เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 15 ม.ค. 08, 05:08



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 15 ม.ค. 08, 05:08
           ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าเมืองญวน ชื่อ อาต๋ากง ได้เร่งทำการขุดคลองลัดจากทะเลสาบเขมร ออกไปจนถึงเมืองบันทายมาศ ใกล้เขตแดนไทยเข้ามาทุกที  จนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงมีพระราชดำริว่า กองทัพญวนอาจจะยกทัพมารุกรานไทยได้ จึงทรงเห็นว่าเราควรที่จะสถาปนาเมืองสมุทรปราการขึ้นใหม่ หลังจากที่ต้องกลายเป็นเมืองร้างคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒
   
   ได้สร้างป้อมขึ้นทางฝั่งตะวันออกตรงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ๔ ป้อม  ที่เกาะกลางปากแม่น้ำอีก ๑ ป้อม คือ เกาะป้อมผีเสื้อสมุทร ข้างปากแม่น้ำฝั่งตะวันตกสร้างอีก ๑ ป้อม ชื่อ ป้อมนาคราช
 
           “…….อนึ่ง ข้างเหนือเกาะป้อมผีเสื้อสมุทร มีหาดทรายเกิดขึ้นกลางน้ำ ทรงพระราชดำริว่าจะสร้างพระเจดีย์ขึ้นที่หาดทรายนั้น ไว้เป็นที่สักการะบูชาเพื่อป้องกันอกุศลภัย อันเกิดจากจิตของพุทธศาสนิกชนทั้งปวงอันได้สัญจรไปมาในทางนี้ เมื่อได้เห็นได้บูชาพระมหาเจดีย์ จะได้เลื่อมใสเกิดกุศลจิตเป็นเครื่องบรรเทาเบาบางจากปรโลกยภัยลงได้บ้าง……"

   พระราชทานนามพระมหาเจดีย์นี้ว่า  “พระสมุทรเจดีย์” ด้วยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นศาสนสถานอันเป็น พระมหาเจดีย์คู่เมืองสมุทรปราการ และ เป็นเครื่องระลึกถึงพระราชกรณีย์กิจให้ปรากฏเป็นพระเกียรติยศในการบูรณะปรับปรุงเมืองสมุทรปราการจนแล้วเสร็จ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่เมื่อเริ่มถมศิลาเพิ่มฐานและขนาดของเกาะแล้วเสร็จ ยังไม่ทันได้เริ่มก่อสร้าง รัชกาลที่ ๒ ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระสมุทรเจดีย์ในยุคแรกดำเนินการก่อสร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ปี พ.ศ. ๒๓๗๑ 


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 15 ม.ค. 08, 05:15
การก่อสร้างเกาะป้อมผีเสื้อสมุทร เหนือป้อมมีเกาะขนาดเล็กฐานเป็นหาดทราย
(ภาพจิตรกรรมบนฝาผนัง ศาลาห้าห้องทรงยุโรป บนเกาะพระสมุทรเจดีย์)



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 15 ม.ค. 08, 05:20
รัชกาลที่ ๒ ทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ ซึ่งครั้งนั้นยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นศักดิ์พลเสพ กับ พระยาเพชรพิชัย (เกด) ซึ่งในเวลานั้นเป็นพระยาราชสงคราม ให้เขียนแผนผังรูปพระมหาเจดีย์ถวาย ได้ทอดพระเนตร และทรงปรับแต่งจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 15 ม.ค. 08, 05:30
แผนที่เมืองสมุทรปราการ สมัยรัชกาลที่ ๒
(สำรวจโดย มิสเตอร์จอร์น คลอเฟิต ชาวอังกฤษที่เข้ามาสอดแนมพื้นที่สยาม)
สังเกตุ เกาะป้อมผีเสื้อสมุทร และเกาะองค์พระสมุทรเจดีย์ มีฐานร่วมกันใต้แม่น้ำเจ้าพระยา
สีแดงบนฝั่งสองข้างแม่น้ำ คือ แนวป้อมปราการเมืองสมุทรปราการ



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 15 ม.ค. 08, 05:32
แผนที่เมืองสมุทรปราการ กรมแผนที่ทหารสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 15 ม.ค. 08, 09:30
สมัยรัชกาลที่ ๔ เกิดเหตุให้ต้องมีการปรับปรุงพระสมุทรเจดีย์ครั้งใหญ่ เมื่อมีโจรใจบาปปีนขึ้นไปบนพระเจดีย์ และเจาะเอาพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ออกไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างองค์พระเจดีย์ที่ใหญ่และสูงขึ้นครอบองค์พระเจดีย์เดิม เพิ่อไม่ให้เกิดการปีนขึ้นไปบนพระเจดีย์ได้อีก พระสมุทรเจดีย์ในสมัยต่อมา จึงมีลักษณะที่เด่นและงดงามสมบูรณ์ขึ้น

ภาพพระสมุทรเจดีย์ ในสมัยรัฃกาลที่ ๕ ที่มีผู้นำไปทำ ส.ค.ส.




กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 15 ม.ค. 08, 09:46
          ปัจจุบัน ไม่ปรากฏว่าพระสมุทรเจดีย์ หมดสภาพความเป็นเกาะไปเมื่อใด แต่จากภาพที่มีผู้ถ่ายไว้ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ "พระเจดีย์กลางน้ำ" ที่ชาวบ้านเคยเรียกกัน ก็ปรากฏกลายสภาพเป็นเหมือนวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาไป ทำให้เด็กรุ่นใหม่ แม้แต่ผมเองก็เริ่มสงสัยในประวัติ และวิวัฒนาการขององค์ศาสนสถานแห่งนี้ ว่าเกิดอะไรขึ้น



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 15 ม.ค. 08, 21:23
          เหตุใด ความเป็นเกาะหรือไม่เป็นเกาะขององค์พระสมุทรเจดีย์จึงมีความสำคัญ

          แหม่มแอนนา ลีโอโนเวน ผู้ซึ่งมีบันทึกว่า เคยถูกเชิญเข้ามาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในพระราชสำนักช่วงปี พ.ศ. ๒๔๐๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๑๐ แหม่มแอนนาถือเป็นฝรั่งชาวอังกฤษคนเดียวในขณะนั้นที่ได้ทำการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับความงาม และ ความยิ่งใหญ่ของเกาะองค์พระสมุทรเจดีย์หลังการปรับปรุงครั้งใหญ่ ระหว่างที่เธอนั่งเรือจากสันดอนปากอ่าวสยาม ผ่านเข้ามาทางเมืองสมุทรปราการ เป็นบันทึกลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๐๕ (๑ ปี หลังการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ สมัยรัชกาลที่ ๔)

“…..กลางแม่น้ำ ที่หน้าเมือง มีเกาะกลางอยู่ ๒ เกาะ เกาะแรกมีป้อมปราการ รอบเกาะเขียวไปด้วยต้นไม้…อีกเกาะหนึ่งเป็น เกาะเล็กกว่า มีวัดพุทธศาสนาก่อสร้างไว้อย่างสวยงาม และแปลกตาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะเมืองสยามที่จัดสร้างไว้อย่างยิ่งใหญ่ เปรียบได้ราวกับการสร้างปิรามิตที่อียิปเลยทีเดียว ชาวสยามเรียกว่า พระเจดีย์ (แหม่มแอนนา เขียนเป็น Phra Cha Dei) …..บนฝั่งแม่น้ำ ตรงข้ามเกาะทั้งสอง มีตึกที่ก่อสร้างพิเศษดูแตกต่างจากสภาพบ้านเรือนทั่วไปของเมืองสยาม ทราบภายหลังว่าเป็น พระราชวังฤดูร้อน ของพระเจ้าแผ่นดิน….”

