เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: pipat ที่ 26 เม.ย. 06, 11:14



กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 เม.ย. 06, 11:14
 ตามบัญชาของอาจารย์เทาชมพู ท่านสั่งให้มาเปิดห้องเรียนใหม่ ผมมาปัดกวาดทำความสะอาด ลบกระดานรอท่าน

ตอนนี้ลองตั้งคำถามเล่นๆ รอเวลาก่อนว่า
คำถามคือ

เทพเจ้าองค์ใด ที่ชาวไทยสนิทสนมคุ้นเคยมากที่สุด ผมเสนอก่อนนะครับว่าได้แก่ อินทรา หรือพระอินทร์ตัวเขียวๆ ที่ชาวบ้านสมัยก่อนชอบอ้างกัน เวลาเราตักบาตรก็นิยมใส่ดอกบัวถวายพระภิกษุ นัยว่าจะให้เหมือนชายเข็ญใจผู้หนึ่ง ที่ทำดังนี้แล้วได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์

พระอินทร์นี่เป็นเทวดาที่แปลก คือความจริงเป็นตำแหน่ง เป็น presidency ใครทำดีถึงขั้นก็ได้เป็น ทางเหนือยังตกค้างความเชื่อนี้อยู่แน่แฟ้น พวกชื่อ อินต๊ะ นี่ละครับใช่เลย

เดี๋ยวมีโอกาสเหมาะ จะเรียนให้ท่านที่รักทั้งหลายทราบ เรื่องคติพระอินทร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนับถือ

ตอนนี้รอคุณครูมาเข้าชั้น
เอ้า......นักเรียน    ตรง


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 เม.ย. 06, 12:00

อินทราที่เก่าที่สุดชิ้นหนึ่ง มีเก่ากว่านี้ก็อยู่ในสกุลช่างโมระยะมาถึงสาญจี ซึ่งยังไม่สร้างรูปพระพุทธองค์ อันนั้นเราจะพิจารณาทีหลังครับ
รูปนี้เป็นผอบพระธาตุทำด้วยทองคำ มาจากสมัยกนิษกะ (ขอยืมมาจากวิกิพีเดีย The Buddha venerated by Indra and Brahma, Kanishka casket, dated to 127 CE, British Museum. http://en.wikipedia.org/wiki/Buddhism)  เมื่อพุทธศาสนาเริ่มแยกสายเป็นเหนือใต้แล้ว ในรูปนี้อินทรายังแสดงรูปเป็นมนุษย์ ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ไม่มีเทวูปโภค (คือเฟอร์นิเชอ่ร์ประจำตัว) สรวมหมวกทรงสูงซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบของพวกเทวรูปสรวมหมวกทรงกระบอกในสมัยหลัง
รัศมีหรือประภามณฑลของพระพุทธองค์นั้น ต่างจากสองเทพซึ่งเป็นแผ่นเรียบๆ แต่ของพระองค์เป็นกลีบบัว(นับไม่ได้ว่ากี่กลีบ) เพื่อสะท้อนความเบิกบาน อันเนื่องจากทรง"ตื่น"แล้ว จากกิเลศร้อยรัดทั้งปวง แต่ศิลปินรุ่นหลัง(มากกกก..เป็นพันปีต่อมา)นิยมทำเป็นรัศมี เพื่อแสดงพุทธบารมีตอนทรงกระทำยมกปาฏิหารย์ อย่างในกระทู้พระพุทธชินราชนั่นแหละครับ

น่าขอบคุณผู้ถ่ายรูปนี้ ที่อุตสาหะขยายรายละเอียดจนเห็นกระทั่งรอยสิ่วของช่างทอง (ต้องไปดูรูปในเวบต้นทางนะครับ Mb กว่าทีเดียว)
แต่ไม่ชอบคำบรรยายรูปที่เรียกรูปนี้ว่า "องค์สาม" เพราะเขาไม่เข้าใจนัยยะทางพุทธปรัชญา รูปนี้จะถือเป็นผู้ควรเคารพทั้งสามมิได้ สองเทพนั้นมีศักดิเสมอผู้พิทักษ์ หาพึงเคารพบูชาไม่ เป็นอุปกรณ์เพื่อเสริมส่งความสูงส่งแห่งพุทธิปัญญาอันมาจากการตรัสรุ้เท่านั้น


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 06, 14:29
 ค่อยๆย่องเอาชาเขียวเข้ามาวาง สำหรับอาจารย์ท่านใหม่แก้คอแห้ง  แล้วถอยไปนั่งแอบอยู่แถวหลังสุด

เคยบอกแล้วว่าไม่รู้เรื่องประติมาณวิทยา  รู้แต่วรรณคดีสันสกฤตแบบงูๆปลาๆ
จำได้กะท่อนกะแท่นว่าพระอินทร์เป็นเทพของศาสนาพราหมณ์มาก่อน   มีบทบาทอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างโลดโผนไม่แพ้พระเอกละคร
แต่เมื่อพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นในชมพูทวีป พระอินทร์ก็เข้ามาในบทบาทใหม่ในพระไตรปิฏก  เป็นบทบาทดีในทำนองศาสนูปถัมภก  
ส่วนพระพรหมองค์ที่ครรไลหงส์นั้นไม่แน่ใจว่าเป็นองค์เดียวกับในบทสวด พรหมา จโลกา ธิปติหรือเปล่า
ใครบวชเรียนแล้วช่วยทบทวนความจำให้ด้วยได้ไหมคะ
แต่ว่ามีพรหมเป็นจำนวนมากในสวรรค์ชั้นพรหม ตามคติของพุทธ

ส่วนพระอิศวร และพระนารายณ์ไม่ได้เข้ามาในพระไตรปิฏกเลย  


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 เม.ย. 06, 14:49
 ถูกอาจารย์เทาหักหลัง
ท่านบอกว่า "ดิฉันก็จะไปแจม ไม่ให้คอแห้งอยู่คนเดียว"
ท่านเล่นเอาชาเขียวมาส่ง แปลว่างานนี้คงถึงน้ำลายเหนียวคอเทียวหรือ
ผมเป็นเด็กฝึกงานนะครับ ยังไม่พ้นโพรเบชั่น เป็นแค่เครื่องบินกระดาษพับบินลอดได้แค่ใต้ถุนบ้านเอง

ยังไงก้อช่วยเสริมด้วยนะครับ ทุกท่าน
อย่าปล่อยผมหลงทางอยู่ใต้พื้นเรือนเดียวดายแต่ผู้เดียว


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 เม.ย. 06, 16:51
 เรื่องอินทราที่จะเล่าต่อไปนี้ ถ้าจะมีคุณงามความดี ก็ขอยกให้พี่แดง ผู้ล่วงลับ ส่วนขี้เท่อผมขอรับไปไว้บ้านครับ
บางเรื่องออกจะมั่วหน่อยตามประสาคนไม่อ่านหนังสือ บางเรื่องก็เดาเอาดื้อๆ ก็ผมเกิดไม่ทันนี่ครับ
เพราะฉะนั้น อ่านเอามัน อย่าอ่านเอาเรื่องละกัน

จะว่าไปแล้ว อินทรานี่อาจจะเป็นเทพที่มีส่วนผสมอันแปลกประหลาดนะครับ คือทางหนึ่ง ท่านก็เป็น personification ของปรากฏการณ์ธรรมชาติ อันได้แก่ฟ้าผ่า (วัชระ) แต่ในประวัติ ก็ดูเหมือนท่านจะมีตัวเป็นๆให้ศัตรูชี้เฉพาะ เช่นเรื่องเป็นชู้กับเมียฤาษี จนถูกสาปเป็นท้าวพันตา(สหัสนัย) แล้วพอถูกบวชมาเป็นพุทธนี่ ท่านถูกตัดหางปล่อยวัด ขนาดรบแพ้ลูกทศกัณฐ์ก็ยังเคย (อินทรชิต) แต่ก็ยังดี เพราะในตำนานพุทธ ยังพอมีบทให้ท่านเล่นบ้าง เช่นมาดีดพิณสามสายเพื่อเตือนพระพุทธองค์ หรือมาลักพระเขี้ยวแก้วไปบูชาบนดาวดึงส์
แต่ที่มีความหมายอย่างยิ่งยวด ก็พบในวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์เท่านั้นแหละครับ ที่ยังคงเก็บรักษาคติพระอินทร์เอาไว้อย่างครบถ้วน จนถึงรัชกาลที่ 6 ที่ท่านเปลี่ยนสัญลักษณ์ไปเล่นเรื่องรามายาณะเสียหลายอย่าง

เทพในหมวดปุคคลาธิฐานนี้ น่าจะเก่าที่สุด มีมาพร้อมๆ กับมนุษย์เริ่มสร้างอารยธรรมกระมัง
นำขบวนมาโดยสูรยะเทพ ซึ่งใครที่คุ้นกับศิลปะทวารวดีคงสังเกตเห็นว่า คนในรุ่นนั้น ยังนับถือท่านดีอยู่ ตีเสียว่าราวๆ พันห้าร้อยปีมาแล้ว ในดินแดนสุวรรณภูมินี่ สูรยเทพยังเป็นพระเอกทีเดียว ที่หันเจย สมโบร์เปรยกุ๊ก ยังพบท่านเยี่ยมหน้ามองลงมายังพื้นโลก ในเครื่องประกอบธรรมจักรและรวมทั้งวงล้อธรรมจักรที่พบแถบภาคกลาง ท่านก็ยังเป็นประธานอยู่ ไม่มีเทพองค์ใหนมาบดบัง

จักรวาฬวิทยาของสูรยเทพนี่ยังเป็นแบบปรีมิถีปครับ หาได้วิลิศมาหราอย่างของอินทราไม่ แต่ก็คงเป็นส่วนที่งอกงามออกไป ไม่เหมือนระบบหิมวันต์ที่พวกฮินดูเรอเนซองค์ไปตั้งวงสร้างสรรค์ใหม่ นันเป็นตำราคนละเล่มเลยละครับ ด้วยเหตุนี้พวกเราเหล่าขี้ข้าเทวดาจึงต้องมาเถียงกันอยู่นั่นแหละ ว่าภูเขาจักรวาฬมีกี่วง ทวีปใหนชื่อไร เทพประจำทิศมีใครบ้าง.......

สูรยะมีวิมานเป็นยอดไม้แค่นั้นเอง เหมือนบ้านนอกยังไงยังงั้นแหละครับ ขอแต่ให้ไม้นั้นเป็น “พนัสบดี” คือพระยาไม้เป็นพอ มีลำต้นที่ตั้งตรง ชูยอดขึ้นบนอากาศ รากหยั่งสู่พิภพ ในเวลาที่ดวงตะวันสถิตย์บนยอด ไม้นั้นก็จักกลายเป็นแกนโลก (axis-mundi) เป็นกัลป์สตัมพะ (kalapa stambha) ไม้ศักดิ์สิทธิ์โดยสมบูรณ์
-----------------------------------
รูปประกอบมาจาก Takeo Kamiya แสดงสตัมพะ หรือสดมภ์แบบต่างๆ เป็นจักรวาฬวิทยาแบบเริ่มแรก ที่คติพระอินทร์จะมาครอบและเปลี่ยนเป็นระบบดาวดึงส์


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 เม.ย. 06, 17:25
 ของฝากอาจารย์เทาฯ http://students.washington.edu/prem/mw/a.html

โมเนียร์-วิลเลียมออนไลน์ครับ
ท่านอื่นจะเล่นก็ได้นะครับ หน้านี้เริ่มที่ตัว อา อยากได้หน้าใหนก็เปลี่ยน /?.html  ตรงท้ายลิงค์เอา ดิคฯ เล่มนี้เป็นอมตะ จะแพ้ก็คง อักขราภิธาศรับท์ ที่อาจารย์ทัตคัดแปล แต่ไหงเป็นหมอปลัดเลย์ได้ชื่อก็ไม่รู้
ขี้ตู่จริงๆ ฮึ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 26 เม.ย. 06, 19:30
 ขอแอบมานั่งแถวหลังกับอาจารย์ จิบชาฟังด้วยคนนะครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 00:16
 เชิญครับ จะรับชาด้วยก็ยินดีอย่างยิ่งครับ

มีคนมานั่งหลังห้องอย่างนี้
ผมรู้สึกเสียวสันหลังยังไงชอบกล ชวนให้คิดถึงสมัยเรียน ต้องเสนองานหน้าห้อง มันช่างเดียวดายจริงๆ มองไปหลังห้อง เจอแต่กระดูกเบอร์ใหญ่ๆ ไม่รู้ตูจะได้แต้มเท่าใด
หวังว่าอาจารย์ทั้งหลายจะเมตตานะขอรับ

เราจบลงที่เสาจักรวาล แต่ยังไม่จบเสียทีเดียวจะต่อให้เห็นการเชื่อมโยงมาสู่คติพระอินท์

ท่านคงเคยได้ยินคำว่าเสาอินทขีล (ทางเหนือเรียกอินต๊ะขีลา) กันบ้างนะครับ นี่แหละคือการต่อยอดของคติพระอินทร์จากคติเสาแกนโลกของสูรยเทพ พระอินทร์นี่แกก็ช่างตู่ไม่ใช่ย่อยครับ จัดการแปลง"เสา"จักรวาล มาเป็น"เขา"จักรวาล เรื่องก็จบ

ร่องรอยอยู่ที่เสาหินของพระเจ้าอโศกครับ

เสาเหล่านี้ ตามศัพท์ฝรั่ง เรียกว่า มอนอหลิท โมนุเมนท์ ( Monolith monument) อธิบายไปต่างๆ นานา แต่สมองขี้เลื่อยอย่างผม เห็นว่าคนละเรื่องเลยครับ พวกคอเคซอยเขาถือเป็นหิน แต่พี่ฮินดูบอกว่านั่นไม้ครับ เป็นการกลายร่างทางวัสดุ แต่นัยยะยังคงเดิม เราเรียกเสานี้ว่า ยูปะ(Yupa) คือเสายัญนั่นแหละครับ คติเดิมจะปักนอกหมู่บ้าน เอ หรือในก็ลืมซะแล่ว ตอนตั้งนี่มีพิธีกรรมทักเสาอะไรต่างๆพอสมควร แล้วจึงอัญเชิญสูรย์ลงครอง ต่อมาเมื่อการก่อสร้างทวีความซับซ้อนขึ้น เกิดเป็นพูนดินกันด้วยเขื่อน ที่เรียกกันว่า สะตูป (สถูป ถูป หรือโถป)นั่นแหละครับ เสายูปะก็ถูกหุ้มซ่อนไว้ข้างใน กลายเป็นเสาแกนโลก โผล่ทะลุยอดขึ้นมาแค่ส่วนปลาย เพื่อรองรับฉัตราวลี ที่ช่างไทยเรียกว่าปล้องฉไน แท้จริงคือส่วนหนึ่งของสูรยะเทพ ถ้าอยากเห็นเต็มตัว เชิญพิจารณาโครงสร้างของฉัตร อันเดียวกันเลยครับ
แล้วท่านเคยคิดต่อใหมครับ ว่าคติของไทย ห้อยนพปฎลมหาเศวตรฉัตรอยู่เบื้องบน หามีก้านไม่ คติจะสมบูรณ์ได้อย่างไร
นี่ละครับ การซ้อนกลของระบบสัญลักษณ์ โดยปรกติ เมื่อแขวนลอยอยู่ ย่อมไม่อาจนับเป็นการจำลองจักรวาลอันสมบูรณ์ ต่อเมื่อพระผู้เป็นเจ้าประทับบนพระที่นั่งพุดตาลเมื่อใด สิ่งที่ขาดหายจึ่งเติมเต็ม

เล่ามาถึงตรงนี้ เลยอดตรวจสอบข้อมูลมิได้ แล้วก็เจอเรื่องเศร้าที่สอง คือว่า นักวิชาการที่ผมปลื้มแกมากเรื่องเสาอโศก JOHN CONRAN IRWIN ได้เสียชีวิตไปอีกท่านหนึ่งแล้ว เลยถือโอกาสอ้างถึงท่านสักเล็กน้อยนะครับ ท่านเรียกเสาจักรวาลว่า stone kalpa-vriksha แล้วไอ้ความเข้าใจเรื่องเสาๆ พวกนี้ ล้วนมาจากบทความของท่านเป็นหลัก
ถ้าท่านใดเคยอ่านหนังสือ the symbolism of stupa ของ Adrian Snodgrass (แปลไทยแล้ว สนพ.อมรินทร์) โปรดฟังเฮียเออร์วิ่นแกปรายตาพร้อมทั้งสรุปสั้นๆว่า ถ้าแยกระหว่าง cosmology และ cosmogony ไม่ได้ ก็ไม่ควรจับเรื่องแบบนี้
ทำเอาผมไม่กล้ายุ่งกับท่านเอเดรียนอีกเลย อาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ก็ช่างอุตสาหะวิริยะพากเพียรจริงๆ เรื่องอื่นน่าแปล กว่าแยะ ไม่จับ ทราบมาว่าบรรดาไกด์(ผีและไม่ผี) ต้องมีกันคนละเล่ม เพราะสามารถอธิบายทุกอย่างเป็นจักรวาลวิทยาได้โดยอ้างเล่มนี้เล่มเดียว

นอกเรื่องไปมาก ขอโทษครับ ของขึ้น ต้องจิบชาดับอารมณ์เสียหน่อย
----------------------------
Stupa at Vaisali with Asokan Pillar


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 00:36

buddha sermon sculpture at sarnath

สมัยอโศก วัดใหญ่โตหายาก (ที่เห็นกัน เป็นงานสร้างเสริมสมัยคุปตะลงมา) ส่วนมากก็นับถือกันเป็นเครื่องปลงสังเวช ไปจาริกเพื่อยกระดับจิตใจเป็นกริยาบุญ
สถานที่สำคัญก็ทำเพียงรั้วหินล้อมโพธิ์ตรัสรู้ ตั้งเสาสิงห์ที่สวนลุมพินีวัน หรือเสาธรรมจักรแห่งสารนาถ
เฉพาะคติเสาธรรมจักรนี่ อาจแพร่ออกไปได้โดยไม่ต้องอ้างอิงข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ เพราะธรรรมะตั้งมั่นที่ใด เสาแห่งธรรมก็ตั้งมั่นได้ฉันนั้น

อดแซวกรมศิลป์ไม่ได้ ธรรมจักรของท่าน น่าจะเป็นวงเดียวในจักรวาล ที่ไม่ต้องพึ่งเสา วางแหมะมันกองไว้ตรงนั้นแหละ แอ็กซ้งแอ้กซิส มุนด้งมุนดี้ ไม่ต้องมีครับ เรามันรุ่นใหนแล้ว
โบราณทำผิด กรมศิลป์ต้องมาแก้ให้ถูก


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 เม.ย. 06, 06:20
 สวัสดีครับ คุณpipat
ต้องขอบพระคุณ อ. ท่านใหม่อีกท่านในเรือนไทยมากครับ
ผมขอมานั่งฟังด้วยคนนะครับ

แต่ช่วงนี้คงหายบ่อยหน่อยนะครับ ถ้าแวบไปนานอาจารย์ pipat อย่าดุนะครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 06, 09:32
 เข้ามารายงานตัว ในตอนสายค่ะ
เข้าชั้นเรียนช้าหน่อย  ก่อนหน้านี้ไปเดินด้อมๆมองๆตามใต้ถุนเรือนไทยบ้าง  หลังบานประตูบ้าง
ตามหาสมาชิกที่ไปแอบอยู่   จะได้พามารวมกันไว้ในห้องนี้

เดี๋ยวตอนเที่ยงจะไปหาโรตีจิ้มกินกับแกงเนื้อมาเลี้ยงนะคะ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 27 เม.ย. 06, 09:53
 ลงชื่อเข้าชั้นเรียนด้วยคนครับ

นักเรียนคนนี้อาจจะผลุบๆโผล่ๆบ้าง แต่เนื้อหาวิชาจะพยายามไม่ให้ตกหล่นให้เสียน้ำใจของอาจารย์เชียวครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 12:44
 ตลาดนัดวิชาเสรียินดีต้อนรับครับ เนื้อหาออกจะมั่วศาสตร์ไปหน่อย ออกแนวโมเมมีทโธ๋โลยี่ก้ออย่าว่ากัน
--------------------
เสาอโศกที่ครบถ้วนจะมีกี่ต้นก็เหลือจะเดา ดูจากที่นี่น่าจะเพียงพอ
 http://www.cs.colostate.edu/~malaiya/ashoka.html

เออร์วินบอกว่า ส่วนหนึ่งเก่ากว่าสมัยอโศกด้วยซ้ำไป มีหลายรูปแบบ หลายวัสดุ คนไม่รู้อย่างผมก็เห็นเหมือนๆ กันหมด แต่มีต้นหนึ่งที่ดังกว่าเพื่อน เพราะท่านเนห์รู เชิญมาเป็นธงชาติ ขุดเจอที่สารนาถ โดยคันนิงแฮม(กระมัง) ผมมีรูปเปรียบเทียบสมัยขุดเจอกับที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ ดูจากขนาดคนในรูป จะเห็นว่านี่มิใช่ศิลปะธรรมดา เชื่อกันว่าเมื่อสมบูรณ์จะมีวงล้อธรรมจักรอยู่ด้วย และน่าจะสูงเท่าตึกสี่ชั้นเป็นอย่างน้อย

ยามเมื่อต้องแสงตะวัน หินที่ขัดจนเป็นมัน บวกกับฝีมือช่างที่จงใจจำหลักให้ลวดลายลึก และมีบริมาตรที่หนักแน่น เมื่อมองของจริง สายตาถูกแสงสว่างทำให้พร่ามัว ประติมากรรมนี้คงงามราวมีชีวิตทีเดียว ความจริงจะจำแนกเป็นประติมากรรมอาจจะไม่ถูกต้อง เพราะกระบวนการครอบครองที่ว่างนั้น อยู่ในระดับเหนือกว่าสถาปัตยกรรมเสียด้วยซ้ำ
นี่แหละตะวันตกที่ไม่เจอตะวันออก
คือเอาเกณฑ์ฝรั่งมาใช้กับงานระดับนี้ กฏเกณฑ์ก้อกลายเป็นของหยาบไปเลยครับท่าน

เพ้อไปหน่อย ของสวยของงาม อดพรรณาสรรเสริญมิได้ อย่าถือสา

ตรงหัวเสาจะเห็นสัญลักษณ์รูปสัตว์สี่ตัว นี่ละครับที่จะมาเข้าเรื่องอินทราเสียที เพราะสัตว์ทั้งสี่นี้ ใครที่แม่นเตภูมิกถา หรือคุ้นเคยกับป่าหิมพานต์ก็จะร้องอ๋อ รู้แล้วรู้แล้ว


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 12:47

------------------
ตรงนี้ขอแกล้งอาจารย์เทาหน่อยได้ใหมครับ

กรุณาเสริมความรู้เรื่องกำเนิดแม่น้ำจากปากสัตว์ทั้งสี่ ซึ่งจะโยงมาถึงพระราชพิธีโสกันต์ในพระราชสำนักของเราได้พอดี

ขอบพระคุณครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 06, 12:52
 อ๊ากกกก
ไม่เข้าชั้นเรียนแล้ว


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 13:03
 "พระอิศวร และพระนารายณ์ไม่ได้เข้ามาในพระไตรปิฏกเลย"

ข้อสังเกตนี้ ผมขออนุญาตสรุปว่า
สองเทพดังกล่าว เกิดไม่ทันพุทธกาลน่ะครับ
สมัยที่พระพุทธองค์ทรงจาริกไปทั่วมทธยประเทศ เทวดาอินเดียยังไม่อุดมสมบูรณ์อย่างทุกวันนี้ หลายองค์อาจจะมีอยู่ แต่นับถือกันในกลุ่มชนเล็กๆ
พระเจ้าอโศกเอง หลังพระพุทธเจ้ามาตั้งสองร้อยปี ท่านยังไม่อ้างเทวาองค์ใดเป็นจำเพาะเจาะจง ท่านเรียกตนเองว่า เทวายัมปิยะทัศศี

มีนักฮินดูจำนวนมาก พยายามโยงการเคารพองค์ชาติในวัฒนธรรมก่อนมีตัวหนังสือว่าเป็น ไศวนิกายแบบดั้งเดิม
ผมขอแย้งให้เขาหมั่นไส้ว่า พี่เล่นเอาของที่มีอยู่แล้วมาอุปโลกเป็นของตัว อะไรอะไรมันก็เก่าได้หมดแหละครับ

ผมจึงเน้นว่ามีฮินดูเรอเนซองค์เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน เพราะลำพังการดำรงวรรณะพราหมณ์โดยกำเนิด ได้ถูกพระเจ้าอโศกตีค่าเทียบเท่าสมณะ(รวมพุทธและชินไว้ด้วยกัน) แถมยังทำจารึกประกาศเสียทั่วอาณาจักร เสียรังวัดไม่น้อย

แต่เรื่องนี้ผมนึกเอาเองนะครับ อย่าเชื่อเป็นอันขาด


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 13:13
 อ้างชื่ออโศกผิด ตาลาย กรุณาตรวจจากลิงค์นะครับ

อาจารย์เทาฯ เกเร
เดี๋ยวผมจะหาของหนักกว่านี้มาให้นะครับ
ประมาณว่าบรรยายมหานครนิพพาน ที่มีกระดิ่งกรุ๊งกริ๊ง สายลมหอมสะอาดพัดผ่าน

