เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: ดาวกระจ่าง ที่ 10 ก.ย. 19, 11:41



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 10 ก.ย. 19, 11:41
ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ เช่น คำเรียกลูกชาย ลำดับที่ ๑ อ้าย ลำดับที่ ๒ ญี่, ยี่ ลำดับที่ ๓ สาม  และคำเรียกลูกสาว ลำดับที่ ๑ เอื้อย ลำดับที่ ๒ อี่ ลำดับที่ ๓ อาม, อ่าม เป็นต้น

1 การเรียกลูกด้วยคำที่ใช้ระบุลำดับมีที่มาจากประเทศอะไรคะ หรือเป็นวัฒนธรรมที่ไทยและเพื่อนบ้านคิดขึ้นกันเอง

2 คำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวจัดเป็นภาษาอะไรคะ ใช่ไทดั้งเดิมไหม หรือเป็นภาษาของชาติอื่น

3 ไทยเริ่มมีการเรียกลูกด้วยคำที่ใช้ระบุลำดับตั้งแต่สมัยไหนคะ ใช่สุโขทัยไหม

4 ในยุคอยุธยา พม่า ล้านนา ล้านช้าง กัมพูชา มีการเรียกลูกด้วยคำที่ใช้ระบุลำดับเหมือนกันไหมคะ

5 คำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวเริ่มเสื่อมความนิยมไปในยุคสมัยไหนของไทยคะ และเพราะอะไรถึงไม่นิยมใช้กันแล้ว

6 คนในสมัยก่อนใช้คำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวเป็นชื่อของบุคคลนั้นเลยไหมคะ หรือใช้เรียกลำดับเฉยๆแต่บุคคลนั้นอาจจะมีชื่อจริงของตัวเองอีกชื่อก็ได้

7 ถ้าคนในสมัยก่อนใช้คำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวเป็นชื่อของบุคคลนั้นเลยจะไม่มีการสับสนคนกันหรือคะโดยเฉพาะคนแรกที่จะถูกเรียกว่าเอื้อย อ้าย

8 คนในสมัยก่อนเขาเคร่งไหมคะว่าต้องเป็นลูกสาว ลูกชายคนแรกเท่านั้นถึงจะใช้ได้ หรือไม่เคร่งกฏอะไรแค่อายุมากกว่าก็ใช้ได้แบบสมัยนี้

9  คำว่าเอื้อย อ้ายในภาษาอีสาน ภาษาเหนือดั้งเดิมจริงๆ (ยุคอยุธยาถึงรัตโกสินทร์ตอนกลาง) เขามีกฏแบบภาคกลางเลยไหมคะว่าต้องเป็นลูกสาว ลูกชายคนแรกเท่านั้นถึงจะใช้ได้ หรือไม่มีกฏอะไรแค่อายุมากกว่าก็ใช้ได้แบบสมัยนี้


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 10 ก.ย. 19, 15:27
เด็กใต้ถุนเรือนอย่างผมนี้ อ่านคำถามแล้วก็คิดตามไป ผมเดาว่า (เดาอีกหละ) ขึ้นชื่อว่าคน จะยุคไหนสมัยไหน สังคมเปลี่ยนไปอย่างไร เรื่องพื้นๆบางเรื่องก็ไม่เคยเปลี่ยน อย่างการตั้งชื่อเนี่ย ผมเชื่อว่า จะยุคนี้หรือยุคไหนๆ คนที่นึกอะไรไม่ออกแล้วตั้งชื่อลูกด้วยการเรียงลำดับตามอะไรสักอย่าง ย่อมต้องมีแน่นอน ที่เห็นก็มีแบบ
เรียงเลข น้องหนึ่ง น้องสอง น้องสาม ปราณีตเพิ่มขึ้นหน่อยก็ น้องปฐมา น้องทวีติยา น้องตริตา ผมก็เคยเห็นนะครับ
เรียงอักษร น้องเอ น้องบี น้องซี (มีน้องที่เป็นมุสลิมคนหนึ่งที่ผมรู้จัก แกเป็นลูกคนโต จึงได้ชื่อว่า อาลิป Aleph = อักษรตัวแรกในภาษาของเขา)
เรียงตามขนาด แบบว่า น้องใหญ่ น้องกลาง น้องเล็ก น้องก้อย  
ฯลฯ แล้วแต่จะหาวิธีการเรียง

