เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: luanglek ที่ 19 ก.พ. 12, 12:15



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 ก.พ. 12, 12:15
เมื่อหลายวันก่อน  ผมได้สนทนากับท่านผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ชื่นชอบหนังสือเก่า
ช่วงหนึ่งของการสนทนา  ท่านผู้อาวุโสถามผมว่า

"คุณรู้ไหมว่า  ข้าราชการสมัยก่อนนั้น ถ้าอยากจะเป็นเจ้าเมืองหรือกรมการเมือง
ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ  ต้องเสียเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการที่จะได้ดำรงตำแหน่งเท่าไรบ้าง
เอาเฉพาะที่เป็นทางการ  เงินที่เป็นเบี้ยบ้ายรายทาง เงินจ่ายใต้เสื่อใต้ถุนเรือนร้านใต้เตียงใต้ตั่ง
อย่างนั้นไม่เอานะ  เอาที่เป็นค่าใช้จ่ายเป็นทางการ  คิดไม่ออก ตอบเดี๋ยวนี้ไม่ได้
ผมให้เวลาคิดหาคำตอบ ๗ วัน  พ้นกำหนด  หากหาคำตอบให้ไม่ได้
ต้องจ่ายไขค่าคำตอบเป็นหนังสือเก่า หรือกลางเก่ากลางใหม่ จำนวน ๕ เล่ม"

ผมเพียรหาคำตอบอยู่หลายวัน  จึงได้คำตอบไปตอบท่านอาวุโสได้
และถูกต้องตามที่ท่านต้องการ  จึงไม่ต้องเสียหนังสือเป็นค่าไขคำตอบ

ผมจึงอยากถามท่านทั้งหลายในเรือนไทย  ว่าพอทราบไหมว่า
คนที่เขาได้เป็นเจ้าเมืองและกรมการเมืองสมัยก่อน
เขาต้องเสียค่าใช้จ่ายในการที่จะได้เป็นเจ้าเมืองและกรมการเมือง
มากน้อยเท่าใดบ้าง

 ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 19 ก.พ. 12, 12:27
เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชครั้งกรุงเก่า
(ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒)

"อนึ่งผู้เปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เสียค่าธรรมเนียมในนี้ อาลักษณ์ จารึกชื่อตามบันดาศักดิเสมอนาร้อยละสลึง
กรมอาลักษณ์ ผู้แต่งตราพระราชโองการได้ค่าธรรมเนียม ๑๒๐ บาท กรมแสงในได้ค่าธรรมเนียมรักษาตรา พระราชโองการแลตราพระครุธพ่าห์ ๑๒๐ บาท
สนมผู้เชิญตราพระราชโองการแลตราพระครุธพ่าห์ ๔๐ บาท คนหามเสลี่ยงแลแตรสังข์แลเทียวแห่มาแต่โรงแสงเสมอคนละ ๑ บาท
อนึ่งค่าตำแหน่งศักดิผู้รักษาเมืองผู้รั้ง แลข้าหลวงกรมการนายระวางนายพขนอนด่านคอยสิบร้อยอายัด แลแขวงนายบ้านนายอำเภอ
แลพระหลวงขุนหมื่นวิเศษข้าส่วย แลส่วยซ่องกองช้างทั้งปวงกราบถวายบังคม เสียค่าชักม่านค่าปี่กลองเปนค่าตำแหน่งศักดิขุนขนอน ๖ บาท
ค่าชักม่านหนึ่งเฟื้อง ปี่กลองหนึ่งเฟื้อง แตรหนึ่งเฟื้อง ช่องขนอน ๓ บาท ชักม่านหนึ่งเฟื้อง แตรหนึ่งเฟื้อง แลพระหลวงขุนหมื่นกรมการ
แลนายระวางนายบ้านนายอำเภอ แลข้าหลวงขุนหมื่นวิเศษ ข้าส่วยซ่องกองช้างทั้งปวง เสียค่าถวายบังคมแลค่าชักม่าน ค่าปี่กลอง
เปนค่าตำแหน่งศักดิตามบันดาศักดิแต่นา ๑๐๐ ขึ้นไป เสียค่าตำแหน่งศักดิ ๑๐๐ ละ ๒ สลึง แลนา ๑๐๐ ขึ้นไปถึงนา ๑๐๐๐ เสมอ ๑๐๐ ละ ๒ สลึง
แลเสียค่าชักม่านแลปี่กลองแลแตรเหมือนกันทุกคน"

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 ก.พ. 12, 12:34
อ้า   รวดเร็วว่องไวปานกามนิตหนุ่มแห่งทุ่งรังสิต
นั่นก็เป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่ผมเอาไปตอบท่านอาวุโส
ผมยื่นเอกสารชิ้นนี้ให้ท่านดูก่อน   ท่านบอกว่า  มีเอกสารที่เก่ากว่านี้ไหม
นี่ถ้าผมเตรียมการมาไม่ดี  เห็นทีจะเสียท่าท่านผู้อาวุโสได้
ว่าแล้วก็ยื่นเอกสารให้ท่านอีกชิ้นหนึ่ง  ท่านรับแล้วอ่าน
ฉับพลันทันใด  ท่านอาวุโสก็เอามือตบที่ตัก  ว่าอุเหม่  อันนี้แหละที่ต้องการ
ครบถ้วนดีจริงเจียวพ่อคุณ 

เอกสารที่ว่านั้นคือเอกสารอะไร
เชิญกามนิตแห่งทุ่งรังสิตและท่านทั้งหลายที่เยี่ยมกรายไปมา
ช่วยกันหาเถิด ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 ก.พ. 12, 15:15
ระหว่างที่รอเอกสารในคำถามแรก

ท่านผู้อาวุโสคนเ้ดิม  เคยถามผมไว้หลายเดือนล่วงมาแล้วว่า

"เออ  คุณพอรู้เรื่องการเข้าเวรนอนประจำซองในพระบรมมหาราชวัง
ในเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสตามหัวเมืองบ้างหรือไม่
เขาวางคนเข้านอนประจำซองในพระบรมมหาราชวังกันตรงใดบ้าง
เกณฑ์คนเพื่อการนี้มากน้อยสักเท่าไร "

ยัง  ยังไม่หมด  หลายสัปดาห์ก่อน  ท่านถามผมว่า

"เอ  พราหมณ์ที่ประกอบพระราชพิธีและพิธีต่างๆ ของหลวง 
เขามีเครื่องแบบที่เป็นระเบียบแบบแผนในการแต่งกาย
ในการเข้าพิธีต่างๆ หรือเปล่า  หรือว่าแต่งอย่างไรก็ได้
เพราะเท่าที่เห็นพราหมณ์แต่ละคนแต่งกายไม่เหมือนกัน"

ท่านทั้งหลาย  พอจะช่วยผมหาคำตอบได้บ้างไหม ??? ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 19 ก.พ. 12, 15:18
อืมมมม....



เยอะจริงๆ



 :o


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ก.พ. 12, 16:22
ระหว่างที่รอเอกสารในคำถามแรก

ท่านผู้อาวุโสคนเ้ดิม  เคยถามผมไว้หลายเดือนล่วงมาแล้วว่า

"เออ  คุณพอรู้เรื่องการเข้าเวรนอนประจำซองในพระบรมมหาราชวัง
ในเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสตามหัวเมืองบ้างหรือไม่
เขาวางคนเข้านอนประจำซองในพระบรมมหาราชวังกันตรงใดบ้าง
เกณฑ์คนเพื่อการนี้มากน้อยสักเท่าไร "


ท่านทั้งหลาย  พอจะช่วยผมหาคำตอบได้บ้างไหม ??? ???


ท่านอาวุโสนั้นช่างน่านับถือมาก นับถือในการคิดที่จะอนุรักษ์สมบัติแห่งชาติที่สูญหายไปมาก


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ก.พ. 12, 16:35
ในรัชกาลพระบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ปรากฏว่า ได้ทรงสร้างโรงชนิดหนึ่ง เรียกว่า โรงทาน    โรงทานนี้เป็นสถานที่สำหรับให้การศึกษาด้วย จะเห็น ได่จากคำประกาศเรื่องโรงทานในรัชกาลพระบาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า“โรงทานนี้        พระบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย     ได้ทรงสร้างขึ้นไว้ให้มีเจ้าพนักงานจัดอาหารและสำรับคาวหวานเลี้ยงพระสงฆ์สามเณร   และข้าราชการที่ มานอนประจำซองในพระบรมมหาราชวัง    กับทั้งบริจาคพระราชทรัพย์แจกคนชราพิการ     และมีพระธรรมเทศนาและสอนหนังสือวิชาการต่าง ๆ    โดยพระบรมราชประสงค์จะให้เป็นหิตานุหิต     ประโยชน์แก่ชนทั้งหลายทั้งปวงในอิธโลกและปรโลกนั้นด้วย”

ที่มา http://www.moe.go.th/main2/his_edu.htm

ผมคาดว่าเมื่อมีการตั้งกรมทหารมหาดเล็ก มีการก่อสร้างออฟฟิศทหารวัง และโรงทหารวัง พวกท่านเหล่านี้คงจะมาพักนอนในที่แห่งนี้


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ก.พ. 12, 17:25
ตำแหน่งพราหมณ์ในราชสำนักไทยสมัยรัตนโกสินทร์ คือ

๑. พระมหาราชครู
๒. พระราชครู
๓. พระครู
๔. พราหมณ์

โดยพราหมณ์นั้นมีด้วยกันอยู่หลายตระกูล ในราชสำนักไทยเน้นให้ความสำคัญกับพราหมณ์สายนครศรีธรรมราชมากกว่าสายอื่น ๆ

การแต่งกายของพราหมณ์คือ การไว้มวยผม และนุ่งขาวตลอดชีวิต ยกเว้นในการประกอบพิธีกรรมจะนุ่งโจงขาว สวมเสื้อแขนยาวคอตั้ง สวมถุงเท้าขาว รองเท้าขาว ห่มผ้าเฉียงไหล่ มีผ้าขาวคาดเอว


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 19 ก.พ. 12, 19:59
อ้า   รวดเร็วว่องไวปานกามนิตหนุ่มแห่งทุ่งรังสิต
นั่นก็เป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่ผมเอาไปตอบท่านอาวุโส
ผมยื่นเอกสารชิ้นนี้ให้ท่านดูก่อน   ท่านบอกว่า  มีเอกสารที่เก่ากว่านี้ไหม
นี่ถ้าผมเตรียมการมาไม่ดี  เห็นทีจะเสียท่าท่านผู้อาวุโสได้
ว่าแล้วก็ยื่นเอกสารให้ท่านอีกชิ้นหนึ่ง  ท่านรับแล้วอ่าน
ฉับพลันทันใด  ท่านอาวุโสก็เอามือตบที่ตัก  ว่าอุเหม่  อันนี้แหละที่ต้องการ
ครบถ้วนดีจริงเจียวพ่อคุณ  

เอกสารที่ว่านั้นคือเอกสารอะไร
เชิญกามนิตแห่งทุ่งรังสิตและท่านทั้งหลายที่เยี่ยมกรายไปมา
ช่วยกันหาเถิด ;D



เอาเถิด
หากอยากใดเอกสารอ้างอิงเก่ากว่าสมัย "บ้านเมืองยังดี" ครั้งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแล้วไซร้
กระผมในฐานะผู้น้อย ย่อมสนองคุณผู้ใหญ่อย่างคุณหลวงด้วยกำลังอันเต็มความสามารถ  8)

พระราชกำหนดเก่า ข้อที่ ๓๓

วันอังคาร เดือน ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๑ ปีเถาะเอกศก เพลาเช้า พระยาพระคลัง ผู้ว่าราชการ ณ ที่สมุหนายก
ออกนั่งว่าราชการ ณ ตึกป่าตะกั่ว หลวงมงคลรัตน์ บ้านอยู่บางเอียนเขียนเอาตำราค่าตั้งตราผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการ
ณ หัวเมือง มาแต่หอหลวง เรียนแก่ ฯพณฯ เจ้าท่าน สั่งให้นายเวรลอกไว้ และในตำรานั้นว่า

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานค่าตั้งค่าตราผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการและพระ หลวง ขุนหมื่น เจ้ากรมปลัดกรม
กรมการหัวเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา แก่เจ้าพนักงานผู้ใดเป็นเมืองขึ้นทั้งปวงในนี้

เมืองเอก เมืองพิษณุโลก เมือง ๑ เมืองนครศรีธรรมราช เมือง ๑ รวม ๒ หัวเมือง
เจ้าเมือง                                           ค่าตั้ง ๕ ชั่ง ค่าตรา ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง รวม ๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
ปลัด                                               ค่าตั้ง ๓ ชั่ง ค่าตรา ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง รวม ๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
กรมการที่ พล มหาดไทย สัสดี เมือง วัง คลัง นา  ค่าตั้ง ๒ ชั่ง ค่าตรา ๑ ชั่ง รวม ๓ ชั่ง

เมืองโท  เมืองสวรรคโลก ๑ เมืองสุโขทัย ๑ เมืองกำแพงเพชร ๑ เมืองนครราชสีมา ๑
เมืองเพชรบูรณ์ ๑ เมืองตะนาวศรี ๑ รวม ๖ หัวเมือง
ผู้รักษาเมือง                                       ค่าตั้ง ๓ ชั่ง ค่าตรา  ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง รวม ๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
ปลัด                                               ค่าตั้ง ๒ ชั่ง ค่าตรา ๑ ชั่ง รวม ๓ ชั่ง
ยกกระบัตร มหาดไทย พล สัสดี เมือง วัง คลัง นา ค่าตั้ง ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ค่าตรา ๑๕ ตำลึง รวม ๒ ชั่ง ๕ ตำลึง

เมืองตรี เมืองพิชัย ๑ เมืองพิจิตร ๑ เมืองนครสวรรค์ ๑ เมืองจันทบูร ๑ เมืองไชยา ๑
เมืองชุมพร ๑ เมืองพัทลุง ๑ รวม ๗ หัวเมือง
ผู้รักษาเมือง                                       ค่าตั้ง ๒ ชั่ง ค่าตรา ๑ ชั่ง รวม ๓ ชั่ง
ปลัด                                               ค่าตั้ง ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ค่าตรา ๑๕ ตำลึง รวม ๒ ชั่ง ๕ ตำลึง
พล ยกกระบัตร มหาดไทย สัสดี เมือง วัง คลัง นา ค่าตั้ง ๑ ชั่ง ค่าตรา ๑๐ ตำลึง รวม ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

เมืองจัตวา เมืองบัวชุม ๑ เมืองไชยบาดาล ๑ เมืองระยอง ๑ เมืองชลบุรี ๑ เมืองสมุทรสาคร ๑ เมืองสมุทรปราการ ๑
เมืองบางละมุง ๑ เมืองกุย ๑ เมืองปราณ ๑ เมืองนนทบุรี ๑ เมืองชัยนาท ๑ เมืองอุทัยธานี ๑ เมืองมโนรมย์ ๑ เมืองสรรค์บุรี ๑
เมืองสิงห์บุรี ๑ เมืองอินทบุรี ๑ เมืองพรหมบุรี ๑ เมืองลพบุรี ๑ เมืองสุพรรณบุรี ๑ เมืองศรีสวัสดิ์ ๑ เมืองไทรโยค ๑
เมืองฉะเชิงเทรา ๑ เมืองนครชัยศรี ๑ เมืองราชบุรี เมืองวิเศษไชยชาญ ๑ เมืองเพชรบุรี ๑ เมืองสมุทรสงคราม ๑ เมืองปราจีนบุรี ๑
เมืองนครนายก ๑ เมืองสระบุรี ๑ รวม ๓๐ หัวเมือง
ผู้รักษาเมือง                                       ค่าตั้ง ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ค่าตรา ๑๕ ตำลึง รวม ๒ ชั่ง ๕ ตำลึง
ปลัด ยกกระบัตร จ่าเมือง แพ่ง ศุภมาตรา          ค่าตั้ง ๑๕ ตำลึง ค่าตรา ๗ ตำลึง ๒ บาท รวม ๑ ชั่ง ๒ ตำลึง ๒ บาท
รองปลัด รองจ่าเมือง รองแพ่ง รองศุภมาตรา      ค่าตั้ง ๑๐ ตำลึง ค่าตรา ๕ ตำลึง รวม ๑๕ ตำลึง

ถ้าเป็นผู้รั้งเมือง ให้เอาค่าตรา ค่าตั้ง ที่ผู้รักษาเมืองนั้นตั้งเป็น ๓ ส่วน ลดเสียส่วนหนึ่ง ให้เอาแต่ ๒ ส่วน

นายเวร และเสมียน และผู้แต่งตรา ได้รับพระราชทาน
ค่ารับสั่ง ๑ ตำลึง ค่าแต่ง ๑ บาท ๒ สลึง ค่าเขียน ๑ บาท ค่าตราครั่ง ๑ บาท ๒ สลึง ค่าทูลฉลองได้แก่เจ้าตรา ๓ ตำลึง
ค่าตรา ๑ ตำลึง ๒ บาท ค่าทนายได้ค่าสั่ง ค่ายกเจียด ๑ บาท รวม ๗ ตำลึง ๑ บาท

ค่าตราคุ้มห้าม
ค่ารับสั่ง ๑ ตำลึง ค่าแต่ง ๓ บาท ค่าเขียน ๑ บาท ค่าตราใหญ่ ๓ ตำลึง ค่าตราครั่ง ๑ บาท ๒ สลึง ค่ายกเจียด ๑ บาท
ค่าทูลฉลอง ๓ ตำลึง ค่าสั่ง ๒ บาท รวม ๙ ตำลึง ๒ สลึง



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 ก.พ. 12, 12:05
อะฮ้า :o   กามนิตหนุ่มแห่งทุ่งรังสิตนี่เยี่ยมยุทธ์ยิ่งนัก  ขอชมเชย
เอกสารนี้แล  ที่ท่านผู้อาวุโสต้องประสงค์ มีรายละเอียดถี่ยิบ
แม้กระทั่งการชื่อหัวเมืองชั้นต่างๆ ในสมัยอยุธยา ;)



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 ก.พ. 12, 12:10
ส่วนที่คุณหนุ่มสยามได้ตอบเกี่ยวกับการเข้าเวรนอนประจำซองในพระบรมมหาราชวัง
ในเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประพาสตามหัวเมืองนั้น 
ยังมีรายละเอียดไม่ต้องตามที่ท่านผู้อาวุโสต้องการ  เชิญคุณหนุ่มควานหาใหม่เถิด

 :P


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 ก.พ. 12, 12:17

"เอ  พราหมณ์ที่ประกอบพระราชพิธีและพิธีต่างๆ ของหลวง 
เขามีเครื่องแบบที่เป็นระเบียบแบบแผนในการแต่งกาย
ในการเข้าพิธีต่างๆ หรือเปล่า  หรือว่าแต่งอย่างไรก็ได้
เพราะเท่าที่เห็นพราหมณ์แต่ละคนแต่งกายไม่เหมือนกัน"

ท่านทั้งหลาย  พอจะช่วยผมหาคำตอบได้บ้างไหม ??? ???


คุณหนุ่มตอบมาว่า

ตำแหน่งพราหมณ์ในราชสำนักไทยสมัยรัตนโกสินทร์ คือ

๑. พระมหาราชครู
๒. พระราชครู
๓. พระครู
๔. พราหมณ์

โดยพราหมณ์นั้นมีด้วยกันอยู่หลายตระกูล ในราชสำนักไทยเน้นให้ความสำคัญกับพราหมณ์สายนครศรีธรรมราชมากกว่าสายอื่น ๆ

การแต่งกายของพราหมณ์คือ การไว้มวยผม และนุ่งขาวตลอดชีวิต
ยกเว้นในการประกอบพิธีกรรมจะนุ่งโจงขาว สวมเสื้อแขนยาวคอตั้ง
สวมถุงเท้าขาว รองเท้าขาว ห่มผ้าเฉียงไหล่ มีผ้าขาวคาดเอว

ได้นำไปเรียนท่านผู้อาวุโส  ท่านว่า  ตอบรวมๆ อย่างนี้  ไม่ชัดเจน
ท่านว่า  มันมีที่เป็นระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่
ไม่เช่นนั้นจะทราบได้อย่างไรว่า  ใครเป็นพราหมณ์ชั้นใด


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 20 ก.พ. 12, 13:16
โดยทั่วไปแล้ว พราหมณ์จะนุ่งห่มด้วยผ้าขาว คือ เสื้อขาวธรรมดา ๑ ตัว ผ้าโจงกระเบน ๑ ผืน
แต่ถ้าทำพิธี พราหมณ์จะใส่เสื้อยาวแบบราชปะแตนสีขาวคลุมทับเสื้อใน สวมหมวกแบบถุงแป้ง ห้อยคอด้วยลูกประคำ

 ;D
พราหมณ์ ในประเทศไทย ในปัจจุบัน มีลำดับการปกครอง พอสังเขปคือ

- พระมหาราชครูอัษฎาจารย์ (พราหมณ์ ละเอียด รัตนพราหมณ์)
ดำรงตำแหน่ง ประธานพราหมณ์
ทำหน้าที่ทางด้านการศาสนา เป็นผู้นำศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

- พระราชครูวามเทพมุนี (พราหมณ์ ชวิน รังสิพราหมณกุล)
ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพราหมณ์
ดูแลคณะพราหมณ์ ทำหน้าที่ทางด้านศาสนา เป็นผู้ช่วยพระมหาราชครู

- อัษฎาจารย์ ประกอบด้วย
พระราชครูศิวาจารย์ (พราหมณ์ ถาวร ภวังคนันท์)เป็น พระครูพราหมณ์
พระครูสตานันทมุนี (พราหมณ์ อรุณ สยมภพ) เป็น พระครูพราหมณ์
พระครูญาณสยมภูว์ (พราหมณ์ ขจร นาคะเวทิน) เป็น พระครูพราหมณ์
พระครูสิทธิไชยบดี (พราหมณ์ ยศ โกมลเวทิน) เป็น พระครูพราหมณ์
พระครูสุริยาเทเวศร์ (พราหมณ์ ศรีล รังสิพราหมณกุล) เป็น พระครูพราหมณ์

- พราหมณ์พิธี จำนวน 6 ท่าน คือ
1) พราหมณ์ สมบัติ รัตนพราหมณ์
2) พราหมณ์ คีษณพันธ์ รังสิพราหมณกุล
3) พราหมณ์ ปฏิหาริย์ สยมภพ
4) พราหมณ์ ธนพล ภวังคนันท์
5) พราหมณ์ ปรีชาวุธ นาคะเวทิน
6) พราหมณ์ ปกรณ์ วุฒิพราหมณ์
มีหน้าที่
   - ด้านงานพราหมณ์ เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีถวายแด่พระมหากษัตริย์ และ พระบรมวงศานุวงศ์ ในวาระสำคัญ
   - ด้านหน่วยงานและเอกชน เป็นผู้ประกอบพิธีตามประเพณี และ วัฒนธรรมของไทยแต่โบราณ ซึ่งเป็นพิธีเกี่ยวกับการรวมขวัญและมงคลของประชาชน เช่น พระราชพิธีแรกนาขวัญ พระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย เป็นต้น
พิธีเกี่ยวกับรัฐ บวงสรวงวาระวันสำคัญวันสถาปนา
พิธีเกี่ยวกับประชาชน เป็นประเพณี มีพิธีเกิด ทำขวัญเดือน ตัดจุก แต่งงาน ปลูกบ้าน และ พิธีมงคลตามวาระที่มีความประสงค์ ฯลฯ
   - ด้านการเผยแพร่ ส่วนใหญ่เป็นการเผยแพร่ตามคติประเพณี ด้วยการประกอบพิธีกรรม เพื่อรักษาวัฒนธรรมอันดีแต่โบราณ การให้ความรู้ การสอนหลักปรัชญาของศาสนา
   - ด้านการเตรียมบุคลากรพราหมณ์ผู้สืบทอดศาสนา ให้การศึกษาและให้โอกาสลูกหลานพราหมณ์เรียนต่อที่ประเทศอินเดีย โดยมุ่งให้ความรู้
   - ด้านปรัชญาและศาสนา ตามความสามารถของแต่ละคน ให้ความรู้การฝึกฝน ด้านการประกอบพิธีกรรม
   - ด้านการสังคมสงเคราะห์ จัดตั้ง มูลนิธิ เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ ประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือด้านการศาสนา บูรณะ และ ส่งเสริมด้านการศึกษาให้กับเยาวชน สนับสนุนกิจการด้านจริยธรรม และ วัฒนธรรม


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 20 ก.พ. 12, 13:27
ตำแหน่งพราหมณ์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ขึ้นกับ กรมพิธีพราหมณ์ สังกัดกระทรวงวัง
มีหลายตำแหน่งด้วยกันคือ
                    พระมหาราชครู พระครูมหิธรธรรมราชสุภาวดี    นา ๑๐,๐๐๐
                    พระราชครู พระครูพิเชดษรราชธิบดีศรีษรคม    นา ๕,๐๐๐
                    พระธรรมสาตรราชโหรดาจารย์ ปลัดมหิธร    นา ๓,๐๐๐
                    พระอัฐยาปรีชาธิบดีโหระดาจารย์ ปลัดพระครูพิเชด    นา ๓,๐๐๐
                    พระญาณประภาษอธิบดีโหระดาจารย์    นา ๓,๐๐๐
                    ขุนไชยอาญามหาวิสุทธิปรีชาจารย์    นาคล ๑,๕๐๐
                    ขุนจินดาพิรมยพรมเทพวิสุทธิวรษาจารย์    นาดล ๑,๕๐๐
                    พระมหาราชครู พระราชประโรหิตาจารย์ ราชสุภาวดี ฯ    นา ๑๐,๐๐๐
                    พระราชครู พระครูพิราม ราชสุภาวดี ฯ    นา ๕,๐๐๐
                    พระเทพราชธาดาบดีศรีวาสุเทพ  ปลัดพระราชครูปุโรหิต      นา  ๓,๐๐๐
                    พระจักปานีศรีสัจวิสุทธิ ปลัดพระครูพิราม    นา  ๓,๐๐๐
                    พระเกษมราชสุภาวดี ศรีมณธาดูลราช เจ้ากรมแพ่งกระเษม    นา  ๓,๐๐๐
                    ขุนสุภาเทพ ๑ ขุนสภาสภาพาน ๑  ปลัดนั่งศาล    นาดล  ๔๐๐
                    ขุนหลวงพระไกรศรี ราชสุภาวดี ฯ  เจ้ากรมแพ่งกลาง    นา   ๓,๐๐๐
                    ขุนราชสุภา ๑ ขุนสภาไชย ๑  ปลัดนั่งศาล    นาดล  ๔๐๐
                    พระครูราชพิทธี จางวาง    นา  ๑,๐๐๐
                    พระครูอัศฎาจารย์ เจ้ากรม    นา  ๘๐๐
                    หลวงราชมณี ปลัดกรม    นา  ๖๐๐
                    ขุนพรมไสมย ครูโล้ชิงช้า    นา  ๔๐๐
                    ขุนธรรมณะรายสมุบาญชีย    นา ๓๐๐
                    ขุนในกรม นา ๓๐๐ หมื่นในกรม นา ๒๐๐  พราหมเลวรักษาเทวาสถาน    นาดล  ๕๐
                    พระอิศวาธิบดี ศรีสิทธิพฤทธิบาท จางวาง    นา  ๑,๐๐๐
                    ขุนในกรมพฤทธิบาท  นา ๓๐๐  หมื่นในกรมพฤทธิบาท  นา ๒๐๐
                    ประแดงราชมณี    นา  ๒๐๐

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเลิกกรมพิธีพราหมณ์ในกระทรวงวัง ดังกล่าว

ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พราหมณ์ปฏิบัติพระราชพิธีสำหรับพระองค์และประเทศชาติต่อไป
โดยให้ขึ้นตรงต่อสำนักพระราชวัง และปฏิบัติศาสนกิจที่เทวสถาน สำหรับพระนครข้างวัดสุทัศนเทพวราราม เสาชิงช้า กรุงเทพ ฯ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ก.พ. 12, 14:28

ได้นำไปเรียนท่านผู้อาวุโส  ท่านว่า  ตอบรวมๆ อย่างนี้  ไม่ชัดเจน
ท่านว่า  มันมีที่เป็นระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่
ไม่เช่นนั้นจะทราบได้อย่างไรว่า  ใครเป็นพราหมณ์ชั้นใด


อ้างถึงระเบียบการแต่งกายในราชสำนัก เวลาเข้ารับราชการมีการแต่งกายดังนี้
๑. เสื้อผ้าขาวรูปแบบราชการ

๒. แผ่นทาบบนคอเสื้อพื้นกำมะหยี่ขาว เครื่องประกอบเป็นสีทอง

๓. ผ้าขาวนุ่งจีบชาย ๑ โจงชาย ๑ มีริมแบ่งได้ตามชั้นดังนี้
๓.๑ พราหมณ์สามัญ ริมเส้นแดง ๑ เส้น กว้าง ๑ เซนติเมตร
๓.๒ ชั้นตรี (รองเสวก) เส้นทองใหญ่ ๑ เส้น กว้าง ๑ เซนติเมตร
๓.๓ ชั้นโท (เสวก) เส้นทอง ๒ เส้น ๆ ใหญ่ กว้าง ๑ เซนติเมตรอยู่ริม เส้นทองเล็กกว้าง ๐.๕ เซนติเมตรอยู่ใน
๓.๔ ชั้นเอก (มหาเสวก) เส้นทองใหญ่ ๓ เส้น ๆ ใหญ่กว้าง ๑ เซนติเมตรอยู่ ๒ ข้าง เส้นทองเล็กขนาด ๐.๕ เซนติเมตร อยู่กลาง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 20 ก.พ. 12, 14:52
อะฮ้า :o   กามนิตหนุ่มแห่งทุ่งรังสิตนี่เยี่ยมยุทธ์ยิ่งนัก  ขอชมเชย
เอกสารนี้แล  ที่ท่านผู้อาวุโสต้องประสงค์ มีรายละเอียดถี่ยิบ
แม้กระทั่งการชื่อหัวเมืองชั้นต่างๆ ในสมัยอยุธยา ;)




น้อมรับคำรับชมจากใต้เท้าด้วยความยินดียิ่ง ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ก.พ. 12, 14:57
พราหมณ์ในรัชกาลปัจจุบัน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.พ. 12, 18:07
ในรัชกาลที่ ๖ มีพราหมณ์ ๒ พวก คือ พราหมณ์พิธีมีบรรดาศักดิ์เป็นพระมหาราชครู  พระราชครู และพระครู ตามลำดับ  อีกประเภทเรียกว่า พราหมณ์พฤฒิบาศ  รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระ หลวง ขุน เช่นข้าราชการทั่วไป


สำหรับคำตอบของคุณ D:D ที่ว่า ปัจจุบัน "พระมหาราชครูอัษฎาจารย์ (พราหมณ์ ละเอียด รัตนพราหมณ์) ดำรงตำแหน่ง ประธานพราหมณ์" นั้น  มีข้อสงสัยว่า ท่านผู้นี้ได้เป็นถึง "พระมหาราชครู" หรือ? 
ผมเคยพบและสนทนากับท่านเมื่อหลายปีมาแล้ว  เวลานั้นท่านยังเป็น "พระราชครู" หัวหน้าพราหมณ์พิธี  และไม่เคยได้ยินข่าวว่าท่านได้เป็น "พระมหาราชครู"  เพราะตามธรรมเนียมแล้วผู้ที่จะได้เป็นพระมหาราชครูนั้นต้องเป็นผู้อ่านโองการเบิกเขาไกรลาศ  และเป็นผู้ถวายน้ำสรงและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  ซึ่งพระมหาราชครูในรัชกาลปัจจุบันนั้นมีเพียงท่านเดียวและถึงแก่กรรมไปนานแล้ว  เคยคุยกับพระราชครูวามเทพมุนีหัวหน้าพราหมณ์คนปัจจุบัน  ท่านก็เล่าว่า พระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์  พราหมณกุล) บิดาของท่านก็ได้เป็นเพียงพระราชครูเพราะมิได้เป็นผู้ประกอบพิธีในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ภาพนี้เป็นภาพ พระมหาราชครูพิธี (อุ่ม  คุรุกุล) เจ้ากรมพราหมณ์พิธี  กระทรวงวังในสมัยรัชกาลที่ ๖
 


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.พ. 12, 18:18
ในความเห็นที่ ๑๔ คุณ Siamese กล่าวถึงแถบหมายยศบนผ้านุ่งของพราหมณ์พิธีไว้  เพื่อให้เห็นภาพชัดขอนำภาพเสื้ออาจารย์และเสื้อครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงกำหนดไว้  ก่อนที่จะทรงพระราชดำริเสื้อครุยเนติบัณฑิต  ซึ่งต่อมาเสื้อครุยทั้ง ๒ แบบนั้นได้เป็นต้นแบบของเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(ภาพบน) เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย  มาลากุล) แต่งเครื่องแบบปกติข้าราชการพลเรือน  สวมเสื้ออาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
(ภาพกลาง) หุ้มแพร ขุนประทักษ์สุนทรวิท (กระจ่าง  สิงหเสนี) แต่งเครื่องแบบเต็มยศข้าราชการกรมมหาดเล็ก ยศชั้นหุ้มแพร  สวมครุยครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
(ภาพล่าง) นายพลตรี พระยาเทพาธิบดี (เจิ่น  บุนนาค) แต่งเครื่องแบบเต็มยศนายพลตรี ทหารบก สวมครุยเนติบัณฑิต



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 20 ก.พ. 12, 22:26
ข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษา 22 ธันวาคม 2542 ค่ะ... ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 20 ก.พ. 12, 22:46
และข้อมูลล่าสุดค่ะ .... ;D

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้ง พระราชครูวามเทพมุนี เป็น พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ วิบุลย์เวทย์บรมหงส์ พรหมพงศ์ พฤฒาจาริย์ ตำแหน่งประธานพระครูพราหมณ์ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554....

ท่านV_Mee คงต้องรีบไปแสดงความยินดีกับพระมหาราชครู แล้วหละค่ะ... ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 21 ก.พ. 12, 07:35
ขอบพระคุณ คุณ D:D ครับ
พระมหาราชครูวามเทพมุนีนี้เป็นพระมหาราชครูท่านที่สองในสกุลรังสิพราหมณกุล  ท่านแรกดป็นคุณปู่ของท่านปัจจุบัน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ก.พ. 12, 14:28
ระหว่างที่รอเอกสารในคำถามแรก

ท่านผู้อาวุโสคนเ้ดิม  เคยถามผมไว้หลายเดือนล่วงมาแล้วว่า

"เออ  คุณพอรู้เรื่องการเข้าเวรนอนประจำซองในพระบรมมหาราชวัง
ในเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสตามหัวเมืองบ้างหรือไม่
เขาวางคนเข้านอนประจำซองในพระบรมมหาราชวังกันตรงใดบ้าง
เกณฑ์คนเพื่อการนี้มากน้อยสักเท่าไร "



หยิบหนังสือธรรมเนียมวัง สมัยกรุงศรีอยุธยามาปัดฝุ่น ดูว่าการรักษาพระนครเวลาเสด็จไม่อยู่ ทำกันอย่างไร (สมัยอยุธยา)

๑. กรมล้อมพระราชวัง พระเพ็ชรพิชัยตั้งกองซุ่มอยู่จวนท้องสนามกลาง ขุนหมื่นขึ้นรักษาเชิงเทินรอบพระราชวัง

๒. กรมวังนอกอยู่ทิมดาบชาววัง หลวงราชฤทธานนท์ หลวงนนทเสน ขุนหมื่นชาววังนอก เหล่า ๑

๓. กรมวังเกณฑ์ ขุนอินอาญา ๑ ขุนเทพสุภา ๑ ขุนพรหมสุภา ๑ อยู่ประจำหล่อประตูท่าสิบเบี้ย

๔. พนักงานอยู่รักษากรุง ตระเวนนอกที่ห้าม ตั้งกองซุ่ม รักษากรุงตามอำเภอ ๘ กอง นอกกรุง ๘ กอง

๕. ขุนสัสดี ขุนสารวัตร นายตำรวจซ้าย นายธำรงค์ นายบัญชีกลาง ไพร่สม ๘๐ รักษาผู้ร้าย ๘ คุก

๖. พระยายมราช หลวงขุนหมื่น เสมืยนทนาย ไพร่สม ๒๐๐ ต้้งกองขัดตาทัพที่สนามหน้าพระศพ และเวลากลางคืนให้เดินตระเวนทั่วกรุง

๗.หลวงรองเมือง เสมืยนทนาย ไพร่สม ๕๐ ให้คุมป้อมเพ็ชรบางกะจะ

๘. ขุนเทพผลู เสมียนทนาย ไพร่สม รวม ๕๐ ประจำสะพานลำเหย

๙. รักษาการอำเภอ ๘๘ คน

๑๐. ตระเวนนอกกรุง ๘๘ คน

รวมพนักงานที่เข้ามาเกณฑ์รักษาพระนคร เป็นนาย ๖๑ ไพร่ ๕๒๒ รวม ๕๘๓ คน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ก.พ. 12, 14:38


อ้างถึงระเบียบการแต่งกายในราชสำนัก เวลาเข้ารับราชการมีการแต่งกายดังนี้
๑. เสื้อผ้าขาวรูปแบบราชการ

๒. แผ่นทาบบนคอเสื้อพื้นกำมะหยี่ขาว เครื่องประกอบเป็นสีทอง

๓. ผ้าขาวนุ่งจีบชาย ๑ โจงชาย ๑ มีริมแบ่งได้ตามชั้นดังนี้
๓.๑ พราหมณ์สามัญ ริมเส้นแดง ๑ เส้น กว้าง ๑ เซนติเมตร
๓.๒ ชั้นตรี (รองเสวก) เส้นทองใหญ่ ๑ เส้น กว้าง ๑ เซนติเมตร
๓.๓ ชั้นโท (เสวก) เส้นทอง ๒ เส้น ๆ ใหญ่ กว้าง ๑ เซนติเมตรอยู่ริม เส้นทองเล็กกว้าง ๐.๕ เซนติเมตรอยู่ใน
๓.๔ ชั้นเอก (มหาเสวก) เส้นทองใหญ่ ๓ เส้น ๆ ใหญ่กว้าง ๑ เซนติเมตรอยู่ ๒ ข้าง เส้นทองเล็กขนาด ๐.๕ เซนติเมตร อยู่กลาง


ท่านผู้อาวุโสทราบแล้ว  บอกว่า คุณหนุ่มสยามนี่ค้นเก่งนัก
ที่ตอบมานั้นชัดเจนดีทุกประการ

พราหมณ์ในที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในรัชกาลปัจจุบัน  ขอให้สังเกตว่า
มีบรรดาศักดิ์ต่างจากพราหมณ์ในรัชกาลก่อน  กล่าวคือ  เดิมพราหมณ์
ในราชสำนัก มีที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนหลวงพระเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป
ส่วน บรรดาศักดิ์ พระครู พระราชครู พระมหาราชครู เป็นตำแหน่งพราหมณ์ชั้นสูง

แต่เมื่อขึ้นรัชกาลปัจจุบัน  บรรดาศักดิ์ที่ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจะได้รับ
พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระครุทั้งหมด  แม้จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
เป็นขุนหลวงอะไรมาก่อน  เมื่อถึงรัชกาลนี้  เปลี่ยนเป็นพระครู

ตามที่เล่ากันมา  พราหมณ์ที่ได้รับดปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระมหาราชครูพิธี
มักเป็นพราหมณ์หัวหน้าคณะพราหมณ์ที่ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  หากเป็นหัสหน้าคณะที่ได้ไม่ได้เป็น
หัวหน้าคณะพราหมณ์ที่ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  ก็มักจะได้รับ
พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชครู  กรณีพระมหาราชครูพิธีคนปัจจุบัน
ต้องนับเป็นกรณีพิเศษ


อ้อ   ท่านอาวุโสถามว่า มีใครหาข้อมูลเรื่องนอนประจำซองในพระบรมมหาราชวัง
มาตอบหรือยัง   ท่านว่าท่านเคยเห็นแว้บๆ ที่ไหนจำไม่ได้


แล้วท่านก็ฝากถามมาด้วยว่า  

"เคยได้ยินเรื่องรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้ละครฉลองสมโภชต้นไม้ต้นหนึ่ง
ในพระราชวังดุสิตไหม  พอทราบไหมว่า  ต้นไม้ที่โปรดเกล้าฯ ให้ฉลองสมโภช
คือต้นไม้อะไร อยู่ตรงไหนในพระราชวังดุสิต ทำการฉลองสมโภชเพราะเหตุใด
ละครที่เล่นฉลองเล่นเรื่องอะไร  ใครเป็นเจ้าของคณะละครนั้น  และเหตุการณ์ดังกล่าว
เกิดขึ้นเมื่อวันเดือนปีอะไร"



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 21 ก.พ. 12, 14:52

๓. กรมวังเกณฑ์ ขุนอินอาญา ๑ ขุนเทพสุภา ๑ ขุนพรหมสุภา ๑ อยู่ประจำหล่อประตูท่าสิบเบี้ย


"ประจำหล่อ"

อันนี้คือ "จำหล่อ" หรือไม่  ???

ลักขณะนี้ย่อมต้องเขียนว่า "ประจำจำหล่อ" กระละมั้ง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ก.พ. 12, 15:48
แล้วท่านก็ฝากถามมาด้วยว่า  

"เคยได้ยินเรื่องรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้ละครฉลองสมโภชต้นไม้ต้นหนึ่ง
ในพระราชวังดุสิตไหม  พอทราบไหมว่า  ต้นไม้ที่โปรดเกล้าฯ ให้ฉลองสมโภช
คือต้นไม้อะไร อยู่ตรงไหนในพระราชวังดุสิต ทำการฉลองสมโภชเพราะเหตุใด
ละครที่เล่นฉลองเล่นเรื่องอะไร  ใครเป็นเจ้าของคณะละครนั้น  และเหตุการณ์ดังกล่าว
เกิดขึ้นเมื่อวันเดือนปีอะไร"



ลิ้นจี่ออกดอกติดลูกจ๊ะ

พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชวังดุสิตและโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นไม้ดอกไม้ผลหลายอย่างโดยมีเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์เป็นผู้ดูแล
ต้นไม้ ต้นไม้ทุกต้นออกดอกตามฤดูกาล ยกเว้นต้นลิ้นจี่ที่ออกช่อครั้งใดก็ร่วงหมด จนพ.ศ. 2451 ต้นลิ้นจี่ก็ไม่ติดลูก พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ถ้าต้นลิ้นจี่มีลูกวันใดจะหาละครหม่อมหลวงต่วนมาเล่น
ทำขวัญ

กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงเล่าถึงการก่อตั้งคณะละครนฤมิตรขึ้นใหม่ว่า

ในปี พ.ศ. 2451 บังเอิญลิ้นจี่ออกดอกเต็มต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจไปตรัสบอกหม่อมหลวงต่วนให้เตรียมละคร
ไปเล่นทำขวัญต้นลิ้นจี่ หม่อมหลวงต่วนทูลขัดข้องเพราะได้เลิกละครแล้ว ด้วยเหตุที่ เสด็จในกรมทรงติดราชการจึงมีพระราชดำรัสแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
ว่า ให้หม่อมหลวงต่วนควบคุมละครขึ้นอีก ถ้าขัดข้องอะไรจะพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ให้เลือกเรื่องและฝึกหัดตัวละครใหม่ให้ได้เล่นทำขวัญต้นลิ้นจี่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์รับพระบรมราชโองการมาแจ้งแก่หม่อมหลวงต่วนและทรงรับช่วยหาตัวละครและแต่งบทใหม่ ส่วนเรื่องที่จะเล่นนั้น หม่อมหลวงต่วนกราบทูล
ปรึกษาและเลือกเอาเรื่องพระลอ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์จึงทรงแต่งบทพระลอตอนกลางสำหรับเล่นคราวนั้น


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 ก.พ. 12, 16:07


นางละครผู้มีชื่อเสียงนั้น  มีเสน่ห์ดึงดูดจิตใจให้ชวนมองมากกว่าสตรีงามทั่วไป

เคยเห็นรูปถ่ายหม่อมหลวงต่วน  นั่งบนแท่นเอียงหน้าเล็กน้อย  และทอดแขนซ้าย

ตอนนั้นท่านสูงอายุแล้ว     แต่งามพิศ  งามจริต  งามท่า  จริงๆ

หนังสือของกรมศิลปแจกหลาน ๆ ไปหมดแล้วค่ะ   จำไม่ได้ว่าอยู่เล่มไหน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ก.พ. 12, 16:18


ลิ้นจี่ออกดอกติดลูกจ๊ะ

พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชวังดุสิตและโปรดเกล้าฯ
ให้ปลูกต้นไม้ดอกไม้ผลหลายอย่างโดยมีเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์เป็นผู้ดูแล
ต้นไม้ ต้นไม้ทุกต้นออกดอกตามฤดูกาล ยกเว้นต้นลิ้นจี่ที่ออกช่อครั้งใดก็ร่วงหมด
จนพ.ศ. 2451 ต้นลิ้นจี่ก็ไม่ติดลูก พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ถ้าต้นลิ้นจี่
มีลูกวันใดจะหาละครหม่อมหลวงต่วนมาเล่นทำขวัญ

กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงเล่าถึงการก่อตั้งคณะละครนฤมิตรขึ้นใหม่ว่า

ในปี พ.ศ. 2451 บังเอิญลิ้นจี่ออกดอกเต็มต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีพระราชดำรัสให้กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจไปตรัสบอกหม่อมหลวงต่วนให้เตรียมละคร
ไปเล่นทำขวัญต้นลิ้นจี่ หม่อมหลวงต่วนทูลขัดข้องเพราะได้เลิกละครแล้ว ด้วยเหตุที่
เสด็จในกรมทรงติดราชการจึงมีพระราชดำรัสแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
ว่า ให้หม่อมหลวงต่วนควบคุมละครขึ้นอีก ถ้าขัดข้องอะไรจะพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์
ให้เลือกเรื่องและฝึกหัดตัวละครใหม่ให้ได้เล่นทำขวัญต้นลิ้นจี่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์รับพระบรมราชโองการมาแจ้งแก่หม่อมหลวงต่วน
และทรงรับช่วยหาตัวละครและแต่งบทใหม่ ส่วนเรื่องที่จะเล่นนั้น หม่อมหลวงต่วนกราบทูล
ปรึกษาและเลือกเอาเรื่องพระลอ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
จึงทรงแต่งบทพระลอตอนกลางสำหรับเล่นคราวนั้น


คุณหนุ่มสยาม  ตอบว่าต้นลิ้นจี่ติดผลถูกต้องครับ แต่ต้นลิ้นจี่ปลูกตรงใดของพระราชวังดุสิตยังไม่ได้ตอบ
ละครหม่อมหลวงต่วนศรี  ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ถูกต้องครับ
เล่นเรื่องพระลอ พระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ถูกต้องครับ

ส่วนวันที่เกิดเหตุการณ์เมื่อใดนั้น ปีพุทธศักราช ๒๔๕๑ นั้น ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้วันกับเดือน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ก.พ. 12, 16:55
ท่านผู้อาวุโสท่านอ่านเรือนไทย  เห็นกระทู้ว่าด้วยราชสกุลนพวงศ์
เลยถามผู้เขียนว่า   " ราชสกุลนพวงศ์มีหม่อมราชวงศ์อะไรบ้าง"

ควานอยู่สักเพลาหนึ่งจึงได้ข้อมูลมาตอบท่านดังนี้

ข้อมูลเก่าอยู่สักหน่อย  ปี ๒๔๖๘

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบงกช  มีบุตรธิดา  ดังนี้

๑.ม.ร.ว.อุบล  นพวงศ์  เกิด ๑๕ พ.ย. ๒๔๐๐

๒.ม.ร.ว.กลาง  นพวงศ์  เกิด ๒๓ มิ.ย. ๒๔๑๑

๓.ม.ร.ว.จงกล  พรหมปิณฑะ  ภรรยาจ่าใจแกว่น (สวัสดิ์  พรหมปิณฑะ)
เกิด ๒๑ เม.ย. ๒๔๑๒

๔.หลวงศิวพันธุ์นิภาธร  (ม.ร.ว.ส่อศรี  นพวงศ์) เกิด  ๑๐ ต.ค. ๒๔๑๔

๕.ม.ร.ว.รวย  นพวงศ์  เกิด ๒๙ ก.ย. ๒๔๑๘





ม.จ.ถนอม  นพวงศ์  มีบุตรธิดา  ดังนี้

๑.พระยาภักดีศรีนครานุรักษ์ (ม.ร.ว.ชุบ  นพวงศ์) เกิด  ๒๑  ก.พ. ๒๔๑๑

๒.พระญาณวราภรณ์ สุนทรธรรมปาโมกข์ ยุตโยคญาณดิลก ไตรปิำฎกธารี
ธรรมวาทียติคณิศร  บวรสังฆาราม  คามวาสี  (ม.ร.ว.ชื่น  นพวงศ์)
เกิด  ๒๒  พ.ย. ๒๔๑๕

๓.พระยารัตนโกษา (ม.ร.ว.ใหม่  นพวงศ์) เกิด ๒ ส.ค. ๒๔๑๖

๔.หลวงบวรวาที (ม.ร.ว.โต๊ะ  นพวงศ์) เกิด ๒๐ เม.ย. ๒๔๑๘

๕.พระยารามราชเดช (ม.ร.ว.ปาล  นพวงศ์) เกิด ๔ เม.ย. ๒๔๑๙

๖.พระยาวิเศษภักดี (ม.ร.ว.กมล  นพวงศ์) เกิด ๑๓ ต.ค. ๒๔๒๒

๗.หลวงประสานคดี (ม.ร.ว.สกล หรือ ถกล  นพวงศ์)
เกิด  ๘  ก.ค. ๒๔๒๔

๘.ม.ร.ว.โต๊ะ  นพวงศ์  เกิด ๕ ม.ค. ๒๔๒๔

๙.ม.ร.ว.ฉัตร  นพวง์  เกิด ๑๒ ธ.ค. ๒๔๒๖

๑๐.ม.ร.ว.สั้น  นพวงศ์  เกิด ๗ ก.ค. ๒๔๒๗

๑๑.หลวงพาหิรวาทกิจ (ม.ร.ว.เป้า  นพวงศ์) เกิด ๒๐ ธ.ค. ๒๔๓๑

๑๒.ม.ร.ว.ประอร  หงสไกร ภรรยาหลวงกล้ากลางสมร (มงคล  หงสไกร)
เกิด ๒๘ ม.ค. ๒๔๓๓

๑๓.ม.ร.ว.จำลอง  นพวงศ์ เกิด ๑ มิ.ย. ๒๔๕๘


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ก.พ. 12, 17:05

๓. กรมวังเกณฑ์ ขุนอินอาญา ๑ ขุนเทพสุภา ๑ ขุนพรหมสุภา ๑ อยู่ประจำหล่อประตูท่าสิบเบี้ย


"ประจำหล่อ"

อันนี้คือ "จำหล่อ" หรือไม่  ???

ลักขณะนี้ย่อมต้องเขียนว่า "ประจำจำหล่อ" กระละมั้ง

คุณอาร์ทแห่งทุ่งรังสิตทักท้วงได้ถูกต้องเหมาะสม
 
แต่อยากทราบว่า "จำหล่อ" มีลักษณะอย่างไร
คุณอาร์ทคุณหนุ่มสยามตอบได้ไหม


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 ก.พ. 12, 17:10
- พระยาเสนาสงคราม (มรว.อี๋ นพวงศ์)
- มรว.จำนง นพวงศ์ (2422-2498) บุตรหม่อมเจ้าสำเนียง  นพวงศ์ (เป็นหม่อมอนุวัตรวรพงศ์เมื่อ 8 ม.ค.2448)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ก.พ. 12, 17:16
ม.จ.สำเนียง  นพวงศ์  มีบุตรธิดา  ดังนี้

๑.ม.ร.ว.เสงี่ยม  นพวงศ์ เกิด  ๒๙  มี.ค.  ๒๔๑๓

๒.พระยามหานามราช (ม.ร.ว.จำนง  นพวงศ์) เปรียญ เกิด ๖ ม.ค. ๒๔๒๒

๓.ม.ร.ว.ลมุน  ปิยะรัตน์ ภรรยาหลวงบรรโณวาทวิจิตร์ (หรุ่น  ปิยะรัตน์)
เกิด  ๓๑ ต.ค. ๒๔๒๗




ม.จ.เจ๊ก  นพวงศ์  มีบุตรธิดา  ดังนี้

๑.พระประมาณธนสิทธิ์  (ม.ร.ว.เจิม  นพวงศ์) เกิด ๓ มี.ค. ๒๔๓๙

๒.พระยาพิบูลย์ไอศวรรย์ (ม.ร.ว.เล็ก  นพวงศ์) เกิด ๑๑ ก.ย. ๒๔๒๑

๓.ม.ร.ว.สุภา  เสวีกุล  ภรรยาพระราชมัณฑาดุลย์ประคุณเสวี (โชติ์  เสวีกุล)  
เกิด ๒๓  ก.ค. ๒๔๒๙

๔.ม.ร.ว.ชาติ์เฉลิม  นพวงศ์  เกิด  ๓๑  ม.ค.  ๒๔๔๑


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ก.พ. 12, 17:21
ม.จ.กรรเจียก  นพวงศ์  มีธิดา  ดังนี้

๑.ม.ร.ว.อรุณ  อิศรเสนา  ภริยาเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น  อิศรเสนา)
เกิด  ๓๑ ต.ค. ๒๔๒๓

๒.ม.ร.ว.สังวาลย์  นพวงศ์  เกิด  ๑๕  ส.ค. ๒๔๒๕





ม.จ.อบเชย  นพวงศ์  มีบุตร  ดังนี้

๑.พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋  นพวงศ์) เกิด ๑ ต.ค. ๒๔๓๐





ม.จ.เล็ก  นพวงศ์  มีบุตรธิดา  ดังนี้

๑.ม.ร.ว.เกยูร  จูตะเสน  ภรรยานายร้อยโทปาล  จูตะเสน
เกิด  ๑๓ มี.ค. ๒๔๓๕

๒.ม.ร.ว.อโนทัย  นพวงศ์  เกิด  ๒๑  ก.ค.  ๒๔๔๔



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 21 ก.พ. 12, 17:33

๓. กรมวังเกณฑ์ ขุนอินอาญา ๑ ขุนเทพสุภา ๑ ขุนพรหมสุภา ๑ อยู่ประจำหล่อประตูท่าสิบเบี้ย


"ประจำหล่อ"

อันนี้คือ "จำหล่อ" หรือไม่  ???

ลักขณะนี้ย่อมต้องเขียนว่า "ประจำจำหล่อ" กระละมั้ง

คุณอาร์ทแห่งทุ่งรังสิตทักท้วงได้ถูกต้องเหมาะสม
  
แต่อยากทราบว่า "จำหล่อ" มีลักษณะอย่างไร
คุณอาร์ทคุณหนุ่มสยามตอบได้ไหม

อันกระผมผู้น้อยเป็นชาวเมืองประทุมธานี หาได้เป็นชาวกรุงเก่าสำเนียงหลวง จึงมิอาจจะแก้คำถามของใต้เท้าได้ถนัดนัก
จึงกราบเรียนขอให้เจ้าคุณกรุงช่วยแก้กระทู้ข้อนี้ให้ ดังท่านมีอรรถาธิบายใจความว่า

"ค่ายผนบ หนังสือบางเรื่องเรียกว่าจำหล่อ แต่ก่อนเคยเห็นมีตามทางเข้าวัดที่อยู่ตามดอน เป็นเครื่องกีดกั้นขวางทาง คือปักเสาสูงราว ๒ ศอก
มีไม้เสาทับหลังขวางถนนเรียกว่าราว เป็น ๒ แนวเยื้องไม่ตรงกัน ปลายต่อปลายเกินกันทั้ง ๒ ข้าง ตามปกติเมื่อผู้ใดเดินไปถึงจำหล่อจำเป็นต้อง
เดินอ้อมจากปลายราวข้าง ๑ ไปออกปลายราวข้าง ๑ ถ้าเป็นโจรผู้ร้ายถูกไล่วิ่งหนีมาถึงจำหล่อก็จำเป็นต้องหลุดชะงักทำให้ช้าลง
ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตามจำหล่อว่ามีกองตระเวนอยู่ประจำรักษาการ ดังปรากฎในเพลงยาวของนายจุ้ย ฟันขาว กวีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแต่งไว้ความว่า
คืนวันหนึ่งไปหาผู้หญิงที่บ้านแต่เข้าบ้านผู้หญิงไม่ได้ คอยจนดึกหมดหวังก็เดินกลับมาตามถนน ถึงจำหล่อเขาปิดเพราะเกินยาม ๑ แล้ว จึงต้องปีนข้าม
มีกลอนในตอนกลางเพลงยาวว่า ดังนี้"

"แต่เดินครวญป่วนใจจนใกล้รุ่ง
เสียดายมุ่งหมายมือที่ถือถนอม
คิดใคร่คืนหลังง้อไปขอจอม
เกลือกมิยอมยกหน้าก็ท่าอาย
ยิ่งคิดอั้นอกโอ้อาลัยเหลือ
คนึงเนื้อหอมใจยังไม่หาย
พี่เดินดึ่งไปจนถึงจำหล่อราย
เขาปิดตายมิให้เดินด้วยเกินยาม
ก็ยึดราวก้าวโผนพอโจนพ้น
จึ่งปะคนที่เขาเกณฑ์ตระเวนถาม
ไม่ตอบสนองเขามามองตระหนักนาม
ครั้นแน่เนตรเขาก็ขามด้วยเคยกลัว"


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ก.พ. 12, 19:42
ให้คุณ Art47 แขวงเมืองปทุม ผู้เลี้ยงนกยักษ์มิเคยอิ่ม ได้ดูภาพเครื่องกั้นอีกลักษณะหนึ่ง เป็นไม้ไผ่สานตาขนาดใหญ่ และท่อนไม้สักวางกั้นถนนท่าแพ คราวปราบพวกเงี้ยว


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ก.พ. 12, 20:31
ต้นลิ้นจี่นั้นปลูกไว้บริเวณพระที่นั่งวิมานเมฆ ครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 21 ก.พ. 12, 20:47
ให้คุณ Art47 แขวงเมืองปทุม ผู้เลี้ยงนกยักษ์มิเคยอิ่ม ได้ดูภาพเครื่องกั้นอีกลักษณะหนึ่ง เป็นไม้ไผ่สานตาขนาดใหญ่ และท่อนไม้สักวางกั้นถนนท่าแพ คราวปราบพวกเงี้ยว

เคยผ่านตามาอีกภาพ ในคราวปราบเงี้ยวเช่นเดียวกัน แต่เป็นภาพตรงหน้าวัดพระสิงห์  ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 22 ก.พ. 12, 07:05
เมื่อมีข่าวกบฏเงี้ยวยกขึ้นมาตีลำปางและจะยกมาตีเชียงใหม่ต่อไปนั้น  ดร.แฮร์ริส ครูใหญ่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ได้บันทึกไว้ว่า กบฏเงี้ยวคราวนั้นมุ่งทำร้ายแต่เฉพาะคนไทยเท่านั้น  ชาวต่างชาติและชาวพื้นเมืองพวกเงี้ยวจะไม่ข้องแวะด้วยเลย  ซึ่งก็ตรงกับที่คุณลาภ  วสุวัต ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นได้บันทึกไว้ว่า  เวลานั้นครอบครัวคนไทยซึ่งประกอบด้วยสตรีและเด็กซึ่งมีบ้าน้รือนอยู่ที่ริมน้ำปิง  ได้อพยพเข้าไปตั้งมั่นอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงซึ่งเวลานั้นเป็นวัดธรรมยุติเพียงวัดเดียวในเชียงใหม่  ส่วนข้าราชการและพ่อค้าชาวไทยคงเตรียมรับมือพวกเงี้ยวที่ที่ว่าการมณฑลพายัพริมน้ำปิง  แนวป้องกันที่คุณ Siamese กล่าวถึงนั้นจึงน่าจะอยู่ที่หน้าวัดเจดีย์หลวงมากกว่าที่หน้าวัดพระสิงห์ครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 ก.พ. 12, 08:43

อันกระผมผู้น้อยเป็นชาวเมืองประทุมธานี หาได้เป็นชาวกรุงเก่าสำเนียงหลวง จึงมิอาจจะแก้คำถามของใต้เท้าได้ถนัดนัก
จึงกราบเรียนขอให้เจ้าคุณกรุงช่วยแก้กระทู้ข้อนี้ให้ ดังท่านมีอรรถาธิบายใจความว่า

"ค่ายผนบ หนังสือบางเรื่องเรียกว่าจำหล่อ แต่ก่อนเคยเห็นมีตามทางเข้าวัดที่อยู่ตามดอน เป็นเครื่องกีดกั้นขวางทาง คือปักเสาสูงราว ๒ ศอก
มีไม้เสาทับหลังขวางถนนเรียกว่าราว เป็น ๒ แนวเยื้องไม่ตรงกัน ปลายต่อปลายเกินกันทั้ง ๒ ข้าง ตามปกติเมื่อผู้ใดเดินไปถึงจำหล่อจำเป็นต้อง
เดินอ้อมจากปลายราวข้าง ๑ ไปออกปลายราวข้าง ๑ ถ้าเป็นโจรผู้ร้ายถูกไล่วิ่งหนีมาถึงจำหล่อก็จำเป็นต้องหลุดชะงักทำให้ช้าลง
ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตามจำหล่อว่ามีกองตระเวนอยู่ประจำรักษาการ ดังปรากฎในเพลงยาวของนายจุ้ย ฟันขาว กวีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแต่งไว้ความว่า
คืนวันหนึ่งไปหาผู้หญิงที่บ้านแต่เข้าบ้านผู้หญิงไม่ได้ คอยจนดึกหมดหวังก็เดินกลับมาตามถนน ถึงจำหล่อเขาปิดเพราะเกินยาม ๑ แล้ว จึงต้องปีนข้าม
มีกลอนในตอนกลางเพลงยาวว่า ดังนี้"

"แต่เดินครวญป่วนใจจนใกล้รุ่ง
เสียดายมุ่งหมายมือที่ถือถนอม
คิดใคร่คืนหลังง้อไปขอจอม
เกลือกมิยอมยกหน้าก็ท่าอาย
ยิ่งคิดอั้นอกโอ้อาลัยเหลือ
คนึงเนื้อหอมใจยังไม่หาย
พี่เดินดึ่งไปจนถึงจำหล่อราย
เขาปิดตายมิให้เดินด้วยเกินยาม
ก็ยึดราวก้าวโผนพอโจนพ้น
จึ่งปะคนที่เขาเกณฑ์ตระเวนถาม
ไม่ตอบสนองเขามามองตระหนักนาม
ครั้นแน่เนตรเขาก็ขามด้วยเคยกลัว"

คุณพนายอาร์ทแห่งทุ่งรังสิต  ตอบได้กระนั้น  เสียดายว่าหามีรูปจำหล่อให้ชมด้วยไม่
จำได้ว่า จอมพล เจ้าพระยาคนหนึ่งเคยเล่าไว้ในประวัติของท่านว่า ครั้งหนึ่งท่านขี่ม้า
ม้าที่ขี่เกิดตื่นด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ทำให้บังคับม้านั้นมิได้  แลว่าม้าดังกล่าววิ่งเตลิดไป
จนกระทั่งท่านชนราวจำหล่อที่ใดสักแห่งในพระนคร 

อ้อเพิ่งระลึกขึ้นได้ว่า  คุณเอนก  นาวิกมูลเคยเขียนบทความเรื่องจำหล่อลงในเนชั่นสุดสัปดาห์
เมื่อ ๑-๒ ปีมานี้  มีภาพจำหล่อที่ถ่ายจากจิตรกรรมฝาผนังในวัดหลายแห่งมาประกอบไว้ด้วย



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.พ. 12, 09:55
ลองวาดภาพประกอบดู "จำหล่อ" เป็นเครื่องกีดขวางทาง เพื่อให้เดินเลี่ยงเบี่ยงออกไป ทำให้การเดินอ้อมปลายทั้งสองฝั่งไม้ จะได้เดินช้าลง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.พ. 12, 10:03
รอยอินท่านว่าคำนี้อาจเขียนได้หลายอย่าง จังหล่อ, จำหล่อ, จั้นหล่อ มาจากภาษาจีนว่า จั้งโหล่ว (จั้ง - กีด, ขวาง, โหล่ว - ถนน)

อาจารย์กาญจนา นาคสกุล อธิบายเพิ่มเติมว่า

จังหล่อ-จำหล่อ (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=382)

จังหล่อ หรือ จำหล่อ เป็นคำเก่าที่มีความหมายว่า เครื่องกีดกั้นทาง.

วิธีทำจังหล่อนั้นเจ้าหน้าที่จะปักไม้เป็นเสาสูงประมาณ ๒ ศอกขวางทางไว้, มีไม้ราวตีทับหลัง. ไม้ที่ปักนี้ทำเป็น ๒ แนว วางเหลื่อมกัน. เมื่อคนเดินมาถึงจังหล่อจะผ่านไปไม่ได้ต้องเดินไปจนสุดแนวข้างหนึ่ง, แล้วย้อนกลับไปทางปลายของอีกแนวหนึ่ง จึงจะผ่านไปได้. จุดประสงค์ที่มีจังหล่อก็เพื่อตรวจตราผู้ที่สัญจรผ่านไปมา เป็นต้น.

ปัจจุบันไม่มีใครใช้คำนี้ ใช้แต่คำว่า ที่กั้น เครื่องกั้น ไม้กั้น เช่น ที่กั้นถนนตรงทางรถไฟ. น่าจะนำคำว่า จังหล่อ มาใช้เพื่อรักษาศัพท์ไว้.

ผู้เขียน  ศ. ดร.กาญจนา  นาคสกุล  ราชบัณฑิต  ประเภทวรรณศิลป์  สาขาวิชาภาษาไทย สำนักศิลปกรรม

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 ก.พ. 12, 14:04
รอยอินท่านว่าคำนี้อาจเขียนได้หลายอย่าง จังหล่อ, จำหล่อ, จั้นหล่อ มาจากภาษาจีนว่า จั้งโหล่ว (จั้ง - กีด, ขวาง, โหล่ว - ถนน)

อาจารย์กาญจนา นาคสกุล อธิบายเพิ่มเติมว่า

จังหล่อ-จำหล่อ (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=382)

จังหล่อ หรือ จำหล่อ เป็นคำเก่าที่มีความหมายว่า เครื่องกีดกั้นทาง.

วิธีทำจังหล่อนั้นเจ้าหน้าที่จะปักไม้เป็นเสาสูงประมาณ ๒ ศอกขวางทางไว้, มีไม้ราวตีทับหลัง. ไม้ที่ปักนี้ทำเป็น ๒ แนว วางเหลื่อมกัน. เมื่อคนเดินมาถึงจังหล่อจะผ่านไปไม่ได้ต้องเดินไปจนสุดแนวข้างหนึ่ง, แล้วย้อนกลับไปทางปลายของอีกแนวหนึ่ง จึงจะผ่านไปได้. จุดประสงค์ที่มีจังหล่อก็เพื่อตรวจตราผู้ที่สัญจรผ่านไปมา เป็นต้น.

ปัจจุบันไม่มีใครใช้คำนี้ ใช้แต่คำว่า ที่กั้น เครื่องกั้น ไม้กั้น เช่น ที่กั้นถนนตรงทางรถไฟ. น่าจะนำคำว่า จังหล่อ มาใช้เพื่อรักษาศัพท์ไว้.

ผู้เขียน  ศ. ดร.กาญจนา  นาคสกุล  ราชบัณฑิต  ประเภทวรรณศิลป์  สาขาวิชาภาษาไทย สำนักศิลปกรรม

 ;D


ดีครับ  แต่ที่กั้นถนนตรงทางรถไฟ  คงจะเรียกว่า  จำหล่อ  ไม่ได้หรอกครับ  วิธีใช้งานต่างกัน
จำหล่อ ใช้เพื่อชะลอความเร็วของสิ่งที่จะพุ่งมาไม่ให้ผ่านเข้าไปตรงๆ ไม่ใช่ใช้กั้นเพื่อห้ามเข้าห้ามผ่าน
จำหล่อนี้  คงทำหน้าที่คล้ายกับรั้วไม้ที่ทหารใช้วางตรงทางเข้าเขตทหารเพื่อให้รถที่จะเข้าออก
ชะลอความเร็วและแล่นอ้อมก่อนที่จะเข้าไปภายในเขตทหาร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 ก.พ. 12, 14:16
ต้นลิ้นจี่นั้นปลูกไว้บริเวณพระที่นั่งวิมานเมฆ ครับ

ท่านผู้อาวุโสท่านว่าตอบมายังไม่ตรงใจ ท่านขี้เกียจรอคำตอบนานๆ
เลยเฉลยไว้ให้ทราบว่า  ต้นลิ้นจี่นี้อยู่ที่สวนแง่เต๋ง พระราชวังดุสิต
และการโปรดเกล้าฯ ให้ละครฉลองต้นลิ้นจี่นี้ เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์
แรม ๑๐ ค่ำ  เดือน ๕ ปีวอกสัมฤทธิศก  ๑๒๗๐


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 ก.พ. 12, 07:31
ให้คุณ Art47 แขวงเมืองปทุม ผู้เลี้ยงนกยักษ์มิเคยอิ่ม ได้ดูภาพเครื่องกั้นอีกลักษณะหนึ่ง เป็นไม้ไผ่สานตาขนาดใหญ่ และท่อนไม้สักวางกั้นถนนท่าแพ คราวปราบพวกเงี้ยว

เคยผ่านตามาอีกภาพ ในคราวปราบเงี้ยวเช่นเดียวกัน แต่เป็นภาพตรงหน้าวัดพระสิงห์  ;)

จัดมาให้ตามคำเรียกร้อง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 ก.พ. 12, 10:48
ท่านผู้อาวุโสอารมณ์ดีมีคำถามมาถามผมว่า

"ในเรือนไทยนี่มีคนที่รู้เรื่องลัทธิพิธีของพราหมณ์หลายคนนะ
อย่างนั้นถามหน่อยสิว่า อัตมสูทธิ์ กรสูทธิ์ หมายถึงอะไร
ทำไมพราหมณ์ต้องทำอัตมสูทธิ์ กรสูทธิ์ ก่อนประกอบพิธีกรรมตามลัทะิ
และอัตมสูทธิ์ กรสูทธิ์ มีลักษณะวิธีการอย่างไร"

โอียๆ  คุณท่านถามยากอย่างนี้ จะมีใครตอบท่านได้ล่ะครับ
ท่านผู้ผ่านไปผ่านมาล่ะครับทราบไหมว่า อัตมสูทธิ์ กรสูทธิ์
คืออะไร  ทำอย่างไร  ถ้าได้ภาพประกอบด้วยจะดีมาก


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 ก.พ. 12, 16:37
"นี่คุณเคยเห็นเขานุ่งผ้าขี่ช้างหรือเปล่า  แหมมันวุ่นวายเวียนหัวมาก
ผูกนั่น พันนี่ พับตรงโน้น เหน็บตรงนั้น  อย่างนุ่งเกี้ยวเกไลเป็นต้น
นุ่งผ้าขี่ช้างนี่  ไม่ใช่ว่าใครก็นุ่งได้นะ  ต้องไปเรียนกับครูตัวต่อตัว
ครูเขาไม่เปิดคอร์สสอนทั่วไปหรอก  เขาเลือกสอนเฉพาะคน
นุ่งไม่ดี  นั่งช้างไม่ถนัด ผ้าลุ่ยเกะกะ  แถมขนช้างจะแทงขาจั๊กเดียม
ไม่เป็นอันบังคับช้าง"

ผมนั่งฟังอยู่อาวุโสสาธยายเรื่องช้างให้ฟัง  ด้วยความสนใจ
แต่ท่านก็เกิดมีธุระฉับพลัน  เลยไม่ได้ถามเรื่องนุ่งผ้าขี่ช้างให้ละเอียด
ใครมีตำรานุ่งผ้าขี่ช้าง  ฝากมาเล่าให้ฟังสักหน่อยเถิด  อยากรู้


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 ก.พ. 12, 20:07
ท่านผู้อาวุโสอารมณ์ดีมีคำถามมาถามผมว่า

"ในเรือนไทยนี่มีคนที่รู้เรื่องลัทธิพิธีของพราหมณ์หลายคนนะ
อย่างนั้นถามหน่อยสิว่า อัตมสูทธิ์ กรสูทธิ์ หมายถึงอะไร
ทำไมพราหมณ์ต้องทำอัตมสูทธิ์ กรสูทธิ์ ก่อนประกอบพิธีกรรมตามลัทะิ
และอัตมสูทธิ์ กรสูทธิ์ มีลักษณะวิธีการอย่างไร"

โอียๆ  คุณท่านถามยากอย่างนี้ จะมีใครตอบท่านได้ล่ะครับ
ท่านผู้ผ่านไปผ่านมาล่ะครับทราบไหมว่า อัตมสูทธิ์ กรสูทธิ์
คืออะไร  ทำอย่างไร  ถ้าได้ภาพประกอบด้วยจะดีมาก

เบื้องต้นสรุปคร่าว ๆ ได้ว่าเป็นการชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ คือ มือและร่างกาย โดยอาศัยพิธีจากคัมภีร์พระเวท อาจจะใช้ควันธูปหรือเปลวไฟ ในการประกอบพิธีกรรม

"ส่วนการพระราชพิธีที่พราหมณ์ทำนั้น  ตั้งแต่วันขึ้น  ๖  ค่ำบรรดาพราหมณ์ทั้งปวงประชุมกันชำระกายผูกพรต  คือคาดเชือกไว้ที่ต้นแขนข้างหนึ่งเป็นวันจะตั้งพิธี  ตั้งแต่นั้นไปต้องกินถั่วงา  ไม่กินเนื้อสัตว์และไม่อยู่ด้วยภรรยา  พราหมณ์ทั้งปวงผูกพรตอยู่สามวัน  คือตั้งแต่วันขึ้น  ๗  ค่ำ ๘ ค่ำ ๙ ค่ำ พ้นไปนั้นก็ออกพรต  เว้นไว้แต่พระมหาราชครูพิธีที่เป็นผู้จะทำพิธีต้องผูกพรตไปตลอด  ๑๕  วัน  และนอนประจำอยู่ในเทวสถาน  ไม่ได้กลับบ้าน  ครั้นวันขึ้น  ๗  ค่ำ  เวลารุ่งเช้า  พระมหาราชครูอ่านเวทเปิดประตูเรือนแก้วไกรลาสศิวาลัยเชิญพระเป็นเจ้าเสด็จลง  แล้วจึงได้ไปรับพระยาที่โรงมานพตามซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น  เวลาค่ำเป็นเวลาทำพระราชพิธีเริ่มทำอวิสูทธชำระกายจุณเจิมและกระสูทธิ์อัตมสูททิ์อ่านตำรับแกว่งธูปเป่าสังข์บูชาเสร็จแล้ว  มีพราหมณ์คู่สวดยืนเรียงซ้อนต่อๆ กัน  ๔  คน  ยกพานข้าวตอกสวดคนละบท  วรรคต้นชื่อมหาเวชตึก  วรรคสองคนที่สองสวดเรียกโกรายะตึกวรรคสามคนที่สามสวดเรียกสาระวะตึก  วรรคสี่คนที่สี่สวดเรียกเวชตึกเมื่อจบทั้ง ๔  คนแล้วจึงว่าพร้อมกันทั้ง ๔ คน  เรียกลอริบาวาย  ในเวลาว่าลอริบาวายนั้นเป่าสังข์  ว่าสามจบหยุดแล้วสวดซ้ำอย่างเดิมอีกถึงลอริบาวายเป่าสังข์  เป่าสังข์ครบสิบสามครั้งเรียกว่ากัณฑ์หนึงเป็นจบ  ต่อนั้นไป  พระมหาราชครูยืนแกว่งธูปเทียนกระดึงเป่าสังข์บูชาอีกครั้งหนึ่ง  เมื่อจบแล้ววางธูปเทียนถวายแล้วบูชาพานดอกไม้ อ่านเวทถวายดอกไม้รายชื่อพระเป็นเจ้าทั้งปวงจบแล้ว  คู่สวดทั้ง  ๔ คน นั้น  ยกอุลุบอย่างเช่นเข้ามาถวายในท้องพระโรงอีกคนละครั้งเป็นการถวายข้าวตอก  แล้วจึงเอาข้าวตอกนั้นแจกคนที่ไปประชุมฟังอยู่ในที่นั้นให้กินเป็นสวัสดิมงคลกันเสนียดจัญไร  เป็นเสร็จการในเทวสถานใหญ่  แล้วเลิกไปทำที่สถานกลางต่อไปอีก  การพิธีสถานใหญ่  คือสถานกลางคือ  สถานพระอิศวร แต่สวดต้องมากขึ้นไปเป็นสิบเจ็ดจบจึงจะลงกัณฑ์  แล้วก็มีแจกข้าวตอกเหมือนสถานใหญ่  การพิธีนี้ทำเหมือนๆ  กันอย่างที่กล่าวมาแล้วตลอดทั้งสิบคืน  ที่หน้าเทวรูปทั้งสองเทวสถานนั้นตั้งโต๊ะ  กองข้าวตอก  มัน  เผือก  มะพร้าวอ่อน  กล้วย                    อ้อย  สิ่งละมากๆ  เป็นกองโตทุกคืน"

ที่มา http://www.phram.net/


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 23 ก.พ. 12, 20:31
"นี่คุณเคยเห็นเขานุ่งผ้าขี่ช้างหรือเปล่า  แหมมันวุ่นวายเวียนหัวมาก
ผูกนั่น พันนี่ พับตรงโน้น เหน็บตรงนั้น  อย่างนุ่งเกี้ยวเกไลเป็นต้น
นุ่งผ้าขี่ช้างนี่  ไม่ใช่ว่าใครก็นุ่งได้นะ  ต้องไปเรียนกับครูตัวต่อตัว
ครูเขาไม่เปิดคอร์สสอนทั่วไปหรอก  เขาเลือกสอนเฉพาะคน
นุ่งไม่ดี  นั่งช้างไม่ถนัด ผ้าลุ่ยเกะกะ  แถมขนช้างจะแทงขาจั๊กเดียม
ไม่เป็นอันบังคับช้าง"

ผมนั่งฟังอยู่อาวุโสสาธยายเรื่องช้างให้ฟัง  ด้วยความสนใจ
แต่ท่านก็เกิดมีธุระฉับพลัน  เลยไม่ได้ถามเรื่องนุ่งผ้าขี่ช้างให้ละเอียด
ใครมีตำรานุ่งผ้าขี่ช้าง  ฝากมาเล่าให้ฟังสักหน่อยเถิด  อยากรู้

เรื่องนี้มันมิดเม้นสักหน่อย
เพราะโบราณาจารย์ท่านกล่าวไว้แต่ครั้งพระนารายณ์เป็นเจ้าเมืองลพบุรีว่า

"มิให้นอกกว่าพระสมุหะ แลครูช้างขุนช้าง ผู้อื่นนอกนั้นมิให้ล่วงรู้ ให้มีไว้ข้างที่ฉบับหนึ่งแต่เท่านี้ ถ้าผู้จะศึกษาฝึกสอนนั้น
ให้บอกแต่กลจะนุ่งผ้า กลจะผูกชะนัก กลจะสอดชะนัก กลที่นั่ง กลจะถือขอก่อน ถ้าผู้ใดมีความเพียรอุสาหะ ถ้าถามข้อใด
ให้บอกแต่ข้อนั้น ห้ามมิให้คัดทรงในฉบับนี้ไปศึกษาร่ำเรียนเป็นอันขาดทีเดียว"

เมื่อมีคำถามถึงกลนุ่งผ้าขี่ช้าง ท่านก็ให้ตอบแต่กลนุ่งผ้าข้อเดียวฉะนี้แล
แต่ท่านยังอุตสาหะยักไว้ว่า

"อันว่ากลจะนุ่งผ้า ๙ ชั้น ๗ ชั้น ๕ ชั้น ๓ ชั้นเป็นนพนั้น จะบอกไว้ในนี้มิพอเข้าใจ ต่อนุ่งให้ดูเห็นแล้วจึงจะเข้าใจ
จะบอกไว้ก็แต่นุ่งผ้านี้มี ๔ อย่าง อย่างหนึ่งชื่อว่าบัวกลม อย่างหนึ่งชื่อว่าบัวห่อ อย่างหนึ่งชื่อว่าบัวจีบ อย่างหนึ่งชื่อว่าเกไล
จะนุ่งอย่างไรก็ตามแต่จะรักนุ่งเถิด ชั้นในนั้นทำเหมือนกันแล"


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 ก.พ. 12, 21:02
^
คงนุ่งกันผ้าแข็งกลมกลึงน่าดู


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ก.พ. 12, 22:59
       ดิฉันเป็นนักอ่านค่ะ   ขอแนะนำหนังสืออนุสรณ์เล่มหนึ่ง ชื่อ  อยุธยาอาภรณ์  แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ

พันตรี  หลวงจบกระบวนยุมธ(แช่ม  กระบวนยุทธ) ในปี พุทธศักราช ๒๕๒๐    คุณสมภพ  จันทรประภา เป็นผู้เขียน

เป็นหนังสือที่ให้ความรู้อย่างกว้างขวาง  และลึกเนื่องจากได้อธิบายเรื่องการนุ่งผ้าขี่ช้าง เพราะ พระตำหรับนี้หาอ่านยาก

คุณ kuprentra  อาจจะคิดว่า  ไม่ได้ต้องการทราบเรื่องนี้  เพราะไม่สนใจ   ที่ยกมากล่าวเพราะเป็นข้อมูลที่ปกปิด

บอกเล่ากันตัวต่อตัวจากครูผู้ใหญ่กับศิษย์ผู้เรียนเรื่องการบังคับช้างเท่านั้น


       หนังสือเล่มนี้คงพอหาได้ตามห้องสมุดมหาวิทยาลัย  เข้าใจว่ามีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แน่นอน

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.พ. 12, 07:14


อ่านมาจากช้างราชพาหนะ  ชุดมรดกไทย  หน้า  ๑๗๕ - ๑๘๒
ย่อความมาฝากด้วยไมตรี   ถ้าขืนคัดลอกโดยละเอียดรบกันอาจจะง่ายกว่าท่านผู้เจริญ


การนุ่งผ้าสำหรับขี่ช้าง   มี ๔ แบบ  คือ 

แบบ ๙ ชั้น  เรียกว่า บัวกลม

แบบ ๙ ชั้น เรียกว่าบัวห่อ

แบบ ๗ ชั้น  เรียกว่า  บัวจีบ

แบบ ๓ ชั้น  เรียกว่าเกไล

การนุ่งจะนุ่ง ๒ ชั้น  มีชั้นในด้วย  และชั้นในนั้นก็นุ่งตามแบบชั้นนอก


วิธีเกี้ยวผ้าหรือผูกผ้าคาดเอว     ศัพท์โบราณเรียกว่า  การเกี้ยวผ้า  มี ๔ แบบ

๑   เกี้ยวแบบ ดวงกะพัด  หรือ ยัญพัด

๒   เกี้ยวแบบ พันทนำ

๓   เกี้ยวแบบ กระหวัดจำ

๔   เกี้ยวแบบเกไล

การนุ่งผ้ามีรายละเอียดในหนังสือเรื่อง  พระตำหรับนุ่งผ้าขี่ช้าง
(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์  และ พระยาอนุมานราชธน,  บันทึกความรู้เรื่องต่าง ๆ เล่ม ๑
 ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร,  ๒๕๐๖   หน้า ๑๖๓ - ๑๖๙)


การจะนุ่งผ้าขี่ช้างนั้น

จะขี่ช้างชื่นตา  ให้นุ่งเกไล

จะขี่ช้างน้ำมันคอปลาหมอ  ให้นุ่งแบบบัวตูม

จะขี่ช้างน้ำมันคอกระบอก  ให้นุ่งแบบบัวจีบ

จะขี่ช้างน้ำมันคอน้ำเต้า  ให้นุ่งแบบบัวบาน


การนุ่งผ้าอีก ๒ อย่าง  สำหรับในพระราชพิธีพระคชกรรมทั้งปวง คือ นุ่งหมอ และนุ่ง ดวงกระพัด หรือยัญพัด

ห้ามมิให้ผู้ที่มิได้ทำงานหมอช้างนุ่ง  เพราะจะเป็นการอัปมงคลต่อผู้นุ่ง



การทรงผ้าแบบโบราณของพระมหากษัตริย์ ๔ อย่าง  ก็เป็นความรู้พิเศษที่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรง เช่น ขุนศรีไชยาทิตย์ และขุนสิทธิกรรม

จะเรียนก็ต้องเสียค่าขึ้นครู ได้แก่ขวัญข้าว  คือ บายศรีใบตองแห้งชั้นเดียวหนึ่ง  ปลาช่อนต้มตัวหนึ่ง  กับน้ำพริกถ้วยหนึ่ง



(ทีหน้าทีหลังคุณหลวงเล็กที่นับถือ  อย่าขนย้ายมหาสมบัติในกล่องเบียร์ไปมาจนเข้าตาท่านผู้ใหญ่   ท่านจะยึดเสียด้วยอุบาย ล่อช้างให้ตกหลุม ดังนี้แล)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 24 ก.พ. 12, 07:56
อุเหม่  :-[

ท่านข้างบนก็ช่างกระไร ช่วยเฉลยคำถามท่านอาวุโสแทนใต้เท้าพระกรุณาเสียแล้ว

ไอ้กระผมว่าวันนี้จักเอาพระตำหรับนุ่งผ้าขี่ช้างมาสนองบรรณาการเสียหน่อย  8)

มิทันเลย มิทันเลย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 ก.พ. 12, 08:44
อุเหม่  :-[

ท่านข้างบนก็ช่างกระไร ช่วยเฉลยคำถามท่านอาวุโสแทนใต้เท้าพระกรุณาเสียแล้ว

ไอ้กระผมว่าวันนี้จักเอาพระตำหรับนุ่งผ้าขี่ช้างมาสนองบรรณาการเสียหน่อย  8)

มิทันเลย มิทันเลย

คุณอาร์ทแห่งทุ่งรังสิตจะไปกริ้วโกรธท่านผู้ใจดีใจกว้างปานมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อใด
เขาไขความให้ก็ดีแล้ว   ตำราขี่ช้างสารนั้นผมก็เคยมี  ได้ทำสำเนาไว้ใช้งานด้วย
แต่กระแสมหาชลทำลายล้างไปเมื่อปีกลาย  นี่ว่าจะไปทำสำเนาใหม่
ส่วนคุณอาร์ทจะทำมาบรรณาการกันก็ไม่ว่ากระไร  ยินดีรับฉลองศรัทธาเพื่อมิให้เสียน้ำใจกัน

อ้อ  เดี๋ยวจะไปหาตำราตัดไม้ข่มนามมานำเสนอสักหน่อย
เพราะท่านผู้อาวุโสถามไว้นานแล้วว่า  ตัดไม้ข่มนาม
มีขั้นตอนรายละเอียดแบบแผนของหลวงอย่างไร
ท่านว่าอยากได้ที่เป็นสำนวนเก่าแท้ๆ สำนวนใหม่อ่านแล้วไม่น่าเชื่อถือ
ไม่ทราบว่าใครเคยเห็นตำราตัดไม้ข่มนามบ้าง  ช่วยแนะนำหน่อย

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 ก.พ. 12, 08:47
ท่านผู้อาวุโสอารมณ์ดีมีคำถามมาถามผมว่า

"ในเรือนไทยนี่มีคนที่รู้เรื่องลัทธิพิธีของพราหมณ์หลายคนนะ
อย่างนั้นถามหน่อยสิว่า อัตมสูทธิ์ กรสูทธิ์ หมายถึงอะไร
ทำไมพราหมณ์ต้องทำอัตมสูทธิ์ กรสูทธิ์ ก่อนประกอบพิธีกรรมตามลัทะิ
และอัตมสูทธิ์ กรสูทธิ์ มีลักษณะวิธีการอย่างไร"

โอียๆ  คุณท่านถามยากอย่างนี้ จะมีใครตอบท่านได้ล่ะครับ
ท่านผู้ผ่านไปผ่านมาล่ะครับทราบไหมว่า อัตมสูทธิ์ กรสูทธิ์
คืออะไร  ทำอย่างไร  ถ้าได้ภาพประกอบด้วยจะดีมาก

เบื้องต้นสรุปคร่าว ๆ ได้ว่าเป็นการชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ คือ มือและร่างกาย โดยอาศัยพิธีจากคัมภีร์พระเวท อาจจะใช้ควันธูปหรือเปลวไฟ ในการประกอบพิธีกรรม

