เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 06, 10:06



กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 06, 10:06
สืบเนื่องจากกระทู้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=130&Pid=48308
คุณหยดน้ำจุดประกายขึ้นมา เรื่องการทรงกรมของเจ้านายในรัชกาลที่ ๓  
คุณ Rinda ก็มาโพสต์ในเรื่องนี้อีก
ทำให้ดิฉันเกิดสนใจ  อยากจะรู้เพิ่มเติมว่าตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา   มีเจ้านายทรงกรมกี่พระองค์กันแน่ในแต่ละรัชกาล
ก็เลยไปรวบรวมมาให้อ่านกัน

ถ้าขาดตกบกพร่องยังไง  กรุณามาช่วยตกแต่งเพิ่มเติมให้ครบด้วยจะขอบคุณมาก

เมื่อสถาปนาราชวงศ์จักรี   เจ้านายทรงกรมในรัชกาลนี้  มีจำนวนมากเอาการ   เพราะเป็นการสถาปนาพระราชวงศ์ใหม่  
เจ้านายพระองค์ที่มีพระสายโลหิตร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯตั้งแต่ปฐมวงศ์   ก็ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นมาเกือบทั้งหมด
เริ่มตั้งแต่ชั้นที่ ๑ ในปฐมวงศ์ คือ
๑) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยาสุดาวดี   พระเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
๒)สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระศรีสุดารักษ์  พระเชษฐภคินีพระองค์รองในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
๓)กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  พระราชอนุชา
๔) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา  (พระองค์เจ้าลา)พระอนุชาต่างพระชนนี

ส่วนกรมหลวงนรินทรเทวี (หรือที่เรียกกันว่าเจ้าครอกวัดโพธิ์)พระขนิษฐาต่างพระชนนี  มิได้รับการสถาปนา  คงเป็นพระองค์เจ้าหญิงกุ
จนรัชกาลที่ ๔ จึงได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็นกรมหลวงนรินทรเทวี


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 06, 10:08
ขอเว้นวรรคแค่นี้ก่อนนะคะ  จะมาต่อทีหลัง

ขอตัวไปตามหานักเรียนโค่ง ที่โดดเรียนไปถือธงนำหน้า ปลุกระดมอยู่ในกระทู้ใกล้ๆนี้  
ให้ผู้คนไปชุมนุมกันประท้วงดิฉันเรื่องคอร์สที่ที่ปิดไปแล้ว    เพื่อจะดึงดันให้เปิดขึ้นมาอีก

ดิฉันจะต้องไปร่างคำฟ้องต่อศาลบน (Up Court) ขอให้สั่งระงับการกระทำว่าเป็นโมฆะ  
และลากเอาตัวหัวหน้าการประท้วงกลับมาเข้าชั้นเรียนวิชาอื่นๆที่ยังเปิดอยู่   โจทก์รออยู่หลายราย  

ยื่นคำร้องเสร็จก็จะแวะไปหลังบ้าน   มะยมต้นใหญ่ ก้านขนาดกำลังงาม   เหมาะกับเหลาติดมือไปสลายการชุมนุมเชียวละ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 06 พ.ค. 06, 16:02
 ที่กระทู้ ข้อ1) อาจารย์กรุณาช่วยเติมคำว่า...เทพ
สมเด็จพระพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 06 พ.ค. 06, 16:17
 หมายเหตุ
ค.ห. 2 เมื่อเติมแล้ว โปรดลบได้เลยค่ะ
ค.ห. 3 คัดมาเพื่อให้เปรียบเทียบกระทบ หลังจากนั้นลบได้เลย เพื่อไม่ให้การดำเนินเรื่องสะดุด

จาก "เฉลิมพระยศเจ้านาย" เล่ม ๑ และเล่ม ๒ ของกรมศิลปากร
************
รายนามเจ้าต่างกรมสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

สมเด็จพระอนุชาธิราช มหาสุรสิงหนาท เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท
(ในรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท)

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ เป็น กรมพระยาเทพสุดาวดี
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์รอง เป็น กรมพระศรีสุดารักษ์

สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าทองอิน (พระโอรสพระพี่นางองค์ใหญ่) เป็น กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์
ต่อมาเลื่อนเป็น กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ที่วังหลัง หลังจากมีความชอบรบชนะพม่าในสงครามปราบพม่าในหัวเมืองเหนือ

สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญเมือง (พระโอรสพระพี่นางองค์ใหญ่) เป็น กรมหลวงธิเบศร์บดินทร
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าทองจีน (พระโอรสพระพี่นางองค์ใหญ่) เป็น กรมหลวงนรินทรรณเรศร์
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าลา เป็น กรมหลวงจักรเจษฎา
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฉิม (คือรัชกาลที่ 2) เป็น กรมหลวงอิศรสุนทร
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าตัน (พระโอรสพระพี่นางเธอองค์น้อย) เป็น กรมหลวงเทพหริรักษ์
หม่อมมุก พระสามีพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้ากุ เป็น กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์
หม่อมเรือง (พี่น้องร่วมสาบานกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ 1) เป็น กรมหมื่นสุนทรภูเบศร์
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงแจ่ม เป็น กรมหลวงศรีสุนทรเทพ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย เป็น กรมขุนเสนานุรักษ์
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงประไพวดี เป็น กรมขุนเทพยวดี
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย(พระโอรสพระพี่นางองค์น้อย) เป็น กรมขุนพิทักษ์มนตรี

สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ หรือเจ้าฟ้าเหม็น(พระโอรสพระเจ้ากรุงธนบุรี
และพระธิดาองค์ใหญ่) เป็น กรมขุนกษัตรานุชิต (ถูกประหารชีวิตในสมัย ร. 2 ในข้อหากบฏ)

สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าเกศ (พระโอรสพระพี่นางองค์น้อย)เป็น กรมขุนอิศรานุรักษ์
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอภัยทัต เป็น กรมหมื่นเทพพลภักดิ์
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรุโณทัย เป็น กรมหมื่นศักดิพลเสพ
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าปาน ในกรมพระราชวังหลัง เป็น กรมหมื่นนราเทเวศร์
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าบัว ในกรมพระราชวังหลัง เป็น กรมหมื่นนเรศร์โยธี
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าแตง ในกรมพระราชวังหลัง เป็น กรมหมื่นเสนีบริรักษ์
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็น กรมขุนศรีสุนทร
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอสุนี ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็น กรมหมื่นเสนีเทพ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 06, 16:45
 "เปรียบเทียบกระทบ"   คืออะไรคะ?

อุตส่าห์โพสต์มาตั้งยาว จะให้ดิฉันลบทำไมล่ะคะ?


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 06, 19:01
ต่อจากค.ห. ข้างบนสุด

ในลำดับชั้น ๒ ในปฐมวงศ์  ก็มีเจ้านายทรงกรมอีกตามนี้
๕) เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  กรมพระราชวังหลัง
๖) เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศรบดินทร์
๗) เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ
ทั้ง ๓ พระองค์เป็นพระโอรสในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี
๘) เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์
๙) เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี
๑๐)เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์
ทั้ง ๓ พระองค์เป็นพระโอรสในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

มีพิเศษอีก ๓ องค์คือ
๑๑) กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์  พระสวามีในพระองค์เจ้ากุ  เจ้าครอกวัดโพธิ์
๑๒) กรมขุนสุนทรภูเบศร์  พระสหายร่วมสาบานของกรมพระราชวังบวรฯ  องค์นี้เป็นเจ้านายนอกพระราชวงศ์จักรี
๑๓)เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต  พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสิน   ประสูติแต่พระราชชายาสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 06 พ.ค. 06, 20:08
 ตอบ ค.ห. 4

เปรียบเทียบกระทบ คือ การเช็คข้อมูลหลายๆแหล่งเปรียบเทียบกัน เช่น ข้อมูลของ ส. พลายน้อย
ต่างจากข้อมูลของ ม.ล. ศรีฟ้าฯ ดังนั้นแหล่งที่ 3 อาจจำเป็น


อุตส่าห์โพสต์มาตั้งยาว จะให้ดิฉันลบทำไมล่ะคะ?
ไม่ประสงค์ให้ข้อมูลของ ค.ห. 2 และ ค.ห. 3 ไปขัดจังหวะการเล่าเรื่องของ ค.ห. 5
เกรงว่าจะผิดคิวแลเกิดเหตุเหมือนกระทู้ "ขุนนาง 2 ร่าง" ค่ะ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 06, 20:15
 ถ้างั้นเป็นแค่ข้อมูลเปรียบเทียบเท่านั้นค่ะ ไม่มีกระทบ  

ถ้าคุณ Rinda ไม่มีเจตนาจะเฉลยข้อมูลตัดหน้า  ดิฉันก็ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอย่างที่คุณว่า
หรือถ้ามี   คุณก็คงทราบว่าจะทำยังไง

ดิฉันไม่ชอบลบค.ห. ใครโดยไม่จำเป็น  
ถ้าคิดว่าส่งมาแล้วจะต้องลบภายหลัง ขอให้ส่งเป็น sms ก็จะสะดวกกว่าค่ะ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 06 พ.ค. 06, 23:14
 ค.ห. 7 ถ้างั้นเป็นแค่ข้อมูลเปรียบเทียบเท่านั้นค่ะ ไม่มีกระทบ

ก๊ากก ขอบพระคุณค่ะ
นานมากแล้ว ที่ดิฉันคาใจกับความหมายอันนี้ นายของดิฉันท่านหนึ่งสั่งให้หาข้อมูลหลายๆแห่ง
แล้วนำมา "กระทบกัน" ซึ่งคำนี้ฟังแล้วแปลไม่ออก แต่ทราบว่าท่านต้องการให้ "cross-check" หรือเปรียบเทียบ
จึงตัดสินใจผสมกันเข้าไป เป็น.... เปรียบเทียบกระทบ น่ะค่ะ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 06, 11:41
 cross-check  =  ข้อมูลเปรียบเทียบกระทบ
crossroad     =  ถนนกระทบกัน
cross-country = ประเทศกระทบ
มันดีนะคะ
ยังดี แค่ "กระทบ"   ถ้านายของคุณบอกให้เอาข้อมูลมา"กระแทก" กัน    ข้อมูลคงบอบช้ำหมด กว่าจะหาความถูกต้องได้
นายคุณคงไม่เคยดู "ลาวกระทบไม้"


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ค. 06, 09:38
 ต่อจาก ค.ห.พ.ต. ที่ ๕

พระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯที่ทรงกรมในรัชกาลที่ ๑
๑๔) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร   ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในตอนปลายรัชกาล
 (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
๑๕)สมเด็จเจ้าฟ้า(หญิง)กรมหลวงศรีสุนทรเทพ
๑๖)สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๒
๑๗)สมเด็จเจ้าฟ้า(หญิง) กรมหลวงเทพยวดี
๑๘)กรมหมื่นเทพพลภักดิ์
๑๙) กรมหมื่นศักดิพลเสพ (ในรัชกาลที่ ๓ ทรงอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ)
พระราชโอรสพระองค์อื่นๆ  นอกจากนี้กว่าจะได้ทรงกรมก็ในรัชกาลที่ ๒ บ้าง และบางองค์ก็ถึงรัชกาลที่ ๓ โน่น
พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง
๒๐) กรมหมื่นนราเทเวศร์
๒๑) กรมหมื่นนเรศร์โยธี
๒๒) กรมหมื่นเสนีบริรักษ์
(เรื่องราวของทั้ง ๓ องค์นี้อยู่ในบทความ จากวัดระฆังถึงศิริราช)

