เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 12, 15:05



กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 12, 15:05


        ได้อ่านเรื่องนี้เมื่อตอนตลุยอ่านวรรณกรรมของอังกฤษและอเมริกันในวารสารรายสัปดาห์เช่น สตรีสาร

ศรีสัปดาห์   ชาวกรุง  เป็นต้น     นิทานและนวนิยายของ อ. สนิทวงศ์  และสันตสิริก็อยู่ในแวดวงที่มีโอกาสได้อ่าน

จำได้ว่าศรีสัปดาห์มีเรื่องวรรณกรรมอเมริกันแปลไว้แบบแปลเต็ม       ญาติผู้กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยในเวลานั้น

จะยึดหนังสือไปเป็นของส่วนตน   และขีดเส้นใต้ด้วยดินสอไว้เต็มไปหมดเพื่อเทียบกับต้นฉบับภาษาอังกฤษ

เป็นเด็กกว่าเขาก็คอยทุกโอกาสที่ยื้อแย่งหนังสือมาอ่าน

        ไม่กล้ายืนยันว่า  ได้อ่าน ชีวิตนี้เป็นที่รัก  ในหนังสืออะไร    แต่ยังไม่ทันอ่านจบ  ก็ต้องไปเรียนหนังสือที่ไกล

เมื่อเริ่มทำงาน   ได้พยายามหาเรื่องนี้มาอ่าน   หาไม่ได้อยู่หลายสิบปี

       ไม่นานมานี้   สหายทั้งปวงก็วิ่งวุ่นไปเก็บหนังสือคืนจากโกดังต่างๆที่ฝากกันไว้      กล่องกระดาษที่พวกเราใช้กันคือกล่องเบียร์

เพราะน้ำหนักเหมาะสมในการเคลื่อนย้าย   เรียงซ้อนกันไว้สูงก็ไม่มีอันตราย

        สหายน้อยผู้หนึ่งได้ตามตัวดิฉันไปเก็บหนังสือที่เขาไม่ต้องการแล้ว   และหนึ่งในกล่องพลาสติคขนาดใหญ่ที่พวกเราเรียกว่าเกวียน

ก็คือ  "ชีวิตนี้เป็นที่รัก"    ของ  อุไร  สนิทวงศ์   (ในเวลานั้นท่านเขียนแบบนี้ค่ะ)

       เล่มที่อยู่ในมือ  พิมพ์เป็นเล่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗    เป็นของแพร่พิทยา     ราคา ๓๐ บาท


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 12, 15:07


บรรจบ  พันธุเมธา   ให้คำอธิบายทางระเบียบประเพณี  และวัฒนธรรมประกอบ


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 12, 15:24


        ภาษาอันเป็นสำนวนงดงามของ  อ. สนิทวงศ์  ปรากฎในหนังสือมากมาย   คุ้นสายตา


ได้พยายามหาต้นฉบับภาษาอังกฤษมาเทียบเคียงกับบางตอน  เพราะสะดุดใจว่าสั้นและห้วนไปหน่อย   แต่ไม่สามารถ

เพราะเป็นหนังสือที่หายากแล้ว


ผู้ประพันธ์ต้นฉบับนั้นในที่สุดก็ได้ใช้ชีวิตอยู่ในนิคมโรคเรื้อนในอินเดียเป็นเวลานาน

ท่านได้ถ่ายทอดเรื่องโรคเรื้อน   อาการและการพัฒนาการของโรค   และการใช้ชีวิตของคนโรคเรื้อนในอินเดียที่ยิ่งกว่าต้องสาบ

ต้องระเหเร่ร่อนไปกับขบวนโรคเรื้อนด้วยกัน  และขอทานบ้าง  กระทำโจรกรรมเล็กๆน้อยๆเมื่อยังชีพบ้าง

อ่านแล้วก็เข้าใจความกล้าหาญของมนุษย์ที่จะฝ่าฟันอุปสรรคชีวิต  จากเศษมนุษย์ที่ไม่สามารถจะขอน้ำดื่มจากบ่อน้ำสาธารณะในหมู่บ้านได้

รสของวรรณกรรมมี่ไม่ได้อ่านมาตั้งนาน  ยังไม่เปลี่ยนแปลง   ยังสะเทือนใจอยู่  แต่  ชีวิตมนุษย์นี้มีค่าอย่างยิ่ง  และกล้าหาญอย่างยวด

เดี๋ยวกลับมาเล่าค่ะ


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 12, 16:20


        โควินทท์เป็นเจ้าของร้านตัดเสื้อสุภาพบุรุษ    เขารูปร่างเตี้ยล่ำสัน   นิสัยสนุกสนานร่าเริง

อายุประมาณ ๓๕​ ปี     ภรรยาชื่อสุมิตรา  เขามีลูกสาว ๑ คน  ลูกชาย ๑ คน  และภรรยากำลังท้องลูกคนที่ ๓

        เขามีสติปัญญาที่เฉียบแหลมและมีไหวพริบ

        เวลาเพื่อน ๆ ที่สนิทสองสามคนมาที่บ้าน   เขาก็ต้อนรับที่ชานไม้เล็ก ๆ หน้าร้าน    มีน้ำชาชงแก่ ๆ มาให้ตลอดเวลา  

เมื่อร้อนจัดโควินท์ก็ซื้อน้ำอัดลมสีเขียวแช่น้ำแข็งจากโซดาวาลา(โซดาวาลาคือคนขายน้ำอัดลม) มาเลี้ยงดูเพื่อน ๆ

ก่อนฤดูฝน   โควินท์ก็ตัดหามะม่วงฝานทั้งเปลือกเป็นชิ้นยาว ๆ  ไว้ให้แขกดูดกิน          บางครั้งก็ซื้อน้ำอ้อยสด ๆที่เพิ่งหีบมาเลี้ยงเพื่อน ๆ

       ในโอกาสพิเศษโฆวินท์จะรับแขกด้วยหมกยับกับปูน และเครื่องเทศตลอดจนยาฉุน   บางทีก็ห่อด้วยใบพลูสด  เสียบด้วยกานพลูที่มาจากแซนซิบาร์

หมากพลูชนิดนี้เรียกว่า  ปานสุปารี(ปานคือพลู   สุปารี คือ หมาก)


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 12, 16:37


       ในตอนเย็น  โควินท์ไปอาบน้ำแล้วก็มากินอาหาร

เขานั่งขัดสมาธิ  ยือตัวตรง  มือสองข้างวางอยุ่บนตัก     พื้นห้องเล็กๆนั้นใช้มูลวัวละเลง   ฝาผนังฉาบสีขาวสะอาดหมดจด

เครื่องแต่งห้องชิ้นเดียวที่มีอยู่คือหีบเหล็กสีดำเก่า ๆ ใบหนึ่ง


        ภรรยาเข้ามาจัดอาหารโดยวางม้าไม้เล็ก ๆ มีตีนเตี้ยๆไว้ข้างหน้าเขา

หล่อนหยิบถาดทองเหลืองกลมใบใหญ่มวาง   แล้วเอาจอกทองเหลืองมาวางขอบถาด

กลางถาดมีข้าวขาวสะอาดกองไว้เต็ม

หล่อนนำหม้ออื่น ๆ มา   ใช้ทัพพีตักแกงถั่วที่เผ็ดร้อน   ผักต้ม  น้ำมันเนย  ผักชุบแป้งทอด  ผักสด 

