เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 13, 11:22



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 13, 11:22
กระทู้นี้มาจากบทความ " ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"   เจ้าของสงวนลิขสิทธิ์ มิให้เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตและในหนังสือโดยมิได้รับอนุญาต

ใครที่เป็นแฟนวรรณกรรมเยาวชนชุด บ้านเล็ก หรือ Little Houses Series ของ Laura Ingalls Wilder  เชิญยกเก้าอี้มานั่งล้อมวงกันได้แล้วค่ะ
ดิฉันจะเล่า "ชีวิตจริง" ของครอบครัวอิงกัลส์ ที่เป็นภูมิหลังของวรรณกรรมเรื่องนี้ให้ฟัง

ก่อนอื่นขอฉายหนังตัวอย่างด้วยภาพครอบครัวอิงกัลส์ก่อนนะคะ
คือพ่อ แม่ และลูกสาวทั้งสี่
เรียงลำดับแถวยืน  แครี่  ลอร่า   เกรซน้องสาวคนเล็ก
แถวนั่ง  แม่ พ่อ และแมรี่ ลูกสาวคนโต


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 13, 13:46
นิยายชุดนี้  มีให้โหลดอ่านฟรีในภาคภาษาอังกฤษ นะคะ

http://kirilisa.com/downloads/ebooks/littlehouse/


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 13, 19:53
ก่อนหน้านี้ ลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์ ไม่มีความคิดจะเป็นนักเขียน   เธอเป็นหญิงวัยหกสิบ  ดำเนินชีวิตเรียบง่ายในฐานะเจ้าของฟาร์มเล็กๆแห่งหนึ่งในเมืองแมนส์ฟิลด์ รัฐมิสซูรี่     อยู่กับสามีชื่อแอลแมนโซ เจมส์ ไวล์เดอร์ผู้มีอายุมากถึง ๗๐ เพียงลำพังสองคนตายาย

ลูกสาวคนเดียวชื่อโรสเป็นหญิงวัยกลางคนอายุ ๔๐    ทำงานเป็นนักเขียนบทความอยู่ในเมืองใหญ่   โรสแต่งงานแยกบ้านไปนานหลายสิบปีแล้ว   ต่อมาก็หย่าขาดจากสามีโดยไม่มีบุตร     ความที่สนิทกับแม่ โรสก็แวะเวียนไปเยี่ยมบ้านเดิมของพ่อแม่เป็นประจำ

ตั้งแต่เด็ก ในฐานะลูกคนเดียว  โรสสนิทกับแม่มาก     ลอร่าเป็นหญิงที่ช่างจดช่างจำ  เล่าเรื่องเก่ง     เรื่องที่เธอชอบเล่าให้ลูกสาวฟังคือชีวิตในวัยเด็กเมื่อหลายสิบปีก่อนจะย้ายมาอยู่รัฐมิสซูรี่      ในยุคนั้น   ตากับยายอพยพพาลูกๆ โยกย้ายไปหลายรัฐด้วยกัน ทำให้เด็กๆได้พบเห็นประสบการณ์ต่างๆ ที่หาไม่ได้ในฟาร์มแห่งนี้   
วันเวลาในวัยเด็กของแม่จะว่าลำบากก็ลำบาก  เพราะขาดความสะดวกสบายอย่างไฟฟ้า น้ำประปา  รถยนต์ หรือแม้แต่ถนนหนทาง    แต่จะว่าเป็นสุขก็สุขมาก เพราะอยู่อย่างอบอุ่นในครอบครัวพร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้อง    ไม่เคยขาดเสียงเพลงจากไวโอลินของพ่อในยามค่ำคืน   ไม่ขาดอาหารรสโอชะจากฝีมือของแม่       

เรื่องราวทั้งหมด แม่ถ่ายทอดให้ลูกสาวฟังอย่างละเอียดถี่ถ้วน  เพราะเห็นว่าเป็นเรื่อง "ดีเกินกว่าจะปล่อยให้สูญหายไป"   โรสฟังอย่างเพลิดเพลินมาตั้งแต่เล็กจนโต     นิสัยรักการอ่านและเขียน เธอก็ได้จากแม่    แม่ทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับเล็กๆ เขียนบทความประจำลงในนั้น 


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ธ.ค. 13, 06:02
  ในวัยสี่สิบ โรสประสบความสำเร็จในฐานะนักเขียนมีชื่อเสียงคนหนึ่งแล้ว   รายได้ของเธอมากพอจะอุดหนุนจุนเจือพ่อแม่ได้   ฟาร์มเล็กๆของแอลแมนโซและลอร่ามีผลิตผลพออยู่ได้อย่างไม่ลำบากยากแค้นจนเกินไป แต่ก็ห่างไกลจากร่ำรวย      โรสสร้างกระท่อมแบบอังกฤษให้พ่อแม่อยู่ใหม่ บนเนื้อที่ติดกับฟาร์มเดิมที่ลอร่าขนานนามว่า "ร็อคกี้ ริดจ์"    ส่วนตัวโรสเองก็ตกแต่งบ้านเดิมของพ่อแม่เสียใหม่แล้วย้ายเข้าไปอยู่แทน
  วันหนึ่ง โรสก็นึกได้ว่าเรื่องชีวิตวัยเยาว์ที่แม่เล่าให้เธอฟังบ่อยๆ เป็นเรื่องสนุกสนานประทับใจ  ควรจะเขียนลงเป็นหนังสือสักเล่ม  เธอจะช่วยตรวจแก้ให้     ในตอนแรกลอร่าก็ไม่ได้คิดอะไรมาก   ลูกสาวคะยั้นคะยอหนักเข้าเธอก็นึกสนุก เขียนในทำนองอัตชีวประวัติขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Pioneer Girl (สาวน้อยนักบุกเบิก)  เอาชีวิตจริงในวัยเด็กและสาวเป็นพื้นฐานหลักในโครงเรื่อง
   โรสส่งต้นฉบับเรื่องนี้ไปตามสำนักพิมพ์ต่างๆ   แต่ผิดหวัง   ไม่มีผู้พิมพ์รายไหนสนใจจะพิมพ์จำหน่าย     เป็นเพราะเนื้อเรื่องหนักไปทางรายละเอียด แทบว่าจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์อยู่รอมร่อ     ไม่มีรสชาติสนุกสนานอย่างนิยาย      ในที่สุดก็ต้องเอาต้นฉบับกลับมาเก็บไว้ในบ้าน

   รูปของโรส ไวลเดอร์ เลน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ธ.ค. 13, 06:19
บ้านนา ร็อคกี้ ริดจ์ (Rocky Ridge) ที่แอลแมนโซและลอร่าสร้างกันขึ้นมาเอง     โรสได้ตกแต่งใหม่และเข้ามาอยู่แทนในค.ศ. 1928


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ธ.ค. 13, 06:24
กระท่อมสไตล์อังกฤษที่โรสสร้างให้พ่อแม่อยู่


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 24 ธ.ค. 13, 10:33
ขออนุญาตลงชื่อนั่งฟัง

หนังสือชุดนี้เป็นหนึ่งในบรรดาหนังสือหัวเตียง  หยิบมาอ่านได้บ่อยๆ โดยไม่เบื่อเลยค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ธ.ค. 13, 10:58
คอเดียวกันค่ะคุณ tita   
ดิฉันอ่านชุดแรก จนเก่า  ปกขาดหน้าหลุด  ต้องซื้อใหม่อีกชุด และซื้อชุดภาษาอังกฤษมาด้วย  ยังเก็บไว้อย่างดีจนทุกวันนี้
สัมผัสถึงความรักและความอบอุุ่นของครอบครัวที่ส่งผ่านตัวอักษรมาถึงคนอ่าน  เป็นเสน่ห์ประจำตัวของหนังสือชุดนี้    ทำให้มองออกว่าหนังสือที่เขียนด้วยใจรัก มีคุณค่าอย่างนี้เองค่ะ

กลับมาถึงเรื่องลอร่ากับโรสต่อค่ะ

ในค.ศ. 1929 ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่      ชาวเรือนไทยคงจำได้ถึงเศรษฐกิจตกต่ำในยุคต้นรัชกาลที่ 7 ที่ส่งผลให้เกิด "ดุลยภาพ" ข้าราชการทั่วบ้านทั่วเมือง    เป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ได้นะคะ     วิกฤตเศรษฐกิจที่ว่านี้ก็ต้นเหตุอันเดียวกันละค่ะ   ตลาดหุ้นล้มครืน  ธนาคารล้มละลาย พันธบัตรรัฐบาลกลายเป็นเศษกระดาษ 
เงินทองของโรสและพันธบัตรที่เธอแนะนำให้พ่อแม่ซื้อเป็นหลักประกันความมั่นคงของฐานะ  ก็ละลายหายสูญไปในวิกฤตครั้งนี้ด้วย   ลอรากับแอลแมนโซไม่เหลืออะไรจากเงินทองที่อดออมกันมาตลอดชีวิต

ในตอนนี้เอง ลอร่ากลับไปปัดฝุ่นต้นฉบับหนังสือเรื่อง Pioneer Girl ของเธออีกครั้ง    แม้ว่าสำนักพิมพ์ทั้งหลายพากันส่ายหน้า โยนลงตะกร้ากันหมดทุกแห่ง  เธอก็หอบมันขึ้นมาจากก้นตะกร้าอย่างไม่ย่อท้อ
นักเขียนที่ไม่ยอมแพ้ ก็จะมองจนเห็นแสงสว่างขึ้นมาที่ปลายอุโมงค์จนได้ค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ธ.ค. 13, 11:12
  คราวนี้ลอร่าวางแผนใหม่    เธอไม่เขียนหนังสือชีวิตหนักสมองอย่างคราวแรกอีก  แต่ว่าดัดแปลงใหม่  เป็นหนังสือสำหรับเด็ก    เจาะลงไปเฉพาะชีวิตในวัยเยาว์ของเธอ โดยเลือกช่วงชีวิตที่เธอมีความสุขที่สุด คือชีวิตวัยต้นอายุไม่เกิน 6 ขวบเมื่อครั้งอาศัยอยู่ในบ้านไม้ซุงในป่าใหญ่ของรัฐวิสคอนซิน พร้อมกับพ่อแม่และพี่สาว
  เธอย้อนรำลึกถึงการดำเนินชีวิตในสมัยนั้น  ยาวนานกว่า 50 ปีก่อน    เมื่ออาหารการกินและการดำรงชีวิตจะต้องพึ่งพาตัวเอง ไม่มีอะไรสะดวกอย่างสมัยเธอเข้าสู่วัยชรา      ชีวิตแบบนั้นหมดไปจากความรู้ความเข้าใจของเด็กๆในยุค 1930s หมดแล้ว เพราะบ้านเมืองพัฒนาอย่างรวดเร็ว   จากแสงเทียนมาเป็นไฟฟ้า  จากเกวียนประทุนมาเป็นรถยนต์   ฯลฯ  แต่มันยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำของเธอ
   เธอก็ถ่ายทอดความทรงจำเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ไม่ยาวนักเล่มหนึ่ง  เล่าถึงวงจรชีวิต 4 ฤดูในรอบปีที่พ่อแม่และลูกๆอยู่กันอย่างเป็นสุขในป่าใหญ่      เธอเรียกพ่อและแม่กลับมามีชีวิตอีกหนหนึ่ง พร้อมด้วยพี่สาวที่ตัวจริงล่วงลับไปแล้ว    กลับมาเป็นเด็กน้อยเล่นกันอยู่ในบ้านไม้ซุงอีกครั้ง
   เรื่องใหม่นี้ตอนแรกตั้งชื่อว่า When Grandma was a Little Girl    โรสช่วยอ่านและตรวจให้  ในที่สุดก็เปลี่ยนชื่อเป็น   Little House in the Big Woods   เธอติดต่อสำนักพิมพ์ต่างๆให้แม่อีกครั้ง ด้วยความกว้างขวางและชื่อเสียงของเธอเป็นทุนเดิมอยู่  ในที่สุดสำนักพิมพ์ใหญ่คือ  Harper & Brothers ก็ตกลงพิมพ์เรื่องนี้

  ฉบับพิมพ์ครั้งแรกค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ธ.ค. 13, 11:25
  นิยายชุด "บ้านเล็ก" เล่มแรก  ตีพิมพ์วางจำหน่ายในค.ศ. 1932  (ตรงกับพ.ศ. 2475 ของไทย)  ในช่วงที่คนอเมริกันทั่วไปตกงาน อดอยาก ลำบากยากแค้น     หนังสือเล่มนี้กลายเป็นความชุ่มชื่นใจและจุดประกายความหวังให้คนอ่านจำนวนมาก ที่รู้สึกว่าชีวิตในอดีตก็ลำบากกว่าชีวิตพวกเขามากนัก   ตัวละครในเรื่องก็ยังอยู่มาได้อย่างเป็นสุขและอบอุ่น    เต็มไปด้วยความรักและความจริงใจต่อกัน       ทำให้คนอ่านค่อยกระปรี้กระเปร่าเกิดความหวังขึ้นมาอีกครั้ง
   หนังสือเรื่องนี้จึงประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามชั่วข้ามคืน   โดยไม่มีใครคาดฝันมาก่อน   แม้แต่ตัวลอร่าและโรสเอง

   ปัญหาเรื่องเงินทองของลอร่าก็หมดไปเพราะรายได้จากหนังสือที่ตีพิมพ์ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า  แม้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำก็ตาม    เธอไม่ได้คิดว่าจะเขียนหนังสือมากกว่านี้   แค่เล่มแรกก็เล่าถึงชีวิตวัยเยาว์ที่ประทับอยู่ในความทรงจำหมดแล้ว

   ในตอนที่ลอร่าเขียนเรื่องนี้  พ่อกับแม่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เช่นเดียวกับแมรี่พี่สาวคนโตของเธอ และเกรซน้องสาวคนเล็ก   เหลือแต่แครี่น้องสาวคนรองคนเดียว    อยู่ไกลกันคนละรัฐ  แต่แครี่ก็ตื่นเต้นกับเรื่องที่พี่สาวคิดจะเขียนนิยายบนพื้นฐานชีวิตครอบครัวในวัยเยาว์มาตั้งแต่แรก     เธอช่วยทบทวนจดจำข้อมูลต่างๆส่งให้พี่สาว 
   ความจริงเมื่อลอร่ากับแมรี่เกิดและอยู่ในบ้านไม้ซุงในป่าใหญ่นั้น  มีกันแค่สองคนพี่น้อง แครี่ยังไม่ทันเกิด      พ่อแม่อพยพไปแคนซัสอยู่พักหนึ่งก่อนจะอพยพกลับมาที่ป่าใหญ่ในรัฐวิสคอนซิน  แครี่เพิ่งมาเกิดเมื่อพ่อแม่กลับมาอยู่ที่นี่     แต่ลอร่าไม่อยากจะตัดน้องสาวออกไป   เมื่อเธอรวมชีวิต 2 ช่วงในป่าใหญ่เข้าเป็นช่วงเดียวกัน     เธอก็เลยให้แครี่เกิดเสียตั้งแต่ตอนนั้น กลายเป็นมีสามคนพี่น้องโตขึ้นมาด้วยกัน   

   รูปพี่น้องสามสาวตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงค่ะ   ไม่มีรูปถ่ายในวัยเยาว์กว่านี้


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ธ.ค. 13, 15:27
       ลอร่าบรรยายถึงพ่อว่า เป็นคนเก่ง ทั้งในด้านล่าสัตว์ พ่อสามารถฆ่าหมีหรือหมูป่าได้ด้วยกระสุนนัดเดียว  (ปืนสมัยนั้นยิงได้ทีละนัด  ถ้านัดแรกเอาสัตว์ป่าไม่อยู่ ก็แปลว่านายพรานจะเป็นฝ่ายเสร็จเสียเอง)   พ่อทำไร่ไถนาได้ดี    เป็นคนขี้เล่น อารมณ์ดี  รักลูกเมียเป็นแก้วตา  ไม่เคยดุไม่เคยว่าลูกๆ   ให้เกียรติภรรยาอย่างสม่ำเสมอ     ที่ดูออกในเรื่องแม้ว่าลอร่าไม่เคยพูดมาตรงๆ คือเธอเป็นลูกคนโปรดของพ่อ
        นอกจากนี้ พ่อยังมีคุณสมบัติอื่นๆที่หายากในชายสมัยนั้นคือมีความรู้ดี  สามารถเขียนอ่าน   สะกดศัพท์ยากๆได้เกินหน้าคนอื่น    และที่สำคัญคือพ่อเล่นไวโอลินเก่งมาก   ทุกค่ำคืนในฤดูหนาว  หนูน้อยอย่างลอร่าและแมรี่พี่สาวจะหลับไปพร้อมด้วยเสียงขับกล่อมจากไวโอลินของพ่อ    เป็นความสุขที่ลอร่าไม่อาจหาได้จากที่ไหนอีกตลอดชีวิตยาวนานถึง 90 ปี

     เรามาดูประวัติของพ่อผู้เป็นฮีโร่กันดีกว่านะคะ    
     ในเรื่อง ลอร่าเรียกพ่อว่า Pa   หรือแปลเป็นไทยตรงๆว่า "พ่อ" ง่ายๆนี่เอง     ชื่อเต็มของพ่อคือ ชาร์ลส์ ฟิลลิป อิงกัลส์   เป็นบุตรคนที่สามในจำนวน 10 คนของปู่และย่าผู้มีนามจริงว่าแลนสฟอร์ด ไวติ้ง อิงกัลส์ และลอร่า หลุยส์ คอลบี้       ตัวปู่เองเกิดในแคนาดาแต่ว่าอพยพมาอยู่ที่นิวยอร์ค     เชื้อสายทางแม่ของเขาสืบย้อนขึ้นไปได้ถึงพวกพิลกริมรุ่นแรกที่โดยสารเรือ เมย์ฟลาวเออร์ มาตั้งถิ่นฐานในอเมริกา   ข้อนี้ทำให้ลอร่าภูมิใจในประวัติตระกูลของเธอมาก
     ครอบครัวของแลนสฟอร์ดตั้งถิ่นฐานอยู่ในนิวยอร์คในตอนแรกๆ   ต่อมาก็อพยพจากนิวยอร์คมาอยู่ในอิลลินอยส์ ตอนนั้นชาร์ลส์ยังเล็กอยู่  พ่อแม่มาตั้งฟาร์มอยู่ที่นั่น     เลี้ยงลูกทั้ง 10 คน(ตายแต่ยังเล็กเสีย 1  เหลือลูกชายอีกหก และลูกสาวอีกสี่) ด้วยการฝึกงานลูกชายลูกสาวอย่างแข็งขัน      ชาร์ลส์และพี่น้องผู้ชายถูกใช้ให้ทำงานเป็นทุกอย่างตั้งแต่เลี้ยงสัตว์  ทำไร่ไถนา ดักสัตว์  งานช่างไม้    ฯลฯ  ถ้ายังพอมีเวลาว่างก็ไปรับจ้างเพื่อนบ้านทำงาน    ไม่ถูกปล่อยให้เที่ยวเล่นอยู่เปล่าๆ
     ชาร์ลส์ผิดจากพี่น้องอื่นๆตรงที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ  สมกับมีแม่ที่เคยเป็นครูโรงเรียนมาก่อน    แม้ไม่มีประวัติว่าเขาเล่าเรียนสูงกว่าคนอื่น เขาก็อ่านหนังสือได้แตกฉาน       โรงเรียนตามชนบทในสมัยนั้นเป็นแค่ห้องเรียนเล็กๆ สอนนักเรียนทุกชั้นรวมกันในห้องเดียว    เด็กๆเรียนพอให้อ่านออก เขียนได้ บวกลบเลขเป็น   เท่านั้นก็พอแล้ว    เด็กผู้ชายส่วนใหญ่ก็เรียนกันแค่นี้ เพราะพ่อแม่เห็นประโยชน์ในด้านช่วยแรงงานทางบ้านมากกว่าจะมาเสียเวลาในห้องเรียนนานๆหลายปี

รูปปู่กับย่าของลอร่า ค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 13, 05:38
   ปีเตอร์ เป็นลูกชายคนโต  รองลงมาคือชาร์ลส์ (พี่อีกคนหนึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่เล็ก)  ถัดไปก็คือลิเดีย  พอลลี่, แลนสฟอร์ด เจมส์, ลอร่า ลาดอเซีย( หรือลอร่าเรียกว่า อาดอเซีย) ไฮแรม,จอร์ช และรูบี้   
    เมื่อชาร์ลส์อายุ 17   พ่อแม่ก็พาลูกๆโยกย้ายถิ่นฐานจากอิลลินอยส์มาปักหลักอยู่ที่วิสคอนซิน  ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นรัฐไกลปืนเที่ยง เมื่อเทียบกับนิวยอร์ค    พ่อแม่ทำมาหากินด้วยการทำไร่ทำนา แบบเดียวกับเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงที่ล้วนแต่อพยพมาตั้งฟาร์มแบบเดียวกัน  ครอบครัวใหญ่ลูกเก้าคนตั้งถิ่นฐานอยู่ในวิสคอนซินต่อมาเป็นเวลานาน จนเด็กๆเติบโตเป็นหนุ่มสาว   
   เพื่อนบ้านใกล้เคียงที่เป็นเจ้าของที่นาชื่อเฟรดเดอริค โฮลบรุ๊ค  เขาแต่งงานกับแม่ม่ายลูกติดชื่อชาล็อตต์ ควินเนอร์     สามีเก่าของเธอเป็นพ่อค้าซื้อขายแลกเปลี่ยนขนสัตว์กับพวกอินเดียนแดง     แต่เขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเรือโดยสารล่มเมื่อเจอพายุ  เมื่อแคโรไลน์ลูกสาวคนโตอายุได้ 5 ขวบเท่านั้นเอง      ทิ้งชาล็อตต์ไว้กับลูกเด็กเล็กแดง ด้วยความลำบากยากแค้นที่ไม่มีหัวหน้าครอบครัว      ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจย้ายจากบ้านเดิมในเมืองไปอยู่ในชนบท ลงหลักปักฐานสร้างบ้านนาอยู่ที่นั่น เลี้ยงสัตว์เพื่อจะได้มีรายได้และมีกินสำหรับเด็กๆ      ชาล็อตต์แต่งงานใหม่กับเจ้าของฟาร์มเพื่อนบ้านกัน  มีลูกอีก 1 คนชื่อล็อตตี้

    บ้านนาของพ่อเลี้ยงของแคโรไลน์อยู่ติดกับบ้านนาของพวกอิงกัลส์     เด็กๆสองบ้านนี้โตเป็นหนุ่มสาวขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน  ทั้งสองฝ่ายต่างรู้จักมักคุ้นกันดี        ชาร์ลส์เป็นหนุ่มที่ใครๆก็นิยมเชิญไปร่วมงานปาร์ตี้ งานเต้นรำสังสรรค์กัน  เพราะเขามีคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างคือเล่นซอไวโอลินเก่งมาก   สามารถเล่นเพลงให้ครึกครื้นกันได้ทุกงาน    ซ้ำยังเล่นได้ยาวนานจนเต้นรำกันได้ทั้งคืน
   


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 13, 05:46
  จนบัดนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าซอของชาร์ลส์นั้นเจ้าตัวได้มาจากไหน      ได้แต่เดากันว่าเขาอาจจะซื้อมาจากพ่อค้าเร่ หรือซื้อมือสองมาจากเพื่อนบ้านคนใดคนหนึ่งที่ต้องการขาย      นอกจากนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าชาร์ลส์ไปเรียนวิชาเล่นซอไวโอลินมาจากไหน    เพราะเขาไม่มีเวลาและไม่มีโอกาสจะไปเรียนในร.ร.แห่งไหนได้       ก็ได้แต่สรุปกันว่าชาร์ลส์คงหัดเล่นด้วยตัวเอง
   อย่างไรก็ตาม  ชาร์ลส์เป็นคนมีพรสวรรค์ในการเล่นซอ  เขาไม่ได้เล่นเพลงยากๆ อย่างเพลงของโมสาร์ทหรือบีโธเฟ่นอะไรแบบนั้น  แต่เป็นเพลงกล่อมเด็ก   เพลงพื้นเมืองจากสก๊อตแลนด์และอังกฤษ   เพลงพื้นบ้านง่ายๆสำหรับเต้นรำกัน      ซอคู่ใจของเขาเดินทางไปกับเจ้าตัวทุกหนทุกแห่ง โดยชาร์ลส์ทะนุถนอมรักษาไว้อย่างดีไม่ให้เสียหาย
   ลอร่าโตขึ้นมากับเสียงเพลงของพ่อ   ตั้งแต่เล็กจนกระทั่งเธอเป็นสาว แยกบ้านแต่งงานไป       เสียงเพลงของพ่อขับกล่อมเธอให้นอนหลับตั้งแต่เล็ก   โตขึ้นเธอก็ร้องเพลงคู่กับเสียงซอของพ่อในยามสุขและทุกข์   ในวันรื่นเริงอย่างคริสต์มาส และในวันยากแค้นเมื่อตกระกำลำบาก     
    เมื่อเธอเขียนนิยายเรื่องบ้านเล็ก  ซอก็มามีบทบาทสำคัญจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องก็ว่าได้     เพราะมันจะเคียงคู่เป็นเพื่อนแท้ของครอบครัวอิงกัลส์ไปทุกหนทุกแห่ง  ให้กำลังใจในทุกโอกาส ไม่ว่ายามทุกข์หรือสุข


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 13, 05:47
     พ่อยกซอให้ลอร่าเมื่อพ่อถึงแก่กรรม    ทุกวันนี้ซอคู่ใจของพ่อก็ยังเก็บรักษาไว้อย่างดีในพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเป็นเกียรติแก่เธอ  ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้
      ทุกปีเมื่อครบรอบปี จะมีคนนำออกมาเล่นเพลงเก่าๆที่พ่อเคยเล่น เป็นการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงนิยายชุด "บ้านเล็ก"


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 13, 06:37
ซอของชาร์ลส์ทำให้เขา "ป๊อป" มากในหมู่เพื่อนบ้าน   เพราะสมัยนั้นงานเต้นรำตามชนบท   อาศัยเครื่องดนตรีคือซอไวโอลินอย่างเดียวก็พอ  ไม่ต้องมีเปียโน กลอง ฯลฯ ครบชุด      เพราะเต้นรำที่ว่านี้คือ folk dance   ไม่ใช่ลีลาศแบบบอลรูมของเหล่าผู้ลากมากดีอย่างเราเห็นในหนังย้อนยุคของอังกฤษ     
เต้นรำแบบโฟคแดนซ์  ไม่จำเป็นต้องมีแต่หนุ่มสาว  เด็กๆหรือคนชราก็จับคู่กันเต้นรำได้อย่างสนุกสนาน
ลอร่าเล่าว่าอาจอร์ชน้องชายของพ่อเห็นลอร่าเต้นรำอยู่คนเดียว  ก็หัวเราะแล้วจูงไปเต้นรำคู่กันที่มุมห้อง(จะได้ไม่เกะกะคู่เต้นรำอื่นๆ)


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 13, 06:39
ส่วนผู้ใหญ่เต้นรำกันแบบนี้  คงสังเกตได้ว่าดนตรีประกอบมีซออย่างเดียว   ชาร์ลส์สีซอเป็นเพลงแบบนี้
ย่าของลอร่าที่เต้นรำจังหวะจิ๊กได้เร็วและนานกว่าลูกชาย ก็เต้นคล้ายๆในคลิปนี้ละค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=cO7KvtBtlCU


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 13, 07:00
กลับมาที่ชาร์ลส์ ต่อ นะคะ
ย้อนกลับไปเล่าถึงครอบครัวของชาล็อตต์ ควินเนอร์       ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้เป็นแค่หญิงชาวนาธรรมดา   ก่อนสมรสเธอเคยเป็นครูโรงเรียนมาก่อน  หมายความว่าเธอได้รับการศึกษาเล่าเรียนมากกว่าผู้หญิงยุคเดียวกันทั่วไป   แต่เมื่อแต่งงานแล้วก็ต้องหยุดอาชีพนี้ เพราะสมัยนั้นครูผู้หญิงมีแต่สาวโสดเท่านั้น
ชาล็อตต์ปลูกฝังลูกๆถึงความสำคัญของการเล่าเรียนเขียนอ่าน   คนที่ซึมซับมากกว่าใครเพื่อนคือแคโรไลน์  ลูกสาวคนโต      เธอหัดอ่านหัดเขียนตั้งแต่เล็ก ชอบเขียนโคลงกลอน และเรียงความ เรียนหนังสือจนอายุ 16 ปีก็สามารถสอบได้รับประกาศนียบัตรครู  ไปสอนหนังสือตามโรงเรียนได้      แม้ว่ารายได้ครูนับว่าน้อยมากในสมัยนั้น แค่สัปดาห์ละ 2.50 - 3.00 ดอลล่าร์  แคโรไลน์ก็ภาคภูมิใจในรายได้ที่เธอหามาด้วยน้ำพักน้ำแรง ทำให้เธอสามารถหาซื้อเสื้อผ้าของตัวเองและแบ่งเงินส่วนหนึ่งจุนเจือพ่อแม่และน้องๆได้

ตามที่ลอร่าจำได้   แคโรไลน์เป็นหญิงสาวสวยผมสีเข้ม   พูดน้อย มีบุคลิกสงบเสงี่ยมเป็นกุลสตรีทุกกระเบียดนิ้ว  บอกถึงการอบรมอย่างดีจากแม่   เขียนและอ่านหนังสือเก่ง  คุณสมบัติเหล่านี้เป็นที่ต้องตาต้องใจของหนุ่มเพื่อนบ้านชื่อชาร์ลส์ อิงกัลส์อย่างมาก   ทั้งคู่มีโอกาสพบกันเมื่อไปโบสถ์วันอาทิตย์  เจอกันในงานเต้นรำของเพื่อนบ้าน   ไปเดินเล่นด้วยกันในป่าละเมาะใกล้บ้านฯลฯ  จนวันหนึ่งเมื่อแคโรไลน์สอนหนังสือได้ 2 เทอม ชาร์ลส์ก็ขอแต่งงานกับเธอ  เธอก็ตอบรับ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 13, 10:19
ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเพื่อนบ้านหนุ่มสาวสองตระกูลนำไปสู่การแต่งงานถึง 3 คู่ด้วยกัน    

คู่แรกคือเฮนรี่ พี่ชายของแคโรไลน์  พบรักกับพอลลี่น้องสาวของชาร์ลส์  มีลูกด้วยกัน  7 คนคือหลุยซา   ชาร์ลส์ (หรือในหนังสือบ้านเล็กในป่าใหญ่ ลอร่าเรียกว่า "พี่ชาร์ลี"  อัลเบิร์ต  ล็อตตี้ จอร์ช ลิเลียนและรูบี้  

เฮนรี่กับพอลลี่ปลูกบ้านอยู่ในป่าใหญ่ของรัฐวิสคอนซินด้วยกัน ไม่ห่างจากบ้านของชาร์ลส์และแคโรไลน์นัก      ลอร่าเล่าถึงตอนเด็กๆที่พ่อกับลุงเฮนรี่แลกเปลี่ยนแรงงานกัน  คือสองชายจะช่วยกันทำงานในไร่ของแต่ละฝ่าย เช่นเกี่ยวข้าว  โดยพาครอบครัวของตัวเองไปอยู่ที่บ้านของอีกฝ่ายในช่วงเช้าถึงเย็นที่พวกผู้ชายช่วยกันทำงาน   แม่ๆก็ช่วยกันทำกับข้าว และทำงานบ้าน   เด็กๆก็ได้เล่นด้วยกัน สนุกไปตามประสาเด็ก

