เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 10, 10:02



กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 10, 10:02
สืบเนื่องจากกระทู้  จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3  ของคุณ Navarat.C
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.0
ดิฉันบอกไว้ใน ค.ห. 356  ว่าจะแยกกระทู้เป็นเรื่องของพ.ท.โพยม    แต่หลายเดือนแล้วก็ยังไม่ได้ตั้งสักที
มัวติดงานอื่นๆอยู่
ตอนนี้ตัดสินใจว่าถ้าไม่เริ่มตอนนี้ ก็คงไม่ได้เริ่มจนแล้วจนรอด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลยังมาไม่ครบ   
ขอเสิฟน้ำจิ้มไปก่อน ด้วยรูปถ่ายของพันโทโพยม จุลานนท์


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 พ.ย. 10, 13:04
อย่างน้อย บิดาและบุตรก็มีส่วนคล้ายกันที่ใบหน้า


รอติดตามอ่านอยู่ครับ



กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 10, 13:22
เจ้าหนี้รายแรกมาทวงหนี้เสียแล้ว  จำต้องเปิดม่าน   ;D

ได้ยินชื่อพ.ท.โพยม จุลานนท์ครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน     เมื่อได้อ่านหนังสืออนุสรณ์งานศพ คุณหญิงเก๋ง วิเศษสิงหนาถ   หรือคุณหญิงเก๋ง จุลานนท์  ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๐
หนังสืองานศพมีบันทึกประวัติชีวิตขนาดยาว   เขียนโดยบุตรชายของผู้ล่วงลับ    เล่าความตั้งแต่จำความได้ มาจนกระทั่งโต   เป็นความผูกพันฉันแม่ลูกที่ละเอียดอ่อนและซาบซึ้ง   ไม่ใช่คำไว้อาลัยสั้นๆ  เขียนด้วยสำนวนเป็นทางการ อย่างที่เราอาจจะหาอ่านได้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพโดยมาก
บันทึกของพ.ท.โพยมที่มีต่อมารดา จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนวนิยายเรื่อง "ราตรีประดับดาว" ขึ้น       เมื่อเขียนจบแล้วก็เก็บหนังสือและเอกสารอ้างอิงทั้งหมดใส่แฟ้มเก็บไว้ในห้องหนังสือ    ผ่านมาสิบกว่าปีเลยหาไม่เจอ
ได้แต่เขียนจากความทรงจำ

พ.ท.โพยม เป็นบุตรของพ.อ. พระยาวิเศษสิงหนาถ  (ยิ่ง จุลานนท์)    กับคุณหญิงเก๋ง    ฝ่ายบิดาเป็นคนกรุงเทพแต่ว่าไปรับราชการทหารอยู่ที่จ.เพชรบุรี  ในกรมทหารที่เรียกกันว่า "กองทัพล่าง" ส่วนมารดาของท่านเป็นชาวท่าหิน  สมัยโน้นเรียกว่าบ้านท่าหิน    
ท่านทั้งสองสมรสกันที่เพชรบุรี  เด็กชายโพยมเกิดที่นั่น
เมื่อเกิด   พระยาวิเศษสิงหนาถซึ่งตอนนั้นยังเป็นพ.ท. บรรดาศักดิ์เป็นคุณพระ   ถูกย้ายกะทันหันจากเพชรบุรีไปเมืองหมากแข้งหรือ
จ.อุดรธานี  เนื่องจากมีเหตุตำรวจกับทหารปะทะกันในจังหวัด  ผู้บังคับบัญชาทั้งๆไม่มีส่วนรู้เห็นกับลูกน้องทะเลาะวิวาทกัน ก็โดนหางเลข ถูกย้ายแบบตั้งตัวไม่ติด
ลูกยังเล็กนัก    พ่อจึงให้แม่กับลูกอยู่ที่เพชรบุรีไปก่อน    โตพอจะเดินทางได้จึงจะให้ตามไปทีหลัง  เด็กชายโพยมตั้งแต่จำความได้จึงพบว่าอยู่กับแม่กันสองคนแม่ลูกในบ้านเล็กๆ     มีสามีภรรยาคู่หนึ่งอยู่เป็นเพื่อนด้วย   แต่ว่าเป็นญาติหรือเป็นคนรู้จักกันทางไหน ท่านไม่ได้ระบุไว้



กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 10, 13:56
เด็กชายโพยมเป็นเด็กเฉลียวฉลาด กล้า ช่างพูดช่างถาม  เมื่อพอจะรู้ความ  เห็นตัวเองมีแต่แม่ ไม่มีพ่ออยู่บ้านอย่างเด็กอื่นๆในละแวกนั้น ก็ถามถึงพ่อ    แม่ก็บอกว่า พ่อเป็น "คุณพระ"    ดังนั้นเมื่ออายุ ๓ ขวบ  พระสงฆ์มารับบิณฑบาตที่บ้าน   พอรู้ว่านี่คือ "พระ" เด็กชายโพยมก็เดินตามพระออกจากบ้านไปจนกระทั่งถึงวัด  เพื่อจะไปอยู่กับ "พ่อ"
เจ้าอาวาส ท่านเมตตา ท่านก็รับเลี้ยงหาข้าวปลาให้กิน และพามาส่งบ้าน   จากนั้นพอโตขึ้นกว่านี้หน่อย ท่านก็สอนให้เขียนอ่านหนังสือที่วัดนั่นเอง

บิดาของดช.โพยมจากไปอยู่เมืองหมากแข้งหลายปี   ไม่ได้ส่งข่าวมาหาลูกเมียทางเพชรบุรี    เมื่อลูกชายโตพอจะฝากคนให้ดูแลอยู่ทางบ้านได้    มารดาก็เดินทางจากเพชรบุรีมากรุงเทพ  เพื่อสืบหาข่าวคราว     
บางครั้ง  เธอมาพักอยู่ที่บ้านภรรยาคนเดิมซึ่งเลิกร้างกันไปแล้วจากสามี     บางครั้งเธอก็มาพักอยู่ที่้บ้านพระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์)  อีกคนหนึ่งที่เธอมาขอพึ่งพาคือเจ้าจอมอาบ บุนนาค   หนึ่งในจำนวนเจ้าจอมก๊ก อ.  ที่ชาวเรือนไทยคงได้เคยผ่านตามาบ้างแล้ว   
ในสมัยนั้น  การเดินทางจากต่างจังหวัดมาพักในเมืองหลวง สำหรับผู้หญิงตัวคนเดียวถือเป็นเรื่องลำบาก   ต้องหาบ้านคนรู้จักเพื่ออาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย     โดยมากก็เป็นญาติหรือคนคุ้นเคยกันมาก่อน   
เจ้าจอมอาบเป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด  เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ที่เกิดกับท่านผู้หญิงอู่   คงจะรู้จักกับมารดาของพ.ท.โพยมมาก่อนตั้งแต่อยู่เมืองเพชร  จึงเอื้อเฟื้อให้เธอพักอยู่ด้วย    มิตรภาพของเจ้าจอมอาบและคุณหญิงเก๋งก็ดำเนินกันมายาวนานตลอดชีวิตของท่านทั้งสอง


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 10, 17:28
คำว่า" พระ" ที่เด็กชายโพยมจำได้ว่าเป็นชื่อของพ่อ   ความจริงคือนายพันโทพระนเรนทรรักษา (ยิ่ง จุลานนท์)  เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเกียกกายทหารบก กระทรวงกลาโหม 

ตระกูลของเด็กชายโพยมเข้มข้นด้วยเลือดทหาร  สืบมาตั้งแต่ครั้งปู่    คุณปู่ชื่อเล็ก เป็นครูฝึกทหารวังหน้าของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพันโทหลวงรัดรณยุทธ  ซึ่งก็เป็นบรรดาศักดิ์เดียวกับพระนเรนทรฯได้รับเมื่อเป็นพันตรี
คุณปู่หลวงรัดรณยุทธเคยถูกส่งตัวไปเรียนวิชาทหารกับกองทหารอังกฤษที่ประจำอยู่ในอินเดีย    กลับมาจึงได้เป็นครูฝึกทหารให้วังหน้า
นามของครูเล็ก หลวงรัดรณยุทธนี่เอง เป็นที่มาของนามสกุลพระราชทานในล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ ว่า "จุลานนท์"  จุล แปลว่า เล็ก

บิดาของพ.ท.โพยมเคยสมรสมาก่อน กับคุณนายกลีบ    มีบุตร ๓ คนคือ
๑ พันโท พระอร่ามรณชิต (อ๊อด จุลานนท์)
๒ พยัพ จุลานนท
๓ พยงค์ จุลานนท์

หลังจากเลิกร้างกัน   ก็ไม่ได้เกิดความรู้สึกบาดหมางเมื่อพระนเรนทรรักษาไปสมรสใหม่กับนางสาวเก๋ง หญิงสาวชาวเมืองเพชรบุรี   เห็นได้จากเธอเคยไปพักที่บ้านคุณนายกลีบเมื่อเข้ามาติดตามข่าวคราวอย่างสามี อย่างที่เล่าไว้ข้างบน
อายุของเธอ เท่ากับบุตรคนโตของสามีคือพระอร่ามรณชิตพอดี    ทั้งคุณพระอร่ามฯ และแม่เลี้ยงต่างก็มีความเคารพและให้เกียรติกันและกันอย่างดี       ความรู้สึกเคารพและเป็นมิตรก็ตกทอดมาถึงชั้นลูกๆของทั้งสองคนด้วย
จะเรียกว่าคนในตระกูลจุลานนท์ ไม่มีปัญหาแม่เลี้ยงลูกเลี้ยงก็ว่าได้  แม้ในเจนเนอเรชั่นต่อมาก็เช่นกัน    เรื่องนี้จะเล่าขยายต่อไปในโอกาสหน้า


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 10, 19:28
เล่ารวบรัดในตอนนี้ มิฉะนั้นจะออกนอกประวัติชีวิตพ.ท.โพยมไปไกล     ขอตัดตอนว่าในที่สุดพันโทพระนเรนทรรักษาก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นพันเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิเศษสิงหนาถ   ย้ายกลับเข้ามาอยู่ในพระนคร  
ครอบครัวพ่อแม่ลูกจึงได้มารวมกันอีกครั้ง    มารดาของเด็กชายโพยมก็ได้เป็นคุณหญิงวิเศษสิงหนาถ ตามบรรดาศักดิ์ของสามี  ย้ายจากเพชรบุรีมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางโพธิ์ บริเวณใกล้สะพานพระราม ๖

ด้วยความวิริยะอุตสาหะของคุณหญิงวิเศษสิงหนาถ ซึ่งเคยค้าขายข้าวสาร มีการค้าของตัวเองมาก่อนตั้งแต่สมัยยังสาวอยู่เพชรบุรี    ท่านก็สร้างฐานะได้เป็นปึกแผ่นมั่นคง    เป็นเจ้าของสวนทุเรียน และที่ดินอีกหลายแปลง  นับเป็นเศรษฐินีคนหนึ่งของบางโพธิ์
ดช.โพยมมีน้องต่อมาอีก ๒ คนคือน้องสาวชื่อพยูร และน้องชายคนเล็กชื่อยศ  เมื่อโตขึ้น โพยมก็เข้าเรียนด้านทหาร เช่นเดียวกับคุณพ่อและคุณปู่
ส่วนน้องชายคนเล็กคือยศ เข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พันเอกพระยาวิเศษสิงหนาถ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘   ปีสุดท้ายในรัชกาลที่ ๖     แต่ฐานะครอบครัวก็ไม่ได้กระทบกระเทือนแต่อย่างใด  เพราะคุณหญิงวิเศษสิงหนาถมีฐานะดีอยู่แล้ว  จึงสามารถส่งเสียบุตรชายทั้งสองให้เล่าเรียนได้สูงตามที่มุ่งหมาย

ชีวิตในวัยหนุ่มของร้อยตรีโพยมเป็นไปด้วยดี ทั้งอาชีพการงานและส่วนตัว     เขาพบรักกับธิดาของนายทหารใหญ่อีกคนหนึ่ง  คือพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) อดีตนักเรียนทหารจากเยอรมัน  
เธอชื่อคุณอัมโภช ท่าราบ  ญาติพี่น้องต่างก็เห็นพ้องกันว่าเหมาะสมกันเป็นกิ่งทองใบหยก     ต่อมาก็ได้สมรสกัน  มีบุตร ๓ คนคือ ลูกสาวคนโตชื่ออัมพร บุตรชายคนกลางชื่อสุรยุทธ์  และนภาพร เป็นบุตรสาวคนเล็ก
ชื่อของลูกสาวทั้งสอง มีความหมายสอดคล้องกับชื่อพ่อ คือแปลว่า ท้องฟ้า

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๑ ปี เกิดกบฏบวรเดช ในพ.ศ. ๒๔๗๖     ชื่อของพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นที่จารึกในประวัติศาสตร์การเมืองในฐานะแม่ทัพใหญ่ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช    หาอ่านได้จาก กระทู้ "ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์"
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3025.msg57959#msg57959
ขณะนั้น โพยมเป็นนายร้อยทหารหนุ่ม   ยังไม่มีบทบาทใดๆทางการเมือง

 


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 10, 08:53
พ.ท. โพยมเติบโตขึ้นมาในสายอาชีพทหาร ในช่วงที่สยามก้าวเข้าสู่ความผันผวนทางการเมืองมากที่สุดนับแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา   แม้ว่าเรียกกันตามทางการ คือสยามเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือราชาธิปไตย  เป็นประชาธิปไตย มาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕    แต่ในทางปฏิบัติ   กลายเป็นระบอบรัฐสภาสลับกับรัฐประหารมาตลอด

ในเมื่อจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจากคณะทหาร   จากนั้น    สถาบันทหารเข้ามาพัวพันกับการปกครองโดยไม่ขาดสาย   จนเรียกว่าแยกกันไม่ออก     นายทหารชั้นผู้ใหญ่กลายเป็นผู้นำทางการเมือง ชุดแล้วชุดเล่าและคนแล้วคนเล่า   เมื่อคนเก่าหมดอำนาจไป คนใหม่ก็เข้ามาแทน
ใครที่ยังไม่เคยอ่านเรือนไทย หรืออ่านแต่ลืมไปแล้ว  จะหาอ่านบทบาททหารกับการเมืองไทยได้จากกระทู้มหากาพย์  
ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0

การชิงอำนาจและล้มล้างอำนาจเก่ากัน มีทั้งระหว่างกองทัพต่อกองทัพ  ทหารกับทหาร และทหารกับพลเรือน  ที่เห็นได้ชัดคือกรณีกบฎวังหลวง ซึ่งเป็นรัฐประหารนำโดยนายปรีดี  พนมยงค์ และส่วนหนึ่งของกองทัพเรือ ที่ชิงอำนาจจากจอมพลป.   และต่อมาคือกบฎแมนฮัตตันระหว่างทหารเรือกับจอมพลป.
อ่านได้จาก
จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.0  
ด้วยสภาพแวดล้อมแบบนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นายทหารระดับนายพันคือระดับคุมกำลัง  มีจำนวนมากที่ต้องเข้าไปพัวพันกับการเมือง ทั้งโดยหน้าที่  หรือถูกผลักดัน หรือด้วยความสมัครใจ
พ.ท.โพยม ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 10, 09:49
ขอนั่งพักก่อน  รวบรวมข้อมูลอยู่ค่ะ
เชิญเข้ามากระแอมกระไอให้เสียง หรือคุยอะไรก็ได้ ตามอัธยาศัย


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 30 พ.ย. 10, 12:38
เห็นกระทู้นี้แล้วเลยต้องปัดฝุ่นลอกอินเข้ามาลงชื่อติดตามค่ะ

ถ้าอยู่ใกล้ๆ จะรินน้ำให้ดิ่ม ปรนนิบัติพัดวีให้อาจารย์หายเหนื่อยมาให้ความรู้ต่อนะคะ  :)


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ย. 10, 14:29
บทกวีจากหน้า ๑๗

(http://4.bp.blogspot.com/_7DJGRBMkycU/TD7ggWN6sRI/AAAAAAAAAJM/oDBULgZr96k/s1600/book_other1200560040.jpg)

กบฏ

เธอคือต้นกล้าแห่งอนาคต
จึงแข็งขืนต่อกฎอันล้าหลัง
เธอศรัทธาต่อหัวใจและจริงจัง
จึ่งบางครั้งคล้ายก้าวร้าวรุนแรง

มิคุดค้อมทรชนจำนนนิ่ง
กล้าประกาศทุกสิ่งอย่างกร้าวแกร่ง
กล้าเปิดเผยสัจธรรมนำสำแดง
มิเสแสร้ง-ซบอำนาจทมิฬใด

เธอคือธงนำทางความคิด
เธอต่อสู้เพื่อสิทธิ์อันยิ่งใหญ่
บูชาเสรีภาพเหนือสิ่งใด
เทอดทูนไว้เหนือชีวิตชีวา

เธอคือต้นกล้าแห่งอนาคต
ถูกกำหนดให้สร้างสรรค์วันข้างหน้า
มีชีวิตเพื่อประสานกาลเวลา
มีดวงตาพิทักษ์ธรรมส่องนำทาง

มิใช่เหล่าสมุนเขาขุนใช้
เป็นกลไกทางสังคมที่ใครสร้าง
คือสายเลือดกบฏกำหนดวาง
เธอคือผู้นำทางของแผ่นดิน

ศรี  พิริยะศิลป์
 
 
 


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 10, 15:55
มาเสิฟกาแฟตอนเบรค ค่ะ

(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSDcPp_9kqS-F_BnzhM2TYFx-UHNFx4hn_XhngEF5r-VBelOkDZEQ)

ขอออกนอกเรื่องหน่อย
ชื่อพ.ท.โพยม สะกดว่าโพยม หรือพโยม คะ? เพราะเห็นทั้ง ๒ อย่าง
ถ้ามีหนังสืออนุสรณ์งานศพอยู่ในมือ ก็จะเช็คได้ นี่ยังหาไม่เจอ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ย. 10, 16:08
ถ้าจะให้มีความหมายต้องใช้ โพยม

โพยม [พะโยม] น. ท้องฟ้า, อากาศ, โพยมัน หรือ โพยมาน ก็ใช้. (ส. โวฺยมนฺ).

 ;D




กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 10, 19:20
เมื่อสำรวจเส้นทางชีวิตทหารของพ.ท. โพยม ตั้งแต่นายร้อยจนเป็นนายพันตรี ก็พบว่าเติบโตมาทางสายอาชีพ   ยังไม่เกี่ยวกับการเมือง    จึงขอเก็บความมาเพียงย่อๆ ว่า เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔  ก็ไปประจำการครั้งแรกที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ จังหวัดราชบุรี     ตอนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีต่อมา  พ.ท.โพยมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องมากนัก  เป็นเพียงนายร้อยตรีชั้นผู้น้อยในกองกำลังรถถัง  ประจำอยู่ ณ กองบัญชาการฝ่ายทหารของคณะราษฎร ที่วังปารุสกวัน
จากนั้นอีก ๕ ปี  ท่านเรียนจบจากโรงเรียนเสนาธิการ  ไปเป็นเสนาธิการกรมทหารราบที่ ๕ กองพลทหารบกที่ ๒ ปราจีนบุรี    ศึกแรกที่เผชิญก็คือปะทะกับกองทหารญี่ปุ่นที่บุกประเทศไทยเมื่อวันที่ ๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔   เข้ามาทางอรัญประเทศ   กองทหารไทยสู้จนกระทั่งมีคำสั่งจากรัฐบาลให้หยุดรบ

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๖  พันโทโพยมถูกส่งไปเป็นเสนาธิการกรมทหารราบที่ ๓ ปฏิบัติการตามชายแดนประทศพม่า-จีน ตามฝั่งแม่น้ำโขง  และต่อมาได้ย้ายไปเป็นเสนาธิการกรมทหารราบที่ ๑๘  จังหวัดสงขลา  ได้รับหน้าที่เป็นกองทหารไปรับมอบดินแดนใน ๔ รัฐมลายู ในปี ๒๔๘๗  เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้   จนกระทั่งสงครามโลกสิ้นสุดลง

พ.ท.โพยมเป็นนายทหารหน้าตาบุคลิกดี  เฉลียวฉลาด กล้าหาญ กล้าคิด  กล้าตัดสินใจ และมีอุดมการณ์ทางประชาธิปไตย     เมื่อเห็นว่าการเมืองหลังสงครามจะเป็นเรื่องยุ่งยากให้ประเทศชาติต้องเผชิญปัญหาอีกมาก   เสธ.โพยมก็ตัดสินใจขอลาออกจากกองทัพไปสมัครเป็นส.ส. ที่เพชรบุรี 
แต่ว่าสมัครครั้งแรก  คะแนนยังสู้คู่แข่งไม่ได้   ก็เลยขอกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ย้ายไปเป็นอาจารย์ร.ร.เสนาธิการทหารบก

ถึงไม่ได้เป็นส.ส.  เป็นธรรมดาอยู่เองที่นายทหารชั้นเสนาธิการที่มีแววโดดเด่นกว่าเพื่อน  จะ" เข้าตา" ผู้ใหญ่     พ.ท.โพยมก็อยู่ในข่ายนี้     ผู้ใหญ่ที่เล็งเห็นคุณสมบัติข้อนี้  จนให้ความพอใจและสนิทสนมด้วย  ไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก "ท่านผู้นำ"   หรือจอมพลป. พิบูลสงคราม
ในตอนนั้น ท่านผู้นำชะตาตกหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม   การเมืองก็ทำให้ท่านพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาอยู่บ้านเฉยๆ  รอดจากเป็นอาชญากรสงครามได้อย่างหวุดหวิด


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 10, 10:08
ไปเช็คมาแล้ว ชื่อของท่านสะกด ว่า "พโยม" ค่ะ    ชื่อคนเป็นวิสามานยนาม  ไม่จำเป็นต้องสะกดตามพจนานุกรม
จะแก้ตัวสะกดไล่หลังในความเห็นก่อนๆ
**********************
แม้ว่าพ.ท.พโยมใช้ชีวิตในวัยเรียนจนจบจากโรงเรียนนายร้อย อยู่ในเมืองหลวง  แต่เมื่อเริ่มรับราชการ  ก็ออกหัวเมืองตลอด ได้คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านร้านถิ่น ชาวไร่ชาวนามาตลอด          จึงมองเห็นความจริงข้อหนึ่งว่า  แม้ว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองมานานกว่า ๑๕ ปีแล้ว  ชีวิตชาวบ้านก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น  ยังยากจน เพราะถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ทุกด้าน
พ.ท. พโยมยังจำอุดมการณ์ในประกาศฉบับที่ ๑ ของคณะราษฎร์ได้  ว่ามุ่งความเจริญของประชาชนเป็นหลัก     ขอตัดตอนมาลงให้อ่านกันตามนี้นะคะ

...
ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ....การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า
๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

แต่เอาเข้าจริง  ชาวบ้านก็ยังอยู่เหมือนเดิมแทบไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง   ขณะที่เมืองหลวงก็เปลี่ยนผู้บริหารชุดแล้วชุดเล่า  แต่ความเปลี่ยนแปลงก็จำกัดอยู่ในระดับบน  ไม่ได้ลงมาถึงระดับล่างจนแล้วจนรอด
นายทหารผู้นี้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตย คือระบอบที่มุ่งความต้องการของคนส่วนใหญ่ เป็นหลัก   ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ชาวนาขายข้าวก็ได้ราคาตามจริง  ไม่ถูกพ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบ    ชาวบ้านก็อยู่ได้อย่างปลอดภัย ไม่ถูกข้าราชการกดขี่ข่มเหงวางตัวเป็นเจ้าใหญ่นายโต   ในความเป็นจริง   แม้จะอ้างว่าสยามเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕  แต่ประชาธิปไตยยังไม่มาถึงชาวบ้านโดยเฉพาะในต่างจังหวัดอยู่ดี
พ.ท.พโยมจึงอยากจะเป็นปากเสียงแทนประชาชน  รับรู้ทุกข์สุขและช่วยเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาสมควรได้     ข้อนี้ไม่ใช่การอ้างเพื่อนำตัวไปสู่รัฐสภา  แต่เป็นอุดมการณ์ที่ฝังใจจริงจัง    และยึดมั่นมาจนถึงบั้นปลายชีวิต 

แม้ชะตากรรมผันผวนให้ตกระกำลำบากแทบเอาชีวิตไม่รอด   พ.ท.พโยมก็ไม่เคยละทิ้งอุดมการณ์ ๒ ข้อ
๑   ประชาชนไทยจะต้องมีสิทธิ์ในการปกครองประเทศอย่างแท้จริง
๒   แผ่นดินไทยต้องมีเอกราช  เป็นของคนไทย  ปลอดจากการรุกรานของต่างประเทศ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: prickly heat ที่ 02 ธ.ค. 10, 22:21
หายไปนานเพราะน้ำท่วมบ้านญาติ....เพิ่งจัดการเสร็จลุล่วง....ขออนุญาติเข้ามาบีบนวดท่านอาจารย์เพื่อได้ความรู้ประดับสมองอีกครั้งครับ.... ;D

..........


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ธ.ค. 10, 10:44
ขอปูพื้นการเมืองหลังสงครามโลกอย่างย่อๆอีกครั้ง    เพื่อให้เห็นสภาพการเมืองรอบๆตัวพ.ท.โพยม ที่ยังอลหม่านไม่เลิกรา  เมื่อท่านเข้าสู่วงวนนี้
ถ้าอ่านรายละเอียดก็ไปอ่านได้ที่ลิ้งค์นี้
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.0

ผลจากการญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒  พันธมิตรที่มีลูกพี่ใหญ่คือสหรัฐอเมริกากลายมาเป็นฮีโร่  ขบวนการเสรีไทยสายสายอเมริกาที่มีม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเป็นหัวหน้าจึงเป็นแกนนำล้างอำนาจจอมพลป.ลงได้สำเร็จ
      
วังวนของขั้วอำนาจ เปลี่ยนมือกันอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี ๓ คนคือม.ร.ว.เสนีย์  นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์   และอดีตผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสายพลเรือน คือนายปรีดี พนมยงค์
จากนายปรีดี พนมยงค์  ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบทอดไปที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์    พอได้เป็น   รัฐบาลชุดนี้ก็งานเข้าหลายเรื่อง ล้วนแต่เป็นคลื่นยักษ์ระดับสึนามิ    เริ่มตั้งแต่กรณีสวรรคตที่ประชาชนไม่เคลียร์กับคำชี้แจงของรัฐบาลว่าเกิดอะไรขึ้นแน่    และข้อหาอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ได้ผลมาทุกหน คือการคอรัปชั่นที่รัฐบาลเคลียร์ตัวเองไม่ได้เช่นกัน  

ทุจริตคอร์รัปชั่นข้อหนึ่ง คือราชการที่นำเงินงบประมาณ ไปซื้อจอบเสียมแจกจ่ายให้ราษฎรทำการเกษตร ทว่าความแตกออกมาว่าเป็นจอบเสียมที่ไม่ได้มาตรฐาน  ใช้งานไม่ได้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างอิ่มหมีพีมันไปตามกัน    เรื่องนี้กลายเป็นที่มาของสำนวนว่า "กินจอบกินเสียม"    
คอรัปชั่นทำนองนี้มีวิวัฒนาการมาถึงปัจจุบัน เราคงจำข้อกล่าวหา เรื่องข้าวเปลือก  เรื่องนมบูด   ฯลฯ และเรื่องอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน  ด้วยจำนวนงบงบประมาณที่มหาศาลขึ้นจากตามยุคสมัย  แต่เนื้อหาล้วนแต่โจทย์เดิมๆเพียงแต่เปลี่ยนชื่อบุคคลและรายละเอียดวัสดุไปเท่านั้น

เรื่องนี้เป็นสาเหตุ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าข้ออ้าง  ทำให้เกิดการยึดอำนาจของรัฐบาล    โดยกลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ น.อ.กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์   โดยมีนายทหารหนุ่มระดับคุมกำลัง คือพ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และคนสุดท้ายเป็นนายทหารหนุ่มยศ ร.อ. ชื่อสมบูรณ์  ชุณหะวัณ บุตรชายจอมพลผิน (ต่อมาเปลี่ยนชื่อจากสมบูรณ์ เป็นชาติชาย)  ก่อรัฐประหารที่เรียกภายหลังว่ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดขึ้นในคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ในงานนี้ พันโทพโยม จากร.ร.เสนาธิการ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของพ.อ.สฤษดิ์ และพ.อ. ถนอม ได้รับมอบหมายให้เป็นโฆษกของคณะรัฐประหาร  ซึ่งทำการสำเร็จ  แม้จะมีอะไรน่าใจหายใจคว่ำอยู่บ้างในตอนแรก



กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ธ.ค. 10, 11:30
การรัฐประหารครั้งนี้ เดิมทีวางแผนลงมือเวลาตีห้าของวันที่ 8 พฤศจิกายน แต่ทว่าการเคลื่อนไหวไม่เงียบพอ     พล.อ.หลวงอดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก รู้ข่าวเข้าเสียก่อน
นายพลตำรวจผู้กลายมาเป็นนายพลทหาร ผบ.ทบ. คนนี้มีชีวิตและบทบาททางการเมืองมีสีสันมาก  ถ้าอยากอ่านชีวิตและบทบาทของพลอ. (หรือพลต.อ.)อดุล  อดุลเดชจรัส  หาอ่านได้ที่กระทู้นี้ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.0

พลอ. อดุลไม่ได้เกี่ยวข้องร่วมมือกับคณะรัฐประหารชุดนี้  พอรู้ข่าวก็ออกคำสั่งเรียกให้นายทหารทุกชั้นเข้ามารายงานตัว เป็นการระงับแผนการณ์ของพวกก่อการรัฐประหารเสียก่อน   แต่ทางฝ่ายเสนาธิการของคณะผู้ก่อการก็ไม่ยอมแพ้   ใช้วิธีเปลี่ยนแผนกะทันหัน เลื่อนกำหนดเดิมให้เร็วขึ้นหนึ่งวัน เริ่มตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน
ฝ่ายรัฐประหารใช้วิธีจู่โจมสายฟ้าแลบ  กองกำลังรถถังส่วนหนึ่งบุกเข้าไปที่ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เพื่อควบคุมตัว พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และรถถังอีกส่วนหนึ่งบุกเข้าไปประตูทำเนียบท่าช้างวังหลวงเพื่อควบคุมตัว นายปรีดี พนมยงค์
แต่นายปรีดีหนีทัน   ลงเรือหลบหนีการถูกจับกุมไปได้อย่างหวุดหวิด ในบ้านเหลือเพียง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาและลูก ๆ เท่านั้น