สองรูปนี้ห่างกันสองพันกว่าปี แต่เล่าเรื่องเดียวกัน
----------


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 06, 13:26
ตั้งแต่ดิฉันบอกความจริงไปว่ารู้วรรณคดีสันสกฤตแบบสเน้คๆฟิชๆ ก็เข้าทางปืนของคุณพิพัฒน์พอดี
ขอตอบเพื่อยืนยันความไม่รู้
เรื่องสัตว์ ๔ ตัวนั้น  ดูเหมือนจะมีสิงห์ โค ม้า กะอะไรอีกสักตัว  ช้างหรือเปล่าจำไม่ได้
ยืนอ้าปากปล่อยน้ำไหลลงสระอะไรสักแห่งในป่าหิมพานต์  หรือว่าน้ำในสระไหลออกทางปากสัตว์พวกนี้  ก็ไม่แน่ใจ

บนชั้นหนังสือ มีตำราอยู่ 3 เล่ม   เขียนโดยดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา และศ. วิสุทธิ์ บุษยกุล   เจ้ายุทธภพวรรณคดีสันสกฤตแห่งเทวาลัยทั้งคู่
ลูกศิษย์หางแถวยังแกะรอยไม่เจอตอนม้าลาโคกระบือ  พวกนี้ เลยตอบไม่ได้ค่ะ

คุณพิพัฒน์    พระศิวะกับพระวิษณุไม่ได้เกิดตั้งแต่สมัยพระเวทหรือคะ   นี่ถามจริงๆไม่ได้ดักคอ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 14:36
 คำตอบคือวรรณคดีพระเวท ที่เก่าที่สุด น่าจะใหม่ๆซิงซิงมังครับ
(เอาของจริงนะครับ ประเภทจำหลักติดถ้ำ ติดรูปเคารพ เพื่อกำหนดอายุได้)
ที่เราใช้กันอยู่นี่ ล้วนแล้วแต่เป็นฉบับคัดลอกกันมา
อาจารย์ว่า จารึกอโศกอายุสองพันสามร้อยกว่าปี รูปแบบภาษาประมาณนั้น หากใช้ร่ายโศลกระดับฤคเวท จะไหวใหมครับ

ดูจากวิวัฒนาการแล้ว ผมไม่คิดว่าพระเวทจะเก่าเท่าส่วนที่เก่าที่สุดในพระไตรปิฎกได้
พิจารณาที่ความอลังการณ์แห่งภาษา น่าจะร่วมสมัยกับคัมภีร์มหายานรุ่นแรกๆ ราวๆสองพันปีเศษ

นี่ความเห็นของนักประหลาดนะครับ ผิดถูกช่วยตกแต่งด้วย วรรณกรรมนี่ผมยิ่งรู้น้อยกว่าประติมาณวิทยาเสียอีก


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 18:28


  เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน( ...โอ้ว..นี่ผมแก่ปานนี้แล้วหรือนี่)



บ็อบ บราวน์ (Robert L. Brown) เพิ่งจบเอก แกปล่อยบทความมาชิ้นหนึ่ง "Indra's Heaven: A Dharmacakrastambha Socle in the Bangkok National Museum," Ars Orientalis 14 (1984) ศึกษาหินจำหลักปริศนาในห้องทวาราวดี ที่ดูปงค์ขุดเจอสมัยก่อนสงครามที่นครปฐม

บ๊อบตีความว่าเป็นรูปวิมานอินทรา ผมอ่านแล้วขำกลิ้ง (อันนี้สำนวนนะครับ  ที่จริงขากรรไกรค้างมากกว่า) เพราะสงกะสัยว่าท่านไปเอาหลักฐานจากใหน ขนาดบ็วสเซลิเย่ที่ครองราชย์เป็นนักปราชญ์อันดับหนึ่งอยู่ในวันนั้น ยังไม่กล้าฟันธง



ปีนั้นผมว่างงานอยู่ เลยเข้าไปเขียนแบบหินก้อนนี้ไว้ เพราะอยากรู้ตั้งแต่เห็นครั้งแรกแล้วว่า ก้อนอะไร ดูยากฉะมัด

การเขียนแบบนี่เหมือนเล่นจิ๊กซอครับ ตรงใหนขาด เว้นไว้ก่อน เดี๋ยวจะเจอข้อมูลมาเติมส่วนขาดได้



ปรากฏว่า ผลออกมาตรงข้ามกับท่านว่าไว้

คือเป็นสูรย์วิมานครับ สมบูรณ์แบบงดงามไม่แพ้ของสารนาถเชียวแหละ(อันนี้โม้หน่อยนะครับ มันปลื้มครับ)

จากนั้นผมก็จัดการรีสะตอเรชั่น สร้างรูปที่สมบูรณ์ขึ้นมา ขนาดประมาณ 1:4 ม้วนเก็บไว้ ม้วนนั้นยาวร่วม 3 เมตรครับท่าน

แปลว่าของจริงคงเกินสิบเมตรไปมาก



มาเรียนหนังสือ เลยส่งครู ครูบอกว่าดี ให้มาหนึ่ง A แต่แล้วกลับฝากบอกเพื่อนมาว่า ไม่รู้ว่าเอ็งลอกบ๊อบ บราวน์ หาไม่จะปรับตก ผมเลยเลิกเรียน หมดสิ้นศรัทธาในระบบการศึกษามาจนถึงทุกวันนี้

แค้นตรงที่ว่า ผมทำ measure drawing เสร็จก่อนบทความของบ๊อบตีพิมพ์ปีกว่า ครั้นจะเขียนบทความแย้ง ก้อยังเด็กนัก (อันที่จริงเขียนไม่เป็นเสีบละมากกว่า เป็นช่างครับ ไม่ใช่นักวิชาการ)

จนแล้วจนรอดข้อมูลนี้ก็ยังเก็บไว้กับตัว



จะเล่าความลับนะครับ ว่าทำไมบราวน์ถึงพลาด แกใช้รูปถ่ายเป็นเครื่องช่วยตีความครับ แล้วแกก็พยายามอย่างมาก ที่จะคัดลอกเส้นออกมาจากรูปถ่ายดำปิ๊ดปี๋เหล่านั้น แกมองเห็นเป็นชั้นๆ ว่าวิมานบังกันยังไง ผมดันเห็นเป็นรูปที่ต่างออกไป

บางทีถ้ามีโอกาส จะเรียบเรียงใหม่ พิมพ์ไว้เป็นที่ระลึกสิบปีการจากไปของพี่ที่เคารพ



แต่ตอนนี้ เอามาหากินใต้ถุนเรือนไทยของอาจารย์เทาเสียก่อน



มีของฝากอีกละ บทความเรื่อง ธรรมจักร ของคุณธนิต อยู่โพธิ์
 http://www.dhammajak.net/jaka/jaka01.htm

มีกล่าวถึงรูปสัตว์ทั้งสี่ ดูที่เชิงอรรถหน้า 3 ครับ



ส่วนรูป คือหินจำหลักจากมหาสถูปแห่งอมราวดี อังกฤษขุดเอาไปรักษาให้ที่ British Museum  เหล่าเทพเทวีทั้งหลาย ล้วนแต่ยังโนเนมกันทั้งนั้น

.

.



กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 06, 18:55
 เป็นอันว่าสัตว์ที่คุณพิพัฒน์เอ่ยถึงกับที่ดิฉันตอบ  เป็นประเภท "ไปไหนมา สามวาสองศอก"  คือคนละเรื่องกันเลยใช่ไหมคะ
คนละเรื่องก็บอกมาเถอะ  หักคะแนนไปตามใจชอบ  เพราะบอกตรงๆว่าเรื่องอะไรที่เล่าข้างบนนี้ดิฉันไม่ได้เรียนมาเลย
นอกจากไม่เรียนแล้วยังไม่รู้ด้วย

วรรณคดีเล่าแต่ว่ามีสระในป่าหิมพานต์ มีสัตว์ประจำอยู่ ๔ ด้าน  ๔ ชนิด  มีน้ำไหลออกจากปาก
ก็เลยนึกว่าเป็นตัวนั้นๆแหละที่เกี่ยวกับโสกันต์

ส่วนเรื่องของจักรแก้ว มีอยู่ใน นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์(กุ้ง)  รู้แค่นี้ละค่ะ  แต่สิงห์นั้นไม่ยักมี
อ้อ  ก่อนหน้านี้ก็มีในไตรภูมิกถาเหมือนกัน

คุณพิพัฒน์สมัยเรียนปริญญาโทคงเคยเป็นนักศึกษาที่อหังการ์เอาการ ( คำนี้เป็นคำชม ไม่ใช่คำว่ากล่าว)
อาจารย์เขาก็เป็นมนุษย์ปุถุชน   รู้   แต่ไม่ใช่ว่ารู้ไปเสียทุกอย่าง  อาจเข้าใจผิดบ้าง หลงผิดบ้าง หรือประเมินสติปัญญานศ. พลาดไปบ้าง
ก็ขอว่า ให้อภัยท่านเหมือนเราพึงให้อภัยตัวเองเถอะ  
อย่าคิดกว้างไปถึงสิ้นศรัทธาในระบบการศึกษา ซึ่งไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรด้วยเลย
ที่ขอยังงี้เพราะทุกวันนี้ห่วงระบบการศึกษาน่ะค่ะ ไม่ใช่อะไรอื่น  

ยุคนี้  ถ้าดิฉันย้อนกลับมาเรียนม.ปลาย หรือระดับปริญญาตรี  อาจจะเจ๊งไม่เป็นท่าเสียตั้งแต่เอนทรานซ์แล้วด้วยซ้ำ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 20:09
 ที่ผมเล่ามาเป็นตุเป็นตะ ดูเหมือนจะไม่มีที่ใหนสอนในสมัยที่ผมเรียนเหมือนกันครับ เรื่องสระอโนดาต ตัองรอคุ้ยหนังสือที่เก็บอย่างแหลกเหลว เผื่อจะมาเล่าให้ละเอียดกว่านี้ครับ

หากอาจารย์เทาฯ มีโอกาส ลองหาดิคชันนารีของมาลาเลเสเกระ
Dictionary of Pali Proper Names มาสอบดูก็จะทราบเรื่องพื้นฐานได้เกือบหมด สมัยก่อนอยากได้แต่แพงเหลือเกินชุดละเป็นพัน หน็อยแน่ เดี๋ยวนี้ชุดละเป็นหมื่น

หาเอาในเว็บก็ได้เหมือนกัน พอแก้ขัดครับ
 http://www.palikanon.com/english/pali_names/dic_idx.html
แล้วได้รูปแถมมาจากเว็บชาวเยอรมันคู่หนึ่ง ทำดีจนผมอายครับ
จากพระบาทของพระนอนวัดโพธิ์ ศิลปะประดับมุกสมัยรัชกาลที่ 3 ราวๆ พ.ศ. 2380
.


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 20:33
 สมัยเรียนผมเกเรจนไม่มีใครอยากสอน เพราะไม่เคยเชื่อใครเลย สุดท้ายไม่ได้อะไรติดมือมาสักอย่าง สมน้ำหน้า

แต่โรงเรียน ป.โทของผมก็เหลือรับประทาน ก่อนเปิด ไปอวดกับทบวงว่า ไม่เปิดสอนเป็นไม่ได้ เพราะอาจารย์ที่มี ล้วนแต่เก่งคับโลก มีความรู้มากมายจนต้องเอาออกมาใช้(หาไม่คงจุกตาย) สอนไปได้สามสี่รุ่น ขอปิดหลักสูตร บอกว่าความรู้ไม่พอ ต้องไปทำวิจัยเพิ่ม 555555
ทั้งๆที่วิชาหลักๆ เชิญคนนอกมาสอนทั้งนั้น

ผมมาเป็นสมาชิกเว็บนี้ เพราะยังรักในระบบการศึกษา และเห็นด้วยกับความรู้ที่แจกฟรีอย่างที่ทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันอยู่ในขณะนี้ ได้ความรู้มากจนรู้สึกอายแทนระบบให้แผ่นกระดาษแลกเงิน อ่านเจอในกระทู้หนึ่งว่าเจ๊อะไรที่กวดวิชา มีเงินซื้อที่สองสามร้อยล้าน เพื่อเปิดโรงเรียนกวดวิชา รู้สึกอิจฉาจนหูกระดิก

ครูผมคนหนึ่ง ถ่ายรูปชนบทไทยเก็บสะสมสามสิบกว่าปี นับหลายหมื่นรูป เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ประเมินค่ามิได้ แต่ไอ้โรงเรียนที่แกสังกัด ตีราคาได้ครับ บอกว่าเมื่อพี่เกษียณไปแล้ว จงหาฟิล์มจำนวนเท่าที่พี่เคยเบิกไปใช้ เอามาคืนเสีย แล้วราชการจะไม่เอาเรื่อง
นึกถึงกรณีเจ๊เคมีที่ว่า ถ้าเราได้พระตำหนักนั้นมาทำศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมไทยอย่างเว็บของอาจารย์เทาและพวก มีห้องหนึ่งอวดรูปของครูผม และของคนอื่นๆ ยอมให้แกใช้ใต้ถุนกวดวิชา บ้านเมืองคงน่าอยู่กว่านี้นะคับ

เห็นว่าผมสติแตกก้อช่วยเตือนด้วยนะครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 23:00
 กลับมาเรื่องอินทราต่อ

ผมยกเรื่องบ๊อบ บราวน์มาเล่าเพื่อชี้ว่า ในยุคหนึ่ง เทวดาทั้งหลาย ยังไม่ค่อยมีข้อแตกต่างกันมากนัก บราวน์จึงชี้สูรย์เทพเป็นอินทราเทพได้
ทำให้ผมคิดเอาว่า คงเป็นยุคที่มีเทวดาให้เลือกน้อย เทวลักษณะจึงไม่จำเป็นต้องพัฒนามากนัก เป็นต้นว่า ในรูปจำหลักจากมหาสถูปอมราวดีที่แปะให้ดูท้ายความเห็น 19  และนำรูปเต็มมาให้ชมข้างซ้ายมือ
ลักษณะรูปเคารพนี่ออกจะเบบี๋ๆมากๆ คือดูง่ายครับ เป็นพุทธประวัติตอนตรัสรู้ เทศนา และปรินิพพาน (ดูจากล่าง ขึ้นบนตรับ ปลายสุดคือตรีรัตนะ) ผมไม่เห็นรูปจริง เลยไม่กล้าฟันธง ว่าคิวเรเตอร์ของบริติช มิวเซียมเอาอะไรมารองรับ จึงระบุว่ารูปกลางเป็นปฐมเทศนา เคยมีหนังสือที่พิมพ์รูปชุดนี้อย่างงาม แต่หายไปแล้วเลยไม่กล้าค้านฝรั่งเต็มตัว
แต่ปกติ ปฐมเทศนา ควรมีรูปกวางประกอบ

เห็นใหมครับ ว่าประติมาณวิทยาบางยุค ก็ง่ายเหมือนเกมส์ทศกัณฐ์ แต่ที่ยากนะครับท่านผู้ฟัง ต้องขอใช้ศัพท์จิ๊กโก๋ว่า โคตะระยากเลย ครั้งสุดท้ายที่คุยกับพี่แดงของผม แกกำลังคร่ำเคร่งกับการนับขนนกบนหมวกของเทวาองค์หนึ่ง ก่อนหน้านั้นแกเพิ่งตัดสินใจกำหนดลักษณะของต่างหูเสร็จ ผมก็เพิ่งทราบตอนนั้นแหละครับ ว่าการสอดแผ่นทองคำม้วนเข้าเป็นต่างหู มีรูปแบบต่างกันมากกว่าสิบแบบ แกใช้เวลาเป็นเดือนครับ เพียงเพื่อจะบอกว่าเทวดาองค์นั้น ชื่ออะไร
ปัญหานี้ เกิดเพราะต้องจัดหาเทวดามาใช้งานเพิ่มมากขึ้น เหตุผลก็ง่ายๆนะครับ คือคติความเชื่อพัฒนามาสู่ลำดับขั้นที่ความศักดิ์สิทธิ์วัดกันที่ปริมาณ ไม่วัดกันที่แก่นเรื่อง
นั่นเป็นยุดฮินดูตีโต้แล้วครับ เทวดาใหม่ๆ เก่งๆ ถูกขุดออกมาแข่งกัน ในสัทธรรมปุณฑริกสูตร มีชื่อเทวานับจำนวนไม่ถ้วน แต่ในธรรมบท หรืออุทาน บางทีอ่านจนลืม หาเทวดาไม่เจอสักองค์  


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 23:17
 อินทราที่เรารู้จัก เป็นเชื้อชาติพราหมณ์สัญชาติพุทธ
ผมใช้คำว่าพราหมณ์ตรงนี้ เพื่อแยกออกจากฮินดู ซึ่งต่อไปนี้ จะหมายความอย่างจำเพาะเจาะจงว่า เป็นคติพราหมณ์ที่ออกแบบใหม่ ให้สามารถต่อสู้กับพระพุทธศาสนาได้ คือหลังสังคีติที่สามภายใต้การอุปถัมภ์ของราชากนิษกะ อันเป็นครั้งแรกที่แยกนิกายหลักเป็นสองทาง ผมเดาว่า ฝ่ายที่แยกตัวเป็นมหายาน เพราะเล็งเห็นว่า หากเคร่งคัมภีร์เกินไป เห็นทีพุทธจะสูญพันธุ์

การแข่งกันอย่างนี้ ก่อให้เกิดยุคทองของประติมาณวิทยา แต่เป็นยุคหน้ามืดของนักเรียนศิลปะอย่างผม
คิดดูละกัน เฉพาะมัทรา คือการจีบนิ้ว แค่นั้นเอง ทำด็อกเตอร์ได้แล้ว ผมลองพิมพ์ mudra ใส่กูเกิ้ล ได้มาล้านสี่แสนกว่าตัว jataka ได้มาแค่สี่แสนกว่า


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 23:21
 ดูเหมือนผมจะออกทะเลไปไกลสักหน่อย ท่านที่สนใจกรุณาเตือนด้วยนะครับ หากเห็นว่ามีน้ำมากกว่าเนื้อ หรือต้องการให้เข้าประเด็นใดเป็นพิเศษ
หากทำได้ยินดีปฎิบัติครับ นี่เป็นเรื่องเล่าแบบสั่งตัดครับ คนฟังสำคัญกว่าคนเล่า

ขอบพระคุณล่วงหน้า


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 28 เม.ย. 06, 01:45
 สนุกครับ

เชิญต่อเลยครับ อย่าหยุด ฮิฮิ

mudra รู้สึกว่าจะเคยเห็นใช้กันว่า มุทรา บ่อยๆครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 06, 08:38
 อ่านเพลิน
ขอย้อนไปประเด็นเก่าที่คุณพิพัฒน์จุดไฟไว้

"ครูผมคนหนึ่ง ถ่ายรูปชนบทไทยเก็บสะสมสามสิบกว่าปี นับหลายหมื่นรูป เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ประเมินค่ามิได้ แต่ไอ้โรงเรียนที่แกสังกัด ตีราคาได้ครับ บอกว่าเมื่อพี่เกษียณไปแล้ว จงหาฟิล์มจำนวนเท่าที่พี่เคยเบิกไปใช้ เอามาคืนเสีย แล้วราชการจะไม่เอาเรื่อง "
น้ำเสียงคุณพิพัฒน์ดูจะน้อยใจแทนครูอยู่หน่อยๆ ที่ผู้บริหารร.ร.ไม่เห็นคุณค่าของภาพถ่าย  แต่เห็นแค่ราคาของฟิล์ม

คุณเข้าใจผิดหรือเปล่า
สิ่งที่ผู้บริหารร.ร.คนนั้นทำไม่ใช่การประเมินค่าของภาพถ่าย แต่เป็นการให้ครูจ่ายค่าปรับอย่างอะลุ้มอล่วยที่สุดแล้ว
มันคนละเรื่องกับการตีราคาภาพนะคะ  

ฟิล์มที่เบิกไปเป็นทรัพย์สินของราชการ  หรือโบราณเรียกว่า"ของหลวง" ถือกันว่าตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้   ตกไปอยู่สารทิศใดต้องตามเอากลับคืนเข้าท้องพระคลังหลวง
ถ้าเอาของเดิมคืนมาไม่ได้ก็ต้องให้ผู้ที่เอาไปครอบครองจ่ายชดเชยในราคาเท่ากัน
อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของข้าราชการนี่แหละ   ถ้าทำหาย  ดวงหนึ่งชดเชยเป็นแสน   หน้ามืดเชียวนะคะ

ถ้าดิฉันเป็นครู  ดีใจตายเลยที่ทางร.ร.ให้ชดเชยเงินแค่นั้น  ถ้าไปเจอผ.อ.ที่ประเมินค่าภาพถ่ายจากฟิล์มว่ามีราคาสูงยิ่ง รวมเป็นส่วนหนึ่งของฟิล์ม  ถือว่าเป็นผลผลิตจากทรัพย์สินของราชการ  
ยื่นคำขาดให้ครูของคุณชดเชยด้วยราคาอันแทบจะประเมินมิได้เช่นร้อยล้าบาท
ครูคุณอาจจะเกือบหัวใจวายลงตรงนั้นก็ได้
เพราะงั้นเขาปรับแค่ฟิล์มน่ะดีแล้ว   ครูเก็บภาพถ่ายไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมต่อไปเถอะค่ะ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 เม.ย. 06, 10:01
 คนที่รับราชการพึงสังวรณ์ โดยเฉพาะครู
ผมได้บทเรียนจากคดีนี้ว่า
1 เขาไม่ได้ถือว่าฟิล์มถ่ายรูปเป็นวัสดุสิ้นเปลือง ประเภทกระดาษ ชอล์ค แปลงลบกระดาน แต่เป็นค่าใช้จ่ายจำพวกที่ต้องมีใบเสร็จ ประเภทค่าน้ำมันประมาณนั้น
2 เขามิได้ตีค่าทรัพย์สินทางปัญญาเลย ทั้งที่บุคคลากรด้านนี้ ทำงานด้วยใจรัก หากราชการต้องการผลงาน ย่อมยินดีอยู่แล้ว แต่มีข้อแม้ว่า ราชการต้องมีระบบเก็บรักษาที่พอเหมาะกับค่าของสิ่งนั้น
3 เขาคิดได้เท่ากับบริษัทฟิล์ม คือรับผิดชอบเพียงฟิล์ม หากทำเสียหาย ก็ชดใช้แค่ฟิล์มดิบ ฝีมือไม่รับชดใช้ แต่นั่นเราไม่ว่ากัน เพราะเป็นข้อตกลงก่อนติดต่อธุรกิจ แต่นี่เรากำลังพูดถึงสถาบันที่เป็นยอดสุดของประเทศ มีภาระกิจทำนุบำรุงสติปัญญาและวัฒนธรมของระบบ ทำไมคิดกันได้แค่ระดับเสมียน
4 หากราชการเปลี่ยนวิธีคิด มองทะลุเข้าไปถึงหัวใจของกิจกรรมทางปัญญา คงจะได้มองเห็นสมบัติมหึมาของประเทศชาติที่ถูกโยนทิ้งเป็นขยะอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ผมนึกถึงลายพระหัตถ์ข้อสอบของพระราชบิดา ที่เพิ่งมีผู้เสนอในเรือนไทยของเรา แค่กระดาษสองแผ่น อาจสร้างความกระจ่างให้ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาก้อได้ ใครจะไปรู้
สิ่งมีค่าเหล่านี้ ราชการทำลายทิ้งไปไม่รู้วันละเท่าไร
เห็นกระดาษเปล่ามีค่ากว่ากระดาษเปื้อนหมึก

อาจารย์เทาฯ อย่าทิ้งกระดาษที่จดอะไรขยุกขยิกทิ้งนะครับ ผมจะเก็บเอามาทำหอประวัติเรือนไทย ฮิ ฮิ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 06, 10:25
 ดิฉันเข้าใจว่าครูของคุณพิพัฒน์เบิกฟิล์มของราชการไปถ่ายรูป  ซึ่งอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับงานการสอน
ถ้าไม่เกี่ยว รูปที่ถ่ายได้เจ้าตัวเก็บไว้   ก็ต้องใช้ราคาฟิล์มคืนราชการ แค่นี้ละค่ะ

"เขามิได้ตีค่าทรัพย์สินทางปัญญาเลย ทั้งที่บุคคลากรด้านนี้ ทำงานด้วยใจรัก หากราชการต้องการผลงาน ย่อมยินดีอยู่แล้ว แต่มีข้อแม้ว่า ราชการต้องมีระบบเก็บรักษาที่พอเหมาะกับค่าของสิ่งนั้น"
หวังว่าครูของคุณพิพัฒน์ไม่ได้มอบผลงานให้ราชการนะคะ  เก็บรักษาไว้ให้สถาบันเอกชนภายนอก หรือลูกหลานดูแลต่อไปน่าจะดีกว่า
ดิฉันยังไม่เห็นหน่วยราชการหน่วยไหนมีระบบเก็บรักษาที่เหมาะสมได้เพียงพอเลย   แม้แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษางานศิลปะต่างๆไว้ก็มีเนื้อที่จำกัด ไม่สามารถเก็บได้หมด
เผลอๆเกิดซ่อมแซมปรับปรุงสถานที่  สร้างตึกใหม่ ต่อปีกใหม่ ทำห้องใหม่  ผลงานอาจลงไปพักรออยู่ใต้ถุนนานหลายปีก็เป็นได้

แต่ถ้าครูของคุณเป็นศิลปินแห่งชาติ หรือบุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรม
กระทรวงวัฒนธรรมเขามีหออัครศิลปินไว้แสดงผลงาน


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 เม.ย. 06, 14:58
 อินทรา ในยุคที่รุ่งเรืองที่สุด เป็นถึง "เทวราชา" คือหัวหน้าของเทวาทั้งมวล
(ตำแหน่งนี้ อีกร่วมสองพันปี ถูกโอนมาให้กษัตริย์เขมร the devaraja cult ซึ่งยังสรุปไม่ได้ชัดเจนว่าหมายถึงอะไร แต่ดูเหมือนทฤษฎีของเซแดสจะตกเวทีไปแล้ว)
แน่นอนละ ตำแหน่งนี้ ย่อมสะท้อนปัญหา คือเทวายังมีข้าศึกจึงต้องหาหัวหน้าเพื่อออกศึก เป็นโครงเรื่องคลาสสิคประเภท "ธรรมาธรรมะสงคราม" โดยแท้
เราจะข้ามรายละเอียดพวกนี้ไปนะครับ หาไม่จะกลายเป็นวรรณคดี ซึ่งกระผมแบ๊ะแบ๊ะครับ ไม่รู้เรื่องเลย
เดี๋ยวจะมีเรื่องรบกวนท่านทั้งหลายเกี่ยวกับวรรณคดีนะครับ

เอาเป็นว่า การศึกของอินทราอันแสนยิ่งใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงนี่ ไม่มีแสดงไว้เป็นศิลปกรรมไม่ว่าประเทศใหน ยุคใหน เทคนิคใหนเลยครับ มีก้อแต่ในพระเวทกระท่อนกระแท่น แถมยังกลายเป็นเรื่องราวเพื่อเสริมบารมีของวิษณุและเทพรุ่นใหม่ๆไปเสียอีก

ประวัติการณ์ของอินทรา มาซ่อนอยู่ในวรรณกรรมยุคหลังมากๆ ราวๆสักพันปีมานี่เองกระมัง อยู่ในเอกสารพุทธศาสนาอีกด้วย
ผมเลยหาใคร่ในใจว่า เอ... นี่จะเป็นเทพองค์เดียวกันไม้นี่
จะว่าเป็นองค์ใหม่ถอดด้าม เครื่องเคราประกอบก็คุ้นๆว่าตรงกับสมัยพระเวท พวกสายฟ้าวชระ พวกไอยราวตะ ฯลฯ
แต่ทำไมทรง"กระจอก"จัง ทำหน้าที่คล้ายๆหัวหน้าบ๋อยมากกว่า

รูปข้างล่าง เปรียบเทียบสูรยเทพกับอินทรา เทพที่อาวุโสรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่สูรยะนี่ท่านทรงหล่อมาโดยตลอดจนคนเลิกนิยม ยังมีอนุสรณ์เป็นมหาสถาปัตยกรรมแห่งอินเดียที่โกนารัค
ส่วนอินทรานี่ ไม่เคยเห็นอนุสรณ์สถานที่ใหนเลย จะมีก็เป็นชื่อที่หลงเหลืออยู่ เช่นนครสวรรค์หรือเมืองบนในภาษาโบราณ อย่างนี้เป็นต้น ในอภิธานับฯ ยังพอเห็นร่องรอยความ"ใหญ่"ของท่าน เป็นศัพท์เฉพาะอยู่หมวดหนึ่ง แล้วก้อ แอ่น...แอ๊น....กรุงรัตนโกสินทร์ของเรานี่ไง

เลยอยากจะขอความรู้จากท่านผู้มีอุปการะคุณ (ไม่เรียนถามอาจารย์เทาฯแล้วแหละ ...งอน ไม่ยอมช่วยผมมั่งเลย คอแห้งเป็นผงแล้วคร๊าบ)

มีวรรณกรรมเชิดชูอินทราอยู่ที่ใหนบ้าง บอกให้รู้เอาบุญด้วย
ผู้น้อยจะได้มีแรงมาเล่าต่อถึงองค์อินทรา ภาคที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปรียบพระองค์ท่านเป็นเทพองค์นี้

ผมเริ่มด้วย
1 สมบัติอมรินทร์คำกลอน
ท่านใดจะต่อแถวครับ
.


