันทำให้ใช้ระดับของภาษาต่างกัน ก็ต้องเป็นเพราะว่าแต่งโดยกวีคนละคนกัน

ถ้าดูจากบทกวีสมัยอยุธยาเรื่องอื่นๆ ที่รอดมาถึงรัตนโกสินทร์ จะเห็นว่าการเขียนความนำ หรือบทตามเพิ่มเติมเข้าไปเป็นเรื่องปกติ (เช่นกำสรวลสมุทร) เป็นไปได้ว่าบทยอพระเกียรตินี้จะเขียนเติมเข้าไปภายหลัง เผลอๆจะเป็นในยุครัตนโกสินทร์ด้วยซ้ำไปครับ

ทีนี้ จะรู้ได้อย่างใดว่าเจ้าฟ้ากุ้งทรงแต่งเอง?

ข้อนี้ ผมยอมรับว่าไม่มีหลักฐานอะไรที่จะพิสูจน์ได้ แต่ก็เห็นว่าไม่มีหลักฐานอะไรที่จะชี้ชัดว่าไม่ใช่พระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้ง

ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนผมเห็นว่ามีเรื่องเดียว คือความทรงจำของคนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่รับรู้ว่าโคลงนี้เป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ถ้าคิดว่าเป็นของคนอื่นก็คงระบุได้โดยไม่ต้องเกรงราชภัย ดังนั้นสรุปได้ประการเดียวคือคนต้นรัตนโกสินทร์เข้าใจว่าเป็นพระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้งจริงๆ

ทีนี้ การที่คนต้นรัตนโกสินทร์เข้าใจอย่างนั้นถือเป็นข้อสรุปได้หรือไม่?

ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ครับ ดูตัวอย่างโคลงนิราศกำศรวลสมุทรที่ระบุว่าเป็นศรีปราชญ์แต่ง แต่เนื้อความไม่สอดคล้องกับเรื่องของศรีปราชญ์ ภาษาที่ใช้ไม่สอดคล้องกับสมัยพระนารายณ์ ภูมิประเทศที่กวีผ่านบ่งชี้ว่าไม่ใหม่ไปกว่ายุคพระไชยราชาฯ เห็นชัดว่าสิ่งที่คนต้นรัตนโกสินทร์รับรู้นั้นผิดอย่างจะแจ้ง

แต่สิ่งที่แตกต่างกันของกำสรวลสมุทรกับกาพย์ห่อโคลงทั้งสองเรื่องนี้คือ ณ พ.ศ. 2325 กำสรวลสมุทรถูกเข้าใจว่าเป็นกวีนิพนธ์ที่แต่งขึ้นราวปี 2200 เศษ มีอายุร้อยกว่าปี (แต่ที่จริงแต่งก่อนปี 2100 เก่าถึงสองร้อยกว่าปีแล้ว) แต่กาพย์ห่อโคลงสองเรื่องนี้ถูกเชื่อว่าแต่งโดยเจ้าฟ้ากุ้งที่มีชีวิตอยู่จนถึงปี 2298 เพียงแค่ไม่ถึง 30 ปีก่อนหน้านี้เอง คนในยุคต้นรัตนโกสินทร์หลายคนต้องเคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับเจ้าฟ้ากุ้งนะครับ

แต่ผมชอบนะครับที่คุณ Koratian ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นพูดคุยกัน ประเทืองปัญญาดีครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 15, 06:01
เผลอไม่ได้เข้ามาแป๊บเดียว กระทู้วิ่งปรู๊ดปร๊าดไวมาก ทั้งยังน่าสนใจกระตุ้นรอยหยักในสมอง  คุณโคราชและคุณศรีสรรเพชญ์นี่วรยุทธไม่ธรรมดาจริงๆ ระดับยอดฝีมือเพลงกระบี่ล้ำลึกพริ้วไหวที่เพิ่งตัดสินใจลงจากเขาเข้าสู่ยุทธจักรแท้ๆ ดูท่าน่าจะท่องยุทธภพได้อีกนาน


ในฐานะที่เคยเรียนวิทย์มานิดๆ หน่อยๆ  อ่านเหตุผลจากหลายๆ ท่านแล้ว ผมขอโหวตตามเชนอีกเสียงนึงครับ  ;D  ;D  ;D

อีกเรื่องที่คิดคือไทยเราแต่ไหนแต่ไรมาดูจะไม่ค่อยมีธรรมเนียมเรื่องสิทธิของกวีนิพนธ์ผู้ประพันธ์เท่าไหร่ บทกวีต่างๆ แม้จะลงชื่อว่าเป็นของเจ้านายหรือพระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่ง แต่จริงๆ น่าจะเป็นองค์อุปถัมภ์มากกว่า แต่มีการใส่ชื่อเพื่อยอพระเกียรติ

นอกจากนั้นการจะฝึกปรือวิทยายุทธจนรจนาภาษาแต่บทโคลงกลอนได้สละสลวยงดงาม ต้องสั่งสมประสบการณ์อย่างยาวนาน ทั้งต้องใช้เวลามาก ต้องทุ่มเทใจรัก ดูจากลักษณะเจ้าฟ้ากุ้งแล้ว คงแค่ใช้คำว่าแค่เป็นเสเพลไม่ได้  กิจกรรมเลวร้ายต่างๆ น่าจะต้องใช้เวลาไปไม่น้อยจนเจ้าตัวไม่น่ามีเวลาไปฝึกปรือฝีมือขนาดนั้นได้ กวีขี้เหล้ามีมากมาย กวีเสเพลเจ้าชู้ก็มีไม่น้อย จริงๆ เป็นส่วนใหญ่ของกวีเลย แต่กวีซาดิสก์หรือกวีจอมโหดเหี้ยมนี่นอกจากเจ้าฟ้ากุ้งนี่ผมนึกไม่ออกซักคน  ดังนั้นการใช้หรืออุปถัมภ์ใครซักคนหรือหลายคนแต่ง แล้วใส่ชื่อเพื่อองค์อุปถัมภ์ให้เครดิต น่าจะเป็นไปได้มากกว่า  ยิ่งคิดยิ่งเห็นด้วยกับเชน
ด็อก ฮอลิเดย์ พร้อมจะมาฟาดปูเมื่อไหร่ หลังไมค์มาเลย

ได้ปูนาจากโคราชมาเยอะ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ก.ย. 15, 08:13

ด็อก ฮอลิเดย์ พร้อมจะมาฟาดปูเมื่อไหร่ หลังไมค์มาเลย

ได้ปูนาจากโคราชมาเยอะ

ไปขับแท็กซี่ที่ต่างบ้านต่างเมืองหลายปีไม่ได้กลับเมืองไทยเลย เลยไม่มีโอกาสหาหมอฟันเลย 4 ปีเต็มๆ เพราะขนาดไปลงชื่อต่อคิวหมอฟันของรัฐไว้เป็นปีๆ ก็ไม่ถึงคิวซะที จะไปหาหมอฟันเอกชนก็แพง กลับมาเมืองไทยเลยพบว่าฟันทั้งร้าวทั้งผุหลายซี่ ต้องรักษาขนานใหญ่ครับ คุณหมอ(สาว)บอกว่าเรื่องกินอะไรแข็งๆ เช่นปูลืมไปได้เลย คุณหมอแนะนำให้กินกุ้งแม่น้ำเผาแทนครับ กระผมเลยจนใจจะฟาดปูนาคงไม่ได้ เปลือกมันแข็งแทะไม่ได้ คงรับได้แต่อะไรที่นุ่มๆ หน่อยจำพวกกุ้งแม่น้ำ ปลาสมัน(แซลมั่น) โอโทโร่ หอยเป๋าฮื้อ ถ้าปูก็ต้องประเภทปูม้าถอดสื้อเท่านั้น เฮ้ออออ ลำบากใจ เกรงใจท่านเจ้ามือจริงๆ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 15, 08:56
หมั่นแสดงความเห็นหน่อย เมนูกุ้งก็ไม่ไกลเกินเอื้อม


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 15, 09:17
น้ำพริกปูหลนยังรออยู่ค่ะ กลืนได้เลย ไม่ต้องเคี้ยว
ส่วนปูม้ากุ้งแม่น้ำ ต้องรอเชนไปตกมาให้ซะก่อน


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 15, 09:23
ขออธิบายเรื่องหนังสือที่มีคำว่าพระราชนิพนธ์ประกอบชื่อเรื่อง
แบ่งได้เป็น 3 ประเภท
1 หนังสือที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯประชุมกวีนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งขึ้น    ในสมัยอยุธยาเรียกว่าคำหลวง     
จริงอยู่ว่าไม่ได้ทรงลงมือแต่งเอง แต่จะเรียกว่าเป็นองค์อุปถัมภ์อย่างในกระทู้นี้เรียกก็ได้    แต่เรื่องทั้งหมดก็ต้องผ่านสายพระเนตร อาจจะทรง edit เองด้วย เพื่อให้ออกมาดีงามเป็นผลงานค่าควรเมือง
สังข์ทอง ในรัชกาลที่ 2  ก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน   เราคงจำตำนานเรื่องสุนทรภู่มีเหตุขัดพระทัยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้

2  เรื่องทรงแต่งเองล้วนๆ อย่างพระราชนิพนธ์มัทนะพาธา ท้าวแสนปม ศกุนตลา ในรัชกาลที่ 6

3  เรื่องทรงแต่งเป็นบางตอน  อย่างขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุด  ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง เป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.ย. 15, 09:27
ดูตัวอย่างโคลงนิราศกำศรวลสมุทรที่ระบุว่าเป็นศรีปราชญ์แต่ง แต่เนื้อความไม่สอดคล้องกับเรื่องของศรีปราชญ์ ภาษาที่ใช้ไม่สอดคล้องกับสมัยพระนารายณ์ ภูมิประเทศที่กวีผ่านบ่งชี้ว่าไม่ใหม่ไปกว่ายุคพระไชยราชาฯ เห็นชัดว่าสิ่งที่คนต้นรัตนโกสินทร์รับรู้นั้นผิดอย่างจะแจ้ง

โคลงขึ้นต้นบทของนิราศกำสรวลสมุทร เขียนไว้ว่า

กำสรวลศรีปราชญ์ร้าง                แรมสมร
เสาะแต่ปางนคร                      ล่มแล้ว
ไป่พบไป่พานกลอน                  โคลงท่าน จบแฮ
จวบแต่ต้นปลายแคล้ว                หนึ่งน้อยยืมถวาย


ก็ไม่ได้หมายความว่า โคลงนี้เป็นผลงานของศรีปราชญ์ นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า ศรีปราชญ์ไม่มีตัวตนจริงเสียด้วยซ้ำ (http://www.sujitwongthes.com/2012/08/weekly03082555/)

ป.ล. คุณประกอบมีปัญหาเรื่องฟัน ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับการรับประทานปู เรากินเนื้อปูมิใช่เปลือกปูเสียเมื่อไหร่  ;)  ;D


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 15, 10:03
ตั้งแต่ดิฉันเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในยุคที่หลายคนในเรือนไทยยังไม่เกิด     อาจารย์ก็สอนแล้วว่า ศรีปราชญ์ที่เราเข้าใจกันว่าเป็นผู้แต่งกำศรวลศรีปราชญ์นั้นไม่มีตัวจริง
อาจารย์ท่านที่จุดประกายเรื่องนี้ขึ้นมาคือ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล   ท่านยกภาษาและพงศาวดารมาอ้างอิงเลยทีเดียว

อาจารย์ผู้สอนคือศ.วัชรี รมยะนันทน์ สอนว่า ที่เราเรียกนิราศเรื่องนี้ว่ากำศรวลศรีปราชญ์ เพราะไปเชื่อนายนรินทร์ธิเบศร์  ที่อ้างไว้ในโคลงนิราศนรินทร์   ว่าศรีปราชญ์เป็นผู้แต่ง     และต่อมา ก็เชื่อ "ตำนานศรีปราชญ์" ที่เรียบเรียงโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา ว่าศรีปราชญ์เป็นกวีเอกสมัยสมเด็จพระนารายณ์

ดิฉันเองก็เคยเขียนบทความเรื่องนี้เอาไว้ สมัยเรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ ยังไม่ได้เรียนต่อ ว่าความสัมพันธ์ของกวีผู้แต่งกับบาศรีจุฬาลักษณ์นั้นอยู่ในฐานะสามีภรรยากัน ไม่ใช่ชู้ที่ลักลอบพบปะ
มีบทหนึ่งที่กล่าวขณะเดินทางผ่านถึงสำโรง ว่าทำให้นึกถึงร่วมหอลงโรงกัน บทความนั้นอยู่ไหนไม่ทราบ  กลับไปหากำศรวลในตู้หนังสือเรือนไทย ก็พบว่าความกลายเป็นอีกอย่าง  งงอยู่เหมือนกัน



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 01 ก.ย. 15, 13:47
ผู้แต่งกำสรวลสมุทร น่าจะเป็นเจ้านายระดับสูง  ถึงขั้นกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งของอยุธยา ย้อนหลังจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นไป อาจจะอยู่ยุคเดียวกับทวาทศมาส เพราะภาษาอยู่ประมาณนั้น
ทั้งตัวกวีและนางที่เรียกว่า บาศรีจุฬาลักษณ์ เป็นสามีภรรยากัน  ไม่ใช้ชู้    เพราะหลายตอนกล่าวถึงกิจวัตรประจำวันของนาง อย่างสามีที่รู้จักคุ้นเคยกับงานประจำวันของภรรยา   รู้ว่าชอบโน่นทำนี่   เป็นการกล่าวอย่างเปิดเผย    และมีระยะเวลาอยู่ด้วยกันนาน  ไม่ใช่นานๆแอบพบกันที

นางในกำสรวล ไว้ผมยาวเกล้ามวย   หาหนังสืออยุธยาอาภรณ์ในตู้ไม่พบ  ไม่งั้นคงเช็คได้ว่าอยุธยายุคไหนที่สาวๆไว้ผมยาว แต่ไม่ได้ปล่อยประบ่าอย่างอยุธยาตอนปลาย  หากแต่เกล้าเป็นมวย

อย่างที่ อ.เทาชมพูว่ามาครับ นอกจากเรื่องของภาษา เนื้อความ และบทประพันธ์ที่เป็นโคลงดั้นที่ใช้กันในสมัยอยุทธยาตอนต้น กำสรวลสมุทรบางตอนโวหารนั้นใกล้เคียงกับทวาทศมาสซึ่งเป็นโคลงดั้นเหมือนกันมาก จนอาจจะเป็นไปได้ด้วยว่าเป็นผู้แต่งคนเดียวกันครับ ซึ่งในทวาทศมาสก็มีการกล่าวถึง 'ศรีจุฬาลักษณ์' อยู่เช่นกันครับ ซึ่งก็สันนิษฐานว่าคงจะเป็นคนเดียวกับ 'บาศรีจุฬาลักษณ์' ในกำสรวลสมุทร ซึ่งคงจะเป็นมเหสีของกษัตริย์อยุทธยาในตอนนั้น

"     อาณาอาณาสเพี้ยง     เพ็ญพักตร์
"อกก่ำกรมทรวงถอน         ถอดไส้
ดวงศรีจุฬาลักษณ์            เฉลิมโลก กูเอย
เดือนใหม่มามาได้            โสกสมร ฯ"

ถ้าเป็นเจ้าฟ้าน้อยอนุชาสมเด็จพระนารายณ์ที่คบชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ การเขียนโคลงโดยชื่อชู้รักแบบเปิดเผยไม่กลัวคนจับสังเกตได้ก็ยิ่งจะดูผิดธรรมชาติมากขึ้นไปอีกครับ


ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ครับ ดูตัวอย่างโคลงนิราศกำศรวลสมุทรที่ระบุว่าเป็นศรีปราชญ์แต่ง แต่เนื้อความไม่สอดคล้องกับเรื่องของศรีปราชญ์ ภาษาที่ใช้ไม่สอดคล้องกับสมัยพระนารายณ์ ภูมิประเทศที่กวีผ่านบ่งชี้ว่าไม่ใหม่ไปกว่ายุคพระไชยราชาฯ เห็นชัดว่าสิ่งที่คนต้นรัตนโกสินทร์รับรู้นั้นผิดอย่างจะแจ้ง


เรื่องกำสรวลสมุทร (Last edition ไม่ใช่ First edition) นี้ ผมเชื่อตามฝ่ายนักวิชาการเสียงข้างน้อยครับ เช่น ดร.วินัย และ คุณธนิต อยู่โพธิ์ ที่ว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
แต่งโดยสำนักพิมพ์เจ้าฟ้าน้อย ก่อนที่จะมีสำนักพิมพ์เจ้าฟ้ากุ้งครับ
เรื่องนี้ถ้าเกิดเชนเชื่อเหมือนกันอีก แล้วเกิดบ้าเลือดขึ้นมา เดี๋ยวพระเอกเชนคงไปลุยเดี่ยวในกระทู้เก่าคุณ CrazyHOrse ต่อคนเดียวเองนะครับ สมุนขอหลบแถวนี้ก่อน


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 01 ก.ย. 15, 14:16

ขอเสนอพล็อตนิยายคร่าวๆ ต่อนะครับ

เมื่อได้รับโอกาสอภัยโทษ สึกออกมาแล้าท่านเจ้าฟ้าฯ ก็เริ่มสร้างผลงานเปิดบริษัทสำนักพิมพ์
บริษัทนี้นอกจากจะแต่งเพลงรัก เพลงโศก แต่งสารคดีท่องเที่ยวแล้ว
ยังมีธุรกิจปลีกย่อยเกี่ยวกับการตีหัวคน และ หาเรื่องชาวบ้านอีกด้วย

เมื่อผลงานเริ่มติดตลาด แล้ว ผลิตสินค้าไม่ทัน ก็จะใช้วิธีเอาสินค้าที่ผลิตจากผู้ผลิตรายอื่นมาติดตราสำนักพิมพ์
เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการตลาดได้

การติดตราสำนักพิมพ์นี้ได้รับการคุ้มครองอย่างเด็ดขาดจากกฎหมายลิขสิทธิเฉพาะในเวลานั้น (ถวายแล้วชิงเอาคืน โดนตัดนิ้ว)
ทำให้บริษัทคู่แข่งยากที่จะทำการแข่งขันได้ และผู้บริโภคยอมรับใน  branding ของบริษัทในที่สุด

ในที่สุด ท่านพระราชาคณะที่หวังผลมองการไกล ได้สนับสนุน เสนอให้ท่านเจ้าฟ้าได้รับการเลื่อนตำแหน่ง
แล้วสำนักพิมพ์ก็ทยอยผลิตสินค้าชั้นดีทางธรรมและทางโลกย์ ออกมาสู่ตลาดจนได้รับความนิยมสูงมาก

เนื่องจากความเชี่ยวชาญของสำนักพิมพ์ทางศิลปะและวัฒนธรรม
จึงได้รับการไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแลโครงการก่อสร้างและบูรณะขนาดใหญ่ให้รัฐบาลในเวลาต่อมา
นับได้ว่าเป็นบริษัทดาวรุ่งของแผ่นดินในเวลานั้น ไม่มีใครเทียบ ยกเว้นบริษัทคู่แข่งของค่ายสามกรม

นี่และครับพล็อตเรื่องคร่าวๆ "จากนักเลง สู่เจ้าของบริษัทก่อสร้างพันล้าน" ของกระผม
 


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ก.ย. 15, 14:27
ดร.วินัย และ คุณธนิต ให้เหตุผลว่าอย่างไรครับว่าทำไมกำสรวลสมุทรถึงแต่งในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์?

ถ้าเป็นเจ้าฟ้าน้อยแต่งจริง ก็ต้องเป็นงานตั้งใจทำเทียมของเก่า ความยากน้องๆ ทฤษฎีจารึกหลักที่ 1 ทำเทียมสมัย ร. 4 เลยนะครับ

สงสัยจะต้องแตกเป็นอีกกระทู้หนึ่งต่างหากแล้วมังครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 15, 14:53
เชิญตั้งกระทู้ใหม่ได้เลยค่ะ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 15, 15:12
ตอบค.ห. 92

นิยายเรื่องนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสมัยปลายอยุธยาค่ะ เพราะบริบทไม่อำนวย

ในสมัยอยุธยาเรื่อยมาจนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น    การเล่าเรียนเขียนอ่านจำกัดอยู่ในวัดสำหรับพระสงฆ์พรรษายาวๆ  และกุลบุตรที่ได้บวชเรียนระยะสั้นๆ ก่อนสึกออกไปแต่งงานสร้างครอบครัว หรือเข้ารับราชการ
ผู้หญิงซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของราชอาณาจักร ไม่มีโอกาส  เพราะการดูแลบ้านช่องตลอดจนการทำไร่ ไถนา ทอผ้า ทำกับข้าวกับปลาหุงหาอาหาร นั้นล้วนแล้วแต่ไม่ต้องอาศัยเล่าเรียนเขียนอ่าน   ผู้หญิงที่มีโอกาสเรียนวิชาหนังสือ คือสตรีสูงศักดิ์ที่ไม่ต้องทำงานบ้าน  อย่างเช่นเจ้านายสตรี    เจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้ามงกุฎจึงมีโอกาสแต่งหนังสือได้ยาวมาก

วรรณคดีทั้งหลายถ้าจะให้ชาวบ้านชาวเมืองรับรู้ ต้องเป็นวรรณคดีที่ต้องเปล่งเสียง เช่นเอาไว้อ่านเอาไว้เทศน์  อย่างมหาชาติคำหลวงหรือกาพย์มหาชาติ    ชาวบ้านจึงจะรู้เรื่องกะเขาได้     ถ้าเขียนอย่างเดียว  จบสนิท  หาคนอ่านนอกวัดไม่ได้
อีกอย่างสมัยนั้นไม่มีการพิมพ์   การพิมพ์เพิ่งจะแว่วเข้าหูชาวไทยในสมัยรัชกาลที่ 3     กวีเขียน อาลักษณ์ลอกลงสมุดไทย ทีละแผ่นทีละเล่ม เสร็จแล้วเก็บเข้าหอสมุด     ถ้าจะเอาไว้ขับอย่างกาพย์เห่เรือหรือเสภา ก็ได้ยินกันเฉพาะชาววัง  กับข้าราชการที่เข้าเฝ้า   ใครอยากจะอ่านก็อ่านไม่ได้ถ้าไม่ได้อยู่ในแวดวง เพราะระบบเดินเข้าไปขอยืมสมุดข่อยมาอ่านยังไม่เกิดในสมัยนั้น    นายกุหลาบริอ่านทำก็ล่วงเข้าไปถึงรัชกาลที่ 5 แล้ว  มิหนำซ้ำยังต้องใช้อุบายกว่าจะขอยืมมาให้เสมียนคัดได้
ด้วยเหตุเหล่านี้การระบุชื่อผู้แต่งจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น  จะบอกก็ได้ ไม่บอกก็ไม่แปลก  เนื่องจากแวดวงผู้เสพมีอยู่แคบมาก  แคบยิ่งกว่าชั้นเรียนที่คุณคนโคราชสอนซะอีก    ใครแต่งเรื่องอะไรก็รู้กันหมด   ไม่มีใครคิดเผื่อว่าอีก 400 ปีต่อมา ยังมีคนอ่านอยู่ แล้วพยายามหากันให้ควั่ก ว่ากวีเป็นใคร

ความคิดว่า ฉันไม่ได้แต่งแต่ขอเบ่งว่าแต่ง  จึงไม่มี  เพราะความลับไม่มีในราชสำนัก   ขนาดเป็นชู้กันซึ่งเป็นเรื่องลอบเร้นนักหนายังหลุดรั่วได้         เรื่องใช้คนอื่นแต่งแทนตัว จึงไม่รู้จะทำไปทำไม   ยังไงมันก็ปิดไม่ได้อยู่ดี
แม้แต่สมัยรัตนโกสินทร์ การประชุมกวีแต่งหนังสือกันหน้าพระที่นั่งก็ทำกันอย่างเปิดเผย    ไม่ได้แอบๆกระมิดกระเมี้ยนทำ   คนสมัยนั้นเขาก็รู้กันว่ารามเกียรติ์  อิเหนา สังข์ทอง ฯลฯ  พระเจ้าแผ่นดินทรงชุมนุมกวีแต่งกันทั้งนั้น  ตอนนี้ท่านแต่ง ตอนนั้นพระเจ้าลูกยาเธอแต่ง  ตอนโน้นกวีท่านนั้นแต่ง  ต่อเชื่อมกันจนจบเรื่อง
ไม่งั้นจะมีเรื่องอยู่ในประวัติสุนทรภู่ได้ไงล่ะคะ ว่าต้องโทษแล้วพ้นโทษเพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงแต่งชมรถทศกัณฐ์แล้วติดขัด ต้องให้สุนทรภู่แต่งถวายจนจบตอน     
เรื่องเล่านี้กรุณาอย่าค้านว่าไม่จริงอีกเรื่องนะ    เดี๋ยวสุนทรภู่ของข้าพเจ้าจะหายไปอีกคน


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 15, 15:14
กระทู้นี้สนุก ทำให้นึกถึงเรื่อง Shakespeare Forgeries  ซึ่งเคยเขียนมาแล้วในเรือนไทย   รวบรวมบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตที่ไม่เชื่อว่าผลงานของกวีเอกคนนี้  นายอะไรคนนึงชื่อวิลเลียม เชคสเปียร์ที่มีอาชีพเป็นผู้จัดการโรงละคร เป็นคนแต่ง   
เชื่อกันว่าแกเป็นนักเขียนผีของบุคคลสูงศักดิ์ หรือใครสักคน ที่เปิดเผยตัวไม่ได้ ต้องยืมชื่อแกมาใช้

คุณเพ็ญชมพูจำกระทู้นี้ได้ไหมคะ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 15, 15:17
ดร.วินัย และ คุณธนิต ให้เหตุผลว่าอย่างไรครับว่าทำไมกำสรวลสมุทรถึงแต่งในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์?

ถ้าเป็นเจ้าฟ้าน้อยแต่งจริง ก็ต้องเป็นงานตั้งใจทำเทียมของเก่า ความยากน้องๆ ทฤษฎีจารึกหลักที่ 1 ทำเทียมสมัย ร. 4 เลยนะครับ

สงสัยจะต้องแตกเป็นอีกกระทู้หนึ่งต่างหากแล้วมังครับ

ตอนที่ศ.วัชรี รมยะนันทน์ สอนเรื่องกำศรวลศรีปราชญ์ ตามข้อเขียนของศ.ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล       หักล้างความเชื่อที่ว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์  เพราะภาษาเก่ากว่าวรรณคดีสมัยพระนารายณ์มาก
ดิฉันถามอาจารย์ว่า ถ้ากวีเขาใช้ภาษาเก่าของยุคก่อนสมัยพระนารายณ์มาเขียนล่ะคะ     อาจารย์ตอบว่า  เขาไม่ทำกัน จะทำไปทำไม เรื่องอะไรถึงใช้ภาษาที่คนร่วมสมัยไม่ใช้
ก็จริงของอาจารย์     


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.ย. 15, 15:24
คุณเพ็ญชมพูจำกระทู้นี้ได้ไหมคะ

เมื่อเชกสเปียร์ ถูกจับผิด   (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=836.0)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 15, 15:40
 ;D
ขอบคุณค่ะ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.ย. 15, 15:44
ไม่งั้นจะมีเรื่องอยู่ในประวัติสุนทรภู่ได้ไงล่ะคะ ว่าต้องโทษแล้วพ้นโทษเพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงแต่งชมรถทศกัณฐ์แล้วติดขัด ต้องให้สุนทรภู่แต่งถวายจนจบตอน     

-  สุนทรภู่ เคยได้แต่ง พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๒  ด้วย  ต่อจากสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงค้างเอาไว้ในการบรรยายรถทรงของทศกัณฐ์ ตอน ศึกสิบขุนสิบรถ ว่า

     รถที่นั่ง..............................บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล.....ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง.........เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน................พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ

กล่าวกันว่าทรงพรรณนามาถึงตอนนี้ก็หยุดค้างไว้  ยังติดขัดเรื่องจะบรรยายต่อไปอย่างไรให้เห็นความยิ่งใหญ่ของรถทรงของทศกัณฐ์   สุนทรภู่ก็แต่งต่อให้ว่า

นทีตีฟองนองระลอก..................กระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน.....อานนท์หนุนดินดาลสะท้านสะเทือน
ทวยหางกัมปนาท......................สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน...............คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา

ยังสงสัยอยู่ว่า มีบันทึกไว้ตรงไหนว่า ตอนนี้เป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๒ ตอนนี้เป็นผลงานของสุนทรภู่   ???



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 15, 16:48
จำได้ว่ามีอยู่ในหนังสือสุนทรภู่ 200 ปี นะคะ  แต่ถ้าคุณเพ็ญหมายถึงว่าเป็นข้อมูลขั้นปฐมภูมิ  มีพิสูจน์กันชัดเจน อันนี้ไม่เคยค้นถึงขนาดนั้น


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 ก.ย. 15, 19:17
หายไปพักใหญ่ๆ กลับมาพบสมาชิกประจำหลายๆท่านมาร่วมวงสนทนาด้วย ดีจังครับ


เอาเรื่องตามกระทู้นี้ก่อนนะครับ

1. ถ้าเราเห็นตรงกันว่า ข้อความบอกชื่อผู้แต่งใน นันโทปนันทสูตรคำหลวง และ พระมาลัยคำหลวง
    เป็นข้อความที่แต่งแทรกขึ้นมาภายหลัง เราต้องลบข้อความที่แต่งแทรกออกไปก่อนใช่ไหมครับ (เพราะเป็นข้อความอันเป็นเท็จ)

2. ถ้าลบข้อความที่แต่งแทรกออกไปแล้ว ทางค่ายโน้น มีหลักฐานยืนยันที่น่าเชื่อถือไหมครับว่่า เจ้าฟ้ากุ้งแต่ง นันโทปนันทสูตรคำหลวง และ พระมาลัยคำหลวง



คำถามคุณชาวโคราช ทำเอางงๆ   เห็นจะต้องวานคุณศรีสรรเพชญ์มาตอบ ว่ามีบอกไว้ในพงศาวดารหรือหลักฐานที่ไหนอีก เพราะรายนี้ดูจะอ่านพงศาวดารเยอะพอควร
ส่วนตัวดิฉัน  ในเมื่อวรรณคดีเรื่องไหนมีระบุเอาไว้ชัดเจนว่าใครแต่ง   ก็ถือว่าเรื่องนี้มีเจ้าของบอกชื่อแซ่ไว้เรียบร้อยแล้ว  เป็นอันรู้กันว่าเรื่องนี้ท่านผู้นี้แต่ง
ถ้าหากว่าไปค้นเจอว่าข้อความที่ว่านั้นมีมือดีดอดมาบวกเพิ่มเข้าไปทีหลัง  ตามหลักฐานในหอสมุดแห่งชาติ  หรือเป็นฉบับเชลยศักดิ์เจ้าไหนก็ตาม มองเห็นชัดเจนว่าบวกเพิ่มเข้าไปแน่ๆ  ก็ค่อยมาว่ากันใหม่

สมองยังคิดไม่ไกลถึงขั้นที่ว่า ต่อให้ระบุชื่อคนแต่งไว้ชัดเจนแล้วก็ยังสงสัยว่าไม่ได้แต่ง    ถ้าจะให้เชื่อว่าแต่งต้องไปเอาหลักฐานที่อื่นมายืนยัน
ตอนนี้พอมีคุณชาวโคราชมาสะกิด  เลยชักอยากรู้ขึ้นมาอีกละค่ะว่ามีไหม

กลับมาที่เรื่องของเจ้าฟ้ากุ้งนะครับ

อย่างที่เคยตอบไปว่าเป็นไปได้ที่ข้อความตอนท้ายอาจจะเป็นการเขียนภายหลังการประพันธ์ ซึ่งอาจจะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ได้ซึ่งข้อความตรงนี้ ก็เหมือนกับที่คุณ CrazyHorse กล่าวไว้ในความเห็นที่ 83 คือผมก็ไม่ได้มีหลักฐานอะไรพิสูจน์ได้เพราะผมเองก็ไม่ได้อยู่ร่วมสมัย แต่ก็เห็นว่าไม่มีหลักฐานอะไรที่จะชี้ชัดว่าไม่ใช่พระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้งเช่นเดียวกันครับ แต่ผมคงจะไม่กล้าสรุปว่าข้อความตอนท้ายของพระมาลัยคำหลวงนันโทปนันสูตรคำหลวง(ในความเห็นที่ 47) "เป็นข้อความอันเป็นเท็จ" เพราะเพียงว่าข้อความเหล่านั้นถูกเพิ่มมาภายหลัง ตามความเห็นส่วนตัวคิดว่าดูเป็นการสรุปชี้ชัดเกินไปโดยที่ยังไม่มีหลักฐานหรือแนวโน้มชัดเจนที่ชวนให้เชื่อว่าข้อความเหล่านี้เป็น 'เท็จ'  และดูจะมี bias เกินไปหน่อยครับ

ถ้าเอาเรื่องลบข้อความที่ระบุชื่อผู้แต่งออกไปเป็นเกณฑ์ เช่นเดียวกับบทประพันธ์อื่นๆ อย่างเช่นทวาทศมาส นิราศนรินทร์ รวมบทประพันธ์ทั้งหลายแม้แต่หนังสือธรรมดาที่ระบุชื่อผู้แต่ง ก็คงแทบไม่มีเอกสารใดในโลกที่จะเชื่อได้เลยครับว่า คนๆนั้นเป็นคนแต่งเองครับ

เรื่องที่ อ.เทาชมพูวานให้หา ในขณะนี้ผมเองยังไม่พบในหลักฐานอื่นๆว่ามีการระบุว่าได้เพิ่มไปภายหลังครับ

ส่วนพล็อตนิยายใน ความเห็นที่ 92 เห็นตรงตามที่ อ.เทาชมพูได้ตอบไว้แล้วครับ โอกาสที่ชนชั้นใต้ปกครองซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอยุทธยาซึ่งส่วนมากไม่สามารถอ่านออกเขียนได้จะเข้าถึงงานวรรณกรรมชั้นสูงนั้นมีต่ำมาก ส่วนมากก็จำกัดอยู๋ในแวดวงของระดับเจ้าศักดิน่เท่านั้นครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 ก.ย. 15, 19:20
ขอ copy บางความเห็นของผมกลับไปแปะที่กระทู้เก่าเรื่อง 'การสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้ากุ้ง' นะครับ เพราะเนื้อหาเข้ากับกระทู้นั้นมากกว่า


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 ก.ย. 15, 20:13
ดูตัวอย่างโคลงนิราศกำศรวลสมุทรที่ระบุว่าเป็นศรีปราชญ์แต่ง แต่เนื้อความไม่สอดคล้องกับเรื่องของศรีปราชญ์ ภาษาที่ใช้ไม่สอดคล้องกับสมัยพระนารายณ์ ภูมิประเทศที่กวีผ่านบ่งชี้ว่าไม่ใหม่ไปกว่ายุคพระไชยราชาฯ เห็นชัดว่าสิ่งที่คนต้นรัตนโกสินทร์รับรู้นั้นผิดอย่างจะแจ้ง

โคลงขึ้นต้นบทของนิราศกำสรวลสมุทร เขียนไว้ว่า

กำสรวลศรีปราชญ์ร้าง                แรมสมร
เสาะแต่ปางนคร                      ล่มแล้ว
ไป่พบไป่พานกลอน                  โคลงท่าน จบแฮ
จวบแต่ต้นปลายแคล้ว                หนึ่งน้อยยืมถวาย


ก็ไม่ได้หมายความว่า โคลงนี้เป็นผลงานของศรีปราชญ์ นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า ศรีปราชญ์ไม่มีตัวตนจริงเสียด้วยซ้ำ (http://www.sujitwongthes.com/2012/08/weekly03082555/)

จริงๆ ถ้าดูจากที่ปรากฏก็ไม่จำเป็นว่าคนแต่งต้องมีชื่อว่าศรีปราชญ์ จากเนื้อหาอาจจะแปลว่าผู้แต่งนั้นเป็น 'ปราชญ์' ก็เป็นได้ครับ 

ที่เข้าใจว่าเป็นศรีปราชญ์ คงเพราะเอาไปโยงกับ 'ศรีปราชญ์' ในเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัด(ซึ่งระบุว่าอยู่ในสมัยพระเจ้าเสือ)ซึ่งเนื้อหาไม่น่าเชื่อถือนักเพราะหลายตอนแตกต่างจากหลักฐานร่วมสมัยเหมือนเรื่องเล่าต่อๆกันมากกว่า กับตำนานศรีปราชญ์ซึ่งเรียบเรียงโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา

อันที่จริงก็ระบุชื่อเอกสารแล้วว่าเป็น 'ตำนาน' แต่คนสมัยหลังก็เชื่อว่าเป็น 'ประวัติศาสตร์' เสียเป็นส่วนใหญ่ครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 15, 20:34
อ้างถึง
โคลงขึ้นต้นบทของนิราศกำสรวลสมุทร เขียนไว้ว่า

กำสรวลศรีปราชญ์ร้าง                แรมสมร
เสาะแต่ปางนคร                      ล่มแล้ว
ไป่พบไป่พานกลอน                  โคลงท่าน จบแฮ
จวบแต่ต้นปลายแคล้ว                หนึ่งน้อยยืมถวาย

คนที่เขียนโคลงบทนี้ มาแต่งต่อเติมในชั้นหลัง  ทำนองเป็นคำนำ หรือคำออกตัวถึงหนังสือเล่มนี้   ดูจากภาษาและศัพท์ที่ใช้ ดิฉันคิดว่าแต่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์   อย่างช้าไม่เกินรัชกาลที่ 5
เนื้อความ เป็นการออกตัวหรืออธิบายว่า เรื่องที่ผู้เขียนโคลงบทนี้ตั้งชื่อให้ว่า "กำสรวลศรีปราชญ์" เป็นงานที่ไปเสาะหามาจากสมัยอยุธยา   แต่ชิ้นที่หาได้ไม่ครบถึงจบเรื่อง   มีแต่ตอนต้นแต่ตอนปลายขาดหายไป "
คนที่แต่งโคลงบทนี้น่าจะเป็นผู้รวบรวมวรรณคดีเก่าๆสมัยอยุธยา   เป็นคนเจอเรื่องนี้เข้า

คำประพันธ์ที่แต่งในกำศรวล เป็นโคลงดั้น ซึ่งนิยมกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์    อยุธยาตอนปลายเรื่อยมาจนต้นรัตนโกสินทร์ นิยมโคลงสี่สุภาพที่มีสัมผัสคล้องจองมากกว่า จึงฟังสละสลวยรื่นหูกว่าโคลงดั้นที่ดูห้วนและแข็ง

ในกำสรวลสมุทร  กวีเรียกตัวเองว่า "ศรี"  ในความหมายว่า I   จะเป็นชื่อตัว หรือคำเรียกขาน ไม่แน่ใจเหมือนกัน    แต่มาถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี่ละค่ะ ที่เรียกท่านว่า ศรีปราชญ์


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 01 ก.ย. 15, 21:26
ตอบค.ห. 92

นิยายเรื่องนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสมัยปลายอยุธยาค่ะ เพราะบริบทไม่อำนวย

ความฝันที่จะเป็นนักเขียนพังทลาย  :( :( :( เห็นทีต้องเป็นครูน้อยต่อไป


วรรณคดีทั้งหลายถ้าจะให้ชาวบ้านชาวเมืองรับรู้ ต้องเป็นวรรณคดีที่ต้องเปล่งเสียง เช่นเอาไว้อ่านเอาไว้เทศน์  อย่างมหาชาติคำหลวงหรือกาพย์มหาชาติ    ชาวบ้านจึงจะรู้เรื่องกะเขาได้     ถ้าเขียนอย่างเดียว  จบสนิท  หาคนอ่านนอกวัดไม่ได้
อีกอย่างสมัยนั้นไม่มีการพิมพ์   การพิมพ์เพิ่งจะแว่วเข้าหูชาวไทยในสมัยรัชกาลที่ 3     กวีเขียน อาลักษณ์ลอกลงสมุดไทย ทีละแผ่นทีละเล่ม เสร็จแล้วเก็บเข้าหอสมุด     ถ้าจะเอาไว้ขับอย่างกาพย์เห่เรือหรือเสภา ก็ได้ยินกันเฉพาะชาววัง  กับข้าราชการที่เข้าเฝ้า   ใครอยากจะอ่านก็อ่านไม่ได้ถ้าไม่ได้อยู่ในแวดวง เพราะระบบเดินเข้าไปขอยืมสมุดข่อยมาอ่านยังไม่เกิดในสมัยนั้น    นายกุหลาบริอ่านทำก็ล่วงเข้าไปถึงรัชกาลที่ 5 แล้ว  มิหนำซ้ำยังต้องใช้อุบายกว่าจะขอยืมมาให้เสมียนคัดได้
ด้วยเหตุเหล่านี้การระบุชื่อผู้แต่งจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น  จะบอกก็ได้ ไม่บอกก็ไม่แปลก  เนื่องจากแวดวงผู้เสพมีอยู่แคบมาก  แคบยิ่งกว่าชั้นเรียนที่คุณคนโคราชสอนซะอีก    ใครแต่งเรื่องอะไรก็รู้กันหมด   ไม่มีใครคิดเผื่อว่าอีก 400 ปีต่อมา ยังมีคนอ่านอยู่ แล้วพยายามหากันให้ควั่ก ว่ากวีเป็นใคร

ความคิดว่า ฉันไม่ได้แต่งแต่ขอเบ่งว่าแต่ง  จึงไม่มี  เพราะความลับไม่มีในราชสำนัก   ขนาดเป็นชู้กันซึ่งเป็นเรื่องลอบเร้นนักหนายังหลุดรั่วได้         เรื่องใช้คนอื่นแต่งแทนตัว จึงไม่รู้จะทำไปทำไม   ยังไงมันก็ปิดไม่ได้อยู่ดี

ตรงนี้น่าจะแต่งไว้ให้เตะตาคนที่ได้อ่านรู้ว่าใครแต่งนะครับ มากกว่าให้คนเปล่งเสียงทำนองเสนาะเพื่อให้คนฟังทั่วไปได้รับทราบ
        
         เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช กุมาร
         ธรรม์ ธำรงกลอนการ ยั่วแย้ม
         ธิเบศร์ วราสถาน ไชยเชษฐ
         สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม แต่งไว้วานสงวน ฯ
         เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ สมพาร
         กรมขุน หลวงพญากราน กราบเกล้า
         เสนา นราบาน ใจชื่น ชมนา
         พิทักษ์ รักษาเช้า ค่ำด้วยใจเกษม ฯ
         จบ จนจอมโลกย์เจ้า คืนวัง
         บ พิตรสถิตบัลลังก์ เลิศหล้า
         ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง ชนโลก อ่านนา
         บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ


แม้แต่สมัยรัตนโกสินทร์ การประชุมกวีแต่งหนังสือกันหน้าพระที่นั่งก็ทำกันอย่างเปิดเผย    ไม่ได้แอบๆกระมิดกระเมี้ยนทำ   คนสมัยนั้นเขาก็รู้กันว่ารามเกียรติ์  อิเหนา สังข์ทอง ฯลฯ  พระเจ้าแผ่นดินทรงชุมนุมกวีแต่งกันทั้งนั้น  ตอนนี้ท่านแต่ง ตอนนั้นพระเจ้าลูกยาเธอแต่ง  ตอนโน้นกวีท่านนั้นแต่ง  ต่อเชื่อมกันจนจบเรื่อง
ไม่งั้นจะมีเรื่องอยู่ในประวัติสุนทรภู่ได้ไงล่ะคะ ว่าต้องโทษแล้วพ้นโทษเพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงแต่งชมรถทศกัณฐ์แล้วติดขัด ต้องให้สุนทรภู่แต่งถวายจนจบตอน    
เรื่องเล่านี้กรุณาอย่าค้านว่าไม่จริงอีกเรื่องนะ    เดี๋ยวสุนทรภู่ของข้าพเจ้าจะหายไปอีกคน

