เรือนไทย

General Category => ชมรมอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: virain ที่ 16 ม.ค. 10, 12:50



กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 16 ม.ค. 10, 12:50
กระทู้นี้ผมขออณุญาตินำภาพแผ่นนางดานจำหลักไม้เก่าแก่ สมัยอยุธยาตอนต้นมาลง
เพราะหลังจากที่เคยเห็นภาพบานประตูจำหลักไม้รูปเทพบุตร จากวัดพระศรีสรรเพชญ์มาแล้ว
ก็เคยนึกสงสัยว่าแล้วเทพสตรีล่ะจะเป็นเช่นไร และแล้วผมก็ได้มาพบที่เมืองนครศรีธรรมราช
ซึ่งเป็นแผ่นนางดานที่เดาว่าเป็นพระแม่คงคา ซึ่งแม้จะมีสภาพชำรุดไปมากแต่ก็สร้างความสนใจ
ให้กับผมไม่น้อย กับอีกชิ้นหนึ่งเป็นเป็นภาพจำหลักศิลารูปเทพสตรีในซุ้มเรือนแก้ว ที่อยู่ใน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม

ภาพนางดานนี้มีความสำคัญในการศึกษา เรื่องการแต่งกายของราชสำนักในสมัยอยุธยาตอนต้นชิ้นหนึ่ง
และยังมีประโยชน์ในการศึกษารูปแบบของศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งมีความสง่างามและผ่อนคลายอย่าง
น่าอัศจรรย์

ชมภาพเพิ่มเติม ในกระทู้ ลายแกะลสักไม้อลังการข้ามกาลเวลา ครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 16 ม.ค. 10, 12:51
ส่วนบนครับ คล้ายเป็นฉัตร เครื่องสูงในลักษณะหนึ่ง
ดูแตกต่างจากบานประตูจากวัดพระศรีสรรเพชญ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 16 ม.ค. 10, 12:52
มองดูหน้าแล้วชวนให้นึกถึงเทพอัปสรของเขมรเหมือนกันนะครับ ลักษณะของศิราภรณ์ก็น่าสนใจ...


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 16 ม.ค. 10, 12:53
...


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 16 ม.ค. 10, 12:58
ชิ้นไม้ชำรุดมากครับ ทำให้มองรายละเอียดบนชิ้นงานไม่ได้แล้ว แต่มีภาพเก่าที่ถ่ายไว้ได้
ตอนที่สมบูรณ์มากกว่านี้ แถมยังเห็นรายละเอียดของเครื่องสูงประกอบได้ดีด้วยครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 16 ม.ค. 10, 13:07
ภาพนี้เป็นภาพจากพิพิธภัรฑสถานแห่งชาติจันทรเกษมครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 16 ม.ค. 10, 13:13
การแห่นางดานนั้นผมเคยได้ยินว่าใช้ในพิธีตรียัมปวาย ซึ่งปัจจุบันมีที่เมืองนครศรีธรรมราชแห่งเดียวเท่านั้น
มีด้วยกันสามแผ่นคือ แผ่นพระอาทิตย์กับพระจันทร์ แผ่นพระแม่ธรณีและแผ่นพระแม่คงคา
ซึ่งลักษณะของนางดานในปัจจุบันนั้นก็แตกต่างจากของโบราณนภาพข้างต้น ไม่ทราบว่าในกรุงเทพนั้น
พระราชพิธีตรียัมปวายเขาใช้แผ่นนางดานเหมือนกับทางใต้หรือเปล่านะครับ

เรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธีตรียัมปวาย http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A2 ครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 16 ม.ค. 10, 23:42
ว่างๆจะลงไปนครบ้าง เห็นมีแต่ของสวยๆงามๆทั้งนั้นเลย


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: VesinaH ที่ 17 ม.ค. 10, 11:13
ภาพนางกระดานที่กรุงเทพฯ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: ฉันรักบางกอก ที่ 17 ม.ค. 10, 18:52
ว๊าวดีจังได้เห็นจากหลายๆที่ด้วย ขอสารภาพว่าเพ่ิงเคยเห็นท่ีนครเป็นท่ีแรกค่ะ :D

ขอบคุณท่ีแบ่งปันภาพให้ชมกันคะ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 17 ม.ค. 10, 23:28
นางดานนี่เคยได้ยินว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องความอุดมสมบูรณ์เป็นพื้นครับ เพราะเทพที่เขียนลงบนกระดานก็เป็นเทพธรรมชาติทั้งนั้น ทั้งพระคงคา พระธรณี พระอาทิตย์ พระจันทร์ ซึ่งเป็นความคิดพื้นเมืองที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคก่อนศาสนาพราหมณ์จะเข้ามายังสุวรรณภูมิ (เช่นเดียวกันกับพิธีโล้ชิงช้ารับปีใหม่ ก็เป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันทั่วไป)

เท่าที่รับฟัง(เขา)มานะครับเวลาเขาจะโ้ล้ชิงช้า เขาก็จะขุดหลุม แล้วเอานางกระดานนี้ปักลงหลุม คล้ายเป็นเจว็ดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวแทนของกระดานโล้ชิงช้าจริงๆ กระดานนั้นจะมีรูเจาะไว้ด้วย ซึ่งไม่รู้ว่าเจาะไว้ทำไม คิดถึงกระดานอยู่ไฟที่ให้ผู้หญิงเพิ่งคลอดลูกนอน เขาก็เจาะรูเหมือนกันครับ


เรื่องกระดานมีรูนั้น ยังเปรียบเทียบได้กับหน้าท้องของผู้หญิงงาม ที่แบนราบ ตรงกลางมีรูนาภี (สะดือ) ซึ่งคนโบราณท่านเปรียบว่างามเหมือนดอกไม้ ปรากฏในโคลงกำสรวลสมุทร เมื่อกวีเดินทางมาถึงบางขดาน (กระดาน) อันเป็นตำบลหนึ่งในพระนครศรีอยุธยาว่า

จากมามาแกล่ใกล้         บางขดาน
ขดานราบคือขดานดือ      ดอกไม้

บางกระดานนี้ เป็นวังน้ำใหญ่ ตรงกลางมีน้ำวน (แน่นอนว่าเป็นรู) ทุกปีเดือน 12 พระเจ้าแผ่นดินจะต้องเสด็จมาเห่เรือบริเวณนี้ คล้ายๆกับเป็นการบูชาพระคงคา ซึ่งแทนด้วยผู้หญิง เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง

รูที่กระดาน ซึ่งเปรียบเทียบกับสะดือนั้น อาจเป็นสัญลักษณ์สากลที่สื่อถึงการให้กำเนิด การเกิด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็เช่นการที่พระพรหมถือกำเนิดจากนาภีของพระนารายณ์ หรือทารกที่เกิดมาก็มีสายสะดือติดมาด้วย เป็นต้น ดังนั้น การโล้ชิงช้าอาจจะสื่อความหมายบางอย่างที่ใกล้ชิดกับการให้กำเนิด หรืออาจกำลังสื่อถึงกระบวนการการให้กำเนิด ซึ่งก็คือความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง โดยเก็บสาระความคิดแบบพื้นเมืองเอาไว้ในรูปแบบพิธีพราหมณ์ (ที่ไม่มีในอินเดีย)


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 20 ม.ค. 10, 02:55
ขอบคุณข้อมูลเชิงลึกครับคุณKurukula กับภาพจากคุณ VesinaH ด้วยครับ

ทำให้กระทู้ดูมีราคามากเลยครับ เพราะไม่เคยรู้มาก่อนเลยจริงๆ และน่าสนใจมากโดยเฉพาะวงเล็บที่ท้ายนะครับ
ทำให้เกิดการเดาของผมว่า คติโยนีของอินเดีย-คตินาภีของเรา ทำนองอะไรแบบนั้นหรือเปล่าครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 12:32
ผมหมายถึง การโล้ชิงช้า เป็นพิธีพราหมณ์ของสยามที่ไม่มีในอินเดียครับ การไกวชิงช้าถวายพระเป็นเจ้าของพราหมณ์อินเดียนั้น เขาเอาพระเป็นเจ้าขึ้นไกวในชิงช้าเล็กๆไกวกันในเทวสถาน คล้ายๆช้าหงส์ในโบสถ์พราหมณ์ หาได้ให้พราหมณ์ขึ้นไปโล้บนชิงช้าอันใหญ่ไม่