ถึงชั้นพระราชภาคิไนย (หลานลุง)
๒๓)สมเด็จฯ กรมขุนศรีสุนทร (เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท)
๒๔)กรมหมื่นเสนีเทพ (พระองค์เจ้าอสุนี ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท)


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 พ.ค. 06, 10:00
 อาจารย์ครับ กระทู้นี้น่าจะเป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงถ้าทำได้ดังประกาศ
"มีเจ้านายทรงกรมกี่พระองค์กันแน่ในแต่ละรัชกาล"

ผมยินดีช่วยตามกำลังที่มี ได้ลองตั้งแนวขึ้นมาก่อนดังนี้ครับ

การสถาปนาครั้งปฐม เมื่อ พ.ศ. 2325
เจ้านายชั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มี 6 พระองค์ (รวมพระเจ้าอยู่หัวเป็น 7)
1 พระอนุชา พระนามเดิม บุญมา (2286-2346) เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี สถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ
2 พระพี่นาง พระนามเดิม สา (2272-2342) สถาปนาเป็น เจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี "ได้ว่าราชการเปนใหญ่ทั่วไปแทบทุกอย่าง แลว่าการวิเศษในพระคลังเงิน พระคลังทอง แลสิ่งของต่าง ๆ ในพระราชวังชั้นในทั้งสิ้น"(ปฐมวงษ์ ปชพ 8) มีข้อพิเศษคือ เจ้ากรมเป็นพระยา ส่วน 3 นั้นเจ้ากรมเป็นพระเหมือนธรรมเนียมเดิม
3 พระพี่นาง พระนามเดิม แก้ว (2282-2342) สถาปนาเป็น เจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ "เรียกกันว่า เจ้าคุณพระตำหนักแดง ได้ทรงราชการทรงกำกับเครื่องใหญ่ในโรงวิเศษต้น  แลการสดึงแลอื่น ๆ  เปนหลายอย่าง"(ปฐมวงษ์ ปชพ 8)
4 .......

อาจจะต้องเน้นตัวเป็นตัวหนา ตัวเอนด้วย หากเห็นว่าเกินจำเป็นจะได้ปรับแนวครับ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 08 พ.ค. 06, 10:18
 เรียน อ.เทาชมพู คุณรินดาและคุณพิพัฒน์ ที่เคารพครับ
ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงต้น(ร.๑)มักจะสถาปนาโดยไม่คำนึงถึงความดีความชอบนัก สถาปนาไปตามพระเกียรติที่พึงมี
นอกจากสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงจักรเจษฎา ที่ได้รับการสถาปนาเพราะทรงอัญเชิญพระอัฐิของสมเด็จพระราชชนกใน ร.๑ จากพิษณุโลกลงมา
และกรมพระราชวังหลัง ที่ ร.๑ ทรงสถาปนาเพราะมีความดีความชอบดังที่กล่าวมาครับ
เมื่อช่วงนั้นยังไม่มีการสถาปนาหม่อมเจ้าขึ้นเป็นพระองค์เจ้าตั้ง ก็ย่อมไม่มีพระองค์เจ้าตั้งต่างกรมครับ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ค. 06, 10:20
คุณพิพัฒน์คะ   คุณก็คงพอนึกออกว่าพวกอักษรฯมักมีโรคภูมิแพ้ตัวเลข
ทำเป็นลำดับไว้ข้างบนนี้  ในรัชกาลที่ ๑ ทรงกรม ๒๔ องค์
แต่จำแนกเป็นกรมพระยา กรมพระ กรมหลวง กรมขุน กี่พระองค์  ยังทำไม่ถูก
ยิ่งเสริมบทบาทในทำนองพระประวัติย่อด้วย  ก็คงไม่มีเวลาไปตั้งกระทู้ "เจ้าจอมมารดาเพิ่ม"
และเรื่องฆาตกรหญิงโหดให้อ่านกัน

ถ้าจะช่วยสงเคราะห์ทำให้อย่างตัวอย่างข้างบนก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 พ.ค. 06, 10:32
 จะลองไปทำดูนะครับ

ต้องไปตามหาจดหมายเหตุตั้งพระบรมวงษานุวงศ์(กรมฯ สมมติ ทรงรวบรวม) กับเรื่องตั้งพระบรมวงศานุวงศ์(กรมฯ ดำรง ทรงเรียบเรียง) อันเป็นบรรพบุรุษของเฉลิมพระยศเจ้านาย (ฉบับมีพระรูป) สอบกับราชสกุลวงษ์(หลายสำนวน) และจดหมายเหตุประถมวงษ์(หลายสำนวน) พระราชพงศาวดารทั้งสี่รัชกาลของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์.......และสยามประเภท(เผื่อเหนียว) อีกฉบับ
นี่ผมฟั่นเฟือนไปหรือไง.....งานนี้เห็นจะถึงชีวิต

อาจารย์ครับ เด็กศิลปะนี่ ก-ฮ ท่องไม่ครบนะครับ ไม่ต้องพูดเรื่องนับเลขเล็ยยย

โรงเรียนนี้โหดสุด สั่งการบ้านตะละที ถึงต้องปิดห้องสมุดห้ามคนนอกใช้บริการ
ยังดี ท่านไม่ให้กำหนดส่งงานมาด้วย


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ค. 06, 08:18
 พระราชโอรสพระองค์อื่นๆนอกจากนี้   กว่าจะได้ทรงกรมก็ในรัชกาลที่ ๒ บ้าง และบางองค์ก็นานมาก ถึงรัชกาลที่ ๓ โน่น

พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง
๒๐) กรมหมื่นนราเทเวศร์
๒๑) กรมหมื่นนเรศร์โยธี
๒๒) กรมหมื่นเสนีบริรักษ์
(เรื่องราวของทั้ง ๓ องค์นี้อยู่ในบทความ จากวัดระฆังถึงศิริราช)
ถึงชั้นพระราชภาคิไนย (หลานลุง)
๒๓)สมเด็จฯ เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็น กรมขุนศรีสุนทร
๒๔)พระองค์เจ้าอสุนี ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็น กรมหมื่นเสนีเทพ

ตอบคุณศรีปิงเวียง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศ เคยตรัสว่า
ในรัชกาลที่ ๑ ใครรบทัพจับศึกได้ก็เป็นคนโปรด
ในรัชกาลที่ ๒  ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด
ในรัชกาลที่ ๓ ใครสร้างวัดวาอารามก็โปรด
ในรัชกาลที่ ๔ ใครพูดภาษาอังกฤษได้ก็โปรด

เจ้านายทรงกรมในรัชกาลที่ ๑ นอกเหนือจากสถาปนาเพราะเป็นพระเกียรติยศแก่ปฐมวงศ์แล้ว   หลายองค์เป็นนักรบ  อย่างกรมหลวงจักรเจษฎานี่ก็ถือว่ามือหนึ่ง  ทรงเป็นหัวหน้าพระองค์เจ้าขุนเณรที่ถือกันว่าเป็นนักรบกองโจรตัวฉกาจของไทย
พระโอรสในกรมพระราชวังหลังทั้ง ๓ องค์ก็นักรบเก่งๆกันทั้งนั้น  ลองไปอ่านบทความดูนะคะ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 06, 08:07
 สรุปว่าในรัชกาลที่ ๑ มีเจ้านายทรงกรม ๒๔ องค์

ถ้าหากว่าเผลอข้ามองค์ไหนไปบ้าง  คุณพิพัฒน์กรุณาตรวจสอบด้วยค่ะ



มาถึงรัชกาลที่ ๒  

ดิฉันขอแบ่งการบ้านจากคุณพิพัฒน์มาส่วนหนึ่ง    เผื่อผ่อนแรงให้หน่อย  

รู้สึกว่าจะเริ่มโอดโอยถี่ขึ้นว่าเหนื่อย    คงไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน

กลับเข้าสู่เรื่อง ขอเริ่มด้วยพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๒ ก่อนนะคะ  เรียงลำดับได้ดังนี้



๑) กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระนามเดิมพระองค์เจ้า(ชาย)ทับ  (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ในฐานะพระราชโอรสพระองค์ใหญ่  ก็ทรงเป็นอย่างที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า 'เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้พ่อ'  

ดูจากพระราชภารกิจในรัชกาลที่ ๒ แล้วก็กว้างขวางหนักหนาเอาการ   เพราะทรงกำกับราชการกรมท่า  กรมพระคลังมหาสมบัติ  กรมพระตำรวจว่าความฎีกา  นิพนธ์บทกวี  และรับราชการต่างๆต่างพระเนตรพระกรรณ

ดำรงพระยศกรมหมื่นเหมือนเมื่อเริ่มแรก   จนตลอด ๑๖ ปีของรัชกาล   ไม่มีการเลื่อนเป็นกรมหลวงหรือกรมพระ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 06, 08:31
 ๒) กรมหมื่นสุนทรธิบดี   พระองค์เจ้าชายกล้วยไม้ องค์นี้ไม่ทราบว่าว่าราชการด้านไหน    

ดิฉันนึกอะไรไม่ออกเกี่ยวกับท่านนอกจากว่าทรงมีเชื้อสายสืบมาถึงทุกวันนี้  
มีท่านหนึ่งที่เก่งเรื่องประวัติศาสตร์  เคยเขียนเกร็ดอะไรต่อมิอะไรน่าอ่านมาก  ชื่อคุณทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา เป็นศาสตราจารย์พิเศษของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

๓) กรมพระยาเดชาดิศร    พระองค์เจ้าชายมั่ง   องค์นี้เป็นกรมหมื่นเดชอดิศรอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๒ เหมือนกัน  แต่ในรัชกาลที่ ๓ เลื่อนเป็นกรมขุน  และในรัชกาลที่ ๔ ทรงเลื่อนเป็นกรมสมเด็จพระเดชาดิศร
แต่พระยศ "กรมสมเด็จพระ"   มายกเลิกในรัชกาลที่ ๖   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติให้มีพระยศ "กรมพระยา"ขึ้นมาแทน

กรมพระยา ทรงศักดิ์สูงกว่าเจ้านายต่างกรมชั้นอื่น  เช่นพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวงเมื่อทรงกรม
พระองค์เจ้ามีศักดินา 15000 แต่กรมพระยา ศักดินา 35000 เกือบเท่าศักดินาเจ้าฟ้าต่างกรม  
คำนำพระนามใช้เหมือนสมเด็จเจ้าฟ้า  ถ้าเป็นชั้นบรมวงศ์(คือพระราชโอรสในพระเจ้าแผ่นดิน) ก็เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศรเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ  เห็นได้จากพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีไปถึง ก่อนเสด็จสวรรคต
ที่ทรงเรียกว่าไพเราะว่า "พ่อมั่งขา  พ่อจงเป็นเชษฐมัตตัญญู แก่ข้าผู้พี่...."

