เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 16:18



กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 16:18
ความเป็นมา

วรรณคดีเรื่องอิเหนาเป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีคำเล่าสืบทอดกันมาว่าเจ้าฟ้ากุณฑลกับเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชธิดาของพระเจ้าบรมโกศกับเจ้าฟ้าสังวาลย์นิพนธ์เป็นบทละคร    จากคำบอกเล่าของนางข้าหลวงมลายูที่มาจากปัตตานีเล่าถวาย    เจ้าฟ้ามงกุฎนิพนธ์เรื่องอิเหนา  ส่วนเจ้าฟ้ากุณฑลนิพนธ์เรื่องดาหลัง หรืออิเหนาใหญ่
อิเหนาใหญ่หรือดาหลังไม่เป็นที่นิยมนัก  แต่ยังเหลือรอดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์   ส่วนอิเหนาของเจ้าฟ้ามงกุฏเป็นที่นิยมกันแพร่หลายในตอนปลายอยุธยา    แต่ต้นฉบับขาดหายไปตอนเสียกรุง   แต่ก็ยังมีผู้จดจำเรื่องราวได้  จึงมีการแต่งขึ้นมาใหม่เฉพาะตอน ในสมัยธนบุรี ตือ อิเหนาคำฉันท์ โดยหลวงสรวิชิต(ต่อมาคือเจ้าพระยาพระคลัง(หน)
อิเหนาที่แต่งเป็นฉันท์มีขึ้นอีกครั้งในรัชกาลที่ ๕ เป็นพระบวรราชนิพนธ์ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ส่วนอิเหนาบทละคร นอกจากในสมัยปลายอยุธยาแล้ว  เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นตอนๆ รวม ๗ เล่มสมุดไทย  เข้าใจว่าเป็นสำนวนเดิมจากสมัยอยุธยา


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 17:18
    ส่วนอิเหนาฉบับใจความสมบูรณ์ ไพเราะยอดเยี่ยมด้านภาษาและการประพันธ์บทละคร คืออิเหนาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2

    วิกิพีเดีย รวบรวมอิเหนาฉบับต่างๆเอาไว้ตามนี้

    บทละครเรื่องอิเหนาครั้งกรุงเก่า. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราช มีอยู่ตอนเดียว เข้าใจว่าเป็นสำนวนครั้งกรุงเก่า
    อิเหนาคำฉันท์. งานนิพนธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งในสมัยธนบุรี จับตอนอิเหนาลักบุษบาไปซ่อนไว้ในถ้ำ
    บทละครเรื่องอิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
    บทละครเรื่องดาหลัง. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
    บทละครเรื่องอิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    บทมโหรีเรื่องอิเหนา. ของเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง) ในรัชกาลที่ 2
    นิราศอิเหนา. ของสุนทรภู่ ตอนลมหอบ
    บทสักวาเรื่องอิเหนา. แต่งในสมัยรัชกาลที่ 3
    อิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนอุณากรรณ
    อิเหนาคำฉันท์ พระนิพนธ์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ในรัชกาลที่ 4 ตอนเข้าห้องจินตะหรา
    บทเจรจาละครเรื่องอิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ รวม 68 บท
    บทละครพูดเรื่องอิเหนา. พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ตอนศึกกระหมังกุหนิง
    บทละครดึกดำบรรพ์เรื่องอิเหนา. พระนิพนธ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตอนใช้บน
    บทสักวาเรื่องอิเหนา เล่นถวายในรัชกาลที่ 5 ตอนเสี่ยงเทียน ตอนชนไก่ และตอนสึกชี
    หิกะยัต ปันหยี สมิรัง. พระนิพนธ์แปล ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงแปลจากต้นฉบับภาษามลายู
    อิเหนาฉบับอารีนครา. แปลจากอิเหนาชวา ผู้แต่งชื่ออารีนครา ขุนนิกรการประกิจ เป็นผู้แปล
    ปันหยี สะมิหรัง คำกลอน. น.อ.หลวงสำรวจวิถีสมุทร ประพันธ์จากเรื่อง หิกะยัต ปันหยี สมิรัง
    เล่าเรื่องอิเหนา รศ. วิเชียร เกษประทุม
 


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 12, 21:24
   ส่วนอิเหนาฉบับสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงแปลเมื่อครั้งทรงพำนักอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย     เจ้าฟ้าพระองค์นี้แม้ว่าทรงสำเร็จวิชาการทหารจากเยอรมนี แต่โปรดศิลปะทั้งด้านดนตรีและวรรณคดี    เมื่อทรงมีเวลาว่าง จึงสร้างสรรค์พระนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นมา จากต้นฉบับภาษามลายู เรื่อง"หิกะยัต  ปันหยี  สะมิหรัง"   ซึ่งแปลมาจากต้นฉบับภาษาชวาอีกทีหนึ่ง    ต้นฉบับแรก เป็นหนังสือเก็บไว้ในห้องสมุดของสมาคมศิลปวิทยาเมืองบะตาเวีย( ปัตตาเวีย) 
   เรื่องนี้ มีเค้าลงรอยกับเรื่องอิเหนาก็ตรงชื่อเมืองที่คล้ายกัน  ชื่อคนและวงศ์วาร ดูออกว่ามาจากที่เดียวกัน   แต่ว่าเนื้อเรื่องแตกต่างกันไป   
   เดิมเราเข้าใจกันว่าอิเหนาเป็นเรื่องพงศาวดารของชวา   แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯทรงพบว่า เรื่องปันหยี สะมิหรังนี้เป็นนิทาน  ไม่ใช่พงศาวดาร   


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 12, 22:00
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงแถลงถึงวิธีการแปลว่า
" ในการแปลหนังสือนี้   ข้าพเจ้ามิได้ใช้วิธีแปลด้น     ได้พยายามที่สุดที่จะแปลให้ตรงคำ ตรงความตลอดไป    เพื่อผู้อ่านจะได้เห็นสำนวนหนังสือของกวีชวา    ซึ่งอ่านโดยพิจารณาจะเห็นได้ว่าสำนวนที่เขาใช้นั้นก็มีท่วงทีนักเลงในเชิงกวีอยู่ไม่น้อย"
อย่างไรก็ตาม   ศัพท์ที่ต้นฉบับเดิมออกเสียงเพี้ยนไปจากของไทยเล็กน้อย    ถ้าคำไหนเป็นคำที่ไทยใช้กันแพร่หลายในพระราชนิพนธ์ "อิเหนา" ก็ทรงเลือกออกเสียงแบบไทย

ตอนต้นของเรื่อง  เล่าถึงที่มาว่าเกิดขึ้นในสมัยที่โลกมนุษย์ยังมีประชากรไม่มากนัก   จึงมีชาวสวรรค์หรือเทวดาพร้อมใจกันจุติลงมาในโลกมนุษย์  เพื่อจะให้เกิดเป็นละครและตำนานสืบต่อมา
เทวดาทั้ง 4 องค์ก็จุติมาเกิดเป็น ระตู  คำนี้ในเรื่องนี้หมายถึงกษัตริย์วงศ์อสัญแดหวาหรือวงศ์เทวดา  แต่ในอิเหนา ระตูหมายถึงเจ้าเมืองชั้นต่ำๆคือวงศ์ธรรมดาที่ไม่ใช่วงศ์เทวดา
สี่องค์ที่ว่าคือระตูกุรีปั่น   (อิเหนาเรียกว่ากุเรปัน)  ระตูดาหา  ระตูกากะหลัง (อิเหนาเรียกว่ากาหลัง)   ส่วนองค์ที่สี่เป็นหญิง มีพระนามว่าพระนางบุตรีบีกู คันฑะส้าหรี   


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 12, 18:05
  เรื่องราวของระตู (ในอิเหนาเรียกว่าระเด่น) ทั้งสี่นี้ ก็กลายมาเป็นนิทานให้พวกดาลัง( คนเชิดหนัง)นำไปเล่นกัน  ตามจุดมุ่งหมายในการจุติของเทวดาทั้ง ๔ องค์
   นิทานเรื่องนี้ต่างจากอิเหนาตรงที่ วงศ์อสัญแดหวาของอิเหนามี 4 เมืองด้วยกัน   แต่ในเรื่องนี้มีแค่ 3 เมืองเพราะเทพองค์ที่ 4 เป็นผู้หญิง ไม่ครองเมืองแต่ไปบวชเป็น "บิกู" หรือนักบวชหญิงอยู่บนภูเขา
   ความเข้มข้นของเนื้อเรื่องอยู่ที่สองเมืองแรกคือกรุงกุรีปั่น และกรุงดาหา  คล้ายกับชื่อเมืองในอิเหนา คือกุเรปันและดาหา   แต่ตัวเอกดูจะเป็นท้าวดาหามากกว่าท้าวกุรีปั่น  แม้ว่าท้าวกุรีปั่นเป็นพ่อของพระเอก ผู้มีนามว่าระเด่นอินู  กรตะปาตี   เป็นเจ้าชายสิริโฉมงดงามตามแบบพระเอกในนิทานทั้งหลาย
   สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ทรงทำเชิงอรรถไว้ตลอดในเรื่องนี้  แสดงว่าทรงค้นคว้าเรื่องภาษามาอย่างละเอียดลออ ท้ั้งฉบับมลายูและอิเหนาฉบับไทย    ชื่อของพระเอกในเรื่อง ทรงระบุว่า  อินู ก็คืออิเหนา  ส่วนกรตะปาตี  ตรงกับกะรัตปาตี ซึ่งเป็นสร้อยของชื่ออิเหนาฉบับไทย  กรตะแปลว่าสงบก็ได้ แปลว่าเมืองก็ได้


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 12, 20:09
ระเด่นอินูพระเอกเรื่องนี้ เหมือนอิเหนาตรงที่รูปงามเป็นที่พึงพอใจของทั้งชายและหญิง  แต่นิสัยไม่เหมือนกัน   เพราะระเด่นอินูนอกจากไม่เจ้าชู้แล้วยังเป็นคนใจบุญ ชอบทำทาน  พูดจาไพเราะอ่อนหวานและประพฤติตัวดีงาม  เป็นที่รักของประชาชน   ส่วนที่เหมือนอิเหนากลับไม่ใช่นิสัย แต่เป็นตัวประกอบคือมีพี่เลี้ยง 4 คนเหมือนอิเหนา ชื่อยะรุเดะ  ปูนตา การะตาหลา และประสันตา    โดยเฉพาะประสันตา เป็นคนตลกขบขันเจ้าคารมเหมือนกัน

ตัวละครสำคัญอีกคนหนึ่งที่ไม่มีในฉบับอิเหนาของไทยคือพระโอรสเมืองที่สาม คือเมืองของสังระตู กากะหลัง     เจ้าชายทรงพระนามว่าระเด่นสิงหะมนตรี   มีนิสัยตรงกันข้ามกับพระเอก คือเป็นเด็กสปอยล์  เอาแต่ใจ   ชอบให้คนสรรเสริญเยินยอ  ส่วนระตูพระบิดาก็เอาแต่ตามใจพระโอรส   จะข่มเหงรังแกใครก็ไม่ว่าไม่เตือน  เจ้าชายจึงเติบโตมาเป็นคนก้าวร้าวหยาบคาย

ส่วนเมืองที่สองคือเมืองดาหา   ระตูดาหาไม่มีพระโอรส มีแต่พระธิดา 2 องค์  องค์โตประสูติจากประไหมสุหรี   พระบุตรีทรงพระนามว่า ก้าหลุ  จันตะหรา กิระหนา   เป็นหญิงงามหาผู้เสมอเหมือนมิได้     สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯทรงถอดจากภาษามลายู บรรยายว่า

" นาสิกดุจกลีบกระเทียม  นัยเนตรดุจดวงดาราทิศบูรพา  ขนเนตรงอนพริ้ง   นิ้วหัตถ์เรียวประดุจขนเม่น   เพลาน่องดังท้อง(อุ้ง)เมล็ดข้าวเปลือก    สันบาทดังฟองไข่นก   ปรางดังมะม่วงป่าห้อยอยู่   ขนงโค้งดังงากุญชร    ริมโอษฐ์ดังโค้งมะนาวตัด   เป็นอันยากที่จะเล่าแถลงให้พิสดารกว่านี้"


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 12, 09:10
โวหารกวีในแต่ละประเทศ มีมาตรฐานความงามของหญิงสาวกันคนละแบบ   ทำให้เกิดการเปรียบเทียบแปลกๆ แตกต่างไปจากนางงามของไทย
อย่างข้างบนนี้ กวีชวามองจมูกนางว่างามเหมือนกลีบกระเทียม    คงนึกออกเวลาแกะกระเทียมว่ากลีบเป็นแบบไหน  เห็นทีจมูกนางเอกของอิเหนาจะเป็นสันโค้ง  อย่างที่คนไทยเรียกว่าจมูกขอ   
ขอในที่นี้คือตะขอ หรือตาขอ   ไม่ใช่"ขอ" ที่เป็นคำกริยา
ของไทยเราก็นิยมจมูกตะขอเหมือนกัน  เห็นได้จากกลอนกลบทที่ว่า "เจ้างามนาสายลดังกลขอ"  ถ้านึกไม่ออกว่าจมูกตะของามอย่างไรขอให้นึกถึงพักตร์ของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย   เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงชมนางของพระองค์ไว้ว่า
นาสาอ่าแลเลิศ               งามประเสริฐเกิดด้วยบุญ
เหมือนของามลมุน            ลม่อมเจ้าเพราเพริศจริง

ในนิทานเวตาลของน.ม.ส. ซึ่งเป็นฉบับแปลมาจากภาษาอังกฤษ  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงชมนางงามไว้อีกแบบหนึ่ง แตกต่างจากกวีชวาว่า

"นางนั้นมีหน้าเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ มีผมดังเมฆสีนิลโลหิตซึ่งอุ้มฝนห้อยอยู่บนฟ้า มีผิวซึ่งเย้ยดอกมะลิให้ได้อาย มีตาเหมือนเนื้อทรายซึ่งระแวงภัย ริมฝีปากเหมือนดอกทับทิม คอเหมือนคอนกเขา มือเหมือนสีแห่งท้องสังข์ เอวเหมือนเอวเสือดาว บาทเหมือนดอกบัว พร้อมด้วยลักษณะนางงามอย่างแขก ซึ่งไทยเราแต่งกาพย์กลอนก็พลอยเอาอย่างมาเห็นงามไปด้วย "


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 12, 11:35
ส่วนพระธิดาองค์เล็กของระตูดาหา ชื่อก้าหลุ อาหยัง  เกิดจากมเหสีอันดับสาม เรียกตามตำแหน่งว่า ลิกู  ตรงกับในอิเหนาของไทย   ลิกูในอิเหนาไทยไม่มีบทบาทและไม่มีปากไม่มีเสียงอะไรในเรื่อง  แต่ลิกูในอิเหนาฉบับนี้มีพิษสงร้ายกาจคล้ายๆเมียน้อยในนิทานพื้นบ้านของไทยหลายเรื่อง     เดิมนางเป็นหญิงชาวบ้านร้านตลาด  ไม่มีเชื้อสายเทือกเถาเหล่ากอ  แต่ว่าคงจะเป็นหญิงงามจึงได้ขึ้นมาเป็นนางในวัง     และยังสาวอยู่มาก   พระสวามีจึงโปรดปรานและเกรงใจ   จะทำฤทธิ์ทำเดชอย่างไรก็ไม่ห้ามปราม
ทั้งแม่ทั้งลูกก็เลยร้ายพอกัน    ลูกสาวชอบออกฤทธิ์ตีโพยตีพายถ้าไม่ได้ดังใจ  ถึงขั้นลงนอนดิ้น  ในพระนิพนธ์ใช้คำว่า " เธอก็มักจะกันแสงกลิ้งไปกลิ้งมาที่พื้น"  มีนิสัยช่างฟ้อง ชอบแย่งของคนอื่น โดยเฉพาะพี่สาว
น้องสาวมีนิสัยเลวเท่าใด พี่สาวก็ดีงามน่ารักมากเท่านั้น   สงบเสงี่ยม เรียบร้อย  ยิ่งโตเป็นสาวก็ยิ่งงาม  ทำให้น้องสาวริษยา ทะเยอทะยานจะแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นอยู่เสมอ
ส่วนระตูดาหา เป็นพ่อที่ใช้ไม่ได้ในหลายเรื่อง   เรื่องหนึ่งก็คือลำเอียงรักลูกสาวคนเล็กจนออกนอกหน้า     ลูกคนเล็กอยากได้อะไรเป็นต้องได้   พ่อตามใจตะพึดตะพือไม่รู้ผิดรู้ถูก  รู้แต่ว่าลูกร้องขึ้นมาจะเอาโน่นเอานี่ก็ยอมทุกอย่าง   แม้ว่าจะเป็นการเบียดเบียนพี่สาว พ่อก็ไม่ถือสา


