เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 13, 22:30



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 13, 22:30
กัปตันริชลิวหรือพลเรือโทพระยาชลยุทธโยธินทร์อดีตผู้บัญชาการกรมทหารเรือสยามในสมัยรัชกาลที่๕  ท่านมีนามเดิมว่า André du Plésis de Richelieu คนไทยโบราณถนัดลิ้นที่จะเรียกว่า ริชลิว ลางทีจะพบชื่อท่านเขียนต่างๆกันหลากหลายมาก เป็นต้นว่า ริเชอลิเออ ริเชลิว ริชาลิเยร์  ริชลิเออ ริเตธิเชอเลียว ตามที่ใครคิดว่าสะกดถูกต้องก็ว่ากันไป จะว่าแล้วคำนี้แม้สำเนียงฝรั่งเองก็ยังออกเสียงไม่เหมือนกัน และจะเรียกชื่อท่านให้ถูกจริงๆก็จะต้องมีคำว่า“เดอ”(de)นำหน้าด้วย

ท่านผู้นี้ถือตนเป็นคนเดนมาร์กก็จริง แต่ชื่อเป็นฝรั่งเศสตามบรรพบุรุษ ส่วนบทความนี้จะขอเขียนชื่อท่านแบบไทยๆว่าริชลิวตามเสด็จพระราชหัตเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่แรกที่ท่านเข้ามารับราชการอยู่ในสยาม


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 13, 22:31
de Richelieu เป็นตระกูลเก่าแก่ของฝรั่งเศส เชษฐบุรุษคนหนึ่งของท่านเป็นพระราชาคณะของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่๑๓ มีนามว่า “Armand Jean du Plessis, Cardinal-Duc de Richelieu” หรือ คาดินัลริชลิว ท่านผู้นี้มีอำนาจและบทบาทมากคล้ายๆนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นคนกำหนดนโยบายบริหารปกครองประเทศ ทั้งการเมืองการทหารของฝรั่งเศส โดยพระเจ้าแผ่นดินเป็นเสมือนหุ่นเชิด แต่ก็สามารถนำพาฝรั่งเศสให้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศระดับแนวหน้าของยุโรปได้  บทบาทดังกล่าวนี้เองที่ทำให้คาดินัลริชลิว ถูกยกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของโลกอย่างไม่เป็นทางการ

ในมุมมองของชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ก็เห็นว่าคาดินัลริชลิวเป็นรัฐบุรุษบุรุษนะ สถานที่ราชการสำคัญๆหลายแห่งรวมทั้งเรือประจันบานอันทรงอานุภาพในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ตั้งชื่อตามท่านผู้นี้ เป็นการให้เป็นเกียรติ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 13, 22:35
กระนั้นก็ดี คนฝรั่งเศสสมัยนั้นก็ไม่น้อยทีเดียวที่เกลียดคนๆนี้ เพราะเห็นว่าเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงและมีวาระซ่อนเร้นเยอะ ช่วงมีอำนาจคาดินัลริชลิวได้สร้างเครือข่ายสมุนบริวารและจ้างสายลับแทรกซึมอยู่ทั่วทั้งในและนอกประเทศ  พระเจ้าหลุยส์ที่๑๓เองทรงเคยหวาดระแวงถึงปลดเขาออกจากตำแหน่งมาแล้ว แต่ก็ด้วยเครือข่ายสมุนบริวาร และนโยบายที่เขาวางหมากไว้ ทำให้พระเจ้าหลุยส์จำพระทัยกลืนเลือดสีน้ำเงิน เรียกเขากลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง

ในนิยายดังเรื่อง “The Three Musketeers” หรือในพากษ์ภาษาไทยชื่อ“ทแกล้วทหารสามเกลอ” มีตัวละครชื่อ คาดินัลริชลิว เป็นตัวร้ายเจ้าเล่ห์เพทุบายกระหายอำนาจท้าทายราชสำนัก  คำว่า“ริชลิว”เลยกลายเป็นศัพท์แสลงในภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายประมาณว่า “เล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองและความทะเยอทะยานของบุคคลที่อยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์”  คนประเภทนี้ในเมืองไทยก็คงจะมีเจ้าพระยาวิชเยนทร์ในสมัยสมเด็จพระนารายน์นั่นคนนึงแน่นอน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 13, 22:37
ส่วนดาราแสดงนำในเรื่องของผมคนนี้ อองเดร ดู ปริชีส์ เดอ ริชลิว(André du Plésis de Richelieu) เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๙๕ ที่ตำบลLojt เมืองAabenraa ประเทศเดนมาร์ก สายสกุลของท่านสืบมาจากตระกูล de Richelieu ที่โด่งดังข้างต้น มีหลายตำนานที่เล่าขานว่า คนในตระกูลนี้อพยพมาอยู่ในเดนมาร์กเพราะในอดีตเดนมาร์กและฝรั่งเศสเคยเป็นพันธมิตรสงครามร่วมกันบ้าง หรือฝรั่งเศสส่งทหารและครัวเรือนเข้าไปครอบครองพื้นที่ของเดนมาร์กบ้าง หรือถูกเนรเทศไปเพราะการเมืองบ้าง อย่างไรก็ดี ครอบครัวของท่านได้โยกย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนไปอาศัยอยู่ในเดนมาร์กมาหลายชั่วคนแล้ว

บิดาของอองเดรก็เป็นนักบวชระดับวิคาร์  เมื่ออายุสามสิบเศษได้ออกไปประกาศศาสนาที่เกาะอันเป็นอาณานิคมของเดนมาร์กในเวสต์ อินดีส และนำชีวิตไปทิ้งเสียที่นั่น อองเดรครั้นโตพอก็สมัครลงฝึกงานนายเรือกับเรือสินค้า เดินทางท่องไปกับเรือและมีโอกาสมาเห็นสยามเมืองเอกราชในท่ามกลางอาณานิคมของชาติตะวันตกครั้งหนึ่ง เกิดความบันดาลใจอยากมาอยู่กรุงเทพ  เมื่อกลับไปเดนมาร์กแล้วสอบได้ประกาศนียบัตรนายเรือ มียศเป็นนายทหารกองหนุนของกองทัพเรือเดนมาร์กระดับนายเรือโท ขณะนั้นอายุ๒๓ปี อองเดรได้วิ่งเข้าหาผู้ใหญ่หลายครั้งจนมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าคริสเตียนที่๙ ที่พระราชวังกรุงโคเปนฮาเกน เพื่อขอพระราชทานหนังสือแนะนำตัวมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเจ้าสยาม หลังจากนั้นในปี๑๘๗๕ตรงกับพ.ศ.๒๔๑๘ อองเดร ดู ปริชีส์ เดอ ริชลิวก็ได้เดินทางไกลแบบไม่มีกำหนดกลับ ผ่านลอนดอนมาสิงคโปรสู่กรุงเทพ ที่นี่ท่านกงสุลโควป์เก้ของเดนมาร์กจะเป็นผู้นำเขาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 13, 22:40
ผมเคยสงสัยเป็นล้นพ้นว่า ทำไมคนมีชาติตระกูลดีอย่างริชลิวจึงได้เลือกมาเผชิญชีวิตในดินแดนที่ห่างไกล แทนที่จะมุ่งเอาดีในบ้านเกิดเมืองนอนของตน นี่ทำเหมือนนักแสวงโชคที่หนีความยากลำบากในประเทศของตนแบบไปตายเอาดาบหน้า

นักประวัติศาสตร์ของเดนมาร์กอธิบายไว้ว่า เพราะสงครามยืดเยื้อระหว่างเดนมาร์กกับปรัสเซียที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ได้ส่งผลต่อคนเดนมาร์ก โดยเฉพาะนายทหารหนุ่มๆ หลายคนคิดว่าไม่อาจจะฝากอนาคตไว้ในประเทศของตนได้แล้ว

ผมจะขอพาเข้าซอยซะหน่อย

ในสมัยที่ยังมิได้เกิดการรวมชาติ ชาวเยอรมันแบ่งการปกครองเป็นรัฐใหญ่ ๑๑ รัฐด้วยกัน คือ ปรัสเซีย ออสเตรีย บาวาเรีย แซกโซนี เมคเลนบูร์ก ฮันโอเวอร์ วูทเทมแบร์ก นัสเซา บาเดน ซักซ์ไวมาร์ และเฮสส์ โดยปรัสเซียเป็นรัฐใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุด จนในปี ค.ศ. ๑๘๗๑ จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นประเทศสมาพันธรัฐเยอรมนี โดยฝีมืออัครมหาเสนาบดีคนสำคัญของปรัสเซียคู่พระทัยของไกเซ่อร์คือ บิสมาร์ค ผู้ใช้ทั้งกองทัพที่เข้มแข็งและนโยบายต่างประเทศที่ชาญฉลาด ฉกฉวยโอกาสโดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์และคุณธรรมใดๆเพื่อดำเนินงานให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายดังกล่าว เริ่มต้นด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย เพื่อป้องกันพรมแดนตะวันออกให้ปลอดจากการถูกโจมตี จากนั้นก็นำปรัสเซียเข้าสู่สงครามถึง ๓ ครั้ง เพื่อทำลายอุปสรรคในการรวมรัฐเยอรมันเข้าด้วยกัน คือ ๑. ผนวกแคว้นซาลสวิก และโฮลชไตน์ จากเดนมาร์ก ด้วยการทำสงครามสองครั้งในระยะสิบปี ๒. ทำสงครามเพื่อกำจัดออสเตรียออกจากสมาพันธรัฐเยอรมันได้สำเร็จ และในสงครามครั้งที่ ๓ เขาได้ใช้สถานการณ์ในสเปนเป็นชนวนจุดสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War) เอาชนะกองทัพของพระเจ้านโปเลียนที่๓ จนคนฝรั่งเศสลุกฮือขึ้นปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์โบนาปาร์ตแล้วเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณะรัฐไปเลย  
ชัยชนะในสงครามครั้งนี้ทำให้คนเยอรมันเกิดความภูมิใจในเชื้อชาติของตน ยอมรับการที่พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ ๑ ทรงประกาศสถาปนาจักรวรรดิเยอรมันขึ้นในพระราชวังแวร์ซายน์ของศัตรูนั่นเอง และบิสมาร์คได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษคนสำคัญของเยอรมนี


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 13, 22:41
สงครามระหว่างปรัสเซียกับเดนมาร์กครั้งแรกนั้นกินเวลา๓ปี จบลงโดยเดนมาร์กเป็นฝ่ายชนะ แต่การเมืองภายในอันยุ่งเหยิงจากการที่มีบางกลุ่มเรียกร้องจะเอาประชาธิปไตยตามอย่างฝรั่งเศสได้ทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง เป็นจุดกระตุ้นให้เกิดสงครามขึ้นอีกในครั้งหนึ่งกับศัตรูหน้าเดิม และเป็นครั้งสุดท้ายในปี๑๘๖๔  จบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของกองทัพเดนมาร์ก ซึ่งนอกจากจะทำให้ต้องเสียดินแดนทางใต้ให้เป็นแคว้นหนึ่งของสมาพันธรัฐเยอรมันอย่างถาวรแล้ว และส่งผลกระทบต่อสังคมเดนมาร์กโดยมวลอย่างแรง จิตใจคนในประเทศตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า แถมการเมืองในประเทศก็วุ่นวายไม่จบ แม้ว่าก่อนสงครามนั้น พระเจ้าเฟรเดอริคที่ ๗ กษัตริย์แห่งเดนมาร์กได้ยินยอมลงพระนามในปี ค.ศ. ๑๘๔๙ เพื่อสละพระราชอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้แก่รัฐสภา แต่รัฐสภาที่พวกมากลากไปนี้เองที่ลงมติให้เดนมาร์กเข้าทำสงครามกับปรัสเซีย-ออสเตรียอีกครั้ง เพื่อหวังสิทธิขาดในการครองแคว้นชเลสวิก การที่ตกเป็นฝ่ายปราชัยแก่บิสมาร์กอย่างย่อยยับ ทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมในระบอบคณาธิปไตย หลังจากนั้น พระเจ้าเฟรเดอริคที่ ๗ก็เสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท วุ่นวายอีกพักหนึ่งก่อนที่ราชบัลลังก์จะตกไปเป็นของพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ ผู้เป็นพระญาติต่างราชวงศ์ ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่ผมจะเล่าต่อไป  การขึ้นมาของกษัตริย์พระองค์นี้ก่อให้เกิดการปรับศูนย์อำนาจของการเมืองภายในประเทศ ฝ่ายอนุรักษนิยม ได้เชิดชูสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ และแก้ไขรัฐธรรมนูญในค.ศ.๑๘๖๖ ถวายคืนพระราชอำนาจบางประการให้กษัตริย์จากเดิมที่เป็นอำนาจตัดสินใจฝ่ายเดียวของรํฐสภา  พระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ ได้ทรงใช้พระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจของพระองค์ตามรัฐธรรมนูญในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาสูงทั้งหมด โดยสามารถละเลยต่อข้อเรียกร้องของสมาชิกสภาล่าง ซึ่งถือว่าเป็นสภาที่มาจากประชาชน  แม้เป็นเช่นนั้น แต่ระบอบการปกครองของเดนมาร์กก็ยังได้ชื่อว่าเป็น “ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อยู่ดี

บรรยากาศยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง หนี้สงครามก้อนโตที่ต้องชำระเป็นค่าปฏิกรรมสงครามแก่ศัตรู อนาคตของชาติมองไม่เห็น ศักดิ์ศรีของกองทัพเสื่อมสูญ ไม่มั่นคงสำหรับการแสวงหาความสำเร็จในสายอาชีพของเหล่าทหารหาญอีกต่อไป
นายทหารส่วนใหญ่ยอมเปลี่ยนอาชีพ หลายคนเลือกที่จะอพยพไปแสวงหาอนาคตใหม่ นายเรือและลูกเรือหลายคนตัดสินใจเดินทางอันยาวไกลจากที่นั่นมาเอเซีย ส่วนหนึ่งจบลงที่กรุงเทพฯ และเข้ารายงานตัวต่อกงสุลใหญ่ของรัฐบาลเดนมาร์กที่นี่

ริชลิวก็เป็นหนึ่งในนั้น ก่อนที่จะมีคนอื่นๆตามเข้ามากว่ายี่สิบคน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 13, 22:45
สยามขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเพิ่งบรรลุพระราชนิติภาวะ และผ่านพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกครั้งที่๒ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ไม่จำต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกต่อไป  พระราชภารกิจหนักหนาซึ่งรอพระองค์อยู่คือการที่จะต้องรักษาบ้านรักษาเมืองให้พ้นภัยฝรั่งนักล่าอาณานิคม อันมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นตัวแสบแถวนี้ ทรงมองหาฝรั่งที่จะเข้ามารับราชการทหารเพื่อรับมือฝรั่งด้วยกัน โดยมีพระราชดำริว่า“เรื่องของกระทรวงกลาโหมนั้น เราได้ตั้งใจไว้เสียช้านานแล้วว่า หากว่าจะต้องการใช้ฝรั่ง จะไม่ใช้ชาติที่มีอำนาจใหญ่คืออังกฤษและฝรั่งเศส แต่จะใช้ชาติที่มีอำนาจชั้นที่ ๒ คือพวกเดน(Dane)เท่านั้น”

เหตุผลประกอบก็คือ คุณสมบัติเฉพาะของพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ แห่งเดนมาร์ก (Christian IX of Denmark) ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้มีพระราชสมัญญานามว่าสุดยอด “พ่อตาแห่งยุโรป”  ด้วยเหตุว่าพระราชธิดาสามองค์
 
เจ้าหญิงอเล็กซานดราอภิเษกสมรสกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ แห่งอังกฤษ
 
เจ้าหญิงดัคมาร์อภิเษกสมรสกับพระเจ้าซาร์ อเลกซานเดอร์ที่๓ แห่งรัสเซีย
 
เจ้าหญิงไธย์ราอภิเษกสมรสกับมงกุฏราชกุมารแห่งฮันโนเวอร์ นครรัฐที่ภายหลังถูกผนวกเข้ากับสหพันธรัฐเยอรมัน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 13, 22:46
มิเพียงแต่เท่านั้นพระราชโอรสทั้งสามของพระองค์  เจ้าชายเฟรเดอริกได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงโลวิช่าแห่งสวีเดน เมื่อสวีเดนแยกกับนอร์เวย์เป็นอีกประเทศหนึ่ง พระราชโอรสของทั้งสองได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าฮากอนที่๗ กษัตริย์แห่งนอร์เวย์
   
เจ้าชายวิลเฮล์มได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าจอชจ์ที่๑แห่งกรีก
 
เจ้าชายวาลเดอมาร์อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมารี แห่งราชวงศ์บูรบองของฝรั่งเศส

จึงไม่ต้องสงสัยว่า แม้เดนมาร์กจะเป็นประเทศเล็ก แต่พระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ ก็ทรงมีอิทธิพลยิ่งใหญ่เพียงไรในราชสำนักยุโรป และทรงนำเดนมาร์กกลับมาเป็นปึกแผ่นมั่นคงในเวลาไม่ช้าจนเกินแก้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 13, 22:50
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯคงจะทรงทราบความตามนัยยะนี้ ดังนั้นเมื่อวันหนึ่งกงสุลใหญ่เดนมาร์กประจำสยามมาเข้าเฝ้าและเบิกตัวกัปตันริชลิว อัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ มาถวาย ฝากฝังนายทหารเรือหนุ่มผู้นี้เป็นการส่วนพระองค์ โดยมีเอกสารรับรองการเป็นนายทหารและกัปตันเรือของราชอาณาจักรเดนมาร์กมายืนยันความรู้ความสามารถด้วย

เมื่อพระเจ้ากรุงเดนมาร์กมีพระราชหัตถเลขามาเองเช่นนี้  ก็น่าจะเป็นที่เข้าใจได้ว่าทำไมพระเจ้าอยู่หัวจะทรงยินดีเป็นที่ยิ่ง ดังนั้น ตั้งแต่เดือนเมษายนของปีพ.ศ.๒๔๑๘ กัปตันริชลิวจึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รับราชการเป็นทหารเรือวังหลวงยศนายนาวาโท เป็นกัปตันเรือสยามมกุฏชัยวิชิต

แต่ที่พระเจ้าอยู่หัวคงจะไม่ทรงทราบ ณ เพลานั้นก็คือ ในราชสำนักของพระเจ้ากรุงเดนมาร์กเอง เจ้าหญิงมารีแห่งฝรั่งเศส (Princess Marie d'Orleans) ผู้เป็นพระชายาของเจ้าชายวาลเดอมาร์ (Prince Waldemar)พระราชโอรสองค์เล็กสุดของพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙  ได้กระทำพระองค์ประหนึ่งจารสตรีฝรั่งเศสแอบแฝงอยู่  เจ้าหญิงมารีนี้ทรงได้ชื่อว่าหัวรุนแรง จัดเป็นฝ่ายซ้ายจัดในบรรดาพระราชวงศ์ของยุโรปทั้งหลาย นักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตุว่าข่าวกรองด้านการเมืองการต่างประเทศที่ทราบกันเฉพาะวงในราชสำนักเดนมาร์ก  มักจะรั่วไหลออกจากวังไปให้รัฐบาลสาธารณะรัฐของฝรั่งเศสได้ล่วงรู้อยู่เสมอ โดยมีเจ้าหญิงมารีเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง บางครั้งก็กลับกัน อย่างเช่นเมื่อคราวเกิดข้อพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศสดังจะได้กล่าวต่อไป ข่าวว่ามีคำสั่งจากโคเปนฮาเก้นมาที่กรุงเทพ ให้นายทหารเดนมาร์กที่ตามกัปตันริชลิวเข้ามาทำงานในสยามต่อมาไม่น้อยกว่า๒๕คนวางตนเป็นกลาง มิให้เข้าร่วมรบกับฝรั่งเศสซะอย่างงั้น

แต่ผลจะเป็นประการใด ก็ขอให้ท่านติดตามอ่านมาช่วยวิเคราะห์กัน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 06 ก.ค. 13, 23:46
มาลงชื่อเข้าเรียนครับ  ซายานวรัตนหายไปเกือบเทอม  พอเปิดคลาสใหม่แค่เริ่มต้นก็สนุกน่าติดตามแล้ว   ;D  ;D  ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 00:39
มัวไปจัดกาแฟ  เลยถูกปาดหน้าไปเรียบร้อยแล้ว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 08:50
ขอบคุณครับ

มาเห็นเอาตอนเช้า  ^   น่าจะมี Danish pastry มาให้เบรคฟาดซะหน่อย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 09:34
กว่าจะเห็นออเดอร์ก็สายแล้ว  ขออำภัย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 10:07
ได้เครื่องเซ่นแล้วค่อยยังชั่ว ขอย้อนกลับที่ตำแหน่งเดิมก่อนแยกซอยเพื่อเริ่มกันต่อนะครับ

เมื่อกัปตันริชลิวได้รับคำสั่งให้นำเรือสยามมกุฏชัยวิชิตออกไปประจำการที่ภูเก็ต งานหลักก็เพื่อทำแผนที่ชายฝั่งทะเลสยามด้านตะวันตกซึ่งสยามมีเขตแดนติดต่อกับเมืองขึ้นของอังกฤษ เพราะงานนี้จะใช้คนอังกฤษที่ราชการจ้างมาอยู่แล้วหลายคนก็ใช่ที่

ภารกิจแรกของกัปตันริชริวถือว่ามีผลงานเกินเป้า พระยามนตรีสุริยวงศ(ชุ่ม บุนนาค ) ขณะเป็นที่เจ้าหมื่นเสมอใจราช ข้าหลวงเมืองภูเก็ต ได้เขียนรายงานเรื่องจีนกุลีทำเหมืองก่อการกำเริบไว้ มีข้อความบางตอนกล่าวถึงกัปตันริชริว ว่ามีหน้าที่ไปรับเงินภาษีที่เก็บจากหัวเมืองเข้ามาส่งที่กรุงเทพ เผอิญมีเหตุวุ่นวายคนจีนจะตีกัน เรือรบที่ไปลอยลำอยู่นั่นและทหารหลายสิบนายยกพลขึ้นฝั่งพร้อมอาวุธครบมือ จึงมีส่วนร่วมกำหลาบคนจีนเหล่านั้นให้อยู่ในความสงบได้

ถือว่ามีความดีความชอบเป็นของแถม


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 10:12
สำหรับงานหลัก กัปตันริชลิวขณะกำลังสำรวจเพื่อทำแผนที่ในอาณาบริเวณปริมณฑลของภูเก็ตในปีพ.ศ.๒๔๑๙ ได้พบหินโสโครกอันโด่งดังของทะเลระนองซึ่งเป็นกองหินปริ่มน้ำ แบบEmerged Rock  ยามน้ำขึ้นจะมองไม่เห็น ต่อเมื่อน้ำลงหินจึงจะโผล่ยอดขึ้นมา   

แม้มันจะอยู่ของมันเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไร เรือใครต่อใครวิ่งไปชนอับปางคนตายมานักต่อนักแล้ว แต่ด้วยความรู้ความฉลาดของท่านผู้นี้ พอพบแล้ว ท่านก็กำหนดจุดลงแผนที่ ทำรายงานส่งไปยุโรปว่าข้าพเจ้านี่แหละเป็นผู้ค้นพบเป็นคนแรกของโลก และตั้งชื่อกองหินนี้ว่า Richelieu Rock ซะเลย

ผลงานแผนที่ภูเก็ตของท่านมีหลักฐานแทรกอยู่ในแผนที่อังกฤษ หมายเลข ๘๔๒ ซึ่งพิมพ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๒


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 10:13
เดี่ยวนี้กองหินริเชอริเออยังปรากฏในแผนที่ทะเล เป็นที่รู้จักของนักดำน้ำทั่วโลก เพราะเป็นจุดที่พบฉลามวาฬบ่อยสุดของทะเลไทย

แต่ที่ผมเห็นเขียนๆกันในเวปของนักดำน้ำว่า กองหินนี้ได้ถูกค้นพบโดย Louis du Plessis de Richelieu (กัปตันหลุยส์ ดู เปลสซิส เดอ ริเชอลิเออ (ผมสะกดชื่อตามเขา)) หรืออีกนามหนึ่งนายนาวาโท พระพลสินธวาณัติก์ แห่งราชนาวีไทย นั้น
 
ริชลิวท่านนี้เป็นน้องชายแท้ๆของกัปตันริชลิว  ติดตามพี่ชายเข้ามาสยามเมื่อปีพ.ศ.๒๔๒๘ รับราชการจนมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานแผนที่ทะเล กรมทหารเรือก็จริงอยู่ แต่ก็มีผลงานแค่การ สำรวจชายฝั่งสยามบริเวณจังหวัดตรังกานู จากบูกิตเตงกา ถึง พูโลคาปัส ในฝั่งอ่าวไทยเมื่อพ.ศ.๒๔๓๘ เท่านั้น ไม่ใช่ฝั่งทะเลอันดามัน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 10:31
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จประพาสบรรดาเมืองขึ้นของอังกฤษและดัชท์ในภูมิภาคนี้กลับมาแล้ว ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะปรับปรุงสยามอย่างด่วน เฉพาะด้านการป้องกันประเทศนั้น แต่โบราณกาลมีทหารหลักอยู่แบบเดียวคือทหารที่เกณฑ์มา มิได้แบ่งแยกออกเป็น กองทัพบก กองทัพเรืออย่างเด่นชัด หากยาตราทัพไปทางบกก็เรียกว่า"ทัพบก" หากยาตราทัพไปทางเรือก็เรียกว่า"ทัพเรือ” การจัดระเบียบการปกครอง ทหารจะขึ้นอยู่กับวังหลวงและวังหน้า เดิมมีวังหลังด้วย ในยามปกติก็อยู่กับไร่กับนาทำมาหากินเป็นราษฎรธรรมดาๆ ถึงปีก็ไปจับสักเลขไว้ ยามศึกสงครามก็เรียกตัวมา จัดเป็นทัพหน้าทัพหลวงยาตราทัพไปรบทั้งภายในและภายนอกอาณาจักร บางครั้งต้องใช้เรือลำเลียงทหาร หรือเสบียงและศาสตราวุธหนักๆเช่นปืนใหญ่ เพราะสะดวกรวดเร็วกว่าไปทางเกวียน ต่อเมื่อสุดทางน้ำแล้วจึงจะยกทัพต่อไปบนทางบก

เรือรบทั้งวังหน้าและวังหลวงจะมี๒ประเภทด้วยกันคือ เรือรบในแม่น้ำและเรือรบในทะเล ทหารเรือในต้นรัชกาลที่๕ยังไม่มีความเป็นเอกภาพ เพราะทหารเรือวังหน้าขึ้นอยู่กับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ใช้พลอาสาที่เกณฑ์มาจากชุมชนชาวต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสัมภาร อาสามอญให้เป็นลูกเรือ อาสาญวนให้เป็นทหารปืนใหญ่ประจำป้อมปืนต่างๆของกรุงเทพ  ส่วนทหารเรือวังหลวงก็ขึ้นอยู่กับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ใช้อาสาจามและอาสาแขก(มุสลิมจากปักษ์ใต้) โดยมีเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหม บุตรของท่านสืบสานหน้าที่ต่ออย่างแข็งขัน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 10:33
ในพ.ศ.๒๔๒๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทรงเริ่มต้นการปฏิรูประบบทหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยทรงตั้งให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เป็นผู้บังคับการกรมแสง สังกัดทหารเรือวังหลวง หรือที่ปัจจุบันเรียกว่ากรมสรรพาวุธ โปรดให้เรียกกัปตันริชลิวกลับมากรุงเทพ ตั้งให้เป็นหลวงชลยุทธโยธิน มีตำแหน่งปลัดกรมแสง เพื่อช่วยจัดซื้ออาวุธประจำกายของทหารเช่นปืนเล็กยาวให้ทันสมัย และฝึกหัดทหารกรมแสงตามแบบยุโรป ให้ใช้อาวุธได้ทั้งปืนเล็กและปืนกลหนักแบบแกตลิง (Gatling Gun) ที่มีประสิทธิภาพสูง สั่งซื้อมาจากสหรัฐอเมริกาผ่านหมอชันดเลอร์เมื่อพ.ศ. ๒๔๑๘ เอาเข้ามาดองไว้หลายปีแล้ว ทรงตั้งเป้าให้ทหารหน่วยนี้รบได้ทั้งทางบกทางทะเล เรียกอย่างฝรั่งว่าทหารมะรีน เป็นลูกครึ่งระหว่างทหารราบและทหารเรือ สมัยนี้มีศัพท์เท่ห์ๆเรียกว่าเหล่านาวิกโยธิน



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 10:39
ทหารที่สังกัดกรมแสงก็คัดมาจากกองอาสามอญ กัปตันริชลิวเลือกเฉพาะคนหนุ่มที่มีหน่วยก้านดีมาบรรจุ ยังแค่ฝึกแถวเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ถึงกับได้ฝึกการใช้อาวุธอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็เข้าตากรรมการ เห็นว่ามีระเบียบวินัยดีกว่าทหารหน่วยอื่นๆ แต่งเครื่องแบบขาวเนี๊ยบน่าชม ทหารมะรีนเลยเป็นที่นิยมชมชอบ

ฝรั่งในสยามนินทากันว่า ทหารมะรีนถูกจ้าวนายเรียกใช้งานในหน้าที่อื่นๆเสียมาก จนไม่มีเวลาจะฝึกฝนอาวุธให้ทำการรบได้จริงๆ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 10:43
ในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงโปรดให้สั่งซื้อเรือยอชท์แบบสกูเนอร์ ต่อด้วยเหล็กจากประเทศอังกฤษเข้ามาเป็นเรือพระที่นั่ง  โดยสั่งผ่านพระสยามธุรพาหะ(D.K.Mason)  กงสุลกิตติมศักดิ์สยามในลอนดอนเวลานั้น
 
พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือท่านหนึ่งเขียนไว้โดยอ้างเอกสารของกองทัพเรือว่า กงสุลฝรั่งเรียกค่าป่วยการ(Commission)ตามธรรมเนียมหรือหลักปฏิบัติจากรัฐบาลสยามร้อยละ๕ และคงได้รับจากฝ่ายบริษัทผู้สร้างเรือด้วยแต่ไม่พบหลักฐาน แสดงว่าระบบราชการในสมัยนั้น ยอมให้มีนอกมีในได้(เพราะฝรั่งชอบอ้างว่ามีเงินเดือนราชการไทยน้อยนิด เมื่อเทียบกับบ้านตน)  ซึ่งต่อมากัปตันริชลิวก็ใช้ช่องนี้ทำราชการเป็นงานธุรกิจไปเลย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ค. 13, 10:52
หยอดมาให้เล็ก ๆ พอให้กลืนน้ำลายเล่น  :-[


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 10:54
เ อื๊ อ ก ก ก  ก   ก


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 10:56
เรือพระที่นั่งลำใหม่มีชื่อพระราชทานว่า“เวสาตรี”  โปรดเกล้าฯให้หลวงชลยุทธโยธินทร์เป็นผู้บังคับการอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยทรงมีพระอักษรถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ผู้บังคับบัญชาทหารเรือวังหลวงในเวลานั้น ดังนี้

"ให้จัดทหารปืนแกตลิงกันลงประจำเรือเวสาตรี ให้เปนเรือกรมแสง พระองค์สายเป็น ผู้บังคับบัญชา……
….แต่ผู้ซึ่งจะเปนกัปตันนั้น เหนว่ากัปตันริชลิว เป็นคนของเจ้าแผ่นดินเดนมาร์คได้มีพระราชสาส์นฝากฝังมาถึงฉันเอง เขาได้รับการในเรือรบแลการทำแผนที่ ก็เหนว่าเรียบร้อย เปนคนที่มีความรู้ควรต้องเลื่อนยศขึ้นบ้าง ฉันจึงจะขอกัปตันริชลิวให้เปนกัปตันเรือยอชต์หลวง ให้เป็นเกียรติยศขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง แลจะได้ฝึกหัดคนพวกนี้ให้เข้าใจในทางปืนให้เรียบร้อยแล้ว เมื่อมีราชการอย่างอื่นเปนครั้งเปนคราว ก็จะได้เรียกใช้ได้……

…….อนึ่งเรือลำนี้ฉันก็คิดไว้ว่า ถ้ามีราชการสลักสำคัญ เรือรบขาดไปก็จะยอมให้ใช้ไปราชการ ถึงจะสู้คลื่นลมอย่างไร ก็เหนจะสู้ได้แขงแรง……การเรื่องกัปตันนั้น ขอได้สั่งกัปตันริชลิวให้เขารู้ตัวเสียด้วย"

เมื่อเรือมาแล้ว กัปตันริชลิวได้รับคำสั่งเพิ่มเติม ให้คิดดัดแปลงเรือพระที่นั่งให้ติดอาวุธเพื่อใช้ทำการรบได้ด้วย จึงสั่งซื้อปืนใหญ่อาร์มสตรองมาติดตั้ง๙กระบอก และบรรจุทหารมะรีนลงประจำปืน ทำการฝึกหัดอย่างทหารเรือในยุโรป  ตรงนี้เป็นโอกาสแรกที่ริชลิวจะได้รู้จักคนในบริษัทผู้ผลิตปืนใหญ่ชั้นยอดของโลก ซึ่งทำให้เกิดการจัดซื้อปืนใหญ่ประจำป้อมพระจุลจอมเกล้าขึ้นในไม่ถึงสิบปีต่อมา


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 11:03
อ้างถึง
หยอดมาให้เล็ก ๆ พอให้กลืนน้ำลายเล่น

จะลงก็ลงมาเลยพ่อ จะช้าอยู่ใย

ส่งเครื่องเซ่นให้ผมกินมั่ง ส่งชื่อรูปมาให้ผมหาตาทิพย์มาดูเองมั่ง  มิโหดไปหน่อยรึ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ค. 13, 11:15
อ้างถึง
หยอดมาให้เล็ก ๆ พอให้กลืนน้ำลายเล่น

จะลงก็ลงมาเลยพ่อ จะช้าอยู่ใย

ส่งเครื่องเซ่นให้ผมกินมั่ง ส่งชื่อรูปมาให้ผมหาตาทิพย์มาดูเองมั่ง  มิโหดไปหน่อยรึ

โอย ไม่โหดหรอกครับ จะรอเชิงอยู่ ท่านยังเกริ่นนำถึงอยู่ ไว้รอให้ถึงการงานของท่านและบ้านพำนัก จัดแปะแผนที่บ้านหลวงไปให้ขอรับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 11:33
จดๆจ้องๆยกมือขอเอาภาพประกอบมาติดข้างฝาด้านหลังห้อง   ก่อนจะเลี่ยงออกไป

ภาพนี้ท่านนวรัตนคงบรรยายได้ดีกว่าดิฉัน     ที่เอามาให้ดูคือเครื่องแบบมะรีนสมัยรัชกาลที่ ๕  ยังใช้มาจนทุกวันนี้  
แต่มะรีนยุคคุณเทียด ยังไม่สวมเกือก   ใช้หนังแท้ธรรมชาติอยู่



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 07 ก.ค. 13, 11:37
อ้างถึง
หยอดมาให้เล็ก ๆ พอให้กลืนน้ำลายเล่น

จะลงก็ลงมาเลยพ่อ จะช้าอยู่ใย

ส่งเครื่องเซ่นให้ผมกินมั่ง ส่งชื่อรูปมาให้ผมหาตาทิพย์มาดูเองมั่ง  มิโหดไปหน่อยรึ

 ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 11:56
^
คุณหมอCVTมาแล้วครับ ถึงคิวใครจะตรวจสุขภาพ  เชิญ

อ้างถึง
จดๆจ้องๆยกมือขอเอาภาพประกอบมาติดข้างฝาด้านหลังห้อง   ก่อนจะเลี่ยงออกไป

ภาพนี้ท่านนวรัตนคงบรรยายได้ดีกว่าดิฉัน     ที่เอามาให้ดูคือเครื่องแบบมะรีนสมัยรัชกาลที่ ๕  ยังใช้มาจนทุกวันนี้  
แต่มะรีนยุคคุณเทียด ยังไม่สวมเกือก   ใช้หนังแท้ธรรมชาติอยู่

ผมว่า ภาพนั้นมาจากจินตนาการโดยแท้

ความจริงแล้ว แรงงานที่ใช้ในราชการทหารจะเกณฑ์มาจากกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสัมภารทั้งหมด เรียกว่าพวกอาสาจีนบ้าง อาสาจามบ้าง ทหารเรือวังหน้าเดิมใช้อาสามอญและอาสาญวน  กรมพระราชวังบวรฯท่านทรงมีหน้าที่ดูแลป้อมปืนใหญ่ที่เรียงรายสองฝั่งเจ้าพระยาด้วย แรงงานประจำป้อมปืนใหญ่ทรงใช้พวกญวน ที่ลงเรือเป็นพวกมอญ
 
หลังจากที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าถูกเร่งรัดให้เสร็จจากงานก่อสร้างแบบมาราธอนเกือบสิบปี เพื่อรับมือฝรั่งเศส คนญวนจึงถูกกำหนดให้เกณฑ์ไปใช้แรงงานประจำปืนที่นั่นอีก คนรุ่นนี้ส่วนใหญ่เพิ่งจะเข้ามาใหม่ ฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง ต้องใช้ล่ามกำกับอีกทีหนึ่ง แถมนายทหารประจำป้อมก็เป็นฝรั่ง ที่พูดไทยงูๆปลาๆได้มีคนเดียว อีกสองคนที่ยืมตัวมาจากกรมแผนที่ ก็เพิ่งเดินทางเข้ามาเมืองไทยเหมือนกัน คนเหล่านี้สั่งการอะไรหัวหมู่คนไทยก็ยากจะเข้าใจ แล้วยังต้องแปลเป็นภาษาญวนสั่งการทหารเลวอีก ฟุตฟิตโฟไฟไอเองก็งงๆยังไม่หายมึนหัว เรือรบฝรั่งเศสก็ดันโผล่เข้ามาเสียแล้ว

ฉายหนังตัวอย่างตอนต่อไปแค่นี้ก่อนครับ เดี๋ยวถึงคิวบู๊แล้ว รับรองสนุกกว่านี้

(ปล. ริชลิวในภาพแก๊แก่ พระเจ้าอยู่หัวดูยังทรงหนุ่มอยู่แม้ว่าช่วงนั้นจะทรงหนุ่มกว่าในภาพมาก ความจริงแล้วทั้งสองอายุพอๆกัน)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ก.ค. 13, 14:10
ขอบพระคุณครับ รอผู้กรุณามาเขียนเรื่องนี้ให้อ่านมานานแล้วครับ  ;D

ชื่อ Richelieu เป็นชื่อฝรั่งเศส ถ้าอ่านอย่างฝรั่งเศสก็เป็น "ริเชอลิเออ" ครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 17:01
ขอบคุณคุณม้าที่เข้ามาทักทายครับ

Richelieu ออกเสียงอย่างไร ผมเข้าไปฟังในเวปนี้ ทั้งสำเนียงฝรั่งเศสและเดนมาร์ก ดูจะออกเป็นริเชอลีวมากที่สุดนะครับ แต่ที่ออกเสียง"เชอ"สั้นมากก็มี คนไทยสมัยรัชกาลที่๕จึงเรียกท่านว่าริชลิว

http://www.oddcast.com/home/demos/tts/tts_example.php?sitepal

ในจดหมายเหตุสมัยนั้น ความจริงก็มีทั้งที่เขียนริชลิวแลริเชอลิว นับแล้วริชลิวมากกว่า ผมเลยเลือกที่จะเขียนอย่างนั้น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 19:15
ก่อนหน้ากัปตันริชลิวจะมาถึงสยามสองปี ปรากฏบุคคลที่ต่อมากลายเป็นนักธุรกิจใหญ่มีชื่อเสียงอุโฆษ แต่ภาพปรากฏต่อสาธารณะน้อยมากจนประหนึ่งเป็นบุรุษลึกลับ ในกรุงเทพ Captain Hans Niels Andersen คนไทยรู้จักในชื่อว่านีลส์ แอนเดอเซน ต่อมาเขาคือผู้ซื้อกิจการโรงแรมโอเรียนเตล แล้วขยายอาณาจักรธุรกิจขึ้นเป็นบริษัทอีสเอเชียติก ซึ่งเป็นบริษัทระดับบลูชิพที่ซื้อขายหุ้นกันในตลาดยุโรปสัญชาติเดนมาร์กที่มีรากแก้วอยู่ในสยาม
ข้อมูลที่ไม่ค่อยจะลับกล่าวว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่(ผ่านโนมีนี)ของบริษัทนี้ก็คือเจ้าชายวาลเดอมาร์ (Prince Waldemar) พระราชโอรสองค์เล็กของพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙แห่งเดนมาร์ก พระสวามีของเจ้าหญิงมารีแห่งฝรั่งเศส โดยเฉพาะพระเจ้าคริสเตียนที่๙เอง ก็ทรงสนับสนุนธุรกิจของเดนมาร์กในสยามนี้อยู่เบื้องหลังอย่างเข้มแข็ง

แต่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของบริษัทนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากสายสัมพันธ์อันแนบแน่นของนีลส์กับกัปตันริชลิว ผู้เป็นตัวเชื่อมโคเปนฮาเก้นกับราชสำนักสยาม อย่างแน่นอน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 19:19
นีลส์ถือกำเนิดในครอบครัวชาวเกาะเล็กๆของเดนมาร์กที่ยากจน มีวิชาช่างไม้ทำเรือเลยได้มีโอกาสออกทะเลเดินทางไปรอบโลกในตำแหน่งช่างไม้ประจำเรือ แล้วอย่างไรไม่รู้ได้ ในปีพ.ศ.๒๔๑๖เขาก้าวเท้าลงเรือที่กรุงเทพ แล้วได้งานทำเป็นลูกเรือของ“เรือหลวงทูลกระหม่อม” ซึ่งเป็นเรือสินค้าของในวังที่ให้บริษัทฝรั่งเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้

หลายปีต่อมา เขาได้รับมอบตำแหน่งนายเรือ“ทูลกระหม่อม” ขนไม้สักเต็มระวางบรรทุกไปขายที่ยุโรป ไม้สักเหล่านี้ บริษัทผู้ดูแลผลประโยชน์ของเรือเป็นเอเยนต์ธนาคารในฮ่องกงแห่งหนึ่งอยู่ด้วย จึงจัดการให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ หลังจากนำไม้ลงขายที่ลิเวอร์พูลแล้ว ได้กำไรเกือบเท่าตัว กำไรนี้แบ่งกันสามส่วนตามข้อตกลง คือ เจ้าของได้๑ บริษัทได้๑ กัปตันได้๑

ขากลับ เขาเอากำไรส่วนของตนซื้อถ่านหินลงเรือมากรุงเทพ ซึ่งมีลูกค้าคนสำคัญรอซื้ออยู่แล้วคือนายนาวาโท หลวงชลยุทธโยธินแห่งกองเรือสยาม นีลส์รู้จักนายทหารผู้นี้ดีในชื่อของกัปตันริชลิว และนั่นเป็นการประเดิมธุรกิจที่คนเดนมาร์กคู่นี้ได้เริ่มต้นขึ้นในปี๒๕๒๖ ทั้งที่กระทำโดยเปิดเผยและโดยทางลับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 19:24
ในฐานะปลัดกรมแสง กัปตันริชลิวมีโอกาสได้สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และข้าวของสำหรับเรือพระที่นั่งเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก โดยกระทำผ่านนีลส์ แอนเดอเซนซึ่งตั้งบริษัท‘Oriental Provision Store’ ขึ้นมารับงาน แน่นอนทั้งคู่ได้ผลประโยชน์งดงามทั้งค่านายหน้าและส่วนกำไร เอกสารของเดนมาร์กฉบับหนึ่งเปิดเผยว่า เงินได้ส่วนหนึ่งของกัปตันริชลิวนี้ได้แบ่งให้กับพระองค์เจ้าสายเพื่อความสะดวกในการตรวจรับของด้วย นอกจากนั้นแล้ว การที่พระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงสร้างพระราชวังบางปะอิน ในฐานะกัปตันเรือพระที่นั่ง กัปตันริชลิวจึงมีโอกาสได้เฝ้าใกล้ชิดและพระองค์ก็ถือว่าเป็นพระสหายด้วย เขาจึงมีโอกาสชี้ช่องให้นีลส์ได้จัดหาเครื่องใช้เครื่องประดับต่างๆสำหรับตกแต่งพระตำหนักต่างๆมาขายให้แก่ราชสำนัก ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ

แต่พระเจ้าอยู่หัวเองก็ดูเหมือนจะทรงไว้พระทัยชายคู่นี้มาก คงจะเป็นเพราะมีรสนิยมในการเลือกของมากราบบังคมทูลนำเสนอ ไม่ใช่แพงเว่อร์แต่คุณภาพไม่สมราคา คราวใดที่เสด็จพระราชดำเนินทางไกลและกัปตันริชลิวมีหน้าที่ต้องตามเสด็จนานๆ นายห้างนีลส์ก็จะเข้ามาทำหน้าที่จัดซื้อในกรมแสงแทน ฝรั่งเดนมาร์กเองด้วยกันยังงงอยู่ว่า การที่ผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นบุคคลเดียวกัน แล้วมันจะโปร่งใสไปได้อย่างไร  คำถามของเขาคือ จริยธรรมตัวไหนที่ใช้เป็นตัวแยก Commissions  Corruption  และ Concessions

ในเรือนไทยนี้ ใครตีความหมายเก่งๆ ลองช่วยกันแยกแยะหน่อย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 19:27
รูปข้างบนนี้ ^ ถ่ายในเดนมาร์กเมื่อทั้งสองพบกัน หลังจากนายพลริชลิวกราบถวายบังคมลากลับไปใช้ชีวิตเศรษฐีที่บ้านเกิดแล้ว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ค. 13, 19:58
ก่อนหน้ากัปตันริชลิวจะมาถึงสยามสองปี ปรากฏบุคคลที่ต่อมากลายเป็นนักธุรกิจใหญ่มีชื่อเสียงอุโฆษ แต่ภาพปรากฏต่อสาธารณะน้อยมากจนประหนึ่งเป็นบุรุษลึกลับ ในกรุงเทพ Captain Hans Niels Andersen คนไทยรู้จักในชื่อว่านีลส์ แอนเดอเซน ต่อมาเขาคือผู้ซื้อกิจการโรงแรมโอเรียนเตล แล้วขยายอาณาจักรธุรกิจขึ้นเป็นบริษัทอีสเอเชียติก ซึ่งเป็นบริษัทระดับบลูชิพที่ซื้อขายหุ้นกันในตลาดยุโรปสัญชาติเดนมาร์กที่มีรากแก้วอยู่ในสยาม
ข้อมูลที่ไม่ค่อยจะลับกล่าวว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่(ผ่านโนมีนี)ของบริษัทนี้ก็คือเจ้าชายวาลเดอมาร์ (Prince Waldemar) พระราชโอรสองค์เล็กของพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙แห่งเดนมาร์ก พระสวามีของเจ้าหญิงมารีแห่งฝรั่งเศส โดยเฉพาะพระเจ้าคริสเตียนที่๙เอง ก็ทรงสนับสนุนธุรกิจของเดนมาร์กในสยามนี้อยู่เบื้องหลังอย่างเข้มแข็ง

แต่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของบริษัทนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากสายสัมพันธ์อันแนบแน่นของนีลส์กับกัปตันริชลิว ผู้เป็นตัวเชื่อมโคเปนฮาเก้นกับราชสำนักสยาม อย่างแน่นอน


เป็นอะไรที่ต่อเนื่องและเกี่ยวข้องกัน และกัปตัน แอนเดอสัน ก็ถวายการรับใช้ราชสำนักอยู่เนือง ๆ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 20:44

คราวใดที่เสด็จพระราชดำเนินทางไกลและกัปตันริชลิวมีหน้าที่ต้องตามเสด็จนานๆ นายห้างนีลส์ก็จะเข้ามาทำหน้าที่จัดซื้อในกรมแสงแทน ฝรั่งเดนมาร์กเองด้วยกันยังงงอยู่ว่า การที่ผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นบุคคลเดียวกัน แล้วมันจะโปร่งใสไปได้อย่างไร  คำถามของเขาคือ จริยธรรมตัวไหนที่ใช้เป็นตัวแยก Commissions  Corruption  และ Concessions

ในเรือนไทยนี้ ใครตีความหมายเก่งๆ ลองช่วยกันแยกแยะหน่อย
ยังตีความหมายไม่ค่อยจะออกค่ะ  แต่ว่ามาทำหน้าที่ไขกุญแจเปิดประตู เสร็จแล้วก็จะถอยไปให้ท่านที่เข้าใจดีกว่ามาเปิดประเด็น

     สองคำแรก คือCommission(s)   และ corruption(s) คนไทยเรียกทับศัพท์ไปว่าค่าคอมมิชชั่นและคอรัปชั่น  เป็นที่เข้าใจกันแพร่หลายโดยไม่ต้องแปล   แสดงว่าคุ้นเคยกับความหมายของสองคำนี้ดี   ส่วน concessions ไม่ค่อยคุ้นหู  แต่ถ้าเรียกว่าสัมปทานผูกขาด ก็เข้าใจกันดีว่าหมายถึงอะไร

     ขอเล่าหน้าม่านไปพลางๆก่อนว่า ในสมัยที่ไทยยังมีพระคลังสินค้า   มีระเบียบการทำงานของราชการอย่างหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ข้าราชการได้ค่าคอมมิชชั่นอย่างถูกต้องโดยราชการหลับตาเสียหนึ่งข้าง  เรียกว่า "เหยียบหัวตะเภา"  หรือ "เหยียบสำเภา" คือ เมื่อเรือสินค้าของต่างชาติเข้ามาค้าขายกับสยาม   พวกเขาจะต้องนำเรือสินค้ามาให้กรมพระคลังสินค้าเลือกซื้อสินค้าเสียก่อน  หลังจากนั้นถึงจะขายสินค้าที่เหลือให้ประชาชน
     ในการนี้  พระคลังสินค้าโดยพระเจ้าแผ่นดินจะใช้พระราชอำนาจ สั่งให้ขุนนางคนใดคนหนึ่งหรือชุดใดชุดหนึ่งลงไปตรวจดูสินค้าในเรือที่ว่า  งานนี้เรียกว่า "เหยียบหัวตะเภา" เพื่อคัดเลือกสินค้าที่จะซื้อหรือเก็บภาษีขาเข้าก่อน  ขุนนางที่ไปเหยียบหัวตะเภาหรือเหยียบสำเภา มีสิทธิ์จะพิจารณาเลือกสินค้าเข้าพระคลังได้  หรือสั่งห้ามสินค้าบางอย่างก็ได้  เช่นสินค้าที่เป็นพิษเป็นภัย อย่างพวก อาวุธปืน กระสุนปืน หรือฝิ่น    ดังนั้น กัปตันเรือทั้งหลายก็ต้องรู้วิธีเอาใจขุนนางเหยียบหัวตะเภาเพื่อให้การตรวจเลือกเป็นไปอย่างราบรื่น  ไม่งั้นสินค้าอาจถูกห้ามขายเอาง่ายๆ  หรือถูกเลือกแบบกดราคา ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย  นายเรือจะไปโวยวายกับใครก็ไม่ได้ 
    การเอาใจก็คือให้คอมมิชชั่น  จะเป็นในรูปข้าวของเงินทองอะไรก็ตามแต่  พระคลังก็รู้อยู่เต็มอกแต่ไม่รู้ไม่ชี้ เพราะถือว่าเงินค่าคอมมิชชั่นนั้นนายเรือเป็นฝ่ายจ่าย    ขุนนางจึงอยากจะเหยียบหัวตะเภากันนัก   โดยมากก็ต้องผลัดกันไป ไม่ผูกขาดอยู่กับคนใดคนหนึ่ง
    ทำให้คิดว่า คอมมิชชั่นอาจจะไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจนักในสังคมสยามโบราณ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 20:48
ต่อหน่อยครับ ต่อ ต่อ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 21:02
อ้าว   อินเทอร์มิชชั่นนานนัก  แฟนๆที่กำลังติดตามพระเอกริชลิวกับพระรองแอนเดอเซนจะถล่มคนขัดจังหวะเอาน่ะซี

เชิญออกญาศรีนวรัตนแถลงเรื่องต่อเถอะค่ะ  หยุดจิบน้ำส้มเมื่อไหร่ ดิฉันจะมาเล่านิทานต่อว่าด้วยเรื่องคอรัปชั่น  ไทยเรามีศัพท์ตรงกับคำนี้หลายคำ เช่น สินบน  ฉ้อราษฎร์บังหลวง    ส่วนการวิ่งเต้นติดสินบน เรียกว่า "เดินเหิน"



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 21:10
ผมตั้งใจจะหยุดให้อภิปรายกันตรงนี้ครับ เพราะเรื่องที่จะดำเนินต่อไปจะต้องเกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่านี้ตลอด


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 21:38
ถ้างั้นก็ขอต่อด้วย คอรัปชั่น

ตัวอย่างที่เห็นชัดตอนหนึ่งก็คือในขุนช้างขุนแผน   เมื่อขุนช้างติดคุกเพราะแพ้คดีกับพระไวย     พอรู้ถึงนางวันทอง ก็ต้องวิ่งเต้นไปช่วยเหลือสามี     อย่างแรกคือต้องผ่อนหนักให้เป็นเบา ทำให้ขุนช้างอยู่ในคุกได้สบายพอสมควร    เคยเป็นเศรษฐีมีแต่สุขสบายจะมาทนตกระกำลำบากอย่างไรไหว

นางวันทองแม้ว่าเป็นแม่บ้านเคยแต่นั่งนับเงินกำปั่นอยู่บนเรือนสามี   ไม่เคยปรากฏว่าไปลงทะเบียนเรียนวิชาบริหารภาคค่ำจากสถาบันไหน  แต่พอถึงเวลาต้อง"เดินเหิน"  นางก็ทำได้ฉับไว ไม่เงอะงะ  ไม่ต้องปรึกษาใครให้เสียเวลา

ลุกขึ้นลนลานคลานเข้าห้อง              ประจงจ้องจับกุญแจไขกำปั่น
เปิดฝาคว้าทองสองสามอัน              แล้วหยิบขันปากสลักตักเงินตรา
ใส่ลงในกระทายเป็นหลายขัน            ปากนั้นกอบเบี้ยเกลี่ยปิดหน้า
แล้วส่งให้อีเขียดกระเดียดมา            ทั้งข้าวปลาหาไปใส่ปิ่นโต
แล้วจัดแจงสำรองของกำนัล             เนื้อฉมันน้ำผึ้งเป็นครึ่งโถ
ให้บ่าวเที่ยวซื้อหาปลาเทโพ            บรรทุกเรือแตงโมแล้วรีบมา


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 21:47
วิธีขนเงินของวันทองก็แนบเนียนดี คือทองแท่งกับเงินใส่ไว้ลึกในกระทาย เอาเบี้ยราคาถูกโรยไว้ข้างบน  ไม่ดูประเจิดประเจ้อ  คล้ายๆเอาเงินล้านใส่กล่องขนมปังผูกโบ  ก็เนียนๆดีกว่าจะให้กันเปิดเผย    ส่วนเนื้อสมัน ปลาเทโพและน้ำผึ้งเป็นของกินชั้นยอดจากหัวเมือง   หากินยากสำหรับชาวเมืองหลวง   ข้าราชการชั้นผู้น้อยอย่างพัศดีไม่มีทางซื้อหามากินเองได้
ทั้งหมดนี้นางก็นอบน้อมเข้าไปวางของกำนัลให้พัศดี    บอกว่า

ของกำนัลให้ท่านพัศดี                    คุณพ่อได้ปรานีดิฉันบ้าง
จะขอไปส่งข้าวเจ้าขุนช้าง                 คุกตะรางเป็นอย่างไรฉันไม่เคย

พัศดีเห็นข้าวของก็เรียกพะทำมะรงมาบอกสั้นๆว่า " ช่วยพาพี่แกไปดูผัวหน่อยเหวย"  เป็นอันว่ารู้กันว่าสินบนที่เอามาประเคนให้นั้นรับหมดอย่างเปิดเผย    ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายห้ามรับของกินของใช้จากประชาชน      ส่วนพะทำมะรงตอนแรกไม่ยอมถอดขื่อคาให้ขุนช้าง  แต่นางวันทองอ้อนวอนด้วยเงินก็เลยถอดให้โดยดี

ขุนแผนติดคุกอยู่ 14 ปีตั้งแต่ลูกชายยังไม่คลอดจนลูกชายโตเป็นวัยรุ่น      เพราะพระพันวษาสั่งจำคุกไว้แล้วทรงลืมสนิท    เมื่อนึกขึ้นได้ก็ทรงบริภาษขุนนางที่พากันหุบปากมาตลอด ว่า

เหตุด้วยอ้ายนี่ไม่มีทรัพย์                   เนื้อความมันจึงลับไปเจียวหนอ
ถ้ามั่งมีไม่จนคนก็ปรอ                       มึงขอกูขอไม่เว้นวัน

แสดงว่าทรงรู้นิสัยขุนนางทั้งหลายดี ว่าถ้าไม่มีสินบนเป็นแรงขับเคลื่อน  ข้าราชการจะไม่ขยับเขยื้อนทำอะไรให้เปลืองตัวเปล่าๆ    ข้อนี้ก็น่าจะสะท้อนสภาพสังคมโบราณของไทยได้เหมือนกันว่า คอรัปชั่นแทรกซึมเข้าไปในระบบเสียจนไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องแปลกอีกแล้ว     แม้แต่พระพันวษาเองก็ไม่อาจจะทรงทำอะไรได้มากกว่าทรงบริภาษไปตามเรื่อง   แต่เสร็จแล้วก็ต้องหยวนๆกันไป    อาจเป็นได้ว่าถ้าทรงเอาผิดขุนนางอย่างเข้มงวด   อาจจะไม่มีขุนนางเหลือในท้องพระโรงเลยสักคนก็ได้ 


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 22:19
ส่วนคำสุดท้ายคือ concessions หรือสัมปทานผูกขาด   นอกจากไม่เป็นที่รังเกียจแล้ว     ราชการไทยถือว่าเป็นเรื่องถูกต้องมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงค้นคิดระบบเจ้าภาษี หรือสัมปทานการเก็บภาษีจากราษฎร โดยตัวแทนที่เรียกว่า " เจ้าภาษีอากร"

ก่อนหน้านี้ ในรัชกาลที่ 2   เงินไม่ค่อยเหลือติดท้องพระคลัง  เพราะเก็บภาษีไม่ค่อยได้  แม้แต่ขุนนางเองก็ถูกติดค้างเรื่องเบี้ยหวัดอยู่บ่อยๆ พระคลังต้องจ่ายเป็นผ้าลายบ้าง ทองคำบ้าง ขายผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน       พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงทำธุรกิจค้าขายกับจีนมาตั้งแต่ยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  เมื่อขึ้นครองราชย์ จึงหาวิธีเพิ่มพูนทรัพย์สินในท้องพระคลังด้วยการหาคนมาช่วยเก็บภาษี  เรียกว่าระบบเจ้าภาษี     มีการเปิดประมูลให้ผู้ที่ยื่นประมูลได้สูงสุดเป็นเจ้าภาษีในสินค้าผลผลิตประเภทต่างๆ เช่นพืชสวน  พืชไร่  รังนก สุรา ฯลฯ เงินเหลือจากที่ต้องส่งให้ราชการเท่าไหร่ก็เข้ากระเป๋าเจ้าตัว    เถ้าแก่และขุนนางใหญ่น้อยจึงผันตัวเองมาเป็นเจ้าภาษี  รวยขึ้นก็มาก และที่เจ๊งไปเพราะเก็บไม่ได้ตามเป้าหมายก็มีไม่น้อย    ส่วนราชการไม่เจ็บตัวเพราะยังไงก็มีข้อกำหนดว่าเจ้าภาษีต้องจ่ายเข้าท้องพระคลังตามราคาประมูลอยู่แล้ว  ทำให้ท้องพระคลังเริ่มอู้ฟู่ขึ้นมากในรัชกาลที่สาม ด้วยระบบเจ้าภาษี ซึ่งก็คือสัมปทานแบบหนึ่งนั่นเอง

ในเมื่อชินกับระบบสัมปทาน และเป็นได้ว่าสยามไม่พร้อมจะดำเนินกิจการหลายๆอย่างเอง    ใน พ.ศ. ๒๔๒๖ รัฐบาลสยามจึงเริ่มอนุญาตให้ชาวยุโรปเข้ารับสัมปทานทำไม้สักในประเทศไทย   พอดีกับพม่าเกิดปิดป่าสักห้ามตัดไม้ เพราะพบว่าป่าสักแทบจะเหี้ยนเตียนจากการตัดไม้ของบริษัทต่างชาติ   พอพม่าปิดป่า ไม้ส่งนอกขาดแคลน  ความต้องการไม้สักในยุโรปก็พุ่งสูงขึ้น  ฝรั่งจึงกรูกันมาที่สยามซึ่งยังมีไม้สักงามๆเหลือเฟือ   บริษัทต่างชาติก็เข้ามายื่นคำร้องขอลงทุนโดยให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าเมืองต่างๆทางเหนืออย่างงาม  ไม่ว่าจะเป็นบริษัทบริติชบอร์เนียวและบริษัทบอมเบย์เบอร์มาของอังกฤษ ซึ่งย้ายมาจากพม่า บริษัทสยามฟอเรสต์ บริษัทอีสต์เอเชียติคของเดนมาร์ก บริษัทหลุยส์ตีเลียวโนเวนส์ ของลูกชายแหม่มแอนนา   พวกนี้ได้สัมปทานตัดไม้กันเพลิดเพลิน     กว่าไทยจะตั้งตัวติด   ยกเลิกสัมปทานฝรั่งได้ ก็ล่วงเข้ายุคสงครามโลกครั้งที่ 2

ในเมื่อชั่นที่สามคือ concessions มีประวัติว่า สังคมไทยยอมรับเป็นอันดี   เช่นเดียวกับอีกสองชั่นคือคอมมิชชั่นและคอรัปชั่น ซึ่งแม้จะไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นของแปลกแยกจากสังคม      ทุกวันนี้ เราจึงต้องมีนโยบายปราบปรามคอรัปชั่นกันเป็นการใหญ่  เมื่อเห็นพิษภัยร้ายของทั้งสามอย่างนี้



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 22:28

คราวใดที่เสด็จพระราชดำเนินทางไกลและกัปตันริชลิวมีหน้าที่ต้องตามเสด็จนานๆ นายห้างนีลส์ก็จะเข้ามาทำหน้าที่จัดซื้อในกรมแสงแทน ฝรั่งเดนมาร์กเองด้วยกันยังงงอยู่ว่า การที่ผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นบุคคลเดียวกัน แล้วมันจะโปร่งใสไปได้อย่างไร  คำถามของเขาคือ จริยธรรมตัวไหนที่ใช้เป็นตัวแยก Commissions  Corruption  และ Concessions

ในเรือนไทยนี้ ใครตีความหมายเก่งๆ ลองช่วยกันแยกแยะหน่อย

เล่านอกเรื่องไปไกล วกกลับมาที่คำถาม    เข้าใจว่านายห้างนีลส์แกย้อนถามแบบเล่นโวหารไปงั้นเอง  เพราะสามอย่างนี้ไปๆมาๆ มันก็แยกกันไม่ออก     คอมมิชชั่นถ้าเกิดที่ไหน  มันก็เป็นเหตุไปสู่คอรัปชั่น    คอรัปชั่นที่ออกดอกผลเหลือเฟือที่สุดก็ต้องลงเอยด้วยคอนเซสชั่น หรือสัมปทานผูกขาด  เพราะไร้คู่แข่ง  คู่สัญญาไม่สามารถจะหันไปหาทางเลือกอื่นได้   ทีนี้ จะโก่งราคาหรือเบี้ยวคุณภาพ หรือทำอะไรที่แย่ๆกว่านั้น ก็กอบโกยได้ตามสบายอยู่แล้ว
ถ้าจะเอาจริยธรรมเข้ามาแยก  ก็ต้องไม่นับหนึ่งเสียแต่แรก    ถ้าลองนับหนึ่งยังไงก็ต้องนับต่อถึงสามอยู่ดีค่ะ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 22:35
ขออภัยครับ ผมคงเขียนไม่แจ่มแจ้ง

คำว่าฝรั่งเดนมาร์กเองด้วยกันยังงงอยู่ว่า.. ฯลฯ...นั้น ผมหมายถึงผู้ที่เขียนเรื่องราวของบุคคลทั้งสองนี้มาเปิดเผยครับ ผมไปย่อความจากเขามา

นีลส์คงไม่ได้ตั้งคำถามตัวเอง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 22:41
 ???
เชิญท่านออกญาศรีนวรัตนเฉลยเถอะค่ะ  ดิฉันแยกกันไม่ออกอยู่ดี
ป.ล. พากระทู้ดีๆเขาเข้ารกเข้าพงไปหรือเปล่าเนี่ย?


