เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: luanglek ที่ 05 ก.ค. 10, 16:10



กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ก.ค. 10, 16:10
ชื่ออำเภอหลายอำเภอที่เราได้ยินได้เรียกกันในปัจจุบันนี้   
อาจจะมีชื่ออำเภอบางอำเภอที่ถูกเปลี่ยนจากชื่อเดิม
ซึ่งกระทู้นี้จะได้นำเสนอชื่ออำเภอต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนในช่วงรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ก.ค. 10, 16:27
ในปี  ร.ศ.121

มีการเปลี่ยนชื่ออำเภอ ในมณฑลนครศรีธรรมราช  ๓  อำเภอ คือ

อำเภออุดร  แขวงเมืองพัทลุง  เปลี่ยนเป็น   อำเภอ ปากประ
อำเภอทักษิณ  แขวงเมืองพัทลุง  เปลี่ยนเป็น   อำเภอ ปากพยูน
อำเภอเบี้ยซัด  แขวงเมืองนครศรีธรรมราช  เปลี่ยนเป็น  อำเภอ ปากพนัง


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ก.ค. 10, 16:31
ปี ร.ศ.122

อำเภอพันลาน  แขวงเมืองนครสวรรค์  เปลี่ยนเป็น  อำเภอ เกยไชย
อำเภอนาเกลือ  แขวงเมืองชลบุรี  เปลี่ยนเป็น   อำเภอ บางละมุง
อำเภอท่าช้าง  แขวงเมืองนครนายก  เปลี่ยนเป็น   อำเภอ  บ้านนา
อำเภอห้วยหลวง  แขวงเมืองเพชรบุรี  เปลี่ยนเป็น  อำเภอ  เขาย้อย


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 05 ก.ค. 10, 16:48
จังหวัดสุโขทัย
อำเภอเมืองสุโขทัยได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ชื่อ “อำเภอในเมืองสุโขทัย” ตั้งที่ทำการ ณ บ้านหลวงรักษ์นาวา ตำบลธานี โดยหลวงพิชัยมนตรีเป็นนายอำเภอคนแรก ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งในที่ดินบริเวณบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน ใช้ชื่อ “อำเภอในเมืองสุโขทัย” พอมาอยู่ในที่ดินของหลวงก็ได้ชื่อใหม่ว่า “อำเภอเมืองสุโขทัย” เหมือนกับชื่ออำเภอในปัจจุบัน แต่ใช้ชื่อนี้อยู่ได้ไม่นานก็ต้องเปลี่ยนเป็น “อำเภอธานี” ในราวปี พ.ศ.๒๔๕๙ เพราะกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้เปลี่ยนชื่ออำเภอต่าง ๆ ตามชื่อตำบลที่ตั้งอำเภอนั้นตั้งอยู่

อำเภอสวรรคโลก เดิมมีชื่อว่าอำเภอวังไม้ขอน แต่เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองสวรรคโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ และเปลี่ยนเป็นอำเภอสวรรคโลก เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เมื่อได้ยุบเลิกจังหวัดสวรรคโลกมาอยู่ภายใต้การปกครองจังหวัดสุโขทัย   

อำเภอศรีสัชนาลัย เดิมเป็น “อำเภอหาดเสี้ยว” จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว คณะรัฐบาลสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาพิจารราเห็นว่า ควรจะนำปูชนียสถาน หรือสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งเป็นชื่ออำเภอ/จังหวัด จึงได้มีการเปลี่ยนชื่ออำเภอหาดเสี้ยวใหม่เป็น “อำเภอศรีสัชนาลัย”

อำเภอกงไกรลาศ เดิมชื่อชื่ออำเภอบ้านไกร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ในสมัย นายเปลี่ยน สิทธิเวช ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอกงไกรลาศ

อำเภอสวรรคโลก  เดิมชื่ออำเภอวังไม้ของ และได้เปลี่ยนชื่อเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๒ จังหวัดสวรรคโลกได้เปลี่ยนเป็นจังหวัดสุโขทัย อำเภอวังไม้ของ ได้เปลี่ยนเป็นอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย




กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 05 ก.ค. 10, 17:30
จังหวัดชัยภูมิ
ในปี พ.ศ. 2460 ขุนสารกิจคณิตดำรงตำแหน่งนายอำเภอภูเขียว ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอภูเขียวเป็น “อำเภอผักปัง” เพื่อให้ตรงกับสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอและได้เปลี่ยนใช้ชื่ออำเภอภูเขียวอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2482

จังหวัดกาญจนบุรี
อำเภอท่าม่วง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2441 ที่บ้านท่าไม้รวก ตำบลม่วงชุมในปัจจุบัน โดยเริ่มแรกเนื่องจากอำเภอที่ตั้งขึ้นมีอาณาเขตติดต่อกับ "วัดใต้" (วัดมโนธรรมารามในปัจจุบัน) จึงตั้งชื่ออำเภอว่า อำเภอใต้ ต่อมาความเจริญของลำน้ำเปลี่ยนไป ประชาชนอพยพลงมาทางใต้ เพราะบริเวณท่าไม้รวกเดิมเป็นลำน้ำคด ไม่สะดวกในการสัญจรของเรือ แพ จึงย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งใหม่บริเวณใกล้กับวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง และตั้งชื่ออำเภอใหม่ว่า อำเภอวังขนาย ต่อมาปี พ.ศ. 2484 พระวรภักดิ์พิบูลย์ นายอำเภอสมัยนั้นเห็นว่าอำเภอนี้ควรตั้งชื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะอำเภอตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลท่าม่วง และอยู่ท้ายตลาดท่าม่วงซึ่งเป็นตลาดใหญ่ จึงขออนุญาตเปลี่ยนชื่อจากอำเภอวังขนายเป็น อำเภอท่าม่วง ตามชื่อตำบลที่ตั้ง

จังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อวันที่  27  มิถุนายน  พ.ศ.  2455  หม่อมเจ้าธำรงศิริ  มาเป็นสมุหเทศาภิบาล  ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่ดังนี้
อำเภอปัจจิมร้อยเอ็ด  เป็นอำเภอเมืองร้อยเอ็ด
อำเภออุทัยร้อยเอ็ด   เป็นอำเภอเมืองร้อยเอ็ด
อำเภอสระบุศย์         เป็นอำเภออาจสามารถ
และเมื่อพ.ศ.  2458
อำเภอธวัชบุรี  เป็นอำเภอดินแดง
อำเภอพนมไพรแดนมฤค  เป็นอำเภอพนมไพร
และในปี  พ.ศ.  2483  สมัย  นายวาสนา  วงศ์สุวรรณ  มาเป็นนายอำเภอแซงบาดาล
ได้เปลี่ยนชื่อ อำเภอแซงบาดาล  เป็นอำเภอธวัชบุรี 

จังหวัดสิงห์บุรี
ปี พ.ศ. 2444 อำเภอเมืองสิงห์บุรีเปลี่ยนเป็นอำเภอบางพุทรา และ ในปี พ.ศ. 2481 ทางราชการสั่งให้เปลี่ยนชื่อที่ว่าการอำเภอ ที่ตั้งอยู่ในเมืองให้เป็นชื่อของจังหวัดนั้น ๆ
อำเภอบางพุทราจึงได้กลับไปใช้ชื่ออำเภอเมืองสิงห์บุรี

พรุ่งนี้มาต่ออีกนะครับ




กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 20:26
ขอบคุณคุณหลวงเล็กที่ตั้งกระทู้หาอ่านได้ยากอีกแล้ว และขอบคุณคุณวีระชัยที่มาขยายความเพิ่มเติม
อยากได้ประวัติการเปลี่ยนชื่อ อำเภอพิบูลมังสาหาร    แล้วก็การเปลี่ยนชื่อดงพญาไฟ เป็นดงพญาเย็น  ค่ะ


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ก.ค. 10, 08:01
ขอบคุณคุณ werachaisubhong  ที่เข้ามาร่วมแสดงข้อมูล  ดีครับ
ผมจะได้ไม่ต้องเขียนกระทู้อยู่คนเดียว

เรียนคุณเทาชมพู 
กระทู้นี้อาจจะไม่ยาวเท่าไรนัก   แต่น่าจะเป็นประโยชน์แก่คนที่เข้ามาอ่านบ้าง
หลังจากตั้งกระทู้นี้แล้ว  มีสหายท่านหนึ่งมาบอกว่า  อ้า ตั้งกระทู้เรื่องอ่านยากอีกแล้ว
แต่ก็ดีเหมือนกัน   เพราะเคยอ่านหนังสือนิยายเก่าๆ
หรืออ่านหนังสืออื่นที่แต่งสมัยคุณตาคุณยายยังเด็ก 
เห็นชื่ออำเภอบางอำเภอแปลกไม่คุ้นหูอยู่หลายแห่งหลายครั้ง
นึกสงสัยว่าอำเภอนี้อยู่ตรงไหน  ปัจจุบันชื่ออำเภออะไร
ก็เลยแนะว่า  กรุณาติดตามกระทู้นี้ต่อไปนะครับ ;D


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 06 ก.ค. 10, 09:12
การเปลี่ยนชื่อดงพญาไฟ เป็นดงพญาเย็น 
ตำนานดงพญาไฟ
ย้อนหลังไปในอดีต  มากกว่า  120  ปีมาแล้ว
ป่าดงดิบอันกว้างใหญ่ไพศาลคั่นกลางระหว่างที่ราบลุ่มภาคกลาง
กับที่ราบสูงภาคอีสาน นั่นคือ  เทือกเขาพนมดงรัก  เต็มไปด้วยภยันตราย
นานัปการ ทั้งจาก สัตว์ป่า ไข้ป่า  ตลอดจนภูติผีปีศาจ และอาถรรพณ์ลึกลับ
มากมาย   ผืนป่าแห่งนี้ผู้คนจึงขนามนามว่า  "ดงพญาไฟ"  ผู้ใดเข้าไปใน
ป่าผืนนี้แล้ว  น้อยคนนักที่จะได้กลับออกมา  จนเป็นที่ร่ำลือเล่าขานกันมา
อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
การเดินทางจากเมืองสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมา ก็ต้องผ่านดงพญาไฟ
แห่งนี้  และจะใช้เกวียนก็ไม่ได้ ต้องอาศัยการเดินเท้าอย่างเดียว ต้อง
เดินตามสันเขาบ้าง ไหล่เขาบ้าง  ลำธารบ้าง  คนเดินตามปกตินั้นตั้งแต่
ตำบลแก่งคอย  สระบุรี  ต้องค้างคืนในป่านี้ถึง 2 คืน  จึงจะผ่านพ้นไปได้
ในระยะต่อมา  สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น  ในปี 2434  เมื่อพระบาท
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง
ทางรถไฟเชื่อมภาคกลางกับภาคอีสาน  โดยตัดผ่านดงพญาไฟ
ช่วงนี้ ทำให้วิศวกร นายช่าง และแรงงาน จำนวนมาก ทั้งชาวไทย
และชาวต่างชาติ ต่างก็พาชีวิตมาสังเวยกับไข้ป่ากันเป็นจำนวนมาก
ศพกองกันเป็นภูเขาเลากา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสลดพระทัยยิ่งนัก  ทรง
โปรดเกล้าฯ ให้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้โดยทั่วกัน  พร้อมกับให้
ยุติการสร้างทางรถไฟไว้เพียงเท่านี้ 

เปลี่ยนมาเป็นดงพญาเย็น

เมื่อพระองค์เสด็จมาทำพิธีเปิดทางรถไฟ ขณะเสด็จกลับได้ผ่านป่าใหญ่
ดงดิบ  (ปัจจุบันคือบริเวณเขื่อนลำตะครอง)  ถึงสถานีรถไฟปากช่อง
ก็ได้ทรงรับสั่งถามว่า  "ป่านี้ชื่อว่าอะไร"  ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้กราบ
บังคมทูลว่าชื่อ "ป่าดงพญาไฟ"  พระองค์ทรงรับสั่งว่า  "ป่านี้ชื่อฟังดู
น่ากลัว"  จึงตรัสว่า  "ให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น  ดงพญาเย็น  เพื่อ
ความเป็นสิริมงคลและความร่มเย็นเป็นสุขของอาณาประชาราษฎร์
ในวันข้างหน้า"


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ค. 10, 09:23
ขอบคุณคุณหลวงเล็กที่ตั้งกระทู้หาอ่านได้ยากอีกแล้ว และ
อยากได้ประวัติการเปลี่ยนชื่อ อำเภอพิบูลมังสาหาร    แล้วก็การเปลี่ยนชื่อดงพญาไฟ เป็นดงพญาเย็น  ค่ะ

(๑) อำเภอพิบูลมังสาหาร เดิมชื่อ"บ้านกว้างลำชะโด" พระพรหมราชวงษา เจ้าเมืองอุบลราชธานี ขอตั้งเป็นเมืองพิบูลมังสาหาร เจ้าพระยากำแหงสงครามเห็นชอบ จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้ตั้งเป็นเมืองพิบูลมังสาหาร เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒  ปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ และตั้งท้าวธรรมกิติยา(จูมมณี) เป็นพระยาบำรุงราษฎร์ เป็นเจ้าเมืองคนแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓  ลดฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นกับเมืองอุบลราชธานี และในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เปลี่ยนเมืองอุบลราชธานี เป็นจังหวัดอุบลราชธานี

http://www.phibun.com/place_name_phiboon_mungsaharn/place_name=about-phiboon/

(๒) ชื่อ ดงพญาเย็น ถูกกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงเรื่องนี้ในพระนิพนธ์เรื่อง เที่ยวตามทางรถไฟ  ว่า

"ดงพญาไฟนี้ เป็นช่องสำหรับข้ามไปมา ระหว่างเมืองสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมาแต่โบราณ ไปได้แต่โดยเดินเท้า จะใช้ล้อเกวียนหาได้ไม่ ด้วยทางต้องเดินตามสันเขาบ้าง ตามไหล่เขาบ้าง คนเดินตามปกตินั้นตั้งแต่ตำบลแก่งคอย ต้องค้างคืนในป่านี้ถึง ๒ คืน ถึงจะพ้น...

สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยพระราชดำริไว้ว่า ไม่ควรเรียกดงพญาไฟเพราะให้คนครั่นคร้าม จึงทรงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้เปลี่ยนชื่อจาก ดงพญาไฟ เป็นดงพญาเย็น แต่คนหลาย ๆ คนก็ยังคงเรียกว่า ป่าดงพญาไฟอยู่ดั่งเดิม"



กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 06 ก.ค. 10, 09:27
ประวัติ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
     อำเภอพิบูลมังสาหาร เดิมชื่อ "บ้านกว้างลำชะโด" พระพรหมราชวงษา เจ้าเมืองอุบลราชธานี ข อตั้งเป็นเมืองพิบูลมังสาหาร เจ้าพระยากำแหงสงครามเห็นชอบ จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระจ อมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 4 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้ตั้งเป็นเมืองพิบูลมังสาหาร เมื ่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน พ.ศ.2406 และตั้งท้าวธรรมกิติยา (จูมมณี) เป็นพระยาบำรุง ราษฎร์ เป็นเจ้าเมืองคนแรก เมื่อปี พ.ศ.2443 ลดฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นกับเมืองอุบลราชธานี และในปี พ.ศ.2495 เปลี่ยนเมืองอุบลราชธานี เป็นจังหวัดอุบลราชธานี
   1.  มูลเหตุก ารตั้งเมืองพิบูลสังหาร
   ปีพุทธศักราช 2402 พระพรหมราชวงศา(กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 3 มีภรรยา (หม่อม) 7 คน มีบุตร-ธิดา รวมทั้งหมด 31 คน และในจำนวนบุตรท ั้งหมด มีหลายคน ซึ่งพอจะเป็นเจ้าเมือง อุปฮาด (อุปราช) ราชวงศ์ราชบุตร ทำราชการให้แก่บ้านเมืองได้ จึงปรึกษาคณะกรรมการเมืองต่างมีความเห็นพ้องกันว่า ท้าวธรรมกิตติกา (จูมมณี) , ท้าวโพธิสาราช (เสือ) , ท้าวสีฐาน (สาง) ซึ่งทั้งสามคนนี้เป็นบุตรที่เกิดจากภรรยาคนที่ 2 ของพระพรหมราชวงศา (กุทอง) ชื่อ (นาง) หม่อมหมาแพง ท้าวขัติยะ (ผู) และเป็นน้อยต่างมารดาของท้าวธรรมกิตติกา(จูมมณี) เมื่อปรึก ษาเป็นที่ตกลงแล้ว จึงสั่งให้จัดเรือสามลำและคนชำนาญร่องน้ำเพื่อหาสถานที่สร้างเมืองใหม่ โดยล่องเร ือไปตามลำน้ำมูล จนถึงบ้านสะพือ (บ้านสะพือท่าค้อ-ปัจจุบัน) ได้จอดเรือและข้ามไปสำรวจภูมิประเทศฝั่ งขวาแม่น้ำมูลทิศตะวันตกแก่งสะพือ เห็นภูมิสถานเหมาะแก่การตั้งเมืองได้ จึงทำการบุกเบิกป่า ตั้ง แต่หัวแก่งสะพือไปถึงห้วยบุ่งโง้ง (คุ้มวัดเหนือกลาง-ปัจจุบัน) พอที่จะตั้งบ้านเรือนได้ 30-80 ครอบ ครัว พระพรหมราชวงศาเมืองอุบลฯ ได้จัดราษฎรเข้าไปอยู่หลายครอบครัว พร้อมทั้งให้ท้าวไชยมงคลและท ้าวอุทุมพร (ญาติเจ้าเมืองอุบลฯ) ลงไปอยู่ด้วยแล้วตั้งชื่อว่า " บ้านกว้างลำชะโด " เนื่อ งจากบ้านนี้ตั้งอยู่ย่านกลางของ 2 ห้วย คือ ห้วยกว้างอยู่ทางทิศตะวันออกและห้วยชะโดอยู่ทางท ิศตะวันตก ห้วยกว้างห่างจากที่ตั้งอำเภอไปทางตะวันออก 4 กิโลเมตร ห้วยชะโดห่างจากที่ตั้งอำเภอไปทาง ทิศตะวันตก 4 กิโลเมตร
     2.  ปัจจัยที่เอื้อต่อการสร้างเมืองพ ิบูลมังสาหาร
     2.1  พระราโชบายของพระมหากษัตริย์ หลังจากพ ระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจูฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเห็นว่าบ้านเมือง อยู่ในสภาพแตกกระจายเป็นก๊ก เป็นเหล่า จึงมีพระราชประสงค์จะรวบรวมไพร่พลให้เป็นกลุ่มก้อนหรือเป็นเม ือง จึงมีราโชบายให้จัดตั้งเมืองขึ้นและให้ถือเป็นแนวปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆมา ดัง นั้น เมื่อมีเจ้าเมืองใดขอตึ้งเมืองใหม่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองได้ตามประสงค์
    2.2  การปกครอง พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 3  (พ.ศ.2388-2409) มีบุตรหลายคน เห็นว่า ท้าวธรรมกิตติกา (จูมมณี) เป็นบุตรคนหนึ่งที่มีค วามรู้ความสามารถ มีสติปัญญาเฉียบแหลมและกล้าหาญ เมื่อตั้งเป็นเจ้าเมืองแล้วปกครองอาณาประชาราษฎร์ ให้มีความร่มเย็นสงบสุขได้และเป็นการขยายเขตการปกครองเพิ่มขึ้นด้วย
    2.3  แหล่งอุดมสมบูรณ์ บริเวณที่ตั้งเมืองเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลที่อุดมสมบูรณ์ดินดี มีแม่น้ำสาขาหลายสายไหลลงสู่แม่น้ำมูล จึงทำให้บริเวณนี้อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร และสัตว์น้ำนานาชนิดเหมาะแก่การทำไร่ ไถนา ปลูกข้าว ซึ่งสามารถเป็นแหล่งเสบียงอาหาร กำลังคนทั้ง ในยามสงบและเมื่อมีศึกสงคราม
    2.4  เมืองหน้าด่าน ในขณะนั้นประเทศ ฝรั่งเศส ได้แผ่ขยายล่าอาณานิคมเพื่อหาเมืองขึ้นในประเทศเวียตนามและเขมรได้ขยายเข ้ามาในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนและมีทีท่าจะรุกล้ำเข้ามาตามลำน้ำมูล ซึ่งหากมีการรุกล้ำดินแดนเกิดขึ้นจริง เมืองพิบูลมังสาหารจะเป็นเมืองหน้าด่านที่สามารถต่อต้านเข้าศึกสกัดกั้นไม่ให้ศัตรูเข้ามาถึงเมือง อุบลราชธานีโดยง่าย
     3.  โปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองพิบูลมังสาหาร
     เมื่อตั้งเป็นบ้านกว้างลำชะโดแล้ว ต่อมามีราษฎรเข ้ามาอาศัยอยู่หนาแน่นขึ้นพอที่จะตั้งเป็นเมืองได้ จึงจัดสร้างศาลาว่าการขึ้นริมฝั่ง แม่น้ำมูลแล้วรายงานไปยังพระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลฯ ซึ่งเจ้าเมืองอุบลฯ ก็เห็นชอบด้วย จึงมีใบบอกกราบเรียนเจ้าพระยากำแหงสงครามเจ้าเมืองนครราชสีมาเพื่อนำความกราบบังคมทูลฯ ขอตั้ง บ้านลำชะโด เป็น " เมืองพิบูลมังษาหาร " เมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน เบญจ ศก จุลศักราช 1225 ตรงกับวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2406 และโปรดเกล้าตั้งท้าวธรรมกิตติกา (จูมมณี) เป็น พระบำรุงราษฎร์-เจ้าเมือง ให้ท้าวโพธิสาราช (เสือ) เป็นอุปฮาด (อุปราช) ให้ท้าวสีฐาน (สาง) เป็นราชวงศ์ ให้ท้าวขัติยะ (ผู) เป็นราชบุตรขึ้นกับเมืองอุบลราชธานี ตามที่ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านกว้างลำชะโด เป็น " เมืองพิมูลมังษาหาร " นั้น เห็นจะให้ตรงกับลำน้ำซึ่งให้แต่เ ดิม เรียกว่า ลำน้ำมูล  และเพื่อให้เมืองพิบูลฯ เป็นคู่กับเมืองพิมายซึ่งตั้งอยู่เหนื อลำน้ำมูลขึ้นไป
     4.  เจ้าเมืองและคณะอาญาสี่เมืองพิบูลมังสาหาร
     เมืองพิบูลมังสาหาร ที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงพระก รุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองและคณะอาญาสี่หรือคณะอาชญาสี่ที่ปกครองเมือง ก่อนการปฏิรูปก ารปกครอง ดังนี้
     4.1 เจ้าเมือง พระบำรุงราษฎร์ นามเดิมท้าว ธรรมกิตติกา (จูมมณี) ครองเมือง พ.ศ.2406-2430
         อุปฮาด ท้าวโพธิสาราช (เสือ)
         ราชวงศ์ ท้าวสีฐาน (สาง)
         ราชบุตร ท้าวขัติยะ (ผู)
     4.2 เจ้าเมือง พระบำรุงราษฎร์ นามเดิม ขัติยะ (ผู) ครองเมือง พ.ศ.2430-2455
         อุปฮาด ท้าวลอด เป็นบุตรของพระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี)
         ราชวงศ์ ท้าวมิน เป็นบุตรพระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี)
         ราชบุตร ท้าวแสง เป็นบุตรพระบำรุง ราษฎร์ (ผู)
     ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2455 เป็นต้นมา ทางราชการได ้แต่งตั้งข้าราชการส่วนกลางมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปฏิรูปการปกครองแบบค่อยเป็นค่อยไป และได้พัฒนาจนมาเป็นแบบในปัจจุบัน

อ่านเจอที่เวปนี้ครับ อาจารย์เทาชมพู
http://www.amphoephiboon.com/index-history1.html


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 10, 09:36
ขอบคุณทุกท่านในความอุตสาหะ เข้ามาตอบคำถามค่ะ
ว่าแต่ดงพญาเย็น ได้ชื่อใหม่สมัยไหนกันแน่?


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 06 ก.ค. 10, 09:54
จังหวัดนครราชสีมา
อำเภอบัวใหญ่
อำเภอบัวใหญ่มีที่ตั้งอยู่เขตแดนของจังหวัดนครราชสีมา จึงมีฐานะเป็นด่านเรียก ด่านนอก มีที่ทำการที่บ้านหนองหลางใหญ่ พ.ศ. 2411ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ ซึ่งยังคงเรียกชื่ออำเภอตามชื่อของด่านว่า อำเภอนอก แต่ย้ายที่ทำการ มาอยู่ที่บ้านหนองหลางน้อย พ.ศ. 2448 ย้ายที่ทำการอีกครั้งกนึ่งมาอยู่ที่บ้านบัวใหญ่ จึงเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น อำเภอบัวใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟประมาณ 3 กิโลเมตร ทำให้บริเวณบ้านพัดเฟื้อย ซึ่งอยู่ที่สถานีรถไฟมีความเจริญมากกว่า จึงได้ย้ายที่ทำการ อีกครั้งหนึ่ง มาอยู่ที่บ้านพัดเฟื้อย เมื่อ พ.ศ. 2494

อำเภอโนนสูง
ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 ใช้ชื่อว่า อำเภอกลาง เพราะตั้งอยู่ตอนกลางระหว่าง อำเภอเมืองนครราชสีมา และอำเภอบัวใหญ่ซึ่งอยู่ชายแดนของจังหวัด ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2456 - 2459 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอโนนวัด เพราะบริเวณที่ตั้งอำเภอ เคยเป็นวัดร้างมาก่อน อีกประมาณ 30 ปีต่อมา กระทรวงมหาดไทย จึงเปลี่ยนชื่อเรียก ตามสภาพภูมิประเทศว่าอำเภอโนนสูง

อำเภอสีคิ้ว
อำเภอสีคิ้ว เดิมมีชื่อว่า เมืองนครจันทึก เป็นเมืองอิสระขึ้นตรงต่อเมืองหลวง ต่อมาถูกตั้งเป็นเมืองหน้าด่าน เรียกว่า ด่านจันทึก ปี พ.ศ. 2440 ได้จัดตั้งเป็นองค์กรมีชื่อว่า อำเภอเมืองจันทึก ตั้งอยู่ในเขตตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง ในปัจจุบัน พ.ศ. 2444 ย้ายมาตั้ง ณ ตำบลสีคิ้วในปัจจุบัน และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอำเภอสีคิ้ว ซึ่งในภายหลังถูกแยกพื้นที่ทางตะวันตก ตั้งเป็นอำเภอปากช่อง
 
อำเภอโนนไทย
พ.ศ. 2443 แขวงสันเทียะได้ยกฐานะเป็นอำเภอสันเทียะ แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอโนนลาว ตามชื่อตำบลที่ได้ตั้งอำเภอ พ.ศ. 2444ได้กลับมาใช้ชื่ออำเภอสันเทียะตามเดิม เพราะเห็นว่าที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่บ้านสันเทียะ พ.ศ. 2562 ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่ออำเภอโนนลาว เพราะประชาชนไม่ยอมเรียกชื่ออำเภอสันเทียะ เนื่องจากเป็นภาษาเขมร พ.ศ. 2484 เปลี่ยนมาใช้ชื่ออำเภอโนนไทย เพราะชื่ออำเภอโนนลาวไม่ถูกต้องตามรัฐนิยมและใช้ ชื่ออำเภอโนนไทยมาจนถึงปัจจุบัน

อำเภอด่านขุนทด
เดิมอำเภอด่านขุนทดเป็นแขวงเมืองหนึ่งของอำเภอสันเทียะ (โนนไทย) และมีฐานะเป็นเพียงตำแหน่งหนึ่ง โดยมีพระเสมารักษาเขต เป็นผู้ปกครองดูแล คอยเก็บส่วยอากร ส่งไปยังอำเภอสันเทียะการปกครองหน้าด่าน ใช้วิธีปกครองกันเองและเลือกผู้ปกครองเอง พ.ศ. 2451 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าสถาปนาด่านขุนทด ขึ้นเป็นอำเภอด่านขุนทด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบ้านหาญ และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอ พันชนะ จนถึง พ.ศ. 2456 จึงเปลี่ยนมาเป็นอำเภอด่านขุนทดอีกครั้งหนึ่ง

อำเภอโชคชัย
เดิมชื่ออำเภอกระโทก แต่ทางราชการพิจารณาเห็นว่า สำเนียงและความหมาย ไม่ไพเราะ จึงได้เปลี่ยนชื่อโดยได้ยึดเอาวีรกรรมของพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อคราวยกมาปราบเจ้าเมืองพิมาย และทรงได้ชัยชนะ พ.ศ. 2488 ทางราชการจึงพิจารณาเปลี่ยนชื่อ อำเภอนี้ไหม่ว่าอำเภอโชคชัย

อำเภอจักราช (ออกเสียงว่า จัก-กะ-หลาด)
อำเภอจักราชมีชื่อเดิมว่าอำเภอท่าช้าง ที่ได้รับชื่อเช่นนี้ อาจเป็นเพราะมีแม่น้ำมูลไหลผ่านตลอดปี ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสำคัญและ เป็นด่านช้าง มาแต่เดิมจึงได้ชื่อว่าบ้านท่าช้าง หรืออำเภอท่าช้าง พ.ศ. 2470 บ้านท่าช้างได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอท่าช้าง  พ.ศ. 2496 จึงได้ยกฐานะเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอจักราช




กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 06 ก.ค. 10, 11:16
จังหวัดแพร่
อำเภอสอง พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดการปกครอง หัวเมืองฝ่ายเหนือแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองสองจึงถูกลดฐานะลงเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอยมเหนือ
ปี พ.ศ. 2449 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อจาก อำเภอยมเหนือ   เป็นอำเภอสอง ตามความนิยมของชาวบ้านใกล้ไกล
ปี พ.ศ. 2470 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อจาก อำเภอสอง        เป็นอำเภอบ้านกลาง แต่ไม่มีใครเรียกและไม่เป็นที่รู้จัก
ปี พ.ศ.2480 ทางราชการจึงได้เปลี่ยนชื่อกลับไปใช้ชื่อตามเมืองโบราณ คือ เมืองสอง ดังนั้นจึงเปลี่ยนจากอำเภอบ้านกลางเป็นอำเภอสอง มาจนถึงปัจจุบัน

อำเภอสูงเม่น
พ.ศ.2446 อ.สูงเม่นเดิมเรียกว่า อ.แม่พวก ตั้งอยู่บ้านสูงเม่น ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2460  ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อจาก อ.แม่พวก เป็น อ.สูงเม่น



กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 06 ก.ค. 10, 11:40
จังหวัดน่าน
อำเภอนาน้อย
เดิมชื่ออำเภอศีรษะเกษ เมื่อปี พ.ศ. 2460 อำเภอศีรษะเกษจึงได้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 06 ก.ค. 10, 11:57
จังหวัดเชียงใหม่
อำเภอสันป่าตอง
ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2495 เดิมเป็นการเขตการปกครองของสองอำเภอ คือ อำเภอแม่วาง และอำเภอบ้านแม
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2477 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยุบอำเภอแม่วางและอำเภอบ้านแม รวมเป็นอำเภอเดียวกันให้ชื่อว่า "อำเภอบ้านแม"
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ได้มีการย้ายที่ว่า การอำเภอบ้านแม มาตั้ง ณ ที่บ้านสันป่าตอง หมู่ที่ 10 ตำบลยุหว่า ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันและเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น "อำเภอสันป่าตอง"

อำเภอสารภี
เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เดิมชื่อ "อำเภอยางเนิ้ง" ตั้งเป็นอำเภอเมื่อ ปี พ.ศ. 2434 คำว่ายางเนิ้งมาจาก "ต้นยาง" กับ "เนิ้ง" ซึ่งเป็นภาษาคำเมืองแปลว่า โน้มเอน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2470 ท้าวพระยาขุน พร้อมด้วยราษฎรได้เสนอต่ออำมาตย์ตรีพันธุราษฎร นายอำเภอในสมัยนั้น เสนอให้เปลี่ยนชื่ออำเภอเสียใหม่เนื่องจากไม่ไพเราะ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอสารภี"


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 06 ก.ค. 10, 12:04
จังหวัดลำปาง
อำเภอแม่ทะ  มีประวัติการก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2450 ที่ว่าการอำเภอแม่ทะเดิมมิได้ตั้งอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอแม่ทะปัจจุบัน แต่ตั้งอยู่ที่บ้านป่าตัน หมู่ที่ 5 ตำบลป่าตัน อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอในปัจจุบันไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร โดยอาศัยชื่อตำบลเป็นชื่อของอำเภอเรียกว่า อำเภอป่าตัน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2452 ขุนตันธนารักษ์ นายอำเภอป่าตันสมัยนั้นได้พิจารณาเห็นว่า กรมทางรถไฟแห่งประเทศไทยมีโครงการวางรางรถไฟไปถึงเชียงใหม่ โดยมีเส้นทางผ่านเนื้อที่บ้านแม่ทะ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ทะ จึงย้ายที่ว่าการอำเภอไปที่นั่นและเปลี่ยนชื่อจากอำเภอป่าตันเป็น อำเภอแม่ทะ

อำเภอห้างฉัตร
ห้างฉัตรเป็นอำเภอที่มีความเจริญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีตำนานเล่าว่า เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จมาสร้างวัดพระธาตุลำปางหลวง ได้ใช้เส้นทางห้างฉัตรเป็นทางติดต่อ เมื่อเดินทางถึงห้วยแม่ตาลได้หยุดพักพลที่นี้ บรรดาชาวเมืองจึงตกแต่งที่ประดับด้วยราชวัตรฉัตรอันงดงาม ภายหลังที่แห่งนั้นได้เป็นเมืองขึ้นมา จึงเรียกว่าเมืองนั้นว่า เมืองห้างฉัตร แต่ต่อมาชาวบ้านออกเสียงเพี้ยนเป็น "หางสัตว์" เมื่อตั้งเป็นอำเภอจึงเรียกว่า อำเภอหางสัตว์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2483 ทางราชการจึงประกาศเปลี่ยนนามอำเภอนี้เป็น อำเภอห้างฉัตร เพื่อให้ถูกต้องตามความหมายเดิม



กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 06 ก.ค. 10, 12:20
จังหวัดแม่ฮ่องสอน
อำเภอแม่สะเรียง เมืองยวมเคยเป็นถิ่นฐานอาศัยของชนเผ่าดั้งเดิมคือ ละว้าและกะเหรี่ยง ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 ทางราชการได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเรียกชื่อว่า อำเภอเมืองยวม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2467 ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าชื่ออำเภอเมืองยวมนั้นไปพ้องกับอำเภอขุนยวมซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอแม่สะเรียง ตามชื่อของลำน้ำแม่สะเรียงที่ไหลผ่านอำเภออีกสายหนึ่งแทน อำเภอแม่สะเรียงในอดีตยังเคยเป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย



กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: cooling ที่ 06 ก.ค. 10, 13:03
ได้ความรู้มากจริงๆ ขอบคุณครับ


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 06 ก.ค. 10, 14:20
หันมาทางภาคกลางบ้างนะครับ
จังหวัดพิจิตร
อำเภอบางมูลนาก  พ.ศ. 2450ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งใหม่ที่ริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตกเหนือวัดบางมูลนาก แต่ยังคงใช้ชื่ออำเภอภูมิอย่างเดิมมิได้เปลี่ยนเป็นอำเภอบางมูลนาก จนกระทั่งวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2459กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีประกาศใช้ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งว่าการอำเภอ ที่ว่าอำเภอเมืองภูมิตั้งอยู่ที่ ตำบลบางมูลนากจึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางมูลนากเป็นต้นมา

อำเภอโพทะเล เดิมเรียกว่าอำเภอบางคลาน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำพิจิตร(น่านสายเก่า)บรรจบกับแม่น้ำยม ในท้องที่ ตำบลบางคลานปัจจุบัน และต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้ง ณ ฝั่งขวาของแม่น้ำยม ในท้องที่ตำบลโพทะเล จึงเปลี่ยนเป็นอำเภอโพทะเล จนถึงปัจจุบัน

จังหวัดนครสวรรค์
อำเภอโกรกพระ แต่เดิมนั้นชื่ออำเภอเนินศาลา ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินศาลา เมื่อ ร.ศ.113 (พ.ศ.2431) ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เนื่องจากการติดต่อคมนาคมของประชาชนในสมัยนั้น อาศัยการเดินทางโดยทางเรือเป็นส่วนใหญ่ สถานที่ตั้งอำเภอเดิมไม่สะดวกในการติดต่อจึงได้ย้ายมาตั้งที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งตะวันตก ที่บ้านโกรกพระ จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอโกรกพระ เมื่อ ร.ศ. 118 หรือ (พ.ศ. 2442)

อำเภอเมืองนครสวรรค์ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2442 โดยหลวงสรรพากรซึ่งเป็นนายอำเภอคนแรก ได้สร้างขึ้นที่ว่าการอำเภอที่ตำบลบ้านแก่ง จึงเรียกชื่ออำเภอว่า อำเภอบ้านแก่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาที่ตำบลปากน้ำโพ จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า อำเภอปากน้ำโพ เมื่อ พ.ศ. 2482 จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอตามที่ตั้งศาลากลาง จึงเรียกว่า อำเภอเมืองนครสวรรค์