กรมนริศเอง เมื่อท่านไปนครศรีธรรมราชเมื่อพ.ศ.2476 พระองค์เสด็จชมโบสถ์พราหมณ์ ตรัสถามถึงเรื่องโล้ชิงช้า พราหมณ์ก็ว่าไม่มีการโล้ มีเพียงนางกระดานสามแผ่น แล้วเอากระดานขึ้นแขวนเท่านั้น ไม่ได้มีการถีบชิงช้าจริงๆ พระองค์ท่านก็อธิบายว่าเป็นการทำพิธีตามมีตามเกิด แต่คิดในอีกแง่หนึ่ง พราหมณ์เมืองนครอาจจะรักษาประเพณีดั้งเดิมซึ่งสืบมาจากอินเดียไว้ได้ ขณะที่ในส่วนกลางปรับปรุงเข้ากับประเพณีพื้นเมือง จนมีการถีบชิงช้าใหญ่


การโล้ชิงช้า (ใหญ่) เป็นประเพณีโบราณพื้นเมืองดั้งเดิมก่อนการรับศาสนาใดๆครับ เป็นการโล้รับปีใหม่ เช่นเดียวกับพราหมณ์จัดโล้ในเดือนอ้าย (แต่ก่อนไทยเรานับปีใหม่กันเดือนอ้าย หรือราวๆเดือนธันวาคม ไม่ใช่เปลี่ยนปีเอาตอนสงกรานต์หรือเดือนห้า ซึ่งเป็นเรื่องของแขก)

เท่าที่เหลือตกทอดกันมา ยังอยู่ในหมู่ชนเผ่า อย่างพวกอาข่า ซึ่งจัดพิธีโล้ชิงช้า เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ฉลองพืชผล ที่น่าสนใจคือ เป็นงานที่จัดเป็นเกียรติแก่สตรีและ "เจ้าแม่" ซึุ่้่งเ้ป็นลักษณะสังคมดั้งเดิมที่ผู้หญิงมีบทบาทสูง เป็นผู้นำชุมชน ก่อนที่ศาสนาจากชมพูทวีปหรือจากที่ไหนๆในโลก จะกดผู้หญิงให้ต่ำกว่าผู้ชาย


และน่าจะเป็นต้นเค้าว่าทำไม จึงต้องมีนางกระดาน แล้วทำไมนางกระดานต้องเป็นผู้หญิง หรือทำไม ต้องเป็นเจ้าแม่แห่งน้ำ (คงคา) และเจ้าแม่แห่งดิน (ธรณี) เพราะเทพทั้ง 2 องค์นี้ เป็นผีเพศแม่สากลที่ทุกชาตินับถือ และเป็นเทพที่ให้กำเนิดชีวิต (เช่นเดียวกับการทำให้ระบบของจักรวาลดำเนินไปโดยเรียบร้อยอย่างพระอาทิตย์พระจันทร์) ของคิดเองได้ ไม่จำเ้ป็นต้องนำเข้าอย่างพระอุมาปารวตี

ศาสนาพราหมณ์นั้นยืดหยุ่นปรับให้เข้ากับสภาพสังคมที่เข้าไปได้ง่ายครับ ดูอย่างการพยายามกลืนศาสนาพุทธเป็นต้น


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 20 ม.ค. 10, 17:34
ขอบคุณครับที่อุตสาห์อธิบายให้ฟัง เนื้อหาเชิงลึกแบบนี้ผมเองก็ไม่เคยได้มานั่งอ่านแล้ว
เอามาวิเคาระห์แบบคุณKurukula สักที ยังลักจำเป็นช่วงเป็นตอนอยู่
แต่อย่างน้อยก็พอนึกภาพตามได้ครับ


มาถึงตรงนี้แล้วมองย้อนไปดูภาพพระแม่ธรณี ที่เป็นนางดานของใหม่จากภาพของVesinaH
แล้วอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าพระแม่ธรณีไม่ทำท่าบีบมวยผม แล้วจะทำท่าอะไรให้แยกได้กับพระคงคาครับ
ผมมีความรู้สึกว่าพระแม่ธรณีบีบมวยผมนี่ เหมือนจะติดภาพทางพระพุทธศาสนาไปหน่อยนะครับ
 : ???

ปล.มีเรื่องขอปรึกษาหลังไมค์ด้วยนะครับคุณKurukula


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 17:59
มันมีร่องรอยของการนับถือผีสมัยดึกดำบรรพ์อยู่ในบทไหว้ครูครับ ถือว่าเป็นธาตุที่ประกอบกันเป็นร่างกาย

ไหว้พระพุทธพระธรรมล้ำโลกา
พระสงฆ์ทรงศีลาว่าโดยจง
คงคายมนามาเป็นเกณฑ์
พระสุเมรุหลักโลกสูงระหง
ดินน้ำลมไฟอันมั่นคง
จึงดำรงได้รอดมาเป็นกาย

ที่คุณ Virain สงสัยว่าพระคงคากับพระธรณี (วสุนทรา) ต่างกันอย่างไร ที่เราเห็นไม่ต่างกัน หรือค่อนข้างคลุมเครือ เนื่องจากเป็นคติสมัยหลังในสยามครับ ในอินเดียเองคงคาจะขี่มกรครับ ยมุนา จะขี่เต่า ถือดอกบัวอันเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ในอินเดีย ทั้งสององค์จะเฝ้าอยู่หน้าประตูเทวาลัยเหมือนทวารบาล เพราะเชื่อกันว่า ใครลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคาจะชำระบาปได้ การเอามาเฝ้าหน้าประตูก็เหมือนคนเข้าไปไหว้พระผ่านการชำระบาปในแม่น้ำึคงคาแล้ว

ส่วนพระธรณีที่บีบมวยผมนั้น ที่คุณ Virain คิดว่าติดภาพพุทธศาสนามามากนั้น ก็ควรจะเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม เทพตามธรรมชาติเหล่านี้ มีการนับถือทั่วไปทุกที่ในโลก ไม่แบ่งพุทธพราหมณ์ครับ

ส่วนเรื่องของการบีบมวมผมนั้น สันนิษฐานว่าเรื่องนี้มีที่มาจากลังกา เพราะวสุนทราหรือธรณีในอินเดีย ไม่มีการบีบมวยผมครับ เท่าที่เห็นในเอเซียตะวันออกเฉียงใ้ต้ ธรณีบีบมวยผมน่าจะเริ่มประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะศิลปะเนื่องในพุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งแตกต่างจากมหายานครับ ตัวอย่างเช่นในปราสาทรุ่นหลังๆในเขมร พวกพระป่าเลไลยก์ ที่สร้างขึ้นในศาสนาเถรวาทจากลังกา

เรื่องพระธรณีนั้น ค่อนข้างซับซ้อนมากทีเดียว มีพัฒนาการมาอย่างยาวนานครับ เดี๋ยวจะลองค้นๆมาฝากกัน


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 18:22
  :)
ดังที่เราเคยเห็นฉากชนะมาร หรือมารผจญโดยทั่วไป ในศิลปะไทย(มาตรฐาน) จะเห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ตรงกลาง จะแสดงปางมารวิชัยหรือไม่ก็ได้ (จริงๆจะมีพระพุทธเจ้าหรือมีเพียงวัชรอาสน์เฉยๆก็ได้)

พระยาวัสวดีมาราธิราช จะเข้ามาทางซ้ายมือของพระองค์ มีพระธรณีเห็นเต็มองค์ บีบมวยผมไปทางขวามือของพระพุทธองค์ และมีน้ำท่วมมารแตกพ่ายไปทางขวา รายละเอียดทั้งหมดปรากฏในปฐมสมโพธิกถา

พระพุทธเจ้าผินพระพักตร์ไปทางตะวันออกริมฝั่งแม่น้ำอโนมา มารเข้ามาทางทิศเหนือ คือทางซ้ายมือของพระองค์ และแตกพ่ายไปทางทิศใต้ จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดพระธรณีจึงต้องบีบมวยผมไปทางด้านขวาของพระองค์