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 28 เม.ย. 06, 17:57

-picture by Francis Chit

จาก ค.ห. 12
โคลงเก่าที่กำลังศึกษา ถึงตอนสัตว์ในพิธีโสกันต์ ในโคลงดั้นเรื่องพิธีโสกันต์
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อขบวนแห่ถึงโรงพิธี ทำพิธีแล้วก็โสกันต์ ดังในโคลงว่า

น้ำหล่งงจากปากท้งง............. ..สี่สัตว์ ซ่าแฮ
เหล่าพระขัติยวงษ....................ใหญ่ห้อม
รดน้ำเจริญสวัสดิ์......................ทุกพระ องค์นา
พราหมณ์พรั่งสงงข์พร้อมน้อม......อวยผล

การสรงน้ำนั้น จะสรงจากปากสัตว์ทั้ง 4 ได้แก่ สิงห์ ช้าง ม้า วัว ตามพิธีพราหมณ์
ซึ่งน้ำที่หลั่งจากปากสัตว์ ถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์  เพราะศาสนาพราหมณ์ถือว่า
สัตว์ 4 ชนิดเป็นสัตว์ประเสริฐ ใครได้อาบน้ำจากปากสัตว์เหล่านั้นจะเกิดศิริมงคล


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 เม.ย. 06, 20:15

.
ขอบคุณ คุณRinda และขอบคุณที่เตือนเรื่องการสะกด ผมพิมพ์ดีดไม่ได้ความเสมอ ผิดผิดถูกถูกเป็นประจำ อย่าถือสาเลยครับ

ปากสัตว์ทั้งสี่ดังกล่าว พุทธกับพราหมณ์ระบุไม่ตรงกัน

ผมยังไม่พึงใจคำอธิบายว่า
"ศาสนาพราหมณ์ถือว่า....ใครได้อาบน้ำจากปากสัตว์เหล่านั้นจะเกิดศิริมงคล "
เพราะน้ำมงคลในแต่ละพิธีมีที่มาแตกต่างกัน ทั้งพุทธมนต์และเทพมนตร์(อันนี้สะกดไม่ผิดนะครับ ตั้งใจ ตามเสด็จสมเด็จฯนริศฯครับ) หากอ้างความเป็นมงคลเพราะมาจากปากสัตว์ทั้งสี่
มิต้องมีน้ำหลั่งมาจากรูปสัตว์ชุดนี้ตลอดเวลาในทุกพิธีหรือครับ

ใครอยู่แถวสาชิงช้าลองนมัสการถามท่านพระครูวามฯ ดู อาจจะได้รับคำตอบดีๆ

ผมจะหายไปสักสองวันนะครับ ขอลาไปทำการบ้านให้หลาน
--------------
รูปประกอบ จากจิตรกรรมที่วัดสระเกศ มาจากเวบเยอรมันเจ้าเก่า ปากสัตว์ทั้งสี่ ที่สวยที่สุด อยู่บนตู้พระธรรมลายรดน้ำที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา อยุธยาครับ จะพยายามหามาฝาก


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 28 เม.ย. 06, 21:09
 สำหรับเรื่องเทพ ทั้งเทพจากคัมภีร์พระเวท กับ คัมภีร์พุทธ ก็มีชื่อคล้าย ๆ กัน แต่ลักษณะหลายอย่างก็ต่างกัน

สำหรับเรื่องราวของ เทวดาต่าง ๆ

ขอแนะนำหนังสือสองเล่ม คือ

1. เทวดาพระเวท (เทพเจ้าในคัมภีร์พระเวทแห่งชาวอารยัน)
2. เทวดาพุทธ (เทพเจ้าในพระไตรปิฏกและไตรภูมิพระร่วง)

ซึ่งทั้งสองเล่ม แปลและแยกมาจากวิทยานิพนธ์สำหรับปริญญาอก สาขาพุทธศาสตร์ ในปีการศึกษา 2519 - 2520 ณ สถาบันนวนาลันดา มหาวิหาร เรื่อง "เทพเจ้าในพระเวทและไตรภูมิพระร่วง" โดย ศาสตราจารย์ อุดม รุ่งเรืองศรี

ขอเอารายนำเทพประจำสวรรค์ต่าง ๆ ใน "เทวดาพุทธ" มาพอให้เห็นเป็นสังเขป ดังนี้

สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิก

- ท้าวมหาจาตุมหาราช
อันได้แก่ ท้าวธตรัฏฐะ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวเวสสุวรรณ
- ขิฑฑาปโทสิกา
- มโนปโกสิกา
- สีตวลาหก
- อุณหวลาหก
- สุริยเทวบุตร
- จันทิมาเทวบุตร
- ปัชชุนานะ
- คนธรรพ์
- กุมภัณฑ์
- ยักษ์
- นาค
- ครุฑ
- รุกขเทวดา
- ภูมิเทวดา

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

- พระอินทร์
- ปัญจสิขร
- วิศวกรรม
- มาตลี
- เอราวัณ
- ประชบดี
- วรุณ
- อีสาน
- โสม
- พระยม
- มนาปกายิกาเทวดา
- วรุณวารุณเทวดา
- อุชญานสัญญิกาเทวดา
- มโนสัตตเทวดา


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 28 เม.ย. 06, 21:14
 สำหรับ พระอิศวร ไม่พบในพระไตรปิฏกก็จริง

แต่ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ของล้านนา มีอยู่ฉบับหนึ่งที่กล่าวถึง การต่อสู้พระหว่างพระอิศวร กับพระพุทธเจ้า ไว้อย่างสนุกทีเดียวครับผม

คือ "ฉคติทีปนี" ซึ่งปริวรรตโดย มาลา คำจันทร์ ซึ่งเคยตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ ปลายปีก่อน

เสียดาย ทางหนังสือพิมพ์ลงผิด โดยลงตอนที่ 5 ซ้ำสองตอน ก็เลยทำให้ตอนที่ 4 หายไป ตอนนี้ที่ผมจึงมี 3 ตอนแรก และ ตอนสุดท้าย ส่วนตอนที่ 4 กำลังจะไปขอต้นฉบับมาอยู่ครับ ไว้จะเอามาเล่าสู่กันฟังวันต่อไปนะครับผม


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 29 เม.ย. 06, 10:20
 ก่อนที่จะมาเล่าการเผชิญหน้ากันระหว่างพระอิศวรกับพระพุทธเจ้า ใน “ฉคติทีปนี” ขอกล่าวถึงความเป็นมาของพระอิศวรในธรรมเรื่องนี้ก่อน

ในธรรมเรื่องนี้ ไม่ได้กล่าวถึงพระนามของพระอิศวรตรง ๆ  แต่จะใช้ชื่อว่า “ปรเสสระ” บ้าง “ปรไมสวร” บ้าง หรือ“ปรเมสสวร” บ้าง แต่ก็คือบุคคลคนเดียวกัน

ที่ว่า ปรเมสสระ นั้นคือพระอิศวร คือ “นางเทวีแห่งตนผู้ชื่อ อุมมาเทวี” มีบริวารหลัก คือ นันทิสสรเทวบุตร และ มหิกาลิวเทวบุตร (สององค์นี้เทียบได้กับเทพองค์ไหน ก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ) และมีลูกชื่อว่า “ขันธเทวกุมาร” อันมีนกยูงเป็นพาหนะ

และกล่าวถึงการกำเนิดของปรไปสวร (เอาชื่อนี้ละกัน เป็นความชอบชื่อนี้เป็นการส่วนตัว) ไว้ว่า ในชาติก่อนนั้น ได้ทำบุญถวายทานน้ำหวาน ที่ทำจากนมวัว อันมีชื่อว่า “ควปานะ” เมื่อมาเกิดในกัปนี้ ก็เป็น “โอปปาติกภุมมเทวดา” และมีวัวอุศุภราช เป็นพาหนะ และในชาติก่อนนั้นก็ได้ให้ทานเหล็กจารใบลานและบริขารแก่สังฆะ เมื่อเกิดมาเป็นปรไมสวรก็มีหลาวเหล็ก ๓ เล่มเป็นอาวุธ

และยิ่งตอนที่เตรียมตัวก่อนจะไปหาพระพุทธเจ้า ยิ่งเห็นได้ชัดเจนมากว่าเป็นพระอิศวร ซึ่งจะกล่าวต่อไป


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 29 เม.ย. 06, 13:58

พิธีโสกันต์แบบพราหมณ์อีกพิธีหนึ่งที่จัดอย่างใหญ่โต
มีขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

พระองค์ทรงมีพระบรมราชองค์การโปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ สร้างเขาไกรลาสสูง 8 วา
มีมณฑป ยอดเขามีรูปพระอิศวร รูปพระอาทิตย์ พระจันทร์ มีเทวดาประจำอยู่ 8 ทิศ มีรูปกินนร รูปสัตว์
ทั้งจตุบท ทวิบาท พญานาค และพญามังกร เพื่อประกอบพระราชพิธีโสกันต์
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ


ภาพนี้ถ่ายโดย John Thomson ชาวสก็อต
(มีภาพเขาไกรลาส เห็นชัดเจน ที่ถ่ายโดยนายทอมสัน แต่รูปโตเกินขนาด)  


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 29 เม.ย. 06, 15:55
 กงศุลอาลาบาสเตอร์ได้บันทึกเกี่ยวกับพิธีโสกันต์ไว้ว่า

"เด็กเล็กๆ เอาผมไว้จน 10 ฤา 11 ก็โกนเสีย ในการโกนผมมีพิธีใหญ่โต และถ้าเป็นเจ้าก็มีพิธีสมโภช
อย่างเอิกเกริก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงชี้ให้เซอร์ แฮรี่ ออร์ด [เจ้าเมืองสิงคโปร์] ดูเจ้าชายพระองค์หนึ่ง
ซึ่งพระองค์มีรับสั่งจะได้โกนในปีหน้า......จะเป็นงานใหญ่น่าดูมาก"


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 29 เม.ย. 06, 20:17
 ในสมัยที่พระพุทธเจ้า ไปเทศนามหาสมยสูตร ในเมืองกบิลพัสดุ์ เหล่าเทวดาทั้งหลายก็พากันมาฟังเทศน์กันถ้วนทั่ว วิมานทั้งหลายก็เลยไม่มีเทวบุตรเทวดาองค์ไหนสถิตเลยสักองค์  ยามนั้นปรไมสวรก็พาอุมมาเทวี อันเป็นชายา และบริวาร อันมีนันทิสสรเทวบุตร และ มหิกาลิวเทวบุตร ไปเที่ยวเล่น ก็เห็นวิมานต่าง ๆ นั้นว่างเปล่า ก็นึกฉงน ก็สอดส่องเล็งดู ก็เห็นเหล่าเทวบุตรเทวดาพร้อมทั้งท้าวพระญาศากยะท้งหลายสดับตรับฟังธรรมเทศนาอยู่ อันมี สัมมาปริสัพพาชนิยสูตร พลหทวาทสูตร มหาพยุหสูตร จุฬพยุหสูตร ปราเภทสูตร

ปรไมสวรก็คิดว่าหากเทวดาทั้งหลายฟังธรรมพระโคตรมะแล้ว จะไม่รับเอาข่าวสารแห่งปรไมสวรอีกต่อไป จึงคิดจะทำลายการเทศนาธรรมแห่งพระสมณโคดมนั้นเสีย

ปรไมสวร จึงไปยังป่าช้าอันใหญ่ พร้อมบริวาร แล้วเกลือกกลิ้งเหนือกองไฟที่เผาผีนั้น เพื่อให้เถ้าและหนังผีที่ไหม้ไฟทาตัว  เอาข่าย(สิ่งที่ถักเป็นตา ๆ )ดอกไม้ แล้วเนรมิตงูเกี้ยวหัวแล้วแผ่พังพาน เอาเหลาวเหล็กสามอัน เข้าไปสู่ยังสถานที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนา


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 30 เม.ย. 06, 23:39
 แล้วปรไมสวรก็ขับฟ้อนต่าง ๆ ใครที่จิตพร่องเบาก็โห่ร้องตามการฟ้อนรำของปรไมสวร ไม่เป็นอันฟังธรรม แล้วปรไมสวรก็ให้นามอุมมาเทวีฟ้อนด้วย คนและเทวดาทั้งหลายที่จิตพร่องเบาก็สาธุการต่อการฟ้อนหล่านั้น พร้อมกับตีกลองน้อยใหย่ บัณเฑาะว์ ระนาด ฆ้อง กังสดาล บ้างก็ลุกขึ้นฟ้อนตามไปด้วย จนกึกก้องโกลาหล กวนการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก

แต่เทวดาและฝูงชนผู้เป็นอริยสาวกแล้วนั้น เป็นคนที่มีจิตใจหนักแน่น ปรไมสวรก็ไม่สามารถทำให้คนกลุ่มนี้หวั่นไหวได้ง่ายๆ ส่วนพระพุทธเจ้าก็คล้ายกับว่ามองไม่เห็นปรไมสวร จึงทำการเทศนาจนจบ ปรไมสวรเมื่อเห็นว่า ไม่สามารถทำลายการเทศนาธรรมได้ จึงหนีไป หากขืนอยู่เท่ากับว่าตนเองได้มาสดับฟังธรรมเทศนานั้นด้วย

เมื่อพระพุทธเจ้าเทศนาธรรมจบลงแล้ว ผู้ที่มีใจหนักแน่น ก็ถึงอรหัตผล ประมาณแสนโกฏิอักโขเภณี และถึงโสดาปัตติผลมรรคผล สกิทาคามีมรรคผล และ อนาคามีมรรคผล ได้ ๑ อสงไขย ครานั้น ท้าวพระญาเมืองโกลิยะและเมืองศากยะ ก็ให้ราชกุมารทั้งหลายบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าถึง ๕๐๐ ตน (องค์)

เมื่อปรไมสวร ล้มเหลวในการทำลายธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าในครั้งแรก จึงใคร่กระทำการประลองอิทธิฤทธีกับพระพุทธเจ้า จึงเข้าไปหาพระพุทธเจ้าในเมืองศากยะ ในครานั้นพระพุทธเจ้าได้ไปประทับที่ป่าหิมวันต์ และสมานกายไม่ให้ใครได้พบเจอ แต่ปรไมสวรก็ประสบพบกับพระพุทธเจ้าได้ ด้วยฤทธิ์แห่งปรไมสวร เมื่อเห็นดังนั้นจึงเข้าไปเจรจา

บอกว่า “เจ้ากู (หมายถึง พระพุทธเจ้า)นั้นมีเสียงเล่าลือว่าประกอบด้วยคุณในหมู่คนและเทวดาทั้งหลายด้วยฤทธีอานุภาวะ ส่วนข้า (ปรไมสวร) นั้น ก็มีอานุภาพปรากฏในคนและเทวดาทั้งหลายด้วย จะมีใครมาเทียบเราทั้งสองไม่มีเลย เจ้ากูมีฤทธิ์อานุภาพด้วยบารมีฌานผล ส่วนข้ามีฤทธิ์ด้วยบารมีกรรม แต่ข้าก็ไม่เคยประจักษ์ด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งเจ้ากู ฉะนั้น ในครั้งนี้เห็นควรว่า เราทั้งสองจักสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ประจักษ์กันเถิด”


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 01 พ.ค. 06, 03:01
 เมื่อปรไมสวรกล่าวเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็เล็งเห็นว่า ในกาลภายหน้า ปรไมสวรจะเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็กล่าวกับปรไมสวรว่า “หากจะเห็นอิทธิอานุภาพแห่งพระตถาคตแล้ว กำสำแดงอิทธิอานุภาพแห่งท่านออกมาก่อนเถิด”

ปรไมสวรได้ฟังดังนั้นก็ชวนพระพุทธเจ้าเล่นลี้ (ซ่อนแอบ) ดั่งเด็กน้อย คนหนึ่งเป็นคนลี้ คนหนึ่งเป็นผู้หาให้เจอ

พระพุทธเจ้าก็ตกปากรับคำในการเล่นลี้กันในครั้งนี้ ปรไมสวรจึงให้พระพุทธเจ้าปิดตา แล้วตนเองจะเป็นฝ่ายลี้ ด้วยคิดในใจว่า หากพระพุทธเจ้าลี้ก่อน แล้วตนเองหาไม่เจอแล้ว พระพุทธเจ้าจะไม่ยอมหาเมื่อตนเองเป็นฝ่ายลี้

ครั้นพระพุทธเจ้าปิดตาลง ปรไมสวรจึงหายตัวจากที่นั้นแล้วดำดินลงไปถึงชั้นที่มีรสหวาน แล้วแปลงกายให้เล็กเท่า ปรมาณู อันคล้ายดั่งผงธุลีที่ปลิวอยู่ในอากาศนั้น เมื่อลี้ได้แล้ว จึงกู่ให้พระพุทธเจ้าออกค้นหา ด้วยสัพพัญญุตญาณ คล้ายดั่งเขี่ยแผ่นดินนั้นแล้วเอามือหยิบเอาผงธุลีอันเป็นองค์ปรไมสวรแปลงนั้น มาไว้เหนือฝ่ามือแล้วเขี่ยไปมา แล้วกล่าวว่า ท่านจงลุกมาเถิด

ปรไมสวรนึกว่าพระพุทธเจ้าไม่เห็น จึงยังคงนิ่งอยู่อย่างนั้น

ฝ่ายพระพุทธเจ้านั้นก็รู้ถึงความคิดของปรไมสวร จึงกล่าวว่า ท่านคิดหรือว่าตถาคตะจักไม่เห็นท่าน ตถาคตะเห็นท่านทั้งตีน มือ เล็บ แลขุมขน ไส้ใหญ่ไส้น้อยทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่จะหลุดรอดสายตาไปได้

ปรไมสวรได้ยินดังนั้นก็รู้ได้ว่าพระพุทธเจ้าได้จวบพบตนเองแล้ว จึงเนรมิตกายกลับคืนมาดังเดิม พระพุทธเจ้ากล่าวว่า แม้นว่าปรไมสวรลี้หนีไปอยู่ในน้ำมหาสมุทรก็ดี ไปเนรมิตเป็นสัตว์นรกอยูในนรก ๑๒๘ ขุมก็ดี เนรมิตเป็นยมบาลก็ดี เนรมิตเป็นสัตว์เดรัจฉานไม่ว่าจะแปลงเป็น นาค ครุฑ สัตว์ ๔ ตีน ๒ ตีน หรือมากกว่านั้น หรือไม่มีตีนเลย ก็ดี เนรมิตเป็นเทวดาตั้งแต่ฉกามาจนถึงพรหมก็ดี เนรมิตเป็นต้นไม้เถาวัลย์ก็ดี เป็นภูดอยหินผาอันใดก็ดี พระพุทธองค์ก็เห็นหมดทุกสิ่ง

ปรไมสวร จึงไม่สามารถจะลี้ไปอันใดได้ จึงกล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า “ขอให้เจ้ากูลี้เถิด ข้าจักหาท่านเอง”


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 06, 13:18
 คุณพิพัฒน์หายงอนดิฉันหรือยัง จะได้เข้ามาตอบเรื่องพระอินทร์
ตอนนี้ขอฟังคุณศศิศให้จบก่อนค่ะ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 พ.ค. 06, 14:37

.
ใครจะกล้างอนอาจารย์นานครับ
กะลังเพลินเรื่องของคุณทริปเปิล ศ
คลับคล้ายคลับคลาว่า พระพุทธองค์ก็เคยเล่นซ่อนแอบกับท้าวมหาชมพูบดี ซึ่งเป็นนิยายที่เถรวาทไปตอนมาจากมหายาน
ถ้าตอนจบพระพุทธองค์เสด็จลี้ตรงหน้าผากละก้อ แม่นแล้ว เรื่องเดียวกัน
เรื่องที่คุณศ เล่ามานี่ผมขอเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้านะครับ

ตอนนี้มอบกระดานดำให้เล่นไปก่อน พอดีเสร็จการบ้านหลาน ไปค้นเจอข้อมูลของท่านศิลาเศวต จะแว็บไปทำการบ้านให้อาจารย์เทาอีกเรื่องหนึ่ง

ขอบคุณครับ
รูปข้างบน คือพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่นักปราชญ์ท่านเห็นว่าสร้างตามตำนานท้าวมหาชมพูบดี
เอามาจากเวบช่างภาพไทย http://www.somchaisuriya.com/blog/index.php?option=com_rsgallery&catid=4  


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 06, 15:21
ยังไม่เล่าเรื่องพระอินทร์  รอคุณ สาม ศ (เข้าใจเรียกนะ คุณพิพัฒน์) มาเล่าต่อให้จบก่อน
เนื้อหาจะได้ไม่โดดข้ามไปข้ามมาค่ะ

เรื่องการประลองฤทธิ์ด้วยวิธีซ่อนหา   จำได้ว่าในตำนานของหงอคง(ซึ่งน่าจะมาจากมหายาน)ก็มีเหมือนกัน  เคยดูหนังตอนนี้
ว่าเห้งเจียลองฤทธิ์กับพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง    แล้วแพ้ เพราะท่านหาเจอ แต่หงอคง หาท่านไม่เจอ

พระพุทธรูปทรงเครื่อง  ดิฉันนึกว่าพระเจ้าปราสาททองได้คติมาจากเขมรตอนท่านไปตีเขมรแล้วกลับมาสร้างวัดไชยวัฒนาราม ตามผังจักรวาลโลกโบราณเสียอีก
แต่เรื่องนี้คงต้องถามนักโบราณคดี  ดิฉันไม่ได้เรียนมาเหมือนกัน   จำได้ว่าอ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดมเลกเชอร์ไว้ทำนองนี้


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 01 พ.ค. 06, 15:34
 "น้ำหวาน ที่ทำจากนมวัวอันมีชื่อว่า ควปานะ" ในความเห็นที่ ๓๕ ของคุณศศิศ ทำให้ผมนึกถึงนมข้นหวานตรามะลิ ไม่ทราบว่าเหมือนกันหรือเปล่า

รอฟังทั้งคุณ pipat และคุณศศิศต่อไป...