สุนทรภู่ ของจริงครับ   จารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 1 ของจริงครับ   :)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 01 ก.ย. 15, 22:05

อย่างที่เคยตอบไปว่าเป็นไปได้ที่ข้อความตอนท้ายอาจจะเป็นการเขียนภายหลังการประพันธ์ ซึ่งอาจจะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ได้ซึ่งข้อความตรงนี้ ก็เหมือนกับที่คุณ CrazyHorse กล่าวไว้ในความเห็นที่ 83 คือผมก็ไม่ได้มีหลักฐานอะไรพิสูจน์ได้เพราะผมเองก็ไม่ได้อยู่ร่วมสมัย แต่ก็เห็นว่าไม่มีหลักฐานอะไรที่จะชี้ชัดว่าไม่ใช่พระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้งเช่นเดียวกันครับ แต่ผมคงจะไม่กล้าสรุปว่าข้อความตอนท้ายของพระมาลัยคำหลวงนันโทปนันสูตรคำหลวง(ในความเห็นที่ 47) "เป็นข้อความอันเป็นเท็จ" เพราะเพียงว่าข้อความเหล่านั้นถูกเพิ่มมาภายหลัง ตามความเห็นส่วนตัวคิดว่าดูเป็นการสรุปชี้ชัดเกินไปโดยที่ยังไม่มีหลักฐานหรือแนวโน้มชัดเจนที่ชวนให้เชื่อว่าข้อความเหล่านี้เป็น 'เท็จ'  และดูจะมี bias เกินไปหน่อยครับ



    
     อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล ในเมื่อกาลบรรพัธ ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์
     เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์
     เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า

อ้าว ตกลงท่อนที่แต่งแทรกนี้ มันไม่ได้แปลว่าเป็นวังหน้าอยู่แล้วถึงไปบวช แล้วสึกออกมาเป็นวังหน้าเหมือนเดิม หรือครับ



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 ก.ย. 15, 22:23

อย่างที่เคยตอบไปว่าเป็นไปได้ที่ข้อความตอนท้ายอาจจะเป็นการเขียนภายหลังการประพันธ์ ซึ่งอาจจะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ได้ซึ่งข้อความตรงนี้ ก็เหมือนกับที่คุณ CrazyHorse กล่าวไว้ในความเห็นที่ 83 คือผมก็ไม่ได้มีหลักฐานอะไรพิสูจน์ได้เพราะผมเองก็ไม่ได้อยู่ร่วมสมัย แต่ก็เห็นว่าไม่มีหลักฐานอะไรที่จะชี้ชัดว่าไม่ใช่พระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้งเช่นเดียวกันครับ แต่ผมคงจะไม่กล้าสรุปว่าข้อความตอนท้ายของพระมาลัยคำหลวงนันโทปนันสูตรคำหลวง(ในความเห็นที่ 47) "เป็นข้อความอันเป็นเท็จ" เพราะเพียงว่าข้อความเหล่านั้นถูกเพิ่มมาภายหลัง ตามความเห็นส่วนตัวคิดว่าดูเป็นการสรุปชี้ชัดเกินไปโดยที่ยังไม่มีหลักฐานหรือแนวโน้มชัดเจนที่ชวนให้เชื่อว่าข้อความเหล่านี้เป็น 'เท็จ'  และดูจะมี bias เกินไปหน่อยครับ



  
  
     อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล ในเมื่อกาลบรรพัธ ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์
     เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์
     เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า

อ้าว ตกลงท่อนที่แต่งแทรกนี้ มันไม่ได้แปลว่าเป็นวังหน้าอยู่แล้วถึงไปบวชหรือครับ



ตอนแรกผมนึกว่าข้อความที่พูดถึงหมายถึงที่ผมเอามาลงใน คห.47 เลยเข้าใจผิดไปนิดหน่อยครับ

แต่ถ้าเป็นข้อความนี้ผมก็เคยกล่าวไปแล้วใน คห.47 ว่าน่าจะเป็นข้อความที่เพิ่มภายหลัง โดยนันโทปนันทสูตรคำหลวงมีแนวโน้มว่ามีการคัดลอกมาลงสมุดไทยเพื่อทูลเกล้าถวายเจ้านายในภายหลัง ดูจากการแทนตัวของผู้ชุบบาฬีและผู้ชุบเนื้อความว่า 'ข้าพระพุทธเจ้า' และการเขียนด้วยอักษรไทยย่อที่นิยมใช้กันในสมัยอยุทธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าอาจจะจารลงสมุดไทยเล่มใหม่เพื่อถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเมื่อทรงได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ซึ่งในตอนนั้นอาจจะมีการแต่งเพิ่มเติมไปด้วยตามความเหมาะสม

ซึ่งในกรณีนี้ถ้าจะตีความไปว่ามาเขียนบทที่ว่ามาเพิ่มเมื่อได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยอาจจะเพื่อประกาศว่าพระองค์ทรงพระนิพนธ์ก็อาจจะเป็นไปได้เช่นเดียวกันครับ ข้อความนั้นก็แค่บอกว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรผู้แต่งทรงเป็นวังหน้า ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่าพระองค์ต้องเขียนบทที่ว่ามานี่ตอนยังผนวชอยู่ และไม่ใช่ว่าไม่สามารถมาเขียนข้อความเพิ่มในภายหลังได้เช่นกันครับ

ข้อความท้ายบทประพันธ์อาจจะมีวันเวลาไม่สอดคล้องกับวันเวลาแต่ง แต่ผมว่ายังไม่ควรที่จะถือว่าเนื้อหานั้นเป็นเท็จ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 02 ก.ย. 15, 22:13
ตอนแรกผมนึกว่าข้อความที่พูดถึงหมายถึงที่ผมเอามาลงใน คห.47 เลยเข้าใจผิดไปนิดหน่อยครับ

แต่ถ้าเป็นข้อความนี้ผมก็เคยกล่าวไปแล้วใน คห.47 ว่าน่าจะเป็นข้อความที่เพิ่มภายหลัง โดยนันโทปนันทสูตรคำหลวงมีแนวโน้มว่ามีการคัดลอกมาลงสมุดไทยเพื่อทูลเกล้าถวายเจ้านายในภายหลัง ดูจากการแทนตัวของผู้ชุบบาฬีและผู้ชุบเนื้อความว่า 'ข้าพระพุทธเจ้า' และการเขียนด้วยอักษรไทยย่อที่นิยมใช้กันในสมัยอยุทธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าอาจจะจารลงสมุดไทยเล่มใหม่เพื่อถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเมื่อทรงได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ซึ่งในตอนนั้นอาจจะมีการแต่งเพิ่มเติมไปด้วยตามความเหมาะสม

ซึ่งในกรณีนี้ถ้าจะตีความไปว่ามาเขียนบทที่ว่ามาเพิ่มเมื่อได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยอาจจะเพื่อประกาศว่าพระองค์ทรงพระนิพนธ์ก็อาจจะเป็นไปได้เช่นเดียวกันครับ ข้อความนั้นก็แค่บอกว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรผู้แต่งทรงเป็นวังหน้า ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่าพระองค์ต้องเขียนบทที่ว่ามานี่ตอนยังผนวชอยู่ และไม่ใช่ว่าไม่สามารถมาเขียนข้อความเพิ่มในภายหลังได้เช่นกันครับ

ข้อความท้ายบทประพันธ์อาจจะมีวันเวลาไม่สอดคล้องกับวันเวลาแต่ง แต่ผมว่ายังไม่ควรที่จะถือว่าเนื้อหานั้นเป็นเท็จ

ตรงนี้แหละครับที่เราคิดต่างกัน
จะลงความเห็นว่าตัดสินว่าอะไรจริงอะไรเท็จในเรื่องอย่างนี้ โต้เถียงกันได้ไม่จบหรอกครับ
ถ้ายอมรับว่าข้อความมีการเขียนแทรกชัดแจนแล้วยังยืนยันว่า เป็นหลักฐานที่ควรเชื่อไว้ก่อน หรือไม่ควรที่จะถือว่าเนื้อหานั้นเป็นเท็จแล้วไม่ยอมตัดออก
มันก็คงยากที่จะมองในแง่อื่น ก็สุดแท้แล้วแต่ใครจะพิจารณาเอาเองแล้วละครับ

คิดว่าผู้ติดตามอ่านมาคงมีคำตอบด้วยตนเองแล้วละครับว่า เจ้าฟ้ากุ้งท่านทรงแต่งผลงานที่ยกตัวอย่างมาด้วยตนเองหรือไม่  ;D 8)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 15, 07:54
เนื้อๆทั้งนั้น กำไรของคนอ่านแท้ๆ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 ก.ย. 15, 11:55
นั่งบนภูดูยอดฝีมือประลองยุทธ์กัน  8) 8) 8)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ย. 15, 12:33
อ่านจากความตรงนี้ สรุปได้อย่างเดียวว่าผู้นิพนธ์ประกาศตนเป็นพระ ฉายาสิริปาโล ก่อนบวชทรงเป็นวังหน้า แปลอย่างอื่นไม่ได้

มีความส่วนต่อจากนี้ให้อ่านหรือเปล่าครับ เผื่อว่าจะดูออกว่าตรงไหนเป็นส่วนที่แต่งแทรกเข้าไปภายหลัง


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 03 ก.ย. 15, 17:19
อ่านจากความตรงนี้ สรุปได้อย่างเดียวว่าผู้นิพนธ์ประกาศตนเป็นพระ ฉายาสิริปาโล ก่อนบวชทรงเป็นวังหน้า แปลอย่างอื่นไม่ได้

มีความส่วนต่อจากนี้ให้อ่านหรือเปล่าครับ เผื่อว่าจะดูออกว่าตรงไหนเป็นส่วนที่แต่งแทรกเข้าไปภายหลัง

จากข้อความ 'ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์' พิจารณาจากคำว่า 'นิวัติ' ที่แปลว่า 'กลับ' จากข้อความนี้น่าจึงหมายความว่า สิริปาโลได้สละเพศบรรพชิต 'กลับ' ไปครองเพศกษัตริย์มากกว่าครับ ข้อความตามหลังจึงไม่น่าใช่ข้อความที่เล่าถึงประวัติก่อนทรงพระผนวช ส่วนที่ว่า 'เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า' ดูจากรูปประโยคแล้ว ในที่นี้น่าจะหมายถึงทรงได้เป็นวังหน้าหลังผนวชมากกว่าครับ

ซึ่งแน่นอนว่าข้อความนี้ไม่ได้แต่งตอนที่ทรงพระนิพนธ์นันโทปนันทสูตร เพราะท้ายนันโทปนันทสูตรคำหลวงระบุว่าทรงแต่งเสร็จในวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘(หลัง) พ.ศ.๒๒๗๙ แต่พระองค์ได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลใน พ.ศ.๒๒๘๔ ดังนั้นข้อความนี้น่าจะเป็นการแต่งแทรกหลังเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงเป็นวังหน้ามากกว่าเป็นที่จะทรงเป็นวังหน้าก่อนผนวชครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ย. 15, 18:20
ลองอ่านใหม่ ปัญหาอยู่ที่การแบ่งวรรคตอนครับ

1. อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล // ในเมื่อกาลบรรพัธ ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์ เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า

2. อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล ในเมื่อกาลบรรพัธ // ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์ เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า

อ่านอย่างที่ 1 (ปัจจุบัน)เป็นพระสงฆ์นามสิริปาโล ในอดีตเมื่อกลับเป็นเพศกษัตริย์ (จากสมณเพศ?) เป็นวังหน้า
อ่านอย่างที่ 2 (ในอดีต)เป็นพระสงฆ์นามสิริปาโล เมื่อกลับเป็นกษัตริย์จึงเป็นวังหน้า

ซึ่งดูเหมือนว่าอ่านอย่างที่ 2 จะเข้าเค้ากว่าครับ เป็นไปได้สูงว่าจะแต่งเสริมเข้าไปภายหลัง


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 15, 09:31
ลองอ่านใหม่ ปัญหาอยู่ที่การแบ่งวรรคตอนครับ

1. อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล // ในเมื่อกาลบรรพัธ ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์ เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า

2. อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล ในเมื่อกาลบรรพัธ // ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์ เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า

อ่านอย่างที่ 1 (ปัจจุบัน)เป็นพระสงฆ์นามสิริปาโล ในอดีตเมื่อกลับเป็นเพศกษัตริย์ (จากสมณเพศ?) เป็นวังหน้า
อ่านอย่างที่ 2 (ในอดีต)เป็นพระสงฆ์นามสิริปาโล เมื่อกลับเป็นกษัตริย์จึงเป็นวังหน้า

ซึ่งดูเหมือนว่าอ่านอย่างที่ 2 จะเข้าเค้ากว่าครับ เป็นไปได้สูงว่าจะแต่งเสริมเข้าไปภายหลัง

อ่านคนละอย่างกับคุณม้าค่ะ
1. อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล // ในเมื่อกาลบรรพัธ ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์ เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า

ดิฉันแปลว่า อันว่าข้า มหาสิริบาล ในกาลก่อนเมื่อพ้นจากวัง ที่อยู่ในฐานะเจ้านาย   ทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์  ดำรงตำแหน่งวังหน้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล

ถ้าหากว่าเราเชื่อเรื่องการบวชหนีราชภัยเพราะไปฟันจีวรเจ้าฟ้านเรนทร์ขาด พระมารดาแนะให้หนีเข้าวัดไป   ตอนนั้นเจ้าฟ้ากุ้งต้องได้เป็นวังหน้าแล้ว    ในฐานะผู้ใกล้ชิดราชบัลลังก์รองลงมาจากพระเจ้าบรมโกศ   ท่านก็ต้องระแวดระวังตำแหน่งตัวเองไว้ก่อน ไม่ให้หลานคนโปรดของพ่อมาวอแวใกล้ชิดพ่อ จนพ่ออาจจะยกมรดกให้หลานคนนี้ไปก็ได้

มองในแง่ที่ว่า เจ้าฟ้ากุ้งทำสิ่งที่พระราชบิดาไม่โปรดมาแต่แรก   เมื่อสึกแล้ว คงยากที่จะได้ตำแหน่งกรมพระราชวังบวร  เป็นความดีความชอบ
ตำแหน่งนี้ต้องมีมาก่อนจะบวช จึงสมเหตุสมผลกว่า


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 04 ก.ย. 15, 11:45

มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ครับ

วารสารศิลปศาสตร์ (Journal of Liberal Arts) Vol 11, No 2 (2011)

จ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงนิพนธ์เรื่องพระมาลัยคำหลวงก่อนเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวง
ประคอง เจริญจิตรกรรม

Abstract

บทความเรื่องนี้เป็นการศึกษาวิเคราะห์ใหม่เกี่ยวกับเวลาการแต่งวรรณคดีเรื่องพระมาลัยคำหลวง และเรื่องนันโทปนันทสูตร คำหลวง โดยศึกษาจาก พระราชประวัติ แนวคิด ตัวบทพระนิพนธ์ ตลอดจนพระราชพงศาวดาร ผลของการศึกษาพบว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงนิพนธ์เรื่อง พระมาลัยคำหลวง ก่อนเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวง ซึ่งแตกต่างจากผลการศึกษาเดิม

This  article  re-analyses the periods of  the composition of “Malai Khamluaung” and  “Nanthopanantha Sutra Khamlaung” As tools  of this  analysis, the  study uses biographical information on composer Chaofa  Thammathibed,  study of the themes  and  content of his  work, and study of his royal antecedents. The results  show  that Chaofa Thammathibed composed “Malai Khamlaung” before “Nanthopanantha Sutra  Khamlaung”. This  conclusion contradicts that of previous  work on  the topic.

download pdf ฉบับเต็มได้ที่
http://www.tci-thaijo.org/index.php/liberalarts/article/view/11916 (http://www.tci-thaijo.org/index.php/liberalarts/article/view/11916)



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 04 ก.ย. 15, 13:22

จากงานวิจัยของคุณประคองครับ

ผู้เขียนสรุปว่า แต่งนันโทปนันทสูตรหลังปี พ.ศ. 2284 หลังแต่งพระมาลัยคำหลวงในปี พ.ศ. 2280
แต่งานวิจัยนี้ยังมีข้อขัดข้องหลายประการ เช่น ผู้เขียนไม่ได้วิเคราะห์ว่าทำไมในพระมาลัยคำหลวงถึงมีการระบุว่าวังหน้าแต่ง


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 05 ก.ย. 15, 08:28
ลองอ่านใหม่ ปัญหาอยู่ที่การแบ่งวรรคตอนครับ

1. อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล // ในเมื่อกาลบรรพัธ ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์ เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า

2. อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล ในเมื่อกาลบรรพัธ // ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์ เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า

อ่านอย่างที่ 1 (ปัจจุบัน)เป็นพระสงฆ์นามสิริปาโล ในอดีตเมื่อกลับเป็นเพศกษัตริย์ (จากสมณเพศ?) เป็นวังหน้า
อ่านอย่างที่ 2 (ในอดีต)เป็นพระสงฆ์นามสิริปาโล เมื่อกลับเป็นกษัตริย์จึงเป็นวังหน้า

ซึ่งดูเหมือนว่าอ่านอย่างที่ 2 จะเข้าเค้ากว่าครับ เป็นไปได้สูงว่าจะแต่งเสริมเข้าไปภายหลัง

อ่านคนละอย่างกับคุณม้าค่ะ
1. อหํ อันว่าข้า สิริปาโล นามผู้ชื่อ มหาสิริบาล // ในเมื่อกาลบรรพัธ ครั้งนิวัตินิเวศน์เป็นกษัตริย์เพศวรำ ธมฺม ธิเปสสฺ ชยเชฎฐ สริย วํส นามก็ชื่อ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชฎฐ สุริยวงษ์ เสวยรัชชงศฤงคาร วังบวรสถานมงคล คำกลเป็นฝ่ายหน้า

ดิฉันแปลว่า อันว่าข้า มหาสิริบาล ในกาลก่อนเมื่อพ้นจากวัง ที่อยู่ในฐานะเจ้านาย   ทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์  ดำรงตำแหน่งวังหน้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล

ถ้าหากว่าเราเชื่อเรื่องการบวชหนีราชภัยเพราะไปฟันจีวรเจ้าฟ้านเรนทร์ขาด พระมารดาแนะให้หนีเข้าวัดไป   ตอนนั้นเจ้าฟ้ากุ้งต้องได้เป็นวังหน้าแล้ว    ในฐานะผู้ใกล้ชิดราชบัลลังก์รองลงมาจากพระเจ้าบรมโกศ   ท่านก็ต้องระแวดระวังตำแหน่งตัวเองไว้ก่อน ไม่ให้หลานคนโปรดของพ่อมาวอแวใกล้ชิดพ่อ จนพ่ออาจจะยกมรดกให้หลานคนนี้ไปก็ได้

มองในแง่ที่ว่า เจ้าฟ้ากุ้งทำสิ่งที่พระราชบิดาไม่โปรดมาแต่แรก   เมื่อสึกแล้ว คงยากที่จะได้ตำแหน่งกรมพระราชวังบวร  เป็นความดีความชอบ
ตำแหน่งนี้ต้องมีมาก่อนจะบวช จึงสมเหตุสมผลกว่า

ผมอ่านตามแบบที่ 2 ของคุณ CrazyHOrse กับคุณประคองครับ แบบที่ 1 ฟังดูแปลกๆ ก็ตรงคำว่า นิวัติ แหละครับ

เรื่องตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ผมคิดว่าไม่น่าได้มาก่อนผนวชหนีราชภัยเพราะจะไม่สัมพันธ์กับระยะเวลาที่ได้เป็นวังหน้าตามหลักฐานอื่นครับ ส่วนเรื่องที่ว่าไม่น่าจะได้เป็นหลังผนวชเพราะทำความผิดมาก่อน อิงตามพระราชพงศาวดารเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรก็ใช่ว่าจะได้เป็รนวังหน้าหลังเพิ่งพ้นโทษหมาดๆครับ แต่ได้มาเมื่อ พ.ศ.๒๒๘๔ ๔ ปีหลังจากที่ทรงพ้นโทษแล้ว ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นไปได้ที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะทรงคลายพระพิโรธไปแล้ว นอกจากนี้ก็ยังทรงรังสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญ ๒ เรื่องอย่างนันโทปนันทสูตรคำหลวงกับพระมาลัยคำหลวงไว้อีกด้วย(ถ้าจะเชื่อตามข้อสันนิษฐานของคุณประคองว่ามีเนื้อหาโดยนัยคือแต่งเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ก็อาจจะมีน้ำหนักมากขึ้น)

พิจารณาจากพระราชพงดาวดาร ตำแหน่งวังหน้าของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรต่างกับวังหน้าองค์อื่นๆสมัยปลายอยุทธยา ซึ่งส่วนมากแล้วมักจะสถาปนาตั้งแต่พระมหากษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์ และน่าจะเป็นพระวินิจฉัยส่วนพระองค์เอง แต่สำหรับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่เป็นโอรสองค์ใหญ่ ตอนต้นรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไม่ทรงแต่งตั้ง(อันนี้ไม่มีหลักฐานระบุเหตุผลที่มากพอจะสันนิษฐาน เคยอ่านเจอบางแห่งว่าพระเจ้าบรมโกศทรงอยากจะสละบัลลังก์ให้เจ้าฟ้านเรนทร์ด้วย แต่ยังไม่พบหลักฐานชัดครับ) หลังจากพ้นโทษก็ไม่ทรงตั้งทั้งนี้อาจจะเพราะทรงมีประวัติติดตัวมาก่อนเลยไม่ทรงวางพระทัย จนกระทั่งพระราชโกษา(เป็นทินนามของปลัดทูลฉลองกรมเครื่องต้น บางแห่งว่าชื่อปาน)บ้านวัดระฆัง(คงเพราะมีบ้านอยู่ใกล้วัดระฆังซึ่งเข้าใจว่าคือวัดวรโพธิ์ในปัจจุบัน)กราบทูลขอให้สถาปนาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลใน พ.ศ.๒๒๘๔ พระองค์จึงทรงเริ่มปรากฏท่าทีที่จะตั้ง ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศถ้าพระองค์มีพระประสงค์จะทรงแต่งตั้ง พระองค์ก็น่าจะทรงแต่งตั้งได้ด้วยพระองค์เองเพราะโดยศักดิ์แล้วเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรมีความเหมาะสมที่สุด แต่พระองค์ 'จึงดำรัสให้ปรึกษาอัครมหาเสนาทั้งปวง ครั้นพร้อมกันเห็นควรแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ดำรงฐานาศักดิ์อุปราชโดยประเพณี '

สันนิษฐานว่าการที่พระองค์ปรึกษาอัครมหาเสนาบดีทั้งหลายและต้องให้เสนาบดีมีส่วนร่วมในการตัดสินพระทัย เป็นไปได้ว่าพระองค์อาจจะยังไม่ทรงวางพระทัยในการตั้งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรมากนักซึ่งอาจจะเพราะมีประวัติอยู่ก่อน เลยต้องการหยั่งเสียงจากขุนนางด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมหลายๆอย่างและเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายแล้วจึงทรงยอมสถาปนาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลครับ

หลังจากนั้นในปีเดียวกันก็ปรากฏว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงได้รับมอบหมายงานสำคัญหลายๆอย่างเช่นการเป็นแม่กองบูรณะวัดพระศรีสรรเพชญ์กับพระที่นั่งวิหารสมเด็จมหาปราสาท(ข้อความตรงนี้ในพงศาวดารมีกล่าวถึงวิหารวัดพระมงคลบิตร กับวัดพระรามด้วย น่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของพระองค์เช่นเดียวกันครับ) ก็สันนิษฐานว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรในระยะหลังคงเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมากขึ้นครับ หรือมองในอีกแง่ก็อาจเป็นไปได้ว่าทรงมอบหมายงานเหล่านี้ให้เพื่อให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรได้พิสูจน์พระองค์เองก็เป็นได้ครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 05 ก.ย. 15, 09:45
ส่วนเรื่องงานวิจัยของคุณประคอง เจริญจิตรธรรม เรื่องปีที่แต่งนันโทปนันทสูตรคำหลวง ผมเห็นต่างในบางประเด็น เรื่องหนึ่งก็เรื่องที่ว่าไม่ได้กล่าวถึงข้อความที่ระบุว่าเป็นวังหน้าในพระมาลัยคำหลวงที่คุณ Koratian กล่าวไปแล้ว อีกเรื่องคือข้อความท้ายนันโทปนันทสูตรคำหลวงที่มีการระบุวันที่แต่งเสร็จในวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘(หลัง) พ.ศ.๒๒๗๙ โดยนายสัง นายสาเป็นผู้ชุบบาฬี และนายทองสุกเป็นผู้ชุบเนื้อความ โดยงานวิจัยได้กล่าวว่าข้อความนี้เป็นข้อความที่เพิ่มภายหลังโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ดังนั้นน่าจะมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องวันเวลา แต่งานวิจัยไม่ได้พิจารณาว่าได้มีการข้อความที่ว่ามาหลังจากการแต่งแค่ไหนครับ

ผมเห็นต่างในเรื่องนี้ โดยจากที่ผมได้ลองสันนิษฐาน(ซึ่งอาจจะไม่ได้ถูกต้องก็ได้ครับ)ไว้แล้วว่าสมุดไทยเล่มนี้น่าจะทำในสมัยอยุทธยา โดยพิจารณาจากการใช้อักษรไทยย่อซึ่งนิยมใช้ในสมัยอยุทธยาบันทึก(ซึ่งผู้วิจัยไม่ได้พิจารณาจุดนี้) ซึ่งรูปแบบอักษรเป็นแบบเดียวกับจารึกแม่อักษรขอมขุดปรอทที่มีข้อความว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงแต่งไว้เมื่อ พ.ศ.๒๒๙๐ การจารนันโทปนันทสูตรคำหลวงลงสมุดไทยเล่มนี้จึงน่าจะเป็นสมัยเดียวกันหรือช่วงเวลาไม่น่าจะห่างจากกันมากนัก และเท่าที่ผมทราบในสมัยธนบุรีกับรัตนโกสินทร์ไม่นิยมการใช้อักษรแบบนี้จารลงสมุดไทยหรือในเอกสารราชการแล้ว แต่นิยมใช้อักษรตัวรงมากกว่า(ถ้าตรงนี้ผมผิดพลาด รบกวนทักท้วงด้วยครับ)  เมื่อประมาณอายุไว้ว่าน่าจะทำในสมัยอยุทธยา การบันทึกเรื่องของวันเวลาน่าจะคลาดเคลื่อนได้ยาก เพราะน่าจะยังมีบุคคลที่อยู่ร่วมสมัยตอนแต่งอยู่จำนวนมาก     อีกทั้งการแทนตัวว่า 'ข้าพระพุทธเจ้า' ของนายสัง นายสา นายทองสุก จึงแสดงว่าสมุดไทยเล่มนี้น่าจะทำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเจ้านายระดับสูงในระดับพระมหากษัตริย์หรือเจ้าฟ้าสมัยอยุทธยา เรื่องของวันเวลาที่บันทึกจึงยิ่งไม่ควรจะผิดพลาดหรือแต่งเสริมครับ

ตรงนี้เลยทำให้ผมคิดว่าข้อความที่ระบุว่าพระองค์ได้เป็นวังหน้า น่าจะทรงแต่งเพิ่มในภายหลังที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรได้เป็นกรมพระราชวังบวรฯมากกว่าที่จะทรงแต่งนันโทปนันทสูตรคำหลวงหลังจากเป็นวังหน้าครับ

(http://www.digitalrarebook.com/images/catalog_images/1296743309.jpg)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 ก.ย. 15, 14:01
ขอบคุณครับ เห็นรูปแล้วถึงบางอ้อ ส่วนความหลักเป็นอักษรขอม ภาษาบาลี เสียงในฟิล์มล้วนๆ มิน่า หาในเน็ตไม่ได้เลย

ส่วนคำตาม เป็นไทยสลับบาลี แยกฟอนต์เรียบร้อย น่าสนใจมากครับ

เรื่องคำว่า นิวัติ ผมก็ติดคำนี้ครับ เพราะเข้าใจว่าแปลว่า "กลับ" ไม่ทราบว่าแปลอย่างอื่นได้หรือไม่

ผมเพิ่งจะนึกได้ ในเมื่อปางบรรพัธ ผมไปแปลว่าในอดีต แต่มาดูอีกทีน่าจะสะกดผิด หรือถอดมาผิด ควรเป็น ในเมื่อปางบรรพัช หมายความว่าชื่อสิริปาโลในตอนบวช อย่างนี้ก็ ซตพ ว่าเขียนส่วนนี้ในตอนที่เป็นวังหน้าแล้วแน่นอน แต่จะทั่งเรื่องหรือไม่นั้นไม่แน่นักครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 05 ก.ย. 15, 15:18
จากรูปตรงคำว่า เมื่อในกาลบรรพัช ไม่ชัดเท่าไหร่ แต่น่าจะเป็นอักษร ช ครับ  เทียบกับอักษรไทยย่อ ช ในคำว่า ไชยเชษฐสุริยวงษ ดูใกล้เคียงกันครับ

จากในรูปเทียบกันแล้ว ด้านอักษร ช จะดูเรียวโค้ง แต่อักษร ธ(จากคำว่า ธรรมธิเบศร) ฐานจะดูเหลี่ยมกว้างมากกว่าครับ ถ้าดูเผินๆก็ดูใกล้เคียงกัน อาจจะถอดความมาผิดก็เป็นได้ครับ

ซึ่งในงานวิจัยของคุณประคอง เจริญจิตรธรรมก็เขียนว่า บรรพัช เหมือนกันครับ ซึ่งก็น่าจะเป็นสาเหตุที่ผู้วิจัยได้ถอดความว่า "ผู้แต่งเมื่อครั้งบรรพชามีนามว่าสิริปาโล แต่เมื่อกลับสู่วงศ์กษัตริย์มีพระนาม เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ไชยเชษฐสุริยวงษ"  เป็นการระบุว่าทรงแต่งข้อความตอนนี้เมื่อเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้วครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 07 ก.ย. 15, 19:53

เพิ่มเติมเล็กน้อย
เรื่องการกระจายอำนาจการปกครอง ให้บรรดาเจ้าชาย พระราชโอรสต่างๆ ในตอนปลายสมัยพระบรมโกศ

ในบันทึกของ คณะทูตศรีลังกาที่มาเยือนอยุธยา ในปี พ.ศ. 2293 บอกว่า
second king (วังหน้า ?) กับ Uva Rajjuruvo (อุปราชเจ้า ?) บุคคลที่มีอำนาจรองจาก King เป็นคนละคนครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 15, 21:18
พ.ศ. 2293  อยู่ในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ
เจ้าฟ้ากุ้ง กับเจ้าฟ้าอุทุมพร?


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ย. 15, 11:37

ลองดู การบรรยายภาพกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2294 ผ่านสายตาของ คณะทูตลังกา ในเวลานั้นครับ

รายละเอียดเนื้อความมีน่าสนใจ ขออนุญาตลอกมาลง โดยไม่ตัดทอนข้อความจนเกินไป
ขออภัยท่านที่เคยได้อ่านเรื่องนี้ไปแล้วครับ

จะมีรายละเอียด เกี่ยวกับ King, his son, prince, Sub-king, Second king, Uva Rajja เป็นบุคคลที่ต่างกัน


จาก Achive.org

Religious Intercourse Between Ceylon and Siam in the eighteenth century
I. An account of King Kirti Sri’s Embassy to Siam in Saka 1672 (1750 A.D.)
Translated from the Sinahalese by BY P. E. PIERIS


หนังสือตีพิมพ์โดยหอพระสมุดวชิรญาณ ใน พ.ศ. 2451

    ...There King Kirti Sri Raja Sinha, the great reformer, had succeeded to the crown ; he applied himself vigorously to sweeping away all the abuses that had crept into the priesthood, ably and zealously supported by Saranankara Unranse and his Minister Ehelapola. His crowning work was the re-institution of the Upasampadawa in Lanka ; the romantic history of the embassy he sent to Siam to fetch the necessary priests will be shown in the following account, which, as appears from the internal evidence, must have been written either by Ellepola Mohottala or Eittaliyadde Rala, two out of the five Sinhalese ambasadors.


เมื่อพระเจ้ากีรติ ศรีราชสิงห์ ได้เสวยราชสมบัติศรีลังกา ได้ส่งคณะทูตมายังสยาม ออกเดินทางวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1750 โดยสารเรือของฮอลันดา ล่องข้ามอ่าวเบงกอล ผ่านอาเจะห์ สุมาตรา แวะพักที่มะละกา ในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1750

   Accordingly we started in the Saka year 1672 named Prabavadithmi, on the twelfth day of the solar month Kataka, being Thursday the fifth day of the lunar month, at dusk, from the noble city of Senkadagala called Siriwardhanapura, escorting the royal message and presents with all care. The following had been appointed to form the embassy, viz , Pattapola Mohottala, the Atapattu Lekama; Ellepola Mohottala; the Vedikka Lekama; Iriyagama Rala, the Yafinuwara Muhandiram of the Na ayaakka -a Lekama ; …
.. had been commanded to accompany us on board ship.

พบปัญหาในการเดินเรือ ไม่สามารถผ่ามรสุมในอ่าวไทยมาได้ ต้องกลับมาแวะพักที่มะละกาอีกในวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1750 ต้องหยุดพักที่มะละกา กว่าห้าเดือน

   After ten days the wind freshened somewhat, so we weighed anchor and tacked about for five days and nights, trying in vain to get on to our course. As we were drifting backward were too far to the south to reach Siam, the captain and officers held a consultation, and as they saw from their books that there was no hope of a favorable wind for the next six months, they agreed that it was necessary to stop on the way till then. After informing us of their decision they turned back, and on the afternoon on Friday, being fourteen days later, we approached the harbour of Malacca a second time and cast anchor. After some delay five officers came on board from the fort to interview us and took us on land with the Royal message and presents in boats. This was on the afternoon of Saturday the seventeenth day of the solar month Vrischika. We were received with great distinction and the same halting-place as before was assigned to us, and all our wants were supplied without stint. From this day we remained here five months and eleven days till the twenty- -eventh day of the solar month Mena, being Thursday the eleventh day of the lunar month in the Saka year 1673, On the morning of this day, at the twentieth hour, we were taken on board with many presents and a large supply of necessaries; a skilled pilot was also ordered to accompany us, and 500 nix-dollars were placed at our disposal.

วันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1751 เริ่มออกเรือจากมะละกาอีกครั้ง
ได้มาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1751 เรือได้เปลี่ยนธงจากฮอลันดา เป็นธงสิงห์ของลังกา

   From this day, being Friday, till Monday the fourteenth day of the solar month Vrasamla, which is the thirteenth day of the dark half of the lunar month, we sailed on without casting anchor or meeting of with any mischance. On the morning of this day at the eleventh hour we approached the harbour of Siam, and seeing a ship which was recognized from her appearance as the Hollander's ship “Karta”, the captain and officers were greatly rejoiced and fired off the guns and celebrated games, speaking to us most kindly and asking us to join them. When we dropped anchor the Hollander's flag was lowered, and the Lion Flag of Lanka was hoisted at the masthead; at the same time the captain got into his boat and sailed quickly to the mouth of the river and up to the country of Siam.

วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1751 คณะทูตได้ขึ้นฝั่งและได้รับการรับรองที่ Amsterdam (พระประแดง)  ต้นเดือนกรกฏาคมราชสำนักสยามส่งขบวนเรือมาต้อนรับนำขบวนอย่างยิ่งใหญ่  นำขบวนคณะทูตเรือ ไปตามแม่น้ำแวะเมืองบางกอก แวะขึ้นฝั่งไปนมัสการพระและรับศีล

   Seven days later, on Monday morning three messenorers came on board from Siam and had an interview with us: they went and saw how the royal message was disposed, and prostrated themselves and made obeisance before it three times; after this they presented us with cocoanuts tender and hard, with betel and arecanuts, and went away the same day. On the twentieth day of the solar month Mithuna, which is the eighth day of the increasing moon of the lunar month Poson, being Wednesday, about the tenth hour of the morning, two officers came from the capital and accompanied us with the royal message and presents to the place called Amsterdam, which is built at the mouth of the river; here we landed and remained two days. On the morning of the third day, being Friday the ninth day of the month, the message was transferred to a boat adorned with various devices, with
hangings of silk and red stuffs which served as curtains, with awnings above and carpets below. The presents were taken in thirteen boats : five boats were set apart for the five ambassadors, and our attendants too were similarly provided for. The escort that had come from Siam accompanied us in forty-eight boats with their tents adorned in the manner described above, rowing on either side of us. Eight large boats with flags and umbrellas were attached to the one conveying; the royal message by means of stout ropes, one to each, thus taking the latter in tow. We proceeded in this manner up the river amidst great rejoicings on the part of the people, and the same afternoon we reached the district called Bangkok. The Siamese officer stationed here received us with great respect and provided us with all necessaries.

จากนั้นคณะทูตแวะไห้พระรับศีลตามวัดใหญ่ๆไปตลอดทาง ก่อนถึงอยุธยาได้ร่วมพิธีอุปสมบทพระราชทานด้วย

   The next morning, being Saturday, the chief priests from the neighbouring viharas were invited to the spot, and accepted alms at our hands with robes and the priestly necessaries, and the Panchasila was administered, after which we and our attendants were entertained at a feast. Leaving here the same morning we arrived in the evening at the district called Mung Nolak Van, where too the Siamese officer entertained us. The next morning being Sunday, he arranged for the chief priests to come and accept offerings at our hands and to administer Pansil, after which we were entertained in turn. Immediately after this we started and by rowing the whole night we reached the spot called Wat Pro Yath at dawn on Monday, and halted near the great vihara there. Here too we were received with the same ceremony and similar religious exercises were arranged for us by the officer in command ; further, in obedience to the king's order he arranged an Upasampada Charitra Pinkama at this temple, so that we might both derive pleasure and acquire merit by the sight.

   We remained seven days, and at dawn on the eighth day, being: Monday, five great officers of State came from the capital and took the royal message in a large canopied litter which was placed on board a gilt boat, while we proceeded in five others accompanied by the presents and attendants. When we reached the spot called Bai Pas Sath the two banks of the river were adorned with arches of gold and silver cloth, while a large concourse of people holding flags and umbrellas of various kinds were thronged together on gaily decked boats ; we were filled with admiration at the sights on this river, crowded as it was with every kind of merchandise.

จนมาถึงพระนคร ได้รับการต้อนรับจาก “sub king” ก่อนที่จะไปเข้าพักในย่านฮอลันดา

   About the eighth hour of the same mornings we approached the capital of Ayodya Pura and were presented to the sub king. We showed him the royal message and presents at which he expressed his great pleasure and spoke to us most kindly for a short time and inquired about our journey. He further informed us that a subsequent communication would be made to us regarding the presentation of the royal message and presents at the court. After this he desired us to return to our halting place; we accordingly returned down the river to the Dutch settlement.


ได้รับการรับรองเลี้ยงดูปูเสื่อจากจากเจ้าพนักงานสยามเป็นอย่างดี

   When the Siamese officers had conveyed the news to the king, he sent orders that we and our attendants were to be fully supplied with all necessaries from the royal stores during our stay here.
Later some officers came with a large supply of all kinds of eatables and sweets of sugar, with mandarin oranges, ripe plantains, betel, arecanuts, limo, tobacco, and various other articles, They came a second time and distributed silver coins called ticcal and masam-puwa from the royal treasury among us all. Moreover, the tradespeople were ordered to attend the people from Lanka, the chief priests of the viharas were requested to be so kind as to visit the men at all times and to preach bana, and to please them by allowing them to offer the usual offerings and thus acquire merit.

วันที่ 7 กรกฏาคม ค.ศ. 1751 (พ.ศ. 2294) คณะทูตเข้าเฝ้า ถวายพระราชสาสส์น ณ พระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระบรมโกศทรงโปรดให้เที่ยวชมวังต่อ ได้บรรยายความสวยงามของเกาะเมืองอยุธยาไว้อย่างน่าสนใจ

   On the seventeenth day of the solar month Kataka about five hours before dawn three officers came and accompanied us in boats; we landed in the street at the great gate in the city wall and entered carriages drawn by horses. The two sides of the street were decorated with various kinds of cloths and hung with gilt lamps shaped like pumpkins decorated with glass and plates of mica; the street shone as with moonlight in the blaze of a hundred thousand lamps. We drove up the middle of the street as far as the great gate called Yam Thak ; it was one unbroken stretch of gold-worked cloths of five colours, trays and boxes of silver and gold, ornaments of copper, bronze, brass, and zinc, red and white sandalwood, embroidered quilts and curtains, all kinds of medical stores, rice, cocoanuts, plantains, mandarin oranges, orange, sweet meats, all manner of flowers, all manner of
eatables and drinkables, with sweets and meats ; the shops were adorned with gilding, and the street a blaze of splendour. When we arrived within sight of the palace, which shone with gilt work, we alighted from our carriages and rested a short time in a hall hung with beautiful curtains where, according: to their custom, sapu flowers were presented to us. Then we proceeded within the palace, entering the two gates adorned with gilding and all kinds of colours. On either side of the great throne were arranged figures of bears, lions, rakshas, door-guardians, nagas, and beirawa rakshaya, two of each, adorned with gold. In their midst rose the throne which appeared about 10 cubits high ; round it were fixed golden sesat, while marvelous golden embroideries were hung round. The walls themselves were gilt and the spires above the dais were of gold. Here we were brought before the king and presented the royal letter and presents, after which we were graciously permitted to visit the interior of the place.




กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ย. 15, 12:02

จากนั้นได้บรรยายความโอ่อ่าตระการตาของพระราชวัง และเมืองอยุธยา ไว้อย่างมีชีวิตชีวา

   To the right of this was a gilt elephant stall ; within—covered with trappings of solid gold, with golden bells, frontlets, and eje-chain, goldwowed henduwa and anukusa, behind a network of ropes plated with gold, with a golden awning above secured to a post covered with plates of gold, with gilt tail and trunk, its tusks adorned with golden rings and encased with golden sheaths set with two magnificent gems at their tips, eating sugar cane from a large gilt boat set up within, while another such held water for its use—there stood, on a gold-worked platform, a tusked Elephant, with its eyes and hair the colour of copper. In a similar stall was a black tusker thickly covered with gray spots. Similarly on our left were two elephants in their stalls.
   In front of the gate in a gilt stable, almost hidden beneath their trappings of solid gold, was a ring of horses ; a similar ring faced this also another of elephants with gilt trappings. In the intervals of these was an innumerable host armed with gilt swords and shields resting on their knees ; another dressed in armour with tridents in their hands; another armed with bows with gilt quivers suspended round their necks ; another of specially powerful men wearing on their heads the spire-shaped Siamese hat ; and another standing in line with guns and pouches. There was also a motley crowd resting on their knees, dressing gorgeous clothes, with their heads wrapped in cloths of various hues ; this consisted of Pattani, Moors, Wadiga, Mukkara, men of Delhi, Malacca, and Java,Kavisi, Chinese Parangis, HoIlanders, Sannasis, Yogis,  English, French, Castilians, Danes, men from Surat, Ava, and Pegu. representinig every race.
   Within the great gate on either side were two platforms on which stood two palmirahs and two cannon made of the five kinds of metals ; round these rested a band of fighting men armed with clubs. The palace gate, the hall in which the sub-king and the nobles were assembled, the doors, windows, and bars were all decorated in great profusion ; the former were crowned with gilt spires, flowers, and wreaths. In the midst of all stood the king's palace of five stages, similarly adorned with gilt spires. At the four corners were four towers five stories high, pierced with many windows and lattice work. There were also many halls decorated with much gilding and built in two stages. The palace of the prince and the three palaces of the queens were similar in appearance. The magnificent pile is erected on the river wall, which commences at the river and encircles the whole city. The great gate is at the landing place ; the rampart starts from here and runs to the right; then it sweeps round in a circle encompassing the whole city, till it finally meets the river again.
   Within the city there are canals running in parallel Hues like the leaves of an indi branch. It is impossible to give any conception of the number of boats and passengers on these. Who will venture to say in what language the traffic on the great river can be described ? There were also numberless streets thronged with people, full of shops displaying every kind of merchandise including images of gold. So far I have only attempted to describe the inner city just as I saw it.
   As we were directed to return to our halting place, two officers accompanied us back first in carriages and then in boats.



