เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 09 เม.ย. 10, 12:03



กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 เม.ย. 10, 12:03
มหาอำมาตย์โท พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา
ภาพนี้ ท่านแต่งเครื่องแบบเต็มยศนายพลเสือป่า   ผู้บัญชากองเสนาหลวงรักษาดินแดนมณฑลอยุธยา


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 เม.ย. 10, 12:37
เด็กชายพร  เกิดในรัชกาลที่ ๕  เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๔๑๔   ที่บ้านเหนือวัดศรีสุดาราม คลองบางกอกน้อย   
ซึ่งเป็นบ้านของบิดา คือขุนฤทธิ์ดรุณเสรฐ (เดช เดชะคุปต์)  สารวัตรใหญ่มหาดเล็กเวรฤทธิ์   มารดาชื่อนางไผ่    ขณะนั้นบิดามารดามีบุตรแล้ว ๓ คน เด็กชายพรเป็นคนที่ ๔

โตขึ้นหน่อย ก็เริ่มเรียนหนังสือที่สำนักวัดยี่ส่าย     ต่อมาบิดาก็นำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ    จึงได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนสราญรมย์   เป็นลูกศิษย์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร)


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 เม.ย. 10, 20:14
ในช่วงเวลานั้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร(สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) จัดการเรื่องการศึกษา
ด้วยการตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ สำหรับสอนวิชาชั้นสูงแก่กุลบุตร   ขุนฤทธิ์ดรุณเสรฐ ก็เลยพาบุตรชายไปฝากเรียน     แต่ขอเอาตัวออกไปโกนจุกและบวชเป็นสามเณรเสียพรรษาหนึ่ง
เด็กชายพร มีแววฉลาดปราดเปรื่องมาแต่เล็ก    เข้าเรียนอยู่ ๓ ปี ก็สอบไล่ได้ทั้งประโยค ๑ และ ๒  ได้รับรางวัลหลายครั้ง

ครั้งหนึ่ง เมื่อเข้าไปรับพระราชทานรางวัลต่อพระพักตร์     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสถามว่า "นายพรนี้เป็นลูกใคร"   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  กราบบังคมทูลให้ทรงทราบนามบิดา
เด็กชายพร ถือกรณีนั้นเป็นศุภนิมิตมาตลอดอายุ   ด้วยเป็นวันแรกที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงรู้จัก
 


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 10, 17:18
เมื่อนักเรียนหนุ่มที่ชื่อนายพรเรียนจบจากร.ร.สวนกุหลาบ     กิจการโรงเรียนรุ่งเรือง  มีขุนนางส่งลูกมาเรียนกันมากมาย จนครูที่มีอยู่ไม่พอสอน
อาจารย์ใหญ่คือพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น โอวาทสาร) ก็เลยชวนนักเรียนที่เรียนจบด้วยคะแนนดี มาเป็นครูช่วยสอน  แก้ปัญหานักเรียนล้นมือครูไปได้ชั่วคราว
นายพรก็เลยได้เข้ารับราชการครั้งแรก เป็นครู  ร.ร.สวนกุหลาบ เมื่ออายุ ๑๘ ปี   ถ้าเทียบกับยุคนี้   เด็กหนุ่มวัยเดียวกันยังสอบโอเน็ทอยู่เลย

สอนอยู่ ๑ ปี  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงดึงตัวไปรับราชการที่กระทรวงศึกษาธิการ    เพราะทางร.ร.รับครูมาพอกับความต้องการแล้ว

ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่สยามปรับปรุงระบบการปกครองแบบเดิม ที่มีจตุสดมภ์เป็นหลัก  มาแยกเป็นกระทรวง   แต่ละกระทรวงก็วางระเบียบใหม่ในการบริหารให้ทันสมัย     จึงแสวงหาปัญญาชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนดีคนเก่งมาทำงานในกระทรวง
โรงเรียนที่ได้ชื่อว่าผลิตปัญญาชนคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นก็คือร.ร.สวนกุหลาบ   เพราะเป็นแห่งเดียวที่สอนวิชาภาษาไทยชั้นสูง  และสอบวิชาความรู้ต่างๆด้วย    ใครจบจากที่นี่ก็ถือว่าภูมิรู้แน่น     กระทรวงทั้งหลายก็ยินดีรับ
แต่นักเรียนชั้นหัวกะทิ สอบจบประโยค ๒ อย่างนายพร มีอยู่น้อยคน     พอเข้ากระทรวงก็ได้เป็นเสมียนโทเลยทันที    ทำงานไปสักพัก  ก็เลื่อนเป็นเสมียนเอกแทบทุกคน
จากนั้นตำแหน่งราชการก็จะเลื่อนปรูดปราด ก้าวหน้ากันเห็นชัด    ตัวอย่างก็เห็นจากตำแหน่งงานของนายพรนี่เอง


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 10, 17:27
   เส้นทางราชการของนายพร  ก็คือ
- อายุ ๑๙  บรรจุเข้าเป็นเสมียนโทในกระทรวงศึกษาธิการ  (หรือเรียกว่ากระทรวงธรรมการ)
- อายุ ๒๐  ได้เลื่อนเป็นเสมียนเอก  และเป็นสารวัตรตรวจโรงเรียนหลวง
- อายุ ๒๑  ย้ายไปรับราชการในกระทรวงการคลัง
    สาเหตุก็คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงว่าการกระทรวงการคลัง  เกิดพอพระทัยฝีมือและความรู้ของนายพร  ก็ทรงขอตัวไปเป็นเลขานุการสำหรับพระองค์     ตำแหน่งนี้สมัยนั้นเรียกว่า "เสมียนเอกเวรพิเศษ"
   นายพรมีโอกาสเป็นครูถวายพระอักษร เจ้านายชั้นหม่อมเจ้าหลายองค์ ด้วยในระยะนั้น  คือม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ    ม.จ.พรพิมลพรรณ รัชนี( ต่อมาเป็นพระชายาในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์)  และม.จ.สุรางค์ศรีโสภางค์ ในพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
    ในหน้าที่นี้  นายพรก็ได้รับพระราชทานเงินเดือนพิเศษอีกเดือนละ ๒๐ บาท จากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
    คิดเป็นค่าของเงินสมัยนี้เท่าไร  บอกไม่ถูก  ต้องขอแรงสมาชิกเรือนไทยช่วยกันคำนวณค่ะ 


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 10, 10:27
ยังไม่มีใครมาช่วยคำนวณเงิน ๒๐  บาทสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่าพอจะเท่ากับกี่พันกี่หมื่นในสมัยนี้   ก็เลยขอเดาเอาเองว่า เป็นหมื่น   ประมาณสัก ๒๐,๐๐๐ บาท
(เพราะถ้าผิด   เดี๋ยวก็จะมีคนเข้ามาตอบที่ถูกให้เอง)
นับว่านายพร มีรายได้สูงมาก สำหรับหนุ่มอายุยี่สิบต้นๆ   

ในปีนั้น   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงย้ายจากกระทรวงธรรมการหรือศึกษาธิการ ไปว่าการกระทรวงมหาดไทย
ต่อมากรมพระนราธิปฯ ทรงเวนคืนตำแหน่งในกระทรวงพระคลัง    นายพรก็เลยไม่ได้เป็นเลขาฯ ในพระองค์อีก
แต่คนดีมีฝีมือ ยังไงก็ไม่ตกงาน   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงชวนนายพรไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย   ตำแหน่งเสมียนเอก   ทำหน้าที่ครูฝึกอบรมข้าราชการใหม่ๆ ในมหาดไทยที่จะถูกส่งตัวไปรับราชการในหัวเมือง   
นายพรก็เลยเป็นวิทยากร อบรมข้าราชการมหาดไทย   ในวัยแค่ ๒๒ ปี   เป็นสมัยนี้ ก็  เพิ่งจบปริญญาตรีมาหมาดๆ เพิ่งเข้าทำงาน


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 21 เม.ย. 10, 14:01
รออาจารย์เทาชมพูเลคเชอร์ต่อครับ ไม่กล้าขัดจังหวะ
ขอเวลานอกไปรื้อลัง ค้นเรื่องมาเสริมให้ตอนท้ายครับ


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 10, 14:55
ถ้าคุณลุงไก่อยากจะร่วมแจมตอนไหนก็เชิญได้เลยค่ะ   ไม่จำเป็นต้องรอจนท้ายกระทู้

ปีต่อมา  อายุ ๒๓   นายพรได้เลื่อนเป็นรองนายเวรกรมพลำภัง ในกระทรวงมหาดไทย   แสดงว่าก้าวหน้าเร็ว เลื่อนตำแหน่งทุกปี
กรมพลำภัง ก็คือกรมการปกครอง ในปัจจุบัน  แต่สมัยโน้นเป็นกรมปกครองท้องถิ่นที่ในหัวเมือง
ความปราดเปรื่องของข้าราชการหนุ่มวัย ๒๓  ฉายแววออกมา  ด้วยการค้นคิดเรียบเรียงโทรเลขลับ ขึ้นมาใช้ในราชการ
เป็นตำราชื่อ แบบโทรเลขมหาดไทย ฉบับพันพุฒอนุราช(พร)     ยังใช้อยู่ในราชการลับของมหาดไทยจนทุกวันนี้