พวกอักษรศาสตร์รู้จักพระนิพนธ์ โคลงโลกนิติ ที่ทรงชำระเรียบเรียงจากสำนวนเก่าให้สละสลวยยิ่งขึ้น
บางบท  นอกจากเล่นเชิงภาษาอย่างเพราะพริ้ง  ให้พวกเรียนภาษาได้การบ้านไปทำกันหัวโตแล้ว  
พวกปรัชญายังสามารถเอาไปถกกันเชิงสัญลักษณ์ได้ทีเดียว  
อย่างบทนี้

น้ำเคี้ยวยูงว่าเงี้ยว.......ยูงตาม
ทรายเหลือบหางยูงงาม.......ว่าหญ้า
ตาทรายยิ่งนิลวาม.............พรายเพริศ
ลิงว่าหว้าหวังหว้า..............หว่าดิ้นโดดตาม

ถ้าแปลไม่ออกอย่าตกใจ    ยกมาเป็นตัวอย่างเฉยๆค่ะไม่ได้ให้การบ้าน


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 10 พ.ค. 06, 10:21
ขอบพระคุณ อ. เทาชมพู มา ณ ที่นี้ครับ
ปลาร้าพันห่อด้วย ใบคา
ใบก็เหม็นคาวปลา คละคลุ้ง
..........
ขออนุญาตสอบถามครับ เพราะผมไม่แน่ใจครับว่า ใบคา คือใบอะไรครับ
ใช้ตัวช่วยข้าง ๆ ก็ระบุว่า
ค้น :  คา 
คำ :  คา ๓
เสียง :  คา
คำตั้ง :  คา ๓
ชนิด :  น.
นิยาม :  ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Imperata cylindrica Beauv. ในวงศ์ Gramineae
ใบคาย แข็ง เอามากรองเป็นตับมุงหลังคา เหง้าใช้ทำยาได้.  
ปรับปรุง :  98/4/2


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 10 พ.ค. 06, 10:25
 เรียนอาจารย์เทาฯ และคุณ Rinda ครับ
ไม่เกี่ยวกับหัวข้อกระทู้ครับ แต่ผมเข้าใจเอาเองว่า เจ้านายคุณ Rinda อาจจะเป็นนักบัญชี ผมเองไม่ใช่ แต่เคยได้ยินพวกบัญชีเขาพูดอะไรคล้ายๆ อย่างนั้น ดูเหมือนพูดว่า "กระทบยอด" ซึ่งตามความเข้าใจผมเป็นการเปรียบเทียบยอด (ตัวเลข) ให้ถูกต้องตรงกัน

ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็พอเข้าใจเจตนาได้ว่าคุณ Rinda ตั้งใจจะพูดว่าอะไร แต่ผมขอเรียนคุณ Rinda ว่าคนนอกวงการบัญชีจะนึกไม่ออกเป็นอันขาดถึงความหมายเฉพาะทางที่ว่าเนี่ย พานจะนึกไปถึงกระทบกระเทียบกระแทกกระทั้นอะไรไปโน่น ซึ่งโทษพวกเราก็ไม่ได้ เพราะพวกเราไม่เคยเรียนบัญชีนี่ครับ

Boss ของคุณละก้อ... เหมาเอาพวกเราเป็นนักบัญชีไปซะหมดแล้ว

ทั้งนี้ถ้าผมเข้าใจความหมายของคำว่ากระทบยอดผิดไปในทางวิชาการบัญชี ขอผู้เป็นนักบัญชีตัวจริงเข้ามาแก้ไขด้วยเทอญ บอกแล้วว่าข้าพเจ้าไม่เคยเป็นนักบัญชี ทำบัญชีไม่เป็น แม้แต่บัญชีรัก แฮ่ะแฮ่ะ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 06, 11:01
 ตอบคุณศรีปิงเวียง

เด็กยุคใหม่นอกจากฟันไม่ผุแล้ว ยังไม่รู้จักหญ้าคาอีกด้วย  

ถ้าบุกเข้าไปในดงหญ้าคา  มันจะคันระคาย
ถ้านุ่งกางเกงขาสั้น  ขาก็โดนบาดเป็นริ้วรอยได้ค่ะ
 http://www.rspg.thaigov.net/plants_data/use/toxic_04.htm  


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 10 พ.ค. 06, 12:14
 เรียน อ. เทาชมพู และท่าน นกข. ที่เคารพครับ
ขอบพระคุณ อ. เทาชมพู มา ณ ที่นี้ครับ
จริง ๆ ผมก็เคยเห็นหญ้าคาครับ แต่คงไม่รู้จักเอง
โดนบาดไปหลายที เพิ่งมารู้จักก็ด้วยเหตุที่กล่าวมาครับ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 10 พ.ค. 06, 17:59
 ท่านอาจารย์เทาชมพูกรุณายกโคลงโลกนิติขึ้นมา  ชวนให้ระลึกถึงพระราชนิพนธ์ โลกนิติจำแลง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่ทรงย้อนพวก "สมัยใหม่" ในยุคนั้นได้แสบคันพอๆ กับโคลงโลกนิติต้นฉบับเลยทีเดียว  เสียดายที่ไม่ค่อยจะมีเผยแพร่  ทุกวันนี้ยังแทบจะหาอ่านมิได้เลยครับ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 10 พ.ค. 06, 18:58
 เรื่องโคลงโลกนิติ เป็นกระทู้ใหญ่ได้อีกอันเลยครับ

โลกนิติจำแลง ผมก็ชอบ จำได้กระท่อนกระแทนไม่กี่บท

คำนำ บทต้น
ครรโลงโลกนิติโน้น นมนาน
สำหรับคนโบราณ เก่าพร้อง
บัดนี้สมัยกาล แปรเปลี่ยน
ภาษิตก็จำต้อง ดัดบ้างตามสมัยฯ

มีบทหนึ่งว่า
แสวงรู้พึงคบด้วย หรั่งจ๋า
แสวงทรัพย์คบกุ๊ยหา ทรัพย์ให้
แสวง ...
แสวงนาฎนารีไซร้ หมั่นเข้าโรงหนังฯ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 10 พ.ค. 06, 19:00
 คล้ายๆ เหมือนกับว่า โคลงพระราชนิพนธ์นี้ พิมพ์อยู่ในดุสิตสมิต ซึ่งผมคิดว่าอาจจะพอหาได้ เดี๋ยวขอเวลานิดครับ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 10 พ.ค. 06, 19:01
 แสวงลาภคบบรรณา- ธิกเหมาะ ครับ

ทรงค่อน นสพ. รวมทั้ง บก. นสพ. และคนอ่าน นสพ. ในสมัยนั้นไว้หลายบท


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 พ.ค. 06, 17:10
 ถ้าเป็นไปได้ขอความกรุณาลงเปรียบเทียบฉบับเดิมกับฉบับจำแลงให้อ่านบ้างนะครับ  
ผมยังเสียดายไม่หายเมื่อครั้งที่สถาบันภาษาไทย  กรมวิชาการรวบรวมโคลงโลกนิตจัดพิมพ์เป็นเล่ม  แล้วไม่ได้พิมพ์โลกนิติจำแลงไว้ด้วย


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 06, 08:24
 ๔) กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์   (พระองค์เจ้าชายพนมวัน)  
องค์นี้ในรัชกาลที่ ๒ เป็นกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์  เช่นเดียวกับพระราชโอรสองค์อื่นๆก่อนหน้า  ไม่ขึ้นไม่ลงไปกว่านี้
ในรัชกาลที่ ๓ เลื่อนเป็นกรมขุน   ทรงเป็นกรมพระในรัชกาลที่ ๔
ทรงกำกับกรมพระนครบาลในรัชกาลที่ ๒  
มาถึงรัชกาลที่ ๓ ว่าการกรมพระคชบาล    ถือว่าเป็นเจ้านายที่มีความสำคัญองค์หนึ่ง
เป็นต้นราชสกุล พนมวัน  ณ อยุธยา

ดิฉันเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเจ้านายองค์นี้ ชื่อ แค้นของกวี  หาอ่านดูนะคะ
มีแค่นี้เอง พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ทรงกรมในรัชกาลที่ ๒


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 06, 08:38
 ย้อนกลับมาถึงเจ้านายในรัชกาลที่ ๑  ที่มาได้ทรงกรมในรัชกาลที่ ๒  
ล้วนทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ
๑) กรมหมื่นอินทรพิพิธ พระองค์เจ้าทับทิม    ว่าการกรมช่างแสงใหญ่และกรมคชบาลในรัชกาลที่ ๒  ต้นราชสกุลอินทรางกูร
๒)กรมหมื่นเทพพลภักดิ์   พระองค์เจ้าอภัยทัต  ว่ากรมพระคชบาลในรัชกาลที่ ๒    ในรัชกาลที่ ๓ ทรงเลื่อนเป็นกรมหลวง    
เจ้านายพระองค์นี้สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษา ๕๒ ปี แต่แปลกว่าไม่มีเชื้อสายราชสกุลนี้สืบทอดมา
๓) กรมหมื่นจิตรภักดี    พระองค์เจ้าชายเจ้าทับ   ทรงกำกับกรมช่างสิบหมู่  กรมช่างหล่อ  ต้นราชสกุล ทัพพะกุล
๔) กรมหมื่นศรีสุเรนทร์   พระองค์คันธรส    เจ้านายองค์นี้ทรงมีชะตากรรมอาภัพ  ทรงกรมได้แค่ ๓ ปีก็สิ้นพระชนม์

เรื่องมีอยู่ว่าในพ.ศ. ๒๓๕๙  มีราษฎรร้องเรียนขึ้นมาว่าพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ๓ รูปกระทำผิดพระวินัยร้ายแรงเรื่องเมถุนปาราชิก  
คือแอบไปมีเมียจนมีลูกด้วยกัน

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯโปรดเกล้าให้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นรักษ์รณเรศและพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์(พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ) สอบสวนชำระความ
ก็ได้ความว่าจริง  พระเถระก็เลยถูกจับสึก  และถูกเฆี่ยนจำคุกอีกด้วย ไม่ได้แค่จับสึกเฉยๆ อย่างสมัยนี้

พอเสร็จการสอบสวน  ก็มีบัตรสนเท่ห์ออกมาโจมตี    ไม่แพ้ใบปลิวสมัยนี้
แต่สมัยนั้นสมกับเป็นยุคทองของวรรณคดีไทย  ขนาดบัตรสนเท่ห์ยังแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ ภาษาเพราะพริ้งแต่เนื้อความด่าทอเจ็บแสบ
ว่า
ไกรสรพระเสด็จได้..............สึกชี
กรมหมื่นเจษฎาบดี..............เร่งไม้
พิเรนทร์แม่นอเวจี...............ไป่คลาด
อาจพลิกแผ่นดินได้.............แม่นแม้นเมืองทมิฬ

สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ กริ้วมาก   โปรดฯให้สอบสวนสืบสวนแกะรอยกวีนิรนามนี้โดยด่วน
สืบกันไปสืบมาได้ความว่า สำนวนกวีไปเหมือนพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๑  นับญาติแบบชาวบ้านคือเป็นน้องของรัชกาลที่ ๒
คือกรมหมื่นศรีสุเรนทร์นั่นเอง  
มีหลักฐานแวดล้อมช่วยมัดองค์อีกว่า ทรงเป็นศิษย์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(บุญศรี) ๑ใน ๓ ของพระเถระที่ต้องอธิกรณ์

จึงถูกคุมขังจองจำ  ประชวรและสิ้นพระชนม์ระหว่างนั้น


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 12 พ.ค. 06, 11:20
 เอาโคลงโลกนิติจำแลงมาฝากอีกบทครับ จากความจำ ไม่ได้เช็คดุสิตสมิตสักที

ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้ มีพรรณ
ภายนอกแดงดูฉัน ชาดป้าย
(โลกนิติของจริงต่อว่า
ภายในย่อมแมลงวัน หนอนบ่อน
ดูดั่งคนใจร้าย นอกนั้นดูงามฯ แต่ ร.6 ทรงแปลงต่อว่า)
นางเอกภาพยนตร์อัน สรวยสุด
แท้ที่จริงเป็นม่าย ลูกตั้งแปดคนฯ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 12 พ.ค. 06, 11:30
 บทที่คุณครูเทาฯ ยกมาข้างบนโน้น ร. 6 ก็ทรงล้อไว้อีก