เช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน  ยึดอำนาจได้เรียบร้อย   พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งเรียกกลุ่มของตนว่า "คณะทหารแห่งชาติ"ได้แถลงต่อสื่อมวลชนทั้งน้ำตาว่าทำไปเพราะความจำเป็นที่จะต้องแก้วิกฤติของชาติ    บทบาทของท่านทำให้ได้รับฉายาต่อมาว่า  "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา" หรือ "จอมพลเจ้าน้ำตา"
สาเหตุของการรัฐประหารในครั้งนี้ เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 หรือที่เรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม" เพราะตอนวางแผนรัฐประหาร   คนร่างซ่อนเอาไว้ใต้ตุ่มน้ำในบ้าน   ด้วยความรอบคอบเผื่อแผนรั่ว  ถูกตำรวจบุกค้นบ้าน ก็คงไม่มีใครเฉลียวใจไปยกตุ่มน้ำขึ้นมาดู  
เมื่อรัฐประหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับที่ซ่อนพิสดาร ก็ถูกนำออกมาใช้หลังจากนั้น

ขอลอกมาให้อ่านกันค่ะ
" บัดนี้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤตการณ์ ประชาชนพลเมืองได้รับความลำบาก เดือดร้อน เพราะขาดอาหาร เครื่องนุ่งห่มและขาดแคลนสิ่งอื่น ๆ นานัปการ เครื่องบริโภคอุปโภคทุกอย่างมีราคาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมทรามในศีลธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อน…ผู้บริหารราชการแผ่นดินและสภาไม่อาจดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้กลับสู่ภาวะดังเดิมได้…เป็นการผิดหวังของประชาชนทั้งประเทศ…ถ้าจะคงปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ก็จะนำซึ่งความหายนะแก่ประเทศชาติ…"


ในตอนแรก คณะทหารแห่งชาติก็ยืนยันอุดมการณ์ของตัวเองว่าทำเพื่อประชาชน  ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง  จึงให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  โดยให้สัญญาว่าจะไม่แทรกแซงการทำงาน
ส่วนคณะทหารแห่งชาติได้ตั้งสภาขึ้นมา ใช้ชื่อว่า "คณะรัฐมนตรีสภา" และจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491

พันโทพโยม  เห็นว่าภารกิจของคณะรัฐประหารจบสิ้นลงแล้ว  ต่อไปก็ควรทำหน้าที่ของตัวแทนประชาชนตามอุดมการณ์ของตัวเองอย่างเต็มขั้นเสียที  จึงลาออกจากราชการทหาร  เมื่อมีเลือกตั้งผู้แทนราษฎร  ก็สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี ถิ่นเกิดอีกครั้ง  
คราวนี้ ด้วยชื่อเสียงและผลงานที่ประชาชนนิยม ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑  
เมื่อเข้าสภา ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  

ความคิดของพ.ท.พโยมไม่เหมือนคนอื่นๆ   ซึ่งส่วนใหญ่จะทำตัวเป็นต้นอ้อลู่ลม  ไม่ขัดใจผู้เป็นใหญ่    หากมีตำแหน่งที่หาได้ยาก  ก็จะพยายามรักษาเก้าอี้ตัวเองเอาไว้ให้นานที่สุด  จะเพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ตัวเอง  หรือว่าเป็นลาภยศสรรเสริญอะไรก็ตาม  
แต่พ.ท.พโยมเป็นคนตรง  เห็นอะไรไม่ชอบมาพากลก็ค้าน  ไม่ยอมร่วมมือด้วยง่ายๆ   เป็นประเภท "เกียรติศักดิ์รักของข้า มอบไว้แก่ตัว" ไม่ใช่ว่า "มอบไว้แก่นาย"    
ทำงานแบบนี้   ไม่ช้าไม่นานก็ถูกกดกันอย่างหนักจากการนั่งอยู่ในตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม  เพราะไม่อาจสนองความประสงค์ของผู้เป็นใหญ่ได้
อยู่ได้ไม่นานก็ถูกบีบให้ลาออก  ท่านจึงได้ลาออกจากการเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

คณะรัฐประหารดำเนินอุดมการณ์ว่าจะไม่เกี่ยวกับการเมืองไปได้ไม่นาน   ถึงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารในกลุ่ม 4 คน นำโดย น.อ.กาจ กาจสงคราม ก็ได้ทำการบีบบังคับให้นายควงลาออก และไปเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งออกจากแวดวงการเมืองไปนั่งเฉยๆอยู่พักใหญ่แล้ว  กลับเป็นนายกรัฐมนตรีแทน  


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ธ.ค. 10, 11:49
คณะนายทหารในกลุ่ม 4 คน นำโดย น.อ.กาจ กาจสงคราม ก็ได้ทำการบีบบังคับให้นายควงลาออก และไปเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งออกจากแวดวงการเมืองไปนั่งเฉยๆอยู่พักใหญ่แล้ว  กลับเป็นนายกรัฐมนตรีแทน  

ในทีึ่่สุดหลวงกาจสงครามเองก็หนีภัยการเมืองไม่พ้น

ขอฉายภาพเหตุการณ์ในวันที่หลวงกาจสงครามถูกจับ  ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓  ให้คุณเทาชมพูได้ทราบรายละเอียดว่าในวันนั้นเกิดอะไรขึ้นกับหลวงกาจฯ

ขณะที่หลวงกาจสงครามนั่งโต๊ะทำงานอยู่ที่วังสวนกุหลาบ มีนายทหารฝ่ายเสนาธิการยศพันโทผู้หนึ่งเข้าไปรายงานว่ามีคนจะพูดโทรศัพท์ด้วย หลวงกาจฯ จึงยกหูโทรศัพท์ขึ้นฟังแล้วตอบไปว่า

"นี่ผมหลวงกาจฯ พูด"

มีเสียงตอบมา หลวงกาจฯ จำได้ว่าเป็นเสียงนายกรัฐมนตรี

"อ้อ คุณหลวงกาจฯ หรือ บ่าย ๒ โมงวันนี้ขอเชิญมาประชุึมที่ทำเนียบรัฐบาลหน่อย มีเรื่องทางภาคเหนือที่เกี่ยวกับทหารจีน ควรจะได้ปรึกษากัน" 

หลวงกาจฯ ตอบไปทันที่ว่า

"ผมจะไปประชุมตามกำหนดนั้น"

นั่นเป็นคำพูดสุดท้ายกับนายกรัฐมนตรี ก่อนที่หลวงกาจฯ จะถูกจับโดยรองอธิบดีกรมตำรวจที่ทำเนียบรัฐบาล 

รองอธิบดีกรมตำรวจถือปืนพกรีวอลเวอร์จ่อตรงศีรษะหลวงกาจฯ แล้วกล่าวว่า

"โดยราชการ ข้าพเจ้าขอจับท่านบัดนี้" 

หลวงกาจฯ ถามว่า จับเรื่องอะไรกัน ตอบว่า จับฐานขบถ ถามว่า มีหลักฐานอะไรหรือ ตอบอย่างสั้นคำเดียวว่า มี ถามว่า ขอให้พอไปพบนายกรัฐมนตรีหน่อยได้ไหม ตอบ ไม่ได้ ไม่ยอมให้ไปพบ หลวงกาจฯ ว่า ถ้าเช่นนั้นจะเอาตัวไปไหนก็เอาไป

หลวงกาจฯ ถูกคุมขังไว้ที่ตึกใหญ่ในวังปารุสกวันชั้นบน  ห้องนี้ธรรมดาจัดไว้สำหรับนายสิบตำรวจนอน สกปรกมาก  สามชั่วโมงหลังจากที่หลวงกาจฯ ถูกส่งมาขังที่นี่ มีผู้มาตามหลวงกาจฯ ไปพบรองอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งอยู่ที่ห้องทำงานชั้นบนของตึกในวังปารุสกวันเหมือนกัน  รองอธิบดีถามว่า จะไปอยู่ที่ใดในต่างประเทศ คำตอบของหลวงกาจฯ คือ แล้วแต่จะให้ไป ไปอังกฤษ สวิส ฝรั่งเศส อเมริกา ปีนัง หรือสิงคโปร์ ก็ได้

แต่ในที่สุด  ข่าวสารที่หลวงกาจฯ ได้รับในคืนวันนั้นคือ ทางการจะส่งตัวไปอยู่ฮ่องกง พรุ่งนี้ ๗ โมงเช้า จะต้องออกเดินทางจากวังปารุสกวัน

หลวงกาจฯ รำพึงกับตนเองว่า

วโส อิสสิรยฺ โลเก

อำนาจเป็นใหญ่ในโลก


เก็บความจาก หนังสืออนุสรณืในงานรับพระราชทานเพลิงศพ พลโท กาจ กาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) ปช.,ปม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๐



กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ธ.ค. 10, 12:14
ต้อนรับเข้าร่วมวงค่ะ คุณเพ็ญชมพู  ดิฉันได้ไม่ต้องคุยอยู่คนเดียว

ด้วยความที่เป็นคนวงใน  พ.ท.พโยมจึงรู้ตื้นหนาบางของผู้มีอำนาจในสมัยนั้นเป็นอย่างดี     รู้ว่าเอาเข้าจริงนายควง อภัยวงศ์ก็ไม่ได้มีอำนาจจริงจังสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี     นั่งอยู่บนเก้าอี้ก็อยู่อย่างกลืนไม่เข้าคายไม่ออก   เก้าอี้ก็โยกคลอนอยู่ตลอดเวลา
ส่วนอุดมการณ์ที่อ้างว่าทำเพื่อชาติ    ผ่านไปสักพัก ผู้เป็นใหญ่บางคนที่ไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อ  ก็ดำเนินรอยตามแบบเดิมๆ แบบ"ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง"  คือเริ่มเอาตำแหน่งหน้าที่และความเป็นใหญ่ไปแสวงหาผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม  
ถ้าตัวเองไม่ทำ ก็มี"นอมินี" เช่นเครือญาติและลูกน้องทำแทน
ในฐานะส.ส.   พ.ท. พโยมพยายามปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ด้วยการแฉบ้าง คัดค้านบ้างเท่าที่ทำได้  ตามระบอบประชาธิปไตย คือไปตั้งกระทู้ถามในสภาอยู่บ่อยๆ   เป็นเหตุให้ก่อศัตรูซึ่งล้วนแล้วบิ๊กเบิ้มกันทั้งนั้น
ตัวพ.ท. พโยม เป็นคนไม่กลัวศัตรู     ถือหลักชนเป็นชน  สู้ด้วยหลักการของรัฐสภา   แต่ฝ่ายตรงข้ามฉลาดเกินกว่าจะชนกลับอย่างตรงๆ  
ความพยายามของไม้ซีกที่ไปงัดไม้ซุง    จึงส่งผลให้ชะตากรรมของพันโทพโยมวูบลงเหมือนตกเหว   นับเป็นครั้งแรก
จากรัฐประหารที่เรียกว่า "กบฏเสนาธิการ"



กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ธ.ค. 10, 19:01
การเปลี่ยนขั้วอำนาจจากนายกรัฐมนตรีที่นายควงเป็นอยู่  กลับมาเป็นจอมพลป. ที่คณะรัฐประหารยกขึ้นมาเป็นหัวหน้าอีกครั้ง  แม้ว่าเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีศึกกลางเมือง  ไม่ได้เสียเลือดเนื้อ  แต่ก็ใช่ว่าทหารทั้งหมดจะพอใจกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้     โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลในระบอบรัฐสภาพ้นอำนาจไป   ด้วยข้ออ้างว่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่สำเร็จ    และมีข่าวออกมาว่า ผู้เป็นใหญ่ในรัฐประหาร กลับทำตรงข้ามกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

พวกนี้ทำอะไรบ้าง 
ขอยกส่วนหนึ่งจากฐานข้อมูลของเว็บสถาบันพระปกเกล้า  เรียบเรียงโดย จุฑามาศ และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์  มาเป็นคำตอบ   
ส่วนข้อความเหล่านี้ จริงเท็จแค่ไหน  โปรดพิจารณาด้วยวิจารณญาณ

...เมื่อ พล.ท.กาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบกและเม่ทัพกองทัพบกที่ 1 ดำเนินการก้าวก่ายการเมืองและเคลื่อนไหวทางทหารตามชอบ และเข้าไปเป็นกรรมการองค์การ อจส (องค์การจัดซื้อและขายสินค้า) นอกจากนี้ยังมีข่าวพัวพันการทุจริต มีข่าวในด้านลบต่างๆ เช่น ข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับเงินรูปี จน พล.ท.กาจ กาจสงคราม ได้รับฉายาว่า “นายพลรูปี” ทั้งยังเป็นคนเขียนหนังสือเรื่องกรณีสวรรคตที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล จึงถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาล ถูกปรับเป็นเงิน 200 บาท  รวมถึงการที่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เข้าไปควบคุมองค์การทหารผ่านศึก และเริ่มเข้าไปพัวพันกับสัมปทานและการแสวงหาผลประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจมากขึ้นว่าคณะรัฐประหารก็มุ่งแสวงหาผลประโยชน์เช่นกัน และนำมาซึ่งความพยายามในการก่อการยึดอำนาจ



กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ธ.ค. 10, 20:00
กบฏเสนาธิการ เป็นกบฏที่ประหลาดกว่ากบฏหรือรัฐประหารครั้งอื่นๆที่เคยมีมา  คือเป็นกบฏที่ยังไม่มีการลงมือ  แต่มีการจับกุมบรรดากบฏได้หลายคน   มีตัวอย่างที่พอเทียบได้ก็คือกบฏร.ศ. 130 ในสมัยรัชกาลที่ 6  ที่แผนรั่ว ทำให้กลุ่มผู้ก่อการถูกจับได้เสียก่อนจะลงมือ
ที่มาของกบฏเสนาธิการ คือความคิดที่แตกต่างกันของนายทหารในกองทัพ   ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าทหารมีหน้าที่เข้าระงับปัญหาทางการเมือง  เป็นบทบาทที่ไม่สามารถแยกออกจากหน้าที่โดยตรงของทหารได้    แต่อีกฝ่ายเห็นว่าทหารไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเรื่องการเมือง แต่ควรจะทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติเท่านั้น

นายทหารที่มีความคิดแบบนี้ เป็นทหารปัญญาชน และเชื่อถือในระบอบประชาธิปไตย ว่าปัญหาทางการเมืองและสังคมควรถูกแก้อย่างมีระบบ ให้สังคมขับเคลื่อนไปด้วยตัวของมันเอง    ไม่ใช่ว่าทหารกลุ่มหนึ่งจะเข้าไประงับยับยั้งปัญหาด้วยวิธีรัฐประหาร ยึดอำนาจเด็ดขาด แล้วเอาการเมืองกับสังคมมาจัดระเบียบเสียเอง 
ถ้าทำแบบนี้ซ้ำซากต่อไป  ก็จะกลายเป็นระบอบเผด็จการ  ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เริ่มต้นกันมาแต่แรก

ผู้นำกลุ่มที่คิดแบบนี้คือพล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต (หลวงศรานุชิต) รองเสนาธิการกลาโหม พล.ต.เนตร เขมะโยธิน รองเสนาธิการทหารบก และ พล.ต.หลวงรณกรรมโกวิท (เพิ่ม ศิริวิสูตร) นายทหารประจำกรมเสนาธิการทหารบก
นอกจากนี้ก็มีหลายคนเป็นอาจารย์ร.ร.เสนาธิการหรือพวกเสนาธิการทหาร เช่น พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ พ.อ.จรูญ สิทธิเดชะ พ.อ.สงบ บุณยเกศานนท์ (ขุบสงบระงับศึก) พ.อ.หลวงจิตรโยธี (จาด รัตนสถิตย์)และ พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม (โลม ศิริปาลกะ)
ส่วน พ.ท.พโยม จุลานนท์ มีชื่อรวมอยู่ด้วย

หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองหลายเล่มระบุว่า  พวกนี้ต้องการระงับยับยั้งอำนาจรัฐประหารของจอมพลป.และจอมพลผิน  ด้วยการจู่โจมเข้ารัฐประหารคณะรัฐประหารเสียเอง
วางแผนลงมือในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ซึ่งจะเป็นวันที่มีการฉลองงานมงคลสมรสระหว่าง พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ น.ส.วิจิตรา ชลทรัพย์  เพราะคนสำคัญในคณะรัฐประหารจะมารวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาล  และจะเป็นการง่ายแก่การจับกุม
ในแผนการนั้นคือ พ.ท.พโยม จุลานนท์ จะเข้าควบคุมตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ส่วน พ.ต.เจริญ พงษ์พานิช รับหน้าที่จับกุมตัว พล.ต.หลวงสถิตยุทธการ เสนาธิการกองทัพที่ 1 และ พ.อ.บัญญัติ เทพหัสดินทร์ ผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 1
และกำลังอีกส่วนหนึ่งนำโดย พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ จะบุกเข้ายึดกระทรวงกลาโหมเพื่อใช้เป็นกองบัญชาการในการยึดอำนาจ

สรุปอีกครั้งว่า กบฏเสนาธิการคือกบฏที่กลุ่มนายทหารเสนาธิการผู้ต่อต้านรัฐประหารจะกระทำรัฐประหาร  เพื่อล้มล้างคณะรัฐประหารที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้นเสียเอง
อ่านแล้ว รู้สึกแปลกๆบ้างไหมคะ ว่านี่มันเรื่องจริงหรือ?
โดยเฉพาะพ.ท.พโยม ผู้เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยมาตลอด






กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ธ.ค. 10, 08:09
เบื้องหลังกบฏเสนาธิการเป็นอย่างไรกันแน่   ยังมีความเคลือบคลุมกันอยู่หลายประเด็น    นอกเหนือจากประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตไปแล้วในค.ห.ข้างบน
นอกจากนี้  ข้อมูลต่างๆที่มีผู้บันทึกเอาไว้ก็แตกต่างกันในรายละเอียดหลายอย่าง  เช่น ในคอลัมน์ พายเรือในอ่าง  โดยผู้เขียนใช้นามแฝงว่า อริน ลงใน "โลกวันนี้" ฉบับวันที่ 1 - 7 สิงหาคม 2552   ให้ข้อมูลที่ดุเดือดเลือดพล่านกว่าข้างบนมาก

ผู้ก่อการกำหนดเอาวันที่ 1 ตุลาคม 2491 เวลา 20.00 น. อันเป็นเวลาที่คณะรัฐประหารและรัฐบาลจะมาอยู่พร้อมหน้ากันที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเลี้ยงส่งนายทหาร และร่วมแสดงความยินดีในงานพิธีมงคลสมรสของ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ นางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ โดยวางแผนที่จะจู่โจมเข้าสังหารกลุ่มผู้นำทางทหารและนายกรัฐมนตรีแบบทำลายล้าง ด้วยการระดมขว้างระเบิดมือและยิงกราดเข้าไปในงาน ต่อจากนั้นจะยกกำลังเข้ายึดสวนพุดตาล ให้ พ.ต.เจริญ พงศ์พานิชย์ ไปควบคุมตัว พล.ต.หลวงสถิตย์ยุทธการ เสนาธิการกองทัพที่ ๑ ผู้ควบคุมกำลังป้องกันกองบัญชาการทหารบก ณ วังสวนกุหลาบ พร้อมกับให้ พล.ท.โพยม จุฬานนท์ ควบคุม พ.อ.บัญญัติ เทพหัสดิน ผู้บังคับกองทหารราบที่ ๑ ส่วน พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ ให้นำนายทหารเสนาธิการเข้ายึดกระทรวงกลาโหมไว้ เพื่อตั้งเป็นกองบัญชาการ

แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่ลดละในการไล่ล่าผู้ร่วมก่อการ จนกระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม ก็สามารถตามจับกุมผู้ที่หลบหนีไปได้อีก 7 คน รวมทั้ง พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ส่งฟ้องศาลรวม 22 คน ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี 9 ราย คือ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ พ.อ.หลวงจิตรโยธี พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม พ.ท.ประสบ ฐิติวร พ.ต.ชิน หงส์รัตน์ ร.อ.หิรัญ สมัครเสวี ร.อ.สุรพันธ์ อิงคุลานนท์ ร.ท.บุญช่วย ศรีทองเกิด ส่วนที่เหลือได้รับการปล่อยตัวไป



ถ้างั้น  มาพิจารณากันในข้อเท็จจริงดีกว่าค่ะ   สิ่งที่พอจะประมวลมาได้ก็คือ

๑   เกิดความไม่เห็นด้วยเมื่อคณะรัฐประหารขึ้นบริหารประเทศเสียเอง  ด้วยวิธีบังคับให้นายกรัฐมนตรีลาออก   ไม่ใช่การพ้นตำแหน่งตามวิถีทางของประชาธิปไตย    ผู้ไม่เห็นด้วยคือกลุ่มนายทหารกลุ่มหนึ่ง   ที่เป็นนายทหารเสนาธิการเป็นส่วนใหญ่   ไม่ใช่นายทหารคุมกำลังโดยตรง
๒   นายทหารเหล่านี้เห็นว่าทหารไม่ควรมาแสดงบทบาททางการเมือง  โดยเฉพาะทำรัฐประหาร
๓   กบฏเสนาธิการ เป็นกบฏที่ไม่ปรากฏว่ามีการลงมือ   รัฐบาลสืบทราบและจับกุมในฐานะวางแผนกบฏเสียก่อน
๔   เมื่อมีการจับกุมผู้ก่อการในภายหลัง  โทษของพวกนี้คือจำคุก 3  ปี เท่านั้นเอง  และบางคนเช่นพ.ท.พโยม ถูกปล่อยตัวไป

บทความข้างบนนี้ที่ว่ามีการวางแผนถึงขั้นจะสังหารรัฐบาล   ถ้าเป็นจริงก็ประหลาดมาก เพราะศาลลงโทษเพียงจำคุก 3 ปี    ผิดกับกรณีกบฏและลอบสังหารจอมพลป. ที่เกิดขึ้นเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2   ความผิดระดับยิงเป้ากันกราวรูด 

กลับมาที่นายพันใจเพชรของเรา

พ.ท.พโยม รู้ตัวก่อนหน้านี้แล้วว่า ใครก็ตามที่มีจุดยืนเข้มแข็ง กล้าคัดค้านรัฐบาลเผด็จการไม่ว่าประเทศไหนในโลกนั้น  ย่อมมีที่ยืนอยู่ได้ 2 แห่งเท่านั้นคือ ถ้าไม่ยืนอยู่ในคุก(หรือที่หลักประหาร)   ก็ต้องไปยืนอยู่นอกประเทศ 
เมื่อแว่วข่าวว่ารัฐบาลจะเข้ากวาดล้างกลุ่มนายทหารที่กล้าคัดค้านการกระทำของรัฐบาล ด้วยการตั้งข้อหากบฏ ทั้งๆไม่มีการลงมือใดๆทั้งสิ้น      พ.ท.พโยมก็ไม่รอช้า   เรื่องอะไรจะอยู่สู้ข้อหาที่เห็นๆจากในอดีตอยู่แล้วว่าไม่มีทางรอด     ก็หลบหนีออกจากกรุงเทพ ขึ้นเหนือออกพ้นประเทศไทย
ไปสู่เมืองหาง  ซึ่งเคยไปประจำอยู่พักหนึ่งช่วงสงครามโลก   


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ธ.ค. 10, 18:53
อยากได้"วิวาทะของพ.ท.พโยม กับจอมพลป.  ใครมีหนังสือเล่มนี้บ้างคะ?

(http://www.pramool.com/auctpic8/book_other1200560040.jpg)


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ธ.ค. 10, 19:31
ก่อนหน้าจะต้องหลบหนี พ.ท.พโยมรู้ตัวว่าตกอยู่ในอันตรายมาหลายเดือนแล้ว เมื่อมีตำรวจลับของพลต.อ. เผ่า ศรียานนท์คอยติดตามอยู่ทุกระยะ   เป็นผลจากความขัดแย้งกับผู้มีอำนาจในยุคนั้น   เมื่อรู้ว่ามีการกวาดล้างฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ด้วยข้อหา "กบฏเสนาธิการ " การหนีออกนอกประเทศจึงเป็นทางรอดทางเดียว 
แต่เมืองหางที่พ.ท.พโยมไปลี้ภัยอยู่นั้น ก็ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย ทั้งๆเคยมีมิตรภาพที่ดีมากมาก่อนสมัยมาช่วยรบกับพรรคก๊กมินตั๋งที่นี่     เพราะเมืองหางกำลังร้อนระอุจากศึกแบ่งแยกดินแดน  จากศึกกระเหรี่ยง ศึกคอมมิวนิสต์ และศึกพม่าอิสระต่อต้านรัฐบาลพม่า     
พ.ท.พโยมไม่ประสงค์จะเข้าเกี่ยวข้องกับการเมือง  จึงปฏิเสธเข้าร่วมกับเจ้าเมืองพาน เพื่อรบกับกระเหรี่ยง  จึงทำให้เกิดความหมางเมินระหว่างกันอย่างช่วยไม่ได้    นอกจากนี้จีนฮ่อก็แผ่อิทธิพลกว้างใหญ่ขึ้นทุกขณะ  ทำให้พ.ท.พโยมไม่อาจจะวางใจถึงความปลอดภัยของตนเองได้อีกต่อไป   ก็ทำให้จำต้องหนีต่อไปอีก

เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้  เจอข้อมูลขัดแย้งกันอยู่     
ข้อมูลหนึ่งบอกว่าพ.ท.พโยมกลับเข้าประเทศไทยและถูกจับกุมตัวได้ เช่นเดียวกับพลต. เนตร เขมะโยธินเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม  จึงถูกส่งฟ้องศาล ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี 9 ราย คือ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ พ.อ.หลวงจิตรโยธี พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม พ.ท.ประสบ ฐิติวร พ.ต.ชิน หงส์รัตน์ ร.อ.หิรัญ สมัครเสวี ร.อ.สุรพันธ์ อิงคุลานนท์ ร.ท.บุญช่วย ศรีทองเกิด   ส่วนที่เหลือได้รับการปล่อยตัวไป
หมายความว่า พ.ท.พโยมพ้นผิดในคดีกบฏเสนาธิการ

แต่อีกข้อมูลหนึ่ง  บอกว่าเมื่ออยู่เมืองหาง  สถานการณ์คับขัน พ.ท.พโยมจึงลี้ภัยอีกต่อหนึ่ง  ขี่ม้าข้ามป่าเขา จากเมืองท่าขี้เหล็กไปจีน ไปศึกษาลัทธิมาร์กซ์-เสนิน อยู่นาน 8 ปี

แต่จะเป็นข้อมูลไหนถูกต้องก็ตาม  ผลก็ลงเอยว่า พ.ท. พโยม ต้องระหกระเหินห่างบ้านเมืองไป    และผลสุดท้าย ศาลสั่งปล่อยตัวพ้นผิดในคดีกบฏเสนาธิการ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ธ.ค. 10, 09:36
อุดม สีสุวรรณ ในนามปากกา พ. เมืองชมพู ที่มีโอกาสเดินทางไปพบ พ.ท.พโยม ที่เมืองหาง ได้สรุปถึงสถานการณ์รอบตัวของ พ.ท.พโยม ไว้ใน 'สู่สมรภูมิภูพาน' ว่า

๑. ศึกกระเหรี่ยง ศึกคอมมิวนิสต์ และศึกพม่าอิสระที่รัฐบาลพม่ากำลังเผชิญอยู่นั้น ทำให้ดินแดนที่ลุง (หมายถึง พ.ท.พโยม) กำลังหลบภัยอยู่นั้นคับขัน

๒. การปฏิเสธที่จะช่วยเจ้าเมืองพาน (เพื่อรบกับกระเหรี่ยง) ย่อมสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างคุณลุงกับคนเมืองหางที่เคยสร้างไว้ในอดีต

๓. ความขัดแย้งกับพวกจีนฮ่อซึ่งนับวันมีอิทธิพลเหนือดินแดนอันน่าสงสารแห่งนี้ ทำให้ความปลอดภัยของลุงลดลงถึงระดับที่ยากจะประกันอะไรได้

ทั้งสามประการดังที่วิเคราะห์นี้แสดงว่า ลุงอยู่ต่อไปไม่ได้เสียแล้วในดินแดนแห่งนี้ ลุงจะต้องหาทางเพื่อหลุดพ้นจากสถานะเช่นนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้


และผู้เล่าเรื่องนี้ก็กลับจากเมืองหาง พร้อมกับเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมกับ พคท.ของ พ.ท.พโยม เพื่อยื่นต่อ พายัพ อังคสิงห์ สมาชิกพรรคฯคนสำคัญ ที่ทำงานในเมืองอยู่ในขณะนั้น นั่นคือปี ๒๔๙๒ ขณะที่ ด.ช.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อายุได้เพียง ๖ ขวบ พ.ท.พโยม กำลังเดินทางเลาะตะเข็บชายแดนไทย-พม่า-ลาว โดยการอำนวยความสะดวกจาก รวม วงศ์พันธ์ เข้าสู่แผ่นดินจีน ปลายทาง 'สำนักลัทธิมาร์กซ์-เลนิน' ณ กรุงปักกิ่ง ๘ ปีในแผ่นดินจีน หล่อหลอมให้นายทหารเสนาธิการแห่งกองทัพไทยกลายเป็นนักปฏิวัติที่พร้อมจะทำงานเพื่อสร้างสังคมใหม่ พ.ท.พโยม คืนแผ่นดินเกิดในปลายสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี ๒๕๐๐ในชื่อจัดตั้งว่า 'สหายคำตัน' หรือ 'ลุงคำตัน' ของนักปฏิวัติในยุคหลัง และกลับสู่บ้านที่บางโพในวันที่ลูกชายคนโตอายุได้ประมาณ ๑๔ ปี พร้อมกับเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งกับพรรคสหภูมิ 