จัฏนี(เครื่องปรุงรสใช้พริกบดกับสระแหน่ หรือบางทีกับผักชี)  และมีแป้งปิ้งที่เรียกว่า  จปาตี


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 12, 16:43


        โควินท์กินอาหารโดยใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้กับนิ้วกลาง

เขาใช้มือขวาหยิบอาหารที่มีรสอร่อยอย่างละเล็กน้อย      สุมิตรายังมีแกงนำมาราดข้าวให้อีกด้วย

หล่อนรินน้ำเย็นให้เขา   นำหมากที่เธอที่เธอห่อเองมาให้   และรินน้ำให้เขาล้างมือ

แล้วเธอก็ไปรับประทานอาหารที่ครัว


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: kulapha ที่ 03 ก.พ. 12, 21:59
สวัสดีค่ะ คุณ Wandee

ไม่ได้เข้ามาในบ้านหลังนี้นานมากเลยค่ะ
สบายดีนะคะ
อ่าน เรื่องแปลเรื่องนี้ นึกถึง นิยายของ คุณมกุฎ อรฤดีเรื่อง ปีกแห่งความฝัน
ว่าด้วยสังคมฟุ้งเฟื่องในหมู่ของคนโรคเรื้อนเหมือนกัน

ขอรออ่านจนจบนะคะ


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 12, 06:21


สวัสดีค่ะ  คุณ kulapha    ขอต้อนรับกลับ"เรือนไทย"      เรามีเรื่องที่ให้ความรู้และให้สนุกสนานมากมาย


         ขอบคุณที่แวะมาคุย    เรื่องนี้เป็นเรื่องแปลจะว่าเก่าก็คงจะได้แล้วนะคะ

เสน่ห์ของวรรณกรรมมาในหลายรูปแบบ     คนที่แต่งเรื่องนี้เป็นแพทย์  และบทประพันธ์แทบทั้งหมดเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ

และเรื่องนี้ดูจะเป็นนวนิยายมากกว่าเรื่องอื่น ๆ    จะนำประวัติท่านมาลงไว้ตอนจบนะคะ    

        จะว่าไปแล้วเมืองไทยเราโชคดีนะคะที่ได้อ่านเรื่องแปลมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕     เจ้านายไทยและนักเรียนทุนก็

นำหนังสือดีๆกลับมามาก        ในเรื่องเปิดโลกการอ่านนี้ญี่ปุ่นช้ากว่าเรามาก  เพราะอ่านนิทานและวรรณคดีต่างประเทศกัน

หลังสงครามโลกครั้งที่สองกระมัง    ดูจากการ์ตูนสมัยนั้น

        จะพยายามเล่าเรื่องและย่อความไปเรื่อยๆนะคะ      


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 12, 06:41


        โควินท์มาจากครอบครัวชาวนา    เติบโตในท้องนา   เขาทำการค้าขายอย่างฉลาดรอบคอบ

ชีวิตที่แท้จริงยังพัวพันอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ในชนบท    แม้กระนั้นโควินท์ก็มักจะใช้ความคิดอย่างลึกซึ้งบ่อย ๆ ตามแบบอย่างบรรพบุรุษ

เขารู้สึกว่าความคิดของเขาประกอบด้วยหลักปรัชญา   ซึ่งเขารู้สึกได้ดียิ่งไปกว่าที่จะสรรหาถ้อยคำที่เขารู้เพียงนิด ๆ หน่อย ๆ

มาเรียกให้ตรงตามแบบแผนได้    เขาชอบคิดมากกว่าพูด  และบางครั้งโควินท์ก็มีความหลักแหลมและปรัชญาอันลึกซึ้ง

กว่าพวกนักศึกษาเสียอีก


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 12, 06:59


        วันหนึ่งลูกค้าคนสำคัญแวะเอาเสื้อมาให้แก้เพราะกระดุมระหว่างเม็ดที่หนึ่งและเม็ดที่สองดึงรั้งมีรอยโป่ง

โควินทร์รีบนำเสื้อไปแก้ให้ทันทีเป็นการเอาใจ    พลางเชิญให้ลูกค้าดื่มน้ำชา


        โควินท์นั่งบนพื้น  เอากรรไกรตัดกระดุมออกแล้วเอาเข็มเกลี่ยเส้นด้ายออกจนหมด   เขากะที่ที่จะติดกระดุมใหม่

ให้พอเหมาะแล้วเย็บกระดุมติดเนื้อผ้า     เขารีบแทงเข็มลงบนผ้าหนาอย่างรวดเร็ว   พอจวนจะเสร็จโควินท์ก็เห็นโลหิตสีแดงจุดหนึ่ง

ปรากฎบนเสื้อขาวตัวนั้น   เมื่อพลิกขึ้นดู   โควินท์ก็รู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่งที่เห็นว่าเขาได้เย็บปลายนิ้วติดกับผ้าถึงสองเข็ม

มีโลหิตไหลออกจากนิ้วนั้นแต่เขาไม่รู้สึกเจ็บเลย     โควินท์หน้าซีดเผือดและชั่วครู่หนึ่งเขารู้สึกไม่สบาย

        เขาดึงด้ายที่เย็บติดกับปลายนิ้วออก  หยิบเศษผ้าที่วางอยู่กับพื้นมาพันแผล   เสร็จแล้วก็พับเสื้อนั้นวางไว้ทางหนึ่ง

พยายามสำรวมกิริยาท่าทางและสีหน้าให้เป็นปกติ  และออกไปแจ้งลูกค้าว่าจะส่งเสื้อที่แก้แล้วไปให้ที่บ้านวันรุ่งขึ้น



กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 12, 07:49


        เวลาผ่านไปหลายเดือน     โควิท์ส่งภรรยาและลูกไปอยู่ที่บ่านพ่อแม่เธอในชนบทเพื่อคลอดบุตร   แล้วกลับมาอยู่ที่ร้าน

เพื่อทำงานต่อไป

        เขาคิดเรื่องนิ้วมือที่ชา  และเกรงว่าจุดที่ชานั้นจะขยายกว้างออกไป  และบางทีอาจจะทำให้เขาเป็นอัมพาตได้   เขาเอื้อมมือ

หยิบเข็มหมุดเล่มหนึ่งออกมาจากกระเป๋าเสื้อ   เริ่มเอาปลายเข็มหมุดแทงตามบริเวณผิวหนังที่ชา   เขาค่อยๆแทงเข็มไปทีละเล็กน้อย

และได้พบจุดใหม่ ๆ อีกจุดหนึ่งตรงใต้ท้องแขนด้านซ้าย   และจุดเล็กๆอีก ๒ - ๓ จุด บนมือขวา         เขาตัดสินใจว่าจะไปหาหมอ


        แต่เขาไม่ได้ไป    เมื่อกลับไปถึงร้านก็มัววุ่นอยู่กับงานจนไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องนี้


        ตามปกติช่างตัดผมมาโกนหนวดให้โควินท์วันละครั้ง         วันหนึ่งขณะเมื่อเขาโกนหนวดจวนจะเสร็จ   เขาดึงใบหูข้างซ้าย

ของโควินท์คลำดู  และพิจารณาอย่างใกล้ชิด   เปรียบเทียบดูกับใบหูอีกข้างหนึ่ง      ต่อจากนั้นก็เอานิ้วมือข้างหนึ่ง

ลากไปตามหน้าผากของโควินท์           ช่างตัดผมใบหน้าซีดเผือดและตกอกตกใจ

        "เป็นอะไรไปน่ะ"   โควินท์ถาม   "ไม่สบายไปรึ?"