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 12, 18:20
วันหนึ่งก็มีราชทูตจากกรุงกุรีปั่นนำพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการมาเจริญพระราชไมตรีกับระตูดาหา ขอเป็นทองแผ่นเดียวกัน ระหว่างระเด่นอินูราชบุตรกุรีปั่นและระเด่นจันตะหรา กิระหนา     ระตูดาหาก็ชื่นชมโสมนัสยกลูกสาวให้ลูกชายของพี่ชายด้วยความเต็มใจ 
ส่วนก้าหลุ อาหยังก็เป็นธรรมดา เดือดดิ้นเป็นไฟท่วมตัวขึ้นมาว่าตัวเองไม่ดีตรงไหน  ทำให้ลิกูผู้เป็นแม่พลอยเดือดดาลไปด้วย   เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่  เกินกว่าระตูดาหาจะหาทางตามใจลูกสาวคนเล็กได้อีก      เพราะระเด่นอินูมิใช่ข้าวของที่พ่อจะสรรหามาให้ได้    ทั้งแม่ทั้งลูกเกิดริษยาระเด่นจันตะหราและประไหมสุหรีขึ้นมาจนระงับไม่อยู่อีกต่อไป    ลิกูก็เลยวางแผนทำข้าวหมัก หรือที่ไทยเรียกว่าข้าวหมาก ขึ้นมา เจือยาพิษลงไปในนั้น แล้วนำไปถวายประไหมสุหรี โดยหวังว่าประไหมสุหรีและพระธิดาอาจจะเสวยด้วยกัน   จะได้ตายพร้อมกันไปเสียทั้งคู่ให้หมดเสี้ยนหนาม


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 12, 09:00
   ก่อนวางยาพิษ  ลิกูหาทางหนีทีไล่ให้ตัวเองพ้นผิดจากระตูดาหา   ด้วยการเรียกน้องชายชื่อมนตรีมาพบแล้วสั่งให้ไปหาหมอเวทมนตร์ในการทำเสน่ห์ให้พบ   นางจะได้ทำเสน่ห์ให้พระสวามีหลงใหลโงหัวไม่ขึ้น  ทั้งๆเดิมก็เป็นที่โปรดปรานอยู่แล้ว  ก็ยังต้องการให้มากกว่านี้อีก
   มนตรีก็ออกเดินทางดั้นด้นไปตามป่าเขาลำเนาไพรจนพบนักพรตบำเพ็ญตบะบนยอดเขา   ก็เข้าไปเล่าเรื่องให้ฟัง  นักพรตนั้นก็ยินดีจะทำให้ ด้วยการคายชานหมากให้มนตรีห่อผ้าเช็ดหน้าเก็บไว้     มนตรีก็ลากลับมาหาพี่สาว  ส่งชานหมากพร้อมกับเล่าเรื่องให้ฟัง  ลิกูก็เก็บชานหมากไว้ใต้หมอน พร้อมกับอธิษฐาน เป็นอันลุล่วงไปขั้นหนึ่ง

    แผนชั่วของลิกูเป็นผลสำเร็จ  ประไหมสุหรีเสวยข้าวหมากเข้าไปก็ประชวรหนัก ถึงกับสิ้นพระชนม์  แต่ระเด่นจันตะหรามิได้เสวยด้วยจึงรอดไปได้       ระตูดาหาพิโรธหนัก ให้สอบสวนทวนความถึงสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น บรรดานางกำนัลก็ให้การตรงกันว่าลิกูนำข้าวหมากมาถวาย   เมื่อประไหมสุหรีเสวยเข้าไปก็อาเจียนประชวรหนักจนสิ้นพระชนม์    ระตูดาหาก็พิโรธหนักว่าลิกูเป็นตัวการ  ถือดาบเดินขึ้นตำหนักตั้งพระทัยจะไปประหารนางเสียให้สมกับความผิด
       


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 12, 22:12
        พระนางผู้ทรงตำแหน่งลิกูมิได้ครั่นคร้ามเพราะว่ามีชานหมากเสน่ห์เป็นเครื่องรางคุ้มกันภัยอยู่ชั้นหนึ่งแล้ว    แต่เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัย ๑๐๐%  นางก็ขึ้นนอนบนพระแท่น  เปลื้องผ้าออกเผยให้เห็นส่วนสำคัญ    ตอนนี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงถอดจากภาษามลายูอย่างสละสลวยตามสำนวนต้นฉบับ  มีวรรณศิลป์เสียจนบรรดาเด็กวิทย์ในเรือนไทยอาจจะไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร  ต้องดูบริบทเป็นหลัก

        " พลางเผยออกอุระประเทศอันประดับด้วยคู่หนึ่งซึ่งวาปีกษิรากร    ตลอดไปถึงมธุวารีชลาลัย"

        เสน่ห์ก็ทำงานได้ผล  ระตูดาหามือไม้อ่อน ดาบร่วงจากพระหัตถ์   โทสะเหือดหายไปกลายเป็นอารมณ์รักใคร่เอ็นดูทั้งแม่และลูกสาว    ลืมประไหมสุหรีเสียสิ้น  ถือว่าตายแล้วก็จบกันไป     ก็เลยทรงค้างอยู่ในตำหนักของลิกู ปล่อยให้ระเด่นจันตะหราคร่ำครวญอยู่กับพระศพพระมารดาเพียงผู้เดียว
 
        เมื่อระตูเสด็จกลับพระราชมณเฑียร ก็โปรดให้เชิญพระศพปประไหมสุหรีไปฝัง ณ สุสานตามพระเกียรติยศ      ดูท่าทีพระองค์ก็มิได้ทรงอาลัยเท่าใดนัก  ยังคงหลงใหลลิกูเช่นเก่าหรือหนักขึ้นกว่าเก่า   ทำให้พระมเหสีที่สองคือมหาเดหวีเกิดสงสารเวทนาระเด่นจันตะหรา ก็เลยรับมาเลี้ยงดูใกล้ชิดเหมือนเป็นพระธิดา  ระเด่นจันตะหราก็รักและเคารพมหาเดหวี ยึดเอาแทนพระมารดาที่ล่วงลับ


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 12, 20:01
  ตั้งแต่กำจัดประไหมสุหรีไปได้  ระตูสวามีก็อยู่ในมนต์เสน่ห์จนโงหัวไม่ขึ้น  พระชายาลิกูก็กำเริบวางอำนาจยกตนเองเป็นใหญ่ที่สุดในวัง   กดขี่ข่มเหงข้าราชบริพารไม่เว้นแต่ละวัน    ลูกสาวลิกูก็ใช่ย่อย ไม่ได้ดังใจก็ลงนอนดิ้นพราดให้พ่อโอ๋พะเน้าพนอตามใจ  แม่ก็ถือหางลูก กริ้วกราดสนมกำนัลใหญ่น้อยทุกอย่าง   จนข่าวเลื่องลือระบือไปถึงระตูกุรีปั่น   ได้ข่าวนี้ก็พิโรธน้องชายและสงสารหลานสาวคือระเด่นจันตะหรามาก  ว่าคงอยู่อย่างไม่มีความสุข   จึงหาทางช่วยด้วยการส่งของกำนัลไปปลอบใจ
  ระตูกุรีปั่นก็สั่งช่างให้ทำตุ๊กตาทองคำ  ประดับด้วยเพชรพลอย งดงามเป็นที่พึงใจทุกคนที่เห็น   อีกตัวหนึ่งเป็นตุ๊กตาเงิน   เสร็จแล้วก็ให้ระเด่นอินูพระโอรสนำไปถวายระตูดาหา เพื่อมอบให้พระธิดาผู้เป็นคู่หมั้น    แต่ก่อนจะถวายก็จัดการห่อตุ๊กตาทั้งสองเสียมิดชิดด้วยผ้าต่างชนิดกัน  ตุ๊กตาเงินห่อด้วยผ้าไหมเทศจากอินเดีย ปักไหมทองผูกด้วยแพรชมพู    ส่วนตุ๊กตาทองคำห่อด้วยผ้าเก่าคร่ำคร่าเนื้อเลว     เสร็จแล้วก็สั่งเสนามนตรีจำนวนหนึ่งเชิญของประทานแห่เป็นขบวนไปกรุงดาหา

   เมื่อระตูดาหาทราบว่ามีบรรณาการจากพระเชษฐามาให้ก็คอยรับขบวนเชิญของประทานด้วยความยินดี   เมื่อเห็นห่อผ้าทั้งสอง ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่พ่อรักลูกสาวคนเล็กมากกว่า และรู้ฤทธิ์ดีว่าถ้าไม่ให้เลือกก่อนนางจะต้องออกฤทธิ์เดช  ก็บอกให้ก้าหลุอาหยังเลือกก่อน   
   ก้าหลุอาหยังเห็นของพระราชทานห่อผ้าไหมราคาแพงห่อหนึ่ง และห่อผ้าเก่าๆอีกห่อ    เป็นธรรมดาก็คว้าห่อแรก  ที่เหลือเดนเลือกแล้วส่งให้พี่สาว


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 11:45
    ในตอนแรกเมื่อได้รับของกำนัลเป็นห่อผ้าเก่าคร่ำคร่าที่น้องสาวไม่เอาแล้ว  ระเด่นจันตะหราก็โทมนัสน้อยใจในวาสนาตัวเอง  จนคลี่ผ้าออกดู จึงเห็นเป็นตุ๊กตาทองคำตัวงาม ดวงตาประดับเพชร  ความน้อยใจก็เปลี่ยนเป็นปีติยินดี     อุ้มตุ๊กตาเล่นไม่วางมือ  ใช้สไบของประไหมสุหรีสะพายตุ๊กตาเหมือนสะพายเด็ก   ตามธรรมเนียมของชาวชวาที่ใช้สไบห่อให้เด็กนั่ง แล้วสะพายเฉียงไหล่ข้างหนึ่ง
    สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯทรงถอดบทขับร้องของระเด่นจันตะหราในภาษามลายูออกมาเป็นบทขับร้องไทย  โดยทรงรักษาเนื้อความและฉันทลักษณ์แบบมลายูไว้  คือชุดหนึ่งมีสี่วรรค และสัมผัสตรงท้ายคำในแต่ละวรรค  เว้นแต่บทต้น  สัมผัสเป็นคู่สลับวรรค ๑ กับ ๓ และ ๒ กับ ๔
    ขอยกมาให้อ่านกันค่ะ
    "ลูกแม่คือแสงนัยนา
    นานแล้วแม่นี้โศกจาบัลย์
    เช้าค่ำเมามัวถวิลจินดา
    เฉกเมฆปกคลุมดวงบุหลัน
    นาสิกกลบิดานั้น
    พ่อดีลูกนี้รูปงามครัน
    เยี่ยงแม่ใจบุญสุนทร์ธรรม์
    รู้ประพฤติหลักแหลมเลอสรร
    เยี่ยงชนกผู้เลิศเผ่าพันธุ์"


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 20:37
   พี่สาวเพลิดเพลินกับเห่กล่อมตุ๊กตา   จนก้าหลุอาหยังน้องสาวแอบดู ก็เห็นเข้า    ตอนแรกเล่นตุ๊กตาเงินพออกพอใจดีอยู่  แต่พอรู้ว่าพี่สาวได้ตุ๊กตาทองคำก็เกิดอิจฉาตามนิสัย  หมดความอยากของเล่นของตัว    จึงเข้าไปขอแลกตุ๊กตาเอาดื้อๆ   ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ระเด่นจันตะหราจะไม่ยอม     ก้าหลุอาหยังก็กลับมาที่ตำหนักของตัวเอง ร้องไห้ตีโพยตีพายกับแม่จะเอาตุ๊กตาให้ได้     พอดีระตูดาหาเสด็จมาถึง  เห็นพระธิดาร้องห่มร้องไห้เป็นการใหญ่ก็ซักถามถึงสาเหตุ
   ถึงตรงนี้เห็นจะต้องตำหนิระตูดาหามากกว่าตำหนิลิกู   เพราะแม่เองแม้ว่าจะเชียร์ลูกสาวแต่ก็ไม่ถึงกับลุแก่อำนาจ   ส่วนพ่อพอรู้ว่าลูกสาวอยากได้ตุ๊กตาจากพี่สาวก็ไม่ยั้งคิดว่าควรหรือไม่ควร   ระตูดาหาสั่งนางกำนัลให้ไปตำหนักพระธิดาองค์ใหญ่ทันที  เพื่อให้ส่งตุุ๊กตาทองคำมามอบให้
   ระเด่นจันตะหราเห็นนางกำนัลจากตำหนักลิกูมา ยังไม่ทันทูลก็รู้แล้วว่ามาเรื่องอะไร   จึงชิงตรัสเสียก่อนว่า
   " ฉันไม่ให้  แม้ว่าพระบิดาจะประหารก็ตามพระทัย   ตายเสียก็ดี จะได้ไปอยู่กับพระมารดาในสุสาน  สิ้นท่านเสียแล้วเหลือตัวคนเดียวก็มิรู้จะไปปรับทุกข์กับใคร  ถูกฆ่าตายยังดีกว่า"
    นางกำนัลก็กลับไปทูลตามนั้น   ระตูดาหาก็พิโรธเป็นฟืนเป็นไฟ แถมถูกลูกยุจากลิกูซ้ำเข้าไปอีก    ก็เลยลุแก่โทสะฉวยกรรไกรเสด็จไปที่ตำหนักของระเด่นจันตะหรา


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 12, 10:43
   เมื่อไปถึง  ระตูดาหาก็ยื่นคำขาดกับพระธิดาองค์โตให้มอบตุ๊กตาทองคำให้พระธิดาองค์เล็ก   โดยไม่ต้องหาเหตุผลใดๆมาประกอบทั้งสิ้น  เพราะไม่มี    มีแต่คำขู่ว่าถ้าไม่ให้ก็จะลงโทษกล้อนผมเสียเดี๋ยวนั้น   ไม่ว่าระเด่นจันตะหราจะให้เหตุผลและกอดพระบาทร่ำไห้  อ้อนวอนเพียงใดก็ไม่ฟัง   
    ในที่สุด ก็จับเกศาพระธิดา ใช้กรรไกรหั่นผมลงไปติดหนังหัว  เส้นเกศาหล่นกระจายลงบนพื้น   ระเด่นจันตะหราก็สิ้นสติสมประดีไปตรงนั้น  แต่พ่อจะเวทนาลูกสาวสักน้อยก็หาไม่   ขณะนั้นก็เกิดอาเพท  แผ่นดินไหวสะเทือนขึ้นมา  ไก่ขันระงมเหมือนจะทักท้วงการกระทำของระตูดาหา   หมู่สัตว์สี่เท้าสองเท้าต่างก็เงียบงันไม่ติงไหวเหมือนตกตะลึงกับความโหดร้ายของบิดากระทำต่อธิดากำพร้าแม่
    เมื่อระตูดาหากลับออกไป  หมู่นางสนมกำนัลก็เข้าประคองช่วยกันแก้ไขจนระเด่นจันตะหราฟื้นคืนสติขึ้นมา  นางก็เฝ้าแต่คร่ำครวญโศกศัลย์ทั้งเสียใจทั้งเจ็บแค้นกับการกระทำนี้   จนล่วงเข้าค่ำมืด ก็ตัดสินใจว่าเป็นตายอย่างไรไม่ขออยู่เมืองนี้อีกต่อไปแล้ว  แต่จะออกไป "มะงัมบาหรา"   ตรงกับคำว่า มะงุมมะงาหราในพระราชนิพนธ์อิเหนา   หมายถึงสัญจรไปอย่างไม่มีจุดหมาย
    พอตัดสินใจได้ ระเด่นจันตะหราก็ปรึกษาพี่เลี้ยง เป็นอันตกลงใจพร้อมกัน   รวมทั้งข้าราชบริพารและสนมกำนัล  ยกขบวนกันลอบออกจากตำหนักไปทางท้ายเมือง  เดินทางหนีจากเมืองดาหาในคืนนั้น โดยที่ระตูดาหา ลิกูและก้าหลุอาหยังมิได้ล่วงรู้หรือเฉลียวใจเลยว่าพระธิดาหนีไปแล้ว