ลอร่าเล่าในตอน "บ้านเล็กในทุ่งกว้าง" (Little House on the Prairie) ว่าพ่อโยกย้ายพาครอบครัวออกจากป่าใหญ่ของรัฐวิสคอนซิน  ไปตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ในดินแดนอินเดียนแดงของรัฐแคนซัส   อยู่กันตามลำพังพ่อแม่ลูกได้1  ปีเศษ ก็ได้ข่าวว่ารัฐบาลจะไล่ฝรั่งผิวขาวที่ไปตั้งถิ่นฐานที่นั่นออกให้พ้นจากเขตแดนของอินเดียนแดง   จึงอพยพกันใหม่อีกครั้ง  ทิ้งบ้านและไร่นาที่ลงทุนลงแรงไว้มากมาย  เดินทางไปตั้งบ้านเรือนใหม่ที่เมืองพลัมครี้ก รัฐมินเนโซตา

ในหนังสือ เขียนไว้ว่าพ่อแม่และลอร่าไม่ได้เจอลุงเฮนรี่กับอาพอลลี่อีกเลย     เจอแต่ลูกๆคือพี่หลุยซาและพี่ชาร์ลีที่โตเป็นหนุ่มสาวแล้วอีกครั้ง เมื่อพ่อแม่พาลอร่าและพี่น้องอพยพไปอีกหนึ่งที่ทะเลสาบสีเงินในรัฐดาโกต้าใต้


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 13, 10:29
  แต่ในเรื่องจริง เมื่อพ่อแม่อพยพโยกย้ายออกจากป่าใหญ่ในรัฐวิสคอนซิน เขาไม่ได้ไปตามลำพัง   มีครอบครัวของลุงเฮนรี่เดินทางไปด้วยในปี  1868,   ทั้งสองครอบครัวไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐมิสซูรี่ประมาณ 1 ปี จากนั้น ชาร์ลส์พาครอบครัวเดินไปทางตั้งหลักใหม่ในรัฐแคนซัส  ซึ่งยังรกร้างว่างเปล่าเป็นดินแดนของอินเดียนแดง แต่ว่าอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยสัตว์ป่าให้ล่าได้มากมาย     ส่วนเฮนรี่และพอลลี่เดินทางกลับไปป่าใหญ่ในวิสคอนซินตามเดิม

  หลังจากห่างกันไปหลายปี     ลุงเฮนรี่กับครอบครัวก็อพยพออกจากป่าใหญ่ไปตั้งหลักแหล่งใหม่ในรัฐมินเนโซตา ในปี 1872 พบกับครอบครัวของชาร์ลส์ระยะสั้นๆ ก่อนจะแยกย้ายกันไปอีก     ลุงเฮนรี่ไปปักหลักอยู่ในเมืองเล็กๆในรัฐดาโกต้าใต้   ซึ่งเป็นคนละเมืองกับชาร์ลส์และแคโรไลน์ใช้ชีวิตบั้นปลาย    แต่ว่าอยู่ในรัฐเดียวกัน

  เฮนรี่กับครอบครัวของชาร์ลส์ไม่ได้เจอกันอีก   เฮนรี่ตายเมื่ออายุได้เพียง 51 ปี  อีกปีหนึ่งต่อมาพอลลี่ก็ถึงแก่กรรม  ก่อนหน้านี้ลูก 7 คนก็ตายกันไปถึง 4 คน ไม่มีรายละเอียดว่าตายเพราะอะไร แต่เข้าใจว่าเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ  เพราะชีวิตในยุคนั้นนอกจากทุรกันดารแล้ว หยูกยาการรักษาโรคก็ยังล้าหลัง   ทำให้อัตราการตายสูงมากในแต่ละครอบครัว
   พี่ชาร์ลีซึ่งลอร่าเอ่ยถึงไว้อย่างรักและเอ็นดู ในตอน "บ้านเล็กในป่าใหญ่"   ก็เป็นหนึ่งในลูกที่ตายจากไปเร็วเหมือนกัน   เหลือแต่หลุยซา อัลเบิร์ตและล็อตตี้ซึ่งไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในไวโอมิงในบั้นปลาย


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 13, 10:51
คู่ที่สองที่แต่งงานกันคือปีเตอร์ อิงกัลส์ พี่ชายของชาร์ลส์  แต่งงานกับอีไลซ่า น้องสาวของแคโรไลน์แม่ของลอร่า  มีลูกด้วยกัน 4 คนคืออลิซ เอลลา ปีเตอร์ และน้องสาวคนเล็กชื่ออีดิธ  แต่ในหนังสือ ลอร่าเรียกญาติคนเล็กสุดนี้ว่าดอลลี่ วาร์เดน 
ในนิยายตอน "บ้านเล็กในป่าใหญ่"   ลอร่าเล่าถึงวันคริสต์มาสที่ลุงปีเตอร์และน้าอีไลซ่าพาลูกๆมาฉลองคริสต์มาสด้วยที่บ้านของเธอ  เด็กๆก็ได้เล่นด้วยกันอย่างอบอุ่นสนุกสนาน     
เมื่อครอบครัวของเธอย้ายออกจากป่าใหญ่  ลอร่าเขียนว่าเธอไม่มีโอกาสเจอลุงกับป้าอีก   แต่สิบปีต่อมาเมื่อลอร่าโตเป็นสาวรุ่น  อลิซ
เป็นสาวใหญ่สมรสแล้ว  เธอกับสามีแวะมาพักที่บ้านของลอร่าในเมืองเดอสะเม็ต รัฐดาโกต้าใต้ ก่อนจะเดินทางต่อไป   ส่วนลุงกับป้ายังอยู่บ้านเดิม
เมื่อลอร่าแต่งงานกับแอลแมนโซ    ปีเตอร์ญาติของเธอมาพักอยู่ด้วยที่บ้านใหม่ของเธอชั่วระยะหนึ่ง  เลี้ยงแกะร่วมกับแอลแมนโซและแบ่งกำไรจากการขายด้วยกัน  เธอเล่าไว้ในหนังสือ The First Four Years

แต่ในเรื่องจริง    เมื่อชาร์ลส์พาภรรยาและลูกเล็กๆ 3 คนออกจากป่าใหญ่รัฐวิสคอนซิน   ลุงปีเตอร์ก็พาครอบครัวเดินทางไปด้วยกัน   จนกระทั่งมาถึงรัฐมินเนโซตา   ลุงปีเตอร์ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองซัมโบร ฟอลส์  ส่วนชาร์ลส์พาครอบครัวเดินทางต่อไปจนถึงเมืองวอลนัท โกรฟ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 13, 10:53
     เรื่องจริงที่ลอร่าตัดออกไปจากหนังสือ ข้ามไปเลยไม่เล่าถึงก็คือเหตุการณ์เศร้าที่สุดชีวิตวัยเยาว์ของเธอ   เมื่อพ่อแม่พาลูกๆไปพักอยู่ที่บ้านนาของลุงปีเตอร์ในมินเนโซตา    ในตอนนั้น แคโรไลน์คลอดลูกชายคนเดียวชื่อเฟรดดี้ได้ไม่นานนัก   แต่หนูน้อยเฟรดดี้ไม่แข็งแรง  อายุเพียง 9 เดือน วันหนึ่งก็ป่วยและหมดลมหายใจไปเฉยๆ
    เรื่องที่ทำให้ครอบครัวของลอร่าเศร้าโศกที่สุดอีกครั้งก็คือ  ชาร์ลส์ตัดสินใจเดินทางโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่อีกครั้ง     จึงจำต้องฝังศพหนูน้อยเฟรดดี้เอาไว้ในสุสานใกล้ๆกันนั้น    เหมือนทอดทิ้งให้แกนอนอยู่ตามลำพัง เมื่อพ่อแม่และพี่เดินทางจากไปไม่ได้หันกลับมาอีก
     การเสียลูกชายไปเป็นเรื่องสะเทือนใจแคโรไลน์มาตลอดชีวิตของเธอ  แม้ว่าได้ลูกสาวคนเล็กคือเกรซมาอีกไม่นานหลังจากนั้น ก็ไม่ทำให้เธอลืมลูกชายได้จนแล้วจนรอด       ในวัยชรา ลอร่าได้ยินแม่ปรารภว่าถ้าเฟรดดี้ยังมีชีวิตอยู่  เธอก็จะสุขใจกว่านี้
อาจจะด้วยเหตุนี้ เมื่อลอร่าเขียนนิยายชุดบ้านเล็ก  เธอจึงข้ามเหตุการณ์ช่วงนี้ไปเลย ไม่เอ่ยถึงน้องชายอีก และทำให้จำต้องตัดลุงปีเตอร์ออกไปจากเรื่องด้วย

    ปีเตอร์ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 67   ส่วนอีไลซ่าอายุยืนกว่า อยู่ต่อมาอีกหลายสิบปีจนถึงแก่กรรมก่อนหนังสือ "บ้านเล็ก" ตีพิมพ์ออกมาแค่ปีเดียว


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 13, 11:04
  อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านเรือนไทยอาจจะเกิดสงสัยขึ้นมาว่า สมัยนั้นชาวบ้านเขาอพยพอะไรกันนักกันหนา     ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรก็ว่าลำบากแล้ว   การเดินทางก็แสนจะลำบากยากเย็นหนักขึ้นไปอีก       ถนนก็ไม่มี  รถยนต์ก็ไม่มี   เดินทางด้วยเกวียนประทุน  วันๆ ม้าลากไปได้ 20 ไมล์ก็ถือว่าเก่งแล้ว    ยิ่งเดินทางจากรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน  กินนอนกันอยู่ในเกวียนนั่นเอง  อาหารการกินก็ต้องหาใส่เกวียนกันไปเอง  หุงต้มกินกันเองแสนจะทุลักทุเล   ไม่เหมือนไปปิคนิคในสมัยนี้สักนิดเดียว   จะหนาวจะร้อนก็ต้องทนกันอยู่ในนั้น
  ทำไมไม่ปักหลักอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่ง  ที่สะดวกสบาย มีร้านรวง มีผู้คน มีบ้านอยู่เป็นหลักแหล่งถาวร

  คำตอบตรงประเด็นที่สุดคือ  อพยพ เพราะอยู่ที่เดิมไม่พอกิน

  ชีวิตชาวบ้านโดยเฉพาะชาวไร่ชาวนาในสมัยนั้นต้องพึ่งธรรมชาติอย่างเดียว     ในแต่ละรัฐ  ไม่มีใครรู้ว่าที่นั่นอุดมสมบูรณ์หรือว่าทุรกันดารขึ้นมาในตอนไหน     เพราะปีนี้ อาจปลูกพืชผลได้ดี  แต่ปีหน้าเกิดแห้งแล้งขึ้นมา ปลูกอะไรไม่ขึ้นก็เป็นได้   ลมฟ้าอากาศเป็นสิ่งไว้ใจไม่ได้เลยว่าจะตลบหลังเล่นงานชาวไร่ชาวนาขึ้นมาเมื่อไหร่ 
  นอกจากนี้ สมัยนั้นไม่มีการคุมกำเนิด    อัตราการตายของทารกสูงมาก  พ่อแม่จึงต้องมีลูกหลายๆคนเผื่อจะรอดไปได้สักครึ่งตอนโต    ครอบครัวเกษตรกรรมต้องการลูกมากๆเพื่อช่วยแรงงานในไร่นา      ดังนั้นชาวบ้านจึงมีลูกกันบ้านละมากๆ   เมื่อมีหลายปากหลายท้องเข้าก็ไม่พอกิน     การอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ในดินแดนไกลๆที่มีสัตว์ป่าให้ล่าอุดมสมบูรณ์จึงเป็นแหล่งอาหารได้ง่ายกว่าจะอยู่ในเมือง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 26 ธ.ค. 13, 11:14
ขออนุญาตส่งสัญญาณว่ายังติดตามอยู่ตลอดนะคะ

ในชุดบ้านเล็กนี้  แต่ละเล่มให้ความประทับใจแตกต่างกันออกไป  น่าทึ่งอย่างมากคือผู้เขียนสามารถบรรยายจนผู้อ่านรับรู้ได้ถึงบรรยากาศในช่วงชีวิตนั้นๆ  เช่นตอนบ้านเล็กในป่าใหญ่ก็รู้สึกได้ถึงความร่มรื่น เรียบง่าย อบอุ่น ปราศจากปัญหา  ซึ่งก็คือการรับรู้ชีวิตของเด็กเล็กๆ อย่างลอร่าในช่วงอายุนั้น  เล่มต่อๆ มา ลอร่าเริ่มโต  ชีวิตก็จะมีแง่มุมให้เรียนรู้มากขึ้น  คนอ่านก็เหมือนจะเห็นมุมมองชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นตามลอร่า

ในเล่มฤดูหนาวที่ยาวนาน  ช่วงต้นในฤดูร้อนผู้เขียนก็บรรยายหน้าร้อนออกมาได้ระอุดี  พอเข้าช่วงหน้าหนาวก็รับรู้ได้ว่าฤดูหนาวนั้นช่างเหน็บหนาวทารุณโหดร้ายเหลือประมาณ  หยิบมาอ่านตอนนี้  ช่างเข้ากับบรรยากาศดีแท้ๆ



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 13, 11:54
^


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 26 ธ.ค. 13, 14:32
ติดตามอยู่
เป็นหนังสือที่ประทับใจมากชุดหนึ่ง  เรื่องราวที่ซึ้งนี้ทำให้เป็นคนรักการอ่าน
เคยซื้อไว้ชุดหนึ่ง  ตอนนี้อาจจะเหลือไม่ครบทุกเล่ม


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 13, 15:47
คู่ที่สาม คือชาร์ลส์กับแคโรไลน์ แต่งงานกันเมื่อค.ศ. 1860  จากนั้นก็เริ่มสร้างครอบครัวกันในกระท่อมไม้ซุงหลังเล็ก ในป่าใหญ่ของวิสคอนซิน ใกล้ๆกับญาติพี่น้อง    ไปมาหาสู่และแรกเปลี่ยนแรงงานกันได้ง่าย

ชาร์ลส์มีนิสัยอย่างหนึ่งที่แคโรไลน์ดูออกอย่างดี  คือนิสัยที่เขาเรียกว่า "เท้าฉันมันคัน มันก็ชอบเดินทางเรื่อยไป" คือชอบเดินทางอพยพไปหาที่ใหม่ที่ดีกว่า     นับเป็นนิสัยของนักบุกเบิกโดยแท้      แคโรไลน์ไม่ชอบเดินทางร่อนเร่ไปตามที่โน่นที่นี่    เธออยากอยู่ในบ้านเมืองที่ตั้งมั่นคงแล้ว เพราะมันหมายถึงความเจริญและโอกาสเล่าเรียนของลูกๆ      เมื่อแต่งงาน เธอขอว่าถ้ามีลูกสาว ก็ขอให้ทุกคนที่จะเกิดมาได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน  ชาร์ลส์ก็ให้สัญญาตามนั้น และรักษาสัญญาอย่างมั่นคง
ลูกสาวสี่คนได้รับการศึกษาอย่างดีเท่าที่พ่อแม่จะให้ได้    แม้แต่แมรี่ ลูกสาวตาบอดก็มีโอกาสเรียนที่วิทยาลัยคนตาบอดในไอโอวาจนจบ   
แคโรไลน์ตั้งใจให้ลูกสาวคนใดคนหนึ่งเจริญรอยเป็นครูตามแม่   ลอร่าก็ได้เป็นสมใจแม่  และอีกคนหนึ่งก็คือเกรซ น้องสาวคนเล็ก

ข้างล่างนี้คือบ้านจำลองของบ้านไม้ซุงในป่าใหญ่ที่ลอร่าเกิดและเขียนถึงในนิยายเล่มแรก "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 13, 15:57
ดิฉันเคยเข้าไปดูบ้านไม้ซุงแบบนี้ ที่เขาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง  ที่ไหนสักแห่งจำไม่ได้แล้ว    โผล่เข้าไปข้างในรู้สึกว่ามันมืดและอับทึบเหลือเกิน    แต่เมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน  ในฤดูหนาวบ้านแบบนี้อบอุ่นได้ง่ายกว่าบ้านกว้างๆซึ่งเปลืองฟืนในเตาผิงมาก  นอกจากนี้   แม่ของลอร่าเป็นแม่บ้านที่สะอาดเรียบร้อย จัดบ้านช่องได้น่าอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านเล็กขนาดไหนก็ตาม     ในบ้านอบอวลไปด้วยความรัก  เสียงหัวเราะของพ่อและเสียงซอในยามค่ำคืน    มันก็ย่อมเป็นบ้านที่น่าอยู่ยิ่งกว่าบ้านใหญ่ๆที่เงียบเหงา

เรื่อง "บ้านเล็กในป่าใหญ่" เล่าถึงวงจรชีวิตของชาวบ้านในแต่ละฤดูกาล  เริ่มต้นด้วยช่วงเวลาปลายฤดูใบไม้ร่วงต่อกับต้นฤดูหนาว   ที่พ่อแม่จะต้องสะสมอาหารไว้กินตลอดเวลาหลายเดือนที่หิมะตก  ปลูกพืชผลไม่ได้ ล่าสัตว์ก็ยาก      ลอร่าเล่าไว้ในชีวิตจริงว่าเธอยังจำได้ถึงกวางที่พ่อยิงได้ แขวนอยู่รอบบ้าน  รอเวลาถลกหนัง และหั่นเนื้อออกมารมควัน     เล่าถึงแม่ที่เก็บผักผลไม้มาไว้ในห้องใต้หลังคาซึ่งเย็นเฉียบในหน้าหนาว    เคี่ยวน้ำมันหมู   หั่นเนื้อหมูแช่เกลือ ปั่นเนย  มีลูกเล็กๆคอยช่วยเท่าที่จะช่วยได้   

สำหรับเด็กน้อยไร้เดียงสา  งานที่คนอื่นมองว่าเหน็ดเหนื่อยเหล่านี้ล้วนเป็นของสนุก   เพราะพ่อแม่ไม่ได้ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องยากลำบากตรากตรำ     งานเป็นส่วนสำคัญของชีวิต  การนั่งอยู่เฉยๆในวันอาทิตย์เสียอีก เป็นความน่าเบื่อสุดจะทน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 26 ธ.ค. 13, 17:27
โอย เกือบพลาด

มาลงชื่อรายงานตัวค่ะ เดี๋ยวจะมาไล่อ่านให้หมดเลย ขอไปทำงานก่อนค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 13, 07:36
บ้านแรกที่ชาร์ลส์และแคโรไลน์มีเนื้อที่แปดสิบเอเคอร์ แบ่งสองกับเฮนรี่  ปลูกบ้านอยู่ใกล้กัน   แต่ในนิยาย "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ลอร่าตัดฉากที่บ้านลุงเฮนรี่ออกไป  เหลือแต่เพียงบ้านของเธอโดดเดี่ยวอยู่ในป่าใหญ่    บ้านสองหลังนี้อยู่ห่างจากทะเลสาบเปปินไป 7 ไมล์    เมืองเปปินริมทะเลสาบเป็นแหล่งรับซื้อขนสัตว์ที่ชาร์ลส์วางกับดักและยิงได้ในป่า   เอากลับบ้านมาถลกหนัง  รวบรวมได้ทีหนึ่งก็แบกไปที่ร้านค้าในเมือง  ขายขนสัตว์ซื้อของใช้จำเป็นและของสวยๆเช่นผ้าตัดเสื้อมาให้ลูกเมีย

ชาร์ลส์กับแคโรไลน์แต่งงานกัน 5 ปีถึงมีลูกสาวคนแรก  ผมสีทอง ตาสีฟ้า   พ่อแม่ตั้งชื่อว่าแมรี่ อะมีเลีย    สองปีต่อมาลูกสาวคนที่สองก็ตามมา   คนนี้ผมสีน้ำตาลและตาสีฟ้า  ได้รับชื่อว่าลอร่า เอลิซาเบธ

ความทรงจำเริ่มแรกของหนูน้อยลอร่า คือพ่อ แม่ พี่สาวตัวเล็กๆโตกว่าเธอไม่เท่าไร    อาศัยอยู่รวมกันในกระท่อมหลังเล็กที่แสนจะเป็นสุขและอบอุ่นพร้อมหน้าพร้อมตากัน     ภาพชีวิตเหล่านี้  เมื่อลอร่าเข้าวัยชรา เธอเรียกมันว่า "ภาพที่แขวนอยู่ในความทรงจำของฉัน"


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 13, 07:43
ภาพที่ลอร่าจำแม่นยำไม่ลบเลือนคือค่ำคืนที่หนาวเย็นภายนอก   แต่ในบ้านสว่างและอบอุ่นด้วยแสงไฟจากฟืนท่อนใหญ่ๆในเตาผิง   มีพ่อ แม่ และแมรี่อยู่ในภาพนั้น
ภาพแรกเมื่อลอร่าจำความได้ คือพ่อ    สิ่งแรกในตัวพ่อที่เธอจำได้คือดวงตาสีฟ้าสดของพ่อ  แจ่มกระจ่าง และคมกริบ    เป็นดวงตาที่เล็งเป้าอย่างแม่นยำ ยามประทับปืนไรเฟิลบนบ่า  พ่อสามารถฆ่าหมี หรือหมูป่าตัวใหญ่ด้วยกระสุนนัดเดียว     แต่ดวงตาคมกล้าของพ่อ ก็เปลี่ยนเป็นอ่อนโยนยามพ่อมองแม่ หรือลูกสาวตัวน้อยๆในยามเธอป่วยไข้
พ่อมีผมดกหนาและละเอียด สีน้ำตาลเข้ม   พ่อไว้เครายาวสีน้ำตาลอมแดง ตลอดชีวิตตั้งแต่หนุ่มจนชรา

เท่าที่ลอร่าจำความได้ พ่อเป็นคนแข็งแรง แคล่วคล่องว่องไวที่สุด   พ่อเล่นสเก๊ตได้เก่งกว่าใครๆ  ว่ายน้ำก็เร็ว   พ่อสามารถเดินได้วันละหลายไมล์ท่ามกลางหิมะในป่า เพื่อไปล่าสัตว์ หรือเดินทางเข้าเมืองเอาขนสัตว์ไปขาย    เธอยังจำได้ถึงฝีเท้าสม่ำเสมอของพ่อที่เดินไปเดินมาทั้งคืน แบกลูกสาวตัวน้อยที่ป่วยไข้งอแงจนเธอหลับไปกับบ่าพ่อ
เธอยังจำได้ถึงเสียงพ่อปลอบประโลมลูกสาวให้นิ่งไม่ร้องไห้   และเสียงพ่อพูดกับแม่ว่า
" เธอพักเสียเถอะ แคโรไลน์ ฉันจะดูแลลูกเอง"


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 13, 08:57
^
ดูจากรูปข้างบน   พ่อลอร่าตอนหนุ่มๆน่าจะหล่อเอาการนะคะ     เสียดายเครายาว ฟูเป็นกระเซิงนั่น ปิดปากและคางหมดเลย   ถ้าโกนเสีย  น่าจะดีกว่า


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 13, 09:58
สี่คนพ่อแม่ลูกมีชีวิตอย่างสบายในป่าใหญ่  เพราะมีเนื้อสัตว์ให้กินอุดมสมบูรณ์  ทั้งหมูป่า กวาง และหมี    ในฤดูร้อน พ่อปลูกข้าวโพด ข้าวสาลี ไว้กินเอง     แต่อย่างหนึ่งที่ทำให้พ่อเหนื่อยมากคือป่าใหญ่ในวิสคอนซินนั้นเป็นป่า ไม่ใช่ทุ่ง  เมื่อคนมาหักร้างถางพงทำไร่   ก็ต้องสู้รบกับต้นไม้ที่แตกแขนงแตกกิ่งงอกงามขึ้นทุกหนทุกแห่ง  ไม่รู้จบรู้สิ้น   เป็นการสิ้นเปลืองแรงงานที่ทำให้พ่อเหน็ดเหนื่อยไม่รู้จบแต่ในแต่ละปี
พ่อคิดถึงทุ่งกว้างอย่างในรัฐอิลลินอยส์ที่พ่อเคยอยู่ตอนเด็ก    ทุ่งกว้างมีดินดีเหมาะจะเพาะปลูก   ไม่มีต้นไม้ให้ต้องถากถาง ไม่มีหินปนใต้ดินให้ต้องขุดทิ้ง     พ่อได้ยินมาว่าทุ่งกว้างในรัฐแคนซัสมีสัตว์ป่ามากมาย  จะยิงเท่าใดก็ได้ไม่มีใครมาแก่งแย่ง    ผิดกับป่าใหญ่ที่มีคนอพยพมาอยู่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้สัตว์ป่าร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว   พ่อไม่สามารถจะล่าสัตว์ได้ง่ายๆอย่างเมื่อก่อน

แรงผลักดันอีกอย่างก็คือ พ่อกับแม่ซื้อที่ดินมาก็ทำงานผ่อนค่าที่ดินกันอย่างหนัก   แต่หลังสงครามกลางเมือง  ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำระลอกแรกทำให้ธนาคารที่พ่อแม่ฝากเงินไว้ล้มละลาย   เงินฝากสูญไปหมดโดยไม่รู้จะเรียกร้องเอากับใคร   พ่อได้ข่าวมาว่ารัฐบาลจะให้ที่ดินฟรีแก่ผู้บุกเบิกไปตั้งถิ่นฐานทางตะวันตก   พ่อก็ดีอกดีใจอยากจะไปเริ่มต้นใหม่ที่นั่น
ตอนนั้นพ่อแม่มีลูกเพียง 2 คนคือแมรี่กับลอร่าซึ่งยังเล็กมาก  แครี่และเกรซยังไม่เกิด    แม่ไม่อยากจะทิ้งบ้านที่แสนสบาย พาลูกที่ยังอ่อนเยาว์มากไปอยู่ในแดนทุรกันดาร  แต่เมื่อพ่ออยากจะสร้างโอกาสใหม่  แม่ก็พร้อมจะติดตามพ่อไป  รัฐที่พ่อตั้งใจจะไปอยู่คือแคนซัส ซึ่งยังเป็นดินแดนของพวกอินเดียนแดงอยู่  

ลอร่ายังเล็กมาก อายุเพียงสามขวบเมื่อพ่อแม่อพยพไปอยู่แคนซัส   เธอจำเหตุการณ์ไม่ได้เลย พ่อแม่และแมรี่เป็นคนเล่าให้ฟังในภายหลัง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 13, 13:27
      ในทุ่งหญ้ากว้างขวางสุดขอบโลก  เป็นแดนเถื่อนมีแต่อินเดียนแดงอาศัยอยู่   สลับด้วยเมืองเล็กๆที่ฝรั่งผิวขาวไปตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นหย่อมๆ    พ่อพาแม่และลูกสาวเล็กๆสองคนไปสร้างกระท่อมไม้ซุงอยู่อีกหลังหนึ่ง ห่างจากเมืองอินดีเพนเดนซ์ราว 40 ไมล์     มีผู้อพยพอื่นๆไปสร้างกระท่อมอยู่ห่างๆกันมองกันไม่เห็น
      ที่แคนซัสนี้เอง ลูกสาวคนที่สามถือกำเนิดมา   พ่อแม่ตั้งชื่อตามชื่อแม่ว่า แคโรไลน์   ซีเลสเชีย  แต่เรียกย่อๆว่า "แครี่"
      ทุ่งกว้างแคนซัสมีความอุดมสมบูรณ์อย่างที่ชาร์ลส์หวังไว้    มีสัตว์ต่างๆให้ล่ามากมายตั้งแต่กระต่ายป่า   ไก่งวงป่าไปจนกวาง ลำห้วยก็มีปลาเต็ม     พื้นดินก็เรียบ ไม่มีต้นไม้หรือหินให้เกะกะ  เหมาะจะทำไร่ปลูกข้าว        แต่ภยันตรายอย่างที่ไม่มีในวิสคอนซินก็มีคุกคามมาตลอด คืออินเดียนแดงที่ไม่ชอบพวกผิวขาวว่ามารุกรานถิ่นที่อยู่ของเขา   พวกนี้จะมาที่บ้านบ่อยๆเพื่อขู่เข็ญเอาอาหารและยาสูบไปตามใจชอบ     นอกจากนี้ก็มีฝูงหมาป่าดุร้ายซึ่งกล้าเข้ามาล้อมกระท่อมไว้ทั้งหลัง  ที่ร้ายที่สุดคือยุงซึ่งนำเชื้อไข้ป่า (มาเลเรีย)มาทำให้ครอบครัวเกือบจะถึงตาย
     ชาร์ลส์อยู่ที่แคนซัสได้ปีเศษ  รัฐบาลกลางก็ออกประกาศให้พวกที่ไปตั้งถิ่นฐานออกไปให้พ้นจากเขตของอินเดียนแดง    เท่ากับว่าเขาลงทุนลงแรงไปสูญเปล่า    ประกอบกับเขาได้รับจดหมายจากคนที่ซื้อบ้านไม้ซุงและที่ดินของตัวบ้านว่าไม่มีเงินจะผ่อนอีกแล้ว  ขอให้กลับมารับบ้านคืนไป     
     ชาร์ลส์ก็เลยตัดสินใจพาภรรยาและลูกสาวเล็กๆ 3  คน  คนเล็กยังแบเบาะอยู่    เดินทางด้วยเกวียนประทุนออกจากแคนซัส  ทิ้งบ้านและไร่นาที่ลงทุนลงแรงไว้มากมายให้กลายเป็นที่รกร้างตามเดิม    กลับไปสู่ป่าใหญ่รัฐวิสคอนซินที่เขาจากมา


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 13, 13:30
รูปที่เห็นคือกระท่อมจำลองตามที่บรรยายไว้ในตอน "บ้านเล็กในทุ่งกว้าง"  ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ในเมืองอินดีเพนเดนซ์    รัฐแคนซัส  เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชม  
สร้างขึ้นตามคำบรรยายในหนังสือ ตรงกับบ้านช่องในสมัยนั้น     ชาร์ลส์โค่นต้นไม้ขนซุงมาเรียงกันเป็นผนัง  ก่อสร้างด้วยตัวเอง   ร่องโหว่ระหว่างไม้ซุงก็ยาด้วยดินเหนียวหนาๆเพื่อกันลมพัดลอดเข้ามาในหน้าหนาว
ภายในบ้านเป็นอย่างรูปทางขวามือ ค่ะ  ตามที่ลอร่าบรรยายไว้เช่นกัน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 13, 12:02
ชาร์ลส์กลับไปถึงป่าใหญ่ในวิสคอนซินอีกครั้ง    สู่บ้านไม้ซุงที่จากมา   ในตอนแรกเจ้าของใหม่ที่บอกคืนบ้านยังไม่ย้ายออก   ครอบครัวอิงกัลส์จึงต้องไปอาศัยอยู่ชั่วคราวกับลุงเฮนรี่     เด็กๆก็ได้เล่นกันเป็นครอบครัวใหญ่อีกครั้ง จนกระทั่งเจ้าของใหม่ย้ายออกไป  ชาร์ลส์ก็พาลูกเมียกลับสู่บ้านเดิมที่เขาสร้างและเป็นที่เกิดของลูกสาวทั้งสอง
ชาร์ลส์กลับไปปลูกพืชผลในที่หักร้างถางพงกลางป่า เหมือนอย่างที่เคยทำอีกครั้ง     ลอร่าเติบโตพอจะจำความได้แล้วในตอนนี้ เธอบันทึกรายละเอียดชีวิตในแต่ละช่วงของฤดูกาล ตั้งแต่การสะสมอาหารในปลายฤดูใบไม้ร่วงเตรียมไว้ก่อนหิมะตก     ค่ำคืนที่อบอุ่นข้างไฟในเตาผิง มีเสียงซอของพ่อให้ความสุขสนุกสนานตลอดเวลาที่หิมะตกหนักภายนอก    จนหิมะละลาย   เด็กๆออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านได้อีกครั้ง   และเมื่อฤดูร้อนมาเยือน ญาติๆก็มาเยี่ยมเยียนกัน
ความทรงจำอันแสนสุขในรอบสองที่กลับบ้านในป่าใหญ่  ถูกบันทึกไว้ในหนังสือ "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ที่เป็นตอนแรกของนิยายชุดนี้     เพียงแต่ลอร่าสร้างให้เป็นชีวิตแรกเริ่มตั้งแต่เกิดจนห้าขวบ    ไม่ใช่ชีวิตรอบสองในป่าใหญ่อย่างในชีวิตจริงเบื้องหลัง