อายุ ๒๔  ได้รับประทวนเป็น ขุนวิเศษรักษา  นายเวรกรมพลำภัง
อายุ ๒๕  ก็เลื่อนขึ้นเป็นพันพุฒอนุราช   ผู้ช่วยเจ้ากรมพลำภัง
ดิฉันไม่แน่ใจว่าประวัติตอนนี้ถูกต้องหรือเปล่า   เพราะนายพรน่าจะได้เป็น พัน ก่อนเป็น ขุน     ก็หวังว่าคนที่รู้ประวัติพระยาโบราณฯจะมาชี้แจงได้


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 21 เม.ย. 10, 20:10
ผู้ใหญ่ท่านเล่ากันว่า พันพุฒอนุราชนี้ เดิมเป็นนายเวรประจำศาลาลูกขุน  มีหน้าที่เป็นเวรรับใบบอกหัวเมืองแล้วนำความเรียนท่านเสนาบดี  ศักดินาของผู้ดำรงตำแหน่งนี้จึงสูงถึง ๑,๐๐๐ หรือกว่านั้น  ซึ่งเป็นศักดินาที่สูงกว่า ขุน  และหลวง  ที่ปกติมีศักดินาเพียง ๖๐๐ และ ๘๐๐ เท่านั้น


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 10, 08:46
นับว่าเป็นความรู้ใหม่  ว่า"พัน"บางตำแหน่งศักดินาสูงกว่า"หลวง"  เสียอีก  ขอบคุณคุณ V_Mee ค่ะ

ปีเดียวกันกับได้เป็นพันพุฒอนุราช     หนุ่มวัย ๒๕   ก็ได้เลื่อนตำแหน่งใหม่อีกครั้ง  คราวนี้ได้ออกหัวเมืองไปกินตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทย  ณ มณฑลอยุธยา  ซึ่งเพิ่งจะตั้งใหม่ตามระเบียบการปกครองใหม่ ที่แบ่งหัวเมืองเป็นมณฑล  ไม่ใช่เมืองเอก โท ตรี อย่างเมื่อก่อน    มีสมุหเทศาภิบาลปกครอง

สมุหเทศาภิบาลคือกรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์   ทรงเลือกพันพุฒอนุราชไปทำงานที่อยุธยา   โดยทรงขอมายังสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ   สมเด็จก็ทรงเห็นด้วย  นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ  ทรงพระกรุณาแต่งตั้งข้าหลวงใหม่
พันพุฒ(พร) ก็เลยได้เลื่อนขึ้นเป็น หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์   ข้าหลวงมหาดไทย
(ข้อนี้ชวนให้คิดว่า ตำแหน่ง พันพุฒอนุราช ในสมัยรัชกาลที่ ๕  น่าจะต่ำกว่าหลวง แต่สูงกว่าขุน)

เล่าประวัติท่านมาได้ถึงตรงนี้ ก็รู้สึกว่าพระยาโบราณฯ ดวงท่านน่าจะเก่งบวกเฮงอยู่มากๆ  เลื่อนตำแหน่งทุกปีเลย  คงเป็นคนหนุ่มที่ปราดเปรื่องอยู่ในที่ทำงาน ไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหน

ข้าหลวงมหาดไทยสมัยนั้นตรงกับตำแหน่งอะไรสมัยนี้ ไม่ทราบ  เดาว่าปลัดจังหวัด   แต่ไม่ใช่ผู้ว่าราชการจังหวัด   เพราะตำแหน่งผวจ. สมัยนั้น เรียกว่า "ผู้รักษากรุง"


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 10, 13:12
จังหวะในการรับราชการของพระยาโบราณฯ ดีมาก   ถ้าพูดแบบโหรก็คือดวงราชการท่านดี   
คุณหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ไปเป็นข้าหลวงอยู่ปีเดียว    พระยาชัยวิชิต(นาก ณ ป้อมเพ็ชร์) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา ก็เวนคืนตำแหน่ง
(สำนวนนี้แปลว่าอะไร  ขอผู้รู้ช่วยอธิบายด้วยค่ะ)
ทำให้ตำแหน่งท่านว่างอยู่   กรมขุนมรุพงศ์ฯก็เลยให้คุณหลวงอนุรักษ์รักษาราชการแทนชั่วคราว จนกว่าจะหาคนใหม่ได้
แต่คุณหลวงหนุ่มวัย ๒๖  ทำงานได้ดีมาก  จน ๑ ปีจากนั้นผู้ใหญ่เห็นว่าสามารถรับผิดชอบได้    ตำแหน่งใหม่ก็เลยมาถึงมือ
ในวัย ๒๗ ปี  จากหลวง กลายเป็นพระอนุรักษ์ภูเบศร์  ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา
แปลว่าผู้ว่าราชการจังหวัดศรีอยุธยา  กรุงเก่าของสยาม    เป็นชายหนุ่มอายุ ๒๗ เท่านั้นเอง

ทำงานอยู่ ๓ ปี   ด้วยความสามารถ    คุณพระก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาโบราณบุรานุรักษ์  ปลัดเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา
เป็นเจ้าคุณเมื่ออายุ ๓๐   หนุ่มกว่าพระยาพลวัต พระเอกเรื่องผู้ดี ของดอกไม้สด เสียอีก   พระยาพลวัตที่ถือกันว่าหนุ่มมาก  อายุ ๓๓


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 เม.ย. 10, 14:05
อ้างถึง
  พระยาชัยวิชิต(นาก ณ ป้อมเพ็ชร์) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา ก็เวนคืนตำแหน่ง

คงหมายถึงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งราชการ  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะชราภาพหรือเจ็บป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติราชการได้เต็มที่   จึงได้กราบบังคมทูลลาออกราชการไป   ซึ่งการกราบบังคมทูลลาออกจากราชการนั้นก็ส่งใบบอกเข้ามาที่กระทรวงมหาดไทย ให้ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา  เมื่อได้รับพระราชทานพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว  ทางกระทรวงก็ทำหนังสือตอบว่าได้กราบบังคมทูลแล้ว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกได้  ก็เป็นว่าท่านพ้นจากตำแหน่งราชการ  ทางกระทรวงมหาดไทยก็จะต้องรีบหาคนมารั้งตำแหน่งดังกล่าวต่อไป


แม้เจ้าคุณโบราณราชธานินทร์จะได้ขึ้นเป็นพระยาเพียงอายุ ๓๐ ปี ซึ่งนับว่าเร็วมาก  แต่ท่านก็ไม่ได้เลื่อนที่ให้ยิ่งกว่านี้  ทั้งๆ ที่มีความชอบในราชการมากมาย   มีความรู้ความสามารถหลายด้าน  พระเจ้าอยู่หัวและเจ้านายหลายพระองค์โปรดมาก  รับราชการมานาน   น่าเสียดายที่ไม่อาจจะได้เป็นเจ้าพระยา   ทั้งที่ควรจะได้เป็น  เรื่องนี้ไม่ธรรมดาครับ

พันพุฒอนุราช  เป็นหนึ่งในจำนวนข้าราชการยศพันที่เป็นายเวรหนังสือของมหาดไทยสมัยเก่า  อันประกอบด้วย  พันภาณุมาศ พันจันทนุมาศ  พันเภานุราช  พันพุฒอนุราช
ด้วยว่าเป็นนายเวรที่มีราชการมากจึงมีศักดินาสูงกว่าข้าราชการยศพันทั่วไป ที่เป็นข้าราชการชั้นประทวน อันได้แก่ข้าราชการท้องถิ่นของมหาดไทยพวกกำนัน    พวกพันชั้นประทวน  เสนาบดีจะกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้ง  เมื่อพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งแล้ว   เสนาบดีก็จะออกตราประทวนพระราชสีห์ตั้งได้ทันที   แต่ขุนนางพันทั้ง ๔ นี้  เป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตร


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 10, 14:16
ขอบคุณสำหรับคำอธิบาย
ดิฉันเดาว่า เวนคืน แปลว่าคืนตำแหน่ง  คือให้คนอื่นมาทำแทน     แต่ยังไม่แน่ใจก็เลยรอคำอธิบายดีกว่า   เราเลิกใช้คำนี้ในด้านบุคคลมานานแล้ว   แต่ยังเหลือร่องรอยอยู่ในการเวนคืนที่ดิน   คือรัฐเอาที่ดินคืนจากกรรมสิทธิ์ที่ประชาชนครอบครอง เพื่อเอาไปใช้สิทธิ์ตามที่รัฐเห็นสมควร

ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ว่าฯอยุธยาคนเดิม เป็นถึงพระยา  ดูจากนามสกุลก็เป็นสกุลเก่าแก่ของอยุธยา    น่าจะแวดล้อมด้วยเครือญาติในอยุธยาเป็นตระกูลใหญ่แน่นอน
แต่แทนที่กรมขุนมรุพงศ์ฯ จะเลื่อนขุนนางในสกุลเดียวกัน(ซึ่งน่าจะมี) มาทำงานแทน   หรือถ้าไม่ใช่เครือญาติ ก็ยังมีพระยาอีกหลายคนที่จะเข้ามาสวมตำแหน่งแทนได้   หรือไม่มีพระยาก็ยังมีคุณพระอาวุโสอยู่ในคิวแน่นอน
ท่านกลับเลือกคุณหลวงหนุ่มเพิ่งย้ายจากเมืองหลวงมารักษาราชการ   แล้วปีเดียวก็เลื่อนเป็นพระ และเป็นผู้รักษากรุง เต็มขั้น
แสดงว่าคุณหลวงหนุ่มคนนี้ ฝีมือไม่ธรรมดา
แต่ทำไมท่านไม่ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยา  ค่อยๆติดตามประวัติไป อาจจะพอสันนิษฐานได้


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 เม.ย. 10, 16:14
ข้อเท็จจริง

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
ด้วยทรงพระกรุราโปรดเกล้าฯ  พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสนาบดีกระทรวงมหาดทยทำประทวนตราพระราชสีห์ตั้งให้  พันจันทนุมารค (หลำ) เปนที่พันพุฒอนุราช  หัวพัน  ...ฯลฯ...นายพร นักเรียนประโยค ๒ เปนที่ขุนวิเศษรักษา  ตำแหน่งขุนหมื่น ...ฯลฯ...ประทวนตั้งลงวันที่  ๑๘ มีนาคม  รัตนโกสินทร์ ศก ๒๓ ๑๑๓   ศาลาลูกขุนในฝ่ายซ้าย   แจ้งความแต่วันที่  ๓๐ มีนาคม รัตนโกสินทร์ ศก ๒๗  ๑๑๓   (ราชกิจจาฯ เล่ม ๑๒ หน้า ๖)



แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
ด้วยพันพุฒอนุราช  หัวพันกระทรวงมหาดไทย ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนที่ขุนเพชร์อินทรา  ปลัดกรมตำรวจภูธรขวาแล้ว   ตำแหน่งที่พันพุฒอนุราชยังว่างอยู่  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ออกประทวนตราพระราชสีห์  ตั้งขุนวิเศษรักษษ (พร) เปนที่พันพุฒอนุราช  ตำแหน่งหัวพัน ถือศักดิ์นา  ๔๐๐  รับราชการตามตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทร์ ศก ๒๙ ๑๑๕  ดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (ราชกิจจาฯ เล่ม ๑๓ หน้า ๒๗)

(หมายเหตุ ความเห็นเกี่ยวกับตำแหน่งพันพุฒอนุราชของผมก่อนหน้านี้  ขอยกเลิกครับ)




พระราชทานสัญญาบัตร
วันที่  ๑๘ มกราคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๕  เวลา ๔ ทุ่มเศษ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกขุนนาง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรแก่ข้าราชการ คือ  ...ฯลฯ... ๒ ให้พันพุฒอนุราช  เปนหลวงอนุรักษภูเบศร์  มีตำแหน่งราชการในกระทรวงมหาดไทย  ถือศักดินา  ๘๐๐ .... (ราชกิจจาฯ เล่ม ๑๓ หน้า ๕๑๙)


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 22 เม.ย. 10, 18:08
ตำแหน่งผู้รักษากรุงเก่า  เป็นตำแหน่งเจ้าเมืองแบบเก่าครับ
ตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทย  เป็นตำแหน่งราชการที่ตั้งขึ้นใหม่ในสมัยจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล  เป็นตำแหน่งข้าราชการในระดับรองลงมาจากข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล (ต่อมาเปลี่ยนเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑล) 
ตำแหน่งข้าหลวงนี้ในระยะต้นของการจัดระเบียบมณฑลเทศาภิบาลมีทั้งข้าหลวงธรรมการ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นธรรมการมณฑล)   ข้าหลวงทหารบก (ต่อมาเปลี่ยนเป็นสัสดีมณฑล)  ข้าหลวงสรรพากร (ต่อมาเปลี่ยนเป็นสรรพากรมณฑล)  สำหรับตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยนั้นต่อมาเปลี่ยนเป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัด  คือผู้ว่าราชการจังหวัดนั่นเองครับ

ในสมัยที่หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์(พร) ออกไปเป็นข้าหลวงมหาดไทยที่มณฑลกรุงเก่านั้น  คงจะไปปฏิบัติหน้าที่ราชการของกระทรวงมหาดไทยที่จัดใหม่  ส่วนการปกครองเมืองยังคงจัดแบบเก่า  จนพระยาชัยวิชิต เวนคืนตำแหน่ง  คือกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง  โดยถวายตราประจำตำแหน่งคืน  คำว่าเวนคืนจึงน่าจะมาจากเหตุนี้ครับ

เรื่องธรรมเนียมการปกครองแบบเก่านี้มีแบบอย่างที่หัวเมืองประเทศราชล้านนา  เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายจากระบบเจ้าผู้ครองนครมาเป็นมณฑลเทศาภิบาลในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ นั้น  เจ้าครองเมืองคงมีฐานะเป็นเจ้าผู้ครองจังหวัด  แต่มีปลัดมณฑลประจำจังหวัดร่วมเป็นคณะกรรมการปกครองประจำจังหวัดในนามของ "เค้าสนามหลวง" ด้วย  การลงนามสั่งราชการต้องลงนามคู่กันทั้งเจ้าครองนครและปลัดมณฑลประจำจังหวัด


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 เม.ย. 10, 15:39
อ้างถึง
แต่ทำไมท่านไม่ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยา  ค่อยๆติดตามประวัติไป อาจจะพอสันนิษฐานได้

พ่อคนหนึ่งท่านเล่าให้ลุกฟังว่า

"...ส่วนพ่อเองนั้นได้ระลึกถึงพฤติการของเสด็จในกรมหนหลังมาว่า   เลี้ยงใครพอเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นแล้ว  มักจะมีความหวาดระแวงพระทัย   เช่นพระรัชฏภัณฑ์ (ทองอยู่) เลี้ยงมาตั้งแต่เล็กจนเป็นพระและเป็นข้าหลวงสรรพากรมณฑล   แล้วก็อยู่ไม่ได้     พระพนมสารนรินทร์ (กลึง) เรียกมาจากกรุงเก่าตั้งแต่เป็นหลวงศุภมาตรา  พอได้เป็นเจ้าเมืองนครนายกได้หน่อยถุกกริ้วก็ต้องออก     พระยาเกรียงไกรกระบวนยุทธ (โคม) ก็เช่นเดียวกัน   ตลอดถึงพระยาโบราณราชธานินทร์ก็ถูกกริ้วอย่างมากเหมือนกัน   หากแต่ความรู้และบารมีท่านแก่กล้า   สมเด็จกรมพระยาดำรงและพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช (รัชกาลที่ ๕) โปรดปรานเสียแล้วพระองค์ท่านจึงทำอะไรไม่ได้..."

เสด็จในกรม พระองค์นั้น คือเจ้านายพระองค์ใด  ผู้เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ย่อมรู้จักพระนามดี  แม้กระทั่งพ่อคนที่เล่าให้ลูกฟังนี้ก็ถูกเสด็จในกรมพระองค์นี้เบียดเบียนอยู่หลายครั้ง   บางคนอาจจะนึกถึงประโยคเด็ดในหนังสือเล่มนี้ได้ว่า  กำแพงหักทับเอาหรือ      มันทับตรงตีนนิดเดียว  แต่ทำเอาต้องเดินกะเผลกไปบ้าง ;D


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 10, 15:55
คุณหลวงมาเฉลยเสียแล้ว    จะบอกชื่อหนังสือไหมคะ


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 เม.ย. 10, 15:58
หนังสืออนุสรณ์ พระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี  ๒๕๐๒      "เล่าให้ลูกฟัง"



รับราชการตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี     ๒๔๔๑   ได้เงินเดือน ๑๐ บาท



อิอิ.....เขียนไว้ในเรือนไทยนานแล้วจ้ะ

"พ่อมีกางเกงจีนผ้าขาวไป ๒ ตัว  ผ้าพื้นสีน้ำเงิน ๑ ผืน  เสื้อชั้นในผ้าขาว ๒ ตัว  ผ้าขาวม้า ๒ ผืน  เสื้อชั้นนอก ๑ ตัว  กับเงิน ๘ บาท........"


