เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: พลายงาม ที่ 11 พ.ค. 01, 05:17



กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: พลายงาม ที่ 11 พ.ค. 01, 05:17
...อันเนื่องมาจากกระทู้ RW 520 เรื่อง กลโคลง ทีคุณเทาชมพูได้นำกลโคลงแบบต่างๆมาให้ศึกษา

...ผมจึงขอเปิดกระทู้นี้ขึ้นมา เพื่อแนะนำถึงการแต่งโคลงสี่สุภาพ ซึ่งถือว่าเป็นโคลงที่แพร่หลายที่สุด เพื่ออยากให้ทุกคนได้ทราบถึงหลักในการแต่ง ทั้ง ฉันทลักษณ์ รสความ และ รสคำ โดยในหัวข้อแรก ผมขอเน้น ฉันทลักษณ์ก่อนครับ

ฉันทลักษณ์ โคลงสี่สุภาพ

o o o เอก โท.......o ก (o o)
o เอก o o ก........เอก ข(โท)
o o เอก o ก........o เอก (o o)
o เอก o o ข(โท).......เอก โท o o

กฎ :
๑. โคลงสี่สุภาพหนึ่งบท หนึ่งบทมี ๔ บาท บาทละ ๒ วรรค บาทที่ ๑-๓ บังคับคำบาทละ ๗ คำ ส่วนบาทที่ ๔ บังคับคำ ๙ คำ (ตรงนี้ผมขอเน้นเป็นคำ ไม่ใช่ พยางค์ นะครับ เพราะอะไรจะคุยทีหลัง)
๒. บังคับคำวรรณยุกต์เอก ๗ คำ และคำวรรณยุกต์โท ๔ คำ ตามผัง คือ (เฉพาะบังคับเอกสามารถใช้คำตายแทนได้)
๒.๑ บาทที่ ๑ บังคับเอกที่คำที่ ๔ และโทที่คำที ๕ (เฉพาะบาทนี้ สามารถสลับตำแหน่ง เอก โท ได้ ครับ)
๒.๒ บาทที่ ๒ บังคับเอกที่คำที่ ๒ และ ๖ บังคับโทที่คำที่ ๗
๒.๓ บาทที่ ๓ บังคับเอกที่คำที่ ๓ และ ๗
๒.๔ บาทที่ ๔ บังคับเอกที่คำที่ ๒ และ ๖ และบังคับโท ที่คำที่ ๕ และ ๗
๓. บังคับสัมผัสสระ
 ๓.๑ คำสุดท้าย ของบาทที่ ๑ สัมผัสกับคำที่ ๕ ของบาทที่ ๒ และ ๓ และคำสัมผัสนี้ ไม่นิยมใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์
 ๓.๒ คำสุดท้ายของบาทที่ ๒ สัมผัสกับคำที่ ๕ ของบาทที่ ๔
๔. สามารถเติมคำสร้อยได้ ในบาทที่ ๑ และ ๓ (บางตำราว่าบาทที่ ๔ ก็เติมได้ แต่ไม่นิยมครับ) เฉพาะกรณีเนื้อความไม่ครบหรือสื่อความหมายไม่สมบูรณ์ แต่ขอให้เป็นคำเดียวแล้วหาคำสร้อยมาเติมเอา เช่น พ่อนา แม่เอย รักฤๅ เป็นต้น
๕. คำสุดท้ายของบท ให้จบด้วยคำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์ และขอให้เป็นเสียงจัตวา หรือ สามัญ ถ้าจบเป็นคำเสียงจัตวาได้จะดีมาก เพราะการอ่านโคงต้องอาศัยลูกเอื้อน ครับ

...ว่าเรื่องทฤษฎี ไปเยอะแล้ว ตอนนี้ลองมาดูตัวอย่างนะครับ
ขอยกตัวอย่างโคลงต้นแบบ ถือถือว่าเป็นโคลงครู มา ๒ ตัวอย่าง ถ้าจำบทไดบทหนึ่งได้ จะได้ฉันทลักษณ์โคลงฯ โดยอัตโนมัติ ครับ

โคลงบทแรก จากนิราศนรินทร์

o จากมามาลิ่วล้ำ.....ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง.......พี่พร้อง
เรือแขวงช่วยพานาง...เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง.......คล่าวน้ำตาคลอ

อีกบท จากลิลิตพระลอ
 
o เสียงลือเสียงเล่าอ้าง.....อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร..........ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล..........ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า..............อย่าได้ถามเผือ

หมายเหตุ ถ้าโคลงที่หยิบยกมาผิดพลาด ต้องขออภัยด้วยครับ เพราะตอนนี้นั่งพิมพ์จากความทรงจำล้วนๆ

ตัวอย่างโคลงฯ ที่สลับตำแหน่งเอก โท ในบาทแรก บทนี้ผมคิดว่าเป็นสุดยอดโคลงบทหนึ่ง

o อุรารานร้าวแยก.......ยลสยบ
เอนพระองค์ลงทบ........ท่าวดิ้น
เหนือคอคชซอนซบ......สังเวช
วายชีวาตม์สุดสิ้น........สู้ฟ้าเสวยสวรรค์

ขอจบทฤษฎี ฉันทลักษณ์ ไว้แค่นี้ เดี๋ยวเรามาลองแต่งกันครับ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: พลายงาม ที่ 26 เม.ย. 01, 11:32
ปัญหาของคนที่จะเริ่มแต่งโคลงใหม่ๆ คือ ไม่รู้จะเริ่มจากตรงใหน จะสื่อความหมายอย่างไร หรือบางคนก็คิดว่ายาก ผมขอตอบรวมๆครับว่าถ้าแม่นฉันทลักษณ์ จะไม่ยากเลย จะผูกเนื้อความอย่างไรก็ได้ แต่งได้หมดครับ ตอนนี้ผมจะหยิบยกกลอน ท่านสุนทรภู่ ที่คิดว่าทุกท่านรู้จักดีมาลองแต่งนะครับ

กลอนเดิม (ถ้าจำผิดพลาดบางส่วนขออภัยครับ)
...อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนไม่แคลนคลาย
เจ็บจนตายก็ไม่เหน็บเท่าเจ็บใจ

ตอนนี้จะขอเริ่มผูกโคลงทีละบาท

๑. จากกลอนวรรคแรก " อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก "
เพื่อให้ความหมายใกล้เคียงกันผมจะลองเปลี่ยนเป็นดคลงอย่างนี้ ครับ

อ้อยตาลหลังผ่านลิ้น......สิ้นหวาน แม่นา

ตอนแรกอยากผูกเป็น อ้อยตาลยามผ่านลิ้น....สิ้นหวาน แต่ดูความหมายแล้วไม่กลมกลืน เลยแก้เป็น ยาม เป็น หลัง และเติมสร้อยให้ความหมายสมบูรณ์ขึ้น ครับ

๒. จากกลอนวรรคที่ ๒ "แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย "
วรรคนี้ ผมอยากผูกโคลงเป็น "แต่ลมปากยังกังวาน.....ไม่สิ้น" แต่วรรคแรกมี ๖ คำ และผิดตำแหน่งเอก และ คำว่า สิ้น จะยากในการหาสัมผัส ในบาทที่ ๔ เลยขอแก้เป็น

ลมปากยังกังวาน.....กู่ก้อง

ถึงจะไม่ได้ความหมายเท่าที่ควร แต่ง่ายในการแต่งบาทต่อๆไป เยอะ

๓. กลอนวรรคที่ ๓ "แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนไม่แคลนคลาย"

อันนี้ยก ๓ คำแรกของวรรคมาผูดโคลงได้เลย ผมก็ผูกได้เป็น

แม้นเจ็บอื่นพบพาน.....สามารถ ข่มเอย

อันนี้ก็ต้องเติมสร้อยอีก เพื่อให้ความหมายสมบูรณ์

๔. กลอนวรรคสุดท้าย "เจ็บจนตายก็ไม่เหน็บเท่าเจ็บใจ "

บาทนี้จะยากนิดหนึ่ง เพราะต้องสรุปให้ลงตัว ความหมายกลอน บอกว่า เจ็บใจแม้ตายก็ไม่จางหาย ผมเลยผูกโคลงได้ดังนี้

แต่เจ็บใจสุดป้อง......ห่อนร้างจางหาย

สรุป ถ้าทุกคนเห็นด้วยกับผม จะได้โคลงออกมาแบบนี้ครับ

o อ้อยตาลหลังผ่านลิ้น.....สิ้นหวาน แม่นา
ลมปากยังกังวาน.............กู่ก้อง
แม้นเจ็บอื่นพบพาน..........สามารถ ข่มเอย
แต่เจ็บใจสุดป้อง..............ห่อนร้างจางหาย