ช่วงชีวิตนี้เป็นช่วงที่มีความสุขที่สุดของเธอ    เมื่อถ่ายทอดผ่านตัวอักษรมาถึงคนอ่าน     คนอ่านทั่วโลกก็สัมผัสความสุขใจในบ้านน้อยหลังนี้ได้   และพลอยเป็นสุขไปด้วย   นิยายเรื่องนี้จึงประสบความสำเร็จชั่วข้ามคืน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 13, 13:26
  แมรี่อายุหกขวบ เริ่มไปโรงเรียนที่อยู่ห่างจากบ้านไป 1 ไมล์   ลอร่าอยากไปมากแต่เธอยังเล็กเกินกว่าจะไปได้   เธอก็เลยหัดอ่านอยู่ในบ้านโดยมีแม่เป็นคนสอน      สิ่งที่พ่อแม่ชอบตรงกันคือหนังสือ ในบ้านมีอยู่หลายเล่ม   ตอนค่ำแม่จะอ่านหนังสือดังๆให้พ่อและลูกฟัง    ดังนั้นเมื่อลอร่าหัดอ่านหนังสือเธอก็เลยอ่านได้เร็วเพราะมีพื้นฐานมาจากฟังแม่อ่านดังๆแล้วก่อนหน้านี้
   เมื่อลอร่าโตพอจะไปเรียนหนังสือได้ เธอก็ตามพี่สาวไปเรียนด้วย    ลอร่าสนุกกับชีวิตนักเรียนมาก   เธอไม่เคยร้องไห้โยเยไม่ยอมไปร.ร.   หรือขี้เกียจอ่านขี้เกียจเขียน      ความรักหนังสือที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่ ทำให้ลอร่ารักการอ่านและเขียน    สิ่งนี้เป็นภูมิหลังที่มั่นคงรองรับความเป็นนักเขียนของเธอในห้าสิบกว่าปีต่อมา

    แต่ความสุขในชีวิตช่วงนี้ก็จบลงใน 2 ปี ในเมื่อต้องเลี้ยงปากท้องเพิ่มขึ้น เป็น 5 คนในบ้าน   งานหักร้างถางพงในป่าเพื่อปลูกไร่ข้าวโพดและข้าวสาลีเป็นงานหนักเกินไปสำหรับชาร์ลส์   ปัญหาใหญ่คือต้นไม้ต้นเล็กต้นน้อยในดินที่แตกแขนงใหม่ให้ต้องขุดทิ้งไปเรื่อยไม่รู้จักจบ        ประกอบกับมีผู้อพยพมาตั้งบ้านเรือนกันจนคับคั่ง ล่าสัตว์ได้ยากขึ้นทุกที      เขาก็อยากจะอพยพอีกครั้งตามนิสัยผู้ไม่ชอบอยู่กับที่       คราวนี้เขาตัดสินใจไปแสวงหาถิ่นฐานใหม่ในรัฐมินเนโซตา ซึ่งเป็นรัฐติดกันกับวิสคอนซิน อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ   ไม่ไกลอย่างแคนซัส


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 13, 07:20
คราวนี้ชาร์ลส์มีเพื่อนร่วมเดินทางด้วย คือปีเตอร์พี่ชายของเขากับอีไลซ่าภรรยาซึ่งเป็นน้องสาวของแคโรไลน์  ตัดสินใจจะโยกย้ายถิ่นฐานไปมินเนโซตาด้วยกัน       ในตอนแรกแคโรไลน์ไม่เต็มใจที่จะอพยพออกจากป่าใหญ่ไประเหเร่ร่อนอยู่ตามทุ่งกว้างไกลจากความเจริญ     แต่ในเมื่อมีครอบครัวพี่น้องไปด้วยกัน เธอก็รู้สึกว่ายังดีกว่าไปกันตามลำพังเหมือนครั้งไปอยู่แคนซัส

ชาร์ลส์ขายบ้านไม้ซุงและที่ดินไปในราคา 1,000 ดอลล่าร์ เอาไปตั้งตัวในดินแดนใหม่     ท่ามกลางความหนาวทารุณเต็มไปด้วยหิมะตกหนัก  ครอบครัวทั้งสองก็ต้องออกเดินทางไปในเกวียนประทุน     ท่ามกลางความห่วงใยและไม่เห็นด้วยของญาติพี่น้อง แต่ทุกคนก็รู้ว่าไม่มีทางเลือก  ชาร์ลส์กับปีเตอร์จะต้องเดินทางข้ามทะเลสาบเปปินเพื่อข้ามเขตเข้าในรัฐมินเนโซตา     และต้องเลือกกลางฤดูหนาวที่ทะเลสาบเป็นน้ำแข็งหนาทึบพอที่เกวียนจะเดินทางข้ามไปได้      ถ้ารอให้อากาศอุ่นกว่านี้ น้ำแข็งจะเริ่มบางลงและแตกง่าย ทำให้ม้าและเกวียนตกลงไปในน้ำเย็นเจี๊ยบไหลเชี่ยวใต้ทะเลสาบ  จมน้ำตายกันหมดที่นั่น

ลอร่าเดินทางไปในความหนาวต่ำกว่าศูนย์องศาไม่รู้ว่าเท่าไหร่    ไปในเกวียนประทุน    ต้องข้ามทะเลสาบไปจนขึ้นฝั่งจึงจะก่อไฟ  ผิงไฟกันหนาวกันได้ 





กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 13, 08:06
    ข้ามทะเลสาบเปปินมาได้ก็เข้าเขตมินเนโซตา      ถึงเมืองเลคซี้ตี้  ครอบครัวที่เผชิญความหนาวนี้ก็เข้าไปพักชั่วคราวในโรงแรม  ตรงกับวันเกิดอายุครบ 7 ขวบของลอร่าพอดี     พ่อออกจากโรงแรมฝ่าความหนาวไปซื้อของขวัญมาให้ลูก คือหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ ชื่อ The Floweret   
    เขตที่ทั้งสองครอบครัวมาถึงคือมินเนโซตาตะวันออก     ลุงปีเตอร์พบฟาร์มแห่งหนึ่งที่เขาอยากจะปักหลักลงที่นั่น   อ ยู่ริมแม่น้ำซัมบโร    ส่วนชาร์ลส์อยากจะเดินทางต่อไปทางตะวันตกของรัฐ    ดังนั้นสองครอบครัวก็ตกลงจะแยกทางกัน    ชาร์ลส์พาครอบครัวเดินทางต่อไปตามลำพัง
    ในที่สุดเขาก็มาถึงหมู่บ้านเล็กๆชื่อวอลนัท โกรฟ   เป็นหมู่บ้านใหม่เพิ่งตั้งได้แค่ 3  ปี   ชาวบ้านส่วนใหญ่มีเชื้อสายนอร์เวย์      เขาพบชาวนอร์เวย์คนหนึ่งต้องการจะขายที่ดินริมลำธารชื่อพลัมครี้กห่างหมู่บ้านออกไปอีกหน่อย   เนื้อที่ 172 เอเคอร์    รวมบ้านโพรงดิน คือบ้านที่ขุดเข้าไปริมตลิ่ง เป็นห้องเล็กๆขนาดเท่าเกวียน    มีพื้นหญ้าแทนหลังคา    รายรอบด้วยที่ดินซึ่งหว่านข้าวสาลีเอาไว้เบาบาง
    ชาร์ลส์ตกลงซื้อที่ดินผืนนั้น   เพื่อลงหลักปักฐานอยู่ในมินเนโซตา
    ชีวิตช่วงนี้อยู่ในนิยายบ้านเล็ก ตอนที่ชื่อว่า   On the Banks of Plum Creek ค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 13, 10:47
เป็นครั้งแรกในชีวิตที่หนูน้อยลอร่าวัย 7 ขวบต้องมาอยู่บ้านที่ขุดลึกเข้าไปในดิน     เรียกว่า dugout    บ้านแบบนี้สร้างง่ายกว่าบ้านไม้ซุง และลงทุนน้อยกว่ามาก    คือหาบริเวณที่เป็นตลิ่งชนิดชัน หรือเนินเขาเตี้ยๆ  แล้วขุดจากด้านข้างเข้าไปเป็นห้อง   จากนั้นก็ทุบผนังให้เรียบและแน่น     ด้านหน้าอาจจะใช้ไม้ซุง หรือไม้กระดาน หรืออิฐหินเรียงซ้อนกันเป็นผนัง  มีประตูเปิดเข้าไปได้  ส่วนหน้าต่างก็เจาะเอา ให้มีแสงสว่างลอดเข้ามา    ส่วนหลังคา ใช้กิ่งไม้ใหญ่ๆประสานกันแล้วเอาดินแผ่นปูทับอีกที   หญ้าบนดินก็จะขึ้นเขียวงอกงามยึดกันเอาไว้เป็นหลังคา
บ้านโพรงดินจะเย็นในฤดูร้อน และอบอุ่นในฤดูหนาว ไม่เปลืองฟืน



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 13, 10:47
บ้านโพรงดินตามในภาพประกอบในหนังสือ บ้านเล็ก


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 13, 10:49
บ้านโพรงดินของลอร่าสาบสูญไปนานแล้ว  แต่ทางการในเมืองวอลนัท โกรฟ  ค้นหาจนเจอว่ามันเคยอยู่ตรงไหน แล้วทำป้ายไว้เป็นอนุสรณ์


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 31 ธ.ค. 13, 19:02
ขอบคุณคุณเทาชมพูมากเลยค่ะสำหรับเบื้องหลังชีวิตต้องสู้ของลอร่า

รออ่านต่อนะคะ

กระทู้นี้เลยทำให้ตัวเองต้องไปค้นกรุหนังสือ นิตยสารเก่าๆ
จำคลับคล้ายคลับคลาว่า เคยมีใครวิจารณ์ผลงานชุดบ้านเล็กนี้ไว้
แล้วก็เจอจริงๆ

"...จากที่ซึ่งดวงตะวันฉายแสง
หนังสือชุดบ้านเล็ก บันทึกประวัติศาสตร์สังคมของอเมริกันยุคบุกเบิก"
โดย สันติ นามธรรม
ตีพิมพ์ในนิตยสาร โลกหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 4 มกราคม 2522  12 บาท 8)

ไว้คุณเทาชมพูเล่าเรื่องจบก่อน ค่อยนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากบทความนี้มาเสริมเพิ่มเติมแล้วกันค่ะ
มีชีวประวัติของ" สุคนธรส "ผู้แปลหนังสือชุดนี้ด้วยค่ะ ;D


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ม.ค. 14, 07:58
ขอสวัสดีปีใหม่ทุกท่านที่แวะเข้ามาในกระทู้นี้ค่ะ   ดีใจมากที่พบว่ามีหลายท่านเคยอ่าน และชอบเรื่องนี้เช่นเดียวกับดิฉัน
จะได้มีกำลังใจคุยต่อไปนานๆ     ถ้าอยากจะเสริม หรือส่งเสียงกระแอมกระไอบ้างก็เชิญนะคะ  ดิฉันจะได้ไม่ต้องคุยอยู่ฝ่ายเดียว

ขอกำนัลด้วยอาหารปีใหม่ในบ้านเล็ก ตอน "ริมทะเลสาบสีเงิน"  By the Shore of Silver Lake
อาหารเช้าปีใหม่ที่ลอร่าได้ลิ้มรสครั้งแรก บอกตัวเองว่าไม่เคยกินซุปอะไรอร่อยเท่านี้  คือซุปหอยนางรม   รับประทานกับขนมปังหอยอันเล็กๆ (รูปล่าง)ค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ม.ค. 14, 08:52
เป็นครั้งแรกในชีวิตที่หนูน้อยลอร่าวัย 7 ขวบต้องมาอยู่บ้านที่ขุดลึกเข้าไปในดิน     เรียกว่า dugout    บ้านแบบนี้สร้างง่ายกว่าบ้านไม้ซุง และลงทุนน้อยกว่ามาก    คือหาบริเวณที่เป็นตลิ่งชนิดชัน หรือเนินเขาเตี้ยๆ  แล้วขุดจากด้านข้างเข้าไปเป็นห้อง   จากนั้นก็ทุบผนังให้เรียบและแน่น     ด้านหน้าอาจจะใช้ไม้ซุง หรือไม้กระดาน หรืออิฐหินเรียงซ้อนกันเป็นผนัง  มีประตูเปิดเข้าไปได้  ส่วนหน้าต่างก็เจาะเอา ให้มีแสงสว่างลอดเข้ามา    ส่วนหลังคา ใช้กิ่งไม้ใหญ่ๆประสานกันแล้วเอาดินแผ่นปูทับอีกที   หญ้าบนดินก็จะขึ้นเขียวงอกงามยึดกันเอาไว้เป็นหลังคา
บ้านโพรงดินจะเย็นในฤดูร้อน และอบอุ่นในฤดูหนาว ไม่เปลืองฟืน

นึกถึงบ้านโพรงดินของพวกฮอบบิทที่นิวซีแลนด์ กำลังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมทีเดียว  ;D

http://www.youtube.com/watch?v=ieIzxldekbg


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ม.ค. 14, 09:28
^


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ม.ค. 14, 16:09
ชีวิตในบ้านโพรงดินดำเนินไปอย่างเรียบง่าย    พ่อหว่านข้าวสาลีบนพื้นดินที่เป็นทุ่ง ไม่ใช่ป่าอย่างในวิสคอนซิน    ดินที่มินเนโซตาดีมาก ทำท่าว่าข้าวสาลีจะได้ผลอย่างงาม   ขายก็ง่ายเพราะสถานีรถไฟอยู่ใกล้ๆ ขนส่งได้สะดวก       แม่พอใจที่อยู่ใกล้เมือง แม้เป็นเมืองเล็กแต่ก็ยังได้ชื่อว่าเมืองอยู่ดี  มีโรงเรียนให้ลูกๆได้มีโอกาสเล่าเรียน   ส่วนโบสถ์เพิ่งก่อตั้ง พ่อกับแม่ก็ไปช่วยก่อตั้งโบสถ์ในเมืองด้วย
ในหนังสือไม่ได้บอกว่าลอร่านับถือคริสต์ศาสนานิกายอะไร  แต่ในความเป็นจริง  พ่อแม่สังกัดอยู่ใน Union Congregational Church    โบสถ์ในสมัยนั้นสร้างง่ายๆอย่างในรูปข้างล่างนี้ค่ะ



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ม.ค. 14, 16:25
ชีวิตโรงเรียนเริ่มขึ้นเป็นจริงเป็นจังสำหรับลอร่าเมื่อมาอยู่ในรัฐมินเนโซตานี่เอง     ในดินแดนห่างไกลความเจริญ  โรงเรียนสร้างง่ายๆ นักเรียนเรียนรวมกันหมดในห้องเดียว    หนังสือเรียนก็แล้วแต่ใครจะมี  ส่วนใหญ่ก็เป็นของตกทอดจากพ่อแม่   ไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนกันหมดอย่างนักเรียนสมัยนี้    ครูก็สอนหนังสือแต่ละเล่มที่นักเรียนมีไปจนจบแต่ละบทหรือแต่ละเล่ม     เพราะนักเรียนทั้งร.ร.มีอยู่เพียงไม่กี่คน

ลอร่าเพิ่งได้ประสบสังคมใหม่ที่เธอไม่เคยเจอมาก่อน คือสังคมของเด็กในเมือง    แม้เป็นเมืองเล็กๆชายแดน   ก็ยังไม่วายมีการแบ่งชั้นวรรณะกันในนั้น    แมรี่กับลอร่าถูกดูถูกจากเด็กหัวสูงในเมืองว่าเป็น "เด็กบ้านนอก"  เดินมาร.ร.โดยไม่มีรองเท้าจะสวมในฤดูร้อน เพราะต้องเก็บไว้สำหรับเวลาอากาศหนาว
เด็กผู้หญิงหัวสูงจอมหยิ่งคนนั้นชื่อเนลลี่ โอเวนส์ เป็นลูกเจ้าของร้านชำในเมือง  ถือว่ามีสะตุ้งสตางค์มากกว่าชาวบ้าน      เธอเป็นคู่แข่งกลายๆของลอร่าผู้ไม่ยอมลงให้ใครง่ายนัก     เมื่อเริ่มเขียนนิยายชุดบ้านเล็กมาถึงตอนนี้    เนลลี่ โอเวนส์ก็ถูกดัดแปลงเป็นเนลลี่ ออลิสัน  ยัยตัวร้ายคู่ปรับของลอร่า
รูปนี้คือเนลลี่ ถ่ายเมื่อโตเป็นสาวแล้วค่ะ  


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ม.ค. 14, 16:27
สมุดหนังสือในสมัยนั้นหน้าตาเป็นแบบนี้  ซ้ายคือสมุด   ขวามือหนังสือแบบเรียนชั้นประถม 5  (Grade 5)


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 14, 09:16
ปกติแล้ว ลอร่าเขียนถึงตัวละครในชีวิตวัยเยาว์ของเธอโดยระบุชื่อจริงนามสกุลจริง      ไม่ว่าชื่อเครือญาติหรือเพื่อนฝูง ผู้คนที่เธอรู้จัก     จะเว้นก็แต่ตัวละครที่มีนิสัยร้ายกาจ หรือมีพฤติกรรมไม่ดี  เธอจึงจะดัดแปลงชื่อหรือนามสกุลเสีย   เนลลี่ โอเวนส์จึงกลายมาเป็นเนลลี่ ออลิสัน
ตัวละครในตอนนี้ มีคนหนึ่งที่ลอร่าเอ่ยถึงอย่างนิยมชมชื่นคือ สาธุคุณแอลเดน  นักเทศน์หรือมิชชันนารีผู้ก่อตั้งโบสถ์ Congregation ในเมืองวอลนัท โกรฟ     พ่อกับแม่นับถือยกย่องท่านมาก    ตัวท่านเองก็รักและเอ็นดูลอร่ากับแมรี่มาก       ในวันคริสต์มาส  ลอร่ากับครอบครัวได้ไปร่วมงานคริสต์มาสที่โบสถ์  เป็นครั้งแรกที่ลอร่าได้เห็นต้นคริสต์มาส และได้ของขวัญที่วิเศษสุดจากต้นคริสต์มาส  คือเสื้อคลุมไหล่ตัวเล็กๆทำด้วยเฟอร์สีน้ำตาลและปลอกมือเข้าชุดกัน  อย่างที่เธอเคยเห็นเนลลี่สวม

สาธุคุณแอลเดนเป็นคนจัดงานฉลองคริสต์มาส   หาต้นคริสต์มาสมาประดับงาน และที่สำคัญคือหาของขวัญมาแขวนให้เด็กๆ    ของเหล่านี้ท่านได้รับบริจาคจากผู้ใจบุญ ส่งมาใน "ถังคริสต์มาส"
ต้นคริสต์มาสในเมืองเล็กๆสมัยหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน ไม่มีอะไรหรูหราสวยงามอย่างสมัยนี้     เป็นแค่ต้นสนตัดมาจากในป่า  พาดพันด้วยกระดาษสีแถบยาวๆ   แขวนของแจกเอาไว้ตามกิ่งก้าน    แต่สำหรับเด็กน้อยอย่างลอร่า สนคริสต์มาสคือต้นไม้วิเศษที่ทำให้ฝันเป็นจริง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 14, 09:31
เนลลี่เป็นลูกเจ้าของร้านชำ รายได้ดี จึงมีเสื้อผ้าแพงๆเช่นเสื้อเค้ปคลุมไหล่ทำด้วยเฟอร์สวมในฤดูหนาว     เธอดูออกว่าลอร่าอยากมีเสื้อแบบนี้มาก ก็เลยสวมเสื้อเฟอร์เดินกรายไปกรายมาอวดลอร่า และพูดจาดูถูกว่าพ่อลอร่าจน    ทุกครั้งลอร่าก็ได้แต่อดทน  ทั้งๆแทบกลั้นไม่ไหว
ท่านแอลเดนน่าจะสังเกตเห็นเรื่องนี้   ในวันคริสต์มาสท่านจึงหาของขวัญมาให้ลอร่า เป็นเสื้อเค้ปทำด้วยเฟอร์สีน้ำตาล   สวยกว่าของเนลลี่ และมีปลอกมือเข้าชุดกัน ซึ่งเนลลี่ไม่มีอีกด้วย
ฝันของลอร่าก็เป็นจริงนับแต่นั้น


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 14, 09:25
 เมื่อฤดูหนาวแรกเข้ามาเยือนครอบครัวอิงกัลส์      ชาร์ลส์ก็พบว่าเขาพาครอบครัวมาอยู่ในดินแดนที่พายุหิมะพัดดุเดือดรุนแรงกว่ารัฐอื่นๆ    เพราะมินเนโซตาเป็นทุ่งกว้างราบเรียบ  จึงไม่มีที่กำบังลมอย่างป่าใหญ่ในวิสคอนซิน    ส่วนแคนซัสก็แห้งแล้งเกินกว่าจะมีหิมะ
   พายุหิมะ (blizzard) ไม่ได้หมายความแค่หิมะตกแล้วมีลมพัดแรงเท่านั้น  แต่หมายถึงพายุที่มีเกล็ดน้ำแข็งแทนสายฝน    ลอร่าเคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอไม่รู้ว่าพายุหิมะที่เธอเจอตอนเด็กมีความเร็วของลมเท่าใด   แต่มันเทียบได้กับเฮอร์ริเคนหรือไต้ฝุ่น       
     ดังนั้นในหน้าหนาว ชาร์ลส์ต้องตัดไม้ขนฟืนมาตุนเอาไว้ในบ้านมากๆ เพื่อจะได้มีไฟในเตาผิงพอใช้หลายๆวัน   เวลาเกิดพายุหิมะ  ซึ่งจะมาโดยไม่มีใครทันรู้เนื้อรู้ตัว     ส่วนลอร่ากับแมรี่ก็ไปโรงเรียนไม่ได้เมื่อเกิดพายุ     ในช่วงเวลานั้นแม่จะเป็นคนสอนหนังสือให้ที่บ้าน เพื่อมิให้การเรียนต้องหยุดชะงัก


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 14, 09:26
ที่นี่เมื่อหิมะเริ่มตก พายุก็จะเริ่มพัดกระหน่ำจากทุกทิศทุกทาง   กินเวลาสามหรือสี่วันกว่าจะหยุด   คนที่ออกไปข้างนอกบ้านจะมองไม่เห็นแม้แต่มือตัวเองที่เหยียดอยู่ตรงหน้า    จึงมีข่าวบ่อยๆว่ามีคนแข็งตายอยู่กลางหิมะ ห่างบ้านไปแค่ไม่กี่เมตร  เพราะเจอพายุหิมะกะทันหัน   หลงทางกลับเข้าบ้านไม่ถูก 
สัตว์เลี้ยงถ้าไม่ขังเอาไว้ในคอก มันจะเดินเปะปะหลงทางไปไกลบ้าน แล้วก็ถูกหิมะจับแข็งจนตายอยู่กลางทุ่ง ถ้าเจ้าของไม่ไปช่วยไว้ทัน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 14, 09:44
      อย่างไรก็ตาม ชาร์ลส์ชอบอากาศแบบนี้ตรงที่ว่า หิมะหมายถึงน้ำที่ซึมลงใต้ผิวดิน   ทำให้ดินชุ่มชื้น  เป็นดินดีเหมาะแก่การเพาะปลูก  ผลก็เป็นอย่างที่เขาคิด  เมื่อหมดฤดูหนาว  เขาหว่านไถข้าวสาลีลงบนที่นา  ต้นข้าวก็เจริญงอกงาม   ในเมื่อมีรถไฟผ่านเมืองวอลนัทโกรฟห่างบ้านแค่ 3 ไมล์  หมายถึงการขนส่งชั้นดี     เขาก็จะขายข้าวสาลีได้ทั้งหมด   เงินที่ได้รับมากมายพอจะทำให้ครอบครัวเขามีฐานะดีขึ้นทันตาเห็น 
     ด้วยความเชื่อมั่นในผืนดินแห่งนี้ ชาร์ลส์จึงตัดสินใจปลูกบ้านก่อนที่จะขายข้าว    พ่อค้าโรงไม้ในเมืองให้เครดิตเขา เชื่อไม้กระดานมาได้ก่อน      ลอร่าเรียกบ้านใหม่ของเธอว่า "บ้านมหัศจรรย์"  เป็นบ้านไม้กระดานสองชั้น    ทุกอย่างใหม่เอี่ยมอ่อง หรูหราโอ่อ่าในสายตาเด็กน้อยวัย 7 ขวบแต่เคยอยู่แต่ในกระท่อมไม้ซุงและโพรงดิน
   


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 14, 09:45
ในบ้านยังมีของขวัญที่ชาร์ลส์มอบให้แคโรไลน์ คือเตาอบรุ่นใหม่สุด  นอกจากหุงหาอาหารได้แล้ว ยังอบอาหารและขนมได้อีกด้วย


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 14, 13:18
บ้านแสนสุขริมลำห้วยชื่อพลัมครี้ก ของลอร่า


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 14, 13:44
แต่ความสุขของชาร์ลส์และครอบครัวมีระยะสั้นมาก     เมื่อฤดูร้อนมาถึง ใกล้เวลาอีกไม่กี่วันข้าวสาลีจะสุกได้ที่ พร้อมจะเก็บเกี่ยว    ภัยธรรมชาติอย่างใหม่ที่ร้ายแรงกว่าภัยใดๆที่พวกเขาเคยประสบก็จู่โจมมาถึงในรูปของฝูงตั๊กแตนนับล้านๆตัว  บินมาจากที่ใดไม่มีใครรู้   มันบินลงมากินทุกสิ่งทุกอย่างในทุ่งกว้างอันอุดมสมบูรณ์นี้จนเกลี้ยง  ไม่ว่าข้าว ฟาง หรือแม้แต่หญ้า

ชาร์ลส์ไม่เคยเห็นภัยแบบนี้มาก่อน    ในป่าใหญ่ของวิสคอนซินและในทุ่งกว้างแคนซัสไม่มีตั๊กแตน     แต่ทุ่งนาดินดีปลูกอะไรก็ขึ้นในมินเนโซตากลายเป็นเป้าหมายของแมลง  โดยชาวนาไม่สามารถป้องกันอะไรได้เลย
เงินทองที่หวังว่าจะได้หายสูญไปในพริบตาเดียว   ทั่วท้องทุ่งกลายเป็นดินแห้งแล้งสีน้ำตาล  มีแต่ไข่ตั๊กแตนฝังตัวอยู่ทุกตารางนิ้ว   รอจังหวะจะเติบโตขึ้นมากินทุกอย่างในปีหน้า

ชาวไร่ชาวนารอบนอกเมืองวอลนัท โกรฟ สิ้นเนื้อประดาตัวไปตามๆกัน  รวมทั้งพ่อของลอร่าด้วย

รูปข้างล่างนี้คือชาวนาพยายามจะต่อสู้กับตั๊กแตน แต่ก็ไร้ผล
ภาพล่างคือทุ่งหญ้าที่ตั๊กแตนทำลายหมดสิ้น


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 14, 08:44
ชาวไร่ชาวนาอพยพออกจากเมืองไปหาที่ทำมาหากินที่อื่น    แต่ชาร์ลส์ยังปักหลักอยู่ที่นี่  ในเมื่อยังมีทั้งที่ดินและบ้านช่องอยู่     เขาหาทางชำระหนี้สินค่าไม้กระดานสร้างบ้าน และค่าใช้จ่ายอื่นๆด้วยการอำลาครอบครัวชั่วคราว   ไปทำงานทางตะวันออกของมินเนโซตา   ที่นั่นพืชผลยังอุดมสมบูรณ์อยู่      ชาร์ลส์ต้องเดินทางถึง  200 ไมล์กว่าจะหางานได้
เด็กๆอยู่กันอย่างหงอยเหงาเมื่อขาดพ่อและเสียงซอของพ่อ     แต่ในที่สุดพ่อก็กลับมาพร้อมด้วยเงินเต็มกระเป๋า  พอจะใช้จ่ายไปได้อีกระยะหนึ่ง

เมื่อฤดูหนาวมาถึง   ชาร์ลส์โยกย้ายครอบครัวออกจากบ้านนา เพราะเด็กๆไม่อาจเสี่ยงเดินทางไปร.ร.ในเมืองได้เนื่องจากอาจจะเกิดพายุหิมะเมื่อใดก็ได้     เขาไม่อยากให้ลูกๆต้องงดเรียนตลอดเทอม    จึงตัดสินใจย้ายไปเช่าบ้านเล็กๆหลังหนึ่งด้านหลังของโบสถ์ อยู่ในตัวเมืองตลอดฤดูหนาว
ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1875   เมื่อเธออายุ 8 ขวบ     เธอกลับจากโรงเรียนมาพาหญิงเพื่อนบ้านกำลังเตรียมอาหารเย็น     แม่นอนอยู่บนเตียงพร้อมด้วยน้องคนใหม่ -  ลูกชายคนแรกของครอบครัว     ชื่อชาร์ลส์ เฟรดเดอริค อิงกัลส์    ตามชื่อพ่อ และพ่อเลี้ยงของแม่      พ่อหนูน้อยคนใหม่มีชื่อเล่นว่า "เฟรดดี้"  ทุกคนเห่อน้องใหม่คนนี้มาก

ในนิยายชุดบ้านเล็ก  ลอร่าตัดน้องชายและเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับน้องคนนี้ออกไปจากหนังสือ      เพราะเป็นเรื่องทุกข์โศกเกินกว่าเธออยากจะบันทึกลงไป


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 14, 09:51
ทุกคนคิดถึงบ้านในทุ่งริมห้วยพลัมครี้กมากกว่าอยากอยู่ในเมือง  จนเมื่อหมดฤดูหนาว  ชาร์ลส์ก็พาครอบครัวกลับมาอยู่บ้านเดิม   เขาหว่านไถข้าวสาลีอีกครั้ง คราวนี้เป็นแปลงเล็ก เพราะไม่แน่ใจว่าตั๊กแตนจะแผลงฤทธิ์อีกหรือเปล่า     ผลก็เป็นอย่างที่กลัวคือตั๊กแตนฝังไข่เอาไว้ตั้งแต่ปีก่อน    พอพ้นฤดูใบไม้ผลิมันก็เติบโตขึ้นเป็นตั๊กแตนตัวใหญ่น่าเกลียดน่ากลัว    ลงกัดกินพืชผล หญ้าและฟางเกลี้ยงทุ่งนาอีกครั้ง    เป็นอันว่าไม่มีอะไรเหลือสำหรับชาร์ลส์และครอบครัว

ชาวเมืองบางคนยอมลงนามในเอกสารแสดงต่อรัฐว่าพวกเขาสิ้นเนื้อประดาตัว   รัฐก็จัดสวัสดิการหาแป้ง เนื้อสัตว์และของกินของใช้จำเป็นให้    แต่ชาร์ลส์กับแคโรไลน์ถือตัวเกินกว่าจะยอมได้ชื่อว่ายากไร้ขนาดนั้น     ชาร์ลส์เขียนจดหมายถึงปีเตอร์พี่ชาย เล่าให้ฟังถึงภัยที่เกิดขึ้น    ปีเตอร์ก็เขียนกลับมาว่าให้ชาร์ลส์เดินทางกลับไปทางตะวันออก ยังเมืองที่ปีเตอร์อาศัยอยู่เพื่อจะไปพักอยู่ด้วยกันจนกว่าจะหาทางขยับขยายได้