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ย. 15, 15:50

ลงข้อมูลในหนังสือต่อจาก archive.org นะครับ

ในวันพระถัดมา คณะทูตได้ไปทำบุญที่วัดพุทไธสวรรย์ พบผู้คนไปทำบุญอย่างหนาแน่น

     Seven days later on Friday, being full moon, two officers came and informed us that the king had given orders for us to go and worship at two viharas on this day. We accordingly proceeded in boats and worshipped at the vihare called Vat Putin Suwan.
... (ข้าม)
 
วันอาทิตย์ ที่ 21 กันยายน พระถัดมา คณะทูตได้ไปทำบุญอีกวัดหนึ่ง (วัดมหาธาตุ ?) มีความประทับใจในสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา

   On the twentj-first day of the solar month Kanya, being: Sunday, three officers came in the morning and accompanied us in boats to the vihare called Maha Dhanvaram, in the district named Na pu than, that we might make offerings there to the Buddha and acquire merit, and also see the beauties of the place; and this is what we saw there. ... (ข้าม)
  
   คณะทูตได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระสังฆราช รับศีล รับพร และ ทรงประทานคณะสงฆ์ให้เดินทางกลับไปลังกาด้วย

  Outside the great wall of the vihare were several preaching-halls : to the west of this was the residence of the Sanga Raja ; the dining and preaching-halls were adorned in diverse fashions with gilding. One room was hung with awnings and curtains embroidered with gold whilst the floor was covered with various precious carpets. There were vases arranged in rows filled with flowers, whilst above were hung circular lamps. On two thrones on either side were placed two priestly fans; the handles of these were made of elephants' tusks, the ivory of which was sawn very fine like the leaves of the kus-kus, and woven with red velvet and thin strips of gold and silver like rushes to form the leaf of the fan. Two holy priests stood on either side making obeisance to where the Sanga Raja was. Behind a curtain curiously embroidered with gold was a throne on which the Sanga Raja himself was seated. His face was screened by a fan of golden-hued bird's plumes which he held in his right hand. We were led in at his  command to make our obeisance to him and to acquire merit. After we had made suitable offerings to him we were served with betel and arecanut, and were graciously praised by him for the faithful devotion to the Triple Gem which had brought us on this toilsome but blessed voyage across the dangerous sea. He was also pleased to say that priests would be sent to accompany us back to Lanka.
    Surrounding of this spot were several houses occupied by a vast number of priests and Samaneras, devotees of either sex who observe Dasasil, as well as a crowd of pious and courtly folk who provided daily offerings.



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ย. 15, 16:05

   คณะทูตได้เป็นแขกรับเชิญไปงานเลี้ยง โดย “the second sub-king”  และ เหล่าเสนาบดี

   After all this we were taken back to our halting-place in the evening. Eight days later, being Mondav the eighth day of the waning moon, two officers came and accompanied us to a vihare which was full of priests' houses ; here we saw a building: of three stages the tiles on the roof of which were gilt and appeared as a mass of kinihiriya flowers. In front of this were two golden dagabas ; having made our obeisance to these, we rested a short time in a hall here, after which we were invited to a two storied hall where we were received with every mark of respect by the second sub-king and several Ministers of State and were entertained with our attendants at a feast and subsequently with betel and arecanut. Then several dancers in various gold-worked costumes were brought in to sing and dance before us, after which we were taken back to our resting place.

   เช้าวันต่อมา ไปดูโรงช้างหลวง โรงม้าหลวง

   On the morning of the next day two officers came from the palace and took us on horseback to the town ; we arrived at a street one side of which was occupied by two storied buildings and variously gilt elephant stalls ; on the other side were similar horse stables. It is impossible to give the number of horses and elephants, male and female, that were here; the street was entirely occupied by the stables and stalls, and there was no dwelling house at all ; we rested in a hall on the side where the horse stables were.



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 08 ก.ย. 15, 16:54

   เมื่อถึงกาลออกพรรษา มีพระราชพิธีพระราชทานพระกฐิน มีกระบวนพยุหยาตรา เสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารถ
   เริ่มจากหัวขบวน เป็นขบวนทหาร และ ขุนนางชั้นรองลงมา

   As the Was season was now drawing to a close a Chivara Katina Fuja had been ordered by the king: for this day at the great vihare of Kojayoth Ratanarama.  In this vihare are multitudes of gilt images of the Buddha and a host of priests and Samareras. We saw the procession, and this was the manner of it :—
   First there came, mounted on caparisoned elephant, a body of men with gaily-worked flags, richly dressed with Siamese hats of white resembling silver Karanduwas on their heads, and swords by their sides ; a similar band mounted on horses followed ; next came in succession a host with swords in gilt scabbards: another with gilt bows, their quivers slung over their necks ; another similarly armed, with guns on their shoulders and powder pouches at their sides ; another band similarly dressed with various kinds of arms ; then a band carrying dhaja and patakas on gilt staves; a band of powerful men with gilt clubs ; another with swords in scabbards worked with silver ; another with swords ; a similar band with instruments of music—trumpets, horns, fifes, lutes, drums large and small, all playing together. Along with these were two richly caparisoned elephants with chamaras hung behind their ears and howdahs on their backs; within each was a Minister of State seated, holding in his two hands a gold salver on which were placed robes of the finest yellow silk : above were held worked flag, sesat, and spears, two of each, while on the two sides walked two female elephants carrying three men each. The officer who came next in similar fashion carried the priestly necessaries on a gold salver. A number of beautiful boys followed on a she-elephant covered with gold-worked cloths ; these carried the gilt swords, betel trays, chains, pendants, and goH bracelets of these two officers.
   Next came a large crowd on foot armed with swords and the five kinds of weapons carrying flags and umbrellas, followed by a tusked elephant almost hidden under its gilt trappings, the gaps being covered with button flowers, marigolds, dunuke wetake, sapu, the white and red lotus, and water lilies, carrying in its howdah a Minister of State who bore a set of robes and the priestly necessaries ; on either side rode two officers accompanied by seven men carrying sesat spears and flags. The minister's attendant boys, variously dressed, followed carrying his sword and spear and other ornaments. After that another throng as before.

[The writer next proceeds to describe five other ministers who followed in similar state]

      จากนั้นเป็นเสนาบดี ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จในขบวน พระขรรค์ พระมงกุฏ และ เครื่องราชฯ อื่นๆ ต่อด้วย ผู้มีบรรดาศักดิ์นายทุนเจ้าของที่ดิน

   Next, walking four abreast and carrying: gold-worked flags, came a band of men holding four strings so that their order might not be disturbed. Then came a row of elephants with and without tusks, male and female, with trappings of unheard-of splendour, carrying sets of robes and the priestly necessaries and all manner of offerings. Next came two great Officers of State employed in the inner palace, with the Master of the Chariots, the Custodian of the Sword of State, two Keepers of the Crown Jewels, two Officers of the Royal Betel Box, the two Chief Officers of the Treasury, two Admirals of the Great Boats, two Masters of the Horse, two of the King's Physicians, two Officers who were in charge, the one of the stores of copper, brass, tin, timber, horns, ivory, white and red sandalwood, of the villages which produce them, and of the men employed in their service, the other of the loyal rice and betel villages, and of their tenant,—all these came on elephants holding with both hands on golden trays their offerings of robes and other necessaries as described before, each accompanied by his vassals. Behind came a host of hundreds and thousands of devotees, male and female, carrying on their heads robes and offering.

    จากนั้นมี เหล่าเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง และ ที่น่าสนใจ “the Uva Rajjuruvo” และ “the second sub-king”

    Next came the two second Anu-Rajas, carried on the necks of stalwart men in two couch-shaped thrones with a railing of irory, adorned with gold and rows of pearls, and set with magnificent gems ; above their heads were carried ten sesat, and they were followed by a host armed with the five kinds of weapons. Next, in the first of two similarly adorned thrones, was borne on the shoulders of stout warriors the Great Officer of State to whose hands are entrusted all the affairs of Siam, and who is called the Uva Rajjuruvo. Above him were carried five sesat, and behind him was a band with umbrellas and swords. In the second throne was the second sub-king carried in similar state. Next came the great state Elephant ; the whole of its body was the colour of copper, arid it was covered with full trappings of gold ; on each side of it were carried four sesat and four flags ; eight trays of gold tilled with peeled sugar cane, ripe jak, and plantains were carried for its food ; its attendants—elephants with and without tusks, male and female—followed ; on them rode men carrying: flags. A vast number of offering's to the Buddha were presented to the priests with the robes and priestly necessaries. The Siamese officers told us that by the royal command we too were to share in the merit acquired by this great Kathina Pinkama, and of all the other religious services which his illustrious majesty had ordained in his great devotion to the Triple Gem. After this we were taken back to our halting-place.



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 08 ก.ย. 15, 18:01
ที่ใจที่คุณ Koratian กลับมาครับ กระทู้นี้เงียบไปหลายวันเหมือนกัน

หนังสือ จดหมายเหตุระยะทางราชทูตลังกาเข้ามาขอพระสงฆ์สยาม ผมมีฉบับแปลภาษาไทยพร้อกับอรรถาธิบายของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพอยู่ครับ แต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่กับตัว จะลองเขียนเท่าที่จำได้นะครับ ถ้าจำผิดจะมาแก้ทีหลังครับ

อุวราชชุรุโว กับ sub-king สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นคนเดียวกัน(แต่อ่านจากที่คุณ Koraian เอามาลงเหมือนจะะเป็นคนละคน) โดยคือเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดี ซึ่งเป็นขุนนางคู่บารมีของพระเจ้าอยู่หัวรมโกศ โดยน่าจะได้ว่าที่ตำแหน่ง 'เจ้าพระยามหาอุปราชชาติวรวงษ์' อีกตำแหน่งด้วย(แต่ไม่ปรากฏหลักฐานในที่อื่น)

เหตุที่ว่าเป็น sub-king ซึ่งในเอกสารระบุว่าได้พบการราชทูตลังกาเมื่อมาถึงกรุงศรีอยุทธยาใหม่ๆ กรมพระยาดำรงฯทรงสันนิษฐานว่าโดยตำแหน่งที่เป็นโกษาธิบดี เสนาบดีกรมพระคลังกรมท่าแล้ว ย่อมต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการออกรับราชทูตต่างประเทศ โดยน่าจะให่ราชทูตมาพบตามธรรมเนียมรับแขกเมือง รวมถึงที่ได้ถวายราชสาส์นให้ไปก่อน น่าจะเป็นเพื่อการแปลพระราชสาส์นเป็นภาษาไทยก่อนจะใช้เมื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจริงๆ ตรงนี้น่าจะเป็นน่าที่ของกรมท่ามากกว่าจะให้เจ้านายมาจัดการเองครับ (อ่านดูจากเนื้อความที่คุณ Koratian มาลงแล้ว sub-king ไม่น่าจะเป็นเจ้านายครับ)

เหตุที่เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ จะเป็นใหญ่เสมอเจ้า ถึงขั้นเจ้าพระยามหาอุปราชหรือ sub-king กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่าเพราะเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์มีความดีความชอบอยู่มาก เนื่องจากเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยให้พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมีชัยชนะต่อเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์ในศึกชิงราชสมบัติ ในพงศาวดารและหลักฐานร่วมสมัยของหลายชิ้นก็มีการกล่าวถึงบารมีของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์อยู่มากเช่นมีเครือญาติรับราชการในตำแหน่งสำคัญ หลักฐานสมัยหลังเองก็มักกล่าวว่าระกูลสำคัญหลายๆตระกูลมีการเกี่ยวดองกับตระกูลของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็โปรดให้เกียรติเสมอเจ้าโดยพระราชทานชฎาให้สวม และให้เรียกว่า 'พระศพ' ดังที่พงศาวดารระบุว่า

ครั้นปีระกาเบญจศก (จ.ศ. ๑๑๑๕ พ.ศ. ๒๒๙๖) เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ป่วยเป็นลมอัมพาธ ๔ เดือน เศษถึงอนิจกรรมพระราชทานให้ใส่โกศใส่ชฎาเรียกว่าพระศพฌาปนกิจวัดชัยวัฒนาราม


นอกจากนี้มีจดหมายเหตุของคณะ บาดหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ ใน พ.ศ.๒๒๘๖ ตอนหนึ่งเรียกเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่า prince ด้วยครับ


the second sub-king กรมพระยาดำรงฯทรงวินิจฉัยว่าน่าจะเป็น พระยาพิพัฒน์โกษา ปลัดทูลฉลองกรมพระคลัง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบรองจากเจ้าพระยาพระคลังลงไป ซึ่งดูจากหน้าที่ที่รับผิดชอบงานเลี้ยงรับรองราชทูตลังกาตามเอกสารครับ


prince ในความเห็นที่ 125 น่าจะเป็นโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศองค์อื่นที่ไม่ใช่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร เพราะมีตำหนักอยู่ในวังหลวงครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 08 ก.ย. 15, 19:36
ออกจะดูแปลกๆที่ตั้งตำแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราช ทั้งๆที่มีเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรเป็นพระมหาอุปราชอยู่แล้ว แต่ถ้าพระวินิจฉัยของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพถูกต้อง เรื่องนี้ก็น่าสนใจอยู่ครับ

เป็นไปได้ว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอาจจะทรงคานอำนาจระหว่างขั้วของขุนนางซึ่งนำโดยเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ซึ่งเป็นขุนนางคู่พระบารมี กับขั้วของเจ้านายทรงกรมที่อาจแบ่งเป็นฝั่งของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร(ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นที่วางพระทัยมากนักจากประวัติเสียของพระองค์)กับฝั่งเจ้าสามกรม

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์มีอิทธิพลอยู่มากเพราะเป็น 'King Maker' โดยตำแหน่งควบคุมกรมพระคลัง การค้ากับต่างประเทศรวมถึงกิจการทหารพลเรือนของหัวเมืองฝ่ายใต้(ถูกโอนมาจากสมุหพระกลาโหมที่ทำความผิด)  เครือญาติล้วนอยู่ในตำแหน่งสูงๆ เช่นเจ้าพระยาราชภักดี(สว่าง) เจ้ากรมพระคลังมหาสมบัติบุตรชาย ได้ว่าที่สมุหนายกใน พ.ศ.๒๒๘๕ เท่ากับว่าอำนาจของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ครอบคลุมถึงกรมมหาดไทยและหัวเมืองฝ่ายเหนือด้วย บุตรเขยคนหนึ่งเป็นพระยาพิพัฒน์โกษา(ฉิม ได้เป็นพระคลังต่อจากเจ้าพระยาชำนาญฯ) บุตรเขยอีกคนใน พ.ศ.๒๒๘๖ มีตำแหน่งเป็น พระยาสมบัติบาล(เดิมไม่ได้บอกบรรดาศักดิ์ แต่ พ.ศ.๒๒๙๑ ระบุว่าเป็น พระยา) เจ้ากรมพระคลังในขวา  

มีหลักฐานว่าเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์เคยทำผิดพลาดในราชการใน พ.ศ.๒๒๘๙ พระเจ้าบรมโกศทรงเพียงแต่ภาคทัณฑ์ไว้ แต่เจ้าพระยาราชภักดีบุตรชายที่ทำความผิดเดียวกันกับถูกโบยหลัง ๒๐ ที

"อนึ่งมีหนังสือบอกเมืองนครศรีธรรมราช ว่ากองช้างไปโพน คล้องถูกพลายเถื่อนสูง ช้างหนึ่ง ตา เล็บ หาง ขน ขาว พระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้หลวงราชวังเมือง ไปฝึกชำนิแล้วให้นำมา ฝ่ายเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดีเจ้าพระยาราชภักดีว่าที่สมุหนายก ให้มีตราพระราชสีห์ แลตราบัวแก้ว ออกไปให้กรมการหัวเมืองรายทาง ทำโรงให้เป็นมณฑปมียอดแลหางหงส์กระจังไว้ให้พัก ผู้รั้งกรมการปรึกษากันว่าไม่เคยทำ จึงบอกเข้ามาขออำนวยการออกไปบอกเมืองละคน ครั้นเอาหนังสือขึ้นกราบบังคมทูล มีพระราชโองการให้ถามเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เจ้าพระยาราชภักดี ว่าแต่โรงรายทางจะได้พักแห่งละวัน ๒ วันก็จะมา แลจะให้ทำโรงมณฑป ครั้นมาถึงกรุงจะทำโรงรับไว้เป็นอย่างไรเล่า นี่หรือจะช่วยทะนุบำรุงอาณาประชาราษฎรให้เป็นสุข แล้วดำรัสให้ภาคโทษเจ้าพระยาชำนาญไว้ครั้งหนึ่ง แต่เจ้าพระยาราชภักดีนั้น ให้ลงพระราชอาญาโบยหลัง ๒๐ ที ครั้นหลวงราชวังนำช้างมาถึงกรุงแล้ว พระราชทานชื่อว่า พระบรมคชลักษณ์ อัครคเชนทร์ วเรนทร สุปดิษฐ์ สิทธิสนทยา มหามงคล วิมลเลิดฟ้า"


และอย่างที่กล่าวไปว่ามีหลักฐานว่าชำนาญบริรักษ์ได้รับเกียรติเสมอ 'เจ้า'  อิทธิพลที่มากมายมหาศาลนี้อาจจะทำให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรซึ่งเป็นวังหน้าทรงไม่วางพระทัยก็เป็นได้ สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยของบาทหลวงฝรั่งเศส(ตีพิมพ์ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๘ จดหมายเหตุของคณะ บาดหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ ) ระบุว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไม่ทรงถูกกับเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ นอกจากนี้ก็ยังมีความแตกต่างในเรื่องกลุ่มคนเข้ารีตและบาทหลวงฝรั่งเศส โดยเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์มักจะมีปัญหากับกลุ่มคนเข้ารีตหลายครั้ง หลายครั้งปรากฏว่าได้ทำการกดขี่บีบบังคับพวกเข้ารีต เบียดเบียนศาสนาคริสต์(ปรากฏว่าห้ามคนไทย มอญ ญวน ไปเข้ารีต มีการตั้งศิลาจารึกเป็นคำสั่งในเมืองมะริด)

แต่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงมีท่าทีเป็นมิตรกับพวกเข้ารีตมากกว่า รวมถึงมีท่าทีอยากจะทรงได้ชาวฝรั่งเศสเป็นพวกด้วย โดยใน พ.ศ.๒๒๘๖ ตามจดหมายของสังฆราช เดอ โลลีแยร์ ระบุว่าเมื่อเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงทราบว่าโลลีแยร์กำลังจะเข้ามาถึงกรุงศรีอยุทธยา จึงพระราชทานเรือพระที่นั่งมาให้ ทำให้สังฆราชโลลีแยร์คิดว่าพระองค์ต้องการจะหาพรรคพวก ซึ่งการณ์นี้ทำให้พวกเข้ารีตรู้สึกสบายใจมากขึ้น หลังจากที่โดนเจ้าพระยาชำนาบริรักษ์กดขี่ข่มเหงมาก่อนหน้า  นอกจากนี้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรได้ทรงสนทนากับบาทหลวงดีดีมที่มาด้วยกัน โดยทรงมีท่าทีโปรดจะสานไมตรีกับฝรั่งเศส และทรงได้ตรวจจดหมายเหตุในการรับราชทูตฝั่งเศสครั้งก่อนไว้ด้วยครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 08 ก.ย. 15, 19:39
ปลาย พ.ศ.๒๒๘๖ ถึง ต้น พ.ศ.๒๒๘๗ เกิดปัญหาเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์กดขี่พวกเข้ารีต สังฆราชเดอ โลลีแยร์จึงเขียนหนังสือร้องเรียน 'สมบัติบาล' ลูกเขยเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ แต่ก็ไม่เป็นผล  ตอนนั้นมีหลายคนพูดกับสังฆราชให้ไปร้องเรียนกับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร แต่สังฆราชไม่ได้ไปทูล ความตอนนี้พอให้เห็นภาพความขัดแย้งของพระองค์กับเจ้าพระยาชำนาญฯ รวมถึงเรื่องที่ทรงหวังจะเอาฝรั่งเศสเป็นพวกด้วยครับ

" ในขณะนี้ได้มีคนหลายคนมาแนะนำแก่สังฆราชให้นำเรื่องนี้ ไปทูลแก่พระมหาอุปราชผู้เปนพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงสยาม เพราะพระมหาอุปราชไม่ถูกกันกับเจ้าพระยาพระคลัง ทรงหาช่องอยู่ที่จะกราบทูลพระราชบิดาให้ทรงทราบถึงความชั่วของเจ้าพระยาพระคลัง เพราะเวลานั้นพระเจ้ากรุงสยามทรงไว้ใจเจ้าพระยาพระคลังทุกอย่าง ส่วนพระมหาอุปราชก็คงต้องการให้สังฆราชนำความไปทูล เพราะได้ทรงใช้ให้ข้าราชการมาหาพวกเราหลายหน เพื่อฟังดูว่าสังฆราชจะพูดอย่างไรบ้าง แต่สังฆราชเห็นว่าไม่ควรจะนำเรื่องนี้ไปทูลพระมหาอุปราช เพราะเหตุว่าถ้าทูลไปแล้ว เจ้าพระยาพระคลังก็คงจะถูกกริ้วและถูกติโทษ แต่ถ้าหากว่าเจ้าพระยาพระคลังยังคงรับตำแหน่งนี้อยู่อีก ก็คงจะหาทางมาแก้แค้นสังฆราชและพวกเข้ารีตเปนแน่"


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 08 ก.ย. 15, 20:38
"ครั้นอยู่มาผู้รั้งเมืองกุยบุรีบอกหนังสือส่งทองร่อนหนัก ๓ ตำลึง เข้ามาถวาย ว่าตำบลบางสะพานเกิดที่ร่อนทองขึ้น ครั้นถึงเดือน ๑๒ ปีเถาะนพศก (จ.ศ. ๑๑๐๙ พ.ศ. ๒๒๙๐ ) ให้เกณฑ์ไพร่ ๒๐๐๐ ยกออกไปตั้งร่อน ณบางสะพาน ครั้นสิ้นเดือน ๕ ปีมะโรงสัมฤทธิศก (จ.ศ. ๑๑๑๐ พ.ศ. ๒๒๙๑) ได้ทองเข้ามาถวาย ๙๐ ชั่งเศษ ผู้รั้งเมืองกุยนั้น โปรดให้เป็นพระกุยบุรี แล้วทรงพระราชศรัทธาให้แผ่ทองร่อนเป็นประธานกล้อง ปิดพระมณฑปพระบรมพุทธบาท และให้แผ่หุ้มแต่เหมแลนาคลงมา..."

อีกครั้งใน พ.ศ.๒๒๙๑ เกิดแหล่งร่อนทองที่บางสะพาน เมืองกุยบุรี(ปัจจุบันเป็นแหล่งร่อนทองที่มีชื่อเสียง) จึงได้ทองคำส่งเข้าหลวงมาจำนวนมาก พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้เอาทองมาหล่อพระพุทธบาทจำลองกับดอกบัวทองและโปรดให้มีขบวนแห่ใหญ่ เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์กับพระยาสมบัติบาลได้รับพระราชโองการให้มาเกณฑ์พวกเข้ารีตให้ถือดอกบัวไปร่วมขวนแห่ด้วย แต่สังฆราชและพวกเข้ารีตไม่ยอมเพราะเห็นว่าผิดหลักศาสนา จึงโดนกดขี่ข่มเหง มีการอ้างพระราชโองการห้ามชาวไทย มอญ ญวนเข้ารีต และก็ให้ชายที่เข้ารีตไปทำงานโยธาขนอิฐใต้บังคับของพระยากลาโหม

แต่ว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรก็ทรงช่วยพวกเข้ารีต โดยทรงแกล้งประชวรและไม่ทรงร่วมขบวนแห่ เพื่อให้พระยากลาโหมมาเฝ้า และรับสั่งกับพระยากลาโหมว่า (สังฆราชระบุว่าได้เรื่องนี้ยินมาจากข้าหลวงของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)

"การที่ท่านมาหานี้ข้าพเจ้ายินดีมากเพราะได้ตั้งใจไว้ว่าจะเรียกท่านมาถาม ว่าการที่ท่านให้พวกเข้ารีตไปทำการโยธานั้น ท่านได้รับอำนาจจากใคร ท่านเชื่อว่าเรื่องนี้คงจะยุติกันเพียงนี้หรือ ท่านจะต้องการให้พระราชไมตรีซึ่งเราได้พยายามมีไว้กับเจ้าแผ่นดินในประเทศยุโรปได้ขาดไปหรือ ขอให้ท่านรีบไปจัดการเสียให้เรียบร้อยโดยเร็ว"

การที่พระองค์ถึงกับลงทุนแกล้งประชวร เพื่อช่วยพวกเข้ารีต คิดว่าไม่น่าจะเป็นแค่เรื่องธรรมดาครับ


สันนิษฐานว่าหลังจากเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ถึงแก่กรรมใน พ.ศ.๒๒๙๖ ทำให้ขั้วอำนาจของกลุ่มขุนนางที่มีเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์เป็นศูนย์กลางอ่อนกำลังลง ทำให้ขั้วของเจ้าต่างกรมมีอำนาจมากขึ้น จึงเริ่มปรากฏการกระทบกระทั่งระหว่างกลุ่มของเจ้าต่างกรมซึ่งเป็นกลุ่มของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล(สันนิษฐานว่าเจ้าฟ้าเอกทัศกับเจ้าฟ้าอุทุมพรน่าจะอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย) กับกลุ่มของเจ้าสามกรม ซึ่งสุดท้ายก็จบด้วยการที่เจ้าสามกรมหาเหตุให้กรมพระราชวังบวรถูกลงอาญาจนสิ้นพระชนม์ได้ใน พ.ศ.๒๒๙๘ ครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ก.ย. 15, 14:33
อยากเห็นที่มาของคำในต้นฉบับภาษาสิงหลว่า sub king , second king, etc. มาจากไหนครับ

สงสัยว่าทำไมทิ้งไว้แค่ uva rajjuruvo คำเดียว เพราะทิ้งไว้อย่างนี้ สมเด็จดำรงฯ ท่านคงจะทรงคิดว่าเป็นคำทับศัพท์ จึงทรงตีความเป็นชื่อพระยาฯ อย่างนั้น ลองถามน้องกุ๊กดูจะพบว่า Rajjuruwo แปลว่ากษัตริย์

Sub king เป็นเจ้าต่างกรมได้หรือไม่ครับ ถ้าเป็นขุนนางระดับพระยา ทำไมถึงใช้คำระดับนี้ น่าสงสัยครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 09 ก.ย. 15, 20:41

ขอบคุณ คุณศรีสรรเพชญ์ สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมครับ

การแปลสิงหลเป็นอังกฤษ แล้วอังกฤษเป็นไทยอีกทอด ทำให้เราจำเป็นต้องเชื่อตามวิจารณญาน และตีความตามผู้แปลครับ
ซึ่งอาจมีข้อผิดพลาดได้ไม่มากก็น้อย

ข้อมูลจากฉบับภาษาสิงหลโดยตรง คงต้องปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญจากกระทู้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แล้วละครับ
ดีไม่ดี เรื่องนี้จะสนุกขึ้นไปอีก ถ้าหากพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นผู้ส่งฉบับแปลมาให้หอพระสมุดฯก็ได้นะครับ

ตามข้อมูลจากบันทึกของทูตลังกาจะเห็นว่ามีการบันทึกรายละเอียดปลีกย่อยอย่างละเอียด
น่าเชื่อได้ว่ามาจากบุคคลผู้อยู่ในเหตุการณ์จริง
ในขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค แห่พระกฐินฯ ที่ลอกมาลงนี้จะเห็นได้ว่ามีบุคคลสำคัญอย่างน้อย 4 คน
ที่ใช้ ฉัตร 5 ชั้น หรือมีฐานันดรในระดับเจ้าฟ้าทรงกรม
สองคนแรก คือ "two second Anu Rajas" น่าจะเป็น เจ้าฟ้าทรงกรม สองพระองค์
อีกสองคน คือ "Second Sub-King" และ "Uva Rajjuruvo" ที่มีความสำคัญในขบวนแห่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
โดยนำหน้าช้างเชือกสำคัญเลยทีเดียว

ต่อไปผมจะขอเพิ่มข้อมูล จากฉบับภาษาอังกฤษ อีกสักสองสามฉาก เพื่อให้เห็นบทบาทของ
"Second Sub-King" และ "Uva Rajjuruvo" ในราชสำนักในปี พ.ศ. 2294




กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 09 ก.ย. 15, 20:56

ถ้า Uva = อุป- และ Rajjuruvo = ราชา  ก็เป็นไปได้ว่า Uva Rajjurovo = อุปราช = Sub-king
แต่ ในขบวนแห่ มี Second sub-king ซึ่งก็จะกลายเป็น อุปราชองค์ที่สอง ซึ่งแปลกพอสมควร

เมื่อดูจากบทบาทตามท้องเรื่องโดยรวม เจ้าฟ้ากุ้ง น่าจะอยู่ในพวก Anu-Rajas (อนุราช) มากกว่าที่จะเป็น พวก Sub-king ครับ

เดี๋ยวมาต่อด้วยรายละเอียดที่น่าสนใจบางส่วนในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 10 ก.ย. 15, 15:25

    ในเวลาต่อมา มีกระบวนเสด็จทางชลมารค คณะทูตได้ร่วมลอยกระทง บูชาไฟ

   On the night of Tuesday, about fourteen hours before dawn, two noblemen came from the palace and informed us that a religious torch procession was coming down the river for us to see ; and this is the description of the same. Tall bamboos were set up at the viharas on either bank of the river of Siam ; these were bent down, and on them were bung gilt circular lamps and lamps of various other kinds. The king himself, his son the prince, the second king, and the Uva Rajjuruvo came in the gilt royal barges, on which were erected alcoves with curtains and awnings of various coloured cloths ; these boats were fitted with gold and silver stands holding lighted candles of wax and sweet-scented oils; a host of noblemen followed in similarly illuminated boats. There were also lamps made of red and white paper shaped like lotus flowers, with wax candles fixed in their cups ; myriads of these beyond all counting were floating down the river. Fireworks of various devices were also cast into the water ; these would travel underneath for some time and then burst into tongues of flame in all directions, with an explosion as of a jingal the whole surface of the water appeared paved with fire. There were also dancers in gilt, clothes in boats, singing and dancing to the music of drums.

   Next, the priests residing within the city and in the viharas on either bank of the river were presented with offerings, with robes, and the priestly necessaries, the boats which carried them forming an unbroken procession. This solemnity was observed on the thirteenth day of the increasing moon of the month Binara, on the full-moon day, on the first, seventh, and eighth days of the waning moon, and on the new moon, when the Was season come to a close. It was explained to us that this festival has been observed from time immemorial by the pious sovereigns of Ayodhayapura year after year in honour of the sacred footprint, the relics of the Buddha, and of that other footprint which at the prayer of the Naga king the Lord had in his lifetime imprinted on the sands of the river Nerbudda. On the afternoon of Wednesday two officers brought us in boats everything that was required for a similar offering, with a message from the king that we too should celebrate such an offering with our own hands. We accordingly went with them and lit lamps which were floated down the stream, and burnt fireworks ; similar ceremonies were performed by the following Thursday and Friday.

  วันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1751 (พ.ศ. 2294) คณะทูตเข้าเฝ้า “Uva Rajjuvo” หรือ “Sub-king” ทรงประทาน หนังสือมีค่าให้ไปพร้อมกับคณะสงฆ์

   On the seventh day of the solar month Thula, being Wednesday, in the morning, two officers came and accompanied us in boats to near the palace of the Uva Rajjuruvo. There, in a two-staged octagonal hall hung with cloths of diverse kinds, among gorgeous gold worked carpets stretched on the floor,was  the sub-king himself seated on a marvellously wrought royal throne. Beautifully engraved swords of solid gold, trays and boxes of gold and silver, and various royal ornaments were placed on either side ; there was a golden curtain drawn, and on this side of it the great ministers were on their knees making obeisance. Here we were ushered in and introduced; the sub-king inquired after our welfare, and betel was handed round on trays. We were then shown some books that were not to be found in Lanka at the time ; we gazed at them in reverence, bowing our heats before the holy paper, and were graciously informed that these books and the priests would be given to us. Next a great feast of rice was served  for us and our attendants after which we received permission to withdraw.



ตามจดหมายเหตุของคณะทูตนี้ “Uva Rajjuvo” หรือ “Sub-king” น่าจะเป็น เจ้าพระยาชำนาญฯ ตามข้อมูลที่ คุณศรีสรรเพชญ์ ให้มา
จะเห็นได้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าสมัยนั้นไม่ได้มีบทบาทในเรื่องนี้มากนัก ไม่ได้มีอิทธิพลมากเหมือนกับสมัยอื่นๆ
และยังมีอีกบุคคลที่เป็น "the second sub-king" ที่มีบทบาทในการบริหารจัดการบ้านเมือง

อาจกล่าวได้ว่าในเวลานั้น ถึงแม้ว่าเหล่าพระราชโอรสได้มีอายุสามสิบกว่า ๆ กันแล้ว แต่ยังไม่มีการมอบหมายภารกิจ เตรียมตัวให้เป็นผู้บริหารปกครองประเทศอย่างเต็มตัว


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 11 ก.ย. 15, 20:21
อยากเห็นที่มาของคำในต้นฉบับภาษาสิงหลว่า sub king , second king, etc. มาจากไหนครับ

สงสัยว่าทำไมทิ้งไว้แค่ uva rajjuruvo คำเดียว เพราะทิ้งไว้อย่างนี้ สมเด็จดำรงฯ ท่านคงจะทรงคิดว่าเป็นคำทับศัพท์ จึงทรงตีความเป็นชื่อพระยาฯ อย่างนั้น ลองถามน้องกุ๊กดูจะพบว่า Rajjuruwo แปลว่ากษัตริย์

ตอนนี้ผมมีหนังสือ 'เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป' พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  อยู่กับตัวแล้วครับ จะอธิบายตามพระวินิจฉัยของพระองค์ไปทีละเรื่องนะครับ


จากคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรก ได้อธิบายถึงหนังสือระยะทางราชทูตลังกาที่เข้ามาในกรุงศรีอยุทธยาเอาไว้ว่า

"๓.หนังสือระยะทางราชทูตลังกา ที่พระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะให้เข้ามาขอพระสงฆ์สยามแต่งไว้ เดิมเห็นจะเป็น ๒ ฉบับ คือพวกทูตที่มาต่างคนต่างแต่ง หนังสือเรื่องนี้ นายปีริส เนติบัณฑิต ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษลงพิมพ์ไว้ในหนังสือ รอยัล เอเซียติคโซไซเอตี เมืองลังกา เล่ม ๘ มีเรื่องราวแลรายวันพิสดาร ตั้งแต่ราชทูตลังกาออกจากศิริวัฒนบุรี จนกลับไปเกาะลังกาเรื่อง ๑"



ในคำนำยังระบุด้วยว่าทรงแปลความตอนนี้จากหนังสือฉบับภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาสิงหลที่เป็นต้นฉบับ และทรงเรียบเรียงเนื้อหาและภาษาให้เป็นสำนวนไทยตามพระวินิจฉัยครับ

"...ความตั้งแต่ราชทูตลังกาเข้ามาขอคณะสงฆ์ มีจดหมายเหตุของเดิม ซึ่งทูตผู้มาได้แต่งไว้โดยพิสดาร น่าแปลออกมาเป็นภาษาไทยให้ตรงกับจดหมายเหตุนั้น แต่ความขัดข้องมีอยู่ ด้วยจดหมายเหตุของเดิมแต่งไว้ในภาษาสิงหฬ แลแปลไปเป็นภาษาอังกฤษเสียอีกชั้น ๑ แลเห็นได้ว่าผู้แปลๆ โดยไม่รู้ภูมิประเทศ แลกิจการในกรุงศรีอยุธยา ความพลาดไปหลายแห่ง ข้าพเจ้าจึงแปลจดหมายเหตุของราชทูตลังกา โดยถืออิสระที่จะแก้ไขความในที่ซึ่งรู้เป็นแน่ว่าผิด และเปลี่ยนโวหาร วิธีเรียงความให้เป็นสำนวนไทย เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ถ้าการที่ข้าพเจ้าเปลี่ยนแปลงวิธีแปลระยะทางราชทูตลังกา ไม่ต้องใจท่านผู้อ่านคนใด จะไปสอบกับต้นฉบับภาษาอังกฤษก็ได้ ด้วยหนังสือเรื่องนี้ กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณได้พิมพ์ไว้แล้ว..."

ดังนั้น เรื่องที่จะสอบที่มาของ sub king , second king คงยากจะทำได้ครับ น่าจะต้องไปค้นหาต้นฉบับภาษาสิงหลมาสอบทานอย่างเดียวครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 11 ก.ย. 15, 20:42
เรื่องของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนถึงไว้หลายตอนครับ และทรงทำเชิงอรรถไว้ด้วย


ความตอนราชทูตลังกามาพบกับเจ้าพระยามหาอุปราช เทียบกับภาษาอังกฤษของคุณ Koratian ในความคิดเห็นที่ 124 นะครับ


จนมาถึงพระนคร ได้รับการต้อนรับจาก “sub king” ก่อนที่จะไปเข้าพักในย่านฮอลันดา

   About the eighth hour of the same mornings we approached the capital of Ayodya Pura and were presented to the sub king. We showed him the royal message and presents at which he expressed his great pleasure and spoke to us most kindly for a short time and inquired about our journey. He further informed us that a subsequent communication would be made to us regarding the presentation of the royal message and presents at the court. After this he desired us to return to our halting place; we accordingly returned down the river to the Dutch settlement.

          "เวลาประมาณ ๘ โมงเช้าวันนั้น เรือกระบวนถึงพระนครศรีอยุธญา ทูตานุทูตลังกาพากันไปหาเจ้าพระยา (ชำนาญบริรักษ์ ผู้ว่าที่เจ้าพระยา) มหาอุปราช๒๘ เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการไปให้ตรวจ เจ้าพระยามหาอุปราช แสดงความยินดีปราศรัยทูตานุทูตตามสมควร แล้วบอกว่า จะนัดกำหนดวันเข้าเฝ้าให้ทราบต่อภายหลัง๒๙ เมื่อเสร็จสนทนากับเจ้าพระยามหาอุปราชแล้ว ทูตานุทูตก็ลากลับมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านวิลันดา๓๐

๒๘ ที่แปลว่าเจ้าพระยามหาอุปราชตรงนี้ ด้วยในหนังสือระยะทางราชทูตลังกาที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ บางแห่งเรียกด้วยศัพท์อังกฤษว่าสับกิง บางแห่งเรียกด้วยศัพท์ว่า อุวะราชชุรุ จึงเข้าใจว่า หมายความว่า เจ้าพระยามหาอุปราช ชาติวรวงศ์ฯ นั้นเอง ในหนังสือพระราชพงศาวดารปรากฏแต่ว่า เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ได้ว่ากรมท่า เพราะฉะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่จะรับราชทูตต่างประเทศ จะเป็นผู้อื่นไม่ได้ แต่พึ่งปรากฏในจดหมายเหตุราชทูตลังกาฉบับนี้ ว่าเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ได้เป็นตำแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราชตามทำเนียบศักดินาพลเรือนด้วย ตำแหน่งนี้ ในจดหมายเหตุของมองซิเออร์ลาลูแบ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ว่ามีเจ้าพระยามหาอุปราชในครั้งนั้น ที่เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ได้ว่าที่เจ้าพระยามหาอุปราชนั้น ก็ไม่เป็นการประหลาดอันใด ด้วยเป็นผู้ที่มีความชอบต่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐยิ่งกว่าผู้อื่น แลมีหลักฐานอีกประการ ๑ ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ถึงอสัญกรรม โปรดให้เรียกว่าพระศพเหมือนเจ้า ข้อนี้สมกับความในระยะทางราชทูตลังกาข้างตอนปลาย กล่าวถึงเจ้าพระยามหาอุปราชถึงอสัญกรรม
๒๙ ระยะนี้ เป็นเวลาที่จะต้องแปลพระราชสาส์นออกเป็นภาษาไทย
๓๐ บ้านพวกวิลันดาตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก ระหว่างปากน้ำแม่เบี้ยกับวัดรอ ใต้วัดพระเจ้าพนัญเชิงลงไปหน่อยหนึ่ง


ข้อความเรื่องเจ้าพระยามหาอุปราชถึงแก่กรรม เข้าใจว่าไม่ได้ตีพิมพ์ครับ เพราะมีพิมพ์เฉพาะจดหมายเหตุที่ราชทูตลังกาเข้ามาใน พ.ศ.๒๒๙๔ อย่างเดียว

Sub king เป็นเจ้าต่างกรมได้หรือไม่ครับ ถ้าเป็นขุนนางระดับพระยา ทำไมถึงใช้คำระดับนี้ น่าสงสัยครับ

สำหรับเรื่องนี้ ดูจากฐานะหลายๆอย่างของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์แล้วก็น่าเป็นไปได้ครับ เท่าที่ดูจะไม่ค่อยปรากฏหลักฐานว่าเจ้าต่างกรมมีสิทธิในการบริหารบ้านเมืองสมัยนั้นมากเท่าไหร่ครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 11 ก.ย. 15, 21:14
ความตอนราชทูตไปพบเจ้าพระยามหาอุปราชที่จวน วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๒๙๔ เทีบกับภาษาอังกฤษ คห.136 นะครับ


  วันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1751 (พ.ศ. 2294) คณะทูตเข้าเฝ้า “Uva Rajjuvo” หรือ “Sub-king” ทรงประทาน หนังสือมีค่าให้ไปพร้อมกับคณะสงฆ์

   On the seventh day of the solar month Thula, being Wednesday, in the morning, two officers came and accompanied us in boats to near the palace of the Uva Rajjuruvo. There, in a two-staged octagonal hall hung with cloths of diverse kinds, among gorgeous gold worked carpets stretched on the floor,was  the sub-king himself seated on a marvellously wrought royal throne. Beautifully engraved swords of solid gold, trays and boxes of gold and silver, and various royal ornaments were placed on either side ; there was a golden curtain drawn, and on this side of it the great ministers were on their knees making obeisance. Here we were ushered in and introduced; the sub-king inquired after our welfare, and betel was handed round on trays. We were then shown some books that were not to be found in Lanka at the time ; we gazed at them in reverence, bowing our heats before the holy paper, and were graciously informed that these books and the priests would be given to us. Next a great feast of rice was served  for us and our attendants after which we received permission to withdraw.