-   ที่หน้าเมือง หมายถึง ศาลาว่าการเมืองสมุทรปราการ
-   เกาะแรกมีป้อมปราการ คือ เกาะป้อมผีเสื้อสมุทร
-   เกาะเล็กกว่า ก็คือ  เกาะองค์พระสมุทรเจดีย์ (แหม่มแอนนา เข้าใจผิดว่าเป็นวัด)
-   พระราชวังฤดูร้อน ก็คือ พระราชวังสมุทรปราการ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔
 
   แหม่มแอนนายังให้ความสนใจถึงความพยายาม และความศรัทธาของคณะผู้ก่อสร้างพระสมุทรเจดีย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ว่าจะต้องใช้วิธีการที่ยากลำบากเพียงใด ในการขนย้ายอิฐหินดินทราย ลำต้นตาล และ ศิลาขนาดใหญ่ ท่ามกลางกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวและลึกตรงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อข้ามไปทำการถมอัด และก่อฐานเกาะหาดทรายขนาดเล็กที่โผล่เพียงเนินออกมา จนกลายสภาพเป็นเกาะองค์พระสมุทรเจดีย์อันสง่างาม คู่เมืองสมุทรปราการ และเคียงคู่เกาะป้อมผีเสื้อสมุทร


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 16 ม.ค. 08, 23:02
         ในสมัยที่ยังไม่มีเครื่องบินใช้ การเดินทางเข้าออกประเทศไทยนิยมเดินทางโดยทางเรือ และเมื่อเดินทางจากทะเลอ่าวไทยเข้าสู่ปากน้ำเจ้าพระยา สิ่งแรกที่ทุกคนจะต้องเห็นก็คือ เกาะองค์พระสมุทรเจดีย์ ซึ่งชาวเรือทุกคนต่างก็มีความศรัทธาต้องแวะทอดเรือเพื่อ นมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ทุกครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล

          แม้ในหนังสือจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงเสด็จประภาสเมืองจันทบุรี รศ. ๙๕ (พ.ศ. ๒๔๑๙) ก็ยังมีบันทึกไว้ตอนหนึ่ง (ตัวสะกดตามอักษรเดิม) ว่า

“….เรือผ่านหน้าป้อมเสือซ่อนเล็บ มาทอดตรงพระสมุทเจดีย์ พระสมุทมาหาได้พูดกันด้วยเรื่องโทรเลขปากน้ำ แล้วมอบ เทียนไปบูชาพระสมุทเจดีย์ ๘ เล่ม เพราะจะไปทะเลแต่เดิมมา ก็ยังไม่เคยขาดเลยสักครั้งหนึ่ง ต้องบูชาทุกเที่ยว…..”

(พระสมุท ในที่นี้เป็นราชทินนามย่อของ พระสมุทบุรานุรักษ์ (เนตร) ผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรกของเมืองสมุทรปราการ )

   การเสด็จอีกครั้งนึง เป็นความในจดหมายเหตุ ภายหลังเสด็จพระราชดำเนินกลับจากการประทับ ณ เกาะสีชัง ได้เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเข้าสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองสมุทรปราการ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๓๐ มีพระราชนิพนธ์ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ ๒๔ บันทึกไว้ ความว่า

“...…วันพฤหัสบดี ขึ้น ๔ ค่ำเดือน ๑๒ ปีกุล นพศก ศักราช ๑๒๔๙ เวลาเช้า ๒ โมงครึ่ง เรือพระที่นั่งถึงสมุทรปราการ ทอดเรือพระที่นั่งตรงพระสมุทรเจดีย์ นมัสการพระสถูปและพระปฏิมาในพระวิหาร ทอดพระเนตรการต่างๆ…....”
 
           นับจากปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๐ เป็นเวลา ๑๑ ปี จะเห็นว่าขบวนเรือพระที่นั่ง เมื่อเข้าสู่ปากน้ำเจ้าพระยา จะต้องทอดเรือเพื่อทรงสักการะบูชาองค์พระสมุทรเจดีย์อยู่เสมอมิเคยขาด


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 16 ม.ค. 08, 23:58
ข้อความนี้คัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔  วันที่  ๘  พฤศจิกายน  จ.ศ. ๑๒๕๐ (พ.ศ. ๒๔๓๑)

"วัน ๒ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๒ ค่ำ  ปีชวดสัมฤทธิศก  เวลาบ่ายโมง ๑  เรือพระที่นั่งข้ามสันดอนเข้ามาเวลาบ่าย ๒ โมง  ถึงพระสมุทเจดีย์  ทอดเรือพระที่นั่ง  แล้วเสด็จขึ้นบนเกาะพระสมุทเจดีย์  ทรงปิดทองพระพุทธรูปในวิหาร ๓ องค์  มีพิณพาทยประโคม  แล้วเสด็จกลับเรือพระที่นั้ง  เวลาบ่าย ๔ โมง  ๑๕  มินิต  เดินเรือพระที่นั่งมาจากเมืองสมุทปราการ..."

วัน ๒ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๒ ค่ำ  ปีชวดสัมฤทธิศก   คือวันจันทร์ที่  ๑๗  กันยายน  จุลศักราช ๑๒๕๐  (พ.ศ. ๒๔๓๑)


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 17 ม.ค. 08, 15:56
โคลงพระราชทาน

         ในการเสด็จประพาสเมืองสมุทรปราการครั้งเดียวกัน ในช่วงเสด็จประภาสเมืองจันทบุรี รศ. ๙๕ (พ.ศ. ๒๔๑๙) นี้ รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงเรียกหาปราชญ์ท้องถิ่น ที่เป็นข้าหลวงประจำการอยู่ที่ป้อมปืนปากน้ำผู้หนึ่ง ซึ่งได้เคยแต่งโคลงเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๕ เอาไว้ คือ หลวงอินทรอาวุธ (เจ้ากรมทหารปืนใหญ่) เป็นโคลงที่ผู้แต่งบันทึกตั้งแนบไว้ในที่ลับ บังเอิญสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทอดพระเนตรเห็นเข้าพอดี ตั้งแต่การเสด็จมาปากน้ำครั้งก่อน สำนวนที่ทรงชื่นชอบและทรงจำได้มีอยู่ว่า

   “พระ บำรุงอยุทธเยศแม้น   เมืองอมร
   เดช  จบขจายจร      เจิดจ้า
   พระ  เลี้ยงรักราษฎร      ดลสุข ทั่วแฮ
   คุณ  พระผ่านภพหล้า   ปกเกล้าเหล่าทหาร
   
   อยู่  พึ่งพระเดชด้วย      บารมี
   เยน  ทั่วประชาชี      แช่มช้อย
   เปน ข้าละอองธุลี      ปวบาท พระยา
   ศุข  กระเษมใช่น้อย   รุ่งเรืองเริงใจ”


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 17 ม.ค. 08, 16:11
(ต่อ)

          ครั้งนั้น ทรงพอพระทัยในการแต่งถวายโคลงนี้เป็นอย่างมาก จึงทรง (นึกสนุก) ตั้งกระทู้สดในการเสด็จมาปากน้ำครั้งนี้ด้วย จนเป็นที่มาของโคลงพระราชทาน พระพุทธเจ้าหลวงทรงตั้งกระทู้ว่า “พระสมุทรเจดีย์” หลวงอินทรอาวุธ ก็ได้แก้กระทู้ตอบ ถวายอย่างทันท่วงทีว่า