ข้อมูลโดยชูวัส ฤกษ์ศิริสุข จาก Nation Weekend ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๕๘๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
http://gotoknow.org/blog/dongluang/75179


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ธ.ค. 10, 09:54
งั้นกลับมาดูข้อมูลอีกด้านหนึ่งนะคะ
http://www.thaipoliticsgovernment.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8E%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3

เว็บไซต์ ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า  บันทึกถึงกบฏเสนาธิการว่า

การดำเนินการครั้งนี้ประสบความล้มเหลว แผนการต่างๆรั่วไหล ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งกำลังไปจับกุม พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์และกำลังส่วนใหญ่ของฝ่ายเสนาธิการได้ที่กระทรวงกลาโหมในคืนวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2491 ก่อนเวลาลงมือปฏิบัติการ และเช้าวันรุ่งขึ้นได้จับตัว พล.ต.หลวงรณกรรมโกวิท และ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม แต่ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พ.ท.พโยม จุลานนท์นั้นหนีรอดไปได้

จนกระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม ก็สามารถตามจับกุมผู้ที่หลบหนีไปได้อีก 7 คน รวมทั้ง พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ส่งฟ้องศาลรวม 22 คน[10] ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี 9 ราย คือ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ พ.อ.หลวงจิตรโยธี พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม พ.ท.ประสบ ฐิติวร พ.ต.ชิน หงส์รัตน์ ร.อ.หิรัญ สมัครเสวี ร.อ.สุรพันธ์ อิงคุลานนท์ ร.ท.บุญช่วย ศรีทองเกิด ส่วนที่เหลือได้รับการปล่อยตัวไป[11]

ข้อมูลนี้อ้างอิงจากหนังสือของ  โรม บุนนาค ชื่อ คู่มือรัฐประหาร  , กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2549,
และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ  หนังสือชื่อ แผนชิงชาติไทย, พิมพ์ครั้งที่2, กรุงเทพฯ: พี.เพรส., 2550,


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 10, 22:50
เหตุที่หยุดชะงักในตอนนี้ ก็เพราะประวัติของพ.ท.โพยมในช่วงหลังกบฏเสนาธิการ มีอะไรแย้งกันอยู่  ที่ดิฉันยังสางไม่ออก

ข้อเขียนของ อุดม สีสุวรรณ ในนามปากกา พ. เมืองชมพู จากที่คุณเพ็ญชมพูนำมาลง มีตอนหนึ่งบอกว่า

"นั่นคือปี ๒๔๙๒ ขณะที่ ด.ช.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อายุได้เพียง ๖ ขวบ พ.ท.พโยม กำลังเดินทางเลาะตะเข็บชายแดนไทย-พม่า-ลาว โดยการอำนวยความสะดวกจาก รวม วงศ์พันธ์ เข้าสู่แผ่นดินจีน ปลายทาง 'สำนักลัทธิมาร์กซ์-เลนิน' ณ กรุงปักกิ่ง ๘ ปีในแผ่นดินจีน หล่อหลอมให้นายทหารเสนาธิการแห่งกองทัพไทยกลายเป็นนักปฏิวัติที่พร้อมจะทำ งานเพื่อสร้างสังคมใหม่      พ.ท.พโยม คืนแผ่นดินเกิดในปลายสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี ๒๕๐๐ในชื่อจัดตั้งว่า 'สหายคำตัน' หรือ 'ลุงคำตัน' ของนักปฏิวัติในยุคหลัง และกลับสู่บ้านที่บางโพในวันที่ลูกชายคนโตอายุได้ประมาณ ๑๔ ปี พร้อมกับเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งกับพรรคสหภูมิ "


เมื่อพ.ท.พโยมลี้ภัยไปที่เมืองหาง  ได้พาครอบครัวไปด้วย คือนางวรรณดี จุลานนท์ และบุตรชายอายุประมาณ ๒ ขวบชื่อ พยนต์  ส่วนคุณอัมโภช (ท่าราบ) ได้แยกทางกันแล้วก่อนหน้านี้   พ.ท.พโยมย้ายไปอยู่บางโพกับภรรยา และมีบุตรชายคนแรกกับภรรยาคนนี้ชื่อพยนต์
จากนั้น พ.ท.พโยมมีบุตรอีก ๓ คนจากคุณวรรณดี คือ ศิริพร  ประกายแก้ว และกอแก้ว     ล้วนแต่เกิดในประเทศไทย  ไม่ได้เกิดในประเทศจีน   
ถ้าอย่างนั้น   พ.ท.พโยมอยู่ในปักกิ่งตลอด ๘ ปีได้อย่างไร? 
พ.ท.พโยมน่าจะอยู่ในประเทศไทย  หลังจากหลุดพ้นจากข้อหากบฏเสนาธิการ เพราะศาลสั่งยกฟ้องปล่อยตัวไปแล้ว  (ตามข้อมูลจากเว็บสถาบันพระปกเกล้า)
ในเมื่อศาลยกฟ้อง  ก็แปลว่าไม่มีความผิดติดตัว  พ.ท.พโยมก็ไม่จำเป็นต้องลี้ภัยไปอยู่ปักกิ่ง  หรือถ้าตัดสินใจไปอยู่ปักกิ่งจริงๆ บุตรคนที่สอง สาม และสี่ก็จะต้องเกิดที่นั่น    แต่นี่ทุกคนก็เกิดในประเทศไทย  ได้รับการศึกษาในร.ร.ไทย กันทุกคน จนกระทั่งเรียจบ    ก็ล้วนแต่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับการเมือง

พ.ท.พโยมลี้ภัยครั้งที่ ๒ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์  เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๖  คราวนี้ไปอยู่จีน และเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  จนอายุมากขึ้นจึงได้ถอนตัวจากการเมือง  จนถึงแก่กรรมที่ปักกิ่งเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๓


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 10, 22:54
นี่คือภาพถ่ายในงานศพของคุณหญิงเก๋ง วิเศษสิงหนาถ มารดาของพ.ท.พโยม เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๖   
พ.ท.พโยมอยู่ในประเทศไทยแน่นอนในตอนนั้น
ใครสังเกตเห็นพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ในรูปนี้บ้างคะ?



กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 10 ธ.ค. 10, 22:38
เข้ามารายงานตัวครับ คุณครูทุกๆท่านๆ

ส่วนคำถามท้ายบทที่คุณหญิงฯถามมา ขออนุญาตไม่ตอบตอนนี้นะครับ



 :-[ :-[ :-[ :-[
เพราะ ยังหาไม่เจอครับ แหะๆๆๆๆ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 12 ธ.ค. 10, 17:10
พลเอกสุรยุทธ น่าจะเป็นเพียงคนเดียวที่มีบั่ง ติดที่บ่า คือ คนที่ 2 จากซ้ายมือ
แถวที่ 2 นับจากบนลงมาล่างค่ะ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 10, 12:14
ถูกต้องค่ะ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3296.0;attach=15661;image)

ไปหาข้อมูลมาแล้ว  ได้ข้อมูลเรื่องหนึ่ง จะเป็นเรื่องเดียวกับกบฏเสนาธิการหรือไม่  โปรดพิจารณา
ข้างล่างนี้ เป็นคำบอกเล่าของธิดาคนโตของท่าน

ครั้งหนึ่ง  พ.ท.พโยมเคยไปรับลูกสาวเมื่อครั้งเป็นนักเรียนที่ร.ร.เซนฟรังซิสซาเวียร์   แล้วพามารอหน้ากระทรวงมหาดไทย
ท่านคุยกับลูกสาวว่า 
"ไม่ต้องกลัวว่าถ้าใครบอกว่าพ่อเคยติดคุก    เพราะคนที่สอบเสนาธิการได้ที่ ๑ ถึง ๙ ติดคุกหมดทุกคน แต่ติดไม่กี่เดือน"
 
สาเหตุมาจากกในวิชาหนึ่ง มีการตั้งคำถามว่าคุณเห็นยังไงกับระบอบการปกครองและรัฐบาล    ในสมัยนั้นกระแสความไม่พอใจรัฐบาลก่อตัวขึ้นสูงมาก   นายทหารที่เข้าเรียนเสนาธิการต่างก็วิพากย์วิจารณ์รัฐบาลในทำนองไม่เห็นด้วย   ก็คงจะแรงอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
จากที่วิพากย์วิจารณ์กันในห้องเรียน   ข่าวรั่วไปถึงรัฐบาลจอมพลป.    จากนั้น นักเรียนเสนาธิการที่สอบได้ลำดับที่ ๑-๙ ต้องย้ายที่เรียนไปเข้าคุกทั้งหมด
พร้อมกับคำบอกเล่า  พ.ท.พโยมก็ให้ลูกสาวดูชายคนหนึ่งที่เดินผ่านมา   แล้วบอกว่านี่คือคนที่สอบได้ที่ ๑  เดินนำหน้าเข้าคุก  ส่วนพ่อสอบได้ที่ ๖ ก็ติดเข้าไปด้วย   แต่เมื่อขึ้นศาล  ศาลก็ตัดสินปล่อยตัวพ.ท.พโยมไป     เพียงแต่ต้องไปรายงานตัวกับสันติบาลทุกเดือน


เมื่อลี้ภัยไปเมืองหางในพ.ศ. ๒๔๙๑    พ.ท.พโยมได้พาคุณวรรณดี และบุตรทั้งสองคนไปด้วย   คือคุณพยนต์และคุณศิริพร ซึ่งยังเล็กมากทั้งคู่ พักอยู่เมืองหางประมาณปีกว่าๆ
จากนั้นระหว่างพ.ศ. ๒๔๙๒ ถึง ๒๕๐๐ พ.ท.พโยมเดินทางเลาะๆอยู่ตามตะเข็บชายแดน   ไม่ได้ไปเมืองจีน


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 10, 09:40
ดิฉันเข้าใจว่า กบฏเสนาธิการที่มีเรื่องว่าพ.ท.พโยมเข้าไปร่วมก่อการด้วย  จริงๆอาจไม่มีกบฏอะไรเลยก็ได้  เพราะตามรูปการณ์ ก็ไม่เคยมีการลงมือปฏิบัติการกันจริงๆ   มีแต่ข่าวออกมาจากทางฝ่ายรัฐบาลว่าจับกุมผู้วางแผนได้ก่อนลงมือเพียงวันเดียว   
แต่เมื่อมีการส่งฟ้องศาล พ.ท.พโยมกลับได้รับการปล่อยตัว   แสดงว่าไม่มีหลักฐานตามคำกล่าวหา    คือที่กล่าวหาว่าท่านมีหน้าที่จี้จับจอมพลป. หรือบุคคลสำคัญคนอื่น   
เพราะถ้ามีหลักฐาน แม้แต่มีพยานซัดทอด   พ.ท.พโยมคงเจอโทษหนัก  ถึงขั้นติดคุกหัวโต    และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกข้อหาล้มล้างรัฐบาลก็คงไม่ถูกศาลสั่งจำคุกแต่ ๓ ปี  แต่คงถูกประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตไปแล้ว
เมื่อเทียบโทษที่ได้รับกับข้อหาฉกาจฉกรรจ์   จะเห็นว่าไม่สมดุลกันเลย   แต่ถ้าเป็นการวิพากย์วิจารณ์รัฐบาลจอมพลป. โดยนายทหารกลุ่มหนึ่ง  เจอโทษขั้นนี้ก็น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงในยุคนั้นมากกว่า
เพราะสมัยนั้นการวิพากย์วิจารณ์รัฐบาล เป็นสิ่งต้องห้าม   โดยเฉพาะจากนายทหารในกองทัพแล้วถือว่าผิดวินัยร้ายแรง

ดังนั้น เมื่อ พ.ท.พโยม ได้รับคำตัดสินของศาลให้เป็นอิสระแล้ว   ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรจะต้องลี้ภัยไปเมืองจีน    แต่ก็กลับเข้ารับราชการทหารไม่ได้อยู่ดี    ท่านก็คงจะต้องเก็บตัวเงียบอยู่ ไม่ให้เป็นที่ขวางหูขวางตาของผู้เป็นใหญ่
ดังนั้นถ้าพ.ท.พโยมไปเมืองจีนในระยะนี้จริง ก็คงไปด้วยอุดมการณ์มากกว่าจะลี้ภัยการเมือง


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 10, 13:19
พิมพ์เสร็จ คลิกผิดนิดเดียว หายไปเกลี้ยง   ต้องมาเริ่มหาข้อมูลและพิมพ์ใหม่   :'(
ระหว่างพ.ศ. 2492-2500 ที่พ.ท.พโยมต้องยุติบทบาททางการเมืองของตน  การเมืองไทยไม่ได้สงบลงหลังกบฏเสนาธิการ แต่เต็มไปด้วยความยุ่งยากและยุ่งเหยิง ต่อเนื่องกันมาอีกนานหลายปี
เรียงลำดับรายชื่อกบฏหรือรัฐประหารที่เรียงแถวต่อมา  ก็มีดังนี้

1. กบฏแบ่งแยกดินแดน (พฤศจิกายน 2491)
เป็นกบฏทำนองเดียวกับกบฏเสนาธิการ คือไม่มีการลงมือ  แต่มีการตั้งข้อหาจากรัฐบาลว่าส.ส.จากภาคอีสานหลายคน เช่น นายทองอินทร์ ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม ว่าร่วมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย 
แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิคุ้มครองทางการเมือง

ต่อมาพลต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ออกคำสั่งจับกุม 4 อดีตรัฐมนตรีจากภาคอีสาน ประกอบด้วย จำลอง ดาวเรือง ถวิล อุดล ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ทั้งหมดเป็นนักการเมืองในสังกัดของนายปรีดี พนมยงค์ และเตียง ศิริขันธ์

 เวลา 03:00  ในคืนวันที่ 4 มีนาคม 2492 ที่ถนนพหลโยธิน ก.ม.ที่ 11 บริเวณบางเขน (ใกล้แยกรัชโยธิน) ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจควบคุมตัวขึ้นรถขนนักโทษ   ทางตำรวจแถลงว่าเกิดจากการปะทะกับโจรมลายูที่จะมาชิงตัวนักโทษ   ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมโจรมลายูจะมาชิงผู้ต้องหาที่แบ่งแยกดินแดนอีสาน?
     


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 10, 18:10
2  กบฏวังหลวง

คงจำได้ในค.ห.ก่อนหน้านี้ว่า เมื่อรัฐบาลจอมพลป. ลงมือจับกุมกบฏเสนาธิการ   ได้ส่งทหารไปจับนาย ปรีดี พนมยงค์ ด้วยในฐานะผู้ร่วมก่อการ  ในคืนวันที่ 30 กันยายน 2491   แต่ว่านายปรีดีหนีรอดไปได้   ไปลี้ภัยอยู่ที่เมืองจีน พร้อมด้วย เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวชนายทหารนอกราชการเลขานุการส่วนตัว   
แต่ก็อยู่ได้ไม่กี่เดือน ก็เดินทางกลับมา เมื่อ 10 มกราคม พ.ศ.2492  ตอนแรกนายปรีดี ให้เหตุผลว่าต้องการกลับมาสู้คดีกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล   
ด้วยความที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทหารเรือ จึงขอให้ เรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช เป็นตัวแทนไปติดต่อผู้มีอำนาจในรัฐบาล เช่นพลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ พันโท ละม้าย อุทยานานนท์ และพลตรี สฤษดิ์ธนะรัชต์ เพื่อให้แน่ใจก่อนว่าตัวเองจะปลอดภัย ในการต่อสู้คดีอย่างเปิดเผย

แต่คนสำคัญเหล่านั้นปฏิเสธ  เล่นไม้แข็ง ไม่ประนีประนอมด้วย     นายปรีดีมองออกว่าถ้าหากว่าอยู่ในประเทศต่อไปโดยมีข้อหากบฏเป็นชนักปักหลังอยู่  ก็มีแต่ชะตาจะเลวร้ายลงทุกที    จึงฮึดสู้รัฐบาล   ตั้งกองทัพพลเรือนขึ้นมา โดยได้ความร่วมมือจากทหารเรือ ทหารบก และตำรวจบางส่วน   ส่วนพลเรือนก็มีเหล่าอดีตเสรีไทยเป็นกองหนุน 
วิธีการก็คือการจู่โจมแบบ "สายฟ้าแลบ" เข้ายึดสถานที่สำคัญ จับกุมบุคคลสำคัญของทางราชการ ปิดล้อมกองพันต่าง ๆ แล้ว ทำการปลดอาวุธ จากนั้นจึงล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศตั้งรัฐบาลใหม่ตลอดจน ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2492 แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2475 มาใช้ โดยนัดหมายสมาชิกเสรีไทย เวลา 19.00 น. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ว่าจะมีงานเลี้ยง
บุคคลที่นายปรีดีนัดแนะมาได้แก่ พล.ต. สมบูรณ์ ศรานุชิต นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นายสมพงษ์ ชัยเจริญ นายละออ เชื้อภัย นายกมล ชลศึกษ์นายทวี ตเวทิกุล และยังมีคนอื่นๆอีกประมาณ 50 คน


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 10, 18:17
เว็บนี้เล่าเรื่องกบฏวังหลวงไว้ละเอียดลออ   ได้สีสันตื่นเต้นราวกับกำลังดูหนังสงคราม
ดิฉันจะมาเรียบเรียงใหม่ก็คงได้อรรถรสสู้ของเดิมไม่ได้  จึงขอลอกมาให้อ่านรายละเอียดกันตามนี้

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=134659

.............
    แผนแรกคือใช้กำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอาไว้ เป็นกองบัญชาการ และรวบรวมสรรพกำลัง  แผน ต่อไปคือจะใช้กำลังส่วนหนึ่ง เข้ายึดพระบรมมหาราชวังไว้เป็นกองบัญชาการชั่วคราว เหตุผลที่เลือกพระบรมมหาราชวัง เพราะมีกำแพงมั่นคงแข็งแรง มีปราสาทราชมณเฑียรอันล้ำค่า ซึ่ง ฝ่ายก่อการคาดว่าฝ่ายรัฐบาลคงไม่กล้าที่จะใช้อาวุธหนักเข้าทำการปราบปราม
    และที่สำคัญที่สุดคืออยู่ติดกับกองเรือรบ ซึ่งขณะนั้นยังตั้งอยู่ที่ฝั่งพระนคร ส่วนที่บัญชาการคุมกำลังส่วนใหญ่ หรือเป็นที่รวบรวมสรรพอาวุธอันสำคัญนั้น อยู่ที่กองสัญญาณทหารเรือที่ศาลาแดง
    กำลังอีกส่วนหนึ่ง นายปรีดี ได้บัญชาการให้ไปยึดบริเวณวัดพระเชตุพนตรงข้ามกับ ร. พัน 1. เพื่อเป็นการตรึงกำลัง ร. พัน. 1 ไว้ เมื่อกำลังส่วนต่างๆในพระนคร ซึ่งมีทหารบก พลเรือน ตำรวจเข้ายึดสถานที่สำคัญๆ เพื่อตรึงกำลังของหน่วยทหารบกบางแห่งไว้แล้ว กลุ่มเสรีไทยที่เคยร่วมมือกับนายปรีดีต้านญี่ปุ่น ก็จะเคลื่อนกำลังเข้าสมทบโดยเร็วที่สุด
    โดยนายชาญ บุนนาค ผู้จัดการป่าไม้สัมปทานหัวหิน จะเป็นผู้นำพวกเสรีไทยเข้าสู่พระนคร นายชวน เข็มเพชร นำพวกเสรีไทยภาคตะวันออกได้แก่ ลาว ญวณอิสระ เข้ามาทางอรัญประเทศ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และนายเตียง ศิริขันธ์ จะนำพวกเสรีไทยยึดภาคอิสาน แล้วจะนำพวกเสรีไทยเข้ามาสมทบในพระนคร นายเปลว ชลภูมิ จะนำเสรีไทยจากเมืองกาญจนบุรี เข้ามาสมทบอีก สำหรับทหารเรือที่เป็นฝ่ายสนับสนุนการปฎิวัติของนายปรีดีนั้น ก็มี พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ  พล. ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ ก็จะนำกำลังทหารเรือบางส่วนจากสัตหีบ ชลบุรี ระยอง เคลื่อนมารวมกำลังที่ชลบุรี ต่อจากนั้นจะมุ่งสู่กรุงเทพฯ เพื่อดำเนินตามแผนการณ์ที่วางไว้

     ด้าน ของทหารเรือนั้นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเลย กับการร่วมมือกับนายปรีดี พนมยงค์ แต่จากการที่ทหารบกและทหารเรือ มีข้อขัดแย้งที่ลึกซึ้ง กันมาก่อน จึงได้มีการเคลื่อนพลใหญ่ เพื่อทำการซ้อมรบ ทั้งจากหน่วยนาวิกโยธิน กองเรือรบ และกองโรงเรียนชุมพลทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนทหารบกก็มีการฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ ด้วยกระสุนจริงใน 23 กุมภา พันธ์ พ.ศ. 2492 เรียกว่า "การประลองยุทธ์ที่ตำบลทุ่งเชียงราก"

   ต่อมา  รัฐบาลซึ่งพอทราบระแคะระคายเกี่ยวกับการกลับมาของนายปรีดี ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้น และสั่งให้มีการ เตรียมพร้อมทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ ภายใต้แผนการปราบจลาจล ที่เรียกเป็นรหัสลับว่า "แผนช้างดำ ช้างน้ำ" โดยมีข้อตกลงระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นให้แต่ละกองทัพแบ่งเขตกันทำการปราบปรามและปฏิบัติงาน ร่วมกันในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ของแต่ละกองทัพ

    ใน ส่วนของกองทัพบกในตอนเย็นของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 มี การเตรียมพร้อมตามกองพันต่างๆ มีการตั้งปืนกลตามจุดที่สำคัญ โดยเฉพาะข้างวังสวนกุหลาบ ปิดการจราจร
    ส่วนกำลังทหารเรือ จากกองสัญญาณทหารเรือ ณ ที่ตั้ง (ซึ่ง ต่อมากลาย เป็นโรงเรียนเตรียมทหาร ลุมพินี) ได้วางกำลังที่สี่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 18.00 น และ ปิดถนนสายกรุงเทพ สมุทรปราการ สำหรับกำลังนาวิกโยธินจากจังหวัดชลบุรี ที่เตรียมนำมา เสริมตามจุดต่าง ๆ ปรากฏว่าแพขนานยนต์ติดแห้งที่ท่าข้ามบางปะกง


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 10, 18:19
     ขณะ เดียวกันสมาชิก เสรีไทย คือ นายประสิทธิ์ ลุสิตานนท์ ได้นำอาวุธที่นำมาจากบริษัท เคเถา ตัวแทนจำหน่ายปืน ไปแจกจ่ายให้พรรคพวกในธรรมศาสตร์ เวลา 20.30 น เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวชนายทหารนอกราชการ  ได้เคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรถยนต์ 4 คัน ภายในรถมีอาวุธและพลพรรคเต็มคันรถ ที่หน้าประตูวิเศษไชยศรี นายเรือเอก วัชรชัย กระโดดลงจากรถ พร้อมด้วยพรรคพวก ก็พร้อมอยู่แล้วสำหรับเหตุการณที่จะเกิดขึ้น
จากนั้น ร.อ. วัชรชัย ก็ร้องเรียกให้นายร้อยโทพร เลิศล้ำ ผู้ขกองรักษาการณ์ ร. พัน. 1 ประจำ พระบรมมหาราชวัง ออกมาพบที่หน้าประตู เมื่อ ร.ท. พร ออกมาพบก็ถูกเอาปืนจี้บังคับให้ปลดอาวุธโดยทันที จากนั้นก็บุกเข้าไปปลดอาวุธทหารที่รักษาการณ์ทั้งหมด แล้วเข้ายึดพระบรมมหาราชวังไว้ได้ ก่อนจะลำเลียงอาวุธนานาชนิดเข้าไป

เมื่อการยึดพระบรมมหาราชวังได้เป็นไปตามแผนแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ กับพรรคพวก 7 คน สวมเครื่องแบบทหารสื่อสาร พร้อมอาวุธครบมือ ได้พากันเข้าไปในสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการพญาไท แล้วใช้อาวุธบังคับเจ้าหน้าที่กรมโฆษณาการ แล้วกระจายข่าวเมื่อเวลา 21.15 น. ด้วยเสียงของ พันตรี โผน อินทรทัต เสรีไทยสายอเมริกาแทรกรายการแสดงลิเกเรื่องคำปฏิญาณของ นายสุชิน ว่า
 ....พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ล้มเลิกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสีย และคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งด้วย และได้แต่งตั้งนาย ดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง ให้นายทวี บุณยเกต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้ประกาศแต่งตั้งและปลดบุคคลสำคัญ อีกหลายคน จากนั้นก็ถอดชิ้นส่วนของเครื่องกระจายเสียงไปด้วย เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลทำการกระจายเสียงต่อไป

คำ แถลงการณ์จากวิทยุของพวกกบฎแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ฝูงชนที่สัญจรไปมา พากันกลับบ้านจ้าละหวั่น เพราะเกรงอันตราย ร้านรวงต่างๆพากันปิดกิจการ เพราะกลัวพวกปล้นสะดมจะฉวยโอกาส

จุดแรกที่นายปรีดี พนมยงค์ และพรรคพวกจะเข้ายึดก็คือ กรมรักษาดินแดน อันอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พ.อ. จรัส โรมรัน รองเจ้ากรมรักษาดินแดน และทำการปลดอาวุธให้สิ้นเชิง      แต่ก็ช้าไป คำสั่งจากกองบัญชาการของรัฐบาลให้เตรียมรับสถานการณ์จากฝ่ายกบฎ ทำให้ทหารในกรมการรักษาดินแดน จึงพร้อมอยู่เสมอในการที่จะรับการจู่โจมจากฝ่ายกบฎ ทหารเข้าประจำอยู่ตามจุดต่างๆ อย่างพร้อมเพียงที่จะหยุดยั้งการจู่โจมของกบฎ และในเวลาเดียวกันนั้นเอง ฝ่ายรัฐบาลก็ลำเลียงกำลังทหารและอาวุธเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ทำให้กรมการรักษาดินแดนมีกำลังต้านทานแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

แผนการจู่โจมได้กระทำสำเร็จแล้วในการยึดวังหลวง สำหรับกรมการรักษาดินแดนนั้นล้มเหลว เพราะรัฐบาลสั่งการและป้องกันไว้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ฝ่ายกบฎจึงได้เปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ ใช้การเจรจาทางการทูตแทน โดยให้คนยกธงขาวขอเปิดการเจรจาด้วยสันติวิธี แต่ได้รับการปฎิเสธไม่ยอมร่วมมือ ทูตสันติจึงกลับไปรายงานถึงความล้มเหลวในการเจรจา และพันเอกจำรัส โรมรัน เจ้ากรมรักษาดินแดนยังได้ยื่นคำขาดให้ฝ่ายกบฎถอยออกไปเสียจากวังหลวง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนรุ่งอรุณ ถ้าไม่ปฎิบัติตามจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อไป


จึงอาจวิเคราะห์ แยกการปะทะออกมาเป็นสองกรณี คือ การปะทะกันระหว่าง ทหารบกผู้ปราบจลาจลกับฝ่ายกบฏในวังหลวง กับ กรณีปะทะกันที่ราชประสงค์ระหว่างทหารบก ทหารเรือ แต่ทั้ง 2 กรณี เกิดขึ้นวันเวลาเดียวกัน คือ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ทหารเรือ ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าตนเอง เป็นกบฏ หรือ เป็นฝ่ายกบฏเข้าข้างฝ่ายกบฏ แต่ถือว่าเป็นการเข้าใจผิดในระหว่างการ ปราบจลาจล กับหยุดยั้งความก้าวร้าวของทหารบก ยกเว้นทหารเรือกลุ่ม พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ เท่านั้นที่คิดว่าตนเองแพ้ไปพร้อมกับฝ่ายกบฏด้วย


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 10, 18:23
23.00 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ให้ลูกน้องยิงปืนจากท่าวาสุกรีไปยังวังสวนกุหลาบ อันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการทหาร โดยฝ่ายกบฎใช้เครื่องยิงลูกระเบิด ค. 85 ชุดแรกยิงไป 4 นัด แต่ลูกกระสุนพลาดเป้าไปตกที่หลังบ้านพลโทสุข ชาตินักรบ

ก่อน เสียงปืนจะดังขึ้น พลต.ตเผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีตำรวจฝ่ายปราบปราม ได้นำกำลังตำรวจสถานีชนะสงครามมายึดกรมโฆษณาการไว้โดยเรียบร้อย ในเวลาเดียวกันรถยนต์หุ้มเกราะขบวนหนึ่งก็วิ่งมาที่กรมโฆษณาการ พร้อมด้วยทหารอาวุธครบมือ นำโดย พลโทหลวงกาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบก จากนั้นกำลังทหารอีกหน่วยหนึ่งจากสวนเจ้าเชตุก็มาถึง และเข้าทำการรักษากรมโฆษณาการต่อจากกำลังตำรวจ ต่อมาเวลา 02.00 น. ได้เข้ายึดสถานีวิทยุกรมโฆษณาการ พญาไท และยิงพันตรี โผน อินทรทัต ตายแต่ ไม่สามารถส่งกระจายเสียงได้ เนื่องจากชิ้นส่วนของเครื่องส่งถูกถอดออก จึงย้ายไปส่งกระจาย เสียงจากสถานีวิทยุกรมจเรทหารสื่อสาร