      "ณ วันพุธที่ ๗ เดือนสุริยคติ ตุลา๖๖ (คม) เวลาเช้า ข้าราชการไทย ๒ คน เอาเรือมารับพวกทูตานุทูตไป ณ ที่แห่ง ๑ ซึ่งไม่ห่างกับจวนเจ้าพระยามหาอุปราช ที่นั่นมีหอ ๘ เหลี่ยม หลังคา ๒ ชั้น๖๗ ข้าในผูกม่านสีต่างๆ แลปูพรมลายทอง เจ้าพระยามหาอุปราชนั่งอยู่บนเตียง มีเครื่องยศตั้งอยู่ ๒ ข้างคือ ดาบฝักทอง พานทองเป็นต้น มีม่านไขอยู่ข้างหน้า หน้าม่านออกมามีข้าราชการหมอบอยู่หลายคน เจ้าพนักงานพาพวกทูตานุทูตเจ้าไปหาเจ้าพระยามหาอุปราชๆ ทักทายปราศรัยแลเลี้ยงหมากพลูแล้ว จึงให้ดูพระคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งในลังกาทวีปหาฉบับไม่ได้๖๘ บอกว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจะพระราชทานหนังสือคัมภีร์ทั้งปวงนี้ให้ออกไปกับคณะสงฆ์ ที่จะไปให้อุปสมบทในลังกาทวีป เมื่อทูตานุทูตได้กระทำนมัสการพระคัมภีร์ทั้งปวงแล้ว เจ้าพระยามหาอุปราชให้ยกสำรับคาวหวานมาเลี้ยงพวกทูตานุทูต แล้วจึงลากลับไปที่พัก"

๖๖ ตรงนี้ ตามจันทรคติควรจะเป็นเดือน ๑ หรือแรมเดือน ๑๒ ที่ทูตลังกาลงเดือนตุลาคมไว้ตรงนี้สงสัยอยู่
๖๗ พระยาโบราณราชธานินทร์สอบสวนได้ความว่า จวนเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์อยู่ที่ริมประตูจีน ที่ๆ ราชทูตลังกาไปจะเป็นสถานที่อันใด คิดยังไม่เห็น บางทีจะเป็นในจวนเจ้าพระยามหาอุปราชเองก็เป็นได้
๖๘ คัมภีร์หนังสือที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐพระราชทานไปครั้งนั้น มีคัมภีร์กรรมวาจาผูก ๑ จารึกแผ่นทองคำทำขนาดเท่าใบลาน มีกรอบทองสลักลายกุดั่น ยังอยู่ที่หอพระทันตธาตุที่เมืองศิริวัฒนบุรี จนทุกวันนี้ นอกจากนี้ ปรากฏว่าได้คัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกาออกไปจากกรุงศรีอยุธยาในคราวนั้นด้วย หนังสือคัมภีร์อื่นที่พระราชทานไปครั้งพระอุบาลีออกไป ไม่ปรากฏว่าหนังสือคัมภีร์ใดบ้าง ปรากฏในศุภอักษรซึ่งลงไว้ข้างท้ายหนังสือนี้ ว่าได้พระราชทานหนังสือออกไปกับราชทูตที่เข้ามาส่งพระอริยมุนีอีกคราว ๑ เป็นหนังสือ ๙๗ คัมภีร์ มีชื่อปรากฏอยู่ในศุภอักษรนั้นทุกคัมภีร์


หอ ๘ เหลี่ยม ในจดหมายเหตุราชทูตลังกา เดาว่าน่าจะมีรูปทางคล้ายหอพระแก้วในเมืองโบราณ ซึ่งจำลองแบบมาจากภาพสลักบานประตูตู้พระธรรมสมัยอยุทธยาครับ(ผมเคยเห็นภาพตู้ที่ว่า ดูใกล้เคียงกันครับ)

(http://images.thaiza.com/37/37_20081127143933..jpg)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 11 ก.ย. 15, 21:29
เรื่อง second sub-king เจ้าพระยามหาอุปราชที่ ๒


   คณะทูตได้เป็นแขกรับเชิญไปงานเลี้ยง โดย “the second sub-king”  และ เหล่าเสนาบดี

   After all this we were taken back to our halting-place in the evening. Eight days later, being Mondav the eighth day of the waning moon, two officers came and accompanied us to a vihare which was full of priests' houses ; here we saw a building: of three stages the tiles on the roof of which were gilt and appeared as a mass of kinihiriya flowers. In front of this were two golden dagabas ; having made our obeisance to these, we rested a short time in a hall here, after which we were invited to a two storied hall where we were received with every mark of respect by the second sub-king and several Ministers of State and were entertained with our attendants at a feast and subsequently with betel and arecanut. Then several dancers in various gold-worked costumes were brought in to sing and dance before us, after which we were taken back to our resting place.


   "ต่อมาอีก ๘ วัน ถึง ณ วันจันทร์ (เดือน ๑๑) แรม ๘ ค่ำ มีข้าราชการ ๒ คน มาพาพวกทูตานุทูตไปที่วัดอีกแห่ง ๑ วัดนี้มีกุฎีพระสงฆ์มาก พระอุโบสถหลังคา ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ๕๒ หน้าพระอุโบสถมีพระเจดีย์ปิดทอง ๒ องค์ เมื่อพวกทูตานุทูตนมัสการพระแล้วพักอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วเจ้าพนักงานมาเชิญไปยังบ้านเจ้าพระยามหาอุปราชที่ ๒ ๕๓ ๆ กับขุนนางผู้ใหญ่อีกหลายคนพากันต้อนรับเลี้ยงอาหารพวกทูตานุทูต เมื่อเลี้ยงอาหารแลกินหมากพลูเสร็จแล้ว จัดระบำอันแต่งตัวล้วนด้วยเครื่องปักทอง มาร้องแลรำให้พวกทูตานุทูตดู แล้วพวกทูตานุทูตจึงลากลับไปที่พัก"

๕๒ เห็นจะเป็นวัดบรมพุทธาราม ซึ่งราษฎรเรียกว่า วัดกระเบื้องเคลือบ เป็นวัดที่สมเด็จพระเพทราชาทรงสร้าง อยู่ในเมือง ไม่ห่างหัวแหลมนัก
๕๓ ข้าราชการผู้นี้ในจดหมายระยะทางราชทูตลังกา ฉบับภาษาอังกฤษเรียกว่า เซกันสับกิง จึงแปลว่า เจ้าพระยามหาอุปราชที่ ๒ ที่จริงคงจะเป็นพระยาพิพัฒโกษา ปลัดทูลฉลองกรมท่า พระยาพิพัฒโกษาคนนี้ ปรากฏนามในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่าเป็นบุตรเขยเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เมื่อเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ถึงอสัญกรรมแล้ว ได้เป็นที่เจ้าพระยาพระคลังต่อมา


แต่ดูจากฐานะของ second sub-king ในจดหมายเหตุราชทูตลังกาดูมีฐานะสูงส่งพอสมควร แต่ราชปลัดทูลฉลองอย่างพระยาพิพัฒโกษานั้นมีศักดินาเพียง ๑๐๐๐ นับว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับระดับเจ้ากรมหลายๆคน แม้ว่าจะเป็นลูกเขยเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ คิดว่าดูฐานะไม่สมกับที่จะเป็น second sub-king เท่าไหร่ครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 11 ก.ย. 15, 21:59
กระบวนพยุหยาตราสถลมารค ที่มี sub-king   second sub-king  และ อนุราช(Anu-raja) ๒ องค์ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรีกับเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิตครับ (ซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้ครับ เพราะเป็นพระโอรสชั้นเจ้าฟ้าที่ได้ทรงกรมเพียง ๒ พระองค์ ถ้าไม่นับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)



      จากนั้นเป็นเสนาบดี ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จในขบวน พระขรรค์ พระมงกุฏ และ เครื่องราชฯ อื่นๆ ต่อด้วย ผู้มีบรรดาศักดิ์นายทุนเจ้าของที่ดิน

   Next, walking four abreast and carrying: gold-worked flags, came a band of men holding four strings so that their order might not be disturbed. Then came a row of elephants with and without tusks, male and female, with trappings of unheard-of splendour, carrying sets of robes and the priestly necessaries and all manner of offerings. Next came two great Officers of State employed in the inner palace, with the Master of the Chariots, the Custodian of the Sword of State, two Keepers of the Crown Jewels, two Officers of the Royal Betel Box, the two Chief Officers of the Treasury, two Admirals of the Great Boats, two Masters of the Horse, two of the King's Physicians, two Officers who were in charge, the one of the stores of copper, brass, tin, timber, horns, ivory, white and red sandalwood, of the villages which produce them, and of the men employed in their service, the other of the loyal rice and betel villages, and of their tenant,—all these came on elephants holding with both hands on golden trays their offerings of robes and other necessaries as described before, each accompanied by his vassals. Behind came a host of hundreds and thousands of devotees, male and female, carrying on their heads robes and offering.

    จากนั้นมี เหล่าเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง และ ที่น่าสนใจ “the Uva Rajjuruvo” และ “the second sub-king”

    Next came the two second Anu-Rajas, carried on the necks of stalwart men in two couch-shaped thrones with a railing of irory, adorned with gold and rows of pearls, and set with magnificent gems ; above their heads were carried ten sesat, and they were followed by a host armed with the five kinds of weapons. Next, in the first of two similarly adorned thrones, was borne on the shoulders of stout warriors the Great Officer of State to whose hands are entrusted all the affairs of Siam, and who is called the Uva Rajjuruvo. Above him were carried five sesat, and behind him was a band with umbrellas and swords. In the second throne was the second sub-king carried in similar state. Next came the great state Elephant ; the whole of its body was the colour of copper, arid it was covered with full trappings of gold ; on each side of it were carried four sesat and four flags ; eight trays of gold tilled with peeled sugar cane, ripe jak, and plantains were carried for its food ; its attendants—elephants with and without tusks, male and female—followed ; on them rode men carrying: flags. A vast number of offering's to the Buddha were presented to the priests with the robes and priestly necessaries. The Siamese officers told us that by the royal command we too were to share in the merit acquired by this great Kathina Pinkama, and of all the other religious services which his illustrious majesty had ordained in his great devotion to the Triple Gem. After this we were taken back to our halting-place.




   "แล้วถึงกระบวนพลเดินเท้า เดินเป็น ๔ สาย ถือเส้นเชือกเพื่อให้คนเดินให้ได้ระยะกันทุกสาย ที่นำหน้าถือธงปักทอง๕๖ แล้วถึงกระบวนช้าง ทั้งพลายแลพัง เดินเรียงตามกันเป็นแถว ล้วนผูกเครื่องแลบรรทุกของไทยธรรมสำหรับถวายพระสงฆ์ ต่อนั้น ถึงกระบวนขุนนางขี่ช้างคือ เป็นข้าราชการตำแหน่งในกรมวัง ๒ คน แล้วตำแหน่งเจ้ากรมรถ ตำแหน่งเจ้ากรมแสง ตำแหน่งในกรมภูษามาลา ๒ คน ตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้ดูแลเครื่องราชูปโภค ๒ คน ตำแหน่งเจ้าพนักงานพระคลัง ๒ คน ตำแหน่งกรมพระคลังสวน๕๗ ๒ คน ต่อมาถึงสัปบุรุษนับด้วยร้อยแลพันทั้งชายแลหญิง ล้วนเอาผ้าไตรหรือเครื่องบริขารทูนศีรษะ๕๘ ไปในกระบวน ต่อนี้ ถึงอนุราชทั้ง ๒ พระองค์๕๙ มีข้าในกรมเชิญเครื่องตามเสด็จเป็นอันมาก ต่อมาถึงเจ้าพระยามหาอุปราช นั่งเสลี่ยงคนหามแลกั้นสัปทน มีคนถือเครื่องยศตามต่อกระบวนเจ้าพระยามหาอุปราช ถึงเจ้าพระยามหาอุปราชที่สองนั่งแคร่มีคนหามแลคนตาม ต่อนั้นถึงกระบวนพระยาช้างเผือกสีเหมือนทองแดง แต่งเครื่องทอง มีคนถือกระฉิ่งแซง ๔ คัน ธง ๔ คัน แลมีคนถือโต๊ะทองรองอ้อยแลกล้วยตาม ๘ โต๊ะ แลมีช้างพังเป็นบริวารด้วย ช้างพังนี้คนขี่ถือธงด้วย"

๕๖ ต่อนี้ในจดหมายเหตุ ว่ามีกระบวนช้างพลาย ช้างพังบรรทุกผ้าไตร แลเครื่องบริขารอีก แล้วถึงข้าราชการ บอกตำแหน่งไว้ว่า ขี่ช้างเป็นคู่ๆ กัน ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดู ตรงนี้น่าจะเป็นกระบวนเสด็จ แต่ผู้เรียงจดหมายเหตุเดิม หรือผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษจะทำไขว้เขวเสียอย่างไร ไม่ได้กล่าวว่าเสด็จทีเดียว ข้าพเจ้าจะกล่าวแต่ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุทูตลัง ขอให้ท่านผู้อ่านพิเคราะห์เอาเองเถิด ว่าที่จริงจะเป็นเพียงไร
๕๗ ขุนนางที่บอกตำแหน่งแลกล่าวเป็น ๒ คนๆ ดังนี้ ที่จริงน่าจะเป็นคู่เคียง แต่แขกผู้อธิบายจะบอกเลื่อนเปื้อน ทูตลังกาก็จะจดเลอะไปด้วย ที่น่าเห็นว่าเป็นกระบวรเสด็จพระราชดำเนินนั้น จะเห็นได้ด้วยกระบวนซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้
๕๘ กระบวนที่ว่าคนมากนี้ ที่จริงน่าจะเป็นมหาดเล็ก แต่หากพรรณาเผลอไป
๕๙ หมายความว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต พระองค์ ๑ เวลานั้นเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรนั้น ก็ยังดำรงพระชนม์อยู่ บางทีจะประชวรหรือมิฉะนั้นก็แห่เสด็จกระบวน ๑ ต่างหาก จากวังจันทรเกษม

ที่ว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรอาจจะประชวรจนไม่เสด็จกระบวนแห่ตามพระวินิจฉัยก็เป็นไปได้ครับ เพราะช่วงเวลาก็ไล่เลี่ยกับพระราชพงศาวดารว่าทรงประชวรคุดทะราดจนไม่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศถึง ๓ ปีเศษครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 11 ก.ย. 15, 22:23
second king - กรมพระราชวังบวรสถานมงคล


ในตอนพระราชพิธีจองเปรียงเดือน ๑๒ ทรงวินิจฉัยว่า second king ที่เสด็จออกด้วยน่าจะเป็นเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรครับ


The king himself, his son the prince, the second king, and the Uva Rajjuruvo came in the gilt royal barges, on which were erected alcoves with curtains and awnings of various coloured cloths ; these boats were fitted with gold and silver stands holding lighted candles of wax and sweet-scented oils; a host of noblemen followed in similarly illuminated boats.

  "(ครั้นได้เวลา) พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จโดยกระบวนเรือพร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ แลเจ้าพระยามหาอุปราช เรือที่เสด็จล้วนปิดทองมีกันยาดาดสีแลผูกม่าน ในลำเรือปักเชิงทองแลเงิน มีเทียนจุดตลอดลำ มีเรือข้าราชล้วนแต่งประทีปแห่นำตามเสด็จด้วยเป็นอันมาก"


แต่ถ้าดูจากคำภาษาอังกฤษน่าจะแยกผู้ตามเสด็จเป็น ๓ คนคือ
1.his son the prince   ทรงแปลว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ซึ่งต้องมีองค์เดียวเพราะเป็นเอกพจน์
2.the second king      ทรงแปลว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  น่าจะเป็นไปได้ เพราะเอาขึ้นก่อน Uva Rajjuruvo ที่เป็น sub-king แสดงว่าน่าจะมีศักดิ์สูงกว่า
3.the Uva Rajjuruvo   ทรงแปลว่า เจ้าพระยามหาอุปราช


แต่เพราะเป็นการแปลจากภาษาสิงหลเป็นภาษาอังกฤษก็อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ครับ บางที prince อาจจะตก s ไป เพราะอย่างไรเสีย พระราชพิธีสำคัญแบบนี้คงไม่ได้มีแค่พระเจ้าลูกเธอองค์เดียวเสด็จแน่ หรือไม่ก็อาจจะต้องการสื่อว่า his son the prince ที่เป็นโอรสองค์เดียวนี้เป็น the second king ก็เป็นได้ครับ โดยอาจจะใส่ลูกน้ำผิด


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 11 ก.ย. 15, 22:57
     "ณ วันพุธที่ ๗ เดือนสุริยคติ ตุลา๖๖ (คม) เวลาเช้า ข้าราชการไทย ๒ คน เอาเรือมารับพวกทูตานุทูตไป ณ ที่แห่ง ๑ ซึ่งไม่ห่างกับจวนเจ้าพระยามหาอุปราช ที่นั่นมีหอ ๘ เหลี่ยม หลังคา ๒ ชั้น๖๗ ข้าในผูกม่านสีต่างๆ แลปูพรมลายทอง เจ้าพระยามหาอุปราชนั่งอยู่บนเตียง มีเครื่องยศตั้งอยู่ ๒ ข้างคือ ดาบฝักทอง พานทองเป็นต้น มีม่านไขอยู่ข้างหน้า หน้าม่านออกมามีข้าราชการหมอบอยู่หลายคน เจ้าพนักงานพาพวกทูตานุทูตเจ้าไปหาเจ้าพระยามหาอุปราชๆ ทักทายปราศรัยแลเลี้ยงหมากพลูแล้ว จึงให้ดูพระคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งในลังกาทวีปหาฉบับไม่ได้๖๘ บอกว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจะพระราชทานหนังสือคัมภีร์ทั้งปวงนี้ให้ออกไปกับคณะสงฆ์ ที่จะไปให้อุปสมบทในลังกาทวีป เมื่อทูตานุทูตได้กระทำนมัสการพระคัมภีร์ทั้งปวงแล้ว เจ้าพระยามหาอุปราชให้ยกสำรับคาวหวานมาเลี้ยงพวกทูตานุทูต แล้วจึงลากลับไปที่พัก"

หอ ๘ เหลี่ยม ในจดหมายเหตุราชทูตลังกา เดาว่าน่าจะมีรูปทางคล้ายหอพระแก้วในเมืองโบราณ ซึ่งจำลองแบบมาจากภาพสลักบานประตูตู้พระธรรมสมัยอยุทธยาครับ(ผมเคยเห็นภาพตู้ที่ว่า ดูใกล้เคียงกันครับ)

(http://images.thaiza.com/37/37_20081127143933..jpg)



ภาพแกะสลักรูปอาคาร ๘ เหลี่ยม(กลางล่าง)บนประตูตู้พระธรรมสมัยอยุทธยาครับ เข้าใจว่าตู้ใบนี้เป็นต้นแบบของหอพระแก้ว เมืองโบราณ
ที่มาภาพ ฐานข้อมูลภาพ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล(http://www.thapra.lib.su.ac.th/supat/slide/ (http://www.thapra.lib.su.ac.th/supat/slide/))

(http://www.era.su.ac.th/supat/slide/SL1011_0847.jpg)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 15, 19:46
ยังติดตามกระทู้นี้อยู่    เป็นอันว่ากวีนิรนามคนนั้นตกอันดับไปแล้ว    เรากำลังสนใจการเมืองในสมัยพระเจ้าบรมโกศแทน
ความอ่อนแอของกรุงศรีอยุธยาสะสมกันมาเป็นสิบๆปี   เหมือนคลื่นที่ซัดตลิ่งพังลงไปทีละน้อย   พอเจอคลื่นใหญ่จากพม่าเข้า ก็เลยล้มครืน


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 17 ก.ย. 15, 06:37
ยังติดตามกระทู้นี้อยู่    เป็นอันว่ากวีนิรนามคนนั้นตกอันดับไปแล้ว    เรากำลังสนใจการเมืองในสมัยพระเจ้าบรมโกศแทน
ความอ่อนแอของกรุงศรีอยุธยาสะสมกันมาเป็นสิบๆปี   เหมือนคลื่นที่ซัดตลิ่งพังลงไปทีละน้อย   พอเจอคลื่นใหญ่จากพม่าเข้า ก็เลยล้มครืน


กวีนิรนามยังไม่จบครับ กำลังจะให้เหตุผลว่า ทำไมเจ้าฟ้ากุ้งจึงจำเป็นต้อง
อ้างบ่อย ๆ ว่าตนเองเป็นวังหน้า ในข้อความแทรกของวรรณกรรมต่างๆ

ตั้งแต่ได้รับการสถาปนา จนถึงช่วงนี้ ที่คณะทูตลังกาเข้ามา
ในทางบริหารราชการ ผู้ที่มึบทบาทบริหารราชการรองจากพระเจ้าแผ่นดินคือ
เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ที่โกษาธิบดี หรือเป็นเจ้าพระยามหาอุปราช ที่ทูตเรียก
ยังมีเจ้าพระยามหาอุปราชองค์ทึ่สองที่ อาจเป็นสมุหนายก ที่มีบทบาทรองลงมา
เป็นการเกาะกลุ่มอำนาจของขุนนาง รวมทั้งเจ้าพระยาพิษณุโลกที่เป็นกลุ่มเครือญาติ
การเกาะกลุ่มเครือข่ายขุนนางที่แข็งแรงนี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขนานกับ
ปัญหาในการสืบราชสมบัติที่มีมาทุกสมัย

บรรดาพระราชโอรสเองต้องแย่งกันขึ้นสืบทอดราชสมบัติให้ได้
กลุ่มขุนนางที่แข็งแรงมีความจงรักภักดีในตัวกษัตริย์และทายาทที่ถูกเลือก
ในสภาวการณ์ที่ผู้สืบทอดอำนาจไม่ได้รับความไว้วางใจอย่างเด่นชัด
เป็นธรรมชาติที่พระราชโอรสจะแตกแยกเป็นฝ่าย และหาทางประหัติประหารกันเอง
อีกฝ่ายรู้ตัวชัดเจนว่าจะถูกกำจัดถ้าไม่ได้อำนาจ

เจ้าฟ้ากุ้ง เองไม่ได้มีบทบาทในทางปกครองอะไรเลย จำเป็นที่จะต้อง
อ้างถึงการเป็นวังหน้าของพระองค์ เพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบเมื่อเกิดการถ่ายโอนอำนาจ

ในบันทึกภาษาอังกฤษของทูตลังกา มีเชิงอรรถที่ไม่ได้แปลในฉบับภาษาไทยเอาไว้
หลังจากเรือโดยสารของคณะเจ้าคุณอุบาลีล่มที่เมืองนคร จำเป็นต้องเดินทางกลับอยุธยา
ในเวลาไล่เลี่ยกันสมเด็จเจ้าพระยามหาอุปราชก็สิ้นพอดี
พระเจ้าบรมโกศต้องเป็นธุระในการส่งคณะสงฆ์ไปใหม่ด้วยพระองค์เอง

ต่อจากนั้นเราก็ทราบว่าเจ้าฟ้ากุ้งเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง
เครือข่ายขุนนางต้องปรับตัวเพื่อปกป้องตนเอง
เมื่อสิ้นรัชกาลพระโอรสฆ่ากันเอง ผู้ได้อำนาจไม่เคยได้รับการฝึกให้ครองบัลลังก์
อยุธยาก็นับถอยหลังรอวันแยกออกเป็นก๊กต่างๆ ก่อนพม่าจะบุกเข้ามา

รายละเอียดสนับสนุนจะตามมาต่อไปครับ พอดีข่วงนี้ เด็กสอบครับ





กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 17 ก.ย. 15, 16:46

จากจดหมายเหตุของคณะทูตลังกาที่จดรายละเอียดต่างๆไว้พอสมควร เราจะเห็นได้ว่า
ในสมัยของพระเจ้าบรมโกศนั้น ไม่ได้ผูกขาดความเป็นเจ้าไว้เฉพาะเชื้อสายของพระองค์
แต่มอบความเป็นเจ้าให้แก่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่วางพระทัยด้วย
ขุนนางที่มาจากสามัญชนเหล่านี้ได้นำความเป็นเจ้าลงมาใกล้ชิดพลเมืองมากยื่งขึ้น

ดังนั้นตำแหน่งวังหน้าของเจ้าฟ้ากุ้งจึงไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนในรัชกาลอื่นๆ อีกทั้งยังถูกบดบังโดย
บทบาทของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถอย่างเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ที่เป็นนักปกครองและเป็นนักรบเก่าด้วย
เมื่อเจ้าพระยาชำนาญถึงแก่อนิจกรรม พระเจ้าบรมโกศที่ทรงชราภาพแล้วยังต้องลงมาเป็นธุระจัดการเรื่องต่างๆ ด้วยพระองค์เอง
เช่น ส่งคณะสงฆ์ออกไปใหม่ ไม่ได้ไว้วางใจให้พระราชโอรสองค์ใดจัดการแต่ประการใด

การที่จะเตือนผู้คนให้ยังนึกถึงว่าใครเป็นวังหน้าอยู่ จะหาพื้นที่โฆษณาได้ง่ายถ้าพ่วงวรรณกรรมที่นำมาแสดงซ้ำในโอกาสต่างๆได้
มีบันทึกชัดเจนว่าในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ชาวบ้าน ชาวเมือง พลเมืองในทุกระดับมีส่วนร่วมในพระราชพิธีต่างๆอย่างหนาแน่น
ในงานบุญที่คณะทูตแวะตามหัวเมืองต่างๆ บางกอก ตลาดขวัญ พระบาทมีชาวบ้านเข้าร่วมกันอย่างแน่นหนาทุกแห่ง
 
การมองว่าพระราชพิธีต่างๆนั้นผู้มีส่วนร่วมมีเฉพาะชาววังตามมุมมองของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นการจำกัดมุมมองแยกชาววังออกจากชาวบ้าน
ในผู้ตามขบวนช้างในพิธีแห่ผ้าพระกฐิน ก็มีข้าราชบริพาร ทั้งชายและหญิง ไม่ใช่เฉพาะมหาดเล็กตามคำวินิจฉัยของสมเด็จฯ

เพื่อแย่งชิงความได้เปรียบในเวลาที่ต้องแย่งชิงอำนาจภายภาคหน้า
คำโฆษณาสำนักพิมพ์เจ้าฟ้ากุ้งจึงถูกแทรกเข้ามาโดยมีเป้าหมายให้มวลชนได้ทราบถึงสรรพคุณโดยทั่วกัน
ไม่ได้จำเพาะแต่ในวงแคบๆ หน้าพระที่นั่งแต่ประการใดครับ

ต่อไปเราจะดูร่องรอยของการแทรก แบบ"ไม่เนียน" ในทุกแห่งที่มีตราสำนักพิมพ์เจ้าฟ้ากุ้งครับ

อาจเริ่มที่ จารึกอักษรขุดปรอท กันก่อน

คุณศรีสรรเพชญ์ หรือท่านอื่นๆ จะเริ่มจับข้อพิรุธกันก่อนก็ได้เลยนะครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 18 ก.ย. 15, 16:09

  ขอแทรกจดหมายเหตุทูตลังกา ในตอนท้ายๆ ก่อนครับ

   หลังจากเหตุเรือรั่วที่เมืองนคร ในกลางปี พ.ศ. 2395  คณะสงฆ์ไทยกลับมาอยุธยาอีกครั้ง ได้ทราบว่าเรือบรรทุกเครื่องบรรณาการสยามลำหนึ่งอับปางลงด้วย เรือลำอื่นๆอีกสี่ลำในกองเรือถูกพายุไซโคลนทำลาย อีกทั้งเจ้าพระยามหาอุปราชได้ถึงแก่อนิจกรรมลง พระเจ้าบรมโกศทรงวิตกกังวลและทรงเป็นธุระในการจัดส่งคณะสงฆ์ไปใหม่

  At last, on Wednesday, the third day of the increasing moon of the month Esala, in the Saka 1674, they arrived at the Siamese capital a second time, and were received in audience by the king. He addressed himself most graciously to the writer, and bade him not to be disheartened at his misfortune, as the king had given orders that everything should be arranged for his return journey. It is interesting to note that the word put into the king's mouth in addressing Wilbagedara is :
   Their return, however, was still to be delayed. One of the king's great ships with a valuable cargo, including elephants, was lost on a voyage to Sinnapattanam, only seven or eight of the crew escaping in a boat ; moreover, four ships riding at anchor in the harbour were destroyed by a cyclone ; and to crown all, the sub-king himself died shortly after. The king accordingly hesitated about sending the priests to Lanka in such a year of disaster, and consulted Wilbagedara, who sent the following reply :— “I, too, am in great distress at the misfortunes that have occurred ; but the uncertainty of the future, grief, and death are no new thing in our world of sorrow; herefore should you hasten to fructify your desire to spread the knowledge of the one thing that is certain, the preaching of the Lord."

  ในที่สุด ได้อาศัยเรือฮอลันดานำส่งคณะพระสงฆ์และผู้ติดตามไปปัตตาเวียและโดยสารเรือใหญ่ต่อไปศรีลังกา ถึงโดยสวัสดิภาพใน เดือนเมษายน พ.ศ. 2396
 
  This dream was the harbinger of happy news. The following morning two ship captains named Nicholas Bath and Martino appeared, and with many declarations of their being the humble and loyal servants of their majesties of Siam and Lanka, placed their new ship the “ Cecilia” at the service of the Sinhalese ambassador. This offer was joyfully accepted ; and on Sunday the third day of the waning moon of the month Duruta, the priests and the Siamese mission of seventy-four souls, including the five ambassadors, their interpreters, clerk ( samiyen ), Arachchies, (nun), "appus" ( thanei ), soldiers, two massageurs, musicians, and attendent boys proceeded on board. After an uneventful voyage they reached Batavia, where they were hospitably received by the Dutch general, who presented them with various articles, including three guns. Here they transshipped into a larger vessel, the " Oscabel," in which they reached Trincomalee on Monday, the thirteenth day of the increasing moon of the month Wesak, in the Saka year 1675.

 ข้อความตอนท้ายฉบับแปล “ในบรรดาข้อความที่บันทึกไว้เหล่านี้ เราได้ละเว้นแล้วที่จะกล่าวถึงสิ่งที่ไม่น่าเชื่อที่เราได้พบเห็นมา”

  Addendum.—As some discussion has arisen on the statement contained in paragraph 2, page 13, I add the literal translation of the passage kindly supplied to me by Mr. W. H. Ranesinghe:
    " Although we wrote them, many things were omitted from what was related to us and from what we saw, which seemed to be incredible"

  สำนวนเหมือนมาร์โคโปโล บรรยายสิ่งมหัศจรรย์ ที่พบเห็นในราชสำนักกุบไลข่าน ครับ



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 18 ก.ย. 15, 18:13
ศักราชน่าจะเป็น พ.ศ.2295 รึเปล่าครับ ถึงจะใกล้เคียงกับพงศาวดารที่ว่าเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ถึงแก่กรรมหลังจากทูตเข้ามาไม่นานใน จ.ศ.1115(พ.ศ.2296)  เพราะ พ.ศ.2395 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔ แล้วครับ

ดูจากศักราชในภาษาอังกฤษว่าเป็น 1674 เข้าใจว่าเป็นมหาศักราช เอา 621 บวกก็จะได้ 2295 ครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 18 ก.ย. 15, 19:48

ขออภัย บวกเลขผิด 2295
ตามคุณศรีสรรเพชญ์ท้วง ขอบคุณครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 18 ก.ย. 15, 20:05

ตรงกับ จ.ศ. 1115 เพราะเลยวันเถลิงศกแล้ว


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 20 ก.ย. 15, 13:50

ตำแหน่งวังหน้าของอยุธยาจากแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา
กว่าจะได้สมบัติก็ต้องแย่งชิงมาด้วยกำลังทั้งนั้นครับ

เจ้าฟ้ากุ้งเองก็ไม่น่าจะแน่พระทัยได้ว่าจะมีโอกาสสืบบัลลังก์หรือไม่
เพราะไม่ได้เป็นที่โปรดปรานอะไร ขุนนางเก่งๆที่ค้ำบัลลังก์อยู่ก็น่าเกรงใจ

เพื่อเพิ่มความซับซ้อนให้แก่ท้องเรื่องเข้าไปอีก
 ในปี พ.ศ. 2292 กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ก็ยังดำรงพระชนม์อยู่ในเพศฆราวาส มีสถานะสูงกว่ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี




กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 22 ก.ย. 15, 12:08

ตรงนี้ผมขออนุญาต รวบรวมเหตุการณ์ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ
อ้างอิงตาม พงศาวดารฯ ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) เป็นส่วนใหญ่ครับ

2249 พระเจ้าเสือทรงประชวร มณฑปวัดมงคลบพิตรหักพัง ได้ช้างเผือกพระบรมไตรจักร
         ให้พระเชษฐาออกจากจองจำแล้วตั้งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
         หลังจากนั้นให้พระอนุชาออกจากเรือนจำ
2252  พระเจ้าเสือประชวรสวรรคต (พระชนม์ 47 พรรษา)
         กรมพระราชวังบวรขึ้นครองราชย์เป็นพระที่นั่งท้ายสระ (พระชนม์ 31 พรรษา)
         ตั้งพระอนุชาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระชนม์ 28 พรรษา)
2254 พระเจ้าท้ายสระส่งกองทัพไปกัมพูชา
        กองทัพบกเจ้าพระยาจักรีชนะเขมรที่เมืองอุดงมีชัย
        กองทัพเรือเจ้าพระยาโกษาจีนแพ้ญวนที่บันทายมาศ
        ทรงโปรดให้สร้างตำหนักริมบ่อน้ำวัดมเหยงค์ กรมพระราชวังบวรบูรณะวัดกุฏีดาว
2264 ขุดคลองโคกคาม ปูนบำเหน็จพระยาราชสงคราม 
        เกิดเหตุช้างทรงกรมพระราชวังแทงหลังช้างทรงพระเจ้าท้ายสระ
        ทรงให้ต่อเรือกำปั่นไปขายช้างที่เมืองมะริด กรมหลวงโยธาทิพย์นฤพาน
2271 พระยาราชสงครามย้ายพระพุทธไสยาศน์ วัดป่าโมกข์สำเร็จ
2275 เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ทรงผนวช 
        พระเจ้าท้ายสระทรงประชวรมอบสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย
        เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศร์ รบแพ้กรมพระราชวังบวร
        ประหารเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาโกษาธิบดี       
2275  พระเจ้าบรมโกศขึ้นครองราชย์ (พระชนม์ 52 พรรษา)
         ตั้งเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดี
         ตั้งพระยาสุรศรีว่าที่จักรี ตั้งพระยาราชสงครามว่าที่กลาโหม
         ตั้งกรมหลวงอภัยนุชิต กรมหลวงพิพิธมนตรี
         ตั้งเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์เป็นกรมหลวงเสนาพิทักษ์  (พระชนม์ 27 พรรษา)
         เจ้าฟ้าเอกทัศน์เป็นกรมหลวงอนุรักษ์มนตรี (พระชนม์ 23 พรรษา)
         เจ้าฟ้าดอกเดื่อ เป็นกรมหลวงพรพินิจ
         พระองค์เจ้าแขกเป็นกรมหมื่นเทพพิพิทธ
         พระองค์เจ้ามังคุดเป็นกรมหมื่นจิตรสุนทร
         พระองค์เจ้ารถเป็นกรมหมื่นสุนทรเทพ
         พระองค์เจ้าปานเป็นกรมหมื่นเสพภักดี
2276 ให้เจ้ากรมหมื่นอินทรภักดี และ พระยากลาโหม เป็นแม่กลองคล้องช้างให้พระราชโอรสทอดพระเนตร
2277 ปราบกบฏจีนนายไก้
        พระยากลาโหมบูรณะพระที่นั่งศรีสรรเพชญ์ปราสาท
        กรมหลวงราชานุรัตน์ปฏิสังขรณ์วิหารวัดเทพจันทร์
        เจ้าคุณข้างในหุ้มทองปลียอดพระมหาธาตุเมืองนคร
2278 กรมขุนเสนาพิทักษ์ (พระชนม์ 30 พรรษา) ลอบทำร้ายกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์
       กรมหลวงอภัยนุชิตช่วยให้หลบไปออกบวช ณ วัดโคกแสง 
       นักพระแก้วฟ้าถวายช้างเผือก พระวิเชียร 
       เจ้ากรมหลวงโยธาเทพประชวรนฤพาน
2279 ปีที่ระบุว่า เจ้าฟ้ากุ้งทรงแต่งนันโทปนันทสูตรคำหลวงภาคภาษาไทย
2280 ปีที่ระบุว่า เจ้าฟ้ากุ้งทรงแต่งพระมาลัยคำหลวง
       เจ้ากรมหลวงอภัยนุชิตนฤพาน
       กรมขุนเสนาพิทักษ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลาผนวช (พระชนม์ 32 พรรษา)
2282 เสด็จสมโภชน์พระพุทธบาท พระพุทธชินราช
2284 สถาปนากรมขุนเสนาพิทักษ์เป็นกรมพระราชวังบวร (พระชนม์ 36 พรรษา)
        ให้เป็นแม่กองบูรณะวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดมงคลบพิตร วัดพระราม
        พระยาอภัยภักดีถึงแก่กรรม ให้พระยาราชภักดีว่าที่สมุหนายกด้วย
        ได้ช้างพระบรมนาเคนทร์ พระบรมวิชัย พระบรมจักรพาฬ พระบรมกุญชร 
        มอญหนีเข้ามาพึ่งพระบนมโพธิสมภาร
2285 ตั้งพระยาไชยาธิเบศร์ ให้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช
2287 เพลิงไหม้วังหน้า พระเจ้าบรมโกศเสด็จมาประทัพวังหลวง
        คณะทูตพม่าเข้ามาถือธรรมเนียมไม่ไหว้คณะอัครเสนาบดีก่อนถวายบังคมฯ
2289 ได้ช้างเมืองนครศรีธรรมราช คาดโทษเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ 
        มอญหนีเข้ามาอยู่บ้านโพธิ์สามต้น
2290 ตั้งกองร่อนทองบางสะพาน
        ปีที่ระบุว่า เจ้าฟ้ากุ้งทรงแต่งจารึกชุดอักษรขอมขุดปรอท (พระชนม์ 42 พรรษา)
2292 กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ และ กรมขุนอนุรักษ์มนตรีทรงผนวช วัดพรมกัลยาราม
2293 พระราชดำเนินสมโภชพระพุทธบาท
        กรมหมื่นอินทรภักดีถึงแก่พิราลัย
        สมิงทอหนีเข้ามาพึ่ง มอญค่ายโพธ์สามต้นหนีทัพ 
        พระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพไปปราบเขมร
2294 เนรเทศสมิงทอไปเมืองกวางตุ้ง
        ออกพระราชกำหนดการฟ้องร้องในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระชนม์ 46 พรรษา)
2295 คณะทูตลังกาเข้ามาทูลขอคณะสงฆ์ไปสืบพระพุทธศาสนา
        ส่งคณะสงฆ์ชุดแรกออกลังกา เรือรั่วไปติดอยู่เมืองนครศรีธรรมราช
        กองเรือสำเภาในมหาสมุทรอินเดียถูกพายุพัดเสียหาย
        โปรดให้ทำบานมุกประตูพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม
2296 เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ถึงแก่อนิจกรรม
        ส่งคณะสงฆ์พระอุบาลีไปลังกาใหม่
2297 ให้กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ ไปล้อมช้าง เมืองลพบุรี
2298 เสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระนอนจักรศรี
        ปฏิสังขรณ์วัดพระคันกุฏี
        เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ถูกลงพระราชอาญาสิ้นพระชนม์
2299 กรมหมื่นเทพพิพิทธ และ เจ้าพระยาอภัยราขาทูลเสนอให้กรมขุนพรพินิจเป็นกรมพระราชวังบวร
2301 พระเจ้าบรมโกศสรรคต (พระชนม์ 78 พรรษา)
        พระเจ้าอุทุมพรขึ้นครองราชสมบัติ
        ประหารเจ้าสามกรม
        พระเจ้าเอกทัศน์ยึดอำนาจ (พระชนม์ 49 พรรษา) 



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 22 ก.ย. 15, 12:26
2292 กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ทรงผนวช???

ข้อมูลนี้มาจากไหนหรือครับ?


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 22 ก.ย. 15, 17:26

ข้อมูลจากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษย์วิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ครับ

จารึกวัดใหม่ศรีโพธิ์ ด้านที่ ๑

ศุภมัสดุ  พระพทธศักราช  ๒๒๙๒ พระวัสสา มีพระอาจารย์องค์หนึ่ง มาแต่ปากใต้ ได้บําเพ็ญธุระ
ทั้งสองฝ่ายเป็นประธาน กับท้าวพรหมกันดาลมาพิจารณาเห็นที่นี้ย้งมิได้เป็นขอบคันอาราม
ทําแต่พระอุโบสถไว้ แล้วไปด้วยไม้ไผ่ ท้าวพรหมกันดาลว่าเล็กนัก ไมจิรังถาวร
มีใจเลื่อมใสศรัทธา จะให้มั่นคงตราบเท่าถ้วน ๕๐๐๐ พระวัสสา
จึงกราบทูลพระกรุณาขอซื้อที่ขึ้นอีก ยาว ๑๐    กว้าง ๗ วา  
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานที่ให้
และท้าวพรหมกันดาลจึงตั้งนายนากเป็นคนมีศรัทธาวิริยะไว้เป็นนายกองทําการ
แลได้ก่อรากพระอุโบสถ ณ วัน ๑ ฯ๘  ๔ คํ่า ปีมะเส็งเอกศกเพลา ๗ ชั้น
 ถึง ณ วัน  ๕  ๑๕ฯ ๑๐ คํ่า  เวลา ๕ ทุ่ม พร้อมด้วยสัปปุรุษ  
เชิญเสด็จพระราชโอรสาทรงพระผนวชกรมขุนสุเรนทราพิทักษ์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี   
พระมงคลเทพเป็นประธาน ชุมนุมพระสงฆ์ ๓๐ รูป เป็นคณะปรก ผูกพัทธเสมา


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ย. 15, 20:21
ติดตามอ่านตลอดครับ ถึงอกถึงใจแท้ทุกท่านเลย


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 22 ก.ย. 15, 22:35
หลักฐานชัดแจ้งครับ น่าสนใจมาก


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 23 ก.ย. 15, 08:58
ติดตามอ่านตลอดครับ ถึงอกถึงใจแท้ทุกท่านเลย

^ Shane, Come Back !!!  ;D


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 23 ก.ย. 15, 12:00

  การแต่งข้อความโดยระบุผู้แต่ง น่าจะมีเหตุผลจูงใจที่พิจารณาได้จากสภาพแวดล้อมในขณะนั้นครับ

  ขอตัดกลับไปที่ กำสรวลสมุทร สักเล็กน้อยครับ ท่าน"หนึ่งน้อย" ผู้รวบรวมเขียนไว้ว่า

        กำสรวลศรีปราชญ์ร้าง              แรมสมร
      เสาะแต่ปางนคร                      ล่มแล้ว
      ไป่พบไป่พานกลอน                  โคลงท่าน จบแฮ
      จวบแต่ต้นปลายแคล้ว                หนึ่งน้อยยืมถวาย

  เราเข้าใจได้ว่าท่าน"หนึ่งน้อย" รวบรวมและคัดลอก อาจตรวจทานปรับแก้ตัวสะกดบ้าง และไม่ได้แต่งเพิ่มใจความอื่นเข้าไปแต่อย่างใด
  กำสรวลสมุทรเวอร์ชันปัจจุบัน มาจากที่ท่านหนึ่งน้อยได้รวบรวม ตามที่หลายๆท่านได้กรุณากล่าวมาแล้ว ครับ

  จาก ตู้หนังสือเรือนไทย

   ศรีสิทธิวิวิทธบวร นครควรชํ ไกรพํรหรงงสรรค สวรรคแต่งแต้ม แย้มพื้นแผ่นพสุธา
   มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานี บูรียรมยเมืองมิ่ง แล้วแฮ ราเมศไท้ท้าวต้งง แต่งเอง ฯ       

        อยุทธยายศยิ่งฟ้า      ลงดิน แลฤา   
    อำนาถบุญเพรงพระ       ก่อเกื้อ     
    เจดีลอออินทร             ปราสาท     
    ในทาบทองแล้วเนื้อ       นอกโสรม ฯ   

       อยุทธยายศโยกฟ้า      ฟากดิน     
    ผาดดินพิภพดยว           ดอกฟ้า     
    แสนโกฎบยลยิน           หยาดเยื่อ   
    ไตรรัตนเรืองรุ่งหล้า        หลากสวรรค์ ฯ

       อยุทธยาไพโรชไต้      ตรีบูร     
    ทวารรุจิรยงหอ             สรหล้าย     
    อยุทธยายิ่งแมนสูร         สุระโลก รงงแฮ     
    ถนัดดุจสวรรคคล้ายคล้าย      แก่ตา ฯ   
   
     ตามการให้เหตุผลของ ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร จากจารึก และ เอกสารโบราณต่างๆ
ก่อน รัชสมัยพระมหาธรรมราชา ชื่อของเมืองเขียนว่า อโยธยา หรือ อโยทยา
หลังจากนั้น ชื่อของเมืองเปลี่ยนเป็น อยุทธยา หรือ อยุทยา
สมัยรัตโกสินทร์แก้ชื่อเป็น อยุธยา

    ดังนั้น กำสรวลสมุทร เวอร์ชันที่ท่านหนึ่งน้อยได้มาจึงน่าจะมีการแต่งแก้ไขภายหลัง ปี พ.ศ. ๒๑๑๒
ซึ่งไม่อยู่ในยุคของกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (แต่ก็เป็นไปได้ที่ ร่าย และ โคลง หลายส่วน อาจเป็นของเก่าจริง)

   


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 23 ก.ย. 15, 12:23

  จากจารึกชุดอักษรขอมขุดปรอท

         วันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๓ พระพุทธศักราช ๒๒๙๐ จุลศักราช ๑๑๐๙ ปีเถาะ นพศก
    สมเด็จพระราชโอรสาธิราชเจ้า ทรงพระนามเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐา สุริยวงษ์
    ได้เสวยราชย์พระราชวังบวรสถานมงคล ทรงแต่งแม่อักษรขอมขุดปรอทนี้ไว้สำหรับพระพุทธศาสนา

  
    ปี พ.ศ. 2290 เจ้าฟ้ากุ้งผู้โปรดให้จารึกฯ ยึดมั่นที่จะออกพระนามเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐา สุริยวงษ์
และตำแหน่งพระราชวังบวรสถานมงคล อย่างเหนียวแน่นและเป็นแบบเดียวกันกับ ที่ใช้ใน นันโทปนันทสูตรคำหลวง และ กาพย์ห่อโคลง
    
    ตรงนี้ผมขอเสนอเล่นๆว่า ชื่อตัวของเจ้าฟ้ากุ้งคือ เจ้าฟ้าไชย ครับ
    สุริยวงศ์ เป็นเชื้อสายพระราม สุริยวงศ์ แห่งอโยธยา  
    พระเจ้าปราสาททองและพระเจ้าแผ่นดินต่อๆมา ดูค่อนข้างที่จะนิยมในพระไชยราชาเป็นมาก และใช้เป็นแบบอย่างหลายครั้งครับ
    พระโอรสองค์โตของพระเจ้าปราสาททองชื่อ เจ้าฟ้าไชย
    ทรงบูรณะวัดชีเชียง ที่สร้างโดยพระไชยราชา (วัดชีเชียง อยู่ที่ ... ?)