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 เม.ย. 10, 16:01
ผลงานบางประการของพระยาโบราณราชธานินทร์ เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงรักษาราชการกรุงเก่า  คัดตัดตอนจากรายงานข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ร,ศ,๑๑๗ (ราชกิจจาฯ  เล่ม ๑๕   หน้า ๕๕๑ - ๕๕๒) 8)

"...๙๒   แต่ถนนหนทางนั้น  เดิมพระยาไชยวิชิตจางวาง  ครั้งยังรับตำแหน่งเปนผู้รักษากรุง  ได้จัดทำถนนบนสันกำแพงเมืองแลสร้างสพานข้ามคลอง  ระยะทางตั้งแต่พระราชวังจันทรเกษม   จนถึงป้อมเพชรประมาณ  ๗๐  เส้นเศษ   ครั้นเมื่อพระยาไชยวิชิตกราบถวายบังลาออกนอกราชการ   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้หลวงอนุรักษภูเบศรเปนข้าหลวงรักษาราชการกรุงเก่า  ก็ได้จัดทำถนนบนสันกำแพงเมือง   จากพระราชวังจันทรเกษมไปจนถึงวัดธรรมิกราชริมพระราชวังโบราณประมาณทาง  ๘๐  เส้นเศษ   กับขุดคลองลัดตัดแหลมวัดช่องลม  ซึ่งเปนแหลมยื่นขวางปิดทางน้ำแควแม่สัก แลแควลพบุรีไม่ให้ไหลลงทางคลองทราย   ซึ่งเปนเหตุทำให้ลำน้ำในแถวน่าพระราชวังจันทรไหลเชี่ยว   แลเปนวนกัดเซาะเขื่อนบันไดอิฐที่คั่นตลิ่งน่าพระราชวังจันทรพังทำลายนั้น   ให้น้ำไหลลงทางคลองทราย   โดยกว้าง  ๓ วา  ลึก  ๕  ศอก   ยาว  ๓  เส้น  ๘  วา คลองหนึ่ง ..."


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 10, 16:10
อ้างถึง
พระพนมสารนรินทร์ (กลึง) เรียกมาจากกรุงเก่าตั้งแต่เป็นหลวงศุภมาตรา  พอได้เป็นเจ้าเมืองนครนายกได้หน่อยถุกกริ้วก็ต้องออก 

ยังข้องใจข้อเท็จจริงตรงนี้   เพราะอ่านพบว่าพระพนมสารนรินทร์ตั้งใจจะไปทำธุรกิจเรือเมล์  ลงทุนไปแล้วด้วย   จึงลาพักราชการ
เสด็จในกรมฯ ทรงเรียกให้กลับไปทำงาน จะตั้งให้เป็นปลัดมณฑลอุดร  คุณพระก็ไม่ยอม  จะลาออกให้ได้
ก็เลยถูกกริ้ว    ในประวัติก็ระบุว่าคุณพระลาออก  ไม่ได้ "ต้องออก" นี่คะ
คุณวันดี คุณเพ็ญ คุณหลวงมีรายละเอียดมาอธิบายให้หายข้องใจได้ไหม


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 10, 16:21
ขอเลี้ยวออกทางแยก หน่อย
ชอบพระยาสัจจาภิรมย์มานานแล้ว เรื่องหนังสือ เทวกำเนิด  เลยขอนำรูปจากเว็บที่ไปเจอเข้ามาลง

http://www.pantown.com/board.php?id=20500&area=3&name=board3&topic=3&action=view

เห็นบ้านท่านที่ถูกรื้อไปแล้ว ก็ใจหาย  ร่องรอยกรุงเทพเมื่อวันวาน หายไปไม่เหลือ


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 เม.ย. 10, 16:23
คุณหลวงท่านนั่งเฝ้า ตึกเก็บหนังสือโบราณ  อยู่ค่ะ  คุณเทาชมพู

คุณเพ็ญ เธอก็ปกครองห้องสมุด


ดิฉันอ่านแต่เรื่องที่สนุก ตื่นเต้น ผจญภัย เท่านั้น  
จะขัดดาบแลอาวุธทั้งปวงก็ต้องวันอังคารแลวันเสาร์

วิ่งซิกแซกหลบคุณเพ็ญชมพูและคุณหลวงเล็ก อยู่


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 10, 08:48
อ้างถึง
ตลอดถึงพระยาโบราณราชธานินทร์ก็ถูกกริ้วอย่างมากเหมือนกัน   หากแต่ความรู้และบารมีท่านแก่กล้า   สมเด็จกรมพระยาดำรงและพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช (รัชกาลที่ ๕) โปรดปรานเสียแล้วพระองค์ท่านจึงทำอะไรไม่ได้..."
เรื่องนี้ยังค้างคาใจอยู่ค่ะ
ก็ในเมื่อ เสด็จในกรมฯยังทำอะไรเจ้าคุณโบราณฯ ไม่ได้    สาเหตุที่ท่านไม่ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยา ก็น่าจะมีองค์ประกอบอื่นที่สำคัญกว่านี้

ในวัย ๓๐ ปี  สยามมีพระยาคนใหม่  ชื่อพระยาโบราณบุรานุรักษ์   ปลัดเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา   
ล่วงมาอีก ๒ ปี   กรมขุนมรุพงศ์ฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา  ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯให้ย้ายไปทรงบัญชาการแก้ไขความลำบากในมณฑลปราจีณ
พระยาโบราณบุรานุรักษ์ ก็เลยได้กินตำแหน่งผู้รั้งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา แทน    (เดาว่าคือรักษาราชการแทน)
เป็นผู้รั้งอยู่ ๓ ปี ไม่ได้ขยับขึ้นเต็มตัว

จนกระทั่งอายุ ๓๕  ท่านจึงได้เลื่อนขึ้นรับตำแหน่งนี้เต็มตัว   มีลำดับยศเท่ากับมหาอำมาตย์ตรี
อยู่ในตำแหน่งนี้จนสิ้นรัชกาลที่ ๕


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 เม.ย. 10, 08:53
เรื่องนี้ยังค้างคาใจอยู่ค่ะ
ก็ในเมื่อ เสด็จในกรมฯยังทำอะไรเจ้าคุณโบราณฯ ไม่ได้    สาเหตุที่ท่านไม่ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยา ก็น่าจะมีองค์ประกอบอื่นที่สำคัญกว่านี้

ในวัย ๓๐ ปี  สยามมีพระยาคนใหม่  ชื่อพระยาโบราณบุรานุรักษ์   ปลัดเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา   
ล่วงมาอีก ๒ ปี   กรมขุนมรุพงศ์ฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา  ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯให้ย้ายไปทรงบัญชาการแก้ไขความลำบากในมณฑลปราจีณ
พระยาโบราณบุรานุรักษ์ ก็เลยได้กินตำแหน่งผู้รั้งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา แทน    (เดาว่าคือรักษาราชการแทน)
เป็นผู้รั้งอยู่ ๓ ปี ไม่ได้ขยับขึ้นเต็มตัว

จนกระทั่งอายุ ๓๕  ท่านจึงได้เลื่อนขึ้นรับตำแหน่งนี้เต็มตัว   มีลำดับยศเท่ากับมหาอำมาตย์ตรี
อยู่ในตำแหน่งนี้จนสิ้นรัชกาลที่ ๕


การที่พระยาโบราณฯ  ไม่ได้ยศถึงเจ้าพระยานั้น   มีข้อทางคิดได้อีกประการหนึ่งว่า   พระยาโบราณฯ  รับราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย    ในธรรมเนียมราชการสมัยก่อน  แต่ละหน่วยงานย่อมจะมีเสนาบดีที่รับพระราชทานยศสูงสุดเพียงคนเดียว  ข้าราชการหรือขุนนางในระดับรองๆ  ลงมาก็รับพระราชทานยศพระยา พระ หลวง ขุน ลดลั่นไปตามลำดับ   เท่าที่เคยอ่านหนังสือมา  ยังไม่เคยปรากฏว่ามีเจ้าพระยาที่สังกัดอยู่ในหน่วยงานเดียวกันถึงสองคน  เพราะถ้าเกิดมีเจ้าพระยาในสังกัดหน่วยงานเดียวกันมากกว่า ๑ คนขึ้นไป   คงจะทำให้แบ่งอำนาจปกครองกันลำบาก   ในกรณีข้าราชการหัวเมือง   ถ้าไม่ใช่หัวเมืองไกลจากเมืองหลวงมากๆ  ก็ได้รับพระราชทานยศสูงที่สุดเพียงพระยาเท่านั้น  (และมีบางกรณีที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศเจ้าพระยาแก่เจ้าเมืองชราภาพที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาเป็นเวลานาน  และไม่สามารถว่าราชการต่อไปได้อีก  จึงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งหรือให้กรมการเมืองนั้นๆ ได้นำความกราบบังทูลขอโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งผู้อื่นเป็นเจ้าเมืองแทน  ส่วนเจ้าเมืองเดิมนั้นได้เลื่อนไปกินตำแหน่งที่ปรึกษาราชการหัวเมืองนั้นๆ  อันเป็นตำแหน่งเกียรติยศ   ยศเจ้าพระยาที่ได้รับพระราชทานก็ถือเป็นเกียรติด้วยเหมือนกัน   ดูได้จากกรร๊เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและหัวเมืองใหญ่ทางปักษ์ใต้)

