เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: inteera ที่ 26 ก.ย. 12, 19:15



กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: inteera ที่ 26 ก.ย. 12, 19:15
พอดีเหตุบ้านการเมืองช่วงไม่กี่วันนี้ มีการกล่าวถึงเรื่อง อ.ปรีดี เสียสละเพื่อบ้านเมืองไม่กลับมาประเทศไทย
ใช่ครับ นี่เป็นสิ่งที่ผมได้เล่าเรียนมาสมัยเรียน หากแต่การโซเชียลเน็ตเวิร์คทำให้ผมได้เปิดหูเปิดตาไปเจออะไรที่ผมไม่เคยเจอในสมัยเรียน ผมจึงชักไม่ค่อยจะแน่ใจ เลยมาขอความรู้จากพวกพี่ ๆ น้า ๆ หน่อยครับ

สิ่งที่ผมได้ไปเห็นเขาถกเถียงกันคือ จริง ๆ แล้ว อ.ปรีดี อยากจะกลับบ้านแต่กลับไม่ได้ แล้วการกลับมาของ อ.ปรีดี ได้กำหนดแผนอะไรบางอย่างที่ใหญ่มาก ๆ

ผมอยากให้พี่ ๆ น้า ๆ ช่วยไขข้อกระจ่างหน่อยครับ ว่าจริงเท็จประการใดและช่วยขยายความด้วยจะขอบน้ำใจพวกท่านเป็นอย่างมากครับ


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.ย. 12, 20:07
คุณinteeraอ่านเรื่องนี้หรือยัง ถ้ายังควรอ่านก่อน แล้วจะเข้าใจและไม่เข้าใจอะไรๆอีกมากมาย

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.0


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: inteera ที่ 27 ก.ย. 12, 19:02
ขอบคุณครับ ใช้เวลา 2 วันเต็มๆอ่านจนหมด ได้รู้อะไรเพิ่มขึ้นเยอะเลย นั่งถามตัวเองว่า นี่สมัยเด็กๆ เราเรียนอะไรไปบ้างวะเนี่ย (ฮา)



กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 12, 19:55
ถ้าสนใจ มีอีกหลายกระทู้นะคะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0
ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5194.0
กบฎบวรเดช นี่ทหารการเมืองเขาเล่นอะไรกัน?

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5236.0
คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 28 ก.ย. 12, 08:08
มีข้อสังเกตเพิ่มเติมในเรื่องตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ
ทั้งพระองค์เจ้าบวรเดช  พระยาพหลพลพยุหดสนา หลวงพิบูลสงคราม  ซึ่งต่อมาต่างก็เป็นคู่ขัดแย้งกันนั้น
ต่างก็เติบโตมาในเหล่าทหารปืนใหญ่  ซึ่งในสมัยก่อนถือกันว่าเป็นสุดยอดหัวกะทิของกองทัพด้วยกันทั้งนั้น


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ก.ย. 12, 08:54
สารคดี "ปรีดี พนมยงค์"

ผลิตโดย โครงการฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส พ.ศ. ๒๕๔๓

http://www.youtube.com/watch?v=bTe9bUY8jic


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ต.ค. 12, 08:57
ในกระทู้นี้มีหนังสือที่น่าสนใจ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4778.0

 ;D


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ค. 17, 09:35
๑๑ พฤษภาคม วันปรีดี

ร่วมรำลึก "รัฐบุรุษอาวุโส" (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/070/699.PDF)

ปรีดี พนมยงค์    ทระนง ณ ธรณิน  
คือใจอันไม่สิ้น    แม้สิ้นใจไม่สิ้นจำ


เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 13 พ.ค. 17, 22:15
จนถึงวันนี้ผมยังดองการอ่านเรื่องจอมพลป.กับท่านปรีดีไว้เลย  :-X  เหมือนกับเพชรพระอุมาที่อยากอ่านรอบ 2 แบบเก็บรายละเอียดมาก การเดินทางครั้งใหม่ของมณีจันทร์ก็ยัง เวลามันหายไปไหนหมดน้า....



กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 พ.ค. 17, 07:21
ฝากหนังสือให้คุณซูเปอร์บอยอ่านอีกเล่ม  ;D

ปรีดี บรรณานุสรณ์ ๒๕๖๐ หนังสือที่ระลึกในวันปรีดี พนมยงค์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐

http://www.openbase.in.th/files/ebook/eBook-Pridibunnanusorn.pdf


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 17, 10:53
ไปเจอเรื่องนี้เข้าใน facebook   อยากจะถามคุณเพ็ญชมพูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ซามูไร อโยธยา
11 ชม. ·
นายปรีดี พนมยงค์ บีบคั้นในหลวงจนสละราชบัลลังก์ไปแล้ว พ่อและพรรคพวกทำอะไรกันต่อ

ยึดพระราชทรัพย์

การใช้อำนาจของรัฐบาลคณะราษฎรแทรกแซงกระบวนการของตุลาการ เรื่องมันมีอยู่ว่าอธิบดีศาลแพ่งพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (บุคคลในรูปนี้)ไม่ยอมรังแกในหลวงตามที่รัฐบาลมีความประสงค์ กล่าวคือเมื่อโอนพระคลังข้างที่มาอยู่กับกระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งพ่อเป็นรัฐมนตรีการคลังอยู่! ก็ได้กล่าวหาว่าในหลวงและพระราชินี โอนเงินจากบัญชีทรัพย์สินฯ ไปใช้ส่วนตัวถึง ๑๐ รายการ รวมกว่า ๔,๑๙๕,๘๙๔.๘๙ บาท

นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรมต.คลัง จึงส่งเรื่องให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๒ พร้อมกับขอคุ้มครองชั่วคราวแบบฉุกเฉิน โดยให้ศาลยึดหรืออายัดทรัพย์สินของทั้ง ๒ พระองค์ไว้ทั้งหมด โดยอ้างว่ามีการโอนที่ดินไปให้ผู้อื่น เมื่อรับฟ้องและคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวแล้ว พระสุทธิอรรถนฤมนตร์(สุข เลขยานนท์) อธิบดีศาลแพ่ง

"มีคำสั่งให้ยกคำร้องของกระทรวงการคลัง"

๓ วันต่อมา นายปรีดี พนมยงค์ ก็ยื่นคำร้องอีก

แต่ศาลแพ่งก็ยังสั่งยกคำร้องอีก โดยให้เหตุผลว่า "...โจทก์มิให้นำบัญชีแม้แผ่นเดียว หรือหนังสือสั่งการของจำเลยที่ ๑ (สมเด็จพระปกเกล้าฯ) แม้แต่ชิ้นเดียวมาแสดง พยาน(ของโจทก์) ทั้ง ๒ ปาก ทราบข้อเท็จจริงมาได้ก็โดยการตรวจพบเอกสารต่าง ๆ จึงมีค่าเสมือนพยานบอกเล่า โจทก์หาได้นำพยานที่รู้เรื่องเดิมแม้แต่ปากเดียวมาสืบประกอบไม่..."

สรุปสั้นๆคือ นายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เอาหลักฐานที่เป็นเอกสารไปให้ศาลเลยแม้แต่แผ่นเดียว พ่อเพียงเอาพยานสองคนไปแจ้งให้ศาลทราบเท่านั้น
ท่านอธิบดีศาลแพ่งพระสุทธิอรรถนฤมนตร์(สุข เลขยานนท์) จึงสั่งให้ยกคำร้องของพ่อ
พ่อโมโหมากพ่อเลยไปกระซิบให้ณ๊องปอฟัง จากนั้นไม่นานพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ก็ถูกย้ายไปอยู่ศาลฎีกา

...และในอีกไม่กี่เดือนถัดมาก็ถูกให้ออกจากราชการ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร ยกตัวอย่างเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "คุณธรรมและจริยธรรมของนักกฎหมาย" ไว้ว่า

