เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 10, 22:24



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 10, 22:24
สืบเนื่องจากค.ห.ของคุณหลวงเล็กและคุณศิลา ในท้ายกระทู้นี้
http://www.reurnthai.com/index.php?action=post;quote=66430;topic=3337.105;num_replies=107;sesc=cd5883f36601b9ea17aab0d31695a896
คุณวันดีมาขบหินแตกเสียแล้ว   ขอบคุณมาก   
การมีเครือข่ายนักอ่านหนังสือมันดีฉะนี้เอง

ขอบคุณคุณเทาชมพูที่กรุณาเล่าเรื่องนวนิยายเก่าๆ 
ให้คนรุ่นหลังอย่างผมได้ทราบ
เป็นไปได้ขอฟังอีกครับ   ;D

และ

        ขอบคุณคุณหลวงสำหรับคำตอบ และจะรอฟังอาจารย์เล่าเรื่องนิยายสมัยก่อน ครับ

          คาดว่าคงมีเรื่องของ ราชินีนิยายพาฝัน (หรือนักเขียนนิยายน้ำเน่าตัวแม่ - ที่คุณชูวงศ์พูดเอง)
ซึ่งเพิ่งมีการจัดงานเนื่องในวาระ "วางปากกา(หยุดเขียน)" ไปเมื่อไม่นานมานี้ (ทราบว่าอาจารย์ไปร่วมงานด้วย)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 10, 22:45
ขอเชิญทุกท่านที่จำได้ว่าย้อนกลับไปตอนเด็ก และวัยรุ่น อ่านหนังสืออะไรบ้าง มาร่วมวง   เพื่อดิฉันจะได้ไม่ต้องเล่าอยู่คนเดียว
ไม่จำเป็นต้องเลือกเฉพาะนวนิยาย เป็นการ์ตูน เรื่องสั้น  บทกวี อะไรก็ได้ ที่เป็นหนังสือ
ส่วนชื่อกระทู้นี้  นิยาย หมายถึง fiction หรือเรื่องแต่ง  ไม่ได้หมายถึงนวนิยาย ค่ะ

ย้อนกลับไปครึ่งศตวรรษก่อน  ดิฉันเป็นเด็กที่อ่านหนังสือล่วงหน้าก่อนวัย  ขณะที่เพื่อนๆยังอ่านนิทานกันอยู่
เราข้ามไปถึงเรื่องสั้น และนวนิยายแล้ว
แต่เด็กสมัยนั้น อ่านหนังสือกันมากกว่าเดี๋ยวนี้   เพราะไม่มีความบันเทิงอย่างอื่นมาดึงความสนใจไปจากหนังสือ
ขนาดที่ว่า ครูต้องห้ามนำหนังสืออ่านเล่นมาอ่านในโรงเรียน   เห็นเมื่อไร โดนริบหนังสือ แล้วครูไม่คืนด้วย

โชคดีที่ในบ้าน พ่อแม่เป็นนักอ่านทั้งคู่  ลูกสาวก็เลยไม่ถูกห้ามเรื่องอ่านหนังสือ   พ่อแม่ยังหาหนังสือมาให้อ่านด้วยซ้ำไป  อยากอ่านอะไรก็อ่านได้หมด

อยู่ป. ๑ อ่านนิทานฝรั่งที่แปลเป็นไทย   เรื่องสโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด  เอาไปร.ร.เลยถูกครูริบไป
เมื่ออยู่ประถม ๓  เริ่มอ่าน สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน    ได้หนังสือมาจากบ้านครูที่สอนพิเศษตอนเย็น  จริงๆก็คือไปทำการบ้านที่บ้านครูซึ่งอยู่ที่ถนนหลังสวน  ข้างร.ร.   ตอนนั้นยังเป็นซอย   ไม่ใช่ถนนอย่างเดี๋ยวนี้
พอเลิกเรียนพวกเราก็เดินออกประตูหลังของร.ร. เกาะกลุ่มกันไปตามซอย    เดินข้ามสะพานข้ามคูน้ำเข้าไปในบ้านของครู    
ทำการบ้านเสร็จ พ่อแม่ยังไม่มารับ   ครูก็ตามใจ   เอาหนังสือของลูกชายมาให้อ่านฆ่าเวลา
พี่คนนั้นก็ใจดี  ไม่ว่าอะไร   ดิฉันจึงได้อ่าน สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน เป็นครั้งแรก  นั่งหัวเราะท้องคัดท้องแข็งอยู่หน้าตู้หนังสือของพี่นั่นเอง

สามเกลอเป็นหนังสือปกอ่อนเล่มบางๆ   หน้าปกฝีมือวาดของคุณอาภรณ์ อินทรปาลิต  น้องชายคุณป.อินทรปาลิต


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 10, 22:57
ตัวอย่างปกหนังสือสามเกลอที่เอามาให้ดู   เนื้อเรื่องไม่โป๊นะคะ    แต่ปกน่าหวาดเสียวไปหน่อยสำหรับเด็กประถม   เล่มนี้อ่านตอนโตขึ้นมาอีกหน่อยแล้ว  
เป็นเรื่องตอนที่นวลลออกับประไพ ไปหาหมอเสน่ห์ให้ทำเสน่ห์  แต่ว่าสามเกลอบุกเข้าไปช่วยทัน   เป็นเรื่องที่คุณป. เขียนเตือนสติผู้หญิงว่าอย่าหลงเชื่อหมอเสน่ห์    พวกนี้หลอกลวง
ไปเจอรูปในกูเกิ้ลก็เลยเอามาลง   ให้ดูฝีมือวาดของคุณอาภรณ์   ซึ่งวาดผู้หญิงได้เซกซี่มาก

หลังจากอ่านสามเกลอที่บ้านของครู  ก็หลงฝีมือคุณป.อินทรปาลิต     ปีต่อมา   ไปพบหนังสือขายอยู่ที่ร้านเครื่องเขียนตรงข้ามตลาดวัดมหรรณพ์  ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อเสือ
พ่อแม่มักไปจ่ายของที่ตลาด       ลูกสาวเดินเข้าร้านเครื่องเขียนไปดูดินสอยางลบไปตามเรื่อง  เจอหนังสือสามเกลอก็ขอเงินแม่ไปซื้อ
ก็เลยกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ของป.อินทรปาลิตตั้งแต่อายุไม่ถึง ๑๐ ขวบ   อ่าน "ซูเปอร์แมนแกละ" ที่เป็นเรื่องยาวติดต่อกันสักร้อยกว่าเล่มได้ละมัง  
จำได้แม้แต่ว่า คุณป. ออกหนังสือพิมพ์เล็กๆ ชื่อ หรรษา   เขียนนิยายลงในนั้น   พาดหัวข่าวนิยายแบบหนังสือพิมพ์  แต่ออกไม่นานก็เลิกไป


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มิ.ย. 10, 06:58
ผมจำไม่ได้จริงๆว่าได้เริ่มอ่านหนังสือ "ต้องห้าม" ไม่ให้เอาไปโรงเรียน(ถ้าเอาไปจะโดนครูริบ)เมื่อไร จำได้แต่ว่าทุกๆต้นเดือนจะคอยไปถามร้านขายหนังสือใกล้บ้านว่า "หนูเล็กลุงโกร่ง" ออกหรือยัง "ตุ๊กตา" ออกหรือยัง ถ้าออกแล้วจะรีบวิ่งมาขอสตางค์แม่ไปซื้อ หนูเล็กลุงโกร่งเล่มละ2.50บาท ตุ๊กตาขนาดปกใหญ่ขึ้นอีกนิดนึง ดูเหมือนว่าจะ3บาท หรือ3.50 ไม่แน่ใจ เป็นหนังสือการ์ตูนทั้งสองเล่ม


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 30 มิ.ย. 10, 07:22
ขอร่วมรำลึกความหลังด้วยคนนะคะ

จำได้ว่าสมัยเด็กๆ ที่บ้านจะมีหนังสือการ์ตูนของ Walt Disney เด็กๆก็ชอบเป็นปกติ เพราะเป็นมีรูปภาพทำให้จินตนาการง่าย

พอเป็นเด็กโตขึ้นมาอีกหน่อย ได้อ่านพล นิกร กิมหงวน หรือสามเกลอ เป็นนิยายไทยเรื่องแรกที่ได้อ่าน และทำให้รักการอ่าน
หนังสือมาตั้งแต่ตอนนั้น ปกติที่บ้านรับ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เป็นประจำ เลยลองอ่านเพชรพระอุมา ปรากฏว่าติดนิยายเรื่องนี้อีก

มาตอนนี้ ชอบอ่านหนังสือแนวย้อนยุคมากเลยค่ะ ชอบประวัติศาสตร์ และชอบนิยายที่เกี่ยวกับเมืองไทยสมัยก่อน อยากให้เมืองไทย
มีบรรยากาศร่มเย็นเหมือนสมัยก่อนทีบรรยายในนิยายน่ะค่ะ... :)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มิ.ย. 10, 07:32
ส่วนพลนิกรกิมหงวนนั้น อยู่เต็มลิ้นชักของญาติในบ้านเดียวกัน ตอนแรกๆเห็นหน้าปกก็น่าสนใจดี แต่พลิกๆไปแล้วไม่เห็นมีการ์ตูนสักตัวก็ยัดกลับเข้าที่ จำไม่ได้เหมือนกันว่าในที่สุดแล้วได้เริ่มต้นหยิบมาอ่านเมื่อไหร่ พออ่านเล่มแรกได้ก็ติดเลย วันหนึ่งแม่เห็นเข้าก็ถามว่าอ่านอะไร ผมก็บอกว่าพลนิกรกิมหงวน แม่บอกว่าไม่อยากให้อ่านเลย มีแต่เรื่องหยาบโลนกับเที่ยวผู้หญิง ผมก็งงๆว่าแม่พูดถึงเรื่องอะไร แต่กลัวโดนริบเลยต้องแอบๆอ่าน

อ่านเยอะๆหลายเล่มเข้าก็ได้รู้จักเจ๊หนอมของสามเกลอ วันไหนนั่งรถผ่านเข้าไปในซอยกลาง(บางกะปิ) จะคอยมองซ้ายมองขวา บ้านไหนหวาจะเข้าข่ายเป็นซ่องชั้นสูงของเจ๊หนอม อยากรู้อยากเห็นบรรดาลูกสาวของเจ๊แกว่าจะเป็นยังไง อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับว่า ที่ผมอ่านหนังสือแตก และเริ่มต้นนิสัยรักการอ่านจนกลายเป็นหนอนตัวเล็กๆประจำห้องสมุดโรงเรียนไปได้ ก็เพราะพลนิกรกิมหงวนของป.อินทปาลิตนี่แหละครับ มีบุญคุณต่อผมมาก


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 09:05
ดีใจที่มาเจอแฟนหนังสือตุ๊กตาเข้าอีกคนค่ะ     เคยท้อใจว่าในเน็ตคงหาคนจำการ์ตูนชุดนี้ไม่ได้    เจอแต่คนที่ชอบการ์ตูนขายหัวเราะ  ถือว่าย้อนหลังไปมากที่สุดแล้ว
เจ้าของการ์ตูนตุ๊กตา เป็นผู้ชายชื่อคุณพิมล กาฬสีห์   เอาลูกๆมาเป็นแม่แบบในการสร้างเด็กน้อยตัวนำในหนังสือ   ชื่อหนูนิด หนูไก่ หนูหน่อยและหนูแจ๋ว
บ้านคุณพิมลอยู่สุขุมวิทแถวซอยทองหล่อหรือไม่ก็ไปดีมาดี  ถือว่าสุดเขตเมืองแล้วในยุคนั้น   พอพ้นสะพานพระโขนงไปก็เป็นทุ่งนา
คุณพิมลเคยเป็นพิธีกรในรายการเกมโชว์ทางช่อง ๔ วิกบางขุนพรหมด้วย

ส่วนหนูเล็กลุงโกร่งของคุณ อดิเรก  เป็นการ์ตูนผจญภัยสำหรับเด็กผู้ชาย
สนุก และสะอาด ไม่มีเนื้อหารุนแรง   
มาเดาได้ทีหลังว่ารูปโฉมลุงโกร่งน่าจะมาจากตัวการ์ตูน กุฟฟี่ ของดิสนีย์


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 09:24
คุณเทาชมพูจำตัวการ์ตูนที่ชื่อ ลูกบอมบ์ ได้หรือเปล่า                      

(http://i2.photobucket.com/albums/y25/omega3900/Tookata/pic029.jpg)


ปัจจุบัน ลูกบอมบ์ คือ น.พ.มณฑล กาฬสีห์ เจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนตุ๊กตา

(http://i2.photobucket.com/albums/y25/omega3900/Tookata/pic028.jpg)


http://www.oknation.net/blog/print.php?id=376416



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 09:41
ย้อนกลับไปนึกก็น่าแปลกที่แม่ไม่ห้ามอ่านพล นิกร กิมหงวน ทั้งที่สามเกลอก็ทะลึ่งตึงตัง  แถมยังเที่ยวเตร่แบบผู้ชาย
อาจเป็นเพราะแม่รู้ว่าลูกสาวอ่านเจอก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร   อย่างชื่อเจ๊หนอม อ่านผ่านตาไปโดยไม่สนใจเลย   มานึกได้ตอนคุณนวรัตนเท้าความถึงนี่เอง
ไปอ่านรู้เรื่องก็ตรงอารมณ์ขันของสามเกลอ อย่างเช่นนิกรชอบร้องลิเก กระดิ่งทอง     หรือดร.ดิเรกชอบอ้างชื่อมหาราชาชื่อประหลาดๆ    อ่านแล้ว หัวเราะกลิ้งไปกลิ้งมา

ป.อินทรปาลิตเป็นนักเขียนที่เขียนได้สารพัดแนว    สมองของท่านเหมือนคอมพิวเตอร์ที่บรรจุโปรแกรมหลากหลาย    โปรแกรมตลก โปรแกรมเศร้าเคล้าน้ำตา   โปรแกรมรักหวานจ๋อย  โปรแกรมบุ๊ดุเดือด ฯลฯ
เชื่อว่าคุณนวรัตนคงเคยอ่าน เสือใบ  เสือดำ ของป.อินทรปาลิต   ที่รัฐบาลหรือใครสมัยนั้นที่ใหญ่มากๆ ออกคำเตือนว่าอย่าเขียนให้อ้ายเสือเป็นพระเอก  
เสือใบกับเสือดำเป็นสุภาพบุรุษจอมโจร   ปล้นคนรวยให้คนจน  ฆ่าคนเลวที่กฎหมายเอื้อมไม่ถึง     เสือใบเป็นไงจำไม่ได้แล้ว รู้แต่ว่าชื่อเรวัต  ส่วนเสือดำนั้นรูปหล่อ สวมเชิ้ตดำ สวมหมวกคาวบอยสีดำ   ชื่อระพินทร์
ตอนจบถูกตำรวจยิงตายทั้งคู่

นิยายของคุณป. ที่เป็นหลายเล่มต่อๆกันมีอีกมาก  เรื่องบู๊อีกเรื่องชื่อนางแมวป่า  นางเอกเป็นโจรสาวแสนสวยชื่อวนิดา  
เธอเป็นสาวสวยเซกซี่   มีพระเอกหลายคน  ตอนจบเป็นไงจำไม่ได้อีกเหมือนกันจำได้แต่ว่านางเอกปล้นเป็นว่าเล่น  ใจถึงและเด็ดขาดเสียด้วย
เรื่องยังกะบอนนี่แอนด์ไคลด์

ถ้าใครเรียนในร.ร.คริสต์  คงเคยอ่านหนังสือพิมพ์สำหรับเด็ก ชื่อ กองหน้าร่าเริง กับ วีรธรรม  
มีเรื่องสั้น เรื่องแปล ความรู้รอบตัว สนุกๆ ให้อ่านกัน  เหมาะกับเยาวชน

พอจบ ป. ๔ ขึ้นมัธยม ๑    ดิฉันก็หัดอ่านนวนิยาย ตามที่แม่อ่าน    ในตอนนั้นมีนิตยสารสำหรับครอบครัวอยู่ ๓ เล่มที่แม่ซื้อประจำ  คือศรีสัปดาห์  สตรีสาร และเดลิเมล์วันจันทร์
ส่วนอีกเล่ม เจ้าของเขารู้จักพ่อเลยส่งให้อ่านฟรี  ชื่อ แสนสุข รายสัปดาห์
ในนิตยสารแสนสุขนี้เอง   ที่อ่านเรื่องแรกของ ก.ศยามานนท์  เธอเป็นนักเขียนสตรียอดฮิท    เรื่องนั้นชื่อ ราชินีในดวงใจ   นางเอกชื่อจันทรกานต์ เป็นสาวนักเรียนนอก สวยหวาน จนได้สมญาว่า Queen of heart
พระเอกเป็นม.ร.ว.หนุ่มเพื่อนบ้าน  หล่อ รวย ผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว
อดีตคนรถบ้านพระเอกถูกไล่ออกแล้วมาสมัครเป็นคนขับรถบ้านนางเอก   กระซิบบอกนางเอกว่า พระเอกฆ่าน้องสาวตัวเองตายเพราะรังเกียจที่น้องสาวไปทำอะไรสักอย่างที่ไม่สมศักดิ์ศรีวงตระกูล
นางเอกเลยเกลียดพระเอก   พระเอกดียังไงก็ไม่ยอมดีตอบ    จนมารู้ทีหลังเมื่อคนรถลวงไปต่างจังหวัดเพื่อจะรวบหัวรวบหางเอาเป็นเมีย  ว่าคนรถน่ะแหละฆ่าน้องสาวพระเอกเสียเอง  เพราะหลงรักข้างเดียว เธอไม่เล่นด้วย
พระเอกก็มาช่วยไว้ทัน  จบแฮปปี้เอนดิ้งตามระเบียบ

อ่านแล้ว ไม่ชอบนางเอกเลย ว่าทำไมเธออุตส่าห์ร่ำเรียนสูงจากเมืองนอก  จึงโง่ได้ขนาดนั้น    เครดิตพระเอกกับเครดิตคำบอกเล่าของคนขับรถมันต่างกันลิบลับ
เธอแยกแยะไม่ออกเอาจริงๆหรือ   ว่าใครบอกอะไรไม่จำเป็นต้องจริง  เขาโกหกก็ได้
ก็เพราะทนนางเอกไม่ได้  นิยายเรื่องแรกในชีวิตของเด็กหญิง  ว.วินิจฉัยกุลจึงเกิดขึ้น  ด้วยการแต่งตอนจบของนิยายเรื่องนี้เสียใหม่  
ให้คุณจันทรกานต์ตกกระป๋องไป    มีนางเอกใหม่ที่ฉลาดกว่า เข้ามาคว้าพระเอกไปแทน
เขียนใส่สมุดไว้ด้วยตัวดินสอ  เฉพาะตอนจบของเรื่อง  เสียดายหายไปนานแล้ว ไม่ได้เก็บไว้

เรื่องของก.ศยามานนท์ที่ชอบมากและชอบมาจนเดี๋ยวนี้คือ เรื่องชุดสำหรับเด็ก ชื่อจ้อนกับแดง




กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 09:50
คุณเทาชมพูจำตัวการ์ตูนที่ชื่อ ลูกบอมบ์ ได้หรือเปล่า                      

(http://i2.photobucket.com/albums/y25/omega3900/Tookata/pic029.jpg)

ปัจจุบัน ลูกบอมบ์ คือ น.พ.มณฑล กาฬสีห์ เจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนตุ๊กตา

อัศจรรย์ใจมาก  เป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อลูกบอมป์   ไม่รู้ว่าเป็นการ์ตูนตัวไหน
เพราะการ์ตูนตุ๊กตาที่ดิฉันอ่าน  แน่ใจว่าไม่มีตัวการ์ตูนตัวนี้     หนูนิดเป็นพี่ชายคนโต  หนูไก่รองลงมา หนูหน่อยเป็นคนที่สามและหนูแจ๋วเป็นน้องเล็กสุด 
หนูนิดชื่อพจนาถ  หนูไก่ชื่อพิมพ์พิมล   หนูหน่อยชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว  หนูแจ๋วชื่อแดงเล็ก
เพิ่งรู้ว่ามีลูกบอมป์ด้วย  คงจะเขียนขึ้นในยุคหลังที่ดิฉันเลิกอ่านการ์ตูนแล้ว

จำได้แต่ว่าการ์ตูนตุ๊กตาที่ดิฉันอ่านในยุคหลัง  หนูไก่เป็นคนตอบจดหมายคนอ่าน  เธอเล่าว่าตอนนั้นเธออายุประมาณ ๓๐ แล้ว
พี่น้องจริงๆมี ๓ คนคือพี่คนโตชื่อตุ๊กตา ไม่มีตัวตนในหนังสือ คุณพ่อเอาชื่อมาเป็นนามปากกา   แล้วก็ถึงตัวเธอ  กับน้องอีกคน   ส่วนหนูนิดกับหนูแจ๋วเป็นตัวสมมุติ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: ponl ที่ 30 มิ.ย. 10, 10:15
จำได้ว่าผมเริ่มอ่านจากหนังสือการ์ตูนย์เล่มละบาทก่อนตอนอยู่ป. 1 นิยายเรื่องแรกที่อ่านจนจบคือ อยู่กับก๋ง ตอนนั้นเรียนอยู่ป. 6 เป็นหนังสือนอกเวลาของพี่ชายครับ
เรื่องพล นิกร กิมหงวน นีมาอ่านครั้งแรกตอนอยู่ ม.1 สนุกมาก แอบเอาเข้าไปอ่านในห้องเรียนวิชาภาษาไทย
โดยเอาหนังสือภาษาไทยบังหน้าอ่านไปหัวเราะไปแต่ไม่โดนริบนะครับ  จำได้ว่าตอนนั้นขำสำนวนเจ้าแห้วมาก หัวเราะกับเจ้าคุณปัจจนึก ที่โดนล้อเรื่องหัวล้าน  ลูกมะอึกเป็นยังไงก็ไม่รู้จักแต่ก็ขำ (จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่เคยเห็นลูกมะอึกว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร  ทำไมถึงเอามาล้อท่านเจ้าคุณให้เคืองได้)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 10:17
จ้อนกับแดง ลงเป็นตอนในนิตยสารชาวกรุง  ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนที่พ่ออ่าน    เนื้อหาสาระในส่วนอื่นๆค่อนข้างหนัก สำหรับกลุ่มคนอ่านผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว   ลูกสาวอ่านไม่รู้เรื่อง
แต่มีจ้อนกับแดง ที่ลูกสาวพ่อได้อ่าน แล้วติดตั้งแต่ตอนแรก   ชื่อ "เหตุเพราะน้องแดง"
แล้วก็มีตอนต่อๆมา ตามมาอีก    เป็นชีวิตเด็กชายอายุราวสิบขวบสองคน ในบ้านที่อบอุ่น  ในกรุงเทพแถวสุขุมวิท(สมัยนั้นเรียกว่าบางกะปิ)  
คนเล่าเรื่องที่ใช้คำว่า "ผม" คือจ้อน ลูกคนโต  เป็นเด็กผู้ชายแข็งแกร่งและซุกซน  ช่างพูดช่างบรรยาย   ส่วนน้องชายคือ "แดง " เป็นเด็กหน้าตาน่ารัก สุขุม ใจดีมีน้ำใจ
บางตอน เศร้าจนไม่อยากอ่านซ้ำ   เช่น ตะเกียบเจ๊กชุน  เรื่องของเด็กกำพร้าในร.ร.    เรื่องของอังเคิลกุสตาฟ และเด็กชายกำพร้าที่จบลงด้วยความตายของเด็กน้อย
คุณก. สร้างจ้อนกับแดงจากลูกชายเล็กๆ ๒ คนของเธอเอง     อายุเขาสองคนแก่กว่าดิฉันนิดหน่อย   เคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยเจอตัว   ทราบแต่ว่าปัจจุบันอยู่ในออสเตรเลีย
ชีวิตของจ้อนกับแดงอ่านตอนดิฉันอายุ ๑๐ กว่าขวบก็สนุกสนาน อยากจะติดตามเข้าไปในหนังสือด้วย     แต่ไม่ได้คิดอะไรมาก   มาอ่านอีกทีตอนเป็นผู้ใหญ่ถึงรู้สึกว่าชีวิตเขาไฮโซเอาการ
เป็นเด็กในครอบครัวที่พ่อแม่ฐานะดีทีเดียว แม้ว่าไม่ได้บอกออกมาตรงๆ ก็รู้     พ่อทำธุรกิจเป็นเอเย่นต์สินค้าหลายอย่าง  แม่เป็นแม่บ้าน    เพื่อนบ้านที่เข้าๆออกๆ เป็นตัวประกอบ เป็นชาวต่างชาติ เช่นจีน(จากฮ่องกงหรือไต้หวันก็ไม่ทราบ) และเยอรมัน    
บ้านของจ้อนกับแดงเป็นตึกเล็กๆสีขาวหม่นมีสนามให้วิ่งเล่น  มีสระน้ำที่ปลูกสตรอเบอรี่เลื้อย   มีเทอเรซที่มีซุ้มองุ่น   คุณแม่ปลูกกุหลาบหลากสีที่สนาม
ในยุคที่บ้านทั่วไปในกรุงเทพ  ยังเป็นบ้านไม้   ส่วนใหญ่อยู่ในตรอกที่มีสะพานไม้กระดาน พาดให้เดินผ่านไปตามหน้าบ้านแต่ละบ้าน
จ้อนกับแดงตอนเด็กๆ  แต่งชุดคาวบอย  ที่ไปสั่งตัดให้มีที่สอดมีดพกโบวี่  คาดเข็มขัดปืน ด้วย     เท่ขนาดไหนคิดดู
เด็กกรุงเทพทั่วไปยังนุ่งกางเกงขาสั้นตัวเดียววิ่งปุเลงๆหลังเลิกเรียนอยู่เลย

ถึงฤดูร้อน จ้อนกับแดงได้ไปเที่ยวบางแสน หัวหิน ศรีราชา ระยอง    โอย สมัยนั้นมันไฮโซพอกับพาลูกไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ฮ่องกง หรือโตเกียว ทีเดียวเชียว
แต่จ้อนกับแดงก็เป็นเด็กน่ารัก มีน้ำใจ สุภาพ ทำอะไรน่าเอ็นดูหลายอย่าง   ไม่ใช่เด็กหยิ่งยโส หรือบ้าวัตถุไม่ลืมหูลืมตา     เป็นเด็กดีที่เกิดมาโชคดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 10:29
จ้อนกับแดงมีน้องสาวบุญธรรม ชื่อน้อยโหน่ง  เป็นเด็กหญิงหน้าตาน่ารัก แต่แก่แดด ช่างสอนช่างเจรจา    น้อยโหน่งเดินหลงทางเข้ามาในบ้าน    พ่อแม่เธอเป็นเพื่อนของแม่ของจ้อนและแดง   อยู่บ้านซอยถัดไป  พอพ่อน้อยโหน่งต้องไปรับราชการต่างจังหวัด   แม่ก็เลยขอน้อยโหน่งมาอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ตัวละครประจำอีกคนคือมะลิ สาวใช้ผู้เป็นแม่ครัว ดูแลบ้าน เลี้ยงหมา ฯลฯ ทำทุกอย่างสารพัด   ในบ้านมีหมา ๓ ตัวชื่อโจ จิม เจฟ

รสนิยมและกิจกรรมต่างๆในเรื่องค่อนข้างจะออกทางฝรั่งๆ  เช่นกินน้ำชากันตอนบ่าย  กินขนมนมเนยต่างๆ  เครื่องดื่มก็เป็นไวน์มะยม ไวน์ส้มโอ    บ้านคุณตา(ลุงของแม่)ที่จังหวัดประจวบก็เป็นตึกโอ่อ่าประดับบ้านด้วยเครื่องตกแต่งจากยุโรป    เพื่อนฝูงของครอบครัวก็เป็นฝรั่งเสียส่วนมาก
การทักทายก็โอบกอดและจูบกัน    เป็นเรื่องปกติ
แต่เมื่อนึกถึงแบคกราวน์ว่าเรื่องนี้ น่าจะสืบทอดมาจากค่านิยมในสังคมของชนชั้นสูงในกรุงเทพ  ที่รับอิทธิพลอังกฤษมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลก  ก็ไม่น่าแปลกใจ
รสนิยมแบบนี้  "ปริศนา" ของ ว.ณ ประมวลมารค ก็แบบเดียวกัน  แทรกปะปนในเนื้อเรื่อง เป็นเนื้อเดียวกัน


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มิ.ย. 10, 13:08
ผมได้อ่านจ้อนกับแดงตอนรวมเล่มเป็นปกแข็งเดินทองแล้ว จำได้ว่าชอบมากเหมือนกัน เด็กสองคนนี้มีของเล่นยั่วฝันของเด็กผู้ชายมาก เช่นชุดคาวบอยมีเข็มขัดปืนคู่ สมัยนั้นหนังแนวบู้มีแต่หนังคาวบอยกับอินเดียนแดง เด็กๆก็ชื่นชอบตัวพวกนี้เหมือนเด็กสมัยลูกผมชื่นชอบหุ่นยนต์ญี่ปุ่นประเภทยอดมนุษย์ ไม่ทราบเด็กสมัยนี้เขาคลั่งไคล้ตัวอะไร ส่วนผมชอบเล่นเป็นอินเดียนแดงเพราะหาเครื่องแต่งตัวง่าย แค่ถอดเสื้อเอาผ้าพันคอของแม่มาโพกหัว เด็ดใบมะม่วงมาปักเป็นขนนกก็ออกรบกับพวกญาติๆเขาได้แล้ว อาวุธใช้ลูกกระดาษยิงด้วยหนังสติ๊ก สุดท้ายพวกอินเดียนแดงก็แตกกระเจิงก่อนเพราะหลวมตัวไปถอดเสื้อ โดนลูกกระดาษทีก็ร้องจ๊าก พวกคาวบอยใส่เสื้อ โดนยิงทีแค่แยกเขี้ยวเฉยๆ ตอนหลังๆนี่ผู้ใหญ่ห้ามขาดไม่ให้เล่นยิงลูกกระดาษ กลัวพวกเราจะตาบอด ใครเล่นจะโดนไม้เรียว เจ็บกว่าลูกกระดาษเยอะ สงครามระหว่างอินเดียนแดงกับคาวบอยในบ้านผมจึงยุติลงได้

แต่ผู้ใหญ่ไม่รู้หรอกว่า หลังจากเลิกเล่นคาวบอยกับอินเดียนแดง ญาติผมก็ชวนไปเล่นทหารพลร่ม เอาผ้าปูที่นอนมาผูกปลายด้วยเชือก แล้วปีนต้นมะม่วงขึ้นไปบนหลังคา เอาปลายเชือกอีกด้านหนึ่งมาพันตัวไว้ใต้รักแร้ ตั้งท่าจะกระโดดลงมาอยู่แล้ว ตาคำคนสวนเห็นเข้าออกมาชี้โบ้ชี้เบ้โวยวาย เสียฤกษ์หมดเลยเลิกกระโดด ตอนขากลับขณะปีนต้นมะม่วงลงมา คิดได้เองว่าเล่นกระโดดร่มนี่ท่ามันจะไม่รุ่งเท่าไหร่ เพราะต้องปีนต้องไต่สูงไปหน่อย


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 13:46
ถามคนใกล้ตัวว่าตอนเล็กๆอายุสักสิบขวบ คุณแต่งตัวยังไง   คืออยากรู้ว่าเขามีชุดคาวบอยอย่างจ้อนกับแดงไหม    เขาบอกว่า ไม่มี   ยังกะมันหาได้ง่ายๆงั้นนี่
ตอนเล็กๆผมก็นุ่งขาสั้น  ใส่เสื้อยืดคอกลมสีขาว     แฟชั่นเสื้อเด็กผู้ชายที่จำได้คือเสื้อฮาวายลายหนังสือพิมพ์   ใส่ไปดูหนังกับพ่อแม่   
ส่วนยีนส์แบบคาวบอย ต้องรอเป็นหนุ่มวัยรุ่นก่อนถึงจะมี
จ้อนกับแดง น่าจะเป็นชีวิตในฝันของเด็กผู้ชายจริงๆ    เหมือนหนูน้อยโหน่งเองก็แต่งตัวเหมือนบาร์บี้รุ่นจิ๋วเลยเชียว  เวลาไปเที่ยวประจวบ 
เธอมีผ้าคลุมผมมีแก๊ปเป็นกระบังหน้า สั่งจากอเมริกา  เกิดมาไม่เคยเห็นผ้าคลุมผมแบบนี้  เลยจำได้แม่นยำจากหนังสือ

แฟชั่นโดดร่มของคุณนวรัตน  คล้ายลูกสาวคนเล็กของดิฉัน  ตอนอายุ ๔ ขวบ เอาสายม่านมาพันคอแล้วโดดทิ้งตัวลงมาจากที่นอน    ดีที่พี่เลี้ยงโผล่ไปเห็นเข้าก่อน ร้องลั่นให้หยุดเสียทัน    ไม่งั้นป่านนี้คงเหลือลูกคนเดียว