        ช่างตัดผมคุมสติไว้  แล้วพูดช้า ๆ แบบเคร่งขรึมว่า

       "โควินท์    ผมโกนหนวดให้ท่านมาเกือบ ๑๐ ปี   แต่เพิ่งได้สังเกตเป็นครั้งแรกว่า  ใบหูข้างซ้ายของท่านหนากว่าเคย   

ดูเอาเองซิครับ"    แล้วช่างตัดผมก็ชูกระจกบานเล็กให้โควินท์ส่องดู

      "ดูซิครับ   มีก้อนเนื้อเล็ก ๆ อยู่เหนือคิ้วท่าน   แต่ก่อนไม่เห็นมีเลยครับ"


        โควินท์ยื่นเงินสี่แอนนาให้ช่างตัดผมเป็นค่าโกนหนวด    แต่ช่างตัดผมไม่ยอมรับ    เขารีบฉวยถุงใส่ของแล้วเดินไปที่ประตู

ในดวงตามีน้ำตาคลอ

       "ผมจะไปต่างจังหวัดคืนนี้และมะรืนนี้จะมาโกนหนวดให้ท่านไม่ได้  และคงไม่ได้มาอีกหลายวัน     ขอพระทรงมีเมตตาต่อท่านด้วย"

ชายผู้นั้นเดินไปตามถนนอย่างเร่งร้อน     ขณะที่โควินท์มองดูเขาทราบว่าชายชราพูดปดเรื่องจะไปต่างจังหวัด



กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 04 ก.พ. 12, 09:50
ขออนุญาตปาด ครับ

            มาลงชื่อติดตามอ่านด้วยความสนใจ นึกถึงช่วงเวลาหนึ่งที่เคยได้ใช้ชีวิต
เกี่ยวข้องในแวดวงผู้ป่วยโรคนี้ ยังพอมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ติดค้างอยู่บ้าง ครับ


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: กระต่ายหมายจันทร์ ที่ 04 ก.พ. 12, 11:09
มาลงชื่อรอตามอ่านค่ะอาจารย์วันดี


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 12, 11:56


เชิญคุณศิลา ปาด  และฟาดฟัน ตามปรารถนาเทอญ  เพราะอ่านเรื่องนี้แล้วตั้งหลายสิบปีนึกว่านวนิยายค่ะ

ไม่นึกเลยว่าแพทย์เขียนเพื่อประกาศว่าโรคร้ายแรงในเมืองร้อนนั้น  มีการพัฒนาอย่างไร  และรักษาอย่างไร

หวลคิดถึงมิชชันนารีต่างๆที่เข้ามารักษาผู้คนในสยามบ้านเรา  นึกสรรเสริญใจรอน ๆ อยู่เสมอค่ะ

นึกถึงจิตใจของโควินท์ที่เผชิญกับโรคร้ายที่สังคมรังเกียจ  ธุระกิจที่พังทลาย   ลูกน้องที่ค่อย ๆ หายหน้าไป



สวัสดีค่ะคุณกระต่ายหมายจันทร์

ขอบคุณที่กรุณาติดตาม   และแวะมาแจ้งด้วย     สมัยก่อนอ่านนวนิยายแล้วก็ฮือฮาในใจว่าเรื่องราวช่างประหลาดมหัศจรรย์

อะไรอย่างนั้น   เห็นโลกน้อยไปค่ะ    ดูแผนผังสกุลดังๆก็ผ่านตาไปว่ามีเมียมีลูกกี่คน   ไม่ได้คำนึงว่าแต่ละคนก็มีบิดามารดา

มีชีวิตในประวัติศาสตร์    รับรองว่ากระทู้นี้ยืดแน่นอนค่ะ  แบบบรรจงลอกเรื่องที่บีบคั้นหัวใจอย่างแรง   


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 12, 12:41


        วันหนึ่งโควินท์นั่งพูดอยู่กับลูกจ้างในร้าน   เขาก็ได้กลิ่นเนื้อไหม้   พอเหลียวไปดูเขารู้สึกตกใจอย่างยิ่ง

เพราะเท้าซ้ายที่พาดไปถูกเตารีดใหญ่ที่มีถ่านแดง ๆ ลุกเต็ม  นิ้วเท้ากำลังไหม้ไฟ   แต่เขาหารู้สึกเจ็บไม่

โควินท์ชักเท้ากลับมาพิจารณาดู   เท้าของเขาถูกไฟไหม้อย่างฉกรรจ์   

        โควินท์ไปหาหมอทำแผล   หมอแนะนำให้เขาไปตรวจโรค   เมื่อใบตรวจโรคกลับมาถึง เสมียนที่ร้านก็แสดงอาการดูถูก

อย่างมาก  โดยกวาดเงินเหรียญเอาไว้บนกระดาษแผ่นหนึ่ง  และรวบกระดาษยัดใส่ลิ้นชักโดยมิได้แตะต้องเงินเหรียญ

พอโควินท์ยื่นใบตรวจโรคให้    เสมียนก็ส่งเสียงร้องราวกับถูกจี้ด้วยมีด

     "เอาไปเสีย   เขยิบออกไปห่าง ๆ    อย่ามาใกล้นะ    คิดหรือว่าชั้นจะแตะต้องอะไรที่แกจับแล้ว"

      เขาพูดอย่างเกรี้ยวกราดว่า

      "ถ้าอยากรู้จะบอกให้สิ้นเรื่องสิ้นราวเสียที   ใบตรวจโรคนั้นบอกว่าแกเป็นโรคเรื้อน   โรคนี้กระจายไปทั่วตั้งแต่ศีรษะ

จนถึงปลายเท้า  และติดต่ออย่างร้ายแรง   โรคเรื้อน...   แกเข้าใจไหม? ..... มหาโรค   โรคที่น่ารังเกียจ   คราวนี้รู้ละซี

แกเป็นโรคเรื้อนดีๆนี่เอง.....เป็นเหมือนขยะที่บูดเน่า  ฉันควรจะโยนเงินให้สักแอนนาจะได้รู้แล้วรู้รอดๆไป    เสียดายที่ไม่มีเงิน"

โควินท์ตกใจจนตัวชา   เขาไม่สามารถจะเคลื่อนไหว  พูด  หรือคิดอะไรได้


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 12, 12:51


        เมื่อตอนที่ช่างตัดผมรีบรุดออกจากร้านไป   โควิน์รู้สึกหวาดกลัวและหนาวสะท้าน   เขาแทบจะไม่เคยใช้กระจกเงาเลย