เพื่อนที่รู้จักกันในโบสถ์คนหนึ่ง เพิ่งซื้อกิจการโรงแรมเล็กๆในเมืองเบอร์โอ๊ค รัฐไอโอวา     เขาจ้างชาร์ลส์และแคโรไลน์ให้ไปดูแลโรงแรมของเขา ในฐานะผู้จัดการและแม่ครัว   ลุงปีเตอร์ชวนให้น้องชายพาครอบครัวไปพักอยู่ด้วยจนกว่าจะถึงเวลาเดินทางไปไอโอวา   ชาร์ลส์ไม่มีทางอื่นเพราะที่นี่เป็นงานเดียวที่หาได้ในตอนนั้น
ชาร์ลส์ขายบ้านนาและที่นา ที่เขาลงทุนลงแรงมาด้วยความลำบาก    พาลูกเมียขึ้นเกวียน เดินทางกลับไปสู่มินเนโซตาตะวันออกอีกครั้ง
สำหรับนักบุกเบิก   ตะวันตกคือทิศทางเบื้องหน้า   ส่วนตะวันออกคือทิศทางเบื้องหลัง    ถ้าอพยพไปทางตะวันออกคือ"ถอยหลังกลับรอยเดิม"  อย่างที่เรียกกัน  ทั้งพ่อและลอร่าอยากไปทางตะวันตก แต่บัดนี้ก็ไม่มีโอกาส     ทั้งสองจำใจต้อง "ถอยหลังกลับ" ไปตั้งหลักใหม่ที่รัฐไอโอว่า
เหตุการณ์ตอนนี้   ลอร่าตัดออกจากนิยายของเธอทั้งหมด    เป็นได้ว่าเธอไม่อยากจะเก็บไว้ในความทรงจำ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 14, 09:52
เส้นทางจากวอลนัทโกรฟ  ไปเมืองที่ลุงปีเตอร์อาศัยอยู่  และลงใต้ไปที่เบอร์โอ๊ค ในรัฐไอโอวา


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 14, 08:07
ญาติๆของชาร์ลส์คอยสดับตรับฟังข่าวของชาร์ลส์กับครอบครัวอยู่เสมอ   แม้ว่าอยู่ห่างไกลกันคนละรัฐ  ทุกคนก็รู้ข่าวคราวกันและกันจากจดหมายที่เขียนถึงและส่งต่อๆกันไป  เพิ่มเติมข่าวคราวของแต่ละครอบครัวตรงท้ายจดหมาย     ทุกคนจึงรู้ว่าชาร์ลส์กับแคโรไลน์กำลังตกระกำลำบาก  คุณย่าเป็นห่วงมากที่ลูกชายลูกสะใภ้ไม่มีบ้านจะอยู่ในตอนนี้   คุณย่าถึงกับเขียนรำพึงรำพันกับญาติๆว่า ไม่รู้ว่าสองคนนี้จะลงหลักปักฐานได้ที่ไหน    ตั้งแต่อพยพจากวิสคอนซิน ก็มีแต่ตกระกำลำบากเรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กน้อยวัย  8 ขวบอย่างลอร่า   ตราบใดที่มีพ่อแม่และพี่ๆน้องๆอยู่พร้อมหน้า  เธอก็ไม่รู้สึกว่าชีวิตลำบากยากแค้นมากนัก  ยิ่งเมื่อเดินทางไปถึงบ้านนาของลุงปีเตอร์ พบญาติๆคืออลิซ เอลลา  ปีเตอร์ อีดิธและแลนซฟอร์ด วัยใกล้เคียงกันอยู่พร้อมหน้า     ชีวิตก็กลายเป็นเรื่องสนุก เมื่อมีพี่ๆน้องๆให้เล่นด้วย

สองครอบครัวจำนวน 13 คนรวมอยู่ในบ้านเดียวกัน   ลุงปีเตอร์ขอให้ชาร์ลส์พักอยู่ด้วยตลอดฤดูร้อน เพราะงานที่โรงแรมจะเริ่มตอนฤดูใบไม้ร่วง    ชาร์ลส์ช่วยปีเตอร์ทำงานในนา  แคโรไลน์กับอีไลซ่าทำงานบ้าน   ลูกสาวโตๆแล้วอย่างอลิซและแมรี่ช่วยแม่ทำงานบ้าน  ส่วนเด็กๆรุ่นกลางอย่างลอร่า เอลลาและปีเตอร์มีหน้าที่ต้อนวัวออกไปกินหญ้าในตอนเช้า และต้อนวัวกลับบ้านในตอนค่ำ   ลอร่ายังจำได้ถึงความสนุกสนานบนทุ่งหญ้าริมห้วยที่มีต้นพลัมขึ้นเกลื่อนกลาด เหมือนพลัมครี้กที่เธอจากมา     เด็กๆเก็บพลัมมากินกัน   เก็บแครปแอปเปิ้ลมาย่างไฟกินกันตามประสาเด็ก  พอเย็นก็ต้อนวัวกลับเข้าโรงนา จากนั้นก็รีดนมวัวก่อนจะกลับเข้าบ้านกินอาหารเย็น


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 14, 08:25
ความสุขตามประสาเด็กของลอร่า มีทุกข์ครั้งสำคัญเข้ามาเจือปน  ก็คือเรื่องของน้องชายตัวน้อย เฟรดดี้
เฟรดดี้เป็นเด็กอ่อนแอมาตั้งแต่เกิด   เจ็บๆไข้ๆอยู่เป็นประจำ ทำให้พ่อแม่วิตกกังวลมาก   ยิ่งวันอาการก็ยิ่งหนักจนพ่อต้องไปตามหมอมา  แต่ก็ไม่ได้ผล  สุขภาพของเฟรดดี้ทรุดหนักลงจนถึงวันที่ร้ายกาจที่สุดวันหนึ่งในชีวิตของลอร่า คือวันที่ 27 สิงหาคม 1876   เมื่อฤดูใบไม้ร่วงเริ่มมาเยือน  เฟรดดี้มีอาการชักกระตุก แล้วก็แน่นิ่งไป  ไม่ฟื้นขึ้นมาอีก    เขาจากไปเมื่อมีอายุเพียง 9 เดือน

ศพของหนูน้อยเฟรดดี้ถูกฝังไว้ใกล้ๆบ้านนาของลุงปีเตอร์ ใต้หินสีขาวจารึกชื่ออย่างง่ายๆ     เรื่องที่เศร้าโศกยิ่งกว่านี้ก็คืออีกไม่กี่วันครอบครัวอิงกัลส์ก็ต้องออกเดินทางจากบ้านนาไปตั้งหลักที่ไอโอวา   จำต้องทิ้งเฟรดดี้น้อยเอาไว้เดียวดาย   ไม่มีโอกาสกลับมาเยี่ยมหลุมศพของเขาอีก 
เฟรดดี้ยังเยาว์เกินกว่าจะพ่อแม่จะพาไปถ่ายรูป    นอกจากนี้พ่อแม่ก็ยังอยู่ในฐานะลำบากที่จะจ่ายเงินค่าของฟุ่มเฟือยอย่างถ่ายรูป   บ้านนาของลุงปีเตอร์ในยุคต่อมาก็เลิกไป   หลุมศพของเฟรดดี้จึงสาบสูญไปไม่เหลือร่องรอยให้คนรุ่นหลังได้รู้เห็นอีก  รวมทั้งหลักฐานใดๆเกี่ยวกับตัวเขาด้วย

ความเศร้าโศกสะเทือนใจยังฝังลึกอยู่ในใจแคโรไลน์  สี่สิบปีต่อมาเมื่อเธออยู่ในวัยชรา  เธอเคยออกปากว่า "นี่ถ้าเฟรดดี้ไม่ตาย  อะไรๆก็น่าจะดีกว่านี้"   แสดงถึงความรักความอาลัยที่ไม่เคยคลายไปจากใจแม่
ลอร่าจึงเลือกที่จะไม่บันทึกชีวิตช่วงนี้ไว้ในนิยาย"บ้านเล็ก"ของเธอ  แต่ข้ามไปทั้งตอน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: benzene ที่ 06 ม.ค. 14, 11:15
ผมเปนคนหนึ่งที่อ่านนิยายชุดนี้ตอนสมัยเรียน อ่านครบทุกเล่ม หสกจำไม่ผิดมีถึง 12 เล่มใช่ไหมครับ ตอนนั้นสะสมเปนคอลเลคชั่นเลย ภูมิใจมาก และชื่นชอบมาก ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวในยุคบุกเบิกได้อย่างชัดเจนและสะเทือนอารมณ์มาก ขอขอบพระคุณอาจารย์ที่นำเกล็ดเล็กๆ น้อยๆ มาแบ่งปันครับ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 14, 12:52
ขอบคุณคุณเทาชมพูมากเลยค่ะสำหรับเบื้องหลังชีวิตต้องสู้ของลอร่า

รออ่านต่อนะคะ

กระทู้นี้เลยทำให้ตัวเองต้องไปค้นกรุหนังสือ นิตยสารเก่าๆ
จำคลับคล้ายคลับคลาว่า เคยมีใครวิจารณ์ผลงานชุดบ้านเล็กนี้ไว้
แล้วก็เจอจริงๆ

"...จากที่ซึ่งดวงตะวันฉายแสง
หนังสือชุดบ้านเล็ก บันทึกประวัติศาสตร์สังคมของอเมริกันยุคบุกเบิก"
โดย สันติ นามธรรม
ตีพิมพ์ในนิตยสาร โลกหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 4 มกราคม 2522  12 บาท 8)

ไว้คุณเทาชมพูเล่าเรื่องจบก่อน ค่อยนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากบทความนี้มาเสริมเพิ่มเติมแล้วกันค่ะ
มีชีวประวัติของ" สุคนธรส "ผู้แปลหนังสือชุดนี้ด้วยค่ะ ;D
เคยอ่านบทความนี้แต่ไม่ได้เก็บไว้ค่ะ   อยากอ่านอีกสักครั้ง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 14, 07:33
เมืองเบอร์โอ๊คเป็นเมืองเล็กๆ เก่าแก่ ไม่ใช่เมืองสร้างใหม่อย่างวอลนัท โกรฟ   อาคารบ้านเรือนในเมืองเป็นตัวตึกสร้างด้วยอิฐสีแดงเป็นส่วนใหญ่      ส่วนโรงแรมที่พ่อกับแม่มาทำงานนั้น สมัยนี้น่าจะเรียกว่าโรงเตี๊ยมมากกว่าโรงแรม     แต่ในสายตาเด็กน้อยอายุแปดขวบกว่าๆอย่างลอร่า มันช่างใหญ่โต มีห้องพักหลายห้อง  ตัวบ้านมีถึงสามชั้นรวมห้องใต้หลังคาด้วย   มีคนเข้าออกมาพักแรม และเข้ามากินอาหารกลางวัน  จนพ่อแม่ แมรี่และลอร่ามีงานเต็มมือ   

พ่อเป็นผู้จัดการโรงแรม ร่วมกับผู้จัดการอีกคนหนึ่ง     แม่เป็นแม่ครัว  ลอร่ากับแมรี่ช่วยเสิฟอาหารให้แขก และล้างชาม ตอนกลางวันเธอกับแมรี่ก็ไปโรงเรียน

พ่อไม่ชอบโรงแรมนี้เพราะติดกันมีร้านเหล้า  มีแต่คนเมาเอะอะ  เป็นสภาพไม่เหมาะสมสำหรับลูกเล็กๆของพ่อที่จะเติบโตขึ้นมาจนชาชินกับสิ่งนี้   พ่อจึงย้ายครอบครัวไปเช่าห้องอยู่ในอาคารอีกหลังหนึ่ง เป็นที่พักเงียบๆ ปลอดภัยไร้คนรบกวน




กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 14, 07:34
โรงแรมที่ว่ายังมีมาอยู่จนปัจจุบัน  ทำเป็นพิพิธภัณฑ์จัดหนังสือบ้านเล็กของลอร่า


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 14, 07:35
โรงเรียนของลอร่าในเบอร์โอ๊คค่ะ   สภาพ "ตึกสร้างด้วยอิฐสีแดง" เก่าแก่ เป็นแบบนี้  ลอร่าไม่ชอบเมืองเก่าแบบนี้เลย


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 08 ม.ค. 14, 07:48
ติดตามอ่านมาตลอดครับ
เป็นกระทู้ที่ทรงคุณค่าและสามารถทำได้อีกกับผลงานนิยาย ตำนาน ภาพยนต์ที่เป็นที่รู้จักชิ้นอื่นๆ
 ;D :D


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 14, 07:56
ขอบคุณมากค่ะคุณ scarlet
เห็นด้วยค่ะ  จะพยายามหานิยาย ตำนาน และภาพยนตร์ ที่มีชีวิตจริงเบื้องหลังมาให้อ่านกัน  แต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออกว่าจะหาเรื่องไหนดี


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 14, 08:05
คริสต์มาสปี 1876  ผ่านไปอย่างหงอยเหงาสำหรับเด็ก 9 ขวบอย่างลอร่า   พ่อกับแม่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาฉลองคริสต์มาสกับลูกๆ   ทุกคนยังไม่ฟื้นจากความเศร้าโศกเรื่องเฟรดดี้     ที่ร้ายกว่านี้คือลอร่าและแมรี่เป็นหัดในช่วงนั้นพอดี       แต่ในฤดูใบไม้ผลิปี 1877  ครอบครัวของชาร์ลส์ก็มีเรื่องดีใจกันอีกครั้งเมื่อหนูน้อยคนใหม่ถือกำเนิดมา     
เธอเป็นเด็กน่ารักน่าเอ็นดู ผมสีทองเหมือนแมรี่ และตาสีฟ้าเหมือนพ่อ      พ่อแม่ตั้งชื่อลูกสาวคนใหม่ว่า เกรซ เพิร์ล อิงกัลส์


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 14, 08:16
ลูกคนใหม่หมายถึงหนึ่งปากหนึ่งท้องเพิ่มมาให้เลี้ยง   ในเมื่อเป็นผู้ชายคนเดียวในบ้าน ชาร์ลส์ต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น    เขารับงานทั่วไปแล้วแต่ใครจะจ้าง  รวมทั้งงานช่างไม้ที่เขาถนัดด้วย     ลอร่ามองไม่เห็นว่าครอบครัวเธอยากจนตรงไหนแต่ชาวเมืองทั้งหลายมองเห็น     จึงมีสามีภรรยาฐานะดีคู่หนึ่ง ชื่อนายแพทย์สตาร์และคุณนายสตาร์ ซึ่งมีลูกโตๆไปแล้ว ยื่นมือมาขออุปการะเอาลอร่าไปเลี้ยง    แต่แคโรไลน์ปฏิเสธเด็ดขาด    เธอไม่อาจจะให้ลูกคนใดคนหนึ่งขาดหายไปจากบ้านได้     ลอร่าโล่งใจมากเมื่อรู้ว่าแม่ไม่ยอม   เธอจะได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้องเหมือนเดิม

ในที่สุดชาร์ลส์ก็ตัดสินใจโยกย้ายจากเบอร์โอ๊ค กลับไปวอลนัท โกรฟตามเดิม    เขาไม่ชอบทำงานในเมืองเก่าแก่  ไม่ชอบสภาพชีวิต ที่ขาดทุ่งกว้างและความรู้สึกอิสระเสรีอย่างเดิม   ที่สำคัญคือเงินที่เขาหาได้ในเมืองก็ไม่พอเลี้ยงครอบครัวที่มีถึง 6 คนด้วยกัน     เช้าตรู่วันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วง ลอร่าก็ถูกปลุกจากที่นอนให้ขึ้นไปนอนต่อในเกวียนประทุน    พ่อแม่เดินทางกลับวอลนัท โกรฟ

เบอร์โอ๊คในรัฐไอโอวาที่ลอร่าอยู่มาหนึ่งปีกว่า เป็นเหมือนความฝัน   ยามเธอตื่นขึ้นมา  ก็พบว่าฝันนั้นจบลงโดยสิ้นเชิง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 14, 08:35
บ้านหลังเดิมใกล้ลำธารพลัมครี้กไม่มีแล้ว เพราะชาร์ลส์ขายก่อนเดินทางไปไอโอวา      เพื่อนชาวเมืองใจดีคนหนึ่งให้ครอบครัวอิงกัลส์อาศัยอยู่ด้วยจนกว่าจะมีบ้านของตัวเอง     ชาร์ลส์เริ่มทำงานหนักในเมืองวอลนัท โกรฟอีกครั้ง   เขาทำงานในร้านของชำ รับงานเป็นช่างไม้ กับงานอะไรต่อมิอะไรแล้วแต่ใครจะจ้าง
ต่อมา ชาร์ลส์เห็นว่าเมืองนี้ยังไม่มีร้านขายเนื้อเท่าที่ควร   เขาก็เปิดร้านใหม่ขึ้น    ปรากฏว่าขายดีพอที่เจ้าของร้านจะรวบรวมเงินทองได้  แต่เขาก็ยังรับงานพิเศษเป็นช่างไม้ รับก่อสร้างบ้านใหม่ๆในเมืองที่กำลังขยายใหญ่ขึ้น      ด้วยเงินที่หาได้  เขาก็ขอแบ่งที่จากที่ดินว่างๆผืนใหญ่หลังโรงแรมในเมือง   สร้างบ้านหลังเล็กขึ้นบนที่ดินแปลงนั้น
ครอบครัวของลอร่าก็มีบ้านของตัวเองอีกครั้ง  แม้จะเล็ก แต่แคโรไลน์ก็พอใจมาก    เธอชอบอยู่ในเมืองที่อุ่นหนาฝาคั่งและสะดวกสบาย  แต่มีบ้านเงียบๆของตัวเอง ไม่ต้องเจอโรงแรมที่พลุกพล่านและเอะอะอึกทึกอย่างในเบอร์โอ๊ค

ลอร่ากลับไปเรียนหนังสือในโรงเรียนเดิมของเธอ  เธอพบเนลลี่ โอเวนส์คู่ปรับเก่า   คราวนี้ลอร่าได้คู่ปรับใหม่เพิ่มขึ้นอีกคนชื่อเจเนเวียฟ มาสเตอร์ที่หัวสูงหยิ่งยโสยิ่งกว่าเนลลี่เข้าไปอีก   เธอเป็นลูกสาวครู  แต่งตัวหรูหรากว่าเด็กชาวบ้านทั่วไป และทะนงว่าตัวเองมาจากนิวยอร์ค   ลอร่าชังน้ำหน้าเพื่อนใหม่คนนี้มาก

ในชีวิตจริง  เด็กผู้หญิงตัวร้ายที่เป็นคู่แข่งของลอร่ามี 2 คน แต่ในหนังสือ เธอรวมเจเนเวียฟเข้ากับเนลลี่เป็นคนเดียวกัน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 08 ม.ค. 14, 11:49
อ่านกระทู้นี้แล้ว คิดถึงเรื่องลูกอีสาน เดาว่าผู้แต่งคงได้ไอเดียมาจากนิยายของลอร่าเรื่องนี้ ก็สนุกตามประสาไทยๆเรา

อีกเรื่องคือลูกชาวสวน (ลืมชื่อผู้แต่ง) เป็นบรรยากาศที่สวนฝั่งธนบุรีที่ร่มรื่น และเรื่องที่เขื่อนกิ่วลมของมนันยา (จำชื่อผู้แต่งได้ แต่กลับลืมชื่อหนังสือ อิอิ)

(คหสต.) คิดว่าเสน่ห์ของเรื่องบ้านเล็กในป่าใหญ่คือ สิ่งที่เล่าในเรื่องผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ แทบไม่ต้องจินตนาการ และไม่มีการประดิษฐ์ตัวละคร อ่านแล้วเชื่อได้ ให้บรรยากาศที่เป็นจริงผู้อ่านมีส่วนร่วมได้ และส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีความสุข อ่านแล้วสบายใจ

เลยนึกถึงอีกเรื่อง เกิดวังปารุสก์ เป็นเรื่องทำนองเดียวกันคือบันทึกเหตุการณ์ แต่สอดแทรกข้อคิดเห็น บรรยายความรู้สึกด้วยในชีวิตจริง อ่านสนุกเช่นกัน ทั้งที่เกิดไม่ทัน บรรยากาศในเรื่องยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 14, 12:07
อ่านกระทู้นี้แล้ว คิดถึงเรื่องลูกอีสาน เดาว่าผู้แต่งคงได้ไอเดียมาจากนิยายของลอร่าเรื่องนี้ ก็สนุกตามประสาไทยๆเรา

อีกเรื่องคือลูกชาวสวน (ลืมชื่อผู้แต่ง) เป็นบรรยากาศที่สวนฝั่งธนบุรีที่ร่มรื่น และเรื่องที่เขื่อนกิ่วลมของมนันยา (จำชื่อผู้แต่งได้ แต่กลับลืมชื่อหนังสือ อิอิ)

เอาหนังสือมาให้ดูอย่างเร็วพลันค่ะ   ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องสนุกมาก   ผู้แต่งทั้งสองเป็นนักเขียนที่มีเอกลักษณ์ในตัวเอง ไม่มีใครเลียนแบบได้


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ม.ค. 14, 12:40
และเรื่องที่เขื่อนกิ่วลมของมนันยา (จำชื่อผู้แต่งได้ แต่กลับลืมชื่อหนังสือ อิอิ)

ชอบชื่อที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นในเรื่องนี้ โตมิโต กูโชดะ และ มิโต มิก้าโช  ;D


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 08 ม.ค. 14, 13:41
ชอบชื่อที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นในเรื่องนี้ โตมิโต กูโชดะ และ มิโต มิก้าโช  ยิงฟันยิ้ม

อ่านเรื่องที่มนันยาแต่ง ไม่นึกเลยว่าเป็นนักประพันธ์หญิง ยิ่งเรื่องแค้นนี้ด้วยชีวิต การใช้ภาษาคิดว่านักประพันธ์ชายก็ไม่กล้าเท่า

เหมือนนักประพันธ์อีกท่าน แก้วเก้าที่เขียนเรื่องสนุกๆ เกร็ดขำๆ นึกว่าเป็นผู้ชายเหมือนกัน อิอิ
เรื่องแรกที่อ่านของแก้วเก้า อ่านไปหัวเราะไป เป็นเรื่องผีๆ วิญญาณๆอะไรนี่แหละ จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้วครับ แต่จี้มาก 55

ตัวละครของแก้วเก้าทั้งหมด ทั้งเรื่องหนักและเบา จำได้คนเดียว ที่เป็นลูกชายของเศรษฐี คู่อริของพระเอก แต่สุดท้าย หนีไปอยู่เกาะ กับผู้หญิงธรรมดาๆ และไม่ยอมกลับ เพราะค้นพบว่าตัวเองต้องการอะไร
 
บางเรื่องนี่พอๆกับร่มฉัตรเลยละ..

 8)


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 08 ม.ค. 14, 13:53
อีกเรื่องที่ผมอ่านครั้งแรกก็ชอบคือ ท้องนาข้างกรุง ของ ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ
จำเนื้อเรื่องไม่ได้แล้ว ซื้อเก็บไว้ในตู้เหมือนกันไม่ได้หยิบมาอ่านนานแล้ว


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 14, 13:59
มาถอดรหัส

แค้นนี้ด้วยชีวิต มนันยาแปลจากนิยายของ Jackie Collins   นักเขียนฝรั่งคนนี้เขียนเรื่องอาชญากรรมได้สีสันจัดจ้านมาก   จนกลายเป็นนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ของนิวยอร์ค ไทมส์    คุณมนันยาเป็นนักแปลที่แปลได้เนียนมาก จนอ่านแล้วเหมือนเรื่องแต่งมากกว่าเรื่องแปลค่ะ

ส่วนงานของนักเขียนอีกคนที่คุณ scarlet บอกมา ค่อนข้างจะโนเนมในเรือนไทยค่ะ  นึกไม่ออกว่าเรื่องอะไร


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 14, 14:01
อีกเรื่องที่ผมอ่านครั้งแรกก็ชอบคือ ท้องนาข้างกรุง ของ ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ
จำเนื้อเรื่องไม่ได้แล้ว ซื้อเก็บไว้ในตู้เหมือนกันไม่ได้หยิบมาอ่านนานแล้ว
ถ้าชอบแนวนี้น่าจะชอบ "เสเพลบอยชาวไร่"  ของรงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยนะคะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 08 ม.ค. 14, 14:37
ถ้าตรวจสอบปีที่ประพันธ์ ถ้าหากเกิดวังปารุสก์ เขียนที่หลังบ้านเล็กในป่าใหญ่ เป็นไปได้ไหมว่า เป็นการเขียนอัตชีวประวัติที่ได้แนวความคิดมาจากบ้านเล็กในป่าใหญ่ เพราะท่านผู้นิพนธ์น่าจะได้ทรงอ่านมาแล้ว? นอกจากเป็นการนิพนธ์ชีวประวัติที่บุคคลภายนอกไม่มีโอกาสได้รับรู้ ยังเป็นผลงานเขียนประวัติศาสตร์ของประเทศที่ผู้อื่นไม่สามารถเขียนได้อีกด้วย


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 14, 14:55
Little House in the Big Woods เรื่องแรกในนิยายชุดบ้านเล็ก ออกจำหน่ายเมื่อค.ศ. 1932 ตรงกับพ.ศ. 2475  ปีเปลี่ยนแปลงการปกครองพอดี  ขณะนั้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ยังทรงศึกษาอยู่ในอังกฤษ   
การเขียนอัตชีวประวัติ เป็นเรื่องที่นิยมกันของปัญญาชนชาวอังกฤษและอเมริกัน    รูปแบบหนึ่งคือการเขียนไดอารี่หรือบันทึกประจำวัน  อีกรูปแบบหนึ่งคือการเขียนอัตตชีวประวัติ เมื่อเจ้าของประวัติอายุมากพอสมควรแล้ว
ดิฉันไม่ทราบว่าพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงได้อ่านวรรณกรรมสำหรับเด็กของอเมริกันหรือเปล่า   เลยออกความเห็นไม่ได้ค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 08 ม.ค. 14, 21:28
 
ลองสแกนบทความมาดูเป็นตัวอย่างค่ะ

ขนาดภาพยังไม่ค่อยถูกใจ ตัวหนังสือเล็กเกินไปค่ะ

 (http://image.ohozaa.com/i/c0c/J0FKtD.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/xkjOBCL5nCN74VUo)





(http://image.ohozaa.com/i/08e/ebvFRt.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/xkjX9WXlAMUPyZs4)




กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 08 ม.ค. 14, 21:36
เอาไฮไลท์สำคัญๆตอนท้ายมาให้อ่านดูก่อนค่ะ

"หนังสือชุด บ้านเล็ก ไม่เพียงแต่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตรฺ์
และความทรงจำของคนอเมริกันยุคบุกเบิกไว้เท่านั้่น
แต่ยังให้บทสรุปและแนวทางหลายอย่างสำหรับคนรุ่นหลัง

ชีวิตของครอบครัวอิงกัลล์ส์และไวล์เดอร์
ได้สะท้อนภาพการต่อสู้ที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคทั้งจากธรรมชาติและสังคม
แต่ผลจากความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อก็นำพวกเขาไปสู่จุดหมาย
ภาพของลอร่ากับพ่อที่นั่งบิดหญ้าแห้งทำเป็นเชื้อเพลิง
แอลแมนโซและแคบ การ์แลนด์ ที่บุกฝ่าพายุหิมะและความหนาวอันทารุณโหดร้าย
เพื่อไปหาข้าวสาลีมาให้ชาวเมืองที่หิวโหย
เกวียนประทุนที่เปลี่ยนรอยทางเกวียนเป็นถนน  เป็นทางและเป็นอื่นๆ
ได้ชี้ให้เราเห็นว่า การยืนหยัดต่อสู้กับความยากลำบากนั้นย่อมมีหนทาง
เพราะมันจะถ่ายทอดผ่านการทดสอบจากการปฎิบัติมาจนเป็นผล

ดังนั่นเมื่อหนังสือหน้าสุดท้ายถูกปิดลง
บางที บ้านเล็กในป่าใหญ่ ในความฝันและความนึกคิดของผู้อ่าน
จึงอาจกำลังเริ่มต้นพร้อมกับบทสรุปว่า
ถ้าหากไม่ยืนหยัดต่อสู้แล้ว..ชัยชนะก็จะไม่ได้มา" ;)


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 14, 09:15
^
ใช่เลยค่ะ

ขอบคุณที่กรุณานั่งหลังขดหลังแข็งพิมพ์ข้อความยาวๆ มาลงในกระทู้นี้ให้ค่ะ   เพิ่มข้อคิดและสาระในกระทู้ได้มาก


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 14, 09:30
    ลอร่าเติบโตขึ้นจนอายุ 12 ในเมืองวอลนัท โกรฟ   เธอไม่ใช่เด็กเล็กๆอายุ 8 ขวบอย่างครั้งแรกที่มาถึงที่นี่อีกแล้ว แต่เป็นเด็กโตพอจะทำงานหารายได้ เพื่อช่วยครอบครัว      ภรรยาเจ้าของโรงแรมในเมืองขอตัวเธอไปเป็นลูกมือเสิฟอาหารให้แขก  ล้างชาม และเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลลูกเล็กของคุณนายในบางวันที่แม่มีธุระ  โดยให้ค่าแรงสัปดาห์ละ 50 เซนต์  :o   คุณนายสัญญากับพ่อแม่ลอร่าว่าจะไม่ใช้งานหนักเกินไป   พ่อแม่ก็ตกลง
ลอร่าทำงานที่โรงแรมโดยไม่เกี่ยงงอน   เธอไม่รังเกียจการจัดโต๊ะ และล้างชาม  แต่ก็ขี้อายอยู่ดีเมื่อต้องไปเสิฟอาหารให้คนแปลกหน้า     คุณนายมาสเตอร์สเจ้าของโรงแรมเป็นคนใจดี  เมื่อมีเวลาว่างระหว่างวันเธอก็อนุญาตให้ลอร่าหลบไปหามุมสงบอ่านหนังสือพิมพ์เก่าๆหลังจากแขกอ่านจบแล้ว   วางซ้อนไว้เป็นตั้งๆ  เป็นหนังสือพิมพ์จากนิวยอร์คชื่อนิวยอร์คเลดเจอร์   ในนั้นมีนิทานและเรื่องราวสนุกๆ ลงตีพิมพ์   ลอร่าอ่านนิทานในนั้นอย่างเพลิดเพลิน

    นิสัยรักการอ่าน และได้อ่านหนังสือประจำช่วยให้ลอร่าจำหนังสือได้แม่นยำมาก    เมื่อมีการแข่งขันท่องโคลงในพระคัมภีร์ไบเบิล  แม้ว่าเป็นคนละนิกายกับที่พ่อกับแม่นับถือ   ลอร่าก็ไปร่วมแข่งขันด้วย  เธอท่องโคลงแต่ละบทได้ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนเลยสักตัว  จนเข้าถึงรอบชนะเลิศร่วมกับเด็กนักเรียนชายอีกคน   แต่มีรางวัลเดียว   คือหนังสือไบเบิล ที่ไม่รู้จะแบ่งกันอย่างไร   ภรรยาของท่านสาธุคุณแอบบอกลอร่าว่าถ้าเธอรอไปอีกหน่อย  หนังสือพระคัมภีร์เล่มใหม่ที่มีภาพประกอบสวยกว่านี้จะถูกส่งมาให้  ลอร่าก็เต็มใจจะรอเล่มใหม่  ยกเล่มนี้ให้นักเรียนอีกคนไป