สมัยดิฉัน  การ์ตูนต่างชาติที่ชื่นชอบมากมีของวอลท์ ดิสนีย์เจ้าเดียว      การ์ตูนญี่ปุ่นยังไม่เกิด      ร้านหนังสือที่ขายหนังสือเล่มของดิสนีย์ จากอเมริกา คือผดุงศึกษา วังบูรพา  เป็นนิทานประกอบภาพสีสวย เล่มใหญ่ มีทั้งซินเดอเรลลา สโนไวท์ ปีเตอร์แพน ฯลฯ
อ่านเสียจนขาดวิ่นหมดอายุ       ไม่รู้จะหาที่ไหนมาแทน   สามสี่ปีก่อนระหว่างรอทรานสิทที่สนามบินซีแอตเติ้ล  ไปเจอซินเดอเรลลาเจ้าเดิม พิมพ์ใหม่ขนาดย่อลงเหลือนิดเดียวเท่าสมุดไดอารี่  เลยรีบซื้อมาเก็บไว้เป็นที่ระลึก
อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในห้องหนังสือของบ้าน

ผดุงศึกษา วังบูรพา  พิมพ์หนังสือแปลของอ.สนิทวงศ์   เธอแปลพวกเทพนิยาย และ วรรณกรรมเด็กบันลือโลก เช่น Heidi , Rebecca of Sunnybrook Farm, Beautiful Joe, Little Women, Jo's Boys
ฝีมือแปล ราบรื่นและเรียบร้อย อ่านเพลิน
เพราะอ่านหนังสือแปลตั้งแต่เด็ก    ก็เป็นเหตุให้หัดแปลหนังสือในเวลาต่อมา     และที่ดีอีกอย่างคือไม่เกลียดไม่กลัวหนังสือแปล
ประโยคหลังนี้ต้องอธิบายหน่อยว่าหมายถึงอะไร

ย้อนหลังไปสมัยกึ่งศตวรรษก่อน   หนังสือแปลไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนเดี๋ยวนี้    คนอ่านมีน้อยมาก  เรียกได้ว่าหยิบมือเดียว 
นักอ่านส่วนใหญ่ชอบอ่านเรื่องไทยๆ    ถ้าต้องเลือกอ่านระหว่าหนังสือแปล กับเรื่องไทย  ก็มักจะมองข้ามเรื่องแปลไปหยิบเรื่องไทยอ่านดีกว่า   ไม่ชอบรสนมรสเนย   นี่หมายถึงคนอ่านทั่วๆไปนะคะ
เพราะเหตุนี้  นักเขียนไทยถ้าเจอเรื่องแปลสนุกๆ จึงต้องขัดเกลาให้หมดกลิ่นนมรสเนย   เติมเครื่องแกงและน้ำปลาพริกเข้าไป   บางท่านก็ทำได้เก่งมากคือหมดกลิ่นรสฟิชแอนด์ชิป    กลายเป็นแกงเขียวหวานเนื้อได้เนียนสนิท
คนอ่านรุ่นปัจจุบันไม่เข้าใจ    ก็กล่าวหาว่านักเขียนไทยละเมิดลิขสิทธิ์เรื่องฝรั่งบ้าง   ไปลอกเขามาดัดแปลงแล้วไม่บอกที่มาบ้าง   ฯลฯ   ความจริงแล้ว บริบทของสังคมสมัยนั้นคืออะไรที่ไม่มีรสชาติไทย จะขายได้ยาก คนไม่ชอบเสพกัน  แต่ถ้าทำเป็นไทยๆแล้ว จะบริโภคได้สนิทใจ
ตอนนั้นกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นยังไง  คนไทยทั่วไปไม่รู้จัก     ถ้ามันมี เพราะเราเป็นภาคีของสนธิสัญญาเบิร์นส์มาแต่สมัยไหนก็ไม่รู้    มันก็ไม่มีผลทางปฏิบัติอยู่ดี
เราจึงมีไผ่แดง ที่ได้เค้าจาก The Little World of Don Camillo   มีหลายชีวิต ที่เขาว่าเหมือน The Bridge of San Luis  Rey  และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายเรื่อง     ไม่ใช่ว่าท่านผู้เขียนท่านคิดเองไม่เป็น  แต่ท่านอยากให้อ่านของฝรั่งที่ต้องปรุงรสเป็นไทยเสียก่อน



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มิ.ย. 10, 13:54
หนังสือเกี่ยวกับเด็กนั้น จ้อนกับแดง ว่าสนุกแล้ว ไปอ่าน “วิลเลี่ยมเด็กจอมแก่น” ของ ว. ณ ประมวลมารค ยิ่งสนุกเข้าไปกันใหญ่  เรื่องนี้พระองค์หญิงวิภาวดีทรงแปลมาจาก “William” ของ Richmal Crompton ที่เขียนออกมาเป็นชุดใหญ่ ผมเพิ่งรู้ตอนเข้าเวปหาข้อมูลเรื่องนี้นี่เองว่า ผู้เขียนเป็นผู้หญิง นึกว่าเป็นผู้ชายแบบป.อินทปาลิตเสียอีก ตกลงแล้วนักเขียน และนักแปลเรื่องเด็กผู้ชายที่แก่นๆได้อย่างเยี่ยมยอดนี่เป็นผู้หญิงทั้งนั้นเลยสิเอ้า ไม่รู้พวกเธอรู้ได้อย่างไรละเอียดละออว่าพวกเด็กผู้ชายมีพฤติกรรมป่วนประสาท(โดยไม่ทะลึ่ง)ได้เยี่ยงนี้ ท่านๆลองดูท่าทางของตัวแสดงที่เขาเอามาทำหนังดูสิครับ เห็นท่านายวิลเลี่ยมแล้วเป็นยังไง ผมยังเสียดายว่า ริชมอลเขียนเรื่องนี้ไว้เป็นสิบเล่ม พระองค์หญิงทรงแปลเรื่องแรกเรื่องเดียวคือ William’s happy days  แล้วก็มิได้ทรงแปลอีกเลย ทำไม๊ ทำไม


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 13:56
จ้อนกับแดง ปกที่คุณนวรัตนนำมาลงให้ดู   ดิฉันมี  แต่ไม่เหลือซากแล้ว   ข้างในมีภาพจ้อนนอนอยู่บนเตียงมีคุณแม่นั่งยิ้มอยู่ข้างเตียง
เป็นเตียงสำหรับเด็กฝรั่งที่น่ารักมาก  มีผ้าห่มเป็น quilt แบบฝรั่ง  ติดระบาย   ในยุคที่เมืองไทยมีแต่ผ้าผวย

หนังสือการ์ตูนนอกจากชุดของวอลท์ ดิสนีย์  มีการนำการ์ตูนฝรั่งมาพิมพ์ แปลภาษาไทยในคำพูด    
ตัวการ์ตูนอีกชุดที่ดังมากในสมัยนั้นชื่อ little Lulu  หรือไทยเรียกว่า หนูน้อยลูลู   เจ้าหนุ่มอ้วนคู่หูชื่อ ทับบี้


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 14:02
กำลังจะพูดเรื่อง วิลเลียม  เด็กจอมแก่น พอดี     เป็นหนังสือเล่มโปรดในวัยเด็กอีกเล่มหนึ่งค่ะ
เป็นหนังสือปกแข็งรวมเรื่องสั้นราวๆ ๑๒ เรื่องของวิลเลียม บราวน์  มีพี่ชายหนุ่มน้อยชื่อโรเบิตและพี่สาวชื่อเอเธล
ความซุกซนอย่างไร้เดียงสาของ "คณะนอกกฎหมาย" ที่วิลเลียมเป็นหัวหน้า จนป่วนกันทั้งหมู่บ้าน  ทำให้คนอ่านที่เป็นเด็กนักเรียนยิ้มได้ตลอดตั้งแต่คำแรกจนคำสุดท้าย
อ่านแล้วอ่านอีก  พร้อมเสียดายว่าทำไมพระองค์หญิงไม่ทรงแปลเพิ่ม
เวลาผ่านไปหลายสิบปี   ไปสืบหาจนเจอเรื่องนี้ทางอินเทอร์เน็ต      พอดีลูกสาวคนโตเรียนอยู่อังกฤษในเวลานั้น    แม่เลยฝากซื้อได้มาหลายสิบเล่ม    ตั้งใจจะแปล    ผ่านไปหลายปีเพิ่งเสร็จไปเรื่องเดียว  พิมพ์แจกแฟนคลับ ไม่มีขาย
เรื่องที่เหลือยังคงเรียงกันอยู่ในตู้   หาเวลาว่างมาแปลไม่ได้สักที     นอกจากนี้มีปัญหาลิขสิทธิ์เข้ามากำหนด ถ้าสนพ.เขาไม่อนุญาตก็แปลไม่ได้  เว้นแต่แปลประกอบการสอนในห้องเรียน เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มิ.ย. 10, 14:10
ขอสมัครเป็นแฟนคลับ ณ บัดนาวครับ
จะต้องทำอย่างไรบ้าง ช่วยบอกเป็นวิทยาทานด้วย


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 14:16
ก่อนอื่นต้องไปค้นก่อนว่าที่เหลืออยู่บนชั้นหนังสือ มีกี่เล่ม และอยู่ตรงไหน
หลังจากนั้นจะส่งให้หลังไมค์ค่ะ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 14:30
ไปค้นมาแล้ว เจอเล่มเดียว     กำลังหาว่ามีอีกไหมค่ะ
เอาปกมาให้ดูเล่นพลางๆ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 16:10
นิทานสำหรับเด็ก เนื้อเรื่องเป็นนิทานพื้นบ้าน ที่ได้รับอนุญาตให้อ่าน คือนิทานของเสรี เปรมฤทัย     อ.เสรี มีฝืมือทั้งแปลเรื่องต่างประเทศ  แต่งเอง และวาดรูป
จำได้แค่นี้เอง
******************
แม่อ่านนิตยสารศรีสัปดาห์    สมัยกึ่งพุทธกาลเป็นนิตยสารชั้นนำของกลุ่มคนอ่านผู้หญิง   นักเขียนประจำเกือบทั้งหมดก็เป็นผู้หญิง    จะว่าไปแล้ว  นึกไม่ออกเลยว่ามีผู้ชายเขียนอยู่ด้วย
นักเขียนนำของนิตยสารคือคุณ "จินตะหรา"  หรือม.ร.ว. จินตนา นพวงศ์  เขียนเรื่องปรารถนาแห่งหัวใจ  แสงสูรย์   และนามปากกา สราญจิตต์  เขียนเรื่อง บุษบาวิไล ลงในนิตยสารรายเดือนในเครือเดียวกัน ต่อมาเลิกไป
 ม.ล.ศรีฟ้า(ลดาวัลย์)มหาวรรณ  ใช้นามปากกาว่า จุลลดา ภักดีภูมินทร์  เขียนเรื่อง ลางรัก
 คุณกฤษณา อโศกสินใช้นามปากกาว่า กัญญ์ชลา เขียนเรื่อง ประตูสีเทา
คุณสุภาว์ เทวกุล เขียนเรื่องสั้นลงเป็นประจำ  เป็นเรื่องสั้นที่มีหลากรส  หวาน คมคาย ขบขัน ล้อเลียน    เรื่องตลกของเธอมีอยู่ชุดหนึ่ง ตัวเอกชื่อคุณแมว เป็นผู้ชายละเอียดลออเกินมนุษย์      คุณแมวหัดเขียนนิยาย แค่นางเอกตื่นจากที่นอน ก็บรรยายละเอียดขนาดว่าก้าวลงจากเตียง หย่อนเท้าซ้ายก่อนตามมาด้วยเท้าขวา  จะก้าวกี่ก้าวบอกหมด  เอื้อมมือหยิบอะไรก็บอกทุกอิริยาบถ
บรรยายไปเป็นหน้า   นางเอกยังลงจากเตียงเดินไม่ถึงห้องน้ำเลยค่ะ

ในนิตยสารศรีสัปดาห์นี้เอง  โรสลาเรน หรือ ทมยันตี ถือกำเนิดขึ้นในวงการ     เธอมีเรื่องสั้นที่ตัวเอกเป็นเด็กหนุ่มชื่อนายตั้ม  มีพี่ชายเป็นนิสิตแพทย์ และพี่สาวสวยอีกคน     เป็นเรื่องครอบครัวที่แจ่มใสน่ารัก  แต่ก็มีบางตอนที่เศร้าจนน้ำตาตก เมื่อตั้มเล่าถึงเพื่อนที่จากไปด้วยโรคฮีโมฟีเลีย(เลือดไม่แข็งตัว)
"ในฝัน" นวนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกของโรสลาเรน  ลงที่นี่ด้วย    พระเอก เจ้าชายโอริสสา  เป็นเจ้าชายแสนหล่อแห่งดินแดนภารตะในฝัน       เรื่องต่อมาคือ ค่าของคน   นิยายโรแมนติคที่พระเอกเป็นนักธุรกิจหล่อ รวย เจ้าชู้ ลูกเล่นพราว   นางเอกก็แสนบอบบางและหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรี    ตอนนั้นดิฉันดูเหมือนจะเข้าร.ร.เตรียมอุดมแล้ว  จำได้ว่าสาววัยรุ่นคลั่งไคล้เรื่องนี้กันมาก



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 16:36
ย้อนกลับไปเรื่องวิลเลี่ยม เด็กจอมแก่นอีกหน่อย
เรื่องนี้ทำละครวิทยุ  ทีวีและหนังมาหลายยุคแล้ว  ล่าสุด ปี 1994-5  BBC เอามาทำหนังชุด Just William
ผู้รับบทวิลเลี่ยมคือดาราเด็กชื่อOliver Rokison
เชิญอ่านได้ที่นี่ค่ะ
http://www.justwilliam.co.uk/page-film1st.htm


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 16:38
ทั้งแฟนเก่าและแฟนใหม่ของวิลเลียม ดูได้ที่นี่  ในยูทูปมีอีกหลายคลิป
http://www.youtube.com/watch?v=hWJYU87q9gg


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 16:54
http://www.youtube.com/watch?v=K2hqpFujMzI&feature=related


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 มิ.ย. 10, 17:50
ขอบคุณครับ เห็นแล้วเหมือนเจอเพื่อนเก่าที่หายไปนานจนลืมหน้ากันไปแล้ว

ค่อยชุ่มชื่น มีกำลังวังชากลับไปลุยเมืองญวนเมืองเขมรต่อได้

ป.ล.แต่ผมว่าเจ้าเด็กในรูปขาว-ดำของผมหน้าตาท่าทางกวนกว่าเจ้าอ้วนในหนังนะครับ
ดูในclipแล้ว ท่าทางจะลูกไฮโซไปหน่อย ไม่ค่อยบ้านนอกๆตามเนื้อเรื่อง


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 30 มิ.ย. 10, 18:17
แวะเข้ามาอีกรอบ หลังจากหายจากอาการคาดไม่ถึงค่ะ

มาบอกความเปิ่นของตัวเอง เพราะตามอ่านหลายหัวข้อในเวปนี้มาตั้งนาน ไม่เคยเฉลียวใจเลยว่าใครเป็นใครบ้าง แม้บางครั้งเคยมีแวบเข้ามาในสมองบ้างว่า ทำไมเวปฯนี้ มีแต่ผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ละท่านมีความรู้รอบด้านมาถ่ายทอดให้อ่าน ก็ดันไปคิดซะว่า ก็เวปวิชาการนี่นา คงเป็นคณาจารย์หลายๆท่าน เข้ามาเป็นสมาชิกหรือดูแลเวปอยู่

แต่พอเห็นหน้าปกหนังสือ คห ที่ 20 ทำเอาถึงบางอ้อเลยค่ะ ตามมาด้วยอารมณ์ดีใจ ที่ได้เจอกับนักเขียนในดวงใจ ในโลกไซเบอร์นี้ ดีใจจริงๆเลยค่ะ เพราะเป็นแฟนหนังสืออาจารย์มาเงียบๆนานแล้ว ตั้งแต่สมัยก่อน อยู่บ้านที่ต่างจังหวัด คุณแม่รับนิตยสารสกุลไทย เป็นประจำ ก็จะติดนิยายในนิตยสารฯ และเป็นแฟนหนังสือ ของอาจารย์ และ ทมยันตี มาจนถึงทุกวันนี้

แวบมาแล้ว ก็แวบออกไปด้วยความเกรงใจ เพราะพาออกนอกหัวข้อไปหน่อย ขอโทษนะคะ   :-[


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 18:53
ขอบคุณค่ะ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 19:38
ศรีสัปดาห์เป็นจุดเริ่มต้นทางของนักเขียนสตรีแถวหน้าหลายคน    หนึ่งในนั้นที่คุณศิลาคงรออ่านมานาน คือคุณชูวงศ์ ฉายะจินดา ราชินีแห่งเรื่องพาฝัน
คุณชูวงศ์เริ่มต้นด้วยเรื่องสั้นและเรื่องสั้นแปล ในศรีสัปดาห์  ใช้นามปากกาว่า "เทิดพงศ์"  จนคนอ่านนึกว่าเป็นผู้ชาย
เรื่องสั้นแรกๆของเธอเป็นเรื่องล้อเลียนเสียดสีสังคมหน่อยๆ      เช่น "ในมุมกลับ"  เป็นเรื่องเมียน้อยรัฐมนตรีที่กลายมาเป็นเมียหลวง   ชีวิตก็เลยเหน็ดเหนื่อยสาหัส  ผิดกับตอนสุขสบายเป็นเมียน้อย
อีกเรื่องหนึ่ง "หนึ่งในห้าร้อยจำพวก " เป็นเรื่องสามี เล่าถึงเพื่อนสาวของภรรยาที่เป็นผู้หญิงฝันเฟื่อง      ขนาดไปอวดเพื่อนฝูงว่าบ้านของหล่อนคือคฤหาสน์หลังงามของเขา   โดยไม่รู้เลยว่าเพื่อนคนนั้นคือหลานสาวเจ้าของบ้านนั่นเอง
แล้วก็มีเรื่องแปล  เห็ดมฤตยู แปลและเรียบเรียงจากเรื่อง "THE VOKE IN THE NIGHT" ของ WILLIAM HOPE HODGESON    เล่าถึงเห็ดสยองที่งอกขึ้นบนร่างของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย จนกลายเป็นมนุษย์เห็ด   เรื่องนี้อ่านแล้วสะเทือนใจในชะตากรรมของเหยื่อ มากกว่าสยอง
แต่คุณชูวงศ์ไม่ได้เดินตามเส้นทางสะท้อนสังคมแบบเบาๆ แต่มีสาระ อย่างในตอนเริ่มแรก   นวนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกของเธอ "ตำรับรัก" เป็นนิยายพาฝัน   สีชมพูหวานยิ่งกว่ากระทู้ของคุณเพ็ญชมพูเสียอีก
ทำให้นักอ่านวัยรุ่นอย่างดิฉัน เคลิ้มไปกับฉากพระเอกนางเอกนั่งชมจันทร์กันที่หาดหัวหิน พร้อมเพื่อนฝูงที่แห่กันไปในช่วงฮันนีมูน    มานึกทีหลังเมื่อโตแล้ว   ว่าน่าแปลก ทำไมเขาไม่ไปกันสองคนอย่างฮันนีมูนทั่วไป
แต่ตอนนั้นไม่ได้สงสัยอะไรหรอก  กลับรู้สึกว่าสำนวนภาษาของคุณชูวงศ์ พรรณนาภาพได้สวยมาก   เหมือนพาคนอ่านเข้าไปนั่งในฉากด้วย
ภาษาคุณชูวงศ์ เป็นภาษากระจ่าง อ่อนหวานและเห็นภาพ ตามพื้นฐานอักษรศาสตร์ของเธอ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 20:41
เมื่อคุณชูวงศ์ไปเขียนลงในเดลิเมล์วันจันทร์     นิยายที่ดังระเบิดของเธอก็เกิดขึ้นที่นั่น คือ "จำเลยรัก"
ห้าสิบกว่าปีให้หลัง    พล็อตพระเอกฉุดคร่าพานางเอกไปกักขังเป็นนักโทษ    ก็ยังเป็นพล็อตฮิทไม่เลิก    คนรุ่นแรกที่อ่านเรื่องนี้เป็นปู่เป็นย่ากันไปหมดแล้ว    หลานๆก็ยังรับความบันเทิงในขนบนี้ได้

พล็อตนี้เรียกว่าพลิกล็อคภาพลักษณ์พระเอกนิยายรัก   ก่อนหน้านี้ พระเอกจะต้องสูงศักดิ์ สง่างาม  เป็นเจ้านายหรือเชื้อพระวงศ์  หรืออย่างต่ำก็ลูกพระยา   
เพิ่งมีคุณหฤษฎ์นี่แหละที่เถื่อนและโหด   แต่ก็เป็นสุภาพบุรุษ ไม่ทำอันตรายนางเอก นอกจากกักขังไว้เฉยๆ
กักขังกันไปมา พระเอกนางเอกก็เลยรักกัน    ดูๆนางเอกพอหายตกใจกลัวแล้ว    ก็ไม่ได้เกลียดพระเอกมากมาย    นานๆเข้า  ยังมีจริตอย่างหญิงสาวเมื่ออยู่ใกล้ชายหนุ่มด้วยซ้ำไป

ก่อนหน้า จำเลยรัก ก็มี สุดสายป่าน ที่ลงในเดลิเมล์วันจันทร์      เป็นเรื่องพระเอกที่เคยไปหลงรักสาวแฝดคนน้อง แต่ห่างกันไป ก็มาเจอสาวแฝดคนพี่ แล้วเลยนึกว่าคนเดียวกัน  แยกไม่ออกเอาเสียจริงๆ  ขนาดนางเอกปฏิเสธยังไม่ยอมเชื่อเลย
"สุดสายป่าน"ใช้พล็อตเดียวกับ "สุดสายใจ" ของคุณชูวงศ์ ที่เป็นเรื่องสั้นสองหรือสามตอนจบ ลงในศรีสัปดาห์มาก่อน
แต่เรื่องดังที่สุดของคุณชูวงศ์คือจำเลยรัก      พล็อตพระเอกเถื่อนกลายมาเป็น cliche ของวงการนวนิยายไทย คือเป็นพล็อตที่ใครๆก็นิยมใช้กัน
ก่อนหน้าจำเลยรัก  มีพล็อตหลานสาวเจ้าคุณปู่ ที่ "สลักจิต" ของบุษยมาส    พ่อแม่กระทำผิดที่แต่งงานกันโดยพลการ   แล้วตาย  หลานเลยเป็นที่เกลียดชัง แต่ก็ทำความดีลบล้างความผิดของพ่อแม่ จนกลายเป็นทายาทเจ้าคุณปู่แทน
พล็อตนี้ก็ฮิทอยู่พักใหญ่

ก่อนหน้า "สลักจิต"  มีนิยายรักพาฝันอมตะ ที่นักอ่านหญิงอย่างแม่ ไม่อาจมองข้ามได้   จึงส่งให้ลูกสาวอ่านเมื่อเข้าวัยรุ่น  เห็นว่าไม่มีพิษภัย
คือ "ปริศนา" และ "บ้านทรายทอง"


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 21:03
" ปริศนา" แต่งขึ้นเมื่อผู้นิพนธ์ พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี  มีพระชันษาแค่ ๑๔ ปีเท่านั้น   เริ่มเขียนในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา   คือกลางสงครามโลกครั้งที่ ๒
แต่บรรยากาศในปริศนา  น่าจะเป็นบรรยากาศก่อนสงคราม   เพราะไม่มีการเอ่ยถึงภัยสงครามในกรุงเทพเลย  ผู้คนยังดำเนินชีวิตสุขสงบ    เว้นแต่มีการเอ่ยถึงตัวละครประกอบที่เป็นยุวชนทหารอยู่นิดหน่อย  ทำให้รู้ว่าอิงยุคสมัยสงครามอินโดจีน ก็ประมาณ ๒๔๘๒-๒๔๘๔

ในประเทศไทยช่วงนี้ เป็นช่วงอลหม่านและมืดมนทางการเมืองช่วงหนึ่งก็ว่าได้      เป็นยุคที่พระบรมวงศานุวงศ์ต้องเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศ   พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ คือกรมขุนชัยนาทฯ ตกเป็นนักโทษประหารแต่ลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต   อย่างที่คุณนวรัตนเล่าไว้ในกระทู้ พระยาทรงสุรเดช
เป็นยุคที่รุ้ง จิตเกษมถูกตำรวจสะกดรอยตามทุกฝีก้าว     กระดิกตัวแทบไม่ได้เลย  เพียงเพราะเขาเป็นนักโทษการเมืองมาก่อน
แต่โลกในนิยายของปริศนา  เป็นอีกโลกหนึ่ง สงบราบรื่น  สวยสะอาด    ม.จ.พจนปรีชา ครองวังศิลาขาวอยู่อย่างสง่างาม   มีสังคมรอบตัวที่หรูอลังการ   มีพระยศพระเกียรติบรรเจิด    เป็นชายหนุ่มเนื้อหอมที่สุดในสังคมไทย

บรรยากาศของผู้คนในเรื่อง ปริศนา  น่าจะย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ ๖  หรืออย่างช้าก็ต้นรัชกาลที่ ๗ มากกว่าจะเป็นยุค ๒๔๘๐ กว่าๆ 
ค่านิยมในเรื่องเป็นสมัยอดีต   ความละเมียดละไม และชีวิตชนชั้นสูงที่มีเค้าตะวันตก    เป็นชีวิตที่พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีน่าจะทรงคุ้นเคยมาแต่ทรงพระเยาว์
ไม่ใช่บรรยากาศของบ้านเมืองที่ตึงเครียดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และสงครามโลกที่ลำเค็ญอยู่ถึง ๔ ปีเต็ม


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 21:16
ขอเลี้ยวออกนอกซอย ยูเทิร์นกลับไปหาวิลเลี่ยมและจ้อนกับแดงอีกนิด
จ้อนกับแดง พิมพ์ใหม่แล้วโดยสนพ.เพื่อนดี    ดิฉันก็เลยมีจ้อนกับแดงมาเป็นเพื่อนในตู้หนังสือ ค่อยหายคิดถึงบ้าง
ส่วนคลิปวิดีโอวิลเลียม   ไม่รู้ว่าเจ้าอ้วนเป็นคนไหนในแก๊งค์ "นอกกฎหมาย"ของวิลเลี่ยม     ซึ่งประกอบด้วยจินเจอร์  ดักลาส เฮนรี่ และตัววิลเลี่ยมหัวหน้ากลุ่ม
ดูท่าทีเป็นลูกผู้ดี สวมแจ๊กเกท   ไม่ใช่เด็กบ้านๆอย่างอีกสามคนนั่น

สาวน้อยในคลิปนี้น่าจะเป็นนางเอกจอมกวนของวิลเลี่ยม ไวโอเล็ต เอลิซาเบธ บ๊อตต์

http://www.youtube.com/watch?v=l3OO42dKxfY&feature=related


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 10, 22:11
กลับมาที่ปริศนา   ดูคลิปกันไปพลางๆก่อน   เวอร์ชั่นของฉัตรชัย หมิว เป็นเวอร์ชั่นลงตัวเรื่องพระเอกนางเอกมากที่สุด
http://www.youtube.com/watch?v=M8cSs2Bk9qE&feature=related

หนังสือนิยายปริศนาเล่มพิมพ์ครั้งแรก  มีภาพถ่ายขาวดำแทรกอยู่เป็นระยะ    เป็นภาพผู้แสดงแบบเป็นปริศนา
เธอชื่อคุณวาสนา กระแสสินธุ์  เป็นลูกสาวทูต  อายุไม่เกิน ๒๐ ได้ในตอนนั้น   
คุณวาสนาสวยและน่ารักมาก    ร่างโปร่งบาง  ตากลมโต ผมหยิกประบ่า     เมื่อพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีทอดพระเนตรเห็นครั้งแรก  รับสั่งว่า "นี่ปริศนาของฉันนี่นา"
คุณวันดีน่าจะมีหนังสือเล่มนี้นะคะ    ถ้าไม่มี เพื่อนนักสะสมของคุณต้องมีแน่
ดิฉันหารูปและประวัติคุณวาสนาเท่าไรก็หาไม่เจอ      เจอแต่รูปและประวัติพี่สาวของเธอ ชื่อคุณมารยาท กระแสสินธุ์
คุณมารยาทคือ เอมมานูแอล อาซานน์  นักประพันธ์สตรีเจ้าของเรื่อง Emmanuelle เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส  ขึ้นชื่อว่าอีโรติคสุดๆ    เธอเคยเล่นหนังฮอลลีวู้ดด้วย


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 10, 07:33
รูปนี้ใคร พอแก้ขัดได้ไหมครับ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 07:48
รูปคุณมารยาท กระแสสินธุ์ค่ะ   
รูปนี้จากภาพยนตร์ที่เธอเล่นให้ฮอลลีวู้ด


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 01 ก.ค. 10, 09:31
กระทู้เก่าเรือนไทย ที่อาจารย์เล่าเรื่อง พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต ครับ

    http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1399.0

          นิยาย(ขนาดสั้น) ที่น่าจะเป็นเรื่องแรกที่ได้อ่านตลอดจนจบเมื่อครั้งเป็นเด็ก น่าจะเป็น
งานของคุณชูวงศ์ ครับ
           
            ลาก่อนเมลเบิร์น  เล่าเรื่องความรักที่ไม่คู่ควรระหว่างหนุ่มนักเรียนไทยกับไอวี่ แม่พันธุ์ไม้เลื้อย
สาวออสเตรเลียนผู้เสียสละเพื่อคนรัก
           จำบรรยากาศอารมณ์ของเรื่องได้ว่า ละเมียดละไม สละสลวย และเศร้า

         ข้อมูลจากหนังสือเล่มนั้นทำให้ได้ทราบว่า นามปากกาชูวงศ์นี้เป็นชื่อจริง ที่ได้จากชื่อคุณแม่ (ช่วง > ชูวงศ์)

        น่าเสียดายที่ในที่สุด คุณชูวงศ์ไม่ ลาก่อนเมลเบิร์น หากแต่เป็น ลาก่อนเมืองไทย
และตัดสินใจใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่นั่น


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.ค. 10, 10:43
     ตอนเด็ก ๆ  ไม่เคยมีสตังค์ซื้อหนังสือเลยค่ะ  ได่อ่านก็เพราะญาตินำมาทิ้งไว้ให้อ่านในเวลาจำกัด

อาวุโสก็น้อย  กว่าหนังสือจะว่างให้อ่านก็จวนเจียนจะถึงเวลาคืนหนังสือแล้ว     เมื่อทำงานมีรายได้ก็ซื้อหนังสือต่างประทศ

เพราะรู้สึกว่ามีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ   เปลืองสตังค์ไปมหาศาล


     อ่านที่คุณเทาชมพูเล่า  ชีวิตแว่บหนึ่งก็ถอยหลังไปสู่อดีต  เพราะวิสัยรักการอ่านแล้วก็ตะเกียกตะกายได้อ่านอยู่เสมอ

เสื้อผ้าของบังอรสุวรรณีสีเขียวดูเหมือนจะเปลือกข้าวโพด  ยังจำได้   รู้สึกว่าพี่ชายต่างมารดาจะซื้อมาให้           เสื้อของปริศนา

นั้นเหมือนฝันคือเป็นผ้าโปร่งบานแฉ่งมีประกายเงิน        


     อย่างหนึ่งที่จำแม่นคืออาหารหรือขนมในเรื่อง   ในงานเลี้ยงหนหนึ่ง  ใครก็ไม่รู้ บอกกับใครคนหนึ่ง ว่าตักสลัดมันไปให้ประวิช

โอ......อยากรู้จังว่าสลัดมันคืออะไร    ไม่มีทางเลย    พวกสตู เสต้ค หรือ แยมโรลนี่รู้จักค่ะ   เรื่องกินไม่เคยแพ้ใคร

จ้อนชอบหยิบคุ้กกี้ใส่กระเป๋า         วันดีก็เทจากโหลใส่เลยค่ะ   ออกจากบ้านเดินเที่ยวจนขนมหมดก็กลับบ้านเสียทีหนึ่ง


     เคยเห็นรูปคุณ ก. ศยามานนท์ หรือ คุณ กาญจนา  ศยามานนท์   เธองามมาก   แต่งหน้าทำผมเลิศวิไล        พูดแล้วก็คิดถึงจ้อนกับแดง

จ้อนนี่คงปาเข้าไป ๖๓ - ๖๔  แล้วกระมัง

เรื่องการเล่นเป็นคาวบอยนั้น  ไม่ยากอะไร         กางเกงยีนสีต่างๆ ดำ  น้ำเงิน  แดง   มีขายที่สหกรณ์บางลำภู     เสื้อเชิ้ตนพรัตน์บางลำภูอีกนั่นแหละ(มารดาซื้อให้เพราะไม่มีเวลาตัดเย็บ)

คุ้กกี้ราคาถูก มีขายที่ม่อนโลว์เฮียงบางรัก   มีคุ้กกี้เนย(ที่แท้มาการีน)  คุ้กกี้ลูกเกต(เจ้าคนทำขยันเป็นบ้า  หั่นลูกเกตเป็นชิ้นเล็ก ๆ)     เพื่อนรุ่นน้องมีปืนแพง ๆ อยู่เต็มบ้าน

วันดีได้รับการเชื้อเชิญให้ไปเล่นกับคุณชาย(ที่หาเพื่อนเล่นไม่ค่อยได้)  แน่นอนที่คุณชายนั่นต้องเล่นเป็นผุ้ร้ายตลอดกาล  อิอิ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.ค. 10, 11:13

       มีเพื่อนสนิทอยู่ในชมรมสามเกลอหลายคน  เคยพากันไปป่วนตามที่ต่างๆ        หลายคนนี่เกิดเป็นนักสะสมเสียด้วย

เราสนทนากันเป็นภาษาของคุณลุงป. บ่อยไป       จึงไปถามเพื่อน ๆ มาว่าทำไมสามเกลอมตะนิรันดรกาล  มีแฟนวัยเด็กเพิ่มขึ้นทุกที


คุณชมด ซึ่งเป็นตัวการทำให้ราคา สามเกลอวิ่งกระฉูดอยู่ทุกวันนี้  อธิบายให้วันดีฟังเสียงแจ๋วว่า

ชอบเพราะ

๑.   เนื้อหา   เบาสมอง   อ่านได้ทุกชั้นทุกวัย
      สามัญชนเข้าถึงได้   สร้างฝันได้
      ภาษากระชับ   ง่าย     สัมพันธ์กับเหตุการ์ณที่เกิดขึ้นจริง    ราวกับบันทึกของสังคมไทยเป็นขั้นตอน
      สร้างจินตนาการจากการอ่าน
      มีภาษาของตนเอง   ศัพท์ของตนเอง เป็นพิเศษ  ไม่มีผู้เสมอเหมือน

๒.   มี skill  ไม่สามัญที่นำ ดร.ดิเรก เข้ามา

๓.   สร้างความอบอุ่นของครอบครัวและมิตรสหาย  ที่คนอ่านโหยหา
      คนอ่านส่วนใหญ่มีความผูกพัน

๔.   ไม่มีชนชั้น        คนจนอ่านแล้วก็ขำครอบครัวคนรวยได้
      กรรมกรอ่านเรื่องเสี่ยหงวนแล้วก็ไม่รู้สึกต่ำต้อยน้อยหน้า      บางคน เผลอคิดว่าเสี่ยหงวนมีตัวตนจริงก็มี
      ศิลปินใหญ่จากเชียงรายเล่าให้วันดีฟังเองว่า เขานึกว่าเสี่ยหงวนอยู่กรุงเทพจริง ๆ  จึงคิดจะไปหา

๕.   มาแนวตลก

๖.   รูปสวย   
     เสน่ห์ คล้ายเคลื่อนลงรายละเอียดเยอะ
     อาภรณ์  วาดตามจินตนาการของพี่ชายได้ดี     งานรุ่นแรกงามมาก   

     ดิฉันถามคุณชมดไปว่า   นวนิยายที่เขียนถึงการซื้อประเวณีโดยเปิดเผยนั้น  ไหวหรือ  หรือจะเป็นการบอกเล่าว่า  การซื้อประเวณีเป็นเรื่องธรรมดา

คุณชมดตอบว่า         การซื้อการบริการทางเพศเป็นเรื่องสามัญในสังคมไทยมานานช้าแล้ว


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.ค. 10, 11:38

     ไปถาม คุณหน่อย   เจ้าของ su-used book  เรื่องซ่องในสามเกลอ 

แถมบอกว่าคุณเทานำรูปสามเกลอมาลง         คุณหน่อยหัวเราะกรี๊ดด้วยความดีใจ  ฝากเรียนคุณเทาชมพูว่ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง

เพราะเขาก็ตามอ่านอยู่เหมือนกัน  เช่นกระทู้คุณเปรมเป็นต้น


ถามว่า       ซ่องไหนที่อยู่ซอยกลาง

ตอบ         เจ๊หนอม

วันดี         บ้าเหรอ        ซอยกลางสมัยก่อนเปลี่ยวจะตาย         คุณลุงป. เริ่มเขียน ๒๔๘๒
              ๒๕๐๐  ซอยกลางยังมีทุ่งนา   มีกระต๊อบเต็มเลย  หรือบังกาโลริมแสนแสบ

หน่อย       มีหม่อมแข
              ป้าอบ

วันดี         อือม์  ป้าอบที่สามเกลอไปงานศพบ่อยเชียวนั่นเหรอ

หน่อย       หลุดปากหัวเราะลั่น......