 เจ้าคุณโบราณฯ เมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปประจำหน้าที่ที่กรุงเก่าแล้ว   ก็ไม่ได้กลับเข้ามามีตำแหน่งราชการในกระทรวงมหาดไทยส่วนกลางอีก  ผิดกับเจ้าพระยายมราช (ปั้น  สุขุม) และเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร)  ซึ่งแม้จะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งในหัวเมืองแล้ว   ก็ยังได้กลับเข้ามารับราชการที่กระทรวงมหาดไทยส่วนกลาง  จนได้รับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงและได้รับพระราชทานยศสูงสุดเป็นที่เจ้าพระยาตามตำแหน่งเสนาบดี    และถ้าไปดูตำแหน่งเจ้าเมืองกรุงเก่าแล้ว  นับตั้งแต่ตั้งกรุงมาก็ไม่ปรากฏว่า มีเจ้าเมืองกรุงเก่าคนใดก่อนหน้าเจ้าคุณโบราณฯ ได้รับพระราชทานยศเกินพระยาเลยสักคน   ยิ่งถ้าพิจารณาจากยศเจ้าเมืองในแถบภาคกลางด้วยกันก็ไม่มีเจ้าเมืองใดกินยศเป็นเจ้าพระยาเลย   การที่ท่านเจ้าคุณไม่ได้เป็นเจ้าพระยาคงเพราะเป็นไปตามธรรมเนียมราชการ   แม้ว่าเจ้าคุณจะประกอบกิจราชการอย่างมากมายหลายประการ  เป็นที่โปรดของพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์   แต่ด้วยตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองทำให้ท่านไม่สามารถก้าวขึ้นไปถึงยศเจ้าพระยาได้  กระนั้นเจ้าคุณโบราณก็ได้ดำรงตำแหน่งหน้าที่สูงสุดของข้าราชการหัวเมือง(ชั้นใน) คือ  ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑล  นับว่าเป็นเกียรติยศที่สุดของท่านแล้วในชีวิตของข้าราชการหัวเมือง   และยังไม่นับรวมถึงเกียรติยศอื่นๆ ที่ท่านเจ้าคุณได้รับพระราชทานจากการใช้ความรู้ความสามารถของท่านในทางราชการ

ส่วนเรื่องในหนังสือเล่าให้ลูกฟัง   ของพระยาสัจจาภิรมย์  (สรวง  ศรีเพ็ญ)  เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า  ชีวิตเจ้าคุณโบราณฯ  ไม่ได้เป็นปกติสุขดีอย่างที่เราส่วนใหญ่เข้าใจ 


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 10, 14:50
มหาอำมาตย์ตรี เป็นยศของพลเรือน เทียบได้กับพลตรีของทหาร     คนที่เป็นพลตรีเมื่ออายุ ๓๕ ก็ต้องถือว่าโดดเด่นเป็นพิเศษ  ไม่ธรรมดา

กลับมาทางประวัติ
พระยาโบราณบุรานุรักษ์รับตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล ได้ ๔ ปีก็สิ้นรัชกาลที่ ๕   ตอนนั้นท่านอายุได้ ๓๙  ปี
แม้ว่าเปลี่ยนรัชกาล  ท่านก็ยังอยู่ในอยุธยาถิ่นเดิม  ไม่ได้โยกย้ายไปที่โน่นที่นี่อย่างข้าราชการมหาดไทยทั่วไป
ทั้งนี้เพราะความรู้ทางเรื่องโบราณคดีประวัติศาสตร์อยุธยาของท่าน เชี่ยวชาญหาขุนนางด้วยกันเทียบไม่ได้   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงไม่โปรดให้ย้ายไปประจำที่มณฑลอื่น   มีหลักฐานยืนยันจากพระนิพนธ์  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ว่า
" ประวัติของพระยาโบราณฯ เมื่อรับราชการหัวเมือง แปลกกับเพื่อนข้าราชการในสมัยเดียวกันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง   ที่รับราชการอยู่ในมณฑลเดียว  หรือถ้าว่าให้ชัดยิ่งกว่านั้น   ประจำอยู่แต่ในจังหวัดเดียว    ตั้งแต่เป็นตำแหน่งขั้นต่ำจนถึงเป็นอุปราช    อันเป็นขั้นสูงสุดในข้าราชการหัวเมือง   หาเคยย้ายถิ่นที่รับราชการเหมือนคนอื่นไม่      ที่เป็นเช่นนั้น เพราะพระยาโบราณฯ  ทรงคุณวุฒิเฉพาะแก่มณฑลอยุธยาไม่มีใครเหมือน     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๓ รัชกาลจึงไม่โปรดให้ย้ายไปรับราชการที่อื่น     
คุณวุฒิของพระยาโบราณราชธานินทร์ ฯ เป็น ๒ อย่างประกอบกัน  คือความสามารถใจการปกครองบ้านเมืองอย่าง ๑    ความรอบรู้โบราณคดีมณฑลอยุธยาอย่าง ๑"


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 เม.ย. 10, 15:58
พระยาโบราณบุรานุรักษ์รับตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล ได้ ๔ ปีก็สิ้นรัชกาลที่ ๕   ตอนนั้นท่านอายุได้ ๓๙  ปี
แม้ว่าเปลี่ยนรัชกาล  ท่านก็ยังอยู่ในอยุธยาถิ่นเดิม  ไม่ได้โยกย้ายไปที่โน่นที่นี่อย่างข้าราชการมหาดไทยทั่วไป
ทั้งนี้เพราะความรู้ทางเรื่องโบราณคดีประวัติศาสตร์อยุธยาของท่าน เชี่ยวชาญหาขุนนางด้วยกันเทียบไม่ได้   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงไม่โปรดให้ย้ายไปประจำที่มณฑลอื่น   มีหลักฐานยืนยันจากพระนิพนธ์  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ว่า


" ประวัติของพระยาโบราณฯ เมื่อรับราชการหัวเมือง แปลกกับเพื่อนข้าราชการในสมัยเดียวกันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง   ที่รับราชการอยู่ในมณฑลเดียว  หรือถ้าว่าให้ชัดยิ่งกว่านั้น   ประจำอยู่แต่ในจังหวัดเดียว    ตั้งแต่เป็นตำแหน่งขั้นต่ำจนถึงเป็นอุปราช    อันเป็นขั้นสูงสุดในข้าราชการหัวเมือง   หาเคยย้ายถิ่นที่รับราชการเหมือนคนอื่นไม่      ที่เป็นเช่นนั้น เพราะพระยาโบราณฯ  ทรงคุณวุฒิเฉพาะแก่มณฑลอยุธยาไม่มีใครเหมือน     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๓ รัชกาลจึงไม่โปรดให้ย้ายไปรับราชการที่อื่น     คุณวุฒิของพระยาโบราณราชธานินทร์ ฯ เป็น ๒ อย่างประกอบกัน  คือความสามารถใจการปกครองบ้านเมืองอย่าง ๑    ความรอบรู้โบราณคดีมณฑลอยุธยาอย่าง ๑"

มองในทางกลับกัน   คุณวุฒิอันเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของพระยาโบราณราชธานินทร์  ก็เป็นข้อจำกัดในการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานของท่านด้วยเช่นกัน   เพราะเจ้าคุณรอบรู้เฉพาะท้องถิ่นที่ท่านไปปกครอง  ซึ่งท่านไม่เคยถูกย้ายไปอยู่ต่างเมืองเลย  อยู่แต่ที่กรุงเก่า  ถ้าจะว่าไป  ดูตำแหน่งหน้าที่มั่นคงดี เพราะผู้บังคับบัญชาเห็นว่าท่านเหมาะที่จะอยู่ที่นี่เลยไม่ให้ย้ายไปไหน  แต่นั่นก็เท่ากับตัดโอกาสในการหาประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ในการทำงานของท่านให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วย    เพราะประสบการณ์จากการได้ย้ายไปประจำหัวเมืองต่างๆ หรือได้ทำราชการในตำแหน่งที่หลากหลายจะเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้ท่านได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งราชการที่สูงกว่านี้    ถ้าพูดอย่างชาวบ้านก็คือ บุญวาสนาของท่านเจ้าคุณโบราณฯ  คงถูกโฉลกกับกรุงเก่าเพียงเมืองเดียว  และบุญวาสนานั้นก็เป็นขีดคั่นให้ท่านเติบโตสูงสุดที่พระยาตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า


ความอุตสาหะของเจ้าคุณโบราณฯ  ที่ควรศึกษาเป็นแบบอย่างประการหนึ่งคือ  ท่านสนใจศึกษาหาความรู้ด้านประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างยิ่ง  ศึกษาอ่านแม้หนังสือภาษาต่างประเทศที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา   ท่านศึกษาด้วยตนเอง   จนสามารถนำบรรดาฝรั่งที่เป็นแขกบ้านแขกเมืองชมโบราณสถานพร้อมทั้งบรรยายไปด้วยได้อย่างมัคคุเทศน์ชั้นหนึ่ง   นอกจากนี้  ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มทำพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยกรุงศรีอยุธยาให้ฝรั่งและคนไทยชม    และท่านก็ทำได้ดีจนเป็นที่ชื่นชมทั่วไปทีเดียว   และที่ไม่ควรลืมคือ  ท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับกรุงเก่าไว้ด้วย  ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงเก่าของคนในสมัยปัจจุบัน  (ไม่เชื่อก็ลองเข้าไปดูที่บอร์ดชมรมอนุรักษ์จิตรกรรมไทยก็ได้) ;D