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 12, 12:11
   การที่นางเอกในอิเหนาสำนวนนี้ต้องออกไปเร่ร่อนอยู่ต่างบ้านต่างเมือง เกิดจากการตัดสินใจของเจ้าตัวเอง  ไม่ได้เกิดจากเทวดาบันดาลให้ลมหอบอย่างอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2     ระเด่นจันตะหราน่าจะเป็นนางเอกแบบที่พวกเฟมินิสต์ชอบ เพราะเธอแกล้วกล้าหลายอย่าง ไม่แพ้ผู้ชาย
   เดินทางกันมาถึงระยะทางกึ่งกลางระหว่างเมืองดาหากับเมืองกุรีปั่น    ระเด่นจันตะหราก็ให้พักขบวน สร้างพลับพลาขึ้นเป็นที่พัก   เมื่อเห็นทำเลตรงนี้มีชัยภูมิเหมาะสมดี     ก็เรียกมนตรี ซึ่งดูจากหน้าที่แล้วน่าจะเป็นขุนวังมาเข้าเฝ้า   แล้วสั่งว่า
   "ลุงมนตรี   ถ้าลุงสร้างเมืองขึ้น ณ ที่นี้สักเมืองหนึ่งจะดี    ด้วยข้านี้ใคร่จะเป็นราชาครองเมืองอยู่ที่นี่"
   มนตรีก็คุมไพร่พลไปตัดฟันโค่นต้นไม้ ถากถางบริเวณ สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาเป็นเมืองไพจิตรงดงาม มีเครื่องตกแต่งพร้อม    ระเด่นจันตะหราเห็นเมืองใหม่สร้างเสร็จก็ยินดีอย่างยิ่ง   ยิ้มสรวลบอกตนเองว่า
   "บัดนี้เมืองใหม่ก็สร้างเสร็จแล้ว  เราจะเป็นราชาครองเมือง เพื่อปล้นตีชิงไพร่ฟ้าประชาชนชาวกุรีปั่น     ถ้าเราจะต้องตายลง ณ ที่นี้ก็ยิ่งชอบใจ"  


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 12, 12:20
     เนื้อเรื่องเดิมของตอนนี้ก็ฟังดูพิลึกเอาการอยู่     เพราะแทนที่ระเด่นจันตะหราจะไปแค้นเมืองดาหา  กลับไปหาเรื่องกลั่นแกล้งชาวเมืองกุรีปั่นซึ่งไม่ได้รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยสักนิด       สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ก็ทรงจะทรงฉงนเช่นกัน จึงทรงใส่ไว้ในเชิงอรรถว่า  อาจเป็นได้ว่าระเด่นจันตะหราอยากตาย ถึงได้ยั่วยุให้ท้าวกุรีปั่นส่งทหารมาปราบปรามจะได้ตายสมใจในที่รบ   แต่ผู้รู้บางท่านก็อธิบายว่า  ยั่วให้อินูตามมารบจะได้พบกัน

     ดิฉันคิดว่านิทานสมัยโบราณจะเอาหลักการเหตุผลสมัยนี้ไปจับก็คงยาก  เพราะจุดมุ่งหมายอยู่ที่ความสนุกสนานผจญภัยของเนื้อเรื่อง   
     ถ้าจะแต่งใหม่ด้วยเหตุผลก็ง่าย  คือให้ระเด่นจันตะหราพาข้าราชบริพารไปเฝ้าท้าวกุรีปั่นเสียโดยตรงก็หมดเรื่อง   จะได้พ้นภัยจากพ่อและได้พบหน้าอินูสะดวกสบาย  อภิเษกกันได้เลย    ง่ายดายกว่ามาทำอะไรอ้อมค้อมแบบนี้เยอะ     แต่ถ้าแต่งให้ถูกตามเหตุตามผล  นิทานก็คงจบเรื่องแค่นี้   พระเอกนางเอกไม่มีบทบาทอีกยืดยาวเท่ากับแต่งให้ระเด่นจันตะหราคิดอะไรประหลาดๆแบบนี้


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ส.ค. 12, 13:45
   แผนต่อจากนั้นก็คือระเด่นจันตะหราก็เสด็จสู่ตำหนัก   แต่งองค์ทรงเครื่องแปลงเป็นชาย   รูปทรงงามเหมือนเทวดาเสด็จลงมาจากสวรรค์  เหน็บกริชอย่างชาย   เสร็จแล้วก็ออกจากตำหนักของตนเสด็จไปที่ตำหนักของมหาเดหวี แม่เลี้ยงซึ่งตามมาด้วย   สาวสรรค์กำนัลในในตอนแรกก็จำไม่ได้ นึกว่าเป็นองค์เทพปะตาระชคัต( องค์เดียวกับองค์ปะตาระกาหลาในอิเหนา) เสด็จลงมา ก็ตื่นตะลึงชวนกันบังคม  จนเข้ามาใกล้เห็นชายรูปงามผู้ยืนเท้าบั้นพระองค์ หัตถ์กุมกริชอยู่ ถึงจำได้ว่าเป็นระเด่นจันตะหรา   
    มหาเดหวีเองก็เพิ่งจำได้  ออกปากชมว่า
    "ลูกแม่ฉลาดแปลงกาย   แม่นึกว่าเป็นเทพลงมาเสียอีก"
   ระเด่นจันตะหราก็แย้มสรวล  ทูลขอให้มหาเดหวีเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ  ต่อไปเธอจะแปลงกายเป็นชาย  ใช้ชื่อใหม่ว่า ปันหยีสะมิหรัง อัสมารันกะตะ
    ชื่อปันหยี  ก็คือชื่อของระเด่นมนตรีหรืออิเหนาในรัชกาลที่ ๒ นั่นเอง  เป็นชื่อที่ใช้เมื่อปลอมตัวเป็นโจรป่าออกเดินทางไปตามเมืองต่างๆ
    จากนั้นระเด่นจันตะหราก็ให้มนตรีชายทั้งสี่ที่ช่วยสร้างเมืองเดินทางกลับเมืองดาหา    กำชับมิให้แพร่งพรายความลับเรื่องมาตั้งเมืองใหม่   มนตรีทั้งสี่ก็เดินทางกลับและรักษาสัญญาไว้อย่างดี  แม้ระตูดาหาก็มิได้ล่วงรู้ว่าลูกสาวหายไปไหน


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 12, 14:27
      พี่เลี้ยงทั้งสองของระเด่นจันตะหราก็ปลอมกายเป็นชายเช่นกัน   ทั้งสองมีฝีมือในการรบ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นทหารเอก   ออกดักตีชิงปล้นทรัพย์สินข้าวของของคนเดินทางผ่านไปมา  ตามคำสั่งของระเด่นจันตะหราหรือชื่อใหม่ว่าปันหยี สะมิหรัง      ถ้าหากว่าเป็นชาวกุรีปั่นจะเดินทางไปเมืองดาหา ก็จะถูกปล้นหมดจนสิ้นเนื้อประดาตัว  แต่ถ้าเป็นคนยากจนจรจัด ก็ถูกปล่อยตัวไป
      พี่เลี้ยงทั้งสองทำอย่างนี้มาหลายครั้งก็ได้ความสำเร็จทุกครั้ง   จนเมืองใหม่ที่ตั้งเริ่มขยายใหญ่มีทรัพย์สินอุดมสมบูรณ์  ผู้คนก็ยอมสวามิภักดิ์ด้วย   อยู่กันอย่างสนุกสนานร่าเริงด้วยละครและการบันเทิงต่างๆ
     จนวันหนึ่งมีพ่อค้าชาวเมืองมันตาหวัน ซึ่งเป็นเมืองที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวงศ์อสัญแดหวาในตอนต้นเรื่อง   เดินทางผ่านมาจะไปค้าขาย ก็ถูกปล้นตามเคย   พ่อค้าพยายามสู้แต่สู้ไม่ได้ก็หนีกลับไปเมืองของตน   ไปทูลฟ้องท้าวมันตาหวันพระราชาว่าถูกรังแก   ท้าวมันตาหวันก็จัดทัพให้ทหารเอกของเมืองยกมาปราบปรามเมืองโจรเสียให้ราบคาบ
     เมื่อทัพทหารมันตาหวันยกมา    พี่เลี้ยงทั้งสองของปันหยีก็ยกพลออกรบ ปะทะกัน  แม่ทัพหญิงเก่งกว่าแม่ทัพชาย  ฆ่าแม่ทัพชายตายคาสนามรบทั้งสองคน   ฝ่ายทหารมันตาหวันก็ยอมแพ้วางอาวุธมาสวามิภักดิ์กับปันหยี   ปันหยีจึงปรึกษาแม่ทัพนายกอง ยกทัพไปตีเมืองมันตาหวันมาเป็นเมืองขึ้น

     จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของระเด่นจันตะหราห้าวหาญกว่าอุณากรรณในอิเหนาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ มาก   จนเกือบๆจะกลายเป็นชายแท้ไปเสียแล้ว


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 19:15
    การวางตัวของระเด่นจันตะหราออกจะคล้ายๆกับบุษบาเมื่อปลอมตัวเป็นอุณากรรณ   เพราะเวลาอยู่ในที่รโหฐานเธอก็กลับแต่งกายอย่างหญิง สยายผม อุ้มตุ๊กตาทองคำมาเห่กล่อมเล่นด้วยเหมือนเคย     มหาเดหวีก็ร่วมมือด้วยการกั้นม่านอย่างแน่นหนาไม่ให้ใครเห็นพระธิดา   ต่อเมื่อรุ่งเช้าเสด็จออกว่าราชการจึงแต่งกายเป็นชาย
    จะว่าไปการปกปิดเรื่องเป็นหญิงของระเด่นจันตะหราดูไม่น่าจะเป็นความลับไปได้   เพราะตอนยกขบวนออกมาจากตำหนัก ข้าราชบริพารทั้งชายหญิงก็รู้กันทั้งนั้นว่าเจ้านายเป็นหญิง มิใช่ชาย      มีแต่ชาวเมืองที่ถูกปล้นชิงทรัพย์เท่านั้นที่ไม่รู้   แต่เมื่อพวกนี้สวามิภักดิ์เข้ามาอยู่ในเมืองปะปนกับชาวเมืองเดิม ก็ไม่น่าจะมีใครหุบปากเก็บความลับเอาไว้ได้สนิท     ผิดกับอิเหนา ที่บุษบาถูกลมหอบไปกับพี่เลี้ยงอีก 2 คน  ปลอมเป็นชายนับแต่อยู่กลางป่า    คนมาเห็นทีหลังก็เมื่อกลายเป็นหนุ่มน้อยไปแล้ว   จึงน่าจะปกปิดความลับได้ดีกว่า   แต่ในเมื่อเรื่องนี้เป็นนิทาน  อะไรๆก็เป็นได้อยู่ดี

    กลับมาที่เรื่องอีกครั้ง
    ปันหยีหรือระเด่นจันตะหรายกทัพไปตีเมืองมันตาหวัน  ระตูเคราะห์ร้ายผู้นั้นเกิดความหวาดหวั่นพรั่นใจ เพราะส่งกองทัพไปก่อนหน้านี้ทั้งกองทัพก็หายสูญไปหมด ไม่กลับมารายงานข่าวเลยสักคน     ก็เดาได้ว่าแพ้ศัตรูไปแล้ว   เมื่อปันหยียกทัพมา ระตูมันตาหวันจึงไม่คิดสู้  แต่ขอยกธิดาสาว 2 คนให้เป็นบรรณาการ 
    เหตุการณ์ตอนนี้คล้ายๆกับเมื่ออุณากรรณยกทัพไปตามเมืองต่างๆ ระตูทั้งหลายมาอ่อนน้อมยกธิดาให้    เวลาเข้าเมือง ทั้งชาวเมืองทั้งพระราชาเห็นรูปโฉมเข้าก็ตะลึงงัน ชื่นชมโสมนัสเหมือนเห็นเทวดาลงมาตรงหน้า   เกิดความรักใคร่ยินดียอมสวามิภักดิ์ไปตามๆกัน



กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ส.ค. 12, 14:30
    กลับไปทางเมืองกุรีปั่น  ทั้งท้าวกุรีปั่นและพระโอรสอินูพระเอกของเรื่องนี้ไม่ทรงทราบเลยว่าระเด่นจันตะหราหายสาบสูญไปจากเมืองดาหา   เมื่อถึงเวลา  ราชทูตก็นำสินสอดทองหมั้นเดินทางจากกุรีปั่นไปเมืองดาหาเพื่อจะถวายระตู เตรียมอภิเษก   พอผ่านมาทางเมืองของปันหยี สะมิหรัง ก็ถูกตีชิงปล้นสินสอดไปหมด  เหลือขุนนางสองคนรอดชีวิตไปได้   หนีกลับไปเมืองกุรีปั่นเพื่อทูลเจ้านายให้ทราบ
เมื่อท้าวกุรีปั่นกับอินูทราบเรื่องก็กริ้วโกรธเป็นอันมาก   อินูก็ยกทัพมาเองเพื่อจะมาตีเมืองของปันหยี สะมิหรังให้ได้     
    พอปันหยีรู้ข่าวว่าคู่หมั้นที่ตนเองไม่เคยเห็นหน้ายกทัพมาถึง    ก็แต่งตัวเป็นชายออกจากเมืองไปเผชิญหน้ากัน    เมื่อพระเอกนางเอกมาพบหน้ากันครั้งแรก ต่างฝ่ายต่างก็ตะลึงงงงันในรูปโฉมงดงามของแต่ละฝ่าย    อินูเองก็หมดความเคืองแค้น  กลายเป็นเสน่หาอยากจะผูกมิตรไมตรีด้วย   ทั้งสองก็ตกลงนับเป็นพี่น้องกัน   
    เมื่อปันหยีออกปากเชิญ   อินูก็ตามเข้ามาในเมือง   เห็นปันหยีมีสนมกำนัลหมอบเฝ้าอยู่มากมายก็นึกเสียดายว่ามิใช่หญิงอย่างที่อยากให้เป็น  มิฉะนั้นจะอภิเษกด้วย   ปันหยีตกลงคืนสินสอดทองหมั้นที่ตีชิงมาได้   จากนั้นอินูก็ล่ำลาปันหยีแล้วเดินทางต่อไปยังเมืองดาหา


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 12, 16:55
  เมื่ออินูเข้าเฝ้าระตูดาหา     ลิกูผู้ซึ่งกลายเป็นมเหสีเอกไปแล้วก็มารับรองแขกเมืองด้วย    เห็นอินูเป็นชายหนุ่มสง่างามเด่นเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญก็โปรดปรานอยากจะได้เป็นเขย     ส่วนก้าหลุอาหยังแอบดูอินูตามช่องรั้วเห็นหน้าตาเขาก็เกิดหลงใหลพิศวาสจนลืมตน
ออกมาถวายบังคม   ลิกูก็รวบรัดกับท้าวดาหาว่า ควรจะจัดให้อินูได้อภิเษกสมรสกับก้าหลุอาหยังเสียเลย    เพราะคู่หมั้นเดิมคือระเด่นจันตะหรานั้นหายสาบสูญไปจากวังนานแล้ว  ไม่รู้ไปไหน     ระตูดาหาซึ่งอยู่ในอำนาจเสน่ห์ของลิกู ก็ไม่ต้องสงสัยเลย   ตกลงเอออวยด้วยทันที   ไม่ได้ดูว่าอินูเห็นด้วยหรือไม่
   ฝ่ายปันหยีสะมิหรัง เมื่ออินูออกเดินทางไปเมืองดาหา  ก็ลอบติดตามไปด้วยตามลำพัง   เข้าไปดูเหตุการณ์ในเมืองดาหาก่อนกลับไปสู่เมืองของตน     มหาเดหวีถามว่าไปไหนมา   เธอก็ตอบตามตรงว่าไปเมืองดาหา เห็นเขาเตรียมจัดงานวิวาห์ใหญ่โต  ลิกูกับก้าหลุอาหยังเบิกบานหัวร่อต่อกระซิกกันใหญ่      มหาเดหวีก็ตบอกผางว่าช่างกล้าแอบเข้าไปได้ ไม่กลัวถูกจับ    ปันหยีก็ไม่ว่าอะไร  กลับเข้าแท่นที่บรรทมด้วยความเศร้าหมอง
   ส่วนในเมืองดาหาก็เกิดเรื่องใหญ่คือพบกันว่ามีมือลึกลับมาทุบถ้วยชามข้าวของเครื่องใช้ที่จะใช้ในงานอภิเษกแตกหักเสียหายไปมากมาย    แต่ไม่มีของหาย    จับมือใครดมก็ไม่ได้
   ในหนังสือไม่ได้บอกว่าฝีมือใคร   แต่เราก็คงเดากันได้ไม่ยาก