ตอนนี้อยากให้ทุกคนลองแต่งดู จะแต่งอย่างไรก็ได้ หรือจะเอากลอนเก่าๆมาแปลง ก็ไม่ว่ากันครับ เพราะเราแปลงเพื่อการฝึกปรือ ไม่ได้ลบลู่ แล้วมาช่วยกันดู ใครจะแก้ไขหรือแนะนำโคลงที่ผมแปลงก็ได้ครับ ถือว่ามาเรียนรู้ด้วยกัน


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: สวิริญช์ ที่ 26 เม.ย. 01, 12:33
ขอบคุณคุณพลายงามมากค่ะที่ตั้งกระทู้นี้เพิ่งตอบที่กระทู้เก่าว่ายังไม่เข้าใจเรื่องฉันทลักษณ์ของโคลงอยู่พอดี เดี๋ยวพิมพ์ออกไปอ่าน สงสัยอะไรจะโพสต์เข้ามาถามนะคะ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีมนต์ ที่ 26 เม.ย. 01, 17:59
ตามมาเข้าห้องเรียน ด้วยคนนะคะ
จะได้กลับเล่นกล กะโคลงต่อค่ะ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: พลายงาม ที่ 26 เม.ย. 01, 21:13
ผมให้การบ้านไว้ลองฝึกดีกว่าครับ

๑. ลองเรียงประโยคใหม่และจัดเป็นรูปโคลงฯดูนะครับ
บาทที่ ๑  กายเอยเคยเหนื่อยล้าเพียงใด
บาทที่ ๒ หยัดยืนฝืนใจกายต่อสู้
บาทที่ ๓ ลำบากแม้แค่ไหนไม่บ่นเลยเฮย
บาทที่ ๔ ขอเรียนเพียรแค่รู้เพื่อสร้างความฝัน

๒. ลองหาคำมาเติมให้ครบครับ

o แสงทองสาดสู่(?).........ชลธี
ก่อเกิดการสะท้อน(?).......จากน้ำ
แพรวพราว(?)มณี..........สาด (?) ประกายนา
งาม(?)ช่างงาม(?).........(?)(?)พรรณนา ฯ

๓. ลองแต่งต่อให้จบครับ โดยผมกำหนดบาทแรกให้ ดังนี้ เลือกเอาแบบใดแบบหนึ่ง หรือ ๒ แบบก็ไม่ว่ากันครับ

บาทที่ ๑ ดาษดื่นดาวส่องฟ้า........นภาลัย
หรือ ดาษดื่นดาวส่องฟ้า........ราตรี


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: pink ribbon ที่ 26 เม.ย. 01, 22:48
กายเอยเคยเหนื่อยล้า.............เพียงใด
ยืนหยัดฝืนกายใจ.....................ต่อสู้
แม้ลําบากแค่ไหน.....................ไม่บ่น  เลยเฮย
ขอแค่เพียงเรียนรู้......................เพื่อสร้าง  ความฝัน


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: pink ribbon ที่ 26 เม.ย. 01, 22:55
แสงทองสาดสู่ท้อง...............ชลธี
ก่อเกิดการสะท้อนสี............จากนํ้า
แพรวพราวดุจมณี...............สาดส่อง  ประกายนา
งามยิ่งช่างงามลํ้า...............สุดพรํ่า  พรรณาฯ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: pink ribbon ที่ 26 เม.ย. 01, 22:58
รู้สึกว่า วรรคสุดท้ายจะผิดค่ะ ขอแก้เป็น

งามยิ่งช่างงามลํ้า..............สุดเอื้อน...พรรณาฯ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: pink ribbon ที่ 26 เม.ย. 01, 23:01
แสงทองสาดสู่ท้อง...............ชลธี
ก่อเกิดการสะท้อนสี............จากนํ้า
แพรวพราวดุจมณี...............สาดส่อง ประกายนา
งามยิ่งช่างงามลํ้า..............สุดเอื้อน  พรรณนา ฯ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: pink ribbon ที่ 26 เม.ย. 01, 23:17
ดาษดื่นดาวส่องฟ้า...............นภาลัย
วิบวับวาวจับใจ...................เจิดจ้า
จิ้งหรีดหริ่งเรไร.....................ร้องรํ่า
ครวญครํ่าใคร่ไขว่คว้า...........นุชน้อง  มาครอง


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: pink ribbon ที่ 26 เม.ย. 01, 23:21
เข้ามาแย่ง การบ้านน้องหน่อย สวิริญช์ กับคุณศรีมนต์ ทําเสียแล้ว  ไม่ทราบว่าจะทําผิดและถูกครูพลายตีเอาหรือเปล่านะคะ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 27 เม.ย. 01, 03:02
ขออภัย เรื่องที่จะถามนี้ไม่เกี่ยวกับการแต่งโคลงสี่เท่าไหร่ แต่กังขาว่า สุภาพ ในที่นี้แปลว่าอะไรเป็นพิเศษครับ เห็นมีทั้งโคลง (สี่) สุภาพ และกลอนสุภาพ ร่ายสุภาพอีก

ผมรู้ว่าโคลงสุภาพนั้น ความหมายคือคือไม่ใช่โคลงดั้น แต่กลอนสุภาพนี่ไม่รู้ แต่ที่ผมกังขาก็คือ ทำไมใช้คำว่า "สุภาพ" ในความหมายนี้ เราๆ มักจะนึกว่า สุภาพ แปลว่า polite (ซึ่งไม่ใช่ในกรณี โคลงสี่ "สุภาพ" ) ขอรบกวนท่านผู้รู้ด้วยเถิด...

โดดลงมาแล้วขอเล่นด้วย (ตามประสาคนอยากเป็นกวีแต่ไม่มีฝีมือ) ดังนี้ -

หนึ่งสองสามสี่ห้า....... หกเจ็ด
แปดต่อเก้าสิบสิบเอ็ด ......อ่านได้
สิบสองสิบสามเสร็จ...... สิบสี่ ต่อนา
...ร้อยแปดพันเก้าใช้ ........ จดด้วยเลขสยาม เถิดเอยฯ
... แต่คนเขียนเองก็ชอบใช้เลขอารบิกเหมือนกัน มันชินมือน่ะครับ  

เขียนเป็นโคลงที่ไม่ใช่กลโคลงได้ดังนี้
๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ........ ๖ ๗
๘ ต่อ ๙ ๑๐ ๑๑.... อ่านได้
๑๒ ๑๓ เสร็จ ....... ๑๔ ต่อนา
- - ๑๐๘ /๑๐๐๙ ใช้....จดด้วยเลขสยาม เถิดเอยฯ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 27 เม.ย. 01, 03:15
เฮ้ พ่อพลาย (พ่อไม่ลงไปแทงหอกดวลกับสากเสียที เลยต้องขึ้นมาตาม)
ตะเลงพ่าย ที่พ่อยกมาเป็นโคลงครูนั้น (อุรารานร้าวแยก ยลสยบฯ) ผมคิดว่าพ่อพลายพิมพ์ผิดในบาทสุดท้ายนะครับ
ถ้าถือตามบังคับเอกจ็ดโทสี่ คำที่ 2 ของบาทที่สี่ต้องเป็น "วาย- ชิ- วาตม์สุดสิ้น...."  ไม่ใช่หรือครับ ไม่ใช่ "วาย -ชี- วาตม์ ...."  ถ้าจำไม่ผิด สระอิ ไม่ใช่สระอี
ตะเลงพ่าย (หรือ เตลง พ่าย? จำไม่ได้ครับ) มีโคลงบทที่ผมชอบมากๆ หลายบท รวมบทนี้ด้วย สุดยอดจริงอย่างคุณว่า จำอีกบทได้ไหมครับ
...พระพี่พระผู้ผ่าน.... ภพอุต-ตมเฮย
ไป่ชอบเชษฐยืนหยุด..... ร่มไม้
เชิญราชร่วมคชยุทธ ..... เผยอเกียรติ (...?)
สืบแต่สองเราไซร้ ....... แต่นี้ฤามีฯ
และ
...พระราญรอนอริด้วย .....เดโช
สี่ทาสสนองบาทโท.... ท่านท้าว
พระยศยิ่งภิยโย ......... (?????)
สองรอดโดยเสด็จด้าว.... ศึกสู้เสียสองฯ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: วิมาลา ที่ 27 เม.ย. 01, 06:18
ท่านปู่ขา หนูว่ามันไม่สุภาพอีตรงใช้สากเนี่ยะค่ะ