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 06, 16:02
 เฮ้อ คุณ UP
คุณไม่น่ามาตั้งข้อสังเกต  ให้ดิฉันถวิลหาปาท่องโก๋แถวสามย่านเลยเชียว


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 พ.ค. 06, 16:57
 เรื่องพระเจ้าปราสาททองรับคติเขมรนี่ ผมไม่เคยเชื่อเลยตั้งแต่พระมติของกรมฯดำรงมายันท่านสุภัทรดิศ ไม่ยักทราบว่าอาจารย์ศรีศักดิ์ก็เอากะเขาด้วย เห็นทุกทีแกเป็นฝ่ายค้านสำนักดำรงชั่วกัลปาวสานต์

ตอนพระเจ้าปราสาททองตีเขมรนี่ ประเทศนั้นนอกจากปลากรอบแล้วยังมีอะไรเหลืออีกหรือครับ

แต่อย่าเพิ่งขัดจังหวะคุณสามศ.ของผมนะครับ อยากรู้ตอนต่อไป
แหม ถ้ามีเพลงประกอบละก้อสวรรค์รำไรเทียว


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 01 พ.ค. 06, 17:31
 ตอนแรกว่าวันนี้จะมาเล่าต่อเสียหน่อย อุตส่าห์เข้าไปที่โฮงเฮียนสืบสานฯ แต่คลาดกันไปประมาณ ๕ นาที วันนี้ก็เลยไม่ได้เอาตอนที่ ๔ มาเล่า เพราะหากจะเล่าข้ามไปตอนที่ ๕ เลยก็อดรู้ว่าพระพุทธเจ้าจะลี้อยู่ที่ไหน ไว้วันพรุ่งนี้จะมาเล่าแต่แน่ ๆ ครับ เพราะว่าวันพรุ่งนี้มีประชุมที่นั่นอยู่พอดี

ส่วนว่าพ้องกับนิทานทางมหายานหลาย ๆ เรื่องนั่นก็เป็นที่น่าสนใจอยู่ แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ว่า การหยิบเทพเจ้าหนึ่งในตรีมูรติ มากล่าวถึงนั้น ก็นับว่าสำคัญไม่น้อย ในการที่มองเห็นถึงความคิดความเห็นของชาวล้านนาต่อพระเจ้าในศาสนาฮินดู

สำหรับเรื่องพระเจ้าปราสาททอง คงต้องไปรื้อตำราอีกสักรอบ....  ว่าทรงสร้างภาพให้เห็นว่าพระองค์คือพระโพธิสัตว์ หรือเปล่า


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 02 พ.ค. 06, 18:36
 อ่านจนตาลาย ไม่รู้เรื่องเลยอ่ะครับ
รูปสัตว์ทั้ง 4 นี่มีอยู่หลายที่ครับ ที่ผมนึกออก ก็
- จิตรกรรมฝาผนังบนเสาพระวิหารวัดสุทัศน์ฯ
- จิตรกรรมฝาผนังในหอไตรฯของวัดระฆัง
- ภาพประดับมุกที่พระบาทของพระนอนวัดโพธิ์
- ที่รอบพระเจดีย์หลังพระอุโบสถวัดบวรฯ ก็มีสัตว์อยู่ 4 ชนิดครับ แต่ไม่ใช่ 4 ตัวที่มักจะกล่าวถึงกัน(สิงห์ ม้า โค ช้าง) แต่มีรูปหล่อของ สิงห์ ม้า นก ช้าง แทน เคยอ่านพบว่ามีผู้แปลความหมายถึงประเทศที่อยู่รอบประเทศไทยไว้คือ สิงคโปร์ พม่า โยนก ล้านช้าง


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 02 พ.ค. 06, 18:43
 ลืมไป อีกที่นึงซึ่งเหมือนในรูปพระราชพิธีโกสันต์ที่กล่าวถึง ก็คือเขาไกรลาสจำลองข้างๆพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ผมจำไม่ได้แล้วว่าตอนนี้จะเหลืออยู่ครบ 4 ตัวรึเปล่า


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 02 พ.ค. 06, 18:49
 อีกที่ก็คือภาพสลักไม้เรื่องพิธีอินทราภิเษก หน้า planary hall ของศูนย์พระนามครับ (ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์)
คิดว่ารูปลายรดน้ำพิธีอินทราภิเษก ในพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้วก็น่าจะมีรูปดังกล่าวเหมือนกันนะครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 02 พ.ค. 06, 18:55
 ไหว้สาท่านเจ้าของกระทู้แลผู้ใหญ่ทั้งปวงครับ นกข. ขอมานั่งฟังด้วยคน

ตำนานล้านนาเรื่องการประลองฤทธิ์ระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระอิศวร ที่คุณศศิศเล่านั้น ทำให้ผมนึกถึงตำนานต้นกำเนิดเพลงสาธุการ ที่วงดนตรีไทยใช้ไหว้ครูนั่นแหละครับ แต่จะถือว่าเป็นตำนานทางไทยภาคกลางได้หรือไม่ก้ไม่ทราบ ทราบแต่ว่า เนื้อเรื่องที่ผมเคยได้ยินมา คล้ายๆ กันเลย สรุปย่อๆ ก็คือ พระอิศวรท้าลองฤทธิ์กับพระพุทธเจ้า ลองด้วยการซ่อนหา แล้วก็แพ้ จึงยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า แล้วพระอิศวรก็เลยทำเพลงสาธุการเป็นการแสดงความเคารพ จึงถือว่าเพลงสาธุการเป็นเพลงไหว้ครูแต่นั้นมา


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 02 พ.ค. 06, 19:15
 คุณอาชาคลั่ง ณ แดนตะวันตก จำเรื่องหงอคงหรือเห้งเจียประลองฤทธิ์กับพระยูไลฮุดโจ๊วที่อาจารย์เทาฯ ปรารภขึ้นมาได้ไหมครับ

ผมพอจำได้คร่าวๆ ไม่รับรองว่าถูกต้อง ถ้าผิด เชิญผู้รู้ทางจีนศึกษาแก้ให้ด้วยเทอญ - ขอบพระคุณล่วงหน้า

เท่าที่ผมจำได้ พญาลิงฤทธิ์มากหัวดื้อตัวนั้นประลองกับพระยูไลพุทธเจ้า โดยการกระโดดไกลครับ ไม่เชิงว่าเป็นการเล่นซ่อนหาทีเดียว แต่อีตาหงอคงแกเป็นลิงที่โดดตีลังกาไปทีหนึ่งได้ไกลถึงกี่หมื่นกี่พันโยชน์ก็ลืมแล้ว แต่ว่าไกลมาก เรียกว่าสามารถท่องทั่วสากลจักรวาลได้โดยการโดดไม่กี่ที พระยู่ไหลท่านก็ท้าว่า หงอคง หากเจ้าสามารถกระโดดข้ามพุทธหัตถ์ของเราตถาคตได้ เราจะไม่เอาโทษที่รุกรานจนสวรรค์ถล่ม แต่ถ้าไม่ได้ จะต้องลงทัณฑ์แก่เจ้านะ เห้งเจียก็บอกว่า โฮ้ย - หวานหมู ฝ่ามือของพระองค์ใหญ่ก็จริง แต่ข้าโดดทีเดียวก็ไปถึงไหนๆ แล้ว เอาเลย

พระพุทธองค์แบพระหัตถ์ออก เห้งเจียก้โดดลงไปกลางฝ่าพระหัตถ์ แล้วก้ออกแรงเต็มที่ ฮึบ- โดดไปโดยแรงด้วยกำลังฤทธิ์ ทีเดียวก็ไปถึงสุดขอบจักรวาลหรือเอกภพ เห็นเสาแก่นจันทน์แดงบรมมหามหึมาห้าต้น ค้ำยันเป็นหลักสุดเขตขอบจักรวาลอยู่ พ้นไปจากนั้นไม่มีอะไรอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสสารหรือพลังงาน ก็นึกกระหยิ่มใจว่า เราโดดมาถึงนี่อีตาพระแก่นั่นต้องยอมรับแล้วว่าพ้นจากมือแกมาได้ไม่รู้ถึงไหนๆ แล้ว แต่เดี๋ยวแกจะไม่ยอมเชื่อหรือบิดพลิ้ว จำเราจะต้องทำเครื่องหมายไว้ยันทีหลังว่าเรามาถึงสุดขอบจักรวาลแล้ว ไม่มีใครจะมาไกลได้ขนาดนี้อีก คิดแล้วเห้งเจียก็เขียนชื่อตัวเองลงบนเสาต้นกลางว่า "ซีเทียนไต้เซีย was here" แบบเดี่ยวกับที่มนุษย์มือบอนทั้งหลายชอบเขียน แล้วก็ตีลังกาวูบกลับไปที่เดิม

ก็ได้ยินเสียงพระพุทธเจ้าบันลือพระสีหนาทว่า เห้งเจีย เจ้ายังไม่โดดไปไหนอีกหรือ? เห้งเจียฉุนก็ว่า อะไรได้ ข้าโดดไปถึงไหนๆ ถึงสุดขอบจักรวาลแล้ว พระองค์จะว่าข้ายังไม่ไปไหนได้ยังไง ไม่เชื่อไปดูหลักฐานที่สุดขอบจักรวาลของเราสิ -


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 02 พ.ค. 06, 19:24
 พระยูไลฮุดโจ๊วท่านก็ว่า เจ้าลิงเอ๋ย เจ้าไม่รู้หรอกหรือว่าข่ายพระญาณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นย่อมครอบคลุมทั่วทั้งแสนโลกธาตุตลอดทั่วอนันตจักรวาล ที่เจ้านึกว่าเจ้าโดดไปจนถึงสุดขอบเอกภพแล้วน่ะ ที่จริงเจ้ายังไม่ได้ออกไปไหนเลย จงก้มลงดูที่โคนนิ้วกลางของเราสิ เห็นชื่อของเจ้าเองที่เจ้าเขียนอยู่ไหม? เสายักษ์ต้นกลางที่เจ้านึกว่าเป็นหมายบอกเขตสุดจักรวาลนั่นน่ะ ที่แท้คือนิ้วของเรานั่นเอง

เห้งเจียเห็นจะไปไม่รอดก็ทำท่าจะโดดหนี แต่ไม่ทัน พระยูไลพุทธก็คว่ำพระหัตถ์ลง กลายเป็นเทือกเขามหึมาห้ายอด ทับเห้งเจียอยู่ข้างใต้ และทรงสาปซ้ำให้ติดอยู่ใต้นั้นจนกว่าพระถังซัมจั๋งจะจาริกผ่านมา จึงให้เป็นอิสระได้ จะได้เป็นศิษย์นำพระถังไปไซทีต่อไป

พระพุทธเจ้าองค์นี้ดูทีท่าจะเป็นพระพุทธมหายาน อาจจะเป็นพระอมิตาภะพุทธเจ้า แต่ชื่อของพระองค์ที่เรียกว่าพระยูไล (หรือยูไหล) นั้น แปลตรงตัวเลยว่า ตถาคต คือ พระผู้เสด็จไปดีแล้วอย่างนั้น (ตถ - เช่นนั้น คต - ไป) คือ ยู่ - "อย่างนั้น" +ไหล - มา


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 02 พ.ค. 06, 19:28
 ถ้าจำไม่ผิด ในคาถาพาหุงหรือพุทธชัยมงคลแปดประการนั้น ดูเหมือนมีพูดถึงพรหมองค์หนึ่งชื่อ พกาพรหม ซึ่งมาท้าลองฤทธิ์กับพระพุทธเจ้าแล้วก็แพ้ฤทธิ์พระพุทธองค์เหมือนกัน ผมจำรายละเอียดไม่ได้ว่าลองฤทธิ์กันยังไง แต่รู้สึกจะเป็นเล่นซ่อนหานี่แหละครับเหมือนกัน


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 02 พ.ค. 06, 19:52
 กลับมาเรื่องพระอินทร์ตามที่ท่านเจ้าของกระทู้ท่านขึ้นไว้

ผม (ซึ่งไม่มีความรู้จริงจังด้านประติมานวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ อารยธรรม ศิลปะ ภารตวิทยา เทววิทยา ฯลฯ ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่ชอบเรื่องพวกนี้เท่านั้นเอง) รู้สึกเป็นส่วนตัวว่า พระอินทร์สมัยก่อนดูท่านจะทรงเป็นมหาเทพที่ยิ่งใหญ่มาก ถ้าถือว่าพระอินทร์เป็นเทพชาวอารยัน ก็ต้องย้อนรำลึกด้วยว่าเทพของชาวอารยันองค์อื่นในวัฒนธรรมอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน อย่างจูปิเตอร์นั้นท่านก็ทรงสายฟ้าเหมือนกัน จูปิเตอร์น่ะเป็นเทวาธิบดีนะครับ พระอินทร์สมัยหนึ่งก็ว่าเป็นราชาแห่งสวรรค์ ไหงสมัยหลังจึงตกต่ำลงมาเป็นคล้ายๆ หัวหน้าบ๋อยอย่างคุณพิพัฒน์ว่าก้ไม่รู้เหมือนกัน แต่เป็นยังงั้นจริงๆ เสียด้วย น่าสงสารพระอินทร์ครับ

ผมออกจะรู้สึกเป็นการส่วนตัว (โดยยังไม่ได้มีเวลาค้นตำรา) เหมือนกันว่า เทพยุคดึกดำบรรพ์ของฮินดู ดูเหมือนจะยังไม่ไกลจากคติการถือผีฟ้าของคนเผ่าสมัยหินเท่าไหร่ อานุภาพในธรรมชาติที่บรรพชนของชาวฮินดูสมมติเอาว่ามีเทพประจำอยู่ ก็เห็นได้ง่ายๆ เงยหน้าขึ้นไปบนฟ้าก็เห็นตะวันส่องแสงแดดเปรี้ยง เลยตั้งให้เป็นสูรยเทพ หรือเปลวไฟที่ให้ความร้อนความอบอุ่น ก็น่าจะมีเทพอยู่เลยให้เป็นพระอัคนี ดูเหมือนผมจะเคยอ่านแว่บๆ ว่าฮินดูโบราณสมัยโน้นเคยบูชาพระเพลิงที่ปรากฏรูปเป็นสาม คือบนฟ้าแสดงพระรูปเป็นสูรยเทพ ถ้าอยู่ระหว่างอากาศแสดงรูปเป็นสายฟ้า คือฟ้าผ่าแล้วเป็นเพลิงไหม้ ส่วนภาคที่อยู่บนดินก็เป็นไฟอย่างที่เรารู้จัก ถ้าเป็นเช่นนั้นจะถือว่า สูรยะ อินทรา (ผู้ทรงวัชระ ก็คือสายฟ้า เป็นอาวุธ) และอัคนี เคยถูกถือว่าเป็นเทพองค์เดียวกันมาก่อนได้ไหมครับ? แล้วค่อยแยกทีหลัง

ผมเข้าใจว่าคติความเชื่อนี้มีมาก่อนความคิดเรื่องสามมหาเทพในตรีมูรตินาน แปลกดีที่มีรูปเป็นองค์ 3 เหมือนกัน แต่เป็นองค์ 3 ของไฟ เท่านั้น


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 02 พ.ค. 06, 20:01
 เรื่องฮินดูเรอเนซองซ์หลังพุทธกาล ที่คุณพิพัฒน์ท่านเสนอขึ้นมานั้น ทำไมก็ไม่ทราบครับ ผมอ่านแล้วใจแว้บไปถึงศังกราจารย์ไปโน่น ซึ่งเกี่ยวกันหรือเปล่าผมก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 พ.ค. 06, 20:18
 อยากจะตอบยาวหน่อย แต่กำลังใจจดใจจ่อรอตอนต่อไปของคุณสามศ. เอาสั้นๆอย่างนี้นะครับ
ผมเชื่อว่า"เรื่อง" เก่ากว่า "เล่า" หรือพูดได้ว่า เรื่องเก่าเล่าใหม่
ลองนึกว่าผู้เฒ่าที่บ้านเชียงนั่งปั้นหม้อไปก็เล่าเรื่องกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าไป ผ่านไปพันปี เรื่องนี้ก้อยังถูกเล่าขานกันอยู่ แต่ภาษาที่ใช้นั้นเปลี่ยนไปเป็นภาษาธรรมะเสียแล้ว พญาลิไทท่านจึงอด"โอ่"มิได้ ท่านไม่ข้องแวะเรื่องพื้นบ้านเลย ทำโพสค็อกอย่างเดียว

ทางฮินดูก็เช่นกัน ศังกราจารย์ย่อมเอาภาษาสมัยตนไปห่อหุ้มเรื่องเล่าเมื่อสองพันปีก่อน

คุณนิลครับ ช่วยบอกด้วยนะครับ ว่าถนัดเรื่องอะไร ผมจะได้ระวังไม่ไปพ้องพาล


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 02 พ.ค. 06, 20:22
 ไม่ถนัดสักกะเรื่องครับคุณครู Pipat ถนัดฟัง แฮ่ะแฮ่ะแฮ่ะ - -

เชิญท่าน จขกท. ต่อครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 02 พ.ค. 06, 21:16
 มาละครับ มาเล่าต่อละกัน หลังจากไปเอาตอนที่ขาดหายไปมาละครับผม

..................................

เมื่อได้ฟังดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงเนรมิตกายให้เท่ากับผงธุลี ไปลี้อยู่ระหว่างคิ้วของปรไมสวร ซึ่งคล้ายกับขนตาอยู่ใกล้ตาแต่กลับมองไม่เห็น แล้วพระพุทธเจ้าก็กู่เรียกให้ไปหาได้

ปรไมสวรก็เล็งหาดูในหมื่นจักรวาลก็ไม่จวบพบ ไม่ว่าจะทวีปทั้ง ๔ ภูเขาลำห้วย พฤกษาลดาวัลย์ พื้นน้ำมหาสมุทร เมืองครุฑเมืองนาค นอกจักรวาล หรือแม้แต่ในฉกามาพจรภพโสฬสพรหม ก็ไม่พบเจอ ค้นแล้วคนอีก อยู่อย่างนั้นเจ็ดรอบก็ไม่พบได้ ในที่สุดก็ยอมแพ้ บอกให้พระพุทธองค์ปรากฏออกมา

พระพุทธองค์จึงเนรมิตบันไดแก้ว ๗ ประการ พุ่งออกจากหน้าผากปรไมสวรลงไปยังพื้นดิน พระพุทธองค์ก็เสด็จลีลาลงจากหน้าผากปรไมสวรแล้วไปประทับอยู่ในที่อันควร

ปรไมสวรเห็นดังนั้นก็มีความเลื่อมใส สรรเสริญพระพุทธเจ้า ด้วยอิทธิอานุภาพแห่งองค์พระพุทธเจ้านั่นเอง แล้วพระพุทธเจ้าก็สั่งสอนปรไมสวรและให้ตั้งอยู่ในไตรสรณะ แล้วก็กลับมายังเชตวันอาราม สั่งสอนปัณสัตว์ตราบจนเสด็จเข้าสู่โมกขนิพพาน

เมื่อพระพุทธเจ้าตั้งศาสนาไว้ ๕๐๐๐ ปีแล้ว ปรไมสวรมีใจศรัทธา จึงเนรมิตอาวาสปราสาทอันประดับประดาด้วยแก้ว ๗ ประการ ภายในปราสาทนั้นประดับด้วยแก้วต่าง ๆ เสาเป็นแก้ว พื้นก็ปูด้วยแก้วทับทิม เวลาเหยียบลงไปก็จะยุบอ่อนนุ่ม แต่พอยกเท้าขึ้นก็ยกตัวมาเสมอกันดังเดิม ส่วนบันไดนั้นทำมาจากเงิน และก่อศาลาบริจาคด้วยแก้วต่าง ๆ มากมายสุดจะคณนานับ

ปรไมสวรก็เนรมิตสารูปพิมพาของพระพุทธเจ้าด้วยแก้วตามลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการนั้น ประดิษฐานเหนือแท่นทองในปราสาทนั้น และให้นายมกฏะเทวบุตรอันเป็นใหญ่แก่วอกทั้งหลายเป็นข้าพระ ดูแลอุปัฏฐากพระพุทธรูปพร้อมทั้งกัลปนาปัจจัย ๔ และเครื่องบริโภคทั้งหลายไว้สำหรับบูชาพระพุทธ

ในยามนั้น พระอรหันต์ทั้งหลาย ๕๐๐ ตน ที่อยู่ในนันทคูหาข้างดอยคันธมาทน์ ก็เหาะมาไหว้พระพุทธรูป และฉันข้าวที่ปรไมสวรถวายให้เป็นดั่งนี้ทุกวัน


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ค. 06, 10:05
 เล่ากันไปเล่ากันมาในกระทู้นี้   ความรู้มากมายดังคลื่นในมหาสมุทร  แหวกหาพระอินทร์ไม่เจอ
ต้องมาตั้งต้นใหม่บนฝั่ง

คุณพิพัฒน์เริ่มด้วย สมบัติอมรินทร์คำกลอน    เรื่องนี้ดูเหมือนจะเจ้าพระยาพระคลัง(หน) แต่งไว้ แต่ว่าเคยอ่านหนเดียวเลยจำไม่ได้แม่น     ทั้งผู้แต่งและเนื้อเรื่อง
จำได้แต่ว่าชื่อเรื่องกลายมาเป็นชื่อนิยายแปล Treasures of Heaven ของ Marie Corelli  คุณหลวงท่านหนึ่งแปลไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๖
วรรณคดีเรื่องอื่นๆที่มีพระอินทร์เป็นตัวเอก  ยังนึกไม่ออก
แต่ถ้ามีบทบาทแต่ไม่ใช่ตัวเอก ละก็เยอะมาก

พระอินทร์ในวรรณคดีไทย  มีบทบาทแบบพระอินทร์ในพุทธศาสนา  คือเป็นฝ่ายดีประกอบกุศลธรรมด้วยการช่วยฝ่ายพระเอกนางเอก
อย่างสังข์ทองไม่ยอมถอดรูปเงาะ  จนแล้วจนรอด    นางรจนาก็เลยตกยากอยู่ในกระท่อมไม่ได้กลับวัง  ท้าวสามลก็เข้าใจผิดไม่รู้จบ  ตัวละครทุกตัวติดแหง็กอยู่ในปมปัญหา
พระอินทร์ก็มาคลี่คลาย

มาจะกล่าวบทไป.............ถึงท้าวสหัสนัยน์ไตรตรึงษา
ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา.......กระด้างดังศิลาประหลาดใจ
จะมีเหตุมั่นแม่นในแดนดิน............อมรินทร์ยิ่งคิดสงสัย
จึงสอดส่องทิพเนตรดูเหตุภัย........ก็แจ้งใจในนางรจนา
ถ้าแม้มิไปช่วยจะม้วยมอด............ด้วยสังข์ทองไม่ถอดรูปเงาะป่า

พระอินทร์ลงมาท้าตีคลี    หกเขยแพ้ ท้าวสามลต้องให้นางมณฑาบากหน้าไปขอเจ้าเงาะเขยเล็กที่สุดชัง
เจ้าเงาะยอมถอดรูป   ตีคลีชนะ  เรื่องก็จบแฮปปี้เอนดิ้ง


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 03 พ.ค. 06, 10:58
 ไม่เอาครับ อยากได้อย่างพระอินทร์เป็นพระเอกเดี่ยวๆ ทำยังกับอินทราของผมเป็นประจวบ ฤกษ์ยามดี ทั้งชีวิตเป็นพระรองอย่างเดียว เคยเป็นพระเอกเพียงหนึ่งเรื่อง

อนุโลมให้เลยออกมาจากวงวรรณคดีก็ได้ครับ
ประเภทตำนานมาฆมานพก็ยังพอไหว

อันนี้บอกบุญไปยังทุกท่านครับ
หาพระอินทร์ให้หน่อย

เอ นี่มันประเด็นทำเอกได้สองเรื่องเลยนี่หว่า อาจารย์เทาฯ สนใจอีกใบใหมครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ค. 06, 15:28
 คุณพิพัฒน์จำประจวบ ฤกษ์ยามดีได้ด้วย    อุแม่เจ้า!  ดิฉันนึกว่าคุณเกิดไม่ทันเขาเสียอีก
ถ้าไม่ใช่วรรณคดี ก็ไม่รู้หรอกว่าพระอินทร์เป็นพระเอกอยู่ในไหนบ้าง    ตำนานมาฆมานพ น่าจะอยู่ในพระไตรปิฎก

มีอีกเรื่อง  พระอินทร์เป็นพระเอกอกหัก  เมื่อยักษ์ชื่อท้าวกรุงพาลลอบเข้าไปตีท้ายครัว  
สุนทรภู่เล่าไว้ในนิราศพระบาท

ครั้นอิเหนาสุริย์วงศ์อันทรงกริช
พระทรงฤทธิ์แรมร้างจินตะหรา
พระสุธนร้างห่างมโนห์รา
พระรามร้างแรมสีดาพระทัยตรอม
องค์พระเพชรปาณีท้าวตรีเนตร
เสียพระเวทผูกทวารกรุงพาลถนอม
สุจิตราลาตายไม่วายตรอม
ล้วนเจิมจอมธรณีทั้งสี่องค์


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 03 พ.ค. 06, 19:38
 ขอยกมือถามคุณศศิศว่า ถ้าเป็นไปตามตำนานล้านนาฉบับนั้น ก็แปลว่าต้องรอถึง พ.ศ. 5000 คืออีก ราว 2500 ปีข้างหน้า พระอิศวรจึงจะเนรมิตสร้างวัดในพระพุทธศาสนาหรือครับ? แม้ว่าตอนนี้จะยอมนับถือพระพุทธเจ้าอยู่แล้วก็ตาม แต่ผมสงสัยว่า ตามความเชื่ออีกกระแสหนึ่ง พุทธกาลจะมีไปได้ถึง 5000 ปีเท่านั้นนี่ครับ แปลว่ากว่าพระอิศวรจะนึกศรัทธาพอจะสร้างวัดก็ถึงเวลาศาสนาพระพุทธเจ้าพระองค์นี้กำลังจะสิ้นยุคพอดี

สงสัยอีกคำครับ ผู้เป็นใหญ่แก่วอกทั้งหลาย แปลว่าเป็นเทพบุตรพญาลิงรึเปล่า?