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 14, 09:41
   ชาวเมืองเริ่มรู้จักลอร่าว่าเป็นเด็กขยันขันแข็ง  รับผิดชอบงานได้เรียบร้อย    คนโน้นคนนี้จึงมาจ้างงานเธอเล็กๆน้อยๆมากขึ้นเช่นวานให้ไปซื้อของในร้าน หรือส่งจดหมาย   หรือว่าช่วยเลี้ยงลูกเล็กๆเป็นรายชั่วโมง      ไม่ว่าใครใช้งานอะไรลอร่าก็ไม่รังเกียจรังงอน  เพราะหมายถึงเงินทิปทวีจำนวนขึ้น     เธอรู้ดีว่าพ่อทำงานตัวเป็นเกลียวเลี้ยงคนถึงหกคนในบ้าน    จนชักหน้าไม่ถึงหลัง    เงินเล็กๆน้อยๆของเธอจะช่วยพ่อแม่ได้มาก
   ลอร่ายอมแม้แต่ไปอยู่พยาบาลคนเจ็บในบ้านนาห่างจากเมืองไปสองไมล์ เพื่อเอาค่าพยาบาลมาช่วยพ่อแม่   เธอเศร้าโศกคิดถึงบ้านมาก  แต่ก็กัดฟันอยู่จนกระทั่งลุล่วงไปในที่สุด

   เมื่อลอร่าอายุ 12 นี่เอง   เรื่องร้ายที่สุดก็เกิดขึ้นในครอบครัว    แมรี่ผู้บัดนี้เป็นสาวรุ่นอายุ 14  ป่วยหนักเป็นไข้สูง  จนทีแรกพ่อแม่คิดว่าจะไม่รอดเสียแล้ว     พ่อไปติดต่อขอหมออีกเมืองมาดูอาการ  หมอก็ขึ้นรถไฟมารักษา   แมรี่รอดตายแต่ว่าเธอปวดศีรษะอย่างรุนแรง จากนั้นสายตาเธอก็มัวลง..มัวลงทุกที จนกระทั่งมืดสนิทมองอะไรไม่เห็นอีกต่อไป
   ภาพสุดท้ายที่แมรี่มองเห็นคือดวงตาสีฟ้ากลมใสของเกรซน้องเล็ก ที่ปีนเก้าอี้ข้างเตียงมองเป๋งมาที่พี่สาวคนโต  


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 14, 09:47
 พ่อเรียกลอร่าไปหา แล้วบอกว่า..เธอจะต้องเป็นดวงตาให้แมรี่   ทำหน้าที่เล่าทุกอย่างให้พี่สาวฟัง เพื่อแมรี่จะได้ไม่ต้องอยู่ในโลกมืดตามลำพัง   ลอร่าก็รับคำ
  จากวันนั้น ลอร่าแบ่งสายตาเธอเป็น 2 อย่าง อย่างแรกคือเธอมองโลกด้วยสายตาของแมรี่  คอยเล่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอเห็น  ถ่ายทอดให้พี่สาวฟังอย่างละเอียดจนแมรี่รู้สึกเหมือนกำลังเห็นได้เอง     อย่างที่สองคือเธอมองโลกด้วยสายตาตัวเอง      ลอร่าพัฒนาการมองทุกอย่างรอบตัวออกเป็นสองแบบอย่างนี้มาตลอดชีวิต     มันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เธอเป็นนักเขียนระดับโลกได้ในเวลาต่อมา

  อ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะเกิดคำถามว่า มองยังไง 2 แบบที่ว่า  ไม่เข้าใจ
  ลอร่าเล่าไว้ในหนังสือ Little Town on the Prairie หรือ  เมืองเล็กในทุ่งกว้าง อันเป็นเหตุการณ์เมื่อเธอย้ายจากมินเนโซตาไปดาโกต้าใต้  เมื่อเธอพาแมรี่ไปเดินเล่นยามเย็น อย่างที่ทำเป็นประจำ    เธอมองเห็นพระอาทิตย์กำลังจะตกลับไปจากขอบฟ้า  ทิ้งแสงสีงดงามต่างๆไว้ทางตะวันตก   ลอร่ารู้สึกเหมือนพระราชากำลังรูดม่านผืนใหญ่ออกปิดรอบพระแท่นบรรทม ก่อนจะเข้าบรรทม   แต่แมรี่ไม่ชอบจินตนาการโลดโผนแบบนี้    เธอชอบคำบรรยายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า    ลอร่าก็เลยบรรยายแต่เพียงว่าเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า  พื้นฟ้าและเมฆมีสีต่างๆสวยงามอย่างไรบ้าง
   ถ้าอธิบายในวิชาการประพันธ์ ก็คือสิ่งที่แมรี่ชอบฟังคือบรรยายโวหาร คือเล่ารายละเอียดอย่างธรรมดา   แต่สายตาของลอร่าชอบมองโลกด้วยพรรณนาโวหาร  มีอุปมาอุปมัย และจินตนาการที่เพริศแพร้วประกอบ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 14, 10:49
จากซ้าย แครี่  แมรี่ และลอร่า ในวัยที่กำลังเล่าถึงนี้
ดูสีหน้าลอร่า  เธอดูเป็นผู้ใหญ่กว่าวัยมาก เมื่อเทียบดวงหน้ากับรูปร่าง


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 09 ม.ค. 14, 21:07
หลังจากใช้ความพยายามหลายรอบในการปรับขนาดภาพสแกน ไม่ประสบความสำเร็จค่ะ
ตัวหนังสือก็ยังเล็กอยู่ดี สงสารคนอ่าน :'(

เอาเป็นว่าจะพิมพ์บทความเป็นช่วงๆในการพูดถึงประเด็นใดประเด็นหนึ่ง
เพื่อเสริมกับเนื้อหาของอาจารย์เทาชมพูแล้วกันนะคะ

ในบทความของสันติ นามธรรม จะเขียนสาธยายเรื่องราวในแต่ละเล่มพร้อมเนื้อหาโดยย่อจนจบทั้งชุด
สอดแทรกมุมมองเชิงสังคมวิทยากึ่งประวัติศาสตร์เข้าไป


ดิฉันขออนุญาตเปลี่ยนการเรียบเรียงใหม่
จะแยกเนื้อหาหลักๆเป็นหัวข้อย่อยออกมา โดยคงรักษาอรรถรสจากต้นฉบับ ตัวอักขรเหมือนเดิม
หวังว่า เจ้าของบทความ (ซึ่งไม่รู้ตอนนี้อยู่ที่ใด) คงไม่ว่ากัน

ขอให้เรื่องราวของลอร่า จากอาจารย์พวงชมพู จบก่อนนะคะ
จะได้อ่านต่อเนื่องทีเดียวไปเลย

ที่เตรียมไว้ก็จะมีหัวข้อคร่าวๆดังนี้ค่ะ

"ตะวันตกที่ปรากฏในดวงตา"

"ภูมิใจแม้เป็นแค่เด็กชายชาวนา"

"อินเดียนแดงที่ดีคืออินเดียนแดงที่ตายแล้ว"

"เสียงหวู้ดรถไฟ   มหัศจรรย์แห่งตะวันตก"


ลองดูแค่นี้ก่อนนะคะ เอ..ไม่รู้จะล่มกลางครันหรือเปล่าน้า...


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 09 ม.ค. 14, 21:18
ฝากอีกเล่มค่ะ
สำหรับผู้สนใจการมุ่งสู่ตะวันตก

(http://img1.imagesbn.com/p/9780688104948_p0_v1_s260x420.jpg)

มีการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อนี้ค่ะ

(http://img.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20111220140255_b.jpg)


จำได้ว่าตอนอ่านสมัยนั้น สนุกมาก ลุ้นระทึกไปกับพระเอกของเรื่อง อายุแค่ 13 ปี
แต่ต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวนำน้องๆมุ่งพิชิตตะวันตกตามความมุ่งหวังของพ่อ
เกิดอุปสรรคท้าทายมากมากย ขณะน้องคนเล็กก็ยังแบเบาะอยู่เลย :o


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 14, 21:19
ดิฉันรู้จักเจ้าของบทความ   เชื่อว่าเขาไม่ว่าหรอกค่ะ   ขอขอบคุณแทนคุณสันติด้วยที่คุณนำบทความของเขามาให้อ่านกันอีกครั้งทางอินเทอร์เน็ต

ขอเล่าต่ออีกนิดหนึ่ง
แมรี่เป็นเด็กที่เข้มแข็งมาก   เธอไม่เคยร้องห่มร้องไห้ตีโพยตีพายในชะตากรรมของตัวเอง    แต่อดทนความพิการที่ได้รับโดยไม่เคยปริปากบ่นแม้แต่ครั้งเดียว       แมรี่เป็นเด็กที่มีศรัทธาในศาสนาอย่างมาก   และเชื่อมั่นในพระเจ้าว่าไม่เคยทอดทิ้งเธอ      นิสัยเคร่งศาสนานี้เธอได้รับถ่ายทอดมาจากแม่    ไม่ว่ายากลำบากอย่างไร แมรี่ก็เชื่อมั่นในพระเจ้าเสมอต้นเสมอปลาย    ทำให้เธอมีกำลังใจเข้มแข็งพอจะดำเนินชีวิตต่อมา  ทำตัวให้เป็นภาระน้อยที่สุดสำหรับครอบครัว
แมรี่ช่วยงานบ้าน เช่นปูที่นอน ล้างชาม จัดจานชามวางบนโต๊ะอาหาร และช่วยแม่เลี้ยงเกรซน้องคนเล็ก     ในระหว่างเวลาที่ลอร่าต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้มาช่วยครอบครัว


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 14, 08:27
  ในช่วงนั้น  ชาวเมืองวอลนัท โกรฟกำลังตื่นเต้นกับเส้นทางใหม่ที่พาดผ่านจากตะวันออกไปถึงเขตรัฐดาโกต้าใต้   คือเส้นทางรถไฟที่ไปสุดทางที่เมืองเทรซี ห่างจากวอลนัท โกรฟไป 7 ไมล์     มีข่าวลือกันว่าทางรถไฟจะสร้างไปจนถึงสุดเขตดาโกต้าทางทิศตะวันตกโน้น
  ทางรถไฟนอกจากเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจด้วย     เพราะบริษัทที่วางรางรถไฟจ้างคนงานให้ค่าแรงถึงวันละ 1 ดอลล่าร์ ซึ่งนับว่าสูงมาก   นอกจากนี้รถไฟไปถึงไหน สินค้าดีๆจากตะวันออกก็ถูกส่งไปถึงนั่น  ส่วนชาวไร่ชาวนาก็มีรถไฟช่วยขนส่งผลิตผลทางเกษตรไปทางเมืองฝั่งตะวันออกของประเทศ   ทำให้ขายดีราคากว่าขายพ่อค้าคนกลางหรือเอาขึ้นเกวียนไปขายในเมืองใกล้ๆ

   กลับมาที่ครอบครัวของลอร่า     หลังจากชาร์ลส์ทำงานอยู่ในเมืองหลายปี รายได้ของผู้ชายคนเดียวไม่พอหาเลี้ยงหกปากในครอบครัว    ถ้าหากว่าชาร์ลส์มีลูกชาย อาจจะช่วยเบาแรงพ่อลงไปได้มาก  แต่เขาก็มีแต่ลูกสาวเล็กๆ  นอกจากลอร่าคนเดียวที่โตพอจะหารายได้บ้างนิดหน่อย     ฐานะในครอบครัวนับวันก็ยิ่งชักหน้าไม่ถึงหลัง     เขาต้องเป็นหนี้เป็นสินอย่างเลี่ยงไม่ได้
  วิญญาณของนักบุกเบิกเริ่มกลับมาสู่ตัวชาร์ลส์อีกครั้ง   เขาอยากจะเดินทางไปทางตะวันตก หาที่ดินแห่งใหม่ในรัฐดาโกต้าใต้ ซึ่งที่นั่นเขาสามารถจับจองที่ดินได้ฟรีๆ ไม่ต้องเสียเงิน    ก็จะได้เริ่มลงหลักปักฐานใหม่อีกครั้ง    แต่เขาก็ยังคิดไม่ออกว่าจะหาทางไปได้อย่างไร  ในเมื่อยังไม่มีเงินแม้แต่จะเดินทาง
  แต่โชคก็ให้คำตอบชาร์ลส์เมื่อลอร่าอายุย่างเข้า 13 ปี 


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 14, 08:34
    วันหนึ่งผู้หญิงแปลกหน้าขับรถม้ามาถึงบ้าน  ลอร่าจำเธอไม่ได้ แต่พ่อแม่จำเธอได้ทันที    เธอคือดอเซียน้องสาวของพ่อที่เคยอยู่กับปู่ย่าในป่าใหญ่รัฐวิสคอนซิน   ตอนนี้เธอแต่งงานแล้วกับช่างรับเหมาสร้างทางรถไฟในรัฐดาโกต้าใต้      ที่นั่นมีร้านค้าสำหรับขายของให้คนงานรถไฟ    สามีเธอต้องการผู้จัดการร้านไปทำบัญชีและตรวจสอบเวลาทำงานของคนงาน     เธอก็เลยมาชวนพี่ชายไปรับงานนี้
   ชาร์ลส์มองเห็นโอกาสดีที่จะได้งานประจำมีรายได้สม่ำเสมอ  พร้อมกับมองหาที่ดินเปล่าๆที่จะจับจองได้ฟรีๆ เพื่อจะได้ไปสร้างบ้านนาที่นั่น    แคโรไลน์ไม่ค่อยจะเห็นด้วย   เธอไม่อยากจะพาลูกๆโดยเฉพาะแมรี่ไปอยู่ในดินแดนเปล่าเปลี่ยวห่างไกลลิบลับจากความเจริญ   แต่ชาร์ลส์สัญญาว่านี่จะเป็นการโยกย้ายครั้งสุดท้าย    แคโรไลน์ก็ยินยอม
   ชาร์ลส์เดินทางล่วงหน้าไปก่อน   แคโรไลน์กับลูกๆตามไปทีหลัง    เมื่อพ่อเดินทางออกจากบ้านไป ลอร่าซึ่งกลายเป็นลูกคนโตหัวเรี่ยวหัวแรงของบ้าน   ก็ช่วยแม่ดูแลบ้านและน้องๆ ตลอดจนเก็บของเตรียมอพยพจากเมืองนี้ไป    เธอไม่มีโอกาสกลับมาวอลนัท โกรฟอีกเลย
  ลอร่าเล่าเหตุการณ์เมื่อเธออพยพโยกย้ายไปรัฐดาโกต้าใต้  ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเขตชายแดนของประเทศ  ไว้ในนิยายบ้านเล็กตอน By the Shore of Silver Lake หรือ ริมทะเลสาบสีเงิน


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 14, 09:57
     นิสัยนักบุกเบิกของชาร์ลส์ถ่ายทอดมาถึงลอร่าเต็มตัว  แตกต่างจากแมรี่ที่นิสัยคล้ายแคโรไลน์คือชอบอยู่เงียบๆในบ้าน ภายในเมืองที่สะดวกสบายหลายอย่าง มีร้านค้าให้ซื้อของกินของใช้จำเป็น  มีโบสถ์ที่จะไปได้ทุกวันอาทิตย์   มากกว่าจะไปปลูกเพิงอยู่ในทุ่งกว้างเปล่าเปลี่ยว    ส่วนลอร่าชอบเดินทางไปยังดินแดนไกลโพ้นที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ตรงนั้นบ้าง  ขอแต่เพียงไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่  แต่ถ้าลงหลักปักหลักฐาน  เธอก็ชอบอยู่ในที่กว้างๆ ล้อมรอบด้วยทุ่งหญ้า   ไม่มีบ้านช่องแออัด
    อย่างไรก็ตาม ชาร์ลส์ให้สัญญากับภรรยาว่า จะให้ลูกสาวทุกคนได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุด    เขาก็รับปากว่า ดาโกต้าใต้จะเป็นดินแดนแห่งสุดท้าย   เขาจะไม่อพยพไปไหนอีก    ที่นี่ชาร์ลส์โชคดีว่าในฤดูหนาวแรกที่มาถึง เขาได้พักอยู่อย่างสบายในบ้านของนักสำรวจเส้นทางรถไฟ  ซึ่งปลูกในทุ่งโล่งเวิ้งว้างใกล้ทะเลสาบไร้นามที่แคโรไลน์เรียกว่า "ทะเลสาบสีเงิน"   ตอนนั้น  เมืองเดอสเม็ตที่ชาร์ลส์ย้ายมาอยู่จนบั้นปลายชีวิตยังไม่ได้สร้าง   ที่ดีกว่านี้คือเขาพบที่ดินว่างๆที่ถูกใจจำนวนถึง 160 เอเคอร์ ที่เขาสามารถไปจับจองเอาไว้ได้สำเร็จอย่างหวุดหวิด  ก่อนที่ผู้อพยพอื่นๆที่หลั่งไหลมาจากทิศตะวันตกจะจับจองได้เสียก่อน

    มีเหตุการณ์เล็กๆเหตุการณ์หนึ่งที่ลอร่าไม่ได้เล่าไว้ในนิยาย ริมทะเลสาบสีเงิน   คือพ่อออกไปล่าสัตว์ทุกวัน   วันหนึ่งพ่อไปพบเพิงร้างสองแห่งถูกทิ้งไว้ในฤดูหนาว      ในเพิงหนึ่งพ่อพอเสื้อผ้าเก่าๆแขวนไว้บนฝาห้อง  ในกระเป๋ามีซองจดหมายสอดอยู่จ่าหน้าซองถึง " แอลแมนโซ ไวล์เดอร์"  ในอีกเพิงหนึ่งมีชื่อ "รอยัล ไวล์เดอร์" เขียนไว้บนกระดาษแข็ง ทิ้งไว้บนโต๊ะ
   เจ้าของเพิงกลางนาทั้งสองคือนักบุกเบิกที่มาจับจองที่ดินเอาไว้ตั้งแต่ฤดูร้อน     พอฤดูหนาวก็อพยพไปอยู่ที่อื่นที่อากาศอุ่นกว่านี้  เพราะเพิงบอบบางเกินกว่าจะต้านพายุหิมะได้    แต่เขาต้องทิ้งร่องรอยหลักฐานเอาไว้ให้รู้ว่าที่ดินตรงนี้มีเจ้าของแล้ว   ถ้าทิ้งที่ดินไว้ว่างๆ พวกนักฉวยอาจเข้ามายึดกรรมสิทธิ์ อยู่อาศัยหน้าตาเฉยก็ได้
   


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 14, 11:51
   เมืองเดอสเม็ตก่อตั้งขึ้นอย่างรวดเร็วในฤดูใบไม้ผลิหลังฤดูหนาวแรกที่ลอร่ามาถึงดาโกต้า      ชาร์ลส์ใช้เงินเดือนที่เขาหาได้ตอนเป็นผู้จัดการร้าน ไปซื้อที่ริมถนนสายหลักในเมือง   เขารื้อเอาบรรดาเพิงของพวกคนงานรถไฟที่ทิ้งร้างไว้ เอาไม้กระดานมาสร้างบ้านได้ 2 หลัง   หลังแรกชาร์ลส์ขายให้คนอื่น เอาเงินมารองรัง  หลังที่สองเขาเก็บไว้ให้เช่าเพื่อหารายได้   ส่วนตัวเขาไปปลูกเพิงกลางนาในที่ดินที่จับจองไว้ ทำไร่ไถนาปลูกพืชผลตลอดปีแรก  แต่ก็ได้ผลน้อยมาก เพราะดินไม่ดี
   ปีแรกในรัฐดาโกต้า ฤดูหนาวอากาศไม่เลวร้ายนัก  ฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงก็อากาศดี     แต่พอขึ้นฤดูหนาวที่สอง  อากาศก็วิปริตผิดเพี้ยนไปเป็นตรงกันข้าม   เป็นฤดูหนาวหฤโหดที่สุดเท่าที่ลอร่าประสบมา ยิ่งกว่าในมินเนโซตาเสียอีก    เคราะห์ยังดีที่พ่อของเธอสังเกตเห็นความผิดปกติของลมฟ้าอากาศตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง   จึงรีบอพยพครอบครัวจากเพิงกลางนาที่เป็นไม้กระดานบางๆมาอยู่บ้านในเมืองได้ทันเวลา
   ในตอนแรกแคโรไลน์ก็พอใจที่เข้ามาอยู่ในเมือง อบอุ่นและปลอดภัย  มีอาหารการกินในร้านชำพอจะซื้อได้ไม่ขาดแคลนอย่างอยู่กลางนา    แต่เพียงสองสามเดือนต่อมา  ชาร์ลส์และแคโรไลน์ก็รู้ว่าเข้าใจผิดอย่างถนัด   พายุหิมะถล่มทางรถไฟทำให้รถไฟจากเมืองเทรซี่เดินทางมาถึงชายแดนรัฐดาโกต้นไม่ได้   ทำให้เดอสเม็ตถูกตัดขาดโดดเดี่ยวกลางพายุหิมะยาวนานถึง 7 เดือน    คนทั้งเมืองก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร  แทบจะอดตายไปตามๆกัน   
  ลอร่าเล่าถึงความยากลำเค็ญที่สุดในชีวิตเอาไว้ใน ฤดูหนาวอันแสนนาน  The Long Winter


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 14, 08:44
  ในต้นฤดูหนาว  ลอร่าได้เข้าร.ร.ในเมืองเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนร.ร.ต้องปิดเพราะพายุหิมะกระหน่ำถี่ขึ้นทุกวัน      ที่โรงเรียน เธอพบเพื่อนใหม่หลายคน   เพื่อนหญิงที่สนิทที่สุดกับเธอคือแมรี่ เพาเวอร์ส  ลูกสาวช่างตัดเสื้อในเมือง     ส่วนเพื่อนชายคนสำคัญที่ลอร่ายก 1 บทให้เป็นชื่อของเขา คือ แค้ป การ์แลนด์  น้องชายของครูฟลอเรนซ์ การ์แลนด์ ครูของลอร่า
  แค้ปเป็นเด็กหนุ่มร่าเริง ประเปรียว แข็งแรงอย่างนักกีฬา     ลอร่าบรรยายว่าแค้ปเป็นเด็กหนุ่มผมสีทองอ่อนที่ถูกแดดเผาจนซีดเกือบขาว   ตาสีฟ้า  ไม่ใช่ผู้ชายรูปหล่อ  แต่เวลายิ้ม เขายิ้มกว้างจนสว่างสดใสไปทั้งหน้า  เป็นคนสนุกสนานอารมณ์ดีแต่ขณะเดียวกันก็ เป็นคนกล้าไม่เกรงอันตรายอะไรเลย    เขาเคยคว่ำคนงานรถไฟที่แกร่งที่สุดมาแล้ว    เมื่อคมนาคมถูกตัดขาดเพราะพายุหิมะ   แค้ปกับแอลแมนโซก็เป็นสองคนเท่านั้นที่กล้าออกจากเมือง เสี่ยงตายไปแสวงข้าวสาลีจากชาวไร่นอกเมือง  ซื้อข้าวมาให้ชาวเมืองเพื่อมิให้อดตาย
   ต่อมาแค้ปมาติดพันแมรี่เพื่อนสนิทของลอร่า    ส่วนแอลแมนโซ ไวล์เดอร์ก็มาชอบลอร่า  ทั้งสองคู่มักจะออกไปนั่งรถเลื่อนกลางหิมะคู่กันในฤดูหนาว  เธอเล่าถึงตอนนี้ไว้ในหนังสือ These Happy Golden Years
   ในหนังสือ ลอร่าเล่าถึงแค้ปอย่างเพื่อนสนิทที่เธอรำลึกถึง   แต่ในความเป็นจริง   แค้ป การ์แลนด์คือรักแรกของสาวน้อยลอร่าวัย 13 ย่าง 14 ปี    เป็นรักซื่อใสที่ฝรั่งเรียกว่า puppy love  ของเด็กสาวที่ไม่ประสีประสาอะไรนัก     เธอปลื้มบุคลิกร่าเริง  ชอบนิสัยนักกีฬาและกล้าผจญภัย    ในบันทึกส่วนตัว  ลอร่าเขียนเล่าไว้ว่า เวลาเธอไปโบสถ์ในวันอาทิตย์    เธอไม่เป็นอันนึกถึงอะไรอื่นนอกจากแค้ป การ์แลนด์

ข้างล่างนี้คือรูปของหนุ่มน้อยแค้ป การ์แลนด์ ค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 14, 09:06
      ใจของลอร่าจดจ่ออยู่ที่แค้ปมากกว่าแอลแมนโซ ในตอนแรก    แต่แค้ปมองลอร่าเป็นเพื่อนนักเรียนคนหนึ่งมากกว่าจะคิดเป็นอย่างอื่น   เด็กสาวที่เขาหมายตาไว้คือแมรี่ เพาเวอร์ส เพื่อนสนิทของเธอ   ส่วนเพื่อนสนิทของเขาคือแอลแมนโซ ซึ่งสนใจลอร่ามาตั้งแต่เริ่มรู้จักกัน    
      ในปลายศตวรรษที่ 19   ผู้หญิงไม่มีทางเลือกมากนัก   แม้ว่าเธอสนใจผู้ชายคนไหน ก็ต้องรอจนเขาเป็นฝ่ายคืบหน้าเข้ามาเอง   ถ้าหากว่าเขาไม่ได้สนใจเธอจนแล้วจนรอด ก็เป็นอันว่าจบกันตั้งแต่ยังไม่เริ่ม   เธอก็ต้องรอจนมีชายหนุ่มคนใหม่เดินเข้ามาในชีวิต     ส่วนใหญ่หนุ่มสาวในสมัยนั้นไม่เปลี่ยนแฟน   ถ้าหนุ่มคนไหนจีบสาวคนไหน ก็แปลว่าชอบจริงๆ และลงเอยด้วยการแต่งงานกับคนนั้น   เรียบๆง่ายๆ ตรงไปตรงมา
     กรณีของแอลแมนโซกับลอร่าก็เช่นกัน   เขาเป็นฝ่ายชอบเธอแต่แรก   ส่วนเธอเองแม้ไม่ได้ชอบเขา เพราะใจมีแค้ปอยู่แล้ว  แต่ลอร่าก็รู้ว่าไม่มีหวังในเรื่องแค้ป เพราะเขาจีบเพื่อนสนิทของเธอเสียแล้ว   หลังจากสนิทกับแอลแมนโซมากเข้า ลอร่าก็รู้สึกว่าเธอควรจะลงเอยกับชายหนุ่มคนนี้มากกว่า
     ส่วนแค้ปกับแมรี่ เพาเวอร์ส เป็นกรณียกเว้น     แอลแมนโซกับลอร่าลงเอยแต่งงานกัน  เหมือนหนุ่มสาวคู่อื่นๆในยุคนั้น    แต่แค้ปกับแมรี่จีบกันสักพักก็เลิกกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไม่ธรรมดา     ในหนังสือเล่าว่าแมรี่พบแฟนใหม่เป็นหนุ่มธนาคาร   (ต่อมาเธอก็แต่งงานด้วย) ส่วนแค้ปควงผู้หญิงคนใหม่ในเมือง
     แต่ว่าแค้ปไม่ได้แต่งงานกับใครจนแล้วจนรอด      เขาเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุหม้อน้ำระเบิด เมื่ออายุได้เพียง 26 ปี    ตอนนั้นลอร่ากับแอลแมนโซแต่งงานและย้ายไปอยู่มิสซูรี่ด้วยกันแล้ว

   รูปซ้ายคือแค้ปในวัยหนุ่มเต็มตัว    ขวาคือแมรี่กับเอ๊ด สามีของเธอ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 14, 09:44
  หลังฤดูหนาวอันแสนนาน   ครอบครัวอิงกัลส์ย้ายจากเมืองออกไปอยู่ในเพิงที่จับจองไว้อีกครั้งหนึ่ง      เรื่องใหญ่ที่สุดเท่าที่ชาร์ลส์และแคโรไลน์วางแผนกันมาก็คือส่งแมรี่ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยคนตาบอดในเมืองวินตัน รัฐไอโฮไอ     ท่านสาธุคุณแอลแดนมิตรดีของครอบครัวมีญาติเป็นครูอยู่ที่นั่น  ท่านจึงขอให้เขาส่งรายละเอียดและใบสมัครมาให้
  ที่นั่นแมรี่จะได้เรียนวิชาระดับมหาวิทยาลัย เช่นวิชาประวัติศาสตร์ ฟิสิกส์และเคมี พีชคณิต  เศรษฐศาตร์ และกวีนิพนธ์ โดยใช้อักษรเบรล   เรียนดนตรี  งานฝีมือเช่นร้อยลูกปัดและงานถักต่างๆเพื่อประกอบอาชีพ   เป็นหลักสูตร 7 ปี   รัฐออกค่าเล่าเรียนให้ทั้งหมด  แต่นักเรียนต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวเอง  
  ถึงแม้ชาร์ลส์และแคโรไลน์มีรายได้น้อยมาก  ชักหน้าไม่ถึงหลัง   และถ้าถามในเชิงเศรษฐกิจว่าการส่งแมรี่ไปเรียนจะกลับมาช่วยหารายได้ให้ทางบ้านคุ้มหรือไม่เมื่อเรียนจบ    คำตอบก็คือไม่    แมรี่เรียนจบแล้วก็จะต้องกลับมาอยู่บ้านเหมือนเก่า  ไม่มีโอกาสทำงานนอกบ้าน
   แต่พ่อแม่และลอร่าไม่ได้มองในแง่นั้น   ทุกคนมองว่า สิ่งที่เศร้าโศกที่สุดสำหรับแมรี่ คือเธอไม่มีโอกาสเล่าเรียนอย่างคนอื่นๆ    เธอเป็นคนตั้งใจอยากเรียน อยากเป็นครูอย่างแม่มาตั้งแต่ยังเล็ก    แต่สายตาพิการตัดโอกาสนั้นออกไป    เมื่อมีวิทยาลัยสำหรับคนตาบอด  ก็ถือเป็นความสุขที่สุดที่แมรี่จะได้มีโอกาสอย่างคนทั่วไปอีกครั้ง  
   ดังนั้นภาระในการหาค่าใช้จ่ายให้แมรี่จึงตกมาอยู่ที่ลอร่าในฐานะหัวเรี่ยวหัวแรงของบ้านอีกครั้ง     พ่อรับจ้างเป็นช่างไม้ในการก่อสร้างบ้านเรือนใหม่ๆในเมือง  ส่วนลอร่าไปรับจ้างเย็บผ้าในเมืองได้วันละ 25 เซนต์   เธอสะสมเงินได้ 9 เหรียญมาสมทบให้พี่สาว  แต่ลอร่าก็เจียดเงินที่หาได้ ซื้อของเล็กๆน้อยๆเป็นรางวัลให้ตัวเองด้วย เช่นซื้อขนนกปักหมวกราคา 60 เซนต์  ปลอกนิ้วสวมเย็บผ้าราคา 10 เซนต์  รองเท้าผ้าคู่ใหม่ ราคา 1 ดอลล่าร์ และผ้าฝ้ายสี่หลาสำหรับตัดเสื้อด้วยราคาแค่ 36 เซนต์  
  ทั้งหมดนี้เป็นความอุตสาหะของเด็กสาววัย 14 ปี  ที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบอย่างผู้ใหญ่เต็มตัว  ทันทีที่พ้นวัยเด็กมาแล้ว