"พระสุทธิอรรถฯ ถูกย้ายไปศาลฎีกาทั้งๆ ที่ท่านกำลังจะได้รับการพิจารณาความดีความชอบ ๒ ขั้นเป็นกรณีพิเศษ เพราะผลงานของท่านในรอบปีที่ผ่านมาดีเด่น ท่านเป็นนักกฎหมายไทยคนแรกๆ ที่สำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อท่านถูกย้ายไปศาลฎีกา ท่านก็ไปถามรัฐมนตรีฯ ว่า ทำไมท่านจึงถูกสั่งย้าย ท่านรัฐมนตรีฯตอบท่านว่า ไม่มีอะไร เป็นเรื่องการเมือง ท่านจึงไม่ได้รับพิจารณาความดีความชอบ และไม่ช้าท่านก็ถูกปลดออกจากราชการด้วย

ในวงการศาลรู้สึกไม่สบายใจในเรื่องนี้มาก กังวลกันว่า ต่อไปนี้นักการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงในคดีความของศาล ทำให้ศาลไม่มีความเป็นอิสระ จึงต้องหาทางร่วมกันแก้ไข เพราะในท้ายที่สุดผู้ที่จะเสียหายมากที่สุด ก็คือ ประชาชนผู้เป็นคู่ความในคดีกับรัฐนั่นเอง ต่อมา รัฐบาลชุดนั้นผ่านพ้นไป รัฐบาลชุดนายควง อภัยวงศ์ เข้ามารับตำแหน่งหน้าที่ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ผู้เคยเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับการทาบทามให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ กล่าวว่า ยินดีรับตำแหน่ง แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ต้องให้พระสุทธิอรรถฯ กลับมาเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาตามเดิมต่อไป นายควง อภัยวงศ์ ตกลงรับเงื่อนไขดังกล่าว พระสุทธิอรรถฯ จึงได้กลับเข้ารับราชการตามเดิม หลังจากที่ออกไปเป็นทนายความอยู่พักหนึ่ง หลังจากรัฐบาลชุดนายควง อภัยวงศ์ พ้นตำแหน่ง ก็มีรัฐบาลชุด หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช เข้ามารับตำแหน่ง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ฯ ซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มาก่อน ได้เชิญพระสุทธิอรรถฯ ไปเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า ในวงการศาลยุติธรรมของไทยนั้น มีการผนึกกำลังกันช่วยเหลือ และปกป้องดูแลคุ้มครองผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมให้พ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบ ซึ่งเป็นการผนึกกำลังกันในวิชาชีพที่ดี"


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 พ.ค. 17, 11:03
คุณเทาชมพูอาจหาข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งเกี่ยวกับคดีนี้ได้จากบทความ

คดียึดพระราชทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดย สุพจน์ แจ้งเร็ว นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ ๒๗๒ วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๕

http://chatcha-mey.blogspot.com/2008/08/blog-post.html


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 20 พ.ค. 17, 12:47
ผมรู้สึกนะครับ เอาแค่ความรู้สึก 
มันเหมือนกับ "ปล้น" เลยนะครับ
บ้านเมืองสืบทอดกันมาเป็นร้อยปี ทรัพย์สมบัติส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ
ปฏิวัติแล้วก็ยึดทรัพย์สมบัติเข้ากองกลาง
เปลี่ยนแผ่นดินที ทรัพย์ก็ต้องส่งต่อไปให้พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่อยู่แล้ว เป็นของแผ่นดินส่วนใหญ่อยู่แล้ว
ไม่ได้เป็นทรัพย์เฉพาะตัวทั้งหมดด้วยซ้ำ
รัชกาลที่ 7 ทำผิดสิ่งใด?
ผมเป็นคนรุ่นหลัง พอจะเข้าใจอุดมการณ์ของคณะราษฎร์แต่การปฏิบัติกลับเข้าใจไม่ได้เลย

ยุคของเหมา แก้งค์สี่คน ยุคของเขมรแดง คนธรรมดาไม่ได้ผิดอะไรแค่มีทรัพย์สินก็ถูกกระทำต่างๆนาๆเพียงเพราะอุดมการณ์ของความเท่าเทียม
ต้องการให้เท่าเทียมกันโดยการ "ปล้น" คนอื่นนี่นะเหรอเป็นสิ่งที่มนุษย์ควรกระทำแก่กัน