"ส่วนการพระราชพิธีที่พราหมณ์ทำนั้น  ตั้งแต่วันขึ้น  ๖  ค่ำบรรดาพราหมณ์ทั้งปวงประชุมกันชำระกายผูกพรต  คือคาดเชือกไว้ที่ต้นแขนข้างหนึ่งเป็นวันจะตั้งพิธี  ตั้งแต่นั้นไปต้องกินถั่วงา  ไม่กินเนื้อสัตว์และไม่อยู่ด้วยภรรยา  พราหมณ์ทั้งปวงผูกพรตอยู่สามวัน  คือตั้งแต่วันขึ้น  ๗  ค่ำ ๘ ค่ำ ๙ ค่ำ พ้นไปนั้นก็ออกพรต  เว้นไว้แต่พระมหาราชครูพิธีที่เป็นผู้จะทำพิธีต้องผูกพรตไปตลอด  ๑๕  วัน  และนอนประจำอยู่ในเทวสถาน  ไม่ได้กลับบ้าน  ครั้นวันขึ้น  ๗  ค่ำ  เวลารุ่งเช้า  พระมหาราชครูอ่านเวทเปิดประตูเรือนแก้วไกรลาสศิวาลัยเชิญพระเป็นเจ้าเสด็จลง  แล้วจึงได้ไปรับพระยาที่โรงมานพตามซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น  เวลาค่ำเป็นเวลาทำพระราชพิธีเริ่มทำอวิสูทธชำระกายจุณเจิมและกระสูทธิ์อัตมสูททิ์อ่านตำรับแกว่งธูปเป่าสังข์บูชาเสร็จแล้ว  มีพราหมณ์คู่สวดยืนเรียงซ้อนต่อๆ กัน  ๔  คน  ยกพานข้าวตอกสวดคนละบท  วรรคต้นชื่อมหาเวชตึก  วรรคสองคนที่สองสวดเรียกโกรายะตึกวรรคสามคนที่สามสวดเรียกสาระวะตึก  วรรคสี่คนที่สี่สวดเรียกเวชตึกเมื่อจบทั้ง ๔  คนแล้วจึงว่าพร้อมกันทั้ง ๔ คน  เรียกลอริบาวาย  ในเวลาว่าลอริบาวายนั้นเป่าสังข์  ว่าสามจบหยุดแล้วสวดซ้ำอย่างเดิมอีกถึงลอริบาวายเป่าสังข์  เป่าสังข์ครบสิบสามครั้งเรียกว่ากัณฑ์หนึงเป็นจบ  ต่อนั้นไป  พระมหาราชครูยืนแกว่งธูปเทียนกระดึงเป่าสังข์บูชาอีกครั้งหนึ่ง  เมื่อจบแล้ววางธูปเทียนถวายแล้วบูชาพานดอกไม้ อ่านเวทถวายดอกไม้รายชื่อพระเป็นเจ้าทั้งปวงจบแล้ว  คู่สวดทั้ง  ๔ คน นั้น  ยกอุลุบอย่างเช่นเข้ามาถวายในท้องพระโรงอีกคนละครั้งเป็นการถวายข้าวตอก  แล้วจึงเอาข้าวตอกนั้นแจกคนที่ไปประชุมฟังอยู่ในที่นั้นให้กินเป็นสวัสดิมงคลกันเสนียดจัญไร  เป็นเสร็จการในเทวสถานใหญ่  แล้วเลิกไปทำที่สถานกลางต่อไปอีก  การพิธีสถานใหญ่  คือสถานกลางคือ  สถานพระอิศวร แต่สวดต้องมากขึ้นไปเป็นสิบเจ็ดจบจึงจะลงกัณฑ์  แล้วก็มีแจกข้าวตอกเหมือนสถานใหญ่  การพิธีนี้ทำเหมือนๆ  กันอย่างที่กล่าวมาแล้วตลอดทั้งสิบคืน  ที่หน้าเทวรูปทั้งสองเทวสถานนั้นตั้งโต๊ะ  กองข้าวตอก  มัน  เผือก  มะพร้าวอ่อน  กล้วย                    อ้อย  สิ่งละมากๆ  เป็นกองโตทุกคืน"

ที่มา http://www.phram.net/

มีตำราอธิบายไว้บ้างหรือไม่  ข้อความเช่นนี้อ่านหลายครั้งแล้วก็ไม่รู้ว่ากระทำอย่างไร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 08:50
วิธีเกี้ยวผ้าหรือผูกผ้าคาดเอว     ศัพท์โบราณเรียกว่า  การเกี้ยวผ้า  มี ๔ แบบ

๑   เกี้ยวแบบ ดวงกะพัด  หรือ ยัญพัด

๒   เกี้ยวแบบ พันทนำ

๓   เกี้ยวแบบ กระหวัดจำ

๔   เกี้ยวแบบเกไล

เกี้ยวผ้ายัญพัด ท่านให้เกี้ยวผ้าไหม มิให้เกี้ยวผ้าลายให้เกี้ยวผ้าทางยาวโอบเอวมาผูกไว้ตรงกระเบนเหน็บจึงเอาชายผ้าทั้งสองโอบเอวมาด้านหน้า แล้วทบกันอาชายหนึ่งทบถึงข้างหน้า ให้ชายที่เหลืออยู่นั้นลอด ขัดขึ้นไปแล้วกระหวัดบนทบลงทาลอดให้ขัดลำพออยู่ ชายที่เหลืออยู่นั้นให้ห้อยลงมาตรงพกดั่งห้อยหน้า

เกี้ยวผ้ากระหวัดจำ ให้เกี้ยวผ้าลายพับดั่งหนึ่งเจียรบาด โอบตัวเข้าให้หน้าเสมอกัน แล้วจึงทบหน้านั้น ขัดขึ้นให้ได้ ๒ ขัด ชายนั้นให้ห้อยลงไปดั่งเจียรบาด

เกี้ยวผ้าพันหน้า (เขียนผิดกระมัง ? - เพ็ญชมพู) ให้เกี้ยวผ้าลายพับดั่งหนึ่งเจียรบาด ห้อยชายลงไว้แล้วให้พันตัวให้ได้ ๒ รอบจึงให้ขัดชายพันไว้ดังหนึ่งเข้าตะกรุดเบ็ด แล้วให้ชายซ้อนกันลงทั้งสองชาย จึงทบกลับขึ้นมาเหน็บไว้ตรงหน้าเถิด

เกี้ยวผ้าเกไล ให้เกี้ยวผ้าลายคลี่ออก มิให้พับ ผ่อนให้ชายซ้ายสั้น ชายขวายาว ให้เอาริมนั้นนุ่งเข้า ผูกพกให้แน่น จึงให้จีบหน้าทางยาวทั้ง ๒ ข้าง ผูกไขว้ขัดกันให้เป็นเงื่อนกระทกชายยาว แล้วจึงให้จีบหน้าชายยาวนั้นเหน็บทับพุงลงไว้เถิด

จาก การแต่งกายไท - สยาม  ของ โอม รัชเวทย์  พิมพ์ครั้งที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

 ;D



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 08:56
อุเหม่  :-[

ท่านข้างบนก็ช่างกระไร ช่วยเฉลยคำถามท่านอาวุโสแทนใต้เท้าพระกรุณาเสียแล้ว

ไอ้กระผมว่าวันนี้จักเอาพระตำหรับนุ่งผ้าขี่ช้างมาสนองบรรณาการเสียหน่อย  8)

มิทันเลย มิทันเลย

คุณอาร์ทแห่งทุ่งรังสิตจะไปกริ้วโกรธท่านผู้ใจดีใจกว้างปานมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อใด
เขาไขความให้ก็ดีแล้ว   ตำราขี่ช้างสารนั้นผมก็เคยมี  ได้ทำสำเนาไว้ใช้งานด้วย
แต่กระแสมหาชลทำลายล้างไปเมื่อปีกลาย  นี่ว่าจะไปทำสำเนาใหม่
ส่วนคุณอาร์ทจะทำมาบรรณาการกันก็ไม่ว่ากระไร  ยินดีรับฉลองศรัทธาเพื่อมิให้เสียน้ำใจกัน

อ้อ  เดี๋ยวจะไปหาตำราตัดไม้ข่มนามมานำเสนอสักหน่อย
เพราะท่านผู้อาวุโสถามไว้นานแล้วว่า  ตัดไม้ข่มนาม
มีขั้นตอนรายละเอียดแบบแผนของหลวงอย่างไร
ท่านว่าอยากได้ที่เป็นสำนวนเก่าแท้ๆ สำนวนใหม่อ่านแล้วไม่น่าเชื่อถือ
ไม่ทราบว่าใครเคยเห็นตำราตัดไม้ข่มนามบ้าง  ช่วยแนะนำหน่อย

 ;D

เอาซิ ช่วยนำมาเล่าให้ฟังหน่อย ... พิธีปฐมกรรมและตัดไม้ข่มนาม ครั้งหลังสุดเห็นจะเป็นครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทำพิธีตัดไม้ข่มนามในการออกรบกับฝรั่งต่างชาติในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ครั้งนั้นก็เลือกที่จะใช้ "ต้นฝรั่ง" เป็นตัวแทนแห่งชื่อฟ้อง "ฝรั่งต่างชาติ" ด้วยการฟันต้นฝรั่งเสียให้ขาดกระจายไป  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.พ. 12, 08:57
อภิถัง...ถ้าท่านพลายอาดอ่านขุนศึกเสีย  ก็จะรู้ว่าวิชานั้นเป็นที่หวงแหน  ขนาดหมื่นคงคชบาลรัก

พี่หลวงโจมจัตุรงค์ปานใด   ยังคิดจะสอนคชกรรมให้เพียงพอรู้เท่านั้น

วิธีบังคับช้างให้ล้มทั้งยืน  ให้เลือดตก   ให้กลัวแบบสะท้านทั้งตัว   แบบให้ตกใจกลัวยกเท้าไม่ได้มีอยู่

ท่ากรายขอก็มี   ชื่อเพราะ ๆ ทั้งนั้น

จะสนใจวิธีนุ่งผ้าไยกัน       จะไปรบก็มีคนมานุ่งให้เองจ้ะ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.พ. 12, 09:02


คนที่ฟันต้นฝรั่งขาดเปรี้ยงนี่  หวิดตายนะ      น่าจะเป็นกิ่งมากกว่า   ต้นเหนียวมาก


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 09:05
ต้นกล้วยน่าจะง่ายกว่า

มีการฟันไม้ข่มนามโดยปุโรหิต  โดยเลือกกิ่งไม้ที่เป็นชื่อของศัตรู  หรือใช้ท่อนกล้วยจารึกอักษรมาแทนตัว

การใช้ปุโรหิตเป็นผู้ฟันนี่ประหยัดแม่ทัพไปได้  เพราะปุโรหิตคงเลือกเอากาบกล้วยออกเสียหลายชั้น  ฟันตูมลงไป  ต้นกล้วยก็ขาดทั้งนั้น

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.พ. 12, 09:10


อยากจักจี้คุณเพ็ญจัง   น่ารักซะไม่มี


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 24 ก.พ. 12, 14:22
พิธีตัดไม้ข่มนามนั้นมีหลายวิธี เช่น ;D

1.ตัดไม้ที่มีพยัญชนะตัวหน้าตรงกับพยัญชนะต้นของชื่อศัตรู เช่น ศัตรูชื่อว่า "ทอง" ก็หาไม้ที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ "ท" มาแล้วฟันให้ขาด โดยผู้ที่ฟันไม้จะเป็นนายทหารที่รับพระแสงต่อหน้าพระพักตร์เพื่อนำดาบไปฟันไม้ เมื่อฟันแล้วผู้ฟันหันหน้าไปสู่พระราชวัง ไม่เหลียวกลับมาดูเป็นอันขาด จากนั้นนำความเข้ากราบทูลเหนือหัวว่า "ข้าพระพุทธเจ้าออกไปปราบศึกครั้งนี้มีชัยชนะแก่ข้าศึก" หรือผู้ที่ฟันจะเป็นพระมหากษัตริย์เองเลยก็ได้

2.เขียนชื่อของข้าศึกลงในกาบหยวกจากนั้นทำเช่นเดียวกับข้อ 1

3.เหยียบใบไม้ที่มีพยัญชนะต้นเป็นกาลกิณีของศัตรู

4.ทำพิธีใหญ่โดยพราหมณ์หรือหมอ หรือผู้ที่ชำนาญการ มีการตระเตรียมโรงพระราชพิธีอย่างยิ่งใหญ่ขึ้น กลางลานมีการทำพิธีลงเลขยันต์ต่างๆ การปลุกเสก การอวยชัย การดูฤกษ์ยามต่างๆ รวมเวลาไม่ต่ำกว่า 3 วัน โดยจะมีการเอาดินมาปั้นเป็นหุ่นของหัวหน้าฝ่ายข้าศึก จะใช้ก้อนดินสิบสองก้อน โดยนำเอามาจากสถานที่ 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ใต้ท่าเรือ ใต้สพาน และจากป่าช้า

หุ่นดินนั้นจะสวมใส่เสื้อผ้าตามแบบข้าศึกที่หน้าอกลงยันต์ มีชื่อเรียกว่า พุทธจักรทำลายจักรและกิ่งไม้ที่มีชื่อเดียวกัน หรือที่คล้ายคลึงกับชื่อของข้าศึกมัดติดต้นคอเอาไว้ หุ่นดินนี้ก็จะนำเอาไปมัดติดไว้กับต้นกล้วยที่เอามาตั้งไว้ใกล้กับศาลาเพื่อพิธีการนี้โดยเฉพาะ ในเวลา 09.00 น. พระมหากษัตริย์จะพระราชทานดาบอาญาสิทธิ์ให้กับผู้บัญชาการกองทัพซึ่งเป็นขุนศึกใช้รำดาบศึก

ลักษณะการรำดาบศึกและสิ้นสุดลงด้วยการใช้ดาบฟันศีรษะของหุ่นดินปั้นให้ขาดลงในการฟันครั้งเดียว หลังจากนั้นขุนศึกก็จะนำเอาดาบอาญาศึกขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายกลับ และทูลว่าได้ทำการปราบข้าศึกตามพระราชโองการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้นพระมหากษัตริย์จะมีพระราชดำรัสให้เคลื่อนทัพ ทหารทั้งหลายจะย่างก้าวเหยียบย่ำหุ่นดินจนจมเสมอพื้นเป็นอันเสร็จพิธี

การตัดไม้ข่มนามที่เป็นพิธีหลวงจะเรียกว่า “พระราชพิธีตัดไม้ข่มนาม” มีการตั้งปะรำเอิกเกริก สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ต้นกล้วยตานียอดม้วน (ใบยอดยังอ่อนอยู่)กับไม้ต้องนามข้าศึก ตามตำราโบราณไม้ที่ต้องนามข้าศึกจะดูแค่ชื่ออักษรตัวหน้าหรือไม้ที่กำหนดไว้ตรงกับวันเกิด เช่น สะเดาตรงกับคนเกิดวันพุธและศุกร์ ต้องสร้างรูปปั้นที่ทำจากดินใต้สะพาน ดินท่าน้ำ ดินป่าช้า อย่าละ 3 แห่งพร้อมทั้งเขียนนามข้าศึก ลงยันต์กำกับ ปลุกเสกต่ออีก 3 คืน รูปปั้นนี้จะถูกตัดด้วยมีดพร้อมกับต้นกล้วยและไม้ต้องนามในวันพิธี
(จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม เดือนธันวาคม พ.ศ. 2541)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อทรงประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนส่งทหารไทยไปรบยังทวีปยุโรป ก็ได้ทรงประกอบพระราชพิธีตัดไม้ข่มนาม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เหล่าทหารด้วย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.พ. 12, 16:23
การตัดไม้ข่มนามที่เป็นพิธีหลวงจะเรียกว่า “พระราชพิธีตัดไม้ข่มนาม” มีการตั้งปะรำเอิกเกริก สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ต้นกล้วยตานียอดม้วน (ใบยอดยังอ่อนอยู่)กับไม้ต้องนามข้าศึก ตามตำราโบราณไม้ที่ต้องนามข้าศึกจะดูแค่ชื่ออักษรตัวหน้าหรือไม้ที่กำหนดไว้ตรงกับวันเกิด เช่น สะเดาตรงกับคนเกิดวันพุธและศุกร์  ต้องสร้างรูปปั้นที่ทำจากดินใต้สะพาน ดินท่าน้ำ ดินป่าช้า อย่าละ 3 แห่งพร้อมทั้งเขียนนามข้าศึก ลงยันต์กำกับ ปลุกเสกต่ออีก 3 คืน รูปปั้นนี้จะถูกตัดด้วยมีดพร้อมกับต้นกล้วยและไม้ต้องนามในวันพิธี
(จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม เดือนธันวาคม พ.ศ. 2541)

๓๒๑.  .......สมเด็จพระนารายน์ เป็นเจ้าได้ทรงฟัง มีพระทัยปราโมทยิ่งนัก ตรัสให้กระทำมงคลแดง ใส่รี้พลทั้งปวงเป็นสำคัญ แล้วให้เอาใบสะเดาเป็นประเจียดสำหรับเมื่อจะยุทธ์นั้น เพราะเหตุว่าสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราชไซร้ พระชนม์ว่าร้อนสุกร แลใบสะเดานั้นเป็นนามพุฒ แลสุกรไซร้สิ้นกำลังใน พุฒนาม เพื่อจะประหารนามแห่งอริราช........

จาก ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม ) (http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_%E0%B9%96%E0%B9%94)

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 24 ก.พ. 12, 18:01
อุเหม่  :-[

ท่านข้างบนก็ช่างกระไร ช่วยเฉลยคำถามท่านอาวุโสแทนใต้เท้าพระกรุณาเสียแล้ว

ไอ้กระผมว่าวันนี้จักเอาพระตำหรับนุ่งผ้าขี่ช้างมาสนองบรรณาการเสียหน่อย  8)

มิทันเลย มิทันเลย

คุณอาร์ทแห่งทุ่งรังสิตจะไปกริ้วโกรธท่านผู้ใจดีใจกว้างปานมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อใด
เขาไขความให้ก็ดีแล้ว   ตำราขี่ช้างสารนั้นผมก็เคยมี  ได้ทำสำเนาไว้ใช้งานด้วย
แต่กระแสมหาชลทำลายล้างไปเมื่อปีกลาย  นี่ว่าจะไปทำสำเนาใหม่
ส่วนคุณอาร์ทจะทำมาบรรณาการกันก็ไม่ว่ากระไร  ยินดีรับฉลองศรัทธาเพื่อมิให้เสียน้ำใจกัน

 ;D

เอ้าๆๆๆ ไหนๆ ก็เอ่ยกันถึงขนาดนี้แล้ว สนองบรรณการเสียจะเป็นไร
นี่เพิ่งได้มาจากเจ้าคุณอนุมานเจียวนะ ท่านว่าอ่านแล้วไม่สู้เข้าใจนัก ต้องอ่านทบทวนและทดลองนุ่งผ้าดู  ;D

พระตำหรับนุ่งผ้าขี่ช้าง

กลหนึ่งที่จะนุ่งผ้าขี่ช้างมี ๓ พวก กรมช้าง เสนาบดี ผ้าต้น พวกหนึ่ง ถ้าจะนุ่งผ้าอย่างกรมช้างขี่ผัดพานล่อแพนนั้นมีอยู่ ๔ อย่าง
อย่างหนึ่งชื่อว่า "เกไล" อย่างหนึ่งชื่อว่า "บัวตูม" อย่างหนึ่งชื่อว่า "บัวบาน" อย่างหนึ่งชื่อว่า "บัวจีบ"

ถ้าช้างชื่นตา ให้นุ่งเกไล ถ้าจะนุ่งเกไลนั้น ให้นุ่งผ้า ๖ คืบ ๖ แขน ๒ ผืนเพาะพับเอาลายเข้าแล้วจึ่งหยิบริมนุ่งชายซ้ายสั้น
ชายขวายาว ชาวยาวนั้นจีบหน้าทั้งสองผืน สอดขึ้นไปเป็นชายพกจนสิ้นยาว ชายสั้นนั้นจึ่งโจงกระเบนแต่ชายเดียวให้ทับหน้าสนิทแล้ว
จึงแหวกชายที่พับไว้นั้น โจงข้างหนึ่งเป็นหางหงส์ ข้างหนึ่งตามแต่จะเกี่ยวผ้าเถิด

ถ้าช้างน้ำมันคอปลาหมอนั้น ให้นุ่งบัวตูม ถ้าจะนุ่งบัวตูม ให้นุ่งผ้าสมปักคลี่ริม นุ่งจับชายเสมอกัน แล้วจึงจีบริมทั้งสองชาย
แต่ชายหน้าเข้ามาตลอดพก แล้วจึงสอดขึ้นเป็นพกห้อยลงมาเสมอเข่าทั้งสองข้าง ให้จับกลางผ้านุ่งรวบเข้าอีกทีหนึ่ง
แล้วจึงโจงกระเบนทั้งสองริม แล้วจึงเหน็บหน้าชั้นบนเสมอพก เหน็บหลังชั้นบนผ้าเกี่ยวนั้น ตามแต่จะเกี่ยวผ้าเถิด

ถ้าช้างน้ำมันคอกระบอก ให้นุ่งบัวจีบ ถ้าจะนุ่งบัวจีบ ให้นุ่งผ้าสี่คืบ ยาว ๔ แขนผืนหนึ่ง ไว้ชายซ้ายสั้น ชายขวายาว ซ้ายสั้นโจงกระเบน
ชายยาวสอดขึ้นมาเป็นพก แล้วจึงให้นุ่งผ้าสมปักคลี่ริมจับชายเสมอกัน ให้จัดกลีบหลังเหน็บขึ้นมา ๓ ขนบ ให้จีบริมแต่หน้าเข้ามาจนพก
เป็นกลีบเพล่เหลื่อมกัน เหน็บทั้งสองข้างแล้ว จึงโจงกระเบนริมทั้งสองชาย แล้วจึงโจงกระเบนชายใหญ่รวบกัน
จึงเอาชายพกนั้นจีบขวางพาดตักไว้ เกี่ยวผ้าตามแต่จะเกี่ยวผ้าเถิด

ถ้าช้างน้ำมันคอน้ำเต้า ให้นุ่งบัวบาน ให้นุ่งผ้าสมปัก ชายซ้ายสั้น ชายขวายาว ชายขวาจับเป็นพกพาดบ่าไว้ โจงกระเบนริมขวา
แล้วโจงกระเบนริมซ้าย แล้วจึงจัดกลีบเหน็บหน้าไขว้ทับพกแล้วจึงโจงกระเบน เกี่ยวผ้าตามแต่จะเกี่ยวผ้าเถิด


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 ก.พ. 12, 18:45
^ ขอบใจพนายอาร์ทแห่งทุ่งรังสิต  เมืองประทุม  สำนวนเก่าถึงขนาด
นี่เพิ่งไปสั่งคัดลอกทำสำเนาจากบรรณาลัยใหญ่แห่งหนึ่ง
คาดว่า อีก ๑ ปักษ์ คงจะสำเร็จ

ส่วนตำราตัดไม้ข่มนามนั้น  ที่ท่านทังหลายมีมานะค้นหามานั้น
ท่านผู้คงแก่เรียนท่านว่า  สำนวนไม่เก่า และไม่เหมือนที่ท่านเคยอ่านมาก่อน
ผมก็ถามท่านว่า  ก็สำนวนที่ท่านเคยอ่านนั้น  เป็นสำนวนเก่าแต่ครั้งใด
ท่านวิสัชนาว่า  เป็นตำราครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในคราวที่โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปเอาเมืองล้านช้าง  ละเอียดดีขนาด
อุแม่เจ้า :o  จะไปหาจากแหล่งใดในหล้าเล่านี่


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 19:04
ครั้นอยากถามคุณหลวงเล็กว่า เมื่อช้างตกน้ำมันนำมาต่อหน้าแล้ว จะเห็นคอช้างได้เลยหรือว่าเป็นคอประเภทไหน (คอปลาหมอ คอน้ำเต้า คอกระบอก) และกว่าจะเร่งรีบนุ่งผ้า ๓ ชั้น ๙ ชั้น จะแก่เกินแกงไหมท่าน  ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 ก.พ. 12, 19:29
ครั้นอยากถามคุณหลวงเล็กว่า เมื่อช้างตกน้ำมันนำมาต่อหน้าแล้ว
จะเห็นคอช้างได้เลยหรือว่าเป็นคอประเภทไหน (คอปลาหมอ คอน้ำเต้า คอกระบอก)
และกว่าจะเร่งรีบนุ่งผ้า ๓ ชั้น ๙ ชั้น จะแก่เกินแกงไหมท่าน  ???

ออกขุนถามผมเช่นนี้  แสดงว่าออกขุนยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในออกรบทัพจับศึกบนหลังคชสาร
โบราณท่านว่าไว้ ช้างที่ออกรบนั้น  ท่านจะกรอกสุราให้ช้างเกิดการซับมันเพื่อมีอารมณ์ดุร้าย
แต่ควาญยังควบคุมได้  ตำรานี้  โบราณท่านเขียนไว้สอนให้คนขี่ช้างรู้ว่า
เวลาขี่ช้างไม่ซับมัน เช่น เวลาขี่ช้างเข้ากระบวนแห่สระสนาน ที่เรียกว่า ขี่ช้างชื่นตา
คือขี่ตามสบาย  ไม่ใช่ในการออกรบ  จะนุ่งเอาสวยงามย่อมได้

แต่ถ้าขี่ช้างออกรบ  ช้างนั้นซับมัน  ท่านให้ดูว่าคอช้างมีลักษณะอย่างไร
แล้วเลือกนุ่งบ้างให้เหมาะสม  เพื่อให้นั่งขี่ได้ทะมัดทะแมง ผ้าไม่หลุดลุ่ยกรุยกราย
อันทำให้เสียทีแก่ข้าศึกได้  โบราณท่านจึงเขียนสอนไว้ดังนี้

ที่ออกขุนถามมานั้น  คงเป็นกรณีช้างที่ซับมันแล่นเตลิดมาตามถนนหนทาง
ถ้าเป็นเช่นนั้น  ควรหลีกให้ไวให้ไกลที่สุด (ถ้าไม่ประสงค์จะบอบช้ำบาดเจ็บ)
อย่ามัวสังเกตคอช้างแล้วนุ่งผ้า ๓ ชั้น ๗ ชั้น ๙ ชั้น อยู่เลย 
เกรงว่าผ้าที่นุ่งจะไม่พอห่อศพเสียมากกว่า :)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 19:55
ครั้นอยากถามคุณหลวงเล็กว่า เมื่อช้างตกน้ำมันนำมาต่อหน้าแล้ว
จะเห็นคอช้างได้เลยหรือว่าเป็นคอประเภทไหน (คอปลาหมอ คอน้ำเต้า คอกระบอก)
และกว่าจะเร่งรีบนุ่งผ้า ๓ ชั้น ๙ ชั้น จะแก่เกินแกงไหมท่าน  ???

ออกขุนถามผมเช่นนี้  แสดงว่าออกขุนยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในออกรบทัพจับศึกบนหลังคชสาร
โบราณท่านว่าไว้ ช้างที่ออกรบนั้น  ท่านจะกรอกสุราให้ช้างเกิดการซับมันเพื่อมีอารมณ์ดุร้าย
แต่ควาญยังควบคุมได้  ตำรานี้  โบราณท่านเขียนไว้สอนให้คนขี่ช้างรู้ว่า
หนทาง
ถ้าเป็นเช่นนั้น  ควรหลีกให้ไวให้ไกลที่สุด (ถ้าไม่ประสงค์จะบอบช้ำบาดเจ็บ)
อย่ามัวสังเกตคอช้างแล้วนุ่งผ้า ๓ ชั้น ๗ ชั้น ๙ ชั้น อยู่เลย 
เกรงว่าผ้าที่นุ่งจะไม่พอห่อศพเสียมากกว่า :)


แร๊ง...นะนิ

แต่ว่าสุรานั้น เหล้าโรงหรือคอนหยัก  ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 ก.พ. 12, 20:11
อันนี้แล้วแต่คอครับ  ช้างบางคออาจจะชอบเหล้าโรงดีกรีแรง
ช้างบางคออาจจะชอบเหล้าขาว สรถ. โอทอป ผลิตตามหัวไร่ปลายนา ใสเป็นตาตั๊กแตน
ช้างบางคออาจจะชอบยาดองม้ากระทืบโรง คึกคักดี
ช้างบางคออาจจะติดสุราจากนอกอย่างวิสกี้ วอดก้า นารีแดง สาเก เซี่ยงชุน ฯลฯ
ช้างบางคออาจจะชอบแบบพื้นบ้านหน่อย ก็พอใจจะซดสาโท ดูดอุ หรือกะแช่น้ำตาลเมา
โบราณท่านก็ไม่ได้เขียนเอาไว้ด้วยว่าท่านให้กรอกกด้วยสุราชนิดใด
เอาเป็นว่า  กรอกแล้วช้างซับมันเป็นใช้ได้  ถามอะไรก็ไม่รู้ซอกแซกจริง :-\


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.พ. 12, 20:15
อันนี้แล้วแต่คอครับ  ช้างบางคออาจจะชอบเหล้าโรงดีกรีแรง
ช้างบางคออาจจะชอบเหล้าขาว สรถ. โอทอป ผลิตตามหัวไร่ปลายนา ใสเป็นตาตั๊กแตน
ช้างบางคออาจจะชอบยาดองม้ากระทืบโรง คึกคักดี
ช้างบางคออาจจะติดสุราจากนอกอย่างวิสกี้ วอดก้า นารีแดง สาเก เซี่ยงชุน ฯลฯ
ช้างบางคออาจจะชอบแบบพื้นบ้านหน่อย ก็พอใจจะซดสาโท ดูดอุ หรือกะแช่น้ำตาลเมา
โบราณท่านก็ไม่ได้เขียนเอาไว้ด้วยว่าท่านให้กรอกกด้วยสุราชนิดใด
เอาเป็นว่า  กรอกแล้วช้างซับมันเป็นใช้ได้  ถามอะไรก้ไม่รู้ซอกแซกจริง :-\
มิได้หรอกท่าน...อย่าข่มโคเขาให้กินหญ้า ฉันใดก็ฉันนั้น การกรอกเหล้าเข้าปากช้างทำกันอย่างไร ท่านลองนึกภาพเอา ต้องใช้เหล้ากี่อีเลิ้ง ยัดกระบอกไม้ไผ่ทะลุกลางหรือ อันนี้น่าคิดนะ  ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 24 ก.พ. 12, 20:28
อันนี้แล้วแต่คอครับ  ช้างบางคออาจจะชอบเหล้าโรงดีกรีแรง
ช้างบางคออาจจะชอบเหล้าขาว สรถ. โอทอป ผลิตตามหัวไร่ปลายนา ใสเป็นตาตั๊กแตน
ช้างบางคออาจจะชอบยาดองม้ากระทืบโรง คึกคักดี
ช้างบางคออาจจะติดสุราจากนอกอย่างวิสกี้ วอดก้า นารีแดง สาเก เซี่ยงชุน ฯลฯ
ช้างบางคออาจจะชอบแบบพื้นบ้านหน่อย ก็พอใจจะซดสาโท ดูดอุ หรือกะแช่น้ำตาลเมา
โบราณท่านก็ไม่ได้เขียนเอาไว้ด้วยว่าท่านให้กรอกกด้วยสุราชนิดใด
เอาเป็นว่า  กรอกแล้วช้างซับมันเป็นใช้ได้  ถามอะไรก้ไม่รู้ซอกแซกจริง :-\
มิได้หรอกท่าน...อย่าข่มโคเขาให้กินหญ้า ฉันใดก็ฉันนั้น การกรอกเหล้าเข้าปากช้างทำกันอย่างไร ท่านลองนึกภาพเอา ต้องใช้เหล้ากี่อีเลิ้ง ยัดกระบอกไม้ไผ่ทะลุกลางหรือ อันนี้น่าคิดนะ  ;)

ทำไมเล่าออกขุน ทีพระโคยังจับยัดเยียดกินเหล้าในกระทงได้ทุกปีเลย  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 ก.พ. 12, 20:31
อันนี้แล้วแต่คอครับ  ช้างบางคออาจจะชอบเหล้าโรงดีกรีแรง
ช้างบางคออาจจะชอบเหล้าขาว สรถ. โอทอป ผลิตตามหัวไร่ปลายนา ใสเป็นตาตั๊กแตน
ช้างบางคออาจจะชอบยาดองม้ากระทืบโรง คึกคักดี
ช้างบางคออาจจะติดสุราจากนอกอย่างวิสกี้ วอดก้า นารีแดง สาเก เซี่ยงชุน ฯลฯ
ช้างบางคออาจจะชอบแบบพื้นบ้านหน่อย ก็พอใจจะซดสาโท ดูดอุ หรือกะแช่น้ำตาลเมา
โบราณท่านก็ไม่ได้เขียนเอาไว้ด้วยว่าท่านให้กรอกกด้วยสุราชนิดใด
เอาเป็นว่า  กรอกแล้วช้างซับมันเป็นใช้ได้  ถามอะไรก็ไม่รู้ซอกแซกจริง :-\

มิได้หรอกท่าน...อย่าข่มโคเขาให้กินหญ้า ฉันใดก็ฉันนั้น การกรอกเหล้าเข้าปากช้างทำกันอย่างไร
ท่านลองนึกภาพเอา ต้องใช้เหล้ากี่อีเลิ้ง ยัดกระบอกไม้ไผ่ทะลุกลางหรือ อันนี้น่าคิดนะ  ;)

สำนวนของออกขุนบ่งบอกว่า  ชะรอยจะมีพี่เลี้ยงคอยชี้โพรง เอ๊ย แนะนำให้ตั้งคำถามซอกแซกซักไซ้
แคะไค้ถามโน่นถามนี่ไปเรื่อย  

ช้างที่เขาจะกรอกเหล้านั้น  คงฝึกมาอย่างดี  ว่านอนสอนง่าย (ไม่เหมือนใครบางคน)
จึงได้เอามากรอกเหล้าออกรบ   ถ้าเป็นช้างที่ฝึกยังไม่เชื่องดีนัก   ท่านคงไม่เอามากรอกเหล้า
ส่วนจะกรอกกันอย่างไร  ใช้เหล้าใส่อีเลิ้งเพิงพะมาสักกี่มากน้อยเพื่อใช้ในการนี้
ผมคิดว่า  ควาญหรือคนเลี้ยงช้างเขาคงรู้ว่าจะต้องเตรียมกันอย่างไร เท่าไร
และทำอย่างไร   ช้างบางเชือกอาจจะคออ่อน  กรอกน้อยก็ได้ผล  บางเชือกคอทองแดง
คงต้องกรึ๊บหลายทีหน่อยกว่าจะเมาได้ที่




กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 ก.พ. 12, 20:36
ทำไมเล่าออกขุน ทีพระโคยังจับยัดเยียดกินเหล้าในกระทงได้ทุกปีเลย  ;D

พนายอาร์ทว่ามานั้น  มีน้ำหนัก  พึงรับฟังเอาเหตุผลได้
แต่ว่าพระโคกินของเสี่ยงทายนั้น  ทราบมาว่า เขาฝึกให้พระโคกินของเสี่ยงทั้ง ๗ สิ่งมาก่อนแล้วเป็นเดือนๆ
นอกเหนือจากการฝึกไถเข้าแอก และฝึกให้คุ้นเคยกันเสียงประโคมในพระราชพิธี


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 ก.พ. 12, 21:35

คุณหนุ่มสยาม   ช่วยออกแบบหน้าทับหับเผยให้สองหลังนะคะ

สงสัยต้องได้ไปเยี่ยม

นอกจากสุราแล้วยังกรอกดินปืนอีกด้วย  ตำราเก่าว่าไว้


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ก.พ. 12, 08:34

คุณหนุ่มสยาม   ช่วยออกแบบหน้าทับหับเผยให้สองหลังนะคะ

สงสัยต้องได้ไปเยี่ยม

นอกจากสุราแล้วยังกรอกดินปืนอีกด้วย  ตำราเก่าว่าไว้

นอกจากนี้ต้องใส่สังขลิกให้เข็ด  8) 8)

การกรอกดินปืน คงเพิ่มค่าซัลเฟอร์ ให้กับร่างกาย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ก.พ. 12, 08:59
แหม  ใส่กันใหญ่  คุยกันเรื่องช้าง  ก็น่าจะลงทัณฑกรรมให้เข้ากันหน่อยสิ
จับใส่ตระกร้อให้ช้างเดาะเล่นน่าจะเหมาะกว่า   

ใส่ดินปืนลงในเหล้า  อาจจะเป็นเทคนิคการทำอาวุธของคนโบราณ
เกิดพลาดท่าพลาดทางเกิดฉุกละหุกขึ้นมา  ตีหินเกิดประกายไฟบนหลังช้าง
หรือแถวงวงช้าง  พลันก็เกิดระเบิดขึ้น  ที่รบๆกันแตกกระจายแขนขาดขาขาด
(นี่คิดเล่นๆ เพลินๆ อย่าพึงเอาจริงจัง ;D ;D ;D)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 ก.พ. 12, 09:32


ในตะกร้อนั้น  มีใบมีดอยู่ด้วย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ก.พ. 12, 09:40


ในตะกร้อนั้น  มีใบมีดอยู่ด้วย

โหดร้ายจังเลยนะครับ เอาแค่ตอกตะปูหัวเห็ดสามแถว ก็พอเป็นรูก็พอ.. อ้อลืมไป ตะปูนั้นต้องเคลือบสารโปรตีนจากสัตว์ไว้ด้วยนะ หลวงเล็กจะได้จี๊ดจ๊าด ๆ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 25 ก.พ. 12, 10:07
ไปล่ะ ไปไกลกันล่ะ  ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.พ. 12, 11:01
ท่านผู้อาวุโสท่านชอบสะสมตราและเครื่องหมายประจำตัวบุคคลสมัยก่อน
วันก่อนท่านเอาซองเก่าๆ ซองหนึ่งมาให้ผมดู ซองนี้มีตราที่หน้าซอง  ท่านถามผมว่า
ตรานี้เป็นตราของใคร  และตรานี้มีความหมายเกี่ยวกับเจ้าของตราอย่างไร
(กรุณาพิจารณาภาพตราตามที่แนบมาพร้อมนี้)

โอ้โฮ  ยากนะเนี่ย   บรรดาท่านที่ผ่านไปมา ช่วยผมค้นหน่อยสิครับ
ว่าตราข้างล่างนี้เป็นตราประจำตัวของใคร  มีความหมายว่าอย่างไร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.พ. 12, 11:31
ท่านผู้อาวุโสท่านชอบสะสมตราและเครื่องหมายประจำตัวบุคคลสมัยก่อน
วันก่อนท่านเอาซองเก่าๆ ซองหนึ่ง มีตราที่หน้าซอง  ท่านถามผมว่า
ตรานี้เป็นตราของใคร  และตรานี้มีความหมายเกี่ยวกับเจ้าของตราอย่างไร
(กรุณาพิจารณาภาพตราตามที่แนบมาพร้อมนี้)

โอ้โฮ  ยากนะเนี่ย   บรรดาท่านที่ผ่านไปมา ช่วยผมค้นหน่อยสิครับ
ว่าตราข้างล่างนี้เป็นตราประจำตัวของใคร  มีความหมายว่าอย่างไร


ผมให้ความเห็นเท่าที่เห็นดังนี้
๑. การผูกลายอาร์ม พร้อมพระเกี้ยว โดยส่วนมากแล้วเท่าที่เห็นตราสัญลักษณ์มานั้นมักจะเกี่ยวเนื่องในจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์

๒.มีสัตว์นักษัตรอยู่ ๒ ชนิด หนู (ชวด) และ นาค

๓. ในอาร์มช่องล่างสุด ช่วยจัดภาพให้มีความคมกว่านี้หน่อยดิครับ

๔. ภาษาบาลี มีคำว่า "กัลยาณา" น่าจะเป็นเจ้านายฝ่ายสตรี  ซึ่งมีความสัมพันธ์กับลายเครือเถาที่อ่อนช้อยงดงาม (แต่ก็ไม่แน่)

นึกถึงนาค เลยอยากให้คุณหลวงดูประวัติ "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส" ท่านเกิดปีชวดไหม


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.พ. 12, 11:43

ผมให้ความเห็นเท่าที่เห็นดังนี้
๑.การผูกลายอาร์ม พร้อมพระเกี้ยว โดยส่วนมากแล้วเท่าที่เห็นตราสัญลักษณ์มานั้นมักจะเกี่ยวเนื่องในจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์

๒.มีสัตว์นักษัตรอยู่ ๒ ชนิด หนู (ชวด) และ นาค

๓.ในอาร์มช่องล่างสุด ช่วยจัดภาพให้มีความคมกว่านี้หน่อยดิครับ

๔.ภาษาบาลี มีคำว่า "กัลยาณา" น่าจะเป็นเจ้านายฝ่ายสตรี  ซึ่งมีความสัมพันธ์กับลายเครือเถาที่อ่อนช้อยงดงาม

ท่านผู้อาวุโสยินเสียงออกขุนมาเยือนกระทู้  จึงกระซิบตอบมาว่า

๑.ไหนตราพระเกี้ยว  อยู่ตรงไหน  ดูดีๆ ซิ 

๒.สายตายังดีใช้ได้ 

๓.จัดให้ได้เท่านี้  ที่เหลือกรุณาใช้ความสามารถของท่านให้เป็นประโยชน์
นี่ก็ขยายให้มากแล้ว  ของจริงตราเล็กเท่าหัวนิ้วชี้เท่านั้น 

๔.สันนิษฐานได้สนุกดี  แต่ระวังจะหลงทางออกอ่าวไทยไปทะเลจีนใต้ :P



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 ก.พ. 12, 11:59
 ;D
ยัง กัมมัง กะริสสามิ = เราทำกรรมใดไว้
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา = ดีหรือชั่วก็ตาม
ตัสสะ ทายาโทภะวิสสามิ = เราจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

รูปนักษัตร และมงกุฏ น่าจะเกี่ยวข้องกับ รัชกาลที่ ๔ ไหมคะ  ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.พ. 12, 12:28

ผมให้ความเห็นเท่าที่เห็นดังนี้
๑.การผูกลายอาร์ม พร้อมพระเกี้ยว โดยส่วนมากแล้วเท่าที่เห็นตราสัญลักษณ์มานั้นมักจะเกี่ยวเนื่องในจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์

๒.มีสัตว์นักษัตรอยู่ ๒ ชนิด หนู (ชวด) และ นาค

๓.ในอาร์มช่องล่างสุด ช่วยจัดภาพให้มีความคมกว่านี้หน่อยดิครับ

๔.ภาษาบาลี มีคำว่า "กัลยาณา" น่าจะเป็นเจ้านายฝ่ายสตรี  ซึ่งมีความสัมพันธ์กับลายเครือเถาที่อ่อนช้อยงดงาม

ท่านผู้อาวุโสยินเสียงออกขุนมาเยือนกระทู้  จึงกระซิบตอบมาว่า

๑.ไหนตราพระเกี้ยว  อยู่ตรงไหน  ดูดีๆ ซิ 



พระเกี้ยว ย่อมเป็นพระเกี้ยวยอด จะไม่เป็นมงกุฎอย่างแน่นอนครับ และพระเกี้ยวรองบนหมอนประดับพู่รูปโบ ซึ่งผมนำตราสัญลักษณ์พระเกี้ยวมาเทียบประกอบครับ ... พระเกี้ยวแน่นอนท่าน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 27 ก.พ. 12, 13:18
มาช่วยค่ะ

ตรานี้ประจำพระองค์ พระะเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในตรามีรูปหนู  น่าจะหมายถึงปีพระราชสมภพของรัชกาลที่ ๔
ส่วนรูปนาค หมายถึง ปีประสูติ (ปีมะโรง) ของเสด็จในกรม

เรื่องอื่นรอคุณหนุ่มถอดรหัสต่อเอง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.พ. 12, 13:43
;D
ยัง กัมมัง กะริสสามิ = เราทำกรรมใดไว้
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา = ดีหรือชั่วก็ตาม
ตัสสะ ทายาโทภะวิสสามิ = เราจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

รูปนักษัตร และมงกุฏ น่าจะเกี่ยวข้องกับ รัชกาลที่ ๔ ไหมคะ  ???

โอ้  เปรียญ ๙ ประโยคมาแปลเองเลยนะนี่
ผมขอแก้คำแปลนิดหน่อยให้ถูกต้องตามลักษณะกาลไวยากรณ์ภาษาบาลี
ยัง กัมมัง กะริสสามิ = ข้าพเจ้าจักกระทำซึ่งกรรมอันใด
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา = กรรมดีหรือกรรมชั่ว(ก็ตาม)
ตัสสะ ทายาโท ภะวิสสามิ = ข้าพเจ้าจักเป็นทายาทของกรรมนั้น (เป็นผู้รับผลกรรมนั้น)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.พ. 12, 13:46

พระเกี้ยว ย่อมเป็นพระเกี้ยวยอด จะไม่เป็นมงกุฎอย่างแน่นอนครับ
และพระเกี้ยวรองบนหมอนประดับพู่รูปโบ ซึ่งผมนำตราสัญลักษณ์พระเกี้ยวมาเทียบประกอบครับ ... พระเกี้ยวแน่นอนท่าน

ออกขุนอยากให้เป็นพระเกี้ยวก็ไม่ว่ากัน (แต่ดูรูปทรงแล้วไม่น่าจะเป็นพระเกี้ยว เป็นชฎาอะไรสักองค์หนึ่งมากกว่า)
เชิญสันนิษฐานต่อไปได้  แต่ขอบอกว่าไม่เกี่ยวกับรัชกาลที่ ๕


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.พ. 12, 14:04
มาช่วยค่ะ

ตรานี้ประจำพระองค์ พระะเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในตรามีรูปหนู  น่าจะหมายถึงปีพระราชสมภพของรัชกาลที่ ๔
ส่วนรูปนาค หมายถึง ปีประสูติ (ปีมะโรง) ของเสด็จในกรม

เรื่องอื่นรอคุณหนุ่มถอดรหัสต่อเอง

นานๆ มาที  คุณกะออมไม่ทำให้ผิดหวังเลยสักครั้ง
ถูกต้องครับ  ตรานี้เป็นตราประจำพระองค์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
รูปหนู  น่าจะหมายถึงปีพระราชสมภพของรัชกาลที่ ๔  ก็ถูกครับ  ปี ๒๓๔๗ เป็นปีชวด
รูปนาค หมายถึง ปีประสูติ (ปีมะโรง) ของเสด็จในกรม  ก็ถูกครับ ปี ๒๔๙๙ เป็นปีมะโรง

ที่เหลือก็ง่ายแล้ว  
ท่านผู้อาวุโสท่านฝากบอกมาว่า  ตราของเจ้านายพระองค์นี้ เมื่อคราวงานพระเมรุ
ได้นำมาทำเป็นภาพปักบนพัดรองด้วย  แต่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดให้ต่างไปเล็กน้อย
ถามว่า  ส่วนที่ถูกแปลงไปเล็กน้อยนั้นคืออะไร  มีความหมายว่าอะไร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.พ. 12, 14:18
สุดยอดครับคุณกะออม

แล้วเครื่องหมายนี้ตีความได้อย่างไร คุณหลวง ?


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.พ. 12, 14:25
สุดยอดครับคุณกะออม

แล้วเครื่องหมายนี้ตีความได้อย่างไร คุณหลวง ?

เฮ้ๆๆ  อย่าถามกลับสิครับ  คิดไม่ออกแล้วสิออกขุน
ถึงได้สำแดงสำนวนโวหารกลับมาอย่างนี้  เห็นเป็นภาพอะไรก็ตีความไปตามนั้น ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.พ. 12, 14:32
สุดยอดครับคุณกะออม

แล้วเครื่องหมายนี้ตีความได้อย่างไร คุณหลวง ?

เฮ้ๆๆ  อย่าถามกลับสิครับ  คิดไม่ออกแล้วสิออกขุน
ถึงได้สำแดงสำนวนโวหารกลับมาอย่างนี้  เห็นเป็นภาพอะไรก็ตีความไปตามนั้น ;D

อ้าว ไม่ยอมตอบหรือตอบไม่ได้..คิคิ

ที่เห็นก็นึกว่าเป็นวงเวียน แต่งคงไม่ใช่ ... เดาล้วน ๆ เลยว่า คิดว่าเป็นแส้ฝรั่งไว้ตีม้า ส่วนกลม ๆ ด้านหลังก็เหมือนพวงกุญแจ แต่ดูแล้วน่าจะเกี่ยวกับม้า หรือเปล่าหนอ  ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.พ. 12, 14:42


อ้าว ไม่ยอมตอบหรือตอบไม่ได้..คิคิ

ที่เห็นก็นึกว่าเป็นวงเวียน แต่งคงไม่ใช่ ... เดาล้วน ๆ เลยว่า คิดว่าเป็นแส้ฝรั่งไว้ตีม้า
ส่วนกลม ๆ ด้านหลังก็เหมือนพวงกุญแจ แต่ดูแล้วน่าจะเกี่ยวกับม้า หรือเปล่าหนอ  ???

อือม์...ออกขุนสันนิษฐานได้สนุกดี  เชิญสันนิษฐานต่อ  เพราะที่สันนิษฐานมาหาถูกไม่


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.พ. 12, 14:56
ใบ้ให้นิดหนึ่งว่า  ถ้าได้ภาพพัดรองที่ระลึกในงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
มาเทียบกันก็จะทราบทันทีว่า  ตราในอาร์มส่วนล่างนั้นคือรูปอะไร  มีความหมายเกี่ยวข้องถึงเจ้านายพระองค์นั้นอย่างไร
(๒๖๑)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.พ. 12, 15:10
สหายท่านหนึ่งซึ่งแก่พรรษาในทางเอกสารเก่าสมัยต้นรัตนโกสินทร์ฝากถามมาว่า

"คุณหลวงเล็กรู้ไหมว่า  หลานของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)กับท่านผู้หญิงเปลี่ยน  ภาสกรวงศ์
ที่เกิดจากนายพาสน์  มีกี่คน  เกิดจากมารดาชื่ออะไร  และหญิงคนนั้นมาจากสกุลใด"

"โอ๊ยๆ ถามง่ายน่ะเนี่ย  เปิดเว็บชมรมสายสกุลบุนนาคดูก็รู้แล้วนี่"

"คุณหลวงเล็กแน่ใจว่าข้อมูลในนั้นถูกต้องสมบูรณ์แล้วกระนั้นรึ"

"อ้าว  ไม่ถูกหรือครับ"

สหายท่านนั้นส่ายหน้าเล็กน้อย  แล้วหัวเราะในลำคอเป็นเชิงเยาะเย้ย
 ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 27 ก.พ. 12, 16:52
ใบ้ให้นิดหนึ่งว่า  ถ้าได้ภาพพัดรองที่ระลึกในงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
มาเทียบกันก็จะทราบทันทีว่า  ตราในอาร์มส่วนล่างนั้นคือรูปอะไร  มีความหมายเกี่ยวข้องถึงเจ้านายพระองค์นั้นอย่างไร
(๒๖๑)

มีหมวก เป็นเชื้อพระวงศ์ (พระมาลา)
มีดาบ เป็นทหาร

ส่วนอีกอันอะไรก็มิทราบได้  :-[


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.พ. 12, 17:00

มีหมวก เป็นเชื้อพระวงศ์ (พระมาลา)
มีดาบ เป็นทหาร

ส่วนอีกอันอะไรก็มิทราบได้  :-[

ไม่ใช่หมวก(พระมาลา) สิ่งแสดงความเป็นเชื้อพระวงศ์นั้นอยู่ข้างบนของตราอาร์มแล้วคือชฎา
ส่วนที่ว่าดาบนั้น  เกือบถูกแล้ว  แต่เขาไม่เรียกอย่างนั้น  และที่ตีความหมายว่าทหารนั้นก็ถูกแต่ว่ากว้างไป
เพราะทหารมีหลายกรมหลายกองหลายชั้นยศ  ขอให้ระบุให้แคบว่านี้อีก  เอาใจช่วยจวนแล้วๆ ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 ก.พ. 12, 17:07
^ เขาเรียกว่า กระบี่  ค่ะ ;D
เรียกเต็มๆ ว่า พระแสงกระบี่..
ท่านเป็น แม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ ค่ะ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.พ. 12, 17:10
^ มาถูกทางแล้ว  กระบี่ เกี่ยวข้องกับเจ้านายพระองค์นี้อย่างไร 


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 ก.พ. 12, 17:24
ทรงดำรงตำแหน่ง ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.พ. 12, 17:25
คุณดีดีมาถูกทางแล้ว  ผมเฉลยเลยละกันว่า
กระบี่นั้น  น่าจะหมายถึง ยศทางทหารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
ซึ่งทรงเป็นที่นายพลตรี และเคยทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาทหารเรือด้วย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 27 ก.พ. 12, 18:25
มาไม่ทันท่านผู้รู้  ท่านว่ากันสนุกไปเลย  ไหนๆ ก็มาแล้วขอร่วมวงสนทนาด้วยคนครับ

มงกุฎข้างบนเหนืออาร์มนั้นเป็นหมายเป็นพระบรมวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า
ลายในอาร็ม  บนซ้ายเป็นตราจักรกับตรี  หมายว่า เจ้านายพระองค์นี้ทรงเป็นพระบรมวงศ์ในพระราชวงศ์จักรี  บนขวาเป็นรูปพระมหามงกุฎ  หมายถึงมหามกุฎราชสันตติวงศ์  โดยทรงเป็นพระราชโอรสในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔  ส่วนลายด้านล้างเป็นกระบี่ หมายว่าทรงเป็นนายพลตรีทหารบก  ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จนำทัพสยามขึ้นไปประจำการรักษาดินแดนไทยทางมณฑลลาวพวนในกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสเมื่อ ร.ศ. ๑๑๒  และทรงเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้คราวปรามกบฏจีนฮ่อในมณฑลลาวพวนจนสงบราบคาบ  ส่วนกล้องดูดาวและอุปกรณ์วาดภาพนั้นคุณวิกิได้บันทึกไว้ว่า "เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2418 ได้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ขึ้นในประเทศไทย "ท่านทอง" พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ได้ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คณะนักดาราศาสตร์อังกฤษได้ตั้งค่ายสังเกตสุริยุปราคาที่แหลมเจ้าลาย จังหวัดเพชรบุรี นักดาราศาสตร์เหล่านี้ไม่สามารถถ่ายภาพสุริยุปราคาไว้ได้ คงมีแต่ภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ และถูกบันทึกอยู่ในตำราดาราศาสตร์ ในนามของ Prince Tong"  สำหรับรูปพญานาคที่ด้านขวาอาร์มหมายว่า ประสูติปีมะโรง  แต่รูปหนูทางด้านซ้ายนี้ยังหาคำตอบไม่ได้  รบกวนท่านผู้รู้ช่วยกันค้นคว้าหาคำตอบต่อไปครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 28 ก.พ. 12, 08:37
รูปหนู ปีชวด น่าจะเป็นปีประสูติของล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 มั้งคะ.. ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 ก.พ. 12, 09:02
เรื่องตราประจำพระองค์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
คงจะจบได้ในวันนี้  เมื่อวานพิจารณาวิเคราะห์ตราที่ซองไปแล้ว
และได้กล่าวอ้างถึงตราของเจ้านายพระองค์เดียวกันนี้ บนพัดรองในงานพระเมรุ
ว่ามีรายละเอียดแตกต่างไปจากตราหน้าซอง  เลยไปหาภาพพัดรองที่ระลึก
ในคราวงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
มาให้เปรียบเทียบดูความแตกต่างในรายละเอียด และน่าจะตีความหมายได้ง่ายขึ้น
เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างชัด  ทั้งรูปและสี

ที่คุณวีมีมาอธิบายไว้นั้นก็ละเอียดดีแล้ว  แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม
ส่วนหนู ซึ่งเข้าใจว่าหมายถึงปีชวดนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้ว
ไม่พบปีชวดที่เกี่ยวกับเจ้านายพระองค์นี้  ความเป็นไปได้ก็มีอยู่ทางหนึ่งว่า
หมายถึงปีชวด ๒๓๔๗ อันเป็นปีรัชกาลที่ ๔ เสด็จพระบรมราชสมภพ ในรัชกาลที่ ๒
หรือว่า  จะเป็นปีที่เจ้านายพระองค์นี้ได้ทรงกรม ก็ไม่แน่ใจ ยังไม่ได้ตรวจสอบ

อ้อ  น่ายินดีที่กระทู้นี้เดินทางผ่านความเห็นที่ ๑๐๐ โดยอาศัยความร่วมมือ
จากท่านทั้งหลาย ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 09:06
เวอร์ชั่นนี้เป็นกระต่าย

 ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 ก.พ. 12, 09:31
สายตาคุณเพ็ญชมพูยังใช้การได้ดีเยี่ยมครับ 
แต่ว่าจะไม่ลองตีความหมายหน่อยหรือครับ
ว่าทำไมจากหนูจึงกลายเป็นกระต่าย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 28 ก.พ. 12, 15:48
ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๒๙  พ.ศ. ๒๔๑๐ เป็นปีโสกันต์ ของพระองค์ค่ะ... ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 ก.พ. 12, 15:59
ท่านผู้อาวุโสคนเ้ดิม  เคยถามผมไว้หลายเดือนล่วงมาแล้วว่า

"เออ  คุณพอรู้เรื่องการเข้าเวรนอนประจำซองในพระบรมมหาราชวัง
ในเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสตามหัวเมืองบ้างหรือไม่
เขาวางคนเข้านอนประจำซองในพระบรมมหาราชวังกันตรงใดบ้าง
เกณฑ์คนเพื่อการนี้มากน้อยสักเท่าไร "

ท่านทั้งหลาย  พอจะช่วยผมหาคำตอบได้บ้างไหม ??? ???


อนุสนธิจากคำถามข้างต้น  ยังไม่มีผู้ใดตอบได้ชัดเจนละเอียดถึงใจท่านผู้อาวุโส

ผมจึงพยายามค้นจนได้เอกสารเรื่องการนอนประจำซองในพระบรมมหาราชวังในสมัยรัชกาลที่ ๕
มาดังนี้  (อักขรวิธีโดยมากตามต้นฉบับ)



๐มีพระบรมราชโองการสั่งให้สมเดจพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงษ
อยู่รักษาพระบรมมหาราชวังแลพระนคร  สมเดจพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงษ
ท่านเสดจมาประทมในพระบรมมหาราชวัง  แลทรงจัดเจ้าต่างกรมแลพระองคเจ้า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อย
นอนประจำซองชั้นใน ชั้นกลาง แลชั้นนอก  เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงตรวจสายนอกรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง
เจ้าพระยาศรีพิพัฒรัตนราชโกษานอนประจำพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย  
ที่เก๋งวรสภาภิรมย์  กลางคืน  พระเจ้าราชวรวงษเธอ กรมขุนภูวไนยนฤเบนทราธิบาล  ๑  
สมเดจพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงษ ๑  
พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ ๑  
พระเจ้าน้องยาเธอ  พระองค์เจ้ากมลาศนเลอสรร ๑  รวม ๔  
พระเจ้าน้องยาเธอซึ่งไม่ได้ตามเสดจพระราชดำเนินผลัดเปลี่ยนกัน

หลวงนฤศรราชกิจ ๑  หลวงสารภัณฑวิสูต ๑  รวม ๒  พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  มหาดเ,้ก ๔
ชาวที่ใหญ่ขุนหมื่น ๒  ชาวที่บันทมขุนศรีราชอาศนปลัด ๑  ขุนหมื่น ๑  รวม ๘

พระที่นั่งดุสิดาภิรมย  หลวงวิจารณราชาอัด ๑ ขุนหมื่น ๔  ไพร่ ๒๗  รวม  ๓๒ คน
ขุนหมื่น ๒  นายเวน  ๑ ไพร่  ๓๑  รวม ๓๔ คน

พระที่นั่งราชฤาดี  ขุนหมื่น ๒  นายเวน ๑  ไพร่  ๓๑  รวม ๓๔ คน  

ทิมดาบกรมวัง  พระยาบำเรอภักดิ ๑  พระยาบำรุงราชถาน ๑  จ่าโชนเชิดประทีป ๑  นายเวน  ๑
ตำรวจ ๔  ขุนหมื่น ๒  หลวงริดชานน ๑  หลวงนนทเสน ๑  ขุนทิพไพรชน  ๑  ขุนสกลมณเฑียร ๑  รวม ๑๔  คน...


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 ก.พ. 12, 16:01
ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๒๙  พ.ศ. ๒๔๑๐ เป็นปีโสกันต์ ของพระองค์ค่ะ... ;D

เป็นไปได้ครับ   หรือจะว่าเป็นปีที่เสด็จมาทรงปฏิสนธิในครรภ์เจ้าจอมมารดาสังวาสย์ก็ได้เหมือนกัน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 ก.พ. 12, 16:10
กรมพระตำรวจสมทบ  พระยานุชิตชาญไชย ๑  นายเวน ๑  ขุนหมื่น ๑๐  รวม  ๑๒  คน
ปลัดคู่ชัก ๘  รวม ๒๐  (คน)

ห้องชาวที่ใหญ่  ขุนนรินรักษาปลัด ๑  นายเวน ๑  ขุนหมื่น ๓  รวม ๕ คน

ห้องพระอาลักษณ  นายเวน ๑  ขุนหมื่น ๓  รวม ๔ คน

กรมพระตำรวจพลพรรซ้าย  จ่าโผนวิ่งชิงไชย ๑  นายเวน ๑  ขุนหมื่น ๓ รวม ๕ คน

ทิมดาบตำรวจหลัง  กรมพระตำรวจพลพรรขวา  จ่าเผ่นผยองยิ่ง ๑  นายเวน ๑  ขุนหมื่น ๑
พรร ๔  รวม  ๗  คน  

สังฆาศนะศาลา  กรมสังฆการี  ขุนหมื่น ๒  โรงแสง  กรมแสงปืนกัน  ขุน ๑  หมื่น ๑  กำนัน  ๒  รวม ๔ (คน)

กรมแสงโรงใหญ่เกณฑหัด  พระอัคเนศร ๑  พระศรสำแดง ๑  พนักงาน ๑  พันโรง ซ้าย ๑  ขวา ๑
ทหารแคตลิงกัน ๑๘  จีนชมภู่  ไพร่ซ้าย ๑  ขวา ๕  รวม  ๓๓  คน

หอแก้ว  กรมโหร  นายเวน ๑  ขุนหมื่น ๑  รวม ๒ คน

กรมพระภูษามาลา  หลวงราชาพิมล  ๑  หมื่น ๑  กำนัน  ๕  รวม  ๗  คน...



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 ก.พ. 12, 16:17
สหายของท่านผู้อาวุโสฝากถามท่านผู้อาวุโสมาว่า

"เอ คุณ...การตั้งชื่อเรือนี่  เขามีกฎมีเกณฑ์ในการตั้งหรือเปล่า"

เคยได้ยินว่ามีนะ   แต่จำไม่ได้แล้วว่าอ่านเจอที่ไหน  เดี๋ยวให้คุณหลวงช่วยหาให้ดีกว่า"

แล้วภาระก็มาถึงผม  อย่ากระนั้นเลยผมค้นคำตอบให้ท่านได้แล้ว
แต่ท่านทั้งหลายล่ะ  หาคำตอบได้ไหม :(


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ก.พ. 12, 16:21
การตั้งชื่อเรือหลวงของกองทัพเรือ มีหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อ คือ  ;D
1. เรือพิฆาต ตั้งตามชื่อตัว ชื่อบรรดาศักดิ์ หรือชื่อสกุล ของบุคคลที่เป็นวีรบุรุษของชาติ เช่น ร.ล.ปิ่นเกล้า
 2. เรือฟริเกต ตั้งตามชื่อแม่น้ำสายสำคัญ เช่น ร.ล.คีรีรัฐ ร.ล. ตาปี
 3. เรือคอร์เวต ตั้งตามชื่อเมืองหลวง หรือเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ เช่นร.ล.สุโขทัย ร.ล.รัตนโกสินทร์
 4. เรือเร็วโจมตี
      - เรือเร็วโจมตี (อาวุธนำวิถี)  ตั้งตามชื่อเรือรบในทะเล สมัยโบราณที่มีความหมายเหมาะสมแก่หน้าที่ของเรือนั้น ๆ เช่น ร.ล.ราชฤทธิ์ ร.ล.วิทยาคม ร.ล.อุดมเดช
      - เรือเร็วโจมตี (ปืน) เรือเร็วโจมตี (ตอร์ปิโด) ตั้งตามชื่อจังหวัดชายทะเล
 5. เรือดำน้ำ ตั้งตามชื่อผู้มีอิทธิฤทธิ์ในนิยาม หรือวรรณคดีเกี่ยวกับดำน้ำ เช่น ร.ล.มัจจานุ
 6. เรือทุ่นระเบิด ตั้งตามชื่อสมรภูมิที่สำคัญ เช่น ร.ล.บางระจัน ร.ล.หนองสาหร่าย
 7. เรือยกพลขึ้นบก เรือส่งกำลังบำรุง เรือน้ำมัน เรือลากจูง และเรือลำเลียง ตั้งตามชื่อเกาะ เช่น ร.ล. อ่างทอง ร.ล.สิมิลัน
 8. เรือตรวจการณ์
     - เรือตรวจการณ์ (ปืน) ตั้งตามชื่ออำเภอชายทะเล เช่น ร.ล.หัวหิน ร.ล.แกลง
     - เรือตรวจการณ์ (ปราบเรือดำน้ำ) ตั้งตามชื่อเรือรบในลำน้ำสมัยโบราณ ที่มีความหมายเหมาะสมแก่หน้าที่ของเรือนั้น ๆ เช่น ร.ล.พาลี ร.ล.คำรณสินธุ
 9. เรือสำรวจ ตั้งตามชื่อดาวที่สำคัญ เช่น ร.ล.จันทร ร.ล.ศุกร์
10. เรือหน้าที่พิเศษ ตั้งชื่อด้วยถ้อยคำที่มีความหมายเหมาะสมแก่หน้าที่ของเรือนั้น ๆ เหมือนกับเรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ชื่อเรือนั้นให้ขอพระราชทาน และให้ใช้ว่าเรือหลวงนำหน้า
11. เรือขนาดเล็ก (เล็กกว่า 200 ตัน) ให้ตั้งชื่อด้วย อักษรย่อตามชนิดและหน้าที่ของเรือ มีหมายเลขต่อท้ายอักษร กองทำเรือเป็นผู้ตั้งให้ เช่น เรือ ต. 91 เรือ ต. 991


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 ก.พ. 12, 16:39
ดีมากครับ คุณดีดีตอบว่องไวรวดเร็ว  แต่จะไม่อ้างแหล่งข้อมูลสักหน่อยหรือครับ
เพื่อความหนักแน่นของของข้อมูล ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ก.พ. 12, 16:51
^ ข้อมูลจาก "ระเบียบกองทัพเรือ ว่าด้วยการแบ่งชั้นเรือ หมู่เรือ และการตั้งชื่อเรือหลวง พ.ศ. 2527" (ข้อที่ 9)
ประกาศ ณ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2527 พลเรือเอกประพัฒน์ จันทวิช ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเป็นผู้ลงนามค่ะ  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 ก.พ. 12, 17:05
คำถามต่อไป  เป็นคำถามสั้นๆ  แต่ทำเอาผมอึ้ง  คำถามนี้น้องคนหนึ่งถามมา
ถามว่า

"ช้ำ" คืออะไร ??? ??? ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ก.พ. 12, 17:09
การตั้งชื่อเรือ ยังมีอีกนะคะ  ;D
อันนี้เป็นเรือ ยาว ที่เขาใช้แข่งกันค่ะ

การตั้งชื่อเรือ  มีคติความเชื่อหลายหลายวิธีที่เป็นพื้นฐานในการตั้งชื่อเรือแล้วแต่ความนิยมหรือความเชื่อของเจ้าของเรือแต่ละลำยึดถือ แต่โบราณนิยมเชิญแม่ย่านางประทับทรงเพื่อขอให้ตั้งชื่อให้ รวมทั้งถามถึงอาหาร เครื่องแต่งกาย และสีเสื้อ-ผ้าแพรประดับ โขนเรือให้ถูกโฉลกกับแม่ย่านางเพื่อเป็นมงคลแก่ทีมเรือให้ประสบชัยชนะในการแข่งขัน ส่วนใหญ่นิยมตั้งชื่อว่าเจ้าแม่ กับ เทพ นำหน้า โดยมีมูลเหตุของที่มาของชื่อเรือ พอประมวลสรุปได้ดังนี้ เหตุที่เรียกว่า เจ้าแม่ เพราะเชื่อว่าแม่ย่านางเรือเป็นผู้หญิง ส่วนที่เรียกว่า เทพ นั้น เพราะถือกันว่านางไม้หรือนางตะเคียนเป็นเทวดาประเภทหนึ่งหรือรุขเทวดาประจำต้นไม้นั้นเอง

1.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามท้องถิ่นที่พบต้นไม้ อาทิ เรือเทพธนูทอง พิษณุโลก เพราะไม้จากเขาธนูทอง นครไทย เรือเพชรร่มเกล้า จ.พิจิตร ไม้จากเขาบ้านร่มเกล้า จ.พิษณุโลก เรือคำบอนสายฝน จ.กาฬสินธุ์ บริเวณที่พบไม้อยู่กลางป่าบอนเวลาโค่นเกิดฝนตก เป็นต้น
2.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามลำน้ำที่เกี่ยวข้องกับเรือ อาทิ เรือเจ้าแม่ตาปี จ.สุราษฎร์ธานี แม่ย่านางชื่อตาปีมาเข้าฝันประกอบกับวัดที่ขุดเรืออยู่ริแม่น้ำตาปีจึงใช้ชื่อเป็นมงคลนามว่า เจ้าแม่ตาปี, เรือขุนน่าน จ.น่าน ต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน, เรือเจ้าแม่หลังสวน จ.ชุมพร มีแม่น้ำหลังสวนเป็นสายโลหิต, เรือน่านนที จ.พิจิตร มีแม่น้ำน่านไหลผ่านหน้าวัดท่าฬ่อ เป็นต้น
3.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามจังหวัดที่เรือสังกัดอยู่ เช่น เรือศรีอยุธยา, เรือศรีอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา, เรือเทพปทุม วัดโบสถ์ จ.ปทุมธานี, เรือเทพพิษณุ วัดใหญ่ จ.พิษณุโลก, เรือศรีอ่างทอง จ.อ่างทอง, เรือศรีสุราษฎร์ จ.สุราษฎร์ธานี, เรือคนสวยโพธาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี, เรือศรีวัดโบสถ์ วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก, เรือหงส์สุพรรณ เรือเพชรสุวรรณ จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น
4.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามตัวละครสำคัญในวรรณคดีไทย เช่น เรือไกรทอง วัดหัวดง จ.พิจิตร, เรือจหมื่นไวย์ เรือวันทอง เรือพลายแก้ว วัดตะเคียนเลื่อน จ.นครสวรรค์ เรือขุนช้าง สุพรรณบุรี เป็นต้น
5.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามนามของวัด หรือหมู่บ้านที่ขุดเรือ หรือสังกัดอยู่ อาทิ เรือศรสุวรรณ วัดสุวรรณราชหงส์ อ่างทอง, เรือหงส์อาษา วัดหาดอาสา จ.ชัยนาท, เรือหงส์นคร เรือหงส์ทอง วัดเกาะหงส์ จ.นครสวรรค์, เรือศรีจุฬามณี วัดจุฬามณี อยุธยา, เรือหงส์ชัยสิทธิ์ วัดสวนหงส์ สุพรรณบุรี
6.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามชื่อบุคคลสำคัญที่เคารพนับถือ เช่น เรือศรีสุริโยทัย วัดจุฬามณี อยุธยา, เรือเทพจักรี วัดสว่างมนัส อ.หลังสวน จ.ชุมพร, เรือพรพระเทพ วัดบางทราย จ.พิษณุโลก, เรือเทพนรสิงห์ จ.สระบุรี เป็นต้น
7.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามนาม หรือชื่อและสกุลเจ้าของ หรือผู้อุปถัมภ์เรือ เช่น เรือขุนเพ่ง จ.พิจิตร เจ้าของเรือคือ กำนันเพ่ง ขวัญอันอินทร์, เรือขุนโจ้ จ.พิษณุโลก เจ้าของเรือคือ อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ หรือ (อ.โจ้), เรือขุนจอด จ.พิจิตร เจ้าของเรือชื่อจอด (สจ.ปรีชา ชูกร), เรือสุขสวัสดิ์ จ.สิงห์บุรี โดยสกุลสุขสวัสดิ์อุปถัมภ์เรือ, เรือคำประกอบ จ.นครสวรรค์โดยคุณสวัสดิ์ คำประกอบ, เรือชัยนาจ ของสจ.อำนาจ นพขำ จ.ปทุมธานี เป็นต้น
8.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามหน่วยงานที่ฝีพายสังกัดอยู่ เพื่อประชาสัมพันธ์หน่วยงาน เช่น เรือตระเวณสายชล กก.ตชด.31 จ.พิษณุโลก, เรือบันเทิงทัพนาวา ทภ.3 จ.พิษณุโลก, เรือเจ้าแม่ประดู่ทอง เรือยุทธการนาวา เรือยุทธการนาวี เรือราชนาวี เรือเจ้าแม่ประดู่เงิน ในสังกัดกองทัพเรือ, เรือค่ายจุฬาภรณ์ใช้ฝีพายนาวิกโยธิน ค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาส, เรือสาวน้อยเกียรติวงศ์ ฝีพาย ตชด.41 ค่ายเกียรติวงศ์ จ.ชุมพร, เรืออัครโยธิน ของกรมสื่อสารทหารบก ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นต้น
9.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามตาม สปอนเซอร์ที่อุปถัมภ์เรือ เช่น เรือเบียร์สิงห์ จ.สระบุรี (เบียร์สิงห์สนับสนุน), เรือเป็บซี่ จ.นครสวรรค์ (บ.เสริมสุข ส่งเข้าแข่งขัน), เรือกระทิงแดง จ.ปทุมธานี (กระทิงแดงสนับสนุน), เรือแม่ทองหล่อ (บ.แม่ทองหล่อสนับสนุน), เรือนำสุราษฎร์ (บ.นำสุราษฎร์ เทรดดิ้ง สนับสนุน)
10.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามบุพการีของผู้เป็นเจ้าของเรือเพื่อบูชาคุณ เช่น เรือสาวดวงแก้ว อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี นำเอามงคลนามของคุณแม่ดวงแก้ว สุขสวัสดิ์ มาตั้งชื่อเรือ เป็นต้น
11.ตั้งชื่อให้เป็นเดช อำนาจ เป็นที่หวั่นเกรงของคู่แข่งขัน อาทิ เรือเดชสมิง วัดแหลมทราย จ.ชุมพร, เรือสมิงสาว วัดบัวหลวง จ.ปทุมธานี, เรือสมิงรามัญ จ.ปทุมธานี, เรือขุนปราบ จ.ปทุมธานี, เรือพญาอินทร์ จ.พิษณุโลก เป็นต้น
12.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามนามของสัตว์ในวรรณคดีไทย อาทิ เรือพญาราชสีห์ วัดหาดมูลกระบือ จ.พิจิตร, เรือราชสีห์ทอง เรือราชสีห์เพชร วัดบางมะฝ่อ จ.นครสวรรค์, เรือช้างแก้ว เรือม้าแก้ว วัดโบสถ์ จ.อ่างทอง, เรือพญานาคราช วัดบางมูลนาค จ.พิจิตร เป็นต้น
13.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามนิมิต หรือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นขณะขุดเรือ อาทิ เรือนกกาเหว่าแว่ว จ.นครสวรรค์ เนื่องจากตามเสียงนกกาเหว่าไปจนพบต้นไม้ต้นนี้ จึงนำมาขุดเป็นเรือยาว, เรือเจ้าแม่ตะเคียนทอง จ.พิษณุโลก เนื่องจากนางตะเคียนเข้าฝันขณะขุดเรือ, เรือศรีรัตนโกสินทร์ จ.อ่างทอง สร้างในโอกาสฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2525
14.ตั้งชื่อเป็นมงคลนามตามเนื้อความที่พระเกจิอาจารย์ตั้งให้เป็นมงคลนาม เช่น เทพส่องแสง วัดเจดีย์หอย จ.ปทุมธานี, เรือเทวฤิทธิ์ วัดบางพระ จ.นครปฐม เป็นต้น

ข้อมูลจาก สมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย ค่ะ http://www.rcat.or.th/traditional.html


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ก.พ. 12, 17:15
ช้ำ หมายถึง ชาผสมกาแฟ ในสัดส่วนอย่างละครึ่ง แล้วใส่นม  
(คำว่าช้ำ ภาษาใต้แปลว่าปน หรือผสม)

แก้วไหน ช้ำ เอ่ย... ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ก.พ. 12, 20:17
รบกวนถามคุณหลวงเล็กดังนี้

ได้อ่านหนังสือพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีอยู่ช่วงหนึ่งทรงว่า "...ที่เมืองพนมเปญ ยังมียิงปืนรุ่ง อย่างธรรมเนียมกรุงเทพฯ ครั้งรัชกาลที่ ๔ และ ๕..."

ซึ่งได้ทวนเอกสาร ๒ ฉบับว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ต้นฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับสำนวน พ.ศ. ๒๕๑๕ ข้อความตรงกันว่า "ยิงปืนรุ่ง" .... ช่วยอธิบายให้ด้วยครับ (ปืนเที่ยงมิต้องนะครับ บ้านข้าพเจ้าไกลปืนเที่ยง  :P)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 29 ก.พ. 12, 20:48
รบกวนถามคุณหลวงเล็กดังนี้

ได้อ่านหนังสือพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีอยู่ช่วงหนึ่งทรงว่า "...ที่เมืองพนมเปญ ยังมียิงปืนรุ่ง อย่างธรรมเนียมกรุงเทพฯ ครั้งรัชกาลที่ ๔ และ ๕..."

ซึ่งได้ทวนเอกสาร ๒ ฉบับว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ต้นฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับสำนวน พ.ศ. ๒๕๑๕ ข้อความตรงกันว่า "ยิงปืนรุ่ง" .... ช่วยอธิบายให้ด้วยครับ (ปืนเที่ยงมิต้องนะครับ บ้านข้าพเจ้าไกลปืนเที่ยง  :P)

อ่า ถามคุณหลวงเล็ก  :D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 มี.ค. 12, 15:14
มี "ปืนรุ่ง" ด้วย นึกว่ามีแต่ "ปืนเที่ยง"   ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 มี.ค. 12, 15:49
ระหว่างรอ ท่านเจ้าของกระทู้มาตอบเรื่อง "ปืนรุ่ง" หนูดีดีส่งคำถามมาให้บ้างค่ะ

มีคำถามจากเด็กรุ่นใหม่ ไม่ค่อยได้เคยเห็นพระพุทธรูปปางแปลกๆ  ;D
เอารูปมายื่นให้ดูแล้วถามว่า "ปาง ไรน่ะ ยืนแปลกๆ "
ท่านใดพอจะทราบบ้างคะ ว่าพระพุทธรูปในภาพนี้ ปางอะไร และเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติอย่างไร...


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 20:42
พระพุทธรูปปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์อยู่ ครั้งหนึ่งพร้อมด้วยพระสงฆ์ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จสู่เกาะลังกา ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงอธิษฐานแล้วประทับรอบพระบาทไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าศาสนาของพระองค์จะมาเจริญรุ่งเรืองที่เกาะลังกานี้ (ปัจจุบันคือประเทศศรีลังกา) อนึ่ง ตามตำนานกล่าวว่า รอยพระบาทของพระพุทธเจ้านั้น จะปรากฏในที่ที่พระองค์ทรงอธิษฐานไว้เท่านั้น และไม่มีอะไรสามารถทำลายรอยพระพุทธบาทได้

ภาพถ่ายและเนื้อหาทั้งหมด นำมาจาก พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป ๘๐ ปาง วัดกระทุ่มเสือปลา ซอยอ่อนนุช ๖๗ แขวงประเวศ เขตประเวศ (http://dhammatalk1.blogspot.com/search/label/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%20%E0%B9%86)

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 มี.ค. 12, 23:07
^ ถูกต้องแล้วคร้าบบบบบบบบ... ;D
ยังมีปางที่ไม่ค่อยได้เห็นกันอีกหลายปาง ไปหาดูกันนะคะ...


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 มี.ค. 12, 08:58
ช้ำ หมายถึง ชาผสมกาแฟ ในสัดส่วนอย่างละครึ่ง แล้วใส่นม  
(คำว่าช้ำ ภาษาใต้แปลว่าปน หรือผสม)

แก้วไหน ช้ำ เอ่ย... ;D

ถูกครับ  ช้ำ อีกอย่างหนึ่ง คือ ขนมจีนที่ราดทั้งน้ำพริกและน้ำยา
คุณชายคึกฤทธิ์เคยลองสั่งมารับประทานแล้วติดใจ  แต่พอมาทำรับประทานเองที่บ้านท่าน
คนที่บ้านหาว่า  คุณชายทำอะไรพิลึก


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 มี.ค. 12, 09:14
รบกวนถามคุณหลวงเล็กดังนี้

ได้อ่านหนังสือพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีอยู่ช่วงหนึ่งทรงว่า "...ที่เมืองพนมเปญ ยังมียิงปืนรุ่ง อย่างธรรมเนียมกรุงเทพฯ ครั้งรัชกาลที่ ๔ และ ๕..."

ซึ่งได้ทวน(ทาน)เอกสาร ๒ ฉบับว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ต้นฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับสำนวน พ.ศ. ๒๕๑๕ ข้อความตรงกันว่า "ยิงปืนรุ่ง" .... ช่วยอธิบายให้ด้วยครับ (ปืนเที่ยงมิต้องนะครับ บ้านข้าพเจ้าไกลปืนเที่ยง  :P)

จะให้อธิบายอย่างไรไม่ทราบ  ออกขุนกรุณาชี้แจงด้วย
อันที่จริงไม่สงสัยอะไรนัก  เมื่อว่ายิงปืนเที่ยงเป็นอย่างไร
ยิงปืนรุ่งก็คือกัน  คือยิงปืนเมื่อได้เวลาย่ำรุ่ง  เพื่อให้เป็นสัญญาว่า
บัดนี้เป็นเวลาย่ำรุ่งแล้ว  ใครมีนาฬิกาก็ให้เทียบตั้งเวลาให้ตรง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 มี.ค. 12, 10:00
รบกวนถามคุณหลวงเล็กดังนี้

ได้อ่านหนังสือพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีอยู่ช่วงหนึ่งทรงว่า "...ที่เมืองพนมเปญ ยังมียิงปืนรุ่ง อย่างธรรมเนียมกรุงเทพฯ ครั้งรัชกาลที่ ๔ และ ๕..."