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 22:54
คุณประกอบน่าจะชอบคำถามแบบนี้ ผมสมควรรอ

คุณเพ็ญก็เช่นกัน อาจไปพลิกความรู้ดีๆในเน็ทมาเสริมสติปัญญาเช่นเคย

ท่านอื่นๆก็ด้วย ขาประจำของผมไม่ทราบว่าหายไปไหน หรือเบื่อกันไปหมดแล้ว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 23:13
ถ้าตามหาคุณประกอบกับคุณเพ็ญ     เอาน้ำชากาแฟมาเสิฟคงไม่สำเร็จ 
ต้องลอง trilobite fossil     อาจจะมาทันคืนนี้ หรือพรุ่งนี้ค่ะ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 23:18
น่าจะเอาไปย่างให้ส่งกลิ่นหอมๆเหมือนกุ้งเผาด้วย จะได้มาเร็วๆ

ไม่เป็นไรครับ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ก็ยังไม่สาย



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 08 ก.ค. 13, 03:48
แอบซุ่มหลบอยู่หลังห้อง โดนคุณครูเรียกตอบซะแล้ว  :(  :-\

ในเรื่องการขายของที่สองหนุ่มเดนมาร์คภูมิใจนำเสนอรัฐบาลสยามในขณะนั้น  ผมเองก็ตอบไม่ได้ว่ามันโปร่งใสหรือน่าเกลียดหรือไม่ครับ  แต่ถ้าเทียบกับมาตรฐานค่านิยมของชนชั้นกลางปัจจุบัน(ที่ไม่ใช่นักการเมือง)ก็อาจจะมองว่าไม่สง่าผ่าเผยนัก คือชงเองจัดซื้อเองขายเองกินกำไรเอง  แม้แต่ขณะนี้นักการเมืองบ้านเราก็ดูจะทำกันเป็นปกติ เพียงแต่อาจแอ๊บใช้นอมินีนิดนึง แต่ถ้ามองมาตรฐานสมัยนั้นผมก็ไม่แน่ใจว่าการทำเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนยุคนั้นหรือไม่ เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายจากระบบราชการโบราณที่ขุนน้ำขุนนางมีรายได้จากการเรียกส่วย กินหัวคิว คิดค่าธรรมเนียมราชการจากชาวบ้านผู้ต้องการบริการฯลฯ มาเป็นการรับเงินเบี้ยหวัดรายปี ดังนั้นแนวคิดเก่าๆ น่าจะยังฝังแน่น อะไรที่เราคนสมัยนี้มองว่าอุ๊ย น่าเกลียด คนสมัยนั้นอาจจะมองว่ามันธรรมดามาก ลุงฝรั่งสองคนนี้อาจจะรับอิทธิพลแนวคิดแบบสยามๆ ไปจนมองว่าไม่น่าเกลียดก็ได้ หรือแม้แต่สังคมฝรั่งยุโรปสมัยนั้นเองก็มองการทำแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา


การกินเปอร์เซ็นจัดซื้ออาวุธเป็นเรื่องธรรมดามากแม้แต่สมัยปัจจุบัน ตัวแทนจัดซื้อจะได้เปอร์เซ็นจากผู้ขาย 5% เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ให้กันเงียบๆ หน่อย ถ้าจะมองว่านีลส์กับกัปตันริชลิวทำไม่ถูก เราต้องพิจารณาว่าท่านทั้งสองจัดหาของดีที่สุดหรือเอาของห่วยมาหลอกขายให้รัฐบาลสยาม ราคาที่ซื้อสมเหตุสมผลหรือเป็นราคาถูกฟันหัวแบะ  รวมทั้งนอกจากทั้งสองแล้วสมัยนั้นมีนายหน้าอื่นๆ มากแค่ไหน และใครคือตัวแทนที่ไว้วางใจได้   และยังต้องพิจารณาแพ็คเกจพ่วงเช่นการฝึกหัดทหารผู้ใช้ บริการหลังการขายอื่นๆ ด้วย  ดังนั้นการที่นีลส์หรือกัปตันริชลิวทำหน้าที่ทั้งซื้อทั้งขายกินหัวคิวเอง แต่ถ้าเป็นดีลที่ให้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดกับสยามขณะนั้น ผมก็ไม่รู้สึกว่ามันไม่สวย


ลองดูปัจจุบันสิครับ คนไทยกันเองจัดซื้อหาอาวุธ เครื่องบินรบ เครื่องบินโดยสาร ฯลฯ เราย่ำยีงบประมาณของเรากันเองยิ่งกว่าในอดีตมากมายนัก แค่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้เรามีของห่วยๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ไม่คุ้มค่าเต็มไปหมดเช่น GT-200, Alpha 6, เรือเหาะ, เครื่องบินไทยคู่ฟ้า, รถดับเพลิง, เครื่องบิน Airbus A340-600 ที่เคยใช้บินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ค, แท็บเลต ป.1  ฯลฯ   


สรุปคือการกินเปอร์เซ็นสมัยนั้นผมเฉยๆ  แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ผมรับไม่ได้แฮะ คิดไปคิดมาแปลกใจตัวเองสองมาตรฐานจริงๆ   ???  ???


พูดถึงตัวสามพู ผมส่งไปให้ซายาเพ็ญแล้ว แถมกล้องส่องพระไปอันไว้ให้แกนั่งส่องฟอสซิล เผื่อจะได้นักสะสมตัวสามพูเพิ่มอีกคน อีกสองเดือนน่าจะไปถึงครับ เพราะส่งแบบถูกสุด  ;D ส่วนตัวสามพูเผาเป็นยังไง คิดว่ากลิ่นและรสน่าจะเหมือนแมงดาทะเลเผามากกว่ากุ้งเผาครับ ถ้าสดๆ เนื้อคงหวานไม่ต้องพึ่งน้ำจิ้มซีฟู็ด :)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 13, 09:33

สรุปคือการกินเปอร์เซ็นสมัยนั้นผมเฉยๆ  แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ผมรับไม่ได้แฮะ คิดไปคิดมาแปลกใจตัวเองสองมาตรฐานจริงๆ   ???  ???


เป็นไปได้ไหมว่าระบบอะไรก็ตามที่มนุษย์คิดขึ้นมา เป็น "กาลิโก" คือขึ้นกับยุคสมัย   มันอาจใช้ได้ในยุคหนึ่ง แต่พอเวลาเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน  ระบบนั้นก็ใช้ไม่ได้อีกแล้ว  ขืนยังใช้อยู่   มันก็ไปถ่วงความเจริญก้าวหน้า ทำให้ประเทศย่ำซ้ำอยู่ที่เดิม  

ขอแถมยำไข่แมงดาทะเล ญาติของสามพู ให้คุณประกอบหนึ่งจานค่ะ  เป็นรางวัลที่ยกมือตอบ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.ค. 13, 11:10
ฝรั่งเดนมาร์กเองด้วยกันยังงงอยู่ว่า การที่ผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นบุคคลเดียวกัน แล้วมันจะโปร่งใสไปได้อย่างไร  คำถามของเขาคือ จริยธรรมตัวไหนที่ใช้เป็นตัวแยก Commissions  Corruption  และ Concessions

คำถามคงมาจากบทความของ  Flemming Winther Nielsen  ;)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 13, 11:17
เยี่ยม


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 13, 11:20
แล้วยังไงต่อครับเรื่องนี้ ...อย่าหยุด....อย่าหยุด


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.ค. 13, 11:23
 ;D

ในฐานะปลัดกรมแสง กัปตันริชลิวมีโอกาสได้สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และข้าวของสำหรับเรือพระที่นั่งเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก โดยกระทำผ่านนีลส์ แอนเดอเซนซึ่งตั้งบริษัท‘Oriental Provision Store’ ขึ้นมารับงาน แน่นอนทั้งคู่ได้ผลประโยชน์งดงามทั้งค่านายหน้าและส่วนกำไร เอกสารของเดนมาร์กฉบับหนึ่งเปิดเผยว่า เงินได้ส่วนหนึ่งของกัปตันริชลิวนี้ได้แบ่งให้กับพระองค์เจ้าสายเพื่อความสะดวกในการตรวจรับของด้วย

ในบทความนี้ Nielsen เรียก "ริชลิว" ว่า "Mister 5 percent"  ;)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.ค. 13, 11:44
คราวใดที่เสด็จพระราชดำเนินทางไกลและกัปตันริชลิวมีหน้าที่ต้องตามเสด็จนานๆ นายห้างนีลส์ก็จะเข้ามาทำหน้าที่จัดซื้อในกรมแสงแทน ฝรั่งเดนมาร์กเองด้วยกันยังงงอยู่ว่า การที่ผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นบุคคลเดียวกัน แล้วมันจะโปร่งใสไปได้อย่างไร  


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.ค. 13, 12:08
เมื่อ "ริชลิว" กลับจากสยาม เขาได้ชื่อว่า "คนที่รวยที่สุดในเดนมาร์ก" คนหนึ่ง 

ข้างล่างคือ Kokkedal Castle ที่ "ริชลิว" ซื้อเมื่อกลับจากสยาม  ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 13, 13:42
ไม่มีบรรดาอสุรผัดท่านใดจะแสดงความเห็นบ้างหรือครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.ค. 13, 14:28
ขอฝากคำถามอีกข้อหนึ่ง อาจจะตอบเมื่อข้อมูลในกระทู้ครบถ้วนแล้วก็ได้

เป็นคำถามของรองศาสตราจารย์มลิวัลย์ แตงแก้วฟ้า คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งไว้ในชื่อวิทยานิพนธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕

“พระยาชลยุทธโยธินทร์ : ผลประโยชน์หรือความจงรักภักดี”

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley19.png)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ก.ค. 13, 15:09
ไม่มีบรรดาอสุรผัดท่านใดจะแสดงความเห็นบ้างหรือครับ

เป็น อสุรผลัด ...อิอิ 

อ.NAVARAT.C มีเรื่องราวเกี่ยวกับตึกหลวงพระราชทานให้พำนักในกรุงสยามไหมครับ  ???


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 08 ก.ค. 13, 15:27
จะเรียกนักเรียนตอบ ท่านซายานวรัตนต้องชี้มือเรียกเป็นรายตัวแบบที่ผมโดนครับ  คราวนี้ใครแอบซุ่มอยู่มุมไหนของห้องก็ไม่รอดพ้น  ;D  ;D  ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 13, 16:17
ผมจะไปชี้ใคร มีแต่เขาชี้ผม

นี่ก็โดนอสุรผลัดชี้เข้าไปแล้ว
อ้างถึง
มีเรื่องราวเกี่ยวกับตึกหลวงพระราชทานให้พำนักในกรุงสยามไหมครับ

ขณะนี้ไม่มีคร้าบ ผมไม่ได้รู้เรื่องของนายพลริชลิวทุกเรื่อง บางเรื่องก็รอให้ผู้ชำนาญเฉพาะทางเช่นคุณนั่นแหละ มาต่อให้

อ้างถึง
ขอฝากคำถามอีกข้อหนึ่ง อาจจะตอบเมื่อข้อมูลในกระทู้ครบถ้วนแล้วก็ได้
เป็นคำถามของรองศาสตราจารย์มลิวัลย์ แตงแก้วฟ้า คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งไว้ในชื่อวิทยานิพนธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
“พระยาชลยุทธโยธินทร์ : ผลประโยชน์หรือความจงรักภักดี”

นี่ไง ผมจึงอยากให้ตีให้แตกเสียก่อน อะไรคือ Commission  Corruption และ Concession ใช้อะไรตัดสิน

ค่อยๆคิดอีกสักพักก็ได้ครับ



 


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ก.ค. 13, 19:36
มีแค่นี้ว่า ตึกหลวงพระราชทานให้เป็นพำนักของท่าน อยู่บริเวณนอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง แถวโรงโม่เหนือตลาดท่าเตียน บนเนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน ๖๘ ตารางวา

แผนที่ซ้ายมือ คือ บ้านเรือนตามแนวถนนมหาราช และขวามือ รายละเอียดของตึกหลวง (แผนที่ พ.ศ ๒๔๔๘)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 13, 20:27
^
ขอบคุณครับ
แก๊งวานรน้อยใหญ่คงไปกินไอติมกัน น่าจะไม่มีใครเข้ามาอีกแล้ว  ผมคงต้องดำเนินเรื่องต่อ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 13, 20:29
ก่อนอื่นต้องให้คำจำกัดความศัพท์เหล่านี้ ตามที่ผมเองเรียบเรียงขึ้นเสียก่อน

Commission
คนสมัยนี้รู้จักในนามว่า “ค่าคอม” เป็นค่าตอบแทนในการทำประโยชน์ให้คนที่จ่ายให้ ซึ่งอาจจะเป็นนายจ้างที่ต้องการจูงใจให้งานของตนเกิดความสำเร็จเกินเป้าหมาย หรือผู้ขายของ ที่จ่ายให้ตัวแทนผู้ซื้อเมื่อเลือกซื้อของๆตนก็ได้ คล้ายค่านายหน้า หรือสินน้ำใจ แบบแบ่งปันผลประโยชน์กัน
เงินนี้อาจเป็นเงินขาวบริสุทธิ์ก็ได้ หากนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเพื่อตอบแทนผลงานที่ลูกจ้างกระทำเป็นผลสำเร็จ แต่ถ้าผู้จ่ายไม่ใช่นายจ้าง แต่คือผู้ขายที่(จำต้อง)จัดเงินจำนวนหนึ่งไว้ให้แก่ผู้จัดซื้อ ซึ่งถ้าผู้ซื้อเป็นเจ้าของเงินตัวจริงลงมาต่อรองราคาเอง เปอร์เซนต์ที่ตั้งไว้นี้ก็จะลดให้ผู้ซื้อไป
ค่าคอมกรณีย์หลังจึงถือว่าออกสีเทาๆ

Corruption
เมื่อก่อนเรียกฉ้อราษฎร์บังหลวง เดี๋ยวนั้เรียกทับศัพท์ว่าคอร์รัปชั่น ก็ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เป็นเงินดำโสณทุจริตโดยแท้ เกิดจากผู้มีอำนาจหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างเอกชน ใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าว เบียดบัง ฉ้อฉล โกงกิน เอาเงินของราชการหรือองค์กรที่ตนสังกัดมาเป็นของตน หรือเรียกร้อง ข่มขู่ เอากับคู่ค้า เพื่อที่ตนจะได้ซื้อสินค้านั้น การกระทำเยี่ยงนี้ถือว่าผิดกฏหมายอาญา ถ้าถูกจับได้มีโทษถึงจำคุก

Concession
แปลตามศัพท์ว่าสัมปทาน แปลอีกทีนึงว่า สิทธิที่รัฐให้ในการผูกขาดการทำธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง โดยมีกฏหมายคุ้มครองไม่ให้ผู้อื่นมาทำแข่งขัน ดังนั้น ใครได้สัมปทานอะไรไปก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับผลกำไรตอบแทนอย่างสบายๆไปตลอดอายุของสัมปทาน หรือสบายไปชั่วอายุของตนและลูกหลาน
การที่จะได้มาซึ่งสัมปทานจากผู้ที่มีอำนาจหน้าที่  ส่วนใหญ่แล้วจึงยากที่ขาวสะอาดโปร่งใส แม้จะผ่านวิธีการประมูลก็ตาม  ดังนั้นเงินกำไรจากธุรกิจสัมปทานที่เอาเข้ากระเป๋าจึงออกสีเทาๆ จะเทาอ่อนหรือแก่ก็ขึ้นอยู่ว่า กำไรนั้นมาจากการขูดเลือดเนื้อประชาชนที่จำต้องซื้อสินค้าหรือบริการของเขาหรือไม่อย่างไร

โอกาสที่ผู้ที่กินค่าคอมอยู่เป็นปกติ จะไหลลึกลงไปสู่ระดับคอร์รัปชั่นได้ง่าย สมมติว่า รู้อยู่ค่าคอมที่บริษัทบวกไว้๕เปอร์เซนต์ แต่ไปเรียกเขามาบอกว่า ให้ไปตั้งราคาใหม่ บวกมาให้ข้า๒๕เปอร์เซนต์ เป็นต้น ส่วนในเรื่องของสัมปทานนั้น เขารวยกันเป็นกอบเป็นกำก็จากการขออนุญาตขึ้นราคาสูงกว่าที่ระบุในสัญญา หรือการขอลดส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ ที่ลงเอยด้วยการจ่ายใต้โต๊ะให้ผู้ใหญ่ด้วยเงินมหาศาล


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 13, 20:32
Flemming Winther Nielsen เขียนเกี่ยวกับนายพลริชลิวว่า
 
How had it been possible for him to accumulate such wealth during his years in Siam? There are many and ambiguous answers.
ถามว่ามันเป็นไปได้อย่างไรกันที่เขาสร้างความมั่งคั่งขนาดนั้นขึ้นมาในช่วงที่อยู่ในสยาม  มีคำตอบที่คลุมเครืออยู่หลายประการ
On a general level they can be named: Commissions, ‘Corruption’ and Concessions.
โดยพื้นฐานใหญ่แล้วเรียกมันว่า คอมมิชชั่น คอร์รัปชั่น และธุรกิจผูกขาด


ในสมัยรัชกาลที่๕ สังคมเล็กๆที่ใครกระดิกตัวก็รู้ทั่วกันนั้น ปกครองด้วยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระเจ้าอยู่หัวถือว่าทรงเป็น“นายจ้าง”ของริชลิว ทรงยอมรับวิธีการค้าขายและค่านายหน้าที่ฝรั่งจ่ายกัน แต่ตัว“ฉ้อราษฎร์บังหลวง”เป็นคนละเรื่อง คนดังคนหนึ่งเพิ่งโดนประหารชีวิตไปก่อนหน้าด้วยข้อหานี้ ริชลิวก็คงรู้  ส่วนสัมปทาน(ซึ่งจะเล่าต่อไป)ก็พระราชทานด้วยพระองค์เอง อย่างไรก็ดี ริชลิวและนีลส์คงต้องมีจริยธรรมในระดับหนึ่ง ซึ่งทำให้ได้รับได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยดังกล่าวด้วย
 
จริยธรรมนั้นน่าจะเป็นตัวที่อยู่ตรงข้ามกับความโลภ คือความไม่โลภหรืออโลภะ ทั้งสองคงไม่ได้มูมมามจนเกินพอดีที่จะทรงใช้งานต่อไป จนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีทั้งคู่

แต่..โลภหรือไม่โลภแค่ไหน ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ก็ช่วยไม่ได้ที่จะถูกตั้งคำถามจากคนรุ่นหลัง เช่นอาจารย์มลิวัลย์ แตงแก้วฟ้า ที่คุณเพ็ญอ้างถึง ซึ่งผมจะพาไปดูกันต่อ ว่ามีมูลหรือไม่มีมูล


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 13, 21:20
ในส่วนงานหลวงนั้น ทหารมะรีนได้ขยายกำลังขึ้นเป็นกรม โดยมีตัวกัปตันริชลิวเองเป็นผู้บังคับการกรมทหารแกตลิง มีกำลังพล ๔กองปืนกลแกตลิง ๑กองปืนใหญ่ และ ๔กองทหารราบ รับนายทหารเรือชาติเดนมาร์กเข้าประจำอยู่ในกรมนี้หลายคน เช่น ร้อยโท ราสมูเซน (LT. H.Rasmusen) ร้อยโท วาสคัม (LT. Vaskum) ร้อยโท วันสโตรม (LT. C. Wanstroem) นับว่ากรมทหารมะรีน “KROMSANG MARINE FORCE” หน่วยนี้คือรากเง่าของกรมทหารนาวิกโยธินในปัจจุบัน

แม้จะมีชื่อเสียงโดดเด่นมากและถูกเรียกไปปฏิบัติภารกิจพิเศษอยู่เนืองๆ แต่ที่ไปรบจริงๆเห็นจะมีแค่ในพ.ศ.๒๔๒๗ ที่ทางราชการมีคำสั่งให้ทหารมะรีน นายร้อยตรี ๑นาย พลทหาร ๒๔นาย พร้อมด้วยปืนกลแกตลิง ๒กระบอก ร่วมไปกับกองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต)ที่ขึ้นไปปราบฮ่อทางภาคเหนือเท่านั้น  งานนี้ เรือเอกหลุยส์ ดู ปรีชีส์ เดอ ริชลิว น้องชายของกัปตันริชลิวได้ร่วมเดินทางไปด้วยในเรื่องเกี่ยวกับแผนที่

ส่วนการรบครั้งสำคัญเมื่อคราวฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารมะรีนไม่มีโอกาสได้ปะทะข้าศึกแต่อย่างใด เพราะประจำการอยู่ในเรือที่มิได้เข้าสมรภูมิ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 13, 21:25
การเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญในปีพ.ศ.๒๔๒๘  ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทรงยกเลิกวังหน้าและรวมกิจการทหารของทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน แล้วจัดกำลังทหารเรือใหม่แบ่งออกเป็น ๒ กรม คือ

กรมเรือพระที่นั่ง มีนายพลเรือโท พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นผู้บังคับการ และ พระองค์เจ้าขจร จรัสวงศ์ เป็นรองผู้บังคับการ ทหารที่มาประจำกรมนี้ ได้โอนมาจาก กองทหารแกตลิงกัน และกองทหารมะรีนในกรมแสงทหารเรือ รวมทั้งทหารเรือวังหน้าที่ชำนาญการทะเลอยู่แล้วด้วย เรือในสังกัดกรมนี้มีอยู่ด้วยกัน ๙ลำ คือ เรือพระที่นั่งเวสาตรี เรืออรรคราชวรเดช เรือนฤเบนทร์บุตรี และเรือมณีเมขลา

กรมอรสุมพล มีพระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุนนาค)เป็นผู้บังคับบัญชา ปกครองบังคับบัญชาบรรดาเรือซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือรบ มีกรมอาสามอญ และกรมอาสาจามเป็นกำลังพล เรือในสังกัดกรมอรสุมพลมี ๘ ลำ ด้วยกัน คือ เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ เรือยงยศอโยชฌิยา เรือพิทยัมรณยุทธ เรือสยามมกุฎไชยสิทธิ์ เรือสยามมูปรัสดัมภ์ เรือหาญหักศัตรู เรือต่อสู้ไพรินทร์ และ เรืออะพอลโล

นอกจากเรือรบแล้ว กรมพระราชวังบวรยังทรงเคยกำกับดูแลป้อมปืนที่จัดสร้างไว้ป้องกันพระนครแต่เดิมในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วย ครั้นยุบวังหน้าแล้ว โปรดเกล้าฯให้โอนป้อมเหล่านี้มาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมแสง ให้กัปตันริชลิวเป็นผู้ปรับปรุงให้ทันสมัย นำมาซึ่งอภิมหาโปรเจคสำหรับป้องกันการรุกล้ำของอริราชศัตรูผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา

เนื่องจากต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาล โครงการนี้จึงดำเนินการอย่างไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 13, 21:34
นอกจากนีลส์แล้วกัปตันริชลิวยังสนิทสนมกับชาวอังกฤษที่เป็นนายทหารเรือที่มารับราชการในสยามด้วยกันชื่อกัปตันลอฟตัส นายทหารคนนี้เป็นคนเก่งคนหนึ่ง สามารถประดิษฐ์นาฬิกาแดดแบบใหม่ซึ่งสามารถอ่านเวลาท้องถิ่นได้แม่นยำ คลาดเคลื่อนไม่เกิน๔นาที   คงเห็นว่ากัปตันริชลิวเป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ชวนลงขันทำนาฬิกาแดดที่ว่า แล้วถวายเป็นของขวัญแด่พระเจ้าอยู่หัวที่พระราชวังบางปะอิน ซึ่งยังตั้งอยู่หน้าโบสถ์วัดนิเวศน์ธรรมประวัติในทุกวันนี้ แล้วหาโอกาสเพ็ดทูล ขอสัมปทานทำรถไฟสายปากน้ำตามที่คบคิดกันไว้ ซึ่งก็มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้ เพราะทรงคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการคมนาคมเชื่อมโยงกรุงเทพกับท่าเรือใหญ่ที่ปากน้ำทางบก ซึ่งจะรวดเร็วกว่าเดินทางด้วยเรือมาก

สัญญาการสร้างรถไฟสายปากน้ำ กระทำเมื่อวันที่๑๓ กันยายน ๒๔๒๙ ผู้ลงพระนามฝ่ายสยามได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ กับ แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช สัปเยกอังกฤษ และ แอนดริยาดูเปลลิสเดริชลู ชาวเดนมาร์ก จากหัวลำโพงไปสมุทรปราการ เป็นระยะทาง ๒๑ กิโลเมตร อายุสัมปทาน๕๐ปี ระยะเวลาการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน๑๐ปี


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 13, 22:50
ครั้นได้สัมปทานรถไฟมาแล้ว สองปีแรกเป็นงานในขั้นเคลียร์พื้นที่และออกแบบก่อสร้าง

โครงการทำท่าจะเดินหน้าไปได้ดี และแล้วในอังกฤษก็เกิดมีรถรางขึ้นเป็นประเทศแรกของโลก กัปตันล็อปตัสกลับไปเยี่ยมบ้านเห็นเข้าจึงคิดว่าน่าจะนำมาทำในกรุงเทพบ้าง เพราะถนนนิวโรดที่คนไทยเรียกถนนเจริญกรุงนั้น มีผู้คนร้านค้าไปอยู่กันหนาแน่น แค่ที่นั่นที่เดียวก็คุ้มแล้ว  จึงชวนกัปตันริชลิวไปนั่งนับจำนวนคนสัญจรไปมาโดยนำเม็ดมะขามไปถุงใหญ่ หาทำเลเหมาะๆนั่งเฝ้าดู คนเดินมาก็ใส่เม็ดมะขามลงจานขวา เดินไปก็ใส่ลงจานซ้าย คนนึงเม็ดนึง พักเดียวก็เอามานับ คำนวณได้ว่าทั้งวันจะมีผู้สัญจรไปมากี่คน จะเก็บค่าโดยสารเท่าไหร่ยังไง  เสร็จสรรพก็ทำข้อเสนอขอพระราชทานสัมปทานการเดินรถทั้งหมด๗สาย สายแรกจากศาลหลักเมืองถึงถนนตก จะสร้างให้แล้วเสร็จภายใน๕ปี อีก๖สายแล้วเสร็จพร้อมกันใน๗ปี อายุสัมปทาน๕๐ปี ก็ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้อีก ตกลงทำสัญญากับรัฐบาลในปีพ.ศ.๒๔๓๐ หลังจากนั้นปีเดียว รถรางสายแรกก็เปิดดำเนินการได้ ในวันที่๒๒กันยายน๒๔๓๑ คนไทยเรียกว่า “รถแตรม”

รถแตรมยุคแรกนี้เป็นรถวิ่งบนรางเหล็ก ขับเคลื่อนด้วยพลังสองแรงม้าตัวเป็นๆ เก็บค่าโดยสารสองช่วงๆละ๖อัฐ นั่งทั้งสายปาเข้าไป๖อัฐ ขณะที่ข้าวแกงข้างถนนจานละ๑อัฐเท่านั้น ส่วนชั้นหนึ่งมี๔ที่นั่งเท่านั้น เก็บแพงเป็นเท่าตัว นั่งยาวก็๑๒อัฐ ความแตกต่างอยู่ที่มีเบาะผ้าปูรองนั่งให้ และไม่ต้องเหงื่อโซกเบียดเสียดยัดเยียด ทรมานกับกลิ่นไร้สุนทรีย์ที่คนข้างเคียงกระจายออกมา


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ค. 13, 22:55
ข่าวว่ากิจการรถแตรมในปีแรกๆไปได้ดีพอสมควร บางช่วงคนแย่งกันขึ้นเหมือนเขาให้นั่งฟรีๆ

เมื่อมีของใหม่มาคนก็เห่อก็แย่งกันขึ้น ทั้งห้อยทั้งโหนกันจนม้าแบกน้ำหนักไม่ไหว รถแตรมก็วิ่งมั่งหยุดมั่ง พอจะขึ้นสะพานก็จอดสนิท เพราะม้าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าน้ำลายฟูมปาก ทำท่าจะขาดใจตายให้รู้แล้วรู้รอดไป น่าเวทนายิ่งนัก
 
ก็อากาศบ้านเรา ยิ่งตอนเที่ยงๆมันร้อนตับจะแตกทั้งคนทั้งสัตว์ แม้จะมีสถานีสับเปลี่ยนม้าหลายจุด ก็ยิ่งเสียเวลา บางครั้งเดินไปจะถึงเร็วกว่า เป็นอย่างนี้ไม่นานผู้โดยสารก็เริ่มจะน้อยลงๆ สองกัปตันเห็นท่าจะไม่ดี ในปี๒๔๓๕ ก็รีบออกตัวขายกิจการให้คนอังกฤษได้ พวกนั้นเรียกหุ้นกันใหม่ตั้งเป็นบริษัทชื่อบางกอกแตรมเวย์ สั่งม้าลากรถจากยุโรปมาสู้ใหม่

สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ จนเปลี่ยนจากแรงม้ามาเป็นแรงไฟฟ้านั่นแหละ รถรางจึงไปรอด มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 08 ก.ค. 13, 23:15
ติดตามอยู่ตลอด   
อ่านอย่างเดียว  no comment   555


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 13, 06:40
ในช่วงของทศวรรษนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือชื่อเจ้าชีวิตว่า

"ประเทศไทยและเดนมาร์กติดต่อกันมามากในการค้าขาย บริษัทของเดนมาร์กชื่ออิสต์เอเชียติก ได้รับสัมปทานให้ทำไม้ทางเมืองเหนือ ทั้งทำการค้าขายอย่างอื่นๆ อีกมาก แม้แต่ในสมัยนั้นเจ้านายเดนมาร์กก็เข้าทำการค้าขายมาก่อนแล้วคือเจ้าชายวาลเดอมาร์ พระโอรสองค์สุดท้ายของพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ ฉะนั้นจึงเป็นพระอนุชาของควีนอะเล็กซานดราแห่งอังกฤษ และเอมเปรสมาเรียแห่งรุสเซีย เคยเสด็จมาเมืองไทยบ่อยๆ เกี่ยวกับการค้าขาย จนได้ทรงเป็นพระสหายสนิทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

แม้จะไม่ได้ระบุ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเจ้าชายวาลเดอมาร์ทรงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของอิสต์เอเชียติก

พระบรมฉายาลักษณ์นี้ ทรงฉายเมื่อทรงพบกันในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปอีกนับสิบปีให้หลัง เจ้าชายวาลเดอมาร์ทรงมีพระราชฐานันดรศักดิ์เป็นมงกุฏราชกุมารแห่งเดนมาร์กแล้ว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 13, 06:56
ไกรฤกษ์ นานา เขียนไว้โดยอ้างอิง  Cavling, Henrik. Osten. Copenhagen, 1901.ว่า
 
เจ้าชายวัลเดอมาร์ไม่เหมือนกับนักธุรกิจเดนมาร์กทั่วๆ ไปที่เดินทางเข้าออกเมืองบางกอกเป็นว่าเล่นในยุคนั้น แต่พระองค์ทรงเป็นถึงผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัทอีสต์เอเชียติก ซึ่งมีการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ อย่างกว้างขวางอยู่ในสยามประเทศ พงศาวดารเดนมาร์กเล่มหนึ่งให้รายละเอียดผลประโยชน์อันมหาศาลของอีสต์เอเชียติกว่า ได้เข้ามารับสัมปทานใหญ่ๆ หลายโครงการ เช่น การเดินเรือ การทำป่าไม้ การทำเหมืองแร่ การโยธาสร้างสะพาน ถนน ขุดคูคลอง การไฟฟ้า การธนาคาร รถรางประจำทางใช้ม้าลาก และกิจการรถรางไฟฟ้า และ ฯลฯ ชาวสยามหันมาคบค้ากับชาวเดนมาร์กจนสนิทใจ เพราะสามารถประสานผลประโยชน์ร่วมกันทั้งการเมืองและทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี  


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ค. 13, 07:21
ครั้นได้สัมปทานรถไฟมาแล้ว สองปีแรกเป็นงานในขั้นเคลียร์พื้นที่และออกแบบก่อสร้าง

โครงการทำท่าจะเดินหน้าไปได้ดี และแล้วในอังกฤษก็เกิดมีรถรางขึ้นเป็นประเทศแรกของโลก กัปตันล็อปตัสกลับไปเยี่ยมบ้านเห็นเข้าจึงคิดว่าน่าจะนำมาทำในกรุงเทพบ้าง เพราะถนนนิวโรดที่คนไทยเรียกถนนเจริญกรุงนั้น มีผู้คนร้านค้าไปอยู่กันหนาแน่น แค่ที่นั่นที่เดียวก็คุ้มแล้ว  จึงชวนกัปตันริชลิวไปนั่งนับจำนวนคนสัญจรไปมาโดยนำเม็ดมะขามไปถุงใหญ่ หาทำเลเหมาะๆนั่งเฝ้าดู คนเดินมาก็ใส่เม็ดมะขามลงจานขวา เดินไปก็ใส่ลงจานซ้าย คนนึงเม็ดนึง พักเดียวก็เอามานับ คำนวณได้ว่าทั้งวันจะมีผู้สัญจรไปมากี่คน จะเก็บค่าโดยสารเท่าไหร่ยังไง  เสร็จสรรพก็ทำข้อเสนอขอพระราชทานสัมปทานการเดินรถทั้งหมด๗สาย สายแรกจากศาลหลักเมืองถึงถนนตก จะสร้างให้แล้วเสร็จภายใน๕ปี อีก๖สายแล้วเสร็จพร้อมกันใน๗ปี อายุสัมปทาน๕๐ปี ก็ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้อีก ตกลงทำสัญญากับรัฐบาลในปีพ.ศ.๒๔๓๐ หลังจากนั้นปีเดียว รถรางสายแรกก็เปิดดำเนินการได้ ในวันที่๒๒กันยายน๒๔๓๑ คนไทยเรียกว่า “รถแตรม”

รถแตรมยุคแรกนี้เป็นรถวิ่งบนรางเหล็ก ขับเคลื่อนด้วยพลังสองแรงม้าตัวเป็นๆ เก็บค่าโดยสารสองช่วงๆละ๖อัฐ นั่งทั้งสายปาเข้าไป๖อัฐ ขณะที่ข้าวแกงข้างถนนจานละ๑อัฐเท่านั้น ส่วนชั้นหนึ่งมี๔ที่นั่งเท่านั้น เก็บแพงเป็นเท่าตัว นั่งยาวก็๑๒อัฐ ความแตกต่างอยู่ที่มีเบาะผ้าปูรองนั่งให้ และไม่ต้องเหงื่อโซกเบียดเสียดยัดเยียด ทรมานกับกลิ่นไร้สุนทรีย์ที่คนข้างเคียงกระจายออกมา

รถรางระบบใช้รถม้าในยุคเริ่มแรก ประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก กล่าวคือ ราคาแพงและไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนเลย เนื่องจากชาวสยามเป็นชาวน้ำ ๑ ไปไหนก็สัญจรทางเรือได้ และค่าโดยสารทางบก คือ ทางรถเจ๊กลาก ถูกกว่าและสะดวกกว่า

ส่วนม้านั้นก็ใช้ม้าผอมแห้งมาลาก วิ่งไปต้องมีจุดเปลี่ยนม้าให้น้ำ ให้หญ้าตามระยะ คนเบื่อรอ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ค. 13, 07:26
ไกรฤกษ์ นานา เขียนไว้โดยอ้างอิง  Cavling, Henrik. Osten. Copenhagen, 1901.ว่า
 
เจ้าชายวัลเดอมาร์ไม่เหมือนกับนักธุรกิจเดนมาร์กทั่วๆ ไปที่เดินทางเข้าออกเมืองบางกอกเป็นว่าเล่นในยุคนั้น แต่พระองค์ทรงเป็นถึงผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัทอีสต์เอเชียติก ซึ่งมีการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ อย่างกว้างขวางอยู่ในสยามประเทศ พงศาวดารเดนมาร์กเล่มหนึ่งให้รายละเอียดผลประโยชน์อันมหาศาลของอีสต์เอเชียติกว่า ได้เข้ามารับสัมปทานใหญ่ๆ หลายโครงการ เช่น การเดินเรือ การทำป่าไม้ การทำเหมืองแร่ การโยธาสร้างสะพาน ถนน ขุดคูคลอง การไฟฟ้า การธนาคาร รถรางประจำทางใช้ม้าลาก และกิจการรถรางไฟฟ้า และ ฯลฯ ชาวสยามหันมาคบค้ากับชาวเดนมาร์กจนสนิทใจ เพราะสามารถประสานผลประโยชน์ร่วมกันทั้งการเมืองและทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี  


ใช่ครับ บริษัท อีสต์เอเชียติ๊ก จำกัด (มหาชน) ได้มีการทำสัมปทานกิจการค้าไม้สักอย่างมโหฬาร ส่งไม้สักออกไปโคเปนเฮเกน สร้างเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ด้วยไม้สัก อย่างอลังการ คราวก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง หรือ เกิดสงครามพนมเปญแตก ราวคศ. 1970 บริษัทฯ ขายสัมปทนาน ทิ้งกิจการขายที่ดินไปเกือบหมด

ความสัมพันธ์ระหว่างระดับราชวงศ์มีมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อราว ๓๐ ปีก่อน ยังเคยไปร่วมโบกธงรับเสด็จควีนจากเดนมาร์ก มาตึกอีสต์เอเชียติ๊กด้วยความตื่นเต้น ได้ยินว่าอาคารปูนที่สร้างสำนักงานใหญ่ (เดิมเป็นเรือนไม้) ใช้ไม้สักเป็นท่อนขัดขวางเป็นแพหนุนรับน้ำหนักตึกไว้ไม่ทรุดจนทุกวันนี้ เป็นบุญของเสี่ยน้ำเมาแล้วที่ซึ้อตึกนี้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 13, 14:23
ไปเจอข่าวนี้ ที่มีทั้งคอมมิชชั่น คอรัปชั่น และคอนเซสชั่นหรือสัมปทาน  เลยนำมาลงเป็นตัวอย่างว่าในปัจจุบัน  ประเทศอื่นเขามองสามคำนี้อย่างไร

ศาลจีนตัดสินประหารชีวิตอดีตรัฐมนตรีการรถไฟฐานคอร์รัปชั่น และใช้อำนาจในทางมิชอบ
ขณะดำรงตำแหน่ง แต่ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และอาจได้รับลดโทษเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต


ศาลจีนในกรุงปักกิ่ง ตัดสินในวันนี้ ให้ประหารชีวิต นายหลิว จื้อ จวิน อดีตรัฐมนตรีการรถไฟในคดีที่ถูกกล่าวหาว่ารับสินบนจำนวน 64 ล้านหยวน หรือราว 320 ล้านบาท ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีที่เขาดำรงตำแหน่ง แต่ศาลกำหนดให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และเมื่อครบกำหนดดังกล่าว ศาลมักพิจารณาลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต หากนักโทษมีพฤติกรรมดี

นายหลิวยังถูกยัดทรัพย์สินทั้งหมดในคดีรับสินบน และต้องโทษจำคุกอีก 10 ปีในคดีใช้อำนาจในทางมิชอบ    คดีนี้ ถือเป็นการตัดสินลงโทษบุคคลระดับสูงที่สุดในกรณีคอร์รัปชั่น หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อต้นปีนี้ และประกาศนโยบายว่า จะปราบปรามการคอร์รัปชั่น ตั้งแต่ระดับล่างจนกระทั่งระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์

นายหลิว วัย 60 ปี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งรถไฟความเร็วสูงของจีน ถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อปี 2554 และถูกขับไล่ออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อเดือนพ.ค ปีที่แล้ว โดยถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินและรับสินบนจากบริษัทที่ประมูลโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง โดยถูกระบุว่าช่วยให้ 11 คน ได้รับสัมปทานหรือเลื่อนตำแหน่ง เป็นการตอบแทนในการประมูลครั้งนี้

และเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลสั่งยุบกระทรวงการรถไฟที่เคยมีอำนาจอย่างมาก เพื่อหวังปรับปรุงประสิทธิภาพ และขจัดคอร์รัปชั่น หลังกระทรวงถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถไฟหลายครั้งและการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น อุบัติเหตุรถไฟชนกันอย่างรุนแรงในเมืองเหวินโจว  เมื่อเดือน ก .ค.2554 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 40 ราย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 13, 20:00
ต่อครับต่อ

เวลาเราพูดกันถึงบริษัทEast Asiatic Companyนั้น ความจริงในยุคแรกเกือบยี่สิบปี บริษัทนี้ใช้ชือว่า H.N. Andersen of Andersen & Co., กอบกำไรไปจากสัมปทานไม้สักและกิจการค้าส่งออกนำเข้าอย่างมหาศาลแล้ว ก็คิดจะรวยให้มันหนักไปกว่าด้วยการแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ในยุโรป เพื่อให้เป็นสากลขึ้นจึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อดังกล่าว

เหตุการณ์ที่ผมจะนำลงข้างล่างนี้ ความจริงมันเกิดทีหลังเรื่องที่กำลังดำเนินอยู่สักหน่อย แต่ขอเอามาลงไว้ล่วงหน้ากันลืม และถ้าไม่แสดงต้นฉบับที่คัดมา ไว้เดี๋ยวอาจถูกหาว่าผมนั่งเทียนเอาเอง
 
ฝรั่งเขาเขียนไว้อย่างนี้ครับ
 
King Chulalongkom's first visit to Denmark took place in July 1897, in conjunction with his travelling to Great Britain to participate in Queen Victoria's Sixty Year Jubilee celebrations. This was a few months after the foundation of the East Asiatic Company. The king was accompanied by his brother, Prince Swasti, who was known to dislike Richelieu. During the visit the royal party had informal discussions on a number of subjects, and it is most likely that the possibility of establishing a Danish bank in Siam was also mentioned.

H.N. Andersen and Richelieu were both in Siam during the royal visit to Denmark, but that their influence was already quite strong in Danish royal circles is shown by the following episode. During the visit, both the Siamese king and Prince Swasti were bestowed with the highest Danish order, the Order of the Elephant. On the advice of his Chamberlain, F. V.F. Rosenstand, King Christian IX said to King Chulalongkom that "he personally was deeply interested in the East Asiatic Company and he considered it to be a national enterprise." And to Prince Swasti the King said "You are awarded this high decoration on the same occasion as your brother the King, in order that you may not oppose the Danes or Danish interests in Siam." King Christian IX is even said to have directly recommended that the prince support the East Asiatic Company.

(Kaarsted 1990, 104, 119).

แปลใจความว่า
 
การเสด็จมาเยือนเดนมาร์กครั้งแรกของพระเจ้าอยู่หัวจุฬาลงกรณ์เกิดขึ้นในปีพ.ศ.๒๔๔๐ สืบเนื่องมาจากการเสด็จสหราชอาณาจักรเพื่อร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ๖๐ปีของสมเด็จพระนางเจ้าวิกทอเรีย ซึ่งอุบัติขึ้นสองสามเดือนให้หลังการการก่อตั้งบริษัทอิสต์เอเซียติก  กรมพระสวัสดิ์พระอนุชาโดยเสด็จพระราชดำเนินด้วย เป็นที่ทราบกันว่าเจ้านายองค์นี้ทรงไม่ชอบริชลิว ระหว่างเสด็จ เจ้านายของทั้งสองชาติได้ทรงมีโอกาสสนทนาอย่างกันเองในเรื่องต่างๆ  ดูเหมือนเรื่องความเป็นไปได้ที่จะตั้งธนาคารของเดนมาร์กขึ้นในสยามก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาด้วย

แม้ว่าทั้งแอนเดนเซนและริชริวยังคงอยู่ในสยามทั้งคู่ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินนั้น แต่อิทธิพลอันมหาศาลของคนทั้งสองในแวดวงราชสำนักเดนมาร์กนั้นก็สะท้อนได้จากฉากนี้ ระหว่างที่พระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นคชราชอันสูงสุดของเดนมาร์ก ท่านเลขาธิการราชสำนักได้กราบบังคมทูลแนะนำพระเจ้าคริตสเตียนที่๙ให้ตรัสกับพระเจ้าอยู่หัวว่า “พระองค์ทรงมีความสนพระทัยในบริษัทอิสต์เอเซียติกอย่างลึกซึ้ง และทรงกำลังพิจารณาจะให้เป็นรัฐวิสาหกิจ” ส่วนกรมพระสวัสดิ์พระองค์ตรัสเองว่า “ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชย์นี้ในวโรกาสเดียวกับพระบรมเชษฐาของท่าน เพื่อที่ท่านจะได้ไม่ต่อต้านคนเดนมาร์กและผลประโยชน์ของเดนมาร์กในสยาม” ว่ากันว่า พระเจ้าคริตสเตียนที่๙ได้ทรงแนะนำกรมพระสวัสดิ์ตรงๆให้สนับสนุนบริษัทอิสต์เอเซียติก


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ค. 13, 20:35
บทสรุปของการก่อตั้งบริษัท อีสเอเซียติ๊ก จำกัด (มหาชน) คัดจากประวัติ A Tale of Two Kingkom คร่าว ๆ ดังนี้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 13, 21:32
แม้ธุรกิจส่วนตัวจะยุ่งๆ กัปตันริชลิวยังคงเป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว เพราะงานหลวงก็มิได้บกพร่องขาดหาย ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินโดยชลมารคด้วยเรือเวสาตรี เขาจะเป็นกัปตันทุกครั้ง

เมื่อพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ได้เป็นผู้บัญชาการทหารเรือองค์ใหม่แทนพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ที่กราบบังคมทูลลาออกโดยอ้างปัญหาด้านพระสุขภาพ ทรงให้กรมแสงเป็นแม่งานจัดสร้างพลับพลาถวายพระเจ้าอยู่หัวที่ถ้ำพระยานคร ทรงออกแบบขึ้นเอง แล้วสร้างขึ้นในกรุงเทพฯก่อนถอดออกเป็นชิ้นๆ ให้พระยาชลยุทธโยธินเป็นนายงาน นำข้ามทะเลแบกขึ้นเขาลงหุบไปประกอบในถ้ำดังกล่าว เสร็จแล้วจึงเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปประพาสเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๓๓ เพื่อทรงยกช่อฟ้าด้วยพระองค์เอง
 


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 13, 21:34
ถ้ำพระยานครที่อำเภอสามร้อยยอดนี้ ผมเคยไปครั้งหนึ่งเมื่อสามสี่ปีมาแล้ว อย่าว่าแต่จะต้องแบกอะไรเลยแค่แบกสังขารตัวเองขึ้นไปยังแทบจะไม่รอดแล้ว แต่ไปถึงแล้วก็รู้สึกว่าคุ้มค่าเกินความเหน็ดเหนื่อยจริงๆ 


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 13, 21:54
๒๔๓๔ ริชลิวได้เลื่อนยศเป็นพลเรือจัตวามีบรรดาศักดิ์เป็นคุณพระ  เป็นผู้บังคับการกองเรือรบ ป้อมปืน กรมอู่ทหารเรือ
 
ดวงกำลังขึ้น ในปีนั้นเอง ริชลิวได้ให้บริษัทของนีลส์ติดต่อบริษัท Ramage and Fer-guson ที่เมืองลีซ สกอตแลนด์ เพื่อเสนอแผนแบบเรือพระที่นั่งลำใหม่ที่จะสามารถเดินทางไกลได้ถึงยุโรปโดยไม่เหน็ดเหนื่อยพระวรกาย ทรงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับพระยาชลยุทธโยธินทร์ เดินทางไปยังบริษัทนี้เพื่อทำสัญญาว่าจ้าง และร่วมโดยเสด็จต่อไปยังฝรั่งเศส เดนมาร์กและรัสเซีย เพื่อปฏิบัติราชการด้านการทูตต่ออีกหลายเดือน จึงได้กลับกรุงเทพ

ช่วงนี่นีลส์ก็ได้เข้าไปทำหน้าที่แทนที่กรมแสงเช่นเคย

เรือพระที่นั่งมหาจักรีใช้เวลาต่อ๑๐เดือนจึงแล้วเสร็จ ออกเดินทางจากเมืองลีซ โดยนีลส์ แอนเดอเซนเองเดินทางไปรับ และร่วมเป็นกัปตันกับฝรั่งเดนมาร์กอีกคนหนึ่ง เดินเรือมาถึงกรุงเทพเมื่อ๖ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๕

เอกสารของเดนมาร์กระบุว่างานนี้นายพลริชลิวฟาดไปเหนาะๆ ๕ เปอร์เซนต์ ในฐานะผู้ชงเรื่อง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.ค. 13, 22:29
เอกสารของเดนมาร์กระบุว่างานนี้นายพลริชลิวฟาดไปเหนาะๆ ๕ เปอร์เซนต์ ในฐานะผู้ชงเรื่อง

Commission  หรือ Corruption   ???