ขอสู่มาเต๊อะเจ้า ขอบใจจ้าดนักครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 03 พ.ค. 06, 19:45
 ผมชอบอยู่สองคนเองแหละครับ คนอื่นนั้นออกจะแหยงๆ
คือคุณประจวบกับคุณพิศมัย สองท่านนี้เป็นดาราไทยจำนวนน้อยที่เล่นหนังด้วย "สายตา" คนอื่นๆนี่เล่นโขนหมด คือหน้าตาย แต่ตัวกระดิก


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 05 พ.ค. 06, 23:33
 ก่อนอื่นก็ขอตอบคุณ นิลกังขาก่อนนะครบผม

ที่ว่า

"เมื่อพระพุทธเจ้าตั้งศาสนาไว้ ๕๐๐๐ ปีแล้ว ปรไมสวรมีใจศรัทธา จึงเนรมิตอาวาสปราสาทอันประดับประดาด้วยแก้ว ๗ ประการ ภายในปราสาทนั้นประดับด้วยแก้วต่าง ๆ เสาเป็นแก้ว พื้นก็ปูด้วยแก้วทับทิม เวลาเหยียบลงไปก็จะยุบอ่อนนุ่ม แต่พอยกเท้าขึ้นก็ยกตัวมาเสมอกันดังเดิม ส่วนบันไดนั้นทำมาจากเงิน และก่อศาลาบริจาคด้วยแก้วต่าง ๆ มากมายสุดจะคณนานับ
"


นั้น หมายถึงว่า พระพุทธเจ้าประกาศตั้งศาสนาไว้ ๕๐๐๐ ปี (อันที่ตอนแรกไม่ได้ตั้งไว้ ๕๐๐๐ ปีหรอก แต่มีเทวดาหลายต่อหลายองค์มาขออายุศาสนาจนพระพุทธเจ้าประกาศตั้งไว้ ๕๐๐๐ ปีในที่สุด) แล้วปรินิพพาน หลังจากนั้น ปรไมสวรจึงสร้างพระพุทธรูป พิหาร ดังกล่าว น่ะครับผม ไม่ได้หมดศาสนาหลัง ๕๐๐๐ แล้วสร้างน่ะครับผม ผมอาจเขียนคลุมเครือก็ขออภ้ยด้วยครับผม

และที่ว่า

"นายมกฏะเทวบุตรอันเป็นใหญ่แก่วอกทั้งหลายเป็นข้าพระ"


ก็คงจะหมายความว่า นายมกฏะ เห็นหัวหน้าลิง (ไม่รู้ว่าจะเป็นลิงด้วยหรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้ครับ)

เอาละครับ เหลืออีกนิดนึง เอามาต่อให้จบละกันครับ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ในยามนั้น ยังมีฤๅษีอยู่ ๔ ตน ซึงได้ปัญจอภิญญา และคุ้นเคยกันกับปรไมสวร ฤๅษีทั้ง ๔ ก็คุยกันว่า จะไปหาปรไมสวรเพื่อที่จะได้ ตบะอันบริสุทธิ์ จึงเหาะมาหาปรไมสวร เมื่อเจอพระพุทธรูปก็เป็นที่ประหลาดใจแก่ทั้งสี่เป็นอย่างมาก จึงแอบนั่งชิดอยู่ที่ฝาด้านหนึ่ง

ยามนั้น นายมกฏะอันเป็นอารามิก ( หรือ ข้าพระ หรือที่เอกสารทางอยุธยาเรียกว่า คนทานพระกัลปนา นั่นเอง) ก็ตกแต่งอาหารของฉันสำหรับอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ และเครื่องบูชาสำหรับพระพุทธเจ้า พร้อมกับผอบแก้วสองอัน เข้ามาจัดแจงภายในปราสาทเพื่อรอคอยปรไมสวร และอรหันต์ที่จะมา

เมื่ออรหันต์ทั้ง ๕๐๐ เหาะมาถึง นายมกฏะก็ถวายดอกไม้แก่อรหันต์ทั้งหลายเพื่อไปบูชาพระพุทธรูป แล้ววียนปทักขิณ ๓ ทีแล้วออกมา ยามนั้น ปรไมสวรเมื่อเห็นอรหันตาทั้งหมดมาถึงด้วยญาณทิพย์ ก็เสด็จมาพร้อมกับอุมมาเทวี บนหลังอุศุภราช พร้อมทั้งบริวารทั้งหลายมาถึง นายมกฏะก็เอาผอบแก้วให้กับปรไมสวรและอุมมาเทวี เอาไปไหว้บูชาพระพุทธรูป แล้วออกมาไหว้กับอรหันตาและบูชาด้วยอามิสบูชาต่าง ๆ พร้อมทั้งถวายของฉันทั้งมวล แล้วอรหันตาทั้งหมดก็เหาะกลับไปยังแห่งที่อยู่

แล้วปรไมสวรก็เจรจากับฤษีทั้ง ๔ ที่แอบอยู่นั้นแล้วก็เสด็จกลับ

แล้วนายมกฏะก็เสสังฆ์เอาข้าวที่พระอรหันตาฉันเหลือมาให้กับฤๅษีทั้ง ๔ เมื่อฤๅษีฉันแล้วก็เห็นอัศจรรย์ทั้งหลายในสิ่งที่ปรไมสวรกระทำด้วยศรัทธาเลื่อมใสในแก้วสามประการ แล้วฤๅษีทั้ง ๔ ก็มีใจเลื่อมใสด้วย จึงคิดใคร่บวชในศาสนาของพระตถาคต จึงลากลับ เมื่อฤๅษีพ้นจากพิหารไปแล้ว พิหารนั้นก็อันตรธานหายไปกลายเป็นป่าดงดอย แล้วในที่สุด ฤๅษีทั้ง ๔ ก็แสวงหาอาจารย์และบวชในบวรพุทธศาสนา

และการที่ปรไมสวรเนรมิตพุทธรูปและวิหารไวสักการบูชา แล้วไว้อารามิก(ข้าพระ) ไว้อุปัฏฐากพระพุทธรูป ดังกล่าว กลายเป็นจารีตที่สืบต่อกันมา ในการสร้างกุฏี พิหาร เจติยะ ทั้งหลายเพื่อบูชา และมีการกัลปนา “ข้าพระ” ไว้อุปปัฏฐากอยู่เนืองๆ

นิฏฐิตัง กรียา สังวัณณาวิเสส จาห้องเหตุปรเมสสรวัตถุกถา ก็สมเร็จสระเด็จเท่านี้ก่อนแล ๚๛


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 15 พ.ค. 06, 20:54
 ฮ๊าดเช่ยยยยยยย

แหม กระทู้นี้ฝุ่นจับซะหลายวัน
ไม่มีใครมาปัดฝุ่นเล๊ยยยยย เพราะท่านเจ้าของกระทู้ตอนนี้ตามเสาะหาภาพสยองขวัญอยู่
(อิอิ แซวคุณลุงpipat เล่นเล็กน้อย อย่าถือสาเด็กปากดีอย่างผมนะครับ แหะๆ)


เข้ามาขออนุญาตสอบถามข้อมูลกระทู้นี้ เนื่องจากวันนี้ไปเจอะเอาเรื่องข้องใจชวนให้สัยสง... ง่า สงสัย มาเรื่องนึงครับ
คือ ผมไปเห็นภาพถ่ายขณะกำลังก่อสร้างของศูนย์การค้า(เล็กๆ) แห่งหนึ่งใกล้ๆมหาวิทยาลัยผมเข้าน่ะครับ
อ๊ะๆๆๆ อย่าเพิ่งเดาไปหาห้างใหญ่ๆครับ ที่นี่มีร้านค้ายังไม่ถึง 20 ร้านเลยแหละ แหะๆ
แล้วภาพที่ผมอดสงสัยไม่ได้ก็คือภาพ "ศาลพระภูมิ" ที่เขากำลังซ่อมครับ
เนื่องจากตัวศาลผุมากแล้ว ทางเจ้าของซึ่งติดต่อท่านราชครูมาช่วยแนะนำให้ ก็เลยทำตามคำแนะนำของท่าน
โดยการ "รื้อ" เอาศาลกับฐานด้านบนลง เหลือแต่เสากับตอ แล้วท่านก็ให้เก็บรักษาแยกเอาไว้ในห้องๆหนึ่ง ก่อนจะนำศาลใหม่มาลง
ผมเลยขออนุญาตเข้ามาถามคุณลุงpipat ครับ ว่า "ศาลพระภูมิ" กับ "สตัมพะ" ที่คุณpipat กรุณาเล่าเอาไว้ในความเห็นที่ 4 นี่มีความเกี่ยวข้องกันหรือเปล่าครับ แหะๆ
แล้วถ้าไม่เกี่ยวกัน ทำไมถึงต้องรื้อศาลออกไป เก็บแต่เสาไว้ด้วยครับ นิสิต(ปัญญาอ่อน)เป็นเง็งครับ อาจารย์



ปล. ผมคิดมากไปไหนต่อไหนแล้วก็ไม่รู้ ดูสิ
เพราะคุณpipat ไม่มาเล่าต่อนะเนี่ยะ อิอิ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 15 พ.ค. 06, 20:56

อ้าว รูปผิดเฉยเลย
เมื่อกี้ก็รูปเกิน

จะลงรูปศาลพระภูมิในภาพครับ  


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 พ.ค. 06, 22:28
 แหะ แหะ คุณติบอนี่คงอายุราวสิบเจ็ดปีแปดเดือน
ครือว่า หนุ่มไวไฟ ใจร้อน ไม่ยอมรอ

ผมกะลังดื่มดำกับ "ปรไมสวรสูตร" ของคุณศ.ยกกำลังสาม ทำให้นึกอะไรต่อได้อีกไม่น้อย

เรื่องเสาของศาลพระภูมินี้ ขอค้นอะไรอีกนิด แลวจะตอบให้อิ่มใจนะครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 พ.ค. 06, 11:39
 เอาหละ
เรามาเล่นไดอะล็อกกันหน่อย แบบโสกราติสนะครับ ไม่ใช่แบบวาติกัน

อะไร สำคัญกว่ากัน ตัวเสา หรือตัววิมาน


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 พ.ค. 06, 12:13
 รุปจาก thaiTambon.com

ตามรูปนี้ เสาก็ไม่มีความหมาย เพราะพี่แกเล่นเลือกเอาแบบคดสุดๆ เทวดาต้องใช้กระไดเวียนอย่างเดียว
ผู้ผลิตเจ้านี้ จึงอยู่ฝ่ายให้ความสำคัญกับวิมาน

อ้อรูปของท่านติบอ เห็นจะไม่ตรงคำถามกระมัง ผมดูเท่าไหร่ ศาลนี้ก็ยังไม่น่าจะถูกรื้อนะครับ ท่าทางยังเป็น living monuments สมบูรณ์อยู่

ยังรอคำตอบจากมิตรรักนักเพลงนะครับ เสากับวิมาน ใครใหญ่ใครอยู่

ระหว่างนี้ ขอบ่นตามประสาไม้ผุหน่อยเถิด ใหนๆก็มีคนมาเจาะช่องเรื่องศาลพระภูมิให้ต่อมใจน้อยระเบิด

ผมไม่เข้าใจเลย ว่าบ้านเมืองทุกวันนี้เป็นอะไรกันไปหมด บิดๆเบี้ยวๆ ผิดๆเพี้ยนๆ เข้าตำรา hybrid culture เจ้าว่างามก็ว่างามไปตามเจ้า
ทั้งๆที่เจ้าไม่ได้ว่าเลยสักแอะ

ยกตัวอย่างก็เรื่องศาลพระภูมินี่ละครับ
ผมเห็นทำกันจัง ไอ้ที่เอาหินอ่อนมาประกอบกันเป็นรูปปีระมิด เจาะรูนิดหน่อยทำเป็นประตูหรือหน้าต่างก็เหลือจะเดา ตั้งหน้าตึกระฟ้า ตรงตำแหน่งที่ปู่ย่าตายายเราท่านไว้ตั้งศาลพระภูมิ
ข้างหน้ามีแท่นบูชาเสียด้วย
ผมไม่เคยเห็นข้างในก้อนบ้าพวกนี้ ว่ามีอะไรบรรจุอยู่หรือไม่ ถ้ามี ก็คงเป็นรูปเทพกบ หรือรูป Bennu bird ตามคติไอยคุปต์กระมัง
แต่ไม่แน่ ถาปะนึกท่านอาจจะครีเอถีบ สร้างรูปภูมิเทวดาด้วยศิลปะบาศ์กนิยม หรือแนวกร้าวเรียบ ให้เข้ากับภาชนะบรรจุกระมัง

ขอบ่นถึงรูปแบบของเจดีย์องค์หนึ่ง บนภูเขาลูกหนึ่ง ในจังหวัดหนึ่ง ของประเทศหนึ่ง ว่า เปิดตำราจนมือเคล็ดแล้ว ยังไม่สามารถถอดรหัสนัยยะอันล้ำลึกที่ท่านประจงสร้างไว้ได้เล็ย
อีนี่แขกงงว่ะ โตระนะ เวทิกา ครรภะ บัลลังกะ ฉัตราวะลี ฯลฯ มันลดรูปลง กลายเป็นอะไรสักอย่างที่.......เหลือจะทนทาน

ผมถึงต้องลาออกจากอาชีพนักประวัติศาสตร์ศิลปะมานั่งฟังโชสตาโกวิชอยู่ทุกวันนี้

เซ็งง่ะ  


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 16 พ.ค. 06, 23:28
 พิมพ์ตอบซะยาว
เครื่องเป็นอะไรก็ไม่รู้ กลับมาอีกทีเวบโดนปิดไปแล้ว T_T br />เลยตอบใหม่สั้นๆละกันนะครับ


ขออนุญาตเดามั่วเดาสุ่ม ว่าการตั้งศาลไว้บนเสา เพื่อบ่งบอกว่ามีเทวดาสถิตย์อยู่เหนือวิมานบนยอดเสา ถ้าวิมานสมบูรณ์ วิมานก็เป็นสิ่งสำคัญไป
แต่ถ้าไม่มีศาล หรือศาลผุพังไปแล้ว การรักษาเสาเอาไว้ก็หมายถึง "สตัมพะ" ก็เลยไม่น่าจะผิดหลักการหรือเปล่าครับ



ปล. ผมเห็นศาลพระภูมิสมัยใหม่บางรุ่นแล้ว (นอกจากรุ่นที่หน้าตาเหมือนปิรามิด) ไม่ชอบอ่ะครับคุณpipat
เพราะยอดปรางค์มันผิดส่วนไม่พอ อวบๆอีกตะหาก เห็นแล้วนึกถึงข้าวโพดปิ้งน่ากิ๊นน่ากินอ่ะครับ อิอิ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 พ.ค. 06, 00:58
 พวกปรางค์สามยอด ห้ายอดอะไรนั่น เป็นอินโนเวย์ ถีบ ของชาวบ้านเขา
เราก็อนุโลมให้เป้น ป๊อบปุล่า คัลเช่อร์ ตามแนวมานุษยะสังคมวิทยาไปได้ พอกล้อมแกล้ม
เอ รู้สึกผมจะกระแดะจัง วันนี้
เอาใหม่ อะ แฮ้ม ...เปลี่ยนน้ำเสียง ตีหน้า Cเรียด ว่าใหม่

อันว่าสถาปัตยกรรมตะวันออกนั้น มีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน และไม่ทานทนต่อความผิดพลาดเลยนะครับ
จริงอยู่ เราอ้างได้ว่าความปราถนาอันสูงสุดทางจิตวิญญานของเรา ก็คือ การอัญเชิญองค์ศิวะเทพอันยิ่งใหญ่
มาประทับเป็นยามเฝ้าตึกแถวหน้าตลาดจำเริญนครนั้น มาจากน้ำใสใจจริงอันบริสุทธิ์โดยแท้
ทำไปเถิดครับ พอสำเร็จกิจเรียบร้อยแล้วนั่นแหละ จึงจะเริ่มเผชิญกับหายนะของแท้ทีละน้อย สะสมไปทุกวันทุกวัน
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสอนผมว่า ถ้าเชื่อ ต้องเชื่อให้สุด มิเช่นนั้น อย่าริเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความเชื่อ

มีกรณีศึกษา กลางเมืองตรงสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของความเชื่อแบบจับพลัดจับผลูระดับคลาสสิคเรื่องหนึ่ง
คุณติบอนับได้ใหมครับ ว่ามีเทพมาประชุมกันกี่องค์ แต่ละองค์เป็นตัวแทนของระบบคิดแบบใหน
ที่สี่แยกนี้ทำด๊อกเตอร์เรื่องเทววิทยา สถาปัตยกรรม ผังเมือง ภูมิสถาปัตย์ นิเทศน์ทั้งศิลป์และทั้งศาสตร์ ประติมาณวิทยา ศิลปะการแสดง จิตวิทยามวลชน การตลาดรากหญ้า การท่องเที่ยว และมนตร์ดำได้พร้อมๆกันเลยละครับ
แล้วแต่ละตึกที่อุตริไปอัญเชิญทวยเทพมาประชุมนั่นน่ะ วันๆ เดือดร้อนแค่ใหน กับการดูแลความพอเหมาะพอดีของลัทธิพิธีที่ต้องทำ
หาเหาใส่หัวแท้ๆ

กลับมาที่ปรางค์ซีเมนต์
การที่พ่อเบ๊คแข้มแกมาติดอกติดใจซื้อกลับบ้านเพราะนึกว่าเป็นวังจำลองก็ช่างแกเหอะ
แต่ที่เราคนไทยไม่รู้ว่าควรใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยอย่างไรให้เหมาะสมนี่สิ หายนะ
พวกส่วนราชการนี่ตัวดี ชอบทำตัวติดดินเทียบเท่าชาวบ้าน เที่ยวได้อัญเชิญสารพัดเทพมาประดิษฐาน แล้วสร้างสรรค์สักการะสถานหลากหลายรูปแบบ เป็นปรางค์มั่ง จัตุรมุขมั่ง เป็นเรือนแก้วมั่ง เป็นเรือนไทยมั่ง ฯลฯ
ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีเลยหรือ
สมัยที่ผมยังต้องทำหน้าที่บรรยายบางวิชาอยู่ เคยคิดกันกับพรรคพวกว่า น่าจะเก็บข้อมูลศาลพระภูมิ ทำเป็นกระบวนวิชาว่าด้วยความเสื่อมทรุดของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประวัติศาสตร์สติปัญญาไทย
คงมันไม่หยอกเทียว ไม่น่าเชื่อนะครับ แค่ศาลพระภูมที่ดูไม่มีประเด็น แท้ที่จริงเป็นดรรชนีชี้วัดมาตรฐานไอเอสโอ ความสำนึกต่ออดีตอย่างแจ่มชัดถึงเพียงนี้ อึกตัวชี้วัดก็คือลายกนกบนธนบัตร

ขอสรุปอย่างนี้ก่อนละกัน ว่าถ้าสังคมนี้ยังใช้ศาลพระภูมิกันไม่อย่างไม่ชอบด้วยปัญญาละก้อ
ต่อไปจะต้องไล่ตามลาว


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 06, 08:46
 เข้ามานั่งแถวหลัง   ติดผนังห้องบรรยายค่ะ
อยากจะฟังเรื่องศาลพระภูมิ มากๆ

คุณพิพัฒน์คะ  ขอสารภาพด้วยใจจริงว่า  เวลาฟังคุณบรรยายแล้วดิฉันก็เริ่มตระหนักถึงสติปัญญาอันต่ำเตี้ยของตัวเอง
ว่าไม่มีภูมิรู้ในเรื่องที่คุณรู้ แม้แต่หนึ่งในอสงไขย
จึงใคร่จะรู้เพิ่มเติม ได้สักแค่สองในอสงไขยก็ยังดี  
ว่าตกลงแล้วเรื่องพระภูมินั้นเป็นยังไง
คิดตามประสาคนไม่รู้วิชาพระภูมิวิทยาอย่างดิฉัน เสากับวิมานก็สำคัญพอกัน

ถ้าไม่มีวิมาน ก็เหลือแต่เสายอดด้วน   ไม่มีเสา วิมานก็ลอยต่อต้านแรงโน้มถ่วงของโลกไม่ได้  ต้องหล่นปุ๊บลงมา

ที่บ้านดิฉันมีศาลพระภูมิเหมือนบ้านคนไทยทั่วไป    รวมทั้งศาลเจ้าที่ด้วย
เพราะดิฉันถือคติว่าที่ดินที่มนุษย์อยู่กันทุกวันนี้ เราไม่ได้มาอยู่เป็นรายแรกของโลก   ก่อนหน้านี้ เคยเป็นที่อยู่ของใครต่อใครอาจจะย้อนหลังไปได้หลายพันปี
ถ้าหากว่าเจ้าของคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเขายังไม่ได้ย้ายไปอยู่ในภพภูมิอื่น   แต่ยังอยู่ในที่ที่เขาเคยอยู่
เรามาอยู่ เบียดที่เขา  ก็เกรงใจ เชิญเขามาอยู่ในบ้านที่เราจัดให้เป็นหลักเป็นแหล่ง  ดีกว่า  ได้ไม่เป็นการแย่งที่กัน
ต่างคนต่างอยู่ด้วยความเคารพ

ส่วนพระภูมินั้นถือกันว่าเป็นเทวดาที่ประจำอยู่ในโลก    ในเมื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าซีมากหรือน้อย  ดิฉันก็ให้ความเคารพ
ถ้าหมอตั้งศาลเชิญมาให้ประทับอยู่  เป็นการเชิญสิ่งดีๆเข้ามาในบ้าน   ก็จัดให้อยู่ในที่อันควร  

ส่วนสถานที่อยู่ของพระภูมินั้น ดิฉันไม่เคยรู้สักทีว่าควรจะอยู่ในวิมานไหนหน้าตายังไง
แหล่งความรู้ก็มีที่เดียวที่พอหาได้ง่ายที่สุดคือร้านขายศาลพระภูมิ
อาจารย์พิพัฒน์ท่านก็ไม่ออกมาบรรยายในมหาวิทยาลัยเปิดซะด้วย ดิฉันจะไปหาเทปมาฟังได้ง่ายๆ

อีกไม่กี่เดือน ดิฉันจะต้องย้ายศาลพระภูมิ ด้วยความจำเป็นทางภูมิสถาปัตยกรรมของบ้าน  (พูดง่ายๆว่าปรับปรุงสนามค่ะ)
คงจะต้องซื้อศาลใหม่
ก็เลยอยากได้คำตอบจริงๆ จากคุณพิพัฒน์ว่า จะเลือกยังไงดีถึงจะถูกต้อง


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 พ.ค. 06, 11:41
 อย่าไปเชื่อเป็นอันขาด ในสิ่งที่ท่านล้อเล่นมานะครับท่านที่เคารพ
ถ้าท่านบอกว่าไม่รู้เรื่องไทย แล้วที่พวกเราอุตริคุยกันมาสาระพัดเรื่อง จะเอาหน้าไปไว้ที่ใหนกันละเนี่ย

ความเห็นที่แล้ว ผมบ่นดังไปหน่อย ขอปรับระดับความเดือดสู่เกณฑ์ปกติก่อน ดังนี้ครับ

ที่บ้านไม่ได้ตั้งศาล มีขวัญในบ้านก็เพียงกระดูกพ่อ และรูปเหมือนพระเถระรูปหนึ่งซึ่งท่านเมตตาให้มา ไม่กล้าปฏิเสธ เลยรับไว้เหมือนเป็นศิลปะวัตถุ แต่ไม่กล้าตั้งแท่นบูชาเอิกเกริก
สาเหตุเพราะ หากเชิญสิ่งพึงเคารพเข้ามาร่วมชายคา ก็เหมือนมีผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ด้วย เราเป็นเด็กยังห่ามอยู่
จะไม่รบกวนจนถึงล่วงละเมิดท่านนั้น เป็นไปไม่ได้
อีกทั้ง การจัดที่จัดทาง การหาเครื่องปรุงแต่งและการประพฤติปฎิบัติตัวให้เหมาะสม เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ สำหรับนาครชนอย่างผม
เช้าก็แหกขี้ตาตื่น ตาปรือเข้าห้องน้ำ เอาตัวเสือกเข้าในเครื่องแต่งกาย แล้วไปรับใช้รถยนตร์ พามันออกจากบ้านไปสังสันท์กับรถอื่นๆอีกชั่วโมงกว่า.....สภาพอย่างนี้ แม้มีพระห้อยคอไว้ ท่านคงช่วยอะไรเราไม่ได้
เรานั่นแหละต้องช่วยตัวเอง ด้วยการสมาทานศีลข้ออัปประมาทวรรค ให้ฝังใจยิ่งกว่าที่พระอานนท์ท่านทำได้
เป็นพอ

แต่ถ้าผมจะต้องตั้งศาลนะครับ
ในแง่รูปลักษณ์ ผมต้องหาไม้เป็นอันดับแรก เพราะเป็นวัสดุที่บริสุทธิ์ที่สุด เท่าที่เราจะยอมรับได้ พวกอิฐก่อ ปูนฉาบ เลยไปถึงหล่อซีเมนต์นี่ถือเป็นของต้อยต่ำ ระดับสามานย์เอาเลยทีเดียว
การที่ต้องผสมวัสดุมากกว่าหนึ่งอย่างเข้าด้วยกันนี่ เป็นกิจกรรมระดับวิกฤติแล้วนะครับ ช่างหล่อนี่ขนาดต้องถือบวช (คือกินเจ และรักษาพรรมจรรย์) กันทีเดียว ผมจึงไม่ไว้ใจว่า ไอ้แท่งๆ ที่เขาขายกันนี่น่ะ พี่ช่างปูนแกไปแอบทำธุระอยู่เลยไปทางโน้น ก่อนตักทรายมาประสมหรือเปล่า