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 12, 12:31
  ทางฝ่ายอินู ถูกรวบรัดมัดมือชกให้กลายเป็นเจ้าบ่าวโดยไม่มีสิทธิ์จะปฏิเสธได้     ก็หมดกะจิตกะใจ    ไม่อยากแต่งองค์ทรงเครื่อง  ไม่อยากทำอะไร   ได้แต่ทอดถอนใจ  หวนคำนึงถึงปันหยีสะมิหรังที่เพิ่งจากกันมา    ผิดกับก้าหลุอาหยังที่ส้มหล่นได้เป็นเจ้าสาว  ก็รื่นเริงระริกระรี้รับตำแหน่งด้วยความเต็มใจ
   จากนั้นอินูก็จำต้องขึ้นม้าเผือกแห่ไปรอบพระนคร   มหรสพทั้งหลายก็ประโคมดนตรีกันครึกครื้น  ชาวบ้านชาวเมืองแห่กันมาดูเจ้าบ่าวเจ้าสาวกันแน่นชนัด    คล้ายฉากในเรื่องอิเหนาตอนอิเหนาเข้าเมืองดาหา   พอแห่เสร็จก็เชิญเจ้าบ่าวเจ้าสาวขึ้นประทับเหนือบัลลังก์ทองประดับแก้วมณีที่เรียกว่าอุสงหงัน     คำนี้ในอิเหนาแปลว่าเสลี่ยงหรือวอ
   พอล่วงเข้ายามราตรี   อินูจำต้องเข้าห้องหอไปรออยู่ก่อน   ลิกูก็พาลูกสาวมาส่งตัว พร้อมกับสั่งสอนจริตกิริยาต่างๆให้อย่างที่เจ้าสาวในคืนส่งตัวพึงรู้     แต่เอาเข้าจริงเมื่อถึงเวลาก็เสียเวลาเปล่า  เพราะอินูมิได้ไยดีเจ้าสาวแม้แต่น้อย    ก้าหลุอาหยังร้องห่มร้องไห้  อินูก็เกิดเบื่อหน่ายจึงนอนหันหลังให้ทั้งคืน  ปล่อยให้เจ้าสาวนอนร้องไห้ตาบวมไปจนเช้า


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 12, 20:19
      พระเอกในวรรณคดีไทยไม่ค่อยจะปฏิเสธผู้หญิง  ไม่ว่าจะรักหรือไม่รักก็ตาม  แต่ถ้าเข้าห้องหอหรือมีโอกาสอยู่กันตามลำพังแล้ว เป็นต้องเกิดเรื่องทุกครั้ง     อิเหนาเองทั้งๆตามหาบุษบาอยู่แท้ๆก็ยังไม่วายเตรียมปีนห้องเข้าหาสการะหนึ่งหรัด   เพียงแต่ทำไม่สำเร็จเพราะเกิดเรื่องน้องสาวถูกลักตัวไปเสียก่อน        ผิดกับอินูฉบับสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ที่รักษาตัวเคร่งครัด    ถ้าไม่ชอบก็ไม่แตะต้องแม้แต่ปลายนิ้ว      ผลจึงเป็นว่าอภิเษกกันไปสี่ห้าวันก็ยังไม่เกิดอะไรขึ้น   ก้าหลุอาหยังร้องไห้ฟูมฟายก็แล้ว  ออดอ้อนฉอเลาะก็แล้ว  ชวนไปนั่นไปนี่ก็แล้ว   ก็ไม่ได้ผล   อินูไม่ไยดีอยู่นั่นเอง    ต่างคนต่างอยู่ ไม่เกี่ยวข้องกันตลอดสี่ห้าวัน
      อินูอึดอัดกับสภาพเจ้าบ่าวถูกบังคับจนทนไม่ไหว    ใจก็ยังประหวัดถึงสหายรักที่ชื่อปันหยีสะมิหรังไม่คลาย     อดรนทนไม่ได้ก็สั่งมนตรีที่ตามเสด็จมาด้วยให้จัดขบวนทัพ  บอกว่าจะไปเที่ยวป่าให้สบายใจ    ว่าแล้วก็เสด็จออกจากเมืองดาหาไปกับไพร่พล  ทิ้งก้าหลุอาหยังเอาไว้ข้างหลัง
      จุดมุ่งหมายของอินูก็คือกลับไปที่เมืองของปันหยี สะมิหรัง เพื่อจะได้พบหน้าเจ้าเมืองหนุ่มน้อยอีกครั้งให้หายคิดถึง     แต่จะว่าอินูเป็นพวกแอบจิตก็เห็นจะไม่ใช่   เพราะในใจอินูอยากให้ปันหยีกลายเป็นหญิง โดยเฉพาะเป็นเจ้าหญิงคู่หมั้นของตน  จะได้อภิเษกสมรสกัน


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 12, 20:28
   ทางฝ่ายปันหยีสะมิหรัง  ตั้งแต่อินูเข้าพิธีอภิเษกไปแล้ว  เธอก็มีอาการอย่างคนอกหัก  โทมนัสคร่ำครวญอยู่คนเดียว  ความกลัดกลุ้มต่างๆก็เข้ารุมล้อม   จนเกรงว่าจะรักษาสภาพของเจ้าเมืองหนุ่มต่อไปไม่ได้   เดี๋ยวความลับแตก ราษฎรล่วงรู้ว่าตนเองเป็นหญิง เรื่องก็จะไปกันใหญ่      ปันหยีคิดไปคิดมาก็ตกลงใจว่าจะแก้กลุ้มด้วยการออกจากเมืองไปมะงุมบาหรา(คือท่องเที่ยวไปไม่มีกำหนด) สักพัก    จุดหมายปลายทางก็คือไปขอเข้าเฝ้าสมเด็จอา  อันได้แก่พระนางบุตรีบีกู คันฑะส้าหรี ซึ่งบวชเป็นชีอยู่บนภูเขาชื่อกุหนุงวิลิส      จึงสั่งมนตรีให้ไปจัดขบวนไพร่พลยกออกจากเมืองไปเงียบๆ   ทั้งนี้ลอบไป มิได้นำเอาพระมารดาเลี้ยงคือมหาเดหวีไปด้วย  คงให้อยู่ในตำหนักตามเดิม
   มหาเดหวีตื่นบรรทมเห็นปันหยีสะมิหรังหายไป    ก็โศกาอาดูรตีอกชกหัวเป็นการใหญ่   ครวญคร่ำรำพันถึงลูกเลี้ยงว่าเหตุไฉนมาทิ้งแม่ไว้คนเดียว      ประจวบเหมาะ   อินูยกพลออกจากเมืองดาหามาถึงเมืองของปันหยี   เดินเข้าไปในวังเห็นเงียบสงัดไม่มีคน  ได้ยินแต่เสียงผู้หญิงร่ำไห้อยู่คนเดียว     ก็ฟังได้ความว่านางคร่ำครวญถึงลูกเลี้ยงคือระเด่นจันตะหรา ที่หนีออกจากเมืองดาหามาด้วยกัน   หลังจากประไหมสุหรีถูกลิกูวางยาพิษ
  อินูก็ประจักษ์แจ้งว่าปันหยีสะมิหรังคือระเด่นจันตะหราคู่หมั้นของตนเอง   แต่ปิดบังไม่บอกความจริง    อินูก็โทมนัสจนกระทั่งล้มลงสิ้นสติไป


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 12, 21:16
   เมื่ออินูฟื้นคืนสติขึ้นมา ก็เข้าไปพบพระมเหสีมหาเดหวีของดาหา   ปลอบโยนด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน ทั้งๆใจก็ยังโทมนัสด้วยความคิดถึงปันหยี สะมิหรัง     จากนั้น อินูก็เรียกมนตรีเข้ามาให้เชิญเสด็จมหาเดหวีกลับไปอยู่เมืองดาหา  เพราะจะทิ้งนางเอาไว้ในวังเมืองนี้คนเดียวก็ไม่ได้อยู่แล้ว      ตัวอินูเองรั้งรออยู่นอกเมืองดาหา เนื่องจากรังเกียจที่จะต้องกลับเข้าไปในพระราชวังดาหา
   เมื่อมหาเดหวีเข้าเฝ้าระตูดาหา     ในตอนนั้นแม้ระตูดาหาไม่เคยคิดถึงนางเลยตั้งแต่หายออกไปจากวัง แต่เมื่อเห็นหน้าก็อดเวทนาไม่ได้  ประกอบกับคุณไสยที่ลิกูทำให้หลงใหลเสื่อมลงไปมาก   ระตูดาหาก็รับมหาเดหวีกลับเข้าไปอยู่ในวังตามเดิม แล้วยกขึ้นเป็นประไหมสุหรีแทนคนเก่าที่สิ้นพระชนม์ไป
   ฝ่ายอินูเห็นมหาเดหวีกลับเข้าพระราชวังเรียบร้อยแล้ว    ก็เดินทางกลับเมืองปันหยี  เข้าไปพำนักอยู่ในวัง   ใจก็เศร้าโศกถึงคู่หมั้น จนคร่ำครวญหาไม่รู้จบ   ในที่สุดทนไม่ได้ อินูก็ตัดสินใจจะออกมะงุมบาหราตามระเด่นจันตะหรา    ถ้าไม่พบก็จะไม่กลับกรุงกุรีปั่น   ให้มนตรีไปทูลท้าวกุรีปั่นตามนี้


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 12, 16:53
     ทางฝ่ายท้าวกุรีปั่นและประไหมสุหรี เมื่อมนตรีของอินูมาถึงเมือง  เข้าเฝ้ากราบทูลเรื่องราวตามที่อินูสั่งมา  ทั้งสองพระองค์ก็เดือดเนื้อร้อนพระทัยกันอย่างยิ่ง            ประไหมสุหรีถึงกับกันแสงพิลาปร่ำไห้ด้วยความห่วงใยพระโอรส    ส่วนท้าวกุรีปั่นก็กริ้วโกรธว่าเกิดเหตุทั้งหมดนี้ขึ้นเพราะลิกูทำเสน่ห์ยาแฝดระตูดาหาให้คล้อยตามไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง   จากนั้นเมืองกุรีปั่นก็เหงาเงียบ ด้วยพระราชาและพระมเหสีพากันกำสรดแรงกล้า  ไพร่บ้านพลเมืองก็พลอยเศร้าหมองไปด้วย
     ส่วนอินู เมื่อตัดสินใจออกมะงุมบาหรา  ก็ปลอมตนเสียใหม่ ใช้ชื่อว่าปะเงรัน ปันหยี ยาเหย็ง  กะสุมา   แม่ทัพนายกองก็พากันเปลี่ยนชื่อใหม่ทั่วกัน
    สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงทำเชิงอรรถอธิบายความหมายชื่อไว้ในตอนนี้ว่า
   " ในชวาทุกวันนี้  "ปะเงรัน" เป็นยศทำนองเจ้าต่างกรมฝ่ายชาย    คือเมื่อยังเยาว์ใช้ยศอุสตี   พออายุ ๑๖ ปี เข้าพิธีสุหนัด  แล้วก็รับยศปะเงรันพร้อมกันไป     และเปลี่ยนนามเหมือนระเบียบนามกรมของไทยเรา    อนึ่งพระยาเมืองที่รับราชการนาน มีความชอบมาก  ยกขึ้นเป็นปะเงรันก็มี"

  ข้อนี้น่าคิดเหมือนกันว่าธรรมเนียมการตั้งเจ้านายต่างกรมของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา   ไปพ้องโดยบังเอิญกับของชวา หรือว่ามีอิทธิพลเกี่ยวเนื่องกันอยู่


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ย. 12, 22:55
  ปันหยียาเหย็ง กะสุมาก็ออกรอนแรมไปกลางป่า  ค่ำไหนนอนนั่นพร้อมกับไพร่พล   พระเอกในเรื่องนี้ของชวาดูจะอ่อนไหวเอาการ เพราะมีบทคร่ำครวญร้องไห้น้ำตาชุ่มโชกด้วยความคิดถึงปันหยีสะมิหรังหรือระเด่นจันตะหรา   คิดถึงทีไรก็เอาผ้ารัดเอวที่ปันหยีสะมิหรังเคยมอบให้ออกมาจูบ ด้วยความคิดถึง
  วันหนึ่งปันหยียาเหย็งก็เดินทางผ่านไปถึงเมืองหนึ่งชื่อเมืองสะดายุ   ก็หยุดพัก สั่งให้ไพร่พลสร้างพลับพลาที่พักขึ้น   ความรู้ไปถึงท้าวสะดายุก็คิดว่าเป็นศัตรูยกทัพมาล้อมเมือง  จึงจัดทหารออกมาต่อสู้  แต่ทหารเมืองนี้ไม่เก่ง รบสู้ทหารของอีกฝ่ายไม่ได้ ก็แตกพ่ายกันไปทั้งทัพ
   ระตูสะดายุจึงจำต้องอ่อนน้อมยอมแพ้  ยกธิดาโฉมงามชื่อนางบุตรี ก้าหลุ นาหวัง จันตะหราให้เป็นบาทบริจาริกา    ในตอนแรกพระบุตรีก็ร้องห่มร้องไห้เกรงว่าจะต้องเป็นนางเชลยของโจรป่าหยาบช้าน่ากลัว   แต่พอมาเห็นตัวจริงของปันหยียาเหย็งว่ารูปงามขนาดไหน ก็เกิดหลงรัก ยอมเป็นชายาโดยดี
   ครั้งนี้ พระเอกของเราไม่ได้เล่นตัวอย่างคราวเข้าเมืองดาหา  แต่รับพระบุตรีเมืองสะดายุเป็นชายาด้วยความเต็มใจ   จากนั้นก็เดินทางติดตามหาระเด่นจันตะหราต่อไปอีก  ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 12, 13:02
  ระเด่นปันหยีพระเอกของเราก็มะงุมบาหราต่อไป   ไปเจอเมืองไหนก็ตั้งพลับพลาประสังคราหันขึ้นนอกเมือง เป็นเหตุให้รบกับเจ้าเมือง แล้วก็ชนะทุกครั้ง    ได้กำลังคนมาเพิ่มพูนในกองทัพตัวเองก่อนจะยกทัพเดินทางต่อไป   ที่ทำเช่นนี้ไม่ใช่อะไร ก็เพื่อจะค้นหาปันหยี สะมิหรังให้เจอนั่นเอง
  ย้อนกลับไปทางเมืองดาหา  ก้าหลุ อาหยังมาพบว่าพระสวามีที่ผ่านงานวิวาห์มาหยกๆแต่ยังไม่ได้เป็นสามีภรรยากันจริงๆ จู่ๆก็หายออกจากเมืองไป  ไม่มีแม้แต่คำบอกลา  นางก็เที่ยวค้นหาเป็นจ้าละหวั่นรอบตำหนัก   หาแทบพลิกวังหาก็ไม่พบ  ก็ได้แต่ลงนอนดิ้นร่ำไห้โศกาตามแบบฉบับที่เคยได้ผลมาแล้วในอดีต   ว่าร้องไห้ตีโพยตีพายเมื่อใดพระบิดาจะต้องรีบร้อนมาเอาใจเนรมิตทุกอย่างให้ตามประสงค์
  แต่คราวนี้ก้าหลุ อาหยังผิดหวัง  เพราะว่ามนต์เสน่ห์ยาแฝดที่ลิกูผูกมัดใจระตูดาหาเกิดเสื่อมคลายไปหมดแล้ว    ระตูก็เลยทำเฉยๆ  ไม่เอาธุระกับลูกสาวด้วย      ประกอบกับได้สติขึ้นมา  นึกละอายใจที่ปล่อยให้ประไหมสุหรีถูกวางยาพิษสิ้นพระชนม์ไปเปล่าๆ  ก็เลยเกิดเกลียดชังลิกูเป็นของแถมตามมาด้วย

  ทางฝ่ายอินูหรือระเด่นปันหยี  กรีฑาทัพผ่านมายังแว่นแคว้นหนึ่งชื่อ "จกรกา"  ระตูผู้ครองเรียกกันว่าท้าวจกรกา
  ชื่อนี้  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์  ทรงอธิบายเพิ่มว่า ต้นฉบับเขียนว่า ชะคะ ระคะ  ซึ่งในภาษาอังกฤษจะเขียนว่า จะกะ ระกะ ก็ได้  จึงทรงสันนิษฐานว่านี่คือจรกาในฉบับมลายู   ท่านทรงสะกดเป็น จกรกา  จะอ่านว่า จอ-กอ-ระ-กา  หรือ จะ-กะ-ระ-กา ก็แล้วแต่ใจชอบ