น้ำเคี้ยวยูงว่าเงี้ยว ยูงตาม
ทรายเหลือบหางยูงงาม ว่าหญ้า
ลิงเห็นเนตรทรายวาม ว่าลูก หว้าแฮ
คนอ่านสือพิมพ์บ้า เชื่อแม้นด่าครูฯ

สรุปความ ทั้งของจริงและของจำแลง คือว่า สายน้ำคดเคี้ยว นกยูง (ตาถั่ว) ก็ (หลง) นึกว่าเป็นงู บินตามไปจะกิน เนื้อทราย (ตาถั่วเหมือนกัน) หลงนึกว่าหางนุกยูงสีเขียวๆ เป็นหญ้า ฝ่ายลิงผ่านมาอีกตัว ตาถั่วไม่มีวิสัยทัศน์เช่นกัน เห็นเนตรเนื้อทรายหรือตาทรายอันวาววาม ก็หลงนึกว่าเป็นลูกหว้าซะอีก เรื่องของความหลง คนหลงนำคนหลงนำคนหลง เลอะกันไปหมด

ในสมัย ร. 6 เป็นยุคที่ นสพ. มีเสรีภาพสูงมากถ้าคิดถึงว่าขณะนั้นยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง และ นสพ. ก็เขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลแรงๆ หลายบทเหมือนกัน แต่ไม่ยักถูกเซนเซอร์ เพียงแต่ถูกค่อนว่าและวิจารณ์โต้ตอบโดยองค์ประมุขรัฐบาล คือ ร. 6 เท่านั้น (แต่ทรงใช้นามแฝงในการพระราชนิพนธ์บทความโต้ตอบ เช่น อัศวพาหุ รามจิตติ เป็นต้น)

ในสมัยปัจจุบันไม่กี่เดือนมานี้ ไม่ทราบว่าความเลอะเทอะหลงเลอะไปหมดเป็นทอดๆ เพราะอะไรไม่รู้บังตาอยู่นั้น จะใช้กับการบรรยายสภาพเมืองไทยได้หรือไม่ - อุ๊บส์ - วิชาการดอทคอมไม่มีพูดการเมืองครับ เซนเซอร์ตัวเองครับ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 พ.ค. 06, 11:33
 ค.ห. ๑๘ ข้อมูลเพิ่มเติม กรมหมื่นเสพสุนทร (พระองค์เจ้ากุสุมา)

บรรดาพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๓ พระชนม์ไล่เลี่ยกันนั้น คือ
           
๑. กรมหมื่นสุนทรธิบดี (พระองค์เจ้ากล้วยไม้) ต้นราชสกุล ‘กล้วยไม้ ณ อยุธยา’ ประสูติ พ.ศ.๒๓๓๔
เป็นเจ้าของวังเดิม (วังบ้านหม้อปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ตรงข้ามวังท้ายหับเผยวังที่ ๑ (สิ้นพระชนม์พ.ศ ๒๓๗๕)

ในปีนั้นเองเกิดเพลิงไหม้ที่วังกรมหมื่นสุนทรธิบดี ท่านสิ้นพระชนม์ในกองเพลิง
พร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนหนึ่ง ที่วังจึงว่างอยู่ฯ (กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ จึงขอ
พระราชทานพระบรมราชานุญาต สร้างวังขึ้นใหม่ และทรงย้ายมาประทับ ณ วังบ้านหม้อนี้
จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระชันษา ๖๕)

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าประทาน ม.จ.หญิงจงจิตรถนอม พระธิดา ไว้ว่า
       "...ปรากฏแต่ว่า เมื่อรัชกาลที่ ๓ กรมหมื่นสุนทรธิบดี ต้นราชสกุลกล้วยไม้ เป็นพระเจ้าลูกเธอ
ในรัชกาลที่ ๒ กับ พระธรรมทานาจารย์ วัดสระเกศ ชื่อตัวว่ากระไร พ่อไม่รู้ ช่วยกันสร้างวัดแค
[เป็นวัดเก่า ตั้งอยู่ที่ทุ่งสนามกระบือ] และเรียกว่า วัดแคมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงพระราชทานนามว่า
วัดสุนทรธรรมทาน ด้วยเอาพระนามกรมหมื่นสุนทรธิบดี และ นามพระธรรม ทานาจารย์ ผสมกัน..."


๒. กรมหมื่นเสพสุนทร (พระองค์เจ้ากุสุมา) ต้นราชสกุล ‘กุสุมา ณ อยุธยา’
ประสูติ พ.ศ.๒๓๓๕ (สิ้นพระชนม์เสียแต่ในต้น ร. ๓) ในปีพ.ศ ๒๓๗๗ ร.๓ โปรดเกล้าฯ
ให้พระองค์ พร้อมด้วยกรมขุนเดชาดิศร และกรมหมื่นณรงคหริรักษ์ (ในรัชกาลที่ ๑)
เป็นแม่กองไปควบคุมการก่อสร้างป้อมที่สมุทรปราการ ที่ตำบลบางปลากด

         ๓. สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร (พระองค์เจ้ามั่ง) ต้นราชสกุล ‘เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา’
ประสูติ พ.ศ. ๒๓๓๖

         ๔. กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (พระองค์เจ้าพนมวัน)  ต้นราชสกุล ‘พนมวัน ณ อยุธยา’
ประสูติ พ.ศ. ๒๓๓๗

ในปี ๒๓๖๙ เกิดศึกเจ้าอนุวงศ์ ร.๓ โปรดเกล้าฯให้กรมขุนพิพิธฯ เป็นเป็นแม่ทัพบัญชาการกองทัพ
ตั้งทัพสกัดตามชายทุ่ง ตั้งแต่ สามเสน ถึงทุ่งวัวลำพอง (หัวลำโพง) จรดชายทุ่งบางกะปิและ น. เจ้าพระยา



เจ้าพี่เจ้าน้องร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันกับกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (เจ้าจอมมารดาศิลา ใน ร. ๒
- เชื้อสายราชินิกุลบางช้าง) รวม ๕ พระองค์


๑. พระองค์เจ้าหญิงวงศ์ ในปีที่เกิดศึกอนุวงศ์ ขณะนั้นพระชันษา ๓๕
๒. พระองค์เจ้าชายพนมวัน พระชันษา ๓๒

๓. พระองค์เจ้าชายกุญชร พระชันษา ๒๘ ขณะนั้นเป็นกรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์
(เลื่อนเป็นกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ในรัชกาลที่ ๔) ต้นราชสกุล ‘กุญชร ณ อยุธยา’

๔. พระองค์เจ้าชายทินกร พระชันษา ๒๕ (เป็นกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ในรัชกาลที่ ๔)
ต้นราชสกุล ‘ทินกร ณ อยุธยา’ เป็นชายหนุ่มสูงศักดิ์ที่มาชุมนุมเล่นสักวาที่แพคุณพุ่มด้วยกันกับเจ้าฟ้าน้อย
และพระองค์เจ้านวม (กรมหลวงวงศาฯ)

๕. พระองค์เจ้าหญิงอินทนิล พระชันษา ๒๒


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 พ.ค. 06, 15:29

.
ฝากคุณ V_MEE และคุณนิล ค่ะ (บางส่วน)


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 พ.ค. 06, 15:31

.


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 12 พ.ค. 06, 20:21
 ค.ห. 20
เรียน คุณนิลกังขาที่เคารพ

ขอบพระคุณที่ช่วยอธิบายค่ะ

นายดิฉันไม่ได้เป็นนักบัญชี แต่เป็นวิศวกรเคมีค่ะ ท่านเป็นสตรีที่มีบารมีมาก
นายกรัฐมนตรี 3 คนหลังสุดของประเทศไทยต้องยกมือไหว้ท่านก่อน ท่านเรียน
ภาษาไทยน้อย ภาษาไทยท่านเก่าๆ โบราณและฟังยากมาก อาศัยว่าภาษาทางการ
ของที่ทำงานเราต้องใช้ 2 ภาษา ท่านเลยไม่อนาทร ยามดิฉันพูดกับนาย บางครั้งก็
สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง  หากท่านเรียกเข้าไปสั่งงานเดี่ยวต่อเดี่ยว หัวใจจะตุ๊มๆต่อมๆ
อาจร่วงไปกองกับพื้น ต้องกำชับหน้าห้องให้ช่วยดิฉันฟังอีกแรง ขาดตกจะได้ช่วยกัน
ปะติดปะต่อให้ครบ ถ้าทำผิดคำสั่ง ท่านจะโกรธมาก

คืนหนึ่งท่านสั่งให้คนรถมาบอกดิฉันว่าให้เขียนอารัมภกาของรายงานบนโต๊ะท่านด่วน
ใช้พรุ่งนี้ ที่ทำงานไม่มีพจนานุกรมไทย คนอื่นกลับบ้านไปหมด ดิฉันไม่รู้จักคำๆนี้
หันไปถามคนขับรถว่ารู้จักไหม เขาตอบว่ารู้จักแต่อารัมภบทลิเกน่ะ เหมือนกันไหม
คืนนั้นเป็นอันว่าไม่ได้ทำให้ท่าน รุ่งขึ้นท่านเข้ามาเช้า ดิฉันก็เข้ามาเช้าเพื่อจะมาทำงาน
ชิ้นนี้ พอรู้ว่ายังไม่ทำ ท่านส่ายหน้าแล้วพูดว่า “คนขับรถยังรู้มากกว่าซะอีก”

นอกออฟฟิซนายดิฉันก็มีบารมีแม้ไม่มีตำแหน่งทางการ ปลัดกระทรวงหรืออธิบดี
พูดกับท่านมักประสานมือ น้อมตัวลงน้อยๆ ในออฟฟิซซึ่งมีพนักงาน 20 คน ท่านยิ่งใหญ่
เกินบรรยาย เราไม่ต้องคลานเข่าในที่ทำงานก็บุญโขแล้ว ท่านดุมากๆๆๆ ท่านชี้นก เราก็ว่า
นก ท่านบอกกระทบ ก็ต้องเป็นกระทบ

วันหนึ่งท่านพูดว่าดึกแล้ว กลับบ้านๆๆๆๆ ทำอะไรกันอยู่ ดิฉันตอบว่า “อ้าวก็ท่านสั่งให้
แบ่งแยกตัวเลขนี้ ตกลงจะให้แบ่งต่อไหมคะ หนูทำมาให้ 3 คืนแล้ว บอกท่านว่าสมการ
นี้มี 2 ตัวแปร แบ่งต่อไม่ได้เพราะเรามีสมาการเดียว ท่านก็จะให้แบ่ง ทีนี้อีกาบินผ่าน
หนูละเสียวสันหลังวาบ เพราะระดับความเชื่อมั่นต่ำลงทุกที  อิลลอจิคอล

เท่านั้นแหละ ท่านระเบิดเสียงดังปานฟ้าผ่า  “อีเด็กปากกล้า อีเด็กเมื่อวานซืน มาว่าฉันเป็นควาย”

ดิฉันตกใจ ละล่ำละลักออกไป ”พระเจ้าเป็นพยาน หนูยังไม่ได้พูดควาย หนูว่างานนี้
มันอิลลอจิคอล ไม่ได้ว่าท่านอิลลอจิคอล


นายฉุนเฉียวมาก ”ก็ฉันสั่งให้เธอทำงานนี้  ถ้าเธอว่างาน ก็เหมือนว่าฉัน”

เหงื่อแตก ตอบท่านว่า “I’m sorry; I don’t mean to.  But I think how nice I am.
I tried to please the boss; knowing that it’s not achievable, I go ahead anyway.
Look, I try to break down the unbreakable for you.”