    นอกเรื่องไปเยอะ เดี๋ยวหมดเวลาก่อน
    ต่อไปขออนุญาต ไปดูร่องรอยของการแต่งแทรกในกาพย์ห่อโคลงกันก่อนครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 15, 14:36
I beg your pardon .


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 23 ก.ย. 15, 16:14

Please stay tuned !!   ;D


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 23 ก.ย. 15, 16:58

ถ้าไม่คิดมาก ผู้แต่งกำสรวลสมุทร ชื่อ "ท้าวตั้ง" ครับ  ;D

   ศรีสิทธิวิวิทธบวร นครควรชํ ไกรพํรหรงงสรรค สวรรคแต่งแต้ม แย้มพื้นแผ่นพสุธา
   มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานี บูรียรมยเมืองมิ่ง แล้วแฮ ราเมศไท้ท้าวต้งง แต่งเอง ฯ

เรากลับมาดูกาพย์ห่อโคลงกันอีกครั้งครับ

จาก th.wikipedia.org

กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง

    ๑ เกลื่อนกรูหมู่จัตุรงค์ เปนกันกงเรียบเรียงไป
       ทรงช้างระวางใน เทพลีลาหลังคาทอง ฯ
      
            เกลื่อนกรูหมู่แห่ห้อม เรียงไสว
       เสด็จพุดตานทองไคล     หว่างเขรื้อง
       ทรงช้างระวางใน           มีชื่อ
       เทพลีลาเยื้อง              ย่างแหน้หลังดี ฯ

   ๒ เครื่องสูงเพราเพริศพราย ชมชุมสายซ้ายขวาเคียง
      ธงไชยธงฉานเรียง ปี่กลองชนะตะเต่องครึมฯ

           กลองทองตีครุ่มครึ้ม เดิรเรียง
       จ่าตะเติงเติงเสียง        ครุ่มครื้น
       เสียงปี่รี่เรื่อยเพียง        กระเวก
       แตร้นแตร่นแตรฝรั่งขึ้น   หวู่หวู้เสียงสังข์ ฯ

  มีกาพย์ สลับกับโคลงเนื้อความเป็นคู่ไปตลอด
  ท่านเที่ยวเล่น ชมสัตว์ ชมนก ชมไม้ไปเรื่อยๆ
  จนถึง คู่ที่ 107

๑๐๗ จบเสร็จชมนกไม้ ในแหล่งไพรพนัศสถาน
       หญิงชายฟังสำราญ ที่ผิดอ่านวานแต้มเขียน ฯ

          จบเสร็จชมนกไม้    โคลงการ
    ชมแหล่งไพรพนัศสถาน  เถื่อนกว้าง
    หญิงชายชื่นชมบาน       ใจโลกย์
    ใคร่อ่านวานเติมบ้าง       ช่วยแต้มเขียนลง ฯ

แล้วถ้าต่อด้วยโคลงสองบทปิดท้าย :
    
       อักษรเรียบร้อยถ้อย    คำเพราะ
     ผู้รู้อ่านสารเสนาะ         เรื่อยหรี้
     บ่รู้อ่านไม่เหมาะ          ตรงเทิ่งไปนา
     ทำให้โคลงทั้งนี้          ชั่วช้าเสียไป
       อักษรสรรค์สร้างช่าง   ชุบจาน
     โคลงก็เพราะเสนาะสาร  แต่งไว้
      ผู้รู้อ่านกลอนการ        พาชื่น ใจนา
      ผู้บ่รู้อ่านให้              ขัดข้องเสียโคลง ฯ


ก็น่าที่จะจบได้ใจความสมบูรณ์

แต่จาก wikipedia บอกว่า มีกาพย์ 108 บท มีโคลง 113 บท
ปรากฏว่า มีโคลงเกินมากว่ากาพย์ 5 บท
เกินตรงไหนครับ ?

   ๑๐๘ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร
        แต่งไว้ให้สถิตเสถียร จำเนียรกาลนานสืบไป ฯ

           เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เจ้า ทรงเขียน
         ไชยเชษฐสุริย์วงศ์เพียร เลิศหล้า
         แต่งไว้ให้สถิตเสถียร ในโลกย์
         จำเนียรกาลนานช้า อ่านอ้างสรรเสริญ ฯ
  
   ๑๐๙   เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช   กุมาร
          ธรรม์ ธำรงกลอนการ    ยั่วแย้ม
          ธิเบศร์ วราสถาน        ไชยเชษฐ
          สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม แต่งไว้วานสงวน ฯ
          
            เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ      สมพาร
          กรมขุน หลวงพญากราน กราบเกล้า
          เสนา นราบาน            ใจชื่น ชมนา
          พิทักษ์ รักษาเช้า         ค่ำด้วยใจเกษม ฯ

             จบ จนจอมโลกย์เจ้า  คืนวัง
           บ พิตรสถิตบัลลังก์      เลิศหล้า
           ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง   ชนโลก อ่านนา
           บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า  ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ


  กาพย์ห่อโคลง คู่ 108 เหมือนกับแทรกอยู่ผิดที่
  จาก 109 เป็นโคลงที่เกินมาอีก 3 บท เป็นโฆษณาชื่อ producer ตอนหนังจะจบ

   คู่ก่อน 107 ยังเป็น ชมนาง อยู่ที่พักกลางป่าอยู่เลยครับ
   แต่หลังจาก credit ขึ้นท้ายเรื่อง ท่านให้จบบริบูรณ์ที่ จบจนจอมโลกย์เจ้าคืนวัง เลย
   จบแบบหักมุมกันดื้อๆเลย

   คนดูหนังไม่รู้เรื่องอย่างผม (เรียนน้อย) ค่อนข้างแปลกใจครับ
   ท่านกะจะแต่งกาพย์ห่อโคลงให้เป็นตัวอย่าง ตอนโฆษณา credit ท้ายเรื่อง กลับตัดต่อแบบไม่เข้าพวก
   แต่งโคลงเกินมาอีกสามบท
  
   แถม credit เดียวกันนี้ ถูกนำไปแปะไว้ที่ นิราศธารโศก แบบไม่เข้าพวกเหมือนกันครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 15, 21:03
sap lie der.


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 24 ก.ย. 15, 07:20
เรื่องชื่อ อยุทธยา (อาจจะสะกดแปลกไปบ้าง) ในสมัยพระมหาธรรมราชามีปรากฏแล้วครับ ในพระราชสาส์นที่ส่งไปต้าหมิง ส่วนคำว่า อโยธยา ก็ยังพอมีให้เห็นบ้างในสมัยหลังๆ

คำว่าอยุทธยาปรากฏใช้ต่อเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ครับ หนังสือที่พิมพ์สมัยรัชกาลที่ ๕ ยังพบอยู่เยอะครับ จะเปลี่ยนเป็น อยุธยา ตอนไหนผมไม่แน่ใจ แต่เดาว่าน่าจะราวๆสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่มีการเริ่มใช้นามสกุล ณ อยุธยา  เรื่องนี้อาจจะต้องให้คุณ V_mee มาช่วยค้นครับ

ส่วนเรื่องผู้รวบรวม เข้าใจว่าน่าจะรวบรวมมาหลังจากกรุงศรีอยุทธยาล่มสลายใน พ.ศ.๒๓๑๐ มากกว่าครับ  อิงจากบาท "เสาะแต่ปางนคร   ล่มแล้ว"

ตอนนี้ผมอยู่ต่างประเทศ ยังอธิบายอะไรไม่สะดวก เดี๋ยวกลับมาแล้วจะมาเสริมคุณ Koratian ครับ




กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 26 ก.ย. 15, 15:00
พระสาส์นสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ที่ส่งไปเมืองจีนในพ.ศ.๒๑๒๒ เขียนว่า 'พระนคอนสียุดทยา' ครับ

(http://f.ptcdn.info/533/018/000/1399188182-Picture005-o.jpg)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 26 ก.ย. 15, 15:09
คำว่า อยุทธยา มีใช้พระราชกำหนดเก่าหรือประกาศพระราชบัญญัติเก่าๆจำนวนมากครับ แม้ว่าพระราชกำหนดจะมีการแก้ไขการสะกดคำเป็นรูปแบบภาษาสมัยรัชกาลที่ ๑ แต่ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีใช้ตั้งแต่แรกสถาปนากรุงแล้วครับ ควบคู่ไปกับ อโยธยา ซึ่งน่าจะเป็นชื่อเมืองเก่าคืออโยธยาศรีรามเทพนครซึ่งเป็นรัฐโบราณอยู่ทางตะวันออกของเกาะเมืองปัจจุบัน แต่เพราะห่า(กาฬโรค)ลงเป็นเหตุทำให้ย้ายมาอยู่ที่ตรงหนองโสนในปัจจุบัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น 'อยุทธยา' นับแต่นั้น จะเป็นเพราะตั้งเมืองใหม่เลยไม่ให้ชื่อซ้ำเดิมหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ เรื่องนี้สุจิตต์ วงษ์เทศสันนิษฐานว่า ต้องสร้างเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งตะวันตกเพื่อแก้เคล็ดแล้วล้างอุบาทว์หลังห่าลง เข้าใจว่าเรื่องเปลี่ยนชื่อก็อาจด้วยเหตุผลเดียวกันก็เป็นได้

ชื่อ อยุทธยา อย่างเช่นที่ปรากฏในกฎหมายนั้น ตัวกฎอาจมีการเปลี่ยนแปลงตัวบทได้ แต่ส่วนประกาศพระราชบัญญัติพระราชกำหนดต่างๆ เป็นสิ่งที่ได้ประกาศออกมาแล้วไม่น่าจะถูกแก้ไข ถ้าจะแก้อย่างมากน่าจะแก้แค่การสะกดคำให้เข้ากับยุคสมัยเท่านั้น ไม่น่าจะถึงกับแก้ชื่อพระนคร ซึ่งประกาศเหล่านี้ตั้งแต่สมัยพระเจ้ารามาธิบดีก็ใช้คำ อยุทธยา แล้วครับ เช่น

"ศุภมัศดุะ ๑๙๐๔ ศกชวดนักสัตว เดีอน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ จันวาระ มีพระราชโองการมานะพระบันทูลพระราชอาญาสมเดจพระเจ้ารามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาบพิตรเปนเจ้าอยู่หัวให้ตราพระราชกฤษฎิกาบัญญัติคำนับเผดิยงแก่เสนาพฤฒามาตยราชมนตรีภิริโยธามุขทุกกระทรวงทบวงการทหารรพลเรีอนซ้ายขวาประชาราษฎรทังหลายสมสังกัดพรรคอันมีในแว่นแคว้นพระนครศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุริรมย ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า"


หรือในประการพระไอยการลักภาลูกเมียผู้คนท่าน ซึ่งดูจากการใช้คำและเนื้อความน่าจะเขียนสมัยพระเจ้ารามาธิบดีจริง(แต่แก้การสะกดคำ เป็นแบบสมัยร.๑) อิงเหตุการณ์สมัยที่สุโขทัยยังไม่ตกเป็นของอยุทธยา
'ศุภมัศดุ ๑๘๙๙ มเมนักสัตว เดือนอ้าย ขึ้นเจดค่ำพุทธวาร ปริเฉทกำหนด จึ่งนายสามขลาเสมิยนพระสุภาวะดีบังคมทูลแต่สมเดจ์พระรามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาธิราชบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ประสงด้วยข้าหนีเจ้าไพ่รหนีนายแลมีผู้ไปเอาถึงเชลียงศุกโขไททุ่งย้างบางยมสองแก้วสหลวงชาวดงราวกำแพงเพช เมืองท่านเปนอันหนึ่งอันเดียวกันดั่งนี้แลมีผู้เอาทาษเอาไพร่ท่านมาขาย แลเจ้าทาษเจ้าไพร่แห่งนครศรีอยุทธยาพบ แลมากล่าวพิภาษว่าให้ผู้ไถ่ไปไล่เอาเบี้ยแก้ผู้ขายนั้นคืน ข้าพระพุทธเจ้าขอเรียนพระราชประนิบัติ จึ่งสมเดจ์บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสดจ์ภุดดากฤตยในเฉลียงบังอาจ์รัตนแปรพระภักตรโดยปัดจิมาภิมุขสมบูรรณ มีพระราชโองการพิภากษาด้วยพฤฒามาตยราชมลตรีทังหลายว่า ขายกันในแต่พระนครศรีอยุทธยาดั่งนี้ แลสูจะบังคับให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายสิยังยาก อย่าว่าข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายแลเขาลักไปขายถึงเชลียงทุ่งย้างบางยมสหลวงสองแก้วชาวดงราวกำแพงเพชสุกโขไทใต้ล่าฟ้าเขียว ขาดจากมือเจ้าทาษเจ้าไพร่ไปไกล จะมาพิภาษฉันเมืองเพชรบุรียเมืองราชบุรียเมืองสุพรรณบุรียสพงครองพลับแพรกศรีราชาธิราชนครพรหม(เหล่านี้คือเมืองสำคัญของอยุทธยายุคต้น)นั้น บมิชอบเลย'


นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอย่างวรรณกรรมสมัยก่อนเสียกรุงครั้งแรก อย่างทวาทศมาสน่าจะแต่งสมัยหลังสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไล่เลี่ยกับกำสรวลสมุทรบทสุดท้ายที่ว่า  
    อยุธยายศโยคฟ้า          ธรณี
เกษมบุรีภูธร                   ปิ่นเกล้า
ทวาทศสิบสองมี               สังเวช
สังวาสเกษมสุขท้าว            ทั่วหล้าเสวยรมย์


หรืออย่างในโคลงห้าโองการแช่งน้ำซึ่งภาษาเก่าแก่กว่าอยุทธยามาก แต่พระเจ้ารามาธิบดีคงทรงเอามาใช้โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน แต่อาจปรับให้เข้ากับสมัยพระองค์ดังที่มีข้อความว่า 'ผู้บดีบซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถแก่เจ้า ผู้ผ่านเกล้าอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหา จักรพรรดิศรราชาธิราช'



หรือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีกหมายเลข ๒/ก๑๐๔ ที่เขียนเหตุการณ์สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช(เจ้าสามพญา)อย่างละเอียด สันนิษฐานว่าน่าจะเขียนสมัยหลังเหตุการณ์ไม่มากนัก รูปแบบภาษาเก่าแก่กว่าพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่ชำระสมัยสมเด็จพระนารายณ์ น่าเชื่อว่าเขียนก่อนเสียกรุงครั้งแรกครับ

'จึงสมเด็จ็พรบรมราชาธิราชเจา กไหขุนพิ้จํตรแตงพรราชวั้งฝายอุฎรแลราชมลเฑยิรไนสัรดเกบเดอิมนั้นแลทารกเสด็จ็ไปสถิศอูยไน้ทินั้นแลไหพรราชทานพรราชมลเทยิ้รเดิมสมเด็จ็พระรามเมศวรบรมไตร้ยโลคนารถบพิตรทารกเสด็จ็สถิศไนราไช้สวรรคถวัล..(ชำรุด)..ปรเวณิ้ สิบสรรตติยศิรสูริยวงษทรงทศพิศราชธรรมไน้กรุ้งพระมหาณคอรศิรอยุทยา'

(นี่จึงแย้งกับพงศาวดารสมัยหลังด้วยว่า เจ้าสามพญาทรงย้ายวังไปอยู่ติดแม่น้ำตั้งแต่สมัยพระองค์แล้ว แล้วพระราชทานวังเก่าให้พระบรมไตรโลกนาถ ต่อมาเมื่อพระบรมไตรโลกนาถครองราชย์คงจะทรงย้ายไปวังใหม่ ส่วนวังเก่าก็สร้างเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ครับ)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 26 ก.ย. 15, 16:27

เอกสารที่สอบศักราชได้ ก่อน พ.ศ. 2112
ยังไม่ปรากฏชื่อ อยุทธยา อยุทยา ครับ
ไม่นับฉบับที่คัดลอกภายหลัง

ถ้าใครพบเห็นไดโปรดเผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อไปครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.ย. 15, 17:35
เรื่องของศัพท์ว่าคำใดสะกดอย่างไรนี่ เห็นจะเอามาเป็นบันทัดฐานไม่ได้ เพราะสมัยนั้นคงไม่มีราชบัณฑิตสถานมากำหนด อาลักษณ์คงเขียนไปตามครูบาอาจารย์ของแต่ละท่านไป

อย่าว่าแต่สมัยกรุงเก่าเลย สมัยรัตนโกสินทร์ก่อนราชบัณฑิตสถานจะทำพจนานุกรม ก็สะกดกันคนละอย่างสองอย่างเช่นกัน


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 26 ก.ย. 15, 18:17

เอกสารที่สอบศักราชได้ ก่อน พ.ศ. 2112
ยังไม่ปรากฏชื่อ อยุทธยา อยุทยา ครับ
ไม่นับฉบับที่คัดลอกภายหลัง

ถ้าใครพบเห็นไดโปรดเผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อไปครับ


ตรงนี้ผมหมายถึง ท่านใดเคยเห็นเอกสารที่สอบศักราชได้ว่า
มีอายุเอกสารก่อน พ.ศ. 2112 แล้วมีชื่อเมือง อยุทธยา อยุทยา ยุดทยา
ที่ไม่ใช่ อโยธยา ได้โปรดเผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานด้วยครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 ก.ย. 15, 22:49
คำ "อยุทธยา" หรือ "อยุธยา" ที่พบในกำสรวลสมุทรสามารถแทนที่ด้วย "อโยธยา" โดยไม่ขัดกับฉันทลักษณ์ครับ และฉบับที่มาถึงยุครัตนโกสิทร์ไม่น่าจะมีฉบับไหนที่ยืนยันได้ว่าเป็นต้นฉบับ จะถูกแปลงในการคัดลอกในสมัยหลังก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกประหลาดนะครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 27 ก.ย. 15, 08:14

  
    ปี พ.ศ. 2290 เจ้าฟ้ากุ้งผู้โปรดให้จารึกฯ ยึดมั่นที่จะออกพระนามเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐา สุริยวงษ์
และตำแหน่งพระราชวังบวรสถานมงคล อย่างเหนียวแน่นและเป็นแบบเดียวกันกับ ที่ใช้ใน นันโทปนันทสูตรคำหลวง และ กาพย์ห่อโคลง
    
    ตรงนี้ผมขอเสนอเล่นๆว่า ชื่อตัวของเจ้าฟ้ากุ้งคือ เจ้าฟ้าไชย ครับ
    สุริยวงศ์ เป็นเชื้อสายพระราม สุริยวงศ์ แห่งอโยธยา  
    พระเจ้าปราสาททองและพระเจ้าแผ่นดินต่อๆมา ดูค่อนข้างที่จะนิยมในพระไชยราชาเป็นมาก และใช้เป็นแบบอย่างหลายครั้งครับ
    พระโอรสองค์โตของพระเจ้าปราสาททองชื่อ เจ้าฟ้าไชย
    ทรงบูรณะวัดชีเชียง ที่สร้างโดยพระไชยราชา (วัดชีเชียง อยู่ที่ ... ?)




เรื่องตำแหน่งของวัดชีเชียง พระยาโบราณราชธานินทร์(พร เดชะคุปต์)ได้วินิจฉัยไว้ในหนังสือ 'อธิบายแผนที่นครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์ ฉบับชำระครั้งที่ ๒' ไว้ดังนี้ครับ

“...ป้อมปืนตรงวัดสีเชียงเป็นป้อมพระราชวังด้านใต้อยู่เกือบตรงกลางวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์  หน้าป้อมออกระหว่างหลังวิหารแกลบ  กับหน้าวิหารพระมงคลบพิตร  ในกฏมณเฑียรบาลเรียกว่าป้อมศาลาพระมงคลบพิตร  แต่ในหนังสือนี้ว่าอยู่ตรงกลางวัดสีเชียง  นอกจากด้านหลังของป้อมอยู่เกือบกึ่งกลางวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์แล้ว  ข้างด้านหน้าป้อมไม่เห็นตรงกับวัดอะไร  แต่ก็มีตำนานการสร้างวัดในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า  เมื่อเดือน ๖ ปีจอ  พ.ศ.๒๐๘๑  ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช  แรกให้พูนดินวัดชีเชียงและสถาปนาพระพุทธรูป  พระเจดีย์เป็นอันว่า  วัดชีเชียงหรือวัดสีเชียง  มีจริง  จะหมายความว่าวิหารแกลบเป็นวัดสีเชียงหรืออย่างไรไม่ทราบ  แต่ที่วิหารแกลบก็มีแต่วิหาร  หามีเจดีย์ไม่”

สันนิษฐานว่าคงอยู่ใต้วัดพระศรีสรรเพชญ์ไม่ห่างจากพระวิหารพระมงคลบิพิตรเท่าไหร่ครับ แต่ไม่ปรากฏซากให้เห็นนอกจากวิหารแกลบ


ทั้งนี้ถ้าอิงตามหลักฐานของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต(Jeremias Van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าของ VOC ประจำกรุงศรีอยุทธยาสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้อธิบายไว้ว่าถูกฟ้าผ่าบ่อย เคยมีพระเจ้าแผ่นดินหลายองค์พยายามบูรณะแต่ไม่สำเร็จ จนมาถึงพระเจ้าปราสาททองทรงรื้อวัดชีเชียงทิ้งทั้งหมดครับ ไม่ได้ทรงบูรณะครับ แล้วไปสร้างวัดใหม่ซึ่งฟาน ฟลีตไม่ได้อยู่นานพอที่จะเห็นว่าทรงสร้างเสร็จหรือไม่

"...ข้าพเจ้าได้กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ ว่าพระชัยราชา พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สิบสี่แห่งสยามได้สร้างวัดพระชีเชียง ซึ่งมีเหตุมหัศจรรย์ปรากฏขึ้นเสมอๆ  เนื่องจากเป็นเรื่องนิยายเกินไป ข้าพเจ้าจึงไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้

    ครั้งหนึ่ง วัดแห่งนี้เคยเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในพระราชอาณาจักร แต่ได้ถูกฟ้าผ่า และพายุพัดหักลงมาตลอดเวลา  พระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้  แต่เมื่อไรก็ตามที่เริ่มงานก็ต้องล้มเลิกไปกลางคัน  เพราะว่าผู้ควบคุมงานและคนงานเกิดเจ็บป่วยและสิ้นชีวิตอย่างน่าสังเวช

    กล่าวกันว่าพราหมณ์และพระสงฆ์ได้ทำนายไว้ ว่าผู้ที่จะบูรณะวัดนี้ได้ ต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เก่าอย่างบริสุทธิ์  

    เมื่อสองสามเดือนที่แล้ว พระองค์ศรีธรรมาธิราช(พระเจ้าปราสาททอง)ได้ทรงให้รื้อวัดจนถึงฐาน  และทรงย้ายรูปหล่อทองแดงซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้นออกไปไกลหลายวา เพื่อว่าจะสร้างวัดใหม่ ณ ที่ประดิษฐานรูปหล่อทองแดง..."


พระไชยราชาซึ่งเป็นพระนามในพงศาวดารเข้าใจว่าเป็นพระนามก่อนครองราชย์และค่อนข้างสามัญ เพราะมีปรากฏพระนามตอนครองราชย์ในกฎหมายลักษณะพิศูจน์ว่า 'สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมจักรพรรดิศร บวรธรรมิกมหาราชธิราช' ครับ

ส่วนเรื่องโยงพระเจ้าปราสาททองเข้ากับพระไชยราชา ส่วนตัวแล้วคิดว่ายังไม่มีความเชื่อมโยงที่ชัดพอครับ ที่เด่นๆคือทรงนิยมเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเขมร หรือเน้นหนักในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับคติจักรพรรดิราชอย่างพระราชพิธีอินทราภิเศกที่ทำตอนลบศักราช    ส่วนเรื่องพระนามของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หากว่า ไชย เป็นคำที่สำคัญจริง ก็ไม่น่าจะไปไว้ข้างหลัง ในที่นี้น่าจะเป็นเพียงสร้อยนามเท่านั้นครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 27 ก.ย. 15, 12:21
คำ "อยุทธยา" หรือ "อยุธยา" ที่พบในกำสรวลสมุทรสามารถแทนที่ด้วย "อโยธยา" โดยไม่ขัดกับฉันทลักษณ์ครับ และฉบับที่มาถึงยุครัตนโกสิทร์ไม่น่าจะมีฉบับไหนที่ยืนยันได้ว่าเป็นต้นฉบับ จะถูกแปลงในการคัดลอกในสมัยหลังก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกประหลาดนะครับ

เห็นด้วยในหลักการตามที่คุณ CrazyHOrse ว่ามาครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 27 ก.ย. 15, 13:17

ขอขอบคุณทุกๆท่านที่ช่วยกันออกความเห็น ให้ได้มองเห็นกันในแง่มุมต่างๆครับ

เรื่องชื่อเมือง ในเอกสารต่างๆ ผู้ชำระเอกสารมีส่วนอย่างมากในการแก้ไขตามยุคสมัยครับ

ลองดูกรณีที่ คุณศรีสรรเพชญ์ ยกมาครับ

ร่องรอยของการแก้ไขชื่อเมืองก็มีอยู่

"มีพระราชโองการพิภากษาด้วยพฤฒามาตยราชมลตรีทังหลายว่า ขายกันในแต่พระนครศรีอยุทธยาดั่งนี้ แลสูจะบังคับให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายสิยังยาก อย่าว่าข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายแลเขาลักไปขายถึงเชลียงทุ่งย้างบางยมสหลวงสองแก้วชาวดงราวกำแพงเพชสุกโขไทใต้ล่าฟ้าเขียว ขาดจากมือเจ้าทาษเจ้าไพร่ไปไกล จะมาพิภาษฉันเมืองเพชรบุรียเมืองราชบุรียเมืองสุพรรณบุรียสพงครองพลับแพรกศรีราชาธิราชนครพรหมนั้น บ่มิชอบเลย"

ส่วนข้อความแบบสมัยใหม่ ทันยุคสมัย ก็มีเห็นกันบ้าง

"ศุภมัศดุะ ๑๙๐๔ ศกชวดนักสัตว เดีอน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ จันวาระ มีพระราชโองการมานะพระบันทูลพระราชอาญาสมเดจพระเจ้ารามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาบพิตรเปนเจ้าอยู่หัวให้ตราพระราชกฤษฎิกาบัญญัติคำนับเผดิยงแก่เสนาพฤฒามาตยราชมนตรีภิริโยธามุขทุกกระทรวงทบวงการทหารรพลเรีอนซ้ายขวาประชาราษฎรทังหลายสมสังกัดพรรคอันมีในแว่นแคว้นพระนครศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุริรมย ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า"

ส่วนการตั้งชื่อเมือง อยุทธยา ถ้าท่านอ้างความเห็นของ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็น่าสนุกครับ
คนอ่านอย่างผมมีเรื่องเห็นไม่ตรงกับความเห็นของนักเขียนท่านนี้ในหลาย ๆ กรณีมากครับ (เกือบทุกเรื่อง)

ในส่วนกำสรวลสมุทร ตามข้อสังเกตของคุณ CrazyHOrse ตัวต้นฉบับอาจเป็น

       อโยธยาไพโรชไต้      ตรีบูร     
    ทวารรุจิรยงหอ             สรหล้าย     
    อโยธยายิ่งแมนสูร         สุระโลก รงงแฮ     
    ถนัดดุจสวรรคคล้ายคล้าย      แก่ตา ฯ   

ซึ่งจะไม่ขัดกับสมมติฐานการกำหนดอายุของวรรณกรรมไปเป็นยุคอยุธยาตอนต้น  เรื่องนี้ผมไม่มีข้อความเห็นแย้งครับ

   เรื่องวัดชีเชียง พระยาโบราณฯ ท่านก็บอกกลาย ๆ ว่า ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนแน่
พระเจ้าปราสาททองทรงบูรณะวัดนี้ และ วันวลิต ไม่มีตรงไหนบอกว่ารื้อทิ้งนะครับ
ถ้าไม่มีท่านใดเสนอ ผมขอเสนอก่อนตรงนี้ว่า

  วัดชีเชียง (วัดเก้ายอด) คือวัดไชยวัฒนาราม สร้างโดยสมเด็จพระไชยราชา บูรณะเสร็จโดยพระเจ้าปราสาททอง

  หลักฐานสนับสนุนขอละไว้ก่อนนะครับ  วันนี้ขอนำเสนอเรื่องเจ้าฟ้ากุ้งต่อไปก่อน



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 27 ก.ย. 15, 13:51

จากตู้หนังสือเรือนไทย ครับ

กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก

 ขึ้นต้นมา ท่านให้เป็น credit ของ producer ครับ
 เป็นโคลงสองบท ไมีมีกาพย์ห่อ

       เจ้าฟ้าธรรม ท่านแท้      พยายาม
    ธิเบศร์ กุมารนาม             บอกแจ้ง
    ไชยเชษฐ ปัฐคาม            ภิรภาพ
    สุริยวงศ์ ทรงกาพย์แกล้ง      กล่าวเกลี้ยงโคลงการ ฯ      
      กาพย์โคลงชมเถื่อนถ้ำ      ไพรพง
    เจ้าฟ้าธิเบศร์ทรง               แต่งไว้
    อักษรบวรผจง                  พจนาดถ์
    ใครอ่านวานว่าให้              เรื่อยต้องกลโคลง ฯ      

 ต่อจากนั้นเป็นกาพย์ห่อโคลง ชมสร้อยศรีสมร อาลัยรักไปตลอด เช้าสายบ่ายเย็น วันเดือนปี

๑    สองชมสองสมพาส      สองสุดสวาทสองเรียงสอง
     สองกรสองตระกอง      สองคลึงเคล้าเฝ้าชมกัน ฯ
          สองชมสมพาสสร้อย      ศรีสมร
    สองสมพาสสองเสมอนอน      ครุ่นเคล้า
    สองกรก่ายสองกร               รีบรอบ
    สองนิทร์สองเสน่ห์เหน้า        แนบน้องชมเชย ฯ

๒       ชมเผ้าเจ้าดำขลับ      แสงยับยับกลิ่นหอมรวย
    ประบ่าอ่าสละสลวย      คือมณีสีแสงนิล ฯ
      ชมเกศดำขลับเจ้า      สาวสลวย
    แสงระยับหอมรวย      กลิ่นแก้ว
    ละเอียดเสียดเส้นสวย      ประบ่า
    คือมณีเนื้อแล้ว      คลับคล้ำแสงนิล ฯ

ชมนก ชมไม้ไปจนถึงคู่ 149-150

๑๔๙      ชมโฉมโลมสมพาส      บทนิราศจากชายา
         นักปราชญ์ย่อมแต่งมา      เล่ห์ท่าทางอย่างเรียมทำ ฯ
            ชมโฉมสมพาสแก้ว       ไนยนา
          พลัดพรากจากชายา        ชื่นชี้
          นักปราชญ์ย่อมแต่งมา      ในโลก
          เล่ห์ท่าทางอย่างนี้          ชอบด้วยเรียมทำ ฯ

๑๕๐      จบเสร็จคร่ำครวญกาพย์      บทพิลาปถึงสาวศรี
          แต่งตามประเวณี       ใช่เมียรักจักจากจริง ฯ
             โคลงครวญกลอนกล่าวอ้าง      นารี
          โศรกสร้อยถึงสาวศรี      เษกหว้า
          แต่งตามประเพณี          ธิรภาคย์
          เมียมิ่งพรั่งพร้อมหน้า      ห่อนได้จากกัน ฯ

ต่อด้วยคำบรรยายราชสำนักเจ้าฟ้ากุ้ง มุมมองโดยผู้สังเกต ที่ไม่ใช่เจ้าตัว

๑๕๑        เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ      ไชยเชฐสุริย์วงศ์ทรง
         นางรักนักสนมองค์         อ่าห้อมล้อมพร้อมบริบูรณ์ ฯ
              เจ้าฟ้าธรรมธิเบศเชื้อ      รพิพงศ์
         ไชยเชฐสุริย์วงศ์ทรง           เลิศหล้า
          นางรักนักสนมองค์          อภิชาติ
          คับคั่งนั่งเรียงหน้า             เฟ่าพร้อมบริบูรณ์

แล้วต่อด้วยบทจบ พร้อม credit producer ที่ดูคุ้นตา

๑๕๒       นักปราชญ์หมู่เมธา       มีปัญญาอันฉับไว
         พินิจผิดบทใด                วานช่วยแซมแต้มเขียนลง ฯ
             กลกลอนบวรเกลี้ยง         คำแขง ก็ดี
         นักปราชญ์ฉลาดวานแปลง      เปลี่ยนให้
         กลอนเกินเขินคำแคลง          ขัดข้อง
         วานเพิ่มเติมลงไว้                อยู่ยื้นหญิงชาย ฯ

            จบ จนจอมโลกเจ้า        คืนวัง
         บ พิตรสถิตบัลลังก์           เลิศหล้า
         ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง      ชนโลก อ่านนา
         บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า      ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ      

            เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช      กุมาร
        ธรรม พงศ์ทรงกลอนการ      อยู่แย้ม
        ธิเบศร์ วราสถาน              ไชยเชฐ
        สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม      แต่งไว้อ่านสงวนฯ
     
           เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ          สมภาร
        กรมขุน หลวงพญากราน      กราบเกล้า      
        เสนา นราบาล                ใจชื่น ชมนา
        พิทักษ์ รักษาเช้า             ค่ำด้วยใจเกษม ฯ


 บท 150-151 ก็บอกแล้วว่าไม่ได้ออกจากวังไปไหน แต่ตอนจบก็ยังแถม จบบริบูรณ์ตอนจอมโลกย์เจ้าคืนวังอีก
 บอกให้คนดูทราบอีกครั้งว่า producer เจ้าเดียวกับนิราศธารทองแดง

  นิราศธารโศกนี้ มีกาพย์ห่อโคลง 152 คู่ มีโคลงเกินมาอีก 5 บท
  เกินมาเฉพาะตอนสำคัญที่คือ บทโฆษณา Producer

  ถ้านิราศธารโศก ท่านแต่งเอง ตรงโฆษณาสรรพคุณ producer ก็คงจะเป็นผลงานของผู้คัดลอกภายหลัง
  ที่หวังดีแต่ประสงค์ร้ายคัดลอกมาแปะเข้าด้วยกันแบบให้คนดูงงเล่นครับ
  (หวังว่าไม่ใช่ฝีมือ คุณ CrazyHOrse   ;D )
   


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 27 ก.ย. 15, 16:27

ขอขอบคุณทุกๆท่านที่ช่วยกันออกความเห็น ให้ได้มองเห็นกันในแง่มุมต่างๆครับ

เรื่องชื่อเมือง ในเอกสารต่างๆ ผู้ชำระเอกสารมีส่วนอย่างมากในการแก้ไขตามยุคสมัยครับ

ลองดูกรณีที่ คุณศรีสรรเพชญ์ ยกมาครับ

ร่องรอยของการแก้ไขชื่อเมืองก็มีอยู่

"มีพระราชโองการพิภากษาด้วยพฤฒามาตยราชมลตรีทังหลายว่า ขายกันในแต่พระนครศรีอยุทธยาดั่งนี้ แลสูจะบังคับให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายสิยังยาก อย่าว่าข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายแลเขาลักไปขายถึงเชลียงทุ่งย้างบางยมสหลวงสองแก้วชาวดงราวกำแพงเพชสุกโขไทใต้ล่าฟ้าเขียว ขาดจากมือเจ้าทาษเจ้าไพร่ไปไกล จะมาพิภาษฉันเมืองเพชรบุรียเมืองราชบุรียเมืองสุพรรณบุรียสพงครองพลับแพรกศรีราชาธิราชนครพรหมนั้น บ่มิชอบเลย"

ส่วนข้อความแบบสมัยใหม่ ทันยุคสมัย ก็มีเห็นกันบ้าง

"ศุภมัศดุะ ๑๙๐๔ ศกชวดนักสัตว เดีอน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ จันวาระ มีพระราชโองการมานะพระบันทูลพระราชอาญาสมเดจพระเจ้ารามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาบพิตรเปนเจ้าอยู่หัวให้ตราพระราชกฤษฎิกาบัญญัติคำนับเผดิยงแก่เสนาพฤฒามาตยราชมนตรีภิริโยธามุขทุกกระทรวงทบวงการทหารรพลเรีอนซ้ายขวาประชาราษฎรทังหลายสมสังกัดพรรคอันมีในแว่นแคว้นพระนครศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุริรมย ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า"



ตั้งแต่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงก็มีชื่อเมืองเพชรบุรี ราชบุรีอยู่แล้วครับ  สะกด ราชบูรี เพชบูรี   ส่วนสุพรรณบุรี ในจารึกหลักที่ ๑ เรียก สูพรณณภูม แต่ถ้าในสมัยหลังจะเรียกเป็น สุพรรณบุรีแล้วก็ไม่เห็นว่าจะน่าแปลกประหลาดอย่างไรครับ

ส่วนการปกครองตั้งแต่ยุคสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีก็ปรากฏตำแหน่งของกระทรวงกรมหลายๆกรมอยู่แล้วอย่างจตุสดมภ์ หรือตำแหน่งของขุนางฝ่ายทหารพลเรือนอย่างตำแหน่งสมุหนายกก็มีอยู่ก่อนแล้ว แต่มีตำแหน่งสูงสุดแค่ 'ขุน' ไม่ใช่ว่าเพิ่งมีในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ได้มีการตราพระอัยการนาพลเรือนกับนาทหารหัวเมืองอย่างที่เข้าใจครับ อย่างเช่นใน

กฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ.๑๙๗๔ มี ขุนจ่าแสนศรีองครักษ์ สมุหนายก   ขุนศรีนพรัตนราชโกษาธิบดี
กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ พ.ศ.๑๘๘๖ มี ขุนเกษตราธิบดี
กฎหมายลักษณะโจร พ.ศ.๑๙๐๒ มี ขุนพระคลัง  เป็นต้นครับ

การตราพระไอยการของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถน่าจะเป็นการจัดระเบียบหรือปรับปรุงระบบเดิมมากกว่าครับ อย่างหนึ่งที่เห็นคือบรรดาศักดิ์สูงสุดของขุนนางไม่ใช่ขุน แต่ถูกยกระดับเป็น พระยา หรือ เจ้าพระยา



ส่วนการตั้งชื่อเมือง อยุทธยา ถ้าท่านอ้างความเห็นของ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็น่าสนุกครับ
คนอ่านอย่างผมมีเรื่องเห็นไม่ตรงกับความเห็นของนักเขียนท่านนี้ในหลาย ๆ กรณีมากครับ (เกือบทุกเรื่อง)



ส่วนเรื่องสุจิตต์ วงษ์เทศ เนื้อหาส่วนใหญ่แล้วผมเองก็ไม่ได้เชื่อถือมาก เพราะหลายเรื่องยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนมากพอและดูเหมือนใช้ความเห็นส่วนตัวมากเกินไป เพียงแต่เห็นว่าข้อสันนิษฐานในเรื่องนี้มีความน่าสนใจเลยยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้นครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 27 ก.ย. 15, 16:42


   เรื่องวัดชีเชียง พระยาโบราณฯ ท่านก็บอกกลาย ๆ ว่า ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนแน่
พระเจ้าปราสาททองทรงบูรณะวัดนี้ และ วันวลิต ไม่มีตรงไหนบอกว่ารื้อทิ้งนะครับ
ถ้าไม่มีท่านใดเสนอ ผมขอเสนอก่อนตรงนี้ว่า

  วัดชีเชียง (วัดเก้ายอด) คือวัดไชยวัฒนาราม สร้างโดยสมเด็จพระไชยราชา บูรณะเสร็จโดยพระเจ้าปราสาททอง



ในจดหมายเหตุวันวลิตที่ผมยกมาก็บอกอยู่แล้วนะครับว่ารื้อถึงฐาน ย้ายพระประธานออกไปเพื่อสร้างวัดตรงตำแหน่งใหม่ตรงตำแหน่งที่ย้ายพระประธานไป