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 12, 21:48
    ท้าวจกรกาที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อจรกาในอิเหนา  เป็นพระราชามีพระโอรสธิดาอย่างละหนึ่ง  พระโอรสชื่อระเด่น วิรันตะกะ ส่วนพระธิดาชื่อนิลวาตี  เกิดจากพระชายารอง       เมื่อได้ข่าวว่ามีข้าศึกมาตั้งพลับพลาประชิดติดเมือง คือปันหยี ยาเหย็ง ที่ได้ข่าวว่าไปรบรุกตีบ้านเมืองมาหลายเมืองแล้ว   ก็พิโรธเป็นการใหญ่  ยกทัพออกไปรบด้วยทันทีเพื่อจะจับตัวศัตรูมาเข้าคุกเสียให้ได้
   การรบครั้งนี้ ในหนังสือบรรยายว่าเป็นศึกใหญ่  รบกันถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน  ในที่สุดท้าวจกรกาพลาดท่าถูกกริชของปันหยี ยาเหย็งแทงโดยแรง ก็ล้มลงสิ้นพระชนม์ในสนามรบ   ปันหยี ยาเหย็งก็เข้าเมืองได้  ระเด่นวิรันตะกะยอมอ่อนน้อมยกบัลลังก์ให้  ส่วนนางบุตรีนิลวาตีก็ยอมเป็นบาทบริจาริกา     ปันหยีก็รับนางมาเป็นพระสนม และแนะนำให้รู้จักก้าหลุ นาหวัง จันตะหรา พระสนมซึ่งติดตามมาในกองทัพด้วย    สองนางก็ปรองดองเป็นอันดีต่อกัน
   ปันหยี ยาเหย็งครองเมืองจกรกาอยู่พักหนึ่งก็ตัดสินใจออกเดินทางมะงุมบาหราตามหาปันหยี สะมิหรังต่อไป    ระเด่นวิรันตะกะและนางนิลวาตีก็ขอเดินทางติดตามไปด้วย

   ขอตั้งข้อสังเกตว่า  ท้าวจกรกาในเรื่องนี้เหมือนจรกาแต่เพียงชื่อ   ส่วนพฤติกรรมไม่เหมือน  แต่ไปคล้ายกับท้าวกะหมังกุหนิงในอิเหนาตรงที่รบเก่ง แต่มาพ่ายแพ้อิเหนาถูกฆ่าตายในสนามรบแบบเดียวกัน      ส่วนระเด่นวิรันตะกะพระโอรสออกจะคล้ายสังคามาระตา เจ้าชายที่ติดตามไปเป็นคนสนิทของอิเหนา


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 12, 18:06
    ขอพักเรื่องอินูหรือปันหยี ยาเหย็งไว้ก่อน   ย้อนกลับมาทางปันหยี สะมิหรังหรือระเด่นจันตะหรา นางเอกเรื่องนี้   เมื่อเธอลอบหนีออกจากเมืองของตน โดยตั้งใจว่าจะไปพบเสด็จอาหญิงที่ผนวชเป็นพระดาบสหญิง อยู่บนภูเขากุหนุงวิลิศ     เดินทางเข้าป่าไปได้สักพัก  เธอก็สั่งให้ไพร่พลส่วนใหญ่เดินทางกลับเมือง  เหลือบริวารไว้ไม่กี่คน
    จากนั้นปันหยี สะมิหรังก็เปลี่ยนเพศที่ปลอมแปลงเป็นชาย กลับมาแต่งกายเป็นหญิงเช่นเดียวกับพี่เลี้ยงทั้งสองก็เปลี่ยนเสื้อผ้าจากทหารเอกมาเป็นพี่เลี้ยงสตรีเช่นกัน ทำให้นางบุตรีเจ้าเมืองทั้งสองซึ่งอยู่ในฐานะพระสนม เพิ่งจะประจักษ์ความจริง    แต่นางทั้งสองก็ไม่ได้ว่าอะไร   คงยอมรับนับถือนับญาติเป็นพี่น้องกัน  จากนั้นก็ชวนกันเดินทางกันต่อไป
   วันหนึ่ง ทั้งหมดก็มาถึงภูเขากุหนุงวิลิส  ที่พระนางบุตรี บีกู คันฑะส้าหรีผู้เป็นเสด็จอาผนวช ณ อาศรมบนยอดเขาอยู่    พระนางเป็นผู้บำเพ็ญตบะจนได้ญาณวิเศษ  มีตาทิพย์มองเห็นความเป็นไปต่างๆได้ไม่ผิดพลาด   ก็ให้นักบวช ผู้เป็นศิษย์ ในเรื่องนี้เรียกว่า "อิหนัง"  (ตรงกับอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ เรียกว่า แอหนัง) ลงมาที่เชิงเขาเพื่อต้องรับ   พาระเด่นจันตะหราและผู้ติดตามขึ้นไป  ได้ทักทายต้อนรับกับด้วยความปราโมทย์   


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 12, 09:25
ระเด่นจันตะหราพำนักอยู่บนเขา   ตกถึงกลางคืน ใจก็เริ่มระทมทุกข์ด้วยคิดถึงอินูจนไม่อาจหักใจได้  หลับตาลงทีไรก็เห็นภาพระเด่นอินูเสวยสุขอยู่กับก้าหลุ อาหยัง ณ เมืองดาหา   นางก็คร่ำครวญ ด้วยบทที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯทรงถอดออกมาด้วยฉันทลักษณ์แบบชวา ว่า

อกใจแตกสลายพินาศ
ยิ่งคิดก็ยิ่งหวั่นหวาด
ชีพนี้แท้โทษเหมือนทาษ
อวัยวะไร้กำลังไร้อำนาจ
ทุกข์เรานี้หนอถึงขนาด
อกใจจึงประลัยพินาศ
สิ้นสุขสิ้นสงบวิปลาศ
เพื่อเดชบันดาลเทวราช

ระเด่นจันตะหรานอนไม่หลับจนรุ่งเช้า    อาบน้ำแต่งตัวเสร็จ ไปเข้าเฝ้าพระนางบีกู คันฑะส้าหรี  พระนางก็เล่าแถลงถึงความเป็นมาของหลานสาวที่มะงุมบาหรามาถึงนี่ให้ฟังอย่างแจ่มแจ้งแม่นยำ ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นที่ดาหา   ไม่ต้องรอให้หลานสาวเล่าถวาย   
ระเด่นจันตะหราก็ได้แต่กันแสงด้วยความตื้นตัน   ที่เสด็จอาเข้าใจความทุกข์ใจที่เกิดจากแม่เลี้ยง  และถูกข่มเหงรังแกสารพัดจนต้องหนีออกมาจากเมืองดาหา
ครั้นเมื่อเธอทูลลาเสด็จอาเพื่อจะเดินทางต่อไป   พระนางก็เหนี่ยวรั้งเอาไว้ ให้พักอยู่บนยอดเขาต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง     ระเด่นจันตะหราก็ต้องยอมตามพระประสงค์


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 12, 22:12
    ฝ่ายอินูหรือปันหยี ยาเหย็งเดินทางไปตามเมืองต่างๆ   ตีเมืองใหญ่น้อยได้ง่ายดาย รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 49 เมือง  จนวันหนึ่ง เดินทางมาถึงเมืองกากะหลัง  ระตูผู้ครองเมืองเป็นน้องคนที่สาม รองจากท้าวกุรีปั่นและท้าวดาหา      เมืองนี้ในพระราชนิพนธ์อิเหนาเรียกว่า "กาหลัง"
    อินูหรือปันหยี ยาเหย็ง รู้ว่าเมืองนี้คือเมืองพระเจ้าอา  ก็เลยรั้งรอไพร่พลไว้นอกเมือง แล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระราชา     มนตรีทางฝ่ายเมืองก็ตัวสั่นงันงกไปทูลเจ้านายว่ามีข้าศึกมาปลูกพลับพลานอกเมือง พร้อมด้วยรี้พลคับคั่ง   บัดนี้จะมาขอเข้าเฝ้า   
     เมื่อรู้ว่าเป็นปันหยี ยาเหย็งที่ตีบ้านเมืองมาได้นับไม่ถ้วน  ระตูกาหลังก็ออกจะหวาดๆไม่น้อย   แต่ก็แข็งพระทัยให้เข้ามาเฝ้าได้   ชาวเมืองเห็นปันหยี ยาเหย็งเข้าเมืองมา งามราวกับเทพอวตารก็พากันตื่นเต้นแห่กันมายืนดูกันอยู่เต็มสองข้างทาง   เหมือนตอนอิเหนาเข้าเมืองดาหา
    อากับหลานไม่เคยเห็นหน้ากัน   เมื่อระตูกาหลังเห็นปันหยี ยาเหย็งมีรูปโฉมงามราวกับเทพบุตรก็นึกทึ่ง  ซักถามกันไปมา รู้ว่าได้นางบุตรีระตูถึง 2 เมืองเป็นชายาติดตามมาด้วย ก็รู้ว่าหนุ่มคนนี้ไม่ธรรมดา      จึงเกิดความเมตตาชวนให้พักอยู่เสียในเมือง  แล้วซักถามประวัติว่าเป็นใครมาจากไหน   แต่ปันหยีก็บ่ายเบี่ยงไม่ตอบ แล้วบอกว่าเพียงแต่ผ่านมาเท่านั้น  ตั้งใจจะเดินทางต่อไปที่อื่น


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 12, 08:45
ระตูกาหลังมีพระโอรสชื่อสิงหมนตรี   อ่านจากบรรยายในเรื่องนี้ คงเป็นคนไม่เต็มบาทเท่าไหร่      เมื่อเห็นปันหยี ยาเหย็งมีรูปโฉมเป็นที่ชื่นชมของผู้คนก็นึกอยากจะงามอย่างนี้บ้าง   จึงลุกขึ้นแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นการใหญ่   จึงถูกพี่เลี้ยงของปันหยี ยาเหย็งหลอกล่อเอาเครื่องประดับกายไปหมด  โดยพูดป้อยอต่างๆนานาว่ายิ่งให้ก็จะยิ่งงามกว่าปันหยี    สิงหมนตรีก็หลงเชื่อ  ไม่ว่าพี่เลี้ยงของปันหยีจะเอาอะไรก็ยอมยกให้หมด
  ระหว่างที่ปันหยี ยาเหย็งพักอยู่ในเมืองกาหลัง    ผู้เล่าบรรยายว่าเป็นมงคลให้บ้านเมืองเจริญมั่งคั่งสมบูรณ์   พ่อค้าเรือกำปั่นต่างก็แวะมาค้าขาย  พ่อค้าวานิช เศรษฐีและช่างฝีมือต่างก็หลั่งไหลเข้ามาพำนักในเมือง  

  ย้อนกลับไปทางด้านระเด่นจันตะหรา ซึ่งบัดนี้กลับมาแต่งกายอย่างหญิง   เป็นหญิงงามหากแต่เหมือนจันทร์มีเมฆบัง ด้วยยังเศร้าโศกถึงอินูอยู่     พักอยู่บนภูเขาได้หลายวัน  วันหนึ่งเมื่อไปเฝ้าพระนางบีกู คัณฑะส้าหรี   พระนางก็อนุญาตให้เดินทางลงจากภูเขาไปได้  แต่ขอให้ปลอมกายเป็น "กำบู" หมายถึงนักละคอนฟ้อนรำ  
   คำนี้  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ฯ ทรงหมายเหตุว่าแปลงจากศัพท์เดิมว่า คัมบุห์ มาเป็นกำบู  เพื่อให้ออกเสียงได้ง่ายๆ    
   จากนั้นพระนางบีกู คัณฑะส้าหรีก็จัดหาเครื่องแต่งกายชายให้จันตะหราและบริวารปลอมแปลงตัว  ตัดผมให้สั้นอย่างชาย  กลายเป็นชายรูปงามราวกับเทพบุตร   ก่อนจะชี้ทางให้เดินทางต่อไปสู่เมืองกากะหลัง


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 12, 14:47
  ลักษณะและบทบาทของ"กำบู" ในพระนิพนธ์   สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงตีความว่าทำนองเดียวกับพวกโนรา ที่เที่ยวเร่เล่นตามหัวเมืองปักษ์ใต้    อ่านจากคำบรรยาย   พวกกำบูมีทั้งร้องเพลงและเล่นละคร  ด้วยสนนราคาต่างกัน   เรียกได้ว่าเป็นละครเร่ประเภทหนึ่ง
     ในเรื่องเล่าถึงระเด่นจันตะหราและบริวารอีก 6 นางที่ล้วนปลอมเป็นชายหนุ่มรูปงาม แสดงการละเล่นไปตามหมู่บ้านต่างๆรายทาง   เป็นที่ติดอกติดใจของชาวบ้าน   โดยเฉพาะเด็กหนุ่มเด็กสาวถึงกับทิ้งบ้านช่องติดตามขบวนกำบูไปด้วย ยอมอาสาแบกหามข้าวของเสื้อผ้า เพื่อจะเดินทางได้ไปด้วยกัน
     ระเด่นจันตะหราผู้ใช้ชื่อปลอมว่า กำบู วาระคะ อัสมาหรา ไม่ลืมที่จะหอบหิ้วตุ๊กตาทองคำตัวโปรดติดตัวไปด้วย  ตกกลางคืนก็หยิบตุ๊กตามาอุ้มชู คร่ำครวญปรับทุกข์กับตุ๊กตา ก่อนจะเดินทางต่อไป

    วันหนึ่งบรรดาพี่เลี้ยงของอินูหรือปันหยี ยาเหย็งไปเที่ยวตลาดในเมืองกากะหลัง  ก็เห็นคณะละครเร่มาแสดงอยู่ในตลาด   เมื่อเข้าไปใกล้เห็นกำบูก็ตกตะลึง ราวกับเห็นนางฟ้าลงมาจากสวรรค์   คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นมาก่อน   เสียดายแต่ว่าเป็นคนละคนกัน   ถ้าไม่ได้เป็นกำบู ก็คงนึกว่าเป็นปันหยี สะมิหรัง
   ว่าแล้วก็ชวนกันว่าจะนำเรื่องกำบูไปทูลเจ้านาย  เผื่อจะให้ไปแสดงถวายในวัง



กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 12, 15:29
  ในเวลานั้นปันหยี ยาเหย็งกำลังนั่งเล่นอยู่กับนางชายาทั้งสอง คือก้าหลุ นาหวัง จันตะหรา และนางนิลวาตี   นั่งไปก็หยิบผ้าคาดเอวที่ปันหยี สะมิหรังเคยมอบให้ขึ้นมาซับหน้า จุมพิตแสดงความรักและคิดถึง   นางชายาทั้งสองก็ประหลาดใจ   เมื่อถามก็ได้คำตอบว่าเป็นผ้าคาดเอวซึ่งเพื่อนรักชื่อปันหยี สะมิหรังมอบให้     ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อแสดงการรำลึกถึงคุณงามความดีของเพื่อน
   นางทั้งสองฟังเช่นนั้นก็เย้าว่า ปันหยี สะมิหรังน่าจะเป็นผู้หญิง  เพราะถ้าเป็นเพื่อนชาย จะตอบแทนความดีกันได้ก็ด้วยความดี  มิใช่ด้วยความรักอย่างที่ทำ     ปันหยี ยาเหย็งก็บ่ายเบี่ยงไปมิให้นางสงสัยว่า ปันหยี สะมิหรังนั้นเป็นชายสูงใหญ่ ผิวดำมีหนวดเครา ตาแดง  
  พอดีพี่เลี้ยงเข้ามาทูลว่ามีคณะละครเร่กำบูมาแสดงในตลาด  ฟ้อนรำได้สวยงาม และเล่นละครน่าสนุกมาก    น่าจะเรียกให้มาเล่นถวายในวัง     ปันหยี ยาเหย็งและนางทั้งสองฟังแล้วก็เห็นด้วย  จึงให้ไปตามมาแสดงให้ดูในวัง
   เมื่อกำบูมาถึง    นางนิลวาตีเห็นนางจันตะหราแปลง คือตัวกำบู วาระคะ อัสมาหรา รูปร่างหน้าตาและท่าทีงามจับตาจับใจ  นางก็เกิดลุ่มหลงรักใคร่ในตัวกำบูขึ้นมา
   ส่วนปันหยี ยาเหย็งจำปันหยี สะมิหรังไม่ได้   ก็เข้ามาจับมือต้อนรับกำบู วาระคะ อัสมาหรา แล้วไต่ถามว่าเดินทางมาหลายเมือง เคยได้ยินชื่อปันหยี สะมิหรังบ้างหรือไม่