ท่านลดเสียงลง “If you see illogicality, you’ve got to speak up. Don’t you
know to overcome stupidity is just stupid. I’m sorry. I really am.”

แล้วทีนี้ ดิฉันควรไปเรียนถามท่านว่าทำไมจึงใช้คำว่า..กระทบ...ไหมคะ เกรงว่าเหมือนนำกระพรวน
ไปผูกคอแมวน่ะค่ะ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ค. 06, 09:56
 ต่อจาก #29

๕) กรมหมื่นรามอิศเรศ พระองค์เจ้าชายสุริยา  ทรงช่วยว่าความรับสั่งและฎีกาบ้าง ในรัชกาลที่ ๒
ถึงรัชกาลที่ ๓ เลื่อนเป็นกรมขุน  และเป็นกรมพระ ในรัชกาลที่ ๔
ต้นราชสกุล สุริยกุล

๖) กรมหมื่นนุชิตชิโนรส  พระองค์เจ้าชายวาสุกรี  ผนวชเป็นสามเณรตั้งแต่รัชกาลที่ ๑   เป็นพระภิกษุในรัชกาลที่ ๒ และเลื่อนเป็นพระราชาคณะ และได้ทรงกรม
รัชกาลที่ ๓ ทรงเลื่อนเป็นเจ้าคณะกลาง  เป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔   ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตนิโนรส

เจ้านายพระองค์นี้ทรงเป็นกวีเอกผู้หนึ่งแห่งรัตนโกสินทร์   พระนิพนธ์ อย่างลิลิตตะเลงพ่าย เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับผู้เรียนวรรณคดี
เช่นเดียวกับพระปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก และร่ายยาวมหาชาติ
พระนิพนธ์อื่นๆคือ พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เทศนาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารค และชลมารค

ในทางพระพุทธศิลป์ ทรงออกแบบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เป็นจำนวน 37 ปาง เริ่มตั้งแต่ปางบำเพ็ญทุกขกิริยา จนถึงปางห้ามมาร

ในปี พ.ศ. 2533 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปี พ.ศ. 2533

ขอยกตัวอย่างบทพระนิพนธ์  พรรณนาด้วยคำกวี งดงามดุจแก้วเก้าประการร้อยเรียงเข้าด้วยกัน
เป็นคำบรรยายกำไลข้อมือรูปพญานาคฝังนพรัตน์ ที่พระมหากษัตริย์ทรงสวมใส่

นาคีภุชแผ่เกล้า.................เกลือกเศียร
คลี่อาตมวนเวียน................หัตถ์ไท้
นพรัตน์เรียบรายเฉวียน........ฉวัดวิ่ง แสงนา
เถือกเถกิงกลไต้.................ตากรุ้งเรืองโพยม

ดิฉันเคยเห็นกำไลทองรูปพญานาคฝังเพชรซีก ขายอยู่ในร้านของเก่าเมื่อนานหลายปีก่อน
โผล่กลับไปดูอีกที ได้ความว่าเศรษฐินีเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมซื้อไปเสียแล้ว   หลังจากนั้นไม่เห็นของแบบนี้มาวางอีกเลย
แต่กำไลทองนั่นคงเป็นของสามัญชน     กำไลข้อพระหัตถ์เท่านั้นถึงจะฝังนพรัตน์  คนสามัญไม่มีใครกล้าใช้กัน
กำไลในบทกวี ช่างคงออกแบบให้ลำตัวอ่อนช้อย ม้วนตัวรัดรอบข้อมือ  เพชรพลอยแต่ละเม็ดคัดมา ถือเป็นสุดยอดของนพรัตน์
เห็นภาพแสงเพชรและมณีอีกแปดอย่าง น้ำวิ่งเจิดจรัสยามเคลื่อนไหว  ราวกับแสงรุ้งกระจ่างอยู่กลางท้องฟ้า

คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์นำมาเป็นชื่อหนังสือรวมบทร้อยกรอง ด้วยความประทับใจ
เล่มนี้ที่มีอยู่ มีลายเซ็นคุณเนาวรัตน์ด้วยนะ  ขออวดค่ะ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 พ.ค. 06, 20:31
 ในสมัย ร. 6 เป็นยุคที่ นสพ. มีเสรีภาพสูงมากถ้าคิดถึงว่าขณะนั้นยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง และ นสพ. ก็เขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลแรงๆ หลายบทเหมือนกัน แต่ไม่ยักถูกเซนเซอร์ เพียงแต่ถูกค่อนว่าและวิจารณ์โต้ตอบโดยองค์ประมุขรัฐบาล คือ ร. 6 เท่านั้น (แต่ทรงใช้นามแฝงในการพระราชนิพนธ์บทความโต้ตอบ เช่น อัศวพาหุ รามจิตติ เป็นต้น)

ในสมัยปัจจุบันไม่กี่เดือนมานี้ ไม่ทราบว่าความเลอะเทอะหลงเลอะไปหมดเป็นทอดๆ เพราะอะไรไม่รู้บังตาอยู่นั้น จะใช้กับการบรรยายสภาพเมืองไทยได้หรือไม่ - อุ๊บส์ - วิชาการดอทคอมไม่มีพูดการเมืองครับ เซนเซอร์ตัวเองครับ

อ่านข้อความข้างต้นแล้วอดนึกถึงบุคคล ๒ ท่านนี้ไปไม่ได้  ท่านหนึ่งเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ท่านรับราชการทหารเรือมียศเป็นนายพลเรือตรี พระยา...(จำราชทินนามไม่ได้)... ตำแหน่งเจ้ากรมพระธรรมนูญทหารเรือ  ได้แสดงความคิดเห็นของท่านผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ในทำนองคัดค้ายแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์  ผลหรือครับ  ท่านผู้เป็นใหญ่ในกระทรวงทหารเรือรีบเสนอให้ปลดท่านผู้นี้กจากราชการเพราะมีความเห็นขัดแย้งกับพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้นำรัฐบาล  แต่เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท  โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปรับราชการกระทรวงวัง  พระราชทานพานทองเครื่องยศ  พร้อมกับเลื่อนยศเป็น นายพลเรือโท พระยาวินัยสุนทร  นามเดิมของท่านคือ  วิม  พลกุล  หรือที่มักจะรู้จักกันในนาม "มหาวิม" เพราะท่านเป็นเปรียญเก่า

อีกท่านหนึ่งที่ผมนึกถึงเป็นบุคคลในยุคสมัยปัจจุบัน  จะเกี่ยวข้องกับท่านที่เอ่ยนามไว้ข้างต้นอย่างไรไม่ทราบ  แต่มีที่เหมือนกันอยู่อย่างเดียวครับ  ท่านใช้นามสกุล พลกุล เหมือนกัน  เป็นท่านผู้ใดคงไม่ต้องออกนามนะครับ  เดี๋ยวจะหาว่า ผมพาเวบวิชาการไปยุ่งกับการเมือง


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 13 พ.ค. 06, 20:31
 ถ้าเจ้านายคุณรินดาท่านใช้คำเช่นนั้น ก็ปล่อยท่านไปโดยเคารพเถิดครับ ผมก็เห็นใจคุณ ในฐานะลูกน้อง อย่าเอากระพรวนไปผูกคอแม่เสือเลย เพียงเพราะเห็นแก่ผมเลย เป็นแต่ผมตั้งใจจะเรียนคุณรินดา (คนเดียวเจ้าค่ะ... ไม่เกี่ยวกับนาย) ว่าคนอื่นๆ ทั่วไปใต้ฟ้าเมืองไทย เขาไม่ได้ใช้คำว่ากระทบในลักษณะนั้นเหมือนท่านกันสักกี่คนนัก เท่านั้นแหละ ไม่ยังงั้นอาจารย์เทาฯ ท่านจะฉงนหรือ (เมื่อแรกผมก็ฉงนเหมือนกัน แต่พอนึกได้เรื่องศัพท์เฉพาะทางวิชาบัญชี จึงเอามาฝากเท่านั้น) จบเรื่อง/

กลับเข้าเรื่องเจ้านายทรงกรมของหัวข้อกระทู้ดีกว่ามั้งเนี่ย

ป.ล. ใครจะตั้งกระทู้เรื่องโลกนิติจำแลงไหมครับ ว่างๆ ผมจะไปแจม ฮะแอ้ม -


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 พ.ค. 06, 20:33
 ขอขอบพระคุณ คุณ Nuchana ด้วยครับที่กรุณานำโคลงโลกนิติจำแลงมาให้อ่านคลายเครียดครับ  โดยเฉพาะบทที่กล่าวถึงนางเอกภาพยนตร์  อ่านแล้วทันสมัยดีจังครับ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 13 พ.ค. 06, 20:39
 คห. 37 พูดถึงท่านผู้หนึ่ง ซึ่งผมก็นึกอยู่ในใจเหมือนกัน คือท่านผู้หาญแต่งเรื่อง ล้อติดโคลน ออกมาโต้คารมหรือดวลกับ โคลนติดล้อ (ของ ร. 6) ซึ่งได้ทราบว่ากริ้วไม่ใช่น้อยเหมือนกันที่มีผู้กล้าหาญมาวิจารณ์พระองค์ท่าน แต่ด้วยความที่ในหลวง ร. 6 ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเป็นนักกีฬา และทรงเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน แม้จะไม่โปรดก็ไม่ทรงว่ากระไร ท่านเจ้าคุณนายพลเรือจึงยังรับราชการอยู่ได้ต่อไปเป็นปกติ

ผมเข้าใจว่าจะเป็นท่านผู้นี้ด้วยซ้ำที่เคยรับสั่งถึงอย่างทรงยอมรับว่า การเขียนบทความโต้ตอบกันก็เหมือนเล่นเทนนิส ถ้าไปเจอมือสาวๆ ตีอ่อนๆ ก็เล่นไม่เป็นรส ไม่สนุก แต่ถ้าเจอมือดีๆ เก่งในการโต้ เราตีแรงไปเขาตีโต้แรงมา บางทีท่านทรงออกจะฉุนๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสนุกกว่าในเชิงเกม ... หรืออะไรทำนองนั้นแหละครับ จำพระราชดำรัสเป๊ะๆ ไม่ได้ครับ

ผมเผลอชักใบให้เรือเสียอีกแล้ว (รู้สึกเหมือนเด็กแอบคุยเรื่องอื่นในห้องเรียนยังไงไม่รู้) เราไปตั้งกระทู้ใหม่ดีไหมครับ เกรงใจคุณครูเทาชมพู ที่ผมว่ามาไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องเจ้านายทรงกรมเลย


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 14 พ.ค. 06, 00:18
 ยังติดลมเรื่องที่คุณ V_Mee และคุณนิลกังขาปรารภไว้ ขอต่ออีกสักนิดนะครับ

หลังเกิดเรื่องของบุคคลผู้ใช้นามปากกา "ทุ่นดำ" ที่โต้แย้งพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างแรง ในหน้าหนังสือพิมพ์