วันดี        แล้ว...แล้ว ซ่องพวกนี้อยู่แถวไหนล่ะ

หน่อย      อ่า...รับประทาน อาจเป็นนางเลิ้งกระมังครับ

วันดี        เฮ่อ!     ซอยกลางน่ะมีบังกาโล  ที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่เก็บนางเล็กๆ    คนที่ขี่ธันเดอร์เบิร์ดไง

หน่อย      อุ...อุ...อุ

วันดี        ซ่องอยู่แถวสี่แยกคอกวัวก็มากนะ    แถวโบสถ์พราหมณ์ก็มี   อิอิอิ

หน่อย      ในสามเกลอหรือครับ?

วันดี        เจริญกรุงเต็มเลย......สมัยรัชกาลที่ ๕ นะ

หน่อย      ครับผม



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 01 ก.ค. 10, 12:16
หากถามเด็กบ้านนอกสมัยยังทันท่านผู้นำผ้าชะม้าแดง....ก็คงอ่าน เสือดำ...เสือใบ...เสือมเหศวร......แต๋งแต๋งผจญภัย......สามเกลอ.....


แต่ที่ยังติดใจ....และตามหาอยู่คือ..เจ้าชายผมทอง(การ์ตูน)....
                                   ...นิทานพื้นบ้านไทย(การ์ตูน) เรื่องสี่สหายผจญภัย(ถ้าจำไม่ผิด)   หูกาง/มือปาล์ม/ขี้มูกมาก/ตูดแหลม   ;D ;D ;


ต่อมาสมโภชน์ แสงเดือนฉายทำเป็นหนังตอนหนึ่งของซีรี่ย์มนุษย์คอมพิวเตอร์

เมื่อไม่นานซื้อสามเกลอ..ป.อินทปาลิต 10 เล่ม ติดมือกลับมาบ้าน(พิมพ์ใหม่-กระดาษปอนด์อย่างดี) 

ลูกสาวมัธยมต้นเธออ่านรวดเดียวจบ...พร้อมซาวน์ดเอฟเฟ็ก..หุๆๆๆๆ  หึๆๆๆๆ   ก๊ากๆๆๆๆๆ  ตลอดรายการ
พร้อมถามแทรกเป็นระยะถึงศัพท์เก่าๆที่ไม่คุ้น



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 13:51
ดีใจที่วงสนทนาชักขยายกว้างขึ้น      สมาชิกประจำ ยังเหลือคุณเพ็ญชมพูกับคุณหลวงเล็กที่ไม่เข้ามาตอบสักที
ว่าตอนเด็กๆอ่านหนังสืออะไร  การ์ตูนเรื่องไหน

ขยายความกันคุณวันดีเสียหน่อย  ซอยกลางของสุขุมวิท เมื่อ ๕๐ กว่าปีก่อนได้ชื่อว่าเป็นซอยเมียน้อยค่ะ   ผู้ใหญ่ชอบมาปลูกบ้านให้หนูๆอยู่แถวชานเมือง

คุณศรีสยาม อ่านแต๋งแต๋ง เหมือนเพื่อนดิฉันเลย      แต่ดิฉันเองไม่ค่อยชอบอ่านเท่าไร    ชอบนักสืบอื่นมากกว่าค่ะ

คุณชูวงศ์เป็นคนสวย  และเชื่อว่าแต่งตัวเก่ง   คุณบังอรสุวรรณีนางเอกในตำรับรัก สวมเสื้อจากปารีสเชียวนะคะ
 ชุดแพรสีเปลือกข้าวโพดที่คุณวันดีเอ่ยถึง เป็นเสื้อจากปารีส     ร้านตัดเสื้อในกรุงเทพ เจ้าของเป็นชาวฝรั่งเศส
ส่วนชุดราตรีขาวบานติดดาวเงินทั้งตัวที่คุณวาสนาสวมถ่ายแบบลงหนังสือปริศนา เล่มปกแข็ง  เป็นฉลองพระองค์ของพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี    ใช้ผ้าโปร่งขาวถึง ๓๐ เมตร
อ่านบทความที่ไหนจำไม่ได้แล้ว เล่าว่าที่มาของท่านชายพจน์ คือท่านจันทร์ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี เจ้าพี่ของพระองค์หญิงเอง     เกิดไม่ทันเห็นท่านจันทร์ตอนหนุ่ม เลยตอบไม่ได้ว่าท่านหล่อขนาดไหน
แต่รู้ว่าเออรอล ฟลินน์ ที่พระองค์หญิงทรงย้ำว่าท่านชายไว้หนวดเหมือนเออรอล ฟลินน์ เป็นดาราฮอลลีวู้ดที่เท่และหล่อสุดๆ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.ค. 10, 14:32

    ถอนหายใจเมื่อนึกถึงความเก่า  ตอนท่านชายพจน์ผัดข้าวผัด   ท่านจันทร์คงทำอาหารเก่ง 

พ่อครัวแม่ครัวที่เก่งแล้ว  สามารถประกอบอาหารรสดีได้จากของสดที่มีอยู่



     อรวรรณเชี่ยวชาญอาการการกิน    จ้างครูสาวไปเลี้ยงลูกชายจอมแก่น  แวะที่ตลาดซื้อเนื้อหมูไปก้อนใหญ่

ทำกับข้าวได้หลายแบบ   แถมทำหมูอบใช้ฝารังถึงครอบไว้ให้เดือดปุด ๆ   เนื้อหมูจะได้เปื่อย  ส่งกลิ่นหอมฉุย        สมควรแล้วที่ครูสาวได้เลื่อนชั้นเป็นแม่เลี้ยงไปในที่สุด

บางทีท่านก็ส่งเรือเร็วพาสาวบ้านนอกไปซื้อเครื่องกระป๋องที่สพานหัน   มีแฮม  เนยเค็มตราสัปปะรสหรือถังทอง   ขนมปัง   ขนมปังกรอบ

มีอยู่ตอนหนึ่ง  ดิฉันขัดใจมาก  เพราะพระเอกยิงไก่ชาวบ้าน ๑ ตัว(จ่ายเงิน)    เพื่อมาทำแกงไก่กินกับข้าวมันส้มตำ

ไก่ตัวเดียวจะไปพอที่ไหน  คนไปตั้งเจ็ดแปดคน  จะให้ตักคนละช้อนหรือ

น้อง ๆ และ หลาน ๆ ที่ทำงานไม่รู้จักข้าวมันที่กินกับส้มตำเสียแล้ว  ต้องกินส้มตำกับใบทองหลางด้วยถึงจะเข้ากันค่ะ



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 15:13
ดีใจที่วงสนทนาชักขยายกว้างขึ้น      สมาชิกประจำ ยังเหลือคุณเพ็ญชมพูกับคุณหลวงเล็กที่ไม่เข้ามาตอบสักที
ว่าตอนเด็กๆอ่านหนังสืออะไร  การ์ตูนเรื่องไหน

ส่งการบ้านคุณครูเทาชมพู  ;D

ตอนเด็ก ๆ จำได้ว่าเมื่อไปซื้อกาแฟ (โบราณ) ให้คุณพ่อที่ร้าน ระหว่างรอก็เปิดไทยรัฐหน้าวิทยาศาสตร์อ่านด้วยความสนใจยิ่ง

หนังสือพล นิกร กิมหงวน ก็พอได้อ่่านบ้างด้วยความสนุกสนาน และ่จำได้แม่นเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่ออยู่โรงเรียนตอนมัธยมต้น รายการหนังสือยืมจากห้องสมุดมีแต่นิทานชาติต่าง ๆ 

เรื่องปริศนามารู้จักตอนที่คุณหมิว และคุณเทย่าเป็นนางเอก

อ่านเรื่องกฏแห่งกรรมของคุณ ท. เลียงพิบูลย์ สนุกดี

นิยายจีนของหลินยู่ถังก็สนุก รู้สึกจะเป็นเล่มนี้

(http://kaimookbook.tarad.com/shop/k/kaimookbook/img-lib/spd_20100125193409_b.JPG)

หนังสือการ์ตูน ของไทยก็อ่าน ตุ๊กตา หนูจ๋า เบบี้ ของฝรั่ง ก็ แต๋ง แต๋ง

(http://t1.gstatic.com/images?q=tbn:OatJOjDMp6vm9M::&t=1&usg=__iwV91CPxWv6Xw0ARCC9DWZ-DKYI=)

นิยายไทยเท่าที่นึกได้รู้จักศรีธนญชัย

นวนิยายไทย สารภาพว่าไม่ใคร่ได้อ่าน

จะมารู้จัก ก็ตอนมาทำเป็นละครทีวีแล้ว

จะได้คะแนนจากคุณครูเกินครึ่งไหมหนอ ?

 ;D



 


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 15:24
นึกถึงตัวเองตอนเด็กๆ เคยนุ่งยีนส์ไหม  คำตอบคือไม่เคยค่ะ    เวลาออกนอกบ้านต้องนุ่งกระโปรงเท่านั้น   ไม่มีลูกพี่ลูกน้องผู้ชายวัยเดียวกัน เลยไม่เคยจำได้ว่าเด็กผู้ชายคนไหนนุ่งยีนส์อย่างจ้อนกับแดง
เด็กหญิง ถ้านุ่งกางเกง  ก็เป็นพวกสแล็ค  กางเกงขาสั้นเรียกว่า ช็อทสแล็ค  

เมื่อเอ่ยถึงปริศนา ก็ต้องเอ่ยถึงบ้านทรายทองด้วย    Theme ของเรื่องเป็นซินเดอเรลลาเหมือนกัน    แต่พจมานเป็นซินเดอเรลลาที่ไม่อยู่กับกองขี้เถ้า   เธอเล่นเปียโนเป็น    รู้จักเพลงฝรั่ง  Claire de Lune  เป็นนางเอกที่เท่มาก

ย้อนมาถึงเสน่ห์ปลายจวักของพระเอกนิยาย   นอกจากท่านชายพจน์ที่ผัดข้าวเก่งจากของติดก้นครัวแล้ว    ก็มาถึงนวนิยายที่เชื่อว่านักอ่านทุกคนในเรือนไทยรู้จัก   แม้แต่คุณเพ็ญชมพูผู้ไม่อ่านนิยายไทย
"เพชรพระอุมา"
นอกจากเดินป่าเก่ง    รพินทร์ ไพรวัลย์ยังทำกับข้าวเก่ง  ย่างไก่ป่า ย่างหมูป่า  ให้นางเอกกินได้ในยามเดินป่า  เรียกได้ว่าดารินทร์อยู่ในป่ากับเขาก็ไม่อดตาย


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 15:29
เรื่อง เพชรพระอุมา ทราบแต่ว่า นำโครงเรื่องมาจาก KING SOLOMON'S MINES เขียนโดยนักประพันธ์อังกฤษ คือ SIR H. RIDER HAGGARD

พนมเทียนเขียนเล่าที่มาของโครงเรื่อง "เพชรพระอุมา" ไว้ดังนี้

"พล็อต" หรือที่มาของโครงเรื่อง

การจะเขียนนวนิยายขึ้นมาสักเรื่องหนึ่งก็ต้องมี "โครงเรื่อง" หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่า "พล็อต" นั่นเอง เรื่อง เพชรพระอุมา ก่อนจะลงมือเขียน ก็ต้องมีการวางโครงเรื่องเหมือนกัน นอกจากโครงนอกที่หยาบที่สุด คือ โครงใน ของเรื่องราวการผจญภัยในป่า ของพรานคนหนึ่ง

ที่นี้ พรานป่าคนนั้น รวมทั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นในป่าเหล่านั้น จะดำเนินไปอย่างไร นี่คือจุดสำคัญของเรื่อง ส่วนประกอบอันเป็นรายละเอียดต่าง ๆ ที่จะมาสนับสนุนการดำเนินเรื่องไปนั้น มีอยู่ครบถ้วนเต็มเปี่ยมแล้ว ศิลป์ของการล่าสัตว์ และพื้นภูมิประเทศในป่าดงพงไพร ที่ตนเองเคยผ่านมาก่อน พล็อตของเรื่องนี้ซิ จะเอายังไง ก่อนที่จะลงมือเขียน

เมื่อยังวัยรุ่น ตอนเป็นนักเรียนอักษรศาสตร์ ผมได้ไปพบกับหนังสืออ่านประกอบบทเรียนของญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งท่านเก็บเอาไว้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนในแผนกภาษา ของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (สมัยที่ผมเรียนอักษรศาสตร์อยู่ในปี ๒๔๙๑-๒๔๙๒ นั้น เขาเลิกใช้หนังสือเล่มนี้กันแล้ว) ชื่อเรื่อง KING SOLOMON'S MINES เขียนโดยนักประพันธ์อังกฤษ คือ SIR H. RIDER HAGGARD มีเนื้อหาสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการเดินผจญภัยในป่าของพรานผิวขาวผู้หนึ่ง ซึ่งมีผู้จ้างวานให้ไปติดตามคนหายก่อนการออกเดินทางนั้น มีคนพื้นเมืองคนหนึ่งมาขออาสาสมัครเป็นคนใช้ติดตามไปด้วย และผลที่สุดเมื่อไปถึงดินแดนหลงสำรวจในป่าลึกนั้น ก็ปรากฏว่า เจ้าคนใช้ที่สมัครติดตามมานั้น แม้ที่จริงก็คือรัชทายาทของนครลับแล หลงสำรวจนั้น พรานนำทางกับคณะผู้ติดตามคนหาย ก็เลยช่วยกันต่อสู้กอบกู้บัลลังก์จากทรราชย์ ให้เจ้าคนใช้คนนั้นได้สำเร็จ พร้อมทั้งได้พบกับขุมทรัพย์ใหญ่แห่งนครนั้น

โครงเรื่องเพียง ๕-๖ บรรทัดแค่นี้เองแหละครับ (เฉพาะในภาคหนึ่ง) ที่ผมได้เอามาจากแนวโครงเรื่องเดิมของคิง โซโลมอนส มายน์ส ของ เซ่อร์ฯ แฮกการ์ด เพราะมันเป็นเค้าโครงเรื่องที่ดีมากในการจะนำมาเขียนถึงพฤติกรรม หรือปฏิบัติการเดินป่าของพรานในนวนิยายที่กำลังจะเขียนขึ้น เพราะจะทำให้พล็อตเรื่องมีจุดหมายที่แน่นอนลงไป ส่วนหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศให้เป็นป่าแบบไทยความรู้สึกนึกคิด สิ่งแวดล้อมต่างๆ ของเรื่องเป็นหน้าที่ของผมเองที่จะต้องนำมาประสานกันให้กลมกลืนหมดจรด

ผมเคยทราบมาก่อนเหมือนกันว่า บทประพันธ์ของ แฮกการ์ด เรื่องนี้ นักแปลรุ่นพ่อคือ สมุทร ศิริไข ได้เคยแปลไว้ก่อนแล้ว และท่านผู้นี้ก็ใช่ใครอื่น แท้ที่จริงก็คือ บิดาของสุมิตร ศิริไข ผู้ช่วยบรรณาธิการของ นิตยสารจักรวาลปืน ในขณะนี้นั่นเอง ซึ่งเราเคยเป็นเพื่อนเรียนหนังสือมาด้วยกันแต่เล็ก ๆ จนกระทั่งโตขึ้น จับผลัดจับผลูอย่างไรไม่ทราบ เขาก็ได้มามีโอกาสร่วมงานอยู่ในกองบรรณาธิการของผม ปัจจุบันนี้ผมเรียกคุณพ่อเขาว่า "น้าหมุด" และ "น้าหมุด" คนนี้แหละ เป็นคนแรกที่สนับสนุนให้ผมก้าวเข้ามาสู่วงการนักเขียนเป็นครั้งแรก เมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อนนี้ โดยนำเอาเรื่อง ปฐพีเพลิง ของผมไปนำลงในนิตยสาร เพลินจิตต์ ในยุคนั้น แต่ผมก็ไม่เคยมีโอกาสได้อ่านเรื่องแปลเรื่องนี้ของท่าน (ชื่อที่ท่านแปลกลับมาเป็นภาษาไทยคือ "สมบัติพระศุลี") ผมดันไปอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ อันเป็นหนังสือประกอบบทเรียนของญาติผู้ใหญ่ (คุณสุวรรณา คุปตาสา) ตั้งแต่สมัยยังเด็ก ๆ อยู่ดังได้กล่าวแล้ว และท่านคงไม่สงสัยนะครับ เพราะภาษาอังกฤษของผมสบายมาก มาตั้งแต่อายุเพียง ๑๔ ปีแล้ว ซึ่งก็จำพล็อตเรื่องคร่าว ๆ ดังกล่าวนี้ได้มาตลอด จะว่าผมเขียน เพชรพระอุมาภาคแรก ขึ้นมาโดยก๊อปปี้เค้าโครงเรื่องนี้ ผมก็ยอมรับ แต่รายละเอียดของโครงภายในและปลีกย่อยการดำเนินเรื่องต่างๆ นั้น เป็นของผมเองโดยบริสุทธ์ เอาแต่โครงเรื่องสั้น ๆ ของเขามาเท่านั้น ว่าจุดมุ่งหมายของเรื่องอยู่ในแนวทางนี้ แนวทางอย่างที่ได้เขียนออกมาแล้วมีเนื้อหาแค่ ๔-๕ บรรทัดนี่แหละ

บทประพันธ์เรื่อง คิง โซโลมอน'ส มายน์ส เป็นเรื่องที่ไม่ยาวครับ หนาแต่ปกแข็งเล่มเดียว ซึ่งครั้งแรก ผมก็กะ (อย่างที่บอกไว้ในฉบับก่อน) ว่าจะเขียนออกมาเป็นปกแข็งเพียง ๑ เล่ม หรือไม่เกิน ๒ เล่มเท่านั้น แต่แล้วในที่สุดโครงเรื่องมันก็กว้างใหญ่ไพศาลเป็นจำนวนถึงปกแข็ง ๕๓ เล่ม ดังได้เรียนแล้ว

เป็นอันว่า ท่านกระจ่างแจ้งละว่าโครงเรื่องย่อ ๆ เฉพาะภาคหนึ่งนั้น ผมได้มาจากไหน คราวนี้ ว่าถึงโครงเรื่องละเอียด ที่นำเรื่องให้ขยายกว้างไกลออกไปลิบลับ สมมติว่า ท่านได้อ่านนิยายผจญภัยของ แฮกการ์ด เรื่องนี้มาก่อนแล้ว (ถ้าหาต้นฉบับเดิมไม่ได้ ผมก็แนะให้ไปหาเรื่องแปล สมบัติพระศุลี ตามห้องสมุดต่างๆ อ่านดู) ท่านจะเห็นได้ชัดเจนว่า นอกจากพล็อตเรื่องสั้น ๆ นี้แล้ว อย่างอื่น ๆ จะไม่มีอะไรใกล้เคียงกันเลย แม้กระทั่งลักษณะอุปนิสัยของตัวละครในเรื่องทุกตัว ฉาก, สถานที่, พฤติกรรมที่มันเกาะเกี่ยวประสานกัน ในต้นฉบับเดิมนั้น คณะเดินทางไม่มีผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย เป็นเรื่องผจญภัยล้วน ๆ ในกาฬทวีปของผมก็สร้างตัวเองฝ่ายหญิงของเรื่องขึ้นมา คือ ม.ร.ว.หญิง ดาริน วราฤทธิ์ เพื่อให้ร่วมเดินทางเป็น "ขมิ้นกับปูน" หรือ "คู่ปรับสำคัญ" ของพรานนำทางไปด้วย และตัวคนพื้นเมืองลึกลับที่มาสมัคร เป็นคนใช้ของคณะเดินทาง ในต้นฉบับเดิมของเรื่องเก่า จะไม่มีบทบาทอะไรมากนัก แต่ท่านที่อ่านนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาแล้วนั้น ท่านคงจะรู้จักแงชาย หรือ จักราช ดี โดยไม่ต้องอธิบายเปรียบเทียบอะไรมาก ว่าแพรวไปด้วยกลเม็ดเด็ดพรายขนาดไหน เชือดเฉือนหักเหลี่ยมเล่นเชิงกับ รพินทร์ อยู่ในทุกบททุกตอน ทำท่าจะเป็นตัวเอกสำคัญกว่าตัวรพินทร์เองเสียอีก ในนิยายเรื่องนี้ เหมือนมี "พระเอก" อยู่สองคน แงชายจะไม่ดูว่าเต็มไปด้วยเล่ห์ไหวพริบ เก่งกาจ น่ารักน่าชัง ถ้าหากไม่มีตัวรพินทร์ และแม้รพินทร์เอง ก็จะไม่เป็นพรานป่า ระดับ "จอมพราน" ไปได้เลย ถ้าหากไม่มีแงชายมาเป็นตัวช่วยเสริมบทให้ และท่านผู้อ่านบางท่านอาจชอบ "แงชาย" มากกว่ารพินทร์เสียอีก ดูคล้าย ๆ กับว่า ไม่ว่าจะฝีมือชั้นเชิงเขาเหนือรพินทร์ไปเสียหมดทุกอย่าง แต่แท้ที่จริงแล้ว เขายังด้อยกว่าในส่วนลึก ๆ ซึ่งในเนื้อหาของเรื่อง ท่านผู้อ่านคงจะดูดซับรับจินตนาการ ที่ผมเจตนาจะให้เป็นไปเช่นนี้ได้อยู่แล้ว

http://petprauma.com/content/inside02.html

King Solomon's Mines โดย SIR  H. Rider Haggard
http://www.pagebypagebooks.com/H_Rider_Haggard/King_Solomons_Mines/



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.ค. 10, 15:38

เรื่องบ้านทรายทองนี้  คงได้แรงบันดาลใจมาจากนวนิยายต่างประเทศแน่  เพราะมี "บ้าน" เป็นสิ่งสำคัญ

เรื่องเปียนโนก็เหมือนกัน      นางเอกไว้เปียจะเล่นออกงานได้เชียวหรือ

กลับมาบ้านก็คงไม่ได้ซ้อมเท่าไร          คนเล่นเก่ง ๆนั้นต้องเรียนกันเป็นจริงเป็นจัง

หาต้นฉบับยังไม่ได้ค่ะ


คุณเพ็ญชมพู   มีเพลง หากรู้สักนิดว่าเธอรักฉันไหมคะ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 01 ก.ค. 10, 15:41
เมื่อไม่นาน....ในร้านซีเอ็ด.......พนักงานขายถามศรีฯว่า...ทำไมวัยรุ่นชาย....ชอบอ่านเพขรพระอุมามาก....?



ก็บอกตรงๆว่าเด็กผู้ชายทุกคน.....ชอบเรื่องตื่นเต้นผจญภัยโดยเฉพาะ..เรื่องป่าๆ....
สำหรับเพขรพระอุมาที่เด็กชายเขาชอบมากเป็นพิเศษน่าจะ...เพราะเสน่ห์ของแหม่ม...และฉากเลิฟซีนกลางป่า...กลางน้ำ....


สำหรับเด็กภูธรที่ชอบผจญภัยวัยเด็ก....หากอ่าน...บึงหญ้าป่าใหญ่....ของเทพศิริ สุขโสภา...รับรองได้........
อยากกลับคืนสู่วัยเด็กอีกครั้ง


ยังจำความรู้สึกแปลกแยกระหว่างเด็กที่เรียนต่อสูงขึ้นในกรุงหรือในเมือง
...กับเด็กอีกคน....ที่ไม่ได้เรียนต่อ...แต่ยังอยู่กับที่เดิม...บรรยากาศและความทรงจำเดิมๆ



ดังนั้น...หากท่านไปพบเพื่อนเก่าแต่วัยเยาว์...ที่บังเอิญเขาเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชีวิต..ไม่ใช่ในระบบ..?

รับรองได้ว่า..คุณจะได้อะไรๆในวัยเด็ก...ที่เขาจะจำแม่นมาก-แม้ในรายละเอียด กลับคืนมา..ชนิดคาดไม่ถึง


โดนมาแล้วด้วยความอึ้ง..ทึ่ง ;D


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 15:58
คุณเพ็ญชมพู   มีเพลง หากรู้สักนิดว่าเธอรักฉันไหมคะ

หากรู้สักนิด

คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

ทำนอง: หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์

หากฉันรู้สักนิดว่าเธอรักฉัน
บอกกันวันนั้นให้รู้สักหน่อย
ว่าดวงใจที่ฉันเฝ้าคอย
คงไม่เลื่อนลอยเป็นของใคร

เพียงแต่กระซิบว่าสุดที่รัก
ฉันก็จะมิอาจจากไป
ใจเราสองชอกช้ำระกำใน
คงไม่สลายมลายลงพลัน

หากฉันรู้สักนิดว่าเธอรักฉัน
บอกกันวันนั้นให้รู้สักหน่อย
ยอดดวงใจที่ฉันเฝ้าคอย
คงไม่เลื่อนลอยเป็นของใคร

เพียงแต่กระซิบว่าสุดที่รัก
ฉันก็จะมิอาจจากไป
ใจเราสองชอกช้ำระกำใน
คงไม่สลายมลายลงพลัน

หากฉันรู้สักนิดว่าเธอรักฉัน
บอกกันวันนั้นว่ารักสักหน่อย
ยอดดวงใจที่ฉันเฝ้าคอย
คงไม่เลื่อนลอยจากสุดที่รักเอย

 ;D


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 01 ก.ค. 10, 16:12

...คนเรานี้ช่างน่าขำ..อยากจำกลับลืม...อยากลืมกลับจำ...



