เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: Baitoey ที่ 18 ก.พ. 10, 10:17



กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: Baitoey ที่ 18 ก.พ. 10, 10:17
หนูมีคำถามเกี่ยวกับผ้านุ่งค่ะ คนโบราณเวลานุ่งโสร่งอยู่กับบ้าน พอแขกที่ไม่คุ้นเคยโผล่หน้ามาเยี่ยมที่บ้าน
ทำไมถึงต้องตวัดชายผ้านุ่งทำให้เป็นโจงออกมารับแขกด้วยล่ะคะ
รับทั้งนุ่งผ้าไม่ได้เลยหรือไง

ขอบพระคุณค่ะ


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ก.พ. 10, 10:47
สวัสดีค่ะ  คุณหนูใบเตย


     คนไทยโบราณที่พูดกันนี้  ตีว่าสมัย รัชกาลที่ ๔ ถึง รัชกาลที่ ๕ นะคะ
ถ้าอ่านจาก สี่แผ่นดิน    เจ้าคุณพ่อของพลอย ได้นุ่งโจงทันทีเมื่อคุณ สาย มาเยี่ยม
เป็นการแต่งตัวให้เรียบร้อยขึ้นสำหรับรับแขก   คุณสายก็เป็นชาววัง และเป็นผู้ที่เลี้ยงดูปกครองพลอยมา

เป็นการให้เกียรติกับแขกที่มาเยือน  เปลี่ยนจากการแต่งกายตามสบาย
เหตุผลน่าจะเป็นการนุ่งลอยชายนั้น  ไม่รัดกุมค่ะ   ขมวดชายพกไว้เท่านั้น

จำไม่ได้ว่าเป็นโสร่งหรือไม่   น่าจะเป็นผ้าพื้นที่เก่าแล้ว เนื้อนุ่ม  นุ่งสบายตัวมากกว่า 

ถ้าคุณหนูใบเตยจะคิดเลยไปถึงรูปข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทยสมัยต้นรัชกาลที่ ๔  ท่านนุ่งผ้ายกทอง
ไม่ใส่เสื้อรับแขกเมืองนะคะ
ฝรั่งที่เป็นทูตขรตรีเศียรก็เข้าใจธรรมเนียมไทยดีเพราะต้องศึกษามาแล้ว
ฝรั่งนักผจญภัยและแหม่ม มิดฉานรี เท่านั้นที่สะดุ้งสะดิ้งไปบ้าง
คิดว่ามาตราฐานของบ้านเมืองตนเองนั้นสูงส่ง


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ก.พ. 10, 10:57
ตัวประกอบรายหนึ่งในนวนิยายของ ดอกไม้สด  จะเป็นเพื่อนหรือญาติของนางเอก  จำไม่ได้แน่
นางเอกไปที่บ้าน       สตรีรายนี้นั่งแกะปลาทูสดอยู่ค่ะ  เธอนุ่งผ้าแถบเพราะมีลูกเล็ก
ละเอาไว้ฐานเข้าใจว่าเธอต้องให้นมลูก

เวลาในเรื่องนี้หลังปี ๒๔๗๕ นะคะ

ดิฉันอ่านนวนิยายรุ่นนี้ก็งงไปชั่วขณะเหมือนกัน เพราะไม่เคยเห็นผ้าแถบค่ะ


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 ก.พ. 10, 13:08
ผู้หลักผู้ใหญ่สมัยก่อนเคยเล่าให้ฟังว่า   การนุ่งผ้าอยู่กับบ้านที่มีแต่คนกันเอง  ท่านมักนุ่งลอยชาย ไม่โจงกระเบน  แต่ถ้าจะออกไปทำกิจธุระอันใดนอกบ้าน  หรือมีแขกไปใครมาหา  ท่านจะนุ่งเป็นโจงกระเบนทันที ไม่ว่าหญิงหรือชาย  เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่แขก  และไม่ดูประเจิดประเจ้อเวลาลุกเวลานั่ง  เพราะสมัยก่อนเรานั่งกับพื้นเรือนพื้นบ้าน  ถ้านุ่งผ้าลอยชายหรือนุ่งแบบผ้าโสร่ง  โอกาสที่จะทำกิริยาไม่เรียบร้อยต่อหน้าแขกมีมาก   ถ้าออกนอกบ้านก็นิยมนุ่งโจงกระเบน เพราะจะเดินจะก้าวจะวิ่งก็ถนัดทะมัดทะแมงและเรียบร้อยดี   