จอม พล ป. และคณะรัฐบาลจึงออกประกาศเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบถึงการปฎิวัตินั้นว่า รัฐบาลได้ติดตามความเคลื่อนไหวของพวกกบฎอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาเป็นระยะ จึงได้ทราบแน่ชัดว่า ไม่มีวิถีทางใดที่จะหลีกเลี่ยงการนองเลือดได้ จึงเตรียมอยู่ทุกโอกาสที่จะรับมือพวกกบฎ เมื่อการกบฎเกิดขึ้นฝ่ายรัฐบาลจึงได้แต่งตั้งให้ พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกที่ 1 เป็นผู้อำนวยการปราบปรามกบฎคราวนี้ ให้ประชาชนอยู่ในความสงบ

ใน ด้านสะพานเฉลิมโลก (ตรงประตูน้ำ) อันเป็นแดนแบ่งเขตรักษาการณ์ระหว่างทหารบก ทหารเรือ หรือเป็นพื้นที่ร่วมก็ เกิดการเข้าใจผิดจนเกิดปะทะกัน เมื่อเรือตรี ประภัทร จันทรเขต หัวหน้าสายตรวจ ทหารเรือ ขอเข้าไปตรวจ แต่ทหารบกไม่ยอม เกิดการโต้เถียงและยิงกันจน เรือตรี ประภัทร จันทรเขต ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส (ท่านผู้นี้ต่อมา เป็นพลเรือโท เจ้ากรมยุทธศึกษาทหาร) เมื่อ เวลา 01.00 น. ทำให้ นาวาเอก ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับการกองสัญญาณทหารเรือ ซึ่งท่านมีนิสัยรักลูกน้อง ยิ่ง เกิดความเจ็บแค้น จึงเขียนข้อความออกอากาศทางสถานีวิทยุของกอง สัญญาณทหารเรือ ซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้งว่า "ทหาร บกกระทำแก่ทหารเรือจนสุดจะทนทาน ขอให้ทหารเรือกระทำ ตอบแทน โดยให้เรือรบทุกลำเข้ามาในพระนครเพื่อทำการต่อสู้กับทหารบก เพื่อเกียรติและ ศักดิ์ศรีของ ทหารเรือเอง"

เนื่อง จากการกระจายเสียงของสถานีวิทยุกองสัญญาณทหารเรือ ดัง กล่าว ใช้คลื่น เดียวกับคลื่นส่งวิทยุของกรมจเรทหารสื่อสารกองทัพบก ประชาชนจึง ตกอยู่ใน ความหวาดผวา ในเหตุการณ์ที่สับสน การต่อสู้ที่รุนแรงระหว่างทหารบกและทหารเรือ เกิดขึ้น จากการปลุกเร้า ของวิทยุกองสัญญาณ ทหารเรือ ที่มุ่งเน้นอยู่ตรงความไม่พอใจจากการ ที่ ทหารเรือถูกทหาร บกยิง มิใช่อยู่ที่การต่อสู้เพื่อยึดอำนาจการปกครองแต่อย่างใด

การ ปลุกเร้า ดังกล่าวสามารถ ระดมกำลังแทบทุกส่วนของกองทัพเรือ แม้แต่เรือรบที่กำลังฝึกทางทะเล ก็ ยัง เดินทางเข้ามา ตามคำประกาศนั้น ยกเว้นกองพันนาวิกโยธิน ที่ 4 และ 5 สวนอนันต์ ซึ่ง อยู่ใกล้ กับพระบรม มหาราชวัง อันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของฝ่ายกบฏ มิได้แสดง ท่าทีและ ออกปฏิบัติ การที่เป็น การ หนุนช่วยหรือให้ความคุ้มกันฝ่ายกบฏแต่อย่างใด การที่ทหารเรือ ไม่ได้สนับสนุน เต็มที่ใน ทุกส่วนนี่เอง เป็นผลให้นายปรีดี ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ในเวลาต่อมา

ทางด้านพระบรมมหาราชวังอันเป็นป้อมปราการของนายปรีดี ยังเปิดฉากยิงเข้าไปใน ร. พัน. 1 มีทหารเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บอีกหลายนาย ผู้บังคับบัญชาการกองทัพทหารราบที่ 1 ได้สั่งการให้ยิงโต้ตอบไปบ้างเสียงสนั่นกรุง ประมาณ 1 ชั่วโมงก็เงีบยไป

เวลา 02.00 น.พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 สั่งการให้ พันเอก ถนอม กิตติขจร ผู้บังคับการ กรมทหารราบที่ 11 และ พันโท กฤช ปุณณกัณฑ์ ผู้บังคับการกรมรถรบ ให้ล้อมพระบรมมหาราชวัง 3 ด้าน (ยกเว้นด้านกองเรือรบ) และบุกเข้าไปในพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี โดยทหารราบและ ป.ต.อ. วิ่งตามเข้าไปอย่างไม่เกรงกลัว พวกฝ่ายกบฎในพระบรมมหาราชวังยิงปืนกราดออกมาดังห่าฝน รถถังคันหนึ่งในจำนวนหลายคันถูกปืนบาซูก้ากระหน่ำเสียจนไปต่อไม่ได้ จากนั้นรถถังอีก 2 คัน ก็พุ่งเข้าชนประตูวิเศษไชยศรีจนประตูเบื้องซ้ายพังลงมา จากนั้นก็พากันบุกเข้าไปอย่างรวดเร็ว เกิดการยิงต่อสู้กันอย่างรุนแรงและหนักหน่วง

กำลังฝ่ายรัฐบาลอีกส่วนหนึ่งได้โอบล้อมเข้าไปอย่างเงียบๆ โดยกำลังทหาร ร. พัน 1 สวนเจ้าเชตุ ได้เคลื่อนเข้ายึดวังสราญรมย์ และระดมยิงปืนใหญ่ พอเวลา 06.00 น. ประตูสวัสดิ์โสภา และเทวาพิทักษ์ก็พังลง เปิดทางให้ทหารราบกรูกันเข้าไปในพระบรมมหาราชวังได้อีก 2 ทาง ฝ่ายกบฏจึงถูกบีบวงล้อมกระชับขึ้น และตกอยู่ในฐานะลำบาก



กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 10, 18:24
นาย ปรีดี พนมยงค์ ในชุดพันจ่าเอกไว้หนวด เรือเอก วัชรชัยและชนชั้นหัวหน้าพากันหลบหนีออกจากพระบรมมหาราชวัง ออกไปทาง ประตูเทวาภิรมย์ ด้านท่าราชวรดิษฐ์ โดยเรือโท สิริ ข้าราชการกรมพระธรรมนูญทหารเรือ เป็นผู้นำออกไป แต่เมื่อได้นำตัวนายปรีดีออกไปได้แล้ว ก็เกิดกลัวความผิด จึงได้กระโดดน้ำตายที่ท่าราชวรดิตถ์นั่นเอง แม้ว่าผู้ก่อการชั้นหัวหน้าจะหนีไปแล้ว ฝ่ายผู้ก่อ การในวังที่เหลือ ยังใช้กลยุทธ์ยิงทางโน้นทีทางนี้ที ลวงให้ทหารบก ผู้ปราบจลาจล และทหาร เรือที่กองเรือรบ เข้าใจผิดต่างกระหน่ำยิงกันต่อไปกันใหญ่ จนสายก็ไม่หยุด

ใน อีกด้านหนึ่งของ กรุงเทพ ฯ ทางด้านสี่แยกราชประสงค์ รถถังของ พันเอก ประภาส จารุเสถียร ผู้บังคับการกรม ทหารราบที่ 1 ได้รับคำสั่งให้ข้ามสะพานราชเทวี เพื่อเตรียมเผด็จศึกด้านกองสัญญาณทหารเรือ ถูกบาซูก้าของทหารเรือยิงทำลายกลางสะพาน จากนั้นทหารเรือก็ใช้ปืน ค.85 ยิงถล่มใส่ อย่างรุนแรง จนทหารบกต้องถอยร่นอย่างไม่เป็นขบวนข้ามทางรถไฟสายอรัญประเทศไปตั้ง หลักที่สี่แยกพญาไท และทหารเรือสามารถยึดรถถังกับปืนใหญ่ทหารบกได้

เหตุการณ์ ดำเนิน มาถึง ราว 16.00 น. กำลังทหารเรือหนุนเนื่องเป็นสายก็ขึ้นมาจากเรือ ณ ท่าเรือใหม่(ท่าเรือ คลองเตย) มาสู่กองสัญญาณ เสียงทหารเรือพูดกันอย่างมั่นใจว่าพวกเราเป็นผู้ถูกข่มเหงน้ำใจ มานานแล้ว เลือดนาวีต้องสู้กันละ

ภาย หลังการปราบปรามพวกกบฎ ภายในพระบรมมหาราชวังเรียบร้อยแล้ว พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้นำกำลังที่มีอยู่เคลื่อนมายังบริเวณดังกล่าว ท่ามกลางการต่อสู้กันอย่างดุเดือดนั้น พลตรีประวัติ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้เข้าพบ พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อเปิดเจรจาหยุดยิง พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยอมรับข้อเสนอในการหยุดยิงของฝ่ายทหารเรือ เพราะไม่ต้องการให้คนไทยฆ่ากันเอง โดยให้ตั้งเวลาหยุดยิงให้ตรงกันคือ 10.15 น.

 ครั้นได้เวลา 10.15 น. ฝ่ายทหารเรือ ทหารบก ก็หยุดยิงกันตลอดแนว และจากนั้นก็ไกล่เกลี่ยกันจนเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว แต่ละฝ่ายก็เคลื่อนกำลังเข้าสู่ที่ตั้งของตน

หลัง จากปราบปรามพวกกบฎในครั้งนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุม พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข อดีตผู้บังคับการสันติบาล และ พ.ต. โผน อินทรทัต อดีตผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ แต่ทั้งสองคนถูกตำรวจยิงตายในข้อหาว่า ต่อสู้เจ้าหน้าที่.

ส่วน นายปรีดี ยังคงหลบซ่อนตัว ในประเทศ ไทยต่อไปอีก 6 เดือน จึงได้อาศัยเรือหาปลาเล็ก ๆ ลำหนึ่ง เดินทางไปประเทศ สิงคโปร์ ซ่อน ตัวอยู่ในประเทศสิงคโปร์อีก 11 วัน จากนั้นจึงเดินทางโดยเรือเดินสมุทร "ฮอยวอง" ไปประเทศ ฮ่องกง และต่อด้วยรถยนต์ไปซิงเตา

กบฏวังหลวง มีพื้นฐานอยู่บนความขัดแย้ง 2 มิติ คือ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถือว่าเป็นกบฏวังหลวงแท้ๆ      อีกมิติหนึ่งคือ ความขัดแย้งที่ดำเนินมา เป็นระยะ เวลาอันยาวนานระหว่างทหาร บกกับทหารเรือ ซึ่งเกิดมาภายหลังการเปลี่ยนแปลง การปกครอง พ.ศ.2475 จากกรณี ต่าง ๆ เช่น การที่ทหารบกซึ่งคุมอำนาจทางการเมือง แทรกแซงการแต่งตั้ง ผู้บังคับบัญชาทหารเรือ ทหารเรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรณีกบฏบวรเดช และผู้นำทหารบก ออกคำสั่งที่ได้ขัดต่อความรู้สึก ของทหารเรือทั่วไป

จึงอาจวิเคราะห์ แยกการปะทะออกมาเป็นสองกรณี คือ การปะทะกันระหว่าง ทหารบกผู้ปราบจลาจลกับฝ่ายกบฏในวังหลวง กับ กรณีปะทะกันที่ราชประสงค์ระหว่างทหารบก ทหารเรือ แต่ทั้ง 2 กรณี เกิดขึ้นวันเวลาเดียวกัน คือ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ทหารเรือ ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าตนเอง เป็นกบฏ หรือ เป็นฝ่ายกบฏเข้าข้างฝ่ายกบฏ แต่ถือว่าเป็นการเข้าใจผิดในระหว่างการ ปราบจลาจล กับหยุดยั้งความก้าวร้าวของทหารบก ยกเว้นทหารเรือกลุ่ม พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ เท่านั้นที่คิดว่าตนเองแพ้ไปพร้อมกับฝ่ายกบฏด้วย


กบฏวังหลวงจบสิ้นลงด้วยความพ่ายแพ้ของนายปรีดี พนมยงค์และผู้ร่วมก่อการ   รัฐบาลจอมพลป. ชนะ  แต่ความตึงเครียดทางการเมืองไม่ได้จบลงแค่นี้
ผลกระทบต่อเนื่องคือความไม่พอใจของทหารเรือ ต่อรัฐบาล ก็ส่งผลให้เกิดกบฏใน 2 ปีต่อมา คือกบฏแมนฮัตตัน


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 10, 07:56
กบฏวังหลวงที่พ่ายแพ้ต่อรัฐบาล อาจวิเคราะห์สาเหตุได้ในบางประเด็น คือ
๑   ฝ่ายกบฏประเมินสถานการณ์ผิด ที่ว่าการยึดพระบรมมหาราชวังเป็น "หลักประกัน"  ที่จะทำให้รัฐบาลไม่กล้าใช้ปืนใหญ่โจมตี    เพราะคงเกรงความเสียหายต่อพระที่นั่งสำคัญๆ  ซึ่งรวมทั้งวัดพระแก้วอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์     
แต่ปรากฏว่ารัฐบาลไม่กลัวข้อนี้  เล่นไม้แข็ง  กล้าล้อมยิงและบุกเข้าไป   เพียงแต่ไม่ลุยเปะปะ จนทำความเสียหายให้กับพระที่นั่งและตัววัดเท่านั้น
๒   การยึดวังหลวง เป็นที่แคบ  ทำให้ถูกล้อมและฝ่ายรัฐบาลกระชับพื้นที่ได้ง่าย
๓   ทหารเรือบางส่วนไม่ร่วมมือด้วย โดยเฉพาะหน่วยกำลังสำคัญ คือนาวิกโยธิน
๔   กำลังของรัฐบาลเหนือกว่า  ความจัดเจนในการรบก็มากกว่าด้วย

นโยบายรัฐบาลลุยแบบไม่คำนึงถึงตัวประกัน  ถูกนำมาให้อีกครั้งในกบฏแมนฮัตตันใน ๒ ปีต่อมา   

วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เมื่อทหารเรือกลุ่มหนึ่ง นำโดย น.ต.มนัส จารุภา รน. จู่โจมเข้าจี้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่างเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกัน ชื่อ แมนฮัตตัน ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร  นำไปกักขังไว้ในเรือหลวงชื่อ "ศรีอยุธยา" ที่จอดรออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา

หัวหน้าคณะก่อการ คือ น.อ. อานนท์ บุญฑริกธาดา รน. สั่งการให้ทหารเรือกลุ่มที่สนับสนุนการก่อการมุ่งหน้าและตรึงกำลังไว้ที่พระนคร และประกาศตั้ง พระยาสารสาสน์ประพันธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยบังคับให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกประกาศกระจายเสียงในฐานะนายกรัฐมนตรีจากในเรือ
แต่ทางฝ่ายรัฐบาลไม่ยอม กลับกระจายเสียงตอบโต้ โดยใช้วิทยุของกรมการรักษาดินแดน (ร.ด.) แล้วตั้งนายวรการบัญชา ประธานสภาผู้แทนราษฎรรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีแทน และตั้งกองบัญชาการขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล (ในขณะนั้นคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม) จึงเกิดการต่อสู้ยิงกันอย่างหนักระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลและทหารฝ่ายก่อการ

รัฐบาลปราบกบฏแบบลำหักลำโค้น   กระหน่ำระเบิดจากเครื่องบินแบบ Spirt fire และ T6 ใส่เรือหลวงศรีอยุธยาที่อยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไม่เกรงว่าหัวหน้ารัฐบาลถูกจับเป็นนักโทษอยู่ในเรือ   จะพลอยเป็นอันตรายไปด้วย   ในที่สุดเรือก็จม
แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดวงแข็งเอาการ  นอกจากไม่ได้รับบาดเจ็บ   ก็ได้รับการช่วยเหลือจากทหารเรือ   ว่ายน้ำหลบหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย
การกบฏครั้งนี้นับว่าเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เพราะสถานที่ต่าง ๆ เสียหาย และมีผู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อยทั้งทหารของทั้ง 2 ฝ่าย และประชาชนเคราะห์ร้ายโดนลูกหลงไปด้วย   ส่วนผู้ก่อการได้แยกย้ายกันหลบหนีไปพม่าและสิงคโปร์

น.ต.มนัส จารุภา รน. ผู้ทำการจี้จอมพล ป. ได้หลบหนีไปพม่าได้สำเร็จ แต่ถูกจับกุมได้หลังจากลักลอบกลับเข้าประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2495

เหตุการณ์สิ้นสุดลงด้วยการจับกุมผู้ต้องหาร่วม 1,000 คน ปล่อยตัวเพราะหาหลักฐานไม่เพียงพอจนเหลือฟ้องศาลประมาณ 100 คน ภายหลังนักโทษคดีนี้ส่วนใหญ่ได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ
ในส่วนของกองทัพเรือ แม้ทหารที่ก่อการจะไม่ใช่ทหารระดับสูงและทหารเรือส่วนใหญ่ก็ไม่เกี่ยวข้องด้วย กระนั้น ต่อมา พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือก็ ยังต้องโทษตัดสินจำคุกนานถึง 3 ปี โดยที่ไม่มีความผิด และได้มีการปรับลดอัตรากำลังพลของกองทัพเรือลงไปมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ยุบกรมนาวิกโยธินกรุงเทพ ยุบกองการบินกองทัพเรือไปรวมกับกองทัพอากาศ ย้ายกองสัญญาณทหารเรือที่ถนนวิทยุ ที่ต่อมากลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหาร ใกล้สวนลุมพินี


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ธ.ค. 10, 16:21
กบฏในคิวต่อมา เกิดเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2495 เรียกกันว่า "กบฏสันติภาพ"
กบฏนี้มีบางอย่างคล้ายคลึงกับกบฏเสนาธิการ คือฝ่ายรัฐบาลจับกุมบุคคลกลุ่มหนึ่ง โดยไม่มีการลงมือทำการอันใดล้มล้างรัฐบาล  เพียงแต่ไม่เห็นด้วย    พวกนี้ก็ถูกจับกุมคุมขังเสียแล้ว

กรมตำรวจ ที่มีพลต.อ.เผ่า ศรียานนท์เป็นอธิบดีตำรวจ  แถลงว่า//
"...ปรากฏจากการสอบสวนของกรมตำรวจว่า มีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก เกิดการทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่างๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง อันเป็นการที่อาจจะทำให้เสื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ยุยงให้ทหารที่รัฐบาลส่งออกไปรบในเกาหลี ตามพันธะที่รัฐบาลมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ ให้เสื่อมเสียวินัย เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้ว ก็จะใช้กำลังเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย..."

กลุ่มที่ถูกประเดิมข้อหา'กบฏ' คือสมาชิกคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2494  มี นายแพทย์เจริญ สืบแสง เป็นประธานคณะกรรมการ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ และพระมหาดิลก สุวรรณรัตน์ เป็นรองประธาน นาย ส. โชติพันธุ์ (สิบโทเริง เมฆประเสริฐ) เป็นเลขาธิการ ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านสงครามในคาบสมุทรเกาหลี    ต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งสนับสนุนสงครามเกาหลี และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนตัวจากสงครามเกาหลี
คณะกรรมการกำลังเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมกับนานาชาติในประเทศจีนเพื่อต่อต้านสงครามเกาหลี  ก็เจอข้อหากบฏเข้าเสียก่อน 

จากนั้นการจับกุมคุมขังก็ขยายผลกว้างออกไปเรื่อยๆ   นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนมีชื่อหลายคนอยู่ในระลอกสองสามต่อมา 
นอกเหนือจากนายกุหลาบ สายประดิษฐ์  หรือ"ศรีบูรพา" ก็มี
นาย อารีย์ ลีวีระ - เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามนิกร
นาย สุภา ศิริมานนท์ - เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์น
นาย อุทธรณ์ พลกุล - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ
นาย แสวง ตุงคะบริหาร - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกร
นาย บุศย์ สิมะเสถียร - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทย
นาย ฉัตร บุณยศิริชัย - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ
นาย สมุทร สุรักขกะ - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์
นาย สมัคร บุราวาศ
นาย เปลื้อง วรรณศรี ฯลฯ

รวมถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล อาทิ

นาย มารุต บุนนาค - ประธานกรรมการสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นาย ลิ่วละล่อง บุนนาค - ผู้นำนักศึกษา
นาย สุวัฒน์ วรดิลก - นักประพันธ์
นายฟัก ณ สงขลา - ทนายความ
นายสุ่น กิจจำนงค์ - เลขาธิการสมาคมสหอาชีวกรรมกร
นายสุพจน์ ด่านตระกูล ฯลฯ

กลุ่มต่อมาที่โดนเข้าด้วยคือภรรยาและบุตรของนายปรีดี ซึ่งลี้ภัยออกนอกประเทศไปตั้งแต่ล้มเหลวจากกบฏแมนฮัตตัน 
ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ และนายปาล พนมยงค์
อีกคนหนึ่งคือพลตรี เนตร เขมะโยธิน ที่เคยถูกข้อหากบฏเสนาธิการมาก่อน

ทั้งนี้เพราะรัฐบาลเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างลับๆ  โดยร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  จึงขจัดเสี้ยนหนามเสียก่อน

คดีนี้ อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 54 ราย ศาลได้พิพากษาจำคุก บางราย 13 ปี บางราย 20 ปี และได้รับการประกันตัวและพ้นโทษตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสพุทธศตวรรษที่ 25 ใน พ.ศ. 2500

ในเมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างนี้   บุคคลใกล้ตัวที่พ.ท.พโยมรู้จักดีต่างก็ได้รับภัยการเมืองไปตามๆกัน    พ.ท.พโยมจึงรู้ดีว่าไม่อาจกลับมาสู่วงการเมืองได้อีก
ตราบใดที่จอมพลป.และพลต.อ.เผ่า ยังมีอำนาจอยู่ในการบริหารประเทศ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ธ.ค. 10, 16:44
ขอคั่นด้วยบันทึกจากหลานคนหนึ่งของพ.ท.พโยม  ที่ถ่ายทอดประสบการณ์จากที่ได้พบท่าน  และได้รับคำบอกเล่าจากญาติผู้ใหญ่
ถึงการลี้ภัยทางการเมืองครั้งแรก

               มีเรื่องที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังอีกว่า "...."   ไม่ชอบคุณลุง มีความขัดแย้งกันมาก  ครั้งหนึ่งมีการนำรถ ไปปิดล้อมรัฐสภาหมายจะจับคุณลุงให้ได้ แต่คุณลุงไหวตัวทันจึงวางหมวกที่สวมประจำไว้ที่โต๊ะ   แล้วก็ล่องหนไปเลย นานเท่าใดไม่ทราบแต่คุณสมบูรณ์ วรพงษ์  เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งว่า ไปพบคุณลุงลี้ภัย(ครั้งแรก)ที่เชียงตุง
               เมื่อคุณลุงกลับจากเชียงตุง มากรุงเทพฯ ท่านมาที่บ้านแต่ยังไม่ขึ้นมาบนบ้าน  คงยืนรีรออยู่บริเวณลานบ้าน ดิฉันอายุราว 6-7 ขวบ เดินเล่นอยู่บนบ้าน มองไปเห็น “ใครก็ไม่รู้”  ก็วิ่งไปบอกคุณแม่ซึ่งเป็นน้องสาวของท่าน  ตั้งแต่นั้น ดิฉันจึงรู้ว่าท่านเป็นใคร เราอยู่บ้านเดียวกัน ดิฉันยังภาพตอนนั้นจำได้ว่าคุณลุงเป็นชายร่างสันทัด สมส่วนชายชาติทหาร  ทุกเช้าจะเห็นท่านออกกำลังกายอยู่นานมาก   ทั้งวิดพื้น ซิดอัพ ยกลูกตุ้ม  ใช้เวลาเป็นชั่วโมงทุกวัน               
              เมื่อต้องไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจก็เป็นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ดิฉันเคยเห็นภาพนั้น นักข่าวก็จะไปดักเพื่อทำข่าวแต่คุณลุงก็จะหลบนักข่าวเหล่านี้ได้ทุกที
                 ชีวิตในบ้านดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ดิฉันจำได้ว่าคุณป้า จะนั่งมวนบุหรี่ให้คุณลุงด้วยอุปกรณ์เล็กๆ แต่เดี๋ยวเดียวก็จะได้บุหรี่เป็นมวนวางเรียงกันเป็นแถว ตอนนั้นไม่เข้าใจว่า คุณป้าทำได้ไง แต่ถ้าเทียบกับการทำข้าวปั้นญี่ปุ่นสมัยนี้ก็คงได้ เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า และใช้ใบยาสูบแห้งๆห่อยาเส้น   
                คุณลุงเป็นคนที่มีความรู้ดี ภาษาอังกฤษก็เก่ง  ถ้าอ่านหนังสือที่แจกในงานฌาปนกิจศพมารดาของท่าน ก็จะเห็นฝีไม้ลายมือว่าเขียนได้ดีเพียงใด      หนังสือเล่มนั้นชื่อ “ อ้อมอกแม่ ”  และดิฉันจำได้ว่า เคยได้ยินคุณลุงพูดภาษาเหนือ กับคุณป้า ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ ด้วยสำเนียงเหมือนคนเชียงใหม่เลย


    ภรรยาที่เอ่ยถึงในบันทึกนี้คือคุณวรรณดี จุลานนท์   เป็นชาวเชียงใหม่   ตามประวัติว่าเคยเป็นช่างฟ้อนในคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่มาก่อน


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ธ.ค. 10, 16:49
จากบันทึกของหลานสาวพ.ท.พโยม   แสดงว่า ท่านไม่ได้ลี้ภัยจากเมืองหางไปอยู่ที่ประเทศจีน ๘ ปีอย่างที่ปรากฏในหนังสือบางเล่ม 
แต่ว่าคงจะอยู่นอกประเทศไทยสักระยะหนึ่งแล้วกลับมากรุงเทพ   เก็บตัวอยู่ที่บ้านญาติ  พ้นข้อหาคดีกบฏเสนาธิการ  แต่ต้องไปรายงานตัวกับตำรวจ   
ระหว่างที่จอมพล.ป บริหารประเทศอยู่จนถึงพ.ศ. ๒๕๐๐   พ.ท.พโยมก็เก็บตัวอยู่เงียบๆ ไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับวงการเมืองอีก จนกระทั่งจอมพลป. หมดอำนาจเพราะถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๐


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ธ.ค. 10, 13:09
เมื่อสิ้นเสี้ยนหนามทางการเมือง ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๙๕   รัฐบาลจอมพลป. ก็มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศ   ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไม่มีทางอื่นนอกจากจะถอนตัวจากการเมือง    หรือว่าไปดำเนินงานอยู่นอกประเทศ
คนที่ไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยแบบไทย  ซึ่งจริงๆแล้วคือรัฐประหารสลับกับระบอบรัฐสภาคั่นอยู่ช่วงสั้นๆ    ไม่มีทางเลือกมากนักในยุคนั้น   เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  การเมืองของโลกก็แบ่งออกเป็น ๒ ค่ายใหญ่คือค่ายโลกเสรี นำด้วยพี่เบิ้มสหรัฐอเมริกา  และค่ายคอมมิวนิสต์ นำด้วยโซเวียตรัสเซีย   ในเอเชียมีจีนแผ่นดินใหญ่เป็นพันธมิตรใหญ่ของรัสเซีย

ในระบอบการเมือง   สหรัฐอเมริกาเป็นประชาธิปไตย  ในทางเศรษฐกิจเป็นทุนนิยม     การเมืองในรัสเซียและจีนเป็นเผด็จการ  ในทางเศรษฐกิจเป็นสังคมนิยม

สหรัฐอเมริกาก้าวเข้ามาหนุนหลังประเทศไทย  เพื่อเอาไว้เป็นพวกในการต่อต้านค่ายใหญ่ตรงข้าม     ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไทยซึ่งขึ้นมาจากรัฐประหาร จะพึ่งประชาธิปไตยแบบอเมริกาก็ไม่ถนัด เพราะอเมริกาหนุนหลังรัฐบาลไทยอยู่ไม่ว่ารัฐประหารหรือไม่รัฐประหารก็ตาม   
ค่ายใหญ่ที่อยู่นอกอำนาจของอเมริกาก็มีแต่จีนและรัสเซีย   จึงมีหลายคนลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีน   รวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ด้วย  นโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมของจีน ก็เป็นที่เชื่อถือของหลายคนในจำนวนนี้  ว่าจะช่วยแก้ปัญหาในประเทศไทยได้

พ.ท.พโยมเห็นว่าการปกครองของรัฐบาล ไม่ได้กระจายรายได้ให้ประชาชนไทยอย่างทั่วถึง     คนส่วนใหญ่ยังคงยากจน และถูกกดขี่ขูดรีดด้วยวิธีต่างๆ  ขณะที่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ร่ำรวยขึ้นมาจากการได้เปรียบในสังคม   รัฐบาลเองนอกจากไม่ได้แก้ปัญหาให้ตกแล้ว  ยังรวมทั้งอำนาจและเศรษฐกิจเข้าไปไว้ในศูนย์กลางอีกด้วย
ความอยุติธรรมเช่นนี้ ฝังอยู่ในใจพ.ท.พโยมตลอดมา


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ธ.ค. 10, 17:43
ขอแนะนำให้กลับไปอ่านกระทู้มหากาพย์  จอมพลป. 2 ไม่ผ่านขึ้น ป.3  หน้าที่ 8  จะเห็นภาพการเมืองที่พ.ท.พโยมเฝ้ามองอยู่ ได้ชัดยิ่งขึ้น
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.105