จังหวัดอ่างทอง
อำเภอไชโย นี้เดิมชาวบ้านเรียกว่า อำเภอบ้านมะขาม เมื่อบ้านไชโยตั้งเป็นอำเภอเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2439 โดยทางราชการได้นำชื่อวัดและหมู่บ้านตำบลไชโยมาเป็นชื่ออำเภอ ส่วนชื่ออำเภอบ้านมะขามก็ยกเลิกไป และแม้ที่ว่าการอำเภอจะตั้งอยู่ที่ตำบลจรเข้ร้องก็ไม่ได้ชื่อว่าอำเภอจรเข้ร้อง กลับได้ชื่อว่า อำเภอไชโย เพราะถือว่าชื่อไชโยเป็นสิริมงคลมากกว่า

อำเภอวิเศษชัยชาญ เดิมชื่ออำเภอไผ่จำศีล ขึ้นอยู่ในความปกครองของเมืองอ่างทองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 โดยตั้งที่ว่าการอำเภอทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน้อย หมู่ที่ 3 ตำบลไผ่จำศีล จนกระทั่งปี พ.ศ. 2451 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอไผ่จำศีลเป็น อำเภอวิเศษชัยชาญ

จังหวัดสุพรรณบุรี
อำเภอสามชุก  เมื่อปี พ.ศ. 2437 ทางราชการได้ตั้งอำเภอมีชื่อว่า อำเภอนางบวช ครั้นถึงปี พ.ศ. 2454 ได้มีการเสนอขอจัดตั้งอำเภอทางฝ่ายเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรีขึ้นอีกแห่งหนึ่งในบริเวณหมู่บ้านเขาพระ ตั้งชื่อว่า อำเภอเดิมบาง และได้ย้ายที่ว่าการอำเภอนางบวชมาอยู่บริเวณหมู่บ้านสามเพ็ง ตำบลสามชุกด้วย จนในปี พ.ศ. 2457 ได้มีการเปลี่ยนชื่อจากอำเภอเดิมบางเป็น อำเภอสามชุก เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อตำบลที่ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่

อำเภออู่ทอง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ออกเป็นมณฑล เมือง อำเภอ และตำบล อำเภออู่ทองจึงเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448 โดยมีชื่อเมื่อแรกตั้งว่า อำเภอจรเข้สามพัน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 ตำบล ต่อมาทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า ท้องที่อำเภอจรเข้สามพันเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่เรียกว่า "เมืองท้าวอู่ทอง" จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากหมู่บ้านจรเข้สามพันมาตั้ง ณ บริเวณเมืองโบราณท้าวอู่ทอง และให้เปลี่ยนชื่ออำเภอจรเข้สามพันเป็น อำเภออู่ทอง เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483

จังหวัดสิงห์บุรี
อำเภอบางระจัน เดิมชื่อ "อำเภอสิงห์" จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอสิงห์ มาเป็นอำเภอ "บางระจัน" ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 จนถึงปัจจุบัน

เดียวมาต่อนะครับ


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 06 ก.ค. 10, 15:12
มาต่อกันเลยนะครับ

จังหวัดกาญจนบุรี
จากการบันทึกของนักประวัติศาสตร์ ชื่อ สถิต เลิศวิชัย ได้บันทึกไว้ว่าอำเภอท่ามะกานั้น เดิมชื่อ อำเภอลาดบัวขาว ตั้งขี้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2445 โดยเอาพื้นที่เขตตำบลท่าผา ตำบลธรรมเสน และตำบลลาดบัวขาวรวมกันตั้งเป็น "อำเภอลาดบัวขาว" ในสมัยนั้นยังขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี  ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 หรือรัตนโกสินทรศก 124 ทางราชการได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอลาดบัวขาวมาตั้งใหม่ที่ตำบลพงตึก และได้เปลี่ยนชื่ออำเภอจากอำเภอลาดบัวขาวเป็น อำเภอพระแท่น ทั้งนี้เพราะในเขตอำเภอมีปูชนียสถานที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนา คือ "พระแท่นดงรัง" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปของชาวพุทธ ในปี พ.ศ. 2453 สมัยขุนศรีสรนาสน์นิคมหรือมหาจันทร์ ปุญสิริเป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอพระแท่นจากตำบลพงตึกมาตั้งใหม่ที่หมู่บ้าน "ถ้ำมะกา" ทางด้านฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง โดยซื้อที่ดินของขุนอารักษ์อรุณกิจ จำนวน 10 ไร่ 20 ตารางวา เป็นเงิน 120 บาท และที่ดินของนายชื่น จำนวน 2 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา เป็นเงิน 120 บาท รวมเป็นเนื้อที่ของอำเภอ 12 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา ใช้เป็นที่สร้างที่ว่าการอำเภอพระแท่นหลังใหม่ เนื่องจากที่ท่าน้ำหน้าอำเภอมีต้นมะกาต้นใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 สมัยขุนรามบุรีรักษ์ (แอร่ม สุนทรศารทูล) เป็นนายอำเภอ จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่จากอำเภอพระแท่นเป็น อำเภอท่ามะกา ซึ่งยังคงขึ้นอยู่ท้องที่จังหวัดราชบุรี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2480 จึงได้โอนมาขึ้นอยู่กับท้องที่จังหวัดกาญจนบุรีจนถึงปัจจุบัน

อำเภอท่าม่วง
อำเภอท่าม่วงจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2441 ที่บ้านท่าไม้รวก ตำบลม่วงชุมในปัจจุบัน โดยเริ่มแรกเนื่องจากอำเภอที่ตั้งขึ้นมีอาณาเขตติดต่อกับ "วัดใต้" (วัดมโนธรรมารามในปัจจุบัน) จึงตั้งชื่ออำเภอว่า อำเภอใต้ ต่อมาความเจริญของลำน้ำเปลี่ยนไป ประชาชนอพยพลงมาทางใต้ เพราะบริเวณท่าไม้รวกเดิมเป็นลำน้ำคด ไม่สะดวกในการสัญจรของเรือ แพ จึงย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งใหม่บริเวณใกล้กับวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง และตั้งชื่ออำเภอใหม่ว่า อำเภอวังขนาย ต่อมาปี พ.ศ. 2484 พระวรภักดิ์พิบูลย์ นายอำเภอสมัยนั้นเห็นว่าอำเภอนี้ควรตั้งชื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะอำเภอตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลท่าม่วง และอยู่ท้ายตลาดท่าม่วงซึ่งเป็นตลาดใหญ่ จึงขออนุญาตเปลี่ยนชื่อจากอำเภอวังขนายเป็น อำเภอท่าม่วง ตามชื่อตำบลที่ตั้ง จากนั้นในปี พ.ศ. 2489 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่ตั้งปัจจุบัน

จังหวัดลพบุรี
อำเภอโคกสำโรง ที่ว่าการอำเภอโคกสำโรงนี้ เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325 ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของภูเขาพุคา ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง เรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอพุคา” มณฑลอยุธยา สมัยนั้น ขุนสุรณรงค์ เป็นนายอำเภอ พ.ศ. 2342 ต่อมาสมัยหลวงอนุมานสารกรรม (กลิ่น) เป็นนายอำเภอ พ.ศ. 2342 ได้พิจารณาเห็นว่า สถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเดิมมีพลเมืองน้อย การคมนาคมลำบากมาก จึงได้ย้ายมาตั้งที่ว่าการอำเภอใหม่ อยู่ทางที่ว่าการอำเภอปัจจุบันทางด้านเหนือประมาณ 4 เส้น แต่จะด้วยเหตุใดไม่ปรากฏได้ใช้ชื่ออำเภอว่า “กิ่งอำเภอสระโบสถ์” และยกฐานะเป็นอำเภอในเวลาต่อมา แต่สถานที่ตั้งอยู่บ้านโคกสำโรง ซึ่งปรากฏว่าเป็นศูนย์กลางของพลเมืองที่จะมาติดต่อได้สะดวก ขณะนั้นที่บ้านโคกสำโรงมีราษฎรคนหนึ่ง ชื่อนายติ่ง เป็นคนมีเงิน และมีคนนับถือมากนายติ่งได้ขอแรงราษฏรช่วยกันสร้างที่ว่าการอำเภอโคกสำโรงเป็นอาคารไม้ หลังคาแฝกอำเภอใหม่นี้ย้ายมาสร้างระหว่าง พ.ศ. 2352 และต่อมาประมาณ พ.ศ. 2467 สมัยขุนศรีนฤนาท (เต่า สมชนะ) เป็นนายอำเภอได้ย้ายตัวที่ว่าการอำเภอมาปลูกใหม่ ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอปัจจุบันได้ขอแรงราษฏรหาไม้มาปลูกสร้างและมุงหลังคากระเบื้อง อยู่มาจนปัจจุบันนี้

อำเภอบ้านหมี่  ตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2426 ชื่อเรียกตั้งครั้งแรกว่า อำเภอสนามแจง เนื่องจากตั้งอยู่ที่ริมเขาสนามแจง ต่อมาย้ายไปตั้งอยู่บ้านห้วยแก้ว ตำบลมหาสอน ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ตามที่ตั้งว่า อำเภอห้วยแก้ว
พ.ศ. 2441 มีการสร้างทางรถไฟสายเหนือผ่าน ทางราชการจึงย้ายอำเภอมาสร้างใหม่ที่ตำบลบ้านเซ่า (ตำบลบ้านหมี่ในปัจจุบัน) ได้เปลี่ยนชื่อเรียกอำเภอกลับไปเป็นอำเภอสนามแจงอีก
พ.ศ. 2457 เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบ้านเซ่า ตามตำบลที่ตั้ง
พ.ศ. 2483 มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่ออำเภอจากอำเภอบ้านเซ่าเป็น อำเภอบ้านหมี่ มาจนถึงปัจจุบันนี้
อำเภอบ้านหมี่ มีความหมายมาจากที่ชาวพวน หรือ ไทยพวน ที่อพยพมาจากหัวพันทั้งห้าทั้งหกในประเทศลาวมาตั้งภูมิลำเนาในท้องที่อำเภอนี้ได้นำเอาชื่อบ้าน คือ "บ้านหมี่" หรือ "เซ่า" ติดมาด้วย แล้วนำเอาชื่อบ้านมาตั้งหลักแหล่ง คำว่า เซ่า หรือ เซา เป็นภาษาพวนเดิม หมายถึง หยุดหรือพัก ส่วนคำว่า หมี่ นั้นหมายถึง การมัดเส้นไหมเป็นเปลาะ เพื่อให้มีหลากสีสัน เนื่องจากราษฎรในละแวกนั้นมีความถนัดในการทอผ้าชนิดต่าง ๆ เมื่อมาตั้งหลักแหล่งจึงตั้งชื่อบ้านเป็นเครื่องหมายในการประกอบอาชีพว่า "บ้านหมี่"

จังหวัดนครนายก
อำเภอปากพลี แต่เดิมอำเภอนี้ชื่อว่า อำเภอบุ่งไร่ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2436 ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอหนองโพธิ์ โดยรวมบ้านหนองโพธิ์และบ้านหนองน้ำใหญ่มาตั้งเป็นชื่อสถานที่ราชการ แต่เอาเฉพาะคำว่า "หนองโพธิ์" และในปีเดียวกันได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านท่าแดง ตำบลปากพลี พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น อำเภอเขาใหญ่ เพราะท้องที่ได้ครอบคลุมถึงเขาใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอปากพลี ตามชื่อตำบลที่ตั้ง

อำเภอบ้านนา  แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า อำเภอท่าช้าง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบ้านนา เมื่อปี พ.ศ. 2446 ตามประวัติอำเภอนี้เคยเป็นแขวงเมืองนครนายก ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่านในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยเฉพาะท้องที่อำเภอบ้านนาเคยเป็นที่ตั้งกองโพนช้างหรือกองจับช้างป่าไว้เป็นพาหนะสำคัญในการทำศึกสงครามมาแต่สมัยโบราณ ปรากฏว่ายังมีหลักฐานอยู่ที่บ้านมะเฟือง ตำบลป่าขะ อำเภอบ้านนา ซึ่งในอดีตเมื่อ 30 กว่าปี หมู่บ้านนี้มีชื่อเรียกว่า "โรงช้าง" และยังมีเศษเสาโรงช้างของกรมพาหนะคชบาล เหลือซากอยู่เป็นหลักฐาน แต่ในปัจจุบันเสาโรงช้างได้ชำรุดผุพังไปจนหมดสิ้นแล้ว
อำเภอบ้านนาเคยโอนไปขึ้นอยู่กับจังหวัดสระบุรีครั้งหนึ่ง เนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติยกเลิกจังหวัดนครนายกโดยให้อำเภอต่าง ๆ ไปขึ้นอยู่กับจังหวัดปราจีนบุรี ยกเว้นอำเภอบ้านนาให้ไปขึ้นกับจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดนครนายกขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 อำเภอบ้านนาจึงได้กลับมาขึ้นกับจังหวัดนครนายกจนกระทั่งปัจจุบัน

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อำเภอพระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า อำเภอรอบกรุง จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น อำเภอกรุงเก่าและเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2500 เป็นชื่ออำเภอพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน

อำเภอวังน้อย แต่เดิมชื่ออำเภออุทัยน้อย มีนายอำเภอคนแรกคือ หลวงอุทัยบำรุงรัฐ ต้นตระกูล บุญญานันต์ ซึ่งเป็นสกุลหนึ่งที่ได้รับพระราชทานโดยตรงจากรัชกาลที่ 6








กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 06 ก.ค. 10, 15:36
มาต่อกันอีกครับ
จังหวัดอุตรดิตถ์
อำเภอตรอน ชื่อเดิมของอำเภอตรอน มีชื่อว่า อำเภอเมืองตรอน และเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิชัยเมื่อ พ.ศ. 2430 ตอนนั้นเมืองพิชัยแบ่งการปกครองออกเป็น 5 อำเภอด้วยกันคือ เมืองพิชัย เมืองอุตรดิตถ์ เมืองตรอน เมืองลับแล และเมืองน้ำปาดเมืองตรอนมีชื่อเต็มว่า เมืองตรอนตรีสินธุ์ (ปัจจุบันโรงเรียนมัธยมศึกษาของอำเภอตรอนก็มีชื่อว่า "โรงเรียนตรอนตรีสินธุ์") และที่ว่าการอำเภอก็ตั้งอยู่ตำบลบ้านแก่ง ตรงกับที่กล่าวแล้วในตอนต้น
ในปี พ.ศ. 2457 ได้มีประกาศใช้ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการ อำเภอ ดังนั้นอำเภอเมืองตรอนจึงเปลี่ยนเป็นชื่อเป็น อำเภอบ้านแก่ง ด้วย(ต่อมา พ.ศ. 2475ก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อ อำเภอตรอน จนถึงปัจจุบัน)


 


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ค. 10, 15:45
เพิ่งเดินทางเฉียดอำเภอตรอนเมื่อปลายเดือนที่แล้วนี้เอง

เห็นป้ายชี้ทางไปอำเภอ ยังคุยกับคนในรถเลยว่า

"ไม่เคยได้ยินชื่ออำเภอนี้มาก่อนเลย ชื่อเหมือนภาษาต่างประเทศ"

 :D


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 06 ก.ค. 10, 16:36
มาต่ออีกครับ

จังหวัดนครปฐม
อำเภอกำแพงแสน ได้ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2449 ที่วัดห้วยพระ ตำบลห้วยพระ อำเภอดอนตูม โดยใช้ชื่อว่า อำเภอกำแพงแสน ตั้งตามชื่อเมืองโบราณ ต่อมาได้ปี พ.ศ. 2453 ได้ย้ายที่ตั้งอำเภอใหม่จากวัดห้วยพระไปที่ชายทุ่งสามแก้ว ห่างจากที่ตั้งเดิมไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1.6 กิโลเมตร และได้เปลี่ยนชื่ออำเภอจากเดิมตามชื่อหมู่บ้านว่า อำเภอสามแก้ว ตั้งอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2460 จึงได้กลับมาใช้ชื่อว่า อำเภอกำแพงแสน ตามเดิม เพื่อเป็นการรักษาชื่อเมืองโบราณไว้

อำเภอบางเลน ตั้งขึ้นเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2439 แต่ดั้งเดิมนั้นไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน ที่ว่าการอำเภอเดิมตั้งอยู่ที่บ้านบางไผ่นารถ ใกล้บริเวณวัดบางใผ่นารถ ตำบลบางไทรป่า ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน ใช้ชื่อว่า อำเภอบางไผ่นารถ ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งอยู่ในเขตตำบลบางปลา ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ใช้ชื่อว่า อำเภอบางปลา ภายหลังอำเภอบางปลาแบ่งการปกครองเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลบางปลาและตำบลบางเลนในปี พ.ศ. 2479 ได้ย้ายที่ตั้งอำเภอมาที่ตำบลบางเลน (อยู่บริเวณตลาดเก่าในปัจจุบัน) จึงเปลี่ยนชื่ออำเภอบางปลาเป็น อำเภอบางเลน ครั้นถึง พ.ศ. 2521 หลวงพ่อกิติวุฒโทแห่งจิตตภาวันวิทยาลัย ซื่งเป็นชาวบางเลน ได้มอบที่ดินมรดกของท่านไห้ทางราชการและได้บริจาคเงินก่อสร้างที่ว่าการอำเภอ จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน มาตั้งอยู่ริมถนนพลดำริห์ ในท้องที่หมู่ที่ 8 ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จนกระทั่งปัจจุบัน โดยมี เรือโทกฤษณ์ จินตะเวช ดำรงตำแหน่งนายอำเภอบางเลน ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553

อำเภอสามพราน ในอดีตนั้นมีชื่อเรียกว่า อำเภอตลาดใหม่ ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2439 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสร้างขึ้นในที่ดินของพระยาสุนทรบุรีศรีพิชัยสงครามรามภักดีสุริยะพาหะ (อี้ กรรณสูต) ซึ่งพื้นที่บริเวณนั้นเรียกว่าตลาดใหม่ ในปี พ.ศ. 2458 ได้ย้ายที่ทำการไปสร้างใหม่ในตำบลสามพราน เนื่องจากที่ทำการเดิมคับแคบ ให้บริการประชาชนได้ไม่สะดวก พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอสามพราน ตามชื่อสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของมณฑลนครชัยศรี ต่อมาปี พ.ศ. 2474 ทางราชการยุบมณฑลนครชัยศรีลง อำเภอสามพรานจึงขึ้นอยู่กับเมืองราชบุรีอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2476 ได้ยุบมณฑลทั้งหมดทั่วราชอาณาจักร อำเภอสามพรานจึงได้ขึ้นอยู่กับจังหวัดนครปฐม ตามพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการของราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476