นี่คือรูปแบบฉากมารวิัชัยที่ผ่านขั้นตอนพัฒนาการมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นรูปแบบคลาสสิก และแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 18:37
ถ้าย้อนกลับไปดูคัมภีร์เก่าๆ โดยเฉพาะส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของคัมภีร์บาลีในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค ปธานสูตร กล่าวเพียงว่า

มารได้เข้ามาชักชวนให้พระโพธิสัตว์ละทิ้งความเพียรเสีย แต่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธ และตรัสถึงโทษของมาร 10 ประการ หรือที่ทรงเรียกโทษเหล่านั้นว่า เป็นเสนา 10 จำพวกของมาร และจะทรงชนะเสนามารเหล่านั้นได้ด้วยปัญญา ดุจบุคคลทำลายภาชนะดินทั้งดิบทั้งสุก ด้วยก้อนหิน ฉะนั้น เมื่อมารได้ฟังดังนั้นก็เกิดความโศกเศร้าเสียใจ ทำพิณตกจากมือ กลายร่างเป็นลมหายไปจากริมฝั่งแม่น้ำ


จะสังเกตได้ว่า ในพระไตรปิฎกมิได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์ใดๆเลย มีเพียงการโต้ตอบด้วยวาทะระหว่างมารและพระพุทธองค์เท่านั้น การปรากฏของกองทัพมารในรุ่นหลังอาจเป็นบุคคลาธิษฐานโทษของมาร ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสติเตียนไว้ก็เป็นได้  แน่นอนว่า ยังไม่มีพระแม่ธรณีที่ปรากฏร่างแบบบุคคลาธิษฐาน มีอาการเหมือนมนุษย์

 ในอรรถกถา นิทานกถา ในส่วนของอวิทูเรนิทาน พุทธจริตและมหาวัสดุ คัมภีร์ทั้ง 3 เล่ม ของทั้งฝ่ายมหายาน (มูลสรรวาสติวาท) และ เถรวาท มิได้กล่าวถึงนางธรณีที่เป็นบุคคลแต่อย่างใด

ในอวิทูเรนิทาน พระโพธิสัตว์ทรงขอให้แผ่นดินเป็นพยาน ขณะที่ในมหาวัสดุ พระองค์ทรงชนะมารด้วยการใช้พระหัตถ์ตบพื้นดินเพียงเบาๆเท่านั้น

ก็ยังไม่ปรากฏว่า คัมภีร์รุ่นอรรถกถาที่แต่งราวพุทธศตวรรษที่ 10 และคัมภีร์มหายานที่แต่งราวพุทธศตวรรษที่ 6-8 กล่าวถึงธรณีที่เป็นบุคคลแต่อย่างใด

จิตรกรรมฉากชนะมารที่พม่า อายุร่วมสมัยอยุธยาปลายตอนต้นครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 18:57
คัมภีร์ที่กล่าวถึงนางธรณีที่เป็นบุคคลจริงๆ ที่รู้จักกันดีน่าจะได้แก่ ลลิตวิสตระ คัมภีร์ฝ่ายมหายาน ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 8 คัมภีร์นี้มีบทบาทต่อศิลปะอินเดียอย่างมาก ทั้งศิลปะคุปตะ ปาละ ทั้งเผยแำพร่ออกไปเป็นคัมภีร์หลักที่ใช้สร้างสรรค์ภาพสลักที่บุโรพุทโธ อินโดนีเซียครับ

ในลลิตวิสตระ กล่าวว่า พระพุทธเจ้าตรัสถึงบุญกุศลที่พระองค์บำเพ็ญไว้มากมายกว่าพญามารนัก พระยามาร (ซึ่งในที่นี้คือกามเทพ มีที่มาที่ไปซับซ้อนพอๆกับพระธรณี) ได้กล่าวว่า พระองค์ไม่มีพยานหลักฐาน ท่านแพ้แล้วด้วยการกล่าวพล่อยๆอะไรออกมา

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า

"ดูกร มารชั่วร้าย แม่น้ำ (แผ่นดิน) ผู้อุ้มชูทุกสิ่งทุกอย่าง (ภูตธาตรี) เป็นหลักฐานของเรา"

ทรงใช้พระหัตถ์ขวาตบแผ่นดินด้วยอาการแช่มช้อย ตรัสว่า "ความเท็จของเราไม่มี แผ่นดินจงให้ความเป็นพยานแก่เรา"

มหาปฤถิวี (แผ่นดิน) เมื่อพระโพธิสัตว์สัมผัสแล้ว ก็สั่นเป็นเสียงดัง เหมือนเอาไม้ตีถาดทองเหลืองของชาวมคธ แล้ว...


“นางเทพธิดาผู้รักษามหาปฤถิวี มีนามว่า สถาวรา อยู่ในโลกธาตุคือเทวโลกและมนุษยโลก นางมีเทพธิดาผู้รักษาแผ่นดินร้อยโกฏิเป็นบริวาร ยังมหาปฤถิวีทั้งหมดให้กระเทือนพร้อมแล้ว ชำแรกพื้นดินในที่ไม่ไกลพระโพธิสัตว์ขึ้นมากึ่งกาย ได้กระทำอัญชลีต่อพระมหาสัตว์”

จะเห็นว่าเป็นคัมภีร์แรกๆที่กล่าวถึงบุคคลาธิษฐานของธรณี แต่ก็ไม่ได้ถือหม้อน้ำอยู่ดี

ฉากมารผจญที่บุโรพุทโธครับ จะเห็นว่า พระยามารถือศรทำด้วยคันอ้อย มีดอกไม้เป็นลูกศร มีมือทั้งพัน เอาพลมารรุมเข้ามาจากทุกทิศ ซึ่งตรงกับในลลิตวิสตระ แต่ต่างกับเหตุการณ์ในอวิทูเรนิทานและนิทานกถา ที่กล่าวว่ามารเข้ามาทางทิศเหนือ

นางธรณีนั้นอยู่ทางขวาของพระพุทธองค์ ถือหม้อน้ำ อันเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน ชำแรกขึ้นมากึ่งกายต้องตามคัมภีร์ เห็นพระยามารทำท่าพ่ายแพ้อยู่ทางซ้ายของพระพุทธองค์


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 19:05
เทียบกับฉากมารวิชัยสมัยราชวงศ์ราษฏรกูฏะ ที่ถ้ำอชันต้าที่ 26 นะครับ ที่นี่มารเข้าทางขวาของพระพุทธเจ้า และแตกออกไปทางด้านซ้าย และพระพุทธองค์แสดงปางประทานพร ซึ่งเป็นฉากที่ไม่ค่อยเห็นในศิลปะหลังคุปตะ ช่างอาจไม่ชำนาญจึงทำได้ไม่ค่อยชัดเจนตามคัมภีร์ หรืออาจจะมีคัมภีร์อื่นที่ไม่รู้จักก็เป็นได้

ที่มาครับ

http://huntington.wmc.ohio-state.edu/public/index.cfm?fuseaction=showThisDetail&ObjectID=10050


นางธรณีอยู่ตรงที่พระพุทธเจ้าหงายพระหัตถ์ลงพอดี


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 19:17
ในศิลปะปาละ ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 นางธรณีชำแรกดินขึ้นมาเต็มตัวแล้วครับ อยู่ใต้พระหัตถ์พระพุทธเจ้า

ส่วนทางขวาเป็นพญามารทำท่าพ่ายแพ้

ทางซ้ายสุดนั่งพนมมือ เป็นคนจ่ายเงินสร้างพระพุทธรูป ขอมีเอี่ยวด้วย จากพิพิธภัณฑ์พระนครครับ

จะเห็นธรณีถือหม้อน้ำ หม้อน้ำนี้เป็นสัญลักษณ์แทนโลกและแผ่นดิน เพราะอินเดียถือว่าโลกลอยอยู่เหนือน้ำ

 นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าหม้อน้ำในพุทธศาสนาเปรียบกับความเป็นบุคคล ซึ่งบรรจุไว้ทั้งความดีและความชั่ว และยังสามารถเป็นสัญลักษณ์แทนการบรรลุธรรมได้ โดยบุคคลที่เข้าใจในอริยสัจ 4 อย่างแท้จริง เปรียบเสมือนกุมภะอันเต็มแล้ว หรือปูโรกุมภะ (Purokumbha) พระอรหันต์ย่อมเปรียบเสมือนภาชนะอันเต็มแล้ว ไม่อาจกระทำเสียงได้แม้สั่นไหว



กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 19:26
อันนี้คือพญามารทำท่าพ่ายแพ้ มีลูกสาวมาปลอบ 3 คน ลูกสาวทั้งสามตามคัมภีร์บาลีฝ่ายเถรวาทจะมีชื่อ ตัณหา ราคา อรตี (ความรัก)

ในลลิตวิสตระ 3 สาวนี้มีชื่อว่า รตี อรตี และตฤษณา

ในมหาวัสดุ มีชื่อว่า นางตันตรี รตี และอรตี

เมื่อพญามารพ่ายแพ้กลับมาแล้ว ก็ให้ลูกสาวทั้งสามไปประจญพระพุทธเจ้าด้วยมายาสตรี 32 ประการแทน แต่พระองค์ก็ไม่สนพระทัย นางทั้งสามก็กลับไปหาพ่อ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 20 ม.ค. 10, 19:34
 :o....!!! สุดยอดเลยครับ วันหน้าถ้าได้รับการอธิบายจากสถานที่จริงคงจะ
ได้อรรถรสเต็มที่จริงๆนะครับ ขอรบกวนถามต่ออีกสักนิดครับ แล้วอย่างทวาราวดี
ล่ะครับใช้ตามคัมภีร์ไหน มีภาพพระแม่ธรณีหรือเปล่าครับ

ที่จริงอินเดียกับชวานี่ก็น่าไปนะครับ น่าสนใจมากมายไปหมดเลยจริงๆ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 19:41
บางที่เราจะเห็นรูปยายแก่ 3 คน ทั้งในไทยและพม่า เป็นลูกสาว 3 คนของพญามารที่โดนพระพุทธเจ้าสาปให้แก่ (แต่บางคัมภีร์ก็ไม่เขียนไว้ ทั้งบอกว่า พระองค์จะไม่กระทำการโหดร้ายเช่นนั้น)


 "ธิดามารคิดกันอีกว่า ความประสงค์ของพวกผู้ชายไม่เหมือนกัน ผู้ชายบางคนรักหญิงกุมารีรุ่นสาว บางคนรักหญิงผู้อยู่ในปฐมวัย บางคนรักหญิงผู้ตั้งอยู่ในมัชฌิมวัย บางคนรักหญิงผู้ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย ถ้ากระไร พวกเราควรประเล้าประโลมด้วยรูปนานาประการ

จึงนางหนึ่งๆ นิรมิตอัตภาพเป็นร้อยๆ อัตภาพ โดยเป็นรูปหญิงรุ่นเป็นต้น เป็นหญิงยังไม่คลอด เป็นหญิงคลอดคราวเดียว เป็นหญิงคลอด ๒ คราว เป็นหญิงกลางคนและเป็นหญิงรุ่นใหญ่ เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง ๖ ครั้ง แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกข้าพระบาทจักบำเรอบาทของพระองค์."

ในอวิทูเรนิทานกล่าวว่า

  ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงเห็นธิดามารเหล่านั้นเข้ามาหาโดย ภาวะเป็นหญิงผู้ใหญ่จึงทรงอธิษฐานว่า หญิงเหล่านี้จงเป็นผู้มีฟันหัก ผมหงอกอย่างนี้ๆ. คำของเกจิอาจารย์นั้นไม่ควรเชื่อถือ. เพราะพระศาสดาจะไม่ทรงกระทำการอธิษฐาน เห็นปานนั้น.

เห็นได้ว่าสมัยหนึ่งๆคงมีคัมภีร์หลายๆแบบแตกต่างกัน ที่เราเห็นยายแก่ 3 คนเดินร้องไห้ กันในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ คงได้แบบมาจากเล่มอื่นที่ไม่ใช่อวิทูเรนิทาน


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 19:51
ฉากมารวิชัยสมัยทวารวดีที่สมบูรณ์ไม่เคยเห็นนะครับคุณ Virain เพราะพระพุทธรูปปางมารวิชัยในศิลปะทวารวดีก็หายากอยู่แล้ว

อีกอย่างหนึ่งคือ ทวารวดีได้อิทธิพลจากศิลปะอินเดียหลังคุปตะค่อนข้างมาก ซึ่งแถวนั้นจะนิยมปางมหาปาฏิหาริย์มากกว่า

ที่ผมยังหาไม่เจอคือ นอกจากเขมรแล้ว ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ธรณีบีบมวยผมมีที่อื่นอีกหรือไม่ ที่พุกามเองก็ยังไม่ได้สังเกตรายละเอียดมากครับ

เคยได้ยินบางทฤษฎีเขาว่า พวกโยคีมุ่นมวยผมไว้ เป็นการเก็บกักพลังงานทางเพศ หรืออสุจิไว้บนมุ่นมวย การที่พระพุทธเจ้าทรงใช้นางธรณีบีบมุ่นมวยก็อาจหมายถึงการปลดปล่อยอะไรบางอย่างออกจากพระองค์ อาจเป็นการตัดขาดกับทางโลกหรือการละความสุขแบบโลกิยะ แต่ผมว่ามันดูแนวฟรอยมากๆ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 20 ม.ค. 10, 20:27
แล้วบรรดาเสมาหินที่เมืองฟ้าแดดฯ หรือที่อื่นๆก็ไม่พบเลยหรือครับ ?? ผมไม่รู้จริงๆ

ส่วนเรื่องมุ่นผมโยคีนั้นแลดูจะยุ่งๆไปหน่อยนะครับ แต่ยังไงก็แล้วแต่จะพิจารณากันไปตามเหตุผล
ส่วนในอวิทูเรนิทาน ก็ฟังดูแหม่งนะครับ ไม่เคยรู้มาก่อนด้วย

 

 "ธิดามารคิดกันอีกว่า ความประสงค์ของพวกผู้ชายไม่เหมือนกัน ผู้ชายบางคนรักหญิงกุมารีรุ่นสาว บางคนรักหญิงผู้อยู่ในปฐมวัย บางคนรักหญิงผู้ตั้งอยู่ในมัชฌิมวัย บางคนรักหญิงผู้ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย ถ้ากระไร พวกเราควรประเล้าประโลมด้วยรูปนานาประการ


ที่เคยได้ยินมาก็จะทำนองนี้นะครับ แต่ยังไงก็ยังจำภาพจากหนังเรื่อง little buddha ได้ลางๆ ให้อารมณ์แบบที่คุณKurukula เล่ามาเลยทีเดียว (อยากจะดุหนังเรื่องนี้อีก ที่ไหนมีดีวีดีขายบ้างครับ)

ปล.ถ้าตอนนั้นฉลาดกว่านี้ผมคงได้ภาพเกี่ยวกับทวาราวดีมาตั้งกระถูถามอีกเยอะครับ 555



กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 20:37
ยอมรับว่าเสมาทางอีสานไม่ถนัดเลยจริงๆ ต้องลองอ่านงานของดร.พิริยะไกรฤกษ์ดูครับ

แต่เท่าที่เห็น ส่วนใหญ่จะเป็นชาดกแปลกๆ

อย่างที่คุณ Virain โพสต์ไว้ ของทวารวดีส่วนมากนิยมสร้างตอนปาฏิหาริย์ที่เมืองศราวัตสติ (สาวัตถี)

เหมือนกับศิลปะอินเดียช่วงหลังราชวงศ์คุปตะที่เจริญในรัฐมหาราษฏร์ครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 21 ม.ค. 10, 00:47
ไม่อยากเชื่อเลยนะครับ ว่าพระเเม่ธรณี จะมีที่มาย้อนอดีตไปไกลได้ขนาดนั้น เพราะความที่เห็นจนชินตาเเท้ๆ
ขอบพระคุณที่เสียสละเวลาให้ความรู้อันมีค่ามาก

ชักอยากรู้ว่าศิลปกรรมรูปพระแม่ธรณีในประเทศไทยที่เก่าแก่ที่สุดจะได้ถึงยุคไหน ?