 ;D ;)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 16:18
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%B2
เพชรพระอุมา
****************
เพลง หากรู้สักนิด  ควรเป็นเพลงเอกของบ้านทรายทอง  แต่กลับถูกกลบด้วยเพลง "นี่คือสถานแห่งบ้านทรายทอง ที่ฉันปองมาสู่..."
จนคนไปรู้จักเพลงไตเติ้ลมากกว่าเพลงเอก  ที่พจมานเล่นเปียโนให้คุณชายกลางฟัง
เนื้อร้องในนิยาย ก.สุรางคนางค์บรรยายว่า เป็นเพลงฝรั่ง    เมื่อมาแต่งเป็นเพลงไทย ก็ไพเราะมาก   ถอดเนื้อหาจากในหนังสือมาได้ครบ
ดิฉันยังไม่ได้ไปค้นว่าใครแต่ง  ครูชาลีหรือครูแจ๋ว  
****************
อ้างถึง
...คนเรานี้ช่างน่าขำ..อยากจำกลับลืม...อยากลืมกลับจำ...
พอถึงวัยหนึ่ง  ต่อให้อยากจำ   ก็ลืมอยู่ดีละค่ะ   หมดปัญหาอยากลืมไปโดยปริยาย  ;)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 16:21
ที่หยุดรถบ้านทรายทอง ตำบลทรายทอง อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

(http://i58.photobucket.com/albums/g271/rft_extend/12255/364.jpg)

บ้านทรายทอง

ผู้ประพันธ์ : ชาลี อินทรวิจิตร

นี่คือสถาน แห่งบ้านทรายทอง ที่ฉันปองมาสู่
ฉันยังไม่รู้ เขาจะต้อนรับ ขับสู้เพียงไหน
อาจมียิ้มอาบ ฉาบบนสีหน้า ว่ามีน้ำใจ
แต่สิ่งซ่อนไว้ ในดวงจิต คือความริษยา

เขตรั้วไพศาล โอบบ้านทรายทอง คือแขนของพระเจ้า
ขอจงเอื้อมมือ และโอบกอดเรา ผู้ผ่านเข้ามา
เพียงเดียวดาย อาจตายเพราะโง่ โอ้อนิจจา
โปรดอย่าอิจฉา สมาชิกใหม่ ของบ้านทรายทอง

เขตรั้วไพศาล โอบบ้านทรายทอง คือแขนของพระเจ้า
ขอจงเอื้อมมือ และโอบกอดเรา ผู้ผ่านเข้ามา
เพียงเดียวดาย อาจตายเพราะโง่ โอ้อนิจจา
โปรดอย่าอิจฉา สมาชิกใหม่ ของบ้านทรายทอง

 ;D


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 10, 16:26
ขอคั่นจังหวะเพลงรักหวานแหววสีชมพูจ๋าสักนิด


อ้างถึง
ถามว่า       ซ่องไหนที่อยู่ซอยกลาง

ตอบ         เจ๊หนอม

วันดี         บ้าเหรอ        ซอยกลางสมัยก่อนเปลี่ยวจะตาย         คุณลุงป. เริ่มเขียน ๒๔๘๒
              ๒๕๐๐  ซอยกลางยังมีทุ่งนา   มีกระต๊อบเต็มเลย  หรือบังกาโลริมแสนแสบ

ขอยืนยันครับว่าซ่องเจ๊หนอมของป.อินทปาลิตอยู่ซอยกลาง แต่ซอยกลางตอนผมอายุยังไม่ถึงสิบขวบนี่ ไม่ค่อยจะมีบ้านสักกี่หลัง แต่ที่ปลายๆซอยไชยยศมีบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้อยู่หลังหนึ่งทาสีเหลืองๆ  ถ้ายกไปไว้ซอยกลางละก็..ใช่เลย

ขอถามพวกลูกสาวหน่อย อยากทราบจริงๆนะครับ อย่าหาว่าทะลึ่ง เมื่ออ่านเจอสามเกลอตอนไปเที่ยวผู้หญิง ที่บอกว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจน่ะ ไม่สงสัยบ้างหรือครับ ผมน่ะ เอาความสงสัยไปถามแม่ว่า กระหรี่นี่เป็นยังไง แม่มองผมเป๋งแล้วตอบสั้นๆว่า เป็นผู้หญิงคนชั่ว ผมยิ่งงงหนักเข้าไป..เอ๋ชั่วอย่างไร แล้วทำไมผู้ชายดีๆถึงชอบไปหากัน ขยับจะถามต่อแต่แม่ก็ชิงถามกลับมาก่อนว่า นี่ไปรู้มาจากไหน ใครสอน ผมเลยต้องเงียบกริบแล้วทำเป็นไก๋  รีบเดินหนีไปในบัดเดี๋ยวนั้น


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 16:59
ขอถามพวกลูกสาวหน่อย อยากทราบจริงๆนะครับ อย่าหาว่าทะลึ่ง เมื่ออ่านเจอสามเกลอตอนไปเที่ยวผู้หญิง ที่บอกว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจน่ะ ไม่สงสัยบ้างหรือครับ ผมน่ะ เอาความสงสัยไปถามแม่ว่า กระหรี่นี่เป็นยังไง แม่มองผมเป๋งแล้วตอบสั้นๆว่า เป็นผู้หญิงคนชั่ว ผมยิ่งงงหนักเข้าไป..เอ๋ชั่วอย่างไร แล้วทำไมผู้ชายดีๆถึงชอบไปหากัน ขยับจะถามต่อแต่แม่ก็ชิงถามกลับมาก่อนว่า นี่ไปรู้มาจากไหน ใครสอน ผมเลยต้องเงียบกริบแล้วทำเป็นไก๋  รีบเดินหนีไปในบัดเดี๋ยวนั้น


ทบทวนความหลังอย่างหนัก เจอคำถามนี้
ตอนเด็กๆ อ่านหนังสือเอาสนุก  ตอนไหนไม่เข้าใจก็ข้ามไป  ใจไปจดจ่อกับตอนสนุกในหน้าต่อ ๆไปมากกว่าค่ะ     ไม่อยากเสียเวลาอ่านตอนไม่สนุก
แต่ถ้าตรงไหนไม่เข้าใจ  อยากถามแม่  แม่ก็ตอบ   แต่แม่มีวิธีตอบให้เราเข้าใจได้ตามวัย    ไม่ถือว่าเป็นเรื่องต้องห้าม

แม่มีหลักว่า ถ้าลูกถาม ต้องตอบ  เพราะลูกอยู่ในวัยที่ต้องการคำตอบ  ได้คำตอบจากพ่อแม่ ก็ย่อมดีกว่าพ่อแม่ไม่ตอบ แล้วลูกต้องไปแสวงหาคำตอบจากที่อื่น ซึ่งอาจจะผิดๆถูกๆก็ได้
สู้แม่ให้คำตอบเสียเองดีกว่า   เพราะแม่ย่อมดูออกว่า ควรบอกอะไรได้มากน้อยแค่ไหน


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 17:12

     ไปถาม คุณหน่อย   เจ้าของ su-used book  เรื่องซ่องในสามเกลอ 

แถมบอกว่าคุณเทานำรูปสามเกลอมาลง         คุณหน่อยหัวเราะกรี๊ดด้วยความดีใจ  ฝากเรียนคุณเทาชมพูว่ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง

เพราะเขาก็ตามอ่านอยู่เหมือนกัน  เช่นกระทู้คุณเปรมเป็นต้น



ฝากบอกคุณหน่อยด้วยค่ะ ว่าดิฉันก็ดีใจที่เจอปกหนังสือสามเกลอรุ่นเก่าในเว็บของคุณหน่อย   เหมือนเจอเพื่อนเก่าเลยเชียว 


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: ponl ที่ 01 ก.ค. 10, 17:15



เพลง หากรู้สักนิด  ควรเป็นเพลงเอกของบ้านทรายทอง  แต่กลับถูกกลบด้วยเพลง "นี่คือสถานแห่งบ้านทรายทอง ที่ฉันปองมาสู่..."
จนคนไปรู้จักเพลงไตเติ้ลมากกว่าเพลงเอก  ที่พจมานเล่นเปียโนให้คุณชายกลางฟัง
เนื้อร้องในนิยาย ก.สุรางคนางค์บรรยายว่า เป็นเพลงฝรั่ง    เมื่อมาแต่งเป็นเพลงไทย ก็ไพเราะมาก   ถอดเนื้อหาจากในหนังสือมาได้ครบ
ดิฉันยังไม่ได้ไปค้นว่าใครแต่ง  ครูชาลีหรือครูแจ๋ว   
****************


เพลงหากรู้สักนิด นิพนธ์คำร้องโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล ครับ และแต่งทำนองโดย หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ครับ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 01 ก.ค. 10, 17:21
            เพลง หากรู้สักนิด นิพนธ์ของเสด็จพระองค์ชายใหญ่ มีมาแต่ดั้งเดิมครั้งเป็นละครเวที
ที่ศาลาเฉลิมไทย จัดโดยอัศวินการละครของพระองค์ท่าน
            ส่วนเพลง บ้านทรายทอง คุณชาลีแต่งภายหลังเมื่อมาเป็นละครทีวี น่าจะเป็นครั้งที่คุณอรัญญา
รองนางสาวไทย รับบทพจมานคู่กับคุณฉลอง ทางช่องสี่ บางขุนพรหม โดยมีคุณกัณฑรีย์ ภรรยาคุณฉลอง
รับบทหญิงเล็ก เป็นละครที่ประสบความสำเร็จมาก แต่คนดูต้องอดใจรอชมต่ออย่างนานเพราะสมัยนั้น
ละครเล่นเดือนละครั้ง
            ทั้งสองเพลงนี้คุณสวลีร้อง ทั้งเมื่อเธอเป็นพจมานบนเวทีละคร และร้องประกอบละครทางช่องสี่
 
บทสัมภาษณ์เรื่องเพลงหากรู้สักนิด คุณสวลีเล่าว่า

              "เพลงหากรู้สักนิดนี่ ผู้แต่งทำนองคือ ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ เนื้อร้อง เสด็จพระองค์ชายใหญ่
(พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล) ทรงนำข้อความในหน้าสุดท้ายที่ว่า...

            หากฉันรู้สักนิดว่าเธอรักฉัน หากเธอจักบอกฉัน ให้รู้สักนิด เพียงแต่กระซิบเบา ๆ ว่า 'สุดที่รัก'
ฉันก็มิอาจพรากไปจากเธอได้ จิตใจของเราทั้งสองก็จะไม่สลายชอกช้ำขมขื่นไปนานครัน หากฉันรู้สักนิด...
ว่าเธอรักฉัน...มาแต่งเป็นเนื้อเพลง"

           ส่วนเพลง บ้านทรายทอง นั้นมาแต่งภายหลัง ซึ่งคุณสวลีก็ได้ร้องอัดเป็นแผ่นเสียงไว้เช่นกัน
แต่งขึ้นมาเพื่อประกอบเวลาขึ้นไตเติ้ล

              ได้อ่านเรื่อง หญิงคนชั่ว ครับ น่าจะเป็นตอนมัธยม เพราะตอนนั้นมีข่าวว่า คุณาวุฒิ ผู้กำกับศิลปินแห่งชาติ
ผู้ล่วงลับไปแล้ว สนใจจะหยิบมาทำเป็นหนัง
              อ่านแล้วรู้สึกเรื่อยๆ เนือยๆ ปนสงสัยว่าเป็นไปได้หรือ ความรู้สึกนี้เป็นเช่นเดียวกับเมื่ออ่านเรื่อง
La Dame Aux Camelias ของ Dumas ภาคภาษาไทย (ที่น่าจะ)ชื่อว่า แม่ดอกพุดซ้อน


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 17:39
ขอบคุณทั้งสองท่านที่มาให้คำตอบค่ะ
บล็อคนี้รวบรวมละครบ้านทรายทองไว้น่าสนใจ สำหรับคนที่อยากรู้จักละครเรื่องนี้
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=offway&month=10-2008&date=18&group=12&gblog=6
********************
เรื่องอีกแนวหนึ่ง ที่ชอบมาตั้งแต่วัยรุ่น คือเรื่องนักสืบ    ปกติเด็กผู้หญิงอายุ ๑๔-๑๕ ไม่อ่านกัน   แต่ดิฉันชอบอ่าน
ในเรือนไทย อยากถามว่าใครเคยอ่าน ชุดนักสืบพราน ของ 4411  นามปากกาของพ.ต.อ. พุฒ  บูรณสมภพ  พระเอกเป็นนักสืบเอกชน ชื่อ พราน เจนเชิง
แต่เพื่อนๆคุณวันดีน่าจะมีเรื่องนี้ในคอลเลคชั่น บ้างนะคะ
สำนวนและการผูกเรื่องของคุณพุฒ ดีทีเดียว   ดำเนินเรื่องได้สมกับเป็นอัศวินแหวนเพชร ของพล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์มาก่อน


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 10, 18:42
คคห.52

เป็นคำตอบที่ดีครับ ขอบพระคุณ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 19:20
คำตอบของดิฉันในค.ห. 52  กลับไปอ่านแล้ว   น้ำเยอะเกินไป  เลยเทน้ำทิ้งไปให้เหลือเนื้อล้วนๆ
จากชามเกาเหลา ก็เลยกลายเป็นลูกชิ้นปิ้งเปล่าๆ      ใครที่อ่านเที่ยวแรก  กลับมาอ่านอีกครั้งอย่าเพิ่งแปลกใจนะคะ
ดิฉันถือว่าตอบคำถามคุณนวรัตนได้แล้ว ก็โอเคแล้วค่ะ

กลับมาเรื่องนักสืบ   
พราน เจนเชิง มีนางเอกเป็นเลขาฯสาวสวยชื่อกัลยา   ก็เป็นแฟนกันอยู่ในที  แต่ว่ายังไม่ถึงจังหวะเหมาะที่จะแต่งงาน
นอกจากนี้ก็มีนักสืบประจำสำนักงาน   เป็นลูกน้องอีก 2 คน
การสืบเรื่องก็มีเหตุ มีผล มีรายละเอียดและที่มาที่ไป ครบถ้วน   ภาษาถือว่าดี อ่านเข้าใจง่าย ลำดับเรื่องได้กระชับ
ยังจำได้ถึงฉากที่พระเอกพานางเอกไปดักซุ่มอยู่แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ     ตอนสามทุ่ม  มืดและเงียบสงบไร้ผู้คน    อยู่กันสองคนในรถ  โรแมนติคไม่น้อย
สมัยนี้  ต่อให้คุณพรานพากัลยาไปตอนตีสาม  ก็ยังหนวกหูจากรถราอยู่ดี   
อีกตอนหนึ่งผู้ร้ายขับรถมาชนกับรถอีกคันที่สี่แยกราชประสงค์ ด้วยความเร็วสูง  จนยางระเบิด    สมัยนี้ไม่มีทาง
เรื่องนักสืบ ไม่เห็นค่อยมีใครเขียนกันอีก    มีก็น้อยมาก   ส่วนใหญ่เราจะนิยมเรื่องแปลมากกว่า

ก็ขอเล่าต่อถึงนิยายแปล เรื่องนักสืบ    เรื่องในดวงใจคือ เชอร์ล็อค โฮล์มส์  ฝีมือแปลของคุณอ.สายสุวรรณ
แปลได้ถี่ถ้วน  ประณีตบรรจง   จนคนอ่านเดินไปตามถนนเบเกอร์ในปลายศตวรรษที่ ๑๙ ได้สนิทใจ   ทั้งๆไม่เคยเห็นอังกฤษด้วยซ้ำ 
ดีใจที่เรื่องนี้พิมพ์ใหม่ โดยสนพ.ดอกหญ้า     ไม่งั้นดิฉันคงคิดถึงเชอร์ล็อคโฮล์มส์และหมอวัตสันมากทีเดียว 


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 01 ก.ค. 10, 20:30
กราบสวัสดีอาจารย์และท่านผู้อาวุโสทุกท่าน แหะ ๆ กระผมนิดหน่อยเองขอรับขอนั่งพับเพียบกับพื้นสงบเสงี่ยม ฟังผู้ใหญ่รำลึกถึงความหลังกัน พาดพิงถึงหนังสือเล่มไหนจะรีบไปคุ้ยกองหนังสือมาเอาลงหน้าร้านไว้เพื่อได้วางลิงค์ภาพมายังที่นี่
พี่ท่านวันดีสอนไว้ว่าทำอะไรให้ผู้ใหญ่สุขใจได้บุญนักหนานะคุณนิดหน่อย


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 20:39
สวัสดีค่ะ   ขอต้อนรับเข้าร่วมวงอีกหนึ่งท่าน

คุณอ.สายสุวรรณแปลเชอร์ล็อคโฮล์มส์ได้ละเอียดถี่ถ้วนเหลือเกิน    อ่านกี่หนก็ไม่เบื่อ    ดิฉันเป็นคนชอบอ่านหนังสือเล่มโปรดซ้ำไปซ้ำมา ไม่เบื่อ ก็เลยจำเรื่องได้
พอโตขึ้นไปอ่านฉบับภาษาอังกฤษ ก็เลยเข้าใจง่าย เพราะรู้แล้วว่าคำนี้แปลว่าอะไร จากในฉบับภาษาไทย 

ในเรื่อง "หมาผลาญตระกูล" เป็นเรื่องยาว ๑ ใน ๔ เรื่องของเซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ผู้แต่ง    บรรยายถึงฉากตอนใต้สุดของอังกฤษ ที่คอร์นวอลล์      มีทุ่งร้างมหึมาอยู่ที่นั่น เป็นที่สิงสถิตย์ของตำนานหมาปีศาจ
คุณอ.แปลไว้จนเห็นภาพ   มีโอกาสไปอังกฤษ ลงไปถึงใต้สุด Land's End  ผ่านทุ่งที่คอร์นวอลล์   ต้องร้องโอ้ก   เหมือนจริงๆ ที่บรรยายไว้   ถ้าเป็นกลางคืนคงยิ่งเปล่าเปลี่ยวน่าสะพรึงกลัว 

หาหน้าปกเรื่องนี้ไม่เจอ  เจอแต่ หุบเขาแห่งภัย เป็นชุดของเชอร์ล็อคโฮล์มส์เหมือนกัน    เรื่องนี้เล่าย้อนไปใช้ฉากคาลิฟอร์เนีย  ตัวเอกเป็นนักสืบจากสำนักงานพิงเกอร์ตัน  ซึ่งมีจริงในอเมริกา   


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 20:53
ขอเลี้ยวกลับมาที่ นักสืบพราน ของ 4411 หรือพ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ
เรื่องนักสืบพราน  เคยทำเป็นหนังไทย  เป็นการผจญภัยตอนหนึ่งของพราน เจนเชิง ชื่อ "จำเลยไม่พูด" แต่เรื่องเป็นไงจำไม่ได้เลย    จำหนังไทยได้แต่ว่าแสงในเรื่องมืดมาก  ดูไม่รู้เรื่องสำหรับเด็กอายุไม่ถึง ๑๕
ชุดนักสืบพราน มีชื่อแปลกๆ เช่น จำเลยไม่พูด  นมถ้วยสุดท้าย   
ต่อมาอ่านเรื่องแปล นิยายสืบสวนของทนายความเอก ชื่อ เพอรี่ เมสัน มีเลขาคู่ใจสาวสวยชื่อเดลล่า สตรีท และนักสืบประจำสำนักงานชื่อพอล เดรค  รู้สึกว่ามีกลิ่นอายคล้ายนักสืบพราน
แต่เนื้อเรื่องไม่เหมือนกัน      ของคุณ 4411 มีอะไรเป็นไทยร่วมสมัยมากกว่า แต่ออกไปทางเท่แบบสากล ที่จำได้คือนักสืบพรานสวมหมวก และเสื้อนอกด้วย

นึกได้เลยลองไปถามคุณกู๊กดู  ก็เลยได้ประวัติของผู้แต่งมา   หลังจากสงสัยเสียนานว่า นักเขียนคนนี้หายไปไหน   ไม่เห็นวงวรรณกรรมเอ่ยถึงเลย
http://4411daughter.blogspot.com/2009/05/blog-post.html


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 01 ก.ค. 10, 20:59
นักสืบพรานเข้าใจว่าตีพิมพ์เป็นตอน ๆ คราวแรกที่ นิตยสารอาชญากรรม(CRIME) ภายใต้การนำของอธิบดีเผ่า ก่อนจะมาพิมพ์เป็นเล่มๆภายหลัง
(http://www.tarad.com/_tarad/_templates/b/_modules/view_image2.php?shopurl=su-usedbook&picname=http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2009012854652_b.jpg)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 01 ก.ค. 10, 21:02
ไปจูงคุณแต๋งแต๋งมาฝากครับ(http://www.tarad.com/_tarad/_templates/b/_modules/view_image2.php?shopurl=su-usedbook&picname=http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2009082525243_b.jpg)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.ค. 10, 21:02
อุ๊ยตาย!    โทนี่  ฮุย    มาก็ไม่ให้เสียง

ส่งรูปมาโดยเร็ว   ปริศนาที่นุ่งกระโปรงบานแฉ่ง มีไหมคะ    รูปน้าพุฒและเพื่อนอีกสองคนที่ได้รับแหวนเพขรรุ่นแรกพอมีหรือไม่

หนังสือที่ยืมมาสองกล่องเอาไว้ก่อนนะสหาย



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 21:36
ชุดขาวของปริศนา  ติดดาวสีเงินทั่วตัว จากอเมริกา  ใช้ผ้า ๓๐ เมตร เป็นแบบนี้ค่ะ   สมัยนี้สวมกันในโอกาสเดียวคือวันวิวาห์


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 21:58
หลังจากความสำเร็จเรื่องปริศนา  ก็มีนิยายในชุดเดียวกันตามมาอีก ๒ เรื่องคือรัตนาวดี และเจ้าสาวของอานนท์
รัตนาวดีเป็นเรื่องของท่านหญิงรัตนาวดี น้องสาวของท่านชายพจน์ พระเอกของปริศนา
ในเรื่องปริศนา ท่านหญิงยังเป็นสาวรุ่นอายุ ๑๖ ซนและเฮี้ยว      แต่ในรัตนาวดี ท่านหญิงเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว   เสด็จไปเที่ยวยุโรปโดยมีแชปเปอโรนเป็นป้าชาววังหัวโบราณ  ชื่อคุณป้าสร้อย ติดตามไปด้วย
พระเอกเป็นหม่อมเจ้าเหมือนกันชื่อท่านชายดนัยวัฒนา   แต่ว่าปลอมตัวมาเป็นคนขับรถ   
(ซึ่งเป็นพล็อตฮิท ติดอันดับอีกพล็อตหนึ่ง     ขอให้รู้ว่าในโลกของนิยายรัก  หากมีคนขับรถ สาวใช้ คนสวน  หน้าตาดีๆละก็   เชื่อขนมกินได้ว่าเป็นลูกคนใหญ่คนโตปลอมตัวมาหารักแท้กันทั้งนั้น  ไม่มีใครเป็นแรงงานต่างด้าว เหมือนในโลกแห่งความเป็นจริง)
แต่พล็อตรัตนาวดี เป็นการตกกระไดพลอยโจนของท่านชาย  ไม่ได้ตั้งใจจะปลอมตัวแต่แรก 

เส้นทางท่องเที่ยวยุโรปโดยทางรถ  จากอังกฤษไปฝรั่งเศส เยอรมัน   สวิส อิตาลีและจบลงที่โรม  เป็นเส้นทางที่พระองค์หญิงเคยเสด็จท่องเที่ยวกับท่านชายปิยะรังสิตเมื่อไปฮันนีมูนหลังสงครามโลก
เป็นเส้นทางสวยน่าอัศจรรย์    ชวนให้ฝันตามอยู่หลายสิบปีเชียวละค่ะ   


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 10, 22:02
http://www.youtube.com/watch?v=_g-D5WJ8Jes&feature=related


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 10, 22:45
อ้างถึง
อ่านบทความที่ไหนจำไม่ได้แล้ว เล่าว่าที่มาของท่านชายพจน์ คือท่านจันทร์ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี เจ้าพี่ของพระองค์หญิงเอง     เกิดไม่ทันเห็นท่านจันทร์ตอนหนุ่ม เลยตอบไม่ได้ว่าท่านหล่อขนาดไหน

ตอนแรกผมว่าจะชวนคุยเรื่องท่านจันทร์ ไหง๋เลี้ยวเข้าบ้านเจ๊หนอมไปได้ยังไหง๋ก็ไม่รู้สิเอ้า

ท่านจันทร์ผมรู้จักเพราะท่านเป็นพ่อของเพื่อน ท่านชายพจน์ผมไม่ได้อ่านเพราะไม่สนใจจะอ่าน เลยไม่ทราบว่าสององค์นี้เหมือนกันตรงไหน แต่ท่านจันทร์ท่านเป็นartistที่หาตัวจับยาก เรียนอยู่ที่เคมบริดจ์ ขณะนั่งอยู่ในห้องสอบ เกิดแดดออกท้องฟ้าแจ่มใส ปกติอากาศในอังกฤษจะเลวมาก อากาศมืดครึ้มเย็นยะเยือก ฝนตกปรอยๆ ตลอดวัน ท่านจันทร์จึงทนไม่ได้ ต้องออกจากห้องสอบไปรับแฟนเพื่อพายเรือกรรเชียงเล่นในแม่น้ำรับแสงแดด ไม่แคร์แม้น้อยที่จะต้องสอบซ่อม คุณชายยอดเถาเพื่อนผมก็ประมาณนั้น ฉลาดปานอัจฉริยะกลับเรียนสถาปัตย์เสียแปดปี ได้แค่อนุปริญญา แต่ได้ภรรยาเป็นอาจารย์ในคณะที่ใช้สีเทากะสีชมพูนี่แหละ แต่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้น คุณชายยอดมีกรรมพันธุ์เรื่องสายตา มองโลกแทบไม่เห็น แต่ทุกวันนี้ยังใช้ใบอนุปริญญาประกอบอาชีพสถาปนิกอิสระ ทำงานคนเดียวอยู่ที่เชียงใหม่ มีคนเอางานมาจ้างให้ออกแบบเสมอ ไม่รู้ทำกันไปได้อย่างไร แต่ชอบงานร้องเพลงให้ฟรีๆในร้านขายเหล้ามากกว่า

ท่านจันทร์เคยมาเยี่ยมลูกชายที่จุฬาครั้งหนึ่ง เป็นเวลาที่เขาซ้อมรักบี้กัน ท่านทนไม่ได้อีกแล้ว ต้องลงไปวิ่งส่งลูกรับลูกกับเขาด้วยทั้งๆที่ใส่รองเท้าแตะฟองน้ำ คือท่านเก่งรักบี้มาตั้งแต่อยู่ที่อังกฤษน่ะครับ มาเมืองไทยก็เล่นให้ทีมชาติไทยด้วย แต่วันนั้นท่านหอบซี่โครงบาน แต่ดูจะทรงมีความสุขมาก ใกล้ค่ำจึงชวนลูกชายกับเพื่อนๆไปทานข้าว ใกล้ๆแถวสามย่านก็ไม่โปรด นั่งเบียดกันไปในรถถึงซอยวรพงษ์ บางลำพูโน่น เพราะจะเสวยข้าวต้มกับปูดอง แกล้มเบียร์

ปกติท่านจันทร์ท่านจะว่ากวีอยู่ที่ร้านมิ่งหลี หน้ามหาวิทยาลัยศิลปากรที่พวกศิลปินเขามาชุมนุมกินเหล้า ประสาทวิชาศิลปะนอกหลักสูตรจบกันไปหลายรุ่นก็ที่นั่นจนเรียกว่าสถาบันมิ่งหลี ต่อมาอังคาร กัลยาณพงศ์ดังขึ้นมาด้วยเชิงกวีที่ไม่ซ้ำแบบใคร พอเทียบกับท่านจันทร์ได้ เพื่อนก็เลยเรียกท่านอังคาร ให้คู่กันแล้วฟังดูดี ตอนแรกท่านอังคารโกรธมาก หาว่าเพื่อนล้อ แต่ตอนหลังก็ชินๆไป ยอมรับเป็น“ท่าน”โดยดี

ไม่ทราบท่านพจน์สู้ท่านจันทร์ได้หรือเปล่า..?


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.ค. 10, 06:49

ท่านชายพจน์องค์จริง  หล่อมาก


       ไม่ได้สงสัยเรื่องซอยกลางมีสำนักโสเภณีหรอกค่ะคุณ  Navarat.C   พยายามคิดตามว่าบ้านหลังไหนหนอ 

ขนาดพี่สมร ใน สนิมสร้อย ของ 'รงค์  วงษ์สวรรค์ ตั้งสำนักอยู่บางกะปิเหมือนกัน    เดิมเธอก็อยู่ซอยทองหล่อ

ราคา ๓๐๐ บาท  ในขณะที่  ป้าหยิบ และ ที่แถวแพร่งสรรพศาสตร์  ๑๐ บาท    หม่อมแข ๒๐ บาท

อ่านตลุยมาทั้ง หญิงคนชั่ว   สนิมสร้อย  และ รอยมลทิน


       ชอบสนิมสร้อยมาก

       เคยเก็บหนังสือของ 'รงค์  วงษ์สวรรค์   ไว้ได้หลายตั้ง





กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 07:57
ท่านชายพจน์ในเรื่องเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ   เรียนจบแพทย์ เป็นหมอผ่าตัด(ศัลยแพทย์) ร้องเพลงฝรั่งได้เพราะมาก
เป็นคนขรึม ไว้องค์   มีระเบียบ   ภูมิฐานจนผู้คนหาว่าหยิ่งยโส  เพราะท่านไม่ชอบสุงสิงกับใคร  ไม่โปรดสังคมกินเหล้าเคล้าข้าวต้ม    ไม่ไปไหนนอกจากที่สปอร์ตคลับ
โดยนิสัยท่านเป็นสุภาพบุรุษทุกกระเบียดนิ้ว  สุขุม ไม่วู่วาม  อดกลั้นอดทน
สรุปแล้ว  ดูเท่าไรๆนอกจากเป็นหม่อมเจ้าเหมือนกันแล้ว   ดิฉันก็ไม่เห็นท่านมีอะไรเหมือนท่านจันทร์เลยสักนิด
ท่านชายพจน์เป็นประเภทจะนั่งทำข้อสอบอยู่จนจบ  ต่อให้พายุกระหน่ำฟ้าคะนอง      ถ้าไม่ผ่าลงมาที่โต๊ะของท่านตรงๆ ท่านต้องทำหน้าที่ให้จบเสียก่อน
โปรดเล่นเทนนิส  ไม่เห็นพูดถึงรักบี้

ดิฉันกลับไปเดาว่า ท่านพจน์น่าจะมีที่มาจากม.จ.ปิยะรังสิต  พระสวามีของพระองค์หญิงวิภาวดีมากกว่าค่ะ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 08:12
ต้องขอร้องเรียนคนอ่านอื่นๆในกระทู้ว่า คุณนวรัตน ทำเอาดิฉันนอนไม่หลับไปครึ่งคืน   เพราะมัวสงสัยตัวเอง  จากคำถามว่า  ทำไมเรื่องที่ดช.นวรัตน สงสัยเวลาอ่านนิยาย  ดญ.เทาฯ ไม่เห็นจะสงสัย  
แล้วเราไปสงสัยอยากรู้เรื่องอะไร
คำตอบที่ว่า ถ้าสงสัยก็ถามแม่  ก็เป็นเพียงคำตอบส่วนหนึ่ง  เพราะเรื่องถามแม่มีน้อยมาก    อ่านหนังสือนิยายอย่างเงียบๆอยู่คนเดียวเสมอ    
เพราะร.ร.ดิฉันหยุดวันพฤหัส   ไม่เหมือนที่อื่นที่เขาหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือหยุดวันพระ     วันพฤหัสจึงเป็นวันอยู่บ้านคนเดียว  พ่อแม่ไปทำงาน    นั่งอ่านนิยายนิทานอยู่คนเดียว

คิดอยู่หลายช.ม. จึงได้คำตอบว่า   เด็กชายกับเด็กหญิงสงสัยใคร่รู้ไม่เหมือนกัน
เรื่องเจ๊หนอม ซอยกลาง พวกนี้ ผ่านสายตาไปโดยไม่สะดุดเลย
กลับไปสงสัยว่า ปริศนาแต่งชุดราตรีผ้า ๓๐ เมตร มีดาวเงินติดทั่วตัว   เวลาถูกแสงไฟในงานก็แวบๆทั่งตัว  
พระองค์หญิงวิภาวดีทรงบรรยายว่า ปริศนาเดินผ่านแสงไฟสีแสด   ดาวก็เปลี่ยนเป็นสีแสด   ผ่านต่อไปถึงไฟสีเขียว ดาวก็เปลี่ยนเป็นสีเขียว  ซึ่งเป็นภาพที่ท่านชายเห็นว่าน่าดูที่สุด

สงสัยมากว่าดาวพวกนั้นทำด้วยอะไร
ทีแรกคิดว่าเป็นกระดาษเงิน    ก็สงสัยต่อว่า กระโปรงชุดนี้เวลาเอาไปซัก  ดาวมิเปื่อยหลุดหมดหรือ
หรือว่าเป็นโลหะสีเงินบางๆ  สมัยนั้น เขากรุในกล่องขนมปังครีมแครกเกอร์  พอเปิดฝากล่องจะเห็นแผ่นโลหะบางแต่แข็งปิดอยู่ข้างบนขนม อีกที    
ดาวเงินเป็นพวกนี้หรือเปล่า  คงจะตรึงเอาไว้บนผ้ากระโปรง     ดาวพวกนี้ต้องผิวเรียบสะท้อนแสง  เวลาไฟสีส่องกระทบ  มันถึงสะท้อนสีเดียวกันออกมา


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 08:21

นวนิยายไทย สารภาพว่าไม่ใคร่ได้อ่าน

จะมารู้จัก ก็ตอนมาทำเป็นละครทีวีแล้ว

แม้แต่คุณเพ็ญชมพูผู้ไม่อ่านนิยายไทย

ไม่ใคร่ได้อ่าน  ต่างจาก ไม่อ่าน


นวนิยายไทยอ่านบ้างตอนอยู่ระดับมหาวิทยาลัย

เรื่องในดวงใจเรื่องแรกคือ "ข้างหลังภาพ" ของศรีบูรพา

เรื่องนี้รู้จักก่อนที่่จะเป็นภาพยนตร์และละครทีวี

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/696/26696/images/pic.jpg)

สงสารคุณหญิงกีรติจับใจ ซึ้งกับความสุดท้ายที่คุณหญิงสื่้อไว้ให้นพพรทราบความในใจ

ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก

คุณวิกกี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับต้นแบบของคุณหญิงไว้ว่า เป็นที่คาดหมายกันว่าตัวละคร หม่อมราชวงศ์กีรติ น่าจะถอดแบบมาจากหม่อมเจ้าบรรเจิดวรรณวรางค์ วรวรรณ  บางคนคาดว่าถอดแบบมาจากพระนางเธอลักษมีลาวัณ แต่ชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาของผู้แต่งระบุว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

http://th.wikipedia.org/wiki/ข้างหลังภาพ (http://th.wikipedia.org/wiki/ข้างหลังภาพ)

คุณเทาชมพู คุณวันดี คุณนวรัตน ช่วยวิเคราะห์หน่อยว่าใช่หรือไม่ หรือจะเป็นท่านอื่น

 ???