ขออำภัยพ่อพลายคนดี  วิมาลาแต่งไม่เป็นทั้งโคลงทั้งกลอน  อยากมายุ เอ๊ย เชียร์ให้พ่อพลายไปรบกะท่านปู่นะคะ

เห็นจะต้องศึกษาผังโคลงอีกหลายปีกว่าจะแต่งได้น่ะค่ะ  ช่วยยกตัวอย่างโคลงดั้นโบราณๆหน่อยได้มั้ยคะ  อย่างโคลงดั้นอีสานหรือล้านนาน่ะค่ะ  เพราะไม่ค่อยได้เห็นมาก  อยากจะทราบวิวัฒนาการของโคลงน่ะค่ะ  ว่าจากโคลงโบราณพวกนี้  ค่อยๆผันแปรมาเป็นฉันทลักษณ์โคลงปัจจุบันอย่างไรน่ะค่ะ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ชายต๊อง ที่ 27 เม.ย. 01, 07:07
ขอเข้ามาเรียนอีกคนครับ หลังจากที่เคยเรียนตั้งแต่ม. ต้น ก็ลืมเกือบหมด   ช่วงนี้ต้องขอตัวไปสอบซัมเมอร์อีกวิชาที่ค้างก่อนนะครับ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: พลายงาม ที่ 27 เม.ย. 01, 12:38
ก่อนจะตรวจการบ้าน และตอบคำถาม และไปเล่นลิเกซัดกับปู่ชาละวิน ขอว่าเรื่องทฤษฎีอีกนิดครับ

...จากที่ผมเปรยไว้ว่า การนับคำในโคลง ที่นับบาทที ๑-๓ ใช้คำ ๗ คำ และบาทสุดท้าย ใช้คำ ๙ คำ ทำไมผมไม่ใช้พยางค์ ก่อนอื่นคงต้องท้าวความกันสักนิดก่อน
...พยางค์ คือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ จะมีความหมายและไม่มีความหมายก็ได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำ
...ในการแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์ ซึ่งถือครุ ลหุ เป็นสำคัญ เรานับแต่ละพยางค์ เป็นหนึ่งคำเสมอ ประกาย, มณี, สะท้อน เรานับเป็น ๒ คำเสมอ แต่ในคำประพันธ์ประเภทอื่น ถ้าเป็นคำประสมกับสระเสียงสั้น เช่น ประกาย, มณี, สะท้อน เราจะนับเป็น ๑ หรือ ๒ คำก็ได้
...เช่นถ้าคำว่า มณี ไปอยู่ในโคลงฯ เราสามารถนับเป็น ๑ หรือ ๒ คำได้ แล้วแต่ลักษณะบังคับ เช่น

" แพรวพราวดุจมณี.....สาดส่อง ประกายนา "
ในที่นี้ต้องนับ มณี เป็น ๒ คำ เวลาอ่านออกเสียงต้องออกเสียงหนักทั้ง ๒ พยางค์ คือ มะ กับ ณี
 
" แพรวพราวพร่างดุจมณี.....สาดส่อง ประกายนา "
อันนี้ต้องนับ มณี เป็น ๑ คำ เวลาอ่านออกเสียงต้องอาศัยลูกเก็บ คือไม่ออกเสียงหนัก เหมือนกับการอ่าน มะ ในตัวอย่างแรก ให้เน้นที่คำ ณี เพราะเป็นตำแหน่งเสียงหนัก และรับสัมผัส

สังเกตัวอย่างนี้นะครับ จากโคลงนิราศสุพรรณ ของ ท่านสุนทรภู่

o เสลาสลอดสลับสร้าง.........สลัดได
สะอึกสะอะสะอมสะไอ.........สะอาดสะอ้าน
มะแฟ่มะฟาบมะเฟืองมะไฟ.......มะแฟบมะฟ่อ พ่อเอย
ตะขบตะขาบตะเคียนตะคร้าน......ตะคร่อตะไคร้ตะเคราตะครอง

...จะเห็นว่าบาทสุดท้ายบังคับ ๙ คำ  แต่ถ้านับเป็นพยางค์ จะได้ถึง ๑๖ พยางค์
... และให้สังเกต จะพบว่า คำตำแหน่งเอกบังคับ ในวรรคสุดท้าย คือ ตะคร่อ และคำตำแหน่งโทบังคับ คือ ตะไคร้ ดังนั้นเวลาอ่านโคลงบทนี้ ต้องอ่านออกเสียงรวบรัดเก็บลูกบทให้ดี โคยเฉพาะเสียง ตะ ในบาทสุดท้ายแทบจะไม่เปล่งเสียงออกมา ลักษณะนี้จะมีทำนองกระโดดไปมา ครูกลอน ท่านเรียกว่า คุดทะราดเหยียบกรวด  

...หวังว่าคงพอเป็นแนวทางนะครับ คงจบเรื่องการนับคำในโคลงฯ ไว้แค่นี้


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: พลายงาม ที่ 27 เม.ย. 01, 13:38
---> การบ้านที่ คุณ pink ribbon ทำส่งมา ถูกทั้ง ๓ ข้อ ครับ โดยเฉพาะข้อ ๓ ประทับใจมาก แม้จะผิดในครั้งแรก แต่ก็แก้ไขมาส่งได้อย่างดี แต่วรรคสุดท้าย ตรงคำว่า " มาครอง " ยังสามารถหาคำมาใช้ได้ดีกว่านี้  ลองเปลี่ยนเป็นคำอื่นดูนะครับ จะทำให้โคลงบทนี้เด่นขึ้นอีกเยอะ อยากให้เป็นตัวอย่าง ในการเลือกคำมาใช้ในการแต่งโคลง ซึ่งถือเป็นกลเม็ดอย่างหนึ่ง คือการใช้สัมผัสอักษรเรียงกันหลายคำในแต่ละวรรค โดยไม่ทำให้ห้ความหมายเสียไป ตรงนี้ขอย้ำว่า การแต่งโคลงจะเน้นสัมผัสอักษรมากกว่าสระ นอกจากสัมผัสบังคับ  

-----> ตอบ ปู่ นกข. ครับ
...เรื่องคำว่า กลอนสุภาพ ผมขออ้างอิง จากอาจารย์กำชัย ทองหล่อ ท่านอธิบายไว้ว่า ที่เรียก กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า ว่ากลอนสุภาพ นั้น ก็เนื่องจากเป็นกลอนที่ใช้ถ้อยคำและทำนองเรียบๆง่ายๆ ในการแต่งนั่นเอง
...โคลงที่ปู่แต่งมา มีความหมายในเชิงเชิญชวนให้คนไทย หันมาใช้เลขไทยในการเขียน แต่ผมอ่านแล้วไปสะดุดตรงบาทที่ ๒ วรรค ๒
ครับปู่ ประโยค " อ่านได้ "  แล้วมาเริ่มเขียน ๑๒ ต่อในบาทที่ ๓ แล้วปู่มาสรุปในวรรคสุดท้าย ว่า " จดด้วยเลขสยาม เถิดเอย "  ความเห็นผม ถ้าเปลี่ยนคำว่า" อ่านได้ "เป็น" ท่องไว้ " น่าจะดีขึ้นครับ (ไม่รู้ไปสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำหรือเปล่า อิอิ )
...ขอบคุณที่ปู่ ช่วยมาแก้โคลงจากลิลิตตะเลงพ่าย ให้ครับ ผมกลับขึ้นไปอ่นแล้ว ผิดไปจริงๆ รวมทั้งโคลงครู จากนิราศนรินทร์ ก็ผิดอยู่ ๑ ที่ คือ บาทที่ ๓ เป็น เรือแผง ครับ ไม่ใช่ เรือแขวง
...ส่วนโคลงที่ปู่ถามมาผมคุ้นๆแต่นึกไม่ออกครับ หนังสือทีผมมีอยู่ เขาใช้ ลิลิตตะเลงพ่าย ครับ

----> คุณวิมาลา
...คำประพันธ์ประภทโคลง ซึ่งบังคับรูปวรรณยุกต์ คือ เอก โท และบังคับสัมผัส มีหลักฐานว่ามีต้นกำเนิดมาจากทางภาคเหนือและอีสาน ก่อน แล้วจึงแพร่หลายมาสู่ภาคกลางของไทย วรรณกรรมที่แต่งด้วยโคลงที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุดคือ โองการแช่งน้ำโคลงห้า ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น
...สำหรับโคลงประเภทอื่นๆ สันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากภาคเหนือหรือลานนา เช่น โคลงสี่ดั้น ได้แก่ ลิลิตยวนพ่าย โคลงสุภาพ (ไม่ว่าจะเป็น โคลงสอง โคลงสาม และโคลงสี่ ) ได้แก่ ลิลิตพระลอ เป็นต้น ส่วนโคลงสองดั้น โคลงสามดั้น เริ่มปรากฎในสมัยรัตนโกสินทร์ นี่เอง
...สำหรับตัวอย่างโคลงโบราณ ทางเหนือ หรือ อีสาน ถ้าใครมี รบกวนช่วยโพสท์ให้หน่อยครับ