คราวนี้เขาหยิบกระจกบานหนึ่งมาจากข้างฝา  แล้วพิจารณาดูดวงหน้าของตนเองอย่างใกล้ชิด     ดวงหน้าของเขา

กลับซีดเผือดร่วงโรยไปในทันใด           มีอะไรในดวงหน้านั้นที่ผิดหูผิดตาไป        ผิวเนื้อสีคล้ำของโควินท์ซีดเผือด 

แต่ใบหูข้างซ้ายมีสีม่วงอ่อนๆ คล้ายรอยช้ำ   ชั่วครู่หนึ่งความคิดผ่านเข้ามาในสมองของโควินท์ว่า   เขาได้เคยเห็นอะไร

บางอย่างที่เหมือนกับสิ่งนี้มาก่อน    โควินท์จึงคิดจะไปหาหมอ 


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: กระต่ายหมายจันทร์ ที่ 04 ก.พ. 12, 13:10

สวัสดีค่ะคุณกระต่ายหมายจันทร์

ขอบคุณที่กรุณาติดตาม   และแวะมาแจ้งด้วย     สมัยก่อนอ่านนวนิยายแล้วก็ฮือฮาในใจว่าเรื่องราวช่างประหลาดมหัศจรรย์

อะไรอย่างนั้น   เห็นโลกน้อยไปค่ะ    ดูแผนผังสกุลดังๆก็ผ่านตาไปว่ามีเมียมีลูกกี่คน   ไม่ได้คำนึงว่าแต่ละคนก็มีบิดามารดา

มีชีวิตในประวัติศาสตร์    รับรองว่ากระทู้นี้ยืดแน่นอนค่ะ  แบบบรรจงลอกเรื่องที่บีบคั้นหัวใจอย่างแรง   


สวัสดีค่ะอาจารย์วันดี ... ตอนเข้ามาอ่านแล้วรู้ว่าเป็นเรื่องผู้ป่วยโรคเรื้อนก็สนใจอยากอ่านต่อค่ะ ประกอบกับภาษาแปลที่สละสลวยยิ่งรู้สึกเหมือนได้เรียนรู้สองต่อ

แว่บแรกที่เห็นกระทู้นี้ ทำให้นึกถึงเรื่องราวตอนที่เป็นเด็กมากๆ ที่เชียงใหม่ ค่ะ นั่งรถไปกับคุณแม่ คุณแม่ชี้ให้ดูว่า "ลูกรู้ไหมว่าไกลๆ ตรงนู้นอะไร หมอแมคเคนเคยใช้ที่นั่นเป็นที่รักษาคนป่วยโรคเรื้อนนะลูก แม่เคยไปฝึกงานตอนที่แม่เป็นนักศึกษา คนป่วยโรคเรื้อนน่าสงสารมากนะลูกเพราะโรคทำให้พิการและสังคมก็รังเกียจ แม้จะรักษาหายแล้วก็ยังมีร่องรอยจากความพิการอยู่ รักษาหายแล้วแต่จิตใจก็ยังแย่อยู่ แม่ยังชื่นชมความทุ่มเทของหมอ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่นั่นจนถึงตอนนี้เลยลูก" ... ความทรงจำนี้มันแว่บเข้ามาในสมองตอนที่เปิดมาอ่านเรื่องนี้ค่ะ แม้ว่าจะผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: babyblue ที่ 04 ก.พ. 12, 13:15
เข้ามานั่งมุมหน้าต่างตั้งใจอ่านค่ะ เกิดไม่ทันได้เจอคนโรคเรื้อน แต่จากที่อ่านติดง่ายและผู้ป่วยไม่รู้เลย น่าสงสารจัง :'(


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 12, 13:32

         รูปร่างของโควินท์เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแปลกประหลาด   น้ำหนักตัวลดลงอย่างเร็ว   ผิวที่มือสากและตกสะเก็ด

ดวงหน้าของโควินท์ไม่แช่มชื่นและอิ่มเอิบอย่างแต่ก่อนเสียแล้ว   ผิวหน้าก็หยาบกระด้างและเป็นรอยย่นน่าเกลียด

มีปุ่มโตๆที่หน้าผากเท่านั้นที่มีสีน้ำตาลปนแดง     ผิงเนื้อที่บวมเป่งขึ้นนั้นทำให้สีหน้าของโควินท์บูดบึ้งและดูคล้ายสิงโต


        ลูกค้าใหม่คนหนึ่งเข้ามาในร้านและบอกว่าเขาต้องการจะตัดกางเกงใหม่สักตัวหนึ่ง        โควินท์หยิบผ้าตัวอย่างมาให้ดู

ทันใดนั้นลูกค้าก็เงยหน้าขึ้นจากมือของโควินท์และจ้องหน้าเขาอย่างพินิจพิจารณา   สีหน้าของชายผู้นั้นแสดงความหวาดกลัว

อย่างเห็นได้ชัด   เขาอ้าปากค้าง   ร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังเหมือนคนที่เหยียบเท้าลงบนงูพิษ      แล้ววิ่งออกจากร้านไปในทันที


        เวลานี้  ที่ชานไม้หน้าร้านซึ่งเคยมีพวกเพื่อน ๆ มานั่งานทนากันกลับว่างเปล่า        เสียงจักรเย็บผ้าในร้านดังน้อยลงทุกที  

จนในที่สุดก็เงียบหายไป       จะได้ยินเสียงฝีจักรบ้างบางครั้ง  เมื่อโควินท์นั่งอยู่คนเดียวในห้องที่มืดสลัว  พยายามจะเย็บเสื้อที่พวก

ลูกจ้างเย็บค้างไว้ให้เสร็จ  เพราะพวกเหล่านั้นพากันหลบหน้าไปทีละคน

        โควินท์สั่งอาหารมาจากโฮเต็ล   พอคนส่งอาหารมาโควินท์ก็หันหน้าหนีแล้วบอกให้วางถาดอาหารไว้ที่ชานหน้าร้านแล้วหยิบเงินไป

อยู่มาวันหนึ่ง   ชายนั้นก็ไม่มาอีก

        พวกขอทานก็พากันเดินผ่านไม่ได้หยุดที่หน้าร้านไม่มีผู้คนของเขาอีก    ราวกับจะรู้โดยสัญชาตญาณว่า  แต่นี้ไปเขาจะไม่ได้รับทานจากที่นั่นอีกแล้ว

        เจ้าของห้องเช่าก็มาขอร้องให้โควิท์คืนห้องเสียเพราะผู้เช่าคนอื่นๆกำลังจะย้ายออก

        โควินท์กำลังจะจมลงสู่ก้นเหวแล้ว          

        เตารีดอันใหญ่ที่มีรอยโลหิตไหม้ติดอยู่ก็ยังวางอยู่   ไม่มีใครแตะต้องนับแต่วันเกิดเหตุ

        โควินท์กลับไปหาชายชราเพื่อนเก่าของเขา  ผู้เปรียบเป็นที่พำนักครั้งสุดท้ายอันเต็มไปด้วยความสงบและผาสุข      ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

โควินท์รู้สึกว่าเขาจำต้องได้ความอบอุ่นและความเห็นอกเห็นใจจากเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง  แม้ว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 12, 14:20