ซึ่งได้ทวน(ทาน)เอกสาร ๒ ฉบับว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ต้นฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับสำนวน พ.ศ. ๒๕๑๕ ข้อความตรงกันว่า "ยิงปืนรุ่ง" .... ช่วยอธิบายให้ด้วยครับ (ปืนเที่ยงมิต้องนะครับ บ้านข้าพเจ้าไกลปืนเที่ยง  :P)

จะให้อธิบายอย่างไรไม่ทราบ  ออกขุนกรุณาชี้แจงด้วย
อันที่จริงไม่สงสัยอะไรนัก  เมื่อว่ายิงปืนเที่ยงเป็นอย่างไร
ยิงปืนรุ่งก็คือกัน  คือยิงปืนเมื่อได้เวลาย่ำรุ่ง  เพื่อให้เป็นสัญญาว่า
บัดนี้เป็นเวลาย่ำรุ่งแล้ว  ใครมีนาฬิกาก็ให้เทียบตั้งเวลาให้ตรง


คือที่อยากทราบคือ มีการยิงเวลาย่ำรุ่งด้วยหรือ ทั้งนี้เลยนึกถึง ย่ำค่ำ จะมีการยิงทั้ง ๓ เวลาเลยหรือไม่


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 มี.ค. 12, 11:00


คือที่อยากทราบคือ มีการยิงเวลาย่ำรุ่งด้วยหรือ ทั้งนี้เลยนึกถึง ย่ำค่ำ จะมีการยิงทั้ง ๓ เวลาเลยหรือไม่

เวลาย่ำค่ำนั้น  ถ้าเป็นหัวเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่พระนคร  คงจะได้ยินแต่เสียงพระตีกลองย่ำค่ำตามวัด
ก็เป็นสัญญาว่า  ค่ำแล้ว 

ส่วนการยิงปืนบอกเวลานั้น  คงเป็นการส่งสัญญาณบอกแก่บรรดาชาวเรือต่างๆ ที่เข้าออกได้กำหนดรู้เวลา
และใช้เทียบเวลาตั้งนาฬิกาของตน   ส่วนรายละเอียด  คงต้องไปตามหาประกาศในสมัยรัชกาลที่ ๔ มาอ่าน
แต่จำได้ว่า  ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในสมัยที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎทรงพระผนวชอยู่นั้น  ได้มีรับสั่งให้มีการตีระฆัง
เป็นสัญญาณต่างๆ สำหรับพระสงฆ์ได้ทราบเวลากระทำกิจต่างๆ  นัยว่าระฆังที่วัดนั้นถูกตีบ่อยมากในแต่ละวัน
ทำให้คุณพุ่ม  บุษบาท่านเรือจ้าง  ได้แต่งคำอธิษฐานไว้ข้อหนึ่งว่า  อย่าได้เกิดเป็นระฆังวัดบวรฯ เลย



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 มี.ค. 12, 11:12
ท่านผู้อาวุโส  ไม่ค่อยสบาย  เป็นหวัดลงคอ  เสียงแห้ง  คอเจ็บ
ทำให้ไม่สามารถสนทนาได้สะดวก   ผมจึงไปคุญกับเพื่อนท่านผู้อาวุโสแทน
ท่านถามว่า 

"นี่คุณ  เคยได้ยินคำเหล่านี้บ้างไหม  มันแปลว่าอะไร
คำว่า  จอกกะหรอก   ทึก   เพลงชิงชู้   แล้ม  หูชอง"


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 02 มี.ค. 12, 15:24
ท่านผู้อาวุโส  ไม่ค่อยสบาย  เป็นหวัดลงคอ  เสียงแห้ง  คอเจ็บ
ทำให้ไม่สามารถสนทนาได้สะดวก   ผมจึงไปคุญกับเพื่อนท่านผู้อาวุโสแทน
ท่านถามว่า 

"นี่คุณ  เคยได้ยินคำเหล่านี้บ้างไหม  มันแปลว่าอะไร
คำว่า  จอกกะหรอก   ทึก   เพลงชิงชู้   แล้ม  หูชอง"

ฝากความห่วงใยไปยังท่านผู้อาวุโสด้วยนะขอรับใต้เท้าพระกรุณา

ตากแอร์เย็นๆ มากๆ มันไม่ดีนักแล  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 มี.ค. 12, 15:42
^ท่านผู้อาวุโสคงจะพอใจที่ทราบว่าคุณอาร์ทเป็นห่วงเป็นใยสุขภาพของท่าน
ท่านจึงคิดว่าจะไม่ในอยู่ห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ  แต่จะหันไปทาแป้งเย็นแทน
 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 02 มี.ค. 12, 19:02
ท่านผู้รู้ท่านคุยกันถึงเรื่องปืนรุ่ง  ปืนเที่ยง  ชวนให้นึกถึงปืนเที่ยงที่เมืองเชียงใหม่

เมื่อรัฐบาลสยามส่งข้าราชการขึ้นไปประจำรับราชการที่เมืองเชียงใหม่  ข้าราชการสยามนั้นก็ได้นำการยิงปืนเที่ยงไปใช้ที่เมืองเชียงใหม่  พบหลักฐานว่ายิงกันจนปากกระบอกปืนแตก  ต้องขอปืนใหญ่จากกรุงเทพฯ ขึ้นไปเปลี่ยน  ก่อนจะส่งขึ้นไปเปลี่ยนเสนาบดีกลาโหมก็มีรับสั่งให้นำไปทดลองยิงที่ป้อมพระจุลเสียก่อน  แล้วจึงโปรดให้ส่งปืนใหญ่ที่ทดลองยิงแล้วทั้งสองกระบอกขึ้นไปเชียงใหม่  ปืนทั้งสองนั้นจะใช้ยิงสลัยกันหรืออย่างไรไม่พบหลักฐานแน่ชัด  คงมีนักเรียนเก่าอาวุโสของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยท่านยืนยันว่า เมื่อเลิกยิงปืนเที่ยงตอนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว  ปืนใหญ่กระบอกหนึ่งถูกทิ้งจมโคลนอยู่ในโรงเรียนการช่างสตรีเชียงใหม่ซึ่งปัจจุบันเป็นวิทยาลัยาชีวศึกษาเชียงใหม่  เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง  ท่านอาจารย์ใหญ่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในเวลานั้นไม่ทราบท่านนึกอย่างไร  ให้ลูกศิษย์ไปช่วยกันลากืนใหญ่มาจากโรงเรียนการช่างสตรี  ท่านผู้เล่าๆ ว่า  ใช้เวลาลากตั้งแต่เช้ากว่าจะข้ามใั่งถนนมาถึงริมสนามโรงเรียนยุพราชก็ราวเที่ยงวัน  จากนั้นท่านอาจารย์ใหญ่ท่านก็สั่งการให้ยกปืนใหญ่ขึ้นตั้งตรงเอาปากกระบอกปืนชีฟ้า  แล้สเอาเสาธงชาติสวมลงในประบอกปืน  กลายเป็นปืนใหญ่เสาธงคู่โรงเรียนยุพราชมาถึงทุกวันนี้  ส่วนปืนอีกกระบอกถูกทิ้งตากแดดตากลมอยู่ที่หน้าเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่  ต่อมาทหารจากค่ายกาวิละมาขนไปไว้ที่หน้าสโมสรค่ายกาวิละ  และคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้  แต่คำอธิบายนั้นสุดแสนจะพิสดารนั้นื่านว่า ปืนที่หน้าสโมสรค่ายกาวิละนั้นเป็นปืนใหญ่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชยกมาตีเมืองเชียงใหม่แล้วตกค้างอยู่  ไม่ทราบพงศาวดารเรื่องนี้ท่านผู้ใดเป็นผู้บันทึกช่างมีจินตนาการกันเหลือเกิน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 03 มี.ค. 12, 11:45
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน บอกว่า
หูชอง หมายถึง น. เชือกใบลานสําหรับมัดลานหนังสือ

ทึก หมายถึง ตู่เอาเป็นของตัว โมเม
      อีกความหมาย แปลว่า น้ำ

เพลงชิงชู้     1. เป็นตอนหนึ่งของเพลงเรือ
               2. เป็นเพลงหมอลำในภาคอีสาน หมายถึงการร้อง ที่มีชายสองคนพยายามเกี้ยวพาราสีผู้หญิงคนเดียวกัน ชิงรักหักสวาท เพลงกลอนของใครดีก็เป็นผู้ชนะ
               3. เป็นเพลงในการแสดงละครนอก ตอนชายสองคนพยายามเกี้ยวพาราสีหญิงคนเดียวกัน

จอกกะหรอก หมายถึง เล็กๆ น้อยๆ หลายๆ อย่าง ไม่เป็นเรื่องเป็นราว


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 มี.ค. 12, 08:08
ท่านผู้รู้ท่านคุยกันถึงเรื่องปืนรุ่ง  ปืนเที่ยง  ชวนให้นึกถึงปืนเที่ยงที่เมืองเชียงใหม่

เมื่อรัฐบาลสยามส่งข้าราชการขึ้นไปประจำรับราชการที่เมืองเชียงใหม่  ข้าราชการสยามนั้นก็ได้นำการยิงปืนเที่ยงไปใช้ที่เมืองเชียงใหม่ 
พบหลักฐานว่ายิงกันจนปากกระบอกปืนแตก  ต้องขอปืนใหญ่จากกรุงเทพฯ ขึ้นไปเปลี่ยน  ก่อนจะส่งขึ้นไปเปลี่ยน
เสนาบดีกลาโหมก็มีรับสั่งให้นำไปทดลองยิงที่ป้อมพระจุลเสียก่อน  แล้วจึงโปรดให้ส่งปืนใหญ่ที่ทดลองยิงแล้วทั้งสองกระบอกขึ้นไปเชียงใหม่ 
ปืนทั้งสองนั้นจะใช้ยิงสลับกันหรืออย่างไรไม่พบหลักฐานแน่ชัด  คงมีนักเรียนเก่าอาวุโสของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยท่านยืนยันว่า
เมื่อเลิกยิงปืนเที่ยงตอนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว  ปืนใหญ่กระบอกหนึ่งถูกทิ้งจมโคลนอยู่ในโรงเรียนการช่างสตรีเชียงใหม่
ซึ่งปัจจุบันเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่  เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง  ท่านอาจารย์ใหญ่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในเวลานั้น
ไม่ทราบท่านนึกอย่างไร  ให้ลูกศิษย์ไปช่วยกันลากปืนใหญ่มาจากโรงเรียนการช่างสตรี  ท่านผู้เล่าๆ ว่า  ใช้เวลาลากตั้งแต่เช้า
กว่าจะข้ามถนนมาถึงริมสนามโรงเรียนยุพราชก็ราวเที่ยงวัน  จากนั้นท่านอาจารย์ใหญ่ท่านก็สั่งการให้ยกปืนใหญ่ขึ้นตั้งตรง
เอาปากกระบอกปืนชี้ฟ้า  แล้วเอาเสาธงชาติสวมลงในประบอกปืน  กลายเป็นปืนใหญ่เสาธงคู่โรงเรียนยุพราชมาถึงทุกวันนี้ 
ส่วนปืนอีกกระบอกถูกทิ้งตากแดดตากลมอยู่ที่หน้าเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่  ต่อมาทหารจากค่ายกาวิละมาขนไปไว้ที่หน้าสโมสรค่ายกาวิละ 
และคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้  แต่คำอธิบายนั้นสุดแสนจะพิสดารนั้นว่า ปืนที่หน้าสโมสรค่ายกาวิละนั้นเป็นปืนใหญ่
ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชยกมาตีเมืองเชียงใหม่แล้วตกค้างอยู่  ไม่ทราบพงศาวดารเรื่องนี้ท่านผู้ใด
เป็นผู้บันทึก  ช่างมีจินตนาการกันเหลือเกิน

ขออนุญาตจัดบรรทัดให้อ่านสะดวกๆ และแก้คำสะกดผิดบางคำ 
ชื่นชมเกร็ดความรู้จากคุณวีมี   สนุกและได้ความรู้ไปพร้อมกัน  ขอบคุณมากครับ ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 มี.ค. 12, 08:23
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน บอกว่า
หูชอง หมายถึง น. เชือกใบลานสําหรับมัดลานหนังสือ

ทึก หมายถึง ตู่เอาเป็นของตัว โมเม
      อีกความหมาย แปลว่า น้ำ

เพลงชิงชู้     1. เป็นตอนหนึ่งของเพลงเรือ
               2. เป็นเพลงหมอลำในภาคอีสาน หมายถึงการร้อง ที่มีชายสองคนพยายามเกี้ยวพาราสีผู้หญิงคนเดียวกัน ชิงรักหักสวาท เพลงกลอนของใครดีก็เป็นผู้ชนะ
               3. เป็นเพลงในการแสดงละครนอก ตอนชายสองคนพยายามเกี้ยวพาราสีหญิงคนเดียวกัน

จอกกะหรอก หมายถึง เล็กๆ น้อยๆ หลายๆ อย่าง ไม่เป็นเรื่องเป็นราว


คุณดีดีเป็นผู้ติดตามกระทู้นี้เหนียวแน่นดีจังครับ  คำถามง่ายคำถามยาก
คุณดีดีเพียรพยายามมาตอบเสมอ  

ในอักขราภิธานศรับท์ซึ่งหมอบลัดเลพิมพ์  ปรากฏคำนั้นทั้ง ๔ คำพร้อมความหมายดังนี้
(อักขราภิธานศรับท์นี้  หมอบลัดเลได้ให้อาจารย์ทัด (ยังไม่ทราบประวัติ) คัด แปล และทำคำอธิบายความหมาย)

จอกกะหรอก,  คืออาการที่ใจคิดจองหอง, เย่อหยิ่ง, เหมือนอย่างลูกครอกไว้ตัวเปนขุนนางเปนต้น, (หน้า ๑๔๒ ซ้าย)

ทึก, เปนชื่อการที่มอบเวนให้นั้น, เช่นพวกเด็กมันมอบเวนสิ่งของกันว่า ทึกเจ้า. (หน้า ๒๙๐ ขวา)

เพลงชิงชู้, กลอนชิงชู้, คือคำเพลงคนสามพวก, หญิงพวกหนึ่ง, ชายสองพวกมาชิงกันเกี้ยวหญิงว่าเปนชู้. (หน้า ๔๘๒ ขวา)

หูชอง, คือของเขาทำด้วยใบลานบ้าง, ทำด้วยเชือกบ้าง, ทำเปนห่วงวงเหมือนหูแจว, สำหรับใส่ผูกใบลานหนังสือ. (หน้า ๗๕๐ ขวา)

คุณดีดีตอบถูกหรือใกล้เคียง จำนวน ๒ คำครับ




กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 05 มี.ค. 12, 09:12
แล้ว "แล้ม" ล่ะคะ... ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 มี.ค. 12, 09:32
แล้ว "แล้ม" ล่ะคะ... ???

โทษที  ลืมไปครับ  เดี๋ยวมาตอบให้  ตอนนี้ทำงานก่อน ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 09:40
เรียน ท่านผู้อาวุโส

          ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ แล้ม แปลได้ ๒ ประการ

              lamp - ตะเกียง

              lamb - ลูกแกะ

           แหะ แหะ  ;D    


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 มี.ค. 12, 12:11
อาจารย์ทัด ท่านอธิบายคำว่า "แล้ม" ไว้ว่า

แล้ม, หวานน้อยๆ,  คือของกินที่มีรศหวานน่อยๆ ไม่หวานเข้มเช่นน้ำผึ้งน้ำตาล, ว่าหวานแล้มๆ. (หน้า ๖๕๔ ซ้าย)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 13:35
เคยได้ยินแต่ ปะแล่ม

หวานปะแล่ม ๆ

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 มี.ค. 12, 16:54
ท่านผู้อาวุโสอารมณ์ดีมากขึ้น  ถามคำถามง่ายๆ มาว่า

"ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงกล่าวถึงธรรมเนียมเจ้านายทรงพระดำเนินตามลำดับยศ
ตั้งแต่สมเด็จกรมพระราชวังบวร (วังหน้า) ไปจนถึงเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า  ๒๖ ลำดับ
ลำดับทั้ง ๒๖ ลำดับนี้  มีรายละเีอียดอย่างไรบ้าง  ไหนหามาให้ดูหน่อยสิ"

อ้อ ท่านให้อ้างอิงแหล่งข้อมูลด้วยนะครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 มี.ค. 12, 17:06
คำถามนี้  แถม  มีน้องๆ นักเรียนแถวๆ บ้านมาถามผมเมื่อหลายวันก่อน

เรื่องมีอยู่ว่า  น้องเขาทำข้อสอบวิชาภาษาไทย  มีโจทย์อยู่ข้อหนึ่ง
ให้เลือกว่า  ข้อความในตัวเลือกข้อใดในตัวเลือก ๔ ข้อ ที่มีเสียงวรรณยุกต์ครบ ๕ เสียง
น้องเขาเสียเวลาทำข้อสอบข้อนี้มาก  จึงอยากได้เคล็ดลับที่จะทำข้อสอบข้อนี้ให้เร็วขึ้น
ไม่เช่นนั้นน้องเขาจะต้องมานั่งไล่เสียงวรรณยุกต์คำทุกคำ ซึ่งรูปวรรณยุกต์ไม่ตรงกับเสียงด้วย
ทำให้สับสน  งุนงง  และเสียศูนย์มาก 


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 20:16
ท่านผู้อาวุโสอารมณ์ดีมากขึ้น  ถามคำถามง่ายๆ มาว่า

"ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงกล่าวถึงธรรมเนียมเจ้านายทรงพระดำเนินตามลำดับยศ
ตั้งแต่สมเด็จกรมพระราชวังบวร (วังหน้า) ไปจนถึงเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า  ๒๖ ลำดับ
ลำดับทั้ง ๒๖ ลำดับนี้  มีรายละเีอียดอย่างไรบ้าง  ไหนหามาให้ดูหน่อยสิ"

อ้อ ท่านให้อ้างอิงแหล่งข้อมูลด้วยนะครับ


ไปถาม คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2) มาให้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายหลักของธรรมเนียมการเดินหน้าเดินหลังไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” โดยมีลำดับโปเจียม ดังนี้

๑.  พระมหากษัตริย์
๒.  ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระบัณฑูรใหญ่)
๓.  ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระบัณฑูรน้อย)
๔.  ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (พระบัญชา)
๕.  สมเด็จพระบรมอัยกาเธอ เจ้าฟ้า
๖.  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า
๗.  สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้า
๘.  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้า
๙.  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า
๑๐. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า

ลำดับที่ ๕ ถึง ๑๐ คือ พระราชโอรสในพระมหากษัตริย์ ชั้นเจ้าฟ้า
 
๑๑. พระบรมอัยกาเธอ พระองค์เจ้า
๑๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
๑๓. พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้า
๑๔. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้า
๑๕. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า
๑๖. พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

ลำดับที่ ๑๑ ถึง ๑๖ คือ พระราชโอรสในพระมหากษัตริย์ ชั้นพระองค์เจ้า (โดยลำดับที่ ๑๕ และ ๑๖ นี้เดินสลับกันตามพระชนม์พรรษา)
 
๑๗. สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ คือ พระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์ ชั้นเจ้าฟ้า หรือ พระโอรสในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ชั้นเจ้าฟ้า
๑๘. พระเจ้าวรวงศ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้า
๑๙. พระเจ้าวรวงศ์เธอชั้น ๒ พระองค์เจ้า
๒๐. พระเจ้าวรวงศ์เธอชั้น ๓ พระองค์เจ้า
๒๑. พระเจ้าวรวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้า
๒๒. พระบวรวงศ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้า
๒๓. พระบวรวงศ์เธอชั้น ๒ พระองค์เจ้า

ลำดับที่ ๑๘ ถึง ๒๓ คือ พระโอรสในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ชั้นพระองค์เจ้า
 
๒๔. พระเจ้าหลานเธอ คือ พระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์ ชั้นพระองค์เจ้า
๒๕. พระประพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ ซึ่งเป็นพระอัยกาฝ่ายพระมารดาของพระมหากษัตริย์
๒๖. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้า คือ พระนัดดาของสมเด็จพระพี่นางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทั้ง 2 พระองค์
๒๗. หม่อมเจ้า ตามลำดับยศบิดา ซึ่งเรียง ๆ กันมาเหมือนข้างบน

 ;D



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 20:56
คำถามนี้  แถม  มีน้องๆ นักเรียนแถวๆ บ้านมาถามผมเมื่อหลายวันก่อน

เรื่องมีอยู่ว่า  น้องเขาทำข้อสอบวิชาภาษาไทย  มีโจทย์อยู่ข้อหนึ่ง
ให้เลือกว่า  ข้อความในตัวเลือกข้อใดในตัวเลือก ๔ ข้อ ที่มีเสียงวรรณยุกต์ครบ ๕ เสียง
น้องเขาเสียเวลาทำข้อสอบข้อนี้มาก  จึงอยากได้เคล็ดลับที่จะทำข้อสอบข้อนี้ให้เร็วขึ้น
ไม่เช่นนั้นน้องเขาจะต้องมานั่งไล่เสียงวรรณยุกต์คำทุกคำ ซึ่งรูปวรรณยุกต์ไม่ตรงกับเสียงด้วย
ทำให้สับสน  งุนงง  และเสียศูนย์มาก  

น้องลองเอาแต่ละคำในตัวเลือกที่ให้มา ไปเทียบเสียงกับอักษรกลาง  

เอาง่าย ๆ ก ไก่ ก็แล้วกัน

ภาษาไทยง่ายนิดเดียว

กาก๋าไกก้ายกิ๊ดเกียว

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 มี.ค. 12, 09:12
^ คุณเพ็ญชมพู พูดถูกค่ะ "ภาษาไทยง่ายนิดเดียว"....ค่ะ มีนิดเดียวที่ง่าย ที่เหลืออีกเยอะ ยากทั้งนั้นเลย... ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 มี.ค. 12, 10:06
คำถามนี้  แถม  มีน้องๆ นักเรียนแถวๆ บ้านมาถามผมเมื่อหลายวันก่อน

เรื่องมีอยู่ว่า  น้องเขาทำข้อสอบวิชาภาษาไทย  มีโจทย์อยู่ข้อหนึ่ง
ให้เลือกว่า  ข้อความในตัวเลือกข้อใดในตัวเลือก ๔ ข้อ ที่มีเสียงวรรณยุกต์ครบ ๕ เสียง
น้องเขาเสียเวลาทำข้อสอบข้อนี้มาก  จึงอยากได้เคล็ดลับที่จะทำข้อสอบข้อนี้ให้เร็วขึ้น
ไม่เช่นนั้นน้องเขาจะต้องมานั่งไล่เสียงวรรณยุกต์คำทุกคำ ซึ่งรูปวรรณยุกต์ไม่ตรงกับเสียงด้วย
ทำให้สับสน  งุนงง  และเสียศูนย์มาก  


คุณluanglek บอกน้อง ให้เข้าไปดู เทคนิคการใช้ "นิ้วมือวิเศษ" ของ อ.ยุวดี นุชทรัพย์ ช่วยในการไล่เสียงวรรณยุกต์ ได้เลยนะคะ  ;D
(เริ่มการสอนใช้นิ้วมือวิเศษ ประมาณนาที่ที่10 เป็นต้นไปนะคะ)

http://www.youtube.com/watch?v=mvWe1jSg1H0


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 มี.ค. 12, 10:30
ถ้าน้องคนนั้น(ของคุณหลวงเล็ก) เป็นต่างชาติ แนะนำให้ดูเวอร์ชั่นนี้เลยนะคะ... ;D

http://www.youtube.com/watch?v=RNxmyKKZOlw


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 มี.ค. 12, 10:45
หลังจากเรียนรู้การผันวรรณยุกต์ ด้วยเทคนิค นิ้วมือวิเศษ กันแล้ว  ;D
ลองทดสอบสิคะ ว่า ทำได้ จริง และรวดเร็ว...

ข้อใด มีวรรณยุกต์ ครบทุกเสียง
1. ทั้งเจรจารำคาญหูดูไม่งาม
2. ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไปมา
3. ย่อมว่าพุทธกับไสยตั้งใจว่า
4. อีกข้อหนึ่งเมืองเราชาวมนุษย์

ข้อใดมี วรรณยุกต์ ครบทุกเสียง
1. เสียงสนส่ายคล้ายถามถึงความหลัง
2. เสียงคลื่นคลั่งใคร่รู้เธออยู่ไหน
3. เสียงเม็ดทรายคล้ายว่าด้วยอาลัย
4. เสียงลมไหวไต่ถามถึงความเธอ

สองข้อน่าจะพอนะคะ...


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 มี.ค. 12, 10:54
มีกลอนมาฝาก ให้อ่านเล่นๆ ค่ะ ลองเทียบดูนะคะ ว่าเป็นเสียงวรรณยุกต์อะไร.. ;D

                                                                 มโหรีรี่รี้ดีดสีเสียง
จับปี่หริงหริ่งหริ้งพริ้งเพราะเพียง                                 ฆ้องสำเนียงเตงเต่งเต้งติงเหน่งโนน
จะเข้กรีดดีดเรงเหรงเหร่งเหร้ง                                   เสียงเหนงเหน่งเหน้งระนาดออกผาดโผน
ซอแหนแหน่แหน้จังหวะจะโคน                                  เสียงทับโทนโจ๋งทิงทิ่งทิ้งเลย
                                       (หมื่นนิพนธ์อักษร: ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ฯ)

                                                              อมรแมนแม่นแม้นเจ้างามโฉม
ชะลอล่อล้อโลกให้โศกโซม                                  แต่เลาเล่าเล้าโลมฤดีแด
ดังกระต่ายหง้อยหง่อยหงอยแหงนหงาย                      ชะม้ายม่ายมายเมียงจะเคียงแข
รัชนีนี่นี้มิอาลัยแล                                            กระต่ายแต่ซบเซาเซ่าเซ้าคะนึง
                                (หลวงนายชาญภูเบศร์: ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ฯ)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 มี.ค. 12, 12:55
ขอบคุณคุณดีดีและคุณเพ็ญชมพูมาช่วยแนะนำน้องๆ ให้รู้จักวิธีการเทียบหาเสียงวรรณยุกต์
อันที่จริง   ผมก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน  แต่มีข้อเตือนไว้นิดหนึ่ง  คือ คำตายที่มีพยัญชนะต้น
เป็นอักษรกลางหรือสูง ให้นับเป็นวรรณยุกต์เสียงเอก   ถ้าเป็นคำตายที่มีพยัญชนะต้น
เป็นอักษรต่ำ  ต้องพิจารณาที่สระ  หากเป็นสระสั้น  เป็นวรรณยุกต์เสียงตรี
และหากเป็นสระยาว  เป็นวรรณยุกต์เสียงโท


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 มี.ค. 12, 13:03
เคยนำมาให้คุณร่วมฤดีดู

ตารางผันเสียงวรรณยุกต์นี้อาจช่วยคุณร่วมฤดีได้บ้าง

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/12/K7333938/K7333938-0.gif)

อาจมีประโยชน์บ้างสำหรับน้อง ๆ

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 มี.ค. 12, 13:17
ส่วนเรื่องธรรมเนียมการเดินตามลำดับโปเจียมนั้น คุณเพ็ญตอบได้แล้วครับ


ท่านผู้อาวุโส วันนี้ท่านมาแปลก  ท่านว่าวันนี้เป็นวันพระ เป็นวันมาฆปุณณมี
ฉะนั้นเราจะคุยกันเรื่องศาสนาจะดีกว่า  ว่าแล้วท่านก็ถามผมว่า

"รู้ไหมว่า  พรานเจตบุตรในมหาเวสสันดรชาดก เลี้ยงสุนัขไว้กี่ตัว
สุนัขแต่ละตัวชื่ออะไรกันบ้าง"

เอาล่ะสิ  ท่านทั้งหลาย  ฟังเทศน์มหาชาติมาก้หลายครั้ง  อ่านมหาชาติก็หลายหน
ยังไม่เคยเจอว่าพรานเจตบุตรเลี้ยงสุนัขไว้กี่ตัว  และแต่ละตัวชื่ออะไรบ้าง
ท่านเคยอ่านเจอข้อมูลผ่านตาที่ไหนบ้าง   กรุณาอนุเคราะห์คำตอบด้วย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 มี.ค. 12, 13:50
จาก มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก ฉบับวิงวอนหลวง(ล้านนา) ชูชก ๗๙ คาถา (http://www.mahachat.com/index.php/2010-07-12-09-57-53/2010-08-23-11-53-36/2010-08-23-11-56-43)

ยามนั้น พรานเจตบุตร อันเป็นนายรักษาประตูป่าไม้ มีหมาได้ ๓๒ ตัว หากเป็นบริวาร หมาทังหลายก็เอากันมาแวดล้อม เลยไล่ห้อมเห่า เถ้าเล่าเก่ากลัวตาย เพื่อหมาพรานมีหลายเลี้ยงไว้ ๓๒ เลยไล่วกหน้าวกหลัง

๑.  ตัวนึ่งชื่อว่าหมาปู่แก้วหางคิด มันติดวกหน้า เป็นหมาแกว่นกล้าเคยขบ

๒.  ตัวนึ่งชื่อพู้ตูบ

๓.  ตัวนึ่งชื่อพู้ตาบ

๔.  ตัวนึ่งชื่อพู้แดงหยาบหากิน

๕.  ตัวนึ่งชื่อพู้ดำมอยหางปกครางไปทั่วป่า เสี้ยงทั่วป่ารวายตรี

๖.  ตัวนึ่งชื่ออ้ายหูรีหางดอก

๗.  ตัวนึ่งชื่อพู้ท็อกมันช่างเสาะสอกในลอม หลอนหันสัตว์มามันย่อมไล่ คันเข้าใกล้ปาวเปิบเอา
                
๘.  ตัวนึ่งชื่อดาวเสด็จ แม่นหลงป่าได้เจ็ดวัน มันก็ฅืนมารอด

๙.  ตัวนึ่งชื่อพู้ยวงหางก่าน มันหุมช่างชอมรอย

๑๐. ตัวนึ่งชื่อพู้ดำมอยหมาเก่า มันช่างเห่าหาแลน

๑๑. ตัวนึ่งชื่อพู้แพงดำหม่น บุเค้ารวกหลุหลาม

๑๒. ตัวนึ่งชื่อพู้หางงอหางงอด เต้นผับจอดมัคคา

๑๓. ตัวนึ่งชื่อตำราหมาใหญ่ เถ้าแล้วไป่โรยแรง

๑๔. ตัวนึ่งชื่อพู้แพงหูมเห่า

๑๕. ตัวนึ่งชื่อพู้เป้าใจกัด

๑๖. ตัวนึ่งชื่อพู้พัดใส่สร้อยห้อยฅอนาง เป็นหมารามร่างน้อย หันพราหมณ์เถ้าถ่อยไล่วกไว้ เข้าใกล้เปิบปาวเอา

๑๗. ตัวนึ่งชื่อพู้ขอดหัวแหวน

๑๘. ตัวนึ่งชื่อว่าพู้ตาแหลวแมนเก่าเกื้อ มันย่อมไล่เนื้อติดใกล้ มันหันอันใดย่อมขบย่อมคาบ คันคาบได้แล้วบ่สัวะวาง เอาพร้าง้างคางจิ่งออก
                  
๑๙. ตัวนึ่งชื่อว่าพู้ทอกทับกวาง หูหางมันฉีกยับย่อย คันเจ้ามันปล่อยก็แล่นไล่เนื้อแกว่นตัวไกล

๒๐. ตัวนึ่งชื่อว่าอี่ใจไว มันหันอันใดก็ขบหยาบ แล่นคั้นคาบยามเดียว

๒๑. ตัวนึ่งชื่อว่าอ้ายสับเสียวเชิงแล่นแกว่นรู้รอย คอยหูตาเจ้ามันเรียก

๒๒. ตัวนึ่งชื่อว่าอ้ายขาเหล็กตีนเท้า หากเป็นหมาเถ้าแต่เดิมมา เล็งมัคคาคอยแม่น ใจรู้แกว่นหนทาง หันลัวะและยางสะพายแชก ขบคาบแบกตกดอย
              
๒๓. ตัวนึ่งชื่อว่าอี่ดำมอยหม่นหม้อ เป็นหมาห้อแต่หลังมา

๒๔. ตัวนึ่งชื่อว่ามณีกาหางก่าน หันหมู่ม่านและเม็ง ไล่ตามเส็งหลังหลาบ ไล่คั้นคาบติงตาย

๒๕. ตัวนึ่งชื่อว่าอ้ายขาลายแฅ่งเท้า หากเป็นหมาเถ้าถ่อยโรยแรง เจ้ามันแพงเลี้ยงไว้กับหัวฅันได มันหันอันใดบ่ไว้ คั้นคาบได้บ่วาง

๒๖. ตัวนึ่งชื่อว่าอ้ายข้างหย้างหมาเก่า เจ้ามันรักเท่าเสมอใจ มันได้ไปบ่เปล่า ตีนมันย่ำเต่าปากมันเห่าหาแลน ตามันแหงนหารังเผิ้งรังรอก หางมันซุกซอกเข้ารูหนู หูมันฟังหาเจ้ามันเรียกว่าโอ๊ะ ๆ

๒๗. ตัวนึ่งชื่อว่าพู้ตับงูหมาหม่น

๒๘. ตัวนึ่งชื่อว่าก้นหางกิด หันอันใดย่อมไล่ติดเลยไล่ คันหันใกล้ย่อมคั้นคาบหื้อตาย

๒๙. ตัวนึ่งชื่อว่าแสนตาวงไววะวาด

๓๐. ตัวนึ่งชื่อว่าสายฟ้าฟาดธรณี
              
หมู่หมามี ๓๒ ตัว ก็มาระวงแวดล้อม ห้อมล้อมพราหมณ์ปู่เถ้าเล่าเก่ากลัวตาย  ก็ฅะยุฅะยายขึ้นต้นไม้สิก ขึ้นขะยิกงะงันงะงัน มือนึ่งผันค่าเค้า มือนึ่งถือไม้เท้ากวัดไกวไปมา พราหมณ์พาลาปู่เถ้า ร้องอ้อเอ้าว่าเสือขบหัว หมาผีว้อสูนี้ร้ายแท้หนอ หมาพาลาขี้หย้าน ต่านส้านตกไม้กวาว ปาวหวาวตกไม้หมี่ รูขี้บี่บังยัง มือมันเกาะง่าจันทน์ ตีนมันยันง่าเก่า เอาไม้เท้ายอกฅืนหลัง จับใส่ดังหมาแม่ดำร้องเหง็ง ๆ มันซ้ำเร่งด่าว่าฮึฮึเป็นดั่งรือ สุนักขาเหยหมาผีว้อ ของแพ้สูก็ยังมีนอ


ในบทเทศน์มีเท่านี้แล

อีก ๒ ตัว ชื่อใดหนอ คุณหลวงวานบอก

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 07 มี.ค. 12, 16:37
^ ส่งภาพมาประกอบ ค่ะ ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 มี.ค. 12, 17:05
หัวเมืองในสมัยรัชกาลที่ ๕ ร,ศ, ๑๑๒  มีเมืองอะไรบ้าง  และหัวเมืองต่อหัวเมืองปกครองกันอย่างไร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 12, 13:07
 ;D หัวเมือง ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึง ร.ศ. 112 แบ่งป็น
1 หัวเมืองชั้นใน
2 หัวเมืองชั้นนอก
3 หัวเมืองประเทศราช
1.หัวเมืองชั้นใน เดิมเรียกว่าเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่าน เมืองชั้นใน จะตั้งอยู่รอบเมืองหลวง ถือว่าเป็นบริวารของเมืองหลวง เมืองชั้นในไม่ได้เป็นเมืองอย่างแท้จริง เพราะไม่มีเจ้าเมืองปกครอง มีแต่ผู้รั้ง หรือ จ่าเมือง ทำหน้าที่ดูแล ไม่มีอำนาจอย่างเจ้าเมือง การบริหารงานต้องรับคำสั่งจากเสนาบดีจัตุสดมภ์ หรือฟังคำสั่งจากเมืองหลวง หัวเมืองชั้นใน มีความสำคัญเป็นเมืองระดับชั้นจัตวา
2.หัวเมืองชั้นนอก เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักร เมืองเหล่านี้จัดแบ่งเป็นระดับชั้น ตามขนาด จำนวนพลเมือง ความสำคัญ แบ่งเป็นชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี และอาจมีเมืองเล็ก ๆ ( เมืองชั้นจัตวา ) อยู่ใต้สังกัด เจ้าเมืองเหล่านี้ มีอำนาจสิทธิ์ขาดในเมืองของตน แต่ต้องปฏิบัติตามพระราชโองการและนโยบายจากเมืองหลวงตามเขตความรับผิดชอบกล่าวคือหัวเมืองที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือและภาคอิสาน อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหนายก
หัวเมืองที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ อยูในความรับผิดชอบของสมุหกลาโหม
หัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมท่า ( พระยาพระคลัง )
หัวเมืองที่สังกัดกรมท่า มี 9 เมือง ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ สาครบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี บางละมุง ระยองจันทบุรี ตราด
เมืองชั้นเอก พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งเจ้าเมืองเอง ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้แก่ พิษณุโลก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ถลาง และสงขลา
เมืองชั้นโท ตรี และจัตวา เสนาบดีที่รับผิดชอบเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าเมือง
3.หัวเมืองประเทศราช หรือ เมืองขึ้น เป็นเมืองของชาวต่างชาติต่างภาษา หรือ ประเทศเหล่านั้นยอมอยู่ภายใต้การคุ้มครองของไทย มีเจ้าเมืองหรือกษัตริย์ ปกครองกันเอง ตามจารีตประเพณีของแต่ละชาติ การเป็นเจ้าเมืองหรือกษัตริย์ จะต้องบอกหรือเข้ามากราบบังคมทูล ขอให้เป็นผู้แต่งตั้งให้ โดยเมืองขึ้นมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการ และต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาให้ โดยปรกติจะจัดส่ง 3 ปีต่อครั้ง ต้องเกณฑ์ทัพมาช่วยถ้ามีศึกสงคราม
ประเทศราชในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้แก่ ล้านนา (เชียงใหม่ ) ล้านช้าง หรือ ลาว ( หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ) เขมร ( กัมพูชา ) หัวเมืองมลายู ( ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู )

หอมรดกไทย ..เล่าว่า .....
จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ระบุว่าหัวเมืองขึ้นกรุงเทพมหานครมี 474 หัวเมือง ปัจจุบัน เหลือจารึกที่บอกชื่อหัวเมืองเหล่านั้น กับเจ้าเมืองบางเมืองอยู่ราวครึ่งหนึ่ง ตรวจได้ศิลาจารึก 77 แผ่น ทำเนียบเมือง 194 เมือง แบ่งออกได้ดังนี้
ทิศเหนือ
พื้นที่ทิศเหนือของประเทศสยาม ปัจจุบันได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดยโสธร และจังหวัดอุบลราชธานี ของประเทศไทย รวมทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศลาว
•   เมืองศรีภิรม เมืองพรหมพิราม เมืองเทพบุรี เมืองชาตกาล เมืองนครไทย และเมืองด่านซ้าย สุดน้ำโทก 6 เมือง ขึ้นกับเมืองพิษณุโลก
•   เมืองชุบศรสำแดง เมืองชุมแสงสงคราม เมืองศรีพนมมาศ และเมืองนครนาคง อยู่ลำน้ำใหญ่ 4 เมือง ขึ้นกับเมืองพิษณุโลก
•   เมืองลับแล เมืองปากเหือง เจ้าเมืองชื่อพระอณะพินาศ เมืองน้ำปาด และเมืองสวางคบุรี รวมลำน้ำพิชัย 3 เมือง ขึ้นกับเมืองพิชัย
•   เมืองตรอนตรีศิลป์ อยู่ตอนหนบุรพสวางค์ เมืองบางโพ และเมืองขุนกัน อยู่ลำน้ำพิชัยฝั่งตะวันตก ขึ้นกับเมืองพิชัย
•   เมืองพิพัฒน์ ขึ้นกับเมืองพิชัย
•   เมืองทุ่งยั้งและเมืองสวรรคโลกขึ้นกับมหาดไทย
•   เมืองพิชัย หัวเมืองชั้นตรี เจ้าเมืองชื่อออกญาศรีสุริยราชราชัยอภัยพิรยพาหะ ศักดินา 3,000 ขึ้นกับมหาดไทย
•   เมืองพิมูล ขึ้นกับเมืองพิชัย
•   เมืองสุโขทัย หัวเมืองชั้นโท ผู้ครองเมืองชื่อออกญาศรีธรรมศุภราชชาติบดินทร สุรินทรฤๅไชย อภัยพิริยบรากรมพาหุ ศักดินา 10,000 ขึ้นกับมหาดไทย
•   เมืองราชธานี เมืองกงคราม เมืองพิรามรงค และเมืองพิแรมรมย์ ขึ้นกับเมืองสุโขทัยทั้ง 4 เมือง
•   เมืองโคฎก อยู่ฝั่งเหนือบางขัง เมืองบางขัง อยู่ฝั่งใต้ลำบางขัง ขึ้นกับเมืองสวรรคโลก
•   เมืองสำโรงทอง อยู่ฝั่งเหนือลำสำโรง เมืองคีรีมาศอยู่ดอน ขึ้นกับเมืองสุโขทัย
•   เมืองปอง ขึ้นกับเมืองเถินอยู่ดอน
•   เมืองเถิน เจ้าเมืองชื่อพระยาเถินบุรี ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองกำแพงเพ็ชร หัวเมืองชั้นโท ผู้ครองเมืองชื่อออกญารามรณรงคสงคราม รามภักดีอภัย พิริยพาหะ ถือศักดินา 10,000 ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองเชียงทอง เมืองเชียงเงิน อยู่ลำพิงฝั่งออก ขึ้นเมืองตาก
•   เมืองโกสามพิน เมืองบงการบุรี เมืองโบราณราช เมืองนาถบุรี เมืองไตรตรึงค์ ขึ้นเมืองกำแพงเพชร 5 เมือง
•   เมืองป่าศักดิ์ ผู้ครองเมืองชื่อเจ้านครจำปาศักดิ์ ประเทศราช ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองโขงเจียม ขึ้นมหาดไทย
•   เมืองปากแซง ขึ้นกับเมืองเจียม
•   เมืองเขมราฐ เจ้าเมืองชื่อพระเทพวงศา ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองมุกดาหาร เจ้าเมืองชื่อพระจันทมุริยวงศ์ ขึ้นมหาดไทย
•   เมืองนครพนม ผู้ครองชื่อพระสุนทรราชวงศา มหาขัตติยชาติ ประเทศราชทวาเวียง ดำรงรักษศักดิยศทฤๅไกร ศรีพิชัยสงคราม เจ้าเมืองยศสุนทร ทั้งสองเมือง ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองท่าอุเทน ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองไชยบุรี เจ้าเมืองชื่อพระไชยวงศา ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองเดชอุดม เจ้าเมืองชื่อพระศรีสุระ ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองศีรษะเกศ เจ้าเมืองชื่อพญาวิเศษภักดี ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองสาลวัน เจ้าเมืองชื่อเอกราช เมืองสะเมียร์ เมืองสะภาษ และเมืองคง อยู่ตะวันตกลำเซโคนฝั่งของข้างเหนือ 4 เมือง ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองสีทันดร เจ้าเมืองชื่อพระอภัยราชวงศา ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองตระการ อยู่ลำแม่ขานฝั่งเหนือ เมืองแจ่ม อยู่ลำแม่แจ่มฝั่งตะวันออก เมืองยวม อยู่ฝั่งน้ำยวมหนตะวันตก และเมืองพาน อยู่ตอนหนใต้ ขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ 4 เมือง
•   เมืองหอด อยู่ลำแม่พิงฝั่งตะวันตก เมืองตื่นด่าน พญาอินทรคีรี ขึ้นเมืองเชียงใหม่ 2 เมือง
•   นครลำพูนไชยประเทศราช ผู้ครองเมืองชื่อตามนามเมือง ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองยอง อยู่ฝั่งแม่กอง ตะวันออกตรงเมืองลำพูนข้าม ขึ้นกับเมืองลำพูน
•   เมืองป่าซาง อยู่ลำแม่ทาฝั่งตะวันตก เมืองหนองล่าง อยู่ลำแม่ลี้ฝั่งเหนือ และเมืองลี้ อยู่ปลายแม่ลี้ฝั่งใต้ ขึ้นกับเมืองลำพูนทั้ง 3 เมือง
•   เมืองจาน เมืองเมาะ เมืองท่า เมืองลอง อยู่ตะวันออกของนครลำปาง เมืองพยาก เมืองงาว อยู่ตอนเหนือของเมืองลำปาง เมืองเตาะ อยู่ฝั่งตะวันออกน้ำเตาะ เมืองวัง และเมืองแจ้ห่ม อยู่ฝั่งแม่วังฝั่งตะวันออก ขึ้นกับเมืองนครลำปางทั้ง 9 เมือง
•   เมืองเวียงติ้นและเมืองพะเยา อยู่ลำแม่วังฝั่งตะวันตก ขึ้นกรมมหาดไทย
•   นครลำปางประเทศราช ผู้ครองเมืองชื่อตามนามเมือง ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองเสิมและเมืองจาง อยู่แม่จางฝั่งเหนือ ขึ้นกับเมืองนครลำปาง
•   เมืองเชียงของ เมืองโปง เมืองเงิน เมืองสราว และเมืองปัว ขึ้นเมืองน่าน
•   เมืองน่าน ผู้ครองเมืองชื่อพระยามงคลยศประเทศราช ขึ้นมหาดไทย
•   เมืองหินและเมืองงั่ว อยู่หนใต้ ขึ้นเมืองน่าน 2 เมือง
•   เมืองแพร่ เจ้าเมืองชื่อพญาแพร่ราชวงศาประเทศราช ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองสรองและเมืองแสนหลวง อยู่หนใต้เมืองแพร่ ขึ้นกับเมืองแพร่
•   เมืองนำภูน เมืองนำอาย เมืองเพียง และเมืองทุง อยู่ลำของใต้เมืองหลวง 5 เมือง เมืองด่านขวา เมืองเชียงเงิน อยู่ลำน้ำด่านตะวันออกเมืองหลวง 2 เมือง ขึ้นเมืองหลวงพระบาง 7 เมือง
•   เมืองมวย เมืองสะกก เมืองหิว เมืองบุญวัง เมืองหะท้าว เมืองไต และเมืองปักแสง อยู่ลำน้ำเซืองตะวันออกเมืองหลวง ขึ้น 7
•   เมืองคำเกิด อยู่หว่างน้ำอ่อน หว่างน้ำยวงฝั่งเหนือ เมืองคำม้วน อยู่ลำน้ำอ่อนฝั่งเหนือ ขึ้นกรมมหาดไทย 2 เมือง
•   เมืองหาว อยู่ลำน้ำโชติฝั่งเหนือ ขึ้นเมืองคำม้วน
•   เมืองบ่อ อยู่ลำน้ำอ่อนฝั่งใต้ ขึ้นเมืองคำเกิด
•   เมืองว่า อยู่ลำน้ำมอญฝั่งตะวันออก ขึ้นเมืองคำม้วน
•   เมืองภูเวียง ขึ้นเมืองเวียงจันทน์
•   เมืองยศสุนทร เหนือลำพมูล พระสุนทรวงศา เจ้าเมืองนครพนม กินเมืองยศสุนทรด้วย ขึ้นกรมมหาดไทย
•   กรุงศรีสัตนาคนหุตอุดมราชธานี เมืองเวียงจันทน์ ประเทศราช อยู่ฝั่งลำของฟากเหนือ ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองนามฮุง เมืองเชียงคาน อยู่เหนือเวียงจันทน์ ขึ้นเมืองเวียงจันทน์ 2 เมือง
•   เมืองท่าบ่อและเมืองพานพร้าว อยู่ฝั่งลำของข้างใต้ ขึ้นเมืองเวียงจันทน์ 2 เมือง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 12, 13:14
 ต่อนะคะ  ... ;D
ทิศตะวันออก
พื้นที่ทิศตะวันออกของประเทศสยาม ปัจจุบันได้แก่ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดกาฬสินธุ์ ของประเทศไทย รวมทั้งบางส่วนของประเทศกัมพูชา
•   เมืองพระตะบอง เจ้าเมืองชื่อพระยาอภัยภูเบศร ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองตะโหนด เขมร เมืองพนมศก เขมร ขึ้นเมืองพระตะบอง
•   เมืองนครเสียมราฐ เจ้าเมืองชื่อพระยานุภาพไตรภพสบสรรพยุทธฤทธิ ขึ้นเมืองพระตะบอง
•   เมืองระสือ เขมร ขึ้นเมืองพระตะบอง สิ้นอาญาเขตต์เพียงนี้
•   เมืองพุทไธสมัน เขมร ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองจงกน เขมร เจ้าเมืองชื่อพญาสุรินทภักดีศรีประภัยสุมล ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองนครราชเสมา หัวเมืองชั้นเอก
•   เมืองพิมาย อยู่ทิศตะวันออกลำพิมูล เมืองประโคนไชย และเมืองนางรอง อยู่หนตะวันออก ขึ้นเมืองนครราชเสมา
•   เมืองปักธงไชย อยู่หนใต้นครราชเสมา เมืองพุทไธสงฆ์ อยู่หนเหนือนครราชเสมา ขึ้นนครราชเสมา
•   เมืองชนบท เจ้าเมืองชื่อพญาจันตประเทศ ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองจตุรัศ อยู่ใต้ลำปะชี เมืองไชยภูมิ์ ขึ้นนครราชเสมา
•   เมืองภูเขียว เจ้าเมืองชื่อพระไกรสีหนาท อยู่หนตะวันออก ลำปะชี 2 เมือง ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองสังขะ เจ้าเมืองชื่อพญาสังขบุรีศรีนครอัจ ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองบุรีรำ หนตะวันออกนครราชเสมา ขึ้นนครราชเสมา
•   เมืองสุวรรณภูมิ เจ้าเมืองชื่อพระรัตนวงษา ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองขอนแก่น เจ้าเมืองชื่อพระนคร ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองกาฬสินธุ์ เจ้าเมืองชื่อพญาไชยสุนทร ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองหนองหารน้อย เจ้าเมืองชื่อพระพิทั
ทิศตะวันตก
พื้นที่ทิศตะวันตกของประเทศสยาม ปัจจุบันได้แก่ บริเวณภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทย
•   เมืองกรุงเก่า ผู้รักษากรุงชื่อพระยาไชยวิชิต สิทธสาตรา มหาประเทศราช ชาติเสนาบดี ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองปรันตประเทศ ข้าพระพุทธบาท ขึ้นกรุงเก่า
•   เมืองลพบุรี หัวเมืองชั้นจัตวา เจ้าเมืองชื่อออกพระนครพราหมณ์ ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองสระบุรี หัวเมืองชั้นจัตวา เจ้าเมืองชื่อพระยาพิไชยรณรงค์สงคราม รามภักดีบดินทรนรินทรเสนา มหานิคมธานีศรีมไหศวรรย์ ศักดินา 3,000 ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองประทุมธานี หัวเมืองชั้นตรี เจ้าเมืองชื่อพระยาพิทักษ์ทวยหาญ ขึ้นกรมพระกระลาโหม
•   เมืองนนทบุรี หัวเมืองชั้นจัตวา เจ้าเมืองชื่อพระนนทบุรีศรีมหาสมุทร ถือศักดินา 3,000 ขึ้นกับกรมท่า
•   เมืองราชบุรี เดิมเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา ยกขึ้นเป็นหัวเมืองชั้นโท ผู้ครองเมืองชื่อพระยาสุรินทรฤๅชัย อภัยประเทศราชชาติพัทธยาธิบดี พิริยพาหะ ถือศักดินา 3,000 ขึ้นกรมพระกระลาโหม
•   เมืองกาญจนบุรี หัวเมืองชั้นจัตวา เจ้าเมืองชื่อพระยาประสิทธิ์สงคราม รามภักดี ศรีพิเศษประเทศนิคม ภิรมราไชยสวรรย์ ถือศักดินา 3,000 ขึ้นกรมพระกระลาโหม
•   เมืองศรีสวัสดิ์ หัวเมืองชั้นจัตวา เจ้าเมืองชื่อพระยาพิไชยชนะสงคราม รามภักดี ถือศักดินา 3,000 ขึ้นกรมพระกระลาโหม
ทิศใต้
พื้นที่ทิศใต้ของประเทศสยาม ปัจจุบันได้แก่ บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทย รวมทั้งบางส่วนของประเทศมาเลเซีย
•   เมืองปราจีณบุรี หัวเมืองชั้นจัตวา เจ้าเมืองออกพระอุทัยธานี ถือศักดินา 3,000 ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองกระบิลบุรีและเมืองประจันตคาม ขึ้นกับเมืองปราจีณบุรี
•   เมืองนครนายก หัวเมืองชั้นจัตวา เจ้าเมืองพระพิบูลยสงคราม ถือศักดินา 3,000 ขึ้นกรมมหาดไทย
•   เมืองพนัสนิคม ขึ้นกับกรมท่า
•   เมืองนครศรีธรรมราช หัวเมืองชั้นเอก ผู้ครองเมืองชื่อเจ้าพระยาศรีธรรมราช ชาติเดโชชัย มไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยบราพาหุ ถือศักดินา 10,000 ขึ้นกรมพระกระลาโหม
•   เกาะสมุยและเกาะพงัน ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช
•   เมืองไทรบุรี เมืองแขก ผู้ครองเมืองชื่อพระยาอภัยธิเบศรมหาประเทศราช ชาติอธิบดินทร อินทไอสวรรย ขันธเสมาเดชชิตพิริยพาห เมืองขึ้นนครศรีธรรมราช
•   เมืองสะตูล เมืองมะนาวา เมืองละงู เมืองปะหลิด และเมืองเกาะนางกาวี แขก ขึ้นกับไทรบุรี 5 เมือง
•   เมืองพัทลุง เดิมเป็นหัวเมืองชั้นตรี ยกเป็นหัวเมืองชั้นโท ผู้ครองเมืองชื่อออกญาแก้วโกรพยพิชัยภักดีบดินทรเดโชชัย อภัยพิริยพาหะ ถือศักดินา 5,000 ขึ้นกรมพระกระลาโหม
•   เมืองคชราชาและเมืองศรีชนา ขึ้นกับเมืองพัทลุง
•   เมืองปะเหรียญ เมืองชรัด เมืองกำแพงเพชร เมืองสะทัง และเมืองพะโค ขึ้นกับเมืองพัทลุง
•   เมืองระโนด ขึ้นกับนครศรีธรรมราช
•   เมืองสงขลา หัวเมืองชั้นโท ผู้ครองเมืองชื่อพระยาศรีวิเชียรคีรีสุนทร วิสุทธิศักดา มหาพิชัยสงครามภักดี พิริยพาห ขึ้นกรมพระกลาโหม
•   เมืองมนารา ขึ้นกับเมืองสงขลา
•   เมืองหนองจิก เจ้าเมืองชื่อพระยาวิเชียรศรีสุริยวังศารัตนาเขตต์ประเทศราช เมืองแขก ขึ้นกับเมืองสงขลา
•   เมืองตานี เจ้าเมืองชื่อพระยาวิชิตภักดีศรีสุริยวังศารัตนาเขตต์ประเทศราช เมืองแขก ขึ้นกับเมืองสงขลา
•   เมืองจะนะ เจ้าเมืองชื่อมหานุภาพปราบสงคราม ขึ้นกับเมืองสงขลา
•   เมืองเทพา เมืองสทึง และเมืองรัตนภูม ขึ้นกับเมืองสงขลา
•   เมืองยะหริ่ง เจ้าเมืองชื่อพระยาพิพัฒนเสนามาตยาธิบดี ศรีสุรสงคราม เมืองแขก ขึ้นกับเมืองสงขลา
•   เมืองยะลา เมืองแขก ขึ้นกับเมืองสงขลา
•   เมืองรามันห เจ้าเมืองชื่อพระยารัตนภักดีศรีราชบดินทรสุรินทรวังศา เมืองแขก ขึ้นเมืองสงขลา เมืองสุพรรณ เมืองป่าหลวง มหาอรัญ เมืองปะดัง เมืองแขก ขึ้นกับเมืองสงขลา
•   เมืองระแงะ เจ้าเมืองชื่อพระยาตะมะหงันภักดี ศรีสุวรรณประเทศวิเศษสวัสดิวังศา เมืองแขก ขึ้นกับเมืองสงขลา
•   เมืองสาย เจ้าเมืองชื่อพระยาสุริยสุนทรบวรภักดี ศรีมหารายามักตาลีลาอับดุลระซุน วิบุลขอบเขตต์ประเทศมลายู เมืองแขก ขึ้นกับเมืองสงขลา
•   เมืองปะหลำ เมืองจวบ เมืองปะโหละ เมืองพรายวัน เมืองสีบโปย และเมืองมายอน เมืองแขก ขึ้นกับเมืองสงขลา

ข้อมูลจาก "ทำเนียบหัวเมืองของไทย"  หอมรดกไทย
http://www1.mod.go.th/heritage/nation/city/city.htm (http://www1.mod.go.th/heritage/nation/city/city.htm)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 มี.ค. 12, 14:28
^ชื่นใจจริงที่คุณดีดี มีความพยายามอย่างยิ่ง  ที่จะหาคำตอบมาตอบท่านผู้อาวุโส
ถ้าคุณดีดีเป็นนักเรียน  ครูบาอาจารย์คงจะยินดีมาก  เพราะขยันอย่างได้การงานจริงๆ
เป็นนักเรียนที่หาได้ยากนัก ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 12, 16:59
อุ๊ย!!!....คุณหลวง..ชม... ::)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 มี.ค. 12, 17:38
ท่านผู้อาวุโสไปทำธุระต่างจังหวัดหลายวัน
ที่บ้านจึงเหลือแต่หลานเล่นระหว่างที่ท่านอาวุโสไม่อยู่

วันก่อน  หลานท่านผู้อาวุโสถามว่า

"คนที่นั่งหลังช้างตำแหน่งกลางช้าง เขาทำหน้าที่อะไรหรือครับ"

ผมลืมบอกไปครับว่า  หลานคนนี้กำลังอ่านลิลิตตะเลงพ่ายอยู่
เขาเป็นเด็กสมัยใหม่ ชอบตั้งคำถามอะไรๆ ที่บางทีก็ทำเอาผู้ใหญ่อึ้งได้เหมือนกัน
ผมตอบอธิบายให้หลานเขาเข้าใจความสำคัญและหน้าที่ของคนที่อยู่ตำแหน่งกลางช้างไปแล้ว
แต่ท่านทั้งหลายล่ะครับ  หากเจอคำถามอย่างนี้  ท่านจะอธิบายให้เขาเข้าใจได้อย่างไร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 09 มี.ค. 12, 17:52
หากเจอคำถามอย่างนี้ จะบอกให้เข้าไปอ่านกระทู้ "รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ" ที่เว็บเรือนไทยค่ะ... ;D

(http://www.navy.mi.th/newwww/document/royalthaiday/image/yut3.gif)

      บนหลังช้างจะมีคนนั่งอยู่สามคน ตัวแม่ทัพจะถือง้าวอยู่ที่คอช้าง คนที่นั่งกลางอยู่บนกูบจะถือหางนกยูงซ้ายขวาโบกเป็นสัญญาณ และคอยส่งอาวุธให้แม่ทัพ (ทราบว่า จะสับเปลี่ยนที่นั่งกัน ตอนกระทำการรบเท่านั้น) ที่ท้ายช้างจะมีควาญนั่งประจำที่ ตามเท้าช้างทั้งสี่มีพลประจำเรียกว่า จตุรงคบาท คนทั้งหมดจะถืออาวุธ เช่น ปืนปลายขอ หอกซัด ของ้าว ขอเกราะเขน แพน ถ้าเป็นช้างยุทธหัตถ ีจะมีหอกผูกผ้าสีแดงสองเล่ม ปืนใหญ่หันปากออกข้างขวาหนึ่งกระบอก ข้างซ้ายหนึ่งกระบอก มีนายทหารและพลทหารสวมเกราะ โพกผ้า ช้างที่เข้ากระบวนทัพจะสวมเกราะใส่เกือกหรือรองเท้าเหล็กสำหรับกันขวากหนาม โดยทั้งที่สี่เท้าสวมหน้าราห์ มีปลอกเหล็กสวมงาทั้งคู่ และมีเกราะโว่พันงวงช้าง สำหรับพังหอค่าย โดยไม่เจ็บปวด


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 มี.ค. 12, 18:09
ถ้าหน้าที่ของกลางช้างมีเท่านั้นก็คงจะดีสิครับ 
หลานสงสัยว่า "ถ้ามีหน้าที่ถือแพนหางนกยูงให้สัญญาณกองทัพเวลารบ
และหยิบอาวุธส่งให้แม่ทัพ ก็ดูจะมีหน้าที่น้อยเหลือเกิน
ถ้าไม่มีตำแหน่งนี้ ให้คนที่นั่งอยู่ท้ายช้างปีนขึ้นมาทำหน้าที่แทนก็น่าจะได้
พอท้ายช้างทำหน้าที่กลางช้างเสร็จก็ปีนกลับไปอยู่ท้ายช้างก็ได้นี่ครับ
ไม่เห็นจะต้องมีคนขึ้นไปขี่บนหลังช้างตั้ง ๓ คน ให้ช้างหนักหลังเปล่าๆ"


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 10 มี.ค. 12, 21:49
กลางช้าง เป็นผู้ถ่ายทอด คำสั่งของแม่ทัพ ออกมาเป็นสัญญาณผ่านแพนหางนกยูง เพื่อให้คนทั้งกองทัพได้รับรู้และปฏิบัติตาม
ต้องอ่านเกมคู่ต่อสู้ออก ต้องรู้ว่าตอนไหนเสียเปรียบควรจะถอย ตอนไหนควรจะรุก...
คงจะต้องคอยเป็นที่ปรึกษา แนะนำแม่ทัพ ที่นั่งอยู่บนคอช้างด้วยมั้งคะ...


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 มี.ค. 12, 02:59
ผู้ที่ทำหน้าที่ตำแหน่งกลางช้าง  นอกจากจะเป็นผู้ให้สัญญาณแก่ไพร่พลทหารด้วยการโบกแพนหางนกยูง
และเป็นผู้คอยส่งอาวุธแก่แม่ทัพที่นั่งอยู่ที่คอช้างแล้ว  ยังเป็นผู้ระวังด้านหลังแม่ทัพด้วย
เพราะตำแหน่งกลางช้าง เป็นตำแหน่งที่สามารถหันและมองเห็นได้รอบด้าน  ซึ่งแม่ทัพไม่สามารถมองเห็นได้
ตำแหน่งนี้ถ้าสังเกตดีๆ สัปคับที่กลางช้างนั่งจะมีพนักบังด้านข้างสูงบังตัวกลางช้าง
เพื่อป้องกันกลางช้างเป็นอันตราย  เพราะถ้ากลางช้างเกิดบาดเจ็บ  เท่ากับแม่ทัพจะตกที่นั่งลำบากไปด้วย
เพราะไม่มีคนส่งอาวุธให้เมื่ออาวุธเกิดพลัดหลุดมือในขณะทำศึก กับไม่มีคนคอยระวังหลังให้

ตำแหน่งกลางช้างนี้  จึงเป็นตำแหน่งที่ต้องรู้การบังคับช้าง  รู้เรื่องยุทธวิธี  รู้การใช้อาวุธทั้งหลายบนสัปคับ
และต้องรู้จักนิสัยใจคอแม่ทัพ   ที่สำคัญต้องเป็นคนที่แม่ทัพไว้วางใจมากที่สุด   หากเป็นกลางช้าง
บนหลังช้างทรง  กลางช้างมักเป็นเชื้อพระวงศ์ที่ร่ำเรียนวิชาคชศาสตร์ในกรมพระคชบาล  ซึ่งจะมีบรรดาศักดิ์พิเศษเป็นเจ้าต่างๆ
ซึ่งในชั้นหลังบรรดาศักดิ์เหล่านี้  ได้พระราชทานแก่หม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงที่มีความดีความชอบในราชการ

ตำแหน่งกลางช้างนี้  ในถ้าเป็นเวลาขี่ช้างในกระบวนแห่ปกติ หรือขี่ช้างเดินทางปกติ ไม่ต้องทำหน้าที่
ทำหน้าที่แต่เวลารบทัพจับศึก


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 มี.ค. 12, 07:27
มีคำถามเรื่องปืนรุ่งของ คุณ Siamease ในกระทู้ ๑๑๕  และคุณ :D:D ในกระทู้ ๑๑๗ ค้่งอยู่  พอดีไปพบคำตอบในบันทึกรับสั่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทาน หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ  สวัสดิกุล เรื่อง "ยิงปืนบอกเวลา" โดยทรงอธิบายไว้ว่า

"เรื่องยิงปืนบอกเวลานี้มีมานานแล้ว  เดิมทีเดียวที่ป้อมมุมพระราชวัง  มีปืนใหญ่ประจุอยู่สี่ป้อมเสมอ  ป้อมละกระบอก  เป็นปืนสัญญา  ตามที่เห็นด้วยตาตนเองนั้นมีอยู่กระบอกหนึ่งที่ป้อมมุมวัดพระเชตุพน  ปืนนั้นถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นเช้าตรู่ยิงทุกวัน  กล่าวกันเป็นสองนัย  นัยหนึ่งว่าเป็นการเปลี่ยนดินปืน  แต่ว่าตามความคิดเห็นว่าที่จริงนั้นเป็นสัญญาเปิดประตูวังที่ปิด  เพื่อลดหย่อนการพิทักษ์รักษาพระราชวังในเวลากลางคืน  ที่ยิงปืนนั้นเพื่อให้ได้ยินพร้อมกันทุกด้าน  อีกนัยหนึ่งนั้นเป็นสัญญาณบอกเมื่อไฟไหม้  ถ้าไฟไหม้นอกพระนครยิงนัดเดียว  ถ้าไฟไหม้ในพระนครยิงสามนัด  ถ้าไหม้ในพระราชวังยิงต่อๆ ไปหลายนัดจนไฟดับจึงหยุด  เป็นธรรมเนียมดังนี้"

เรื่องการยิงปืนรุ่งนี้เคยอ่านพบในเอกสารจดหมายเหตุว่า เลิกไปเมื่อต้นรัชกาลที่ ๖


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 มี.ค. 12, 10:41
ขอบคุณคุณวีมี  หนังสือบันทึกรับสั่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ  สวัสดิกุล
มีอะไรน่าสนใจอีกมาก   ผู้ใหญ่สมัยก่อนท่านมักสนทนาอะไรมีสาระความรู้  และจดบันทึกไว้คนรุ่นต่อมา
ได้ศึกษาหาความรู้


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 มี.ค. 12, 10:56
ท่านผู้อาวุโสโทรศัพท์มาสนทนาในระหว่างที่เดินทางไปทำภารกิจอยู่ต่างจังหวัด
ท่านถามผมว่า  "ไทยเรานี่  เริ่มธรรมเนียมอนุญาตให้ประชาชนคนทั่วไปเข้า
ไปเคารพสักการะพระศพเจ้าฟ้าเจ้านายได้เป็นครั้งแรกเมื่อไร"

อ้อ  ท่านขอหลักฐานด้วยครับ  เท่านั้นไม่พอ ท่านขออีกว่า

"ในครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าเคารพพระศพเจ้าฟ้าเจ้านาย
คนที่จะเข้าไปนั้น  ต้องปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง"


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 12 มี.ค. 12, 13:40
^ การอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปเคารพสักการะพระศพเจ้าฟ้าเจ้านายได้เป็นครัืงแรก
ในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ค่ะ
หลักฐานจากประกาศกระทรวงนครบาล ณ วันที่ ๒๘ ตุลาคม รศ. ๑๒๙

...  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศมาว่า ประชาชนทั้งหลายไม่เลือกว่าชั้นใด ชาติใด
ภาษาใด ชายหรือหญิง แม้มีความประสงค์จะมาถวายบังคมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เข้ามาได้เดือนละ ๒ ครั้ง ตามกำหนดวันเวลาดังนี้ คือ
     บรรดาราษฎรทั้งหลายที่จะมาถวายบังคมพระบรมศพ ควรมาวันที่ ๑ พฤศจิกายน แลว้นที่ ๑๕ พฤศจิกายน
ตั้งแต่เวลาเช้า ๓ โมงไปจนถึงเวลาบ่าย ๕ โมง ส่วนเดือนธันวาคม แลเดือนต่อไป ก็คงมีกำหนดวันที่ ๑
แลวันที่ ๑๕ เวลาเดียวกัน จนกว่าจะได้ถวายพระเพลิง ...
     อนึ่งผู้ที่จะมาถวายบังคมพระบรมศพนั้น ควรแต่งตัวให้เรียบร้อยอย่างธรรมเนียมไว้ทุกข์ คือผู้ชายนุ่งขาว
สรวมเสื้อขาว ผู้หญิงนุ่งผ้าขาวสรวมเสื้อขาวห่มขาว ถ้าเปนชาติที่มีธรรมเนียมไว้ทุกข์ดำก็แต่งกายตามลัทธิแห่งตนๆ
แลถ้าจะมีดอกไม้ธูปเทียนหรือพวงมาไลยมาทำสักการะบูชาด้วยก็ยิ่งดี ...

ประกาศเพิ่มเติม
    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประทับให้ราษฎรทั้งหลายเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย สุดแต่จะทรงมีพระเวลา
     


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 มี.ค. 12, 14:19
ข้อความที่ว่า

"...อนึ่งผู้ที่จะมาถวายบังคมพระบรมศพนั้น ควรแต่งตัวให้เรียบร้อยอย่างธรรมเนียมไว้ทุกข์ คือผู้ชายนุ่งขาว
สรวมเสื้อขาว ผู้หญิงนุ่งผ้าขาวสรวมเสื้อขาวห่มขาว..."


ธรรมเนียมไว้ทุกข์ที่ขีดเส้นใต้นั้น  มีรายละเอียดกำหนดไว้อย่างไร เมื่อไร และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
อ้อ  ถ้ามีเรื่องความเป็นมาของการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชน
เข้าไปสักการะพระบรมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประกอบด้วย ก็จะดีมาก


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 มี.ค. 12, 14:39
ข้อความที่ว่า

"...อนึ่งผู้ที่จะมาถวายบังคมพระบรมศพนั้น ควรแต่งตัวให้เรียบร้อยอย่างธรรมเนียมไว้ทุกข์ คือผู้ชายนุ่งขาว
สรวมเสื้อขาว ผู้หญิงนุ่งผ้าขาวสรวมเสื้อขาวห่มขาว..."


ธรรมเนียมไว้ทุกข์ที่ขีดเส้นใต้นั้น  มีรายละเอียดกำหนดไว้อย่างไร เมื่อไร และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
อ้อ  ถ้ามีเรื่องความเป็นมาของการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชน
เข้าไปสักการะพระบรมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประกอบด้วย ก็จะดีมาก


คุณหลวงนี่ถามยิบจนริ้นเข้าไม่ถึงตัวเลยนะ  เอาประกาศหมายไว้ทุกข์ เมื่อปีกุน นพศก จ.ศ. ๑๒๔๙ เนื่องด้วยการแต่งดำ แต่งขาวมีกันดาษดื่น จึงทรงประกาศให้กำหนดผังครองครัวขึ้นมาตามลำดับว่า ผู้ใดควรแต่งดำ ผู้ใดควรแต่งขาว

ในวงรอบสองชั้น "ให้แต่งดำ" ส่วนวงรอบชั้นเดียว "ให้แต่งขาว" ส่วนญาตที่เหลือจากนี้ให้แต่งดำ และเริ่มใช้ในงานพระศพสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษ์ เป็นปฐม


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 มี.ค. 12, 14:43
ดูก่อน  ออกขุน  ท่านตอบมาดังนี้  เราชอบใจนัก
แต่ว่า  คนไทยมีธรรมเนียมว่าไม่นับญาติกับพระเจ้าแผ่นดิน
หากว่าท่านแสดงลำดับมาดังนี้  คนทั้งหลายย่อมเข้าใจว่า
คนที่แต่งขาวเข้าไปเคารพพระบรมศพนั้น  เขาคิดจะนับญาติกับพระแผ่นดิน
กระนั้นหรือ   ควรจะอธิบายให้แจ่งกระจ่างด้วย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 มี.ค. 12, 14:47
มาไม่ทันคุณกะออม กับออกขุนเลยจริงๆ ;D

ส่วนสาเหตุความเป็นมาของการโปรดเกล้าฯ นั้น
ติดตามได้ที่ "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖"


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 12 มี.ค. 12, 14:57
ก็ตอบเท่าที่ถาม
เรื่องทำเนียมไว้ทุกข์ รอท่านออกขุนมาตอบ

จะตอบเรื่องความเป็นมาของการโปรดเกล้าฯ ดังนี้

    เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล ขอประกาศให้ราษฎรทั้งหลายจงทราบทั่วกัน
    ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าได้ทรงสังเกตเห็นราษฎรทั้งหลายไม่เลือกว่าชั้นใดชาติใด
เมื่อได้ทราบข่าวสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จสวรรคตเสียแล้ว ต่างพากันเศร้าโสกโสกาดูรด้วยความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท จนถึงเวลาเมื่อเชิญพระบรมศพมาสู่
พระบรมศพมาสู่พระบรมมหาราชวัง ก็ยังอุส่าห์พากันมาคอยส่งพระบรมศพ มีเสียงร่ำร้องไห้ซงแซ่คลอด ๒ ข้างทาง บางหมู่ก็พากัน
เดิรตามพระบรมศพมาจนถึงพระบรมมหาราชวัง เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตร์เห็นความสามิภักดิ์อันหนักแน่นลึกซึ้งของ
ประชาชนทั้งหลายมาปรากฏเฉพาะพระภักตร์เช่นนี้  มีพระราชหฤทัยเต็มตื้นไปด้วยความสงสาร แลทรงแน่ในพระราชหฤทัยว่าคนทั้งหลายคง
จะมีความปรารถนาอยู่เปนอันมาก ที่จะได้มาถวายบังคมพระบรมศพ โดยความกตัญญูกะตะเวที แลความเสน่หาอาไลย

   เพราะฉะนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเข้าถวายบังคมพระบรมศพ ตามนั้นแล


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 มี.ค. 12, 14:59
ดูก่อน  ออกขุน  ท่านตอบมาดังนี้  เราชอบใจนัก
แต่ว่า  คนไทยมีธรรมเนียมว่าไม่นับญาติกับพระเจ้าแผ่นดิน
หากว่าท่านแสดงลำดับมาดังนี้  คนทั้งหลายย่อมเข้าใจว่า
คนที่แต่งขาวเข้าไปเคารพพระบรมศพนั้น  เขาคิดจะนับญาติกับพระแผ่นดิน
กระนั้นหรือ   ควรจะอธิบายให้แจ่งกระจ่างด้วย

เข้าไปอ่านดูในการนุ่งขาวล้วน และนุ่งดำห่มขาวนะขอรับ  8)

 ประกาศนุ่งขาว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ กำหนดแบบธรรมเนียมไว้ทุกข์ในการศพขึ้นใหม่  (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2430/005/35_1.PDF)

และ
 ประกาศข้าราชการทหารแต่งเครื่องแบบไว้ทุกข์ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2443/042/596.PDF)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 มี.ค. 12, 15:03
ออกขุน  อย่าเกียจคร้าน  กรุณาคัดข้อความที่ต้องการมาเน้นให้สาธารณชนทราบเถิด


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 มี.ค. 12, 15:32
พระวังรึง  คืออะไร ??? ??? ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 มี.ค. 12, 15:41
หลักฐานจากประกาศกระทรวงนครบาล ณ วันที่ ๒๘ ตุลาคม รศ. ๑๒๙

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/10/K5945551/K5945551.html#26

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/10/K5945551/K5945551-26.jpg)

 (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/10/K5945551/K5945551-27.jpg)

 (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/10/K5945551/K5945551-28.jpg)

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 มี.ค. 12, 16:34
พระวังรึง  คืออะไร ??? ??? ???

พระวังรึง  เป็นคำราชาศัพท์  แปลว่า เปล  เช่นเดียวกับคำว่า พระอู่
อ้างจากหนังสืออนันตวิภาค ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 มี.ค. 12, 16:39
คน จำนวน  ๔ คน ที่เคยเห็นพระรูปโฉมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และมีอายุยืนยาวมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕  จนได้ช่วยบอกพระลักษณะและคอยติให้ช่างปั้นพระบรมรูป
ได้แก้ไขจนกระทั่งเป็นที่ยอมรับว่า พระบรมรูปปั้นนั้นเหมือนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

คนทั้ง ๔ คนนั้น  ได้แก่ใครบ้าง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 12 มี.ค. 12, 18:14
คน จำนวน  ๔ คน ที่เคยเห็นพระรูปโฉมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และมีอายุยืนยาวมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕  จนได้ช่วยบอกพระลักษณะและคอยติให้ช่างปั้นพระบรมรูป
ได้แก้ไขจนกระทั่งเป็นที่ยอมรับว่า พระบรมรูปปั้นนั้นเหมือนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

คนทั้ง ๔ คนนั้น  ได้แก่ใครบ้าง

พระองค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒ พระองค์ ๑
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังองค์ ๑
เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี บุรณศิริ) คน ๑
เจ้าพระยาธรรมา ฯ (ละมั่ง สนธิรัตน) คน ๑


จาก ความทรงจำ พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงค้างไว้ ๕ ตอน

"... เรื่องสร้างพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัว ๔ พระองค์นั้น ก็เริ่มปั้นหุ่น
มาแต่ปีมะเส็ง การสร้างพระบรมรูปไม่เคยมีประเพณีมาแต่ก่อน แต่โบราณ
รูปที่สร้างเป็นเจดีย์วัตถุสำหรับสักการบูชาสร้างแต่พระพุทธรูป และเทวรูป
หรือรูปพระสงฆ์ซึ่งมีผู้นับถือมาก แม้จะสร้างพระรูปเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระ
เกียรติพระเจ้าแผ่นดินก็สร้างเป็นพระพุทธรูปดังเช่นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
กับพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่อยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หรือมิฉะนั้นก็สร้างเป็นรูปพระอิศวรหรือพระนารายณ์ ยังมีอยู่ในเมือง
เขมรหลายองค์ ที่จะสร้างพระรูปพระเจ้าแผ่นดินเป็นรูปมนุษย์แต่โบราณ
หาทำไม่ อะไรเป็นต้นเหตุให้ทิ้งตำราเดิม เวลาแต่งหนังสือนี้หมดตัวผู้รู้
เสียแล้ว นึกเสียดายที่ไม่ได้กราบทูลถามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อยังมีโอกาส
ที่จะรู้ได้ จึงได้แต่สันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่ คือเมื่อในรัชกาลที่ ๔
ได้พระรูปพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศเข้ามาหลายองค์ เป็นพระรูปหล่อ
เช่นที่เอมเปอเรอนะโปเลียนที่ ๓ กับพระมเหสีถวายมาเป็นบรรณาการบ้าง
เป็นพระรูปปั้นระบายสีเช่นที่ยังรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานบ้าง ความนิยม
คงจะเริ่มเกิดขึ้นในสมัยนั้น จึงมีผู้ส่งพระบรมรูปฉายาลักษณ์พระบาทสม
เด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (องค์ที่ทรงพระมาลาสก๊อต) ไปให้ทำเป็นรูป
หล่อที่ในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ช่างปั้นฝรั่งเศสเป็นผู้ปั้น ได้เห็นแต่ฉายา
ลักษณ์ จึงคิดประดิษฐ์พระรูปโฉมตามคาดคะเน แล้วหล่อด้วยปูนปลาส
เตอร์ขนาดสูงราวครึ่งเมตร ส่งเข้ามาถวายทอดพระเนตรก่อน พระบาท
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร เห็นพระบรมรูปที่ฝรั่งทำผิด
เพี้ยนพระลักษณะมากนัก จึงให้บอกเลิกแล้วดำรัสสั่งให้ช่างไทย (จะเป็น
ใครสืบไม่ได้ความ แต่เป็นช่างปั้นฝีมือเยี่ยมอยู่ในเวลานั้น) ปั้นพระบรมรูป
ขึ้นใหม่อีกองค์ ๑ ให้ทำเป็นอย่างพระบรมรูประบายสีขนาดเท่าพระองค์
แต่การปั้นยังไม่ทันแล้วก็สิ้นรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ทำต่อมาจนสำเร็จ เมื่อมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ขึ้นเช่นนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่าควรจะสร้างพระบรม
รูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์เป็นพระรูปหล่อขนาดเท่าพระองค์ขึ้น
ไว้เป็นที่สักการบูชาเฉลิมพระเกียรติ ฝ่ายท่านผู้ใหญ่ในราชการแผ่นดินก็
เห็นชอบด้วย เพราะมีแบบแผนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสร้างพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สนอง
พระเดชพระคุณสมเด็จพระบุรพการีมหาราชเป็นเยี่ยงอย่าง และพระบาท
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มสร้างรูปมนุษย์มาแล้ว สันนิษฐาน
ว่ามูลเหตุที่สร้างพระบรมรูป ๔ พระองค์ เห็นจะเป็นเช่นว่ามา การ
สร้างพระบรมรูป ๔ พระองค์นั้น โปรดฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ
อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ และเป็นช่างอย่างดีในพระองค์เองด้วย เป็นผู้อำนวย
การ เมื่อปั้นหุ่นนั้นรู้พระลักษณะได้แน่แต่ขนาดพระองค์ว่าสูงเท่าใด เพราะ
มีพระพุทธรูปฉลองพระองค์อยู่เป็นหลัก แต่ส่วนพระรูปโฉมนั้นนอกจาก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมรูปปั้นอยู่แล้ว ต้อง
อาศัยไต่ถามผู้ที่ได้เคยเห็นพระองค์ให้บอกพระลักษณะและคอยติให้ช่างแก้
ไขไปแต่แรกจนแล้ว ก็ในเวลานั้นผู้ที่เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศ
หล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีอยู่มาก แต่ผู้
เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หาได้แต่ ๔ คน คือ พระ
องค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒ พระองค์ ๑ สมเด็จพระพุฒา
จารย์ (โต) วัดระฆังองค์ ๑ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) คน ๑ กับ
เจ้าพระยาธรรมาฯ (ลมั่ง สนธิรัตน) คน ๑
ปั้นพระรูปสำเร็จได้หล่อเมื่อ
เดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ แล้วโปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ที่ในพระที่
นั่งดุสิตมหาปราสาทในชั้นแรก ..."


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 มี.ค. 12, 21:19
จาก ความทรงจำ พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงค้างไว้ ๕ ตอน

"... ความนิยมคงจะเริ่มเกิดขึ้นในสมัยนั้น จึงมีผู้ส่งพระบรมรูปฉายาลักษณ์พระบาทสม
เด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (องค์ที่ทรงพระมาลาสก๊อต) ไปให้ทำเป็นรูป
หล่อที่ในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ช่างปั้นฝรั่งเศสเป็นผู้ปั้น ได้เห็นแต่ฉายา
ลักษณ์ จึงคิดประดิษฐ์พระรูปโฉมตามคาดคะเน แล้วหล่อด้วยปูนปลาส
เตอร์ขนาดสูงราวครึ่งเมตร ส่งเข้ามาถวายทอดพระเนตรก่อน (๑) พระบาท
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร เห็นพระบรมรูปที่ฝรั่งทำผิด
เพี้ยนพระลักษณะมากนัก จึงให้บอกเลิกแล้วดำรัสสั่งให้ช่างไทย (จะเป็น
ใครสืบไม่ได้ความ แต่เป็นช่างปั้นฝีมือเยี่ยมอยู่ในเวลานั้น) ปั้นพระบรมรูป
ขึ้นใหม่อีกองค์ ๑ ให้ทำเป็นอย่างพระบรมรูประบายสีขนาดเท่าพระองค์ (๒)
แต่การปั้นยังไม่ทันแล้วก็สิ้นรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ทำต่อมาจนสำเร็จ  ..."

(๑)  พระบรมรูปตัวอย่างนี้  เดี๋ยวนี้อยู่ในหอพระสุราลัยพิมาน

(๒) พระบรมรูปองค์ที่ว่านี้ เดี๋ยวนี้ประดิษฐานไว้ใพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทที่เมืองเพชรบุรี

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3598710/K3598710.html#2

 ;D



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 มี.ค. 12, 21:31
(๑)  พระบรมรูปตัวอย่างนี้  เดี๋ยวนี้อยู่ในหอพระสุราลัยพิมาน

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมรูปอยู่ในพระอริยาบถยืน ทรงฉลองพระองค์แบบสูทฝรั่ง ทรงภูษาโจง ทรงพระมาลาสก็อต ทรงสายสะพายแบบเลจิอองคอนเนอร์ของฝรั่งเศส ทรงฉลองพระบาท พระพักตร์และพระวรกายอ้วนท้วนมีกล้ามเนื้อแบบฝรั่ง โดยเอมิล ฟรังซัว ซาตรูส หล่อสัมฤทธิ์เคลือบทอง พ.ศ. ๒๔๐๖

ที่มา: อภินันท์ โปษยานนท์. จิตรกรรมและประติมากรรมในราชสำนัก ๑. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๓๖. หน้า ๒๔.

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 มี.ค. 12, 22:18
(๒) พระบรมรูปองค์ที่ว่านี้ เดี๋ยวนี้ประดิษฐานไว้ใพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทที่เมืองเพชรบุรี

++++

ประวัติพระรูปนี้ได้ความว่า เมื่อครั้งปั้นพระรูปด้วยฝีมือฝรั่งไม่ทรงโปรด เนื่องจากไม่เหมือน และให้ช่างไทยได้ลองปั้นดูบ้าง ดูเหมือนว่าจะเป็นหลวงเทพรจนา เมื่อครั้นทอดพระเนตรก็โปรด แต่ติดอยู่ที่ต้องนำสุมไฟหลอมทอง ซึ่งถือว่าไม่เป็นมงคล จึงได้นำหุ่นเก็บไว้ที่หอเสถียรธรรมปริตร แล้วย้ายไปหอราชพงศานุสรณ์ในรัชกาลที่ ๖ จนถึงรัชกาลที่ ๗ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีจึงได้ขอพระราชทานไปประดิษฐานที่เขาวัง พระที่นั่งเวชยันตวิเชียรปราสาท ต่อมาจึงได้สร้างรูปหล่อโลหะแทน ส่วนองค์ปูนก็ย้ายมายังวัดบวรนิเวศ จนทุกวันนี้


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 มี.ค. 12, 22:23
พระบรมรูปที่หล่อใหม่ราว พ.ศ. 2503 โดยกรมศิลปากรและบริจาคเงินโดยราชสกุลรวบรวมเงินเข้าสมทบ หล่อรูปที่พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เขาวัง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 มี.ค. 12, 22:25
ลักษณะพระบรมรูปพระหัตถ์ซ้ายทรงถือสมุด ทางวัดบวรนิเวศยังหล่อพระบรมรูปประดิษฐานไว้ที่ลานทักษิณข้างพระเจดีย์ใหญ่ วัดบวรนิเวศ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 13 มี.ค. 12, 08:45
พระบรมรูปนี้ประดิษฐานที่ใดคะ
(http://)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 มี.ค. 12, 10:48
โอ้โฮ  กระทู้เดินลิ่วไปหลายความเห็นทีเดียว   
ขอบคุณคุณภาณุเมศร์ที่ได้ตอบเรื่องคนทั้ง ๔ ที่ได้เคยเห็นพระรูปโฉมรัชกาลที่ ๑
และได้ช่วยกันติชมพระลักษณะเมื่อมีการปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ ๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๕

ส่วนทุกท่านที่มาต่อความยาวด้วยพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔  ขอขอบคุณด้วยเช่นกัน
ท่าทางจะยังมันมือกันอยู่เชียว ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 มี.ค. 12, 11:11
ท่านผู้อาวุโส  รำลึกความหลังครั้งยังเป็นวัยละอ่อนให้ผมฟังว่า

ท่านเคยดูโทรทัศน์สมัยยังเป็นช่อง ๔ บางขุนพรหม  ตอนนั้นจำได้เลาๆ ว่า
มีละครชวนหัวด้วยเรื่องหนึ่ง  ท่านชอบดูมาก  หัวเราะท้องคัดท้องแข็ง

เล่าๆ อยู่ท่านก็ถามขึ้นมาว่า  รู้หรือเปล่าว่า  ละครชวนหัวที่แรกมีที่ช่อง ๔
ชื่อชุดว่าอะไร  มีใครแสดงบ้าง  ใครเป็นคนผู้กำกับเวทีและบอกบท  และเขียนบทละคร
แหม  ท่านถามอะไรก็ไม่รู้  ผมเกิดทันดูช่อง ๔ เสียเมื่อไรกัน
ใครเกิดทันดูละครชวนหัวช่อง ๔ ช่วยผมตอบหน่อยแล้วครับ   ;D ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 มี.ค. 12, 12:19
โอ้โฮ  กระทู้เดินลิ่วไปหลายความเห็นทีเดียว   
ขอบคุณคุณภาณุเมศร์ที่ได้ตอบเรื่องคนทั้ง ๔ ที่ได้เคยเห็นพระรูปโฉมรัชกาลที่ ๑
และได้ช่วยกันติชมพระลักษณะเมื่อมีการปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ ๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๕

ส่วนทุกท่านที่มาต่อความยาวด้วยพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔  ขอขอบคุณด้วยเช่นกัน
ท่าทางจะยังมันมือกันอยู่เชียว ;D

นี่ ๆ กีอก ๆ  ๆ ไม่สนใจพระรูปล้นเกล้า ร.๔ ของคุณกะออมบ้างหรือ  ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 13 มี.ค. 12, 12:58
 ;D ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 13 มี.ค. 12, 14:03
ท่านผู้อาวุโส  รำลึกความหลังครั้งยังเป็นวัยละอ่อนให้ผมฟังว่า

ท่านเคยดูโทรทัศน์สมัยยังเป็นช่อง ๔ บางขุนพรหม  ตอนนั้นจำได้เลาๆ ว่า
มีละครชวนหัวด้วยเรื่องหนึ่ง  ท่านชอบดูมาก  หัวเราะท้องคัดท้องแข็ง

เล่าๆ อยู่ท่านก็ถามขึ้นมาว่า  รู้หรือเปล่าว่า  ละครชวนหัวที่แรกมีที่ช่อง ๔
ชื่อชุดว่าอะไร  มีใครแสดงบ้าง  ใครเป็นคนผู้กำกับเวทีและบอกบท  และเขียนบทละคร
แหม  ท่านถามอะไรก็ไม่รู้  ผมเกิดทันดูช่อง ๔ เสียเมื่อไรกัน
ใครเกิดทันดูละครชวนหัวช่อง ๔ ช่วยผมตอบหน่อยแล้วครับ   ;D ;D ;D

หนูดีดี ก็เกิดไม่ทันดูช่อง ๔ เหมือนกันค่ะ... ;D
แต่ก็พยายามหาคำตอบค่ะ..