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ค. 22, 11:35
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ "วันปรีดี พนมยงค์"

ร่วมรำลึกถึง ๑๒๒ ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์

เสรีไทยนักสู้กอบกู้ชาติ  
เอกราชเทิดไว้ให้สูงส่ง
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ผู้นำธงธรรมจักรพิทักษ์ประชา

ดุจบ่อน้ำบำบัดกระหายให้ทวยราษฎร์
ประศาสน์การธรรมศาตร์แหล่งศึกษา
รัฐบุรษ-คนดีศรีอโยธยา
 นามก้องฟ้า "ปรีดี พนมยงค์"


อภิชาติ  ดำดี (https://www.facebook.com/1120902005/posts/10225936227328563/?d=n)
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 22, 11:53
พระบรมราชวินิจฉัย ร.7 ต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี

คณะอนุกรรมาธิการพิจารณา "เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ" ของปรีดี พนมยงค์ ได้จัดประชุมขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2476 โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธาน ที่ประชุมมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเสนอให้ดำเนินการทางเศรษฐกิจอย่างรัฐบาลเก่า คือ ขยายสหกรณ์ประเภทเครดิต และขจัดคนกลาง เลือกทำในบางเรื่องตามโอกาสอำนวย และที่สำคัญคือ ไม่ต้องมีการวางแผนเศรษฐกิจ ส่วนฝ่ายของปรีดี พนมยงค์ เสนอให้รับหลักการที่จะดำเนินตาม "เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ" แต่งตั้งสภาเศรษฐกิจสำรวจและวางแผนจัดดำเนินการ "เมื่อมีแรงทุนเท่าใดทำเพียงเท่านั้น" การประชุมในวันนั้น ฝ่ายปรีดี พนมยงค์ พยายามรุกให้ที่ประชุมตกลงว่า จะเอาอย่างไรให้แน่นอน แต่ฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็เบี่ยงบ่ายด้วยความคิดที่ว่า โครงการนั้นจะดำเนินการไม่ได้ และถ้าหาก ปรีดี พนมยงค์ ประกาศโครงการเศรษฐกิจในนามของตนเอง ก็อย่าทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นของรัฐบาล

วันที่ 28 มีนาคม 2476 ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีก ในที่ประชุม พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ถามว่า นโยบายทางเศรษฐกิจได้จัดการอย่างไรบ้าง ปรีดี พนมยงค์ ได้เล่าถึงการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของตน จากนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้นำเอาบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 เกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ มาเสนอต่อที่ประชุมและให้ปรีดี พนมยงค์อ่าน การกระทำดังกล่าวทำให้ความขัดแย้งต้องยุติลง พระบรมราชวินิจฉัยดังกล่าวนี้บ้างก็เชื่อว่าเป็นของรัชกาลที่ 7 บ้างก็ว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับพวกทำขึ้นแล้วให้รัชกาลที่ 7 ลงพระนาม แต่พระบรมราชวินิจฉัยดังกล่าวโต้แย้งปรีดี พนมยงค์ รุนแรงมาก


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 22, 11:53
เช่นบางตอนกล่าวว่า "โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่  ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ  สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้ง     2 นี้ เหมือนกันหมด" ซึ่งทำให้ ปรีดี พนมยงค์ ถึงกลับกล่าวว่า "เมื่อในหลวงไม่เห็นด้วยแล้วก็มีทางเดียวเท่านั้น คือ ข้าพเจ้าต้องลาออกจากรัฐมนตรี" แต่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ขอให้ระงับการลาออกไว้ก่อน