พ.ท.พโยมมองเห็นชัดว่าอำนาจของอธิบดีตำรวจ แผ่ไพศาลขึ้นมาคู่คี่กับอำนาจของนายกรัฐมนตรีก็ว่าได้     กรมตำรวจในยุคนั้นกลายเป็น "กองทัพตำรวจ" ไปแล้วโดยปริยาย
ส่วนกองทัพของไทยก็มีดาวโรจน์ดวงใหม่ฉายแสงขึ้นมา คือนายทหารใหญ่ตำแหน่งผบ.ทบ. ชื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์   ซึ่งเป็นเพื่อนของพ.ท.พโยมมาก่อน  เพื่อนนายทหารอีกคนหนึ่งของท่านก็คือพลโทถนอม กิตติขจร
จอมพลสฤษดิ์ กลายมาเป็นขวัญใจของประชาชน เนื่องด้วยวางตัวเป็นมิตรกับนิสิตนักศึกษาประชาชน ที่เดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรกที่สุดในประวัติการณ์เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๐   ตอนนั้นรัศมีรอบตัวจอมพลป. เริ่มอับแสงลงไปมากแล้ว
รัศมีรอบตัวของจอมพลสฤษดิ์ก็ฉายแสงเจิดจ้าขึ้นมาแทน   มีสหรัฐอเมริกาเป็นแบ๊คหนุนอยู่เบื้องหลัง

ในที่สุด เหตุการณ์การเมืองก็เดินมาถึงวันที่จอมพลป.ถูกคว่ำลงจากเก้าอี้ิ ด้วยฝีมือรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์   ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไป และไม่ได้กลับมาอีกเลย  เช่นเดียวกับพลต.อ.เผ่า ศรียานนท์
พ.ท.พโยมก็รู้ตัวว่า กลับเข้ามาสู่วงการเมืองได้อีกครั้งอย่างปลอดภัยแล้ว


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 10, 12:09
ด้วยความสนิทสนมกับจอมพลสฤษดิ์เป็นส่วนตัว   พ.ท.พโยมจึงตัดสินใจสมัครเข้าพรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์   และส่วนตัว ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านบางโพกับภรรยาคือคุณวรรณดีและลูกสองคน   ในช่วงเวลา 6 ปี  ท่านมีลูกอีก 2 คนคือลูกสาวชื่อ ประกายแก้ว และลูกชายชื่อ กอแก้ว     จุดมุ่งหมายอีกอย่างหนึ่งของท่านคือกลับมาจัดการเรื่องงานศพของคุณหญิงวิเศษสิงหนาถ ผู้มารดา  
คุณหญิงถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2490  ศพเก็บไว้ยาวนาน รอลูกชายคนโตซึ่งญาติพี่น้อง ถือกันว่าเป็นลูกคู่ทุกข์คู่ยากของแม่ กลับมาเผา   พ.ท.พโยมก็ได้กลับมาทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายของลูกได้จบ
รูปภาพที่นำลงในกระทู้นี้ ก็คือรูปที่พ.ท.พโยมถ่ายกับญาติและลูกๆเป็นครั้งสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม   เมื่อเปลี่ยนตัวผู้บริหารประเทศ  สถานการณ์ทางการเมืองก็ตึงเครียดมากขึ้น แทนที่จะผ่อนคลายลง   เพราะจอมพลสฤษดิ์รับนโยบายจากอเมริกาในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ อย่างเฉียบขาดยิ่งกว่าเมื่อก่อน
คอมมิวนิสต์กลายเป็นคำน่าสะพรึงกลัว  เป็นศัตรูที่จะต้องถูกปราบให้หมดเสี้ยนหนาม      แม้ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์  แต่เป็นบุคคลที่จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าไม่พึงปรารถนาในสังคมไทย   มาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ ที่อนุญาตให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม  ก็ถูกนำมาใช้ได้ทันที
การปราบปรามฝ่ายตรงข้ามจึงทำอย่างรุนแรง ยิ่งกว่าครั้งใดๆ    มีการออกกฏหมายคือ “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” ซึ่งมีโทษที่รุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต
เมื่อ 6 กรกฎาคม 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งประหารชีวิต นายศุภชัย ศรีสติ ข้อมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 10, 12:15
   พ.ท.พโยมเป็นเพื่อนสนิทของจอมพลสฤษดิ์มาก่อน      เมื่อเห็นการปกครองกลายเป็นแบบนี้  ก็กล่าวท้วงว่า
  “ไหนลื้อบอกว่าจะทำเพื่อประชาชนไง"
  คำตอบของท่านจอมพล ก็คือ
 ”  ลื้ออยู่เฉยๆเถอะแล้วดีเอง ”

    หลังจากนั้นไม่นาน  วันหนึ่ง ก็มีนายร้อยตำรวจเอกคนหนึ่งมาที่บ้านบางโพ  แจ้งว่า ถูกผู้ใหญ่ส่งตัวมาให้การอารักขา  ดูแลความปลอดภัยให้
     พ.ท.พโยมเข้าใจทันทีว่า ถูกหมายหัวอย่างไม่มีทางรอดเสียแล้ว    แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร คงต้อนรับด้วยดี   เชิญให้นายตำรวจนั่งในห้องรับแขก แล้วเรียกน้องสาวบอกว่า
     " เอาน้ำเอาท่ามาต้อนรับแขกด้วย"
     ส่วนตัวเอง  ก็ขอตัวเดินเข้าไปข้างใน   เร้นกายหายไปทางหลังบ้าน  ลัดเลาะสวนผลไม้ออกไปในวันนั้นเอง  
     จากวันนั้นเอง พ.ท.พโยมก็ไม่มีโอกาสได้กลับมาหาลูกเมียและญาติพี่น้องอีกเลย


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ธ.ค. 10, 14:28
มีการออกกฏหมายคือ “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” ซึ่งมีโทษที่รุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต
เมื่อ 6 กรกฎาคม 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งประหารชีวิต นายศุภชัย ศรีสติ ข้อมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

การประหารชีวิตในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มล้างรัฐบาลและบ่อนทำลายความมั่นคงในราชอาณาจักร เริ่มต้นจากยิงเป้า นายศุภชัย ศรีสติ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ที่ท้องสนามหลวง ตามมาด้วยการยิงเป้า นายทองพันธ์ สุทธมาศ และนายครอง จันดาวงศ์ อดีต ส.ส. จังหวัดสกลนคร จากพรรคแนวร่วมเศรษฐกร ที่อำเภอสว่างดินแดน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ และในวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ยิงเป้า นายรวม วงศ์พันธ์ ณ แดนประหาร เรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี

ผลที่ตามมาคือ ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยที่ถูกบีบคั้นกดดันจากอำนาจเผด็จการ ตัดสินใจมุ่งสู่เขตป่าเขาในชนบทเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังไม่อยู่ในสภาพเข้มแข็งพอจะลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลได้แต่อย่างใด

ปลาย ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในคุก แต่งเพลง "วีรชนปฏิวัติ" ขึ้น จากความความรู้สึกประทับใจในการต่อสู้ของนายครอง จันดาวงศ์  และในเวลาต่อมาเพลงนี้ก็ยังได้รับการเผยแพร่และขับร้องกันสืบเนื่องต่อมาในขบวนการฝ่ายประชาชน (http://forum1.arinwan.com/index.php?topic=21.0)

 :o


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 10, 18:48
ยินดีต้อนรับเข้าร่วมวงค่ะ  คุณเพ็ญชมพู   ;D

ก่อนจะเล่าถึงพ.ท.พโยมต่อไป    ขอย้อนกลับไปเล่าความเป็นมาของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเสียก่อน     เพื่อปูพื้นความเข้าใจ ก่อนจะกลับมาที่ชีวิตพ.ท.พโยมอีกครั้ง
ขอขอบพระคุณคุณ NavaratC. ที่กรุณาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลมาให้มากมายหลายเรื่อง        ทุ่นเวลาดิฉันไปได้มาก    
ตอนนี้ไม่ต้องรื้อตู้หนังสือหรือค้นลุงกู๊กจนตาลายอีกแล้ว   มีกูรูใหญ่เอื้อเฟื้อมาให้   ปัญหาเหลืออย่างเดียวคือต้องย่อยเอกสารของท่าน Navarat  เป็นการบ้านให้ทันเวลานำลงเท่านั้นเอง
 ;)

***********************
พรรคคอมมิสนิสต์แห่งประเทศไทย หรือชื่อย่อว่า พคท. เกิดในประเทศไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ ๗   แต่ว่าการก่อตั้งระยะแรกไม่ใช่ความประสงค์ของคนไทยทั่วไป แต่เป็นคนเชื้อสายจีนกลุ่มหนึ่ง และคนเวียดนามในประเทศผู้เลื่อมใสลัทธิมาร์กซ์ ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเป็นสมาคมลับ  ตั้งแต่ปี ๒๔๗๓  ตอนแรกก็มีสมาชิกน้อย  ก็ล้มลุกคลุกคลาน ไม่มีอิทธิพลอะไรกับสังคมไทย



กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 10, 18:50
อุดมการณ์ของพวกนี้ แบบเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก คือหวังสร้างสังคมใหม่ที่ผู้คนเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้น ไม่มีผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่  เรียกตามทางการว่าสังคมนิยม
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒   ราวปี ๒๔๘๘-๒๔๙๐ รัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์เปิดโอกาสให้ผู้ฝักใฝ่สังคมนิยม เคลื่อนไหวได้ไม่ต้องปกปิดอย่างเมื่อก่อน      สมาชิกคนแรกที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคนแรก คือนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร มีหนังสือพิมพ์เป็นกระบอกเสียงของตัวเอง คือ มหาชน รายสัปดาห์
แต่รัฐประหารที่ตามมาใน เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ทำให้คอมมิวนิสต์หัวกะทิทั้งหลายถูกจับกุมกันกราวรูด  ที่รอดมาได้ก็ต้องหลบหนีไปชนบท หาแนวร่วมระดับล่าง ปะปนอยู่กับชาวบ้านในถิ่นไกลหรือในป่าลึกที่ทางการเอื้อมมือไปไม่ถึง   
การปะทะกันอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกระหว่างทหารตำรวจกับพคท. เกิดขึ้นเมื่อ ๗ สิงหาคม  เป็นที่รู้จักกันในนาม "วันเสียงปืนแตก" นับเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ด้วยอาวุธ

สมาชิกพคท. มีใครบ้าง
มีปัญญาชนที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบการปกครอง   มีนักการเมืองที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร   มีชาวบ้านที่อยู่ตรงข้ามกับข้าราชการในท้องถิ่น     และแม้แต่ชาวบ้านในถิ่นนั้นที่ช่วยเหลือ ๓ พวกที่กล่าวมา
แรงสนับสนุนจากนอกประเทศ มาจากประเทศแม่บทของคอมมิวนิสต์  ๒ ประเทศคือจีนแผ่นดินใหญ่ และโซเวียตรัสเซีย     รัฐบาลที่ถือนโยบายค่ายโลกเสรี ในยุคจอมพลสฤษดิ์  จึงเพิ่มกำลังในการปราบปรามพคท.  อย่างรุนแรงเพื่อให้สิ้นซาก     
นโยบายนี้ก็ดำเนินต่อเนื่องมาหลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรมแล้ว   ผู้สืบทอดคือรัฐบาลของจอมพลถนอมและจอมพลประภาส


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ธ.ค. 10, 11:52
การปะทะกันอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกระหว่างทหารตำรวจกับพคท. เกิดขึ้นเมื่อ ๗ สิงหาคม  เป็นที่รู้จักกันในนาม "วันเสียงปืนแตก" นับเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ด้วยอาวุธ

๗ สิงหา สู้บนทางปืน

คำร้อง วิสา คัญทัพ
ทำนอง กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ (จิ้น กรรมาชน)

ปัง ๆ คือเสียง เปรี้ยงปืนรัวร้อง ดังก้องป่า
ดังคำรามมา เป็นเพลงแห่งชัย ของประชา
นาบัวปืนรัว เพื่อนร่วมแนวทาง ทุกคน
ปืนธรรมคำรณ โค่นศัตรูร้าย

๗ สิงหาคม ระดมเพื่อนลุก ขึ้นยืนหยัด
ปืนปฏิวัติผงาดประจัญทหารกล้า
นักรบเกรียงไกรดวงใจศรัทธา นิรันดร์
ดังดวงตะวัน ทอแสงเรืองรอง

* พรรคคอมมิวนิสต์ ชี้ทิศนำทาง
ใสสว่าง ด้วยหนทางแห่งพรรคถูกต้อง
ภายใต้พรรคนำ กองทัพมุ่งไป ใฝ่ปอง
เพื่อไทยทั้งผองจะได้รุ่งเรือง

๗ สิงหาคมอุดมการณ์ของ ทหารป่า
อำนาจรัฐไทยนั้นจักได้มานั้นด้วยปืน
ขอผองเราจง รวมกันหยัดยืน สู้ทน
ก้าวสู่แห่งหนสู้บนทางปืน

http://www.youtube.com/watch?v=dsMaYv1-DKk

 ;D


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 10, 18:34
(ต่อ)
ฐานของพคท. อยู่ในชนบท เพราะยึดถือตามทฤษฎีของมาร์กซ์ ที่ถือมวลชนชาวไร่ชาวนาเป็นหลัก     ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม  กำลังของประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในชนบท    ชาวไร่ชาวนาถ้าเข้ากับคอมมิวนิสต์ได้ ก็จะเป็นกำลังให้พคท.จุดประกายแนวคิดสังคมนิยมได้แพร่หลายกว่าในเมือง   
ดังนั้นการปลุกระดมมวลชนจึงเริ่มในชนบท  กระตุ้นเตือนให้เห็นความสำคัญของแรงงาน   ไม่ต้องเกรงศูนย์อำนาจจากเมืองหลวง คือพวกข้าราชการอย่างเมื่อก่อน   
ในตอนแรก  พคท.ยังไม่มีกำลังพอ  ก็เคลื่อนไหวอย่างสันติ แค่ส่งเสริมชาวไร่ชาวนาให้เลื่อมใสสังคมนิยม  แต่ยังไม่แข็งกร้าวกับข้าราชการทหารตำรวจ เพราะไม่ต้องการจุดชนวนให้ทางการไหวตัว    จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ "วันเสียงปืนแตก "
ที่มาก็คือเมื่อมวลชนค่อยๆโตขึ้น ก็ถึงเวลาที่ทางการเริ่มเห็นปัญหา และลงมือปราบปราม  จนเกิดการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธขึ้น  พคท.จึงกลายเป็นนักรบเต็มตัว    ทางการขนานนามให้ว่า "ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์"

สงครามภายในประเทศระหว่างทางราชการ นำโดยรัฐบาล และสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา  กับอีกฝ่ายหนึ่งคือพคท. และแนวร่วม ได้รับการสนับสนุนจากจีนและเวียดนามเริ่มแผ่ขยายตัวมากขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์
เหตุการณ์การเมืองสำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง คือวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาชนและขบวนนิสิตนักศึกษาเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ  จนถูกรัฐบาลจอมพลถนอมปราบปรามด้วยอาวุธอย่างหนัก เป็นสงครามกลางเมือง   มีพคท.สายในเมืองเข้าร่วมด้วยกับประชาชน  และนิสิตนักศึกษา


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ธ.ค. 10, 08:36
(ต่อ)

วันสำคัญที่จำผิดเพี้ยน

วันเสียงปืนแตก ที่ถูกต้องคือ ๘ สิงหาคม ๒๕๐๘ (http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25380) ไม่ใช่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘ (http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25401)

 ;D


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 10, 17:59
(ต่อ)

วันสำคัญที่จำผิดเพี้ยน

วันเสียงปืนแตก ที่ถูกต้องคือ ๘ สิงหาคม ๒๕๐๘ (http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25380) ไม่ใช่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘ (http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25401)

 ;D

ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์รายละเอียดในเรื่องนี้   คนสัมภาษณ์ถามว่าเกิดอะไรขึ้นในวันเสียงปืนแตกวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘   คุณธงก็อธิบายให้ฟัง   แต่ไม่ได้แก้ว่า เป็นวันที่ ๘ สิงหาคม   
ขอลอกมาให้อ่านกัน

วันเสียงปืนแตก ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ความจริงในช่วงนั้นศูนย์กลางของพรรค ยังมีมติว่า พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ รักษาสภาพที่สงบเงียบ เพื่อทำให้เราเคลื่อนไหวใต้ดินได้สะดวก เคลื่อนไหวมวลชนได้ง่ายกว่า แต่เหตุปะทะขึ้นที่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร เกิดขึ้นเพราะสหาย๖-๗ คนลงไปทำงานมวลชนที่นั่น แล้วเขตนี้ไม่มีป่ากำบัง สายลับถูกสายรายงาน ตำรวจก็เลยระดมกันมาปิดล้อม มีการสู้รบกัน สหายชื่อเสถียรถูกยิงตาย สหายคนนี้เขามีความรู้ด้านการทหาร เพราะไปเคลื่อนไหวในลาวมาก่อน พอกระแสปฏิวัติในไทยสูงขึ้นเขาก็กลับมา พอถูกปิดล้อมก็ยิงสู้กัน นายตำรวจยศพันโทคนหนึ่งโดนยิงบาดเจ็บ ตัวแกเองก็บาดเจ็บ แกยืนหยัดสู้ตายให้สหายที่เหลือแหวกวงล้อมไป พวกตำรวจมาล้อมทั้งวัน เอาปืนครกมายิงถล่ม พวกเราก็ซุ่มเงียบอยู่ไม่เป็นไร จนมืดค่ำก็ค่อย ๆ คลานเล็ดลอดผ่านแนวปิดล้อมจากทุ่งราบขึ้นภูไปได้ ยกเว้นคุณเสถียรที่ยอมตายคุ้มกันให้สหาย พอดีวันนั้นผมไปประชุมที่ดงหลวง ออกมาถึงที่ธาตุพนมจะต่อรถเข้าไปนครพนม สังเกตว่าทำไมตำรวจทหารแห่กันมาเยอะแยะ สอบถามจึงรู้ว่าเกิดการปะทะกันที่บ้านนาบัว แล้วตำรวจมาปิดล้อม วีรกรรมครั้งนั้นถือเป็นเรื่องใหม่และใหญ่ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว ทางกรมการเมืองมีมติให้ถือว่าเป็นวันเสียงปืนแตก แต่ก่อนที่เราห้ามไว้ ว่าควรจะหลีกเลี่ยง แต่ปัจจุบันมีเงื่อนไขเป็นฝ่ายกระทำก็ไม่ใช่วิ่งหนี ต้องใช้วิธีนี้ติดอาวุธเพื่อป้องกันตัวเอง ต่อมาพวกตำรวจจำนวนน้อยจะไม่กล้าเข้าป่าเลย


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 10, 20:21
หลังจากนักศึกษาเป็นฝ่ายมีชัยชนะ ในเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  ทำให้จอมพลถนอมและจอมพลประภาสต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไป    ไทยก็ได้มีประชาธิปไตย   คือมีรัฐสภาจากส.ส.เลือกตั้ง  ปลอดจากรัฐประหารอยู่ ๓ ปี    ระหว่างนั้นกระแสสังคมนิยมเริ่มมาแรงในหมู่คนรุ่นใหม่     บ้านเมืองแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่ายคือซ้าย ได้แก่สังคมนิยม    และขวา คือผู้นิยมสถาบันเดิมๆที่ไทยเป็นอยู่  มีทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันทหาร และสถาบันนายทุน
ผู้นำนิสิตนักศึกษาในยุคนั้น มีธีรยุทธ บุญมี  เสกสรรค์ ประเสริฐกุล  จีรนันท์ พิตรปรีชา    ฯลฯ    ความแตกแยกในหมู่นักศึกษาเริ่มก่อตัวขึ้น เมื่ออาชีวะที่เคยเข้าร่วมกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยแยกตัวออกไป     นอกจากนี้ ความคิดใหม่ๆในแนวสังคมนิยมของนศ. เริ่มถูกต่อต้าน   จนถึงจุดระเบิดเมื่อจอมพลประภาสเดินทางกลับมาในต้นเดือนตุลา พ.ศ. ๒๕๑๙  ตามมาด้วยจอมพลถนอมซึ่งบวชเป็นเณรเข้ามา แล้วมาบวชเป็นพระในกรุงเทพ
นักศึกษาต่อต้านการกลับมาของสองจอมพลอย่างเปิดเผย     ความตึงเครียดนำไปสู่จุดระเบิดในวันที่ ๖ ตุลาคม  มีการล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นักศึกษาชุมนุมกันอยู่  โดยตำรวจและกลุ่มพลัง ๒ กลุ่มคือนวพลและกระทิงแดง    ปราบปรามนักศึกษาจนได้รับบาดเจ็บและตายกันไปหลายคน   ศพถูกนำมาแขวนและเผาที่สนามหลวง 

ผลจากเหตุการณ์นี้ ทำให้นักศึกษาที่รอดตายไปได้จำนวนมาก พากันหนีเข้าป่า เพื่อเอาชีวิตรอด  จะอยู่ในเมืองเพื่อสู้คดีพวกเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะพ้นอันตรายหรือไม่     ในวันเดียวกันนั้นก็เกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งหนึ่ง   เรียกว่า "คณะปฏิรูปการปกครอง" นำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่

จำนวนนักศึกษาที่หนีเข้าป่าไปสมทบกับพคท.  ทำให้กำลังของพคท.เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน   กลายเป็นปัญหาหนักของรัฐบาลที่ต้องสู้รบกันต่อมาอีกหลายปี


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 10, 10:08
       อย่างไรก็ตาม   นิสิตนักศึกษาที่เข้าป่าไปเป็นฝ่ายพคท.  พบว่าความคิดเห็นและวิธีปฏิบัติหลายๆอย่างของปัญญาชนรุ่นใหม่ ไม่สอดคล้องกับพคท.รุ่นเก่า   นานเข้าแทนที่จะผนึกกำลังกันเพื่ออุดมการณ์ร่วมกัน  ก็กลับกลายเป็นความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงระหว่างสมาชิกรุ่นเก่ากับสมาชิกรุ่นใหม่     แม้แต่สมาชิกรุ่นเก่าเอง ก็ขัดแย้งกันเรื่องการปฏิบัติตัวกับคนรุ่นใหม่      เหตุผลหนึ่งในหลายๆข้อคือภูมิหลังที่แตกต่างกัน   ความคิดอ่านของผู้คนคนละรุ่น ก็ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกันได้
        นานเข้า   นิสิตนักศึกษาก็เริ่มท้อใจในการดำเนินงานในป่า   บางคนก็เริ่มอยากจะออกจากป่ากลับมาบ้าน    ใครอยากรู้ความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่ ที่เข้าป่า    ลองไปหาหนังสือของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลมาอ่าน ก็พอจะมองเห็นภาพได้
        ทางฝ่ายรัฐบาลไทยกลับตัวทัน เมื่อตระหนักว่าการปราบปรามอย่าง ๖ ตุลาเป็นการดำเนินงานผิดพลาดไปเสียแล้ว    แผ่นดินไทยต้องเพิ่มพื้นที่สีแดงกันมากขึ้น  สิ้นเปลืองชีวิตทหารตำรวจและงบประมาณมหาศาลในการปราบปราม    ก็หันมาแก้เกมทางการเมืองด้วยวิธีการเมืองนำหน้าการทหาร    แทนที่จะเป็นปรปักษ์กับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างที่ทำกันมาสมัยจอมพลสฤษดิ์  ก็หันมาจับมือสร้างไมตรีเสียใหม่กับรัฐบาลจีน ผู้ให้การช่วยเหลือรายใหญ่ของพรรคพคท.   
        ทางจีนเองก็มีการเปลี่ยนนโยบายในเวลานั้น   เมื่อสิ้นสมัยของประธานเหมาเจ๋อตุง  นางเจียงชิงภรรยาของเหมา  กับพรรคพวกที่เรียกว่าแก๊งสี่คน ถูกโค่นอำนาจลง   เติ้งเสี่ยวผิง  ซึ่งเคยถูกนางเจียงชิงลงโทษอย่างหนักมาก่อนขึ้นสู่อำนาจแทน   ผู้นำคนใหม่เปลี่ยนนโยบายใหม่  เปิดประตูรับต่างประเทศ ในค่ายโลกเสรี  เพื่อผลดีแก่ประเทศจีนทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ       ดังนั้น นโยบายเดิมที่มุ่งเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์และควักกระเป๋าสนับสนุนผู้นิยมลัทธิในประเทศต่างๆ ก็ยุติลง     ประเทศจีนเลือกคบรัฐบาลไทยที่ทอดสะพานไมตรีเข้าไปหา
เมื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี   ขอให้รัฐบาลจีนยุติการส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุของพคท. ในประเทศจีน  เมื่อรัฐบาลจีนตกลงยินยอม     พคท. ก็มองเห็นจุดจบอยู่ข้างหน้า
          รัฐบาลไทยดำเนินการสืบเนื่องต่อไปเป็นผลสำเร็จ   พลเอกเปรม ติณสูลานนท์  ใช้ "การเมืองนำการทหาร"  แทนที่จะเป็น "ทหารนำหน้าการเมือง" อย่างยุคก่อนๆ     ประกาศนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓      นโยบายนี้คือ ให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อพัฒนาชาติไทย ไม่เอาผิดกฎหมายกับคนที่เข้าป่าจับอาวุธสู้กับรัฐ มีโครงการแจกที่ดินทำกินให้แก่ชาวบ้านที่ออกมามอบตัว   เมื่อรัฐเปิดช่องทางให้  ก็ส่งผลให้นักศึกษาและประชาชนที่ไม่อยากจะอยู่ในป่าอีกต่อไป   พากันออกมามอบตัวกันเกือบหมด ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตกต่ำ  และล่มสลายลงในเวลาอันรวดเร็วตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ เป็นต้นมา


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 10, 09:12
    ผลจากสหรัฐอเมริกาพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนามเมื่อพ.ศ. 2518 คือนโยบายการเมืองถูกกลับลำ    พอเริ่มทศวรรษ 2520  ยักษ์ใหญ่ของโลกนายทุนก็หันมาจับมือกับยักษ์หลับแห่งเอเชียซึ่งตื่นขึ้นมาแล้ว   พร้อมเปิดประตูรับประนีประนอมด้วย

    เดือนธันวาคม 2521 เวียดนามซึ่งอยู่ในคอมมิวนิสต์สายรัสเซีย บุกเข้ากัมพูชา   ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2522 จีนตอบโต้โดยบุกเข้าโจมตีเวียดนามเป็นการตอบแทน    ตอนนั้นพคท.มีฐานที่มั่นอยู่ในลาว  เวียดนามเกรงว่า พคท. ในลาวซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์สายจีนจะกลายเป็นหอกข้างแคร่   จึงผลักดัน พคท. ออกไปจากลาว  ยุติการส่งสัมภาระด้านอาหารและยาให้   ปิดพรมแดนด้านไทยและจีน ไม่ให้พคท. ใช้เป็นทางผ่าน รวมทั้งยื่นคำขาดให้ พคท. อพยพสำนักต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในลาวออกไปท้งหมด   ทำให้พคท.เจอวิกฤตหนัก เพราะความช่วยเหลือถูกตัดขาดไปหมด

    รัฐบาลไทยได้จังหวะเหมาะ ก็เจรจาต่อรองกับรัฐบาลจีนโดยขอให้ทางจีนยุติการสนับสนุน พคท. และเพื่อเป็นการตอบแทน ฝ่ายไทยจะจับมือกับจีน ช่วยกัมพูชาให้รอดพ้นจากเวียดนาม 
     ผู้แทนรัฐบาลไทย พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เดินทางไปปักกิ่งร่วมกับ พล.อ. พัฒน์ อัคนิบุตร และ พล.ท. ผิน เกษร โดยไปพบปะกับ เติ้ง เสี่ยว ผิง เพื่อเปิดการเจรจาให้ พรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ยุติความช่วยเหลือ ต่อความเคลื่อนไหวของ พคท. ชัดเจนที่สุดคือการขอให้ ยุติการออกอากาศสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) สถานีวิทยุคลื่นสั้นของพคท. ที่ส่งจากปักกิ่ง
     พคจ.ลงมติให้ปิดตามคำขอของรัฐบาลไทย   ดังนั้น สปท. ซึ่งเคยออกอากาศโจมตีรัฐบาลไทยต่อเนื่องยาวนานมาหลายปี  จึงมีการกระจายเสียงครั้งสุดท้ายวันที่ 11 กรกฎาคม 2522
   
      ปี 2524 เป็นปีวิกฤตศรัทธาของพคท. ผู้ปฏิบัติงาน พคท. ทะยอยออกจากป่า หลังจากรัฐบาลออกคำสั่ง 66/2523 ภายหลังมีคำสั่ง 65/2525 เรื่อง แผนรุกทางการเมือง ซ้ำอีกครั้ง ปฏิบัติการของ พคท. อ่อนกำลังลงทุกที
      ปี 2525 ศูนย์การนำย้ายจากภาคเหนือไปอยู่ภาคใต้,
      ปี 2530 ศูนย์การนำที่ย้ายมาอยู่ภาคตะวันตก สลายไปโดยปริยาย เนื่องจากระดับนำถูกจับกุมเป็นครั้งที่ 2
      ปี 2534 ผู้ปฏิบัติงานชุดสุดท้ายของ พคท. ในเขตงานภาคใต้ ออกจากป่า
      ถึงอวสานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 10, 11:06
ย้อนกลับมาที่ชีวิตของพ.ท.พโยม
นับแต่วันที่หนีตายออกจากบ้านบางโพ      ก็ไม่มีพ.ท.พโยม จุลานนท์อีกต่อไป   มีแต่ "สหายคำตัน" เข้าป่าที่ ต.ดงหลวง อ.นาแก จ.นครพนม หายไป   ไม่มีใครได้ข่าวคราวอีกเลย   จนกระทั่งปี 2510-2511 จึงเป็นที่รู้จักของสายข่าวทางทหาร ในฐานะผู้นำคนหนึ่งของ 'แนวร่วมรักชาติแห่งประเทศไทย'

ส่วนลูกชายคนโตซึ่งตัดสินใจเลือกอาชีพทหารเช่นเดียวกับพ่อ ปู่ และทวด  จบ จปร.รุ่นที่ 12  เข้ารับราชการติดยศร้อยตรี ในพ.ศ. 2508  ก้าวไปตามสายงาน จากนายร้อยเป็นนายพัน  และเลื่อนขึ้นเป็นลำดับจนติดยศพลเอก
ชีวิตราชการของพลเอกสุรยุทธ์   หนักหนาสาหัสกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน   นอกจากแบกภาระหนักตามหน้าที่ของทหารในช่วงประเทศไทยมีพื้นที่สีแดงอยู่ทั่วประเทศแล้ว    นามสกุล 'จุลานนท์' ก็เป็นที่เพ่งเล็งของทางการเป็นพิเศษ   เพราะกระทรวงกลาโหมเองก็รู้การเคลื่อนไหวและบทบาทของ "สหายคำตัน" มาโดยตลอด    ลูกชายซึ่งอยู่ในกองทัพบก จึงถูกเจ้าหน้าที่การข่าวติดตามแบบลับๆ อีกทั้งความหวาดระแวงของทางการ ยังส่งผลกระทบต่อหน้าที่ราชการของลูกชายพ.ท.พโยมด้วย

 แม้จะท้อ แต่พล.อ.สุรยุทธ์ก็ทำหน้าที่เต็มความสามารถ แสดงความเป็นผู้นำอย่างกล้าหาญในสมรภูมิรบ จึงได้รับหนังสือชมเชย และคำชมเชยจาก พล.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษในสมัยนั้น และเหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้น 1 จากจอมพลประภาส  จารุเสถียร ซึ่งถือว่าเป็นการปลดแอกความหวาดระแวงออกไปได้ในที่สุด


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 11, 22:22
ดิฉันไม่ทราบว่าพ.ท.พโยมรู้จักกับพคท.ตั้งแต่เมื่อไร   ในหนังสือบางเล่มบอกว่าตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ื2  เมื่อต่อต้านญี่ปุ่นด้วยกัน
แต่ก็กล่าวไว้สั้นๆ ไม่มีที่มาที่ไป      จึงไม่สามารถจะบอกได้ว่าจริงหรือไม่

อันที่จริงถ้าใช้คำว่า คอมมิวนิสต์ หรืออีกคำคือพคท.  ก็อาจไม่ได้ความหมายอย่างต้องการ   เพราะความคิดของพ.ท.พโยมไม่ได้อยู่ที่คอมมิวนิสต์หรือไม่ใช่คอมมิวนิสต์    ถ้าใช้คำว่า"สังคมนิยม" น่าจะถูกต้องกว่า
เพราะอุดมการณ์ของท่าน คือเห็นว่าในเมื่อประเทศได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕  แต่ทำไมจนแล้วจนรอด ความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็ไม่เห็นจะดีขึ้นจากเดิม     คนจนก็ยังจน  แต่คนรวยหยิบมือเดียวก็ยิ่งรวย   พ.ท.พโยมเห็นว่าระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ในความจริงไม่ได้ช่วยประชาชน    ถ้าจะให้ได้ผลดี ก็ควรเป็นสังคมนิยมที่เกลี่ยให้คนเสมอภาคกันมากกว่านี้

ส่วนลูกชายของพ.ท.พโยม เป็นนายทหารที่ยึดมั่นต่อหน้าที่  คือปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์   นอกจากนี้ก็เคร่งครัดต่อระเบียบวินัยสมกับเป็นทหาร  เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งมาอย่างใดก็ต้องปฏิบัติตามอย่างนั้น
เมื่อนโยบายของรัฐบาลคือปราบปรามคอมมิวนิสต์ในฐานะศัตรู    นายพันสุรยุทธ์ก็ต้องทำหน้าที่ตามนั้น

พ.ท.พโยมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านเสนาธิการของกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.) ซึ่งเป็น 'กองกำลังติดอาวุธ' ของพรรค   ด้วยความเป็นทหารเสนาธิการเก่า     ปฏิบัติงานอยู่ในเขตงานรอยต่อชายแดนไทย-ลาว
วางแผนโจมตีฐานปฏิบัติการห้วยโก๋น จ.น่าน อันเป็นการทดสอบกลยุทธ์ทางการทหารครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของ พคท.