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 08:55

นวนิยายไทย สารภาพว่าไม่ใคร่ได้อ่าน

จะมารู้จัก ก็ตอนมาทำเป็นละครทีวีแล้ว

แม้แต่คุณเพ็ญชมพูผู้ไม่อ่านนิยายไทย

ไม่ใคร่ได้อ่าน  ต่างจาก ไม่อ่าน



แก้ไข แก้ไข   โปรดทราบ
เป็น คุณเพ็ญชมพู ผู้ไม่ใคร่ได้อ่าน 
 :)

ตั้งใจจะเล่าถึง "ข้างหลังภาพ" อยู่เหมือนกัน ว่าเป็นหนังสือที่อ่านสมัยเรียนมหาวิทยาลัย      หนึ่งในหนังสือแห่งอดีตกาลที่แม่ส่งให้อ่าน เป็นไฟล์ทบังคับ    ไม่ได้เลือกอ่านเองอย่างสามเกลอ
ตรงข้ามกับคุณเพ็ญชมพู   ดิฉันอ่าน "ข้างหลังภาพ" แล้วไม่ชอบ  เลยไม่อ่านซ้ำ     หลายปีต่อมา สอนวิชาสัมมนานวนิยายฯ   ต้องหยิบมาอ่านอีกประกอบการสอน  ก็ยังไม่รู้สึกชอบขึ้นมาสักเท่าไร

จำอารมณ์ตอนอ่านครั้งแรกได้ว่า    พอเห็นนางเอกอายุ ๓๕ กับพระเอกอายุ ๒๒  ( แถมนางเอกยังมีสามีแล้ว ) บอกตัวเองว่า ยังไงความรักก็ไปไม่รอด     เลยไม่รู้จะติดตามอ่านไปทำไม   
มันเหมือนเราไปฟังคำบอกเล่าของเพื่อน ที่เรารู้ว่าเรื่องเขาเป็นสิ่งที่ไปไม่ได้ตั้งแต่เริ่มต้น    เลยไม่อยากฟังต่อจนจบ
อย่างที่สองคือเมื่ออ่านครั้งแรก   โฮ้ย ทำไมพูดกันยาวจัง เป็นหน้าๆ  เลยแต่ละคน      เป็นภาษาเขียนในภาษาพูดทั้งนั้นเลย
ตอนนั้นยังไม่รู้สึกว่าไพเราะ ค่ะ

หนังสือแห่งอดีตกาลชุดที่แม่บังคับให้อ่าน  ไม่อ่านไม่ได้ คือนวนิยายของดอกไม้สด     ตอนแรกอ่านก็ไม่ชอบ เปิดเจอชายหนุ่มชื่อหลวงปราโมทย์กับหลวงนฤบาล ก็บอกแม่ว่าไม่อ่านแล้ว
คุณหลวง คุณพระ พระยา ที่ลูกสาวรู้จัก   ปาเข้าไป๗๐-๘๐ ทั้งนั้นเลย   เมื่อเข้าร.ร.เตรียม มีอาจารย์เจ้าคุณมาสอนด้วย    ชื่อพระยาอะไรลืมไปแล้ว  ทราบแต่ว่าท่านเป็นคนขับรถพระที่นั่งในรัชกาลที่ ๖   ดูเหมือนจะชื่อพระยาเทพอรชุน
ต้องถามคุณ V_Mee หากแวะเข้ามาอ่านนะคะ   
พอเข้าเรียนอักษรฯ ก็มีอาจารย์เจ้าคุณอนุมานราชธน     มีคุณพระเรี่ยมวิรัชพากย์  ๘๐ up ทั้งนั้น
เลยนึกภาพไม่ออกว่าคุณพระคุณหลวงเขาหนุ่มได้ยังไงกัน


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 09:07
กลับมาตอบคำถามคุณเพ็ญชมพู ว่าคุณหญิงกีรติมีที่มาจากใคร   
อ้างถึง
เป็นที่คาดหมายกันว่าตัวละคร หม่อมราชวงศ์กีรติ น่าจะถอดแบบมาจากหม่อมเจ้าบรรเจิดวรรณวรางค์ วรวรรณ  บางคนคาดว่าถอดแบบมาจากพระนางเธอลักษมีลาวัณ แต่ชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาของผู้แต่งระบุว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

ไม่รู้จักม.จ.บรรเจิดวรรณวรางค์     ส่วนพระนางลักษมีฯ เป็นเจ้านายสตรีที่ทรงพระโฉมงดงามมาก   เคยเห็นพระรูปเมื่อตามเสด็จมาซ้อมรบเสือป่าที่สนามจันทร์  ทรงกระโปรง(น่าจะเป็นกึ่งกางเกง)   ยังนึกว่าท่านสวยทันสมัย   สาวๆยุคนี้สู้ไม่ได้
แต่เมื่ออ่าน  ไม่รู้สึกว่าคุณหญิงกีรติมีตัวจริง
แต่รู้สึกว่า เป็นผู้หญิงแต่งตัวเก่ง   แต่งหน้าทาปาก อายุ ๓๕ ยังสาวพริ้งพอที่หนุ่มนักศึกษาจะหลงรักได้   
ปากที่ทาลิปสติคเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๒ อันข้างบนและหนึ่งอันข้างล่าง บอกให้รู้ว่าเป็นปากเล็กกระจุ๋มกระจิ๋ม   
เธอคงหน้าหวาน  รูปร่างอ้อนแอ้น กะทัดรัด   เพราะผู้หญิงสวยในยุครัชกาลที่ ๗   ตัวเล็ก สูงหนึ่งร้อยห้าสิบกว่าๆ ทั้งนั้น   ดูนางสาวไทยอย่างคุณกันยาและคุณหญิงสว่างจิต เป็นแบบอย่างได้
พอมาเห็นคุณคาร่า พลสิทธิ์ซึ่งสูงใหญ่เป็นลูกครึ่ง เล่นบทนี้  เลยอึ้ง   รู้สึกว่าไม่ใช่

ดิฉันไม่คิดว่าคุณหญิงกีรติมาจากใครที่มีตัวตนจริง  คิดว่าเป็นแบบในจินตนาการของศรีบูรพาว่า สาวใหญ่ผู้ดี ที่สะสวย  ละเมียดละไมประณีตและช่างฝัน  น่าจะบุคลิกแบบนี้
เคยเห็นพระรูปเจ้านายสตรี ที่ยังสาว สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง   หลายพระองค์ก็งามในสไตล์คุณหญิงกีรติ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 09:53
คุณกู๊กเพิ่งบอกให้รู้ว่า ท่านจันทร์ มีพระนามเต็มว่า หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี
พระนิพนธ์ที่ดิฉันชอบที่สุดคือกาพย์ยานี ๑๑ ที่ท่านแปลจาก sonnet บทที่ ๗๓ ของเชคสเปียร์

That time of year thou mayst in me behold
When yellow leaves, or none, or few, do hang
Upon those boughs which shake against the cold,
Bare ruin'd choirs, where late the sweet birds sang,
In me thou see'st the twilight of such day
As after sunset fadeth in the west,
Which by and by black night doth take away,
Death's second self, that seals up all in rest.
In me thou see'st the glowing of such fire
That on the ashes of bis youth doth lie,
As the death-bed whereon it must expire
Consumed with that which it was nourish'd by.
This thou perceivest, which makes thy love more strong,
To love that well which thou must leave ere long.


Sonnet 73
William Shakespeare

==================================

"เริ่มช่วงใบร่วงฤดู                    คือพี่ผู้ผ่านกลางวัย
ใบเหลืองไม่กี่ใบ                      บนต้นไม้ยังไม่ร่วง
เหลือติดอยู่กับกิ่ง                     หนาวสั่นยิ่งกว่าหนาวทรวง
นกน้อยเงียบทั้งปวง                  ว่างวัดวาหามีเสียง
โพล้เพล้เวลาพี่                        ใกล้ชีวีจะจบเพียง
ชั่วครู่อยู่ข้างเคียง                      แต่สูรย์ดับลับเหลี่ยมเขา
ความมืดจะตามมา                    พรากชีวาพาสู่เงา
ความตายหมายมุ่งเฝ้า               ที่จะเอาตัวพี่ไป

ดูเถิดดูตัวพี่                            ก่อนชีวินจะสิ้นไฟ
ผ่านพ้นคนกลางวัย                   ช่วงไฟมอดวอดชีวิต
เมื่อครั้งพลังหนุ่ม                      คือไฟสุมรุมแรงฤทธิ์
ไฟนั้นเมื่อดับสนิท                    ชีวินปลิดไปกับไฟ
รักพี่เถิดมากมาก                       จวนจะพรากจากกันไกล
ไปแล้วจะเลยไป                      ไม่มีวันหันกลับมา"

ซอนเน็ทบทที่ 73
โดย วิลเลียม เช็คสเปียร์
(แปลโดยหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 02 ก.ค. 10, 09:57
เอาข้างหลังภาพมาฝากครับ (ขออภัยถ้าจะมีลายน้ำมาเกะกะตาไปบ้าง) ส่วนตัวผมชอบเล่มสุดท้ายเพราะทันได้ไปชมภาพยนตร์ยังจำพี่หนุ่ยเอามือขวาลงแล้วเป็นนพพร ได้แม่น
(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20091210150639_b.jpg)(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2006100882233_b.jpg)(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20060428224828_b.jpg)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 02 ก.ค. 10, 10:04
รูปน้าพุฒกับผองเพื่อนอัศวินโต๊ะแบน ของคุณพี่วันดี ถ้าค้นดูในเล่มๆน่าจะมีแต่ต้องขอรับใช้ด้วยภาพหน้าปก(ซึ่งหยิบฉวยง่ายกว่า)มาก่อน สันปกของเล่มนี้น่าจะเป็นน้าพุฒสมัยหนุ่มนะครับ
(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2008091501047_b.jpg)
(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20060802225427_b.jpg)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 10:14
เห็นหนังสือที่คุณโทนี่ ฮุยสแกนมาให้ชม แล้วดีใจเหมือนเดินผ่านอุโมงค์เวลา กลับไปในอดีต   :D :D :D
เหลือบเห็นรายชื่อบนปกหลัง หนังสือนักสืบพราน
อาชญากรรมบันลือโลก ของม.ร.ว.กิตินัดดา กิติยากร  เล่มนี้แหละกำลังนึกถึงอยู่พอดี     
เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นนักสืบและอาชญากรรมต่างๆ  เขียนด้วยภาษาง่าย   เรื่องสนุก น่าอ่าน
มีเรื่อง "นักสืบจากสวรรค์" ที่เทวดาช่วยสืบให้นักเขียนเรื่องลึกลับที่ถูกฆ่าตายโดยไม่รู้ว่าใครฆ่า  วิญญาณเลยขึ้นสวรรค์อย่างไม่เป็นสุข
และอาชญากรรมของจอมวายร้ายชาร์ลส์ พีซ ของอังกฤษ
มีนักสืบปัวโรต์อยู่ในเล่มนี้ด้วยตอนหนึ่ง ชื่อคดีคนครัวล่องหน      กับคดีลึกลับของมารี โรเจต์ ที่นักเขียนเขียนจากข่าวจริงในหนังสือพิมพ์ แล้ววิเคราะห์จนได้ร่องรอย

เคยนึกว่า ถ้ามีเวลาว่างจะไปตามหาอ่านเรื่องลึกลับพวกนี้ทางเว็บไซต์   ค่อยเอามาเล่าให้ชาวเรือนไทยฟังอีกครั้ง


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ก.ค. 10, 10:21
            อ่านข้างหลังภาพครั้งแรกแล้วไม่ค่อยสนุก ไม่ซึ้ง เศร้าเท่าที่ควรครับ
ไม่รู้สึกรู้สามากมายกับประโยคอมตะ ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน ...

           ภายหลังเมื่อได้อ่านบทความและความเห็นของหลายๆ คนแล้วจึงเริ่มเห็น เริ่มชื่นชอบ
สิ่งที่อยู่ข้างหลังภาพ

            ชอบการตีความของ อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ครับ

            ในขณะที่นักวิจารณ์หลายท่านมองว่าปัญหาความรักระหว่างกีรติและนพพรเป็นปัญหา
ของช่องว่างระหว่างวัย ทัศนคติ อุดมการณ์ และชนชั้น แต่ผมมองว่าช่องว่างระหว่างคำพูด ความหมาย
และการตีความ คือหัวใจสำคัญของข้างหลังภาพ (ชื่อของนวนิยายเล่มนี้บอกโดยนัยถึงความสำคัญ
ของปัญหาเรื่องความหมายและการตีความดังได้กล่าวมาแล้ว)...

            แต่เป็นปัญหาของการตีความโดยเฉพาะการตีความคำพูดที่ต่างกันของคนทั้งสอง กล่าวคือ
นพพรมีแนวโน้มที่จะตีความคำพูดหรือพฤติกรรมของ ม.ร.ว. กีรติตามความหมายตรงตัว (literal meaning)
ในขณะที่ ม.ร.ว. กีรตินั้นจะสื่อความรู้สึกในใจโดยอิงอยู่กับความหมายเชิงโวหาร (rhetorical meaning)

            โศกนาฏกรรมของ ม.ร.ว. กีรติจึงมิได้อยู่ที่ไม่มีคนรักเธอ แต่อยู่ที่คนที่เธอรักมุ่งตีความตามตัวอักษร
และไม่สามารถจะตีความตามนัยโวหารที่เธอใช้ได้ ดังจะเห็นว่าทุกครั้งที่นพพรรบเร้าว่ารักเขาหรือไม่
ม.ร.ว. กีรติจะตอบโดยใช้โวหารการพูดอ้อม (peri-phrasis) เป็นส่วนใหญ่...

           ตราบใดที่เธอยังไม่ "ให้ถ้อยคำ" แก่เขา ที่สำคัญ ไม่ว่าเธอจะ "ให้ถ้อยคำ" มากมายเพียงใด
แต่หากเธอยังมิมอบคำว่า "รัก" ให้กับเขา นพพรก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าเธอรักเขา และความเคลือบแคลงใจนี้เอง
ทำให้ความรักของนพพรที่มีต่อเธอเสื่อมคลายจนหมดใจในท้ายที่สุด
             และกว่านพพรจะเรียนรู้ถึงวิธีการตีความนัยประหวัดของคำพูด ก็ต่อเมื่อทุกอย่างสายเกินไป
เขาได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่อยู่ "ข้างหลังภาพ" มีมากกว่ากระดาษและฝาผนัง


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ก.ค. 10, 10:25
และ         ชอบคารา พลสิทธิ์ ผู้รับบทคุณหญิงที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับนิยายนี้ครั้งหนึ่งประมาณว่า

                ชื่นชอบกลวิถีทางที่นิยายเรื่องนี้ แทนที่จะให้คุณหญิงเป็นตัวเดินเรื่องเพื่อนำพาอารมณ์รักรันทด
ต้องห้าม แต่กลับเลือกให้ฝ่ายชาย - นพพรเล่าเรื่องความรักแทน ได้เป็นรักที่หวือหวาตามวัยและอยู่ไม่นาน
เมื่อเวลาผ่านไปนพพรก็ลืมเสียเกือบสนิท ในขณะที่สำหรับฝ่ายหญิงแล้วรักนั้นชั่วชีวิต
     
               เป็นคำตอบที่ว่าอ่านแล้ว จึงได้ความรู้สึกขัดแย้ง สงสารเวทนาชะตากรรมซ้ำซ้อนของคุณหญิง
ตอกย้ำภาพผู้หญิงในยุคที่ไม่มีทางเลือกนัก มากกว่าจะพลอยเศร้าระทมไปกับตัวเธอ ที่ยังฝังใจอยู่ได้ฝ่ายเดียว
ทั้งที่เขาไม่เหลียวมอง


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 10:33
ชอบบทความของอ.ชูศักดิ์    เห็นด้วยค่ะ  

นพพรใน"ข้างหลังภาพ" ทำให้นึกถึงพระราชนิพนธ์แปล โรมิโอและจูเลียต ในรัชกาลที่ ๖

รักของชายหนุ่มเขาว่า  อยู่เพียงที่ดวงตา  มิใช่แน่ว ณ ดวงใจ

จำได้อีกอย่างเมื่ออ่าน"ข้างหลังภาพ" ครั้งแรกว่า   ถ้อยคำที่พูดกันระหว่าง ม.ร.ว. กีรติ และนพพร   ดิฉันไม่รู้สึกว่าพูดกันอยู่ ๒ คน แต่พูดกัน ๓ คน  
คนที่สามคือ ศรีบูรพา  พูดแทนคุณหญิงกีรติอยู่มากทีเดียว

อ้างถึง
เป็นคำตอบที่ว่าอ่านแล้ว จึงได้ความรู้สึกขัดแย้ง สงสารเวทนาชะตากรรมซ้ำซ้อนของคุณหญิง
ตอกย้ำภาพผู้หญิงในยุคที่ไม่มีทางเลือกนัก มากกว่าจะพลอยเศร้าระทมไปกับตัวเธอ ที่ยังฝังใจอยู่ได้ฝ่ายเดียว
ทั้งที่เขาไม่เหลียวมอง

ความเห็นของคุณ SILA ทำให้พอจะนึกออกรางๆว่าทำไมอ่านเรื่องนี้ครั้งแรกแล้ว  ไม่ได้ติดใจจนอ่านซ้ำ    คงเป็นเพราะไม่ชอบผู้หญิงที่มีทัศนะความรักแบบนี้
ถ้าดิฉันเป็นม.ร.ว. กีรติ  จะไม่เสียเวลารอนพพร  ให้ชีวิตอับเฉาโดยใช่เหตุ   ชีวิตไม่ได้หยุดนิ่งอยู่ที่วันวาน
ที่สำคัญคือถ้านพพรเห็นค่าของความรัก  ก็ยังคุ้มกับที่คุณหญิงกีรติอุตส่าห์รอคอย    แต่นี่เขาก็ไม่ได้เห็น เธอก็น่าจะรู้เสียนานแล้ว
บุญที่ไม่เคยมีความคิดแก้ตอนจบของนวนิยายอมตะเรื่องนี้    ไม่งั้น  คงไม่ได้มีแต่คุณเพ็ญชมพูคนเดียวที่ให้อภัยไม่ได้ :)

เชิญดูข้างหลังภาพ เดอะ มิวสิคัล
http://www.youtube.com/watch?v=q38AROsh1x8


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ค. 10, 10:53
อ้างถึง
คิดอยู่หลายช.ม. จึงได้คำตอบว่า   เด็กชายกับเด็กหญิงสงสัยใคร่รู้ไม่เหมือนกัน

ผมเห็นด้วยตั้งแต่ที่ตอบกระทู้โน้นแล้ว จึงนอนหลับดี ไม่มีการบ้านในสมอง

ยิ่งเห็นหนังสือที่คุณๆลูกสาวอ่าน มันก็เรื่องเดียวๆกันกับที่อยู่บนหิ้งหนังสือของแม่นั่นเอง เคยเอามาพลิกดูแล้วเก็บ เดี๋ยวนี้ก็ดูเหมือนว่ายังอยู่ แต่ขณะนี้ไม่รู้ว่าที่ไหน
แหล่งที่ผมอ่านมากก็ที่ห้องสมุดของโรงเรียน จะว่าไปมันก็เหมือนภาคบังคับ ถ้าไม่อ่านหนังสือเหล่านั้นแล้วจะไปหาอ่านที่ไหนได้อีก อยู่โรงเรียนประจำเดือนนึงได้กลับบ้าน2วันไม่เคยคิดจะไปร้านหนังสือ พวกนวนิยายที่เริ่มอ่านเป็นชุดของหลวงวิจิตรวาทการ เริ่มจาก ดอกฟ้าจำปาศักดิ์ กุหลาบเมาะลำเลิง ฯลฯ สองเล่มนี่ชอบที่สุด ลุยเรื่องอิงประวัติศาสตร์หมดหิ้งแล้วต่อด้วย สวรรค์ยังไม่ทอดทิ้งข้าพเจ้า พระเอกเป็นนักเรียนเก่าญี่ปุ่นเหมือนนพพร แต่คนละแนวกัน แล้วก็เลยกลายเป็นเล่มโปรดของผมไปอีกเล่ม

ข้างหลังภาพ ของแม่ก็มี แต่ได้อ่านของห้องสมุดโรงเรียน อ่านแล้วก็งั้นๆ แต่ตอนเป็นหนัง ดี ชอบ เรื่องละครแห่งชีวิตชอบกว่าผิวเหลืองผิวขาว เมืองนิมิตร ชอบ แต่ไม่ลึกซึ้ง สงสัยว่าที่ชอบเพราะชอบตัวคนเขียน นอกนั้นไปอ่านพวกแนวสารคดีเป็นส่วนใหญ่ จนจบชั้นมัธยม


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 11:25
พ่อกับแม่ อ่านหนังสือไม่เหมือนกัน      แม่อ่านหนังสือของนักเขียนหญิง  พ่ออ่านของนักเขียนชาย
นักเขียนในดวงใจของพ่อมีคนเดียว  คือม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช    หนังสือเล่มแรกที่พ่อยื่นให้อ่าน คือรวมเรื่องสั้น "เพื่อนนอน" ของคุณชาย
เรื่องที่พ่อชอบที่สุดคือ ฆาตกรรมจากก้นครัว    คุณนายองุ่นเศรษฐินีคนงาม วัย ๔๐ กว่า กำจัดสามีไปได้ ๒ คน ด้วยฝีมือชาววัง     พอเล่าเรื่องให้นายตำรวจฟัง  ตอนจบก็เลยได้ว่าที่สามีคนที่ ๓  ผู้ไม่กลัวตาย
อาจเป็นเพราะพ่อชอบทำกับข้าวด้วย  เลยประทับใจมาก กับการบรรยายฝีมือกับข้าวของคุณนายองุ่น
ดิฉันมารู้หลังจากนั้นอีกหลายสิบปีว่า คุณชายคึกฤทธิ์ได้เค้าโครงมาจากเรื่องสั้น   Recipe for Murder ของนักเขียนชาวอเมริกัน   พี่มนันยาถ่ายเอกสารส่งเรื่องภาษาอังกฤษมาให้
เจ้าของเรื่องเดิมเขียนสู้ไม่ได้เลย   ฝีไม้ลายมือของคุณชายที่แปลงลูกสาวพ่อครัวฝรั่งเศสมาเป็นสาวชาววังไทย  เหนือชั้นกว่ามาก

เพื่อนนอน มีเรื่องสั้นที่อ่านแล้วน้ำตาตกได้ทุกรอบ คือเรื่อง มอม   เศร้าเสียจนไม่กล้าอ่านซ้ำ ตอนนายผู้หญิงและหนูตายเพราะระเบิดลง  หัวใจเจ้ามอมก็แตกสลาย  คนอ่านก็หัวใจแทบสลายตามไปด้วย

จากนั้นก็ได้อ่าน สี่แผ่นดิน ในห้องสมุด   พิมพ์ครั้งแรกเป็นรูปแม่พลอยห่มสไบสีเหลืองอ่อนนุ่งสีน้ำเงิน  ฝีมือวาดของ "แจ๋วแหวว" 
พอรู้ว่าชอบ แม่ก็ซื้อเรื่องนี้ให้อ่าน   แต่ชอบอ่านเฉพาะรัชกาลที่ ๕ กับ ๖   ส่วนตอนหลังๆเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วนั้น สลดหดหู่เกินไป

แปลกเหลือเกิน  บ้านเราไม่มีหนังสือของคุณหลวงวิจิตรวาทการสักเล่มเดียว   ทั้งๆท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงมาก


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ค. 10, 11:32
^
^
โอ้โฮ ผมลืมไปได้อย่างไร เรื่องแรกที่อ่านของท่านคือ หลายชีวิต ไผ่แดง และสี่แผ่นดิน แล้วเลยมาอ่าน พม่าเสียเมือง และกลายเป็นแฟนรุ่นเยาว์ของ "ตอบปัญหาประจำวัน" ในสยามรัฐ และติดชาวกรุง เลยไปถึงกระดึงทอง (ของใครทำก็ลืมไปแล้ว)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 12:06
กระดึงทอง มี บก.คือคุณสาทิส อินทรกำแหง  เขียน"จดหมายถึงตุลย์" เป็นจดหมายของชายหนุ่มเขียนถึงเพื่อน   เล่าเรื่องชีวิต  สะท้อนสังคมด้วยสำนวนภาษาละเอียดอ่อน  ให้เนื้อหาสะเทือนใจ
ไม่เคยเห็นใครเขียนลีลาซ้ำคุณสาทิส      หายไปหลายสิบปี กลับมาเป็นผู้เชี่ยวชาญชีวจิตไปแล้ว

"หลายชีวิต" เล่มแรกที่อ่าน  มีภาพประกอบในแต่ละชีวิต  เป็นลายเส้นไทย แบบโบราณพื้นสีดำลายเส้นขาว     ฝีมือศิลปินชาวหน้าพระลานท่านไหนไม่รู้ แต่สวยมากค่ะ
อ่านไม่ค่อยเข้าใจ  เพราะเป็นชีวิตหนักๆ จบลงด้วยความตายทุกคน    อ่านแล้วไม่ติดใจอีกเหมือนกัน     
เลยชอบ"เพื่อนนอน" มากกว่า

ตอบปัญหาประจำวัน ของคุณชายคึกฤทธิ์( พ่อเรียกแบบนี้  สมัยนั้นเขาไม่เรียกว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์) เป็นเรื่องที่พ่ออ่านติดมาก    ส่วนดิฉันได้มาอ่านตอนท่านเขียน "ซอยสวนพลู"
เรื่องอื่นๆเช่นฮวนนั้ง  พม่าเสียเมือง  โจโฉนายกตลอดกาล  มาอ่านตอนเรียนมหาวิทยาลัย


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ค. 10, 12:36
สรุปได้ว่าเด็กชายกับเด็กหญิงสงสัยใคร่รู้ไม่เหมือนกัน เลยแค่อ่านเกือบจะเหมือนกัน
ผมเพิ่งจะนึกได้ถึงคำว่า "อ่านได้สนุก ทุกเพศ ทุกวัย" จริงๆแล้วคงจะเขียนให้ประสพความสำเร็จยากเหมือนกัน


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 12:51
สรุปได้ว่าเด็กชายกับเด็กหญิงสงสัยใคร่รู้ไม่เหมือนกัน เลยแค่อ่านเกือบจะเหมือนกัน
ผมเพิ่งจะนึกได้ถึงคำว่า "อ่านได้สนุก ทุกเพศ ทุกวัย" จริงๆแล้วคงจะเขียนให้ประสพความสำเร็จยากเหมือนกัน
ถ้าวัดจากกระทู้นี้   "อ่านได้สนุก ทุกเพศ ทุกวัย" เห็นจะมีสามเกลอ ของคุณป. เท่านั้นมั้งคะ
๑๐๐ ปีของท่าน คนไทยน่าจะฉลองกันคึกคักกว่านี้
*****************
กลับมาทบทวนอีกว่า อ่านอะไรอีกบ้างในวัยเยาว์
มีเรื่องแปลเป็นส่วนใหญ่   ในเมื่อเริ่มอ่านเรื่องนักสืบ ก็ต่อด้วยนักสืบ   เช่นเรื่องของอาแซนลูแปง   เป็นผู้ร้ายผู้ดี ปล้นแต่คนรวย
เรื่องที่ติดใจมาก คือ "ผู้ร้ายผู้ดี" ของ มาคะสิระ    เป็นเรื่องแปลของฝรั่ง  ราคาเดิมเล่มละ ๕ บาท เป็นชุดเล็กๆ  ไปซื้อจากร้านหนังสือเก่า  ราคา ๕๐๐ บาท


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: watanachai4042 ที่ 02 ก.ค. 10, 13:28
ขออนุญาตร่วมวงสนทนาด้วยอีกคนนึงฮะ  ลองย้อนนึกดูว่าเคยอ่านหนังสืออะไรบ้างในวัยเยาว์  เยอะเหมือนกัน  เท่าที่นึกได้มีการ์ตูน หนูจ๋า  เขียนรูปโดยคุณจุ๋มจิ๋ม  นอกจากเขียนการ์ตูนได้ตลกแล้วการใช้คำพูดของท่านก็ตลก  เช่น ร้านเสริมสวย  ชื่อ พักตร์พัง  เลยหยิบหนังสือไปถามคุณครู (ทั้งที่กลัวโดนดุว่าอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียน) ท่านก็อุตส่าห์อธิบายว่า  พักตร์พัง  แปลว่า  หน้าพัง  ไม่สวย  ร้านเสริมสวยแต่ทำออกมาแล้วหน้าพังไงล่ะ  เท่านั้นเอง  ก็เก็บมานั่งหัวเราะเป็นนานสองนาน  นอกจากนี้ยังมีการ์ตูนเบบี้  ชัยพฤกษ์การ์ตูน ฯ

จำพวกนวนิยายก็มีที่ลงพิมพ์ในนิตยสาร   เช่น มีนัดไว้กับหัวใจ  ลงพิมพ์ในฟ้าเมืองไทย  ไม่รู้เรื่องหรอกแต่ก็อ่านไป  เพราะชื่อเรื่องดูวาบหวิว และที่ลงพิมพ์ในนิตยสารดรุณี ฯ  ซึ่งหน้าปกมักเป็นรูปนางแบบทำผมแข็งแน่นหนา  เขียนตาโตเป็นสองชั้นชัดเจน  นุ่งกระโปรงสั้นเป็นแสคติดกันเป็นผ้ามองตากูร์สีพื้นๆ  มีเข็มขัดเป็นผ้าสีสดๆ  หรือเป็นห่วงโลหะต่อเนื่องกันไปรอบเอว  ไม่ใช่  ต้องประมาณสะโพกบน  สวมถุงน่องยืนทำขาไขว้กัน หรือยกขาข้างนึงขึ้นไขว้ไปข้างหลัง สวมรองเท้าเตี้ยๆหุ้มส้นทึบ  แต่จำนวนิยายที่อ่านไม่ได้แล้วว่าเรื่องอะไรบ้าง 

ที่อ่านเป็นเล่มก็จากตู้หนังสือของลุง  เช่น  นิจ  ปริศนา  เจ้าสาวของอานนท์  สี่แผ่นดิน  เกิดวังปารุสก์  เรื่องแปล  เช่น  บ้านเล็กในป่าใหญ่  กระท่อมน้อยของลุงทอม

ขณะนี้กำลังชอบวรรณกรรมเยาวชน(แปล)เรื่องหนึ่ง  ชื่อว่า  เด็กชายในชุดนอนลายทาง  The Boy in the Striped Pyjamas  แปลโดย  วารี  ตัณฑุลากร  มีภาพยนตร์ด้วยในชื่อเดียวกัน  แต่ภาพยนตร์ดูเศร้ากว่ามาก  เป็นเหตุการณ์ย้อนยุคสมัยฮิตเลอร์กำจัดชาวยิวในเยอรมัน   รู้สึกว่าเราโชคดีแท้ๆที่ไม่ได้เกิดเป็นชาวยิว :'(  ท่านไหนอ่านแล้วบ้างฮะ? 