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 ม.ค. 10, 10:17
ฉากมารวิชัยที่เก่าแก่ที่สุดในไทย คือที่พิมายครับ ครบถ้วนกระบวนความตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ก่อนหน้าบรรดาปราสาทในเขมรเสียอีก

แต่ก็ยังไม่เห็นภาพนางธรณีอยู่ดี อาจสร้างขึ้นจากตำราที่ธรณียังไม่มีรูปเป็นคนก็ได้

หรือผมอาจจะตาไม่ดีมองไม่เห็น ช่วยๆกันหาหน่อยนะครับ  :-[


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 ม.ค. 10, 10:20
ส่วนธรณีบีบมวยผมที่เก่าที่สุด (ไทย-เขมร) ก็น่าจะเป็นปราสาทตาพรม สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวพุทธศตวรรษที่ 18

เรื่องธรณีบีบมวยผม เก่าแก่ที่สุดอยู่ในชินลังการฎีกา ซึ่งแต่งราวพุทธศตวรรษที่ 18 เช่นกัน   :)


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 ม.ค. 10, 10:27
ส่วนศิลปะไทย ถามว่าธรณีบีบมวยผมเ่ก่าแก่ที่สุดอยู่ไหน ผมคิดว่าคงเป็นพระบาทไม้แกะวัดพระรูปมั้งครับ น่าจะช่วงอยุธยาตอนกลางลงมา

ใครมีรูปเอามาแบ่งกันดูนะครับ ไปเดี๋ยวนี้เขาติดกระจกเงางามอยู่ตามที่ ถ่ายไม่ได้เลย

จบด้วยคาถาฎีกาพาหุงดีกว่าครับ แต่คาถานี้ก็ไม่ได้กล่าวถึงธรณี (อีกแล้ว)

 พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
คิริเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.

เมื่อพญามารเนรมิตแขนมากเป็นพัน ถืออาวุธในมือ ขี่ช้างคิริเมขละ สะพรึบพร้อมกองทัพอันน่าสะพรึงกลัว พระจอมมุนีทรงชนะด้วยทานบารมีเป็นต้นอันชอบธรรม ด้วยพระเดชนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Agonath ที่ 21 ม.ค. 10, 14:10
งดงามทุกภาพครับ เห็นเพื่อนๆนำภาพมาให้ชมแล้วอดนึกอยากหลงยุคเข้าไปในสมัยนั้นแล้วจิง ว่าจะงดงามและสมบูรณ์มากมายขนาดใหน


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 21 ม.ค. 10, 21:45
ขอบคุณมากครับ...คุณKurukula
พึ่งทราบว่าที่ พิมายมีภาพมารผจญด้วย เเละที่ตาพรหมสวยแปลกตามากๆครับ เคยไปครั้งเดียวไม่ได้สังเกตเลย มัวเเต่หาไดโนเสาร์
ว่าเเต่การที่เเสดงเรื่องพุทธประวัติในศิลปะเขมร กระทำขึ้นภายใต้คติทางฝ่ายมหายานหรือไม่ครับ..?


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 21 ม.ค. 10, 22:13
พระพุทธบาท ไม้เเกะสลัก สมัยอยุธยายุดกลาง วัดพระรูป สุพรรณบุรี

ที่มา : หนังสือ The Art Of Thai Wood Carving Sukhothai, Ayutthaya, Ratanakosin


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 21 ม.ค. 10, 22:33
ปรากฏภาพ พระแม่ธรณีบีบมวยผม ชัดเจน เป็นที่น่าสังเกตว่าพระเเม่ธรณี ยืนตรงเอี้ยวตัวเล็กน้อย ต่างกับ ระยะท้ายของอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์
มารแบก มีเชือกไข้วกันตรงหน้าอก เหมือนยักษ์ปูนปั้นเเบกฐานที่วัด ราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา สมัยอยุธยาตอนต้น
ไม่แสดงภาพพระพุทธองค์ แสดงรัตนบัลลังค์แทน อาจจะด้วยข้อจำกัดเรื่ององค์ประกอบหรือไม่..?


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 21 ม.ค. 10, 22:40
ลายละเอียด ภาพท้าวจาตุโลกบาล


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 21 ม.ค. 10, 22:55
ระเบียบการเรียงมงคล 108 เป็นแนววงกลมแสดงรูปจักลวาลในมิติราบ มีเขาพระสุเมรุตรงกลาง
คล้ายรอยพระพุทธบาทสำริด วัดเสด็จ กำเเพงเพชร เเละ รอยพระพุทธบาทหินทราย วัดพระราม พระนครศรีอยุธยา (ปัจุบันอยู่ที่ พ.ช. พระนคร)


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 21 ม.ค. 10, 22:58
อีกทีครับ..พลาด


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 ม.ค. 10, 23:04
ตอบคุณ  Chaichana-13 เรื่องเขมรผมไม่ค่อยถนัดครับ เพราะไปก็วิ่งหาไดโนเสาร์เหมือนกัน  :-[

แต่คิดว่าคงไม่ได้สร้างขึ้นตามคติมหายานเสียทีเดียว น่าจะมีความคิดของเถรวาทปะปนเข้ามาบ้าง ถ้าเป็นมหายานแท้ๆต้องที่พิมายครับ

เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างเปิดกว้างในการนับถือศาสนา พระเจ้าแผ่นดินทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนามาแต่ไหนแต่ไร (ยกเว้นบางช่วงเวลา ซึ่งมีเพียงสั้นๆ)

ยิ่งในช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีการติดต่อกับลังกาที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาท ค่อนข้างมากทีเดียว เพราะเขมรค้าช้างอยู่กับลังกา

ที่ปราสาทพระขรรค์ยังมีสถูปทรงลังกาแท้ประดิษฐานอยู่ เซเดส์ ซึ่งเป็นนักวิชาการรุ่นบุกเบิก ก็เชื่อว่า มีพระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งผนวชแล้วจาริกไปลังกา



กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 ม.ค. 10, 23:12
เรื่องวัชรอาสน์ (อปราชิตอาสน์) เปล่า ไม่มีองค์พระพุทธเจ้าประทับอยู่ เคยเห็นในสมุดข่อยบางเล่ม ซึ่งมีอายุอยู่ช่วงอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็ยังเขียนอยู่ครับ ไม่ค่อยเข้าใจความคิดของช่างเหมือนกัน

แล้วบางครั้ง พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้แสดงภูมิศปรมุทรา (การสัมผัสธรณี) หรือปางมารวิชัยเสมอไป บางครั้งก็แสดงปางสมาธิครับ

นางธรณีมีท่าทางหลากหลายจริงๆครับ นั่งก็ได้ บิดตัวก็ได้ ยืนก็ได้ สังเกตว่าส่วนใหญ่จะประทับอยู่ด้านพระหัตถ์ขวาของพระพุทธเจ้า ก่อนจะเลื่อนมาอยู่กึ่งกลางพุทธอาสน์ในสมัยหลังๆ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 ม.ค. 10, 23:31
นางธรณีที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม เพชรบุรีครับ ยืนบิดตัวนิดๆ ฉากมารผจญที่นี่เขียนได้ต้องตามคัมภีร์มากๆ จนเชื่อว่าช่างกางตำราเขียนทีเดียว

ในพระปฐมสมโพธิกถา กล่าวว่า

"สิทธัตถะกุมารผู้นี้ เป็นบุรุษอุสภ เป็นบุรุษสีหะ เป็นบุรุษนาคอันประเสริฐยิ่ง เหตุดังนั้น เราทั้งหลายมิอาจจะยุทธนาการในที่เฉพาะหน้าได้ จะต้องชิงชัยในปรัศว์เบื้องซ้ายข้างๆหนึ่ง.........จะให้ยาตราโยธาทัพมาโดย "อุดรทิศ"

ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผมสงสัยมานาน เพราะว่าปกติ ภาพเล่าเรื่องจะต้องเล่าเหมือนเขียนหนังสืออักษรไทย คือจากซ้ายไปขวา แต่ภาพมารผจญ เล่าเรื่องจากขวามาซ้าย คือ มารเข้้าทางซ้าย แพ้ไปทางขวา เพิ่งมารู้ว่ามันเขียนขึ้นตามคัมภีร์ทั้งหลายทั้งปวงนี่เอง (การเข้ามาทางซ้าย คือทิศเหนือ ของมาร มีในคัมภีร์ปปัญจสูทนีด้วย)



กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 21 ม.ค. 10, 23:35
สวัสดีคุณChaichana-13 ครับ และขอบคุณข้อมูลกับรูปภาพที่หามาฝากให้ได้ชมเต็มๆเป็นขวัญตาครับ
ของจริงถ้าไปก็คงไม่ได้ถ่ายแล้วใช่ไหมครับคุณ Kurukula...