จากนั้น ก็ปรากฏนาม พระยาวินัยสุนทร อยู่ในรายนามผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้า เป็นที่ตะลึงพรึงเพริดของข้าราชการสมัยนั้นมากว่าเป็นไปได้อย่างไร แสดงให้เห็นน้ำพระราชหฤทัยนักกีฬาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่าสูงส่งนัก

ขณะทรงคล้องตรา ท.จ. พระราชทาน ได้มีพระราชดำรัสว่า

"วิม นี่แสดงว่าข้ามิได้ผูกโกรธหรือพยาบาทเจ้าในการที่เจ้าเขียนหนังสือเล่นงานข้าแต่ถือว่าเจ้าได้ช่วยข้าแสดงความคิดเห็นในการปกครองบ้านเมือง ข้าขอขอบใจ"

ต่อมา เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลพระกรุณาถามถึงเหตุผล ก็มีพระราชดำรัสตอบว่า

"เออ เอ็งยังไม่รู้อะไร คนเรามันต้องแยกหน้าที่ให้ออกให้ดีสิวะ บางทีข้าก็ฉุนที่มีคนมาขัดคอ มันก็พลุ่งขึ้นมา แต่เมื่อนึกถึงว่าเขาก็เป็นคนไทย เป็นนักกฎหมาย เป็นเปรียญ เขาก็ได้บวชได้เรียน ย่อมรู้ผิดชอบชั่วดี จริงอยู่ ตาวิมมีเพอร์ซันแนลลิตี้เป็นนักเลงแต่ก็ชอบความรู้เขา มีหลักดีๆข้าก็นึกว่าเขามีความหวังดีต่อชาติเช่นเดียวกับข้า เขามีความคิดเห็นอย่างที่นึกว่าของเขาถูก เขาก็พูดออกมาอย่างเปิดเผยอย่างนี้ข้าชอบ ดีกว่าไปก่อเรื่องซุบซิบอย่างไอ้พวกขี้ขลาดตาขาว มือไม่พายเอาตีนราน้ำ

คนเขียนหนังสือพิมพ์ข้าเห็นว่าพวกเขามีสปอร์ติ้งสปิริตดีกว่าพวกต่อหน้ามะพลับลับหลังตะโก ซึ่งเชื่อไม่ได้ไม่จริงต่อใคร

อีกอย่างหนึ่ง การเขียนหนังสือก็เหมือนเกมส์ชนิดหนึ่ง อย่างเล่นบิลเลียดหรือเทนนิสเราต้องมีคู่เล่นที่มือทัดเทียมกันถึงจะสนุก แต่อย่าโกงกันนะ ถ้าเล่นกันซื่อๆ โดยฝีมือ แพ้ชนะไม่สำคัญหรอกวะ สนุกดีนัก ถ้าไปโดยฝีมือสวะๆอ่อนๆเข้าแล้วหมดรสหมดสนุก เลิกดีกว่า"


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 พ.ค. 06, 07:52
 ขอบพระคุณ คุณ Upที่กรุณาขยายความให้ครับ  ทำให้นึกถึงที่จมื่นมานิตนเรศร์ (เฉลิม  เศวตนันทน์) ท่านเล่าไว้ว่า  วันหนึ่งได้มีรับสั่งเรื่องพระยาวินัยสุนทรนี้ว่า  เขาเป็นรักชาติรักแผ่นดินอย่างแท้จริง  เรื่องอะไรที่ข้าจะปลดคนดีๆ เช่นนี้ออกจากราชการ

และอีกเรื่องหนึ่งคืงที่อยากกล่าวถึง คือ แบบธรรมเนียมในพระราชสำนักข้อหนึ่งที่ว่า  ในเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินกำลังพิโรธและมีพระราชดำรัสหาพระแสงนั้น  ห้ามมิให้มหาดเล็กถวายพระแสงเป็นเด็ดขาด  ผู้ใดถวายมีโทษถึงกบฏ  เพราะยามที่คนเราโกรธนั้นย่อมขาดสติยั้งคิดไปบ้าง  เรื่องนี้เป็นธรรมชาติของปุถุชน


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 14 พ.ค. 06, 10:20
 แบบธรรมเนียมที่คุณ V_Mee กล่าวไว้นั้น ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่า

“พระเจ้าอยู่หัวทรงพระโกรธแก่ผู้ใดและตรัสเรียกพระแสงอย่าให้เจ้าพนักงานยื่น ถ้ายื่นโทษถึงตาย”


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ค. 06, 13:45
 ต่อจาก ค.ห. 36

๗) กรมหมื่นสุรินทรรักษ์  พระองค์เจ้าชายฉัตร  กำกับกรมพระนครบาลในรัชกาลที่ ๒  
เมื่อถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงย้ายมากำกับกรมท่าและกรมมหาดไทย  สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓
เป็นต้นราชสกุล ฉัตรกุล

๘) กรมหลวงรักษ์รณเรศ   พระองค์เจ้าชายไกรสร   เจ้านายพระองค์นี้ทรงมีชีวิตที่มีสีสันมากที่สุดในรัตโกสินทร์ตอนต้นก็ว่าได้

พูดถึงความมีบุญ ถือได้ว่าระยะต้นๆ ทรงมีวาสนาเด่นว่าบรรดาเจ้านายพี่น้อง  ที่ส่วนใหญ่ทรงกรมเป็นกรมหมื่นแล้วหยุดอยู่แค่นั้น

ในรัชกาลที่ ๒ ทรงกรมเป็นกรมหมื่น  กำกับกรมสังฆการี   ผลงานสำคัญก็คือจับพระเถระดังๆสึกออกมาด้วยข้อหาปาราชิก  ซึ่งกลายมามีเหตุสืบเนื่องให้กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ต้องพระราชอาญาด้วยเรื่องบัตรสนเท่ห์ อย่างที่เล่ามาแล้ว
กรมหลวงรักษ์รณเรศตามศักดิ์ เป็น"อา"ของสมเด็จพระนั่งเกล้าฯก็จริง แต่มีพระชนม์อ่อนกว่า"หลานชาย" ๔ ปี  ทรงสนิทกันดี    
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ สวรรคต กรมหลวงฯท่านก็ทรงเป็นแรงสนับสนุนแรงหนึ่งให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชย์    

สมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงสถาปนา"อา" อีกพระองค์หนึ่งเป็นวังหน้า   คือกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ    หลังจากทรงดำรงตำแหน่งวังหน้าได้ ๗ ปีก็สิ้นพระชนม์

ชะตาของกรมหลวงรักษ์รณเรศในแผ่นดินนี้ทำท่าจะไปด้วยดี   โปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวง  และมีข่าวว่าอาจจะได้เป็นวังหน้าสืบต่อไปด้วย      
แต่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็มิได้สถาปนาเจ้านายองค์ใดเป็นวังหน้า   คงปล่อยให้ว่างอยู่จนสิ้นรัชกาล

กรมหลวงรักษ์รณเรศถือเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ มีอำนาจวาสนา   ทรงกำกับกรมวัง   ในหนังสือของศ.วอลเตอร์ เอฟ. เวลลา  ระบุว่าทรงมีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการศาล   ถวายนิตยภัตพระสงฆ์  จ่ายเบี้ยหวัดขุนนาง และมีอำนาจในการแต่งตั้งขุนนางด้วย    
ในเมื่อหน้าที่การงานใหญ่ๆโตๆ ย่อมเป็นช่องทางให้เกิดลาภสการนอกเหนือจากที่ควรได้อีกมาก   ก็ทำให้มีผู้ถวายฎีกาในพ.ศ. ๒๓๙๑  ว่าทรงรับสินบน  

พระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้ชำระความ   ก็ได้เรื่องอื่นๆพ่วงมาอีกเป็นขบวน รวมทั้งพฤติกรรมส่วนพระองค์ว่าไปหลงใหลรักใคร่นางละครนอก ซึ่งเป็นผู้ชายด้วยกัน  
ถึงกับรับเข้ามาเป็นหม่อมอยู่ในวัง  ห่มแพรสีแต่งกายอย่างสตรี  และมีพฤติกรรมเชิงชู้สาวด้วย


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ค. 06, 14:06
 ละครสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีละครในกับละครนอก   ละครในเป็นประเภทผู้หญิงเล่นล้วนๆ เล่นกันอยู่ในพระบรมมหาราชวังเท่านั้น  คนนอกไม่มีโอกาสดู  
เรื่องที่เล่นก็จำกัดแค่ ๔ เรื่องคือรามเกียรติ์ อิเหนา ดาหลัง และอุณรุท  แต่ในเชิงปฏิบัติ เล่นเฉพาะสองเรื่องแรก  สองเรื่องหลังเป็นบทละครเฉยๆ ไม่เคยได้ข่าวว่านำมาเล่นกัน  

ส่วนละครนอกจากนี้เป็นละครนอก  ขุนนางชาวบ้านเล่นกันดูกันได้   แต่ใช้ผู้ชายล้วน แม้แต่บทนางก็เป็นชาย  ทำนองเดียวกับละครสมัยเชกสเปียร์ หรืองิ้วโบราณของจีน

นางละครนอกที่กรมหลวงรักษ์รณเรศหลงใหล   เดาว่าเป็นหนุ่มร่างเล็ก ผิวพรรณดี หน้าตาดี    แต่งตัวเป็นผู้หญิงห่มสไบนุ่งโจงหรือนุ่งจีบคงไม่ขัดตา  เพราะเล่นละครก็สวมแบบนี้อยู่แล้ว    
อีกอย่างสาวสยามแท้ๆสมัยนั้น ดูในรูปวาดที่ฝรั่งบันทึกเอาไว้   หุ่นก็ล่ำบึกบึน แทบไม่ต่างจากผู้ชายนัก แล้วยังไว้ผมสั้นเกือบจะเท่าชาย  
ถ้าหนุ่มน้อยหน้าตาดีๆแต่งเป็นหญิง  ผัดหน้า ห่มแพรสวยๆ จริตกระตุ้งกระติ้ง  บางทีอาจจะสวยเกินหน้าหม่อมๆพวกหญิงแท้ของกรมหลวงท่านเสียอีกก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม  เรื่องนี้คงไม่ใช่ข้อหาร้ายแรงสุด    เรื่องร้ายแรงคือกรมหลวงฯท่านให้การว่าถ้าสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ แล้วก็จะไม่ยอมเป็นข้าของใคร      
ก็หมายความว่าใครก็ตามที่จะมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลต่อไป  ท่านไม่ยอมรับ
ตีความต่อไปว่าเมื่อไม่ยอมรับ  ท่านก็ต้องเป็นกบฏนั่นเอง   จะมัวนั่งเฉยๆไม่ยอมรับ แบบไม่รู้ไม่ชี้อยู่ในวังของท่านได้ยังไง


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ค. 06, 14:20
ในหนังสือของเวลล่า   เล่าความต่อไปว่า

" หลังจากที่ได้ทรงปรึกษาหารือกับบรรดาเสนาบดีของพระองค์แล้ว   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเจ้าอยู่หัวได้ทรงให้กรมหลวงรักษ์รณเรศเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์เป็นครั้งสุดท้าย
ได้ทรงสรุปความผิดทั้งมวล   แล้วตรัสด้วยความขมขื่นว่า

"ฉันได้คำนึงถึงความทะยานอันชั่วช้าของเธอที่อยากจะเป็นรัชทายาท   และอยากจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง
อย่าว่าแต่มนุษย์เลยที่จะให้เธอได้เป็น   แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่ไม่มีปากมีเสียง   มันก็ไม่ต้องการให้เธอเป็นกษัตริย์ของมัน"