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 09 ก.ค. 13, 22:31

ส่วนการรบครั้งสำคัญเมื่อคราวฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารมะรีนไม่มีโอกาสได้ปะทะข้าศึกแต่อย่างใด เพราะประจำการอยู่ในเรือที่มิได้เข้าสมรภูมิ


ถ้าประจำอยู่บนเรือน่าจะได้รบนะครับ ยกเว้นว่าเรือลำนั้นไม่ได้เข้าสู่สมรภูมิ



นอกจากเรือรบแล้ว กรมพระราชวังบวรยังทรงเคยกำกับดูแลป้อมปืนที่จัดสร้างไว้ป้องกันพระนครแต่เดิมในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วย ครั้นยุบวังหน้าแล้ว โปรดเกล้าฯให้โอนป้อมเหล่านี้มาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมแสง ให้กัปตันริชลิวเป็นผู้ปรับปรุงให้ทันสมัย นำมาซึ่งอภิมหาโปรเจคสำหรับป้องกันการรุกล้ำของอริราชศัตรูผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา

เนื่องจากต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาล โครงการนี้จึงดำเนินการอย่างไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป

ถ้าจะพูดตรง ๆ ก็คือ ตลอด ๙ ปีเต็ม ทางสยาม แทบจะไม่มีใครใส่ใจในเรื่องป้อมพระจุลฯ เท่าไรครับ ยกเว้นในหลวง ร.๕ พระองค์เดียวเท่านั้น การก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ ก็ต้องใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ล้วน ๆ รวมถึงยุทโธปกรณ์ ทั้งปืนอาร์มสตรอง ทุ่นระเบิดเรือ กระสุนปืนใหญ่ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่นเครื่องกรองน้ำ ฯลฯ เป็นต้น

แต่จะว่าไม่ใส่ใจ ก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะช่วงนั้นรายรับจากภาษีแทบจะไม่พอกับรายจ่ายที่ต้องเอาไปพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ ครับ


ส่วนตัวผมมองว่า ไม่ว่าเจ้าคุณจะตั้งใจละโมภ หรือเป็นผลพลอยได้ก็ตามที ตรงนั้นเป็นเรื่องปลายน้ำแล้ว  สาเหตุหลัก ๆ จริง ๆ น่าจะมาจากเรื่องของงบประมาณสยามที่ยังเก็บได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากเพิ่งเริ่มมีการจัดระเบียบการเก็บภาษีใหม่ หลังจากวิกฤตการณ์วังหน้าผ่านไป และเดินเครื่องเต็มสูบหลังจากหมดสมเด็จเจ้าพระยาฯ ไปแล้ว การปฏิรูปประเทศจึงเริ่มเห็นเป็นรูปร่างขึ้นมาครับ





กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 13, 22:37
อ้างถึง
อ้างถึง
เอกสารของเดนมาร์กระบุว่างานนี้นายพลริชลิวฟาดไปเหนาะๆ ๕ เปอร์เซนต์ ในฐานะผู้ชงเรื่อง



Commission  หรือ Corruption   ฮืม



Commission ครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 13, 22:43
อ้างถึง
อ้างถึง
ส่วนการรบครั้งสำคัญเมื่อคราวฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารมะรีนไม่มีโอกาสได้ปะทะข้าศึกแต่อย่างใด เพราะประจำการอยู่ในเรือที่มิได้เข้าสมรภูมิ



ถ้าประจำอยู่บนเรือน่าจะได้รบนะครับ ยกเว้นว่าเรือลำนั้นไม่ได้เข้าสู่สมรภูมิ

ผมเขียนว่า ทหารมะรีนไม่มีโอกาสได้ปะทะข้าศึกแต่อย่างใด เพราะประจำการอยู่ในเรือที่มิได้เข้าสมรภูมิ ยังชัดไม่พออีกหรือครับ
เอ้า งั้นแถมอีก  ทหารมะรีนถูกจัดให้ประจำการในเรือพระที่นั่งมหาจักรี และเรือพระที่นั่งลำอื่นๆ เตรียมพร้อมรอคำสั่งอยู่ในแม่น้ำหน้าพระบรมมหาราชวังครับ ส่วนสมรภูมิอยู่ที่ปากน้ำโน่น

จวนจะถึงคิวบู๊แล้วครับ จวนแล้ว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 09 ก.ค. 13, 22:54
อ้างถึง
อ้างถึง
ส่วนการรบครั้งสำคัญเมื่อคราวฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารมะรีนไม่มีโอกาสได้ปะทะข้าศึกแต่อย่างใด เพราะประจำการอยู่ในเรือที่มิได้เข้าสมรภูมิ



ถ้าประจำอยู่บนเรือน่าจะได้รบนะครับ ยกเว้นว่าเรือลำนั้นไม่ได้เข้าสู่สมรภูมิ

ผมเขียนว่า ทหารมะรีนไม่มีโอกาสได้ปะทะข้าศึกแต่อย่างใด เพราะประจำการอยู่ในเรือที่มิได้เข้าสมรภูมิ ยังชัดไม่พออีกหรือครับ
เอ้า งั้นแถมอีก  ทหารมะรีนถูกจัดให้ประจำการในเรือพระที่นั่งมหาจักรี และเรือพระที่นั่งลำอื่นๆ เตรียมพร้อมรอคำสั่งอยู่ในแม่น้ำหน้าพระบรมมหาราชวังครับ ส่วนสมรภูมิอยู่ที่ปากน้ำโน่น

จวนจะถึงคิวบู๊แล้วครับ จวนแล้ว

เท่าที่อ่านจากหนังสือของ พลเรือตรีแชน และ นาวาเอกสวัสดิ์  ทหารมะรีนเหล่าปืนใหญ่ประจำอยู่ตามป้อมปืนนะครับ ส่วนเหล่าราบประจำตามสถานีชายทะเลครับ

ในรายชื่อของผู้พลีชีพ หลายรายเป็นเหล่า อาสาจามบ้าง แผนที่บ้าง ปากน้ำบ้าง ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่าจะรวมอยู่ในเหล่ามารีนหรือไม่นะครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ค. 13, 23:13
หนังสือที่คุณว่าอยู่หน้าคอมของผมนี่แหละครับ

เดี๋ยวถึงคิวบู๊แล้วผมจะบรรยายต่อ เอาอย่างแน่ใจ(ว่ามีเอกสารเขียนไว้จริง) ไม่แน่ใจไม่เอา


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 09 ก.ค. 13, 23:48
หนังสือที่คุณว่าอยู่หน้าคอมของผมนี่แหละครับ

เดี๋ยวถึงคิวบู๊แล้วผมจะบรรยายต่อ เอาอย่างแน่ใจ(ว่ามีเอกสารเขียนไว้จริง) ไม่แน่ใจไม่เอา

มีแน่นอนครับ อยู่ในบทที่วิเคราะห์เรื่องการรบนะครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 10 ก.ค. 13, 01:31
เข้ามานอนรอฉากบู๊ครับ  8)  8)  8)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 07:23
007
อ้างถึง
เท่าที่อ่านจากหนังสือของ พลเรือตรีแชน และ นาวาเอกสวัสดิ์  ทหารมะรีนเหล่าปืนใหญ่ประจำอยู่ตามป้อมปืนนะครับ ส่วนเหล่าราบประจำตามสถานีชายทะเลครับ

ในรายชื่อของผู้พลีชีพ หลายรายเป็นเหล่า อาสาจามบ้าง แผนที่บ้าง ปากน้ำบ้าง ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่าจะรวมอยู่ในเหล่ามารีนหรือไม่นะครับ

เมื่อคืนผมง่วงจัด เลยขี้เกียจตอบยาว เช้านี้จึงจะขอสัมมนากับคุณสมุนเจมส์ บอนด์ต่อสักหน่อย

ขอโปรดย้อนไปอ่านที่ผมได้เรียบเรียงไว้แต่แรกแล้วว่า การทหารของสยามสมัยต้นรัชกาลที่๕เราใช้ทหารเกณฑ์จากชุมชนชาติต่างๆที่มาพึ่งพระบรมโพธิสัมภาร เรียกว่าอาสาจาม อาสาญวน ฯลฯ พวกนี้ไม่มีวิชาความรู้อะไร เอาเข้ามาเป็นทหารเลว ซึ่งก็ไม่มีใครอยากตาย พอทำการรบก็หาทางหลบเอาตัวรอดก่อน พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงประจักษ์ความจริงดังนี้จึงทรงปฏิรูปกองทัพขึ้น เริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยในส่วนทหารเรือนั้นทรงให้ริชลิวฝึกทหารอาชีพขึ้น คัดเลือกคนมาจากกองอาสามอญของวังหน้าแต่เดิม ให้ฝึกแถวเรียนรู้ระเบียบวินัย และการใช้อาวุธ เพื่อให้ทำการรบได้ทั้งบนบกและในเรือรบ เรียกว่าทหารมะรีน มาจากคำว่าmarineของฝรั่ง เดี๋ยวนี้พัฒนาขึ้นเป็นเหล่านาวิกโยธิน

แต่ในรศ.๑๑๒ ดังที่ผมจะเรียบเรียงต่อไปในกระทู้นี้ ทหารไทยยังใช้อาสาจาม อาสาญวนอยู่เป็นหลัก เพราะทหารมะรีนมีจำนวนน้อย ต้องเอาไปใช้ในงานที่สำคัญที่สุดจริงๆ เน้นที่การรักษาพระองค์ ดังนั้นที่คุณไม่แน่ใจว่า เหล่า อาสาจามบ้าง แผนที่บ้าง ปากน้ำบ้าง จะรวมอยู่ในเหล่ามารีนหรือไม่นั้น ผมตอบได้อย่างแน่ใจว่า ไม่ ไม่เกี่ยวกันโดยสิ้นเชิง

การที่คุณอ้างหนังสือฉบับครู ของ พลเรือตรีแชน (ปัจจุสานนท์) และ นาวาเอกสวัสดิ์ (จันทนี)ว่า ทหารมะรีนเหล่าปืนใหญ่ประจำอยู่ตามป้อมปืนนะครับ ส่วนเหล่าราบประจำตามสถานีชายทะเลครับ
ผมก็อุตส่าห์โชว์หลักฐานแล้วว่าผมน่ะมีหนังสือที่ว่าอยู่ในมือ นึกว่าคุณคงเข้าใจว่าผมไม่ได้มั่วมา แต่คุณก็กลับย้ำอีกว่า มีแน่นอนครับ อยู่ในบทที่วิเคราะห์เรื่องการรบนะครับ

เฮ้อออ….มีน่ะมีละครับ แต่ไม่ได้มีอย่างที่คุณว่า


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 07:28
อนึ่ง ผมมิได้ใช้หนังสือฝ่ายไทยฉบับเดียวในการเขียนกระทู้ของผม ผมอ่านเอกสารฝรั่งตาเปียกตาแฉะ ทั้งเอกสารชั้นต้นที่ฝรั่งเศสและเดนมาร์กเขียนรายงานไว้ รวมทั้งที่ฝรั่งชาติเป็นกลางเช่นอังกฤษวิจารณ์การรบ มาเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดมุมมองครบทุกด้าน น่าจะเป็นที่เข้าใจได้นะครับว่าเรื่องบางเรื่อง เอกสารฝ่ายไทยมิได้จดบันทึกไว้  ผมพยายามเอาทุกเรื่องที่ผ่านสายตามาปะติดปะต่อ เพื่อให้กระชับสั้น มีสาระ และไม่ซ้ำซาก
 
ดังเช่นที่ผมเขียนสั้นๆว่า ทหารมะรีนไม่มีโอกาสได้ปะทะข้าศึกแต่อย่างใด เพราะประจำการอยู่ในเรือที่มิได้เข้าสมรภูมิ คิดว่าพอ แต่เมื่อคุณสงสัย ผมก็เพิ่มอีกว่า ทหารมะรีนถูกจัดให้ประจำการในเรือพระที่นั่งมหาจักรี และเรือพระที่นั่งลำอื่นๆ(อุบลบุรพทิศ) เตรียมพร้อมรอคำสั่งอยู่ในแม่น้ำหน้าพระบรมมหาราชวังครับ ส่วนสมรภูมิอยู่ที่ปากน้ำโน่น
 
คุณก็ยังไม่เชื่อ

เพื่อให้ผู้อ่านมั่นใจว่า ผมมิได้มักง่ายในการเขียนเรื่องให้สาธารณะอ่าน ไม่ได้ป้ายๆมาจากเน็ทมาแปะไว้โดยไม่มีที่มาที่ไป ประเด็นดังกล่าวฝรั่งเขียนไว้ดังนี้

The only technically-trained foreigner in Siamese employ at the time was a Danish naval
officer, Captain Christmas. He had been placed in charge of the Coronation, the worst of the Siamese vessels, if one were worse than the others, and his share in the engagement was therefore necessarily small, consisting chiefly in escaping the
ram of the Inconstant.
The gunners of the Makut Rajakumar, into whose heads Captain Guldberg, of the Danish merchant service, had succeeded in hammering some knowledge of how to load and fire the guns above mentioned, had been taken off a short time before and placed in the royal yachts.

ชาวต่างชาติที่สยามจ้างไว้ในเวลานั้นมีเพียงคนเดียวที่จบศึกษามาโดยตรงด้านวิชาการทหารเรือ คือเรือเอกคริต์สมาสแห่งราชนาวีเดนมาร์ก เขาถูกบรรจุเป็นผู้บังคับการเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์  เรือซึ่ง หากจะมีลำใดลำหนึ่งที่ด้อยสมรรถภาพกว่ากันในบรรดาเรือรบของสยามแล้ว ก็เรือลำนี้แหละที่ห่วยที่สุด การมีส่วนร่วมของเขาในเหตุการณ์รบจึงจำเป็นต้องมีบทบาทน้อยไปนิด เพราะต้องหนักไปในทางเอาเรือหนีให้รอดจากการพุ่งเข้าชนของเรือแองกองสตัง
ส่วนพลปืนของเรือมกุฏราชกุมาร ซึ่งกัปตันกูลด์แบร์กจากกองเรือสินค้าเดนมาร์กสามารถฝึกหนักวิธีการบรรจุกระสุน แล้วทำการยิงปืนใหญ่ที่กล่าวมาแล้วออกไปได้จนสำเร็จ ก็ถูกย้ายไปประจำเรือพระที่นั่งก่อนหน้าการรบนิดเดียว

พอก่อนนะครับ
ถือว่าเป็นการฉายหนังตัวอย่างก็แล้วกัน เดี๋ยวฉากบู๊จะจืดหมด


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 08:25
แต่คุณสมุน๐๐๗ก็มีส่วนถูกอยู่บ้างที่เขียนว่า
อ้างถึง
ถ้าจะพูดตรง ๆ ก็คือ ตลอด ๙ ปีเต็ม ทางสยาม แทบจะไม่มีใครใส่ใจในเรื่องป้อมพระจุลฯ เท่าไรครับ ยกเว้นในหลวง ร.๕ พระองค์เดียวเท่านั้น การก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ ก็ต้องใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ล้วน ๆ รวมถึงยุทโธปกรณ์ ทั้งปืนอาร์มสตรอง ทุ่นระเบิดเรือ กระสุนปืนใหญ่ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่นเครื่องกรองน้ำ ฯลฯ เป็นต้น

อันที่จริงเพราะการที่ฝรั่งเศสหาเรื่องกับสยามในลาวเรื่องแนวแบ่งเขตแดนญวนหนักข้อขึ้นทุกที ทำให้พระองค์ทรงร้อนพระทัยในความจำเป็นที่กรุงเทพจะต้องมีแนวต้านทานให้ทันการ หากศัตรูจะใช้เรือรบจู่โจมเข้ามาทางแม่น้ำเจ้าพระยา

เมื่อเห็นว่างบประมาณแผ่นดินไม่เพียงพอ ก็ทรงใช้เงินจากพระคลังข้างที่และเงินส่วนพระองค์ ให้นายพลริชลิวเร่งรัดการก่อสร้างและเลือกซื้อปืนใหญ่ที่เหมาะสมจะนำมาติดตั้ง ซึ่งลงเอยที่ปืนอาร์มสตรองเสือหมอบอันโคตรล้ำยุคแต่แพงมหาศาล และโรงงานผลิตทุ่นระเบิดใต้น้ำขึ้นในประเทศ
แน่นอน๕%สำหรับค่าคอมจัดซื้อของแพงก็ย่อมเป็นเม็ดเงินที่สูงตามไปด้วย แต่สมัยนั้นใครจะไปกล้าวิจารณ์อาวุธที่ทรงอานุภาพของโลกว่าจะคุ้มค่าหรือไม่คุ้มสำหรับสยามกระไรได้

เอ้า เผลอฉายหนังตัวอย่างไปอีกตอนนึงแล้ว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 09:00
กลับมาเข้าเรื่องตามลำดับที่เกิดขึ้นก่อนครับ

เรื่องนี้ก็สำคัญในแผนป้องกันแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำเจ้าพระยา

คงจำได้ว่าริชลิวกับกัปตันลอฟตัสได้รับสัมประทานก่อสร้างทางรถไฟสายปากน้ำมาตั้งแต่ปี ๒๔๒๙ แต่ปรากฏว่าเวลาล่วงเลยไปนานตามเงื่อนไขสัญญาว่าจะต้องสร้างให้เสร็จภายใน๑๐ปี หุ้นส่วนทั้งคู่ก็ยังไม่สามารถหาเงินหาทองเพียงพอเริ่มได้(?)   จึงบากหน้าไปขอพระมหากรุณาธิคุณ ทรงเล็งเห็นว่าทางรถไฟสายนี้จะเป็นประโยชน์ทางการทหารในสถานการณ์ขณะนั้น มากกว่าจะมองเฉพาะประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เพราะสามารถใช้ลำเลียงทหารและยุทธภัณฑ์สนับสนุนป้อมปืนใหญ่ที่กำลังเร่งก่อสร้างขึ้น การเดินทางโดยรถไฟใช้เวลาเพียง๒๐นาทีจากเมืองหลวงก็ถึงปากน้ำ ในขณะที่เรือกลไฟต้องใช้เวลากว่า๒ชั่วโมง  จึงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อหุ้นกู้จำนวนครึ่งหนึ่งของหุ้นทั้งหมด งานก่อสร้างรถไฟสายนี้จึงเริ่มต้นขึ้นได้และเสร็จทันเวลาพอดิบพอดี
 
เสร็จแล้วพระราชดำเนินไปกระทำพิธีเปิดการเดินรถในวันที่๑๑เมษายน๒๔๓๖ สามเดือนก่อนที่จะเกิดนาทีประวัติศาสตร์ ร.ศ.๑๑๒


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 09:22
วันเสาร์ที่ ๑๓ กรกฎาคมนี้ ตรงกับวันที่เรือปืนของฝรั่งเศส๒ลำ แล่นตามเรือนำร่องฝ่าด่านเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อสมัยรัชกาลที่๕ แล้วเกิดการยิงปะทะกับทหารเรือสยาม เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “การรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา ร.ศ. ๑๑๒”  ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๓๖ ครบ๑๒๐ปีในพ.ศ.นี้พอดี กองทัพเรือจะจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ณ บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จุดเกิดเหตุ

รายละเอียดตามโปสเตอร์และลิงค์ที่ผมนำมาแสดงไว้ ผู้สนใจขอเชิญไปร่วมงานได้

ขอเรียนให้ทราบว่า ผมตั้งอกตั้งใจเขียนกระทู้นี้ขึ้น เพื่อมีส่วนร่วมเล็กๆในการรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย หวังว่าท่านจะได้รับรู้เรื่องราวใหม่ๆบางเรื่องที่แตกต่างไปจากเรื่องราวที่เคยได้อ่านได้ยินมา


http://pantip.com/topic/30699586


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.ค. 13, 09:52
รวมทั้งที่ฝรั่งชาติเป็นกลางเช่นอังกฤษวิจารณ์การรบ มาเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดมุมมองครบทุกด้าน

The Peoples and Politics of the Far East โดย Henry Norman นักสำรวจชาวอังกฤษ

http://archive.org/stream/peoplesandpolit04normgoog#page/n1/mode/1up

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 10:02
นี่ก็เล่มนึงละครับที่อ่าน ^ และจะขอยืมบางตอนมา


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 10:04
ก่อนจะถึงวันดังกล่าว สยามกับฝรั่งเศสเริ่มมีปัญหาเขตแดนแถวหัวพันทั้งห้าทั้งหกและแคว้นพวนมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๓๐ ขณะที่ยังตกลงกันไม่ได้ก็เกิดกรณีย์พระยอดเมืองขวางขึ้น ทหารไทยและฝรั่งเศสยิงปะทะกันบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย ฝรั่งเศสกล่าวหาว่าสยามเป็นฝ่ายผิด ไม่รักษาคำมั่นตามข้อตกลงเรื่องการรักษาสถานะเดิม คือให้ต่างฝ่ายต่างตั้งกำลังทหารอยู่ในที่มั่นเดิมก่อนพิพาท จึงเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งสยามไม่ยอมรับ
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ รัฐสภาฝรั่งเศสก็มีมติให้รัฐบาลใช้กำลังกับสยามเพื่อยุติปัญหา รัฐบาลฝรั่งเศสก็รับลูกไปดำเนินการ คือให้กองเรือฝรั่งเศสที่ประจำการอยู่ในทะเลจีนทั้งหมดมารวมกำลังกันเตรียมพร้อมที่ไซ่ง่อน พร้อมกับส่งกำลังทหารต่างด้าว๑กองพันจากแอลจีเรียให้รีบเดินทางไปสมทบ รวมทั้งแต่งตั้งราชฑูตพิเศษมาเจรจากับรัฐบาลสยาม เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย และพิจารณาตกลงในปัญหาการพิพาทที่ยังค้างอยู่

พร้อมกันนั้น ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทหารเข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และวันที่๒๑มีนาคม ได้ส่งเรือปืนลูแตง(Lutin)เข้ามาจอดถาวรหน้าสถานทูตที่สี่พระยา อ้างว่าเพื่อคุ้มครองคนในบังคับของตัว ถือเป็นการเริ่มต้นของกรณีพิพาทร.ศ.๑๑๒ ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในพ.ศ.๒๔๓๖

ข่าวเรื่องกองเรือรบของฝรั่งเศสระดมพลที่ไซ่ง่อน และคำขู่ของฝรั่งเศสในระหว่างการเจรจาทางการทูต ทำให้ฝ่ายสยามต้องเพิ่มความระมัดระวัง วันที่๘ มิถุนายน ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้พระยาชลยุทธโยธินทร์(ริชลิว) ทำการปิดปากแม่น้ำโดยใช้เรือเก่าๆไปจมขวางร่องน้ำไว้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 10:06
กำลังทหารพื้นเมืองของฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองสตึงเตรงกับเมืองโขงฝั่งลาว โดยไร้การต่อสู้เพราะทหารไทยถอนตัวออกไปก่อน และในอ่าวไทยได้ส่งทหารเรือลงยึดเกาะเสม็ด(นอก)ไว้เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน สองวันต่อมานายพลริชลิวได้ส่งเรือรบสยามไปถึงและพยายามส่งทหารหมู่หนึ่งขึ้นเกาะ แต่ถูกฝรั่งเศสระดมยิงอย่างหนักจนต้องถอยกลับ  วันที่๑๗และ๑๘มิถุนายน ฝรั่งเศสเข้ายึดเกาะรงกับเกาะรงสามเหลี่ยมหน้าอ่าวกำปงโสมของไทยในเขมร ซึ่งเป็นเกาะสำคัญสำหรับเป็นที่จอดเรือดีที่สุดไว้ได้อีกตามลำดับ และทูตฝรั่งเศสขู่รัฐบาลสยามว่า หากจำเป็น รัฐบาลฝรั่งเศสจะส่งกองเรือรบจากไซ่ง่อนเข้ามากรุงเทพ
  
แต่รัฐบาลสยามยังเดินหน้าในความตั้งใจจะป้องกันตัวด้วยการปิดปากน้ำเจ้าพระยาและจะต่อสู้ที่ปากน้ำอย่างสุดกำลัง โดยมีนายพลริชลิวและนายทหารเดนมาร์กทั้งหลายเป็นกำลังสำคัญ ทั้งทหารบกและทหารเรือ ในช่วงนี้เองที่มีข่าวว่า โคเปนเฮเกนมีคำสั่งลับให้ทหารเดนมาร์กในกองทัพไทยวางตัวเป็นกลาง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครนำพา


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 10:29
พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการปรึกษาการป้องกันพระราชอาณาเขต ดังนี้

                ๑)  เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
                ๒)  กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ
                ๓)  เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงคลัง
                ๔)  กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร
                ๕)  กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
                ๖)  เจ้าพระยาพลเทพ(พุ่ม  ศรีไชยยันต์) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
                ๗)  นายพลเรือโท พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
                ๘)  นายพลเอกพระยาสุรศักดิ์มนตรี(เจิม แสง-ชูโต) เสนาบดีกระทรวงเกษตรพานิชการ

ในหนังสือของนายนอร์แมนที่คุณเพ็ญเอามาลิงค์ให้ทุกท่านอ่านเป็นการบ้านนั้น บอกว่าทรงมีคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ซึ่งในนั้นกรมพระสวัสดิ์เป็นฝ่ายบู๊ และกรมหลวงเทวะวงศ์เป็นฝ่ายบุ๋น ซึ่งหลังจากโต้วาทีกันหลายเพลา พระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกที่จะเอาทางฝ่ายบุ๋น น่าจะเป็นเหตุให้ผู้มีรายพระนามเป็นกรรมการข้างต้นจึงไม่มีกรมพระสวัสดิ์


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 11:00
๒๒มีนาคม กัปตันโยนส์(Captain Jone)ราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพ ได้ส่งโทรเลขไปรายงานการปรากฏตัวของเรือลูแตงต่อลอนดอน วันที่๒๐เมษายน อังกฤษจึงได้ส่งเรือรบหลวงสวิฟท์(Swift) เข้ามาจอดอยู่หน้าสถานทูตอังกฤษบ้าง คนกรุงเทพจึงชักจะตื่นเต้นกันมากขึ้น

ขณะนั้นสยามมีสนธิสัญญากับนานาประเทศว่า ทุกชาติมีสิทธิ์ที่จะนำเรือรบเข้ามาในกรุงเทพได้คราวละ๑ลำเมื่อมีเหตุที่จำเป็น หากมากกว่านั้นให้จอดเทียบท่าที่ปากน้ำ
แต่ ถึงแม้จะมีข้อตกลงดังกล่าวอยู่ การปรากฏตัวของเรือรบชาติมหาอำนาจครั้งนี้ถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดา และเป็นลางบอกเหตุร้ายที่จะมาถึง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 17:01
หลังจากเรือปืนลูแตงเข้ามาแล้ว ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสในกรุงเทพได้ยื่นหนังสือถึงกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ให้รัฐบาลสยามยอมรับเส้นเขตแดนใหม่ที่ขีดขึ้น โดยผนวกดินแดนลาวทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมดไปเป็นของฝรั่งเศสโดยอ้างว่าเคยเป็นเมืองขึ้นของญวน เมื่อฝรั่งเศสเข้าครอบครองญวนแล้ว ดินแดนลาวทั้งหมดก็ต้องตกเป็นของฝรั่งเศสด้วย แต่สยามไม่เห็นด้วยและแจ้งว่า ควรจะเชิญสหรัฐอเมริกาให้เป็นอนุญาโตตุลาการวินิจฉัย  แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมรับและยืนกรานตามนั้น การเจรจาจึงเริ่มยืดเยื้อ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 17:59
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเป็นกังวลเรื่องความพร้อมของป้อมปืนใหญ่และแนวป้องกันที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยามาก เห็นได้จากการที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปตรวจและทรงเร่งรัดการก่อสร้างด้วยพระองค์เองถึง๔ครั้งภายใน๓เดือน โดยครั้งแรกในวันที่๑๐เมษายน๒๔๓๕ แม้ขณะนั้นยังไม่มีอะไรแล้วเสร็จ กองทัพเรือก็ถือว่าป้อมพระจุลจอมเกล้าได้ทรงเปิดแล้ว ณ วันที่เสด็จเหยียบเป็นวันแรกนั้น
และในวันรุ่งขึ้น ก็ได้เสด็จไปทรงเปิดการเดินรถไฟสายปากน้ำด้วย

ครั้งที่๒ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีในวันที่๑๐พฤษภาคม ตรงไปยังป้อมพระจุลจอมเกล้า ครั้งนี้มีการทดลองยิงปืนใหญ่ถวายให้ทอดพระเนตรนัดหนึ่ง เพราะปืนพร้อมที่จะทำได้แค่นั้น แต่เสียงกัมปนาทของปืนใหญ่กระบอกยักษ์ที่คนไทยไม่เคยได้เห็นได้ยินมาก่อน และภาพกระสุนกระทบทะเลน้ำพุ่งเป็นลำตาลอยู่ลิบๆนอกปากอ่าว ก็ทำให้คนทั้งปวงพากันไชโยโห่ร้องอย่างฮึกเหิมราวกับชนะศึกสงครามแล้ว ลืมความขัดสนไม่พรักพร้อมทั้งหลายทั้งปวงไปชั่วคราว
 
อย่างไรก็ดี จากสภาพการณ์ที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็น ครั้งที่๓ จึงเสด็จไปประทับแรมบนเรือพระที่นั่งมหาจักรีถึง๕วัน นอกจากทรงตรวจงานที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าแล้ว ทรงทอดพระเนตรการก่อสร้างแนวป้องกันที่สร้างขวางลำน้ำไว้ ทุกวันตั้งแต่๒๖พฤษภาคมจนถึง๑มิถุนายน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ครั้งสุดท้าย วันที่๔กรกฎาคม พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับโดยรถไฟขบวนพิเศษสายปากน้ำ แล้วเสด็จลงสถานีระหว่างทางเพื่อทอดพระเนตรป้อมเสือซ่อนเล็บ หลังจากนั้นเสด็จประทับเรือองครักษ์ไปยังป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งขณะนั้นปืนใหญ่ทุกกระบอกได้ทำการติดตั้งเสร็จแล้ว ทหารขึ้นประจำป้อมทดลองยิงถวายทอดพระเนตร ข่าวเป็นทางการว่าทหารทำได้พรักพร้อมทรงพอพระทัย แต่ข่าวหลังไมค์บอกว่าทรงผิดหวังมาก

เสร็จจากที่นั่นแล้วเสด็จไปทอดพระเนตรการทดลองระเบิดตอร์ปิโดขนาดเล็กลูกหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นผลดี คือระเบิดขึ้น แล้วไปทรงการบรรจุตอร์ปิโด ก่อนเสด็จขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 18:14
ในหนังสือ The Peoples and Politics of the Far East ตามลิงค์ของคุณเพ็ญชมพู ผู้เขียนเรื่องนี้คือ Henry Norman ซึ่งเป็นทั้งนักการเมืองและนักเขียนชาวอังกฤษที่บังเอิญมาเยือนเมืองไทยในช่วงเกิดเหตุการณ์ร.ศ.๑๑๒พอดี

นายนอร์แมนไม่ใช่นักเขียนกิ๊กก๊อก(ต่อมาได้เป็นท่านเซอร์) เขาจึงมีเส้นสายพอสมควรที่จะได้เข้าพบบุคคลสำคัญของฝ่ายไทย และคงได้คุยกับชาวต่างชาติที่เกี่ยวข้องหลายต่อหลายคนอยู่ ดังนั้น เรื่องที่เขียนขึ้นตามที่เขาได้ยินได้ฟังมากับหูตนเอง และไม่มีเหตุผลว่าเขาจะเกลียดสยามเป็นพิเศษ จึงถือได้ว่าเป็นข้อมูลที่เราควรต้องรับฟัง แม้จะเป็นความจริงอันน่าขมขื่นสำหรับคนไทยก็ตาม
 
เรื่องที่เกิดขึ้นในวันนั้นเขาเขียนไว้ว่า
 
First, with regard to the famous forts. The principal one had, I think, six 6-inch guns on disappearing carriages. Only two men in Siam had even elementary notions of the working of these weapons Commodore de Richelieu, and Major Von Hoick, another Danish officer. The former was in command of the fort of which I have spoken. When the critical moment came he ran as quickly as possible from gun to gun and fired them one after the other. Needless to say nothing was hit. When one of these guns had been fired before the King a few days previous, out of six detonators five failed to ignite. This incident, however, had not shaken the confidence of the Siamese in the efficacy of their defences.

แรกทีเดียว เกี่ยวกับป้อมปืนสองป้อมอันโด่งดัง(ป้อมพระจุลจอมเกล้า และป้อมผีเสื้อสมุทร)  ป้อมหลักนั้น ติดตั้งปืนใหญ่ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเป็นขนาด๖นิ้ว บนแท่นปืนที่ปรับระดับลงเพื่อซ่อนตัวได้ มีแค่ชายสองคนเท่านั้นในสยามที่เข้าใจในพื้นฐานของปืนแบบนี้ หนึ่งคือนายพลเรือริชลิว อีกคนหนึ่งคือ ผู้พันฟอนโฮค์ย ชาวเดนมาร์กเหมือนกัน คนหลังนี่เป็นผู้บังคับการของป้อมดังกล่าว เมื่อนาทีวิกฤตมาถึง เขาได้วิ่งอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ จากปืนกระบอกหนึ่งไปยังอีกกระบอกหนึ่ง เพื่อจะยิงมันทีละกระบอก ไม่ต้องพูดก็ได้ว่ากระสุนไม่ได้เข้าเป้าเลย หลังจากนั้นเขาก็นั่งเรือข้ามฟากมาอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ แล้วมุ่งสู่กรุงเทพด้วยรถไฟขบวนพิเศษ
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดพระเนตรการยิงของปืนนี้เมื่อสองสามวันก่อนเกิดเหตุ จากจำนวนทั้งหมด๖กระบอก(ความจริงมี ๗) มีกระบอกเดียวที่ยิงถวายได้ แต่สิ่งที่เกินขึ้นก็ไม่เขย่าความรู้สึกมั่นใจของคนไทยต่อประสิทธิภาพในการต่อสู้ป้องกันของตน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 20:03
เมื่อสองปีที่แล้ว ผมได้รับเชิญไปร่วมงาน รำลึกถึงเหตุการณ์“การรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา ร.ศ. ๑๑๒”  ที่กองทัพเรือจัดขึ้นที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ก่อนงานจะเริ่ม ผมได้เดินไปดูที่หลุมปืนคนเดียว และโชคดี ได้เจอนายทหารเรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตัวจริงในการบูรณะปืนที่เป็นวัตถุโบราณไปแล้วให้กลับมาคืนสภาพจนยิงได้อีกครั้งหนึ่ง  เขามีความรู้อัดที่แน่นและยินดีที่จะถ่ายทอดให้ฟัง เมื่อผมคุยกับเขารู้เรื่องจึงต่อความกันสนุก ผมถึงได้ทราบว่าปืนนี้ระบบมันสลับซับซ้อนมากมาย โดยเฉพาะการยกตัวขึ้นยิงที่ใช้ระบบไฮโดรลิก สมัยนั้นเป็นนวัตกรรมใหม่ น้ำมันไฮโดรลิกยังไม่ได้คิดค้นขึ้นแต่ใช้น้ำมันละหุ่งเป็นตัวขับดัน ตอนนั้นเราคิดว่าน้ำมันละหุ่งหีบได้ในเมืองไทย ก็ดี ไม่ต้องง้อของนอก ที่ไหนได้ น้ำมันละหุ่งถ้าไม่บริสุทธิ์จริง มีตะกอนแขวนลอยที่ตาแทบจะมองไม่เห็นนี๊ดเดียว ก็จะทำให้ตัวระบบอุดตัน ยกปืนไม่ขึ้นจนกว่าจะถอดออกล้าง ซึ่งใช้เวลาหลายชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ ทุกวันนี้ทร.ยังไม่กล้าแสดงการยกปืนให้ประชาชนชมเพราะกลัวว่ามันจะฉีกหน้าเอา

ได้ฟังแล้วก็นึกถึงเรื่องที่นายนอร์แมนเขียนไว้
และเรื่องที่เคยอ่านพบว่า คุณสอ เสถบุตร ได้ใช้น้ำมันละหุ่งกับระบบโฮโครลิกรถซีตรองของตน ครั้งสงครามโลกเลิกใหม่ๆ หาซื้อน้ำมันไฮโดรลิกไม่ได้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 20:07
ครั้งหนึ่ง(๒๗มกราคม๒๕๔๕) สมเด็จพระเทพรัตน์ฯทรงมีรับสั่งให้ทหารเรือเตรียมปืนไว้ ท่านจะเสด็จมาทอดพระเนตรการยิง ระบุกระบอกไว้เลยว่าเอาเบอร์สาม(คือตัวที่ยิงได้ในวันนั้น) ทหารเรือต้องทำพิธีเซ่นสังเวยกันยกใหญ่ ซ้อมยกปืนก็โอเคดี แต่ซ้อมมากก็ไม่ได้กลัวระบบไฮโดรลิกจะเกิดตันขึ้นมาแบบไม่รู้ตัว
วันนั้น เมื่อท่านเสด็จมาถึง พอได้ยินรับสั่งว่า“ไหนยิงให้ดูซิ” จ่าปืนถึงกับมือสั่น นายพลนายพันต่างกลั้นลมหายใจนิ่ง โชคดีที่วันนั้นผ่านไปด้วยดีไม่มีติดขัด สิ้นปีนายเลื่อนยศให้จ่าปืนสองขั้นเป็นครั้งแรกในชีวิต


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 20:49
ผมฟังนายทหารท่านนี้อธิบายต่อไปว่าปืนแต่ละกระบอกใช้กำลังพล๑๐นาย  เป็นทหารประจำปืน๗นาย ทำหน้าที่บรรจุนัดดินและหัวกระสุน และปรับแต่งปืนให้หันซ้ายขวา หรือกระดกขึ้นลงตามมุมยิง  เสร็จแล้วจึงทำการยิง และยังมีทหารอีก๓นาย วิ่งลำเลียงกระสุนและนัดดินจากคลัง
 
ผมอยู่ในหลุมปืนมองเห็นแต่กำแพงจึงถามว่า แล้วจะเล็งปืนไปยังเป้าได้อย่างไร ไม่เห็นมีศูนย์เล็ง เขาบอกว่าต้องดูสัญญาณธงของนายทหารที่ยืนอยู่ข้างบน ที่จะโบกให้หมุนไปทางทิศไหน หรือให้ยกปากกระบอกขึ้นลงกี่องศา


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 20:51
ผมมองไปที่พวงมาลัยสำหรับหมุนให้ปืนหันไปตามทิศหรือกระดกในมุมที่ต้องการแล้ว คงหนักหนาเอาการที่จะติดตามเป้าหมายที่เคลื่อนที่ได้ทัน จึงถามต่อไปว่า แล้วจะยิงโดนหรือครับ เขาก็ยิ้มแล้วส่ายหน้า


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 21:36
ผมมานั่งคิดๆดู เย็นวันนั้น เมื่อเรือรบฝรั่งเศสตัดสินใจจะฝ่าด่านของเราเข้ามา เขาก็หันหัวเรือจากปากอ่าวแล้วเร่งความเร็ววิ่งเข้าสู่ร่องน้ำอย่างเต็มพิกัด

ตามกฏของประเทศที่ยังมิได้ประกาศสงครามกัน ต้องยิงเตือน ๓ นัดก่อนจะยิงด้วยกระสุนจริงได้ ปืนอาร์มสตรองเสือหมอบมีระยะยิงไกลสุด๘๐๐๐เมตร แต่ยิงไม่ได้เพราะยังถือว่าเขาอยู่นอกแนวล้ำเส้น ต้องปล่อยให้เข้ามาจนถึงระยะ๔๐๐๐เมตร จึงจะเริ่มยิงเตือนได้ ถ้าเรือวิ่งด้วยความเร็ว๑๐น๊อตตามที่เขาว่า ก็จะมีเวลาประมาณ๑๐นาทีเท่านั้น ที่ป้อมปืนจะยิงเรือด้วยกระสุนจริงให้จมได้ก่อนที่เรือจะวิ่งเข้ามุมอับ
 
ด้วยระบบการเล็งอย่างนี้ และการยืดขึ้นหมอบลงของปืนที่ทำให้เสียเวลามากกว่าปืนธรรมดาๆเท่าตัว แถมยังติดขัดเป็นประจำ ต่อให้มีพลประจำปืนที่ชำนาญ โอกาสที่ปืนเสือหมอบในป้อมพระจุลจะจมเรือข้าศึกได้ก็จะมีแต่ลูกฟลุ๊คเท่านั้น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ค. 13, 21:44
สงสัยจริงๆ ทำไมนายพลริชลิวจึงไม่จัดซื้อปืนที่มีอำนาจการยิงเท่ากัน แต่เร็วกว่า ง่ายกว่า ถูกสตังค์กว่า เหมาะสำหรับความรู้ความชำนาญของคนไทยมากกว่า ปืนที่ล้ำสมัยแต่ใช้การไม่ได้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 10 ก.ค. 13, 23:34
อนึ่ง ผมมิได้ใช้หนังสือฝ่ายไทยฉบับเดียวในการเขียนกระทู้ของผม ผมอ่านเอกสารฝรั่งตาเปียกตาแฉะ ทั้งเอกสารชั้นต้นที่ฝรั่งเศสและเดนมาร์กเขียนรายงานไว้ รวมทั้งที่ฝรั่งชาติเป็นกลางเช่นอังกฤษวิจารณ์การรบ มาเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดมุมมองครบทุกด้าน น่าจะเป็นที่เข้าใจได้นะครับว่าเรื่องบางเรื่อง เอกสารฝ่ายไทยมิได้จดบันทึกไว้  ผมพยายามเอาทุกเรื่องที่ผ่านสายตามาปะติดปะต่อ เพื่อให้กระชับสั้น มีสาระ และไม่ซ้ำซาก
 
ดังเช่นที่ผมเขียนสั้นๆว่า ทหารมะรีนไม่มีโอกาสได้ปะทะข้าศึกแต่อย่างใด เพราะประจำการอยู่ในเรือที่มิได้เข้าสมรภูมิ คิดว่าพอ แต่เมื่อคุณสงสัย ผมก็เพิ่มอีกว่า ทหารมะรีนถูกจัดให้ประจำการในเรือพระที่นั่งมหาจักรี และเรือพระที่นั่งลำอื่นๆ(อุบลบุรพทิศ) เตรียมพร้อมรอคำสั่งอยู่ในแม่น้ำหน้าพระบรมมหาราชวังครับ ส่วนสมรภูมิอยู่ที่ปากน้ำโน่น
 
คุณก็ยังไม่เชื่อ

เพื่อให้ผู้อ่านมั่นใจว่า ผมมิได้มักง่ายในการเขียนเรื่องให้สาธารณะอ่าน ไม่ได้ป้ายๆมาจากเน็ทมาแปะไว้โดยไม่มีที่มาที่ไป ประเด็นดังกล่าวฝรั่งเขียนไว้ดังนี้


ผมไม่ได้ว่าข้อมูลไม่ถูกนะครับ

แต่จากการจัดกรมทหารเรือใน ร.ศ. ๑๑๒ นั้น โดยเฉพาะทหารมะรีน แบ่งเป็น ๑ กรมผสม ได้แก่กองพันปืนแกตลิง กองพันทหารปืนใหญ่ และ กองพันทหารราบ

ถ้าดูจากข้อมูลในเว็บของทหารนาวิกโยธิน


http://www.marines.navy.mi.th/htm_56/htm_old55/radnavic55/pawatmarine.html

หรือจากพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธิน

http://www.marinesmuseus.com/index.php?mo=59&action=page&id=817898

หรือจากกรมทหารปืนใหญ่ นาวิกโยธิน

http://www.artillery-marines.mi.th/artillery/index.php?option=com_content&view=article&id=46&Itemid=55

ข้อมูลก็เป็นไปในทางเดียวกันคือ ทหารมะรีนเหล่าปืนใหญ่ ถูกส่งไปประจำตามป้อมปืนต่าง  ๆ ครับ  ซึ่งจะเป็นคนละกองกับ ทหารมะรีนที่ประจำในเรือพระที่นั่งมหาจักรี และเรืออื่น ๆ ตามที่คุณ Nawarat บอกมา

ซึ่งก็สอดคล้องกับ พระราชหัตถเลขาที่ ร.๕ ทรงมีถึงที่ประชุมเสนาบดีสภา ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) โดยทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ให้ย้ายทหารจากป้อมผีเสื้อสมุทรมาประจำที่ป้อมพระจุลฯ แทน เนื่องจากเป็นทหารเก่า และให้เกณฑ์เลกจากเมืองพนัสนิคม มารักษาป้อมผีเสื้อสมุทรแทนครับ

 ตรงคำว่า ทหารเก่านี้ ก็สอดคล้องกับเรื่องของการจัดกรมทหารมะรีนเหล่าปืนใหญ่ที่ผมได้นำมาเสนอนี่ล่ะครับ

นอกเหนือจากนี้ ทหารมะรีน จำนวน ๑๔ นาย ก็ถูกส่งไปรักษาเกาะกงด้วยเช่นกันครับ  


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 07:42
โอ้ ขอบคุณครับที่เข้ามาช่วยให้หายเหงา นึกว่าจะต้องบรรเลงต่อไปคนเดียวจนจบเสียแล้ว

การอภิปรายไม่ว่าจะเสริมหรือแย้ง เป็นสิ่งที่ผมยินดีที่จะเห็นทุกท่านเข้ามาร่วมแสดง และผมไม่กลัวว่าจะหน้าแตกหากข้อมูลผิดและมีคนมาหักล้าง เพราะผมไม่ใช่นักวิชาการที่หลงคิดว่าตนเองจะต้องพลาดมิได้ หากคิดเช่นนั้นก็คงไม่กล้าเข้ามาเสนอกระทู้ในเน็ท ที่นี่มันเวทีเปิด คุณอาจเจอของจริงถึงกับโดนน๊อคเมื่อไหร่ก็ไม่รู้

แต่เมื่อผมย้อนขึ้นไปอ่านตั้งแต่ต้น เห็นว่าในบริบทเหตุการณ์“การรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา ร.ศ. ๑๑๒” ผมกำลังกล่าวถึงทหารมารีนที่เป็นพวกกลาสีบนเรือรบอยู่นะครับ ที่บอกว่าไม่ได้เข้าสมรภูมิเพราะไปประจำการบนเรือพระที่นั่งซึ่งมิได้มีหน้าที่รบ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับทหารมารีนที่ส่งไปหัวเมืองชายทะเล เพราะไม่มีบทบาทที่ปากน้ำอยู่แล้ว

แต่เดี๋ยวนะครับ เรื่องทหารปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุล ขอเวลากลับไปค้นเอกสารหน่อยแล้วจะเข้ามาต่อ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 13, 11:00
ในหนังสือ The Peoples and Politics of the Far East หน้า ๔๖๒ นอร์แมนวิจารณ์ทหารปืนใหญ่ในความรับผิดชอบของ "ริชลิว" ไว้ดังนี้

The Artillery is no better, with its recently-imported field guns, of which the brass sights were stolen and pawned within a fortnight of their arrival and have never been recovered; while the powder is in one place and the shells in another, and nobody knows where or how to bring them together. As for the Infantry, they come to drill when it suits them, desert by dozens weekly, and carry complaints and start agitations against any officer who attempts discipline. Many of them have never fired the rifles they carry; in fact the spirit of soldiery is as totally lacking in them as in a street mob. The officers — but here words fail. Imagine a Cadets' School, of imposing proportions and appointments, with four or five hampered European instructors, where young Siam is comfortably housed and fed and paid some thirty shillings a month to wear a uniform and play at studies which are never carried out.

The explanation is that Siam has aped the farang method without the farang spirit. There is actually no word for "discipline " in the Siamese language.

ทหารปืนใหญ่ก็ไม่ดีกว่านั้น ปืนกระบอกใหม่ที่เพิ่งสั่งเข้ามา ที่เล็งเป้าทองเหลืองถูกขโมยไปจำนำภายในเวลา ๒ อาทิตย์ และตามคืนไม่ได้ ส่วนดินปืนกับปลอกกระสุนก็อยู่กันคนละที่ และไม่มีใครรู้ว่าจะใส่ดินปืนในปลอกกระสุนได้อย่างไร  ทหารมาฝึกกันตามสะดวก แล้วหายหน้าไปสัปดาห์ละหลายโหล มีการร้องเรียนและเริ่มก่อกวนนายทหารที่พยายามสร้างวินัยในกอง  หลายคนไม่เคยยิงปืนไรเฟิลที่ตนถือ พวกเขาขาดจิตวิญญาณของการเป็นทหารเป็นดังม็อบข้างถนน-ไม่ใช่นายทหาร ลองจินตนาการดูสิ โรงเรียนนายทหารที่มีอาคาร และการจัดการอันน่าเกรงขาม มีครูฝึกชาวยุโรปสี่หรือห้านายที่มีอำนาจจำกัด เด็กหนุ่มชาวสยามได้พักอาศัยอย่างสะดวกสบาย ได้รับการเลี้ยงดู และรับเงินเดือน เดือนละ ๓๐ ชิลลิง เพื่อให้สวมเครื่องแบบ และเล่นในโรงเรียนที่ไม่มีการฝึกอบรมใด ๆ

สยามรับวิธีการของฝรั่งมาโดยปราศจากจิตวิญญาณของฝรั่ง

ไม่มีคำว่า "วินัย" ในภาษาสยาม

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley16.png)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 11:48
จากลิงค์ข้างบนของทหารเรือที่คุณสมุน007ให้ไว้ มีประเด็นน่าสนใจว่า บทบาทของทหารมารีนในยุคต้นของสยาม ก็คือการสนองความจำเป็นของพระราชสำนัก ในการที่จะต้องมีทหารซึ่งมีระเบียบวินัยสำหรับงานบางอย่าง โดยเฉพาะในการรับรองชาวต่างประเทศตามขนบประเพณีของชาวตะวันตก ดังข้อความเหล่านี้

พ.ศ.๒๓๖๗ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี ได้มีการจัดตั้งหน่วยทหารนาวิกโยธินขึ้น ในครั้งนั้น เรียกชื่อว่า ทหารมะรีน เป็น ทหารถือปืนเล็กทำการรบอย่างทหารราบ และเป็นกำลังทหารที่ใช้เป็นกองทหารเกียรติยศสำหรับรับ-ส่ง เสด็จกับเป็นกองทหาร เกียรติยศไปกับเรือหลวง เพื่อส่งเสด็จ-รับเสด็จ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทางเรือ
ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ทหารมะรีนได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นฝีพายเรือพระที่นั่ง และเรือพระประเทียบ กับมีหน้าที่ดูแลรักษาเรือพระที่นั่ง ณ โรงเรือบริเวณท่าราชวรดิษฐ์ ซึ่งอยู่ในบริเวณ เดียวกันกับที่ตั้งหน่วยทหารมะรีน

การที่ผมอ่านทั้งข้อมูลไทยและเทศ จึงเกิดข้อสะดุดใจบางประการในความเห็นที่แตกต่าง เริ่มต้นที่นายเฮนรี นอร์แมน ตามคุณเพ็ญชมพูที่ลอกมาให้อ่านข้างบน

As for the other branch of his Siamese Majesty's service, the Navy, while the pretensions are less, the realities in some respects are better. The Danish officer M. de Eichelieu, of whom I have already spoken, has given many years of labour to this, and in alliance with him, Pra Ong Chora, unique among Siamese officials for energy and integrity, has created a large body of marines who possess at any rate the elements of discipline, however much they may lack technical efficiency. They are supposed to man the forts, supply the fighting crews for the gunboats, and act as an armed force on land whenever one is required, though their whole training for these duties consists of a little elementary drill and the bare knowledge of how to discharge a rifle. The discipline which does characterize them, and which yet distinguishes them brilliantly from other Siamese organizations, is directed to wholly different ends. They are neither more nor less than the body-servants of the royal household…….to drag their jinrikisha, to carry their sedans, to dress up in their processions, and even to catch flies by bucketfuls to facilitate the royal repose.


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 11:51
ขอบอกก่อนว่าผมไม่ได้แปลเรื่องของเขามาชนิดคำต่อคำนะครับ ใครสงสัยว่าผมจะแปลถูกต้องกับต้นฉบับของผู้เขียนหรือไม่ ตรงนี้ผมไม่ขอรับรอง

ในฐานะอีกหนึ่งสาขาของบรรดาข้าราชการสยาม  ทหารเรือ แม้ข้อเรียกร้องของพวกเขาจะน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้วหลายเรื่องกลับดีกว่าที่อื่น(ในย่อหน้าก่อนๆ นอร์แมนได้วิพากษ์ทหารบกไว้อย่างไม่เกรงใจ ดังที่คุณเพ็ญชมพูคัดมาให้อ่านนั่น)  ริชลิว นายทหารเรือเดนมาร์กซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวแล้ว เป็นผู้โดดเด่นในหมู่นายทหารของสยามในเรื่องของพลังในการทำงานและความสุจริต ได้อุทิศตนเป็นปีๆ ร่วมกับพระองค์เจ้าสาย(พลเรือโท พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์)ปั้นหน่วยทหารมารีนที่มีระเบียบวินัยเยี่ยมขึ้น ซึ่งถึงจะขาดขีดความสามารถทางด้านเทคนิกอยู่มาก แต่พวกนี้น่าจะได้ประจำการในป้อม เป็นกำลังรบเสริมบนเรือปืน หรือเป็นหน่วยปฏิบัติการภาคพื้นดินในจุดที่ต้องการ
 
ถึงแม้ว่าจะได้รับการฝึกฝนมาแค่การหัดแถวขั้นมูลฐาน และมีความรู้ง่ายๆอย่างเช่นจะปลดกระสุนปืนยาวอย่างไร แต่ภาพความมีวินัยที่ทำให้ทหารมารีนโดดเด่นกว่าองค์กรอื่นๆในสยาม กลับนำพาพวกเขาไปสู่จุดมุ่งหมายคนละข้างอย่างสิ้นเชิง  ทหารมารีนถูกเรียกไปใช้ในวัง ในงานที่ต้องแต่งเครื่องแบบกลาสีเรือแต่ทำหน้าที่ของคนใช้แรงงาน…เช่น พนักงานลากรถทรง พนักงานหามพระราชยาน แต่งเต็มยศเพื่อร่วมขบวนเสด็จ และแม้แต่เป็นคนกำจัดแมลงวันทีละเป็นถังๆเพื่อให้ทรงสุขสบาย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 12:00
ต้องเข้าใจนะครับว่า นายนอร์แมนอยู่ในเหตุการณ์รศ๑๑๒ก็จริง แต่เขามาในฐานะนักเดินทาง ผ่านมาเพื่อจะผ่านไป ไม่ได้มีความรู้เรื่องของสยามลึกซึ้ง ดังนั้นสิ่งที่เขาบันทึกลงในหนังสือ ก็มาจากปากคำของฝรั่งที่บ้านอยู่ในเมืองไทยนี้แหละ ที่ให้ข้อมูล และพวกนี้คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเหล่านายทหารเรือเดนมาร์กที่เข้ารบ จริงหรือไม่จริงเพียงใดมันก็เป็นบทสรุปว่า ภาพที่ฝรั่งฝ่ายเราเห็นและเข้าใจมันเป็นแบบนั้น

ในขณะที่เอกสารไทยบันทึกว่า ในต้นรัชกาลที่ ๕ ทางราชการได้จัดหาปืนกลแคตลิ่ง ซึ่งเป็นอาวุธทันสมัยมาใช้ราชการในหน่วยทหารมะรีน จึงมีการเพิ่มกำลังและจัดหน่วยทหารมะรีนใหม่เป็น ๔ กองปืนกลแคตลิ่ง ๔ กองทหารราบ ๑ กองทหารปืนใหญ่ มี น.อ.พระชลยุทธโยธิน หรือ กัปตันริชลิว ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้บังคับบัญชา

ในพ.ศ.เดียวกัน สิ่งที่นายทหารฝั่งบ่นดังๆ ทำให้ผมคิดไปว่า ทหารมารีนที่มีระเบียบวินัย ผ่านการฝึกฝนมาระดับหนึ่ง ไม่น่าจะเป็นทหารมะรีนหน่วยเดียวกับที่ทร.บันทึก ทหารเกณฑ์จากอาสาชาติต่างๆที่บรรจุเข้ามาในกรมนี้เพื่อเอาไปรบกับฝรั่งเศสกระมัง

ส่วนทหารมะรีนอาชีพที่ผมหมายถึง ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก เก็บไว้ประจำการบนเรือพระที่นั่งไง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 13:27
อ้างถึง
ในหนังสือ The Peoples and Politics of the Far East หน้า ๔๖๒ นอร์แมนวิจารณ์ทหารปืนใหญ่ในความรับผิดชอบของ "ริชลิว" ไว้ดังนี้
คุณเพ็ญชมพูครับ ขอโทษเพิ่งเห็นบรรทัดแรก ทหารปืนใหญ่ในท่อนดังกล่าว นายนอร์แมนนินทาทหารบก ไม่ใช่ทหารเรือของริชลิว

เอ้า...มีพยานอีกหนึ่งปาก

จาก Five Years in Siam (1898) เขียนโดย H. Warington Smyth นักเดินทางชาวอังกฤษที่ผ่านเข้ามาในเมืองไทยในช่วงนั้นเหมือนกัน และเรียกได้ว่าอยู่ในเหตุการณ์เพราะค้างแรมอยู่ในเมืองปากน้ำได้ยินเสียงปืนที่ยิงกันชัดเจน

ผมเสียเวลามากมายจากเช้าถึงบ่ายนี้ เพื่อจะคัดเอาตอนที่จะตอบข้อทักท้วงคุณสมุน007 ที่ตัดไปเยอะ เพราะถ้าเอามามากกว่านี้ทุกคนคงเบลอ เอามาแล้วยังต้องมาแปลอีก ไม่ได้จบอักษรศาสตร์มาซะด้วย

The Navy, on the other hand, though it has had to fight against the lack of spirit I have referred to, and against the role of a picnicing institution generally aligned to it, has, mainly owing to the energy and strength of character of another Dane, Commodore de Richelieu, acquired a smartness and efficiency far beyond anything else in Siam. It has been very uphill work, and the jealousy of the many influential Siamese towards any successful foreigner has made it harder. But in spite of old ant- eaten hulls, worn-out machinery, and bad material, the Commodore and his Danish officers have created a really creditable force, the efficiency of which is considerable and is yearly extending. A battalion of marines on the march can keep their distances, and step it with an accuracy which has called forth no little praise from British naval officers who have seen them, and which would not disgrace any force in the world, with such a short training as they get.
The men for this service are taken mostly from the Mons or Peguana, a strong, handsome race, very tike the Siamese, remnants of the old wars, who live mostly up-river and to the north-west of Bangkok, in separate communities. They preserve their own customs, and in their monasteries the boys learn to read and write the Mon language, and many hardly know anything of Siamese. There are five Wen*, or reliefs, each serving for three months in turn with twelve months at home. Boys who are LvJc mva, or sons of soldiers, are got very young, and are kept till eighteen or twenty, and often turn out very smart.  


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 13:35
คำแปล

ในทางกลับกัน ทหารเรือ แม้จะต้องต่อสู้กับการขาดสำนึกที่ข้าพเจ้ากล่าวไปแล้ว และกับบทบาทเช้าชามเย็นชามขององค์กรต้นสังกัด แต่ด้วยพลังกายและบุคลิกภาพที่เข้มแข็งของคนเดนมาร์กอีกคนหนึ่ง นายพลริชลิว ทำให้ทหารเรือสง่าผ่าเผยและมีประสิทธิภาพห่างไกลเหนือสิ่งอื่นใดในสยาม มันเป็นงานเข็นครกขึ้นภูเขาอยู่แล้ว แต่ความริษยาของผู้ทรงอิทธิพลคนไทยหลายคนที่มีต่อความสำเร็จของชาวต่างชาติ ยิ่งทำให้งานยากยิ่งขึ้นไปใหญ่ ถึงแม้ว่าตัวเรือปลวกจะแทะ เครื่องจักรหมดสภาพ และข้าวของเลวๆ นายพลริชลิวก็ได้สร้างหน่วยทหารอันเป็นที่ยอมรับ และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นๆทุกปี กองพันทหารมะรีนขณะสวนสนาม สามารถรักษาระยะห่าง และตบเท้าพร้อมกันโดยไม่พลาด  นายทหารเรืออังกฤษที่มาเห็นเข้ายังต้องออกปากชม ถึงแม้ระยะเวลาการฝึกจะสั้น แต่ก็ทำได้ดีไม่แพ้ทหารชาติใดในโลก

ชายฉกรรจ์ในหน่วยนี้ถูกเกณฑ์มาจากพวกมอญ หรือชาวพะโค เผ่าพันธุ์ที่แข็งแรงและหน้าตาดีเหมือนคนไทยมาก พวกนี้รอดชีวิตจากสงครามในครั้งก่อนๆมาตั้งรกราก เป็นชุมชนกระจัดกระจายอยู่ทางเหนือน้ำไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ พวกเขารักษาขนบประเพณีของตนเอง เด็กๆจะไปเล่าเรียนเขียนอ่านภาษามอญ ที่วัด หลายคนจึงไม่รู้หนังสือไทยเลย มีเวร(Wen)ห้าครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาสามเดือน แล้วกลับมาอยู่บ้านหนึ่งปี เด็กชายที่เป็น (LvJc mva?)หรือแปลว่าลูกของทหาร จะถูกเกณฑ์ไปตั้งแต่ยังเล็ก และเอาตัวไว้จนอายุสิบแปดหรือยี่สิบ กลับออกมาแล้วดูดีมาก



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 13:38
ข้ามไปเยอะ กว่าจะมาถึงตรงนี้

It must be confessed that Commodore de Richelieu, who had charge of this defense, was given very little chance.
His proposition to close the channel finally, by sinking another ship across it, was outvoted at the Council. Not-withstanding his representations, his whole force was made up of a fresh Wen  of men who had had no training. His requests for proper material for mining and other things had been met by constant delay.
 .
(ข้าม)
.
The fort was not nearly finished at the time, and, of the three officers there besides himself, only one spoke Siamese; the others were two Danes from the Survey Department who had only just arrived in the country, and who volunteered, not knowing a word of Thai language. During the action these officers were running breathlessly to their guns in turn up and down half-finished steps and gun-platforms, avoiding pitfalls as best they might, and communicating their orders in languages which none of the astonished gunners understand.  


