เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 13:00



กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 13:00
ต่อจากกระทู้

ละเลงเลือด(ฝรั่งเศส)ที่สมรภูมิบ้านพร้าว (http://www.reurnthai.com/index.php?action=post;topic=4942.270;num_replies=280)


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 13:21
ในพ.ศ. 2484  ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจที่สยายกรงเล็บครอบคลุมเอเชียอาคเนย์เอาไว้ในตอนนั้น     แล้วตัดสินใจว่าจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น  แต่จะแบ่งโลกออกเป็น 2 ซีก   ทางยุโรปเป็นของเยอรมันซึ่งมีอิตาลีเป็นพันธมิตร    ส่วนทางเอเชีย  ญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำ
แผนนี้ถ้าทำสำเร็จ  ญี่ปุ่นก็เป็นเจ้าครึ่งโลก    เหลือประเทศเดียวที่ขวางกลางเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ขวางคอ   ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากสหรัฐอเมริกา

ญี่ปุ่นตัดสินใจบุกสายฟ้าแลบ  ถือว่าใครลงมือก่อนคนนั้นได้เปรียบ    ด้วยเหตุนี้ในเช้าวันที่ 7 ธันวาคม 2484   ฐานทัพของอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล หรือเรียกทับศัพท์ว่าเพิร์ล ฮาเบอร์ ในรัฐฮาไวอิ  กลางมหาสมุทรแปซิฟิค ยังไม่ทันตั้งตัวว่าเกิดอะไรขึ้น    ฝูงเครื่องบินรบของญี่ปุ่นก็พุ่งเข้าทิ้งระเบิดปูพรม ถล่มเรือรบของอเมริกาอย่างไม่ยอมให้มีโอกาสตอบโต้


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 13:26
แผนถล่มเพิร์ล ฮาเบอร์วางไว้ลึกล้ำเอาการ  เพราะเรื่องจะเข้าโจมตีฐานทัพระดับบิ๊ก ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ   ประเภทอยากบินก็บินเข้าไปทิ้งระเบิดได้ง่ายๆ    ทางโน้นเขามีการป้องกันตัวเหนียวแน่นอยู่แล้ว   ญี่ปุ่นจึงลงมือด้วยการซ่อนกองเรือบรรทุกเครื่องบินไว้ในเรือรบลำใหญ่  แล่นไปในมหาสมุทร ลอยลำเข้าใกล้อ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   แล้วปล่อยเครื่องบินรบจากเรือ   บินต่ำเพื่อหลบคลื่นเรดาร์
ฐานทัพของอเมริกาตรวจพบเครื่องบิน 400 ลำกำลังบินใกล้เข้าเกาะ   แต่ไม่เฉลียวใจ คิดว่าเป็นเครื่องบินอเมริกันด้วยกันบินกลับมาจากจีน    จึงไม่ได้เตรียมตัวรับมือแต่อย่างใด   ว่ากันว่าเครื่องบินรบของกองทัพญี่ปุ่นบินอยู่เหนือหัว ในขณะที่ทหารเรืออเมริกันกำลังตกปลาอยู่เพลิดเพลินด้วยซ้ำไป

เจ้าของแผนการรบคือนายพลเรืออิโซโรกุ ยามาโมโต    เขาดัดแปลงระเบิดตอร์ปิโด ด้วยการใส่ไม้รูปทรงคล้ายๆกล่องเข้าไปที่ใบพัดจึงทำให้สามารถยิงในน้ำตื้นได้
ภายในไม่กี่นาทีที่ฝูงบินรบโจมตีแบบสายฟ้าแลบ   อเมริกาสูญเสียอย่างหนัก   เสียทหาร 2408 นาย เรือรบ 18 ลำ เครื่องบิน 400 ลำ
อีกสามชั่วโมงต่อมา  กองทัพญี่ปุ่นก็บุกฟิลิปปินส์   ฮ่องกง มาเลย์เซีย  และประเทศไทย


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 13:55
จากฐานทัพญี่ปุ่นในอินโดจีนฝรั่งเศส   ญี่ปุ่นส่งกำลังพลมุ่งลงทางใต้   แบ่งกำลังเป็นกำลังทางบกผ่านเข้าทางจังหวัดพระตะบอง  เข้าชายแดนไทยทางอรัญประเทศ    แต่กองกำลังทางบกยังถือเป็นส่วนน้อย  กำลังหลักคือทางเรือ  เป็นขบวนเรือลำเลียง    มีเรือประจัญบาน   เรือลาดตระเวน   เรือพิฆาตคุ้มกัน     และกองบินรบคอยบินตระเวนและคุ้มกันกองเรือลำเลียงพล

ขบวนเรือลำเลียง พร้อมเรือรบคุ้มกันเคลื่อนพลจากท่าเรือซังจา ทิศใต้ของเกาะไหหลำ ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2484    ในบ่ายวันที่ 6 ธันวาคม  เครื่องบินทะเลชื่อคาตาลีนาของฐานทัพอังกฤษในสิงคโปร์ เห็นกองเรือญี่ปุ่น  ก็ส่งรายงานให้รู้ พร้อมกับรายงานว่ามรสุมในอ่าวไทยค่อนข้างแรง  คลื่นสูง 1-2 เมตร  เมฆลอยต่ำและมีลมกรรโชกแรง
แต่เครื่องบินคาทาลีนาก็ชะตาขาด   ถูกเครื่องบินขับไล่จากฐานทัพอากาศที่ไซ่ง่อน 2 เครื่อง รุมกินโต๊ะ ยิงจนตกทะเล
คลื่นลมในทะเลยังรุนแรงต่อไปจนถึงวันที่ 8 ธันวาคม  แต่ไม่ได้ทำให้กองทัพเรือญี่ปุ่นสะทกสะท้านแต่อย่างใด   คงเดินหน้าเข้ามาในอ่าวไทยไม่ละลด


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 14:27
สารด่วนจากรัฐบาลอังกฤษถึงรัฐบาลไทย


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 14:50
สารของทูตอังกฤษลงวันที่ 8 ธันวาคม   ถึงด่วนที่สุดยังไงก็ด่วนไม่ทันการเสียแล้ว  :'(


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 14:59
วันที่ 6 ธันวาคม  ท่านทูตบริติชยังไม่ทันจะร่างจดหมาย     จอมพลป.ผู้นำของไทยก็เกิดมีภารกิจต้องออกจากเมืองหลวงไปตรวจเยี่ยมทหาร  ดูความพร้อมของกำลังรบและตรวจตราสถานการณ์บ้านเมือง   ณ จังหวัดปราจีนบุรี  พิบูลสงครามและพระตะบอง   ท่านจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามว่าญี่ปุ่นกำลังสวนทางเข้ามาแล้ว
ผู้ติดตามท่านนายกฯไป มีพลตรีหลวงวิชิตสงคราม  เสนาธิการกองทัพบก  และพลต.หลวงเสรีเริงฤทธิ์  อธิบดีกรมรถไฟ ติดตามขบวนไปด้วย   

ส่วนประชาชนชาวไทยไม่รู้เรื่อง   จึงไม่เฉลียวใจเรื่องใดๆทั้งหมด      เพราะเมืองหลวงในช่วงนั้นเป็นฤดูหนาว อากาศกำลังเย็นสบาย   เป็นเวลาที่จัดงานกลางคืนงานใหญ่คืองานฉลองรัฐธรรมนูญที่ยาวติดต่อกันหลายวันหลายคืน      นับเป็นงานโก้ออกหน้าออกตาของชาวพระนคร  ที่จะเดินเที่ยวกันได้ตั้งแต่เช้าไปจนดึกดื่น    คนไทยก็เลยเที่ยวงานกันอย่างร่าเริงบันเทิงใจ

วันที่ 7 ธันวาคม   เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นพร้อมกับทูตทหารขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี   เพื่อยื่นข้อเสนอให้ประเทศไทยเปิดทางให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนผ่านไปได้อย่างสะดวกสบาย   เพื่อจะไปรบกับอังกฤษในมลายู และพม่า 
ในคืนวันที่ 7 นั้นเอง  เรือเดินทะเลลำหนึ่งชื่อซิดนีย์มารู ก็ลอยลำเข้ามาจอดเงียบๆที่บางปู     ในนั้นมีทหารญี่ปุ่นขนมาเพียบเต็มกำลังเรือ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 02 มี.ค. 12, 15:00
ขอคั่น เอาลิงค์ไฟล์ บทความเกี่ยวกับญี่ปุ่นบุกปัตตานี และสงขลามาฝากครับ

http://www.4shared.com/office/eqlBoOwa/_online.html (http://www.4shared.com/office/eqlBoOwa/_online.html)

http://www.4shared.com/office/-UCCM8wg/_online.html (http://www.4shared.com/office/-UCCM8wg/_online.html)



กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 15:09
^


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 15:22
ก่อนหน้านี้คนไทยคุ้นกับชาวญี่ปุ่นในฐานะชาวต่างชาติที่เป็นมิตรดี   จะว่าไปเราก็เปิดประตูต้อนรับคนต่างชาติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว  ไม่ได้รังเกียจรังงอน   ญี่ปุ่นทยอยกันเข้ามาตั้งร้านถ่ายรูปบ้าง เป็นหมอฟันบ้าง ขายสินค้าญี่ปุ่นในเมืองไทยมาหลายปี โดยไม่มีปัญหาอะไร    คนไทยไม่เคยระแวงสักนิดเดียวว่า คนเหล่านี้แท้จริงเป็นสายของกองทัพญี่ปุ่นทั้งสิ้น

แม้แต่กองทัพบก ซึ่งเล็งเห็นสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้ว่าไทยเสี่ยงกับสงครามจากญี่ปุ่นบุกแน่นอน    ถึงกับมีการประชุมกันตั้งแต่เดือนตุลาคม   สั่งให้ตรวจภูมิประเทศบริเวณพื้นที่ชายทะเลภาคใต้  มีพ.อ.หลวงสวัสดิกลยุทธ  เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 6  เป็นหัวหน้าคณะตรวจภูมิประเทศ      ผลการตรวจสรุปได้ว่า จังหวัดชายทะเลภาคใต้ทุกจังหวัดเป็นจุดที่ข้าศึกสามารถยกพลขึ้นบกได้ทุกแห่ง
ขนาดนายทหารที่มีวิสัยทัศน์ไกลคนหนึ่งชื่อร.อ. ประชุม ตาตะยานนท์ หรือต่อมาคือพล ท.ประชุม ประสิทธิ์สุรศักดิ์  ผู้บังคับกองร้อยที่ 4   เป็นผู้แทนของกองพันทหารราบที่ 39  ได้เสนอในที่ประชุมว่า  ข้าศึกอาจยกพลขึ้นที่ท่าแพ จ.นครศรีธรรมราช  แล้วเคลื่อนที่เข้ายึดหน่วยทหารต่อไปได้     
การประเมินของร.อ.ประชุม แม่นยำราวกับตาเห็น    เพราะญี่ปุ่นบุกตามนั้นจริงๆ 


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 15:33
คืนวันที่ 7 ล่วงเข้าวันใหม่ของวันที่ 8 ธันวาคม  ชาวกรุงเทพเที่ยวงานรัฐธรรมนูญจนเต็มอิ่มแล้วก็กลับเข้าบ้าน นอนหลับกันอย่างสุโข   ไม่ได้ระแคะระคายเลยว่าในถนนบางสายของเมืองหลวง  ชาวญี่ปุ่นที่ยิ้มแย้มติดต่อค้าขายอยู่กับชาวบ้านมาหลายปี  จู่ๆก็กลับเข้าห้อง เปิดหีบหยิบเครื่องแบบทหารญี่ปุ่นบ้าง  เครื่องแบบพลเรือนกลาโหมของญี่ปุ่นบ้าง ขึ้นมาผลัดเปลี่ยนกับชุดธรรมดา     แล้วรวมพลกันเคลื่อนกำลังออกไปอย่างพร้อมเพรียง  เพื่อสมทบกับกองทัพญี่ปุ่นที่กำลังยกพลขึ้นบก หลายทางด้วยกัน

ตั้งแต่ตีสองไปจนเช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม  กองทัพญี่ปุ่นที่มีเรือลำเลียงพล  เรือรบและเครื่องบินรบ  ก็บุกไทยแบบสายฟ้าแลบ  เข้าทางใต้ของไทยในหลายจุดด้วยกัน    ทหารและยุวชนไทยทางใต้ก็สู้รบกันเต็มที่ไม่ยอมถอย
ส่วนทางกรุงเทพก็เข้ามาทางปากน้ำ    คนไทยตื่นนอนขึ้นมาก็พบว่าญี่ปุ่นเข้ามาเต็มเมืองแล้ว   ทหารไทยในกรุงเทพก็ปักหลักยิงญี่ปุ่นไม่ยอมให้ล่วงล้ำเข้ามา

รัฐบาลประชุมกันอย่างเคร่งเครียดว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี      ในที่สุดก็ตกลงกันว่ายอมประนีประนอมดีกว่า เพื่อไม่ให้เสียเลือดเนื้อ  เพราะสู้ไปก็คงสู้ไม่ได้    คำสั่งจึงออกมาอย่างเร่งด่วน  ให้ทหารหยุดยิง


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 15:39
พลต.บัญชา แก้วเกตุทอง   หรือร้อยโทบุญช่วย แก้วเกตุทอง ชื่อและยศในขณะนั้น   ได้เขียนบันทึกไว้ในเหตุการณ์วันนี้ ขอเรียบเรียงมาเล่าสู่กันฟัง

" เมื่อรัฐบาลไทยตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังทหารผ่านประเทศไทย    เพื่อเข้ายึดพม่า    มณฑลทหารบกที่ 6  จึงสั่งให้ทหารหยุดยิง   โดยพ.อ. หลวงสวัสดิกลยุทธ  นั่งรถยนต์ปักธงขาวไปทางถนนราชดำเนิน    แล้วออกคำสั่งให้ทหารไทยหยุดยิง
ผมได้นำทหารถอนกลับมา   เมื่อผ่านกองรักษาการ ได้เห็นพันตรีทหารญี่ปุ่นกำลังเจรจากับพลตรีหลวงเสนาณรงค์    มีข้อความในการเจรจาตอนหนึ่งซึ่งผมได้ยินด้วยหูผมเอง  (ไม่ใช่คำบอกเล่า)ดังนี้   
หลวงเสนาณรงค์ได้พูดกับพันตรีทหารญี่ปุ่นว่า "เราหยุดยิง   และถอนกำลังมา  ตามคำสั่งของรัฐบาล   มิใช่เรายอมแพ้ท่าน    ถ้าท่านคิดว่าเรายอมแพ้   ข้าพเจ้าจะสั่งให้กำลังของเราเข้าประจำแนว แล้วรบกับท่านต่อไป"


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 15:40
ขอพักรบก่อนค่ะ    เชิญท่านปุจฉาวิสัชนากันต่อไปตามสะดวก


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 16:18
มีคำถามที่ถามกันตั้งแต่วันนั้น มาถึงบัดนี้ไม่มีคำตอบ คือ

๑ กองทัพเรือของเราไปอยู่ที่ไหนกันหมด ญี่ปุ่นยกพลมาขนาดนี้ ทำไมไม่รู้ไม่เห็น

ถ้ารู้ถ้าเห็นคงเป็นอย่าง เรือปริ็นซ์ออฟเวลส์ อันเป็นเรือประจันบานที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของอังกฤษ กับเรือรีพัลส์ซึ่งใหญ่ใกล้เคียงกันซึ่งถูกส่งมาคุ้มครองอาณานิคมมลายูและสิงคโปร์ เรือสองลำนี้ออกเดินทางมุ่งมาอ่าวไทยในทันทีที่ได้รับรายงานการเคลื่อนไหว ญี่ปุ่นรออยู่แล้วจึงส่งเครื่องบินจากไซ่ง่อนเข้าโจมตีด้วยระเบิดและตอร์ปิโด ส่งเรือที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองลงไปสู่ท้องทะเลในเวลาเพียงไม่กี่นาที

เพราะทหารเรือจะรู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง หรือมีใครส่งสัญญาณให้อยู่นิ่งๆ เงียบๆไว้

๒ ทำไมเช้าวันนั้น ก่อนจะได้รับสารจากอังกฤษ จอมพลป.พิบูลสงครามจึงเกิดความจำเป็นจะต้องไปตรวจราชการโดยรถยนต์ที่อรัญประเทศ และเลยไปถึงพระตะบองโดยเร่งด่วนไม่มีกำหนดการล่วงหน้า นอกจากทำหนังสือมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการสำคัญแทนทิ้งเอาไว้ที่ทำเนียบ

การที่ทหารญี่ปุ่นยกพลลงเรือมาทั้งกองทัพจากไซ่ง่อน ถ้าสายลับไทยไม่รู้ไม่เห็นไม่รายงาน ก็น่าจะถูกเขกกระบาน เป็นไปได้ไหมว่าท่านนายกรู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า แต่ไม่ต้องการจะเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจ ยอมหรือไม่ยอม ต่อคำขอของกองทัพญี่ปุ่น ในนาทีแรก

รอให้สถานการณ์อะไรสักอย่างเกิดขึ้นไปทีหนึ่งก่อน แล้วตนจึงจะเข้าไปแก้ไข ดีกว่าจะเป็นผู้ตัดสินใจจะไปซ้ายหรือขวาเสียเอง ซึ่งเสี่ยงต่อความเสียหายทั้งขึ้นทั้งล่อง



กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 16:29
ทหารญี่ปุ่นมาถึงอรัญประเทศหลังจากที่นายกรัฐมนตรีบึ่งรถกลับเข้ากรุงเทพได้ไม่นาน ท่านเข้าไปลึกถึงพระตะบอง หรือท่านไม่ทราบจริงๆว่ากองทัพญี่ปุ่นกำลังมุ่งหน้ามาไทยแล้ว

ถนนหนทางในสมัยนั้นย่ำแย่พอๆกับรถ ถึงจะเป็นรถประจำตำแหน่งของนายกก็เถอะ ถ้าเกิดยางแตกหยุดเปลี่ยนยาง ก็มีสิทธิ์ตกเป็นเชลยของญี่ปุ่นได้ง่ายๆ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 16:34
แต่ก็ยังแปลกอยู่ดี ที่ทหารไทยซึ่งรักษาเมืองเขมรต่างๆที่เพิ่งยึดคืนมาจากฝรั่งเศส ไม่มีจุดใดที่ยิงต่อสู้กับญี่ปุ่นก่อนคำสั่งหยุดยิงจะประกาศออกไปเลย ให้ผ่านทั้งนั้น

ไม่เหมือนทหารที่รักษาแผ่นดินแม่ ญี่ปุ่นทะเล่อทะล่ายกพลขึ้นบกมาถูกยิงตายเกลื่อน ด่ากันให้ขรมไหนบอกว่าเจรจากับไทยไว้แล้วว่าให้ผ่าน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 16:47
การยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นในเมืองไทย ขาดปฏิบัติการที่สำคัญคือการถล่มชายหาดเพื่อกวาดล้างการต่อต้าน แฟนหนังสงครามคงจะจำได้ วันD-dayก่อนจะส่งทหารลงเรือเปิดหัวเข้าไปยึดหัวหาด เรือรบอเมริกันยิงถล่มหาดนอร์มังดีเสียไม่รู้กี่พันนัดได้ นั่น มันควรจะเกิดอย่างนั้น การยกพลขึ้นบกในมลายู ญี่ปุ่นยังส่งกองทัพอากาศไปปูพรมแนวรับของทหารอังกฤษเสียจนเสียศูนย์

ดังนั้นจะประหลาดใจอะไร ที่นายกรัฐมนตรีกลับถึงกรุงเทพก็วิ่งตรงดิ่งเข้าห้องประชุม ไม่นานนักมติค.ร.ม.เรื่องยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านได้ก็คลอด





กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 17:00
ทหารญี่ปุ่นมาถึงอรัญประเทศหลังจากที่นายกรัฐมนตรีบึ่งรถกลับเข้ากรุงเทพได้ไม่นาน ท่านเข้าไปลึกถึงพระตะบอง หรือท่านไม่ทราบจริงๆว่ากองทัพญี่ปุ่นกำลังมุ่งหน้ามาไทยแล้ว

ถนนหนทางในสมัยนั้นย่ำแย่พอๆกับรถ ถึงจะเป็นรถประจำตำแหน่งของนายกก็เถอะ ถ้าเกิดยางแตกหยุดเปลี่ยนยาง ก็มีสิทธิ์ตกเป็นเชลยของญี่ปุ่นได้ง่ายๆ

พอจะตอบเส้นทางไปราชการของจอมพลป. ได้ค่ะ  มีบันทึกไว้ละเอียดในหนังสืองานอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ว่า
จอมพลป.และคณะนั่งรถยนต์ออกจากกรุงเทพไปตั้งแต่เช้ามืด  แวะรับประทานมื้อกลางวันแล้วเดินทางต่อไปยังอรัญประเทศ  วันรุ่งขึ้นคือ 7 ธันวาคม  ไปถึงวัฒนานคร  ออกจากวัฒนานครแล้วไปกินมื้อกลางวันที่พระตะบอง   แล้วเดินทางต่อไปยังอ.พิบูลสงคราม   แต่ไปไม่ถึง เพราะมืดเสียก่อน    ท่านกับคณะจึงกลับมาพักที่วัฒนานครตามเดิม
ที่วัฒนานครนี้เอง ได้รับโทรเลขจากพล ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัสตอนห้าทุ่มถึงการเคลื่อนไหวของกองทัพญี่ปุ่น     ท่านก็เดินทางกลับมาทันที  มาถึงหินกอง สระบุรีตอนสว่าง    พอถึงกรุงเทพก็เข้าประชุมรัฐมนตรีทันที
คืนที่นายกรัฐมนตรีเดินทางจากวัฒนานครมาถึงหินกอง     ทางใต้และตะวันออกก็รบพุ่งกันทั้งคืน   ล้มตายกันไปมากมายทั้งสองฝ่าย

สรุปว่าท่านนายกฯ ไปถึงพระตะบอง  แต่ไม่เจอกองทัพญี่ปุ่นที่ยกไปทางนี้    คงจะเดินกันคนละเส้นทาง   ทหารไทยทางด้านอรัญประเทศ วัฒนานคร  พระตะบอง  พิบูลสงคราม  ก็ไม่ได้ยินเสียงกระโตกกระตากอะไรจากกองทัพญี่ปุ่นที่ผ่านเข้าไปในเขตไทย


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 17:16
อ้างถึง
มีคำถามที่ถามกันตั้งแต่วันนั้น มาถึงบัดนี้ไม่มีคำตอบ คือ

๑ กองทัพเรือของเราไปอยู่ที่ไหนกันหมด ญี่ปุ่นยกพลมาขนาดนี้ ทำไมไม่รู้ไม่เห็น

กองทัพอากาศด้วยค่ะ

ข้อความต่อไปนี้คงจะเป็นคำตอบได้ส่วนหนึ่ง

" กองกำลังทุกหน่วยเหล่าได้เข้าประจำที่ตั้งตามแผนการณ์แล้ว     ตั้งแต่ได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด  เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2484    กองทหารทุกหน่วยในแนวหน้า ไม่เลือกว่าจะเป็นกองทหารด้านเหนือ   ด้านตะวันออก หรือด้านใต้นั้น   ต่างก็มีความเข้าใจในภาระหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี    ทางฝ่ายทหารทุกคนอยู่ในอาการพร้อมทุกขณะ  ที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนในทันทีทันใด    ในเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาตามลำดับสายงานของทางราชการฝ่ายทหาร   ตามที่ได้สั่งการและวางแผนเรียบร้อยแล้ว"

ทหารเขาต้องอยู่ใต้คำสั่ง    ถ้าไม่มีคำสั่งให้ลงมือปฏิบัติการ  ก็ได้แต่เตรียมพร้อมอยู่อย่างนั้น


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 17:42
อ้างถึง
สรุปว่าท่านนายกฯ ไปถึงพระตะบอง  แต่ไม่เจอกองทัพญี่ปุ่นที่ยกไปทางนี้    คงจะเดินกันคนละเส้นทาง   ทหารไทยทางด้านอรัญประเทศ วัฒนานคร  พระตะบอง  พิบูลสงคราม  ก็ไม่ได้ยินเสียงกระโตกกระตากอะไรจากกองทัพญี่ปุ่นที่ผ่านเข้าไปในเขตไทย

ครับ ท่านไปถึงพระตะบอง ที่ไม่เจอกองทัพญี่ปุ่นเพราะท่านกลับมาก่อน ไม่ใช่เพราะเดินกันคนละเส้นทาง เขมรตอนนั้นมีถนนหลักเส้นเดียว ไม่ได้มีให้เลือกทางอื่น แล้วกองทัพญี่ปุ่นออกจากไซ่ง่อนก็มุ่งมาอรัญประเทศเพราะเรามีรถไฟที่ญี่ปุ่นจะใช้บริการได้ (ตามรูปที่ผมเอามาลงไปแล้ว)

ถนนดังกล่าวผ่านเข้าประเทศไทยตอนนั้นที่พระตะบอง มาศรีโสภณ และอรัญประเทศ ที่ว่า ทางฝ่ายทหารทุกคนอยู่ในอาการพร้อมทุกขณะ  ที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนในทันทีทันใด    ในเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาตามลำดับสายงานของทางราชการฝ่ายทหาร   ตามที่ได้สั่งการและวางแผนเรียบร้อยแล้ว ผมก็งงต่อไปว่า แล้วเมื่อเห็นขบวนรถญี่ปุ่นที่ผ่านไปต่อหน้าต่อตานั้น ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำอะไรตามแผนที่ว่านั่น

ส่วนทหารอากาศก็เช่นกัน ทูตทหารญี่ปุ่นที่มารอคำสั่งจากการตัดสินใจของรัฐบาลไทยออกอาการหงุดหงิดมากเมื่อทราบว่านายกรัฐมนตรีไม่อยู่ รองนายกรัฐมนตรี หลวงอดุล เกลอเก่าก็เก๋ากึ่กรู้เชิง ไม่ยอมปฏิบัติราชการแทนในเรื่องนี้ เมื่อไม่มีคำตอบว่าท่านนายกจะกลับเมื่อไหร่ ก็ขู่ว่าทหารญี่ปุ่นตายไปหลายคนแล้ว ตอนนี้ความอดทนใกล้จะถึงที่สุดรอมร่อ ขู่ไม่ขู่เปล่า สั่งเครื่องบินรบจากไซ่ง่อนมาบินลงจอดรอปฏิบัติการขั้นต่อไปที่สนามม้าราชตฤณามัยข้างทำเนียบนั่นเอง

อย่ามาถามผมต่อนะครับว่าผู้บัญชาการทหารอากาศท่านสั่งลูกน้องว่าอย่างไร เมื่อเครื่องบินญี่ปุ่นข้ามหัวมาหลายสนามบินแล้วลงจอดเป็นคุณเฉยอยู่กลางกรุง ผมไม่ทราบจริงๆ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 17:48
วันที่๘ ยังมืดอยู่ ทหารญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกมารอที่สพานสุขตา ศาลาสุขใจเรียบร้อย ไทยจัดกองทัพยุงไปต้อนรับถูกทหารญี่ปุ่นตบดิ้นไปหลายร้อยหลายพันตัวก็ไม่รู้จักหมดจักสิ้น ทหารบ่นกันพึมเมื่อไหร่จะมีคำสั่งให้เคลื่อนทัพเข้ากรุงเทพเสียที

ในภาพมีตำรวจไทยของหลวงอดุลไปถ่ายรูปร่วมกับเขาด้วย

อย่าถามผมอีกเช่นกันนะครับว่า ทำไมตำรวจปากน้ำจึงไม่แจ้งข้อหาญี่ปุ่นว่าลักลอบเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 17:54
วันรุ่งขึ้น พอไฟเขียวผ่านตลอด กองทัพญี่ปุ่นก็นั่งรถทหารอย่างโก้เข้ากรุง


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 17:55

ถนนดังกล่าวผ่านเข้าประเทศไทยตอนนั้นที่พระตะบอง มาศรีโสภณ และอรัญประเทศ ที่ว่า ทางฝ่ายทหารทุกคนอยู่ในอาการพร้อมทุกขณะ  ที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนในทันทีทันใด    ในเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาตามลำดับสายงานของทางราชการฝ่ายทหาร   ตามที่ได้สั่งการและวางแผนเรียบร้อยแล้ว ผมก็งงต่อไปว่า แล้วเมื่อเห็นขบวนรถญี่ปุ่นที่ผ่านไปต่อหน้าต่อตานั้น ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำอะไรตามแผนที่ว่านั่น

อย่ามาถามผมต่อนะครับว่าผู้บัญชาการทหารอากาศท่านสั่งลูกน้องว่าอย่างไร เมื่อเครื่องบินญี่ปุ่นข้ามหัวมาหลายสนามบินแล้วลงจอดเป็นคุณเฉยอยู่กลางกรุง ผมไม่ทราบจริงๆ

ผู้บังคับบัญชาคงสั่งให้เตรียมพร้อมทุกขณะ อยู่เช่นเดิมละมังคะ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 18:09
^
ต้องมีใครคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคน รู้อยู่แล้วว่าญี่ปุ่นจะบุก และเราจะยอมให้ญี่ปุ่นผ่าน ผู้ที่ไม่รู้คือคนที่เขาไม่ให้ค่าและประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

พอรัฐบาลไทยทำตามคำขอของญี่ปุ่นปั๊บ ญี่ปุ่นก็ติดโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อปั๊บ

สมัยนั้นยังไม่มีPowerpoint และInkjet Printer การพิมพ์ต้องใช้เวลาออกแบบ กัดบล๊อก ขึ้นแท่น อย่างเร็วก็สองสามวัน อย่างช้าเป็นอาทิตย์ นี่แสดงว่าพี่ยุ่นรู้การไกลมานานพอสมควร



กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 18:10
เอ๋ นี่ผมไปทำให้กระทู้ของท่านอาจารย์ใหญ่ผิดแนวหรือเปล่านั่น ?


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 18:19
ตรงแนวเป๊ะเลยค่ะ   เชิญต่อตามอัธยาศัย


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 18:26
ขอบคุณครับ มีอีกนิดเดียวก็จะจบแล้วครับ

ตรงที่ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่าน คนก็พอเข้าใจได้ แต่อันนี้ อีนี่ฝาหรั่ง ม่ายข้าวจาย นะนายจ๋า


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 18:36
เปลี่ยนอารมณ์พักไปอู้ในซอยเล็กน้อย

ขอตั้งคำถามเป็นการเชคเรทติ้ง

นี่เป็นสิ่งประดิษฐ์ลึกล้ำอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นที่มีใช้ในสงครามคราวนี้ อยากถามว่า มันคืออะไรครับ
บอกใบ้ให้ว่า ไม่ได้ใช้ในการบรรเลงตอนสวนสนาม แต่ถือเป็นยุทโธปกรณ์อย่างหนึ่ง

ใครตอบถูกเชิญไปรับรางวัลใหญ่ที่จขกท. ที่ดินพร้อมบ้านทรงไทย๑รูป ๑รางวัลเท่านั้นนะครับ ใครตอบถูกก่อนได้ก่อน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 02 มี.ค. 12, 18:40
สาเหตุที่ญี่ปุ่นโจมตีเพริลฮาร์เบอร์พร้อมกับยกพลขึ้นบกที่คาบสมุทรมลายูของไทยโดยอ้างว่า จะขอเดินทัพผ่านประเทศไทยไปพม่านั้นน่าจะเป็นเพียงข้ออ้าง  คำตอบสำหรับโจทย์ข้างต้นน่าจะเป็นไปไดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวิจารณ์ไว้ใน  พระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังนายเมนาร์ด วิลโลบี คอลเชสเตอร์-วีมซ (Maynard Willoughby Colchester-Wemyess) พระสหายชาวอังกฤษ  เมื่อวันที่   ๒๐   มกราคม  พ.ศ. ๒๔๖๗ ที่ว่า

“ที่คุณถามมาในจดหมายฉบับที่ ๓๑๓  เกี่ยวกับฐานทัพเรือที่สิงคโปร์นั้น ฉันเกรงว่าจะไม่สามารถพูดอะไรได้มากนัก  คงได้แต่ให้ความเห็นส่วนตัวของฉัน  ถ้าจะมีค่าอะไรบ้าง
ฉันคิดว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าฐานทัพนี้จำเป็นอย่างยิ่ง  ถ้าบริเทนใหญ่ตั้งใจจะเสนอความช่วยเหลือที่ได้ผลจริงๆ ต่อออสเตรเลีย  หากว่าทวีปนั้นถูกคุกคามด้วยกองกำลังต่างชาติ  โดยไม่ต้องพูดอ้อมค้อมทุกคนรู้ (แม้ว่าน้อยคนจะยอมรับ) ว่า กองกำลังซึ่งอาจคุกคามออสเตรเลียก็คือญี่ปุ่น  และคนญี่ปุ่นก็รู้ข้อเท็จจริงดีว่าฐานทัพเรือสิงคโปร์นั้นจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นเสมือนเครื่องสกัดกั้นความทะเยอทะยานของตน  ในสำนวนไทยของเรา  ฐานทัพที่สิงคโปร์ในสายตาของญี่ปุ่นคือ “ก้างขวางคอ”  เพราะฐานทัพนี้จะหยุดยั้งการใช้กำลังโจมตีออสเตรเลียโดยฉับพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก  ถ้าหากญี่ปุ่นเกิดมุ่งหมายจะทำอะไรแบบนั้น  แน่นอนที่ปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นไม่อยู่ในสภาพที่จะขยายจักรวรรดิออกไปและจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีกเป็นเวลานานหลายปีทีเดียว  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าญี่ปุ่นได้ล้มเลิกความความทะเยอทะยานทั้งหมด  ญี่ปุ่นไม่เคยทำเช่นนั้นเลย  คนญี่ปุ่นมีความอดทนที่น่าอัศจรรย์อย่างที่สุด  และเขาอาจต้องรอคอยเป็นปีๆ หรือแม้กระทั่งหลายชั่วอายุคน  ก่อนที่จะสมารถหวังที่จะทำให้เป็นความจริงขึ้นมา...”