ใน พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจ ของ ปรีดี พนมยงค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงความเห็นโต้แย้งแนวคิดทางเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ แทบจะทุกประเด็น เริ่มตั้งแต่ หมวดที่ 1 ว่าด้วยหลักของคณะราษฎร ทรงก็ "ขอให้ฟังเสียงของราษฎรจริงๆ อย่างได้หักโหมบังคับเอาโดยทางอ้อม หรือทางใดทางหนึ่ง ให้ออกเสียงเห็นด้วยเลย ขออย่างโกรษราษฎรถ้าเขาพากันออกเสียงว่าไม่ชอบวิธีเหล่านี้ ซึ่งย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจแก่พวกของผู้เขียนโดยแน่นอน และอย่างได้ว่าราษฎรนั้นถือทิฐิมานะงมงายหรือเป็นอุบาทว์กาลีโลก", ส่วนเรื่องของ "ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจในปัจจุบัน"


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 22, 11:54
เค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่อง "ความแร้นของราษฎร" นั้น รัชกาลที่ 7 ทรงโต้แย้งว่า "ราษฎรของเราตลอดจนชั้นคนขอทานยังมิปรากฏเลยว่าอดตาย คนที่อดตายจะมีก็แต่คนที่กลืนไม่ลงเพราะความเจ็บไข้เท่านั้น แม้แต่สุนัขตามวัดก็ปรากฏยังไม่มีอดตาย...ราษฎรของเรามีน้อยคนหรือเกือบจะไม่มีก็ได้ที่นอนกลางคืนแล้วนึกว่ารุ่งขึ้นเช้าจะหากินไม่ได้ นอกจากผู้นั้นจะกระดุกกระดิกตัวไม่ได้ หาไม่ฉะนั้น คงหากินได้เสมอ"

เรือง "ราษฎรชอบเป็นข้าราชการ" นั้น พระองค์ก็โต้แย้งว่า "ความข้อนี้อาจเป็นจริงได้ แต่ไม่ใช่จริงอย่างตลอด เพราะเหตุว่าความหมายของราษฎรให้คำว่า 'ข้าราชการ' นั้นมิได้หมายดังที่ผู้เขียนหมาย 'ข้าราชการ' ตามความจริงของราษฎรนั้น คือผู้นั่งชี้นิ้วอำนวยการงาน หรือผู้นั่งโต๊ะเป็นเสมียน กินน้ำชาและงานเบาๆ ในประเภทเช่นว่านี้ ข้าราชการเช่นนั้น ข้าพเจ้ายอมรับว่าราษฎรอยากเป็นจริง เพราะสบายดี ไม่ต้องเหนื่อยยากอันใด แต่ถึงกระนั้นเองก็ยังไม่เป็นการจริงทั้งสิ้น เพราะมีราษฎรหลายคนที่ไม่พึงประสงค์จะเป็นแม้แต่เสมียน เขาชอบประกอบการอาชีพทำการอิสระ ดั่งนี้มักมีจำนวนอยู่มากไม่น้อย"



กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 22, 11:56
เรื่อง "แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก" นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโต้แย้งว่า "การที่จะจัดให้ราษฎรมาทำงานให้แก่รัฐบาลดังนี้ได้ โดยรัฐบาลมีอำนาจเต็มที่จะสั่งอะไรก็ได้ ในเวลากำหนดเท่าใดก็ได้ ดังแผนนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ถ้าจะทำได้ก็คงต้องถึงใช้การบังคับกันอย่างหนัก ถึงกับต้องยิงกัน อย่าลืมว่าคนไทยนันรักเสรีภาพความเป็นอิสระอยู่ในเลือดแล้ว เขาย่อมสละเสรีภาพมาให้ง่ายๆ ไม่ได้แน่ ถ้าจะต้องบังคับกันอย่างนี้แล้ว จะสมควรละหรือ เราหวังจะให้ความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎรทั่วไป การต้องบังคับกดคอให้เขาทำงานนั้น จะจัดว่าให้ความสุขสมบูรณ์แก่เขาอย่างไร มันจะกลายเป็นให้ทุกข์สมบูรณ์เสียมากกว่า" ส่วนบทที่ 4 ที่ว่าด้วยเรื่อง "แรงงานที่เสียไปเพราะบุคคลที่เกิดมาหนักโลก" นั้น ทรงวิจารณ์ว่า