พ.ท.พโยมมีสายสืบส่งข่าวความเคลื่อนไหวของทหารในกองทัพให้รู้เสมอ    ว่าลูกชายจะต้องปฏิบัติการในป่าไหนดงไหน  เมื่อไร
ทุกครั้งจะรู้ล่วงหน้า   
เมื่อรู้ก็หลีกเลี่ยงทุกครั้ง  มิให้ต้องเผชิญหน้ากัน   
พ่อเป็นฝ่ายวางแผนหลบหลีกการปะทะได้เก่งสมกับเป็นเสนาธิการเก่า      เพราะไม่ว่าฝ่ายไหนพลาดท่าเสียทีถึงตาย ก็เป็นเรื่องเศร้าโศกแสนสาหัสทั้งสิ้น   
ตลอดเวลาหลายปีของการปฏิบัติงานซึ่งบีบคั้นหัวใจทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายลูก   พ.ท.พโยมก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ทุกครั้ง    มิให้เกิดอนันตริยกรรมขึ้นมา


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 11, 11:51
จะว่าไปแล้ว อุดมการณ์ของพลอ.สุรยุทธ์ ที่ถือหน้าที่ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  กับอุดมการณ์ของพ.ท.พโยมที่มุ่งช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น   ไม่ใช่อุดมการณ์ที่ขัดแย้งกัน     เพียงแต่ว่า วิธีปฏิบัติเพื่อจะบรรลุถึงอุดมการณ์ต่างหากที่เป็นอุปสรรคใหญ่

รัฐบาลไทยตั้งแต่พ.ศ. 2475 ปฏิเสธแนวคิดสังคมนิยม มาตั้งแต่นโยบายเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์       ประกอบกับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เริ่มยุคสงครามเย็นที่โลกแบ่งเป็น 2 ค่ายใหญ่คือโลกเสรี และค่ายคอมมิวนิสต์    ไทยเลือกอยู่ฝ่ายโลกเสรีของสหรัฐอเมริกา  ก็ยิ่งทำให้แนวคิดสังคมนิยมเป็นสิ่งต้องห้ามหนักเข้าไปอีก
ความพ่ายแพ้ของปรีดี พนมยงค์ในกรณีกบฏวังหลวง และการลี้ภัยไปอยู่ในประเทศจีน  ก็ทำให้สังคมนิยมถูกกลืนหายไปในคำ คอมมิวนิสต์ ซึ่งกลายมาเป็นคำน่าสะพรึงกลัวของคนไทย      นโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่สืบเนื่องต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอม   ก็ใช้วิธีทำศึกสงครามในประเทศกันมาโดยตลอด    ดังนั้นผู้มีอุดมการณ์ทั้งสองฝ่าย จึงไม่อาจประนีประนอมกันได้   หนทางข้างหน้าก็มีแต่คำว่าแพ้และชนะเท่านั้น
พ.ท.พโยมกับพลเอกสุรยุทธ์ ก็เป็นแต่เพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆในเครื่องจักรใหญ่มหึมา   เครื่องยนต์ใหญ่หมุนไปทางไหน  ส่วนประกอบชิ้นเล็กๆก็ต้องหมุนไปตามนั้น  ไม่สามารถจะหมุนในทิศทางตรงกันข้ามได้
อย่างไรก็ตาม พ.ท.พโยมก็ยึดมั่นอยู่ในเรื่องหนึ่ง คือต่อสู้ด้วยตัวเอง กับสหายร่วมอุดมการณ์    รับความช่วยเหลือได้เพียงแค่อาวุธ แต่ไม่ยอมให้กองกำลังต่างชาติเข้ามาร่วมต่อสู้ในประเทศไทย  เพื่อเผด็จศึกกับคนไทย
เมื่อพคท.ตัดสินใจในทางตรงข้าม   พ.ท.พโยมก็ถอนตัวจากการปฏิบัติหน้าที่  อำลาชีวิตชายแดนไทยกลับไปอยู่ปักกิ่ง   ใช้ชีวิตอย่างสงบด้วยการเขียนตำราภาษาไทยให้คนจีนได้เล่าเรียน   ตำรานี้ยังใช้กันอยู่แม้เจ้าของตำราถึงแก่กรรมไปแล้ว


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 11, 20:51
พ่อกับลูกไม่ได้พบหน้ากันมานาน ตั้งแต่พ.ศ. 2506  มาพบกันอีกครั้ง เมื่อไทยกับจีนเปิดสัมพันธไมตรีกัน   พลเอกเปรม เป็นทูตไมตรีไปจีน  ได้พาพลเอกสุรยุทธ์ซึ่งขณะนั้นเป็นพันเอก   ร่วมขบวนไปด้วย    พ่อกับลูกจึงได้พบหน้ากันอีกครั้ง
ชีวิตตรากตรำมายาวนานในป่าทำให้สุขภาพของพ.ท.พโยมซึ่งย่างเข้าวัย 70 เสื่อมโทรมลงมาก    ตั้งแต่พ.ศ. 2521 พ.ท.พโยมป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นประจำ   แต่ก็ดีใจที่ได้พบหน้าลูกชายซึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่แล้วในตอนนั้น   พ่อกับลูกมีโอกาสพบกันชั่วระยะสั้นๆไม่กี่วัน   

จากพ.ศ. 2521 ถึงพ.ศ. 2523   พ.ท.พโยมกลายเป็นคนป่วยเรื้อรัง     แต่ก็สามารถติดต่อกับทางบ้าน ส่งข่าวคราวถึงกันได้   ภรรยาของพ.ท.พโยมคือคุณวรรณดีมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมสามีในช่วงนั้น     ลูกๆแต่ละคนโตเป็นหนุ่มสาวกันแล้ว  ก็ได้แต่ฟังข่าวจากแม่  ไม่มีใครมีโอกาสได้เดินทางไปจีน

ก่อนถึงแก่กรรมไม่นาน  พ.ท. พโยมเขียนจดหมายฉบับสุดท้ายถึงลูก ๓ คน     ดิฉันได้รับอนุญาตให้เปิดเผยบางส่วนได้  ส่วนที่ไม่เปิดเผย มิใช่เป็นความลับอะไร  แต่เป็นการเอ่ยถึงแบบส่วนตัวของพ่อๆลูกๆ ซึ่งเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องเอาออกมาให้สาธารณชนเห็น

จดหมายฉบับนี้มิได้เขียนโดยสหายคำตัน หรือนายทหารเสนาธิการชื่อพ.ท. พโยม   แต่เขียนโดยพ่อคนหนึ่งที่จำเป็นจะต้องห่างลูกไปไกล และยาวนานตลอดชีวิต   ไม่มีโอกาสกลับบ้านมาพบกันอีก    จะส่งข่าวถึงกันก็ไม่ได้
จนล่วงเข้าวัยชรา สถานการณ์เอื้ออำนวยให้ส่งข่าวถึงกันได้สะดวกกว่าเมื่อก่อนมาก     พ่อก็รู้ว่าเวลาเหลือน้อยเต็มทีแล้ว   อะไรที่อยู่ในใจของพ่อ  จึงถ่ายทอดออกมาให้ลูกๆเห็นและเข้าใจเป็นครั้งสุดท้าย     


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 11, 09:18
จดหมายหน้าต่อมา


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 11, 19:11
จดหมายหน้าต่อไป


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 11, 19:26
พ.ท.พโยมเขียนจดหมายฉบับนี้ในขณะที่ป่วยหนัก   แต่มิได้บอกให้ลูกๆรู้   
ขอย้อนกลับไปเล่าถึงสุขภาพอีกสักหน่อยว่า ท่านได้ใช้ชีวิตตรากตรำอยู่ในป่าดงมายาวนานเกือบ 20 ปี    สุขภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก  มีหลายโรครุมเร้าทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวานและเก๊าต์     โรคที่เป็นหนักที่สุดคืออัมพฤกษ์ เนื่องจากตกช้าง ทำให้เส้นประสาทในไขสันหลังทำงานไม่ปกติ เวลาเดินจึงเดินตรงๆ ดังเดิมไม่ได้ แต่ต้องเดินถัดด้านข้างๆ แทน   
สรุปว่า กว่าจะมีโอกาสออกจากป่ากลับไปรักษาตัวที่ปักกิ่งเมื่อพ.ศ. 2521  ท่านก็กลายเป็นชายชราทุพพลภาพไปเสียแล้ว   

เมื่อพบลูกชาย   ก่อนจากกัน พ.ท.พโยมได้ถ่ายรูปกับลูกชาย เพื่อให้ลูกเก็บไว้เป็นที่ระลึก  กว่าจะจัดท่าให้ถ่ายได้ ก็ต้องพยายามขยับตัวสุดแรงด้วยความยากลำบาก    ท่านจึงบอกลูกชายว่า
"เราคงจะได้พบกันครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว"

หลังจากเขียนจดหมายนี้ ในพ.ศ. 2523   พ.ท.พโยมก็ถึงแก่กรรมอย่างสงบที่ปักกิ่งนั่นเอง   พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดงานศพให้อย่างสมเกียรติ แต่ครอบครัวทางเมืองไทยไม่ได้ไปร่วมงานด้วย มีเพียงอัฐิของท่านถูกส่งคืนกลับมา     ได้นำไปเก็บไว้ยังวัดเพชรพลี จ.เพชรบุรี รวมกับบรรพชนในตระกูลจุลานนท์    ปัจจุบัน ก็มีญาติพี่น้องไปร่วมกันทำบุญทุกปี


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 11, 17:19
ขอขอบคุณคุณ Navarat.C  ที่กรุณาค้นคว้ารวบรวมเอกสารมาให้ คือ
๑   พลิกแผ่นดิน  ของประจวบ อัมพะเศวต
๒   เสวนาทางวิชาการ เรื่อง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในทรรศนะ นักวิชาการและนักการทหาร
๓   ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย   สัมภาษณ์โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, ธนาพล อิ๋วสกุล


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 11, 14:02
นึกว่าคงไม่มีอะไรให้เขียนอีกแล้วในกระทู้นี้   จึงปล่อยไว้นานหลายวัน
เมื่อวาน  ได้หนังสืออนุสรณ์งานศพคุณหญิงวิเศษสิงหนาถมาแล้ว  (ของเดิมที่ได้มาไม่รู้ว่าไปเก็บไว้ไหน    เล่มใหม่ได้รับความอนุเคราะห์มาค่ะ)
เลยอยากจะนำเสนอ ชีวิตของพ.ท.โพยมในวัยเยาว์ ที่น้อยคนจะรู้ได้ 
และอยากให้อ่านสำนวนภาษาของนายทหารคนหนึ่ง ซึ่งตอนเขียนหนังสือเล่มนี้  เขายังไม่รู้ว่าตัวเองจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย   

ขอเริ่มด้วยคำสรุปท้ายเรื่อง

      "เป็นเวลา ๘ ปีแม่โอบอุ้มกอดลูกไว้ใน "อ้อมอก"  ยืนหยัดแต่เดียวดายด้วยลำขาทั้งสองของผู้หญิง    โต้กับลมร้ายทั้งพายุฝุ่น  พายุฝน ลมหนาว ลมร้อน ฯลฯ  เวลา ๘ ปีนั้นยาวนานมิใช่น้อยสำหรับชีวิตที่แหวกว่ายอยู่ในท้องทะเลของความว้าเหว่ยากเข็ญ   ด้วยพลังของความกล้าหาญมานะอดทน    ในที่สุดแม่ก็สามารพฟันฝ่าเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง    ทำให้ครอบครัวที่แตกแยกระหกระเหิน ได้กลับคืนมาสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน    พาลูกมามอบสู่ "อ้อมกอดของพ่อ" เพื่อช่วยกันสร้างวิถีชีวิตของลูกต่อไป
      " อ้อมอกแม่" นั้นกว้างใหญ่ยิ่งนัก    ภาระของแม่หาได้ยุติลงแต่เพียงแค่นี้   "อ้อมอกแม่" สุดที่จะจารึกลงไว้  เพียงเฉพาะในเรื่องของชีวิตแต่สั้นๆ   สร้างพลังแห่งความมานะอดทนกล้าหาญ    สร้างความรู้ผิดรู้ชอบ  รู้เหตุรู้ผล      แม่เป็นผู้วางพื้นฐานในการต่อสู้ให้ลูก  เพื่อจะได้มีชีวิตยืนหยัดต่อสู้บนผืนแผ่นดินใหญ่ในโลก     ในสังคมที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายทุกข์ยาก     แม่เป็นอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง ที่สร้างปรัชญาแห่งชีวิตให้แก่ลูก   พระคุณของแม่มหาศาลล้นเหลือ
     " อ้อมอกแม่" หาได้จบลงเพียงแต่เท่านี้ มิได้"


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 11, 18:46
พ.ท.พโยมเล่าว่าตั้งแต่จำความได้  ก็อยู่กับแม่เพียงลำพังสองคนแม่ลูก ที่เรือนเล็กชายไร่ริมทางเกวียน ข้างกำแพงเมืองโบราณ ในตัวเมืองเพชรบุรีเก่า  เรียกกันสมัยนั้นว่า "บ้านท่าหิน"  แม้ว่าอยู่ในละแวกเครือญาติ  แต่แม่ลูกก็อยู่กันอย่างโดดเดี่ยว

ในเรื่องไม่ได้บอกอายุ แต่คำนวณจากอายุพ.ท.พโยมที่มีในประวัติ และปีเกิดของมารดา ก็บอกได้ว่าแม่อายุ ๒๑ เมื่อมีลูกชายคนแรก

ส่วนพ่อไม่ได้อยู่ในบ้าน   เด็กชายพโยมเข้าใจจากคำบอกเล่าของแม่ว่า พ่อเป็น "คุณพระ"  จึงเข้าใจว่าพ่อนุ่งเหลืองห่มเหลืองมารับบาตรหน้าบ้าน   ให้เด็กชายวิ่งออกไปไหว้ เรียก "คุณพ่อ คุณพ่อ"
ตอนเช้าๆมี "พ่อ" จำนวนมากตามทาง  สายก็หายไป   วันไหนแม่ยุ่งกับงาน  เด็กชายพโยมก็เดินต่อท้ายแถว "พ่อ" ไปที่บ้านของพ่อซึ่งงดงามด้วยช่อฟ้าใบระกา   พ่อก็เลี้ยงข้าวขนมส้มสูกลูกไม้เสียอิ่ม    พอแม่รู้ว่าหายไปก็ตามมาถึงวัด  รับลูกกลับไปบ้านตามเดิม
เรื่องนี้ทำให้แม่ยุ่งยากใจ  จนต้องแก้ไขใหม่ว่า พ่อเป็นทหาร ไม่ได้เป็นพระ   
คราวนี้ก็เหมือนกัน   ถ้ามีทหารคนไหนในเครื่องแบบเดินผ่านหน้าบ้านมา ไม่ว่าพลทหารหรือนายสิบ ก็จะเจอเด็กชายตัวเล็กๆ เนื้อตัวมอมแมมด้วยฝุ่นดินทราย วิ่งออกไปเกาะมือเรียกว่า "พ่อ  พ่อ" อย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 11, 10:52
แม่กับลูกอยู่กันลำพังสองคน  แต่ในยามค่ำคืนมีคนอยู่ร่วมบ้านอยู่ด้วยอีก ๒ คน   เป็นตายายคู่หนึ่งซึ่งพ.ท.พโยมบอกว่าไม่ได้เป็นญาติกัน   แต่ทำไมถึงมาอาศัยด้วย ท่านไม่ได้เล่าความเป็นมาเอาไว้    เข้าใจจากคำบอกเล่าว่า มารดาของท่านน่าจะให้อยู่อาศัยในฐานะผู้อาศัย หรือบริวารกลายๆ    ไม่ใช่อยู่ระดับเดียวกับเจ้าของบ้าน
พ.ท.พโยมเรียกว่า "ตายายคู่นี้เป็น "แบบฉบับ" ที่ถ่ายทอดชีวิตแบบหนึ่งของชาวเมืองเพชร"
ยาย อายุ ๖๐ กว่า   แต่เป็นคนหาเลี้ยง "ตา"  ตื่นเช้าก็กระเดียดกระทายใบเล็ก  บรรจุสัมภาระที่จำเป็น ที่ขาดมิได้คือหมากพลูพร้อมตะบันหมาก  ตระเวนรับจ้างเป็นหมอนวดไปทั่วบ้านทั่วเมือง  กว่าจะกลับบ้านก็ค่ำ รายได้วันๆหนึ่งก็ตกราวเฟื้องหนึ่ง (คือครึ่งสลึง) หรือหนึ่งสลึง (๒๕ สตางค์)   ถ้าโชคดีก็ได้ถึง ๒ สลึงหรือครึ่งบาท
พอกลับถึงบ้าน ยายก็ขมีขมันหุงหาอาหาร

ส่วน ตา เป็นชายอายุราว ๔๐ ปี คือคราวลูกของยาย    ไว้ผมทรงปันหยี  ไว้หนวดที่ริมฝีปากบนอย่างงาม
ผมทรงปันหยี น่าจะพ้นจากความเข้าใจของคนไทยไปแล้ว     เป็นผมผู้ชายที่ยาวประบ่า   มีที่มาจากทรงผมของอิเหนาเมื่อครั้งแปลงเป็นโจรปันหยี     พ.ท.พโยมเล่าว่าเป็นแฟชั่นทรงผมผู้ชายในตอนที่ท่านเป็นเด็ก  ก็ราวต้นรัชกาลที่ ๖   
แต่เป็นละครอิเหนาเล่นกันแบบไหน ที่ไหน ท่านไม่ได้บอกไว้    ดิฉันสันนิษฐานว่าเป็นละครนอกวัง  หรือไม่ก็ลิเก  ชาวบ้านถึงดูกันจนติดอกติดใจ

ตาเป็นผู้ชายซึ่งไม่ได้ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน     ตื่นมาก็ออกจากบ้าน ไปขลุกอยู่ตามบ่อนเบี้ย รับจ้างเป็นยามดูต้นทาง  บางทีก็ฝากเงินเข้าหุ้นเล่นพนัน     เย็นก็ดักยายที่หัวถนนเพื่อเอาเงินค่าจ้างนวดของยายไปกินเหล้า    ได้เงินไปไม่กลับบ้านจนรุ่งเช้า
วันไหนยายหาเงินได้น้อย ตาก็ด่าเอ็ดอึง    เปลี่ยนคำเรียกยายจาก "แม่" เป็น "อี" ส่วนยายเรียกตาว่า "พ่อ" ซึ่งเป็นคำสุภาพเสมอต้นเสมอปลาย
แต่ตายำเกรงมารดาของพ.ท.พโยมอยู่มาก    ถ้าทะเลาะด่าทอยายเสียงดัง  ถูกมารดาหรือควรจะเรียกว่า "คุณนายนเรนทร์รักษา" ตามบรรดาศักดิ์ของสามี ดุเอา ก็จะเงียบไม่กล้าเถียง  หลบออกจากบ้านไปเงียบๆ ชั่วคราว  ส่วนใหญ่ก็ไปกินเหล้าเมามายอยู่ในร้านเหล้า

อย่างไรก็ตาม พ.ท.พโยมบันทึกว่าตาเป็นคนใจดี รักเด็ก รักษาวาจาสัตย์  และเกรงใจมารดาของท่านมาก    ดูตามนี้ ตาน่าจะทำหน้าที่พี่เลี้ยงของเด็กชายพโยมด้วย

ถ้าถามว่าแม่ลูกยังชีพมาอย่างไร เมื่อไม่มีหัวหน้าครอบครัวหาเลี้ยง  คำตอบคือมารดาของพ.ท.พโยมมีสวนเล็กๆอยู่ประมาณ ๓ ไร่   ปลูกกล้วย  มะม่วง กระท้อน ชมพู่ ฯลฯ  พอขายได้  ประกอบกับเป็นคนขยัน  ไม่ว่าอะไรก็หยิบจับมาเป็นเงินได้ทั้งสิ้น แม้แต่เก็บใบตอง  ยอดตำลึง ยอดชะอม  กรีดเชือกกล้วย     มีลูกชายตัวน้อยๆเป็นคนช่วยแม่ขายอยู่ในเพิงใบตาลหน้าบ้าน
   


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 11, 10:43
แม่ดิ้นรนเลี้ยงชีวิตกับลูกชาย ด้วยความหวังว่าพ่อจะกลับมาเป็นแสงสว่างให้ครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง    ความหวังของแม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน จากบรรดาญาติในละแวกนั้น  บางคนก็ถึงกับเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ     แต่ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร แม่ก็ยังคงยืนหยัดกับความหวัง ไม่หวั่นไหวหรือท้อถอย

คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของแม่ ที่พ.ท.พโยมชื่นชม คือเป็นผู้มีสายตากว้างไกลเรื่องการศึกษา   ยุคของแม่ ผู้หญิงไม่ได้เล่าเรียนเขียนอ่าน  ยิ่งผู้หญิงในชนบทแล้วเรื่องนี้ไม่จำเป็นเอาเลย   เพราะเด็กผู้หญิงถูกสอนมาให้อยู่กับบ้าน  หัดดูแลบ้าน ทำกับข้าว เตรียมจะเป็นแม่เรือนต่อไปในอนาคต    ถ้าหากว่าประกอบอาชีพก็คือสืบต่อจากพ่อแม่ เช่นทำสวน ทำนา ทำไร่    ส่วนอ่านเขียนหนังสือเป็นเรื่องของผู้ชายโดยเฉพาะ 
แม่ของพ.ท.พโยมมีความคิดก้าวหน้ากว่าพี่น้องด้วยกัน  จึงหัดเรียนจากหนังสือของญาติคนหนึ่ง จนกระทั่งอ่านออกและเขียนถ้อยคำง่ายๆได้      แม้ไม่สามารถจะอ่านวรรณคดีสูงๆยากๆได้ แต่ก็ชอบกาพย์กลอนโคลงฉันท์    มีโอกาสก็ฟังคนอื่นอ่าน และท่องขึ้นใจตั้งแต่บทกวี ดอกสร้อย สุภาษิตและคำพังเพย เอามาสอนลูก

แม่ตั้งใจจะให้การศึกษาแก่ลูกชายอย่างดีที่สุด     เรื่องส่งเข้าร.ร. แทบจะสุดเอื้อม  เพราะทั้งจังหวัดมีร.ร.รัฐบาลอยู่แห่งเดียว   ตั้งอยู่ในตัวเมืองซึ่งไกลจากบ้านท่าหิน  ไปมาไม่สะดวก   แม่เองก็มีภาระเต็มมือในการเลี้ยงชีพ  เงินทองก็จำกัด     อุปสรรคเหล่านี้ทำให้ไม่อาจส่งลูกชายซึ่งเป็นถึงบุตรของนายพันโทพระนเรนทร์รักษาไปเข้าร.ร.อย่างลูกข้าราชการอื่นๆได้     
ทางเลือกของแม่คือส่งลูกชายเข้าเล่าเรียนแบบผู้ชายโบราณทำกัน คือไปเป็นลูกศิษย์วัด  พึ่งพระสงฆ์ให้ท่านสอนเขียนอ่านให้
พ.ท.พโยมจึงถูกส่งตัวเข้า "วัดป้อม"  ซึ่งตั้งอยู่ที่ป้อมร้างข้างตัวเมืองโบราณของเพชรบุรี   เป็นวัดใกล้บ้านที่สุด

พ.ท.พโยมบรรยายการศึกษาในวัดเพชรบุรีไว้ค่อนข้างละเอียด   จะลอกมาให้อ่านกันค่ะ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 11, 17:24
    พ.ท.พโยมเล่าถึงการศึกษาไทยเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน ว่า
   "สภาพการศึกษาของจังหวัดนี้ โดยทั่วไปยังรักษาระบอบเก่าอยู่เกือบทั่วไปดังกล่าว  คือเด็กผู้ชายจะถูกส่งไปเป็นลูกศิษย์วัด   ขณะเดียวกันก็ศึกษาอักขระวิธีจากวัด    เท่าที่วัดไหนจะมีพระอาจารย์ที่รอบรู้อักขรวิธี    ถ้าวัดไหนมีพระอาจารย์ที่คงแก่เรียน มีศิลปในการถ่ายทอด   วัดนั้นก็เป็นสำนักศึกษา มีชื่อเสียง  มีลูกศิษย์ลูกหามากมายกว้างขวาง    
     อนึ่งการถ่ายทอดวิทยาการก็มิใช่จะมีเฉพาะเพียงอักขระวิธีแต่เท่านั้น    พระอาจารย์แต่ละสำนักต่างก็มีวิทยาการเฉพาะที่ชำนาญต่างๆกัน  เช่นบ้างก็มีชื่อเสียงในการถ่ายทอดอักขระวิธี   บทกวี กาพย์ กลอน  บ้างก็มีศิลปวิทยาในทางช่างไม้  ช่างแกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก    บ้างก็มีชื่อเสียงในการเขียนลายไทยด้วยหมึก หรือรงค์(สีน้ำอย่างหนึ่ง)  เช่นภาพชาดกหรือรามเกียรติ์   ซึ่งในนั้นได้ฝากศิลปวัฒธรรมแห่งยุค  ที่มีเนื้อหาของประชาชาติเข้าไว้    บ้างก็มีฝีมือในทางดินไฟ  วัตถุระเบิด ทำพลุ ดอกไม้ไฟ โคมลอย ตะไล จรวด ฯลฯ   บางวัดก็รวบรวมครูบาอาจารย์มาฝึกอบรมนาฏศิลป์  เช่น หนังตะลุงและโขน   ซึ่งมีศิลปินเป็นชายล้วนๆ  
     แม้ที่สุด  บางพระอาจารย์ยังสามารถถ่ายทอดวิชากระบี่กระบอง  ไม้สั้นไม้ยาว และเพลงมวย ฯลฯ"

     พ.ท.พโยมถ่ายทอดภาพการศึกษาในวัดเพชรบุรีได้ละเอียดลออ     มองเห็นภาพว่าสมัยนั้นในวัดคงคึกคักด้วยกิจกรรมต่างๆ ไม่เฉพาะแต่หัดให้ลูกศิษย์เขียนบนกระดานชนวนเท่านั้น     ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้วิชาเหล่านี้ยังพอเหลืออยู่บ้างหรือเปล่า     แต่เดาว่าไม่เหลือแล้ว  เพราะย้ายเข้าไปอยู่ในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยกันหมด  