พระราชหัตถเลขาชุดนี้ทรงไว้เป็นลายพระราชหัตถ์ภาษาอังกฤษ  ท่าน ม.ล.ปิ่น  มาลากุล สำเนากลับมาจากอังกฤษเมื่อราว ๒๐ ปีก่อน  และวชิราวุธวิทยาลัยได้ขอความกรุณาให้  รศ.มาลิทัต  พรหมทัตตเวที แปลเป็นภาษาไทย  แล้วจัดพิม์เผยแพร่ในชื่อ "พระราชากับคหบดีชนบท"


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 02 มี.ค. 12, 18:48
เรื่องการเตรียมพร้อมของทหารนั้น
พันตรี วิลาศ  โอสถานนท์ ท่านเล่าไว้ในทีี่ชุมนุมนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ รัชกาลที่ ๖ คราวหนึ่งว่า  ก่อนที่ญี่ปุ่นจะบุกนั้นท่านผู้นำได้มอบหมายให้ท่านเป็นผู้แทนไปเจรจาซื้อน้ำมันที่สิงคโปร์  แต่ภารกิจสำคัญคือ ให้ท่านไปเจรจากับแม่ทัพอังกฤษที่สิงคโปร์ว่า ถ้าญี่ปุ่นบุกไทยจริงๆ  อังกฤษจะส่งทหารขึ้นมาช่วยตามพันธกรณีที่ตกลงกันไว้ครั้งสยามกู้ยืมเงิน FMS มาสร้างทางรถไฟสายใต้หรือไม่?  และเพื่อให้การเจรจากับอังกฤษมีน้ำหนัก  ท่านผู้นำจึงขอพระราชทานยศให้ท่านเป็นนายพันตรี  คุณวิลาศท่านเล่าว่า เมื่อไปเจรจากับอังกฤษนั้น  อังกฤษรับปากเต็มที่ว่าจะส่งทหารขึ้นมาช่วย  นี่จึงน่าจะเป็นที่มาของคำสั่งให้ทหารเตรียมพร้อมโดยไม่ต้องรบกับญี่ปุ่น  เพราะจะรอดูท่าทีของอังกฤษ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 19:52
ผมได้เข้าไปหาข้อมูลต่อในเวปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สงคราม พบข้อเขียนของคุณสัมพันธ์ มีบางอย่างที่ผมสมควรจะแก้ไขตามลำดับดังนี้

ผมได้เขียนไปว่ากองทัพอากาศปล่อยให้ญี่ปุ่นบินข้ามหัวมาโดยไม่ได้ทำอะไรเลยนั้น ผมได้ปรามาสบรรพบุรุษผู้กล้าหาญ ยอมสละชีวิตเพื่อหน้าที่ไป ๓ท่าน ความจริงนั้นเวลาประมาณ  ๐๙๐๐    เครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นรุ่นทันสมัย  จำนวน  ๑๑  เครื่อง และเครื่องบินทิ้งระเบิด  ๖  เครื่อง  เข้าโจมตีสนามบินวัฒนานคร    ทหารอากาศไทยนำเครื่องบินขับไล่แบบ ๑๐ (บข.๑๐) หรือ Hawk III  ที่โบราณแล้วขึ้นสกัดกั้น  จำนวน  ๓  เครื่อง  ปรากฏว่าถูกยิงตกแบบไร้ทางสู้  นักบินพลีชีวิตเพื่อชาติทั้งหมด


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 20:10
ประการที่สอง ผมไปเขียนทำนองว่าตำรวจที่บางปูไม่ได้ทำตามหน้าที่เท่าที่ควรนั้น ในเวปดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่าวันที่๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔ ทหารญี่ปุ่นจำนวน  ๑ กองพันในบังคับบัญชาของพันโท  โยชิดะ เดินทางโดยเรือสินค้าชื่อ  ซิดนีย์ มารู เข้าสู่อ่าวไทย จอดอยู่ห่างจากประภาคารสันดอนทางทิศตะวันออกประมาณ  ๘  กิโลเมตร
 
ประมาณ  ๐๓๓๐    ลำเลียงทหารลงเรือเล็กส่งขึ้นบกที่สถานตากอากาศบางปู  และจับพนักงานของสถานตากอากาศ  และอยู่กันเต็มถนนริมทะเลใกล้สะพานสุขตา ประมาณ ๐๔๓๐ พนักงานคนหนึ่งสามารถเล็ดลอดมารายงานข่าวแก่ผู้จัดการสถานตากอากาศได้  ผู้จัดการฯ พยายามจะโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ  แต่โทรศัพท์ถูกตัดสาย  จึงวานนายจำลอง  คนขับรถประจำทางสายบางปู - เจริญกรุง ให้บอกตำรวจแทน

ประมาณ  ๐๕๐๐    นายร้อยคำรวจเอก จินดา โกมลสุต รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ  รักษาการผู้บังคับกองตำรวจภูธร  อำเภอเมืองสมุทรปราการได้รับแจ้งเหตุจึงสั่งการให้ นายร้อยตำรวจตรี เขียน กุญชรานุสรณ์ และ นายร้อยตำรวจตรี  สุวิทย์  เอกศิลป์  นำกำลังตำรวจประมาณ ๒๐ นาย  ไปแก้ไขและระงับเหตุในชั้นต้นก่อน และได้เผชิญหน้ากับรถยนตร์บรรทุกทหารญี่ปุ่น๒ คัน  ที่โค้งหัวลำพูก่อนถึง สถานตากอากาศบางปู ๓ กิโลเมตร  นายร้อยตำรวจตรี  สุวิทย์จึงให้วางกำลังไว้สองข้างทาง และจอดรถขวางทางไว้
          ประมาณ  ๐๖๐๐    ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งถือธงขาวมีสัญลักษณ์รูปมือสองข้างประสานกันลงจากรถมาโบกอยู่ข้างหน้า    นายร้อยตำรวจตรี  สุวิทย์จึงเดินเข้าไปหา    พันโทยาฮาร่า  รองผู้ช่วยฑูตทหารบกญี่ปุ่นประจำกรุงเทพได้เข้ามาแสดงตัวอ้างความตกลงระดับรัฐบาลว่าให้กองทหารญี่ปุ่นเดินทางเข้ากรุงเทพแต่  นายร้อยตำรวจตรี  สุวิทย์ชี้แจงว่าไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา     ต่อมานายร้อยคำรวจเอก จินดา โกมลสุต เดินทางมาสมทบและให้ฝ่ายเราถ่วงเวลาไว้

          จนกระทั่งคณะผู้แทนรัฐบาล  ประกอบด้วยนายพันเอกหลวงยอดอาวุธ(ฟ้อน  ฤทธาคนี) หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการด้านการข่าวของกองทัพบก  นายนาวาเอก หลวงประติยัตินาวายุทธ (เฉียบ  แสงชูโต) หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการด้านการข่าวของกองทัพเรือ และ นายร้อยคำรวจเอก  ประสาธน์  สุวรรณสมบูรณ์ ผู้แทนกรมตำรวจ ได้เดินทางมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ   จากหลักฐานฝ่ายญี่ปุ่นว่า คณะของรัฐบาลไทยดังกล่าวได้ร่วมเดินทางมากับพันโท ยาฮาร่า เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายกองทัพญี่ปุ่น   
          เวลา  ๐๙๐๐    ฝ่ายตำรวจไทยเปิดทางให้ส่วนหน้าของทหารญี่ปุ่นเดินทางต่อไปตามที่ คณะผู้แทนรัฐบาลได้สั่งการและ  นายร้อยตำรวจตรีสุวิทย์  เอกศิลป์ เป็นผู้นำทางเคลื่อนย้ายจากบางปูเข้ากรุงเทพ ฯ


ฉะนั้น รูปที่ถ่ายก่อนฟ้าสางคงจะมีนายร้อยตำรวจตรีสุวิทย์  เอกศิลป์ อยู่ในภาพด้วย ท่านก็ทำหน้าที่ของท่านด้วยความกล้าหาญ เพราะกำลังตำรวจและอาวุธขนาดนั้น ถ้าญี่ปุ่นจะลุยผ่านจริงๆคงไม่เหลือ ท่านก็ถ่วงเวลาไว้จนถึงที่สุดได้เหมือนกัน

ขอคารวะครับ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 20:12
ขออภัยกองทัพอากาศเช่นกันค่ะ
ว่าแต่กองทัพเรือไม่มีข่าวลาดตระเวนสะกัดกั้นทัพเรือของญี่ปุ่นจริงๆหรือคะ    นึกถึงยุทธนาวีที่เกาะช้าง ทหารเรือไทยก็สู้แบบทรหดไม่น้อยหน้าทหารชาติไหน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 20:26
ไม่มีครับ ที่ผมเขียนว่ามีคำถามๆกองทัพเรือ มีจริงๆครับ เขาตั้งคำถามกันมาก่อนผม

ส่วนด้านจังหวัดพระตะบอง คุณสัมพันธ์เขียนไว้มีรายละเอียดกองทัพญี่ปุ่นมาก ท่านอยากทราบขอให้เข้าไปอ่านเอาเอง ส่วนที่เกี่ยวกับที่ผมเขียนในกระทู้นี้ว่าไม่มีการต้านทานเลยนั้น คุณสัมพันธ์เขียนว่า

เวลา  ๐๙๔๐ กองทหารญี่ปุ่นเคลื่อนย้ายด้วยรถยนตร์ ๕๐ คัน  เข้าสู่จังหวัดพระตะบอง สามารถเข้ายึดจวนข้าหลวงประจำจังหวัด และตั้งสถานีวิทยุรับ–ส่ง เวลาประมาณ ๑๒๐๐  กองทหารญี่ปุ่นได้ปะทะกับตำรวจไทยในเขตอำเภออทึกเทวเดช  ตำรวจไทยตาย ๒ ทหารญี่ปุ่นตาย ๓ บาดเจ็บฝ่ายละหลายสิบนาย

ไม่ได้กล่าวถึงทหาร

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งจะไปตรวจแนวรบก่อนหน้านั้นแบบฝุ่นยังไม่จาง ท่านไปให้นโยบายอย่างไรกับทหารหาญ ทำให้มีเฉพาะตำรวจที่สละชีพเพื่อชาติไปฝ่ายเดียว

อ่านอย่างยาวที่นี่ครับ

http://iseehistory.socita.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711075&Ntype=1


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 มี.ค. 12, 20:36
เข้ามารายงานตัวครับ

น่าเสียดายว่าตอนนี้ไม่ได้อยู่เมืองไทย ไม่งั้นจะมีเอกสารอ้างอิงมาร่วมค้นคว้าและแจมกระทู้ได้มากทีเดียว
เรื่องกองทัพเรือ ผมเคยอ่านจากหนังสือที่ไหนไม่แน่ใจ อาจจะเป็นนิทานชาวไร่ของท่านนาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี หรือเปล่าจำไม่ได้นะครับ   ว่าเหมือนว่าจะรู้ๆ กันก่อนที่จะถูกบุกครับ เลยไม่ได้ขยับขยายเคลื่อนไหวอะไร
ถ้าจำไม่ผิดจะพูดถึงบทบาทแปลกๆ ของผู้ใหญ่ในกองทัพเรือหลายท่าน รู้สึกจะมีหลวงสินธุสงครามชัยด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจที่ดูเหมือนจะรู้ก่อนและวางเฉยผิดปกติครับ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 20:44
เรื่องการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอ (หรืออันที่จริงคือยื่นคำขาด)ว่าจะขอใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปตีประเทศเพื่อนบ้าน    ดิฉันเคยลงไว้แล้วในกระทู้ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช   ขอลอกมาให้อ่านกันอีกที เพื่อจะได้บรรยากาศต่อเนื่องกัน

จากรายงานการประชุม  จอมพล ป. เป็นคนตัดสินใจว่า ขอสั่งให้หยุดยิง "เพราะสู้ไปก็แหลก"  นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมทหารบางส่วนยกพลออกมาแล้ว มีคำสั่งให้ถอยกลับฐานอย่างกะทันหัน จนงงงวยกันไปหมด
จอมพล ป. บอกที่ประชุมเองว่า ได้ติดต่อกับญี่ปุ่่นมานานแล้ว   เรื่องรบไม่รบก็เคยต่อรองกันมา   ทางญี่ปุ่่นถาม   แบ่งได้เป็น ๓ ข้อ
๑  จะเข้าร่วมเป็นฝ่ายเดียวกันไหม
๒  ถ้าไม่ร่วม  ก็คือต้องรบกัน
๓  ทำเฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้
ยังไม่ได้ตกลงทำทั้ง ๓ ข้อ ญี่ปุ่นก็บุกสายฟ้าแลบ   พร้อมกับข้อเสนอชนิดเหล็กแป๊บน้ำหุ้มกำมะหยี่ ว่าแค่ขอผ่านเฉยๆ ไม่ทำร้ายเมืองไทยอย่างที่ทำกับอินโดจีน    จอมพล ป. ท่านก็ยอมประนีประนอมด้วย
ทีนี้ มีข้อน่าสนใจอีกข้อหนึ่ง คือ ญี่ปุ่นขอมาขั้นเดียวว่า แค่ผ่านประเทศไทย  คือเอาประเทศไทยเป็นทางผ่าน( passage ) แต่คณะรัฐมนตรีพูดกันไปมา กลายเป็นว่านอกจากเป็น passage แล้ว  ไทยคำนึงว่าจะเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นด้วย เป็นขั้นที่ ๒   ข้อนี้นายปรีดี พนมยงค์ เตือนว่า ให้หยุดแค่ขั้นที่ ๑ 


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 20:46
คุณประกอบจะแจมจากความทรงจำก็ได้ค่ะ   กระทู้จะได้คึกคักขึ้น

ดิฉันสงสัยว่าการประนีประนอมกับญี่ปุ่นนี้น่าจะมีการตัดสินใจกันล่วงหน้าแล้วอย่างเงียบๆ   แต่จะล่วงหน้านานเท่าไรไม่รู้   อาจจะล่วงหน้าเป็นเดือนๆ หรือแค่ ๒-๓ ช.ม. ก็ได้
จากคำพูดของผู้เข้าประชุมหลายท่าน ไม่ใช่พล ต.ต. อดุล อดุลเดชจรัส ท่านเดียว   ดูเป็นปี่เป็นขลุ่ยสอดคล้องกันว่า  สู้ไม่ไหวแน่  ยอมดีกว่า    ประนีประนอมกับเขายังมีทางรอด

การประนีประนอมกับญี่ปุ่น ผลดีตกกับใคร
อย่างแรกคือก็ดีที่ว่าประชาชนไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ   ไม่ต้องยับเยินในหลายพื้นที่อย่างที่ประเทศอื่นเจอมาแล้วจากญี่ปุ่น  แต่เราก็อย่าลืมว่า การที่ดินแดนหนึ่งจะเสียท่าญี่ปุ่น ไม่อาจเหมารวมว่าดินแดนอีกแห่งจะต้องแพ้แบบเดียวกัน     คนไทยอาจมีวิธีการต่อสู้แบบค่ายบางระจัน หรือศึกถลาง ยันข้าศึกเอาไว้ก็ได้  จนกว่าจะถอยไปเอง 
แต่ค.ร.ม. ดูจะปิดประตูชนะเอาไว้เลย    เชื่อมั่นว่าสู้ไม่ไหวลูกเดียว
อย่างที่สอง   ถ้ามีการสู้รบแบบแรก   พล ต.ต.อดุลบอกว่า รัฐบาลชุดนี้อาจจะต้องกลายเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น    ญี่ปุ่นก็จะตั้งรัฐบาลในคอนโทรลขึ้นมา   (ข้อนี้เห็นชัดตามที่เยอรมันทำกับฝรั่งเศส)    รัฐบาลพลัดถิ่นคงเสียเปรียบ สู้ไม่ไหว   ถ้าประนีประนอม ญี่ปุ่นก็จะไม่ตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา
ข้อนี้แหละที่น่าคิด   ทำให้สงสัยเรื่อยเปื่อยต่อไปว่า การเจรจาก่อนหน้านี้น่าจะมีข้อนี้อยู่หรือเปล่า     คือถ้าท่านร่วมมือกับฉัน  ท่านก็นั่งเก้าอี้ต่อไปตามเดิม ไม่กระทบกระเทือน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 20:50
จอมพล ป.สรุปท้ายการประชุมว่า
"บอกว่าเราพยายามต่อสู้แล้ว    ในที่สุดทางญี่ปุ่นก็ได้มาเจรจาขออย่างนี้ๆ    และเราเห็นว่าการที่จะต่อสู้ต่อไปนั้นก็เป็นการเปลืองชีวิตผู้คนและทรัพย์สมบัติ    เราจึงได้ตกลงผ่อนผันกับเขา     และในที่สุดท้ายก็ขอให้ประชาชนพลเมืองจงเชื่อฟังรัฐบาลต่อไปเถิด"

เป็นอันว่าไทยก็สั่งทหารให้หยุดยิง ทั้งภาคกลางและภาคใต้  ส่วนภาคตะวันออกไม่มีการยิงกันอยู่แล้ว

ผ่านมาอีก ๒ วัน  ถึงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔  คณะรัฐมนตรีก็ประชุมกันอีกครั้ง   คราวนี้สุ้มเสียงจอมพล ป. เห็นชัดว่าท่านยอมประนีประนอมกับญี่ปุ่นแบบไม่มีเงื่อนไข    จนอาจจะเรียกว่าท่านโปรญี่ปุ่นก็ว่าได้
เมื่อนายปรีดีรายงานด่วนว่าเกิดเรื่องขัดแย้งกันระหว่างศุลกากรกับญีปุ่นที่ท่าบี.ไอ.   เพราะญี่ปุ่นจะเข้าไปเอาสินค้าในคลังเอาไปใช้   ศุลกากรไม่ยอมก็ถูกญี่ปุ่นจับมัดไว้ทั้งคืน    ตอนเช้าเอาชะแลงไปงัดคลังสินค้า    ในเมื่อทางรัฐบาลสั่งลงไปว่าให้ยอม  จะเอาอะไรก็เอาไป  ทางศุลการักษ์ก็ยอม  เพียงแต่จะขอจดหีบห่อไว้เป็นหลักฐาน   ญี่ปุ่นก็ไม่ยอมให้จด  ทุบตีเอาข้าราชการไทยบาดเจ็บไปสองคน  นายปรีดีบอกว่าถ้างั้นถอนเจ้าหน้าที่ไทยออกหมดเสียดีกว่า   ขืนมี ก็จะเกิดเรื่องกับญี่ปุ่นอีก


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 20:52
คำตอบของจอมพล ป. น่าอัศจรรย์มาก  ขอลอกประโยคเด็ดๆมาให้อ่านกัน

" เราควรจะนึกว่าสมัยนี้ กฎหมายก็ดี  ศีลธรรมก็ดี  เราพึ่งไม่ได้   เราต้องพึ่งอำนาจ....เมื่อเขาใช้อำนาจแล้ว   เราจะไปร้องว่าผิดกฎหมาย   เราจะไปร้องว่าผิดกฎนานาชาติ   เราจะไปร้องว่าผิดกฎศีลธรรมนั้น    ผมนึกว่าปัจจุบันนี้เป็นการพ้นสมัย    เพราะฉะนั้นในการที่ข้าราชการของเราถูกข่มเหง  หรือได้ถูกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น   เราก็ควรจะนึกว่าอำนาจของเรายังไม่มีพอ"
" ...เช่นเขาบอกว่าเขาจะมาเอาโรงเรียนแห่งหนึ่งหรือสถานทูตอังกฤษนั้น   เขาจะใช้เป็นที่ทำงานของเขาละ   ถ้าจะเจรจากันในทางการทูต  มีหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ  แล้วเจรจาผ่านไปทางเซอร์โยไซอาร์ครอสบี้   อย่างนี้ผมเองก็เห็นว่าทำไม่ได้เหมือนกัน   เพราะฉะนั้นเมื่อทหารของเขาเข้ามาแล้ว  จะเอาที่ไหนเขาก็ไปยึดเอา   อย่างนี้เป็นของธรรมดา"
" แต่ถ้าจะมาถามต่อว่าต่อไปเขาจะปฏิบัติหรือไม่  และจะคาดคั้นเอากับผม    ผมก็ไม่รู้ใครจะตอบได้     ถ้าเวลานี้ผมมีกองทัพอยู่ในมือสักล้านคน   มีเครื่องบินสักหมื่นลำก็ตอบได้  นี่มันไม่มี"

ก่อนหน้าญี่ปุ่นบุก  นโยบายของรัฐบาลเน้นหนักไปทางปลุกใจประชาชนให้รักชาติ    ออกวิทยุไม่เว้นแต่ละวันว่าให้สู้สุดใจขาดดิ้น   แต่เมื่อถึงเวลา  นโยบายก็กลับเปลี่ยนไปด้านตรงกันข้าม   จอมพลป. ให้อรรถาธิบายว่า
"ผมได้เคยพูดเมื่อก่อนนี้ว่า   เรารบตายอย่างชาวบ้านบางระจันนั้นเป็นของวิเศษมีเกียรติยศ   แต่นั่นเป็นการปลุกขวัญประชาชน    เพราะว่าตามหลักการโฆษณาของรัฐบาลในเวลาก่อนมีเรื่อง  กับเวลามีเรื่องแล้วนั้น เป็นคนละอย่าง    เมื่อก่อนมีเรื่องนั้น เราจะต้องทำตัวเก่งด้วยประการทั้งปวง    เดี๋ยวนี้มันก็ผ่านไปแล้ว    ที่ว่าเราจะต้องต่อสู้จนคนสุดท้าย ก็ไม่มีชาติไหนเลยที่สู้่จนคนสุดท้าย"


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 21:02
ยกคำพูดท่านมาอีกครั้ง
" ใครจะเป็นคนกู้(ชาติ) กว่าจะมีสมเด็จพระนเรศวรส่งเข้ามาสักคนหนึ่ง  และการกู้ชาติในสมัยนี้เป็นของที่ยาก    เพราะฉะนั้นผมนึกว่าที่ตกลงไปแล้วนั้นเป็นของดีที่สุด"
" ถ้าเราไปดื้อดึงเข้า  ชาติของเราตายแล้วก็จะไม่มีวันฟื้น   ถ้าหากว่าเราได้ผ่อนผันคล้ายๆว่าพายุแรงมาเราก็ผ่อนโอนไป  อย่าให้ต้นไม้ถึงกับหักได้   ต้นไม้นั้นยังคงอยู่นี้  ถ้าเปรียบกับต้นไม้ และต่อไปข้างหน้า ลูกมันก็อาจจะออกมาซึ่งเราจะเก็บผลกินได้อีก"
"...ปัญหาอยู่ที่ว่าเขาจะล้มรัฐบาล จะควบคุมรัฐบาล  เขาจะไล่เราออกหรือไม่"

ถ้าท่านจอมพล ป. คิดว่ารัฐบาลคืออันหนึ่งอันเดียวกับชาติ  ข้างบนนี้ เปลี่ยนคำว่าชาติเป็นรัฐบาล เราก็คงพอเข้าใจความหมายได้


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 21:10
ดิฉันยังติดใจบทบาทของทหารเรือในช่วงญี่ปุ่นบุก  ตามที่ท่านนวรัตนจุดประกายขึ้นมา แล้วดับตะเกียงเสียเฉยๆ  ไม่ยักเล่าต่อ  ดิฉันก็เลยเกิดอาการหลอน   ต้องไปหาเอาเองว่าในเวลานั้น ทหารเรือไทยทำอะไรกันอยู่ที่ไหน
ก็พบว่ากำลังกองทัพเรือก็ยังอยู่ครบ ไม่ได้หายไปไหน    ย้อนหลังกลับไปตั้งปลายเดือนพฤศจิกายน   ก็มีการเตรียมพร้อมกันอย่างแข็งขันดี   มีการคาดคะเนกันด้วยว่าประเทศไทยอาจถูกละเมิดอธิปไตยด้วยฝีมือกองทัพประเทศอื่น  ถึงกับมีคำสั่งของกองทัพเรือออกมาว่า

"เนื่องจากสถานการณ์ในภาคเอเชียอยู่ในลักษณะคับขัน รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ประสงค์จะดำรงตัวเป็นกลางจนถึงที่สุด อาจมีประเทศล่วงละเมิดอธิปไตยของประเทศ โดยรุกรานด้วยการยกพลขึ้นบก ณ บริเวณปากน้ำประแสหรือบ้านเพ หรือปากน้ำท่าประดู่ เพื่อประสงค์ป้องกันการยกพลขึ้นบกที่บริเวณปากน้ำประแสหรือบ้านเพจึงได้ออกคำสั่งยุทธการที่ ๑ ในการป้องกันรักษาฝั่งในยามฉุกเฉิน เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๔ ได้จัดกำลังไปปฏิบัติการดังนี้

กองพันนาวิกโยธินที่ ๑ จัดกำลัง ร้อย ๕ ร้อย ๖ และร้อย ๘ (๑ หมวดกับ) บก.พัน.ตามอัตรา กับให้กองพันนาวิกโยธินที่ ๒ จัดกำลัง ร้อย ๔ รวมกันเป็น ๑ กองพัน ไปดำเนินการและ บก.นย.จัดหน่วยลาดตระเวนประกอบด้วยพลขี่ม้า ๔ พลขับขี่จักรยานยนต์ ๖ ม้าขี่ ๔ สมทบไปในหน่วยนั้น ฝ่ายพลาธิการจัดหน่วยสัมภาระตามอัตราสำหรับ ๑ กองพัน

ร.อ.สุ่น มาศยากุล เป็น ผบ.พัน.ไปดำเนินการตามโอวาทท้ายคำสั่ง ให้เริ่มออกเดินทางโดยขบวนเดินเท้าจากสัตหีบ ในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔

กองพันนาวิกโยธินที่ ๑ จัดกำลัง ร้อย ๑ กองพันนาวิกโยธินที่ ๒ จัดกำลังร้อย ๘ (๑ หมวด) สมทบไปดำเนินการ ฝ่ายพลาธิการ นย.จัดหมู่สัมภาระ ๑ หมู่

น.ต.เย็น รื่นวงสา เป็น ผบ.หน่วย ดำเนินการตามโอวาทให้เริ่มออกเดินทางโดยขบวนเดินเท้า ในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 21:17
แต่การจัดกองพันทหารเรือที่ว่ามาก็ไม่ได้ไปปะทะกับทหารญี่ปุ่นอยู่ดี     หลังค.ร.ม.ประชุมแล้วลงเอยว่าให้ประนีประนอมกันแล้ว  จากนั้นก็มีคำสั่งของกองทัพเรือออกมาอีกว่า
 
"วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้ตกลงใจยอมอนุญาตให้กำลังทหารญี่ปุ่นผ่านและพักอาศัย ในประเทศไทยได้จึงได้จัดกำลังปฏิบัติการเป็นกองรักษาการณ์บริเวณบางสะเหร่และแสมสารตามคำสั่งทัพเรือ  นย.จึงได้ให้ กองพันนาวิกโยธินที่ ๒ จัดกำลัง ร้อย ๖ ไปดำเนินการรักษาการณ์ที่บริเวณแสมสาร่ และให้กองพันนาวอกโยธินที่ ๑ จัดกำลัง ร้อย ๒ ไปดำเนินการรักษาการณ์ที่บริเวณบางสะเหร่ กับกองร้อยปืนใหญ่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ ๑/๒ บก.นย.จัดหน่วยลาดตระเวนประกอบด้วย กองร้อยลาดตระเวน จักรยาน ๑ พลขี่ม้า ๒ ม้าขี่ ๓ สมทบร่วมไปกับกองร้อย การเลี้ยงดูให้ พลาธิการจัดอาหารและข้าวส่ง ณ ที่ตั้งกองร้อยทหารราบและปืนใหญ่ ให้ ผบ.ร้อย ๒ และ ผบ.ร้อย ๖ ดำเนินการตามโอวาท และให้เริ่มออกเดินทางโดยขบวน ยานยนต์จากสัตหีบในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔"

วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ประเทศไทยได้ร่วมสัญญาการทหารกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำการรุกรานและป้องกัน กำลังทางบก ทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้ทำการสู้รบกับอังกฤษอยู่ทางบริเวณแหลมมลายูและทางทิศตะวันตกของประเทศไทย นย.ได้จัดกำลัง ร้อย ๑ กองพันนาวิกโยธินที่ ๑ ไปดำเนินการรักษาการณ์ชายฝั่งทะเล กับช่องทางเกวียนวัดหนองตับเต่า โดยปฏิบัติการร่วมกับ ร้อย ๒ กองพันนาวิกโยธินที่ ๑ ทั้งนี้เพื่อป้องกันรักษาฝั่งและจารกรรมในยามฉุกเฉิน ให้เริ่มออก เดินทางจากสัตหีบ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ เวลา ๐๖๐๐

วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ปรากฏว่ามีเครื่องบินข้าศึกมาทำการระเบิดจุดสำคัญทางการประเทศไทย เมื่อปฏิบัติการเตรียมการต่อสู้เครื่องบิน นย.จึงได้จัดร้อยปืนกลหนักพิเศษของกองพลนาวิกโยธิน ไปดำเนินการเตรียมการ ต่อสู้เครื่องบิน เพื่อคุ้มครองที่ตั้งหน่วยทหาร ณ บริเวณที่กำหนดตามแผน และหน่วยต่าง ๆ ของ นย.ได้จัดกำลังเตรียม ปฏิบัติ การระวังภัย และต่อสู้อันจะพึงอุบัติขึ้นต่อการกระทำของพลทหารร่มอากาศเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔

สรุปว่าไทยที่เคยเตรียมตัวป้องกันการรุกรานจากญี่ปุ่น โดยมีอังกฤษเป็นพันธมิตร ก็เปลี่ยนเป็นว่าจับมือกับญี่ปุ่นป้องกันการรุกรานจากอังกฤษ   ภายในเวลาไม่กี่วัน
ท่านทูตบริติชส่งสารด่วนที่สุดถึงรัฐบาลเมื่อ ๘ ธันวาคม ว่าจะช่วยเหลือปกป้องคุ้มครองไทย    ผ่านไป ๑๑ วัน  ทหารไทยกับทหารอังกฤษก็รบกันเสียแล้ว

พักให้น้ำค่ะ  เชิญท่านนวรัตนและท่านอื่นๆ บรรเลงเพลงกระบี่ต่อปาย....