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.ค. 10, 14:13

สวัสดีค่ะ  คุณ watanachai4042     คุยกันให้ยาวเลยนะคะ

       อ่านนิจเป็นเล่มแรกในชุดดอกไม้สดเหมือนกันค่ะ

การอ่านก็คงเป็นยุค ๆ นะคะ     อ่านคล้าย ๆ กันบ้าง  ไม่ชอบบางเล่มบ้าง


คุณเทาชมพุคะ  มาคสิร   คือ คุณ  สมัคร  เสาวรสค่ะ    เพื่อนนักแปลชอบกันมาก   เสียดายที่ไม่มีโอกาสอ่าน  ว่ากันว่าสนุก


อ่าน เจ้าลอยแล้ว สะท้านไปด้วยความสามารถของท่านผู้ประพันธ์         มอมอ่านแล้วน้ำตารินทุกที

อ่านนิกกับพิมก็อดหัวเราะดังๆไม่ได้เรื่องพ่อแหยม  หรืออะไรที่หมาหอมคนว่าไม่หอม

ยังมีคนอีกหลายคนที่พยายามแนะนำให้ดิฉันคลุมโตีะไม้แดงด้วยพลาสติค


       ที่บ้านไม่มีหนังสือเล่มมากนัก  นิตยสารพอมีบ้าง    สยามสมัย  เดลิเมล์วันจันทร์  ศรีสัปดาห์  สตรีสาร และ    สยามรัฐที่มาตอนเย็น


มี "ชีวิตหวาม" ของพระนางเธอลักษมีลาวัณทิ้งไว้ประจำบ้านเล่มหนึ่ง  ก็อ่านเสียปรุ

      คุณย่าสอนแอมโบรซีนให้ท่องคติพจน์ของท่าน

      "จงอดทนอย่าบ่นว่าเบื่อโลก
       จงสู้โชคชะตากรรมทำใจเฉย
       จงปัดเป่าโชคร้ายให้กลายเลย
       จงอย่าเผยพจน์พรำ่รำพันเอย"

เก็บงานอื่นๆของท่านไว้ได้หลายเล่มเหมือนกันค่ะ



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.ค. 10, 14:28

     มี "สงครามชีวิต" อีกเล่ม  ห่อปกด้วยกระดาษแก้วขุ่นๆ    พี่สาวได้รับรางวัลขยันเรียนมาจากคุณครู

ท่านคงไม่ทราบหรอกว่า ด.ญ. วันดี ได้แอบหยิบหนังสือเล่มนี้อ่านไปกี่เที่ยว


พอย้ายบ้านแล้ว ผู้ปกครองซื้อ วรรณคดีให้ ๓ เล่มหนา  ก็นั่งอ่านไปเรื่อยๆ   กองหนังสือไว้รวมกัน  อ่านสลับกันด้วยความชำนาญ


ผู้ชนะสิบทิศ ซื้อตอนเล่มละ ๕ บาทค่ะ      ชุดขุนศึกไม่มี  แก่แล้วจึงแน่ใจว่า ขุนศึกตรงกับกฎหมายตราสามดวงและ พิชัยสงคราม


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 14:41
ไม่รู้จักคุณสมัคร เสาวรส   ถ้าเผื่อมีรายละเอียดเพิ่มก็ยินดีค่ะ    
เป็นคนแปลหนังสือสำนวนลื่น และเนียน  เสียจนดิฉันนึกว่าเขาแต่งเรื่อง ผู้ร้ายผู้ดี   ขึ้นมาจากหนังฝรั่งที่ได้ดูเสียอีก  

ผู้ร้ายผู้ดี แปลจาก The Ringer ของ Edgar  Wallace     คุณมาคสิระ บอกไว้ท้ายเรื่องว่าแปลจากของเอดการ์ วอลเลซ  แต่ไม่ได้บอกชื่อหนังสือ  
เคราะห์ดีว่าในโลกไซเบอร์ หาอะไรง่ายกว่าในห้องสมุด     ก็เลยหาเจอ ว่าเป็นผลงานเด่นที่สุดของนักเขียนเรื่องลึกลับสืบสวนคนนี้
เรื่องก็แบบอาแซน ลูแปงแต่สนุกกว่า   พระเอกเป็นผู้ปราบอธรรม   ถูกตามล่าทั้งจากตำรวจและเหล่าร้าย  แต่เก่งเรื่องปลอมตัว เลยรอดได้ทุกครั้ง   นางเอกสวยเหมือนดาราหนังเสียด้วย

จำพระนิพนธ์ของพระนางลักษมีไม่ได้เลย   ที่บ้านไม่มี  แม่เคยเล่าว่าท่านเขียนหนังสือเก่ง


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.ค. 10, 14:55

     ต้องจำไว้ถามสหายที่อ่านและเก็บหนังสือรุ่นนี้ค่ะ

     เรายังขาดการบันทึกอีกมาก    คนที่พยายามทำงานก็ยังมีภาระที่ต้อง ซื้อหนังสือและขายหนังสือ

     ขนาดเรื่องครูแจ้ง  และ นายมี  เรายังมีข้อมูลกันนิดเดียว

     ไปเจออะไรที่ไหนก็ต้องเก็บมาฝากกัน    ไม่มีการหวงแหนข้อมูลค่ะ ถ้าไม่ใช่แนวที่ต่างคนต่างทำ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ก.ค. 10, 15:10
             สงครามชีวิต ตอนเด็กยืมห้องสมุดมาแล้วอ่านไม่จบ ครับ
          จนโตแล้วถึงได้อ่านรวดจนจบอย่างเจ็บปนอึ้งกับการตัดสินใจเลือกทางเดินของนางเอก(เพลิน)
         ประทับใจกับประโยครำพันความเจ็บปวดของพระเอก (ระพินทร์) ที่เปรียบดังนกต้องธนู มากกว่า
ประโยคข้างหลังภาพของคุณหญิงกีรติ

           ประโยคเหล่านี้ คุณชาลีนำไปแต่งเป็นเพลง อาลัยรัก 

จากกระทู้เก่า   http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2667.10;wap2

           คุณชาลีเป็นนักแสดง นักร้องเพลงสลับฉากละครเวที จนวันหนึ่ง รพีพร ยื่นหนังสือสงครามชีวิต
มาให้อ่าน ต่อมาคุณชาลีมีโอกาสแต่งเพลงแทนนักแต่งเพลงที่เสียชีวิต คุณชาลีจึงแต่งเพลงนี้
(ร้องโดยคุณชรินทร์) แล้วประสบความสำเร็จได้แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และกลายเป็นนักแต่งเพลงชั้นครูสืบมา

             ส่วนคุณชรินทร์เล่าว่า ขับรถผ่านบ้านสุภาพบุรุษท่านหนึ่งแล้วท่านเรียกเข้าไปคุยในบ้าน
โดยที่ไม่ทราบว่าท่านเป็นใคร ก่อนจากยังได้รับห่อของขวัญที่เมื่อกลับบ้านเปิดดูเป็นหนังสือ สงครามชีวิต
พร้อมกับข้อความเขียนว่า ให้คุณชรินทร์ไว้ด้วยความรัก - ศรีบูรพา
             คุณชรินทร์รีบขับรถกลับไปกราบท่าน

                      "ถ้าฉันเป็นนก ฉันจะบินติดตามเธอไปทุกหนทุกแห่ง
               แม้ว่าระหว่างทางจะต้องศรเสียบทรวงอก
               ฉันก็จะอุตส่าห์พยุงกาย บินไปตกที่หน้าตักของเธอ
               เพื่อที่จะให้ยอดรักได้เช็ดเลือดและซับน้ำตาสักหยดหนึ่ง
               ฉันก็จะหลับตาตายอย่างเป็นสุข
               แต่นี่ฉันบินไม่ได้อย่างนก ขอแม่ยอดหญิงอย่าทอดทิ้งฉันไปเลย"

ส่วนตัวแล้วงานของศรีบูรพา ชอบ แลไปข้างหน้า ที่สุด ครับ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ก.ค. 10, 15:13
อีกหนึ่งนก ครับ

           ย้อนคิดดูแล้ว นิยาย(ขนาดสั้น)เรื่องแรกของเด็กนักเรียนใน "ยุคนั้น" น่าะเป็นเรื่องเดียวกัน
คือ นกกางเขน ครับ

             เช้าวันหนึ่ง นกกางเขนตัวผู้ตัวหนึ่ง เกาะอยู่บนกิ่งมะม่วงในสวน

             แบบเรียนสำหรับชั้นประถมสอง ที่มีเนื้อเรื่องกินใจ
             พิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๘๓  โดยกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น ผู้เขียนคือ กี่ กีรติ วิทโยฬาร
(บางที่สะกดว่า วิทย์โอฬาร วิทโยลาร วิทโยสาร ก็มี)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 15:41
จำพวกนวนิยายก็มีที่ลงพิมพ์ในนิตยสาร   เช่น มีนัดไว้กับหัวใจ  ลงพิมพ์ในฟ้าเมืองไทย  ไม่รู้เรื่องหรอกแต่ก็อ่านไป  เพราะชื่อเรื่องดูวาบหวิว

อ่าน "ฟ้าเมืองไทย" ของคุณอาจินต์ เป็นประจำ ที่ชอบก็เรื่อง "ไกด์บางกอก" ของ ต๊ะ ท่้าอิฐ

เคยเขียนกลอนไปประกวด คำบรรยายภาพ "ช้าง"

กำเนิดช้างแต่ดั้งเดิมเริ่มที่ป่า
ถูกจับมาฝึกหัดดัดนิสัย
จนเก่งกล้าสามารถอาจเกรียงไกร
สัีนดานไพรยังมีเหลือเมื่อ "ตกมัน"

เขียนไว้ประมาณมัธยมปลาย

 ;D



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 15:42
ที่บ้าน ไม่มีหนังสือของยาขอบ และไม้ เมืองเดิม    ก็เลยไม่ได้อ่านตอนเด็ก   ต้องขวนขวายหามาอ่านเองเมื่อโตขึ้น     แต่คงโตเกินวัยประทับใจกับหนังสือแล้ว ก็เฉยๆมาจนบัดนี้
ผลงานของยาขอบ เรื่องที่ชอบมีเรื่องเดียวคือ สามก๊กฉบับวณิพก  
นักเขียนชายที่ชอบมีคนเดียวคือม.จ.อากาศดำเกิง ในเรื่อง ละครแห่งชีวิต   อ่านชีวิตตอนเด็กของวิสูตร ศุภลักษณ์  เป็นเด็กผู้ชายตัวเล็กๆที่ขมขื่นเกินวัย     มองเห็นความยากไร้ทางใจของเขา  เป็นสีดำขาวตัดกันตรงกันข้ามในความโอ่อ่ามั่งมี ของบ้านเจ้าคุณพ่อ
ขอออกนอกซอยตามเคย ว่า ความประทับใจข้อนี้ นำมาเป็นภูมิหลังชีวิตของ ตาแหยม  ม.ร.ว. ทินภาค  ใน "คุณชาย"  

คุณโทนี่ ฮุยบอกว่าจะหาภาพหนังสือมาประกอบ  กระทู้วิ่งเร็วมาก ป่านนี้คงค้นหนังสือจนเหนื่อย

เรื่องแปลในดวงใจเมื่อวัยเยาว์  ไม่มีเรื่องไหนเทียบ "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ได้   อ่านครั้งแรกลงเป็นตอนๆในศรีสัปดาห์   แม่ซื้อให้ครบชุด ๘ เล่ม อ่านจนขาด   ต่อมาไปหาซื้อเองเป็นชุดที่สอง  ฝีมือแปลของคุณสุคนธรส
ไปได้ Little Houses  อังกฤษครบชุดมาจากเอเชียบุ๊ค ที่สยามดิสคัฟเวอรี่     ต่อมาไปอเมริกา  หาหนังสือที่เขียนถึงยุคพ่อแม่ของลอรามาได้อีก แต่อ่านแล้วไม่สนุกเท่าที่ลอร่าเขียนเอง ก็เลยทิ้งไว้ไม่ได้แตะต้องอีก


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: watanachai4042 ที่ 02 ก.ค. 10, 15:49
คุณsila  เรื่องนกกางเขนนี้เศร้า  เมื่อประถมสองอ่านแล้วน้ำตาไหล  แต่พอโตมาก็สังเกตว่านกกางเขนไม่ทำรังบนต้นไม้เหมือนในเรื่องนี้  แต่ชอบทำรังตามซอกมุมของอาคารสิ่งก่อสร้าง

นึกออกอีกเรื่องหนึ่ง  คือเพชรพระอุมาสมัยพิมพ์เป็นพอคเกตบุ๊คบางๆ  พี่ชายเป็นนักเลงซื้อมาอ่าน  ภาพวาดหน้าปกเป็นรพินทร์บ้าง  ดารินบ้าง  มาเรียบ้างใสชุดเดินป่ารัดรูปปลดกระดุมบนสองสามเม็ด  กำลังเล็งปืนเข้าใส่สัตว์ร้าย  ตอนนั้นอ่านเพราะนึกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ป่า  


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.ค. 10, 15:52

คุณโทนี่ ฮุย    คงขี่จักรยานลุยน้ำไปโกดังกระมังคะ  อยู่แถวราบ ๑๑        

ไม่ไว้ใจใคร  ไม่ให้ไปโกดังค่ะ        ไม่อยากขายหนังสือ   ประหลาดจริงๆ

ใครๆฝากชมเขากันระนาวเลยค่ะ       เขามีหนังสือโชว์เยอะ  แต่ไม่ขายเก็บไว้อ่านก่อน


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 15:59
"ปีศาจ" ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็สนุก

เคยอ่านพบว่า ร้านหนังสือบางแห่งจัดเอาไว้ในหมวดหมู่นิยายผี  ;D

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/833/6833/images/devill.jpg)

ไฮไลท์ของเรื่อง คงอยู่ที่วาทะของ "ปีศาจ" สาย สีมา ลูกชาวนาที่มาเรียนกรุงเทพ ตอบโต้การดูแคลนของท่านเจ้าคุณ บิดาของสาวคนรัก

"ความคิดผิดแผกแตกต่างกันในสมัยและเวลา ทำให้คนเรามีความคิดผิดแผกแตกต่างกันด้วย ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้  เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลา ที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้.... เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป... "

บทพูดของ สาย สีมา ยาวพอ ๆ กับบทพูดของคุณหญิงกีรติ แห่ง "ข้างหลังภาพ"

 ;D


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 16:26
ขอชมความอดทนของเจ้าคุณพ่อของรัชนีและแขกร่วมโต๊ะ ที่ฟังอยู่ได้จนจบปาฐกถาของสาย สีมา :)
"ปีศาจ" วางอยู่เป็นประจำในหอสมุดกลาง    เข้าไปในห้องทีไรเป็นต้องเห็น เหลืออยู่เล่มเดียวบนชั้นหนังสือ  เล่มอื่นๆถูกยืมไปหมด   
ดิฉันไม่เคยขอยืมออกมาอ่าน  เห็นชื่อก็นึกว่าเรื่องผีเหมือนกัน

นักเขียนสตรี ที่คุณไพลิน รุ้งรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนฯคนปัจจุบันกับดิฉันชอบตรงกัน คือ ศุภร หรือศุภร บุนนาค    บางคนในเรือนไทยอาจเคยได้ยินชื่อจาก ฟ้าใหม่ นิยายอิงประวัติศาสตร์สมัยปลายอยุธยา    เป็นนิยายที่รักษารายละเอียดทางวัฒนธรรมได้ถี่ถ้วนที่สุดเท่าที่เคยอ่านมา
คุณศุภรมีลูกสาวคนเดียว  เป็นนิสิตอักษรฯ รุ่นพี่     ชื่อสุริยา บุนนาค  ปัจจุบันเธอคือศาสตราจารย์คุณหญิงสุริยา รัตนกุล
แปลนิยายเชิงประวัติศาสตร์ยุโรปลงในสกุลไทยอยู่เวลานี้
นวนิยายของคุณศุภร ที่อ่านตอนอยู่มัธยม คือ รสลิน    เป็นเรื่องดังมากเมื่อลงในสตรีสาร   ส่วนหนึ่งมาจากวัยเด็กของเธอเอง   เขียนถึงชีวิตหนุ่มสาวสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ให้รายละเอียดภัยสงครามไว้จนเห็นภาพ เสียง การเคลื่อนไหว
เรื่องที่ไพลินชอบคือเรื่องสั้นของคุณศุภร  เธอเขียนเรื่องสั้นสะท้อนสังคมได้แหลมคมมาก    ไม่ว่าในชุด รอบตะเกียงลาน  ลมเย็น คนซื้อฝัน และ ที่รัก   
เรื่อง "เรื่องนี้พระเอกชื่ออ้ายเล็ก"  "คนซื้อฝัน"  " มิใช่ของตามตลาด"  เป็นเรื่องสั้นชั้นเยี่ยม มีลีลาเฉพาะตัว   ไม่เห็นนักเขียนรุ่นหลังเดินตามรอยนี้ได้สักคนเดียว
 อ่านมาจนทุกวันนี้ด้วยความทึ่ง  เป็นเรื่องสั้นที่มีลมหายใจมาจนวันนี้ แม้ว่าผู้เขียนล่วงลับไปนานแล้ว

ส่วนเรื่องยาว เว้นแต่ รสลิน   เป็นสิ่งน่าประหลาดมาก ที่คุณศุภรเขียนนิยายรักโรแมนติคได้ไม่เนียนอย่างเรื่องสั้น     พระเอกนางเอก เป็นกระดาษแข็ง  มี ๒ มิติ เท่านั้น    ไม่ว่าเรื่องไหน ไม่เคยเห็นพระเอกนางเอกมีชีวิตจริงได้สักเรื่องเดียว
ยังเสียดาย อยากให้เธอเขียนเรื่องสั้นมากกว่านี้ค่ะ   


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.ค. 10, 16:29

นึกอยากกินหมี่กรอบไข่นอกค่ะ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 16:42
ตอนที่คุณพ่อของรสลินนัดเพื่อนมาเล่นวงมโหรีที่บ้านละซี
เคยกินทั้งหมี่กรอบ และผัดหมี่   แต่ไม่เคยกินที่ใส่ไข่ดิบๆตอกลงไปในกระทะ แล้วกลบด้วยหมี่ร้อนแลเป็นมันเยิ้ม   หอมกลิ่นส้มซ่าด้วย
เลยอยากถามคุณวันดีว่ามันคือหมี่กรอบ หรือผัดหมี่กันแน่ คะ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.ค. 10, 17:48

ส้มซ่าก็ผัดหมี่กรอบซิคะ

บ้านพระเอกก็แกงบะช่อตำลึง

คุณยายก็วางกระทงหมูหวานตำราตำหนักอะไรสักแห่งตอบแทน


เรื่องอาหารการกิน   ลืมยากค่ะ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 18:22
ฉากหนูน้อยรสรินกินข้าวเย็นกับคุณยาย บนบ้านเรือนไทยเป็นฉากคลาสสิคของกับข้าวไทยโบราณจริงๆ เห็นด้วยค่ะ    ไม่ควรอ่านก่อนกินข้าว จะทำให้เจริญอาหารมากเกินไป
อาหารครบชุดแบบชาววัง    แกงน้ำข้น อย่างแกงเผ็ด  แกงคั่วหรือมัสมั่น ๑ อย่าง   แกงจืดน้ำใสอย่างแกงจืดลูกรอก    ต่อไปเป็นเครื่องจิ้มและผัก อย่างน้ำพริก    วันนั้นเมนูมีไตปลาปรุง     อย่างที่สี่เป็นยำไข่ปลาดุก   แล้วก็ของหวานพวกลอยแก้ว
มื้อเย็นสมัยโน้นเขากินกันเป็นมื้อใหญ่    เดี๋ยวนี้มื้อเย็นเรากินกันน้อยมาก  บางคนไม่กินเลย กลัวอ้วน

พูดถึงอาหารไทยของคุณศุภร  ดิฉันเคยเอาแกงคั่วปลากดใส่หน่อไม้ดอง  ไปเลี้ยงคุณไพลิน รุ้งรัตน์ที่สมาคมนักเขียน     เธอบอกว่ารู้จักแกงหน่อไม้ดองจากเรื่องสั้นของคุณศุภร เรื่อง "เรื่องนี้พระเอกชื่ออ้ายเล็ก"   ตอนไอ้เล็กหนุ่มวัยรุ่นลูกเศรษฐีไปขอข้าวเย็นก้นกุฏิหลวงพ่อกิน  เขาก็เลยรู้จักแกงหน่อไม้เปรี้ยวเป็นครั้งแรกในชีวิต
คุณไพลินเธอชอบเผ็ด ก็เลยอร่อยกับแกงชามนั้นมาก   ส่วนคนให้ กินไม่ได้  ได้แต่นั่งดู
คุณวันดีอยากรับประทานเมื่อไร บอกนะคะ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 02 ก.ค. 10, 19:01
รับประทานพักไปรับเจ้าลูกชายตัวดีก่อนมาหาหนังสือมารับใช้ต่อครับ
(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20070617232108_b.jpg)
(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20081207173406_b.jpg)
ส่วนเล่มนี้น่าจะออกมาล้อเลียนงานของคุณมาคสิร
(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20100603142054_b.jpg)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 02 ก.ค. 10, 19:07
(http://www.su-usedbook.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2008042082102_b.jpg)
(http://www.su-usedbook.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2008042082121_b.jpg)
หาภาพเกิดสำเพ็ง ที่อาเสี่ยกิมหงวนเขียนมาขายแข่งกับพระองค์จุลฯ ไม่พบเพราะความที่เกิดวังปารุสก์ขายดีมากเล่มแรกพิมพ์สามครั้งติดกัน แต่อนิจจาเกิดสำเพ็งต้องแทรกใบละร้อยบาทไว้ในเล่มทำเอาโรงพิมพ์แตกผู้เขียนสลบเหมือด
หาพบแล้วขอรับ
(http://www.su-usedbook.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2010051233149_b.jpg)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 02 ก.ค. 10, 19:13
(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20100313191111_b.jpg)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 19:13
ผู้ร้ายผู้ดี เล่มที่คุณโทนี่เอามาโชว์ ต้องพิมพ์ครั้งเดียวกับที่ดิฉันเคยอ่านแน่เลย  เป็นปกแข็งมี ๒ เล่ม ข้างในแบ่งเป็นเรื่องสั้นขนาดยาว หลายเรื่องด้วยกัน
เพิ่งเห็นว่าแบทแมนกับโรบินก็เคยเผชิญหน้ากับเจ้าคุณปัจจนึกด้วย  ;D
เกิดสำเพ็ง...มีจริงๆหรือตอนนี้

เกิดวังปารุสก์ ไม่มีเล่มนี้ มีแต่เล่มใหม่พิมพ์ไม่กี่ปีนี้เอง  
ปก ผู้ร้ายผู้ดี เป็นภาพวาดฝีมือพนม สุวรรณบุณย์   คุณโทนี่มีภาพวาดฝีมือท่านอีกไหมคะ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 02 ก.ค. 10, 19:18
ผู้ร้ายผู้ดีมีตอนย่อยอยู่ข้างในครับอาจารย์จำแม่นมาก ส่วนภาพวาดฝีมือพนม สุวรรณบุณย์ น่าจะพอมีจะรีบหามารับใช้ครับ
อาเจอละครับ เข้ากับเรื่องที่มีคนพูดถึงด้านบนพอดี
(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20060424224834_b.jpg)(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20060424224944_b.jpg)(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20060424225030_b.jpg)(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2009121023107_b.jpg)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.ค. 10, 19:31

โห...วางเกิดวังปารุสก์ไว้แล้วเล่าเรื่องเกิดสำเพ็ง    แค่คิดก็จะบ้าตาย


ถ่ายทั้งเล่มมาไม่ได้เหรอคุณ โทนี่ ฮุย       

เดี๋ยวจะไปตามพลพรรคมาดู  เตรียมป้องกันตัวไว้ให้ดี

สงสัยจะไม่รอด


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 10, 21:49
นักแปลรุ่นเก่า อย่าง สันตสิริ แปลหนังสือดีไว้หลายเล่มเหมือนกัน    เท่าที่จำได้คือเรื่องของเพิร์ล เอส บั๊ค  "ทรัพย์ในดิน" แปลจากThe Good Earth    เนื้อเรื่องชีวิตชาวนาจีน  ลำเค็ญเหลือเกิน
ถ้านักแปลหญิง ที่ดิฉันชอบที่สุดตั้งแต่เด็กคือ อมราวดี แปลชุดของมารี คอเรลลี
และเนื่องน้อย ศรัทธา   คนหลังแปล Little Lord Fauntleroy ไว้น่ารักมาก  เหมาโหลถูกกว่า  หรือ Cheaper by the Dozen  ก็อ่านสนุกมากค่ะ

กลับไปคิดอย่างหนักว่าเคยอ่านเรื่องของคุณหลวงวิจิตรวาทการหรือไม่ ตอนเด็กๆ   นึกออกแล้วว่าเคยอ่านเรื่องเดียว คือ กรรณิการ์เทวี
นางเอกมีชะตากรรมประหลาด ทำให้เธอมีเจ้าชายเป็นสามีถึง ๔ คน แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้    แต่ว่ามีทีละคน  ไม่ได้มีพร้อมกัน    คุณหลวงเขียนเก่ง  คนอ่านไม่ได้รู้สึกเลยว่ากรรณิการ์เป็นผู้หญิงมารยาสาไถย


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 02 ก.ค. 10, 22:32
ไม่มีใครอ่านชัยพฤกษ์การ์ตูนบ้างหรือค่ะ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.ค. 10, 23:31

       มาจากกระยาหงัน

นวนาค(ฉุน ประภาวิวัฒน์) แปล Little Lord Fauntleroy ของ  Frances Hodgson Burnett

ไว้ ๒ บท  ในหนังสือประชาธิปไตยสมัยเริ่มแรก ประมาณปี ๒๔๘๑    แต่ได้ออกไปอยู่ต่างประเทศติดต่อกันเป็นเวลานานถึง ๒๒ ปี

ในปี ๒๕๑๑  เป็นหนังสืออ่านของชั้นมัธยมต้น     

โอเดียนบุ้คสโตร์นำมาพิมพ์ใหม่



       ชายน้อย

พิมพ์ครั้งแรกเป็นเล่มเมื่อ ๒๕๑๓  ผู้แปลคือบุญเนื่อง  บุณยเนตร

ต่อมาได้แก้ไขและปรับปรุง  ใช้ชื่อเนื่องน้อย  ศรัทธา และเปลี่ยนชื่อเป็น ลอร์ดน้อยฟอนเติ้ลรอย  ลงใน สตรีสาร

ดอกหญ้าพิมพ์เป็นเล่มใหม่


        นานมาแล้ว   สาวน้อยวันดีผู้สงบเสงี่ยมได้ไปสู่มหาสมาคมแห่งหนึ่ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา      โดนจัดให้ไปนั่งกับข้าราชการกระทรวงที่ไม่ค่อยได้ทำงานในประเทศ

ไม่มีใครคุยกับสาวน้อยเลยเพราะหน้าตาของหล่อนบอกสัญชาติไม่ออก    ข้าราชการไทยออกเดินคุยข้ามกลุ่ม  คุยเรื่อง ลอร์ดฟอนเติ้ลรอย เป็นภาษาไทยปนอังกฤษ

กันดังลั่น   ชาวต่างประเทศทั้งปวงทำหน้าเหมือนแมวคือเจี๊ยมเจี้ยมเจียมตัว เพราะไม่ทราบว่าคนไทยคุยอะไรกันเอง      วันดีผู้แปลงตัวเรียบร้อยอยู่จนเมื่อยแล้ว

พอดี    การสนทนาก็มาถึงท่านเอิร์ล ว่าเป็นปู้ หรือ ตา ของ เซดริก หนอ   ปู่หรือตา  ตาหรือปู่  เถียงกันอยู่ได้     วันดีก็อธิบายเป็นภาษาอังกฤษว่า  ใช้ธรรมเนียม

บุตรคนโตสืบสกุลไงคะ  จะเป็นตาไปได้อย่างไร            ผลก็คือวงแตกเพราะท่านติ๊บดีหนีไปนั่งที่อื่น    ชะชะปู่หรือตา

       อ่านหนังสือก็ไม่แตก




กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 03 ก.ค. 10, 01:54
(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2007090165700_b.jpg)
ส่วนชายเล็กหาภาพสวยๆไม่ได้ครับ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.ค. 10, 04:48

ขอบคุณค่ะ  คุณ  โทนี่  ฮุย

พรรคพวกที่ดูบอลอยู่เมื่อคืน   ถามว่าไม่เคยอ่านเกิดสำเพ็งหรือ

มีขายอยู่ทั่วไปเล่มละ ๒๐ บาท


อ้อ!  รับทราบด้วยความขอบคุณ   


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ค. 10, 07:54
อ้างถึง
เกิดสำเพ็งต้องแทรกใบละร้อยบาทไว้ในเล่มทำเอาโรงพิมพ์แตก ผู้เขียนสลบเหมือด

กรุณาขยายความหน่อย ตีหัวแล้ววิ่งเข้าบ้าน บาปนะครับ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 10, 09:16

       พอดี    การสนทนาก็มาถึงท่านเอิร์ล ว่าเป็นปู้ หรือ ตา ของ เซดริก หนอ   ปู่หรือตา  ตาหรือปู่  เถียงกันอยู่ได้     วันดีก็อธิบายเป็นภาษาอังกฤษว่า  ใช้ธรรมเนียม
บุตรคนโตสืบสกุลไงคะ  จะเป็นตาไปได้อย่างไร            ผลก็คือวงแตกเพราะท่านติ๊บดีหนีไปนั่งที่อื่น    ชะชะปู่หรือตา
       อ่านหนังสือก็ไม่แตก

ท่านๆคงไม่ได้อ่านหน้าแรก และบทที่ ๑ -๒ น่ะค่ะ    ในหน้าแรกบอกไว้ชัดเจนว่าพ่อของเซดริกตาย  เหลือแต่แม่ชาวอเมริกัน
ก็ในเมื่อเซดริกต้องเดินทางจากนิวยอร์คไปอังกฤษ อยู่กับ grandfather ที่นั่น    เขาจะเป็น"คุณตา" ไปได้ยังไง

ขอบคุณภาพวาดฝีมือคุณพนม ที่คุณโทนี่ไปหามาให้     นิยายปกแข็งของร้านหลังวังบูรพา สมัยโน้น ฝีมือคุณพนมเกือบหมดมั้ง

เกิดสำเพ็ง  เดาว่าอาเสี่ยกิมหงวนทำโปรโมชั่นหนังสือของเขา ค่ะ    รอฟังคำอธิบายจากคุณโทนี่ดีกว่า  เฉลยก่อนจะไม่สนุก


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ค. 10, 09:26
ในเรื่อง "เกิดสำเพ็ง" อาเสี่ยกิมหงวนเขียนอัตชีวประวัติตัวเองขาย ปรากฏว่าขายไม่ออก เลยต้องใช้กลยุทธ below the line (น่าจะลงต่ำไปถึงราวๆตาตุ่มได้ อิอิ) แทรกแบงค์ใบละร้อยไว้ทุกเล่ม

คราวนี้ถึงกับขายถล่มทลาย คนมาแย่งกันซื้อเป็นจลาจลอยู่ที่หน้าโรงพิมพ์นั่นแหละครับ


สมัยเด็กผมอ่านสามเกลออย่างเป็นอุตสาหกรรม โดยเฉพาะช่วง ป.๓ ป.๔ เพื่อนสองคนผลัดกันขนมาให้ยืมอ่านเป็นตั้งๆ เฉพาะช่วงนั้นอ่านไปไม่ต่ำกว่าร้อยตอนครับ ติดงอมแงมเลย


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ค. 10, 10:08
^
^
อ้าวปู้โธ่ สงสัยผมเมาหมัดอยู่ในไซ่ง่อน ยังมึนๆจึงเดาอะไรง่ายๆไม่ออก...ขอบคุณคร้าบบบ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 10, 16:58
คุณป้ากุนหายหน้าหายตาไปเสียนาน  ดีใจจริง ที่กลับมาอีกครั้งค่ะ  นึกว่าจะกลับมาคุยบนเรือนไทยแล้วเสียอีก
ลืมชัยพฤกษ์การ์ตูนไปเสียสนิท  อาจเป็นเพราะไม่ได้อ่านประจำ  แต่ก็เคยอ่านค่ะ    น่าเสียดายจำคอลัมน์ประจำในนี้ไม่ได้เลย
ก่อนหน้าชัยพฤกษ์ มีดรุณสาร   มีเรื่อง หมาๆ แมวๆ ของอ.บรรจบ พันธุเมธา  สนุกสนานมาก   จำได้ตามประสาคนรักหมา

เรื่องเสี่ยกิมหงวนแจกแบ๊งค์ เป็นไม้เด็ดของแก   มีตอนหนึ่งสามเกลอได้รับเชิญไปเป็นครูสอนนักเรียนชายจอมเฮี้ยวในร.ร.อะไรสักแห่ง
คนอื่นๆปราบนักเรียนโค่งกันไม่หวัดไม่ไหว      มีห้องเรียนของกิมหงวนห้องเดียวไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย   นักเรียนเรียบร้อยน่ารักเป็นผ้าพับไว้  
เพราะพอเดินเข้าห้องเรียน ครูกิมหงวนก็ควักเงินออกมาแจกคนละร้อย    แค่นี้นักเรียนก็ว่านอนสอนง่าย สั่งให้ทำอะไรก็ทำหมด

กลับมาเรื่องนิยาย
แม่สกรีนนิยายให้ลูกสาวอ่าน   ให้อ่านเรื่องนักสืบได้ แต่ไม่ให้อ่านเรื่องบู๊ล้างผลาญ   ดิฉันจึงไม่มีโอกาสรู้จักชีพ ชูชัย  แห่งเล็บครุฑ  หรือเหยี่ยวราตรี หรืออินทรีแดง
มารู้จักเมื่อโตแล้ว  เพื่อนเอามาให้ยืมอ่าน   ก็เลยได้อ่านเรื่องอื่นๆในแนวเดียวกันไปด้วย    มีเรื่องหนึ่งของ"แก้วฟ้า" เป็นเรื่องขบวนการวายร้าย มีตัวประมุขเป็นหญิงสาวสวย  ในเรื่องยิงกันแหลกลาญ หน้ากระดาษพรุนกันแทบทุกหน้า   ชื่ออะไรก็จำไม่ได้แล้ว
จำได้แต่ว่า นางผู้ร้ายตัวหัวหน้า ชื่อ วีวิล คะไนน์


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 10, 20:37
กลับมาถึงนักเขียนสตรีเมื่อ ๕๐ ปีก่อนอีกครั้ง
เส้นทางนวนิยายและเรื่องสั้นไม่แตกต่างจากเดี๋ยวนี้     นวนิยายลงเป็นตอนๆในนิตยสาร   แล้วรวมเล่ม   ในเมื่อบ้านเมืองอยู่ในยุคจอมพลสฤษดิ์ืัที่มีมาตรา ๑๗ เป็นอำนาจเด็ดขาด    จากพ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมาถึง ๒๕๑๐ จึงไม่มีใครเขียนเรื่องการเมือง    ก็มีแต่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  ที่กล้าเขียน โจโฉ   นายกตลอดกาล  และสามก๊ก ฉบับนายทุน
นักเขียนหญิงเขียนเรื่องรัก   นักเขียนชายเขียนเรื่องบู๊