   “พระ  ผู้ผ่านภพเกล้า   กรุงทวาร วดี
   สมุทร ปราการนัดรา               แรกตั้ง
   เจ     สัวอิกนานา      ประเทศ อื่นเอย
   ดีย์    มโนทั่วทั้ง      ไพร่ฟ้าประชาชน”
   
   เจ้านายหลายท่านที่ร่วมถวายการต้อนรับอยู่ในขณะนั้น ต่างก็ฮือฮาต้องใจในความสามารถทางภาษา และการแก้กระทู้สดถวายของหลวงอินทรอาวุธเป็นอย่างมาก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงรับฟังแล้วก็พอพระทัย แต่ก็ทรงดำริแนะนำไว้เล็กน้อยว่า เนื้อความออกจะไม่เกี่ยวข้องกับสถานที่องค์พระสมุทรเจดีย์ที่ทรงดำริไว้ในพระทัย แต่ออกจะเป็นไปทางสรรเสริญเยินยอกันเสียมากกว่า จึงตรัสตอบว่า

          “ความยังไม่กินกระทู้  เป็นคนละทาง แต่ต้องยกโทษให้ เพราะเปนปัจจุบันจริงๆ”

(คำว่า เปนปัจจุบัน ก็คือ การโต้ตอบโดยทันที)
แล้วจึงทรงพระราชนิพนธ์โคลงแก้กระทู้ประวัติศาสตร์ แด่ชาวสมุทรปราการ อีกด้วยว่า
 
   “พระ  สถูปธิราชสร้าง   ในสฐาน
   สมุท  ปราการตรง              เกาะนี้
   เจ     ดีย์ทิศไพหาร              ทรงเพิ่ม ใหม่แฮ
   ดีย์    ลกพระเกียรติชี้   เชิดให้บูชา”

 (หนังสือจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประภาสเมืองจันทบุรี รศ. ๙๕)


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 17 ม.ค. 08, 20:57
มีภาพพระสมุทรเจดีย์ ถ่ายโดย Mr. J. Antonio ฝรั่งผู้เข้ามาถ่ายภาพในเอเชียมากมายในสมัยรัชกาลที่ ๕
J. Antonio ได้คัดภาพพระสมุทรเจดีย์ที่งดงามที่สุด มาจัดทำเป็นไปรษณีย์บัตร คือภาพด้านล่างนี้



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 17 ม.ค. 08, 21:07
ภาพนี้ สังเกตุดวงตราไปรษณีย์ลงวันที่ ๔-๒-๑๒๙ (ร.ศ. ๑๒๙ คือปี พ.ศ. ๒๔๕๓)
เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณลุงเผด็จ ดาวเจริญ



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 18 ม.ค. 08, 14:08
     ตั้งแต่จำความได้ ผมเห็นหลายบ้านในตลาดปากน้ำ ตั้งภาพนี้บูชา โดยที่ไม่มีใครตอบได้ว่ามีที่มาอย่างไร จนเมื่อได้เห็นภาพนี้จากหนังสือ “ไปรษณียบัตรเจ้าฟ้า” พระนิพนธ์โดยพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พวกเราก็ยิ่งเกิดความภาคภูมิใจ ด้วยเพราะพระองค์ท่านได้ทรงอธิบายถึงพระผู้จัดส่งภาพ คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก  และตัวอักษรที่ปรากฏบนภาพด้วยว่าหมายความถึงใคร อันเป็นความซาบซึ่งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้   

 


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 19 ม.ค. 08, 07:38
ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ มีการบูรณะสิ่งก่อสร้างบนเกาะองค์พระสมุทรเจดียครั้งใหญ่ (สมัยนี้ยังเป็นเกาะอยู่)
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้คู่ควรกับความยิ่งใหญ่ของพระสมุทรเจดีย์

ทั้งนี้เพราะภาพพระสมุทรเจดีย์ ได้รับการคัดเลือกให้ปรากฏลงด้านหลังธนบัตรฉบับใบละ ๑ บาท ๕ บาท ๑๐ บาท และ ๒๐ บาท โดยด้านหน้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๗



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 19 ม.ค. 08, 07:40
ด้านหลัง



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 19 ม.ค. 08, 07:48
ทันใช้ธนบัตรรุ่นนี้มั้ยครับ
หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า ด้านข้างองค์พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๙ ไม่ใช่วัดพระแก้วนะครับ
แท้จริงก็คือ ภาพพระสมุทรเจดีย์



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 19 ม.ค. 08, 08:03
ปีใหม่ที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปเที่ยวพม่า
ไปแม่น้ำย่างกุ้ง เมืองสิเรียม เพื่อข้ามไปกราบพระเจดีย์กลางน้ำ
ทำให้รู้สึกเสียดายว่า ที่บ้านผมก็เคยมี (อันเป็นที่มาของการนำกระทู้นี้มาเสนอครับ)

 


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 ม.ค. 08, 10:39
ขอบคุณครับ อ่านสนุกได้สาระดีจริงๆ


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 20 ม.ค. 08, 02:45
ขอบคุณมากครับ... :)


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 21 ม.ค. 08, 16:12
งานนมัสการพระสมุทรเจดีย์ (งานเจดีย์)

           เมืองสมุทรปราการ เป็นแหล่งรวมของชุมชนหลายเชื้อชาติ
 
-   ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา และตลาดในตัวเมืองจะเป็นที่อยู่ของชาวจีน ที่ชำนาญด้านการประมงและค้าขาย
-   ที่พระประแดงเป็นที่อยู่ชาวมอญ
-   ชาวสยามชอบที่จะอาศัยอยู่ภายในคลองตั้งแต่คลองปากน้ำ ลึกไปถึงคลองสำโรงที่บางพลี

           เมื่อถึงหน้ากฐินสมัยที่ยังมีคลองติดต่อกัน จะปรากฏงานประจำปีที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ๓ เชื้อชาติ ตามลำดับ คือ งานโยนบัวรับบัว งานบุญพระประแดง และงานเจดีย์ ทั้งสามงานจะประสานความเป็นมิตรต่อกัน ด้วยเหตุที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เมืองพระประแดงลงไป เป็นพื้นที่น้ำกร่อย ไม่มีแหล่งดอกบัวที่จะนำไปบูชาในงานวัด  เมื่อถึงหน้างานบุญ ชาวมอญจะต้องพากันแจวเรือเข้าไปในคลองสำโรงเพื่อเก็บดอกบัว

-   ชาวสยาม จะจัดเตรียมงานโยนบัว เพื่อให้ชาวมอญรับบัวบนเรือนั้น (ฉลอง ๓ วัน)
-   ชาวมอญ จะตระเตรียมดอกไม้ทั้งหมด เพื่อคอยต้อนรับชาวปากน้ำที่พระประแดง (๑ วัน)
-   ชาวปากน้ำ จะจัดขบวนเรือแห่ผ้าแดง แจวเรือไปเมืองพระประแดง ชาวมอญจะให้การต้อนรับ มีเลี้ยงกลางวัน แล้วรับดอกบัวจากชาวมอญ เพื่อนำมาใช้ในงานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ (ปัจจุบัน ฉลองงานกัน ๑๐ วัน ๑๐ คืน)


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 21 ม.ค. 08, 17:41
มหรสพกลางแม่น้ำเจ้าพระยา
   
   ปี พ.ศ. ๒๓๗๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จจากพระบรมมหาราชวังโดยทางชลมารค พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ข้าราชการน้อยใหญ่ เถรานุเถระนำด้วยขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ และพระไตรปิฎก (ต่อมาถูกโจรขโมยไป) มาบรรจุไว้ตรงบริเวณคอระฆังคว่ำขององค์พระเจดีย์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทำการสมโภชครั้งนั้นอย่างยิ่งใหญ่ พระองค์ได้ทรงตั้งสัตยาธิฐานในการที่ได้ทรงก่อสร้างองค์พระสมุทรเจดีย์ในครั้งนี้แล้วเสร็จ ตามพระประสงค์ของพระราชบิดา (รัชกาลที่ ๒)