ละครชวนหัวที่แรกมีที่ช่อง ๔ ชื่อ "ดึกเสียแล้ว"
ออกอากาศเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499
บทประพันธ์ของ อุษณา เพลิงธรรม (คุณประมูล อุณหธูป )
คุณบรรยงค์ เสนาลักษณ์ หรือเทิ่ง สติเฟื่อง เป็นผู้กำกับ
คุณสอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ เป็นผู้แสดง
คุณเย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ เป็นผู้แสดง

แต่ถ้าเป็นละครชุด แบบ situation comedy  แรกมีที่ช่อง ๔ ชื่อ "นุสรา" ค่ะ
คุณเทพ สุทธิพงศ์ (สุข หฤทัย) เป็นผู้เขียนบทละครโทรทัศน์+ผู้จัด+ผู้กำกับ
คุณฉลอง สิมะเสถียร   เป็นผู้แสดง
คุณอารีย์ นักดนตรี  เป็นผู้แสดง
คุณกัณฑรีย์ นาคประภา เป็นผู้แสดง
คุณมาลนี ชลานุเคราะห์ เป็นผู้แสดง
(คุณฉลอง ภายหลังแต่งงานกับ คุณกัณฑรีย์  มีบุตรสาวชื่อ กัญชลิกา ปัจจุบันเป็นผู้จัดละครค่ะ)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 มี.ค. 12, 14:33
ถึงแม้ คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C) จะอายุน้อย แต่เธอก็รู้ไปโม้ดจริง ๆ

ละครโทรทัศน์เรื่องแรกของประเทศไทย คือ เรื่อง สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน บทประพันธ์ของนายรำคาญ (ประหยัด ศ. นาคะนาท) (http://ประหยัด ศ. นาคะนาท) เรื่องที่สองคือ ดึกเสียแล้ว ของอุษณา เพลิงธรรม ทั้ง ๒ เรื่องออกอากาศทางช่อง ๔ บางขุนพรหม

คุณอ๊อดแห่ง เว็บภาพยนตร์ไทย (http://www.thaifilm.com/forumDetail.asp?topicID=2527&page=5&keyword=) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

ละครไทยเกิดขึ้นหลังจากการเปิดสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของไทย ซึ่งออกอากาศอย่างเป็นทางการวันแรก คือ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ใช้ชื่อว่า บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (ท.ท.ท.) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตั้งสถานีวิทยุ ท.ท.ท.ไว้ก่อนแล้ว เมื่อ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยการดำริของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หลังจากนั้นไม่นาน คุณจำนง รังสิกุล หัวหน้าสถานีก็ดำริให้จัดละครขึ้นเป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้จะมีแต่ละครรำ,ละครพันทาง)

ละครเรื่องแรกของไทยจึงเกิดขึ้นที่ทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม (สี่แยกคอกวัว) คือ เรื่อง "สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน" จัดโดย พจนีย์ โปร่งมณี (ซึ่งอยู่ในทีมงานรุ่นแรกและเป็นดาราละครจากรั้วนาฎศิลป์ กรมศิลปากร) ผู้กำกับการแสดงยังไม่มี ทุกคนจะคอยช่วยกันติชม พระเอกละครคนแรกจากเรื่องนี้มีอยู่ ๒ คน คือ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ และ โชติ สโมสร(นายทหารผู้รักศิลปการแสดง) นางเอกละครคนแรกและคนเดียวคือ นวลละออ ทองเนื้อดี ละครเรื่องแรกออกอากาศไปได้อย่างน่าพอใจ ดาราละครที่เล่นให้ช่อง ๔ ก็เอามาจากเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสถานีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น

๑. อารีย์ นักดนตรี (นางเอกละครยอดนิยมอันดับ ๑ คนแรกของเมืองไทย) เหมาหมดทั้งนางเอกละครรำ, ละครพันทาง, เจ้าหน้าที่ห้องส่ง, ผู้ประกาศ, โฆษก, พิธีกร, นักโฆษณาสินค้า, ร้องเพลง, นางเอกละคร เรียกว่าไม้จิ้มฟ้นยันเรือรบ เป็นเสาหลักตั้งแต่เริ่มจนเปลียนเป็นช่อง ๙ อ.ส.ม.ท.ท่านก็ยังเป็นผู้จัดละครอันดับ ๑ สร้างดาราละครประดับวงการมากมายหลายสิบคน เช่น พิศาล-ภิญโญ ทองเจือ-นิรุตต์-อัศวิน-อนุสรณ์-ดิลก-กนกวรรณ-นันทวัน-ศิริพร-เดือนเต็ม-นวลปราง-ลินดา-กาญจนา-อุทุมพร ฯลฯ จนท่านขอเกษียณตัวเองในเวลาต่อมา ถือเป็นปูชนียบุคคลทางด้านละครจริงๆ ได้รับรางวัลระดับโลกคือรางวัลผู้ประกาศยอดเยี่ยมหญิง The Best Female Announcer ประจำปี ๒๕๐๔ จากสถาบันวิทยุและโทรทัศน์ของสถาบัน ONDAS แห่งประเทศสเปน

๒. ชูชีพ ช่ำชองยุทธ (ท้วม ทรนง) คนนี้ รับเข้ามาทำงานเพราะกะว่าจะให้มาเป็นพระเอก เพราะเห็นแววเล่นหนังดีจากบทพระเอก"ไอ้ขวัญ"ในหนังใหญ่เรื่อง "แผลเก่า" เมื่อปี ๒๔๙๗ แต่เพราะรูปร่างเริ่มท้วม (อายุ ๒๙) เลยถูกเปลี่ยนชื่อตามรูปร่าง แล้วตัวจริงแกมีมุขตลกเยอะ เลยให้เป็นตัวตลก ท่าจะรุ่งกว่า

๓. สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ รับเข้ามาหลังจากสถานีเปิดได้ ๖ เดือน (อายุ ๒๓ หนุ่มฟ้อ หล่อเฟี้ยว สูงโปร่ง) ตั้งใจจะให้แสดงละครเป็นพระเอกโดยเฉพาะ เพราะตอนนั้นท่านเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น สาขาภาพยนตร์ รูปร่างสูงเพียว หน้าตาหล่อเหลาเอาการ เล่นเป็นพระเอกได้ไม่กี่เรื่อง ไม่ค่อยรุ่ง พอหันมาเล่นร้าย ได้รับการต้อนรับอย่างดี เลยกลายเป็นตัวร้าย ตีคู่มากับ สมจินต์ ธรรมทัต มีหน้าที่ประจำอยู่แล้วหลายอย่าง เช่น ผู้จัดรายการ, นักพากย์ประจำสถานีเหมือนสมจินต์ (อายุเท่ากันด้วย)

๔. ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ หัวหน้าจำนง รังสิกุล ได้ไปงานนักเรียนเก่าอังกฤษ ได้ชมการแสดงเสภาเรื่อง"ขุนช้างขุนแผน"ตอน"ฟันม่าน"หน้าพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในรัชกาลที่ ๗ เกิดติดใจเสียงขับเสภาของท่าน จึงได้ชักชวนให้เข้ามาร่วมงานในทีวีช่อง ๔ เพราะเห็นแวว่า จะมาเป็นกำลังสำคัญของสถานีโทรทัศน์ได้ กอรปกับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์และคุณหญิงอุดมลักษณ์ ซึ่งสนิทกันมาก ได้ออกปากชวนให้มาทำงงานที่ช่อง ๔ ด้วยกัน คุณชายถนัดศรี เลยตอบตกลงทันทีหลังจากเปิดสถานีได้ไม่ถึงเดือน (อายุ ๒๙)

๕. บรรยง เสนาลักษณ์ (เทิ่ง สติเฟื่อง) เข้ามาทำงานรุ่นแรก ๆไล่เลี่ยกับท้วม ทรนง แต่บรรยง อายุน้อยกว่าหลายปี (อายุ ๒๓ ท้วม ๒๙) หัวหน้าจำนงรับเข้ามาทำงานเพราะเขาเป็นนักเรียนธรรมศาสตร์ที่ขึ้นเวทีจนเจนแล้วและมีปฏิภาณดี จึงรับเข้ามาในทันทีที่เขียนใบสมัครก่อนเปิดสถานีช่อง ๔ ไม่ถึง ๓ เดือน โดยเข้ามาหลังอารีย์ นักดนตรี เพียง ๒ เดือนเท่านั้น พระเอกก็มีแล้ว คือ หม่อมถนัดศรี, สะอาด ยังขาดตัวตลก นายบรรยง ตัวจริง เป็นคนหัวไว ปากไว ปัญญาดี ขยัน ข้อสำคัญมีอารมณ์ขันอยู่เป็นนิจ มักจะมีคำพูดแปลก ๆ มาจี้เส้นในรายการบนเวทีที่ท่านอารีย์เป็นพิธีกร หัวหน้าจำนงจึงมอบหมายให้นายบรรยง เป็นตัวตลกคู่กับท้วม ทรนง โดยตั้งชื่อใหม่ให้ว่า เทิ่ง กระหม่อมทอง ชื่อ เทิ่ง มาจากกิริยาที่เดินเทิ่ง ๆ ของเขาเอง ส่วนนามสกุล หัวหน้าจำนงตั้งขึ้นเอง พอออกอากาศไปได้ครั้งเดียว ก็มีโทรศัพท์มาจาก ร.อ.ขุนแผน กระหม่อมทอง ท้วงว่าเป็นนามสกุลของเขา หัวหน้าจำนงบอกให้คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ตั้งให้ใหม่ คุณอาจินต์ ก็ดูเอาจากสติปัญญา ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็คิดแต่เรื่องเฟื่อง ๆ ฟู ๆ ผิดมนุษย์คนอื่น จะออกหัวคิดทำอะไรก็ถูกอกถูกใจคนดูไปหมด เลยตั้งนามสกุลให้ว่า "สติเฟื่อง" เจ้าของคำสุดฮิตในสมัยหนึ่ง เช่น "เลิศ สแมนแตน"

ดาราละครนอกจากนี้ก็มี เย็นจิตต์ สัมมาพันธ์, ประไพพัฒน์ นิรัติพันธ์ (สวยมาก แต่เล่นละครได้ ๒ เรื่อง ก็เลิกราไป), ดาเรศ-ศุภมิตร ศาตะจันทร์, อังกูร บุรานนท์, ประกอบ ไชยพิพัฒน์,  สินีนาฏ โพธิเวส(ภรรยา มล.ขาบ กุญชร ณ. อยุธยา อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น), อาคม มกรานนท์, ชวลี ช่วงวิทย์,ไศล ศรีสาธร, ฉลอง สิมะเสถียร (พระเอกใหม่ ซึ่งต่อมากลายเป็นพระเอกละครยอดนิยมอันดับ ๑ ตลอดกาล), สุพรรณี ปิยะสิระนนท์

;D



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 13 มี.ค. 12, 15:11
"นุสรา" กำลังจะกลับมาโลดแล่นบนจอแก้วอีกครั้ง  ;D
โดยฝีมือของผู้จัดมือทอง คุณเอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร
โดยใช้ชื่อว่า นุสรา ฮาสุดขีด ...รอชมกันนะคะ ว่าจะฮาขนาดไหน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 มี.ค. 12, 15:32
นี่ ๆ กีอก ๆ  ๆ ไม่สนใจพระรูปล้นเกล้า ร.๔ ของคุณกะออมบ้างหรือ  ???

ก็สนใจ  แต่เผอิญมีเรื่องอื่นมาแทรกและน่าสนใจกว่าเล็กน้อย
เอาน่ะ  ถ้าออกขุนยังสนใจพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ ไม่เปลี่ยนแปลงแปรไปเป้นอื่น
ก็เชิญแสดงข้อมูลมาให้ทัศนาเถิด  เข้าใจว่าท่านผู้อาวุโสก็ใคร่อ่านอยู่ ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 มี.ค. 12, 15:49

"เจ้าจอมห้องเหลืองชั้นที่เรียกว่าเจ้าจอมนั้น  เขาบ่นกันมานานแล้ว
ว่าเปนสัตว์นรก  งานวัดมีมาเปนนานก็ไม่ได้ดู  ฉันว่าจะให้มาก็เลยๆ
ไป  มันจะแช่งให้ฉันให้ตายจะได้มาดู  ปีนี้เห็นว่าว่างอยู่ปล่อยให้มาเสีย
บ้างจะดี   รถไม่พอก็เปลี่ยนกันไป  ให้มาค้างคืนที่นี่  ที่อยู่ก็มาก
พออยู่  เมื่อไม่มีกำลังจะมาก็แล้วไป  อย่าให้เปนเกณฑ์  แลแบ่งไป
อย่าให้มากเกินรถ"

ข้อความนี้  "ฉัน"  คือใคร  "ฉัน"พูดข้อความนี้กับใคร 
"งานวัด" ในข้อความหมายถึงงานวัดอะไร
"ที่นี่"ในข้อความหมายถึงสถานที่ใด


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 มี.ค. 12, 16:44
^
งานวัดในสมัยรัชกาลที่ ๕ คงหนีไม่พ้น "งานวัดรั้วเหล็กแดง" ใช่หรือไม่


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 13 มี.ค. 12, 16:53
ทำไมท่านsiamese ถึงมั่นใจว่าเป็นวัดนี้ล่ะคะ ;D
วัดอื่นๆ เช่นวัดภูเขาทอง วัดเบญจมบพิตร ก็มีงานวัด...

วัดรั้วเหล็กแดง
รั้วเหล็กชุดนี้ ผู้สร้างวัดสั่งตรงมาจากประเทศอังกฤษตามแบบที่นิยมใช้กันในปราสาทหรือคฤหาสน์ที่นั่น เพื่อถวายรัชกาลที่ 3 สำหรับใช้ล้อมพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) แต่พระองค์ทรงไม่โปรด จึงขอพระราชทานมาล้อมวัดนี้โดยแลกเปลี่ยนกับน้ำตาลทรายที่น้ำหนักเท่ากันแทน...


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 มี.ค. 12, 17:09
ทำไมท่านsiamese ถึงมั่นใจว่าเป็นวัดนี้ล่ะคะ ;D
วัดอื่นๆ เช่นวัดภูเขาทอง วัดเบญจมบพิตร ก็มีงานวัด...

วัดรั้วเหล็กแดง
รั้วเหล็กชุดนี้ ผู้สร้างวัดสั่งตรงมาจากประเทศอังกฤษตามแบบที่นิยมใช้กันในปราสาทหรือคฤหาสน์ที่นั่น เพื่อถวายรัชกาลที่ 3 สำหรับใช้ล้อมพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) แต่พระองค์ทรงไม่โปรด จึงขอพระราชทานมาล้อมวัดนี้โดยแลกเปลี่ยนกับน้ำตาลทรายที่น้ำหนักเท่ากันแทน...

อิอิ  ไปกันใหญ่แล้วคุณดีดี  วัดนั้นแต่ก่อนไปด้วยรถได้หรือ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 13 มี.ค. 12, 17:14
งั้น น่าจะเป็นวัดนี้มั้งคะ... ;D
สาวชาววังน่าจะอยากดู เพราะมีงานออกร้านน่าตื่นตาตื่นใจ
งานออกร้านในวัดเบญจมบพิตร
                ๑   ร้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และเจ้านายทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน
                ๒   ร้านข้าราชการผู้ใหญ่  ผู้น้อย
                ๓   ร้านของชาวต่างประเทศผู้เป็นนายห้างใหญ่ๆ
                ๔   ร้านขายธูปเทียนดอกไม้และทองเปลว
บริเวณร้านอยู่ในเขตรั้วเหล็กแดง และเดินทางไปด้วยรถได้...
มีโรงโขนชักรอกและเขาวงกฎ อยู่นอกรั้วเหล็กแดงทางถนนราชดำเนิน
เขาเล่าว่างานวัดนี้เป็นที่ ดูตัว ของหนุ่มสาวชาววังด้วย..


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 มี.ค. 12, 18:51
ทำไมท่านsiamese ถึงมั่นใจว่าเป็นวัดนี้ล่ะคะ ;D
วัดอื่นๆ เช่นวัดภูเขาทอง วัดเบญจมบพิตร ก็มีงานวัด...

วัดรั้วเหล็กแดง
รั้วเหล็กชุดนี้ ผู้สร้างวัดสั่งตรงมาจากประเทศอังกฤษตามแบบที่นิยมใช้กันในปราสาทหรือคฤหาสน์ที่นั่น เพื่อถวายรัชกาลที่ 3 สำหรับใช้ล้อมพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) แต่พระองค์ทรงไม่โปรด จึงขอพระราชทานมาล้อมวัดนี้โดยแลกเปลี่ยนกับน้ำตาลทรายที่น้ำหนักเท่ากันแทน...

มิได้ ๆ วัดรั้วแดงในที่นี้คือ วัดเบญจมพิตร

วัดรั้วเหล็ก หมายถึง วัดประยุรฯ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มี.ค. 12, 08:25
เอาล่ะ  งานวัดที่ว่า  คือ  งานวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

แต่ยังตอบไม่ครบทุกคำถามนะครับ   อย่าลืมเสียล่ะ

"เจ้าจอมห้องเหลืองชั้นที่เรียกว่าเจ้าจอมนั้น  เขาบ่นกันมานานแล้ว
ว่าเปนสัตว์นรก  งานวัดมีมาเปนนานก็ไม่ได้ดู  ฉันว่าจะให้มาก็เลยๆ
ไป  มันจะแช่งให้ฉันให้ตายจะได้มาดู  ปีนี้เห็นว่าว่างอยู่ปล่อยให้มาเสีย
บ้างจะดี   รถไม่พอก็เปลี่ยนกันไป  ให้มาค้างคืนที่นี่  ที่อยู่ก็มาก
พออยู่  เมื่อไม่มีกำลังจะมาก็แล้วไป  อย่าให้เปนเกณฑ์  แลแบ่งไป
อย่าให้มากเกินรถ"

ข้อความนี้  "ฉัน"  คือใคร  "ฉัน"พูดข้อความนี้กับใคร 
"งานวัด" ในข้อความหมายถึงงานวัดอะไร
"ที่นี่"ในข้อความหมายถึงสถานที่ใด


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 12, 11:09
เอาล่ะ  งานวัดที่ว่า  คือ  งานวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

แต่ยังตอบไม่ครบทุกคำถามนะครับ   อย่าลืมเสียล่ะ

"เจ้าจอมห้องเหลืองชั้นที่เรียกว่าเจ้าจอมนั้น  เขาบ่นกันมานานแล้ว
ว่าเปนสัตว์นรก  งานวัดมีมาเปนนานก็ไม่ได้ดู  ฉันว่าจะให้มาก็เลยๆ
ไป  มันจะแช่งให้ฉันให้ตายจะได้มาดู  ปีนี้เห็นว่าว่างอยู่ปล่อยให้มาเสีย
บ้างจะดี   รถไม่พอก็เปลี่ยนกันไป  ให้มาค้างคืนที่นี่  ที่อยู่ก็มาก
พออยู่  เมื่อไม่มีกำลังจะมาก็แล้วไป  อย่าให้เปนเกณฑ์  แลแบ่งไป
อย่าให้มากเกินรถ"

ข้อความนี้  "ฉัน"  คือใคร  "ฉัน"พูดข้อความนี้กับใคร 
"งานวัด" ในข้อความหมายถึงงานวัดอะไร
"ที่นี่"ในข้อความหมายถึงสถานที่ใด

ฉัน = รัชกาลที่ ๕


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 14 มี.ค. 12, 11:22
คิดว่า ฉัน = รัชกาลที่ ๕ เหมือนกัน เพราะใครจะเรียกเจ้่าจอมห้องเหลืองอย่างนั้นได้

ฉัน พูดกับใคร  น่าจะเป็นพระราชหัตถเลขา ถึง จมื่นเสมอใจราช (เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์)

ที่นี่   คือ  พระราชวังสวนดุสิต เพราะเจ้าจอมห้องเหลืองอยู่ที่วังหลวง ที่อื่นจึงต้องเป็นสวนดุสิต

ทั้งหมดนี้เดาล้วน ๆ อันที่จริงมีเอกสาร แต่ตอนนี้หาไม่เจอ



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มี.ค. 12, 11:53

ฉัน = รัชกาลที่ ๕

คิดว่า ฉัน = รัชกาลที่ ๕ เหมือนกัน เพราะใครจะเรียกเจ้่าจอมห้องเหลืองอย่างนั้นได้

ฉัน พูดกับใคร  น่าจะเป็นพระราชหัตถเลขา ถึง จมื่นเสมอใจราช (เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์)

ที่นี่   คือ  พระราชวังสวนดุสิต เพราะเจ้าจอมห้องเหลืองอยู่ที่วังหลวง ที่อื่นจึงต้องเป็นสวนดุสิต

ทั้งหมดนี้เดาล้วน ๆ อันที่จริงมีเอกสาร แต่ตอนนี้หาไม่เจอ


"ฉัน" คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ถูกต้องครับ
แก่ไม่ได้มีรับสั่งกับ เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ต่อมาเป็น  เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น  อิศรเสนา))
ถ้าใครเคยอ่านพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๕ พระราชทานเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น  อิศรเสนา)
ก็จะทราบว่า  พระราชหัตถเลขาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการตกแต่งอาคารสถานที่ ไม่เกี่ยวกับเรื่องฝ่ายในเลย

ที่นี่   คือ  พระราชวังสวนดุสิต
เอาให้แน่นะครับ ว่าจะเป็น พระราชวังดุสิต หรือ สวนดุสิต ห้ามควบรวม
เพราะคนละสถานที่กัน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 12, 12:16
^
"วังสวนดุสิต"

อยากให้คุณหลวง เปิดหัว เปิดท้ายข้อความให้ยืดยาว ๆ  ๆ ๆๆ ๆ สักหน่อย เพราะอยากทราบถึงใจความอื่น ๆ อ่านแล้วเหมือนตาบอดคลำช้าง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 มี.ค. 12, 12:31
"ฉัน"พูดข้อความนี้กับใคร  

พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มี.ค. 12, 13:36
^
"วังสวนดุสิต"

อยากให้คุณหลวง เปิดหัว เปิดท้ายข้อความให้ยืดยาว ๆ  ๆ ๆๆ ๆ สักหน่อย เพราะอยากทราบถึงใจความอื่น ๆ อ่านแล้วเหมือนตาบอดคลำช้าง

"วังสวนดุสิต"   เขาเรียกกันอย่างนี้หรือ  เคยได้ยินแต่ว่าเขาเรียก  สวนดุสิต เท่านั้น

ข้อความในพระราชหัตถเลขามีเท่าที่ยกมานี้  ถ้าจะให้เปิดหัวท้ายของพระราชหัตถเลขา ก็ได้
หัว เป็น ชื่อผู้รับ  ท้าย คือ สยามินทร์


พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
 ;D

เจ้าคุณหัวล้านไปเกี่ยวข้องกับเจ้าจอมห้องเหลืองได้อย่างไร  งง ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 12, 13:51
^
"วังสวนดุสิต"

อยากให้คุณหลวง เปิดหัว เปิดท้ายข้อความให้ยืดยาว ๆ  ๆ ๆๆ ๆ สักหน่อย เพราะอยากทราบถึงใจความอื่น ๆ อ่านแล้วเหมือนตาบอดคลำช้าง

"วังสวนดุสิต"   เขาเรียกกันอย่างนี้หรือ  เคยได้ยินแต่ว่าเขาเรียก  สวนดุสิต เท่านั้น



คุณหลวงอย่ามาเฉไฉ..วังสวนดุสิต และพระราชวังสวนดุสิต ก็เป็นคำตอบที่เดียวกัน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 มี.ค. 12, 13:56
พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
 ;D

เจ้าคุณหัวล้านไปเกี่ยวข้องกับเจ้าจอมห้องเหลืองได้อย่างไร  งง ???

พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชทาน พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มี.ค. 12, 14:00

คุณหลวงอย่ามาเฉไฉ..วังสวนดุสิต และพระราชวังสวนดุสิต ก็เป็นคำตอบที่เดียวกัน

ก็เจ้าจอมท่านจะไปอยู่เขตพระราชวังดุสิตได้อย่างไร 
ฝ่ายในจะต้องแยกไปอยู่ส่วนที่เรียกว่าสวนดุสิต ซึ่งอยู่ติดกันและแยกเป็นสัดส่วน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มี.ค. 12, 14:03

พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชทาน พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)

 ;D

ผิดครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 12, 14:11
แล้วคุณหลวงพอจะทราบรายชื่อบรรดาเจ้าจอมห้องเหลืองไหมว่า มีท่านใดบ้าง  ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มี.ค. 12, 14:50
แล้วคุณหลวงพอจะทราบรายชื่อบรรดาเจ้าจอมห้องเหลืองไหมว่า มีท่านใดบ้าง  ???

ทราบแต่ไม่บอก 8)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 12, 14:57
แล้วคุณหลวงพอจะทราบรายชื่อบรรดาเจ้าจอมห้องเหลืองไหมว่า มีท่านใดบ้าง  ???

ทราบแต่ไม่บอก 8)

 :o :o :o :o


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 14 มี.ค. 12, 15:16
"ฉัน"พูดข้อความนี้กับใคร 

เดาว่า - สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มี.ค. 12, 15:40
"ฉัน"พูดข้อความนี้กับใคร 

เดาว่า - สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ผิดครับ

ผมเฉลยเลยแล้วกัน  พระราชหัตถเลขาฉบับนี้ รัชกาลที่ ๕ พระราชทานพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา
(ต่อมา  ได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็น กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี) หรือเสด็จอธิบดีฝ่ายใน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มี.ค. 12, 16:01
ท่านผู้อาวุโส  ท่านว่ามาเล่นทายภาพกันดีกว่า  ว่าแล้วท่านก็ยื่นภาพมาให้ผมภาพหนึ่ง
แล้วถามว่า  สิ่งที่เห็นในภาพนี้  คืออะไร  ตั้งอยู่ที่ไหนในโลก ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 12, 16:03
ท่านผู้อาวุโส  ท่านว่ามาเล่นทายภาพกันดีกว่า  ว่าแล้วท่านก็ยื่นภาพมาให้ผมภาพหนึ่ง
แล้วถามว่า  สิ่งที่เห็นในภาพนี้  คืออะไร  ตั้งอยู่ที่ไหนในโลก ???

ที่วัดนิเวศธรรมประวัติใช่หรือไม่

ศิลปกรรมซุ้มฝรั่งแบบโกธิก ผสานกับโต๊ะหมุ่บูชาแบบไทย ตั้งรูปหล่อรัชกาลที่ ๕ งามนักแล  ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มี.ค. 12, 16:07
ถ้าคำถามข้างบนยากไป  ก็ลองทายภาพนี้ว่า
สถานที่ในภาพนี้ คือ สถานที่ใดในสยามประเทศ
และภาพนี้ถ่ายขึ้นเมื่อใด (ระบุวัน เดือน ปี รัชกาล  และเหตุการณ์ที่ปรากฏในภาพ)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มี.ค. 12, 16:09
ท่านผู้อาวุโส  ท่านว่ามาเล่นทายภาพกันดีกว่า  ว่าแล้วท่านก็ยื่นภาพมาให้ผมภาพหนึ่ง
แล้วถามว่า  สิ่งที่เห็นในภาพนี้  คืออะไร  ตั้งอยู่ที่ไหนในโลก ???

ที่วัดนิเวศธรรมประวัติใช่หรือไม่

ศิลปกรรมซุ้มฝรั่งแบบโกธิก ผสานกับโต๊ะหมุ่บูชาแบบไทย ตั้งรูปหล่อรัชกาลที่ ๕ งามนักแล  ;)

สายตายังคมกริบเหมือนเดิมนะออกขุน  เห็นภาพแค่ชั่วฟ้าแลบก็สามารถบอกได้ทันที
ยอดเยี่ยมจริงๆ :D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 12, 16:11
^
ริมแม่น้ำน่านหรอ  :o ตอบมาก่อน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มี.ค. 12, 16:14
^
ริมแม่น้ำน่านหรอ  :o ตอบมาก่อน

แถวๆ นั้นแหละ  อะไรกัน  ออกขุน  นี่จำได้ทุกฝั่งน้ำในสยามประเทศเชียวรึ :o


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 12, 16:17
^
ริมแม่น้ำน่านหรอ  :o ตอบมาก่อน

แถวๆ นั้นแหละ  อะไรกัน  ออกขุน  นี่จำได้ทุกฝั่งน้ำในสยามประเทศเชียวรึ :o


ถ้าแถวริมน้ำน่าน ก็คงไม่พ้นแถววัดพระพุทธชินราช พิษณุโลก เมืองสองแคว หากครั้งที่ถ่ายภาพคงไม่ทราบได้ เพราะท่านเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือหลายหน และครั้งที่ยิ่งใหญ่คือการเข้ากราบนมัสการพระพุทธชินราช และการเสด็จบวงสรวงหล่อพระพุทธชินราชจำลอง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มี.ค. 12, 16:28

ถ้าแถวริมน้ำน่าน ก็คงไม่พ้นแถววัดพระพุทธชินราช พิษณุโลก เมืองสองแคว หากครั้งที่ถ่ายภาพคงไม่ทราบได้
เพราะท่านเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือหลายหน และครั้งที่ยิ่งใหญ่คือการเข้ากราบนมัสการพระพุทธชินราช และการเสด็จบวงสรวงหล่อพระพุทธชินราชจำลอง

ริมฝั่งน้ำน่าน  ณ หน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองสองแคว นั้นถูกต้อง

หลายหนอะไรกันออกขุน  ไม่ถึง ๑๐ ครั้งหรอก  ค้นๆ เข้าเดี๋ยวก็เจอ ;D

ถ้าค้นได้  ก็สามารถตอบได้ว่า  เรือที่จดอยู่นั้นชื่อว่าอะไร  ขนาดและประเภทอะไร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 14 มี.ค. 12, 17:22
วันที่ 16  ตุลาคม พ.ศ. 2444  (ร.ศ. 120)  รัชกาลที่ 5  ;D
เรือขนาดเล็ก กว้าง 1.70 เมตร ยาว 12 เมตร
ชื่อเรือ "พระยาจีนจัตตุ" 
โดยบริเวณที่ประดิษฐานเรือในปัจจุบันมีอักษรจารึกไว้ว่า "นาวาเสด็จน่านนทีราชบูรณะ"


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 12, 17:37

"เจ้าจอมห้องเหลืองชั้นที่เรียกว่าเจ้าจอมนั้น  เขาบ่นกันมานานแล้ว
ว่าเปนสัตว์นรก  งานวัดมีมาเปนนานก็ไม่ได้ดู  ฉันว่าจะให้มาก็เลยๆ
ไป  มันจะแช่งให้ฉันให้ตายจะได้มาดู  ปีนี้เห็นว่าว่างอยู่ปล่อยให้มาเสีย
บ้างจะดี   รถไม่พอก็เปลี่ยนกันไป  ให้มาค้างคืนที่นี่  ที่อยู่ก็มาก
พออยู่  เมื่อไม่มีกำลังจะมาก็แล้วไป  อย่าให้เปนเกณฑ์  แลแบ่งไป
อย่าให้มากเกินรถ"

ข้อความนี้  "ฉัน"  คือใคร  "ฉัน"พูดข้อความนี้กับใคร 
"งานวัด" ในข้อความหมายถึงงานวัดอะไร
"ที่นี่"ในข้อความหมายถึงสถานที่ใด

 :-X :-X


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 14 มี.ค. 12, 17:43
โอ้โห..ท่านsiamese สุดยอด .. ;D
ขอชื่อเอกสารด้วยได้ไหมคะ....


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 มี.ค. 12, 17:47
โอ้โห..ท่านsiamese สุดยอด .. ;D
ขอชื่อเอกสารด้วยได้ไหมคะ....


หนังสือ "เสด็จอธิบดี"


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 14 มี.ค. 12, 17:51
เล่มนี้หรือเปล่าคะ... ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 มี.ค. 12, 08:23
วันที่ 16  ตุลาคม พ.ศ. 2444  (ร.ศ. 120)  รัชกาลที่ 5  ;D
เรือขนาดเล็ก กว้าง 1.70 เมตร ยาว 12 เมตร
ชื่อเรือ "พระยาจีนจัตตุ" 
โดยบริเวณที่ประดิษฐานเรือในปัจจุบันมีอักษรจารึกไว้ว่า "นาวาเสด็จน่านนทีราชบูรณะ"

เป็นคำตอบที่....................ที่................................ที่........................























ผิดครับ ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 16 มี.ค. 12, 08:44
โห...ผิดตัวโตจัง... ;D
งั้นก็คราวที่เสด็จ พร้อมรัชกาลที่ 4 หรือเปล่าคะ...


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 มี.ค. 12, 08:51
ในปีขาลนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือถึงเมืองพิษณุโลกโปรดให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชเป็นสามเณรโดยเสด็จไปในเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชด้วย เสด็จออกจากกรุงเทพฯเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ ในสมัยนั้นลำแม่น้ำทางเมืองเหนือยังกว้างเมื่อขาขึ้นเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชจักรข้าง ๒ ปล่อง เป็นเรือไฟขนาดยาว ๓๐ วายังเข้าปากน้ำเกยไชยขึ้นทางลำน้ำเมืองพิจิตรเก่าได้ถึงเมืองพิษณุโลกแต่ขากลับน้ำลดต้องล่องทางคลองเรียง ที่เป็นลำน้ำเมืองพิจิตรทุกวันนี้

http://board.palungjit.com/f13/แผ่นดิน-พระพุทธเจ้าหลวง-150001-2.html (http://board.palungjit.com/f13/แผ่นดิน-พระพุทธเจ้าหลวง-150001-2.html)

;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 มี.ค. 12, 09:33
ในปีขาลนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือถึงเมืองพิษณุโลกโปรดให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชเป็นสามเณรโดยเสด็จไปในเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชด้วย เสด็จออกจากกรุงเทพฯเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ ในสมัยนั้นลำแม่น้ำทางเมืองเหนือยังกว้างเมื่อขาขึ้นเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชจักรข้าง ๒ ปล่อง เป็นเรือไฟขนาดยาว ๓๐ วายังเข้าปากน้ำเกยไชยขึ้นทางลำน้ำเมืองพิจิตรเก่าได้ถึงเมืองพิษณุโลกแต่ขากลับน้ำลดต้องล่องทางคลองเรียง ที่เป็นลำน้ำเมืองพิจิตรทุกวันนี้

http://board.palungjit.com/f13/แผ่นดิน-พระพุทธเจ้าหลวง-150001-2.html (http://board.palungjit.com/f13/แผ่นดิน-พระพุทธเจ้าหลวง-150001-2.html)

;D


รัชกาลที่ ๔ ถูกครับ  เหตุการณ์ก็ถูกครับ
เดือนปีก็ถูกต้อง  แต่วันยังไม่ใช่


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 มี.ค. 12, 10:05
“...  เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จขึ้นไปเมืองเหนืออีกครั้งหนึ่ง เสด็จโดยเรือพระที่นั่ง “อรรคราชวรเดช” ซึ่งเป็นเรือกลไฟจักรข้าง ๒ ปล่อง ใหญ่กว่าเรือกลไฟพระที่นั่งทั้งปวงที่มีอยู่ในเวลานั้น

ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้กระบวนเสด็จไปในเรือลำเดียวกัน ไม่ต้องกะเกณฑ์พาหนะให้ลำบาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ก็ได้โดยเสด็จไปด้วยในคราวนั้น

เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๙ ปีขาล จ.ศ. ๑๒๒๘  ค.ศ. ๑๘๖๖  ร.ศ. ๘๕ เลือกเวลากำลังน้ำขึ้นมาก และในเวลานั้นลำน้ำทางเมืองพิจิตรเก่า (ต.เมืองเก่าในปัจจุบัน) ยังลึกขาขึ้น  เรือพระที่นั่งขึ้นทางลำน้ำนั้น ได้เสด็จแวะที่วัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) ครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงสร้างไว้ ณ ที่ประสูติ      

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นนมัสการพระที่วัดโพธิ์ประทับช้าง  ครั้งนั้นทรงดำริว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชอยู่   จึงโปรดฯ ให้ทรงพระราชยาน และให้กระบวนแห่เสด็จต่างพระองค์  ส่วนพระองค์ทรงพระราชดำเนินตามพระราชยานไป  ซึ่งเรื่องนี้ถือกันมาว่าเป็นบุพพนิมิตอันหนึ่ง  ซึ่งแสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงรับรัชทายาท

เรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชขึ้นไปเมืองเหนือครั้งนั้น  เล่ากันว่าลำบากยิ่งนัก  เพราะลำแม่น้ำแคบและคดคู้ในที่บางแห่ง  ทั้งสายน้ำก็ไหลแรง  พัดเรือพระที่นั่งเกยตลิ่งบ่อย ๆ  เสด็จไปจากกรุงเทพฯ ๗ วัน  จึงถึงเมืองพิษณุโลก  เมื่อวันพฤหัสบดี  เดือน ๑๑  แรม  ๘  ค่ำ  (ตรงกับวันที่ ๑ เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๙ ปี ขาล) ประทับสมโภชพระพุทธชินราชอยู่ ๒ ราตรี  ถึงวันเสาร์  เดือน ๑๑  แรม ๑๐ ค่ำ  (ตรงกับวันที่ ๓ เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๙ ปี ขาล) ก็ต้องเสด็จกลับเพราะลำน้ำลดลง  เกรงเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชจะติดอยู่กลางทาง   เมื่อขากลับทางลำน้ำเมืองพิจิตรเก่าน้ำก็ตื้นเสียแล้ว  ต้องล่องเรือพระที่นั่งลงมาทางคลองเรียง คือลำน้ำที่ตั้งเมืองพิจิตรใหม่ในบัดนี้...”

จากบทความในหนังสือ  “ตามรอยสมเด็จพระเจ้าเสือ”  หน้า  ๖๙ – ๗๐ เรื่อง  “... เมืองพิจิตรในอดีต ...”  เขียนโดย  คุณศิรินันท์  บุญศิริ ซึ่งได้จัดพิมพ์เผยแพร่ โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร เมื่อเดือนมิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๔๘  

ข้อมูลเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช  สมัยรัชกาลที่ ๔ (http://watphopratabchang.igetweb.com/index.php?mo=3&art=75990)

(http://watphopratabchang.igetweb.com/private_folder/akkarat09.jpg)

 ;D



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 มี.ค. 12, 10:12
ถูกต้องครับ ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 มี.ค. 12, 16:22
การแบ่งเขตอำเภอ ในพระนคร ครั้งแรกเขาแบ่งกันอย่างไร ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 16 มี.ค. 12, 16:34
การแบ่งเขตอำเภอ ในพระนคร ครั้งแรกเขาแบ่งกันอย่างไร ???

พระนครไหนฤๅใต้เท้า

พระนครศรีอยุธยา หรือ พระนคร-ธนบุรี

 ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 มี.ค. 12, 19:51
การแบ่งเขตอำเภอ ในพระนคร ครั้งแรกเขาแบ่งกันอย่างไร ???

การแบ่งอำเภอใช้เกณฑ์การจัดการปกครองอย่างใหม่ เทศาภิบาล เป็นการปกครองแบ่งเป็นมณฑล โดยใช้เรียกว่า "มณฑลกรุงเทพ" มีอำเภอดังนี้
อำเภอราชบุรณะ
อำเภอแสนแสบ
อำเภอจะระดับ
อำเภอพระโขนง
อำเภอบางกะปิ
อำเภอบางพลีใหญ่
อำเภอสระปทุมวัน
อำเภอบางรัก
อำเภอพระนคร
อำเภอดุสิต
อำเภอสำเพ็ง
อำเภอบางลำพูล่าง
อำเภอบางกอกใหญ่
อำเภอบางกอกน้อย
อำเภอบางเขน
อำเภอตลิ่งชัน
อำเภอหนองแขม
อำเภอบางซื่อ
อำเภอบางขุนเทียน
อำเภอภาษีเจริญ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 มี.ค. 12, 08:40
การแบ่งเขตอำเภอ ในพระนคร ครั้งแรกเขาแบ่งกันอย่างไร ???

พระนครไหนฤๅใต้เท้า

พระนครศรีอยุธยา หรือ พระนคร-ธนบุรี

 ???

พระนครคีรีมั้ง   ;D  พระนครกรุงเทพนี่แหละ พนาย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 มี.ค. 12, 08:42

การแบ่งอำเภอใช้เกณฑ์การจัดการปกครองอย่างใหม่ เทศาภิบาล เป็นการปกครองแบ่งเป็นมณฑล โดยใช้เรียกว่า "มณฑลกรุงเทพ" มีอำเภอดังนี้
อำเภอราชบุรณะ
อำเภอแสนแสบ
อำเภอจะระดับ
อำเภอพระโขนง
อำเภอบางกะปิ
อำเภอบางพลีใหญ่
อำเภอสระปทุมวัน
อำเภอบางรัก
อำเภอพระนคร
อำเภอดุสิต
อำเภอสำเพ็ง
อำเภอบางลำพูล่าง
อำเภอบางกอกใหญ่
อำเภอบางกอกน้อย
อำเภอบางเขน
อำเภอตลิ่งชัน
อำเภอหนองแขม
อำเภอบางซื่อ
อำเภอบางขุนเทียน
อำเภอภาษีเจริญ


ไม่ถูกครับ   กรุณาขวนขวายใหม่อีกครั้ง  แถมที่ตอบมา ก็ตอบไม่ครบ ไม่ละเอียดด้วย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 19 มี.ค. 12, 09:32
มีอะไรที่เกี่ยวกับ "กึ่งพระนคร" หรือไม่หนอ  ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 19 มี.ค. 12, 11:24
 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 19 มี.ค. 12, 11:36
พ.ศ. 2435 สมัยที่เป็น มณฑลกรุงเทพมหานคร  (ไม่ใช่พระนคร)  ;D

ได้มีการแบ่งการปกครอง  ออกเป็น อำเภอชั้นใน 8 อำเภอ  ได้แก่  
1.อำเภอพระนคร  
2.อำเภอสามเพ็ง  
3.อำเภอบางรัก  
4.อำเภอปทุมวัน  
5.อำเภอดุสิต
6.อำเภอบางกอกน้อย  
7.อำเภอบางกอกใหญ่
8.อำเภอบางลำภูล่าง  
และอำเภอชั้นนอก 8 อำเภอ  ได้แก่  
1.อำเภอบางซื่อ  
2.อำเภอบางเขน  
3.อำเภอบางกะปิ  
4.อำเภอบางขุนเทียน  
5.อำเภอราษฎร์บูรณะ  
6.อำเภอตลิ่งชัน  
7.อำเภอภาษีเจริญ  
8.อำเภอหนองแขม  


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 19 มี.ค. 12, 11:43
จากนั้น15 ตุลาคม พ.ศ.2458  ;D
ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยกเลิก อำเภอชั้นใน 7 อำเภอ
และตั้งอำเภอชั้นในใหม่ 25 อำเภอ ได้แก่
1.อำเภอพระราชวัง
2.อำเภอชนะสงคราม
3.อำเภอสำราญราษฎร์
4.อำเภอพาหุรัด
5.อำเภอจักรวรรดิ
6.อำเภอสัมพันธวงศ์
7.อำเภอสามแยก
8.อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย
9.อำเภอสามยอด
10.อำเภอนางเลิ้ง
11.อำเภอบางขุนพรหม
12.อำเภอสามเสน
13.อำเภอดุสิต
14.อำเภอพญาไท
15.อำเภอประแจจีน
16.อำเภอประทุมวัน
17.อำเภอบางรัก
18.อำเภอสาธร
19.อำเภอบ้านทะวาย
20.อำเภอบางพลัด
21.อำเภออมรินทร์
22.อำเภอหงสาราม
23.อำเภอราชคฤห์
24.อำเภอบุปผาราม
25.อำเภอบุคคโล


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 19 มี.ค. 12, 11:47
แล้วจากนั้น 21 ตุลาคม 2458  ;D
จึงได้ประกาศ แบ่งเขตร์กรุงเทพพระมหานคร ออกเป็น
จังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี
โดย จังหวัดพระนคร ประกอบไปด้วยอำเภอ ดังนี้ 
1. อำเภอพระราชวัง
2. อำเภอสำราญราษฏร์
3. อำเภอพาหุรัด
4. อำเภอชนะสงคราม
5. อำเภอสามยอด
6. อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย
7. อำเภอจักรวรรดิ์
8. อำเภอสัมพันธวงษ์
9. อำเภอบางกะปิ
10. อำเภอสามแยก
11. อำเภอบ้านทวาย
12. อำเภอบางรัก
13. อำเภอสาธร
14. อำเภอบางขุนพรหม
15. อำเภอสามเสน
16. อำเภอดุสิต
17. อำเภอนางเลิ้ง
18. อำเภอประแจจีน
19. อำเภอพญาไท
20. อำเภอประทุมวัน
21. อำเภอบางซื่อ
22. อำเภอบางเขน

ประกาศ ณ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2458
ประกาศโดย มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 32 หน้า 327


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 มี.ค. 12, 12:10
ดีมากครับคุณดีดี  ละเอียดมาก  แต่ยังไม่พอสำหรับผม
ผมอยากจะทราบว่า  ในแต่ละอำเภอที่แบ่งในแต่ละคราว
กำหนดอาณาเขตแต่ละอำเภอกันอย่างไร
(เหมือนหรือต่างจากเขตต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไร) :D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 19 มี.ค. 12, 15:32
ความยาวประมาณ 14 หน้านะคะ  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 19 มี.ค. 12, 15:36
(ต่อค่ะ)  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 19 มี.ค. 12, 15:40
(ต่ออีกค่ะ)  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 19 มี.ค. 12, 15:46
(ต่อ-สุดท้ายแล้วค่ะ)  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 มี.ค. 12, 16:12
นึกว่าจะไม่มีใครมาตอบเสียแล้ว  คุณดีดีมีความพยายามอย่างยิ่ง
น่าชื่นชม  เอ  แล้วก่อนหน้านั้น มีการแบ่งอาณาเขตอำเภอชั้นในอย่างไร
มีข้อมูลบ้างไหมหนอ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 19 มี.ค. 12, 16:27
 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 มี.ค. 12, 07:18
นึกว่าจะไม่มีใครมาตอบเสียแล้ว  คุณดีดีมีความพยายามอย่างยิ่ง
น่าชื่นชม  เอ  แล้วก่อนหน้านั้น มีการแบ่งอาณาเขตอำเภอชั้นในอย่างไร
มีข้อมูลบ้างไหมหนอ

อำเภอชั้นในมี ๔ อำเภอ คือ พระนคร, สำเพ็ง, บางรักษ์ (รักษาตัวสะกดเดิม) และดุสิต

ทั้งนี้ไม่รวม "อำเภอใจ"  :P


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 12, 07:44
^
^


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 มี.ค. 12, 08:12
ดีครับ  มาตอบกันแต่เช้าเชียว  ไม่ทราบว่ารับประทานอาหารเช้ากันแล้วหรือยัง
ถ้ายัง  เชิญไปแวะที่กระทู้ข้าวมันไก่ของคุณฮั่นบิง ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 20 มี.ค. 12, 08:47
ยกมาเสริฟค่ะ... ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 มี.ค. 12, 14:03
ยามบ่าย ตะวันเคลื่อนคล้อย  ท่านผู้อาวุโสนั่งตาก ลมที่ศาลาท่าน้ำ
หยิบรูปเก่าๆ ให้ผมดู   แล้วถามว่า  บุคคลในภาพนี้ คือใคร? 
ไม่ยากหรอก 


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 มี.ค. 12, 14:11
ไหน ๆ ดูซิ คุณหลวงถามว่ากระไร ?... ท่านคงชอบพราหมณ์  :o


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 20 มี.ค. 12, 14:40
ใช่ท่านเดียวกับที่ ท่าน V_Mee นำมาลงไว้ใน คห.ที่ 17 หรือเปล่าหนอ  ;D



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 มี.ค. 12, 15:02
ใช่ท่านเดียวกับที่ ท่าน V_Mee นำมาลงไว้ใน คห.ที่ 17 หรือเปล่าหนอ  ;D


ของเก่าที่ซ้ำแล้ว  จะเอามาถามเพื่อประโยชน์อันใดฤา


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 20 มี.ค. 12, 15:41
นึกว่ายามบ่าย ตะวันเคลื่อนคล้อย   ;D
ท่านผู้อาวุโสจะอิ่มข้าวมันไก่ จนอยากระลึกความหลัง...ค่ะ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 มี.ค. 12, 11:40
ท่านผู้อาวุโส  ท่านนึกครึ้มอย่างไรไม่ทราบ  โทรศัพท์มาหาผมตอนค่ำวานก่อนว่า

คุณหลวง  ผมได้ยินหลานชายพูดกับเพื่อนว่า เซราะกราว  ฟังมาหลายวัน
จะถามหลานก็ลืมไป  คุณหลวงพอจะรู้ไหมว่าคำว่า เซราะกราว  แปลว่าอะไร


ผมตอบท่านไปว่า  เซราะกราว  เป็นภาษาเขมร ตรงกับคำไทยว่า  บ้านนอก  ครับ

อือม์   แล้วคนเขมรเขาใช้คำนี้ด้วยหรือ  แล้วคำนี้มันมีความเป็นมาอย่างไร
เขมรเขาเขียนคำนี้อย่างไร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 มี.ค. 12, 12:45
อ่านว่า สรกฺ-เกรา

คำว่า"เซราะ หรือสรุก ( Sruk) เป็นภาษาเขมรซึ่งแปลว่า บ้านพักอาศัย หรืออันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน
"กราว ( Ground ) แปลว่า อยู่ข้างนอก หรืออยู่ไกลออกไป

รวมกันได้ว่า บ้านพักอาศัยที่อยู่ห่างไกลออกไป

เชิญจิ้มhttp://translate.google.co.th/translate?hl=th&langpair=en%7Cth&u=http://www.english-khmer.com/


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 มี.ค. 12, 13:32
នៅផ្ទះ = บ้าน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 มี.ค. 12, 14:40
 ;D
คำว่า "เซาะกราว" คำแปลตรงๆ ไม่ได้แปลว่า "บ้านนอก" แต่แปลว่า "นอกบ้าน"
"หมู่บ้านอื่นที่ไม่ใช่หมู่บ้านเรา" หรือแปลว่า "ต่างประเทศ" ก็ได้
อ่านออกเสียงว่า "ซร๊อกกราว"
เป็นภาษาเขมรสูง ที่คน ส่วย หรือกูย ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ เขาพูดกัน
ส่วนคำว่า "บ้านนอก" ใช้คำว่า "ซร๊อกซะแร"

คำนี้ฮิตเพราะ พี่โน้ส เอามาเล่นในเดี่ยว9 ค่ะ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 มี.ค. 12, 16:23
คำว่า เซราะกราว นั้น คุณโน้ตคงจะปรุงขึ้นใช้เอง  แล้วก็เกิดติดปากไปทั่วหัวระแหงทั้งในพระนครแลหัวเมือง
จุดประสงค์ของคุณโน้ต คงประสงค์จะให้แปลว่า บ้านนอก  อันหมายถึง  ไม่ทันสมัย  ไม่ทันความเจริญของสังคม
คงไม่หมายให้แปลกลับหน้ากลับหลังตามภาษาดั้งเดิม  ให้เป็น นอกบ้าน  แน่นอนว่า  ถ้าไปพูดคำนี้กับชาวเขมร
เขาอาจจะเข้าใจความหมายไปคนละทางกับคนไทย 

เซราะ นี้  ในภาษาเขมรโบราณ  เขียน สฺรุก์ (เครื่องหมายทัณฑฆาต เป็นเครื่องแสดงว่าตัวอัการนั้นเป็นตัวสะกด)
แปลว่า  หมู่บ้าน  คำคำนี้  พบในจารึกภาษาเขมรอย่างดาษดื่นชื่นตา  คำคำนี้ก็ยังคงใช้มาจนปัจจุบัน
ทั้งในภาษาเขมรสูงและภาษาเขมรต่ำ  แต่ปัจจุบัน เขียนว่า สฺรก่ 

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า  ทำไมไม่ออกเสียง ก สะกด  อันนี้อธิบายได้ว่า  เป็นสำเนียงของชาวแขมร์
ว่า  คำใดที่มี ก สะกด  เสียงตัวสะกดจะกลืนหายลงคอไป  ไม่ปรากฏเสียง ก ให้ได้ยิน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 มี.ค. 12, 16:30
คำว่า เซราะกราว นั้น คุณโน้ตคงจะปรุงขึ้นใช้เอง  แล้วก็เกิดติดปากไปทั่วหัวระแหงทั้งในพระนครแลหัวเมือง
จุดประสงค์ของคุณโน้ต คงประสงค์จะให้แปลว่า บ้านนอก  อันหมายถึง  ไม่ทันสมัย  ไม่ทันความเจริญของสังคม
คงไม่หมายให้แปลกลับหน้ากลับหลังตามภาษาดั้งเดิม  ให้เป็น นอกบ้าน  แน่นอนว่า  ถ้าไปพูดคำนี้กับชาวเขมร
เขาอาจจะเข้าใจความหมายไปคนละทางกับคนไทย 

เซราะ นี้  ในภาษาเขมรโบราณ  เขียน สฺรุก์ (เครื่องหมายทัณฑฆาต เป็นเครื่องแสดงว่าตัวอัการนั้นเป็นตัวสะกด)
แปลว่า  หมู่บ้าน  คำคำนี้  พบในจารึกภาษาเขมรอย่างดาษดื่นชื่นตา  คำคำนี้ก็ยังคงใช้มาจนปัจจุบัน
ทั้งในภาษาเขมรสูงและภาษาเขมรต่ำ  แต่ปัจจุบัน เขียนว่า สฺรก่ 

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า  ทำไมไม่ออกเสียง ก สะกด  อันนี้อธิบายได้ว่า  เป็นสำเนียงของชาวแขมร์
ว่า  คำใดที่มี ก สะกด  เสียงตัวสะกดจะกลืนหายลงคอไป  ไม่ปรากฏเสียง ก ให้ได้ยิน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 มี.ค. 12, 18:12
^ หมายความว่าอย่างไร  ไอ้ภาพยกนิ้วหัวแม่มือ แล้วมีคำว่า เซราะกราว ด้วย
อธิบายให้ดีๆ นะ  ไม่เช่นนั้น  ...... >:(


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 มี.ค. 12, 18:22
โน้ส-โน้ต ?

ถ้าคนนี้ก็ชื่อ "พี่โน้ส" (nose)

(http://www.oknation.net/blog/home/user_data/file_data/201112/28/29576e2c0.jpg)

ป.ล. เพิ่งเคยได้ยินคำว่า "เซราะกราว" เป็นครั้งแรก

อย่างนี้เรียกว่า "บ้านนอก" หรือเปล่า

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 มี.ค. 12, 18:56

ป.ล. เพิ่งเคยได้ยินคำว่า "เซราะกราว" เป็นครั้งแรก

อย่างนี้เรียกว่า "บ้านนอก" หรือเปล่า

 ;D

คุณเพ็ญฯ สามารถดูเดี่ยว 9 ของคุณอุดม แต้พานิชได้ที่ youtube นะครับ ตอนนี้เขาเล่าเรื่องราวชีวิตที่ยากลำบากของตนเอง ฟังแล้วคิดตามไป เขาเป็นคนเก่งคนหนึ่ง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 มี.ค. 12, 19:04
^ หมายความว่าอย่างไร  ไอ้ภาพยกนิ้วหัวแม่มือ แล้วมีคำว่า เซราะกราว ด้วย
อธิบายให้ดีๆ นะ  ไม่เช่นนั้น  ...... >:(

คุณหลวงก็แล้วแต่การแปลความเองละกัน  ;D ;D ;D

จะเป็นน้ำเต็มแก้วหรือน้ำพร่องแก้วก็ตามใจคุณหลวงเถิด สำหรับกระผมเป็นแค่สีฟ้า ตัวอักษร และนิ้วมือ (สำหรับคุณหลวงเท่านั้นนะ)..คิคิ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 มี.ค. 12, 19:28
^ ตอบอำยวนกวนโทสะ  เอกสารอะไรที่เคยขอกันไว้  ก็อย่าเอาเลย 8) ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 มี.ค. 12, 19:36
^ ตอบอำยวนกวนโทสะ  เอกสารอะไรที่เคยขอกันไว้  ก็อย่าเอาเลย 8) ;D


โอ๊ย..อย่าตีลูกฆ้องวงซิขอรับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 มี.ค. 12, 19:43
ท่านผู้อาวุโสรับประทานอาหารมื้อค่ำแล้ว  อารมณ์ดี ออกมานั่งเล่นรับลมที่หน้าบ้าน
หยิบเอาตำราควาญช้างมานั่งอ่านอย่างเพลิดเพลิน  แล้วท่านก็โทรศัพท์มาถามผมว่า

คุณหลวงทราบไหมว่า  เวลาที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯ ไปประพาสโพนช้างป่า
เกิดมีช้างเถื่อนแล่นเข้ามาประสมรอยช้างพระที่นั่ง  ควาญช้างจะกลับช้างก็ไม่ทันการณ์
ช้างเถื่อนวิ่งกระชั้นใกล้เข้ามาจะถึงช้างพระที่นั่ง  
โบราณท่านให้ควาญช้างแก้ไขสถานการณ์อย่างไร

ผมได้ยินคำถาม  ก็นิ่งไปครู่หนึ่ง  แล้วขอผัดเวลาตอบท่านไป ๒ วัน
คำถามนี้ยากจริงๆ  มีผู้ใดรู้เรื่องนี้ ฝากเอื้อเฟื้อข้อมูลด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 มี.ค. 12, 19:54
เข้าถึงตัวช้างทรงยากนะท่าน เนื่องการการจัดกระบวนช้าง มีช้างทรงประพาส ช้างดั้ง ๓ ช้างตำรวจ ช้างแซง อีกมากมาย บนหลังช้างมีการวางอาวุธไว้ เช่น ปืนใหญ่ ปืนยาว คบเพลิง ... คัดลอกจากตำราธรรมเนียมชาววังอยุธยา


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 มี.ค. 12, 22:47
เข้าถึงตัวช้างทรงยากนะท่าน เนื่องการการจัดกระบวนช้าง มีช้างทรงประพาส ช้างดั้ง ๓ ช้างตำรวจ
ช้างแซง อีกมากมาย บนหลังช้างมีการวางอาวุธไว้ เช่น ปืนใหญ่ ปืนยาว คบเพลิง ... คัดลอกจากตำราธรรมเนียมชาววังอยุธยา

ออกขุน  ที่ท่านอาวุโสท่านตั้งคำถามนี้  ท่านหมายเอาว่า
ผู้ทำหน้าที่เป็นควาญช้างพระที่นั่งจะแก้ไขสถานการณ์ดังที่ท่านตั้งโจทย์
ได้อย่างไร   ออกขุนก็คิดดูว่า  พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประพาสโพนช้าง
เจ้าพนักงานจะเอาอาวุธอย่างที่ออกขุนกล่าวมา (ปืนใหญ่  ปืนยาว คบเพลิง)
ไปผุกไปวางบรรทุกบนหลังช้างให้เกะกะที่ทำไม  ในเมื่อหาใช่สิ่งที่จำเป็นในการโพนช้างไม่
แล้วก็เวลาเสด็จประพาสโพนช้าง  คงไม่มามัวจัดกระบวนช้างดั้งช้างกันช้างแซง
อย่างกระบวนพยุหยาตราหรอก  กระบวนอย่างนั้นจัดเอางามกลางแปลงน่ะได้
แต่ถ้าจัดในป่าที่โพนช้างไล่คล้องช้างเถื่อน  ไม่วุ่นวายแย่หรือ  ออกขุน

ตำราของออกขุนนั้น  เป็นธรรมเนียมกระบวนช้างเมื่อเสด็จประพาสเมื่อทรงพระสำราญ
หาใช่การประพาสโพนช้างไม่   ยังมีเวลาค้นหาข้อมูลนะออกขุน  ใจเย็นๆ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 12, 07:13
เข้าถึงตัวช้างทรงยากนะท่าน เนื่องการการจัดกระบวนช้าง มีช้างทรงประพาส ช้างดั้ง ๓ ช้างตำรวจ
ช้างแซง อีกมากมาย บนหลังช้างมีการวางอาวุธไว้ เช่น ปืนใหญ่ ปืนยาว คบเพลิง ... คัดลอกจากตำราธรรมเนียมชาววังอยุธยา

ออกขุน  ที่ท่านอาวุโสท่านตั้งคำถามนี้  ท่านหมายเอาว่า
ผู้ทำหน้าที่เป็นควาญช้างพระที่นั่งจะแก้ไขสถานการณ์ดังที่ท่านตั้งโจทย์
ได้อย่างไร   ออกขุนก็คิดดูว่า  พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประพาสโพนช้าง
เจ้าพนักงานจะเอาอาวุธอย่างที่ออกขุนกล่าวมา (ปืนใหญ่  ปืนยาว คบเพลิง)
ไปผุกไปวางบรรทุกบนหลังช้างให้เกะกะที่ทำไม  ในเมื่อหาใช่สิ่งที่จำเป็นในการโพนช้างไม่
แล้วก็เวลาเสด็จประพาสโพนช้าง  คงไม่มามัวจัดกระบวนช้างดั้งช้างกันช้างแซง
อย่างกระบวนพยุหยาตราหรอก  กระบวนอย่างนั้นจัดเอางามกลางแปลงน่ะได้
แต่ถ้าจัดในป่าที่โพนช้างไล่คล้องช้างเถื่อน  ไม่วุ่นวายแย่หรือ  ออกขุน

ตำราของออกขุนนั้น  เป็นธรรมเนียมกระบวนช้างเมื่อเสด็จประพาสเมื่อทรงพระสำราญ
หาใช่การประพาสโพนช้างไม่   ยังมีเวลาค้นหาข้อมูลนะออกขุน  ใจเย็นๆ

รำพึงเฉย ๆ  :P


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 12, 07:17
คุณหลวงทราบไหมว่า  เวลาที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯ ไปประพาสโพนช้างป่า
เกิดมีช้างเถื่อนแล่นเข้ามาประสมรอยช้างพระที่นั่ง  ควาญช้างจะกลับช้างก็ไม่ทันการณ์
ช้างเถื่อนวิ่งกระชั้นใกล้เข้ามาจะถึงช้างพระที่นั่ง  
โบราณท่านให้ควาญช้างแก้ไขสถานการณ์อย่างไร

เมื่อช้างเถื่อนวิ่งเข้ามาจวนประชิดช้างพระที่นั่ง เห็นอะไรย่อมขัดหูขัดตา เหวี่ยงงวง ฟาดงากันยกใหญ่ โบราณท่านว่า "ให้ทำการปลดผ้า ผ้าโพก เสื้อผ้า ทิ้งลงไปให้ช้างเถื่อนได้กลิ่น" ทั้งนี้ช้างเถื่อนจะเข้าสนใจกับผ้าดังกล่าว จึงมีเวลาเบี่ยงช้างพระที่นั่งได้ทัน

หากว่าคุณหลวงนั่งท้ายช้าง จะรีบผลักคุณหลวงไปล่อช้างเถื่อนให้พ้นทางเป็นการดีที่สุด


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 มี.ค. 12, 14:28

เมื่อช้างเถื่อนวิ่งเข้ามาจวนประชิดช้างพระที่นั่ง เห็นอะไรย่อมขัดหูขัดตา เหวี่ยงงวง ฟาดงากันยกใหญ่
โบราณท่านว่า "ให้ทำการปลดผ้า ผ้าโพก เสื้อผ้า ทิ้งลงไปให้ช้างเถื่อนได้กลิ่น"
ทั้งนี้ช้างเถื่อนจะเข้าสนใจกับผ้าดังกล่าว จึงมีเวลาเบี่ยงช้างพระที่นั่งได้ทัน

หากว่าคุณหลวงนั่งท้ายช้าง จะรีบผลักคุณหลวงไปล่อช้างเถื่อนให้พ้นทางเป็นการดีที่สุด

ตอบอย่างนี้  ดูเป็นสำนวนโวหารวาจาของผู้อื่น  หาใช่สำนวนจากปากของออกขุนไม่
ชะรอยจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยให้คำปรึกษาหารืออยู่ลับหลัง  ช่างเถิด  
แม้ออกขุนจะตอบถูก  แต่น่าเสียดายยิ่งนักที่ไม่มีโอกาสได้อ่านความคิดเห็นที่แท้จริงของออกขุน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 12, 14:39

เมื่อช้างเถื่อนวิ่งเข้ามาจวนประชิดช้างพระที่นั่ง เห็นอะไรย่อมขัดหูขัดตา เหวี่ยงงวง ฟาดงากันยกใหญ่
โบราณท่านว่า "ให้ทำการปลดผ้า ผ้าโพก เสื้อผ้า ทิ้งลงไปให้ช้างเถื่อนได้กลิ่น"
ทั้งนี้ช้างเถื่อนจะเข้าสนใจกับผ้าดังกล่าว จึงมีเวลาเบี่ยงช้างพระที่นั่งได้ทัน

หากว่าคุณหลวงนั่งท้ายช้าง จะรีบผลักคุณหลวงไปล่อช้างเถื่อนให้พ้นทางเป็นการดีที่สุด

ตอบอย่างนี้  ดูเป็นสำนวนโวหารวาจาของผู้อื่น  หาใช่สำนวนจากปากของออกขุนไม่
ชะรอยจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยให้คำปรึกษาหารืออยู่ลับหลัง  ช่างเถิด  
แม้ออกขุนจะตอบถูก  แต่น่าเสียดายยิ่งนักที่ไม่มีโอกาสได้อ่านความคิดเห็นที่แท้จริงของออกขุน


ดูเป็นสำนวนโวหารวาจาของผู้อื่น....x
หาใช่สำนวนจากปากของออกขุนไม่...x
ชะรอยจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยให้คำปรึกษาหารืออยู่ลับหลัง...Y
 :P


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 มี.ค. 12, 14:55
ท่านผุ้อาวุโสไปอ่านหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติ
ไปเจอหนังสืออะไรเข้าไม่ทราบ  เอามาตั้งคำถามกับผม
นามแฝงต่อไปนี้  เป็นนามแฝงของใคร

๑.โคมลอย
๒.ชื่อเปลน
๓.พ.ผ.ศ.ก.
๔.ท.ท.
๕.ส.อ.พ.

เอ  ท่านผู้อาวุโสเอามาจากไหนเนี่ย  ดรรชนีไฉไลหรือเปล่านะ
(คำเตือน  กรุณาตอบด้วยกำลังความรู้ความสามารถของท่านให้ถึงที่สุดก่อน
หากตอบไม่ได้  จึงค่อยปรึกษากุนซือจะดีกว่า  ด้วยความหวังดีงาม)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 12, 15:02
ท่านผุ้อาวุโสไปอ่านหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติ
ไปเจอหนังสืออะไรเข้าไม่ทราบ  เอามาตั้งคำถามกับผม
นามแฝงต่อไปนี้  เป็นนามแฝงของใคร

๑.โคมลอย
๒.ชื่อเปลน
๓.พ.ผ.ศ.ก.
๔.ท.ท.
๕.ส.อ.พ.

เอ  ท่านผู้อาวุโสเอามาจากไหนเนี่ย  ดรรชนีไฉไลหรือเปล่านะ
(คำเตือน  กรุณาตอบด้วยกำลังความรู้ความสามารถของท่านให้ถึงที่สุดก่อน
หากตอบไม่ได้  จึงค่อยปรึกษากุนซือจะดีกว่า  ด้วยความหวังดีงาม)

โดย: Wandee ที่ 03 มิ.ย. 10, 12:13
--------------------------------------------------------------------------------

ต่อไปนี้คือพระนามแฝง ใช้ใน  ปัญหาขัดข้อง  จาก หนังสือวชิรญาณ  กรมศิลปากรพิมพ์ ๒๕๔๙
พระยศในเวลานั้น


ท.ท.                                         สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศวโรปการ


โคมลอย                                     กรมขุนพิทยลาภพฤติธาดา


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 มี.ค. 12, 15:05
คัดลอกจากเวปวชิรญาณดังนี้ นามแฝง (http://www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/wachirayan/index.php/2008-10-22-07-49-41)
ส่วนเรื่องอื่นได้พิมพ์ใหม่ในโอกาสต่างๆ บ้างก็พิมพ์ไว้ในเล่มชุดเช่นหนังสือลัทธิธรรมเนียมภาคต่างๆ หรือวันขึ้นปีใหม่ งานศพ เป็นต้น

อนึ่ง ในการตอบปัญหาขัดข้อง ปัญหาพยากรณ์ โคลงทาย ศัพท์วินิจฉัย นั้น ผู้ตอบมักใช้นามแฝง ซึ่งสามารถรวบรวมได้ว่าเป็นใครบ้างดังนี้

ตุ๋งตุ๋ง, นายสุด  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  
ฉุนเละ
 สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี)
 
สามัญสมาชิกฝ่ายใน
 สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา)
 
ภาคินีสมาชิก
 พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
 
อาทิตย์อุทัย, B.M.
 สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
 
น.ร.
 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
 
สะฮ้วน
 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์
 
ย.น.
 สมเด็จเจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณาวดี
 
ท.ท.
 สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
 
กางร่ม
 พระองค์เจ้าอรทัยเทพกัญญา
 
โสตถิ, ส.อ.พ.
 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
 
อาหรับราตร
 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
 
วโร
 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
 
โคมลอย
 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา
 
แป๋วแหวว
 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี
 
ศ.ว.ล.
 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี
 
ธ.ร., ถ.ธ.ส., ถิตธรังโสตถิ
 พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์
 
ชื่อเปลน
 พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์)
 
โพยมยาน
 เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
 
พ.ผ.ศ.ก.
 พระยาอิศรพันธุโสภณ (หม่อมราชวงศ์หนู อิศรางกูร) เมื่อยังเป็นพระผดุงศุลกกฤตย์
 
บรรหาร
 ขุนบรรหารวรอรรถ
 
วรรณ
 เทียนวรรณ โปรเทียรณ์


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 มี.ค. 12, 09:31
ท่านผู้อาวุโสปรารภกับผมว่า  ช่วงนี้ของแพงขึ้นหลายอย่าง  ไปเดินตลาดซื้อของได้ไม่เท่าไร
หมดเงินไปหลายร้อยบาท   เห็นทีจะต้องปลูกผักกินเอง  เพื่อลดรายจ่ายในบ้านลง
ท่านว่า  บรรพบุรุษของท่านปลูกผักเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ดทำนา 
ทำกับข้าวสักมื้อก็แทบไม่ต้องเสียเงินค่ากับข้าว   จึงมีเงินเก็บไปทำอย่างอื่น
ว่าแล้วท่านก็นึกขึ้นได้ว่า  ท่านมีเงินเหรียญเงินพดด้วงเก็บสะสมไว้กล่องหนึ่ง
ท่านจึงหยิบให้ผมดูแล้วก็ถามหยั่งเชิงความรู้ว่า

เงินพดด้วงที่ผลิตในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  มีลักษณะแตกต่างกัน แบ่งได้เป็นกี่รุ่น
แต่ละรุ่นมีลักษณะเด่นอะไรบ้าง 

ใครรู้เรื่องเงินพดด้วงช่วยอธิบายให้หน่อย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มี.ค. 12, 10:36
ท่านผู้อาวุโสปรารภกับผมว่า  ช่วงนี้ของแพงขึ้นหลายอย่าง  ไปเดินตลาดซื้อของได้ไม่เท่าไร
หมดเงินไปหลายร้อยบาท   เห็นทีจะต้องปลูกผักกินเอง  เพื่อลดรายจ่ายในบ้านลง
ท่านว่า  บรรพบุรุษของท่านปลูกผักเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ดทำนา 
ทำกับข้าวสักมื้อก็แทบไม่ต้องเสียเงินค่ากับข้าว   จึงมีเงินเก็บไปทำอย่างอื่น
ว่าแล้วท่านก็นึกขึ้นได้ว่า  ท่านมีเงินเหรียญเงินพดด้วงเก็บสะสมไว้กล่องหนึ่ง
ท่านจึงหยิบให้ผมดูแล้วก็ถามหยั่งเชิงความรู้ว่า

เงินพดด้วงที่ผลิตในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  มีลักษณะแตกต่างกัน แบ่งได้เป็นกี่รุ่น
แต่ละรุ่นมีลักษณะเด่นอะไรบ้าง 

ใครรู้เรื่องเงินพดด้วงช่วยอธิบายให้หน่อย

เงินพดด้วงสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่เหมือนกับพดด้วงสมัยรัตนโกสินทร์
๑.   รูปร่างสัณฐานต่างกัน คือ พดด้วงอยุธยาจะมีขาสูงกว่าสมัยรัตนโกสินทร์
๒.   ตราประทับประจำรัชกาลที่แตกต่างกัน
ตราบัวยันต์
ตราอุทุมพร
ตราพระนารายณ์
ตราราชวัตร
ตราครุฑ
ตรา ๕ จุด
ตราสมาธิ
ตราก้านบัว
ตราพระซ่อมดอกไม้บากเล็ก
ตราพระซ่อมดอกไม้ไม่มีบาก
ตราช้าง (พบในขนาดสลึงและเฟื้อง)
ตราสังข์  (พบในขนาดสลึงและเฟื้อง)
๓.   รอยเมล็ดงา (เมล็ดข้าวสาร) ที่ตีไว้ในพดด้วงอยุธยา ซึ่งไม่มีในในสมัยรัตนโกสินทร์
ว่าด้วยเรื่องตราประทับจะประทับตราไว้ ๒ ดวง มักทำเป็นรูปจักร (หมายถึงกรุงศรีอยุธยาอันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระรามาธิบดี) และอีกดวงหนึ่งเป็นตราประจำรัชกาล เป็นรูปแปลก ๆ เช่น สังข์ ครุฑ ตรี ดอกไม้ ลายจุด ลายจุดเครือเถา ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้นแนะว่า “จะไม่ใครเปลี่ยนตราประจำรัชกาลทุกรัชกาล จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อมีการปลอมแปลงระบาดก็จะเปลี่ยนกันเสียคราวหนึ่ง”
ขนาดของเงินตราในอยุธยามีใช้กัน มี ขนาด ๑ บาท, ๒ สลึง, ๑ สลึง, เฟื้อง และหอยเบี้ย

ต่อมามีการศึกษาเรื่องตราประทับของแต่ละรัชกาลออกมาได้ดังนี้
•   สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เป็นรูปสังข์ทักขิณาวัฏ
•   สมเด็จพระราเมศวร ไม่มีหลักฐาน
•   สมเด็จพระบรมราชาธิที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) เป็นรูปรัศมีเจ็ดแฉก มีอุณาโลมอยู่ด้านบน
•   สมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราช เป็นรูปทรงข้าวบิณฑ์ ลักษณะคล้ายใบโพธิ
•   สมเด็จพระอินทราชาที่ 1 ลักษณะคล้ายดอกไม้เรียงกันสามดอก ดอกที่สี่อยู่ข้างบน ใต้ดอกไม้มีจุดกลม สำหรับดอกบนมีจุดซ้ายขวาด้วย
•   สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีลักษณะคล้ายอักษร ต.เต่าห้าตัว ซ้อนกันสามแถว
•   สมเด็จพระอินทราชาที่ 2 มีลักษณะรูปจุดใหญ่อยู่กลาง ด้านบนมีจุดกลมอยู่ในกรอบ ด้านล่างมีจุดเล็กหนึ่งจุดทั้งสองข้างเป็นมีรูปคล้ายกลีบดอกไม้ข้างละกลีบ
•   สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เป็นรูปจุดสิบจุดไม่มีกรอบ
•   สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร เป็นรูปกลมมีรัศมีด้านบนสามแฉก ด้านล่างตัวละสองแฉก
•   สมเด็จพระชัยราชาธิราช เป็นรูปจุดกลมใหญ่สามจุด มีแฉกขึ้นไปด้านบนจุดละแฉก และมีเส้นสองเส้นจากจุดบนทอดลงล่างสองข้าง เส้นคู่นี้ มีจุดเล็กอยู่ข้างละจุด
•   สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เป็นรูปช้างยืนหันหน้าไปทางซ้าย
•   สมเด็จพระมหินทราธิราช ไม่ปรากฎหลักฐาน
•   สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เป็นรูปคล้ายช่อดอกไม้
•   สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นจุดคล้ายพระแสงดาบสองเล่มไขว้กัน และมีรูปอุณาโลม อยู่ระหว่างมุมทั้งสี่ของดาบไขว้ทั้งสอง
•   สมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นเส้นขีดตามแนวนอนห้าเส้น ด้านบนเป็นรูปคล้ายใบโพธิ
•   สมเด็จพระเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ เป็นรูปจุดสี่จุด วางเป็นรูปทรงของชฎา
•   สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เป็นรูปคล้ายดวงไฟมีเปลวเพลิงลอยอยู่โดยรอบ มีกรอบล้อม
•   สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นรูปจุดเจ็ดจุด เรียงกันแถวละสามจุดสองแถว บนสุดมีหนึ่งจุดอยู่ภายในกรอบ
•   สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นจุดหกจุดมีกรอบล้อมรอบ ลักษณะเหมือนดอกบัวหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ นอกจากนั้นยังมีตราครุฑอีกตราหนึ่ง
•   สมเด็จพระเพทราชา เป็นรูปคล้ายดอกจันทน์อยู่ในกรอบกนก
•   สมเด็จพระเจ้าเสือ รูปร่างคล้ายสังข์มีกนก
•   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เป็นรูปคล้ายดอกไม้สามกลีบ บนกลีบกลางมีอีกหนึ่งกลีบ ใต้กลีบกลางมีจุดกลม
•   สมเด็จพระบรมโกษฐ เป็นรูปคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม มียอด ข้างกล่องมีจุดข้างละสองจุด
•   สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เป็นจุดสี่จุดอยู่ในกรอบกนกเปิดล่าง
•   สมเด็จพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ เป็นรูปจุดเก้าจุดอยู่ในกรอบทรงสามเหลี่ยมมุมมน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มี.ค. 12, 10:49
ภาพลักษณะเงินพดด้วง 10 จุด


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 มี.ค. 12, 11:08
ท่านผู้อาวุโสปรารภกับผมว่า  ช่วงนี้ของแพงขึ้นหลายอย่าง  ไปเดินตลาดซื้อของได้ไม่เท่าไร
หมดเงินไปหลายร้อยบาท   เห็นทีจะต้องปลูกผักกินเอง  เพื่อลดรายจ่ายในบ้านลง
ท่านว่า  บรรพบุรุษของท่านปลูกผักเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ดทำนา  
ทำกับข้าวสักมื้อก็แทบไม่ต้องเสียเงินค่ากับข้าว   จึงมีเงินเก็บไปทำอย่างอื่น
ว่าแล้วท่านก็นึกขึ้นได้ว่า  ท่านมีเงินเหรียญเงินพดด้วงเก็บสะสมไว้กล่องหนึ่ง
ท่านจึงหยิบให้ผมดูแล้วก็ถามหยั่งเชิงความรู้ว่า

เงินพดด้วงที่ผลิตในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  มีลักษณะแตกต่างกัน แบ่งได้เป็นกี่รุ่น
แต่ละรุ่นมีลักษณะเด่นอะไรบ้าง
 

ใครรู้เรื่องเงินพดด้วงช่วยอธิบายให้หน่อย

^ กรุณาตอบให้ตรงคำถาม  ที่ไม่ได้ถามไม่ต้องคัดมาลง  ทำลิงก์ก็พอ O.K.??


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มี.ค. 12, 11:22
ท่านผู้อาวุโสปรารภกับผมว่า  ช่วงนี้ของแพงขึ้นหลายอย่าง  ไปเดินตลาดซื้อของได้ไม่เท่าไร
หมดเงินไปหลายร้อยบาท   เห็นทีจะต้องปลูกผักกินเอง  เพื่อลดรายจ่ายในบ้านลง
ท่านว่า  บรรพบุรุษของท่านปลูกผักเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ดทำนา  
ทำกับข้าวสักมื้อก็แทบไม่ต้องเสียเงินค่ากับข้าว   จึงมีเงินเก็บไปทำอย่างอื่น
ว่าแล้วท่านก็นึกขึ้นได้ว่า  ท่านมีเงินเหรียญเงินพดด้วงเก็บสะสมไว้กล่องหนึ่ง
ท่านจึงหยิบให้ผมดูแล้วก็ถามหยั่งเชิงความรู้ว่า

เงินพดด้วงที่ผลิตในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  มีลักษณะแตกต่างกัน แบ่งได้เป็นกี่รุ่น
แต่ละรุ่นมีลักษณะเด่นอะไรบ้าง
 

ใครรู้เรื่องเงินพดด้วงช่วยอธิบายให้หน่อย

^ กรุณาตอบให้ตรงคำถาม  ที่ไม่ได้ถามไม่ต้องคัดมาลง  ทำลิงก์ก็พอ O.K.??

๒ รุ่น รุ่นบากข้าวสาร  กับ ไม่บากข้าวสาร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 มี.ค. 12, 11:35

๒ รุ่น รุ่นบากข้าวสาร  กับ ไม่บากข้าวสาร

ตอบเสียงดังฟังชัด ตัวอักษรใหญ่เห็นกระจ่าง
แต่...ผิด ;D ;D ;D ;D ;D ;D ;D ;D ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มี.ค. 12, 12:23
ตอบใหม่

รัชกาลนี้แตกต่างกันอยู่ 3 ชนิด คือ ขาบาก ลึกกว้าง ขาบากลึก ขาบากตื้น


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 มี.ค. 12, 12:41
จาก หนังสือเงินพดด้วง ของ พล.อ.ท. สดับ ธีระบุตร (http://www.cokethai.com/forum/viewtopic.php?f=22&t=20359&start=15)

(http://i12.photobucket.com/albums/a250/doung87/Bullet%20Money/Book%20Sa-dub/00.jpg)

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 มี.ค. 12, 13:27
คุณเพ็ญชมพูเล่นยกมาให้ดูทั้งหน้าเอกสารเลยอย่างนี้  ถ้าจะไม่ให้ถูก
ก็เห็นใจดำไปสักหน่อย    ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มี.ค. 12, 13:31
คุณเพ็ญชมพูเล่นยกมาให้ดูทั้งหน้าเอกสารเลยอย่างนี้  ถ้าจะไม่ให้ถูก
ก็เห็นใจดำไปสักหน่อย    ;)

ไว้รอข้าพเจ้าเปิดโกดังหนังสือก่อนเถอะ :P


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 มี.ค. 12, 13:35
ไว้รอข้าพเจ้าเปิดโกดังหนังสือก่อนเถอะ :P

ออกขุน  ไม่ทราบว่าจะต้องรอไปจนกว่าเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่เมืองไทยใช่หรือไม่ ;D ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 มี.ค. 12, 17:27
สิ่งก่อสร้างต่อไปนี้  มีประวัติเป็นมาอย่างไร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มี.ค. 12, 19:05
^
^
^
^
^
^
^
^
^
พลับพลาสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
เป็นศาลาเล็ก 2 ห้อง มีพาไล 2 ด้าน ฝาล่องถุนก่ออิฐถือปูน ข้างบนทำโถงเป็น เครื่องไม้ หลังคามุงสังกะสี อยู่ในบริเวณใกล้ ๆ ตำหนักจันทร์ เดิมเป็นพลับพลาเล็ก ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 4 ปลูกอยู่ในสวนในพระ บรมมหาราชวัง เมื่อสวรรคตแล้วจึงรื้อนำมาปลูกไว้ที่นี้


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 มี.ค. 12, 19:11
^
^
^
^
^
^
^
^
^
พลับพลาสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
เป็นศาลาเล็ก 2 ห้อง มีพาไล 2 ด้าน ฝาล่องถุนก่ออิฐถือปูน ข้างบนทำโถงเป็น เครื่องไม้ หลังคามุงสังกะสี อยู่ในบริเวณใกล้ ๆ ตำหนักจันทร์ เดิมเป็นพลับพลาเล็ก ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 4 ปลูกอยู่ในสวนในพระ บรมมหาราชวัง เมื่อสวรรคตแล้วจึงรื้อนำมาปลูกไว้ที่นี้

ออกขุนนี่แม่นยำไม่เปลี่ยน  แต่ผิดอยู่นิดหนึ่ง  ที่ว่าอยู่ในพระบรมมหาราชวังนั้นไม่ถูก
ที่ถูกต้องเป็น ในพระราชวังเดิม (วังพระเจ้ากรุงธนบุรี)  เพราะหมดแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ ขึ้นรัชกาลที่ ๓
สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ได้เสด็จฯ ย้ายไปประทับที่พระราชวังเดิมจนกระทั่งสิ้นพระชนม์


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 มี.ค. 12, 19:18
ใจเย็น ๆ ท่าน กำลังพิมพ์เพิ่มเติมดังนี้

จากหนังสือประวัติวัดบวรนิเวศ

"เดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุรเยนทราบรมราชินี ครั้งนั้นเรียก "สมเด็จพระพันวัสสา" ปลูกอยู่ริมในสวนพระราชวังเดิม เมื่อสวรรคตแล้วทรงรื้อมาปลูกเป็นอาสนาศาลา ริมคูหน้าออกถนนพระสุเมรุ"



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 มี.ค. 12, 09:53
ท่านผู้อาวุโสเดินทางไปงานของเพื่อนที่อยู่ต่างจังหวัด  แล้วได้เห็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง
พิธีกรรมนี้ เรียกว่า พิธีคลุมบาตร ท่านเพิ่งเคยเห็นเคยได้ยินชื่อเลยเอามาถามผมว่า

พิธีคลุมบาตร  คือพิธีอะไร มีรายละเอียดของพิธีอย่างไร ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 26 มี.ค. 12, 12:06
คลุมแบบนี้หรือเปล่าคะ... ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 มี.ค. 12, 15:20
ู^ ท่านผู้อาวุโสว่า ประมาณนี้แหละ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 มี.ค. 12, 19:41
ท่านผู้อาวุโสเดินทางไปงานของเพื่อนที่อยู่ต่างจังหวัด  แล้วได้เห็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง
พิธีกรรมนี้ เรียกว่า พิธีคลุมบาตร ท่านเพิ่งเคยเห็นเคยได้ยินชื่อเลยเอามาถามผมว่า

พิธีคลุมบาตร  คือพิธีอะไร มีรายละเอียดของพิธีอย่างไร ???