ไม้ ต้องเป็นไม้แก่น เพื่อให้แน่ใจในอาวุโสของท่าน ว่าท่านอยู่มาก่อนเราในโลกอันอ้างว้างใบนี้ ไม่ใช่เอาไม้รวกเมื่อวานซืนมาประกอบการเคารพบูชา
ประเด็นอยู่ตรงไม้แก่นนี่ละครับ
กทม. เพิ่งได้ไม้ที่เหมาะสมมาใช้บูรณะเสาชิงช้า นัยว่าอายุเป็นร้อยปี ไม้ระดับนั้น เราเรียกพญาไม้ เชื่อว่ามีเทพสถิตย์อยู่
แต่คนอย่างเราจะไปหาไม้แบบนี้ได้ที่ใหนกันละครับ
โบราณท่านก็ฉลาดเหลือเกิน ท่านวางไว้เพียง "เพียงตา" คือระหว่างห้าศอกไม่เกินหกศอก เป็นใช้ได้

ทีนี้ ย้อนไปพิจารณาโจทย์ของอาจารย์เทาฯ ความต้องการ คือ จะอาศัยอยู่ร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นความต้องการที่ใหญ่มากในทางวัฒนธรรม
ผมตามรอยความเชื่อนี้มาได้พักใหญ่ มาสิ้นสุดที่สมัยรัชกาลที่ 1 ที่ทรงมีกฏหมายออกมาว่า ให้เก็บกระดูกบรรพบุรุษไว้กับตัวเสียที สมัยกรุงแตกเอาไปฝากวัดไว้ก็เห็นใจ แต่บัดนี้บ้านเมืองเป็นปกติสุขแล้ว อย่าไปทิ้งเรี่ยราดรบกวนคนอื่น
พระราชกำหนดนี้ทำผมคิดไม่ตกว่า จริงๆแล้ว กระดูกบรรพบุรุษควรปฏิบัติอย่างไร แล้วเลยคิดต่อไปว่า แล้วหอพระล่ะ ควรมีหรือไม่มี ...คิดวนเวียนไม่สรุปลงได้สักที
จนมาถึงบางอ้อที่รูปตะเหลว กับเรื่องพญาอาทิตยราชขุดส้วมในตำนานโบราณ

คือผมคิดว่ามันต้องแบ่งเป็นสองระดับ ระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ท่านมีทุกสิ่งพร้อมสรรพ จะทำอะไรก็ทำเถิด
แต่ชาวนาเข็ญใจทำดั่งนั้นมิได้
แต่ละหมู่บ้าน จึงมีศาลชุมชน อยู่ปากทางเข้าหมู่บ้าน ทุกคนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เชิญเข้าบ้านได้แต่ผีบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นของใครของมัน แบ่งกันนับถือไม่ได้เว้นแต่ร่วม “ด้ำ” เดียวกัน

หำยนตร์นี่เป็นวิธีคิดที่ฉลาดมาก เพราะสกัดผีนอกสาแหรกออกจากเขตเฉพาะสกุลได้ชงัดนัก
ส่วนตะเหลวนี่ก็เป็นความฉลาดอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อจะทำการอันใด อันอาจละเมิดสื่งที่ไม่พึงละเมิด ท่านก็ต่ออินตะเน็ต แกร๊กกก....ปักตะเหลวเปรี้ยง กำหนดจิตเข้าสู่ภวังค์ ทำด้วยตัวเองแหละครับ ไม่มีปัญญาไปเชิญพ่อหมอที่ใหนมาหร็อก ต่อสายถึงภูมิเทวดา แจ้งปัญหา ขออนุมัติ ....เป็นอันเสร็จพิธี

ตกลงเลยไม่ต้องมีกันละ ศาลพระภูมิประจำบ้าน แล้วยังไม่ต้องพึ่งผู้ชำนัญการให้เสียสะตางค์สักแดง
หมอพวกนั้น เอาไว้ใช้บริการเรื่อง C เรียด อย่างเช่น การสะเดาะเคราะห์ ฝังรูปผังรอย แบบที่รวมอยู่ในพระอัยการหมวดหนึ่ง (ผมก็ลืมเสียแล้ว เกี่ยวกับ อาถพพ...อะไรนี่ละครับ ผ่านไปก่อนละกัน) ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างแน่นหนารองรับอาชีพนี้ ขนาดมีกฏหมายออกมารองรับทีเดียว ซึ่งไม่ต่างอะไรไปจากที่อยู่ในจารึกหลักที่ 1 ...ไหว้ดี พลีถูก....

เอาละ กลับมาที่เสา สมมติว่าหาได้แล้ว ทำไงต่อละท่าน
อาจารย์เทาฯ ท่านถามแบบโซฟิสตะเขต ( แหะ..แหะ..ล้อเล่นนะครับ) คือท่านจะเอาครบชุด แต่ผมตอบแบบอินทะเนียว่า ที่ขายท่านไปหน่ะ พอแล้ว ไม้ท่อนเดียวก็พอแล้ว ครบฟังก์ชั่นแล้ว
สาวอักษรก็บอกว่า จะพอได้ไงยะ มีแต่เสา ตุ้งติ้งประกอบอะไรก็ไม่มี นี่ฉันจะเอาไปทำเรื่องสูงนะ เธออย่ามางี่เง่า ตัดเครื่องเคราประดับซะหมดสวย

ร้อนถึงพี่แดงของผม ต้องจูงมือท่านเออร์วิ่นมาช่วยแก้ต่างว่า
“หลักเมือง” คือคำตอบสุดท้าย

ก้อที่ท่านอาจารย์ระบุมานะครับ
ท่านจะจำลองหลักเมืองเข้าบ้านเจียวนา
“...ที่ดินที่มนุษย์อยู่กันทุกวันนี้ ...เคยเป็นที่อยู่ของใครต่อใครอาจจะย้อนหลังไปได้หลายพันปี.....เรามาอยู่ เบียดที่เขา ก็เกรงใจ เชิญเขามาอยู่ในบ้านที่เราจัดให้เป็นหลักเป็นแหล่ง ดีกว่า …ต่างคนต่างอยู่ด้วยความเคารพ”

แต่ท่านอาจจะลดรูปลงเป็นเพียงหลักบ้าน หรือที่ถูกคือ หลักเรือน หรือ “หลักแหล่ง”

ถ้าเช่นนั้น ความเห็นแบบอินทะเนียก็ใช้ได้
ผมยังไม่เคยเห็นหลักเมืองที่ใด มีวิมานเลยครับ เสายัญ “ยูปะ” ที่อินเดียโบราณ ก็เป็นเสาเปล่า เจาะรูให้ร้อยเครื่องบวงสรวงได้เท่านั้น แต่งปลายเป็นเหมือนงวงอะไรสักอย่าง แต่ก็เป็นแบบเรียบๆ มาถึงเมืองไทย ท่านก็จับควั่นเป็นหัวเม็ด หลากหลายรูปทรง แต่ยังถือเป็นคติเดียวกัน

เอาละ ตอบคุณติบอเสียที
เสาคือ “แก่นสาร” (essence) ของคติครับ สตัมพะ หรือ เสา คือกายภาพทางวัตถุของภูมิเทวดา ไม่ต้องใส่หมวกให้ท่านอีกที
แต่...... อันนี้ผมประนีประนอมลงมาอีกชั้น โบราณท่านก็ประณีประณอมแบบนี้เหมือนกัน คือ
ถ้าหาไม้แก่นระดับเป็นสตัมพะ หรือ axis mudi ไม่ได้หละ เราก็เอาไม้ซีกมาใช้ ตั้งศาลให้ท่าน แปะป้าย หรือแม้แต่เขียนรูปท่านเอาไว้ ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเล็ยยย์
ไอเดียนี้เปิดทางให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องออกมาอีกกระตั้กกกใหญ่ และทำให้นักเรียนสายซิมบอลิสซึ่ม อย่างผม ซึมไปเลย ผลิตตำราไม่ทันความก้าวหน้าของคติ

ผมชักเมาแล้วแหละครับ อาจารย์ ขอหยุดตั้งหลักก่อน กรุณาชันสูตรความเห็นของผมด้วยนะครับ รวมถึงน้องติบอด้วย หน็อยแน่ ถามเรื่องสติแตกกับคนฟั่นเฟือน.....อยู่ดีไม่ว่าดี

เดี๋ยวจะมาเสนอความเห็นเรื่องศาลพระภูมิที่บ้านอาจารย์


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 พ.ค. 06, 12:06
 เขียนผิด ข้อความกำกวม ตกภาษาไทย

"เสนอความเห็นเรื่องศาลพระภูมิที่บ้านอาจารย์ "
แปลว่าต้องเดินทางไปที่บ้านท่าน ไม่เอานะครับ มีหมาเพชฆาต งูจอมวายร้าย แล้วยังเรื่องสยองขวัญอีกเต็มบ้าน....ตัวใครตัวมันครับ ให้นู๋เฟื่องไปคนดียวละกัน

ผมจะเสนอความเห็นเรื่อง -ศาล-พระภูมิ-บ้าน-อาจารย์

ทีหลังครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 พ.ค. 06, 13:42
 ทีนี้ เจาะจงมาถึงศาลพระภูมิบ้านอาจารย์เทาชมพูครับ

เวลาเราป่วยนี่ เราเลือกหมอใช่ใหมครับ
เวลาซ่อมรถ เราก็เลือกช่าง
เวลาทำผมเราก็เลือก หากุงเกงเราก็เลือก
หาแฟน ยังเลือกเลย

แต่พอถึงศาลพระภูมิ อ้าว....ท่านไม่เลือกแฮะ ฝากพลังจินตนาการทั้งชีวิตในเรื่องมหิทธานุภาพแห่งปวงเทพไว้กับร้านขายศาลที่ ..ขอประทานโทษนะครับ..ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า เขาว่าไง เราว่าด้วย เสียเหลี่ยมลูกกำนัล... เอ๊ย กำนันหมด

หมอตั้งศาลของอาจารย์เทาที่เคารพ จะต่ำกว่าท่านพระครูได้ยังไง
ผมหมายความตามนั้นจริงๆนะครับ ไม่ขาดไม่เกิน ไม่ผิดเพี้ยนครับ
ผมจะแนะนำให้ขอรบกวนท่านพระราชครูวามเทพมุนีแห่งเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ตรงหน้าวัดมหาสุทธาวาสที่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดสุทัศน์เทพวรารามนั่นแหละครับ

ไม่มีสายตรงกว่านี้อีกแล้วในพระราชอาณาจักรไทยปัจจุบัน และไม่มีท่านใดอีกแล้วที่จะดำรงเพศสมณะได้บริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากมลทินเช่นท่าน

ได้แนะนำไปหลายท่าน ทุกท่านต่างปลื้มปิติ ประสบสุขสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล (โดยไม่ต้องเจอนาย pipat ตนนี้เลย แม้แต่น้อย) วิธีการก็ไม่ยุ่งยากนะครับ ไปพบท่านที่บ้าน
บ้านท่านน่ารักมาก มีกระต๊อบเล็กๆอยู่ในบ้านเล็กๆ แสนสงบข้างโบสถ์พราหมณ์นั่นแหละครับ โทรศัพท์ไปก็ได้ เสียดายผมไม่มีเบอร์น้องแมวของท่าน ไม่งั้นจะหลังไมค์ให้อาจารย์ในทันที

ท่านไม่รังเกียจงาน ขอแต่ให้มีเวลาเท่านั้นครับ คุยถูกคอ เผลอๆท่านจะแจกภควัตตคีตาให้มาอ่านชำระศรัทธาเสียด้วยซ้ำ สมเป็นพราหมณาจารย์จริงๆ
แล้วปัญหาเรื่องความไม่ถูกไม่ควรทางจิตวิญญานจะไม่มาแผ้วพาลท่านอาจารย์ของผม จนถึงพ.ศ. 5000 โน่นแหนะ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 17 พ.ค. 06, 13:57
 มีหมายเลขโทรศัพท์ที่เทวสถานเพื่อติดต่อ พระราชครูวามเทพมุนี มาฝากครับ โทร. ๐๒ ๒๒๒ ๖๙๕๑ แต่เบอร์บ้านท่านไว้หลังไมค์ดีกว่าครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 06, 13:58
 ตกลงค่ะ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 06, 14:01
 ชนกับคุณUP กลางอากาศ  ขอบคุณมากค่ะ
มีบุญจริง ได้คำตอบเร็วราวเนรมิต
เฮ้อ ปลื้ม

ขอย้อนกลับมาถึงพระภูมิวิทยากร
จะให้ดิฉันไปหาศาลไม้บนเสาไม้ งั้นหรือคะ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 พ.ค. 06, 14:12
 ส่วนรูปแบบของศาลนั้น ต้องเป็นไม้เท่านั้น เว้นแต่อาจารย์หาแท่งหินได้ขนาดพอทำศาลเพียงตา

เดาว่าเพื่อสะบายความรู้สึก อาจารย์คงอยากได้ศาลเล็กๆประดิษฐานตรงยอดเสา ไม่ให้ดูห้วนๆแบบพวกอินทะเนีย
ผมไปติดใจรูปแบบอาคารจำลองที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เป็นดินเผารูปอาคารหลังคาจั่ว ทางพช.เขาแปะป้ายว่าเป็นรูปจำลองสถาปัตยกรรม
ผมว่านี่แหละครับศาลพระภูมิของชาวอยุธยา ผมเคยเห็นอาคารรูปแบบนี้หลายครั้ง มีสองห้อง ห้องในทึบ เจาะหน้าต่าง ไม่มีฝาด้านหน้า ลดชั้นชานนอกด้วย ห้องในเลยกลายเป็นยกสูง

เขียนรูปแบบเด็กๆแนบมาด้วยครับ เพราะหารูปจริงไม่เจอ
ในบทความเรื่องเชตวัน ของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ก็รูปแบบนี้แหละครับ ทางเหนือจะพบมาก ใน พช. พระนครก็มีหลายชิ้น แต่ทำออกหรูหราทีเดียว
ทั้งหมดมีลักษณะตรงกัน เป็นแบบสองห้องครึ่งทึบครึ่งโปร่ง
แล้วก็อ ไม่ต้องมีแท่นวางอาหารนะครับ ภูมิเทวาท่านมิใช่สัมภเวสี หรือญาติพระเจ้าพิมพิสาร
แล้วก้อมิใช่น้องโดที่ต้องมีบ้านน้อยกับชามข้าวน้อยหน้าประตู

ท่านอยู่สูง เราต่างหากที่ไปข้องแวะท่าน ปกติจะตั้งเครื่องพลีกรรมก็เมื่อมีกิจรบกวนท่านจริงๆ อย่างเช่นทำบุญบ้าน
ซึ่งเป็นเหตุให้มีของแถมมาเพ่นพ่าน

ทั้งหมดนี่ มั่วเอาเองนะครับ ไปถามใคร เขาจะบอกว่าเพี้ยน

.


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 พ.ค. 06, 14:23
 มัวแต่พิมพ์ คุณอั๊บมาช่วยยืนยันความตั้งใจ ขอบคุณครับ

ศาลที่ผมบรรยาย เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นทำ ที่ร้านขายศาลพระภูมิ ปากซอยเพชรเกษม 48 มีศาลไม้งดงามให้เลือกหลายแบบ น่าจะมีพอเหมาะใจ ที่อื่น เห็นทำออกแนวพัฒน์พงศ์หรือลาสอเวจี เอ้ย ลาสเวกัส กันหมด

ที่ขอย้ำนะครับ คือ เสา เสา และ เสา
หาที่ดีที่สุดเท่าที่กำลังเราจะหาได้ ให้มันรู้ไป ว่าอาจารย์เทาชมพูของชาวเรือนไทย จะหาไม้แก่นหน้าสิบนิ้วตกมันไม่ได้

บรื๋ยยย์


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 06, 14:38
ดิฉันอยากได้ศาลพระภูมิไม้มาหลายปีแล้ว    เคยผ่านไปเห็นที่เขาทำสวยงามก็รู้สึกว่าเหมาะเจาะจะเป็นศาล
แต่ยังหาลูกพรรคสนับสนุนไม่ได้   เพราะหัวหน้าฝ่ายค้าน เขาบอกว่าศาลไม้ชำรุดทรุดโทรมง่าย ไม่ทนทาน เพราะฝีมือสร้างไม่มั่นคงแข็งแรงอย่างอิฐหินดินปูน  
อยู่ไปไม่กี่ปีก็ชำรุดหักพัง  เสียเกียรติภูมิพระภูมิท่านและตัวเจ้าของที่ปัจจุบัน  
เขาลำบากใจเพราะจะซ่อมก็ทำไม่เป็น  จะเอาไปทิ้งตามโคนต้นไม้ก็เสียดายและเป็นขยะรกหูรกตา
สรุปแล้วเลยมีแต่ศาลแบบที่คุณพิพัฒน์ทนไม่ได้

มีคำแนะนำไหมคะว่าจะทำยังไงดี   เกี่ยวกับวัตถุที่ไม่ค่อยถาวร

บางคนก็ถือว่าปล่อยให้ศาลพระภูมิหักพังไม่ได้ ต้องตั้งศาลกันใหม่   แสดงว่าเราจะต้องเตรียมตัวตั้งศาลกันทุก ๕ ปี หรือน้อยกว่านั้น

ส่วนไม้หน้าสิบ  เดี๋ยวจะให้คนไปถามหาแถวดำเนินสะดวก  ผ่านไปเคยเห็นไม้เก่าขายอยู่   เป็นแบบเสาเรือนทั้งต้น

ว่าแต่...ถ้าเจ้าของเสาไม้รายเดิมเขามาเยือนละก็    ดิฉันยกทั้งศาล และสตัมภะใส่สิบล้อ ไปส่งให้คุณพิพัฒน์ด้วยจริงๆนะเอ้า  
อย่าหาว่าพูดเล่น


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 พ.ค. 06, 16:17
 ยินดีครับ
อาจารย์ลืมหรือครับ ที่ท้องพระโรงวังท่าพระ มีเสาตกน้ำมันอยู่ต้นหนึ่ง ขนาดทาสีปิดแล้ว ยังเยิ้มออกมาเป็นระยะ มีผ้าสีผูกและธูปปักเสมอ พวกเราเคารพเหมือนเป็นครูท่านหนึ่ง ผมกินอยู่หลับนอนตรงนั้นหลายเพลาครับ

ของไม่สวย แถมยังทนอีก โน่นเลยครับรัชดาทั้งเส้น แถมลาดพร้าวอีกก็ด้าย
คิดดูว่า เหนื่อยๆกลับเข้าบ้าน เจอแท่งขาวเจ๊กตระหง่านรอรับเราทุกวัน อาจารย์ไม่ย้ายหนี เทวดาก็ย้ายแน่ครับ

เมืองโบราณทั้งเมืองเป็นไม้กว่าครึ่ง ปราสาทสัจจธรรมที่พัทยา เป็นไม้ทั้งหมด เสี่ยเล็กไม่เห็นกลัวเลย

กระซิบความลับนะครับ
ช่างที่นั่นใช้น้ำมันรักษาไม้ยี่ห้อไดเงียว ยึดอายุไม้ได้อีกร่วมสิบปี ถ้าไม้อายุถึง ทนไม่แพ้เมีย ...เอ้ยปูนครับ
แล้วแท่นปูนที่ผมเคยเห็นมา ไม่มีสักอัน ที่ไม่กระดำกระด่าง

อาจารย์ทนสิ่งที่งามน้อยกว่านี้ได้หรือครับ



.


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 พ.ค. 06, 16:32

.
แถมอีกรูป
ฝีมือครูผม ที่โดนทวงสไลด์ไงครับ ตอนนี้ท่านไปจุติใหม่แล้ว
ผมยอมแลกปูนซีเมนต์หมดโลก กับสิ่งแวดล้อมอย่างนี้


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 06, 16:33
เสาท้องพระโรงที่ว่า เห็นเล่ากันว่าเป็นเสาที่สมเด็จพระมหาเจษฎาราชเจ้าประทับพิงอยู่ประจำ เมื่อครั้งที่นี่เคยเป็นท้องพระโรงของวังในสมัยรัชกาลที่ ๒
นั่นเสาเจ้าเสานาย ไม่กลัว   เห็นเข้าก็จะกราบลูกเดียว   แต่เสาแปลกหน้าถือว่าคนละอย่างกัน
ใจจะคอยวิ่งเสียก่อนเรื่อยละค่ะ

ยังกะพระภูมิท่านดลใจ     หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเกิดมีนโยบายตามใจท่าน  ว่าไงว่าตามกัน
เขาอาสาไปหาเสาไม้สัก หน้าแปดนิ้ว(อย่างต่ำ)มาให้   เป็นไม้เก่าที่เคยเป็นเสาบ้านอยู่อาศัยสมัยเด็กๆ     ยังเก็บรักษาไว้อย่างดี
หมดห่วงไปเรื่องเจ้าของเดิม

ส่วนตัววิมานนั้นก็ตกลงว่าจะไปเลือกที่เพชรเกษม  ถ้าไม่ถูกใจก็ตระเวนไปหาใหม่ในหลายจังหวัด  
แล้วเอามาทาน้ำมันรักษาไม้ยี่ห้อที่แนะนำ

ใกล้เวลาเมื่อไรจะไปโบสถ์พราหมณ์
ว่าแต่ว่าเรื่องย้ายที่ตั้ง   พระราชครูท่านแนะนำหรือเปล่าคะ   ต้องเชิญท่านมาดูสถานที่ก่อนไหม

ขอโทษที  กลายเป็นกระทู้ตั้งศาลพระภูมิไปแล้ว    ใครรำคาญก็กรุณาลากเม้าส์ข้ามไปนะคะ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 06, 16:39
 รูปที่ ๘๔ สวยมาก


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 06, 18:55
 ขอเข้ามาบอกอีกครั้งว่า รูป ๘๐ ขอบคุณมาก
อาจารย์พิพัฒน์กรุณาวาดให้   ดิฉันว่าจะพริ้นท์เอาไปปิดทอง


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 พ.ค. 06, 18:56
 อยากเชิญอาจารย์ศึกษาเรื่องการสร้างทางรถไฟตอนที่ถึงถ้ำขุนตาล นั่นน่าจะเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์อย่างดี เรื่องเจ้าที่

ส่วนเสาที่ท้องพระโรงนั้น เห็นจะแก่กว่าพระองค์เจ้าทับ
เพราะพระองค์ท่านยังดำรงฐานันดรไม่ถึงจะได้รับพระราชทานเรือนช่อฟ้าทาดินแดง

ส่วนเรื่องที่ว่าท่านพิงเสานั้น ผมยังไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เคยคิดฝันว่าจะมีเจ้านายพระองค์ใดนั่งพิงเสาเหมือนขุนแผนต้องโทษ เวลาสั่งราชการ

เว็บร้านผลิตศาลครับ
 http://www.baanmaithong.com/
ดูแล้ว มีคุ้นตาก็แบบนี้ แต่ตุ๊กตาเหลือเกิน ของจริงอาจจะดีกว่านี้กระมัง ถ้าทาน้ำยาวิเศษแล้ว

.


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 พ.ค. 06, 19:18
 กรุณาอย่าทำอย่างนั้นเป็นอันขาด ถ้าไม่จำเป็นอย่างถึงที่สุด ผมคงไม่เขียนลายเส้นที่แย่ขนาดนี้ออกมา

ลูกศิษย์เคยถามอาจารย์พระพรมหพิจิตรว่า ใช้ไม้โปรแตกเตอร์ออกแบบสถาปัตยกรรมได้ใหม



ท่านอึ้งไปอึดใจหนึ่ง
ตอบว่า ได้...