           จากภาพจิตรกรรมฝาผนัง ณ ศาลาทรงยุโรปบนเกาะองค์พระสมุทรเจดีย์ เป็นการจัดงานมหรสพ (งานเจดีย์) ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๓ กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฝั่งเกาะองค์พระสมุทรเจดีย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ผิวน้ำสงบนิ่ง ราษฎรที่เข้ามาร่วมสมโภชงาน หลังจากเข้านมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์แล้ว ต่างแจวเรือเข้าเที่ยวแวะชมการแสดงต่างๆที่จัดบนเวทีเรือนแพ กลางลำแม่น้ำตามใจชอบ ครั้งนั้น มีการจัดงานกันถึง ๕ วัน ๕ คืน




กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 21 ม.ค. 08, 17:43
ประกาศงานพระสมุทรเจดีย์
 รศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓)
   
   มีประกาศการจัดเตรียมงานสมโภช นมัสการพระสมุทรเจดีย์ ประจำปี รศ. ๑๒๙ กำหนดวันที่ ๒๕ – ๒๖ ตุลาคม ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

บ่าย วันที่ ๒๔ ตุลาคม   เชิญผ้าสำหรับห่มองค์พระเจดีย์ลงเรือแห่ ผู้มีศรัทธาดังเคย ให้นำเรือมาโยงเรือผ้า ณ. ที่พักผู้ว่าราชการเมือง แห่เข้าคลองปากน้ำแล้วย้อนกลับเข้ามา แห่ไปห่มพระสมุทรเจดีย์ต่อไป
บ่าย วันที่ ๒๕ ตุลาคม   ตรงกับวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ มีการละเล่นต่างๆ ช่วงบ่าย
-   เด็กผู้ชายนุ่งกระสอบวิ่งแข่ง
-   ขึ้นเสาน้ำมันเอาสิ่งของ
-   ก้มหน้างมสิ่งของในอ่างแป้ง
-   เด็กผู้ชายปิดตาชกมวย
-   เด็กผู้ชายผูกบั้นเอว ๓ คนพวงหนึ่ง ยื้อแย่งเงิน
-   ปล่อยบอลลูน (ลูกโป่ง) ขึ้นอากาศ
การละเล่นในช่วงค่ำ
-   ที่หน้าเมือง (ศาลากลาง) ออกร้านขายสิ่งของ
-   ที่หน้าเมืองมียี่เกแต่งตัว
-   ที่วัดกลางมีเพลง และออกร้านขายสิ่งของ
-   บนเกาะพระเจดีย์มีเครื่องสาย และกลองยาว
สมควรจุดดอกไม้เพลิงต่างๆ ที่พระสมุทรเจดีย์ (กลับบ้าน)

รุ่งขึ้น ๒๖ ตุลาคม      มีการละเล่นเวลาย่ำรุ่งดังนี้
-   แข่งเรือพายหลายคน
-   แข่งเรือแจวตอนหัวเรือลำละ ๑ คน
-   แข่งเรือพายหัวเรือใส่หัวโขนลำละ ๑ คน
-   ไต่ราวไม่ไผ่ไม่ให้ตกน้ำ
-   ว่ายน้ำแข่งทาง ๑๕ วา
-   ปล่อยบอลลูน (ลูกโปร่ง) ปิดงาน

   ผู้ใดจะนำเรือมาแข่งขันหรือจะสมัครมาแข่งขันดังกล่าวแล้ว ก็ให้เตรียมเรือไปที่เรือทุ่นเจ้าพนักงานต่อไป เป็นการเสร็จในงานประชุมนมัสการพระสมุทรเจดีย์

                     ผู้รั้งเมืองสมุทรปราการ

อนึ่ง   เงินรายได้ ด้วยมีบริษัท รถไฟปากน้ำ  ออก ๓๐๐ บาท และจะเก็บรายได้จากค่าเช่าร้าน แผงลอย ค่าเรือจ้างอีกราว ๑๐๐ บาท ก็จะคิดเฉลี่ยให้เป็นการเพียงพอให้สนุกครึกครื้นต่อไป
 
คัดย่อ และ ปรับข้อความให้พอเข้าใจตามสมัย จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 21 ม.ค. 08, 17:47
         เชิญผ้าสำหรับห่มองค์พระเจดีย์ลงเรือแห่ ผู้มีศรัทธาดังเคย ให้นำเรือมาโยงเรือผ้า ณ. ที่พักผู้ว่าราชการเมือง แห่เข้าคลองปากน้ำแล้วย้อนกลับเข้ามา แห่ไปห่มพระสมุทรเจดีย์ต่อไป (แห่ผ้า ปี พ.ศ. ๒๔๖๙)



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 21 ม.ค. 08, 17:50
 มีการละเล่นเวลาย่ำรุ่งดังนี้

-   แข่งเรือพายหลายคน
-   แข่งเรือแจวตอนหัวเรือลำละ ๑ คน
-   แข่งเรือพายหัวเรือใส่หัวโขนลำละ ๑ คน
-   ไต่ราวไม่ไผ่ไม่ให้ตกน้ำ
-   ว่ายน้ำแข่งทาง ๑๕ วา
-   ปล่อยบอลลูน (ลูกโปร่ง) ปิดงาน



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 21 ม.ค. 08, 18:06
ผ้าแดงที่ร่วมใจกันแห่ จะถูกนำขึ้นห่มบริเวณรอบคอระฆังคว่ำ บนพระเจดีย์อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
เป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นก็เริ่มการฉลองงาน

ภาพงานเจดีย์ ร.ศ. ๑๑๒ ศิลปินชาวฝรั่งเศส (มีเวลาว่างมาก หลังชนะไทยในการรบที่ปากน้ำ วิกฤติ ร.ศ.๑๑๒)





กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 22 ม.ค. 08, 17:20
ภาพ ช่วงการยิงต่อสู้กันที่ปากน้ำ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)
พระสมุทรเจดีย์ โดดเด่นท่ามกลางห่ากระสุนระหว่างเรือรบฝรั่งเศสกับปืนป้อมผีเสื้อสมุทร

(ผ่านร้อนผ่านหนาว แม้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ อเมริกาใช้กำลังปิดปากอ่าวด้วยการวางทุ่นระเบิดตลอดแนวปากน้ำเจ้าพระยา)



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 22 ม.ค. 08, 22:38
มีบทกวีหลายบทที่รวบรวมได้ในวันนี้ (หลังจากเซ็งๆเรื่องหุ้นตก)
เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับการเสด็จเมืองสมุทรปราการ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกบท

“เรือใบใช้จักรกว้าง      คือปาน ลมเฮย
ถึงสมุทรปราการ      ปากน้ำ
พระสมุทรเจดีย์      ที่นมัส การเฮย
ขอเดชพระช่วยค้ำ      คู่ค้ำ คืนครอง”       

นอกจากนี้ ก็มีพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงอุปถัมภ์องค์พระสมุทรเจดีย์ไว้ในกาพย์เห่เรือ แห่ชมระยะทางไปปากน้ำ ความตอนหนึ่งว่า

“.…ผีเสื้อสมุทรป้อม   หนึ่งนั้นย่อมดูแข็งขลัง
ยิงปืนครืนครืนดัง      คำนับองค์พระทรงศร
สมุทรเจดีย์      ปูชนีย์ประณมกร
เอี่ยมโอ่สโมสร      กลางวิมลชลธาร….”    