ยิ่งถ้าไปวัดด้วยแล้ว  จะไม่นุ่งผ้าลอยชายเด็ดขาด  ถือว่าไม่เคารพสถานที่   ในกฎมณเฑียรบาลก็มีข้อที่ห้ามนุ่งผ้าลอยชายเข้าวัง มิฉะนั้นจะมีโทษหนัก

การนุ่งผ้าแบบผ้าถุงผ้าโสร่ง  เข้าใจว่า  เป็นที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก่อนหน้านั้นคงนุ่งโจงกระเบนเป็นพื้น 

(ถ้ามีผิดพลาดตรงไหน ฝากคุณวันดีช่วยแก้ด้วยนะครับ)


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 18 ก.พ. 10, 13:51
แล้วบรรดาชายหนุ่มนุ่งลอยชายที่ประตูดินล่ะครับ  อิอิ  ;D

บางครั้งการนุ่งลอยชายก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
ถ้าผู้ที่นุ่งลอยชายอยู่ ให้เกียรติแขกที่มาเยือนก็จะรีบตวัดนุ่งโจงทันที
เช่น เมื่อครั้งเจ้าฟ้าพินทวดี เข้าเฝ้าฯ ในหลวง ร. ๑
หรือเมื่อครั้ง สมเด็จกรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เข้าเฝ้าฯ ในหลวง ร. ๓

มีอีกตัวอย่าง

ที่มา :ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน มิถุนายน
วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 08
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย

(จาก http://hello-siam.blogspot.com/2008/04/blog-post_1874.html (http://hello-siam.blogspot.com/2008/04/blog-post_1874.html))

" ... พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา ได้เสด็จพร้อมพระพี่นางพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีและพระมารดาเจ้าคุณจอมมารดาสำลี ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานสาวสมเด็จเจ้าพระยาฯ เพื่อไปช่วยงานแซยิดของท่าน ต้องเสด็จไปประทับแรมกับเจ้าคุณจอมมารดาบนตึกสมเด็จเจ้าพระยาฯ เช่นเดียวกับญาติผู้น้อยทั้งหลายที่ไปช่วยงาน

ถึงวันงาน เจ้าคุณจอมมารดาแต่งองค์พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๒ พระองค์ ทรงเกี้ยวทรงนวมเต็มยศไปที่ห้องโถงหน้าตึก อันเป็นทางที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ จะเดินผ่านไปหอนั่งข้างหน้าเพื่อเลี้ยงพระ เจ้าคุณจอมมารดาต้องพาพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๒ พระองค์ไปหมอบอยู่ที่ห้องโถง พร้อมกับคนในสกุลบุนนาคคนอื่นๆ สมเด็จเจ้าพระยาฯนุ่งผ้าลอยชาย เมื่อผ่านมาเจ้าคุณจอมมารดาก็ให้พระเจ้าลูกเธอทรงกราบ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ทักทายเพียงว่า "อ้อ! พวกเจ้าเขาก็มาเหมือนกันหรือ" แล้วก็เดินต่อไป ... "


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 10, 13:58
คุณยายห่มผ้าแถบ
แม่พลอยเวลาอยู่ในตำหนักของเสด็จ ก็ห่มผ้าแถบแบบนี้  


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 10, 13:59
พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระภูษาลอยชาย


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 10, 14:03
ขอแก้ความเข้าใจหน่อยว่า นุ่งผ้าลอยชาย กับนุ่งโสร่ง ไม่เหมือนกันนะคะ
โสร่งเป็นชื่อผ้าชนิดหนึ่งค่ะ  นุ่งปล่อยยาว ไม่โจง ขมวดชายพกไว้ข้างหน้า

พระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมสาย  กรมขุนราชสีหวิกรม ทรงนุ่งพระภูษาลอยชาย


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 10, 14:05
ชายหนุ่มในรูปนี้  น่าจะสมัยรัชกาลที่ ๗ หรือปลายรัชกาลที่ ๖  ท่อนบนสวมเสื้อสองชั้น มีตัวในแบบลำลอง
และมีเสื้อตัวนอกสวมทับ
ท่อนล่าง คิดว่าเป็นกางเกงแพร  ไม่ใช่ผ้าลอยชาย
ช่วยดูกันหน่อยนะคะ