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 13:54
ต้องสารภาพว่านายพลริชลิว ผู้รับผิดชอบการปฏิบัติการครั้งนี้ ได้รับโอกาส(ให้ชนะ)น้อยมาก
ข้อเสนอของเขาที่จะปิดช่องแคบโดยสิ้นเชิงโดยการจมเรืออีกลำหนึ่งขวางไว้ แพ้มติในที่ประชุมที่ปรึกษา โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่รับผิดชอบที่เขาแบกรับ กองกำลังของเขาทั้งหมดประกอบด้วยเวรใหม่(ทหารเกณฑ์)ที่ไม่เคยผ่านการฝึกมาเลย คำร้องขอของเขาสำหรับวัตถุดิบที่จะเอามาทำทุ่นระเบิดและสิ่งอื่นๆก็ประสพกับปัญหาความล่าช้าอมตะนิรันดร์กาล

ป้อม(พระจุล)ยังสร้างไม่เสร็จดีในตอนนั้น และ มีหนึ่งในสามคนที่นั่น และตัวเขา(ริชลิว)ที่พูดไทยได้ อีกสองคนเดนมาร์กจากกรมแผนที่ก็เพิ่งมาประเทศนี้เหมือนกัน แต่อาสามารบทั้งๆที่ไม่รู้ภาษาไทยสักคำ ระหว่างการรบนายทหารเหล่านี้วิ่งพล่านแบบไม่หายใจไปยังปืนกระบอกต่างๆ ขึ้นลงบันไดที่เสร็จครึ่งๆกลางๆไปยังหลุมปืน โดยระมัดระวังที่สุดไม่ให้พลาดตกลงไป และพยายามจะสั่งการด้วยสารพัดภาษาซึ่งพลปืนที่กำลังตื่นตระหนกไม่เข้าใจสักคนเดียว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 14:41
ดังนั้นผมอยากจะสรุปตรงนี้เสียทีหนึ่งว่า ทหารมะรีนประจำการที่ผ่านการฝึกอย่างดี(ในความหมายของผม) ได้ถูกโอนไปอยู่เรือพระที่นั่ง ส่วนพลทหาร ที่ศัพท์เดิมเรียกอาสามอญฯลฯนั้น กรมทหารมะรีน(ตามความหมายของคุณสมุน007)เป็นผู้เกณฑ์มา ยังไม่ทันฝึกให้ใช้การได้ดีตามมาตรฐานของทหารมะรีน แต่เป็นหน่วยที่เข้ารบในสมรภูมิ

นี่ว่ากันตามเอกสารฝรั่งนะครับ ส่วนเอกสารไทยก็อย่างที่คุณสมุน007ว่า ก็อ่านเอาไว้ทั้งสองด้านก็แล้วกัน

บังเอิญผมเหนื่อยแล้ว  ขี้เกียจค้นเอกสารที่ไม่เป็นทางการของไทย จำได้เคยอ่านผ่านๆว่า นายทหารฝรั่งที่ป้อมพระจุล เวลาสั่งการผ่านจ่า จะต้องมีล่ามภาษาไทยคอยแปล ส่วนจ่า เวลาสั่งไอ้เณร จะต้องใช้ล่ามภาษามอญอีกคนหนึ่ง ยังฟุตฟิตโฟไฟไอก็งงงงอยู่ เรือฝรั่งเศสดันโผล่มาซะแล้ว..น า ย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 18:36
ขอแก้ข้อมูลครับ
อ้างถึง
จาก Five Years in Siam (1898) เขียนโดย H. Warington Smyth นักเดินทางชาวอังกฤษที่ผ่านเข้ามาในเมืองไทยในช่วงนั้นเหมือนกัน และเรียกได้ว่าอยู่ในเหตุการณ์เพราะค้างแรมอยู่ในเมืองปากน้ำได้ยินเสียงปืนที่ยิงกันชัดเจน

เฮอร์เบิร์ท วาริงตัน สมิธ ไม่ใช่นักเดินทางธรรมดา เขาเป็นนักธรณีวิทยา และเคยรับราชการเป็นรองเจ้ากรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา หนังสือ “ห้าปีในสยาม”ของเขาน่าสนใจ และมีผู้นำไปใช้อ้างอิงในเรื่องราวต่างๆทางสังคมและภูมิศาสตร์ของสยามในรัชสมัยนั้นมากมาย ขนาดกรมศิลปากรนำไปแปลและจัดพิมพ์จำหน่าย

ใครอยากอ่านสำนวนแปลโดยผู้ทรงคุณวุฒิ โปรดหาอ่านเอาเอง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 13, 19:34
หรือถ้าต้องการอ่านฉบับภาษาอังกฤษ  ;)

http://archive.org/stream/fiveyearsinsiam01smytgoog#page/n11/mode/1up


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 19:49
ผมไม่ได้ตั้งใจจะนำเรื่องราวทั้งหมดของการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยามานำเสนอนะครับ เพราะข้อมูลหาได้ไม่ยากในเวป หลายท่านคงผ่านสายตา แต่สำหรับผู้ที่ยังใหม่ในเรื่องนี้และสนใจใคร่จะรู้ ผมได้ลิงค์ไว้ให้แล้ว ไม่ทราบใครย่อความหนังสือฉบับครูของพลเรือตรีแชน ปัจจุสานนท์ และ นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี เอามาลงไว้ได้ดีทีเดียว เสียอย่าง ไม่ยักบอกที่มาที่ไป

http://www.hotsia.com/thailandinfo/event112/index.shtml

ส่วนในกระทู้นี้ก็จะว่าไปถึงบทบาทของนายพลริชลิวตามหัวข้อ แต่ร.ศ.๑๑๒เป็นทางผ่านของท่านที่ผมจะต้องเอ่ยถึง และเป็นช่วงสำคัญที่สุดในชีวิตของชายผู้นี้ด้วย เหตุการณ์ที่ท่านนำทหารเดนมาร์กรบกับฝรั่งเศสในนามของประเทศไทย มีเกล็ดที่หนังสือหรือบทความทั่วไปไม่ค่อยจะกล่าวถึง แต่ผมสนใจ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 21:41
มาอ่านที่นายนอร์แมนเขียนต่อนะครับ ผมจะไม่เอาต้นฉบับภาษาภาษาอังกฤษลงไว้ละ ที่ลงแล้วไปคงพอที่จะให้ท่านเชื่อแล้วว่า ผมไม่ได้ลอกใครมาโดยไม่ได้กลั่นกรอง

ในหนังสืออ้างอิงเขียนว่า กองทัพเรือสยามประกอบด้วยเรือใบติดเครื่องจักรไอน้ำสองลำ ระวางขับน้ำพันตัน วางปืนใหญ่ลำละ๘กระบอก และยังมีเรือปืน กับเรือกลไฟเดินสมุทร ที่ดีที่สุดเห็นจะเป็นเรือมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวนขนาดเล็ก และเรือพระที่นั่งมหาจักรี สั่งต่อที่อังกฤษใหม่เอี่ยมเพิ่งเดินทางมาถึง ระวางขับน้ำ ๒๔๐๐ตัน ยาว๒๙๘ฟุต ความเร็ว ๑๕น๊อต ติดอาวุธปืนใหญ่ อาร์มสตรองขนาด ๔.๗นิ้ว และปืนยิงเร็วขนาด๖ปอนด์ ๘กระบอก

ข้าพเจ้าเกรงว่า จะยากที่จะทำให้ใครเชื่อได้ว่าเรื่องจริงที่ข้าพเจ้าจะเปิดเผยนี้มิได้เป็นเรื่องที่เสกสรรขึ้น นั่นก็คือ กองทัพเรือสยามจริงๆแล้วไม่เคยมีปรากฏในประวัติของมนุษยชาติ  จริงอยู่ แม้จะเห็นเรือขนาดต่างๆกันจำนวนหนึ่งที่ผูกโยงไว้ในแม่น้ำตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง  แต่ลำที่ใหญ่หน่อยก็ใช้เป็นที่กินอยู่หลับนอนของทหารมารีนที่กล่าวแล้ว เรือบางลำก็ถูกถอดเครื่องยนต์หรือใบพัดออกไปด้วยซ้ำ

เรือลำเล็กลงมาก็คือเรือขนส่งของหลวงสำหรับใช้งานในลำน้ำ วิ่งขึ้นล่องนำคนและสิ่งของส่งไปยังพระราชวังต่างๆ มีลำหนึ่งหรือสองลำที่อยู่ในสภาพพร้อมสำหรับที่จะบรรทุกคน แต่ก็ไร้คุณสมบัติหากจะนำใช้ในการรบไม่ว่าจะเชิงรุกหรือเชิงรับ เรือพระที่นั่งอุบลบูรพทิศลำเก่า ซึ่งนำเสด็จพระราชดำเนินประพาสรอบแหลมมลายูสำเร็จมาแล้วนั้น หากมีปืนติดตั้งอยู่บนเรือก็คงหมดสมัยใช้จริงจังไม่ได้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 21:43
เรือมกุฏราชกุมารที่ต่อในฮ่องกงขึ้นตามใบสั่งของผู้สำเร็จราชการแห่งเกาะฟิลลิปปินส์ แต่ไม่มีเงินมาชำระ อู่เรือจึงขายต่อให้รัฐบาลสยามในปี๑๘๙๑(๒ปีก่อนหน้า)  เรือลำนี้ก็ติดตั้งปืนแบบโบราณบรรจุกระสุนทางปลายกระบอกที่เคยอยู่บนป้อมปืนในกรุงเทพมาก่อน อย่างไรก็ดี เรือหลวงมกุฏราชกุมารก็สร้างชื่อกระฉ่อนในการรบที่ปากน้ำ เพราะสามารถจมเรือสินค้าลำเล็กๆ ชื่อ ฌองบัปติสต์เซย์(เรือนำร่องที่พาเรือรบตามหลังมา)  เรื่องราวในการรบครั้งนี้ไม่เคยมีการเขียนเล่ากันมาก่อน และมันเป็นทั้งบทเรียนและบันเทิงคดี ข้าพเจ้าจึงขอเปลืองเวลาที่จะเขียนเกี่ยวกับมันสักพัก

เรือมกุฏราชกุมารซึ่งมีเรือเอกกูลด์แบร์ก นายเรือสินค้าชาวเดนมาร์กเป็นผู้บังคับการนั้น พลประจำปืนของเรือลำนี้ หลังจากที่ผ่านการฝึกบรรจุกระสุนและการยิงปืนใหญ่แล้ว กลับถูกย้ายไปประจำเรือพระที่นั่งมหาจักรีก่อนการรบนิดเดียว เหลือแต่เพียงลูกเรือระดับกุลีเท่านั้น พวกเขาถูกพร่ำสอนไม่ให้อัดดินปืนลงในช่องจุดปะทุของปืนใหญ่แบบโบราณนี้จนแน่นเกิน ให้ใส่หลวมๆไว้สักหน่อย  แต่พอเริ่มต้นรบกันเท่านั้น พวกนี้ก็เผ่นจากดาดฟ้าลงไปอยู่ใต้เรือหมด กัปตันกูลด์แบร์กต้องทิ้งพังงาชั่วคราวเพื่อลงไปลากลูกเรือขึ้นมาใหม่ พอจะยิงก็พบว่าดินปืนในช่องจุดถูกอัดไว้แข็งราวกับหิน ต้องใช้มีดพับแคะมันออก แล้วยิงออกไปทีละกระบอกด้วยมือของเขา แต่เนื่องจากกัปตันไม่ใช่ต้องเป็นแค่นายปืนของเรือตนเองเท่านั้น เขายังต้องเป็นต้นหนอีกด้วย เมื่อกลับไปที่สะพานเดินเรือเพื่อเบนหัวเรือให้ตรงทาง แล้วรีบเผ่นมาที่ดาดฟ้าเพื่อบรรจุกระสุนชุดต่อไป  จึงถือได้ว่าสุดยอดแล้วที่เรือลำนี้สามารถยิงเรือ ฌองบัปติสต์เซย์โดนได้ภายใต้สภาวะการณ์ดังกล่าว กัปตันคุยภายหลังว่าเขาใช้ปืนใหญ่เหมือนกับปืนลูกซองที่ใช้กระสุนลูกปราย ลูกเรือเชลยถูกคุมตัวอย่างเป็นทางการ ผูกผ้าปิดตาแล้วนำไปกักขังไว้ในป้อมที่มียามเฝ้าตลอดเวลา เมื่อขอน้ำดื่ม ก็จะตักน้ำสกปรกจากอ่างมาให้ แต่เมื่อนายพลริชลิวมาถึงในอีกสองสามชั่วโมงถัดมา พวกเขาก็ถูกปล่อยเป็นอิสระแล้วบอกว่าจะไปไหนก็ตามใจ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 21:46
เรืออื่นๆที่สยามนำมารบเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายนี้ เป็นอะไรที่เรียกว่าเรือบรรทุกปืน(floating battery)มากกว่า คือได้นำเรือกลไฟบรรทุกสินค้ามาเอาปืนใหญ่ลงไปตั้งไว้ เนื่องจากขาดอุปกรณ์ยก ข้าพเจ้าเชื่อว่า จะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อนำเรือเข้าเทียบข้างกับท่าของป้อมปืนเท่านั้น เมื่อได้ข่าวศึก ก็เข็นปืนลงเรือที่ว่าแล้วนำไปจอดซุ่มอยู่นิ่งๆในจุดเหมาะที่คิดว่าสามารถเล็งยิงได้อย่างถนัดถนี่ แต่จะให้ยุติธรรมแล้วก็ต้องเพิ่มว่า ทั้งกัปตันคริสตมาสแห่งเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์  กัปตันกุลด์แบร์กแห่งมกุฏราชกุมาร และกัปตันสมิเกโลแห่งเรือหาญหักศัตรู ต่างก็อ้างความดีความชอบว่าได้จมเรือที่ไม่ได้ติดอาวุธลำเดียวดังกล่าวที่อยู่ในเหตุการณ์รบนั้น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ค. 13, 21:50
เป็นธรรมดาหากจะมีคำถามว่า ระหว่างนั้นเรือหนึ่งเดียวของสยามที่มีสมรรถนะสามารถนำมาใช้รบได้อย่างจริงจัง คือเรือเดินสมุทรลำใหม่ต่อโดยอู่อาร์มสตรอง ด้วยระวางขับน้ำ๒๔๐๐ตัน ความเร็ว๑๕น๊อต ปืนใหญ่๔.๗ หอรบบนเสากระโดงทั้งสองและทวนหัวเรือ(ram)นั้น ไปอยู่เสียที่ไหน
 
คำตอบตรงๆง่ายๆก็คือมหาจักรีเป็นเรือพระที่นั่ง ต้องจอดอยู่หน้าพระบรมมหาราชวัง เตรียมพร้อมหากมีความจำเป็นที่จะต้องนำเสด็จพระราชดำเนินขึ้นเหนือ ตอนที่วุ่นวายกันเพื่อระดมเรือที่พอจะหาได้ไปโจมตีเรือรบศัตรูสามลำ ซึ่งปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางความมืดหน้าสถานทูตฝรั่งเศส เรือมหาจักรีไม่ถูกนับรวมอยู่ในจำนวนนั้น ทั้งที่ว่ากันว่า โดยน้ำหนักแล้ว ลำเดียวก็มากกว่าเรือรบฝรั่งเศสทั้งสามลำรวมกันอยู่ถึง๖๐๐ตัน แต่ถึงแม้ว่าหากจะเกิดความตั้งใจที่จะใช้เรือลำนี้จริงๆ ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าทำไม่ได้ ตั้งแต่มาถึงสยามแล้ว ปืนบนเรือยังไม่เคยยิง และไม่มีใครในพระราชอาณาจักรนี้ ยกเว้นนายทหารเดนมาร์กสองหรือสามคน ที่จะสามารถขับเคลื่อนมันได้ กระสุนปืนถูกลำเลียงขึ้นไปบนเรือเป็นครั้งแรกก็เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเหตุที่ปากน้ำจะอุบัติ  ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องจักรขนาดมหึมาและสลับซับซ้อนก็ไม่มีทางจะใช้งานได้ ถ้าขาดเหล่าช่างกลชาวอังกฤษ คนไทยไม่มีความรู้อันไกลตัวสุดกู่ที่จะจัดการกับเรื่องที่ว่าได้ แต่บรรดาคนเหล่านั้นก็อยู่ในบังคับของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อศัตรู  


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 11 ก.ค. 13, 23:08
ผมไม่ได้ตั้งใจจะนำเรื่องราวทั้งหมดของการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยามานำเสนอนะครับ เพราะข้อมูลหาได้ไม่ยากในเวป หลายท่านคงผ่านสายตา แต่สำหรับผู้ที่ยังใหม่ในเรื่องนี้และสนใจใคร่จะรู้ ผมได้ลิงค์ไว้ให้แล้ว ไม่ทราบใครย่อความหนังสือฉบับครูของพลเรือตรีแชน ปัจจุสานนท์ และ นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี เอามาลงไว้ได้ดีทีเดียว เสียอย่าง ไม่ยักบอกที่มาที่ไป

http://www.hotsia.com/thailandinfo/event112/index.shtml

ส่วนในกระทู้นี้ก็จะว่าไปถึงบทบาทของนายพลริชลิวตามหัวข้อ แต่ร.ศ.๑๑๒เป็นทางผ่านของท่านที่ผมจะต้องเอ่ยถึง และเป็นช่วงสำคัญที่สุดในชีวิตของชายผู้นี้ด้วย เหตุการณ์ที่ท่านนำทหารเดนมาร์กรบกับฝรั่งเศสในนามของประเทศไทย มีเกล็ดที่หนังสือหรือบทความทั่วไปไม่ค่อยจะกล่าวถึง แต่ผมสนใจ


Link HotAsia นั้น ไม่ได้ให้ Credit เว็บหอมรดกไทยเลยครับ เพราะต้นฉบับจริง ๆ คือเว็บนี้

http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/event112/event112_1.htm

แต่บางส่วนในเว็บหอมรดกไทย ก็พิมพ์ตกไปเยอะครับ อย่างที่เห็น ๆ คือ เรื่องของ วาริงตันสไมท์ ตกประโยคที่ว่า วาริงตันสไมท์ บอกว่าในการรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ส่งผลให้กระสุนไปโดนหญิงชราคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ประโยคนี้ในเว็บหอมรดกไทยหายไปครับ



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 11 ก.ค. 13, 23:30

ปืนเรือที่ใช้ในการรบปากแม่น้ำเจ้าพระยาครับ ที่บอกกันว่ากระสุนฮอตสกีช คือกระบอกนี้ล่ะครับ ในรูปคือกระสุนขนาด ๓ ปอนด์ครับ

(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/QF3pdrHotchkissRN1915_zps2c3ffb77.jpeg)

http://en.wikipedia.org/wiki/QF_3_pounder_Hotchkiss


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 11 ก.ค. 13, 23:38
เป็นธรรมดาหากจะมีคำถามว่า ระหว่างนั้นเรือหนึ่งเดียวของสยามที่มีสมรรถนะสามารถนำมาใช้รบได้อย่างจริงจัง คือเรือเดินสมุทรลำใหม่ต่อโดยอู่อาร์มสตรอง ด้วยระวางขับน้ำ๒๔๐๐ตัน ความเร็ว๑๕น๊อต ปืนใหญ่๔.๗ หอรบบนเสากระโดงทั้งสองและทวนหัวเรือ(ram)นั้น ไปอยู่เสียที่ไหน
 
คำตอบตรงๆง่ายๆก็คือมหาจักรีเป็นเรือพระที่นั่ง ต้องจอดอยู่หน้าพระบรมมหาราชวัง เตรียมพร้อมหากมีความจำเป็นที่จะต้องนำเสด็จพระราชดำเนินขึ้นเหนือ ตอนที่วุ่นวายกันเพื่อระดมเรือที่พอจะหาได้ไปโจมตีเรือรบศัตรูสามลำ ซึ่งปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางความมืดหน้าสถานทูตฝรั่งเศส เรือมหาจักรีไม่ถูกนับรวมอยู่ในจำนวนนั้น ทั้งที่ว่ากันว่า โดยน้ำหนักแล้ว ลำเดียวก็มากกว่าเรือรบฝรั่งเศสทั้งสามลำรวมกันอยู่ถึง๖๐๐ตัน แต่ถึงแม้ว่าหากจะเกิดความตั้งใจที่จะใช้เรือลำนี้จริงๆ ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าทำไม่ได้ ตั้งแต่มาถึงสยามแล้ว ปืนบนเรือยังไม่เคยยิง และไม่มีใครในพระราชอาณาจักรนี้ ยกเว้นนายทหารเดนมาร์กสองหรือสามคน ที่จะสามารถขับเคลื่อนมันได้ กระสุนปืนถูกลำเลียงขึ้นไปบนเรือเป็นครั้งแรกก็เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเหตุที่ปากน้ำจะอุบัติ  ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องจักรขนาดมหึมาและสลับซับซ้อนก็ไม่มีทางจะใช้งานได้ ถ้าขาดเหล่าช่างกลชาวอังกฤษ คนไทยไม่มีความรู้อันไกลตัวสุดกู่ที่จะจัดการกับเรื่องที่ว่าได้ แต่บรรดาคนเหล่านั้นก็อยู่ในบังคับของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อศัตรู  

จากข้อมูลรายละเอียดของเรือพระที่นั่งมหาจักรี มีรายละเอียดบันทึกของอาวุธแตกต่างกันครับ


อย่างของ พระยาสฤษดิ์พจนกรราชเลขานุการในพระองค์บันทึกไว้ในจดหมายเหตุเสด็จประพาส ยุโรป ร.ศ. ๑๑๖ ว่า

"  มีปืนฮอสกิจบรรจุท้ายยิงได้ขนาด ๔.๗ อยู่ ๔ กระบอกมีปืนฮอสกิจขนาด ๖ เปาน ์อย่างบรรจุท้ายยิงได้เร็ว ๘กระบอก มีปืนแมลิเคอ ๑๑๐"


แต่ของ

เอกสาร " ประวัติเรือรบไทย " ของกรมยุทธการทหารเรือ ให้ข้อมูลแตกต่างเล็กน้อย จากที่พระยาสฤษดิ์พจนกร บันทึกไว้เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน โดยกล่าวว่า เรือพระที่นั่งมหาจักรี
( ลำดับที่ ๑ ) MAHACHAKKRI มีอาวุธ ปืนใหญ่ชนิดอาร์มสตรอง ขนาด ๔.๗ นิ้ว( ๑๒๐ ม.ม. )๔ กระบอก ติดที่ดาดฟ้า ชั้นกลาง ข้างละ ๒ กระบอก ปืนใหญ่ชนิดฮอทชกีส ขนาด ๖ ปอนด์ ( ๕๗ มม. ) ๘ กระบอก ติดที่ดาดฟ้าชั้นบน


ข้อมูลจาก หนังสือนาวิกศาสตร์ ปีที่ ๘๙ เล่มที่ ๑๑ พฤจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐

เพราะฉะนั้น จากรูปที่คุณ Nawarat ตั้งคำถามว่าเป็นปืนเรือหรือเปล่า

ถ้าดูตามขนาดกระสุนแล้ว

จะได้เป็นตามนี้ครับ


(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/QF_47_inch_gun_deck_mounting_zpsecb9ea08.jpg)



http://en.wikipedia.org/wiki/QF_4.7_inch_Gun_Mk_I_-_IV


ซึ่งก็เป็นปืนประเภทเดียวกันนั่นเอง

(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_006_zpsc5b4f418.png)

(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_007_zpsbd92fa7e.png)


http://www.navweaps.com/Weapons/WNUS_47-50_mk3.htm


แต่ในรูปนี้จะเป็นรุ่น MARK 3  ซึ่งอยู่หลัง MK1 มาพอสมควรครับ  เพราะฉะนั้นปืนบนเรือพระที่นั่งมหาจักรี น่าจะเป็นรุ่น MK1


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 05:34
กระบอกเล็กนิดเดียว น่าจะเตรียมไว้สำหรับการยิงสลุตมากกว่าจะเอาไว้รบกับใครจริงๆจังๆนะครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 05:36
ตัวท่านผู้เขียนยังไม่เข้ามา แต่เรื่องที่มาต่อกระทู้ได้เนียนๆมีความดังนี้
เทาชมพู:
 
อ้างถึง
ข้อความต่อไปนี้นำมาจากกระทู้เก่า  เจ้าพระยามหิธร  เป็นเหตุการณ์ร.ศ. ๑๑๒ ตอนฝรั่งเศสปิดปากอ่าวไทยพอดี   ทางกรุงเทพชุลมุนวุนวายมากขนาดไหน ลองอ่านดู

ในวิฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เมื่อฝรั่งเศสเอาเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย   นายลออ(หมายถึงเจ้าพระยามหิธร) เป็นเสมียนโท ได้มีโอกาสรู้เห็นบรรยากาศตึงเครียดติดต่อกันหลายวันหลายคืน   ในพระบรมมหาราชวัง

มีเกร็ดเล็กๆน่าขำที่นายลออจำได้ก็คือ ตอนเกิดเรื่องที่เรือรบฝรั่งเศสรุกล้ำอ่าวไทย  เข้ามาจอดลอยลำถึงหน้าสถานทูตฝรั่งเศส    
ผู้บัญชาการทหารเรือไทยในตอนนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์คที่ไทยจ้างมาฝึกทหารเรือ  ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชลยุทธโยธี  ได้รับรายงานเรื่องนี้ก็เดือดดาลมาก    ถือว่านอกจากฝรั่งเศสดูถูกคนไทยแล้วยังเป็นการสบประมาทถึงเดนมาร์คด้วย

พระยาชลยุทธฯก็ไม่รอช้า  ถือว่าถึงขั้นรบกันก็ต้องรบ   ออกคำสั่งให้ติดไฟเรือพระที่นั่งมหาจักรีซึ่งเป็นเรือรบที่มีอานุภาพมากที่สุดของไทยในตอนนั้น  เตรียมพร้อมรบเต็มกระบวนศึก
แล้วท่านก็แต่งเครื่องรบเต็มที่ รีบลงเรือกรรเชียงจากฝั่งไปขึ้นเรือกลางแม่น้ำ เพื่อจะบัญชาการรบ

พอถึงเรือมหาจักรี   พระยาชลยุทธฯใจร้อนเผ่นจากเรือกรรเชียงขึ้นบันไดเรือรบ    บังเอิญคืนนั้นมืดมากมองอะไรไม่เห็น   ท่านก็เลยพลาดบันไดเรือ หล่นตูมลงในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งชุดเครื่องรบ  ทำให้ทหารเรือไทยต้องโดดน้ำตามลงไปช่วยผู้บัญชาการกันจ้าละหวั่น  ฉุดเอาตัวขึ้นมาได้  
การตกน้ำแทนที่จะทำให้พระยาชลยุทธฯใจเย็นลง กลับทำให้โกรธมากขึ้น  

เคราะห์ดีก่อนเรือมหาจักรีจะออกไปยิงกับฝรั่งเศส   เจ้าพระยาอภัยราชา(โรแลง ยัคมินส์) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวเบลเยี่ยม   ได้รับรายงานเข้าเสียก่อน  
เห็นว่าถ้าถึงยิงกันจะเกิดเรื่องลุกลามใหญ่โต  จึงรีบนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอให้มีพระบรมราชโองการห้าม  พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงห้ามเสียทัน  พระยาชลยุทธฯจึงไม่ได้รบกับฝรั่งเศส


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 06:10
มีคนสงสัยกันนักว่าที่นายพลริชลิวจะเอาเรือพระที่นั่งจักรีไปชนเรือรบฝรั่งเศสน่ะ ท่านคิดได้ยังไง แล้วมันจะได้ผลเรอะ

คืออย่างนี้ครับ เรือพระที่นั่งลำนี้มีอาวุธทีเด็ดอยู่อย่างหนึ่ง คนไทยไม่เคยเห็นเพราะมันอยู่ใต้น้ำ ตามศัพท์ฝรั่งเรียกกว่าram เช่นเดียวกับท่อนไม้ที่ปลายติดปลอกโลหะทำเป็นรูปหัวแกะ สำหรับเอาไปกระทุ้งประตูเมืองเวลาเข้าตี ภาษาไทยฉบับครูเรียกทวนหัวเรือ ผมก็ใช้ตามท่านทั้งๆที่จินตนาภาพเห็นเป็นท่อนแหลมๆยาวๆปลายหัวเรือ เลยใช้อินทรเนตรหาภาพมาให้ดู อ้อ..เป็นอย่างนี้เอง
นายพลริชลิวท่านเป็นคนวางสเปคเรือลำนี้ ท่านจึงรู้ว่าอาวุธเด็ดที่จะจมเรือรบลำเล็กๆของฝรั่งเศสที่ตัวเรือเป็นไม้ ไม่ได้หุ้มเกราะนั้น คือทวนที่อยู่ใต้น้ำนั่น อาศัยความมืดยามกลางคืนและความชำนาญเส้นทาง เรือพระที่นั่งจักรีน่าจะถึงตัวเรือรบศัตรูก่อนจะโดนยิงจม เรือฝรั่งเศสจอดเรียงกันยาวไปตามลำน้ำ ก็ชนมันดะไป
 
ความจริง ท่านสั่งการให้เรือรบสยามสองลำที่ยังวิ่งได้อยู่ ขึ้นมาจากปากน้ำกะจะมารุมชนเรือรบฝรั่งเศสด้วย แต่กว่าจะมาถึงต้องใช้เวลาสองชั่วโมงครึ่ง ท่านสั่งแล้วนั่งรถไฟมากรุงเทพครึ่งชั่วโมงถึง มีเวลาเล่นน้ำก่อนขึ้นไปบนเรือพระที่นั่งได้สบายๆ แต่พอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตและทรงมีคำสั่งห้ามลงมา ท่านก็เปลี่ยนไปนั่งเรือยนต์ บึ่งไปห้ามกัปตันเรือทั้งสองลำที่กำลังมุ่งหน้าเข้ากรุง ทันกันที่บางคอแหลม บทบู๊ที่จะถึงใจพระเดชพระเดชพระคุณคนดูก็เลยไม่เกิด


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 07:43
ในเวลาเดียวกันนั้น

เรือรบฝรั่งเศสเมื่อมาทอดสมอหน้าสถานทูตแล้ว ก่อนจะขึ้นไปรายงานตัวต่อ ม.ปาวี นาวาโทโบรีผู้บังคับการเรือแองกองสตังต์ซึ่งเป็นผู้บังคับหมู่ ได้เรียกประชุมผู้บังคับการเรือลูแตง และเรือโคแมต เพื่อขอความเห็นในการที่จะแก้แค้นสยาม นายทหารเหล่านี้ได้รับการปลูกฝังความเข้าใจว่า สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีที่ทำกันไว้แต่เดิมระหว่างประเทศทั้งสอง เรือรบของฝรั่งเศสมีสิทธิ์ที่จะเข้ามายังกรุงเทพได้เพียงครั้งละ๑ลำ ถ้ามามากกว่านั้น ที่เหลือต้องจอดอยู่ที่เมืองสมุทรปราการ ทั้งนี้ รัฐบาลไซ่ง่อนฝรั่งเศสได้มีคำสั่งให้เรือรบ๒ลำที่ตามมาสมทบกับเรือลูแตง ให้นำเรือเข้าไปจอดที่ท่าเรือปากน้ำตามสิทธิ์ แต่แล้วกลับถูกขัดขวาง โดยฝ่ายสยามเป็นผู้ละเมิดสนธิสัญญาเพราะเริ่มยิงก่อน พวกเขาจึงตอบโต้และสามารถหักด่านเข้ามาได้ เห็นว่าเมื่อยิงกันขนาดนี้แล้วคงจะจอดเรือที่ปากน้ำไม่ปลอดภัย จึงเลยเข้ามากรุงเทพเผื่อต้องรับคนฝรั่งเศสออกไปก่อนทำสงครามกัน พอประชุมกันไปเห็นคนเจ็บคนตายก็เลือดขึ้นหน้า ตกลงกันว่าพรุ่งนี้เวลาเช้าตรู่จะเอาเรือรบทั้งสามลำ ลุยเข้าไปกลางพระนครเพื่อจมเรือพระที่นั่งมหาจักรีเลย แล้วจะระดมยิงพระบรมมหาราชวังต่อสักสองสามตับ บังคับให้ไทยยอมจำนน
 
ตีสอง หลังขึ้นไปพบและทานอาหารค่ำที่ทูตฝรั่งเศสจัดเลี้ยง ผู้บังคับหมู่เรือลงมาประกาศยกเลิกคำสั่งดังกล่าว  ม.ปาวี ผู้ร้ายตัวโกงที่คนไทยเกลียดนักหนาเข้ากระดูกดำ ได้ช่วยไม่ให้กรุงเทพเกิดมิคสัญญี โดยบอกนายทหารที่กำลังบ้าเลือดว่า ถ้ากระสุนนัดแรกของฝรั่งเศสระเบิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็จะเป็นสัญญาณให้พวกอั้งยี่จีนที่รอฟังอยู่ ลุกฮือขึ้นก่อการจลาจล บุกเข้าปล้นสดมภ์แก้แค้นฝรั่งอย่างไม่เลือกชาติเลือกภาษา ในฐานที่ทำระยำตำบอนไว้กับพวกคนจีนและประเทศจีนมาก และอาจจะเลยเถิดถึงเผาบ้านเผาเมืองจนกรุงเทพวอดวาย ซึ่งฝรั่งเศสจะรับผิดชอบต่อประชาคมโลกไม่ไหวแน่
นายทหารเรือเลือดร้อนได้ฟังก็หงอยไป ยอมรับโดยดีที่จะให้ฝ่ายกระทรวงต่างประเทศใช้วิถีทางการทูตสงบศึก โดยได้รับการบอกเล่าว่า ฝรั่งเศสจะได้รับชดเชยคุ้มค่าอย่างสุดๆ ชนิดที่นักเลงล่าเมืองขึ้นด้วยกันต้องอิจฉา


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 08:43
เรื่องนี้ก็เหมือนกัน ผมสงสัยว่าในเมื่อรู้อยู่ ในสนธิสัญญาที่ทำไว้กับนานาชาติ เรายอมให้เขานำเรือรบเข้ามาจอดเทียบท่าที่สมุทรปราการได้ แล้วทำไมเราจึงไปสร้างแนวตั้งรับที่ป้อมพระจุล ทั้งๆที่รู้ว่าจะผิดข้อตกลง

แล้วป้อมผีเสื้อสมุทรที่เหมาะกว่า ทำไมไม่เน้น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 10:14
การสงครามของไทยนั้น เราไม่ต้องรบกับชาติเอเซียด้วยอีกแล้ว ถ้าจะรบก็ต้องรบกับชาติมหาอำนาจชั้นหนึ่งของโลก ฝรั่งเศสขณะนั้นผยองมาก ในยุโรปด้วยกันเขายังคิดว่าเขาก็เป็นหนึ่งเหมือนกัน
คนในวงการทูตอังกฤษเองยังมองว่าไทยทำเกินตัวไปหน่อย และตำหนิริชลิวว่าเป็นคนเดนมาร์กแท้ๆ น่าจะรู้อยู่อะไรควรไม่ควร
 
ราชสำนักเดนมาร์กเองนั้นมีสายสัมพันธ์อันเลิศกับราชสำนักรัสเซีย เพราะพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่๒ ทรงเป็นลูกเขยพระเจ้าคริตสเตียนดังที่ผมเล่าไปแล้ว  ครั้งหนึ่งเสด็จพาพระราชินีลงเรือพระที่นั่งมาเยี่ยมพ่อตาเป็นการส่วนพระองค์ที่กรุงโคเปนเฮเกน ฝรั่งเศสรู้เข้าจากสายลับระดับฝังลึกในพระราชสำนัก ก็แจ้งความไปยังรัฐบาลเดนมาร์ก ขอเอาเรือรบระดับเรือธงของกองทัพเรือเข้ามาทอดสมอในอ่าวหน้าเมือง เดนมาร์กซึ่งประกาศตนเป็นกลางในเรื่องความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ จึงแจ้งขัดข้องโดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ที่จะเสียความเป็นกลาง แต่ฝรั่งเศสดึงดันที่จะไปให้ได้ เดนมาร์กแจ้งกลับว่าถ้าอย่างนั้น เข้ามาก็จะยิงทันที

เนื่องนี้มีความนัยอยู่ว่า ช่วงดังกล่าว บิสมาร์กกำลังเสริมสร้างประเทศเยอรมัน แผ่กำลังอำนาจทางทหารจนประเทศทั้งหลายหวาดหวั่น รัสเซียจึงยอมจับมือกับฝรั่งเศสทำสนธิสัญญาลับๆที่จะเป็นพันธมิตรกันเพื่อร่วมต่อต้าน โดยรัสเซียไม่อยากให้เยอรมันรู้ แต่ฝรั่งเศสอยาก เพราะคิดว่าจะเป็นการปรามให้เยอรมันเกรงใจฝรั่งเศส แต่เรื่องนี้จะทำฉันใดดี
ดังนั้น ถึงจะได้รับคำขาดจากเดนมาร์ก เรือรบฝรั่งเศสก็วัดใจฝ่าด่านเข้าไปตามนัด ทหารเดนมาร์กเข้าประจำปืนทุกกระบอกแต่ไม่ได้ยิง เรือรบฝรั่งเศสจึงเข้าไปทอดสมอเป็นสง่าอยู่หน้าเมือง เสร็จแล้วให้คนอัญเชิญพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าซาร์ว่า รัฐบาลฝรั่งเศสเพิ่งทราบข่าวที่พระองค์ประทับอยู่ จึงใคร่จะขอถวายพระเกียรติยศ เชิญเสด็จพระราชดำเนินเยือนเรือรบที่ทรงอานุภาพที่สุดของฝรั่งเศส เพื่อร่วมงานรับรองที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะจัดถวาย
ความจริงเดนมาร์กเองรู้แกวฝรั่งเศสอยู่ ที่ห้ามเรือไม่ให้เข้ามาก็เพราะกลัวเยอรมัน เคยรบกันจนรู้หมู่รู้จ่ามาแล้วจนเข็ดเขี้ยว เดี๋ยวจะหาว่ารู้เห็นเป็นใจกัน แต่เมื่อดึงดันมาถึงแล้ว พระเจ้าคริตสเตียนจึงทูลแนะนำพระเจ้าซาร์ว่า ในเมื่ออย่างนี้ก็ควรรับคำเชิญ มันจะได้รีบไปๆเสียก่อนที่สปายเยอรมันจะรู้ พระเจ้าซาร์จึงตอบตกลง โดยมีข้อแม้ว่า ขอให้ลดระดับการรับรองอย่างเป็นทางการลงเหลือเพียงการเยือนส่วนพระองค์ เมื่อทอดพระเนตรเรือแล้วขอเสด็จกลับ ฝรั่งเศสก็โอเค

ครั้นได้เวลา พระเจ้าซาร์ก็เสด็จจากเรือพระที่นั่งส่วนพระองค์ลงเรือเล็กไปที่เรือรบฝรั่งเศส พอเสด็จขึ้นเท่านั้น ปืนเรือของฝรั่งเศสก็ยิงสลุตชุดใหญ่ ชาวบ้านชาวเมืองสะดุ้งเฮือกไปตามๆกัน ครั้นเห็นเรือรบฝรั่งเศสยิงสลุต เรือพระที่นั่งก็สลุตตอบเสียงสนั่น สายลับเยอรมันที่คอยข่าวอยู่ ก็แจ้งความไปยังเบอร์ลินทันที สมใจนึกบางลำพูสาขาปารีส
เรื่องนี้พระเจ้าซาร์กริ้วจนพระมัสสุกระดิกดิ๊กๆ แต่ต้องกัดพระทนต์กรอดๆ ทอดพระเนตรเรือพอเป็นพิธีเสร็จแล้วรีบเสด็จกลับ ถึงเรือพระที่นั่งก็ทรงสั่งถอนสมอบ่ายหน้ากลับรัสเซียทันที เมื่อรัฐบาลรัสเซียประท้วงไปยังรัฐบาลฝรั่งเศสเรื่องนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสก็ขอโทษพร้อมแก้ตัวว่ากัปตันเกรงว่าจะถวายพระเกียรติยศไม่ถึงขนาด

ประเด็นอยู่ว่า ขนาดเดนมาร์กเองยังไม่กล้าท้าทายมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศส ยอมเสียหน้าทั้งๆที่แต่แรกขึงขังจะเอาจริงเอาจัง แล้วทำไมสยามช่างกล้าไปแหย่ยักษ์ใหญ่ใจอันธพาล


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 10:56
ถ้าเราตระหนักว่า ก่อนประกาศสงคราม เราจะยิงใครไม่ได้ตราบที่อีกฝ่ายหนึ่งยังมิได้ละเมิดสนธิสัญญา เราก็ควรต้องทราบว่า เรือรบของเขา(ประเทศมหาอำนาจ)เหล่านั้นสามารถเข้ามาจอดถึงเมืองปากน้ำได้ตามสิทธิ์
หากเคลื่อนพ้นปากน้ำเข้ากรุงเทพเมื่อไหร่ เมื่อนั้น เราจึงมีสิทธิ์ที่จะยิงได้ตามข้อตกลงดังกล่าว ป้อมผีเสื้อสมุทรที่อยู่เหนือขึ้นไปจึงมีความสำคัญมาก หากเราจะเรียกเลือดจากศัตรูในยกแรก

ส่วนยกต่อไป หากเขาเอาเรือเข้ามาอีก ปืนที่ป้อมพระจุลก็ยิงได้เลยตั้งแต่อยู่นอกสันดอน ไม่จำเป็นต้องรอให้ผ่านทุ่นดำเข้ามา

เชื่อว่า หากปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุล๗กระบอก ที่ป้อมผีเสื้อสมุทรอีก๔กระบอก ยิงได้ครบ ยิงได้เร็ว และยิงตกในแนวร่องน้ำซึ่งเป็นแดนสังหาร ถึงจะเป็นเรือของชาติมหาอำนาจก็คงไม่อาจผ่านเข้ามาได้ง่ายๆ
ถ้าจะหักเอาสยามให้ได้ก็คงต้องเอาเรือที่มีปืนวิถีกระสุนไกลกว่าปืนในป้อม มายิงถล่มให้ราบก่อน หรือไม่ก็เลือกตีเมืองรอบๆให้แตก แล้วยกกำลังทางบกโอบเข้ามาอีกทีหนึ่ง เหมือนกับที่ทำในญวน ครั้งนั้นคนญวนตายเป็นเบือและประเทศตกเป็นเมืองขึ้นของเขาอยู่กว่าครึ่งศตวรรษ จนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ค่ายคอมมิวนิสต์มาช่วยให้กู้ชาติได้ ฝรั่งเศสแพ้ย่อยยับอัปมานกลับบ้านเก่าไป

คนไทยที่คิดแค้นว่า ฝรั่งเศสมาแย่งดินแดนที่เคยเป็นเมืองขึ้นของเราไป โปรดมองในอีกภาพหนึ่ง ถ้าเรายังยึดครองเขาอยู่ วันหนึ่งคนในชาติของเขาก็ลุกขึ้นขับไล่เรา เหมือนที่เขากระทำกับมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสและอเมริกาอยู่ดี เหตุที่เกิดในสามจังหวัดภาคใต้นั่นยังถือเป็นกรณีย์เล็กนะครับ ถ้าเทียบกับการนองเลือดในญวนเขมรและลาว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 13:21
ถ้าสภาพพร้อมรบของป้อมพระจุลเป็นดังว่า ป้อมผีเสื้อสมุทรคงย่ำแย่ไปกว่า พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรแล้วจึงทรงสิ้นหวัง ถึงกับทรงมีรับสั่งให้ถอน “ทหารเก่า”ไปอยู่ป้อมพระจุลและฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่นั่น แต่ทหารเก่าก็ไม่ทราบว่าเก่าแค่ไหน ถ้าปฏิบัติการได้แค่นั้น ทหารที่ป้อมผีเสื่อสมุทรคงจะทำได้แค่เช็ดปืนอย่างเดียว

นายสมิธได้นั่งเรือไปที่ป้อมนี้วันที่เกิดเหตุ ขณะนั้นเรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำมาถึงปากอ่าวแล้วรอเวลาน้ำขึ้นเต็มที่อยู่ ผู้บังคับการชาวเดนมาร์กของป้อม เรือเอกเกิตส์เช ยังไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวที่เกิดขึ้นนอกป้อมของตนเลย เมื่อนายสมิธทักว่าทหารของยูดูดีนะ เขาก็ตอบว่าไม่เลวละ แต่ไม่เคยยิงปืนใหญ่ซักกะนัดเดียว ไอได้แต่หวังว่าคงไม่จำเป็นต้องจะยิงมันจนกว่าทหารของไอจะได้รับการฝึกมากกว่านี้
เรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำแล่นผ่านป้อมไปในท่ามกลางความมืด  ผู้บังคับการป้อมมองเห็นไฟตะเกียงเดินเรือเคลื่อนที่มา แต่ระบุไม่ได้ว่าเป็นเรือของใคร อาจเป็นเรือสยามก็ได้จึงไม่กล้ายิง พอเรือแองกงสตังค์ผ่านไปแล้ว ผบ.เรือโคแมตเห็นเสาธงของป้อมก็จำได้เพราะเคยเข้ามาเมืองไทยก่อนหน้านี้ เลยระดมยิงมาที่ป้อมหลายตับ ทหารในป้อมบาดเจ็บเล็กน้อย๑๒คน ทหารไทยยิงปืนเล็กโต้ตอบไปบ้างซึ่งก็ไม่ทราบว่าได้ผลอย่างไร

หลังการปะทะสั้นๆที่ปากอ่าว พวกทหารเกณฑ์บนเรือรบของไทยก็ระส่ำระสาย บางคนเริ่มแสดงอาการกระด้างกระเดื่องเมื่อรู้ว่ากัปตันได้รับคำสั่งให้ติดตามเรือฝรั่งเศสไปอีก  ลูกเรือมงกุฏราชกุมารบอกว่าตนยินดีที่จะรบบนบกแต่ไม่ใช่ในเรืออย่างนี้ นายสมิทบอกในประโยคต่อไปว่าThe commander at the inner fort was fired at the same evening. แปลได้สองอย่าง อย่างแรกคืนนั้นเขาถูกยิง อย่างที่สองคืนนั้นเขาถูกไล่ออกตามที่ปรากฏในเอกสารฉบับครู ที่ครูคงไม่ได้แปลเอง ส่วนผมเชื่อว่าเป็นอย่างแรก เขาอาจคิดว่าตนถูกยิง ซึ่งคงไม่โดน เพราะโดนก็คงไม่มีปัญญามานั่งเขียนรายงานให้นายพลริชลิวสองวันให้หลัง โดยมิได้กล่าวถึงเรื่องที่ถูกยิงเลย รายงานของนายพลริชลิวเองถึงผู้บัญชาการทหารเรือก็เอ่ยถึงเหตุการณ์ที่ป้อมผีเสื้อสมุทรด้วยความเข้าอกเข้าใจอันดี


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 15:56
ผมจะขอกล่าวถึงตอร์ปิโด อาวุธร้ายแรงของสยามเป็นอันดับสุดท้าย

ตอร์ปิโดในสมัยรัชกาลที่๕ ไม่ใช่อาวุธที่ใช้ยิงจากเรือดำน้ำ แต่เป็นทุ่นระเบิดใต้น้ำที่จุดชนวนให้ระเบิดด้วยไฟฟ้า ต้องต่อสายไฟไปยังตู้ควบคุมที่ติตั้งอยู่บนบก หรือในแพในเรือสุดแล้วแต่ หน้าตาคล้ายๆกับในภาพ พระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จไปทอดพระเนตรที่ทหารเรือจัดการทดลองถวายแล้ว ทรงพอพระทัย สั่งการให้ติดให้ครบตามตำแหน่ง ประมาณสามสิบกว่าจุด


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 17:13
ระเบิดเหล่านี้ประดิษฐ์ขึ้นเองจากถังน้ำมันเหล็กที่ใช้แล้ว ผู้อาสาเป็นวิศวกรเดนมาร์กชื่อเวสเตนโฮลช์ผู้ประสพความสำเร็จในการติดตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นจ่ายกระแสไฟให้กับกิจการเดินรถราง และต่อมาถึงกับขยายกำลังผลิตเพื่อให้บริการบ้านเรือนในกรุงเทพด้วย

แม้จะเป็นพระราชกระแสรับสั่ง แต่ดินปืน ชนวน และสายไฟฟ้าชนิดกันน้ำที่ต้องสั่งจากสิงคโปรกว่าจะเดินทางมาถึงและส่งมายังสถานที่ทำงาน ก็มีเวลาผลิตระเบิดถังแค่วันเดียวก่อนที่เรือรบฝรั่งเศสจะมาถึง ทั้งได้น้อยกว่าปริมาณที่ขอไปมาก ถึงกระนั้นเวสเตนโฮลช์และเรือเอกคริตสมาศก็ช่วยกันทำได้ในวันแรกถึง๑๖ลูก แล้วนำใส่เรือเล็กไปติดตั้งไว้ในแม่น้ำระหว่างพระสมุทรเจดีย์ถึงเมืองปากน้ำ ระเบิดถัง(ผมน่าจะเรียกอย่างนี้นะ)ทั้งหมดได้ถูกต่อสายไปยัง๔สถานี เวสเตนโฮลช์ประจำอยู่ที่สถานีหนึ่งซึ่งเป็นเรือนำร่องเก่าๆ และหงุดหงิดไม่หายที่ต้องลดปริมาณดินปืนไปครึ่งหนึ่งของที่ควรจะเป็น ร้อยเอกคริตสมาสเป็นผู้อธิบายวิธีทำงานให้กับคนเดนมาร์กด้วยกันที่มาจากกรมแผนที่ซึ่งน้องชายของนายพลริชลิวทำงานอยู่ และอาสาเป็นผู้ควบคุมสวิตช์ระเบิด เสร็จแล้วพวกนั้นขอตัวไปทานอาหารเย็น ในช่วงที่ยิงกันตูมตามนั้น ไม่มีใครเห็นคนเหล่านั้นกลับมาที่สถานีอีกเลย

เมื่อเรือแองกงสตังต์วิ่งมาถึงตำบลระเบิดที่เวสเตนโฮลช์คุมอยู่ เขาก็สับสวิตช์บังคับให้ระเบิดถังระเบิดขึ้นน้ำกระจายเป็นลำตาล เดนมาร์กว่าเฉียดไปนิดเดียว ฝรั่งเศสบอกระเบิดเร็วกว่าที่เรือจะไปถึงมากไปหน่อย ไทยไม่รู้จะเชื่อใคร

ร้อยเอกคริตสมาสเขียนในรายงานสรรเสริญความมานะพยายามของเวสเตนโฮลช์ และบอกว่าตนเองไม่ควรจะมีความผิดที่ระเบิดถังไม่ได้ผล เพราะได้รับของมาน้อยนิด และกระชั้นชิดเสียจนไม่มีเวลาจะหายใจหายคอ ถ้ามีระเบิดถังสัก๒๐๐ลูก รับรองว่าไม่มีใครจะสามารถฝ่าแม่น้ำเข้าไปโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 13, 18:18
ขออนุญาตแสดงความเห็น

ตั้งแต่ความคิดเห็นที่ ๙๓ หากแยกเป็นกระทู้  "๑๒๐ ปี รำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒" ท่าจะเหมาะ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5686.0;attach=41080;image)

ทั้งนี้ขึ้นกับคุณนวรัตนจะพิจารณา

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 18:37
จะมีใครมาร่วมแสดงความเห็นหรือครับ ?