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ มีผู้เขียนบทกลอนเกี่ยวกับองค์พระเจดีย์ ในนิราชเตหลี คือ พลเรือตรีจวบ หงสกุล มีใจความดั่งทหารหาญว่า

“เรือแล่นผ่านพระเจดีย์ที่เคารพ   ประนมนบจบศีรษ์เป็นที่หมาย
ช่วยคุ้มครองป้องกันอันตราย              ถึงตัวตายขอให้ชาติได้ปราศภัย”     

ท่านยังได้กล่าวถึงผู้ที่ฉ้อราษฎร์ ทรยศต่อชาติในสมัยนั้นอีกด้วยว่า

“ขอบนบานศาลกล่าวท่านเหล่านี้         พระเจดีย์ช่วยสดับตรัสสรรเสริญ
หากกลับตัวกลัวธรรมจงเจริญ      แม้นหมางเมินมิกลับให้ยับไป”
         
อ่านแล้วก็ให้คิดถึง ว่าสามารถนำมาใช้ในเหตุการณ์ปัจุบันได้เหมือนกัน

 


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 24 ม.ค. 08, 14:53
เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ

ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ในการเสด็จกลับจากยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ระหว่างที่ขบวนเสด็จทอดเรือ ณ เกาะสีชัง ขบวนข้าราชบริพารได้รีบเดินทางล่วงหน้าเพื่อตระเตรียมพิธีรับเสด็จที่กรุงเทพฯ
มีผู้ถ่ายภาพขบวนรับเสด็จ แลเห็นเกาะองค์พระสมุทรเจดีย์อยุ่ไกลๆ (เป็นภาพที่ชัดเจนที่สุด)



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 24 ม.ค. 08, 14:59
ภาพถ่ายทางอากาศ ๕๕ ปีต่อมา (ปี พ.ศ. ๒๕๐๕)

เกาะองค์พระสมุทรเจดีย์ อยู่ริมแม่น้ำ
ด้านล่าง คือ โรงเรียนนายเรือ หน้าโรงเรียนเดิมมีทางรถไฟสายปากน้ำ (เลิกกิจการปีนั้นพอดี)



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 24 ม.ค. 08, 15:14
ผมยิ่งลงไปศึกษา ก็ยิ่งมีเรื่องราวน่าสนใจ และตกใจ
เพราะตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ได้สุ่มคำถามชาวปากน้ำที่รู้จักว่าพระสมุทรเจดีย์ไปอยู่ริมน้ำได้อย่างไร?

ปรากฏว่า ๓๕% เชื่อสนิทใจตามที่มีผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า ถูกน้ำทะเลซัดจากกลางน้ำไปติดฝั่ง
ในตำราเรียนเขียนว่า สันนิจฐาน ว่าเคยเป็นเกาะมาก่อน

ใครที่มีความรู้เรื่องชายฝั่งริมแม่น้ำ และพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยกรุณาเพื่อเป็นวิทยาทานด้วยนะครับ
 


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 30 ม.ค. 08, 17:36
(ขอบพระคุณ คุณอรัญญา พิรุณ จากอำเภอพระสมุทรเจดีย์ กรุณาส่ง EMAIL มา แจ้งว่า)

   มีบันทึกในหนังสือ “เปิดกรุภาพเก่า” โดยคุณเอนก นาวิกมูล อ้างอิงข้อความในหนังสือสวนกุหลาบวิทยาลัย ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๒ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ (ปลายสมัยรัชกาลที่ ๖) หน้า ๗๕๑ กล่าวว่า เมื่อคณะลูกเสือของโรงเรียนไปเที่ยวที่นี่ พระสมุทรเจดีย์ในสมัยนั้นกลายเป็นที่รกร้าง ขนาดมีลิงป่ายกพวกมารื้อกระเบื้องมุงหลังคาเล่น และยังมีผู้ร้ายพาผู้หญิงมาทำอนาจาร ภายในพระวิหารหลวงเต็มไปด้วยค้างคาว ช่างไม่เหลือภาพความงามขององค์พระเจดีย์กลางน้ำอย่างภาพที่เห็นใน ส.ค.ส. และไปรษณีย์บัตรที่ถ่ายไว้ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกเลย

   ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ชาวบ้านทั้งสองฝั่งปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เกิดความเสียดายความเป็น “พระเจดีย์กลางน้ำ” พยายามที่จะกู้ความเป็นเกาะขององค์พระสมุทรเจดีย์กลับคืนมา มีผู้ยกที่ดินในบริเวณใกล้เคียงให้พระสมุทรเจดีย์ ทางราชการจึงได้จัดงบประมาณในการปรับปรุงภูมิทัศน์และขุดคู โดยรอบองค์พระสมุทรเจดีย์ ถมดินบริเวณฐานองค์พระเจดีย์เพื่อป้องกันน้ำท่วม  สร้างท่าน้ำ ศาลาหน้าวิหาร ก่อฐานต้นโพธิ์ใหม่  ใช้เวลา ๑ ปีจึงแล้วเสร็จจนเกิดเป็นพระเจดีย์กลางน้ำอีกครั้ง เพื่อให้ทันงานสมโภชองค์พระสมุทรเจดีย์ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗  จนกระทั่งวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ พระสมุทรเจดีย์ และองค์ประกอบต่างๆจึงได้รับการขึ้นบัญชีโบราณสถาน และศิลปะวัตถุ ภายใต้ระเบียบและการดูแลของกรมศิลปากร

   เป็นที่น่าเสียดาย สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒  มีพระราชกฤษฎีกา ยุบจังหวัดสมุทรปราการไปขึ้นกับนครบาลกรุงเทพธนบุรี และมีประกาศตั้งเป็นจังหวัดสมุทรปราการอีกครั้งเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๙ ช่วงระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกาะองค์พระสมุทรปราการขาดผู้รับผิดชอบในการดูแลรักษา สภาพทั่วไปรอบเกาะจึงถูกละเลยทอดทิ้งจนกระทั่งเกิดการทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว 


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 30 ม.ค. 08, 17:42
(ต่อ)

          พระสมุทรเจดีย์ หมดสิ้นความเป็นเกาะลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดการเปลี่ยนทิศทางการไหล ก่อให้เกิดแผ่นดินตลิ่งงอกอย่างรวดเร็วจนถึงตัวเกาะ แม้จะมีความตั้งใจที่จะป้องกันไม่ให้ตลิ่งงอกออกมาจนถึงองค์พระเจดีย์อีกครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะคงความเป็นเกาะขององค์พระเจดีย์เอาไว้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ด้วยเพราะดินตะกอนจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกิดจากการไหลเชี่ยวมากขึ้นของลำน้ำเข้ามากองบนคูที่ขุดไว้อย่างรวดเร็ว

   คุณลุงเชือน ดีสุคนธ์ อายุ ๘๖ ปี ชาวบ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ (เขตอำเภอพระสมุทรเจดีย์) ผู้ที่อาศัยเดินทางระหว่างสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้มาตั้งแต่จำความได้ กล่าวด้วยความเสียดายว่า
 
“……หลังจากที่ทางการได้เริ่มขุดร่องน้ำเจ้าพระยาเพื่อให้เรือใหญ่สามารถล่องผ่านสันดอนตรงปากอ่าวไทย เข้าสู่ท่าเรือกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๓  ดินเลนตรงก้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไม่เคยมีเรือใหญ่กินน้ำลึกแล่นไปรบกวนมาก่อน จึงถูกคุ้ยให้ขุ่นกระจายเป็นตะกอน ประกอบกับกระแสน้ำเจ้าพระยาได้ไหลออกสู่ทะเลเร็วและเชี่ยวกรากทันตา เปลี่ยนทางเดินของดินตะกอนเข้ามาทับถมประชิดเกาะองค์พระสมุทรเจดีย์กันวันต่อวัน นั่นหมายความว่า วันใดที่มีชาวบ้านช่วยกันขุดรอกดินออก ภายในเวลาเพียงข้ามวัน ก็จะมีตะกอนดินกลับเข้ามากองจนเต็มรอบเกาะองค์พระเจดีย์……”