เรื่องตำแหน่งวัด สอบได้เพียงว่ามีป้อมสีเชียงอยู่ใต้วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งตำแหน่งของป้อมนี้ถูกระบุว่าอยู่กลางวัดสีเชียง(ชีเชียง) จึงทำให้เข้าใจว่าตำแหน่งวัดเดิมอยู่ตรงนั้น ซึ่งห่างกับวัดชัยวัฒนารามที่อยู่ใต้พระนครมาก ไม่น่าจะเป็นวัดเดียวกันได้ครับ

แต่เรื่องวัดชัยวัฒนารามมีมาก่อนสมัยพระเจ้าปราสาททองผมเห็นด้วยครับ เพราะมีชื่อวัดนี้ปรากฏในพระราชกำหนดที่ออกในสมัยพระเจ้าทรงธรรม และมีปรากฏในพงศาวดารช่วงสงครามช้างเผือก พ.ศ.๒๑๐๖ สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่าเป็นหนึ่งในที่ตั้งค่ายของทัพหงสาวดี พระเจ้าปราสาททองน่าจะทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ใหญ่โตมากกว่าจะเพิ่งทรงสร้างใหม่ในรัชกาลครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 27 ก.ย. 15, 17:10


ต่อด้วยคำบรรยายราชสำนักเจ้าฟ้ากุ้ง มุมมองโดยผู้สังเกต ที่ไม่ใช่เจ้าตัว

๑๕๑        เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ      ไชยเชฐสุริย์วงศ์ทรง
         นางรักนักสนมองค์         อ่าห้อมล้อมพร้อมบริบูรณ์ ฯ
              เจ้าฟ้าธรรมธิเบศเชื้อ      รพิพงศ์
         ไชยเชฐสุริย์วงศ์ทรง           เลิศหล้า
          นางรักนักสนมองค์          อภิชาติ
          คับคั่งนั่งเรียงหน้า             เฟ่าพร้อมบริบูรณ์

แล้วต่อด้วยบทจบ พร้อม credit producer ที่ดูคุ้นตา

๑๕๒       นักปราชญ์หมู่เมธา       มีปัญญาอันฉับไว
         พินิจผิดบทใด                วานช่วยแซมแต้มเขียนลง ฯ
             กลกลอนบวรเกลี้ยง         คำแขง ก็ดี
         นักปราชญ์ฉลาดวานแปลง      เปลี่ยนให้
         กลอนเกินเขินคำแคลง          ขัดข้อง
         วานเพิ่มเติมลงไว้                อยู่ยื้นหญิงชาย ฯ

            จบ จนจอมโลกเจ้า        คืนวัง
         บ พิตรสถิตบัลลังก์           เลิศหล้า
         ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง      ชนโลก อ่านนา
         บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า      ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ      

            เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช      กุมาร
        ธรรม พงศ์ทรงกลอนการ      อยู่แย้ม
        ธิเบศร์ วราสถาน              ไชยเชฐ
        สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม      แต่งไว้อ่านสงวนฯ
     
           เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ          สมภาร
        กรมขุน หลวงพญากราน      กราบเกล้า      
        เสนา นราบาล                ใจชื่น ชมนา
        พิทักษ์ รักษาเช้า             ค่ำด้วยใจเกษม ฯ


 บท 150-151 ก็บอกแล้วว่าไม่ได้ออกจากวังไปไหน แต่ตอนจบก็ยังแถม จบบริบูรณ์ตอนจอมโลกย์เจ้าคืนวังอีก
 บอกให้คนดูทราบอีกครั้งว่า producer เจ้าเดียวกับนิราศธารทองแดง

  นิราศธารโศกนี้ มีกาพย์ห่อโคลง 152 คู่ มีโคลงเกินมาอีก 5 บท
  เกินมาเฉพาะตอนสำคัญที่คือ บทโฆษณา Producer

  ถ้านิราศธารโศก ท่านแต่งเอง ตรงโฆษณาสรรพคุณ producer ก็คงจะเป็นผลงานของผู้คัดลอกภายหลัง
  ที่หวังดีแต่ประสงค์ร้ายคัดลอกมาแปะเข้าด้วยกันแบบให้คนดูงงเล่นครับ
  (หวังว่าไม่ใช่ฝีมือ คุณ CrazyHOrse   ;D )
   


บท ๑๕๒ น่าจะเป็นการแทรกเข้าไปอย่างที่กล่าวมาครับ อาจจะเป็นคนอื่นแต่งอย่างที่ได้ว่ามา ถ้าจะอิงจากเนื้อหาผู้แต่งก็ต้องอยู่ร่วมสมัยกับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไม่ใช่กวียุคหลัง แต่จะมองแต่งโฆษณาตนเองก็น่าจะได้เหมือนกัน เรื่องมุมมองบุคคลที่ ๓ ถ้าผู้แต่งประสงค์จะโฆษณาให้เห็นชัดว่าตนเองเป็นผู้แต่งโดยการบอกชื่อตนเองลงไปก็ไม่น่าจะแปลกประหลาดอย่างใดครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 30 ก.ย. 15, 17:30

รีบเข้ามาตอบ ก่อนที่ คุณศรีสรรเพชญ์จะสรุปว่า วัดชีเชียง ถูกพระเจ้าปราสาททอง"รื้อทิ้ง"
วันวลิตบอกว่ารื้อถึงฐาน ไม่ได้แปลว่ารื้อทิ้ง
ก่อนหน้านั้นวันวลิตก็บอกชัดเจน ว่าพระเจ้าปราสาททองตั้งใจบูรณะวัดนี้ 
ตำแหน่งที่พระยาโบราณฯ ว่าไว้เป็นวัดชีเชียงไม่ได้ ที่ไม่กว้างพอครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 15, 19:11

เรื่องมุมมองบุคคลที่ ๓ ถ้าผู้แต่งประสงค์จะโฆษณาให้เห็นชัดว่าตนเองเป็นผู้แต่งโดยการบอกชื่อตนเองลงไปก็ไม่น่าจะแปลกประหลาดอย่างใดครับ

เห็นตรงกับคุณศรีสรรเพชญ์ค่ะ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 30 ก.ย. 15, 22:23

รีบเข้ามาตอบ ก่อนที่ คุณศรีสรรเพชญ์จะสรุปว่า วัดชีเชียง ถูกพระเจ้าปราสาททอง"รื้อทิ้ง"
วันวลิตบอกว่ารื้อถึงฐาน ไม่ได้แปลว่ารื้อทิ้ง
ก่อนหน้านั้นวันวลิตก็บอกชัดเจน ว่าพระเจ้าปราสาททองตั้งใจบูรณะวัดนี้  
ตำแหน่งที่พระยาโบราณฯ ว่าไว้เป็นวัดชีเชียงไม่ได้ ที่ไม่กว้างพอครับ


รื้อถึงฐานในที่นี้เข้าใจว่าหมายถึงรื้อหมดแม้กระทั่งฐาน มากกว่าจะหมายถึงว่ารื้อแล้วเหลือฐานไว้ครับ เพราะกล่าวอยู่ว่าไปสร้างวัดใหม่ที่ตำแหน่งอื่น ก็ไม่ทราบว่าจะเหลือฐานไว้เพื่ออะไร

สอบกับฉบับภาษาอังกฤษที่แปลจากต้นภาษาดัตช์โดยตรงเขียนว่า 'demolished to its very base' น่าจะสื่อว่ารื้อแบบถอนรากถอนโคนจนไม่เหลืออะไรแล้ว ไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจถูกหรือไม่ ใครเก่งภาษาอังกฤษลองช่วยดูด้วยนะครับ




"...ข้าพเจ้าได้กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ ว่าพระชัยราชา พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สิบสี่แห่งสยามได้สร้างวัดพระชีเชียง ซึ่งมีเหตุมหัศจรรย์ปรากฏขึ้นเสมอๆ  เนื่องจากเป็นเรื่องนิยายเกินไป ข้าพเจ้าจึงไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้

    ครั้งหนึ่ง วัดแห่งนี้เคยเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในพระราชอาณาจักร แต่ได้ถูกฟ้าผ่า และพายุพัดหักลงมาตลอดเวลา  พระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้  แต่เมื่อไรก็ตามที่เริ่มงานก็ต้องล้มเลิกไปกลางคัน  เพราะว่าผู้ควบคุมงานและคนงานเกิดเจ็บป่วยและสิ้นชีวิตอย่างน่าสังเวช

    กล่าวกันว่าพราหมณ์และพระสงฆ์ได้ทำนายไว้ ว่าผู้ที่จะบูรณะวัดนี้ได้ ต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เก่าอย่างบริสุทธิ์  

    เมื่อสองสามเดือนที่แล้ว พระองค์ศรีธรรมาธิราช(พระเจ้าปราสาททอง)ได้ทรงให้รื้อวัดจนถึงฐาน  และทรงย้ายรูปหล่อทองแดงซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้นออกไปไกลหลายวา เพื่อว่าจะสร้างวัดใหม่ ณ ที่ประดิษฐานรูปหล่อทองแดง..."


ข้อความของวัน วลิตไม่มีตรงไหนเลยครับที่ระบุว่าพระเจ้าปราสาททองตั้งใจบูรณะวัดนี้ มีแต่บอกว่าพระเจ้าแผ่นดินในอดีตหลายองค์ทรงพยายามแต่ไม่สำเร็จ สำหรับพระเจ้าปราสาททองมีแต่บอกว่าทรงรื้อเพื่อสร้างใหม่ ณ ที่ใหม่

อ่านไปอ่านมาเหมือนกับทุบวิหารเก่า ย้ายพระพุทธรูป(ฉบับภาษาอังกฤษเขียนว่าชักถอยหลัง)แล้วสร้างวิหารใหม่ครอบมากกว่าจะสร้างทั้งวัด ดูๆไปก็คล้ายกับที่ในพงศาวดารกล่าวถึงการชักพระมงคลบพิตรจากทิศตะวันออกมาตะวันตก แล้วสร้างมณฑปครอบไว้

"ศักราช ๙๖๕ ปีเถาะศก (พ.ศ. ๒๑๔๖) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ชักพระมงคลบพิตรอยู่ฝ่ายตะวันออก มาไว้ฝ่ายตะวันตก แล้วให้ก่อพระมณฑปใส่ให้"

พงศาวดารระบุว่าอยู่ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม  แต่ศักราชนั้นผิดเพราะอยู่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร นอกจากนี้ก็ยังมีหลายตอนที่เขียนศักราชผิดและมีเหตุการณ์คลาดเคลื่อนเมื่อเทียบกับเอกสารอื่นๆ ถ้าเอามาเทียบกับจดหมายเหตุของวัน วลิตที่เนื้อหาดูใกล้เคียงกันมากก็อาจจะเป็นไปได้ว่าในความเป็นจริงเหตุการณ์นี้อาจเกิดในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็ได้ครับ

มีผู้สันนิษฐานว่าตำแหน่งเดิมที่พระมงคลบพิตรอยู่น่าจะเป็นตำแหน่งของวัดชีเชียงเดิม(น่าจะอยู่ประมาณกึ่งกลางใต้วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งของหน้าป้อมสีเชียงที่พระยาโบราณราชธานินทร์กล่าว จะให้อยู่กลางวัดพระศรีสรรเพชญ์คงไม่น่าเป็นไปได้) สันนิษฐานกันว่าพระมงคลบพิตรอาจจะเป็นพระประธานของวัดชีเชียง ซึ่งซากวิหารแกลบด้านตะวันออกของวิหารพระมงคลบพิตรอาจจะเป็นอาคารที่เหลือของวัดชีเชียง ซึ่งถ้าเอามาประกอบกับเอกสารของวันวลิตก็เป็นไปได้ว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้ทุบวัดชีเชียงทิ้ง(หลังจากที่ปรากฏว่าถูกฟ้าผ่าและพายุหลายหน และบูรณะไม่สำเร็จ) แล้วโปรดให้ชักพระมงคลบพิตรมาทางทิศตะวันตก(ตรงกับภาษาอังกฤษที่ว่าชักถอยหลัง เพราะองค์พระหันหน้าไปทางตะวันออก)แล้วสร้างมณฑปครอบองค์พระไว้ อาจจะทรงต้องการสร้างวัดใหม่ทั้งหมดด้วยแต่ไม่สำเร็จ จึงได้แต่มณฑปเท่านั้นครับ

วิหารพระมงคลบพิตรกับซากวิหารแกลบ
(http://www.thongthailand.com/private_folder/bopit/bopit2.jpg)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 01 ต.ค. 15, 14:04

บูรณะ กับรื้อทิ้ง คนละเรื่องกันเลยนะครับ
ตรงไหนครับที่บอกว่า รื้อทิ้ง
ผมอ่านยังไงก็เป็นบูรณะ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 15, 15:27
อ้างถึง
สอบกับฉบับภาษาอังกฤษที่แปลจากต้นภาษาดัตช์โดยตรงเขียนว่า 'demolished to its very base' น่าจะสื่อว่ารื้อแบบถอนรากถอนโคนจนไม่เหลืออะไรแล้ว ไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจถูกหรือไม่ ใครเก่งภาษาอังกฤษลองช่วยดูด้วยนะครับ

แปลว่ารื้อหมดไม่มีอะไรเหลือ  ถอนรากถอนโคนนั่นละค่ะ   
ไม่ใช่รื้อส่วนบนแต่ยังเก็บฐานเอาไว้


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 01 ต.ค. 15, 18:01

"รื้อทำใหม่" กับ "รื้อทิ้ง"มันต่างกันอยู่นะครับ
ก่อนหน้านั้น วันวลิตเขียนว่า พระเจ้าปราสาททอง ตั้งใจ "ซ่อม" วัด ไม่ได้รื้อทิ้ง

 
   Although the prophecy and what has happened in connection with this temple,
is well known to the king and he is also convinced that he has usurped the crown unlawfully,
his arrogance and pride have carried him so far, that last year
he has intention to begin the repair of the temple. But by the dissuasion of the Braman priests
(who said that it was not a lucky time) as of other resolute mandarins it was prevented.



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 01 ต.ค. 15, 18:46

ถ้าจะซ่อมพระปรางค์ หรือเจดีย์ใหญ่ที่หักพังลง
ก็ต้องรื้อถึงฐาน ทำฐานรากใหม่ให้แข็งแรงก่อนทั้งนั้นแหละครับ
ไม่ว่าจะเป็นสมัยไหนๆ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 15, 20:14
ในภาพนี้คือการรื้อทิ้งครับ รื้อให้ถึงระดับต่ำกว่าผิวดินหน่อยแล้วเอาดินกลบร่องรอยด้านบนในสมัยรัชกาลที่ ๕ กรมศิลปากรเปิดหน้าดินขึ้นมาใหม่ก็จะเห็นฐานรากแผ่สำหรับรับน้ำหนักของผนังอาคารชัด

ถ้ารื้อเพื่อสร้างใหม่ให้เหมือนเดิม ที่เรียกว่าบูรณะปฏิสังขรณ์ ระดับRebuild หรือสร้างใหม่(ให้เหมือนเดิมเป๊ะ) ก็ต้องรื้อฐานพวกนี้ทิ้ง เพราะไว้ใจไม่ได้ว่าถ้าสร้างผนังก่ออิฐถือปูนหนักๆขึ้นไปใหม่แล้ว ฐานรากเก่าจะทรุดหรือไม่

ดังนั้นสร้างใหม่จะปลอดภัยกว่า


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 01 ต.ค. 15, 22:20

ถ้าจะว่่าไปตามที่ท่านพระยาโบราณฯ อธิบาย
ว่าพระมงคลบพิตรเคยอยู่วัดชีเชียงมาก่อน ก็ต้องยอมรับว่าพงศาวดารสมัยพระเจ้าทรงธรรมจดผิด
แต่ถ้าเราไปดูรูปวาดเกาะอยุธยาของ VOC ร่วมสมัยกับวันวลิตเราก็เห็นพระมณฑปแล้ว
อีกประการถ้าวัดชีเชียงอยู่ตรงนั้น ก็ต้องรื้อฐานเจดีย์ออกทั้งหมดก่อนแล้วถึงจะถอยพระไปทางนั้นได้
ซึ่งขัดกับคำบรรยายของวันวลิต

พระยาโบราณฯท่านก็บอกเองว่าลำดับชื่อประตูตามกฎมณเฑียรบาลอาจจดผิดพลาดกันได้
เป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าปราสาททองจะรื้อวัดที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองแล้วเหลือวิหารแกลบไว้ดูต่างหน้า
นักก่อสร้างในรัชกาลนั้นทำโปรเจคใหญ่ๆสำเร็จทั้งนั้นครับ ยกเว้นปราสาทนครหลวงปลายรัชกาล

ถ้าจะเชื่อว่าวัดชีเชียงอยู่ในบริเวณใกล้วังหลวง และให้สอดคล้องกับที่วันวลิตบรรยาย
ก็เหลือแต่วัดธรรมมิกราชเท่านั้นที่เป็นไปได้ครับ
แต่ต้องตีความฉบับหลวงประเสริฐว่า พระไชยราชาทรงพูนดินก่อเจดีย์และบูรณะวัดแต่ไม่ได้เป็นผู้สร้าง

การเสนอว่าวัดชีเชียงคือวัดธรรมิกราชอธิบายง่ายกว่่า  แต่ไม่สนุกเท่าไรครับ



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 01 ต.ค. 15, 23:28

ผมกลับไปอ่านที่พระยาโบราณฯท่านเขียนไว้อีกทีหนึ่งครับ
พบว่าท่านเป็นนักวิชาการที่ซื่อตรงมาก
ไม่ได้บอกว่าพระมงคลบพิตรมาจากวัดชีเชียง
ท่านบอกว่าวัดชีเชียงมีจริงแน่แต่จะเป็นวิหารแกลบหรือเปล่าท่านไม่ทราบ
เพราะวิหารแกลบมีแต่วิหารไม่มีเจดีย์

ท่านรู้แน่ว่าไม่มีเจดีย์เพราะท่านขุดดูฐานรากได้
เพราะฉะนั้นตัดเรื่องวัดชีเชียงอยู่ตรงวิหารแกลบ
หรือเกี่ยวกับพระมงคลบพิตรไปได้เลยครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 03 ต.ค. 15, 06:59

"รื้อทำใหม่" กับ "รื้อทิ้ง"มันต่างกันอยู่นะครับ
ก่อนหน้านั้น วันวลิตเขียนว่า พระเจ้าปราสาททอง ตั้งใจ "ซ่อม" วัด ไม่ได้รื้อทิ้ง

  
   Although the prophecy and what has happened in connection with this temple,
is well known to the king and he is also convinced that he has usurped the crown unlawfully,
his arrogance and pride have carried him so far, that last year
he has intention to begin the repair of the temple. But by the dissuasion of the Braman priests
(who said that it was not a lucky time) as of other resolute mandarins it was prevented.



ฉบับภาษาอังกฤษจากหนังสือ Van Vliet’s Siam ที่แปลจากต้นฉบับภาษาดัตช์ ในบทของ ‘พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช(Prae Onghsrij d’Harmae Roateial Thieraija)’ ไม่มีข้อความ ‘he has intention to begin the repair of the temple.’ ครับ  ข้อความอื่นๆที่ยกก็มีเนื้อหาไม่ตรงกันเลย ฉบับภาษาไทยที่แปลมาใช้ชื่อ ‘พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันลวิต พ.ศ.๒๑๘๒’ ของสำนักพิมพ์มติชนก็มีความตรงกัน  ตอนนี้เลยสงสัยแล้วว่าเราอ้างอิงเอกสารตอนเดียวกันหรือเปล่า เพราะข้อความที่เกี่ยวกับเรื่องคำทำนายการสร้างวิหารหลังใหม่ในฉบับที่ผมมีมีอยู่แค่ว่า

“However, the brahmans say that they have seen in the sign of heaven, that His Masjesty would not complete the newly-begun temple but would die before its completion, principally because the rebuilding was no begun out of pure devotion, but out of His Majesty’s hope of finding great treasures in the demolition of the former temple”

จากเนื้อหาที่กล่าวๆมาแล้ว น่าจะเป็นการรื้อตัววิหาร ชักพระพุทธรูป(วัน วลิตเรียกรูปหล่อทองแดง)ไปที่อื่นที่ไกลจากเดิมแล้วสร้างวิหารหลังใหม่ครอบ ดูจากบริบทแล้ววิหารเก่าคงจะรื้อไปทั้งหมด การที่ไม่ได้สร้างวิหารอยู่ที่เดิมคงไม่น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นการบูรณะวิหารครับ ควรจะเรียกว่าสร้างใหม่มากกว่า แต่ถ้าจะบอกว่าตัววิหารที่สร้างใหม่ยังอยู่ในอาณาบริเวณของวัดชีเชียงเดิมก็อาจจะพอบอกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณะวัดครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 03 ต.ค. 15, 07:21

ถ้าจะว่่าไปตามที่ท่านพระยาโบราณฯ อธิบาย
ว่าพระมงคลบพิตรเคยอยู่วัดชีเชียงมาก่อน ก็ต้องยอมรับว่าพงศาวดารสมัยพระเจ้าทรงธรรมจดผิด
แต่ถ้าเราไปดูรูปวาดเกาะอยุธยาของ VOC ร่วมสมัยกับวันวลิตเราก็เห็นพระมณฑปแล้ว
อีกประการถ้าวัดชีเชียงอยู่ตรงนั้น ก็ต้องรื้อฐานเจดีย์ออกทั้งหมดก่อนแล้วถึงจะถอยพระไปทางนั้นได้
ซึ่งขัดกับคำบรรยายของวันวลิต



รูปภาพกรุงศรีอยุทธยาที่มีมณฑปพระมงคลบพิตรที่เก่าที่สุด(และเป็นภาพมุมกว้างของอยุทธยาที่เก่าที่สุดด้วย)คือภาพสีน้ำมันชื่อ IUDEA  หลายแห่งชอบเอาไปอ้างว่าเป็นภาพวาดสมัยพระเจ้าปราสาททองซึ่งไม่เป็นความจริงครับ เพราะภาพนี้วาดโดย David กับ Johannes Vingboons จิตรกรพี่น้องชาวดัตช์ โดยทั้งสองได้รับการว่าจ้างจาก VOC ให้วาดภาพเมืองท่าสำคัญในเอเชีย ๑๐ แห่งเช่นละแวก(LAWEC) กวางตุ้ง(CANTON) โคชิน(Couchyn)ซึ่งก็รวมถึงภาพอยุทธยาภาพนี้ด้วย โดยวาดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๒๐๖ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ครับ  โดยได้รับค่าจ้างการวาดภาพทั้ง ๑๐ รูปในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๒๐๖

จากภาพทางซ้ายบนจะเห็นอาคารที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นมณฑปพระมงคลบพิตร มีลักษณะเป็นมณฑปแปดเหลี่ยม
(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/e1/Gezicht_op_Judea%2C_de_hoofdstad_van_Siam_Rijksmuseum_SK-A-4477.jpeg)

หลังจากนั้นก็มีภาพที่ใช้ภาพนี้เป็นต้นแบบทำออกมาอีกหลายภาพครับ แต่หลายภาพดัดแปลงไปจนรูปแบบอาคารกลายเป็นแบบตะวันตกไปมาก

Afbeldinge der Stadt Iudiad Hooft des Choonincrick Siam(ภูมิทัศน์ฺของกรุงยูเดียด์ นครหลวงแหล่งราชอาณาจักรสยาม) อีกภาพของ Vingboons สันนิษฐานว่าน่าจะวาดหลังภาพแรก เช่นเดียวกับภาพแรกคือถูกใช้เป็นต้นแบบในการทำใหม่อีกหลายภาพ
(http://www.ayutthaya-history.com/sitebuilder/images/Map_Ayut1665Vingboons-940x639.jpg)

พิจารณาจากเวลาวาดภาพแล้วข้อสันนิษฐานเรื่องการชักพระมงคลบพิตรจึงยังไม่ควรตัดทิ้งไปครับ ส่วนเรื่องการชัดกพระที่ว่าจะทำไม่ได้วัน วลิตเองก็ได้บอกไว้แล้วว่า 'demolished to its very base' ที่อ.เทาชมพูช่วยแปลให้แล้วว่ารื้อหมดแบบไม่เหลือฐาน ถ้าอนุมานว่าได้รื้อเจดีย์ไปพร้อมก็วิหารเก่าด้วยด้วยก็ไม่ขัดแย้งกับวัน วลิตครับ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับที่พระยาโบราณราชธานินทร์กล่าวด้วยว่าไม่พบเจดีย์ในบริเวณนั้น


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 03 ต.ค. 15, 07:48

เรื่อง ซ่อมวัดชีเชียง วันวลิตบอกในพงศาวดารฯว่าเคยกล่าวไว้แล้ว
ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้ วันวลิตเขียนบรรยายใน

Description of the Kingdom of Siam

วันวลิตบอกว่าวัดนี้ อยู่ติดกับ the king's palace courtyard
ชึ่งจะตรงกับ วัดธรรมิกราช

แต่ถ้าเป็น the king's villa courtyard จะสนุกกว่าเยอะจะเป็นวัดชัยวัฒนารามได้

เรื่องฐานเวดีย์ตรงวิหารแกลบ พระยาโบราณท่านสงสัยตรงไหนท่านขุดดูนะครับ
ที่ท่านบอกว่าไม่มีเจดีย์ เชื่อได้แน่นอน หรือ เราไปถามกรมศิลปากร ปัจจุบันได้ว่ามีร่องรอยเจดีย์หรือเปล่า

เรื่องภาพวาด จิตรกรไม่ได้มาวาดที่อยุทธยานะครับ ใช้ต้นฉบับจาก sketch ของ VOC
สเกาเตน คนที่มาก่อนวันวลิต ก็สั่งให้วาดภาพร่างไว้


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 03 ต.ค. 15, 08:13


พระยาโบราณฯท่านก็บอกเองว่าลำดับชื่อประตูตามกฎมณเฑียรบาลอาจจดผิดพลาดกันได้
เป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าปราสาททองจะรื้อวัดที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองแล้วเหลือวิหารแกลบไว้ดูต่างหน้า
นักก่อสร้างในรัชกาลนั้นทำโปรเจคใหญ่ๆสำเร็จทั้งนั้นครับ ยกเว้นปราสาทนครหลวงปลายรัชกาล



วัดชีเชียงตามหลักฐานของวัน วลิต ระบุว่าเป็นวัดที่ใหญ่ก็จริง แต่สันนิษฐานจากที่วัน วลิตระบุว่าถูกฟ้าผ่าหลายหนและไม่เคยได้รับการบูรณะอย่างสมบูรณ์ จึงเป็นไปได้สูงที่น่าจะมีสภาพทรุดโทรม และจากหลักฐานของวัน วลิตในเอกสาร Description of the Kingdom of Siam 1683 ก็ไม่ได้ระบุว่าวัดชีเชียงเป็นวัดสำคัญอันดับต้นๆของอยุทธยาในสมัยนั้นแล้ว แต่ระบุว่าวัดหลวงในพระนครศรีอยุทธยาที่สำคัญที่สุดมี ๔ วัดคือ วัดพระศรีสรรเพชญ์(Wat Syserpudt) วัดมหาธาตุ(Nappetat) วัดเจ้าพญาไท(Thimphiathey) วัดเดือน(Wat Deun) ถ้าในสมัยนั้นวัดชีเชียงจึงอาจจจะไม่ได้มีความสำคัญมากเท่าในอดีตอีกแล้ว และคงจะเพราะบูรณะได้ยาก จึงทรงให้รื้อวิหารเก่าและย้ายองค์พระออกไปไกล เพื่อที่จะสร้างวิหารใหม่ ซึ่งจะสร้างเสร็จทั้งวัดหรือไม่ก็ไม่ทราบเพราะวัน วลิตเองอยู่ไม่ทันสร้างเสร็จ แต่ถ้าจะเชื่อทฤษฎีว่าเป็นมณฑปพระมงคลบพิตรก็จะเห็นว่าสามารถสร้างมณฑปได้เสร็จครับ ส่วนที่ทำไมไม่สร้างใหม่ทั้งวัดนี่ก็ไม่ทราบ แต่อาจจะขึ้นอยู่กับพระราชประสงค์ก็เป็นได้

ปราสาทนครหลวงสร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๗๔ พระเจ้าปราสาททองเพิ่งครองราชย์ได้แต่ ๒ ปีครับ และก็ไม่ได้ปรากฏว่าสร้างไม่สำเร็จแต่อย่างใด ขนาดกว้างยาวก็พอๆกับปราสาทย่อมๆของเขมรเพียงแต่อาจจะไม่ได้อลังการเท่า ถ้าเทียบกับปราสาทของไทยก็นับว่าใหญ่โตมากทีเดียว


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 03 ต.ค. 15, 08:30

เรื่อง ซ่อมวัดชีเชียง วันวลิตบอกในพงศาวดารฯว่าเคยกล่าวไว้แล้ว
ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้ วันวลิตเขียนบรรยายใน

Description of the Kingdom of Siam

วันวลิตบอกว่าวัดนี้ อยู่ติดกับ the king's palace courtyard
ชึ่งจะตรงกับ วัดธรรมิกราช

แต่ถ้าเป็น the king's villa courtyard จะสนุกกว่าเยอะจะเป็นวัดชัยวัฒนารามได้

เรื่องฐานเวดีย์ตรงวิหารแกลบ พระยาโบราณท่านสงสัยตรงไหนท่านขุดดูนะครับ
ที่ท่านบอกว่าไม่มีเจดีย์ เชื่อได้แน่นอน หรือ เราไปถามกรมศิลปากร ปัจจุบันได้ว่ามีร่องรอยเจดีย์หรือเปล่า

เรื่องภาพวาด จิตรกรไม่ได้มาวาดที่อยุทธยานะครับ ใช้ต้นฉบับจาก sketch ของ VOC
สเกาเตน คนที่มาก่อนวันวลิต ก็สั่งให้วาดภาพร่างไว้


ผมเจอแล้วครับ สรุปคือเราอ่านกันคนละเอกสารคนละฉบับ งั้นเรื่องพระเจ้าปราสาททองทรงเคยมีความตั้งใจจะบูรณะวัดนี้เป็นอันจบครับ

แต่ก็ค่อนข้างจะขัดแย้งกับในเอกสาร The Short History of the Kings of Siam 1640 อยู่กับสภาพที่ระบุว่าทุบวัดเก่าทิ้ง แล้วสร้างใหม่ที่อื่น  แต่มาลองคิดเล่นๆตอนนี้จากข้อความใน Description of the Kingdom of Siam ยกอาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นการ 'แก้เคล็ด' ก็เป็นได้ เพราะพระเจ้าปราสาททองนั้นทรงค่อนข้างเชื่อถือในเรื่องโชคลางโหรศาสตร์อยู่มาก และปรากฏว่าเมื่อมีการบูรณะก็มีอาเพศและมีการทำนายว่าพระเจ้าปราสาททองจะไม่สามารถบูรณะได้ จึงทรงเลี่ยงไปทำแบบอื่นโดยการย้ายไปสร้างที่อื่น ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า 'บูรณะ' แบบไม่เต็มปากนัก

ส่วนเรื่องวัดพระชีเชียง ฉบับที่ผมมีระบุว่าตั้งอยู่ in the courtyard of the king's palace เลยครับ ไม่ใช่อยู่ข้างๆ สันนิษฐานน่าจะหมายถึงสนามหลวงหรือลานพระเมรุซึ่งอยู่ใต้วัดพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิหารแกลบมากกว่า เพราะมีที่กว้างขวางเพียงพอจะมีวัดตั้งอยู่ได้ถ้าจะเทียบกับสนามหน้าจักรวรรดิที่ติดวัดธรรมิกราชซึ่งมีที่แคบกว่าและยังมีกำแพงพระราชวังล้อมรอบ  ไม่น่าจะมีวัดซึ่งถูกระบุว่ามีขนาดใหญ่โตมากที่สุดตั้งอยู่ได้ครับ

ส่วนเรื่องภาพของ Vingboons เท่าที่ทราบคือไม่มีหลักฐานว่าทั้งสองคนเคยเข้ามาในอยุทธยา(ซึ่งทั้งสองอาจจะเคยเข้ามาหรือไม่ก็ได้) มีความเป็นไปได้สูงที่จะวาดจากภาพ sketch จากคนที่เคยเห็นของจริง แต่ก็ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องวาดโดยใช้ภาพที่วาดตั้งแต่สมัยของโยส สเคาเต็นเป็นแบบ(ซึ่งไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร และมีมณฑปหรือไม่) เพราะช่วงเวลานั้นก็ห่างกันมากกว่า ๒๐ ปีและ VOC ยังคงทำการค้ากับอยุทธยามาอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะได้รับภาพร่างที่ทันสมัยกว่ามาเป็นแบบย่อมมีอยู่แล้วครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 03 ต.ค. 15, 09:00
ผมว่าเราคุยกันไปไกลมากแล้ว หาทางกลับมาเรื่องเจ้าฟ้ากุ้งกันเถอะครับ 


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 03 ต.ค. 15, 11:33

^^ หาทางกลับไม่ถูกแล้ว ไปทะเลกันดีกว่า


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ต.ค. 15, 11:47
ถ้าทั้งสองท่านยังลื่นไหลอยู่ ก็เชิญไปต่อเรื่อยๆนะครับ ในทะเลก็มีกุ้งเมือนกัน คนอ่านๆแล้วเพลิดเพลินดี ;D


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ต.ค. 15, 11:53
ท่องเน็ตไปแล้วเจอเข้า ถูกใจ จึงเด็ดมาฝาก


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 03 ต.ค. 15, 12:12

^^ โดนเชน ปล่อยเกาะแล้ว ยอมแพ้ดีกว่า   ;D


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ต.ค. 15, 12:36
อ้าว แล้วกัน ไหง๋กลายเป็นยังงั้น


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 03 ต.ค. 15, 13:20
 ;D :-X 8)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 15, 14:26
แอบเข้ามาอ่านอยู่หลังห้อง

ตามใจคุณคนโคราชหน่อย   เจ้าฟ้ากุ้งไม่ได้แต่งก็ไม่แต่ง  เอ้า
ถ้างั้นคนที่แต่งเป็นใครคะ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 03 ต.ค. 15, 15:47

คนแต่ง ผมสงสัยอยู่สองคนครับ ท่านอาจารย์

คุณ share กับคุณจิตรางคทา  ;D


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ต.ค. 15, 16:25
*


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 15, 16:44
ท่านนวรัตนคงสงสัยอยู่เช่นกัน   ;D  ;D  ;D
โปรดขยายความ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 04 พ.ย. 15, 19:51
วันนี้อ่านหนังสือ 'ในยุคอวสาน กรุงศรีฯ ไม่เคยเสื่อม' ของสำนักพิมพ์มติชนที่ซื้อมาช่วงงานหนังสือครับ หนังสือน่าเก็บสำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์สมัยอยุทธยาครับ

ในบท 'ข้อสังเกต ว่าด้วยการพัฒนาการทางภาษาและวัฒนธรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในตำนานมุขปาฐะและวรรณคดีลายลักษณ์'  มีบทความย่อยเกี่ยวกับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรกับงานพระราชนิพนธ์ด้วยครับ ชื่อว่า 'ข้อสังเกตว่าด้วยเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรและพระราชนิพนธ์ร่วมสมัย' มีหลายประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เคยถกกันในกระทู้นี้อยู่เหมือนกันครับ

(https://scontent-sin1-1.xx.fbcdn.net/hphotos-xtp1/v/t1.0-9/12109329_992830244114993_8474855860310688382_n.jpg?oh=dd0c3cf588e12671d0b44f80a0b136e7&oe=56CBB730)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 04 พ.ย. 15, 19:52
คัดมาบางหน้าครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 04 พ.ย. 15, 20:02
ในบท 'การค้าเครื่องกระเบื้องระหว่างจีน สมัยต้นราชวงศ์ชิง กับกรุงศรีอยุธยา สมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง พ.ศ.๒๑๘๗-๒๓๑๐' ได้กล่าวถึงอ.นวรัตนด้วยครับ

เชิงอรรถระบุว่า 'สืบสายมาจากเจ้าคุณพระคลังจีน (อ๋องเฮงฉ่วน)'


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 พ.ย. 15, 23:00
อาจารย์สุเนตรอ้างความเห็นของคุณม้า ส่วนคุณนวรัตนเป็นผู้ตั้งกระทู้ "สายสกุลจีนของ เจ้าคุณจอมมารดาเอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ"

กว๋างนาม กวางหนำในเวียดนาม มีเมืองท่าสำคัญในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 คือเมืองโห่ยอาน (ที่ชอบเรียกกันว่าฮอยอันนั่นแหละครับ) เมืองโห่ยอ่านนี้เป็นเมืองท่าที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 พ.ย. 15, 07:09
อาจารย์สุเนตรอ้างความเห็นของคุณม้า ส่วนคุณนวรัตนเป็นผู้ตั้งกระทู้ "สายสกุลจีนของ เจ้าคุณจอมมารดาเอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ"

ขออนุญาตแก้ไข อาจารย์สุเนตรเป็นบรรณาธิการ ส่วนผู้อ้างความเห็นของคุณม้าคือผู้เขียนบทความเรื่อง "การค้าเครื่องกระเบื้องระหว่างจีนสมัยต้นราชวงศ์ชิงกับกรุงศรีอยุธยาสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง พ.ศ. ๒๑๘๗-๒๓๑๐" คือ คุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ผู้เขียนหนังสือ "กระเบื้องถ้วย กะลาแตก"  ;D


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 15 พ.ย. 15, 07:20

ถ้าเราพิจารณางานวรรณกรรมร่วมสมัย ในยุคเดียวกัน
จะเห็นความคล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาดใจของ
บุณโณวาทคำฉันท์ ที่แต่งโดย พระมหานาควัดท่าทราย กับกลุ่ม นิราศธารทองแดง นิราศธารโศก และ กาพย์แห่เรือ

ความคล้ายนี้ไม่ว่าจะเป็นการวางเค้าโครง ลำดับการพรรณา รายละเอียดต่างๆ ไปจนถึงบทจบที่คล้ายกันอย่างน่าประหลาด
เหมือนกับว่างานในกลุ่มหลังเป็นแต่งการขยายพรรณาความจากบุณโณวาทคำฉันท์ให้มีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งมีร่องรอยน่าเชื่อว่าผู้ผลิตผลงานในกลุ่มหลังน่าจะได้รับอิทธิพลจากงานของพระมหานาคอย่่างแน่นอน

ประวัติของ พระมหานาค วัดท่าทราย ไม่เป็นที่ปรากฏชัดเจนในปัจจุบัน แต่อาจสันนิษฐานได้ว่าท่านจะต้องเคยมีส่วนใกล้ชิดกับราชสำนัก
เพราะสามารถบรรยายรายละเอียดต่างๆของกระบวนเสด็จนมัสการพระพุทธบาทได้อย่างเหมือนเป็นคนใน
นอกจากนี้สำนวนที่ใช้เหมือนกับคนในราชสำนักแต่ง และไม่เหมือนสำนวนกวีแบบชาวบ้านอ่านแล้วเข้าใจเลยที่สุนทรภู่ใช้ในนิราศพระบาทภายหลัง

เพื่อความฉับไวของเนื้อเรื่อง  ขอ spoil ตัดหน้าคนอื่น โดยเอาตอนจบมาให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเองครับ ว่าตรงจบบริบูรณ์นี้เป็นลายเซ็นต์ของใคร
อ้างอิงจาก ตู้หนังสือเรือนไทย แหล่งความรู้มหาสมบัติแถวนี้เอง

บทจบนิราศธารทองแดง

    ๏จบจนจอมโลกย์     เจ้าคืนวัง
   พิตรสถิตยบัลลังก์     เลิศหล้า
   ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง    ชนโลก อ่านนา
   บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า    ธิเบศร์เจ้าจงสงวน ฯ
    ๏ อักษรเรียบเรียงถ้อย     คำเพราะ
   ผู้รู้อ่านสารเสนาะ        เรื่อยหรี้
   บรู้อ่านไม่เหมาะ        ตรงเทิ่ง ไปนา
   ทำให้โคลงทั้งนี้        ชั่วช้าเสียไป ฯ
    ๏ อักษรสรรค์สร้างช่าง      ชุบจาน
   โคลงก็เพราะเสนาะสาร      แต่งไว้
   ผู้รู้อ่านกลอนการ              พาชื่น ใจนา
   ผู้บ่รู้อ่านให้                      ขัดข้องเสียโคลง ฯ

บทจบบุณโณวาทคำฉันท์
    
     จบ เสร็จอภิวาทไหว้      สักการ
   บุ โณวาทพิศฎาร          สูตรแจ้ง
   ริ ร่ำสรรเสริญสาร          ฉันทภาค
   บูรรณ เสร็จสำเร็จแกล้ง      กล่าวไว้เป็นเฉลิมฯ
    จบ จนกระษัตรสร้าง      เสร็จฉลอง
   พิตรเสด็จไพรคนอง     เถื่อนถ้ำ
   ริ ร่างสฤษดิสารสนอง      เสนอเนตร
   บูรรณ เสร็จเสด็จกรุงซ้ำ      เรื่องซั้นสรรเสริญฯ
          ฉันทพากย์พระนาคถ้า     ทรายผจง
   ยินย่อมอาลัยหลง                 เล่ห์ชู้
   แรกรักร่วมจิตรปลง           ปลุกสวาท ลืมฤา
   โสตเสนาะเพราะรู้              รสอ้อยตาลหวานฯ
          จบกลอนพระนาคแกล้ง   เกลาบท
   ฉันทพากย์นิพนธ์พจน์      เรียบร้อย
   เพียงทิพยสุธารส              สรงโสรจ ใจนา
   ฟังเร่งเสนาะเพราะถ้อย      ถี่ถ้วนกลอนแถลงฯ
         
 


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 15, 09:11
คุณคนโคราช บอกใบ้ให้คิดว่า พระมหานาควัดท่าทราย คือ ghost writer ของพระนิพนธ์ธารทองแดง  ที่ลงชื่อท้ายบทว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เป็นผู้แต่ง   เพราะสำนวนโคลงเหมือนกัน  วิธีแต่งเหมือนกัน
อย่างคำว่า จบบริบูรณ์ ที่นำหน้าโคลงแต่ละวรรค

ก่อนอื่น ขออธิบายให้ท่านผู้อ่านเรือนไทย ทราบว่า โคลงชนิดที่มีคำคำแรก อ่านจากบนลงล่างถึงจะได้ความ  เป็นโคลงที่มีคำเรียกเฉพาะว่า โคลงกระทู้    ค่ะ    เป็นแบบแผนที่ใครจะหยิบมาแต่งก็ได้    ไม่ใช่การค้นคิดของใครคนใดคนหนึ่งคนเดียว 
การที่ธารทองแดงและบุณโณวาทคำฉันท์ลงท้ายด้วยโคลงกระทู้เหมือนกัน     หมายความได้เพียงว่ากวีผู้แต่งเลือกใช้โคลงกระทู้จบเรื่องเหมือนกัน   อาจเป็นขนบการแต่งที่นิยมกันในยุคนั้นก็ได้     หรือว่าคนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากอีกคนก็ได้
แต่ไม่ได้แปลว่า ทั้งสองต้องเป็นคนเดียวกัน

ขอยกตัวอย่างโคลงกระทู้


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 15, 09:27
ข้อ 2   ถ้าพระมหานาคเป็นคนแต่งนิราศธารทองแดง    แต่ใส่ชื่อตอนท้ายว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เป็นผู้แต่ง   ท่านก็ขาดศีลข้อมุสาวาทาเวอย่างแรง     ไม่ว่าท่านจะร่วมมือกับเจ้าฟ้ากุ้งเอง หรือถูกบังคับ  ศีลก็ขาดกระจุยแล้วค่ะ
ยิ่งท่านให้จดจารเป็นลายลักษณ์อักษรหลอกคนทั้งวังด้วย  ยิ่งร้ายหนักเข้าไปอีก
แบบนี้ อยู่ในผ้าเหลืองไม่ได้แล้ว