สวัสดีค่ะ  คุณ babyblue   ชื่อน่ารักเหลือเกิน

        ธรรมเนียมประเพณีของฮินดูก็น่าอ่านมากค่ะ    ดูเรียบง่ายและสงบ

โควิท์อาบน้ำในที่แจ้งหลังบ้าน  และมีมู่ลี่ไม้ไผ่กั้นอย่างมิดชิด   พื้นหินที่แตกเป็นรอยมีไม้กระดานเล็กๆสำหรับวางเท้า

พวกฮินดูที่เคร่งจะถือการอาบน้ำชำระกายให้สะอาดหมดจด  และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่เป็นสิ่งสำคัญ   เวลายิ่งผ่านพ้นไปหลาย ๆ ปีเข้า

การปฎิบัติเช่นนี้ก็กลับกลายเป็นความเคยชินที่ทำไปเองโดยไม่ต้องคิดหรือตั้งใจ

        ต่อจากนี้ไปโควิท์จะออกไปผจญโลกกว้าง  และฝ่าชีวิตไปแบบไม่ยอมแพ้ค่ะ


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 12, 14:37


คุณกระต่ายหมายจันทร์คะ

        ความทรงจำที่คุณแม่ขยายโลกทัศน์ทันสมัยให้กับลูกเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม

เพราะลูกจะก้าวข้ามอะไรต่อมิอะไรได้หลายอย่าง   คุณกระต่ายหมายจันทร์เป็นบุคคลที่โชคดี

อย่างยิ่ง   เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันด้วยเมตตาคุณจากบุพการี


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 12, 15:17


        ในระหว่างที่โควินท์อาศัยอยู่กับเพื่อนชราของเขาที่กำลังจะตาย     สุมิตราพาลูกชายที่เกิดใหม่

มาให้โควินท์ดู       โควินท์บอกให้ภรรยากลับไปและเลี้ยงดูลูกให้ดี

สุมิตราเตรียมจะมาอยู่กับโควินท์และให้บิดาของเธอผู้เป็นครูดูหลานๆ ไป

       
        โควินท์ถอยหนีเมื่อสุมิตรก้าวเท้าเข้ามา   เขาใช้ความพยายามต่อสู้กับความรู้สึกปวดร้าวในจิตใจ  เขาไม่สามารถ

รับสิ่งที่สุมิตรามอบให้ได้   แล้วเขาก็พูดขึ้น   เสียงของเขาดูแปลกประหลาด และดังแว่ว อยู่ห่างไกล

        "กลับไปเถิดสุมิตรา  กลับไปหาลูกของเรา   ฉันมีความปรารถนาเช่นนั้น   ขอให้เธอปฎิบัติตาม

แต่ฉันสัญญาว่าวันหนึ่งจะกลับมาหาเธอ   อาจจะอีกนานแต่เธอต้องอดทน   แต่ฉันจะกลับมาอีก    ขอให้เธอจำไว้นะ ชื่นใจ"



        เพื่อนผู้ชราก็ตายลง  หลานของผู้ตายพยายามจะเข้ามาจัดการศพ  และไล่โควินท์ไป      โควินท์โกรธจนลืมตัว   

ความรู้สึกต่าง ๆ ที่ซ่อนเร้นในใจในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา    ความทุกข์ทรมาน  และการดูถูกเหยียดหยามซึ่งเขาได้รับ   

ทำให้เขาบังเกิดโทสะอย่างแรงกล้าจนมิสามารถระงับไว้ได้

       "เจ้ารู้ว่าใครอยู่ข้างในนั้น   รามกฤษณะช่างเขียนป้ายที่ใจดีราวกับพระ         เดี๋ยวนี้เขาตายเสียแล้ว

ข้าเป็นลูกชายของเขา      เขาได้รับข้าเป็นลูกบุญธรรมและรักข้ามากมายทั้ง ๆ ที่ข้าเป็นโรคเรื้อน   เพราะเขาเป็นคนดีเหมือนพระ

ข้าจะเป็นผู้วางศพของเขาไว้บนเชิงตะกอน   และข้านี่จะเป็นผู้ทำลายความศักดิ์สิทิ์ของที่เผาศพของเจ้า    เจ้าหน้าโง่

ใครจะห้ามข้า_

      รามกฤษณะผู้บริสุทธิ์เป็นของข้า     ลองเข้ามาเอาศพของเขาไปซิ    ข้าจะตีเจ้าให้บอบช้ำ   แล้วเจ้าจะกลับกลายเป็นโรคเรื้อน

เนื้อตัวเน่าเปื่อยต้องเที่ยวขอทานเขากินตลอดชีวิต   เจ้าจะต้องนั่งถือกะลาขอทานอยู่ที่ขั้นบันไดวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้า"   

แล้วโควินท์ก็หัวเราะอย่างบ้าคลั่งอีก"
-----------------------------


คำอธิบายจาก บรรจบ  พันธุเมธา
        สถานที่สำหรับเผาศพของชนฮินดู  ส่วนมากนิยมทำไว้ตามริมแม่น้ำ  เพื่อความสะดวกนานาประการ 
ฉะนั้นเขาจึงเรียกว่า ท่าน้ำสำหรับเผาศพ (burning ghat     ฆาต  คือ  ท่าน้ำ)


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 12, 15:37


        หัวหน้าเผ่าชิมปี  ซึ่งเป็นเผ่าของช่างตัดเสื้อท้องถิ่นได้ทักทายโควินท์อย่างสุภาพ

และแจ้งว่าในฐานะที่จันทุเป็นหลานชาย  เขามีสิทธิ์ที่จะจัดการศพชองลุง   เพราะเป็นกฎหมายประเพณี

"แต่บัดนี้ท่านต้องระงับใจไว้  แล้วปล่อยให้ญาติจัดงานศพ       เราต้องวางตัวให้เหมาะสมกับพวกที่อยู่ในวรรณะของเรา

และไม่ทุ่มเถียงเอะอะต่อหน้าผู้ตาย"


        โควินท์กลับเข้าไปในร้านเพื่อกราบลาศพ   เขาพนมมือและเอามือแตะฝุ่นละอองที่ข้างเสื่อ        ขณะที่ลุกขึ้นเขา

รู้สึกสมองโปร่งและระงับสติอารมณ์ได้

       
        เขาเดินไปที่ประตูช้า ๆ ด้วยท่าทางสง่าน่าเกรงขาม        พอเขาก้าวออกไปที่ถนน  ฝูงชนก็หลีกทางให้พลางน้อมศีรษะและนิ่งเงียบ

โควินท์เดินต้อไปด้วยท่าทางที่สง่างามดุจมหาราชผู้ประดับเครื่องทรงงดงามประทับอยู่เหนือคชาธารอันตกแต่งด้วยอาภรณ์งามวิจิตร

ดำเนินเยื้องย่างไปในแนวถนน           



กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 ก.พ. 12, 07:00


        ความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนา  ไม่มีความหมายอะไรสำหรับโควินท์     จิตวิญญาณของเขาเต็มไปด้วยความเกลียดชัง   