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: กระต่ายหมายจันทร์ ที่ 02 มี.ค. 12, 21:24
มาให้น้ำ บีบนวด และรออ่านต่อค่ะ กำลังเข้มข้นทีเดียว  ;D ;D


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 21:47
อ้างถึง
ดิฉันยังติดใจบทบาทของทหารเรือในช่วงญี่ปุ่นบุก  ตามที่ท่านนวรัตนจุดประกายขึ้นมา แล้วดับตะเกียงเสียเฉยๆ  ไม่ยักเล่าต่อ  ดิฉันก็เลยเกิดอาการหลอน   ต้องไปหาเอาเองว่าในเวลานั้น ทหารเรือไทยทำอะไรกันอยู่ที่ไหน

แหะ แหะ ผมเป็นคนตั้งคำถามเหมือนที่คนสมัยโน้นเขาถามน่ะครับว่ากองทัพเรือของเราไปอยู่ที่ไหนกันหมด ญี่ปุ่นยกพลมาขนาดนี้ ทำไมไม่รู้ไม่เห็น

กองทัพเรือหมายถึงกองเรือรบทั้งหลาย ที่ประกอบด้วยเรือผิวน้ำหลายสิบลำและเรือใต้น้ำตั้ง๔ลำ มีหน้าที่ลาดตระเวณท้องทะเลไทยตลอด๒๔ชั่วโมง ๓๖๕วันนั้น ในคืนวันที่๘ ไปลอยลำอยู่ที่ไหนกันหมดจึงไม่ทราบว่ากองเรือญี่ปุ่นหลายสิบลำ บุกเข้ามาในน่านน้ำไทย หรือว่ามีใครกระซิบล่วงหน้าให้เอาไปแอบเสีย อย่าให้เกะกะทางปืนพี่ยุ่นเค้า

ที่ท่านอาจารย์ป้ายมาเป็นทหารเรือเหล่านาวิกโยธินไม่กี่กองร้อย เขาสั่งแบบแอ็คอาร์ตไปอย่างงั้น ไม่มีความน่าเกรงขามอะไร

ผมไม่ทราบจะต่ออย่างไรจริงๆครับ ไม่ได้ดับตะเกียงแกล้งให้เกิดอาการหลอน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 22:13
อาศัยคุณกระต่ายมาบีบนวด ให้น้ำให้ท่า  พอมีแรงจุดตะเกียง ลุยอดีตตามหาทหารเรือจนพบ      มะ...ชวนท่านทั้งหลายไปด้วยกันนะคะ
ความที่ไม่ค่อยรู้จักกองทัพ  ครั้งแรกเลยเข้าผิดเหล่า แทนที่จะเจอทหารเรือกลับไปเจอนาวิกโยธินเข้าแทน    ถอยกลับมาตั้งหลักใหม่
เพิ่งรู้ว่าสมัยนั้นตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพกับแม่ทัพนั้นไม่เหมือนกัน  

เห็นได้จากวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ มีประกาศแต่งตั้ง ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงฝ่ายทหาร อีก ๓ ตำแหน่ง คือ แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ  โดยให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นแม่ทัพบก อีกตำแหน่งหนึ่ง พลเรือโท หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นแม่ทัพเรือ อีกตำแหน่งหนึ่ง พลอากาศตรี หลวงอธึกเทวเดช (บุญเจียม โกมลมิศร์) ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็น แม่ทัพอากาศ อีกตำแหน่งหนึ่ง
มันต่างกันยังไงก็ไม่ทราบเหมือนกัน  ฝากคำถามไว้ด้วยค่ะ

ก่อนวันที่ ๗ ธันวาคม     กองทัพเรือของเราก็คึกคักเข้มแข็งดี    มีกองเรือออกลาดตระเวนตรวจอ่าว โดยมี นาวาเอกชลิต กุลกำม์ธร เป็นผู้บังคับกองเรือ  ออกเรือจากกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.  ๒๔๘๔ ระยะเวลา ๑๕ วัน  มีเส้นทางเดินเรือตั้งแต่กรุงเทพฯ หมู่เกาะอ่างทอง-สงขลา-นราธิวาส แล้วแล่นตัดข้ามอ่าวไปยังเกาะกูด สัตหีบ กรุงเทพฯ
     กองเรือนี้ ประกอบด้วย เรือ ๘ ลำ เป็นเรือสลุป ๒ ลำ คือ เรือหลวงท่าจีน และ เรือหลวงแม่กลอง เรือตอร์ปิโดใหญ่ ๔ ลำ คือ เรือหลวงระยอง เรือหลวงตราด เรือหลวงสุราษฎร์ และเรือหลวงปัตตานี เรือกวาดทุ่นระเบิด ๑ ลำ คือ เรือหลวงบางระจัน กับเรือลำเลียง ๑ ลำ คือ เรือหลวงพงัน
     กองเรือตรวจอ่าว ได้ออกเดินทาง จากกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.  ๒๔๘๔ ถึงชุมพร ในวันรุ่งขึ้น แล้วแล่นเลียบชายฝั่งตะวันตก ผ่านหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างการเดินทาง ได้ทำการฝึกซ้อมรบ ตามยุทธวิธี ไปตลอดทาง  ถึงจังหวัดสงขลา ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๐๑.๐๐ น. พบเรือสินค้าญี่ปุ่นขนาด ๕,๕๐๐ ตันลำหนึ่งจอดอยู่นอกเกาะหนู
     ขณะนั้น วิทยุสิงคโปร์ กระจายข่าวว่าเครื่องบินลาดตระเวน ของอังกฤษพบกองเรือญี่ปุ่น ประกอบด้วย เรือลำเลียง จำนวนมาก กำลังเดินทางมุ่งตรงเข้ามา ในอ่าวไทย กองเรือตรวจอ่าวได้ออกเดินทาง จากสงขลา มุ่งตรงไปยังจังหวัดนราธิวาส ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อใกล้ถึง จังหวัดนราธิวาส ก็ได้รับข่าวทางวิทยุว่า สถานการณ์บ้านเมือง อยู่ในสภาวะคับขัน อาจเกิดสงคราม ขึ้นได้ในไม่ช้า ดังนั้น กองเรือจึงไม่แวะจังหวัดนราธิวาส แต่แล่นตัดข้ามอ่าวไปยังเกาะช้าง แล้วจอดเรืออยู่ที่แหลมงอบ จังหวัดตราด ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔
   ในช่วงนั้นเรือก็พรางไฟ คอยระวังเหตุการณ์   เวลา ๒๔.๐๐ น. กองเรือตรวจอ่าว ได้ออกเดินทาง จากจังหวัดตราด ไปจังหวัดระยอง และในบ่ายวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ออกเดินทางต่อ ถึงสัตหีบ    ในตอนเย็นของวันนั้น ขณะจอดอยู่ที่สัตหีบ มีกำหนดเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ แต่กองทัพเรือได้สั่งการให้ยืดเวลาออกไป อีก ๒ วัน กองเรือตรวจอ่าว จึงได้นำเรือไปจอดรออยู่ที่เกาะสีชัง ในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔




กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 22:19
    ทีนี้ก็มาแอบดูกันดีกว่า ว่าวันประวัติศาสตร์ที่ญี่ปุ่นบุกนั้น   เกิดอะไรขึ้นกับกองเรือลาดตระเวน
   
    วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๐๑.๐๐ น. กองเรือ ได้รับโทรเลข จากกองทัพเรือว่าญี่ปุ่นได้ทำการยกพลขึ้นบกที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ บ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และโกตาบารู แล้ว ในเวลา ๐๒.๐๐ น. กองเรือ ได้เรียกประชุมผู้บังคับการเรือทุกลำ เพื่อวางแผนการรบ และ จัดเรือ ไปลาดตระเวน  โดยจัดให้ เรือหลวงสุราษฎร์ เรือหลวงระยอง ไปลาดตระเวน นอกอ่าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านสัตหีบ เรือหลวงตราด เรือหลวงปัตตานี มุ่งตรงไป อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรือหลวงท่าจีน เรือหลวงแม่กลอง ไปสนับสนุน นอกเกาะไผ่ เรือนอกนั้น อยู่ใกล้เกาะสีชัง
     ในขณะที่ มีการประชุม ได้ยินเสียงเครื่องบิน บินผ่านเกาะสีชัง ในระยะต่ำ ซึ่งทราบภายหลังว่า เป็นเครื่องบินของไทย และ ในขณะนั้น ที่ท่าเรือเกาะสีชัง มีเรือสินค้าญี่ปุ่น อยู่ ๑ ลำ คนประจำเรือดังกล่าวได้เฝ้าดูเหตุการณ์ในเรือรบไทยตลอดเวลา
     เวลาประมาณ ๐๕.๓๐ น. เรือต่างๆ เตรียมเรือเข้ารบ และ ออกเดินทางไปยังที่นัดหมาย โดยแล่นผ่านเรือสินค้าญี่ปุ่น ในระยะใกล้ แต่มิได้ทำการตรวจค้น
     เวลา ๐๗.๐๐ น. ระหว่างที่ กองเรือแยกหมู่ออกลาดตระเวนนั้น ได้สังเกตเห็นกลุ่มควันเรือ พุ่งขึ้นจำนวนมาก ที่สันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ซึ่งคาดว่าจะมีเรือรบญี่ปุ่นอยู่ด้วย ผู้บังคับกองเรือจึงตกลงใจที่จะไปตรวจสอบ แต่พอดีก็ได้รับข่าววิทยุว่าให้งดการรบกับญี่ปุ่น และให้ไปรวมกองที่สัตหีบ ภารกิจขั้นแรกของกองทัพเรือ จึงยุติแต่เพียงแค่นี้
   
     กองเรือญี่ปุ่นจำนวนมหาศาลผ่านสายตากองเรือลาดตระเวนไปได้   เหลือเรือสินค้าญี่ปุ่นลำเดียวพลัดเข้ามาในสายตา  กองเรือเราก็เลยไม่สนใจจะตรวจค้น    จนพอดีมีคำสั่งให้งดการรบและกลับสัตหีบ    เรื่องก็เลยจบลงสั้นๆแค่นี้ละโยม
   


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 22:28
ดิฉันไม่เก่งวิชาภูมิศาสตร์ ก็เลยมึนๆกับเส้นทางเรือรบของญี่ปุ่นกับเส้นทางเรือรบของไทย   ว่าสวนกันไปมาท่าไหนยังนึกไม่ออก   
ในหนังสืออ้างอิงมีแผนที่สังเขปเส้นทางเรือของกองทัพเรือญี่ปุ่น   แสดงให้เห็นว่ายกกำลังมาจากเกาะไหหลำ อ้อมแหลมอินโดจีนเข้ามาในอ่าวไทย 
เกาะกลุ่มกันมาจนพ้นปากอ่าวเกือบถึงกลางอ่าว จากนั้นก็กระจายกำลังพุ่งตรงไปขึ้นฝั่งในหัวเมืองชายทะเลต่างๆของไทย อย่างพร้อมเพรียงกัน
หัวเมืองพวกนี้มีประจวบฯ  ชุมพร สุราษฎร์ นครศรีฯ   สงขลา ปัตตานี

ส่วนของไทย ลาดตระเวนแถวไหนยังวาดภาพเส้นทางไม่ถูก   แต่เป็นไปได้ยังไงที่สวนกันไปมา แต่ไม่เจอกันเลย  อ่าวไทยก็มีอยู่แค่นั้น


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 22:29
คราวนี้ถือว่าจงใจครอบเฉพาะที่ต้องการเอามาหลอนจริงๆ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 22:35
หลอนจริงๆด้วย


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 23:11
^
 ;D


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 23:13
อ้างถึง
ขณะนั้น วิทยุสิงคโปร์ กระจายข่าวว่าเครื่องบินลาดตระเวน ของอังกฤษพบกองเรือญี่ปุ่น ประกอบด้วย เรือลำเลียง จำนวนมาก กำลังเดินทางมุ่งตรงเข้ามา ในอ่าวไทย กองเรือตรวจอ่าวได้ออกเดินทาง จากสงขลา มุ่งตรงไปยังจังหวัดนราธิวาส ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อใกล้ถึง จังหวัดนราธิวาส ก็ได้รับข่าวทางวิทยุว่า สถานการณ์บ้านเมือง อยู่ในสภาวะคับขัน อาจเกิดสงคราม ขึ้นได้ในไม่ช้า ดังนั้น กองเรือจึงไม่แวะจังหวัดนราธิวาส แต่แล่นตัดข้ามอ่าวไปยังเกาะช้าง แล้วจอดเรืออยู่ที่แหลมงอบ จังหวัดตราด ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔
   ในช่วงนั้นเรือก็พรางไฟ คอยระวังเหตุการณ์   เวลา ๒๔.๐๐ น. กองเรือตรวจอ่าว ได้ออกเดินทาง จากจังหวัดตราด ไปจังหวัดระยอง และในบ่ายวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ออกเดินทางต่อ ถึงสัตหีบ    ในตอนเย็นของวันนั้น ขณะจอดอยู่ที่สัตหีบ มีกำหนดเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ แต่กองทัพเรือได้สั่งการให้ยืดเวลาออกไป อีก ๒ วัน กองเรือตรวจอ่าว จึงได้นำเรือไปจอดรออยู่ที่เกาะสีชัง ในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

อ่านตรงนี้ก็เข้าใจแล้วละครับ ถ้ากองเรือรบไทยทราบจากวิทยุอังกฤษที่สิงคโปรตั้งแต่วันที่๒๖ พฤศจิกายนว่า กองเรือญี่ปุ่นต้องสงสัยกำลังมุ่งหน้ามาทางนี้ ไม่ว่าจะจากไหหลำหรือญวนก็ตาม แทนที่จะไปรอดักอยู่ทางพรมแดนเขมร กลับวิ่งลงใต้ไปนราธิวาส พอข่าวย้ำว่าสถานการณ์คับขันจึงวิ่งตัดอ่าวขึ้นไปตราด นั่นน่ะถูกอยู่ แต่ไหงกลับไปจอดซุ่มอยู่แหลมงอบ ซึ่งเป็นเขตน้ำตื้น เรือรบขนาดใหญ่จะเข้าไม่ได้นอกจากเรือเล็กๆอย่างของไทย ยังไงๆก็ไม่ได้ส่องกล้องเห็นกัน

แสดงว่าบทเรียนครั้งการรบที่เกาะช้างกับลามอตต์ปิเก้ ได้สอนให้ทหารเรือไทยทราบว่า เรือใหญ่จะใช้ช่องทางไหนเวลาจะเข้าตีประเทศไทย ดังนั้นจึงควรจะหลบ หรือจะไปดักสู้ที่ไหน

นี่จอดที่แหลมงอบเฉยๆ แปลว่าหลบ และแล้ววิ่งเลียบฝั่งกลับไประยองและสัตหีบ รอวันจะกลับกรุงเทพ ครั้นกองทัพสั่งให้ยืดเวลาไปอีก๒วัน ก็เอาเรือไปจอดรอที่เกาะสีชังนั่นเอง ในวันที่๖ที่๗นั้น ถ้าวิ่งลาดตระเวนสักหน่อยก็คงเจอกองเรือของญี่ปุ่นแน่ เพราะขนาดมันมหึมาพอสมควร

แต่เจอแล้ว ใครจะอยู่ใครจะไป นั่นไม่ต้องถามเช่นกัน

วันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไปแล้วป่วยการที่ผมจะพูดถึง ยังไงๆก็สายไปเสียแล้ว


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 07:49
จากหนังสือ จอมพลป. พิบูลสงคราม เล่ม๑ เขียนโดย อ.พิบูลสงคราม บุตรคนหัวปีของท่านครับ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 12, 09:59
ถ้าเหตุการณ์ข้างบนนี้ไม่ใช่เรื่องจริง   แต่เป็นหนังของฮอลลีวู้ด   ผู้สร้างคงสร้างกระโจมไฟขึ้นสักแห่งกลางอ่าวไทย  ส่องไฟสีเขียวให้ทัพเรือญี่ปุ่นเดินทางมาถึงชายฝั่งได้อย่างปลอดภัย   ไม่ต้องเจอเข้ากับกองเรือลาดตระเวน   ;)
ในเมื่อไทยก็รู้ตัวล่วงหน้าจนเตรียมพร้อมมาเป็นแรมเดือนแล้วว่า ต้องเจอสงครามแน่   ฝ่ายเสนาธิการของรัฐบาลและกองทัพเรือน่าจะประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าได้ว่า หากเกิดการสู้รบกันแล้วความเสียหายจะตกอยู่กับฝ่ายไหนมากกว่ากัน     และจะทำอย่างไรจึงจะเสียหายน้อยที่สุดแก่ตนเอง   แต่ของพรรค์นี้จะประกาศออกไปเป็นทางการล่วงหน้าก็ไม่ได้อยู่แล้ว
ถึงเวลาก็ต้องตัดสินใจกันเอง   ใครรู้คนนั้นก็เลี่ยง  ใครไม่รู้ก็ปะทะกันไป  


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 10:19
ตกลงคงไม่มีใครสงสัยว่าผู้ใหญ่เขาไม่รู้กันมาก่อนว่าญี่ปุ่นจะบุก แต่รัฐบาลเล่นปล่อยมุกมาให้คนไทยพลีชีพจนเลือดหยดสุดท้ายเพื่อปกป้องดินแดนไทยนี่สิ มันจะเล่นบทเนียนเพื่อเอาตัวเองรอดมากไปหน่อย


กระทู้นี้ควรเชิดชูคนไทยหัวใจรักชาติ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร หรือข้าราชการประชาชนที่เข้าต่อต้านศัตรูที่เหนือกว่าทุกประตู และสามารถสละชีพเพื่อชาติได้กล้าหาญ

การรบระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในแนวรบต่างๆมีผู้เล่าไว้หลายสำนวน แต่ที่ผมเห็นว่าข้อมูลแน่นและสนุกจะเป็นที่ท่านพลโทบัญชร ชวาลศิลป์เขียนไว้ในบรรณพิภพ  ผมขออนุญาตทางเมล์อวกาศนี้ไปยังท่านเพื่อคัดลอกมาลงไว้ในกระทู้นี้ หวังว่าท่านจะไม่ฟ้องผมเป็นจำเลยในคดีใดๆนะขอรับ

(ที่พิมพ์ด้วยสีน้ำเงินเป็นข้อความของท่าน สีดำปกติเป็นที่ผมแจมเข้ามา)


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 10:28
กระสุนนัดสุดท้ายที่อ่าวมะนาว
พลโทบัญชร ชวาลศิลป์


เช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นยกกำลังเข้าบุกประเทศไทยถึง 8 ทิศทางด้วยกัน กำลังทางบกเข้าทางอรัญประเทศ ส่วนทางทะเลนั้นก็ไล่ไปตั้งแต่บางปู สมุทรปราการ อ่าวมะนาว ประจวบคีรีขันธ์ หาดคอสน ชุมพร อ่าวบ้านดอน สุราษฎร์ธานี คลองท่าแพ นครศรีธรรมราช ฝั่งทะเลบริเวณแหลมสมิหลา สงขลา และปากน้ำปัตตานี

เว้นที่อรัญประเทศ และบริเวณบางปูเท่านั้น นอกจากนั้นทุกจุดได้รับการต้านทานจากทหารและประชาชนชาวไทยอย่างถวายชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเมื่อตอนสายของวันเดียวกันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ลงมติให้ทำความตกลงกับฝ่ายญี่ปุ่นโดยไทยอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนที่ผ่านดินแดนประเทศไทยได้ และจะอำนวยความสะดวกทุกอย่างเท่าที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นให้ประกันว่าจะเคารพต่อเอกราช อธิปไตย และเกียรติยศของประเทศไทย

พอถึงเวลาประมาณ 11.00 น. ก็ได้มีการลงนามระหว่างเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในข้อตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้

การสู้รบระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารและประชาชนไทยก็จึงยุติลง...

เว้นที่อ่าวมะนาว ประจวบคีรีขันธ์!!!

น่านฟ้าไทย มิให้ใครย่ำยี


ขณะเกิดเหตุการณ์ 8 ธันวาคม 2484 นั้น อ่าวมะนาวเป็นที่ตั้งของกองบินน้อยที่ 5 มีนาวาอากาศตรี หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย เป็นผู้บังคับกองบินน้อยแห่งนี้ กำลังรบหลักเป็นเครื่องบินแบบ 17 (ขับไล่) และเครื่องบินแบบ 23 (ตรวจการณ์) รวม 3 ฝูงบิน กับกองทหารราบทำหน้าที่ป้องกันและรักษาสนามบินซึ่งมีกำลังพลเป็นทหารกองประจำการรวมทั้งสิ้นประมาณ 160 คน มีเรืออากาศตรีสมศรี (ศรีศักดิ์) สุจริตธรรม นายทหารนักบิน ทำหน้าที่ผู้บังคับกอง

อาณาเขตของกองบินประกอบด้วย พื้นที่บริเวณเขาล้อมหมวก-เกาะร่ม-เกาะไหหลำ-เกาะหลัก-หัวถนนสายคลองวาฬ-ถนนสายคลองวาฬ (ตัวถนนอยู่นอกเขต) -เขาตาเหลือก-เกาะนางแด่น และเขาล้อมหมวก

ความสำคัญของกองบินแห่งนี้ นอกจากใช้เป็นที่วางกำลังป้องกันประเทศแล้ว ก็ยังใช้เป็นที่ฝึกการใช้อาวุธประจำอากาศยาน ทั้งภาคพื้นและภาคอากาศของกองทัพอากาศไทยเป็นส่วนรวมอีกด้วย

ส่วนตัวสนามบินของกองบินน้อยที่ 5 แห่งนี้นั้น มีทางวิ่งเป็นดินลูกรังบดอันแน่น 2 เส้นตัดกัน โดยเส้นเหนือ-ใต้ยาวประมาณ 800 เมตร ส่วนตะวันออก-ตะวันตกยาวประมาณ 1,000 เมตร ชายสนามบินด้านตะวันตกเป็นป่าละเมาะ มีต้นไม่ใหญ่ขึ้นอยู่ประปราย


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 10:40
อ้างถึง
นาวาอากาศตรี หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย เป็นผู้บังคับกองบินน้อยแห่งนี้  กำลังรบหลักเป็นเครื่องบินแบบ 17 (ขับไล่) และเครื่องบินแบบ 23 (ตรวจการณ์) รวม 3 ฝูงบิน


ถ้าท่านผู้อ่านได้เข้าไปในกระทู้เรื่องวีรเวร-วีรกรรมของเรือหลวงธนบุรี คงจะจำชื่อนาวาอากาศตรี หม่อมหลวงประวาศ ชุมสายได้ ตอนนั้นท่านเป็นผบ.หมู่บินอิสระที่สนามบินเนินวงแหวนที่จันทบุรี เครื่องบินที่ใช้ตอนนั้นก็แบบเดียวกันนี้แหละ ก่อนสงครามโลกจะเกิด มหาอำนาจผลิตเครื่องบินรุ่นใหม่ๆมาเยอะจนเครื่องบินปีกสองชั้นตามรูปข้างล่างกลายเป็นเครื่องโบราณ  ก็โบราณจริงๆซะด้วย ยิงปืนออกไปแต่ละนัดต้องสวดมนต์สองบท บทแรกไม่ให้ลูกปืนโดนใบพัดตัวเอง ถ้าผ่านก็ไปสวดบทที่สอง ให้ลูกปืนโดนเครื่องข้าศึก หากไม่สำเร็จอีกก็ให้รีบสวดบทเจ็ดตำนานเพื่อให้คุ้มครองตนเองให้ปลอดภัยจากลูกปืนฝ่ายเค้าบ้าง


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 10:58
การหาข่าวของญี่ปุ่น

วันที่ญี่ปุ่นบุกไทยเมื่อเช้ามืด 8 ธันวาคม 2484 นั้น คนไทยต้องตื่นตะลึงแบบไม่เชื่อว่าชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำมาหากินในไทยที่ตนรู้จักและคุ้นเคยนั้น ต่างกลายเป็นนายทหารญี่ปุ่นกันจนเกือบหมดสิ้น แล้วจึงประจักษ์ความจริงว่า คนญี่ปุ่นเหล่านี้ก็คือสายลับที่จำแลงกายมาหาข่าวเพื่อเตรียมรับการยกทัพผ่านประเทศไทยนั่นเอง

ที่อ่าวมะนาว อันเป็นที่ตั้งของหน่วยบินสำคัญของไทยก็เช่นเดียวกัน...

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกในเช้า 8 ธันวาคมนั้น พวกเขาก็ได้ส่งคนเข้ามาหาข่าวเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศ ระดับน้ำทะเล ลักษณะของหาด ตลอดจนข้อมูลกำลังและขีดความสามารถของทหารและตำรวจไทยในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไว้หมดสิ้นแล้ว ด้วยความสะดวกสบายอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ก็สืบเนื่องมาจากหลังกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสที่อินโดจีนยุติลงในต้นปี 2484 โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยแล้ว กองทัพอากาศไทยก็ได้จัดส่งเครื่องบินรบที่ซื้อจากญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2483 ไปทำการฝึกการใช้อาวุธประจำเครื่องบินทั้งต่อเป้าหมายทางพื้นดินและเป็นหมายทางอากาศที่กองบินน้อยที่ 5 นี่เอง

เครื่องบินเพิ่งได้รับใหม่ๆ มาจากญี่ปุ่นก็จึงจำเป็นต้องมีครูฝึกจากญี่ปุ่นติดตามมาถ่ายทอดความรู้ให้ด้วย นายทหารครูฝึกชาวญี่ปุ่นเหล่านี้มียศเป็นพันตรี 1 นาย ร้อยเอก 1 นาย รวม 6 นายด้วยกัน โดยที่ไม่มีใครทราบว่า นอกจากทำหน้าที่ครูการบินแล้ว พวกเขาต้องทำหน้าที่สายลับหาข่าวสารทางทหารที่จำเป็นด้วย

ไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องผิดปกติเมื่อมีเวลาว่างตอนใด ทหารญี่ปุ่นก็จะชวนกันไปเดินออกกำลังกายตามริมทะเลทั้งสองฝั่งของอ่าวอย่างไม่รู้เบื่อหน่าย แถมยังลงเล่นน้ำทะเลไม่มีหยุดหย่อน เปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ แทบไม่ซ้ำกัน พอทหารไทยนำอวนลงไปลากจับปลาตามชายฝั่งเพื่อหารายได้พิเศษจุนเจือครอบครัว ทหารญี่ปุ่นก็จะแสดงความสนใจและขอลงร่วมลากอวนด้วยทุกๆ ครั้ง เป็นที่น่ารักน่าเอ็นดูของทหารไทยเป็นอย่างยิ่ง

ไม่เพียงแต่ทหารอากาศญี่ปุ่น 4 นายนี้เท่านั้น แต่ยังมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง ว่าจ้างเช่าเรือของชาวบ้านให้ออกไปเที่ยวลอยลำตกปลาในอ่าวประจวบฯ และหลังเขาล้อมหมวกอยู่เสมอๆ อีกด้วย ส่วนตามเส้นทางบ้านหนองหิน-ด่านสิงขร ซึ่งมุ่งเข้าสู่ดินแดนพม่าในการยึดครองของอังกฤษก็มักจะมีพ่อค้าแปลกหน้าไปเที่ยวซื้อไม้จันทน์หอมซึ่งมีอยู่มากในป่าแถบนั้นจากชาวพื้นเมืองอย่างหนาตาเป็นพิเศษ

ทั้งหมดนี้คือวิธีการเตรียมรบแบบคลาสสิกที่ไม่มีวันล้าสมัย-รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง!!


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 11:26
พร้อมปกป้องปฐพี

สถานการณ์โดยรวมนับแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 2482 เป็นต้นมานั้น เรื่องสำคัญที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามกระทำอย่างที่สุดคือการประกาศและรักษาความเป็นกลางไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของคู่สงคราม ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเพื่อรักษาความเป็นกลางไว้ให้ได้ การปลุกกระแสชาตินิยมให้ต่อสู้กับชาติใดก็ตามที่มารุกรานไทยก็เกิดขึ้น รวมทั้งความพยายามในการใช้อานุภาพทางทหารเท่าที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ก็ตาม...

นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้น ญี่ปุ่นในตอนต้นก็ยังมิได้เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มรูปแบบในทันทีทันใด แต่ค่อยสะสมวางพื้นฐานความเข้มแข็งของตนในภูมิภาคเอเชียไปเรื่อยๆ รวมทั้งในอินโดจีนซึ่งฝรั่งเศสยังคงครอบครองอยู่ในทางนิตินัยและพฤตินัย แม้จะไม่เข้มแข็งเท่าก่อนสงครามก็ตาม

ความเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่นในอินโดจีนเมื่อปลายปี 2484 นั้น เริ่มเข้มข้น และส่อแสดงว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง อธิปไตย และความเป็นกลางของไทยชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับ ดังนั้น ในเดือนพฤศจิกายน 2484 ก่อนเหตุการณ์เช้า 8 ธันวาคมไม่นานนัก กองบินน้อยที่ 5 จึงได้รับคำสั่งจากกองทัพอากาศให้จัดกำลังเป็น 'กองบินน้อยผสมภาคใต้' มีภารกิจในการปกป้องคุ้มครองดินแดนภาคกลางบางส่วนและภาคใต้ของประเทศไทยทั้งหมด โดยจัดวางเครื่องบินรบกระจัดกระจายกันไปตั้งแต่นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงนครศรีธรรมราช

เมื่อแยกกำลังออกไปเช่นนี้ เฉพาะที่กองบินน้อยที่ 5 ประจวบคีรีขันธ์ จึงมีเครื่องบินรบเหลืออยู่เพียง 10 เครื่องเท่านั้น เป็นเครื่องบินขับไล่แบบ 17 (ฮอว์ค 3) จำนวน 5 เครื่อง และเครื่องบินโจมตีแบบ 23 (คอร์แซร์) จำนวน 5 เครื่อง



กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 11:36
เตรียมพร้อมเต็มอัตรา


เมื่อปรับการวางกำลังแล้ว ก่อนที่หน่วยบินต่างๆ จะโยกย้ายเข้าที่ตั้งตามแผน ผู้บังคับกองบินน้อยผสมซึ่งก็คือ นาวาอากาศตรี หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย นั่นเอง ก็ได้เรียกประชุมข้าราชการทหารและครอบครัว ชี้แจงให้ทราบสถานการณ์ โดยกล่าวเป็นนัยๆ ว่า อาจจะต้องทำการรบกับมหามิตรคือญี่ปุ่น พร้อมกับแนะนำให้ครอบครัวทหารเตรียมจัดของใช้ที่จำเป็นและของมีค่าใส่ถุงหรือย่ามให้พร้อม เมื่อถึงเวลาคับขันจะได้หยิบฉวยติดตัวได้ทันที กับให้ขุดหลุมหลบภัยไว้ตามบ้านพักและเรือนแถวของข้าราชการ รวมทั้งกองร้อยทหารอีกด้วย

สำหรับในสนามบินนั้น ได้จัดหมวดบินผลัดกันเตรียมพร้อม โดยให้แยกจอดเครื่องบินไว้บนทางวิ่ง ติดอาวุธพร้อม และพร้อมจะวิ่งขึ้นปฏิบัติภารกิจได้ทันที ให้นักบิน พลปืนหลัง และช่างเครื่อง ช่างอาวุธ นอนเตรียมพร้อมใกล้ที่จอดเครื่องบินในสนามบินด้วย

ในส่วนของการระวังป้องกันที่ตั้งเป็นส่วนรวมนั้น ให้จัดวางปืนกลหนักแบบ 77 จำนวน 5 กระบอกไว้ที่ปลายทางวิ่งเส้นเหนือ-ใต้ ด้านอ่าวประจวบวางไว้ 2 กระบอก ด้านอ่าวมะนาว 1 กระบอก บนเขาตาเหลือก 1 กระบอก และตรงช่องทางถนนจากกองบังคับการกองบินไปยังกองรักษาการณ์อีก 1 กระบอก

สำหรับปืนกลที่มีอานุภาพรองลงมา คือปืนกลเบาแบบ 66 นั้น ก็จัดวางกระจายไว้ตามสถานที่ต่างๆ ที่สำคัญอีกหลายแห่ง

สำหรับการระวังป้องกันตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น เป็นความรับผิดชอบของตำรวจภูธร ซึ่งมีกำลังประมาณ 40 นาย


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 11:45
ในภาพเป็นรูปปืนกลหนักที่โชว์พาวโดยยุวชนทหารที่สนามหลวงนี่เอง ไม่ใช่ทหารอากาศที่ประจวบตอนนั้น กองกำลังภาคพื้นดินของท.อ.ที่ใช้ป้องกันสนามบิน ปัจจุบันเรียกหน่วยอากาศโยธิน ติดอาวุธเหมือนทหารบกแต่เน้นไปทางป.ต.อ. ที่ประจวบไม่มีทหารหน่วยอื่นอีก นอกจากตำรวจอีกกระหยิบมือนึง

เห็นรูปปืนกลหนักแล้วคิดถึงคุณศิวาวุธแฮะ ไม่รู้เข้ามาแอบดูรึเปล่า หรืองอนตุ๊บป่องๆลอยไปไกลแล้วจริงๆ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 11:55
ใกล้วันดีเดย์

วันที่ 5 ธันวาคม 2484 นาวาอากาศเอกขุนรณนภากาศ (ฟื้น รณภากาศ ฤทธาคนี) เสนาธิการทหารอกาศ พร้อมด้วยเรืออากาศเอกอุสาห์ ชัยนาม นายทหารคนสนิท ได้บินไปตรวจเยี่ยมหน่วยกำลังป้องกันภาคใต้ โดยตรงไปที่กองบินน้อยที่ 5 ประจวบคีรีขันธ์เป็นหน่วยแรก ซึ่งเป็นหน่วยปกติที่ถือเป็นหน่วยป้องกันหลัก ตรวจความพร้อมรบทุกด้าน ชี้แจงข่าวสถานการณ์และให้ข้อแนะนำบางประการ วันรุ่งขึ้นก็เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยป้องกันชั่วคราวที่สนามบินทุ่งชน นครศรีธรรมราช แล้วเดินทางกลับโดยแวะที่กองบินน้อยที่ 5 อีกครั้งหนึ่งก่อนกลับกรุงเทพฯ ท่านได้กำชับผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 อีกครั้งหนึ่งว่า ญี่ปุ่นจะบุกในวันสองวันนี้อย่างแน่นอน

ในวันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม 2484 เวลา 13.00 น. ปรากฏเครื่องบินสีขาวสองเครื่องยนต์ติดเครื่องหมายประเทศญี่ปุ่น 1 เครื่อง บินผ่านสนามบินกองบินน้อยที่ 5 ในระยะต่ำมาก แล้วบินเลยขึ้นไปทางทิศเหนือ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 12:29
ขุนรณนภากาศนี้ท่านเป็นนักบู๊ตัวจริง สงครามกับฝรั่งเศสคราวที่แล้วท่านทำยุทธเวหากับนักบินฝรั่งแบบให้เขารุม๔ต่อ๑ โดยท่านรอดมาแบบไม่มีรูกระสุนทั้งคนและเครื่องแม้แต่รูเดียว จนได้ติดเหรียญกล้าหาญแบบตัวยังเป็นๆ

ต่อมาท่านใหญ่โตขึ้นเป็นถึงผบ.ทอ. คนทั่วไปรู้จักท่านในนามว่าจอมพลอากาศฟื้น รณภากาศ ฤทธาคนี  เมื่อทหารเรือกลุ่มหนึ่งจี้ตัวจอมพลป.เอาไปกักไว้ที่ใต้ท้องเรือศรีอยุธยา คราวกบฏแมนฮัตตั้น จอมพลฟื้นประกาศเข้ากับกองทัพบกแล้วตนเองขับเครื่องบินขึ้นไปทิ้งระเบิดใส่เรือศรีฯโดยไม่สนว่าท่านจอมพลป.จะเป็นจะตาย เพราะท่านประกาศล่วงหน้าแล้วให้จอมพลป.สละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย ฝีมือท่านก็ดีชะมัด หย่อนตูมเดียวเรือศรีไฟไหม้จมลงกับที่ แต่จอมพลป.รอดตาย ผู้สื่อข่าวหลังไมค์ไม่แจ้งว่าจอมพลทั้งสองท่านเคลียร์กันอย่างไร ต้องมีใครเป็นกาวใจให้หรือเปล่า

ไม่ทราบว่าตอนญี่ปุ่นเอาเครื่องบินรบมาลงจอดที่สนามม้านางเลิ้งนั้น จะมีใครจับท่านมัดมือมัดเท้าไว้หรือเปล่า ท่านยังเป็นหนุ่มเป็นแน่นเลือดกำลังร้อนฉ่าอยู่แท้ๆ ทำมั้ยจึงมิได้ออกมาแสดงความห้าวเหมือนตอนแก่คราวบินไปทิ้งระเบิดใส่เรือรบที่ดีที่สุดของชาติตอนนั้น


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 12:48
วันดีเดย์

แล้วเช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นก็บุก...