ก็มีบ้าง ที่นักเขียนหญิงเขียนเรื่องชีวิตสะท้อนสังคม ให้เห็นบ้างประปราย     สุภาว์ เทวกุล เขียนเรื่อง ชีวิตนี้มีความหมาย
เป็นเรื่องสั้นหลายๆเรื่องที่เล่าโดยตัวละครในเรื่องยาวหลักของเรื่อง   เทคนิคการเขียนนับว่าทันสมัยมาก  เรื่องแต่ละเรื่องก็มีทั้งเรื่องชีวิตสะเทือนใจ  เรื่องตลก   เรื่องต่างแดน  ไม่ซ้ำกัน  เป็นหนังสือดีเล่มหนึ่งที่จมหายไปในกระแสกาลเวลา

เรื่องหลักคือนางเอกประสบความผิดหวังในชีวิต  กำลังจะกระโดดน้ำตาย แต่พระเอกซึ่งเป็นนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์มาฉุดเอาไว้ทัน      เมื่อเธอไม่ยอมกลับบ้าน และไม่รู้จะไปไหน    เขาก็เลยพาไปบ้านเช่าที่เช่าอยู่กับคนขับแทกซี่อารมณ์ดีคนหนึ่ง  ให้เธอพักอยู่เฉยๆ  จนกว่าจะหาทางไปได้
ระหว่างนั้น  เขาก็เล่าเรื่องชีวิตคนแบบต่างๆที่ประสบมาให้เธอฟัง   หนุ่มแทกซี่ก็ผสมโรงเล่าชีวิตคุณนายแก่ๆที่เขาเคยรู้จักให้ฟังด้วย  ทุกเรื่อง   มี theme เดียวคือทำให้นางเอกเข้าใจว่า "ชีวิตนี้มีความหมาย" เพื่อเธอจะได้เลิกสิ้นหวังในชีวิตเสียที
ในที่สุดนางเอกก็กลับบ้าน   พระเอกก็เลิกชีวิตหนุ่มผจญชีวิตไปวันๆ   เพราะต่างคนต่างพบความหมายในชีวิตร่วมกันแล้ว


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 10, 21:24
เรื่องสั้นๆออกรสตลกที่แทรกอยู่ใน "ชีวิตนี้มีความหมาย"  คือเรื่องที่นิตย์ คนขับแทกซี่เล่าถึงคุณนายแก่ๆฝาแฝดพี่น้องชื่อคุณนายแววกับคุณนายวันที่นิสัยต่างกันสุดขั้ว    คุณนายวันเป็นโรคขี้เหนียวเกินมนุษย์   ส่วนคุณนายแววก็คลั่งความสะอาดจนเกินคนเช่นกัน
อ่านแล้วก็ขำ ไม่ว่าเรื่องคุณนายวันไล่ตีแมวแย่งปลาเค็มกลับมาได้    เพราะเสียดายปลา   กับเรื่องคุณนายแววหอบจานชามหม้อไหไปร้านอาหารเอง เพราะกลัวจานชามในร้านสกปรก
แต่เรื่องเศร้าสะเทือนใจก็มี เช่นชีวิตรักของหนุ่มไทยกับสาวพม่า     ชีวิตของคนพม่าเมื่ออังกฤษยังมีอำนาจเหนือประเทศนี้  เป็นชีวิตขมขื่นและถูกเหยียดหยาม  อย่างที่คนไทยอาจนึกไม่ถึง
แม้แต่สโมสรบางแห่ง ก็ห้ามคนพม่าเข้าเด็ดขาด เพื่อเป็นแหล่งบันเทิงของคนอังกฤษและต่างชาติเท่านั้น

สุภาว์ เทวกุลเป็นนักเขียนมีฝีมือ  การมองโลกของเธอออกในแนวสมจริง  หนัก แต่แฝงการมองโลกในแง่ดี   น่าเสียดายว่าเธอจากไปก่อนเวลาอันควร


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ค. 10, 22:50
มีชัยพฤกษ์ การ์ตูน ก็ต้องมีชัยพฤกษ์ วิทยาศาสตร์ด้วยครับ

(ขอบคุณภาพจาก www.htg2.net ครับ)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ค. 10, 23:01
หนังสือเด็กสำหรับรุ่นผม ก็จะมีพวก ตะเภานักโม้, เรื่องของม่าเหมี่ยว, เอมิลยอดนักสืบ ฯลฯ มองกลับไปก็ตลกดี เพราะอ่านหนังสือเหล่านี้ในยุคเดียวกับที่อ่านสามเกลอ แถมพกด้วยการเกาะติดอุ้ยเสี่ยวป้อในหน้า ๕ ไทยรัฐเป็นประจำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรติดเรต ผู้เยาว์ต้องอ่านใต้การดูแลของผู้ปกครอง

ก็ไม่รู้ว่าเป็นเหตุนี้หรือเปล่านะครับ ที่ไม่เคยสงสัยเรื่องป้าหนอม ป้าอบเลย เหมือนจะแก่แดดรู้อะไรๆดี ทั้งที่ใสซื่อบริสุทธิ์จริงๆ วิ้งๆๆๆ แฮ่ม


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 04 ก.ค. 10, 03:31
หาเอมิลยอดนักสืบปกเก่า ๆ ไม่พบ เลยเอาโลกของหนูแหวนมาแทนไม่รู้ว่ายุคเดียวกันกับที่คุณCrazyHOrseอ่านหรือไม่
(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2009022055549_b.jpg)(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20091105201847_b.jpg)
(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2010010921416_b.jpg)(http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2008042775315_b.jpg)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.ค. 10, 06:51

อุ้ยเสียวป้อ และเซียวฮื่อยี่ นั้น มาอ่านเมื่อเริ่มทำงานแล้ว

เด็กๆอ่าน ชั่นบ้อเหมาและเจงฮองเฮา  รู้จักเซียนปีศาจทุกชนิด ถ้าจะตั้งค่ายกลก็คงจะพอตั้งได้กระมัง

เก็บกำลังภายในพอไม่น้อยหน้ายุทธจักร

อุ้ยเสียวป้อนั้นอ่านจนเปื่อยคามือไปชุดหนึ่ง    อ่านทีไรก็ยังตกตื่นใจเมื่อป้อน้อยโดนจับเข้าวังไปสังหารเมี่ยวไป่

มังกรหยกตอนก๊วยเช็งอยู่ในทะเลทรายก็ยังรื้อออกมาอ่านอยู่บ้าง  เสียวสันหลังเมื่อบ๊วยทิวฮวงโผล่มา

เปิดหน้าหนังสือทีไร  ก็เหมือนกับเปิดประตูไปสู่ความสุขอันเรียบง่ายของตอนเป็นเด็ก  ไม่กินอาหารเช้า  ทำหูทวนลมไม่ฟังเสียงเรียกไปกินอาหารกลางวัน

จะอ่านหนังสือนี่



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 10, 09:51
ตอนเด็กๆ เรื่องจีนของโกวเล้ง หรือกิมย้ง ยังไม่เข้ามา    มีแต่เกร็ดพงศาวดารจีนที่ขายในร้านหนังสือเก่าๆ แถวเวิ้งนาครเขษม
แม่ซื้อเรื่อง จอยุ่ยเหม็ง มาให้อ่าน   ต่อมาก็มี ห้องสิน   เปาบุ้นจิ้น ไซอิ๋ว
เรื่องโปรดคือจอยุ่ยเหม็ง  พระเอกเป็นขุนนางราชวงศ์เหม็ง(หรือหมิง) ที่หล่อ เก่ง ฉลาด   ปกครองบ้านช่องลูกเมียและบ้านเมืองได้เด็ดขาดแต่ยุติธรรม       เนื้อเรื่องเล่าถึงวัฒนธรรมในบ้านเอาไว้แยะ  ชีวิตผู้หญิงจีนสมัยนั้นดูแล้วน่าอึดอัด  วันๆต้องอยู่แต่ในห้อง  ออกไปให้ใครเห็นหน้าก็ไม่ได้ มีแต่เสื่อมเสียและอันตราย 
ขนาดไปเดินเล่นในสวนดอกไม้ของบ้านยังอันตรายเลย   เพราะปีศาจต้นไม้เห็นแล้วชอบ จะมาขอไปเป็นภรรยา  จอยุ่ยเหม็งต้องไปปราบ
แต่เนื้อเรื่องก็สนุกสนานดีค่ะ  มีปีศาจด้วย  เขาเรียกตัวฮู่ลี้    ต่อมาหนังจีนแปลปีศาจพวกนี้ว่าปีศาจจิ้งจอก    แต่ฮู่ลี้ในหนังสือไม่ใช่จิ้งจอก  เป็นชะมดประเภทหนึ่ง

เมื่อเรียนอยู่ปี ๓    เพื่อนให้ยืมหนังสือเจ็งฮองเฮาและชั่นบ้อเหมา   อ่านแล้วรู้สึกจากสำนวนและการผูกเรื่องว่าไม่ได้แปล   อาจจะมีเค้าโครงของจีน   แต่มาแต่งต่อเติมเอง   เลยไม่ติดใจเท่าไร

เรื่องจีนกำลังภายในที่คนติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง   ดิฉันอ่านมังกรหยกแล้ว  พบว่าอ่านได้  แต่ไม่ติด   ก็เลยไม่หยิบมาอ่านอีกเลย   ทั้งของโกวเล้ง  กิมย้ง อึ้งเอง  หรือใครอีกก็ตาม



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 10, 13:48
ลืมเรื่องนี้ไปได้ยังไง     "เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก" ของทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ  ลงเป็นตอนๆในสตรีสาร    จะว่าเป็นนิยายหรือเรื่องสั้นก็ไม่ใช่  เป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ในวัยเด็กของคนที่เป็นรุ่นปู่ย่ากันหมดแล้ว
ดิฉันมีครบ ๔ เล่ม   เก็บไว้ให้ลูกอ่าน    แต่ลูกเขาโตมาในยุคที่มองไม่เห็นฝุ่นของบ้านเมืองในยุคนั้นแล้ว ก็คงไม่ติดใจเท่าไร  ส่วนดิฉันยังทันเห็น
ขอลอกที่เจอในเน็ตมาให้อ่านกันค่ะ

เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก
โดย  ทิพย์วาณี  สนิทวงศ์ฯ


น้ำฝน

เมื่อสมัยคุณตาคุณยายยังเป็นเด็ก ๆ อยู่นั้น  กรุงเทพฯ มีน้ำประปาใช้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึงกันนัก  ส่วนมากยังอาศัยดื่มน้ำฝน  และน้ำตามแม่น้ำและลำคลองกันอยู่  บางบ้านที่อยู่ใกล้ถนน  ก็อาศัยน้ำประปาตามก๊อกสาธารณะที่รัฐบาลทำไว้ให้ประชาชนใช้กันเปล่า ๆ  ก๊อกเหล่านี้มีเป็นระยะ ๆ บ้านใครอยู่ใกล้ก็สบายมาตักตวงเอาไปใช้ในบ้านของตนได้ง่าย  บ้านที่อยู่ห่าง  ออกไปก็เอาถังเอาปี๊บมารองหิ้วไปหรือหาบเอาไปเอง  แต่มีบางบ้านซื้อน้ำมาจากพวกนี้เป็นหาบ ๆ ไว้ใช้กัน

คุณตามีเพื่อนนักเรียนที่อายุมากกว่า  ตัวโตกว่าเพราะเข้าโรงเรียนเมื่อโต   กลางวันก็มาโรงเรียน  กลับไปบ้านก็ช่วยพ่อแม่ทำงานค้าขาย  ตอนกลางคืนก็รับจ้างหาบน้ำรองน้ำประปาจากก๊อกสาธารณะใส่โอ่งตามบ้านใกล้  เมื่อยังไม่โตก็หาบน้ำที่ปี๊บยังไม่เต็ม  โตขึ้นก็เพิ่มอีกให้เต็มปี๊บได้  พ่อของเขาแข็งแรง  หาบคราวละ ๔ ปี๊บ  ข้างหน้า ๒ ปี๊บ  ข้างหลัง ๒ ปี๊บ  หาบเสียไม้คานแอ่นทีเดียว 
หน้าร้อนคนใช้น้ำกันมากน้ำขายดี  รองน้ำหาบไม่ทันคนใช้  ต้องเอาปี๊บไปคอยรองน้ำตลอดคืน  หาบกลางคืนดีแดดไม่ร้อน  ช่วยไม่ให้เหนื่อยง่าย  หน้าฝนคนไปใช้น้ำฝนกันหมด  น้ำประปาขายไม่ค่อยดี  รายได้ตกต่ำเก็บเงินไม่ได้มากเหมือนหน้าร้อน
 
คุณตาคุณยายเมื่อเด็ก ๆ  ชอบเล่นน้ำฝนจริง      พอฝนตกชักอยากจะขยับออกไปเล่นน้ำฝน  ผู้ใหญ่รู้ทันมักจะห้ามไว้ว่า
"ให้มันตกหนักกว่านี้ค่อยเล่น  ตกนิด ๆ หน่อย ๆ จะไปดีอะไร เล่นแล้วก็ต้องล้างบ้านขัดบ้านเสียเลยซี" 
เพราะฉะนั้นเวลาหน้าฝนคุณยายและคุณตาก็ต้องช่วยกันรองน้ำฝนตักใส่โอ่งให้เต็มทุกโอ่ง  เสียก่อนจึงจะเล่นน้ำฝนได้  ระหว่างทีเล่นน้ำฝนก็ต้องขัดถูบันได  นอกชานพื้นลานบ้านให้สะอาดไปด้วย  ใช้กระดวงที่ทำจากมะพร้าวแก่ ๆกะลาเล็ก ๆ ผ่าซีกขัดจนกระดานและพื้นขาวสะอาดทุก ๆ แห่งทีเดียว  มีผ้าผ่อนอะไรที่พอจะซักได้  ก็เอาออกมาซักกันให้เต็มที่  ไม่ต้องเสียดายน้ำ
ผู้ใหญ่มักบอกว่า  "เทวดาท่านอุตส่าห์ส่งน้ำมาให้เราใช้แล้ว  ต้องรีบกักตุนไว้ใช้  ฝนตกมาก ๆ พื้นกระดานพื้นหินน่ายดี  ขัดล้างตะไคร่และความสกปรกออกได้ง่าย"
หน้าฝนบ้านจึงสะอาด

พวกคนแก่ชอบดื่มน้ำฝนกันนัก  เพราะสะอาดและหวาน  ต้องเก็บน้ำฝนไว้ดื่มในหน้าแล้ง  ถ้าหน้าหนาวหรือหน้าแล้งเกิดฝนตก  เป็นฝนหลงฤดูมาก็จะดีใจมาก
เพราะจะได้มีน้ำฝนมาเพิ่มโอ่งให้เต็ม  แต่น้ำฝนตกใหม่ ๆ น้ำยังใช้รองไว้กินยังไม่ได้  เพราะหลังคายังสกปรกอยู่  มีฝุ่นละอองตกค้าง  ต้องปล่อยให้ฝนชะล้างความสกปรกออกไปเสียก่อน  จึงรองไว้กินได้  ต้นไม้ต้นหญ้าก็พลอยสดชื่นขึ้นเพราะได้ฝน


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 10, 14:39
เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก

ตอน : เที่ยวงานสนามหลวง

เมื่อแต่ก่อนโน้น โรงหนังโรงละครที่หย่อนใจยังไม่มีมากนัก ประชาชนได้อาศัยโรงมหรสพตามงานวัดบ้าง สนามหลวงบ้าง ไม่เสียเงินค่าดู งานแต่ละครั้งมีมหรสพหลายอย่าง ปลูกโรงไว้ให้ประชาชนเลือกดูเอาตามชอบใจ เบื่อโรงนี้ก็ไปต้องโรงโน้นได้    คุณตาคุณยายก็อาศัยดูมหรสพเหล่านี้เหมือนกัน

งานมหรสพนี้ต้องมีกันตอนกลางคืน หลังจากมีงานพิธีตอนกลางวันแล้ว    ที่สนามหลวงมีการแสดงที่แน่นอนทุกครั้งคือ โขน หุ่นกระบอก ลิเก หนังกลางแปลง และลำตัด บางครั้งก็มีประชันกันหลายโรง แล้วแต่จะเลือกดูเอา โรงไหนคนแน่น ยิ่งแน่นมากๆ เจ้าของคณะก็ปลื้มใจ เพราะชนะใจคนดูได้ทำให้มีชื่อเสียงยิ่งขึ้น พวกผู้หญิงชอบดูลิเก โดยเฉพาะคนแก่ๆ แล้วติดกันงอมแงมเลยทีเดียว เอาเสื่อมาปูจองที่ไว้แต่วันเลย หนุ่มๆมักชอบดูลำตัดเพราะว่าเพลงกันถึงใจผู้ชาย แต่ผู้หญิงไม่กล้าดูกัน เพราะว่าเพลงกันเจ็บๆแสบๆและมีหยาบคายด้วย    พ่อแม่จึงไม่ให้ลูกสาวไปดูลำตัดเป็นอันขาด หน้าโรงลำตัดจึงมีแต่ผู้ชายหนุ่มๆเท่านั้น    เด็กๆมักชอบหนังกลางแปลงเพราะมีเรื่องสนุกๆทันใจ เด็กๆจึงชอบ บางครั้งก็มีเสียงงิ้วตีม้าล่อกันผ่างๆ ละครชาตรีก็สนุก เด็กผู้หญิงชอบดูกัน

คุณยายนั้นชอบดูหุ่นกระบอกและละครเล็ก ต้องหอบเสื่อม้วนๆมาจับจองที่นั่งกันตั้งแต่ยังไม่ลงโรง หุ่นกระบอกนี้เล่นแต่เรื่องพระอภัยมณีเป็นพื้น จับตอนต่างๆกัน   คุณยายชอบเสียงร้องคลอซออู้นัก ฟังไปบางทีก็ร้องตามไปด้วย ตอนตลกก็เรียกเสียงฮาได้มากเหมือนกัน ส่วนคุณตานั้นชอบโขน แต่โขนนี้ลงโรงดึกกว่าอย่างอื่นๆ เสียเวลาโหมโรงนานมากและการแต่งตัวของโขนก็ช้ามาก ตัวแสดงมาก กว่าจะแต่งตัวเสร็จจึงกินเวลานาน คุณตามักชอบไปแอบดูเขาแต่งตัวกัน เขาอุตส่าห์เอาเสื่อลำแพนกั้นบริเวณไว้แล้วยังไปหาช่องโหว่ดูจนได้ อยู่บนเวทีดูสวยงามจริงๆ แต่หลังเวทีไม่สวยอย่างนั้น ตัวนางใช้ผู้ชายเล่นแต่งหน้าเสียสวยเชียว เขียนคิ้วดำปี๋ ตัวหนุมานซึ่งบนเวทีคล่องแคล่วว่องไวจริง พอถอดหัวโขนออกมาก็แก่กว่าที่คิดไว้ แถมหัวล้านเสียด้วย พวกโขนนี้พอเข้าโรงต้องรีบถอดหัวออก เพราะหัวโขนอบร้อนมากต้องถอดให้ได้ลมบ้าง

บางครั้งโขนลงโรงดึกมากจริงๆ ไถลไปดูหนังกลางแปลงแก้ง้วงแล้วโขนยังไม่ออก หนังจบไปแล้ว ถ้าโรงโขนอยู่ใกล้จอหนัง ก็วิ่งไปวิ่งมาดูทางโน้นทีทางนี้ทีเพราะได้ยินเสียงโหมโรงคิดว่าโขนลงโรงแล้ว บางทีตอนปลายเรื่องกำลังติดพันกันสนุก โขนเริ่มลงโรง ใจก็อยากวิ่งไปดูได้แต่เหลือบตาดูว่าออกกี่ตัวแล้ว ถ้าออกตัวเดียวก็ดูหนังต่อไป ถ้ายกทัพละก็วิ่งไปดูโขนเลย เพราะโขนตอนยกทัพนั้นสวยงามมาก เต็มเวที เสื้อผ้าและชฏาวูบวาบระยิบระยับดีจริงๆ    เมื่อโขนลงโรงดึกก็พลอยเลิกดึกไปด้วย โรงอื่นๆเลิกหมดแล้วเหลือแต่โขนโรงเดียว คนจึงเฮมาดูโขนต่อจนเลิก ฉะนั้นโขนยิ่งดึกยิ่งคนมาก และยิ่งดึกก็ยิ่งยกทัพสู้รบกันดุเดือดด้วย

คนที่มาดูมหรสพเหล่านี้มักอุ้มลูกจูงหลานมาเที่ยวด้วย คนที่ลูกเล็กๆแต่พ่อแม่ยังอยากดูโขนละครต่อ ลูกเล็กๆทนไม่ไหวก็พากันหลับไป ต้องเอาผ้าขาวม้าบ้าง กระดาษบ้าง แต่บางคนก็มีเสื่อมาก็ให้ลูกนอน แม่ลูกอ่อนบางคนดูไปพลางให้ลูกกินนมไปด้วย คนแก่ที่ดูลิเกหรือละครชาตรีก็เอาหมากไปตำกันบนเสื่อหน้าโรงนั่นเอง ดูไปเคี้ยวหมากไปด้วย ตอนไหนสนุกก็หัวเราะกันจนน้ำหมากกระเด็นไปถูกคนใกล้ คุณยายเคยโดนมาแล้วเพราะชอบดูละครชาตรีมาก ดูมหรสพกลางคืนนี้ก็ดูไปอย่างที่ไม่ต้องกลัวแดดร้อน ทำให้ไม่กระหายน้ำ แต่หน้าหนาวดึกๆน้ำค้างแรงเอาการ ต้องหาอะไรคลุมหัว ผ้าขาวม้าเป็นดีที่สุด บางคนผูกเปลให้ลูกนอนกับเสาโรงเสียเลยก็มี

ใกล้โรงมหรสพเหล่านี้มีอาหารขายมากมายสำหรับให้คนดูไปกินไป มีถั่วลิสงคั่ว อ้อยควั่นอบเสียหอมใส่ดอกกระดังงาด้วย ข้าวโพดปิ้ง ข้าวโพดคั่วอย่างธรรมดาและอย่างใส่น้ำตาลหวานๆ    น้ำตาลสดทั้งร้อนและเย็นหวานชื่นใจ ปลาหมึกปิ้งส่งกลิ่นหอมฉุยชวนกิน แต่จะนั่งที่ไหนก็ต้องเลือกดูให้ดีว่ามีมดคันไฟหรือเปล่า เพราะคุณตาคุณยายต่างก็เคยโดนมดคันไฟกัด เกาจนแสบ ต้องไปหาปูนจากคนแก่ที่กินหมากมาทาแก้มดกัดจึงพอค่อยยังชั่วหน่อย    ทั้งคุณตาคุณยายไม่เคยหลับเลยถึงจะง่วงก็ตาโตอยู่จนเลิกทุกครั้ง


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ก.ค. 10, 22:30
เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก เรื่องนี้อ่านอยู่หลายเที่ยวครับ เสียดายว่านานมากแล้ว จำไม่ได้ว่าชุดนี้มีกี่เล่ม น่าจะ 3 หรือ 4 เล่ม ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือเปล่าครับ

นิยายจีน ผมอ่านไม่มากนัก เรื่องที่อ่านเป็นเรื่องแรกๆนั้นไม่สนุกเอาซะเลย แต่อ่านเพราะผมอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า เรื่องไหนไม่เคยอ่านก็ต้องอ่านไว้ก่อน ถ้าสนุกจะอ่านซ้ำ สามเกลอบางตอนผมว่าอาจจะอ่านมากกว่า 50 เที่ยว เรื่องแรก น่าจะเป็นเลียดก๊ก แม่ก็เตือนแล้วว่าไม่สนุก เพราะเรื่องราวยาวนานหลายชั่วคน แต่ทำไงได้ เมื่อมีอยู่ในตู้ต้องอ่านสักรอบ และก็อ่านจบไปอย่างแกนๆและจำอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว แต่ขอให้โปรดได้เห็นใจเด็ก ป.๖ ด้วยเถิด ผมอ่านจบได้ก็บุญโขแล้วครับ

อีกเรื่องคือไคเภ็ก สนุกน้อยพอๆกับเลียดก๊กนั่นแหละครับ

มังกรหยกกว่าจะได้อ่านก็ตอนมัธยมต้นแล้ว เพราะถึงเรื่องนี้จะมีอยู่ที่บ้าน แต่เป็นหนังสือของพ่อ ซึ่งเป็นฉบับภาษาจีนซึ่งผมไม่มีปัญญาอ่าน ฉบับแปลไทยที่ได้อ่านจึงเป็นความกรุณาของคุณอาข้างบ้านที่ได้เปิดกรุให้อ่าน (ตอนนั้นได้ความรู้ว่าฉบับจีนนั้นบางกว่าฉบับไทยหลายเท่านัก เพราะภาษาจีนตัวอักษรตัวเดียวให้ความหมายมากเท่าภาษาไทยหลายคำ) คุณอาท่านนี้เป็นแฟนนิยายกำลังภายในชนิดไม่ธรรมดา สรุปว่าผมอ่านตาแฉะอีกตามเคย กว่าจะหมดกรุ ผมต้องอ่านอยู่ร่วมปีเห็นจะได้ แต่ว่าเรื่องจีนนี่อ่านผ่านแล้วผ่านเลย จำอะไรไม่ค่อยจะได้ เพราะอ่านแค่รอบเดียว อ่านหนังสือยืมก็อย่างนี้แหละครับ

นิยายไทยอย่างประโลมโลกย์นั้น เรื่องแรกๆที่อ่านน่าจะเป็นชุดทัดดาวของคุณชอุ่ม ปัญจพรรค์ โดยคุ้ยอ่านจากตู้หนังสือของคุณน้า(ที่บ้านคุณตา) ซึ่งผมจะไปอยู่ครั้งละเป็นเดือนในช่วงปิดเทอม อ่านจนหมดตู้ (ซึ่งมีไม่มาก น่าจะไม่ถึง 60-70 เล่ม) ก็ตามคุณน้าลงเรือไปห้องสมุดประชาชนที่อำเภอ ยืมมาอ่านครั้งละเป็นตั้งๆเหมือนกัน

ผมอ่านหนังสือไม่จำกัดประเภท ส่วนมากอะไรใกล้มือเอาหมด ไม่เลือกมาก คุณน้าคนหนึ่งเป็นแฟนพ็อคเก็ตบุ๊คตัวยง ผมพลอยได้อ่านไปด้วย ยุคนั้นน่าจะเป็นยุคทองของหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊ค ระดับแถวหน้านี่ต้องต่วย'ตูนแน่นอน นอกจากนั้นยังมีทั้งเรื่องสั้นเรื่องแปลของคุณชาตรี อนุเธียร, ไมตรี ลิมปิชาติ, ศุภักษรก็เอา (หนอย.. ป.๕ เองนะ), แนวสงครามอย่าง สยุมภู ทศพล ก็ไม่เว้น และคงมีอีกมากที่ยังนึกไม่ออกในตอนนี้

ที่เป็นเล่มใหญ่ก็พวก ต่วย'ตูน พิเศษ ผมเป็นแฟนตัวยงของ ไอคิว 45 และไดโนเสาร์(แก่) แต่เรื่องน่ากลัวท้ายเล่มนี่อ่านรอบเดียวแน่นอน และถ้าไม่จำเป็นจะเปิดผ่านเลย เพราะสมัยเด็กสุขภาพไม่ค่อยดี เป็นโรคปอดครับ แต่แทบจะเลิกอ่านไปเลยหลังคุณจินตนา ปิ่นเฉลียวเสียชีวิตไป

นอกจากนี้ ที่ละเว้นจะกล่าวถึงไม่ได้ก็คือ มิติที่ ๔ และ ทักษะวิทยาศาสตร์ ซึ่งพอรวมกันเป็นรู้รอบตัวได้ไม่นาน ผมก็เลิกอ่าน เพราะรู้สึกว่าเนื้อหาไม่เข้มข้นเหมือนเดิมครับ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 10:46
ชอุ่ม ปัญจพรรค์ นอกจากเป็นนักประพันธ์แต่งนิยายสีชมพูหวานแหวว   ยังเป็นนักแต่งเนื้อเพลงฝีมือแนวหน้าคนหนึ่งของสุนทราภรณ์    
คุณครูเอื้อมอบความไว้วางใจให้แต่งเนื้อเพลงสำคัญหลายเพลง  หนึ่งในจำนวนนั้น คือเพลงตามบัญชาของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์  ชื่อ "หนึ่งในดวงใจ"   ท่านประสงค์จะให้แต่ง เพื่อรับขวัญท่านผู้หญิงวิจิตราที่ตามข่าวบอกว่าไปรักษาตัวอยู่ที่อังกฤษ  
แต่มีเรื่องหลังข่าว  นัยว่ามีเรื่องงอนกันอยู่ในช่วงนั้น

ท่านผู้หญิงไปต่างประเทศ      พอลงเครื่องบินมา จอมพลสฤษดิ์ก็รับขวัญด้วยเพลงนี้

พี่นี้มีน้องหนึ่งในดวงใจ เท่านั้น                  
หญิงอื่นหมื่นพันจะมาเทียมทัน ที่ไหน
แต่รักของพี่ซ่อนอยู่กลางใจ ข้างใน
หนึ่งในดวงใจคือเธอคนเดียว แท้เทียว
หากน้องได้รู้ว่าพี่รักน้อง หนักหนา
ขอได้เมตตาแก่ดวงวิญญา โดดเดียว
ผิดบ้างพลั้งบ้างก็ไม่จืดจาง ขาดเกลียว
น้องเป็นคนเดียว หนึ่งในดวงใจ
หากอาทิตย์ลับโลกโศกสลด
จะมืดหมดทุกชีวิต ยังทนได้
หากขาดน้องที่พี่ปอง หนึ่งในดวงใจ
ทนไม่ได้จักต้องตาย ลงไปพลัน
พี่นี้มีน้องอยู่ในดวงใจ เสมอรักแต่เพียงเธอยิ่งกว่าชีวัน เชื่อฉัน
พี่ปองรักเจ้าเฝ้าแต่ผูกพัน แจ่มจันทร์
มีเธอเท่านั้นที่เป็นที่หนึ่ง ครองใจ

ดิฉันพยายามหาเพลง หนึ่งในดวงใจ MP3 แต่ไม่เจอ   เจอแต่คาราโอเกะ  เสียงของชรินทร์   นันทนาคร
มีทั้งเสียงและภาพ   ไม่รู้จะตัดภาพออกยังไง  ถือว่าเป็นของแถมก็แล้วกัน
http://www.youtube.com/watch?v=RdPWfKpBxJo


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 05 ก.ค. 10, 11:03
        จำได้ว่าคุณชอุ่มเคยเล่าไว้ว่ากำลังเพลินไพ่(ตอง?) อยู่ก็ถูกครูเอื้อตามด่วนเพื่อให้ไป
แต่งเพลงนี้

          และนักร้องสุนทราภรณ์ชื่อดัง คุณบุษยา รังสี ที่เพิ่งล่วงลับไปแล้วก็ได้นามนี้มาจากนิยาย ทัดดาว บุษยา
ของคุณชอุ่ม ครับ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 11:10
นึกถึงท่านจอมพลทีไร นึกถึงเพลงนี้ทุกที  ;D

 
วิมานสีชมพู 

เนื้อร้อง : สมศักดิ์ เทพานนท์
ทำนอง  : เอื้อ สุนทรสนาน       
 
วิมานนี้สีชมพู สีแห่งรักงามหรู                         
ซึ้งอยู่ในความฝัน
วางรากศิลารักสลักด้วยดวงชีวัน
จารึกไว้ร่วมกันไม่มีวันเสื่อมคลาย

ชื่นใดเล่า เหนือกว่าใจเรา
เนาว์รักมิวาย
ขอพลีใจและกาย รักเดียวไม่เคลื่อนคลาย
ละลายกลายสีชมพู

วิมานนี้ฉันปลื้มฤดี
เพราะมีเธอคู่
ถึงเข็ญใจไม่คลายชมพู
เสรีรักอยู่ชื่นชูใจ                         

http://www.youtube.com/watch?v=eJx3P1kJzEs&feature=related
                                         
                                                                           



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ก.ค. 10, 11:19
อิอิ     คุณเพ็ญชมพูส่งเพลงมาให้ก่อนขออีก   

กำลังจะเล่าเรื่อง    ท่านผู้หญิงละเอียดชอบร้องเพลง วิมานนี้สีชมพู

เลยนึกไปถึง วิมานสีชมพูในซอยกลาง  ตรงเข้าไปเลี้ยวซ้าย  แล้วเลี้ยวขวาแรก   บ้านหลังที่สองหรือสาม ซ้ายมือ

ขี่จักรยานอยู่แถวนั้นเหมือนกันค่ะ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ก.ค. 10, 11:43

     พงศาวดารจีนเรื่องไคเภ็ก   อ่านไม่สนุกเลย

อีก สามสิบกว่าเรื่องพอไหว

ซิ่นยิกุ๊ย  ซิเตงซัน   สนุกเป็นอันมาก

การต่อสู้กันางปีศาจฮู่ลี้คือต้องหักนิ้วกลาง   ก่อนอื่นต้องถามให้ดีว่านางเป็นลูกใคร  ส่วนมากก็เป็นธิดาเซียนปีศาจทั้งนั้น

นิยายกึ่งพงศาวดารจีนที่พิมพ์ในศรีกรุงมีประมาณ ๓๐ กว่าเรื่อง       บางเรื่องก็อิงพงศาวดารจีนมาบ้าง อย่างเรื่อง สกุลเอี้ย  ที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

ของไทยไม่ชอบมาก  ให้ข้ามเสีย         เรื่องความเป็นมาของสกุลเทีย   ถ้าจะอ่านแต่ฉบับหลักแล้ว  ความจะไม่ติดต่อกันนัก

เรื่องห้องสิน  และ ไฮ้สุย นั้น อ่านดีๆ จะมีพงศาวดารกระซิบซ่อนอยู่บ้าง


       ชอบอ่านมังกรหยก  เพราะทรมานเหลือเกินกว่าพระเอกจะได้ดี      ปัญญาก็ทึบ  อาจารย์เจ็ดคนแทบฆ่าทิ้งเสียแล้ว     

เป็นเรื่องราวของความอดทนที่พระเอกไปเกิดในทะเลทราย  แม่ต้องกัดสายสะดือเอง       พระเอกไม่เคยได้อะไรมาสะดวกโยธิน  ต้องมุมานะ

เป็นคนไม่เก่ง  ที่ค่อยๆเก่งขึ้นทีละนิด   ไม่ได้ตั้งใจจะเก่ง   ที่กินเลือดงูเลี้ยงด้วยยาเข้าไปก็เพราะป้องกันตัว   ไม่ใช่นางลเวงที่ดินถนันพันปีแตกออกมาต่อหน้า

ชอบบ๊วยทิวฮวง  ชอบอั้งขิดกง  ชอบแกงจืดที่อึ้งย้งทำ  ชอบ........... และ ชอบ.............