"ความหนักโลกดังผู้เยนกล่าวนี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าจะหมดไปได้ นอกจากนั้นใครจะยอมว่าใครหนักโลก ตัวก็พูดว่าคนอื่นหนักโลก เรามักเห็นตัวเราไม่ถนัด เขาหนักเสมอ ต่างก็นึกเช่นนั้นเสมอเป็นธรรมดา เราเห็นว่าเราทำความดีให้ชาติ คนอื่นเขาก็คงมีเหตุผลอย่างเดียวกันที่จะนึก ดังนั้น คนเราย่อมมีใจคิดด้วยกัน ใครจะมาเป็นผู้ตัดสินว่า ใครผิดใครถูกโดยไม่มีข้อพิสูจน์อย่างใดชัดย่อมไม่ได้ เช่น พวก

ปรปักษ์ของรัฐบาลบางจำพวกที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เขาอาจเห็นตัวเขาไม่หนักโลก แต่เห็นคนอื่นหนักก็ได้"
เรื่อง "วิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน แรงงาน เงินทุน" ที่ปรีดี พนมยงค์ เน้นย้ำว่า "หลักการสำคัญที่ควรคำนึงก็คือ รัฐบาลต้องดำเนินการวิธีโดยละม่อม ไม่ประหัตประหารคนมั่งมี" นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเตือนว่า "ข้าพเจ้าขอให้เป็นดังนั้นจริงๆ เถิด ลงท้ายเข้าเกรงจะหันเข้าหาวิธีรัสเซียใช้ คือ เก็บภาษีสูบเลือดไปทีละเล็กละน้อย ให้ใบบอนด์ซึ่งมีราคาเกินกระดาษ จัดการเข้าประหารคนมั่งมี หาว่าคนมั่งมีหนักโลกเสียละกระมัง"

เรื่อง "รักชาติหรือรักตัว" พระองค์ก็ทรงโต้แย้งว่า "การที่จะพูดว่า คนที่เช่าที่เขาหรือคนที่มีที่ดินของตัวเองว่าใครจะรักชาติมากกว่าใครนั้นเฉยๆ ไม่ได้ เราจะรู้ได้ว่าใครจะรักมากกว่าใคร กลับจะต้องไปพิสูจน์เสียอีกว่า ถ้าชาติพังทะลายเสียแล้ว ผู้ใดจะเสียประโยชน์มากกว่ากันเป็นคะแนนวัดความรักชาติเสียอีก เพราะคนย่อมรักของๆ ตัวและประโยชน์ของตัวเป็นใหญ่จึงจะมีความรักใคร่ส่วนรวม คือ ชาติ"  ส่วนที่ปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า "ข้าราชการบางคนเกียดกันไม่อยากให้ราษฎรเป็นข้าราชการ" นั้น พระองค์ก็ทรงโต้แย้งว่า "คำพูดเช่นนี้เป็นการกล่าวโทษข้าราชการโดยไม่ยุติธรรม"


เรื่อง "การจัดทำรายได้และรายจ่ายของรัฐบาลเข้าสู่ดุลยภาพ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ว่าด้วยเรื่อง  "การจัดการเศรษฐกิจโดยรัฐบาลต้องระวังไม่ให้มนุษย์กลายสัตว์" นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์ว่า "การที่จะไม่ให้คนกลายเป็นสัตว์นั้น ย่อมอยู่ที่คอยเพ่งเล็งมิให้เขาเสียเสรีภาพของเขาเป็นส่วนใหญ่ แต่ตามโครงการเศรษฐกิจที่ผู้เขียนกล่าวไว้แล้วนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าจะทำให้เป็นผลสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่ใช้การบังคับ" ซึ่งก็จะทำให้ราษฎรกลายเป็นทาสเช่นเดียวกับในช่วงก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะทรงประกาศเลิกทาส "แทนที่จะเรียกว่าข้าราชการก็กลายเป็นรัฐทาสเสียมากกว่า สัตว์นั้นอดหยากได้ยากกว่ามนุษย์ เพราะมันหาหย้ากินได้สบายกว่า แต่รัฐทาสนี้ไม่มีทางใดจะหากินทีเดียวนอกจากเป็นทาส"