เช้ามืดของคืนวันที่ 7/8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 02.00 น. มีเรือลำเลียงลำหนึ่งลักษณะเป็นเรือสินค้า แล่นเข้าไปจอดที่หลังเขาล้อมหมวกทางด้านเหนือแล้วถ่ายกำลังพลลงเรือระบายพล (เรือท้องแบนเปิดหัว) จากนั้นก็นำกำลังไปขึ้นบกทางอ่าวประจวบจำนวน 4 ลำ ทางอ่าวมะนาวจำนวน 3 ลำ

เวลาประมาณ 03.00 น. เรือระบายพล 4 ลำส่งกำลังพลขึ้นบกตรงหัวถนนตลาดนอกในตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ กำลังพลญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งเคลื่อนที่ไปวางกำลังเพื่อเตรียมยึดสถานีตำรวจศาลากลางจังหวัด และสถานีรถไฟ โดยแยกย้ายเข้าไปขุดหลุมเพลาะที่หน้าสุขศาลาจังหวัด ที่บริเวณศาลากลางจังหวัด ฝั่งตรงข้ามกับสถานีตำรวจ แล้วกำลังส่วนหนึ่งก็เล็ดลอดเข้ามาที่ใต้ถุนสถานีตำรวจ ซึ่งมีลักษณะโล่งสูงประมาณ 1.50 เมตรจากพื้นดิน

ตำรวจเสียสละคนแรก

กำลังที่ลักลอบเข้าไปใต้ถุนสถานีตำรวจพอถึงเวลาประมาณ 04.00 น. ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งก็เดินขึ้นไปบนสถานีตำรวจพร้อมชูกระดาษในมือแล้วพูดกับพลตำรวจที่ยืนยามตรงหน้าบันไดเป็นภาษาญี่ปุ่น พลตำรวจเข้าใจว่าเป็นทหารมลายูเพราะไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นจึงร้องห้ามไม่ให้เข้ามา แต่ไม่เป็นผล

พลตำรวจยามจึงได้ใช้ปืนพระราม 6 ที่ติดดาบปลายปืนพร้อมอยู่ แทงทหารญี่ปุ่นล้มลง!!!

ทันใดนั้นทหารญี่ปุ่นจากสุขศาลาและศาลากลางจังหวัดซึ่งเฝ้าดูเตรียมพร้อมอยู่ก็ระดมยิงเข้าไปที่สถานีตำรวจ บรรดาพลตำรวจที่นอนอยู่บนสถานีตำรวจประมาณ 20 คน ตกใจตื่นขึ้นแล้วคว้าอาวุธยิงต่อสู้นานประมาณ 20 นาที ทหารญี่ปุ่นได้ขว้างลูกระเบิดมือ 3-4 ลูกไปที่สถานีตำรวจ ทำให้เสียงปืนจากฝ่ายตำรวจสงบลง โดยตำรวจได้หลบหนีออกจากสถานีตำรวจไป ในรุ่งเช้าพบศพตำรวจที่เสียชีวิต มีบาดแผลถูกยิง แทงและฟันจำนวน 13 ศพ ส่วนการสูญเสียของญี่ปุ่น ไม่ทราบจำนวน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 13:09
ที่หมายหลัก : กองบินน้อย

ทางด้านกองบินน้อยที่ 5 ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกทางอ่าวประจวบตรงหัวถนนตลาดนอก แล้วเคลื่อนที่ลัดเลาะไปตามชายหาดและหมู่บ้านริมทะเลลงมาทางด้านใต้เข้าสู่สนามบิน กระจายกำลังเข้าประกบและลอบสังหารพลประจำปืนตามที่ตั้งปืนกล ด้วยการฟันและแทงโดยที่พลประจำปืนกลเหล่านั้นไม่มีโอกาสต่อสู้ ทั้งยังไม่สามารถส่งเสียงร้องให้เพื่อนข้างเคียงรู้ตัวแม้แต่น้อย จากนั้นทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนที่เข้าคุมเชิงตามจุดที่เครื่องบินจอดอยู่ รวมทั้งบริเวณที่พักกำลังพลส่วนเตรียมพร้อมในสนามบินไว้โดยรอบ

เสียงปืนในเมืองที่สถานีตำรวจดังกึกก้องได้ยินไปถึงภายในกองบินน้อยที่ 5 เรืออากาศเอกขุนสงวนคุรุเกียรติ (เดหลี สงวนแก้ว) นายทหารเวรอำนวยการจึงได้สั่งให้จ่าอากาศโทเผื่อน (วิบูลย์) ทวีศรี เวรพลขับรถ พร้อมด้วยพลทหารกุศล เฉลิมวงษ์ เวรดับเพลิง ขับรถออกไปหาข่าวในตัวเมือง และได้พบกับจ่าอากาศตรีจำนง สกันตะ ซึ่งมีบ้านพักอยู่ในตัวเมือง จึงได้รับแจ้งว่าทหารญี่ปุ่นกำลังเข้ายึดสถานีตำรวจและสถานีรถไฟ มีการยิงต่อสู้กัน

จ่าอากาศโทเผื่อนจึงรีบกลับไปรายงานให้นายทหารเวรอำนวยการทราบ และรายงานให้นาวาอากาศตรีหม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย ผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 ทราบทันที

และในเวลาเดียวกันนั้น เรืออากาศตรีสมศรี สุจริตธรรม ผู้บังคับกองทหารราบก็ได้เข้าไปรายงานผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 ว่า ขณะนำทหารออกไปลากอวนจับปลาในอ่าวมะนาวก็ได้สังเกตเห็นเรือท้องแบน 3 ลำ ลอยลำเข้ามาทางปากอ่าว

ผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 จึงได้สั่งให้เป่าแตรสัญญาณเหตุสำคัญและสั่งจ่ายอาวุธปืนเล็กยาวแบบ 66 ให้กับกำลังพล แล้วให้เข้าประจำที่เพื่อปฏิบัติตามแผนการที่วางไว้ทันที...

ทางด้านกองรักษาการณ์ซึ่งมีกำลังพลประมาณ 20 คน มีจ่าอากาศเอก นิกร พวงไพโรจน์ เป็นผู้บังคับกองรักษาการณ์ ซึ่งรับผิดชอบการป้องกันที่ตั้งทางด้านอ่าวประจวบได้สั่งให้ทหารกระจายกำลังเข้าประจำที่หน้ากองรักษาการณ์ตั้งแต่ชายทะเลจดแนวถนน เตรียมพร้อมและรอรับพลประจำปืนที่อยู่ด้านนอกซึ่งอาจถอนตัวเข้ามาก่อน

ระหว่างนั้นเอง ร้อยตำรวจโทสงบ พรหมานนท์ ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นมีบาดแผลถูกยิงและฟัน เล็ดลอดออกจากสถานีตำรวจได้จึงรีบมาแจ้งข่าวให้กองบินน้อยที่ 5 ทราบว่าสถานีตำรวจถูกทหารญี่ปุ่นยึดแล้ว ขอกำลังทหารไปช่วย จ่าอากาศเอกนิกรรีบรายงานให้ผู้บังคับกองบินน้อยทราบทันที ส่วนร้อยตำรวจโทสงบ เนื่องจากทนพิษบาดแผลไม่ไหว จึงเสียชีวิตอยู่ที่หลังกองรักษาการณ์นั่นเอง...

เลือดเพิ่งเริ่มหลั่งชโลม ชีวิตเพิ่งดับสูญ...



กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 13:13
วีรกรรมนักบิน

ทันทีที่ได้ยินเสียงแตรสัญญาณเหตุสำคัญ ทุกชีวิตในกองบินก็พร้อมเข้าปฏิบัติการตามแผนที่ซักซ้อมกันไว้แล้วจนช่ำชอง...

เครื่องบินที่จัดเตรียมพร้อมในสนามบินทุกเครื่องติดเครื่องยนต์กระหึ่มทำลายความเงียบสงัดเตรียมเหินขึ้นป้องกันน่านฟ้าไทยทันที เรืออากาศตรี แม้น ประสงค์ดี นำเครื่องบินขับไล่แบบ 17 ฮอว์ค 3 พร้อมลูกระเบิดขนาด 50 กิโลกรัมบินขึ้นได้ก่อนเป็นเครื่องแรก และจัดว่ามีโชคดีที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนนักบินที่กำลังพยายามนำเครื่องบินขึ้นติดตามมา

เรืออากาศตรีแม้นนำเครื่องบินตรงไปในทะเล ครั้นเมื่อตรวจการณ์เห็นเงาตะคุ่มในท้องทะเลห่างจากฝั่งไม่ได้มากนักคาดว่าเป็นเรือลำเลียงของข้าศึก จึงตรงเข้าทิ้งระเบิดหวังทำลายเรือดังกล่าว แต่ลูกระเบิดพลาดที่หมาย จากนั้นจึงนำเครื่องบินเลยไปเพื่อลงที่สนามบินต้นสำโรง นครปฐม แต่เครื่องบินเกิดขัดข้องต้องร่อนลงที่ชายหาดบริเวณอ่าวชะอำ เพชรบุรี เสียก่อน นักบินปลอดภัย

เครื่องบินลำที่ 2 มีพันจ่าอากาศเอก พรม ชูวงศ์ เป็นนักบิน ขณะกำลังจะวิ่งขึ้นก็ถูกทหารญี่ปุ่นที่หลบซ่อนตัวดักคอยอยู่ในสนามบินรุมยิงจนฐานล้อหัก เครื่องบินเสียหลัก นักบินจึงกระโดดลงจากเครื่องแต่ก็ถูกแทงด้วยดาบปลายปืน เสียชีวิตทันที

เครื่องบินลำที่ 3 มีจ่าอากาศเอก จำเนียร วารียะกุล กับเครื่องที่ 4 ซึ่งมีจ่าอากาศเอก สถิต โรหิตเสถียร เป็นนักบิน ขณะนำเครื่องบินวิ่งขึ้นก็ถูกทหารญี่ปุ่นระดมยิงจนเสียชีวิตทั้งคู่

เครื่องบินลำที่ 5 มีพันจ่าอากาศเอก กาบ ขำศิริ เป็นนักบิน ขณะที่กำลังรอให้พันจ่าอากาศโท พร เฉลิมสุข นายทหารการอาวุธถอดลูกระเบิดขนาด 50 กิโลกรัมออกเพื่อบรรจุกระสุนปืนกลให้แทนอยู่นั้นก็ถูกทหารญี่ปุ่นรุมทำร้าย พันจ่าอากาศโทพรถูกฟันมือซ้ายเกือบขาด ส่วนพันจ่าอากาศเอกกาบถูกยิงที่เท้า ไม่สามารถต่อสู้แต่หลบหนีทหารญี่ปุ่นออกมาได้

สำหรับเครื่องบินโจมตีแบบ 23 คอร์แซร์ ซึ่งมีเรืออากาศโท สวน สุขเสริม ผู้บังคับหมวดบินเป็นนักบินพร้อมด้วยพลทหาร สมพงษ์ แนวบันทัด พลปืนหลัง ขณะกำลังเตรียมวิ่งขึ้นได้ถูกทหารญี่ปุ่นยิงจนเครื่องบินชำรุดเสียหาย เรืออากาศโทสวนกับพลทหารสมพงษ์จึงกระโดดลงจากเครื่อง และถูกทหารญี่ปุ่นรุมล้อมทำร้าย เรืออากาศโทสวนถูกแทงที่สะโพกด้านหลังบาดเจ็บสาหัส ส่วนพลทหารสมพงษ์ที่เข้าช่วยก็ถูกฟันด้วยดาบซามูไรที่ต้นแขนซ้ายจนเกือบขาด ต้องพิการตลอดชีวิต

สรุปแล้ว ในจำนวนเครื่องบินทั้ง 10 เครื่องนั้น มีเพียงเครื่องเดียวเท่านั้นที่สามารถบินขึ้นปฏิบัติภารกิจโจมตีที่หมายได้ แม้จะไม่สามารถสร้างความเสียหายแก่เป้าหมายได้ก็ตาม

แต่นักบินทุกท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสง่างามสมชายชาตินักรบแล้ว


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 13:22
กองรักษาการณ์ตายเกือบหมด

เมื่อการรบทางอากาศจบสิ้นลงอย่างรวดเร็วแล้ว ที่เหลือจึงเป็นเรื่องของแนวรบภาคพื้นดินที่จะรักษากองบินไว้ให้ได้...

ทางด้านที่ตั้งปืนกลหนักที่เขาตาเหลือกซึ่งมีจ่าอากาศตรี บัญญัติ ศรีแก้ว เป็นผู้บังคับหมู่ได้ยิงต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นอยู่พักหนึ่ง ปืนกลก็เกิดติดขัดยิงต่อไปไม่ได้ และเห็นว่ากำลังถูกทหารญี่ปุ่นกระชับวงล้อมแน่นเข้ามาทุกขณะ จ่าอากาศตรีบัญญัติจึงถอดลูกเลื่อนปืนออกเพื่อให้ใช้การไม่ได้หากถูกข้าศึกยึดไป แล้วนำปืนไปซ่อนไว้ในหลืบเขา จากนั้นพร้อมด้วยทหารร่วมตายในบังคับบัญชาก็พากันถอนตัวไปหลบซ่อนอยู่ตามทางรถไฟด้านตะวันตกของสนามบิน

สำหรับทางด้านกองรักษาการณ์ซึ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นปากทางสู่ตัวกองบินนั้น จนใกล้จะถึงเวลา 05.00 น. จ่าอากาศเอก นิกร พวงไพโรจน์ ผู้บังคับกองรักษาการณ์เห็นว่าไม่มีทหารที่ประจำอยู่ที่ตั้งปืนกลทางด้านนอกถอนตัวกลับมาเลยแม้แต่คนเดียว แต่กลับมีกลุ่มคนจำนวนมากคืบคลานเข้ามายังที่ตั้งกองรักษาการณ์ ฟังจากเสียงพูดเป็นทหารญี่ปุ่นอย่างแน่นอน จ่าอากาศเอกนิกรจึงสั่งการให้เริ่มยิงสกัดตั้งแต่เวลา 05.00 น. เป็นต้นมา แต่ฝ่ายญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมถอนตัวและยังคงปักหลักยิงต่อสู้หวังจะยึดกองรักษาการณ์ซึ่งเป็นที่หมายสำคัญให้ได้

เวลาประมาณ 06.00 น. ผู้บังคับกองบินน้อยซึ่งควบคุมอำนวยการรบเป็นส่วนรวมในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของพื้นที่สังเกตว่า เสียงปืนทางด้านกองรักษาการณ์เบาบางลง จึงสั่งให้เรืออากาศตรี ผล ทองปรีชา ผู้บังคับหมวดสัมภาระนำทหารสัมภาระไปเสริมกำลังกองรักษาการณ์

เมื่อเรืออากาศตรีผลไปถึง ก็พบข้าศึกกำลังขุดสนามเพลาะขวางทางอยู่ มีธงญี่ปุ่นปักอยู่ปากหลุม จึงสั่งให้ทหารขยายแถวยิงต่อสู้ แล้วมอบให้จ่าอากาศโท ฉาบ (พิพัฒน์) ไชยวัฒน์ ควบคุมแทน ส่วนตัวเรืออากาศตรีผลรีบกลับไปรายงานผู้บังคับกองบินน้อยทราบถึงสถานการณ์ที่ได้พบเห็น

ทางฝ่ายกำลังกองรักษาการณ์แม้จะไม่ได้รับกำลังส่วนที่ส่งมาช่วยและกำลังมีอยู่เดิมก็ลดน้อยลงตามลำดับจากการยิงของฝ่ายญี่ปุ่นก็ตาม ก็ยังคงต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นต่อไปอย่างเข้มแข็ง แต่ถึงที่สุดก็ไม่สามารถต้านทานกำลังทหารญี่ปุ่นได้ ทหารไทยที่จุดนี้จึงเสียชีวิตเกือบทั้งหมด มีผู้บาดเจ็บและหนีรอดออกมาได้เพียง 2 คน คือจ่าอากาศเอก นิกร พวงไพโรจน์ ผู้บังคับกองรักษาการณ์ และพลทหาร จิต อ่ำพันธ์ พนักงานวิทยุ ซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ภายในสถานีวิทยุสื่อสารที่อยู่ทางด้านหลังกองรักษาการณ์นั่นเอง

เมื่อสถานการณ์คับขันมาถึงขนาดนี้แล้ว ผู้บังคับกองบินน้อยจึงได้สั่งการให้จ่าอากาศตรี ผัน รำทะแย (สุชาติ ชาญยุทธกุล) ฝ่าแนวกระสุนไปที่สถานีวิทยุซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังกองรักษาการณ์เพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยเหนือ ต่อมาจ่าอากาศตรีผันด้กลับมารายงานว่า กองรักษาการณ์และสถานีวิทยุถูกทหารญี่ปุ่นยึดไปเสียแล้ว...

จากนั้น จ่าอากาศตรีผัน ก็ล้มฟุบลงหมดสติ เพราะได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกทหารญี่ปุ่นฟัน และแทงด้วยดาบซามูไรบริเวณหลังประมาณถึง 20 แผล


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 13:25
อ่าวมะนาวเมื่อเช้านั้น

ทางด้านอ่าวมะนาว เวลาประมาณ 06.00 น. ตีนฟ้าเริ่มเปิด เรือระบายพลของทหารญี่ปุ่นก็เกยหาดตรงจุดใกล้โรงเก็บเครื่องบิน เรืออากาศตรี สมศรี สุจริตธรรม พร้อมด้วยกำลังในหมวดทหารราบประมาณ 10 คน ซึ่งวางกำลังซุ่มคอยทีอยู่แล้วก็เปิดฉากยิงทหารญี่ปุ่นที่ลงจากเรือทั้ง 3 ลำ ทำให้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้มีทหารญี่ปุ่นจำนวนไม่มากนักที่สามารถเล็ดลอดขึ้นบกได้

เวลาประมาณ 07.00 น. ทหารไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งทหารญี่ปุ่นสามารถยึดแนวโรงเก็บเครื่องบินและกองรักษาการณ์ได้แล้ว ผู้บังคับกองบินน้อยจึงสั่งการให้เผาทำลายกองบังคับการกองบินเสีย เมื่อเห็นอาคารกองบังคับการถูกเผาแล้ว เรืออากาศโทประหยัด กาญจนวิโรจน์ นายแพทย์ผู้บังคับหมวดเสนารักษ์ก็จึงสั่งให้เผาอาการที่ทำการและห้องพักคนใช้ของหมวดเสนารักษ์ด้วย

สถานการณ์ทั้งทางอากาศและทางพื้นดินอยู่ในความสิ้นหวัง...


ครอบครัวทหาร

กองบินน้อยแห่งนี้ก็คล้ายๆ กับค่ายทหารทั่วไปคือมีที่พักสำหรับครอบครัวทหารร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อค่ายถูกโจมตีลูกเมียของทหารก็จึงต้องพลอยรับเคราะห์กรรมไปด้วย...

ฝ่ายครอบครัวทหารตามเรือนแถวพัก เมื่อได้ยินเสียงแตรสัญญาณเหตุสำคัญต่างก็พากันลงหลุมหลบภัยที่หน้าเรือนแถวของตนแล้วหลบซ่อนอยู่ในนั้น

ครั้นเวลาประมาณ 07.00 น. หลังจากเผาอาคารกองบังคับการกองบินและหมวดเสนารักษ์แล้ว เรืออากาศตรี ผล ทองปรีชา ผู้บังคับหมวดสัมภาระได้สั่งให้ครอบครัวทหารเหล่านั้นพากันไปหลบอยู่ที่เชิงเขาล้อมหมวก จัดการหุงอาหารเลี้ยงดูกันและเพื่อส่งไปให้ทหารในแนวหน้า ซึ่งกำลังสู้รบติดพันอยู่ พร้อมกับช่วยกันจัดตั้งสถานีปฐมพยาบาลและที่รวบรวมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการรบขึ้นที่เรือนแถวเชิงเขาล้อมหมวกนั่นเอง


สู้ต่อไป

ปืนกลหนักที่สามารถยืนหยัดทำการยิงได้ตลอดเวลาโดยไม่ติดขัดเลย สามารถสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายญี่ปุ่นอย่างหนักคือปืนกลกระบอกที่ตั้งอยู่บริเวณสนามเทนนิส ปากทางที่มาจากกองรักษาการณ์ มีพลทหาร สิงห์โต แสนสุข และพลทหาร เกษม วงศ์กัลยา เป็นพลประจำปืน

ระหว่างนั้น ทหารญี่ปุ่นก็ได้ส่งกำลังหนุนเนื่องเข้ามาอีกเพื่อยึดพื้นที่กองบินน้อยที่ 5 ให้ได้ สถานการณ์ทวีความคับขันมากยิ่งขึ้น

ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลไทยได้ทำความตกลงกับกองทัพญี่ปุ่นตั้งแต่ตอนสายของวันที่ 8 ธันวาคม และต่อมาก็ได้มีคำสั่งให้หยุดยิงในเวลาประมาณก่อนเที่ยงวัน ทำให้ทุกจุดที่มีการต่อสู้ระหว่างทหารไทยกับญี่ปุ่นยุติลงทันที แต่สำหรับที่อ่าวมะนาวมิได้เป็นเช่นนั้น ตลอดวันของวันที่ 8 ธันวาคม กองบินน้อยที่ 5 มิได้รับคำสั่งใดๆ จากรัฐบาลหรือกองทัพอากาศเลย ซึ่งคงเป็นเพราะสถานีวิทยุถูกญี่ปุ่นยึดไปเสียแล้วนั่นเอง

ตลอดวันที่ 8 ธันวาคม ทหารญี่ปุ่นยังคงใช้ความพยายามเข้ายึดกองบินน้อยที่ 5 ให้ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จ เย็นนั้นจึงได้แต่วางกำลังตรึงไว้ตามแนวโรงเก็บเครื่องบินจากฝั่งอ่าวมะนาวไปจนจรดแนวหลังกองรักษาการณ์ทางฝั่งอ่าวประจวบเท่านั้น

ทางด้านทหารไทยก็จัดกำลังตั้งรับรักษาพื้นที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งวางกำลังข้างบ้านรับรองริมอ่าวประจวบ ทำการยิงตรึงรักษาเส้นทางที่มาจากกองรักษาการณ์ไว้

กลุ่มที่ 2 วางกำลังตรงหน้ากองบังคับการกองบิน ทำการยิงตรึงรักษาเส้นทางที่จะมาจากโรงเก็บเครื่องบิน

ส่วนกลุ่มที่ 3 นั้นรวมกำลังกันอยู่ตรงหัวเรือนแถวนักบินกับหมวดเสนารักษ์ คอยยิงสกัดตามช่องทางที่ข้าศึกจะเข้ามาจากโรงเก็บเครื่องบินตามแนวริมอ่าวมะนาว

เย็นวันที่ 8 ธันวาคม ขณะที่ทุกพื้นที่ทั่วไปได้ยุติการสู้รบไปแล้ว แต่ที่อ่าวมะนาวทั้ง 2 ฝ่ายยังคงตรึงกำลังกันอยู่โดยไม่มีทีท่าว่าใครจะยอมใคร

คืนวันที่ 8/9 ธันวาคม ฝนตกลงมาอย่างหนัก ทหารญี่ปุ่นยังคงยึดแนวเดิมและยิงมาประปราย ส่วนฝ่ายทหารไทยนั้นเพื่อเป็นการประหยัดกระสุน ผู้บังคับกองบินน้อยจึงสั่งให้ใช้อุบายยิงกระสุนจริงสลับกระสุนซ้อมรบ

คืนนั้นผ่านไปโดยไม่มีการปฏิบัติการที่สำคัญจากทั้งสองฝ่าย



กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 13:36
ทหารเรือมาแล้ว...

เช้ารุ่งขึ้น 9 ธันวาคม ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงตรึงกำลังกันอยู่ ฝ่ายญี่ปุ่นก็ไม่พยายามเข้าเป็นฝ่ายกระทำให้แตกหัก เวลาผ่านไปอย่างอึดอัด

เวลาประมาณ 08.00 น. ผู้บังคับกองบินน้อยได้สั่งให้ทหารทุกคนร้องตะโกขึ้นว่า ทหารเรือของเรามาช่วยแล้ว เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการต่อสู้และรอคอย

บรรดาทหารและครอบครัวที่หลบภัยอยู่บนเขาล้อมหมวกต่างเปล่งเสียงไชโยขึ้นพร้อมกัน ซึ่งนับว่าได้ผลไม่เฉพาะต่อฝ่ายเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อข้าศึกอีกด้วย

เพราะทางฝ่ายญี่ปุ่นเมื่อได้ยินเสียงโห่ร้องยินดีแหวกความเงียบมาเช่นนั้นก็จึงถอนตัวไปรวมกันข้างหลังห่างจากแนววางกำลังเดิมเล็กน้อย...

แล้วทั้งสองฝ่ายก็วางกำลังคุมเชิงกันต่อไป นานๆ ครั้งจึงจะยิงใส่กัน


กระสุนนัดสุดท้ายที่อ่าวมะนาว


สายวันนั้นเอง นายหยอย ทิพย์นุกูล บุรุษไปรษณีย์ก็ได้นำโทรเลขจากพันเอกหลวงเชวง ศักดิ์สงคราม (ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่แจ้งให้หยุดยิงมาส่งให้ผู้บังคับกองบินน้อย

แต่ผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 ไม่เชื่อ ด้วยเกรงว่าจะเป็นกลลวงของฝ่ายญี่ปุ่น!!!

เวลา 10.00 น. ผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 ได้จัดตั้งที่บังคับการขึ้นใหม่ที่บริเวณเชิงเขาล้อมหมวกซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้ายในสมรภูมินี้แล้ว จากนั้นก็เรียกประชุมบรรดานายทหารทั้งหมดที่เหลืออยู่เห็นว่าไม่มีทางจะต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นได้เพราะมีกำลังน้อยกว่า ทั้งอยู่ในที่จำกัด และหมดหวังในการรอคอยความช่วยเหลือจากภายนอกแล้ว

ผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 นาวาอากาศตรี หม่อมหลวง ประวาศ ชุมสาย จึงสั่งให้เผาคลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ที่เชิงเขาล้อมหมวกริมอ่าวประจวบเสียเพื่อมิให้ข้าศึกนำไปใช้ประโยชน์ได้

จากนั้นก็สั่งการสุดท้ายว่า...

ให้นายทหารทุกนายเหลือกระสุนไว้สำหรับตนเองอย่างน้อยคนละ 1 นัด!!!


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 13:56
หยุดรบ

สถานการณ์คับขันและสิ้นหวัง ทั้งตัวทหารและลูกเมียไม่มีใครเห็นทางรอดจากกระสุนและคมดาบซามูไรที่จ่อคอหอยอยู่รอเวลาเพียงออกแรงเล็กน้อยเพื่อปลดวิญญาณ...