เมื่อเป็นยังงี้ ถ้าคนไทย(หรือไท?) จะมีสักคนแหละที่นึกชื่อลูกไม่ออกแล้วตั้งชื่อเรียงนัมเบอร์ขึ้นมาบ้าง ก็คงไม่แปลก เราก็เลยมี เจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา และเจ้าสามพระยา ตามลำดับ

ดังนั้น ถ้าจะถามว่า อย่างนี้เป็นวัฒนธรรมของชนชาติใด ก็คงไม่มีใครสามารถเคลมได้หรอกครับ  
สำหรับเรื่องเสื่อมความนิยม ก็อย่างที่เรียนอ่ะครับ ผมยังเห็นคนที่ตั้งชื่อลูกแบบรันนัมเบอร์นี้อยู่เลย แสดงว่า คนนึกไม่ออกทุกวันนี้ ก็ยังมีอยู่ แต่อาจจะเป็นเพราะทุกวันนี้ เรามีสื่อให้ดูมากขึ้น มีข้อมูลที่ผ่านไปผ่านมาให้เราได้เห็นได้รับรู้มากขึ้น คนนึกไม่ออก ก็อาจจะมีน้อยลงไป ก็เท่านั้นเองแหละครับ    


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.ย. 19, 16:08
คำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวมีระบุอยู่ใน พระไอยการบานแผนก ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ถูกนำมารวบรวมไว้ใน “กฎหมายตราสามดวง” ยุคต้นกรุงเทพฯ กฎหมายฉบับนี้ตั้งศักราชไว้ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง สาระสำคัญคือ “บานแผนก” ว่าด้วยการแบ่งลูกๆ ตามสังกัดไพร่ของพ่อแม่ ว่าต้องแบ่งสรรปันส่วนกันอย่างไรบ้าง

ข้อมูลสำคัญจากกฎหมายฉบับนี้คือคำเรียกลูกชายและหญิงตามลำดับเรียงพี่เรียงน้อง ได้แก่

ลูกชายคนที่ ๑ อ้าย / คนที่ ๒ ญี่ (ยี่) / คนที่ ๓ สาม / คนที่ ๔ ไส / คนที่ ๕ งัว (งั่ว) / คนที่ ๖ ลก / คนที่ ๗ เจด(เจ็ด) / คนที่ ๘ แปด / คนที่ ๙ เจา / คนที่ ๑๐ จง / คนที่ ๑๑ นิง / คนที่ ๑๒ สอง

ส่วนลูกสาวคนที่ ๑ เอื้อย / คนที่ ๒ อี่ / คนที่ ๓ อาม / คนที่ ๔ ไอ / คนที่ ๕ อัว / คนที่ ๖ อก / คนที่ ๗ เอก / คนที่ ๘ แอก / คนที่ ๙ เอา / คนที่ ๑๐ อัง


ชื่อทั้งชุดนี้ที่ได้จากพระไอยการ เชื่อว่าคงเป็นการระบุ “เผื่อไว้” มากกว่า เพราะผู้หญิงที่มีลูกได้ถึง ๒๒ คน (หรือเกือบเท่าทีมฟุตบอลสองทีม) จากท้องเดียวกัน คงมีไม่มากนัก

หลักฐานที่ว่าเคยมีการเรียกขานลำดับพี่น้องแบบนี้ประกอบกับ “ชื่อ” จริง ๆ ปรากฏเค้าเงื่อนในเอกสารโบราณหลายที่ ดังที่พงศาวดารสมัยอยุธยาตอนต้นเล่าว่าหลังจากสมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จสวรรคตในปี ๑๙๖๗ พระโอรสสองพระองค์ ได้แก่เจ้าอ้ายกับเจ้ายี่ เกิดวิวาทชิงราชสมบัติกันขึ้น เหตุการณ์ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นศึกกลางเมือง ผลสุดท้ายเจ้าอ้ายเจ้ายี่ชนช้างกระทำยุทธหัตถีกันที่สะพานป่าถ่าน สิ้นพระชนม์คาคอช้างทั้งคู่ ราชสมบัติจึงลอยตกมาอยู่แก่เจ้าสาม พระอนุชาลำดับที่ ๓ ผู้ทรงมีนามรัชกาลต่อมาว่า “เจ้าสามพระยา”