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 30 เม.ย. 10, 18:57
สมุหเทศาภิบาลซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยนั้น  มีที่ได้รับพระราชสัญญาบัตรเป็นเจ้าพระยาเทียบเท่าเจ้าพระยาประเทศราชเท่าที่ทราบมีอยู่ ๒ ท่านครับ คือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย  กับยาณมิตร) เป็นเจ้าพระยาสัญญาบัตรเมื่อครั้งเป็นข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพในตอนปล่ยรัชกาลที่ ๕  เมื่อเป็นเสนาบดีมหาดไทยจึงรับพระราชทานหิรัญบัฏตามเกียรติยศเจ้าพระยาเสนาบดี  อีกท่านหนึ่งคือ เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ (ชม  สุนทราราชุน) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรี  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเมื่ออายุครบ ๖๐ ปี  จ่อจากนั้นอีกราว ๒ ปี ได้ลาออกจากราชการรับพระราชทานบำนาญ

รายพระยาโบราณราชธานินทร์นั้นแม้จะมิได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าพระยาก็ตาม  แต่ก็ได้รับพระราชทานศักดินาถึง ๑๐,๐๐๐ ที่เรียกว่า "พระยานาหมื่น" เสมอด้วยเจ้าพระยาเสนาบดีเลยทีเดียว  การที่ได้เป็นอุปราชมณฑลอยุธยานั้นจะว่าไปก็เป็นเกียรติยศพิเศษเหมือนกัน  เพราะกรุงเก่านั้นเป็นพระนามกรมในรัชกาลที่เมื่อครั้งทรงกรม  และการที่โปรดเกล้าฯ ให้ยกตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าขึ้นเป็นชั้นอุปราช  มียศเป็นจางวางโท (เทียบเท่า นายพลโท) ก็เป็นการพระราชทานกียรติยศเหนือสมุหเทศาภิบาลทั้งปวงที่มียศเพียงนายพลตรี หรือ มหาเสวกตรี หรือจางวางตรี  และตำแหน่งอุปราชทั่วไปนั้นปกติจะมีพื้นที่ปกครองเรียกว่า "ภาค"  ซึ่งมีเขตปกครองอย่างน้อย ๒ มณฑลรวมกัน  เช่น  ภาคพายัพ  ประกอบด้วยมณฑลพายัพ  มณฑลมหาราษฎร์  ภาคตะวันตก ประกอบด้วย มณฑลนครไชยศรี มณฑลราชบุรี หรือภาคใต้ที่เรียกว่า "ปักษ์ใต้" ที่มีสมเด็จชาย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ทรงเป็นอุปราช ก็ประกอบด้วย มณฑลสุราษฎร์  มณฑลนครศรีธรรมราช  มณฑลปัตตานี


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 10, 16:54
ขอบคุณคุณ V_Mee  แวะเข้ามาทีไร ก็มีข้อมูลดีๆ หายากมาฝากกันทุกครั้งค่ะ
ป.ล. ถ้าค.ห.คุณมีหมายเหตุว่าดิฉันแก้ไข  ไม่ได้แก้ที่เนื้อหานะคะ แต่แก้ที่ตัวสะกดบางตัวที่พิมพ์ผิดเท่านั้น
***************
ประวัติของสกุล กัลยาณมิตร ก็น่าสนใจ 
*************
กลับมาที่พระยาโบราณฯอีกครั้ง
ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริตั้งคณะเสือป่า    พระยาโบราณฯ ก็เป็นสมาชิกตั้งแต่แรก
เริ่มตั้งแต่เป็น พลเสือป่า    ต่อมาก็เลื่อนยศขึ้นเป็นลำดับจนเป็นนายกองใหญ่

(ยศเสือป่าเป็นยังไง เห็นจะต้องขอรายละเอียดจากคุณ V_Mee)

หน้าที่การงานในเสือป่า ก็นับว่าเจริญด้วยดี   ท่านเลื่อนตำแหน่งในคณะเสือป่า ตั้งแต่เป็นผู้บังคับกอง  จนถึง
ผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนมณฑลอยุธยา   
ท่านได้เป็นราชองครักษ์ และได้รับพระราชทานเหรียญสารทูลมาลาด้วย

เหรียญสารทูลมาลา = เหรียญเสือป่า?    ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่เดาว่ารากศัพท์ สารทูล แปลว่า เสือ


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 06 พ.ค. 10, 06:50
ยศเสือป่าเรียงลำดับจากต่ำสุดไปสู่สูงสุด ในช่วงแรกตั้งกองเสือป่า ดังนี้ครับ

พลเสือป่า
นายหมู่ตรี  โท  เอก นายหมู่ใหญ่
นายหมวดตรี  โท  เอก
นายกองตรี  โท  เอก  นายกองใหญ่

ยศตั้งแต่นายหมู่ใหญ่ขึ้นไปจนถึงนายกองใหญ่จัดเป็นยศชั้นสัญญาบัตร  ผู้ที่ได้รับพระราชทานยศตั้งแต่นายหมู่ใหญ่ขึ้นไปได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถือไม้เท้าเสือป่า (เป็นไม้เท้าสีดำ  ต้นและปลายไม้เท้าเป็นโลหะสีทอง  มีปลอกอักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร.โลหะสีทอง รัดที่ที่ต้นไม่เท้าตอนใต้ปลอกโลหะ  มีพู่ไหมทองสลับดำ) เป็นเครื่องยศแทนกระบี่ด้วย

ในระหว่างปี ๒๔๕๔ - ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระยศ นายกองใหญ่ เพียงพระองค์เดียว  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๘  เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มยศนายพลเสือป่า เป็นชั้นยศเหนือ นายกองใหญ่ อีกยศหนึ่ง  ได้พระราชทานยศนายพลเสือป่าแก่นายเสือป่าชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน  และต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้ "ว่าที่นายพลเสือป่า" เปลี่ยนมาใช้ยศนายกองใหญ่แทน


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 10, 11:30
รอความรู้อื่นๆเกี่ยวกับเสือป่าจากคุณ V_Mee อีกค่ะ   :D

ย้อนกลับมาที่พระยาโบราณฯ   การเลื่อนตำแหน่งในเสือป่า แสดงว่าท่านก็ก้าวหน้าในกิจการนี้ไม่แพ้การรับราชการ
เมื่ออายุ ๔๑   พ.ศ. ๒๔๕๕  ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเพิ่มเกียรติยศ   เปลี่ยนราชทินนามเป็น พระยาโบราณราชธานินทร์   สยามินทรภักดี  พิริยพาหะ  ถือศักดา ๑๐๐๐๐   
อายุ ๔๒   เป็นมหาอำมาตย์โท  พระยาโบราณราชธานินทร์  สูงสุดในชีวิตราชการของท่าน
ตลอดรัชกาลที่ ๖   พระยาโบราณฯก็ยังอยู่ที่อยุธยา  ทำงานทั้งด้านปกครองและด้านโบราณคดีของท่านต่อไป   

ฝีมือปกครองของพระยาโบราณฯเป็นอย่างไร    อ่านได้จากพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ

"...จะกล่าวแต่โดยย่อ ว่า มณฑลอื่นทำได้อย่างไร   พระยาโบราณฯ ก็ทำได้อย่างนั้น    บางเรื่องก็ดีกว่ามณฑลอื่น     จะยกพอเป็นอุทาหรณ์เรื่องหนึ่ง    แรกตั้งพระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหารในพ.ศ. ๒๔๔๘   คนพากันหลบหนีเข้าบวชเป็นอันมาก     ถึงกระทรวงมหาดไทยเรียกเทศาฯ มณฑลที่ใช้พระราชบัญญัตินั้น  เข้าไปปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไร     เทศาฯบางคน เห็นว่าการหลบหนีบวชก็เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ   ควรจับเอาตัวมาฟ้องศาล เอาโทษตามกฎหมาย      แต่พระยาโบราณฯเสนอความเห็นว่าคนกำลังตื่น    ถ้าจับกุมก็จะยิ่งตื่นกันหนักขึ้น    ถ้าเห็นว่าวัดคุ้มไม่ได้  ก็คงพากันหนีเข้าป่า     เมื่อหมดเสบียงอาหารก็จะเที่ยวปล้นสดมภ์เลี้ยงชีพ   จะเลยต้องปราบโจรผู้ร้ายด้วยอีกอย่างหนึ่ง     เห็นว่าปล่อยให้บวชอยู่ในวัดดีกว่า   เหมือนกับฝากพระให้คุมไว้     เมื่อคนเหล่านั้นรู้ความตามพระราชบัญญัติ    เห็นว่าที่ต้องเป็นทหารชั่วคราว ไม่เป็นการเดือดร้อนเหลือเกิน ก็คงสึกออกมาเอง    ที่จะทนอดข้าวเย็นเห็นจะมีน้อย     กระทรวงมหาดไทยอนุมัติตามความเห็นของพระยาโบราณฯ    การเกณฑ์ทหารครั้งนั้นก็สำเร็จได้    จึงนับถือกันว่าพระยาโบราณฯอยู่ในเทศาที่มีสติปัญญาคนหนึ่ง.."