แต่ไม่มีใครเขาทำกัน

เอาโฟโต้ฉ็อบเขียนลายไทยก็ได้......ครับ
แต่ไม่มีใครเขาทำกัน


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 18 พ.ค. 06, 02:36
 เข้ามาอ่านครับ แล้วจะรออ่านต่อไป อิอิ

มีเรื่องสงสัยอีกแล้วล่ะครับ คุณพิพัฒน์ ว่าถ้าของผสมอย่าง ทรายมาผสมกับผงหินป่นเป็นปูน เป็นของต่ำ
แล้วโลหะธรรมดาอย่างทองแดง หรือโลหะผสม อย่างทองเหลืองล่ะครับ จะจัดว่าเป็นของต่ำหรือสูงครับ
(ถามเอาไว้ เผื่อผมจะไปสร้างศาลพระภูมิด้วยทองแดงดูครับ หิหิ)


ปล. อย่าแซวผมนา ว่าเอาศาลพระภูมิไปไว้บนหลังคาต่อสายไฟเป็นสายล่อฟ้าไปในตัวด้วยเลยก็ดีนะ ล่ะครับ แหะๆ
ปล.2 ผมจะเฟื่องแข่งกับคุณเฟื้องมากไปหรือเปล่าครับเนี่ยะ แหะๆ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 พ.ค. 06, 03:05
 คุณติบอ อยู่ทำอะไรดึกดื่น เหมือนผมละซี

ในวัสตุศาสตร์ของฮินดู มีระบุลำดับศักดิ์ของวัสดุไว้ พวกทรายพวกปูนนี่ ไม่นับเป็นวัสดุครับ มีเวลาจะลองค้นดูแล้วค่อยพกมาถกกัน

โลหะผสมนี้ เป็นของสูงแน่ละครับ เรียกว่า ตั้งแต่พัฒนาเทคโนโลยีการหล่อมาถึงระดับเทพยดาราวสมัยปาละแล้ว วัสดุอื่นก็หง็อยไปเลยครับ

ในประเทศไทยนี่ ประติมากรรมโลหะอาจใช้เป็นจุดตัดของแบบศิลปะได้ สุโขทัยนี่ไม่พบพระหินเลย แม้มหาเถรศรีสัทธาราชจุฬามุนีจะอ้างการสะทายปูนประกิตพระศิลาไว้ ท่านก็คงซ่อมของเก่ามากกว่าสร้างของใหม่

เขมรเอง จะเห็นรอยต่อของหินมาสู่ปูนชัดมากนะครับ
รูปหล่อโลหะ ที่เจ้าสามพระยาไปขนมาจากเมืองพระนครหลวงแล้วบุเรงนองขนต่อไปพม่า เดิมเป็นศิลปะบายน ประมาณอายุก็ก่อนพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงสักร้อยปี หรือก่อนพระโตวัดพนัญเชิงสักเจ็ดสิบปี ฝีมือหล่อโลหะนับเข้าขั้นยอดฝีมือ เวลาประมาณนั้น ทางลุ่มเจ้าพระยาแถวๆเมืองสรรค์ สุพรรณบุรีและลพบุรี ก็สร้างงานที่ไม่แพ้กันออกมาได้ เรียกกันว่าพระเมืองสรรค์แข้งคม มีทั้งที่เป็นศิลา (พบน้อย) กับพระโลหะขนาดเท่าคนหรือเท่าครึ่ง หรือสามสี่เท่าคน พระประธานวัดธรรมมิกราชไงครับ(เหลือแต่เศียร) และพระแสนแสว้ (อ่านว่า สะ-แว่ แปลว่าทอย คือใหญ่ขนาดใช้ทอยแสนตัว องค์นี้ของทางเชียงใหม่เขา) สมมติว่าท่านลุกยืนละก้อ ตรงกับพระอัฎฐารศเทียวละครับ ไม่ต่ำกว่าสิบหกศอกครับ หล่อโลหะทั้งนั้น ยิ่งใหญ่สุดๆ
พระแข้งคมนี่ วิเศษหนักขึ้นไปอีก คือหล่อบางเท่าเปลือกไข่
ยังเป็นความลับถึงทุกวันนี้ ว่าหล่อบางขนาดนี้ได้ยังไง

โบราณท่านคงไม่กล้าหาญเท่าคุณติบอ
ใหญ่แค่ใหน ก็ต้องสร้างอาคารครอบ
ถ้าคุณติบอสร้างศาลด้วยโลหะสำเร็จ ก็จะเป็นอันดับสองครับ
เทวาลัยแห่งวาจเทวี เขาครองเบอร์หนึ่งอยู่ครับผม


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 18 พ.ค. 06, 04:52
 ไม่ค่อยเกี่ยวข้องเท่าไร
แต่เอารูปการหล่อพระโตมาฝากครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 18 พ.ค. 06, 04:55

ลืมไปว่าลิมิตที่ 50K


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 18 พ.ค. 06, 06:50
 เช้านี้ผมมีนำเสนองานหน้าชั้นเรียนน่ะครับ เมื่อคืนเลยนอนเอาเกือบ ตี 3
แต่นี่ก็ต้องรีบแหกขี้ตาตื่นมาจะไปมหาวิทยาลัยแล้วครับ
(ขออนุญาตพูดว่า "แหกขี้ตา" เถอะนะครับ คุณpipat เห็นเพื่อนสนิทคนหนึ่ง โทรมาถามว่า "นี่เธอจะเบิกมูลพระนัยนานออกมาได้หรือยัง" ฟังแล้วคนฟังอย่างผมอดคันยุบคันยิบไม่ได้)

งั้นถามคุณpipat อีกซักกะน้อยดีกว่าครับ
ว่าถ้ามีใครคิดผิดมนุษย์มนา อยากกลับไปสร้างศาลพระภูมิแบบสตัมพะ
เอาหินอ่อนซักแท่งที่ทำเสาบ้านเหลือมาตัดขนาดให้สูงเพียงตาแล้วเอามาฝังลงดินตามตำแหน่งของศาลพระภูมินี่ จะผิดหลักมั้ยครับ
(เดาว่าชาวบ้านคงนินทาไปอีกนานแน่ๆ ว่าทำศิวลึงค์อันเท่าเสาบ้านมาไว้ข้างรั้วเนี่ยะ วิตถารหรือเปล่า เหอๆ)





ปล.1 เผื่อผมจะได้ไปลองเปลี่ยนจากศาลพระภูมิทองแดงมาเป็นเสาทองแดงกับเขาได้มั่ง
ปล.2 แล้วจะแยกศิวลึงค์ออกจาก สตัมพะยังไงครับ แหะๆ (ชักเบลอเองแหล่ว เหอๆ)

ปล.3 ถ้าคราวนี้ถ้าผมเอาเสาทองแดง หรือหินอ่อนสีขาวสีดำก็ได้ กว้างซัก 6 นิ้ว สูงซัก 1.6 เมตร ต้นโดดๆไม่มีแท่นบูชา ไปตั้งไว้แทนศาลพระภูมิล่ะก็
คุณแม่ได้ถอนเสามาเพ่นกระบาลผมแยกแน่ๆ มีอย่างอะไรศาลชั้น เดี๋ยวจะกลายเป็นสายล่อฟ้า เดี๋ยวจะมาเป็นตอเหล็กตอหิน

ว่าแล้วก็พยายามนึกภาพเสาโลหะซักต้นผูกผ้าแดงอยู่ริมสนามหญ้าเขียวๆ
อืม....... สีคงออกมาตัดกันน่าดูชม หิหิ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 พ.ค. 06, 10:22
 คุณภูมิครับ
ขอความรู้หน่อย รูปลายเส้นทางขวานี่ เขาก่อโครงสร้างแล้วหุ้มองค์พระเข้าไปทีละชิ้นใช่ใหมครับ

หรือว่าองค์พระถูกฝังอยู่

รูปไม่ค่อยชัดหรือผมตาถั่วดูไม่ออก
ขอรายละเอียดอีกนิดได้ใหมครับ

ส่วนคุณบอ...555 ไปส่งงานให้เริ่ดก่อน คืนนี้มาถกกันเรื่องเสา


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 พ.ค. 06, 11:14
 ในความเห็น 91 ผมเมาฟุตบอลล์ไปหน่อย พิมพ์ว่า
"เขมรเอง จะเห็นรอยต่อของหินมาสู่ปูนชัดมากนะครับ"
มันเพี้ยนครับ ต้อง "...จากหินมาสู่สำริด" ครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 พ.ค. 06, 12:16
 กระทู้นี้อ่านเพลินครับ ความรู้ไหลหลั่งหลากหลายเต็มไปหมด ไล่ตามเก็บใส่สมองไม่ทัน ขอขอบพระคุณคุณครูทุกท่าน

ขันดีว่า สดมภ์ สตัมพะ ที่แปลว่าเสานั้น เสียงไปเหมือนกับ stump ในภาษาอังกฤษเข้าได้ คำนั้นแปลว่าเสาก็ได้เหมือนกัน เช่นในเกมคริกเก็ต  แต่ดูเหมือนจะใช้ในอีกความหมายหนึ่งว่าตอ (ไม่ใช่ติบอ) มากกว่า

นั่นสินะ เสาหลักเมือง จะแยกอย่างไรจากศิวลึงค์ ดูเผินๆ เหมือนเป็นหลักปักอยู่เหมือนกัน แยกอย่างไรจากอินทขีล และจาก... ฯลฯ

เห็นข่าวเร็วๆ นี้ว่าที่ศาลพระหลักเมืองเยื้องสนามหลวง มีคนสังเกตเห็นว่า ดูเหมือนเสาหลักเมืองท่านจะร้าวๆ อยู่ เห็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องรับว่าจะรีบบูรณะแล้ว ข่าวยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทำไมจำเพาะต้องเสาหลักเมืองร้าวเอาตอนนี้ที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังอึมครึมพอดี๊...

ผม โน คอมเม้นต์ ครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 18 พ.ค. 06, 12:32
 ที่จริง งานของผมวันนี้ก็เสร็จแล้วล่ะครับ (แต่ยังต้องไปนั่งฟังเพื่อนจนพรุ่งนี้เย็นๆอยู่ดี)
วันนี้เที่ยง แต่แรกว่าจะไปเดินซื้อของซะหน่อย (ให้สะใจกับที่ไม่ได้ซื้อมานมนานกาเลเลยทีเดียว)

แหม่... ที่ไหนได้ ฝนเจ้ากรรมดันทำท่าจะตกมิตกแหล่
แล้วผมจะเดินตัวแห้งกลับมามหาวิทยาลัยได้ยังไงล่ะเนี่ยะ เมื่อคืนรองเท้าก็แฉะไปคู่นึงละ

ว่าแล้วก็มาแอบนั่งอ่านกระทู้นี้เงียบๆต่อไป
สารภาพกับคุณ pipat เลยครับ ว่าเพราะกระทู้นี้ของคุณ pipat แหละ
ทำให้ผมต้องไปขุดคุ้ยคว้านควานค้น หาเอาตำราอะไรต่อมิอะไรในห้องสมุดบ้าง อินเตอร์เนตบ้างมาอ่านซะหลายเล่มเลย
(เพราะถ้าไม่เข้าใจ เดี๋ยวอ่านไปไม่รู้เรื่องจะยิ่งปวดหัว/จะถามออนไลน์ไปตรงๆก็อับอาย เปิดประเด็นเองแต่ดันไม่รู้เรื่องซะนี่ หิหิ)


ปล. ขอตัวไปงีบก่อนดีกว่าครับ เดี๋ยวตอนบ่ายนั่งพยักหน้าหยึกหยักฟังเพื่อนบรรยายตลอดนี่... ไม่ดีแน่ๆ เหอๆ

ปล.2 หวังว่าคงไม่มีสาวน้อยสาวใหญ่ที่ไหนวิ่งมาทำอะไรๆเหมือนในโฆษณาท่อเหล็กเคลือบกันสนิม กับเสาในกระทู้นี้นะครับ หิหิ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 พ.ค. 06, 13:18
 น้องติบอเอ๋ย ทำไมชอบจี้จุดอ่อนผม  ทุกที
(ตรง ป.ล. 2)

ไอ้โคตรสะนาวีระ ยำใหญ่ พรรณยังงั้น แค่นึกถึงและจำได้ ก็ต้องวิ่งหาวิกซอล ล้างตาล้างหมอง แถมด้วยกระดาษทรายเบอร์หยาบสุด ขัดความทรงจำทิ้ง สามวันไม่เสร็จ

ผมไม่รู้ว่าปีศาจอหิวาห์ตนใด ดลบันดาลให้ประเทศเราผลิตสิ่งมีชีวิตพร้อมสะไปนัลขอร์ดรุ่นนี้ออกมาทำเห่ยสะกี้ ระดับนี้ได้ไง

เขาไม่รู้จักคำไทยๆ อย่าง เสนียดจังไร
หรือคำฝาหรั่ง อย่าง lack taste
กันมั่งหรือไร

ขอปรับน้องติบอ ให้ไปบ้วนปากสีฟันสองรอบ แล้วมาคุยกันใหม่

มีโคตรสะนายำเล็บมือนางแบบนี้เต็มประเทศ
แล้วเราจะมีโลกนิติคำโคลงไปทำไมให้ป่วยการ
มีอิศริญานภาษิตทำไม มีท่านพุทธทาสทำไม มีราชนีติทำไม มีศีลธรรมไปทำไม
อยู่กันแบบสัตว์ชั้นต่ำ คิดกันแต่เรื่องต่ำ และทำแต่เรื่องต่ำ
ก็ได้เงินเดือนเป็นแสนๆ สะบายเจยยยย์

ผมจำจนวันตายเลยว่า สมาคมชั่ว ( B A D) ของพวกเขา ให้รางวัลชิ้นแรกกับไอ้โคตรสะนาผู้หญิงทิ้งกระเบื้อง
เขาปิดทองใส่หน้ากันเอง ว่า ถีบมากกกก
ผมก็เห็นด้วย ว่า (อยาก) ถีบมากกกก

เหมือนกัลลลล์

อยากได้ encyclopedia of four letter words จัง
จะมอบให้สิ่งมีชีวิตพวกนี้อ่านเช้าอ่านเย็น

ขออภัยครูไหวนะครับ ถ้าทนไม่ไหว ลบทิ้งก็สมควร แต่พูดแล้วค่อยสะบายใจหน่อย

เฮ้อ...


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ค. 06, 14:10
 ลองตั้งกระทู้ใหม่ไหมคะ คุณพิพัฒน์
ลองนับดูว่าโฆษณา มีกี่รายการที่สนับสนุนการทำผิดศีลห้า
ไม่รวมโฆษณาเหล้า ซึ่งบอกตรงๆว่าเป็นโฆษณาเหล้า

ที่ว่านี้หมายถึงโฆษณาที่แฝงความรู้สึกไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ถือว่าสลักสำคัญต่อการนับถือศีลห้า

ดิฉันนึกออกอันหนึ่ง  น้องสาวขโมยเสื้อพี่สาวไปใส่ เดินฉุยฉายลอยชายไปเที่ยวทั้งวัน
พี่สาวจับไม่ได้  เพราะดมแล้วเสื้อยังอวลกลิ่นน้ำยาใส่ผ้าอยู่ กลบกลิ่นตัวคนได้หมด
น้องสาวก็อมยิ้ม   ไม่ได้ละอายใจสักนิดเดียวว่าหล่อนละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น

อีกเรื่องที่หายไปจากจอแล้ว  คือสาวสองคน คนหนึ่งขโมยบะหมี่อีกคนกินด้วยการหลอกว่าป่วย   ให้เจ้าของบะหมี่วิ่งวุ่นตกอกตกใจ
หล่อนก็ดอดมามูมมามสาวบะหมี่เข้าปาก
ที่จริงขอกันดีๆก็น่าจะได้  แต่มันคงไม่เป็นเหตุการณ์ เลยชักจูงใจด้วยการขโมยเสียดีกว่า


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 18 พ.ค. 06, 14:51
 นั่นน่ะสิคุณpipat
โฆษณาแบบไม่มีรสนิยม มันเริ่มจากคนคิด คนเสนอ คนอนุมัติ และคนถ่ายทำกันเลย
สะท้อนรสนิยมคนทำมาก
สมาคมที่คุณเรียกว่าสมาคมชั่วน่ะ ไม่เป็นที่เชื่อถือสักเท่าไหร่หรอก เพราะนายกแต่ละปีและกรรมการ มันก็วนๆกันเอาพวกเอาพ้องที่รสนิยมครือๆกันมาเป็น
มาตรฐานการถีบมันเลยเป็นอย่างนี้
แต่คุณเชื่อไหม คนพวกนี้หละที่ฟันเงินเดือนเรือนแสนถึงสามแสนกันทั้งนั้น


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 18 พ.ค. 06, 14:55
 อ้าว มันปากด่าไปกับคุณpipatเลยลืมเรื่องที่จะถามเลย
ผมอยากทราบว่า ด้วยความคิดหรือที่มาแบบไหน
ทำให้พระพรหมต้องมีสี่หน้า สี่กร
ถ้าไม่เป็นการรบกวนมาขัดเรื่องพระอินทร์ของคุณ
ช่วยตอบหน่อยเถอะครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 พ.ค. 06, 15:16
 เดาล้วนๆเลยนะเอลวิส

ที่นีนีห์เวห์ งัวตัวหัมมุม ช่างเขาครีเอถีป ทำตีนมี 5
เขาเจตจำนงมุ่งหมายให้มองจากรอบด้าน ก็ยังเห็นเป็นสี่ตีน

ขอโทษที อารมณ์ยังกรุ่นจากสมาคมชั่ว

ความคิดสร้างสรรค์อันนี้ ไม่มีในคัมภีร์ แต่เป็นการแก้ปัญหา ซึ่งน่าจะไปสนับสนุนความคิดเรื่องสภาวะเลอเลิศกว่าปกติของเทวคติ

พรหมมีสี่หน้า เพราะทิศหลักมีสี่ ซึ่งผมคิดว่าเป็นความคิดที่เบบี๋มากๆ แต่มันเวอร์ค ว่ะ จอรช
ถ้าต้องการสร้างเทวรูปา อันสะท้อนถึงการแผ่ไปทั้งจักรวาล (ของอะไรสักอย่างที่เป็นนามธรรม) ในเทวประวัติ

สี่หน้านี่เลย ใช่แล้ว
มันเก็ตมาก.............อาร์ตไดบอก
ลูกค้ามึนตึบแน่...................เออี เอ หรือ ไอ้อีหว่า    คำราม
ไปกระชากมาให้เห็นที่..............กรู๊ป เห้ดด ไม่รู้เห้ดดดใหน  ร้องเสริม
ไอ้วิชั่ว เอ้ย ...ช่วล หายหัวไปแป๊บ
ออกมาพร้อมกระดาษหนึ่งแผ่น  บอกว่า เพ่ คืนนี้ผมขอโอสองเท่าได้ปะ เมื่อคีนเสียบอลลลลล์ไปสองน้ำ

โอ้ย...........
ไอ้คุณติบอ คุณจ่ายยาอะไรให้ผมวะ

lvsgjokenfmvoietrj0ow4imvlwev8upoerkmfvdk;lhfiugtndsfk;vn9p485m6gt[p45o9.ptob0o89u60kgfvpklmo[d8u09vk-0y9vk0okt09bkdob


แปลว่า ลูกค้าขอเปลี่ยนเอเย็นสี้ใหม่
บอกที่นี่ ถีบไม่แรง


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 18 พ.ค. 06, 15:28
 ก๊ากก๊ากก๊าก
เขียนเอเจนซี่ เป็นเอเย็นสี้
ถีบมากครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 18 พ.ค. 06, 23:37
 โอ๊ยๆๆๆๆๆ ผมเอาแปรงทองเหลืองแปรงฟันจนเหงือกระบมไปหมดแล้วครับ แหะๆ
นับแต่นี้ไปขอปฏิญาณว่าจะมิขอกล่าวถึงโฆษณาอันใดให้คุณ pipat คับข้องหมองใจอีกแล้วครับ
กราบขอษมาลาโทษมาด้วยนะครับ



ปล. ผมไม่ใช่หมอครับ จ่ายยาไม่ได้อ่ะ  


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 พ.ค. 06, 00:31
 อะโปโลจี้ แอคเซ้บเต็ท

วันนี้ลมไม่ดี พรึ่งนี้มาว่ากันเรื่องสะตัมภะต่อนะน้อง

ปล. ยาที่คุณเผลอให้ผมกิน มันไปออกฤทธิ์ (กินแบล็ค) เป็นกระทู้เดือดอยู่แถวๆ นี้ซะแล่ว

แวะไปแจมมั่งนะครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 19 พ.ค. 06, 01:33

ตายแน่ คุณpipat ไอ้ที่วางไว้นั่นมันยาฆ่าย่านะเนี่ยะ
ผมแค่วางไว้กันอะไรรกๆเข้ามาในกระทู้น่ะครับ

ใครจะไปทันคิดว่าคุณ pipat จะเผลอกินเข้าไปล่ะเนี่ยะ เหอๆ



take care นะครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 19 พ.ค. 06, 03:40

พระพรหมสี่พักตร์ ชวนให้ผมนึกถึงไม้กางเขนบนยอดโบสถ์ที่เมืองฝรั่งหลายๆ แห่ง ซึ่งทำแตกกิ่งออกไปเพื่อให้คนไกลมองจากทิศใดๆ ก็เห็นเป็นไม้กางเขนได้ แต่หากว่ามองใกล้ๆ อาจจะนึกว่าเป็นนภศูลแบบฝรั่งไปได้


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 พ.ค. 06, 08:40
 รูปคุณอั๊บ ชวนผมนึกถึงฝูงกาที่คุณเลี้ยงไว้ เกาะคนละกิ่ง
เท่อย่าบอกใคร
ฮิฮิ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 พ.ค. 06, 09:07

.

งัวที่ผมอ้างถึง ความจริงแกเป็นเทพครับ
พอดีไม่ได้ใส่ใจ นึกได้ก็พูดส่งๆไป ขอโทษที่ความรู้มั่วไปหน่อยนะครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 พ.ค. 06, 09:11

.
สันนิษฐานการติดตั้ง
ข้อมูลจากเว็บใหนก็ไม่ได้สนใจ พิมพ์ nineveh สั่งให้หารูป

กูเกิ้ลจัดให้

ยี้ไม่ต้อง 555


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 19 พ.ค. 06, 16:19
 การนำรูปของคนอื่นมาใช้ ถึงเจ้าของเขาไม่ว่าอะไรก็ควรให้เกียรติเจ้าของเขาหน่อยก็ดีนะครับ
โดยการบอกว่าเป็นรูปของใคร อยู่ที่ไหน
และถ้าเอามาใช้โดยพลการ ไม่อ้างอิง เจ้าของมีสิทธิฟ้องร้องได้
น่าจะทำเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก ๆ ได้ทำตามบ้างนะครับ

ไม่งั้น มันก็จะเหมือนโฆษณายาเครื่องสำอางค์อวดรักแร้ได้


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 19 พ.ค. 06, 16:24
 มีบทสวดมนต์บางบทว่า
มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อมีภัยคุกคามขึ้นมาแล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง อารามและรุกขเจดีย์บ้างเป็นสรณะ
นั่นไม่ใช่สรณะอันเกษมเลย นั่นไม่ใช่สรณะสูงสุด
เขาอาศัยสรณะนั้นแล้ว ย่อมไม่อาจพ้นจากทุกขทั้งปวงได้

ชาวพุทธ เวลาสวดมนต์ทำวัตร
เราจะหมอบกราบลงกับพื้นแล้วกล่าวว่า
ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี ข้าพเจ้าขอถือเอาพระรัตนตรัยอันมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พื่งอันประเสริฐสูงสุด


แต่ชาวพุทธในประเทศไทยเรา ผมว่าแปลกมาก
ใครนับถืออะไร เราก็นับถือรวมไปกับเขาหมด

นี่อาจเป็นวัฒนธรรมที่เป็นธรรมชาติของคนไทยที่ทำให้เราเป็นไทยทุกวันนี้(หรือเปล่า)    


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ค. 06, 17:25
 มาสารภาพบาป ว่าดิฉันก็ไม่ค่อยบอก
ถ้าหากว่าอยากให้คนอ่านคลิกเข้าไปดู เพื่อหารายละเอียดเพิ่มเติม ก็บอก
แต่ถ้าเป็นรูปการ์ตูนประกอบ หรือภาพเล็กๆน้อยๆก็ไม่ได้บอก
รู้สึกผิดค่ะ

www.pycs.net/lateral/ stories/31.html


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 19 พ.ค. 06, 17:34
 ผมด้วยครับ แหะๆ
ยิ่งที่เอามาจากเวบที่เอาไว้โฆษณา ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
ผมไม่ลงโดยเด็ดขาดครับ เหอๆ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 พ.ค. 06, 19:30
 ขอบคุณที่เตือนครับ เผลอไป นึกว่าที่นี่รับรองระบบแฟร์ยูส
รูป 110 (ซ้าย) จาก www.odysseyadventures.ca
รูป 110 (ขวา) จาก xenohistorian.faithweb.com
รูป 111 จาก www.jewishmag.com
ตามเจอเพราะเพิ่งไปฉ้อมาเมื่อแป๊บๆ นี่เอง

ทีนี้เรื่องใหญ่ละซีครับ
โฟโตฉ็อบ ผม มันมาจากพันทิพ
เวิร์ดก็มาจากพันทิพ
เอ๊กพีก็มาจากพันทิพ
เวลาลงรูปที่ถ่ายเองก็ไม่เคยระบุว่าใช้ฟิล์มยี่ห้อไร กล้องใหน เล็นส์อะไร
เวลาอ้างข้อความก็มักจะจำเอา บอกไม่ได้ว่าฉบับพิมพ์ปีใหน สำนักพิมพ์อะไร ยิ่งพวกกลอนนี่ ทราบว่าเขามีการชำระมาแตโบราณ ก้อสอบกลับไปไม่ได้ว่าอาศัยใบบุญปราชญ์ท่านใหน กรุณาชำระให้

ยิ่งเจ้า ibidem loco citato, sic, ca. cf. et al. et cetera, exempli gratia, videlicet, อะไรพวกนี้.....ใบ้รับประทานครับ

ขอลาไปยกระดับไอเอสโอ และจริยวิถีส่วนตัวให้สาสมกับที่นี่ก่อนนะครับ

สำหรับข้อมูลเถื่อนๆ ปราศจากที่มา ที่ผมไม่ได้ตระหนัก เอามาแปะแสดงไว้ในนี้ ผู้รับผิดชอบโปรดลบด้วยนะครับ เผื่อเด็กๆจะเอาอย่าง มันจะ "เน่าไปทั้งข้อง"


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ค. 06, 21:21
 อาจารย์นิรันดร์คงหมายถึงดิฉันมากกว่าคุณพิพัฒน์ค่ะ
เพราะในเรือนไทยไม่มีใครเอารูปจากที่อื่นมาลงให้ดูกันเฉยๆ  มากเท่าดิฉัน
แค่ในกระทู้ เมืองไทยในอดีต ทั้ง ๕ กระทู้ก็นับไม่ถ้วนแล้ว   ส่วนใหญ่ไม่ได้อ้างแหล่งที่มาด้วย
แล้วยังในกระทู้อื่นๆอีก เช่นกระทู้สุภาษิตคำคม
รวม ๕-๖ ปีที่เฝ้าเรือนไทย ภาพก็เกือบพันได้มั้ง

คุณพิพัฒน์เพิ่งเข้ามา  ในกระทู้นี้ก็เอาภาพมาลงไม่กี่ภาพ
เป็นตัวอย่างประกอบคำอธิบาย ไม่น่าจะอยู่ในข่ายหรอกค่ะ