ผมไม่ได้ต้องการจะเสนอเรื่องราวทุกด้านในเหตุการณ์ครั้งนั้น เพราะคิดว่าก็รู้ๆกันอยู่ แหล่งข้อมูลก็ซ้ำซาก
ที่เขียนไปก็ล้วนแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนายพลริชลิว ผมต้องการเขียนประวัติของท่านในทุกมุมมอง ในฐานะเป็นบุคคลสำคัญของกองทัพเรือ  เหตุการณ์ร.ศ.๑๑๒ เป็นจุดพลิกผันอย่างหนึ่งในชีวิตของท่านผู้นี้ ความรุ่งโรจน์ทางการทหารท่านถึงจุดสูงสุดในตอนนั้น ก่อนที่จะผันตัวเองไปทำธุรกิจข้ามชาติ

เขียนเรื่องหนักๆทีเดียวพร้อมกันสองเรื่องผมเอาไม่อยู่ครับ ถึงอยู่ก็ไม่เอา
ถ้าให้เลือก ผมเลือกอยู่ตรงนี้ ร.ศ.๑๑๒ ของผมใกล้จะถึงบทสรุปแล้ว แต่ใครมีคำถามหรือความเห็น ผมยินดีจะรับฟังและพยายามจะหาคำตอบให้ครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 13, 18:44
งั้นฝากกระทู้จาก พันทิป เรื่องนี้ไว้

120 ปี รำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ความเกี่ยวข้องกับเดนมาร์ก (http://pantip.com/topic/30701775)

(http://f.ptcdn.info/052/007/000/1373364105-art01-o.jpg)

น่าจะพอเกี่ยวข้องกับกระทู้นี้

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 18:53
^


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 12 ก.ค. 13, 22:35

หลังการปะทะสั้นๆที่ปากอ่าว พวกทหารเกณฑ์บนเรือรบของไทยก็ระส่ำระสาย บางคนเริ่มแสดงอาการกระด้างกระเดื่องเมื่อรู้ว่ากัปตันได้รับคำสั่งให้ติดตามเรือฝรั่งเศสไปอีก  ลูกเรือมงกุฏราชกุมารบอกว่าตนยินดีที่จะรบบนบกแต่ไม่ใช่ในเรืออย่างนี้ นายสมิทบอกในประโยคต่อไปว่าThe commander at the inner fort was fired at the same evening. แปลได้สองอย่าง อย่างแรกคืนนั้นเขาถูกยิง อย่างที่สองคืนนั้นเขาถูกไล่ออกตามที่ปรากฏในเอกสารฉบับครู ที่ครูคงไม่ได้แปลเอง ส่วนผมเชื่อว่าเป็นอย่างแรก เขาอาจคิดว่าตนถูกยิง ซึ่งคงไม่โดน เพราะโดนก็คงไม่มีปัญญามานั่งเขียนรายงานให้นายพลริชลิวสองวันให้หลัง โดยมิได้กล่าวถึงเรื่องที่ถูกยิงเลย รายงานของนายพลริชลิวเองถึงผู้บัญชาการทหารเรือก็เอ่ยถึงเหตุการณ์ที่ป้อมผีเสื้อสมุทรด้วยความเข้าอกเข้าใจอันดี


ท่านผู้การเกิตเชนั้น ได้รับความไว้วางใจจากทางสยามมากนะครับ ในหนังสือที่พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ทรงเรียกผู้การเกิตเชว่า ครูกิจแช เลย

ที่สำคัญในหนังสือพิมพ์ของสิงคโปร์ ก็ลงประวัติท่านไว้ ตอนที่ท่านไปรักษาตัวที่สิงคโปร์หลังจากที่ได้ลาออกจากตำแหน่งในสยามแล้ว ท่านทำงานในสยามนานถึง ๕๐ ปี ก่อนจะไปเสียชีวิตที่มาเลเซียครับ ศพก็ฝังไว้ที่นั่น

ในกรณีป้อมผีเสื้อสมุทรนั้น มีเรื่องน่าสนใจอยู่กรณีหนึ่งก็คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้น

เพราะในรายงานของ ผู้การเรือโคเมตบอกว่าหลุมปืนพัง หลังคาหล่นลงมาทับปืนเสือหมอบพังใช้งานไม่ได้

แต่ในรายงานของ เจ้าคุณชลยุทธ์บอกว่าโดนแค่เขื่อนกันดินพังแค่นั้นเอง ซึ่งก็ตรงกับรายงานของกัปตันคริตมาสที่ได้ไปเยี่ยมป้อมผีเสื้อสมุทร และก็ต้องกับของผู้การเกิตเช่ เช่นกัน

เพราะฉะนั้น ก็คงเป็นอย่างที่ ท่านพลเรือตรีแชน บอกไว้ว่า รายงานของฝรั่งโดยเฉพาะฝรั่งเศสอย่าไปเชื่อให้มากนัก


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 12 ก.ค. 13, 22:44
ถ้าสภาพพร้อมรบของป้อมพระจุลเป็นดังว่า ป้อมผีเสื้อสมุทรคงย่ำแย่ไปกว่า พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรแล้วจึงทรงสิ้นหวัง ถึงกับทรงมีรับสั่งให้ถอน “ทหารเก่า”ไปอยู่ป้อมพระจุลและฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่นั่น แต่ทหารเก่าก็ไม่ทราบว่าเก่าแค่ไหน ถ้าปฏิบัติการได้แค่นั้น ทหารที่ป้อมผีเสื่อสมุทรคงจะทำได้แค่เช็ดปืนอย่างเดียว


ผมว่าทหารที่ป้อมผีเสื้อสมุทรก็ไม่ได้แย่หรอกครับ เพราะไม่งั้นก็คงไม่สามารถยิงปืนโต้ตอบกับเรือโคเมตได้  สถานการณ์ในตอนนั้นฝรั่งเศสเอง ก็ไม่กล้าบุกตอนกลางวันเหมือนกัน สังเกตได้จาก มาตอนใกล้ ๆ จะค่ำ กว่าจะมาถึงป้อมพระจุลก็เป็นเวลาฝนเริ่มตกพอดี พอหลุดป้อมพระจุลมาได้ มาถึงป้อมผีเสื้อสมุทรก็ ๑ ทุ่มกว่าแล้ว มืดจนมองเห็นลาง ๆ เรือแองกองสตองก็แล่นเลยไปเพราะไม่เคยมาถิ่นนี้มาก่อน แต่เรือโคเมต จำเสาป้อมผีเสื้อสมุทรได้ จึงลองยิงสุ่ม ๆ มาดู  ทางป้อมผีเสื้อสมุทรจึงยิงตอบกลับไปบ้าง แล้ว เรือทั้งสองลำ ก็เร่งฝีจักรเต็มพิกัดเพื่อที่จะได้ไม่ต้องต่อสู้กับทางป้อมปืนสยามนาน

ถ้าประมวลจากรูปการณ์แล้ว ฝรั่งเศสก็หวั่น ๆ อยู่เหมือนกัน ไม่กล้าอัดกับป้อมปืนสยามตรง ๆ อย่างที่ผมได้เรียนไป นี่ยังไม่รวมถึงว่า ถ้าไม่มีคำสั่งให้ถอนทหารที่บางจาก ที่มีปืนกรุปอยู่กลับพระนคร ไม่งั้นก็คงได้รบกันอีกจุดแน่ ๆ  ถ้าจำไม่ผิด ผบ.เรือพาลลาสของอังกฤษ พอได้ไปดูสภาพป้อมปืนของสยามแล้ว ถึงกับเขียนรายงานมาแบบงง ๆ ว่า ทำไมฝรั่งเศสทำความเสียหายให้กับป้อมปืนของสยามได้น้อยกว่าที่กัปตันอังกฤษคาดไว้เสียอีก

แล้วก็ดู ๆ เหมือน ฝรั่งเศสเองก็กล้า ๆ กลัว ๆ  สยามเองก็กั๊ก ๆ ไม่อยากจะมีใครเป็นฝ่ายเริ่มทำสงครามก่อนด้วยเช่นกันครับ

จะว่าไปผมว่า ฝรั่งเศสได้เก๋าเกมทางการเมืองกว่าสยามครับ 


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 23:18
เอ้า…ตอบ
 
ท่อนที่ผมเขียนนี้คุณไม่ยักอ้างถึง ไปอ้างถึงท่อนที่ไม่เกี่ยวกันโน่น

 เรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำแล่นผ่านป้อมไปในท่ามกลางความมืด  ผู้บังคับการป้อมมองเห็นไฟตะเกียงเดินเรือเคลื่อนที่มา แต่ระบุไม่ได้ว่าเป็นเรือของใคร อาจเป็นเรือสยามก็ได้จึงไม่กล้ายิง พอเรือแองกงสตังค์ผ่านไปแล้ว ผบ.เรือโคแมตเห็นเสาธงของป้อมก็จำได้เพราะเคยเข้ามาเมืองไทยก่อนหน้านี้ เลยระดมยิงมาที่ป้อมหลายตับ ทหารในป้อมบาดเจ็บเล็กน้อย๑๒คน ทหารไทยยิงปืนเล็กโต้ตอบไปบ้างซึ่งก็ไม่ทราบว่าได้ผลอย่างไร

ข้อความโดย: samun007
อ้างถึง
ในกรณีป้อมผีเสื้อสมุทรนั้น มีเรื่องน่าสนใจอยู่กรณีหนึ่งก็คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้น
เพราะในรายงานของ ผู้การเรือโคเมตบอกว่าหลุมปืนพัง หลังคาหล่นลงมาทับปืนเสือหมอบพังใช้งานไม่ได้

แต่ในรายงานของ เจ้าคุณชลยุทธ์บอกว่าโดนแค่เขื่อนกันดินพังแค่นั้นเอง ซึ่งก็ตรงกับรายงานของกัปตันคริตมาสที่ได้ไปเยี่ยมป้อมผีเสื้อสมุทร และก็ต้องกับของผู้การเกิตเช่ เช่นกัน

เพราะฉะนั้น ก็คงเป็นอย่างที่ ท่านพลเรือตรีแชน บอกไว้ว่า รายงานของฝรั่งโดยเฉพาะฝรั่งเศสอย่าไปเชื่อให้มากนัก

ส่วนใหญ่ในความเห็นของผมข้างบน เอามาจากรายงานของฝรั่งก็จริง แต่เป็นฝรั่งที่ชื่อว่าผู้การเกิตเช หรือครูกิจแช ผู้บังคับการป้อมนั่นแหละครับ ส่วนข้อมูลนั้น ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นสิทธิ์

สำหรับความคิดเห็นของคุณในล้อมกรอบ ผมไม่ได้นำเสนอ เพราะเห็นว่าดินพังหลังคายุบ มันไม่มีน้ำหนักควรค่าแก่ความสนใจ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ค. 13, 23:26
ข้อความโดย: samun007
อ้างถึง
ผมว่าทหารที่ป้อมผีเสื้อสมุทรก็ไม่ได้แย่หรอกครับ เพราะไม่งั้นก็คงไม่สามารถยิงปืนโต้ตอบกับเรือโคเมตได้
 
ยิงปืนเล็ก กับยิงปืนใหญ่มันผิดกัน ป้อมผีเสื้อสมุทรไม่ได้ยิงปืนใหญ่สักโป้ง แต่ยิงปืนเล็กไปเปาะๆแปะๆ จะยากอะไร จิ๊กโก๋ก็ยิงได้ นายป้อมเองยังบอกว่าคงไม่ได้ผล เพราะยิงเข้าไปในความมืด

ข้อความโดย: samun007
อ้างถึง
สถานการณ์ในตอนนั้นฝรั่งเศสเอง ก็ไม่กล้าบุกตอนกลางวันเหมือนกัน สังเกตได้จาก มาตอนใกล้ ๆ จะค่ำ กว่าจะมาถึงป้อมพระจุลก็เป็นเวลาฝนเริ่มตกพอดี พอหลุดป้อมพระจุลมาได้ มาถึงป้อมผีเสื้อสมุทรก็ ๑ ทุ่มกว่าแล้ว มืดจนมองเห็นลาง ๆ เรือแองกองสตองก็แล่นเลยไปเพราะไม่เคยมาถิ่นนี้มาก่อน แต่เรือโคเมต จำเสาป้อมผีเสื้อสมุทรได้ จึงลองยิงสุ่ม ๆ มาดู  ทางป้อมผีเสื้อสมุทรจึงยิงตอบกลับไปบ้าง แล้ว เรือทั้งสองลำ ก็เร่งฝีจักรเต็มพิกัดเพื่อที่จะได้ไม่ต้องต่อสู้กับทางป้อมปืนสยามนาน
ฝรั่งเศสกะเวลาถูกต้องตรงเป๊ะที่จะมาถึงปากอ่าวตรงกับช่วงน้ำขึ้นสูงสุดพอดี เขาตั้งใจจะนำเรือมาจอดแค่ปากน้ำ แต่พอถูกยิง เขาก็ลุยลึกเลย ไปจอดอีกทีก็หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพ ไม่เกี่ยวกับกล้าบุกตอนกลางวันหรือไม่กล้า

ข้อความโดย: samun007
อ้างถึง
ถ้าประมวลจากรูปการณ์แล้ว ฝรั่งเศสก็หวั่น ๆ อยู่เหมือนกัน ไม่กล้าอัดกับป้อมปืนสยามตรง ๆ อย่างที่ผมได้เรียนไป นี่ยังไม่รวมถึงว่า ถ้าไม่มีคำสั่งให้ถอนทหารที่บางจาก ที่มีปืนกรุปอยู่กลับพระนคร ไม่งั้นก็คงได้รบกันอีกจุดแน่ ๆ
ถึงอยู่ก็มองไม่เห็น มันมืด


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 13 ก.ค. 13, 00:14
ยิงปืนเล็ก กับยิงปืนใหญ่มันผิดกัน ป้อมผีเสื้อสมุทรไม่ได้ยิงปืนใหญ่สักโป้ง แต่ยิงปืนเล็กไปเปาะๆแปะๆ จะยากอะไร จิ๊กโก๋ก็ยิงได้ นายป้อมเองยังบอกว่าคงไม่ได้ผล เพราะยิงเข้าไปในความมืด

เอ ...ผมว่าป้อมผีเสื้อสมุทรก็ยิงปืนอาร์มสตรองตอบกลับไปนะครับ ในรายงานของผู้การเกิตเช่ก็เขียนไว้ว่าสั่งให้ยิงตอบกลับไป ไม่ได้บอกว่ายิงปืนอะไร

ในรายงานของผู้การเรืออังกฤษลำที่ชื่อพาลลาส ก็บอกว่าเห็นแสงไฟจากปากกระบอกปืน เวลาประมาณ ๑๙.๑๔ น. ยิงตอบโต้กัน ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกับที่เรือโคเมตแล่นไปถึงป้อมผีเสื้อสมุทรพอดี ถ้าเป็นปืนเล็ก ไม่น่าจะเห็นได้ในระยะไกลขนาดนั้นกระมังครับ

ก็น่าแปลกใจอยู่เหมือนกันครับ ยิ่งมาแปลกใจขึ้นไปอีกในรายงานของ ผู้กองคริตมาส ที่บอกว่า ผู้การเกิตเช่ ได้รับคำสั่งช้าเลยไม่ได้ยิงปืนใหญ่

สรุป คนอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน กล่าวกันไปคนละทางเลย

ฝรั่งเศสกะเวลาถูกต้องตรงเป๊ะที่จะมาถึงปากอ่าวตรงกับช่วงน้ำขึ้นสูงสุดพอดี เขาตั้งใจจะนำเรือมาจอดแค่ปากน้ำ แต่พอถูกยิง เขาก็ลุยลึกเลย ไปจอดอีกทีก็หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพ ไม่เกี่ยวกับกล้าบุกตอนกลางวันหรือไม่กล้า

ผมว่าฝรั่งเศสไม่ได้แค่หยุดเรือกระมังครับ เพราะแล่นด้วยความเร็วมาเอื่อย ๆ แบบแทงกั๊ก ในบันทึกส่วนตัวของเจ้าคุณชลยุทธ์ ก็บอกว่า เรือแองกองสตองผ่านหน้าเรือพาลลาสที่ท่านเจ้าคุณอยู่ด้วยซ้ำไป และตอนแรกทำท่าจะหยุด เจ้าคุณดีใจนึกว่าไม่มีปัญหา แต่กลายเป็นว่าจากที่จะหยุดเลยลุยต่อซะงั้น

ส่วนเรื่องที่ฝรั่งเศสกะเวลาได้นั้น เพราะมีคนนำร่องที่เป็นคนอังกฤษมานำร่องให้ครับ ใน นสพ. บางกอกไทม์ บอกไว้ชัดเจน 

ที่ผมตั้งสมมติฐานว่าไม่กล้าบุกตอนกลางวัน เพราะว่า ถ้าบุกตอนเห็นตัวชัด ๆ ฝรั่งเศสก็คงจะเจ็บหนักกว่านี้ เพราะระยะกระสุนจากป้อมผีเสื้อสมุทร ก็คงระดมยิงช่วยป้อมพระจุลได้ครับ ซึ่งฝรั่งเศสก็คงจะรู้จุดนี้ดี จึงทำให้ ป้อมผีเสื้อสมุทรยิงตอบโต้ได้น้อยมาก ๆ เพราะกลัวว่าจะยิงโดนเรือพวกเดียวกันนั่นเอง

ถึงอยู่ก็มองไม่เห็น มันมืด

ก็มีสิทธิเป็นไปได้ครับ แต่ก็น่าจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์เรือบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าในวันนั้นเป็นวันแรมหรือไม่ ถ้าไม่ใช่วันแรมแล้ว ก็น่าจะพอมองเห็นตะคุ่ม ๆ บ้างครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 07:21
พอละนะครับคุณสมุน007 เรื่องของคุณ ^ ถ้ามั่นใจว่ามีหลักฐานก็เปิดเป็นกระทู้ขึ้นมาใหม่เลย คุณเพ็ญรออยู่แล้ว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 07:24
วันนี้คือวันคล้ายวันที่๑๓ กรกฏาคม ของเมื่อ๑๒๐ปีที่แล้ว ยังมีเรื่องสำคัญคาใจอยู่เป็นเรื่องสุดท้ายที่ผมรอจังหวะที่จะแก้ไขให้จบอย่างถูกต้อง
เคยเขียนข้อความนี้ไว้เองในกระทู้ ม.ปาวี เมื่อไปกี่ปีที่ผ่านมาในเรือนไทยนี้แหละ ความว่า

เมื่อม.ปาวี ราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ดำเนินการโดยพลการ สั่งให้เรือรบทั้ง๒ลำเดินทางเข้ามาทอดสมออยู่ในปากอ่าว เตรียมพร้อมที่จะตลุยเข้ามาในกรุงเทพนั้น  ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยได้มีโทรเลขไปยังอัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส แจ้งเรื่องเรีอรบฝรั่งเศส จะเข้ามาขู่เข็ญไทย ขอให้นำความไปร้องเรียนต่อ ม.เดอ แวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสโดยด่วน

เดอ แวลล์ตอบว่า รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้เรือรบเข้าไปในกรุงเทพ และรับรองว่าจะถอนคำสั่งเดิมเสีย
ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ เดอ แวลล์ ได้มีโทรเลขไปยังปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพ ฯ มีความว่าสำคัญว่า ให้บอกแก่กองเรือฝรั่งเศสทราบว่า รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงยับยั้งไม่ให้เรือลำใดข้ามสันดอนเข้าไปก่อน โทรเลขฉบับนี้มาถึงสถานทูตฝรั่งเศส ได้รับในกรุงเทพเวลาเช้า ๑๐.๓๐น. ของวันเดียวกันนั้น

ปาวีอยู่ในกรุงเทพมานานพอที่จะรู้ระบบการทำงาน "หลับกลางวัน ทำงานกลางคืน" ของสยามดี  เขาจึงถ่วงเวลาที่จะนำโทรเลขนั้น  ไปแจ้งยังผู้บังคับการกองเรือ ที่กำลังรอปฏิบัติตามคำสั่งที่กำหนดไว้ว่า เมื่อน้ำขึ้นในตอนเย็น จะเป็นเวลาที่ลงลงมือปฏิบัติการ

อันที่จริง สำเนาโทรเลขนั้น กรมโทรเลขสยามก็ได้รับพร้อมๆกัน ไม่มีปัญหาอะไรที่เราจะให้เจ้าหน้าที่ไทย ลงเรือด่วนนำโทรเลขนั้น ไปแจ้งให้ผู้บังคับการทหารเรือฝรั่งเศสเสียเอง เพื่อยุติวิกฤต

แต่ทว่า จะหาผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายไทยที่มีอำนาจสั่งการดังกล่าวสักคน ก็หาได้ไม่ เวลาล่วงเลยจน ๑๘.๐๕ น . เรือรบฝรั่งเศสจึงวิ่งเต็มฝีจักรช้ามสันดอนเข้ามากรุงเทพ

เจ้าพระยาอภัยราชาฯ (โรลัง ยัคมินส์) ที่ปรึกษาราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชาวเบลเยียม กล่าวไว้ในจดหมายที่เขียนถึงลูกชายเกี่ยวกับโทรเลขที่ฝรั่งเศสส่งมาไว้ว่า "ลูกอาจถามพ่อว่า ถ้าเราได้รับโทรเลขฉบับนั้นเวลา ๑๐.๓๐นาฬิกา ในตอนเช้าของวันที่ ๑๓แล้ว เหตุใดเราจึงไม่ติดต่อกับปาวีทันที โชคร้ายจริงที่เหตุผลเป็นเรื่องโง่เขลา ลูกก็ทราบนี่ว่า เสนาบดีสยามหลับตอนกลางวัน และทำงานตลอดจนประชุมกันในเวลากลางคืน เรื่องนี้ส่งผลให้เมื่อโทรเลขฉบับนั้นมาถึง จึงได้แต่รอกันเงียบๆ โดยไม่บอกให้พ่อรู้ด้วยซ้ำ จนกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ทรงตื่นจากบรรทม ซึ่งพระองค์ทรงตื่นขึ้นตอนที่มีคนได้ยินเสียงยิงปืนใหญ่ที่ปากน้ำนั่นแล้วด้วยซ้ำ"


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 07:38
ตามข้อเท็จจริง โรลัง ยัคมินส์ท่านเข้าใจผิดโดยไม่มีโอกาสแก้  คงไม่ทราบว่าจดหมายส่วนตัวที่เขียนไปถึงลูกชายตนเองแท้ๆ วันหนึ่งจะมีคนขุดขึ้นมาพิมพ์ในหนังสือ ขณะเขียนจดหมายฉบับนั้น ท่านคิดว่าโทรเลขติดอยู่ที่ฝ่ายไทย ซึ่งต้องรอพระบัญชาของกรมหลวงเทวะวงศ์ฯก่อนจึงจะส่งไปให้ม.ปาวีได้ ซึ่งไม่จริง แต่ก็ฝากข้อความฉกรรจ์ไว้ติดตาคนรุ่นหลังว่า เพราะ“เสนาบดีสยามหลับตอนกลางวัน และทำงานตลอดจนประชุมกันในเวลากลางคืน” จึงทำให้เสียงาน เสียการ เสียนคร

ส่วนผมเองทั้งๆที่รู้ ว่าในตอนเช้าวันเดียวกันที่ ๑๓ กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสได้ส่งโทรเลขมายังราชทูตของตนในกรุงเทพเช่นกัน ความสำคัญเต็มๆคือ
“โปรดแจ้งให้กองเรือฝรั่งเศสทราบว่า ในเวลานี้รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงยับยั้งไม่ให้เรือรบลำใดข้ามสันดอนเข้าไปก่อน ถึงแม้ว่าจะมีเรือรบของประเทศอื่นเกิน๑ลำในแม่น้ำ เราก็จะไม่เปลี่ยนความคิด
อนึ่ง ให้แจ้งนายพลเรือฮูมานน์ว่า ฝ่ายเรายังสงวนสิทธิ์ที่เรามีอยู่ตามข้อ๑๕ แห่งทางสัญญาพระราชไมตรี ค.ศ. ๑๘๕๖ ที่ทำไว้กับสยามอย่างแน่วแน่”

ด้วยได้เคยอ่านว่า ม.ปาวีเป็นคนเจ้าเล่ห์ จึงนำโทรเลขไปให้ผู้บังคับหมู่เรือฝรั่งเศสในนาทีสุดท้าย เพราะต้องการถ่วงเวลา ถ้าฝ่ายสยามเองลงเรือด่วนนำโทรเลขไปแจ้งเองก็คงยุติเหตุร้ายได้ และผมก็คล้อยตามที่เขาโทษระบบการทำงาน "หลับกลางวัน ทำงานกลางคืน" ที่เอามาจากสำนวนของเจ้าคุณโรลังไปเลย ซึ่งผิด
 
หมู่เรือรบฝรั่งเศสไม่ได้ทอดสมออยู่ที่บริเวณปากอ่าวเพื่อรอปฏิบัติการ แต่เขาเดินทางมุ่งหน้ามาจากฐาน ถึงปากอ่าวพร้อมกันในเวลากว่าห้าโมงเย็นแล้ว ถ้าเราไปแต่หัววันก็คงพบแต่น้ำกับฟ้าอยู่ดี


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 08:03
ถึงแม้ว่าเจ้านายจะบรรทม แต่ระบบการทำงานของประเทศก็ยังดำเนินต่อไปไม่เกี่ยวกัน นายพลริชลิวได้รับรายงานเรื่องโทรเลขดังกล่าวตามสายงานของท่าน และท่านก็ได้ไปพบม.ปาวีทันที โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารของอังกฤษ นาวาเอกแองกัส แมคเคลาด์ ผู้บังคับการเรือรบหลวงพาลลาสรายงานผู้บังคับบัญชาของตนว่า เช้าของวันที่๑๓นั้น ริชลิวได้มีจดหมายแจ้งว่า เรือแองกงสตังค์จะมาถึงวันนี้แน่ และ ม.ปาวีตกลงยินยอมที่จะส่งเรือกลไฟกับนายทหารจากเรือลูแตงลำหนึ่งไปด้วย เพื่อจะบอกกองเรือให้อยู่นอกสันดอน จึงหวังว่าเหตุร้ายแรงจะไม่เกิดในทันทีทันใด

ส่วนในรายงานของผู้บังคับการเรือโคแมตในประเด็นนี้มีว่า เรือทั้งสามลำมาถึงที่หมายประมาณ๑๗.๐๐และลอยลำอยู่โดยไม่ได้ทอดสมอ เพราะใกล้เวลาน้ำขึ้นประมาณ๑๘๐๐จะนำเรือผ่านสันดอน  เรืออรรคราชวรเดชของไทยรออยู่แล้ว และส่งเรือเล็กวิ่งตรงมาหา พร้อมๆกับเรือกลไฟอีกลำหนึ่ง เจ้าหน้าที่กรมท่าของไทยซึ่งเป็นชาวเยอรมันขึ้นมาบนเรือเพื่อบอกห้ามมิให้เรือเข้าไปในสันดอน พร้อมกันนั้นนายทหารเรือฝรั่งเศสจากเรือลูแตง ได้นำถุงเมล์ใบใหญ่ขึ้นมาให้ด้วย มีนายทหารเรืออังกฤษจากเรือรบหลวงพาลลาสอีกคนหนึ่งตามขึ้นมา โดยบอกว่ามาเยี่ยมและแจ้งว่าม.ปาวีราชทูตฝรั่งเศสจะมาบอกเองว่าให้เรือรออยู่นอกสันดอนก่อน แต่นายทหารจากเรือลูแตงไม่ทราบเรื่องและไม่ได้รับคำสั่งด่วนอะไรมาเป็นพิเศษ (อย่าลืมว่าเขาพูดเขาซักกันคนละภาษานะครับ)จึงเกิดความสับสนไขว้เขวขึ้น แต่ขณะนั้นเป็นเวลารีบด่วน น้ำขึ้นไม่คอยใคร ผู้บังคับหมู่เรือจึงตัดสินใจทำตามคำสั่งเดิม นายทหารอังกฤษที่ขึ้นไปบนเรือยังได้เขียนในรายงานต่อไปว่าเมื่อเรือรบฝรั่งเศสตัดสินใจเดินหน้า และตั้งใจจะไปเพียงปากน้ำโดยไม่ฟังคำทัดทาน ทหารบนเรือรบทั้งสองแม้ว่าจะพร้อมอยู่ แต่ก็มิได้ประจำสถานีรบ ต่อเมื่อถูกยิงจากป้อมแล้วจึงได้นำเครื่องกำบังขึ้นแล้วส่งสัญญาณเตรียมรบ

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ เรื่องห้ามเขาไม่อยู่นี้คงโทษฝ่ายไทยลำบาก เพราะคงไม่มีใครคิดว่า ม.ปาวีจะกระล่อนได้ถึงขนาดนั้น นอกจากไม่ได้ฝากข้อความใดๆไปกับทหารนำสาร สำเนาโทรเลขคำสั่งดังกล่าวเขายังใส่ไว้ในซองเล็กๆธรรมดาที่ไม่ใช่ซองเอกสารพร้อมตีตราสำคัญ เอาปะปนไปกับซองจดหมายอื่นๆนับร้อย เมื่อทราบว่ามีจดหมายนี้เมื่อถึงกรุงเทพ ทหารสื่อสารในเรือยังต้องเทถุงค้นกันนานพอดูกว่าจะเจอ

ผมขอสารภาพความผิดและขอขมาต่อบรรพบุรุษไทยพระองค์นี้ต่อกรณีย์ดังกล่าวด้วย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 08:36
ประการสุดท้ายที่อยากให้คนไทยตระหนัก ถ้านายพลริชลิวประสพความสำเร็จในการจมเรือรบฝรั่งเศสในวันนี้ได้ อะไรจะเกิดขึ้น
 
วาริงตัน สมิธเขียนไว้ดังนี้
ข้าพเจ้าสงสัยว่าความรับผิดชอบในผลของปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้จะมีใครเคยคิดพิจารณากันหรือไม่ ถ้าสยามประสพความสำเร็จในการจมเรือรบฝรั่งเศสได้ ประชาชนฝรั่งเศสทั้งชาติจะลุกฮือขึ้นร้องตะโกน และการแก้แค้นจะไม่สามารถหยุดได้ในระยะสั้นจนกว่าจะได้เข้ายึดครองทั้งประเทศ

ฝรั่งเศสเคยเล่นบทโหดมาแล้วในจีนและในญวน พลาดไปฆ่าคนฝรั่งเศสเข้าก่อน เขาจ้องจะหาเรื่องอยู่แล้วจึงเอาคืนเบิกบาน ขนเรือปืนไปยิงถล่มเละเทะเป็นเมืองๆไป ญวนนี่ถึงกับตกเป็นเมืองขึ้นทั้งประเทศ กองเรือเดียวกันนี้ถูกเรียกระดมพลไปเตรียมพร้อมอยู่ในไซ่ง่อนในร.ศ.๑๑๒ เดินทางวันสองวันก็ถึงเมืองหลวงของสยาม


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 09:41
เห็นนักรบไซเบอร์สมัยนี้กระเหี้ยนกระหือรือกันนักว่า แค่เรือรบเล็กๆทำด้วยไม้๓ลำจอดนิ่งๆอยู่แถวบางรัก  ทำไมไม่จัดการเสียให้สิ้นทราก
 
ผมได้หารูปมาให้ดู หลังเหตุการณ์รบที่ปากน้ำ ฝรั่งเศสประกาศปิดปากอ่าวจนกว่าสยามจะยอมรับเงื่อนไข เรือรบที่ได้รับคำสั่งให้มาร่วมรวมทั้งหมด๑๒ลำ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่ระดมไว้ครั้งนี้ เรือรบใหญ่ๆหลายลำยังทอดสมออยู่ในไซ่ง่อน
 
ส่วนที่มาลอยลำอยู่ในอ่าวไทยมีรายชื่อดังนี้

๑ เรือลาดตระเวนหุ้มเกราะ ตริอองฟังต์(Triomphante)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 09:42
๒ เรือลาดตระเวนฟอร์แฟต์ (Forfait)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 09:44
เรือปืนลิอง (Lion)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 09:46
เรือปืนวิแปร์ (Vipere)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 10:04
๕ เรือสรุปปาแปง (Papin)
๖ เรืออาลูแอตต์ (Alouette)
๗ เรือตอร์ปิโดหมายเลข ๔๓
๘ เรือตอร์ปิโดหมายเลข ๕๐

รายการข้างบนนี้หารูปไม่ได้ครับ

๙ เรือสรุปแองกงสตังต์ (Inconstant)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 10:08
๑๐ เรือปืนลูแตง (Lutin)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 10:09
๑๑ เรือปืนโคแมต (Comete)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 10:18
๑๒ เรือปืน อาสปิค (Aspic)

หารูปไม่เจอเหมือนกัน แต่ปืนเรือของฝรั่งเศสทั้งหมดก็ประมาณนี้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ค. 13, 10:40
ขอแถมอะไรแสบๆหน่อยก่อนจะผ่านเรื่องราวในร.ศ.๑๑๒ไป ใครติดใจอยู่ก็ไปเปิดกระทู้ขึ้นมาใหม่นะครับ เดี๋ยวจะกระทู้นี้ออกทะเลกู่ไม่กลับ

หลังจากเสร็จภารกิจ ฝรั่งเศสได้ปลดระวางเรือโคแมตและเรือลูแตง เพราะใช้มาหลายงานโทรมเต็มที แต่แทนที่จะขายเชียงกงอย่างที่เคยปฏิบัติ ฝรั่งเศสรู้ว่าเขมรเกลียดสยามเอามากๆ จึงมอบเรือทั้งสองลำให้เป็นเรือพระที่นั่งของสมเด็จนโรดมสีสุวัต ไว้จอดทอดสมอหน้าวังเขมรินทร์กรุงพนมเปญสำหรับดูเล่นๆเป็นของขวัญปลอบใจ ฐานที่พระองค์ทรงพยายามทุกวิถีทาง แม้กระทั่งเสด็จไปปารีสในช่วงพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเจรจาความขั้นสุดท้ายให้ฝรั่งเศสคืนจันทบุรีและตราดให้เรา โดยพระองค์ทรงเรียกร้องให้ฝรั่งเศสผนวกดินแดนสยามลึกเข้ามาถึงโคราช โดยอ้างว่าคนท้องถิ่นเป็นเขมร ซึ่งฝรั่งเศสตบหลังเบาๆว่ามากไปพะยะค่ะพระเจ้าน้อง มากไป


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ค. 13, 08:32
สืบเนื่องจากเรื่องนี้ครับ ความสำคัญอยู่ในสองท่อนข้างล่าง


นายสมิธได้นั่งเรือไปที่ป้อมนี้วันที่เกิดเหตุ ขณะนั้นเรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำมาถึงปากอ่าวแล้วรอเวลาน้ำขึ้นเต็มที่อยู่ ผู้บังคับการชาวเดนมาร์กของป้อม เรือเอกเกิตส์เช ยังไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวที่เกิดขึ้นนอกป้อมของตนเลย เมื่อนายสมิธทักว่าทหารของยูดูดีนะ เขาก็ตอบว่าไม่เลวละ แต่ไม่เคยยิงปืนใหญ่ซักกะนัดเดียว ไอได้แต่หวังว่าคงไม่จำเป็นต้องจะยิงมันจนกว่าทหารของไอจะได้รับการฝึกมากกว่านี้.
.

เรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำแล่นผ่านป้อมไปในท่ามกลางความมืด  ผู้บังคับการป้อมมองเห็นไฟตะเกียงเดินเรือเคลื่อนที่มา แต่ระบุไม่ได้ว่าเป็นเรือของใคร อาจเป็นเรือสยามก็ได้จึงไม่กล้ายิง พอเรือแองกงสตังค์ผ่านไปแล้ว ผบ.เรือโคแมตเห็นเสาธงของป้อมก็จำได้เพราะเคยเข้ามาเมืองไทยก่อนหน้านี้ เลยระดมยิงมาที่ป้อมหลายตับ ทหารในป้อมบาดเจ็บเล็กน้อย๑๒คน ทหารไทยยิงปืนเล็กโต้ตอบไปบ้างซึ่งก็ไม่ทราบว่าได้ผลอย่างไร

ต่อมา คุณสมุน007ได้ทักท้วง
อ้างถึง
ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 13 ก.ค. 13, 00:14   
________________________________________
อ้างจาก: NAVARAT.C ที่  12 ก.ค. 13, 23:26
ยิงปืนเล็ก กับยิงปืนใหญ่มันผิดกัน ป้อมผีเสื้อสมุทรไม่ได้ยิงปืนใหญ่สักโป้ง แต่ยิงปืนเล็กไปเปาะๆแปะๆ จะยากอะไร จิ๊กโก๋ก็ยิงได้ นายป้อมเองยังบอกว่าคงไม่ได้ผล เพราะยิงเข้าไปในความมืด

samun007
เอ ...ผมว่าป้อมผีเสื้อสมุทรก็ยิงปืนอาร์มสตรองตอบกลับไปนะครับ ในรายงานของผู้การเกิตเช่ก็เขียนไว้ว่าสั่งให้ยิงตอบกลับไป ไม่ได้บอกว่ายิงปืนอะไร

ผมพักสมองเสียสองสามวัน แล้วกลับไปค้นอ่านเอกสารจำพวกบันทึกของฝรั่งอีกครั้ง จึงหาเหตุของ “สัญญา”อันแปลว่าความจำได้หมายมั่นของผม เจอว่ามีที่มาจากความตามนี้

.....ยังเหลือป้อมที่เกาะเล็กอยู่อีกป้อมหนึ่ง ซึ่งเรือโคแมตเคยรู้จัก เพราะเคยมาจอดอยู่ใกล้ๆเป็นเวลาสามวันเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และยังได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จมาตรวจป้อมนี้ เราได้เพ่งสายตาหาป้อมในความมืด ขณะเดียวกันก็ได้บรรจุกระสุนปืนของเราด้วยด้วยกระสุนเมลิไนท์จำนวนสี่นัด เตรียมคอยไว้ เวลา๑๙๑๐ได้มาถึงป้อมนี้ซึ่งสงบเงียบอยู่ และเรือแองกงสตังต์ได้แล่นผ่านไปโดยมิได้สังเกตเห็น แต่เรายังมองเห็นเสาธงเหล็กของป้อมอยู่จึงใช้เป็นที่เล็งเป้า  เราได้ทำการยิงเข้าไปและปืน๒๑เซนติเมตรของป้อมก็ได้ยิงตอบออกมาโดยไม่ถูกเรือเราแต่อย่างได้ เสียงปืนเล็กดังสนั่นอยู่ริมฝั่งก่อนจะเงียบเสียงไป เราแล่นเลยเมืองปากน้ำไปโดยข้าศึกไม่กล้าติดตามมาเลย เราเร่งเครื่องจักรเต็มที่มุ่งสู่กรุงเทพ เรือแองกงสตังต์จุดตะเกียงหลังให้เห็น เราจึงได้แล่นตามเรื่อยไป.

ข้อมูลอะไรต่อมิอะไรในขณะค้นคว้ามาเขียนเรื่องมันเยอะจนปิดกั้นความฉลาดของผมเสีย ปืน๒๑เซนติเมตรมันไม่มีในสารบบของไทย นึกว่ามันคงเป็นปืนเล็กชนิดหนึ่ง เพราะผมไปยึดติดกับคำว่าปืนเล็กดังสนั่นอยู่ริมฝั่ง
ประกอบกับที่นายสมิธเขียนว่าทหารของเรือเอกเกิตส์เช ไม่เคยยิงปืนใหญ่ซักกะนัดเดียว ผมก็เขียนคคห.ของผมไปอย่างที่เห็นกัน

เมื่อสมองกลับมาสดดังเดิมแล้ว จึงถึงบางอ้อว่า ๒๑เซนติเมตร=๘นิ้ว ก็คือกระสุนขนาด๘นิ้วที่ปืนอาร์มสตรองใช้

ดังนั้น ในหัวค่ำของวันที่ทำการรบที่ปากน้ำ ป้อมผีเสื้อสมุทรได้มีโอกาสยิงปืนเสือหมอบซึ่งมีประจำการรวม๓กระบอกออกไปตามหลักฐานเอกสารของฝรั่งเศส แต่จะกระบอกใดกระบอกหนึ่งหรือทั้งสามกระบอก ผมไม่พบปรากฏในเอกสารทางการของไทย หรือของฝรั่งชาติใดอีก

แต่ทว่ามีตำนานเรื่องเล่าของชาวปากน้ำ เกี่ยวกับสะพานเล็กๆแห่งหนึ่งว่า "คุณก็อตเช่" มีชื่ออยู่บนป้อมผีเสื้อสมุทร ในช่วงที่เกิดเหตุ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) เป็นคนที่ออกคำสั่งไม่ให้ปืนเสือหมอบยิงตอบโต้กองเรือฝรั่งเศส โดยอ้างว่ามืดมากเดี๋ยวจะยิงกันเอง แล้วมีข่าวว่าถูกทหารไทยรุมทำร้าย เพราะหาว่าเข้าข้างพวกฝรั่งด้วยกัน ท่านเป็นนายทหารในปี ๒๔๓๖ ดังนั้น ปี ๒๔๒๕ จึงไม่น่าจะเป็นปีที่เกิด

เออนะ ก็สอดคล้องกับที่นายสมิธเขียนไว้อีกในเรื่องความกระด้างกระเดื่องของทหารไทยว่า “คืนนั้นเรือเอกเกิตส์เชก็ถูกยิง”
samun007
อ้างถึง
ท่านพลเรือตรีแชน บอกไว้ว่า รายงานของฝรั่งโดยเฉพาะฝรั่งเศสอย่าไปเชื่อให้มากนัก
.
.
.
   
คราวนี้จะทำอย่างไรดีละครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.ค. 13, 13:05
แต่ทว่ามีตำนานเรื่องเล่าของชาวปากน้ำ เกี่ยวกับสะพานเล็กๆแห่งหนึ่งว่า "คุณก็อตเช่" มีชื่ออยู่บนป้อมผีเสื้อสมุทร ในช่วงที่เกิดเหตุ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) เป็นคนที่ออกคำสั่งไม่ให้ปืนเสือหมอบยิงตอบโต้กองเรือฝรั่งเศส โดยอ้างว่ามืดมากเดี๋ยวจะยิงกันเอง แล้วมีข่าวว่าถูกทหารไทยรุมทำร้าย เพราะหาว่าเข้าข้างพวกฝรั่งด้วยกัน ท่านเป็นนายทหารในปี ๒๔๓๖ ดังนั้น ปี ๒๔๒๕ จึงไม่น่าจะเป็นปีที่เกิด

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๘๒ หรือ พ.ศ. ๒๔๒๕ คือวันที่ "คุณก็อตเช่" เข้ามารับราชการในเมืองไทย ส่วน วันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๑ หรือ พ.ศ. ๒๔๗๔ (หรือ ๒๔๗๕ ถ้านับวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) เป็นวันเกษียณจากการเป็นพนักงานบริษัทรถไฟปากน้ำ

Captain T.A. Gottsche   เป็นนายทหารชาวเดนมาร์ค ที่ได้รับการชักชวนจากพระยาชลยุทธโยธิน (ชาวเดนมาร์ค ชาติเดียวกัน) ให้เข้ามาช่วยในกิจการทหารเรือตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ชื่อของ Captain T.A. Gottsche  ปรากฏครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ตามข้อมูลของกองทัพเรือ

http://www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_b23_war-chaophya_thai.htm
Captain T.A. Gottsche
  
ท่านเป็นผู้บังคับการป้อมผีเสื้อสมุทร เมื่อครั้งมีการยิงต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศส ในช่วงการรบที่ปากน้ำ ร.ศ. ๑๑๒ มีทหารบาดเจ็บ ๖ นาย ท่านยังเป็นผู้ควบคุมหัวจักรรถไฟสายปากน้ำ จูงขบวนเสด็จ ในพิธีเปิดทางรถไฟสายปากน้ำ ก่อนที่จะลาออกจากกองทัพเรือ เพื่อมาเป็นพนักงานบริษัทรถไฟสายปากน้ำเต็มตัว ในปี ๒๔๔๒ จนเกษียณจากบริษัทในปี ๒๔๗๕

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ค. 13, 13:47
ก็อตเช่ต่อมาได้รับราชทินนามเป็น ขุนบริพัตรโภคกิจ ด้วยนะเออ และเป็นต้นสกุล คเชศะนันทน์ สืบลูกสืบหลานอยู่ในเมืองไทยจวบจนปัจจุบัน กระทู้ข้างล่างบอกว่าหาตัวตนยาก แต่ผมใช้อินทรเนตรหาชื่อได้หลายคน
 

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2641.30


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.ค. 13, 13:53
ก็อตเช่ต่อมาได้รับราชทินนามเป็น ขุนบริพัตรโภคกิจ ด้วยนะเออ และเป็นต้นสกุล คเชศะนันทน์ สืบลูกสืบหลานเยอะแยะอยู่ในเมืองไทยจวบจนปัจจุบัน

เพื่อนคุณเทาชมพูคนหนึ่งก็เป็นลูกหลานของ "คุณก็อตเช่"  ;D

มีเพื่อนคนหนึ่งเรียนมาด้วยกันตั้งแต่เด็กจนจบจุฬา แต่แยกไปคนละคณะ   นามสกุลคเชศะนันทน์    เธอเคยบอกว่านามสกุลเดิมคือก๊อดเช่    หน้าตาสวยแบบฝรั่งมากทีเดียว   พอเห็นชื่อนี้ก็เลยถึงบางอ้อ    ท่านขุนผู้นี้น่าจะเป็นคุณปู่เธอเอง  


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 15 ก.ค. 13, 21:25
(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/1373365281-art19-o_zps1c6af7ff.jpg)

รายละเอียดช่วงเวลารับราชการในกรมทหารเรือของ ท่านขุนฯ ครับ

จากหนังสือ  หนังสือที่ระลึก ๑๒๐ ปี ระลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒  

http://pantip.com/topic/30701775


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 15 ก.ค. 13, 21:36
ข่าวของท่านขุนฯ เมื่อถึงแก่กรรมครับ

(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_011_zps230ef405.png)

(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_012_zps0733f208.png)

(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_013_zps35852071.png)

(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_014_zps8eccbed4.png)

จาก นสพ The Straits Times, 29 August 1932  ( พ.ศ. ๒๔๗๕ ), Page 17 ของสิงคโปร์ครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 15 ก.ค. 13, 21:42
ข่าวการแต่งงานของบุตรีคนโตของท่านขุน และกงศุลเยอรมันประจำสยามครับ

(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_015_zpsbc27f35b.png)

(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_016_zps2e56df69.png)

จาก นสพ The Singapore Free Press and Mercantile Advertiser (1884-1942), 29 July 1914 (พ.ศ. ๒๔๕๗)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 15 ก.ค. 13, 21:48


รูปท่านขุนฯ ครับ

(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_017_zps40d74e47.png)

จาก นสพ The Straits Times, 12 April 1933, ( พ.ศ. ๒๔๗๔) Page 18


ถ้าจำไม่ผิด บุตรของท่านขุนรู้สึกจะชื่อว่า วิลเลียม กระมังครับ รู้สึกว่าจะมีชื่อยู่ในข่าวแรกสุดเลย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ค. 13, 07:05
แม้ว่าผลการรบจะออกมาในรูปที่เราๆท่านๆทราบกันไปแล้ว แต่เดือนเศษหลังเหตุการณ์สงบลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้โปรดเกล้าฯพระราชทานบำเหน็จแก่นายทหารที่ได้เข้าต่อสู้ในการรบกับฝรั่งเศสคราวนั้น นายพลริชลิวได้เลื่อนยศจากพลเรือจัตวาขึ้นเป็นพลเรือโท ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือเหมือนเดิม

ถึงยศถาบรรดาศักดิ์จะสูงขึ้น แต่งานท้าทายในกองทัพเรือก็หมดไป งบประมาณที่จะทุ่มเทมาใช้ทางซื้ออาวุธหมดความจำเป็นเร่งด่วนจึงเหือดหายไปจากเดิมมาก สยามเริ่มปรับนโยบายที่จะสร้างคนไทยขึ้นมาป้องกันประเทศของตนเอง นายทหารเดนมาร์กเริ่มเห็นอนาคตของตนคงจะไม่รุ่งแน่ถ้าอยู่กับที่ หลายคนลาออกจากราชการ ที่ยังอยู่ในสยามต่อไปก็ผันตัวเองเข้าไปทำงานในธุรกิจของนายพลริชลิว
 
ท่านนายพลยังคงอยู่ในตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ต่อ และมีโอกาสได้รับใช้สนองพระมหากรุณาธิคุณในงานสำคัญยิ่งยวด เช่นเมื่อปีพ.ศ.๒๔๔๑ ได้นำเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมงกุฏราชกุมาร ในขณะทรงศึกษาวิชาการทหารอยู่ที่แซนด์เฮริทต์ ประเทศอังกฤษ เยือนราชสำนักรัสเซีย เพื่อเป็นพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่๒และพระซารินา(อดีตเจ้าหญิงแดกม่าร์แห่งเดนมาร์ก) เยือนราชสำนักเดนมาร์ก เพื่อเป็นพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระเจ้าคริตสเตียนที่๙และพระราชินี  เยือนราชสำนักสวีเดน เพื่อเป็นพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของพระเจ้าออสก้าที่๒และพระราชินี เป็นต้น

ชีวิตทหารเรือท่านจบในตำแหน่งสูงสุด  นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ระหว่างกันยายน๒๔๔๒-๑๕มกราคม๒๔๔๓


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ค. 13, 08:07
หลังจากบ้านเมืองคืนสู่ภาวะปกติ กิจการเดินรถไฟสายปากน้ำก็พอที่จะไปได้ เวลานั้นท่าเรือใหญ่อยู่ที่เมืองปากน้ำ เรือโดยสารจากต่างประเทศจะเข้าเทียบท่าที่นั่นแล้วให้ผู้โดยสารเดินทางต่อโดยรถไฟ เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ธุรกิจสัมปทานจึงเป็นเสือนอนกินด้วยประการฉนี้

ส่วนรถรางที่ริชลิวและลอฟตัสได้สัมปทานมาและขายให้คนอังกฤษไปแล้วเพราะใช้ม้าลากรถไปไม่รอด คนอังกฤษซื้อไปแล้วก็อิมพอร์ตม้าเทศแบบที่ฝรั่งใช้ลากรถหนักๆเข้ามา แต่พอม้าเทศมาเจออากาศเมืองไทยเข้าก็โนเซ่อร์เหมือนกัน คนอังกฤษถึงกับล้มละลายแต่สัมปทานยังขายได้ ริชลิวรวมเงินจาก“มือใหญ่”ชาวเดนมาร์กมาลงหุ้นกันซื้อกลับไป
ในปีนั้น รถรางไฟฟ้าซึ่งได้นำมาใช้ในเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในรัสเซียเป็นแห่งแรกของโลก ได้จุดประกายขึ้น ทำให้เกิดรถรางไฟฟ้าในหลายเมืองของยุโรปและอเมริกาตามมา ในสยาม ไม่มีใครมองธุรกิจนี้ทะลุตลอดเท่าคนเดนมาร์กอีกแล้ว ดังนั้นไม่นานต่อมาบริษัทรถรางสยามก็ใช้ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน ปัญหาที่เกิดจากการใช้ม้าลากก็หมดไป รถรางก้าวไปสู่ยุคทอง ณ เพลานั้น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 ก.ค. 13, 10:03
^
แล้วโทรเลข วิ่งขนานไปกับทางรถไฟสายปากน้ำด้วยเลยไหม

โทรเลขสายปากน้ำ เป็นโทรเลขสายแรกของสยามประเทศ เชียวนะ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ค. 13, 10:20
ใช่แล้วครับ

ต่อมาขยายผ่านตัวเมืองไปทางบางปิ้ง เพื่อติดต่อกับสถานีสัญญาณไฟ แนวเสาโทรเลขกลายเป็น "ถนนสายลวด" ในปัจจุบัน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ค. 13, 10:23
สัมปทานที่ทำเงินได้มากที่สุดอันเป็นผลพลอยได้ต่อยอดการผลิตไฟฟ้าป้อนระบบรถราง คือสิทธิในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ชาวกรุงเทพ ซึ่งมีอยู่ในราวสี่แสนครัวเรือนในยุคนั้น เป็นเวลา๕๐ปีแต่ผู้เดียว อันนี้ได้มาในนามของบริษัทการไฟฟ้าสยามในปีพ.ศ. ๒๔๔๓ ซึ่งเกิดจากการกิจการร่วมค้าของเดนมาร์กหลายราย โดยนาย G. M. Glueckstadt นายใหญ่แห่งธนาคาร Landmandsbanken(ธนาคารกสิกร)ในโคเปนฮาเกน นั่งเป็นประธานกรรมการเอง (จำธนาคารที่พระเจ้าคริตสเตียนทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าจะเข้ามาตั้งในสยามได้ไหมครับ นี่แหละ…) ให้นายพลริชลิว เป็นกรรมการผู้จัดการ และนายอ๊อก เวสเตนโฮลต์ (อดีตผู้ประดิษฐ์และอำนวยการจุดระเบิดตอร์ปิโด)เป็นผู้จัดการโรงไฟฟ้า

การทำธุรกิจนี้ที่ผ่านมาในระยะแรกมีการผลัดมือหลายบริษัท ผมขี้เกียจเขียนสาธยายให้คนอ่านงงโดยไม่จำเป็น ก็มันยากลำบากแสนเข็ญ การวางเสาพาดสายไปยังพื้นที่ต่างๆของกรุงเทพเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับระบบราชการแบบไทยๆและผู้มีอิทธิพลทุกระดับ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทตนเองอันเป็นคุณสมบัติเด่นเฉพาะตัวชายผู้นี้ แถมมีเส้นแข็งบึ่ก ในที่สุดงานทั้งการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าก็ลุล่วงไปได้ด้วยความสำเร็จอย่างยิ่งยวด
สิบสี่สิบห้าปีต่อมา หุ้นล๊อตใหญ่ที่คนเดนมาร์กถือไว้ก็ถูกปล่อยออกทำกำไร โดยมีกลุ่มบริษัทของเบลเยี่ยมซื้อไป ไม่มีใครทราบแน่ว่านายพลริชลิวถืออยู่จำนวนเท่าไหร่และฟันเงินจากธุรกิจข้ามชาติเอาเข้ากระเป๋าไปมากเพียงใด

ราคาซื้อขายหุ้นและกำไรของบริษัทเป็นตัวเลขปกปิด คนเดนมาร์กที่เคยสืบเสาะตำนานธุรกิจนี้เขียนว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะหาตัวเลขแท้จริงมาแสดง นอกจากจะได้ร่องรอยจากหนังสือพิมพ์เดนมาร์กสมัยโน้นฉบับนึง ข้อความในพื้นที่โฆษณาของบริษัทการไฟฟ้าสยาม ประกาศหาผู้สมัครไปทำงานในกรุงเทพ ตำแหน่งTraffic manager ในข้อความจูงใจระบุว่า กิจการรถรางและการผลิตจำหน่ายไฟฟ้าของบริษัทมีกำไรรวมกันในปีนั้น1,200,000 Danish Crowns ผมไม่ทราบจริงๆว่ามูลค่าเทียบเป็นเงินบาทสมัยโน้นหรือสมัยนี้มหาศาลแค่ไหน แต่คนเดนมาร์กบอกว่านี่มันเหมืองทองคำชัดๆนี่เอง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 13, 07:31
ในสยามนายพลริชลิวมิได้อวดความร่ำรวยให้ปรากฏ เงินทั้งหมดที่ได้จากการปริวรรษธุรกิจนอนสงบอยู่ในธนาคารที่ประเทศเดนมาร์ก ที่นี่ก็เพียงแต่รับเงินเดือนแล้วทำงานแบบหลวงไม่พลาด-ราษฎร์ไม่เสีย รอจังหวะที่จะได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อใช้เงินนั้นต่อไป

หลังเหตุการณ์ร.ศ.๑๑๒ร่วมสิบปี สยามจึงพอจะเจียดงบประมาณมาทำนุบำรุงทัพเรือได้บ้าง นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้จัดจ้างอู่ Hongkong & Whampoa ในฮ่องกงของอังกฤษ ต่อเรือรบเหล็กขนาดเล็กขึ้น พระราชทานนามว่า เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ แทนลำแรกที่สร้างวีรกรรมเด่นไว้ในสมรภูมิ และได้รับมอบเรื่อรุ่นนี้จากผู้สร้างหลังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือแล้วอีก๒ลำ พระราชทานนามว่าเรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง ตามลำดับ ข่าวไม่แจ้งในเรื่องค่าคอมว่าใครฟันไปเท่าไหร่
เรือในชั้นมูรธาวสิตสวัสดิ์(ลำที่ ๒)นี้ เป็นเรือเหล็กมีทวนใต้น้ำหัวเรือ ๒หอรบบนเสากระโดง ติดตั้งปืนใหญ่อังกฤษแบบ 120/40 QF Mk I ๑กระบอก 57/40 Hotchkiss ๕กระบอก และ 37/23 Hotchkiss ๔กระบอก


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 13, 07:42
นอกจากเรื่องการทหาร นายพลริชลิวได้สนองพระมหากรุณาธิคุณในงานอื่นๆที่น้อยคนนักจะโชคดีได้รับพระราชทานโอกาส เช่น เมื่อทรงสร้างวัดเบญจมพิตรในปีพ.ศ. ๒๔๔๔ ได้โปรดเกล้าฯให้เป็นนายงาน จัดให้ทหารเรืออัญเชิญพระพุทธชินราชซึ่งจำลองขึ้นเท่าองค์จริง ลงมาจากพิษณุโลกโดยทางน้ำ ด้วยการชะลอลงแพแล้วล่องแม่น้ำเจ้าพระยามาชักลากขึ้นฝั่งที่กรุงเทพ นำไปประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในวิหาร และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาปิดทอง นายพลริชลิวก็ทำเครื่องประดับองค์พระถวายเรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัย นอกจากของมีค่าที่พระราชทานเป็นที่ระลึกตอบแทน นามของพระยาชลยุทธโยธินทร์จึงเป็นอีกหนึ่งของผู้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จารึกไว้ที่ฐานพระใต้พระปรมาภิไธยด้วย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 13, 07:57
อีกงานหนึ่งที่ลูกหลานนายพลริชลิวกล่าวว่าเจ้าตัวภูมิใจมาก
 
คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก นายพลริชลิวมิได้ตามเสด็จ แต่ได้โปรดเกล้าฯให้อยู่ในคณะที่ปรึกษาของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ องค์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 13, 09:56
นายพลริชลิวสมรสกับญาติห่างๆของตน ดัคม่า หลุยส์ ลีอาเช่ (Dagmar Lousie Lerche) ในปีพ.ศ.๒๔๓๕ หรือปีหนึ่งก่อนเหตุการณ์ร.ศ.๑๑๒ ทั้งสองมีบุตรธิดาด้วยกัน๕คน  ๓คนเกิดในกรุงเทพ เป็นชาย๒คือLouise และ Helge ส่วนคนเล็กเป็นหญิงชื่อ Sehestede ที่เหลือเกิดในเดนมาร์กไม่ทราบนาม

ดัคม่าพอแต่งงานปุ๊บก็ได้เป็นคุณหญิงทันที นับว่าวาสนาดีแท้ แถมยังเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายฝ่ายในเพราะเธอวางตัวดี

ปีเดียวกับที่ได้เป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ นายพลริชลิวล้มป่วยด้วยโรคมาเลเรีย และมีข่าวว่าอาการหนัก เมื่อบรรเทาแล้วจึงตัดสินใจ ได้จังหวะที่จะกราบบังคมทูลลาออกจากราชการแล้ว จึงส่งคุณหญิงชลยุทธโยธินทร์และลูกทั้งสามเดินทางกลับไปเดนมาร์กล่วงหน้าก่อน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.ค. 13, 10:30
นายพลริชลิวสมรสกับญาติห่างๆของตน ดัคม่า หลุยส์ ลีอาเช่ (Dagmar Lousie Lerche) ในปีพ.ศ.๒๔๓๕ หรือปีหนึ่งก่อนเหตุการณ์ร.ศ.๑๑๒ ทั้งสองมีบุตรธิดาด้วยกัน๕คน  ๓คนเกิดในกรุงเทพ เป็นชาย๒คือLouise และ Helge ส่วนคนเล็กเป็นหญิงชื่อ Sehestede ที่เหลือเกิดในเดนมาร์กไม่ทราบนาม

ดัคม่าพอแต่งงานปุ๊บก็ได้เป็นคุณหญิงทันที นับว่าวาสนาดีแท้ แถมยังเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายฝ่ายในเพราะเธอวางตัวดี

ปีเดียวกับที่ได้เป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ นายพลริชลิวล้มป่วยด้วยโรคมาเลเรีย และมีข่าวว่าอาการหนัก เมื่อบรรเทาแล้วจึงตัดสินใจ ได้จังหวะที่จะกราบบังคมทูลลาออกจากราชการแล้ว จึงส่งคุณหญิงชลยุทธโยธินทร์และลูกทั้งสามเดินทางกลับไปเดนมาร์กล่วงหน้าก่อน

Dagmar Therese Louise Lerche เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๔ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ แต่งงานกับนายพลริชลิวเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๕ มีบุตรธิดา ๕ คนคือ

๑. ชาย  Louis du Plesis de Richelieu til Valnæsgaard เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๕ เสียชีวิตเมื่อ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๗
๒. ชาย  Helge du Plesis de Richelieu til Ulriksholm เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๗ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘
๓. หญิง Dagmar "Jing" Marie Louise du Plesis de Richelieu เกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔  
๔. หญิง Agnes Ingeborg "Abi" du Plesis de Richelieu เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๐  
๕. หญิง Lilian Agnete du Plesis de Richelieu เกิดเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๖

ข้อมูลจาก   http://krogsgaard.name/pafg1484.htm (http://krogsgaard.name/pafg1484.htm)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 13, 11:13
ขอบคุณครับ

ในเวปสายตระกูล de Richelieu ที่ว่าผมเคยเห็นแล้วละ แต่ไม่อยากกล่าวถึงเพราะค่อนข้างมั่ว ชื่อลูกคนที่๓ ก็ไม่ตรงกับที่หลานตาทางสายนี้ได้ยืนยันไว้ ถูกต้องกับเอกสารไทยที่พระยาชลยุทธโยธินทร์เคยทำหนังสือขอพระราชทานเครื่องราชย์ให้ภรรยาและลูก


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 13, 11:17
มกราคม ๒๔๔๔ นายพลเรือโทพระยาชลยุทธโยธินทร์กราบบังคมทูลลาออก หลังรับราชการมาแล้ว๒๖ปี โดยอ้างว่าสุขภาพไม่เอื้ออำนวย
ลุงแอลลัน แฮร์สทรัป ขณะนี้คงอายุสัก ๘๐ บุตรของนางซีเฮสเตล์ ลูกสาวคนที่เกิดในเมืองไทยเล่าว่า

“เมื่อคุณตาของผมเดินทางออกจากสยามนั้น พระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถ กรมพระยาดำรง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ได้เสด็จโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี ซึ่งคุณตาได้เป็นกัปตันครั้งสุดท้ายในชีวิต ไปส่งท่านถึงสิงคโปร์เพื่อลงเรือโดยสารต่อไปยุโรป ในงานเลี้ยงรับรองที่ทำเนียบท่านผู้สำเร็จราชการอังกฤษ คุณตาได้นั่งข้างที่ประทับ และพระเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวในสุนทรพจน์ว่าพระองค์ทรงชื่นชมในตัวท่านอย่างไร และทรงอาลัยเพียงไรในการจากกันครั้งนั้น ทรงหวังว่าจะได้กลับมาเยี่ยมพระองค์อีกในไม่ช้า จากนั้นก็ได้พระราชทานถาดเงินประดับเพชรมีตรามหาลัญจกร และพระราชทานเงินบำนาญในระดับพลเรือเอกให้ คืนนั้นคือวันที่๒กุมภาพันธุ์ ซึ่งอายุคุณตาครบ๕๐ปีพอดี

เช้า๙.๐๐น.ของวันรุ่งขึ้น ทุกคนพร้อมอยู่บนดาดฟ้าเรือพระที่นั่งมหาจักรีแล้วเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ทรงถามคุณตาว่าคุณตาจะเลือกให้ใครเป็นผู้บัญชาการทหารเรือคนต่อไป ให้คุณตามอบตราประทับให้แก่ผู้ที่คุณตาเห็นว่าสำคัญที่สุดรองจากพระองค์ คุณตาจึงถวายตราประทับนั้นแด่พระอนุชาร่วมพระชนนีซึ่งมีอยู่พระองค์เดียว ณ ที่นั้น คือสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ ผู้ที่ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมอยู่แล้ว"


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.ค. 13, 11:35
ชื่อลูกคนที่๓ ก็ไม่ตรงกับที่หลานตาทางสายนี้ได้ยืนยันไว้ ถูกต้องกับเอกสารไทยที่พระยาชลยุทธโยธินทร์เคยทำหนังสือขอพระราชทานเครื่องราชย์ให้ภรรยาและลูก

ชื่อ  Sehestede เรียกตามชื่อสกุลของสามีกระมัง

Dagmar "Jing" Marie Louise du Plesis de Richelieu แต่งงานกับ Ove Sehestedt Juul af Ravnholt til Ravnholt เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ และหย่าใน พ.ศ. ๒๔๘๑   ???

ข้อมูลจากเว็บเดียวกับข้างบน  ;D  


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 13, 11:46
ไม่ทราบเหมือนกันครับ เมื่องง ก็เลี่ยงที่จะเขียนลงไป

มาดูรูปคุณหญิงชลยุทธโยธินคนสวยดีกว่า


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 13, 12:08
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเคยมีพระราชปรารภว่า “….พระยาชลยุทธฯ ได้รับราชการทนลำบากตรากตรำมามาก แลการทหารเรือก็ได้ตั้งขึ้นเป็นหลักฐาน ทั้งมีความจงรักภักดี เป็นที่ไว้วางใจมาก็นาน ซึ่งเปรียบเทียบบำนาญตามข้าราชการบำนาญสามัญนั้นน้อยมาก ให้ตั้งบำนาญเป็นพิเศษเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนปีละ ๑๕,๐๐๐ บาท….”