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 10, 11:47
อ่านถึงตรงนี้แล้ว   เดาว่าเจ้าคุณท่านคงเป็นนักปกครองที่สุขุมเยือกเย็น   และเห็นอกเห็นใจราษฎรอยู่มาก    เมื่อเกิดเรื่องเดือดร้อนเฉพาะหน้า  คือชาวบ้านหลบหนีเกณฑ์ทหารกันมากมาย     แทนที่จะสั่งยุติด้วยการไล่จับตัวกันอย่างเฉียบขาด  ปราบปรามกันให้เห็นอำนาจพระราชบัญญัติ   รู้หมู่รู้จ่ากันลงไป     ท่านก็ผ่อนปรน ยอมยืดเวลาให้ชาวบ้านได้สติกันเสียก่อน   พอตั้งสติได้แล้ว  ปัญหาก็สงบราบคาบกันไปเอง
แบบนี้ถึงจะมองว่า ตอนแรกเดือดร้อนวุ่นวาย เกณฑ์ทหารไม่ได้ผล   เสียเครดิตพระราชบัญญัติ   แต่ในระยะยาว  กลับเป็นผลดีกว่าจะสร้างแรงกดดันกับราษฎรเสียแต่แรก  ซึ่งอาจจะมีผลเสียหายยาวนานตามมา

เทศาฯบางท่านที่นิยมให้พระเดช มากกว่าพระคุณ   คงเห็นตรงกันข้ามกับพระยาโบราณฯ   ข้อนี้อาจเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้ชีวิตราชการของพระยาโบราณฯใช่ว่าจะราบรื่นนัก    ถ้าไม่มีบารมีเจ้านายคุ้มครองอยู่   ท่านเห็นจะเดินกระเผลกอย่างพระยาสัจจาภิรมย์ไปหลายหน


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 10, 10:32
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงประเมินฝีมือของพระยาโบราณราชธานินทร์ไว้ว่า
"...ถึงกระนั้นความสามารถของพระยาโบราณฯ  ในการปกครองบ้านเมืองก็ยังมีเทศาฯ มณฑลอื่นพอเปรียบได้    แต่ความสามารถด้วยรอบรู้โบราณคดีของมณฑลอยุธยา  ข้อนี้ไม่มีผู้อื่นเปรียบได้ทีเดียว"
ข้อนี้น่าจะเป็นคำตอบได้ว่า เหตุใดท่านจึงไม่ได้เลื่อนขึ้นถึงเจ้าพระยา     แต่ถ้าเปรียบเทียบกับพระยาที่สังกัดมหาดไทยด้วยกัน  เจ้าคุณโบราณฯก็ต้องถือว่าอยู่แถวหน้า     ถ้าเป็นนักเรียนก็ต้องเรียกว่าเกรด A

ความโดดเด่นเฉพาะตัว ทำให้ชื่อพระยาโบราณราชธานินทร์ยังเป็นที่จดจำกันมาได้ในกลุ่มนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีจนทุกวันนี้
เมื่อพิจารณาคุณสมบัติด้านนี้  เรียกได้ว่าตรงตามอิทธิบาท ๔  ครบทุกข้อ 
๑  ฉันทะ   ความพอใจรักใคร่
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่าพระยาโบราณฯ เป็นคนรักประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก   เมื่อเป็นนักเรียน ก็ชอบอ่านหนังสือพงศาวดาร   
ความสนใจมาตั้งแต่เรียน ก็เป็นพื้นฐานที่แน่นสำหรับท่านจะต่อยอดต่อไปเมื่อรับราชการที่อยุธยา
๒  วิริยะ  ความพากเพียร
เมื่อท่านไปรับราชการที่อยุธยา    ก็เที่ยวดูโบราณสถานตามที่ต่างๆ  ตามที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดาร   แห่งไหนไม่ปรากฏ ท่านก็ไม่ละความพยายาม  เที่ยวค้นหาเพื่อจะให้เจอ
มีเวลาว่างเมื่อใด ท่านก็ชวนชาวบ้านบุกป่าฝ่าดงค้นหาโบราณสถานที่ซ่อนอยู่ในป่ารก    ซึ่งแน่นอนว่ายากลำบากไม่น้อย
เราคงจะนึกออกว่าในรัชกาลที่ ๕   อยุธยาไม่ได้เป็นเมืองมีเทศบาลจัดระเบียบ ตัดถนนให้เราขับรถไปไหว้พระ ๙ วัดในวันเดียวอย่างสะดวกเหมือนสมัยนี้     
แต่เป็นเมืองเก่าที่ล้อมด้วยป่า มีซากโบราณสถานมากมายซ่อนอยู่ในความรกทึบ    จะหาแผนที่บอกทางก็ไม่มี     เจ้าเมืองที่บุกป่าฝ่าดงอาศัยแค่คำบอกเล่าของชาวบ้าน ไปดูซากเจดีย์ซากวัดเก่าแก่  นอนกลางดินกินกลางทราย  ถ้าไม่มีวิริยะจริงๆคงทำไม่ไหว
เจ้าคุณโบราณฯ ท่านบุกป่าฝ่าดงสำรวจอยู่หลายปี ตั้งแต่เป็นคุณหลวงหนุ่มจนเป็นพระยาวัยกลางคน  ท่านก็ยังไม่ลดหรือเลิก   ทั้งๆหน้าที่เจ้าเมืองและเทศาฯ  ก็ยังมีอยู่เต็มมือ


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 10, 12:56
๓  จิตตะ  จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่
ตั้งแต่เป็นคุณหลวงอนุรักษ์ฯ จนเป็นพระยาโบราณราชธานินทร์    เจ้าคุณท่านก็ไม่เคยเบื่อหน่ายห่างเหินไปจากโบราณคดีที่ท่านรัก      ถ้าไม่รักจริงคงไม่ทำได้ต่อเนื่องอยู่ได้ยาวนานหลายสิบปี    ออกภาคสนามตลอด ไม่ใช่แค่อ่านตำรา    ตัวช่วยต่างๆอย่างห้องสมุดก็ไม่มี   แต่ท่านก็ค้นหาหนังสืออ่านเท่าที่จะหาได้

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวถึงเจ้าคุณโบราณฯ กับหนังสือเอาไว้ ตามนี้
"บรรดาหนังสือซึ่งมีความเนื่องถึงพระนครศรีอยุธยา จะเป็นในพงศาวดารก็ดี    จดหมายเหตุก็ดี  กฎหมายก็ดี   ดูเหมือนพระยาโบราณฯจะได้อ่านหมดไม่มีเว้น   และจำความไว้ได้ด้วย"

๔   วิมังสา  สอดส่องให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นไป  ด้วยปัญญา

ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จบางปะอิน   ทรงลงเรือพระที่นั่ง  โปรดเกล้าฯให้พระยาโบราณฯตามเสด็จในเรือด้วย     เรือผ่านพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ กลางสระ   ตรัสถามว่า
"ปราสาทครั้งกรุงเก่า ยอดประดับกระจกหรือไม่?"
พระยาโบราณฯทูลตอบทันทีว่า "ประดับ"
พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า "ทำไมเจ้าถึงรู้ว่าประดับกระจก"
พระยาโบราณฯกราบทูลว่า
"ในหนังสือพระราชพงศาวดารแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง   ว่าครั้งหนึ่งพระนารายณ์ราชกุมาร เล่นอยู่บนปราสาท   อสุนีบาตลงต้องยอดปราสาท  จนกระจกตกปลิวลงมาต้องพระองค์ พระนารายณ์ก็หาเป็นอันตรายด้วยสายฟ้าไม่"
พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า "เออ จริงแล้ว"
บรรดาผู้ตามเสด็จไปในเรือพระที่นั่งก็พากันชมความทรงจำของพระยาโบราณฯ กับทั้งที่คิดขึ้นได้ว่องไวด้วย


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 10, 22:00
ในเมื่อพระยาโบราณฯ  ออก" ภาคสนาม" ไปทั่วทุกหัวระแหง เป็นประจำในอายุราชการยาวนานของท่าน    นอกจากท่านจะคุ้นกับป่าดงและหมู่บ้านต่างๆในอยุธยา ที่ท่านไปสำรวจโบราณสถานแล้ว    ท่านก็พลอยคุ้นเคยกับชาวบ้านเป็นอันดีด้วย
จนกระทั่งได้รับตำแหน่งที่ชาวบ้านเลือกตั้ง  คือตำแหน่ง"ผู้ใหญ่บ้าน" ที่ตำบลหอรัตนไชย   นอกเหนือไปจากตำแหน่งเจ้าเมืองและสมุหเทศาภิบาล   เวลาเขาประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านกัน   ท่านก็ไปนั่งประชุมในฐานะผู้ใหญ่บ้านด้วย
เพราะฉะนั้นทุกข์สุขชาวบ้านเป็นยังไงท่านก็เลยรู้  ดูแลสอดส่องได้ทั่วถึง   เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน  พระสงฆ์องค์เจ้าก็เชื่อถือ ถึงกับขอให้เป็นมรรคนายกวัดถึง ๓ วัดด้วยกัน   คือวัดสุวรรณดาราราม  วัดมณฑป และวัดพุทไธสวรรย์