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 12, 11:42
  เมื่อเจอคำถามนี้ กำบูก็บ่ายเบี่ยงว่าไม่เคยได้ยินชื่อปันหยี สะมิหรังเลย  แม้ว่าเคยไปเล่นตามเมืองต่างๆถึงสี่สิบเมืองแล้ว   ส่วนพี่เลี้ยงของปันหยี ยาเหย็งดูเจ้านายของตน เปรียบเทียบกับกำบูแล้วก็พิศวงงงงวยว่าคล้ายกันมาก  รูปร่างก็สูงพอกัน  ท่วงทีกิริยาก็ไม่ผิดกัน  เพียงแต่กำบูผิวเหลืองนวลประดุจลางสาด (เป็นสำนวนเปรียบเทียบแบบชวาที่คนไทยไม่ได้นำมาใช้)  ส่วนปันหยี ยาเหย็งผิวคล้ำประหนึ่งเปลือกมังคุด
  ปันหยี ยาเหย็งพึงพอใจในรูปลักษณ์ของกำบูอย่างยิ่ง   แต่เมื่อเข้าใจว่าเป็นชายด้วยกัน  จึงนับเป็นสหายคนหนึ่งเท่านั้น   แต่ก็ต้อนรับอย่างดีประดุจญาติสนิท   ถึงกับพาขึ้นเฝ้าท้าวกากะหลัง   ท้าวกากะหลังเห็นรูปโฉมก็กำบูก็พิศวงว่างามคล้ายปันหยี ยาเหย็งราวกับพี่น้องกัน

   ย้อนกลับไปเรื่องระตูจรกจาที่ปันหยี ยาเหย็งสังหารในสนามรบ   ระตูมีพี่น้องครองอยู่อีก ๒ เมืองชื่อระตูล่าสำ กับสังระตู ปูดัก สะตะคัล
   สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงอธิบายในเชิงอรรถว่า ชื่อระตูล่าสำปรากฏอยู่ในเรื่องอิเหนา ว่าเป็นพี่ชายของจรกา  แต่ในฉบับนี้ไม่ปรากฏว่าใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง  ส่วนระตูอีกคนหนึ่งนั้นไม่ปรากฏชื่อในอิเหนา     เมืองล่าสำ มีอยู่จริง ตั้งอยู่ริมเกาะฝั่งเหนือของชวาภาคกลาง


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 12, 16:13
    เมื่อระตูทั้งสองรู้ว่าท้าวจกรกาถูกข้าศึกชื่อปันหยี ยาเหย็งฆ่าตายเสียแล้ว ก็โกรธแค้นอย่างยิ่ง  ตั้งใจจะจับตัวปันหยี ยาเหย็งมาฆ่าล้างแค้นแทนพี่น้องของตน   ก็กรีฑาทัพขนาดใหญ่ยกจากเมืองไปตามหาปันหยี  ได้เบาะแสว่ามาอยู่ที่เมืองกากะหลัง   ก็ยกทัพมาตั้งค่ายอยู่นอกเมืองกากะหลัง    ส่งทูตมาถึงท้าวกากะหลัง ว่ามาครั้งนี้เพื่อจะจับตัวปันหยี  ยาเหย็งโดยเฉพาะ
   ปันหยี ยาเหย็งเห็นท้าวกากะหลังตกพระทัย ก็ปลอบว่าไม่เป็นไร  จะไปรบกับข้าศึกเอาชัยชนะกลับมา  ว่าแล้วก็แต่งองค์ทรงเครื่อง  ยพทัพออกจากเมืองไปรบกับระตูทั้งสอง

  ทางนี้นางชายานิลวาตี  เมื่อพระสวามีมัวติดพันอยู่กับการรบ    ไม่ได้กลับมาหลายวัน  นางก็ยิ่งทวีเสน่หาในตัวกำบูรูปงาม    นอกจากสั่งให้เล่นละครฟ้อนรำให้ดูแล้ว  ยังชวนเอาดื้อๆให้กำบูเข้าห้องนอนไปด้วยกัน     กำบูก็ตกใจ รีบปฏิเสธบ่ายเบี่ยงไปว่ายังไม่ควร  แต่พวกกำบูทั้งหมดก็ยังต้องพำนักในตำหนักอยู่ดี

  นอกเมือง หลังจากสู้รบกันอย่างหนัก  ฝ่ายปันหยี ยาเหย็ง ก็สามารถเอาชนะระตูทั้งสองได้    เมื่อระตูทั้งสองยอมแพ้  ระตูปูดัก สะตะคัลจึงถวายบุตรีโฉมงามชื่อนางกะสุมะวาตีให้ปันหยี ยาเหย็ง   ส่วนระตูล่าสำก็ถวายบุตรีชื่อนางสุมบะส้าหรีให้เช่นกัน



กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 12, 11:53
ปันหยี ยาเหย็งกลับคืนเมืองมาพร้อมกับชัยชนะ  เมื่อกลับมาแล้วก็ไปค้างคืนอยู่ที่ตำหนักของนางนิลวาตี   ส่วนชายาอีกคนหนึ่งคือก้าหลุ นาหวัง จันตะหราอยู่ว่างๆ ก็สั่งให้พวกกำบูไปค้างที่ตำหนักของนาง เพื่อให้เล่นละครเรื่องปันหยี สะมิหรังให้ดู เพราะนางชอบใจว่าแสดงได้ดีมาก 

อย่างที่เล่าให้ฟังแล้วว่านิลวาตีหลงรักกำบู วาระคะ อัสมาหราอยู่   เมื่อรู้ว่ากำบูไปค้างที่ตำหนักชายาอีกคนหนึ่ง  ลมเพชรหึงก็พัดฮือดขึ้นมา   นางก็ฟ้องปันหยี ยาเหย็งทันทีว่าก้าหลุ นาหวัง จันตะหรากำลังรักใคร่ใหลหลงกำบู     ปันหยี ยาเหย็งก็พิโรธขึ้นมาแรงกล้า  ตรงไปที่ตำหนักนางชายา ตั้งใจว่าจะฆ่า   แต่ก้าหลุ นาหวัง จันตะหราก็ตอบไปตามตรงว่าให้กำบูมาพักที่นี่เพื่อให้เล่นเรื่องปันหยี สะมิหรังเท่านั้น เพราะเล่นได้ดีมาก    ปันหยี ยาเหย็งฟังแล้วก็ใจอ่อน หายโกรธ   กลับไปที่ตำหนักนางนิลวาตี

นางนิลวาตีก็ทูลว่า " เจ้าพี่น่าจะหลงรักกำบูเสียด้วยแล้ว    ตามความเห็นหม่อมฉัน กำบูน่าจะเป็นผู้หญิง และเป็นตัวปันหยี สะมิหรังเอง    เพื่อให้เจ้าพี่ได้ตรวจสอบความจริง ก็จะเรียกตัวเขามาเล่นละครที่ตำหนักหม่อมฉัน"


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 12, 11:53
ถึงตรงนี้เห็นจะต้องอธิบายนอกเรื่องหน่อยว่า นิทานเรื่องนี้มีหลายตอนที่ไม่ค่อยจะสมเหตุสมผล 
อย่างตอนนี้  อยู่ๆนางนิลวาตีซึ่งหลงรักกำบูอยู่จะเกิดสงสัยว่ากำบูเป็นผู้หญิงได้อย่างไร     ส่วนกำบูเองเมื่อพบปันหยี ยาเหย็งครั้งแรกก็บอกว่าไม่เคยได้ยินชื่อปันหยี สะมิหรัง  แต่อยู่ๆก็มาเล่นละครเรื่องปันหยี สะมิหรังหน้าตาเฉย     ก็ไม่เห็นใครติดใจสงสัยว่าทำไมต้องปิดบัง

ความไม่สมเหตุผลแบบนี้มีอยู่หลายตอนในเรื่อง      สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯทรงแปลไปตามต้นฉบับเดิมโดยมิได้แก้ไข     ดิฉันตั้งใจว่าเล่าเรื่องย่อจบเมื่อไรจะนำเรื่องไม่ค่อยสมเหตุสมผลนี้มาเปรียบเทียบกับพระราชนิพนธ์อิเหนา  ให้ลองคิดตามกันอีกทีค่ะ


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 12, 10:20
  เมื่อนางนิลวาตีกระซิบบอกดังนี้    ปันหยี ยาเหย็งก็ตั้งใจคอยสังเกตกำบูอยู่ทุกอิริยาบถ     กำบูเล่นละครเรื่องปันหยี สะมิหรัง ไปจนค่ำ เรื่องยังไม่ทันจบก็ต้องหยุดพักก่อนเพราะค่ำมืดแล้ว  พวกกำบูทั้งหมดต้องค้างอยู่ในตำหนัก
  เป็นนิสัยและความเคยชินของกำบู หรือนางเอกของเราที่ก่อนนอนจะต้องอุ้มตุ๊กตาทองคำออกมาเห่กล่อมพูดจาปรับทุกข์ด้วย   ตอนดึก เมื่อคนอื่นหลับกันหมดแล้ว  ปันหยี ยาเหย็งก็แอบมาฟังอยู่นอกม่านกั้น   ได้ยินเสียงกำบูพูดกับตุ๊กตาว่า
   " ลูกเอ๋ย    บัดนี้พระบิดาอยู่ในพระนครแล้ว  ลูกแม่คงจะพบกับพ่อเป็นแม่นมั่น"
    ปันหยี ยาเหย็งได้ยินก็ดีใจ   เปิดม่านโดดเข้าไปจับมือกำบูไว้ ยกขึ้นจุมพิต     กำบูก็ตกใจ จึงขว้างตุ๊กตาทองคำทิ้งไป  ปันหยี ยาเหย็งก็ตามไปเก็บให้ บอกว่า
    "โยนทิ้งทำไมเล่า ไม่ใช่ความผิดของลูก แต่เป็นความผิดของพ่อต่างหาก"
   จากนั้นก็ตัดพ้อว่า
   " ถ้าเธอเป็นปันหยี สะมิหรัง เหตุใดจึงทิ้งพี่ไปได้ลงคอ    พี่ติดตามหาแทบล้มประดาตาย   ถ้าไม่ใช่เพราะน้องพี่ก็คงไม่ได้มาถึงนี่  และมิได้เดินทางเลยไปดาหาแต่แรก  จนต้องถูกจับตัวให้สมรสกับก้าหลุ อาหยัง"


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 12, 10:21
     ข้อนี้ก็จริงของพระเอก   ดิฉันรู้สึกว่าเรื่องทั้งหมดที่มันวุ่นวายจนกลายเป็นเรื่องยาวยืด ก็เพราะการตัดสินใจผิดพลาดของนางเอกครั้งแล้วครั้งเล่ามากกว่าอย่างอื่น   (แม้ว่ากวีผู้แต่งอาจไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นก็ตาม)       ถ้าหากว่าก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา คิดอะไรง่ายๆตรงไปตรงมา เมื่อหนีออกจากเมืองดาหาก็ตรงไปกุรีปั่น ก็คงได้อภิเษกกับอิหนูไปเสียแต่แรก
    หรือถ้าไม่ทำเช่นนี้  เมื่อเจออินูมาถึงเมือง  ในฐานะตัวเองเป็นปันหยี สะมิหรังเจ้าเมืองก็เปิดเผยความจริง ว่าเป็นคู่หมั้น  ก็จะเข้าใจกันได้ง่ายเช่นกัน    อินูก็ไม่จำเป็นต้องไปเมืองดาหาจนตกบันไดพลอยโจน ถูกบังคับให้อภิเษกกับก้าหลุ อาหยัง
    หรือถ้าปลอมเป็นกำบูมาถึงเมืองกากะหลัง ก็เปิดเผยตัวตนให้ปันหยี ยาเหย็งรู้    ก็จะไม่เสี่ยงกับถูกข้อหาเล่นชู้กับชายาของปันหยี ยาเหย็ง  ไม่ถูกผู้หญิงด้วยกันมาหลงรักให้อกสั่นขวัญหนีเปล่าๆ
    แต่ในเมื่อต้องการให้เป็นเรื่องยาวยืด    จันตะหราทำแบบนี้ก็พอเข้าใจว่ามันจะลากยาวได้จริงๆ


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ย. 12, 20:28
     ในเมื่ออินูพบจันตะหรา  กิระหนาแล้ว  ก็ไม่มีอะไรต้องติดตามมะงุมบาหรากันอีกต่อไป   แฮปปี้เอนดิ้งกันทั้งพระเอกนางเอก   
     ความลับก็เปิดเผยออกมาว่ากำบูรูปหล่อที่นางชายาทั้งสองชอบดูเล่นละครนั้นที่จริงเป็นหญิงด้วยกัน     นางนิลวาตีเมื่อรู้ว่านางหลงรักหญิงด้วยกันก็ละอายยิ่งนัก (แล้วทำไมถึงบอกปันหยีว่าสงสัยว่ากำบูเป็นผู้หญิงก็ไม่รู้)    จากนั้นปันหยี ยาเหย็งก็ไปทูลลาระตูกากะหลัง  แล้วพานางชายาพร้อมทั้งกำบูทั้งหมด เดินทางกลับเมืองกุรีปั่น
     ผ่านมาทางเมืองปันหยี สะมิหรัง    นางเอกของเรานึกถึงความหลังที่ต้องออกจากดาหามาตั้งเมืองที่นี่ ก็เศร้าใจจนน้ำตาไหล  ยิ่งเห็นต้นไทรสองต้นนอกประตูเมืองที่เคยรบกับมนตรีของอินู ก็ยิ่งไม่อยากนึกถึงอีก  จึงทูลขอปันหยี ยาเหย็งให้ทำลายเมืองเสียให้สิ้นซาก   ปันหยีก็สั่งให้ไพร่พลรื้อเมืองให้หมด   เมืองก็หายไปกลายเป็นทุ่งเช่นเมื่อก่อนจะมีเมือง

     จากนั้น ปันหยี ยาเหย็งก็สั่งมนตรีให้เลิกปลอมแปลงตัว กลับเป็นยศเดิม   ตัวเองก็กลับเป็นอินู พระโอรสกรุงกุรีปั่น    เดินทางกลับไปถึงเมืองกุรปั่น ก็ให้คนเข้าไปกราบทูลพระบิดาว่าพระโอรสกลับมาแล้ว    นอกจากนี้ยังไปตีเมืองต่างๆได้เชลยและนางบุตรีเจ้าเมืองมาเป็นนางห้าม   ท้าวกุรีปั่นก็โสมนัสยิ่งนัก
     อินูก็กลับเข้าเมืองพร้อมด้วยคู่หมั้น จันตะหรา กิระหนา  เตรียมพิธีอภิเษกกันต่อไป