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 11, 20:38
        เป็นที่รู้กันว่าเพชรบุรีเป็นเมืองของช่างฝีมือไทย   วัดป้อมสมัยนั้น(ช่วงต้นๆของรัชกาลที่ ๖)มีเจ้าอาวาสชื่อพระครูฉิม  แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกขานว่า "คุณพ่อวัดป้อม" (สมัยนี้คงเรียกว่าหลวงพ่อวัดป้อม)  ท่านเป็นครูมีฝีมือยิ่งใหญ่เรื่องภาพเขียนลายเส้น  และสีรงค์เชิงลายไทย  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องรามเกียรติ์     นอกจากนี้ยังมีฝืมือทางแกะสลักลวดลายแผ่นหนังตะลุง เรื่องรามเกียรติ์อีกเช่นกัน
       หนังตะลุงสำนักวัดป้อมขึ้นชื่อในความอ่อนช้อย  แต่ละตัวมีชีวิตจิตใจ สะท้อนลักษณะตัวละครได้โดดเด่น  ขนาดที่ว่าเมื่อท่านพระครูมรณภาพแล้ว  แผ่นหนังฝีมือท่านทั้งใหญ่และเล็ก  ถูกส่งมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
      หลวงพ่อแม้มีฝีมือยอดเยี่ยมทางจิตรกรรม แต่ท่านก็มองเห็นความจำเป็นทางอักษรศาสตร์  ว่าการเขียนอ่านเป็นพื้นฐานของวิชาทั้งปวง     ท่านจึงเสาะแสวงหาครูสอนหนังสือเก่งๆมาสอนประจำในวัด     ไม่จำเป็นต้องเป็นพระสงฆ์ด้วยกัน  เป็นฆราวาสก็ได้ 
       สมัย ๑๐๐ ปีก่อนครูสอนหนังสือตามหัวเมืองหายาก  พ.ท.พโยมเปรียบเทียบว่า "หายากดังสังกรณีตรีชวา"   คนรุ่นนี้อาจไม่รู้ว่ามันคืออะไร  แต่ถ้าใครอ่านรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑ คงจำได้ว่ามันคือตัวยาที่หนุมานไปเสาะหามาจนได้ เพื่อแก้ไขอาการของพระลักษมณ์ให้ฟื้นจากถูกหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณ   กว่าจะได้ก็ต้องเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกันอยู่พักใหญ่
         ครั้นถึงสรรพยาสิงขร                วานรลงเดินริมเนินผา
ร้องเรียกสังกรณีตรีชวา                   อยู่ไหนออกมาอย่าช้าที
ได้ยินขานข้างล่างลงไปค้น              กลับขึ้นไปกู่อยู่บนคิรีศรี
จึงเอาหางกระหวัดรัดคิรี                 มือกระบี่คอยจับสรรพยา ฯ
        ครู ' สังกรณีตรีชวา' ที่ว่านี้ชื่อ ครูช่วง เป็นชาวเมืองหลวง แต่พเนจรไปอยู่ถึงเพชรบุรีเพราะอะไรไม่มีใครทราบ   พ.ท.พโยมทราบประวัติเพียงเลาๆว่าเป็นญาติห่างๆของพันโทพระนเรนทร์รักษา  แต่ติดตามคุณพระไป หรือไปเองก็ยังสืบความไม่ได้   สรุปได้แต่ว่าครูช่วงน่าจะประสบความยากเข็ญบางประการ   ก็หันหน้าเข้าพึ่งวัด   หลวงพ่อฉิมท่านก็รับไว้ด้วยความยินดี  จ้างให้เป็นครูสอนหนังสือในวัด



กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 11, 22:57
ครูช่วงในความทรงจำของพ.ท.พโยมเป็นชายร่างเล็กผอมบาง   ทุพพลภาพอย่างหนึ่งคือมือซ้ายพิการ  จนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "ครูช่วง มือแป"
แต่ครูที่มือแปนี่แหละ  เป็นครู "มือดี" เป็นที่เลื่องลือของวัดป้อม ในการสอนทั้งความรู้  และทั้งอบรมสั่งสอนลูกศิษย์อย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อให้ได้วิชาความรู้   มือข้างดีของครูกำไม้บรรทัดหรือไม่ก็ไม้เรียวไว้ขัดเกลาลูกศิษย์ทั้งเล็กและโต    ไม่มีข้อละเว้นแม้แต่เด็กชายพโยมซึ่งนับได้ว่าเป็นหลานน้อยที่แม่ฝากฝังให้ไปเรียน

การวางตัวของครูช่วงทำให้นึกถึงครูรุ่นเก่าที่มักจะมีอยู่ทุกโรงเรียน  ขึ้นชื่อลือชาในความดุและเข้มงวด    ไม่เห็นแก่หน้าใคร ไม่ตามใจนักเรียนคนไหน   คำว่าคะแนนนิยมเป็นยังไงไม่รู้จัก      รู้แต่ว่าถ้านักเรียนดื้อ ซน หรือไม่ทำตามคำสั่ง   ก็โดนไม้เรียวหรือไม้บรรทัดกันทุกคน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ดีกรีความถูกผิด    ครูพวกนี้ตอนสอนลูกศิษย์มักจะแอบเกลียดและกลัว   แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะรำลึกถึงพระคุณที่ตั้งอกตั้งใจสอน    และอบรมบ่มนิสัยให้มีระเบียบ  นอกเหนือจากมีวิชาความรู้
พ.ท.พโยมก็รำลึกถึงครูช่วงด้วยความรู้สึกเช่นนี้

เด็กชายพโยมดื้อและซนหรือไม่  ท่านไม่ได้กล่าวถึงตัวเองไว้   แต่เล่าว่า ตั้งแต่เด็กๆ ท่านมีหัวในการวาดรูป  กระดานชนวนในวิชาครูช่วง แทนที่จะมีตัวอักษร กะ ขะ คะ งะ  กลับมาลายเส้นหน้ายักษ์หน้าลิงอยู่แทน     ครูเจอเมื่อไร  ไม้บรรทัดในมือข้างดีของครูก็ทำหน้าที่กระหน่ำก้นลูกศิษย์เมื่อนั้น


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 11, 22:50
เกร็ดเล็กๆที่พ.ท.พโยมแทรกไว้ในชีวิตวัยเด็ก คือเรื่อง ดินสอ
ดินสอ ที่เป็นที่มาของ เครื่องเขียนที่เราเรียกว่า "ดินสอ" เดี๋ยวนี้    เดิมเป็นดินจริงๆ ประเภทหนึ่ง เรียกว่า "ดินสอ  มีมาก่อนดินสอหินที่ใช้เขียนกระดานชนวน
เพชรบุรีเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน  กระดานชนวนยังหายากในหัวเมือง    นักเรียนใช้แผ่นไม้ซึ่งหาง่ายกว่า ทาด้วยเขม่าไฟ ซึ่งหาได้ตามครัวเรือนทั่วไป ผสมน้ำข้าว  ให้เป็นของเหลวสีดำ แล้วทาบนแผ่นไม้เหมือนทาสีดำ    จากนั้นขุดดินสอสีเหลืองมันปู จากบ่อดินชนิดนี้ มาทำเป็นแท่งเขียน
ดินสอ เป็นดินที่กินได้  มีกลิ่นหอมและรสมัน    นักเรียนคนไหนซุกซนกัดกินดินสอเล่นก็มีคราบเหลืองติดปาก    เป็นเหตุให้ได้รับรางวัลจากไม้เรียวครูช่วงอยู่เนืองๆ

คำอธิบายของพ.ท.พโยมในเรื่องนี้ทำให้นึกถึง สี่แผ่นดิน ตอนแม่พลอยแพ้ท้องลูกคนแรก อยากกิน  "ดินสอ"  ร้อนถึงนางพิศและนางเทียบแม่ครัวต้องไปซื้อมาจากตลาด  ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ  ใส่โหลอบควันเทียนให้กิน   แม่พลอยก็นั่งกินทั้งวันทั้งคืนอย่างเอร็ดอร่อย จนคุณเปรมนึกฉงนขอกินบ้าง
พอกินใส่ปากเคี้ยว คุณเปรมก็เบะหน้าคายทิ้ง ร้องว่า
"กินเข้าไปได้ยังไง แม่พลอย"
ดิฉันไม่เคยเห็นดินสอ     ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นยังไง   คงจะเป็นดินสอชนิดนี้ก็เป็นได้นะคะ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ม.ค. 11, 18:35
วันหนึ่ง รางวัลไม้เรียวกำลังกระทบก้นเด็กชายพโยม จากหน้ายักษ์หน้าลิงที่อยู่เต็มกระดานตัวสะกด    เจ้าอาวาสมาเจอเข้า สอบสวนได้ความ   เมื่อเห็นฝีมือเด็กชายว่ามีแววทางศิลปะ  ท่านก็เรียกตัวไปฝึกสอนให้เป็นพิเศษ   และยังครอบครูให้อีกด้วย  เพื่อมิให้ฟั่นเฟือนเสียคนไป  ตามความเชื่อสมัยนั้น
แต่เด็กชายพโยมก็ไม่ได้ใช้วิชาศิลปะที่เรียนมา   ชะตาหันเหไปทางอื่นแทน

การเรียนในวัดไม่มีกำหนดประถม มัธยม  เด็กชายเรียนกันไปเรื่อยจนอายุพอจะบรรพชาเป็นสามเณร หรือบวชเป็นภิกษุ  แล้วแต่ว่าพ่อแม่จะให้เรียนมากน้อยแค่ไหน   
จุดมุ่งหมายของมารดาคือให้ลูกชายเรียนจนสอบเปรียญธรรมได้    ก่อนมาอยู่วัดป้อม   ท่านก็ส่งลูกชายวัย ๔ ขวบไปกินๆเล่นๆอยู่ที่วัดสิพลี  เจ้าอาวาสที่นั่นเมตตาเอ็นดูหาข้าวและขนมให้กิน    โตขึ้นก็มาเรียนที่วัดป้อม   เด็กชายพโยมน่าจะไปตามทางที่แม่วางไว้ให้  แต่ก็ไม่ได้ไปตามทางนั้นอยู่ดี   เพราะกระแสที่มาแรงกว่า คือกระแสครูช่วง

ครูช่วงเป็นชาวกรุงเทพ  แม้มาอยู่ถึงเพชรบุรี ก็ยังหูตากว้างไกลว่าชาวบ้านทั่วไป  เรียนหนังสือมาอย่างคนเมืองหลวง   ไม่ได้เรียนจากวัดอย่างคนอื่นๆ     เมื่อมีเวลาว่าง  ครูก็เล่าให้เด็กชายผู้เป็นหลานฟังถึงโรงเรียนในกรุงเทพว่าเป็นอย่างไร  เขาเรียนอะไรกันบ้าง  เปิดโลกทัศน์ให้เด็กชายพโยมได้หูตากว้างกว่าเด็กอื่นๆ     
ความคิดของเด็กชายจึงมุ่งมั่นไปในทางก้าวหน้า  มากกว่าเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน   ประกอบกับรู้เรื่องบิดาจากครูช่วงว่าท่านเป็นทหารยศใหญ่  เป็นถึงนายพัน   จินตภาพของเด็กชายจึงเริ่มก่อตัวขึ้นไกลกว่าเดิม    ขนาดเห็นทหารที่ไหนไม่ว่านายสิบหรือพลทหาร ก็ชอบวิ่งตามไป  บางทีก็เลียนแบบ ดึงกางเกงให้พองๆแบบที่ทหารใส่กันอยู่ตอนนั้น
ความใฝ่ฝันของเด็กชายพโยม เป็นเรื่องเจ้าตัวรู้คนเดียว   มารดายังไม่รู้เรื่องนี้     ภาระอย่างหนึ่งที่ท่านเริ่มทำเมื่อลูกชายโตพอจะทิ้งไว้ทางบ้านได้แล้ว  ก็คือเข้ามาติดตามถามหาข่าวคราวสามี ในเมืองหลวง


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 11, 21:41
พ.ท.พโยมเล่าถึงเส้นทางเดินทางระหว่างเพชรบุรีกับกรุงเทพในสมัยนั้นไว้ชัดเจน      ท่านบอกว่าสมัยแม่ของท่าน  มีเส้นทางแบบเดียวคือเดินทางเรือ  ถ้าไม่ลงเรือฉลอมจากปากน้ำเพชร(บ้านแหลม)ออกทะเลมาเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยา     ก็ลัดมาตามลำน้ำแม่กลอง แล้วมาจอดเทียบเรือที่ปากคลองตลาด  หรือปากคลองบางหลวง     ต้องนอนค้างอ้างแรมกันตามทาง   
สรุปว่าใช้เวลานานกว่าสมัยนี้นั่งเครื่องบินไปอเมริกาสองหรือสามเท่า
แต่พอมาถึงปลายรัชกาลที่ ๕   ก็มีเส้นทางรถไฟเพิ่มขึ้นอีกทาง  สะดวกกว่าทางเรือ    ส่วนทางรถไม่ต้องพูดถึง เพราะสมัยนั้นทั้งสยามมีรถอยู่ไม่กี่คัน   ถ้าไม่ใช่รถยนต์หลวง ก็เป็นรถของเจ้านายและขุนนางระดับสูง      รถยนต์เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏแก่ตาของชาวเมืองเพชร 
อย่าว่าแต่รถยนต์  แม้แต่ใครขี่จักรยานไปให้เห็น  รับรองว่าประชาชนจะต้องแตกตื่นกันเข้ามามุงว่ามันเป็นอะไรกัน     เพราะทั้งเมือง พาหนะที่ทันสมัยที่สุดคือรถม้า  มีรถม้าเปิดปิดประทุนได้  พ.ท.พโยมเรียกว่ารถกู๊บ หรือ coupe    รถดอกการ์ท(dogeart) เป็นรถม้าขนาดเล็กเทียมม้าเดี่ยว    รถ wagon คือรถม้าบรรทุกใช้ขนของ  มีทั้งรถส่วนตัวและรถรับจ้าง  แต่คนที่มีรถม้าส่วนตัวได้ก็ต้องระดับข้าหลวง หรือผู้บังคับการทหาร


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 11, 19:46
ถึงมีรถไฟให้ความสะดวกสบายกว่าเดินทางเรือ   การไปเมืองหลวงก็ยังลำบากยากเย็นอยู่นั่นเองสำหรับแม่ลูก   เพราะบ้านที่บ้านท่าหินอยู่ห่างสถานีในเมืองประมาณ ๔  ก.ม.   ถ้าจะจ้างรถม้ามารับ และเอาสัมภาระขนใส่รถม้าโดยสารก็จะแพงโดยใช่เหตุ      มารดาจึงหันมาจ้างแรงงานคนที่ถูกกว่า คือจ้างคนหาบหามไปแทน   
คนหาบพวกนี้ เหมือนแม่ค้าหาบของ  คือตะกร้าข้างหนึ่งใส่สัมภาระของใช้ที่หอบหิ้วไปด้วย  อีกข้างหนึ่งใส่เด็กชายพโยม ซึ่งโตเกินกว่าจะอุ้มไป  แต่ก็เล็กเกินกว่าจะเดินได้ถึง ๔ ก.ม. ในรวดเดียว     คนหาบซึ่งเป็นผู้หญิงก็หาบเด็กและข้าวของเดินไปตามทาง  มีแม่เดินบ้างวิ่งบ้างตามไปด้วย   
ค่าจ้างแท้ถูกกว่าจ้างรถม้า แต่ก็ถือว่าไม่น้อยสำหรับครอบครัวเล็กๆ  คือ สองสลึงหรือห้าสิบสตางค์      ดิฉันประมาณเอาจากค่าของเงินสมัยนั้น ว่ามาสมัยนี้ก็คงเกินหนึ่งร้อยบาท

จากเพชรบุรี  แม่ลูกมาลงที่สถานีบางกอกน้อย  ในยุคนั้นเป็นสถานีเล็กๆทำด้วยไม้    เมื่อถึงที่หมายก็ลงจากรถไฟ   แม่ซื้ออาหารให้ลูกชายเป็นข้าวคนละหนึ่งกระทง กับไข่พะโล้คนละครึ่งซีก    ราคากระทงละ ๑ ไพ  หรือ ๓ สตางค์  เป็นอาหารบางกอกอย่างดีที่เด็กชายพโยมยังติดอกติดใจอยู่  เพราะไข่พะโล้เป็นของโปรดอยู่แล้ว
จากบางกอกน้อย  ก็ลงเรือจ้างข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา มาขึ้นที่ท่าพระจันทร์บ้าง   ท่าช้างวังหน้าบ้าง   บางครั้งก็เลยเข้ามาถึงคลองรามบุตรีหน้าวัดบวรนิเวศน์
สถานที่แถวบางลำพู วัดบวรฯ เป็นที่แม่มาอาศัยพักแรม   ในยุคนั้น ถึงมีโรงแรมหรือเรียกว่า "โฮเต็ล" อยู่บ้างไม่กี่แห่ง ก็เป็นสถานที่สำหรับชาวต่างประเทศมากกว่า  คนไทยไม่พักกัน    ผู้หญิงตัวคนเดียวกับลูกน้อยก็ต้องอาศัยบ้านญาติหรือคนรู้จักเพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการพักแรมจนกว่าจะกลับ     บ้านที่แม่มาพัก ถ้าไม่ใช่บ้านพระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์)ที่คลองรามบุตรี    ก็บ้านร้อยเอกเวก ดิษยบุตรที่ตำบลบ้านแขก บางลำพู ใกล้ๆสะพานรามบุตรี
อีกหลังหนึ่งที่แม่เคยมาพักด้วยคือบ้านภรรยาเก่าของพ่อ   ที่ตรอกข้าวสาร บางลำพู


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 11, 09:33
เรื่องการมาพักแรมในพระนคร เป็นเกร็ดความรู้ที่พ.ท.พโยมเล่าไว้ละเอียดพอใช้    เป็นวัฒนธรรมการอยู่อาศัยที่จางหายไปแล้วตามกาลเวลา  จึงขอเก็บมาบันทึกไว้ในกระทู้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นกัน

เรื่องโฮเต็ลเป็นเรื่องตัดออกไปได้เลยสำหรับคนต่างจังหวัดที่มีกิจธุระมาพักในกรุงเทพ   ถ้าไม่ใช่ฝรั่ง ก็ต้องเป็นพวกนักเรียนนอก หรือคนไทยระดับหรูหรามีหน้ามีตา     บรรดาชาวบ้านทั่วไป มีที่อยู่อาศัยกันเป็นแหล่งๆ ตามแต่ว่าเป็นคนจังหวัดไหน  เป็นที่รู้กันในแวดวง
ส่วนใหญ่จะไปพึ่งพระที่เป็นชาวจังหวัดนั้นแต่มาเล่าเรียนอยู่ในเมืองหลวง  หรือไม่ก็เป็นพระอาวุโสเป็นที่นับหน้าถือตา  พระอยู่วัดไหน  ชาวบ้านก็มาขอพำนักอยู่ในกุฏิของท่านในวัดนั้น        จนเสร็จธุระก็ลากลับเพชรบุรี
ชาวเพชรบุรีมีแหล่งวัดสระเกศ  เป็นที่พำนักในคณะ "หลวงปู่แก้ว"   รองลงมาคือวัดประยูรวงศ์  ชาวเมืองเพชรเรียกว่า"วัดรั้วเหล็ก"   พวกที่มาอาศัยตามวัดแบบนี้มักจะเป็นชาวบ้านชาย   หรือถ้ามีผู้หญิงมาด้วยก็มากันเป็นกลุ่มขบวนใหญ่ ล่องเรือมาขอพักเพราะไม่มีญาติจะพักด้วยได้
ส่วนบ้านของฆราวาสที่ชาวเพชรได้พึ่งพิงรวมทั้งแม่ด้วย   คือบ้านของพระยาปริยัติฯ ซึ่งขณะนั้นเป็นคุณพระ    เพราะท่านเป็นคนโอบอ้อมอารีต้อนรับชาวบ้านอยู่เสมอ   และยังเป็นคนกว้างขวางในพระนคร   ใครมีธุระปะปังอะไรก็มักจะมาปรึกษาหารือหรือพึ่งพิงขอพักอยู่เป็นประจำ     หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือแม่ของพ.ท.พโยม 

แม้ว่ามีที่พัก   และเดินทางรถไฟมาก็สะดวก  แต่เข้ากรุงเทพก็ยังมีปัญหาทุลักทุเลอยู่เป็นประจำ   อย่างหนึ่งคือ แม่เป็นคนชนบทไม่ชิบกับถนนหนทางบ้านเรือนในเมืองหลวง จนแล้วจนรอด     อย่างที่สองคือแม่พูดสำเนียงชาวเมืองเพชร  ซึ่งคนเมืองหลวงฟังไม่เข้าใจ  จึงปรากฏว่ามีบางครั้งแม่ก็หลงทาง    มาถึงท่าช้างวังหน้าแล้วจำไม่ได้ว่าทางไปถนนข้าวสารไปทางไหน    จะจ้างรถม้าก็แพงเกินไป   จึงจ้างรถลากที่มีคนจีนเป็นคนลาก  สมัยนั้นเรียกว่ารถเจ๊ก     
เจ้ากรรมว่าจีนคนลากรถก็เป็นจีนใหม่ คือจีนเพิ่งเข้ามาอยู่เมืองไทยไม่นาน    ฟังสำเนียงชาวเมืองเพชรไม่ออก  ก็ลากไปตามบุญตามกรรม   พาไปถึงสี่แยกคอกวัวในเวลาพลบค่ำ     สมัยนั้นถนนราชดำเนินไม่ได้กว้างขวางโอ่อ่าเป็นระเบียบอย่างที่เห็นกันในรูป  แต่เป็นถนนสายเปลี่ยว  มีต้นมะฮ็อกกะนีขึ้นทึบ    ในยามพลบค่ำแล้วน่ากลัวอันตรายมาก    แม่ก็โวยวายให้หยุด    จีนลากรถก็ฟังไม่ออก   จึงเกิดชุลมุนกันขึ้นมา

หมายเหตุ  พ.ท.พโยมบรรยายรถลากไว้ว่า  มี ๒ ชั้น  ชั้นที่ ๑ เป็นรถลากขนาดเล็ก ที่นั่งเดียว ค่อนข้างสะอาด   เป็นที่นิยมของพวกขุนนางหรือพวกคนเมืองหลวงฐานะค่อนข้างดี   ราคาแพงกว่ารถลากชั้น ๒ ซึ่งเป็นรถลากที่นั่งคู่      ขนาดเทอะทะกว่า และสกปรก เพราะใช้บรรทุกของด้วย 


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ม.ค. 11, 08:58
ระหว่างที่แม่กับจีนลากรถกำลังเอะอะกันอยู่   พูดจากันเท่าไรก็ไม่รู้เรื่อง  ก็พอดีมีนักเรียนนายร้อยทหารบกคนหนึ่งเดินผ่านมา    แม่จึงร้องเรียกขอความช่วยเหลือ    นักเรียนนายร้อยคนนั้นก็เดินเข้ามาช่วยทันที
เมื่อจีนลากรถเห็นหนุ่มในเครื่องแบบคาดดาบปลายปืนเดินเข้ามาช่วยผู้โดยสาร ก็ยำเกรง   หยุดล้งเล้ง  ยอมฟังโดยดี   สอบถามกันจนเข้าใจทั้งสองฝ่าย     นักเรียนนายร้อยผู้ "มีจิตใจรับใช้ประชาชน" (อย่างที่พ.ท.พโยมเรียกในหนังสือ) ก็สั่งจีนลากรถให้พาแม่ลูกไปส่งที่ปากตรอกถนนข้าวสาร  ซึ่งอยู่ถัดจากสี่แยกคอกวัวไปนิดเดียว
แม่ประทับใจในตัวนักเรียนนายร้อยมาก   คุณงามความดีของเขากลายเป็นภาพประจำใจแม่ตลอดมา   พร้อมกันนั้นแม่ก็เริ่มเปลี่ยนความคิดที่จะให้ลูกชายเป็นมหาเปรียญ   มาเป็นนักเรียนนายร้อยเช่นเดียวกันกับชายหนุ่มใจอารีคนนั้น
และเพื่อเจริญรอยตามพ่อผู้เคยเป็นนักเรียนนายร้อยมาก่อนเช่นกัน

พ.ท.พโยมท่านละเอียดถี่ถ้วนในการบรรยาย   เมื่อบอกว่านักเรียนนายร้อยคนนั้นคาดดาบปลายปืน  ท่านก็ไม่ลืมอธิบายแถมไว้ด้วยว่า
"นักเรียนนายร้อยรุ่นใหญ่สมัยเก่า   เมื่อออกนอกบริเวณโรงเรียน ต้องคาดดาบปลายปืน    มายกเลิกคาดดาบปลายปืนเอาเมื่อใกล้พ.ศ. ๒๔๗๐"     


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 11, 18:35
แม่หอบลูกขึ้นมากรุงเทพฯหลายครั้ง จนเงินทองร่อยหรอ  ถึงขั้นอดมื้อกินมื้อ  เพื่อติดตามข่าวคราวของพ่อที่มีคนส่งข่าวให้ว่าพ่อย้ายจากเมืองหมากแข้งหรืออุดร กลับมาพระนครแล้ว     แต่เที่ยวสืบหาหลายครั้งก็ไม่พบตัวพ่อสักที    ญาติพี่น้องก็พากันเวทนาว่าเป็นความเพ้อฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง
แต่แม่ก็ยังมีปณิธานแน่วแน่ ในการติดตามถามข่าวพ่อเพื่อให้พบจนได้    เชื่อว่าความดีต้องชนะความชั่ว  ธรรมะย่อมชนะอธรรม   แม้นไม่ชนะในวันนี้ก็ต้องชนะในวันหน้า   สัจธรรมต้องเป็นสัจธรรม

ย้อนหลังกลับไปถึงสาเหตุที่พ่อแม่ลูกต้องพลัดพรากกัน   พ.ท.พโยมเล่าว่าเมื่อท่านอายุได้หนึ่งขวบ   พ่อซึ่งเป็นนายทหารชั้นพันโทถูกย้ายจากเพชรบุรีแบบสายฟ้าแลบ ไปประจำอยู่อุดร  ด้วยสาเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของท่านเลย   
คือฝ่ายมหาดไทย(ตำรวจ)กับทหารในเพชรบุรีเกิดขัดแย้งถึงขั้นปะทะกัน     เจ้าเมืองหรือหัวหน้าฝ่ายมหาดไทยซึ่งสืบตระกูลจากขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งกินเมืองเพชรบุรีมาหลายชั่วคน ไม่ได้เกรงใจพ่อซึ่งมาจากตระกูลคนสามัญ      ก็เลยสั่งย้ายพ่อไปเกือบจะสุดหล้าฟ้าเขียว
พ่อตั้งใจจะพาแม่และลูกน้อยไปด้วยกัน    แต่แม่ขอไว้ เพราะลูกอ่อนแอและขี้โรค  ตอนคลอดก็มีกระเพาะและรกพันอยู่  หมอตำแยต้องฉีกกระเพาะออกถึงรอดมาได้    ถ้าต้องเดินทางตรากตรำบุกป่าฝ่าดงไปถึงอีสานก็เกรงว่าจะตายเสียก่อน   แม่จึงยอมถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง  รอให้ลูกโตจึงค่อยพาไปพบพ่อ
ด้วยความรักลูกเป็นแก้วตา  ชื่อแรกของพ.ท.พโยมที่แม่ตั้งให้ คือ "แก้ว"


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 11, 09:33
   ในความเป็นจริง ที่ญาติคนหนึ่งของพ่อที่ติดตามไปถึงอุดรธานี  กลับมาเล่าให้ฟังว่า เมื่อพ่อเดินทางจากเพชรบุรีไปรับตำแหน่งใหม่ รอเวลาให้ลูกโต ร่างกายแข็งแรงพอจะเดินทางได้ก็จะกลับมารับแม่ลูกไปด้วยกัน    แต่พ่อไม่ได้ตรงไปอุดรธานี แต่ต้องแวะกรุงเทพเพื่อแวะรายงานตัวเพื่อรับคำสั่งและรับงานที่กระทรวงเสียก่อน     ถือเป็นโอกาสเยี่ยมญาติพี่น้องซึ่งเป็นชาวกรุงเทพ  และพบเพื่อนฝูงเก่าๆด้วย
   แต่ขึ้นชื่อว่านครหลวง ไม่ว่าที่ใดก็มีสังคมที่สลับซับซ้อน มีแสงสีน่าตื่นตาตื่นใจ    พ่อได้พบปะเพื่อนฝูงเก่าๆ เที่ยวเตร่กันไปตามสถานที่หย่อนใจต่างๆ ตามประสานายทหารข้าราชการ      พ่อจึงได้พบหญิงสาวคนหนึ่ง ที่พ.ท.พโยมเรียกว่า "สาวสังคม"   เกิดถูกตาถูกใจ   เมื่อถึงเวลาต้องเดินทางออกจากพระนครไปอุดรธานี    หญิงสาวคนนั้นก็เดินทางไปด้วยในฐานะภรรยา   ก่อความตะลึงงันและงุนงงกับผู้ร่วมทางที่มาจากเพชรบุรีด้วยกันอย่างยิ่ง  แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดอะไร 

   ขออธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อถึงต้นรัชกาลที่ ๖    ยังไม่มีทะเบียนสมรส   ผู้ชายมีภรรยาหลายคนได้ถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่ถือเป็นเรื่องผิดอย่างสมัยปัจจุบัน   ส่วนจะถือว่าใครเป็นภรรยาเอกก็แล้วแต่สามียกย่องใครขึ้นมา  โดยมากก็นับจากการแต่งงานออกหน้าออกตาตามประเพณีกับคนไหนก็ถือว่าคนนั้นเป็นเมียเอก    ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นภรรยาคนแรกถึงจะได้ตำแหน่งนี้ 
     แม่พลอยไม่ได้เป็นภรรยาคนแรกของคุณเปรม  แม่ตาอ้นต่างหากเป็นภรรยาคนแรก  แต่เธออยู่ในฐานะสาวใช้ในบ้าน ญาติพี่น้องและคุณเปรมไม่ได้ยกย่อง     เมื่อออกจากบ้านไปก็ถือว่าจบกัน   ต่อให้ไม่ออกจากบ้าน ยังอยู่ในบ้านก็ยังเป็นเมียน้อยอยู่ดี   แม่พลอยต่างหากเป็นภรรยาเอก ได้เป็นคุณหญิงเมื่อคุณเปรมเป็นพระยา  เพราะแม่พลอยแต่งงานมีการสู่ขอรดน้ำทำพิธีกันตามประเพณี