----> ชายต๊อง
ตั้งใจสอบก่อนแล้วกันนะ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: พลายงาม ที่ 27 เม.ย. 01, 15:15
...สำหรับการบ้านและคำถาม ถ้ามีก็ให้ส่งและถามมาได้เลยครับ คืนพรุ่งนี้ จะแวะมาตรวจอีกที เพราะเย็นนี้ต้องไปธุระ จะกลับมาอีกทีก็เย็นพรุ่งนี้ครับ

ขอฝากการบ้านให้ลองแต่งโคลงสี่สุภาพมาส่งครับ แต่งอย่างไรก็ได้ ผิดพลาดอย่างไรเดี๋ยวมาช่วยกันดู จะเป็นการฝึกปรือฝีมือได้เร็วที่สุด


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ชายต๊อง ที่ 27 เม.ย. 01, 17:16
มาส่งการบ้านข้อ 3
  ดาษดื่นดาวส่องฟ้า........ราตรี
ดั่งเพชรเกล็ดมณี.............เกลื่อนฟ้า
พิสุทธิ์ดุจรตี...................ของแม่เรียมเอย
เป็นหนึ่งในแหล่งหล้า.......จิตข้าถึงเรียม
...........................................
 ชายรู้สึกว่าแต่งพิกลยังไงไม่รู้ อาพลายงามช่วยแก้ไขด้วยครับ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 27 เม.ย. 01, 18:42
เล่นด้วยคน

         ดาษดื่นดาวส่องฟ้า   ราตรี
       ฤๅแข่งแรงรัศมี       ศศิเจ้า
       นวลนางทั่วปฐพี       มีมาก
       ฤๅที่จะมีเข้า          เทียบสู้ น้องเรา
  ดาษดาวกลางนภา       ฤาจะมาสู้จันทร์เจ้า
สาวอื่นมิขอเหมา           ขอจะเอาแต่น้องนาง


สุดท้าย กลอนพาไปเหมือนกัน  :-)

จากความเห็นที่๑๕
คุดทะราดเหยียบกรวด ที่ว่า ไม่ทราบมีความสัมพันธ์กับเพลงคุดทะราดเหยียบกรวด หรือเปล่า


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: pink ribbon ที่ 27 เม.ย. 01, 21:09
ดาษดื่นดาวส่องฟ้า...............นภาลัย
วิบวับวาวจับใจ...................เจิดจ้า
จิ้งหรีดหริ่งเรไร.....................ร้องรํ่า
ครวญครํ่าใคร่ไขว่คว้า...........นุชน้อง นวลนาง

ไม่ทราบว่าแก้ไขใหม่แล้วจะแย่กว่าเดิมหรือเปล่านะคะคุณครู


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีมนต์ ที่ 27 เม.ย. 01, 23:07
นักเรียน อายคุณครูจังค่ะ
ไม่ได้ทำการบ้านสักที
แต่ก็ตามอ่านบทเรียนอยู่นะคะ
ขอโมเม.. ลาป่วยแล้วกันค่ะ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: พลายงาม ที่ 28 เม.ย. 01, 16:10
แวะมาตรวจการบ้านต่อครับ

----> ชายต็อง

ดาษดื่นดาวส่องฟ้า.......ราตรี
ดั่งเพชรเกล็ดมณี..........เกลื่อนฟ้า
พิสุทธิ์ดุจรตี...................ของแม่ เรียมเอย
เป็นหนึ่งในแหล่งหล้า.......จิตข้าถึงเรียม

ขอว่าไปทีละบาทแล้วกัน บาท ๑ ผ่านไปก่อน
บาทที่ ๒ ดั่งเพชรเกล็ดมณี........เกลื่อนฟ้า
มองเผินๆ เหมือนบาทนี้ถูกต้อง แต่ดูที่คำบังคับโท ในบาทนี้นะ ชายใช้คำว่าฟ้า ซึ่งเหมือนกับคำบังคับโทในบาทแรก อันนี้ถ้าจะใช้ ก็ต้องเปลี่ยนคำที่ใดที่หนึ่ง เอาเป็นว่าไปเลือกแก้ที่ บาทที่ ๑ แล้วกัน เผื่อบาทต่อไปไม่ต้องแก้ เอาเป็นว่า แก้บาทที่ ๑ เป็น
บาทที่ ๑....ดาษดื่นดาวเด่นห้วง.........ราตรี
บาทที่ ๒....ดุจเพชรเกล็ดมณี..............เกลื่อนฟ้า ---> อันนี้ขอแก้ ดั่ง เป็น ดุจ เพื่อไม่ให้ รกเอก เพราะอะไรจะคุยทีหลัง
บาทที่ ๓ ของเดิม ...พิสุทธิ์ดุจรตี.......ของแม่ เรียมเอย ----> วรรคนี้แหละที่ผิดอย่างจังๆ ไม่ได้ผิดฉันทลักษณ์ แต่ผิดความหมายครับ เพราะคำว่าเรียม หมายตัวเราที่คร่ำครวญหาคนรักนะ ไม่ได้หมายถึงผู้หญิง อันนี้หักคะแนน ๒๐ คะแนน อิอิ แต่ไม่เป็นไรบอกให้แก้ก็แก้ให้ ขอแก้เป็น
บาทที่ ๓....ใสสุกดั่งรตี.......เรียมมอบ แม่เอย
ตรงนี้ขอแก้ พิสุทธิ์ เป็น ใสสุก เพราะเปรียบความรักที่พิสุทธิ์ กับ ประกายแสงดาวยังไงอยู่
บาทที่ ๔ ...เป็นหนึ่งในแหล่งหล้า.......จิตข้าถึงเรียม-----> อันนี้โดนหักอีก ๒๐ คะแนน อิอิ
อันนี้ขอแก้เป็น
บาทที่ ๔....อยากพบนวลเห็นหน้า.......เอ่ยย้ำพร่ำวจี
สรุปจะได้โคลงมาแบบนี้

@ ดาษดื่นดาวเด่นห้วง........ราตรี
ดุจเพชรเกล็ดมณี.................เกลื่อนฟ้า
ใสสุกดั่งรตี............................เรียมมอบ แม่เอย
อยากพบนวลเห็นหน้า.......เอ่ยย้ำพร่ำวจี ฯ

แล้วอย่าลืมแต่งบทใหม่มาส่งนะ บทนี้ให้ ๕๐ คะแนน ในฐานะที่ไม่ผิดฉันทลักษณ์

---- คุณภูมิ
ดีใจที่มาร่วมสนุกด้วยกันครับ แต่งเป็นกาพย์ห่อโคลงมา ผมขอแยกเป็น โคลงฯ กับ กาพย์ฯแล้วกันครับ
....โคลงที่แต่งมาใช้การเปรียบเทียบ ได้ดีมาก อันนี้อยากให้ทุกท่านได้ศึกษาไว้ แต่ บาทที่ ๔ ก็โดนโคลงพาไป จนเกือบกู่ไม่กลับ อันนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเจอแน่นอน คือบังคับสัมผัสคำโท ระหว่างบาทที่ ๒ และ ๔ อยากให้คิดคำมารับสัมผัส ก่อนลงมือแต่ง อันนี้ไหนๆก็มาแล้ว ผมขอลองแก้ดู  ผมแก้ได้เป็นแบบนี้

@ ดาษดื่นดาวส่องฟ้า........ราตรี
ฤๅจักเทียบรัศมี..................ศศิแพร้ว ---> แก้บาทนี้ให้ข้อความกลมกลืน
หญิงงามทั่วปฐพี...............มีมาก----> แก้นวลนาง เป็น หญิงงาม จะให้ความหมายสมบูรณ์กว่า
ฤๅจักเทียบนางแก้ว.........แห่งห้วงใจเรียม ----> ผมยังปิดบาทสุดท้ายไม่ดีนัก อันนี้ใช้คำต้นวรรคเหมือนบาทที่ ๒ เพื่อการเปรียบเทียบที่เด่นชัดขึ้น