จังหวัดนนทบุรี
อำเภอบางใหญ่ ได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2447 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่กว้างขวางมาก ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชการดูแลไม่ทั่วถึง จึงได้แบ่งเขตการปกครองตำบลบางใหญ่และบางม่วงทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือไปตั้งเป็นกิ่งอำเภอบางแม่นางในปี พ.ศ. 2460 ขึ้นอยู่กับอำเภอบางใหญ่จนถึงปี พ.ศ. 2464 จึงได้ยกฐานะเป็นอำเภอ
ต่อมาอำเภอบางใหญ่ซึ่งกลายเป็นอำเภอทางใต้สุดของจังหวัดนนทบุรีหลังจากการแบ่งเขต มีรูปพื้นที่คล้ายกรวยยื่นออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา คนส่วนใหญ่จึงเรียกว่า "หัวแหลมบางกรวย" กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่ออำเภอตามบริเวณที่ตั้งอำเภอและตามการเรียกของคนสมัยนั้นเป็น อำเภอบางกรวย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พร้อม ๆ กับที่อำเภอบางแม่นางได้เปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอบางใหญ่" แทน

จังหวัดสมุทรปราการ
อำเภอบางบ่อ หมู่บ้านบางบ่อได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2439[3] ในครั้งแรกตั้งที่ว่าการอำเภออยู่ที่บ้านคอลาด (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านทางตอนเหนือของตำบลบางบ่อ) จึงได้ชื่อว่า อำเภอคอลาด แต่เนื่องจากที่ตั้งนี้อยู่ห่างไกลจากตำบลอื่นมาก ประชาชนมาติดต่อราชการไม่สะดวก ในปี พ.ศ. 2443 ทางการจึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางพลี ซึ่งเป็นบริเวณที่มีลำคลองจาก 3 ทางไหลมาบรรจบกัน และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น อำเภอบางเหี้ย ตามลำคลองสำคัญสายหนึ่งของท้องถิ่นซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "คลองด่าน"
ในปี พ.ศ. 2472 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลบางบ่อ แต่ก็ยังใช้ชื่ออำเภอตามเดิม จนกระทั่งในปลายปีถัดมา (พ.ศ. 2473) กระทรวงมหาดไทยจึงเปลี่ยนชื่ออำเภอบางเหี้ยเป็น อำเภอบางบ่อ ตามชื่อตำบลที่ตั้งอำเภอและตามชื่อที่ประชาชนนิยมเรียก และใช้ชื่อนี้ตั้งแต่นั้นมา ส่วนตำบลบางเหี้ยที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอนั้นถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ตำบลคลองด่าน" ในภายหลังเมื่อปี พ.ศ. 2483 เนื่องจากทางการ (สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี) เห็นว่าไม่ไพเราะและไม่เป็นมงคล ครั้นในปี พ.ศ. 2486 จังหวัดสมุทรปราการถูกยุบลงเนื่องจากขณะนั้นเกิดปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อำเภอบางบ่อถูกโอนไปขึ้นกับจังหวัดพระนคร จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2489 ได้มีการจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการขึ้นมาอีกครั้ง อำเภอบางบ่อจึงกลับมาอยู่ในการปกครองของทางจังหวัดจนถึงปัจจุบัน





กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 06 ก.ค. 10, 17:25
มาทางจังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือกันบ้างนะครับ
จังหวัดขอนแก่น
อำเภอมัญจาคีรี เมื่อปีพ.ศ. 2419 ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านสวนหม่อน พ.ศ. 2430 ไปที่ตำบลกุดเค้า แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอกุดเค้า" ตามตำบลที่ตั้ง จึงกลับใช้ชื่อ "มัญจาคีรี" ดังเดิมเมื่อ พ.ศ. 2481

จังหวัดชัยภูมิ
อำเภอภูเขียว ในปี พ.ศ. 2460 ขุนสารกิจคณิตดำรงตำแหน่งนายอำเภอภูเขียว ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอภูเขียวเป็น อำเภอผักปัง เพื่อให้ตรงกับสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอและได้เปลี่ยนใช้ชื่อ "อำเภอภูเขียว" อีกครั้ง
เมื่อปี พ.ศ. 2482 ซึ่งการเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นอำเภอภูเขียวครั้ง


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 07 ก.ค. 10, 10:47
มาต่ออีกครับ
จังหวัดยโสธร
อำเภอเมืองยโสธร ปี พ.ศ. 2443 ได้รวมเข้าอยู่ในบริเวณอุบลราชธานี แล้วแบ่งเป็น 2 อำเภอ เรียกอำเภออุทัยยโสธรและ อำเภอปจิมยโสธร ปี พ.ศ. 2450 เมืองยโสธรถูกยุบลงเพื่อรวมกับจังหวัดอุบลราชธานี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 ทางการได้ย้ายอำเภออุทัยยโสธรไปตั้งที่ตำบลลุมพุก และภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว ส่วนอำเภอปจิมยโสธรซึ่งตั้งอำเภออยู่ในเมืองต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอยโสธร ในปี พ.ศ. 2456
ในปี พ.ศ. 2515 ได้มีการจัดตั้งจังหวัดยโสธรโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 70 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ โดยแยกอำเภอยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุมออกจากจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรวมกันเป็นจังหวัดยโสธรตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2515 และเป็นกำเนิด อำเภอเมืองยโสธร ในปัจจุบัน

เอำเภอมหาชนะชัย นั้นตั้งอยู่บ้านฟ้าหยาด ตำบลฟ้าหยาด กระทรวงมหาดไทยจึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอมหาชนะชัยเป็น อำเภอฟ้าหยาด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2460 จนกระทั่งถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2482 กระทรวงมหาดไทยจึงได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอฟ้าหยาดเป็น "อำเภอมหาชนะชัย" อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2515 อำเภอมหาชนะชัยจึงได้ย้ายไปขึ้นกับจังหวัดยโสธรจนถึงปัจจุบัน



กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 07 ก.ค. 10, 10:52
มาแอบเก็บเกี่ยวความรู้อีกแล้วค่ะ ขอบคุณมากค่ะ
ขอมานั่งรอ ของทางภาคใต้บ้างนะคะ


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 07 ก.ค. 10, 11:52
มาแอบเก็บเกี่ยวความรู้อีกแล้วค่ะ ขอบคุณมากค่ะ
ขอมานั่งรอ ของทางภาคใต้บ้างนะคะ

ใจตรงกันเลยครับ
เช่นอำเภอระเกาะ, อำเภอกลาง, อำเภอมะกรูด


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 07 ก.ค. 10, 12:20
มาต่อกันอีกนะครับ
จังหวัดศรีสะเกษ
อำเภอกันทรลักษ์  เดิมมีชื่อว่า เมืองอุทุมพรพิไสย ขึ้นอยู่กับเมืองขุขันธ์ ตั้งอยู่ที่บ้านกันตวด ตำบลห้วยอุทุมพร ริมเชิงเขาน้ำตก (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลกระสานต์ จังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา) เมื่อ พ.ศ. 2410 ย้ายเมืองอุทุมพรพิไสยจากบ้านตวด มาตั้งอยู่ที่บ้านผือใหม่ (ปัจจุบันบ้านผือใหม่ อยู่ในท้องที่ตำบลเมือง อำเภอกันทรลักษ์) ตั้งเป็น อำเภออุทุมพรพิไสย เมื่อ พ.ศ. 2425 รวมอำเภออุทุมพรพิไสยกับอำเภอกันทรลักษ์ซึ่งอยู่ที่บ้านลาวเดิม (ปัจจุบันเป็นบ้านหลักหิน ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ) เข้าเป็นอำเภอเดียวกันแล้วย้ายไปอยู่ที่บ้านเก่า ตำบลน้ำอ้อม เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอกันทรลักษ์ เมื่อ พ.ศ. 2445 ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์จากบ้านขนาเก่า ไปตั้งที่บ้านผืออีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2460 เปลี่ยนชื่อจากอำเภอกันทรลักษ์เป็น อำเภอน้ำอ้อม เมื่อ พ.ศ. 2480 เปลี่ยนชื่อจากอำเภอน้ำอ้อม เป็น "อำเภอกันทรลักษ์" จนถึงปัจจุบันนี้

อำเภอขุขันธ์ นั้นแต่เดิมเรียกว่าเมืองขุขันธ์โดยในระยะแรก ปกครองแบบจตุสดมภ์ มีเจ้าเมืองปกครอง ถือเป็นหัวเมืองชั้นนอก พ.ศ. 2443 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปการปกครองบ้านเมืองให้เป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหน่วยการปกครองใหม่จากเดิม เป็น “เมือง” “อำเภอ” “ตำบล” และ หมู่บ้าน จากผลการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ทำให้เกิดหน่วยการปกครองที่เรียกว่า “อำเภอ” ขึ้นคือ “อำเภอห้วยเหนือ” ขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ มาจนถึงปลายปี พ.ศ. 2449 ได้มีการย้ายที่ทำการศาลากลางเมืองขุขันธ์ไปตั้งอยู่ที่อำเภอกลางศรีสะเกษ และยังคงใช้นามว่า “ศาลากลางเมืองขุขันธ์” ส่วนอำเภอห้วยเหนือยังคงตั้งอยู่ที่เดิม
* พ.ศ. 2459 ได้มีการเปลี่ยนแปลงนามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ เป็น “จังหวัด” เมืองขุขันธ์ จึงมีนามว่า “จังหวัดขุขันธ์” ส่วนอำเภอห้วยเหนือยังคงใช้นามเดิมและขึ้นต่อจังหวัดขุขันธ์
* พ.ศ. 2481 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนาม “จังหวัดขุขันธ์” เป็นนามจังหวัดศรีสะเกษ และเพื่อรักษาเกียรติประวัติของเมืองขุขันธ์ อันเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอีสานใต้ จึงได้เปลี่ยนนาม “อำเภอห้วยเหนือ” เป็น อำเภอขุขันธ์ ขึ้นต่อจังหวัดศรีสะเกษ มาจนถึงปัจจุบัน

อำเภอราษีไศล
พุทธศักราช 2456 เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอคง โดยเอานามตำบลที่ตั้งเป็นชื่ออำเภอ
พุทธศักราช 2482 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอราษีไศล ตามเดิม เพราะต้องการอนุรักษ์ชื่อเมืองเดิมไว้

อำเภออุทุมพรพิสัย
ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2454 เดิมเรียกว่า อำเภอประจิม โดยมีที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บ้านสำโรงใหญ่ หมู่ที่ 1 ตำบลสำโรง มีพระประชุมชันตุนิกรเป็นนายอำเภอคนแรก
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2457 นายบุญมา ศิลปาระยะ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ได้พิจารณาเห็นว่าบริเวณโดยรอบที่ว่าการอำเภอประจิม มีต้นมะเดื่อขึ้นอยู่จำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอจึงได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอประจิมเป็น อำเภออุทุมพรพิสัย ซึ่งมีความหมายว่า "ถิ่นของต้นมะเดื่อใหญ่"

จังหวัดอุบลราชธานี
อำเภอบุณฑริก  ก่อนยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ เป็นชุมชนเล็ก ๆ เรียกว่า เมืองบัว อยู่ที่ตำบลนาจะหลวย ขึ้นกับอำเภอเดชอุดม โดยมีพระอภัยเป็นเจ้าเมืองปกครอง เมื่อพระอภัยถึงแก่อนิจกรรม ได้แต่งตั้งให้นายใสเป็นเจ้าเมือง ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงบุณฑริกเขตตานุรักษ์" ราวปี พ.ศ. 2402 หลวงบุณฑริกฯ จึงได้ย้ายเมืองไปอยู่ที่บ้านโนนสูง และยังเรียกว่าเมืองบัว ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็น กิ่งอำเภอบุณฑริก เมื่อปี พ.ศ. 2466 มีขุนจิตต์ประศาสตร์ (พุ่ม วนิกุล) เป็นปลัดกิ่ง และได้ย้ายที่ตั้งอำเภอมาอยู่ที่บ้านโพนงาม ฝั่งตะวันออกของลำโดมน้อย จึงเปลี่ยนชื่อเป็น กิ่งอำเภอโพนงาม ภายหลังกลับมาใช้ชื่อกิ่งอำเภอบุณฑริกอีกครั้ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอบุณฑริก

อำเภอตระการพืชผล ในปี พ.ศ. 2452 ทางราชการได้รวมเขตปกครองอำเภอตระการพืชผลกับอำเภอพนานิคมเข้าด้วยกันเป็น อำเภอพนานิคม และได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านขุหลุ ตำบลขุหลุ แต่ยังใช้ชื่อเดิม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตามที่ตั้งเป็น อำเภอขุหลุ เมื่อปี พ.ศ. 2460 ครั้นถึง พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่อไปเป็นอำเภอพนานิคมอีกครั้ง และสุดท้ายเพื่อรักษาความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ ทางการจึงได้เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นอำเภอตระการพืชผลอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2483

อำเภอวารินชำราบ  เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเขตการปกครองเมืองอุบลราชธานี ที่ว่าการอำเภอหลังแรกสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2451 ใช้ชื่อว่า อำเภอทักษิณูปนิคม ผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอคนแรกคือ ท้าวธรรมกิติกา (เป้ย สุวรรณกูฏ) ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2456 สมัยของขุนภูมิพิพัฒน์เขตร์ (แท่ง เหมะนัค) ซึ่งเป็นนายอำเภอคนที่ 2 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานี ข้ามแม่น้ำมูลมาตั้งอยู่ที่บ้านคำน้ำแซบ ตำบลธาตุ แล้วเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น อำเภอวารินชำราบ

ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือคงจะหมดเท่านี้นะครับ ถ้าท่านใดมีเพิ่มเติมมาอีกก็ได้นะครับ


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 12:30
เข้ามาชวนคุย
วารินชำราบ แปลว่าอะไรคะ
(ยังไม่ได้ไปเปิดรอยอินค่ะ)
มีอำเภอหรือตำบลชื่อฟ้าแดดสูงยางหรือเปล่า   เปลี่ยนชื่อแล้วหรือยังคะ


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 07 ก.ค. 10, 13:10
มาภาคตะวันออกกันบ้างนะครับ

จังหวัดฉะเชิงเทรา
อำเภอบ้านโพธิ์  นั้นเริ่มต้นโดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลปราจีน เป็นผู้จัดตั้งอำเภอบ้านโพธิ์ โดยแยกออกมาจากอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2447 ใช้ชื่อว่า อำเภอสนามจันทร์ ตามชื่อหมู่บ้านและตำบลที่ตั้งอำเภอ ที่ว่าการอำเภอสนามจันทร์หลังแรกเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว หลังคามุงด้วยจาก นายอำเภอคนแรกคือขุนประจำจันทเขตต์
และในช่วงต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 และทรงสถาปนาพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นค่ายหลวงสำหรับประชุมและซ้อมรบแบบเสือป่าเพื่อเป็นกำลังร่วมป้องกัน ประเทศ และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมอยู่เนือง ๆ ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าชื่ออำเภอไปพ้องกับชื่อพระราชวังสนามจันทร์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอเขาดิน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนชื่ออำเภอ ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 สมัยขุนเหี้ยมใจหาญ (พงษ์ บุรุษชาติ) เป็นนายอำเภอ
และจึงมีการเปลี่ยนชื่ออำเภออีกครั้งหนึ่งจากเขาดินมาเป็น อำเภอบ้านโพธิ์ ตามชื่อของตำบลที่ตั้งอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2460 (ตามรายงานกิจการจังหวัดประจำปี 2401-2502) สมัยขุนเจนประจำกิจ (ชื้น) เป็นนายอำเภอ

จังหวัดชลบุรี
อำเภอศรีราชา เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบางละมุง เริ่มจากเมืองบางพระนั้นได้ตั้งเป็นอำเภอ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2437 (ร.ศ. 113) เรียกว่า อำเภอบางพระ ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 (ร.ศ. 122) จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้กราบทูลต่อกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ซึ่ง เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลปราจีนบุรี ขอให้ย้ายอำเภอบางพระมาตั้งที่ศรีราชา แต่ยังคงใช้ชื่ออำเภอบางพระเหมือนเดิม ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 (ร.ศ. 136) จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอบางพระมาเป็น อำเภอศรีราชา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีหลวงบุรีรัตถคามบดีเป็นนายอำเภอศรีราชาคนแรก

หมดภาคตะวันออกแล้วครับ
พักเที่ยงเดียวมาต่อครับ


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 07 ก.ค. 10, 13:24
หาคำตอบมาให้อาจารย์เทาชมพู ครับ
อำเภอวารินชำราบ ตามความหมายของชื่อบ้านคำน้ำแซบ    ซึ่งหมายความว่า  หมู่บ้านที่มีน้ำซับน้ำซึม   ที่มีรสอร่อย  และไหลรินอยู่ตลอดเวลา


เมืองฟ้าแดดสูงยาง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอกมลาไสย ฟ้าแดดสงยาง หรือเรียกเพี้ยนไปเป็นฟ้าแดดสูงยาง
เมืองฟ้าแดดสูงยาง นั้นเป็นชื่อของเมืองโบราณที่มีอายุระหว่าง พ.ศ. 1300-1600 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเสมา ตำบลหนองแปน เขตอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 13:32
วารินชำราบ แปลว่าอะไรคะ

มีอำเภอหรือตำบลชื่อฟ้าแดดสูงยางหรือเปล่า   เปลี่ยนชื่อแล้วหรือยังคะ

เสริมคุณวีรชัย

(๑) อำเภอวารินชำราบ : แต่เดิมเป็นหมู่บ้านขึ้นกับเมืองจำปาศักดิ์ ชื่อ "บ้านนากอนจอ" ได้ขอตั้งเป็นเมือง "วารินชำราบ" ปี พ.ศ. ๒๔๒๓ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๔๔๕ ได้ลดฐานะลงเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองเขมราฐ จนมาถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ ทางราชการได้รวมอำเภอทักษิณอุบลกับอำเภอวารินชำรายเข้าด้วยกัน เรียกชื่อว่า "อำเภอวารินชำราบ" จนถึงปัจจุบัน
 