    เส้นทางเดินทางไปอุดรธานีใน ๑๐๐ ปีก่อน บรรยายไว้ในหนังสือละเอียดลออ  เห็นภาพชัดมาก   ถ้าท่านลองนึกภาพว่าเราขับรถไปตามถนนไฮเวย์ได้สะดวกสบาย  ถึงอุดรธานีในเวลาไม่กี่ชั่วโมง   ก็ลองเทียบกับเส้นทางสัญจรในเรื่องนี้ดูนะคะ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 11, 10:10
    พ.ท. พโยมให้เกร็ดความรู้ไว้ว่า รถยนต์ในสมัยนั้น คนไทยเรียกว่า "รถมอระคา" (Motor car)  หรือเพี้ยนไปเป็นรถ "มรณา"   รถยนต์ที่ชาวบ้านในกรุงเทพเห็น ก็เป็นรถในรั้วในวังเสียเป็นส่วนใหญ่ มีถนนไม่กี่สายในเมืองหลวง    ชานเมืองยังไม่มีแม้แต่ถนนลาดยางหรือลูกรัง     จึงไม่อาจหวังได้เลยว่านอกเมืองออกไปจะมีถนนไปสู่จังหวัดต่างๆ
   เส้นทางจากกรุงเทพไปอีสาน  เริ่มช่วงแรกจากกรุงเทพไปแก่งคอย  ทางรถไฟสายอีสานไปด้วนอยู่แค่นั้น  ก็ลงรถไฟไปพักที่นั่น รอการถ่ายลำเลียงไปทางอีสานอีกที    อีกทางคือไปทางเรือ  ชาวบ้านนั่งเรือแจวหรือเรือถ่อ (ไม่มีเรือใช้เครื่องยนต์) ล่องจากเจ้าพระยาไปเลี้ยวเข้าแม่น้ำป่าสัก  แล้วไปพักรอที่แก่งคอยก่อนเดินทางต่อ
   ท่านเล่าว่า ตำบลที่พักคอยเดินทางต่อไปอีสาน เป็นตำบลที่มีแก่งหินใหญ่  จึงเป็นที่มาของตำบล "แก่งคอย"

   จากแก่งคอยขึ้นสู่ที่ราบสูง คือระยะทางทุรกันดารอย่างแท้จริง    แม้ว่ามีเส้นทางการค้าและเส้นทางยาตราทัพอยู่หลายทาง แต่ทางที่สะดวกที่สุดคือทางที่เริ่มจาก ปากเพียว( หรือต่อมาเรียกว่าปากเพรียว) ไปเริ่มปรับขบวนเดินทางที่แก่งคอย จากนั้นก็ขึ้นทิวเขาใหญ่ ผ่านดงดิบไปออกเมืองโคราช ซึ่งเป็นเมืองใหญ่หน้าด่าน  เป็นประตูสู่หัวเมืองอีสาน

    จะว่าไป การเดินทางไปอีกสานไม่สลับซับซ้อนเท่าภาคเหนือซึ่งล้วนแต่ต้องผ่านภูเขาสูงชัน    เป็นเส้นทางที่ขบวนเกวียนเดินทางได้สะดวก     แต่ความยากลำบากอยู่ตรงผ่านป่าทึบดงดิบ ซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า ดงพระยาไฟ
    คนสมัยนี้ขับรถไปกินสเต๊คเนื้อโชคชัย หรือนกกระจอกเทศผัดพริกไทยดำของร้านครูต้อ ที่ปากช่องอย่างสะดวกสบายในวันนี้  คงนึกไม่ออกว่าเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน  แถวนี้คือป่าดงดิบมหึมา มีแต่ต้นไม้ใหญ่สูงระฟ้า  ด้านล่างก็มีต้นไม้เครือเถาและว่าน มืดทึบจนแสงตะวันส่องลงมาไม่ถึง     เต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ดุร้ายทุกชนิด เรื่อยไปถึงแมลงมีพิษทุกชนิดพร้อมจะทำอันตรายทั้งกลางวันและกลางคืน     
นอกจากเส้นทางเกวียนลัดเลาะไปในป่า    ก็หาหมู่บ้านหรือบ้านช่องผู้คนไม่ได้เลยสักแห่งเดียว    ที่สำคัญคือดงพระยาไฟยังอุดมไปด้วยไข้มาลาเรียจากยุงป่า   ทำให้คนที่ต้องเดินทางผ่านหรือพักแรม เอาชีวิตมาทิ้งกันมากต่อมาก   เป็นป่าที่ผู้คนหวาดกลัวกันมาก จนกลายเป็นโจษจันกันถึงอิทธิฤทธิ์ของภูตผีพรายป่าทั้งหลาย  ว่าใครจะผ่านไปโดยไม่เจอเรื่องร้ายต่างๆเป็นไม่มี   ใครเอาชีวิตรอดไปได้ก็ถือว่ากระดูกแข็งเอามากๆ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 11, 10:18
    เพราะความร้ายแรงของป่าที่ทำให้คนเอาชีวิตมาทิ้งเสียมากต่อมาก  ป่าตรงนี้ถึงชื่อว่า "ดงพระยาไฟ"  เมื่อมีการบุกเบิกรถไฟจากแก่งคอยไปโคราชในเวลาต่อมา     ป่านี้ก็เอาชีวิตคนงานเสียนับไม่ถ้วน  เพื่อให้ร้ายกลายเป็นดี จึงมีการเปลี่ยนชื่อจาก "ดงพระยาไฟ" เป็น "ดงพระยาเย็น"
    ขบวนเกวียนของพ่อผ่านดงพระยาไฟไปถึงโคราชได้สำเร็จ  จากโคราชทางก็ค่อยสบายขึ้นกว่าตอนแรก แต่ก็ยังลำบากลำบนอยู่ดี  เกวียนต้องลัดเลาะไปตามทุ่งหญ้าป่าแพะ   (พ.ท.พโยมหมายถึงป่าละเมาะ)     บางครั้งต้องผ่าน"ทุ่งทราย" (ในหนังสืออธิบายว่า เข้าใจว่าเป็นทุ่งสัมฤทธิ์)ที่แห้งแล้งร้อนระอุปราศจากน้ำแม้แต่หยดเดียว
    ขอลอกสำนวนของพ.ท.พโยมมาให้อ่านกัน เมื่อบรรยายเส้นทางทุรกันดารของอีสาน

    " ขบวนกองเกวียนของพ่อออกจากแก่งคอย  ตัดเข้าดงดิบถึงที่ราบสูง  รอนแรมลัดเลาะฟังเสียงวงล้อถูกับเพลาเกวียนไปท่ามกลางความร้อนระอุ   เคล้าคลุ้งด้วยฝุ่นทรายที่ขบวนโคลากเกวียนเหยียบย่ำไปนานเท่านาน   จวบจนกินเวลาหนึ่งเดือนจึงบรรลุถุงจุดหมายปลายทางคือ "เมืองหมากแข้ง"   ต่อจากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับพ่อ ก็เงียบหายไป   เสมือนหนึ่งได้ถูกขุนเขาและดงดิบพระยาไฟเป็นด่านกักกั้นไว้เป็นเวลาถึง ๘ ปีเต็ม   โดยไม่มีข่าวคราวใดๆทั้งสิ้น"

    อ่านแล้ว เห็นว่าถ้าพ.ท.พโยมไม่ไปเอาดีทางทหาร    น่าจะเป็นนักประพันธ์ได้ดีทีเดียว


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 11, 12:24
ตอนท้ายหนังสือ  พ.ท.พโยมเล่าถึงชีวิตหลังจากนั้นอย่างรวบรัด  จะเป็นเพราะต้องเร่งเขียนให้เสร็จทันงานศพ  หรือต้องการเพียงเน้นถึงชีวิตในวัยเยาว์กับแม่ ก็ไม่ทราบ     ท่านเล่าเพียงย่อๆว่า เมื่อไปอยู่อุดรธานีได้ ๘ ปี   พ่อก็ได้ย้ายคืนกลับมาพระนคร    แต่ไม่ได้ส่งข่าวให้แม่ทางเพชรบุรีทราบ
แม่เข้ากรุงเทพฯมาติดตามถามข่าวจากญาติฝ่ายพ่อ  จึงทราบว่าพ่อกำลังลำบาก  ทั้งชีวิตส่วนตัวและฐานะการงาน    เพราะย้ายไปอุดร ๘ ปีพ่อก็ยังเป็น "คุณพระ" เช่นเดิม   จะเป็นเพราะมีเรื่องจากเพชรบุรีเป็นชนักปักหลัง  หรือว่ามีกรณีใหม่ ลูกชายไม่อาจทราบได้      แต่ก็ยังเคราะห์ดีได้ย้ายกลับกรุงเทพ มาดำรงตำแหน่งใหม่เป็นราชองครักษ์     แต่ตำแหน่งนี้แทนที่จะส่งผลดีให้ก็กลับเป็นโทษ   เพราะเป็นตำแหน่งที่จำต้องทำตัวโอ่อ่าให้สมเกียรติยศ
ราคาเกียรติยศที่ว่า คือพ่อต้องเช่าบ้านหลังโอ่โถงไว้อยู่  มีรถม้าดีๆเอาไว้นั่งไปทำงานและเข้าเวร    ต้องมีเวลาสำหรับเข้าสังคมคนใหญ่โต  ล้วนแต่เป็นเรื่องเปลืองเงินทองเกินกว่าเงินเดือนของพ่อ   ส่วนภรรยาของพ่อ ก็ทำตัวเป็น "คุณนาย"  เข้าวง"ญาติมิตร" เป็นประจำ ให้เปลืองเงินหนักเข้าไปอีก    ทั้งๆพ่ออยู่ในฐานะที่ใครๆเห็นว่ามีหน้ามีตา  พ่อก็หมองคล้ำ ไม่มีความสุข   ภาระส่วนตัวของพ่อก็กลายเป็นปัญหานุงนังแก้ไม่ตก ทำให้ผู้บังคับบัญชาเพ่งเล็งหนักเข้าไปอีก
ในภาวะเช่นนั้นเอง ที่แม่ได้มาพบพ่อ     พ่อก็ต้องตัดสินใจอย่างหนักว่าจะทำอย่างไรดี     ในที่สุดพ่อมองเห็นว่าหนทางที่กำลังเผชิญอยู่นี้มีแต่จะทำให้ชีวิตตกต่ำ ไม่มีสิ่งใดดีขึ้น  มีแต่ความล้มละลายรออยู่ปลายทาง     พ่อก็ตัดสินใจเด็ดขาดหันหลังให้ชีวิตปัจจุบัน เพราะเล็งเห็นว่ามีแต่จะเป็นภัยพิบัติกับตัวเองและวงศ์ตระกูล

เรื่องเล่าตอนนี้ไม่มีในหนังสือ  แต่ว่าได้ข้อมูลจากบุคคลที่รู้เรื่องดีว่า เมื่อพ่อกลับมาหาแม่   ในตอนแรกก็ยังประสานกันไม่ได้เร็วนัก    แต่ว่าอาศัยความอนุเคราะห์จากเจ้าจอมอาบ (ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าจอมก๊ก อ.)  ช่วยประสานความเข้าใจระหว่างพ่อกับแม่ให้      พระนเรนทร์รักษากับภรรยาจึงได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง     เด็กชายพโยมก็อำลาชีวิตเด็กเมืองเพชรมาอยู่ในเมืองหลวง   ได้เรียนหนังสือชั้นมัธยม เพื่อเรียนต่อทางด้านทหารตามความประสงค์ของแม่ต่อไป
พันโทพระนเรนทร์รักษาได้เลื่อนขึ้นเป็นพันเอกพระยาวิเศษสิงหนาถ     ภรรยาจึงได้เป็นคุณหญิงวิเศษสิงหนาถ    มีบุตรธิดาอีก ๒ คนคือธิดาชื่อพยูร และบุตรชายคนเล็กชื่อพยศ  แต่ต่อมาได้ตัด พ. ออก เหลือแต่ชื่อ ยศ เฉยๆ    ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อ.บางโพ  ในกรุงเทพ
พระยาวิเศษสิงหนาถถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2468 ปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 6   คุณหญิงยังมีชีวิตต่อมาจนถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2490  แต่ได้เก็บศพไว้ รอเผาเมื่อพ.ท.พโยมกลับมาอีกครั้ง เพื่อทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายให้มารดา


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 18 ก.พ. 11, 13:31
หลังต้องข้อหากบฏเสนาธิการ  พ.ท.พโยมหลุดข้อหาจริงครับ   ศาลสั่งยกฟ้อง  แต่ท่านก็เดินทางไปลี้ภัยที่เมืองหาง  และจากนั้นก็ไปประเทศจีน   
ประเทศไทยไม่ปลอดภัยสำหรับพ.ท.พโยม    ในยุคที่จอมพลป. มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารประเทศ  ที่สำคัญคือเป็นยุคที่ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้    อำนาจของพลต.อ. เผ่า ศรียานนท์มีมากถึงขีดสุด   
พ.ท.พโยมกลับมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจได้แล้ว    อำนาจเก่าหมดไป  ท่านก็กลับมาเพราะคิดว่าการเมืองไทยน่าจะดีขึ้น    แต่ก็ต้องระเห็จลี้ภัยออกนอกประเทศไปเป็นคำรบสองครับ
จากนั้นไม่มีโอกาสกลับมาอีกจนถึงแก่กรรม


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 18 พ.ย. 15, 19:41
ตามรอยพ่อเนตร ลูกชายคู่ทุกข์คู่ยากของแม่เกด ยอดหญิงเมืองเพชร เข้ามาจนถึงกระทู้นี้เลยครับ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 15, 20:37
เขาเรียกว่าอินค่ะ อิน


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: unming ที่ 20 พ.ย. 15, 14:56
เข้ามา ติดตาม อ่าน คะ  ชอบเรื่อง ราตรี ประดับดาว และ สองฝั่งคลอง มาก ๆ เวลา ท้อแท้ ก็จะหยิบ 2 เล่มนี้ขึ้นมาอ่าน
เคยคิด เหมือนกันคะว่า ในช่วงเวลา วัน พ.ศ. เดียวกัน คนเรามักจะเจอ ปัญหา แตกต่างกันไป ใหญ่ เล็ก อยู่ที่ ความสามารถในการแก้ไข
 


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 14 ม.ค. 16, 21:52
เป็นเรื่องที่น่าติดตามมากครับ โดยเฉพาะข้อมูลประเทศไทยในสมัยก่อน และเรื่องพ่อกับลูกที่ต้องอยู่คนล่ะฝ่ายในสงครามใหญ่

ช่วงนี้ผมพยายามกำจัดทุกข์ในใจเรื่องหนึ่งอยู่ ได้อ่านแล้วรู้สึกว่าตัวเองนี่มันติงต๊องแฮะ แต่พรุ่งนี้ต่อไปอีกร่วมอาทิตย์มีงานสำคัญมากต้องทำก็ทำไปก่อน เดี๋ยวว่างเมื่อไหร่ค่อยมานั่งทุกข์ใจต่อ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: นัทชา ที่ 21 ม.ค. 16, 10:51
รบกวนถามว่า คุณสิรินทร์ พัธโนทัยได้เขียนบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตไว้ในหนังสือ
The Dragon's Pearl หรือ ‘มุกมังกร’ เกี่ยวกับ พ.ท.พโยม อย่างไรบ้างครับ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 16, 11:20
คุณนัทชาถามเหมือนได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว     


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: นัทชา ที่ 21 ม.ค. 16, 13:31
ยังครับ แต่มีข่าวสารบางส่วนจากกระทู้นี้
http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/2010/01/P8746277/P8746277.html (ftp://http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/2010/01/P8746277/P8746277.html)
คห.5 ของคุณพาชื่น
พอดีผมมีหนังสือหลายเล่มที่ต้องอ่าน เลยต้องขอรบกวนถาม


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 16, 16:27
กระทู้น่าจะถูกลบไปแล้วค่ะ  เข้าไปอ่านไม่ได้


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 16, 16:55
มีข่าวสารบางส่วนจากกระทู้นี้
http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/2010/01/P8746277/P8746277.html (ftp://http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/2010/01/P8746277/P8746277.html)
คห.5 ของคุณพาชื่น

ช่วยแก้ไขลิงก์

http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/2010/01/P8746277/P8746277.html#5 (http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/2010/01/P8746277/P8746277.html#5)

อยากรู้เรื่อง"สหายคำตัน"หรือ พ.ท.พโยม จุลานนท์ บิดาของท่านองคมนตรี พล.อ.สุรยุทธ  จุลานนท์ ให้ถึงกึ๋นต้องอ่าน"มุกมังกร(Dragon's Pearl)"เขียนโดย สิรินทร์ พัฒโนทัย ลูกสาวของ สังข์ พัฒโนทัย น้องสาวของ ดร.มั่น พัฒนโนทัย อดีตรองนายกฯ    ที่พ่อ-แม่ยกให้ไปเป็นบุตรสาวบุญธรรมของ โจว เอน ไหล นายกรัฐมนตรีจีนและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยไปเรียนหนังสือและอยู่ในปักกิ่งตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ

(http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/2010/01/P8746277/P8746277-5.jpg)

เธอเขียนเล่าว่าตอนเธอยังเล็กอยู่กับพ่อ-แม่ที่กรุงเทพ  พ.ท.พโยม จุลานนท์ สส.พรรค ปชป. จังหวัดเพชรบุรี ไปมาหาสู่ที่บ้านพักของพ่อบ่อยครั้ง เมื่อมีการรัฐประหารแก่งแย่งอำนาจกัน พล.ต.อ.เผ่าจะสังหาร พ.ท.พโยม จุลานนท์ พ่อของเธอคือนายสังข์ พัฒโนทัย ได้ไปพูดขอชีวิตไว้และรับประกันความประพฤติว่า พ.ท.พโยม จุลานนท์ จะเลิกเล่นการเมืองเขาจึงรอดพ้น

จากวันนั้นเป็นต้นมา พ.ท.พโยม  จุลานนท์ ถือว่าบิดาของเธอเป็นเสมือนพ่อผู้ให้กำเนิดชีวิตใหม่แก่ตนอีกครั้ง!!!!

เมื่อการเมืองไทยไม่แน่นอนและเกรงจะมีการแก้แค้นคิดบัญชี ทาง พ.ท.พโยม จุลานนท์ จึงเข้าร่วมทำงานการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยไปประจำอยู่ที่กรุงปักกิ่ง

เมื่อ สิรินทร์ พัฒโนทัย ไปอยู่ีปักกิ่งกับ วรรณไว พัฒโนทัย พี่ชาย    ทาง พ.ท.พโยม จุลานนท์ หรือ"สหายคำตัน"ยังไปเยี่ยมเยือนลูกของผู้มีพระคุณเสมอ ๆ

แต่เมื่อถึงยุค นางเจียง ชิง หัวหน้าแก็งค์ขบวนการ ๔ คนเป็นใหญ่มีการตั้งขบวนการเรดการ์ดกวาดล้างศัตรูและปฏิวัติวัฒนธรรมเพื่อให้ตัวเองและพรรคพวกขึ้นเป็นใหญ่    โดยที่ผู้บริหารประเทศจีนและผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ว่าจะเป็น โจว เอนไหล,  เติ้ง เสี่ยว ผิง นั่งตาปริบ ๆ ทำอะไร"พระนางซูสีไทเฮายุคใหม่"ไม่ได้

พรรคคอมมิวนิสต์ไทย สำนักงานปักกิ่ง ที่นำโดย พ.ท.พโยม จุลานนท์ ตัดสินใจผิดพลาดจนพรรคล่มจมในโอกาสต่อมา  ก็คือนำพรรค พ.ค.ท.ไปเข้าข้างนาง เจียง  ชิง  เต็มตัว เล่นงานคนไทยในเมืองจีนที่ไม่เป็นพวกตนเองอย่าสาหัส นำตัว สิรินทร์ พัฒโนทัย เขียนบทให้อ่านออกอากาศประนามบิดาตัวเองผ่านสถานีวิทยุปักกิ่งมายังเมืองไทย ต่อมาเมื่อเหมา เจ๋อ ตุง เสียชีวิต  นางเจียง ชิง และคระถูกจับ ถูกพิพากษาลงโทษ กลุ่มผู้มีอำนาจบริหารพรรคกลับมามีอำนาจเต็มอีกครั้ง จึงไม่ไว้วางใจผู้บริหารของ พ.ค.ท.อีกต่อไป จนถึงขนาดตัดความช่วยเหลือ ขับไล่ออกจากประเทศจีนจนนำไปสู่การสูญสิ้นและล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยเร็วทางหนึ่ง

อันนี้ถือเป็นคุณูปการของ พ.ท.พโยม จุลานนท์ หรือ"สหายคำตัน"ที่เป็นผู้หนึ่งที่เร่งให้ พคท.ล่มจมอย่างรวดเร็ว!!!

ที่น่าอนาถว่านักปฏิวัติชนชั้นอย่าง พ.ท.พโยม  จุลานนท์ ยังฝังรากลึกการกดขี่สตรีแบบคนสังคมเก่า     สิรินทร์ พัฒนทัย เขียนเล่าไว้ว่า วันหนึ่งในห้วงเวลาปลอดคน พ.ท.พโยม  จุลานนท์ มาหาข่มขู่เธอว่าเป็นพวกลูกหลานศักดินา พวกลัทธิแก้ แล้วถือโอกาส"ปลุกปล้ำกระทำมิดีมิร้าย"ในห้องพัก  โชคดีที่เธอร้องตะโกนและมีคนผ่านมาช่วยเหลือไว้มิฉะนั้นเธอเกือบได้กลายเป็นแม่เลี้ยงของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไป ทั้ง ๆ ที่มีอายุน้อยกว่าลูกชายของเขาซะอีก

จริง-เท็จอย่างไรและมีสาระมากกว่านี้อีกหาอ่านกันเอาเองแล้วกันครับ

จาก       คุณพาชื่น
เขียนเมื่อ  ๙ ม.ค. ๕๓  ๑๒:๐๒:๔๙


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 16, 17:56
นึกแล้วว่าไม่มีอะไรในอินทรเนตรที่คุณเพ็ญชมพูส่องหาไม่เจอ ;)

เอาอย่างนี้ดีกว่า   ขอถ่ายทอดเรื่องราวจากการรับรู้ของลูกหลานท่าน มาให้อ่านกัน     ส่วนจะเชื่อหรือไม่เชื่อขึ้นกับวิจารณญาณของแต่ละคนค่ะ
- ลูกหลานของพท.พโยม ซึ่งปัจจุบันอายุประมาณ 80 ปี ไม่เคยได้ยินพ่อพูดถึงคุณสังข์ พัทโนทัยเลย    ไม่ว่าในฐานะคนรู้จักคุ้นเคย หรือว่าคนที่เกี่ยวข้องใดๆกับชีวิตการเมืองของท่าน
  สมัยนั้น  จอมพลป. มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจ   ถ้าจะกวาดล้างศัตรูทางการเมือง  ก็ทำได้ทันที     ไม่มีใครมาขอร้องให้ยกเว้นให้ใครได้   
- ลูกหลานรู้ว่าคนที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองกับพ.ท.โพยม คือจอมพลป. และพลต.อ.เผ่า ศรียานนท์   
- พ.ท. พโยมลี้ภัยการเมือง  2 ครั้ง  ครั้งแรกหลังจากเกิดกบฏเสนาธิการ  พลต.อ. เผ่าส่งตำรวจมาถึงบ้าน  ทำให้ต้องหนี    ครั้งนั้นภรรยาของท่านคือคุณวรรณดี จุลานนท์  ได้ติดตามสามีไปอยู่ในป่าชายแดนพม่าด้วย
- เมื่อสิ้นยุคจอมพลป.   จอมพลสฤษดิ์ขึ้นเป็นนายกฯ    พ.ท.พโยม จึงกลับมาอีกครั้ง  มาสมัครเป็นผู้แทน  และจัดงานศพคุณหญิงวิเศษสิงหนาทผู้มารดา เมื่อพ.ศ. 2506
- ด้วยนโยบายกวาดล้างการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ ของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์   พ.ท.พโยมต้องหนีอีกครั้ง  คราวนี้คุณวรรณดีไม่ได้ตามไปด้วย   เพราะมีบุตรเล็กๆถึง 4 คนต้องดูแลอยู่ทางนี้
-  พ.ท.พโยมใช้ชีวิตอยู่ในป่า ในนาม "สหายคำตัน" นานหลายปี  จนสุขภาพทรุดโทรมลงอย่างหนัก    สาเหตุสำคัญคือตกช้างเป็นเหตุให้ร่างกายพิการ   เดินไม่ได้ไปซีกหนึ่ง   ทางการคอมมิวนิสต์จึงรับตัวไปรักษาพยาบาลที่ปักกิ่ง    ท่านก็อยู่อย่างคนป่วยพักฟื้นที่นั่น ไม่ได้กลับไปสู่การสู้รบอีก   
-  เมื่อไทยกับจีนเปิดสัมพันธไมตรีกัน   พลเอกเปรม เป็นทูตไมตรีไปจีน  ได้พาพลเอกสุรยุทธ์ซึ่งขณะนั้นเป็นพันเอก   ร่วมขบวนไปด้วย    พ่อกับลูกจึงได้พบหน้ากันอีกครั้ง
-   ตั้งแต่พ.ศ. 2521 พ.ท.พโยมป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นประจำ   แต่ก็ดีใจที่ได้พบหน้าลูกชายซึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่แล้วในตอนนั้น   พ่อกับลูกมีโอกาสพบกันชั่วระยะสั้นๆไม่กี่วัน     เป็นการพบกันครั้งสุดท้าย ก่อนสุขภาพท่านทรุดหนักจนถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2523

     คนแก่อายุ 70  ร่างกายพิการไปซีกหนึ่ง สุขภาพทรุดโทรมจนทางการจีนต้องรับจากป่าไปอยู่ในกรุงปักกิ่งเพื่อรักษาพยาบาล  จะมีเรี่ยวแรงไปกระทำการอะไรที่ต้องใช้แรงอย่างหนัก    แม้แต่เดินเหินก็ไม่คล่องอย่างหนุ่มสาว   ถูกผลักก็ล้มแล้ว
    ในเมืองจีนยุคบั้นปลายชีวิต    พ.ท.พโยมไม่ได้อยู่อย่างผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่     แต่อยู่อย่างทหารผ่านศึกชรา  เจ็บป่วย    ตำแหน่งหน้าที่ก็ไม่มีอีกแล้ว    ไม่มีอิทธิพลใดๆที่จะปิดปากผู้ใดได้ หากว่าได้กระทำการอันไม่สมควรลงไป  ก็ต้องเป็นเรื่องขึ้นมาแน่นอน   
    จีนในสมัยนั้นเข้มงวดสอดส่องความประพฤติของปัจเจกบุคคลมาก     หากว่ามีผู้ไปฟ้องร้องต่อรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ ว่าอดีตทหารผ่านศึกทำร้ายผู้หญิง   อย่างน้อยก็ต้องมีการสอบสวนหาความจริง     ก็ไม่มีเหตุผลว่าเรื่องนี้ ผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์จะพากันปิดปากเอาไว้หาอะไร    จะว่าเพื่อเห็นแก่หน้าท่าน  และปล่อยให้ผู้เสียหายซึ่งอ้างว่าตัวเองมีฐานะใหญ่โตเป็นถึงลูกบุญธรรมของอดีตผู้นำ ต้องเก็บความเจ็บช้ำน้ำใจมาบรรยายในหนังสือ ก็ไม่มีน้ำหนักพอจะเชื่อได้เช่นนั้น

    นี่คือมุมที่มองจากอีกด้านหนึ่ง  คุณนัทชาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิ์ของคุณ  ไม่มีใครว่า   ส่วนตัวดิฉัน ไม่เชื่อเรื่องนี้ค่ะ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: นัทชา ที่ 22 ม.ค. 16, 05:47
ขอบคุณที่"ช่วยเปิดทาง"ความคิดริเริ่มของผม คงต้องหาโอกาสอ่าน ด้วยมิตรครับ


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 22 ม.ค. 16, 14:51
พอดีผมมีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือ ถ้าจะคัดลอกเนื้อหาบางตอนที่พูดถึงพ.ท.โพยม มาให้อ่าน ไม่ทราบว่าผิดกติกาหรือไม่ครับ

 (http://i.imgur.com/aw1IqyH.jpg)



กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 16, 15:24
ถ้าคัดลอก   คุณอาจจะโดนข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ได้นะคะ  เพราะเจ้าของเขาไม่ได้อนุญาต


กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ม.ค. 16, 15:39
ถ้ามุกมังกรเล่มนี้

(http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/2010/01/P8746277/P8746277-5.jpg)

มีตัวอย่างให้ชมเล็กน้อย ที่ หน้า ๓๔๙   (https://books.google.co.th/books?id=SG_eBAAAQBAJ&pg=PA349&lpg=PA349&dq=%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3++%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%A1&source=bl&ots=Wv46e8_zak&sig=eEAGD_6UkkLZf-YzF7oj0jK8TA4&hl=th&sa=X&ved=0ahUKEwiApNGbgr3KAhXQHI4KHUSdAC4Q6AEIEzAA#v=onepage&q=%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%20%20%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%A1&f=false) ;D



กระทู้: พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 22 ม.ค. 16, 19:07
ขอบคุณคุณเทาชมพูมากครับ ผมก็ว่าแบบนั้นแลเลยถามก่อน

แต่หนังสือผมก็มุขมังกรเหมือนกันนะครับ