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 12, 20:36
   ข่าวแพร่ไปถึงเมืองดาหา ว่าพระบุตรีจันตะหรามาอยู่ในกรุงกุรีปั่น    ท้าวดาหาก็เตรียมไพร่พลยกทัพเดินทางไปเมืองกุรีปั่น   ท้าวกุรีปั่นผู้พี่ชายก็ต้อนรับด้วยดีตามธรรมเนียม    จากนั้นมหาเดวีของดาหาก็เข้าเฝ้าประไหมสุหรีของกุรีปั่น     ประไหมสุหรีก็ถามถึงเรื่องท้าวดาหาหลงใหลชายาลิกูจนคล้อยตามไปหมดไม่ว่าเรื่องอะไร    ถ้าไม่ได้มนตรีผู้ใหญ่รักษาเมืองไว้ก็คงจะพินาศ     มหาเดหวีก็ร้องไห้เล่าให้ฟังว่าท้าวดาหายอมลิกูไปทุกอย่างจนลูกสาวต้องหนีออกจากเมือง  ปลอมตัวเป็นชายชื่อปันหยี สะมิหรัง   แล้วก็ปลอมเป็นกำบูเร่ร่อนไปอีกด้วย   ก็ไม่ทราบว่ามหาเดหวีไปรู้รายละเอียดมาจากไหน  ในเมื่อเธอก็อยู่ในเมืองดาหามาตลอด   ผู้แต่งไม่ได้แถลงไว้ในตอนนี้
   ท้าวดาหาตกลงจะจัดงานอภิเษกให้อินูและจันตะหรา กิระหนา      ท้าวกุรีปั่นก็เห็นชอบด้วย จึงใช้คนไปทูลท้าวกากะหลังน้องชายคนเล็กให้มาร่วมงาน     เมื่อท้าวกากะหลังมาถึงเห็นอินูในฐานะราชบุตรของท้าวกุรีปั่นก็งงงวยเพราะไม่รู้มาก่อน  มองหากำบูคนอื่นๆก็ไม่เห็น  เห็นแต่กำบูอัสมาหรา    ซึ่งก็น่าสงสัยอีกนั่นแหละว่าตอนนั้นนางเอกของเราแต่งเป็นหญิงหรือชาย  ท้าวกากะหลังถึงจำได้  คนแต่งเรื่องก็ไม่ได้เฉลยตรงนี้อีกเหมือนกัน
   จากนั้นท้าวกุรีปั่นกับท้าวดาหาก็จัดงานอภิเษกอย่างใหญ่โต ระหว่างอินูกับระเด่นจันตะหรา กิระหนา   เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็แต่งองค์ทรงเครื่องงามพริ้งพรายหาที่เปรียบมิได้      เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ท้าวกุรีปั่นก็มอบราชสมบัติให้โอรสครองเมืองต่อไป  พระองค์เองชราแล้วก็จะเสด็จออกผนวชเป็นภัควัน หรือนักพรต    ธรรมเนียมนี้เข้าใจว่าเป็นอิทธิพลจากอินเดียมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล
    ดูเหมือนท้าวดาหาจะลืมไปสนิทว่า ตัวเองเคยจับอินูอภิเษกไปกับลูกสาวคนเล็กไปเรียบร้อยแล้วอย่างถูกต้องตามประเพณีและเป็นที่รู้กันทั่วในเมืองดาหา  
   เมื่ออภิเษกอินูขึ้นครองเมือง ก็มีการตั้งชายาตามตำแหน่งต่างๆ ครบถ้วนตามราชประเพณี   แบบเดียวกับอภิเษกอิเหนาในตอนท้ายของเรื่อง  แต่ไม่มีใครนึกถึงก้าหลุ อาหยังซึ่งจะว่าไปก็เป็นชายาอภิเษกก่อนจันตะหรา กิระหนาเสียด้วยซ้ำ


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 12, 16:43
  หลังเสร็จสิ้นพิธีแล้ว   ระตูกากะหลังอยากจะให้สิงหมนตรีพระโอรสเป็นฝั่งเป็นฝาไปอีกคนหนึ่ง   ว่าที่เจ้าสาวที่เลือกให้ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากก้าหลุ นาหวัง  พระธิดาของท้าวดาหา จึงแต่งทูตไปเมืองดาหา ให้เชิญลิกูและก้าหลุอาหยังมาที่กรุงกุรีปั่น   แม่ลูกก็ปลื้มเปรมรีบมา  เพราะเข้าใจว่าจะได้พบอินูอดีตเจ้าบ่าวอีกครั้ง
   มาถึง  ก้าหลุอาหยังหวังว่าอินูจะมาต้อนรับตนในฐานะชายา    ไม่รู้ว่าเวลานั้นอินูกำลังเป็นสุขอยู่กับระเด่นจันตะหรา กิระหนาผู้พี่สาว  ไม่รู้เรื่องและไม่สนใจสิ่งใด     ฝ่ายพนักงานก็ทำตามคำสั่งเจ้านายคือจัดงานวิวาหะก้าหลุ อาหยังกับสิงหมนตรีแห่งเมืองกากะหลัง    โดยเจ้าสาวและแม่เจ้าสาวก็ไม่ยักรู้เรื่องว่าเจ้าบ่าวเป็นใครกันแน่  นึกว่าเป็นอินู
   เมื่อเข้าไปถึงที่ไสยา  เห็นเจ้าบ่าวกลายเป็นคนละคน  ไม่ใช่อินูอย่างที่คิด ซ้ำรูปร่างหน้าตาก็น่าชัง  จึงเอะอะตีโพยตีพายเป็นการใหญ่  สิงหมนตรีจะปลอบโยนเกลี้ยกล่อมอย่างใด นางก็เอาแต่ร้องไห้คร่ำครวญไม่ยอมท่าเดียว   ร้องเรียกแต่อินูเจ้าบ่าวของนางให้มาช่วย
   ความรู้ไปถึงพ่อสามีคือท้าวกากะหลัง   ก็ตัดบทยุติปัญหาด้วยการสั่งรี้พลให้เตรียมพร้อม  พาลูกชายและสะใภ้เดินทางกลับกรุงกากะหลัง  ส่วนลิกูเมื่อลูกสาวจะจากไปไกล  ก็เรียกก้าหลุ อาหยังไปสั่งสอนให้ใช้เสน่ห์ยาแฝดกับสิงหมนตรี  เจริญรอยตามแม่  รวมทั้งถ่ายทอดเล่ห์กลมารยาให้ลูกสาวนำไปปฏิบัติตาม    ลูกสาวก็รับคำว่าจะทำตามแม่สั่งสอน    ถึงตรงนี้ก้าหลุ อาหยังคงจะรู้แล้วกระมังว่าไม่มีโอกาสได้อินูอีกแล้ว  ก็เลยหันไปหาสามีคนใหม่แทน


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 12, 15:59
   เมื่อใกล้จะถึงตอนจบของเรื่อง  ตัวละครก็แยกย้ายกันไป   เราคงจำได้ถึงตัวประกอบชื่อระเด่นวิรันตะกะ โอรสของท้าวจกรกาที่ติดตามปันหยี ยาเหย็งไปเป็นคนสนิททุกหนทุกแห่งคล้ายสังคามาระตาในอิเหนา  แต่ไม่มีบทอะไรมากกว่านั้น     ตอนนี้อินูก็ปูนบำเหน็จให้ด้วยการให้กลับไปครองเมืองของพ่อตามเดิม   และประทานนางบุษบาส้าหรีธิดาท้าวมันดาหราไปให้เป็นชายา    ส่วนพี่เลี้ยงของอินูก็ไปได้ครองจังหวัด พร้อมกับได้พี่เลี้ยงของระเด่นจันตะหรา กิระหนาไปเป็นภรรยาด้วย  เป็นอันว่าเป็นตอนจบของตัวละครหนุ่มสาวทุกตัวในเรื่อง
   ท้าวดาหาเมื่อกลับมาถึงเมืองก็เลื่อนตำแหน่งมหาเดหวีขึ้นเป็นประไหมสุหรี   นางก็ดำรงตำแหน่งนี้ด้วยดี  จนได้รับการจากราษฎรยกย่องว่าเป็นผู้มีจริยธรรมและขันติธรรม    ข้อนี้คงจะทำให้ลิกูเดือดดิ้นมิใช่น้อย  ชานหมากยาเสน่ห์ที่เคยกินประจำนานเข้าก็หายขลัง ทั้งเกือบหมดเพราะแบ่งให้ลูกสาวไปด้วย    ก็ใช้ให้น้องชายเดินทางไปขอจากนักพรตคนเดิมมาอีกครั้ง     น้องชายก็ทำตาม  แต่เคราะห์ร้าย  คราวนี้ไปถึงเชิงเขาที่พำนักของนักพรตผู้นั้นเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง  ฟ้าผ่าลงมาบนศีรษะตายคาที่
   พอลิกูทราบข่าวก็เสียใจร้องไห้ทั้งวันทั้งคืน อาลัยน้อง  ทั้งหวังว่าท้าวดาหาจะเห็นใจที่ตัวเองต้องสูญเสียน้องชายไป   แต่ในเมื่อยาเสน่ห์หมดฤทธิ์เสียแล้ว   ท้าวดาหาก็เลยไม่เหลียวแล     นางก็ยิ่งตรอมใจ กลายเป็นโรคร้าย ซูบผอมเหลือหนังหุ้มกระดูก จนกระทั่งวันหนึ่งก็เลยตายไปโดยท้าวดาหาเองก็ไม่รู้เรื่องด้วย    มารู้เมื่อตายไปแล้วก็ให้พนักงานจัดการฝังศพไปตามควร
    เป็นอันจบบทบาทของตัวร้ายในเรื่องแต่เพียงนี้

   


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 12, 11:01
ตอนจบของเรื่องนี้เป็นแบบแฮปปี้เอนดิ้งกันอย่างทั่วถึง    ไม่เว้นแม้แต่ท้าวมันดาหวันซึ่งไม่มีน้ำยานักในการรบ  ต้องยกลูกสาวทั้งสองให้ปันหยี สะมิหรังไป  แล้วก็ส้มหล่น ลูกสาวคนหนึ่งได้เป็นชายาพระเจ้ากรุงกุรีปั่น อีกคนเป็นชายาพระเจ้ากรุงจกรกา   พ่อตาก็เลยได้หน้าได้ตาเบิกบานไป

เมื่ออภิเษกพระโอรสให้ครองเมืองแทนแล้ว  ท้าวกุรีปั่นก็สละราชบัลลังก์ปลีกตัวออกจากทางโลก ไปบวชอยู่ที่กุหนุงวิลิศ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระขนิษฐา บิกู คัณฑะส้าหรี   นับแต่นั้นก็มีนักบวชและบัณฑิตมากมายไปเฝ้ากันหนาแน่นอยู่ที่นั่น   ท้าวกุรีปั่นก็ครองเพศนักบวชอยู่ที่นั่นตลอดไป

ส่วนทางเมืองกากะหลัง  ท้าวกากะหลังก็จัดการแต่งตั้งพระโอรสคือสิงหะมนตรีขึ้นครองเมืองต่อไป  ส่วนพระองค์เองก็เจริญรอยตามพระเชษฐา ชวนพระชายาออกบวชตามท้าวกุรีปั่น ไปประทับอยู่ที่กุหนุงวิลิศด้วยกันอีก 2 องค์

กรุงกุรีปั่นและกรุงกากะหลังก็เจริญรุ่งเรือง มีพ่อค้าวานิชเดินทางมาค้าขายอุ่นหนาฝาคั่ง    นักบวชทั้งสองคือท้าวกุรีปั่นและท้าวกากะหลังก็สวดมนตร์สรรเสริญองค์สังหยัง(น่าจะตรงกับองค์ปะตาระกาหลาในอิเหนา) อยู่เป็นประจำ  เพื่อจะให้พระเจ้าทรงโปรดบันดาลความผาสุกสถาพรแก่ลูกหลานที่ครองกรุงกันสืบต่อไป

เรื่องปันหยี สะมิหรังก็จบลงเพียงแค่นี้
ต่อไปจะเปรียบเทียบกับเรื่องอิเหนาค่ะ  ขอเวลาหน่อย


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 12, 18:55
เรื่องอิเหนาในถิ่นกำเนิดคือประเทศชวานั้นมีหลายสำนวนด้วยกัน    อิเหนาของไทยว่ากันว่าตรงกับฉบับมาลัตของชวา  ไม่ใช่ฉบับ หิกะยัต ปันหยี สะมิหรัง ซึ่งเป็นฉบับนี้
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯทรงวิเคราะห์ว่าอิเหนาน่าจะเป็นนิทานมากกว่าพงศาวดาร   ถ้าพิจารณาจากฉบับนี้ดิฉันก็อยากจะสันนิษฐานต่อไปว่า น่าจะเป็นนิทานที่พวกกำบูหรือละครเร่นำมาเล่นละคร   เพราะมีกล่าวเอาไว้ชัดเจนในเนื้อเรื่องว่า นางเอกเมื่อปลอมเป็นกำบู เล่นละครเรื่องปันหยี สะมิหรังถวายให้อินูซึ่งเป็นพระเอกและชายาของอินูได้ดู   
จากเนื้อเรื่อง ปันหยี สะมิหรัง เป็นคนละฉบับกับอิเหนาฉบับดั้งเดิมจากมลายู  ที่แพร่เข้ามาในไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา และมาแต่งใหม่อีกครั้งในสมัยรัตโกสินทร์   จึงเอาเนื้อเรื่องมาเทียบกันได้ยาก    เท่าที่เห็นว่าเหมือนกัน ก็คือในโครงเรื่องใหญ่  มีตรงกันว่า
๑ กล่าวถึงพระราชาพี่น้องวงศ์เทวัญ ลงมาครองเมืองต่างๆในชวา     ในปันหยี สะมิหรังมีพี่น้อง 3 คน  ในอิเหนามี 4 คน
๒ ลูกชายและลูกสาวของเมืองพี่เมืองน้อง ได้หมั้นหมายกันตั้งแต่เล็ก
๓ พระเอกนางเอกของเรื่องมีเหตุให้ต้องพลัดพรากจากกัน    จนต้องมะงุมมะงาหราตามหากัน
๔ นางเอกปลอมตัวเป็นชาย
๕ พระเอกเจอนางเอกแล้วจำไม่ได้ 
๖ ในช่วงที่มะงุมมะงาหรา  ทั้งพระเอกนางเอกต่างก็ได้เมืองตามรายทางไว้ในอำนาจ  ได้ธิดาเจ้าเมืองมาเป็นบริจาริกา  เพิ่มพูนบารมีกันทั้งสองฝ่าย
๗ เมื่อจำกันได้ ก็จบกันด้วยดี
๘ ชื่อเสียงของพระเอกเลื่องลือไปไกลเมื่อขึ้นครองราชย์


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 12, 11:29
ไม่แน่ใจว่าเรื่องเดิมของปันหยี สะมิหรังฉบับนี้ เป็นฉบับที่มีผู้แต่งรวดเดียวจบตั้งแต่ต้นถึงปลาย   หรือว่าแต่งเป็นตอนเล็กตอนน้อยก่อน  เล่นเฉพาะบางตอน แล้วต่อมาจึงมีผู้เรียบเรียงเข้าด้วยกันเป็นเรื่องยาวตั้งแต่ต้นจนจบ     แต่จะเป็นอย่างไหนก็ตาม   ลักษณะการวางโครงเรื่องออกไปทางดราม่า เพื่อสนุกสนานเร้าใจ มากกว่าจะเห็นร่องรอยการบันทึกพงศวดารอยู่ในเนื้อเรื่อง   

ถ้ามองในแง่ดราม่า   ปันหยี สะมิหรังมีองค์ประกอบด้านนี้ค่อนข้างมาก  เช่นมีตัวละครโหล (stock character) เป็นตัวเอกๆอยู่หลายตัว    คำว่าตัวละครโหลนี้คือตัวละครยอดนิยมที่ปรากฏอยู่ในนิทานและเรื่อยมาจนนิยายฮิททั่วไปไม่ว่าชาติไหน    เช่นนางเอกเคราะห์ร้ายถูกข่มเหงรังแก   
ตัวละครโหลตัวนี้ ฝรั่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า damsel in distress  หรือถ้าเป็นนิทานเจ้าหญิงเจ้าชายก็เรียกว่า princess in distress   ซินเดอเรลลาในนิทานฝรั่งเศสก็ดี  สโนไวท์ในนิทานพื้นบ้านของเยอรมันก็ดี  นางเอื้อยในนิทานปลาบู่ทองก็ดี    เรื่อยมาจนพจมานในบ้านทรายทอง  ล้วนแต่ damsel in distress ทั้งนั้นค่ะ
ส่วนปันหยี สะมิหรัง   damsel หรือ pricess in distress  คือระเด่นจันตะหรา กิระหนา 
ตัวละครโหลตัวที่สอง คือแม่เลี้ยงใจร้าย  cruel or wicked  stepmother   อันที่จริงคนใจร้ายมีได้ทั้งชายและหญิง  แต่พ่อเลี้ยงใจร้ายมักไม่ค่อยมีให้เห็นเป็นตัวละครโหล   แม่เลี้ยงใจร้ายดังกว่า    ซินเดอเรลลา สโนไวท์ ปลาบู่ทอง  ไปจนหม่อมป้าแห่งบ้านทรายทอง  จัดเข้าประเภทแม่เลี้ยงใจร้ายได้ครบถ้วน
ในปันหยี สะมิหรัง ก็แน่นอน...ลิกู แม่เลี้ยงของจันตะหรา กิระหนา  ตรงเป๊ะ


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 12, 09:16
นอกจากมีแม่เลี้ยงใจร้าย  ก็ต้องมี wicked sister มาเป็นลูกคู่ด้วย   ซินเดอเรลลามีพี่สาวสองคนลูกแม่เลี้ยง ที่คอยกลั่นแกล้ง   นางเอื้อยมีนางอ้ายนางอี่   ในปันหยี สะมิหรัง มีก้าหลุ อาหยัง ซึ่งออกเวทีมาเพื่อการอิจฉาโดยเฉพาะ   ไม่มีบทอื่น
ยังไม่รวมตัวละครโหลตัวอื่นๆ เช่นเจ้าชายรูปงาม พระเอกของเรื่อง     อินูในเรื่องนี้บุคลิกภายนอกคล้ายอิเหนา แต่น่าจะจืดกว่าในเรื่องนิสัยเจ้าชู้และเอาแต่ใจ   

