เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: nutrin ที่ 30 ม.ค. 24, 07:02



กระทู้: สอบถาม คำว่าเราะ กับเลาะค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: nutrin ที่ 30 ม.ค. 24, 07:02
ในนิยายแปลจีน จะมีการลงทัณฑ์ โดยใช้วิธี  เอากระดูกออกทีละส่วน โดยยังคงส่วนที่เป็นเนื้อภายนอกไว้ ให้นักโทษที่ถูกประหารเห็นกองกระดูกที่ถูกเอาออกจากร่างตัวเอง ทีละส่วน ทรมานจนกว่าจะตาย กิริยา นี้ควรใช้ “เราะ” หรือ “เลาะ” คะ


กระทู้: สอบถาม คำว่าเราะ กับเลาะค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ม.ค. 24, 09:35
ราชบัณฑิตท่านให้ใช้ว่า "เราะกระดูก"

ดังคำอธิบายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมาย ๒ คำนี้ ที่ใช้เป็นคำกริยา ดังนี้

เราะ
(๑) เคาะ เช่น อย่าเดินลงส้น ไม่อย่างนั้นจะเอาไม้เราะตาตุ่ม
(๒) ต่อยริมออกทีละน้อยเพื่อให้ได้รูปตามต้องการ เช่น เราะกระเบื้อง เราะปากขวด
(๓) ทำให้แตกออกจากกัน เช่น เราะถั่วทอง
(๔) เคาะให้หลุด เช่น เราะสนิม เราะกระดูกหมู
(๕) เดินระผ่านเสาหรือหลักที่ปักไว้เป็นแถวเพื่อหาทางเข้าออกเป็นต้น เช่น เราะรั้ว

เลาะ
(๑) ชิดแนว เช่น พายเรือเลาะตลิ่ง เดินเลาะรั้ว
(๒) ลิด เช่น เลาะตาไม้
(๓) ทำให้ด้ายเป็นต้นที่เย็บหลุด เช่น เลาะตะเข็บ เลาะผ้า


กระทู้: สอบถาม คำว่าเราะ กับเลาะค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ม.ค. 24, 10:35
มีตัวอย่างการใช้คำว่า เราะ และ เลาะ ประกอบคำ ๆ เดียวกัน แต่ให้ความหมายต่างกัน คือ

เราะรั้ว - เดินระผ่านเสาหรือหลักที่ปักไว้เป็นแถวเพื่อหาทางเข้าออกเป็นต้น
เลาะรั้ว - เดินชิดแนวรั้ว

ดังนั้น นอกจาก คำว่า "เราะกระดูก" ก็อาจใช้ "เลาะกระดูก" ได้โดยมีความหมายต่างกัน

เราะกระดูก - เคาะกระดูกให้หลุด
เลาะกระดูก - แยกเอากระดูกออกจากเนื้อโดยใช้ของมีคม

"เลาะกระดูก" ยังไม่ปรากฏในพจนานุกรม แต่น่าจะตรงกับการลงทัณฑ์ในนิยายแปลจีนที่คุณ nutrin สอบถาม


กระทู้: สอบถาม คำว่าเราะ กับเลาะค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: nutrin ที่ 30 ม.ค. 24, 11:20
ขอบพระคุณมากค่ะ


กระทู้: สอบถาม คำว่าเราะ กับเลาะค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 24, 11:25
อ้างถึง
(๔) เคาะให้หลุด เช่น เราะสนิม เราะกระดูกหมู
สงสัยคำว่า เราะกระดูกหมู  ที่ใช้วิธีเคาะให้หลุด  
เคยกินกระดูกหมู  แต่ไม่เคยเคาะให้เนื้อหลุดจากกระดูกเลย  เคยแต่ใช้มีดเฉือนหรือตัดเนื้อออกมา    เขาเคาะกันยังไงคะ