เวลา 12.00น. เศษ นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการจังหวัดและอำเภอ นายตำรวจและผู้ติดตามรวม 7 คน ก็เดินทางโดยรถยนต์บรรทุก 6 ล้อของแขวงการทหารจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ติดธงสีขาวหน้ารถ วิ่งผ่านแนวการวางกำลังของทหารญี่ปุ่นเข้ามาโดยปราศจากการขัดขวาง

คณะปลัดจังหวัดมาพร้อมกับคำสั่งหยุดยิง ซึ่งเป็นโทรเลขจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ยินยอมให้กองทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยแล้วมามอบให้กับผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5

เมื่อได้หลักฐานชัดเจนเช่นนี้แล้ว ผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 จึงสั่งให้ทหารในบังคับบัญชายุติการสู้รบ

เวลา 14.00 น. ได้มีการเรียกรวมพลทั้งของทหารไทยและทหารญี่ปุ่นที่บริเวณสนามบินทำการปรับความเข้าใจและตกลงแบ่งเขตกันเพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกันในภายหลัง ต่างฝ่ายต่างสำรวจความเสียหายและรีบเก็บศพทหารของฝ่ายตน

กระสุนนัดสุดท้ายของนายทหารอากาศผู้กล้าแห่งอ่าวมะนาวจึงไม่มีโอกาสได้ใช้งาน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 14:03
ผลการรบ

ผลของการสู้รบเฉพาะที่บริเวณกองบินน้อยที่ 5 ปรากฏว่า ทหารไทยเสียชีวิต 38 นาย นายตำรวจเสียชีวิต 1 นาย เด็กนักเรียนชายซึ่งออกไปช่วยลำเลียงกระสุนส่งให้ทหารถูกกระสุนปืนข้าศึกเสียชีวิต 1 คน สตรีซึ่งเป็นครอบครัวทหารเสียชีวิต 2 คน หนึ่งในจำนวนนี้มีภรรยาของเรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ซึ่งขณะนั้นได้แยกกำลังฝูงบินไปเข้าที่ตั้ง ณ สนามบินตันสำโรง นครปฐม รวมอยู่ด้วย เรืออากาศ เฉลิมเกียรติ ต่อมาจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ และเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางเครื่องบิน

รวมแล้วฝ่ายไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น 42 คน และมีบาดเจ็บทั้งทหารและพลเรือนอีก 27 คน

สำหรับการสูญเสียฝ่ายญี่ปุ่นนั้น มีทหารเสียชีวิตในที่รบถึง 217 คน เป็นนายทหารสัญญาบัตร 8 คน นอกนั้นเป็นนายทหารประทวนและทหารกองประจำการ กับมีทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บในเวลาต่อมาอีกประมาณ 300 คน ในจำนวนนี้มีนายทหารญี่ปุ่นชั้นผู้บังคับกองพันเสียชีวิตที่ริมอ่าวมะนาวขณะยกพลขึ้นบกด้วย 1 คน นายทหารอื่นอย่างน้อยอีก 3 คน ทั้งนี้มีผู้ตัดเครื่องหมายยศจากศพทหารญี่ปุ่นเหล่านั้นเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 14:22
พระผู้ใหญ่องค์หนึ่งเคยเล่าให้ผมฟังนมนานมาแล้วว่า ท่านอยู่ที่ประจวบช่วงที่ญี่ปุ่นบุกพอดี เสียงปืนของทั้งสองฝ่ายดังตลอดวันตลอดคืน ทหารไทยนั้นอยู่ในชัยภูมิที่ดีกว่าคืออยู่บนเขา ยามมืดพอฟ้าแลบเห็นญี่ปุ่นเคลื่อนไหวก็ยิงลงมา เมือหยุดยิงกันแล้วนับศพทหารญี่ปุ่นจึงมากกว่าทหารไทยมาก ท่านบอกว่าส่วนใหญ่ที่ตายเป็นทหารเกณฑ์ชาวเกาหลี ไม่ใช่ญี่ปุ่นแท้ๆ

ทหารญี่ปุ่นลากศพผู้ที่ตายมากองสุมกันบนหาดทรายเป็นเพนินเทินทึกหน้ากองบินนั่นเอง แล้วเอาน้ำมันมาราดจุดไฟเผากันสดๆ กลิ่นคลุ้งไปทั่ว เผาเป็นชั่วโมงๆจนแทบไม่เหลือทรากแล้วจึงเก็บที่เหลือเป็นชิ้นเป็นอันใส่ปี๊บ นอกนั้นรอให้น้ำทะเลขึ้นมาชำระ คนแถวนั้นหลอนมาก ไม่กล้าลงทะเลไปนาน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 14:27
ท่านจขกท.ปล่อยให้ผมครอบครองกระทู้ไปแล้ว ส่วนท่านไปสนุกอยู่ ณ วังหลัง

ไม่ยอมครับ ไม่ยอมเป็นอันขาด



เอ ไม่มีใครยอมทายปัญหาชิงรางวัลใหญ่ของผมจริงๆว่านี่คืออะไรหรือครับ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 มี.ค. 12, 15:39
ปัญหาชิงรางวัลใหญ่ บ้านพร้อมที่ดิน  เงินสด +หลานสาวอาจารย์อีก 1 คน  รางวัลเยี่ยมขนาดนี้จะไม่เข้าร่วมได้อย่างๆรครับ เพียงแต่ยังหาคำตอบไม่ได้ อากู๋ไม่ช่วยเท่าไหร่เลย


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 มี.ค. 12, 15:44
อ้า เป็นอุปกรณ์โซน่าแบบหนึ่ง แต่ใช้สำหรับอากาศยานครับ   คล้ายๆ เรดาร์นั่นแหละ   มาขอรับรางวัลด้วยครับ
อุปกรณ์ชนิดนี้ พัฒนาขึ้นมาใช้ก่อนยุคของเรดาร์ครับ

รูปตัวอย่างแบบอื่นๆ ครับ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 มี.ค. 12, 15:55
อันนี้แบบที่สอง  หลักคือใช้ตรวจจับเครื่องบินจากคลื่นเสียงครับ  ภาพเพิ่มเติมสามารถไปดูได้ที่
http://jalam1001.posterous.com/pictures-of-aircraft-detection-technology-bef#!/




กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 มี.ค. 12, 16:53
อ้างถึง
ปัญหาชิงรางวัลใหญ่ บ้านพร้อมที่ดิน  เงินสด +หลานสาวอาจารย์อีก 1 คน  รางวัลเยี่ยมขนาดนี้จะไม่เข้าร่วมได้อย่างไรครับ เพียงแต่ยังหาคำตอบไม่ได้ อากู๋ไม่ช่วยเท่าไหร่เลย

ผมตื่นจากแอบหลับกลางวันมาเปิดกระทู้ของคุณประกอบแล้วสะดุ้งเฮือก นี่ตูทำอะไรผิดไปรึเปล่า รีบย้อนกลับไปดูที่ติดสินบนให้ทายภาพไว้

นี่ๆ ผมเขียนไว้อย่างนี้ครับ

นี่เป็นสิ่งประดิษฐ์ลึกล้ำอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นที่มีใช้ในสงครามคราวนี้ อยากถามว่า มันคืออะไรครับ
บอกใบ้ให้ว่า ไม่ได้ใช้ในการบรรเลงตอนสวนสนาม แต่ถือเป็นยุทโธปกรณ์อย่างหนึ่ง

ใครตอบถูกเชิญไปรับรางวัลใหญ่ที่จขกท. ที่ดินพร้อมบ้านทรงไทย๑รูป ๑รางวัลเท่านั้นนะครับ ใครตอบถูกก่อนได้ก่อน



คุณประกอบก็ยังเป็นผู้โชคดีอยู่ดี แม้จะไม่ได้เงินสด +หลานสาวอาจารย์อีก 1 คน(อาจารย์คนไหนหว่า) แต่ก็ยังได้ ที่ดินพร้อมบ้านทรงไทย๑รูปจากท่านอาจารย์เทาชมพู
 
ท่านเข้ากระทู้มาเมื่อไหร่ ขอรับรางวัลจากท่านได้เลย


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 มี.ค. 12, 17:24
อ้างถึง
ปัญหาชิงรางวัลใหญ่ บ้านพร้อมที่ดิน  เงินสด +หลานสาวอาจารย์อีก 1 คน  รางวัลเยี่ยมขนาดนี้จะไม่เข้าร่วมได้อย่างไรครับ เพียงแต่ยังหาคำตอบไม่ได้ อากู๋ไม่ช่วยเท่าไหร่เลย

ผมตื่นจากแอบหลับกลางวันมาเปิดกระทู้ของคุณประกอบแล้วสะดุ้งเฮือก นี่ตูทำอะไรผิดไปรึเปล่า รีบย้อนกลับไปดูที่ติดสินบนให้ทายภาพไว้

นี่ๆ ผมเขียนไว้อย่างนี้ครับ

นี่เป็นสิ่งประดิษฐ์ลึกล้ำอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นที่มีใช้ในสงครามคราวนี้ อยากถามว่า มันคืออะไรครับ
บอกใบ้ให้ว่า ไม่ได้ใช้ในการบรรเลงตอนสวนสนาม แต่ถือเป็นยุทโธปกรณ์อย่างหนึ่ง

ใครตอบถูกเชิญไปรับรางวัลใหญ่ที่จขกท. ที่ดินพร้อมบ้านทรงไทย๑รูป ๑รางวัลเท่านั้นนะครับ ใครตอบถูกก่อนได้ก่อน



คุณประกอบก็ยังเป็นผู้โชคดีอยู่ดี แม้จะไม่ได้เงินสด +หลานสาวอาจารย์อีก 1 คน(อาจารย์คนไหนหว่า) แต่ก็ยังได้ ที่ดินพร้อมบ้านทรงไทย๑รูปจากท่านอาจารย์เทาชมพู
 
ท่านเข้ากระทู้มาเมื่อไหร่ ขอรับรางวัลจากท่านได้เลย


อ้าวว นี่ผมอ่านของรางวัลผิดหรือครับนี่  ว้าาาา ไม่น่าเลย วันหลังต้องอ่านเงื่อนไขชิงรางวัลให้ละเอียดกว่านี้ซะแล้ว


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 12, 21:37
ไปเจอเรื่องสายลับญี่ปุ่นที่นครศรีธรรมราช    ถึงจะช้าไปหน่อย เพราะจอมพลป. ทำสัญญาสงบศึกกับมหามิตรเสียแล้ว  แต่มาช้ายังดีกว่าไม่มาก็แล้วกัน

จากเว็บโอเคเนชั่น

หนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ นายแพทย์ สมพงศ์  ขุทรานนท์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2545 ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม
คุณหมอเล่าว่ามีญี่ปุ่นสองคนผัวเมียมาตั้งร้าน ตั้งแต่สมัยก่อนเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 ตั้งชื่อว่าร้านหมอมาลู  หมอมาลูรับทำฟันพร้อมรับถ่ายรูปและล้างรูป   ชาวญี่ปุ่นผู้ชายชื่อเต็มว่าอะไรไม่ทราบ แต่ใครๆเรียกว่าหมอ มาลู ส่วนภรรยาหมอ มีชื่อลงท้ายด้วยสิๆๆ พวกชาวบ้านเรียกว่าแม่ศรี หรือแม่สี
ทั้งสองคนมาตั้งรกรากอยู่นาน พูดภาษาไทยภาคใต้ได้ดี แต่งตัวแบบไทยๆ นานๆจะเห็นแต่งตัวแบบญี่ปุ่นนุ่งกิโมโน   ร้านตั้งอยู่หน้าวัดเสาธงทอง ริมถนนราชดำเนิน ตำบลคลัง อยู่ระหว่างสีแยกท่าวัง กับวัดวังตะวันตก เป็นร้านใหญ่ 3 คูหา   ไม่มีใครรู้ว่าเป็นร้านสายลับญี่ปุ่นที่มาฝั่งตัวอยู่ยาวนาน  
จนญี่ปุ่นบุกเมืองนครศรีธรรมราชในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 หมอฟันคนนี้ก็เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเป็นนายทหารยศร้อยเอก

นอกจากนี้ในการสร้างถนน จากสี่แยกหัวถนนไปปากพนัง  มีบริษัทต่างๆเข้าประกวดราคาก่อสร้าง แต่บริษัทที่ชนะการประมูล คือ บริษัทเคียวแอไคของญี่ปุ่น เพราะประมูลได้ราคาต่ำสุด   การก่อสร้างรุดหน้าไปถึงคลอง ข้ามคลองปากนคร ที่หัวตรุดสะพานข้าม"สะพานหัวตรุด" สร้างแคมป์ชั่วคราว   ผู้ทำงานล้วนแล้วแต่เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น วิศวกรญี่ปุ่น    แต่พอญี่ปุ่นบุกเข้าเมือง  ญี่ปุ่นสายลับเหล่านี้ก็หายตัวจากงานไปหมด


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 12, 22:00
     ข้อเสนอหรือเรียกให้ถูกว่าการยื่นคำขาดของญี่ปุ่นที่มีต่อรัฐบาลไทย คือขอเดินทัพผ่านประเทศไทย เพื่อส่งกำลังไปโจมตีอังกฤษ ในมลายูและพม่า  แจกแจงเงื่อนไขออกมาว่า
     ๑. ญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านประเทศไทยและขอให้ไทยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนทัพของญี่ปุ่น
     ๒. ญี่ปุ่นชักชวนไทย ให้ตกลงสัมพันธไมตรี ทั้งการรุก และการป้องกันประเทศไทย รวมกัน โดยญี่ปุ่น จะให้ความร่วมมือกับไทย เพื่อให้ไทย ได้ดินแดน ที่เสียไป กลับคืนมา
    ๓. ขอให้ไทยเข้าร่วม เป็นภาคีสนธิสัญญาไตรภาคี ประกาศสงคราม กับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
     หลังจากรัฐบาลไทยยอมประนีประนอมเพื่อไม่ให้เสียเลือดเนื้อกัน   เพราะดูแล้วว่าไม่มีทางสู้      ในวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ความสัมพันธ์ของไทยกับญี่ปุ่นก็กระโดดคืบหน้าไปอีกก้าวใหญ่ๆ ด้วยการร่วมลงนามในกติกาสัญญาทางการทหาร ร่วมมือเป็นฝ่ายเดียวกัน
     เมื่อไทยไปเซ็นสัญญาจับมือกับญี่ปุ่น   ก็เท่ากับไทยหันหลังให้ฝ่ายพันธมิตรโดยสิ้นเชิง     อังกฤษกับอเมริกาก็ส่งกำลังถล่มไทยทันที    ผลจากที่รัฐบาลไทยไม่ต้องการให้ทหารและคนไทยเสียเลือดเนื้อเพราะญี่ปุ่น   คนไทยก็ต้องมาเสียเลือดเนื้อและตึกรามบ้านช่องเพราะฝรั่งแทน    จากวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ถึงวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕   แค่ ๑๒ วันนี้เอง  ไทยถูกทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศถึง ๓๐ ครั้ง และทางบก ๓๖ ครั้ง    


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 12, 09:39
ถ้าถามว่าการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะประนีประนอมยอมความกับญี่ปุ่น   เพราะสู้ไปก็มีแต่แพ้ แบบน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ   เสียชีวิตเลือดเนื้อทหารและประชาชนเปล่าๆ   เป็นการตัดสินใจที่มีผลดีกว่าเสียหรือไม่     ดิฉันก็ตอบไม่ถูก   เพราะผลแสดงให้เห็นว่าในไม่กี่วันว่า ประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรก็ต้องมาตายกันไปมากจนเครื่องบินพันธมิตรที่มาทิ้งระเบิดใส่ไม่ยั้ง     คนไม่ตายแต่หมดตัวเพราะบ้านช่องพังพินาศก็ไม่น้อย    คนที่ต้องอพยพหลบหนีภัยสงคราม บ้านแตกสาแหรกขาด  ก็มีอีกทั่วประเทศ

แต่ถ้าถามว่ามีผู้ได้รับผลดีจากการตัดสินใจของรัฐบาลบ้างไหม    คำตอบก็คือ  มี  อย่างน้อยคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ก็มีสถานภาพมั่นคงมาตลอดตั้งแต่ธันวาคม 2484  ไปจนปี 2488 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสงครามโลก     ไม่ถูกถอด ไม่ถูกเปลี่ยน  ไม่เป็นรัฐบาลลี้ภัยพลัดถิ่น   ยังคงบริหารประเทศได้เหมือนเมื่อก่อนเกิดสงคราม


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 12, 21:16
           รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์แจ้งประชาชน  ในการทำสงครามกับอังกฤษและอเมริกาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485  
           อ่านได้จากราชกิจจาฯ ที่คุณเพ็ญชมพูนำมาลงในค.ห.ถัดไป


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 มี.ค. 12, 21:27
.


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 08:54
.


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 21:19
ประเด็นเรื่องไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเต็มตัวจนถึงประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ  เป็นเรื่องถกเถียงกันได้ยาวว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างใดกันแน่     รัฐบาลจอมพลป.จำใจต้องเข้าร่วมด้วยเพราะถูกบีบบังคับ    หรือว่าเป็นความเต็มใจของผู้นำไทยเอง จากการเล็งเห็นผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากญี่ปุ่น ในความร่วมมือครั้งนี้

ฝ่ายที่้เห็นว่าไทยถูกบังคับไม่ให้กระดิกกระเดี้ยเป็นอย่างอื่น  ก็ให้เหตุผลมายาวเหยียดว่า
1. กองทัพญี่ปุ่นเปลี่ยนท่าทีจากเดิมที่ขอเดินทัพผ่านประเทศไทยเป็นเข้ายึดครองและควบคุมการเคลื่อนไหวทางทหาร และการคมนาคมของไทย
2. กองทัพญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงการบริหารของรัฐบาล ถึงกับเสนอขอเข้าฟังการประชุมของคณะรัฐมนตรี
๓. กองทัพญี่ปุ่นเตรียมเกณท์ยวดยานพาหนะ เครื่องอุปกรณ์ในการรบและแรงงาน
๔. กองทัพญี่ปุ่นห้ามการกระจายเสียง การโฆษณา ฉายภาพยนตร์ตลอดจนห้ามสอนภาษาอังกฤษ
๕. กองทัพญี่ปุ่นเริ่มพิมพ์ธนบัตรญี่ปุ่นขึ้นใช้ในประเทศไทย
6. กองทัพญี่ปุ่นเข้าสำรวจเตรียมยึดทรัพย์ของชนชาติอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฮอลันดา ตลอดจนสัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ ซึ่งต่อไปรัฐบาลไทยจะต้องชดใช้เป็นเงินจำนวนมหาศาล
7. กองทัพญี่ปุ่นให้ส่งมอบชนชาติอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฮอลันดา ในสถานที่กักกันของไทย ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาตร์ และการเมืองจำนวนหลายพันคน ไปเข้าค่ายเชลยญี่ปุ่นที่แม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าไทยไม่ได้ตกอยู่ในประเทศเป็นกลางที่ยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปเฉยๆ    แต่ตกอยู่ในฐานะถูกยึดครองจากญี่ปุ่นเต็มตัว   ไม่มีทางหลบหลีกเป็นอย่างอื่น  ญี่ปุ่นชี้ให้ไปทางไหนก็จำใจต้องยอมรับ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 21:33
แต่ถ้ามองในแง่ตรงข้าม  ก็มีเหตุผลว่ารัฐบาลจอมพลป. อาจไม่ได้ถูกบีบคอถึงขั้นกระดิกกระเดี้ยไม่ได้    เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นปฏิบัติกับไทยอย่างสุภาพและประนีประนอมมากกว่าที่เคยทำกับประเทศอื่นๆที่ญี่ปุ่นเคยเข้าเข้ายึดครอง   ถ้าเทียบกับบางแห่งอย่างเกาหลีและนานกิง  ก็ถือว่าประชาชนไทยโชคดีกว่ามาก ที่ไม่ได้ถูกข่มเหงรังแกจนเป็นแผลบาดลึกต่อมาจนทุกวันนี้

นอจากนี้ รัฐบาลไทยอาจมองเห็นผลดีจากความร่วมมือกับญี่ปุ่น    ในกติกาสัญญาพันธไมตรีที่มีข้อตกลงลับต่อท้าย ว่าญี่ปุ่นจะสนับสนุนไทยให้ได้ดินแดนด้านมลายูและพม่าซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ   ดินแดนเหล่านี้เคยเป็นของไทยมาก่อนจะสูญเสียให้กับเจ้าอาณานิคม  ซึ่งพอไทยเกิดสงครามกับญี่ปุ่นขึ้นมาจริงๆอังกฤษก็ไม่ได้ช่วยเหลือตามที่ทำท่าทีเอาไว้แต่อย่างใด     ในเมื่อพึ่งอังกฤษไม่ได้แล้ว  ญี่ปุ่นแม้จะเข้ามายึดครองแต่ก็มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน   รัฐบาลไทยก็หันมาทางนี้จะไม่ดีกว่าหรือ   ก็พอคุ้มกับที่ต้องอำนวยความสะดวกให้กับกองทัพญี่ปุ่น เช่น การสนับสนุนด้านการเงิน และการจัดหาที่ตั้งฐานทัพให้ในประเทศ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 21:39
จีนเป็นประเทศที่มองไทยแบบแรก  ด้วยความเห็นอกเห็นใจมากกว่าประเทศพันธมิตรอื่นๆ   เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2485 เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงลอนดอนได้ปรารภกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ควรประกาศสงครามกับไทย เพราะจีนเชื่อว่าไทยถูกญี่ปุ่นบีบบังคับให้ประกาศมากกว่า
จีนยังเห็นอีกว่าการประกาศสงครามกับไทยเท่ากับเป็นการผลักดันให้ไทยหลุดจากฝ่ายพันธมิตรไปเข้าข้างญี่ปุ่นเต็มตัว   แต่อังกฤษก็ไม่ฟังจีน   พอรู้ว่าไทยประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ  จะจำใจหรือเต็มใจก็ไม่รู้ละ  ถือว่าประกาศออกมาแล้ว   อังกฤษก็ไม่รั้งรอที่จะประกาศสงครามกับไทยทันที   ทั้งๆกว่าจะรู้ก็ล่วงเข้าไปวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2485 แต่อังกฤษก็ให้มีผลย้อนหลังกลับไปมีผลตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2485 
นอกจากนี้ อังกฤษไม่ลดราวาศอกแม้แต่คืบเดียว    โทรเลขถึงข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำประเทศ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอัฟริกาใต้ เพื่อขอความร่วมมือจากประเทศในเครือจักรภพ ให้ประกาศสงครามกับไทยเช่นเดียวกัน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มี.ค. 12, 21:37
ดึงกระทู้นี้ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะว่าเนื้อเรื่องยังไม่จบ   แต่ตอนท้ายๆเดินเรื่องผิดคิวไปหน่อย กลายเป็นเรื่องประกาศสงครามกับอเมริกาและอังกฤษไป   ก็เลยต่อไม่ถูก
ตอนนี้จะต้องหวนกลับไปเรื่องญี่ปุ่นบุกตามคิวเดิมค่ะ   รอท่านกูรูใหญ่  NAVARAT.C ว่างพอจะมาจัดคิวให้   กระทู้ก็จะเดินหน้าต่อไปได้
นักเรียนก็จะได้ทยอยกันมาเข้าชั้นเรียนตามเดิม


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มี.ค. 12, 21:00
ฮึ๊บ ! (ฮื้บ ?- ไม่ทราบสะกดอย่างใดจึงจะถูกต้องที่จะแสดงอาการ"ตกใจตื่น" รอคุณเพ็ญชมพูมาฟันธงก็แล้วกัน)
.
.
.
เอ้า อาจารย์ใหญ่เรียกแล้วคร้าบ ขอเช็คชื่อหน่อย

คุ ณ ป ร ะ ก อ บ  บ   บ    บ      บ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 12, 15:17
อาจารย์ผู้สอนท่านเรียกเด็กชายประกอบแล้วนะคะ   ตกใจตื่นขึ้นมารึยังเอ่ย


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 มี.ค. 12, 22:09
กำลังอาละวาดอยู่แถวห้องเรื่องเรื่องวังหลัง พิมพ์กระทู้อยู่ พิมพ์ไปลุ้นไปว่าหมิ่นเหม่หรือไม่   โดนอาจารย์ตามตัวมาที่ห้องนี้ต้องรีบกลับมาทันที  ขนาดเป็นนักเรียนหลังห้องแล้วนะนี่
มาถึงโดนคุณครูเรียกให้ตอบ ไม่ออกความเห็นอะไรเดี๋ยวจะถูกลงโทษ

ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับบันทึกของพลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์  ดูเหมือนเสธทวีท่านจะเคยได้รับหน้าที่มอบหมายไปให้ประเมินศักยภาพของกองกำลังอังกฤษในมลายา ว่าพอจะรับมือกับญี่ปุ่นได้หรือไม่
เพราะช่วงสถานการณ์อึมครึม  ตอนนั้นใครๆ ก็เก็งกันแล้วว่าพี่ยุ่นเอาแน่ แต่อังกฤษเองก็ไม่อยากจะให้ไทยเราไปเข้ากับญี่ปุ่นเต็มตัว  รู้สึกว่าจะมีสัญญิงสัญญากันไว้ว่าถ้าญี่ปุ่นบุกไทย อังกฤษเองจะช่วยเหลือเราด้วย
ทางไทยก็ส่งทีมงานไปประเมินดูท่าทีฝ่ายอังกฤษ   พอทีมงานไทยไป อังกฤษก็จัดการสวนสนามใหญ่โตโชว์พาวให้คณะจากไทยดู ให้มั่นใจว่าไม่ต้องห่วง กำลังรบพร้อมสรรพ รถถังเรือบินพร้อม จำนวนมีเหลือเฟือด้วย
แต่รู้สึกท่านเสธฯ ทวีท่านจำได้ ว่าไอ้รถถังที่มาสวนสนามโชว์ มันเวียนเทียนผ่านมาผ่านไปหลายรอบ  แต่คันเดิมตลอด  กลับไปท่านจึงไปเขียนรายงานว่า ถ้าญี่ปุ่นบุก อังกฤษไม่มีกำลังพอมาช่วยเราได้แน่ๆ เราต้องบู๊ด้วยตัวเอง
นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจเข้าร่วมกับญี่ปุ่นได้รวดเร็บฉับไวมากก็ได้ 

แล้วก็เป็นจริงตามนั้นซะด้วย อังกฤษต้านญี่ปุ่นได้ไม่นานเลย
ทั้งที่ในความเป็นจริง กำลังรบของอังกฤษในมลายาและสิงคโปร์ มีมากกว่าญี่ปุ่นฝ่ายบุกอีก แต่ด้วยการวางแผนการรบที่ไม่เอาไหน ขวัญกำลังใจตกต่ำ
เจอลูกเนียนวางเขื่องของนายพลยามาชิตะเข้า แม่ทัพอังกฤษก็ยอมแพ้ซะง่ายๆ ทั้งที่จริงญี่ปุ่นฝ่ายบุกเองก็หมดก๊อกแล้ว 
มีแม่ทัพอ่อนด้อย การข่าวไม่มีประสิทธิภาพ ประเมินกำลังฝ่ายบุกไม่ได้ ขวัญกำลังใจไม่มี น่าจะเป็นสาเหตุหลักของการแพ้ในคราวนี้เลย


ตอนนี้กำลังมุอ่านหนังสือ Battle of Britain เป็นภาษาอังกฤษอยู่ครับ อ่านไปเปิดดิกไป  กำลังถึงตอนฮิตเลอร์บุกฝรั่งเศษ รุกไล่จนอังกฤษต้องอพยพหนีกันตรงดังเคิร์ก  สนุกมาก เสียอย่างเดียวแปลไม่ค่อยออก
อ่านแล้วรู้สึกเหมือนตอนญี่ปุ่นบุกมลายาสิงคโปร์เลย   คือกำลังของฝ่ายอังกฤษ+ฝรั่งเศส ทั้งทหารราบ รถถัง เครื่องบิน ปืนใหญ่ เหนือกว่าเยอรมันอย่างมาก 
เยอรมันเองไม่ได้พร้อมอะไรมากมายเลย กำลังพลที่เป็นทหารชั้นดีที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีก็มีแค่ไม่กี่กองพล  แม่ทัพนายกองเยอรมันเองส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการบุก เพราะคิดว่ายังไม่พร้อมอย่างมาก
แต่เจอลูกบ้านักพนันกล้าได้กล้าเสียของฮิตเลอร์เข้า   แถมหลงกลลวงของฝ่ายเยอรมัน ทำให้ประเมินการบุกผิด สุดท้ายจึงแพ้ไปในเวลาไม่นาน
แล้วอังกฤษก็ไม่เข็ด มาล้มเหลวตอนป้องกันสิงคโปร์อีกแบบคล้ายๆ กัน  นี่แหละ ไม่รู้เขา รู้แต่เรา รบร้อยครั้ง แพ้ทุกครั้ง


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 มี.ค. 12, 22:26
เพิ่มเติมอีกนิด  สมัยเป็นนักเรียนมัธยมอยู่ที่ ร.ร. มหาวชิราวุธที่สงขลา มีอาจารย์อ่านหนึ่งชื่อ อ. สนิท ชูวงศ์  แม้จะเกษียรแล้ว แต่ท่านยังมาสอนวิชาลูกเสือเมื่อครั้งกระโน้น

ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนญี่ปุ่นบุกสงขลา ท่านเป็นยุวชนทหาร  พอมีข่าวว่าญี่ปุ่นบุก ท่านกับเพื่อนยุวชนทหารอีก 3 คน พร้อมกับทหารจำนวนหนึ่ง  รู้สึกจะแค่ 2 คน ก็ไปซุ่มกำลังกันตรงชายหาดที่ญี่ปุ่นกำลังขึ้นบกกัน
ถ้าจำไม่ผิดท่านว่าเป็นแหลมสมิหลาด้านเกาะหนูเกาะแมว บอกว่าเห็นมีเรือลำสูงเท่าเกาะหนู  ส่วนกำลังฝั่งท่านมีไม่กี่คน  รับปืนและได้รับแจกกระสุนไม่กี่นัดด้วยซ้ำ 10 หรือ 25 นัดผมจำไม่ได้ 
ก็เลยไปซุ่มเฉยๆ ไม่ได้มีการปะทะกัน  ไม่งั้นผมอาจจะได้เรียนลูกเสือกับอาจารย์ท่านอื่น
รู้สึกว่าทางสงขลานี่ไม่มีการยิงกัน   ไปยิงกันแถวนครศรีธรรมราช  ปัตตานี ประจวบฯตรงอ่าวมะนาว
แต่เหมือนฝ่ายไทยจะรู้ข่าวว่าญี่ปุ่นขึ้นบกตรงสงขลาก่อน ทางนครฯ กับปัตตานีเตรียมกำลังไปช่วยทางสงขลา  ขึ้นรถขึ้นรากันแล้ว ถึงได้ข่าวญี่ปุ่นขึ้นบกเช่นกัน เลยไม่ต้องไปรบถึงสงขลา


ไม่ได้กลับไปสงขลาสิบกว่าปีแล้ว  ตอนนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า อ. สนิท ป๋าหนิทของผม ท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 มี.ค. 12, 23:16
บางท่านอาจจะสงสัย แล้วญี่ปุ่นบุกไทย บุกมาเลย์  สิงคโปร์ทำไม 

จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของทั้งทางยุทธศาสตร์ในการขยายอำนาจ และเรื่องของความต้องการทรัพยากร

เอาเรื่องทรัพยากรก่อน  เรื่องยุทธศาสตร์มันยาก รอท่านอาจารย์มาไขข้อสงสัยดีกว่า

ช่วงที่ญี่ปุ่นบุกนั้น  ผลผลิตยาง 40%  และดีบุกเกือบ 60% ของโลกมาจากแถวนี้ครับ จึงสำคัญมากสำหรับพี่ยุ่นที่จะยึดครองมาลายาให้ได้ เพื่อครอบครองทรัพยากรที่มี
รวมถึงยึดไปให้ถึงสิงคโปร์ เพื่อควบคุมยุทธศาสตร์เส้นทางเดินเรือในภูมิภาคนี้  เพราะพี่ยุ่นฝันไกลไปถึงการยึดออสเตรเลียโน่นด้วย
ในขณะที่ไทยเรามีทางรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน ทำให้สะดวกต่อญี่ปุ่นสามารถส่งกำลังบำรุงในการบุกทั้งบุกพม่า หรือมาลายาได้ง่าย
มหามิตรก็เลยต้องยึดไทยไปซะด้วยเลย

ฮิฮิ ส่งการบ้านแล้ว คราวนี้หลับๆ ตื่นๆ หลังห้องต่อได้แล้น ;D


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มี.ค. 12, 05:14
ขอบคุณคุณประกอบมากนะครับที่เข้ามาช่วยให้หยอดน้ำมันเครื่องให้กระทู้เดินหน้าต่อได้ ถ้าท่านอื่นจะช่วยเขียนความรู้ความเห็นของท่านแบบนี้บ้างก็จะเป็นการดี อันที่จริงผมไม่ใช่อาจงอาจารย์อะไรหรอกครับ ถูกอุปโลกให้เป็นแบบสนุกๆอย่างงั้นเอง แต่ไปๆมาๆคนเลยหมั่นไส้ เห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็ไม่กล้าเขียนอะไรกลัวจะกลายภาพเป็นเด็กนักเรียนโต้ตอบกับกูรู  นิ่งเฉยกันหมดอย่างงี้ผมก็เหงาสิครับ กะจะลงมาเล่นฟุตบอลกลับกลายเป็นเกมปิงปอง โต้กันไปโต้กันมากับเจ้าเรือนเพียงสองคน ปวดจั๊กกะแร้จะแย่

กระทู้นี้ ผมเริ่มต้นประเด็นไว้ว่า เมื่อญี่ปุ่นบุกไทยจริงๆทำไม๋กำลังทหารของไทยส่วนใหญ่จึงทำแบบมวยล้มต้มคนดู หลีกๆเลี่ยงไม่ยอมปะทะข้าศึกให้เหมือนกับที่รัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อไว้ว่า จะซ่าส์จนหยดสุดท้าย จะตายจนคนสุดท้อง  ชะรอยจะมีนายทหารใหญ่บางท่านรู้ไต๋ว่ามีคนใหญ่คนโตไปแอบตกลงอะไรสักอย่างหนึ่งกับญี่ปุ่นไว้แล้ว ถ้าสู้แล้วเกิดพลั้งพลาดตายไปอาจตายฟรีแบบหาอนุสาวรีย์ให้จารึกนามไม่ได้ จึงพากำลังรบในบังคับบัญชาเลี่ยงไปอีกทาง ญี่ปุ่นจะมาทางซ้ายก็ไปดักซุ่มซะทางขวาอย่างแนบเนียน เรื่องของเสธฯทวีที่คุณประกอบเล่าข้างต้น ผมไม่เคยอ่านเลย เป็นความรู้ใหม่โดยแท้