แต่ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นครับ คือผมมองแผ่นไม้รูปสลักนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นอยุธยาตอนต้น
เพราะเรื่องการแต่งกายแบบที่คุณChaichana-13 บอกไว้อย่างหนึ่ง และก็พวกเครื่องทรงกับลวดลาย
ประกอบ ทำให้ผมคิดไปว่าเป็นอยุธยาตอนต้นครับ
เช่นเดียวการตีความยุดของศิลปะที่วัดไลย์ ลพบุรี ที่ผมเองก็คิดว่าน่าจะเป็นอยุธยาตอนต้น แต่ก็มีบางท่านกล่าวว่า
เป็นงานสมัยอยุธยาตอนกลางเช่นกัน ผมเองเพียงแค่อยากสร้างประเด็นที่ต่างออกมา ไม่ทราบว่า
คุณ Kurukula คิดเห็นอย่างไรครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 ม.ค. 10, 23:40
ข้าแต่พระโพธิสัตว์เจ้า
หม่อมฉันรู้แล้วซึ่งบุญญาภิสมภาร
ที่พระองค์ทรงสั่งสมมาช้านาน
หม่อมฉันได้รู้เห็นเป็นพยานทุกครั้งมา
พระองค์ทรงหลั่งทักษิโณทกลงคราวใด
หม่อมฉันก็เอาเกศาประคองรับไว้
จนบัดนี้เกศาของหม่อมฉันก็ยังชุ่มอยู่
หม่อมฉันจักบิดออกให้เห็นแจ้งประจักษ์แก่สายตา ณ บัดนี้...


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 ม.ค. 10, 23:54
อันนี้ลำบากจริงๆครับ ที่จะแยกว่าชิ้นไหนเป็นอยุธยาตอนต้น ชิ้นไหนเป็นอยุธยาตอนกลาง

ส่วนตัวผมเห็นว่าบรรดาพระบาททั้งหลายที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เรียงมงคลอยู่ในตารางแล้ววนเอา

ขณะที่พระบาทวัดพระราม และพระบาทที่วัดพระรูปนี้ เรียงมงคลไว้เป็นวงกลางพระบาท ซึ่งมีจำนวนค่อนข้างน้อย

เมื่อเทียบกันแล้ว พระบาทของพญาลิไท บอกอายุได้ชัดเจนคือ พ.ศ.1897-1919 และพระบาทชนิดที่เรียงมงคลเป็นตารางนี้ นิยมต่อเนื่องมาจนสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) ดังปรากฏที่พระบาทวัดบวรนิเวศ

อาจจะเป็นคนละสกุลช่าง หรือคนละสมัย บอกได้ลำบากมากครับ แต่การสร้างอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับศาสนา จำเป็นจะต้องมีบางอย่างรองรับ มิใช่ช่างสร้างขึ้นได้ตามจินตนาการ 100 เปอร์เซนต์ แสดงว่า มีความคิดที่แตกต่างกันเรื่องลักษณะของพระบาท

ยังสรุปไม่ได้ครับว่าต่างกันเพราะคนละช่าง คนละแนวคิด หรือคนละระยะเวลา


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 21 ม.ค. 10, 23:59
กล่าวถึงพระธรณีไม่มีภาพพระธรณีวัดชมภูเวกก็คงไม่ได้เลยนะครับ  :D เหมือนมีใครยกย่องไว้ว่า เป็นmasterpiece ของไทย
เช่นเดียวกับภาพที่โบสถ์ซิสติน ของไมเคิลแองเจโล่

ว่าแต่ผมแตกประเด็นออกมาอีกหน่อย เพื่อเพิ่มปัญญาความรู้นอกจากที่คุณ Kurukula อธิบายเรื่องพระธรณี
อย่างภาพที่วัดเกาะฯนั้นผมเองก็ยังไม่ค่อยเชื่อว่าเป็น ภาพที่เขียนในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ถึงเขาจะเขียนปีไว้
เพราะมันดูเก่ากว่านะครับ เพราะถ้าตีเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแล้ว มันก็จะสับสน
กับงานร่วมสมัยชิ้นอื่นๆ ผมคิดว่าอย่างนั้นครับ  
..... ???
ปล. ภาพจากวัดเกาะกับวัดปราสาทครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 22 ม.ค. 10, 00:05
พระบาทเมืองพุกามตีตารางครับ จึงเชื่อว่าน่าจะส่งอิทธิพลให้พระบาทสุโขทัยไม่มากก็น้อย

แต่ก็น่าแปลกว่า พระบาทพม่าสมัยหลัง มีบางชิ้นที่เรียงมงคลแบบพระบาทวัดพระรามอยู่ จากวัดจ๊อกตอจี มัณฑะเลย์ครับ วัดนี้เพิ่งสร้างเมื่อปี 1856 เท่านั้น


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 22 ม.ค. 10, 00:07
ทำไมถึงคิดว่าวัดเกาะแก้วสุทธารามเก่ากว่าพระเจ้าบรมโกศล่ะครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 22 ม.ค. 10, 00:09
การเรียงลายมงคลแบบนี้ผมเองก็ไม่เคยเห็นเหมือนกันครับ ส่วนใหญ่จะชินตากับลักษณะแบบพระบาทพระนอนวัดโพธิ์มากกว่า
การวิเคาระห์เนื้อหาของงานศิลปะในยุคสมัยต่างๆ ผมเองชอบมองโดยยึดหลักวิวัฒนาการมาก่อน ทำให้หลายครั้งก็พลาดเรื่อง
คติและแนวคิด ซึ่งออกไปแนวๆทฤษฎี ซึ่งผมยังอ่อนมากๆครับ

ปล.ภาพเขียนจากวัดเกาะกับวัดช่องนนทรีครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 22 ม.ค. 10, 00:14
ผมเองก็เห็นด้วยกับหลักวิวัฒนาการเหมือนกันครับ แต่บางครั้งก็ต้องใช้หลายอย่างประกอบ พวกลวดลายผมก็ไม่ค่อยชำนาญ คุณ Virain คงต้องช่วยแนะนำอีกเยอะเลย


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 22 ม.ค. 10, 00:29
โอ๊ะ... ผมเองน่าจะต้องขอคำแนะนำครับ  :-[

ขออนุญาตแสดงแนวคิดนะครับ คือผมขอยกภาพลายรดน้ำภาพนี้เป็นสกุลปราสาททองนะครับ
คือผมมองจุดแรกที่กรองศอ ตาบ พวกนั้นลักษณะของเขายังคล้ายสมัยอยุธยาตอนต้นอยู่ครับ
ถ้าลองเทียบกับบานประตูวัดพระศรีฯ คือมีกรงศอ แล้วห้อยตาบ?? (เขาเรียกอย่างนี้? ???) แบบที่
เห็นในหนัง สุริโยทัย แต่ต่างออกไปตรงที่เขาจะมีห้อยต่อลงมาอีก(ผมคุ้นๆว่าเหมือนของเขมร)
ภาพนี้เขานำปลายสายที่ว่าขึ้นมาพาดแขนครับ

ปล.ทุกคนมีสิทธิ์ไม่เชื่อนะครับ แหะๆ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 22 ม.ค. 10, 00:35
ขออนุญาตเปรียบเทียบกับจิตรกรรมวัดเกาะนะครับ

สังวาลย์ที่นี่เขาไม่เอาพาดแขนนี่ครับ ม้วนตลบไปทางด้านหลัง

สังวาลย์สกุลช่างปราสาททองมีจุดเด่นคือ ตัดกันเป็นตัว X ขณะที่รุ่นก่อนหน้า (วัดพระศรีสรรเพชญ) และหลังลงมา (อยุธยาปลาย) จะเป็นรูป ) ( ไม่ตัดกันเป็นตัว X

ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 22 ม.ค. 10, 00:41
ครับใช่ แต่มันก็ยังดูอยู่ในรูปแบบที่เราเข้าใจคติเดิมได้ ไม่เหมือนสมัยอยุธยาตอนปลายมากๆหรือรัตนโกสินทร์
ผมก็เลยคิดว่าภาพนี้ไม่น่าจะต่ำกว่าสมัยพระเจ้าเสือลงมาน่ะครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 22 ม.ค. 10, 00:46
คุณ Virain หมายถึง มันควรจะมีอายุเก่าตั้งแต่สมัย ???พระเจ้าเสือขึ้นไปใช่ไหมครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 22 ม.ค. 10, 00:48
โอ้...จะตีหนึ่งแล้ว  :o

ใช่ครับๆ

ขอนำมาเปรียบกับภาพนี้ด้วยครับ ส่วนเครื่องแต่งกายอย่างการห้อยผ้าครับ ที่ระยะหลังชอบเห็นลักษณะชายไหวชายแครง
แบบคมๆ ในสมัยอยุธยาตอนปลายๆหรือรัตนโกสินทร์


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 22 ม.ค. 10, 00:50
ส่วนอันนี้ผมเข้าใจว่าเป็นสมัยอยุธยาตอนปลายๆ ช่วงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศถึงเสียกรุงครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 22 ม.ค. 10, 00:55

ไปนอนก่อนก็ได้ครับ ผมไม่กวนละ 8)


จริงๆวัดเกาะมีหลายอย่างที่อิหลักอิเหลื่อครับ แต่ผมเชื่อว่า น่าจะหลังพระเจ้าทรงธรรม หรือปราสาททอง ราวๆนั้น


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 22 ม.ค. 10, 01:03
ผมเองก็คิดว่าหลังสมัยพระเจ้าปราสาททองลงมา แต่ไม่น่าจะเกินสมัยพระเจ้าเสืออย่างที่กล่าวไว้ครับ

ลำพังภาพเขียนที่วัดเกาะนี่ผมเห็นมีการเขียนแยกแตกประเด็นกันไปมากมาย ทั้งเรื่องของรูปแบบศิลปะ
ปรัชญาแนวคิด การลำดับ ผังพระอุโบสถ
สงสัยต้องเอาไปตีความถอดรหัสเหมือนภาพthe last supper แบบในThe Da Vinci Code
ให้มันวุ่นวายเล่น 5555

ปล.เทียบลายวัดเกาะกับวัดไชยครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 22 ม.ค. 10, 01:06
ไว้ว่างๆจะเปิดประเด็นวัดเกาะครับ 8)

แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ลืมไปก็คือ พ.ศ.2277 เป็นต้นรัชกาลพระเจ้าบรมโกศครับ แล้วเพชรบุรีก็ค่อนข้างหัวเมือง ช่างสมัยพระเจ้าเสืออาจจะยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นได้ั เป็นที่รู้กันว่า เพชรบุรีค่อนข้างรักษาของเก่าไว้ได้ดี งานช่างบางอย่างเราดูไม่รู้ก็ึิคิดว่าศิลปะอยุธยา


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 22 ม.ค. 10, 07:25
ขอบคุณ….คุณ Kurukula ใน คห37 ครับ
เพียงเท่านี้คลายความสงสัยได้มากเพียงพอครับ ผมเองประวัติศาสตร์เขมรไม่เอาเลยครับ เเต่ศิลปกรรม หิน สำริด ชอบมากครับ
ส่วนเรื่อง วัชรอาสน์เปล่านั้น ภาพจากสมุดข่อยเล่มนั้นผมมีอยู่ครับ ไม่เข้าเเนวคิดช่างเช่นกัน เพราะยังมีพื้นที่เพียงพอที่จะเขียนเเต่ไม่เขียน


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 22 ม.ค. 10, 07:29
ตอบคุณ Viraina
เรื่องรอยพระพุทธบาทที่ วัดพระรูป ในใจลึกๆเห็นว่าเป็น อยุธยายุคต้นเช่นกันครับ คาบเกี่ยวยุคกลางระยะเเรกเเต่ขอบอกเป็นอย่างน้อยไว้ก่อนด้วยเหตุผลว่า
1) อาจทำเลียนแบบจาก องค์ประกอบพระพุทธบาทที่วัดพระรามที่มีมาก่อนเป็นได้ เเละตามที่คุณ Kurukura กล่าว องค์ประกอบเเบบนี้พบน้อย แบบตารางเป็นที่นิยมมากกว่า ตั้งเเต่ สุโขทัย พุกาม หรืออาจถึง ทวารวดี ที่วัดเขาดีสลัก
2) ยักษ์เเบกมีเชือกคาดไชว้ที่หน้าอก มีมาก่อนจากยุคต้น เเล้วก็มีใช้เรื่อยมาในช่วงยุคกลาง มาแปลงเป็นสังวาลย์เเละตาบก็ค่อนมาทางยุคปลายเเล้ว( มีพระพุทธรูปสำริด องค์หนึ่งที่ห้อง อยุธยา พ.ช. พระนคร มีมารเเบกที่ฐาน เเละพระเเม่ธรณีบีบมวยผม สมัยอยุธยายุคกลาง มารเเบกมีลายละเอียดเหมือนกัน )
3) ปรากฎลวดลายประดับประเภท ลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นที่นิยมเเพร่หลายในหมู่ช่าง ล้านา สุโขทัย ตั้งเเต่ช่วงพุทธศตวรรษที่  20-21 และสัปคับบนหลังช้าง เป็นแบบกระทงเมือนกับที่ประดับบนธรรมมาสน์บุษบก จำหลักไม้ น่าจะพอเทียบเคียงได้ โดยเฉพาะในส่วนลวดลายดอก โบตั๋น ดอกนี้มีวิวัฒนากาลที่ยาวนานมากตั้งเเต่ สุโขทัย อยุธยาปลาย ถึงรัตนโกสินทร์

เรื่องการกำหนดอายุงานศิลปกรรมโดยเฉพาะที่เคลื่อนย้ายได้ทำได้ค่อนข้างลำบาก กว่าประติมากรรมติดที่เเละสถาปัตยกรรมมากครับ ด้วยสองอย่างหลังเราสามารถนำเอาเอกสารที่เชื่อถือได้แล้วมีระบุปีการสร้างมาสนับสนุนได้ แล้วดูเเผนผังพิจารณาว่าอยู่ในคราวเเรกสร้างหรือไม่ เเละเเยกส่วนซ่อมเสริมเติมเเต่งในภายหลัง ก็พอจะคะเนอายุได้ค่อนค้างเเน่นอน เเล้วเอาศิลปกรรมที่ไม่ทราบปีการสร้างมาเทียบเคียงเอาครับ
ส่วนศิลปะอยุธยาจะช่วงต้น กลาง ปลาย นั้นหลายท่านยึดเกณฑ์รูปเเบบเเละระยะเวลาเเตกต่างกัน คงไม่มีอะไรที่ตายตัวนักอย่างเช่น การจะบอกว่า ปรางค์เป็นประธานคือ รูปเเบบของสถาปัตยกรรมในยุคต้นก็ไม่ไช่ทีเดียวนัก เพราะเจดีย์ทรงระฆังก็มีมาแล้วตั้งเเต่ยุคต้นเช่น วัดธรรมมิกราช แล้ววัดชัยวัฒนารามก็ยังกลับมาใช้ปรางค์เป็นประธานตามเเบบคติดั้งเดิมอีกเดิม