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 22, 11:57
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงวิจารณ์หลัก 6 ประการข้ออื่นๆ ด้วย เรื่อง  "ความเสมอภาค" ทรงวิจารณ์ว่า "จะมีความเสมอภาคได้อย่างไร ข้าราชการส่วนหนึ่งต้องทำงานเป็นทาส และอีกส่วนหนึ่งเป็นนายผู้ชำนาญทำงานชี้นิ้ว ความเสมอภาคที่ผู้เขียนกล่าวนั้นไม่ใช่มีแต่บนกระดาษ เป็นแต่เพียงเสมอภาคด้วยชื่อ", เรื่อง "เสรีภาพ" ทรงวิจารณ์ว่า "เมื่อห้ามปรามขัดขวางไม่ให้ราษฎรทำตามสมัครใจได้ดังกล่าวแล้ว ก็เท่ากับตัดเสรีภาพ ก็เมื่อรัฐบาลตั้งใจจะตัดเสรีภาพเช่นนี้ ก็นับว่าเป็นการนำความสุขสมบูรณ์มาให้แล้วก็จะทิ้งคนให้มีชีวิตอยู่ทำไม ประหารชีวิตมันเสียให้หมดก็แล้วกัน มันจะได้ไม่ตายดีกว่าที่จะสละทิ้งเสรีภาพของตน" และสุดท้าย เรื่อง "การศึกษา" ทรงวิจารณ์ว่า  "การบังคับให้เรียนหรือการบังคับต่างๆ นี้ ทำไมผู้เขียนจึงชอบนัก ก็จะการชักชวนแทนมิได้หรือ ถ้าจะจัดการศึกษาควรจะต้องชักชวนให้ราษฎรรักการศึกษา และให้ความสะดวกในการศึกษา ทำไมจะต้องใช้แต่ไม้บังคับตลอดไป"

ควรกล่าวด้วยว่า ใน พระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจ ของ ปรีดี พนมยงค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงวิจารณ์ "เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" และ "เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ" อย่างละเอียดด้วย จากนั้นในท้ายที่สุด พระองค์ได้ทรง "สรุปความ" ว่า


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 22, 11:58
"เรื่องที่ได้พิจารณามาแล้วนี้ย่อมเป็นความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า ซึ่งจะเป็นการถูกต้องหรือไม่นั้นก็เป็นแต่ความคิดของข้าพเจ้าเท่านั้น การที่จะรู้ว่าใครเป็นคนถูกหรือผิดก็ต้องทดลองดูเท่านั้นจึงจะเห็นได้

แต่มีข้อสำคัญอันหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนอย่างไม่ต้องเป็นสิ่งสงสัยเลยว่า โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้ง 2 นี้เหมือนกันหมด เหมือนกันจนรายละเอียดเช่นที่ใช้และรูปแบบของวิธีการกระทำ จะผิดกันก็แต่รัสเซียนั้นแก้เสียเป็นไทย หรือไทยนั้นแก้เป็นรัสเซีย ถ้าสตาลินเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ ข้าวสาลีแก้เป็นข้าวสาร หรือข้าวสารแก้เป็นข้าวสาลี รัสเซียเขากลัวอะไร ไทยก็กลัวอย่างนั้นบ้าง รัสเซียเขาหาวิธีตบตาคนอย่างไร ไทยก็เดินวิธีตบตาคนอย่างนั้นบ้าง".

--------------------

อ้างอิง : สถาบันพระปกเกล้า

https://www.thaipost.net/main/detail/33019


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ค. 22, 12:35
รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ อยู่ในหนังสือ เค้าโครงการเศรษฐกิจ (http://www.openbase.in.th/files/puey014.pdf) ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 22, 08:15
 “เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ก็ไม่มีประสบการณ์ แต่เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ก็ไม่มีอำนาจ”
ปรีดี พนมยงค์


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 พ.ค. 23, 11:45
วันนี้เมื่อ ๔๐ ปีก่อน ปรีดี พนมยงค์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อเวลา ๑๑.๔๕ น. ของวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ด้วยอาการหัวใจวาย ที่บ้านพักชานกรุงปารีส ขณะมีอายุ ๘๓ ปี ซึ่งในอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันครบรอบวันเกิดของท่าน (๑๑ พฤษภาคม)