(ปรับข้อความให้เข้าใจง่ายขึ้น ขออนุญาติคุณอรัญญา พิรุณ แล้ว)


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 30 ม.ค. 08, 17:49
ภาพ โดยความอนุเคราะห์จาก คุณเอนก นาวิกมูล
(ถ่ายระหว่างสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ ๕)

ภาพไม่ค่อยคุ้น เพราะเป็นภาพเดียวที่ถ่ายจากด้านหลังเกาะองค์พระสมุทรเจดีย์
ไม่ทราบว่าบรรพบุรุษทั้งสองที่แจวเรืออยู่ จะคิดอย่างไร ถ้าทราบว่าบริเวณที่แจวเรืออยู่นี้
ปัจจุบัน ถูกถมเป็นลานจอดรถไปแล้ว





กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 30 ม.ค. 08, 17:54
ภาพถ่ายทางอากาศ จาก google

พื้นที่สีแดง ก็คือ พื้นที่เกาะองค์พระสมุทรเจดีย์ดั้งเดิม



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 ม.ค. 08, 19:45
ขอบคุณคุณปากน้ำเจ้าพระยาที่อุตสาหะค้นคว้าเรื่องนี้มาแบ่งปันกันครับ

รูปข้างล่างนี้ capture มาจาก www.pointasia.com นะครับ

ดูจากรูปจะเห็นได้ว่าแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนี้เป็นช่วงหัวโค้งพอดี โดยธรรมชาติเมื่อน้ำไหลมาแรงจะพุ่งเข้าปะทะด้านนอกโค้ง กัดเซาะตลิ่งเข้าไปทำให้แม่น้ำกว้างขึ้น

การที่แม่น้ำกว้างขึ้นนั้น ส่งผลให้ด้านในโค้งมีอัตราการไหลของน้ำช้าลง ซึ่งการที่น้ำไหลช้านี่แหละครับทำให้เกิดการตกตะกอนในบริเวณนั้น การเกิดขึ้นของเกาะพระสมุทรเจดีย์เป็นสัญญาณบอกเหตุอยู่แต่แรกแล้วว่าพื้นที่ตรงนี้จะต้องตื้นเขินกลายเป็นแผ่นดินไปในที่สุด ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของสายน้ำครับ

ดังนั้นถ้าต้องการให้คงสภาพเกาะจริงๆต้องแก้ที่ต้นเหตุครับ ลำพังขุดลอกคลองที่คั่นระหว่างเกาะกับแผ่นดินอย่างที่เคยทำกันมานั้นไม่เพียงพอ ต้องสร้างเขื่อนล้ำขึ้นไปในแนวแม่น้ำเพื่อแบ่งน้ำให้ไหลลงมาเข้าคลองนี้บางส่วนครับ ถ้าเป็นสมัยก่อน ทำเป็นเขื่อนดินคงเอาไม่อยู่ แต่เทคโนโลยีปัจจุบัน เขื่อนคอนกรีตผมว่ารับมือเรื่องนี้ได้ครับ

อยู่ที่ว่าเราจะต้องการอย่างนั้นหรือไม่เท่านั้นเอง


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 30 ม.ค. 08, 22:09
ผมเห็นด้วยกับคุณ CrazyHOrse ครับ

ยังมีอีกเหตุผลนึง ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นเหตุที่เร่งให้ความเป็นเกาะพระสมุทรเจดีย์หายไปเร็วยิ่งขึ้น นั่นคือ ชาวบ้านในเขตรอบเกาะ ที่อาศัยจังหวะแผ่นดินงอกตามธรรมชาติ รุกล้ำถมที่ลงแม่น้ำทีละน้อย ก็ไม่ทราบเหมือนกันเมื่อครั้งที่มีการบริจาคที่ดินให้ช่วยบูรณะเกาะ ที่ดินเหล่านั้น เคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาแท้ๆ เขาได้มาอย่างไร

ที่ผมตั้งข้อสังเกตไปที่ชาวบ้านรอบเกาะ ก็เพราะเหตุที่ยังมีเกาะคู่พระสมุทรเจดีย์ คือ เกาะป้อมผีเสื้อสมุทร (อยู่ด้านซ้ายของแม่น้ำตามภาพของคุณ CrazyHOrse) ปรากฏว่ายังคงสภาพเกาะอยู่ได้ ทั้งที่อยู่ช่วงโค้งเดียวกันกับพระสมุทรเจดีย์ ทั้งนี่ก็ด้วยป้อมผีเสื้อสมุทรเป็นพื้นที่ในเขตรับผิดชอบของกองทัพเรือ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปยุ่ง ผมจึงพอ (ทึกทัก) สรุปเอาว่า ถ้าเกาะพระสมุทรเจดีย์ อยู่ในเขตพื้นที่ทหารเหมือนกัน เหตุการณ์อาจไม่เกิดรวดเร็วอย่างนี้นะครับ


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 31 ม.ค. 08, 00:12
ดิฉันว่าสาเหตุมาจากทางภูมิศาสตร์กายภาพ และทางสังคมค่ะ
ทางกายภาพ เนื่องจากดิฉันเกิดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่คุณแม่บอกว่าฝั่งโน้นทรุด ฝั่งนี้งอก..สำหรับดิฉัน ไม่เห็นมันจะงอกตรงไหน
เรือสันดอนแล่นผ่านบ้านเราทุกวัน ขุดลอกสันดอนจนสัตว์น้ำ กุ้งก้ามกรามตัวโตๆค่อยๆสูญไป และอีกอย่างน้ำเสียจากกรุงเทพไหลลงมาเรื่อยๆ
วิถีชีวิตเปลี่ยน เรือสัญจรสบายๆเรือพาย เรือยนต์กลายเป็นเรือหางยาวนรก..
ตลาดน้ำ หรือเรือกาแฟ เรือปลาทู เรือกับข้าว เรือข้าวโพดคั่ว ล้มหายตายจากไปช้าๆ..พายดีไม่ดี โดนคลื่นนรกซัดที ต้องคัดท้ายไต่ลอนคลื่นให้อยู่ในร่องบ่อยๆ
เรือหางยาวสวยๆงามๆรุ่นก่อนขับดีๆก็หยุดกลางคัน เพราะถุงพลาสติคพันใบพัด จอดแกะกันกลางแม่น้ำ
พระเจดีย์กลางน้ำคือจุดรวมศรัทธาของคนพระประแดงและพระสมุทรเจดีย์ คุณยายทันได้เห็นพระเจดีย์กลางน้ำ ...ส่วนคุณแม่เล่าว่า ไปเที่ยวงานสมโภชพระเจดีย์กลางน้ำตอนสาวๆกับคุณป้า แล้วเข็ดไม่ไปอีกเลย เพราะมีพวกโรคจิตเยอะ..
..........
ปัญหากายภาพและสังคมผสมๆกันค่ะ
ผ่านแม่น้ำไปทางนั้นทีไร ปลงจริงๆ


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 31 ม.ค. 08, 22:25
ดูท่าว่า บ้านเกิดคุณกุ้งแห้งเยอรมัน จะไม่ห่างจากบ้านผมนักนะครับ