เกลียดชังมนุษย์และเกลียดพระ

        ความโอบอ้อมอารีที่เขาได้แสดงต่อเพื่อนมนุษย์เมื่อครั้งเขายังดีดีอยู่   ก็หาทำให้เกิดประโยชน์อันใดไม่   ชีวิตได้หลอกลวงเขา

และบัดนี้คนทั้งโลกกำลังเยาะเย้ยเขาในยามที่ต้องประสบความพินาศอย่างใหญ่หลวง

        แม้กระนั้นโควินท์ก็มิได้เศร้าโศก   ความโกรธแค้นได้ทำให้เขามีกำลังใจยิ่งขึ้น    ทำให้เขากัดฟันด้วยความมานะอดทน

บัดนี้เขาต้องการต่อสู้อย่างแท้จริง     เป็นครั้งแรกที่โควินท์อยากจะต่อสู้กับความทุกข์ทรมานในชีวิต    จะเป็นชีวิตชนิดใดก็ได้



กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 ก.พ. 12, 07:18


        โควินท์ไม่สามารถจะซื้ออาหารกินและน้ำชาเพื่อดื่มได้เพราะไม่เป็นที่ต้อนรับ     เขาต้องแอบเข้าไปหาน้ำดื่มที่

ลานของบ้านเช่าแห่งหนึ่ง   และพยายามหลบหลีกสายตาของพวกผู้หญิงที่กำลังซักผ้าอยู่

        เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของบาปูชายง่อย  เพราะไม่สามารถจะดำรงชีพอยู่คนเดียวได้    เขาป่วยเกินที่จะไปติดต่อกับคนอื่น ๆ

แต่ไม่ป่วยมากที่จะเป็นขอทานที่หาเงินได้ดี      บาปูเสนอให้โควินท์มาแบกเขาไปไหนมาไหนเพราะยังแข็งแรงและล่ำสัน

คนโรคเรื้อนกลุ่มนี้เป็นคนวรรณะต่ำ   ดวงหน้าคล้ำและหยาบกร้าน   กินเนื้อสัตว์     โควินท์ได้เรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

โควินท์ทราบว่าสัตว์ทั้งหลายที่พระเจ้าได้สร้างขึ้นย่อมจะดำรงชีวิตอยู่อย่างต่ำช้าที่สุดดีกว่าจะตายเสีย    และมนุษย์ก็เช่นกัน


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 ก.พ. 12, 08:53

        คณะของบาปูสัญจรไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อขอทานตามเทศกาล    เมื่อฤดูฝนมาถึงคนโรคเรื้อนก็ลำบากเพราะโรคกำเริบ

เวลาที่โควินท์จับไข้  ปุ่มโปบนผิวหนังเปิดอ้าทำให้เกิดแผลลุกลามไม่รู้จักหาย   เขาต้องการที่กำบังให้พ้นจากฝนและพายุ

เพราะขอทานไม่ค่อยได้     ขณะที่คนทั้งโลกมีอาหารบริบูรณ์และมีความสุข   พวกโรคเรื้อนกลับต้องอดหยากและได้รับ

ความเวทนาอย่างแสนสาหัส

        บาปูส่งโควินท์และเปรมะลาหญิงที่กำลังตาบอดไปที่โรงพยาบาลใหญ่ของมิชชัานนารีที่เมืองพีชบัด   และแวะกลับมารับเมื่อหมดหน้าฝน

แต่เปรมะลาไม่อยากออกจากโรงพยาบาล


        โควินท์ร่อนเร่ต่อไปและได้ใช้ชีวิตร่วมกับสีดาลูกสาวของคนโรคเรื้อนแต่ไม่ติดโรค     เมื่อสีดาท้องแก่เธอได้ทิ้งโควินท์และกลับไปที่โรงพยาบาลของมิชชั่นนารี

เพื่อคลอดลูก          

        ต่อมาโควินท์ได้เดินทางลงไปทางใต้และพบนิคมคนโรคเรื้อน           เขาเรียนรู้วิธีที่จะเป็นสมาชิกของสังคมและทำหน้าที่ของเขา       ในที่สุดโควินท์ก็หายขาด

และพ่อตาของเขามารับเขากลับไปเพื่อใช้ชีวิตใหม่กับครอบครัว

        การนำเรื่องแปล  ชีวิตนี้เป็นที่รัก  ของ อุไร  สนิทวงศ์(ท่านใช้ชื่อนี้ก่อนย่อลงเป็น อ. สนิทวงศ์) มาเล่าโดยย่อ  ก็เพียงจะแนะนำว่า  ถ้าเห็นเรื่องนี้แล้วได้อ่าน

เพื่อน ๆ คงจะชอบมาก


คนแต่งคือ  A.T.W.  Simeons     ชื่อภาษาอังกฤษคือ  The Mask of A Lion  



กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 09:00
ขออนุญาตเพิ่มเติม

คำวิจารณ์ในหนังสือ TIME

THE MASK OF A LION (305 pp.)—A. T.W. Simeons—Knopf ($3.50).

Life was good for Govind, the little Hindu tailor. His shop, "The Handsome Gent's Tailoring Mart," buzzed with the profitable whir of a double row of sewing machines. His workmen were fond of him. He had a lovely, loving wife, two healthy babies and a third on the way. Good Hindu that he was, he tried to be a good man, gave alms to fakirs and lepers, never ate meat, and hoped for his soul's betterment in a new reincarnation.

Then one day, working on a customer's coat, Govind was horrified to discover that he had sewed his fingertip to the cloth and didn't even feel it. Another day he smelled burning flesh, saw his own toes pressed against a flatiron, yet felt no pain. When the doctors cleared up the mystery, Govind had to swap his tradesman's heaven-on-earth for what he was sure would be leper's hell.

In The Mask of a Lion, Author A. T. W. Simeons shows that the life of a leper is not always as hellish as Govind had supposed. Simeons is a London-born, Heidelberg-trained doctor who spent about 20 years in India. Now a consultant at Rome's International Hospital, he has written a novel that makes amateurish fiction but has the fascination of its grisly material. If the book is read simply as a knowing, colorful report on the lepers' way of life, its inadequacies as a novel can be comfortably ignored.

Govind, of course, became a social outcast. Like most lepers in India he joined a traveling gang of his fellows, moved about the country begging and stealing. After the first shock wore off, he began to like the life. At times his band all but starved, but there were other times when the begging was good and the lepers had tremendous feasts. Author Simeon is at his best describing this weird life in which sudden death, plague and all sorts of violence are regarded as quite normal. He knows his leprosariums, too, and can make it clear why even intelligent lepers often prefer beggars' freedom to the routine of hospitals. Govind finally reaches an asylum where lepers live as a community, raising all they need and living normal lives. He is cured and returns to his family. But what matters in The Mask of a Lion is not the happy ending; it is the sympathy and shrewdness with which Author Simeons introduces his unusual characters.

http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,817417,00.html (http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,817417,00.html)

 ;D


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 13:54
โควินท์......นักสู้ชีวิต

จากหนังสือ ภาพชีวิตจากนวนิยาย ของ คุณรัญจวน อินทรกำแหง  พ.ศ. ๒๕๐๘

ชีวิตที่ราบรื่น.....จืดชืด.....ไร้ความหมาย

ชีวิตที่ขรุขระ.....จึงจะมีรสชาติ

.....ให้จดจำ......