ส่วนลำดับพี่น้องถัดไปจาก ๑-๒-๓ ก็มีให้เห็นร่องรอยจากหลักฐานประวัติศาสตร์อื่น ๆ อีก เช่น ไส ลูกชายอันดับ ๔ มีอยู่ในนาม “พนมไสดำ” หรือ “พ่อนมไสดำ” ขุนนางคนสำคัญของพระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งมีนามบันทึกอยู่ใน “จารึกวัดช้างล้อม” ปี ๑๙๒๗

ส่วน งั่ว ลูกชายคนที่ ๕ มีตัวอย่างเช่นขุนหลวงพะงั่ว หรือพ่องั่ว กษัตริย์อยุธยาตอนต้น และพญางั่วนำถม บุรพกษัตริย์สุโขทัย เป็นต้น

ประเพณีการมีคำเรียกเฉพาะสำหรับลำดับพี่น้องทำนองนี้ยังหลงเหลือในคนพูดภาษาตระกูลไตกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ส่วนในภาคกลางคงสาบสูญไปหลายร้อยปีแล้ว เหลือตกค้างเพียงบางคำ เช่น “พี่เอื้อย” ซึ่งความหมายเลื่อนไป มิได้หมายถึงพี่สาวคนโต แต่กลายเป็นสำนวนหมายถึง “ลูกพี่” หรือ “พี่ใหญ่” แทน และใช้ได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย

“สมเด็จครู” สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรื้อฟื้นธรรมเนียมนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้งจากที่เคยทรงพบเห็นในกฎหมายโบราณ โดยทรงนำมาใช้ตั้งเป็น “ชื่อเล่น” ประทานแก่พระโอรสพระธิดาในราชสกุลจิตรพงศ์ ได้แก่ หม่อมเจ้าหญิงปลื้มจิตร (เอื้อย) หม่อมเจ้าชายอ้าย (สิ้นชีพิตักษัยในวันประสูติ) หม่อมเจ้าชายเจริญใจ (ยี่) หม่อมเจ้าชายสาม (สิ้นชีพิตักษัยแต่ยังเล็ก) หม่อมเจ้าหญิงประโลมจิตร (อี่) หม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร (อาม) หม่อมเจ้าชายยาใจ (ไส) หม่อมเจ้าชายเพลารถ (งั่ว) และหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา (ไอ)

จาก ชื่อเล่นชื่อจริง (๘) โดย ศรัณย์ ทองปาน
https://www.sarakadee.com/2018/08/29/name-in-law/

อ่านเพิ่มเติมได้ใน คำบอกลำดับลูกของไทย โดย อุเทน วงศ์สถิตย์
http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/68_5.pdf


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.ย. 19, 16:12
นอกจากนี้ วิธีนับลำดับลูกชายและลูกสาวของคนไทยสมัยก่อนยังใช้วิธีการนับแยกระหว่างชายกับหญิง เช่น บุตรคนที่ ๒ ของครอบครัวเป็นหญิง แต่เป็นลูกสาวคนแรก ก็จะเรียกว่า เอื้อย  หรือบุตรคนที่ ๔ ของครอบครัวเป็นชาย แต่เป็นลูกชายคนที่ ๒ ก็จะเรียกว่า ญี่  หรือมีบุตรสาวมา ๓ คน แล้วมีบุตรชายคนสุดท้องเพียงคนเดียว บุตรชายคนสุดท้องนั้นก็เรียกว่า อ้าย เพราะเป็นลูกชายคนแรก  และยังมีอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกลูกคนโตไม่ว่าลูกคนนั้นจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง คือ คำว่า หัวปี

จาก เอื้อย และ อ้าย โดย ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน
http://www.royin.go.th/?knowledges=เอื้อย-และ-อ้าย-๖-กุมภาพั (http://www.royin.go.th/?knowledges=เอื้อย-และ-อ้าย-๖-กุมภาพั)