ภาพเวปเดียวกับคุณดีดี

"การฉันภัตตาหารพระภิกษุทุกรูปจะขึ้นไปรวมบนศาลาที่นั่งฉัน แล้วเข้าที่นั่งฉันจัดอาหารลงบาตร ที่นั่งนั้นได้จัดปูอาสนะไว้เรียบร้อยก่อนออกบิณฑบาต การนั่งจะเรียงตามอาวุโส พระภิกษุทุกรูปจะถ่ายบาตรเอาอาหารใส่ลงในถาดที่วางไว้เป็นของกลาง พระภิกษุที่เป็นเจ้าหน้าที่ยกถาดไปถวายให้สมภารก่อนแล้ว จึงส่งต่อไปตามลำดับ อาหารที่เลือกไว้แต่ละรูป จะจัดลงในบาตรเพื่อจะฉันต่อไป เสร็จแล้วเอาผ้าปิดปากบาตรไว้ คอยจนเสร็จพร้อมกัน พระภิกษุที่เป็นประธานว่าบท ยถา..สัพพี เสร็จแล้วจึงเปิดผ้าคลุมบาตรขึ้นพร้อมกัน"

ทั้งนี้ดูจากภาพก็พอแยกออกได้ว่าเป็นพระสงฆ์ที่เป็นพระสายพระป่า ที่เคร่งวินัย การฉันอาหารจะฉันรวมในบาตรปนกันหมดครับ


http://www1.mod.go.th/heritage/religion/prapa/prapa2.htm


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 มี.ค. 12, 16:56
ท่านผู้อาวุโส ท่านเห้นว่าตอบกันช้าไม่ได้การ  จึงเฉลยให้ฟังว่า

พิธีคลุมบาตรที่ท่านได้ไปเห็นชาวบ้านต่างจังหวัดเขาทำนั้น
ก็คือการทำบุญกระดูกผู้วายชนม์ในเช้าวันเก็บอัฐิ ถ้าเทียบกับพิธีของหลวง
ก็คือ สามหาบ นั่นเอง  ธรรมเนียมการคลุมบาตรเช่นนี้มักทำที่วัด
ไม่ใคร่ทำที่บ้าน

รายละเอียดมีดังนี้
เจ้าภาพไปนิมนต์พระสงฆ์ ณ วัดที่ไปตั้งบำเพ็ญกุศลศพว่า
หลังจากทำการฌาปนกิจศพแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นขอนิมนต์พระสงฆ์จำนวนกี่รูปก็ว่าไป
มาในการบำเพ็ญกุศลเก็บอัฐิผู้วายชนม์  ถ้าเป็นวัดมีพระสงฆ์น้อยก็มักนิมนต์พระสงฆ์ทั้งวัด

เช้าวันเก็บอัฐิ  เจ้าภาพจะไปรับบาตรของพระสงฆ์จากกุฏิพร้อมที่ตั้งบาตร
จากนั้น  นำบาตรพระแต่ละรูปมาวางเรียงตามลำดับอาวุโสของพระเจ้าของบาตร
จากนั้น  เจ้าภาพเตรียมข้าวสวยมาทยอยตักบาตรข้าวสวยลงบาตรแต่ละใบ
ตักบาตรข้าวสวยให้เสร็จก่อนถึงเวลาพระสงฆ์ลงมาฉันเช้า  เมื่อตักบาตรครบทุกคนแล้ว
เจ้าภาพนำผ้าขาวขนาดผืนพอปิดปากบาตร มาวางปิดปากบาตรแต่ละใบ
หรือจะใช้ผ้าเช็ดหน้าสีขาวก็ได้  ปิดปากบาตร  กันแมลงหรือสิ่งต่างๆ ตกลงไปในบาตร
อันเป็นที่มาของการเรียกว่า คลุมบาตร   บางคนอาจจะสงสัยว่า  ทำไมไม่เอาฝาบาตรปิดล่ะ
สันนิษบานว่า  เป้นเพราะข้าวสวยตักใหม่ๆ ยังร้อนมีไออยุ่  หากเอาฝาปิด มันจะอบไอน้ำไว้
ทำให้เกิดหยดน้ำในบาตร  ข้าวจะพลอยแฉะ และอาจจะทำให้บูดเสียก่อนจะถึงมื้อเพลได้

เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์ลงมาฉัน ครั้นพระสงฆ์สวดและรับถวายภัตตาหารแล้ว
ก็ประเคนบาตรพร้อมกับสำรับคาวหวานที่เตรียมไว้  เมื่อประเคนเสร็จ  พระสงฆ์จะพิจารณาก่อน
(ว่า ปฏิสังขาโย  ฯลฯ) แล้วจึงลงมือฉัน  โดยพระจะตักแบ่งข้าวในบาตรที่ญาติโยมได้ตักบาตรนั้น
ใส่จานข้าวแล้วจึงฉัน  ข้าวที่เหลือในบาตร  พระสงฆ์จะนำไปฉันต่อในมื้อเพล
หากเป็นพระที่ฉันเช้าเพียงมื้อเดียว  ก็อาจจะฉันภัตตาหารในบาตรเลยก็ได้
การทำคลุมบาตรอย่างนี้  มีรายละเอียดแต่สังเขปเท่านี้ ;)



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 มี.ค. 12, 21:00
^
นึกว่าพระป่าตัดสิ้นซึ่งกิเสลทั้งปวง ไม่ให้เห็นอาหารเป็นเครื่องยั่วกิเลส แต่เป็นเครื่องประทังชีวิต ต้องตัดความอยากทั้งปวง จะบูดจะเน่านั้นมิแน่แก่ใจ

ระวังคุณหลวงเดินตากแดดแรง ๆ หาพัดลมเป่าไว้บ้าง  :P


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 มี.ค. 12, 08:07
^
นึกว่าพระป่าตัดสิ้นซึ่งกิเสลทั้งปวง ไม่ให้เห็นอาหารเป็นเครื่องยั่วกิเลส แต่เป็นเครื่องประทังชีวิต ต้องตัดความอยากทั้งปวง จะบูดจะเน่านั้นมิแน่แก่ใจ

ระวังคุณหลวงเดินตากแดดแรง ๆ หาพัดลมเป่าไว้บ้าง  :P

พระท่านเห็นแก่สุขอนามัยของตนเอง   ถ้าฉันของบูดเน่าแล้วเกิดลงท้อง ไม่เป็นอันปฏิบัติธรรม
กว่าจะฟื้นกำลังตั้งสมาธิให้เป็นปกติได้ก็คงหลายวัน  ก็จะไม่เป็นการดี  ญาติโยมจะพลอยเป็นห่วง
หรือได้บาปไปด้วย  พระป่าแม้ไม่ยึดติดในรสอาหาร  แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะฉันอะไรก็ได้โดยไม่ห่วงสุขภาพ
ก็มีไม่ใช่หรือที่พระป่าในสมัยพุทธกาล  ออกมาบิณฑบาตรรับอาหารในเมือง  เพื่อให้ลิ้นที่รับรส
ได้ทำงานเป็นปกติ   


ผมเคยฝึก ร.ด. มาก่อน  ลูกเสือก็เรียนมา  เดินกลางแดดแรงคงไม่ถึงกับทนไม่ได้
ถึงปัจจุบันจะทำงานในออฟฟิศห้องแอร์  แต่ก็ยังทนแดดทนฝนทนหนาวทนร้อนได้พอสมควร
ขอบคุณที่เป็นห่วง 8)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 มี.ค. 12, 11:12
สหายคนหนึ่งของท่านผู้อาวุโสเป็นผู้ใฝ่ใจใคร่ศึกษา
เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี
ฝากคำถามมายังผมและมิตรรักกระทู้ปริศนาฯ ให้ช่วยหาข้อมูล
เกี่ยวกับตำหนักน้ำหรือพลับพลาน้ำที่พระเจ้ากรุงธนบุรี
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างในคราวที่เสด็จฯ ยาตราทัพ
ไปรบกับทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ว่ามีลักษณะและความเป็นมาอย่างไร

อ้อ  ท้ายคำถาม  มีปัจฉิมลิขิตต่อมาว่า
ถ้าหาข้อมูลให้ไม่ได้  ให้เขียนสารภาพยอมแพ้ไว้ด้วย ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 28 มี.ค. 12, 13:36
ตำหนักน้ำ.. ;D
พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
ในคราวที่เสด็จฯ ยาตราทัพไปรบกับทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่

ตั้งอยู่บริเวณ ถ้ำช้างร้อง กลางกระแสน้ำแม่ปิงที่ไหลเชี่ยวกราก
ปัจจุบัน ถ้ำนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ลักษณะของพลับพลา เป็นศาลาโถงไม้ หลังคามุงแป้นเกล็ด ตกแต่งหน้าบันด้วยจั่วหน้าพรหม
มีจุดเด่นอยู่ที่คันทวยฉลุฉลักลวดลายเล็กน้อยพองาม

ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกกันว่า "พลับพลาพระเจ้าตากเวียงลี้"




กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 มี.ค. 12, 13:42
อือม์  สหายของท่านผู้อาวุโสฝากบอกมาว่า  คุณดีดีค้นมาได้ดีมาก
แต่ที่อยากทราบข้อมูลคือตำหนักน้ำที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างที่ธนบุรี
ไม่ใช่ที่เมืองเหนือ  และฝากขออภัยที่สื่อสารคำถามไม่ชัดเจน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มี.ค. 12, 15:36
จาก หนังสือเรื่องพระตำหนักแพ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (http://www.finearts.go.th/node/4652)

พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นางรัฐสถานพิทักษ์ (เจิม กาญจนะหุต) และนายประดิษฐ์ ตุงคะเศรณี ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐

(http://www.finearts.go.th/system/files/imagecache/Book_big/flip/photo/1/001_1.jpg)

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มี.ค. 12, 15:37
ครั้นเมื่อคราวเจ้าตากยกทัพใหญ่ไปต่อสู้กับพะม่าที่มารักษาเมืองเชียงใหม่ ครั้งนั้นเจ้าตากสั่งให้เจ้าพระยาธรรมา ชื่อบุญรอด ซึ่งเป็นบิดาเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) และเป็นปู่เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช) นั้น เป็นผู้ทำตำหนักน้ำหลังหนึ่งห้าห้องมีเฉลียงรอบยาว ๑๓ วา กว้าง ๕ วา มุงกระเบื้องเกล็ดเต่า ไม่มีช่อฟ้าใบระกา มีฝากระดานหลังเจียดช่องลูกฟัก มีลูกกรงรอบ ๔ ด้านทาสีเขียวแดง รูปพรรณสัณฐานคล้ายศาลาโรงธรรม เป็นตำหนักตั้งอยู่บนหลังคานปลายเสาตะม่อ ๆ ลงน้ำเหมือนเรือนแพ มีชานล้อมรอบเฉลียง ๔ ด้าน ๆ ละ ๓ วา มีลูกกรงต่ำ ๆ รอบชาน มีประตูหูช้างเล็ก ๆ ที่ลูกกรงชานละ ๘ ประตู ในเวลานั้นคนเป็นอันมากเรียกว่าตำหนักน้ำ แต่บัตรหมายในเวลานั้นใช้ว่าพลับพลาน้ำอย่างเดี๋ยวนี้มีเนือง ๆ ตลอดเวลากรุงธนบุรี ไม่มีใครเรียกว่าตำหนักแพเลย  ท่านที่เป็นข้าราชการเก่า ๆ ติดมาจากแผ่นดินกรุงธนบุรีมีตัวทำราชการตลอดเวลามาในรัชกาลแผ่นดินพระเจ้าหลวงก็มีทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ที่มีอายุยืนยาวมาถึงแผ่นดินข้าพเจ้านี้ก็ยังมีตัวอยู่บ้างลางองค์ลางท่าน แต่ว่าน้อยตัวแล้ว ท่านเหล่านั้นก็ได้ทันเห็นพลับพลาน้ำของเจ้าตากเป็นพะยานด้วยกันมาก

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 มี.ค. 12, 16:45
สหายของท่านผู้อาวุโสฝากชมเชยความสามารถในการค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตของคุณเพ็ญฯ
ทั้งรวดเร็ว แม่นยำ และหาผู้เทียบเทียมได้ยาก ;)


ท่านผู้อาวุโสบอกว่า  คุณปู่ของท่านเคยเล่าเรื่องโรงเรียน "งิบวิทยาคม" ที่เคยเรียนให้ฟังตั้งแต่ท่านผู้อาวุโสยังเด็กๆ
ท่านว่า  ท่านเพิ่งเคยได้ยินชื่อโรงเรียนงิบวิทยาลัยครั้งนั้นเป็นครั้งแรก  ทำให้ติดใจมาก  พยายามค้นหาข้อมูลจนพบ
มาตอนนี้  ท่านผู้อาวุโสทำข้อมูลที่ค้นได้หายไปแล้ว และจำไม่ได้ว่า  โรงเรียนงิบวิทยาคม  อยู่ที่ไหน 
และมีประวัติการก่อตั้งเป็นมาอย่างไร

ท่านก็เลย  อยากให้ทุกท่านช่วยกันหาข้อมูลโรงเรียนงิบวิทยาคมให้สักหน่อย ;D ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มี.ค. 12, 16:54
จาก เว็บของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (http://www.watprayoon.org/index.php?topgroupid=1&groupid=57)

ฝ่ายหนังสือไทย เดิมพระอาจารย์แก้ว ซึ่งเรียกกันว่าท่านขรัวแก้ว เป็นคณาจารย์ใหญ่ผู้หนึ่ง ชำนาญในวิชาโหราศาสตร์ เป็นคู่กันกับท่านขรัวทอง ผู้ปฏิบัติทรงจำพระวินัยดี ท่านผู้นี้เริ่มสอนวิชาภาษาไทยขึ้นก่อน บรรดาบุตรหลานของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้ศึกษาอักขระสมัยเบื้องต้น ในสำนักของพระอาจารย์แก้ว แทบจะทุกท่านไปในเวลานั้น เช่น เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) และเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นต้น ในยุคต่อมาพระครูสาราณิยคุณ (พุฒ) พระสยามปริยัติ (งิบ) พระมหาจิ๋ว (รองอำมารย์โท ขุนธนพิพัฒน์) สอนกันเป็นลำดับมา ที่นับว่าสอนดี มีหลักฐานสืบเนื่องมาจนในเวลานี้ คือ พระอาจารย์สยามปริยัติ เดิมเป็นพระอาจารย์งิบ เป็นอันตวาสิกของพระธรรมภาณพิลาศ (ผ่อง) ได้เป็นคณาจารย์ใหญ่ปกครองศิษย์และการเล่าเรียนมาเป็นเวลานาน เคยได้รับรางวัลของกรมศึกษาธิการในคราวที่ศิษย์สอบไล่ได้แทบจะทุกปี  

ภายหลังกรมศึกษาธิการเห็นความสามารถของพระอาจารย์งิบ จึงรับจดทะเบียนยกขึ้นเป็นโรงเรียนหลวงเรียกนามว่า "โรงเรียนงิบวิทยาคม ชั้นประถมศึกษา" ได้รับค่าบำรุงเดือนละ ๑๐ บาท ตลอดจนถึง ๖๐ บาท มีตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๔๐ พระอาจารย์งิบได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระสยามปริยัติ มีนิตยภัตร เดือนละ  ๘ บาท รับตำแหน่งครูใหญ่มาจนถึงมรณภาพ เดี๋ยวนี้การเล่าเรียนหนังสือไทย นับว่าเจริญเป็นปึกแผ่นเปลี่ยนนามโรงเรียนใหม่ว่า "โรงเรียนมัธยมวัดประยุรวงศ์" ส่วนการเล่าเรียนนั้นไม่คงที่ แต่เดิมมามีถึงชั้น ๖ ต่อมามีเรียนประถม ๔ แล้วมาเป็นโรงเรียนประถม ๓ ปี ในพ.ศ.๒๔๗๑ มีประถม ๓ ปีกับมัธยม ๓ ปี เรียกว่ามัธยมตอนต้น

 ;D



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 มี.ค. 12, 17:16
ดีมากครับ   เอาอีกสักข้อหนึ่ง

สหายท่านหนึ่งฝากถามมา  บอกว่า  ท่านค้นข้อมูลมานานหลายปี
ท่านอยากทราบว่า  คนที่ได้รับเข็มหมายอักษร "ค" ในรุ่นราวคราวเดียวกัน
กับนายพันเอก  หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
มีกี่คน  มีใครบ้าง ;D ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 มี.ค. 12, 16:22
เฉลยคำภาพที่ถามไว้แต่คราวก่อน ว่า  ภาพนี้คือใคร และยังไม่มีใครมาตอบ

บุคคลในภาพนี้ คือ พระราชครูวามเทพมุนี รามเวทีศรีไสยศาสตร์ อนุษฏุภวาทโกศล (หว่าง รังสิพราหมณ์กุล)
ดำรงดำแหน่งพระราชครู ระหว่างปี ๒๔๕๗-๒๔๗๒


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 12, 17:31
ถึงคุณหลวงเล็ก

ฝากคำตอบข้อนี้ให้กับผู้อาวุโสด้วย เกี่ยวกับภาพถ่ายในเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นภาพหมู่เจ้านาย พระราชวงศ์ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประทับนั่งเบื้องซ้ายภาพเป็นหมู่เจ้านายฝ่ายชาย และเจ้านายฝ่ายสตรีนั่งประทับเบื้องขวา ซึ่งเป็นภาพที่ท่านอาวุโสกล่าวว่าเป็นภาพที่แปลกภาพหนึ่ง กล่าวคือ องค์ประธานที่นั่งกลางภาพประทับนั่งตรงกลางมิใช่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ หากแต่เป็นเจ้านายสตรีท่านหนึ่งประทับเป็นประธาน บนพระเก้าอี้เบื้องหลังสลักตราแผ่นดินอย่างสวยงาม

จึงเรียนคำตอบมายังผู้อาวุโสว่า ภาพดังกล่าวถูกถ่ายไว้ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๐ เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงครองราชย์ครบ ๔๐ ปีเทียบเท่าหรือเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งเรียกอย่างเป็นทางการว่า "พระราชพิธีรัชมงคล" ในราวเดือนพฤศจิกายน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 01 เม.ย. 12, 19:57
ขออนุญาตขยายความต่อจากคุณ Siamese ในความเห็นข้างบนครับ
พระบรมวงศ์ฝ่ายในที่ประทับเป็นประธานตรงกลางนั้น  ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๒ พระองค์เจ้าแม้นเขียน  ซึ่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงออกพระนามว่า "เสด็จยายแม้เขียน"
เจ้านายในภาพนั้นน่าจะประทับตามลำดับเชื้อเสายที่ทรงสืบต่อมาจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๒ ในภาพเสด็จพระองค์แม้นเขียนทรงเป็นพระบรมวงศ์ที่อาวุโสสูงที่สุดจึงประทับตรงกลาง 
จะทรงฉายในคราวพระราชพิธีทวีธาภิเศก  ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นสองเท่าของรัชกาลที่ ๒ หรือไม่? วานคุณหลวงเฉลยด้วยครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 เม.ย. 12, 09:55
ถึงคุณหลวงเล็ก

ฝากคำตอบข้อนี้ให้กับผู้อาวุโสด้วย เกี่ยวกับภาพถ่ายในเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นภาพหมู่เจ้านาย พระราชวงศ์ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประทับนั่งเบื้องซ้ายภาพเป็นหมู่เจ้านายฝ่ายชาย และเจ้านายฝ่ายสตรีนั่งประทับเบื้องขวา ซึ่งเป็นภาพที่ท่านอาวุโสกล่าวว่าเป็นภาพที่แปลกภาพหนึ่ง กล่าวคือ องค์ประธานที่นั่งกลางภาพประทับนั่งตรงกลางมิใช่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ หากแต่เป็นเจ้านายสตรีท่านหนึ่งประทับเป็นประธาน บนพระเก้าอี้เบื้องหลังสลักตราแผ่นดินอย่างสวยงาม

จึงเรียนคำตอบมายังผู้อาวุโสว่า ภาพดังกล่าวถูกถ่ายไว้ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๐ เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงครองราชย์ครบ ๔๐ ปีเทียบเท่าหรือเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งเรียกอย่างเป็นทางการว่า "พระราชพิธีรัชมงคล" ในราวเดือนพฤศจิกายน


เอาภาพมายืนยันด้วย   อ่านแต่ข้อความฝากมา  ท่านผู้อาวุโสท่านบอกว่าระลึกไม่ได้


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 เม.ย. 12, 10:08
ถึงคุณหลวงเล็ก

ฝากคำตอบข้อนี้ให้กับผู้อาวุโสด้วย เกี่ยวกับภาพถ่ายในเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นภาพหมู่เจ้านาย พระราชวงศ์ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประทับนั่งเบื้องซ้ายภาพเป็นหมู่เจ้านายฝ่ายชาย และเจ้านายฝ่ายสตรีนั่งประทับเบื้องขวา ซึ่งเป็นภาพที่ท่านอาวุโสกล่าวว่าเป็นภาพที่แปลกภาพหนึ่ง กล่าวคือ องค์ประธานที่นั่งกลางภาพประทับนั่งตรงกลางมิใช่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ หากแต่เป็นเจ้านายสตรีท่านหนึ่งประทับเป็นประธาน บนพระเก้าอี้เบื้องหลังสลักตราแผ่นดินอย่างสวยงาม

จึงเรียนคำตอบมายังผู้อาวุโสว่า ภาพดังกล่าวถูกถ่ายไว้ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๐ เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงครองราชย์ครบ ๔๐ ปีเทียบเท่าหรือเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งเรียกอย่างเป็นทางการว่า "พระราชพิธีรัชมงคล" ในราวเดือนพฤศจิกายน


เอาภาพมายืนยันด้วย   อ่านแต่ข้อความฝากมา  ท่านผู้อาวุโสท่านบอกว่าระลึกไม่ได้

ท่านอาวุโสจำได้แม่นยำ ท่านหยิบมาโชว์ด้วยมือของท่านเอง ท่านย่อมจำได้มิเปลี่ยนแปลง.....เรียนท่านไปว่า เป็นภาพเดียวที่ในหลวงรัชกาลที่ ๕ มิได้ประทับเป็นองค์ประธาน

ฮึ ฮึ ฮึ อยากเห็นช่ายไหม ... ๕๕๕ :P :P :P :P :P :P :P :P :P :P :P


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 เม.ย. 12, 10:24

ท่านอาวุโสจำได้แม่นยำ ท่านหยิบมาโชว์ด้วยมือของท่านเอง ท่านย่อมจำได้มิเปลี่ยนแปลง.....
เรียนท่านไปว่า เป็นภาพเดียวที่ในหลวงรัชกาลที่ ๕ มิได้ประทับเป็นองค์ประธาน

ฮึ ฮึ ฮึ อยากเห็นช่ายไหม ... ๕๕๕ :P :P :P :P :P :P :P :P :P :P :P

ช่วงนี้  ท่านผู้อาวุโสมีเรื่องให้ต้องจดจำหลายอย่าง  
ยังไม่ว่างมาเล่นอะไรเอ่ย ทายปัญหากับออกขุนในช่วงนี้
อากาศร้อนๆ หนาวๆ อย่ากวนอารมณ์ให้ขุ่นมัว >:(


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 เม.ย. 12, 06:54
ฮึ ฮึ ฮึ อยากเห็นช่ายไหม ... ๕๕๕ :P :P :P :P :P :P :P :P :P :P :P

อยากเห็นด้วยคน

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 เม.ย. 12, 06:57
ดีมากครับ   เอาอีกสักข้อหนึ่ง

สหายท่านหนึ่งฝากถามมา  บอกว่า  ท่านค้นข้อมูลมานานหลายปี
ท่านอยากทราบว่า  คนที่ได้รับเข็มหมายอักษร "ค" ในรุ่นราวคราวเดียวกัน
กับนายพันเอก  หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
มีกี่คน  มีใครบ้าง ;D ;D ;D

รออ่านคำเฉลยอยู่

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 เม.ย. 12, 07:47

เฉพาะคุณเพ็ญ

        เมื่อวานซืน  คุณหลวงเล็กไปซื้อหนังสือที่งานหนังสือ    คุณหลวงเล่าว่าคุ้นเคยมาตั้งแต่ร้านเก่า

ข้าพเจ้ามีนัดกับสิงห์ร้ายผู้หนึ่ง  ว่าจะนำหนังสือหายาก (ขนาดชื่อก็ไม่เคยมีการบันทึกไว้) มาให้ดูจึงเวียน

อยู่ในงาน          เห็นคุณหลวงแว้บ ๆ  ไม่ค่อยแน่ใจว่าใช่ท่านหรือเปล่าเพราะดูสูงอายุ  กำลังจ่ายสตางค์ที่ร้านไตรภูมิ

จึงกระซิบช้างกับคุณหนุ่มเจ้าของร้านว่า  นั่นคุณหลวงนะ         คุณหนุ่มสะดุ้งเฮือก  รีบส่งซิคแนลให้

ศรีภรรยาทันทีเป็นเชิงให้ลดราคาลงอีกนิด        ศรีภรรยาไม่เห็นเพราะกำลังคิดเงิน     คุณหนุ่มจึงส่งเสียงดัง

ว่า...ลดพิเศษ  นั่นคุณหลวงนะ

       ศรีภรรยาจึงลดให้อีกหน่อย

       ข้าพเจ้ากำลังจะแจ้งกับคุณหนุ่มว่า  อันที่จริงยศคุณหลวงนี้  ไม่มีแล้วนะ   เลยเสบอกไปว่า

อีกหน่อยท่านก็คงได้เลื่อนเป็นขุน...


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 เม.ย. 12, 08:07
เห็นคุณหลวงแว้บ ๆ  ไม่ค่อยแน่ใจว่าใช่ท่านหรือเปล่าเพราะดูสูงอายุ 

คุณหลวงท่านดูสูงอายุฉะนั้นเชียวรึ 


      ข้าพเจ้ากำลังจะแจ้งกับคุณหนุ่มว่า  อันที่จริงยศคุณหลวงนี้  ไม่มีแล้วนะ   เลยเสบอกไปว่า

อีกหน่อยท่านก็คงได้เลื่อนเป็นขุน...

ขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับท่านขุนเล็ก

แหะ แหะ

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 เม.ย. 12, 09:55
เห็นคุณหลวงแว้บ ๆ  ไม่ค่อยแน่ใจว่าใช่ท่านหรือเปล่าเพราะดูสูงอายุ 

คุณหลวงท่านดูสูงอายุฉะนั้นเชียวรึ 


      ข้าพเจ้ากำลังจะแจ้งกับคุณหนุ่มว่า  อันที่จริงยศคุณหลวงนี้  ไม่มีแล้วนะ   เลยเสบอกไปว่า

อีกหน่อยท่านก็คงได้เลื่อนเป็นขุน...

ขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับท่านขุนเล็ก

แหะ แหะ

 ;D

ยังดี ไม่สวมแว่น นุ่งโจงม่วง เหน็บนาฬิกาพก  :P


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 เม.ย. 12, 11:01
พระบรมรูปนี้ประดิษฐานที่ใดคะ
(http://)

ลืมไปเลยว่าใน "ปราสาทพระเทพบิดร" นั้นมีเหล่าพระบรมรูปอยู่ ตอบ ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 เม.ย. 12, 11:07

แค้ก..ๆ   ห้อย นาฬิกา  กระมังคุณหนุ่มสยาม


วันนู้น...ยังเห็นท่านผู้อาวุโส ปราดเข้าจับมือกับ ปาด  ตัวหนึ่งที่ร้าน ต้นฉบับ  หลังจากที่มองอยู่นาน

นึกว่าเสี่ยกิมหงวนมางานหนังสือ


วันต่อมาคุณอ้วน ธงชัยก็มาตามหาตัวเสี่ยหงวนเหมือนกัน   ท่านว่าอยากเห็นหน้าคนที่ซื้อหนังสือจนคนขายคิดเงินอยู่ ๔๐ นาที


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 เม.ย. 12, 11:13

นึกว่าเสี่ยกิมหงวนมางานหนังสือ


วันต่อมาคุณอ้วน ธงชัยก็มาตามหาตัวเสี่ยหงวนเหมือนกัน   ท่านว่าอยากเห็นหน้าคนที่ซื้อหนังสือจนคนขายคิดเงินอยู่ ๔๐ นาที

เดินน้อยมาก แค่ดม ๆ ชะโงก ๆ  นี่ยังอยากจะไปแบบว่าง ๆ ค่อย ๆ พิจารณาเล่มละครึ่งชั่วโมงอย่างพ่อนาฬิกาลูกตุ้ม


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 เม.ย. 12, 11:54
เห็นไม่ได้เข้ามาดู  เล่นสนุกกันใหญ่เลยนะครับ

เมื่อวานก่อน  ไปพบผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งในงานหนังสือ 
หลังจากที่แลกเปลี่ยนเอกสารหายากกันอย่างลับๆ แล้ว
ก็พาท่านเดินทักทายมือปืนตามซุ้มต่างๆ อย่างสนุกสนาน
ระหว่างนั้นก็ได้แยกับท่านผู้มีอิทธิพลไปหาหนังสือเก่าตามร้านต่างๆ
เดินวนเวียนอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่ง  ได้หนังสือมาเล็กน้อย
แต่ก็ต้องเว้นวรรคไปนั่งโต๊ะอาหาร เนื่องจากมีมือปืนคนสำคัญกำลังเดินทางมาหาผู้มีอิทธิพล
ระหว่างรอมือปืนคนดังกล่าว  ผมก็ฉันเพลไปเรื่อยๆ แหมข้าวแช่นี่ รสชาติใช้ได้
มือปืนมา  ก็ฟังเขาเล่าเรื่องลึกลับให้ฟัง   จบ  ก็เดินฝ่าฝูงชนไปซื้อหนังสือต่อ
คราวนี้ได้หนังสือมาเยอะ  ได้หนังสือถูกใจไปหลาย  คาดว่าคงจะไม่ซื้อหนังสือ
ไปสัก ๑-๒ วัน   แถมยังได้โทร.ไปบอกเสี่ยดอนด้วยว่า  หากมาคราวหน้า
กรุณาเดินไปเสียสละทรัพย์ตามร้านดังต่อไปนี้.....

ครั้นตะวันชายบ่ายสองเศษๆ  ก็ขยับผ้าม่วงมาเป็นนุ่งถกเขมรเพื่อให้ก้าวย่างได้สะดวก
มือคว้าย่ามละว้าแลสะพายแลหิ้วไถ้ใส่ตำรับตำราพะรุงพะรังออกจากศูนย์สิริกิติ์
กลับถึงวังเมื่อเวลาบ่ายแก่  (แก่มากเท่าไรไม่ทันสังเกต) ผู้มีอิทธิพลโทรตาม
ด้วยเป็นห่วงว่าจะถูกปล้นกลางทาง  ก็ตอบไปว่า  มากกว่านี้ก็กลับวังไหวอยู่

นอกจากหนังสือแล้ว  ยังได้ข่าวสารเป็นประโยชน์ไปพอสมควร 

คราวหน้า  คงต้องพกไม้เท้าไปด้วย เผื่อว่า สะพายถุงไถ้ไม่ไหวจะได้เอาไม้เท้าทำไม้คานหาบแทน
ทำไงได้  เราไม่มีลูกมือมาคอยตามหิ้วไปเก็บที่รถเลอมูซีนนี่ ;D





กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 เม.ย. 12, 12:28
ดีมากครับ   เอาอีกสักข้อหนึ่ง

สหายท่านหนึ่งฝากถามมา  บอกว่า  ท่านค้นข้อมูลมานานหลายปี
ท่านอยากทราบว่า  คนที่ได้รับเข็มหมายอักษร "ค" ในรุ่นราวคราวเดียวกัน
กับนายพันเอก  หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
มีกี่คน  มีใครบ้าง ;D ;D ;D

รออ่านคำเฉลยอยู่

 ;D

รอไปอีก ๗ วัน ภายในวันจันทร์ถึงอาทิตย์ของสัปดาห์  คงจะเฉลยได้แน่นอน

จะไม่มีใครเสี่ยงตอบหน่อยหรือ  ใบ้ให้นิดหนึ่งว่า

เข็มหมายอักษร "ค" นี้เป็นเข็มที่แสดงว่าคนที่ได้รับเข็มเป็นผู้สำเร็จหลักสูตรแผนกหนึ่งของสถานศึกษานั้นๆ
และสถานศึกษาที่ว่านั้น  ก็เป็นสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง ก่อตั้งมานาน  ปัจจุบันก็ยังอยู่


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 เม.ย. 12, 13:49
ท่านผู้อาวุโส เห็นว่าผมได้หนังสือมาใหม่หลายเล่ม  เลยตั้งคำถามมาลองเชิงว่า

ศาลาบัณณรสภาค  หรือบัณณรสภาคศาลา  สร้างเมื่อไร  สร้างพร้อมกับอาคารอะไร
และมีใครเป็นผู้ออกทุนทรัพย์ก่อสร้างบ้าง  (ตอบให้ครบชื่อ  ๑๕ คนนั้น)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 เม.ย. 12, 14:41
ท่านผู้อาวุโส เห็นว่าผมได้หนังสือมาใหม่หลายเล่ม  เลยตั้งคำถามมาลองเชิงว่า

ศาลาบัณณรสภาค  หรือบัณณรสภาคศาลา  สร้างเมื่อไร  สร้างพร้อมกับอาคารอะไร
และมีใครเป็นผู้ออกทุนทรัพย์ก่อสร้างบ้าง  (ตอบให้ครบชื่อ  ๑๕ คนนั้น)


โหม่ง ๆ ๆ แก๊ง....ท่านคงได้ข้อความนี้จาก "ประวัติวัดเบญจมพิตร" เป็นแน่แท้  8) ;D ;D

เอาภาพศาลามาให้ชมกันก่อน ระบุไว้ชัดเจนว่าศาลาบัณณรศภาค สร้างเมื่อ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙ ปีที่ ๓๓ ในรัชกาลที่ ๕


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 เม.ย. 12, 15:15
จากหนังสือประวัติวัดเบญจมพิตร
ศาลาบัณณรศภาค ก่อสร้างด้วยทุนพระโอรสธิดา เจ้าจอม และพระญาติ ในรัชกาลที่ ๕ รวม ๑๕ ทุน
๑.พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราเทวี
๒.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์
๓.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต
๔. พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา
๕. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์
๖. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าสุวภักตรวิลัยพรรณ
๗. เจ้าจอมมารดาแพ
๘. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
๙. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าสุรยงประยูรพันธ์
๑๐. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ
๑๑. เจ้าจอมมารดาโหมด
๑๒. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา
๑๓. เจ้าจอมมารดาอ่อน
๑๔.เจ้าจอมเอี่ยม
๑๕. เจ้าจอมเอิบ

รวมทุนทั้งสิ้น ๑๓,๑๖๔ บาท ทรงพระราชอุทิศไว้เมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๔


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 เม.ย. 12, 15:23
ท่านผู้อาวุโส เห็นว่าผมได้หนังสือมาใหม่หลายเล่ม  เลยตั้งคำถามมาลองเชิงว่า

ศาลาบัณณรสภาค   สร้างพร้อมกับอาคารอะไร



ศาลาบัณณรศภาค สร้างพร้อมกับ "ศาลาเบญจพิศภาค" ซึ่งก่อสร้างจากทุนทรัพย์พระโอรสพระธิดาในรัชกาลที่ ๕ เช่นเดียวกัน จำนวน ๒๕ ทุน ซึ่งรวมเป็นเงิน ๖,๒๒๖ บาท  ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 06 เม.ย. 12, 17:09
เข็มหมายอักษร ค นั้น ชื่อ เข็มคุรุบัณฑิต  ของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน
เข็มนี้ถ้าติดอกเสื้อข้างซ้ายหมายเป็นบัณฑิต  ถ้าติดอกข้างขวาหมายเป็นผู้จบเพียงชั้นประกาศนียบัตร
แต่ผมเห็นบัณฑิตบางท่านก็ติดข้างขวา  ไม่กล้าทัก  ไม่ใช่ว่ากลัวท่านเสียหน้า  แต่กลัวจะถูกท่านว่า นายเป็นใครมารู้ดีกว่าฉันได้อย่างไร?
แต่ที่ถามว่ามีใครรับพร้อมครูนวลนั้น  ถ้าค้นกันจริงๆ ก็ไม่ยาก  แค่เปืดราชกิจจาฯ ดูก็น่าจะพบ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 06 เม.ย. 12, 17:32
เข็มหมายอักษร ค นั้น ชื่อ เข็มคุรุบัณฑิต  ของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน
เข็มนี้ถ้าติดอกเสื้อข้างซ้ายหมายเป็นบัณฑิต  ถ้าติดอกข้างขวาหมายเป็นผู้จบเพียงชั้นประกาศนียบัตร
แต่ผมเห็นบัณฑิตบางท่านก็ติดข้างขวา  ไม่กล้าทัก  ไม่ใช่ว่ากลัวท่านเสียหน้า  แต่กลัวจะถูกท่านว่า นายเป็นใครมารู้ดีกว่าฉันได้อย่างไร?
แต่ที่ถามว่ามีใครรับพร้อมครูนวลนั้น  ถ้าค้นกันจริงๆ ก็ไม่ยาก  แค่เปืดราชกิจจาฯ ดูก็น่าจะพบ

ค้นจริงๆ ยากนะครับคุณวีมี

เพราะผมค้นดูในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ไม่รู้ว่าครูนวล ท่านจบจุฬาปีใด
ไม่พบเลย พบแต่ เข็ม "พ" เข็ม "ร" เข็ม "ว" เท่านั้นเอง

 ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 06 เม.ย. 12, 22:07
ค้นว่าครูนวลจบจุฬาปีใดอาจจะหลงทางนะครับ

เข็มนี้พระราชทานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘  และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิ่งเริ่มสอนวิชาชั้นบัณฑิตรั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๖๗  จึงมีผู้จบเป็นเวชบัณฑิตรุ่นแรกใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ต่อจากผู้จบจากโรงเรียนราชแพทยาลัยมากกว่าคณะอื่นๆ และถ้าค้นราชกิจจานุเบกษาโดยดูคำค้น บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ก็จะพบแต่ผู้ที่ได้รับเข็ม พ.เป็นส่วนใหญ่

ส่วนผู้ที่ได้รับพระราชทานเข็มอักษร ค. ในรุ่นครูนวลหรือใกล้เคียงจึงล้วนเป็นผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่มารวมเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ  ซึ่งได้รับพระราชทานครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นส่วนใหญ่  นอกจากนั้นก็เป็นพวกอาจารย์และเจ้าหน้าที่


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 เม.ย. 12, 15:56

โหม่ง ๆ ๆ แก๊ง....ท่านคงได้ข้อความนี้จาก "ประวัติวัดเบญจมพิตร" เป็นแน่แท้  8) ;D ;D

เอาภาพศาลามาให้ชมกันก่อน ระบุไว้ชัดเจนว่าศาลาบัณณรศภาค สร้างเมื่อ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙ ปีที่ ๓๓ ในรัชกาลที่ ๕

จากหนังสือประวัติวัดเบญจมพิตร
ศาลาบัณณรศภาค ก่อสร้างด้วยทุนพระโอรสธิดา เจ้าจอม และพระญาติ ในรัชกาลที่ ๕ รวม ๑๕ ทุน
๑.พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราเทวี
๒.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์
๓.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต
๔. พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา
๕. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์
๖. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าสุวภักตรวิลัยพรรณ
๗. เจ้าจอมมารดาแพ
๘. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
๙. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าสุรยงประยูรพันธ์
๑๐. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ
๑๑. เจ้าจอมมารดาโหมด
๑๒. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา
๑๓. เจ้าจอมมารดาอ่อน
๑๔.เจ้าจอมเอี่ยม
๑๕. เจ้าจอมเอิบ

รวมทุนทั้งสิ้น ๑๓,๑๖๔ บาท ทรงพระราชอุทิศไว้เมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๔


ศาลาบัณณรศภาค สร้างพร้อมกับ "ศาลาเบญจพิศภาค" ซึ่งก่อสร้างจากทุนทรัพย์พระโอรสพระธิดาในรัชกาลที่ ๕ เช่นเดียวกัน จำนวน ๒๕ ทุน ซึ่งรวมเป็นเงิน ๖,๒๒๖ บาท  ;)


ออกขุนแม่นยำดีนัก   ถ้าตั้งสำนักใบ้เลขสลากกินแบ่งเห็นจะเจริญเป็นแน่แท้

อันที่จริงอยากจะถามต่อไปว่า  ที่ว่า ๑๕ คนนั้นออกทุนทรัพย์สร้างบัณณรสภาคศาลา  เขาออกทุนกันคนละเท่าไร
แต่เอาเถิด  เท่านี้ท่านผู้อาวุโสท่านพอใจแล้ว   แต่ท่านฝากอาฆาต เอ๊ย ความหวังดีมาว่า
คราวหน้าจะถามเกี่ยวกับการอย่างหนึ่งอันเป็นครั้งแรกและจัดขึ้นที่วัดเบญจมบพิตรแห่งนี้
ถ้าออกขุนว่างอยู่ก็ไปหาข้อมูลมาเตรียมตอบไว้ได้เลย   ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 เม.ย. 12, 16:00
^
สงสัยเยอะเหลือกำลัง  ::) ??? ::) ??? ::) ???  :o


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 เม.ย. 12, 16:09
ส่วนคำถามว่า   คนที่ได้รับเข็มหมายอักษร "ค" ในรุ่นราวคราวเดียวกัน
กับนายพันเอก  หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
มีกี่คน  มีใครบ้าง นั้น

ต้องขอบคุณคุณวีมีที่กรุณามาแนะแนวชี้ทางสว่างให้แก่ผู้สนใจอยากจะตอบคำถามนี้อย่างพนายอาร์ทแห่งแขวงเมืองประทุม
ความรู้ที่คุณวีมีให้ เกี่ยวกับเข็มหมายอักษรนั้น ถูกต้องทุกประการ  

ค้นจริงๆ ยากนะครับคุณวีมี

เพราะผมค้นดูในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ไม่รู้ว่าครูนวล ท่านจบจุฬาปีใด
ไม่พบเลย พบแต่ เข็ม "พ" เข็ม "ร" เข็ม "ว" เท่านั้นเอง

 ???

ดูกร พนาย  ถ้าหาข้อมูลกันง่ายๆ  จะเอามาตั้งคำถามรึ  โบราณท่านว่าไว้เป็นภาษิตว่า
ความพยายามอยู่ที่ไหน  ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น   พนายย่อมทราบดีอยู่แล้ว

ความยากของคำถามข้อนี้คือ  ประการหนึ่งคือ จะเอาคำอะไรเป็นคำค้น
ประการต่อมา คือ  นายพันเอก  หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
จบหลักสูตรแผนกคุรุศาสตร์ปีใด   ไม่เช่นนั้นก็ต้องไล่ราชกิจจานุเบกษากันทีละปีทีละหน้า
สนุกดีพิลึก  หุหุหุ อิอิอิ ฮ่ะฮ่ะฮ่ะ ก๊ากๆๆ  สนุกดีจัง ;D ;D ;D ;D ;D ;D




กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 เม.ย. 12, 16:15
^
สงสัยเยอะเหลือกำลัง  ::) ??? ::) ??? ::) ???  :o

โธ่  ออกขุน  ท่านถือตำราคนละเล่มกับท่านผู้อาวุโส  ไอ้ที่ท่านไปกว้านซื้อมาจากเขตคลองเตยนั้น
เผอิญว่าไม่มีเล่มที่ท่านผู้อาวุโสท่านใช้เสียด้วยสิ   คนเราว่างๆ ก็ชอบสงสัยอะไรไปเรื่อยอย่างนี้แหละ
ว่าแต่ไอ้ที่ไปขนซื้อมาหลายเล่มเกวียนน่ะ  เมื่อไรจะอ่านหมด  ท่านอ่านเล่มไหนจบ ช่วยบอกด้วย
จะได้ทดสอบความรู้กันหน่อย  (สัก ๓๐ ข้อคงจะพอ) ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 07 เม.ย. 12, 16:22


ความยากของคำถามข้อนี้คือ  ประการหนึ่งคือ จะเอาคำอะไรเป็นคำค้น
ประการต่อมา คือ  นายพันเอก  หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
จบหลักสูตรแผนกคุรุศาสตร์ปีใด   ไม่เช่นนั้นก็ต้องไล่ราชกิจจานุเบกษากันทีละปีทีละหน้า
สนุกดีพิลึก  หุหุหุ อิอิอิ ฮ่ะฮ่ะฮ่ะ ก๊ากๆๆ  สนุกดีจัง ;D ;D ;D ;D ;D ;D





หุหุุหุ อิอิอิ ฮ่ะฮ่ะฮ่ะ ก๊ากๆๆ สนุกดีจัง

สนุกคนเดียวหรือป่าวเนี่ยะใต้เท้า  :'(



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 เม.ย. 12, 16:25

หุหุุหุ อิอิอิ ฮ่ะฮ่ะฮ่ะ ก๊ากๆๆ สนุกดีจัง

สนุกคนเดียวหรือป่าวเนี่ยะใต้เท้า  :'(



เสียน้ำตาที่เรือนไทยอีกแล้วพนาย   จริงๆ สนุกอีกหลายคน  แต่เขาไม่ประสงค์เปิดเผยตัว
คุยกันทุกวันยามพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า   ฮากันน้ำชากระจาย ;D ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 07 เม.ย. 12, 17:35

หุหุุหุ อิอิอิ ฮ่ะฮ่ะฮ่ะ ก๊ากๆๆ สนุกดีจัง

สนุกคนเดียวหรือป่าวเนี่ยะใต้เท้า  :'(



เสียน้ำตาที่เรือนไทยอีกแล้วพนาย   จริงๆ สนุกอีกหลายคน  แต่เขาไม่ประสงค์เปิดเผยตัว
คุยกันทุกวันยามพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า   ฮากันน้ำชากระจาย ;D ;D ;D

คนอื่นสนุก กระผมนั่นทุกข์ถนัด


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 เม.ย. 12, 06:30
สหายของผมคนหนึ่ง  โทรมาแต่เช้าตรู่  ถามว่า

คุณหลวงทราบไหมว่า  เวลาเรานิมนต์พระภิกษุไปฉันภัตตาหาร
ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ไหนก็ตามแต่  จะเป็นในพิธีมงคลหรืออวมงคล
ก่อนที่พระเริ่มลงมือฉันภัตตาหาร  ท่านจะสวดมนต์บทอะไรไม่สั้นไม่ยาว
พอสวดจบแล้วก็ลงมือฉัน   มนต์บทนี้คือมนต์อะไร  มีความหมายว่าอย่างไร

ผมตอบไปว่า  อ๋อ บทนั้นนั่นเอง  เดี๋ยวท่องให้ฟังเอาไหม 
อ๊ะ  ไม่ดี  เอามาตั้งคำถามในเรือนไทยดีกว่า  สนุกดี :)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 เม.ย. 12, 21:19
 ;D "ตังขณิกปัจจเวกขณะ" หรือเรียกกันว่า "ปฏิสังขาโย" เป็นการพิจารณาอาหารทีฉัน

ปะฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง ปะฏิเสวามิ,
ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคาย คือพิจารณาโดยใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างดีแล้ว คำนึงถึงเหตุผลแล้ว จึงฉันอาหารบิณฑบาต
เนวะทะวายะ นะมะทายะ นะมัณฑะนายะ นะ วิภูสะนายะ
(โดยรู้ตระหนักว่า) มิใช่เพื่อจะสนุกสนานเห็นแก่เอร็ดอร่อย หลงมัวเมา สวยงาม โอ่อ่า โก้เก๋,
ยาวะเทวะ อิมัสสะ กายัสสะ ฐิติยา ยาปะนายะ
ที่ฉันนี้ก็เพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ ใช้ชีวิตดำเนินไปได้ ,
วิหิงสุปะระติยา,
เพื่อระงับความหิวกระหายหรือการขาดอาหาร ซึ่งเป็นภาวะที่บีบคั้นเบียดเบียนร่างกาย,
พรัหมะจะริยานุคคะหายะ,
เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์,
อิติ ปุราณัญจะ เวทะนัง ปะฏิหังขามิ,
ด้วยการทำอย่างนี้, เราย่อมระงับเสียได้ ซึ่งทุกขเวทนาเก่า คือความหิว,
นะวัญจะ เวทะนัง นะ อุปปาเทสสามิ,
และไม่ทำทุกขเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น,
ยาตะรา จะ เม ภะวิสสะติ,
และเราก็จะมีชีวิตดำเนินไปได้ .
อะนะวัชชะตา จะ,
พร้อมทั้งจะเป็นการบริโภคที่บริสุทธิ์ ไม่มีโทษ ปราศจากข้อเสียหาย  
 ผาสุวิหาโร จาติ,
แล้วก็เป็นอยู่ผาสุกด้วย  


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 เม.ย. 12, 12:47
เจริญพร สีกาดีดี  ที่กรุณามาตอบไว้ถูกต้องครบถ้วนดีแล้ว  ขออนุโมทนา สาธุ :)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 เม.ย. 12, 13:20
เรียนท่านทั้งหลายที่มักแวะเวียนมาในกระทู้นี้

เนื่องจากผมต้องไปปฏิบัติหน้าที่ไปถือกระเป๋าหมากตามท่านผู้อาวุโสที่งานในวังเป็นเพลาหลายวัน
ในระหว่างนี้  อาจไม่ได้มาแวะเวียนมาฝากคำถามทิ้งไว้  หากท่านผู้ใดมีอะไรจะฝากถึงผมและท่านผู้อาวุโส
กรุณาฝากไว้ในกระทู้นี้ได้  นี่เดี๋ยวต้องไปถือกระเป๋าหมากตามท่านผู้อาวุโสเข้าในงานที่สนามหลวงแล้ว

เดี๋ยวจะเก็บบรรยากาศมาเล่าให้ฟัง ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 เม.ย. 12, 13:33
เจริญพร สีกาดีดี  ที่กรุณามาตอบไว้ถูกต้องครบถ้วนดีแล้ว  ขออนุโมทนา สาธุ :)

หลงคิดว่าคุณหลวงไปบวชเป็นพระแล้ว เสียตั้งนาน

 ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 เม.ย. 12, 13:36
เรียนท่านทั้งหลายที่มักแวะเวียนมาในกระทู้นี้

เนื่องจากผมต้องไปปฏิบัติหน้าที่ไปถือกระเป๋าหมากตามท่านผู้อาวุโสที่งานในวังเป็นเพลาหลายวัน


ไม่ทราบว่าคุณหลวงนั้นถือสิ่งไรขอรับ ถือมังสี ตลับภู่ หรือกระโถนหมาก ขอรับ  ???

อยากจะถามชาววังว่าในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้นเซอร์ จอนห์ บาวริ่งได้ถวายตะเกียงเชิดหนัง และก็มาแตกเสีย รัชกาลที่ ๔ ทรงกล่าวว่า "เครื่องโคมอยู่แล้วตัวหนังเก่าก็มีอยู่บ้างแล้ว แตกแตนไปเสียน้อยไป ถ้ามีประหลาด ๆ มาก ๆ ก็จดีอยู่ ถึงจะเป็นของไม่มีประโยชน์นัก เป็นแต่เครื่องฬ่อออก็เป็นของเล่นง่าย จะให้เด็ก ๆ เล่น หรือลาวกาวมาแต่หัวเมืองก็จะได้เอาออกเล่นให้ดูฬ่อออลาว"

"ฬ่อออ" คืออะไรครับ  ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 เม.ย. 12, 18:21
แกะรอย ฬ่อออ (http://archive.lib.kmutt.ac.th/detail.php?ar_id=4281)

คุณเอนก นาวิกมูล กล่าวถึง คำว่า "ฬ่อออ" ไว้ในหนังสือ "เก็บตกสยาม"  ว่า

...พบคำดังกล่าวในพระราชหัตถเลขา คำว่า ฬ่อออ แปลว่า ล่อให้ตื่น หรือ ของตื่นเล่น ฬ่อ ฬ. จุฬาเขียน ส่วนคำว่า ออ เป็นคำสแลงสมัยรัชกาลที่ ๔ แปลว่า ตื่น หรือพิศวง ... ซึ่งมีคำอธิบายอยู่ในพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ ๔ ว่าด้วยถนนเจริญกรุง (เริ่มสร้าง พ.ศ. ๒๔๐๔) ตอนหนึ่งว่า

"ถึงได้เตเลแกรบ (คือเทเลกราฟ) ซึ่งแปลว่า โทรเลข-เอนก) แลทางรถไฟเป็นของประหลาดนัก ฟังแลก็ออ ออ ออมาจนขี้เกียจออเสียแล้ว ออ นั้นแปลว่า ตื่น พิศวง..."

พระราชหัตถเลขาที่ทรงเขียนถึงเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี (เพ็ง เพ็ญกุล) เป็นอุปทูตอัญเชิญพระราชสาส์นจาก รัชกาลที่ ๔ ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งกรุงอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๐๐ พระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งทรงเขียนว่า

" อนึ่งเมื่อกลางคืนวันจะไปนั้น ข้าได้สั่งให้หลวงสรรพวุธเอาอย่าง (ตัวอย่าง - เอนก) หลอดแก้วครอบตะเกียงไปตามเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีสองอย่าง ด้วยจะให้ทำเปนอาไหล่ไว้ใช้ หลวงสรรพวุธเข้าใจผิดไปได้เอาไปให้แต่หลอดเดียว หลอดโคมเชิดหนัง (เมจิค แลนเทิร์น หรือ Magic lantern คือเครื่องฉายสไลด์ หากแต่ก่อนยังไม่มีไฟฟ้า ต้องมีตะเกียงหรือเรียกอีกอย่างว่า โคมเป็นเครื่อง ฉายแสง มีหลอดแก้วควบคุมตัวไฟไว้ - เอนก) ของเซอ ยอน โบวริง ให้แต่ก่อนนั้นหาได้อย่างไปไม่ ยังค้างอยู่ บัดนี้ทำอย่างให้มากับทั้งอย่างแก้วใส่ข้างหน้าที่แก้วเก่าแตกนั้นมาด้วย จงทำมาให้เปนปรกติ และหาหลอดสำหรับอาไหล่มาให้ใช้หลายอัน อนึ่งได้ให้อย่างแผ่นกระจก เปนที่เขียนตัวหนังสือซึ่งเข้าช่องกันได้มาด้วยในครั้งนี้ จะหาช่างเขียนที่ฉลาด ๆ เขียนเพิ่มเติมเข้า ด้วยก็ดี จะได้มาก ๆ ขึ้นไหน ๆ ก็ได้มีเครื่องโคมอยู่แล้ว ตัวหนังเก่าก็มีอยู่บ้างแล้ว แตกแตนไปเสียน้อยไป ถ้ามีขึ้นปลาด ๆ มาก ๆ ก็จะดีอยู่ ถึงจะเปนของไม่มีประโยชน์นักเปนแต่เครื่องฬ่อออ ก็เป็นของเล่นง่าย จะได้ให้เด็ก ๆ เล่นฤๅลาวกาวมาแต่หัวเมืองก็จะได้เอาออกเล่นให้ ดูฬ่อออลาว

ของอื่น ๆ ที่จะซื้อหามานั้น ถ้าเปนแต่เครื่องฬ่อออ ไม่สู้ต้องการนัก เสียเงินเปล่า คิดหาแต่ของที่เปนประโยชน์ใช้การได้ เครื่องยางไม้หุงที่อังกฤษเรียกว่า ..."

และทรงกล่าวว่า ขุนทิพมงคลที่ไปกับคณะทูตด้วยนั้นให้หัดเรียนแก้นาฬิกาด้วย

"ทุนรอนคราวนี้ก็มีมาก จะได้หาเครื่องมือและเครื่องอาไหล่มาใช้ให้ครบครัน วิชานี้ก็สำคัญ นาฬิกาก็ต้องแก้เสมอไป เพราะว่าต้องใช้อยู่ เปนนิจมิใช่ฬ่อออ อนึ่งบอกมาให้ทราบว่าตั้งแต่ทูตไปแล้ว"

(หมายเหตุ :- แผ่นกระจก และหนัง คือ แผ่นสไลด์ - เอนก)

พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๒๐ ถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ราชทูต) และเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี (เพ็ง เพ็ญกุล)

" ... ขอท่านจงเอาาใจใส่หาสูบอย่างใหม่และเครื่องมือดับไฟอย่างไรดีๆ ที่ควรพอกำลังไทยจะใช้ได้ รักษาได้นั้นมาให้ข้าพเจ้าเปนกำลังไว้ สำหรับดับเพลิง สำรับ ๑ ฤๅ ๒ สำรับ ข้าพเจ้าจะดีใจมากแต่อย่าตื่นเครื่องจักรฟืนจักรไฟไป กลัวจะเกินวาศนาไทยจะใช้ จะเปนแต่เครื่องฬ่อออไปเสียเงินเปล่าๆ คิดเอาแต่ที่ไทยจะใช้ได้..."

ที่มา : เอนก นาวิกมูล. "แกะรอย ฬ่อออ"," เก็บตกกรุงสยาม. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๑๕๔๕. หน้า ๑๓๑-๑๔๑.

 ;D  


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 เม.ย. 12, 19:42
^
ขอบคุณ ๆ เพ็ญชมพูครับผม  :-[

(แหม่ ๆ ๆ คุณหลวงรอดตายหวุดหวิด)

นึกถึงคุณหลวง ก็ชวนให้นึกถึง "คุณหลวง ๆ นุ่งผ้าม่วง ทำไมไม่แขวนนาฬิกา ๆ  :P :P มีนาฬิกาก็ชวนให้นึกถึงย่ำยาม ตีฆ้องโหม่ง ๆ

ในจดหมายเหตุรีคอร์ดเดอร์ ตีพิมพ์ความรู้เรื่องการบอกเวลาว่า "...ในชั่วโมงไทยนั้น เราแบ่งออกเป็น ๑๐ ส่วน เรียกว่า บาท โดยให้เรียก บาทหนึ่ง ๒ บาท ๓บาท จนไปถึง ๙ บาท แต่ขอให้อย่าเรียก "๒ บาท" เลยเป็นคำไม่สุภาพ

คุณหลวงว่า " ๒ บาท" ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไม่สุภาพอย่างไร  ???


(โหม่ง ๆ ๆ โหม่ง เท่ง โหม่ง.....ฮิ้วววววว)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 เม.ย. 12, 20:19
ก็คำว่า "สองบาท" นั้นเป็นคำสะแลงที่ชาวบ้านร้านช่องเขาใช้พูดแทน...ของบุรุษ
ในหลวงไม่โปรด เห็นว่าหยาบคาย (ในสมัยนั้น) จึงให้เลี่ยง แต่ให้เลี่ยงว่ากระไรก็ลืมไปแล้ว
ออกขุนเป็นคนเก่าถึงยุค คงจะทราบดีอยู่แล้ว หาควรมาถามเราไม่
อันที่จริงนั้น  สองบาทนั้นคงไม่ได้เริ่มที่ สองบาทของนาฬิกา แต่เป็นสองบาทอย่างอื่น
อย่างเงินสองบาท  ในหลวงโปรดให้เรียกว่า กึ่งตำลึง แทน

ออกขุนนี่ก็กระไร   ข้าพเจ้าออกไปถือกระเป๋าหมากตามท่านผู้อาวุโสเข้านั่งที่ศาลาลุกขุน
ในมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง  แดดแจ้งจางปางอยู่แท้ๆ  บัดเดี๋ยวก็มีกลุ่มเมฆลอยมาทะมึน
ปกคลุมท้องฟ้าที่สนามหลวง  แรก ๆ มีแต่เมฆ มีลมพัดนิดหน่อย  ผ่านสักพักใหญ่เมฆมาประชุมมากขึ้น
ในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จขึ้นพระเมรุแล้ว  ทีนี้เริ่มมีฟ้าร้องฟ้าแลบ  มีลมพัดแต่ไม่มาก
ตอนนั้นระทึกใจอยู่ว่าจะตกเมื่อไร   ทั้งนี้ได้เอาถุงพลาสติกมาคลุมกระเป่าหมากไม่ให้เปียกไว้แล้ว
เวลาผ่านไป  จนกระทั่งเสด็จฯ กลับ  ท่านผู้อาวุโสออกไปวางดอกไม้จันทน์  ข้าพเจ้ารีบตามท่านไปโดยไม่ชักช้า
ตาก็แหงนดุฟ้าไปพลาง  พอท่านผู้อาวุโสวางดอกไม้จันทน์แล้ว  ก็รีบเตือนท่านให้รีบเดิน เพราะท่าทางพระพิรุณ
จะกลั้นไว้ไม่อยู่   ท่านผู้อาวุโสสาวเท้าไม่ทันใจ  ข้าพเจ้าจึงให้ท่านขี่คอแล้วรีบวิ่งเร็วสุดชีวิตเข้าวัง
ฝนหยดแหมะที่แขน  เอาล่ะ มันมาแล้ว  ทีนี้   ไม่ฟังใครแล้ว  รีบวิ่งจนเข้ามาถึงฐานที่ตั้ง
ปล่อยให้ผู้อาวุโสลงเดินได้  ฝนลงมาทันที   รอดตายไปที

เดี๋ยวท่านผู้อาวุโสว่า  ถ้าฝนหยดแล้ว  เดี๋ยวจะไปดูโขนหนังที่สนามหลวงสักหน่อย  
ข้าพเจ้าคงต้องถือกระเป๋าหมากตามท่าไปอีก ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 เม.ย. 12, 20:28
ก็คำว่า "สองบาท" นั้นเป็นคำสะแลงที่ชาวบ้านร้านช่องเขาใช้พูดแทน...ของบุรุษ
ในหลวงไม่โปรด เห็นว่าหยาบคาย (ในสมัยนั้น) จึงให้เลี่ยง แต่ให้เลี่ยงว่ากระไรก็ลืมไปแล้ว
ออกขุนเป็นคนเก่าถึงยุค คงจะทราบดีอยู่แล้ว หาควรมาถามเราไม่
อันที่จริงนั้น  สองบาทนั้นคงไม่ได้เริ่มที่ สองบาทของนาฬิกา แต่เป็นสองบาทอย่างอื่น
อย่างเงินสองบาท  ในหลวงโปรดให้เรียกว่า กึ่งตำลึง แทน

ออกขุนนี่ก็กระไร   ข้าพเจ้าออกไปถือกระเป่าหมากตามท่านผู้อาวุโสเข้านั่งที่ศาลาลุกขุน
ในมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง  แดดแจ้งจางปางอยู่แท้ๆ  บัดเดี๋ยวก็มีกลุ่มเมฆลอยมาทะมึน
ปกคลุมท้องฟ้าที่สนามหลวง  แรก ๆ มีแต่เมฆ มีลมพัดนิดหน่อย  ผ่านสักพักใหญ่เมฆมาประชุมมากขึ้น
ในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จขึ้นพระเมรุแล้ว  ทีนี้เริ่มมีฟ้าร้องฟ้าแลบ  มีลมพัดแต่ไม่มาก
ตอนนั้นระทึกใจอยู่ว่าจะตกเมื่อไร   ทั้งนี้ได้เอาถุงพลาสติกมาคลุมกระเป่าหมากไม่ให้เปียกไว้แล้ว
เวลาผ่านไป  จนกระทั่งเสด็จฯ กลับ  ท่านผู้อาวุโสออกไปวางดอกไม้จันทน์  ข้าพเจ้ารีบตามท่านไปโดยไม่ชักช้า
ตาก็แหงนดุฟ้าไปพลาง  พอท่านผู้อาวุโสวางดอกไม้จันทน์แล้ว  ก็รีบเตือนท่านให้รีบเดิน เพราะท่าทางพระพิรุณ
จะกลั้นไว้ไม่อยู่   ท่านผู้อาวุโสสาวเท้าไม่ทันใจ  ข้าพเจ้าจึงให้ท่านขี่คอแล้วรีบวิ่งเร็วสุดชีวิตเข้าวัง
ฝนหยดแหมะที่แขน  เอาล่ะ มันมาแล้ว  ทีนี้   ไม่ฟังใครแล้ว  รีบวิ่งจนเข้ามาถึงฐานที่ตั้ง
ปล่อยให้ผู้อาวุโสลงเดินได้  ฝนลงว่ามาทันที   รอดตายไปที

เดี๋ยวท่านผู้อาวุโสว่า  ถ้าฝนหยดแล้ว  เดี๋ยวจะไปดูโขนหนังที่สนามหลวงสักหน่อย   
ข้าพเจ้าคงต้องถือกระเป๋าหมากตามท่าไปอีก ;)
ดีแล้ว วันนี้อากาศไม่ร้อนจัด เกรางว่าจะไม่สบาย  ..เรานึกว่าท่านไปเทกระโถนหมากที่ท่าขุนนาง  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 เม.ย. 12, 20:32
ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก  ออกขุน  ท่านผู้อาวุโสรับประทานแต่หมากหอม 
ไม่มีชานหมากให้เททิ้งให้เลอะเทอะบ้านเมืองหรอก


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 เม.ย. 12, 20:50
ระหว่างที่ถือกระเป๋าหมากตามท่านผู้อาวุโสเข้างานพระราชพิธีนั้น

ท่านผู้อาวุโสได้สนทนากับเพื่อนของท่าน ตอนหนึ่งความว่า

เอ ท่าน...พระญาติสนิทในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
เรียงลำดับสายราชสกุลสายชิดเท่านั้น  ปัจจุบันมีใครบ้าง

แหม  น่าสนุกนัก  เลยเอามาตั้งคำถามดีกว่า    8)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 เม.ย. 12, 21:03
ระหว่างที่ถือกระเป๋าหมากตามท่านผู้อาวุโสเข้างานพระราชพิธีนั้น

ท่านผู้อาวุโสได้สนทนากับเพื่อนของท่าน ตอนหนึ่งความว่า

เอ ท่าน...พระญาติสนิทในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
เรียงลำดับสายราชสกุลสายชิดเท่านั้น  ปัจจุบันมีใครบ้าง

แหม  น่าสนุกนัก  เลยเอามาตั้งคำถามดีกว่า    8)

หากสายที่สนิทจริง ๆ คงไม่มีกระมัง เนื่องด้วย ทรงเป็นพระธิดาในรัชกาลที่ ๖ เป็นหน่อองค์เดียว ไม่มีพระพี่น้อง ดังนั้นจะนับว่าสนิทก็มิควร

แต่นับย้อนไปยังพี่น้องทางรัชกาลที่ ๖ คือ เหล่าพระโอรสในสมเด็จพระพันปีหลวง ก็นับว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ที่จำได้คือ สายสมเด็จเจ้าฟ้าจุพาธุช ลงมายังพระองค์เจ้าสุทธิสิริโสภา ลงมายัง หม่อมราชวงศ์หญิงสุนิดา กิติยากร และหม่อมราชวงศ์หญิงเสาวนิต กิติยากร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 เม.ย. 12, 23:28

หากสายที่สนิทจริง ๆ คงไม่มีกระมัง เนื่องด้วย ทรงเป็นพระธิดาในรัชกาลที่ ๖ เป็นหน่อองค์เดียว ไม่มีพระพี่น้อง ดังนั้นจะนับว่าสนิทก็มิควร

แต่นับย้อนไปยังพี่น้องทางรัชกาลที่ ๖ คือ เหล่าพระโอรสในสมเด็จพระพันปีหลวง ก็นับว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ที่จำได้คือ สายสมเด็จเจ้าฟ้าจุพาธุช ลงมายังพระองค์เจ้าสุทธิสิริโสภา ลงมายัง หม่อมราชวงศ์หญิงสุนิดา กิติยากร และหม่อมราชวงศ์หญิงเสาวนิต กิติยากร

ดูก่อน  ออกขุน  ไยท่านข้ามสายราชสกุลจักรพงศ์ไปเล่าถึงจะไม่มีชั้นหม่อมหลวง  แต่ราชสกุลนี้ยังอยู่นะ
ส่วนสายราชสกุลจุฑาธุชนั้น  ออกขุนน่าจะนับตกไปกระมัง  เชิญนับใหม่อีกทีเถิด
อ้อ   อย่าลืมอีกสายหนึ่งด้วย  ส่วนสายอะไรนั้น  ให้ไปเดาเอาเอง
สายนี้ไม่ใช่สายพระโลหิตแต่ก็นับเป็นทายาทในราชสกุลสายสนิทได้


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 10 เม.ย. 12, 07:26
ใบ้ให้ครับ  นอกจากสายสมเด็จพระหันปีหลวงที่ทรงมีพระเชษฐาและพระอนุชาแล้วยังมีอีกราชสกุลหนึ่งซึ่งใกล้ชิดไม่แพ้กันครับ



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 เม.ย. 12, 07:47
ใบ้ให้ครับ  นอกจากสายสมเด็จพระหันปีหลวงที่ทรงมีพระเชษฐาและพระอนุชาแล้วยังมีอีกราชสกุลหนึ่งซึ่งใกล้ชิดไม่แพ้กันครับ



อันนี้เข้าใจและรับทราบครับ เนื่องจากภาระเลี้ยงดูพระธิดาในรัชกาลที่ ๖ อยู่ในความดูแลของพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเจ้าฟ้าภคิณีเธอฯ ทรง
ผูกพันกับสายราชสกุลมหิดลอย่างลึกซึ้ง

หากแต่คุณหลวงเล็กท่านเอ่ยว่า "เรียงลำดับสายราชสกุลสายชิดเท่านั้น" ก็เลยตีแปลงแกล้งเซ่อยั่วท่านเล่น ท่านจะได้ถือกระโถนไม่ไหว  :P


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 เม.ย. 12, 10:54

อันนี้เข้าใจและรับทราบครับ เนื่องจากภาระเลี้ยงดูพระธิดาในรัชกาลที่ ๖ อยู่ในความดูแลของพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเจ้าฟ้าภคิณีเธอฯ ทรง
ผูกพันกับสายราชสกุลมหิดลอย่างลึกซึ้ง

หากแต่คุณหลวงเล็กท่านเอ่ยว่า "เรียงลำดับสายราชสกุลสายชิดเท่านั้น" ก็เลยตีแปลงแกล้งเซ่อยั่วท่านเล่น ท่านจะได้ถือกระโถนไม่ไหว  :P

อ้อ  วางแผนไว้เช่นนี้รึ  ระวังกระโถนจะลอยได้นะออกขุน ริทำตัวเป็นปลาชะโดไปได้
ราชสกุลสายชิดกับสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ที่ผมถามนั้น  มุ่งที่สายราชสกุลทางสมเด็จพระพันปีหลวงพระองค์เดียว
ส่วนสายทางสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น มีแต่สายราชสกุลมหิดลเพียงสายเดียว ไม่ยาก
อย่ามัวเล่นเอาเถิดอยู่เลย  จะตอบก็รีบตอบมา


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 10 เม.ย. 12, 11:03
ออกหลวง (แห่งกรมพระอาลักษณ์) แลออกขุน (แห่งกรมมหรสพ)

ท่านทั้งสองเล่นอะไรกันอยู่หรือ น่าสนุกดี

ฮิๆๆๆๆ

 :P


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 เม.ย. 12, 12:43
ออกหลวง (แห่งกรมพระอาลักษณ์) แลออกขุน (แห่งกรมมหรสพ)

ท่านทั้งสองเล่นอะไรกันอยู่หรือ น่าสนุกดี

ฮิๆๆๆๆ

 :P


อ๊ะๆ  พนายอาร์ทเรียกข้าพเจ้าว่าออกหลวงไม่ได้ดอก 
เพราะข้าพเจ้าเป็นหลวงชั้นผู้น้อย ติดจะเป็นประทวนเสียด้วย   ไม่ใช่เจ้ากรม
เป็นออกหลวงยังไม่ได้หรอก  อำนาจสิทธิ์ขาดอะไรก็หามีไม่


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 เม.ย. 12, 14:01

อันนี้เข้าใจและรับทราบครับ เนื่องจากภาระเลี้ยงดูพระธิดาในรัชกาลที่ ๖ อยู่ในความดูแลของพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเจ้าฟ้าภคิณีเธอฯ ทรง
ผูกพันกับสายราชสกุลมหิดลอย่างลึกซึ้ง

หากแต่คุณหลวงเล็กท่านเอ่ยว่า "เรียงลำดับสายราชสกุลสายชิดเท่านั้น" ก็เลยตีแปลงแกล้งเซ่อยั่วท่านเล่น ท่านจะได้ถือกระโถนไม่ไหว  :P

อ้อ  วางแผนไว้เช่นนี้รึ  ระวังกระโถนจะลอยได้นะออกขุน ริทำตัวเป็นปลาชะโดไปได้
ราชสกุลสายชิดกับสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ที่ผมถามนั้น  มุ่งที่สายราชสกุลทางสมเด็จพระพันปีหลวงพระองค์เดียว
ส่วนสายทางสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น มีแต่สายราชสกุลมหิดลเพียงสายเดียว ไม่ยาก
อย่ามัวเล่นเอาเถิดอยู่เลย  จะตอบก็รีบตอบมา

คุณพระนายไวย และคุณ arawadee ได้ชี้แจงถึงพระญาติสายสมเด็จพระพันปีด้งนี้

ในสายตรงเหลือชั้นหม่อมราชวงศ์อยู่สามคนครับ คือ
- หม่อมราชวงศ์ดิลกวรานนท์ จุฑาธุช สืบสาย กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
- หม่อมราชวงศ์ดารา จุฑาธุช สืบสาย กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
- หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ สืบสาย กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

และที่สืบสายสกุลทางมารดา คือ ธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย คือ
-หม่อมราชวงศ์สุนิดา (กิติยากร) บุณยรัตนพันธุ์
-หม่อมราชวงศ์เสาวนิต กิติยากร

ส่วนการเชิญเครื่องราชอิสริยศ ผู้อัญเชิญจะเป็นราชนิกูลที่เป็นบุรุษครับ ซึ่งสายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จะเหลือเพียงหม่อมราชวงศ์ดิลกวรานนท์ จุฑาธุช หรือคุณชายนิโคลัส โอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช กับหม่อมหม่อมแพเมลา จุฑาธุช ณ อยุธยา ซึ่งอยู่ตอนนี้อยู่ที่อังกฤษครับ

+++

พระราชวงศ์ชั้นพระนัดดา พระปนัดดา ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ มีดังนี้

ชั้นพระนัดดา
๑. สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
๒. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ (พระโอรสในสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาท กรมหลวงพิษณุโลกประชานาท)
๓. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธศิริโสภา (พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย)
๔. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย)


ชั้นพระปนัดดา
๑. หม่อมราชวงศ์นริศรา  จักรพงษ์ (ธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์)
๒. หม่อมราชวงศ์สุนิดา  บุณยรัตนพันธุ์ (ธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธศิริโสภา)
๓. หม่อมราชวงศ์เสาวนิต กิติยากร (ธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธศิริโสภา)
๔. หม่อมราชวงศ์ดิลกวรานนท์ จุฑาธุช (โอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช )
๕. หม่อมราชวงศ์ดารา จุฑาธุช (ธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช )


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 เม.ย. 12, 03:11
วันนี้มีคำถามจากผู้อาวุโสมาฝากเป็นของขวัญวันสงกรานต์ ๒-๓ เรื่อง ดังนี้

เรื่องแรก   ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสถานที่ในการเชิญธงมหาราชขึ้นเสา
ในเวลาเสด็จฯ มาประทับในพระบรมมหาราชวัง จากเสาธงที่ป้อมเผด็จดัษกรมาเป็นที่ใด 
และเสาธงเดิมที่อยู่ที่ป้อมเผด็จดัษกรนั้น  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปไว้ที่ใด




กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 15 เม.ย. 12, 07:44
ที่ป้อมเผด็จดัษกรนั้นเดิมล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ชักธงจุฑาธุชธิปไตย  ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้สร้างธงมหาไพชยนต์ธวัชเป็นธงประจำแผ่นดินขึ้นแล้ว  จึงโปรดให้เปลี่ยนมาชักธงมหาไพชยนต์ธวัชแทน

คุณเศวต  ธนประดิษฐ์ อดีตที่ปรึกษาสำนักพระราชวังท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านเคยไปยืนดูทหารรักษาวังชักฑงมหาไพชยนต์ธวัชขึ้นเสา  ท่านว่าเวลาชักธงขึ้นเสาธงนั้นทหารรักษาวังพับธงไว้เป็นรูปดอกบัว  พอธงขึ้นถึงยอดเสาก็กระตุกสายเชือกแล้วคลี่ผืนธงให้โบกสบัด  พอย้ายเสาธงไปแล้วก็เลยไม่มีการพับธงเป็นดอกบัวแบบนั้นอีกเลย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 เม.ย. 12, 18:04
วันนี้มีคำถามจากผู้อาวุโสมาฝากเป็นของขวัญวันสงกรานต์ ๒-๓ เรื่อง ดังนี้

เสาธงเดิมที่อยู่ที่ป้อมเผด็จดัษกรนั้น  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปไว้ที่ใด




ย้ายไปที่ปากคลองสาน ตั้งไว้ให้สัญญาณแก่เรือต่าง ๆ ที่ป้อมป้องปัจจามิตร ซึ่งปัจจุบันนี้กรมเจ้าท่ารักษาดูแลอยู่ครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 16 เม.ย. 12, 18:17
คุณหลวงเล็กท่านถามว่า "ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสถานที่ในการเชิญธงมหาราชขึ้นเสา
ในเวลาเสด็จฯ มาประทับในพระบรมมหาราชวัง จากเสาธงที่ป้อมเผด็จดัษกรมาเป็นที่ใด" 

รอแฟนๆ คุณหลวงมาตอบ  แต่เก็นเงียบกันไปหมด  สงสัยไปเล่นน้ำสงกรานต์กันเพลินจนกลับเรือนไม่ถูก
ก็ขออนุญาตตอบคำถามนั้นว่า ย้ายไปที่เสาธงหน้าพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ หรือต่อมาโปรดพระราชทานชื่อใหม่ว่า พระที่นั่งบรมพิมาน  ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงรักษาธรรมเนียมนี้อยู่ครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 16 เม.ย. 12, 20:31
คุณหลวงเล็กท่านถามว่า "ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสถานที่ในการเชิญธงมหาราชขึ้นเสา
ในเวลาเสด็จฯ มาประทับในพระบรมมหาราชวัง จากเสาธงที่ป้อมเผด็จดัษกรมาเป็นที่ใด" 

รอแฟนๆ คุณหลวงมาตอบ  แต่เก็นเงียบกันไปหมด  สงสัยไปเล่นน้ำสงกรานต์กันเพลินจนกลับเรือนไม่ถูก
ก็ขออนุญาตตอบคำถามนั้นว่า ย้ายไปที่เสาธงหน้าพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ หรือต่อมาโปรดพระราชทานชื่อใหม่ว่า พระที่นั่งบรมพิมาน  ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงรักษาธรรมเนียมนี้อยู่ครับ

วันนี้มีคำถามจากผู้อาวุโสมาฝากเป็นของขวัญวันสงกรานต์ ๒-๓ เรื่อง ดังนี้

เสาธงเดิมที่อยู่ที่ป้อมเผด็จดัษกรนั้น  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปไว้ที่ใด




ย้ายไปที่ปากคลองสาน ตั้งไว้ให้สัญญาณแก่เรือต่าง ๆ ที่ป้อมป้องปัจจามิตร ซึ่งปัจจุบันนี้กรมเจ้าท่ารักษาดูแลอยู่ครับ


เอ๊ะ  :o

แห่งใดจะถูกกันแน่หนอ ระหว่าง ปากคลองสาน แล พระที่นั่งบรมพิมาน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 เม.ย. 12, 08:05
วันนี้มีคำถามจากผู้อาวุโสมาฝากเป็นของขวัญวันสงกรานต์ ๒-๓ เรื่อง ดังนี้

เรื่องแรก   ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสถานที่ในการเชิญธงมหาราชขึ้นเสา
ในเวลาเสด็จฯ มาประทับในพระบรมมหาราชวัง จากเสาธงที่ป้อมเผด็จดัษกรมาเป็นที่ใด 
และเสาธงเดิมที่อยู่ที่ป้อมเผด็จดัษกรนั้น  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปไว้ที่ใด

เฉลย  (คัดมาแต่เอกสารเก่าอายุ ๑๐๐ ปี)

(น่า ๑๑๙ วัน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๖ ๒๙ เมษายน  ๑๓๐)
...วันนี้โปรดให้ชักธงมหาราชอย่างใหม่ขึ้นที่ปลายเสาบนหลังคาพระที่นั่งอัมพรแทนเสาธงใหญ่ที่ป้อมเผด็จดัษกร
แลต่อไปจะใช้ตามพระราชบัญญัติธงที่ตราไว้ใหม่  คือประทับที่ใดก็ชักขึ้นณที่นั้น  จึงโปรดให้รื้อซ่อมมุขเล็ก
น่าพระที่นั่งจักรกรีตั้งเสาธงเล็กขึ้นสำหรับชักขึ้นในเวลาเสด็จประทับในพระบรมมหาราชวังอีกแห่งหนึ่ง 
แลโปรดให้รื้อย้ายเสาธงที่ป้อมเผด็จดัษกรนั้นไปเปนเสาธงสำหรับกรมเจ้าท่าชักธงเรือสินค้าเข้าออกขึ้นที่ป้อมจักรเพ็ชร์ต่อไปฯ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 เม.ย. 12, 07:22
เมื่อปี ๑๘๙๓ สยามได้จัดส่งสิ่งของไปร่วมจัดแสดงนิทรรศการ
ในงาน World's Columbian Exposition ณ เมืองชิคาโก
ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสหปาลีอเมริกาในขณะนั้น
ในครั้งนั้น  สิ่งของจากประเทศสยามได้รับรางวัลเป็นจำนวน ๑๐๑ รางวัล
ท่านผู้อาวุโสใคร่ทราบว่า  รางวัลที่หมดที่ได้ในครั้งนั้นมีอะไรบ้าง ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 เม.ย. 12, 09:04
เมื่อปี ๑๘๙๓ สยามได้จัดส่งสิ่งของไปร่วมจัดแสดงนิทรรศการ
ในงาน World's Columbian Exposition ณ เมืองชิคาโก
ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสหปาลีอเมริกาในขณะนั้น
ในครั้งนั้น  สิ่งของจากประเทศสยามได้รับรางวัลเป็นจำนวน ๑๐๑ รางวัล
ท่านผู้อาวุโสใคร่ทราบว่า  รางวัลที่หมดที่ได้ในครั้งนั้นมีอะไรบ้าง ;D


ทราบเบื้องต้นคือ ผลงานภาพปักผ้าไหม ปักเป็นเรื่องพระสุริโยทัยชนช้าง เป็นฝีมือของสตรีชาวสยาม ได้รับรางวัลที่ ๑ (ในกลุ่มอาคารสตรีและผลงานของสตรี)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 เม.ย. 12, 09:07

สหายท่านหนึ่งฝากถามมา  บอกว่า  ท่านค้นข้อมูลมานานหลายปี
ท่านอยากทราบว่า  คนที่ได้รับเข็มหมายอักษร "ค" ในรุ่นราวคราวเดียวกัน
กับนายพันเอก  หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
มีกี่คน  มีใครบ้าง ;D ;D ;D

คำถามนี้  ท่านผู้อาวุโสท่านเห็นว่า  ทิ้งมาก็ช้านาน  หามีผู้ใดตอบได้ไม่
ท่านจึงฝากคำใบ้มาให้ท่านทั้งหลายช่วยไขปริศนาดังนี้

37/09/09/24/63/1876-1884

ขอให้โชคดี ;D



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 เม.ย. 12, 09:09

ทราบเบื้องต้นคือ ผลงานภาพปักผ้าไหม ปักเป็นเรื่องพระสุริโยทัยชนช้าง เป็นฝีมือของสตรีชาวสยาม ได้รับรางวัลที่ ๑ (ในกลุ่มอาคารสตรีและผลงานของสตรี)

ข้อมูลเก่ามากนะออกขุน   ตอนนี้เขาไปถึงกระทั่งว่า  เหรียยรางวัลที่ได้แบ่งเป็นสาขาอะไรบ้างแล้่ว
หาใหม่ ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 เม.ย. 12, 10:23
อาคารที่สยามเข้าร่วมแสดงและส่งเข้าร่วมงานมีมากมาย

๑. อาคารแสดงด้านเกษตรกรรม

๒. อาคารด้านศิลปกรรม

๓. อาคารกลุ่มผลงานสตรี

๔. อาคารแสดงด้านป่าไม้

๕. อาคารแสดงด้านการคมนาคม

๖. อาคารแสดงด้านมนุษยวิทยา

อ่านแล้วสยามส่งขอให้มากมายก่ายกอง เขียนไม่หมดเอย ... แต่ตื่นตาตื่นใจเมื่อมีการจัดแสดงเครื่องอัญมณี พลอย ทับทิม หัวแหวน จากในวังและข้าวของเครื่องใช้ทองคำ หีบเงิน หีบหมากประดับทอง เพชรพลอย ไปร่วมงานด้งกล่าว


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 เม.ย. 12, 07:40
เมื่อวานนี้  ผมมีภารกิจต้องไปค้นหาเอกสารที่กองบัญชาการ
ได้อ่านเอกสารสำคัญหลายเรื่อง  หนึ่งในจำนวนนั้น  คือ
เอกสารเกี่ยวกับการแสดงพิพิธภัณฑ์ที่เมืองชิคาโก ๑๘๙๓
เอกสารนั้นมีหลายร้อยหน้า  แต่ที่ชอบมากคือบันทึกการประชุม
ของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในและสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์
เกี่ยวกับเรื่องการจัดหาสิ่งของส่งไปจัดแสดงที่ woman building
ในบันทึกได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับงานฝีมือสตรีสยามสมัยนั้นไม่น้อย
นอกจากนี้ยังมีบัญชีสิ่งของที่ได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลต่างๆ
แบ่งเป็นประเภทต่างๆ  คิดว่า  ถ้าสามารถเอาออกมาได้จะเอามาลง
(พอเป็นพิธี)

เอกสารอีกเรื่องหนึ่งที่ได้ไปอ่านเจอมา  เห็นแต่หัวเรื่องเอกสารนี้ทีแรก
ก้ไม่ได้สนใจจะอ่าน  แต่พอได้อ่าน (เพราะอยู่ต่อท้ายเอกสารที่ต้องการอ่าน)
ก็รีบเอามืออุดปาก  เกรงว่าจารชนที่ซุ่มซ่อนใกล้ๆจะได้ยิน
เอกสารชิ้นนั้นเป็นกลอนเพลงยาวของเจ้านายพระองค์หนึ่งทรงพระนิพนธ์
โต้ตอบกับลูกสาวกงสุล  เข้าใจว่า  น่าจะยังไม่มีการเผยแพร่ให้ทราบกันเป็นกว้างขวาง
เล่าให้ท่านผู้อาวุโสฟัง  ท่านนิ่งไปสักอึดใจ  แล้วบอกให้เล่าใหม่อีกทีซิ
ท่านฟังแล้วว่า  อือม์  ข้อมูลสำคัญ
 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 เม.ย. 12, 08:09
         

       มีการเขียนตาม ๆ กันมา  โดยมิได้อ้างอิงว่าลูกสาวคนโตของกงศุลน๊อกซ์นั้น  กงศุลจะส่งไปเรียนที่อังกฤษ

แต่ยังไม่เห็นเอกสารเพิ่มเติมในเรื่องแฟนนีเคยไปอังกฤษ

ซึ่งคงจะลำบากเหมือนกันเพราะน๊อกซ์คงเป็นเพียงลูกชายคนรองจากครอบครัวธรรมดาการศึกษาไม่มาก  ที่ออกเผชิญโชค

และการที่แฟนนีเป็น natural daughter ของกงศุลที่มิได้มีฐานะร่ำรวยนัก  คงเข้าสังคมได้ยาก

น้องสาวของแฟนนีนั้น  หน้าตาคมขำมาก    และเขียนจดหมายถึงแอนนาได้เรื่องได้ราวทีเดียว  แสดงว่ามีการศึกษาอย่างเยี่ยม


       หญิงสาวผู้มีสกุลนั้น  เมื่อบิดาไม่อยู่บ้าน   ก็มีมารดาหรือหญิงผู้ใหญ่อยู่ป้องกันข้อครหานินทา

จะหาเวลาที่ไหนไปเล่นเพลงยาว

สงสัยว่าบางตอนของเพลงยาวนั้น  จะมีตอน  "ไหนพระผ่านฟ้าสัญญาน้อง"  บ้างไหม



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 เม.ย. 12, 06:14


เพลงยาว   เจ้านายพระองค์หนึ่ง   โต้ตอบ   ลูกสาวกงศุล

ผู้สัมภาษณ์                                มีกี่ฉบับจ๊ะ
ผู้ปล่อยข่าว                               หลาย
ส                                           ถึงสามฤาไม่
ป (ยืนกระต่ายขาเดียว)                 หลาย        ทำไมต้อง มีสาม
ส                                          ธรรมดาเขาส่งกัน สาม ฉบับย่ะ..เอ๊ยจ้ะ   ฉบับแรกแนะนำตัว  ฝากรัก
                                            ฉบับที่ สอง  ให้สัญญาว่าจะรักและเลี้ยงดู         ฉบับสาม  นัดพาหนี
ป                                          หลายฉบับ
ส                                          โต้ตอบกัน...อ่า...ก็ต้องมีจากฝ่ายหญิงด้วยกระมัง
ป                                          ดังนั้น
ส                                          อือ......เรื่องนี้ก็เข้ากับตอนที่เจ้าคุณภาสส่งจดหมายกราบทูลที่เขียนด้วยดินสอในยามเช้าตรู่วันหนึ่ง
ป                                          หัวเราะลงลูกคอดังกัก ๆ

ส                                          (อยากอ่านมาก...   แต่ไม่มีข่าวจะแลกเปลี่ยนเพราะรีบเล่าไปหมดแล้วว่าหน่วยราชการไหนได้รับมหาสมบัติหนังสือทั้งชุดมาจากที่ใด)
                                            ....
                                           


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 20 เม.ย. 12, 07:57
ยังไม่เห็นใครตอบเรื่อง เข็ม ค



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 เม.ย. 12, 08:12
ยังไม่เห็นใครตอบเรื่อง เข็ม ค



ดีครับ   ผมก็รออยู่ว่า  เมื่อไรจะมีคนมาตอบ  อุตส่าห์ใบ้ให้ขนาดนี้แล้ว
ขอบคุณคุณกะออมที่กรุณามาตอบให้ชื่นใจ ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 เม.ย. 12, 15:07
ท่านผู้อาวุโสนั่งอยู่ว่างๆ ตอนตะวันบ่าย  โทร.มาถามผมว่า

คุณหลวงรู้ไหมว่า  สตรีคนแรกที่ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาคือผู้ใด
ได้รับเมื่อไร และได้รับเข็มอะไร ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 เม.ย. 12, 08:55
คำถามจากท่านผู้อาวุโส (อีกแล้ว) ท่านให้ไปดูที่กระทู้ ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้และผู้สนใจ) ๔ ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 23 เม.ย. 12, 20:10
ท่านผู้อาวุโสนั่งอยู่ว่างๆ ตอนตะวันบ่าย  โทร.มาถามผมว่า

คุณหลวงรู้ไหมว่า  สตรีคนแรกที่ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาคือผู้ใด
ได้รับเมื่อไร และได้รับเข็มอะไร ;D

แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี
เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
แก่ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม

                                         แจ้งความ ณ วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙
                                                     จอมพล ป. พิบูลสงคราม
                                                           นายกรัฐมนตรี


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 เม.ย. 12, 08:45
ท่านผู้อาวุโสนั่งอยู่ว่างๆ ตอนตะวันบ่าย  โทร.มาถามผมว่า

คุณหลวงรู้ไหมว่า  สตรีคนแรกที่ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาคือผู้ใด
ได้รับเมื่อไร และได้รับเข็มอะไร ;D

แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี
เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
แก่ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม

                                         แจ้งความ ณ วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙
                                                     จอมพล ป. พิบูลสงคราม
                                                           นายกรัฐมนตรี

ขยันดี  ไม่เปลี่ยนแปลงเลยนะพนาย  ทผญ.ละเอียด พิบูลสงคราม เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา
กับเข็มศิลปวิทยา  เมื่อ ปี ๒๔๙๙ 

หลังจากนั้น  กว่าจะมีสตรีได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา  เข็มศิลปวิทยา อีก ปี ๒๕๑๒
คือ คุณหญิงประไพ  ผ่องอักษร  สภากาชาดไทย   คนที่ ๓ คือ ท่านผู้หญิงแผ้ว  สนทวงศ์เสนี
ได้รับพระราชทานเมื่อ ปี ๒๕๑๔

ขอบใจพนายที่มาทำให้กระทู้เคลื่อนไหว :)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 เม.ย. 12, 08:06
ช่วงนี้ ท่านผู้อาวุโสหลบร้อนไปนั่งอ่านเอกสารเก่าๆ แถวท่าวาสุกรี
แลได้นัดท่านผู้อาวุโสกว่ามาอ่านเอกสารด้วยกัน 
วันก่อน  ได้สนทนาถึงเจ้านายวังหน้าทรงทำเพลงยาวกับสาวครึ่งชาติ
ในคราวเกิดเรื่องขัดเคืองจนถึงกับเข็นปืนขึ้นป้อมกำแพงวัง

ท่านผู้อาวุโสกว่าท่านถามว่า  อ้อ ใช่ที่กึ่งๆ นิราศหรือเปล่า ที่พูดถึงพระยาวังหน้า
๕-๖ คน ตามเสด็จไปบ้านกงสุลที่เล่นม้าหมดตัวหนีเข้ามาเมืองสยามนะหรือ

ฮึ ไม่ช่าย  เพลงยาวนี้  เจ้านายกับสาวครึ่งชาติเขาแต่งโต้ตอบกัน
สาวตั้งตัวจะเป็นครูสอนภาษาวิลาศถวายเจ้านาย  เจ้านายก็ยอมลดพระองค์เป็นศิษย์
แต่งในคราวเดียวกับเพลงยาวเสด็จย้ายที่ประทับไปบ้านกงสุล 
เป็นเพลงยาวลี้ลับไม่แพร่หลาย   ถ้าเห็นแค่ชื่อเอกสาร  ก็นึกไม่ออกว่าเป็นเรื่องอะไร
ต้องเปิดอ่านดูจึงได้รู้ความ

มีตอนหวาดเสียวไหม   

เท่าที่อ่านดู  ยังไม่หวาดเสียวเท่าที่ควร  แต่หลายยาวหลายบทกว่านี้ก็ไม่แน่นะ
เพราะดูๆ ก็ทั้งสองก็มีไมตรีต่อกันอยู่   อายุก็เห็นพอๆ กัน  ห่างกันไม่มาก

อืมม์  น่าสนใจ   8) 8)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 26 เม.ย. 12, 10:19

เท่าที่อ่านดู  ยังไม่หวาดเสียวเท่าที่ควร  แต่หลายยาวหลายบทกว่านี้ก็ไม่แน่นะ
เพราะดูๆ ก็ทั้งสองก็มีไมตรีต่อกันอยู่   อายุก็เห็นพอๆ กัน  ห่างกันไม่มาก

อืมม์  น่าสนใจ   8) 8)

อืมม์ เจ้าชายวังหน้า ตอนนั้นอายุ ๓๖ พระชันษา ฝ่ายสาวครึ่งชาติ อายุได้ ๑๘ ปี

ชายหนุ่มกำลังอยู่ในวัยฉกรรจ์ แข็งแรง
หญิงสาวก็เพิ่งวัยรุ่นแรกแย้ม เบิกบาน
 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 เม.ย. 12, 10:46

เท่าที่อ่านดู  ยังไม่หวาดเสียวเท่าที่ควร  แต่หลายยาวหลายบทกว่านี้ก็ไม่แน่นะ
เพราะดูๆ ก็ทั้งสองก็มีไมตรีต่อกันอยู่   อายุก็เห็นพอๆ กัน  ห่างกันไม่มาก

อืมม์  น่าสนใจ   8) 8)

อืมม์ เจ้าชายวังหน้า ตอนนั้นอายุ ๓๖ พระชันษา ฝ่ายสาวครึ่งชาติ อายุได้ ๑๘ ปี

ชายหนุ่มกำลังอยู่ในวัยฉกรรจ์ แข็งแรง
หญิงสาวก็เพิ่งวัยรุ่นแรกแย้ม เบิกบาน
 ;D

ไม่นะ...อายุ ๑๘ แก่มากแล้วจะมาแรกแย้มอะไรอีกละพ่อคู้ณณณณณ  มีลูก ๒ - ๕ คนได้แล้ว (รวมแฝด) สาวรุ่นต้องหลังโกนจุก ๒ - ๓ ปีถือว่าดีนักแล  :P