"ชีวิตคือการต่อสู้" เป็นคำพูดที่ติดปากกันนานนักหนาแล้ว ทำไมจึงต้องต่อสู้และต่อสู้เพื่ออะไร คำตอบของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะชีวิตที่เผชิญอยู่ทุกวันของทุกคนนั้น แตกต่างกันไปตามเหตุการณ์สิ่งแวดล้อม บางคนต่อสู้กับความยากจนคับแค้น บางคนต่อสู้กับความมั่งมีเกินไป บางคนต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ  บางคนต่อสู้กับความโลภหลง  บางคนต่อสู้กับความอยุติธรรม บางคนต่อสู้กับความอ่อนแอของตนเอง อย่างไรก็ตาม จุดหมายปลายทางแห่งการต่อสู้นั้นก็คือ เพื่อความมีชีวิตอยู่นั่นเอง เพราะธรรมชาติของมนุษย์ย่อมถือว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งมีค่าอันควรรักษาหวงแหน ชีวิตนี้เป็นที่รักอันควรแก่การทะนุถนอมเป็นที่สุดกว่าสิ่งอื่นใด ฉะนั้น ทุกคนจึงต้องดิ้นรน กระเสือกกระสน เพื่อต่อสู้ให้ชีวิตอันเป็นที่รักคงอยู่ และอยู่อย่างมีค่าอันควรภูมิใจด้วย

......และบางคนต่อสู้แล้วก็สามารถรักษาชีวิตนั้นไว้ให้เป็นที่รักแก่ตนเอง และยังเป็นที่รักประทับใจแก่คนอื่นอีกด้วย......แต่บางคนต่อสู้อย่างตรงกันข้าม คือชีวิตอาจยังอยู่ แต่อยู่อย่างเป็นที่ขยะแขยงเกลียดกลัวของคนรอบข้าง บางคนต่อสู้ด้วยทั้งกำลังกาย กำลังใจของตนอย่างสุดชีวิตจิตใจเท่าที่มีอยู่ เรียกร้องความรักและความเห็นใจจากคนทั่วไป ฉะนั้น "ภาพชีวิตจากนวนิยาย" ในตอนนี้ จึงใคร่ยกภาพของ "โควินท์ นักสู้ชีวิต" มาเล่าให้ฟัง


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 14:00
"โควินท์ นักสู้ชีวิต" ผู้ทรหดคนนี้ ท่านจะพบกับเขาได้ในเรื่อง "ชีวิตนี้เป็นที่รัก" ซึ่ง อ. สนิทวงศ์ แปลและเรียบเรียงจากเรื่อง "The Mask of a Lion" ของ A.T.W. Simeons เป็นเรื่องที่บรรยายถึงฉากชึวิตอันน่าตื่นเต้นของ "โควินท์ นักสู้" ที่เลือกเอาการต่อสู้กับชีวิตแทนที่จะต่อสู้กับสิ่งมีตัวตนอย่างอื่น เพราะโควินท์เป็นชาวอินเดีย ฉะนั้นโควินท์จึงชวนให้เรารู้จักกับขนบประเพณีและวัฒนธรรมอันน่าทึ่งของประเทศอินเดียไปด้วยพร้อม ๆ กัน

ชีวิตของ "โควินท์" ชายหนุ่มผู้เป็นเจ้าของนิยายเรื่องนี้ดุจภาพสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ของชีวิต สมดังพุทธดำรัสที่กล่าวว่า "อนิจจังไม่เที่ยง" ในวัยหนุ่มแน่นแข็งแรงที่เรียกว่าชีวิตกำลังเริ่มต้นนั้น โควินท์ได้เป็นเจ้าของร้านตัดเสื้อ "โควินท์ชี" อันมีชื่อเสียงหอมกรุ่น ได้เป็นเจ้าของครอบครัวอันอบอุ่นอยู่ด้วยความรักอันชื่นบานระหว่าง พ่อ-แม่-ลูก รวมความว่า โควินท์ถึงพร้อมแล้วด้วยความสำเร็จในการงาน ความมั่งคั่ง เกียรติยศชื่อเสียง และความสุข

ครั้นแล้ววันหนึ่ง โดยที่มิได้มีสัญญาณอันใดบอกกล่าวให้รู้ล่วงหน้า โลกแห่งความสุขของโควินท์ก็พลันพังทลายลง โควินท์จำต้องจากลูกชายหญิงผู้กำลังน่ารักช่างเล่นเจรจา ต้องจำพรากจากสุมิตราภรรยายอดรักผู้แสนดี ต้องละทิ้งร้าน "โควินท์ชี" อันเป็นบ่อเงินบ่อทองของเขา โควินท์จำใจจากทุกสิ่งอันเป็นที่รักด้วยความอาดูร แล้วตัวเขาเองก็พเนจรซุกซอนซ่อนหน้าไป เพราะบัดนี้โควินท์ผู้เคยภาคภูมิได้กลับกลายเป็นโควินท์ผู้น่ารังเกียจขยะแขยง เป็นบุคคลที่เพื่อนฝูงหนีหน่ายมิยอมใกล้กราย เป็นบุคคลที่สังคมรังเกียจมิพึงปรารถนา เพราะเหตุใดหรือ ?  ก็เพราะเหตุที่โควินท์ได้ตกเป็นทาสของโรคร้ายอันน่าสพึงกลัว ซึ่งมีชื่อว่า "โรคเรื้อน !"


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 14:32
ในยามที่โควินท์รู้สึกว่ากำลังใจจะสิ้นหวังนี้เอง โควินท์ได้พบว่าความเข้าใจ ความเห็นใจ และความปลอบประโลมใจจากมิตรแท้นั้นเป็นยากำลังใจขนานเอก มิตรแท้ในยามยากของโควินท์คือ "รามกฤษณะ" ช่างเขียนป้ายผู้เฒ่า ผู้เป็นเพื่อนเสมือนพ่อของโควินท์ ทุกข์ของโควินท์คือทุกข์ของรามกฤษณะ โรคร้ายอันน่าเกลียดกลัวของโควินท์มิใช่สิ่งอันน่าพึงรังเกียจสำหรับรามกฤษณะ ช่างเขียนป้ายผู้เฒ่าได้ให้ทั้งความรักความเมตตาและความใกล้ชิดสนิทสนมต่อโควินท์ตราบจนมัจจุราชผู้มิปรานีใครได้มาพรากรามกฤษณะไปเสียจากโควินท์

มิตรแท้อีกผู้หนึ่ง ซึ่งมีความหมายอันยิ่งใหญ่ต่อโควินท์ในยามยากนี้คือ ชายชราโรคเรื้อนอันมีนามว่า "บาปู" แม้ว่าบาปูเองจะได้ถูกโรคร้ายระรานเสียจนต้องสูญสิ้นทั้งมือและเท้า แต่บาปูยังคงถือว่าชีวิตนี้ย่อมเป็นที่รักอยู่เสมอ ด้วยกำลังใจและคำแนะนำจากบาปูมิตรผู้มีความจัดเจนต่อการดำเนินชีวิตอันถูกครอบคลุมด้วยโรคร้ายนี้เอง ช่วยให้โควินท์มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ก็ไม่ร้ายนัก และมีความพีงพอใจในชีวิตระหกระเหินอันระคนด้วยสุขและทุกข์ที่พอทน