ด้วยเรื่อง อายุสมัยนั้นตัวแปลมันเยอะมากๆๆๆครับ เช่น
ความเเตกต่างของหมู่ช่าง ช่างหลวง ช่างในเมือง ช่างชายขอบ
รสนิยม ความนิยมในหมู่ช่าง คตินิยม ต่างยุคต่างสมัย
วัตถุดิบ อุปกรณ์ ข้อมูล ระยะเวลา ประสบการณ์ อารมณ์
ความคิดสร้างสรรค์ ที่พยายามจะเเหกกฏ แล้วเป็นที่ยอมรับบ้าง ไม่รับบ้าง
ยิ่งในงาน จิตรกรรมมีการเเปรเปลี่ยนรวดเร็วที่สุด ด้วยเพราะเทคนิควิธีการนั้นเเสนจะเอื้ออำนวย เมื่อเทียบกับประติมากรรมเเกะสลักหินของเขมรแล้วจะเห็นได้ว่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ส่วนตัวผมให้นำ้หนักเรื่อง สุทรีย์ภาพความงามความคิดสร้างสรรค์มาก่อน คติความเชื่อตามมา  อายุสมัยเป็นอันดับสุดท้ายครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 22 ม.ค. 10, 07:31
จิตรกรรมวัดเกาะเเก้วสุวรรราราม อึดอัดเเละข้องใจมานานมากเช่นกันครับ คิดไว้เหมือนกันว่าอยากฟังความคิดเห็นจากท่านอื่นดูบ้าง เห็นด้วยเปิดเป็นกระทู้ใหม่ครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 22 ม.ค. 10, 09:40
สวัสดีครับ คุณ Chaichana-13

เรื่องพระบาทนั้น ต้องขอเวลาค้นสักหน่อยนะครับ เพราะถ้าไม่มีจารึกกำกับแล้ว ก็มีความเห็นแตกออกไปหลายกระแสเหมือนกัน

2.อย่างที่คุณ Chaichana-13 ว่า ยักษ์แบกมีเชือกไขว้ ปรากฏในสมัยอยุธยาตอนกลางเช่นเดียวกันครับ  ;)

3.เรื่องปรางค์เป็นประธาน หรือเจดีย์เป็นประธาน ค่อนข้างซับซ้อนครับ แต่ก็ำพอจะบอกได้ว่า ช่วงไหนเป็นอย่างไร วัดธรรมิกราชเอง เจดีย์แปดเหลี่ยมนั้นสร้างครอบเจดีย์อีกองค์หนึ่งอยู่ข้างใน


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 22 ม.ค. 10, 10:02
ส่วนตัวแล้ว เรื่องวัดเกาะยังหาอายุที่แน่นอนไม่ได้ แต่ตัวศักราช พ.ศ.2277 นั้น เมื่อรัชกาลที่ 5 และกรมนริศเสด็จประพาส ก็ได้ทอดพระเนตรทั้งสองพระองค์ ถ้าพระจะเขียนเติม ก็คงเขียนก่อนหน้านั้น

แต่ที่แน่นอนคือ วัดเกาะมีภาพ "พระพุทธบาททั้งสอง" คือพระบาทที่แม่น้ำนรรมทา และพระบาทที่เขาสัจจพันธคีรี แล้ว สำหรับพระบาทองค์หลัง คือพระบาทที่เขาสุวรรณบรรพต ซึ่งพบสมัยพระเจ้าทรงธรรม และสถาปนาให้เป็นพระพุทธบาทที่เขาสัจจพันธคีรี เช่นเดียวกับในพม่า พระเจ้าตลุงมิน ก็สถาปนาพระบาทที่ชเวเสตตอ ให้เป็นพระบาทที่แม่น้ำนรรมทาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือราวพุทธศตวรรษที่ 22

พระบาททั้งสองเป็นของคู่กันในอรรถกถาของปุโณวาทสูตร แสดงว่า อิทธิพลจากวรรณกรรมลังกาเล่มนี้ แำพร่เข้ามาและได้รับความนิยมในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมๆกัน

อย่างน้อยก็ขีดเ้ส้นอายุได้ว่า จะต้องหลังพบพระบาทที่สระบุรี และกว่าพระบาทที่สระบุรีจะได้รับความนิยมมาก จนเผยแพร่ไปทั่วถึงหัวเมือง ดังที่แต่งเป็นปุณโณวาทคำฉันท์ สมัยพระเจ้าบรมโกศ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 22 ม.ค. 10, 11:19
คุณChaichana-13 เองก็จับจุดตรงกับที่ผมสงสัยเลยครับ แต่ผมเองก็ยังไม่กล้าหาข้อสรุปเลยครับ  ;D


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: ฉันรักบางกอก ที่ 22 ม.ค. 10, 13:12
ป่ะ ไปถกกันในโบสถ์วัดเกาะกันเลยดีกว่า

เม่ือไหร่ดีนะ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 24 ม.ค. 10, 07:50
คุณ  ครับภาพจจาก คห 60 ลายปูนปั้นจากวัดอะไรครับ เหมือนพระพุทธรูปสำริดที่ พ.ช.พระนคร ต่างนิดหน่อยที่พระพุทธรูปสำริดจะมีพระเเม่ ธรณีองค์เล็กอู่ตรงกลาง ผมไม่รู้ว่าเเบบนี้จะมีที่ไหนอีก


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 24 ม.ค. 10, 22:01
ตอบ คุณChaichana-13

ปูนปั้นาจากวัดพระัปรางค์ วัดประจำชุมชนอุตสหกรรมเตาแม่น้ำน้อย สิงห์บุรีครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 24 ม.ค. 10, 22:02
รูปครับ เป็นปรางค์ขนาดเล็กๆ ตั้งอยู่ใกล้ๆเตาเผาขนาดมหึมาทีเดีัยว


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 02 ก.พ. 10, 23:50
เข้ามาอ่านกระทู้ครับ... อ่านไปอ่านมาจากนางดาน
ไหงมาถึงพระแม่ธรณี แล้วต่อด้วยพระบาทได้หว่า...
(เป็นปกติกระทู้เรือนไทยครับ หิหิ)


แอบไม่เห็นด้วยกับคุณกุรุกุลาอยู่หน่อย ว่า "ดอกไม้" ไม่น่าเป็น "สะดือ"
เพราะ ถ้าเอาไปเทียบกับ "ท้องแนบท้องโอ่ท้อง ดอกไม้ บัวบาน" แล้ว...
"สะดือ" จะบานยังไงล่ะครับ ?  8)


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 03 ก.พ. 10, 21:59
สะดือเป็นร่องบานครับ คุณติืบอ ออกตัวก่อนว่าไม่ใช่ความคิดผม เป็นความคิดของท่านอาจารย์สุจิตต์ ฉบับที่ผมใช้กับฉบับที่อยู่ในเรือนไทยนี้ ก็มีเนื้อความไม่ตรงกันด้วย


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 04 ก.พ. 10, 01:27
อุ๊!! ลืมไป... สงสัยผมจะสะดือจุ่นอยู่คนเดียวครับ  ;D


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: VesinaH ที่ 30 พ.ย. 10, 12:31
ภาพนางอัปสร


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: VesinaH ที่ 30 พ.ย. 10, 12:32
ภาพนางอัปสร


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 03 ธ.ค. 10, 22:12
สวัสดีครับ คุณ VesinaH  นางอัปสรสวยมากครับ ค่อนข้างแปลกใจว่า ปราสาทหินในเมืองไทยแทบจะไม่ปรากฏนางอัปสรเลย เท่าที่เห็นน่าจะมีที่ศรีขรภูมิ กับปราสาทตาเมือน (ซึ่งอยู่ในพื้นที่คลุมเครือเช่นเดียวกับเขาพระวิหาร) สงสัยว่าปราสาทในบ้านเราจะมีขนาดเล็กเกินไป หรือจะมีเหตุผลอื่่นๆก็ไม่ทราบครับ


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: VesinaH ที่ 04 ธ.ค. 10, 20:25
ผมเอามาประกอบเพราะมันสัมพันธ์กับท่าทางของนางกระดาน

เหมือนเป็นท่านิยมเลยนะครับ ในศิลปะสมัยอยุธยาก็ยังคงมีท่านี้สืบมา

เข้าใจว่านางอัปสรมีความสัมพันธ์กับเทวราชานะครับ อาจจะมีเฉพาะที่

สร้างเป็นมฤตกเทวาลัยก็ได้ครับ ที่อุทิศเป็นเฉพาะศาสนสถานไม่มี


กระทู้: ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 04 ธ.ค. 10, 20:44
คิดว่าเป็นเรื่องความคิดเฉพาะของช่างแต่ละท้องถิ่นมากกว่ากระมังครับ เพราะในเขมรเองก็มีทั้งในปราสาทขนาดเล็ก ที่ไม่ใ่ช่ปราสาทสำคัญ ของทั้งพราหมณ์และพุทธด้วย