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 18 ก.พ. 10, 14:12
ขอเสริมภาพอาจารย์เทาชมพูครับ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 18 ก.พ. 10, 14:13
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ
(ทัต บุนนาค)


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 10, 14:26
ตัวอย่างผ้าโสร่ง ค่ะ


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ก.พ. 10, 15:00
ดีใจที่เห็นคุณ Bhanumet   แวะมาร่วมชื่นชุมนุมศิลปิน
ขอชวนเปิดกระทู้ใหม่สักสองสามโหลให้ คุณเพ็ญชมพู  คุณหลวงเล็ก และท่านที่เคารพนับถือ ซ้อมการป้องกันตัว
ออกแนวรบ รัก วรรณคดี


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 10, 15:11
 :)
ยกขวดโหลมาคอยค่ะ


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 ก.พ. 10, 15:25
:)
ยกขวดโหลมาคอยค่ะ

แหม เขาเข้าขากันดีจริงๆ  ขอโหล ก็ได้โหล  ฮิฮิ ;Dฮิ


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: Rangson Boontham ที่ 18 ก.พ. 10, 20:17
 
:o อ้อนี่เองที่มาของคำว่า "ลอยชาย"

อ้างถึง
อ้อ! พวกเจ้าเขาก็มาเหมือนกันหรือ" แล้วก็เดินต่อไป ...
จากคุณ Bhanumet

สมเด็จเจ้าพระยาท่านก็ "ลอยชาย" จริงๆ

หาความรู้เพิ่มพบว่า "ลอยชาย" เป็นชื่อหนึ่งในแม่ไม้กระบี่กระบอง

(http://www.paob1.ac.th/yunyong/image/kabee9.gif)

อ่านเพิ่มได้ที่ http://www.paob1.ac.th/yunyong/myrum1.htm ครับ (._.)


กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: Baitoey ที่ 20 ก.พ. 10, 13:15
หนูเข้ามาขอบพระคุณทุกท่านสำหรับคำตอบค่ะ

ไหนๆ ช่วยแล้ว ก็โปรดช่วยให้ตลอดรอดฝั่งอีกนิดนะคะ
ผ้าลายดอกพิกุล เป็นอย่างไรคะ หนูคิดว่ามันคงเหมือนดอกพิกุลตามชื่อนั่นแหละ (แต่ต้นพิกุลออกดอกด้วยหรือคะ ???)
พยายามหาในกูเกิล ก็ไม่มีรูปที่ชัดเจนน่ะค่ะ

การนุ่งผ้าลอยชาย ต้องเป็นผ้านุ่งชายยาวแค่ตาตุ่ม ขมวดปม ใช่ไหมคะ
ถ้านุ่งผ้าขาวม้า คลุมเข่า (แบบเตรียมจะไปอาบน้ำ) อย่างงี้เรียกลอยชายไหม?


อีกคำถามค่ะ
ในสมัยก่อน ผ้าลายแพงนักหรือคะ เขาถึงสงวนผ้าลายให้คนมั่งมี
และผ้าพื้นให้ชาวบ้านชาวช่องนุ่งห่มน่ะค่ะ



กระทู้: ผ้านุ่ง
เริ่มกระทู้โดย: จิรัฏฐ์ ที่ 17 มิ.ย. 10, 23:18
  ผ้านุ่งที่เป็นลายคงไม่ได้สงวนไว้หรอกครับ ถ้าจะสงวนก็คงสงวนลายเฉพาะของในวังหรือหน้าที่ตามชั้นยศ เช่น ฉลองพระองค์จะมีลายที่เป็นที่ห้ามสำหรับสามัญชน เป็นต้น และที่สันนิษฐานได้อีกอย่างคือการทอผ้าลายใช้เวลานาน การจะทอให้สวยต้องใช้เวลานาน ดังนั้นชาวบ้านธรรมดาคงไม่มีเวลาทอ หรือจะซื้อหาก็คงมีราคาแพง ทั้งจะใช้ไหม ดิ้นต่างๆก็ยิ่งแพงใหญ่ หาใช้ยาก  ถ้าจะใช้ก็คงมีไว้ในโอกาสสำคัญ