ส่วน กาพย์ยานี ที่แต่งมา กลายเป็นกาพย์พาไปเหมือนกัน ดูที่วรรคที่ ๒ คำ จันทร์เจ้า สามารถเปลี่ยนคำได้อีกเยอะครับ เช่น จันทร อันนี้ผมอยากให้ลองแต่งมาใหม่ครับ ผมคิดว่าฝีมือระดับคุณภูมิแต่งได้ครับ

----> คุณ pink ribbon
ดีขึ้นเยอะครับ แล้วลองแต่งบทใหม่มาส่งนะครับ แต่งบาทแรกมาอย่างไรก็ได้

----> คุณศรีมนต์
หายป่วยแล้วแต่งมานะครับ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: พลายงาม ที่ 28 เม.ย. 01, 18:19
...คุณภูมิถามมาเรื่อง คุดทะราดเหยียบกรวด มีความสัมพันธ์กับเพลงคุดทะราดเหยียบกรวดหรือเปล่า อันนี้ผมก็ไม่ทราบครับ ยอมรับว่าไม่รู้จักเพลงคุดทะราดเหยียบกรวดจริงๆ แต่ถ้าเพลงนี้มีทำนองกระโดดไปมา น่าจะใช่ครับ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 01, 18:36
หาโคลงโบราณของทางเหนือ ไม่พบค่ะ

พบแต่โคลงโบราณ (เฉยๆ)

http://thaiarc.tu.ac.th/host/thaiarc/poetry/khloong/bowlarn/index.html#kbvichu


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ชายต๊อง ที่ 29 เม.ย. 01, 15:49
ขอบคุณครับท่านอาจารย์   ที่ชี้แนะ ชายจะไปฝึกฝนครับ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: พลายงาม ที่ 29 เม.ย. 01, 19:28
...ยังไม่มีใครส่งการบ้านเพิ่มเลยเหรอเนี่ย
...มิเป็นไร มาว่าเรื่องทฤษฎีกันต่อ ว่าด้วยเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยในการแต่งโคลง ก็แล้วกัน

...อย่างแรก สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงในการแต่งร้อยกรองทั่วไป คือ การใช้คำที่มีความหมายเดียวกันซ้ำซ้อนในวรรคเดียวกัน โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร
...ตัวอย่างเช่น " ราตรีดาวดาราพร่างสว่างฟ้า "  จะเห็นว่าทั้ง ดาว และ ดารา ก็คือดาวเหมือนกัน ตัดคำใดคำหนึ่งออก ก็ไม่ได้ทำให้ความหมายขอวกลอนวรรคนี้เปลี่ยนไป
...อีกตัวอย่าง " น้ำตาใหลชลเนตรหลั่งพี่นั่งตรม " ตัวอย่างนี้ ก็เหมือนกัน ทั้ง น้ำตาใหล กับ ชลเนตรหลั่ง ก็คือ น้ำตาใหลออกมาเหมือนกัน ตัดประโยคใดปะโยคหนึ่งออกก็มีความหมายเหมือนเดิม
...แต่ลักษณะการซ้ำคำในร้อยกรองมีนะครับ และเป็นเทคนิคการแต่งชนิดหนึ่งซะด้วย ส่วนใหญ่จะพบใน โวหารเปรียบเทียบ หรอ อุปมาโวหาร  
...ขอยกตัวอย่างกลอนจาก  "  รามเกียรติ์ "  ที่เปรียบเทียบได้กินใจบทหนึ่ง

@ พิศพักตร์ผ่องพักตร์ดั่งจันทร........พิศขนงก่งงอนดั่งคันศิลป์
พิศเนตรดั่งเนตรมฤคิน........พิศทนต์ดั่งนิลอันเรียบราย

...จากตัวอย่างกลอนบทนี้ จะใช้คำ พักตร์ ซ้ำในวรรคที่ ๑ และ เนตร ซ้ำ ในวรรคที่ ๓ แต่ลองตัดคำใดคำหนึ่งออกไปซิ กลอนจะเพี้ยนจนกู่ไม่กลับเลยครับ
...กระทู้เรื่องโคลงฯ แต่ทำไมมาคุยเรื่องกลอนหนอ ว่าถึงเรื่องโคลงก็เหมือนกันครับ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้คำที่มีความหมายซ้ำซ้อน ในแต่ละบาทเหมือนกัน
...ตัวอย่างเช่น " ขื่นขมตรมโศกเศร้า.....ระทมใจ "
...จะเห็นว่า ขื่นขม ตรม โศกเศร้า  ระทม ต่างมีความหมายไปในทางเดียวกัน บาทนี้แม้จะตัดบาทแรกออกทั้งวรรค ก็ยังคงความหมายที่เหมือนเดิม
...ถ้ใครสังเกต จาก การบ้านที่ผมผูกโคลงฯ บาทแรกไว้ จะมีบาทหนึ่งที่ผมผูกไว้ว่า
" ดาษดื่นดาวส่องฟ้า.......นภาลัย " คำว่า ฟ้า กับ นภาลัย มีความหมายถึง ท้องฟ้าเหมือนกัน ดังนั้นสมควรเปลียนที่คำว่า นภาลัยครับ (อุตส่าห์แต่งล่อให้มีนักเรียนถาม แต่ไม่มีใครถามเลย ไม่อยากบอกว่าพลาดเอง อิอิ)
...อันนี้ขอแก้ใหม่ ตามการบ้านที่คุณ pink ribbon ส่งมาแล้วกัน

@ ดาษดื่นดาวส่องฟ้า.......สุกใส
วิบวับวาวจับใจ................เจิดจ้า
จิ้งหรีดหริ่งเรไร...................ร้องร่ำ
ครวญคร่ำใคร่ไขว่คว้า.......นุชน้องนวลนาง

...อย่างที่สอง ให้ลองสังเกตโคลงฯบทนี้นะครับ

@ แรกเกิดจนมอดม้วย..........ดับไป
จากเด็กวัยสดใส.....................ก่อนนี้
จากวัยรุ่นสู่วัย........................ผู้ใหญ่
ต้องพบสุดหลีกลี้....................ทุกผู้คนไป

...ถ้ามองเผินๆ จะเห็นว่าโคลงบทนี้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ และความหมายก็ดี แต่ โคลงแบบนี้เขาเรียก  รกไอ ครับ คือมีคำผสมสระไอเยอะไหน่อย ลองนับคำที่ผสมสระไอดู มีคำว่า ไป วัย ใส วัย วัย ใหญ่ ไป ตั้ง ๗ คำ แล้วมาซ้ำกับบังคับสัมผัสสระด้วย ถึงไม่ซ้ำบังคับสัมผัสสระ ก็ควรหลีกเลี่ยงครับ นอกจากกลบทบางแบบ ถ้ามีคำ รูปวรรณยุกต์โทมาก เรียก รกโท เอกมาก ก็เรียก รกเอก ดังนั้นในการแต่งโคลงฯถ้าไม่ใช่ตำแหน่งบังคับ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงคำรูปโท รูปเอก นอกจากจะหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆครับ

...หวังว่าคงพอเป็นแนวทางบ้างนะครับ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: อุ้ยครับ ที่ 29 เม.ย. 01, 21:32
อิอิอิ...ตามมากวนปู่อีกแล้วครับผม

อุ้ยส่งการบ้านมั่งครับ (ขี้โกงนะครับ เอาของเก่ามาส่งครับ)

.....กล...กามตามเร่งเร้า.......เร่งเรา
บท........สื่อข้อความเขลา.....คิดเคล้า
สาย.......ใดยุ่ยบางเบา.........สายเก่า
ไหม.......มุ่นมวยมัดเกล้า......ศกเข้าสวยสม

[โคลงกลบทสายไหมครับ บังคับซ้ำเสียงสระในคำที่ ๕ และ ๗ ทุกบาท
(ทุกสตางค์ด้วยหรือเปล่าอุ้ยไม่ทราบครับ)]

แล้วนี่อุ้ยจะโดนตีมั้ยเนี่ย..แบบว่ามาป่วนอ่ะครับ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ชายต๊อง ที่ 30 เม.ย. 01, 11:20
มาส่งการบ้านฮะอาพรายงาม
รักเร่เร่รักล้น..................ให้หลง
รักร่วงร้างปลดปลง.......ขื่นเศร้า
รักแรกบ่มั่นคง...............ดั่งจิตคิดนา
รักจบจึ่งอ่อนล้า............เมื่อร้างจางรัก


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ชายต๊อง ที่ 30 เม.ย. 01, 11:25
พิมพ์ผิดครับ  อาพลายงาม