เนื้อเรื่องของปันหยี สะมิหรัง  เน้นไปที่เรื่องอิจฉา  รักๆใคร่ๆ และพลัดพรากจากกัน   ซึ่งถ้าเป็นละครเร่แล้วก็น่าจะสบอารมณ์ชาวบ้านอยู่มาก   เจ้าหญิงนางเอกต้องตกระกำลำบาก พลัดพรากจากบ้านเมือง    ปลอมตัวเป็นชาย  เจอกับพระเอกแต่พระเอกก็จำไม่ได้  เป็นสีสันให้คนดูได้ลุ้นไปจนกระทั่งจบเรื่อง   

ส่วนเรื่องการทำศึกแผ่พระราชอำนาจ ซึ่งเป็นหัวใจของพงศาวดาร  เรื่องนี้กล่าวถึงเหมือนกัน แต่ก็เป็นเพียงฉากหลังของเรื่องซึ่งไม่ได้เน้นอารมณ์สะเทือนใจจากเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด    จะเห็นได้ว่าผู้แต่งไม่ได้พูดถึงความสูญเสียหรือความสะเทือนใจในการแพ้ชนะในสงคราม 
ตัวอย่างคือระเด่นวิรันตะกะโอรสของท้าวจกรกาหันมาจงรักภักดีกับปันหยี ยาเหย็งจนถึงกับติดตามเป็นคนสนิทออกจากเมืองไปด้วย  ไม่ได้รู้สึกเลยว่านี่คือศัตรูที่ฆ่าพ่อตัวเองและชิงบัลลังก์ไป   แม้แต่ลุงและอามาแก้แค้นแทนพ่อ  ระเด่นวิรันตะกะก็ไม่ได้เข้าร่วมมือด้วย

นอกจากนี้เหตุผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้ในเรื่องพูดถึงการแผ่อำนาจของอินูผู้เป็นพระเอก    แต่ชื่อเรื่อง ปันหยี สะมิหรัง เป็นชื่อนางเอกเมื่อปลอมเป็นชาย  ก็คงพอจะบอกได้ว่า เรื่องนี้ ตัวเอกที่แท้จริงคือใครกันแน่


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 12, 11:18
  ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งที่เห็น ระหว่างปันหยี สะมิหรังกับอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒  คือความสมเหตุสมผล หรือที่มาที่ไปของเรื่อง อิเหนามีประเด็นสอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลกันมากกว่า      ผิดกับปันหยี สะมิหรังที่ผูกเรื่องไว้หลวมๆ ชวนให้ฉงนสนเท่ห์และคัดค้านได้หลายจุดด้วยกัน
   ในอิเหนา  การที่อิเหนามะงุมมะงาหรา ยกพลไปตามเมืองใหญ่ๆ  ๒ ครั้งใหญ่ก็มีสาเหตุ  คือไปติดผู้หญิงอันได้แก่นางจินตะหราลูกสาวเจ้าเมืองหมันหยา  ส่วนมะงุมมะงาหราครั้งที่สอง เกิดจากตามหาบุษบาที่ถูกลมหอบไป       แต่ระเด่นจันตะหรา กิระหนาหนีพ่อและแม่เลี้ยงออกจากเมืองดาหา ไปตั้งเมืองใหม่ ปล้นสะดมคนเดินทาง แล้วตั้งตัวเป็นปันหยี สะมิหรังเจ้าเมืองผู้ชายนี่ยังมองไม่เห็นเหตุผลว่าทำไม   ในเมื่อทางง่ายกว่านั้นก็คือตรงไปพึ่งบารมีท้าวกุรีปั่นผู้เป็นลุงและเป็นพ่อของคู่หมั้นก็หมดเรื่อง       
   ส่วนนางพี่เลี้ยงที่ติดตามมา บทจะปลอมเป็นชายก็กลายเป็นแม่ทัพเอกฝีมือเลิศขึ้นมาเฉยๆ ไม่มีที่ไปที่มา  รบใครชนะหมด  แม้แต่แม่ทัพนายกองของเมืองใหญ่อย่างกุรีปั่น
   เมื่ออินูยกพลมาที่เมืองของปันหยี สะมิหรัง   เจอกันสมใจแล้ว  นางเอกก็อมพะนำไว้ไม่ยอมเปิดเผยตัว  จนแล้วจนรอด     ก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไมเหมือนกัน      อินูเองก็ไม่รู้ว่านี่คือผู้หญิง แต่ก็พะวงหลงใหลรักใคร่จนได้   จนไม่ไยดีเจ้าสาวก้าหลุ อาหยัง     เมื่อไม่ไยดีแต่แรกก็ไม่น่าจะยอมแต่งด้วย  แต่เมื่อยอมแต่งแล้วก็กลับหนีชายาออกจากเมือง กลับไปหาปันหยี สะมิหรัง เสียเฉยๆ ทั้งๆก็ไม่รู้ว่านี่คือผู้หญิง และเป็นคู่หมั้น   ดูมันสับสนกันพิกล
   เรื่องของก้าหลุ อาหยัง ก็เป็นความไม่ลงตัวของบทบาทในเรื่องอีกประเด็นหนึ่ง   ตามเนื้อเรื่องเธอเป็นลูกสาวท้าวดาหา แม้เกิดจากลิกูก็ถือได้ว่าเป็นมเหสีอันดับสาม  ไม่ใช่นางทาส    เธอจึงเป็นเจ้าหญิงโดยกำเนิด     เธอได้อภิเษกกับอินูก่อนหญิงอื่น อย่างถูกต้องตามราชประเพณี   ก็ต้องถือว่าเธอเป็นประไหมสุหรีของอินู   ไม่ใช่จันตะหรา กิระหนาซึ่งมาทีหลัง     
   ประเด็นนี้ ในเรื่องอิเหนาเองคำนึงถึงความถูกต้องตามประเพณี     เห็นได้จากเมื่ออภิเษกอิเหนาในตอนท้าย   จินตะหราอยู่ในตำแหน่งประไหมสุหรีฝ่ายขวา   ส่วนบุษบาแม้เป็นคู่หมั้นเดิมและเป็นวงศ์เทวาสูงกว่าจินตะหรา ก็ยังต้องเป็นประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย   ตามลำดับก่อนหลัง     แต่ในปันหยี สะมิหรัง เหมือนคนแต่งไม่รู้จะทำอย่างไรกับก้าหลุ อาหยัง  เลยทำเป็นลืมว่าเธอเป็นชายาเอกของอินู   แต่จับเธอแต่งงานใหม่ไปกับสิงหมนตรีเสียเฉยๆ  โดยท้าวดาหาผู้พ่อก็ไม่ได้ปริปากว่าอะไรสักคำ     ไม่มีใครมองด้วยว่า ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความผิดของก้าหลุ อาหยังเลยสักนิดเดียว


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 12, 14:47
 ทางด้านการวางตัวละคร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง   วรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะเป็นที่จดจำกันได้ยาวนานมากน้อยแค่ไหน ก็แล้วแต่ว่าจะสร้างตัวละครเอกให้มีสีสันประทับใจ  พอจะตราตรึงในความทรงจำของคนอ่านได้สั้นหรือยาวนานแค่ไหน      เราคงได้ยินผ่านหูบ่อยๆว่า  คนอ่านมักจะจำชื่อเรื่องไม่ได้ แต่จำตัวละครเอกที่ประทับใจพวกเขาได้แม่นยำกว่า

ตัวละครจะประทับใจคนอ่าน(หรือคนดู)มากน้อยแค่ไหนไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นคนดีหรือเลวแค่ไหน   แต่อยู่ที่มีความโดดเด่นชัดเจน ผุดขึ้นมาเหนือตัวละครอื่นๆได้หรือไม่     ในอิเหนา เราคงจะเห็นว่าไม่มีตัวละครชายคนไหนเด่นขึ้นมาได้เท่าอิเหนา  มีทั้งสีขาวและดำอยู่ในตัว  ทั้งรูปงาม  เก่งกล้า  นิสัยดื้อรั้น เอาแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่   ไม่เกรงกลัวใคร  ข่มตัวละครชายอื่นๆให้ด้อยสีสันลงไปได้หมด โดยเฉพาะจรกา ซึ่งเป็นคู่แข่งก็ขี้ริ้วขี้เหร่  ซ้ำยังบทบาทถูกจำกัดจนจืดชืดไร้อารมณ์ใดๆ 

เมื่อเทียบกับอินูในเรื่องปันหยี สะมิหรัง อินูดูครึ่งๆกลางๆอยู่หลายตอน  ตอนเปิดฉากออกมาก็ไม่ปรากฏว่าเก่งไปกว่านางเอกซึ่งสวมบทบาทเป็นเจ้าเมืองชาย     ต่อมาถูกอาจับแต่งงานก็ยอมแต่ง แล้วสลัดความรับผิดชอบด้วยการหนีออกจากเมืองทีหลัง    จะว่ารักและซื่อสัตย์ต่อคู่หมั้นก็ไม่เชิง เพราะเดินทางไปตามรายทางก็ไปได้ลูกสาวเจ้าเมืองอื่นๆมาเป็นชายาด้วยความเต็มใจ     จะว่าฉลาดก็ยิ่งไม่ใช่ใหญ่ เพราะเจอปันหยี สะมิหรังตอนปลอมเป็นกำบูก็ยังจำไม่ได้    การวางตัวให้อินูทำอะไรครึ่งๆกลางๆหลายตอนแบบนี้ ไปลดทอนน้ำหนักความประทับใจลงมาก


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 12, 09:56
    นอกจากน้ำหนักตัวละคร ของปันหยี สะมิหรัง  น้อยกว่าเมื่อเทียบกับอิเหนา การวางโครงเรื่องก็มีหลายตอนซึ่งไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน    ทำให้ขาดจุดเด่นไปเป็นช่วงๆ   อย่างเช่นการสร้างเมืองใหม่ของปันหยี สะมิหรังด้วยการปล้นสะดมคนเดินทางแล้วชักชวนกวาดต้อนเข้ามาเป็นชาวเมือง   
   หลังจากลงทุนลงแรงขนาดนี้ บทปันหยีจะทิ้งเมืองไปก็ทิ้งไปง่ายๆ     ข้อนี้ผู้แต่งอ้างว่าเกรงชาวเมืองรู้ว่าตนเองเป็นหญิงก็ฟังไม่ขึ้น  เพราะตอนมาตั้งเมืองก็ยกขบวนชาววังจากตำหนักมามากมาย   ทุกคนย่อมรู้ว่าเจ้านายของตนเป็นหญิง  คนมากขนาดนี้ จะเก็บความลับไว้ย่อมทำไม่ได้อยู่ดี   จากนั้นเมื่อปันหยีกลับมาอีกครั้ง  เมืองก็ร้างไปแล้วต้องรื้อเมืองทิ้ง     เป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้แสดงความสามารถใดๆของปันหยี สะมิหรัง
   เหตุการณ์อื่นๆที่ผู้แต่งผูกขึ้น   ดูครึ่งๆกลางๆอยู่หลายตอน  สิงหมนตรีลูกชายท้าวกากะหลังถูกวางตัวให้เป็นตัวละครสำคัญมาแต่แรก เพราะเอ่ยควบคู่ไปกับพระเอกนางเอก    แต่เมื่อแสดงบท แทนที่จะเป็นผู้ร้ายหรือคู่แข่งสำคัญก็กลายเป็นตัวตลกบ้าๆบอๆ ไป   แต่ตอนจบก็หักมุมให้ขึ้นครองเมือง กลายเป็นพระราชาที่ดี แฮปปี้เอนดิ้งไปเฉยๆ       เช่นเดียวกับก้าหลุ อาหยังตัวอิจฉาของเรื่อง ที่ตอนจบก็ได้เป็นราชินี ทำเสน่ห์สามีต่อไปโดยไม่มีใครว่า
   ส่วนลิกูซึ่งเป็นนางแม่เลี้ยง  ผู้ก่อเรื่องขึ้นมา  บทจะหมดบทก็หมดไปเฉยๆ คืออยู่ๆเสน่ห์ยาแฝดก็หายขลังไปง่ายๆ     แล้วก็ตายไปโดยไม่ได้เข้มข้นให้สมกับผูกเรื่องขึ้นมา   การวางโครงเรื่องให้เข้มข้น   แล้วคลี่คลายแบบง่ายๆทำนองนี้มีอยู่หลายตอนในเรื่อง
   



กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 12, 21:33
   ความแตกต่างอีกอย่างระหว่างอิเหนากับปันหยี สะมิหรังก็คือ   เรื่องอิเหนามีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวระเด่นมนตรีผู้เป็นตัวเอกของเรื่อง  เมื่อดูจากเนื้อเรื่องแล้วจะเห็นได้ว่า ความเป็นไปทั้งหลายมีเหตุเกิดมาจากการแหวกกรอบประเพณีของพระเอกทั้งสิ้น       ความเป็นหนุ่มคะนองและเป็นเจ้าชายของเมืองใหญ่ที่ไม่ต้องเกรงใจใคร ทำให้อิเหนาเป็นคนเอาแต่ใจ อยากทำอะไรก็ทำ     อยากทิ้งคู่หมั้นไปมีหญิงอื่นที่ไม่คู่ควรกันก็ทำตามอยาก    ต่อมาเห็นคู่หมั้นสวยกว่าก็ลืมคนเก่า อยากได้คนใหม่    เมื่อผู้ใหญ่ไม่เห็นใจ อิเหนาก็ใช้วิธีเผาเมือง ลักตัวผู้หญิงไปเสียเฉยๆ
   การกระทำที่ลบหลู่ผู้ใหญ่และก่อความเดือดร้อนให้ทุกฝ่ายแบบนี้ เมื่อรู้ไปถึงบรรพบุรุษผู้เป็นเทพชั้นผู้ใหญ่ อิเหนาจึงถูกลงโทษให้พลัดพรากจากคนรัก และพลัดบ้านพลัดเมืองมะงุมมะงาหราไปหลายปีกว่าจะกลับมาครองเมืองได้       กวีผู้แต่งได้แสดง "เหตุ" และ "ผล" ที่ตามเหตุมาให้เข้าใจกันดี
   ผิดกับปันหยี สะมิหรัง  ที่อย่างแรกคือศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ตัวนางเอกมากกว่าพระเอก     เมื่อดูจากเนื้อเรื่องแล้ว   ผู้แต่งอาจมีจุดประสงค์ให้คนดู(หรือคนอ่าน)สงสารการตกระกำลำบากจนต้องพลัดบ้านพลัดเมืองของระเด่นจันตะหรา กิระหนา   มีคู่หมั้นก็ต้องพลัดพรากจากกันอยู่นาน     แต่ความอ่อนเหตุผลในการผูกเรื่องทำให้กลับตาลปัตร  กลายเป็นว่านางเอกไม่ควรจะทำตัวเองให้ลำบากขนาดนั้นก็ได้ แต่ก็กลับทำ      เช่นการปิดปากไม่ยอมบอกพระเอกว่าตัวเองเป็นใครเมื่อพบกันครั้งแล้วครั้งเล่า    การสร้างเมืองแล้วก็ทิ้งเมืองไปง่ายๆ   รวมทั้งทิ้งแม่เลี้ยงที่แสนดีกับตัวเองด้วย โดยไม่บอกเหตุผล    การมีชายากำมะลอ   การปลอมเป็นกำบูทั้งๆไม่เคยฝึกละครมาก่อน  ฯลฯ   


กระทู้: อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 12, 21:35
     ทั้งหมดนี้ผู้แต่งอาจมุ่ง "ดราม่า" ในเรื่อง มากกว่าจะให้น้ำหนักกับเหตุและผลในพฤติกรรมตัวละคร      ถ้ามองในแง่สีสัน ปันหยี สะมิหรังก็มีสีสันทำนองเดียวกับเรื่องจักรๆวงศ์ๆของไทย คือไม่ต้องไปคิดถึงเหตุผลอะไรมาก     ลูกเขยฆ่าพ่อตาที่เป็นยักษ์ตาย  ลูกสาวก็ไม่เห็นจะสะเทือนใจ   เศร้าโศกที่พ่อตายแล้วก็แล้วกัน หลังจากนั้นก็อยู่กับสามีต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
     ดังนั้นถ้าจะอ่านปันหยี สะมิหรังก็ควรคำนึงถึงข้อนี้ด้วย    จึงจะอ่านได้สนุก   

     ขอจบกระทู้เพียงแค่นี้ค่ะ