"อโถ สุจิณฺณสฺส ผลํ น นสฺสติ"
ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย

นั้นคือคติพจน์ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเมื่อเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย  และสิ่งที่อาจารย์ปรีดีก่อสร้างไว้ดีแล้ว ก็ย่อมไม่สูญหายเช่นกัน

ในฐานะลูกศิษย์ ขอน้อมระลึกถึงอาจารย์ด้วยความเคารพ

ป๋วย อึ๊งภากรณ์
กรุงเทพฯ
๑๙ เมษายน ๒๕๓๐


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 23, 13:00
คำสารภาพของ ปรีดี พนมยงค์ ยอมรับความผิดพลาดในการร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ

“ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน…บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริง ในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี”

นี่คือคำสารภาพของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เกี่ยวกับความผิดพลาดในการร่าง “เค้าโครงเศรษฐกิจ” หรือที่รู้จักกันในนาม “สมุดปกเหลือง” ซึ่งเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2475 และเป็นต้นเหตุให้เกิดความแตกแยกกันอย่างรุนแรง ในคณะรัฐบาลชุดแรกของระบอบประชาธิปไตย

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยโต้แย้งเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ว่า เป็นการลอกแบบมาจากประเทศรัสเซีย ….สุดท้าย “สมุดปกเหลือง” ของปรีดี พนมยงค์ ก็ไม่ได้ถูกประกาศใช้ เนื่องจากไม่ผ่านการลงมติในสภา อีกทั้งในเวลาต่อมา แม้แต่ตัวผู้ร่างอย่างปรีดี ยังได้ออกมายอมรับความผิดพลาดของตนเอง ในการให้สัมภาษณ์ กับ เอเชียวีค ว่า “ทั้งหมดเกิดจากความไม่เจนจัดและการขาดประสบการณ์ของตน จนไม่คำนึงถึงความเป็นจริงของประเทศ”

https://www.luehistory.com


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 พ.ค. 23, 15:35
เมื่อผมเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ปีสี่ อยู่ฝ่ายแปรอักษร ชุมนุมเชียร์ และได้ผลักดันให้แปรอักษรรำลึกถึงปรีดี พนมยงค์ในงานฟุตบอลประเพณี มกราคม ปี ๒๕๒๖

เป็นการพูดถึงปรีดีในที่สาธารณะครั้งแรกในรอบเกือบสี่สิบปี ท่ามกลางความตื่นตระหนกของบรรดาฝ่ายอนุรักษ์นิยม

อาจารย์ปรีดี ได้เขียนจดหมายมาขอบคุณชุมนุมเชียร์ ที่ยังรำลึกถึงท่าน

และอีกไม่นาน
ท่านก็ได้ลาจากโลกนี้ไป
เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (https://www.facebook.com/706872360/posts/pfbid0rsgZHA51GEVWr8JYT3DxCKCGaREvybApnj2iteSZtEYE6KHcF6GD3PtZE1ynhs8Dl/?mibextid=cr9u03)
นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม

https://pridi.or.th/th/content/2021/01/588


กระทู้: ขอถามเรื่องของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หน่อยครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 05 พ.ค. 23, 22:51
ในสมุดปกเหลืองเค้าโครงเศรษฐกิจ ถ้าเลือกเอาตอนที่
ปรีดี เขียนชมฮิตเลอร์ มาวิเคราะห์ต่อ
และเทียบกับ บทวิจารณ์เรื่องเดียวกัน ในสมุดปกขาว
ก็น่าจะเห็นว่าใครเขียนได้ใกล้เคียงความจริงกว่ากัน

ในวัยสามสิบกว่าๆ ปรีดีไม่ใช่คนที่รู้รอบที่เจนจัด แต่เมื่อครั้งถึงวัยที่มีความเจนจัดก็หมดอำนาจเสียแล้ว ตามสำนวนของคุณปรีดีเอง