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 14:22
ฮึ ไม่ช่าย  เพลงยาวนี้  เจ้านายกับสาวครึ่งชาติเขาแต่งโต้ตอบกัน
สาวตั้งตัวจะเป็นครูสอนภาษาวิลาศถวายเจ้านาย  เจ้านายก็ยอมลดพระองค์เป็นศิษย์
แต่งในคราวเดียวกับเพลงยาวเสด็จย้ายที่ประทับไปบ้านกงสุล 
เป็นเพลงยาวลี้ลับไม่แพร่หลาย   ถ้าเห็นแค่ชื่อเอกสาร  ก็นึกไม่ออกว่าเป็นเรื่องอะไร
ต้องเปิดอ่านดูจึงได้รู้ความ

มีตอนหวาดเสียวไหม   

เท่าที่อ่านดู  ยังไม่หวาดเสียวเท่าที่ควร  แต่หลายยาวหลายบทกว่านี้ก็ไม่แน่นะ
เพราะดูๆ ก็ทั้งสองก็มีไมตรีต่อกันอยู่   อายุก็เห็นพอๆ กัน  ห่างกันไม่มาก

อืมม์  น่าสนใจ   8) 8)

ขออ่านบ้างได้ไหมหนอ

 :)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 26 เม.ย. 12, 16:39

เท่าที่อ่านดู  ยังไม่หวาดเสียวเท่าที่ควร  แต่หลายยาวหลายบทกว่านี้ก็ไม่แน่นะ
เพราะดูๆ ก็ทั้งสองก็มีไมตรีต่อกันอยู่   อายุก็เห็นพอๆ กัน  ห่างกันไม่มาก

อืมม์  น่าสนใจ   8) 8)

อืมม์ เจ้าชายวังหน้า ตอนนั้นอายุ ๓๖ พระชันษา ฝ่ายสาวครึ่งชาติ อายุได้ ๑๘ ปี

ชายหนุ่มกำลังอยู่ในวัยฉกรรจ์ แข็งแรง
หญิงสาวก็เพิ่งวัยรุ่นแรกแย้ม เบิกบาน
 ;D

ไม่นะ...อายุ ๑๘ แก่มากแล้วจะมาแรกแย้มอะไรอีกละพ่อคู้ณณณณณ  มีลูก ๒ - ๕ คนได้แล้ว (รวมแฝด) สาวรุ่นต้องหลังโกนจุก ๒ - ๓ ปีถือว่าดีนักแล  :P

เอ๊ะๆๆ ออกขุน ลูกฝรั่งหนา
เรายังไม่รู้เลย ว่าพ่อตาน้ำข้าวของหล่อนน่ะให้หล่อนไว้จุกหรือเปล่า แล้วจะโกนจุกได้อย่างไร :P

แล้วกว่าหล่อนจะมีสามี (เป็นตัวเป็นตน) ก็ผ่านวิกฤตการณ์วังหน้ามาอีกสักพักใหญ่ๆ เจียว ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 เม.ย. 12, 16:46

        ในฐานะประจำการอยู่ที่กองบัญชาการหลังร้านไอสครีมน้ำมะพร้าวมาครึ่งปีแล้ว    เห็นอาลักษณ์แต่งเต็มยศมาแถวนี้บ่อย ๆ

จึงไปตามอ่านดูว่ามาค้นอะไรบ้าง        ยอมรับว่าแปลกพอใช้  แล้วแต่จะตีความกันไป
 
คำอธิบายเพลงยาว    ยาวประมาณเกือบหน้าครึ่ง  พิมพ์ด้วยพิมพ์ดีด

คนเขียนพอจะทราบข้อมูลอยู่บ้าง  แต่อธิบายยังไม่กระจ่าง   และไม่มีอ้างอิงเลย

คนเขียนเล่าว่า อำแดงปรางเป็นหมู่โขลน   แต่ตามที่เห็นมาเธอเป็นละคร  

เรื่องแฟนนีไม่อยู่ในกรุงก็ไม่มีหลักฐานอะไร   จะไปอังกฤษกับบิดาเป็นเวลาเกือบ ๒ ปีเชียวหรือ


        คำอธิบายเล่าว่ากว่าแขจะได้แต่งงานก็ต้างเติ่งอยู่จนอายุราว ๓๐

แต่แต่งไปกับพ่อเลี้ยงหลุยส์เพราะมารดามีทรัพย์



       เพลงยาวยังไม่เก่งเท่าไร   อ่านแล้ว "ไม่จิกหมอน" เลยค่ะคุณเพ็ญ

ฝ่ายหญิงถวายผ้าเช็ดหน้า

"ได้ดูต่างก็แต่ผ้าเช็ดหน้านวล                  หอมตระหลบอบร่ำน้ำกุหลาบ

ที่นาสิกติดทราบไม่หายหวล                    จะแกล้งให้เชือดหั่นนั้นไม่ควร


เพราะได้ชวนใจชื่นทุกคืนมา"

           ขอไปตรวจสอบก่อนนะคะ    แหม่มปรางไม่ได้ไปอังกฤษกับน๊อกซ์ค่ะ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 เม.ย. 12, 08:43
ช่วงนี้ เป็นช่วงคัมแบ็กทูสคูล  มีนักเรียนเดินผ่านหน้าอาศรมวิทยาของท่านผู้อาวุโส
เด็กนักเรียนคนหนึ่งซึ่งอยู่แถวๆ อาศรมของท่านผู้อาวุโส  มีข้อสงสัยเรื่องราชาศัพท์
อยากจะเรียนถามขอความรู้สักหน่อย  ท่านผู้ใดมีน้ำจิตน้ำใจใคร่ให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน
เชิญเข้ามาตอบได้ตามอัธยาศัย

คำถามมีว่า

หนูดูข่าวในพระราชสำนักทุกวัน  แล้วหนูก็สงสัยว่า เวลาที่มีคณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ หรือเฝ้าพระบรมวงศานุวงศ์
ทำไมบางทีข่าวก็ใช้ว่า เสด็จออก บางทีก็ใช้ว่า เสด็จลง  ทั้ง เสด็จออก และ เสด็จลง  มีหลักเกณฑ์ในการใช้อย่างไร
อ้อ  ช่วยยกตัวอย่างให้หนูดูด้วยนะ  ขอขอบคุณทุกท่านที่มาตอบคำถามหนู ;D



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 08:56
ช่วงนี้ เป็นช่วงคัมแบ็กทูสคูล


ยังไม่ซื้อชุดนักเรียนเลย ของเล่นของแถมจากรองเท้าบาจาก็ไม่มี ตอนนี้เรียนพิเศษอยู่  8) 8) 8) 8) 8) 8) 8)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 09:04
ช่วงนี้ เป็นช่วงคัมแบ็กทูสคูล  มีนักเรียนเดินผ่านหน้าอาศรมวิทยาของท่านผู้อาวุโส
เด็กนักเรียนคนหนึ่งซึ่งอยู่แถวๆ อาศรมของท่านผู้อาวุโส  มีข้อสงสัยเรื่องราชาศัพท์
อยากจะเรียนถามขอความรู้สักหน่อย  ท่านผู้ใดมีน้ำจิตน้ำใจใคร่ให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน
เชิญเข้ามาตอบได้ตามอัธยาศัย

คำถามมีว่า

หนูดูข่าวในพระราชสำนักทุกวัน  แล้วหนูก็สงสัยว่า เวลาที่มีคณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ หรือเฝ้าพระบรมวงศานุวงศ์
ทำไมบางทีข่าวก็ใช้ว่า เสด็จออก บางทีก็ใช้ว่า เสด็จลง  ทั้ง เสด็จออก และ เสด็จลง  มีหลักเกณฑ์ในการใช้อย่างไร
อ้อ  ช่วยยกตัวอย่างให้หนูดูด้วยนะ  ขอขอบคุณทุกท่านที่มาตอบคำถามหนู ;D



คำว่า เสด็จ มีหลายความหมาย  ในความหมายแรก แปลว่า เคลื่อนที่   โดยทั่วไป  ต้องมีคำต่อท้าย “ไป”  หรือ  “มา”  เพื่อให้ได้ความที่ครบถ้วนสมบูรณ์   อีกทั้งช่วยในการขยายความให้ทราบว่าผู้พูดอยู่ที่ใด   คำที่ได้ยินบ่อย คือคำว่า เสด็จพระราชดำเนิน ซึ่งมีความหมายว่า เดินทาง  ใช้กับ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี   เช่น  เมื่อพูดว่า พรุ่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมากรุงเทพฯ   ทำให้ทราบว่าผู้พูดอยู่กรุงเทพฯ  เป็นต้น  
      อย่างไรก็ดี  เมื่อใช้คำต่อท้ายว่า “ขึ้น”  “ลง”  “เข้า”  หรือ  “ ออก” คงใช้คำว่า
เสด็จขึ้น หรือ เสด็จลง   เสด็จเข้า หรือ เสด็จออก เท่านั้น  เพราะใช้ในความหมายแสดงทิศทางของ
การเคลื่อนที่  ไม่ได้ใช้ในความหมายของการเดินทาง
ข้อมูลที่มา สำนักราชเลขาธิการ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 เม.ย. 12, 09:11
 ;D

การใช้คำว่า “เสด็จ”

เสด็จ + คำกริยาสามัญ  เช่น : -  เสด็จออก  เสด็จขึ้น  เสด็จลง ฯลฯ
เสด็จ + คำนามราชาศัพท์ เช่น : -  เสด็จพระราชดำเนิน ฯลฯ
ส่งเสด็จ หรือรับเสด็จ พระเจ้าแผ่นดินหรือพระบรมวงศ์ชั้นสูง ใช้ส่งเสด็จพระราชดำเนิน รับเสด็จพระราชดำเนิน  ถ้าใช้กับพระราชวงศ์ชั้นรอง  ให้ใช้ว่า  รับเสด็จ  ส่งเสด็จ
ใช้ ”เสด็จ” เป็นคำแทนพระองค์  สำหรับพระองค์เจ้าที่เป็นพระราชโอรส พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น : -  เสด็จกรมหลวงฯ  เสด็จพระองค์กลาง
----------------------
การใช้คำราชาศัพท์ เสด็จ   เสด็จพระราชดำเนิน  และ  โดยเสด็จ หรือ ตามเสด็จ
คำว่า เสด็จ มีหลายความหมาย  ในความหมายแรก แปลว่า เคลื่อนที่   โดยทั่วไป  ต้องมีคำต่อท้าย “ไป”  หรือ  “มา”  เพื่อให้ได้ความที่ครบถ้วนสมบูรณ์   อีกทั้งช่วยในการขยายความให้ทราบว่าผู้พูดอยู่ที่ใด   คำที่ได้ยินบ่อย คือคำว่า เสด็จพระราชดำเนิน ซึ่งมีความหมายว่า เดินทาง  ใช้กับ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี   เช่น  เมื่อพูดว่า พรุ่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมากรุงเทพฯ   ทำให้ทราบว่าผู้พูดอยู่กรุงเทพฯ  เป็นต้น  
      อย่างไรก็ดี  เมื่อใช้คำต่อท้ายว่า “ขึ้น”  “ลง”  “เข้า”  หรือ  “ ออก” คงใช้คำว่า
เสด็จขึ้น หรือ เสด็จลง   เสด็จเข้า หรือ เสด็จออก เท่านั้น  เพราะใช้ในความหมายแสดงทิศทางของ
การเคลื่อนที่  ไม่ได้ใช้ในความหมายของการเดินทาง
      นอกจากนี้   คำ เสด็จประพาส เป็นอีกคำที่มีความหมายว่า เดินทาง เช่นกัน โดยคนไทย
คุ้นหูคำนี้กันมากจากการเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  
คำ เสด็จประพาส หรือ เสด็จประพาสต้น  ส่วนใหญ่ ใช้ในความหมายของการเดินทางส่วนพระองค์  
โดยคำว่า เสด็จประพาส จะใช้กับการเดินทางที่เป็นทางการหรือกึ่งทางการ  
      คำว่า เสด็จ อีกความหมายหนึ่ง เป็นคำที่ข้าราชบริพารในราชสำนักใช้เรียกพระองค์เจ้า
ที่เป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ ว่า เสด็จพระองค์ชาย หรือ เสด็จพระองค์หญิง  
      อีกคำที่ได้ยินกันบ่อย คือคำว่า  โดยเสด็จ และ ตามเสด็จ  จะใช้ในความหมายของ
การเดินทางร่วมไปกับผู้เป็นใหญ่ซึ่งเป็นประธานในขบวนเสด็จนั้นๆ   ตัวอย่างเช่น
-   ค่ำวานนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม
พสกนิกรที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
โดยเสด็จด้วย  
-   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไป
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในการนี้  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ตามเสด็จด้วย เป็นต้น

บทความนี้สรุปและเรียบเรียงมาจากบทสัมภาษณ์คุณประสพโชค อ่อนกอ ผู้ช่วยราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ โดยคุณเบญจาภา ทับทอง  

สำหรับท่านที่สนใจเกี่ยวกับการใช้คำราชาศัพท์และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดเริ  
สามารถติดตามรับฟังรายการปกิณกะสำนักราชเลขาธิการได้ทุกวันอังคาร  ระหว่างเวลา
๐๖.๓๐ – ๐๗.๐๐ น. ทางสถานีวิทยุสราญรมย์  เอเอ็ม ๑๕๗๕ เมกะเฮิร์ซ หรือที่เว็บไซต์ของ
กระทรวงการต่างประเทศ  www.mfa.go.th/web/149.php  รวมทั้งหนังสือวิทยุสราญรมย์
ซึ่งนำรายการที่ได้ออกอากาศแล้ว มาสรุปเรียบเรียงเป็นบทความ ลงพิมพ์ในวาระอันควร

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 เม.ย. 12, 09:17
ตอบให้ตรงคำถาม   ที่ตอบมานี่  จะบอกว่าไม่กระทบคำถามเลยก็คงจะได้

น้องเขาถามว่า   เสด็จลง กับ เสด็จออก สองคำนี้ใช้แตกต่างกันอย่างไร
มีเกณฑ์พิจารณาในการใช้คำทั้งสองคำนี้อย่างไร ???

กรุณาจับประเด็นคำถามให้ถูกต้องด้วย 


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 09:27
ถามคุณหลวงเล็ก

หลานชายเข้ามาถามว่า "เคยได้ยินชื่อเจ้าฟ้าไปไรต์ไหม" คุณหลวงเล้กเคยได้ยินป่าว  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 เม.ย. 12, 09:31
หนูดีดี เคยได้ยินค่ะ เจ้าฟ้าไบไรต์... ;D
แต่ท่านsiamese ถามคุณหลวง เนอะ....


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 09:32
ตอบให้ตรงคำถาม   ที่ตอบมานี่  จะบอกว่าไม่กระทบคำถามเลยก็คงจะได้

น้องเขาถามว่า   เสด็จลง กับ เสด็จออก สองคำนี้ใช้แตกต่างกันอย่างไร
มีเกณฑ์พิจารณาในการใช้คำทั้งสองคำนี้อย่างไร ???

กรุณาจับประเด็นคำถามให้ถูกต้องด้วย 

แวะไปกินน้ำแข็งไส ใส่นม น้ำแดงให้ใจเย็น ๆ หน่อยท่าน

เสด็จออก ควรจะเหมือนการเสด็จอย่างออฟฟิศเชี่ยว Official คือ อย่างเป็นทางการ เช่น เสด็จออกมหาสมาคม, เสด็จออกรับหนังสือ

เสด็จลง ควรไปด้วยองค์เอง เช่น เสด็จลงทรงบาตร

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคมแล้วเสด็จลงทรงบาตร"  :)

(ไม่รู้จะถูกใจหรือไม่ประการใด ก็แวะทานน้ำแข็งไส ใส่ขนมปังด้วยนะ จะได้อิ่มท้อง)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 เม.ย. 12, 09:46
ถามคุณหลวงเล็ก

หลานชายเข้ามาถามว่า "เคยได้ยินชื่อเจ้าฟ้าไปไรต์ไหม" คุณหลวงเล้กเคยได้ยินป่าว  ;D

อ้าว  หลานชายไม่ถามเจ้าฟ้าไบโปรโมชั่น และเจ้าฟ้าไบคอกเตสซีด้วยหรือ  
สงสัยหลานชายของออกขุนไปอ่านหนังสือเล่มขาว หรือไม่ก็เล่มน้ำเงินเข้มสันปกแดงๆ
หนังสือเรื่องนี้พิมพ์หลายหนนะ  พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา
ฉบับที่ใช้อยู่นี่ พิมพ์เมื่อปี 2537  ออกขุนมีไหมล่ะ

ส่วนที่ถามว่า เคยได้ยินหรือเปล่านั้น   ได้ยินมาหลายสิบปีแล้วล่ะออกขุน
เล่มที่ใช้นี่อยู่หน้า ๑๑  เจ้าฟ้าไบไรต์  ก็คือเจ้าฟ้าที่เกิดแต่ลูกหลวงที่เป็นเจ้าฟ้า
เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์
ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า ในรัชกาลที่ ๒  ประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า ในรัชกาลที่ ๑  ชัดไหม

เจ้าฟ้าไบไรต์พระองค์อื่น  เช่น  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลอลงกรณ์  
และสมเด็จเจ้าฟ้าพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เป็นต้น


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 เม.ย. 12, 10:26

แวะไปกินน้ำแข็งไส ใส่นม น้ำแดงให้ใจเย็น ๆ หน่อยท่าน

เสด็จออก ควรจะเหมือนการเสด็จอย่างออฟฟิศเชี่ยว Official คือ อย่างเป็นทางการ เช่น เสด็จออกมหาสมาคม, เสด็จออกรับหนังสือ

เสด็จลง ควรไปด้วยองค์เอง เช่น เสด็จลงทรงบาตร

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคมแล้วเสด็จลงทรงบาตร"  :)

(ไม่รู้จะถูกใจหรือไม่ประการใด ก็แวะทานน้ำแข็งไส ใส่ขนมปังด้วยนะ จะได้อิ่มท้อง)

ที่ตอบมานั้น  ยังไม่ถูกต้อง

เสด็จออกมหาสมาคม เป็นราชาศัพท์ ๑ คำ  ไม่ใช่ เสด็จออก ๑ คำ กับมหาสมาคม ๑ คำ 
เสด็จออกรับหนังสือ  ก็ยังไม่เข้าประเด็น  การเสด็จอย่างออฟฟิศเชียล  หมายความว่าอย่างไร  โปรดอธิบาย
เสด็จลง ยิ่งแล้วใหญ่ยิ่งอ่านยิ่งง 

ไปรับประทานไอศกรีมมะม่วงสัก ๓ ลูกดีกว่า   น้ำแข็งไสรับประทานบ่อยแล้ว เบื่อ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 เม.ย. 12, 17:06
เอามาฝากคนละถ้วย...จะได้คลายร้อนค่ะ..;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 เม.ย. 12, 17:40
เสด็จออก  จะใช้เมื่อ พระราชทานพระบรมราชวโรกาส/พระราชทานพระราชวโรกาส/ประทานพระวโรกาส
ให้คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ/เฝ้า ในที่ประทับ  เช่น 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่

หมายความว่า  พระเจ้าอยู่หัวประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  แล้วเสด็จออกให้คณะบุคคลเฝ้าฯ

แต่ถ้าพระราชทานพระบรมราชวโรกาส/พระราชทานพระราชวโรกาส/ประทานพระวโรกาส
ให้คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ/เฝ้า ในที่อื่น ที่ไม่ใช่ที่ประทับ  เช่น  ศาลาสหทัยสมาคม  ศาลาดุสิดาลัย เป็นต้น
ให้การเฝ้าฯ/เฝ้าที่ต้องเปลี่ยนสถานที่ที่ไม่ใช่ที่ประทับ  อาจจะด้วยจำนวนคนในคณะมาก หรือมีคณะเฝ้าฯ/เฝ้ามากคณะ
จึงต้องเปลี่ยนสถานที่สำหรับเฝ้าฯ/เฝ้าให้เหมาะสมเฉพาะการนั้น  ให้ใช้ว่า เสด็จลง

เช่น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย  สวนจิตรลดา  พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้
คณะบุคคลต่างๆ เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล  เนื่องในดอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 

หมายความว่า  พระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ประทับที่ศาลาดุสิดาลัย  แต่เสด็จฯ มาทรงใช้ที่ศาลาดุสิดาลัยสำหรับทรงรับแขกนั่นเอง

ใครไม่เข้าใจ  ยกมือถามได้ 8)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 28 เม.ย. 12, 20:57
 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 เม.ย. 12, 09:40
ขอบคุณคุณดีดี สำหรับหวานเย็น ๓ ถ้วย  ผมขอรับประทานคนเดียวทั้งหมด  เพราะไม่มีใครมาขอแบ่ง
เกรงว่าวางนานไป น้ำแข็งละลายเสียรสเสียของ   

 ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 เม.ย. 12, 12:12
หัวข้อคำถามสำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์ปลายเดือนเมษายน ๒๕๕๕

"ยังจำได้ไหม"

ท่านผู้อาวุโสได้หนังสือมาหลายเล่ม จึงมาเล่าให้ผมฟัง  แล้วก็ถามว่า
พอจะจำได้ไหมว่า คำพูดต่อไปนี้ เป็นคำพูดของใคร  พูดกับใคร

๑. "ปิดหีบไม่ลง"

๒. "มันจริงของเขาเสียแล้วนะน้องเอ๋ย"


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 เม.ย. 12, 18:01
๑. สำนวน ปิดหีบไม่ลง หากพูดถึงรายจ่ายที่มากกว่ารายได้ ใคร ๆ ก็อาจพูดกันได้

๒.
ขออนุญาตเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับพระนิพนธ์ฉันท์และโคลงจารึกอนุสสาวรีย์พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาศเล็กน้อยครับ

"...ฉันท์แลธดคลงจารึกอนุสาวรีย์นี้  ใครได้อ่านมีความเห็นเป็นอันเดียวกันว่าแต่งดีที่สุดในกลอนไทย  ไม่มีกวีคนใดที่ปรากฏมาแต่ก่อนแต่งดีกว่านี้ได้  มีคำกระซิบกล่าวกันในเวลานั้นว่า  กรมหลวงพิชิตฯ ทรงแต่งดีได้อย่างนี้อาจจะร้อนพระทัยในภายหน้า  เมื่อโปรดฯ ให้แต่งสำหรับจารึกอื่นซึ่งสำคัญยิ่งขึ้นไป  กรมหลวงพิชิตฯ จะไม่สามารถทรงแต่งได้ดีถึงอนุสสาวรีย์นี้  คำที่กล่าวนี้ทราบถึงกรมหลวงพิชิตฯ ครั้นภายหลังมาก็เป็นจริงอย่างเขาว่า  เคยตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า "มันจริงของเขาเสียแล้วนะน้องเอ๋ย"..."

ข้อความนี้เป็นคำของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงเล่าไว้ในหนังสือประชุมพระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เมื่อพิมพ์ครั้งแรก ปี ๒๔๗๒ ในคราวฉลองอายุครบ ๗๐ ปี หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี โปรดให้พิมพืแจกในงานดังกล่าว แล้วได้พิมพ์อีกครั้งในในปี ๒๔๙๓ ในงานศพหม่อมสุ่นฯ

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 พ.ค. 12, 12:01
^
1.คำพูดนี้ไม่ใช่สำนวน  เป็นคำพูดหมายความตรวตัวอักษร  ที่ตอบมานั้น ผิด

2.ข้อนี้ง่าย  เพราะหาคำตอบได้ในเรือนไทย  ถ้าตอบถูกก็เป็นเรื่องธรรมดา


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 พ.ค. 12, 15:36
ท่านผู้อาวุโสชวนผมไปรับประทานอาหารที่บ้านเมื่อหลายวันก่อน
แล้วท่านก็นึกครึ้มอย่างไรไม่ทราบ  ถามผมว่า  รู้จักอาหารที่มีส่วนประกอบและวิธีการทำอย่างนี้หรือไม่
ผมตอบท่านไปว่า  ผมถนัดรับประทานอย่างเดียว  เรื่องตำรับตำราการทำอาหารนั้น ผมรู้งูๆ ปลาๆ
ท่านก็ยังคะยั้นคะยอให้ผมตอบให้ได้  ผมเลยเอามาถามท่านทั้งหลายในเรือนไทย
ช่วยกันตอบหน่อยว่า  อาหารที่มีส่วนผสมและวิธีการทำอย่างนี้ คือ อาหารที่มีชื่อว่าอะไร

ส่วนผสมอาหารปริศนา

เต้าหู้เหลือง  บรรจงหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  หั่นเสร็จทอดให้กรอบ ปริมาณกึ่งช้อนโต๊ะ

มันหมูแข็งต้ม  กับเนื้อหมู หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ยาวๆ   มันแข็งต้มปริมาณครึ่งถ้วยชา  เนื้อหมูนั้นให้มากกว่าเท่าหนึ่ง

เนื้อไก่ หั่นชิ้นเล็กๆ ๑ ถ้วยชา  ส่วนเนื้อหน้าอกไก่นั้นให้ต้มให้สุก แล้วฉีกเป็นเส้นฝอย

กุ้ง  เน้นที่สดๆ ปอกรีดกลางตัวหั่นชิ้นเล็กปริมาณเท่ากับเนื้อหมู

กรกฎสมุทร ๑ ตัว เอาลงน้ำเดือดพล่าน  สุกแล้วยกขึ้นพักให้เย็น  จากนั้นแกะเอาเนื้อ

กระเทียมดอง  ปอกเปลือก แล้วหั่นซอยตามความยาวของกลีบ กึ่งถ้วยชา

ฝานส้มซ่าบางๆ ตามผล  หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กช้อนโต๊ะเดียว

พริกแดง  เอาที่สดๆ เอาเมล็ดออก หั่นแช่น้ำให้แข็งตัว  ช้อนโต๊ะเดียว
ล้างผักชีให้สะอาด  แล้วเด็ดเป็นใบ   ถั่วงอก เด็ดรากล้างให้สะอาดเอี่ยมอ่อง
กุ้ยช่าย ล้างน้ำ หั่นเป็นท่อนสั้น   อ้อ  อย่าลืมปูกับไก่ต้มฉีกด้วย

บดเต้าเจี้ยว ๑ ช้อนหวาน เอาละเอียดๆ  ซีอิ๊วขาว น้ำส้ม (เอาเปรี้ยวๆ) ปริมาณเท่าเต้าเจี้ยว
น้ำตาลทราย ๒ เท่าของเต้าเจี้ยว   น้ำปลา ๑ ช้อนโต๊ะ   พริกป่น  ท่านให้เอาใหม่ ๑ ช้อนชา
ท่านให้เอามาผสมผสานเข้าด้วยกัน  พอน้ำตาลละลายแล้วลองลิ้มชิมรสให้รสหวานนำ  เปรี้ยวเค็มพอสมควร
ได้ที่แล้วตั้งพักไว้เป็นน้ำเชื้อ
...


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 พ.ค. 12, 15:55
^
ไม่ทราบว่าผสมเครื่องปรุงทั้งหมดแล้วจะทานได้หรอเนี่ย  ประการหนึ่งผู้รับประทานทานกุ้ง และกรกฎมหาสมุทร จะขึ้นผดผื่นเต็มตัวหรือเปล่าก็ไม่รู้

อาหารที่ปรุงน้ำเชื้อนี้ มีผิวส้มซ่า มีกระเทียมดอง แถมยังมีเต้าหู้ทอดกรอบ ทำให้นึกถึง "หมี่กรอบ" เลือกหมี่เส้นตรง ๆ ไม่หยิกหยองเพราะจำให้ทอดหมี่ไม่ขึ้นฟู และไม่กรอบ

ควรมิควรวานบอก  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 พ.ค. 12, 16:57
แพ้กุ้งปู  ก็อย่าไปรับประทานสิขอรับ
นี่ให้ทายว่าเป็นอาหารอะไร  ไม่ใช่ให้พิจารณาว่าจะรับประทานได้หรือไม่ได้
ท่านผู้อาวุโสว่า  เป็นตำราอาหารเก่าแก่  เคยทำเลี้ยงเป็นหน้าเป็นตาบ้านเมืองเชียวนะออกขุน
อ้อ  แต่ไม่ใช่หมี่กรอบ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 15 พ.ค. 12, 18:44
สูตรอาหาร ในคห.ที่ 403 จบแค่นั้น หรือมีต่ออีกคะ  ;D
ถ้ามีเส้นด้วย น่าจะเป็นต้นตำรับ ผัดไท....เอ...หรือ หมี่กะทิ...


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 พ.ค. 12, 22:07


        เป็นแขกรับเชิญไปกินอาหาร   เท่าที่สังเกตได้ก็นับว่าเป็นคนละเอียดละออองค์อยู่

แต่การชิมรสยังอ่อนโยน  เพราะคงโดนรสพริกป่น

มันหมูนำมาต้มแข็งทำไมคะ       กับข้าวสมัยก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐  จะผัด หรือทอดด้วยน้ำมันหมู

เส้นที่ทอดจะหอมอร่อยในตัวเองระดับหนึ่ง          น้ำมันหมูแค่ผัดผักเปล่า ๆ ก็ชูรสชวนให้ตักซ้ำ


จะว่าไปแล้ว  ตำราอาหารก็แตกต่างกันไปบ้าง  ไม่แปลกอะไร


บ้านนี้นุ่งแพรและห่มแพร  คือใช้เนื้อไก่ สอง แบบ   ในเมื่อมีกุ้ง และ ปู และหมู   

หลายท่านพิจารณาที่ ส้มซ่า  ว่า คู่กันมากับหมี่กรอบ  ไม่เสมอไปค่ะ        ส้มซ่าในที่นี้ใช่ผสมกับมะนาวเพื่อแต่งกลิ่นให้จรุง


โปรดสังเกตว่ามีทั้งถั่วงอกและกุ้ยช่าย

น้ำเชื้อบ้านนี้แปลกแฮะ  มี  เต้าเจี้ยว  ซีอิ๊วขาว  พริกป่น  น้ำตาลทราย  น้ำปลา    น่าจะเครื่องแต่งรสในการปรุงมากกว่า


ตำรานี้มีดัดแปลงกันไป   ในตำราบางเล่มใช้กุ้งขนาดกลาง ๑ ต้ว  และ ก้ามปู หนึ่งก้าม(เหมือนกับบะหมี่อัศวินที่ร้านสีฟ้า)  ต่อ  หนึ่งชาม

ชายหนุ่มที่มีรสนิยมที่สุดในสยามประเทศ  ได้คิดตำรานี้ขึ้นมา   แล้ววานศรีภรรยาให้ปรุงเลี้ยงอาหารแขกเหรื่อชาวต่างประเทศ

เป็นที่ฮือฮามาช้านานแล้ว         

ไม่ยุติธรรมที่จะตอบ           แต่ยินดีอยู่ใบ้  ตามที่ท่านจะถามมา       ตำราไม่เหมือนกันทีเดียวค่ะ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 พ.ค. 12, 22:33
ขอตอบใหม่ว่า "ยำ" ครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 พ.ค. 12, 00:57


มายืนเดี่ยวกินลมอยู่  ไม่มีใครมาถามคนทำกับข้าวเป็นบ้าง


เวลาเฉลยอย่า งง  นะจ๊ะ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 พ.ค. 12, 14:10
ถามคุณหลวงเล็กว่า "อาหารเมนูดังกล่าว เป็นอาหารที่ทำออกมาแล้ว เป็นประเภท นู๊ดเดิ๊ล หรือ เส้น ใช่หรือไม่"


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 พ.ค. 12, 15:41
ถามคุณหลวงเล็กว่า "อาหารเมนูดังกล่าว เป็นอาหารที่ทำออกมาแล้ว เป็นประเภท นู๊ดเดิ๊ล หรือ เส้น ใช่หรือไม่"

ไม่ทราบว่า  ออกขุนจะใช้ตัววิ่งทำไม  วันนี้เป็นวันหวยออก  สงสัยออกขุนคงจะวิ่งเลขไว้หลายตัวกระมัง ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 พ.ค. 12, 16:04
ถามคุณหลวงเล็กว่า "อาหารเมนูดังกล่าว เป็นอาหารที่ทำออกมาแล้ว เป็นประเภท นู๊ดเดิ๊ล หรือ เส้น ใช่หรือไม่"

ไม่ทราบว่า  ออกขุนจะใช้ตัววิ่งทำไม  วันนี้เป็นวันหวยออก  สงสัยออกขุนคงจะวิ่งเลขไว้หลายตัวกระมัง ???

อย่าเบี่ยงเลี่ยงอ้อมเลี้ยววกวนหลบหลีกแถสีประเด็น  ;)

1. เป็นของทานจริงจังใช่หรือไม่

2. เป็นของกินหลัก 1 หน่วยบริโภค อิ่มเลยหรือไม่

3. ไม่ต้องล้างชามเมื่อกินเสร็จ ใช่หรือไม่  :o


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 พ.ค. 12, 16:37
หย่อนเส้นหมี่ในอุณโหทกพอสุก  แล้วตักขึ้นแช่ในสีตโลทก ชำระล้างให้ปราศจากคราบไคล
แล้วยกขึ้นพักให้หมาดดดยทั่ว  จากนั้น  ให้เอาน้ำมันใส่กระทะตั้นบนก้อนเส้าให้ร้อนระอุ
แลจึงโยนเส้นหมี่โปรยปรายลงไปแดดิ้นในทะเลน้ำมันนั้น  เมื่อกรอบได้ที่ก็ตักขึ้นพลัน
หาไม่เส้นหมี่จะแก่ไฟเกินต้องการ

อนึ่งหากต้องประสงค์เส้นหมี่ชนิดแห้ง  เมื่อตั้งกระทะน้ำมันแล้วดูให้น้ำมันพอร้อน
จึ่งดยนเส้นหมี่ลงไปทอดให้พอเส้นนั้นกระด้างขึ้น  แล้วจึงช้อนขึ้นมาสะเด็ดน้ำมัน
จากนั้นชีให้เส้นหมี่นั้นกระจุยกระจาย   ต่อจากนั้น  ตั้งกระทะน้ำมันอีกครั้งคราวนี้รอให้ร้อนจัด
แล้วจับเส้นหมี่ที่ทอดพอกระด้างลงไปทอดให้กรอบ  มีพรรณออกเหลืองอ่อน  แล้วจึงช้อนขึ้นมา
พักไว้ให้คลายความร้อนระอุจนสิ้น   แล้วจึงเก็บเข้าที่รโหฐาน  อย่าให้ต้องพระพายพัดผ่าน
มิเช่นนั้นเส้นหมี่จะแปรสภาพไปไม่กระด้างกรอบดังเดิม  ทั้งนี้  โบราณาจารย์ท่านกล่าวว่า
ให้ทอดเส้นหมี่ก่อนจะใช้การสัก ๑๖ - ๒๔ ชั่วยาม  ก็หามีความผิดใดไม่

เมื่อได้เส้นหมี่แล้ว  เมื่อจะผัดเส้นหมี่  ให้สรรหอมแดง ๗ หัว เสกแล้วปอกเปลือก
แล้วหาวัตถุอะไรก็ได้  ทุบหอม ๗ หัวให้พอแตก (อย่าให้แหลกละเอียดหรือกระเด็นกระจาย จะใช้การลำบาก)
เอากระเทียม ๗ กลีบ  เปลื้องเปลือกออกแล้วทุบพอให้แตกแล้วกระหน่ำสับให้เป็นชิ้นเล้กชิ้นน้อย
แล้วเอาลงเจียวให้หอมสะใจ  เอาหัวหอมที่ขนาบให้แตกแล้วลงไปผัดด้วยพอสุก
แต่นั้น  ให้ต่อยฟองไก่ ๒ หน่วย  ลงไปผัดคลุกเคล้า  ระหว่างนั้นให้รินน้ำเชื้อที่ปรุงไว้ลงไปทีละน้อย
ผัดต่อไปจนมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทั้งคุ้งน้ำ   เติมน้ำมันหมุลงไปเล็กน้อย  อย่าให้พลั้งมือรินมากไป
จะเลี่ยนลื่นแลผิดตำรับไป

จากนั้น  ตำราท่านว่าไว้ ให้นำเครื่องทั้งหลายอันได้ทำการสับหั่นไว้แล้วแต่เบื้องต้นลงไปประชุมคลุกคลีตีโมงด้วยกัน
เมื่อผสมผสานจนเห็นว่าสามัคคีกันดีแล้ว ให้ลองลิ้มชิมรสชาติดูให้ถูกปาก  แล้วตักยอยกขึ้นใส่ในหม้อน้ำเชื้อจงสิ้น
ยกหม้อน้ำเชื้อนั้นขึ้นบนก้อนเส้า  โหมเพลิงจนสรรพเครื่องปรุงในหม้อนั้นเดือดพลุ่งพล่าน  ลิ้มรสอีกครั้งให้เหมาะแก่ความต้องการ

ครั้นเมื่อจะเตรียมการรับประทาน  ให้เชิญถั่วเพาะและใบกุ้ยช่ายหั่นลงไปนอนรอในถ้วยใบงามของท่านเจ้าคุณ
แล้วเชิญเส้นหมี่ทอดกรอบปริมาณพออิ่มลงไปทับในชามนั้น   แล้วจึงตักเอาน้ำปรุงจากหม้อที่เดือดพล่าน
กรอกลงไปในชาม  แล้วเอาเครื่องโรยหน้าบรรจงทอดไว้ให้สวยงาม  เป็นอันเอาออกไปเสนอแก่ผู้มีความอยากอาหารได้



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 พ.ค. 12, 16:45
อ่านตำราอาหาร พบคำหรู ๆ เช่น กรกฎสมุทร, อุณโหทก,  สีตโลทก ทำให้อาหารดูอร่อยขึ้นเป็นกอง

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 พ.ค. 12, 16:46
ว่าแล้ว หมี่กรอบ (หมี่ต้องทำให้กรอบ) อิอิ อาหารจานนี้ทอดเส้น เสมือนเส้นข้าวซอยทอดเลย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 พ.ค. 12, 16:50

อย่าเบี่ยงเลี่ยงอ้อมเลี้ยววกวนหลบหลีกแถสีประเด็น  ;)

1. เป็นของทานจริงจังใช่หรือไม่

2. เป็นของกินหลัก 1 หน่วยบริโภค อิ่มเลยหรือไม่

3. ไม่ต้องล้างชามเมื่อกินเสร็จ ใช่หรือไม่  :o

ขอตอบคำถามออกขุนดังนี้

ข้อ ๑. แล้วแต่ความปรารถนาของผู้รับประทาน  บ้างก็รับประทานจริงจังมาก (๕-๖ ชามโคม)
บ้างก็รับประทานเอาพอพยาธิหายโหย  (สัก ๑-๒ ชาม)  บ้างก็รับประทานแต่พอเป็นเกียรติแก่เจ้าเรือนและพิธีการ (๑-๒ คำ)

ข้อ ๒. ๑ หน่วยนี้  กะได้ยาก เพราะไม่ได้บ่งปริมาณว่ากว้างสูงยาวเพียงใด  อาจจะเป็นถ้วยชา
ชามตราไก่  โอ  หรืออ่าง  จะอิ่มหรือไม่อิ่มนั้น  คงดูจากสามัญสำนึกของผู้รับประทานเป็นหลัก

ข้อ ๓. อันนี้ขึ้นอยู่กับภูมิพื้นจากการได้รับการอบรมบ่มนิสัยมารยาทของผู้รับประทานอาหารเป็นสำคัญ
และขึ้นอยู่ว่าท่านไปรับประทานอาหารนี้ที่แห่งหนตำบลใด  ถ้าเป็นที่เคหาตนเองจะไม่เช็ดล้างก็คงเป็นเรื่องท่าน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 พ.ค. 12, 16:54
ว่าแล้ว หมี่กรอบ (หมี่ต้องทำให้กรอบ) อิอิ อาหารจานนี้ทอดเส้น เสมือนเส้นข้าวซอยทอดเลย

อ้อ  หมี่กรอบบ้านออกขุนทำอย่างนี้กระนั้นฤา  ใส่น้ำลงไปเยี่ยงนี้คงจะกรอบดังลั่นไป ๗ คุ้งน้ำ
ตอบใหม่เถิด  ให้โอกาส


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 16 พ.ค. 12, 19:12
หมี่กรอบราดหน้า ทรงเครื่อง... ;D
ใส่ถั่งงอก กะกุ้ยช่าย น้ำส้มซ่า ด้วย...


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 พ.ค. 12, 19:30
ติดใจตรงที่ใส่ผิวส้มซ่า คงไม่ใส่น้ำซุปจนท่วม คาดว่าจะออกแนวขลุกขลิก ๆ ๆ ๆ ๆ

"เส้นหมี่ทอดคลุกสามกษัตริย์" ... ทั้งนี้ไม่ทราบว่าสูตรท่านเจ้าคุณ คงมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว ชื่อหน้าตาอาหารย่อมเปลี่ยนแปลง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 พ.ค. 12, 22:22


ตามตำรา  หัวหอมใส่น้อยกว่านี้   ที่ผัดหอมก่อนก็เพื้อให้น้ำมันหอมไปด้วย

เวลาต่อยไข่ลงผสม  ใช้ช้อนเจาะไข่พอแตก  แสดงว่าผัดไข่เร็วมาก  ไม่ให้แห้ง

พอตักใส่ชามแล้ว  ถึงจะใส่น้ำมะนาว  น้ำส้มซ่า  โรยผิวส้มซ่า  กระเทียมดอง  พริกแดง  ผักชี

แขกบ้านแขกเมืองต้องกินไปด้วยความเอร็ดอร่อย  เพราะการปรุงและกลิ่นหอม   ความสะอาด และจานชามกระเบื้องที่ใช้

ก็แสดงคุณสมบัติของแม่เรือนอยู่แล้ว     


เอ๊ะ!  มันหมูแข็งต้มไปไหนเสียแล้วคะ  คุณหลวง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 พ.ค. 12, 10:04
มันหมูแข็งต้มนั้นเข้าใจว่า  น่าจะใส่ลงไปในน้ำปรุงในหม้อ  เมื่อรับประทานก็ตักใส่พร้อมกับน้ำปรุง
หรือไม่ก็อาจจะใส่ตอนจัดใส่ถ้วยชาม  อันนี้เทียบกับก๋วยเตี๋ยวสมัยนี้  ผิดถูกอย่างไรไม่แจ้ง
เพราะตำราท่านก็หาได้กล่าวไว้เป็นหลักเป็นฐานด้วยไม่   

ส่วนชื่ออาหารนั้น  ได้เรียนถามท่านผู้อาวุโส (อีกท่าน)  ท่านว่าเห็นจะทายถูกกันได้ยาก
ถ้าไม่เคยเห็นหรือไม่เคยอ่านเอกสารมาก่อนก็นึกไม่ออกดอกว่าอาหารนี้ชื่อว่าอะไร
อย่ากระนั้นเลย  ถ้าไม่มีใครทายถูก ก็ปล่อยไว้ให้พิศวงงงงวยเช่นนี้แล ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 พ.ค. 12, 10:19
เบญจมบพิตรสาทฤศยสมาคม  คืออะไร ?


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ค. 12, 10:20
อยากกินมันหมูต้มแข็งแล้วเอามาทอดให้กรอบ คงหอมอร่อย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 17 พ.ค. 12, 14:15
ของโปรดหนูดีดี เลยค่ะ กากหมูทอดกรอบๆ จิ้มน้ำปลามะนาว... ;D
แล้วตกลง อาหารตำรับนี้ ชื่อว่าอะไรคะ...


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 17 พ.ค. 12, 16:08
เบญจมบพิตรสาทฤศยสมาคม  คืออะไร ?

ในงานไหว้พระพุทธชินราชประจำปี แลถวายผ้าจำนำพรรษา ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ใน รศ ๑๒๓
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งร้านหลวงถ่ายรูป มีเบญจมบพิตรสาทฤศยสมาคม ดำเนินการ

น่าที่ไดเรกเตอเบญจมบพิตรสาทฤศยสมาคม
    น่าที่เปรซิเดนต์  รับแขก  ถ่ายรูป แลตักเตือนการทั่วไป
    น่าที่ไวซเปรซิเดนต์ รับแขก แลเปนผู้รับคำบอกของผู้มาถ่ายรูปว่าจะต้องการรูปอย่างใด จะยอมให้ขายรูปฤาไม่ เปนผู้ไปบอกเลขานุการให้รู้ เปนผู้จำหน่ายรูป แลรับเงินส่งเหรัญญิก   และปนผูัตักเตือนไตเรกเตอทุก ๆ กองทั่วไป  เปนผู้จดบาญชีรูปที่จะมีขายในป้ายบอกขายรูป
    น่าที่เลขานุการเปนผู้จดบาญชีรูปที่ถ่าย ลงนำเบอรับคำสั่งจากเปรซิเดนต์ ไวซ์เปรซิเดนค์ไปสั่งไดเรกเตอในเรื่องที่จะทำรูป นัดหมายจดบาญชีให้ถูกันกับที่ทำรูปทุก ๆ กอง รับรูปมาส่งกองไวซเปรซิเดนต์ทั้งรูปที่ทำใหม่แลรูปที่มีผู้จะมาขอซื้อ  เปนผู้ชี้นำเบอให้เไดเรกเตอว่ารูปใดจะมีผู้มาต้องการ
    น่าที่กองรับถ้ำมองแลรูป  เมื่อรับรูปมาแล้ว จะต้องจดชื่อเจ้าของแลจำนวนกระจกให้มั่นคง เวลาจะเอาเข้าไปจัดในถ้ำมองหรือตักสิโฟเตปนกันหลายราย ต้องจำให้ได้ว่าตอนใดเปนของผู้ใด ถาดใดของผู้ใด อย่าให้จัดของคนโน้นคนนี้ เลอะเทอะจนส่งคืนเจ้าของไม่ได้ แหว่ง ๆ เว้า ๆ เปนอันขาด แลเปนน่าที่สำหรับที่จะจัดตั้งตู้ถ้ำมอง แลเก้าอี้ในร้านให้งดงาม แลเปนที่พักสดวกสบายแก่ผู้ดู

(ยังไม่จบ)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 พ.ค. 12, 16:43
 ;D ;D ;D ;D ;D ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 17 พ.ค. 12, 16:50
คุณกะออมมาทีไร ไม่เคยพลาด

คุณหลวงยิงฟันบานแฉ่งเชียว  ;D



(นานๆ จะมีบุญเห็นฟันอันขาวสะอาดของพระคุณท่าน)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 18 พ.ค. 12, 08:25
น่าที่ไดเรกเตอเบญจมบพิตรสาทฤศยสมาคม

    น่าที่เปรซิเดนต์ รับแขก ถ่ายรูป แลตักเตือนการทั่วไป
    น่าที่ไวซเปรซิเดนต์ รับแขก แลเปนผู้รับคำบอกของผู้มาถ่ายรูปว่าจะต้องการรูปอย่างใด จะยอมให้ขายรูปฤาไม่ เปนผู้ไปบอกเลขานุการให้รู้ เปนผู้จำหน่ายรูป แลรับเงินส่งเหรัญญิก และปนผูัตักเตือนไดเรกเตอทุก ๆ กองทั่วไป เปนผู้จดบาญชีรูปที่จะมีขายในป้ายบอกขายรูป
    น่าที่เลขานุการเปนผู้จดบาญชีรูปที่ถ่าย ลงนำเบอรับคำสั่งจากเปรซิเดนต์ ไวซ์เปรซิเดนค์ไปสั่งไดเรกเตอในเรื่องที่จะทำรูป นัดหมายจดบาญชีให้ถูกกันกับที่ทำรูปทุก ๆ กอง รับรูปมาส่งกองไวซเปรซิเดนต์ทั้งรูปที่ทำใหม่แลรูปที่มีผู้จะมาขอซื้อ เปนผู้ชี้นำเบอให้ไดเรกเตอว่ารูปใดจะมีผู้มาต้องการ
    น่าที่กองรับถ้ำมองแลรูป เมื่อรับรูปมาแล้ว จะต้องจดชื่อเจ้าของแลจำนวนกระจกให้มั่นคง เวลาจะเอาเข้าไปจัดในถ้ำมองหรือตักสิโฟเตปนกันหลายราย ต้องจำให้ได้ว่าตอนใดเปนของผู้ใด ถาดใดของผู้ใด อย่าให้จัดของคนโน้นคนนี้ เลอะเทอะจนส่งคืนเจ้าของไม่ได้ แหว่ง ๆ เว้า ๆ เปนอันขาด แลเปนน่าที่สำหรับที่จะจัดตั้งตู้ถ้ำมอง แลเก้าอี้ในร้านให้งดงาม แลเปนที่พักสดวกสบายแก่ผู้ดู
    น่าที่ไดเรกเตอกองถ่ายรูป ให้ผลัดเปลี่ยนกันอยู่คอยถ่ายรูป
    น่าที่ไดเรกเตอกองล้างแลพิมพ์  ให้แบ่งน่าที่ทำกันเอง แลให้จดบาญชีนำเบอให้ถูกต้องตามซึ่งเลขานุการให้จัด  เมื่อชักกระจกออกล้างแล้ว  ต้องเปลี่ยนกระจกใหม่ในแมกกาซีน ส่งเลขานุการด้วย
      น่าที่กองแฟบ  ให้ผลัดเปลี่ยนกันคอยจุดแฟบ
   น่าที่กองปิดแลเข้ากรอบ ให้มีพนักงานมาทำการตามคำสั่งไวซเปรซิเดนต์
   น่าที่ขายของ  ให้คอยขายของ
   น่าที่เหรัญญิก  เก็บเงิน
   น่าที่ไดเรกเตอ กองช่างทอง จะรับคำสั่งจากไวซเปรซิเดนต์ไปสั่งให้ช่างให้ถูกต้อง แลจดบาญชีกะราคา นำของที่ทำแล้วส่งไวซเปรซิเดนต์  แลบอกราคาด้วย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 พ.ค. 12, 08:41
ไม่ได้ขึ้นเรือนหลายวัน  โผล่มาเห็นกระทู้จะตกกระดานเลยต้องรีบดึงขึ้นมา


ขอบคุณคุณกะออมที่กรุณาตอบให้ชื่นใจ   แต่ "น่าที่" ต่างๆ ในเบญจมบพิตรสาทฤศยสมาคมที่คุณกะออมตอบมานั้น
ผมอยากทราบต่อไปอีกว่า   มีใครที่ทำ "น่าที่" ดังกล่าวบ้าง  :) :)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ค. 12, 08:48
อย่างน้อย "น่าที่" ในกองถ่ายรูป ก็มีเจ้าจอมเอิบคนหนึ่งละ

เจ้าจอมเอิบท่านเก่งหลายอย่าง

ถ่ายรูปก็เก่ง


(http://www.vcharkarn.com/uploads/40/40019.jpg)

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 พ.ค. 12, 09:25
คุณเพ็ญชมพูเดาเก่งนะครับ  แน่นอนว่า  มีเจ้าจอมเอิบทำหน้าที่ในกองถ่ายรูปด้วย ๑ คน (จาก ๓ คน)
แต่ที่เหลือล่ะ  จะมีใครตอบได้บ้างหรือไม่ 8)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 พ.ค. 12, 09:46
ขอถวายชื่อ "เจ้าจอมเอื้อน"


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 พ.ค. 12, 10:06
ขอถวายชื่อ "เจ้าจอมเอื้อน"

ออกขุนจะไล่ชื่อเจ้าจอมก๊กออให้หมดเลยไหม  ไม่มีเจ้าจอมเอื้อนในบัญชี  กรุณาหาคำตอบมาตอบใหม่


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 พ.ค. 12, 10:12
ขอถวายชื่อ "เจ้าจอมเอื้อน"

ออกขุนจะไล่ชื่อเจ้าจอมก๊กออให้หมดเลยไหม  ไม่มีเจ้าจอมเอื้อนในบัญชี  กรุณาหาคำตอบมาตอบใหม่

ประชดหรอ  :o
1.เจ้าจอมมารดาอ่อน บุนนาค
2.เจ้าจอมเอี่ยม บุนนาค
3.เจ้าจอมเอิบ บุนนาค
4.เจ้าจอมอาบ บุนนาค
5.เจ้าจอมเอื้อน บุนนาค


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 พ.ค. 12, 11:10

ประชดหรอ  :o
1.เจ้าจอมมารดาอ่อน บุนนาค
2.เจ้าจอมเอี่ยม บุนนาค
3.เจ้าจอมเอิบ บุนนาค
4.เจ้าจอมอาบ บุนนาค
5.เจ้าจอมเอื้อน บุนนาค


หามิได้ออกขุน   มิได้คิดว่าจะประชดประเทียดออกขุนอย่างใดไม่
แต่ออกขุนตอบมาก็ดีแล้ว  จะได้ติชมและตรวจเสียทีเดียว

ประการหนึ่ง ผมบอกว่าไม่ชื่อเจ้าจอมเอื้อนในบาญชีรายชื่อสมาชิกเบญจมบพิตรสาทฤศยสมาคม
ออกขุนก็ยังตอบมาอีก 

ประการหนึ่ง  เจ้าจอมและเจ้าจอมมารดาเขียนนามสกุลต่อท้ายชื่อได้ด้วยหรือ  เอาธรรมเนียมมาแต่ไหน
กรุณาอ้างหลักฐานทางราชการที่เชื่อถึงได้มาให้ดูหน่อยซิ

ประการต่อมา  เจ้าจอมก๊กออที่ออกขุนตอบมานั้น มีเจ้าจอมเอิบและเจ้าจอมเอี่ยมเท่านั้นที่อยู่ในสมาคมนี้
นอกนั้น  ไม่มีชื่อว่าเกี่ยวข้องอันใด  เจ้าจอมเอิบนั้นมีหน้าที่ในกองถ่ายรูป  ส่วนเจ้าจอมเอี่ยมนั้นมีหน้าที่อะไรนั้น
ผมยังไม่เฉลยให้ออกขุนลองพยายามตอบก่อน  ผิดถูกอย่างไร แล้วค่อยว่ากัน

 ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ค. 12, 11:28
ประการหนึ่ง  เจ้าจอมและเจ้าจอมมารดาเขียนนามสกุลต่อท้ายชื่อได้ด้วยหรือ  เอาธรรมเนียมมาแต่ไหน
กรุณาอ้างหลักฐานทางราชการที่เชื่อถึงได้มาให้ดูหน่อยซิ

ให้เขียนว่า เจ้าจอม (เจ้าจอมมารดา).......ในรัชกาลที่ ๕

ในกรณีเจ้าจอมก๊กออ นามสกุลบุนนาค ไม่ใคร่พบบ่อยนัก

ที่พบบ่อยคือ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ  ลดาวัลย์ ท่านก็ไม่มีนามสกุลเช่นกัน ควรเขียนว่า เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ ๕ จึงจะถูกต้อง

คุณยายลูกเสือชาวบ้าน

นั่งอยู่กลางภาพ

ใครเอ่ย

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3462.0;attach=27884;image)

เจ้าจอม ม.ร.ว สดับ ลดาวัลย์  คะ

วันที่ ๖-๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ ๕  เข้าร่วมการอบรมลูกเสือชาวบ้าน "รุ่นเจ้าจอม"

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 พ.ค. 12, 12:21
เจ้าจอมเอิบนั้นมีหน้าที่ในกองถ่ายรูป  ส่วนเจ้าจอมเอี่ยมนั้นมีหน้าที่อะไรนั้น
ผมยังไม่เฉลยให้ออกขุนลองพยายามตอบก่อน  ผิดถูกอย่างไร แล้วค่อยว่ากัน

 ;D ;D

เจ้าจอมเอี่ยม .... ล้างรูป


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 พ.ค. 12, 12:30
หามิได้  ออกขุน  ที่ตอบมานั้น  ผิดจ้ะ :P


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ค. 12, 19:05
น่าที่ไดเรกเตอเบญจมบพิตรสาทฤศยสมาคม

    น่าที่เปรซิเดนต์ รับแขก ถ่ายรูป แลตักเตือนการทั่วไป
    น่าที่ไวซเปรซิเดนต์ รับแขก แลเปนผู้รับคำบอกของผู้มาถ่ายรูปว่าจะต้องการรูปอย่างใด จะยอมให้ขายรูปฤาไม่ เปนผู้ไปบอกเลขานุการให้รู้ เปนผู้จำหน่ายรูป แลรับเงินส่งเหรัญญิก และปนผูัตักเตือนไดเรกเตอทุก ๆ กองทั่วไป เปนผู้จดบาญชีรูปที่จะมีขายในป้ายบอกขายรูป
    น่าที่เลขานุการเปนผู้จดบาญชีรูปที่ถ่าย ลงนำเบอรับคำสั่งจากเปรซิเดนต์ ไวซ์เปรซิเดนค์ไปสั่งไดเรกเตอในเรื่องที่จะทำรูป นัดหมายจดบาญชีให้ถูกกันกับที่ทำรูปทุก ๆ กอง รับรูปมาส่งกองไวซเปรซิเดนต์ทั้งรูปที่ทำใหม่แลรูปที่มีผู้จะมาขอซื้อ เปนผู้ชี้นำเบอให้ไดเรกเตอว่ารูปใดจะมีผู้มาต้องการ
    น่าที่กองรับถ้ำมองแลรูป เมื่อรับรูปมาแล้ว จะต้องจดชื่อเจ้าของแลจำนวนกระจกให้มั่นคง เวลาจะเอาเข้าไปจัดในถ้ำมองหรือตักสิโฟเตปนกันหลายราย ต้องจำให้ได้ว่าตอนใดเปนของผู้ใด ถาดใดของผู้ใด อย่าให้จัดของคนโน้นคนนี้ เลอะเทอะจนส่งคืนเจ้าของไม่ได้ แหว่ง ๆ เว้า ๆ เปนอันขาด แลเปนน่าที่สำหรับที่จะจัดตั้งตู้ถ้ำมอง แลเก้าอี้ในร้านให้งดงาม แลเปนที่พักสดวกสบายแก่ผู้ดู
    น่าที่ไดเรกเตอกองถ่ายรูป ให้ผลัดเปลี่ยนกันอยู่คอยถ่ายรูป
    น่าที่ไดเรกเตอกองล้างแลพิมพ์  ให้แบ่งน่าที่ทำกันเอง แลให้จดบาญชีนำเบอให้ถูกต้องตามซึ่งเลขานุการให้จัด  เมื่อชักกระจกออกล้างแล้ว  ต้องเปลี่ยนกระจกใหม่ในแมกกาซีน ส่งเลขานุการด้วย
      น่าที่กองแฟบ  ให้ผลัดเปลี่ยนกันคอยจุดแฟบ
   น่าที่กองปิดแลเข้ากรอบ ให้มีพนักงานมาทำการตามคำสั่งไวซเปรซิเดนต์
   น่าที่ขายของ  ให้คอยขายของ
   น่าที่เหรัญญิก  เก็บเงิน
   น่าที่ไดเรกเตอ กองช่างทอง จะรับคำสั่งจากไวซเปรซิเดนต์ไปสั่งให้ช่างให้ถูกต้อง แลจดบาญชีกะราคา นำของที่ทำแล้วส่งไวซเปรซิเดนต์  แลบอกราคาด้วย

๑. เปรซิเดนต์ - รัชกาลที่ ๕

๒. ไวซเปรซิเดนต์ - สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต

๓. เลขานุการ - กรมหลวงดำรงราชานุภาพ

๔. เหรัญญิก - กรมขุนสมมตอมรพันธุ์

สำหรับฝ่ายใน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เป็นไวซเปรซิเดนต์และเลขานุการ พระนางเจ้าฯ พระราชเทวีทรงเป็นเหรัญญิกกองต่าง ๆ ที่ทรงแบ่งภาระงานให้ ได้แก่ กองรับถ้ำมองแลกระจกรูป กองรับแขก กองเข้ากรอบแลปิดกระดาษ กองบัญชี กองถ่ายรูป กองล้างแลพิมพ์รูป กองแฟบ กองขายของ กองช่างทอง

พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพทรงได้รับมอบหมายหน้าที่ในกองล้างแลพิมพ์รูป ร่วมกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ เจ้าดารารัศมี พระพิศาลสงคราม หลวงทรงสุรเดช   

ส่วนเจ้าจอมเอี่ยมอยู่ในกองรับแขกแลกองขายของ

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 พ.ค. 12, 08:01
๑. เปรซิเดนต์ - รัชกาลที่ ๕ /

๒. ไวซเปรซิเดนต์ - สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต /

๓. เลขานุการ - กรมหลวงดำรงราชานุภาพ /

๔. เหรัญญิก - กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ /

สำหรับฝ่ายใน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เป็นไวซเปรซิเดนต์และเลขานุการ /

พระนางเจ้าฯ พระราชเทวีทรงเป็นเหรัญญิกกองต่าง ๆ ที่ทรงแบ่งภาระงานให้
ได้แก่ กองรับถ้ำมองแลกระจกรูป กองรับแขก กองเข้ากรอบแลปิดกระดาษ
กองบัญชี กองถ่ายรูป กองล้างแลพิมพ์รูป กองแฟบ กองขายของ กองช่างทอง /
(หมายเหตุ  ฝ่ายใน ๒ พระองค์นี้ ทรงประจำในกองรับถ้ำมองแลกระจกรูปด้วย)

พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพทรงได้รับมอบหมายหน้าที่ในกองล้างแลพิมพ์รูป /
ร่วมกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา / พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ / เจ้าดารารัศมี / พระพิศาลสงคราม X หลวงทรงสุรเดช X
(หมายเหตุ  พระพิศาลสงครามและหลวงทรงสุรเดช  อยู่กองบาญชี ฝ่ายหน้า)

ส่วนเจ้าจอมเอี่ยมอยู่ในกองรับแขกแลกองขายของ /



คุณเพ็ญฯ หาข้อมูลมาตอบได้ดีมาก  ;D :o  แต่ยังขาดอีกหลายตำแหน่งหลายหน้าที่  มีใครจะมาช่วยตอบบ้างไหมนี่
นักเลงภาพถ่ายเก่าๆ หายหน้าหายตาไปไหนกันหมดนะ ??? ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 พ.ค. 12, 09:10
ท่านผู้อาวุโสรอคำตอบเรื่องเบญจมบพิตรสาทฤศยสมาคมต่อไปไม่ไหว
จึงได้ต้องคำถามต่อไปฝากมาให้ผมมาตั้งใหม่  ส่วนคำถามที่ผ่านๆ มาที่ยังไม่มีใครตอบ
หรือตอบแล้วแต่ยังไม่หมดกระแสความ  ท่านผู้อาวุโสท่านฝากบอกว่า ปล่อยไปตามยถากรรม "Let It Be."


ปริศนาของท่านผู้อาวุโส คราวนี้ท่านให้มาหลายข้อ

๑.หนังสือรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง  ออกในสมัยรัชกาลที่ ๕  เลิกออกไปเมื่อปี ๒๔๒๗
หนังสือพิมพ์นั้นคือหนังสือพิมพ์อะไร

๒.หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งออกสมัยรัชกาลที่ ๕ ออกเมื่อปี ๒๔๔๕  แล้วเลิกออกไปก่อนปี ๒๔๕๓
หนังสือพิมพ์นั้น คือหนังสือพิมพ์อะไร

๓.หนังสือพิมพ์รายวัน  ออกเป็นสองภาษาแยกฉบับกัน  ฉบับภาษาหนึ่งออกอยู่ ๑๕ ปี ก็เลิกปีเมื่อก่อนปี ๒๔๖๕
หนังสือพิมพ์นั้น คือหนังสือพิมพ์อะไร

๔.หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง  ออกหลังปี ๒๔๕๓  ตีพิมพ์ข้อความ ๓ ภาษา ในฉบับเดียวกัน
หนังสือพิมพ์นี้คือหนังสือพิมพ์อะไร  ออกครั้งแรกปีอะไร  มีกำหนดออกอย่างไร

๕.หนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก  มีกำหนดออกอย่างไร  เริ่มออกปีใด  และเลิกกิจการไปเมื่อปีใด

๖. /  บางกอกซัมมารี  / ปฏิทินบัตร และ จดหมายเหตุ  /  วชิรญาณรายสัปดาห์ /มิวเซียม หรือ รัตนโกษ
ทวีปัญญา  / ศิริพจนภาค  /  ศัพท์ไทย  /  ตู้ทอง    จงเรียงลำดับหนังสือพิมพ์เหล่านี้ตามปีที่เริ่มออกก่อนสุดไปหาปีที่เริ่มออกหลังสุด


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 พ.ค. 12, 09:33
๑.หนังสือรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง ออกในสมัยรัชกาลที่ ๕ เลิกออกไปเมื่อปี ๒๔๒๗
หนังสือพิมพ์นั้นคือหนังสือพิมพ์อะไร
หนังสือพิมพ์สยามรีโปสิโตรี

๒.หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งออกสมัยรัชกาลที่ ๕ ออกเมื่อปี ๒๔๔๕ แล้วเลิกออกไปก่อนปี ๒๔๕๓
หนังสือพิมพ์นั้น คือหนังสือพิมพ์อะไร
ตุลวิภาคพจนกิจ

๓.หนังสือพิมพ์รายวัน ออกเป็นสองภาษาแยกฉบับกัน ฉบับภาษาหนึ่งออกอยู่ ๑๕ ปี ก็เลิกปีเมื่อก่อนปี ๒๔๖๕
หนังสือพิมพ์นั้น คือหนังสือพิมพ์อะไร
(ถามมากไป ยากแก่การค้นหา)

๔.หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ออกหลังปี ๒๔๕๓ ตีพิมพ์ข้อความ ๓ ภาษา ในฉบับเดียวกัน
หนังสือพิมพ์นี้คือหนังสือพิมพ์อะไร ออกครั้งแรกปีอะไร มีกำหนดออกอย่างไร
อันนี้คุณหลวงคงเข้าใจผิด ตามหัวข้อเป็นชื่อหนังสือพิมพ์ แต่ไม่ใช่ความหมายอย่าง News Paper เพราะเป็นหนังสือพิมพ์เผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ของบาดหลวงชาวฝรั่งเศส ชื่อ “อัสสัมชัญอุโฆษสมัย”

๕.หนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก มีกำหนดออกอย่างไร เริ่มออกปีใด และเลิกกิจการไปเมื่อปีใด
เกราะเหล็ก เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ คิดว่าออกใน พ.ศ. ๒๔๖๗ และเลิก พ.ศ. ๒๔๖๘ ถือว่าเร็วมาก


๖. /  บางกอกซัมมารี  / ปฏิทินบัตร และ จดหมายเหตุ  /  วชิรญาณรายสัปดาห์ /มิวเซียม หรือ รัตนโกษ
ทวีปัญญา  / ศิริพจนภาค  /  ศัพท์ไทย  /  ตู้ทอง    จงเรียงลำดับหนังสือพิมพ์เหล่านี้ตามปีที่เริ่มออกก่อนสุดไปหาปีที่เริ่มออกหลังสุด
บางกอกซัมมารี+มิวเซียม หรือ รัตนโกษ+วชิรญาณรายสัปดาห์+ปฏิทินบัตร และ จดหมายเหตุ+ทวีปัญญา +ศิริพจนภาค +ศัพท์ไทย +ตู้ทอง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 พ.ค. 12, 10:02
ออกขุน

๑.ถูกต้อง 

๒.ถูกต้อง

๓.ตอบไม่ได้ก็บอกเถอะ  แหม  ทำเป็นอ้างโน่นนี่นั่นสารพัดสารพัน

๔.หนังสือพิมพ์ เป็นคำสมัยก่อนเป็นคำความหมายกว้าง  รวมทั้งหนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร
คำว่าวารสารและนิตยสาร  เพิ่งมาบัญญัติใช้กันภายหลัง  ฉะนั้น  คำถามนี้ไม่ผิด แต่ออกขุนเข้าใจไม่ถึงยุคสมัยเอง

๕.ตอบถูกกึ่งเดียว

๖.ตอบถูกต้อง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 พ.ค. 12, 10:22
๕.หนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก มีกำหนดออกอย่างไร เริ่มออกปีใด และเลิกกิจการไปเมื่อปีใด
เกราะเหล็ก เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ คิดว่าออกใน พ.ศ. ๒๔๖๗ และเลิก พ.ศ. ๒๔๖๘ ถือว่าเร็วมาก ออกให้บริการเป็นรายสัปดาห์ครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 พ.ค. 12, 13:55
๕.หนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก มีกำหนดออกอย่างไร เริ่มออกปีใด และเลิกกิจการไปเมื่อปีใด
เกราะเหล็ก เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ คิดว่าออกใน พ.ศ. ๒๔๖๗ และเลิก พ.ศ. ๒๔๖๘ ถือว่าเร็วมาก ออกให้บริการเป็นรายสัปดาห์ครับ

ออกขุน  ที่ตอบมา  เพิ่มค่าความถูกต้อง จาก ๑/๒ เป็น ๕.๕ จาก ๑๐  (ก็ตอบไม่ครบ (ตามที่ผมต้องการ)) 8)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 พ.ค. 12, 14:18
๕.หนังสือพิมพ์เกราะเหล็ก มีกำหนดออกอย่างไร เริ่มออกปีใด และเลิกกิจการไปเมื่อปีใด
เกราะเหล็ก เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ คิดว่าออกใน พ.ศ. ๒๔๖๗ และเลิก พ.ศ. ๒๔๖๘ ถือว่าเร็วมาก ออกให้บริการเป็นรายสัปดาห์ครับ

ออกขุน  ที่ตอบมา  เพิ่มค่าความถูกต้อง จาก ๑/๒ เป็น ๕.๕ จาก ๑๐  (ก็ตอบไม่ครบ (ตามที่ผมต้องการ)) 8)

จะให้สักกี่สลึงเฟื้องก็ตามแต่ใจท่านเทอญ... :P หนังสือพิมพ์เกราะเหล็กเริ่มตีพิมพ์เมื่อ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๖๗ ออกรายสัปดาห์ (ดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว)

เกราะเหล็กใช้เนื้อที่ในการโฆษณามากที่สุด คือ 55.5% รองลงมาเป็นสารคดีและบันเทิงคดี แต่สารคดีนั้นอยู่ในรูปของการเสนอข่าวในตัว หากออกมาในรูปของบทความข่าว ส่วนที่เป็นข่าวแท้ ๆ มีอยู่น้อย ข่าวประเภทอาชญากรรมมีอยู่ 3.9 % ข่าวราชการการเมืองมี 4.2 % จึงจะเห็นได้ว่าเกราะเหล็กเสนอข่าวที่มีรูปลักษณะของข่าวน้อยมาก เมื่อเทียบกับโฆษณาและสารคดี
       เกราะเหล็กมีทั้งบทความ เรื่องแปล และนวนิยาย บทความส่วนใหญ่มีความยาวมาก จึงคิดตัดตอนมาลงทีละตอนให้เต็มเนื้อที่ แล้วแต่หน้ากระดาษจะมีเนื้อที่ว่างสักเท่าใด บางทียังไม่จบประโยคแต่เนื้อที่หมดก็จำต้องยุติแต่เพียงนั้น และไปต่อในฉบับหน้า วิธีแปลบางครั้งมีการทับศัพท์เดิมอยู่บ่อย ๆ
       วิธีการเขียนข่าวมีข้อที่น่าสังเกตคือ ชอบสอดแทรกความคิดเห็นของตนใส่ไปด้วย คนจึงมิได้อ่านเนื้อข่าวแท้ ๆ แต่ต้องอ่านคำบรรยายซึ่งบางครั้งก็เป็นจริง บางทีเล่าข่าวและยังมีกลอนขยาย
       ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของเกราะเหล็ก คือ ภาพการ์ตูนล้อ และยังมีภาพการ์ตูนประกอบสารคดี หรือการโฆษณาอีกเป็นจำนวนมาก
       การโฆษณาในเกราะเหล็กมีลักษณะเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์อื่น คือมักจะใช้สำนวนชักจูงที่สะดุดตา และมีการอธิบายประกอบการโฆษณาอย่างยืดยาว
       สมัยรัชกาลที่ 6 หนังสือพิมพ์มีเสรีภาพมากและคงจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หนังสือพิมพ์ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเทคนิคการพิมพ์และวิธีการเสนอข่าวสารแก่ประชาชน จะสะท้อนให้ผู้อ่านได้เห็นสภาพของสังคมสมัยนั้น ตลอดจนบทบาทของหนังสือพิมพ์ในยุคแห่งเสรีภาพ

ที่มา http://viriya.sru.ac.th/e62/e291/e293/



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 พ.ค. 12, 08:36
ออกขุน  ถ้าออกขุนมีหนังสือรายนามหนังสือพิมพ์ข่าวซึ่งออกเป็นระยะในประเทศสยาม
พิมพ์ในงานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง ครบปัญญาสมวาร เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒
พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร (มีตรามังกรคาบแก้วเป็นสำคัญ)

ในหนังสือนั้น หน้าที่ ๑๒ ว่าด้วยชื่อหนังสือพิมพ์ที่ออกในรัชกาลที่ ๖ ระบุข้อมูลว่า

"เลขดำดับ ๑๖๙. ชื่อหนังสือพิมพ์ เกราะเหล็ก กำหนดออก สัปดาหะ (รายสัปดาห์) ปีออก ๒๔๖๗  ปีเลิก ๒๔๖๘"

ก็ตรงตามที่ออกขุนได้ตอบไว้แต่ครั้งแรก  แต่...ถ้าออกขุนได้เปิดหนังสือเล่มเดิมหน้าที่ ๑๕
ซึ่ง ว่าด้วยชื่อหนังสือพิมพ์ที่ออกในรัชกาลที่ ๗ ระบุข้อมูลว่า

"เลขลำดับ ๒๑๐. ชื่อหนังสือพิมพ์ เกราะเหล็ก กำหนดออก รายวัน  ปีออก ๒๔๖๙  ปีเลิก ๒๔๗๐"

แต่ออกขุนไม่ได้เอาข้อมูลหน้านี้มาตอบ  แม้จะได้ให้โอกาสตอบใหม่แล้วก็ตาม
ออกขุนก็ได้หาเฉลียวใจไม่   นี่ก็เป็นเหตุผลว่า  ทำไมผมจึงไม่ให้คะแนนถูกต้องเต็ม ๑๐๐% แก่ออกขุน

ในทางหนังสือ  ผู้ใดมีตำรับตำราดี หายาก และราคาไว้ครอบครองเป็นสมบัติถึงหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นเล่ม
แต่ถ้าผู้นั้นไม่ได้อ่านให้ละเอียดถี่ถ้วน  ก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้จักสมบัติของตนเอง 


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 พ.ค. 12, 07:55



        ท่านผู้อาวุโสของคุณหลวงเล็ก  ฝากถามอะไรต่ออะไรมามากมาย  แสดงความรู้อันไพศาล

จึงขอเรียนถามเรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ  ว่า  นายนิล เปรียญ เอดิเตอร์ ของ ประติทินบัตร แล จดหมายเหตุ

เป็นใคร

เรื่องนี้ดิฉันไม่ทราบเลย  เฉลยไม่ได้แน่ ๆ

หวังว่าท่านผู้ผ่านทางมา  อาจมีเมตตา  แบ่งปันความรู้ให้บ้าง


นายนิลมีออฟฟิซอยู่ที่ แพขาว  ปากคลองวัดปยุรวงศาวาส(สะกดตามหนังสือ)   ซัดเซพเนจรมาจากไหนน่าจะมีคนพอทราบ

มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ  ภาษาอังกฤษอย่างดีมาก  แถมมีหนังสือตำรากับข้าวของแหม่มบีตันไว้แปลลงหนังสือด้วย

ถ้าท่านไม่ลอกมาตามตัวอักษร  ก็คงไม่ทันได้สังเกต




กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 พ.ค. 12, 08:10
        เจ้าคุณภาส ฯ  เมื่อใช้นามปากกา   สังเกตได้เท่าที่เห็นมา   ว่าเกี่ยวข้องกับนามเดิมของท่าน

ชื่อภาษาอังกฤษที่ท่านเซ็น  ท่านใช้  Ponne

ทีนี้ นิล  มาจากไหน

รูปถ่ายของท่านในวัยดรุณถ่ายกับพี่ ๆ น้อง ๆ (ที่จริงน่าจะเป็นหลานปู่เพราะศักดิ์ของท่านสูงมาก)

เห็นว่าผิวพรรณคล้ำ   ใบหน้ากลม  ท่าทางรื่นเริง     สงสัยจะซนน่าดู      เห็นในหนังสือสาแหรกของตระกูลท่านนั่นแหละค่ะ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 พ.ค. 12, 08:25
ให้คุณวันดี  ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 พ.ค. 12, 08:43


ขอบคุณคุณหนุ่มค่ะที่กรุณา       รูปท่านตอนเด็กอยู่เล่มยาว  หน้า ๑๐ ค่ะ

รูปท่านเจ้าคุณที่สง่างามคือหลังปก  ประติทินบัตร และ จดหมายเหตุ เล่มเขียว

นักสะสมผู้ใหญ่ได้ยื่นมือไปหารูปท่านและครอบครัว มาให้ ๓ รูปค่ะ


สังเกตไหมคะว่าเก้าอี้ที่เจ้าจอมพิศนั่ง  จะสูงกว่าเก้าอี้ตัวอื่นเล็กน้อย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 พ.ค. 12, 09:10
เรื่องนายนิล เปรียญ เอดิเตอร์ของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์  เป็นใครมาจากไหน
ผมไม่มีข้อมูล  ยิ่งถ้าเป็นนามแฝงของเจ้าคุณภาสกรวงศ์ ก็คิดไม่ออกว่า
ชื่อนายนิล  ท่านเจ้าคุณท่านคิดมาจากคุณสมบัติหรือคุณลักษณะหรือความเกี่ยวข้องอันใดของท่าน
ก้หาทราบได้ไม่  ครั้นจะให้เดาสุ่มเดาถั่วก็เห็นจะพลาดจะพลั้งได้ง่าย
ขอตั้งสังเกตว่า  ชื่อ นายนิล เปรียญ  คุณวันดีได้สอบทานดูในสารบาญชีแล้วหรือยัง
อนึ่งถ้าชื่อนายนิล เปรียญ เป็นชื่อคนที่มีอยู่จริง ไม่ใช่นามแฝงของเจ้าคุณภาสกรวงศ์
ก็มีความเป็นไปได้  คำว่าเปรียญที่ต่อท้ายชื่อ  แสดงว่ามีความรู้ด้านภาษาบาลีแลไทย
ทั้งควรจะอ่านอักษรขอมที่จารใบลานได้ด้วย   สมัยก่อนนั้น  พระหนุ่มๆ เมื่อสอบไล่ได้เปรียญแล้ว
ก็มักจะกราบบังคมทูลลาสิกขาออกมารับราชการกันมาก  เนื่องจากเป็นคนรู้หนังสือ  ไปรับราชการเป็นเสมียนเหมาะนัก
หรือถ้าไม่รับราชการ  ก็มักไปเป็นทนายหรือเลขานุการส่วนตัวของขุนนางหรือผู้มีอันจะกิน
บางคนก็ไปทำงานตามห้างฝรั่ง  ครั้นสมัยหลังมีการตั้งโรงเรียนขึ้น  เปรียญหรือมหาเปรียญ
ก็มักรับราชการเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนกันมาก   เสียดายที่เราไม่ทราบได้ว่า  นายนิล ได้เปรียญกี่ประโยค
การสอบไล่เป็นเปรียญสมัยก่อนค่อนข้างยาก  เพราะสอบแปลปากเปล่าต่อหน้ากรรการ และต่อหน้าพระที่นั่ง
ทำให้ประหม่าง่าย   ที่สำคัญคือ ไม่ได้สอบกันทุกปี  สอบครั้งหนึ่งแล้วก็เว้นไปหลายปีก็มี
ผิดกับสมัยนี้สอบทุกปี   และเป็นการสอบเขียน   รายละเอียดเรื่องการสอบไล่เปรียญบาลีพระสมัยก่อน
ถ้าจะอ่านให้สนุกต้องอ่านจากพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงอธิบายได้ละเอียดดี

ถ้านายนิลเป็นเปรียญในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีทางจะค้นได้ว่าเป็นเปรียญเมื่อปีใด อยู่วัดใด

อันที่จริง เจ้าคุณภาสกรวงศ์   ท่านมีโรงพิมพ์ที่ข้างวัดประยุรวงศ์  นายนิลอาจจะเป็นเสมียนในโรงพิมพ์
ที่ท่านจ้างไว้ทำการในโรงพิมพ์ของท่าน  เมื่อท่านเจ้าคุณแปลตำราอาหารภาาษอังกฤษก็อาจจะให้นายนิล
ช่วยเรียบเรียงขัดเกลาภาษาไทยให้  และก็อาจจะให้ใช้ชื่อนายนิลเป็นคนแปลหนังสือก้ได้

อันที่จริงภาษาอังกฤษในตำราอาหารนั้น  เป็นภาษาที่ไม่ยากนัก  ถ้านายนิลจะพอแปลออกก็ไม่น่าจะแปลกอะไร
แต่อาจจะมีเจ้าคุณเป็นผู้ตรวจภาษาการแปลให้  คิดได้ทั้งนั้น



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 พ.ค. 12, 09:13
ให้คุณวันดี  ;)

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4979.0;attach=32470;image)

ในภาพด้านหลัง (ด้านขวา) รูปปั้นท่านเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (ด้านซ้าย) และท่านสมเด็จฯ องค์ใหญ่
แถวยืน  คุณหญิงพวง ดำรงค์ราชพลขันธ์, นายราชาณัตยานุหาร (พาส์น)
แถวนั่ง  เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร) , ท่านเจ้าจอมพิศว์ ในรัชกาลที่ ๕
แถวหน้า คุณพาสนา ชูโต

คำบรรยายจาก เว็บชมรมสายสกุลบุนนาค (http://www.bunnag.in.th/oldphoto-01.html)

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 พ.ค. 12, 09:26
ในทางหนังสือ  ผู้ใดมีตำรับตำราดี หายาก และราคาไว้ครอบครองเป็นสมบัติถึงหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นเล่ม
แต่ถ้าผู้นั้นไม่ได้อ่านให้ละเอียดถี่ถ้วน  ก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้จักสมบัติของตนเอง 


ท่านก็กล่าวแรงไป ตรรกะนี้ไม่ถูกต้องนัก


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 พ.ค. 12, 09:34
ขอบคุณคุณเพ็ญผู้อารีค่ะ

เรียนคุณหลวง

        คนไทยสมัยโน้นอ่านภาษาอังกฤษได้มีถมไป     แต่ตำราจัดการบ้านช่องของแม่เรือน  จะมีอยู่สักกี่เล่ม

คุณถัดท่านซื้อให้ ม.ล. เติบตอนหม่อมหลวงเติบอายุ ๘ ขวบ        ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ก็เล่าไว้ว่าเคยเห็นตำราเล่มนี้      

นายนิลจะไปหาหนังสือมาจากไหน


ขืนไปหาชื่อ คน หนึ่ง ที่ไม่มีสังกัดจากสารบาญชี  ก็คงลำบากกรากกรำจำทน

เจอสองคนที่อยู่บ้านราชทูต  และอีกสองคนที่เช่าบ้านอยู่ใกล้ ๆวัด        ซอยแถวนั้นมีโรงสุราหลายโรงทีเดียว




กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 พ.ค. 12, 09:40
ในทางหนังสือ  ผู้ใดมีตำรับตำราดี หายาก และราคาไว้ครอบครองเป็นสมบัติถึงหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นเล่ม
แต่ถ้าผู้นั้นไม่ได้อ่านให้ละเอียดถี่ถ้วน  ก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้จักสมบัติของตนเอง 


ท่านก็กล่าวแรงไป ตรรกะนี้ไม่ถูกต้องนัก

เช่นนั้น  ออกขุนจงกล่าวแย้งมาให้มีประเด็นและเหตุผลอันพึงรับฟังและยอมรับได้ในเชิงตรรกะและวิภาษวิธี


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 พ.ค. 12, 10:22

เรียนคุณหลวง

        คนไทยสมัยโน้นอ่านภาษาอังกฤษได้มีถมไป     แต่ตำราจัดการบ้านช่องของแม่เรือน  จะมีอยู่สักกี่เล่ม

คุณถัดท่านซื้อให้ ม.ล. เติบตอนหม่อมหลวงเติบอายุ ๘ ขวบ        ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ก็เล่าไว้ว่าเคยเห็นตำราเล่มนี้      

นายนิลจะไปหาหนังสือมาจากไหน


ขืนไปหาชื่อ คน หนึ่ง ที่ไม่มีสังกัดจากสารบาญชี  ก็คงลำบากกรากกรำจำทน

เจอสองคนที่อยู่บ้านราชทูต  และอีกสองคนที่เช่าบ้านอยู่ใกล้ ๆวัด        ซอยแถวนั้นมีโรงสุราหลายโรงทีเดียว


เรียน คุณวันดี

ท่านเจ้าคุณภาสกรวงศ์จะใจดีให้นายนิลยืมอ่านไม่ได้เชียวหรือ 
ลำพังนายนิลคงจะไม่คิดซื้อตำรากับข้าวมาให้เมียทำให้รับประทานหรอก
ถ้านายนิลยืมไปแล้วทำหายทำขาดแหว่งหรือเมียฉีกเอาทำเชื้อไฟหุงข้าวเช็ดก้นลูก
ท่านเจ้าคุณก็ไล่ออก หรือสถานเบาก็ไม่จ่ายค่าจ้าง  ตำราทำอาหารในขระนั้นจะมีกี่เล่ม
ก็ไม่น่าจะมีปัญหา   เพราะถึงหายหรือชำรุด  เจ้าคุณก็หาซื้อได้ไม่ยาก  ห้างในพระนครก็มีหลายห้าง
เรือเมล์จากกรุงเทพไปสิงคโปร์ก็มีสัปดาห์ละหลายเที่ยว  สั่งซื้ออย่างนานก็ไม่น่าเกินข้ามปีเดี๋ยวก็ได้
เจ้าคุณท่านภาสฯ ท่านเป็นยอดนักซื้อมาแต่ไหนแต่ไร  ครั้งหนึ่ง  ท่านเขียนหนังสือไปหอพระสมุด
ถามว่าหอพระสมุดมีหนังสืออะไรบ้าง ท่านจะขอซื้ออย่างละหลายเล่ม
สงสัย  ท่านเจ้าคุณจะจัดบ้านใหม่   เห็นตู้โชว์หนังสือขนาดยาวใหญ่ แบบหรูหรา ว่างเปล่า คงขัดใจ
เลยอยากได้หนังสือมาใส่ให้เต็ม  แขกไปใครมาจะได้ชี้ชวนให้ชมหนังสือ (ปกสวยอาจจะมีเหมือนกัน)
ท่านก็ทุ่มไม่อั้น  อันนี้พูดได้เพราะได้เห็นเอกสาร

กรณีคุณถัดนั้น  คงจะไปเทียบเคียงไม่ได้ทั้งหมด  เพราะฐานะ โอกาส ความจำเป็นของแต่ละคนไม่เท่ากัน
นายนิลได้อ่านหนังสือตำรากับข้าว  ก็คงเพราะเจ้าคุณบังคับ (แกมเอื้อเฟื้อ)ให้อ่าน  ลูกจ้างท่านนี่ จะให้ทำอะไรก็ต้องทำ
ไม่เช่นนั้นจะจ้างไว้ทำพระแสงของ้าวเพื่อใดกัน   

อีกประการหนึ่ง  แม้นายนิลจะเป็นเอดิเตอร์  แต่ใช่ว่านายนิลจะมีอำนาจจะอนุมัติได้ว่า
จะเอาเรื่องอะไรมาลงหนังสือประติทินบัตรได้ตามใจชอบ  อย่างไรก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าคุณก่อน
เอดิเตอร์สมัยก่อน ไม่เหมือนสมัยนี้  เอดิเตอร์สมัยก่อน อาจจะเป็นคล้ายๆ ผู้จัดการโรงพิมพื ดูแลเรื่องการพิมพ์อย่างเดียว


การหาข้อมูลนั้น อาศัยอิทธิบาท ๔ เป็นปัจจัยให้ไปถึงข้อมูล   ผู้มีวิริยะน้อยย่อมเดินทางไปถึงที่หมายได้ช้านัก
ข้อมูลบางอย่างตามหากันครึ่งค่อนชีวิตกว่าจะเจอ  ถ้าถอดใจเสียแต่ต้นมือแล้ว  ความสำเร็จสมหวังก็คงเดินห่างไปไกล



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 พ.ค. 12, 10:56


รับประทานขอแย้งว่า ตำราทำกับข้าวของยัยแหม่มนั้น    ท่านเจ้าคุณคงมิกล้าหยิบมาให้ นายนิล แปลหรอก

เพราะเจ้าของตัวจริงต้องไม่ยอม  กระฟัดกระเฟียด  แน่ ๆ


        ท่านเจ้าคุณก็เป็นนักยืมหนังสือมีชื่อ   ข้าราชการผู้ใดสั่งหนังสือเข้ามา  ท่านเป็นตามติดขอยืมอ่าน

บ้านท่านนั้นมีระเบียงกว้างขวางทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก       รับลมจากแม่น้ำ         เมื่อปูเสื่อกองหนังสือรอบตัว   

ท่านก็อ่านเรื่อยไปจนจบเป็นแถบ ๆ       แล้วทนายก็คลานเข้ามาเก็บไปตีตราเข้าตู้หนังสือ

       
         ก.ศ.ร. กุหลาบ พลาดท่าเสียทีจนต้องล้อมกรอบเล่าว่า มีขุนนางมายืมหนังสือไม่คืน

   

         เรื่องหนังสือปกสวยนั้น  เป็นปกที่ท่านเจ้าของโรงพิมพ์สั่งออกแบบทำขึ้นเป็นสมบัติส่วนตัวค่ะ

ก.ศ.ร. ได้สั่งทำเป็นบางเล่ม  เช่นหนังสือกฎหมายนายโหมด  ฉบับปกสวยค่ะ         นายวรรณไม่มีหนังสือปกสวยเลยค่ะ

เพราะด้อยฐานะ   หนังสือรุ่นล่าสุดเป็นเล่มเล็ก ๆ  ๓ เล่มค่ะ       เพิ่งเห็นเหมือนกัน  ปลวกกินปกแข็งไปแถบหนึ่ง
           
     


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 25 พ.ค. 12, 17:07
ขออนุญาตแทรกความเห็นเรื่องนายนิลเปรียญครับ

จากที่อ่านมานายนิลเปรียญนี้เป็นผู้ที่รู้ภาษาต่างประเทศถึงขนาดแปลตำหรับตำราได้  ชวนให้ระลึกถึงนายชู เปรียญ  ผู้เป็นสามเณรเปรียญวัดพระเชตุพน  แล้วลาสิกขามาเรียนต่อที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบภาษาอังกฤษ  จบแล้วสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนวิชาการศึกษาที่ประเทศเยอรมนี  สำเร็จเป็นดอกเตอร์คนแรกของเมืองไทย  ตามประวัติท่านว่า กลับมารับราชการครั้งแรกในกรมแต่งตำรา  แล้วย้ายไปเป็นผู้ช่วยพระยาภาสกรวงศ์จัดพิพิธภัณฑ์ที่หอคองคอร์เดีย  จากนั้นก็ไม่พบประวัติอีกเลย

นายนิลผู้นี้จะเป็นนามแฝงของนายชู เปรียญ ได้หรือไม่ครับ?