ความสามารถพิเศษของพระยาโบราณฯอีกอย่างคือ เก่งภาษาอังกฤษ      เราคงจำได้ว่าท่านเป็นนักเรียนหัวดีมาแต่อายุสิบกว่าขวบ      เมื่อตัดสินใจจะศึกษาภาษาอังกฤษเพื่อจะได้อ่านตำราฝรั่งรู้เรื่อง  ท่านก็ลงมือศึกษาด้วยตัวเอง
จนกระทั่งอ่านประวัติศาสตร์อยุธยาที่ฝรั่งแต่งไว้ ในสมัยโบราณได้   เวลาแขกเมืองที่เป็นฝรั่งมาเที่ยวอยุธยา ท่านก็เจรจาเป็นไกด์พาชมโบราณสถานได้   
แต่ความรู้ข้อนี้ พระยาโบราณฯท่านถ่อมตัว  ไม่ค่อยจะบอกใคร    ถือว่าท่านยังรู้น้อย   รู้เพียงแค่ศึกษาประวัติศาสตร์ได้เท่านั้น


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 10, 10:19
ด้วยใจรักทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี  ทำให้พระยาโบราณฯ สร้างผลงานไว้เป็นอนุสรณ์แก่ประเทศชาติไว้อีกเรื่องหนึ่ง  คือตอนที่ท่านเดี่ยวดั้นด้นบุกป่าฝ่าดง   เจอโบราณวัตถุถูกทิ้งอยู่กลางป่าไม่มีใครเหลียวแลอีกมาก
ท่านก็พิจารณาว่าชิ้นใดควรแก่การเก็บรักษาไว้  (คือจะเก็บหมดทุกชิ้นก็ไม่ไหว)  ท่านก็ให้คนขนเอามาเก็บไว้ที่วังจันทรเกษม   แทนที่จะทิ้งไว้ตามบุญตามกรรม จนชำรุดสูญหายไปตามกาลเวลา
เก็บได้มากเข้า  ท่านก็จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แบบสมัยใหม่    ทันสมัยกว่าพิพิธภัณฑสถานในกรุงเทพเสียอีก   ทำให้คนชอบไปดูกันมาก
แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดที่จะเสด็จไปทอดพระเนตร

มีพระราชโทรเลข ถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  เมื่อเสด็จยุโรปครั้งหลัง พ.ศ. ๒๔๕๑  เมื่อเสด็จถึงเมืองฮอมเบิร์กในเยอรมนี  ว่า
" มิวเซียมที่นี่เหมือนมิวเซียมกรุงเก่า    ออกคิดถึงพระยาโบราณฯ    ฉันจะแต่งหนังสือเรื่องมิวเซียมนี้"


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ค. 10, 18:57
พระยาโบราณฯ ถือว่าพระราชโทรเลขนี้ เป็นเหมือนบำเหน็จรางวัลความเหนื่อยยากในการรวบรวมและตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา     ท่านก็มีวิริยะและอุตสาหะที่จะจัดพิพิธภัณฑ์ต่อไปไม่ย่อท้อ
พระราชวังโบราณที่อยุธยา ที่ท่านขุดและตกแต่ง กับมิวเซียมแห่งนี้ ก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด ที่แขกบ้านแขกเมือง เมื่อไปถึงอยุธยาแล้วจะต้องไปเยี่ยมชม
ทำให้พระยาโบราณฯได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากต่างประเทศหลายอย่างด้วยกัน  เช่นตราเดนะโบรคชั้นที่ ๒ ของประเทศเดนมาร์ก    ตรานกอินทรีแดงชั้น ๒ ของประเทศปรัสเซีย   ตรามงกุฎอิตาลีชั้น ๒ของอิตาลี  และตราเฮนรีธีไลออนของบรันสวิค

ส่วนผลงานและเกียรติยศอื่นๆที่ท่านได้รับ  นอกเหนือจากตำแหน่งงานของมหาดไทย ก็คือ
๑   เป็นกรรมการสัมปาทิกหอพระสมุดวชิรญาณ   ชุดเดียวกับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ   กรมพระสมมติอมรพันธุ์   พระยาประชากิจกรจักษ์ (แช่ม บุนนาค ผู้แต่งหนังสือตำนานโยนก)
๒   เลขานุการโบราณคดีสโมสร
๓   กรรมการสัมปาทิกวรรณคดีสโมสร ในรัชกาลที่ ๖
๔   อุปนายกแผนกโบราณคดี  ของราชบัณฑิต


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ค. 10, 10:47
ในยุคที่พระยาโบราณฯ รับราชการที่อยุธยา    วัดร้างมีมากมาย  ยังไม่ได้บูรณะกัน   ชาวบ้านก็เข้าไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน  ทำไร่ ทำป่าฟืน  รื้ออิฐรื้อเจดีย์เอาไปใช้ประโยชน์   เท่ากับบุกรุกโบราณสถานไปด้วยโดยปริยาย     
พระยาโบราณฯ ท่านก็ให้ตรวจนับวัดร้างอย่างเป็นทางการ   ได้ถึง ๕๔๓ วัด     ได้จำนวนมาแล้วก็สำรวจ  พบว่าชาวบ้านเข้าไปอยู่ในเขตวัด โดยไม่ได้เสียภาษี  เพราะรัฐไม่เก็บภาษีวัด  ท่านก็มาจัดระเบียบเสียใหม่  ทำเรื่องเสนอทางการว่า
๑  ควรเก็บค่าเช่าจากชาวบ้าน    เป็นรายได้ของรัฐ   ชาวบ้านก็ไม่รังเกียจเพราะเท่ากับได้สิทธิ์ในการทำมาหากินบนผืนดินของตน  ไม่มีใครแย่ง
๒  ห้ามรื้อซากโบราณสถานเอาอิฐไปใช้ อย่างเด็ดขาด
๓  เงินค่าเช่าที่ได้มา รวมรวมไว้เป็นเงินพระราชกุศล สำหรับไว้ปฏิสังขรณ์โบราณสถาน
๔  รวบรวมเงินหลวงที่เรียกว่า เงินกัลปนา  คืออากรเก็บจากที่ดินบางแห่งสำหรับเอาไว้รักษาวัด มารวมไว้กับข้อ ๓
๕  เงินค่าเช่าเรือแพจอดตามหน้าวัด   เมื่อก่อนไวยาวัจกรของวัดเก็บตามอำเภอใจ    รัฐก็เข้าคุม เก็บให้เป็นระเบียบ
ก็ได้รับพระราชทานพระราชานุญาต   และเป็นแบบของการเก็บภาษีในมณฑลอื่นๆด้วย


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 10, 13:18
ผลงานด้านอื่นของพระยาโบราณ ฯ ก็คือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จสวรรคต   ท่านก็เป็นตัวตั้งในการชักชวนชาวบ้านบริจาคเงินสร้างถาวรวัตถุเป็นอนุสรณ์  คือโรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศ เป็นโรงพยาบาลแผนปัจจุบันแห่งแรก     ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา
นอกจากนี้ก็สร้างโอสถศาลาไว้อีก ๑ แห่งที่สระบุรี ชื่อโอสถศาลาปัญจมาธิราชอุทิศ

พระยาโบราณราชธานินทร์รับราชการมาจนเกษียณ   เมื่อพ้นจากหน้าที่แล้วก็กลับมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพระนคร   อยู่ที่ตรอกน้อมจิตร  ถนนนเรศ บางรัก
ท่านยังรับตำแหน่งในราชบัณฑิตยสภาเรื่อยมา แต่ก็เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะอย่างคนสูงอายุ  มีอาการคล้ายอัมพาตอย่างอ่อนๆ   สามวันดีสี่วันไข้จนถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุ ๖๔ ปี
ได้รับพระราชทานโกศประกอบลอง ๘ เหลี่ยม  เสมอเจ้าพระยา


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 10, 13:22
ด้านส่วนตัว   ท่านสมรสกับน.ส.จำเริญ  ธิดาหลวงเทเพนทร์ (ถนอม อินทุสูต)กับนางนวม   ตั้งแต่ยังเป็นหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์   คุณหญิงจำเริญได้รับพระราชทานเครื่องราชจุลจอมเกล้าชั้นตติยจุลจอมเกล้าฯ
มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน
นอกจากนี้ท่านยังมีบุตรธิดากับภรรยาอื่นๆอีกรวม ๑๑ คน   ทุกคนใช้นามสกุล เดชะคุปต์


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 13 เม.ย. 17, 10:12
วันนี้นสพ. บางกอกโพสท์เซ็คชั่น LIFE มีสกู๊ป 

Conserving the Old Capital

Visitors have a new way to explore Ayutthaya by following in the footsteps of a great conservationist 

http://www.bangkokpost.com/travel/in-thailand/1231920/conserving-the-old-capital.

      เล่าเรื่องราว ตามรอยนักสำรวจรุ่นแรกบุกเบิกสู่การอนุรักษ์กรุงเก่าของเราแต่ก่อน


กระทู้: พระยาโบราณราชธานินทร์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 13 เม.ย. 17, 10:14
รูปประกอบ, พระยาโบราณราชธานินทร์อย่างเท่