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มี.ค. 12, 05:40
เห็นจะมีก็แต่พวกไกลปืนเที่ยง ฟังแต่วิทยุกรมโฆษณาการกรอกหูปลุกระดมความรักชาติอยู่ทุกคืนวันให้สู้ศัตรูทุกหน้าไม่ว่าชาติใดที่เหยียบเข้ามาราวี  ข้าราชการทหารตำรวจประชาชนที่กล้าจับอาวุธเข้าต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกรานเหล่านั้นสมควรแก่การยกย่อง ผมจะพยายามกรองเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในวันนั้นแต่ละจุด ที่ไหนรบจริงที่ไหนไม่ได้รบ หรือรบแบบครึ่งๆกลางๆ  เอาที่โม้ที่ฝอยออกไปเหลือแต่เนื้อติดมันล้วนๆ เหตุการณ์ตรงกับถิ่นที่อยู่ของท่านผู้ใด หากจะเข้ามาช่วยเสริมช่วยแย้งให้ได้ข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์โดยปราศจากอคติ ก็จะเป็นประโยชน์แก่อนุชนในอนาคต สมกับอุดมการณ์ของผมที่เอาเวลามาเล่นเน็ต

ย้อนความตามที่ผมเขียนไปแล้ว เมื่อกองทัพญี่ปุ่นจู่โจมประเทศไทยเช้าตรู่ของวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔  โดยยกพลขึ้นบกพร้อมกันเจ็ดจุด มีจังหวัดสมุทรปราการ(บางปู)เท่านั้นที่ไม่มีการปะทะ นอกนั้นปะทะกับคนไทยทุกจุดคือจังหวัดประจวบ  จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี  ส่วนกองกำลังทางบกที่ข้าศึกรุกผ่านเข้ามาทางจังหวัดพระตะบอง และจังหวัดพิบูลสงครามไร้การต่อต้าน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มี.ค. 12, 05:51
การยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นในภาคใต้ประเทศไทยใช้เพียงกองเรือลำเลียงพล ซึ่งก็คือเรือแบบเรือโดยสารเดินสมุทรไม่ติดอาวุธ โดยไม่มีการกล่าวถึงเรือปืนที่จะควรจะต้องมีเพื่อคุ้มกัน ราวกับกองเรือรบไทยอยู่นอกสายตาโดยสิ้นเชิง อย่าลืมนะครับว่าตอนนั้นไทยมีเรือดำน้ำถึง๔ลำที่ชอบจอดซุ่มอยู่ที่สมุย ถ้าบังเอิญวันนั้นออกลาดตระเวนในเส้นทางสู่สัตหีบอย่างที่เคยปฏิบัติก็มีหวังเป็นเรื่อง

ความจริงญี่ปุ่นไม่ได้ให้น้ำหนักกองทัพเรือไทย ก็ส่วนใหญ่ครูญี่ปุ่นเป็นผู้ฝึกสอนการรบให้ทหารเรือสมัยนั้นทั้งสิ้น เยื่อใยจึงลึกซึ้งแน่นแฟ้น ในอินทรเนตรนี้ก็มีผู้เปิดเผยถึง" คำสั่งลับเฉพาะกองทัพเรือที่ ๕/๘๔ ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔ ๘๔ " ลงนามโดย พล.ร.อ.หลวงสินธุ์สงครามชัย(สินธุ์ กมลนาวิน) ผบ.ทร.ขณะนั้นว่าถ้าพบกองเรือญี่ปุ่น ก็"ไม่ให้ปะทะ ไม่ต้องทำอะไร"  ดังนั้นญี่ปุ่นจึงเล็งอยู่ก็แต่กองเรืออังกฤษที่สิงคโปรอันเป็นจุดเป็นจุดตายจะต้องพิชิตให้ได้ก่อน มิฉะนั้นการยกพลขึ้นบกอาจล้มเหลวด้วยอานุภาพของเรือประจันบานขนาดหนักที่สุดในโลกถึง๒ลำที่ผมเล่าไปแล้วตอนต้นกระทู้ ยุทธวิธีที่ญี่ปุ่นนำมาใช้ก็ล้ำยุคสุดๆเพราะแทนที่จะขนเรือรบมาปะทะกัน กลับส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดหลายฝูงมารุมกินโต๊ะจนกองเรือของอังกฤษสูญสลายไปพร้อมๆกับของอเมริกันที่เพริลฮาเบอร์  ปิดศักราชการรบทางเรือที่อาศัยเรือรบขนาดมหึมายักษาบรรทุกปืนใหญ่ลำละสิบๆกระบอกไว้ยิงกันลงโดยสิ้นเชิง

 ญี่ปุ่นใช้กองทัพที่ ๑๕ ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบ ฯ ชุมพร สุราษฎร์ ฯ และนครศรีธรรมราช และกองทัพที่ ๒๕ ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี และโกตาบารูในมลายู  ผมได้นำการรบของทหารอากาศที่ประจวบไปแล้ว ขอต่อด้วยจังหวัดชุมพรซึ่งกองกำลังญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกอย่างทุลักทุเล


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มี.ค. 12, 06:01
 เมื่อเรือลำเลียงพลขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นมาถึงบริเวณอ่าวชุมพรประมาณ๕ทุ่มของวันที่ ๗ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ และทอดสมอที่แนวเกาะเสม็ดแต่เจอเข้ากับพายุฝนทำให้กำหนดการบุกขึ้นฝั่งคลาดเคลื่อนไปถึงเวลาตีสอง  เมื่อให้ทหารลงสู่เรือระบายพลเพื่อขึ้นฝั่งแล้วก็เกิดข้อผิดพลาด แทนที่จะแล่นเข้าทางปากแม่น้ำซึ่งระดับน้ำลึกกลับแล่นตรงเข้าท้องอ่าวที่บ้านคอสน และบ้านแหลมดินซึ่งไม่มีหาดทราย มีแต่เลนออกไปนอกฝั่งไกลมาก ไม่รู้ว่าพวกจารชนทำงานอย่างไรจึงเซอะซะขนาดนั้น แถมเป็นช่วงน้ำทะเลลงต่ำสุดเรือระบายพลจึงติดเลนแต่ไกล ทหารญี่ปุ่นต้องลงจากเรือมาลุยเลนเกือบถึงเอวจนเคลื่อนที่แทบจะไม่ได้ ต้องให้ทหารจำนวนหนึ่งปลดสัมภาระประจำกายออก ตะเกียกตะกายลากเชือกลุยเลนขึ้นมาผูกเชือกไว้กับต้นไม้ริมหาด แล้วจึงให้ทหารที่เหลือทยอยกันสาวเชือกดึงตัวขึ้นฝั่ง ตรงนี้ถ้าระบบยามฝั่งของเราดี ทหารญี่ปุ่นคงตายกันตรงนี้หมด ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมไม่มีการระแวดระวังกันบ้างเลย

ทหารญี่ปุ่นกว่าจะรวมพลบนฝั่งได้ก็สว่างแล้ว และเคลื่อนกำลังเข้าพักในสวนมะพร้าวข้างถนนทางวัดท่ายางใต้สายหนึ่ง และเข้ายึดถนนเข้าตัวเมืองตรงบริเวนสะพานท่านางสังข์อีกจุดหนึ่ง แล้วตรึงกำลังไว้เฉยๆตามคำสั่งจากเบื้องสูง


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มี.ค. 12, 06:31
กำลังหลักของจังหวัดชุมพรคือกองพันทหารราบ ร.พัน ๓๘ นั้นก็เผอิ๊ญเผอิญไปฉลองงานรัฐธรรมนูญด้วยการออกไปฝึกภาคอยู่ที่สนามบินทับไก่อันไกลโพ้นไปจากทะเล แต่ตำรวจภูธรเพิ่งบรรจุตำรวจใหม่ กำลังรอการฝึกอยู่ที่กองกำกับการในตัวเมืองชุมพรพอดีและอยู่ใกล้จุดที่ญี่ปุ่นยึดไว้ไม่ถึง ๗ กิโลเมตร  ตำรวจจึงพร้อมที่สุดที่จะเคลื่อนกำลัง แต่จะรบได้แค่ไหนผมก็ไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับว่าได้ฝึกอาวุธให้ตำรวจใหม่เหล่านั้นกันไปถึงขั้นไหนแล้ว ส่วนยุวชนทหารซึ่งเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนศรียาภัยถูกฝึกวิชาทหารมานานกว่าก็กำลังหลับสบายเพราะฝนตกชุ่มฉ่ำอยู่ตามบ้านของใครของมัน  เมื่อฟังข่าวชาวบ้านของแท้จากปากไม่ใช่ฟังวิทยุ ท่านข้าหลวงถึงกับหายง่วง ราว๖.๓๐นได้สั่งให้ พ.ต.ต.หลวงจิตการุณราษฎร์ ผู้กำกับการตำรวจภูธร นำตำรวจออกไปยันญี่ปุ่นโดยยึดคลองท่านางสังข์ด้านตะวันตก(ฝั่งเมือง)เป็นที่มั่นไว้ก่อนทันที  โดยให้ใช้บริการรถบรรทุกของแขวงการทางจังหวัดชุมพรยกกำลังไป

ขณะเดียวกันท่านข้าหลวงก็รีบแจ้งข่าวให้ให้นายพันตรี ขุนเอกสิงห์สุรศักดิ์(เชิด  เอกสิงห์) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่๓๘ และนายร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหารที่๕๒ ทราบ  ร้อยเอกถวิลนั้นได้ทราบข่าวจากศิษย์ยุวชนทหารชาวบ้านท่ายางโดยตรงแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างเดินทางไปพบข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพรเพื่อรายงานเช่นกัน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มี.ค. 12, 06:56
นายพันตรี ขุนเอกสิงห์สุรศักดิ์ได้สั่งการให้นายพันตรี ขุนเชื้อชาญรบ รองผู้บังคับกองพันทหารราบที่๓๘  ซึ่งนำหน่วยออกฝึกให้กลับที่ตั้งทันที แต่ให้นายร้อยเอก ประชา มัณยานนท์ ผู้บังคับกองร้อย๑ นำกำลัง๑หมวดรีบรุดไปสกัดกั้นทหารญี่ปุ่นไว้ก่อนอย่างด่วน
 
ด้านยุวชนทหารนั้น หน่วยที่ ๕๒ โรงเรียนศรียาภัยมีกำลังพลร้อยคนเศษก็จริง  แต่มีอาวุธปืนเล็กยาวเพียง๓๐กระบอก กับปืนกลเบาอีก๑กระบอก เมื่อปลุกกันมารวมตัวที่สถานีตำรวจได้สักหนึ่งชั่วโมงให้หลัง ร้อยเอกถวิลผู้บังคับหน่วยได้แบ่งเป็นหมู่ปืนกลเบา มีกำลังยุวชนทหาร๕นาย ตำรวจภูธร๕นาย และราษฎรอาสาสมัคร๑นาย ในความควบคุมของ จ.ส.อ.จง แจ้งชาติ เดินทางมุ่งไปรักษาเส้นทางอ่าวพนังตัก เพื่อสกัดข้าศึกทางทิศเหนือด้านสถานีรถไฟนาชะอำ ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของญี่ปุ่นในเช้าวันนั้น หน่วยนี้จึงไม่พบข้าศึกเลย

ที่เหลือ เมื่อรอให้ยุวชนทหารที่ไปช่วยกันตามมาได้ครบตามจำนวนปืนเล็กยาวที่มีอยู่แล้ว ร้อยเอกถวิล และนายสิบเอก สำราญ ควรพันธุ์ ครูฝึก ก็นำยุวชนทหารทั้งหมดขึ้นรถยนตร์ประจำทางขนาดเล็ก๒คัน  ไปสะพานท่านางสังข์บนทางหลวงสายชุมพร–ปากน้ำชุมพรทันที


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มี.ค. 12, 07:18
อ้างถึง
อ้างจาก: NAVARAT.C ที่  18 มี.ค. 12, 21:00
อ้างถึง
ฮึ๊บ ! (ฮื้บ ?- ไม่ทราบสะกดอย่างใดจึงจะถูกต้องที่จะแสดงอาการ"ตกใจตื่น" รอคุณเพ็ญชมพูมาฟันธงก็แล้วกัน)

สองคำข้างบนออกเสียงตรีทั้งคู่ ต่างกันเพียงการออกเสียง

คำหนึ่งสั้น คำหนึ่งยาว

เขียน ฮึบ ดีกว่า ฮึ๊บ


เพ็ญชมพู
หนุมาน

ครับผม ขอบคุณครับ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 มี.ค. 12, 07:48
อ่ะ ไปฮึบต่อ
(กรุณาอ่านข้างบนนะครับ เป็นอาการตกใจตื่น หาใช่กิริยาอย่างอื่นไม่ อย่าได้เข้าใจผิดเป็นอันขาดเชียว)


กำลังตำรวจฮึบเสร็จก็น่าจะไปถึงสะพานท่านางสังข์ฝั่งใกล้เมือง(ฝั่งตะวันตก) และยึดไว้เมื่อประมาณก่อน๗.๐๐  ขณะนั้นชาวบ้านท่ายางที่กำลังฮึบอยู่ก็แตกตื่นข้ามสะพานท่านางสังข์มาเพื่อจะหนีให้ห่างจากทหารญี่ปุ่น ตำรวจจึงได้ข่าวสารว่าทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งชุมนุมกันอยู่ที่วัดท่ายางใต้  และอีกจำนวนหนึ่งกำลังเคลื่อนที่มายังสะพานท่านางสังข์ ผู้บังคับกองตำรวจจึงสั่งการให้กำลังตำรวจข้ามไปฝั่งตรงข้าม(ฝั่งไกลเมือง ด้านตะวันออก)  เมื่อหน่วยลาดตระเวนหน้าของญี่ปุ่นที่มีกำลังประมาณ ๑ กองร้อยเคลื่อนมาถึง จึงเริ่มปะทะกันประปราย ตำรวจก็ถอยมาตั้งหลักด้านเดิม ทั้งสองฝ่ายก็หยุดปะทะชั่วคราว หมายเอาสะพานเป็นจุดแบ่งเขตซึ่งกันและกัน

เมื่อร้อยเอกถวิลและสิบเอกสำราญนำยุวชนทหารถึงดอนยายทัด ก่อนถึงสะพานท่านางสังข์ประมาณ๓๐๐เมตร ได้ยินเสียงปืนก็ให้ยุวชนทหารลงรถแล้วเดินเท้าไปยึดคูถนนที่คอสะพานท่านางสังข์ฝั่งเมือง ยุวชนทหารเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนวิชาทหารมาแล้วค่อนข้างดี เมื่อถึงแล้วก็หาที่มั่นรอรับคำสั่งอยู่  แต่ทหารญี่ปุ่นก็มิได้โหมบุกข้ามคลองมา ทั้งสองฝ่ายเพียงแต่พยายามรักษาพื้นที่ไว้

ประมาณ๐๘๐๐ นายร้อยเอกประชา  มัณยานนท์ ผู้บังคับกองร้อย๑ ร.พัน ๓๘ นำทหารจำนวน ๑ หมวดมาถึงสะพานท่านางสังข์  พอทราบว่ามีทหารญี่ปุ่นจำนวนมากอยู่ที่วัดท่ายางใต้ จึงสั่งให้รถบรรทุกทหารหุ้มเกราะตะบึงฝ่ากระสุนทหารญี่ปุ่นข้ามสะพานไปฝั่งตรงข้ามได้อย่างสะดวกโยธิน

สักพักใหญ่เมื่อกองร้อย๔ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนมาถึง และพยายามจะข้ามไปบ้าง คราวนี้ญี่ปุ่นระดมยิงหนาแน่นจนเคลื่อนที่ไม่ได้ กองร้อย๑นั้นเมื่อถึงวัดท่ายางกลางติดแดนกับวัดท่ายางใต้  ทราบว่าทหารญี่ปุ่นกำลังพักไพร่พลอยู่ในสวนมะพร้าวเป็นจำนวนมาก  จึงลงรถแล้วจัดรูปขบวนรบเข้าโจมตีก่อนทันทีด้วยปืนกลเบาจำนวนมากถึง๙ กระบอก  ทหารญี่ปุ่นไม่ทันรู้ตัวจึงบาดเจ็บล้มตายไปเยอะในที่นั้น
แต่กองร้อย๑ก็มีกระสุนปืนไปไม่มาก เพราะดิ่งตรงมาจากสนามฝึกที่สนามบินทับไก่อย่างเร่งด่วนตามคำสั่งเลยโดยไม่มีโอกาสได้แวะคลังเพื่อขอรับกระสุนเต็มตามอัตราศึก  ร้อยเอกประชาจึงให้ทำการรบแบบประคองตัว แล้วสั่งให้รถกลับไปรับกระสุนมาเพิ่ม พอใกล้สะพานท่านางสังข์พลขับได้ยินเสียงปืนที่ญี่ปุ่นพยายามต้านกองร้อย๔ไม่ให้ข้ามสะพานมาดังหูดับตับไหม้ จึงจอดรถไว้ที่บ้านท่ายาง ตนเองว่ายน้ำข้ามคลองท่านางสังข์กลับมาฝั่งตัวเมืองแล้วพยายามติดต่อกลับไปที่กองบังคับการกองพัน แต่ผลลัพธ์ไม่แจ้ง ผมเดาว่าไม่สำเร็จ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มี.ค. 12, 09:57
นักฟุตบอลยังไม่เข้ามา    เลยมีแต่ลูกปิงปองเสิฟไปพลางๆก่อน
เจอคลิปญี่ปุ่นบุกมาเลย์   หาคลิปญี่ปุ่นบุกไทยไม่ได้ เลยขอนำมาลงเพื่อให้เห็นแสนยานุภาพทางอากาศของญี่ปุ่นในสมัยนั้น

http://www.youtube.com/watch?v=09dGuZ6zQt0


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มี.ค. 12, 10:00
ญี่ปุ่นบุกสิงคโปร์

http://www.youtube.com/watch?v=xDu4fwfqEKI&feature=related


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มี.ค. 12, 05:50
ขอบคุณครับ เล่นปิงปองก็ยังดีกว่าเล่นยกน้ำหนัก

สองเรื่องข้างบนที่เอามาให้ดู ทำให้เห็นภาพการลำเลียงทหารมายกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นผ่านไทยชัดเจนครับ

ส่วนการทิ้งตอร์ปิโดของกองทัพอากาศญี่ปุ่นระเบิดเรือ HMS Prince of Wales ซึ่งมีระวางขับน้ำ๓๕๐๐๐ตัน ความเร็ว ๒๘น๊อต อาวุธปืนใหญ่๑๔นิ้ว๑๐กระบอก ๕.๒๕นิ้ว๑๖กระบอก  ปตอ.กระบอกคู่ ๔๘แท่นยิง ลูกเรือ๑๕๕๘คน และHMS Repulse ขนาดใกล้เคียงกัน จมภายในอึดใจในเรื่องแรกก็เข้าใจได้ว่าทำไมไทยจึงเลือกข้างที่จะเอาตัวรอดไว้ก่อน เรื่องอื่นไว้ไปคิดเอาดาบหน้า


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มี.ค. 12, 07:05
กลับมาที่สพานท่านางสังข์ต่อครับ

การสู้รบที่นั่นทั้งสองฝ่ายยิงกันเป็นระยะตลอดเวลาทั้งๆที่มองไม่เห็นตัว ญี่ปุ่นก็ไม่ข้ามมา ฝ่ายใทยเป็นห่วงว่าทหารร้อย๑ข้ามสพานไปแล้ว จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรไม่ทราบได้  แว่วแต่เสียงปืนและระเบิดในระยะไกลๆ  หลังจากพยายามเปิดสะพานให้ร้อย๔นำปืนกลหนักข้ามไปสนับสนุนไม่สำเร็จ  นายร้อยเอกถวิล นิยมเสนได้ปีนขึ้นไปบนคอสะพานท่ามกลางสายฝนที่ยังตกตลอดเวลาเพื่อตรวจการณ์แนวรบของข้าศึกด้วยความร้อนใจ ทหารญี่ปุ่นเห็นเข้าก็ยิงมาแต่เคราะห์ยังดีกระสุนพลาดไป  ร้อยเอกถวิลเห็นว่าหากข้ามไปยึดฝั่งตรงข้ามได้จะยิงต่อสู้ได้ดีกว่าและอาจจะสามารถควบคุมสพานได้  จึงสั่งสิบเอกสำราญกับยุวชนทหารอีก๓ นายให้อยู่กับที่ ยึดคอสะพานไว้เพื่อประสานกับหน่วยข้างหลัง  ส่วนตนเองสั่งศิษย์ให้ติดดาบปลายปืน  แล้วลุกขึ้นชูปืนพก๙มม.เหนือศรีษะ ออกคำสั่งเสียงดังฟังชัด"ยุวชนทหาร..ตามข้าพเจ้า"  พร้อมออกนำหมู่วิ่งข้ามสะพาน  เมื่อพ้นไปได้แล้วจึงพุ่งตัวลงกำบังไหล่ถนนด้านเหนือ จัดวางแนวกำลังอยู่ที่นั่น
        
ฝ่ายญี่ปุ่นอยู่ในสวนมะพร้าวคนละฟาก  เห็นเข้าก็ตะโกนสั่งกันให้เคลื่อนที่เข้ามาจนห่างประมาณ๒๐-๓๐เมตร เมื่อร้อยเอกถวิลพยายามโผล่ศีรษะขึ้นมาดูสถานการณ์ พลซุ่มยิงที่รออยู่แล้วก็ลั่นไกโป้งเข้าซอกคอ กระสุนทะลุหลอดลมถึงแก่ชีวิตทันที ยุวชนทหารวัฒนา นิตยนารถเห็นเข้าก็รีบคลานกลับรายงานให้สิบเอกสำราญทราบ สิบเอกสำราญจึงรีบรุดเข้าปฏิบัติหน้าที่แทน  ทหารญี่ปุ่นนั้นพรางตัวด้วยกิ่งไม้ใบไม้ ทำให้ดูผาดๆเหมือนป่าเคลื่อนที่ได้ ยุวชนทหารจึงได้รับคำสั่งให้ยิงทันทีเมื่อเห็นกิ่งไม้ใบไม้ไหว

ตอนนี้เองที่ยิงกันเป็นเรื่องเป็นราว  ปืนกลเบาที่ขอทหารมาเกิดขาทรายชำรุดใช้ตั้งยิงไม่ได้ ยุวชนทหารนายหนึ่งจึงให้พลยิงใช้หลังของตนหนุนปากกระบอกปืนแทน ปะทะคราวนี้บาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย สิบเอกสำราญเองโดนยิงที่แขนขวาปืนกระเด็นหลุดจากมือ กระดูกแตกเนื้อขาดไปทั้งก้อนไม่สามารถทำการรบต่อได้ ยุวชนทหารละออ เหมาะพิชัย ได้เข้ามาปฐมพยาบาล แต่ทหารญี่ปุ่นก็มิได้ตลุยเข้ามาทำลายเด็กไทยเสียให้สิ้นทราก ทั้งที่กระสุนที่แจกกันมาก็ได้คนละไม่กี่นัด น่าจะยิงกันใกล้หมดแล้ว  ตำรวจที่รอดูเหตุการณ์ก็พยายามข้ามสะพานมาทางฝั่งตะวันออก เพื่อเสริมขวัญกำลังใจให้ยุวชนทหารที่ขาดผู้บังคับบัญชาและต่อสู้กันไปตามยะถากรรม


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มี.ค. 12, 07:33
หลังจากนั้น การรบก็เนือยลงแม้จะมีการยิงโป้งป้างกันบ้างก็พอประปราย ให้รู้ว่าต่างฝ่ายต่างอยู่กับที่จะดีกว่า

ขณะที่ร้อย๑ ปะทะอยู่ที่วัดท่ายางกลาง และยุวชนทหารกับตำรวจปะทะญี่ปุ่นอยู่ที่สะพานท่านางสังข์นั้น ร้อย๔ไปอยู่ซะที่ไหนแล้วผมใช้อินทรเนตรก็ยังหาไม่พบ  เจอแต่ว่ากำลังส่วนใหญ่ของร.พัน ๓๘ เมื่อกลับจากซ้อมรบก็มาหยุดรอที่ดอนยายทัดและไม่ได้มีส่วนในการสู้รบในวันนั้นเลย พลขับที่ผู้กองสั่งให้มาขนกระสุนก็หายจ้อยไปหลังจากที่ว่ายน้ำข้ามคลองมาแล้ว ทั้งๆที่น่าจะเจอกับผู้พันตรงนี้  

หน่วยปืนใหญ่ติดตามทหารราบ เข้าตั้งฐานยิงที่ใกล้สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำท่าตะเภา และภายในโรงเรียนสตรีสอาดเผดิมวิทยา คอยดักยิงทหารญี่ปุ่นที่คิดว่าจะเคลื่อนมาบนถนน  จึงไม่ปรากฏว่าได้ลั่นกระสุนสักนัดเดียว จนกระทั่งการรบที่เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณหกนาฬิกาเศษนั้นจบเมื่อเวลาใกล้เที่ยง เพราะมีคำสั่งหยุดรบจากกรุงเทพ ให้ปล่อยกำลังทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปพม่าได้ตามสะดวก


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มี.ค. 12, 08:50
เมื่อยุติการรบแล้วทหารญี่ปุ่นก็เคลื่อนที่เป็นขบวนยาวเหยียดเข้าตัวเมืองชุมพร เข้าพักที่โรงเรียนสตรีสอาดเผดิมวิทยา(ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลชุมพร) ที่โรงเรียนช่างไม้(ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยเทคนิค) และโรงเรียนชุมพรศรียาภัย(ปัจจุบันเป็นโรงเรียนศรียาภัย)  

ที่โรงเรียนศรียาภัยนั้น ญี่ปุ่นนำศพทหารของตนฝังไว้ ๑๑ ศพ ต่อมาอีกสองสามวันได้นำมาเผาทั้งหมด ฝ่ายไทยมีเพียงบันทึกว่าเหตุการณ์ครั้งนั้น ยุวชนทหารและผู้บังคับหน่วยผู้กล้าหาญเสียชีวิต๖นาย บาดเจ็บ๕  ทหารเสียชีวิต ๑นาย ตำรวจ๒นาย ประชาชนอาสาสมัคร๑นาย บาดเจ็บจำนวนมากกว่ากันนิดหน่อย

ถือว่ายิงกัน๖ชั่วโมงทั้งสองฝ่ายเสียหายน้อยมาก เมื่อเทียบกับการยกพลขึ้นบกในโกตาบาห์รู ญี่ปุ่นถูกทหารอังกฤษต่อต้านตายในที่รบ๓๒๐นาย บาดเจ็บ ๕๓๘นาย ส่วนฝ่ายอังกฤษบอกเพียงว่าสูญเสียเป็นจำนวนมาก ตอนนั้นคงสู้พลางถอยพลาง ไม่มีเวลานับศพ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มี.ค. 12, 09:15
ภายหลังวีรกรรมของหน่วยยุวชนทหาร ก่อนจะมีการสร้างอนุสาวรีย์ยุวชนทหารที่เห็นในปัจจุบันหลายสิบปีต่อมา ได้มีผู้สร้างเจดีย์เล็กๆองค์หนึ่งไว้ตรงบริเวณที่มีการสู้รบ
 
ส่วนสะพานท่านางสังข์นั้น ปัจจุบันเหลือแต่ทรากตอม่อ เพราะคลองท่านางสังข์ที่ไหลมาสิ้นสุดในหมู่บ้านอู่ตะเภาได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก  มีผู้ลุกล้ำเข้าไปถมคลองเพื่อสร้างอาคารบ้านเรือนจนหมดสภาพ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มี.ค. 12, 09:20
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ร้อยโทสำราญ ควรพันธุ์ (อดีตสิบเอกสำราญ ควรพันธุ์  ผู้เหลือแขนซ้ายข้างเดียวเนื่องจากกระดูกแขนขวาแตก ต้องถูกตัดออก) เป็นผู้บังคับหน่วยยุวชนทหารในการรบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ ได้ชักชวนยุวชนทหารโรงเรียนศรียาภัยให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้น เป็นรูปยุวชนทหารยืนบนแท่นในท่าถือปืนเฉียงอาวุธ ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๒๗ ทางจังหวัดชุมพรเห็นว่า รูปอนุสาวรีย์เดิมมีขนาดเล็กไม่สง่างาม จึงขอให้ศิษย์เก่าโรงเรียนศรียาภัยปรับปรุงรูปปั้นและแท่นฐาน ให้หล่อรูปปั้นใหญ่ขนาดเท่าคนจริง เป็นยุวชนทหารในท่าแทงปืน พลโท ทวีวิทย์ นิยมเสน บุตรชายร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ได้บริจาคเงินสร้างแท่นยืน และขยายฐานใหม่ดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน


รายชื่อวีรชนที่สละชีวิตเพื่อชาติ

๑. ร.อ.ถวิล  นิยมเสน
๒. ส.ต.ท. บุญเสริม  เศวตจันทร์                 
๓ ยวท. ละม้าย   เหมมณี
๔. ยวท. สนิท   พงษ์ภักดี
๕. ยวท. เอื้อม   ลุ่มนวล
๖. ยวท. ถวัลย์   อนันตสิทธิ์
๗. ยวท. บุญช่วย   เพชร์เลย
๘. พลตำรวจ  เปียก  ชูธวัช
๙. พลตำรวจ  เพชร  ธานา
๑๐. นายน้อย  มณีสุวรรณ   

ที่ฐานอนุสาวรีย์ เป็นรูปปั้นนูนต่ำของพันโทถวิท นิยมเสน(ยศสุดท้ายหลังพลีชีวิต)                           


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มี.ค. 12, 09:36
ส่วนทหารญี่ปุ่นนั้น ได้หลังจากพักจัดกระบวนทัพ ซักเสื้อซักกางเกงหมดโคลนตมแล้วก็ไม่รอช้า ขอให้ทหารไทยจากร.พัน.๓๘ นำทางไปตามถนนจนถึงท่าเรืออำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เพราะกลัวคนไทยจะยิงเอาเพราะความเข้าใจเดิมๆที่ให้สู้จนตัวตายเช่นเดียวกับร้อยเอกถวิล  เมื่อถึงแล้วก็ลงเรือข้ามไปยึดเกาะสองของพม่าเพื่อจะเดินทัพทางทะเลไปรบกับทหารอังกฤษต่อไป
 
กองกำลังญี่ปุ่นที่ขึ้นบกในวันต่อๆมามีรถยนต์และอาวุธหนักเป็นจำนวนมาก พักกำลังพลอยู่ในบริเวณวิทยาลัยเทคนิคปัจจุบันค่ายหนึ่ง อีกค่ายหนึ่งตั้งอยู่ริมหนองม่วงค้อนใกล้สถานีรถไฟชุมพร แต่อยู่เพียงวันเดียวก็check out  เคลื่อนกำลังตามหน่วยแรกไปพม่าตามเส้นทางเดิม


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มี.ค. 12, 09:59
ญี่ปุ่นออกจากชุมพรไปร่วมสองปีก็กลับเข้ามาตั้งค่ายใหญ่ที่เนินเขาสามแก้วตอนพ.ศ.๒๔๘๖  เพื่อสร้างทางรถไฟสายชุมพร - เขาฝาชี ในจังหวัดระนอง โดยแยกจากทางรถไฟสายใต้ ห่างจากตัวสถานีชุมพรประมาณ๑กิโลเมตร ถือว่าเป็น Land Bridge Project ข้ามคอคอดกระของจริงที่ลงมือสร้าง แต่เสียดายที่ไม่เสร็จ ทำให้คนไทยยังเพ้อฝันถึงเจ้าสิ่งนี้ต่อไม่เลิกจวบจนปัจจุบันและอนาคต  
คราวนั้นญี่ปุ่นใช้กรรมกรจีน แขกกะลิงที่เกณฑ์จ้างมาจากมลายูและสิงคโปร์ ไม่ได้ข่มเหงคนไทยเอาเป็นกรรมกรทาสตามที่ให้คำมั่นสัญญา แต่การที่ผู้คนมาอยู่มากินมากมายก็ทำให้เมืองชุมพรเกิดข้าวยากหมากแพง ค่าครองชีพสูง คนไทยลำบากยากเค้นทั้งเมืองเช่นกัน จะสุขสบายก็แต่พวกผู้ที่รับเหมาที่ส่งไม้หมอนส่งหินสร้างทางรถไฟ และขายอาหารที่ญี่ปุ่นยอมซื้อไม่อั้นชนิดไม่เกี่ยงราคาเพราะพิมพ์แบ็งค์บาทใช้เอง จนหลายคนกลายเป็นเศรษฐีสงครามในช่วงเวลาลัดสั้น