  ภาพนี้คือแมรี่ ในวัยสาวรุ่น


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 14, 10:17
     ลอร่าขมักเขม้นเรียนหนังสืออย่างหนัก   เพื่อหวังว่าจะสอบได้ประกาศนียบัตรครูในอีก 2 ปีข้างหน้า  เพราะมีกฎหมายว่าครูจะต้องมีอายุอย่างต่ำ 16 ปี   รายได้จากการสอนหนังสือดีกว่าไปรับจ้างเย็บผ้า  เธอจะได้เอาเงินนั้นมาช่วยพ่อแม่ส่งแมรี่ไปเรียนที่วิทยาลัยคนตาบอดในไอโอวา
     อุปสรรคครั้งใหญ่ในการเรียนเกิดขึ้นเมื่อลอร่าอายุ 15 ปี    อีไลซ่า เจน ไวลเดอร์ พี่สาวของแอลแมนโซมาสอนหนังสือที่ร.ร.ในเดอสเม็ต   แต่เธอควบคุมนักเรียนให้อยู่ในระเบียบไม่ได้  ซ้ำร้ายกว่านั้นคู่แข่งเก่าของลอร่าจากเมืองวอลนัท โกรฟ คือเจเนเวียฟ มาสเตอร์ส อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่นี่เช่นกัน   เจเนเวียฟเป็นเด็กหัวสูง นอกจากชอบประจบประแจงครู  ก็ยังชอบข่มเหงกลั่นแกล้งเพื่อนด้วย  ลอร่าเป็นเป้าหมายสำคัญของเธอ    เคราะห์ร้ายสำหรับลอร่า เพราะมิสไวลเดอร์ผู้เป็นครูเกิดเชื่อเจเนเวียฟเต็มร้อย   ลอร่าเครียดมากกับชีวิตนักเรียน จนกลัวว่าเธอจะเรียนหนังสือไม่ได้  ส่งผลให้สอบเป็นครูไม่ได้ด้วย
    ในหนังสือลอร่ารวมเจเนเวียฟเข้าเป็นเนลลี่ ออลิสัน  แต่ในความจริง เนลลี่ไม่ได้ตามมาอยู่ที่เดอสเม็ตด้วยค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 14, 10:32
   โชคดีที่มิสไวลเดอร์สอนอยู่เทอมเดียว ก็กลับไปบ้านที่มินเนโซตา    ชีวิตลอร่าจึงค่อยเป็นสุขขึ้นนับจากนั้น
    ด้วยพื้นฐานที่ดีจากแม่ ซึ่งสอนลูกสาวให้รักการอ่าน การเขียน ทบทวนบทเรียนทุกวันที่บ้าน   แม้แต่เขียนบทกวีสั้นๆ ตามที่แม่เองก็ชอบเช่นกัน ทำให้ลอร่าเป็นนักเรียนดีเด่นของโรงเรียน     ในงานแสดงผลงานของนักเรียนที่ครูโอเวนจัดขึ้นในต้นฤดูหนาวเมื่อลอร่าอายุได้ 15 ปี   เธอได้แสดงผลงานสำคัญคือท่องประวัติศาสตร์อเมริกันตั้งแต่ต้นจนถึงตอนกลางด้วยปากเป่า   คู่กับไอดา บราวน์เพื่อนนักเรียนที่เรียนเก่งอีกคน 
   ผลงานของเด็กสาววัย 15 ไปเข้าตาชาวบ้านคนหนึ่งชื่อมิสเตอร์บุชชี   เขาอยู่ในนิคมสร้างตนเองห่างจากเดอเม็ตไป 12 ไมล์   ที่นั่นมีครอบครัวเขาและญาติๆจับจองที่ดินอยู่     บุชชีอยากได้ครูไปสอนลูกๆหลานๆ ด้วยงบประมาณจำกัดเดือนละ 20 เหรียญ เป็นเวลา 2 เดือน (สมัยนั้นเขาเรียนกันสั้นๆเท่าที่จำเป็น)    ด้วยความช่วยเหลือของมิสเตอร์โบ๊สต์เพื่อนสนิทของครอบครัวอิงกัลส์  เขาไปหาตัวศึกษาธิการเขตซึ่งอยู่ในเมืองพอดี มาสอบความรู้ออกประกาศนียบัตรให้ลอร่า    โดยทำเป็นมองไม่เห็นว่าเธออายุยังไม่ถึง 16 ปี 
  ด้วยวัยเพียง 15 ปี  ถ้าเป็นสมัยนี้ก็อยู่ม. 3  ลอร่ากลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว   ทำหน้าที่สอนหนังสือให้เด็ก 5 คนซึ่งสามคนในนี้แก่กว่าเธอเสียอีก     เธอต้องออกจากบ้านไปค้างที่บ้านมิสเตอร์บุชชี เป็นเวลา 2 เดือนกว่าจะได้กลับมา
   ลอร่าเล่าถึงชีวิตผู้ใหญ่ครั้งแรกของเธอในตอน These Happy Golden Years


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: Mr.Fame ที่ 15 ม.ค. 14, 11:31
เข้ามาลงชื่อไว้ครับ

มาบอกให้ทราบว่ามีคนติดตามอ่านอยู่นะครับผม

ผมชอบอ่านกระทู้นี้ก่อนนอนครับ ให้ความรู้สึกเหมือนย้อนกลับไปตอนเด็กๆ

ที่รอคุณพ่อคุณแม่มาเล่านิทานให้ฟังก่อนนอนยังไงหยั่งงั้น

.....

 ;D ;) :) :D


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 14, 11:37
^


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 14, 19:14
     ชีวิตห่างบ้านของลอร่าเต็มไปด้วยความคับแค้นใจ  แม้ว่ามิสเตอร์บุชชีเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ต้อนรับลอร่าอย่างเมตตา   แต่ภรรยาเขาตรงกันข้าม  หล่อนเป็นผู้หญิงคุ้มดีคุ้มร้าย ด้วยแรงกดดันจากชีวิตท่ามกลางทุ่งกว้างเปล่าเปลี่ยวและความลำบากรอบด้าน     จึงนำความเครียดที่สะสมไว้มาลงที่เด็กสาวไร้ทางตอบโต้อย่างลอร่า     หล่อนแสดงความหยาบคาย กราดเกรี้ยว และทิ่มแทงลอร่าด้วยวาจาทั้งต่อหน้าและลับหลัง  
     ในหนังสือลอร่าเปลี่ยนชื่อใหม่ให้สามีภรรยาคู่นี้ว่า "บรูว์สเตอร์"     เธอไม่ต้องการเอาชื่อจริงของคนทั้งสองมาเปิดเผย เป็นการประจานในหนังสือที่คนอ่านกันทั้งประเทศ
     เหตุการณ์ตอนนี้ทำให้คนอ่านประจักษ์ว่าชีวิตครอบครัวของชาร์ลส์ และแคโรไลน์ แม้ว่ายากไร้  จนบางครั้งก็แทบจะอดตาย    แต่อย่างหนึ่งที่ไม่เคยขาดแคลนคือความรักและอ่อนโยนต่อกัน     ชาร์ลส์เป็นพ่อที่หัวเราะได้แม้ในยามลำเค็ญแสนสาหัส   เขารักลูกเมียเป็นแก้วตา   แคโรไลน์เองก็เป็นแม่ที่สุภาพ เก็บกลั้นอารมณ์ได้ดี   ไม่เคยระบายอารมณ์ฉุนเฉียวกับสามีหรือลูก  ต่อให้ถูกกดดันจากสภาพแวดล้อมลำบากลำบนขนาดไหนก็ตาม   ในบ้านลูกๆจึงเรียนรู้ที่จะรัก ปรองดอง และเสียสละให้กัน เพราะเห็นตัวอย่างจากพ่อแม่   และมีศรัทธาต่อพระเจ้าอย่างแน่วแน่  เพราะพ่อแม่เป็นตัวอย่าง   ศรัทธาทางศาสนานี่เองที่ทำให้ลอร่ารู้จักรับผิดชอบต่อครอบครัว และเชื่อมั่นว่าปัญหาทุกอย่างจะผ่านพ้นไปได้ พระเจ้าจะไม่ทอดทิ้งเธอ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 14, 20:31
      อัศวินที่ควบม้าขาวเข้ามาช่วยลอร่ามิให้ต้องทนอยู่ในนรกที่บ้านของมิสเตอร์บุชชีตลอดเสาร์อาทิตย์   เป็นคนที่ลอร่านึกไม่ถึงมาก่อน  คือหนุ่มนักบุกเบิกชื่อแอลแมนโซ ไวล์เดอร์     เขาช่วยพ่อด้วยการขับรถเลื่อนเทียมด้วยม้าพันธุ์มอร์แกนคู่งามมารับเธอกลับไปบ้านตั้งแต่เย็นวันศุกร์ แล้วมาส่งที่บ้านบุชชีอีกครั้งในเย็นวันอาทิตย์     เขาเทียวไปเทียวมารับเธออยู่ 2 เดือนเต็ม โดยแทบจะไม่ได้พูดคุยกันเลย  ลอร่านอกจากขี้อายกับคนแปลกหน้าแล้ว อากาศหนาวจัดต่ำกว่าศูนย์องศายังไม่เป็นใจให้พูดอะไรกันได้ด้วย   
     แอลแมนโซเป็นคนหนึ่งที่ช่วยให้ลอร่ามีกำลังใจสอนหนังสือจนครบ 2 เดือน   แต่ใจเธอก็ยังหวังว่าเมื่อกลับบ้านแล้ว จะได้พบแค้ป การ์แลนด์อีกครั้ง    เธอไม่ต้องการจะตอบแทนบุญคุณของหนุ่มรายใหม่นี้ด้วยการไปนั่งรถเลื่อนกับเขาหลังจากสอนจบเทอมแล้ว    เธอก็เลยบอกเขาไปตรงๆ  ก่อนจะหมดเทอม  แต่แอลแมนโซก็ยังอุตส่าห์ฝ่าพายุและความหนาวครั้งสุดท้ายมารับเธอจนได้   ข้อนี้กลายเป็นความประทับใจของลอร่า      เธอจึงเปลี่ยนใจ  ออกไปนั่งรถเลื่อนกับเขาอีก
     จากนั้นทั้งคู่ก็คบกันสนิทสนมเรื่อยมา   ภาพของแค้ป การ์แลนด์ก็ค่อยๆเลือนห่างไปจากใจของลอร่า

    แอลแมนโซ ในวัยหนุ่ม  หล่อไม่เบาเหมือนกันนะคะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 14, 21:01
   เงินเดือนสี่สิบเหรียญที่ลอร่าได้มาจากสอนหนังสือ    บวกกับเงินสะสมของพ่อ กลายมาเป็นค่าซื้อออร์แกนที่เจ้าของเดิมในเมืองขายเพราะจะอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่    เขาขายออร์แกนในราคา 100 เหรียญ   พ่อต้องการซื้อให้แมรี่ไว้เล่นเพราะเมื่ออยู่วิทยาลัย  เธอเรียนวิชาดนตรี   เล่นออร์แกนได้คะแนนยอดเยี่ยม     เมื่อวันหนึ่งเรียนจบกลับมาอยู่บ้านแล้ว  แมรี่จะได้มีออร์แกนไว้เล่นแก้เหงา เพิ่มความเพลิดเพลินให้ชีวิตที่ต้องหยุดนิ่งอยู่แค่นั้น
   ลอร่าเต็มใจจะอุทิศเงินทั้งหมดที่เธอหาได้มาให้พี่สาว    ส่วนตัวเธอก็ไปรับจ้างเย็บผ้าในเมือง เอาเงินมาซื้อของใช้ส่วนตัว     เรื่องนี้แฟนหนังสือบางคนของลอร่ารับไม่ได้   พวกเด็กอเมริกันถือว่าค่าแรงของพวกเขาก็คือน้ำพักน้ำแรงของเขา   นอกจากเขาไม่ต้องการพึ่งพ่อแม่แล้ว  พ่อแม่ก็ไม่ควรจะมาเอาไปจากเขาด้วย     แต่ความกตัญญูของลอร่าแบบนี้คนไทยไม่เห็นแปลกอะไร เพราะเราอยู่ในสังคมที่สอนความกตัญญูเป็นหลัก


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 14, 21:02
    ทีนี้ขอพูดโดยส่วนตัวบ้าง
    ทั้งๆที่ชอบพ่อแม่ของลอร่ามาก ว่าเป็นพ่อแม่ที่ดีและรักลูก    แต่ดิฉันก็อดคิดไม่ได้ว่าพ่อของลอร่าน่าจะเป็นคนที่ไม่ค่อยจะรู้ค่าของเงินเท่าไหร่นัก     แต่ถ้าพูดในแง่ดีก็พอพูดได้ว่าเป็นคนให้คุณค่าทางจิตใจมากกว่าปากท้อง     เงิน 100 เหรียญสำหรับออร์แกนมือสอง เป็นเงินมหาศาลสำหรับหกปากหกท้อง    คนหกคนในบ้านมีสี่คนที่ไม่สามารถหารายได้เข้าบ้าน   เหลือ 2 คนคือพ่อกับลอร่าต้องหาเลี้ยง 6 คน 
     เงิน 100 เหรียญสำหรับออร์แกนให้แมรี่เล่นคนเดียว  ดูจะสร้างความสุขได้ไม่คุ้มค่าเงิน   ถึงไม่มีออร์แกน แมรี่ก็มีพ่อแม่และน้องๆอยู่พร้อมหน้าอบอุ่นพอแล้ว     แต่พ่อของลอร่าน่าจะมีจิตใจเป็นศิลปินมากกว่าชาวบ้านทั่วไป เห็นได้จากเป็นคนรักดนตรี เล่นดนตรีเก่ง ร้องเพลงเก่ง อ่านหนังสือเก่ง   จึงให้ความสำคัญกับความสุขทางใจมากกว่าอิ่มปากอิ่มท้อง
    แต่มันก็ไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่ ที่ความสุขนั้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของลูกสาววัย 15 ปี ไม่ใช่ของพ่อคนเดียว


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 16 ม.ค. 14, 21:11
เข้าใจว่า ทุกคนอยากจะชดเชยให้แมรี่
อยากจะให้แมรี่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดทดแทนการสูญเสียดวงตาไป

อีกทั้งออแกน เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงเพลงความสุขรวมทั้งเพลงที่เกี่ยวกับศาสนา
ซึ่งเป็นเครื่องมือยึดเหนี่ยวความอบอุ่นของครอบครัวเข้าด้วยกันไม่ว่าในทุ่งกว้างหรือเมืองเล็ก

ลอราเองก็คิดเสมอว่า ตัวเองมีโอกาสที่ดีกว่าแมรี่
การเสียสละเพียงแค่นี้ เป็นเรื่องเล็กน้อยมากสำหรับเธอ
สมัยเด็กๆ  ลอรายังเคยอิจฉาแมรี่หลายๆด้านเช่นกัน
แต่ถึงตอนนี้  เธอรู้ว่าต้องมีหน้าที่ปกป้องและเป็นหูเป็นตาให้กับพี่สาว ;D

ตอนนี้กำลังซุ่มพิมพ์บทความของคุณสันติ นามธรรมอยู่นะคะ
รอสักพัก จะนำมาลงต่อเนื่องค่ะ



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 14, 21:18
ดิฉันก็มองเห็นเหตุผลอย่างคุณค่ะ   พ่อแม่และน้องๆรักแมรี่จริงๆ เป็นรักแท้ที่ประกอบด้วยความเห็นอกเห็นใจและเสียสละ ยากจะหาใครเทียบ
แต่ที่ท้วง  เพราะอดรู้สึกไม่ได้ว่าถ้าพ่อไม่เอาเงินจากลอร่าไปทั้งหมด 40 เหรียญ  เอาสักครึ่งเดียวก็น่าจะดีกว่า   เด็กเพิ่งทำงานด้วยความยากลำบาก เสี่ยงสารพัด  ได้เงินเป็นกอบเป็นกำครั้งแรก  พ่อเอาไปโม้ด


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 14, 09:20
     จากความสนิทสนมที่เริ่มก่อตัวขึ้นระหว่างแอลแมนโซและลอร่า เมื่อออกไปนั่งรถม้าเล่นด้วยกันทุกวันอาทิตย์ ทำให้ลอร่าได้รู้ประวัติของครอบครัวเขา  แอลแมนโซมาจากครอบครัวเจ้าของนาเช่นกัน    เป็นลูกคนที่ห้าในจำนวนพี่น้องหกคน     ตอนเด็กๆเขาอยู่ในเมืองมาโลน รัฐนิวยอร์ค  พ่อทำฟาร์มที่นั่นได้ผลดี   อยู่กันอย่างสุขสมบูรณ์  แต่พออายุ 18 พืชผลที่เมืองมาโลนเกิดไม่ได้ผล พ่อแม่ก็เลยย้ายมาที่เมืองสปริงแวลลีย์ในรัฐมินเนโซตา    ลูก3 คนอยู่กับพ่อแม่ แต่ลูกที่โตๆแล้วอีก 3 คนมาบุกเบิกจับจองที่ดินในรัฐดาโกต้าใต้   ที่นี่แอลแมนโซจับจองที่ดินไว้ถึง 320 เอเคอร์  สองเท่าของพ่อลอร่า    เขามีม้ามอร์แกนคู่สวยที่นำมาจากบ้าน   ลอร่าชอบม้ามาก   เธอทำได้แม้แต่ช่วยแอลแมนโซขับม้าพยษ    ทั้งคู่จึงเข้ากันได้ดีเพราะมีความสนใจสอดคล้องต้องกัน
   แอลแมนโซกับลอร่าเห็นตรงกันอีกอย่างคือต่างคนต่างไม่ชอบชื่อของอีกฝ่ายหนึ่ง  ชื่อของแอลแมนโซมาจากภาษาอาหรับ   คนในตระกูลไวล์เดอร์อพยพมาจากอังกฤษ ย้อนหลังไปถึงยุคกลาง   เมื่อบรรพบุรุษในตระกูลนี้ไปสงครามครูเสด   แล้วมีชาวอาหรับชื่อ อัล มันซูร์  ช่วยชีวิตเขาไว้    เขาจึงรำลึกถึงด้วยการให้ลูกหลานแต่ละชั่วคนตั้งชื่อนี้อยู่คนหนึ่งเสมอไป นานๆเข้าก็เพี้ยนเป็นแอลแมนโซ
    พี่ๆเรียกแอลแมนโซว่าแมนนี่   ส่วนลอร่าไม่ชอบทั้งชื่อแอลแมนโซและแมนนี่   เธอจึงเรียกเขาเสียใหม่ว่า "แมนลี่"
    ส่วนชื่อลอร่าไปตรงกับชื่อพี่สาวคนโตของแอลแมนโซ เขาเองก็ไม่ชอบชื่อนี้  เมื่อรู้ว่าชื่อกลางของลอร่าคือเอลิซาเบธ เขาก็ตั้งชื่อเธอเสียใหม่ว่า "เบสซี่"    ต่อมาโรสลูกสาวลอร่าเรียกแม่ว่า "มาม่า เบส"   ชื่อลอร่า อิงกัลส์ ไวล์เดอร์เป็นนามปากกาอย่างเป็นทางการของเธอเท่านั้น

   ครอบครัวพ่อแม่พี่น้องของแอลแมนโซ ไวล์เดอร์ ค่ะ  แอลแมนโซคือเด็กชายคนที่สองจากซ้าย


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 14, 09:04
หลังจากดูใจกันอยู่ 3 ปี ลอร่าก็เข้าสู่พิธีแต่งงานกับแอลแมนโซ    เมื่อเธออายุ 18 และเขา 28  เจ้าบ่าวแก่กว่าเจ้าสาว 10 ปี  แต่เมื่อลอร่าเขียนนิยายชุดบ้านเล็กมาถึงตอน These Happy Golden Years   เธอลดอายุแอลแมนโซลงไปครึ่งหนึ่ง    เพราะไม่อยากให้แฟนหนังสือรุ่นเยาว์ในยุคหลังคิดว่าแอลแมนโซเป็น 'ตาแก่อยากมีเมียสาว'   
ค่านิยมในสมัยนั้นแตกต่างจากยุคนี้  เพราะยุคนี้หนุ่มสาววัยไล่เลี่ยกันจึงจะคบเป็นแฟนกัน  แต่ในสมัยลอร่าเป็นสาว  ผู้ชายในเดอสเม็ตมักจะอายุมากกว่าภรรยาหลายปี    ผู้หญิงสมัยนั้นบางคนก็แต่งงานตั้งแต่อายุน้อยๆ ไม่ถึง 15 ปีด้วยซ้ำไป   พ่อแม่ก็โล่งใจที่ลูกสาวเป็นฝั่งเป็นฝาไปเสียได้     อายุ 18 สำหรับลอร่า ถือว่าเป็นสาวเต็มตัวเท่ากับ 28 ในสมัยนี้

ลอร่ากับแอลแมนโซไม่มีพิธีแต่งงานอย่างที่เราเห็นกันในหนัง  ไม่มีชุดวิวาห์สีขาว หรือเข้าโบสถ์พร้อมด้วยแขกเหรื่อมาเป็นสักขีพยาน  เธอสวมชุดใหม่สีดำที่เพิ่งเย็บเสร็จ     ทำพิธีง่ายๆเสร็จในเวลาไม่กี่นาทีที่บ้านของนักเทศน์  จากนั้นก็อำลาพ่อแม่และน้องๆไปอยู่ในบ้านเล็กในที่ดินจับจองของแอลแมนโซ   เริ่มชีวิตใหม่กันในหนังสือตอนที่ชื่อว่า The First Four Years


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 14, 09:18
นิยายชุด "บ้านเล็ก" เดิมจบลงแค่ตอน These Happy Golden Years  ซึ่งเล่าถึงชีวิตการทำงาน  ความรักและการแต่งงานของลอร่า     ผู้เขียนจบตอนท้ายลงอย่างเป็นสุขเมื่อลอร่านั่งอยู่ที่บ้านใหม่ของเธอ ส่งความคิดถึงถึงพ่อแม่และน้องๆ  โดยมีเสียงซอในความทรงจำสะท้อนมาเป็นเพลง
ส่วน The First Four Years  เป็นต้นฉบับร่างที่มาพบกันเมื่อลอร่าถึงแก่กรรมไปแล้ว     สันนิษฐานว่าเธอเขียนร่างไว้ แต่ยังไม่ทันเอามาแก้ไขให้สมบูรณ์ แอลแมนโซก็ถึงแก่กรรม     ลอร่าจึงไม่มีกะจิตกะใจจะเขียนตอนใหม่  ทิ้งเอาไว้อย่างนั้นจนเธอถึงแก่กรรมไปในที่สุด    แต่เมื่อผู้พิมพ์มาพบเข้าก็ตัดสินใจตีพิมพ์ไปโดยมิได้แก้ไขอย่างใด

    หนังสือเล่มนี้เล่าถึงชีวิตสี่ปีแรกในชีวิตแต่งงานของลอร่า      แอลแมนโซกับเธอเริ่มต้นชีวิตด้วยความหวังถึงอนาคตที่ดี อย่างหนุ่มสาวผู้เริ่มต้นชีวิตใหม่ทั้งหลาย     แต่ชีวิตก็ไม่มีอะไรสวยงามสำหรับชาวไร่ชาวนาในรัฐดาโกต้าใต้      แอลแมนโซพบว่าการเป็นชาวไร่-ไม่ใช่แค่จับจองที่ดินเอาไว้เฉยๆ  เป็นชีวิตที่หนักทั้งแรงงานและการลงทุน    เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆราคาแพง   เขาต้องเลี้ยงม้าเพื่อทำงานในไร่  แต่ม้าก็ต้องกิน ต้องมีที่อยู่     เมื่อถึงหน้าเก็บเกี่ยวก็ต้องจ้างลูกมือ   ทั้งหมดทำให้เขาต้องเป็นหนี้เป็นสินอย่างเลี่ยงไม่ได้  แม้แต่บ้านหลังเล็กๆที่ปลูกอยู่ก็ต้องผ่อนชำระค่าปลูกสร้าง
    ทั้งหมดนี้เงินทั้งนั้น  ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินแบกกันเพียบ ไม่น้อยกว่าเกษตรกรไทย


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 18 ม.ค. 14, 20:48
อาจารย์เทาชมพู ค่อยๆปิดฉากชุดบ้านเล็กแล้ว
ไม่ทราบว่ายังมีบทส่งท้ายอีกเยอะมั้ยคะ


เลยขอเกริ่นนำบทวิจารณ์บ้านเล็ก ของ คุณสันติ นามธรรม ด้วยภาพนี้ก่อนเลย

(http://image.ohozaa.com/t/01f/zPwWYZ.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/xk7LbdFBpbbFl4e0)


เนื้อหาของบทวิจารณ์จะเป็นการกล่าวถึงหนังสือแต่ละเล่ม
แต่ดิฉันจะเรียงพิมพ์ใหม่ด้วยการนำประเด็นขึ้นมาแทน
ตัวอักษร ชื่อตัวละคร ปี ค.ศ. ยังเคารพต้นฉบับเดิมค่ะ

ฝากขอบพระคุณคุณสันติ นามธรรม มา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 14, 21:03
เป็นจังหวะที่เหมาะจะลงบทความของคุณสันติแล้วค่ะ  ขอเชิญเลยค่ะ

ชีวิตจริงของลอร่ามีอีกช่วงยาวๆที่ไม่มีในหนังสือ   เพื่อที่คุณ kulapha จะได้เรียบเรียงลงตามสบาย จบเมื่อไหร่เมื่อนั้น   ไม่ต้องห่วงว่าดิฉันรออยู่
ดิฉันจะไปเปิดกระทู้ใหม่เล่าถึงช่วงชีวิตหลังจากหนังสือจบแล้วค่ะ  เป็นคนละตอนกับกระทู้นี้ แบ่งให้เห็นชัดๆกันค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 18 ม.ค. 14, 21:24
ขอบรรเลงเลยนะคะ :D

ตะวันตกที่ปรากฏในดวงตา

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผู้คนระลอกแล้วระลอกเล่า
อพยพหลั่งไหลสู่ดินแดนทางตะวันตกอันกว้างใหญ่และรกร้างว่างเปล่า
ชายแดน (frontiers) หรือดินแดนตะวันตกคือดินแดนแห่งความหวัง
ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ที่ทุกคนแสวงหา
เพราะที่นั่นที่ดินราคาถูกและโอกาสของชีวิตที่ดีกว่าทางเศรษฐกิจและสังคมรอคอยอยู่

ยิ่งกว่านั้นความลึกลับของตะวันตกยังเย้ายวนต่อการผจญภัยอันน่าตื่นเต้น
เพื่อหลีกหนีชีวิตอันน่าเบื่อหน่ายจากตะวันออกไปสู่เสรีภาพ ความเป็นอิสระ
และการพิสูจน์ตนเองในโลกกว้าง

นักบุกเบิกรุ่นแรกๆนับแต่นักค้าขนสัตว์ (Fur traders)
นักปศุสัตว์(Cattlemen) คนทำเหมือง (Miners) จนถึงชาวนานักบุกเบิก (Pioneer Farmers)
ชาวนาที่ตั้งรกราก (Equipped Farmers) คนสร้างเมือง (Town Planters)
นักล่าที่ดิน (Land speculators) และอื่นๆต่างมุ่งสู่ดินแดนอิสระอันกว้างใหญ่
ด้วยการมองเห็น  “ตะวันตกปรากฏในดวงตา”

นักบุกเบิกดินแดนตะวันตกสมัยนั้นแบ่งออกเป็น  2 กลุ่มใหญ่

กลุ่มแรก คือพวกที่เข้ามาตักตวงหาความมั่งคั่งแต่ไม่ได้ตั้งรกรากอย่างถาวร
พวกนี้กระจัดกระจายอยู่ทุกๆส่วนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่ป่าเถื่อน
สำรวจเส้นทาง  ทำลายรากฐานความมั่นคงของอินเดียน
ตลอดจนโฆษณาชักชวนผู้คนให้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนตะวันตก

นักบุกเบิกรุ่นแรกนี้คือ นักล่าขนสัตว์ นักสำรวจ มิชชั่นนารี คนทำเหมืองและนักเลี้ยงปศุสัตว์

กลุ่มที่สอง คือพวกที่เข้าตั้งรกรากอย่างถาวรและใช้ประโยชน์จากผืนดินเต็มที่
พร้อมกับเปลี่ยนดินแดนตะวันตกให้เป็นชุมชน  เมือง  นคร ตามลำดับ
กลุ่มดังกล่าวนี้ได้แก่ชาวนา พวกสร้างเมือง พ่อค้า นักล่าที่ดินและอื่นๆ

ครอบครัวของชาร์ลส์ อิงกัลส์ส์ รวมอยู่ในกลุ่มหลัง
และเป็นนักบุกเบิกผู้มีภาระต้องเอาชนะธรรมชาติในดินแดนตะวันตก ดัดแปลงและเข้ายึดกุม
มิใช่พยายามปรับตัวตามสภาพแวดล้อมดั้งเดิมเหมือนกลุ่มแรก


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 18 ม.ค. 14, 21:33
บ้านเล็กในป่าใหญ่ :  บันทึกก่อนกาลบนหยาดเหงื่อ ความรัก ความทรงจำของพ่อกับแม่

สำหรับลอรา  อิงกัลล์ส  ไวล์เดอร์
ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นในบ้านเล็กที่ทำด้วยไม้ซุงทั้งต้นในป่าใหญ่ของมลรัฐวิสคอนซิน
ฤดูหนาวที่หิมะตกอยู่เรื่อยๆตลอดคืนอันยาวนานจนกระจกหน้าต่างมีน้ำค้างแข็งจับเต็มในตอนเช้า
ดูเป็นรูปต้นไม้  ดอกไม้  และเทพธิดานางฟ้ามากมายหลายอย่าง

ส่วนฤดูใบไม้ผลิเล่าก็มีนกร้องเพลงอยู่ในพุ่มต้นเฮเซิล
หญ้าที่ขึ้นเขียวและดอกไม้ป่าหลากหลายที่บานไสวเต็มไปทั้งป่า
เสียงขวานของพ่อในป่าใหญ่และเสียงเห่าของเจ้าแจ็คได้ยินแว่วมาเป็นระยะ
ฤดูร้อนที่เร่งรีบเต็มไปด้วยการเยี่ยมเยือนไปมาหาสู่
และตามมาด้วยฤดูใบไม้ร่วงอันสนุกสนาน
ที่ลอราจะกระโดดโลดเต้นคุยจ้อเหมือนนกกระจอกตั้งแต่เช้าจรดกลางคืน
ทั้งหมดคือความทรงจำที่แสนหวานและวัยเด็กที่แสนสุข

แต่สำหรับพ่อกับแม่ ป่าใหญ่ของมลรัฐวิสคอนซินคือชีวิตคู่ทั้งเริ่มต้น
และเป็นเสมือนจุดพักสำหรับการเดินทางอันยาวนานไปสู่ดินแดนตะวันตก
เหตุการณ์ทั้งหมดผันผ่านมานานนักหนา แต่ลอราคิดว่าจะไม่มีใครลืมเลือนสิ่งเหล่านี้ได้

“เมื่อฉันเริ่มเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ในความคิดของฉันมีอยู่เรื่องเดียว..”ครั้งหนึ่งลอรากล่าว
“นับเป็นปีๆที่ฉันคิดว่าเรื่องราวที่พ่อเคยเล่าควรจะถูกเล่าต่อไปยังเด็กคนอื่นๆ
ฉันรู้สึกว่าเรื่องเหล่านั้นทั้งหมดมันดีมาก..มากจนไม่อยากให้สูญหาย
ฉะนั้นฉันจึงเขียน บ้านเล็กในป่าใหญ่ (ค.ศ. ๑๙๓๑)
หนังสือเล่มนี้เป็นแรงงานและหยาดเหงื่อจากความรักและความทรงจำจริงๆสำหรับพ่อ...”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของหนังสือชุด บ้านเล็กในป่าใหญ่ และตามด้วย เด็กชายชาวนา (ค.ศ. ๑๙๓๒)
บ้านเล็กในทุ่งกว้าง  (ค.ศ. ๑๙๓๕) บ้านเล็กริมห้วย (ค.ศ. ๑๙๓๗) 
ริมทะเลสาบสีเงิน (ค.ศ. ๑๙๓๙) ฤดูหนาวอันแสนนาน (ค.ศ. ๑๙๔๑) และปีทองอันแสนสุข  (ค.ศ. ๑๙๔๓ )