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 11 ก.ย. 19, 08:59
(หวา อยู่ในกฎหมายตราสามดวงด้วย แต่เราดันไม่เคยเห็น เขินจัง หนีไปแอบในป่าพุทราหลังเรือนดีกว่า)


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 11 ก.ย. 19, 15:20
ขอบพระคุณคำตอบของหลายๆท่านค่ะ

พอทราบบ้างไหมคะว่าในภาคกลางคนทั่วไปน่าจะมีการเลิกใช้ชื่อเรียกแบบนี้กันในยุคไหน

และพอจะมีข้อมูลการใช้คำเรียกลำดับลูกของคนเหนือ คนอีสานบ้างไหมคะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ย. 19, 15:35
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้จัดพิมพ์ ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑  จุลศักราช ๑๑๖๖ พิมพ์ตามฉะบับหลวง ตรา ๓ ดวง (http://203.131.219.242/cdm/search/collection/tutext/searchterm/ประมวลกฎหมายรัชกาลที่%201%20จุลศักราช%201166%20พิมพ์ตามฉะบับหลวง%20ตรา%203%20ดวง%20เล่ม%201/order/nosort) จำนวน ๓ เล่ม เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๘๒

เรื่องลำดับของลูกชายลูกสาวอยู่ในพระไอยการบานผแนก เล่ม ๑ หน้า ๒๗๒


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ย. 19, 15:36
คุณนริศสามารถศึกษากฎหมายตราสามดวงทั้ง ๓ เล่มได้โดยเข้าในลิงก์ที่ให้ไว้นี้

เล่ม ๑
http://203.131.219.242/utils/getdownloaditem/collection/tutext/id/460/filename/461.pdf/mapsto/pdf

เล่ม ๒
http://203.131.219.242/utils/getdownloaditem/collection/tutext/id/461/filename/462.pdf/mapsto/pdf

เล่ม ๓
http://203.131.219.242/utils/getdownloaditem/collection/tutext/id/462/filename/463.pdf/mapsto/pdf


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 12 ก.ย. 19, 11:24
ขอบพระคุณอีกรอบครับ อันที่จริงผมซื้อไว้แต่เล่มที่ 1 ครับ (ตอนนั้นเอามาดูพระอัยการนาทหาร/หัวเมือง) พระอัยการลักษณะอื่นๆ ไม่ค่อยจะได้อ่านครับ
พอมาตอนบุพเพสันนิวาสดัง มีการคุยเรื่องกฎหมายอยุธยาเพิ่มขึ้น จะกลับไปหาซื้ออีกสองเล่ม ที่ศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก็หาไม่ได้ซะแล้วครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 19, 11:29
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณฯ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ)ว่า "พ่อใหญ่"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเรียกสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ว่า "แม่เล็ก"
นับเป็นคำระบุลำดับได้หรือไม่คะ?


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ย. 19, 10:11
คำระบุลำดับลูกชายลูกสาวในบ้านทรายทอง

หญิงใหญ่ ชายกลาง หญิงเล็ก ชายน้อย
  ;)

https://youtu.be/SHPjlgassf8


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Kiangsak loekaudom ที่ 10 ก.ค. 20, 20:50
ตามแถวชนบททำไมถึงเรียก ลูกสาวคนโตว่า"สาว" ลูกสาวคนเล็กว่า"คนน้อย หรือ สาวน้อย" ส่วนลูกชายเรียกว่า "ชาย"ได้รับอิทธิพลมาจากคนในเมืองหรือเปล่าครับ แล้วมีมาตั้งแต่สมัยไหนครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 20, 09:08
ไม่เคยได้ยินค่ะ 
เป็นชนบทแถวไหนคะ  คุณถามเหมือนกับว่าชนบททั้งประเทศใช้คำเหล่านี้  ซึ่งไม่จริง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Kiangsak loekaudom ที่ 11 ก.ค. 20, 16:40
นครสวรรค์ครับ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 20, 16:49
ไม่มีความรู้เรื่องภาษาของนครสวรรค์ค่ะ    รอท่านอื่นมาตอบดีกว่า