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: อุ้ยครับ ที่ 30 เม.ย. 01, 18:20
พี่ต๊องน้า..ไม่ทักอุ้ยซักคำเลยหรือครับ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: pink ribbon ที่ 30 เม.ย. 01, 22:37
เก็บก้อนกรวดเกลื่อนกลิ้ง.............กระดอน
หนาวเหน็บนั่งเอนนอน..................อ่อนล้า
ยินเสียงแว่วเห่าหอน.................เย็นเยือก  วังเวง
ไหวหวั่นหวาดวุ่นว้า...................ด่าวดิ้น เดียวดาย


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: พลายงาม ที่ 30 เม.ย. 01, 22:39
---> มาดูการบ้านที่หลานอุ้ย ส่งมาก่อนแล้วกันครับ
...แต่งมาเป็นโคลงกระทู้ ผสมกลบทสายไหม แบบมั่วมาสุดๆ อันนี้ปู่ขอเอาโคลงที่หลานแต่งมาแปะไว้อีกทีแล้วกัน

@ กล..กามตามเร่งเร้า......เร่งเรา
บท..สื่อข้อความเขลา.........คิดเคล้า
สาย..ใดยุ่ยบางเบา...........สายเก่า
ไหม..มุ่นมวยมัดเกล้า........ศกเข้าสวยสม

...อันนี้ที่มั่วก็คือรสความครับ ตรวจดูแต่ละบาทความหมายไม่เข้ากันเลย อันนี้ก็เข้าใจว่าหลานแต่งมา ผสมโคลงกระทู้ กับ โคลงกลบท ทำให้การแต่งโคลงยากขึ้นมาก แต่อยากจะสอนหลานครับว่า การแต่งโคลงฯ ถึงเราจะแต่งยากแค่ไหน ถ้ารสความไม่เข้ากัน ก็ไม่มีความหมายครับ อยากให้ลองพิจารณาโคลงกระทู้ของศรีปราชญ์ บทนี้

@ ทะ..เลแม่ว่าห้วย......เรียมฟัง
ลุ่ม..ว่าดอนเรียมหวัง......ว่าด้วย
ปุ่ม..เปือกว่าปะการัง......เรียมร่วม คำแม่
ปู..ว่าหอยแม่กล้วย........ว่าคล้ายเรียมตาม

...จากโคลงที่ยกมาจะเห็นว่า ในส่วนของคำกระทู้คือ ทะ ลุ่ม ปุ่ม ปู แม้ไม่มีความหมายต่อเนื่องกัน แต่ศรีปราชญ์สามารถนำคำเหล่านี้มาสร้างบทโคลง จนมีความหมายต่อเนื่องกันทั้งบทอย่างสุดยอดจริงๆ อันนี้อยากให้ทุกคนดูไว้เป็นตัวอย่างครับ
...ดังนั้น ปู่ขอให้การบ้านหลานอุ้ยแต่งมาใหม่ก็แล้วกัน ให้เป็นโคลงกระทู้ กล บท สาย ไหม เหมือนเดิม แต่แต่งมาให้มีรสความโดยรวมทั้งบทไปกันได้ก็แล้วกัน ไม่จำเป็นต้องบังคับคำสัมผัสแบบกลบทสายไหมก็ได้

@ กล..โคลงมาเร่งอุ้ย......ให้ลุย
บท..รจน์จึงกระจุย............หลุดหลุ้ย (ลุ่ย)
สาย..เลือดอยากลองฉลุย.....ดุ่ยดุ่ย
ไหม..หละจึงโดนคุ้ย...........ว่าวุ้ยเสียความ

...โคลงพาไปนะหลาน แต่งมาใหม่แล้วกันนะ

----> ชายต๊อง

@ รักเร่เร่รักล้น.......ให้หลง
รักร่วงร้างปลดปลง....ขื่นเศร้า
รักแรกบ่มั่นคง.........อย่างจิต คิดนา
รักจบจึงอ่อนล้า.......เมื่อร้างจางรัก

...โคลงฯบทนี้ที่แต่งมา ดีกว่าบทแรกที่แต่งมาส่งเยอะ แสดงว่าชายมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก แต่ถ้าชายอ่านกฎการแต่งโคลง ที่อาบอกไว้ในตอนเปิดกระทู้ อาจะบอกถึงการจบโคลงไว้นะ ว่าให้จบด้วย เสียงจัตวา หรือสามัญเท่านั้น และต้องไม่เป็นคำที่มีรูปวรรณยุกต์ แต่นี่ชายจบด้วยคำว่า รัก ซึ่งเป็นเสียง ตร๊ และ สำคัญที่สุดคือเป็นคำตาย ซึ่งไม่นิยมใช้กัน ตรงนี้อาพลายฯอยากให้ชายแก้มาก่อน ซึ่งแก้ได้ไม่ยากเลย และอยากให้แค่บาทแรกมาด้วย เปลี่ยน รักเร่ เป็น รักแรก เหมือน บาท ๓ ยังจะให้ความชัดกว่า เป็น " รักแรกแรก(?)(?) .....(?)หลง " ดีหละ  ลองคิดดูนะ แต่อย่างไรก็ตามบทนี้ให้ ๗๐ คะแนน


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: pink ribbon ที่ 30 เม.ย. 01, 23:02
คุณครู พลายงาม ลืมตรวจการบ้าน นักเรียนในความเห็นที่ 31 ค่ะ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: พลายงาม ที่ 30 เม.ย. 01, 23:14
----> คุณ pink ribbon

@ เก็บก้อนกรวดเกลื่อนกลิ้ง......กระดอน
หนาวเหน็บนั่งเอนนอน............อ่อนล้า
ยินเสียงแว่วเห่าหอน...............เย็นเยือก วังเวง
ไหวหวั่นหวาดวุ่นว้า...............ด่าวดิ้นเดึยวดาย

...อันนี้ก็เหมือนกันครับ คือรสความของโคลงไม่ชัด ไม่แน่ใจว่าจะสื่อความหมายไปทางไหน ดูที่บาทแรก กับ บาทที่ ๒ นะครับ บาทแรกบอก เก็บก้อนกรวดที่กระดอน แต่ บาท ๒ ถึงกับหนาวเหน็บแล้วอ่อนล้า ตรงนี้ไม่น่าจะใช้คำว่า หนาวเหน็บครับ เพราะทำให้โคลงเพี้ยนไปเลย ผมจะแก้ บาท ๑ กับ บาท ๒ ให้นะครับ

@ เก็บก้อนกรวดเกลื่อนพื้น......ดินดอน
ลุกนั่งไม่ได้นอน.....................อ่อนล้า

...จะเห็นว่า ๒ บาททีแก้ให้ จะได้ความชัดเจนกว่า คือบอกความหมายตรงๆออกไปเลย
...ส่วนบาทที่ ๓ ผิดตรงสร้อยโคลงครับ ถ้ากลับไปอ่านที่ผมอธิบายไว้ เรื่องการเติมสร้อยโคลง จะให้ใช้คำที่มีความหมายต่อเนื่องแค่คำเดียว แล้วมาเติมสร้อยคำ เช่น ฤๅ แม่ นา เอย แฮ เป็นต้น ดังนั้น การเติมสร้อยโคลงในบาทนี้ผิดครับ วังเวง เป็นคำ เจตนัง ที่มีความหมายในตัวไม่สามารถใช้เป็นสร้อยโคลงได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นแบบนี้

"ยินเสียงแว่วเห่าหอน.......สุดเยือก เย็นนา "  

อย่างนี้ใช้ไดครับ สุดเยือก ยังไม่จบความหมาย ต้องเติมคำว่า เย็น จึงจะมีความหมายชัดเจน จึงต้องเติมสร้อยคำคือ นา เพือให้จบด้วยสร้อยโคลง ในบาทนี้

...แต่ความจริง "ยินเสียงแว่วเห่าหอน......เย็นเยือก " ก็มีความหมายชัดเจนไม่ต้องเติมสร้อยโคลงก็ได้ครับ
...การปิดบททีบาทสุดท้ายก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร คือยังไม่ค่อยมีความหมายเข้ากับ ๓ บาทแรก ถ้าปิดในความหมายที่ว่า อยากให้ลองแต่งมาใหม่ครับ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: อุ้ยครับ ที่ 01 พ.ค. 01, 07:53
แหะๆๆ..ครับผม..ลองใหม่ละกันครับ

...กล..กานท์การแต่งต้อง......เลียมลอง
บท..บาทขาดตริตรอง...........พลัดพร้อง
สาย..ฤๅจักจิตจอง...............ใจส่อง
ไหม..เหมาะควรคิดคล้อง.......ปกป้องรักษา