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 14:53
แต่แล้ว โควินท์ก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ในท่ามกลางความทุกข์อีก นั่นคือการสูญเสียบาปูมิตรในยามยาก แต่เพราะชีวิตย่อมเป็นที่รัก และโควินท์เป็นนักสู้ชีวิตที่ทรหด ฉะนั้นโควินท์จึงมิได้ยอมปล่อยตนให้ตกอยู่ในกองทุกข์ที่สิ้นหวัง โควินท์เชื่อว่าตราบใดที่ชีวิตยังไม่สิ้น แสงแห่งความหวังย่อมจะยังไม่ดับ ดังนี้เมื่อโควินท์ซัดเซไปถึงนิคมโรคเรื้อนของหมอโคทโบเล โควินท์จึงยอมตนอยู่ในนิคมนี้ด้วยความเต็มใจ หมอโคทโบเลผู้นี้หาได้เป็นแต่เฉพาะนายแพทย์ที่สามารถในการบำบัดโรคร้ายเท่านั้นไม่ หากยังสามารถเข้าใจซาบซึ้งถึงความต้องการและจิตใจของคนไข้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ก็เพราะครั้งหนึ่งหมอได้ประสบกับมรสุมของโรคร้ายนี้มาด้วยตนเองแล้ว จึงในนิคมคนไข้แห่งนี้มิได้ให้เฉพาะการบำบัดทางกายแต่อย่างเดียว หากยังให้การักษาทางใจอีกด้วย นั่นคือการสร้างสรรค์นิคมนี้ให้มีบรรยากาศอันอบอุ่นประหนึ่งบ้าน ในนิคมแห่งนี้ไม่มีดวงหน้าอันครองแต่ทุกข์ระทมเพราะโรคร้ายและความกดดันทางจิตใจ หากมีแต่ดวงหน้าแจ่มในด้วยความสุขอันเกิดแต่ความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ความอบอุ่นปลอดภัย และเหนือสิ่งอื่นในนั่นคือ ความหวัง !

โควินท์ได้บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อนิคมที่ตนเข้าไปอยู่ด้วยการรับเป็นช่างดัดเสื้อประจำนิคม ซึ่งโควินท์ทำงานนี้ด้วยความพีงพอใจและเพลิดเพลิน ครั้นแล้ววันหนึ่งโดยไม่คาดฝัน หมอโคทโบเลแจ้งให้โควินท์ทราบว่า จะขอทดลองยาขนานใหม่ที่พีงค้นพบกับโควินท์ ราวกับปาฏิหารย์ ! !  หลังจากที่โควินท์ได้รับการรักษาด้วยยาขนานใหม่แล้วไม่นานนัก ผิวพรรณหน้าตาของเขาก็กลับผ่องใสเกลี้ยงเกลา น้ำเสียงก็แจ่มในนุ่มนวลขึ้น และเมื่อหมอโคทโบเลออกปมากอนุญาตให้เขากลับบ้านได้นั้น โควินท์แทบจะไม่เชื่อว่าสิ่งที่เขาเคยคิดฝันมานานหนักหนาแล้วนั้นจะกลับกลายเป็นจริงขึ้นได้ ! ! แต่มันก็ได้เป็นจริงขึ้นแล้ว ในที่สุด.......เขาก็มีโอกาสที่จะกลับออกไปตั้งต้นชีวิตใหม่อันอบอุ่นด้วยความรักระหว่างพ่อ-แม่-ลูก กับสุมิตรา ภรรยาผู้จงรักภักดี ผู้เฝ้ารอคอยเขาอย่างซื่อสัตย์อีกครั้ง


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.พ. 12, 15:03
ฉากชีวิตตอนหนึ่งของโควินท์ได้จบลงแล้วอย่างน่าภาคภูมิใจ หากเราจะเปรียบชีวิตมนุษย์เหมือนเกลียวเชือก เชือกชีวิตของโควินท์ก็ได้ถูกมือมารร้ายมาแอบบั่นเสียจนเกือบจะขาดมิขาดแหล่อยู่หลายครั้งหลายครา แต่เพราะกำลังใจอันเข้มแข็งมิย่อท้อในการต่อสู้ โควินท์จึงสามารถฟั่นเกลียวเชือกชีวิตของตนให้แน่นหนาดังเดิมได้ ขณะที่กำลังติดตามเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นเร้าใจในชีวิตของโควินท์นี้ เชื่อว่าคงจะไม่มีผู้ใดที่จะเว้นเสียได้ซึ่งอารมณ์ร่วมกับโควินท์ในทุกข์ระทมแสนสาหัสและความภาคภูมิใจในชัยชนะในบั้นปลายนั้น

ในที่สุด โควินท์ได้กลับเป็นบุคคลผู้แข็งแรงแจ่มใส ได้กลับมาอยู่กับครอบครัวอันอบอุ่นเป็นสุขอีกครั้ง ได้พบกับอนาคตอันมีความหวังที่มีแสงสว่างเรืองรองอยู่เบื้องหน้า

ถ้าโควินท์เป็นเหมือนคนธรรมดาทั่วไป มิใช่ "โควินท์ นักสู้ชีวิต" ผู้ทรหดกล้าหาญ โควินท์จะสามารถชุบชีวิตตนเองให้พบกับความสุขอันมีอนาคตได้ละหรือ ? เพราะศึกชีวิตของโควินท์นี้ช่างเป็นศึกชีวิตทีเหี้ยมเกรียมโหดร้ายทารุณยิ่งนัก มิใช่ศึกชีวิตที่เป็นของธรรมดาสามัญเลยทีเดียว

แต่เพราะโควินท์เป็นบุคคลพิเศษ ผู้สูงด้วยกำลังใจอันแกร่งกล้า และความมานะที่จะเอาชัย โควินท์จึงสามารถสร้างชีวิตอันเป็นที่รักของตนให้เป็นที่ประทับใจแก่บุคคลทั้งหลาย และนับว่าเป็นการต่อสู้ชีวิตที่ให้กำลังใจแก่ผู้อื่นอันควรแก่การยกย่องเป็นอย่างยิ่ง

การต่อสู้ในสนามชีวิตนั้น อาวุธที่สำคัญที่สุดคือกำลังใจอันกล้าหาญเยี่ยงเหล็กเพชร

 ;D


กระทู้: ชีวิตนี้เป็นที่รัก เรื่องแปลสุดกระทิอนใจของอุไร สนิทวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: กระต่ายหมายจันทร์ ที่ 06 ก.พ. 12, 20:00
"สัตว์ทั้งหลายที่พระเจ้าได้สร้างขึ้นย่อมจะดำรงชีวิตอยู่อย่างต่ำช้าที่สุดดีกว่าจะตายเสีย และมนุษย์ก็เช่นกัน" ชอบประโยคนี้มากเลยค่ะ  :)