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 11:45
หนังสือที่เกี่ยวกับจอมพลสฤษดิ์ นึกไม่ออกว่าชื่ออะไรบ้าง  จำได้แต่ว่าหลังอสัญกรรม  หนังสือพิมพ์เปิดโปงเบื้องหลัง "วิมานสีชมพู" ของท่านเป็นข่าวเกรียวกราวหลายเดือน  
มีแม้แต่หนังสือเล่ม  ที่รวบรวมรายชื่ออนุภรรยาของท่าน พร้อมภาพ และประวัติ    ดาราสาวๆหลายคนอยู่ในข่ายด้วย  
ส่วนนางงาม ไม่ต้องพูดถึง   ดูเหมือนจะไม่มีใครเลยอยู่ในข้อยกเว้น    เพราะเมื่อได้รับมงกุฎ   ก็เท่ากับได้รับตำแหน่งนี้โดยอัตโนมัติ

ทัดดาว บุษยาน่าจะเป็นหนังสือดังที่สุดของคุณชอุ่ม    จนบัดนี้  ยังเป็นละครฮิทไม่เลิกอยู่เลยค่ะ
คุณชอุ่มมีความรู้เรื่องศัพท์สมกับเรียนอักษร   นางเอกพระเอกของเธอมักจะมีชื่อแปลก  บางทีก็เหมือนเอาชื่อมาถอยกลับ อย่าง ลัดดา-->ดาลัด    รำไพ--> ไพรำ  แต่ชื่อพวกนี้มีความหมายทั้งนั้น     ดาลัดแปลว่าดวงแก้ว  ไพรำแปลว่าเศษทอง
ส่วนเนื้อเรื่องและภาษาที่ใช้  จำได้แต่เพียงว่าหวานจัดกว่าเอาน้ำตาลปึกมาเคี่ยวกับน้ำตาลทรายเสียอีก
*******************
นิยายวิทยาศาสตร์มีให้อ่านน้อยมากค่ะ  จำได้ว่าเคยอ่านเรื่องของคุณจันตรี ศิริบุญรอด เป็นการสำรวจจักรวาล   แต่ขอสารภาพว่าอ่านไม่รู้เรื่องเท่าไร
  


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 11:59
อ่านมังกรหยกพร้อม ๆ กับดูละครทีวี (จีน) ชอบอึ้งย้ง ดูมีสง่าดี แต่ค่อยข้างเอาแต่ใจตัวเอง  เฒ่าทารกจิวแป๊ะทงทำให้เรื่องดูมีสีสัน

นิยายวิทยาศาสตร์ชอบของ ไอแซค อาซิมอฟ ผู้บัญญัติ http://th.wikipedia.org/wiki/กฎ_3_ข้อของหุ่นยนต์ (http://th.wikipedia.org/wiki/กฎ_3_ข้อของหุ่นยนต์)



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 05 ก.ค. 10, 13:23
ต้องสารภาพว่า...จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้อ่านมังกรหยก...ทั้งๆที่อยากอ่าน


แต่เกรงฤทธิ์ชองนิยายกำลังภายในจริงๆ

สาเหตุมาจากไปอ่านเรื่อง  เทพบุตรโลกันต์   เข้าให้ก่อน....ขณะนั้นมังกรหยกก็อาละวาดในบู๊ลิ้มมานานแล้ว
ปรากฏว่าทั้งๆที่นัดเพื่อนร่วมอ่านไว้แล้ว....ว่าจะผลัดกันซื้อคนละเล่มสลับกัน...(เรียนที่เดียวกันแต่บ้านอยู่คนละทิศละทาง)

ตกลงกันแล้ว...เพื่อประหยัดงบไว้ลงทะเบียนเรียน....สลับกันคนละเล่มนะครับ


ผลคือ...ได้หนังสือครบสองชุด.... ;D....อดใจรอไม่ไหวทั้งคู่....ท่านจอมยุทธฯน่ำเก็งอิด(พระเอก)..รู้คงหัวร่อเคี๊ยกๆๆๆ



จึงรู้ว่าเรื่องราวในยุทธภพ...หรือยุทธจักบู๊ลิ้มนั้น...มีโคเคนปนเปื้อนอยู่ด้วยแหง๋ๆ



ฝากความน่ารักน่าชังของโป๊ยก่าย มาให้ดู...นานมี(มีมานาน)...ผู้พิมพ์
มีทั้งหมด 32 ตอน    บ.ใบไม้...แปล   น่าจะเป็นนิทานพื้นบ้านจีนที่มีผู้อ่านทั่วโลก..มากที่สุดเรื่องหนึ่ง


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: kui045 ที่ 05 ก.ค. 10, 19:43
แอบตามมาอ่านอย่างเงียบๆ
หลายเล่มที่อ้างก็ได้อ่านมาบ้าง
แต่หลายเล่มที่เก่ามากๆก็ไม่ได้อ่าน(เพราะไม่ได้พิมพ์ใหม่)
 ;D


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 20:20
บอกชื่อหนังสือบ้างได้ไหมคะ  อาจจะมีบางเรื่องที่คนอื่นในกระทู้นี้ไม่เคยอ่าน


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 05 ก.ค. 10, 22:21
บางทีหากนักเรียนประถมยังคงใช้แบบเรียนเก่า..นิทานร้อยบรรทัด ของหลวงสำเร็จวรรณกิจชุดนี้อยู่....
สังคมไทยอาจไม่เป็นดังเช่นทุกวันนี้...

 :D


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 10, 22:51
ไม่รู้จ้กแบบเรียนเล่มนี้ค่ะ   อ่านกลอน รู้สึกว่าคุณหลวงสำเร็จฯแต่งเก่ง
ดูจากปีพ.ศ. ๒๕๒๒  ที่พิมพ์  ถ้าคุณศรีสยามเรียนเล่มนี้  อายุคงจะประมาณรุ่นเดียวกับลูกสาวดิฉัน  :)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 05 ก.ค. 10, 23:14
ผมทันเรียนเล่มนี้จริงๆครับแต่น่าจะเป็นฉบับที่พิมพ์ครั้งแรกๆ...อาจจะ 2501
เล่มที่สแกนมานี้เพิ่งซื้อมาเมื่อวาน(เตรียมสอบใหม่?)-บังเอิญเจอที่ร้านหนังสือเก่าเข้าให้พอดี

2522....พิมพ์ครั้งที่ 25 แล้วครับ

นิทานร้อยบรรทัดซีรี่ส์นี้จำได้ว่าอ่านสนุกมาก.....คุณศิลาเมตตาร่วมแจมด้วย...หาก(ทัน)เคยอ่าน....


 ;D


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 ก.ค. 10, 23:20
คุณจันตรี ศิริบุญรอด ผมมารู้จักเอาตอนที่อ่านวารสารชื่ออะไรสักอย่างที่ออกโดย อ้า... อะไรสักอย่างที่อยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์จุฬา ตอนนั้นน่าจะเรียนอยู่มัธยมปลายแล้วครับ

ก่อนหน้านั้นเริ่มอ่านพวกเรื่องสั้นแปลพวกออบิทมาก่อน มีรวมเรื่องสั้น(แปล)วิทยาศาสตร์เล่มหนึ่งที่ผมชอบมากชื่อ เด็กอัจฉริยะ อ่านจนเปื่อยเลยครับ น่าจะซื้อตอนอยู่ ม.๑ ฉลอง ๒๐๐ ปีรัตนโกสินทร์พอดี

นิยายวิทยาศาสตร์ที่ชอบอ่านมากคือชุดสถาบันสถานาของไอแซค อาซิมอฟ อ่านมาแล้วสามเที่ยว แต่ละเที่ยวห่างกันราว ๑๐ ปี เที่ยวล่าสุดเพิ่งจะช่วงหลังเหตุการณ์วุ่นวายในบ้านเรา เพราะรู้สึกว่าอาจจะได้คำตอบอะไรบางอย่างให้กับตัวเอง

ก็ไม่ถึงกับได้คำตอบอย่างใจ แต่ก็รู้สึกว่าได้อะไรมากกว่าการอ่านสองครั้งก่อน ตามประสบการณ์ที่ได้รับมาเมื่อเวลาผ่านไปครับ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ค. 10, 08:05
นิทานร้อยบรรทัด จำได้แต่ตอนนี้

สองพี่น้อง  เห็นวิหค     นกพูดได้   
ก็พอใจ     อยากจะรัก  ให้นักหนา

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/05/K6595282/K6595282-5.jpg)

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/05/K6595282/K6595282.html


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 06 ก.ค. 10, 08:19
ขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูมากครับ....เล่ม 1 หน้าแรก...ยังท่องจำได้อยู่จนทุกวันนี้


ขอคารวะด้วยสัตว์ประหลาดสีชมพูไปเติมในกระทู้อีกโดยพลัน...



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: kui045 ที่ 06 ก.ค. 10, 13:03
ไม่ทันนิทานร้อยบรรทัด
แต่ได้เป็นเพื่อนกับ มานะ-มานี-ปิติ-ชูใจ-เจ้าแก่
ชอบมากเดี่ยวนี้ยังตามหากันไม่เจอเลย


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ค. 10, 13:21
ติดตาม "มานี มานะ ปิติ วีระ ชูใจ" ตั้งแต่ ป.๑ - ป.๖ จำนวน ๑๒ เล่ม เสนอโดย Mr. Fusion ได้ในพันทิป

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=fusion&group=2&month=07-2009&date=27

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/05/K7888761/K7888761-8.jpg)

 ;D


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 06 ก.ค. 10, 13:45
ขอบพระคุณอีกครั้งครับ

 ;D;D


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 10, 21:05
นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่อ่านอยู่หลายเรื่องคือ Ray Bradbury  จำได้แต่ The Wonderful Icecream Suit เป็นเรื่องที่เคยเรียนในชั้น    ส่วนอาซิมอฟและอาเธอร์ ซี. คล้าคนั้น อ่านเหมือนกันแต่เข้าไม่ถึง
อ่านมิติที่ ๔  เป็นแฟนบทความของอ.ดนต์ รัตนทัศนีย์ค่ะ    แต่พอหนังสือเปลี่ยนชื่อ  เป็นแนววิทยาศาสตร์ก็เลยเลิกอ่านไป


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ก.ค. 10, 21:38
จำได้ว่าคุณดนต์แปลบทความดาราศาสตร์เนื้อหาค่อนข้างจะหนักพอควร นักเรียนสายศิลป์อย่างอาจารย์อ่านสนุกได้ ถือว่าไม่ธรรมดาครับ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 10, 21:55
คุณดนต์แปลภาษาดีมากนะคะ อ่านเข้าใจ  แม้ว่าเนื้อหาเป็นดาราศาสตร์ หรืออะไรที่พวกสายศิลป์ไม่ได้เรียนก็ตาม   ดิฉันชอบมิติที่ ๔ ขนาดเก็บเรียงไว้บนชั้นหนังสือทั้งหมด     รวมทั้ง "โนว่า" ในยุคต้นๆด้วย
แต่พอเนื้อหาชักวิทยาศาสตร์มากขึ้น   ก็เลยจำใจต้องถอย   หลีกทางให้สายวิทย์เขาอ่านกันฝ่ายเดียว

เลยไม่ได้่อ่านทางด้านนี้อีกจนบัดนี้   



กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 10:22
จากนิยายวิทยาศาสตร์ ขอกลับขั้วเป็นตรงข้าม คือเรื่องผี
จำไม่ได้ว่าเรื่องผีเรื่องแรกที่อ่านคือของใคร   แต่จำได้ว่าอ่านนิยายผีทีไร กลางคืนต้องเอาหนังสือไปวางไว้นอกห้องนอน   จะได้หลับอย่างอุ่นใจขึ้นมาบ้าง
เรื่องที่ประดับอยู่ในห้องนั่งเล่นเป็นประจำตอนกลางคืน  คือ แดรคคิวล่าจอมผีดิบ แปลโดย อ.สายสุวรรณ  ต่อมาคือเรื่องผีของเหม เวชกร   คุณเหมไม่ได้มีฝีมือเฉพาะวาดรูปขุนช้างขุนแผน แต่เขียนเรื่องผีก็ระทึกใจ
อีกคนต่อมาคือใบหนาด หรือ คุณณรงค์ จันทร์เรือง

พออยู่มหาวิทยาลัย ความกลัวผีน้อยลงบ้าง  ก็ไปติดนิยายของตรี อภิรุม   อ่านเรื่องเทวดาผีสางในมิติต่างๆด้วยความเพลิดเพลิน

อีกคนที่เป็นนักเขียนคนโปรด คือจินตวีร์ วิวัธน์     ก่อนหน้านี้เคยอ่านฝีมือกลอนของจินตนา ปิ่นเฉลียว  เธอเขียนกลอนคม และสะท้อนสังคมอย่างแข็งแกร่ง  ไม่ได้หวานหยดอย่างนักกลอนหญิงชาวเทวาลัย
พอเธอพลิกมาเขียนเรื่องลึกลับตื่นเต้น  อย่าง "อมฤตาลัย"   ดิฉันก็เลยติดหนังสือเธอ ไม่ว่าจะเป็นสาปนรสิงห์   กึ่งหล้าบาดาล
ขุมทรัพย์โสมประภา   มาแต่หิมพานต์  อาศรมสาง  บ้านศิลาทราย  ภูตพระจันทร์
ตามอ่านมาเรื่อยจนเธอล่วงลับไปก่อนวัยอันควร  เสียดายเป็นล้นพ้น


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: watanachai4042 ที่ 07 ก.ค. 10, 14:21
ได้เจอเรื่องชอบแล้วคือเรื่องผี 
อ่านของเหม เวชกร "ผู้ไม่มีร่างกาย" "ผู้อยู่ในอากาศ" ฯ  ฉากในเรื่องเป็นฉากชนบทเหมือนฉากเดียวกับเรื่องแผลเก่า แสนแสบ ฯ ของ ไม้ เมืองเดิม แต่เปลี่ยนเป็นตอนกลางคืนที่มีผีเต็มทุ่งนา  เหม เวชกรวาดรูปผีทั้งหญิงและชายได้น่ากลัวที่สุด  ดูจางๆอยู่ในรูปแต่ก็รู้ว่าหน้าตาขาแขนไม่ใช่คน
อ่าน"แจ๋วเจอผี" ของ สง่า อารัมภีร์ เหมือนลงพิมพ์ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย
ตรี อภิรุมชอบเรื่อง  "นาคี"
จินตวีร์ วิวัธน์อ่านแทบทุกเรื่องของท่าน  เรื่องอมฤตาลัยนี่ตอนเป็นละครเวอร์ชั่นแรกสุด  เพลงเพราะมาก จำได้แว่วๆว่า "อมฤตาลัย เตรียมไว้เขาเป็นราชา บัลลังก์รักรอรักนานมา ปรารถนาขอเป็นจอมใจ ... เรือนแก้วบัลลังก์ทอง รอสองรักร่วมชีวี มาเถิดสู่แดนสุขาวดี ที่มีอมฤตาลัย..."
แดรกคิวล่าจอมผีดิบมาอ่านเมื่อเรียนที่ทับแก้ว  อาจารย์เทาชมพูสั่งให้ไปสัมภาษณ์ผู้แปลและทำรายงานโดยเปรียบเทียบกับแก้วขนเหล็ก (ของตรี อภิรุม)   


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 14:36
บรรทัดสุดท้าย เอามาขายกันหรือเปล่า อาจารย์ป้อม


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: watanachai4042 ที่ 07 ก.ค. 10, 16:04
ไม่ขายฮะอาจารย์ ใครซื้อก็ไม่ขาย ;D
นึกได้อีกเรื่อง คือ กระสือสาว เป็นนิยายภาพเรื่องยาวลงพิมพ์ในหนังสือการ์ตูนหนูจ๋า จุ๋มจิ๋มเป็นคนวาด  ตอนนั้นยังเด็กนึกว่าผีกระสือมีจริงอุตส่าห์ให้ยายพาไปดูส้วมหลุมในสวนลึกกลางกรุงเทพ  เผื่อจะได้เจอ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 10, 16:16
ไม่ขายครูก็ดีแล้ว   (ไม่ได้หมายถึงขายรายงานนะจ๊ะ)
ขออวยพรให้สมปรารถนา ได้เจอกระสือเป็นๆ ในวันหน้า
ระหว่างนี้ ดูคลิปเซิฟๆ ไปก่อนนะคะ
http://www.youtube.com/watch?v=6bHFNtfJkEo


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 07 ก.ค. 10, 17:52
           ครูเหมวาดรูปประกอบไว้มากมาย ทันได้ชมงานหลังๆ ของท่านที่วาดประกอบเรื่อง กากี
ซึ่ง อ.เปลื้อง ณ นคร แต่งต่อจากของเดิมที่นางถูกจับลอยแพ ลงนิตยสาร วิทยาสาร ของ สนพ.ไทยวัฒนาฯ
ซึ่งได้รวมงานของทั้งสองท่านออกมาเป็นหนังสือภาพวิจิตรวรรณคดีหลายเล่ม เช่น ประวัติสุนทรภู่ พระลอ
นางงามในวรรณคดี ราชาธิราช กากี

             งานสุดท้ายของครูเหมคือเรื่องจากย่ามความทรงจำ เล่าชีวิตนักประพันธ์ที่ท่านรู้จักดี ประเดิมด้วยเรื่อง
ของไม้ เมืองเดิม ลงนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย เขียนและวาดภาพประกอบไว้ไม่กี่ฉบับก็ถึงแก่กรรม

             เรื่องผี เป็นงานเขียนที่ประสบความสำเร็จด้วยดี  

จากหนังสือสารคดี ฉบับ เหม เวชกร

            ผลงานที่สร้างชื่อเสียงอีกด้านหนึ่งให้แก่เหม ก็คืองานเขียนชุด "ผีไทย" ที่เขาเขียนเองทั้งเรื่อง
และภาพ เหมเริ่มจับเขียนเรื่องผี มาตั้งแต่สมัยอยู่เพลินจิตต์ เรื่องแรกของเขาคือ เรื่องผี ซึ่งใช้ฉากสมัยที่เหม
ยังทำงานกรมทดน้ำ ที่ท่าหลวง สระบุรี
            เหมเขียนเรื่องผีสืบต่อมาจนถึงช่วง พ.ศ. ๒๕๑๐ ถ้าคิดเป็นจำนวนก็น่าจะมีร่วมร้อยเรื่อง เฉพาะที่เคยเห็น
พิมพ์รวมเป็นเล่มใหญ่ๆ ก็มี เช่น ผู้ที่ไม่มีร่างกาย, ปีศาจของไทย, ใครอยู่ในอากาศ, วิญญาณเร่ร่อน...

            จักรพันธ์ โปษยกฤต ก็เคยเป็นแฟนของเรื่องชุดนี้  
                     "...ภาพประกอบเรื่อง 'ผี' ซึ่งเป็นเรื่องที่ครูเหมเป็นทั้งผู้แต่ง และผู้เขียนขึ้นเองนั้น ให้ความรู้สึก
น่ากลัวมาก แค่เพียงอ่านเรื่องก็กลัวอยู่แล้ว ยิ่งเห็นรูปยิ่งน่ากลัวใหญ่ บางครั้งยังไม่กล้าดู เพราะตอนนั้นเป็นเด็กอยู่
พอเปิดเจอก็รีบพลิกผ่านๆ ไป..."
          แต่เมื่อผลงานเรื่องผีของเหม กำลังเป็นที่ฮือฮานั้น ภาพวาดของเขากลับแปลกเปลี่ยน ลูกศิษย์ส่วนใหญ่
ของครูเหมที่ผมมีโอกาสพูดคุยด้วย ยอมรับว่าครูเริ่ม "มือตก" รูปคนของเหม มักยืดยาวขึ้นจนผิดส่วน
            นี่คงเป็นผลมาจากการที่เหมยังต้องทำงานหนัก ในขณะที่สังขารเสื่อมถอยลงทุกขณะ เพราะนอกจากอายุ
ที่ล่วงเลยวัยกลางคนมาแล้ว ครูเหมยังมีอาการทั้งโรคหัวใจ และโรคปอด


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 12 ก.ค. 10, 07:57
ไปเปิดตู้หนังสือที่บ้านพ่อ เอาบางส่วนมาให้ดู
เผื่อจะเปิดประเด็นให้ท่านกูรูทั้งหลายต่อได้ครับ

(http://img46.imageshack.us/img46/3945/img69555987211.jpg)



(http://img375.imageshack.us/img375/2064/img69575991865.jpg)



(http://img824.imageshack.us/img824/1374/img69585996589.jpg)



(http://img101.imageshack.us/img101/5137/img69596000682.jpg)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 11:50
คุณพ่อคุณม้าคงเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ "ยาขอบ"
สุกัญญา เป็นนามปากกาของคุณเลียว ศรีเสวก (อ่านว่าเส-วก) หรือ อรวรรณ  จำได้แค่ "ค่าแห่งความรัก"   


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 12 ก.ค. 10, 15:34
คุณพ่อคุณม้าคงเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ "ยาขอบ"
สุกัญญา เป็นนามปากกาของคุณเลียว ศรีเสวก (อ่านว่าเส-วก) หรือ อรวรรณ  จำได้แค่ "ค่าแห่งความรัก"   

อาจารย์ครับ ผมไม่ใช่ คุณม้า นะครับ  ;D
หนังสือในตู้เป็นสมบัติของย่า ที่เป็นนักอ่านตัวยงครับ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 10, 15:42
 :-[
ขออภัยค่ะ วันนี้ตาลายมา ๒ รอบ เมื่อเช้าอ่านชื่อคุณสมัน ๐๐๗ เป็นคุณนวรัตน ต้องรีบกลับไปแก้ไข
บ่ายอ่านชื่อคุณ CVT เป็น CrazyHOrse
นี่คือโทษขั้นแรกของการปั่นกระทู้พระยาทรงฯ จนไม่ลืมหูลืมตา   ต้องพักบ้างแล้ว


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ก.ค. 10, 16:36
ตู้หนังสือคุณพ่อคุณหมอต่างจากตู้หนังสือคุณพ่อผมมากครับ ตู้หนังสือคุณพ่อผมมีแต่หนังสือจีนเป็นส่วนใหญ่

คุณแม่เป็นแฟนยาขอบ แต่ไม่ได้สะสมหนังสือครับ

พูดถึงคุณแม่ นึกได้ว่าคุณแม่จะพูดถึงหนังสือที่แม่ชอบอ่านตอนเด็กๆคือ เมาคลีลูกหมาป่า ครับ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 12 ก.ค. 10, 21:56


แต่ที่ยังติดใจ....และตามหาอยู่คือ..เจ้าชายผมทอง(การ์ตูน)....
                                   ...นิทานพื้นบ้านไทย(การ์ตูน) เรื่องสี่สหายผจญภัย(ถ้าจำไม่ผิด)   หูกาง/มือปาล์ม/ขี้มูกมาก/ตูดแหลม   ;D ;D ;





ขออนุญาตย้อนกลับไปหาเจ้าชายผมทองอีกครั้ง.......
ได้ภาพนี้จาก-ศิลปวัฒนธรรม- ก.พ. 2550

จุก เบี้ยวสกุล(เจ้าชายแห่งนิยายภาพไทย) เป็นผู้วาด โดยเอาเค้าหน้าของเอลวิส ราชาร็อคเป็นต้นแบบ เมื่อปี 2501 ขณะผู้วาดอายุเพียง 16 ขวบ และผู้อ่าน(ศรี)อายุ 8 ขวบ ติดงอมแงม


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ก.ค. 10, 13:15
ดูรูปที่คุณ​  CVT   นำมาแสดง    อยากอ่านสุกัญญามาก  เพราะไม่ได้เก็บ

มี เรืองฤทธิ์เรืองเดชไม่กี่เล่ม

อรวรรณเองมีไม่มาก

ช่อลิลลี่ พริ้มเพรา  พอมี

กุลปราณี  มีพอไม่อายเพื่อน


     ตามที่บางท่านได้แยกประเภทว่า  นามปากกานี้เขียนเรื่องรักโศก    รักสุข รักรันทดนั้น  ไม่เห็นด้วย

คุณเลียวเขียนเรื่องสะใภ้หลายชุด   ยังน่าอ่านอยู่ เพราะเพิ่งไปอ่านมาเช้านี้เองค่ะ  ใช้อรวรรณ

ไปค้นเพลินจิตต์รวมเล่ม  พบว่าบางเล่ม  อรวรรณใช้สามนามกาเลยทีเดียว

เพลินจิตต์ใช้คนวาดภาพปกหลายคน  สวย ๆ ทั้งนั้น          บางชุดก่อนปี ๒๕๐๐  มีภาพสี่สีที่หลังปกด้วย  อลังการ


     


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 17, 19:58
หนังสือนิยายปริศนาเล่มพิมพ์ครั้งแรก  มีภาพถ่ายขาวดำแทรกอยู่เป็นระยะ    เป็นภาพผู้แสดงแบบเป็นปริศนา
เธอชื่อคุณวาสนา กระแสสินธุ์  เป็นลูกสาวทูต  อายุไม่เกิน ๒๐ ได้ในตอนนั้น   
คุณวาสนาสวยและน่ารักมาก    ร่างโปร่งบาง  ตากลมโต ผมหยิกประบ่า     เมื่อพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีทอดพระเนตรเห็นครั้งแรก  รับสั่งว่า "นี่ปริศนาของฉันนี่นา"
คุณวันดีน่าจะมีหนังสือเล่มนี้นะคะ    ถ้าไม่มี เพื่อนนักสะสมของคุณต้องมีแน่
ดิฉันหารูปและประวัติคุณวาสนาเท่าไรก็หาไม่เจอ      เจอแต่รูปและประวัติพี่สาวของเธอ ชื่อคุณมารยาท กระแสสินธุ์
คุณมารยาทคือ เอมมานูแอล อาซานน์  นักประพันธ์สตรีเจ้าของเรื่อง Emmanuelle เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส  ขึ้นชื่อว่าอีโรติคสุดๆ    เธอเคยเล่นหนังฮอลลีวู้ดด้วย

ในที่สุดก็หารูปของคุณวาสนาพบ  ลูกชายและลูกสะใภ้ของคุณวาสนาหาซื้อหนังสือ "ปริศนา" ฉบับพิมพ์ครั้งแรกที่มีภาพประกอบได้ ค่ะ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 17, 20:07
ประวัติของคุณวาสนาที่ทราบจากลูกชาย

คุณวาสนาเกิดเมื่อพ.ศ. 2473 (ค.ศ. 1930)  บิดาเป็นนักการทูต โยกย้ายไปประจำในประเทศต่างๆในยุโรป  คุณวาสนาเดินทางตามบิดามารดาไปจากประเทศไทยตั้งแต่อายุ 3 ขวบ     รู้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างดี
คุณวาสนาสมรสกับคุณโอภาส พรหมรัตนพงศ์ เป็นนักเรียนทุนคนแรกๆ ของปูนซีเมนต์ไทย ที่ได้ทุนไปศึกษาที่ประเทศเดนมาร์ค  ได้พบกับคุณวาสนาและได้สมรสกัน    
หลังสมรส   คุณวาสนาเดินทางกลับมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย  เคยสอนหนังสือที่ร.ร.นานาชาติร่วมฤดี   แต่ส่วนใหญ่อุทิศชีวิตเป็นแม่บ้านให้ครอบครัว   อันประกอบด้วยพ่อ แม่และลูกชายคนเดียวชื่อโอวาท พรหมรัตนพงศ์
คุณวาสนาถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2538   อายุได้ 65 ปี  ค่ะ


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มิ.ย. 23, 08:35
คุณโอวาท พรหมรัตนพงศ์ เขียนไว้ว่า

ตั้งแต่ที่เพจ ณ หัวหิน ลงรูปแม่ข้าพเจ้าอยู่ด้วย ต่อมาข้าพเจ้าได้หนังสือปริศนาฉบับแรกมา (หาจนเจอ) คุณติ้ง (ภรรยา) ก็เอารูปคุณแม่มาลง เอาเรื่องมาเขียนเพิ่มเติมในฐานะลูกสะใภ้

ว.วินิจฉัยกุล หรือ คุณหญิง ดร.วินิตา ดิถียนต์ได้อ่านแล้วก็ติดต่อมาคุย จากนั้นอาจารย์ก็เขียนลงหน้าเพจของท่านเอง

ไป ๆ มา ๆ ก็มีคนเอามารวมเป็นเพลงด้วย !

ภาพของคุณวาสนา กระแสสินธุ์ (ซ้ายสุด) ถ่ายภาพคู่กับคุณพ่อคือ ขุนพิพิธวิรัชชการ (วงศ์ กระแสสินธุ์ บุตรชายของนายวอน กระแสสินธ์ุ ชาวหัวหิน) และคุณแม่คือคุณลำจวน นามสกุลเดิม อยู่อำไพ ชาวศรีราชา  

ภาพนี้ถ่ายที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ขณะที่ขุนพิพิธวิรัชชการ รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคเปนเฮเกน ว ณ ประมวญมารค ได้ทรงไปพบ และทรงขอให้คุณวาสนา กระแสสินธุ์ เป็นแบบในหนังสือนวนิยายปริศนาเล่มแรก

จาก ณ หัวหิน (๑) (https://fb.watch/lga_bC-Lsu/?mibextid=cr9u03) และ ณ หัวหิน (๒) (https://www.facebook.com/1385141738279220/posts/pfbid02THxjQmorfNTHLDx9MMb9MF5U7WC2yNiZx9BAGuezXdW9FPi5vMx5GqshtzBvnxWal/?mibextid=cr9u03)


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มิ.ย. 23, 09:21
เวลาอ่าน ปริศนา ทีไรก็นึกเห็นแต่หน้าคุณวาสนาลอยขึ้นมา    ไม่เคยนึกเป็นหน้าหมิว หรือเทย่า เลย
โชคดีไปเจอภาพเธอ แสดงแบบเป็นปกหนังสือนิยาย "ธาตรี" ของ ดวงดาว


กระทู้: นิยายเก่าเล่าใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มิ.ย. 23, 09:35
ในคำนำ "ปริศนา" ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เขียนไว้ว่า

"ข้าพเจ้าได้เชิญเสด็จหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ และหม่อมเจ้าถกลไกวัล รพีพัฒน์มาถ่ายคุณวาสนา กระแสสินธุ์ เพราะคุณวาสนาเป็นผู้ที่ข้าพเจ้าเห็นว่ามีลักยิ้มและหน้าตา รูปร่างคล้ายคลึงกับ "ปริศนา" ซึ่งบรรยายไว้ในหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าขอขอบพระทัยท่านทั้งสองและคุณวาสนา ไว้ ณ ที่นี้ด้วย"

ว.ณ ประมวญมารค
๒๐/๑๑/๙๕

ภาพคุณวาสนา กระแสสินธุ์ เมื่อครั้งไปช่วยงานคุณพ่อ ขุนพิพิธวิรัชการ (วงศ์ กระแสสินธุ์)  ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

จาก FB คุณนิรชา (นวรัตน์ ณ อยุธยา) พร้อมรัตนพงศ์ (https://www.facebook.com/100000750943609/posts/pfbid02JsuH6HY9coSqmnbsmmDt2LBWLZs1wxrhLFf9YF38iiAvkpcksASKbjVcqnP8QGovl/?mibextid=cr9u03) ลูกสะใภ้คุณวาสนา กระแสสินสินธุ์