ที่มาของชื่ออำเภอ : พื้นที่ของตัวอำเภอเป็นที่ราบเกือบ ๑๐๐% มีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย รวมทั้งห้วย หนอง คลองบึง ที่มีน้ำใต้ดินไหลซึม ซับดินให้ชุ่มชื่น มีพันธุ์ไม้ขึ้นเขียวชะอุ่มอยู่ตลอดปี (วาริน = น้ำ, ชำ = ชำ, คำ = น้ำที่ไหลขึ้นมาจากใต้ดินโดยธรรมชาติอย่างไม่ขาดสาย, ราบ = ที่ราบ) (ที่มา : นามานุกรมภูมิศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานี สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎอุบลราชธานี)

http://www.lib.ubu.ac.th/html/ub_info/other/name/warin.html


(๒) ฟ้าแดดสูงยาง เป็นชื่อเืมืองโบราณ ระหว่าง พ.ศ. ๑๓๐๐ - ๑๖๐๐ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเสมา ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์  ชื่อเมืองนี้บางทีเรียกเพี้ยนไปเป็นฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกว่า เมืองเสมา เนื่องจากมีผังเมืองรูปร่างคล้ายใบเสมา มีซากอิฐปนดิน คูเมืองสองชั้นมีลักษณะเป็นท้องน้ำที่พอมองเห็น คือพระธาตุยาคู ผังเมืองรูปไข่แบบทวาราวดีแต่มีตัวเมืองสองชั้น เชื่อว่าเกิดจากการขยายตัวเมือง ชาวนามักขุดพบใบเสมาหินทรายมีลวดลายบ้าง ไม่มีบ้าง ที่ขึ้นทะเบียนไว้ทางกรมศิลปากร ๑๓๐ แผ่น พระพิมพ์ดินเผามีลักษณะเป็นอิทธิพลของสกุลช่างคุปตะรุ่นหลัง อายุประมาณ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปี มีอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังพบกล้องยาสูบดินเผาลวดลายอมราวดี ก้านขดเป็นรูปตัวมังกร อายุ ๗,๐๐๐ ปี ที่น่าสนใจคือกล้องยาสูบชนิดเดียวกันแต่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ อายุประมาณ ๕,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ปี ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่ายุคโลหะของสุวรรณภูมิได้เริ่มมาก่อนทุก ๆ แห่งในโลกนี้

http://www.thai-tour.com/thai-tour/northeast/kalasin/data/place/kamalasai.htm




กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 07 ก.ค. 10, 13:36
ภาคตะวันตก
จังหวัดเพชรบุรี
อำเภอเมืองเพชรบุรี เดิมชื่อว่า อำเภอคลองกระแชง ได้รับการจัดตั้งให้เป็นอำเภอเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2446 เนื่องจากสถานที่ตั้งของศูนย์ราชการอยู่ในเขตตำบลคลองกระแชง ในอดีตใช้พื้นที่ของวัดพลับพลาชัยเป็นศูนย์ราชการของอำเภอคลองกระแชง ภายหลังจึงได้มีการย้ายออกจากวัดพลับพลาชัยเนื่องจากพื้นที่ของวัดคับแคบ แต่ก็ไม่ไกลสถานที่เดิมยังในเขตตำบลคลองกระแชงเหมือนเดิม ซึ่งอยู่ตอนกลางของอำเภอเมืองเพชรบุรี ด้านทิศตะวันออกของตำบลติดกับแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นสายน้ำที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชาวเมืองเพชรมายาวนาน การที่อำเภอคลองกระแชงเป็นที่ตั่งศูนย์ราชการของจังหวัดเพชรบุรีจึงได้เปลี ยนชื่อเป็น อำเภอเมืองเพชรบุรี

อำเภอเขาย้อย เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2440 โดยมีหลวงพรหมสารเป็นนายอำเภอคนแรก เดิมที่ว่าการอำเภอตั่งอยู่ที่ตำบลห้วยท่าช้าง จึงได้ชื่ออำเภอว่า อำเภอห้วยท่าช้าง ต่อมาได้ทำการย้ายที่ว่าการอำเภอห้วยท่าช้างไปตั้งอยู่ ณ ตำบลหัวสะพาน จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอหัวสะพาน ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั่งอยู่ ณ หมู่บ้านน้อย จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบ้านน้อย และภายหลังได้เปลี่ยนเป็น อำเภอเขาย้อย จนถึงปัจุจบัน

อำเภอชะอำ นั้นตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 ที่บ้านนายาง หมู่ที่ 3 ตำบลนายาง เดิมใช้ชื่อว่า อำเภอนายาง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2457 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอนายางไปตั้งที่บ้านหนองจอกและเปลี่ยนชื่อเป็นเป็น อำเภอหนองจอก (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอท่ายาง) จนกระทั่งหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา กระทรวงมหาดไทยได้ย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจอกมาตั้งที่ตำบลชะอำเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สะดวกแก่การปกครองและได้เปลี่ยนชื่อเป็น
อำเภอชะอำ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2487 มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

อำเภอท่ายาง ในปี พ.ศ. 2436 ทางราชการได้ตั้งอำเภอขึ้นที่หมู่บ้านวังไคร้ ริมแม่น้ำแม่ประจันต์ ตำบลวังไคร้ เรียกว่า อำเภอแม่ประจันต์ ตั้งอยู่ได้ประมาณ 20 ปี ทางการเห็นว่าอยู่ไกลจากย่านชุมชนจึงได้ย้ายมาตั้งที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่ ที่หมู่ที่ 2 ตำบลยางหย่อง (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 2 ตำบลท่าแลง) และเรียกชื่อว่า อำเภอยางหย่อง ตั้งอยู่ได้นานประมาณ 2 ปี จึงได้ย้ายมาตั้งที่หมู่ที่ 1 บ้านท่ายาง ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีเมื่อราวปี พ.ศ. 2460 แต่ยังเรียกอำเภอยางหย่องตามเดิม จนกระทั่งในราวปี พ.ศ. 2480 จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เรียกว่า อำเภอท่ายาง เพื่อให้ตรงกับหมู่บ้านอันเป็นที่ตั้งจนกระทั่งทุกวันนี้

จังหวัดราชบุรี
อำเภอบ้านโป่ง เป็นอำเภอสำคัญอำเภอหนึ่งในจังหวัดราชบุรี เดิมชื่อ อำเภอท่าผา ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปยังตำบลบ้านโป่งเพื่อให้ใกล้สถานีรถไฟบ้านโป่งมากขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบ้านโป่ง



กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 07 ก.ค. 10, 13:55
แทรกระหว่างพัก ครับ

ชื่ออำเภอที่อาจจะเปลี่ยนไป คือ อ. ปัว จ.น่าน จากเว็บน่านทูเดย์

         จากความคิด นอภ.ปัว(นายกำธร   สุอรุณ) .....ด้วยอำเภอปัวมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลง
                 ชื่ออำเภอปัว  เป็นชื่อ วรนคร   เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นมากับประวัติศาสตร์ดั้งเดิม
ราวพุทธศตวรรษที่ 18  หรือ พ.ศ.1825  ตามตำนานพระญาภูคาครองเมืองย่างได้ขยายอาณาเขตการปกครอง
โดยเลือกพื้นที่ไชยภูมิที่เหมาะสมให้ ขุนฟองที่เป็นโอรสสร้างเมืองใหม่ เมื่อสร้างเสร็จขุนฟองขนานนาม
ว่า"วรนคร"  หมายถึง"เมืองดี"  และความหมายดีกว่าอำเภอปัวที่ยังไม่มีความหมายชัดเจนว่าหมายถึงอะไร...

        เมื่อนานมากนับสิบๆ ปี ครั้งที่จ.น่าน ยังเงียบสงบยิ่ง ชมพูภูคายังไม่เป็นที่ได้ยินยลกัน มีเพื่อนไปรับราชการ
ที่อ.ปัว จ.น่าน ซึ่งสมัยนั้นนับว่าห่างไกลความเจริญมาก
          เพื่อนเล่าว่าคำว่า ปัว นี้มีบางคนสงสัยว่าจะอาจจะมาจากคำภาษาอังกฤษว่า poor


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 14:11
เพื่อนเล่าว่าคำว่า ปัว นี้มีบางคนสงสัยว่าจะอาจจะมาจากคำภาษาอังกฤษว่า poor

หากจะต้องการความหมายของคำว่า “พัว” หรือ “ปัว” แล้วนั้น จะกล่าวไว้อยู่สองประการ คือ

ประการที่หนึ่ง เมื่อยึดตามตัวอักษรแล้ว คือ เมื่อเทียบเคียงกับอักษรไทย คือ พัว โดยที่ออกเสียงเป็น ปัว ตามเสียงไทยวน และภาษาไทดำ ก็ออกเสียงคล้ายปัว เพียงแต่ต่างกันที่โทนเสียงวรรณยุกต์ที่จะผิดแผกกันไปบ้าง ก็คือคำว่า พัว ในภาษาไทย อันแปลว่า ติดกัน ส่วนมากจะพบเป็น พัวพัน อันแปลคล้าย ๆ กันคือ ต่อเนื่องกัน

ฉะนั้นเมืองปัว ใน ณ ที่นี้ก็แปลได้ว่า เมืองที่ติดกัน หรือเกี่ยวเนื่องกัน หากจะพิจารณาตามตำแหน่งของเมืองแล้ว ก็อาจจะตีความว่า เป็นเมืองที่ติดกันกับเมืองย่างก็ได้อีกทางหนึ่ง ด้วยคราวทางไม่ห่างกันมากนัก ดังปรากฏในหนังสือคราวทางเมืองน่านว่า “...ย่างไปฅว่าง ๕๐๐๐ ฅว่างไปพัว ๓๐๐๐...”  โดยที่เมือง ฅว่างนั้นสร้างในสมัยพระญาผานองที่สร้างให้กับเจ้าอามป้อม

ประการที่สอง คือเป็นคำเก่าแก่ของดินแดนแห่งนี้ ทั้งเป็นชื่อแม่น้ำ และเป็นชื่อเมืองในภาษาตระกูลไทแล้ว อาจยังเป็นคำของ กลุ่มไทกาว ก็เป็นได้ ด้วยกลุ่มไทกาว นั้นเป็นชนพื้นเมืองของเมืองน่านไปตลอดถึงหลวงพระบาง โดยตำนานต่างเมืองก็มักจะเรียกผู้ปกครองเมืองปัวตลอดถึงเมืองน่านว่าพระญา กาว อันกลุ่มไทกาวนี้ในเมืองน่านได้สูญหายและผสมกลมกลืนไปกับกลุ่มชาวไทยวนไป ทั้งหมดทั้งสิ้น อันจะเหลือแต่ท่วงทำนองซอล่องน่านที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน และอาจจะรวมถึงคำว่า “ปัว” อีกคำหนึ่งก็เป็นได้ ถ้าหากเป็นคำในกลุ่มไทกาวแล้ว ก็นับว่าควรจะรักษาไว้เป็นอย่างยิ่งเพราะทุกวันนี้นอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็ไม่มีอะไรจะสืบไปถึงไทกาวน่านแต่ดั้งเดิมได้อีกแล้ว

เมืองปัวนี้เป็นเมืองดี โดย สลุงเงิน
http://www.pua108.com/smf/index.php?topic=1022.0



กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 07 ก.ค. 10, 14:37
ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูที่เข้ามาช่วยเสริมครับ ถ้าผมตกในส่วนใหนขออาจารย์ช่วยเสริมด้วยนะครับ

ขอต่อภาคใต้ครับ
จังหวัดกระบี่
อำเภอเกาะลันตา เมื่อปีพ.ศ. 2444 ได้ยกฐานะเป็นอำเภอเกาะลันตา ต่อมา พ.ศ. 2460 เปลื่ยนชื่อเป็น อำเภอเกาะลานตา ซึ่งทำเนียบกระทรวงมหาดไทย หมายถึง มองดูยาวเป็นพืดดูลานตา และปี พ.ศ. 2480 เปลี่ยนเป็น อำเภอเกาะลันตา ดังเดิม

จังหวัดตรัง
อำเภอเมืองตรัง ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สินธุ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้ทูลขอย้ายเมืองมาตั้งอยู่ ณ ตำบลทับเที่ยง โดยให้ชื่อว่า อำเภอบางรัก และต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอทับเที่ยง ในปี พ.ศ. 2459

อำเภอปะเหลียน ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง เมื่อ พ.ศ. 2341 เรียกว่า เมืองปะเหลียน เจ้าเมืองปะเหลียนคนสุดท้ายคือพระปริยันต์เกษตรานุรักษ์ เท่าที่มีหลักฐานปรากฏตัวเมืองครั้งแรกตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลปะเหลียนในปัจจุบัน ต่อมาได้ย้ายไปตั้งบริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลท่าพญาในปัจจุบันเมื่อประมาณ พ.ศ. 2430 ในปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า เมืองปะเหลียนทรุดโทรมมาก จึงยุบให้เป็นแขวงขึ้นตรงกับเมืองตรัง และในปี พ.ศ. 2438 ได้จัดตั้งที่ว่าการอำเภอเป็นครั้งแรกที่ตำบลท่าพญา ใช้ชื่อว่า อำเภอท่าพญา ครั้นได้จัดรูปแบบอำเภอขึ้นตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ เมื่อ พ.ศ. 2440 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านหยงสตาร์ ตำบลท่าข้าม ในปี พ.ศ. 2460 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอหยงสตาร์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอปะเหลียน ตามชื่อเดิมจวบจนปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อรักษาประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองปะเหลียนไว้ ขณะนี้อำเภอปะเหลียนได้ก่อตั้งมาครบ108 ปี นับว่าเป็นอำเภอเก่าแก่อำเภอหนึ่งในจังหวัดตรัง

อำเภอห้วยยอด  ปี พ.ศ. 2430 ได้รวมท้องที่บ้างส่วนของเมืองนครศรีธรรมราชทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตรังเป็น อำเภอเขาขาว ขึ้น โดยตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลเขาขาว ต่อมาจึงได้ย้ายที่ทำการอำเภอมาตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำพราย ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอในปัจจุบันนี้ แต่ยังเป็นชื่ออำเภอเขาขาว ต่อมาได้แยกพื้นที่ตำบลน้ำพรายบริเวณที่ตั้งที่ว่าการอำเภอออกมาตั้งเป็น ตำบลใหม่ ให้ชื่อว่า "ตำบลห้วยยอด" ดังนั้นในปี พ.ศ. 2455 จึงเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น อำเภอห้วยยอด เพื่อให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ในปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเขาขาวอีกครั้ง และในปี พ.ศ. 2482 จึงได้เปลี่ยนมาเป็นอำเภอห้วยยอดจนกระทั่งปัจจุบัน

จังหวัดนครศรีธรรมราช
อำเภอท่าศาลา มีนายเจริญเป็นนายอำเภอคนแรกเมื่อ ร.ศ. 116 จนถึง พ.ศ. 2459 จึงได้เปลี่ยนชื่อเดิมจาก "อำเภอกลาย" มาเป็น อำเภอท่าศาลา จนถึงปัจจุบัน

อำเภอทุ่งใหญ่ เดิมมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอขึ้นกับอำเภอทุ่งสง ชื่อ " กิ่งอำเภอกุแหระ" ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.2449 ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่บ้านบางปรนหมู่ที่ 2 ต.กุแหระ (ปัจจุบันเป็นหมู่ 1 ตำบลกรุงหยัน) ต่อมาปี พ.ศ.2452 ได้ย้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอมาตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ต.ท่ายาง และได้เปลี่ยนชื่อจากกิ่งอำเภอกุแหระ เป็นกิ่งอำเภอท่ายางตามชื่อของ ตำบลท่ายาง ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอใหม่ และมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอมาเป็นเวลา 53 ปี เมื่อยกฐานะเป็นอำเภอก็ใช้ชื่อว่า " อำเภอท่ายาง " ตามชื่อของกิ่งอำเภอเดิม แต่ปรากฎว่าชื่อนี้ไปพ้องกับชื่อของอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งตั้งเป็นอำเภอมาก่อน ต่อมาทางราชการไปเปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่ จากอำเภอท่ายาง มาเป็น " อำเภอทุ่งใหญ่" เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2504 ซึ่งชื่อที่เปลี่ยนนี้เป็นชื่อของตำบลหนึ่งในเขตการปกครองของอำเภอทุ่งใหญ่ คือตำบลทุ่งใหญ่ ต่อมาได้ย้ายที่ทำการใหม่ มาตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 6 ต.ท่ายาง คือ สถานที่ปัจจุบัน รวมเวลาที่เป็นกิ่งอำเภอและอำเภอถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 100 ปี

อำเภอปากพนัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดปกครองท้องที่ให้มีมณฑลเทศาภิบาลใน ร.ศ. 114 อำเภอปากพนังมีชื่อว่า อำเภอเบี้ยซัด หมายถึง ที่คลื่นซัดเอาหอยเบี้ยจากทะเล ซึ่งสมัยโบราณใช้หอยเบี้ยเป็นเงินตราแลกเปลี่ยนสินค้า และในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2445 ได้มีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนชื่ออำเภอเบี้ยซัดเป็น อำเภอปากพนัง

เดียวมาต่อนะครับ


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 07 ก.ค. 10, 14:46
แวะมาให้กำลังใจค่ะ ขอบคุณค่ะสำหรับเกร็ดความรู้ดีๆ


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 15:05
ชื่ออำเภอต่างๆนี้น่าเพลิดเพลินอยู่อีกอย่างคือหาคำแปล   เป็นงานอดิเรกที่พวกทำงานด้านภาษาชอบเล่นกัน
ขอบคุณทุกท่านสำหรับคำตอบค่ะ   เดี๋ยวจะหามาให้อีก
บางชื่อก็รู้ว่ามาจากภาษาอื่น  ถ้าพอรู้ศัพท์ในภาษานั้นก็พอเดาความหมายได้   บางชื่อเปลี่ยนแล้วรู้ความหมาย บางชื่อเปลี่ยนแล้วยิ่งไม่รู้หนักเข้าไปอีก  เช่นเบี้ยซัด เปลี่ยนเป็นปากพนัง    พนัง แปลว่าอะไร
ชอบไปพักที่ชะอำ   แต่ไม่เคยรู้เลยว่าชะอำแปลว่าอะไร


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 15:19
คุณวิกกี้บอกว่า ชะอำ มาจากคำว่า ชะอาน (ม้า) http://th.wikipedia.org/wiki/เทศบาลเมืองชะอำ (http://th.wikipedia.org/wiki/เทศบาลเมืองชะอำ)

เชื่อหรือไม่ ?

 ???