ดังนั้นกรมหลวงรักษ์รณเรศถึงถูกตัดสินประหาร ด้วยวิธีที่เจ้านายได้รับกันคือสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์   เล่าเป็นเกร็ดในเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "เลาะวัง"เล่ม 1  ว่า

"ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า  กรมหลวงรักษ์รณเรศท่านดุ    เล่ากันต่อๆมาว่าเมื่อเอาพระองค์เข้าถุงแดง เตรียมประหารแล้ว    ชะรอยเพชฌฆาตจะมือไม้สั่น เพราะต้องประหารเจ้านายที่เคยบังคับบัญชากำกับตนมา  
จึงทุบท่อนจันทน์พลาด  ไม่สิ้นพระชนม์ในทันที    ว่ากันว่าทรงตวาดออกมาจากถุงแดงว่า
" ไอ้พวกนี้ กูสอนแล้วไม่จำ"


กรมหลวงรักษ์รณเรศสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๑ พระชนม์ได้ ๕๘ ปี


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ค. 06, 09:20
 พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑  ที่ได้ทรงกรมในรัชกาลที่ ๒ มีแค่ ๘ พระองค์  

กรมหลวงรักษ์รณเรศเป็นพระองค์สุดท้าย  พระอนุชาที่ลำดับต่อๆไป ล้วนกว่าจะได้ทรงกรม ก็ล่วงเลยมาถึงในรัชกาลที่ ๓

ส่วนพระโอรสในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท  ไม่มีองค์ไหนทรงกรมในรัชกาลที่ ๒
นับจำนวนพระโอรสที่ได้ทรงกรมมีน้อยมาก แค่ ๒ องค์เท่านั้นเองคือพระองค์เจ้าชายอสุนี กรมหมื่นเสนีเทพ ทรงกรมในรัชกาลที่ ๑  
ส่วนอีกองค์คือพระองค์เจ้าชายสังกะทัต  กรมหมื่นนรานุชิต ข้ามไปถึงรัชกาลที่ ๓ ถึงได้ทรงกรม  

ส่วนองค์อื่นๆแม้ว่ามีพระชนม์ยืนยาวมาถึงรัชกาลที่ ๔ อยู่หลายองค์ ก็ไม่ได้ทรงกรมแต่อย่างใด  ดำรงฐานันดรเป็นพระองค์เจ้าเฉยๆจนสิ้นพระชนม์
******************************
ส่วนเจ้านายวังหน้าในรัชกาลที่ ๒ ที่ทรงกรม  หมายถึงว่าเป็นพระโอรสในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  มีองค์เดียว คือ
พระองค์เจ้าชายประยงค์  กรมขุนธิเบศวร์บวร   เป็นกรมหมื่นในรัชกาลที่ ๒ และเป็นกรมขุนในรัชกาลที่ ๔  เป็นต้นราชสกุล บรรยงกะเสนา
ส่วนองค์อื่นๆกว่าจะได้ทรงกรม ก็นานถึงในรัชกาลที่ ๔   โน่นแน่ะค่ะ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 06, 09:02
 เจ้านายทรงกรมในรัชกาลที่ ๓

๑) พระองค์เจ้าหญิงวิลาส  กรมหมื่นอับสรสุดาเทพ
พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ  กล่าวกันว่าทรงพระสิริโฉมงดงามมาก   สมดังพระนาม
เป็นพระเจ้าลูกเธอที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงโปรดปรานอย่างมาก  ถึงกับทรงยกย่องว่าเป็น "นางแก้ว" ของแผ่นดิน
วัดเทพธิดาราม ใกล้ๆ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์   ก็คือวัดสร้างพระราชทานเจ้านายพระองค์นี้

สุนทรภู่เคยบวชที่วัดนี้  เคยเป็นครูถวายพระอักษรด้วย  

ด้วยนิสัยฝันเฟื่องของกวี   ชอบใช้จินตนาการ นำหน้าความเป็นจริง  จนหักห้ามใจไม่ได้  
สุนทรภู่จึงแต่ง "รำพันพิลาป"ขึ้นเพื่อรำพึงรำพันถึงความรักที่มีต่อ "โฉมเทพธิดามิ่งมารศรี" แล้วซุกซ่อนไว้ไม่ได้เผยแพร่   มาค้นพบกันในภายหลัง
ใน"รำพันพิลาป" สุนทรภู่สร้างเรื่องขึ้นว่า นอนหลับฝันไป เห็นเทพธิดาแวดล้อมด้วยนางบริวาร มาปรากฏกายให้เห็น    นางเทพธิดานั้นแต่งองค์ทรงเครื่องแบบพระราชบุตรี (ก็หมายถึงใครเสียอีกล่ะคะ)
ลักษณะการมาให้เห็นก็เหมือนเจ้านายสตรีแวดล้อมด้วยนางในจำนวนมาก


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 06, 09:05
 พอเสียงแซ่แลหาเห็นนารี.............. ล้วนสอดสีสาวน้อยนับร้อยพัน
ล้วนใส่ช้องป้องพักตร์ดูลักขณะ....... เหมือนนางสะสวยสมล้วนคมสัน
ที่เอกองค์ทรงศรีฉวีวรรณ................ ดั่งดวงจันทร์แจ่มฟ้าไม่ราคี
ทั้งคมขำล้ำนางสำอางสะอาด.......... โอษฐ์เหมือนชาดจิ้มเจิมเฉลิมศรี
ใส่เครื่องทรงมงกุฎดังบุตรี............... แก้วมณีเนาวรัตน์จำรัสเรือง
รูปจริตพิศไหนวิไลเลิศ.................... เหมือนหุ่นเชิดโฉมแช่มแฉล้มเหลือง
พอแลสบหลบชะม้ายชายชำเลือง..... ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม
ลำพระกรอ่อนชดประณตน้อม......... แลละม่อมเหมือนหนึ่งเขียนวิเชียรโฉม
หรือชาวสวรรค์ชั้นฟ้านภาโพยม....... มาประโลมโลกาให้อาวรณ์

สุนทรภู่ท่านมีโรคประจำตัวเหมือนพระเอกวรรณคดีไทยหลายต่อหลายคน   คือเป็นโรคหัวใจปุยนุ่น    
เห็นหญิงสาวสวยเป็นไม่ได้ ใจมันพลอยแต่จะปลิวตาม    
นี่ขนาดอยู่ในเพศบรรพชิต  ทำวัตรเช้าวัตรเย็น โรคนี้ก็ยังไม่ทุเลา    
เห็นชาวสวรรค์ แทนที่จะโสมนัสว่าตัวเองมีบุญ เทวดานางฟ้ามาเข้าฝัน แสดงว่าถ้าใกล้ตายก็จะไปสู่สุคติ
ควรจะเร่งทำบุญรักษาศีล  ท่านกลับนึกเกี้ยวนางฟ้าเสียนี่
   
๏ ซึ่งสั่งให้ไปสวรรค์หรือชันษา............. จะมรณาในปีนี้เป็นปีขาล
แม้นเหมือนปากอยากใคร่ตายหมายวิมาน............. ขอพบพานภัคินีของพี่ยา
ยังนึกเห็นเช่นโฉมประโลมโลก.............. ยิ่งเศร้าโศกแสนสวาทปรารถนา
ได้แนบชมสมคะเนสักเวลา..................... ถึงชีวาม้วยไม่อาลัยเลย
อยู่หลัดหลัดพลัดพรากไปฟากฟ้า.......... ให้ดิ้นโดยโหยหานิจจาเอ๋ย
ถึงชาตินี้พี่มิได้บุญไม่เคย....................... ขอชื่นเชยชาติหน้าด้วยอาวรณ์
แม้นรู้เหาะก็จะได้ตามไปด้วย............... สู้มอดม้วยมิได้ทิ้งมิ่งสมร
เสมอเนตรเชษฐาเวลานอน..................... จะกล่าวกลอนกล่อมประทับไว้กับทรวง
สายสุดใจไม่หลับจะรับขวัญ................... ร้องโอดพันพัดชาช้าลูกหลวง
ประโลมแก้วแววตาสุดาดวง................. ให้อุ่นทรวงไสยาสน์ไม่คลาดคลาย
ยามกลางวันบรรทมจะชมโฉม................ ขับประโลมข้างที่พัดวีถวาย
แม้นไม่ยิ้มหงิมเหงาจะเล่านิยาย............ เรื่องกระต่ายตื่นตูมเหลือมูมมาม
ไม่รู้เหาะก็มิได้ขึ้นไปเห็น........................ แม้นเหมือนเช่นชาวสุธาภาษาสยาม
ถ้ารับรักจักอุตส่าห์พยายาม.................... ไปตามความคิดคงได้ปลงทองฯ

ดิฉันเชื่อว่าท่านไม่ได้หลับฝันไปจริงๆหรอก   ผูกเรื่องฝันทั้งตื่น  ลับคารมกวีโดยมีกรมหมื่นอับสรสุดาเทพเป็นนางแบบเสียมากกว่า  
แต่งเรื่องนี้ ท่านต้องซุกซ่อนไว้บนเพดานกุฏิ เพราะความแพร่ออกไปนอกจากต้องอาบัติแล้ว อาจหัวขาดอีกต่างหาก


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 06, 09:15
 ในฝันนั้นสุนทรภู่ถามชื่อเทพธิดา แต่นางเมินสะเทิ้นอาย ไม่ยอมบอก    
จนนางเมขลามาบอกชื่อให้  ว่านางฟ้าคนสวยชื่อ "โฉมเทพธิดามิ่งมารศรี"

เห็นโฉมยงองค์เอกเมขลา............ ชูจินดาดวงสว่างมากลางสวรรค์
รัศมีสีเปล่งดังเพ็งจันทร์............... พระรำพันกรุณาด้วยปรานี
ว่านวลหงส์องค์นี้อยู่ชั้นฟ้า.......... ชื่อโฉมเทพธิดามิ่งมารศรี
วิมานเรียงเคียงกันทุกวันนี้.......... เหมือนหนึ่งพี่น้องสนิทร่วมจิตใจ
จะให้แก้วแล้วก็ว่าไปหาเถิด.......... มิให้เกิดการระแวงแหนงไฉน
ที่ขัดข้องหมองหมางเป็นอย่างไร... จะผันแปรแก้ไขด้วยใกล้เคียงฯ

อ่านมาถึงตอนนี้แล้วก็มีนัยยะเหมือนกับว่า มีแม่สื่อโผล่เข้ามาอีกรายหนึ่ง   คือนางฟ้าชื่อเมขลา
บทบาทคล้ายๆว่าเป็นเจ้านายสตรีหรืออย่างน้อยก็เจ้าจอมหม่อมห้าม หรืออย่างต่ำสุดก็นางข้าหลวงสำคัญอีกสักคนที่รู้เห็นเป็นใจ เปิดหนทางให้  
แต่มีจริงหรือสุนทรภู่คิดฝันไปเองทั้งหมดก็ไม่ทราบ    ถ้าถามความเห็นดิฉันเห็นว่าน่าจะวาดวิมานในอากาศไปเอง
แต่ครูบาอาจารย์บางท่านเชื่อกันจริงจังถึงกับเห็นว่า "ลอบรักกัน"  
ถามหาข้อมูลก็ไม่มีอย่างอื่นนอกไปจากในรำพันพิลาป


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 06, 12:49
 พระนามของกรมหมื่นอับสรสุดาเทพปรากฎในวรรณคดี เรื่อง"คุณโม่ง" แต่งโดยคุณสุวรรณ กวีหญิงแห่งราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ ๓