เมื่อตอนเย็นนี้เอง ผมได้แวะเข้าไปคุยกับท่านเจ้าอาวาสวัดมหาวงษ์ (พระจารย์เปี๊ยก) วัดที่อยู่ฝั่งตรงข้ามพระสมุทรเจดีย์ ท่านได้เล่าเรื่องครั้งเมื่อขุดสันดอน เปิดร่องน้ำเจ้าพระยาใหม่ๆ เหมือนกันครับว่า

"เวลาเรือใหญ่เข้ามาแต่ละที จะคล้ายกับสึนามิ เพราะเรือใหญ่จะดูดน้ำจากฝั่งจนแห้งเข้าไปใต้ท้องเรือกลางแม่น้ำ จากนั้นอีกไม่นาน ก็จะเกิดคลื่นซัดกลับรุนแรงจนเรือเล็กคว่ำไม่เป็นท่า จานชามที่ล้างตากไว้ก็ล้มละเนละนาด คลื่นกระทบลึกเข้าไปในคลองมหาวงษ์เป็นกิโลเมตรเลยตรับ"

ที่แปลกอีกอย่างท่านเจ้าอาวาสบอกว่า เป็นครั้งแรกที่ท่านเห็นแมงกระพรุนเข้ามาที่ปากน้ำ แสดงว่าไม่เฉพาะเรือใหญ่ที่เข้ามานะครับ น้ำทะเลก็ใหลเข้ามาอย่างรวดเร็วเหมือนกัน ชาวบ้านในคลอง เดิมมีอาชีพทำสวน ไม่นานก็ต้องเลิกเพราะน้ำเค็มเกินไป


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 01 ก.พ. 08, 09:21
บ้านเกิดดิฉันขึ้นด้วยบาง....ค่ะ.. เห็นเรือใหญ่เข้าออกทุกวัน สีสันสดใส บางวันมีลุ้น พุ่งเข้าบ้านป้าใหญ่ ป้าใหญ่วิ่งจุดธูปปักแทบไม่ทัน คุณพระช่วย.. ลูกเรือเอาสมอลงทัน
มีดงลำพู .. มีหิ่งห้อย ที่เราเด็กๆชอบจับเข้ามาใส่มุ้ง ปิดไฟมืดตื๋อ ให้วับๆในมุ้งเราเล่น สวยดี
หน้าน้ำ มีสวะกอเขียว ไสว สด ส่วนที่พองๆมาหั่นเล่นขายของ ส่วนที่เป็นเหมือนสายบัวมาหั่นเล่นใส่กระทง สวะมามากก็กั้นด้วยไม้รวก และว่างๆก็เขี่ยลงไปให้บ้านอื่นเขี่ยต่อออกปากน้ำ
มีน้ำขึ้นน้ำลง .. น้ำแห้ง
เดี๋ยวนี้ไม่มีหน้าน้ำแห้งค่ะ งงๆว่า มันแย่ขนาดนั้นแล้วนะเนี่ย


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 02 ก.พ. 08, 19:22
ภาพ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ไม่ทราบผู้ถ่ายภาพ)

วิถีชีวิตชาวปากน้ำฝั่งตรงข้ามพระสมุทรเจดีย์ ปากคลองโพงพาง (ชาวบ้านกำลังอาบน้ำ)
ปัจจุบัน เป็นซุ้มขายของที่ก่อสร้างค่อมคลองไว้ สภาพนั้นไม่ขออธิบาย (กลัวคุณกุ้งแห้งเยอรมันจะยิ่ง งงๆ อีก)
เพราะชาวบ้านตั้งฉายาคลองนี้กันติดปากว่า "คลองน้ำเน่า"



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 02 ก.พ. 08, 19:35
ภาพ เกาะนี้อยู่หน้าท่าน้ำวัดอรุณฯ เห็นมีศาลา ไม้พวกปาล์ม ไทร (ดูแล้วคิดถึงการ์ตูน "ขายหัวเราะ" ที่มักใช้เป็นมุขคนติดเกาะ)

ภาพนี้น่าจะถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๔ เพราะสมัยรัชกาลที่ ๕ เกาะนี้ก็หายไปแล้ว ส่วนสาเหตุจะแตกต่างจากเกาะพระสมุทรเจดีย์ที่แผ่นดินงอกมาติดเกาะ เพราะเกาะนี้ถูกแรงเซาะของแม่น้ำเจ้าพระยา จนค่อยๆหายไป



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.พ. 08, 10:43
         ติดตามอ่าน ดูมาตลอด ครับ อ่านไป ฮ้มเพลง ลาทีปากน้ำไป
เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงสุนทราภรณ์ที่ดังมากๆ เมื่อเกือบสี่สิบปีมาแล้ว


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: Natalee ที่ 03 ก.พ. 08, 22:15
จากความคิดเห็นที่ ๔๒ อาจจะเป็นต้นอินทผาลัม ตามที่เคยมีใครอธิบายไว้ค่ะ


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 05 ก.พ. 08, 12:57
เรื่องพระบรมสารีริกธาตุที่หายไป

   ผมมีคำถามที่คาใจมานาน แต่ดูเหมือนจะมีบันทึกไว้ผ่านๆ และสั้นๆ ว่า

 “….หลังจากที่ได้มีการก่อสร้างพระสมุทรเจดีย์ แล้วเสร็จ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พร้อมกับมีงานสมโภชกันใหญ่โต ต่อมา พระบรมสารีริกธาตุก็ถูกคนร้ายแอบปีนขึ้นไปขุดเจาะ และขโมยออกไป…..”
 
    ตามบันทึกในประวัติศาสตร์และในแบบเรียนนั้นได้กล่าวไว้ค่อนข้างน้อยมาก จนเกิดข้อสงสัยขึ้นมาเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับพระบรมสารีริกธาตุชุดแรกที่หายไปในสมัยรับกาลที่ ๓ กันแน่


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 05 ก.พ. 08, 13:03
ยิ่งทำการค้นคว้า ก็ยิ่งมีผู้รู้ให้ความอนุเคราะห์ ผมได้รับบันทึกเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่จัดทำ และเรียบเรียงโดยจังหวัดสมุทรปราการ พิมพ์แจกเมื่อคราวพิธีเปิดอาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลังใหม่ในปี ๒๕๒๑ มีการขยายความเกี่ยวกับพระบรมสาริกธาตุชุดที่ ๑ โดยนายชวลิต เอี่ยมโอภาส เอาไว้ว่า

   ในประวัติศาสตร์งานนมัสการพระสมุทรเจดีย์ สมัยรัชกาลที่ ๓ ตอนปลายนั้น ชาวเมืองปากน้ำ สมุทรปราการ ต่างก็ร่ำลือกันมานานแล้วว่า องค์พระเจดีย์ที่ชาวบ้านต่างไปกราบไหว้กันในขณะนั้น เป็นองค์พระเจดีย์ว่าง ที่ไม่มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ ทั้งนี้เพราะปรากฏว่า มีคนร้ายได้ลอบปีนขึ้นไปขุดเจาะและขโมยเอาพระบรมสารีริกธาตุ กับพระพุทธรูปออกไปแล้ว แต่ด้วยความเกรงกลัวพระราชอาญาของนายทหารรักษาการณ์ที่เฝ้าอยู่รอบองค์พระสมุทรเจดีย์ จึงได้มีการปีนขึ้นไปใช้ปูนโบกทับแล้วทาสีทับไว้ดังเดิม ชาวบ้านที่ร่ำลือกันต่างก็ไม่มีใครกล้าขึ้นไปเจาะพิสูจน์ ด้วยกลัวจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครอยากจะไปขัดใจกัน กับพวกทหารรักษาการณ์ พระสมุทรเจดีย์จึงถูกปล่อยไว้โดยไม่มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ เป็นเวลานานนับ ๑๐ ปี