ผู้อ่านส่วนมาก เข้าใจว่าเรื่องราวตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้ายของหนังสือชุด “บ้านเล็ก”   
๒ เล่มแรกมาจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรงกับลอรา
แต่ในความเป็นจริง มันคือเรื่องราวของพ่อกับแม่ (ชาร์ลส์กับแคโรไลน์)และพี่น้องตระกูลอิงกัลล์ส์คนอื่นๆ

ปีในป่าใหญ่นั้น ลอราเพิ่งเกิด (ค.ศ.๑๘๖๗) และเมื่อครอบครัวอพยพไปอยู่มิสซูรี่
พร้อมกับตั้งรกรากในทุ่งกว้างของแคนซัส  ลอรามีอายุประมาณปีเศษ
เธอยังเล็กและจำอะไรไม่ค่อยได้  เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ที่ตั้งของบ้านเล็กในทุ่งกว้างอยู่ตรงไหนแน่
ในหนังสือลอรากล่าวว่าอยู่ห่างจากเมืองอินดีเพนเด้นซ์ราว ๔๐ ไมล์
และตั้งอยู่โดดเดี่ยวห่างไกลจากเพื่อนบ้าน
ข้อมูลดังกล่าวเธอได้มาเมื่อโตขึ้นและตอนเริ่มต้นเขียนหนังสือ
จริงๆแล้ว บ้านเล็กอยู่ห่างจากอินดีเพนเด้นซ์เพียง ๑๓ ไมล์เท่านั้น

และแม้จะอยู่ในทุ่งกว้างแต่ก็ไม่สันโดษจนเกินไป
เพราะผู้คนอพยพเข้ามามากในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. ๑๘๖๙
และบ้านเล็กถูกล้อมรอบด้วยเพื่อนบ้านที่อยู่ห่างออกไป
ด้วยระยะทางประมาณหนึ่งถึงครึ่งไมล์หรือน้อยกว่านั้น

เนื้อหาของหนังสือชุด บ้านเล็ก ตอนต้นๆทั้งหมดได้มาจากการบอกเล่าของพ่อกับแม่
แต่ลอราได้นำมาผูกเป็นเรื่องโดยให้ตัวเธอเองมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง
หนังสือชุดนี้จึงมีลักษณะเป็นดุจเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอจริงๆ

ป่าใหญ่ของวิสคอนซินคือจุดพักสำหรับการเดินทางที่ยาวนานไปยังตะวันตกของพ่อกับแม่
แต่สำหรับลอรา โลกของเธอคือป่าใหญ่
ในบ้านเล็กที่เธอนอนบนตักแม่และซุกกับบ่าที่แข็งแรงของพ่อ
ปีในป่าใหญ่คือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง
ฤดูหนาวที่หิมะตกตลอดคืนจนบ้านไม้ซุงจมอยู่ในกองหิมะ
ฤดูใบไม้ผลิที่เต็มด้วยดอกไม้ป่า เสียงนก
และตามด้วยฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ทุกอย่างดูไม่มีสิ้นสุด
ลอรามีเวลาของชีวิตทั้งชีวิตรออยู่เบื้องหน้า



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 19 ม.ค. 14, 13:10

เพิ่งย่อรูปได้ค่ะ เลยเอารูปในบทความมาเพิ่ม


(http://image.ohozaa.com/i/684/swD78E.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/xlGRVOEXEF7d1lcA)

ภาพเบื้องบนนี้ ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกับครอบครัวของลอราหรือไม่  เพราะมีตัวละครเพิ่มขึ้น ไม่รู้จักหลายหน้าตาค่ะ
หรือเป็นภาพเขียนประวัติศาสตร์ยุค พิชิตตะวันตก ทำนองนั้นเพื่อเอามาเสริมให้เข้ากับเนื้อหาบทความ

แต่ภาพเบื้องล่างนี้ใช่แน่ๆค่ะ บางภาพอาจจะซ้ำกับของอาจารย์เทาชมพู คงไม่เป็นไรนะคะ

(http://image.ohozaa.com/i/520/M9KJDj.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/xlGPOEwCJEQEMNbl)


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 19 ม.ค. 14, 13:22
(http://image.ohozaa.com/i/gee/wxvSZc.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/xlGV2F5XUQKac603)



ภูมิใจที่ได้เป็นเด็กชายชาวนา

เด็กชายชาวนา (ค.ศ. ๑๙๓๒) คืองานเขียนเล่มถัดมา
และเนื้อหาส่วนใหญ่คือชีวิตวัยเด็กของแอลแมนโซ  ไวล์เดอร์ ในภาคเหนือของรัฐนิวยอร์ค 
ลอราซึ่งเป็นผู้เขียนทำได้ไม่ดีนักสำหรับการปูพื้นความเป็นมาของแอลแมนโซให้กับผู้อ่าน
เพราะหนังสือจบในลักษณะห้วนไม่สมบูรณ์ในตัว

ไวล์เดอร์อายุประมาณ 11 ปี เมื่อหนังสือจบ และผู้อ่านจะพบกับเขาอีกเมื่ออายุประมาณ ๒๐ ปีในหนังสือเล่มหลังๆ
ช่วงเวลาที่หายไปนั้น เราไม่มีโอกาสทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับแอลแมนโซและครอบครัวชาวนาของเขา
และด้วยเหตุใดเขาจึงอพยพเข้ามาในรัฐเซ้าท์ดาโกต้าและตั้งรกรากอยู่ทางตอนเหนือของเมืองที่ครอบครัวลอราอยู่
เรื่องของแอลแมนโซในช่วงหลังยกเว้นใน  ปีทองอันแสนสุข  มักจะปรากฏสั้นๆ
ไม่ได้ขยายความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเขาให้ชัดเจนเท่าใดนัก
บางทีอาจเป็นเพราะลอราไม่รู้เรื่องราวอะไรมากนักเกี่ยวกับแอลแมนโซ
และหนังสือชุดนี้เป็นอัตชีวประวัติของเธอเองโดยเฉพาะ

กระนั้นก็ตาม นับว่าลอราให้ภาพการทำงานและชีวิตชาวนาได้เป็นอย่างดี

พ่อของแอลแมนโซเองภาคภูมิใจในความเป็นชาวนาและถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ต่างๆให้กับลูก
จึงไม่น่าแปลกใจนักที่แอลแมนโซเองต้องการเป็นชาวนาและรักอาชีพนี้มากกว่าสิ่งอื่นใด

“..ดินแดนที่เป็นของปู่ย่าตาทวดของเรานั้นมีเพียงดินแดนแคบๆยาวๆคือตรงนี้
ระหว่างภูเขาใหญ่ไปจรดมหาสมุทรเท่านั้น
จากที่นี่ไปทางตะวันตกนั่นเป็นดินแดนของพวกอินเดียนแดงบ้าง ของสเปนบ้าง ของฝรั่งเศสบ้าง ของอังกฤษบ้าง
ชาวนาเรานี่แหละที่ท่องเที่ยวบุกบั่นไป ข้ามป่าเขาหักร้างถางพง
แล้วก็ตั้งบ้านเรือนขึ้นทำไร่นา แล้วก็ตั้งรกรากหลักฐานติดอยู่กับที่นาของเรา
เราเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว และชาวนาเรานี่แหละที่ยึดครองดินแดนเหล่านี้
และทำให้มันเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้น จำไว้นะลูก อย่าได้ลืม...(เด็กชายชาวนา หน้า ๒๑๖-๘)

ผิดกับพ่อและแม่ของลอรา พ่อแม่ของแอลแมนโซเป็นชาวนาหัวเก่าที่ต้อต้านชีวิตแบบชาวเมือง
ทั้งไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและไม่อาจปรับตัวเข้ากับสภาพใหม่ที่เกิดขึ้นรอบตัว

“นั่นมันเรื่องของคนขี้เกียจ...”พ่อให้ทัศนะต่อการเช่าเครื่องจักรมานวดข้าว
“รีบร้อนให้เสร็จเร็ว มันเปลืองของ
แค่คนขี้เกียจอยากจะให้งานเสร็จเสียเร็วๆโดยที่ตัวเองไม่ต้องทำ
ไอ้เครี่องจักรนั่นมันเคี้ยวฟางจนป่น เอามาเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ได้
ข้าวเปลือกก็กระจัดกระจายตกเรี่ยเสียหายมาก
มันดีอย่างเดียวที่ไม่เปลืองเวลามากเท่านั้นแหละลูก
แต่มันจะมีประโยชน์อะไรเล่า ถ้ามีเวลาเหลือแล้วเราไม่มีอะไรจะทำ “ (เด็กชายชาวนา หน้า ๓๕๖)

มีชาวนาอีกไม่น้อยที่คิดแบบเดียวกัน
พวกเขาไม่เข้าใจถึงรากฐานเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงและโครงสร้างสังคมรูปใหม่ที่ถูกกำหนดขึ้น
ตลอดจนการก้าวรุดไปข้างหน้าของเวลา
พวกเขามองไม่เห็นและไม่เข้าใจว่า
ต้นตอความทุกข์ยาก ความหายนะของกสิกรในทศวรรษ ๑๘๗๐ ถึง ๑๘๙๐ นั้นมาจากไหน
การต้อสู้แก้ไขจึงไร้ทิศทาง ไม่มีเป้าหมาย และในที่สุดระบบใหม่ที่เกิดขึ้นก็ได้กลืนทำลายชาวนาลงทั้งหมด

สภาวะบีบคั้นทางตะวันออก (สภาพบ้านเมืองที่แออัด ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การแก่งแย่งงาน ฯลฯ)
เส้นทางสู่ตะวันตกที่สะดวกและมีมากขึ้น และเสน่ห์ของผืนดินกว้างใหญ่ราคาถูกที่รออยู่เบื้องหน้า
คือสามปัจจัยหลักที่ผลักดันผู้คนมุ่งหน้าสู่ตะวันตก
เพราะหวังในชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 19 ม.ค. 14, 13:29
(http://image.ohozaa.com/i/200/hvLccL.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/xlGZIZGw9qulSkGO)

อินเดียนแดงที่ดี คืออินเดียนแดงที่ตายแล้ว


อินเดียนแดงคือเจ้าของทุ่งกว้างและดินแดนอันไพศาลทางตะวันตก
แต่นักบุกเบิกไม่ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว
พวกเขาถือว่า อินเดียนแดงคือมารร้ายและอุปสรรคการขยายตัวไปชายแดน
สนธิสัญญาหรือข้อตกลงที่รัฐบาลกลางทำกับอินเดียนแดงในการแบ่งดินแดนทางตะวันตก
เป็นหลักการที่ไม่อาจยอมรับได้

“ชาวคริสเตียน”จะปล่อยดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ให้ตกอยู่ในกำมือของคนป่าเถื่อนได้อย่างไร
ความขัดแย้งระหว่างคนขาวและคนอินเดียนแดงจุดชนวนสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า
และดินแดนตะวันตกก็คือที่มาของตำนานนิยายอันเลื่องชื่อของการกดขี่เอาเปรียบที่ชนชาติหนึ่งมีต่ออีกชนชาติหนึ่ง

ลอราไม่อาจอธิบายความขัดแย้ง พื้นฐานและปัญหาที่ซับซ้อนซ่อนเร้นระหว่างอารยธรรมความเจริญของ
คนขาวที่ก้าวหน้าทางเทคนิค อาวุธและความกระหายทางเศรษฐกิจ
กับอารยธรรมรวมหมู่ที่เป็นอิสระของอินเดียนแดงได้

แม้จะมีมนุษยธรรมในหัวใจ  แต่การสังกัดในกลุ่มของชาวผิวขาวผู้มุ่งหวังประโยชน์
ก็มีส่วนให้ทัศนะการมองปัญหาของเธอเป็นไปในทำนองคล้ายๆกับที่มิสซิสสก็อตพูดออกมา

“...แผ่นดินย่อมรู้ดีว่า พวกอินเดียนแดงไม่เคยได้ทำผลประโยชน์อะไรเลยกับผืนแผ่นดินนี้
ได้แต่เที่ยวเร่ร่อน พเนจรไปเหมือนสัตว์ป่า
สนธิสัญยงสัญญาอะไรฉันไม่รู้ด้วยละ
แผ่นดินควรจะเป็นของคนที่เขาถากไถทำไร่ทำนาซี
ว่ากันตามเหตุผลและความยุติธรรมมันก็ควรจะเป็นอย่างนี้..”

เธอไม่ทราบว่ารัฐบาลไปทำสนธิสัญญากับพวกอินเดียนแดงทำไม
อินเดียนแดงที่ดีคืออินเดียนแดงที่ตายแล้วเท่านั้น
พอนึกถึงอินเดียนแดงขึ้นมาทีไร เธอรู้สึกว่าเลือดเย็นชาวาบไปทั้งตัว เธอบอกว่า
“ฉันลืมการประหัตประหารครั้งใหญ่ที่มินเนโซต้าไม่ได้เลย
พ่อของฉันและพี่ชายของฉันออกไปพร้อมกับพวกอพยพอื่นๆ
ไปรบและยั้งมันห่างจากที่เราอยู่สัก ๑๕ ไมล์เท่านั้น
ฉันได้ยินพ่อเล่าบ่อยๆว่ามัน.....แม่กระกระแอมเสียงแหลมๆอยู่ในคอและมิสซิสสก็อตก็หยุดเล่า
(บ้านเล็กในทุ่งกว้าง หน้า ๔๓๗)

คงเป็นการยากที่จะลืมการประหัตประหารครั้งนั้น (ค.ศ. ๑๘๖๔)
เพราะการประหัตประหารครั้งนั้นมันเป็นปฎิบัติการที่ป่าเถื่อนนองเลือด
และนำมาซึ่งความด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ของชาวผิวขาวในสหรัฐฯ

กองทหารภายใต้การนำของพันเอกชิวิงตันเข้าล้อมค่ายอินเดียนและบุกโจมตีค่ายอินเดียนแดง ๕๐๐ คนที่หลับสนิทเมื่ออรุณรุ่ง
มันเป็นการล้อมปราบที่โหดเหี้ยมทารุณเพราะแม้แต่เด็กและผู้หญิงที่หลบหนีเข้าไปในถ้ำก็ถูกกระชากลากออกมายิงและแทง
“พวกเขาถูกถากหนังหัว” พยานที่เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งให้การ  “สมองทะลักอออกมาข้างนอก"
"พวกทหารใช้มีดจ้วงแทงผู้หญิง ซวกตีเด็กเล็กๆ ตีที่หัวด้วยด้ามปืนเลย”
กรณีสังหารหมู่ชิวิตัน (The Chivington Massacre)จุดชนวนสงครามหนึ่งตลอดฤดูหนาวระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๖๕-๑๘๖๗

(http://image.ohozaa.com/i/2ef/knPFTY.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/xlGYV0GmavZidCK7)

เรื่องราวเกี่ยวกับอินเดียนแดงที่ลอราเล่า
ทำให้ผู้อ่านระลึกได้ว่า บ้านเล็กตั้งอยู่ในดินแดนของพวกอินเดียนแดง
อินเดียนแดงดังกล่าวคือเผ่าโอเสจและอาณาจักรเดิมของเผ่าครอบคลุมตั้งแต่อ่าวเม็กซิโกถึงแม่น้ำมิสซูรี
และจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้จรดเทือกเขาร้อคกี้
จากสนธิสัญญาข้อตกลงและการหลอกลวงของคนขาว
อาณาจักรอันกว้างใหญ่ของเผ่าโอเสจเริ่มหดแคบลงทีละน้อย

เมื่อกระแสของผู้อพยพทะลักสู่ภาคใต้ของแคนซัสในปี ค.ศ.๑๘๖๙
(ซึ่งมีชาร์ลส์ อิงกัลล์ส รวมอยู่ด้วย)
ดินแดนของเผ่าโอเสจเหลือเพียงส่วนที่เรียกว่า “ดินแดนสงวนที่หดแคบ” (Diminished Reverse)
กระนั้นคนขาวก็ยังรุกล้ำเข้าไปในดินแดนดังกล่าว
และเห็นได้ชัดว่าพวกอินเดียนแดงถูกรุกรานแย่งชิงแผ่นดินที่อาศัย
ค่ายถูกเผาผลาญ ทรัพย์สินถูกยึด สัตว์ป่าหายากลง ฯลฯ
แต่กลับมีฟาร์ม  ทุ่งนา  โบสถ์  ถนน เข้ามาแทนที่
และมีทางเลือกอยู่  ๒  ทางสำหรับชาวอินเดียนแดง คือ หนีหรือสู้

อินเดียนแดงที่เข้ามาในบ้าน  ท้องทุ่งที่ถูกเผา
ซึ่งมิสเตอร์เอ็ดเวิร์ดส์เชื่อว่า เป็นเจตนาของพวกอินเดียนแดงที่จะคลอกฝรั่งให้ตาย
สัตว์เลี้ยงถูกขโมย การประชุมปรึกษาและเสียงโห่ร้องคืนแล้วคืนเล่า  และเหตุการณ์อื่นๆ
อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ของสงครามประสาท (A War of Nervous)ที่อินเดียนแดงต้องการขู่คนขาวให้กลัว
แต่เมื่อล้มเหลว และจากการพิจารณาอย่างรอบคอบของชาวอินเดียนแดง
การอพยพก็เริ่มต้นขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า

วันแล้ววันเล่าที่พวกอินเดียนแดงเดินทางผ่านท้องทุ่งสีทอง มุ่งหน้าไปตะวันตกอย่างไม่ขาดสาย
ลอรารู้ว่าพวกอินเดียนแดงจะไม่กลับมาอีก
“แต่พ่อจ๊ะ หนูคิดว่าที่นี่เป็นที่ทางของพวกอินเดียนแดงเขา  พวกอินเดียนแดงเขาไม่โกรธแย่หรือจ๊ะที่เขาต้อง...”
“ไม่ถามอีกละ ลอรา” พ่อพูดหนักแน่น “นอนเสียเถอะ” (บ้านเล็กในทุ่งกว้าง หน้า ๔๖๓)

หากเราจะถามลอราว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับอินเดียนแดงในดินแดนตะวันตกโน้นอีก
บางทีเธออาจจะไม่ได้ยินหรือหาคำตอบไม่ได้
เพราะประวัติศาสตร์ของชาวอินเดียนแดงหรือคนผิวดำนั่น
คนขาวมักแกล้งทำเป็นลืมหรือพยายามทำให้ถูกลืมไปเสีย

ลอราพูดถึงความ ขัดแย้งของชาวอินเดียนแดงหลายๆเผ่า
โดยตัวเธอเองไม่ทราบรายละเอียดในส่วนนี้เลย
เธอเพียงอาศัยข้อมูลและเรื่องราวที่ได้มาจากพ่อ
ดังนั้น ผู้อ่านจึงอาจสังเกตได้ถึงความคิด ความสงสัย
ที่แย้งกันอยู่ในใจของลอราเกี่ยวกับความรู้ที่เธอมีต่อชาวอินเดียนแดง
แต่เธอมิได้เอาใจใส่กับเรื่องนี้มากนัก



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 19 ม.ค. 14, 14:11
(http://image.ohozaa.com/i/0b9/Go1xVQ.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/xlHe30qUtEUr4INn)


ชาวอินเดียนแดงอพยพเปิดทางให้อาณาจักรปศุสัตว์และเรื่องราวที่มีสีสันสนุกสนานของพวกคาวบอยเข้ามามีบทบาท
ชายแดนสุดท้ายในที่ราบภาคกลางอันกว้างใหญ่(the Great Plains)กำลังถูกพิชิต

ปี ค.ศ. ๑๘๖๕-๑๘๘๗ คือช่วงสมัยของอาณาจักรปศุสัตว์
วัวพันธุ์เขายาวจากเท็กซัสเป็นราชาของตะวันตก
การต้อนวัวนับหมื่นๆจากทางใต้รอนแรมขึ้นสู่ตลาดค้าเนื้อทางภาคเหนือ
ก่อให้เกิดเรื่องราวโลกโผนผจญภัย “การรอนแรมอันยาวนาน”(The  Long  Drive)

ภาพชีวิตเปล่าเปลี่ยวในท้องทุ่งที่ฝุ่นตลบฟุ้งในขอบฟ้า
เสียงร้องเพลงโหยหวนวังเวงจากค่ายของพวกคาวบอยตอนกลางคืน
ฝูงวัวที่ตื่นเตลิด  การต้อนฝูงวัวกลางแดดกล้าที่เป็นเปลวระยิบ   การขี่ม้าอย่างช่ำชอง
ตลอดทั้งการต่อสู้กับโจรปล้นวัวและความป่าเถื่อนของเมืองโคบาล
เป็นเหตุการณ์ที่ฝังอยู่ในความทรงจำของคนอเมริกันยากที่จะลืมเลือน

แต่ลึกลงไปใต้ภาพสีสันที่สดสวยของพวกโคบาลคือเรื่องราวของชีวิตที่เปล่าเปลี่ยวและแสนเหงา
ตลอดจนการผจญภัยที่ยากลำบาก เมืองโคบาลที่มีร้านขายเหล้าเลวๆราคาถูก
โรงเต้นรำที่เกลื่อนกลาด โสเภณีและอบายมุขนานาชนิด   
ชีวิตที่ป่าเถื่อนกักขฬะอันเป็นขุมทรัพย์ของนักเขียน
และนักสร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ด

วีรบุรุษที่แท้จริงของอาณาจักรปศุสัตว์ หาใช่พวกคาวบอยหรือเจ้าวัวพันธุ์เขายาวไม่
แท้จริงมันคือพวกพ่อค้านายทุนและบริษัทผูกขาดค้าเนื้อสัตว์
บริษัทรถไฟที่ดำเนินการอยู่เบื้องหลังและผลักดันให้เกิดการเอาชนะพรมแดนใหม่นี้


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 19 ม.ค. 14, 14:19


(http://images2.wikia.nocookie.net/__cb20080315205217/littlehouse/images/1/10/Wgchurchschool.jpg)

โบสถ์ที่ Walnut Grove มินนิโซต้า

มิชชั่นนารีผู้ประศาสน์ชีวิตศิวิไลซ์ในแดนเถื่อน

มิชชันนารีกับภารกิจ  “การค้นหาดวงวิญญาณ”ก็มีบทบาทไม่น้อยในดินแดนตะวันตก
เพราะสำหรับครอบครัวนักบุกเบิกส่วนใหญ่ โบสถ์มีความหมายมากกว่าที่สวดมนต์กราบไหว้
มันให้ความรู้สึกของการมีชีวิตที่สมบูรณ์และทำให้ชีวิตตลอดทั้งวันเวลาที่น่าเบื่อหน่ายสิ้นสุดลง

สำหรับแคโรไลน์ โบสถ์เป็นสัญญลักขณ์แห่งความมั่นคงว่า
ในที่สุดครอบคัวของเธอจะเริ่มต้นชีวิตที่เจริญ (Civilized Life)
และสำหรับชาร์ลส์ เสียงประสานก้องกังวานของเพลงแห่งศรัทธา ( Song of Faith)
ให้ความรู้สึกเต็มตื้นในหัวใจและพลังที่จะก้าวไปข้างหน้า

ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนักที่ลอราจะเล่าเหตุการณ์วันอาทิตย์ปลายฤดูร้อนวันหนึ่งที่ทุกคนตื่นเต้นมีความสุข
แม่มีนัยน์ตาแจ่มใสเป็นประกายและดูสวยน่ารักในเสื้อผ้าชุดใหม่
น้องแครี่เองเหมือนเทวดามีปีกตัวเล็กๆในหนังสือพระคัมภีร์
ภายใต้กระโปรงตัวจิ๋วและหมวกผ้าสีขาวติดลูกไม้ขาว ทุกคนจะไปโบสถ์ของท่านแอลเดน

ปี ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๘๗๕  เป็นเวลาแห่งความสุขและความทุกข์
พ่อกับแม่เข้าเป็นสมาชิกของโบสถ์ ( The Union Congregation Church)
และพ่อมีบทบาทแข็งขัน ในฐานะกรรมาธิการคนหนึ่งของโบสถ์
โรงเรียนวันพระทุกวันอาทิตย์ ทำให้ชีวิตลอราสนุกสนาน

และตื่นเต้นที่สุดคือ คริสต์มาสปลายปี ค.ศ. ๑๘๗๔ ทั่วทั้งโบสถ์เต็มไปด้วยของขวัญคริสต์มาส
แสงไฟจากตะเกียงหลายๆดวง ผู้คนมากมายที่มีใบหน้าระบายด้วยรอยยิ้ม
เสียงพูดคุยหัวเราะเอะอะครึกครื้น  ต้นคริสต์มาสที่ประดับประดาด้วยของขวัญและสิ่งที่สวยงามเต็มไปหมด
มันเป็นต้นคริสต์มาสที่สวยที่สุดเท่าที่ลอราเคยเห็น
และวิเศษไปยิ่งกว่านั้นก็คือ ของขวัญคริสต์มาส เสื้อหนาวเฟอร์สีน้ำตาลทองที่ลอราได้รับ

ปี ค.ศ. ๑๘๗๕ ตั๊กแตนนับพันล้านทำลายพืชผลของชาวนาชาวไร่และความหวังที่จะตั้งตัวของพ่อต้องพังพินาศ
อันตรายและความรุนแรงไม่ว่าจะคนหรือธรรมชาติเป็นสิ่งคู่ขนานกับชีวิตชายแดน

วันคืนที่น่าเบื่อหน่าย งานหนักและความยากลำบาก
ตลอดจนความเปล่าเปลี่ยวอ้างว้างทำให้นักบุกเบิกบางคนคลุ้มคลั่ง

ทางใต้ของพลัมครี้กที่บ้านเล็กตั้งอยู่ ชายหนุ่มชื่อ เบอร์นาร์ดอยู่ตามลำพังเป็นเวลาหลายวันและยิงตัวตายในที่สุด
บางครั้งก็เกิดกรณีฆาตกรรมรอบๆเปปปิ้น  ศพถูกพบใต้ธารน้ำแข็งของแม่น้าชิปเปวา
พวกนอกกฎหมายและพวกปล้นมีอยู่ทั่วไป บางทีถึงกับปล้นกันกลางวันแสกๆ

เหตุการณ์ดังกล่าวมีส่วนให้แม่ปรารถนาชีวิตในเมืองหรืออย่างน้อยอยู่ใกล้กับตัวเมือง
เพราะมันหมายถึงความปลอดภัยและลูกๆจะได้มีโอกาสเข้าโรงเรียน
ลอราบันทึกเหตุการณ์ส่วนนี้น้อยมาก ส่วนใหญ่เธอเล่าถึงภัยจากธรรมชาติ
อาทิเช่น พายุหิมะ ไฟป่า น้ำป่า ฯลฯ และการยืนหยัดต่อสู้ของนักบุกเบิก



กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 20 ม.ค. 14, 20:23
(http://biblelessonsite.org/images2/ingallsmap.jpg)

เสียงหวู้ดมหัศจรรย์ : ถางทาง สร้างเมืองหรือประหารเจ้าถิ่น

ริมทะลสาบสีเงิน เริ่มต้นด้วยการอพยพครั้งใหม่ไปดาโกต้าด้วยรถไฟ
แต่มันเป็นการอพยพครั้งสุดท้ายตามสัญญาที่พ่อให้ไว้กับแม่
ผู้คนกำลังมา เมืองกำลังเติบโตและเวลากำลังก้าวสู่ยุคใหม่

ลอราเล่าถึงการบุกเบิกเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะ”รถไฟ”
ที่จะเชื่อมโยงภาคตะวันตกกับตะวันออกและส่วนอื่นๆของประเทศเข้าด้วยกัน
การวางทางรถไฟผ่านเข้าไปในพื้นที่อันเปล่าเปลี่ยวเป็นทุ่งหญ้า ภูเขาและทะเลทราย ตลอดจนภัยธรรมชาติ
อาทิ พายุหิมะที่ทำให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงัก ปัญหาแรงงานและการผูกขาดของกลุ่มบรรษัท
มีส่วนให้เรื่องราวของรถไฟเป็นประวัติศาสตร์อีกเสี้ยวหนึ่งที่มีสีสันสนุกสนาน

“...ลอราเข้าใจแล้วว่าพ่อหมายความว่าอย่างไร เมื่อคุยถึงเรื่องประหลาดน่าสนุกสนานต่างๆที่จะได้พบ
พ่อบอกว่าในประวัติศาสตร์ของโลกไม่เคยมีอะไรน่าประหลาดมหัศจรรย์ยิ่งกว่ารถไฟ
ไม่มีอะไรประหลาดมหัศจรรย์ยิ่งกว่ารถไฟอีกแล้ว
คนรถไฟต้องเก่งไม่ใช่เล่น จึงสามารถขับขี่เครื่องจักรมหึมา
และบังคับขบวนรถไฟที่วิ่งเร็วจี๋อย่างน่ากลัวอันตรายนี้ได้...” (ริมทะเลสาบสีเงิน หน้า ๔๓)

เราอยากบอกลอราว่า ยังมีสิ่งมหัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นอีก
สิ่งนั้นคือปัญหาแรงงานและชีวิตกรรมกรสร้างทางรถไฟ
ผู้พลิกฟื้นความป่าเถื่อนของดินแดนสหรัฐฯให้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าความเจริญ
วางรากฐานสังคมเมืองและความก้าวหน้าทั้งมวล
 
แต่ลอรามองไม่เห็นความสำคัญของสิ่งนี้ และชาร์ลส์กับแคโรไลน์เองก็มีทัศนะต่อคนงานเหล่านี้ว่า

“เจ้าพวกนี้ล้วนแต่เป็นคนกระด้าง พูดหยาบๆคายๆ หนูได้พบได้ยินน้อยเท่าไหร่เป็นดีเท่านั้น
 เอ้า..จำไว้ให้ดีนะ ลอรา  แล้วหนูด้วย แครี่” พ่อพูดด้วยเสียงเคร่งเครียดจริงจัง..(ริมทะเลสาบสีเงิน หน้า ๑๑๑)

“ค่ายคนงานสร้างรถไฟซุ่มซ่ามเอะอะ และคงจะเป็นเวลาอีกนานกว่าบ้านเมืองที่นี่จะเจริญ
เพราะฉะนั้นก่อนถึงเวลานั้น   แม่คิดว่าทางดีที่สุดคือ ควรจะอยู่ตามลำพังในครอบครัว
แม่อยากให้ลอราหลีกให้ห่างไกลจากค่ายพวกคนงาน
ไม่อยากให้ไปคุ้นเคยสุงสิงกับคนพวกนั้น เพราะเขาไม่สุภาพพอ...” (ริมทะเลสาบสีเงิน หน้า ๑๔๑)

นอกจากนี้แล้ว ลอราก็มิได้พูดถึงบทบาทของกรรมกร
โดยเฉพาะกรรมกรชาวจีนที่เข้ามาสร้างทางรถไฟซึ่งถูกเพิกเฉยละเลยในประวัติศาสตร์อเมริกันตะวันตก
และลอราก็ไม่ได้บอกด้วยว่า การบุกเบิกเส้นทางรถไฟได้นำไปสู่การประหัตประหารชาวอินเดียนแดงที่โหดร้ายมากยิ่งขึ้น
เพราะรถไฟพยายามจะเข้าไปถึงทุกที่โดยไม่คำนึงว่า เจ้าของถิ่นดั้งเดิมจะรู้สึกอย่างไร

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/2/23/Chinese_railroad_workers_sierra_nevada.jpg/800px-Chinese_railroad_workers_sierra_nevada.jpg)