สมัยนั้น วิธีการว่าจ้างชาวต่างประเทศ ในเวปทหารเรือกล่าวว่า

ในการว่าจ้าง ชาวต่างประเทศเข้าม รับราชการในกรมทหารเรือนั้น จะมีการทำสัญญาว่าจ้างเป็นรายบุคคล ตามปกติกำหนดทำสัญญาคราวละ ๓ ปี เมื่อครบสัญญาแล้ว หากทางราชการยังต้องการตัวไว้ใช้อีก และชาวต่างประเทศผู้นั้นสมัครใจ จะอยู่รับราชการต่อไป ก็จะมีการต่อสัญญา เป็นคราวๆไป โดยมีเงื่อนไข สำหรับผู้รับราชการนานว่า ถ้ารับราชการนานพอสมควร จะได้รับเงินบำนาญ และระหว่างรับราชการ สามารถกลับไปเยี่ยมบ้านได้

สำหรับอัตราเงินเดือนนั้น ไม่มีระเบียบที่แน่นอน และใช้วิธีตกลงเป็นรายบุคคล โดยแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. จ้างโดยมีสัญญา จำนวนเงินจะจ่ายตามสัญญา
๒. จ้างโดยไม่มีสัญญา หรือสัญญาเดิมสิ้นสุดแล้วไม่ต่อ จำนวนเงินที่จ่ายจะไม่แน่นอน นายทหารพวกนี้จะขอเงินเดือนขึ้นอยู่เสมอ ในพ.ศ.๒๔๔๘ กรมทหารเรือได้ออกข้อบังคับว่าด้วยอัตราเงินเดือน ข้าราชการ ที่เป็นชาวยุโรปขึ้น แบ่งขั้นเงินเดือนเป็น ๕ ขั้น คือ
ขั้นที่ ๕ เดือนละ ๕๕๐.-บาท
ขั้นที่ ๔ เดือนละ ๖๕๐.-บาท
ขั้นที่ ๓ เดือนละ ๗๐๐.-บาท
ขั้นที่ ๒ เดือนละ ๘๐๐.-บาท
ขั้นที่ ๑ เดือนละ ๙๐๐.-บาท
เงินเดือนจะไม่ขึ้นไม่ลดอีก นอกจากผู้ที่อยู่ในขั้นสูง จะออกจากราชการไป ก็จะเลื่อนผู้ที่อยู่รองขึ้นมาแทน

ในอดีตหลังเหตุการณ์ร.ศ.๑๑๒นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเคยมีพระราชดำรัสว่า " ในเมืองเราเวลานี้ไม่ขัดสนอันใดยิ่งกว่าคน การเจริญอันใดจะเป็นไปไม่ได้เร็วก็เพราะเรื่องคนนี้อย่างเดียว เพราะเหตุขัดสนเช่นนี้จึงต้องจำใช้ฝรั่งในที่ซึ่งคนเรายังไม่มีความรู้และความสามารถพอ แต่การใช้ฝรั่งนั้นไม่ใช่เป็นการง่าย แลก็รู้ชัดเจนอยู่ในใจด้วยกันว่า เขาเป็นคนต่างชาติภาษา จะซื่อตรงจงรักภักดีอะไรต่อเราหนักหนา ก็ชั่วแต่มาหาทรัพย์กลับไปบ้าน เมื่อจะว่าเช่นนี้ก็ไม่สู้เปนยุติธรรมแท้ เพราะบางคนซึ่งอัธยาศัยดี มีความรู้ อยากจะได้ชื่อเสียงที่ดี ฤามีความละอาย ฤาอยากจะอยู่ทำการให้ยืดยืนไป เขาก็ทำดีต่อเรามากๆ อยู่บ้าง แต่อย่างไรๆ ก็คงต้องนับว่าเป็นเพื่อนกินไม่ใช่เป็นเพื่อนตาย  "

พระราชดำรัสดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าทรงมองข้าราชการฝรั่งทั้งหลายที่มาทำงานให้สยามอย่างไร ทรงเข้าใจ

แม้ว่าจะทรงทราบอยู่ว่านายพลริชลิวจะมีผลประโยชน์ในธุรกิจอยู่ไม่น้อย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเห็นว่าเงินเดือนในระหว่างรับราชการนั้นน้อยนิด(เมื่อเทียบกับมาตรฐานยุโรป) จึงได้ทรงเพิ่มเงินบำนาญจาก ๘,๐๐๐ บาทต่อปี เป็น ๑๕,๐๐๐ บาทต่อปี เพื่อตอบแทนที่ท่านผู้นี้ทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดินสยาม


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 13, 16:31
ช่วงต่อไป โปรดคอยติดตามเรื่องของพระยาชลยุทธโยธินทร์ในบ้านเกิด  "นายพลเรือเอกนักธุรกิจและนักการเมือง"


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 17 ก.ค. 13, 16:57
รอติดตามครับ  ;D  ;D  ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 13, 17:23
^
เอารายงานมาส่งแค่เนี๊ยะเรอะ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 13, 08:08
รอทั้งคืนไม่มา คุณประกอบคงหนีไปไกลเลย

ต่อครับต่อ
ผมจะใช้ ค.ศ.ในการดำเนินเรื่องราวของนายพลริชลิวแห่งราชนาวีไทยหลังคืนสู่เหย้าในเดนมาร์กแทน พ.ศ. นะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความสับสน ผมเองนั่นแหละจะสับสน สมัยก่อนไทยเปลี่ยนปีศักราชในเดือนเมษายน แล้วเลื่อนมาเป็นวันที่ ๑ มกราคม ตามสากลปฏิบัติในปี ๒๔๘๓ ดังนั้นถ้าเทียบปีกัน มกราคมถึงเมษายนในสมัยรัชกาลที่ ๕ ของปี พ.ศ.ใดก็ตาม คำนวณเป็น ค.ศ.ด้วยการบวก๕๔๓แล้ว ต้องบวกอีก ๑ จึงจะถูกต้องตรงกับวิธีคิดในปัจจุบัน

เห็นไหมครับ แค่อธิบายบางคนก็งงแล้ว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 13, 08:16
นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ เดินทางออกจากสยามในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ตรงกับ นายพลริชลิวมาถึงบ้านเกิดเมืองนอนในปีค.ศ. ๑๙๐๒ สิ่งแรกที่ทำคือการหาบ้านที่ครอบครัวจะปักหลักพักอาศัยก่อน ตอนนั้นขนาดยังไม่รวยเป็นมหาเศรษฐีจากหุ้นบริษัทการไฟฟ้าสยามที่ท่านขายทำกำไรมหาศาลในปี๑๙๑๒นะครับ นายพลริชลิวกับมาดามยังเลือกที่จะเช่าปราสาทหลังหนึ่งในเมือง Hørsholm ทาง North Zealand ซึ่งไม่ไกลจากกรุงโคเปนฮาเกน และยังได้เช่าไร่ใกล้ๆกันชื่อ Smidstrup Farm ไว้ทำสำหรับอะไรเล่นๆด้วย

คงจะหายแปลกใจว่าทำไมท่านจึงเลือกที่นั่น ถ้าจะบอกว่าผู้ที่เป็นเจ้าของปราสาทคอคเคเดล์ คือ Jens Frederik Horsens Block หนึ่งในผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทอิสต์เอเชียติกในสยาม ซึ่งนายพลริชลิวมีส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทนี้รุ่งเรืองอย่างถึงขีดสุด เมื่อท่านกลับบ้านเพื่อนฝูงคงจะหาทางตอบแทนท่านอย่างเต็มที่ ค่าเช่าปราสาทอาจจะถูกเหมือนบ้านธรรมดาๆก็ได้

ครอบครัว เดอ ริชลิว ได้อาศัยอยู่ที่นั่นอย่างสุขสบาย นายพลริชลิวชอบที่นี่มาก ๘ ปีต่อมาจึงขอซื้อปราสาทคอคเคเดล์เป็นกรรมสิทธิ์ และเป็นที่ตายของท่านในอีกนานต่อมา หลังมรณกรรมของสามี มาดามหม้ายทนอยู่ที่นั่นไม่ได้ จึงขายปราสาทหลังนี้ไปในปี๑๙๔๑

เอารูปที่คุณเพ็ญลงไว้ตั้งแต่ไก่โห่มาฉายซ้ำอีกทีเพื่อให้เห็นบรรยากาศในสมัยโน้น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ค. 13, 08:36
ที่หน้าปราสาทคงเป็นครอบครัว "ริชลิว" พ่อ แม่ และลูกชายหญิง ครบทั้ง ๗ คน   ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 13, 08:49
^
อ้อ..ครับ เหรอครับ

ปราสาทคอคเคเดล์สร้างในปี 1746 โดยท่านเคาต์ Count Christian August von Berckentin ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัง Hirschholm Palace ที่พระราชินี Sophie Magdalene ในพระเจ้าChristian VI แห่งเดนมาร์กทรงเป็นเจ้าของ ปราสาทหลังนี้ตกทอดเป็นมรดกมาร้อยกว่าปีจนกระทั่ง Jens Frederik Horsens Block ได้ซื้อไว้ในปี1864 และให้นายพลริชลิวเช่าในปี1902 ซึ่งท่านก็ได้ซื้อไว้เป็นกรรมสิทธิ์ในปี๑๙๑๐ แล้วขายต่อโดยภรรยาหม้ายของท่านในปี๑๙๔๑ ให้แก่ผู้ใดไม่ปรากฏ ระบุเพียงว่าปราสาทคอคเคเดล์อายุกว่า๒๕๐ปีนี้ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ภายใต้พระราชูปถัมภ์ของเจ้าชาย Joachim โดยรักษาความเป็นปราสาทยุคกลางเอาไว้ พร้อมทิวทัศน์ของ Liim Fiord ที่สวยงามน่าประทับใจ แล้วเปิดเป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว ไม่ทราบว่าSmidstrup Farmได้กลายเป็นสนามกอล์ฟที่เห็นขนาบตัวโรงแรมอยู่หรือเปล่า

โฆษณาของโรงแรม Kokkedal Castle ระบุว่าทุกห้องพักที่เก่าแก่และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ (เหมาะสำหรับพวกปีศาจนิยมเช่นคุณประกอบจะได้ไปพักผ่อนหย่อนใจ) มีระเบียงอาบแดด และสามารถเข้าไปยังห้องซาวน่า และสระว่ายน้ำในช่วงหน้าร้อนได้ ทุกวันอาทิตย์มีการจัดชิมไวน์ในห้องเก็บไวน์โบราณ นอกจากนี้ยังมีสนามเทนนิส และแบดมินตันกลางแจ้ง ส่วนสนามกอล์ฟไม่เกี่ยวกับกิจการโรงแรม

ราคาต่ำที่สุดต่อคืนแค่ ๔๗๓๔ บาทเอง อย่างนี้ไฮโซไทยบอกสบาย ราคาทั่วไปในภูเก็ตก็ระดับนี้แหละ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ค. 13, 12:14
พร้อมทิวทัศน์ของ Liim Fiord ที่สวยงามน่าประทับใจ

Lim Fjord (http://en.wikipedia.org/wiki/Limfjord) อยู่ทางเหนือของเดนมาร์กห่างจากปราสาท Kokkedal Castle ประมาณเกือบ ๒๐ กิโลเมตร (ดูจากแผนที่คุณกุ๊ก  ;))

ในแผนที่ Kokkedal Castle อยู่ในกรอบสีแดง  ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 18 ก.ค. 13, 17:41
^
เอารายงานมาส่งแค่เนี๊ยะเรอะ

นักเรียนชั้นดีแบบผม ต้องอ้าปากรออาจารย์ป้อนเท่านั้นครับ  :-*  :-*


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 13, 20:02
ข้อความโดย: เพ็ญชมพู
อ้างถึง
Lim Fjord อยู่ทางเหนือของเดนมาร์กห่างจากปราสาท Kokkedal Castle ประมาณเกือบ ๒๐ กิโลเมตร (ดูจากแผนที่คุณกุ๊ก  ยิ้มเท่ห์)

ไม่ใช่แล้วมังครับ
Kokkedal Castle อยู่ติดชายฝั่งทะเลในมองออกนอกหน้าต่างก็เห็นวิว ทะเลในดังกล่าวน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของLim Fjord ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ค. 13, 20:24
เป็นจริงดั่งคุณนวรัตนว่า ดูแผนที่อีกที ส่วนขอบสีน้ำเงินก็เป็นส่วนหนึ่งของ Lim Fjord  

ระยะทางจากปราสาทถึงชายทะเลคงไม่เกิน ๒ กิโลเมตร   :-[


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.ค. 13, 07:46
นายพลเรือริชลิวมิได้ดุ่ยๆกลับบ้านโดยไม่มีแผนที่จะรองรับชีวิต อย่างที่บอก ท่านอำนวยประโยชน์ให้นักลงทุนชาวเดนมาร์กทำกำไรจากกิจการในสยามเป็นเอนกอนันต์ คนกลุ่มนี้ระดับบิ๊กๆของประเทศทั้งนั้น ก็คงจะติดต่อกันมาแล้ว ดังนั้น เก้าอี้แรกที่เขาจัดไว้รองรับน้ำหนักของคนอย่างท่านนายพลเรือเอกแห่งราชนาวีจึงไม่เบา เป็นตำแหน่งกรรมการบริหารธนาคารกสิกร Landmandsbanken ไม่ใช่ที่มีฉายาว่าแบงก์รวงข้าวในไทยนะครับ ชื่อเหมือนกันแต่มีอะไรคล้ายกันอย่างเดียวคือ กสิกรตัวจริงหาได้เป็นเจ้าของไม่

นายพลริชลิวนั่งเก้าอี้นี้นาน หกปีต่อมา คือในปี๑๙๐๘ท่านได้ขยับขึ้นเป็นกรรมการผู้อำนวยการ(president)และดำรงตำแหน่งอยู่ยาวนานจนถึง๑๙๒๒
ผมจะกลับมาต่อเรื่องนี้อีกทีเมื่อเรื่องดำเนินไปถึง

ขอโฆษณาหน่อยว่า ช่วงชีวิตสามสิบปีหลังของชายผู้ทรงพลังคนนี้ ไม่ได้จืดแบบทหารปลดเกษียณแล้วเค้ารางวัลต่างตอบแทนให้เป็นกรรมการบริษัทเพื่อให้มีเงินเดือนแพงๆกิน มีรถประจำตำแหน่งนั่งโก้ๆให้พอได้ชื่อว่ามีงานทำไปวันๆนะครับ ชีวิตท่านมีสีสันพอๆกับช่วงสามสิบปีแรกที่ท่านทำงานรับใช้พระเจ้าแผ่นดินสยามเลยทีเดียว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.ค. 13, 08:32
ระยะแรกคนจัดให้ก็นึกเช่นนั้นเหมือนกัน คงหาตำแหน่งที่สบายๆ มีเบี้ยประชุมให้มีพอเงินใช้สอยไม่ลำบากลำบน ดังนั้นใน๑๙๐๒ ปีเดียวกันนั้น ท่านจึงได้เข้าไปเป็นกรรมการของบริษัทที่กำลังเติบโต มีรายได้เยอะพอที่จะมีรายจ่ายสำหรับกรรมการประเภทพระอันดับได้โดยไม่ฝืดเคือง จึงไม่ต้องงงหากผมจะเล่าว่า ท่านนายพลเรือได้เข้าไปเป็นกรรมการของบริษัท Royal Porcelain ที่ทำถ้วยชามเครื่องเคลือบ และเป็นกรรมการของ West Indian Colonial Lottery

Royal Porcelain หรือปัจจุบันคือ Royal Copenhagen porcelain ของเดนมาร์ก มีชื่อเสียงในการทำเครื่องเคลือบดินเผาด้วยกรรมวิธีที่จีนทำกังไส เรียกว่า bone china พื้นสีขาว ส่วนใหญ่ลายสีน้ำเงิน ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้บนโต๊ะอาหารและของประดับคฤหาสน์แบบฝรั่งไปทั่วประเทศต่างๆในยุโรป

สยามเมื่อก่อนนำเข้าเครื่องสายครามแบบนี้จากเมืองจีน แต่เดี๋ยวนี้คนไทยผลิตได้เหมือนกันโดยมีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่ลำปาง ทำถ้วยโถโอชามลายครามตั้งแต่ระดับจตุจักรไปจนถึงระดับส่งออกพะยี่ห้อนอกที่เขาไม่ค่อยจะเอามาวางตลาดให้ชาวบ้านเห็น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.ค. 13, 09:36
ส่วน West Indian Colonial Lottery เป็นกิจการทำเงินจากเมืองขึ้น ตอนนั้นเดนมาร์กมีอาณานิคมนะครับอย่าเข้าใจว่าไม่มี ตั้งอยู่ในอเมริกากลางที่รู้จักกันในชื่อเวสต์อินดีส ต่อมาถูกอเมริกาบังคับซื้อไป แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น U.S.Vergin Islands อยู่ติดกับส่วนของอังกฤษที่ชื่อว่า British Vergin Islands ทั้งสองแห่งนี้จิ้นแต่ชื่อ แต่จริงๆเละแล้วเพราะประกอบกิจการแบบโสเภณี คืออนุญาตให้ใครก็ได้ที่มีปัญญาจ่ายค่าธรรมเนียมให้ ไปตั้งธนาคารเพื่อรับฟอกเงินให้คนรวยที่โกงกินเขามา ด้วยการเปิดบัญชีลับใช้ทำธุรกรรมทางการเงินลวง สำหรับเลี่ยงภาษีในประเทศของตน มีผู้ใช้บริการของธนาคารพวกนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสันทั่วโลก ขนาดสำนักงานกฏหมายสาขาของฝรั่งในเมืองไทยก็ยังสามารถเปิดบัญชีธนาคารในเกาะเล็กๆที่ยกตนเองเป็นประเทศเหล่านี้ได้ทันที หากท่านต้องการ จนค่าธรรมเนียมดังกล่าวกลายเป็นรายได้หลักแทนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ใช้บังหน้าไป

ส่วนลอตตารี่ก็บ่อนการพนันชนิดหนึ่งนั่นแหละ ทว่ารัฐบาลเป็นเจ้ามือผูกขาดกินคนเดียว โดยมีพรรคพวกของตนเป็นผู้บริหารเงินแบบวัดคึ่งนึงกรรมการคึ่งนึง แล้วตั้งบุคคลภายนอกเข้าไปร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพอเป็นพิธี นายพลริชลิวก็เป็นกรรมการประเภทไปประชุมเพื่อรับซองเดือนละครั้ง อะไรที่เห็นแต่ไม่ควรพูดก็นิ่งๆไว้ วาระใดที่โจ่งแจ้งทนไม่ได้ก็ลุกเข้าห้องน้ำเสีย ปฏิบัติการให้มันนานๆหน่อย อู้จนวาระผ่านแล้วค่อยกลับไป


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.ค. 13, 10:58
งานที่สมความรู้ความสามารถของนายทหารเรือเก่าหน่อยน่าจะเป็นตำแหน่งที่เขาแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริษัท United steamer Company เป็นบริษัทเดินเรือซึ่งตอนนั้นกิจการไม่น่าจะดีเท่าไหร่ ทำไป๓ปี ก็คงมีความคิดความอ่านเข้าตาเจ้าของ(ซึ่งเป็นใครผมก็ไม่ทราบ) เลื่อนตำแหน่งให้ท่านเป็นประธานคณะผู้บริหาร หรือ CEO ซึ่งถือเป็นงานประจำแบบเต็มเวลาไม่ใช่แค่มาประชุม เพื่อปรับโครงสร้างบริษัทขึ้นใหม่ในปี๑๙๐๕ หลังจากนั้นอีกสองสามปี นายพลริชลิวก็ได้เป็นประธานกรรมการ(Chairman) ตำแหน่งนี้ส่วนมากเขาใช้กับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทผู้เป็นเจ้าของตัวจริง ไม่ทราบว่าท่านตกลงใจซื้อบริษัทนี้ไว้เสียเองหรือเปล่า เพราะท่านอยู่ในตำแหน่งยาวนานมากตั้งแต่ปี๑๙๐๘ถึงปี๑๙๒๒เลยทีเดียว

รายละเอียดของบริษัทนี้ว่าประกอบกิจการดีไม่ดีอย่างไร มีเรือวิ่งจากไหนไปไหน หรือไม่ใช่เรือ แต่กลายเป็นเครื่องจักรกลที่ใช้พลังไอน้ำขับเคลื่อนอื่นๆ เช่นหัวจักรรถไฟไปโน่นเลย ผมใช้อินทรเนตรสแกนแล้วหาไม่เจอ แต่คุณเพ็ญชมพูอาจจะเจอก็ได้ อยากทราบว่าบริษัทนี้เกิดขึ้นแล้วดับไปได้อย่างไร


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.ค. 13, 11:41
งานเด่นจริงๆที่ท่านริเริ่มด้วยตนเองโดยไม่มีพี่จัดให้ก็คือ การขอสัมประทานสร้างบริษัทรถไฟจาก Slangerup ชุมชนเมืองที่กำลังเติบโตของเขต Frederikssund  ห่างจากใจกลางกรุงโคเปนฮาเกนเมืองหลวงประมาณ๓๐กิโลเมตร งานนี้ท่านนำประสพการณ์จากการเป็นเจ้าของรถไฟสายหัวลำโพง-ปากน้ำมาทำเงินต่อในบ้านเกิดอย่างสบายๆ

นายพลริชลิวได้เป็นประธานกรรมการแบบ Chairman ของบริษัทนี้ตั้งแต่ปีแรกที่กลับมาถึง๒๗ปี คือจาก๑๙๐๒ ถึงปี๑๙๒๙
 
เดี๋ยวนี้ทางรัฐบาลเดนมาร์กใช้รถโดยสารประจำทางแทนระบบรางเหล็กหลังจากซื้อโอนสัมปทานรถไฟของเอกชนมาเป็นของรัฐแล้ว ร่องรอยของรางสมัยที่นายพลริชลิวดำเนินการก่อสร้างไว้ก็ถูกกลบหาย เหมือนทางรถไฟสายปากน้ำของท่านในกรุงเทพนั่นแล


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.ค. 13, 20:48
ค่ำนี้ อินทรเนตรนำผมไปพบย่อหน้าเล็กๆในหนังสือเรื่อง Scandinavia and the Scandinavians ที่ไขข้อความถึงธุรกิจของ United Steamship Company มีข้อความดังนั้

In 1902 RicheHeu returned to Denmark, where he was decorated with the Grand Cross of the Dannebrog, and made a director of the Danish East Asiatic Company, the United Steamship Company, the shipbuilding house of Burmeister and Wain, and the Landmandsbank.  

ในปี๑๙๐๒ ริชลิวกลับไปเดนมาร์ก ซึ่งเขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น Grand Cross of the Dannebrog และได้เป็นกรรมการบริษัทอิสเอเซียติกของเดนมาร์ก บริษัทยูไนเต็ดสตีมชิป ซึ่งเป็นบริษัทผู้ต่อเรือในเครือบริษัท Burmeister and Wain และธนาคารกสิกร the Landmandsbank

Burmeister & Wainมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโคเปนฮาเกน เป็นบริษัทที่มีอิสเอเซียติกเกี่ยวข้องด้วย ประกอบกิจการหลักการด้านอู่เรือใหญ่โครตๆของเดนมาร์ก  และเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ถ้าบอกว่า เครื่องยนต์ดีเซลดังกล่าวยี่ห้อ MAN B&W วิศวกรเครื่องกลของไทยก็คงร้องอ๋อ ทุกวันนี้บริษัทนี้ยังยืนยงคงกระพันอยู่

ผมจะบอกก่อนล่วงหน้า ในปี๑๙๐๙ ประธานกรรมการของบริษัทนี้ชื่อพลเรือโทริชลิวครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 13, 07:19
^
เครื่องยนต์ดีเซลข้างบนเป็นเครื่องสำหรับเรือเดินสมุทรนะครับ ตอนนายพลริชลิวไปเป็นผู้บริหารบริษัทย่อยที่ทำงานด้านการสร้างเรือ เรือเดินสมุทรสมัยนั้นยังใช้เครื่องจักรไอน้ำอยู่ อีกเป็นสิบปีกว่าจะเริ่มมีแนวคิดที่จะใช้เครื่องยนต์ดีเซล แล้วนายพลริชลิวนี่แหละที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิด จนท่านเองต้องพบวิบากในบั้นปลายชีวิต

นี่..เอาตอนสำคัญมาฉายเป็นหนังตัวอย่างอีกแล้ว

กลับมาที่ปีแรกๆหลังจากเดินทางกลับบ้านก่อน
ถัดมา๑ปี ธุรกิจด้านสัมปทานรถไฟของท่านนายพลได้นำให้ต้องต่อไปเป็นกรรมการของการรถรางโคเปนฮาเกน(The Copenhagen Tramways)ระหว่างปี๑๙๐๓ถึง๑๙๑๑ และ Skovshoved electricity and Tramway Aktieselskab ระหว่างปี๑๙๑๑ถึง๑๙๒๖ 

คำว่า Aktieselskab เป็นศัพท์เฉพาะของเดนมาร์กสำหรับกิจการของเอกชนหรือของรัฐ ที่ระดมทุนจากประชาชนมาร่วมคล้ายกับบริษัทมหาชน มีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 ก.ค. 13, 14:21
^
 จนท่านเองต้องพบวิบากในบั้นปลายชีวิต

นี่..เอาตอนสำคัญมาฉายเป็นหนังตัวอย่างอีกแล้ว


บ๊ะ ท่านอาจารย์เกริ่นเรียกแขกอีกแล้ว  ::)

 ริชลิวจะประสบวิบากกรรมเช่นไร วิบากนี้ใหญ่หลวงแค่ไหน ริชลิวจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป  ???  ???  ???


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 13, 17:31
ตามมาเล้ย

บทบาทที่นายพลริชลิวสวมในฐานะนักเจรจาเหนือเมฆ(lobbyist)ในสยามให้แก่นักธุรกิจเพื่อนร่วมชาติ และผู้ถือหุ้นใหญ่แบบลับๆของบริษัทอิสต์เอเชียติกนั้น ท่านก็ฉลาดเป็นเลิศในการแสวงหาโอกาสที่จะให้ตนเองได้ประโยชน์จากจากข้อตกลงนั้นๆเสมอ

การได้เป็นกรรมการของธนาคารกสิกร ยักษ์ใหญ่แห่งโคเปนฮาเกน(ซึ่งท่านได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นประธานในปี๑๙๐๘)มิใช่เรื่องการตกรางวัลให้ทหารแก่ แต่เป็นเรื่องคาดหวังในอิทธิพลของชายผู้นี้ซึ่งหลายคนคิดว่ายังคงแรงอยู่ในกรุงเทพ จะสามารถช่วยให้เดนมาร์กเป็นเจ้าของธนาคารสยาม ซึ่งเสมือนธนาคารชาติได้

ในปี๑๙๐๓ นายพลริชลิวเดินทางกลับมาเยือนเมืองไทยเป็นครั้งแรกหลังจากที่จากไป  ระหว่างการเดินทางท่านได้แวะปารีสเพื่อเข้าพบรัฐมนตรีว่าการคลังของฝรั่งเศส นายTheophile Delcass ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสยาม และบริษัทอิสเอเชียติก เพื่อหาแนวร่วมผลประโยชน์จากศัตรูเก่า และระหว่างที่อยู่ในกรุงเทพร่วมสองเดือน นายพลริชลิวมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ถวายรายงานความเป็นไปต่างๆเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ และกิจการงานที่ทำในขณะนั้น แม้จะไม่มีรายงานในรายละเอียดแต่ก็เชื่อว่า เรื่องของธนาคารสยามที่เนิ่นช้าอยู่จะได้รับการเพ็ดทูล แต่จะว่าอย่างไรนั้น ไม่มีใครทราบ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 13, 17:43
ต้องขอย้อนอดีตถึงที่มาที่ไปในเรื่องนี้ก่อน สำหรับผมนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่าร.ศ.๑๑๒ทีเดียว สำหรับเรื่องนั้น เรารักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไว้ได้ แต่เรื่องนี้ สยามสามารถรักษาอธิปไตยทางด้านการเงินการคลังของประเทศไว้ได้ และอย่างสุขุมคัมภีรภาพด้วย

ความพยายามของคนเดนมาร์กที่คิดการใหญ่จะมาเปิดธนาคารในกรุงเทพโดยโดยใช้ชื่อธนาคารสยามนั้น ผมเก็บประเด็นมาจากบทความ THE DANES IN SIAM : Their Involvement in Establishing The Siam Commercial Bank Ltd. At the End of the Last Century นักศึกษาผู้สนใจสามารถหาอ่านจากเน็ทได้ไม่ยาก

ก่อนกราบถวายบังคมทูลลาออกจากราชการปีเศษ นายพลริชลิวได้ลาราชการไปพักยาวที่เดนมาร์กครั้งหนึ่งตามสิทธิ์ ปีนั้นคือปี๑๘๙๙ ที่นั่นท่านและนีล แอนเดอเซนได้คบคิดกันอย่างคร่ำเคร่งที่จะขยายบทบาทในการลงทุนทำธุรกิจในสยาม บางเรื่องก็เป็นเรื่องเก่าตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเดนมาร์กครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่บัดนี้พร้อมแล้ว เช่น การที่จะสถาปนาธนาคารสยามขึ้น เมื่อกลับมากรุงเทพแล้ว นายพลริชลิวก็เริ่มลงมือดำเนินงาน โดยหาโอกาสเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลกรมหมื่นมหิศร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ)
 
แผนการจัดตั้งธนาคารที่เดนมาร์กเสนอนี้จะมีทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 750,000 ปอนด์สเตอริง(เทียบเท่า๑๓.๕ โครเนอร์เดนมาร์ก) สองในสามจะลงทุนโดยชาวเดนมาร์ก ซึ่งธนาคารในเยอรมันและรัสเซีย(หรือฝรั่งเศส)เป็นผู้ให้กู้อีกทีหนึ่ง ส่วนที่เหลือ หนึ่งในสามนั้น รัฐบาลสยามจะเป็นผู้ลงทุน ธนาคารสยามจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ และมีสาขาที่ โคเปนฮาเกน ลอนดอน ฮ่องกง สิงคโปร์

กรรมการบริหารของธนาคารสยามจะประกอบด้วยองค์คณะรวม๑๒คน โดย๖คนจะมีถิ่นพำนักในยุโรป หนึ่งในนั้นระบุว่าจะต้องมีนายพลริชลิว โดยกำหนดค่าตอบแทนไว้ปีละ๒๐๐๐ปอนด์

การลงทุนของรัฐบาลสยามในอนาคต ปีหนึ่งๆนับล้านปอนด์ จะต้องเปลี่ยนจากการซื้อพันธบัตรของรัฐบาลในประเทศยุโรปผ่านธนาคารในฮ่องกงหรือสิงคโปร์ มาใช้ช่องทางผ่านธนาคารใหม่นี้ อย่างไรก็ดี แผนการตั้งธนาคารสยามดังกล่าว ขอให้ทั้งสองฝ่ายถือเป็นความลับไว้ก่อน

ไม่ว่าจะลับอย่างไรก็ตาม ราชทูตอังกฤษประจำสยามได้เรียกผู้จัดการ Hongkong Bank กับ The Chartered Bank ของอังกฤษซึ่งมีสำนักงานสาขาในกรุงเทพมาให้ข่าวในเรื่องความพยายามของนายธนาคารเดนมาร์กเรื่องนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบในเรื่องธุรกิจของธนาคารอังกฤษทั้งสองอย่างรุนแรง แน่นอนว่าท่านราชทูตมิได้ระบุแหล่งข่าว แต่คนในวงการก็เข้าใจได้ว่าความลับไหลออกมาจากฝ่ายไทย โดยนายริเวตต์-คาร์นัค (Christopher Rivett-Carnac)ที่ปรึกษาชาวอังกฤษที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจ้างไว้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 13, 18:18
นายริเวตต์-คาร์นัคเป็นบุคคลสำคัญในเรื่องของการเงินการคลังของสยาม สามารถเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวได้โดยตรง คนๆนี้ทราบทุกเรื่อง และไม่หวั่นเกรงว่าความลับต่างๆในระบบงานของตน จะไหลไปถึงสถานทูตอังกฤษในกรุงเทพ นายริเวตต์-คาร์นัคตั้งตนเป็นฝ่ายคัดค้านแผนการจัดตั้งธนาคารของเดนมาร์กนี้ตั้งแต่ยังอยู่ในเปลือกไข่ และได้ขยายความหมั่นไส้ไปยัง “นายห้างเดนมาร์กในเครื่องแบบนายพลเรือสยาม ซึ่งใช้นามสกุลขุนนางฝรั่งเศสที่น่าสงสัยและกำพืดที่มีเลศนัย”(the enterprising Danish Admiral in the Siamese Navy with the suspiciously noble French name and doubtful ancestors)

ท่านทำบันทึกช่วยจำถึงกระทรวงโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงว่า แผนการดังกล่าวหากรัฐบาลกระทำตาม ก็จะเจอกับความยุ่งยากทั้งการเมืองการทูตแน่นอน ธนาคารสยามควรจะก่อตั้งโดยเงินลงทุนของคนไทยเอง และกรรมการทุกคนของธนาคารควรจะมีแหล่งพำนักในกรุงเทพ และทิ้งท้ายว่าคนอย่างริชลิวนั้น ไม่มีกงการอะไรที่จะมายุ่งกับเรื่องของธนาคารโดยทั้งสิ้นทั้งปวง

นายกรีวิลล์ราชทูตอังกฤษได้ทำรายงานเรื่องนี้ไปยังลอนดอนด้วยอารมณ์เดียวกันว่า คนเดนเหล่านี้พยายามจะมีบทบาทในสยามไปเสียทุกเรื่อง และกล่าวถึงริชลิวในเชิงประชดประชันว่า ท่านนายพลเรือผู้กล้าหาญของเราได้ใช้เวลาว่างไปมากมายในเรื่องของทหารเรือสยาม
 
แผนการนี้แจ่มแจ๋วมากในสายตาของคนที่อยู่ในโคเปนฮาเกน หากสำเร็จ ธนาคารแห่งสยามที่มีธนาคารกสิกรเดนมาร์กเป็นแกนนำ และกลุ่มธนาคารอื่นๆทั้งในเดนมาร์ก เยอรมัน รัสเซีย แม้กระทั่งฝรั่งเศสจะร่วมลงขัน ให้กู้เงินมาลงเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างมาก ส่วนรัฐบาลสยามลงทุนด้วยเม็ดเงินของตนแท้ๆ จะเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อย ส่วนลูกค้าชั้นดีรอกู้อยู่แล้วก็คือ บริษัทอิสต์เอเชียติกและบริษัทของคนเดนมาร์กทั้งหลายในกรุงเทพ
แต่การครั้งนี้ไปบั่นทอนอิทธิพลของอังกฤษโดยรวมเข้า ก็แน่นอนที่จะได้รับการต่อต้านจากอังกฤษอย่างโจ่งแจ้งจนไม่สามารถแจ้งเกิดได้ง่ายๆอย่างที่คาดหวัง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 13, 20:15
แต่การคัดค้านของอังกฤษก็ไม่ทำให้ทางโคเปนฮาเกนถอดใจ แผนการณ์ดังกล่าวเงียบไปร่วมสิบเดือนก่อนที่หนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในกรุงเทพลงข้อความว่า ได้รับโทรเลขจากแหล่งข่าวในฮัมเบิร์ก รายงานว่าธนาคารกสิกรของเดนมาร์กได้รับสัมปทานในการดำเนินกิจการธนาคารแห่งชาติของสยาม โดยมีธนาคารในเยอรมัน ฝรั่งเศสและรัสเซียต่างแสดงความสนใจที่จะร่วมธุรกิจด้วยเงินลงทุนราวหนึ่งล้านปอนด์สเตอริง

ข่าวนี้ทำให้ท่านทูตเกรวิลล์เด้งผางไปหานายริเวตต์-คาร์นัค ซึ่งปฏิเสธว่าตนไม่ทราบเรื่องครั้งนี้เลย แต่ถ้าเป็นนโยบายอย่างแน่วแน่ที่สยามจะถ่วงดุลย์ชาติมหาอำนาจแล้ว ก็คงระวังไม่ให้ที่ปรึกษาชาวอังกฤษอย่างตนล่วงรู้ ทั้งสองเพ่งโทษไปที่ริชลิว ในฐานะคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว ผู้ที่ทรงเชื่อนายพลผู้นี้โดยตลอด เมื่อคิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นแน่ ราชทูตอังกฤษจึงได้ขอเข้าเฝ้ากรมหมื่นเทววงศ์ฯ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งคำตอบที่ทรงกล่าวว่าเป็นความเห็นส่วนพระองค์ก็คือ ข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องโคมลอยที่ปล่อยออกมาโดยไม่เป็นความจริง แต่นายเกรวิลล์ไม่เชื่อ

ก็ไม่ต้องสงสัย ทั้งเอนเดอเซนและริชลิวต่างอยู่เบื้องหลัง โดยมีสมองอันเฉียบคมของชายคนแรกเป็นผู้วางแผน และตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญในสยามของชายคนที่สอง ทำให้การสอดโครงการระดับนี้เข้าสู่การพิจารณาของบุคคลสำคัญที่นี่ได้อย่างถูกวงจร แม้จะยังห่างจากจุดสำเร็จ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 ก.ค. 13, 21:27
อืมห์  มหาอำนาจเค้าชิงไหวชิงพริบกัน อยากดูต่อว่าหญ้าแพรกแบบเราเอาตัวรอดแบบบัวไม่ให้ช้ำมาก น้ำพอขุ่นๆ ยังไง  ต้องเข้ามาลงชื่อติดตามต่อ เป็นการเร่งซายานวรัตนไปในตัว  ::)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 13, 06:34
ผมเขียนเรื่องฝรั่งแท้ๆ ยังให้เป็นพม่าอยู่ไม่เลิกซะทีนะครับ

ความพยายามยกที่สอง
.
นายแอนเดอเซนเคยมีความปรารถนาที่จะได้เห็นเรือรบของราชนาวีเดนมาร์กภายใต้พระบัญชาของเจ้าชายวาลเดอมาร์ พระราชโอรสองค์เล็กของพระเจ้าคริตสเตียนที่๙ ไปลอยลำอวดธงในสยามเพื่อสนับสนุนแผนการต่างๆของEACvอยู่ ความคิดนี้เมื่อก่อนหอการค้าของเดนมาร์กไม่เห็นด้วย แต่ต่อมายอมนำเสนอสู่การพิจารณาของรัฐบาล เพื่ออนุมัติงบประมาณการเดินทางครั้งนี้ให้ ซึ่งตกลงด้วยความยากลำบาก จัดให้เพียง๑๐๐,๐๐๐โครเนอร์ ขาดไป๕๐,๐๐๐โครนเนอร์ เอกชนต้องลงขันกันเอง

เมื่อเสร็จเรื่องเงินๆทองๆ แอนเดอเซนก็รีบเขียนมาถึงนายพลริชลิวในกรุงเทพว่า "เราจำเป็นต้องใช้เจ้าชายวาลเดอมาร์ในบทบาทที่ต่างออกไปจากปกติของพระองค์ ซึ่งทรงยอมที่จะทำและเจ้าหญิงมารีก็กำลังติวเข้มให้พระองค์อยู่ เจ้าหญิงจะร่วมโดยเสด็จมาสยามด้วย ซึ่งจะเป็นการดีอย่างมากเพราะเจ้าหญิงเป็นผู้ที่ทรงงานหนักเพื่อEACมาตลอด ส่วนเจ้าชายวาลเดอมาร์ได้ทรงสัญญาที่จะกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวจุฬาลงกรณ์ในทุกเรื่องที่แอนเดอเซนและริชลิวต้องการเมื่อทรงมาถึงสยามแล้ว"


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 13, 06:51
เรือที่ประทับของเจ้าชายวาลเดอมาร์ ที่ราชนาวีเดนมาร์กจัดถวายชื่อ Valkyrien เป็นเรือรบที่ทันสมัยที่สุดของประเทศ ส่วนเอกชนมาโดยเคบินผู้โดยสารเรือสินค้าของEAC ชื่อ SS Annam มีบุคคลสำคัญในวงการธนาคารและธุรกิจของเดนมาร์กได้ร่วมคณะมาด้วยสองสามคนพร้อมกับผู้สื่อข่าวรับเชิญ เรือทั้งสองเข้าเทียบท่าเรือของสยามพร้อมกันในวันที่๓๐ธันวาคมของปี๑๘๙๙ โดยปราศจากเจ้าหญิงมารี อ้างว่าทรงเป็นห่วงพระเจ้าคริตสเตียนที่ทรงชราภาพมากแล้ว และทรงคิดถึงโอรสธิดาเล็กๆของพระนางเอง

ท่านผู้อ่านคงจำเจ้าหญิงมารี แนวที่๕ของฝรั่งเศสในราชสำนักเดนมาร์กได้นะครับ เหตุผลที่ไม่เสด็จ จริงแล้วอาจจะทรงเขินพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ ใครก็รู้ว่า คำสั่งลับๆที่มีมาถึงกรุงเทพในช่วงร.ศ.๑๑๒ ให้กงสุลสั่งทหารเดนมาร์กให้ถอนตัวจากกองทัพสยาม ไม่ให้เข้าสู้รบกับฝรั่งเศสนั้น มาจากใคร คนที่นี่เขาจึงไม่เชื่อฟังเพราะรู้เส้นเห็นไส้พระนาง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 13, 06:57
นายพลริชลิวได้ออกแรงทุกหยาดหยดเพื่อให้การรับรองพระราชอาคันตุกะนี้ ยิ่งใหญ่ราวกับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาเอง ทุกวันมีงานเลี้ยง งานเต้นรำ เชิญแขกผู้มีเกียรติทั้งไทยและเทศมาร่วม จัดงานฉลองปีใหม่ฝรั่งร่วมกันในพระบรมมหาราชวัง ท่ามกลางความริษยาของคนอังกฤษที่เห็นการแสดงออกอย่างสนิทสนมของทั้งสองพระราชวงศ์ รื่นเริงบรรเทิงพระทัยจนกระทั่งเสด็จกลับในวันที่๑๒ มกราคม

ความสำเร็จของการเสด็จมาเยือนเมืองไทยของเจ้านายเดนมาร์กพระองค์นี้ในด้านนามธรรมก็เป็นคุณแก่ EAC มากโขอยู่ ส่วนในรูปธรรม ที่เห็นเนื้อๆก็มีการลงนามให้สัมปทานป่าไม้สักงามๆที่ป่าแม่กำปอง ในจังหวัดแพร่แก่EACอีกแปลงหนึ่ง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 13, 07:31
แต่ทว่า หลังจากที่เสด็จกลับไปแล้วเพียงสามวัน นายริเวตต์–คาร์นัคก็สามารถยืนยันข้อมูลที่ตนเคยกระซิบราชทูตอังกฤษว่า ธนาคารภายใต้การบริหารของชาวเดนมาร์กจะได้รับการก่อตั้งขึ้นในสยามในเดือนตุลาคมที่จะมาถึงข้างหน้า โดยเงินลงทุน ๑,๐๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ร่วมกันโดยฝ่ายเดนมาร์ก เยอรมัน รัสเซีย และฝรั่งเศส โดยไม่กล่าวถึงฝ่ายสยาม  ก่อนหน้านั้นรายงานให้ทราบแต่เพียงผลของการเจรจาระหว่างรัฐบาลสยามซึ่งมีนายริเวตต์–คาร์นัคเป็นผู้แทน กับฝ่ายเดนมาร์กโดยนายแอนเดอแซนและนายไฮเดะ(Heide)จากธนาคารเอกชนเดนมาร์ก สรุปผลออกมาในลักษณะดังกล่าว
ธนาคารที่ว่านี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อธนาคารแห่งสยาม โดยจะยอมให้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินได้เหมือนกับธนาคารสัญชาติอังกฤษทั้งสอง แต่จะได้รับธนบัตรของรัฐบาลสยามไปสำหรับการดำเนินธุรกรรมปกติ ไม่มีสิทธิพิเศษอย่างอื่นเหนือคู่แข่งขันที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว ท่านทูตอังกฤษรายงานไปลอนดอนว่า เป็นที่ชัดเจนว่าข้อเสนอทั้งหมดถูกกำหนดจากฝ่ายสยามเอง

มิน่าเล่า ไหนว่านายริเวตต์–คาร์นัคคนนี้เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของกระทรวงการคลัง แต่ไม่ยักกะได้รับพระราชทานราชทินนามแสดงความชื่นชมแต่อย่างใด ก็เล่นทำตัวเป็นสมุนสายลับ๐๐๗อยู่นี่เอง เลยโดนคนไทยใช้เป็นเกลือไปจิ้มเกลือซะเลย

แอนเดอเซนและไฮเดะใช้เวลาที่เหลือแก้เซ็ง โดยไปดูที่ดินในใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพที่เหมาะสำหรับตั้งธนาคารเผื่อเอาไว้ แล้วจ่ายเงินซื้อไป ๔๘,๐๐๐เหรียญสหรัฐ ผมขี้เกียจค้นว่าเท่ากับกี่บาท และที่ดินดังกล่าวอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้เป็นอะไร
 
หลังจากนั้น ข่าวของธนาคารสยามก็เงียบหายไปอีกนาน
จบยกสอง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 13, 07:41
ผมจะเว้นวรรคให้ท่านผู้อ่านปรบมือให้บรรพบุรุษของพวกเราหน่อย พรุ่งนี้กลับจะมาต่อยกที่สาม ซึ่งเป็นยกสุดท้าย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: spyrogira ที่ 21 ก.ค. 13, 09:10
ลงชื่อร่วมติดตามครับ ... //Emo ปรบมือ ..

... ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.ค. 13, 10:14
การได้เป็นกรรมการของธนาคารกสิกร ยักษ์ใหญ่แห่งโคเปนฮาเกน(ซึ่งท่านได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นประธานในปี๑๙๐๘)มิใช่เรื่องการตกรางวัลให้ทหารแก่ แต่เป็นเรื่องคาดหวังในอิทธิพลของชายผู้นี้ซึ่งหลายคนคิดว่ายังคงแรงอยู่ในกรุงเทพ จะสามารถช่วยให้เดนมาร์กเป็นเจ้าของธนาคารสยาม ซึ่งเสมือนธนาคารชาติได้

ก่อนกราบถวายบังคมทูลลาออกจากราชการปีเศษ นายพลริชลิวได้ลาราชการไปพักยาวที่เดนมาร์กครั้งหนึ่งตามสิทธิ์ ปีนั้นคือปี๑๘๙๙ ที่นั่นท่านและนีล แอนเดอเซนได้คบคิดกันอย่างคร่ำเคร่งที่จะขยายบทบาทในการลงทุนทำธุรกิจในสยาม บางเรื่องก็เป็นเรื่องเก่าตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเดนมาร์กครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่บัดนี้พร้อมแล้ว เช่น การที่จะสถาปนาธนาคารสยามขึ้น เมื่อกลับมากรุงเทพแล้ว นายพลริชลิวก็เริ่มลงมือดำเนินงาน โดยหาโอกาสเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลกรมหมื่นมหิศร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ)
 
แผนการจัดตั้งธนาคารที่เดนมาร์กเสนอนี้จะมีทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 750,000 ปอนด์สเตอริง(เทียบเท่า๑๓.๕ โครเนอร์เดนมาร์ก) สองในสามจะลงทุนโดยชาวเดนมาร์ก ซึ่งธนาคารในเยอรมันและรัสเซีย(หรือฝรั่งเศส)เป็นผู้ให้กู้อีกทีหนึ่ง ส่วนที่เหลือ หนึ่งในสามนั้น รัฐบาลสยามจะเป็นผู้ลงทุน ธนาคารสยามจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ และมีสาขาที่ โคเปนฮาเกน ลอนดอน ฮ่องกง สิงคโปร์

กรรมการบริหารของธนาคารสยามจะประกอบด้วยองค์คณะรวม๑๒คน โดย๖คนจะมีถิ่นพำนักในยุโรป หนึ่งในนั้นระบุว่าจะต้องมีนายพลริชลิว โดยกำหนดค่าตอบแทนไว้ปีละ๒๐๐๐ปอนด์

แผนการของ "ริชลิว" ลงเอย ด้วยการถือหุ้นของธนาคารกสิกรเดนมาร์กเพียง ๒๔ เปอร์เซ็นต์ โดยมีธนาคารเยอรมันถือหุ้นมากกว่า คือ ๓๓ เปอร์เซ็นต์  ;)

กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย จึงทรงตัดสินพระทัยที่จะตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้นดำเนินงานอย่างเปิดเผย โดยกำหนดเงินทุนไว้เป็นจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แบ่งออกเป็นหุ้นจำนวน ๓,๐๐๐ หุ้น ราคา ๑,๐๐๐ บาทต่อหุ้น โดยที่ทรงตระหนักดีถึงความสำคัญของธุรกิจด้านการค้าต่างประเทศ ดังนั้นเพื่อให้ธนาคารที่จะทรงตั้งขึ้น สามารถดำเนินธุรกิจด้านนี้ได้อย่างกว้างขวาง มีตัวแทนอยู่ในทวีปยุโรป รวมทั้งเพื่อให้พนักงานของธนาคารได้มีโอกาสเรียนรู้ วิธีการดำเนินงานเกี่ยวกับการติดต่อด้านการค้าต่างประเทศ พระองค์จึงทรงเชิญชวนให้ดอยซ์เอเชียติสแบงก์ (Deutsch Asiatische Bank) ของประเทศเยอรมนี และเดนดานส์เกลานด์มานด์ส แบงก์ (Den Danske Landmancls Bank) ธนาคารจากประเทศเดนมาร์ก เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วยจำนวน ๓๓๐ หุ้น และ ๒๔๐ หุ้น ตามลำดับ และเมื่อทรงจำหน่ายหุ้นได้ครบแล้ว จึงทรงยื่นขอเปลี่ยนกิจการบุคคลัภย์เป็นธนาคารพาณิชย์ต่อทางราชการ


บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด เปิดดำเนินการในอาคารที่ทำการของ บุคคลัภย์เดิม ที่ตำบลบ้านหม้อ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยมีพระสรรพการหิรัญกิจ เป็นผู้จัดการฝ่ายในประเทศ และนายเอฟ คิเลียน ตัวแทนผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศ สัญชาติเยอรมัน เป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ ในการเปิดดำเนินกิจการธนาคารขึ้นนี้ คณะผู้จัดตั้งได้ขอพระราชทานตราอาร์มแผ่นดิน มาเป็นตราประจำธนาคารมาตั้งแต่ต้น

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 13, 11:54
อ้าวซวยแล้วอัตโน !
อุตส่าห์ปูพื้นให้ผู้อ่านลุ้นตอนจบ คุณเพ็ญเล่นเอากึ๋นไปเผยหมดแล้ว ใครอ่านแล้วหมดความตื่นเต้นจะมาโทษผมไม่ได้นะเออ

ไม่เป็นไร แค่เสียเวลากับต้นฉบับที่เตรียมไว้รอจะลง แต่ต้องทิ้งไปแล้วเขียนแก้ไขใหม่
ท่านผู้อ่านก็อดทนรอหน่อยก็แล้วกัน

ระหว่างนี้ขอเชิญไปยังกระทู้ของผมที่คุณเพ็ญชมพูไปตัดตอนมาเฉลย เป็นการปูพื้นไปก่อน เดี๋ยวผมกลับมาแล้วจะได้ตามต่อโดยไม่เสียฟีลลิ่ง
 
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5555.15


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.ค. 13, 12:09
ประวัติแบงก์สยามกัมมาจลเรื่องผู้ถือหุ้นเริ่มแรกเป็นที่เปิดเผยอยู่แล้ว

แต่เบื้องหลังนั้นเป็นเช่นใด เหตุไฉนเหตุการณ์จึงกลับแปรผันให้ทางฝ่ายเดนมาร์กเป็นรองเยอรมัน อยากทราบนัก เรื่องนี้สิน่าตื่นเต้น รออ่านคุณนวรัตนมาเฉลย  ;)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 13, 19:59
ขึ้นยกที่สาม ความพยายามครั้งสุดท้าย

ธนาคารสยามดังกล่าวไม่สามารถจะเกิดได้ เพราะผิดเงื่อนไขหลักที่ตกลงไว้กับธนาคารผู้จะให้กู้ ระบุโครงสร้างของธนาคารจะมีรัฐบาลสยามลงทุนด้วย แต่จะมีฐานะแค่หุ่นเชิด ไม่ใช่อย่างที่ทั้งสองหน่อไปเซ็นต์ข้อตกลงมา

ขอคืนกลับสู่ความในคคห.ที่๒๐๕ ย่อหน้าสุดท้าย ความว่า
อ้างถึง
ในปี๑๙๐๓ นายพลริชลิวเดินทางกลับมาเยือนเมืองไทยเป็นครั้งแรกหลังจากที่จากไป  ระหว่างการเดินทางท่านได้แวะปารีสเพื่อเข้าพบรัฐมนตรีว่าการคลังของฝรั่งเศส นายTheophile Delcass ในเรื่องที่บริษัทอิสต์เอเชียติกเข้าไปเกี่ยวข้องกับสยาม เป็นการหาแนวร่วมผลประโยชน์กับศัตรูเก่า แล้วจึงมากรุงเทพ ระหว่างอยู่ที่นี่ร่วมสองเดือนนั้น นายพลริชลิวมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ถวายรายงานความเป็นไปต่างๆเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ และกิจการงานที่ตนทำในขณะนั้น แม้จะไม่มีรายงานในรายละเอียดแต่ก็เชื่อว่า เรื่องของธนาคารสยามที่เนิ่นช้าอยู่จะได้รับการเพ็ดทูล แต่จะว่าอย่างไรนั้น ไม่มีใครทราบ

เมื่อนายพลริชลิวกลับจากมาเยี่ยมเยือนเมืองไทยเพื่อทำงานแนวที่ตนถนัดให้บรรดาสหายสายธุรกิจแล้ว นายแอนเดอเซนก็จัดทัวร์ตะวันออกไกลขึ้นใหม่ คราวนี้ไม่ต้องการเรือรบเพราะคนสยามไม่กลัว พวกเดนเองก็ไม่กล้า เจ้าชายวาลเดอมาร์ก็ยอมเปิดหน้าชก พาเจ้าชายยอร์ค หลานปู่เสด็จมาในเรือของEAC ชื่อว่า SS Birma พร้อมๆกับนักธุรกิจคนสำคัญที่EACได้สร้างสัมพันธภาพอันลึกซึ้งไว้ เช่น Isac Gliickstadt กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกร  Knut Wallenberg กรรมการผู้จัดการธนาคาร Swedish Enskilda Banken

ระหว่างการเยือนกรุงเทพ ได้แวะทำนิติกรรมที่นายพลริชลิวดำเนินการในฐานะนายหน้าไว้ให้ล่วงหน้าเรียบร้อย ด้วยการลงนามในสัญญากู้เงินระหว่างรัฐบาลสยามกับธนาคารของแสกนดิเนเวียทั้งสอง  เป็นเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ในอัตราดอกเบี้ยที่สยามเห็นว่าสมเหตุสมผลมาก แต่ไม่เปิดเผย ก่อนหน้านั้น สยามจำเป็นต้องกู้เงิน๔,๐๐๐,๐๐๐ปอนด์ ในอัตราดอกเบี้ย๔%ต่อปีจากอังกฤษมาพัฒนาประเทศด้านคมนาคม ด้วยการสร้างทางรถไฟสายปักษ์ใต้ เชื่อมโยงกับรถไฟมลายู-สิงคโปร์ของอาณานิคมอังกฤษ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 13, 20:13
ปีเดียวกันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่๒ เพื่อรักษาพระองค์ แต่จุดมุ่งหมายลับๆก็คืองานการเมืองที่ยังค้างคาพระทัยอยู่ ฝรั่งเศสจอมเบี้ยวหลังได้ดินแดนลาวและเขมรรวมทั้งค่าปรับไปแล้ว ยังทำหน้าตายไม่ยอมถอนตัวออกจากตราดที่อ้างว่าจะยึดไว้เป็นประกันจนกว่าสยามจะทำตามข้อตกลงครบถ้วน โดยยอมคืนให้แต่จันทบุรี ระหว่างนั้นก็ตะลุยขุดหาไพลิน หรือ Blue sapphire ราคาแสนแพงที่เศรษฐินีปารีเซียงเห่อหามาประดับกายไปด้วย สยามทำอะไรทุกอย่างที่ฝรั่งเศสต้องการก็แล้ว ฝรั่งจมูกยาวก็ยังดื้อด้านไม่ยอมคืน
 
ทรงมีกำหนดการไปเยือนมหามิตรทั้งหลายที่หวังว่าจะช่วยให้พระองค์ทรงเจรจากับฝรั่งเศสได้ราบรื่นขึ้น นอกจากพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่๒พระสหายเก่า และบิสมาร์กผู้พิชิตแห่งเยอรมันแล้ว ก็พระชายาจอมแสบของเจ้าชายวาลเดอมาร์ ราชินีกุลฝ่ายซ้ายชาวฝรั่งเศสที่มีเครือข่าย สามารถพูดคุยกับนักการเมืองในปารีสได้หลากระดับ ก็เป็นเป้าหมายที่ทรงต้องการจะเสด็จไปพบ

ผลลัพท์ก็เป็นอย่างที่รู้ๆ สุดท้ายฝรั่งเศสก็ยอมนั่งโต๊ะเจรจา หลังจากรีดไถดินแดนเขมรลาวจากไทยไปอีกสองชิ้น ก็คืนตราด ซึ่งเป็นเมืองไทยแท้ๆให้สยาม


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 13, 20:20
นายพลริชลิวมารอรับเสด็จถึงซานรีโมในอิตาลี่ และร่วมขบวนเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยตั้งแต่วันที่๑๒พฤษภาคม๑๙๐๗ ในงานพระราชทานเลี้ยงรับรองที่พระเจ้าเฟรเดอริกที่๘(King Frederik VIII) ซึ่งเสด็จขึ้นครองพระราชบัลลังก์เดนมาร์กหลังการสวรรคตของพระเจ้าคริสเตียน ทรงจัดขึ้นถวายพระเกียรติยศแด่พระมหากษัตริย์ไทยในวันที่๑กรกฏาคมนั้น ทรงมีพระราชโองการแต่งตั้งให้นายพลโทริชลิว เป็นขุนนางในพระราชสำนัก(Chamberlain)เช่นเดียวกับที่ท่านได้เป็นพระยาพานทองของสยาม ต่อไปนี้คนเดนมาร์กจะต้องเรียกท่านว่า Chamberlain Richelieu จะไปเอ่ยนามเฉยๆไม่ได้เชียวนะเออ ส่วนนายแอนเดอเซน งานนี้ได้เครื่องราชย์ชั้นสายสะพายไปประดับเสื้อนอกหนึ่งเส้น

คืนต่อมาแซมเบอลินริชลิวได้จัดงานเลี้ยงถวายพระกระยาหารค่ำแด่พระเจ้าอยู่หัวที่คฤหาสน์ของตน และไม่ลืมจัดที่ประทับถวายกรมหมื่นมหิศรให้ร่วมโต๊ะเสวยด้วยความชำนาญเกม