   ความเพิ่งจะมาทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อมีชาวบ้านเข้าแจ้งความดังกล่าวต่อเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี จนท่านเจ้าพระยาได้เข้ากราบทูลให้ทรงทราบ ด้วยเห็นจังหวะในระหว่างครั้งเมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จมาในงานกฐินหลวงที่วัดกลางวรวิหารในปี พ.ศ.๒๔๐๑ กระทั่งเป็นที่มาของการโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่พร้อมกับการสร้างพระมหาเจดีย์ใหญ่ ครอบองค์เดิม ก่อสร้างวิหาร พร้อมหล่อพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร สิ่งต่างๆรอบองค์พระเจดีย์ และได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุชุดใหม่จำนวน ๑๒ องค์จากพระบรมมหาราชวัง มาประดิษฐานไว้ ณ บริเวณคอระฆังองค์พระสมุทรเจดีย์ใหม่ เพื่อเป็นการปลอบขวัญให้ชาวสมุทรปราการได้กราบไหว้กันจนถึงปัจจุบัน


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 05 ก.พ. 08, 13:09
ภาพ บนฝาผนังศาลาทรงยุโรป เกาะพระสมุทรเจดีย์

พระเจดีย์เดิมที่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๓ รูปทรงพระเจดีย์ไม่สูง ฐานเป็นขั้น ทำให้ง่ายต่อการปีน
จนถูกโจรขึ้นไปเจาะแล้วขโมยพระบรมสารีริกธาตุออกไป



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 05 ก.พ. 08, 13:15
ภาพ พระสมุทรเจดีย์ หลังการบูรณะปฏิสังขรณ์สมัยรัชกาลที่ ๔
โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระเจดีย์สูง ๑๙ วา ๒ ศอก (สูงและกว้างเพื่อป้องกันการปีนขึ้นโดยง่าย)ครอบองค์พระเจดีย์เดิม



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 05 ก.พ. 08, 13:39
ครอบครัว ”รุ่งแจ้ง” ผู้ปีนขึ้นห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์
   
   ในการจัดงานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ วัตถุประสงค์หลักของงานก็คือ การแห่ผ้าแดง นอกจากการห่มผ้าแดงรอบบริเวณที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุแล้ว เป้าหมายอีกอย่างตามพระราชดำริของพระผู้ดำเนินการก่อสร้าง ก็เพื่อต้องการให้ชาวต่างชาติที่เดินเรือเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา จะได้เห็นผ้าแดงดั่งธงชาติสยามขนาดใหญ่ รอบพระสมุทรเจดีย์เด่นเป็นสง่าอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
    
   แต่หลังการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระเจดีย์องค์ใหม่ที่ทั้งกว้างใหญ่ และสูงขึ้น เพื่อป้องกันการปีนของพวกหัวขโมย เมื่อถึงวันงานเจดีย์กลับกลายเป็นอุปสรรค์ในการปีนขึ้นไปห่มผ้าแดง ไม่ว่าจะบังคับขู่เข็นอย่างไรก็ไม่มีใครกล้าที่จะเสี่ยงปีน จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถหาคนมาทำการขึ้นไปห่มผ้าแดงองค์พระสมุทรเจดีย์ได้ พิธีการสมโภชองค์พระสมุทรเจดีย์ครั้งนั้น เห็นทีจะไม่สามารถสำเร็จสมบูรณ์ได้ ถ้าไม่มีการห่มผ้าแดงที่ชาวบ้านอุตส่าห์ร่วมมือร่วมใจกันเย็บแล้วแห่ข้ามแม่น้ำมา ในที่สุดก็เกิดผู้กล้าอาสาปีนขึ้นไป ทราบชื่อว่านายรอด รุ่งแจ้ง  นายรอด คือ ชาวบ้านคนแรกที่ได้ปีนขึ้นไปบนองค์พระสมุทรเจดีย์ และทำการห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์จนสำเร็จ

   ต่อมานายรอด รุ่งแจ้ง ได้ฝึกผู้ช่วยอาสาสมัครที่เป็นลูกชายอีก ๒ คน คือนายบาง รุ่งแจ้ง และนายจำรัส รุ่งแจ้ง ทั้ง ๓ ท่านผู้กล้าหาญนี้ได้ใช้ความสามารถในการร่วมกันเป็นทีมม้วนผ้าแดง แล้วปีนขึ้นไปทำการห่มรอบองค์พระเจดีย์จนสำเร็จทุกครั้ง ได้รับความเคารพนับถือจากชาว ๒ ฝั่งปากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ครอบครัวรุ่งแจ้ง ก็จะได้รับเกียรติในการทำพิธีขึ้นห่มผ้าแดงรอบองค์พระสมุทรเจดีย์ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา ก่อนนายรอด นายบาง และนายจำรัส รุ่งแจ้ง เสียชีวิต ก็ได้ฝึกฝนทาญาติรุ่นหลานและเหลนของนายรอด รุ่งแจ้ง กระทำการแทนจนเป็นประเพณีของงานเจดีย์ในปัจจุบัน


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 05 ก.พ. 08, 13:43
ภาพ โดยเจ้ากาวิลวงศ์ ณ เชียงใหม่ งานเจดีย์ปี พ.ศ.๒๕๐๕
ครอบครัวรุ่งแจ้งกำลังทำพิธีห่มผ้าแดงรอบองค์พระเจดีย์



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 05 ก.พ. 08, 13:51
พระสมุทรเจดีย์ หลังการห่มผ้าแดง (ปี พ.ศ.๒๔๙๖)แล้วเสร็จ ก็เป็นอันเริ่มการฉลองงาน
ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ 05 ก.พ. 08, 14:01
เมื่อพระมหาเจดีย์ ไม่อยู่กลางน้ำ



กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 23 ต.ค. 10, 08:03
เมื่อวันก่อนไปดูระดับน้ำหน้าศาลากลางกับในตลาดสด ก็ยังไม่วิกฤตนัก พิจารณาว่าพอจะรับน้ำเหนือไหวอยู่
ประมาณว่าอีกสามสิบเซนติเมตรน้ำถึงจะล้นเข้าพื้นที่ตลาด มองพระสมุทรเจดีย์ฝั่งตรงข้ามนึกขึ้นได้ว่ากระทู้นี้อยู่ เลยเข้ามาอ่านซ้ำเพื่อทวนความรู้ครับ





กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 23 ต.ค. 10, 09:18
เอารูปปัจุบันมาให้ได้ดูกันค่ะ เวลานี้ คนปากน้ำจะมาพระสมุทรเจดีย์จะต้องนั่งเรือข้ามฝากเข้่าคลองเล็ก ๆ ข้างพระสมุทรเจดีย์ ไปขึ้นที่ท่าหน้าวัดค่ะ แต่ดิฉันใช้วิธีขับรถขึ้นสะพานกาญจนาภิเษก สดวกกว่ากันมากค่ะ และวิวบนสะพานก็สวยทีเดียว


กระทู้: พระสมุทรเจดีย์ เมื่อพระมหาเจดีย์ไม่อยู่กลางน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 23 ต.ค. 10, 09:52
ถ่ายภาพไว้เมื่อต้นปีนี้ อาคารฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโน้น .. โรงเรียนนายเรือ

เทียบกับที่ระบุในแผนที่เก่าที่เขียนว่าโรงเรียนทหารเรือที่ ๔ ข้างวัดมหาวงศ์ คือโรงเรียนนายเรือในปัจจุบัน