ข้อ 3  พระมหานาคแต่งฉันท์ ซึ่งถือเป็นกวีนิพนธ์ชั้นสูง   คนที่จะแต่งได้ต้องร่ำเรียนบาลีและสันสกฤตจนแตกฉาน   จึงจะแต่งลงลหุครุได้ไม่ผิดพลาด    ส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นมหาเปรียญระดับสูงๆ  ไม่ใช่เปรียญหนึ่งสอง
ไม่ปรากฏว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ แต่งฉันท์ไว้เลยสักเรื่อง  นันโทปนันทสูตรและพระมาลัยคำหลวง ใช้คำประพันธ์ชนิดร่าย แต่งง่ายกว่ากลอนเสียอีก

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ดิฉันจะค้านคุณโคราชชนิดไม่ให้ออกความเห็นอะไรอีก    ตรงกันข้าม  ดิฉันยินดีมากที่มีผู้จุดประกายความสงสัยขึ้นมา  มันทำให้การศึกษาวรรณคดีไม่ใช่มีแต่การท่องจำอย่างเดียว  แต่มีการวิเคราะห์วิจารณ์ หรือแม้แต่คัดค้านได้ด้วย
ทำให้วรรณคดีพ้นจากสภาพของขลังใครแตะต้องไม่ได้  ถ้าแตะไม่ได้ก็เหมาะจะเก็บไว้ฝุ่นจับบนหิ้ง  แล้วก็สูญสลายไปในที่สุด

เพียงแต่ว่า ข้อค้านของดิฉันคือทางเลือกให้ท่านอื่นๆได้มองเห็นทั้งสองด้าน       ใครจะเชื่อด้านไหนก็แล้วแต่ ไม่บังคับค่ะ



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 15 พ.ย. 15, 11:33

ขอเรียนตอบท่านอาจารย์เทาชมพู เรื่องศีลข้อมุสาก่อนนะครับ
ตอนนี้เรายังไม่เห็นเหตุชวนสงสัยว่าผู้แต่งนิราศธารทองแดงและอื่นๆ จะไม่เป็นผู้อยู่ในเพศฆราวาส
ส่วนที่มาของ โคลงกระทู้จบบริบูรณ์ คงยังชี้ชัดไม่ได้ครับ

มีความเป็นไปได้แม้แต่ว่า พระยาตรังผู้รวบรวมภายหลังคัดลอกมาใส่ไว้ด้วยกัน
ตามความเข้าใจของตนเอง บางงานท่านแต่งเพิ่มเข้าไปด้วย

บุณโณวาทคำฉันท์นั้น พระนาค ท่านน่าจะแต่งตอนเป็นพระถือศีลอยู่แน่ครับ
แต่บรรยายเหตุการณ์ตอนตามเสด็จนั้นจะเป็นพระหรือเปล่าไม่แน่ใจ เพราะบางเหตุการณ์
เหมือนไม่ใช่กิจของสงฆ์ เหมือนกับเคยเป็นชาววังมาก่อนบวช

การบวชแล้วสึก สึกแล้วบวช ของชาววัง เจ้านาย หรือข้าราชบริพารสมัยนั้นเหมือนเป็นเรื่องปกติครับ
เราทราบว่าเจ้าฟ้านเรนทร์ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ เจ้าฟ้าอุทุมพรก็บวชแล้วสึก สึกแล้วบวช กันมากกว่าหนึ่งครั้งครับ

สมัยรัชกาลที่ 1 ก็มีสึกพระราชาคณะมาทำราชการ ต่อมาลูกสาวของพระราชาคณะก็เป็นนางในด้วย
สมัยหลังๆ นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง เช่น นาคะประทีบ เสฐียรพงษ์ ก็เป็นพระมหาก่อนสึกออกมามีครอบครัวครับ

ร. 4 ท่านก็มีพระราชธิดา โอรส ก่อนบวช หลังครองราชท่านก็กลับเป็นฆราวาสเต็มตัว

โดยสรุปคือ พระต้องถือศีล 227 ข้อจริง แต่สึกออกมาแล้วจะถือกี่ข้อก็แล้วแต่บุคคลครับ
ทั้งนี้ผมยังไม่ได้หมายความว่า พระมหานาคท่านจะสึกออกมาทำมาหากินนะครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 15 พ.ย. 15, 11:58

เมื่อเราคุ้นเคยกับ ร้อยเล่ห์กลโกง ของบรรดา ทส. ลูกไล่ของบรรดาผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
เราก็สามารถเดาได้ว่ามีวิธีเปลี่ยนชื่อผู้แต่งได้โดยไม่ทำให้ผู้แต่งตัวจริงผิดศีลข้อมุสาครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 15, 18:34
เป็นกระทู้ประเทืองปัญญาจริงๆ อ่านเพื่อกอบโกยเข้าสมองอย่างเดียว
แต่เสียดาย เมมโมรี่การ์ดของผมมันเสื่อมไปเยอะแล้ว จะหาอะไหล่มาเปลี่ยนก็ไม่มี เก็บได้แค่ไหนก็แค่นั้น


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 15, 18:49
คุณ NAVARAT.C แวะเข้ามาให้ซุ่มให้เสียง    ดีแล้ว จะได้ถามว่าไม่มีค.ห.ใหม่บ้างหรือคะ  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ท่านค้างเติ่งอยู่นานแล้ว


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ย. 15, 09:12
เรื่องของผมตรงนั้นน่าจะจบแล้วนี่ครับ ไม่มีใครมีความเห็นหรือมีคำถามอะไร กระทู้ก็ควรจะลาโรงได้แล้วนะครับ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 พ.ย. 15, 09:10
ก่อนอื่น ขออธิบายให้ท่านผู้อ่านเรือนไทย ทราบว่า โคลงชนิดที่มีคำคำแรก อ่านจากบนลงล่างถึงจะได้ความ  เป็นโคลงที่มีคำเรียกเฉพาะว่า โคลงกระทู้    ค่ะ    เป็นแบบแผนที่ใครจะหยิบมาแต่งก็ได้    ไม่ใช่การค้นคิดของใครคนใดคนหนึ่งคนเดียว  
ความนิยมจบบทวรรณกรรมร้อยกรองด้วยโคลงกระทู้ "จบบริบูรณ์" สืบเนื่องจากสมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ดังบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จบลงด้วยโคลง ๒ บทสุดท้าย ดังนี้

๏ จบ เรื่องราเมศมล้าง   อสุรพงศ์
บ พิตรธรรมิกทรง        แต่งไว้
ริ รํ่าพรํ่าประสงค์         สมโภช พระนา
บูรณ์ บำเรอรมย์ให้       อ่านร้องรำเกษม ฯ

๏ เดือนอ้ายสองคํ่าขึ้น   จันทรวาร
บพิตรผู้ทรงญาณ        ยิ่งหล้า
แรกรินิพนธ์สาร          รามราพณ์ นี้แฮ
ศักราชพันร้อยห้า        สิบเก้าปีมะเส็ง ฯ


จาก  บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗ (http://vajirayana.org/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%8C/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B9%91%E0%B9%91%E0%B9%97)


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 24 พ.ย. 15, 15:04

อ้างอิง: ตู้หนังสือเรือนไทย

กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง

เห่ชมปลา
โคลง

๏ พิศพรรณปลาว่ายเคล้า      คลึงกัน
ถวิลสุดาดวงจันทร์      แจ่มหน้า
มัตสยาย่อมพัวพัน      พิศวาส
ควรฤพรากน้องช้า      ชวดเคล้าคลึงชม ฯ
                  
ช้าลวะเห่
๏ พิศพรรณปลาว่ายเคล้า      คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์
มัตสยายังรู้ชม      สาสมใจไม่พามา
นวลจันทร์เป็นนวลจริง      เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
คางเบือนเบือนหน้ามา      ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย
เพียนทองงามดั่งทอง      ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหห่างชาย      ดั่งสายสวาทคลาดจากสม
                  
ทรงแปลง
แก้มช้ำช้ำใครต้อง      อันแก้มน้องช้ำเพราะชม
ปลาทุกทุกข์อกกรม      เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง ฯ
                  
ทรงแทรก ๕ บท
มูลวะเห่

น้ำเงินคือเงินยวง      ขาวพรายช่วงสีสำอาง
ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง      งามเรืองเรื่อเนื้อสองสี
๏ ปลากรายว่ายเคียงคู่      เคล้ากันอยู่ดูงามดี
แต่นางห่างเหินพี่      เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร
หางไก่ว่ายแหวกว่าย      หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
คิดอนงค์องค์เอวอร      ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร
๏ ปลาสร้อยลอยล่องชล      ว่ายเวียนวนปนกันไป
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย      ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย
เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ      เนื้อน้องฤๅอ่อนทั้งกาย
ใครต้องข้องจิตชาย      ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง
๏ ปลาเสือเหลือที่ตา      เลื่อนแหลมกว่าปลาทั้งปวง
เหมือนตาสุดาดวง      ดูแหลมล้ำขำเพราคม
แมลงภู่คู่เคียงว่าย      เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม
คิดความยามเมื่อสม      สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง
หวีเกศเพศชื่อปลา      คิดสุดาอ่าองค์นาง
หวีเกล้าเจ้าสระสาง      เส้นเกศสลวยรวยกลิ่นหอม
ชะแวงแฝงฝั่งแนบ      ชะวาดแอบแปบปนปลอม
เหมือนพี่แอบแนบถนอม      จอมสวาทนาฏบังอร
๏ พิศดูหมู่มัจฉา      ว่ายแหวกมาในสาคร
คะนึงนุชสุดสายสมร      มาด้วยพี่จะดีใจ ฯ

ในกาพย์เห่เรือนี้ นับปลาได้ 17 ชนิด

ปลาหวีเกศ ปัจจุบันสูญพันธ์ไปแล้ว
ปลาแมลงภู่ น่าจะเป็น ปลาชะโด

มีปลาสี่ชนิด นวลจันทร์ หวีเกศ แปบ และ ปลาหางไก่ที่ไม่เข้าพวก
อีกสิบสามชนิดมีกล่าวอยู่ในฉันท์ไม่กี่บทของ พระนาควัดท่าทราย


บุณโณวาทย์คำฉันท์

ชมพรรณนกไม้สบสรรพ์      สบสัตวอนันต์
อเนกตรูตราไตร
      เสด็จชมถ้ำธารอำไพ      เย็นฉ่ำชลใส
ลเลื่อมวาลุกาพราย
      มีหมู่มัจฉามากมาย      ตริวตราวม่านลาย
แลฝูงจรเข้เหรา
      ช้างเหยียบปลาแม้วลิ้นหมา      คางเบือนเบือนหา
กรช่อนแก้มช้ำสู่หมอ
      กรตรับตรับฟังรังรอ      กรายว่ายเวียนตอ
ตรเพียนตรพากไยไภ
      ดาบลาวอ้าวอุกเสือไคร      เนื้ออ่อนอ่อนใจ
ประนอมน้ำเงินเงินมี
      แมวม้าพาเทโพลี      จิ้มฟันกุมภีล์
ก็พาอ้ายด้องดวนตาม
      กระแหแห่ห้อมหลังหนาม      อิทุกทุกคาม
มาสู่ปลากดกฎหมาย
      ทมางหมางใจไหลหลาย      ซ่อยซ่าซิวสวาย
ชวาดวิวาทข่มแขยง
      ชโดทองพลุกดุกแดง      ช่อนช้อนชวนแชวง
เห็นพวกกระดี่ดีใจ
      นานาแน่นน้ำเลมไคล      ผุดว่ายเวียนระไว
บรู้กีส่ำสังขยา



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 24 พ.ย. 15, 16:32


เห่ชมนก
โคลง
๏ รอนรอนสุริยโอ้      อัสดง
เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง      ค่ำแล้ว
รอนรอนจิตจำนง      นุชพี่ เพียงแม่
เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว      คลับคล้ายเรียมเหลียว ฯ
                 
ช้าลวะเห่
๏ เรื่อยเรื่อยมารอนรอน      ทิพากรจะตกต่ำ
สนธยาจะใกล้ค่ำ      คำนึงหน้าเจ้าตาตรู
๏ เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง      นกบินเฉียงไปทั้งหมู่
ตัวเดียวมาพลัดคู่      เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย
๏ เห็นฝูงยูงรำฟ้อน      คิดบังอรร่อนรำกราย
สร้อยทองย่องเยื้องชาย      เหมือนสายสวาทนาดนวยจร
สาลิกามาตามคู่      ชมกันอยู่สู่สมสมร
แต่พี่นี้อาวรณ์      ห่อนเห็นเจ้าเศร้าใจครวญ
นางนวลนวลน่ารัก      ไม่นวลพักตร์เหมือนทรามสงวน
แก้วพี่นี้สุดนวล      ดั่งนางฟ้าหน้าใยยอง
นกแก้วแจ้วแจ่มเสียง      จับไม้เรียงเคียงคู่สอง
เหมือนพี่นี้ประคอง      รับขวัญน้องต้องมือเรา ฯ
                 
มูลวะเห่
ไก่ฟ้ามาตัวเดียว      เดินท่องเที่ยวเลี้ยวเหลี่ยมเขา
เหมือนพรากจากนงเยาว์      เปล่าใจเปลี่ยวเหลียวหานาง
แขกเต้าเคล้าคู่เคียง      เรียงจับไม้ไซ้ปีกหาง
เรียมคะนึงถึงเอวบาง      เคยแนบข้างร้างแรมนาน
ดุเหว่าเจ่าจับร้อง      สนั่นก้องซ้องเสียงหวาน
ไพเราะเพราะกังวาน      ปานเสียงน้องร้องสั่งชาย
โนรีสีปานชาด      เหมือนช่างฉลาดวามแต้มลาย
ไม่เท่าเจ้าโฉมฉาย      ห่มตาดพรายกรายกรมา
สัตวาน่าเอ็นดู      คอยหาคู่อยู่เอกา
เหมือนพี่ที่จากมา      ครวญหาเจ้าเศร้าเสียใจ
๏ ปักษีมีหลายพรรณ      บ้างชมกันขันเพรียกไพร
ยิ่งฟังวังเวงใจ      ล้วนหลายหลากมากภาษา ฯ

จากนกสิบชนิด มีสามชนิดไม่เข้าพวก
นกยูง นกขุนทอง(สร้อยทอง) และโนรี ซึ่งเป็นนกเลี้ยง

นอกนั้นมีอยู่ในบุณโณวาทย์คำฉันท์

เสด็จชมคณานก      ดุจผกฤไทยหวน
โกกิลขมิ้นนวล      หัสไนยรังนาน
      ไก่ฟ้าพญาลอ      กระวิกแขวกขวาน
ขุนแผนกระแวนวาน      รวังไพรตระไนยาง
      ขาบเค้ากระทาคุ่ม      อิลุ้มกรุมตรลอนฟาง
เงือกงั่วกระลิงลาง      กเลมาะเค้าแมวโมง
      สร้อยร้าพญาเสวย      ตีวิดวิ่งและคลิ้งโคลง
ภูรโดกชโงกโพรง      กุลาโห่และโกญจา
      ยางกรอกกับดอกบัว      กระเตนตั้วและตับคา
แขกเต้า กระเหว่า สา-      ลิกา แก้ว กรอดเกรียน
      กาสักและสัตวา      มยุเรศตีนเทียน
จินโจ้กระจาบเวียน      บารบุนและเบญจวรรณ
      กินลมสมบัณฑิต-      ยประหิศอัญชัน
เค้ากู่คับแคพรร-      ณพิราบครวญคราง


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 25 พ.ย. 15, 10:37

เห่ชมไม้
โคลง
๏ เรือชายชมมิ่งไม้      มีพรรณ
ริมท่าสาครคันธ์      กลิ่นเกลี้ยง
เพล็ดดอกออกแกมกัน      ชูช่อ
หอมหื่นรื่นรสเพี้ยง      กลิ่นเนื้อนวลนาง ฯ
                  
ช้าลวะเห่
๏ เรือชายชมมิ่งไม้      ริมท่าไสวหลากหลายพรรณ
เพล็ดดอกออกแกมกัน      ส่งกลิ่นเกลี้ยงเพียงกลิ่นสมร
๏ ชมดวงพวงนางแย้ม      บานแสล้มแย้มเกสร
คิดความยามบังอร      แย้มโอษฐ์ยิ้มพริ้มพรายงาม
จำปาหนาแน่นเนื่อง      คลี่กลีบเหลืองเรืองอร่าม
คิดคะนึงถึงนงราม      ผิวเหลืองกว่าจำปาทอง
ประยงค์ทรงพวงร้อย      ระย้าย้อยห้อยพวงกรอง
เหมือนอุบะนวลละออง      เจ้าแขวนไว้ให้เรียมชม
พุดจีบกลีบแสล้ม      พิกุลแกมแซมสุกรม
หอมชวยรวยตามลม      เหมือนกลิ่นน้องต้องติดใจ
สาวหยุด พุทธชาด      บานเกลื่อนกลาดดาษดาไป
นึกน้องกรองมาลัย      วางให้พี่ข้างที่นอน
                  
มูลวะเห่
พิกุล บุนนาคบาน      กลิ่นหอมหวานซ่านขจร
แม้นนุชสุดสายสมร      เห็นจะวอนอ้อนพี่ชาย
เต็ง แต้ว แก้ว กาหลง      บานบุษบงส่งกลิ่นอาย
หอมอยู่ไม่รู้หาย      คล้ายกลิ่นผ้าเจ้าตาตรู
มะลิวัลย์พันจิก จวง      ดอกเป็นพวงร่วงเรณู
หอมมาน่าเอ็นดู      ชูชื่นจิตคิดวนิดา
ลำดวนหวนหอมตรลบ      กลิ่นอายอบสบนาสา
นึกถวิลกลิ่นบุหงา      รำไปเจ้าเศร้าถึงนาง
๏ รวยรินกลิ่นรำเพย      คิดพี่เคยเชยกลิ่นปราง
นั่งแนบแอบเอวบาง      ห่อนแหห่างว่างเว้นวัน
๏ ชมดวงพวงมาลี      ศรีเสาวภาคย์หลากหลายพรรณ
วนิดามาด้วยกัน      จะอ้อนพี่ชี้ชมเชย ฯ

มีพรรณไม้ 17 ชนิดในกาพย์เห่เรือบทชมไม้
มี 14 ชนิดอยู่ในพรรณไม้รอบๆ พระพุทธบาท บรรยายในบุณโณวาทคำฉันท์

ที่ไม่มีคือ พุดจีบ (มีแต่พุดซ้อน)
และในวรรค เต็งแต้วแก้วกาหลง  ขาด เต็ง และ กาหลง

บุณโณวาทคำฉันท์

มาลาเลวงกลิ่น      รสฟุ้งทั้งศิงขร
หล่นลอยชโลธร      ตระหลบอบสุคนธา
      ลั่นทมระดมดาษ      ดุจลาดประพัตรา
แก้วกรรณิกากา-      รเกษกลิ่นกำจรลม
      สายหยุด ประยงค์ แย้ม      ยี่สุ่นแซมสุกรมยม-
โดยดอกลำดวนสม      สุรภีพิกุลกาญจน์
      เบญมาศบุษบัน      มลิวรรณพุดตาลบาน
อังกาบกุหลาบธาร      สุคนธ์เทศเทียมกัน
      บุนนากลออนวล      พุทธชาติอัญชัน
ชงโคยี่เข่งพรรณ      มลุลีกระดังงา
      พุดซ้อนสลับกลีบ      จำปาปีบมลิลา
ซ่อนกลิ่นก็กลิ่นสา-      หัสยั่วกมลเสบย
      รวยเรื่อยจรุงรื่น      วายุพัดรำเพยเผย
บุปผาบุชาเชย      พุทธบาทบขาดวัน
      รุกขชาติประชุมแดน      มรฎปประดิษฐ์สรรพ์
ดั่งจิตรลดาวัน      วชิราสถาวร

...

เสด็จชมพนาดร      วรพฤกษสักขี
รวกรังกระสังมี      ผลดกประดู่แดง
      ชาเลียงและเหียงหัน      พชิงชันกระชุมแสง
จวงจันทนจิกแจง      ตะขบข่อยมค่าคาง
      พลวงพลองมตองแต้ว      และมตูมมตาดทราง
เกดแก้วลำไยยาง      พยอมยูงรโยงไพง
      อ้อยช้างและช้างน้าว      และกระเช้าสีดาใส่
หูกวางและกร่างไกร      มเกลือกล่ำกระลำภอ
      คูนเคี่ยมตะเคียนคล้าย      และย่างทรายเสม็ดสมอ
ปริกปรงประยงคุ์ยอ      มดูกเดื่อกระโดนโกรน
      สนสักมะกักกอก      และตระแบกตะบากโยน
หลาวหลกชโอนโอน      และกระทุ่มกระถินทอง
      คนทามะค่าแค      มงั่วแง่ระงับกรอง
เล็บนางขานางน้อง      มฝ่อแฟบมเฟืองไฟ
      เต่าร้างภุมเรียงรัก      ดูสลักสลมไพร
พรรณพฤกษ์ระบัดใบ      รบุช่อผกากาง
      หอมหวนประอวนกลิ่น      รสรินณริมทาง
ราชาคณานาง      ก็นิยมภิรมย์ยวน



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 25 พ.ย. 15, 11:47

ลองพิจารณาร่องรอยอิทธิพลของบุณโณวาทคำฉันท์/กาพ์เห่เรือ ที่มีต่อลิลิตตะเลงพ่าย

พระมหาอุปราชาชมไม้
ร่าย
๏ พระภูธรลวิลนาง   พลางรันทายรันทด ขุนคอคชหมื่นควาญ   ขับคชาธารจรดล   ลุตำบลสามสบ ธก็ปรารภรำพึง ถึงพักตร์พาลพธู   พลางพระดูดงเฌอ   พิศพุ่มเสมอเหมือนฉัตร เป็นขนัดเนืองนันต์ หลายเหล่าพรรณพฤกษา มีนานาไม้แมก หมู่ตระแบกตระบาก มากกระเบากระเบียน ตะขบตะเคียนคูนแค สมอสมีแสมม่วงโมก ซากซึกโศกสนสัก รวกโรกรักรังรง ปริกปริงปรงปรางปรู ลำแพนลำพูลำพัน จิกแจงจันทน์พันจำ เกดระกำกอกกุ่ม   กระทุ่มกระถินพิมาน เหล่าเสลาลานโลดเลียบ   เพียบพื้นแผ่นแดนไพร   หมู่มะไฟมะฝ่อ หมู่มะก่อมะกัก กระลำพักกระลำพอ ยูงยางยอกำยาน   แต้วตูมตาลตาดต้อง   ซ้องแมวโมงมูกมัน หาดเหียงหันกันเกรา สะเดาดูกเดื่อดก   กะทกรกรกฟ้า   มะข้ามะขามขานาง   ย่างทรายไทรไข่เหน้า เปล้าประดู่ดูดาษ สนุ่นหนาดขนุนขนาน   พะวาหวานหวายหว้า   สะบ้าสะบกเขลงขลาย   ประคำควายประคำโก่ ไผ่เพกาดาเสีอ มะเกลือมะกล่ำรำไย ไกรกรดกร่างช้างน้าว ขวิดขวาดขว้าวตะโกตะกู   พลับพลวงพลูพลองสล้าง   พลางบพิตรเจ้าช้าง ชื่นชี้ชมเดียว ฯ
๏ พระเหลียวแลไม้ดอก   ออกช่อแซมแนมผล ไขสุคนธ์เสาวรภย์   เลวงตรลบเเหล่งพนัส วายุพานพัดรำเพย ระเหยหอมฟุ้งเฟื่อง เปลื้องหฤทัยรำจวน เหล่าลำดวนดาษดง   แก้วกาหลงชงโค   ยี่สุ่นยี่โถโยทะกา พุดจีบลาลานเนตร   เกดพิกุลแบ่งกลีบปีบจำปาจำปี มะลุลีประดู่ดง ปรูประยงค์ยมโดย โรยเรณูร่วงเร้าเย้ากมลชวนชื่น สุรภีรื่นรสคนธ์ บุนนาคปนปะแปม การะเกดแกมกรรณิการ์ มะลิวัลย์ลาหลายหลาก   มากเมิลหมู่แมกไม้ ถวิลถึงองค์อ่อนไท้ ธิราซร้อนทรวงเสียว อยู่นา ฯ
                 
โคลง ๔
๏ มาเดียวเปลี่ยวอกอ้า      อายสู
สถิตอยู่เอ้องค์ดู      ละห้อย
พิศโพ้นพฤกษ์พบู      บานเบิก ใจนา
พลางคะนึงนุชน้อย      แน่งเนื้อนวลสงวน ฯ
๏ พระครวญพระคร่ำไห้      โหยหา
พลางพระพิศพฤกษา      กิ่งเกี้ยว
กลกรกนิษฐนา-      รีรัตน์ เรียมฤๅ
ยามตระกองเอวเอี้ยว      โอบอ้อมองค์เรียม ฯ
๏ เฌอปรางเปรียบนาฏน้อง      นวลปราง
รักดั่งรักนุชพาง      พี่ม้วย
ช้องนางเฉกช้องนาง      คลายคลี่ ลงฤๅ
โศกพี่โศกสมด้วย      ดั่งไม้นามมี ฯ
๏ อบเอยอบชื่นชี้      เฌอสม ญาฤๅ
อบว่าอรอบรม      รื่นเร้า
อบเชยพี่เชยชม      กลิ่นอบ เฌอนา
อบดั่งอบองค์เจ้า      จักให้เรียมเชย ฯ
๏ ขานางนึกคู่คู้      ขาสมร
พลางพี่โอบเอวอร      แอบเคล้า
กระทุ่มดั่งทุ่มกร      ตีอก เรียมฤๅ
เกดว่าเกศนุชเกล้า      กลิ่นกลั้วเสาวคนธ์ ฯ
๏ เล็บมือนางนี้หนึ่ง      นขา นางฤๅ
ต้องดั่งต้องบุษบา      นิ่มน้อง
ชงโคคิดชงฆา      นุชนาฏ เหมือนฤๅ
เรียมระเมียรเดื่อปล้อง      ดั่งปล้องศอสมร ฯ
๏ ซ่อนกลิ่นกลิ่นแก้วซ่อน      นาสา เรียมฤๅ
ตาดว่าตาดพัสตรา      หนุ่มเหน้า
สลาลิงเล่ห์ซองสลา      นุชเทียบ ถวายฤๅ
สวาดดั่งเรียมสวาทเจ้า      จากแล้วหลงครวญ ฯ
๏ สลัดไดใดสลัดน้อง      แหนงนอน ไพรฤๅ
เพราะเพื่อมาราญรอน      เศิกไสร้
สละสละสมร      เสมอชื่อ ไม้นา
นึกระกำนามไม้      แม่นแม้นทรวงเรียม ฯ
๏ โม้โรกเหมีอนโรคเร้า      รุมกาม
ไฟว่าไฟราคลาม      ลวกร้อน
นางแย้มหนึ่งแย้มยาม      เยาว์ยั่ว แย้มฤๅ
ตูมดั่งตูมตีข้อน      อกอั้นกันแสง ฯ
๏ สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง      ยามสาย
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย      ห่างเศร้า
กี่คืนกี่วันวาย      วางเทวษ ราแม่
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า      หยุดได้ฉันใด ฯ
๏ สุกรมกรมสุขไซร้      ไป่มี
กรมแต่ทุกข์เทวษทวี      ห่อนเว้น
นมสวรรค์นึกบัวศรี      เสาวภาคย์ พี่เอย
ถวิลบ่เคยขาดเคล้น      คลาดน้องใครถนอม ฯ
๏ โกสุมชุมช่อช้อย      อรชร
เผยผกาเกสร      ยั่วแย้ม
รวยรื่นรสคนธ์ขจร      จังหวัด ไพรนา
กลิ่นตระการกลแก้ม      เกศแก้วกูสงวน ฯ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: หอยทากเจ้าวายุ ที่ 09 ธ.ค. 15, 12:09

คนเราทุกคนจะอ่อนไหว นักรัก หรือคนแข็ง คนหุนหันก็เป็นกวีได้ (เวลาตกอยู่ในโลกส่วนตัว)
ส่วนจะแต่งออกมาได้ดีหรือไม่ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

เอาละ สมมติตั้ง assumption โดยทึกทักไปเองว่าคนทั่วไปที่มีบุคลิกแข็งๆ ไม่น่าจะเป็นกวีได้

ถ้างั้น "โดยตรรกะเดียวกัน" คนที่มีบุคลิกแข็งๆ จะคบหาสมาคมกับกวีไปเพื่ออะไรล่ะ !?

คนทั่วไป หากจะอุปถัมภ์กวี ตัวเองก็ต้องมีใจรักกวีไม่มากก็น้อย

 ;D


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 30 ธ.ค. 15, 10:24

คนเราทุกคนจะอ่อนไหว นักรัก หรือคนแข็ง คนหุนหันก็เป็นกวีได้ (เวลาตกอยู่ในโลกส่วนตัว)
ส่วนจะแต่งออกมาได้ดีหรือไม่ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

เอาละ สมมติตั้ง assumption โดยทึกทักไปเองว่าคนทั่วไปที่มีบุคลิกแข็งๆ ไม่น่าจะเป็นกวีได้

ถ้างั้น "โดยตรรกะเดียวกัน" คนที่มีบุคลิกแข็งๆ จะคบหาสมาคมกับกวีไปเพื่ออะไรล่ะ !?

คนทั่วไป หากจะอุปถัมภ์กวี ตัวเองก็ต้องมีใจรักกวีไม่มากก็น้อย

 ;D


ผมเข้าใจว่าที่หลายๆท่านได้คุยกันในกระทู้นี้
ความในปัจจุบันได้พ้น assumption ที่คุณหอยทากเจ้าวายุว่าคนทั่วไปที่มีบุคลิกแข็งๆ ไม่น่าจะเป็นกวีได้ ไปนานแล้ว
เราดูความไม่สมเหตุสมผล จากหลักฐานที่ปรากฏหลายๆอย่างมากกว่า
ไม่อย่างนั้นก็เถียงกันไปได้เรื่อยๆ แบบ "จะทำไปเพื่ออะไรล่ะ ?" เดี๋ยวคนดูก็ไล่ลงเวทีในที่สุด


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 30 ธ.ค. 15, 10:35

ในโอกาสปิดเทอมสั้นๆ ปลายปีเมื่อได้ฤกษ์ จับพลัดจับผลูเข้าเข้ามาเขียนต่อแล้ว
ก็ขอเรียนต่อว่า บุคคลที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตเจ้าฟ้ากุ้ง
ที่เห็นควรจะกล่าวต่อไปในกระทู้นี้มี สามคนด้วยกัน คือ

1. พระอุปราช-พระเจ้าบรมโกศ
2. เจ้าฟ้านเรนทร์-ภิกษุ
3. ออกขุนชำนาญ-เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์

โดย กฏการสืบราชสมบัติ จากพี่ไปน้อง และจากพ่อไปลูก รวมทั้งการทำรัฐประหารโดยขุนนางผู้ใหญ่
ที่มีการละเมิดตลอดยุคสมัยอยุธยาตอนปลาย ทำให้ผู้ที่มุ่งหวังในพระราชบัลลังก์จำต้องดำเนินการสร้างฐานอำนาจ
ของตนเองให้มั่นคง เพื่อที่จะใช้กำจัดคู่แข่ง และปีนไปสู่เป้าหมายให้ได้เมื่อถึงเวลาอันควร


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 30 ธ.ค. 15, 11:37

พระเจ้าบรมโกศ

พระเจ้าบรมโกศ ทรงเป็นบุคคลที่เข้าพระทัยในจุดอ่อนของกฎการสืบราชสมบัติเป็นอย่างดี
เป็นผู้มองการไกลเตรียมการเพื่อรับมือกับความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการผลัดเปลี่ยนอำนาจได้ทันการ

ทรงประสูตร ในปี พ.ศ. ๒๒๒๓ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
 เป็นบุตรชายคนที่สองของออกหลวงสรศักดิ์ บุตรพระเพทราชา

ก่อนหน้านั้นการสืบราชสมบัติไม่เป็นไปตามกฎทั้งสิ้น

ครั้งที่ 1 พ.ศ. ๒๑๕๔ พระเจ้าทรงธรรม (อายุ 19 ปี พระพิมลธรรม ราชาคณะ) ทำรัฐประหาร พระศรีเสาวภาคย์
ครั้งที่ 2 พ.ศ. ๒๒๗๑ พระเจ้าทรงธรรมมอบสมบัติให้พระเชษฐา พระโอรส  พระศรีศิลป์(พระอุปราช/พระอนุชา) ออกผนวช
ครั้งที่ 3 พ.ศ. ๒๒๗๓ ออกญากลาโหม (อายุ 35 ปี) ทำรัฐประหาร ตั้งพระอาทิตย์วงศ์ เป็นหุ่นเชิด
ครั้งที่ 4 พ.ศ. ๒๒๗๓ ออกญากลาโหม ปลดพระอาทิตย์วงศ์ ครองราชเป็น พระเจ้าปราสาททอง
ครั้งที่ 5 พ.ศ. ๒๑๙๙ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระโอรสขึ้นครองราช  พระศรีสุธรรมราชา(พระอนุชา/พระอุปราช) แข็งข้อ
ครั้งที่ 6 พ.ศ. ๒๑๙๙ พระศรีสุธรรมราชา ร่วมกับพระนารายณ์ ทำรัฐประหาร
ครั้งที่ 7 พ.ศ. ๒๑๙๙ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (อายุ 25 ปี) ทำรัฐประหาร สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา

ปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีจลาจล

ครั้งที่ 8 พ.ศ. ๒๒๓๑ พระเพทราชา (อายุ 56 ปี) ยึดอำนาจ
                          หลวงสรศักดิ์ (อายุ 28 ปี) ได้เป็นพระอุปราช
                          คุณเพชร (อายุ 10 ปี) และ คุณพร (อายุ 8 ปี) ได้เป็นเจ้า

รวมคร่าวๆ ในช่วง 77 ปี มีการสืบสมบัติไม่เป็นไปตามกฏ+รัฐประหาร 8 ครั้ง หรือ ประมาณ หนึ่งครั้ง ต่อทศวรรษ
ผู้ชนะได้สมบัติ ผู้แพ้ถูกประหาร และ ถูกยึดทรัพย์
กล่าวโดยประมาณคือ ทุกสิบปี มีเทศกาลฆ่าขุนนางหนึ่งครั้ง

พระเจ้าบรมโกศได้เติบโตมาในสมัยที่อยุธยามีความผันผวนทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง

  


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 15, 11:58
เข้ามาอ่านค่ะ
การรัฐประหารสมัยอยุธยา ตั้งแต่ราชวงศ์ปราสาททองถึงราชวงศ์บ้านพลูหลวง เข้าหลัก Survival of the fittest ของดาร์วิน


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 30 ธ.ค. 15, 12:02

^^ ในบางครั้ง "The fittest" ไม่ "Survived" ครับท่านอาจารย์
 ;D

พระศรีศิลป์ พระอนุชา คือ the fittest ในปลายรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม
เจ้าฟ้านเรนทร์ คือ the fittest ในปลายรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 15, 12:21
fittest ในที่นี้ หมายถึงผู้แข็งแกร่งที่สุด   ไม่ใช่ผู้เหมาะสมที่สุด หรือผู้ที่ถูกต้องตามหลักการที่สุดค่ะ
ถ้าเทียบกับธรรมชาติ  จ่าฝูงก็คือตัวที่แข็งแรงที่สุด    ถึงจะอยู่รอด
ส่วนความถูกต้องเหมาะควรนั้นเป็นสิ่งที่ตราขึ้นภายหลังในสังคมมนุษย์     ในเมื่อไม่มีการเคารพหลักการ    อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

ดิฉันว่าพระเจ้าบรมโกศน่าจะเป็นผู้มีบุคลิกและจิตใจแข็งแกร่ง เหี้ยมหาญ เด็ดขาด  ตลอดจนกุมอำนาจเหนือแม่ทัพนายกองได้มากที่สุด   ถึงได้ประสบชัยชนะ  แต่ก็เป็นชัยชนะบนความยุ่งเหยิงตลอดรัชกาล แม้แต่สิ้นรัชสมัยพระองค์ไปแล้วก็ยังยุ่งเหยิงอยู่  จนนำไปสู่วาระสุดท้ายของอาณาจักร

เจ้าฟ้ากุ้งพระเอกของกระทู้นี้ ก็เป็นเฟืองจักรตัวเล็กๆที่หลุดกระเด็นออกไป


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 31 ธ.ค. 15, 11:32

ดังที่เรียนไว้ในเบื้องต้น เจ้าพร ได้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศแห่งความผันผวนทางการเมือง
ได้รู้เห็นกลวิธีวิธีการบริหารจัดการ ความขัดแย้ง ในแบบไทยๆ อย่างใกล้ชิด

ในต้นรัชสมัยพระเพทราชา ได้ขับไล่ทหารฝรั่งเศสออกจากเมืองบางกอก และมะริด
กำจัดคู่แข่งทางการเมืองที่เป็นเชื้อพระวงศ์ปราสาททอง
จากนั้นจัดกระบวนขุนนางใหม่ ตั้งเจ้า และขุนนางสำคัญ

อิทธิพลของราชสำนักพระนารายณ์ยังคงฝังลึก
เกิดกบฏธรรมเถียร
เจ้าเมืองนครราชสีมา และ นครศรีธรรมราช แข็งข้อ ต้องระดมทรัพยากรเป็นอันมากในการปราบปราม
ศึกนอกอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส อังวะ เขมร ญวน ก็เป็นสิ่งที่น่าหนักใจ

ลองดูเรื่องเล่าในจดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. ๒๒๔๒
สิบเอ็ดปีหลังการจลาจล เจ้าพร อายุ 17 ปี


จดหมายมองซิเออร์โบรด์ ถึงผู้อำนวยการ คณะการต่างประเทศ
กรุงศรีอยุธยา
วันที่ ๙ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๖๙๙ (พ.ศ. ๒๒๔๒)
เรื่อง บาดหลวงตาชากลับมาอีกครั้ง ๑
    
        พระเจ้ากรุงสยามตกลงจะรับบาดหลวงตาชา เพราะเหตุที่ท่านอยากจะทราบว่าในเรื่องบาดหลวงตาชามายังเมืองไทยได้เปนอย่างไรบ้าง และพระราชสาสนที่บาดหลวงตาชาได้เชิญมาสำหรับถวายพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สวรรคต ตั้งแต่ครั้งปี ค.ศ.๑๖๘๙ (พ.ศ. ๒๒๓๒) ไทยได้จัดการรับอย่างไรนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความยินดี ที่จะให้ท่านทราบตามความประสงค์ และจะได้เล่าการโดยเลอียด และจะไม่ลืมเล่าถึงเรื่องแม้แต่เปนเรื่องเล็กน้อย เพื่อท่านจะไดทราบ เรื่องโดยตลอด
         เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๖๙๘ (พ.ศ. ๒๒๔๑) ในกรุงศรีอยุธยาได้ทราบความจากผู้ที่ได้รู้เห็น ว่าที่ประเทศยุโรปได้ทำหนังสือสัญญา สงบศึก ซึ่งประเทศฝรั่งเศสต้องทำศึกสงครามกับประเทศใกล้เคียง หลายปีมาแล้ว พอข่าวนี้ได้มาถึงเมืองไทย ก็ได้ทำให้พระเจ้ากรุงสยามและบรรดาเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ต้องนึกตรึกตรอง เพราะเกิดร้อนใจขึ้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ข่าวต่อมาอีกว่า มีเรืออังกฤษหลายลำได้มา ยังอินเดีย ก็ได้ทำให้ไทยร้อนใจมากขึ้นอีก คือมีนายเรือฮอลันดาคน ๑ มาบอกข่าวว่า กองทัพเรือฝรั่งเศสได้ผ่านแหลมเคปออฟกุดโฮบ มาแล้วและว่ากองทัพเรือนี้ จะมายึดเมืองปอนดีเชรี และบางทีจะมายึดเมืองมริดด้วย
          ข่าวนี้ได้ทำให้ไทยตกใจมากขึ้นอีก ข่าวอันนี้ได้ทำให้ข้าราชการในราชสำนักตกใจเปนอันมาก พระเจ้ากรุงสยามจึงได้ตั้งเกณฑ์คนฝึกหัดการต่าง ๆ บางทีหัดให้ปล้ำกัน บางทีหัดให้ต่อยมวย  บางทีหัดกระบี่กระบอง และหัดการต่าง ๆ ชนิดนี้อีกหลายอย่าง การฝึกหัดเหล่านี้ได้ทำให้พวกขุนนางข้าราชการมีงารมากขึ้น และพระเจ้ากรุงสยามก็ทรงกริ้วกราดอยู่เปนนิตย์ ขุนนางข้าราชการจึงได้เดือดร้อนมาก เพราะใครจะมีความผิดอย่างใดแม้แต่เล็กน้อยก็ต้องถูกเฆี่ยน และการที่เฆี่ยนกันนี้มีทุกวันมิได้เว้นเลย ผู้ที่ถูกลงอาญานี้ไม่เลือกว่าข้าราชการผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ ต้องถูกกันทุกคนมิได้เว้น หลังของเจ้าพระยาพระคลังและออกญาพิพัฒเนื้อขาดอยู่เสมอ จนร้านยาของเราก็ไม่มียาจะใส่แผลที่หลังของท่านทั้งสองนี้แล้ว
         มีเสียงพูดกันว่าข้าราชการแตกสามัคคีกันหมด และบางคน ก็คิดการขบถก็มี จนที่สุดงารการอย่างใดเปนอันไม่ได้ทำกัน ดูยุ่งเหยิงจนไม่รู้ว่าใครเปนใครแล้ว การในเมืองกำลังกระสับกระส่ายวุ่นวาย อยู่เช่นนี้ พอได้ข่าวมาว่าเรือฝรั่งเศสได้มาถึงเมืองมริด และได้รับ หนังสือบาดหลวงตาชา มีมาถึงเจ้าพระยาพระคลังและออกญาพิพัฒ ลงวันที่ ๑๘ เดือนตุลาคม เจ้าพระยาพระคลังจึงได้ให้คนมาตามพวก เราไปยังห้องว่าราชการของเจ้าพระยาพระคลัง เพื่อให้แปลหนังสือ เหล่านี้เปนภาษาไทย และในคืนวันนั้นเอง เจ้าพระยาพระคลังได้นำความขึ้นกราบทูล พระเจ้ากรุงสยามจึงได้มีพระราชโองการโดยทันที ให้ตอบบาดหลวงตาชาไปว่าไทยจะได้จัดการรับรอง


       สิบปี หลังการรัฐประหาร
       พระเพทราชา ใช้อำนาจบริหารจัดการขุนนางอย่างเกรี้ยวกราด เบ็ดเสร็จ
       บาดหลวงตาชารด์ ถือพระราชสาส์น เก่าเข้ามาหลอกลวง เพื่อหาโอกาสทำการในสยามต่อไป
       เจ้าพระยาพระคลัง คือ โกษาปาน ราชทูตไปฝรั่งเศสผู้เรืองนาม กำลังอยู่ในช่วงขาลง
       พระยาพิพัฒน์ คือ ผู้ช่วยของพระคลัง เป็น ขุนนางชั้นสูงคนเดียวในสมัยพระเพทราชาที่มีชีวิตยืนยาว รอดมาได้จนแก่ตาย
       ในบรรดาขุนนางทั้งหลายไม่มีใครมั่นใจได้ว่าจะโดนลงพระราชอาญาครั้งต่อไปอีกเมื่อใด
       สถานการณ์เปลี่ยนกลับไปมาอยู่ตลอดเวลา ขุนนางไทยต้องมีเล่ห์เหลี่ยม พลิกแพลงเอาตัวรอดตลอดเวลา