ถ้าหากว่าใครร้องเรียนเรื่องภาพอียิปต์หรือภาพอื่นๆข้างบนนี้    ดิฉันขอรับผิดชอบเอง


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ค. 06, 21:56
ตอบอาจารย์นิรันดร์ # 113
ดิฉันถือว่าการที่เรากราบไหว้พ่อแม่   ไม่ได้หมายความว่าเราจะหมดสิ้นฝ่ามือนิ้วมือ  ไม่เหลือไปไหว้ครูบาอาจารย์ ลุงป้าน้าอา หรือแม้แต่เพื่อนบ้านอาวุโส
สำหรับดิฉัน  พระรัตนตรัยก็เป็นที่เคารพบูชาสูงสุดเหมือนพ่อแม่     ส่วนพระคเณศและพระสุรัสวดีเป็นเครื่องหมายของสถาบันที่ดิฉันเคยอยู่  เปรียบเหมือนครู    ส่วนพระภูมิเจ้าที่ก็เหมือนเพื่อนบ้านอาวุโสที่อยู่ในละแวกบ้านมาก่อนเรา

ดิฉันไหว้ได้หมด  สรณะของดิฉันมีทั้งชั่วคราวและถาวร    ดิฉันยังไม่มีจิตที่แข็งแกร่งพอจะไหว้พระรัตนตรัยอย่างเดียว   โดยไม่เหลียวแลสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ
แต่การเลือกเคารพ ก็เลือกเหมือนกัน ผ่านการใคร่ครวญไตร่ตรองแล้วว่ามีเหตุผลในความเคารพ  
ไม่ใช่ไหว้ดะไปหมด

อย่างเจ้าพ่อคูลฟีเวอร์ ยังไงก็ไม่ไหว้   ต่อให้ตกมาจากฟ้าจริงๆก็ไม่ไหว้    ไม่งั้นดิฉันก็ต้องไหว้น้ำฝนกับผีพุ่งใต้ด้วยทุกคืนๆ

เรื่องศรัทธาเป็นเรื่องเฉพาะตัวค่ะ  ศรัทธาของใครก็ของคนนั้น  

มนุษย์เราต่อให้ศึกษาได้กว้างขวางรอบรู้  หาคำตอบเป็นเหตุเป็นผลได้ยังไงก็ตาม   ก็ยังไม่วายมีเนื้อที่เหลือให้ศรัทธาในยามต้องการกำลังใจ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 19 พ.ค. 06, 23:59
 ทางที่ดีก็อ้างไว้ดีกว่าครับ แต่หากหัวหมอสักหน่อย ก็ลองมาดูพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฉบับปัจจุบัน ที่ได้ระบุยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ครับ ในมาตรา ๓๒ กันครับ

"การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

(๑) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

(๒) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท

(๓) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

(๔) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

(๕) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว

(๖) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

(๗) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร

(๘) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ"

พิจารณาแล้วทั้ง ๘ ข้อ แต่ก็ยังคลุมเครือๆ อยู่ครับ ว่าการที่เราๆ ท่านๆ ไปจิ๊กภาพมาลงในเว็บนี้จะได้รับข้อยกเว้นในข้อไหน

ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่านะครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ค. 06, 08:36
 อ่านแล้วดิฉันก็เห็นว่าเรือนไทยมีทางรอด  จากข้อ ๑ ๒ ๓ และ ๖

อย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นข้อลดหย่อนผ่อนปรนได้มากที่สุด คือทุกคนที่เข้ามาในเว็บวิชาการ  ไม่ว่าทีมงานหรือสมาชิก
ไม่มีใครได้ค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์จากการค้นคว้าหรือหาข้อมูลมาตอบ  
อย่าว่าแต่ได้กำไรเลย  แม้แต่ค่าแรงก็ไม่มี ทำฟรีกันทุกคน

ไม่มีใครอ้างสิทธิ์ในภาพและคำตอบในเว็บบอร์ด ว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เขาค้นคิดขึ้นมาเอง
ทุกคนรู้เมื่อเห็นภาพหรือข้อความ ว่าคนตอบไปเอามาจากที่ใดที่หนึ่ง ไม่หนังสือก็ในเว็บไซต์

ดิฉันยังถืออีกว่า เรือนไทยคือห้องเรียน  การตอบในเว็บบอร์ดนี้คือการเผยแพร่ความรู้  ซึ่งก็คือการสอนนั่นเอง
แต่เรือนไทยไม่เหมือนชั้นเรียนตามโรงเรียน  เป็นห้องเรียนเปิด   ที่เปิดกว้างให้เรียนได้ทั่วโลก  แล้วยังเรียนฟรีไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนอีกด้วย  คนที่มาสอนก็สอนฟรี ฟรีหมดทุกอย่าง

แต่ขอความเห็นใจสักอย่างว่า ผู้ที่เคยชินกับการอ้างอิง มักอยู่ในแวดวงครูบาอาจารย์หรือนักวิจัยที่ชินกับการเขียนตำรา ค้นคว้าหาข้อมูล
พวกนี้มักจะมีความเคยชินอัตโนมัติที่จะบอกแหล่งข้อมูลควบไปกับคำตอบ  
ในขณะที่คนในอาชีพอื่นๆ หรือครูที่สอนอย่างเดียวไม่ได้เขียนตำรา  มักจะไม่ชินกับเรื่องนี้ ไม่ว่าทำลิ้งค์หรือบอกหนังสือที่ตัวเองไปเปิดมาตอบ
บางคนก็ตอบจากความทรงจำ นึกไม่ออกว่าไปเอามาจากไหน  

ภาพก็เหมือนกัน  สแกนมาจากหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ เสร็จแล้วปิด  สิบนาทีนึกไม่ออกแล้วว่าเล่มไหน  แค่รู้แน่ๆว่าตัวเองไม่ได้ถ่ายภาพมาเอง

เอาเป็นว่าถ้าดิฉันไปเอาภาพ หรือลอกข้อความมาจากหนังสือไหน ต่อไปจะระวัง
แต่ถ้าเก็บความมา   หรือไปเอาภาพมาจากเว็บที่ไม่เกี่ยวกับความรู้  ไม่บอกนะคะ
ข้อนี้แถมท้ายไว้เพราะเว็บที่มีภาพไม่เกี่ยวกับเนื้อหามีเยอะ  ภาพพวงมาลัยไทยอยู่ในเว็บร้านอาหาร    ภาพจิตรกรรมใช้ประกอบเว็บเพลง   ภาพบุคคลสำคัญอยู่ในเว็บตลกก็ยังมีฯลฯ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 20 พ.ค. 06, 23:44
 เอออ.... คุณ๊ญ ครับ
ใช่แต่กระทู้ของอาจารย์สมศักดิ์นะครับเนี่ยะ ที่มีวิวัฒนาการก้าวไกล ไปจนกลายเป็นปูน้อยคอยลงครกตำส้ม
กระทู้นี้ก็ใช่ย่อยนะครับจากอิทรา มาจนศาลพระภูมิ แล้วเลยไปเรื่องกฏหมายไม่พอ มีลูกมีหลานออกไปอีก 1กระทู้เป็นอย่างน้อย
เสียแต่ว่าเจ้าของกระทู้ที่สัญญาว่าจะมาเล่าเรื่องเสากันต่อ หายไปไหนแล้วก็ไม่รู้นะครับ
ปล่อยให้คนตั้งใจมาอ่านมานั่งคอน นอนคอย ยืนคอย ชะเง้อคอคอย จนจะหลับอยู่หน้าจอคอมพ์อยู่แล้วนะครับ คุณpipat


ปล. อ.นิรันดร์ครับ อ. ก็เป็น vTeam นะครับอย่าดุลูกบ้านตาดำๆอย่างพวกผมขนาดนี้เลยนะครับ
คุณpipat เธอเพิ่งถูกตัวป่วนจิตป่วยที่ใช้ชื่อ คุณRinda ป่วนมา แล้วมาเจอ อ.ดุแรงขนาดนี้ต่อ
ถ้าผมเป็นคุณลุงเขา ผมคงไม่เล่นที่นี่แล้วแหละครับ ใจเสียไม่ว่า เสียใจมากกว่านะครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 21 พ.ค. 06, 00:58
 อ่านเรื่องราวแล้ว ก็เข้าใจทั้ง อ.นิรันดร์ กับ คุณ pipat ครับ คือ ผ่ายหนึ่ง หยิบยืมภาพเว็บอื่นมา โดยบอกที่มาบ้าง ไม่บอกที่มาบ้าง เพราะคงไม่ได้ซีเรียสอะไร เห็นว่าเป็นบอร์ดที่พูดคุยให้ความรู้กัน

ส่วน อ.นิรันดร์ ก็พูดถูกในหลักการครับ คือ "ควร" อ้างที่มา แต่ก็มีบางประโยคที่แรงไปหน่อย คนถูกตำหนิ อ่านไปแล้วก็เลย "ของขึ้น"

ถ้าความเห็นของผม ก็จะมองว่า รูปแบบของบอร์ดนี้ ไม่เคร่งครัดเรื่องอ้างอิงครับ คือ ใครจะอ้างก็ดี ไม่อ้างก็ได้ ไม่น่าจะเสียหาย ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความขยันมากกว่า คือ ขยันจะ copy แล้ว paste URL หรือเปล่า

เหตุผลก็เพราะว่า "เว็บบอร์ดนี้ ไม่ได้แสวงหาผลกำไร" ครับ ดังนั้น เรื่อง อ้างอิง URL จึงไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับคนโพสมากกว่า ที่จะบอก หรือไม่บอก

ดังนั้นประเด็นเรื่องฟ้องร้องจึงตกไป

เรื่อง กฎหมายลิขสิทธิ์ ผมมองว่า มันถูกสร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์หลักๆ ๒ ประการครับ คือ
๑. ป้องกัน ไม่ให้ผู้อื่น คัดลอก หรือ ดัดแปลงผลงานที่มีลิขสิทธิ์ไปหากำไร หรือ ความมีชื่อเสียงส่วนตัว
๒. ป้องกัน ไม่ให้ผู้อื่น คัดลอก หรือ ดัดแปลงผลงาน แล้วไปเผยแพร่ในทางเสียหาย

อาจมีอีก แต่นึกไม่ออกครับ ดังนั้น ถ้าเราโพส ภาพ จากแหล่งอื่น ด้วยใจบริสุทธิ์ ก็ไม่ผิดกฎหมายครับ

แต่ถ้าเป็นบทความ ผมเห็นว่า "ต้อง" มีที่มาที่ไปครับ เพราะบทความ ผู้เขียนจะได้ชื่อเสียง ถ้าไม่บอกแหล่งที่มาของข้อมูล ก็จะทำให้คนอ่านเข้าใจได้ว่า เป็นความคิดอ่านของผู้เขียนบทความเอง ทั้งที่จริงๆ แล้ว ลอกมา อันนี้ ก็ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวทางอ้อมครับ ถ้าเจ้าของผลงานมาเจอ ก็สามารถเอาเรื่องได้

คนเรามักจะผิดใจกันเพราะประโยคเล็กๆ น้อย แบบนี้แหละครับ

ยังไงก็อย่าผิดใจกันเลยครับ

-----------------------------------------------

มาที่กระทู้ดีกว่า

เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทยที่เด่นๆ จริงๆ ก็มี ๒ องค์ ครับ คือ พระอินทร์ กับ พระพรหม ทั้งนี้ก็เพราะว่า ช่วงสมัยพุทธกาลนั้น ศาสนา พราหมณ์ยังเป็นศาสนาที่มีลัทธินับถือเทพเจ้าประจำธรรมชาติ อยู่หลายองค์ และองค์ที่เป็นที่นิยมคือ พระอินทร์ กับ พระพรหม ส่วน ปรัชญาเรื่อง ตรีมูรติ (ศิวะ วิษณุ พรหม) ยังไม่เกิดครับ แต่องค์เทพนั้น มีมานานแล้ว แต่ลัทธิยังไม่ใหญ่โต ดังนั้น ในพุทธประวัติ จึงไม่กล่าวถึงพระศิวะ กับ พระวิษณุเลย

การนับถือ พระอินทร์ กับ พระพรหม ของไทย ก็มาจากพุทธประวัตินี่แหละครับ

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนาแล้ว ก็ไม่ได้ปฏิเสธ การดำรงอยู่ของเทพโดยตรง แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามี ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของของพุทธศาสนิกชนเองว่า อำนาจเหนือธรรมชาติมีจริงหรือไม่

เป็นธรรมดาครับ เนื่องจากพุทธศาสนา อยู่ในแวดล้อมของศาสนาพราหมณ์ ดังนั้น หลักปรัชญาโบราณของศาสนาพราหมณ์ จึงได้ถูกนำมาใส่ในพระไตรปิฎกด้วย เช่น การกล่าวถึง สวรรค์ชั้นต่างๆ นรกขุมต่างๆ ระดับความเป็นพรหมชั้นต่างๆ เหล่านี้ เป็นปรัชญาของศาสนาพราหมณ์โบราณครับ

ดังนั้น แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา จึงอยู่ที่หลักปฏิบัติของ "จิต" มากกว่าหลักปฏิบัติทาง "พิธีกรรม" ครับ

ส่วนทำไมสังคมไทย มีการนับถือเทพฮินดู นับถือผี ด้วย นั่นก็เพราะว่า สังคมไทยดั้งเดิม มีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษอยู่แล้ว เป็นสังคมที่เชื่อโชคลางและไสยศาสตร์มาแต่เดิม ซึ่งก็แปลกที่ว่า แทนที่พระพุทธศาสนาจะทำลายความเชื่อไสยศาสตร์ให้หมดไป กลับเป็นว่า ไสยศาสตร์นำเอาพระพุทธศาสนา เป็นสร้างเสริมความเชื่อถือให้กับตัวเองได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

เคยอ่านพระไตรปิฎก แต่จำไม่ได้ว่าเรื่องอะไร ท่านบอกว่า คนมีปัญญา มีมากเท่าสัตว์บก แต่คนด้อยปัญญา มีมากเท่าสัตว์น้ำในมหาสมุทร ก็คิดว่า ชัดเจนนะครับ (ไม่ได้ว่าคนที่นับถือไสยศาสตร์นะครับ แต่ยกมาให้อ่านเท่านั้น)

ผมก็เข้าใจคนที่นับถือไสยศาสตร์ และโชคลางเหมือนกันครับ คือบางคนก็ต้องการที่พึ่งทางใจ หรือ ที่พึ่งพาแห่งชีวิต ก็เป็นเรื่องนานาจิตตังครับ ว่ากล่าวกันไม่ได้ พูดชี้แจงให้ฟังได้ แต่ถ้าไม่เชื่อก็ต้องปล่อยไปครับ

ถ้าคนเราเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สังคมเราก็จะไม่มีปัญหาครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 21 พ.ค. 06, 02:06
 ตอบคุณPIPAT เรื่องหล่อครับ

ตัวทรายถมองค์พระถูกแล้วครับ แต่ไม่ใช่ขุด
เป็นการถมขึ้นจากพื้นทีละชั้น จากประวัติเห็นว่าต้องทำถึงแปดชั้นจึงเสร็จสิ้น


 http://www.at-takaoka.co.jp/casting/c_history04.html
ปล. รูปนี้ผมก็ แอบ เอามาใช้สอน เหมือนกันครับ คงต้องถือตามข้อ6 แล้วกันครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 21 พ.ค. 06, 09:42
 คนไทยคงถือเรื่องการมีปกติไหว้กราบต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์ เป็นสัมมาคารวะอันจะนำมาซึ่งจตุรพิธพรด้วยกระมังครับ

หากเรานับว่าเทวดาหรือเจ้าที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ผู้อยู่มาก่อน จัดเข้าเป็นบุรพชน หากจะกราบไหว้ด้วยความอ่อนน้อม เหมือนเรากราบไหว้ผู้มีอาวุโสสูงกว่า มิได้ยึดถือเป็นสรณะ ก็คงไม่ได้ผิดหลักพระพุทธศาสนามากมายนัก เข้าทางผู้มีปกติไหว้กราบด้วยซ้ำ

นับประสาอะไรคนไม่รู้จักมักจี่กันมาก่อนเลย เมื่อเราทราบว่าเจริญด้วยวัยวุฒิหรือคุณวุฒิ เราก็ไหว้ เราก็กราบ เพียงแต่ไม่ได้ถือเป็นสรณะ คงต้องถามตัวเองว่า บางคราวเราทราบว่าผู้ใหญ่บางท่านอาจมีข้อด่างพร้อย ไม่ได้มีจริยวัตรบริสุทธิ์สะอาด ๑๐๐ เปอร์เซนต์ แต่เรารู้ทันและจะไม่ทำตามอย่างข้อเสียของท่าน คำถามคือ..เราไหว้ท่านเหล่านั้นทำไม?

จริงอยู่ การบูชาอ้อนวอนต่อเทพ อาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรมขั้นสูง แต่หากเรากราบไหว้ด้วยน้ำใจระลึกว่าคุณของการเป็นเทวดานั้น คือการมีความละอายชั่วกลัวบาปเป็นเบื้องต้น ท่านเหล่านั้นถือเป็นเทพเทวดาได้และเป็นแรงบันดาลใจให้ตนทำดีจนถึงความเป็นเทวดาอย่างนั้นได้บ้าง ก็นับได้ว่าต้องตรงกับหลักพระพุทธศาสนาทีเดียว นับเป็นกองกรรมฐานประการหนึ่ง เรียกว่า เทวตานุสติ

ส่วนตัวผม ผมนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่เวลาผมเข้าไปในสักการสถานต่างศาสนา ผมก็ยินดียกมือไหว้ศาสดาของศาสนาอื่นๆ นั้นได้อย่างเต็มใจที่สุด ไม่ได้เข้ารีตศาสนาอื่น แต่ไหว้ด้วยความเคารพต่อพระคุณวุฒิประการหนึ่ง และด้วยความนับถือต่อพระคุณธรรมอีกประการหนึ่ง

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาต่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีว่าโภคทรัพย์ของท่านนั้นพึงใช้จ่ายไปการบำรุงบิดามารดา บุตรภรรยา บ่าวไพร่ เพื่อนฝูง เพื่อบำบัดป้องกันภยันตราย ทำทานให้สมณพราหมณ์ และให้ทำ "พลี" ๕ อย่าง ดังนี้

๑. ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ
๒. อติถิพลี ต้อนรับแขก
๓. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับ
๔. ราชพลี บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากรเป็นต้น

และ

๕. เทวตาพลี ถวายเทวดา คือ สักการะบำรุงและทำบุญอุทิศสิ่งที่เคารพบูชา

ยิ่งในส่วนของ "เจ้าที่" นั้น บางทีอาจไม่ใช่เทวดา ฉะนั้น การทำบุญอุทิศแก่เจ้าที่นั้นผมว่าอาจเข้าข่ายปุพพเปตพลีด้วยซ้ำไป

ก็แล้วแต่จะไตร่ตรองมองให้เข้ากับหลักธรรมในพระพุทธศาสนานะครับ

..ไหงผมกลายเป็นอนุศาสนาจารย์ไปเสียแล้วนี่

ถือเสียว่าคุยเรื่องธรรมะสักหน่อยในวันอัฐมีบูชาแล้วกันนะครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 21 พ.ค. 06, 11:09

ขณะนี้ กำลังประดิษฐานองค์ท้าวมหาพรหมที่หน้าโรงแรมเอราวัน
เปิดดูโทรทัศน์ช่อง 11 กำลังถ่ายทอดสด


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 21 พ.ค. 06, 15:53
 เมื่อเช้ากำลังเผ้าชมการประดิษฐานเท้ามหาพรหม ก็เลยไม่ทันได้ตอบเรื่องที่ถูกพาดพิง ขอโทษด้วยนะครับ
ขอเล่าเรื่องที่ดู TV สักนิดเดียวว่า
ช่างสิบหมู่บอกว่า ท่านมาเข้าฝันว่าอยากกลับบ้าน
ตอนนี้ ท่านก็กลับบ้านเรียบร้อยแล้ว
แล้วก็มีนักการเมืองจะนวนมากมาร่วมพิธีอัญเชิญท้าวมหาพรหมกลับบ้าน
ภาพที่เอามาให้ดู ถ่ายจาก TV ก็เลยไม่ชัดเท่าไร


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 21 พ.ค. 06, 16:09
 คือ ผมเห็นคำเตือนเรื่องการเอาบทความหรือรูปภาพที่อยู่ในเว็บวิชาการ
ว่ามีลิขสิทธิคุ้มครองอยู่
หากนำไปใช้ ก็ต้องให้เกียรติผู้เขียนหรือเจ้าของผลงาน
แล้วเราชาววิชาการด็อทคอมเองไปเอาของคนอื่นมาใช้ ผมก็ว่าน่าจะมีกฎเดียวกัน ไม่ได้จงใจตำหนิใครตรง ๆ หรอกครับ
นอกจาก มีอยู่ท่านหนึ่ง ที่ไปยกของเขามาแล้วก็บอกว่า ไม่สนใจหรอกว่ามาจากไหน
ทั้งที่ท่านผู้นั้น ตั้งกระทู้ว่าเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ของสื่อที่ทำให้สังคมไทยเสื่อม
แล้วยังวิธีที่เขาใช้คำพูด(เขียน) ดูแล้วจะยิ่งเป็นการให้เสื่อมหนักขึ้นไปอีก หากเด็กเข้ามาอ่าน
ก็เลยอยากจะปราม ๆ ไว้บ้าง

รูปภาพหรือบทความในหลายเว็บก็อนุญาตให้นำไปใช้ได้โดยไม่ต้องอ้างถึงเขา
นับเป็นความเมตตาที่เขามีต่อชาวไซเบอร์ด้วยกัน
เอามาใช้เฉย ๆ ก็ไม่นับเป็นกระไรได้
แต่การเอามาใช้แล้วบอกว่ามาจากไหนก็ช่าง ฟังแล้วไม่ค่อยเพราะ
ไม่ต้องพูด(ไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์)จะสวยกว่าแยะเลยครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 21 พ.ค. 06, 16:17
 เรียนอาจารย์เทาชมพู (อ้างถึง 118)
ผมไม่ได้คิดตำหนิใครหรอกครับ เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตนิดหน่อย
แต่วิธีการใช้คำของผมอาจไม่รื่นหู สะดุดตา ก็กราบขออภัยต่อทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 21 พ.ค. 06, 16:38
 อปริหานิยธรรม
ธรรมที่หมู่คณะใดผู้ปฏิบัติแล้วจะไม่เสื่อม เรียกว่าเป็นสามัคคีธรรมก็ได้
ผมจำมาจาก “สามัคคีเภทคำฉันท์” ของกวี “ชิต บูรทัต”

หนึ่งเมื่อมีราชกิจใด ................... คิดพร้อมยอมไป ...... บ่วายบ่หน่ายชุมนุม
สองย่อมพร้อมเลิกพร้อมประชุม ..พร้อมพรักพรรคคุม...ประกอบณกิจควรทำ
สามต่างยึดมั่นในสัม-...................มาจารีตจำ................ประพฤติมิตัดดัดแปลง
สี่ใครเป็นใหญ่ได้แจง ................. โอวาทศาสตร์แสดง...ก็ยอมและน้อมบูชา
ห้าที่อันบุตรภริยา ....................... แห่งใครไป่ปรา........ รภประทุษข่มเหง
หกที่เจดีย์คนเกรง ...................... มิย่ำยำเยง .............. ก็เซ่นก็สรวงบวงพลี
เจ็ดที่อรหันต์อันมี ........................ในรัฐวัชชี ................ก็คุ้มก็ครองป้องกัน

หากมีที่ผิดพลาด รบกวนท่านผู้รู้แก้ไขด้วย
อปริหานิยธรรม 7 ประการนี้ องค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสกับพระอานนท์ไว้ก่อน
ที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพานไม่นาน ว่า หากหมู่คณะใดปฏิบัติเพียงข้อเดียวอย่างเหนียวแน่นมั่นคงแล้ว
จะไม่มีทางเสื่อมได้เลย หากพระเจ้าอชาติศัตรูจะเอาชนะรัฐวัชชี จะต้องทำลายสามัคคีธรรมนี้ให้ได้ก่อน

ที่ผมยก “อปริหานิยธรรม”เข้ามาในกระทู้นี้ก็ตรงข้อ หก
การที่คนไทยเรานับถือไปหมด ไม่ว่าใครเขาจะนับถืออะไร เราก็นับถือไปกับเขาด้วย
แม้เราจะนับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง แต่เราก็ยังให้ความเคารพต่อสิ่งที่ผู้อื่นนับถือด้วยจริงใจ
ข้อนี้กระมังที่ทำให้เรา สามารถอยู่รอดปลอดภัย

การที่คนนับถือพระพุทธศาสนา กล่าวว่าตนจะรับเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันประเสริฐที่พาให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
แต่ก็ไม่มีข้อห้ามไม่ให้เคารพนับถือสิ่งอื่น
เพียงแต่บอกว่าการถือเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งไม่อาจทำให้พ้นจากทุกข์ได้


กระทู้: เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 21 พ.ค. 06, 16:49
 ต่อจาก 129

หกที่เจดีย์คนเกรง ...................... มิย่ำยำเยง .............. ก็เซ่นก็สรวงบวงพลี

ความหมายของเจดีย์ หมายถึงสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อระลึกถึง
อย่างพระพุทธรูปหรือรูปท้าวมหาพรหม ก็สามารถนับเป็นเจดีย์ได้

การที่เราให้ความเคารพในสิ่งที่คนอื่นเขานับถือกัน ไม่ไปดูถูกเหยียดหยาม
ก็นับเป็นข้อปฏิบัติหนื่งในสามัคคีธรรม "อปริหานิยธรรม"