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงอยู่ระหว่างเสด็จมาดูงานการธนาคารเป็นเวลา ๙ เดือน และมาร่วมตามเสด็จประพาสยุโรปด้วยในคราวนี้ เรื่องการที่จะจัดตั้งสถาบันการเงินของสยามคงจะเป็นหัวข้อในการสนทนาบ้าง ตามจังหวะควรมิควรที่นักเจรจาระดับเหนือเมฆจะเห็นว่าไม่ผิดกาละเทศะ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 13, 20:25
นายพลริชลิว(เรียกอย่างเดิมดีกว่า เรียกแซมเบอลินริชลิวยากไปหน่อย)มีภาพร่วมอยู่ในพระบรมฉายาลักษณ์ในคราวเสด็จไปทอดพระเนตรพระอาทิตย์เที่ยงคืนที่นอร์ดแคปป์(Nordkapp) ประเทศนอร์เวย์ ในวันที่๑๒ กรกฏาคม หน้าก้อนศิลาที่จารึกพระปรมาภิไธย ตามที่นายพลริชลิวเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือ และช่างสลักหินไว้ถวายงาน
 
ในรูป คนที่ยืนกลางเอาศอกเท้าหินนั่นแหละ ท่านแซมเบอลินละ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.ค. 13, 20:33
พระยาชลยุทธได้ตระเตรียมเครื่องมือขึ้นมาตามเคยที่จะจาฤก จ.ป.ร. แต่อยู่ข้างกันดารมาก จะหาศิลาก้อนใหญ่บนนั้น ไม่มีเลยมีอยู่ก้อนเดียว ซึ่งเปนศิลาติดไม่ใช่กลิ้งได้ ลงมือปราบน่า พวกช่างไม้แลคนที่หามรวม ๕ คนด้วยกัน ช่วยกันสกัด พ่อไปเขียน จ.ป.ร. แลเลขฝรั่ง ๑๙๐๗ แล้วพวกนั้นสกัด  สกัดของเขาดีแลคนทำงานก็แขง ๕ คนเท่านั้นไม่ช้าเท่าใดก็แล้ว พวกเราไปพักถ่ายรูปแลกินของต่าง ๆ ซื้อโปสต์ก๊าดเขียนโปสต์ก๊าด จนการแล้วเสร็จ ไปถ่ายรูปในที่นั้น ออกคิดถึงพวกแตรของเรา เพราะธรรมเนียมสลัก จ.ป.ร. เวลาแล้วเคยเป่าแตรบอกสำเร็จ ถ้าเรือมหาจักรีมาเปนได้เป่ากัน

จาก พระราชนิพนธ์ "ไกลบ้าน"   ;D



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 13, 20:50
^


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 13, 05:00
นักประวัติศาสตร์ชาวเดนมาร์กเชื่อว่า การที่กรมหมื่นมหิศรฯ หลังเสด็จกลับจากการศึกษางานแล้ว ทรงแอบตั้งบุคคลัภย์ขึ้นโดยจดทะเบียนเป็นห้องสมุด แต่ดำเนินกิจการคล้ายธนาคารโดยพระเจ้าอยู่หัวทรงรับรู้นั้น เป็นผลพวงมาจากการเริ่มต้นแผนการตั้งธนาคารสยาม-เดนมาร์กในคราวที่แล้ว อย่าว่าแต่คนเดนมาร์กเลย อังกฤษจอมโวยเจ้าเก่าก็เชื่ออย่างนั้น จึงมีหนังสือทักท้วงจากอัครราชทูตปาเจย์(R.S. Paget)ด้วยถ้อยคำแสบๆคันๆไปยังพระยากัลยาณไมตรี(J.I. Westengard) ที่ปรึกษาเชื้อชาติเดนมาร์ก สัญชาติอเมริกันในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวหากรมหมื่นมหิศรฯว่าทรงใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะเสนาบดีกระทรวงพระคลัง ถ่ายโอนเงินฝากของรัฐบาลสยามที่เปิดบัญชีไว้ในธนาคารของคนอังกฤษไปยังธนาคารสยามที่แอบแฝงอยู่ภายใต้ชื่อลวงว่าเป็นสโมสรนักอ่าน(Book Club) เพราะมีการเปิดบัญชีให้สมาชิกฝากเงินและยืมเงินได้ ซึ่งผิดสากลปฏิบัติและหมื่นเหม่ต่อการผิดกฏหมาย กรมหมื่นมหิศรฯทรงปฏิเสธ
 
บทความเขียนโดยคนเดนมาร์กกล่าวต่อว่า เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงแนะนำให้พระองค์ลาออกเพื่อลดแรงกดดัน ซึ่งในที่สุดทรงจำใจทำหนังสือกราบบังคมทูลลาออกเมื่อวันที่๒๔พฤษภาคม๑๙๐๖ โดยอ้างว่าทรงประชวร

โดยข้อเท็จจริง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ทรงประชวรจริง มิอาจจะทรงรับราชการต่อไปได้ หลังการลาออกก็ต้องประทับรักษาพระองค์ที่วัง และสิ้นพระชนม์ในวันที่๑๕เมษายนพ.ศ.๒๔๕๐ หรือค.ศ.๑๙๐๗ ไม่ถึงปีหลังจากที่ทรงลาออก


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 13, 05:09
เป็นที่ยอมรับว่าก่อนการลาออกของพระองค์ กรมหมื่นมหิศรฯได้ทรงปูทางไว้แล้วให้เกิดธนาคารสยามกัมมาจล(The Siam Commercial Bank Ltd)ขึ้นในปี๑๙๐๖  โดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติ และธนาคารนี้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราแผ่นดินเป็นเครื่องหมายของธนาคารด้วย

ตามหลักฐานฝ่ายสยามนั้น ธนาคารตราหุ้นไว้๓,๐๐๐หุ้น ผู้ถือหุ้นรายสำคัญประกอบด้วยธนาคารกสิกรแห่งเดนมาร์ก๒๔๐หุ้น(๘%) ธนาคารดอยชเอเชียติก๓๓๐หุ้น(๑๑%) ส่วนผู้ถือหุ้นฝ่ายสยามประกอบด้วยเอกชนไทยหลายบุคคล รวมกันแล้วเป็นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่จะสามารถกำหนดนโยบายได้

อ้างถึง
ข้อความโดย: เพ็ญชมพู
แผนการของ "ริชลิว" ลงเอย ด้วยการถือหุ้นของธนาคารกสิกรเดนมาร์กเพียง ๒๔ เปอร์เซ็นต์ โดยมีธนาคารเยอรมันถือหุ้นมากกว่า คือ ๓๓ เปอร์เซ็นต์  
 
ตามที่คุณเพ็ญได้ปาดไว้ ความหวังของชาวต่างประเทศซึ่งมีเดนมาร์กเป็นแกนนำที่จะถือครองหุ้นของธนาคารสยาม๒ใน๓ จบลงด้วยการมีหุ้นรวมกันแค่๑๙% (ไม่ใช่๒๔+๓๓=๕๗% นะครับคุณเพ็ญ) ส่วนที่ถามทำนองว่าทำไมเดนมาร์กกลายเป็นถือหุ้นนัอย เยอรมันกลับถือหุ้นมากนั้น เอกสารของเดนมาร์กไม่ได้แจ้งไว้ ผมก็มิอาจเดา


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 13, 05:15

อ้างถึง
ข้อความโดย: เพ็ญชมพู
ประวัติแบงก์สยามกัมมาจลเรื่องผู้ถือหุ้นเริ่มแรกเป็นที่เปิดเผยอยู่แล้ว

เหรอครับ งั้นช่วยกรุณานำมาลงหน่อย ผู้ถือหุ้นฝ่ายสยามนอกจากกรมหมื่นมหิศรฯและพระสรรพาการแล้ว ประกอบด้วยผู้ใดอีกบ้าง ถือกันคนละกี่เปอร์เซนต์ ผมอยากทราบเหมือนกัน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.ค. 13, 06:15
๑.
อ้างถึง
ข้อความโดย: เพ็ญชมพู
แผนการของ "ริชลิว" ลงเอย ด้วยการถือหุ้นของธนาคารกสิกรเดนมาร์กเพียง ๒๔ เปอร์เซ็นต์ โดยมีธนาคารเยอรมันถือหุ้นมากกว่า คือ ๓๓ เปอร์เซ็นต์  
 
ตามที่คุณเพ็ญได้ปาดไว้ ความหวังของชาวต่างประเทศซึ่งมีเดนมาร์กเป็นแกนนำที่จะถือครองหุ้นของธนาคารสยาม๒ใน๓ จบลงด้วยการมีหุ้นรวมกันแค่๑๙% (ไม่ใช่๒๔+๓๓=๕๗% นะครับคุณเพ็ญ)

โจทย์คณิตศาสตร์ข้อนี้คำนวณผิด เนื่องจากความเผอเรอ มองหุ้นแบงก์กัมมาจลจาก ๓,๐๐๐ หุ้น เป็น ๑,๐๐๐ หุ้น  ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่ง :-[

๒.
อ้างถึง
ข้อความโดย: เพ็ญชมพู
ประวัติแบงก์สยามกัมมาจลเรื่องผู้ถือหุ้นเริ่มแรกเป็นที่เปิดเผยอยู่แล้ว

เหรอครับ งั้นช่วยกรุณานำมาลงหน่อย ผู้ถือหุ้นฝ่ายสยามนอกจากกรมหมื่นมหิศรฯและพระสรรพาการแล้ว ประกอบด้วยผู้ใดอีกบ้าง ถือกันคนละกี่เปอร์เซนต์ ผมอยากทราบเหมือนกัน

ข้อนี้เป็นความผิดพลาดในการสื่อสาร ที่ว่าผู้ถือหุ้นที่เปิดเผยอยู่แล้วหมายถึงผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศ มีรายละเอียดอยู่ใน เว็บพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย (http://www.thaibankmuseum.or.th/museum302_2.php)  ;D



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.ค. 13, 06:20
อย่างไรก็ตามเรื่องรายละเอียดผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย คุณหนุ่มได้เฉลยไว้บางส่วนแล้ว

มาต่อคำตอบที่ว่าทำไมพระสรรพการหิรัญกิจ ถึงได้เป็นผู้จัดการแบงค์สยามกัมมาจล ซึ่งได้เคยอธิยายไว้ว่าท่านได้ถือหุ้นเป็นอันดับสอง จึงได้นำทะเบียนผู้ถือหุ้นมาให้ชมกัน

อันดับ ๑ กรมหมื่นมหิศพระราชหฤทัย จำนวน ๕๐๓ หุ้น เป็นเงิน ๕๐๓,๐๐๐ บาท

อันดับ ๒ พระสรรพการหิรัญกิจ จำนวน ๓๔๐ หุ้น เป็นเงิน ๓๔๐,๐๐๐ บาท

อันดัย ๓ ดอยน์เอเซียทิช จำนวน ๓๓๐ หุ้น เป็นเงิน ๓๓๐,๐๐๐ บาท

อันดับ ๔ กิมเซ่งหลี  จำนวน ๓๑๔ หุ้น เป็นเงิน ๓๑๔,๐๐๐ บาท

อันดับ ๕ พระคลังข้างที่ จำนวน ๓๐๐ หุ้น เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5555.0;attach=39541;image)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 13, 13:46
^
เยี่ยม
ทั้งคุณหนุ่มสยาม เจ้าของข้อมูลหายาก
และ
คุณเพ็ญชมพู ผู้เชี่ยวชาญการส่องอินทรเนตร


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 13, 14:21
รายนามผู้ถือหุ้นฝ่ายสยามก็ตรงไปตรงมา ไม่มีวี่แววว่าใครจะเป็นโนมีนี่ให้ใคร

ส่วนผู้ถือหุ้นฝ่ายฝรั่ง ซึ่งมีธนาคารกสิกรแห่งเดนมาร์ก๒๔๐หุ้น(๘%) ธนาคารดอยชเอเชียติก๓๓๐หุ้น(๑๑%) และโผล่มาในทะเบียนหุ้นของคุณหนุ่ม ๑ คน คือนายเอฟ.คอกซ์ ถือ ๕๐หุ้น(๑.๖%) ซึ่งน่าจะเป็นคนของเขา รวมกันแล้วฝรั่งถือหุ้นเกินกว่า๒๐%
 
ตรงนี้มีนัยยะสำคัญ

การถือหุ้นนั้น ในตำราบอกว่า ถ้าถือครองหุ้นใหญ่(เกิน๕๐%)ไม่ได้ ก็ควรจะถอยมาถือแค่(๒๐%)
ทำไมหรือครับ เพราะตามกฏหมายเขียนว่า ผู้ถือหุ้นจำนวน๑ใน๕(ซึ่งเท่ากับ๒๐%) สามารถเข้าชื่อกัน ให้บริษัทเปิดการประชุมวิสามัญของผู้ถือหุ้นทั่วไปได้

ดังนั้นถึงฝ่ายผู้ถือหุ้นใหญ่จะกุมอำนาจบริหารก็จริง แต่ต้องเกรงใจผู้ถือหุ้นน้อยที่ถือเกิน๒๐%ด้วย เพราะมีสิทธิ์ป่วนบริษัทได้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 13, 14:28
อย่างไรก็ดี ฝรั่งคงเห็นว่าเกมที่เปลี่ยนไปมากมายดังกล่าว ไม่น่าสนใจเสียแล้ว ดังที่ผมเขียนไว้ในกระทู้โน้นว่า

บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด เปิดดำเนินการในอาคารที่ทำการของ บุคคลัภย์เดิม ที่ตำบลบ้านหม้อ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยมีพระสรรพการหิรัญกิจ เป็นผู้จัดการฝ่ายในประเทศ และนายเอฟ คิเลียน ตัวแทนผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศ สัญชาติเยอรมัน เป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ ในการเปิดดำเนินกิจการธนาคารขึ้นนี้ คณะผู้จัดตั้งได้ขอพระราชทานตราอาร์มแผ่นดิน มาเป็นตราประจำธนาคารมาตั้งแต่ต้น

การดำเนินธุรกิจนั้น แบงก์สยามกัมมาจล มีการรับฝากเงินตามปกติทั่วไปของธนาคารพาณิชย์ แต่ที่พิเศษ ได้แก่ การเสนอให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๒ ต่อปี แก่ลูกค้าที่มีเงินเหลือในบัญชีเดินสะพัด นับว่าลูกค้าจะได้ประโยชน์จากเงินของตน ที่เหลือจากการหักบัญชีด้วยเช็คอย่างเต็มที่ บริการด้านนี้ได้สร้างความนิยมในหมู่ลูกค้าเป็นอย่างสูง นอกจากนั้น ก็เป็นการให้สินเชื่อเกี่ยวกับ การค้าและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนกิจการโรงสีข้าว ซึ่งเป็นผลิตผลหลักของประเทศ เป็นสำคัญ

ในด้านของบริการที่ให้แก่การค้าระหว่างประเทศนั้น โดยที่ปริมาณการส่งข้าวออกไปต่างประเทศสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เคยส่งออกเฉลี่ยเป็นจำนวน ๓,๘๕๐,๐๐๐ หาบต่อปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๘ – ๒๔๒๒ การส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นถึงเฉลี่ยปีละ ๑๔,๗๖๐,๐๐๐ หาบต่อปี ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ ประกอบกับธนาคารมีตัวแทนในทวีปยุโรป สามารถอำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างมาก ทั้งพ่อค้าข้าวทั้งไทยและจีน ซึ่งควบคุมการค้าข้าวของประเทศไทยไว้ได้เกือบทั้งหมด มีความนิยมมาใช้บริการของธนาคารมากกว่าจะไปติดต่อกับธนาคารอื่นๆ ซึ่งไม่สะดวกในการใช้ภาษาในการตกลงเงื่อนไขต่าง ๆ ดังนั้นปริมาณธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศ จึงเป็นธุรกิจที่สำคัญมากด้านหนึ่งของธนาคารในทันทีที่เปิดดำเนินธุรกิจ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แบงก์สยามกัมมาจล ตกลงว่าจ้างให้ นาย พี ชวาร์ตเช่ (Mr. P.Schwarze) ชาวเยอรมันที่ธนาคารเยอรมันสาขาเมืองเซี่ยงไฮ้ ส่งเข้ามาแทน นาย เอฟ คิเลียน เป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศต่อไป

การที่แบงก์สยามกัมมาจล ยังคงเปิดดำเนินการในอาคารเดิมของบุคคลัภย์ ในขณะที่มีปริมาณธุรกิจสูงขึ้น ทั้งมีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงทำให้จำเป็นต้องแสวงหาที่ทำการใหม่ หลังจากซื้อที่ดินย่านตลาดน้อย ติดกับตำบลสำเพ็งย่านธุรกิจที่สำคัญ และสร้างสำนักงานชั่วคราวขึ้น เมื่อได้ย้ายเข้าไปทำงานในสำนักงานชั่วคราวแล้ว จึงลงมือก่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่จนแล้วเสร็จ แบงก์สยามกัมมาจล จึงย้ายขึ้นไปทำการในตัวตึกสำนักงานตลาดน้อยในพ.ศ. ๒๔๕๓ และได้เปิดบริการด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ เงินฝากสงวนทรัพย์ หรือเงินฝากออมทรัพย์ขึ้นดำเนินการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อช่วยให้ประชาชนรู้จักออมทรัพย์ ซึ่งมีที่เก็บที่ปลอดภัยและได้รับผลตอบแทนตามสมควรขึ้น

นอกจากนี้ยังได้ริเริ่ม นำบริการเงินฝากประจำ เงินฝากเผื่อเรียก (Deposit at call) และการให้กู้เบิกเกินบัญชีขึ้นอีกเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีในช่วงแห่งการขยายตัว ในด้านการให้บริการเพิ่มขึ้น ณ ที่ทำการชั่วคราวแห่งใหม่นี้ ผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศได้ขอถอนหุ้นทั้งหมด และผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศก็ขอลาออก ดังนั้น แบงก์สยามกัมมาจล จึงไม่มีผู้ถือหุ้นสำคัญเป็นชาวต่างประเทศมาตั้งแต่ครั้งนั้น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ค. 13, 06:51
การบริหารงานธนาคารที่ฝรั่งร่วมกับคนไทย โดยมีกรรมการผู้จัดการฝ่ายละคน ต่างฝ่ายต่างไม่ก้าวก่ายกัน แต่ผลกำไรขาดทุนมารวมอยู่ในบรรทัดสุดท้ายด้วยกัน มันก็เป็นเชื้อให้ทะเลาะอยู่แล้ว เมื่อถึงทางตัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ต้องขาย ส่วนใหญ่แล้ว อีกฝ่ายหนึ่งจะซื้อโดยให้กำไรพอสมควร มิฉะนั้นจะทำบริษัทพัง ตายทั้งคู่ได้ง่ายๆเหมือนกัน

ทว่าบทสรุปที่นักประวัติศาสตร์เดนมาร์กเขียนก็เป็นประมาณนี้

การค้นหาความจริงทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เดนมาร์กในอดีต ระหว่างปี๑๘๙๘ถึง๑๙๐๗ พวกเดนได้มีโอกาส๓ครั้งในการเสนอแผนก่อตั้งธนาคารแห่งสยามในกรุงเทพ ซึ่งสุดท้ายได้กลายเป็นธนาคารสยามกัมมาจล

นีลส์ แอนเดอเซน กรรมการผู้จัดการใหญ่ของEAC(หรือบริษัทอิสต์เอเซียติก) ผู้เป็นสมองที่วางกลยุทธในการเดินหมากของเดนมาร์กในสยาม นายพลริชลิวเป็นผู้ปฏิบัติการ โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่และอิทธิพลในประเทศนั้น อีแซก กิลลิกแสทดต์(Isac Gliickstadt) กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรในโคเปนฮาเกนซึ่งใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศแสกนดิเนเวีย ผู้ใช้ความสัมพันธ์ที่มีในโครงข่ายธนาคารเยอรมัน ดึงเงินจากธนาคารดอยช์เอเชียติกในแฮมเบิร์กมาร่วมด้วย  แอกเซล ไฮเดะ(Axel Heide)กรรมการผู้จัดการของธนาคารไพรเวทแบงค์ ผู้มีสายใยแน่นปึ่กกับนายธนาคารในรัสเซียและฝรั่งเศส สามารถระดมเงินทุนสำรองไว้รองรับธุรกิจได้อย่างไม่บกพร่อง

ทั้งสี่คนนี้รวมตัวกันเป็นดรีมทีมที่ต่างก็มีจุดมุ่งหมายของตนเองแน่ชัด นายธนาคารทั้งสองต้องการโอกาสที่จะขยายกิจการของเดนมาร์กออกสู่โลกทางซีกตะวันออกนี้  บริษัทอิสต์เอเชียติกนั้นต้องการเพิ่มอิทธิพลทางการค้าในสยาม ส่วนริชลิวต้องการทำเงิน ซึ่งสุดท้ายแล้วทุกคนก็ได้ในสิ่งที่ต้องการ แม้จะไม่ใช่อย่างที่คาดฝัน เพราะคนไทยกลายเป็นผู้ถือครองหุ้นส่วนใหญ่ของธนาคารสยามในที่สุด จากภาพรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะเห็นคนเดนมาร์กกับคนอังกฤษแย่งชิงผลประโยชน์กันในสยาม แต่จบด้วยทั้งสยาม อังกฤษ และเดนมาร์กต่างก็พบวิถีทางที่เหมาะสมแก่ตนเองที่ทุกฝ่ายก็พอใจ

ทางด้านสยาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะให้ประเทศของพระองค์เป็นอิสระจากอิทธิพลของอังกฤษ(กับฝรั่งเศส)ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ในส่วนที่กรมหมื่นมหิศรฯพระอนุชาทรงรับผิดชอบนั้น สยามจะต้องมีอำนาจในการควบคุมธนาคารของตนเองให้ได้ ทั้งสองพระองค์จึงทรงเลือกเดนมาร์กเพื่อให้ความพยายามดังกล่าวบรรลุผล ซึ่งทรงทำได้สำเร็จ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ค. 13, 08:17
ข้อความโดย: เพ็ญชมพู
อ้างถึง
ประวัติแบงก์สยามกัมมาจลเรื่องผู้ถือหุ้นเริ่มแรกเป็นที่เปิดเผยอยู่แล้ว

แต่เบื้องหลังนั้นเป็นเช่นใด เหตุไฉนเหตุการณ์จึงกลับแปรผันให้ทางฝ่ายเดนมาร์กเป็นรองเยอรมัน อยากทราบนัก เรื่องนี้สิน่าตื่นเต้น รออ่านคุณนวรัตนมาเฉลย

ข้อความโดย: NAVARAT.C
อ้างถึง
ส่วนที่ถามทำนองว่าทำไมเดนมาร์กกลายเป็นถือหุ้นนัอย เยอรมันกลับถือหุ้นมากนั้น เอกสารของเดนมาร์กไม่ได้แจ้งไว้ ผมก็มิอาจเดา

วันนี้ขณะกำลังเรียบเรียงต้นฉบับเพื่อต่อเรื่อง ผมเข้าเน็ทไปเจอข้อความเล็กๆนี้โดยบังเอิญ

The Danish Farmers' Bank, founded in 1871 by Danish and German capital. With the cautious Isaac Gluckstadt as leader until 1910 and an expanded branch network grew the bank soon to become the country, later the largest Nordic bank.

เป็นอันว่าคำถามของคุณเพ็ญมีคำเฉลยแล้ว ธนาคารกสิกรเดนมาร์กแต่เงินทุนมาจากเยอรมัน สูตรเดียวกับที่พยายามนำมาเล่นต่อในสยามเลย
พวกนายแบงก์ของยุโรปแทบจะทั้งหมด ไม่ว่าประเทศไหนๆ ล้วนแต่เป็นคนยิว พวกนี้กากี่นั้งยิ่งกว่าคนจีน ที่ว่าธนาคารเยอรมันน่ะ เอาเข้าจริงๆแล้วยิวต่างหากที่ควบคุมเงินทองประเทศ ฮิตเลอร์จึงเขม่นนักเขม่นหนา

น่าอัศจรรย์ใจยิ่งกว่าเรื่องใครเป็นหมู่เป็นจ่าในธนาคารนี้ เพราะในปีที่ตั้งสยามกัมมาจลได้นั้นเอง นายพลริชลิวก็ก้าวจากกรรมการธรรมดาๆคนหนึ่ง ขึ้นไปเป็นประธานกรรมการของธนาคารกสิกรเดนมาร์ก และดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ยาวนานจนถึงปี ๑๙๒๒


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 13, 11:51
ลงจากเรือนไทยไปหลายวัน   กลับมากระทู้วิ่งเร็วเกือบเท่าแสง  ทำให้ต้องวิ่งหน้าตั้งไล่ตามอ่านให้ทัน    เลยไม่รู้จะมีอะไรหลงหูหลงตาอ่านข้ามไปหรือเปล่า
มีเกร็ดเล็กๆตอนหนึ่งที่สะดุดใจ 
นายพลริชลิวมารอรับเสด็จถึงซานรีโมในอิตาลี่ และร่วมขบวนเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยตั้งแต่วันที่๑๒พฤษภาคม๑๙๐๗ ในงานพระราชทานเลี้ยงรับรองที่พระเจ้าเฟรเดอริกที่๘(King Frederik VIII) ซึ่งเสด็จขึ้นครองพระราชบัลลังก์เดนมาร์กหลังการสวรรคตของพระเจ้าคริสเตียน ทรงจัดขึ้นถวายพระเกียรติยศแด่พระมหากษัตริย์ไทยในวันที่๑กรกฏาคมนั้น ทรงมีพระราชโองการแต่งตั้งให้นายพลโทริชลิว เป็นขุนนางในพระราชสำนัก(Chamberlain)เช่นเดียวกับที่ท่านได้เป็นพระยาพานทองของสยาม ต่อไปนี้คนเดนมาร์กจะต้องเรียกท่านว่า Chamberlain Richelieu จะไปเอ่ยนามเฉยๆไม่ได้เชียวนะเออ ส่วนนายแอนเดอเซน งานนี้ได้เครื่องราชย์ชั้นสายสะพายไปประดับเสื้อนอกหนึ่งเส้น

คืนต่อมาแซมเบอลินริชลิวได้จัดงานเลี้ยงถวายพระกระยาหารค่ำแด่พระเจ้าอยู่หัวที่คฤหาสน์ของตน และไม่ลืมจัดที่ประทับถวายกรมหมื่นมหิศรให้ร่วมโต๊ะเสวยด้วยความชำนาญเกม
ดิฉันไม่รู้ว่า Chamberlain ของเดนมาร์กมีขอบเขตหน้าที่แค่ไหน    เคยรู้แต่ว่า Lord Chamberlain ของอังกฤษ คือสมุหราชมณเฑียร หรืออธิบดีกรมวัง    เรียกว่าเป็นบิ๊กเบิ้มของราชสำนัก   ใครได้ตำแหน่งนี้ก็ได้อยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ  เป็นที่ไว้วางพระทัยมาก   
ไม่รู้ว่าท่านริชลิวเป็น Lord Chamberlain  หรือว่าเป็น Chamberlain เฉยๆ หมายถึงว่าเป็นข้าราชสำนักสังกัดกรมวัง    ถ้าเป็นลอร์ดเองก็แสดงว่ากำลังภายในของท่านล้ำลึกมหาศาล   มากกว่าที่เราจะพึงรู้ได้   ไปเปิดเว็บค้นหาตำแหน่งนี้  เจออธิบายไว้ตามนี้ค่ะ
http://kongehuset.dk/english/Organisation-and-Contact/Employees/offices-and-employees

The Lord Chamberlain’s office is the secretariat for The Queen. The office is in charge of all the arrangements for official functions, such as state visits at home and abroad, dinners and luncheons, and court ceremonies, including presentation of credentials by ambassadors as well as their farewell audiences.


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ค. 13, 15:35
นายพลริชลิวไม่ได้เป็น Lord Chamberlain ครับ เป็น Chamberlain เฉยๆ

ผมเองก็หาไม่เจอว่าตำแหน่งนี้ตรงกับอะไรในราชสำนักไทย จึงใส่ไปว่าขุนนางในพระราชสำนัก แบบครอบจักรวาลไว้ก่อน

Lord Chamberlain หรือสมุหราชมณเฑียร เป็นตำแหน่งข้าราชสำนักประจำ ปฏิบัติราชการ๒๔ชั่งโมง แต่นายพลริชลิวทำธุรกิจเป็นงานหลัก ตำแหน่งที่ว่าอาจจะเป็นกิตติมศักดิ์ ตั้งเพื่อเป็นเกียรติเท่านั้นก็ได้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ค. 13, 19:55
ตำแหน่ง chamberlain ในภาษาเดนมาร์กคือ okammerherre มีคำอธิบายดังนี้

Titlen kammerherre anvendes ved hoffet. En kammerherre har oprindeligt været en fremtrædende embedsmand – ofte en adelig – med adgang til kongens kammer (deraf titlen). I dag anvendes den som ærestitel. Der udnævnes fortsat kammerherrer. Det er dronningen, der afgør, hvem titlen skal gives til. Oftest bliver den givet til afgåede højere embedsmænd eller til besiddere af større godser. Desuden er cheferne for Den Kongelige Livgarde og Gardehusarregimentet kammerherrer.

อากู๋บริการแปลเป็นไทยให้ว่า

ชื่อแชมเบอร์เลนที่ใช้ในศาล มหาดเล็กเดิมเป็นที่โดดเด่นอย่างเป็นทางการ - มักจะมีเกียรติ - ที่มีการเข้าถึงในห้องของพระราชา (เพราะฉะนั้นชื่อ) วันนี้มันจะถูกใช้เป็นกิตติมศักดิ์ มีวังอย่างต่อเนื่องได้รับการแต่งตั้ง มันเป็นราชินีที่ตัดสินใจที่ชื่อเพื่อส่งให้แก่ ส่วนใหญ่มักจะถูกมอบให้กับอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือผู้ถือที่ดินขนาดใหญ่ นอกจากนี้หัวของรอยัลชีวิตทหารราบและวัง

แต่คุณกูเกิ้นแปลภาษาอังกฤษได้เข้าท่ากว่า

A chamberlain was originally a prominent official - often a noble - with access to the king's chamber (hence the title). Today it is used as honorary. There appointed continued Chamberlains. It is the queen who decides who the title to be given to. Most often it will be given to former senior officials or holders of large estates. Moreover, the heads of the Royal Life Guards Regiment and chamberlains.

ตำแหน่งขุนนางสยามที่น่าจะตรงที่สุดกับ Chamberlain คือตำแหน่งมหาเสวก (อ่านว่ามหา เส-วก) นายพลริชลิวน่าจะประมาณมหาเสวกตรี หรือมหาเสวกโทเป็นอย่างสูง ไม่น่าจะถึงมหาเสวกเอก


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 13, 20:16
ผลงานของพระยาริชลิวแห่งเดนมาร์ก ก็คงจะเด่นเข้าตาพระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์กอยู่ไม่น้อยกว่าสยาม  คุณสมบัติที่ว่า Most often it will be given to former senior officials or holders of large estates   พระยาริชลิวมีครบเป๊ะ   
นี่ถ้าตั้งแบงค์เดนมาร์กกัมมาจล สาขาสยามได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้     บุญหล่นทับ  วาสนาอาจได้เป็นมหาเสวกเอกแห่งราชสำนักเดนมาร์กก็เป็นได้   


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ค. 13, 20:37
ข้อความโดย: NAVARAT.C
อ้างถึง
ความคิดเห็นที่ 202  
ค่ำนี้ อินทรเนตรนำผมไปพบย่อหน้าเล็กๆในหนังสือเรื่อง Scandinavia and the Scandinavians ที่ไขข้อความถึงธุรกิจของ United Steamship Company มีข้อความดังนั้

In 1902 RicheHeu returned to Denmark, where he was decorated with the Grand Cross of the Dannebrog, and made a director of the Danish East Asiatic Company, the United Steamship Company, the shipbuilding house of Burmeister and Wain, and the Landmandsbank.

ในปี๑๙๐๒ ริชลิวกลับไปเดนมาร์ก ซึ่งเขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น Grand Cross of the Dannebrog และได้เป็นกรรมการบริษัทอิสเอเซียติกของเดนมาร์ก บริษัทยูไนเต็ดสตีมชิป ซึ่งเป็นบริษัทผู้ต่อเรือในเครือบริษัท Burmeister and Wain และธนาคารกสิกร the Landmandsbank

Burmeister & Wainมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโคเปนฮาเกน เป็นบริษัทที่มีอิสเอเซียติกเกี่ยวข้องด้วย ประกอบกิจการหลักการด้านอู่เรือใหญ่โครตๆของเดนมาร์ก  และเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ถ้าบอกว่า เครื่องยนต์ดีเซลดังกล่าวยี่ห้อ MAN B&W วิศวกรเครื่องกลของไทยก็คงร้องอ๋อ ทุกวันนี้บริษัทนี้ยังยืนยงคงกระพันอยู่

ผมจะบอกก่อนล่วงหน้า ในปี๑๙๐๙ ประธานกรรมการของบริษัทนี้ชื่อพลเรือโทริชลิวครับ

การที่นายพลริชลิวได้ตำแหน่งokammerherreมานำหน้ายศ เป็นกรรมการบริษัทอิสต์เอเซียติก เป็นประธานกรรมการบริษัทต่อเรือ United Steamship Companyซึ่งเป็นบริษัทลูก แล้วก้าวกระโดดมาเป็นประธานกรรมการของบริษัทBurmeister & Wain ซึ่งเป็นบริษัทแม่ด้วยหลังจากที่ได้ตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารกสิกรเดนมาร์ก คงจะเป็นเพราะเทพยดาดลบรรดาลเป็นแม่นมั่น หากไม่ใช่เทพบนสรวงสวรรค์ก็ต้องเป็นสมมุติเทพ

ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเหล่านั้นคือ ธนาคารกสิกรเดนมาร์กเป็นผู้หาเงินกู้ให้EACขยายกิจการ ซึ่งEACนำไปต่อเรือสินค้าขนาดใหญ่ออกมาหลายสิบลำ และกลายเป็นสายการเดินเรือพาณิชย์ใหญ่ติดอันดับโลก ผู้ที่ต่อเรือให้EACในระยะหลังๆนี้ เปลี่ยนจากอู่ในอังกฤษมาเป็นBurmeister & Wainของเดนมาร์กเอง เจ้าของตัวจริงที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยของบริษัททั้งหลายเหล่านี้คงต้องการคนที่ไว้ใจได้ เข้าไปดูแลให้ผู้บริหารของทุกบริษัทเล่นบทให้ถูกต้องสอดประสานกัน

ด้วยความสามารถในด้านการเจรจาให้ผลประโยชน์ของทุกฝ่ายลงตัวและดำเนินไปอย่างราบรื่น ใครเล่าจะเหมาะสมเท่านายพลริชลิวจอมเก๋า


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 13, 20:55
ท่านได้เครื่องราชย์จุลจอมเกล้าชั้นไหนคะ คุณหนุ่มสยาม
เครื่องราชย์ด้านล่าง เป็นของช้างเผือกหรือมงกุฎไทย?


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ค. 13, 21:07
ในBurmeister & Wain มีวิศวกรเก่งอยู่คนหนึ่งชื่อ Ivar Knudsen ที่เสนอให้บริษัทซื้อสิทธิบัตรการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลที่ Rudolf Diesel คนเยอรมันผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเป็นคนแรกของโลก ทำให้ได้สิทธิในการผลิตเครื่องยนต์ดังกล่าวแต่ผู้เดียวในเดนมาร์ก คนูเซนได้ต่อยอดเครื่องยนต์ดีเซลต้นแบบเล็กๆโดยนำมาทำเป็นเครื่องจักรกลขนาดยักษ์เพื่อขับเคลื่อนเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่แทนเครื่องจักรไอน้ำ ระหว่างขั้นตอนวิจัยพัฒนาทำไปทำมาบริษัทแทบจะหมดเงินหมุนเวียน นายพลริชลิวมองเห็นแววสำเร็จก็ประกาศสนับสนุนคนูเซน อัดเม็ดเงินจากธนาคารกสิกรเดนมาร์กลงไปไม่อั้น จนเครื่องยนต์ยักษ์ดังกล่าวสามารถผลิตขึ้นมาได้สำเร็จ

ในปี๑๙๑๑ เรือเดินสมุทรลำแรกของโลกที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลB/Wสี่จังหวะ๒๕๐๐แรงม้า ก็ถูกปล่อยลงน้ำ ชื่อว่า SS Selandia โดยมี EAC เป็นเจ้าของ เป็นทั้งเรือสินค้าและโดยสาร ปี๑๙๑๒ เรือลำนี้ก็พร้อมออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ จากโคเปนฮาเกนมากรุงเทพ

แม้จะไม่ใช่เรือลำแรกในโลกที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล เพราะก่อนหน้านั้นชาวดัชต์ผู้ทำได้ก่อนแต่เป็นเรือขนาดเล็ก แต่SS Selandia คือที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล ที่ใช้เดินทางข้ามมหาสมุทรไปยังอีกซีกหนึ่งของโลก

แม้ Ivar Knudsen จะได้รับชื่อเสียงไปเต็มๆ แต่เบื้องหลังความสำเร็จ มีท่านประธานริชลิวยืนหนุนหลังให้อยู่


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 24 ก.ค. 13, 08:18
ตราจุลจอมเกล้า คือ ทุติยจุลจอมเกล้า
ส่วนดาราดวงล่าง คือ มหาวราภรณ์ช้างเผือก (ประถมาภรณ์ช้างเผือก)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ค. 13, 08:24
คุณ V_Mee กลับมาอีกที  ก็ไม่เสียเวลาพูดพล่ามทำเพลง   ยิงเข้าเป้าเลยทีเดียว   


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ค. 13, 12:14
หมดข้อสงสัยเรื่องเครื่องราชย์กันแล้ว ขอผมฉายหนังตัวอย่างตอนต่อไปสักหน่อย

ผมจะย้อนกลับไปที่ปี๑๙๐๙ อันปีทองฝังเพชรของนายพลริชลิวอีกครั้ง
ปีนั้น ท่านมหาเสวก นายพลเรือริชลิวเกือบจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ของเดนมาร์กแล้ว หากว่าท่านจะไม่ปฏิเสธในนาทีสุดท้าย

ผมจะบอกเสียก่อนว่า เรื่องราวต่อไปนี้จะหาไม่เจอในประวัติศาสตร์การเมืองของเดนมาร์กทั้งสิ้น ทั้งในเวปและในหนังสือ เพราะไม่มีใครจดหมายเหตุไว้ แต่ทั้งนายพลริชลิวและคุณหญิงดักมาร์ ศรีภรรยา ขยันจดอนุทินประจำวันส่วนตัวมาก แต่เก็บรักษาอย่างดีตีตราครั่งประทับไว้ไม่ให้ใครอ่าน จนกระทั่งไม่นานมานี้ ทายาทได้นำไปให้อาจารย์ใหญ่ทางประวัติศาสตร์คนหนึ่ง เราจึงได้ทราบข้อความที่นายพลริชลิวบันทึกไว้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ค. 13, 15:54
เมื่อ Count Holstein แห่ง Ledreborg เป็นนายกรัฐมนตรีไม่นาน คณะรัฐมนตรีก็เกิดขัดแย้งกับพระเจ้าเฟรเดอริกในเรื่องเกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติกลาโหมว่าด้วยการป้องกันประเทศ ทรงไม่พอพระทัยที่นายกรัฐมนตรีไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว จึงทรงแต่งตั้งคณะมนตรีแก้ปัญหาวิกฤตขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อให้พิจารณา ทำความลำบากใจให้รัฐบาลจนนำไปสู่ทางตันทางการเมือง

นายพลริชลิวนี่สงสัยเวลาตกฟากจะอยู่ภายใต้ราชาฤกษ์ พระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าที่บ้านเกิดหรือเมืองไกลจะทรงโปรด และมีพระเมตตาเป็นพิเศษ

วันที่๖สิงหาคม เจ้าชายคริตสเตียนมงกุฏราชกุมารทรงโปรดให้นายพลริชลิวให้เข้าเฝ้าแล้วทรงถามในนามของพระราชบิดาว่า ถ้าจะรับเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรีรักษาการขึ้นมา แล้วผ่านกฏหมายฉบับดังกล่าวได้ไหม ท่านกราบบังคมทูลว่า ในฐานะข้าในพระองค์ผู้จงรักภักดีและเพื่อประเทศชาติ ข้าพระพุทธเจ้ายินดีที่จะสนองพระมหากรุณา
 
หลังจากนั้นท่านก็ไม่เป็นอันได้พักผ่อนหลายวันหลายคืนเพื่อคุยกับบุคคลสำคัญในบ้านเมือง ก่อนจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่ง ณ ที่นั้นมีบุคคลกลุ่มใหญ่ที่ท่านคิดว่าไม่น่าจำเป็นจะต้องมาร่วมเข้าเฝ้าอยู่ด้วย Greve Frijs นักการเมืองอาวุโสคนหนึ่งได้กราบบังคมทูลแบบไม่คำนึงถึงมารยาทว่า ไม่เห็นด้วยที่นายพลริชลิวจะสามารถนำกฏหมายผ่านสภาได้ ทรงหันมาที่ท่านแล้วตรัสว่า ถ้าข้าใช้เจ้าในสิ่งที่เหลือวิสัยจะทำแล้วละก็ ข้าอนุญาตให้เจ้าถอนคำพูดได้นะ แต่ท่านกราบบังคมทูลว่าท่านไม่ได้ใส่ใจในคำพูดของGreve Frijs


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ค. 13, 16:03
เมื่อ Greve Frijs ไปสภาก็ได้เที่ยวพูดเรื่องที่ได้กราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดิน วันรุ่งขึ้นก็มีพวกส.ส.ไปหาท่านที่คฤหาสน์ในSmidstrup เล่าเรื่องที่Greve Frijsพูด และแนะนำให้เชิญเขาเข้ารวมคณะรัฐมนตรีด้วย จะได้เงียบ นายพลริชลิวขอบคุณสำหรับข่าวที่มาบอก แล้วท่านได้เข้าเมืองไปพบพวกนักการเมืองมากมาย ทั้งในสภาและนอกสภา ผมขออนุญาตท่านประธานที่จะไม่เอ่ยนามให้สมาชิกผู้ทรงเกียรติสับสน  ขอพาดพิงแค่นายGreve Frijs ซึ่งนายพลริชลิวได้พบตัวที่นั่นด้วย  แล้วเขายังมีน้ำใจพาท่านไปยังเซฟเฮาส์เพื่อคุยกันอย่างเปิดใจ ริชลิวถามตรงๆว่าถ้าไม่ใช่ตัวท่านแล้ว ใครล่ะ ที่จะเขาเห็นว่าจะทำหน้าที่ให้บรรลุพระราชประสงค์ได้

หลังจากอิดๆออดๆพองาม Greve Frijsก็แย้มว่าเขาจะไม่บอกท่านละว่าใคร ให้ท่านไปถามคนที่ชื่อ Niels Neergaard เอาเอง ท่านขอบคุณเขาแล้วรีบไปกระทรวงการคลังเพื่อขอพบนาย Niels Neergaard  ซึ่งทนลูกตื้อของทหารเรือเก่าไม่ได้ก็เลยเผยออกมาว่า ก็ Count Holstein นายกรัฐมนตรีคนเดิมนั่นแหละดีที่สุดแล้วละทั่น ก็พูดกันให้รู้เรื่องสิว่า ถ้าเรื่องบานปลาย เดี๋ยวสถานการณ์อาจกระทบถึงประเทศแบบเลวร้ายกู่ไม่กลับก็ได้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ค. 13, 16:07
นายพลริชลิวได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลความดังกล่าว ซึ่งทรงเห็นชอบด้วยและโปรดให้ท่านไปดำเนินการเจรจากับCount Holsteinในนามของพระองค์ หลังจากที่คุยกันแล้ว ได้ปรึกษากันถึงชื่อคนที่ควรเชิญเป็นรัฐมนตรีแบบไม่มาป่วนเรื่องกลาโหมให้ขัดพระราชประสงค์

เมื่อนำรายชื่อถวายทอดพระเนตร ทรงพอพระทัยและทรงเห็นด้วย รับสั่งให้นายพลริชลิวนำ Count Holstein กับ JC Christensen คนสำคัญอีกผู้ที่จะร่วมคณะรัฐมนตรีมาเฝ้าที่พระราชวังAmalienborg ซึ่งทั้งคู่ก็พร้อมอยู่แล้ว พระองค์ทรงต้อนรับด้วยพระเมตตาเต็มเปี่ยม และทรงสนทนาในรายละเอียดของพระราชบัญญัตินี้อย่างยาวนาน หลังเข้าเฝ้าแล้วพวกเขาหันถามท่านว่า ต้องการเป็นรัฐมนตรีตำแหน่งอะไร ท่านบอกว่าโนเซอร์ ตำแหน่งไม่เอาขอเป็นเงินแทน..เอ้ยๆๆๆขอโทษๆๆ ผมก็เกินไปหน่อย อันที่จริงท่านบอกว่า ท่านทำยินดีรับใช้สนองพระมหากรุณาธิคุณ ไม่ว่าจะมีพระราชประสงค์สิ่งใดก็ตาม


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ค. 13, 16:20
เมื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่แล้ว พระราชบัญญัติกลาโหมว่าด้วยการป้องกันประเทศก็ผ่านออกมาในเวลาไม่นาน ก่อนหน้านั้น เพียงสองสามวันหลังมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาเสวกของเราเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ที่พระราชวัง Amalienborg
ทรงรับสั่งขอบใจและพระราชทานถ้วยเงินใบหนึ่งจากพระหัตถ์ของพระองค์เอง มีข้อความสลักจารึกไว้ว่า

สำหรับมหาเสวกผู้ซื่อสัตย์จงรักภักดี
นายพลเรือเอก ดู ปรีซีซ์ เดอ ริชลิว
 
จากใจเรา
เฟรเดอริกแห่งเดนมาร์ก
๑๑ สิงหาคม๑๙๐๙



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ค. 13, 17:18
เรื่องข้างบนนี้ ผมเจอจากเวปของเดนมาร์กที่จั่วหัวว่า

Admiral Andreas du Plessis de Richelieu og regeringsdannelsen i 1909

ขอเรียนให้ทราบก่อนว่า ภาษาเดนมาร์กนั้นผมไม่กระดิกหูแม้น้อย อาศัย Google Translation ถอดความออกมาว่า
Admiral Andreas du Plessis de Richelieu and government formation in 1909

เขียนโดย Dr.Johannes Lehmann Ph.D. ผู้ที่ได้ไดอารี่ของนายพลริชลิวมาจากทายาท หนังสือที่Lehmannเขียนยาวกว่านี้ แต่บทความดังกล่าวย่อเรื่องมาทีหนึ่ง ใช้ชื่อว่า นายพลเรือเอกเดอ ริชลิว กับการจัดตั้งรัฐบาลในปี๑๙๐๙
 
ส่วนผมก็ย่อความจากย่อความดังกล่าวมาให้อ่านกันพอรู้เรื่อง ตัดที่ไม่จำเป็นออกไป เช่นชื่อคนเดนมาร์กทั้งหลาย เพราะรู้ไปก็เท่านั้นคงไม่มีใครเอามาออกข้อสอบ แต่ผมได้ต่อสายโยงไว้ให้แล้ว สำหรับผู้สนใจระดับที่จะเอาไปทำวิทยานิพนธ์ หรือเขียนหนังสือขาย ก็สามารถเข้าไปดูได้นะครับ
 
https://tidsskrift.dk/index.php/historiejyskesamling/article/view/15609/29905


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ค. 13, 17:35

หลังจากอิดๆออดๆพองาม Greve Frijsก็แย้มว่าเขาจะไม่บอกท่านละว่าใคร ให้ท่านไปถามคนที่ชื่อ Niels Neergaard เอาเอง ท่านขอบคุณเขาแล้วรีบไปกระทรวงการคลังเพื่อขอพบนาย Niels Neergaard  ซึ่งทนลูกตื้อของทหารเรือเก่าไม่ได้ก็เลยเผยออกมาว่า ก็ Count Holstein นายกรัฐมนตรีคนเดิมนั่นแหละดีที่สุดแล้วละทั่น ก็พูดกันให้รู้เรื่องสิว่า ถ้าเรื่องบานปลาย เดี๋ยวสถานการณ์อาจกระทบถึงประเทศแบบเลวร้ายกู่ไม่กลับก็ได้

ขอตีความว่า บารมีทางการเมืองของเจ้าคุณริชลิวยังไม่แก่กล้าพอ  จึงมีกระดูกชิ้นเดิมคือนายกคนเดิมขวางคออยู่     บรรดานักการเมืองสำคัญๆในตอนนั้นก็ยังถือหางท่านเคานต์ฮอลสไตน์ ซึ่งยังอยากนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี  ไม่ได้คิดสละตำแหน่ง
เพราะฉะนั้น  อาจมองได้อีกอย่างว่า พระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์กเอาริชลิวขึ้นมาเดินหมาก   เป็นข้อต่อรองกับนายกฯเดิมให้ทำตามพระประสงค์    ถ้าไม่ทำก็มีคนใหม่มาแทน  จะเอาไง    ริชลิวก็คงรู้ข้อนี้กระมังจึงมิได้แสวงหาตำแหน่งรัฐมนตรี   ขืนได้นั่งก็คงไม่นาน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ค. 13, 19:12
คือ ประมาณว่าท่านก็อยากจะเป็นแหละครับ แต่พอเดินสายคุยกับนักการเมืองแล้ว เห็นว่าน่าจะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ไม่ควรที่จะลงมามีบทบาททางการเมืองใดๆ การปลดนายกรัฐมนตรีออกแล้วแต่งตั้งนายกพระราชทาน แม้จะชั่วคราวระหว่างการเลือกตั้งใหม่ แต่มีเป้าหมายที่จะมาออกกฏหมายสำคัญ ไม่มีนายกรักษาการที่ไหนเขากระทำกัน

ต้องไม่ลืมด้วยนะครับว่าบรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศนั้น มหาอำนาจเริ่มแบ่งขั้วชัดเจน สงครามโลกครั้งที่๑กำลังใกล้ระเบิดในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า นักการเมืองเดนมาร์กเอง ก็มีทั้งฝักไฝ่เยอรมัน หรือไม่ก็ฝรั่งเศสและรัสเซีย แผนกลาโหมของพระเจ้าเฟรเดอริกน่าจะมุ่งต้านเยอรมันในพรมแดนที่ติดกัน ใช้งบมหาศาลที่เยอรมันอาจเขม่นเอา นักการเมืองส่วนหนึ่งคงไม่ชอบ

หลังสงคราม เยอรมันเป็นฝ่ายแพ้ พระเจ้าเฟรเดอริกทรงขัดแย้งกับรัฐบาลในขณะนั้นอีก โดยทรงเห็นว่าเดนมาร์กน่าจะถือโอกาสผนวกดินแดนของตนที่ถูกปรัสเซียยึดเอาไป อ่านตอนต้นมาแล้วน่าจะจำได้นะครับ ผลการงัดข้อครั้งใหม่ ซึ่งเรียกว่า Easter Crisis นั้น พระองค์เป็นฝ่ายแพ้ และทำให้ต้องทรงสัญญาว่าจะไม่มีบทบาททางการเมืองใดๆอีก

เดี๋ยวนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ของเดนมาร์กก็ดำเนินพระองค์ตามสัญญานั้นอย่างเคร่งครัด


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ค. 13, 19:25
การเป็นตัวเก็งขั้นนายกพระราชทาน แสดงถึงสายสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมระหว่างริชลิวกับวัง     แต่ว่าสายสัมพันธ์ทางรัฐสภาเห็นทีจะแน่นปึ้กสู้นายกเก่าไม่ได้   ไม่งั้น ประวัติศาสตร์สยามคงได้บันทึกว่าอดีตพระยาพานทองของสยามกลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีเดนมาร์กเชียวนะ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ค. 13, 19:49
อยู่ที่คนเดนมาร์ก ในเรื่องการเมืองของชาติแล้ว เขาพิจารณากันแค่ตัวบุคคล หรือหลักการ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ค. 13, 05:51
ปี ๑๙๑๐ เป็นปีมหาวิปโยคของปวงชนชาวสยาม เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร และเสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๙ ตรงกับ พ.ศ.๒๔๕๔
 
นายพลริชลิวในฐานะพลเรือโทพระยาชลยุทธยินทร์ได้เดินทางมาสยามอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งที่๓หลังจากกลับบ้านเกิด เพื่อถวายความเคารพพระบรมศพ แสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น และเข้าร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งโปรดเกล้าฯให้จัดขึ้นใน๕เดือนหลังวันสวรรคต คือวันที่๑๖มีนาคม ร.ศ.๑๒๙เดียวกัน แต่ฝรั่งเปลี่ยนศักราชแล้วเป็น ๑๙๑๑ คือปีที่ฝรั่งบันทึกว่านายพลริชลิวโดยสารเรือของอิสเอเซียติกจากโคเปนฮาเกนมากรุงเทพในครั้งนั้น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ค. 13, 06:21
ในระหว่างที่คนไทยยังยุ่งๆอยู่ในช่วงผลัดรัชกาล นายพลริชลิวในฐานะประธานบริษัทบริษัทธุรกิจทั้งหลายคงไม่ได้มีแผนที่จะเสนอโครงการอะไรให้สยาม นอกจากจะไปเยี่ยมเยียนสังสรรค์กับบรรดามิตรสหายเก่าและเฝ้าเจ้านายที่สนิทสนม หนึ่งในพระองค์นั้นคือสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งหลังจากกลับเดนมาร์ก ทั้งสองยังมีจดหมายเล่าเรื่องและซักถามสารทุกข์สุขดิบระหว่างกันอยู่เสมอ เจ้านายที่ทรงถือนายพลริชลิวเป็นเพื่อนอีกพระองค์หนึ่งก็คือสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

นายพลริชลิวมิได้อยู่ในกรุงเทพนาน งานในฐานะนักธุรกิจใหญ่เร่งรัดให้ท่านกลับไปเดนมาร์กโดยเร็วหลังเสร็จงานพระบรมศพแล้ว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ค. 13, 08:46
เมื่อกลับถึงบ้าน มีเทียบมาเชิญนายพลริชลิวไปเป็นกรรมการของSkovshoved Electricity and Tramway-Aktieselskab ท่านก็ได้เป็นให้เขาในระหว่างปี๑๙๑๑ ถึง๑๙๒๖
 
แต่ผมว่า คนอย่างนายพลริชลิว มากรุงเทพทั้งทีแล้วจะไม่หาข่าววงในลึกๆแล้วก็คงจะผิดวิสัย ไฉนมันช่างบังเอิญสอดคล้องกัน ปีนั้นกลุ่มทุนของเดนมาร์กที่ลงเป็นหุ้นใหญ่ของการไฟฟ้าสยาม หรือคนไทยเรียกโรงไฟฟ้าวัดเลียบนั้น ก็กระซิบหาผู้ซื้อต่อไปทั่วยุโรป ใช้เวลาข้ามปี จึงจบได้กับกลุ่มทุนของบริษัทเบลเยียม ชื่อ Jadot & Co ในปี๑๙๑๒ ด้วยตัวเลขที่ไม่เปิดเผย แต่นักวิเคราะห์บอกมีกำไรท่วมหัว

หลังจากจ่ายเงินกันเรียบร้อยก็มีข่าวว่า พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ซึ่งทรงเล็งเห็นอยู่ว่า หากธุรกิจผูกขาดของต่างชาติเข้ามาดำเนินในกิจการสำคัญๆของประเทศมากไป จะเป็นอันตรายมากกว่าประโยชน์ ดังนั้น โดยพระบรมราโชบาย เริ่มที่การคานอำนาจการต่อรองโดยโปรดเกล้าให้เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นจากการกู้เงินกระทรวงการคลัง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ย๔% สำหรับค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่สอง เพื่อเดินสายจำหน่ายให้บ้านเรือนราษฎรนอกเขตสัมปทานเดิมของฝรั่ง บริเวณตอนเหนือของคลองบางกอกน้อยและคลองบางลำพู โครงการนี้ได้นายเอฟ บี ชอว์ วิศวกรไฟฟ้าชาวอังกฤษจากกรมโยธาธิการมาเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง และใช้วิธีเรียกประกวดราคารับเหมาก่อสร้าง ได้บริษัทจากประเทศเยอรมันชื่อAllgameine Elektricitats Gesellsehaft หรือ AEG ที่ยังดำรงชื่อเสียงดีเด่นอยู่ในปัจจุบัน ก่อสร้างแล้วเสร็จและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ชาวกรุงเทพอย่างเป็นทางการในต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๗(๑๙๑๔)

กำไรจากกิจการไฟฟ้าวัดเลียบของบริษัทไฟฟ้าสยามก็วูบลง เพราะราคาจำหน่ายจะไปสูงกว่าราคาที่รัฐวิสาหกิจคิดกับประชาชนมากคงไม่ได้ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่จะไปโวยกับกลุ่มผู้ถือหุ้นเก่าก็ไม่ได้อีก ก็คุณทำการบ้านของคุณมาไม่ดีเอง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ค. 13, 11:53
ถึงตอนนี้ นายพลริชลิวคงมีเงินสดเหลือเกินจะเก็บไว้ในบ้าน ถ้าเป็นคนไทยอาจยัดใส่ปี๊ปบัดกรีแล้วขุดดินฝังซ่อนไว้ แต่ฝรั่งจะฝากแบงก์กินดอก แล้วท่านประธานธนาคารกสิกรเดนมาร์กจะไปเปิดบัญชีที่อื่นก็คงกระไรอยู่ เอาไว้ที่ตนเองทำงานอยู่นั่นน่ะแหละใกล้หูใกล้ตาดี

แล้วกฎพระไตรลักษณ์ในพระพุทธศาสนาก็พิสูจน์ความเป็นจริงอันอมตะอีกครั้งหนึ่ง ใครที่นึกว่าสถาบันธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสแกนดิเนเวียมั่นคงถาวร ก็จะได้เห็นความเป็นอนิจจัง วันดีคืนดี ขอโทษครับ วันร้ายคืนร้าย ธนาคารดังกล่าวก็ล้มครืนลงล้มละลายไปต่อหน้าต่อตา เงินของผู้ที่ฝากธนาคารทั้งรายใหญ่รายย่อยก็กลายเป็นสูญ