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 พ.ค. 12, 18:29
ชวนให้ระลึกถึงนายชู เปรียญ  ผู้เป็นสามเณรเปรียญวัดพระเชตุพน  แล้วลาสิกขามาเรียนต่อที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบภาษาอังกฤษ  จบแล้วสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนวิชาการศึกษาที่ประเทศเยอรมนี  สำเร็จเป็นดอกเตอร์คนแรกของเมืองไทย  ตามประวัติท่านว่า กลับมารับราชการครั้งแรกในกรมแต่งตำรา  แล้วย้ายไปเป็นผู้ช่วยพระยาภาสกรวงศ์จัดพิพิธภัณฑ์ที่หอคองคอร์เดีย  จากนั้นก็ไม่พบประวัติอีกเลย

หนังสือจดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๑๖ แต่งโดยพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ผู้ตามเสด็จและทำหน้าที่จดบันทึกการเดินทาง เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

วันที่ ๑๐ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๖  ขณะ รัชกาลที่ ๕ ประทับอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เวลาบ่าย เมื่อเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว พระยาศรีสุริยราชวราวัตรก็ได้... "นำนายชูเปรียญ ซึ่งมาส่งเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท นายชูคนนี้เป็นนักเรียนที่เล่าเรียนในเยอรมันสอบไล่ได้ดีแล้ว และได้ประกาศนียบัตรเป็น ดอกเตอร์ออฟฟิลอซโซฟี่ เป็นคนไทยคนแรกที่ได้เล่าเรียนถึงได้รับประกาศนียบัตรชั้นนี้ มีพระราชดำรัสด้วยตามสมควรแล้วเสด็จขึ้น"

หนังสือพิมพ์สยามไมตรีรายสัปดาห์ ฉบับวันอังคารที่ ๑๔ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๖  ลงข่าวว่า

"เราได้ทราบข่าวว่า นายชู เปรียญ ซึ่งเปนนักเรียน ได้ไปเล่าเรียนศึกษาวิชาสอบไล่ได้เปนนายศิลปชั้นสกลวิทยาลัย ในกรุงเยอร์มนีนั้นกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว จะได้มีตำแหน่งรับราชการในกรมศึกษาธิการ รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๒ ชั่งในชั้นแรก ๆ..."

นายชู ได้เคยแต่งหนังสือ และเคยทำงานในกรมพิพิธภัณฑ์ เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีจดหมายพิมพ์ดีดลงวันที่ ๑๔ มกราคม ร.ศ. ๑๑๗ ทูลกรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ ว่าเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (เพ่ง บุนนาค) เจ้ากรมพิพิธภัณฑ์ขอลาออกจากตำแหน่งเพราะทำผิด ถูกขังเร่งเงินหลวงอยู่ ท่านได้ให้นายชู มาเป็น "กุเรเตอร์" ในพิพิธภัณฑ์ และได้แนะนำตัวนายชูให้ทราบว่า เดิมทำการในกรมศึกษาธิการ เป็นพนักงานตรวจแต่งตำราเรียน ขณะนั้นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนมาดูอาทิตย์ละ ๒ หน..

"ผู้ที่มาดูน้อย นอกจากงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาฉัตรมงคลซึ่งผู้ที่มาดูนับหมื่นแต่ชอบดูส่วนแนชุรัล ฮีสตอรี ยิ่งกว่าสิ่งอื่น"

"นายชูบาเรียน ตามที่สังเกตความรู้เปนดอกเตอร์ฟิโลโซฟีในการปราชญ์ แลเข้าใจอยู่ในทางแนชุรัล ฮิสตอรีด้วย ตัวก็เต็มใจที่จะทำการนี้ยิ่งกว่าการทำการอยู่ในกรมศึกษาธิการ เพราะสังเกตดูในกรมศึกษาธิการจัดอยู่ข้างอังกฤษ ไม่สู้ถูกกับข้างเยอรมัน เมื่อตรวจตำราเรียนอยู่ แลได้ไปเลกเชอร์ที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สอนเด็กนั้น ก็ว่านักเรียนไม่สู้จะเข้าใจนัก ไม่เหมือนอย่างนายสนั่น..."

นายชูจบการศึกษาระดับปริญญาเอก Ph.D. จากประเทศเยอรมัน เมื่อกลับเมืองไทยได้รับราชการอยู่ที่กรมศึกษาธิการ มีหน้าที่ตรวจ และแต่งตำราเรียน แต่อยู่คนละสำนักกับนักเรียนที่จบจากอังกฤษ การสอนไม่เก่งเท่านายสนั่น (ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) มีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ ต่อมาได้ย้ายไปรับราชการที่กรมพิพิธภัณฑ์มีหน้าที่เป็นผู้ดูแล พิพิธภัณฑ์

ภายหลังเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ได้ส่งสำเนาเล็กเชอร์ เรื่อง “เล็กเชอร์ ตำนานพงษาวดารโลก ตอน๑ " ซึ่ง นายชู บาเรียน เป็นผู้แสดง ถวายในหลวง รัชกาลที่ ๕ และทรงมีพระราชกระแส ซึ่งแจ้งเป็นหนังสือโดยกรมพระสมมตอมรพันธ์ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม ร.ศ. ๑๑๗ ว่า “ ดี แต่ยากแก่ผู้ไม่มีความรู้"

ข้อมูลจากบทความเรื่อง ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต: บัณฑิตผู้แสวงหาความรู้เองได้   (http://www.edu.tsu.ac.th/major/eva/files/journal/chailikit11072011.pdf) โดย ดร.ชัยลิขิต สร้อยเพชรเกษม

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 พ.ค. 12, 08:49

นายชู ได้เคยแต่งหนังสือ และเคยทำงานในกรมพิพิธภัณฑ์ เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
มีจดหมายพิมพ์ดีดลงวันที่ ๑๔ มกราคม ร.ศ. ๑๑๗ ทูลกรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ ว่าเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (เพ่ง บุนนาค)
เจ้ากรมพิพิธภัณฑ์ขอลาออกจากตำแหน่งเพราะทำผิด ถูกขังเร่งเงินหลวงอยู่ ท่านได้ให้นายชู มาเป็น "กุเรเตอร์" ในพิพิธภัณฑ์
และได้แนะนำตัวนายชูให้ทราบว่า เดิมทำการในกรมศึกษาธิการ เป็นพนักงานตรวจแต่งตำราเรียน ขณะนั้นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนมาดูอาทิตย์ละ ๒ หน..


เรื่องนายเพ่ง ศรีสรรักษ์นั้นมีรายละเอียดมาก  ถ้าจะให้เล่าต้องให้เวลานาน
ควรแต่สรุปสั้นๆ ว่า นายเพ่งนั้น  บิดาและมารดาเหลืออดเหลือนกับพฤติกรรมมาก
จนถึงแก่ทำหนังสือกราบบังคมทูลให้ทรงถอดออกจากตำแหน่งและยศบรรดาศักดิ์
รวมทั้งถอดออกจากสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรร์จุลจอมเกล้า ในฐานะเป็นบุตรคนโตที่สืบสกุลเจ้าพระยาภาสกรวงศ์
และตัดสิทธิจากทายาทผู้ควรได้รับมรดกด้วย 

ส่วนเรื่องที่นายเพ่ง ติดคุกนั้น  กรณีที่นายเพ่งติดคุกเพราะถูกเร่งเงินหลวงค่านาก็เป็นกรณีหนึ่ง
แต่ก็ยังติดไม่นานเท่ากับคดีต่อมาภายหลังที่นายเพ่งออกจากราชการแล้ว คดีนั้นเป็นคดีใหญ่
ที่มีเจ้านายเข้าไปเกี่ยวข้อง  และเป็นคดีที่ไม่เคยเกิดในเมืองไทยมาก่อน  ผลนายเพ่งติดคุกอยู่หลายปี
กว่าจะพ้นมาได้โดยการดปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษ   ส่วนเจ้านายพระองค์นั้น
ต้องทรงรับโทษข้ามรัชกาลเป็นเวลานานกว่านายเพ่งหลายปี


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 พ.ค. 12, 23:30

รับประทานขอแย้งว่า ตำราทำกับข้าวของยัยแหม่มนั้น    ท่านเจ้าคุณคงมิกล้าหยิบมาให้ นายนิล แปลหรอก

เพราะเจ้าของตัวจริงต้องไม่ยอม  กระฟัดกระเฟียด  แน่ ๆ
      

อันนี้เป็นข้อสันนิษฐานของคุณวันดี   ผมสันนิษฐานไปนั้นก็ว่าไปตามความที่จะเป็นไปได้หลายๆ ทาง
การที่เจ้าคุณภาสกรวงศ์จะให้นายนิลยืมหนังสือตำรากับข้าวฝรั่งหรือไม่นั้น  ผมคิดในทางว่า
เจ้าคุณก็เป็นขุนนางผู้ใหญ่  ฐานะทางสังคมก็มี  ฐานะทางการเงินก็มิได้ขัดสน  ความขี้เหนียวในตัวท่านน่าจะมีน้อย
หากท่านขี้เหนียวมากจริงๆ  ท่านจะกล้าเอาทุนทรัพย์มาลงทุนทำโรงพิมพ์หรือพิมพ์หนังสือเผยแพร่ความรู้เช่นนี้หรือ

ถ้าเจ้าเจ้าคุณไม่ให้นายนิล เปรียญยืมหนังสือ   ก็คิดอีักได้ว่า  ท่านอาจจะให้ทนายหรือเสมียนของท่านคัดเอาตำราอาหาร
บางอย่างมาให้นายนิลแปลก็ได้   หนังสือก็อยู่กับท่านไม่ต้องกลัวว่าจะหาย  นายนิลแปลจบสองสามอย่างเอามาส่งให้ท่านเจ้าคุณตรวจ
ท่านเจ้าคุณก็ส่งสูตรอาหารใหม่ให้นายนิลไปแปลอีก  วิธีนี้ก็สะดวกดีเหมือนกัน  คุณวันดีว่าอย่างไร 
บางทีบ้านเจ้าคุณอาจจะมีพิมพ์ดีด   เสมียนก็พิมพ์ดีดแทนการคัดลอกด้วยมือก็ได้   


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 พ.ค. 12, 00:10

        ท่านเจ้าคุณเป็นคนล้ำยุค   การทำบุญโดยตั้งโรงเรียน  พิมพ์หนังสือเรียนแจกท่านก็ทำมาแล้ว

ลูกท่านก็หลายคน     หนี้สินของนายเพ่งก็มหาศาลจนกระทั่งท่านผู้หญิงกับท่านเจ้าคุณต้องขอผ่อนใช้

เป็นเวลานาน    การพิมพ์หนังสือต่าง ๆ ท่านก็ทดลองทำมาโดยตลอด  หลายฉบับก็ต้องเลิกไปโดยปริยาย

ด้วยคณะผู้จัดทำเกิดมีธุระตามผู้หญิงไปบ้าง   ออกเรือนไปบ้าง    ผู้อ่านถึงกับต้องเขียนมาประท้วงว่าพิมพ์ให้จบ ๆ

เสียบ้างเถิด         

        ตำรานั้นเป็นตำราสมัยใหม่  เพราะแสดงเครื่องปรุงไว้ตอนต้น   ตามด้วยวิธีทำ      การที่ยัยแหม่มจะ

เป็นสาวเพิ่งแต่งงานและทำกับข้าวไม่เป็นไม่เกี่ยวกับความนิยมของแหม่มทั้งหลาย       เรื่องที่ท่านผู้หญิงจะให้นายนิลยืมมาแปลนั้น

น่าจะไม่ถูกต้อง             นายนิลเปรียญนั้นอาจจะใช้ภาษาอังกฤษได้  แต่คงไม่คุ้นเคย  จนมีคอลัมน์อาหารฝรั่งของตนเอง

       


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 พ.ค. 12, 06:13
เรื่องถูกต้องหรือไม่ถูกต้องนั้น  ผมว่าไม่เกี่ยวเลย  และไม่พึงกล่าวเช่นนั้น
เพราะถ้ากล่าวเช่นนั้น  ก็ต้องถามกลับว่า  ที่ว่าไม่น่าจะถูกต้อง 
เอาหลักเอาเกณฑ์อะไรมาเป็นบรรทัดฐานพิจารณาเรื่องความถูกต้อง
การที่ท่านเจ้าคุณจะให้นายนิล ปเรียญ ยืมหนังสือตำรากับข้าวฝรั่ง หรือไม่นั้น
ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและความพอใจของท่านเจ้าคุณหรือท่านผู้หญิง  จะให้ยืมก็ได้ ไม่ให้ยืมก็ได้
ถ้าไม่ให้ยืม ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร  นายนิลก็สบายดี  ไม่เดือดร้อนอะไรด้วยเพราะลำพังงานบรรณาธิการ
ในโรงพิมพ์ก็จุกจิกอยู่ 

ส่วนนายนิลจะมีคอลัมน์เป็นของตนเองได้หรือไม่ได้  ท่านเจ้าคุณคงตัดสินใจเอง
ท่านเจ้าคุณอาจจะเห็นว่า  ท่านเป็นถึงขุนนางผู้ใหญ่ มีตำแหน่งราชการเป็นถึงองคมนตรี
อยู่ๆ จะมาแปลตำรากับข้าวฝรั่งลงในหนังสือที่ตนเองเป็นเจ้าของ  คนอาจจะนินทาว่าเอาได้
นายนิลอาจจะเป็นนอมินีของท่านเจ้าคุณก็ได้   คิดได้ทั้งนั้น   


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 พ.ค. 12, 07:08



        การแปลงานที่ไม่ถนัด       แสดงว่าผู้แปลไม่รู้จักอาหาร 

ท่านเจ้าคุณนั้นท่านเป็นผู้มีรสนิยมอันเลิศ  สามารถสั่งอาหาร  หรือคิดรายการแปลก ๆ ในบ้านได้  เช่นหมี่น้ำที่ใส่ทั้งกุ้งและปูแถมหมู

คนที่ลอกตำรามายังทำหมูเกินมาตั้งหนึ่งอย่าง   แล้วโทษว่าตำราว่าดังนั้น


โชคดีที่มิได้แกงไก่โดยใช้ตำราที่ว่าใช้กะปิก้อนใหญ่เท่าหัวไก่


        ฝรั่งนายเรือที่มาคำนับ  เมื่อเห็นอาหารร้อนปรุงใหม่ ๆ  ใส่ทั้งกุ้งปูหมู  ก็คงรับประทานกันหลายชาม


เรื่องการแปลหนังสือนั้น   ท่านเจ้าคุณต้องรักมากทีเดียว   เพราะแปลนิทานฝรั่งสั้น ๆ  ไว้มาก  เรื่องตลกจี้เส้นท่านก็เขียนไว้

ท่านมิได้ทำงานวรรณกรรมในฐานะเสนาบดี         แต่ทำในฐานะผู้ร่วมนำความเจริญแนะนำวรรณกรรมต่างประเทศเข้ามาในสยาม

เข้าใจว่าหลายคนคงไม่เคยเห็นหนังสือหลายเล่มที่เป็นนิทานเด็ก     ฟังแต่ท่านผู้อื่นเล่ามา

เสียดายที่พิมพ์จำนวนน้อยประมาณ ๒๐๐ กว่าเล่มเท่านั้น  ท่านผู้หญิงเล่าไว้   หนังสือแทบหาอ่านไม่ได้     ดิฉันได้ไปอาศัยอ่านที่บ้านนักสะสม

ถึงได้ความรู้มา

       หนังสือเป็นของมีค่า    ท่านผู้หญิงก็มีธิดาถึง ๓ คน   หลานผู้หญิงอีกหลายคน       ตำราฝรั่งที่มีรูปอันสวยงามก็คงหมุนเวียน

อยู่ในมือกุลสตรีเหล่านี้   เพราะบ้านนี้รู้ภาษาฝรั่ง  เมื่อได้รับคำอธิบายจากเจ้าคุณแล้วเรื่องจะทดลองทำอาหารก็ต้องเกิดขึ้น     

เปรียญอยากได้มาแปลคงจะรู้ที่ต่ำสูงตามสมควร


        หนังสือเป็นของมีค่ามากในบ้านที่รักหนังสือ        ไม่ได้บอกว่าเป็นการผิดอะไร      บอกว่าน่าจะไม่ถูกต้องเพราะเจ้าของเขาหวงต้องอ่านกันอีกหลายคน








กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 พ.ค. 12, 08:15

เรื่องการแปลหนังสือนั้น   ท่านเจ้าคุณต้องรักมากทีเดียว   เพราะแปลนิทานฝรั่งสั้น ๆ  ไว้มาก  เรื่องตลกจี้เส้นท่านก็เขียนไว้

ท่านมิได้ทำงานวรรณกรรมในฐานะเสนาบดี         แต่ทำในฐานะผู้ร่วมนำความเจริญแนะนำวรรณกรรมต่างประเทศเข้ามาในสยาม

เข้าใจว่าหลายคนคงไม่เคยเห็นหนังสือหลายเล่มที่เป็นนิทานเด็ก     ฟังแต่ท่านผู้อื่นเล่ามา


หนังสือเป็นของมีค่ามากในบ้านที่รักหนังสือ        ไม่ได้บอกว่าเป็นการผิดอะไร      บอกว่าน่าจะไม่ถูกต้องเพราะเจ้าของเขาหวงต้องอ่านกันอีกหลายคน

ถูกต้องครับ  ท่านเจ้าคุณไม่ได้ทำงานวรรณกรรมในฐานะเสนาบดี 
แต่ท่านเจ้าคุณก็สวมหมวกหลายใบในเวลาเดียวกัน  ย่อมปฏิเศธไม่ได้ว่า
เมื่อท่านทำงานอะไรชิ้นใดชิ้นหนึ่ง  จะให้คนเข้าใจเฉพาะเพียงฐานะของท่านเจ้าคุณว่าเป็นนักเขียนนักแปล
ก็คงไม่ได้   ก้เพราะท่านเจ้าคุรชอบเขียนนี่แหละไม่ใช่หรือ  ที่ทำให้เกิดเรื่องขึ้นครั้งหนึ่ง
เมื่อคราวต้นรัชกาลที่ ๕  ท่านเป็นผู้ใหญ่มีหน้าที่และตำแหน่งราชการสูงส่ง  เมื่อขยับตัวทำสิ่งใด
ย่อมเป็นที่สนใจของผู้คนทั้งในแง่ดีและไม่ดี   ท่านเจ้าคุณต้องระวังชื่อเสียงของท่านเองและเผู้อื่น
ที่จะได้ผลกระทบจากการกระทำของท่าน   

การที่คุณวันกล่าวว่า ไม่น่าจะถูกต้องนั้น  แม้ไม่ใช่ในเชิงวิชาการ  การกล่าวเช่นนี้ต้องมีเหตุผลประกอบชัดเจน
พยายามไม่ให้อ้างอิงเอากับความรู้สึกส่วนตัวของผู้ค้นคว้า   ต่อให้คุณรู้จักคุ้นเคยกัยกับท่านเจ้าคุณมากเท่าไร
ก็ไม่พึงกล่าวเช่นนั้น   เพราะการตัดสินด้วยความรู้สึกเป็นช่องโหว่ที่คนสามารถตีหรือแย้งเอาได้
ฉะนั้น  ถ้าจะให้ดี  ควรกล่าวอย่างมีเหตุผลน่าเชื่อถือรองรับ  ถ้าเป็นเอกสารหลักบานได้จะดีมาก


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 พ.ค. 12, 10:07


        ขอบคุณคุณหลวงค่ะที่รีบเขียนมาแต่เช้า  สงสัยจะรีบทำงานแล้วไปราชการที่สนามหลวงตรวจตราสิ่งพิมพ์

สะกดผิดหลายคำเลย    โอ!

ขอยกเหมียนเจียนป้ายณประตูเมืองนะคะ  เพราะมีกิจต้องไปดูแลหลายประการ  และดิฉันไม่นิยมอ้างอิงหนังสือที่เคยคุยกันมาแล้ว

ในเรือนไทย


        ฝากถามท่านผู้อาวุโสว่าวิธีที่ถูกต้องที่จะอ้าง "หนังสือข้างพระที่"   ที่ไม่มีวันเดือนปี   ควรทำอย่างไร

เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน    สหายผู้เรืองวิทยาฝากเอกสารไปให้ท่านที่อยู่ชายแดน     ดิฉันก็ได้ส่วนที่ตนเองสนใจมาส่วนหนึ่ง

คือ "ลอยกระทงปากลัด"   ซึ่งมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ   เรื่องการลอยกระทงของหม่อมไกรสร   ไม่สำคัญอะไร

แต่สนุกพอ ๆ กับเรื่องที่ ก.ศ.ร. กุหลาบเล่าเลยค่ะ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 30 พ.ค. 12, 12:04
คงต้องอ้างเป็นเอกสารชั้นต้น  ในทำนองสำเนาเอกสารจดหมายเหตุข้างพระที่ (สำเนาตัวเขียน) ทำนองนี้กระมังครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 พ.ค. 12, 13:02


ขอบพระคุณค่ะคุณ วี มี      ท่านเล่าอะไรก็สนุกสนานเป็นความรู้ทั้งสิ้น

ได้พลอยหัวเราะตามก็ถือเป็นบุญตัวแล้วค่ะ

หวิดฟังไม่ทัน  อิอิ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 พ.ค. 12, 13:15
ควรจะอ้างอิงเป็นเชิงอรรถตัวโตสักหน่อยว่า

"ข้อมูลจากการเปิดอ่านเอกสารเก่าและลึกลับ ชื่อ ....  ไม่ระบุวันเดือนปีที่เขียน  และเลขหน้า
เอกสารดังกล่าว ได้มีสหายคนหนึ่งทำสำเนาฝากให้ผู้เขียนนำไปส่งให้ถึงมือสหายอีกคนหนึ่ง
ผู้ใดจะนำไปอ้างอิงต่อ  กรุณารับผิดชอบความถูกต้องของข้อมูลเอง"


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 มิ.ย. 12, 11:49
ท่านผู้อาวุโสไปเดินชมงานพุทธชยันตีที่ทุ่งพระเมรุมา
ได้พบเพื่อนนักอ่านหนังสือเหมือนกัน  เพื่อนคนนี้ถามคำถามน่าสนใจว่า

"ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
กับตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
ทั้งสองตำแหน่งนี้  ข้างไหนมีพระอิสริยยศสูงกว่ากัน
ช่วยยกตัวอย่างมาประกอบเหตุผลด้วย"

ยากนะเนี่ย  ถามอะไรก็ไม่รู้   ท่านผู้อาวุโสไม่ตอบเอง
แต่โยนมาให้ผมช่วยหาคำตอบ  ผมไม่ว่าง  ต้องไปราชการ
ตรวจเอกสารนอกออฟฟิศหลายวัน  เลยฝากท่านช่วยไข
ปัญหานี้ให้สักหน่อยเถิด....


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 04 มิ.ย. 12, 12:45
ท่านผู้อาวุโสไปเดินชมงานพุทธชยันตีที่ทุ่งพระเมรุมา
ได้พบเพื่อนนักอ่านหนังสือเหมือนกัน  เพื่อนคนนี้ถามคำถามน่าสนใจว่า

"ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
กับตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
ทั้งสองตำแหน่งนี้  ข้างไหนมีพระอิสริยยศสูงกว่ากัน
ช่วยยกตัวอย่างมาประกอบเหตุผลด้วย"

ยากนะเนี่ย  ถามอะไรก็ไม่รู้   ท่านผู้อาวุโสไม่ตอบเอง
แต่โยนมาให้ผมช่วยหาคำตอบ  ผมไม่ว่าง  ต้องไปราชการ
ตรวจเอกสารนอกออฟฟิศหลายวัน  เลยฝากท่านช่วยไข
ปัญหานี้ให้สักหน่อยเถิด....



ยากจริงๆ นะใต้เท้า  :o

๑. ฉัตรกางกั้น ก็ใช้ฉัตร ๗ ชั้นเหมือนกัน

๒. ศักดินาก็หนึ่งแสนเท่ากัน

๓. เครื่องยศก็ได้รับพระราชทานเหมือนกัน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 มิ.ย. 12, 20:53
ท่านผู้อาวุโสไปเดินชมงานพุทธชยันตีที่ทุ่งพระเมรุมา
ได้พบเพื่อนนักอ่านหนังสือเหมือนกัน  เพื่อนคนนี้ถามคำถามน่าสนใจว่า

"ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
กับตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
ทั้งสองตำแหน่งนี้  ข้างไหนมีพระอิสริยยศสูงกว่ากัน
ช่วยยกตัวอย่างมาประกอบเหตุผลด้วย"

ปัญหานี้ให้สักหน่อยเถิด....

ประการหนึ่งนั้นตามธรรมเนียมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ลูกวังหน้าโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งพระองค์เจ้า แต่ต่อมามีการสถาปนขึ้นเป็นเจ้าฟ้าได้ แต่เพียงให้เป็นเกียรติยศเท่านั้น ดังนี้แล้ว พระอิสริยยศแห่งพระบรมโอรสาธิราชจึงมีศักดิ์สูงกว่า


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 มิ.ย. 12, 07:54
พนายแลออกขุน  ที่ตอบมาดังข้างต้นนั้น  เห็นว่าควรจะมีคำถามเพิ่มเติมอีก

ท่านผู้อาวุโสท่านสงสัยขึ้นมาว่า  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์นี้
พระอิสริยยศของแต่ละพระองค์ก็ดูจะไม่เสมอกัน  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
ดูจะมีพระอิสริยยศสูงกว่าและพิเศากว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์อื่น

ถ้าเทียบระหว่างสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  สยามมกุฎราชกุมารและกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ที่ไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  จะมีข้อสังเกตได้ว่า 

แม้เครื่องประกอบพระอิสริยยศและเครื่องราชูปโภคเหมือนกัน  จำนวนศักดินา ๑๐๐๐๐๐ ไร่เท่ากัน
แต่ขอให้สังเกตคำราชาศัพท์จะมีที่ไม่เท่ากันอยู่

๑.กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อสิ้นพระชนม์ ใช้ว่า เสด็จทิวงคต (เว้นพระบาทสมเด็จพระัปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ใช้ว่า  เสด็จสวรรคต  เสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน)  แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  สยามมกุฎราชกุมาร
เมื่อสิ้นพระชนม์ ใช้ว่า เสด็จสวรรคต

๒.กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระโอรสพระธิดาอันประสูติแต่หญิงสามัญชน พระโอรสและพระธิดานั้น
มีสกุลยศเป็นพระองค์เจ้าทั้งสิ้น  ส่วนพระชนนีในพระองค์เจ้านั้น  ได้เป็นเจ้าจอมมารดา หรือจอมมารดา
ส่วนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  สยามมกุฎราชกุมาร  มีพระโอรสพระธิดาอันประสูติแต่หญิงสามัญชน
พระโอรสพระธิดานั้นมีสกุลยศเป็นหม่อมเจ้า  พระชนนีในหม่อมเจ้านั้น  เป็นหม่อม   ในกรณีนี้เว้นแต่ว่า
พระเจ้าแผ่นดินจะได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมนั้นเป็นพระองค์เจ้า  พระโอรสและพระธิดา
จึงจะเป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า  ตามธรรมเนียมราชตระกูล

๓.กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงแต่งตั้งและถอดข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรได้ด้วยพระอำนาจสิทธิ์ขาด
แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ไม่สามารถแต่งตั้งหรือถอดข้าราชการในพระองค์ด้วยพระอำนาจ
ต้องนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงถอดและทรงแต่งตั้ง

ยกตัวอย่างนี้  เพื่อแสดงให้เห็นว่า  ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
สยามมกุฎราชกุมาร  ต่างก็มีพระอิสริยยศสูงและต่ำกว่ากันในบางประเด็น  ไม่เหมือนกันทีเดียว




กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 มิ.ย. 12, 14:39
ท่านผู้อาวุโสไม่ค่อยสบาย  แต่มีกำลังจะตั้งคำถาม
ท่านสงสัยว่า  บ้านคหบดีต่อไปนี้  ใครเป็นเจ้าของ  ใครเป็นผู้อาศัยอยู่ และตั้งอยู่ที่ไหน

๑.บ้านสามเหลี่ยม

๒.บ้านพรหมบุตร์

๓.บ้านเสมา

๔.บ้านนาวิน

๕.บ้านดารา

๖.บ้านณรงค์

๗.บ้านใจบุญ

๘.บ้านบุนนาค

๙.บ้านไกรฤกษ์

๑๐.บ้านอิศรางกูร



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 มิ.ย. 12, 09:58
คำถามก่อนไม่มีใคร  ไม่เป็นไร  ทิ้งไว้อย่างนั้น

วันนี้  ท่านผู้อาวุโสมีคำถามใหม่จากสหายมาถาม

ท่านผู้อาวุโสท่านสงสัยว่า  ที่เรียกว่า พระบรมวงศานุวงศ์ นั้น
เจ้านายชั้นใดบ้างที่จัดเป็นพระบรมวงศ์ และชั้นใดบ้างที่เป็นพระอนุวงศ์
ฝากยกตัวอย่างเจ้านายประกอบการอธิบายด้วยนะ  ท่านฝากบอกมา


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 13 มิ.ย. 12, 22:29
คำถามเรื่องบ้านคหบดี ยากมากค่ะ(สำหรับหนูดีดี)..เฉลยเลยดีกว่าอยากทราบค่ะ  ;D

อันนี้ง่ายกว่าเยอะ...ลอกมาจากพี่วิกกี้ค่ะ...

พระบรมวงศานุวงศ์ หมายถึง พระประยูรญาติใหญ่น้อยทั้งหมดทุกราชสกุลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยประกอบด้วย 2 คำ คือ

พระบรมวงศ์ (บรมวงศ์ แปลว่า วงศ์ประเสริฐ หมายถึง วงศ์ใหญ่) หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็น "พระญาติที่สนิทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" อันได้แก่ เจ้านายที่มีพระยศเป็น เจ้าฟ้า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระองค์เจ้า ตัวอย่างพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หรือที่ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระเชษฐภคินี เป็นต้น

พระอนุวงศ์ (อนุวงศ์ แปลว่า วงศ์น้อย) หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็น "พระญาติห่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" อันได้แก่ เจ้านายที่มีพระยศตั้งแต่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ลงมาถึง หม่อมเจ้า ซึ่งหม่อมเจ้าถือเป็นพระอิสริยยศชั้นสุดท้ายในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์

ส่วนหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงถือเป็นสามัญชน ไม่ต้องใช้คำราชาศัพท์และมิได้จัดอยู่ในพระอนุวงศ์ แต่ถูกจัดอยู่ใน ราชสกุล หรือผู้สืบเชื้อสายในราชสกุล หรือผู้เนื่องในสายราชสกุล สำหรับผู้สืบเชื้อสายลงมาจากหม่อมหลวงจะมีคำนำหน้านามตามปกติสามัญคือ นาย/นางสาว และมีสร้อย ณ อยุธยา ต่อท้ายนามสกุลอันเป็นราชสกุล สำหรับผู้สืบเชื้อสายมาจากฝ่ายบิดาเท่านั้น และสำหรับผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากหม่อมหลวงฝ่ายมารดาสามารถขอร่วมใช้นามสกุลอันเป็นราชสกุลได้ แต่ไม่ต้องเติมคำว่า ณ อยุธยา ดังนั้นจึงพึงระวังในการใช้ เพราะพระราชวงศ์จะสืบราชตระกูลทางฝ่ายหน้าเท่านั้น (ชาย)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 มิ.ย. 12, 09:11
บ้านคหบดีที่ท่านผู้อาวุโสเอามาถามนั้น  อยู่ในดุสิตธานี  ผมบอกเท่านี้  น่าจะมีคนตอบได้

พระบรมวงศานุวงศ์ หมายถึงพระประยูรญาติอันเกี่ยวเนื่องด้วยราชตระกูลของพระเจ้าแผ่นดิน

พระบรมวงศ์  มุ่งหมายเฉพาะพระราชโอรสพระราชธิดาในพระเจ้าแผ่นดินแต่ละรัชกาล
ไม่ว่าจะเป็นชั้นเจ้าฟ้าหรือชั้นพระองค์เจ้า  ทั้งนี้  ไม่นับรวมพระมหากษัตริย์และพระมเหสี

พระอนุวงศ์  มุ่งหมายเฉพาะเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าที่ไม่ใช่พระราชโอรสพระราชธิดา
ได้แก่พระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าหลาน  พระองค์เจ้ายก  และหม่อมเจ้า 

หม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวง เป็นเชื้อพระวงศ์ 

คุณดีดีส่งการบ้านสม่ำเสมอ  ท่านผู้อาวุโสฝากชมเชยครับ ;D ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 มิ.ย. 12, 11:49
ท่านผู้อาวุโสไม่ค่อยสบาย  แต่มีกำลังจะตั้งคำถาม
ท่านสงสัยว่า  บ้านคหบดีต่อไปนี้  ใครเป็นเจ้าของ  ใครเป็นผู้อาศัยอยู่ และตั้งอยู่ที่ไหน

๑.บ้านสามเหลี่ยม

๒.บ้านพรหมบุตร์

๓.บ้านเสมา

๔.บ้านนาวิน

๕.บ้านดารา

๖.บ้านณรงค์

๗.บ้านใจบุญ

๘.บ้านบุนนาค

๙.บ้านไกรฤกษ์

๑๐.บ้านอิศรางกูร




บ้านไกรฤกษ์ ถนนอาคเณศาสตร์  พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)
บ้านเสมา     ถนนสังข์สง่า         เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 มิ.ย. 12, 13:26

บ้านคหบดีที่ท่านผู้อาวุโสเอามาถามนั้น  อยู่ในดุสิตธานี  ผมบอกเท่านี้  น่าจะมีคนตอบได้


ก่อนเดินทางต้องพร้อมแผนที่...  :P


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 มิ.ย. 12, 17:36
๑.บ้านสามเหลี่ยม  พระยาประสิทธฺ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ)

๒.บ้านพรหมบุตร์  หม่อมเจ้าชัชวลิต  เกษมสันต์

๓.บ้านเสมา  พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น  พึ่งบุญ)

๔.บ้านนาวิน  พระยาวิชิตชลธาร (ม.ล.เวศร์  กุญชร)

๕.บ้านดารา  นายจ่ายวด (ปาณี  ไกรฤกษ์)

๖.บ้านณรงค์  พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น  พึ่งบุญ) เจ้าของ  ผู้อยู่อาศัย พระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาชัย (พร  จารุจินดา)

๗.บ้านใจบุญ  วัดพระบรมธาตุ เป็นเจ้าของ

๘.บ้านบุนนาค  พระยาเทพมณเฑียร (สนั่น  บุนนาค)

๙.บ้านไกรฤกษ์  พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ  ไกรฤกษ์)

๑๐.บ้านอิศรางกูร  พระยาบุรีนวราษฐ (ชวน  สิงหเสนี) เจ้าของ  ผู้อยู่อาศัย พระยาตราชูชาดิศร (ม.ร.ว.ชม  อิศรางกูร)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 มิ.ย. 12, 21:08
ท่านผู้อาวุโสไม่ค่อยสบาย  แต่มีกำลังจะตั้งคำถาม
ท่านสงสัยว่า  บ้านคหบดีต่อไปนี้  ใครเป็นเจ้าของ  ใครเป็นผู้อาศัยอยู่ และตั้งอยู่ที่ไหน

๑.บ้านสามเหลี่ยม

๒.บ้านพรหมบุตร์

๓.บ้านเสมา

๔.บ้านนาวิน

๕.บ้านดารา

๖.บ้านณรงค์

๗.บ้านใจบุญ

๘.บ้านบุนนาค

๙.บ้านไกรฤกษ์

๑๐.บ้านอิศรางกูร



ได้เวลาเฉลย   ข้อมูลที่ใช้เฉลยนี้มาจากหนังสืองานศพพลเอก ประพัทธ์  กุวานนท์

ในดุสิตธานี มีบ้านคหบดี จำนวน ๓๖ หลัง
ผมจะบอกเฉพาะบ้านหลังที่เอามาเป็นคำถาม

๑.บ้านสามเหลี่ยม
เจ้าของ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ) 
ผู้อาศัย พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ)
ที่ตั้ง ถนน ๒๒ กรกฎาคม  ตำบลดุสิต  อำเภอดุสิต

๒.บ้านพรหมบุตร์
เจ้าของ ม.จ.ชัชวลิต  เกษมสันต์
ผู้อาศัย ม.จ.ชัชวลิต  เกษมสันต์
ที่ตั้ง  ถนนพระรามประพาศ  ตำบลดอนพระราม อำเภอดอนพระราม

๓.บ้านเสมา
เจ้าของ  พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น  พึ่งบุญ)
ผู้อาศัย พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น  พึ่งบุญ)
ที่ตั้ง เลขที่ ๕ ถนนพายวาสตร์  ตำบลเขาหลวง  อำเภอเขาหลวง

๔.บ้านนาวิน
เจ้าของ  พระยาวิชิตชลธาร (ม.ล.เวศ  กุญชร)
ผู้อาศัย พระยาวิชิตชลธาร (ม.ล.เวศ  กุญชร)
ที่ตั้ง  เลขที่ ๕ ถนนราชดำเนิน ตำบลปากน้ำ อำเภอดุสิต

๕.บ้านดารา
เจ้าของ  นายจ่ายวด (ปาณี  ไกรฤกษ์)
ผู้อาศัย  นายจ่ายวด (ปาณี  ไกรฤกษ์)
ที่ตั้ง  ถนนวารุณศาสตร์  ตำบลเขาหลวง  อำเภอเขาหลวง

๖.บ้านณรงค์
เจ้าของ พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น  พึ่งบุญ)
ผู้อาศัย  พระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาชัย (พร  จารุจินดา)
ที่ตั้ง  เลขที่ ๖ ถนนพายวาสตร์  ตำบลเขาหลวง  อำเภอเขาหลวง

๗.บ้านใจบุญ
เจ้าของ วัดพระบรมธาตุ
ผู้อาศัย -
ที่ตั้ง  เลขที่ ๓ ถนนบุณยเกษตร์  ตำบลบึงพระราม อำเภอดอนพระราม

๘.บ้านบุนนาค
เจ้าของ  พระยาเทพมณเฑียร (สนั่น  บุนนาค)
ผู้อาศัย พระยาเทพมณเฑียร (สนั่น  บุนนาค)
ที่ตั้ง  ถนนแพรกองคต  ตำบลดอนพระราม อำเภอดอนพระราม

๙.บ้านไกรฤกษ์
เจ้าของ  พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ  ไกรฤกษ์)
ผู้อาศัย  พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ  ไกรฤกษ์)

๑๐.บ้านอิศรางกูร
เจ้าของ  พระยาบุรีนวราษฐ์ (ชวน  สิงหเสนี)
ผู้อาศัย  พระยาตราชูชาดิศร (ม.ร.ว.ชม  อิศรางกูร)
ที่ตั้ง  เลขที่ ๒ ถนนเยี่ยมสมุท  ตำบลปากน้ำ  อำเภอดุสิต

 ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มิ.ย. 12, 21:30
ท่านผู้อาวุโสไม่ค่อยสบาย  แต่มีกำลังจะตั้งคำถาม
ท่านสงสัยว่า  บ้านคหบดีต่อไปนี้  ใครเป็นเจ้าของ  ใครเป็นผู้อาศัยอยู่ และตั้งอยู่ที่ไหน

๑.บ้านสามเหลี่ยม

๒.บ้านพรหมบุตร์

๓.บ้านเสมา

๔.บ้านนาวิน

๕.บ้านดารา

๖.บ้านณรงค์

๗.บ้านใจบุญ

๘.บ้านบุนนาค

๙.บ้านไกรฤกษ์

๑๐.บ้านอิศรางกูร



ได้เวลาเฉลย   ข้อมูลที่ใช้เฉลยนี้มาจากหนังสืองานศพพลเอก ประพัทธ์  กุวานนท์

ในดุสิตธานี มีบ้านคหบดี จำนวน ๓๖ หลัง
ผมจะบอกเฉพาะบ้านหลังที่เอามาเป็นคำถาม

๑.บ้านสามเหลี่ยม
เจ้าของ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ) 
ผู้อาศัย พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ)
ที่ตั้ง ถนน ๒๒ กรกฎาคม  ตำบลดุสิต  อำเภอดุสิต

๒.บ้านพรหมบุตร์
เจ้าของ ม.จ.ชัชวลิต  เกษมสันต์
ผู้อาศัย ม.จ.ชัชวลิต  เกษมสันต์
ที่ตั้ง  ถนนพระรามประพาศ  ตำบลดอนพระราม อำเภอดอนพระราม

๓.บ้านเสมา
เจ้าของ  พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น  พึ่งบุญ)
ผู้อาศัย พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น  พึ่งบุญ)
ที่ตั้ง เลขที่ ๕ ถนนพายวาสตร์  ตำบลเขาหลวง  อำเภอเขาหลวง

๔.บ้านนาวิน
เจ้าของ  พระยาวิชิตชลธาร (ม.ล.เวศ  กุญชร)
ผู้อาศัย พระยาวิชิตชลธาร (ม.ล.เวศ  กุญชร)
ที่ตั้ง  เลขที่ ๕ ถนนราชดำเนิน ตำบลปากน้ำ อำเภอดุสิต

๕.บ้านดารา
เจ้าของ  นายจ่ายวด (ปาณี  ไกรฤกษ์)
ผู้อาศัย  นายจ่ายวด (ปาณี  ไกรฤกษ์)
ที่ตั้ง  ถนนวารุณศาสตร์  ตำบลเขาหลวง  อำเภอเขาหลวง

๖.บ้านณรงค์
เจ้าของ พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น  พึ่งบุญ)
ผู้อาศัย  พระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาชัย (พร  จารุจินดา)
ที่ตั้ง  เลขที่ ๖ ถนนพายวาสตร์  ตำบลเขาหลวง  อำเภอเขาหลวง

๗.บ้านใจบุญ
เจ้าของ วัดพระบรมธาตุ
ผู้อาศัย -
ที่ตั้ง  เลขที่ ๓ ถนนบุณยเกษตร์  ตำบลบึงพระราม อำเภอดอนพระราม

๘.บ้านบุนนาค
เจ้าของ  พระยาเทพมณเฑียร (สนั่น  บุนนาค)
ผู้อาศัย พระยาเทพมณเฑียร (สนั่น  บุนนาค)
ที่ตั้ง  ถนนแพรกองคต  ตำบลดอนพระราม อำเภอดอนพระราม

๙.บ้านไกรฤกษ์
เจ้าของ  พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ  ไกรฤกษ์)
ผู้อาศัย  พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ  ไกรฤกษ์)

๑๐.บ้านอิศรางกูร
เจ้าของ  พระยาบุรีนวราษฐ์ (ชวน  สิงหเสนี)
ผู้อาศัย  พระยาตราชูชาดิศร (ม.ร.ว.ชม  อิศรางกูร)
ที่ตั้ง  เลขที่ ๒ ถนนเยี่ยมสมุท  ตำบลปากน้ำ  อำเภอดุสิต

 ;D ;D
ฮ๋อ อยู่ในตำบลดุสิตธานีนี่เอง หาและปวดหัวอยู่หลายวัน ไม่น่าทำกันเลย  >:(


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 มิ.ย. 12, 21:36
ู^ อะไร  ออกขุน  เรื่องอย่างนี้ออกจะเบสิกนะ   ปวดหัวมากไหม
คราวหน้าจะได้หามาเล่นอีก  สนุกดี  (ท่านผู้อาวุโสท่านว่าอย่างนั้น ;D)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 มิ.ย. 12, 22:22
ดุสิตธานีในหลายมิติ

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/03/K9012987/K9012987.html

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 มิ.ย. 12, 22:39
"Il est plus honteux de ses de'fier de ses amis que d'en e^tre trompe' "

แปลว่าอะไร ใครกล่าว   ในไทยเผยแพร่ครั้งแรกที่ไหน



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 15 มิ.ย. 12, 23:09
"Il est plus honteux de ses de'fier de ses amis que d'en e^tre trompe' "

แปลว่าอะไร ใครกล่าว   ในไทยเผยแพร่ครั้งแรกที่ไหน



สงสัยต้องถามอาจารย์เซเดส์  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เทพกร ที่ 16 มิ.ย. 12, 01:12
ค.ศ. 1665 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
La Rochefoucauld (1613-1680) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า
“Il est plus honteux de se défier de ses amis que d’en être trompé.”
พอแปลได้ว่า การไม่เชื่อถือมิตรเป็นเรื่องน่าอับอายยิ่งกว่าการที่จะถูกเขาทรยศเสียอีก
ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์โคลงอธิบายความไว้ว่า

๏ การระแวงใจแห่งผู้ เป็นมิตร สหายแฮ
เป็นสิ่งน่าอดสู แน่แท้
ยิ่งกว่าถูกเพื่อนคิด ทุรยศ
ภาษิตนี้ขอแก้ อรรถให้ แจ่มใส

๏ คือใครมีมิตรแล้ว ระแวงจิต
ว่ามิตรบ่ซื่อตรง นั่นไซร้
เหมือนสบประมาทมิตร ดูถูก มิตรนา
บ่มิช้าจักไร้ มิตรสิ้นปวงสหาย   

๏ กลัวอายเพราะมิตรจัก ไม่ซื่อ ตรงแฮ
จึงคิดฉลาดระแวง หาผิด
ที่แท้ก็ตนคือ ผิดมิตร ธรรมนา
เพราะว่าองค์แห่งมิตร ก็ต้องไว้ใจ

๏ ผู้ใดดูถูกมิตร ดูถูก ตนเอง
เพราะว่าคนทรามไฉน จึงคบ
เมื่อเริ่มจะตั้งผูก มิตรภาพ
ใยไม่วิจารณจบ จิตหมั้นในสหาย
   
๏ มิตรร้ายผิมุ่งร้าย ต่อเรา
แม้เมื่อเราซื่อตรง อยู่แล้ว
โลกย่อมจะติเขา ไม่ติ เราเลย
คนชั่วย่อมไม่แคล้ว คลาดโลกนินทา

๏ ภาษิตจึงได้กล่าว คติบอก
ว่าระแวงมิตรน่า อัประยศ
ยิ่งกว่าถูกเพื่อนหลอก ลวงเพราะ ซื่อนา
ตรงจะเสียทีคด ไป่ต้องอับอาย

๏ มุ่งหมายจิตมั่นด้วย มิตรธรรม
ถึงหากเพื่อนทุจริต หลอกให้
อย่าวิตกแต่จำ ไว้เพื่อ
จะคบมิตรอื่นไซร้ จะได้รู้พรรณ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 มิ.ย. 12, 02:58
^ คุณเทพกรตอบถูกครับ  แต่ยังไม่ได้ตอบว่า
ภาษิตดังกล่าวเผยแพร่ในประเทศไทยครั้งแรกที่ไหน :) :)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 มิ.ย. 12, 06:59
พระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิต ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "ดุสิตสมิต"

เล่มที่...ฉบับที่...วัน...เดือน...พ.ศ. ... 

คงต้องรอคุณวีมีมาเติมเต็ม

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 19 มิ.ย. 12, 16:58
พระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิต ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "ดุสิตสมิต"

เล่มที่...ฉบับที่...วัน...เดือน...พ.ศ. ... 

คงต้องรอคุณวีมีมาเติมเต็ม

 ;D

ตอบว่า  ดุสิตสมิต เล่ม ๔  ฉบับที่ ๓๙  วันที่  ๑๓  กันยายน  พ.ศ. ๒๔๖๒  หน้า ๒๓ - ๒๔


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 มิ.ย. 12, 17:01
รอมาหลายเพลา  แม่นยำไม่เปลี่ยนแปลง  ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 มิ.ย. 12, 17:39
ท่านผู้อาวุโสไปร่วมงานเสวนาเกี่ยวกับหนังสือเก่าหายากที่จุฬาลงกรณ์มหาบรรณาลัย
สหายของท่านฝากคำถามมาให้ท่านมาลงไว้ในกระทู้นี้ว่า

"ใครกันหนอเป็นผู้ทำให้พระราชวิทยานิพนธ์รัชกาลที่ ๖ เป็นภาษาไทย
และพระราชวิทยานิพนธ์ที่แปลเป็นภาษาไทยนั้นพิมพ์ครั้งแรกเมื่อใด
ในโอกาสอะไร  และพิมพ์พร้อมกับหนังสืออะไร"

 ;D ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มิ.ย. 12, 21:04
เอา ฉบับภาษาอังกฤษ  (http://archive.org/stream/warofpolishsucce00vajirich#page/n0/mode/2up) มานำเสนอก่อน

 ;D



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 มิ.ย. 12, 08:06
ผู้แปล The War of Polish Succession เป็นภาษาไทยคือ พระยาบุรีนวราษฐ (ชวน  สิงหเสนี) บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ 
ราชเลขานุการในพระองค์ฝ่ายต่างประเทศ  ซึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ โปรดให้ออกไปเป็นอัครราชทูต ณ ราชสำนักเซนต์เจมส์  แล้วย้ายไปสหรัฐอเมริกา

ในคำนำของผู้แปล  ได้ระบุไว้ว่าแปลยากมาก  เมื่อแปลเสร็จได้นำฉบับแปลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
หาตัวเล่มที่พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก  สมิตะศิริ) เจ้าของโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร พิมพ์ถวายเป็นพระราชกุศลในงานพระบรมศพ พ.ศ. ๒๔๖๘ ไม่พบ
เลยยังหาไม่ได้ว่า พิมพ์ครั้งแรกเมื่อไร  และพร้อมกับเรื่องอะไร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มิ.ย. 12, 09:35
ในคำนำของผู้แปล  ได้ระบุไว้ว่าแปลยากมาก  เมื่อแปลเสร็จได้นำฉบับแปลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 มิ.ย. 12, 09:38
คุณวีมีนี่แม่นสม่ำเสมอ   ดีจริงเชียว ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มิ.ย. 12, 11:42
หาตัวเล่มที่พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก  สมิตะศิริ) เจ้าของโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร พิมพ์ถวายเป็นพระราชกุศลในงานพระบรมศพ พ.ศ. ๒๔๖๘ ไม่พบ
เลยยังหาไม่ได้ว่า พิมพ์ครั้งแรกเมื่อไร  และพร้อมกับเรื่องอะไร

เล่มนี้คือเล่มที่พิมพ์ครั้งแรก

(http://archive.lib.kmutt.ac.th/components/com_joomgallery/img_originals/___25/img523_re_20101215_1831772618.jpg)

ลองเข้าไปหาหนังสือที่ เว็บหนังสือหายากของห้องสมุดสาขา วังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร (http://www.thapra.lib.su.ac.th/dbcollection/rarebook/index.asp?offset=360)

พิมพ์ชื่อหนังสือลงในช่องค้นหา

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 มิ.ย. 12, 13:20
^ คุณเพ็ญฯหาแบับพิมพ์ครั้งแรกได้  ก็แสดงทราบฉบับพิมพ์ครั้งที่สองด้วย
กรุณาจัดมา  อย่าให้เสียชื่อครับ :) :)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มิ.ย. 12, 16:00
เล่มในห้องสมุดสาขา วังท่าพระ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖

พิมพ์ครั้งที่สองหรือเปล่าหนอ

รอคุณวีมีมาช่วยตอบ

 ;D



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 มิ.ย. 12, 16:25
อะฮ้า เยี่ยมยุทธครับคุณเพ็ญฯ นี่คือฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒
พิมพ์พร้อมกับเรื่อง กันป่วย พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖

ในที่สุดกระทู้นี้  ก็ดำเนินมาถึง ๕๐๐ ความเห็น 


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มิ.ย. 12, 16:55
คำนำในหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มิ.ย. 12, 16:59
ในที่สุดกระทู้นี้  ก็ดำเนินมาถึง ๕๐๐ ความเห็น 

เลขห้าร้อยในสำนวนไทย

ความหมายไม่ใคร่ดีเท่าใดหนา คุณหลวง

 ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 มิ.ย. 12, 17:11
เพื่อเป็นการฉลองในโอกาสที่กระทู้นี้ทะลุ ๕๐๐ ความคิดเห็น  
ท่านผู้อาวุโสรู้สึกยินดีปรีดายิ่งนัก  เลยจัดหนักหาคำถามเบาๆมาให้ทายดังนี้

ข้อความต่อไปนี้  หมายถึงใคร

๑.
"...(1)...นั้นแกแปลหนังสือดี  ฉันออกจะอยากรู้จัก  จึงไปบอกชายปาน
ให้หาทางพามาพบกัน  ชายปานเธอบอกว่า  เจ้าพี่อ่านหนังสือแกอย่างเดียวดีแล้ว
อย่าพบแกเลย  แกอวดดีเป็นที่สุด  ก็เลยเป็นอันไม่ได้พบกัน"



"...(2)...แกบอกว่าแกทนดนตรีฝรั่งไม่ได้  แกชอบแต่ดนตรีไทย
ฉันบอกแกไปว่าดนตรีฝรั่งอย่างดีของเขา  เราก็ชอบเหมือนกัน  
แต่ไม่จำเป็นต้องดูถูกดนตรีของเราเอง"



"ข้าพเจ้าเคยกราบทูลถามว่า  ในวังมีการแบ่งชั้นวรรณะกันไหม  
รับสั่งว่ามี...(3)...ถือว่าเป็นหลานสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย  
เธอออกจะดูถูกคนอื่นๆ หมด  แม้จนเจ้าจอมและท้าวนาง  แต่เธออ้วนพลุ้ย  
ดูไม่สวยเลย  อย่างคุณย่าฉันเธอก็รังเกียจว่าไม่มีสกุลรุนชาติอะไร
เวลาเล่นละคร รบกันกับเจ้าจอมตัวโปรด  ที่เธอถือว่าเด่นกว่าเธอ  
เธอเอาไม้เข้าตีเอาจริงๆ จนถึงกับต้องทรงห้ามปราม"



"คือเวลานั้น  โปรดให้เลิกหมอบคลาน  ให้ลุกขึ้นยืนถวายคำนับ
เจ้านายลูกเธอทรงลุกขึ้นยืนพร้อมกันหมด  เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่าน
แต่...(4)...ท่านไม่ยอม  ทรงหมอบกราบอยู่องค์เดียว  เป็นอันว่า
ไม่ยอมรับลัทธิธรรมเนียมอย่างใหม่  เล่นเอาพระเจ้าอยู่หัวกริ้ว
ทรงจิกพระเมาลี ให้ลุกขึ้นยืนถวายบังคมจนได้"



"...(5)...นั้นอะไรๆ ดีหมด  เมื่อช่วยฉันเป็นบรรณาธิการวารสารสยามสมาคม
ขีดเขียนให้แข็งแรง  แต่อย่าใช้ให้ไปทวงต้นฉบับคนอื่นนะ  แกทวงเอามาได้แล้ว
แกมักเอาไปทำหายเสียเสมอๆ"



"ความจริง...(6)...ท่านทอดพระเนตรไกล  ทรงอยากจะให้มีสภานิติบัญญัติมาแต่ต้นรัชกาลที่ ๖
ท่านทำความเห็นเสนอพระมงกุฎเกล้า   ซึ่งโปรดให้ออกหนังสือเวียนถามมติคณะเสนาบดีว่า
เมื่อได้พร้อมกันแล้วให้กราบบังคมทูล  แต่ไปติดอยู่ที่...(7)...ท่านทรงเก็บหนังสือนิ่งเสีย  
เมื่อฉันเข้าไปรับงานในหน้าที่เลขานุการเสนาบดีสภา  เห็นว่าควรไปเตือนท่าน  ความจริงเรื่องนี้  
...(8)...ท่านเตือนฉันแล้วว่าจะถูกกริ้วเอา  แต่เราก็พาซื่อ  ถือเป็นหน้าที่  ไปเฝ้าที่วัง
ท่านรับสั่งถามว่าที่เธอมานี่  เป็นพระราชโองการให้มาเตือนฉันหรือ  อ้ายเราจะอ้างพระราชโองการก็ไม่ได้  
แต่ก็ถือว่ามีพระราชประสงค์  จะต้องทรงทราบมติเสนาบดี  จึงกราบทูลไปว่า  ก็เป็นพระราชโองการ
โดยปริยาย  ท่านเลยตรัสว่าถ้าเช่นนั้นฉันไม่ตอบ"




"...(9)...ท่านรับสั่งน้อย  ถ้าไม่ใช่เรื่องของท่าน  ท่านไม่ทรงออกความเห็น  แม้มีพระราชดำรัสตรัสถาม
ท่านก็มักบ่ายเบี่ยง  ข้อนี้นับว่าผิดกับ...(10)...ซึ่งถ้าตรัสถามท่านแล้ว  ผิดถูกอย่างไรก็แล้วแต่
ท่านย่อมมีพระมติที่จะกราบทูลสนองพระราชปุจฉาได้เสมอ   แม้ไม่ใช่การงานในหน้าที่ในความพินิจของท่าน
ถ้าพระเจ้าอยู่หัวโปรดทรงใช้  ก็รับสนองงานไปทำเสมอ  จึงเป็นที่โปรดปรานมากในรัชกาลที่ ๕
ซึ่งก็จำเป็นอยู่เอง  ที่จะมีคนอิจฉาริษยา"

เลข (1) - (10)  หมายถึงใครกันหนอ ??? ??? ??? ??? ??? ;D ;D ;D ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 มิ.ย. 12, 17:18
ในที่สุดกระทู้นี้  ก็ดำเนินมาถึง ๕๐๐ ความเห็น 

เลขห้าร้อยในสำนวนไทย

ความหมายไม่ใคร่ดีเท่าใดหนา คุณหลวง

 ;)

ความหมายที่ไม่ดีก็อย่าไปเอามาสิครับคุณเพ็ญฯ  เลือกเอาแต่ส่วนดี
เหมือนเลือกซื้อผักผลไม้ที่ตลาด  ไอ้ที่ช้ำที่เน่าที่มีตำหนิหนอนเจาะเป็นโรค
จะเลือกเอามาทำไม   ผมชอบห้าร้อยในสำนวนภาษาบาลี มีทั้งโจรห้าร้อย
พระอรหันต์ห้าร้อย  บริวารห้าร้อย  เกวียนห้าร้อย  พระโพธิสัตว์ห้าร้อย
เศรษฐีห้าร้อย  ส่วนบ้าห้าร้อยมีหรือเปล่า  ยังไม่เคยเห็น


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 มิ.ย. 12, 17:26

"ความจริง...(6)...ท่านทอดพระเนตรไกล  ทรงอยากจะให้มีสภานิติบัญญัติมาแต่ต้นรัชกาลที่ ๖
ท่านทำความเห็นเสนอพระมงกุฎเกล้า   ซึ่งโปรดให้ออกหนังสือเวียนถามมติคณะเสนาบดีว่า
เมื่อได้พร้อมกันแล้วให้กราบบังคมทูล  แต่ไปติดอยู่ที่...(7)...ท่านทรงเก็บหนังสือนิ่งเสีย 
เมื่อฉันเข้าไปรับงานในหน้าที่เลขานุการเสนาบดีสภา  เห็นว่าควรไปเตือนท่าน  ความจริงเรื่องนี้   
...(...ท่านเตือนฉันแล้วว่าจะถูกกริ้วเอา  แต่เราก็พาซื่อ  ถือเป็นหน้าที่  ไปเฝ้าที่วัง
ท่านรับสั่งถามว่าที่เธอมานี่  เป็นพระราชโองการให้มาเตือนฉันหรือ  อ้ายเราจะอ้างพระราชโองการก็ไม่ได้ 
แต่ก็ถือว่ามีพระราชประสงค์  จะต้องทรงทราบมติเสนาบดี  จึงกราบทูลไปว่า  ก็เป็นพระราชโองการ
โดยปริยาย  ท่านเลยตรัสว่าถ้าเช่นนั้นฉันไม่ตอบ"

(6) คือ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ  ผู้กราบบังคมทูลเสนอให้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งรัฐมนตรีสภา
(7) คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ซึ่งเวลานั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ
(8) หรือ คุณแว่นตาดำ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี  ซึ่งเวลานั้นทรงดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์  เมื่อพระบรมวงศ์พระองค์นี้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว  จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนตำแหน่งราชเลขานุการเป็นราชเลขาธิการ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 มิ.ย. 12, 17:31
^ถูกต้องนะขอรับคุณวีมี ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 20 มิ.ย. 12, 17:32
เพื่อเป็นการฉลองในโอกาสที่กระทู้นี้ทะลุ ๕๐๐ ความคิดเห็น  
ท่านผู้อาวุโสรู้สึกยินดีปรีดายิ่งนัก  เลยจัดหนักหาคำถามเบาๆมาให้ทายดังนี้

ข้อความต่อไปนี้  หมายถึงใคร



"คือเวลานั้น  โปรดให้เลิกหมอบคลาน  ให้ลุกขึ้นยืนถวายคำนับ
เจ้านายลูกเธอทรงลุกขึ้นยืนพร้อมกันหมด  เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่าน
แต่...(4)...ท่านไม่ยอม  ทรงหมอบกราบอยู่องค์เดียว  เป็นอันว่า
ไม่ยอมรับลัทธิธรรมเนียมอย่างใหม่  เล่นเอาพระเจ้าอยู่หัวกริ้ว
ทรงจิกพระเมาลี ให้ลุกขึ้นยืนถวายบังคมจนได้"



๔. ............. คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงผ่อง พระเจ้าลูกเธอพระองค์ แรกในรัชกาลที่ ๕


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 มิ.ย. 12, 17:35
^ พนายบำรุงเวหพ่าห์แห่งทุ่งรังสิต  แขวงเมืองประทุมก็ใช่ย่อย  
จะไม่เอาอีกสักข้อรึ  ไหนก็ตอบถูกไปข้อหนึ่งแล้ว  อย่าให้เสียเที่ยวสิ

(((เล่นตอบแต่ข้อง่ายๆ ก่อน   คิดว่ารู้ไม่ทันกระนั้นรึ))) 8)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 มิ.ย. 12, 17:38
ตอบคำถามข้อ ๗

(9) คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ
(10) คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 มิ.ย. 12, 17:41
ตอบคำถามข้อ ๗

(9) คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ
(10) คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ข้อนี้ง่ายไปหรือเปล่า  ระดับคุณวีมี  น่าจะปล่อยข้อนี้ไว้ให้คนอื่นตอบนะครับ
เอาเป็นว่าถูกครับ   จะไม่ตอบข้อต้นๆ บ้างหรือครับ   ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 20 มิ.ย. 12, 18:23
^ พนายบำรุงเวหพ่าห์แห่งทุ่งรังสิต  แขวงเมืองประทุมก็ใช่ย่อย  
จะไม่เอาอีกสักข้อรึ  ไหนก็ตอบถูกไปข้อหนึ่งแล้ว  อย่าให้เสียเที่ยวสิ

(((เล่นตอบแต่ข้อง่ายๆ ก่อน   คิดว่ารู้ไม่ทันกระนั้นรึ))) 8)

เดี๋ยวก่อนซีใต้เท้า

ช่วงนี้กำลังเลี้ยงนก ไม่รู้มาแต่ไซบีเรียหรือไม่ มากมายนัก

กลับบ้านแล้วจะสนองปุจฉาให้ได้  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 มิ.ย. 12, 19:12
ไม่ตอบแล้วครับ  เดี๋ยวท่านอื่นไม่ได้ลับสมองครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 21 มิ.ย. 12, 11:48
มาช้า ยังดีกว่าไม่มา .....

ปกหนังสือ สงครามสืบราชสมบัติโปบันด์ ฉบับ พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะสิริ) พิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระเดชพระคุณ ในงารถวายพระเพลิงพระบรมศพ พ.ศ. ๒๔๖๘

ในคำนำว่า

".......พระยาบุรีนวราษฐ์ (ชวน สิงหเสนี) เปนราชเลขานุการในพระองค์ ได้แปลพระราชนิพนธ์นั้นเปนภาษาไทย ......... ทูลเกล้าฯ ถวายร่างคำแปลเพื่อทรงตรวจแก้ไข ได้ทรงพระกรุณาทรงตรวจแก้เกือบจบ แต่ไม่สำเร็จบริบูรณ์ทีเดียว เสด็จสวรรคตเสียก่อน กรรมการหอรพะสมุดสำหรับพระนครได้ต้นฉบับที่ทรงนั้นมา จึงได้ตรวจในตอนที่ทรงไว้ไม่แล้ว แก้ให้เปนไปตามที่ทรงแก้ไว้ในเบื้องต้น มิได้เปลี่นนแปลงอันใดเอง เปนแต่แก้ตามที่ทรงไว้แล้วเท่านั้น

ในงารถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระโสภณอัีกษรมีประสงค์จะพิมพ์หนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระเดชพระคุณ ได้มาแจ้งความยังหอพระสมุดสำหรับพระนคร......... ส่วนพระยาุบุรีนวราษ์ผู้แปลนี้ พเิอิญมาถึงแก่กรรมไปเสียเมื่อเร็วๆ นี้เอง ถ้ามีญาณวิธีที่ทราบได้ว่าหนังสือที่แปลไว้นั้น ได้มาพิมพ์แจกในงารถวายพระเพลิงพระบรมศพ ก็คงจะยินดีเปนอันมาก

พิทยาลงกรณ์ อุปนายก หอพระสมุดวชิรญาณ วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘"

ไม่ทราบว่าเป็นผลงานสุดท้าย ขององค์ผู้พระราชนิพนธ์ และผู้แปลด้วยหรือไม่ ? แต่พิมพ์ครั้งแรกแน่



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 21 มิ.ย. 12, 11:55
พระราชนิพนธ์ฉบับสุดท้ายที่ทรงค้างไว้ก่อนเสด็จสวรรคต  และต้นฉบับวางอยู่บนโต๊ะทรงพระอักษร คือ "มัทนะพาธา" ฉบับร้อยกรองภาษาอังกฤษ
ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน "สมุดฝรั่ง" ต้นฉบับทรงไว้ด้วยดินสอ  จบเพียงองค์ที่ ๓ 
พระราชนิพนธ์มัทนะพาธานี้ทรงแปลเป็นร้อยแก้วภาษาอังกฤษแล้ว  ต่อมาพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ซึ่งเวลานั้นทรงเป็นผู้ช่วยราชเลขาธิการ
ได้กราบบังคมทูลขอให้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอนเปล่าภาษาอังกฤษแบบคำประพันธ์ของเชคสเปียร์  แต่เผอิญสวรรคตเสียก่อนที่จะทรงพระชนิพนธ์จบ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 21 มิ.ย. 12, 15:52
เพื่อเป็นการฉลองในโอกาสที่กระทู้นี้ทะลุ ๕๐๐ ความคิดเห็น  
ท่านผู้อาวุโสรู้สึกยินดีปรีดายิ่งนัก  เลยจัดหนักหาคำถามเบาๆมาให้ทายดังนี้

ข้อความต่อไปนี้  หมายถึงใคร



"ข้าพเจ้าเคยกราบทูลถามว่า  ในวังมีการแบ่งชั้นวรรณะกันไหม  
รับสั่งว่ามี...(3)...ถือว่าเป็นหลานสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย  
เธอออกจะดูถูกคนอื่นๆ หมด  แม้จนเจ้าจอมและท้าวนาง  แต่เธออ้วนพลุ้ย  
ดูไม่สวยเลย  อย่างคุณย่าฉันเธอก็รังเกียจว่าไม่มีสกุลรุนชาติอะไร
เวลาเล่นละคร รบกันกับเจ้าจอมตัวโปรด  ที่เธอถือว่าเด่นกว่าเธอ  
เธอเอาไม้เข้าตีเอาจริงๆ จนถึงกับต้องทรงห้ามปราม"



(๓)................. คือ เจ้าจอมสุด ในรัชกาลที่ ๔ บุตรีพระสุริยภักดี (สนิท) หลานสาวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 มิ.ย. 12, 16:41
ดีมากพนาย  ช่วงนี้มหาปักษาร่อนลงน้อยแล้วสิจึงได้มีเวลามาหาคำตอบได้
ที่ตอบมาถูกต้องงงงงงงงงงงงงงงง ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 มิ.ย. 12, 12:07

ข้อความต่อไปนี้  หมายถึงใคร

๑.
"...(1)...นั้นแกแปลหนังสือดี  ฉันออกจะอยากรู้จัก  จึงไปบอกชายปาน
ให้หาทางพามาพบกัน  ชายปานเธอบอกว่า  เจ้าพี่อ่านหนังสือแกอย่างเดียวดีแล้ว
อย่าพบแกเลย  แกอวดดีเป็นที่สุด  ก็เลยเป็นอันไม่ได้พบกัน"



"...(2)...แกบอกว่าแกทนดนตรีฝรั่งไม่ได้  แกชอบแต่ดนตรีไทย
ฉันบอกแกไปว่าดนตรีฝรั่งอย่างดีของเขา  เราก็ชอบเหมือนกัน  
แต่ไม่จำเป็นต้องดูถูกดนตรีของเราเอง"



"...(5)...นั้นอะไรๆ ดีหมด  เมื่อช่วยฉันเป็นบรรณาธิการวารสารสยามสมาคม
ขีดเขียนให้แข็งแรง  แต่อย่าใช้ให้ไปทวงต้นฉบับคนอื่นนะ  แกทวงเอามาได้แล้ว
แกมักเอาไปทำหายเสียเสมอๆ"



เฉลย  (1) มหาแสง  มนวิทูร

(2) หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน  อินทุวงศ์)

(5) พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ก.ค. 12, 07:55
ผู้อาวุโสนั่งจิบน้ำชาอยู่หน้าบ้านวันหนึ่ง  เห็นหลานชายของญาติบ้านใกล้แต่งชุดลูกเสือ
เลยนึกคำถามขึ้นมาได้คำถามหนึ่งว่า

เมื่อตอนผู้อาวุโสเป็นเด็กนักเรียนเคยไปงานชุมนุมลูกเสือ
เห็นลูกเสือต่างจังหวัดใช้ผ้าพันคอสีต่างออกไป  ก็สนใจและติดใจอยากจะรู้ว่า
ลูกเสือจังหวัดต่างๆ เขาใช้ผ้าพันคอสีอะไรกันบ้าง ถ้าได้ภาพด้วยจะดีมากๆ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 02 ก.ค. 12, 09:07
ผู้อาวุโสนั่งจิบน้ำชาอยู่หน้าบ้านวันหนึ่ง  เห็นหลานชายของญาติบ้านใกล้แต่งชุดลูกเสือ
เลยนึกคำถามขึ้นมาได้คำถามหนึ่งว่า

เมื่อตอนผู้อาวุโสเป็นเด็กนักเรียนเคยไปงานชุมนุมลูกเสือ
เห็นลูกเสือต่างจังหวัดใช้ผ้าพันคอสีต่างออกไป  ก็สนใจและติดใจอยากจะรู้ว่า
ลูกเสือจังหวัดต่างๆ เขาใช้ผ้าพันคอสีอะไรกันบ้าง ถ้าได้ภาพด้วยจะดีมากๆ

เรียนถามใต้เท้า  "จังหวัด" หรือ "มณฑล"  ขอรับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ก.ค. 12, 09:26
ตอบอะไรได้ก็ตอบเถิดพนาย  ท่านผู้อาวุโสกำลังอารมณ์ดี
(กรุณาอย่ากวนให้ขุ่นโดยไม่มีเหตุอันควร)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ก.ค. 12, 09:32
ผู้อาวุโสนั่งจิบน้ำชาอยู่หน้าบ้านวันหนึ่ง  เห็นหลานชายของญาติบ้านใกล้แต่งชุดลูกเสือ
เลยนึกคำถามขึ้นมาได้คำถามหนึ่งว่า

เมื่อตอนผู้อาวุโสเป็นเด็กนักเรียนเคยไปงานชุมนุมลูกเสือ
เห็นลูกเสือต่างจังหวัดใช้ผ้าพันคอสีต่างออกไป  ก็สนใจและติดใจอยากจะรู้ว่า
ลูกเสือจังหวัดต่างๆ เขาใช้ผ้าพันคอสีอะไรกันบ้าง ถ้าได้ภาพด้วยจะดีมากๆ

ตอนเป็นเด็ก นี่สักกี่ขวบ อาวุโสช่วงศักราชเท่าใด จะได้หาสีได้ถูก


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ก.ค. 12, 09:46
ผ้าพันคอลูกเสือสีต่าง ๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

กรุงเทพ ใช้สีเหลือง
กรุงเก่า (อยุธยา) ใช้สีชาด
ดินแดนฝ่ายเหนือ ใช้สีม่วงแก่
ดินแดนอีสาน ใช้สีน้ำตาลอ่อน (กากี)
ดินแดนตะวันนออก ใช้สีแสด
ดินแดนอาคเนย์ ใช้สีไพล
ดินแดนปักษ์ใต้ ใช้สีเขียวแก่
ดินแดนภูเก็ต ใช้สีฟ้า
ดินแดนตะวันตก ใช้สีน้ำเงินแก่
ดินแดนพายัพ ใช้สีบานเย็น

อ้างถึงเอกสาร พ.ศ. ๒๔๕๘ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2458/A/532.PDF


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ก.ค. 12, 09:56
please show me some pictures. ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ก.ค. 12, 10:13
อันนี้ของจังหวัดเชียงราย (ดินแดนฝ่ายพายัพ) ใช้สีบานเย็น ตราประจำจังหวัดเชียงราย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ก.ค. 12, 10:19
ลูกเสือเพชรบูรณ์ ฝ่ายเหนือ ใช้ม่วงแก่


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ก.ค. 12, 10:31
สายลูกเสือที่ถูกถ่ายภาพ  ท่าทางไม่ค่อยสบอารมณ์กับตากล้อง
สงสัยไม่ได้ขออนุญาตก่อนถ่ายภาพเป็นแน่ ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 02 ก.ค. 12, 12:34
1. กรุงเทพมหานคร

พื้นธงสีเหลือง มีพระพุทธรูปพระมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) บนพื้นธง เป็นเครื่องเตือนใจให้ลูกเสือมณฑลนี้ระลึกว่า
พระพุทธรูปนี้เป็นหลักชัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพของปวงชนทั่วไป
ตลอดจนพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง

2. มณฑลปราจีนบุรี

พื้นธงสีไพล กลางธงมีรูปสีเหลี่ยมสีน้ำเงินแก่ และมีรูปนกยูงรำแพนอยู่ในวงกลมสีแดงอยู่ตรงกลาง
มณฑลนี้มีจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดสำคัญ และอยู่ติดต่อกับมณฑลกรุงเทพฯ ทางทิศตะสันออก นับว่าเป็นมณฑลที่สำคัญมาก


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 02 ก.ค. 12, 12:36
3. มณฑลจันทบุรี

พื้นธงสีไพล กลางธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมสีม่วง มีรูปกระต่ายในดวงจันทร์สีไพลอยู่กลาง เป็นเครื่องหมายถึงจังหวัดจันทบุรี
อันเป็นจังหวัดสำคัญของมณฑลนี้

4. มณฑลนครราชสีมา

พื้นธงสีแสด กลางธงมีรูปพัทธสีมาสาวอยู่ภายในรูปแปดเหลี่ยมสีเขียว เป็นเครื่องหมายถึงจังหวัดนครราชสีมาอันเป็น
จังหวัดสำคัญของมณฑลนี้


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 02 ก.ค. 12, 12:38
5. มณฑลอุดร

พื้นธงสีแสด กลางธงมีรูปท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวัณยืนถือตะบองอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมสีขาว เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นผู้พิทักษ์รักษาทิศอุดร
เพื่อให้ลูกเสือมณฑลนี้ระลึกถึงเครื่องหมายอันนี้ ว่าตนมีหน้าที่ป้องกันประเทศแถบสำคัญทางทิศอุดร

6. มณฑลอยุธยา

พื้นธงสีเลือดนก กลางธงมีรูปปราสาทอยู่ใต้ต้นหมัน เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการสถาปนากรุงศรีอยุธยา
ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมาแต่โบราณ เพื่อเตือนให้ลูกเสือทุกคนในมณฑลนี้ระลึกเสมอว่า ตนล้วนแต่เป็นเชื้อสาย
ของนักรบที่เคยประกอบวีรกรรมอันดีมาในอดีต


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 02 ก.ค. 12, 12:39
7. มณฑลนครสวรรค์

พื้นธงสีม่วง กลางธงมีรูปปราสาทลอยอยู่บนเมฆ เป็นเครื่องหมายถึงจังหวัดนครสวรรค์อันเป็นจังหวัดสำคัญของมณฑลนี้

8. มณฑลพิษณุโลก

พื้นธงสีม่วง กลางธงมีรูปสังข์อยู่ในวงจักรสีแดง ขอบนอกสีขาว เป็นเครื่องหมายของนามจังหวัดพิษณุโลก
ซึ่งเคยเป็นเมืองสำคัญมาในสมัยโบราณ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 02 ก.ค. 12, 12:41
9. มณฑลพายัพ

เป็นธงสีบานเย็น กลางธงมีรูปช้างเผือกยืนในขวง เป็นเครื่องหมายให้ระลึกถึงจังหวัดเชียงใหม่ อันเคยเป็นราชธานีของไทยมาแต่สมัยโบราณ

10. มณฑลราชบุรี

พื้นธงสีน้ำเงินแก่ กลางธงมีรูปรองพระบาทวางบนพานทอง เพื่อให้ลูกเสือทุกคนระลึกว่า มณฑลนี้เป็นมณฑลสำคัญทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ
เช่นเดียวกับมณฑลปราจีนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก และลูกเสือทุกคนก็มีความจงรักภักดีเพื่อทำการฉลองพระเดชพระคุณ
จึงพระราชทานเครื่องหมายนี้เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 02 ก.ค. 12, 12:43
11. มณฑลนครชัยศรี

พื้นธงสีน้ำเงินแก่ กลางธงมีรูปพระปฐมเจดีย์สีเหลือง อันเป็นพระมหาเจดีย์สำคัญยิ่งของมณฑลนี้ทั้งเป็นโบราณสถาน
นับเนื่องในปูชนียสถานแห่งพระพุทธศาสนา

12. มณฑลนครศรีธรรมราช

พื้นธงสีเขียวใบไม้ ขอบสีม่วง กลางธงมีรูปสังข์ทักษิณาวัตรวางบนพานทอง เป็นเครื่องนำให้ระลึกถึงจังหวัดสงขลา
อันเป็นจังหวัดสำคัญของมณฑลนี้


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 02 ก.ค. 12, 12:44
13. มณฑลภูเก็ต

พื้นธงสีเขียวใบไม้ ขอบสีฟ้า กลางธงมีรูปเขา ยอดเขามีเพชรฉายรัศมี เป็นเครื่องนำให้ระลึกถึงท้องที่อันอุดมสมบูรณ์
ด้วยทรัพยากรธรรมชาติของมณฑลนี้ เช่น แร่ดีบุก

14. มณฑลปัตตานี

พื้นธงสีเขียวใบไม้ ขอบสีเหลือง กลางธงมีรูปปืนนางพญาตานี ซึ่งเป็นปืนที่พระยาตานีนำมาถวายโดยความจงรักภักดีต่อ
พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ทั้งนี้เพื่อให้ลูกเสือในมณฑลนั้นได้ระลึกถึงความจงรักภักดีต่อพระยาตานีไว้เป็นตัวอย่างอยู่เสมอ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 02 ก.ค. 12, 13:20
คุณหนุ่มสยามมาตอบคำถามเรื่องสีประจำกองเสนาอันเป็นที่มาของผ้าพันคอลูกเสือแล้ว  เลยขออนุญาตขยายความซ้ำว่า กองเสนานั้นๆ มีมณฑลอะไรบ้างครับ
๑) กองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ (มณฑลกรุงเทพฯ)             หมายสีเหลือง
๒) กองเสนารักษาดินแดนกรุงเก่า  (มณฑลกรุงเก่า)           หมายสีชาต
๓) กองเสนารักษาดินแดนฝ่ายเหนือ  (มณฑลพิษณุโลกและมณฑลนครสวรรค์)  หมายสีม่วงแก่
๔) กองเสนารักษาดินแดนอีสาน  (มณฑลร้อยเอ็จ และมณฑลอุบล)       หมายสีน้ำตาลอ่อน (กากี)
๕) กองเสนารักษาดินแดนตวันออก  (มณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดร)  หมายสีแสด
๖) กองเสนารักษาดินแดนอาคเนย์  (มณฑลปราจิณบุรี และมณฑลจันทบุรี)  หมายสีไพล
๗) กองเสนารักษาดินแดนปักษ์ใต้ (มณฑลชุมพร  มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลปัตตานี)   หมายสีเขียว
๘) กองเสนารักษาดินแดนภูเก็ต  (มณฑลภูเก็ต)             หมายสีฟ้า
๙) กองเสนารักษาดินแดนตวันตก  (มณฑลนครไชยศรีและมณฑลราชบุรี)   หมายสีน้ำเงินแก่   
๑๐) กองเสนารักษาดินแดนพายัพ (มณฑลพายัพ)                        หมายสีบานเย็น

มณฑลพายัพนั้นใน พ.ศ. ๒๔๕๙ มีการแยกออกเป็นมณฑลพายัพ ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่  ลำพูน  เชียงรายและแม่ฮ่องสอน  กับมณฑลมหาราษฎร์  มีจังหวัดลำปาง  แพร่  น่าน
เสือป่าในสองม๊ฑลนั้นก็คงใช้สีบานเย็นเป็นสีประจำมณฑลตลอดมาจนยุบมณฑลมหาราษฎร์รวมเข้ากับมณฑลพายัพใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ก็ยังคงใช้สีบานเย็นต่อมาจนถึงปัจจุบัน
สีหมายมณฑลนี้ยังคงใช้มาถึงปัจจุบัน  แต่เปลี่ยนมาจากมณฑลมาเป็นเขตการศึกษา


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 02 ก.ค. 12, 13:35
ภาพตัวอย่างธงประจำกองลูกเสือมณฑล  พิมพ์ครั้งงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติในรัชกาลที่ ๗ 

ที่ได้รับพระราชทานก่อนงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ คือ ธงประจำกองมณฑลที่ได้รับพระราชทานในรัชกาลที่ ๖ และต้นรัชกาลที่ ๗
เดิมล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ มีพระราชนิยมว่า จะพระราชทานธงประจำกองลูกเสือมณฑลต่อเมื่อได้เสด็จฯ เหยียบมณฑลนั้นๆ
ในตอนต้นรัชกาลที่ ๗ ทรงดำเนินตามพระราชนิยมนั้น  จึงได้พระราชทานธงประจำกองมณฑลกรุงเก่า  มณฑลพิษณุโลก และมณฑลพายัพ
เมื่อคราวเสด็จฯ เหยียบมณฑลนั้นๆ ใน พ.ศ. ๒๔๖๙

ต่อมาทรงพระราชดำริว่า ยังมีอีกหลายมณฑลที่ยังมิได้รับพระราชทานธงประจำกองมณฑล  จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทรงออกแบบและมอบให้ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์  จิตรกร) ผู้จัดสร้างธงประจำกองลูกเสือในรัชกาลที่ ๖ เป็นผู้จัดสร้าง  แล้วได้พระราชทาน
ในงานชุมนุมลูกเสือครั้งแรกที่พระราชวังสราญรมย์  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑

การชุมนุมลูกเสือครั้งแรกนั้น  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ มีพระราชดำริจะให้จัดขึ้นมีกำหนด ๗ วันในช่วงต้นของงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ 
ที่มักำหนดจะจัดงานเป็นเวลา ๑๐๐ วันที่สวนลุมพินี  นับแต่วันที่  ๒๓  มกราคม  พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นต้นไป  แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน
งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์และงานอื่นๆ ที่ทรงพระราชดำริไว้จึงเป็นอันต้องล้มไปเพราะอยู่ในระหว่างไว้ทุกข์ถวายมีกำหนด ๑ ปี



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 02 ก.ค. 12, 18:11
แถมให้ท่านผู้อาวุโสค่ะ  ;D

ลูกเสือคนแรก คือ นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ชื่อ ชัพน์ บุนนาค การเป็นลูกเสือของนาย ชัพน์ บุนนาค นั้นเกิดจากการที่ได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือ และกล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ ซึ่งเป็นการกล่าวต่อหน้าพระพักตร์ ซึ่งครั้งนั้นมีผู้ที่บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ว่า
       ร.6     -  “อ้ายชัพน์ ดอกหรือ เอ็งกล่าวคำสาบานของลูกเสือได้หรอเปล่า”
      ชัพน์    -  “ข้าพระพุทธเจ้าท่องมาแล้วว่า
                     1.  ข้าจะมีใจจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว
                     2.  ข้าจะประพฤติตนให้สมควรเป็นลูกผู้ชาย
                     3.  ข้าจะประพฤติตนตามข้อบังคับและแบบแผนของลูกเสือ”
       ร.6     -  ในหน้าที่ซึ่งข้าได้เป็นผู้ประสิทธิประสาทลูกเสือของชาติขึ้นมา ข้าขอให้เจ้าเป็นลูกเสือคนแรก”
         จากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเพียงสั้นๆว่า “อ้าย ชัพน์ เอ็งเป็นลูกเสือแล้ว" และแล้วกิจการลูกเสือ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 02 ก.ค. 12, 18:12
^ ถ้าเป็นภาพสี ก็ดีนะคะ จะได้เห็นว่าผ้าพันคอสีอะไร ดูแล้วเหมือนมีมากกว่าสองสีในผืนเดียว ...;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 02 ก.ค. 12, 18:39
เมื่อราวสามสิบกว่าปีที่แล้วเคยพบตัวจริงท่าน  แต่ความที่ไม่รู้จักท่าน  ทราบแต่ว่าท่านเป็นลูกเสือคนแรกของสยาม
ระหว่างที่คุยกับท่านนั้น  ท่านก็เอ่ยขึ้นมาว่า  รู้ไหมว่าใครเป็นลูกเสือคนแรกของสยาม  ก็กราบเรียนท่านว่า
นายชัพน์  บุนนาค  ท่านก็ย้อนถามมาว่า แล้วรู้จักไหมนายชัพน์น่ะคนไหน  เวลานั้นเพื่อนๆ นักเรียนมหาดเล็กหลวง
ของท่านนั่งรวมกันกลุ่มใหญ่  ก็กราบเรียนท่านว่าไม่ทราบ  ท่านก็ชี้ที่หน้าอกตัวท่าน  แล้วก็บอกว่า ผมนี่แหละ
นายชัพน์  บุนนาค  ท่านพูดจบพวกนักเรียนเก่าอาวุโสกลุ่มนั้นก็ฮากับความเปิ่นของผมเสียครืนใหญ่  เป็นความเอ็นดู
ที่ท่านผู้ใหญ่แสดงความเมตตาแก่น้องเล็กร่วมสถาบันของท่าน  จากนั้นก็ได้รับความรู้จากท่านผู้อาวุโสเหล่านี้มาโดยตลอด

เครื่องแบบที่ น.ร.ม.ชัพน์  สวมในภาพนั้น  เป็นเครื่องแบบลูกเสือหลวง  มิใช่เครื่องแบบชุดที่ท่านแต่งไปเฝ้าฯ
ในวันที่ถวายสัตย์สาบานเป็นลูกเสือคนแรก  เครื่องแบบชุดที่ท่านไปเฝ้าฯ ถวายสัตย์นั้นมีหุ่นขี้ผึ้งจัดแสดงเหตุการณ์
ตอนที่ น.ร.ม.ชัพน์ เฝ้าฯ จัดแสดงอยู่ที่หอวชิราวุธานุสรณ์

เครื่องแบบลูกเสือหลวงในภาพนั้น  ไล่ลงมาจากหมวก
หมวกปีกสักหลาดดำพันผ้าเหลืองดำลายเสือกว้าง ๒ เซนติเมตรรอบทรงหมวก  ใต้ปีกหมวกบุสักหลาดเหลือง 
พับใบข้างขวาติดกับทรงหมวก  ติดทับด้วยดอกไม้แพรจีบริ้วเหลืองสลับดำ  มีหน้าเสือโลหะสีทองติดทับบนแพรจีบ
กับมีขนนกขาวปักตรงพับปีกหมวก ๑ ขน
เสื้อเชิ้ตทรงกระสอบ (เรียกกันแบบนั้น คิอ ทรงเชิ้ตโปโลแบบสวมศีรษะ  มีดุมที่อกเสื้อสามเม็ด) แขนยาวสีกากี
ติดอินทรธนูไหมเกลียวสีแดงตามยาวบ่าเสื้อ  มีดุมทองเกลี้ยงที่ข้างต้นคอสำหรับกลัดอินทรธนูข้างละดุม
มีกระเป๋าใบปกที่อกเสื้อทั้งสองข้าง  ผ้าผูกคอเป็นรูปสี่เหลี่ยม  พื้นดำ  มีขอบรอบสีแดงกว้าง ๒ เซนติเมตร 
กางเกงไทย (กางเกงขาสั้น  มีขากว้างจนสามารถถลกขากางเกงขึ้นมาปัสสาวะได้) สีดำ  เข็ดหนังเหลือง
ถุงเท้าดำ  มีริ้วเหลืองดำที่ขอบพับ  รองเท้าหุ้มส้นหนังดำ

เครื่องแบบลูกเสือหลวงนี้นับว่าเป็นเครื่องแบบพิเศษ  เพราะกองลูกเสือหลวงเป็นกองลูกเสือที่ขึ้นสังกัดอยู่ใน
กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์จึงใช้เครื่องแบบโดยอนุโลมตามเครื่องแบบเสือป่าหลวงรักษาพระองค์
เพียงแต่เปลี่ยนสีเสื้อจากสีดำเป็นสีกากีเหมือนลูกเสือทั้่วไป  กับปรับลดขนาดเครื่องประกอบบางอย่างให้เล็กลง
ให้เหมาระกับรูปร่างลูกเสือที่ยังเป็นเด็ก



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ค. 12, 07:20
^ ถ้าเป็นภาพสี ก็ดีนะคะ จะได้เห็นว่าผ้าพันคอสีอะไร ดูแล้วเหมือนมีมากกว่าสองสีในผืนเดียว ...;D

อ้างอิงจากคำบรรยายของคุณ V_Mee หยอดสีได้น่าจะประมาณนี้กระมังครับคุณดีดี  ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 03 ก.ค. 12, 14:30
ขอบพระคุณ ทั้งสองท่าน ค่ะ  ;D
ชัดเจนทั้งภาพสี และคำบรรยายค่ะ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 ก.ค. 12, 08:25
ท่านผู้อาวุโสฝากขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาไปปริศนาเรื่องสีผ้าพันคอลูกเสือและเรื่องที่เกี่ยวข้อง

คราวนี้  ท่านผู้อาวุโสฝากคำถามมาถามอีก  แต่คราวนี้ไม่ใช่คำถามของท่านเอง
เป็นคำถามจากเพื่อนของลูกเขยของลูกสาวของลูกผู้พี่ของท่านผู้อาวุโสฝากมา

คำถามมีว่า   "กระจังเขียว" คืออะไร  มีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร?