ปลายปีนั้นเอง เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำสัมพันธมิตรมากเข้า  เครื่องบินบี ๒๔ และบี ๒๙ ก็เข้ามาทิ้งระเบิดทางรถไฟที่กำลังสร้างโดยไม่เลือกวันเวลา โดยไม่มีเครื่องบินญี่ปุ่นขึ้นต่อสู้ขัดขวางเหมือนต้นสงคราม จับกังบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก ญี่ปุ่นก็แก้เกมโดยเอาเชลยศึกที่เป็นทหารฝรั่งเศสจากอินโดจีนที่ฮึดสู้แล้วแพ้ มาอยู่ที่ค่ายญี่ปุ่นประมาณ ๑ กองร้อย ให้เชลยศึกเหล่านี้ซ่อมทางรถไฟ และสะพานรถไฟที่เสียหายทั้งวัน โดนระเบิดที่ฝรั่งด้วยกันทิ้งจากเครื่องบินบาดเจ็บล้มตายไปก็มี
 
ขบวนการเสรีไทยชุมพรที่ตำรวจสันติบาลได้จัดตั้งขึ้น ก็ส่งข่าวให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรู้ว่าเชลยศึกจะเลิกงานกลับเข้าค่ายเวลา๕โมงเย็นทุกวัน สัมพันธมิตรจึงมาทิ้งระเบิดหลังเวลานั้นไม่สะเปะสะปะเหมือนก่อน เมืองชุมพรจึงเสียหายเฉพาะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์  ส่วนรถไฟไทยนั้นยับเยิน ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะซ่อมแซมเส้นทางให้กลับสู่สภาพปกติได้  แต่กระนั้นก็ดี นักบินก็ยังพลาดเป้าไปทำลูกระเบิดตกในเมืองเข้าลูกหนึ่ง  บริเวณที่ปัจจุบันเป็นโรงแรมภราดรอินน์นั่นแหละ ทำให้ชาวเมืองชุมพรบาดเจ็บล้มตาย เขาว่าประมาณ๑๐ศพ โรงแรมดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับนักเทนนิสชื่อดัง แต่เป็นโรงแรมชั้น๑ของชุมพรในอดีตที่ผมเคยไปแวะพักแรมหลายครั้ง ไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อนเล้ย มาทราบก็ตอนปั่นต้นฉบับมาถึงตรงนี้นี่แหละ มิน่า..มีคนเคยแจกข่าวลือประหลาดๆแต่ตอนนั้นผมไม่ค่อยเชื่อ
 
เมื่อสงครามยุติลง กองทหารอังกฤษที่เข้ามายึดครองชุมพรเพื่อปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ได้แจกจ่ายข้าวปลาอาหาร ยารักษาโรค และเสื้อผ้าช่วยเหลือชาวบ้านคนไทยจนกระทั่งผ่านพ้นวิกฤต


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 มี.ค. 12, 10:49
เรื่องราวที่ญี่ปุ่นขึ้นที่ชุมพรของผมจบเพียงเท่านี้ ท่านผู้ใดจะกรุณาเสริมก็เชิญครับ ผมขอเวลาไปเตรียมเรื่องของสุราษฏร์ธานี


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 12, 12:00
ระหว่างรอนักฟุตบอลมาเติมให้เต็มทีมในกระทู้นี้  ก็ขอคั่นโปรแกรมไปพลางๆก่อน ด้วยเรื่องของวีรบุรุษไทยของชุมพร    บุคคลเหล่านี้คือคนที่เสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง   เรื่องราวของพวกเขา ถ้าไม่มีคนรุ่นหลังพยายามฟื้นความจำขึ้นมาให้อ่านกัน ก็คงถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา   จึงต้องขอนำมาลงให้อ่านกันอีกครั้ง
     เล่าโดยอดีตลูกศิษย์คนหนึ่งของท่าน ที่รู้เห็นเหตุการณ์ในคืนญี่ปุ่นบุกชุมพรด้วยตัวเอง

     "ร้อยเอก  ถวิล  นิยมเสน  (พันโท)  เพิ่งย้ายไปรับหน้าที่ผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหารจังหวัดชุมพรได้ไม่กี่เดือน  ท่านเคยป็นครูสอนยุวชนนายทหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ใจดี  โอบอ้อม  แต่อารมณ์ร้อน  มุทะลุ  เจรจาโผงผาง  ไอ้พวกผมมันสันดานเสีย  ชอบแหย่ยั่วท่าน  ทานก็โมโหโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง  ดูเหมือนกับจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน  แต่แล้วในที่สุด  “ครูหวิน”  ของพวกเรากลับพาเราไปเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวแถวสามย่านทุกบ่อย  ท่านย้ายไปชุมพรทำอาพวกเราเงียบไปถนัด 
      การสู้รบที่ท่านางสังข์มีความกดดันหนัก  ข้าศึกมองไม่เห็นตัวฝ่ายเรา  แต่ดันยิงรบกวนอยู่ได้ตลอดเวลาไม่มีหยุด  เราพยายามเปิดสะพานให้ได้แต่ไร้ผล  ร้อย  ๑.  ผ่านไปได้ก็จริง  แต่เป็นอย่างไรบ้างก็ไม่รู้  ได้ยินแต่เสียงระเบิด     ด้วยอารมณ์ร้อนและการตัดสินใจเฉียบพลัน  “ครูหวิน”  สั่งหมู่ปืนกลเบาถอนปืน   หวังเสี่ยงวิ่งข้ามสะพานจู่โจมผลักดันแย่งพื้นที่ฝั่งตะวันออกเพื่อเปิดสะพานจะให้  ร้อย  ๔.  ปก. หนักผ่านไปได้ 
     ร้อยเอก  ถวิล  นิยมเสน  ลุกขึ้นชูปืนพก  ๙  มม.  เหนือศีรษะ  ออกคั่งเฉียบขาดเสียงดังฟังชัด  “ยุวชนทหาร-ตามข้าพเจ้า”  สิ้นเสียงก็ออกวิ่งนำหมู่ข้ามสะพานไปได้  พอพ้นก็พุ่งตัวลงกำบังไหล่ถนนทางด้านเหนือ  หลบวางแนวอยู่ที่นั่น แต่ไม่มีจุดตั้งยิงที่ได้เปรียบทางยุทธวิธี  ปืนกลเบาไปตั้งอยู่ในจุดบอด 
      ครูหวินใจร้อนโผล่ขึ้นมาตรวจพื้นที่และมองหาทางข้ามถนนไปทางฝั่งใต้เพื่อเข้าทำลายปืนกลญี่ปุ่นซึ่งหน้า  ครั้งนี้ครูหวินคงจะเผลอตัวชะเง้อสูงเกินไป    ข้าศึกระดมยิงเข้ามากระสุนเจาะเข้าที่คอครูหวินเสียชีวิตทันที  จากนี้ยุวชนทหารจึงยึดแนวถนนยิงต่อสู้กับข้าศึกอย่างถวายหัว  มีนายสิบ  ผบ.หมู่ร่วมอยู่ด้วยอีกหนึ่งนาย  กับตำรวจสี่ห้านาย  ตำรวจที่ข้ามไปก่อนพร้อมกับรถบรรทุกทหารของร้อย.๑  ปก.เบา  ก็มีบาดเจ็บเสียชีวิตกันบ้าง  ปืนกลเบากระบอกที่ยุวชนทหารนำข้ามสะพานไปนั้นเกิดขาทรายชำรุดใช้ตั้งยิงไม่ได้ยุวชนทหารนายหนึ่งจึงใช้หลังหนุนกระบอกปืนแทน  และปืนกลกระบอกนี้ก็ใช้ยิงต่อสู้ศัตรูอยู่ได้จนมีคำสั่งหยุดยิงเมื่อเวลา  ๑๑.๐๐  น."


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 12, 12:07
           ปฏิบัติการของหมู่ปืนกลที่ท่านางสังข์ครั้งนี้  ฯพณฯ  จอมพล  ป.  พิบูลสงคราม  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในนามปากกา  “สามัคคีชัย”  ได้เขียนบทสดุดีวีรกรรมออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงอยู่นานวัน  ท่านกรุณาให้สมญาว่า  “ลูกฐานปืนกล”  ครับ  ยุวชนทหารเด็กตัวเล็ก ๆ ของจังหวัดชุมพร
           นัดเจรจายุติการสู้รบเวลา  ๑๑.๕๐  น.  ไทยเราใช้สัญญาณธงสีขาวผืนใหญ่เคลื่อนที่ไปจุดนัดพบ  แต่ญี่ปุ่นไม่ยอมหยุดยิง  ยังคงเล่นงานเราด้วยปืนกลและปืนเล็ก  ผู้แทนฝ่ายไทยต้องเผ่นจากรถยนต์ลงมาหมอบคลุกฝุ่นคลุกโคลนอยู่ข้างถนน  จึงเกิดการยิงตอบโต้กันขึ้นอีก  กว่าจะได้ประจันหน้าพูดกัน  กองกำลังทั้งหมดที่จะเดินผ่านชุมพรตั้งข้อเรียกร้องหลายข้อ  อย่างจะขนทหารจากชุมพรผ่านไประนอง  แต่จะให้ไทยจัดกำลังเป็นหน่วยนำ  ญี่ปุ่นต้องการอาหาร  ต้องการยานพาหนะเท่าที่จะมี  จักรยานธรรมดาก็เอา  เอาทั้งหมดด้วย   เรียกว่าทั้งจังหวัดชุมพรมันจะเอาละไม่ว่าอำเภอไหน  และที่บัดซบที่สุดญี่ปุ่นจะให้คนไทยคำนับมันเมื่อเดินผ่าน  เราจะยอมได้อย่างไรละครับ
            ต่อมาภายหลังญี่ปุ่นรู้ว่าสะพานท่านางสังข์นั้น  ญี่ปุ่นรบกับยุวชนทหารที่ยังเป็นนักเรียนมัธยม  กองทัพญี่ปุ่นจึงมีหนังสือแสดงความเสียใจและสรรเสริญในความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญนั้นอย่างเป็นทางการมายังกระทรวงกลาโหม

http://sassadee.ruksadindan.com/magazine/magazine_30/magazine_32/magazine_32.htm


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 12, 21:00
ดึงกระทู้นี้กลับขึ้นมาอีก เพราะไปอ่านหนังสือ ฉากญี่ปุ่น ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  เล่าถึงความเป็นมาของแสนยานุภาพของญี่ปุ่น ที่บุกหลายประเทศในเอเชีย   จึงคิดว่าควรเอามารวมเสียด้วยกันในกระทู้นี้
ท่านผู้อ่านเรือนไทยที่ติดตามกระทู้นี้มาแต่ต้น  รู้ว่าญี่ปุ่นบุกไทย    แต่ญี่ปุ่นมีนโยบายอะไร ทำไมถึงเที่ยวไปบุกดินแดนอื่น  เอากำลังทัพมาจากไหน  แสนยานุภาพของญี่ปุ่นมีอะไรบ้าง อาจเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยรู้กัน

ขอย้อนหลังไปเปิดฉากญี่ปุ่นในยุคต้นรัชกาลที่ 5 ของไทย    ประมาณ 2410-2411  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์    ญี่ปุ่นก็มีรัชสมัยของพระเจ้าจักรพรรดิเมจจิ ที่ขึ้นครองราชย์หนึ่งปีก่อนพระเจ้าอยู่หัวของเรา     รัชสมัยนี้เป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่ครองตัวโดดเดี่ยวเอกาไม่ยุ่งไม่เกี่ยวกับใคร  ให้จำใจต้องเปิดประตูเมืองรับฝรั่งอเมริกัน ที่ยื่นคำขาดด้วยปืนใหญ่และเรือรบให้เปิดเสียดีๆ จะได้ไม่เจ็บตัว     รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นอาวุธมหึมาของอเมริกาก็ไม่มีทางอื่นนอกจากยอมเปิดประเทศให้โดยดี ทั้งๆไม่ได้ประสงค์จะทำ
ญี่ปุ่นมีนโยบายต่างประเทศตรงกันข้ามกับไทย   ถ้าย้อนไปอ่านกระทู้โปรตุเกสเข้าเมือง จะเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินอยุธยามักพระทัยกว้าง ไม่ทรงรังเกียจจะติดต่อค้าขายกับชนต่างชาติ   ไม่ว่าจีนหรือแขกหรือฝรั่ง  ถ้าไม่เข้ามารุกรานแล้ว พระเจ้าแผ่นดินไทยเต็มพระทัยค้าขายด้วยทั้งสิ้น  เพราะมีแต่ผลดีในการเพิ่มพระราชทรัพย์ในท้องพระคลัง   ไม่เห็นผลเสียอะไรตรงไหน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 12, 21:09
ส่วนญี่ปุ่นดูเหมือนจะไม่ไยดีกับการค้าขายเสรีแบบอยุธยา   ซ้ำยังมีกฎหมายด้วยว่า ถ้าจับชาวต่างชาติเมื่อใดก็ให้ฆ่าเสีย    ด้วยเหตุนี้เรือสินค้าของฝรั่งชาติต่างๆที่ผ่านมาทางญี่ปุ่น ถ้าผ่านไปเฉยๆก็รอดตัวไป  แต่ถ้าเรืออับปาง   ญี่ปุ่นเจอกลาสีฝรั่งเมื่อไรก็จับฆ่าเสียเป็นเรื่องธรรมดา   หนักเข้าฝรั่งก็ทนไม่ไหว  จึงมาขอทำไมตรีให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศรับ  เพื่อปัญหานี้จะได้หมดไป  และประโยชน์ในการค้าขายก็จะตกอยู่กับฝรั่งด้วย
ฝรั่งชาติอเมริกันที่เอาปืนใหญ่บรรทุกเรือมาจี้ให้ญี่ปุ่นเปิดประตูเมืองได้สำเร็จคือพลจัตวาแมทธิว ซี  เปร์รี่     พอประตูเมืองเปิด  ฝรั่งชาติอื่นก็แล่นเรือตามเข้าเมืองญี่ปุ่นเป็นทิวแถว  ไม่ว่าอังกฤษ รัสเซียหรือดัทช์ซึ่งคำเดิมที่เรียกกันคือวิลันดา

ทั้งๆยอมเปิดประตูแล้ว  ญี่ปุ่นก็ยังไม่ชอบหน้าชาวต่างชาติอยู่ดี    ผิดกับคนไทยไม่ว่าสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ที่ยืดหยุ่นและยอมรับฝรั่งง่ายกว่า      ความไม่ชอบหน้าฝรั่งกลายมาเป็นนโยบายว่า ญี่ปุ่นจะต้องพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า   มีกองกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยไม่แพ้ฝรั่ง    เพื่อเอาชนะฝรั่งให้ได้สักวันหนึ่ง   
นโยบายนี้เองที่เจริญงอกงามขึ้นมาจนเป็นแรงบังดาลให้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นในยุคหลัง


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 12, 18:39
     พระเจ้าจักรพรรดิเม็จจิครองราชย์กินเวลายาวนานถึง 45 ปี  ไล่เลี่ยกับรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย   ทั้งไทยและญี่ปุ่นแสวงหาความก้าวหน้าโดยพัฒนาประเทศให้ทันกับความเจริญทางตะวันตกแบบเดียวกัน    ส่งนักเรียนไปเรียนวิทยาการในยุโรปเช่นเดียวกัน   ญี่ปุ่นคัดเลือกอย่างระมัดระวัง    ประเทศไหนเก่งทางไหนก็ส่งนักเรียนหนุ่มๆของตนไปเรียนทางนั้น    อย่างอังกฤษเป็นเจ้าทางทะเล นักเรียนญี่ปุ่นก็ไปเรียนวิชาทหารเรือและการเดินเรือสินค้าที่อังกฤษ    เยอรมันเก่งทางทหารบกและการแพทย์    นายร้อยญี่ปุ่นและนักเรียนแพทย์ญี่ปุ่นก็มุ่งไปที่นั่น      ไปเรียนกฎหมายที่ฝรั่งเศส และไปเรียนบริหารธุรกิจที่อเมริกา    สยามเองก็ดำเนินนโยบายแบบเดียวกัน

     ญี่ปุ่นปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยอีกอย่างคือพัฒนาให้มีระบอบรัฐสภาขึ้นในประเทศ    แม้ว่ายังมีพระเจ้าจักรพรรดิเป็นประมุขสูงสุดอยู่ก็ตาม   รัฐสภาประกอบด้วยสภาสูงหรือสภาขุนนาง เหมือน House of Lords ของอังกฤษ   และมีสภาผู้แทน หรือ House of Representatives ที่มาจากการเลือกตั้ง      ระบอบใหม่ของญี่ปุ่นแตกต่างจากไทยอยู่อย่างหนึ่งคือสถาปนากันขึ้นมาได้โดยไม่มีการปฏิวัติยึดอำนาจ      แม้ว่าตอนแรกๆการปกครอง  ที่เลือกกันไปเลือกกันมา ก็ยังวนเวียนอยู่ในมือของผู้บริหารประเทศที่เป็นคนสร้างระบอบนี้ขึ้นมา   แต่ก็ไม่มีปฏิวัติซ้ำปฏิวัติซ้อน หรือแย่งอำนาจกันชนิดเสียเลือดเนื้อ     การเมืองของญี่ปุ่นก็เลยเดินหน้าไปตามทำนองของมันโดยไม่มีการสะดุด


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 12 เม.ย. 12, 19:44
อาจารย์กลับมา นักเรียนก็ขอแสดงตัวหน่อยว่าแม้จะไม่ได้ให้สุ้มให้เสียง หลบๆ อยู่หลังห้อง แต่ยังไม่หนีออกจากห้องเรียนไปไหนครับ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 12, 20:10
น่ากลัวว่าจะเหลือกันแค่สองคนในห้องเรียนแล้วละค่ะ คุณประกอบ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 12 เม.ย. 12, 21:03
ผมนั่งเรียนเงียบๆหลังห้องครับ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 เม.ย. 12, 21:17
    พระเจ้าจักรพรรดิเม็จจิ

สงสัยว่าเหตุไฉนคุณชายท่านเรียกเช่นนั้น  ???

明治天皇 (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B4)  คุณกุ๊ก  (http://translate.google.co.th/?hl=th&sugexp=frgbld&pq=%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B4&cp=15&gs_id=1t&xhr=t&q=%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B4+%E0%B8%84%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C&bav=on.2,or.r_gc.r_pw.r_qf.,cf.osb&wrapid=tljp1334239554447225&um=1&ie=UTF-8&sa=N&tab=wT#ja|th|%E6%98%8E%E6%B2%BB%E5%A4%A9%E7%9A%87) ออกเสียงภาษาญี่ปุ่นให้ฟังว่า เมจิเทนโน

 ;D


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 12, 22:16
คุณเพ็ญชมพูคงต้องไปจุดธูปเรียนถามท่านเอาเอง  ;D

มีนักเรียน 2 คนแล้ว    จะได้เลกเชอร์ต่อละค่ะ

นโยบายอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น น่าจะเรียกว่า "การศึกษานำหน้าการเมือง"  คือรัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นความสำคัญในการให้ประชาชนมีการศึกษา  ไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้อย่างงูๆปลาๆ  แต่ว่ามีความรู้ถึงขั้นอุดมศึกษากันเลยทีเดียว    หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่พ.ศ. 2414  ออกจะล้ำหน้าสยาม    คือให้เด็กญี่ปุ่นทุกคนต้องเรียนภาคบังคับในระดับประถมศึกษา 6 ปี   ใครเรียนจบแล้วจะเลิกเรียนก็ได้   แต่ถ้าอยากเรียนต่อก็เรียนมัธยมอีก 5 ปี   จบแล้วยังไม่อยากหยุดแค่นั้นก็แยกไปเรียนเตรียมอุดมหรืออาชีวะอีก 5 ปี   ขั้นสุดท้ายคือระดับอุดมศึกษาอีก 3 หรือ 4 ปี  เรียนวิชาชั้นสูงเช่นกฎหมาย  แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์  อักษรศาสตร์  ครุศาสตร์ฯลฯ  เรียกว่าเรียนกันหัวโตกว่าจะจบเป็นบัณฑิต 

ด้วยแผนการศึกษาที่เข้มข้นเป็นระบบระเบียบตามนี้     ประชาชนญี่ปุ่นในสมัยที่ตรงกับรัชกาลที่ 5 และต่อมายังรัชกาลที่ 6 ของไทย ก็ร่ำเรียนวิชากันได้แตกฉาน     ไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้  แต่มีความรู้ทางศาสตร์ต่างๆตลอดจนเทคโนโลยี่ทันสมัยเท่าที่ประเทศตะวันออกจะพึงทันสมัยได้    กลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่บรรจุเข้ารับราชการได้ก้าวหน้าทันพัฒนาประเทศ   ตลอดจนกระจายตัวเป็นช่างและนักวิชาชีพต่างๆกันทั่วประเทศ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 12, 22:31
สิ่งที่น่าสนใจในหลักสูตรการศึกษาของญี่ปุ่นสมัยนั้น  ก็คือจุดมุ่งหมายของหลักสูตร     
ขอออกนอกเรื่องหน่อยว่า ในการวางหลักสูตร เขาถือกันว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะกำหนดทิศทางของหลักสูตร      ใครจะร่างหลักสูตรอะไรขึ้นมาก็ตาม  ตามทฤษฎีแล้วจะต้องมาตั้งคำถามกันก่อนอื่นว่า  จะเอาแนวไหน  สอนเด็กกันไปทำไม หรือสอนพวกเขาเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายใดกัน    บรรดานักวิชาการต้องตอบโจทย์ออกมาให้ชัด จึงจะร่างกันถูก     ไม่ใช่จุดมุ่งหมายกว้างครอบจักรวาลทำนองว่า   เพื่อให้เรียนรู้วิชาต่างๆได้กว้างขวาง  มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ  เพื่อไปทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ      เพราะถ้ากว้างขนาดนี้แล้ว จะจับหลักไม่ค่อยติดว่าจะเลือกอะไรมาสอน และสอนยังไงถึงจะได้ผล     จุดมุ่งหมายที่ดีจะต้องกระชับรัดกุมกว่านั้น

หลักสูตรการศึกษาของญี่ปุ่นในสมัยนั้นตอบโจทย์ได้ชัดเจนว่า สอนไปเพื่อปลูกฝังประชาชนให้ว่านอนสอนง่าย และเชื่อในนโยบายของรัฐ   เพื่อจะได้รวมพลังประชาชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  ในการสนับสนุนรัฐบาลว่ารัฐบาลวางทิศทางการเมืองแบบไหน ประชาชนก็พร้อมจะเดินไปตามทิศนั้น      ไม่ได้สอนให้ประชาชนแต่ละคนคิดอะไรแบบปัจเจกบุคคล  แบบใครจะเชื่ออย่างไหนก็แล้วแต่ใจ  เพราะถ้าสอนแบบนั้นประชาชนก็จะแตกกันแบบสิบล้านคนก็สิบล้านความคิด    หาทางเดินร่วมกันไม่เจอ
การสอนแบบนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เรียกว่า Political Indoctrination   ท่านบอกว่าญี่ปุ่นนำหน้ามาก่อนนาซีและคอมมิวนิสต์เสียอีก


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 12, 22:53
รัฐบาลญี่ปุ่นผู้วางนโยบายการศึกษาของชาติ เป็นรัฐบาลที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างแรงกล้า  และมีจิตใจเข้มแข็งอย่างทหารที่ถือว่าชัยชนะเป็นเกียรติยศ   เพราะพวกนี้มีพื้นฐานจากซามูไรหรือนักรบญี่ปุ่นมาก่อนจะเป็นใหญ่เป็นโตในการเมือง      จึงปลูกฝังหลักสูตรลงไปให้เยาวชนภูมิใจว่าชาติของตนเป็นชาติแข็งแกร่งที่สุด   เก่งฉกาจกว่าชาติใดๆในโลก   มีพระเจ้าจักรพรรดิผู้สืบเชื้อสายมาจากเทพคือพระอาทิตย์   เกียรติยศของลูกผู้ชายญี่ปุ่นอยู่ที่เป็นนักรบ   ถ้าตายก็ขอตายในสนามรบ และอุทิศชีวิตเป็นราชพลี

การปลูกฝังความเชื่อเช่นนี้ ได้ผลในหมู่ประชาชน    โดยเฉพาะพวกลูกชาวไร่ชาวนาซึ่งแต่เดิมก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีเกียรติมีดีอะไรนักหนา นอกจากทำงานหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินไปวันๆ    แต่เมื่อถูกปลูกฝังว่าตัวเองมีเกียรติยศได้สูงเท่ากับคนชั้นสูงในสังคมหมือนกัน หากว่ากล้าหาญ เสียสละ เพื่อประเทศชาติ     ความฮึกเหิมในใจคนเหล่านี้ก็เกิดขึ้นได้ง่าย   จากนั้นก็เกิดความเชื่อมั่นในอุดมการณ์นี้จนทำได้แม้แต่สละชีวิต

ในอดีตของไทยเราก็มีการปลูกฝังเรื่องชาตินิยมเหมือนกัน     แต่ถ้าถามว่าได้ผลเท่าญี่ปุ่นไหมก็เห็นจะต้องตอบว่าไม่ได้  ไม่ใช่เพราะประชาชนไม่เอาจริง    ประชาชนไทยนั้นเอาจริง แต่รัฐบาลต่างหากไม่เอาจริงกับอุดมการณ์ที่วางไว้  หากแต่ตัดสินใจใหม่ว่าจะยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์เพื่อการอยู่รอด     อ่านตอนต้นกระทู้นี้ก็คงจะนึกคำตอบออกนะคะ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 เม.ย. 12, 23:11
มาสมัครเป็นนักเรียนหลังห้องอีกคนนึงด้วยครับ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 12, 23:22
^
เสียใจค่ะ   เก้าอี้นักเรียนเต็มแล้ว
ที่ว่างอยู่คือเก้าอี้อาจารย์ตัวจริงที่โดดสอนไปไหนก็ไม่รู้ มาพักใหญ่แล้ว    ดิฉันมาเล่าประวัติกองทัพญี่ปุ่นขัดตาทัพไว้เท่านั้นเอง  ไม่ให้นักเรียนหนีไปเตะบอลกันหมด


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 เม.ย. 12, 08:59
เอื๊อกกก

เก้าอี้มีเป็นร้อย มีนักเรียนนั่งกันอยู่สองคนท่านว่าเต็มแล้ว


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 12, 10:28
ยกเก้าอี้พิเศษมาให้ท่าน NAVARAT นั่งค่ะ    
จะเล่าเรื่องญี่ปุ่นอีกไม่นาน     สักพักก็กลับเข้าญี่ปุ่นบุกไทยเหมือนเดิม


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 12, 10:45
รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดทิศทางภาครัฐ คือสร้างหลักสูตรการศึกษาปลูกฝังประชาชนให้รักชาติยิ่งชีพได้สำเร็จแล้ว    พร้อมกันนั้นก็ไม่ลืมที่จะกำหนดทิศทางภาคเอกชนให้สอดคล้องไปกับแนวทางของประเทศด้วย    คือไม่ปล่อยให้เอกชนเติบโตอย่างอิสระ  ซึ่งอาจจะต่างคนต่างโตแบบไร้ทิศทาง สะเปะสะปะตีกันเอง แบบใครดีใครได้      ถ้าเป็นยังงั้นการพัฒนาก็จะเฉไฉ ไม่เป็นไปในทางเดียวกัน     
รัฐจึงใช้วิธีเข้าควบคุมอุตสาหกรรมและการค้าขายเสียเอง     ทำ ๒ แบบ คือ
๑  ตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเอง เช่นพวกสาธารณูปโภครัฐเข้าดำเนินการเองหมด  เหมือนประเทศไทยเคยมีการไฟฟ้า การประปา การไปรษณีย์  เป็นรัฐวิสาหกิจ       
๒  รัฐสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน   ที่ดูแล้วว่าสอดคล้องกับพัฒนาประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นทำงานแน่วแน่จริงจัง  ภายใน 20 ปีก็เริ่มเห็นผล    นอกจากนี้มีองค์ประกอบอย่างอื่นมาส่งเสริม คือเมื่อการศึกษาดีขึ้น  การแพทย์สาธารณสุขก็ทันสมัยขึ้น  ส่งผลให้ประชาชนไม่เจ็บไม่ป่วยล้มตายง่ายๆเหมือนสมัยที่ยังล้าหลัง   อัตราทารกรอดตายก็สูงขึ้นมาก  ทำให้จำนวนประชากรทวีขึ้นรวดเร็ว   ในพ.ศ. 2410 คือต้นรัชกาลที่ 5 ของเรา  ญี่ปุ่นมีพลเมือง 30 ล้าน  ผ่านมา 70 ปีถึงพ.ศ. 2480  จำนวนพลเมืองเพิ่มเป็น 70 ล้าน   ทิ้งประเทศไทยไปมากกว่าเท่าตัว 


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 12, 13:47
   เมื่อญี่ปุ่นพัฒนาประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ใช้เวลาไม่นานเพียงแค่ชั่วอายุคนๆเดียว   ถ้าหากว่ามีชายญี่ปุ่นคนหนึ่งทันเห็นญี่ปุ่นพลิกโฉมหน้าสมัยตนยังหนุ่ม  เวลาล่วงมา ยังไม่ทันแก่ตาย เขาก็เห็นผลความเจริญก้าวหน้าได้แล้ว      ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยี่จากการส่งคนไปเรียนวิทยาการกลับมาพัฒนาความรู้สาขาต่างๆได้ผลดี    มีกำลังคนในประเทศมากพอจะผลิตสินค้าอุตสาหกรรมส่งไปขายต่างประเทศได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าสินค้ายุโรปและอเมริกา    เพราะค่าแรงงานถูกกว่ามาก
   มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า ญี่ปุ่นมุ่งจะสร้างความเป็นมหาอำนาจให้ตัวเองมากกว่าจะสร้างความร่ำรวยให้ประชาชนพลเมือง    ทำให้ดิฉันนึกถึงนโยบายคล้ายคลึงกันนี้ในประเทศจีนและโซเวียตรัสเซียในยุคสังคมนิยม     สองประเทศนี้เป็นแม่แบบของมหาอำนาจฝ่ายตรงข้ามกับอเมริกา    แผ่ขยายอุดมการณ์สังคมนิยมเข้าไปในหลายประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเชีย  แสดงว่ามีกำลังเงินและกำลังคนอยู่มาก   แต่พลเมืองสองชาตินี้ก็ครองชีพกันอย่างจำกัด  ไม่ได้ร่ำรวยขึ้นมาตามขนาดอำนาจของประเทศ   ญี่ปุ่นในตอนนั้นก็แบบเดียวกัน คือภาครัฐมีอำนาจกุมการตัดสินใจไว้สูงสุด     การตัดสินใจของญี่ปุ่นก็คือแสวงหาอำนาจ  มากกว่าจะแสวงหาเงินทองให้ประชาชนร่ำรวยอู้ฟู่กันในประเทศ
   ในเมื่อจะเป็นมหาอำนาจทั้งที  ญี่ปุ่นก็มองออกว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ของตนคือมีเป็นเกาะ มีเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่มากที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้  ย่อมไม่เอื้อให้เป็นใหญ่ได้เท่ากับมีดินแดนอื่นๆเพิ่มเข้ามาในอำนาจของตน  เพื่อจะหาทรัพยาการมาใช้ได้สะดวก    จะว่าไปนโยบายนี้ก็ไม่ต่างจากนโยบายเจ้าอาณานิคมของฝรั่งเศส อังกฤษ และวิลันดา เท่าใดนัก     เพียงแต่ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้คำนี้  แต่ไปใช้คำว่า ช่วยปลดแอกเพื่อนบ้านด้วยกันให้พ้นจากเป็นเมืองขึ้นของประเทศใหญ่