Chinese workers in the snow constructing the first transcontinental railroad

ลอราอึดอัด ไม่มีความสุขและรู้สึกไม่เป็นอิสระ เหมือนอยู่ตามลำพังในทุ่งกว้างอย่างแต่ก่อน
เพราะเมืองกำลังเกิดอย่างรวดเร็ว  
 
พ.ร.บ.ที่ดิน ค.ศ. ๑๘๖๒ ที่ให้สิทธิแก่พลเมืองทุกคนที่อายุเกิน ๒๑ ปี จับจองที่ดิน ๑๖๐ เอเคอร์ในราคาพอสมควร
แต่ต้องอยู่ในที่ดินนั้นเป็นเวลา ๕ ปี จึงจะได้กรรมสิทธิ์อย่างสมบูรณ์
มีส่วนทำให้ผู้คนหลั่งไหลมาตะวันตก พ.ร.บ.ดังกล่าว
เปิดโอกาสให้ชาร์ลส์และแอลแมนโซจับจองที่ดินและตั้งรกรากถาวรในดาโกต้า
และขณะเดียวกันก็เผยความสกปรกของบริษัทค้าที่ดิน นักล่าที่ดินและนายทุนที่
ใช้กลอุบายวิธีการต่างๆกว้านซื้อที่ดินมาขายเอากำไร  
ความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น ดินแดนทางตะวันตกกำลังพัฒนา
และในไม่ช้าก็จะมีสภาพไม่ผิดกับดินแดนตะวันออก


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 20 ม.ค. 14, 20:42
(http://image.ohozaa.com/i/2c2/uWRSaQ.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/xlRkAEXHmcFYE9Sd)


กฎของพระเจ้า สิ่งเดียวที่ให้สิทธิ์อิสระ

เมืองเล็กในทุ่งกว้าง
ลอราบรรยายสภาพบ้านเมืองที่กำลังเจริญ
ชีวิตของครอบครัวอิงกัลล์ส์ในเมืองและบนที่ดินจับจอง
ลอราทำงานหนักเพราะปรารถนาจะมีส่วนช่วยให้แมรี่มีโอกาสเข้าเรียนวิทยาลัยคนตาบอดในไอโอวา
เงินรายได้รวมของเธอรวมกับของพ่อ ช่วยให้ความปรารถนานั้นบรรลุผล

เนลลี่ ออลิสัน เพื่อนร่วมชั้นเจ้าเล่ห์ขี้อิจฉาสร้างบรรยากาศสนุกสนานและช่วยให้เรื่องราวของโรงเรียนมีรสชาติ
มิสไวล์เดอร์ครูประจำชั้นทำให้ลอรารู้จักครอบครัวไวล์เดอร์มากขึ้น
โดยเฉพาะเจ้าม้าเทียมรถที่แอลแมนโซขี่มารับพี่สาวที่โรงเรียน
มันกรุยทางสู่ความสัมพันธ์รักระหว่างเธอกับแอลแมนโซในเวลาต่อมา

เมืองเล็กในทุ่งกว้าง จบด้วยการที่ลอราสอบบรรจุเป็นครูได้
เธอไปสอนที่โรงเรียนของมิสเตอร์บรูว์สเตอร์ ที่อยู่ห่างจากบ้าน 2 ไมล์
งานเฉลิมฉลองเอกราช  ๕  กรกฎาคมของสหรัฐ(พิมพ์จากต้นฉบับ)
ทำให้ผู้คนในเมืองเล็กๆนั้นสนุกสนานและภาคภูมิใจกับประวัติศาสตร์ของประเทศตน

“เราทุกคนมีอิสรภาพ เสรีภาพ อยู่ในดินแดนของพระผู้เป็นเจ้า
ประเทศนี้ประเทศเดียวในโลกที่ทุกคนมีเสรีภาพ มีเสรีภาพ เต็มที่(เมืองเล็กในทุ่งกว้าง หน้า ๑๑๖)

คำประกาศเอกราชที่ก้องกังวานทำให้ลอราคิดว่า

“ชาวอเมริกันจะไม่เชื่อฟัง พระมหากษัตริย์องค์ใดในโลกนี้
ชาวอเมริกันเป็นอิสระเสรีซึ่งหมายความว่า ทุกคนจะต้องเชี่อฟังมโนธรรมของตนเอง
ไม่มีพระมหากษัตริย์องค์ใดจะมาเป็นเจ้านายของพ่อ พ่อเป็นนายของตัวเอง
แล้วทำไมล่ะ(เธอคิด) เมื่อฉันโตขึ้นกว่านี้อีกสักหน่อย พ่อกับแม่ก็จะเลิกบอกฉันว่า ให้ทำโน่นทำนี่
และจะไม่มีใครอีกแล้วที่มีสิทธิจะมาออกคำสั่งแก่ฉัน
ฉันจะต้องทำตัวของฉันเองให้เป็นคนดี  จิตใจของเธอดูเหมือนจะสว่างไสวขึ้น

เพราะความคิดอั้นนี้นั่นเอง คือความหมายของคำว่าอิสรเสรี
มันหมายความว่า เราจะต้องเป็นคนดีด้วยตัวเอง
พ่อของเราคือพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นผู้สร้างเสรีภาพซึ่งเป็นกฎธรรมชาติ
และกฎธรรมชาติอันนี้พระผู้เป็นเข้าได้ประสิทธิ์ประสาทให้แก่เรา
ให้เรามีสิทธิเหนือชีวิตและเสรีภาพ
และเราจะต้องรักษากฎอันนี้ชองพระผู้เป็นเจ้าไว้
เพราะกฎของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เรามีสิทธิที่จะเป็นอิสระ” (เมืองเล็กในทุ่งกว้าง หน้า ๑๒๒-๑๒๓)

คนจำนวนไม่น้อยก็คิดแบบเดียวกับลอราซึ่งเป็นทัศนะที่ไม่ถูกต้องนัก
ในความเป็นจริง คนคือที่มาของทุกสิ่ง ไม่มีอะไรจะมาเป็นนายเหนือมนุษย์
และไม่มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันใดจะแอบอ้างเป็น”พระเจ้า”ได้
เพราะปรากฏการณ์ทุกอย่างอยู่ใต้การกระทำของคน
และมันรวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆที่คนสร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใครและเพื่ออะไร

การต่อสู้ปลดแอกจากอังกฤษของคนอเมริกันในครั้งนั้น
ได้มาซึ่งสังคมใหม่จากการสู้ด้วยสองมือของคนอเมริกันเอง
และเสรีภาพเป็นผลพวงมาจากเลือดเนื้อครั้งนั้น

การเป็นคนดีด้วยตัวเองไม่ได้หมายถึงความมีอิสรเสรี
เพราะคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
หากสังคมมีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบและเป็นเผด็จการ
เสรีภาพที่แท้จริงก็หามีไม่
เสรีชนไม่อาจทำงานได้อย่างกระตือรือร้นเต็มกำลัง
เพราะระบบสังคมจะควบคุมและเป็นอุปสรรค
สังคมที่ปราศจากการขูดรีดเท่านั้น คนจึงจะเป็นเสรีและมีเสรีภาพอย่างแท้จริง


หมายเหตุ :  คุณสันติ นามธรรมไม่ได้จุดประเด็นสาระสำคัญใน "ฤดูหนาวอันแสนนาน"
แต่ดิฉันมีบทความทางเศรษฐกิจที่อ้างอิงถึง หนังสือตอนนี้ จะนำมาพิมพ์ต่อไปค่ะ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 20 ม.ค. 14, 20:52
(http://image.ohozaa.com/i/e18/YBamKz.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/xlRmVEgDkLvC3I7z)

ตะวันออกหรือตะวันตก บ้านดีที่สุด
East or West, Home is the Best


Golden years are passing by
Happy, happy golden years
Passing on the wing of time,
These happy golden years
Call them back as they go by
Sweet their memories are
Oh! Improve them as they fly
These happy golden years”
(จาก ปีทองอันแสนสุข หน้า ๒๕๒)

จิตใจของลอรากำลังเบิกบานเต็มเปี่ยมด้วยความสุข
เสียงทุ้มเบาๆของพ่อที่ร้องเพลงประสานเสียงซอ
ฟังเหมือนได้ยินมาแต่ไกล แต่มันกังวานแจ่มชัดในความทรงจำของเธอ
ลอรารู้ว่าเธอจะไม่เศร้าสร้อยคิดถึงบ้านเก่าและวันคืนที่แสนสุขอีกต่อไป
เธอกับแอลแมนโซกำลังเริ่มต้นชีวิตใหม่ภายในบ้านเล็กสีเทาหลังนี้
เส้นทางสายใหม่ของชีวิตทอดตัวอยู่เบื้องหน้าและคนทั้งคู่จะร่วมกันก้าวเดิน
ชีวิตใหม่กำลังเริ่มขึ้นและเช่นเดียวกัน ชีวิตเก่าและเรื่องราวของ “บ้านเล็ก” ได้ปิดฉากลง

ในช่วงต่อมา ยังมีผลงานชื่อ The First Four Years  และ On the Way Home
อีก ๒ ชิ้นที่จะทำให้หนังสือชุดบ้านเล็ก สมบูรณ์
สุคนธรส ได้แปลเป็นตอนๆลงในนิตยสาร ลลนา แต่ไม่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่ม
ส่วนเล่มหลังยังไม่มีผู้ใดแปลและ สุคนธรส ผู้สร้างผลงานแปลอมตะของลอรา  อิงกัลล์ส์  ไวล์เดอร์
 ได้ถึงแก่กรรมไปเสียก่อน
(ปล. จริงๆแล้ว  On The Way Home มีการแปลภายหลังในชื่อ  ตามทางสู่เหย้า – Kulapha)

ในเรื่อง The First Four Years เราจะได้รู้ถึงชีวิตของลอรากับแอลแมนโซบนที่ดินจับจอง
ลอราชอบทุ่งกว้างและความอิสระ เธอเรียกตัวเองว่า “หญิงนักบุกเบิก” (Pioneer Girl)
และไม่แน่ใจว่าเธอจะต้องการเป็นภรรยาชาวนาหรือไม่
ชาวนาไม่มีอิสระ และชีวิตผูกพันกับงาน งาน และงาน
ทั้งตกเป็นทาสความเมตตาจากตลาด จากนายทุนและจากลมฟ้าอากาศ
แต่แอลแมนโซรักอาชีพชาวงนาและมักจะพูดเสมอว่า
คนรวยมีน้ำแข็งกินในฤดูร้อน แต่คนจนมีกินในฤดูหนาว
ลอราจึงสัญญาที่จะทดลองใช้ชีวิต ๔ ปี บนผืนฟาร์ม
และหากไม่ได้ผล แอลแมนโซก็จะยกเลิก

๔  ปีของลอราเป็นปีของการต่อสู้ที่มีช่วงสั้นๆที่แสนสุข
ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความเดือดร้อน ทุกข์ยาก พืชผลเสียหาย ความแห้งแล้ง หนี้สิน
ลูกชายที่สิ้นชีวิตหลังจากเกิดได้ ๑๒ วัน
ลอราและแอลแมนโซล้มเจ็บ ไฟไหม้บ้านและอื่นๆ
ตาคนทั้งคู่ก็ต่อสู้ยืนหยัด เมื่อปีทดสอบปีสุดท้ายสิ้นสุดลง
ลอราก็ตัดสินใจว่า อาชีพชาวนาและชีวิตบนแผ่นดินคือสิ่งที่เธอและแอลแมนโซเลือกแล้ว

ภายหลังปี ค.ศ. ๑๙๔๓ เมื่องานเขียนชุด บ้านเล็ก ตีพิมพ์ออกมาจนหมดชุด
ผู้อ่านนับพันๆได้เขียนจดหมายเรียกร้องตอนต่อๆไปว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับ ลอราและแอลแมนโซอีกบ้าง
นั่นคือคำถามที่ผู้อ่านอยากรู้แต่ลอราก็ไม่ได้ตอบข้อสงสัยและคำถามดังกล่าว

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/b/bb/On_the_Way_Home_cover.jpg)

หนังสือเล่มต่อมาของลอราที่ยังไม่มีใครแปลคือ On The Way Home
ได้ให้ภาพชีวิตภาพสุดท้ายของคนทั้งคู่
หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกสั้นๆที่เล่าการอพยพจากดาโกต้า ไปมิสซูรีระหว่าง ๑๗ กรกฎาคมถึง ๓๐  สิงหาคม ๑๘๙๔
ลอราบรรยายถึงท้องทุ่ง แม่น้ำ เมืองและภาพต่างๆตลอดเส้นทางอพยพ
นับเป็นงานเขียนชิ้นสุดท้ายและจากนั้นเราจะไม่ได้พบกับลอราและหนังสือชุด บ้านเล็ก ของเธออีกต่อไป

ผู้อ่านบางคนท่านอาจสงสัยว่า ไม่ระย่อมรสุม งานแปลของ สุคนธรส ที่พูดถึงชีวิตในดินแดนตะวันตก
มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือชุด บ้านเล็ก หรือไม่และอดย่างไร
จริงๆแล้ว งานเขียนชิ้นนี้  โรส  เลน ลูกสาวของลอราเป็นผู้เขียน(แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลงานผู้เป็นแม่)
โดยเลียนรูปแบบและเนื้อหามาจากหนังสือชุด บ้านเล็ก
แต่ทว่าดูเหมือนไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

งานเขียนของ Donald  Zochert ที่ปรากฏออกมากลางปี ค.ศ. ๑๙๗๗ โดยสำนักพิมพ์ Avon
เรื่อง Laura : The Life of Laura Ingalls Wilder
คือหนังสือเล่มล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับผลงานชุด บ้านเล็ก และจะตอบคำถามทั้งหมดของผู้อ่าน
เกี่ยวกับครอบครัวอิงกัลล์ส์โดยเฉพาะชีวิตของลอรา
หนังสือมีลักษณะเป็นนวนิยายเชิงอัตชีวประวัติที่ให้ข้อเท็จจริงหลายๆด้าน
และมีส่วนทำให้ภาพชีวิตที่พร่าเลือนของลอรา อิงกัลล์ส์  ไวล์เดอร์  แจ่มชัดและสมบูรณ์ขึ้น




กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 20 ม.ค. 14, 21:19
(http://ccb.lis.illinois.edu/Projects/Additions%20on%209-20-07/CCB/CCB/sswanke2/BookSigning.jpg)

Laura Ingalls Wilder at book signing, October 1952
 Brown's Book Store, Springfield, MO

พิจารณาอดีต   ปรับปรุงสังคมปัจจุบัน

ปี ค.ศ. ๑๙๓๐ ลอราอายุ ๖๓  ปี ผู้คนที่ใกล้ชิดกับเธอหลายๆคนสิ้นชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นปู่ ย่า พ่อกับแม่ แมรี่ ลุงเฮนรี่ หรือแคป การ์แลนด์
และสังคมอเมริกันในทศวรรษ  ๑๙๒๐ ก็ตกอยู่ในสภาวะผันผวนสับสน
นั่นก็ยุคของเพลงแจ๊สและความส่ำส่อนเหลวแหลกทางศีลธรรม
ปัญญาชนอเมริกันจำนวนมากผิดหวังในสังคมและปลีกตัวไปแสวงหาสความหวังใหม่ในยุโรป
ซึ่งต่อมาเป็นยุคทางวรรณกรรมอเมริกันที่เรียกว่า “The Lost Generation”

ยุคนี้  ช่องว่างและความขัดแย้งทางสังคม การเมืองของคนอเมริกันกำลังแผ่กว้าง
ไม่ว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ปัญหาผิว
และการประหัตประหารขององค์การขวาจัด Ku Klux Klan ที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่
สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและความหวาดกลัวต่อ”ภัยแดง”
ที่ถูกปลุกขึ้นมาโดยนักการเมืองประเภท “หมอผี”
คือสภาพรอบตัวอย่างใหม่ของในขณะนั้น

บางที สภาวะเหล่านี้คงมากเกินกว่าที่ลอราจะทนได้
ดังนั้น วันคืนเก่าๆและอดีตแสนสุขจึงเป็นสิ่งที่เธอหวนหา
อย่างน้อยมันก็ช่วยปลุกปลอบใจและสร้างความหวังให้กับชีวิตเพื่อทดแทนกับสภาพความเสื่อมสลาย
ที่ไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวของสังคมอเมริกันขณะนั้น

เหตุนี้ เมื่อหนังสือชุด บ้านเล็ก ตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. ๑๙๓๒
ผลงานของเธอชุดนี้จึงสอดคล้องกับสภาพจิตของผู้คนในสังคมขณะนั้นซึ่งกำลังไขว้คว้าหาทางออก
และได้รับการยกย่องเป็นที่นิยมกันแพร่หลายต่อมา

สิ่งที่ลอราทำก็คือ มองย้อนหลังกลับเพื่อเรียกร้องให้คนอเมริกันไปพิจารณาอดีตและกลับมาปรับปรุงสังคมปัจจุบัน
อเมริกาดินแดนแห่งความฝัน ดินแดนแห่งคำมั่นสัญญากำลังจะสูญสลาย




กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 20 ม.ค. 14, 21:21
(http://cf.ltkcdn.net/genealogy/images/std/140644-425x284-wilder-tombstone_1.jpg)


เราจะทำอะไรกันได้บ้าง นั่นอาจเป็นคำถามและข้อคิดที่ลอราได้ทิ้งไว้ให้กับผู้อ่านทั่วไป
ไม่ว่าเปรียบเทียบสังคมนั้น เป็นสังคมไทยหรือสังคมอเมริกันก็ตาม

หนังสือชุด บ้านเล็ก ไม่เพียงแต่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตรฺ์
และความทรงจำของคนอเมริกันยุคบุกเบิกไว้เท่านั้่น
แต่ยังให้บทสรุปและแนวทางหลายอย่างสำหรับคนรุ่นหลัง

ชีวิตของครอบครัวอิงกัลล์ส์และไวล์เดอร์
ได้สะท้อนภาพการต่อสู้ที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคทั้งจากธรรมชาติและสังคม
แต่ผลจากความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อก็นำพวกเขาไปสู่จุดหมาย
ภาพของลอร่ากับพ่อที่นั่งบิดหญ้าแห้งทำเป็นเชื้อเพลิง
แอลแมนโซและแคบ การ์แลนด์ ที่บุกฝ่าพายุหิมะและความหนาวอันทารุณโหดร้าย
เพื่อไปหาข้าวสาลีมาให้ชาวเมืองที่หิวโหย
เกวียนประทุนที่เปลี่ยนรอยทางเกวียนเป็นถนน  เป็นทางและเป็นอื่นๆ
ได้ชี้ให้เราเห็นว่า การยืนหยัดต่อสู้กับความยากลำบากนั้นย่อมมีหนทาง
เพราะมันจะถ่ายทอดผ่านการทดสอบจากการปฎิบัติมาจนเป็นผล

ดังนั้นเมื่อหนังสือหน้าสุดท้ายถูกปิดลง
บางที บ้านเล็กในป่าใหญ่ ในความฝันและความนึกคิดของผู้อ่าน
จึงอาจกำลังเริ่มต้นพร้อมกับบทสรุปว่า
ถ้าหากไม่ยืนหยัดต่อสู้แล้ว..ชัยชนะก็จะไม่ได้มา"


จบบทความของคุณ สันติ นามธรรม  





กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 27 ม.ค. 14, 12:50
ขอบคุณคุณ Kulapha ค่ะ  งานเขียนชิ้นนี้ดิฉันไม่เคยอ่านมาก่อน

ดิฉันจำได้ว่าเคยผ่านตาบทวิจารณ์บางฉบับมาเหมือนกัน  เกี่ยวกับทัศนคติของแม่ของลอร่าต่อชาวอินเดียนแดงที่มีลักษณะออกไปทางลบ 

แคโรไลน์แม่ของลอร่าดูท่าทางจะเป็นสตรีค่อนข้างจารีตนิยม  แม้จะไม่ใช่คนฐานะดี  แต่ก็ได้รับการศึกษาอบรม  รู้แบบแผนกิริยามารยาท  เธออบรมลูกสาวให้เป็นกุลสตรี  ดิฉันไม่ทราบว่ากรอบความคิดของเธออาจจะเป็นเช่นเดียวกับชาวอเมริกันยุคนั้นโดยทั่วไปหรือไม่  แต่เท่าที่อ่าน  นอกจากหลายตอนที่แคโรไลน์แสดงท่าทางค่อนไปในเชิงลบต่อชาวอินเดียนแดง  เหมือนกับว่าเธอก็มองสตรีต่างชาติในเชิงแบ่งแยกด้วย  (ประโยคคล้ายกับว่าลูกสาวของเธอเป็นผู้หญิงอเมริกัน  ไม่ควรออกไปทำงานนอกบ้านเหมือนผู้หญิงต่างชาติ  ประมาณนี้ค่ะ  จำไม่ได้ว่าเล่มไหน)


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 27 ม.ค. 14, 13:09
ดิฉันไม่แน่ใจว่าหนังสือ Let the Hurricane Roars - ไม่ระย่อมรสุม ของโรส  กับหนังสือชุดบ้านเล็ก  เล่มใดตีพิมพ์ก่อนกันเพราะทราบว่าตีพิมพ์ในปี คศ. 1932  ไล่เลี่ยกัน  อันที่จริงเคยมีข้อสงสัยกันด้วยว่าแท้จริงแล้วงานเขียนชุดบ้านเล็กนี้เป็นผลงานเขียนของลอร่า  หรือเป็นโรสนำข้อมูลจากลอร่ามาช่วยเขียนขึ้น (นักเขียนเงา)  เพราะโรสเองก็มีอาชีพทางด้านการขีดเขียนมาตั้งแต่แรก  ในความคิดของดิฉันเองค่อนข้างจะให้เครดิตทางลอร่า  ลอร่าเองดูจากพิ้นฐานการศึกษาดิฉันคิดว่าเธอก็น่าจะมีความสามารถทางการเขียนอยู่บ้างแล้ว  และข้อมูลละเอียดมากมายขนาดนี้  น่าจะต้องเป็นเจ้าของเรื่องจึงจะสามารถดึงข้อมูลออกมาเรียบเรียงขึ้นเป็นชิ้นงานได้  แต่ทั่งนี้ทั้งนั้น โรสน่าจะมีบทบาทอยู่ไม่น้อยในงานเขียนของลอร่า  เพราะเธอมีประสบการณ์การเขียนงานเป็นอาชีพมาก่อน  เธอน่าจะมีข้อแนะนำเทคนิคการเขียนหีือช่วยปรับปรุงงานเขียนของลอร่า  ตลอดจนหาลู่ทางในการตีพิมพ์  ในขณะเดียวกันโรสก็ได้ทราบข้อมูลจากลอร่ามาเป็นวัตถุดิบสำหรับงานเขียนของเธอ


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 14, 18:26
ทัศนะในเชิงลบที่แคโรไลน์มีต่ออินเดียนแดง เกิดจากอารมณ์อย่างเดียวคือความกลัว    ไม่ได้เกิดจากการแบ่งชาติแบ่งผิวอะไรทำนองนั้น    เพราะเมื่อไปตั้งหลักแหล่งในรัฐแคนซัส  อินเดียนแดงที่มาที่บ้านทุกคนมาอย่างโจร ข่มขู่เอาอาหารการกินและฉกฉวยของใช้เท่าที่จะเห็นในสายตาไปยึดครองเอาดื้อๆ   
ตอนนั้นแคโรไลน์ยังอยู่ในวัยสาว มีลูกเล็กๆไม่ประสีประสา   สามีก็เป็นผู้ชายตัวคนเดียว  กลางวันออกไปล่าสัตว์ ทิ้งภรรยาไว้ที่บ้าน  ถ้าหากว่าเธอถูกทำร้ายก็จะไม่มีใครช่วยเหลือได้       หรือแม้แต่สามีอยู่บ้านก็ไม่แน่ว่าจะช่วยเหลือได้อยู่ดี   
 
สมัยนั้นความสัมพันธ์ระหว่างคนขาวกับอินเดียนแดงนับว่าเลวร้ายค่ะ    มีหลายครั้งอินเดียนแดงโจมตีคนขาวที่บุกรุกเข้าไปในถิ่นของเขา ฆ่าไม่มีเหลือ    ทหารผิวขาวก็ตอบโต้ด้วยการไปฆ่าอินเดียนแดงทั้งผู้หญิงและเด็กไม่เหลือเหมือนกัน   ตัวอย่างที่เห็นชัดคือการประหัตประหารครั้งใหญ่ที่มินเนโซตา  ที่ลอร่าเอ่ยไว้ในตอน Little House on the Prairie   เมื่อมิสซิสสก๊อตเพื่อนบ้านมาเยี่ยมแม่

ดิฉันเองอ่านถึงตอนนี้แล้วก็ยังสงสารแคโรไลน์  เพราะชาร์ลส์สามีเธอนับว่าใจถึงเอาการ  กล้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในแดนเถื่อนขนาดนั้น  เชื่อมั่นว่าอินเดียนแดงไม่กล้าทำร้ายพวกเขาเพราะกลัวทหารที่ฟอร์ทน็อกซ์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายไมล์      ก็ยังดีที่อินเดียนแดงพวกนั้นไม่ได้ทำร้ายครอบครัวเล็กๆนี้มากไปกว่าข่มขู่บีบบังคับเอาของกินเอาใช้เท่าที่จะทำได้     ถ้าเป็นสมัยนี้ที่คดีโหดๆเกิดขึ้นง่าย    น่ากลัวจะถูกฆ่ากันเรียบวุธทั้งครอบครัวแล้ว


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 14, 18:29
ขอบคุณคุณ Kulapha ค่ะ  งานเขียนชิ้นนี้ดิฉันไม่เคยอ่านมาก่อน

นอกจากหลายตอนที่แคโรไลน์แสดงท่าทางค่อนไปในเชิงลบต่อชาวอินเดียนแดง  เหมือนกับว่าเธอก็มองสตรีต่างชาติในเชิงแบ่งแยกด้วย  (ประโยคคล้ายกับว่าลูกสาวของเธอเป็นผู้หญิงอเมริกัน  ไม่ควรออกไปทำงานนอกบ้านเหมือนผู้หญิงต่างชาติ  ประมาณนี้ค่ะ  จำไม่ได้ว่าเล่มไหน)
อยู่ในตอน The Long Winter ค่ะ
แคโรไลน์ถือธรรมเนียมว่า ที่ทางของผู้หญิงอเมริกันคืออยู่ในบ้าน   ผู้หญิงต่างชาติเท่านั้นที่ทำงานกลางแจ้ง     สมัยนั้นอเมริกาก็เป็นอย่างนี้จริงๆ   การแต่งงานเหมือนเป็นอาชีพอย่างหนึ่งที่พอแต่งแล้วก็ต้องอยู่แต่ในบ้าน   หรืออย่างน้อยก็คือทำงานอยู่ในที่มีหลังคาคุ้มหัว เช่นไปเย็บผ้า หรือเป็นแม่ครัว      อาชีพครูก็เป็นไม่ได้ เพราะครูที่ไปสอนต่างถิ่นจะต้องไปอาศัยนอนตามบ้านพ่อแม่นักเรียนในหมู่บ้าน  ไม่เหมาะกับสตรีที่สมรสแล้ว


กระทู้: ชีวิตจริงเบื้องหลังวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 14, 18:42
ดิฉันไม่แน่ใจว่าหนังสือ Let the Hurricane Roars - ไม่ระย่อมรสุม ของโรส  กับหนังสือชุดบ้านเล็ก  เล่มใดตีพิมพ์ก่อนกันเพราะทราบว่าตีพิมพ์ในปี คศ. 1932  ไล่เลี่ยกัน  อันที่จริงเคยมีข้อสงสัยกันด้วยว่าแท้จริงแล้วงานเขียนชุดบ้านเล็กนี้เป็นผลงานเขียนของลอร่า  หรือเป็นโรสนำข้อมูลจากลอร่ามาช่วยเขียนขึ้น (นักเขียนเงา)  เพราะโรสเองก็มีอาชีพทางด้านการขีดเขียนมาตั้งแต่แรก  ในความคิดของดิฉันเองค่อนข้างจะให้เครดิตทางลอร่า  ลอร่าเองดูจากพิ้นฐานการศึกษาดิฉันคิดว่าเธอก็น่าจะมีความสามารถทางการเขียนอยู่บ้างแล้ว  และข้อมูลละเอียดมากมายขนาดนี้  น่าจะต้องเป็นเจ้าของเรื่องจึงจะสามารถดึงข้อมูลออกมาเรียบเรียงขึ้นเป็นชิ้นงานได้  แต่ทั่งนี้ทั้งนั้น โรสน่าจะมีบทบาทอยู่ไม่น้อยในงานเขียนของลอร่า  เพราะเธอมีประสบการณ์การเขียนงานเป็นอาชีพมาก่อน  เธอน่าจะมีข้อแนะนำเทคนิคการเขียนหีือช่วยปรับปรุงงานเขียนของลอร่า  ตลอดจนหาลู่ทางในการตีพิมพ์  ในขณะเดียวกันโรสก็ได้ทราบข้อมูลจากลอร่ามาเป็นวัตถุดิบสำหรับงานเขียนของเธอ
จำได้ว่า" บ้านเล็ก" เขียนขึ้นก่อน แต่อยากหาหลักฐานยืนยันเพิ่มก็เลยไปค้นในเน็ต  พบว่าเมื่อนิยายของโรสตีพิมพ์ออกมา   ลอร่ากำลังเขียนตอน Farmer Boy อันเป็นตอนสองของนิยายชุดบ้านเล็ก ค่ะ
มีนักวิชาการบางคนเชื่อว่าโรสเป็นนักเขียนเงาให้แม่   เพราะเธอเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จมาหลายปีแล้วเมื่อแม่เริ่มลงมือเขียน   แต่ดิฉันไม่เชื่อเช่นนั้น   ทั้งสองคนแม่ลูกมีลีลาการแต่งที่แตกต่างกันมาก     โรสเขียนในแนว realistic มากกว่าแม่  นิยาย Let the Hurricane Roar  ให้คำบรรยายชีวิตที่โหดร้ายลำเค็ญจากภัยธรรมชาติในแนวสมจริงมาก   อ่านแล้วกดดันจนไม่อยากอ่านซ้ำ       หรือแม้แต่บันทึกของเธอในเรื่อง On the Way Home ก็เช่นกัน   เห็นได้ว่าโรสมองชีวิตคนละแบบกับลอร่า   คนละนิสัยกันเลยทีเดียว

นิยายชุดบ้านเล็กทั้งแปดเรื่องถูกนำเสนอให้เห็นความสุขในครอบครัว ไม่ว่าสภาพแวดล้อมเลวร้ายขนาดไหน    แต่โรสมองชีวิตของตายายและแม่แบบเฉยๆ กว่านั้น  แม้ว่ารักพ่อแม่ ตายายป้าและน้า แต่ก็ขาดความซาบซึ้งอย่างลอร่ามีให้พ่อแม่และพี่น้องของเธอ     เพราะโรสไม่ได้ใกล้ชิดครอบครัวฝ่ายแม่นานนัก  เธอไปอยู่บ้านตายายประมาณ 3 ปีก่อนไปมิสซูรี่เมื่ออายุ 8 ขวบ  แล้วไม่เคยกลับมาอีกเลย
แต่โรสมีบทบาทในการตรวจ และอ่านงานเขียนของแม่  ข้อนี้เห็นด้วย  เธอสามารถบอกได้ว่าควรเพิ่มรายละเอียดตรงไหน หรือเว้นอะไร    จนออกมาเป็นงานที่งดงามประณีต  งานที่โรสไม่ได้แตะอย่าง The First Four Years  เพราะแม่เก็บไว้ไม่เอาออกมา   เป็นสไตล์ของลอร่าแต่ว่าเขียนอย่างคร่าวๆ  ขาดรายละเอียดที่สวยงามอย่างเรื่องก่อนหน้านี้ค่ะ