       พวกเราได้แปล คำตอบนี้เปนภาษาฝรั่งเศส และได้มีจดหมายในส่วนพวกเราไปยัง บาดหลวงตาชาด้วยฉบับ ๑ จดหมายต่าง ๆ เหล่านี้  ไทยได้มอบให้ พวกเราห่อและผนึกตามธรรมเนียมของเรา และภายหลังอีกสองวัน นักการก็ได้มารับหนังสือเหล่านี้ไปยังเมืองมริด ฝ่ายในกรุงก็เตรียม การที่จะรับบาดหลวงตาชาทุกอย่าง ไทยได้จัดให้ข้าราชการล่วงหน้าไปรับบาดหลวงตาชา คนสำคัญ ที่เปนหัวหน้าไปนั้น มีขุนนางที่เคยเปนราชทูตที่ ๓ ไปยังประเทศฝรั่งเศสคน ๑ ขุนนางผู้น้อยซึ่งได้เคยไปฝรั่งเศสและกลับมากับบาดหลวงตาชาและเคยผ่านมาทางเมืองเบงกอลมายังเมืองไทย เมื่อ ค.ศ.๑๖๙๒ (พ.ศ.๒๒๓๕) คน ๑ กับมองซิเออร์แวงซังแปงเฮโรล่ามของเราคน ๑ รวม ๓ คนเปนหัวหน้าออกไปรับบาดหลวงตาชา คนเหล่านี้ได้ออกเดิรทางภายหลังนักการสามหรือสี่วัน ฝ่ายเจ้าเมืองตนาวศรีก็ได้แจ้งต่อ บาดหลวงตาชา ว่าข้างกรุงได้มีคำสั่งมาว่า ถ้าบาดหลวงตาชาได้กลับมายังเมืองมริดอีก ก็ให้เจ้าเมืองตะนาวศรีจัดการรับรอง เพราะฉนั้น บาดหลวงตาชาจึงได้ลงจากเรือขึ้นบกโดยเชื่อใจ และเจ้าเมืองตะนาวศรีได้พาบาดหลวงตาชาจากเมืองมริดไปยังเมืองตะนาวศรี โดยมีการ รับรองให้เปนเกียรติยศตลอดทาง เมื่อบาดหลวงตาชาได้ขึ้นบกไปแล้ว เรือก็ได้ถอนสมอแล่นใบออกไปเข้ากองตามเดิม
         ในขณะนี้พวกฮอลันดาซึ่งใช้พวกแขกมัวเปนสาย ได้คิดพยายาม ที่จะให้การทั้งหลายได้ยุ่งเหยิงขึ้น เพื่อจะทำให้ไทยสงสัยบาดหลวงตาชา เพราะไทยได้เรียกพวกฮอลันดามาถามถึงข่าวที่เล่าลือว่า มีเรือฝรั่งเศสหลายลำได้มาประจำอยู่ในที่หลายแห่งรอบพระราชอาณาเขต และไทย ก็ได้ถามความเห็นของพวกฮอลันดา ว่าถ้าเรือฝรั่งเศสที่เมืองมริด จะควรทำประการใด ในขณะนี้พวกเราได้สังเกตว่าไทยได้เปลี่ยนกิริยา ทันที แต่ก่อน ๆ ไทยเคยเร่งรัดยินดีจะให้บาดหลวงตาชามา มาบัดนี้ มีแต่เจ้าพนักงารขัดข้องไปต่าง ๆ จนที่สุดการที่จะให้บาดหลวงตาชาพักในพระนครก็เกิดขัดข้องขึ้น จนถึงกับเจ้าพนักงารมาถามพวกเราหลายครั้งว่า จะให้พักในโรงเรียนของเราจะไม่ได้หรืออย่างไร และ ได้ให้เจ้าพนักงารมาตรวจแล้วัดที่ด้วย เพราะมีเสียงพูดกันว่าไม่ช้า บาดหลวงตาชาก็จะมาถึงอยู่แล้ว
         แต่จะอย่างไรก็ตามเมื่อไทยได้รับ จดหมายของบาดหลวงตาชา ซึ่งมีแต่ข้อความกล่าวแต่เรื่องไมตรี การที่กริ้วกราดต่าง ๆ ทั้งเดือนนั้นก็สงบดังกับปลิดทิ้ง พวกขุนนาง ข้าราชการก็หายใจคล่องขึ้น แผลถูกเฆี่ยนก็แห้งเข้า และเสียงเล่าลือต่าง ๆ ก็ซาลง ลงท้ายที่สุดการฝึกหัดต่าง ๆ ก็ไม่มีใครเอาเปนธุระ และทั้งหมดไม่ได้คิดอย่างอื่น นอกจากคิดถึงการเล่นให้เพลิดเพลิน มีการเล่นว่าวเปนต้น และมีนักขัตฤกษ์ฉลองวัด ซึ่งพระเจ้ากรุงสยาม ได้ทรงสร้างและทำแล้วสำเร็จภายในแปดหรือเก้าเดือน แต่ถึงดังนั้นก็ยังคิดอยู่เสมอ ถึงการที่จะรับพระราชสาสน และยังคงเตรียมการ อยู่เสมอ แต่ทำช้าอยู่สักหน่อย

          
         เนื้อความจดหมายที่ยกมาแสดงให้เห็นถึงความผันผวนในโชคชะตาที่ขุนนางสยามต้องเจอ
         เจ้าพระยาพระคลัง โกษาปาน ในเวลานั้น อาจจะเรียกได้ว่า ถึงคราวเคราะห์ เมื่อร่างกายเกิดความล้า โรคภัยเบียดเบียน
         สติปัญญาอันเฉียบแหลมที่เคยมีไม่อาจพลิกแพลงให้สนองพระราชประสงค์ต่อไปได้ทันท่วงที
         อดีตขุนนางคนสนิทของพระนารายณ์ อดีดแม่ทัพผู้พิชิตเชียงใหม่ ราชทูตไปฝรั่งเศส ผู้พิชิตป้อมบางกอก
         และ อัครเสนาบดีในต้นรัชกาล ก็ถึงคราวต้องพบจุดจบในกาลต่อไปอย่างน่าสงสาร
         ออกญาพิพัฒน์ ผู้ช่วยคนสนิทกลับเป็นผู้ที่รอดชีวิตจากเทศกาลฆ่าขุนนางมาได้อย่างเหลือเชื่อ
 
         เจ้าฟ้าพรที่เติบโตในวังหน้าของกรมพระราชวัง จนย่างเข้าสู่วัยหนุ่มย่อมทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น
         นี่เป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมให้พระองค์ตระหนักถึงความจำเป็นของการบริหารความเสี่ยง (risk management) ที่จะได้กล่าวถึงต่อไป
 


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 31 ธ.ค. 15, 14:45

ขออนุญาตแทรก
บทประพันธ์ตอนต้นจากกาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง อีกครั้งหนึ่ง


     ๏ เกลื่อนกรูหมู่จัตุรงค์   เปนกันกงเรียบเรียงไป
   ทรงช้างระวางใน      เทพลีลาหลังคาทอง ฯ
     ๏ เกลื่อนกรูหมู่แห่ห้อม   เรียงไสว
   เสด็จพุดตาลทองไคล   หว่างเขรื้อง
   ทรงช้างระวางใน           มีชื่อ
   เทพลีลาเยื้อง             ย่างแห้นหลังดี ฯ

จากเอกสารคำให้การฯ ช้างเทพลีลาเป็นช้างพัง อยู่ในขบวนรอง
จึงไม่ใช่ช้างทรงต้นสำหรับพระเจ้าแผ่นดินในขบวนเสด็จ

จึงอาจเป็นประเด็นต่อไปหรือไม่ก็ได้ว่าใครเป็นผู้ทรงช้างเทพลีลาในขนวนนี้


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ธ.ค. 15, 15:13
ยังไม่ได้ไปเปิดหนังสืออ่าน     ขอสันนิษฐานคำตอบว่า ผู้ประทับบนช้างเทพลีลา คือวังหน้า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์
ไม่ใช่พระเจ้าบรมโกศ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 31 ธ.ค. 15, 22:30

ขอยกจดหมายที่น่าสนใจมากอีกฉบับมา โดยไม่ตัดทอน
จดหมายฉบับนี้เขียนในตอนปลายรัชสมัยของพระเพทราชา กล่าวถึงเหตุการณ์ที่น่าสนใจมากมายครับ

ที่มา : วิกิซอร์ซ

เรื่องศึกกลางเมือง

จดหมายมองซิเออร์โบรด์ ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๗๐๐ (พ.ศ. ๒๒๔๓)

     พวกเราได้อยู่เปนสุขสบายโดยเรียบร้อยมาได้ปี ๑ แล้ว แต่พวกไทยยังระส่ำระสายอยู่ เพราะได้เกิดรบกันโดยมีคน ๆ หนึ่งคิดจะ ชิงราชสมบัติ ได้ยุแหย่ให้รบอยู่เสมอ ข่าวที่เล่าลือกันอยู่เสมอเปนนิจนั้นลือกันว่า ผู้ที่คิดจะชิงราชสมบัตินั้นเปนพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตนั้น (1)  แต่ข่าวที่ลือนี้ก็มีเสียงต่าง ๆ กันจะจับเอาอะไรเปนแน่ก็ไม่ได้ ท่านคงจะไม่นึกเชื่อเลย ว่า ไทยได้รบราฆ่าฟันกันถึงปี ๑ มาแล้ว และข้าศึกก็อยู่ห่างหนทาง เพียง ๘ วัน ๑๐ วันเท่านั้น แต่ถึงดังนั้นก็ยังไม่มีใครจะทราบได้ว่า ค ที่จะคิดชิงราชสมบัตินี้จะเปนใครแน่ และยังมียิ่งกว่านี้อีกซึ่งเหลือที่ท่านจะเชื่อได้ คือมีข่าวเล่าลือกันว่า เจ้าได้ประชวรพระโรคอย่างร้ายแรง ได้สิ้นพระชนม์มาได้ ๗ เดือนแล้ว แต่ข่าวนี้ถึงจะสืบอย่างไรก็ไม่ได้ ความแน่ว่า เจ้าองค์นั้นจะได้สิ้นพระชนม์จริงหรือไม่ ผู้ที่คิดชิงราชสมบัตินั้นคงเปนคนที่ฉลาดรู้จักทางป้องกันที่จะไม่ให้ใครรู้ว่าตัวเปนใคร ทั้งเปนคนที่มีไหวพริบรู้จักทางล่อลวงด้วย ถ้าคนนี้ตายเสียแล้วก็อาจ จะเอาคนอื่นที่หน้าตารูปร่างคล้าย ๆ กันมาแทนอีกก็ได้

    
     (1) คือผู้อ้างว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ
        

     ข้าศึกซึ่งมีทหารอยู่ ๔๐๐ หรือ ๕๐๐ คน ได้เข้าไปตั้งมั่นอยู่ในเมืองนครราชสีมา ซึ่งเปนเมืองชายแดนติดกับเขตเขมร และข้าศึกนั้นล้วนเปนคนต่างชาติต่างภาษาทั้งนั้น ไทยได้ไปตั้งล้อมเมืองนครราชสีมาไว้ ๖ เดือน และได้คิดกลอุบายต่าง ๆ ก็หาตีเอาเมืองนครราชสีมาได้ไม่ (2) ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยามหาทราบไม่ว่าการที่เกิดศึกขึ้นครั้งนี้เพราะเหตุใด ทรงเห็นว่ากลอุบายต่าง ๆ ที่คิดไว้ก็ไม่เปนผลสำเร็จ จึงทรงคิด กลศึกขึ้นใหม่อีกอย่าง ๑ คือโปรดให้ส่งว่าวขึ้นไปยังกองทัพ นัยว่าให้ เอาดอกไม้เพลิงผูกว่าวขึ้นไปสำหรับเผาเมืองและเผาผู้คนให้ตายหมด แต่การชักว่าวนี้ก็ไม่สำเร็จ ยังหาตีเมืองนครราชสีมาได้ไม่ เพราะยังกำลังทดลองที่จะเอาว่าวไปเผาเมืองนั้นก็ได้เกิดลือขึ้น จะจริงเท็จประการใดก็ไม่ทราบว่ากองทหารไทยได้หนีไปเข้ากับข้าศึกหมดแล้ว


      (2) พระยายมราช ข้าหลวงเดิมพระนารายณ์ เจ้าเมืองนครราชสีมา แข็งเมืองมาได้สิบปี


      แต่ความจริงนั้นเปนเรื่องที่ไทยได้เกิดบาดหมางกันขึ้นเองในเรื่องที่ว่า เจ้าได้สิ้นพระชนม์แล้ว เพราะเรื่องนี้พูดเปนเสียงอันเดียวกันหมดว่าสิ้นพระชนม์จริง เพราะฉนั้นพระเจ้ากรุงสยามจึงต้องระวังพระองค์ ได้มีพระราชโองการให้เตรียมการต่าง ๆ และได้รับสั่งเรียกให้ขุนนางข้า ราชการซึ่งขึ้นไปล้อมเมืองนครราชสีมานั้น ให้กลับคืนมายังกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ฝ่ายขุนนางข้าราชการที่ถูกเรียกกลับมานั้น ทราบอยู่แล้วว่าบุตรภรรยาและญาติพี่น้องได้ถูกจับมานานแล้ว เพราะเหตุว่าพระเจ้ากรุงสยามทรงสงสัยว่าข้าราชการเหล่านี้จะไม่ซื่อตรง กำลังจะตรึกตรอง อยู่ว่าจะควรทำประการใดต่อไป บังเอิญวันหนึ่งในเวลาเช้ามืดเกิดเพลิงไหม้ขึ้นในที่พัก ข้าราชการเหล่านี้ตกใจก็ต่างคนต่างหนีทิ้งเครื่องศัสตราอาวุธทั้งหมดรีบลงมายังกรุงศรีอยุธยา มาเฝ้ากราบทูลเหตุการณ์ให้ทรงทราบ แต่ยังมีข้าราชการบางคนเช่นออกขุนชำนาญ (Channang) (3) เปนต้นได้หายไป

    
      (3) ออกขุนชำนาญ ผู้นี้คือ ออกขุนชำนาญใจจง ราชทูตไปฝรั่งเศส และวาติกัน คณะสุดท้ายในสมัยพระนารายณ์
           เป็นชาวสยามที่มีเรื่องราวน่าสนใจมากที่สุดคนหนึ่ง ผ่านการผจญภัยจากการเดินทางมากมาย
           และ น่าจะเป็นคนให้ข้อมูลแก่ เดอ ลา ลูแบร์ ในการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม ในระหว่างทางไปยุโรป
           นับเป็นบุคคลที่ฉลาดปราดเปรื่องเข้าใจการเมืองและมีชีวิตรอดไปจนถึงรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ

           ขุนชำนาญบริรักษ์ เป็นขุนนางรุ่นหลังออกขุนชำนาญใจจง และเป็นบุคคลร่วมสมัย
      

      ครั้นข้าราชการเหล่านี้ได้ลงมาถึงกรุงศรีอยุธยา ทยอย ๆ กันไม่พร้อมกัน ก็ต่างคนต่างเข้าเฝ้าและคิดจะเอาตัวรอดจึงต่างคนต่างซัดกัน มีขุนนางอยู่สองสามคนหาได้ตรงลงมาเฝ้าไม่ แต่ ทำท่าทางที่จะหนีจึงต้องถูกจับ พระเจ้าแผ่นดินทรงสงสัยในพวกนี้ และจะป้องกันไม่ให้พวกนี้คิดประทุษร้ายได้ จึงตั้งต้นเอาเหล็กเผาไฟจนแดงมานาบท้าวข้าราชการเหล่านี้เสียก่อน แล้วจึงตั้งต้นซักถามเอาความจริงต่อไป ในระหว่าง ที่ซักถามอยู่นั้นได้เอาไม้แหลมบีบลิ้นไว้ไม่ให้พูด เมื่อได้ซักถามและ ทำความทรมานอยู่เช่นนี้ได้สัก ๑๕ วัน หรือ ๓ อาทิตย์ ก็ได้ตัดสินลงพระราชอาญารวม ๔๘ คน โดยมิได้เลือกว่าคน ๔๘ คนนี้ จะมีอายุบรรดา ศักดิ์หรือตระกูลอย่างใด

       วิธีที่ลงพระราชอาญานั้นได้ทำกันดังนี้ คือ ในตอนเช้าวัน ๑ เจ้าพนักงารได้เอาหลักไปปักไว้ในที่ประชุมชนแล้วจึงได้พาพวกนักโทษซึ่งจำโซ่ตรวนไว้แน่นหนา และมีไม้อุดปากไว้ด้วยมาณที่นั้น เจ้าพนักงารได้บังคับให้นักโทษเหล่านี้นั่งขัดสมาธิตรง กับหลัก ๆ ละคน แล้วได้ผูกมัดตรึงไว้กับหลักอย่างแน่นหนา จึงมี เจ้าพนักงารเอามีดมาสับศีร์ษะ ๗ แห่ง แล้วเอามือจับคอไว้จึงเอามีดเชือดเนื้อตั้งแต่บั้นเอวจนหัวไหล่ และได้ตัดเนื้ออกจากแขนเปนชิ้น ๆ บังคับให้นักโทษกินเนื้อของตัวเอง บางคนได้ถูกตัดนิ้วเท้านิ้วมือ บางคนถูกเอาเงินบาทละลายกรอกใส่ปาก เมื่อเสร็จแล้วเจ้าพนักงารได้ เรียกผู้หญิงทั้งในเมืองและนอกเมือง ให้เอากำปั้นทุบศีร์ษะพวกนักโทษเพื่อให้นักโทษได้รับความอาย เจ้าพนักงารได้ให้นักโทษตากแดดอยู่ประมาณ ๕ หรือ ๖ ชั่วโมง จึงได้คุมเอาตัวเข้าไปไว้ในคุกโดยไม่ให้ พบปะกับผู้ใดเลยเปนอันขาด นักโทษเหล่านี้ได้ถูกลงอาญาดังที่กล่าว มาแล้วนั้นหลายครั้ง บางคนก็ทนได้ถึง ๑๐ วัน ๑๒ วัน จนที่สุดพวก นักโทษทนอาญาไม่ไหว แล้วเจ้าพนักงารก็ประหารชีวิตเสียโดยแหวะ ท้องแล้วเอาศพไปเสียบไว้ที่ประตูเมือง และเอาหนามไม้ไผ่ล้อมศพ ไว้ด้วย ทรัพย์สมบัติของคนเหล่านี้ได้ถูกริบจนหมดจนสิ้น เจ้าพนักงาร จึงได้คุมบุตร์ภรรยาและญาติพี่น้องออกจากคุกพาไปยังสวนแห่ง ๑ ซึ่งอยู่กลางทุ่ง เพราะพระเจ้าแผ่นดินจะเผาคนเหล่านี้ทั้งเปน แต่เพอิญมีพระสงฆ์มากราบทูลทัดทานไว้จึงหาได้เผาคนเหล่านี้ไม่ แต่พระสงฆ์เหล่านี้ได้เฝ้าอยู่รอบสวนนั้นทั้งกลางวันกลางคืนหลายเดือนเพื่อคอยป้องกันมิให้พวกนี้ถูกเอาไฟเผาทั้งเปน ภายหลังจึงได้ทรงพระกรุณายกโทษให้และได้ปล่อยตัวไปแต่ต้องไปเปนทาสจนตลอดชีวิต

       คนเหล่านี้โดยมากเปนพวกผู้ที่มีตระกูลเก่า ๆ อยู่ในเมืองนี้ ขุนนางซึ่งถูกลงอาญา คราวนี้ล้วนแต่เปนเจ้าพระยา ออกญา และหลวง และมีพวกแขกมะลายู ที่มีบรรดาศักดิ์หลายคนกับหัวหน้ายี่ปุ่นสองคน พวกนี้ต้องถูกชำระลงโทษฐานขบถต่อแผ่นดิน ข้าพเจ้าได้สืบดูว่าตามธรรมเนียมของกฎหมายบ้านเมือง การลงโทษขบถต่อแผ่นดินได้ทำกันอย่างไร ก็ได้ความว่า ตามธรรมเนียมก็เคยแต่เพียงลงโทษแหวะท้องและตัดศีร์ษะเท่านั้น เพราะฉนั้นการที่ลงโทษอย่างร้ายกาจคราวนี้ ก็คงจะเปนด้วยพระเจ้าแผ่นดินกริ้วมาก และมีพระนิสัยโหดร้ายด้วย

       ในที่นี้ต้องงดไม่กล่าวถึงเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่องไม่ฉนั้นจดหมายฉบับนี้จะยืดยาวเกินไปนัก ข้าราชการบางคนที่ได้กลับมาจากเมืองนครราชสีมาซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงเห็นว่าเปนคนสุจริต หรือได้ทำการแก้ตัวได้ หรือได้รอดตัวเพราะความที่โปรดปรานนั้น ก็ต้องกลับขึ้นไปยังเมืองนครราชสิมาอีกพร้อมกับขุนนางอื่นที่ได้ตั้งขึ้นใหม่อีกหลายคน ฝ่ายพวกมลายูที่ได้หนีไปก็เพราะจะอยู่แต่พวกเดียวไม่ได้ด้วยไทยได้หนีไปหมดแล้ว ทั้งเปนคนที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้ากรุงสยามจริง ๆ นั้นก็ได้รับพระราชทานรางวัลเลื่อนยศบ้าง รางวัลเปนเงินบ้าง และได้กราบทูลรับรองต่อพระเจ้ากรุงสยามว่าจะไปตีเอาเมืองนครราชสิมาคืนมาในเร็ววันให้จงได้ จึงได้โปรดให้พวกมลายูเหล่านี้รีบขึ้นไปสมทบกับข้าราชการไทย พวกมลายูอันกล้าหาญเหล่านี้ได้พยายามปีนกำแพงเมืองขึ้นไป แต่ฝ่ายข้าศึกได้ต่อสู้อย่างสามารถ พวกมลายูล้มตายหลายคนจึงหมดอยาก ที่จะต่อสู้อีกต่อไป พวกมลายูจึงได้พักรออยู่โดยไม่ได้ทำอะไรเลย ๔ เดือน ครั้นเมื่อปลายเดือนเมษายนพวกชาวเมืองได้มาเปิดประตูเมืองและได้บอกพวกไทยที่ล้อมเมืองไว้ว่าพวกข้าศึกได้หนีไปหมดแล้ว แต่บางคนก็พูดว่าพวกชาวเมืองได้ออกจากเมืองเพื่ออพยพไปอยู่ที่อื่น

      ครั้นเมืองนครราชสิมาได้ตกมาอยู่ในอำนาจของไทยแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงตั้งเจ้าเมืองให้ขึ้นไปรักษาการ เจ้าเมืองได้ส่งพลเมืองชาวเมือง นครราชสิมาลงมาชำระยังกรุงศรีอยุธยาเปนอันมาก พวกนี้ได้ถูกประหารชีวิตไปหลายคนแล้ว เมื่อข้าศึกได้หนีออกจากเมืองนครราชสิมานั้นก็หาได้ไปไกลไม่ เขาพูดกันว่าพวกข้าศึกได้เลยไปยึดเอาเมืองพิษณุโลก แต่ในเรื่องนี้ไทยปิดไม่อยากให้ใครรู้และคอยพูดกลบเกลื่อนอยู่เสมอ จนถึงกับ พระเจ้าแผ่นดินได้มีพระราชโองการให้มีงารนักขัตฤกษรื่นเริงตามเคย แต่อย่างไร ๆ ก็เห็นได้ชัดว่าการศึกยังหาสงบไม่ บางคนพูดว่าพระเจ้า กรุงสยามคงจะมีชัยชนะ บางคนก็พูดว่าไทยเสียเปรียบมาก
 
      ความจริงพวกพระสงฆ์ซึ่งเปนต้นเหตุยกให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ได้ครองราชสมบัตินั้น ก็ออกจะเห็นแล้วว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ไม่ซื่อตรงต่อใคร ถ้าพูดอย่างคำสามัญก็ต้องพูดว่าเปนคนหน้าไหว้หลังหลอก การประหารพวกขุนนางข้าราชการโดยอาการอย่างร้ายกาจ ทั้งบุตร์ภรรยาข้าราชการเหล่านี้ยังต้องเปนทาสอีกนั้น เปนการที่กระทำให้พระสงฆ์เหล่านี้เอาใจออกหากทุกคน ราษฎรพลเมืองอีกทั้งขุนนางข้าราชการก็เกลียดพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ทั้งสิ้น และที่พวกนี้ยังยั้งมืออยู่นั้นก็ด้วยยังมีความเกรง อยู่หน่อย การที่ไม่ได้เกิดขบถขึ้นทั้งเมืองนั้นก็โดยยังเห็นแก่พระมเหษีและพระราชบุตร์องค์เล็กของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น (4)

        (4) พระมเหสีเดิมคือ กรมพระเทพามาตย์
             พระมเหสีฝ่ายขวาคือ กรมหลวงโยธาทิพ พระขนิษฐาสมเด็จพระนารายณ์ มีพระโอรสคือ เจ้าพระขวัญ
             พระมเหสีฝ่ายซ้ายคือ กรมหลวงโยธาเทพ พระธิดาสมเด็จพระนารายณ์ มีพระโอรสคือ ตรัสน้อย
          
             พระโอรสสองพระองค์นี้อยู่ในข่ายที่สามารถสืบราชสมบัติได้ เจ้าพระขวัญเป็นความเสี่ยงแรกของพระอุปราช 


      เจ้าพระยาพระคลังหาได้อยู่ในจำพวกขุนนางที่ถูกประหารชีวิตไม่ เพราะได้ตายเสียก่อนสองเดือนมาแล้ว เขาพูดกันว่าที่ตายนี้ก็เพราะ ถูกเฆี่ยนตายทั้งเสียใจที่ตัวต้องถูกเฆี่ยนและถูกลงอาญาบ่อย ๆ ด้วย เพราะเมื่อ ๔ ปีมาแล้วพระเจ้าแผ่นดินทรงกริ้วขึ้นมาก็ได้เอาพระแสงดาบตัดปลายจมูกเจ้าพระยาพระคลัง ตั้งแต่นั้นมาเจ้าพระยาพระคลังก็ต้องรับพระราชอาญาเรื่อยมา เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงไว้พระทัยเสียแล้ว ก่อนที่เจ้าพระยาพระคลังจะตายนั้น บุตร์สาวคนใหญ่ คน ๑ บุตร์ชายสองสามคนกับภรรยาน้อยของเจ้าพระยาพระคลังได้ถูกจับไปและถูกชำระ จึงได้เกิดลือกันว่าเจ้าพระยาพระคลังมีความเสียใจนักจึงได้เอามีดแทงชายโครงฆ่าตัวเองตาย การที่เจ้าพระยาพระคลังตายนี้พระเจ้าแผ่นดิน ก็ออกตัวได้ดี ได้ทรงแกล้งทำเสียพระทัยว่าเจ้าพระยาพระคลังได้ถึง อสัญกรรมเสียแล้ว จึงได้โทษว่าหมอจีนซึ่งเปนผู้รักษาเจ้าพระยา พระคลังได้เอายาพิษให้เจ้าพระยาพระคลังรับประทานจึงได้พระราชทานรางวัลโดยให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหมอคนนั้นและให้เฆี่ยนทั้งหลังและท้องด้วย เวลากลางคืนได้ยกศพเจ้าพระยาพระคลังไปฝังไว้ยังวัดหาได้ มีการทำบุญให้ทานอย่างใดไม่ และมิได้ทำการศพให้สมกับเกียรติยศ ซึ่งต้องมีการแห่ศพไปไว้ยังโรงทึมและเผาตามธรรมเนียม นี่แหละเปน สิ้นชื่อของอรรคราชทูตสยามที่ได้ไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส และเปนอรรคมหาเสนาบดีของพระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ปัจจุบันนี้ด้วย

      ออกญาพิพัฒผู้ช่วยของเจ้าพระยาพระคลังซึ่งเปนคนอัธยาศัยดีคงทำการให้พระเจ้าแผ่นดินโปรดอยู่เสมอ แต่ออกญาพิพัฒก็พูดอยู่เสมอ ว่ามิช้ามิเร็วก็คงจะถูกเหมือนอย่างคนทั้งหลายเหมือนกัน ในเมืองนี้พลทหารหามีเงินเดือนหรือผลประโยชน์อย่างใดไม่ เพราะฉนั้นการเดิรทางเปนการลำบากอย่างยิ่ง ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและ ผู้จ่ายเงินเปนคนที่เหนียวแน่นอย่างที่สุด กองทัพจึงขาดเสบียงไม่มีข้าว จะรับประทาน จนผู้คนได้ตายด้วยความหิวและความไข้เจ็บเปนอันมาก ทั้งช้างก็ล้มตายหลายเชือกด้วย พวกในค่ายปอตุเกตและพวกจีนกับญวนได้รับสั่งมาหลายเดือนแล้วให้ไปรักษาเพนียด ซึ่งเปนที่อยู่เหนือราชธานีกรุงศรีอยุธยาเล็กน้อย พวกปอตุเกตจีนและญวนก็ได้ไปรักษา พเนียดตามคำสั่งโดยต้องใช้โสหุ้ยของตัวเองทั้งสิ้น ไทยหาได้จ่ายเงิน ให้จนอัฐเดียวไม่
      ยังมีจีนคนหนึ่งเปนคนของมองซิเออร์คอนซตันซ์ฟอลคอนผู้ถึงแก่กรรมแล้วนั้น ได้จับหนังสือมาจากนครราชสิมาซึ่งเปนหนังสือที่มีมา ถึงพระสงฆ์หลายรูป จีนผู้นี้ได้นำหนังสือที่จับได้นั้นส่งเข้าไปถวาย ก็เกิดโปรดปรานจีนผู้นี้มาได้ประมาณ ๘- ๙ เดือนมาแล้ว แล้วได้โปรดตั้งให้จีนผู้นี้เปนออกญา แล้วภายหลังตั้งให้เปนอรรคมหาเสนาบดี (5)


      (5) นี่คือการปรากฏตัวของ เจ้าพระยาพระคลังจีน ที่กุมอำนาจวางเครือข่ายการเมืองไปจนถึงปลายรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ
           และเป็นคู่แข่งทางการเมืองโดยตรงของเจ้าฟ้าพร พระอุปราช/พระเจ้าบรมโกศ


      แล้วภายหลังมาไม่ช้าวันนักพระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้หา ยอช บุตร์ของมองซิเออร์คอนซตันซ์ แล้วโปรดให้แต่งตัวอย่างดี ๆ และรับสั่งให้นายยอชเรียนภาษาไทยเสียให้รู้ ได้โปรดเอานายยอชไว้ใกล้ชิดพระองค์ และได้โปรดเปนครูด้วยพระองค์เองสอนภาษาไทยให้แก่นายยอช พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งถามนายยอชสองหรือสามครั้งถึงโรงเรียนสามเณรและพวกบาดหลวงซึ่งอยู่ในโรงเรียน และได้รับสั่งใช้ให้นายยอช มาหาพวกเราครั้ง ๑ เพื่อมาขอตำราสร้างป้อม นายยอชได้อยู่ชิดสนิธสนมกับพระเจ้ากรุงสยามอยู่อย่างนี้หลายเดือน จึงรับสั่งว่า "เจ้าจงไปอยู่ที่ห้างพ่อเจ้าเคยอยู่เถิด" แล้วได้ทรงฝากฝังนายยอชไว้กับจีนผู้ที่เปน ผู้ดูแลของห้างนั้น

      การที่ได้เกิดสงครามขึ้นคราวนี้ ได้ทำให้การค้าขายฉิบหายหมด พวกพ่อค้าได้ยากจนลงและมีความเดือดร้อนมาก พวกชาวต่างประเทศไม่มีเข้ามาในเมืองไทยอีกเลย ในปีนี้ได้มีพ่อค้าจีนมาสามหรือสี่ราย เท่านั้น สินค้าที่พาเข้ามานั้นก็ไม่ใคร่จะมีอะไรและจะหาคนซื้อก็เกือบจะไม่ได้ พวกพ่อค้าจีนได้ขายของโดยราคาอย่างถูกแต่ถึงดังนั้นก็ไม่มี ใครซื้อ การร้องรำทำเพลง การรื่นเริงต่าง ๆ ตลอดจนการศพการเมรุ ได้งดมาตั้งแต่เกิดศึกขึ้น ไม่มีใครจะกล้าทำอะไรซึ่งเปนการที่พวก พระสงฆ์เสียใจมาก เพราะอาหารการบิณฑบาตได้น้อยลงไปมาก

     พระเจ้ากรุงสยามทรงถือว่าข้าศึกในคราวนี้เท่ากับเปนขบถ และห้ามมิให้ใครพูดว่า ผู้ที่คิดขบถนั้นเปนพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สวรรคต ใครขืนพูดจะลงพระราชอาญาถึงประหารชีวิต แต่มีคน บางคนสงสัยว่าผู้ที่เปนต้นเหตุทำศึกในคราวนี้ไม่ใช่อื่นไกลเลยเปนพระราชบุตร์ของพระเจ้ากรุงสยามนั้นเอง คือว่าราชบุตร์จะคิดขบถขึ้น แต่พระราชบิดาทรงทราบจึงคิดปิดความและคิดเกลี่ยกล่ายให้ความนั้นสงบไป การที่พระเจ้าแผ่นดินเอาไม้ยัดปากพวกขุนนางไม่ใช่สำหรับป้องกันไม่ ให้ร้องหามิได้ แต่เปนเครื่องสำหรับให้ขุนนางผู้รับโทษนั้น ได้ประกาศความทุกข์ยากและความผิดของตัว ยังมีคนอื่นอีกที่คิดเห็นว่าศึกคราวนี้เปนอุบายของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะทรงคิดจะเปลี่ยนขุนนางข้าราชการทั้งหมด และจะตั้งคนที่ไม่เคยได้ทำราชการและไม่รู้จักพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สวรรคตเลยเปนขุนนางต่อไป กล่าวคือ จะทรงคิดล้างขุนนาง เก่า ๆ ซึ่งอาจจะมีความริษยาในการที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติหรืออาจจะเปนเสี้ยนหนามแผ่นดินได้ การที่ทรงคิดเช่นนี้ก็ได้ตั้งต้นเอา พวกเราเข้าก่อน เพราะฉนั้นจะต้องเข้าใจว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงถือว่าพวกเราอยู่ในจำพวกที่จะต่อสู้กับพระองค์ แต่การตระเตรียมต่าง ๆ ทำกันอย่างใหญ่โตมากจึงเปนการยากที่จะเชื่อว่า ศึกคราวนี้ไม่ได้ประสงค์อะไรนอกจากจะเปนอุบายสำหรับลบล้างพวกขุนนางเก่า ๆ เท่านั้น แต่ที่จริงอะไรบ้างที่ไทยจะทำไม่ได้

     เมื่อเร็ว ๆ นี้เองยังไม่ได้เดือนหนึ่งเลยออกญาพิพัฒก็ได้ถามว่า ในปีนี้พวกฝรั่งเศสจะเข้ามาเมืองไทยหรืออย่างไร ดูเหมือนทุก ๆ คนหวัง ว่าถ้าฝรั่งเศสได้เข้ามาแล้ว การเดือดร้อนทั้งปวงคงจะได้เบาลงไปบ้าง พวกไทยนึกถึงเรื่องนี้อยู่ทุกคืนทุกวัน และหวังใจอยู่เสมอว่าคงจะได้เห็นเรือฝรั่งเศสเข้ามาหลาย ๆ ลำ แต่ส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน นั้นดูไม่ทรงต้องการไมตรีของฝรั่งเศสเลย แต่เดิมก็ทรงครั่นคร้ามอยู่บ้าง ครั้นมาภายหลังทรงเห็นฝรั่งเศสไม่แข็งแรงอะไร และมา อ้อนวอนขอร้องต่าง ๆ เช่นบาดหลวงตาชา ก็ทรงเห็นเสียว่าพวกฝรั่งเศสกลัวเกรงไทย และทรงเห็นว่าชาติฝรั่งเศสเปนชาติที่อ่อนมาก พระเจ้าแผ่นดินจึงไม่มีพระราชประสงค์ที่จะเห็นฝรั่งเศสเข้ามาในพระราชอาณาเขตเลย เพราะฉนั้นถ้าใครยังนึกอยู่ว่า พระเจ้ากรุงสยามจะพระราชทานเมืองมริดให้แก่ฝรั่งเศสและ้วก็จะเปนการที่คิดผิด ถ้าจะต้องการเมือง มริดแล้วก็จะต้องใช้กำลังเท่านั้น และถึงดังนั้นก็ต้องเชื่อได้ว่า ถ้า ได้พระราชทานเมืองมริดโดยขัดขืนไม่ได้ ก็คงจะทรงหาโอกาศคิด กลอุบายอย่างใด ที่จะเอาคืนอีกให้จงได้

      เมื่อวันที่ ๖ เดือนมิถุนายน ข้าพเจ้าได้ให้คนไปถามออกญาพิพัฒว่า ข้าพเจ้าจะไปหาได้หรือไม่ เพราะข้าพเจ้ามีความเสียใจ มากที่ไม่ได้พบกับท่านออกญามาช้านานแล้ว ออกญาพิพัฒได้ตอบมา ว่า ให้ข้าพเจ้าไปหาที่บ้านในวันมรืนนี้จึงจะได้พบกัน ครั้นถึงวันนัด ข้าพเจ้ากับล่ามแวงซังแปงเฮโรก็ได้ไปยังบ้านออกญาพิพัฒ ท่านเจ้า ของบ้านได้ให้เอาพรมผืนยาวปูในห้องแลมีหมอนด้วยสองใบ เมื่อเรา ไปถึงนั้น ออกญาพิพัฒคอยเราอยู่แล้ว ข้าพเจ้าได้แสดงความยินดีที่ท่านออกญาได้หลุดพ้นอันตรายต่าง ๆ ได้ ออกญาพิพัฒจึงได้พูดถึงเรื่องศึก และเล่าถึงวิธีที่ทหารได้ปีน กำแพงเมืองนครราชสีมาและเอาไฟเผาบ้านเมืองทั่วทุกแห่ง และได้ เล่าถึงความกล้าหาญของบุตร์ท่านเอง ซึ่งได้ถูกเจ็บป่วยมา เล่าถึงการที่ข้าศึกได้อพยพหนีไป ถึงการที่ได้เกิดขบถขึ้นที่เมืองพิษณุโลก และเมืองอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ออกญาพิพัฒได้แจ้งว่า พวกขบถในที่ต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถูกจับโบยมาแล้ว แต่ข้าศึกคือผู้ที่คิดจะชิงราช สมบัตินั้นหนีไปเสียแล้วพร้อมด้วยผู้คนเปนอันมาก จะเปนจำนวนมากน้อยเท่าใดหาทราบไม่ ล้วนแต่เปนคนแข็งในการทัพศึกทั้งนั้น เข้า ใจกันว่าพวกข้าศึกคงจะหนีไปทางเมืองเขมรหรือเมืองลาวเปนแน่ข้าพเจ้าจึงถามออกญาพิพัฒว่า คนที่คิดจะชิงราชสมบัตินี้จะเปนใครแน่และคนนี้มาแต่ไหนมาอย่างไร ข้าพเจ้าไม่ได้รับคำตอบอย่างใดนอกจากว่า ดูเหมือนคน ๆ นี้จะผุดขึ้นมาจากใต้ดิน และได้ความจากออกญาพิพัฒต่อไปว่า มีมหาดเล็กของพระเจ้าแผ่นดินติดสอยห้อยตามข้าศึกผู้จะ ชิงราชสมบัติคนหนึ่ง และว่าในเวลานี้กองทัพกำลังติดตามพวกข้าศึก ที่ยังหนีอยู่

      ถ้อยคำที่ขุนนางผู้นี้กล่าว เปนถ้อยคำที่พอจะเชื่อได้ และ ถ้าจะพิเคราะห์ดูเหตุการณ์ทั้งปวงแล้ว ก็จะต้องสันนิฐานว่าการศึกได้สงบแล้ว แต่ออกญาพิพัฒเปนคนไทยที่ไหวพริบคนหนึ่ง จะหาใครเปรียบทั่วทั้งแผ่นดินเปนไม่ได้ เพราะฉนั้นจึงได้รักษาตัวอยู่ได้จนตลอดเรื่อง ที่มีการรื่นเริงกันอยู่ในเวลานี้ก็คงจะมีกันพอแก้หน้าเท่านั้น เพราะตามคุกต่าง ๆ ก็เต็มไปด้วยนักโทษทั้งผู้ชายผู้หญิงและเด็ก และยังจะมีคนที่จะต้องถูกชำระและเอาตัวไปประจานที่ประตูเมืองก็อีกมาก

      เมื่อทางราชการได้ริบทรัพย์สมบัติมากมายเช่นนี้ ก็คงจะทำให้ท้องพระคลังเต็มไปหมด และการที่เกิดขึ้นครั้งนี้หาทำให้พระเจ้าแผ่นดินยากจนลง ไปไม่ แต่จะกลับทำให้มั่งคั่งบริบูรณ์ขึ้นเสียอีก ผู้คนราษฎรพลเมือง ในพระราชอาณาเขตเบาบางน้อยลงไปมาก แต่ก็ไม่เปนสิ่งที่จะทำให้ พระเจ้าแผ่นดินร้อนพระทัยอย่างไร ถ้าแม้ว่าการศึกสงครามคราวนี้ เปนแต่กลอุบายแล้ว ศึกจะเลิกเมื่อไรก็ได้ตามชอบใจของผู้ที่คิดอุบาย นี้ เพราะฉนั้นที่เรียกกันว่าข้าศึกนั้น ก็คงจะเปนเงาของข้าศึกเท่า นั้น เปรียบเท่ากับการเพาะเห็ด ๆ ยังไม่ทันขึ้นดี ก็ไปเก็บมารับประทานเสียแล้ว


      ในขณะนั้นเจ้าเพชร อายุ 20 ปี เจ้าพร อายุ 18 ปี สองพี่น้องคู่นี้จะได้ช่วยพระบิดาขึ้นครองบัลลังก์ต่อไป



กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ธ.ค. 15, 23:05
พระเจ้าแผ่นดินที่ว่า หมายถึงพระเพทราชาใช่ไหมคะ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 31 ธ.ค. 15, 23:15
พระเจ้าแผ่นดินที่ว่า หมายถึงพระเพทราชาใช่ไหมคะ



จดหมายฉบับนี้มีใจความสำคัญที่สรุปเรื่องราวในสมัยพระเพทราชาได้ครบทุกประเด็นเลยครับท่านอาจารย์เทาชมพู

   พระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคต คือ สมเด็จพระนารายณ์
   พระเจ้ากรุงสยามคือ สมเด็จพระเพทราชา
   พระราชบุตร คือ สมเด็จพระเจ้าเสือ


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 31 ธ.ค. 15, 23:42

การผจญภัยของออกขุนชำนาญ เล่าโดย บาดหลวงตาชารด์
น่าจะนำไปทำภาพยนตร์ได้


กระทู้: ผลงานชั้นเยี่ยมเป็นนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งเองหรือกวีนิรนามในสำนักของพระองค์
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 31 ธ.ค. 15, 23:57

กฎสามข้อ ในการบริหารความเสี่ยงแบบไทยๆ เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ

   1. ผู้ชนะคือผู้อยู่รอด ให้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะเป็นผู้ชนะ
   2. ถ้าไม่ได้เป็นผู้ชนะให้เลือกอยู่ข้างผู้ที่จะชนะ
   3. ถ้าพลาด มีท่าทีว่าจะแพ้ ให้รีบหนีไปพึ่งกรรมการ