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 07 ก.ค. 10, 17:22
มาต่อครับ

จังหวัดนราธิวาส
อำเภอแว้ง เดิมชื่อ อำเภอโต๊ะโมะ ตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2445 ตั้งที่ว่าการอยู่ที่หมู่ที่ 3 บ้านโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน แต่เดิมเป็นถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมต้องใช้ช้างและเท้า ราษฎรไทยและต่างประเทศมาตั้งบ้านเรือนเพื่อขุดแร่ทองคำจำนวนมาก คำว่า "โต๊ะโมะ" เป็นคำในภาษามลายู แปลว่า ตำ ทิ่ม หรือกระแทก

อำเภอสุคิริน เดิมเคยเป็นกิ่งอำเภอหนึ่งที่ได้จัดตั้งขึ้น พ.ศ. 2474 ชื่อ "กิ่งอำเภอปาโจ" ขึ้นกับอำเภอโต๊ะโมะ (อำเภอแว้งในปัจจุบัน) กิ่งอำเภอนี้จัดตั้งเพราะมีชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาขอสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำ บริเวณเทือกเขาลีซอ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลโต๊ะโมะ มีราษฎรอพยพเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก ทางราชการจึงได้พิจารณาจัดตั้งกิ่งอำเภอนี้ขึ้นมาเพื่อสะดวกในการปกครอง ดูแลผลประโยชน์ของทางราชการในการจัดเก็บภาษีอากรและให้บริการประชาชน โดยแบ่งเขตการปกครองเป็น 2ตำบล คือ ตำบลโต๊ะโมะ และตำบลมาโมง และเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2529 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอสุคิริน เป็นอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส จนถึงปัจจุบัน

จังหวัดปัตตานี
อำเภอโคกโพธิ์ ยกฐานะเป็นอำเภอแยกจากอำเภอหนองจิกเป็นอำเภอใหม่ มีชื่อว่า อำเภอเมืองเก่า ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 บ้านนาเกตุ ตำบลมะกรูด ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอมะกรูด ตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ
และปี พ.ศ. 2482 ได้เปลื่ยนชื่อจากอำเภอมะกรูดมาเป็น อำเภอโคกโพธิ์ ตามชื่อของตำบลของอำเภอโคกโพธิ์จนปัจจุบันมีอายุถึง 97 ปี

จังหวัดพัทลุง
อำเภอควนขนุน  เดิมเรียกว่า อำเภออุดร จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2439 หรือ ร.ศ. 115 มีพระพลสงคราม (โต ศิริธร) เป็นนายอำเภอคนแรก ต่อมาภายหลังเป็นพระยาศิริธรเทพสัมพันธ์ เจ้ากรมเสมียนตรา อำเภอตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลควนขนุน และได้ย้ายที่ตั้งอีกจำนวน 4 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2442 ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านมะกอกใต้ เรียกว่า อำเภอมะกอกใต้ ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2450 ย้ายไปที่บ้านทะเลน้อย เรียก อำเภอทะเลน้อย ครั้งที่ 3 ไม่ปรากฏปี พ.ศ. ย้ายไปที่บ้านพนางตุง เรียก อำเภอพนางตุง และครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2466 ย้ายกลับมาตั้งที่เดิมคือที่บ้านควนขนุน เรียกว่า อำเภอควนขนุน มาจนถึงปัจจุบัน

อำเภอศรีนครินทร์ ท้องที่อำเภอศรีนครินทร์เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเมืองพัทลุง ทางราชการได้แบ่งพื้นที่การปกครองออกมาตั้งเป็น กิ่งอำเภอชุมพล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[1] จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ปีเดียวกัน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จึงมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็น อำเภอศรีนครินทร์ โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน

จังหวัดภูเก็ต
อำเภอเมืองภูเก็ต เดิมอำเภอเมืองภูเก็ตนั้นมีชื่อว่า อำเภอทุ่งคา แต่ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอเมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481

จังหวัดสงขลา
อำเภอนาทวี  เป็นอำเภอในจังหวัดสงขลา แยกมาเป็นกิ่งอำเภอจากหัวเมืองจะนะ และตั้งเป็นอำเภอนาทวี เมื่อปี พ.ศ. 2499 เป็นที่ตั้งของศาลจังหวัดนาทวีที่มีพื้นที่อำนาจศาลคลอบคลุมอำเภอนาทวี สะเดา สะบ้าย้อย เทพา และจะนะ

จังหวัดสงขลา
อำเภอหาดใหญ่   ชุมชนหาดใหญ่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทางราชการต้องยกฐานะให้บ้านหาดใหญ่เป็นอำเภอ มีชื่อว่า อำเภอเหนือ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอเหนือเป็น อำเภอหาดใหญ่ และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอชั้นเอก

จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี  อำเภอบ้านดอน เป็นอีกชื่อหนึ่งของอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี

อำเภอคีรีรัฐนิคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมณฑลปักษ์ใต้ ประทับแรมที่ตำหนักสวนสราญรมย์ควนท่าข้าม อำเภอพุนพิน ทอดพระเนตรเห็นประชาชนพลเมืองมีกิริยามารยาทเรียบร้อย ประกอบกับได้ทรงทราบจากผู้ปกครองบ้านเมืองว่าประชาชนตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เคารพหนักแน่นในพระพุทธศาสนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยาเป็น "เมืองสุราษฎร์ธานี" อันแปลว่า "เมืองคนดี" เปลี่ยนชื่อมณฑลชุมพรเป็น "มณฑลสุราษฎร์" และเปลี่ยนชื่ออำเภอคีรีรัฐนิคมเป็น อำเภอท่าขนอน เพื่อให้ตรงกับตำบลที่ตั้งอำเภอซึ่งเป็นด่านเก็บภาษี ด่านนี้เก็บภาษีจากสินค้าซึ่งเข้ามาทางจังหวัดพังงา ตะกั่วป่า และภูเก็ต ผ่านมาทางภูเขาแล้วล่องมาตามลำน้ำคลองพุมดวงเข้าไปยังอำเภอต่าง ๆ ตามชายฝั่งทะเลหรือริมทางรถไฟ ชื่อของอำเภอจึงใช้ "ท่าขนอน" ตั้งแต่นั้นมา  จนถึง พ.ศ. 2504 รัฐบาลสมัยนั้นเห็นว่า ชื่ออำเภอที่ใช้อยู่นี้ไม่ถูกต้องตามสภาพพื้นที่ เพื่อให้ถูกต้องตามความเหมาะสมกับสภาพท้องที่และเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติ แห่งท้องที่จึงประกาศใช้ชื่ออำเภอว่า อำเภอคีรีรัฐนิคม ในรัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยุบมณฑลสุราษฎร์และให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดอื่น ๆ ที่เคยขึ้นกับมณฑลสุราษฎร์ไปขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาราชการได้ยุบมณฑลทั่วราชอาณาจักร จังหวัดสุราษฎร์ธานีนี้ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย อำเภอคีรีรัฐนิคมจึงขึ้นต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานีจนถึงปัจจุบัน

อำเภอพนม  แต่เดิมอำเภอพนมมีชื่อเรียกว่า อำเภอชะอุ่น เป็นอำเภอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2433 ตั้งอยู่ฝั่งขวาของคลองชะอุ่น การปกครองขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีหลวงปราบประทุษราษฎร์เป็นนายอำเภอคนแรก ตามประวัติกล่าวไว้ว่าเหตุที่ตั้งเมืองนั้น เพราะบริเวณหัวแคว้นด้านนี้ชุกชุมไปด้วยอันธพาล ทางการจึงก่อตั้งเป็นอำเภอเพื่อปราบอันธพาลนั่นเอง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2441 ทางราชการได้แบ่งการปกครองเป็นมณฑล จึงย้ายอำเภอชะอุ่นมาขึ้นกับมณฑลชุมพร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2453 อำเภอชะอุ่นได้ถูกลดฐานะเป็นกิ่งอำเภอชื่อว่า กิ่งอำเภอปากพนม โดยมีขุนพนมธนารักษ์ ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอคนแรก ในที่สุดคำว่า "ปาก" ได้หายไปเหลือเพียงชื่อว่า กิ่งอำเภอพนม แล้วได้ยกฐานะเป็น อำเภอพนม อีกครั้งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

อำเภอบ้านนาสาร มื่อ ร.ศ. 118 ทางราชการได้รวมตำบลพ่วงพรหมคร ตำบลทุ่งหลวง ตำบลท่าชี ตำบลนาสาร ตำบลบ้านนา และตำบลลำพูน ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ เรียกว่า “อำเภอลำพูน” ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลบ้านนา (ปัจจุบันอำเภอบ้านนาเดิม) การปกครองขึ้นตรงต่อมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาทางราชการได้ย้ายศาลาที่ว่ามณฑลชุมพร มาตั้งที่เมืองสุราษฏร์ธานีและพิจารณาเห็นว่า อำเภอลำพูนตั้งอยู่ห่างไกลจากมณฑลนครศรีธรรมราช ไม่สะดวกแก่การปกครอง จึงได้โอนมาขึ้นกับเมืองสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2461 ได้เปลี่ยนชื่อ “อำเภอลำพูน” เป็น “อำเภอบ้านนา” ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ และในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2465 โอนตำบลกรูดจากอำเภอท่าโรงช้าง ตำบลพ่วงพรหมคร และตำบลเคียนซา จากอำเภอพระแสงมาขึ้นกับอำเภอบ้านนาในปี พ.ศ. 2494 ได้โอนตำบลกรูดไปขึ้นกับอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอบ้านนามาตั้งที่ตำบลนาสาร เนื่องจากที่ตั้งที่ว่าการอำเภอไม่อยู่ในศูนย์กลางของพื้นที่การปกครอง ประชาชนไม่สะดวกในการติดต่อราชการและได้เปลี่ยน “อำเภอบ้านนา” ให้สอดคล้องกับตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ “อำเภอบ้านนาสาร” จนกระทั่งปัจจุบัน

อำเภอบ้านนาเดิม นั้นเดิมชื่ออำเภอลำพูน มี 7 ตำบล คือ บ้านนา ท่าเรือ กอบแกบ ทุ่งเตา อิปัน พระแสง และพนม ตั้งขึ้นจากการจัดระเบียบการปกครองแผ่นดินในส่วนภูมิภาค ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) ได้แยกตำบลอิปัน พนม และพระแสง ไปตั้งเป็นอำเภอพระแสง และกิ่งอำเภอพนม แล้วโอนตำบลเวียงสระ ทุ่งหลวง ท่าชี และนาสารมาขึ้นกับอำเภอลำพูน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2460 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอลำพูนเป็นอำเภอบ้านนา โดยเห็นว่าตัวที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านนา วันที่ 1 กรกฎาคม 2481 ทางราชการได้ย้ายตัวที่ว่าการอำเภอบ้านนาไปตั้งที่ตำบลนาสารแล้วตั้งชื่อ ใหม่ว่าอำเภอบ้านนาสาร ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2482 เป็นต้นมา วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2519 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอบ้านนาเดิมขึ้น มา โดยแยกท้องที่อำเภอบ้านนาสารมา 2 ตำบล คือ ตำบลบ้านนา และตำบลท่าเรือ โดยใช้สถานที่วัดทองประธานเป็นที่ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราว ต่อมาได้มีการแบ่งเขตการปกครองออกอีก 2 ตำบล คือ ตำบลทรัพย์ทวี แยกมาจากตำบลท่าเรือ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2525 ตำบลนาใต้ แยกมาจากตำบลบ้านนา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 วันที่ 21 พฤษภาคม 2533 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า 1 เล่ม 107 ตอน 83 ยกฐานะกิ่งอำเภอบ้านนาเดิม
เป็นอำเภอบ้านนาเดิม

จังหวัดยะลา
อำเภอเบตง  เดิมพื้นที่ที่เป็นอำเภอเบตงขึ้นอยู่กับเมืองรามันซึ่งเป็น 1 ใน 7 หัวเมืองของมณฑลปัตตานี ต่อมาในปี พ.ศ. 2411 ได้ตั้งขึ้นเป็นอำเภอ ชื่อว่า อำเภอยะรม (ตั้งอยู่บ้านฮางุส หมู่ที่ 1 ตำบลเบตง) แบ่งการปกครองออกเป็น 6 ตำบล คือ ตำบลเบตง ตำบลยะรม ตำบลอิตำ ตำบลโกรเน ตำบลบาโลน และตำบลเซะ (โกร๊ะ) ต่อมาอีก 21 ปี ในปี พ.ศ. 2473 สมัยที่พระพิชิตบัญชาการเป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอจากบ้านฮางุส หมู่ที่ 1 ตำบลเบตง มาตั้งอยู่ที่บ้านกำปงมัสยิด หมู่ที่ 6 ตำบลเบตง พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อจาก "อำเภอยะรม" เป็น อำเภอเบตง ซึ่งเป็นภาษามาเลย์ มีความหมายว่า "ไม้ไผ่" (ที่ว่าการอำเภอหลังเก่าตั้งอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรเบตงปัจจุบัน) และในปี พ.ศ. 2481 ได้ตั้งตำบลตาเนาะแมเราะ ปี พ.ศ. 2482 ได้ยุบตำบลฮาลาไปรวมกับตำบลอัยเยอร์เวง รวมทั้งได้ประกาศตั้งเทศบาลตำบลเบตงโดยครอบคลุมพื้นที่ตำบลเบตงทั้งหมด

อำเภอบันนังสตาเดิมชื่อว่า อำเภอบาเจาะ

ผมว่าน่าจะหมดแล้วนะครับ
ข้อมูลทั้งหมดทั้งปวงนี้ผมหาและอ่านจาก http://th.wikipedia.org/wiki/จังหวัดในประเทศไทย





กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 08 ก.ค. 10, 08:11
มาต่อครับ

จังหวัดนราธิวาส
อำเภอแว้ง เดิมชื่อ อำเภอโต๊ะโมะ ตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2445 ตั้งที่ว่าการอยู่ที่หมู่ที่ 3 บ้านโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน แต่เดิมเป็นถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมต้องใช้ช้างและเท้า ราษฎรไทยและต่างประเทศมาตั้งบ้านเรือนเพื่อขุดแร่ทองคำจำนวนมาก คำว่า "โต๊ะโมะ" เป็นคำในภาษามลายู แปลว่า ตำ ทิ่ม หรือกระแทก

อำเภอสุคิริน เดิมเคยเป็นกิ่งอำเภอหนึ่งที่ได้จัดตั้งขึ้น พ.ศ. 2474 ชื่อ "กิ่งอำเภอปาโจ" ขึ้นกับอำเภอโต๊ะโมะ (อำเภอแว้งในปัจจุบัน) กิ่งอำเภอนี้จัดตั้งเพราะมีชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาขอสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำ บริเวณเทือกเขาลีซอ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลโต๊ะโมะ มีราษฎรอพยพเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก ทางราชการจึงได้พิจารณาจัดตั้งกิ่งอำเภอนี้ขึ้นมาเพื่อสะดวกในการปกครอง ดูแลผลประโยชน์ของทางราชการในการจัดเก็บภาษีอากรและให้บริการประชาชน โดยแบ่งเขตการปกครองเป็น 2ตำบล คือ ตำบลโต๊ะโมะ และตำบลมาโมง และเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2529 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอสุคิริน เป็นอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส จนถึงปัจจุบัน
จังหวัดปัตตานี
อำเภอโคกโพธิ์ ยกฐานะเป็นอำเภอแยกจากอำเภอหนองจิกเป็นอำเภอใหม่ มีชื่อว่า อำเภอเมืองเก่า ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 บ้านนาเกตุ ตำบลมะกรูด ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอมะกรูด ตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ
และปี พ.ศ. 2482 ได้เปลื่ยนชื่อจากอำเภอมะกรูดมาเป็น อำเภอโคกโพธิ์ ตามชื่อของตำบลของอำเภอโคกโพธิ์จนปัจจุบันมีอายุถึง 97 ปี

จังหวัดพัทลุง
อำเภอควนขนุน  เดิมเรียกว่า อำเภออุดร จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2439 หรือ ร.ศ. 115 มีพระพลสงคราม (โต ศิริธร) เป็นนายอำเภอคนแรก ต่อมาภายหลังเป็นพระยาศิริธรเทพสัมพันธ์ เจ้ากรมเสมียนตรา อำเภอตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลควนขนุน และได้ย้ายที่ตั้งอีกจำนวน 4 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2442 ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านมะกอกใต้ เรียกว่า อำเภอมะกอกใต้ ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2450 ย้ายไปที่บ้านทะเลน้อย เรียก อำเภอทะเลน้อย ครั้งที่ 3 ไม่ปรากฏปี พ.ศ. ย้ายไปที่บ้านพนางตุง เรียก อำเภอพนางตุง และครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2466 ย้ายกลับมาตั้งที่เดิมคือที่บ้านควนขนุน เรียกว่า อำเภอควนขนุน มาจนถึงปัจจุบัน

อำเภอศรีนครินทร์ ท้องที่อำเภอศรีนครินทร์เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเมืองพัทลุง ทางราชการได้แบ่งพื้นที่การปกครองออกมาตั้งเป็น กิ่งอำเภอชุมพล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[1] จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ปีเดียวกัน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จึงมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็น อำเภอศรีนครินทร์ โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน

จังหวัดภูเก็ต
อำเภอเมืองภูเก็ต เดิมอำเภอเมืองภูเก็ตนั้นมีชื่อว่า อำเภอทุ่งคา แต่ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอเมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481

จังหวัดสงขลา
อำเภอนาทวี  เป็นอำเภอในจังหวัดสงขลา แยกมาเป็นกิ่งอำเภอจากหัวเมืองจะนะ และตั้งเป็นอำเภอนาทวี เมื่อปี พ.ศ. 2499 เป็นที่ตั้งของศาลจังหวัดนาทวีที่มีพื้นที่อำนาจศาลคลอบคลุมอำเภอนาทวี สะเดา สะบ้าย้อย เทพา และจะนะ

จังหวัดสงขลา
อำเภอหาดใหญ่   ชุมชนหาดใหญ่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทางราชการต้องยกฐานะให้บ้านหาดใหญ่เป็นอำเภอ มีชื่อว่า อำเภอเหนือ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอเหนือเป็น อำเภอหาดใหญ่ และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอชั้นเอก

จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี  อำเภอบ้านดอน เป็นอีกชื่อหนึ่งของอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี

อำเภอคีรีรัฐนิคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมณฑลปักษ์ใต้ ประทับแรมที่ตำหนักสวนสราญรมย์ควนท่าข้าม อำเภอพุนพิน ทอดพระเนตรเห็นประชาชนพลเมืองมีกิริยามารยาทเรียบร้อย ประกอบกับได้ทรงทราบจากผู้ปกครองบ้านเมืองว่าประชาชนตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เคารพหนักแน่นในพระพุทธศาสนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยาเป็น "เมืองสุราษฎร์ธานี" อันแปลว่า "เมืองคนดี" เปลี่ยนชื่อมณฑลชุมพรเป็น "มณฑลสุราษฎร์" และเปลี่ยนชื่ออำเภอคีรีรัฐนิคมเป็น อำเภอท่าขนอน เพื่อให้ตรงกับตำบลที่ตั้งอำเภอซึ่งเป็นด่านเก็บภาษี ด่านนี้เก็บภาษีจากสินค้าซึ่งเข้ามาทางจังหวัดพังงา ตะกั่วป่า และภูเก็ต ผ่านมาทางภูเขาแล้วล่องมาตามลำน้ำคลองพุมดวงเข้าไปยังอำเภอต่าง ๆ ตามชายฝั่งทะเลหรือริมทางรถไฟ ชื่อของอำเภอจึงใช้ "ท่าขนอน" ตั้งแต่นั้นมา  จนถึง พ.ศ. 2504 รัฐบาลสมัยนั้นเห็นว่า ชื่ออำเภอที่ใช้อยู่นี้ไม่ถูกต้องตามสภาพพื้นที่ เพื่อให้ถูกต้องตามความเหมาะสมกับสภาพท้องที่และเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติ แห่งท้องที่จึงประกาศใช้ชื่ออำเภอว่า อำเภอคีรีรัฐนิคม ในรัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยุบมณฑลสุราษฎร์และให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดอื่น ๆ ที่เคยขึ้นกับมณฑลสุราษฎร์ไปขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาราชการได้ยุบมณฑลทั่วราชอาณาจักร จังหวัดสุราษฎร์ธานีนี้ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย อำเภอคีรีรัฐนิคมจึงขึ้นต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานีจนถึงปัจจุบัน

อำเภอพนม  แต่เดิมอำเภอพนมมีชื่อเรียกว่า อำเภอชะอุ่น เป็นอำเภอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2433 ตั้งอยู่ฝั่งขวาของคลองชะอุ่น การปกครองขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีหลวงปราบประทุษราษฎร์เป็นนายอำเภอคนแรก ตามประวัติกล่าวไว้ว่าเหตุที่ตั้งเมืองนั้น เพราะบริเวณหัวแคว้นด้านนี้ชุกชุมไปด้วยอันธพาล ทางการจึงก่อตั้งเป็นอำเภอเพื่อปราบอันธพาลนั่นเอง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2441 ทางราชการได้แบ่งการปกครองเป็นมณฑล จึงย้ายอำเภอชะอุ่นมาขึ้นกับมณฑลชุมพร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2453 อำเภอชะอุ่นได้ถูกลดฐานะเป็นกิ่งอำเภอชื่อว่า กิ่งอำเภอปากพนม โดยมีขุนพนมธนารักษ์ ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอคนแรก ในที่สุดคำว่า "ปาก" ได้หายไปเหลือเพียงชื่อว่า กิ่งอำเภอพนม แล้วได้ยกฐานะเป็น อำเภอพนม อีกครั้งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

อำเภอบ้านนาสาร มื่อ ร.ศ. 118 ทางราชการได้รวมตำบลพ่วงพรหมคร ตำบลทุ่งหลวง ตำบลท่าชี ตำบลนาสาร ตำบลบ้านนา และตำบลลำพูน ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ เรียกว่า “อำเภอลำพูน” ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลบ้านนา (ปัจจุบันอำเภอบ้านนาเดิม) การปกครองขึ้นตรงต่อมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาทางราชการได้ย้ายศาลาที่ว่ามณฑลชุมพร มาตั้งที่เมืองสุราษฏร์ธานีและพิจารณาเห็นว่า อำเภอลำพูนตั้งอยู่ห่างไกลจากมณฑลนครศรีธรรมราช ไม่สะดวกแก่การปกครอง จึงได้โอนมาขึ้นกับเมืองสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2461 ได้เปลี่ยนชื่อ “อำเภอลำพูน” เป็น “อำเภอบ้านนา” ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ และในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2465 โอนตำบลกรูดจากอำเภอท่าโรงช้าง ตำบลพ่วงพรหมคร และตำบลเคียนซา จากอำเภอพระแสงมาขึ้นกับอำเภอบ้านนาในปี พ.ศ. 2494 ได้โอนตำบลกรูดไปขึ้นกับอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอบ้านนามาตั้งที่ตำบลนาสาร เนื่องจากที่ตั้งที่ว่าการอำเภอไม่อยู่ในศูนย์กลางของพื้นที่การปกครอง ประชาชนไม่สะดวกในการติดต่อราชการและได้เปลี่ยน “อำเภอบ้านนา” ให้สอดคล้องกับตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ “อำเภอบ้านนาสาร” จนกระทั่งปัจจุบัน

อำเภอบ้านนาเดิม นั้นเดิมชื่ออำเภอลำพูน มี 7 ตำบล คือ บ้านนา ท่าเรือ กอบแกบ ทุ่งเตา อิปัน พระแสง และพนม ตั้งขึ้นจากการจัดระเบียบการปกครองแผ่นดินในส่วนภูมิภาค ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) ได้แยกตำบลอิปัน พนม และพระแสง ไปตั้งเป็นอำเภอพระแสง และกิ่งอำเภอพนม แล้วโอนตำบลเวียงสระ ทุ่งหลวง ท่าชี และนาสารมาขึ้นกับอำเภอลำพูน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2460 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอลำพูนเป็นอำเภอบ้านนา โดยเห็นว่าตัวที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านนา วันที่ 1 กรกฎาคม 2481 ทางราชการได้ย้ายตัวที่ว่าการอำเภอบ้านนาไปตั้งที่ตำบลนาสารแล้วตั้งชื่อ ใหม่ว่าอำเภอบ้านนาสาร ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2482 เป็นต้นมา วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2519 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอบ้านนาเดิมขึ้น มา โดยแยกท้องที่อำเภอบ้านนาสารมา 2 ตำบล คือ ตำบลบ้านนา และตำบลท่าเรือ โดยใช้สถานที่วัดทองประธานเป็นที่ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราว ต่อมาได้มีการแบ่งเขตการปกครองออกอีก 2 ตำบล คือ ตำบลทรัพย์ทวี แยกมาจากตำบลท่าเรือ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2525 ตำบลนาใต้ แยกมาจากตำบลบ้านนา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 วันที่ 21 พฤษภาคม 2533 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า 1 เล่ม 107 ตอน 83 ยกฐานะกิ่งอำเภอบ้านนาเดิม
เป็นอำเภอบ้านนาเดิม

จังหวัดยะลา
อำเภอเบตง  เดิมพื้นที่ที่เป็นอำเภอเบตงขึ้นอยู่กับเมืองรามันซึ่งเป็น 1 ใน 7 หัวเมืองของมณฑลปัตตานี ต่อมาในปี พ.ศ. 2411 ได้ตั้งขึ้นเป็นอำเภอ ชื่อว่า อำเภอยะรม (ตั้งอยู่บ้านฮางุส หมู่ที่ 1 ตำบลเบตง) แบ่งการปกครองออกเป็น 6 ตำบล คือ ตำบลเบตง ตำบลยะรม ตำบลอิตำ ตำบลโกรเน ตำบลบาโลน และตำบลเซะ (โกร๊ะ) ต่อมาอีก 21 ปี ในปี พ.ศ. 2473 สมัยที่พระพิชิตบัญชาการเป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอจากบ้านฮางุส หมู่ที่ 1 ตำบลเบตง มาตั้งอยู่ที่บ้านกำปงมัสยิด หมู่ที่ 6 ตำบลเบตง พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อจาก "อำเภอยะรม" เป็น อำเภอเบตง ซึ่งเป็นภาษามาเลย์ มีความหมายว่า "ไม้ไผ่" (ที่ว่าการอำเภอหลังเก่าตั้งอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรเบตงปัจจุบัน) และในปี พ.ศ. 2481 ได้ตั้งตำบลตาเนาะแมเราะ ปี พ.ศ. 2482 ได้ยุบตำบลฮาลาไปรวมกับตำบลอัยเยอร์เวง รวมทั้งได้ประกาศตั้งเทศบาลตำบลเบตงโดยครอบคลุมพื้นที่ตำบลเบตงทั้งหมด

อำเภอบันนังสตาเดิมชื่อว่า อำเภอบาเจาะ

ผมว่าน่าจะหมดแล้วนะครับ
ข้อมูลทั้งหมดทั้งปวงนี้ผมหาและอ่านจาก http://th.wikipedia.org/wiki/จังหวัดในประเทศไทย







กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 08 ก.ค. 10, 08:20
จังหวัดภูเก็ต
อำเภอเมืองภูเก็ต เดิมอำเภอเมืองภูเก็ตนั้นมีชื่อว่า อำเภอทุ่งคา แต่ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอเมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481

จังหวัดสงขลา
อำเภอนาทวี  เป็นอำเภอในจังหวัดสงขลา แยกมาเป็นกิ่งอำเภอจากหัวเมืองจะนะ และตั้งเป็นอำเภอนาทวี เมื่อปี พ.ศ. 2499 เป็นที่ตั้งของศาลจังหวัดนาทวีที่มีพื้นที่อำนาจศาลคลอบคลุมอำเภอนาทวี สะเดา สะบ้าย้อย เทพา และจะนะ

จังหวัดสงขลา
อำเภอหาดใหญ่   ชุมชนหาดใหญ่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทางราชการต้องยกฐานะให้บ้านหาดใหญ่เป็นอำเภอ มีชื่อว่า อำเภอเหนือ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอเหนือเป็น อำเภอหาดใหญ่ และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอชั้นเอก

จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี  อำเภอบ้านดอน เป็นอีกชื่อหนึ่งของอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี

อำเภอคีรีรัฐนิคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมณฑลปักษ์ใต้ ประทับแรมที่ตำหนักสวนสราญรมย์ควนท่าข้าม อำเภอพุนพิน ทอดพระเนตรเห็นประชาชนพลเมืองมีกิริยามารยาทเรียบร้อย ประกอบกับได้ทรงทราบจากผู้ปกครองบ้านเมืองว่าประชาชนตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เคารพหนักแน่นในพระพุทธศาสนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยาเป็น "เมืองสุราษฎร์ธานี" อันแปลว่า "เมืองคนดี" เปลี่ยนชื่อมณฑลชุมพรเป็น "มณฑลสุราษฎร์" และเปลี่ยนชื่ออำเภอคีรีรัฐนิคมเป็น อำเภอท่าขนอน เพื่อให้ตรงกับตำบลที่ตั้งอำเภอซึ่งเป็นด่านเก็บภาษี ด่านนี้เก็บภาษีจากสินค้าซึ่งเข้ามาทางจังหวัดพังงา ตะกั่วป่า และภูเก็ต ผ่านมาทางภูเขาแล้วล่องมาตามลำน้ำคลองพุมดวงเข้าไปยังอำเภอต่าง ๆ ตามชายฝั่งทะเลหรือริมทางรถไฟ ชื่อของอำเภอจึงใช้ "ท่าขนอน" ตั้งแต่นั้นมา  จนถึง พ.ศ. 2504 รัฐบาลสมัยนั้นเห็นว่า ชื่ออำเภอที่ใช้อยู่นี้ไม่ถูกต้องตามสภาพพื้นที่ เพื่อให้ถูกต้องตามความเหมาะสมกับสภาพท้องที่และเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติ แห่งท้องที่จึงประกาศใช้ชื่ออำเภอว่า อำเภอคีรีรัฐนิคม ในรัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยุบมณฑลสุราษฎร์และให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดอื่น ๆ ที่เคยขึ้นกับมณฑลสุราษฎร์ไปขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาราชการได้ยุบมณฑลทั่วราชอาณาจักร จังหวัดสุราษฎร์ธานีนี้ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย อำเภอคีรีรัฐนิคมจึงขึ้นต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานีจนถึงปัจจุบัน

อำเภอพนม  แต่เดิมอำเภอพนมมีชื่อเรียกว่า อำเภอชะอุ่น เป็นอำเภอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2433 ตั้งอยู่ฝั่งขวาของคลองชะอุ่น การปกครองขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีหลวงปราบประทุษราษฎร์เป็นนายอำเภอคนแรก ตามประวัติกล่าวไว้ว่าเหตุที่ตั้งเมืองนั้น เพราะบริเวณหัวแคว้นด้านนี้ชุกชุมไปด้วยอันธพาล ทางการจึงก่อตั้งเป็นอำเภอเพื่อปราบอันธพาลนั่นเอง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2441 ทางราชการได้แบ่งการปกครองเป็นมณฑล จึงย้ายอำเภอชะอุ่นมาขึ้นกับมณฑลชุมพร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2453 อำเภอชะอุ่นได้ถูกลดฐานะเป็นกิ่งอำเภอชื่อว่า กิ่งอำเภอปากพนม โดยมีขุนพนมธนารักษ์ ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอคนแรก ในที่สุดคำว่า "ปาก" ได้หายไปเหลือเพียงชื่อว่า กิ่งอำเภอพนม แล้วได้ยกฐานะเป็น อำเภอพนม อีกครั้งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

อำเภอบ้านนาสาร มื่อ ร.ศ. 118 ทางราชการได้รวมตำบลพ่วงพรหมคร ตำบลทุ่งหลวง ตำบลท่าชี ตำบลนาสาร ตำบลบ้านนา และตำบลลำพูน ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ เรียกว่า “อำเภอลำพูน” ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลบ้านนา (ปัจจุบันอำเภอบ้านนาเดิม) การปกครองขึ้นตรงต่อมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาทางราชการได้ย้ายศาลาที่ว่ามณฑลชุมพร มาตั้งที่เมืองสุราษฏร์ธานีและพิจารณาเห็นว่า อำเภอลำพูนตั้งอยู่ห่างไกลจากมณฑลนครศรีธรรมราช ไม่สะดวกแก่การปกครอง จึงได้โอนมาขึ้นกับเมืองสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2461 ได้เปลี่ยนชื่อ “อำเภอลำพูน” เป็น “อำเภอบ้านนา” ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ และในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2465 โอนตำบลกรูดจากอำเภอท่าโรงช้าง ตำบลพ่วงพรหมคร และตำบลเคียนซา จากอำเภอพระแสงมาขึ้นกับอำเภอบ้านนาในปี พ.ศ. 2494 ได้โอนตำบลกรูดไปขึ้นกับอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอบ้านนามาตั้งที่ตำบลนาสาร เนื่องจากที่ตั้งที่ว่าการอำเภอไม่อยู่ในศูนย์กลางของพื้นที่การปกครอง ประชาชนไม่สะดวกในการติดต่อราชการและได้เปลี่ยน “อำเภอบ้านนา” ให้สอดคล้องกับตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ “อำเภอบ้านนาสาร” จนกระทั่งปัจจุบัน

อำเภอบ้านนาเดิม นั้นเดิมชื่ออำเภอลำพูน มี 7 ตำบล คือ บ้านนา ท่าเรือ กอบแกบ ทุ่งเตา อิปัน พระแสง และพนม ตั้งขึ้นจากการจัดระเบียบการปกครองแผ่นดินในส่วนภูมิภาค ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) ได้แยกตำบลอิปัน พนม และพระแสง ไปตั้งเป็นอำเภอพระแสง และกิ่งอำเภอพนม แล้วโอนตำบลเวียงสระ ทุ่งหลวง ท่าชี และนาสารมาขึ้นกับอำเภอลำพูน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2460 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอลำพูนเป็นอำเภอบ้านนา โดยเห็นว่าตัวที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านนา วันที่ 1 กรกฎาคม 2481 ทางราชการได้ย้ายตัวที่ว่าการอำเภอบ้านนาไปตั้งที่ตำบลนาสารแล้วตั้งชื่อ ใหม่ว่าอำเภอบ้านนาสาร ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2482 เป็นต้นมา วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2519 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอบ้านนาเดิมขึ้น มา โดยแยกท้องที่อำเภอบ้านนาสารมา 2 ตำบล คือ ตำบลบ้านนา และตำบลท่าเรือ โดยใช้สถานที่วัดทองประธานเป็นที่ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราว ต่อมาได้มีการแบ่งเขตการปกครองออกอีก 2 ตำบล คือ ตำบลทรัพย์ทวี แยกมาจากตำบลท่าเรือ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2525 ตำบลนาใต้ แยกมาจากตำบลบ้านนา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 วันที่ 21 พฤษภาคม 2533 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า 1 เล่ม 107 ตอน 83 ยกฐานะกิ่งอำเภอบ้านนาเดิม
เป็นอำเภอบ้านนาเดิม

จังหวัดยะลา


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 08 ก.ค. 10, 08:23
อำเภอเบตง  เดิมพื้นที่ที่เป็นอำเภอเบตงขึ้นอยู่กับเมืองรามันซึ่งเป็น 1 ใน 7 หัวเมืองของมณฑลปัตตานี ต่อมาในปี พ.ศ. 2411 ได้ตั้งขึ้นเป็นอำเภอ ชื่อว่า อำเภอยะรม (ตั้งอยู่บ้านฮางุส หมู่ที่ 1 ตำบลเบตง) แบ่งการปกครองออกเป็น 6 ตำบล คือ ตำบลเบตง ตำบลยะรม ตำบลอิตำ ตำบลโกรเน ตำบลบาโลน และตำบลเซะ (โกร๊ะ) ต่อมาอีก 21 ปี ในปี พ.ศ. 2473 สมัยที่พระพิชิตบัญชาการเป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอจากบ้านฮางุส หมู่ที่ 1 ตำบลเบตง มาตั้งอยู่ที่บ้านกำปงมัสยิด หมู่ที่ 6 ตำบลเบตง พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อจาก "อำเภอยะรม" เป็น อำเภอเบตง ซึ่งเป็นภาษามาเลย์ มีความหมายว่า "ไม้ไผ่" (ที่ว่าการอำเภอหลังเก่าตั้งอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรเบตงปัจจุบัน) และในปี พ.ศ. 2481 ได้ตั้งตำบลตาเนาะแมเราะ ปี พ.ศ. 2482 ได้ยุบตำบลฮาลาไปรวมกับตำบลอัยเยอร์เวง รวมทั้งได้ประกาศตั้งเทศบาลตำบลเบตงโดยครอบคลุมพื้นที่ตำบลเบตงทั้งหมด

อำเภอบันนังสตาเดิมชื่อว่า อำเภอบาเจาะ

ผมว่าน่าจะหมดแล้วนะครับ
ข้อมูลทั้งหมดทั้งปวงนี้ผมหาและอ่านจาก http://th.wikipedia.org/wiki/จังหวัดในประเทศไทย


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 08 ก.ค. 10, 19:03
ได้อ่านของภาคใต้สมใจแล้ว ขอบคุณมากค่ะ ;D


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 08:38
ตามลิ้งค์ที่คุณเพ็ญชมพูให้มา  ไปดูที่มาของชื่อชะอำ

ชะอำเดิมมีชื่อว่า “ชะอาน” เล่ากันว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ยกทัพมาทางใต้ ทรงนำทัพมาทางใต้ ทรงนำทัพมาที่เมืองนี้เพื่อไพร่พล ช้าง ม้า และล้างอานม้า  จึงได้ชื่อว่า “ชะอาน” ต่อมาชื่อนี้จึงเพี้ยนมาเป็น “ชะอำ”
คงจะมีอะไรตกไปสักคำ ในประโยคตัวแดง      อ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจว่าชะอำแปลว่า อานม้า  หรือแปลว่าชะ(ล้าง) อำ(หรืออาน (ม้า))
อย่างไรก็ตาม น่าจะไม่ใช่ความหมายแท้จริง  ชะอำน่าจะเป็นภาษาถิ่นหรือภาษาอะไรสักอย่าง ที่บ่งถึงสภาพภูมิประเทศแถวนี้


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.ค. 10, 16:24
คุณเทาชมพูลองแกะความหมาย "ชะอำ" จาก โคลงนิราศชะอำ พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ดูที

๑๑๐

๏ โคกเมืองเนื่องโคกบ้าน     ปานเมือง  
เดินทัพรับพม่าเคือง           เข่ญแกล้ว  
พักแรมแถบแง้มเหมือง       เหมาะมาร์ค  
ศึกเลิกเมืองเลิกแล้ว          กระหลับบ้านนานหนอ ฯ  
 