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: pink ribbon ที่ 01 พ.ค. 01, 09:51
เก็บก้อนกรวดเกลื่อนพื้น......ดินดอน
ลุกนั่งไม่ได้นอน.....................อ่อนล้า
ยินเสียงแว่วเห่าหอน.......สุดเยือก เย็นนา
ไหวหวั่นหวาดวุ่นว้า........ห่มผ้าคลุมโปง


มาส่งการบ้านค่ะ คุณครู ได้ข่าวว่าคุณครูจะลาสิกขาบทกลางเดือนนี้ ขออนุโมทนาด้วยค่ะ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ครูไหวใจร้าย ที่ 01 พ.ค. 01, 12:52
ขอโทษนะคะคุณ pink ribbon ขา ครูไหวขออนุญาตค่ะ

กลางเดือนนี้พ่อพลายฯจะบรรพชาอุปสมบทค่ะ

โบร่ำโบราณสองคำนี้แปลเหมือนกัน(อ้างถึง "มีศัพท์มีแสง" ของ เสฐียรพงศ์ วรรณปก ราชบัณฑิต)

แต่ปัจจุบัน บรรพชา ใช้กับการบวชเณร

อุปสมบท ใช้กับการบวชพระ

แต่ว่าคนที่จะบวชพระได้ ต้องบวชเณรก่อนค่ะ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าพ่อพลายฯบรรพชาอุปสมบทก็ได้ค่ะ (เพราะตอนนี้ยังเป็นคฤหัสถ์ ไม่ได้เป็นเณรไงคะ)

ส่วนคำว่า สิกขาบท แปลว่าหนังสือค่ะ (สิกขา = ศึกษา) ถ้าคุณ Pink ribbon จะหมายความว่าสึกหาลาเพศ(สมณะ) ใช้คำว่า"สึก" ธรรมดา หรือ "ลาสิกขา" ซึ่งหมายถึงการลา(จาก)การศึกษา ทางไปสู่นิพพานค่ะ

ครูไหวขอโทษอีกครั้งนะคะ...หวังว่าคงไม่โกรธครูไหว(มาก)นะคะ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: pink ribbon ที่ 01 พ.ค. 01, 13:47
ว้าย  หนูผิดเองค่ะ สับสนไปหน่อยค่ะ จริงๆแล้วตั้งใจจะบอกว่าคุณครูพลายงามจะไปอุปสมบทน่ะค่ะ
แต่ดันไปเขียน ผิดเข้าค่ะ
หนูคงไม่บาปนะคะ หนูไม่ตั้งใจค่ะ ครูไหวใจดี


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 01 พ.ค. 01, 18:37
ขอบคุณที่ช่วยวิจารณ์ครับ
สําหรับ การที่ผมใช้จันทร์เจ้านั้น  ผมไปอ่านมาจากไหนก็จําไม่ได้เหมือนกัน
บอกว่า วรรค๒ กาพย์ ต้อง สัมผัสกับคําสุดท้ายของบาท๔โคลง
ผมก็พึ่งรู้เหมือนกัน หลังจากเข้าใจผิดมากว่า๑๐ปี

เพลงคุดทะราดเหยียบกรวด มีทํานองกระโดดไปมาจริง มันดี
แต่ผมไม่คิดว่า จะสามารถนํามาเอื่อนโคลงได้ ไม่รู้จริงๆจะมีความสัมพันธ์แค่ไหน


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: พลายงาม ที่ 01 พ.ค. 01, 22:46
...ตอนแรกว่า ว่าจะคุยถึงทฤษฎีต่อ เกี่ยวกับเรื่องรสความ แต่กลัวจะไม่ต่อเนื่อง เพราะอีกไม่กี่วัน ผมต้องไปบวชแล้ว ขอติดไว้ก่อนแล้วกันครับ

...ขอตรวจการบ้าน และคุยกับผู้มาเยี่ยมต่อครับ

----> หลานอุ้ย
...โคลงที่แก้มา ดีขึ้นเยอะ เกือบเข้าขั้นแล้ว ไม่มั่วเหมือนบทแรก อยากให้หลานตั้งใจแต่งแบบนี้ทุกครั้งที่แต่งร้อยกรองนะ

----> pink ribbon
...การบ้านที่แก้มาก็ดีขึ้นมากเหมือนกันครับ แต่ สังเกตดู ความต่อเนื่องระหว่าง ๒ บาทแรก กับ ๒ บาทหลัง ยังไม่กลมกลืนกันครับ เหมือนจะไม่ เกี่ยวกันเลย แต่เรื่องนี้ คงไว้ว่าในเรื่อง รสความ อีกที แต่ตอนนี้ต้องให้ A ไว้ก่อนครับ ในฐานะที่มีพัฒนาการเร็วมาก ถ้าสนใจในเรื่องนี้จริงๆ จะไปได้ไกลครับ

----> ขอบคุณ ครูไหว ที่เข้ามาเยี่ยมครับ ผมก็อีกคนครับ ที่ใช้คำผิดบ่อยๆ โดยเฉพาะ ไม้ม้วน ไม้มลาย ใช้สลับกันบ่อยมาก ยังไงถ้าผมผิดพลาดตรงไหนช่วยบอกผมด้วยนะครับครู

----> ยินดีที่คุณภูมิ แวะมาอีกครั้งครับ การใช้สัมผัสระหว่างบท ในการแต่งร้อยกรองต่างชนิดกันนั้น ใช้ในการแต่ง กวีวัจนะ ครับ คือต้องแต่งทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และใช้สัมผัสระหว่างบท แบบคุณภูมิเข้าใจถูกต้องแล้วครับ
...ส่วนการสัมผัส ระหว่าง โคลง กับ กาพย์ อีกแบบ จะเจอใน กาพย์ขับไม้ห่อโคลง ครับ ซึ่งจะบังคับสัมผัส ระหว่าง กาพย์ขับไม้ กับ โคลง เหมือนกัน แต่สัมผัสบท ระหว่างกาพย์ฯ กับ โคลงฯ จะใช้คำสุดท้ายของกาพย์ฯ สัมผัส กับคำที่ ๕ บองโคลงฯ บาทแรกครับ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ครูไหวใจร้าย ที่ 02 พ.ค. 01, 20:19
นึกอะไรได้ออกอีก ๒ อย่างค่ะ อย่าถือสาหาความคนแก่เลยนะคะ หลงๆลืมๆอย่างนี้แหละค่ะ

ประการแรกชื่อของท่านราชบัณฑิต ครูไหวพิมพ์ผิดค่ะ...ที่ถูกคือ..เสฐียรพงษ์ วรรณปก ชื่อของท่าน ใช้ ษ์ ค่ะ

ประการที่สองเพื่อเพิ่มพลังความจำนะคะ ครั้งนึงครูไหวเคยอ่านข้อเขียนของคุณชายคึกฤทธิ์เรื่องนี้แหละค่ะ...เรียบเรียงจากความจำนะคะ คิดว่าคงไม่ถูกต้องทุกตัวอักษรหรอกค่ะ

คุณชายท่านว่าไว้อย่างนี้ค่ะ

...ผมล่ะรำคาญคำว่าลาสิกขาบทเสียจริง
สิกขาบทแปลว่าหนังสือ สิกขามันก็ศึกษานั่นแหละ
แล้วจะไปลามันทำไมหนังสือน่ะ
สู้ขายเจ๊กเอาเงินไปซื้อกางเกงนุ่งยังดีกว่า...