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ค. 12, 09:06
ท่านผู้อาวุโสฝากขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาไปปริศนาเรื่องสีผ้าพันคอลูกเสือและเรื่องที่เกี่ยวข้อง

คราวนี้  ท่านผู้อาวุโสฝากคำถามมาถามอีก  แต่คราวนี้ไม่ใช่คำถามของท่านเอง
เป็นคำถามจากเพื่อนของลูกเขยของลูกสาวของลูกผู้พี่ของท่านผู้อาวุโสฝากมา


จะอ้างกี่สาแหรกเจ้าคะ  8)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 ก.ค. 12, 10:04
คิดอยู่ว่าจะอ้างให้ถึงแปดสาแหรกขึ้นไป จะได้เป็นเชื้อสายผู้ดี ดีมะออกขุน 8)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 04 ก.ค. 12, 10:34

"กระจังเขียว" ไม่รู้จัก รู้จักแต่ "โคมเขียว"  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 ก.ค. 12, 10:39

"กระจังเขียว" ไม่รู้จัก รู้จักแต่ "โคมเขียว"  ;D

นายบำรุงเวหพ่าห์กล่าวอะไรออกมาเยี่ยงนั้น  
ชะรอยว่า  พนายจะเคยเยี่ยมกรายไปทำความรู้จักกับโคมเขียวมากระมัง

 ;D

อ้อ  มีกระแสเสียงกระซิบกระซาบมาแต่หลังม่านว่า
ใบ้หน่อยเถิดคุณหลวง  คลำหาคำตอบไม่ถูกจริงๆ

ฉะนั้น  จะแย้มพรายเบาะแสเลาๆ ดังนี้

๑.รัชกาลที่ ๕

๒.เจ้านายฝ่ายหน้าพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงกรม

๓.ปกดำ ๒ เล่มจบ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 04 ก.ค. 12, 12:09

"กระจังเขียว" ไม่รู้จัก รู้จักแต่ "โคมเขียว"  ;D

นายบำรุงเวหพ่าห์กล่าวอะไรออกมาเยี่ยงนั้น  
ชะรอยว่า  พนายจะเคยเยี่ยมกรายไปทำความรู้จักกับโคมเขียวมากระมัง

 ;D

อ้อ  มีกระแสเสียงกระซิบกระซาบมาแต่หลังม่านว่า
ใบ้หน่อยเถิดคุณหลวง  คลำหาคำตอบไม่ถูกจริงๆ

ฉะนั้น  จะแย้มพรายเบาะแสเลาๆ ดังนี้

๑.รัชกาลที่ ๕

๒.เจ้านายฝ่ายหน้าพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงกรม

๓.ปกดำ ๒ เล่มจบ



อืมมม... ชะรอยคุณหลวงคงเยี่ยมกรายไปโคมเขียวด้วยกระมัง จึงประสบพบเจอกับกระผมด้วย  :P

อ่อออ... เล่มดำนั้นหรือ คืนนี้คงได้คำตอบล่ะ  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 ก.ค. 12, 12:37
 ;D
"กระจังเขียว" เป็นคำที่บรรดาเจ้านายตรัสล้อ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล
สาเหตุเนื่องจาก ฯกรมขุนภูวนัยฯ ประทับทอดพระเนตรงานเพื่อเตรียมการฉลองวัดปทุมวัน ทรงงานเป็นประจำอยู่ตลอดเวลาก็ทรงเบื่อ วันหนึ่งมีผู้หญิงห่มแพรสีเขียวเดินผ่านไป จึงทรงหันไปทอดพระเนตรผู้หญิงคนนั้นเพลิน บังเอิญนายช่างเข้าไปทูลถามว่า “กระจังนั้นจะโปรดให้ทาสีอะไร” ฯกรมขุนภูวนัยฯ กำลังผูกพระอารมณ์อยู่ที่ผู้หญิงห่มแพรเขียว จึงทรงพลั้งพระโอษฐ์ตรัสสั่งไปว่า “ทาสีเขียว” ปรากฏว่านายช่างทาสีเขียวตามรับสั่ง จึงถูกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนราชสีหวิกรม กริ้ว เพราะกระจังนั้นตามปกติควรทาสีแดง (กระจังคือเครื่องประดับบนชั้นหลังตู้บนลับแล หรือฐานธรรมาสน์ เป็นไม้ฉลุลาย)

จาก: เด็กดีดอทคอมค่ะ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.ค. 12, 13:05
คำนี้อยู่ในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเลี้ยงโต๊ะที่วัง กรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล  (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%AD_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93_%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A4%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5) เนื่องในโอกาสพระราชทานเลื่อนกรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล ขึ้นเป็นกรมขุนฯ ใน พ.ศ.๒๔๑๙ ซึ่งทรงกล่าวถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาลโดยเฉพาะ (พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ทรงเป็นผู้จัดบันทึกไว้ในหนังสือ court) ดังนี้

ก็แต่บัดนี้จะว่าด้วยในพระองค์ท่านกรมขุนภูวนัยนี้ ท่านเป็นผู้มีพระอัธยาศัยเรียบร้อยไม่มีความถือพระองค์เลย บรรดาเจ้านายที่นั่งอยู่เหล่านี้ ก็ได้เล่นหัวล้อเลียนกับท่านมาตั้งแต่เล็กจนถึงบัดนี้มิใช่หรือ เจ้านายทั้งปวงก็ย่อมรู้อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ถึงจะผิดชอบเหลือเกินอย่างไร ท่านก็ไม่มีพระทัยโกรธขึ้งกับใครแต่สักคนหนึ่งเลย นี่เป็นน้ำพระทัยดีของท่าน

แลอีกอย่างหนึ่งความอุตสาหะความเพียรของท่านก็มีมาก ได้รับราชการกรากกรำมาแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือกรมขุนราชสีหได้เกณฑ์ให้เป็นนายงานรองไปทำการในพระพุทธนิเวศน์ ก็อุตสาหะพากเพียรไปทำการอยู่ทุกวัน ถ้าขึ้นไปบนพระพุทธมณเฑียรวันไร ก็คงเห็นท่านกรมภูวนัยนั่งหง่อนหง่ออยู่วันนั้น เสมอทุกวันมิได้ขาดเป็นช้านานหลายปี นาน ๆ ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงไปทอดพระเนตรงาน กรมขุนราชสีห์ท่านก็เข้าไปรับเสด็จเพ็ททูลเสียเอง กรมขุนภูวนัยก็เปล่าไป แต่มิได้มีความโทมนัส อุตสาหะพากเพียรเสมออยู่อย่างนั้น อีกครั้งหนึ่งจะฉลองวัดปทุมวัน เร่งการที่วัดนั้นยังไม่แล้ว ท่านกรมภูวนัยไปจอดเรือค้างอยู่ที่นั่นเกือบเดือนหนึ่ง ดูทำการอยู่จนถึงวันฉลองแล้ว งานก็ยังไม่เสร็จ ในเวลากำลังงานนั้น ฉันก็ได้ไปมาหาสู่ท่านอยู่เสมอ นั่นและจึงได้เกิดกระจังเขียวกระจังขาวขึ้นในเวลานั้น........


 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ก.ค. 12, 08:00
คุณดีดี กับคุณเพ็ญ ควานหาคำตอบได้เร็วดีแท้  ขอขอบคุณและชมเชย
ผิดกับใครบางคนต้องรอถึงกลางค่ำกลางคืนก่อนถึงจะตอบ   ไว้ท่ามากเหลือเกิน


สำนักโคมเขียวนั้นไม่เคยเข้าไปข้องแวะหรือทำธุรกิจธุรกรรมอะไรด้วย  ที่สงสัยก็เพราะได้สัญจรผ่านทางแถวนั้นบ้าง
แลเห็นใครบางคนหน้าตาคุ้นๆ คลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นคนรู้จัก แต่ทำท่าทางแปลกๆ เหมือนไม่อยากให้ใครเห็นว่ามาที่นั่น



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ก.ค. 12, 11:46
ขออนุญาต แทรกกระทู้ คุณหลวง ครับ


มีคำถาม ครับ ครั้นจะตั้งเป็นกระทู้ใหม่ ก็เปลือง เนื้อที่ ... จึงขอรบกวน ใส่กระทู้นี้ ไปด้วยคนหนึ่ง



จาก จดหมาย ตามภาพด้านล่างนี้ ........


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ก.ค. 12, 11:49
" ได้ทราบฝ่าลอองพระบาท

           ด้วยข้าพพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัด วันนี้ กับหนังสือหลวงเสนาะแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องพบกับ ..... เทเวศรก่อนแล้ว จึงจะคิดทำ....."


คำ ..... ที่ว่างไว้ อ่านว่าอะไร ? มาจากสัญลักษณ์อะไร ?


คาดว่าคุณหลวงคงจะทราบเป็นอย่างดี ขอให้ท่านอื่นได้โปรดลองหาคำตอบดูซักหน่อยครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ก.ค. 12, 11:56
อ่านได้ว่าอย่างนี้(ถอดตามอักขรวิธี ตัวไหนไม่มีไม่เติม)

ได้ทรงทราบฝ่าลอองพรบาท
        
           ด้วยฃ้าพรพุทธเจ้าได้รับลายพรหัดวันนี้กับหนังสือหลวงเสนาะแล้ว
ฃ้าพรพุทธเจ้าจะต้องพบกับพญาเทเวศรก่อนแล้ว  จึงจะคิดทำ


ตัวที่คุณปิยะสารณ์สงสัยนั้น คือ คำว่า พญา ที่เขียนแบบอักขรวิธีโบราณ (คือ พระยา)
เป็นการเขียนหวัดเอา พ กับ ญ เขียนต่อกันเป็นตัวเดียว  คำว่า พระ ก็เหมือนกัน  ท่านเขียน พ แล้วลากหยักเพิ่มอีก ๑ เส้น
เป็น พ ๓ หยัก ไม่มีสระอะ  แต่อ่านรู้กันว่า คือคำว่า พระ นั่นเอง  สมัยก่อนท่านมักเขียนด้วยอักขรพิเศษอย่างนี้
เมื่อเวลาต้องจดหนังสือสั่งการหรือหมายรับสั่งต่างๆ หรือเวลาร่างหนังสือต่างๆ เพื่อให้เขียนได้เร็วขึ้น


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 ก.ค. 12, 12:13
เข้ามาช่วยตอบคุณ piyasann

การเขียนอักษรไทยนั้นเป็นการเขียนแบบโบราณ ที่เชื่อมคำ เชื่อมสระครับ ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์อะไรทั้งสิ้น ดังตัวอย่างที่จัดมาให้ชมคำว่า "พระยา"


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ก.ค. 12, 12:14
วันนี้มีคำถามง่ายๆ ว่า

นักหนังสือพิมพ์ที่ใช้นามปากกาว่า กุหลาบขาว มีชื่อจริงว่าอะไร

เห็นไหม ง่ายเนอะ ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 05 ก.ค. 12, 14:37
กอบกาญจน์ วิศิษฎ์ศรี ค่ะ  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ก.ค. 12, 14:43
ถูกต้องครับ   แต่ยังไม่หมด  เพราะยังคำถามต่อไปอีกเล็กน้อย

กุหลาบขาว เป็นนักหนังสือพิมพ์สตรีคนแรกของประเทศไทย
แต่อยากทราบเพิ่มว่า  กุหลาบขาวเป็นนักหนังสือพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อว่าอะไร 
และหนังสือพิมพ์ที่กุหลาบขาวทำงานอยู่นั้น  ใครเป็นเจ้าของ

ง่ายเนอะ ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ก.ค. 12, 14:47
คุณหลวง และคุณ Siamese เร็ว ปาน เม็มโมรี ประวัติศาสตร์ไทย ไว้ใน สมองฮาร์ทดิสกต์


สัญลักษณ์นี้ จะเรียกว่า เป็น "คำ" ได้หรือไม่ครับ เจมส์ โลว์ ถึงกับต้องแกะบล็อกไว้เลย ๑ ตัว (แอ๊ะ! หรือ ยายแหม่ม จัดสันคนสวย ภรรยานายอโดราม ณ ร่างกุ้ง ทำไว้ให้ ?)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 ก.ค. 12, 15:04
คุณหลวง และคุณ Siamese เร็ว ปาน เม็มโมรี ประวัติศาสตร์ไทย ไว้ใน สมองฮาร์ทดิสกต์


สัญลักษณ์นี้ จะเรียกว่า เป็น "คำ" ได้หรือไม่ครับ เจมส์ โลว์ ถึงกับต้องแกะบล็อกไว้เลย ๑ ตัว (แอ๊ะ! หรือ ยายแหม่ม จัดสันคนสวย ภรรยานายอโดราม ณ ร่างกุ้ง ทำไว้ให้ ?)

ถูกต้องแล้ว เหล่านี้ล้วนเป็นอักษรไทย ดังนั้นบรรดามิชชันนารีทั้งหลายที่ทำการพิมพ์หนังสือ ล้วนต้องหล่อแบบอักษรไทยเพื่อให้คนไทยได้อ่านได้อย่างรู้เรื่องและถูกต้องตามสมัย เมื่อความเจริญขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอักษรพิเศษเหล่านี้ก็ถูกทอนค่าลดบทบาทลงไป ใช้ตัวเรียงพิมพ์ง่าย ๆ เข้าแทนที่ จึงได้สูญหายไป


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 05 ก.ค. 12, 15:20
หนังสือพิมพ์ สยามสมัย รายสัปดาห์ ค่ะ  ;D
บริษัทไทยพณิชยการ จำกัด   เจ้าของ
นายอารีย์ สีวีระ                    ผู้อำนวยการ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ก.ค. 12, 15:28
ไม่ใช่  และไม่ถูกต้อง :(


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 05 ก.ค. 12, 15:55
อ้าว !!! :o


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ก.ค. 12, 18:36
กอบกาญจน์ วิศิษฎ์ศรี ค่ะ  ;D

คุณหลวงและคุณ :D :D - เดิมกุหลาบขาว ท่านชื่อ พร้อม วิศิษฏ์ศรี หรือเปล่าครับ บางตำรา ว่าเช่นนั้น

คุณ Siamese - น่าจะมีคนนำ ตัวพิมพ์จัดสันนี้ มาทำเป็นฟร้อน ใช้ในคอมพิวเตอร์ บ้างเนอะครับ สวย และแปลกตาดี ชอบจัง....  ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 ก.ค. 12, 19:15
กอบกาญจน์ วิศิษฎ์ศรี ค่ะ  ;D

คุณ Siamese - น่าจะมีคนนำ ตัวพิมพ์จัดสันนี้ มาทำเป็นฟร้อน ใช้ในคอมพิวเตอร์ บ้างเนอะครับ สวย และแปลกตาดี ชอบจัง....  ;D
หากคุณ piyasann  พอจะมีเวลาลองเข้าไปอ่าน "การสูญสิ้นอัตลักษณ์การเขียนภาษาไทย อันมิอาจหวนคืนได้" ที่ตั้งไว้ให้ได้คิดกันครับ
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/06/K9360777/K9360777.html


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ก.ค. 12, 08:48

คุณหลวงและคุณ :D :D - เดิมกุหลาบขาว ท่านชื่อ พร้อม วิศิษฏ์ศรี หรือเปล่าครับ บางตำรา ว่าเช่นนั้น


เป็นเช่นนั้นครับ  เธอมาเปลี่ยนชื่อเป็น  กอบกาญจน์  เมื่อภายหลัง

ตัวอักษรพิเศษในการเขียนหนังสือไทยโบราณนั้น  ที่หายไปเพราะระบบการพิมพ์เข้ามาแทนพื้นบางส่วนของการเขียน
การเขียนหนังสือไทยสมัยก่อน ใช้วิธีการผูกอักษรเช่นเดียวกับการเขียนอักษรขอม (ทั้งบรรจงและหวัด)
เมื่อมีการประสมพยัญชนะกับสระบนหรือสระหลัง  จะเชื่อมเส้นอักษรกับสระนั้นเข้าด้วยกัน
พยัญชนะบางตัวหางยาว เช่น ช  ฟ ส ศ ซ ป ฬ ฝ เมื่อเขียนเชื่อมกับสระ ท่านจะเขียนหางทีหลัง
หรือเขียนหางในรูป ไม้ทัณฑฆาต  เช่น บ์าง  พ์าก  เป็นต้น  หรือบางตัวก็เขียนหางใส่ไปในกลางตัวอักษร
การเขียนเชื่อนอย่างนี้ คงปรากฏในการสร้างตัวพิมพ์ไทยสมัยแรกๆ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ หายไป
จากเหลือแต่ในการเขียน  และต่อมาเมื่ออิทธิพลของการพิมพ์มีมากขึ้น  การเขียนเชื่อมอักษรก็หายไปจาการเรียนการสอนภาษาไทย
กระนั้นการเขียนเชื่อมอักษรก็ยังมีอยู่ในหมู่อาลักษณ์ แต่นับวันก็จะหายไปเรื่อยๆ

ตัวอักษรพิเศานี้  นอกจากการเชื่อมอันเกิดจากการประสมอักษรแล้ว  ยังมีการใช้อักษรพิเศษสำหรับเขียนย่อคำ
เพื่อให้เขียนได้เร็วจดได้ไว  นอกจากนี้  หากได้อ่านเอกสารล้านนาและอีสาน จะมีการใช้อักษรพิเศษเขียนใบลาน
สมุดข่อย กระดาษสา (พับสา) ให้เห็นอยู่บ่อยๆ  เพื่อประหยัดพื้นที่ในการเขียน เพราะวัสดุในการจดบันทึกหายาก
ซึ่งมีใช้ตัวยิ่งกว่าของไทยภาคกลาง

ระบบการพิมพ์สมัยใหม่  ทำให้การเขียนแบบเก่าบางอย่างทำไม่ได้หรือทำได้ยาก  อย่างเช่น  การเขียนวันเดือนข้างขึ้นข้างแรม
การเขียนเลขทับศก  การเขียนตีนครุ  การใช้ปีกกาเข้าควงข้อความ เป็นต้น  การเขียนอย่างเก่าจึงถูกปรับเปลี่ยนไป
เป็นอย่างอื่นที่เรียงหรือพิมพ์หรือเขียนหรืออ่านง่ายกว่า  นานๆ เข้าคนก็ไม่รู้จักและอ่านไม่ออก 

อักษรพิเศษอย่างนี้  ที่ทำงานของผมยังมีท่านผู้ใหญ่ใช้อยู่บางคน  ผมเองก็ใช้บ้างเหมือนกัน
 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ก.ค. 12, 09:24
ร่าย
๑๙๘ เมื่อนั้นอนงคเทพี ชนนีนาฎราชรันทด สลดหฤทัยดั่งจะหว่า ท้าว ธ ก็ว่าเจ้าลอลักษณ์ แม่รักเจ้าแม่นา
รักยิ่งตายิ่งตัว รักยิ่งหัวยิ่งชีพ แต่นี้จอมทวีปแม่จะจาก พรากแม่พรากพระบุรี ศรีกษัตริย์มีเจ็ดสิ่ง
พระมิ่งแม่จงจำ ยำคำแม่อย่าคลา รีตท้าวพระยาอย่าคลาด อย่าประมาทลืมตน อย่ารคนคนเท็จ
ริรอบเสร็จจึ่งทำ คิดทุกคำจึ่งออกปาก อย่าให้ยากแก่ใจไพร่ ไต่ความเมืองจงตรง ดำรงพิภพให้เย็น
ดับเข็ญนอกเข็ญใน ส่องใจดูทุกกรม อย่างมชมความเท็จ ริรอบเสร็จเกื้อทางธรรม์ ทีจะกันกันจงหมั้น
ทีจะคั้นคั้นจงเปนกล ส่องต้นหนคนใช้ เลือกหาใจอันสัตย์ ดัดมนตรีโดยยุกติ์ ปลุกใจคนให้หาญ
ผลาญเพรียงไพร่เพรียงเมือง อาญาเรื่องเรื้อยราษฎร์ กันนิกรอาจเกื้อไพรี ดับกลีอย่าให้ลุก
อย่าชิงสุกก่อนห่าม อย่าล่ามม้าสองปาก อย่าลากพิษตามหลัง อย่าให้คนชังลักแช่ง แต่งคนให้คนรัก
ชักชวนคนสู่ฟ้า เบื้องหน้าเทพยอยศ จงปรากฎชอบแล้ว อย่าได้แคล้วรำพึง คำนึงอย่ารู้มลาย
จงอย่าหายยศพ่อ ต่อม้วยฟ้าหล้าสวรรค์ กัลปประลัยอย่ารู้ลาญ ภูบาลเจ้าจงจำ ตามคำแม่โอวาท
พ่อสุดสวาทแก่แม่เฮย จงสวัสดิ์แก่เจ้าเทอญ ฯ


ร่ายสองวรรคที่เน้นตัวเข้มนั้น  ท่านอธิบายความหมายให้กระจ่างแจ้งแจ่มใสได้ว่าอย่างไร
จงอธิบายพร้อมให้เหตุผลประกอบ  อ้อ  กรุณาทำด้วยตนเองนะครับ  อย่าลอกของคนอื่นมานะครับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ค. 12, 10:34
๑. อย่าล่ามม้าสองปาก

ขอให้ดูในภาพ

(http://horse-sell.tarad.com/img-lib/spd_20070915214120_b.jpg)

โลหะวงกลมที่ติดกับเครื่องผูกปากม้า (ขลุม) เรียกว่าวงบังเหียน ซึ่งจะมีอยู่สองข้างของริมฝีปากม้า

การล่ามม้า เชือกข้างหนึ่งก็จะไว้ผูกที่วงบังเหียนนี้ อีกข้างหนึ่งผูกไว้กับหลักยึด หากผูกเชือกที่วงบังเหียนข้างเดียว ม้าก็จะหันไปข้างไหนก็ได้ แต่หากผูกที่วงบังเหียนสองข้างหรือสองปากแล้วไซร้ ม้าก็จะหันไปข้างไหนไม่ได้เลย หากเปรียบกับการปกครองราษฎรก็เสมือนว่าเป็นการกดขี่ประชาชน ฉะนั้น

๒. อย่าลากพิษตามหลัง

พิษนั่นนั้นคืองู              คนพาลสูจงระวัง
อย่าลากตามข้างหลัง       แว้งกัดได้ให้ตรองดู

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ก.ค. 12, 11:46
คุณเพ็ญฯ ตอบมาคนแรก  ว่า

๑. อย่าล่ามม้าสองปาก

โลหะวงกลมที่ติดกับเครื่องผูกปากม้า (ขลุม) เรียกว่าวงบังเหียน ซึ่งจะมีอยู่สองข้างของริมฝีปากม้า

การล่ามม้า เชือกข้างหนึ่งก็จะไว้ผูกที่วงบังเหียนนี้ อีกข้างหนึ่งผูกไว้กับหลักยึด หากผูกเชือกที่วงบังเหียนข้างเดียว
ม้าก็จะหันไปข้างไหนก็ได้ แต่หากผูกที่วงบังเหียนสองข้างหรือสองปากแล้วไซร้ ม้าก็จะหันไปข้างไหนไม่ได้เลย
หากเปรียบกับการปกครองราษฎรก็เสมือนว่าเป็นการกดขี่ประชาชน ฉะนั้น

๒. อย่าลากพิษตามหลัง

พิษนั่นนั้นคืองู              คนพาลสูจงระวัง
อย่าลากตามข้างหลัง       แว้งกัดได้ให้ตรองดู
;D

เอาทีละประเด็น   

ประเด็นแรก  อย่าล่ามม้าสองปาก  ถ้าการล่ามม้าเป็นอย่างที่คุณเพ็ญยกมา
เราเรียกการผูกบังเหียนสองด้านว่า ล่ามม้าสองปาก กระนั้นหรือ
เท่าที่ผมถามคนที่เขาขี่ม้าและเลี้ยงม้า  ไม่เห็นมีใครเขาเรียกอย่างนั้น
เพราะปกติบังเหียนม้าก็ผูกกันอย่างนี้อยู่แล้ว   ถ้าไม่ผูกอย่างนี้ จะผูกอย่างไร น่าสงสัยอยู่
ส่วนการล่ามนั้น   ยังไม่เคยเห็นการล่ามม้าที่โยงล่ามทั้งสองข้างบังเหียน
แต่ถึงจะล่ามม้าอย่างนั้น  ถ้าม้าจะหันก็หันได้  แต่การล่ามอย่างนั้นไม่มีประโยชน์อะไร
การแปลข้อความนี้  ผมแนะให้ว่า  อย่าดูจะเฉพาะร่ายวรรคเดียว  เพราะจะหลงทาง

อย่าล่าม ม้าสองปาก  หรือ อย่าล่ามม้า สองปาก  คำว่า สองปากนี้ควรขยายคำว่า ล่าม หรือ คำว่า ม้า

ประเด็นที่สอง  ทำไมจึงแปลคำว่า พิษ ว่า งู  เอาบริบทอะไรมาตีความ
คนที่สติดีๆ ใครจะเอางูมาลากเล่น   จะแปลอะไรดูบริบทด้วยว่า  ต้องการให้ตีความว่าอะไร

คำสอนของพระนางบุญเหลือสอนใคร  สอนคนทั่วไปหรือเปล่า  คำสอนคนที่มีหน้าที่ฐานะแตกต่างกัน
คำสอนย่อมแตกต่างกันไปด้วย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 ก.ค. 12, 17:24
 อย่าล่ามม้าสองปาก  ;D
ปกติการล่ามม้า จะมีเพียงบังเหียนเดียว มีผู้บังคับม้าเพียงคนเดียว
กรณีล่ามม้าสองปาก เปรียบเสมือนม้าหนึ่งตัวมีบังเหียน(สายบังคับม้า) สองอัน
เหมือนมีผู้บังคับม้าสองคน ม้าก็จะสับสน คนหนึ่งจะบังคับม้าไปทางซ้ายก็ดึงบังเหียนไปทางซ้าย
อีกคนจะให้ไปทางขวาก็ดึงบังเหียนไปทางขวา

พระนางบุญเหลือสอนพระลอ ในการเป็นกษัตริย์ เป็นผู้ปกครองที่ดี ต้องมีการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างชัดเจน
อย่าให้คนนั้นสั่งที คนนี้สั่งอีกอย่าง ผู้ปฏิบัติงานจะสับสน งานก็จะไม่บรรลุผลสำเร็จ

อย่าลากพิษตามหลัง  ;D
หมายถึงอย่าคบคนชั่ว อย่าเลี้ยงคนชั่วไว้เป็นลูกน้อง อย่าปกป้องลูกน้องที่ไม่ดี
เพราะคนชั่วย่อมก่อเรื่องที่ไม่ดีสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฏร และจะนำความเดือดร้อนสู่กษัตริย์ผู้ปกครอง
เปรียบเสมือน การมีพิษอยู่ข้างหลัง ลากไปไหนมาไหน อาจไปโดนคนอื่นๆ ให้ได้รับความเดือดร้อน และพิษนั้นอาจมาโดนตัวเองด้วย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ก.ค. 12, 17:46
อย่าล่ามม้าสองปาก  ;D
ปกติการล่ามม้า จะมีเพียงบังเหียนเดียว มีผู้บังคับม้าเพียงคนเดียว
กรณีล่ามม้าสองปาก เปรียบเสมือนม้าหนึ่งตัวมีบังเหียน(สายบังคับม้า) สองอัน
เหมือนมีผู้บังคับม้าสองคน ม้าก็จะสับสน คนหนึ่งจะบังคับม้าไปทางซ้ายก็ดึงบังเหียนไปทางซ้าย
อีกคนจะให้ไปทางขวาก็ดึงบังเหียนไปทางขวา


พระนางบุญเหลือสอนพระลอ ในการเป็นกษัตริย์ เป็นผู้ปกครองที่ดี ต้องมีการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างชัดเจน
อย่าให้คนนั้นสั่งที คนนี้สั่งอีกอย่าง ผู้ปฏิบัติงานจะสับสน งานก็จะไม่บรรลุผลสำเร็จ

งงครับ   มีด้วยหรือที่โยงลายบังคับม้าที่ปากม้าด้านเดียว  ผมเคยเห็นแต่โยงปากม้าทั้งสองด้าน
ถ้าล่ามสองด้านปากม้า  แล้วม้างงเดินไม่ถูกว่า จะให้เลี้ยวซ้ายหรือขวา  เพราะคนขี่ดึงเชือกบังคับพร้อมกันสองด้าน
แสดงว่า  คนขี่ม้านี่ใช้บังเหียนไม่เป็นล่ะสิครับ  ถึงได้ดึงไม่ถูก   อันที่จริงถ้าดึงสายบังคับม้าพร้อมกันสองข้าง
ม้าน่าจะหยุดเดินหรือหยุดวิ่ง  ไม่น่าจะใช่การให้สัญยารแก่ม้าว่าให้หันไปทางไหน

แล้ววรรคต่อไปล่ะครับ   จะให้ตีความเข้าใจว่าอย่างไร

ผมอยากให้คุณดีดีและคุณอ่านพระลอตอนที่ผมยกมาให้ละเอียดทวนซ้ำไปมาหลายเที่ยว


ร่าย
๑๙๘ เมื่อนั้นอนงคเทพี ชนนีนาฎราชรันทด สลดหฤทัยดั่งจะหว่า ท้าว ธ ก็ว่าเจ้าลอลักษณ์ แม่รักเจ้าแม่นา
รักยิ่งตายิ่งตัว รักยิ่งหัวยิ่งชีพ แต่นี้จอมทวีปแม่จะจาก พรากแม่พรากพระบุรี ศรีกษัตริย์มีเจ็ดสิ่ง
พระมิ่งแม่จงจำ ยำคำแม่อย่าคลา รีตท้าวพระยาอย่าคลาด อย่าประมาทลืมตน อย่ารคนคนเท็จ
ริรอบเสร็จจึ่งทำ คิดทุกคำจึ่งออกปาก อย่าให้ยากแก่ใจไพร่ ไต่ความเมืองจงตรง ดำรงพิภพให้เย็น
ดับเข็ญนอกเข็ญใน ส่องใจดูทุกกรม อย่างมชมความเท็จ ริรอบเสร็จเกื้อทางธรรม์ ทีจะกันกันจงหมั้น
ทีจะคั้นคั้นจงเปนกล ส่องต้นหนคนใช้ เลือกหาใจอันสัตย์ ดัดมนตรีโดยยุกติ์ ปลุกใจคนให้หาญ
ผลาญเพรียงไพร่เพรียงเมือง อาญาเรื่องเรื้อยราษฎร์ กันนิกรอาจเกื้อไพรี ดับกลีอย่าให้ลุก
อย่าชิงสุกก่อนห่าม อย่าล่ามม้าสองปาก อย่าลากพิษตามหลัง อย่าให้คนชังลักแช่ง แต่งคนให้คนรัก
ชักชวนคนสู่ฟ้า เบื้องหน้าเทพยอยศ จงปรากฎชอบแล้ว อย่าได้แคล้วรำพึง คำนึงอย่ารู้มลาย
จงอย่าหายยศพ่อ ต่อม้วยฟ้าหล้าสวรรค์ กัลปประลัยอย่ารู้ลาญ ภูบาลเจ้าจงจำ ตามคำแม่โอวาท
พ่อสุดสวาทแก่แม่เฮย จงสวัสดิ์แก่เจ้าเทอญ ฯ


ร่ายสองวรรคที่เน้นตัวเข้มนั้น  ท่านอธิบายความหมายให้กระจ่างแจ้งแจ่มใสได้ว่าอย่างไร
จงอธิบายพร้อมให้เหตุผลประกอบ  อ้อ  กรุณาทำด้วยตนเองนะครับ  อย่าลอกของคนอื่นมานะครับ



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 ก.ค. 12, 17:56
อย่าลากพิษตามหลัง   ;D
หมายถึงอย่าคบคนชั่ว อย่าเลี้ยงคนชั่วไว้เป็นลูกน้อง อย่าปกป้องลูกน้องที่ไม่ดี
เพราะคนชั่วย่อมก่อเรื่องที่ไม่ดีสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฏร และจะนำความเดือดร้อนสู่กษัตริย์ผู้ปกครอง
เปรียบเสมือน การมีพิษอยู่ข้างหลัง ลากไปไหนมาไหน อาจไปโดนคนอื่นๆ ให้ได้รับความเดือดร้อน และพิษนั้นอาจมาโดนตัวเองด้วย

อย่าล่ามม้าสองปาก  ;D
น่าจะเป็นม้าที่มีสองปาก การล่ามม้าไว้กับที่ และม้ามีสองปาก ยอมกินหญ้าในบริเวณที่ถูกล่ามไว้มากกว่าปกติ
เปรียบเสมือนการเลี้ยงลูกน้องที่ไม่ซื่อสัตย์ โกงกิน ย่อมเอารัดเอาเปรียบราษฏร...มั้งคะ...


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ค. 12, 18:36
ม้าสองปากของคุณดีดี

น่าจะส่งไปอยู่กระทู้สัตว์ประหลาด

คุณหลวงคิดถึง พระพุทธทำนายทายพระสุบินพระเจ้าปเสนทิโกศล ๑๖ ข้อ  (http://www.reurnthai.com/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%A8%E0%B8%A5_%E0%B9%91%E0%B9%96_%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD) หรือเปล่า

 ;D



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ก.ค. 12, 15:56
คุณดีดีกับคุณเพ็ญมาถูกทางแล้ว  แต่อยากให้อธิบายม้าสองปากเป็นสำนวนความเรียงให้เข้าใจง่ายๆ
ว่าหมายถึงอะไร   และที่พระนางบุญเหลือห้าม ทำไมถึงห้ามเช่นนั้น

ส่วนที่ว่าอย่าลากพิษตามหลังนั้น  คุณดีดียังอธิบายไม่ถูกใจผม ไม่เป็นไรครับ
เอาวรรค อย่าล่ามม้าสองปาก ก่อน ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 12, 15:43
เมื่อหลายคืนก่อน  มีเสียงพรายมากระซิบถามว่า

นายกุหลาบเล่าไว้ว่า  ตนเองเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ ๓
จึงได้รู้ได้เห็นเรื่องราวเกี่ยวกับข้าราชการที่รับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๓ มาก

ถามว่า  นายกุหลาบรับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในสังกัดเวรใด 
และนายเวรมหาดเล็กที่นายกุหลาบได้สังกัดเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ มีชื่อตัวว่าอะไร

 ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 12, 16:10
เมื่อหลายคืนก่อน  มีเสียงพรายมากระซิบถามว่า

นายกุหลาบเล่าไว้ว่า  ตนเองเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ ๓
จึงได้รู้ได้เห็นเรื่องราวเกี่ยวกับข้าราชการที่รับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๓ มาก

ถามว่า  นายกุหลาบรับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในสังกัดเวรใด 
และนายเวรมหาดเล็กที่นายกุหลาบได้สังกัดเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ มีชื่อตัวว่าอะไร

 ;D ;D


ก.ศ.ร. มักจะตอบคำถามในตำแหน่งเอดิเตอร์ อย่างสนใจไว้ว่า ตนเองได้รับราชการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อสูงวัยขึ้นมากก็จะไม่ค่อยได้รู้เหตุการณ์ต่อหน้าต่อตาเท่าไรสัก อาศัยหนังสือเป็นเครื่องยืนยันเสมอมา  สำหรับการเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓ นั้น ก.ศ.ร. เข้าทำงานตำแหน่งมหาดเล็กไล่กา


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 12, 16:26
ออกขุนยังตอบไม่ถูกนะ  ให้โอกาสตอบใหม่ ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 11 ก.ค. 12, 17:44
ก.ศ.ร. กุหลาบ เกิด พ.ศ. ๒๓๗๗ ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในรัชกาลที่ ๓ เมื่ออายุ ๑๓ คือ พ.ศ. ๒๓๙๐  .......... อายุ ๑๔ ก็บวชเป็นเณร


ก.ศ.ร. เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๓ อายุ ๑๗ พระองค์เจ้ากินรี พระมารดาเลี้ยง พระราชทานเงิน ๑๐๐ ชั่ง ให้ไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส อยู่ฝรั่งเศส ๙ ปี ได้ประกาศนียบัตรกลับมาสยาม เมื่อพ.ศ. ๒๔๐๑ อายุ ประมาณ ๒๔ ปี,

อายุ ๒๕ พระองค์เจ้าแม่บุญธรรม เป็นธุระให้แต่งงาน กับแม่หุ่น ..........อายุ ๒๖ ปีบวชเป็นพระกุศล แก่พระองค์เจ้า แม่บุญธรรม


รัชกาลทึี่ ๔ ขึ้นครองราชฯ ปีพ.ศ. ๒๓๙๔  ก.ศ.ร. จึงเป็นมหาดเล็ก ในรัชกาลที่ ๓ เพียง ปีเดียว เมื่ออายุ ๑๓ ........

เด็กอายุ ๑๓ จะได้เป็นมหาดเล็กบรรดาศักดิ์ รับราชการ แล้วหรือ? แถมยังต้องเรียนหนังสือในสำนักพระรัตนมุนีฯ วัดพระเชตุพนไปด้วย จะได้ถวายงาน ทำราชการแล้วอย่างไร ก็น่าสนใจจริงๆ   



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 12, 17:53
ผมไม่ได้ให้มาสอบสวน  กรุณาตอบให้ตรงคำถามด้วย
ผู้ที่ตอบมาแล้วก็ขอให้ระวังด้วยว่า  จะมีผู้มีคลังแสงมาขอประมือด้วย อิอิ (เราเตือนท่านแล้ว)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 12, 18:13

        ขุนนางบูราณ  มหาดเล็กไล่การุ่นพี่ ก.ศ.ร.   ที่เคยวิ่งไล่กากัน  เหยียบชายผ้า(โจงกระเบนเผื่อโต)  หกล้มหกลุก     

เจ้าคุณแก่กว่า ก.ศ.ร เล็กน้อย

เล่าว่า   ท่านทั้งสองอยู่เวรหลวงนายศักดิ์ (ครุฑ)

เวลาที่ท่านเล่นกันอยู่นั้นเป็นปลายรัชกาลที่ ๓

ท่านเรียกกุหลาบว่า  พ่อกุหลาบที่รักของฉันมาช้านาน

ก.ศ.ร. กุหลาบนั้นอ่อนน้อมกับคนที่ให้เกียรติตนเสมอ    เรียกท่านเจ้าคุณว่าใต้เท้ากรุณา  เจ้าคุณพระยาเกลอ  และสหายมหากัลยาณมิตร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 12, 18:32
ถามว่า  นายกุหลาบรับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในสังกัดเวรใด  
และนายเวรมหาดเล็กที่นายกุหลาบได้สังกัดเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ มีชื่อตัวว่าอะไร

อาศัยคุณวันดีเป็นไกด์นำทาง ตอบฟันธงได้ดังนี้

๑. ก.ศ.ร. กุหลาบรับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในสังกัด เวรศักดิ์

๒. นายเวรมหาดเล็กที่ ก.ศ.ร. กุหลาบสังกัดมีชื่อตัวว่า ครุฑ

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 12, 18:37

เรียนคุณปิยะสารณ์ที่นับถืออย่างสูง


        ดิฉันเห็นหนังสือตำนานธนบัตร(ที่ขาดวิ่นกระจุยกระขาย)     และบทความประมาณ ๓ เรื่องที่ ก.ศ.ร. เล่าว่า เคยไปเรียนหนังสือที่ฝรั่งเศส

แต่ไม่สามารถหาหลักฐานจากผู้อื่นยืนยันได้        ดิฉันได้พยายามติดต่อไปที่โรงเรียนเณรที่ชายเมืองปารีสก็ไม่ได้ผล

ก.ศ.ร. เล่าว่าไปกับบาดหลวงและกลับกับพระยามนตรีสุริยวงศ์    และเคยไปเดินตามรอยเท้ากวีในลอนดอนมาแล้ว


       ในการสอบสวนเรื่องการพิมพ์หนังสือประวัติสมเด็นพระสังฆราชสา         ทำไม ก.ศ.ร. จึงแจ้งว่าอ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ออก


        ขบวนทูตจะรับผู้ใดร่วมเดินทางไปได้หรือ    ไม่น่าจะเป็นไปได้  เพราะผิดธรรมเนียมประเพณี          กลับมาได้โดนตัดหัวกันแน่นอน

        ถึง ก.ศ.ร. จะอ้างว่ามีรูปถ่าย   ใครที่เป็นซับสไครเบอร์จะมาดูก็ได้          เรื่องนี้ไม่มีใครบันทึกไว้ว่าเห็น


        ก.ศ.ร. เคยเดินทางไปหลายประเทศเพราะนายฝรั่งออกสตังค์ให้    เมื่อความจำเสื่อมถอยลงก็เผลอสร้างความสำคัญให้กับตนเอง  ว่าไปเรียนหนังสือ

ที่จริงชีวิตที่บ้านท่านก็ไม่หรูหราหรือกินอาหหารฝรั่งดื่มกาแฟใส่น้ำตาลก้อนสี่เหลี่ยมของนอกเหมือนนายวรรณสักหน่อย



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 12, 18:47

คุณเพ็ญคนใจดี

        สยามประเภทเล่ม ๑  และครึ่งเล่มสองที่คุณเพ็ญเคยนำลิ้งค์มาลง        คนมาลอกไปมากมาย

สยามประเภทเล่ม ๖  ที่อยู่ที่หอสมุด   และอีกครึ่งเล่มอยู่ที่มหาวิทยาลัยริมน้ำ      ตอนนี้โดนถอนไปแล้ว

คงนำไปซ่อม

        ที่เล่ามาเมื่อครู่อยู่ หน้า ๕๘๙ - ๕๙๐  ค่ะ

        ที่เหลือหลังเล่ม ๕   ไม่เคยเห็นค่ะ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 12, 19:07
       สยามประเภทเล่ม ๑  และครึ่งเล่มสองที่คุณเพ็ญเคยนำลิ้งค์มาลง        คนมาลอกไปมากมาย

สยามประเภท เล่ม ๑
http://dl.kids-d.org/handle/123456789/2684

สยามประเภท เล่ม ๒
http://dl.kids-d.org/handle/123456789/2685


ดีใจที่มีคนสนใจ

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 12, 04:45


         คุณหลวงเล็กผู้เห็นหนังสือมามาก   วัน ๆ ก็สัญจรไปมาระหว่างห้องสมุด  หอจดหมายเหตุ และร้านหนังสือ

สำคัญ ๆ(มีหนังสือที่ต้องการและราคาต้องใจ)    คบหาสนทนาอยู่แต่ผู้อาวุโสเรืองวิทยาคม   

ฝากเรียนถามหนึ่งเรื่องเถิดค่ะ   

        หนังสือเล่มแรกที่ ก.ศ.ร. กุหลาบพิมพ์   โดยได้รับอนุญาตจากคนพิมพ์คนแรกชื่ออะไร   พิมพ์เมื่อก.ศ.ร. อายุเท่าใด

จำนวนพิมพ์ไม่น่าจะจำได้(คุณหลวงและท่านผู้อาวุโสอาจลืมเลือนไปแล้ว)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 12, 08:19

        ขุนนางบูราณ  มหาดเล็กไล่การุ่นพี่ ก.ศ.ร.   ที่เคยวิ่งไล่กากัน  เหยียบชายผ้า(โจงกระเบนเผื่อโต)  หกล้มหกลุก     

เจ้าคุณแก่กว่า ก.ศ.ร เล็กน้อย

เล่าว่า   ท่านทั้งสองอยู่เวรหลวงนายศักดิ์ (ครุฑ)

เวลาที่ท่านเล่นกันอยู่นั้นเป็นปลายรัชกาลที่ ๓

ท่านเรียกกุหลาบว่า  พ่อกุหลาบที่รักของฉันมาช้านาน

ก.ศ.ร. กุหลาบนั้นอ่อนน้อมกับคนที่ให้เกียรติตนเสมอ    เรียกท่านเจ้าคุณว่าใต้เท้ากรุณา  เจ้าคุณพระยาเกลอ  และสหายมหากัลยาณมิตร

คุณวันดีเป็นผู้รู้เรื่องนายกุหลาบดียิ่งนัก  ทราบว่าเพิ่งได้ตำรับตำราเกี่ยวกับนายกุหลาบมาครองอีกหลายเล่ม
บางเล่มเป็นฉบับลายมือที่มีคนเคยอ่านนับหัวได้   
(ขออภัยคุณเพ็ญฯ ด้วย   เพราะการเอาคำตอบตนอื่นมาตอบอีก  ก็เหมือนกับลอกการบ้านคนอื่นมาส่งครูน่ะครับ)

ที่คุณวันดีถามมานั้น  เหตุใดจะตอบไม่ได้  แต่อาจจะตอบได้ไม่หมด  เพราะนานมาแล้ว
ไม่ได้ทบทวนนานๆ เข้าก็ลืมเลือนไปบ้าง

นายกุหลาบพิมพ์หนังสือเล่มแรก  ได้รับอนุญาตจากเจ้าคุณคนหนึ่งในสกุลอ. 
จำได้่ว่า  พิมพ์เมื่อนายกุหลาบอายุยังไม่ถึง ๓๐ ขวบ  น่าจะ ๒๘ ปีนี่แหละ
จำนวนพิมพ์ จำได้เลาๆ ว่าไม่ถึงเรือนร้อย   คาดว่าจะพิมพ์เท่ากับอายุในตอนนั้นคือ ๒๘ เล่ม
หรือไม่เ้ช่นนั้นก็ต้องน้อยกว่านั้น


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 12, 09:26
(ขออภัยคุณเพ็ญฯ ด้วย   เพราะการเอาคำตอบตนอื่นมาตอบอีก  ก็เหมือนกับลอกการบ้านคนอื่นมาส่งครูน่ะครับ)

ถามว่า  นายกุหลาบรับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในสังกัดเวรใด  

คำตอบมีดังนี้

เล่าว่า   ท่านทั้งสองอยู่เวรหลวงนายศักดิ์ (ครุฑ)

๑. ก.ศ.ร. กุหลาบรับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในสังกัด เวรศักดิ์

ขอชี้แจงข้อกล่าวหาดังนี้ หลวงนายศักดิ์ นั้นเป็นตำแหน่งของนายเวร  ส่วน เวรศักดิ์ นั้นเป็นชื่อเวร

บรรดาศักดิ์มหาดเล็กในทำเนียบ  แต่เดิมแบ่งเป็น ๔ เวร คือ เวรศักดิ์  เวรสิทธิ์  เวรฤทธิ์  เวรเดช  แต่ละเวรจะมีหัวหมื่นมหาดเล็ก  ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าหมื่น หรือที่เรียกกันอย่างลำลองว่า คุณพระนาย  เป็นหัวหน้า   ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เจ้าหมื่นมียศเป็น หัวหมื่น ซึ่งเทียบเท่ากับนายพันเอกของทหาร  (ถ้าเป็นวังหน้าเรียก จมื่น  ยศเท่ากับ รองหัวหมื่น)

เจ้าหมื่น ๔ ตำแหน่ง มีราชทินนาม ดังนี้

เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี  (เวรศักดิ์)

เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์     (เวรสิทธิ์)

เจ้าหมื่นไวยวรนาถ    (เวรฤทธิ์)

เจ้าหมื่นเสมอใจราช   (เวรเดช)

ลำดับถัดลงไปเป็นชั้นนายเวร  เรียกกันว่า คุณหลวงนาย  มียศเป็นรองหัวหมื่น ซึ่งเทียบเท่า นายพันโท ของทหาร  หลวงนาย มี ๔ ตำแหน่ง  มีราชทินนาม ดังนี้

หลวงศักดิ์ นายเวร  เรียกกันว่า หลวงนายศักดิ์

หลวงสิทธิ์  นายเวร  เรียกกันว่า หลวงนายสิทธิ์

หลวงฤทธิ์  นายเวร  เรียกกันว่า หลวงนายฤทธิ์

หลวงเดช  นายเวร  เรียกกันว่า หลวงนายเดช

คุณหลวงถามว่าสังกัดเวรใดมิใช่ฤๅ

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 ก.ค. 12, 09:29

เล่าว่า   ท่านทั้งสองอยู่เวรหลวงนายศักดิ์ (ครุฑ)


หลวงนายศักดิ์ (ครุฑ) ผู้นี้ ปรากฏชื่ออยู่ในเพลงยาวพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่งโดยคุณสุวรรณ
ภายหลังอีกประมาณ ๒๐ ปี ต่อมา ในรัชกาลที่ ๔ ท่านก็กินตำแหน่ง ยมราช เสนาบดีกรมเมือง


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 12, 10:02
        คุณหลวงที่นับถือมีความจำที่เลิศ   นึกว่าเผลอค่ะ


        เมื่อจุลศักราช ๑๒๒๔ (พ.ศ. ๒๔๐๕)  ก.ศ.ร. กุหลาบ  สึกจากวัด  และขออนุญาตนายโหมด อมาตยกุลพิมพ์หนังสือกฎหมายโหมดขึ้น

ตั้งใจจะพิมพ์ ๑๖๐ เล่ม  เพื่อแจกในวันเกิดของตน   ที่หน้าแรกของคำนำเขียนว่า   "หนังสือกฎหมาย  พระคัมภีรพระธรรมศาสตรกิจโกศล" ื  

เรียกว่าพิมพ์เป็นการจำเพาะที่บ้านหมอบรัดเล             บรัดเลพิมพ์ไม่ทันเวลา    เสร็จมาเล่ม ๑  ๑๔ เล่ม และเล่ม ๒  ๑๔ เล่ม   บรัดเลอาสา

รับเป็นผู้พิมพ์ครั้งที่สองอีก ๓๖๐ เล่ม        จึงขอแท่นพิมพ์ไปพิมพ์ต่อ


        ต่อมาเจ้าของโรงพิมพ์แห่งหนึ่งที่ได้รับแจกหนังสือไป  ได้สร้างปกสวยออกแบบทันสมัยขึ้น   และด้านบนของปกหน้าเขียนว่า   "กฎหมายนายกุหลาบ"  

กดเป็นลายเส้นตัวเขียนลึกลงบนปกกระดาษแข็งสีทอง  ตกแต่งด้วยลายเรขาคณิต


        หนังสือเล่มนี้ก็โดนเก็บแบบอัดแน่นในตู้ไม้เนื้อแข็ง    กว่าจะออกมาสู่อากาศภายนอกก็ประมาณ ๑๐ ปีมานี้เอง  

        มีคนเห็นหนังสือเล่มนี้ไม่กี่คน      ต่างพากันเรียกว่ากฎหมายนายโหมดต่อ ๆ กันไปเพราะไม่เคยเห็นนั่นเอง

ก.ศ.ร. กุหลาบยังพิมพ์หนังสือให้นายโหมดอีกหนึ่งครั้ง    ใครต่อใครได้รับแจกก็เก็บใส่ตู้โดยเร็ว  เพราะถ้อยความหมิ่นประมาทขุนนางผู้ใหญ่รายหนึ่ง              

        บรัดเลก็พิมพ์หนังสือกฎหมายออกมาเรื่อยๆตามความต้องการของตลาด  รวม ๑๑ ครั้งได้



        ก.ศ.ร. กุหลาบ   รักการพิมพ์มาก    ตอนทำสยามประเภทก็พิมพ์สยามประเภทในโอกาสพิเศษต่าง ๆ อยู่เสมอ   จึงทำให้นับกันไม่ถูก

ว่ามีกี่เล่ม





กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 12, 10:10
ท่าทางคุณเพ็ญฯ และอีกหลายจะยังติดใจเรื่องมหาดเล็กอยู่  อย่ากระนั้นเลย

ลองอีกสัก ๒ คำถามดีกว่า

๑. ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จางวางมหาดเล็กมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ มีทั้งหมด ๕ ข้อ อะไรบ้าง

๒. ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มหาดเล็กเวรใดได้รับเงินเดือนสูงที่สุด  เพราะเหตุใด



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 12, 10:12


        หนังสือเล่มนี้ก็โดนเก็บแบบอัดแน่นในตู้ไม้เนื้อแข็ง    กว่าจะออกมาสู่อากาศภายนอกก็ประมาณ ๑๐ ปีมานี้เอง  

        มีคนเห็นหนังสือเล่มนี้ไม่กี่คน      ต่างพากันเรียกว่ากฎหมายนายโหมดต่อ ๆ กันไปเพราะไม่เคยเห็นนั่นเอง

ก.ศ.ร. กุหลาบยังพิมพ์หนังสือให้นายโหมดอีกหนึ่งครั้ง              

        บรัดเลก็พิมพ์หนังสือกฎหมายออกมาเรื่อยๆตามความต้องการของตลาด  รวม ๑๑ ครั้งได้


        ก.ศ.ร. กุหลาบ   รักการพิมพ์มาก    ตอนทำสยามประเภทก็พิมพ์สยามประเภทในโอกาสพิเศษต่าง ๆ อยู่เสมอ   จึงทำให้นับกันไม่ถูก

เรียนคุณวันดีที่เคารพ อย่างน้อยข้าพเจ้าก็ได้เคยเห็นหนังสือที่ท่านกล่าวมานี้แล้ว ตื่นเต้นมาที่ได้เห็นว่า ก.ศ.ร. เป็นบุคคลที่เก่งกล้าสามารถพิมพ์หนังสือได้ดีขนาดนี้ ยังจะขอบคุณเจ้าของหนังสือที่ให้ข้าพเจ้าดูมิรู้ลืม


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 12, 11:17
นี่ถ้าคุณหลวงถามไปยังสยามประเภท เกี่ยวกับประวัติ ก.ศ.ร. คงได้รับคำตอบดังนี้ เช่น ก.ศ.ร. เคยตอบให้กับผูใช้ลายเซ็นต์ "นายอยากรู้จักโคตรนายกุหลาบ" ว่า

"จงทราบเป็นนัย ๆ เอาเองเทอญ หรืออยากรู้ให้ละเอียดจงไปกราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นราชศักดิสโมสรดูเถิดจะรู้ตลอดได้"  ;D ;D ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 12, 11:22
นี่ถ้าคุณหลวงถามไปยังสยามประเภท เกี่ยวกับประวัติ ก.ศ.ร. คงได้รับคำตอบดังนี้ เช่น ก.ศ.ร. เคยตอบให้กับผูใช้ลายเซ็นต์ "นายอยากรู้จักโคตรนายกุหลาบ" ว่า

"จงทราบเป็นนัย ๆ เอาเองเทอญ หรืออยากรู้ให้ละเอียดจงไปกราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นราชศักดิสโมสรดูเถิดจะรู้ตลอดได้"  ;D ;D ;D

ออกขุนตอบอย่างนี้  แสดงว่าอยากทำท่าอัษฎางคประดิษฐ์อีกสัก ๒-๓ ครั้งใช่หรือไม่  จะได้อวยพรให้สมใจ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 12, 11:41

   
        อ้าว!       ท่านขุนอย่าๆไปประมาทหมิ่นอาลักษณ์เดี๋ยวต้องโดนเปรียบเทียบปรับ


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ก.ค. 12, 03:27


เตียงของพระเอกนางเอกคู่ไหนในวรรณคดีที่แคบที่สุด   จนกระทั่งพระเอกบอกว่าปูพรมกับพื้นก็ได้

ถามหนุ่มสาว




กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ก.ค. 12, 15:37
มีคำถามด่วนมาจากสหายซึ่งอยู่ต่างจังหวัด 
อยากทราบเรื่องอะไรสักเรื่อง  สหายบอกว่า เคยอ่าน
แต่ตอนนี้จำไม่ได้ เพราะอ่านมานานมากแล้ว
จำนึกได้เลาๆ ว่า  เป็นเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ ๒   
ขุนนางคนหนึ่ง  คำประพันธ์  อาวุธ  สิ่งก่อสร้างริมน้ำ  และพาหนะลอยน้ำ

ท่านผู้ใดนึกออก  กรุณาตอบให้ด้วย  เผอิญช่วงผมมีภารกิจ
ต้องไปตรวจเอกสารหลายแห่ง  หวังว่าจะมีผู้มีน้ำใจมาตอบ ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 12, 15:52
ใช่คำประพันธ์บทนี้ไหมหนอ

เรือเอ๋ยเรือแล่น         ยาวสามเส้นสิบห้าวา
จอดไว้หน้าท่า          คนลงเต็มลำ


 ???


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ก.ค. 12, 08:48
ใช่คำประพันธ์บทนี้ไหมหนอ

เรือเอ๋ยเรือแล่น         ยาวสามเส้นสิบห้าวา
จอดไว้หน้าท่า          คนลงเต็มลำ


 ???


หาถูกต้องตามที่สหายต้องการไม่

สหายบอกว่า คำประพันธ์ ที่ว่านั้น เป็นกลอน


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ก.ค. 12, 13:42
ใบ้ให้อีกนิด 

ถึง..........................................
.................................คอย.......


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 15 ก.ค. 12, 16:14
เดาว่าเป็น นิราศเมืองแกลง ของท่านสุนทรภู่ ค่ะ  ;D

ถึงยามสองล่องลำนาวาเลื่อน  พอดวงเดือนดั้นเมฆขึ้นเหลืองเหลือง 
ถึงวัดแจ้งแสงจันทร์จำรัสเรือง  แลชำเลืองเหลียวหลังหลั่งน้ำตา 
เป็นห่วงหนึ่งถึงชนกที่ปกเกล้า  จะแสนเศร้าครวญคอยละห้อยหา 


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 ก.ค. 12, 08:06
เดาว่าเป็น นิราศเมืองแกลง ของท่านสุนทรภู่ ค่ะ  ;D

ถึงยามสองล่องลำนาวาเลื่อน  พอดวงเดือนดั้นเมฆขึ้นเหลืองเหลือง 
ถึงวัดแจ้งแสงจันทร์จำรัสเรือง  แลชำเลืองเหลียวหลังหลั่งน้ำตา 
เป็นห่วงหนึ่งถึงชนกที่ปกเกล้า  จะแสนเศร้าครวญคอยละห้อยหา 


สุนทรภู่น่ะใช่ครับ  แต่ไม่ใช่จากนิราศเมืองแกลง
และสิ่งก่อสร้างใกล้น้ำก็ไม่ใช่วัดด้วย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 ก.ค. 12, 08:52

๑.ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จางวางมหาดเล็กมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ มีทั้งหมด ๕ ข้อ อะไรบ้าง


๑. ชี้แจงผิดชอบโดยขนบธรรมเนียมแห่งราชการ  ระงับเหตุวิวาทโต้เถียง  เหตุเกี่ยงแย่งในหน้าที่
แลอรรถคดีทั่งปวงในหมู่มหาดเล้ก

๒. ตรวจตราจริตกิริยาของมหาดเล็กที่จะเข้าเฝ้าฯ ถวายงาน  ให้มีระเบียบเคล่าคล่องว่องไว
ไม่ทำตัวเกะกะ เชื่องช้า โฉดเขลา อันจะเป็นที่รำคาญพระราชหฤทัย 

๓. รวบรวมบาญชี สำมะโนครัวคนในสังกัดกรมมหาดเล็กทั้ง ๔ เวร ให้รู้ระเบียบของมหาดเล็กแต่ละคน
ประกอบด้วยข้อมูล เวรที่สังกัด  ชื่อตัว  ชื่อบิดามารดา  อายุ  วันที่ถวายตัวรับราชการ  ที่อยู่  การเลี้ยงชีพ
บำเหน็จในราชการ  ผลการปฏิบัติราชการ  การย้ายดำรงตำแหน่งหน่วยงานอื่น  การถึงแก่กรรม
ทุพพลภาพ  ลาออกจากตำแหน่งราชการ ทำให้ต้องยกบาญชีออก

๔. เอาใจใส่สืบสวนสอบสวนความประพฤติของเหล่ามหาดเล็กที่รับราชการชั้นสูง  ไม่มีลักษณะประพฤติชั่ว
ด้วยการดังนี้  เป็นนักเลงสุราประการ ๑  เป็นนักเลงบ่อนเบี้ยประการ ๑  เป็นนักเลงยาฝิ่นประการ ๑ 
เป็นโจรลักทรัพย์ประการ ๑  เป็นชู้กับภรรยาและศาลตัดสินให้แพ้คดีประการ ๑  เป็นผู้ต้องคดีล้มละลายประการ ๑
มหาดเล็กที่ลักษณะเหล่านี้  จางวางต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ  เพื่อจะได้มีพระบรมราชวินิจฉัย
โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง

๕. ตักเตือนและรับรายงานมหาดเล็กที่ไปทำราชการต่างๆ  ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปปฏิบัติ
แล้วนำขึ้นกราบบังคมทูลในโอกาสอันควร  หน้าที่นี้  มีมหาดเล็กหุ้มแพรเป็นผู้ช่วยในหน้าที่นี้






กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 ก.ค. 12, 06:15
มีคำถามด่วนมาจากสหายซึ่งอยู่ต่างจังหวัด 
อยากทราบเรื่องอะไรสักเรื่อง  สหายบอกว่า เคยอ่าน
แต่ตอนนี้จำไม่ได้ เพราะอ่านมานานมากแล้ว
จำนึกได้เลาๆ ว่า  เป็นเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ ๒   
ขุนนางคนหนึ่ง  คำประพันธ์  อาวุธ  สิ่งก่อสร้างริมน้ำ  และพาหนะลอยน้ำ

ท่านผู้ใดนึกออก  กรุณาตอบให้ด้วย  เผอิญช่วงผมมีภารกิจ
ต้องไปตรวจเอกสารหลายแห่ง  หวังว่าจะมีผู้มีน้ำใจมาตอบ ;D

สหายติดตามสอบถามผมว่า  มีใครตอบได้บ้างหรือยัง
เท่าที่ผ่านมายังไม่เข้าข่ายว่าจะถูกเลย

สหายจึงใบ้ให้อีกหน่อยว่า  รัชกาลที่ ๒  สุนทรภู่  ปืน  ป้อม  เรือ
เอ้า   ลองตอบกันนะครับ  เอาใจช่วย ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ก.ค. 12, 08:06
ยังไม่มีใครมาตอบ ผมขอข้ามไปคำถามอื่น

รัชกาลที่ ๖ เคยทรงพระราชนิพนธ์ล้อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและนายกุหลาบลงในดุสิตสมิต
ถามว่า พระราชนิพนธ์ที่ว่านั้น คือ เรื่องอะไร  และมีเนื้อหาอย่างไร ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 25 ก.ค. 12, 09:31
ตำนาน ........ ไทย   



เพื่อความกระจ่าง ขออาราธนา คุณ Vee_Mee ดีกว่าครับ รับรองได้รายละเอียดครบถ้วน



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 25 ก.ค. 12, 09:55
ยังไม่มีใครมาตอบ ผมขอข้ามไปคำถามอื่น

รัชกาลที่ ๖ เคยทรงพระราชนิพนธ์ล้อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและนายกุหลาบลงในดุสิตสมิต
ถามว่า พระราชนิพนธ์ที่ว่านั้น คือ เรื่องอะไร  และมีเนื้อหาอย่างไร ;D
ตำนาน ........ ไทย    



เพื่อความกระจ่าง ขออาราธนา คุณ Vee_Mee ดีกว่าครับ รับรองได้รายละเอียดครบถ้วน



รอท่าน Vee_Mee อาจจะนานหน่อย....หนูดีดี วัยรุ่นใจร้อนค่ะ  ;D
ขออนุญาตคัดลอก ที่ท่าน Vee_Mee เคยเขียนไว้ใน เรือนไทยเรานี่แหละ มาให้อ่านกันค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3361.0;wap2

ตำนานบุหรี่ไทย
พิมพ์แจกในงานศพ
หลวงจำนงนิตยภัต (อึ๊  อุคคานนท์) ฯ
------------------

คำนำ

ท่านตุ่ย  ภรรยาหลวงจำนงนิตยภัต  มาแจ้งความต่อกรรมการห่อพระตำหรับสำหรับพระบุรีว่า  พร้อมใจกับรองอำมาตย์ตรี (อึ๊ม อุคคานนท์) ผู้บุตร  จะทำการศพสนองคุณหลวงจำนงนิตยภัต (อึ๊ด  อุคคานนท์) ผู้สามี และบิดา  มีความศรัทธาจะรับพิมพ์หนังสือในหอพระตำหรับเป็นของแจกสักเรื่องหนึ่ง  ขอให้กรรมการเลือกเรื่องหนังสือให้  อยากจะให้เป็นหนังสือซึ่งเนื่องด้วยเรื่องบุหรี่  เพราะหลวงจำนงนิตยภัตเป็นผู้ชอบสูบบุหรี่อย่างชำนิชำนาญจนมีชื่อเสียงในทางนั้น  ข้าพเจ้าเห็นชอบอนุโมทนาด้วยได้คุ้นเคยชอบพอมากับหลวงจำนงนิตยภัตตั้งแต่ข้าพเจ้ามีอายุได้ครึ่งเดือน  ได้ทราบเรื่องประวัติของคุณหลวงจำนงนิตยภัตอยู่แก่ใจ  มีเรื่องราวดังจะกล่าวต่อไปนี้พอเป็นสังเขป

หลวงจำนงนิตยภัต  นามเดิมอึ๊ด  นามสกุลอุคคานนท์  เกิดเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๘๑  ตระกูลคนดง  บิดาชื่อนายโอ๊ย  มารดาชื่อก๊าว  บ้านเดิมอยู่ที่ในดงพญาไฟ  เมื่ออายุได้ ๘ ปีได้ไปเรียนหนังสืออยู่ในสำนักพระอาจารย์อินวัดคอกหมู  ตำบลสูงนอน  และอายุ ๑๔ ปีได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักพระครูประทีปแก้วเตร็จฟ้า (โคม)  วัดลิงกัด  และได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ในสำนักนั้นจนอายุครบอุปสมบทก็ได้อุปสมบท  พระครูประทีปแก้วเตร็จฟ้าเป็นอุปัชฌาย์  พระสมุห์เปิ่นเป็นกรรมวาจาจารย์  พระใบฎีกาเซี้ยวเป็นอนุสาวนาจารย์  ครั้นมื่ออุปสมบทอยู่ได้ ๒๐ พรรษาแล้ว  จึงลาสิกขาบท  แล้วเข้ามาฝากตัวอยู่กับข้าพเจ้าที่บ้าน  ข้าพเจ้าได้ใช้กวาดชลาบ้านอยู่ประมาณ ๖ เดือน  แล้วจึงได้จัดการให้เข้ารับราชการในกรมปาฐะกะถาธิการ  เมื่อครั้งข้าพเจ้ายังเป็นอธิบดีกรมนั้นอยู่   เพื่อข้าพเจ้าจะได้ไม่ต้องให้เงินเดือนเลี้ยงอีกต่อไป  ครั้นรับราชการอยู่ได้ ๑๐ ปี  นายอึ๊ดได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นขุนจำนงนิตยภัต  และต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดทุย  ขุนจำนงนิตยภัตก็ได้ย้ายตามข้าพเจ้าไปรับราชการในกระทรวงนั้น  ในตำแหน่งเสมียนกวาดห้องเสนาบดี  ได้ทำราชการในตำแหน่งนั้น ๕ ปี  แล้วได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นหลวงในนามเดิม  และคงรับราชการในตำแหน่งนั้นต่อมาจนอายุครบ ๖๓ ปี  มีความชราทุพพลภาพ  จึงออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญสืบมาจนถึงแก่กรรม  เมื่อวันที่  ๒๙  กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๔๕๘  อายุได้ ๗๗ ปี

ตลอดเวลาที่รับราชการอยู่กับข้าพเจ้า  หลวงจำนงนิตยภัต  ได้แสดงตนปรากฏว่า  เป็นผู้มีความสามารถในทางสูบบุหรี่หาตัวจับได้ยาก  แต่ใช่แต่จะได้สามารถในทางนี้  ต่อเมื่อเข้ามารับราชการอยู่กับข้าพเจ้าแล้วเท่านั้นก็หามิได้  ข้าพเจ้าได้เคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า  หลวงจำนงนิตยภัตเป็นผู้ที่ชอบสูบบุหรี่มากมาตั้งแต่ยังหนุ่ม  จนได้มีชื่อเสียงเรียกกันมาแต่เมื่อยังอุปสมบทอยู่นั้นว่า  คุณอึ๊ดปล่องไฟ  การที่สูบบุหรี่จนมีชื่อเสียงเช่นนี้ที่จริงไม่ใช่ของใหม่  เพราะได้ปรากฏมาแล้วแต่โบราณว่า  นายโข่ง  มหาดเล็กในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์  เป็นผู้ที่สูบบุหรี่เก่ง  ได้เคยสูบประชันกับทหารฝรั่งเศสในสมัยนั้น  พวกทหารฝรั่งเศสนอนกลิ้งกันเป็นแถวไปจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกขุนกำแหงบุหรี่  และราชทินนามนี้เองภายหลังเลื่อนเป็นพระกำแพงบุรี  ต่อลงมาในแผ่นดินสมเด็จพระเพ็ทราชาออกขุนกำแหงบุหรี่หรือกำแพงบุรี  จึงติดอยู่ในกรมช้างต้นสืบมา

(เรื่องออกพระกำแพงบุหรี่นี้เก็บมาแสดง  เพื่อให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า ข้าพเจ้าเชี่ยวชาญปานใดในทางพงศาวดาร)

ส่วนบุหรี่จะได้เกิดมีขึ้นในกรุงสยามเมื่อใดนั้น  ไม่ปรากฏชัด  ในหอพระตำหรับก็มีหนังสือเรื่องนี้อยู่ฉบับเดียว  แต่ที่พิมพ์คราวนี้เท่านั้น  และไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้แต่ง  แต่เทียบดูสำนวนโวหารกับหนังสืออื่นๆ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า  พระเจ้าเหา  หรือบางทีจะก่อนนั้นหรือภายหลังนั้นก็ได้  แต่ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่ได้มีโอกาสปฤกษากับนาย ม.ส.ว. ยี่สุ่น  จึงกล่าวแน่นอนไม่ได้

อนึ่ง ข้าพเจ้าได้คิดไว้ว่าจะแต่งคำนำนี้ให้ยืดยาวกว่านี้อีก  แต่เสียใจที่ได้ทราบข่าวากโรงพิมพ์ว่า  กระดาษของเราเหลือน้อยเกรงจะพิมพ์ไม่พอ  จึงจำต้องระงับไว้ที ๑  แต่คงจะหาโอกาสแต่งคำนำให้ยาวยิ่งกว่านี้จงได้ในหนังสือคาวหน้าที่จะมีใครมาขอพิมพ์  เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านอย่าเสียใจเลย
ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราศี  ซึ่งท่านตุ่ย  และรงอำมาตย์ตรีอึ๊ม  อุคคานนท์  ทำการปลงศพสนองคุณหลวงจำนงนิตยภัต  ผู้สามีและบิดา  และให้โอกาสแก่ข้าพเจ้าแต่งคำนำนี้  และเชื่อว่าท่านทั้งหลายที่รับหนังสือนี้ไปอ่าน  ก็คงจะอนุโมทนาอย่างเดียวกัน

(ลายเซ็นแกะไม่ทัน)
สภานายก
หอพระตำหรับสำหรับบุรี
วันที่  ๑๔  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๖๑

ตำนานบุหรี่ไทย

๏  บุหรี่ไทยท่านใช้สำหรับสูบ  สูดควันเข้าอมไว้ในปากแล้วพ่นออกมา  ช้าบ้างเร็วบ้างตามวิสัยและอัธยาศัยของบุคคลผู้สูบ  ส่วนยาที่ใช้นั้นคือยาเกาะกร่าง  หรือยาเพชรบูรณ์   มวนด้วยใบจากบ้าง,  ใบตองอ่อนบ้าง,  ใบตองแก่บ้าง,  กลีบบัวแดงบ้าง,  กลีบบัวขาวบ้าง.

๏  เมื่อจะสูบใช้จุดด้วยดุ้นแสมจากครัวไฟบ้าง  ชุดบ้าง  เหล็กไฟบ้าง  ไม้ขีดไฟบ้าง  เมื่อจุดล้วจึ่งดูดสูดควันเข้าไปในปาก  สตรีสูบบ้างก็มี  แต่ทารกสูบมักวิงเวียนอาเจียนแม่นแล.

๏  จบตำนานบุหรี่ไทยตามฉบับเดิมเพียงเท่านี้.
---------------------------------------------------------------

ตอนท้ายท่าน Vee_Mee ถามว่า สภานายกหอพระตำหรับสำหรับบุรี  และ นาย ม.ส.ว.ยี่สุ่น  นั้นหมายถึงใคร

และอาจารย์เทาชมพูได้ตอบว่า
สภานายกฯ เคยเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดทุยมาก่อน เดาว่าหมายถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ
นายม.ส.ว. ยี่สุ่น เดาว่าเป็นนายกุหลาบ   ดอกยี่สุ่นคือกุหลาบชนิดเล็ก

และท่าน Vee_Mee ได้เฉลยไว้ว่า...
วัดลิงกัด คือ วัดลิงชบ ปัจจุบันคือ วัดบวรมงคล
กระทรวงมหาดทุย คือ กระทรวงมหาดไทย
สภานายกหอพระตำหรับสำหรับบุรี คือ สภานายกหอพระสมดสำหรับพระนคร คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
นาย ม.ส.ว.ยี่สุ่น  คือ นาย ก.ศ.ร.กุหลาย


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ก.ค. 12, 10:15
ถูกต้องครับคุณปิยะสารณ์ ผู้ชอบจุดจุดจุด  และคุณดีดี  ผู้ใจร้อน
แต่ นาย ม.ส.ว. ยี่สุ่น  ที่หมายถึงนายกุหลาบนั้น
จริงๆ แล้ว  ยังแปลไม่ออกว่า  ม.ส.ว. ย่อมาจากคำว่าอะไร  


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ก.ค. 12, 10:34
วัดลิงกัด คือ วัดลิงชบ ปัจจุบันคือ วัดบวรมงคล

คุณวีมีอาจจะพิมพ์ผิด  วัดลิงชบ คือ วัดลิงขบ

นอกจากรัชกาลที่ ๖ จะทรงล้อเลียน ก.ศ.ร. กุหลาบที่ดุสิตสมิตแล้ว ยังทรงล้อเลียนในทวีปัญญาอีกด้วย

เพื่อเป็นการคลายเครียด ขอเชิญเพื่อน ๆ แวะไปอ่านพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เรื่อง "รายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม" ลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือทวีปัญญา ล้อเลียน ก.ศ.ร.กุหลาบ (นายเกศร์) และเทียนวรรณ (นายทวน) อย่างสนุกสนาน

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2664.msg62281;topicseen#msg62281

 ;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ก.ค. 12, 10:38
อีกไม่กี่วันจะถึงวันภาษาไทยแห่งชาติ  มีผู้สนใจภาษาไทยฝากคำถามเกี่ยวกับภาษาไทยมาถามดังนี้


ทำไมจึงเรียกเสือโคร่งว่า เสือลายพาดกลอน  
กลอน ในที่นี้หมายความว่าอะไร  กลอนแปด ? กลอนหก ? กลอนประตู ?


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ก.ค. 12, 11:50
กลอนเป็นองค์ประกอบของเรือนไทยภาคกลางส่วนหลังคา มีลักษณะเป็นไม้เหลี่ยมแบนขนาด ๑.๕x๗.๕ เซนติเมตร วางขวางพาดอยู่กับแป ระยะห่างระหว่างกลอนกับกลอนประมาณ ๔๐ เซนติเมตร กลอนมีหลายชนิด ได้แก่

๑. กลอนสำหรับหลังคาจาก เป็นกลอนเรียบเจาะรูข้างหนึ่ง ระยะห่างของรูประมาณ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับใช้ตอกร้อยมัดกับจากติดกับแปด้วยการตอกสลับกับไม้แสม ปลายด้านบนขวาเข้าเดือยหางเหยี่ยวติดกับอกไก่ ปลายด้านล่างตอกติดกับตะพานหนู

๒. กลอนสำหรับหลังคามุงกระเบื้องเรียกว่า กลอนขอ เป็นรูปหยักบากเพื่อให้ระแนงวางทับ ระยะห่างของช่วงบากประมาณ ๑๐-๑๒ เซนติเมตร มีทั้งแบบบากทุกช่วงกับแบบบาก ๑ ช่วง เว้น ๑ ช่วงสลับกันไป

กลอนขอนี้ตอกติดกับแปโดยตะปูเหลี่ยมแบน แต่ไม่ตอกทุกช่วง ตอกเป็นจังหวะห่าง ๆ

ข้อมูลจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๑๓ (http://guru.sanook.com/enc_preview.php?id=434&title=#กลอน)

หากต้องการรายละเอียดมากกว่านี้คงต้องให้คุณนวรัตนช่วยเหลือ

;D


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ก.ค. 12, 12:06
คนไทยจำแนกเสือออกเป็นหลายชนิด เช่น เสือไฟ เสือดำ เสือดาว เสือแมว เสือลายพาดกลอน ในบรรดาเสือที่เอ่ยนามมา มีเสือลายพาดกลอนที่นับว่าตัวใหญ่ที่สุด ดังนั้นจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า เสือโคร่ง

คำว่า โข่ง หรือ โคร่ง นั้นหมายถึงใหญ่ อย่างเช่น หอยโข่ง (ไม่เรียกหอยโคร่ง) ใส่เสื้อตัวโคร่ง คือสวมเสื้อใหญ่เกินพอดี น้องตัวเล็กใส่เสื้อพี่ชาย ลูกชายวัยประถมต้นแอบสวมเสื้อพ่อ เป็นต้น เช่นนี้เรียกว่าใส่เสื้อตัวโคร่ง

คำว่า กลอน มีความหมายได้หลายอย่าง เมื่อไปปรากฏร่วมกับคำว่า ลูกกลอน หมายถึง ยาที่เขาปั้นเป็นก้อน ขนาดเมล็ดนุ่นบ้าง ขนาดเมล็ดถั่วบ้าง

กลอนอีกที่หนึ่ง คือวัสดุที่เลื่อนชักขัดประตูหรือหน้าต่างเพื่อมิให้เปิดเข้ามาภายในบ้านได้ ถ้าเป็นอย่างใหญ่หน่อยก็เรียกว่า ดาน อย่างที่เรียกว่า ชักดาน หรือ ลั่นดาน

กลอน อีกอย่างหนึ่งคือบทประพันธ์ หรือบทขับร้องที่ร้อยเรียงได้อย่างไพเราะ

ส่วนสุดท้ายคือ กลอน ที่เป็นเครื่องเรือน เป็นส่วนที่พาดจากอกไก่เฉียงลาดลงมาพาดกับแป ก่อนที่จะมุงหลังคาจึงต้องพาดกลอนหรือทำ กลอนเพื่อที่จะช่วยให้เป็นที่ยึดของหลังคา

รูปแบบของกลอนที่ทำเพื่อมุงหลังคานั้น เป็นลักษณะในแนวลาดจากบนลงล่าง ซึ่งลายเสือโคร่งที่ชาวเราเคยพบเห็น ไม่ว่าจะเห็นในสวนสัตว์หรือในภาพยนตร์สารคดี ลายของเสือดังกล่าวก็มีลักษณะดังเดียวกันกับการพาดกลอนเพื่อมุงหลังคา ไม่มีเสือลายพาดกลอนที่ไหนที่เป็นในลักษณะแนวนอน หรือเป็นลายเกิดที่ข้างลำตัวจากขาหน้าลากยาวไปขาหลัง

คงจะเป็นดังที่พรรณนามานี้กระมัง จึงทำให้คนไทยเรียกขานเสือโคร่งที่มีลายแนวตั้ง คือจากบนลงล่าง ถึงแม้ลายบางส่วนอาจจะเฉหรือเอียงไปบ้าง แต่ริ้วของลายบนตัวเสือจะไม่อยู่ในระนาบแนวนอน คนโบร่ำโบราณจึงพาให้เรียกเรียกขานกันว่า เสือลายพาดกลอน

การปลูกเรือน สร้างที่อยู่อาศัยในสมัยนี้ เราได้อาศัยบริษัทก่อสร้าง หรือไม่ก็ซื้อบ้านสำเร็จ ทำให้ความคุ้นเคยที่จะไปตามรู้ตามเรียกส่วนของเรือนที่เรียกว่า “กลอน” ก็แทบจะไม่มี แต่ตามชนบทไทย ชาวบ้านยังคงทำกระท่อม ปลูกเพิงพักตามหัวไร่ปลายนา เวลามุงหลังคาก็ต้องทำกลอนและพาดกลอนให้เรียบร้อย ก่อนที่จะนำวัสดุมุงหลังคา ไม่ว่าจะทำด้วยหญ้าคา หญ้าแฝก ใบจาก ใบพลวง ใบค้อ ฯลฯ มามุง เห็นแล้วก็ทำให้นึกชื่นชมบรรพบุรุษที่สรรสร้างความรู้อันดีงามไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้ทำตาม หวนประหวัดไปถึงคำเรียกเสือลายพาดกลอน ถ้าลายพาดกลอนของเสือไม่เรียกอิงความจากวัฒนธรรมการปลูกเรือนของคนไทย ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะไปอิงความจากสิ่งใด

คำไทยใกล้ตัวที่ว่า เสือลายพาดกลอน น่าจะมีความเป็นมาฉะนี้แล

จาก บทความเรื่อง "เสือลายพาดกลอน" โดย คุณวีระพงศ์ มีสถาน สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย

มหิดลสาร ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔  (http://www.mb.mahidol.ac.th/www/uploads/0a1405d3-20a1-151d.pdf)

 ;D



กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ก.ค. 12, 13:30
ดีครับ  คุณเพ็ญฯ

มีอีกคำถาม 

คำว่า  ปั่นหัว  มีที่มาอย่างไร


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ก.ค. 12, 13:42
ดีครับ  คุณเพ็ญฯ

มีอีกคำถาม 

คำว่า  ปั่นหัว  มีที่มาอย่างไร

คงมาจากการเล่นกัดจิ้งหรีด ที่นำเอาไม้ไผ่ซี่เล็ก พร้อมกับปลายไม้เป็นขนไว้ปั้นหัวจ้ิงหรีดให้ทำการต่อสู้ระหว่างกัน จึงนำศัพท์นี้มาใช้


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ก.ค. 12, 13:46
ดีมาก  ออกขุน  มีรูปภาพประกอบการอธิบายหรือไม่


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ก.ค. 12, 13:54
เด็กที่บ้านถามว่า ถ้าเสือโคร่งลายพาดกลอน แล้วสิงโตจะลายอะไร

 ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ก.ค. 12, 14:36
Lion O.K.? 8)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ก.ค. 12, 14:37
ดีมาก  ออกขุน  มีรูปภาพประกอบการอธิบายหรือไม่

การปั่นหัวจิ้งหรีด ทำให้เกิดอาการหงุดหงิด จิ้งเหรีดจึงเข้ากัดกัน หากตัวใดเห็นว่าสู้ไม่ได้ก็จะถอยหนีโดยไม่มีการต่อสู้แต่ประการใด

การเล่นจิ้งหรีดนั้นเป็นวัฒธรรมที่โด่งดังของเมืองจีน มีการจัดตั้งชมรมจิ้งหรีด ขายอุปกรณ์ทั้งหลายเกี่ยวกับจิ้งหรีดทุกประเภท เช่น ไม้ กรง เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องให้น้ำจิ้งหรีด


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 ก.ค. 12, 14:39
ดีมาก ออกขุน

คุณป้าแถวบ้าน  ฝากถามมาว่า  ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว นอกจากหมายถึงข้าวจริงๆ
ยังมีความหมายอย่างอื่นอีกหรือไม่ ;)


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 25 ก.ค. 12, 15:14
คำว่า  ปั่นหัว   มีที่มาอย่างไร

คงมาจากการเล่นกัดจิ้งหรีด ที่นำเอาไม้ไผ่ซี่เล็ก พร้อมกับปลายไม้เป็นขนไว้ปั้นหัวจ้ิงหรีดให้ทำการต่อสู้ระหว่างกัน จึงนำศัพท์นี้มาใช้

ที่นำเอาไม้ไผ่ซี่เล็ก พร้อมกับปลายไม้เป็นขนไว้ปั้นหัวจ้ิงหรีดให้ทำการต่อสู้ระหว่างกัน

"ปลายไม้เป็นขน" ?    ???

โปรดขยายความ    ;D

 


กระทู้: ปริศนาเรื่องเก่าบางเรื่องจากผู้อาวุโส
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ก.ค. 12, 15:41
คำว่า  ปั่นหัว   มีที่มาอย่างไร

คงมาจากการเล่นกัดจิ้งหรีด ที่นำเอาไม้ไผ่ซี่เล็ก พร้อมกับปลายไม้เป็นขนไว้ปั้นหัวจ้ิงหรีดให้ทำการต่อสู้ระหว่างกัน จึงนำศัพท์นี้มาใช้

ที่นำเอาไม้ไผ่ซี่เล็ก พร้อมกับปลายไม้เป็นขนไว้ปั้นหัวจ้ิงหรีดให้ทำการต่อสู้ระหว่างกัน

"ปลายไม้เป็นขน" ?    ???

โปรดขยายความ    ;D

 


ลักษณะไม้ปั่นหัวจิ้งหรีดเป็นดังในภาพ