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 12, 13:58
      ญี่ปุ่นเริ่มชิมลางด้วยการทะเลาะกับจีนเพื่อแย่งเกาะริวกิวมาเป็นของตัวเอง    เดิมเกาะนี้จีนว่าเป็นของจีน  แต่มีชาวญี่ปุ่นไปตั้งรกรากกันอยู่มาก    วันหนึ่งชาวเกาะไต้หวันซึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาโจมตีฆ่าชาวญี่ปุ่นบนเกาะริวกิวตายไปมาก    ญี่ปุ่นก็รอจนได้จังหวะ ก็เอาคืนกับไต้หวัน   คราวนี้ญี่ปุ่นชนะ  จีนยอมชดใช้ค่าเสียหายให้  ญี่ปุ่นก็ถือว่าเกาะริวกิวเป็นของตนนับแต่นั้นมา
     ต่อจากเกาะริวกิว  ญี่ปุ่นก็รุกคืบไปที่เกาหลี  ใช้กำลังแบบเดียวกับอเมริกาเคยทำกับญี่ปุ่นคือไปบังคับให้เกาหลีเปิดประเทศค้าขายด้วย ตลอดจนให้สิทธิพิเศษต่างๆตามแต่ญี่ปุ่นจะเรียกร้อง      ตอนนั้นเกาหลีเป็นเมืองขึ้นของจีน ยังต้องส่งบรรณาการให้จีนอยู่   แต่จีนเพิ่งแพ้ญี่ปุ่นมาหยกๆ ก็ไม่กล้าว่ากล่าวอะไร   ปล่อยตามใจญี่ปุ่นมา ๒๐ ปี ญี่ปุ่นก็ได้ที  ยึดเกาหลีไว้ด้วยคำพูดว่า "ปลดแอก" เกาหลีจากจีน    จากนั้นก็ยกทัพเข้าโจมตีแมนจูเรียใต้ของจีน   แล้วชนะจีนไปตามระเบียบ   ได้เงินทองที่เรียกว่าค่าปฏิกรรมสงครามจากจีน แถมได้ดินแดนอีกหลายส่วนมาไว้ในอำนาจ รวมทั้งเกาะไต้หวันด้วย
     สรุปว่าญี่ปุ่นก็ก้าวหน้าไปไกลกว่าใครในเอเชีย  ทำท่าจะมาเป็นเจ้าอาณานิคมรายใหม่แทนฝรั่งเจ้าเก่าเสียแล้ว


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 เม.ย. 12, 16:20
      ญี่ปุ่นเริ่มชิมลางด้วยการทะเลาะกับจีนเพื่อแย่งเกาะริวกิวมาเป็นของตัวเอง    เดิมเกาะนี้จีนว่าเป็นของจีน  แต่มีชาวญี่ปุ่นไปตั้งรกรากกันอยู่มาก    วันหนึ่งชาวเกาะไต้หวันซึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาโจมตีฆ่าชาวญี่ปุ่นบนเกาะริวกิวตายไปมาก    ญี่ปุ่นก็รอจนได้จังหวะ ก็เอาคืนกับไต้หวัน   คราวนี้ญี่ปุ่นชนะ  จีนยอมชดใช้ค่าเสียหายให้  ญี่ปุ่นก็ถือว่าเกาะริวกิวเป็นของตนนับแต่นั้นมา

ความสัมพันธ์ของริวกิวกับจีน คงคล้ายกับไทยและจีน คือ มีความสัมพันธ์แบบบรรณาการ มิใช่ยึดครอง

ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรเล็กๆ แห่งนี้มีทั้งความรุ่งเรืองและขมขื่น เนื่องจากริวกิว ถูกขนาบไปด้วยรัฐที่ใหญ่กว่างอย่างจีนและ ญี่ปุ่น ริวกิวต้องพึ่งอำนาจของจีนเพื่อความอยู่รอดในด้านเศรษฐกิจและการเมือง จึงเป็นประเทศแรกๆ ที่ส่งบรรณาการไปแสดงความจงรักภักดีต่อจีน ความสัมพันธ์แบบรรณาการระหว่างริวกิวกับจีนดำเนินไปเป็นเวลาเกือบ ๕๐๐ ปี อย่างไรก็ตาม ริวกิวก็ไม่รอดพ้นจากการเข้ามายึดครองของญี่ปุ่น ริวกิวถูกไดเมียวแคว้นซัตซึมะเข้ามายึดอำนาจในปี ค.ศ.๑๖๐๙ แต่ซัตซึมะก็ยังคงตำแหน่งกษัตริย์ริวกิวได้ และอนุญาตให้ติดต่อกับจีนได้ต่อไปในฐานะ “อาณาจักรริวกิว” เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า

แต่พอมาในปี ค.ศ. ๑๘๗๒ รัฐบาลเมจิของญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะปกครองริวกิวโดยตรง จึงลดฐานะจากอาณาจักรเป็นแคว้น  และส่งคนจากส่วนกลางมาปกครองต่อมาใน ปี ค.ศ. ๑๘๗๙ มีการยกเลิกระบบแคว้น   กษัตริย์ของริวกิวถูกถอดจากตำแหน่ง ริวกิวเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดโอกินาวา ถือเป็นการสิ้นสุดความเป็นอาณาจักรริว กิวโดยสิ้นเชิง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โอกินาวา เป็นสนามรบของทหารฝ่ายพันธมิตรนำโดยอเมริกันกับทหารญี่ปุ่น หลังจากการปกครองของอเมริกาเป็นเวลา ๒๐ ปี ค.ศ. ๑๙๗๒ บาดแผลของสงครามยังอยู่ในความทรงจำของคนโอกินาวาจนถึงทุกวันนี้

ตามที่คุณหนุ่มว่า

ญี่ปุ่นยึดครองริวกิวมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๖๐๙ แล้ว ก่อนสมัยเมจิเกือบสามร้อยปี

 ;D


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 12, 21:36
  การที่ญี่ปุ่นผงาดขึ้นมาทำท่าจะเป็นพี่เบิ้มแห่งเอเชีย ทำให้มหาอำนาจตะวันตกที่ครอบครองอาณานิคมในเอเชียอยู่จับตามองอย่างไม่ไว้ใจนัก   ส่วนหนึ่งฝรั่งก็เกรงใจญี่ปุ่นว่าก้าวขึ้นมาเจริญไล่เลี่ยกับตน   ก็เลยยินยอมลดหย่อนให้ประโยชน์บางอย่าง เช่นยอมเลิกศาลกงศุล  ลดหย่อนสัญญาผูกมัดภาษีศุลกากร  ซึ่งไทยเรากว่าจะแก้ไขได้ก็ล่วงถึงรัชกาลที่ ๖
   พร้อมกับเกรงใจ ฝรั่งก็เริ่มไม่ยอมให้ญี่ปุ่นหยิบชิ้นปลามันไปง่ายๆ   จึงรวมหัวกันบีบบังคับให้ญี่ปุ่นคายอ้อยจีนที่เข้าปากไปแล้วคืนกลับให้จีน คือแหลมเลียวตุง     เล่นบทพี่เอื้อยคุ้มครองจีนไม่ทันไร  แค่สองสามปีต่อมา  ฝรั่งก็แบ่งเค้กกันเอาเมืองต่างๆของจีนไปเป็นของตัวอีกหลายเมือง
   ผลที่ญี่ปุ่นสู้ฝรั่งไม่ได้ในครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นเจ็บแค้นมาก      เป้าหมายต่อไปของญี่ปุ่นจึงเบนจากชาติเอเชียด้วยกันไปเล็งฝรั่งแทน   ชาติแรกที่ญี่ปุ่นหมายตาจะเด็ดหัวก็คือรัสเซียซึ่งมางาบแหลมเลียวตุงไปกินแทน  แต่จะผลีผลามสู้ก็คงแพ้ฝรั่งที่ย่อมจะรวมหัวกันตีโต้กลับมา     ญี่ปุ่นจึงดำเนินนโยบายชาญฉลาด โดดเดี่ยวรัสเซียเสียก่อน   ด้วยการทำสัญญาไมตรีกับอังกฤษ ให้อังกฤษพ้นทางไปก่อน  จากนั้นญี่ปุ่นก็บุกเล่นงานกองทัพเรือรัสเซียในตะวันออก  ถล่มเสียราบเรียบ    จากนั้นก็บุกแมนจูเรียเอาแหลมเลียวตุงกลับมา  แต่กว่าจะเอาอ้อยคืนกลับมาใส่ปากได้  ญี่ปุ่นก็เสียรี้พลไปมากแทบว่าจะหมดแรง


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 12, 17:32
  อเมริกายื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ยระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย  เหมือนญี่ปุ่นไกล่เกลี่ยไทยกับฝรั่งเศส    ญี่ปุ่นกำลังหมดแรงอยู่แล้วก็ตกลงทันที   ส่วนรัสเซียนั้นหมดแรงยิ่งกว่าเพราะกองทัพเรือในเอเชียถูกถล่มราบไปแล้วจากศึกคราวนี้   จึงยอมยกแหลมเลียวตุงกลับคืนให้ญี่ปุ่น แถมด้วยภาคใต้ของเกาะสัคคาลินให้อีกด้วย
  เมื่อชนะรัสเซีย  หน้าตาของญี่ปุ่นก็ใหญ่โตขึ้นมากมายกลายเป็นพี่เบิ้มแห่งเอเชีย    ในเมื่อเป็นพี่เบิ้มแล้วญี่ปุ่นก็ขยายอำนาจไปทันทีด้วยการรวบหัวรวบหางกินกลางตลอดตัวเกาหลีเสียเฉยๆ โดยไม่มีใครมาเป็นก้างขวางคออีก ในปี พ.ศ.๒๔๕๓  ตรงกับปีสุดท้ายในรัชกาลที่ ๕ ของไทย
  สงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ปะทุขึ้นมาในยุโรป กลายเป็นล็อตเตอรี่ให้ญี่ปุ่นถูกรางวัลใหญ่ต่อมาอีกหลายงวด     ญี่ปุ่นรีบประกาศสงครามกับเยอรมันเพื่อโชว์ความเป็นพันธมิตรที่ดีของอังกฤษ   จากนั้นก็กวาดล็อตเตอรี่จากเยอรมันมาเป็นงวดแรก ด้วยการยึดอาณานิคมของเยอรมันในเอเชียมาเป็นของตัวเองอย่างสนุกมือ  ไม่ว่าเป็นเมืองชิงเตาในจีน และหมู่เกาะในปาซิฟิค เช่นหมู่เกาะมาริอานา  หมู่เกาะคาโรไลน์ และหมู่เกาะมาร์แชล   
   ส่วนล็อตเตอรี่งวดที่สองคือระหว่างฝรั่งมัววุ่นรบกันอยู่ในยุโรปจนไม่เป็นอันมีเวลาสนใจเอเชีย    ญี่ปุ่นก็ได้โอกาสบีบคอจีน เรียกร้องสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจจากจีนหลายอย่าง   รัฐบาลจีนปฏิเสธไม่ยอมทำตามหลายข้อ แต่อีกหลายข้อ ญี่ปุ่นก็รวบรัดตัดความเอาไปกินได้เหมือนกัน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 14:31
สงครามโลกครั้งที่ ๑ ในยุโรปทำให้ตลาดการค้าทางตะวันออกชะงักงันไป    เพราะผู้ผลิตสินค้ามัวแต่ไปวุ่นกับรบราฆ่าฟันกันอยู่   ญี่ปุ่นซึ่งพัฒนาอุตสาหกรรมมาดีพอควรแล้ว ก็อาศัยช่องว่างตรงนี้ อัดสินค้าตัวเองเข้าไปในตลาดเอเชียแทน    ก่อให้เกิดผลดีแก่ญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง     จนกระทั่งเมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ ๑  ด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมัน    ญี่ปุ่นก็ไต่ระดับขึ้นเป็น ๑ ใน ๕ ของมหาอำนาจของโลก ในสมัยที่ตรงกับรัชกาลที่ ๖ ของไทย

ญี่ปุ่นใช้เวลา ๕๐ ปีเท่านั้นในการถีบตัวเองจากเกาะเล็กๆ ที่ปิดตายมานาน ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแห่งหนึ่งของโลก      แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้หยุดยั้งอยู่แค่นั้น      เพราะศักยภาพของญี่ปุ่นเดินหน้าไปไกลเกินกว่าจะหยุดอยู่กับที่เฉยๆได้อีกแล้ว

ตามหลักอนิจจังของโลก   กลุ่มบุคคลที่กำหนดทิศทางของประเทศเมื่อ ๕๐ ปีก่อน  ก็เริ่มล้มหายตายจากตามอายุขัย   ตั้งแต่พระเจ้าเมจจิไปจนนายกรัฐมนตรีและบิ๊กๆทั้งหลายที่เคยกุมบังเหียนทางการทหารมาก่อน     คนรุ่นใหม่ที่เข้านั่งเก้าอี้แทน คือพวกพ่อค้านักธุรกิจที่มีอำนาจขึ้นจากการเป็นมหาอำนาจทางการค้่าของญี่ปุ่น   อำนาจในการเมืองของประเทศก็เริ่มถูกเงินซื้อเอาได้    เมื่อเงินมากำหนดทิศทางได้แล้ว  การเมืองก็เริ่มล้มลุกคลุกคลานจากอุดมการณ์เดิมมาเป็นอุดมการณ์ใหม่   คำว่าผลประโยชน์ก็ผงาดขึ้นมาเหนือกว่าคำอื่นๆ
เหมือนประเทศไหนก็ไม่รู้  นึกไม่ออกเหมือนกัน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 15:34
ภาวะล้มลุกคลุกคลานในระบอบรัฐสภา ที่พ่อค้านายทุนเริ่มเข้ามากุมอำนาจเหนืออุดมการณ์เดิม     ถูกจับตามองด้วยความไม่เห็นด้วยจากกลุ่มกำลังสำคัญกลุ่มหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น   ได้แก่กลุ่มกองทัพที่ประกอบด้วยนายทหารหนุ่มๆซึ่งเติบโตขึ้นมาในช่วงประเทศพัฒนาไปสู่มหาอำนาจในเอเชีย     มีกลุ่มพลังสนับสนุนคือพวกชาวไร่ชาวนา ที่ถูกมองข้ามมาแต่ไหนแต่ไร      ชาวไร่ชาวนาพวกนี้มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มทหารก็เมื่อตัวเองถูกเกณฑ์มาเป็นพลทหารหรือทหารชั้นประทวน  ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นจากเคยลำบากยากแค้นอยู่ตามชนบท
พวกชาวไร่ชาวนาเป็นพวกหัวเก่า ถูกปลูกฝังมาในเรื่องจงรักภักดีต่อเจ้านาย   ส่วนทหารหนุ่มกลุ่มนี้ก็ยังเชื่อฝังหัวในเรื่องชาตินิยม   และมุ่งหวังจะให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศยิ่งใหญ่มหาอำนาจ มากกว่าจะเป็นประเทศค้าขายโกยเงินเข้ากระเป๋า      ในพ.ศ. 2475 ปีเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย 2 ปี   ทหารญี่ปุ่นก็ล้มระบอบรัฐสภามาอยู่ในมือตัวเองได้สำเร็จ  ด้วยการลอบสังหารนายกรัฐมนตรี  ล้มระบอบพรรคการเมือง  ตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา อันประกอบด้วยข้าราชการประจำ  ทหาร และผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆผสมกันไป
     จากนั้นทิศทางการเดินหน้าของประเทศก็มุ่งกลับไปสู่อำนาจอย่างเต็มตัว     ยุคนั้นไม่มีใครรังเกียจคำว่าเผด็จการ เพราะในยุโรป  อิตาลีมีผู้นำใหม่คือมุสโสลินี  เผยแพร่ระบอบฟาสซิสม์ออกไป  ก็ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างแพร่หลาย  ประเทศอิตาลีก็ดูเจริญก้าวหน้าดีกว่าเก่า   ส่วนเยอรมันที่พ่ายแพ้ไปในสงครามโลกครั้งที่ 1  ได้ดาวรุ่งดวงใหม่มาชื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์  คนเยอรมันก็ชื่นชมกันมาก  ว่าจะมาทำให้ประเทศพลิกฟื้นคืนสู่ความรุ่งโรจน์ได้
ส่วนทางประเทศไทย ก็มีผู้นำใหม่ผงาดขึ้นมา หลังจากคณะราษฎร์ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองถูกมรสุมพัดพาให้พ้นกระดานการเมืองกันไปทีละคนสองคน    ผู้นำใหม่นั้นไม่ใช่ใครอื่นนอกจากหลวงพิบูลสงคราม   ซึ่งกลุ่มทหารหนุ่มในกองทัพเห็นว่าจะมาเป็นความหวังใหม่ของประเทศ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 15:52
  นโยบายของญี่ปุ่นหลัง พ.ศ. 2475  กลับไปปลูกฝังชาตินิยมอย่างรุนแรงเท่านั้นยังไม่พอ   ในด้านการต่างประเทศ  แรงปลุกใจให้ญี่ปุ่นกลับมาเป็นมหาอำนาจก็เข้มข้นขึ้นมาอีกครั้ง     เกิดการเกลียดฝรั่งถึงขั้นญี่ปุ่นประกาศว่าจะช่วย "ปลดแอก" ให้เพื่อนประเทศเอเชียด้วยการให้พ้นอำนาจฝรั่ง   ประเทศญี่ปุ่นในตอนนั้นก็ปกครองด้วยทหาร  ซึ่งมีหน้าที่ตัดสินว่าอะไรดีที่สุดสำหรับประเทศ   ประชาชนถูกปลูกฝังให้เชื่อและทำตามโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ   
  พ.ศ. 2484  นายพลเอกโตโจได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี   ก็กุมอำนาจไว้ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด    ไม่มีผู้ใดในประเทศค้านได้  กองทัพญี่ปุ่นจะขยายอำนาจไปทางไหน ประชาชนในประเทศก็พร้อมจะว่านอนสอนง่ายกระทำตาม   อย่างหนึ่งที่ญี่ปุ่นทำมาก่อนหน้านี้แล้วคือทำสงครามกับจีน  ซึ่งญี่ปุ่นประมาทคาดหน้าเอาไว้ว่าจีนคงไม่มีปัญญาต้านทานได้นานนัก    แต่ญี่ปุ่นคาดผิด  รัฐบาลจีนคณะชาติที่นำโดยนายพลเจียงไคเช็คเป็นจีนกระดูกแข็งเคี้ยวยากกว่าที่ประมาทเอาไว้    อย่างน้อย จีนก็สู้สุดฤทธิ์  สามารถต้านทานญี่ปุ่นเอาไว้ได้จนกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามมหาเอเชียบูรพา     แต่นั่นเป็นตอนจบของเรื่องที่ญี่ปุ่นในตอนต้นยังคะเนผิดอยู่    ญี่ปุ่นจึงก้าวมาเรื่อยๆสู่สงครามมหาเอเชียบูรพาอย่างรู้ๆกัน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 21:41
การทำสงครามเป็นเรื่องเปลืองกำลังคนและกำลังทรัพย์อย่างยิ่ง   ถ้าไม่ได้กำไรคุ้มทุนที่ลงไป ก็ไม่มีชาติไหนอยากทำสงครามยึดดินแดนคนอื่นให้เสียเวลา      ญี่ปุ่นเองแม้ว่าได้เปรียบจีน แต่ 4 ปีที่ทำสงครามกันนั้น จีนเป็นชาติเคี้ยวยากกว่าที่คิด  ทำให้ญี่ปุ่นเปลืองต้นทุนไปจนแทบจะทรงตัวไม่อยู่เหมือนกัน  ประกอบกับมหาอำนาจคือสหรัฐอเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส ต่างก็พากันแอนตี้ญี่ปุ่นจนระงับการส่งสินค้าสำคัญต่างๆมาให้ เช่นเหล็กและน้ำมัน  เพื่อตัดกำลังญี่ปุ่นลงไป

ถึงตอนนี้ญี่ปุ่นก็มีทางเลือก 2 ทางคือ ถอนตัวจากรุนรานจีนตามที่อเมริกาบีบบังคับ  แล้วหันมาเป็นประเทศเศรษฐกิจ  ผลิตสินค้าเป็นล่ำเป็นสันตีตลาดต่างๆ เพราะไร้คู่แข่ง เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นพอดีในยุโรป  ทำให้ประเทศใหญ่ๆทั้งหลายระส่ำระสายไม่เป็นอันผลิตสินค้าอย่างเคย     หรือว่าเลือกอีกทางคือรักษาความแข็งแกร่งในฐานะมหาอำนาจทางเอเชียเอาไว้  ด้วยการเดินหน้าทำสงครามต่อไป  ทั้งกับพี่เบิ้มมหาอำนาจทางตะวันตก   และประเทศเล็กประเทศน้อยในเอเชียที่ญี่ปุ่นเชื่อว่าสามารถกวาดมาไว้ในอำนาจ  เอาทรัพยากรมาเพิ่มกำลังทรัพย์ในคลังหลวงของตนเองให้ถึงเป้าหมาย

อย่างที่บอกแล้วว่าอำนาจทางการเมืองของญี่ปุ่นในยุคนั้นอยู่ในมือทหาร    ถ้าหากว่าทหารจะเลิกรบแล้วกลับมาค้าขายอย่างเดียวก็ไม่ใช่วิสัยของทหารเท่านั้นเอง      ทหารญี่ปุ่นย่อมรู้สึกว่าเสียเกียรติภูมิอย่างยิ่งที่ต้องคายอ้อยที่เข้าปากช้างมาแล้วกลับคืนออกไปตามเดิม
ผลก็คือ ญี่ปุ่นเลือกหนทางที่ 2  คือเดินหน้าเป็นมหาอำนาจทางการทหารต่อไปให้ถึงที่สุด 


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 เม.ย. 12, 21:58
  ว่ากันตามจริงญี่ปุ่นก็ไม่ได้ผลีผลามกระโจนเข้าสงครามโดยไม่วางแผนยุทธศาสตร์เสียก่อน    ญี่ปุ่นคิดเอาไว้รอบคอบพอสมควร   ขอแบ่งเป็นข้อๆเพื่อให้อ่านง่ายตามนี้นะคะ
  ๑  กำลังทหารของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฮอลันดาที่ประจำอยู่ในอาณานิคมหรือเมืองท่าต่างๆ  มีอยู่เบาบางในเอเชีย   พอที่ญี่ปุ่นจะเอาชนะได้ไม่ยาก
  ๒  เมื่อใช้กำลังยึดเมืองพวกนี้ได้แล้ว   ทรัพยากรทั้งหลายก็จะลอยมาอยู่ในอุ้งมือญี่ปุ่นพอเป็นทุนทำสงครามต่อไป
  ๓  ประเทศฝรั่งพี่เบิ้มทั้งหลายกำลังติดพันทำสงครามกับเยอรมันและอิตาลีอยู่ในขณะนั้น   ไม่สามารถแบ่งกำลังมาต่อต้านญี่ปุ่นในเอเชียได้อยู่ดี
  ๔  การแพ้หรือชนะของเยอรมันต่อพันธมิตร มิได้ก่อผลเสียให้ญี่ปุ่นทั้งขึ้นทั้งล่อง     ถ้าเยอรมันชนะ พันธมิตรแพ้   ญี่ปุ่นก็ปลอดภัยจากประเทศพันธมิตรจะมาตีโต้เอาอาณานิคมกลับคืนไป     
     ต่อให้เยอรมันแพ้ พันธมิตรชนะ   ก็ชนะอย่างสะบักสะบอม จนต้องพักฟื้นไปอีกหลายปีกว่าจะหันมากู้อำนาจในเอเชียได้   ถึงตอนนั้นญี่ปุ่นก็คงรวบประเทศเล็กประเทศน้อยในเอเชียไปไว้ในอำนาจได้หมดแล้ว

   จะเห็นได้ว่าหลักยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นไม่ได้เป็นไปลอยๆ  ก็มีน้ำหนักน่าเชื่อถือทุกข้อ    ทำให้ญี่ปุ่นมั่นใจในตัวเองพอจะเดินหน้ารุกคืบต่อไป  พร้อมกับเผยแพร่นโยบาย "ปลดแอก" ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งชวนเชื่อเอาไว้ก่อน  เพื่อให้เห็นว่าในเมื่อเราเป็นเอเชียด้วยกัน ก็น่าจะพูดกันรู้เรื่องมากกว่าฝรั่ง
    แต่ก็อย่างที่ว่า   แม้นโยบายที่รอบคอบที่สุดก็ยังรอบคอบไม่พอจะนำไปสู่ชัยชนะได้    เนื่องจากตัวแปรมีมากกว่าที่ญี่ปุ่นคิด


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 เม.ย. 12, 18:14
ก่อนจะพูดถึงฝรั่งขอพูดถึงประเทศในเอเชียก่อนนะคะ

ญี่ปุ่นวางแผนก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจอันดับหนึ่งในเอเชียด้วย 2 วิธีคือ 1) หักหาญเอาด้วยกำลังอย่างที่ทำกับจีนและเกาหลี     กับ 2) เกลี้ยกล่อมให้ร่วมมือแบบตกกระไดพลอยโจนอย่างที่ทำกับไทย    อย่างที่สองนี้ญี่ปุ่นเชื่อว่าจะทำให้ได้ใจจากประเทศเล็กๆในเอเชียง่ายขึ้น   
แต่ผลก็ไม่ยักเป็นอย่างที่แผนที่วางไว้     ยังไม่ต้องพูดถึงประเทศอื่น   เอาไทยเป็นตัวอย่างก่อน   แม้ว่ารัฐบาลจอมพลป. จะเออออห่อหมกเป็นมิตรกับญี่ปุ่นด้วยดีในระยะต้น     แต่เมื่อเวลาผ่านไป  เหตุการณ์ก็พิสูจน์ได้ว่าไทยก็เล่นบทเหยียบเรือสองแคม   ไม่ได้เข้าข้างญี่ปุ่นเต็มร้อย    ขบวนการเสรีไทยที่เป็นฝ่ายพันธมิตรเต็มตัวได้รับการสนับสนุนลับๆจากคนในรัฐบาล เช่นหลวงอดุลเดชจรัส มือขวาของจอมพลป.เหมือนกัน   ญี่ปุ่นจะทำอะไรก็ต้องเกรงใจรัฐบาลที่วางตัวเป็นพันธมิตร    พร้อมกันนั้นหอกข้างแคร่จากขบวนเสรีไทยก็ทิ่มแทงอยู่ลับๆตลอดเวลา

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นคือคะเนกำลังของฝรั่งผิดไปอย่างจัง       การโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์แบบสายฟ้าแลบ ถึงแม้ประสบชัยชนะอย่างงดงาม   แต่ก็เท่ากับพญาผึ้งบินไปต่อยยักษ์หลับให้ตื่นขึ้นมา      ตอนนั้นประชาชนอเมริกากำลังแบ่งเป็นสองฝ่าย  ฝ่ายหนึ่งไม่อยากจะไปยุ่งกับสงครามในยุโรปให้เปลืองตัว  เพราะอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่บอบช้ำ      อีกฝ่ายหนุนให้อเมริกาเข้าข้างพันธมิตรเพื่อปราบเยอรมันไม่ให้ผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าใหญ่สุดในโลก   เพราะถ้าเยอรมันชนะสงครามเมื่อใด   อเมริกาก็จะเป็นประเทศต่อไปที่เยอรมันมุ่งหน้ามาเด็ดหัวเด็ดปีกให้สิ้นซาก  หลังจากประเทศอังกฤษฝรั่งเศสแพ้ราบคาบไปแล้ว

การถล่มเพิร์ลฮาเบอร์จนยับเยิน  เรือรบอเมริกันจมลงก้นอ่าว  ทหารเรือตายโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่   ปลุกเลือดรักชาติให้พุ่งสูงขึ้นมาในประชาชนอเมริกันทั้งประเทศ     ทุกคนหันหน้ามาจับมือกัน  ประกาศคำเดียวว่า "รบ"
เมื่อยักษ์ตื่นขึ้นมาแล้ว    พญาผึ้งต่อให้มีพิษสงยังไงก็ตาม  กำปั้นของยักษ์ก็มหึมากว่าอยู่ดี


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 เม.ย. 12, 19:48
เมื่อยักษ์ตื่นขึ้นมาแล้ว   ยักษ์ก็จัดทัพออกรบเต็มกำลังอัตราศึก  ทั้งกองทัพเรือที่จัดขึ้นมาใหม่    ส่วนเรือรบที่เพิร์ลฮาเบอร์ถูกถล่มก็ถล่มไป   อเมริกายังระดมพลได้อีกเหลือเฟือ   รวมทั้งกองทัพอากาศที่มีพละกำลังมหาศาล   ซึ่งญี่ปุ่นไม่มีทางสู้ได้
กองทัพของอเมริกาถูกส่งไปยันญี่ปุ่นไว้ในปาซิฟิคในค.ศ. 1985  ได้สำเร็จ  จากนั้นก็เป็นฝ่ายรุกคืบไปเรื่อย   ยึดฟิลิปปินส์คืนจากญี่ปุ่น  มิหนำซ้ำยังเหยียบจมูกตั้งทัพอยู่บนเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่นได้สำเร็จ

ญีปุ่นทำสงครามมานานหลายปีเต็มที   เงินทองและกำลังพลก็สิ้นเปลืองไปในสงครามเป็นจำนวนมาก    เหมือนนักมวยที่ต่อยหลายเวทีติดๆกัน เวทีละ 12 ยก  ยังไงก็ต้องอ่อนเปลี้ยเพลียแรง    ส่วนมวยอเมริกันนั้นเป็นมวยรุ่นใหญ่  เพิ่งโผล่ขึ้นเวทีมาในยกที่แปด   ก็ย่อมกระปรี้กระเปร่าฮึกเหิมมากกว่า     กองทัพอากาศของอเมริกาสามารถทำลายเมืองของญี่ปุ่นไปทีละเมืองโดยไม่ต้องยกพลสู้กันจนตายเป็นเบืออย่างการรบทางบก   
นอกจากนี้เมื่อเยอรมันแพ้สงคราม   อังกฤษซึ่งยังมีเขี้ยวเล็บอยู่ก็ระดมพลที่ยังเหลือหันมาช่วยอเมริกาทางปาซิฟิค   กลายเป็นนักมวยฝรั่งสองคนต่อนักมวยญี่ปุ่นคนเดียว    ถึงตอนนี้   ญี่ปุ่นก็มองเห็นแล้วว่าอนาคตตัวเองดับวูบลงด้วยคำว่า "แพ้"

ในเมื่อญี่ปุ่นดูออกว่าตัวเองนับวันถอยหลังได้เลย    ไทยน่ะหรือจะดูไม่ออก   
จากนั้นผลเป็นยังไง ก็รู้ๆกัน     
เป็นอันว่ามาถึงตอนจบ ของการคั่นรายการไว้แต่เพียงนี้ค่ะ
 


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 27 เม.ย. 12, 15:05
เข้ามาเช็คชื่อครับ อย่าเพิ่งตัดสิทธิ์สอบ


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 19:17
ดิฉันหมดภูมิแล้วค่ะ  ต้องแล้วแต่ท่านอาจารย์นวรัตน


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: fcr group ที่ 15 ก.ค. 21, 14:42
มีบันทึกเรื่องราวการบุกของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ทางภาคเหนือของไทย บ้างมั้ยครับ เพราะเคยได้ยินเรื่องเล่าใาบ้าง


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: fcr group ที่ 15 ก.ค. 21, 15:37
น่าเสียดายเส้นทางรภไฟฟสายมรณะ น่าจะฟื้นฟูให้ครบตลอดสาย เป็นแหล่งท่องเที่ยว ปวศ ให้ตลอดเส้นทางเต็ม เคยไปเที่ยวมันได้อารมย์บรรยากาศมาก ปรับปรุงเป็นทางเดินป่าหรือเส้นทางจักรยานก็ได้ นี่กลับกลับปล่อยทิ้งร้างขาดช่วงไป เสียหายไปเกือบหมด


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 21, 17:48
มีบันทึกเรื่องราวการบุกของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ทางภาคเหนือของไทย บ้างมั้ยครับ เพราะเคยได้ยินเรื่องเล่าใาบ้าง
ไม่ทราบเลยค่ะ ใครทราบช่วยตอบด้วย


กระทู้: เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.ค. 21, 18:04
กองทัพญี่ปุ่นไปทำอะไรใน‘ลำปาง โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

https://www.matichon.co.th/article/news_2610939

“ลำปาง” คือ ที่ตั้งกองบัญชาการใหญ่ของกองทัพญี่ปุ่นในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๘

ทหารลูกซามูไร เข้ายึดอาคาร สถานที่ ยึดธุรกิจทำไม้ของฝรั่งอังกฤษ ขับไล่นายทุนชาวต่างชาติ..

ทหารไทยในกองทัพพายัพ ที่ขึ้นไปร่วมรบกับญี่ปุ่นต้องแย่งซื้อ ข้าว ปลา อาหาร  เลี้ยงดูทหารเป็นหมื่น เลี้ยงม้า เพื่อลุยเข้าไปยึดเมืองเชียงตุง..

https://youtu.be/P5-sTdArm1Y