เพราะครูไหวอ่านบทความเรื่องนี้แหละค่ะ เลยจำแม่นเลย


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: อุ้ยครับ ที่ 02 พ.ค. 01, 20:26
เย้ๆๆๆๆๆ...สวัสดีครับคุณครู...ดีใจจัง ตานี้อุ้ยก็รู้จักคนเพิ่มอีก 2 คนละ ปู่รึกก็มาละ ครูไหวก็มาละ แล้วปู่ก๊องจะมามะครับ

ปู่เมฯครับ อุ้ยแก้อีกทีละกันครับ

...กล..กานท์การแต่งต้อง......ตริตรอง
บท..บาทขาดทำนอง............พลัดพร้อง
สาย..ฤๅจักจิตจอง...............ใจส่อง
ไหม..เหมาะควรคิดคล้อง.......ไป่ข้องขัดความ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ผึ้งไผ่ ที่ 04 พ.ค. 01, 18:26
ขอศึกษาก่อนนะคะ  เพิ่งเข้ามาอ่านค่ะ  หลังจากวนเวียนมาบ้างไม่มาบ้าง  ทึ่งในฝีมือการแต่งโคลงของคนที่นี่จังค่ะ  นับถือ ๆ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 01, 20:00
คุณอุ้ย และท่านอื่นๆ  
มาต่อโคลงกันดีกว่าค่ะ
เรียกว่ากลบทอะไรจำไม่ได้ แต่ใช้พยัญชนะเดียวกันในแต่ละบาท     อนุโลมให้ใช้อักษรสูงต่ำคู่  อย่าง ข ค /ส ซ ได้

กวาดแก้วกลมเกลื่อนกลิ้ง...........กองไกล
๐ ๐ ๐ ๐ ๐............................๐ ๐


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: อุ้ยครับ ที่ 08 พ.ค. 01, 22:27
ไม่เข้าใจกติกาครับผม..ต่อคนละบาท หรือต่อให้เต็มบทครับ

เอาเป็นว่าอุ้ยต่อบาทเดียวละกันนะครับ ให้พี่คนอื่นเล่นด้วยอะครับ

กวาดแก้วกลมเกลื่อนกลิ้ง...........กองไกล
ขับเคี่ยวข้นแค้นใคร..................ขัดข้อง


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 09 พ.ค. 01, 05:14
? ? ?
ความมันไม่ค่อยต่อกันน่ะ ระหว่างบาทแรกกับบาทที่สอง เลยต่อไม่ถูก
หรือจะหมายความว่า พอโกรธใครมาก็กวาดแก้วทิ้งเกลื่อน?
ขอเสนอ
กวาดแก้วกลมเกลื่อนกลิ้ง กองไกล
 สีสดสุดแสนใส  เสกสร้าง
แปลเอาความว่า แก้วกลมๆ ที่ว่านี้มีสีต่างๆ และใสสนิทแจ๋วเลย


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: อุ้ยครับ ที่ 09 พ.ค. 01, 16:20
แหะๆๆ...อุ้ยไปดูคำว่า...กองไกล..อ่ะครับ  ประมาณว่าถ้าดีแล้วคงไม่เอาไปกองซ้าไกลงั้นอ่ะครับ ตานี้เลยเป็นการกวาดทิ้งง่ะ เลยโกรธที่มะมีคนมาช่วยกวาดงัยครับ

ต่ออย่างพี่ว่าก้อได้่ครับ

กวาดแก้วกลมเกลื่อนกลิ้ง.....กองไกล
สีสดสุดแสนใส..................เสกสร้าง
ดำด่างดื่นดกใด.................ดูเด่น


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: อุ้ยครับ ที่ 10 พ.ค. 01, 11:48
แหงะ!!! หายไปไหนกันหมดอะครับ สงสัยพี่พูต้องมาเองแล้วครับ...อุ้ยวางสนุ๊กไว้ง่ะ เด๋วจะดูว่าพี่พูจะลงยางงาย...:)


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 10 พ.ค. 01, 22:03
แย่งคุณเทาชมพูตอบ
ผมว่าสนุ้กคุณนกขลําบากใจกว่าอีก
  กวาดแก้วกลมเกลื่อนกลิ้ง  กองไกล
สีสดสุดแสนใส              เสกสร้าง
ดำด่างดื่นดกใด              ดูเด่น
ใจจริงจะจัดจ้าง             จับจ้อง จนใจ
แก้วดีสีสวยๆแตกแล้ว อยากจะจ้างคนมาแก้ แต่ก็ได้แต่จนใจ
(เพราะไม่มีเงิน หรือ ไม่เหลือสภาพก็แล้วแต่ใจคิด)


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ครูไหวใจร้าย ที่ 11 พ.ค. 01, 11:15
น่ารักกันจริงค่ะ ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นนะคะ

ดิฉันเห็นด้วยกับหนูอุ้ย สำหรับคำว่า"กองไกล" นะคะ เพราะเราเริ่มต้นด้วยคำว่ากวาด คำๆนี้จะไม่ค่อยใช้กับความหมายที่ดีนัก ยกตัวอย่างเช่น กวาดต้อน กวาดพื้น เก็บกวาด เหล่านี้น่ะค่ะ

ดังนั้นอยากสรุปว่าแก้วพวกนี้ คงไม่ใช่ของดีนัก ถึงต้อง "กวาด" แล้วไป"กองไกล" รอการทิ้ง

ทีนี้เป็นไปได้ว่าก่อนที่จะกวาดทิ้ง ก็อาจจะเลือกแก้วที่พอดูได้ขึ้นมาก่อน  แต่บาทที่ ๒ ไม่รับนะคะ เพราะใช้คำว่า "เสกสร้าง" เป็นไปได้ว่า ไอ้ที่ทิ้งก็ทิ้งไป เราจะสร้างขึ้นมาใหม่ให้สุดสดใสก็แล้วกันนะคะ

แต่บาทที่ ๓ ก็ไม่รับอีกล่ะค่ะ เพราะไปใช้คำว่า " ดูเด่น" หมายถึงว่าไม่ใช่เฉพาะที่สวยๆใสๆนะ กระดำกระด่างที่พอ "ดูเด่น" ก็อาจจะใช้ได้เหมือนกัน

เห็นด้วยอีกข้อค่ะ ว่าบาทที่ ๔ จะยากที่สุดเพราะต้องขมวดปมให้ได้ ทีนี้บาทสุดท้ายค่อนข้างสรุปไม่ครบค่ะ(ในความเห็นของดิฉันนะคะ) เพราะมันทำให้บาท ๓ ลอย และในบาทที่ ๓ มีคำถามด้วยนะคะ ว่า "ดื่นดกใด ?"

นอกจากนั้นคุณภูมิลืม "เอก"ในคำที่ ๒ ค่ะ แล้ว ๔ คำหลังเขียนติดกันค่ะ(ตรงนี้คุณภูมิคงลืม)


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 11 พ.ค. 01, 15:31
แก้ไปแก้มา คําเอกเลยเลื่อนไปครับ  ขอแก้เป็น
  กวาดแก้วกลมเกลื่อนกลิ้ง  กองไกล
สีสดสุดแสนใส              เสกสร้าง
ดำด่างดื่นดกใด              ดูเด่น
จงจิตจะจัดจ้าง             จับจ้องจนใจ
แต่ความหมายก็ยังแปร่งๆอยู่ดี


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ครูไหวใจร้าย ที่ 11 พ.ค. 01, 17:17
ขอโทษค่ะ ตอนแรกตั้งใจจะเสนอใหม่ให้ด้วย
เพราะการติงแต่ไม่มีข้อเสนอค่อนข้างจะน่ารังเกียจ
แต่เผอิญติดธุระรุงรังไปหมด พอว่างเข้ามาอีกที คุณภูมิก็เข้ามาแล้ว

ดิฉันขอเสนออย่างนี้ค่ะ (ยอมรับว่ายาก เพราะ ๓ คนแรกวางกลไว้ทั้งนั้นค่ะ)

.....กวาดแก้วกลมเกลื่อนกลิ้ง......กองไกล
สีสดสุดแสนใส........................เสกสร้าง
ดำด่างดื่นดกใด.......................ดูเด่น
เจียมจิตจึงจัดจ้าง...................จดจ้องจนใจ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: san303 ที่ 04 ส.ค. 09, 23:16
พี่ๆ หรือใครที่เก่งช่วยทีนะค่ะ พอดี อาจารย์ให้แต่งโคลงสี่สุภาพ เกี่ยวกับ หญิงไทยอะค่ะ แบบว่าเรียบร้อยอะไรประมานนี้อะค่ะ ช่วยทีนะค่ะ
จนปัญญาแล้วจิงๆ ช่วยทีค่ะ ขอบคุนล่วงหน้าเลยนะค่ะ


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: bangplama ที่ 05 ส.ค. 09, 13:49

๐กลองกลมกลมเกลื่อนกลิ้ง......ไกลไกล
สีสุดแสนสดใส....................เสกสร้าง
ดำแดงดู่แดงใด....................ดูเด่น
จับจิตจึงจักจ้าง.....................จดจ้อง จับจอง


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: ratinath ที่ 17 ส.ค. 09, 22:15
๐วันวันวุ่นเวี่ยนเวี้ยน.....เวียนวน
คิดขบค้นคำคน..........แคะไค้
จิตแจบจิตจลจน.........เจียมจิต
วิวิธวิวรรธน์ไว้............เวี่ยเวิ้งวงวรรณ

 ;D


กระทู้: โคลงสี่สุภาพ
เริ่มกระทู้โดย: petit garcon ที่ 22 ต.ค. 10, 22:03
เข้ามาศึกษาบทเรียน ขอขอบพระคุณทุกท่านครับ