 
๑๑๑  
๏ ชื่อชะอำพอเชื่อได้         โดยหมาย  
ชื่นฉระอ่ำน้ำฉ่ำทราย         เหน่งผล้าน  
คุ้ยขุดก็หยุดกระหาย         น้ำจืด ซึมแฮ  
กระนี้พี่หวังตั้งบ้าน            พักมื้อหมองชรา  

http://www.reurnthai.com/wiki/โคลงนิราศชะอำ (http://www.reurnthai.com/wiki/โคลงนิราศชะอำ)

 

 


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 10 ก.ค. 10, 23:16
เพื่อนเล่าว่าคำว่า ปัว นี้มีบางคนสงสัยว่าจะอาจจะมาจากคำภาษาอังกฤษว่า poor

หากจะต้องการความหมายของคำว่า “พัว” หรือ “ปัว” แล้วนั้น จะกล่าวไว้อยู่สองประการ คือ

ประการที่หนึ่ง เมื่อยึดตามตัวอักษรแล้ว คือ เมื่อเทียบเคียงกับอักษรไทย คือ พัว โดยที่ออกเสียงเป็น ปัว ตามเสียงไทยวน และภาษาไทดำ ก็ออกเสียงคล้ายปัว เพียงแต่ต่างกันที่โทนเสียงวรรณยุกต์ที่จะผิดแผกกันไปบ้าง ก็คือคำว่า พัว ในภาษาไทย อันแปลว่า ติดกัน ส่วนมากจะพบเป็น พัวพัน อันแปลคล้าย ๆ กันคือ ต่อเนื่องกัน

ฉะนั้นเมืองปัว ใน ณ ที่นี้ก็แปลได้ว่า เมืองที่ติดกัน หรือเกี่ยวเนื่องกัน หากจะพิจารณาตามตำแหน่งของเมืองแล้ว ก็อาจจะตีความว่า เป็นเมืองที่ติดกันกับเมืองย่างก็ได้อีกทางหนึ่ง ด้วยคราวทางไม่ห่างกันมากนัก ดังปรากฏในหนังสือคราวทางเมืองน่านว่า “...ย่างไปฅว่าง ๕๐๐๐ ฅว่างไปพัว ๓๐๐๐...”  โดยที่เมือง ฅว่างนั้นสร้างในสมัยพระญาผานองที่สร้างให้กับเจ้าอามป้อม

ประการที่สอง คือเป็นคำเก่าแก่ของดินแดนแห่งนี้ ทั้งเป็นชื่อแม่น้ำ และเป็นชื่อเมืองในภาษาตระกูลไทแล้ว อาจยังเป็นคำของ กลุ่มไทกาว ก็เป็นได้ ด้วยกลุ่มไทกาว นั้นเป็นชนพื้นเมืองของเมืองน่านไปตลอดถึงหลวงพระบาง โดยตำนานต่างเมืองก็มักจะเรียกผู้ปกครองเมืองปัวตลอดถึงเมืองน่านว่าพระญา กาว อันกลุ่มไทกาวนี้ในเมืองน่านได้สูญหายและผสมกลมกลืนไปกับกลุ่มชาวไทยวนไป ทั้งหมดทั้งสิ้น อันจะเหลือแต่ท่วงทำนองซอล่องน่านที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน และอาจจะรวมถึงคำว่า “ปัว” อีกคำหนึ่งก็เป็นได้ ถ้าหากเป็นคำในกลุ่มไทกาวแล้ว ก็นับว่าควรจะรักษาไว้เป็นอย่างยิ่งเพราะทุกวันนี้นอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็ไม่มีอะไรจะสืบไปถึงไทกาวน่านแต่ดั้งเดิมได้อีกแล้ว

เมืองปัวนี้เป็นเมืองดี โดย สลุงเงิน
http://www.pua108.com/smf/index.php?topic=1022.0



 ;D ก่อนที่จะมีบทความเรื่องนี้ ก็ทำเอาผมจี้ดขี้นมาเหมือนกันครับ เมื่อได้ข่าวว่า จะเปลี่ยนชื่ออำเภอของผม .... แต่ก็มีกระแสต่อต้านเยอะมาก ...

พูดถึงอีกอำเภอหนึ่ง ... ที่เขียนแล้วอ่านตลกๆ คืำอ อำเภอบ้านโฮ่ง ... ดูแล้วเหมือนกับว่า อำเภอนี้มีแต่เสียงหมาเห่า

ทั้งนี้เพราะ คำว่า โฮ่ง และ โห้ง ในภาษาไทยมาตรฐานออกเสียงเหมือนกัน และคำว่า โห้ง ไม่มีความหมายในภาษาไทยมาตรฐาน

แต่พอมองในของท้องถิ่น สองคำนี้ ออกเสียงคนละเสียง ความหมายคนละอย่าง

คำว่า โห้ง แปลว่า ที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ที่เป็นแอ่ง ตามลักษณะภูมิประเทศของอำเภอนี้

ผมก็หวังว่า ความถูกต้องจะกลับคืนมาสู่อำเภอนี้เป็น อำเภอบ้านโห้ง แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 23 ก.ค. 12, 14:08
ตามลิ้งค์นี้จะเป็น "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๒"
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/A/354.PDF


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ก.ค. 12, 14:48
พระราชกฤษฎีกาต่อจากฉบับข้างบนอีก ๒ ฉบับคือ พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๒ (อีกฉบับหนึ่ง) (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/A/877.PDF) และ พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๓ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2483/A/263.PDF) เปลี่ยนชื่อตำบลและอำเภอกันอุตลุดเพื่อสนองรัฐนิยมของท่านผู้นำ

ตำบลไหน อำเภอไหน มีคำว่า ญวน ลาว ขอม เขมร กัมพุช พม่า ลังกา จีน  ถูกเปลี่ยนหมด

 ;D


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 23 ก.ค. 12, 23:01
สมัยเป็นนักเรียน นุ่งขาสั้น ที่ห้องสมุดมีหนังสืออยู่ ๑ เล่ม ว่าด้วย การเปลี่ยนชื่อ ตำบล อำเภอ เขียนโดย พระยาอนุมานราชธน  มีประมาณ ๑๐๐ หน้าเศษ โดยท่านได้แปลง ชื่อเมือง ชื่อตำบล อำเภอต่างๆ เป็น "ภาษาที่เหมาะสม" ในขณะนั้น (น่าจะประมาณก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐) ที่จำได้ คือ ตำบลที่มีคำว่า "ควาย" ท่านเปลี่ยนเป็น "กระบือ" ทั้งหมด  ตำบลใด ชื่อไม่ไพเราะ ท่านก็ตั้งเป็นภาษาสละสรวยให้ใหม่

นึกว่าจะหาแต่ก็ไม่ทราบชื่อหนังสือ คงหาได้ยาก, เคยอ่านเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ท่านใดเคยได้เห็นหนังสือ เปลี่ยนนามตำบล อำเภอ ของพระยาอนุมานราชธน บ้างครับ ?



กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 24 ก.ค. 12, 14:17
ในกรุงเทพฯ ก็มีอำเภอบ้านทวาย เปลี่ยนมาเป็นยานนาวาครับ


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 24 ก.ค. 12, 14:40
พ.ศ. ๒๔๕๙ เปลี่ยนนามอำเภอ
อำเภออมรินทร์  เป็น บางกอกน้อย
อำเภอหงษาราม เป็น บางกอกใหญ่
อำเภอราชคฤห์   เป็น บางยี่เรือ
อำเภอบุปผาราม  เป็น คลองสาร  หรือคลองสาน ในปัจจุบัน


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.ค. 12, 20:40
^
^


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.ค. 12, 20:49
ในกรุงเทพฯ ก็มีอำเภอบ้านทวาย เปลี่ยนมาเป็นยานนาวาครับ

http://www.youtube.com/watch?v=GsnbmoJWfYQ&feature=player_embedded#at=87


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 26 ก.ค. 12, 21:44
บางกระสัน กลายเป็น มักกะสัน

อ้างจาก - จดหมายเหตุ เรื่องเปิดรถไฟสายตะวันออกและสายเหนือและเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองฉะเชิงเทรา ร.ศ. ๑๒๖

".. ส่วนรถไฟพิเศษสายตะวันออกซึ่งเสด็จพระราชดำเนินนั้นแยกไปทงตะวันออก ผ่านสะเตชั่นบางกระสัน สะเตชั่นคลองแสนแสบ ... ผ่านสะเตชั่นบ้านหัวหมาก บ้านทับช้าง ..."




กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ก.ค. 12, 10:30
บางกระสัน กลายเป็น มักกะสัน

สงสัยว่า "บางกระสัน" กับ "มักกะสัน" คำไหนเกิดก่อนกัน

พวก แขกมักกะสัน  (http://lang4fun.blogspot.com/2004/11/blog-post_28.html) เข้ามาไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว

เป็นไปได้ไหมว่า

มักกะสัน (ชื่อแขกมะกัสซาร์จากอินโดนีเซีย)  ---> บางมักกะสัน  ---> บางกระสัน (ชื่อคลองเดิมก่อนที่จะถมเป็นโรงงานซ่อมรถไฟ) ---> มักกะสัน (ตำบล --> แขวง)

 ???


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: nongluk ที่ 14 ก.พ. 22, 14:06
แทรกระหว่างพัก ครับ

ชื่ออำเภอที่อาจจะเปลี่ยนไป คือ อ. ปัว จ.น่าน จากเว็บน่านทูเดย์

         จากความคิด นอภ.ปัว(นายกำธร   สุอรุณ) .....ด้วยอำเภอปัวมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลง
                 ชื่ออำเภอปัว  เป็นชื่อ วรนคร   เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นมากับประวัติศาสตร์ดั้งเดิม
ราวพุทธศตวรรษที่ 18  หรือ พ.ศ.1825  ตามตำนานพระญาภูคาครองเมืองย่างได้ขยายอาณาเขตการปกครอง
โดยเลือกพื้นที่ไชยภูมิที่เหมาะสมให้ ขุนฟองที่เป็นโอรสสร้างเมืองใหม่ เมื่อสร้างเสร็จขุนฟองขนานนาม
ว่า"วรนคร"  หมายถึง"เมืองดี"  และความหมายดีกว่าอำเภอปัวที่ยังไม่มีความหมายชัดเจนว่าหมายถึงอะไร...

        เมื่อนานมากนับสิบๆ ปี ครั้งที่จ.น่าน ยังเงียบสงบยิ่ง ชมพูภูคายังไม่เป็นที่ได้ยินยลกัน มีเพื่อนไปรับราชการ
ที่อ.ปัว จ.น่าน ซึ่งสมัยนั้นนับว่าห่างไกลความเจริญมาก
          เพื่อนเล่าว่าคำว่า ปัว นี้มีบางคนสงสัยว่าจะอาจจะมาจากคำภาษาอังกฤษว่า poor

สวัสดีค่ะ ดิฉันพยายามค้นในราชกิจจา เรื่องการย้ายอำเภอนายางมาตั้งที่บ้านหนองจอก และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอหนองจอก (เพ็ชรบุรี) ปี ๒๔๕๗
แต่ค้นเท่าไหร่ก็ไม่พบ มีการข้ามหน้าไป เข้าใจว่าลิงก์เสียหรืออย่างไร
เคยอ่านพบอยู่นะคะ แต่ตอนนี้ไม่ได้เซฟไฟล์ไว้อ้างอิงค่ะ


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.พ. 22, 15:34
จาก ราชกิจจานุเบกษา (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2460/A/40.PDF)


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: nongluk ที่ 14 ก.พ. 22, 15:45
ขอบคุณมากค่ะ
แต่ของปี 2460 นี่เจอแล้วค่ะ

ที่ไม่เจอคือหัวเรื่อง การย้ายอำเภอนายางมาตั้งที่บ้านหนองจอก แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอหนองจอก ปี 2457 ค่ะ
(ซึ่งเคยเจอค่ะ - แต่ตอนนี้ไปค้นไม่เจอ)



กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: nongluk ที่ 14 ก.พ. 22, 16:01
คุณเทาชมพูลองแกะความหมาย "ชะอำ" จาก โคลงนิราศชะอำ พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ดูที

๑๑๐

๏ โคกเมืองเนื่องโคกบ้าน     ปานเมือง  
เดินทัพรับพม่าเคือง           เข่ญแกล้ว  
พักแรมแถบแง้มเหมือง       เหมาะมาร์ค  
ศึกเลิกเมืองเลิกแล้ว          กระหลับบ้านนานหนอ ฯ  
 
 
๑๑๑  
๏ ชื่อชะอำพอเชื่อได้         โดยหมาย  
ชื่นฉระอ่ำน้ำฉ่ำทราย         เหน่งผล้าน  
คุ้ยขุดก็หยุดกระหาย         น้ำจืด ซึมแฮ  
กระนี้พี่หวังตั้งบ้าน            พักมื้อหมองชรา  

http://www.reurnthai.com/wiki/โคลงนิราศชะอำ (http://www.reurnthai.com/wiki/โคลงนิราศชะอำ)

 

 

ปัจจุบัน แนวคิดว่าชื่อชะอำ มาจากชะอาน (อานม้าของพระนเรศวร) ค่อนข้างมาก
แต่จากการค้นประวัติศาสตร์ชุมชน อำเภอเก่าหนองจอกของดิฉัน
ก็ไปพบการเรียกชะอำ ว่าฉอ่ำ มาก่อนค่ะ ยุคที่ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ต่อไปจะเป็นผู้ใหญ่บ้านฉอ่ำ นี่แหละค่ะ


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: nongluk ที่ 14 ก.พ. 22, 16:24
ภาคตะวันตก
จังหวัดเพชรบุรี
อำเภอเมืองเพชรบุรี เดิมชื่อว่า อำเภอคลองกระแชง ได้รับการจัดตั้งให้เป็นอำเภอเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2446 เนื่องจากสถานที่ตั้งของศูนย์ราชการอยู่ในเขตตำบลคลองกระแชง ในอดีตใช้พื้นที่ของวัดพลับพลาชัยเป็นศูนย์ราชการของอำเภอคลองกระแชง ภายหลังจึงได้มีการย้ายออกจากวัดพลับพลาชัยเนื่องจากพื้นที่ของวัดคับแคบ แต่ก็ไม่ไกลสถานที่เดิมยังในเขตตำบลคลองกระแชงเหมือนเดิม ซึ่งอยู่ตอนกลางของอำเภอเมืองเพชรบุรี ด้านทิศตะวันออกของตำบลติดกับแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นสายน้ำที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชาวเมืองเพชรมายาวนาน การที่อำเภอคลองกระแชงเป็นที่ตั่งศูนย์ราชการของจังหวัดเพชรบุรีจึงได้เปลี ยนชื่อเป็น อำเภอเมืองเพชรบุรี

อำเภอเขาย้อย เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2440 โดยมีหลวงพรหมสารเป็นนายอำเภอคนแรก เดิมที่ว่าการอำเภอตั่งอยู่ที่ตำบลห้วยท่าช้าง จึงได้ชื่ออำเภอว่า อำเภอห้วยท่าช้าง ต่อมาได้ทำการย้ายที่ว่าการอำเภอห้วยท่าช้างไปตั้งอยู่ ณ ตำบลหัวสะพาน จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอหัวสะพาน ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั่งอยู่ ณ หมู่บ้านน้อย จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบ้านน้อย และภายหลังได้เปลี่ยนเป็น อำเภอเขาย้อย จนถึงปัจุจบัน

อำเภอชะอำ นั้นตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 ที่บ้านนายาง หมู่ที่ 3 ตำบลนายาง เดิมใช้ชื่อว่า อำเภอนายาง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2457 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอนายางไปตั้งที่บ้านหนองจอกและเปลี่ยนชื่อเป็นเป็น อำเภอหนองจอก (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอท่ายาง) จนกระทั่งหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา กระทรวงมหาดไทยได้ย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจอกมาตั้งที่ตำบลชะอำเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สะดวกแก่การปกครองและได้เปลี่ยนชื่อเป็น
อำเภอชะอำ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2487 มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

อำเภอท่ายาง ในปี พ.ศ. 2436 ทางราชการได้ตั้งอำเภอขึ้นที่หมู่บ้านวังไคร้ ริมแม่น้ำแม่ประจันต์ ตำบลวังไคร้ เรียกว่า อำเภอแม่ประจันต์ ตั้งอยู่ได้ประมาณ 20 ปี ทางการเห็นว่าอยู่ไกลจากย่านชุมชนจึงได้ย้ายมาตั้งที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่ ที่หมู่ที่ 2 ตำบลยางหย่อง (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 2 ตำบลท่าแลง) และเรียกชื่อว่า อำเภอยางหย่อง ตั้งอยู่ได้นานประมาณ 2 ปี จึงได้ย้ายมาตั้งที่หมู่ที่ 1 บ้านท่ายาง ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีเมื่อราวปี พ.ศ. 2460 แต่ยังเรียกอำเภอยางหย่องตามเดิม จนกระทั่งในราวปี พ.ศ. 2480 จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เรียกว่า อำเภอท่ายาง เพื่อให้ตรงกับหมู่บ้านอันเป็นที่ตั้งจนกระทั่งทุกวันนี้

จังหวัดราชบุรี
อำเภอบ้านโป่ง เป็นอำเภอสำคัญอำเภอหนึ่งในจังหวัดราชบุรี เดิมชื่อ อำเภอท่าผา ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปยังตำบลบ้านโป่งเพื่อให้ใกล้สถานีรถไฟบ้านโป่งมากขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบ้านโป่ง



 เดิมใช้ชื่อว่า อำเภอนายาง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2457 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอนายางไปตั้งที่บ้านหนองจอกและเปลี่ยนชื่อเป็นเป็น อำเภอหนองจอก

เคยค้นเจอแหล้งอ้างอิง (ราชกิจจาฯ ปี 2457 ค่ะ ราววันที่ 1 ตุลา ตามข้อมูลที่เขียนต่อๆ กันมาค่ะ) แต่ตอนนี้ไม่พบค่ะ ช่วยชี้แนะด้วยค่ะ


กระทู้: ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนไป
เริ่มกระทู้โดย: nongluk ที่ 14 ก.พ. 22, 16:29
**ขอโทษค่ะ ก่อนหน้านี้อ้างอิงข้อความผิดค่ะ
***
สวัสดีค่ะ ดิฉันพยายามค้นในราชกิจจา เรื่องการย้ายอำเภอนายางมาตั้งที่บ้านหนองจอก และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอหนองจอก (เพ็ชรบุรี) ปี ๒๔๕๗
แต่ค้นเท่าไหร่ก็ไม่พบ มีการข้ามหน้าไป เข้าใจว่าลิงก์เสียหรืออย่างไร
เคยอ่านพบอยู่นะคะ แต่ตอนนี้ไม่ได้เซฟไฟล์ไว้อ้างอิงค่ะ