คุณสุวรรณเป็นกุลสตรีลูกผู้ดีไทย   บิดาคือพระยาอุไทยธรรม  เป็นเชื้อสายราชินิกุล ณ บางช้าง    เธอก็เลยมีโอกาสถวายตัวเป็นนางข้าหลวงในกรมหมื่นอับสรสุดาเทพ
เขาว่ากันว่าคุณสุวรรณเพี้ยนๆ  วัดจากผลงานเรื่อง พระมะเหลเถไถ และ อุณรุทร้อยเรื่อง

เพี้ยนหรือไม่เพี้ยน คุณสุวรรณก็บันทึกเรื่องเลสเบี้ยนออกมาได้เห็นภาพชัดเจน ถึง ๒ เรื่อง คือ "หม่อมเป็ดสวรรค์" และ "คุณโม่ง"
พูดถึงพฤติกรรมรักร่วมเพศของสาวชาววัง  ชื่อ หม่อมขำ และหม่อมสุด

หม่อมสุดเป็นหม่อมในวังหน้ารัชกาลที่ ๓ คือกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ    ทรงดำรงตำแหน่งได้ ๗ ปีก็สิ้นพระชนม์
ตามธรรมเนียม เมื่อไม่มีวังหน้าแล้ว  ขุนนางวังหน้าก็ย้ายมาสังกัดวังหลวง    บรรดาหม่อมห้ามนางในทั้งหลายก็มาอยู่กับเจ้านายฝ่ายในของวังหลวง แล้วแต่จะหาทางฝากตัวกันได้

หม่อมสุดได้มาเป็นนางข้าหลวงในกรมหมื่นอับสรสุดาเทพ   ลงล็อคกลายเป็นดี้ของทอมชื่อหม่อมขำ ข้าหลวงของตำหนักนี้


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 06, 12:59
เจ้านายสตรีมักไม่บรรทมองค์เดียว  แต่มีนางข้าหลวงอยู่เวรเฝ้าพระบรรทมอยู่ด้วย     บางทีก็มีพระพี่เลี้ยง
ก่อนกรมหมื่นอับปรสุดาเทพเข้าบรรทม    หม่อมขำอยู่เวรเฝ้า หม่อมสุดอ่านหนังสือถวาย  
เข้าใจว่าเจ้านายบรรทมหลับแล้ว  ทั้งสองก็เลยดับเทียน  คลุมโปงเล่นจ้ำจี้ บัดสีบัดเถลิงกันอยู่ปลายแท่นบรรทม  

ครั้นพระองค์ทรงพลิกพระกายกลับ        
หมายว่าพระบรรทมหลับสนิทนิ่ง
ก็สมจิตคิดไว้ใจประวิง
ก็คลานชิงกันขยับดับเทียนชัย

เข้าชุลมุนวุ่นวายอยู่ปลายพระบาท
อุตลุดอุดจาดทำอาจโถง
เอาเพลาะหอมกรอมหุ้มกันคลุมโปง
จึงตรัสเรียกคุณโม่งแต่นั้นมา

กรมหมื่นอับสรสุดาเทพยังไม่บรรทมหลับ  ได้ยินเสียงนางข้าหลวงสองคนก็เลยทรงกระแอมให้รู้   เพื่อให้หยุดกิจกรรมกัน
หลังจากนั้นก็ทรงตั้งฉายาให้หม่อมสุดว่า "คุณโม่ง" เพราะเอาผ้าห่มคลุมโปงนี่เอง

เรื่องนี้รู้กันเกรียวกราวทั่วตำหนัก    กลายเป็นเรื่องให้คุณสุวรรณเอามาเขียนแซว  ได้อ่านกันมาหนึ่งร้อยกว่าปีให้หลัง เป็นตำนานเลสเบี้ยนไทยของแท้


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 06, 13:12
 ขอเลี้ยวแยกซอยออกไปหน่อยเมื่อมาพูดถึงเรื่องรักร่วมเพศ

รักร่วมเพศระหว่างชาย มีบันทึกไว้น้อยมาก  ในประวัติศาสตร์มีกรณีของกรมหลวงรักษ์รณเรศที่เด่นชัดที่สุด   ในวรรณคดีไทยเท่าที่นึกในตอนนี้ยังไม่เห็นพระเอกพระรองคนไหนมีรสนิยมแบบนี้
เห็นแต่เจ้าชู้กันเป็นไฟ

แต่หญิงรักหญิงหรือ "การเล่นเพื่อน" กลับมีเอ่ยเอาไว้หลายแห่ง   แทบจะเรียกได้ว่า "การเล่นเพื่อน" เป็นของปกติของสาวชาววัง
ในเรื่องนางนพมาศ หรือตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่นักวิชาการบางคนเชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ
ก็มีเรื่องของนางนกไส้และนกอะไรอีกตัว ดูเหมือนนกกระเต็น ผูกสมัครรักใคร่กันแบบเลสเบี้ยน  
ในเรื่องบอกไว้ว่าไม่เป็นที่พึงประสงค์    กวีผู้แต่งยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อสอนใจผู้หญิง ไม่ให้เอาเยี่ยงอย่าง

เลสเบี้ยนเป็นที่แพร่หลายแค่ไหน  คงพอเดาได้   สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงวิตกเรื่องนี้ถึงกับมีพระบรมราโชวาทพระราชทานบรรดาพระราชธิดาว่า
" มีผัวมีเถิด  แต่ได้อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย"
หมายความว่ามิได้ทรงรังเกียจที่พระราชธิดาจะมีพระสวามี   แต่อย่ามีเกิร์ลเฟรนด์ก็แล้วกัน

ในขุนช้างขุนแผนก็มีกล่าวเอาไว้เหมือนกันค่ะ


เลสเบี้ยนแพร่หลายมาจนถึงรัชกาลที่ ๕    จนคำว่า "เพื่อน"ในหมู่สาวชาววังกลายเป็นคำต้องห้าม   ใครเผลอพูดว่าเป็นเพื่อนกับใครไม่ได้เป็นอันขาด   เพราะเพื่อนในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเพื่อน  แต่แปลว่าแฟนผู้หญิงของผู้หญิง
แม่พลอยกับช้อย จึงเป็นได้แค่ "คนรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่เด็กๆ" ไม่ใช่เพื่อนนะจ๊ะ ขอให้รู้ไว้
แม่พลอยเองความที่เป็นคนสวย  ถูกทอมในวังมาชวนไปเป็นดี้หลายหนแล้ว  ต้องคอยวิ่งหนีไม่ยอมสุงสิงด้วย

โทษของเลสเบี้ยนไม่ถึงกับถูกประหาร เฆี่ยนหรือคุมขัง   แต่ว่าถูกสักหน้า เป็นจุดเล็กๆ ๓ จุด  เป็นเครื่องหมายว่าห้ามเข้าวังอีกต่อไป


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: Tiwa ที่ 07 มิ.ย. 06, 10:12
 ค.ห. ที่ 29 มีข้อมูลต่างกันหน่อยครับ
กรมหมื่นเทพพลภักดิ์
จากฐานข้อมูลของกระผม เป็นเจ้านายในรัชกาลที่ ๑ ที่ได้ทรงกรมในสมัยพระบรมราชชนก
ซึ่งมีอยู่ 2 พระองค์ เท่านั้น พระนามจึงคล้องจองกัน คือ กรมหมื่นศักดิพลเสพ-กรมหมื่นเทพพลภักดิ์
เมื่อปี พ.ศ. 2350 ครับ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: Tiwa ที่ 07 มิ.ย. 06, 10:14
 ค.ห. 47

เพิ่มเติมเจ้านายใน ร. 1 ที่ทรงกรมใน ร. 2 อีกพระองค์หนึ่งครับ
คือ พระองค์เจ้าฉิม กรมหมื่นนรินทรเทพ
โอรสของกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์และพระเจ้าน้องนางเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (ใน ร.1)

ขอบพระคุณครับ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 06, 10:24
ขอบคุณค่ะคุณ Tiwa
เช็คแล้วเป็นอย่างที่ว่า  ดิฉันอ่านข้อมูลพลาดไปเอง

อยากจะเชิญคุณ Tiwa มาช่วยรวบรวมพระนามเจ้านายทรงกรม เข้าใจว่าคุณคงมีหนังสือเฉลิมพระยศเจ้านาย  ดิฉันไม่มี ต้องลำดับเอาเองจากราชสกุลวงศ์
คงจะได้ประโยชน์เป็นล่ำเป็นสันมากกว่าปล่อยให้ดิฉันรวบรวมเองไปเรื่อยๆ   แล้วคุณคอยเช็คว่าผิดตรงไหน พอเจอก็โผล่เข้ามาบอก
คนเดียวทำ อาจจะหลงหูหลงตาไปได้ง่าย

ขอเชิญให้คุณรวบรวมพระนามเจ้านายทรงกรมในรัชกาลที่ ๔  ไหวไหมคะ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 06, 08:32
 ต่อจากค.ห. ๔๘

๒) พระองค์เจ้าชายศิริวงศ์  กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์  สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนม์ได้ ๒๘ ปีเท่านั้นเอง
ทรงมีพระธิดาองค์หนึ่ง พระนามว่าหม่อมเจ้าหญิงรำเพย   ต่อมาคือสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๔  
ทรงเป็นต้นราชสกุล ศิริวงศ์

๓) พระองค์เจ้าชายคเนจร   กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์  ทรงกำกับกรมช่างมุก
ทรงเป็นต้นราชสกุล คเนจร

นับพระราชโอรสและธิดาในรัชกาลที่ ๓ ได้ ๓ พระองค์เท่านั้นที่ทรงกรมในรัชกาลที่ ๓   พระองค์อื่นๆมาทรงกรมในรัชกาลที่ ๔


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: Tiwa ที่ 09 มิ.ย. 06, 09:11
 ตอบ คห 56

รับบัญชาท่านอาจารย์ขอรับ กระผมไม่มีหนังสือเฉลิมพระยศเจ้านายใกล้ตัวหรอกครับ อาศัยฐานข้อมูลที่สะสมมาเรื่อย
และเปรียบเทียบกับพระราชพงศาวดาร ซึ่งได้บันทึกการเฉลิมพระยศเจ้านายในรัชกาลทุกครั้งไป

หยุดยาวครั้งนี้ ผมจะไปกางเต็นท์ปลีกวิเวกบนยอดเขา ถ้าแบกโน้ตบุคตัวใหม่ขึ้นไปไหว ผมอาจจะ
ส่งการบ้านทางเน็ต ทดสอบระบบ GPRS กลางป่ามาให้อาจารย์ตรวจสอบรอบแรกได้ครับ

เอ่อ มีคำถามครับ.... เจ้านายทรงกรม รวมถึงเจ้านายได้เลื่อนกรมด้วยหรือเปล่าครับ


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 06, 08:28
 ถ้าคุณ Tiwa จะเข้ามาช่วยเรื่องนี้ ก็ยินดีค่ะ   เปิดรับสมาชิกทุกท่านอยู่แล้ว   คงจะเบาแรงดิฉันลงไปได้มาก
ในกระทู้นี้ขอเพียงเจ้านายที่ทรงได้รับการทรงกรมครั้งแรก  อยากนับว่าในแต่ละรัชกาลมีการแต่งตั่งกี่องค์  ไม่รวมเลื่อนกรม  


กระทู้: เจ้านายทรงกรม
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 21 มิ.ย. 06, 19:46
 รออ่านค่ะ รออ่านท่านอาจารย์