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 19 ก.พ. 21, 16:31
ขออนุญาตถามเพิ่มเติมนะคะ คือดิฉันได้ตั้งกระทู้ถามไปแล้วคราวหนึ่งแล้วคุณเพ็ญชมพูได้แนะนำว่าควรมาถามต่อที่กระทู้นี้ที่เคยตั้งไว้เลยขอยกที่เคยถามไว้ในอันเก่ามาถามต่อในกระทู้นี้นะคะ

คือเนื่องจากดิฉันได้รบกวนเเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของคนไทยในสมัยอยูธยา-รัตนโกสินทร์ตอนกลางไปแล้วว่าถ้าลูกคนนี้เกิดเป็นคนลำดับที่ 1 2 3 ... ของบ้านจะมีชื่อเรียกว่าอะไร ทีนี้มีข้อสงสัยเพิ่มค่ะเลยอยากมาขอรบกวนเรียนถามในกรณีที่ว่าถ้าเกิดไม่อ้างอิงถึงลำดับการเกิดว่าเป็นคนที่ 1 2 3 ... ไม่ต้องนับว่าเป็นพี่น้อง ญาติกันจริงๆถึงจะใช้เรียกได้แต่เป็นการเรียกเพื่อให้ความเคารพ นับถือ เรียกเพื่อความเอ็นดู รักใคร่จะมีเชื่อเรียกที่ใช้แบบกว้างๆบ้างไหมคะ

1 พี่ชาย (โดยจะเป็นคนเกิดลำดับที่เท่าไรของบ้านก็ได้) จะมีชื่อเรียกในภาษาไทยของคนไทยภาคกลางไทยในสมัยอยูธยา-รัตนโกสินทร์ตอนกลางว่าอะไรบ้างคะ
2 พี่สาว (โดยจะเป็นคนเกิดลำดับที่เท่าไรของบ้านก็ได้) จะมีชื่อเรียกในภาษาไทยของคนไทยภาคกลางไทยในสมัยอยูธยา-รัตนโกสินทร์ตอนกลางว่าอะไรบ้างคะ
3 ลูกคนกลางที่เป็นผู้ชาย (โดยจะเป็นคนเกิดลำดับที่เท่าไรของบ้านก็ได้) จะมีชื่อเรียกในภาษาไทยของคนไทยภาคกลางไทยในสมัยอยูธยา-รัตนโกสินทร์ตอนกลางว่าอะไรบ้างคะ
4 ลูกคนกลางที่เป็นผู้หญิง (โดยจะเป็นคนเกิดลำดับที่เท่าไรของบ้านก็ได้) จะมีชื่อเรียกในภาษาไทยของคนไทยภาคกลางไทยในสมัยอยูธยา-รัตนโกสินทร์ตอนกลางว่าอะไรบ้างคะ
5 น้องชายคนเล็ก (โดยจะเป็นคนเกิดลำดับที่เท่าไรของบ้านก็ได้) จะมีชื่อเรียกในภาษาไทยของคนไทยภาคกลางไทยในสมัยอยูธยา-รัตนโกสินทร์ตอนกลางว่าอะไรบ้างคะ
6 น้องสาวคนเล็ก (โดยจะเป็นคนเกิดลำดับที่เท่าไรของบ้านก็ได้) จะมีชื่อเรียกในภาษาไทยของคนไทยภาคกลางไทยในสมัยอยูธยา-รัตนโกสินทร์ตอนกลางว่าอะไรบ้างคะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 21, 18:33
ฝากคุณพ็ญชมพูตอบแทนด้วยค่ะ
เข้าใจว่าคุณดาวกระจ่างคงจะคุ้นกับวัฒนธรรมของชาติอื่น เช่น จีน เลยอยากรู้ว่าคนไทยมีการนับแบบเดียวกันไหม
เท่าที่นึกออกตอนนี้ คือวัฒนธรรมคนไทยภาคกลางในยุคก่อน  ย้อนไปประมาณต้นรัตนโกสินทร์ ถึงปลายอยุธยา นิยมการเรียกแบบนับญาติแม้แต่คนที่ไม่ใช่ญาติ แต่ไม่ได้แจกแจงถี่ถ้วนถึงขนาดลูกชายคนโต คนรอง คนเล็กเรียกขานกันว่าอะไร
ในขุนช้างขุนแผน  บ่าวเรียกนายว่า คุณพ่อ คุณแม่ เป็นการยกย่อง แม้ว่านายอายุน้อยกว่าบ่าวมากก็ตาม   ผู้น้อยเรียกผู้ใหญ่ว่า คุณพ่อ ก็มี   คนในสังคมฐานะเสมอกัน เรียกกันว่า พี่ แม้ว่าอีกฝ่ายอาจอายุน้อยกว่า เป็นการยกย่อง
   ครั้นถึงจอดเรือแล้วรีบไป           ข้าไทตามหลังมาหนักหนา
บ้างแบกโต๊ะของกำนัลขันข้าวปลา   ถึงริมคุกขึ้นหาพัศดีกลาง
ของกำนัลให้ท่านพัศดี           คุณพ่อได้ปรานีดีฉันบ้าง
จะขอไปส่งข้าวเจ้าขุนช้าง           คุกตะรางอย่างไรฉันไม่เคย
พัศดีเรียกทำมะรงเนียม           ช่วยพาพี่แกไปเยี่ยมผัวหน่อยเหวย
ทำมะรงรับคำนำลุกเลย           เข้าประตูหับเผยถึงคุกใน
วันทองร้องง้อพ่อทำมะรง           ช่วยถอดลงมากินข้าวได้ฤๅไม่
ทำมะรงว่าไปเยี่ยมกันก็ไป           ถอดไม่ได้โทษอย่างนี้พี่วันทอง ฯ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 22 ก.พ. 21, 10:17
ขอบคุณค่ะคุณเทาชมพู ที่จริงไม่ได้เอามาจากจีนหรอกค่ะแต่เอามาจากภาคเหนือ อีสานของไทย ดิฉันเห็นว่าสองภาคนั้นเรียกพี่คนโตว่าเอื้อยถ้าเป็นหญิง อ้ายถ้าเป็นชาย เรียกน้องคนเล็กว่าอีหล้าถ้าเป็นหญิง บักหำถ้าเป็นชาย ส่วนคำเรียกคนกลางดิฉันหาข้อมูลไม่เจอไม่รู้ว่ามีไหม ซึ่งการใช้คำเรียกจะเป็นคนลำดับที่เท่าไรของบ้านก็ได้ จะเป็นญาติกันจริง ไม่ใช่ญาติกันจริงก็เรียกได้หมด เลยทำให้นึกสงสัยน่ะค่ะว่าภาคกลางมีคำเรียกแบบนี้บ้างไหมในกรณีเดียวกัน


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.พ. 21, 10:55
ภาคเหนือ อีสานของไทย...เรียกน้องคนเล็กว่าอีหล้าถ้าเป็นหญิง บักหำถ้าเป็นชาย....เลยทำให้นึกสงสัยน่ะค่ะว่าภาคกลางมีคำเรียกแบบนี้บ้างไหมในกรณีเดียวกัน

ลูกสาวคนเล็ก  ทางเหนือเรียกว่า อี่หล้า  อีสานว่า อีหล่า
ลูกชายคนเล็ก  ทางเหนือเรียกว่า ไอ่หล้า หรือ บ่าหล้า  อีสานว่า บักหล่า ส่วน บักหำ เทียบกับภาคกลางคือ ไอ้หนู

คำว่า หล่า หรือ หล้า ตรงกับภาษากลางว่า ล่า ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ อธิบายคำว่า ลูกล่า ว่าหมายถึง ลูกคนสุดท้องที่เกิดมาโดยไม่คาดว่าจะมีอีกแล้ว แต่ไม่ห่างจากพี่มากเท่าลูกหลง, (ถิ่น) ลูกคนสุดท้อง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำที่ใช้ระบุลำดับของลูกชายและลูกสาวของไทยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 23 ก.พ. 21, 10:16
ขอบตุณคุณเพ็ญชมพูที่มตอบเพิ่มเติมให้ค่ะ และส่วนพี่สาวคนโต พี่ชายคนโตก็เรียกพี่เหมือนกันทั้งชายหญิงถูกไหมคะ