สถานการณ์ร้ายครั้งนั้น รู้จักกันในนามว่า Gullasch crisis  กูลาชเป็นซุปมะเขือเทศผสมสตูว์เนื้อแบบฮังกาเรี่ยน ต้นแบบเขียนว่า Goulash ฝรั่งทุกชาตินิยมนำมาทำบริโภคกันแพร่หลายทั่วทั้งยุโรป เดนมาร์กรับมาก็สะกดไปอีกอย่าง ผมสงสัยว่า Tomyamkoong crisis หรือ Hamburger crisis ที่เอาชื่ออาหารไปเป็นชื่อวิกฤตการณ์ทางการเงินแบบลูกโซ่ คงจะมีที่มาที่ไปจาก Gullasch crisis ของเดนมาร์กนี่แหละ เป็นปฐม   ครั้งนั้นสถาบันการเงินในเดนมาร์กล้มระเนระนาด แล้วพลอยลุกลามไปถึงธนาคารอื่นๆของยุโรปด้วย

โหรบอกว่าคนเราร้ายเจ็ดที ดีเจ็ดหน หรือกลับกันเช่นนายพลริชลิว รุ่งโรจน์เจ็ดที อัปรีย์เจ็ดหน ระหว่างรออ่านวิบากกรรมมาเยือนพระเอกของเรา เชิญท่านเสพย์กูลาชสบายๆสไตน์ท่านอาจารย์เทาชมพูไปพลางๆก่อน หากไม่อร่อย อยากได้น้ำปลาพริกสักถ้วยก็บอกกล่าวท่านเอาเองนะครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ค. 13, 12:21
อ่านเพลินๆ มาสำลักเอาตอนท้าย  ถูกหวยไม่รู้ตัว
ถ้าเสิฟน้ำปลาพริกประกอบ(โดยไม่มีเทพ)   ก็ต้องเป็นสะบาย..สะบาย..สไตล์นวรัตนดอทซี ค่ะ

ชะตากรรมของท่านเจ้าคุณริชลิว เห็นจะตรงกับสำนวนจีนที่ว่า "คนคำนวณหรือจะสู้ฟ้าลิขิต"
โปรดติดตามต่อไปด้วยใจระทึกว่า ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะคน อย่างขงเบ้งว่าไว้หรือไม่   


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ก.ค. 13, 12:43
สถานการณ์ร้ายครั้งนั้น รู้จักกันในนามว่า Gullasch crisis  กูลาชเป็นซุปมะเขือเทศผสมสตูว์เนื้อแบบฮังกาเรี่ยน ต้นแบบเขียนว่า Goulash ฝรั่งทุกชาตินิยมนำมาทำบริโภคกันแพร่หลายทั่วทั้งยุโรป เดนมาร์กรับมาก็สะกดไปอีกอย่าง

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5686.0;attach=41500;image)

หน้าตาเหมือน Kare Raisu - ข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น อย่างไงอย่างงั้น   ;)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 25 ก.ค. 13, 17:49
ท่าน Navarat C. กล่าวถึงธนาคารกสิกรเดนมาร์คที่นายพลริชลิวเป็นประธาน  เกิดต้องล้มครืนลง  เทียบเวลาแล้วใกล้เคียงกับที่แบงก์สยามกัมมาจลเกิดวิกฤตเพราะถูกนายฉลองไนยนารถ (ยู่เส็ง  ศิวะโกเศศ) ฉ้อฉลใน พ.ศ. ๒๔๕๖  ซึ่งทำให้ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ลดทุนจดทะเบียนของแบงก์สยามกัมมาจลจาก ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ลงเหลือ ๓๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งนอกจากทำให้พระคลังข้างที่ในฐานะหุ้นใหญ่ของแบงก์สยามกัมมาจลต้องขาดทุนไปกว่า ๑.๖ ล้านบาทแล้ว  ยังคงจะทำให้ห้างกิมเซ่งหลีของสกุลโสโณดรที่เป็นหุ้นใหญ่พลอยซวดเซไปด้วย  กรณีนี้จะส่งผลถึงกระเทิอนแบงก์กสิกรเดนมาร์คที่นายพลริชลิวเป็นประธานอยู่ด้วยหรือไม่ 


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ค. 13, 18:00
เอ..ไม่เกี่ยวกันละมังครับคุณวีหมี

เรื่องของเขา ผมกำลังเรียบเรียงอยู่ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ค. 13, 19:35
ธนาคารกสิกรเดนมาร์กก่อตั้งในปี๑๘๗๑ โดยกลุ่มทุนชาวเดนมาร์กและชาวเยอรมัน โดยมี Isaac Gluckstadt เป็นผู้นำที่เก่งกาจ ครั้นถึงปี๑๙๑๐ ธนาคารนี้ก็ก้าวขึ้นเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสแกนดิเนเวีย และเป็นปีที่เขาถึงแก่กรรม Emil Gluckstadt บุตรชายได้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทน

ต้องเข้าใจนะครับ ตำแหน่งประธานกรรมการของนายพลริชลิว เป็นตำแหน่งที่นั่งเก้าอี้หัวโต๊ะการประชุม คอยฟังว่ากรรมการผู้จัดการรายงานว่าได้ทำอะไรไปหรือจะทำอะไร แล้วกรรมการอื่นๆมีความเห็นว่าอย่างไร ถ้าส่วนใหญ่เห็นด้วยก็ผ่าน ถ้ามีความเห็นขัดแย้งกัน ประธานจึงจะตื่นจากหลับในขึ้นมาประนีประนอม หรือฟันธงเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเข้าข้างกรรมการผู้จัดการ เพราะมาจากผู้ถือหุ้นใหญ่
จะว่าไป ส่วนใหญ่ประธานกรรมการจะรู้เรื่องเท่าที่กรรมการผู้จัดการต้องการจะให้รู้ รายละเอียดในการทำงานเขาไม่มานั่งรายงานในที่ประชุมให้เสียเวลา อย่างเช่นนายอีมิลอาจรายงานว่า ขณะนี้กิจการอุตสาหกรรมทำอาหารกระป๋องมีแนวโน้มจะเติบโตสูง ธนาคารจะเน้นเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้โรงงานอาหารกระป๋องกู้มากๆหน่อย เพื่อจะได้เงินปันผลมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว กรรมการก็จะพยักหน้ากันหงึกๆหงักๆ ประธานเห็นดังนั้นก็จะพยักหน้าตามไปด้วยอย่างช้าๆ

ช่วงกูลลาสช์บาน(สะกดตามเดนมาร์กนะครับ)เกิดระหว่างปี๑๙๑๔-๑๙๑๙ ก่อนจะเหี่ยวแห้งร่วงโรยไปตามๆกัน โดยโรงงานอาหารกระป๋องในเดนมาร์กที่ผลิตกูลลาสช์ได้รับใบสั่งซื้อมากมายจากกองทัพประเทศต่างๆเพื่อเตรียมตัวทำสงคราม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเดนมาร์กประกาศตนเป็นกลาง อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเดนมาร์กได้ชื่อว่ามีประชากรวัวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ค. 13, 20:10
เริ่มต้นในปี๑๙๑๔ มีโรงงานอาหารกระป๋องที่ผลิตกูลลาสช์กระป๋องขายอยู่แค่๒๑แห่ง แต่ในช่วงสงครามระเบิดขึ้นแล้ว โรงงานประเภทเดียวกันนี้เพิ่มจำนวนขึ้นนับได้ถึง๑๔๘แห่ง และการส่งออกเนื้อโคเพิ่มขึ้นถึง ๕๐ เท่า เมื่อเทียบกับปีที่สงครามยุติ ไม่ต้องสงสัย บริษัทเหล่านี้ตรงสเป๊กของกลุ่มลูกค้าธนาคารกสิกรเดนมาร์กเป๊ะ เพราะเป็นอุตสาหกรรมเกษตร ธนาคารหมุนเงินจากกลุ่มธนาคารอื่นๆทั้งในและนอกประเทศมาทุ่มให้นายทุนทำโรงงานอาหารกระป๋องอย่างไม่อั้น

ตอนนั้นคนมีเงินก็จะลงทุนซื้อหุ้นโรงงานกูลลาสช์กระป๋อง แม้จะเอาเนื้อเลวๆมาปน ทั้งเอ็นและผังผืดก็ไม่มีใครบ่นว่า มีแต่จะเอาอีกๆ เพราะทหารในแนวหน้ามีเรื่องอื่นจะร้องทุกข์มากกว่าถ้านายจะเปิดโอกาสให้โวยได้ มีกูลลาสช์กินก็เลิศแล้ว อร่อยกว่าเอาท๊อปบูตมาต้มเปื่อยแบ่งกันกินเป็นไหนๆ ดังนั้นโรงงานกูลลาสช์กระป๋องจึงสร้างเศรษฐีสงครามขึ้นมากมายจากราคาหุ้นที่ทะยานสูงขึ้น เพราะเงินปันผลทั้งเฉพาะกาลและประจำปี มีศัพท์เฉพาะเรียกคนที่รวยหุ้นเหล่านี้ว่า 'gullaschbaroner' หรือเถ้าเก๋เนื้อตุ๋น เดินชนไหล่กันเกลื่อนถนนในโคเปนฮาเกนในช่วงสงครามโลกครั้งที่๑

เฮ้อออ..ผมนึกถึงภาพนักเลงเล่นหุ้นในกรุงเทพก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้นมาทันที ตอนนั้นไม่มีใครบอกว่าเข้าไปช้อนซื้อหุ้นอะไรแล้วขาดทุน มีแต่คุยทับกันว่าฟันกำไรไปแล้วเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ รถป้ายแดงถูกถอยออกมากันเกลื่อนถนน พอฟองสบู่แตก มีคนหัวใสเปิดตลาดนัดคนเคยรวยขึ้นในซอยทองหล่อ มีของเล่นเศรษฐีทุกระดับมาวางขายแบกะดินแม้กระทั่งเครื่องบินที่เป็นของจริง ไม่ใช่ของเล่น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ค. 13, 21:02
พอสงครามเริ่มเข้มข้นขึ้น เรือดำน้ำเยอรมันก็อาละวาดไม่เว้นแม้กับเรือสินค้าของชาติเป็นกลางที่วิ่งไปส่งกำลังบำรุงศัตรู เดนมาร์กก็หมดหนทางค้าขายกับชาติอื่นยกเว้นเยอรมันเท่านั้น ครั้นสงครามโลกครั้งแรกยุติลงในปี๑๙๑๙ โรงงานอาหารกระป๋องก็สิ้นอนาคต นอกจากความต้องการสินค้าหมดไปแล้ว หนี้ของเยอรมันก็ไร้หนทางที่จะไปตามทวงเงินมาจากใครได้ ปี๑๙๒๐จึงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเนื่องจากธุรกิจล้มเหมือนตัวโดมิโน เหล่า gullaschbaroner พากันล้มละลายประหนึ่งหิงห้อยที่บินเข้ากองไฟ ธนาคารกสิกรเดนมาร์กเองได้สร้างภาพว่ามั่นคงดีอยู่ และพยายามหาเม็ดเงินมาตู๊ต่อลมหายใจ จนกระทั่งในปี๑๙๒๒ จึงประกาศปิดธนาคารในวินาทีสุดท้ายที่หมดหนทาง

การล้มตึงของธนาคารใหญ่ที่สุดของประเทศส่งผลวิกฤตต่อระบบธนาคารทั้งมวลของเดนมาร์ก มีผลกระทบทางกฏหมายอย่างมากมายต่อมาที่เปิดแผลลึกให้นายธนาคารทั้งหลายอย่างยากที่จะเยียวยา รัฐได้เข้าอุ้มและกำหนดมาตรการต่างๆมาควบคุมการทำงานของธนาคารเพื่อประกันความมั่นคงและปลอดภัยต่อสินทรัพย์ของประชนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ในสามชั่วอายุคนต่อมา โลกจึงกลับมายอมรับความเป็นเลิศของธนาคารของเดนมาร์กอีกครั้ง
 
ในปี๑๙๗๑ ธนาคารได้เปลียนชื่อจาก The Landmandsbank เป็น The Danske Bank (The Danish Bank) และในปี ๒๐๐๐ เหลือเพียงคำว่า Danske Bank


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ก.ค. 13, 21:40
อีมิลล์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกสิกรเดนมาร์กถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริตฉ้อโกง เนื่องจากมีหลักฐานว่าเขาได้ให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ให้แก่บริษัทที่ตนเองและพรรคพวกถือหุ้นอยู่โดยใช้โนมินี เพื่อนำเงินไปลงทุนเก็งกำไร ศาลไม่ให้ประกันตัว เขาจึงต้องติดคุกและตายเสียก่อนที่จะมีคำพิพากษาว่าเขาได้กระทำความผิดจริง และทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมดถูกตีราคายึดเป็นของรัฐเพื่อชดเชยค่าเสียหาย

๑๙๒๒ ศาลฏีกาของเดนมาร์กยังได้ตัดสินลงโทษบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีทั้งจำคุกและปรับบรรดากรรมการ และพนักงานลูกจ้างของธนาคารรวม๑๒คน หนึ่งในนั้น ท่านประธานริชลิว รอดจากติดคุก แต่โดนปรับจำนวนเงินมหาศาลในความผิดที่ละเมิดกฏข้อบังคับของธนาคารเอง เพราะอนุมัติให้เปิดบัญชีกู้เงิน ซึ่งมีการพิสูจน์ได้ทีหลังว่าเป็นบัญชีลับของคนในธนาคารเอง

แม้คนที่รู้นิสัยของท่านดีอย่างนีลล์ แอนเดอเซนจะไม่เชื่อว่านายพลริชลิวจะมีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดดังกล่าว แต่คนทั่วไปก็พร้อมจะเชื่อ คำพิพากษาของศาลจึงเสมือนฆ่าท่านทั้งเป็น ในทางธุรกิจแล้วนายพลริชลิวสิ้นการยอมรับนับถือ ทำให้ต้องออกจากงานในตำแหน่งหน้าที่ที่เคยเชิดหน้าชูตา

ตามธรรมเนียมของข้าราชการหรือนักธุรกิจที่โดนข้อหาทำนองนี้ ถ้ามีเงินอยู่ก็ต้องลงเล่นการเมืองเพราะหวังว่าจะช่วยได้ นายพลริชลิวก็เคยหันเข็มสู่ทางเดินนั้น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.ค. 13, 08:23
นายพลริชลิวในฐานะสมาชิกสภาสูงที่ได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์เดนมาร์กเข้าไปนั่งในรัฐสภา ได้เคยมีบทบาทเข้าตาสาธารณชนในการเป็นแกนนำคัดค้านรัฐบาลที่นำเรื่องการขายอาณานิคมในเวสต์อินดีสให้สหรัฐอเมริกา ระหว่างปี๑๙๑๖ มาผ่านสภา แต่หลังการอภิปรายอย่างดุดันยาวนานของฝ่ายค้าน สมาชิกส่วนใหญ่ก็ยังเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะรัฐบาลทนแรงบีบของมหาอำนาจใหม่ที่นำเศรษฐกิจมาเป็นเครื่องต่อรองไม่ได้

หลังจากนั้นนายพลริชลิวก็เพลาๆบทบาทในรัฐสภาลง หันไปเอาดีในทางธุรกิจ
พอธนาคารที่ท่านนั่งเป็นประธานล้มครืนลงและท่านโดนรัฐแจ้งข้อหา ในระหว่างการสู้คดี นายพลริชลิวพยายามมีบทบาททางการเมืองในรัฐสภาอีกครั้ง ส่วนใหญ่ประเด็นที่เล่นได้ก็เกี่ยวกับกฏหมายบริษัทเรือ ในเรื่องปริมาณสินค้าคงคลังของบริษัท ที่รัฐจำเป็นต้องออกมาตรการภาษีมาควบคุมมิให้เกิดการกักตุนระหว่างสงครามและภาวะข้าวยากหมากแพง

และในฐานะข้าราชสำนัก นายพลริชลิวมีโอกาสแสดงบทบาทอีกครั้ง เมื่อพระเจ้าคริสเตียนที่๑๐ กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงอยู่เบื้องหลังฝ่ายค้านในสภา บีบคั้นรัฐบาลของนาย Carl Theodor Zahle นายกรัฐมนตรี ให้ถือโอกาสที่สนธิสัญญาแวร์ซายส์ระบุให้เยอรมันผู้แพ้ คืนดินแดนในคาบสมุทรจัตแลนด์ที่ได้จากเดนมาร์กหลังสงครามกับปรัสเซียเมื่อทศวรรษที่แล้ว ฝ่ายกษัตริย์เห็นว่าให้เอาคืนทั้งหมดแต่รัฐบาลแย้งว่าควรจะเอาคืนเฉพาะดินแดนที่คนส่วนใหญ่เป็นเดนมาร์กเท่านั้น ส่วนที่ชาวบ้านเป็นคนเยอรมันถ้าไปเอาคืนมาอีกก็อาจเป็นชนวนสงครามได้เหมือนคราวที่เกิดขึ้นครั้งกระโน้น ในที่สุดรัฐบาลตกลงจัดให้คนในพื้นที่ลงประชามติในดินแดนที่มีความเห็นแตกแยกดังกล่าว ให้ประชาชนเลือกอนาคตของตนเองว่าต้องการรวมอยู่กับเดนมาร์กหรือเยอรมัน ผลเป็นไปตามที่รัฐบาลคาด แคว้นที่ติดเดนมาร์กคนเดนมาร์กก็ชนะขาดลอย ส่วนแคว้นที่ติดเยอรมันคนเยอรมันก็ชนะขาดลอยเช่นกัน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.ค. 13, 08:30
แต่ฝ่ายค้านก็ยังไม่เลิก เห็นว่าเดนมาร์กไม่ควรจะคำนึงถึงผลของการลงประชามติ เยอรมันกำลังอ่อนแอก็น่าที่เดนมาร์กจะฉวยโอกาส นายพลริชลิวอยู่ในคณะที่ไปกราบบังคมทูลสนับสนุนพระเจ้าคริสเตียนที่๑๐ ให้ทรงมีพระราชโองการปลดคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญที่ให้พระราชอำนาจไว้ พระองค์เข้าพระทัยผิดพลาดว่า ประชาชนเดนมาร์กส่วนใหญ่ของประเทศที่เงียบเสียงอยู่จะเห็นด้วยกับพระองค์ จึงทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เรียกว่า Easter Crisis ขึ้นในปี๑๙๒๐
 
พอพระราชโองการถูกประกาศออกมา นายกรัฐมนตรีก็ตั้งป้อมสู้ทันที ไม่ยอมที่จะปฏิบัติตาม แถมยังตอบโต้กันระหว่างผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายด้วยถ้อยคำรุนแรง เมื่อนายกรัฐมนตรียอมลาออกในไม่กี่วันหลังจากนั้นและมีพระราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นรักษาการ สิ่งที่คิดว่าไม่เกิดก็เกิดขึ้น ประชาชนที่ไม่เคยแสดงความเห็นพากันออกมาชุมนุมประท้วงกันทั่วประเทศ ความขัดแย้งทวีความรุนแรงถึงขนาดขู่ว่าจะล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ของเดนมาร์กเลยทีเดียว ถึงตรงนี้พวกปกป้องสถาบันก็ออกมาประจันหน้าบ้าง สงครามกลางเมืองใกล้ระเบิดเต็มที

เมื่อถึงระดับนี้พระเจ้าคริสเตียนที่๑๐จึงทรงยอมถอย โดยทรงมีพระราชโองการให้นายกรัฐมนตรีรักษาการที่พระองค์ทรงแต่งตั้งขึ้นพ้นจากตำแหน่ง และให้รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีขึ้นมาเอง เรื่องลงเอยด้วยการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ด้วยความอะลุ่มอล่วยของทั้งสองฝ่าย โดยพระเจ้าคริสเตียนที่๑๐สัญญาว่าพระองค์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว และต่อจากนั้นไปพระองค์ก็ทรงรักษาคำพูด มิได้ทรงแทรกแซงทางการเมืองอีกเลย
เดนมาร์กยังคงมิได้แก้รัฐธรรมนูญในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชอำนาจ แต่พระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์กก็ดำรงพระองค์ในฐานะองค์พระประมุขของชาติ เป็นที่เคารพรักของราษฎรเป็นที่ยิ่ง ไม่มีพระองค์ใดที่ใช้พระราชอำนาจก้าวก่ายในทางการเมืองอีกเลย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.ค. 13, 08:37
ไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนชะตากรรมได้ ในที่สุดนายพลริชลิวก็โดนศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีอาญา

แม้จะเป็นแค่โทษปรับ แต่ตามกติกามารยาท ท่านต้องลาออกหมดทั้งตำแหน่งการค้า การเมืองและตำแหน่งกิตติมศักด์ สุดท้ายที่ท่านรับเป็นและไม่นานก็ต้องลาออกก็คือ นายกกรรมการของสมาคมเดนมาร์ก (Danish Society) อันทรงศักดิ์ศรี


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 13, 10:19
โบราณว่าที่สุดมนุษย์นี้           ชั่วแล้วดีเบ็ดเสร็จถึงเจ็ดหน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก  และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ  ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก
และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้ ฯ
จาก โลกวิปัตติสูตร


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 13, 07:51
ครับ ไม่มีใครพ้นไปจากโลกธรรมทั้ง๘ได้
ถึงคราวเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ทั้งสังคมมีแต่ติฉินนินทา ท่านนายพลคงอยู่ในกองทุกข์ หลบหน้าหลบตา หายไปจากหน้าบันทึกของนักประวัติศาสตร์เดนมาร์ก

แต่เอกสารไทยระบุว่า ในวันที่ ๒๑ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๘ (ค.ศ.๑๙๒๕)ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ ซึ่งมาเมืองไทยในฐานะแขกในพระองค์ นำบุตรและธิดาเข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่๕ ชั้น๔ ให้แก่บุตรและธิดาทั้งสามคนด้วย
 
ในปี พ.ศ.๒๔๖๘ นั้น วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯได้เสด็จสวรรคต นายพลริชลิวครั้นได้ข่าว ก็รีบลงเรือโดยสารมากรุงเทพเพื่อถวายบังคมพระบรมศพ ครั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงโปรดเกล้าฯให้รับครอบครัวริชลิวไว้ในพระกรุณาระหว่างพำนักอยู่เมืองไทย

งานออกพระเมรุและถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯซึ่งมีขึ้นในวันที่ ๒๓-๒๔มีนาคม ๒๔๖๙ นั้น นายพลริชลิวมิได้อยู่ร่วมด้วย หลังถวายบังคมพระบรมศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว ได้พาลูกๆกลับบ้านไปตั้งแต่วันที่ ๒๐มกราคม ศกเดียวกัน

และนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่ท่านผู้เฒ่าได้มารำลึกความหลังในสยาม


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 13, 08:07
ภาพตัวอย่าง เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่๕ ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ที่โปรดเกล้าฯพระราชทานให้แก่บุตรและธิดาทั้งสามคนของนายพลริชลิวเป็นชั้น๔ ทำด้วยทองคำล้วน ไม่เหมือนในรูปเสียทีเดียว กระทรวงมุรธาธรเป็นผู้รับพระราชบัญชาส่งมอบทีหลัง แต่เนื่องจากกว่าจะได้เหรียญมานายพลริชลิวก็เดินทางกลับไปแล้ว จึงส่งเหรียญทั้งหมดให้สถานทูตไทยในกรุงโคเปนฮาเกน เพื่อที่ท่านทูตจะจัดการมอบให้แก่ผู้ได้รับในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 13, 09:20
นายพลโท อองเดร ดู ปริชีส์ เดอ ริชลิว ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราในวันที่ ๒๙ มีนาคม ๑๙๓๒ (พ.ศ.๒๔๗๔) รวมอายุได้ ๗๙ ปี ศพของท่านถูกนำไปบรรจุในหีบหินอ่อนที่จัดเตรียมไว้ในโบสถ์แห่งฮอลเมน (Church of Holmen) เมืองโคเปนฮาเกน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 13, 09:22
บทความที่คนเดนมาร์กเขียนๆไว้ หาอ่านได้ในเวปมักจะจบลงทำนองประชดประชันว่านายพลริชลิวร่ำรวยมหาศาลจากธุรกิจ แต่ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรไว้เป็นสาธารณะประโยชน์เลย เปรียบเทียบกับนักธุรกิจร่วมสมัยอย่างนายคาลสเบริกส์ เจ้าของเบียร์กระป๋องสีเขียวเข้มของเดนมาร์กที่รวยแล้วอุทิศเงินสร้างอะไรต่ออะไรให้กับสังคมมากมาย และนั่นจึงทำให้ท่านไม่ประทับอยู่ในความทรงจำของคนเดนมาร์ก เป็นเสมือนแกะดำในท่ามกลางฝูงแกะด้วยซ้ำ
ไม่มีใครจะนึกถึงว่า ช่วงที่ธนาคารกสิกรเดนมาร์กล้มครืนลงไปนั้น ฐานะความเป็นมหาเศรษฐีของท่านประธานกรรมการได้วูบลงไปด้วยในช่วงนั้นหรือไม่ เพียงใด

ไม่ได้มีเอกสารอะไรระบุลงไปชัดๆหรอกครับ มันเป็นข้อสันนิฐานของผมเอง แต่ไม่ได้เป็นแบบชนิดที่เดาว่า เคยได้ยินมาว่า หรือคาดว่า แต่เอาข้อความทั้งในภาษาเดนมาร์ก อังกฤษและไทยมาปะติดปะต่อ ขอให้ท่านช่วยพิจารณาดู ดังต่อไปนี้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 13, 11:04
นายพลริชลิวไม่ได้นำเงินทั้งหมดไปฝากธนาคาร ก็คงไม่มีใครที่จะทำอย่างนั้นแน่ๆ ในคฤหาสน์ของท่านต้องมีเงินทองของมีค่าเก็บอยู่จำนวนไม่น้อย ไม่นับใบหุ้นที่กลายเป็นเศษกระดาษไป ก็น่าจะยังมีโฉนดที่ดินซึ่งไม่มีใครต้องการซื้อในยามข้าวยากหมากแพง เงินในธนาคารน่ะสูญ หรือด้อยค่าลงใกล้ศูนย์แน่  แต่อย่างไรก็ตามความลับนี้ ทายาทตระกูลริชลิวมิได้คลายออกมาให้คนอื่นรู้
เงินที่นายพลริชลิวยังเหลืออยู่  คงต้องใช้ในระหว่างต่อสู้คดี และดิ้นรนขวนขวายที่จะดำรงสถานะของตนไว้ดังเดิม ซึ่งก็คงหมดไปอีกหลายอยู่ และจบลงอย่างน่าผิดหวัง

เอกสารของเดนมาร์กบางฉบับกล่าวถึงตัวเลขว่า ศาลสั่งปรับนายพลริชลิวในความผิดที่กระทำเป็นเงินสูงถึง ๔๐๐๐ โครน ค่าของเงินในช่วงนั้น (1 krone = 1⁄2480 of a kilogram of pure gold.) ถ้าจ่ายเป็นทองคำ ก็เท่ากับน้ำหนัก๑๐๖บาท(๑.๖๑ ก.ก.)
ถ้าพิจารณาตรงนี้จริงๆตามฐานะเดิมของท่าน เงินทองจำนวนนี้ก็ไม่น่าจะเท่าไหร่ แต่ในช่วงตกอับ ก็คงถือว่าสูง เงินบำนาญที่พระเจ้าอยู่หัวของสยามพระราชทานให้ท่านถึงปีละ๑๕,๐๐๐บาท จึงน่าจะเป็นรายได้หลักในยามยาก และท่านจึงต้องขวนขวายเดินทางมาเฝ้าเพื่อแสดงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

หลังมรณกรรมของท่าน การที่คุณหญิงดักม่าร์ขายปราสาทคอคเคเดล์ คฤหาสน์ที่ครอบครัวอยู่อาศัย ก็บ่งบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสถานภาพทางการเงินของตระกูลริชลิว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 13, 11:48
ปกติ เมื่อผู้ที่ได้รับบรรดาศักดิ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ถึงแก่กรรม ทางราชการจะเรียกคืนของพระราชทานที่ให้ไว้ประดับเกียรติทั้งหมดคืนเข้าหลวง ถ้าทายาทประสงค์จะเก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงผู้วายชนม์ ก็อาจกระทำได้โดยชดเชยเป็นเงินตามมูลค่าของของที่ต้องสร้างขึ้นมาทดแทนนั้น

เมื่อนายพลริชลิวหาไม่แล้ว เครื่องยศของพระยาชลยุทธโยธินทร์ก็ถูกทางกรมพระคลังสยามเรียกคืนจากทายาทดังรายการต่อไปนี้

หีบทองคำ๑หีบ พานรองหีบทองคำ๑พาน พานทองคำย่อเหลี่ยม๑พาน มังสี(พานรองรับสังข์)ทองคำ๑มังสี ผอบทองคำ๒ผอบ ซองทองคำใหญ่๑ซอง ซองทองคำเล็ก๑ซอง ตลับภู่ทองคำ๑ตลับ ตลับมีดด้ามหุ้มทองคำ๑เล่ม คนโททองคำ๑คนโท กระโถนทองคำ๑กระโถน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์ช้างเผือก
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฏสยาม
เหรียญจักรพรรดิมาลา
เหรียญดุษฎีมาลา

คุณหญิงชลยุทธโยธินทร์ ทำหนังสือตอบกรมพระคลังมาว่า สิ่งของพระราชทานเหล่านี้ควรตกแก่ผู้รับมรดก ไม่ควรที่ทางราชการจะเรียกคืน ในที่สุดทางราชการพิจารณาเห็นว่าบรรดาเครื่องยศเหล่านั้น เวลาที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ไม่ทราบว่าทรงตรัสบอกพระยาชลยุทธไว้ว่าอย่างไร จึงตกลงมอบให้เป็นสมบัติสืบทอดแด่ทายาท ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น ทายาทไม่มีสิทธิ์ประดับ จึงยืนยันที่จะขอคืน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 13, 12:15
มาเสริมอีกนิดหน่อย
พระยาชลยุทธริชลิว ได้เครื่อ่งราชย์จากหลายประเทศด้วยกัน  คือ
จากเดนมาร์ก
    Chamberlain and Knight Grand Cross of the Danish Order of the Dannebrog
จากสยาม ก็อย่างที่ท่านนวรัตนนำมาเล่าแล้ว
 จากประเทศอื่นๆนอกเหนือจากนี้

    Legion of Honour (ฝรั่งเศส)
    Order of the Redeemer (กรีซ)
    Order of the Crown of Italy
    Order of the Crown (ปรัสเซีย)
    Order of Saint Stanislaus (รัสเซีย)
    Order of the Sword (สวีเดน)
    Order of the Medjidieh (จักรวรรดิออตโตมัน)
    Order of Franz Joseph (ออสเตรีย-ฮังการี)

   แสดงว่าในยามเฟื่องฟู   ท่านเป็นวีไอพีระดับอินเตอร์ในยุโรป    เข้างานไหนก็มีแต่คนโค้งคำนับ   ดูเหรียญตราบนเสื้อในรูปข้างล่างนี้  ท่านผู้หญิงดักมาร์คงต้องจัดเนื้อที่บนเสื้ออย่างพิถีพิถันมาก ถึงจะติดได้ถูกต้องครบถ้วน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 13, 12:29

Dagmar "Jing" Marie Louise du Plesis de Richelieu แต่งงานกับ Ove Sehestedt Juul af Ravnholt til Ravnholt เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ และหย่าใน พ.ศ. ๒๔๘๑   ???
คนนี้เป็นลูกสาวของเจ้าคุณริชลิวค่ะ ชื่อเดียวกับแม่   สมรสครั้งแรกกับ  Ove Sehestedt Juul til Lykkesholt  ต่อมาหย่ากัน แล้วสมรสใหม่กับ Carl Maximilian Thorvald ซึ่งมียศเป็น  Baron Haxthausen


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 13, 12:43
nick name ที่ชื่อ Jing คงมาจาก "หญิง" เพราะลูกสาวคนนี้เกิดในเมืองไทย

ประเด็นข้อสงสัยสุดท้าย เกิดจากข่าวBangkok Postเมื่อหลายปีก่อน เมื่อหลานตาของท่านนายพลริชลิว Allan Aage Hastrup ซึ่งเป็นบุตรชายคนเดียวของ Agnes Ingeborg du Plessis de Richelieu (Abi) ลูกสาวคนสุดท้อง ได้มาเมืองไทยเพื่อเปิดประมูลเสื้อครุยพระราชทานสำหรับบรรดาศักดิ์พระยาพานทองของคุณตา อันเป็นมรดกตกทอดผ่านมารดามาถึงตน
ข่าวไม่แจ้งว่าใครประมูลได้ และคุณหลานเอาเงินใส่กระเป๋ากลับบ้านไปเท่าไหร่

ถ้ามรดกคุณตามากอย่างที่เคยมีมาก่อน หลานก็คงรวยพอ ไม่จำเป็นต้องเอาสมบัติอันมีค่ายิ่งทางใจมาเปลี่ยนเป็นเงิน หรือหากไม่อยากเก็บไว้อีก ก็ควรจะอุทิศให้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งในประเทศไทย ผู้ซึ่งเป็นแผ่นดินที่เคยสร้างชื่อเสียงเกียรติยศและความร่ำรวยให้แก่บรรพบุรุษของตนอย่างถึงขนาด


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 13, 12:46
มีเหมือนกัน ที่ในปีนี้ ทายาทผู้มิได้ถูกระบุนาม อุทิศศาสตราวุธที่เห็นในภาพแก่กองทัพเรือผ่านกระทรวงการต่างเทศ ผมก็อนุโมทนาด้วย แม้จะเห็นว่ารายการที่มอบให้ มีธงประจำตำแหน่งนายพลเรือโทเท่านั้นที่น่าสนใจ ที่เหลือเป็นเพียงอาวุธโบราณที่ฝรั่งชอบสะสมเป็นของเล่นๆ หาได้ตามร้านขายของเก่าไม่มีราคาค่างวดเท่าไหร่ หาใช่สิ่งของล้ำค่าที่ได้รับพระราชทานไปจากพระเจ้าแผ่นดินสยามไม่



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 13, 21:18
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5686.0;attach=41555;image)

เครื่องยศอันล้ำค่าเหล่านี้ ยังอยู่ดีในตระกูลของเจ้าคุณ หรือว่ากลายเป็นคอลเลคชั่นใครประมูลได้ไปเสียแล้วคะ?


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 13, 21:43
ผมต้องขออภัยเป็นอย่างสูงครับ

รูปข้างบนที่ผมเอามาจากเวป มาทราบทีหลังว่าเป็นเครื่องราชอิสริยยศของเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี หาใช่เครื่องยศระดับข้าราชการชั้นพระยาไม่
พระยาชลยุทธโยธินทร์ เป็นพระยาพานทอง ระดับทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เครื่องยศพระราชทานเป็นเครื่องทองคำธรรมดา ประมาณรูปที่ผมนำมาลงข้างล่าง

ส่วนคำถามที่ว่า สิ่งของมีค่าดังกล่าวขณะนี้อยู่ที่ใคร เจ้าของขายไปแล้วหรือฉันใด ผมจนปัญญาที่จะค้นคว้าหามาได้ครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ค. 13, 06:24
เมื่อกล่าวถึงเรื่องพานทองเครื่องยศที่คุณหญิงดักมาร์ไม่ยอมส่งคืนหลวงแล้ว ก็ต้องเล่าถึงตัวเธอต่อ มิฉะนั้นคงจะจบเรื่องของนายพลริชลิวได้ไม่สมบูรณ์

นายพลเรือจัตวาริชลิว(ยศตอนนั้น) ในปลายปี๑๘๙๑ มีภารกิจพิเศษในการนำเสด็จกรมหมื่นดำรงราชานุภาพไปยุโรปเพื่อทำสัญญาต่อเรือพระที่นั่งมหาจักรีที่อังกฤษ แล้วเลยไปเดนมาร์กเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าคริสเตียนที่๙ในกรุงโคเปนฮาเกน  หลังจากนั้นถือโอกาสลาพักราชการเพื่อเยี่ยมบ้านตามสัญญา มีเวลาแค่เดือนเศษ ก็เกิดปิ๊งกับแม่สาวสวยคนนี้ ถึงขนาดขอแต่งงานด้วยแล้วพากลับมาสยาม

ทำไม๋ฝรั่งชอบบ่นว่าคนไทยชื่อยาว ฝรั่งเอง อย่างแม่สาวดักมาร์คนนี้ชื่อเต็มๆของเธอคือ Dagmar Therese Louise Lerche เกิดปี๑๘๗๑ อายุต่างกับสามีถึง ๑๙ ปี ตอนแต่งงานกับญาติห่างๆกันคนนี้ เธอเพิ่งอายุ ๒๑ ปี มิต้องสงสัยเลยที่เธอจะเป็นดาราดวงเด่นของสังคมฝรั่งในกรุงเทพเมื่อเธอเดินทางมาถึง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ค. 13, 06:34
บ้านหลวงที่สามีได้รับพระราชทานให้พักอาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับป้อมปืนหนึ่งของกำแพงพระบรมมาราชวัง ดังที่คุณหนุ่มสยามเอาแผนที่สมัยโน้นมาลงไว้ตอนต้นๆของกระทู้นั่นแหละ อย่าว่าแต่ฝรั่ง สาวชาววังก็กร๊ดกร๊าดแหม่มสาวน่ารักคนนี้กันมากมาย สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีก็ทรงโปรดเธอมาก เพราะความฉลาด สวยสง่าและร้องเพลงเพราะ ทรงเมตตาสนิทสนมมาตั้งแต่กัปตันริชลิวขอพระบรมราชานุญาตพาภรรยาติดเรือพระที่นั่งมหาจักรีที่ตนทำหน้าที่กัปตันไปด้วย คราวที่พระเจ้าอยู่หัวได้ทดลองใช้เสด็จประพาสชวาเป็นครั้งที่๒ ก่อนเสด็จยุโรป


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ค. 13, 07:55
อย่างที่ทราบๆกันอยู่กัปตันริชลิวเป็นคนบ้างาน กลางวันทำงานในกรมทหารเรือ กลางคืนถูกเรียกเข้าเฝ้าเป็นเนืองนิตย์ เวลาที่จะดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กับภรรยาไม่ค่อยจะมี เพื่อนบ้านที่สนิทสนมกัน คือกัปตันลอฟตัส และกงสุลเลคคีย์จึงได้วนเวียนกันมาเป็นเพื่อนแก้เหงา  กงสุลเดนมาร์กคนนี้สนิทสนมกับทั้งสามีภรรยามาก ลูกชายคนหัวปีจึงได้ชื่อเล่นเป็นชื่อเดียวกันกับสหายคนนี้ คือชื่อลี(Lee) ชื่อจริงคือ Helge du Plessis de Richelieu

นอกจากนั้น ยังมีฝรั่งหนุ่มๆไปเสนอหน้าอีกหลายคน เสียดายหนุ่มไทยไม่ได้ส่งเข้าประกวดกับเขาเพราะตกสัมภาษณ์ พูดภาษาอังกฤษสำนวนโมแรนติกไม่เอาอ่าว ดักม่าร์เป็นสาวมีการศึกษา ที่โรงเรียนครูคงสอนให้บันทึกประจำวันลงสมุดไดอารี่ ไอ้ไดอารี่นี่ฝรั่งทุกชาติสมัยโน้นชอบจดกันซะจริง คนไทยไปเรียนนอกก็ติดนิสัยนี้มา อดีตนักเรียนนอกสมัยโน้นจดไดอารี่ทุกวัน วันนี้รักใครโกรธใครใครดีใครเลวอย่างไรจดไปหมด ไม่รู้เหมือนกันว่าจดทำไม ตัวเองก็คงไม่ได้ย้อนกลับไปอ่าน พอตายแล้วลูกเมียไปพบเข้า เอามาอ่านแล้วก็เซ็งเป็ดไปตามๆกัน ดักม่าร์ก็อย่างนั้น ใครมาจีบอย่างไรก็จดลงไป ไดอารีเป็นเรื่องส่วนตัวถือเป็นมารยาทที่ไม่ควรไปแอบอ่านของคนอื่นแม้กระทั่งเมีย กัปตันริชลิวคงไม่ได้อ่าน ถ้าอ่านแล้วจะรู้สึกอย่างไรถ้าภรรยาเขียนไดอารีทำนองว่า “ไดอารีจ๋า วันนี้พี่บรรมารับเราไปนั่งรถเล่นอีกแล้วละ คราวนี้ไปซะไกลเชียวนา แล้วพี่บรรก็เล่าเรื่องของพี่เค้าให้เราฟังด้วยละ…ฯลฯ”
พี่บรรในที่นี้ไม่ได้มาจากสุพรรณบุรี แต่คือ M.W.E. de Bunsen ทูตอังกฤษประจำกรุงเทพ ที่คอยหาโอกาสช่วงที่กัปตันริชลิวไม่อยู่บ้าน มาร้องหง่าวๆอยู่หน้าประตู คนที่อ่านบันทึกของเธอแล้วเอามาเขียนเล่าสู่กันฟังบอกว่า ดูเหมือนเธอจะร้องเหมียวๆรับเขาเหมือนกัน เพราะไปนั่งรถเล่นกันบ่อย และเธอก็เป็นคู่สนทนาที่ดีขนาดที่นายบรรเส้นเอาเรื่องอะไรต่อมิอะไรในสยามที่ตนทำรายงานไปลอนดอนมาเล่าให้ฟังบ่อยๆ ไม่แน่ เขาอาจกำลังหลอกล่อแม่สาวน้อยให้เปิดเผยความลับในวังที่สามีนำมาเล่าต่อให้ภรรยาฟังก็ได้

แต่ก็ช่างเถอะ บังเอิญที่พี่บรรของเธอถูกย้ายไปที่อื่นเสียก่อนที่สัมพันธภาพจะเลยเถิด นายกรีวิลล์(G. Greville's )ทูตคนใหม่ที่มาแทนเกิดไม่ชอบน้ำหน้ากัปตันริชลิวอย่างแรง แล้วเลยเถิดพาลไม่ชอบภรรยาไปด้วย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 13, 08:56
^
มันส์ยิ่งกว่าอ่านลัดดาซุบซิบ  (http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3276.0;attach=9565;image)

ไปสอบถามลุงกู๊กเพิ่มเติม ได้ความว่าพ่อแมวหง่าวชาวอังกฤษรายนี้มีชื่อเต็มว่า {Sir} Maurice William Ernest DE BUNS  คือภายหลังได้บรรดาศักดิ์เป็นบารอนเนท ใช้คำว่า "เซอร์" นำหน้า
ปีที่ริชลิวแต่งงานกับดักมาร์    พี่บรรอายุ 39   อ่อนกว่าท่านเจ้าคุณ 1 ปี    ตอนมาจีบคุณหญิง พานั่งรถเที่ยว ก็อายุประมาณ 40 เป็นหนุ่มใหญ่ไม่ใช่หนุ่มน้อย    แต่ว่ายังโสดไม่ได้แต่งงาน    เพิ่งจะมาแต่งเมื่อออกจากสยามไปแล้วหลายปี    อายุปาเข้าไป 47 ปี แต่งงานกับหญิงชาวอังกฤษด้วยกัน

อ้างถึง
เธอก็เป็นคู่สนทนาที่ดีขนาดที่นายบรรเส้นเอาเรื่องอะไรต่อมิอะไรในสยามที่ตนทำรายงานไปลอนดอนมาเล่าให้ฟังบ่อยๆ ไม่แน่ เขาอาจกำลังหลอกล่อแม่สาวน้อยให้เปิดเผยความลับในวังที่สามีนำมาเล่าต่อให้ภรรยาฟังก็ได้

หรือไม่ เผลอๆ แม่สาวน้อยก็หลอกล่อให้หนุ่มโสดวัยดึกเล่าอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับรายงานไปลอนดอนให้เธอฟัง   (ซึ่งฟังจากบันทึกนี้เธอก็ทำได้สำเร็จ )   เพื่อจะไปเล่าให้สามีฟังอีกทีว่าอังกฤษกำลังดำเนินงานอะไรกับสยามบ้างโดยเฉพาะทางธุรกิจ     เพราะเจ้าคุณริชลิวเป็นนักธุรกิจควบคู่ไปกับทหาร    ย่อมอยากจะรู้ความคืบหน้าของฝรั่งคู่แข่งทุกชาติ  ว่าจะมาแบ่งเค้กในสยามด้วยวิธีไหนอะไรบ้าง    
กะอีแค่ปล่อยภรรยาสาวสวยให้นั่งรถเล่นไปอย่างเปิดเผย  นั่งกันไปคุยกันไป   ไม่ได้ไปทำอะไรลี้ลับนอกสายตาคน   เจ้าคุณถือว่าปลอดภัยพอสมควร




กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ค. 13, 09:40
หมดจากพี่บรร รู้สึกว่าคู่แข่งจะค่อยๆหมดไป พอเป็นนายพลแล้วทหารเรือสยามชาวเดนมาร์กผู้นี้ก็ต้องเข้าสังคมระดับสูงที่ภรรยาจะต้องเคียงข้างไปด้วย  แทบทุกคืนทั้งคู่จะต้องแต่งตัวอย่างโก้ไปร่วมในงานเลี้ยงรับรองของบุคคลชั้นสูงชาวยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเชิญเสด็จเจ้านายฝ่ายไทยไปร่วมด้วยเสมอๆ

แต่เป็นในวังเองที่แบ่งเวลาของครอบครัวไป  ครั้งแล้วครั้งเล่าที่คุณหญิงดักมาร์เริ่มบันทึกในหน้ากระดาษว่า “อองเดรียสเข้าวัง” ทำให้เราได้ทราบว่าในช่วงอากาศร้อนไม่สามารถจะบรรทมได้นั้น ก็จะทรงใช้เวลาผ่อนคลายกับพระสหายหรือพระราชวงศ์ใกล้ชิด เป็นที่ทราบดีว่าวันหนึ่งๆ ทรงมีพระราชภาระที่จะต้องปฏิบัติในฐานะพระมหากษัตริย์นอกเหนือจากต้องเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีต่างๆนับไม่ถ้วน แล้วยังต้องประชุมกับเหล่าเสนาบดี หรือคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่าอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
“แต่..ทำไมนะ” คุณหญิงชลยุทธโยธินทร์บ่นกับไดอารี่ “อะไรๆก็มาลงที่ทหารเรือ เค้าควรจะจัดตั้งฝ่ายบันเทิงขึ้นมา เพื่อที่ทหารเรือจะได้ทำงานที่เหมาะสมกับหน้าที่ของตัวเอง”

คุณหญิงน่ะไม่รู้อะไร ทหารเรือไม่ได้ต้องอยู่แต่ในทะเลนะขอรับ กองดุริยางค์ทหารเรือเขาถือว่าเป็นอันดับหนึ่งในเรื่องของดนตรีตะวันตกเชียวนา ถึงได้ทรงโปรดไง ถ้าอยู่ถึงสมัยนี้ละก็ คุณหญิงคงจะต้องไปรับเสด็จและร่วมชมการแสดง “กาชาดคอนเสิร์ต” ในทุกๆปีด้วยอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม หลังจากกราบบังคมทูลขอลาออกจากราชการ คืนนั้นคุณหญิงชลยุทธโยธินทร์บันทึกอย่างไร้อารมณ์ว่า
“คืนนี้ มีเพียงอองเดรียสกับฉันเท่านั้น ที่ทานอาหารด้วยกันตามลำพังเพียงสองคน”
คนไขความลับในบันทึกบอกไม่สามารถจะอ่านออกจริงๆว่า คุณหญิงระบายความยินดีออกมา หรือเพียงต้องการเล่าบรรยากาศหลังการลาออกเฉยๆ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ค. 13, 11:08
เมื่อกลับถึงเดนมาร์กแล้ว มาดามดักมาร์ เดอ ริชลิวคงจะได้ทราบฐานะอันแท้จริงของสามี ซึ่งฝรั่งเขียนไว้ว่า
From other sources we learn that his personal annual income was higher than the ten leading financiers in the country-combined, and they were definitely not poor people. He was one of the richest men in Denmark
รายได้ต่อปีของนักธุรกิจข้ามชาติ ในมาดของนายพลเรือสยามผู้นี้ มากกว่ารายได้ของนักการเงินชั้นแนวหน้าของประเทศ๑๐คน-รวมกัน สามีภรรยาคู่นี้มิได้จะกลับมาเป็นคนจนในบ้านเกิดแน่นอนอย่างที่ทรงเป็นห่วง  ที่แท้ริชลิวคือคนที่รวยที่สุดคนหนึ่งของเดนมาร์กในพ.ศ.นั้นทีเดียว

ไม่มีใครเขียนเล่าต่อว่า มาดามดักมาร์เธอบันทึกไดอารีต่อไปในช่วงชีวิตนี้อย่างไร เหงาหรืออบอุ่นขึ้นในคฤหาสน์คอคเคดาล และสุดท้าย อะไรเกิดขึ้นกับสามีและตนเอง ตลอดจนลูกๆหลานๆบ้าง ก่อนที่เธอจะถึงแก่กรรมด้วยความชรา และเขานำร่างของเธอไปบรรจุในโลงหินอ่อนเรียงต่อจากสามี

ผมคงจบท่อนอวสานของกระทู้นี้ลงได้แล้ว อยากจะสารภาพว่า แม้ชื่อริชลิวจะผ่านสายตามาบ้าง แต่ผมก็ไม่เคยสนใจชีวิตส่วนตัวของชายผู้นี้มาก่อน จนกระทั่งวันที่ผมได้คุยกับนายทหารเรือผู้คุ้นเคยกับปืนเสือหมอบของป้อมพระจุลที่สุด ดังที่เล่าไปแล้ว จึงเกิดความรู้สึกว่าทำไมนะริชลิว ท่านคิดอย่างไรหนอจึงเสนอให้สยามจัดซื้อปืนที่ดูดี แต่ไร้ประโยชน์พรรค์นี้มาประจำการ เลยใช้อินทรเนตรเสาะหาเบื้องหน้าเบื้องหลังดู โอ้โห น่าสนใจมากเลย
แต่หลังจากเขียนต้นฉบับไปได้สักครึ่งนึง ก็มีเหตุอันทำให้ต้องหยุดเขียนไปร่วมปี มาคิดปัดฝุ่นก็ตอนที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานรำลึก๑๒๐ปีร.ศ.๑๑๒นี้แหละ จึงอยากจะเสนออะไรในมุมมองที่ผมเห็นต่างกับคนอื่นบ้าง ข้อเท็จจริงหลายเรื่องมิใช่ดังที่มานำมาเล่ามาเขียนกันซ้ำๆซากๆไม่รู้กี่ทศวรรษมาแล้ว โลกยุคคอมพิวเตอร์เปิดโอกาสให้เราเข้าถึงข้อมูลอื่นๆที่ไม่เคยได้รู้เห็นมาก่อนมากมาย เพียงแต่เราต้องทำตัวตนให้เป็นกลาง ปราศจากอคติ แล้วพิจารณาเรื่องอะไรควรเชื่อไม่ควรเชื่อ ยกตัวอย่างเหมือนเราอ่านประวัติศาสตร์ของชาติอื่นไกลๆตัว เราก็จะเลือกง่ายหน่อยว่าเปรียบเทียบกันแล้ว เราน่าจะเชื่อข้อมูลของฝ่ายใดตรงไหน อย่างไร
ผิดถูกไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าเราได้ใช่วิจารณญาณอย่างถ่องแท้แล้วหรือยังเท่านั้นก็พอ

ชีวิตของนายพลริชลิวทั้งในสยามและโดยเฉพาะหลังกลับไปเดนมาร์กแล้ว ผมอ่านไปเขียนไปด้วยความทึ่ง ชีวิตจริงของคนบางคนดราม่ายิ่งกว่านิยาย มีทั้งบู๊ทั้งรัก แย่งผลประโยชน์ หักเหลี่ยมชิงคมการเมืองธุรกิจ โดยมีราชสำนักไทยและเดนมาร์กเป็นฉากหลัง ชีวิตที่ขึ้นสูงสุดและตกต่ำลงของริชลิว สามารถให้แก้วเก้าเขียนบทให้ฮอลลิวูดทำหนังได้สบายๆ
ผมจะไม่สรุปละว่าในความรู้สึกของผม ท่านนายพลริชลิวเป็นคนอย่างไร นั่นขอฝากไว้เป็นการบ้านให้ท่านคิดต่อเอาเองก็แล้วกัน

ขอบคุณทุกท่านที่อดทนอ่านมาถึงบรรทัดนี้ครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 13, 12:46
ขอขอบคุณอย่างยิ่ง   สำหรับกระทู้มหากาพย์ที่หาอ่านยากอีกกระทู้หนึ่งค่ะ   เป็นสีสันเบื้องหลังประวัติศาสตร์ที่อ่านแล้วเพลิน ไม่ง่วงอย่างเวลาท่องหนังสือ
ทำให้เห็นว่า กว่าสยามจะรอดปากเหยี่ยวปากกาจากอาณานิคมมาได้  เบื้องหลังมันซับซ้อนมากแค่ไหน     เสียดายว่าเราไม่ได้เรียนกันในหลักสูตรให้มากกว่าที่เป็นอยู่

ดิฉันพยายามหาจากกูเกิ้ลว่าลูกๆของเจ้าคุณริชลิว ไปทำอะไรอยู่ที่ไหนหลังจากพ่อแม่สิ้นบุญไปแล้ว     แต่ก็ไม่พบรายละเอียดมากไปกว่าลูกชายสองคน เป็น landowner  หรือเจ้าของที่ดิน   แปลแบบไทยเห็นจะตรงกับคหบดี(?)   คุณ Helge du Plesis de Richelieu ลูกชายคนรอง มีประวัติบอกนิดหน่อยว่าอยู่ในกองทัพ  อาจจะเป็นทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นได้  ลูกสาวสามคนแต่งงานแต่งการไป ก็จบแค่นั้น  ไม่เจอบทบาทหน้าที่การงานหรือความสำคัญใดๆในสังคมเดนมาร์ก

ชีวิตของนายพลริชลิวทั้งในสยามและโดยเฉพาะหลังกลับไปเดนมาร์กแล้ว ผมอ่านไปเขียนไปด้วยความทึ่ง ชีวิตจริงของคนบางคนดราม่ายิ่งกว่านิยาย มีทั้งบู๊ทั้งรัก แย่งผลประโยชน์ หักเหลี่ยมชิงคมการเมืองธุรกิจ โดยมีราชสำนักไทยและเดนมาร์กเป็นฉากหลัง ชีวิตที่ขึ้นสูงสุดและตกต่ำลงของริชลิว สามารถให้แก้วเก้าเขียนบทให้ฮอลลิวูดทำหนังได้สบายๆ

ฮัดเช้ย!


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ค. 13, 18:13
โต่ะจายโหม่ะเลย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ค. 13, 18:16
Helge du Plesis de Richelieu ลูกชายของนายพลริชลิว รับราชการแต่แรกเป็นทหารรักษาพระองค์ด้วยเส้นของพ่อ ก่อนย้ายไปประจำกองทหารม้าของเดนมาร์ก
ปีพ.ศ.๒๔๖๒ ระหว่างดำรงยศนายร้อยโท ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปรับราชการในสถานทูตที่กรุงปักกิ่ง ได้แวะมาประเทศไทยและได้รับการต้อนรับอย่างดีจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้นำตัวเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ขณะเสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกที่ทำการใหม่ของกรมรถไฟหลวงด้วย

ชีวิตในราชการไม่ได้รุ่งโรจน์เท่าบิดา หลังจากเมืองจีน ได้ย้ายไปประจำสถานทูตในกรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์อีกพักหนึ่ง ก่อนลาออกมาทำธุรกิจแล้วก็เงียบๆไปครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ส.ค. 13, 08:23
ได้ภาพมาใหม่ครับ ท่านอาจจะไม่เคยเห็นเลยนำลงมารวบรวมไว้

เป็นภาพเรือพระที่นั่งเวสาตรี ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งต่อจากอังกฤษลำแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายพลริชลิว สมัยเป็นนายนาวาโทประจำกรมแสง เป็นกัปตันเรือลำนี้อีกตำแหน่งหนึ่ง

เหตุการณ์ในภาพนี้อยู่ระหว่างพระราชพิธีมหาพิไชยมงคลลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสยามมงกุฏราชกุมารพระองค์แรกในรัชกาล


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 13, 09:12
เคยได้ยินชื่อ "เวสาตรี" รู้สึกว่าชื่อนี้เพราะ แต่ยังหาความหมายไม่ได้ว่าแปลว่าอะไร  ทราบแต่ว่าเป็นชื่อเรือพระที่นั่งลำหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕  เพิ่งเห็นรูปที่ท่านนวรัตนนำมาโชว์ข้างบนนี้
ไม่มีความรู้ว่าเป็นเรือชนิดไหนค่ะ   ทราบแต่ว่าทรงเรียกว่า "เรือไฟมีใบ" หมายถึงเรือกลไฟ ที่ใช้ใบด้วย หรืออย่างไรก็ไม่แจ้ง   ???

หลักฐานพระบรมราชโองการเกี่ยวกับ การจัดคนประจำเรือและการบังคับบัญชาเรือเวสาตรี มีตอนหนึ่งว่า
     ให้จัดทหารเป็นแกตลิงกัน ลงประจำเรือเวสาตรี ให้เปนเรือกรมแสงพระองค์สายเป็น ผู้บังคับบัญชา
     แต่ผู้ซึ่งจะเปนกัปตันนั้น เหนว่ากัปตันริชลิว เป็นคนของเจ้าแผ่นดินเดนมาร์คได้มีพระราชสาส์นฝากฝังมาถึงฉันเอง เขาได้รับการในเรือรบแลการทำแผนที่ ก็เหนว่าเรียบร้อย เปนคนที่ มีความรู้ควรต้องเลื่อนยศขึ้นบ้าง ฉันจึงจะขอกัปตันริชลิวให้เปนกัปตันเรือยอชต์หลวงให้เป็น เกียรติยศขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง แลจะได้ฝึกหัดคนพวกนี้ให้เข้าใจในทางปืนให้เรียบร้อยแล้ว เมื่อมี ราชการอย่างอื่นเปนครั้งเปนคราว ก็จะได้เรียกใช้ได้




กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ส.ค. 13, 09:28
เวสาตรีเป็นเรือกลไฟที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำขับเคลื่อนเวลาอับลม หรือวิ่งในแม่น้ำ แต่เวลาเดินทางไกลในทะเลหลวงจะใช้ใบ

เวสาตรี มีความหมายว่ากระไร น่ารู้จริงๆครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 13, 13:34
ส่งข้อความหลังไมค์ไปถามท่านผู้รู้ถึงความหมายชื่อเรือ เวสาตรี แล้วค่ะ  อยากรู้เหมือนกัน

รายละเอียดของเรือตามที่ พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัชเล่าไว้ในหนังสือนาวิกศาสตร์  ระบุว่า ปรากฏในเอกสารรัชกาลที่ ๕ สมุดพิเศษ เล่ม ๒ ดังนี้
"พระสยามธุรพาหะ มีหนังสือถึงพระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ ลงวันที่ ๑๗ เฟบรุอารี ความว่า ได้ลองเรือเวสาตรีที่ช่องโซเลนท์ แลก็รู้ว่าเปนเรือเดินดีแลเปนที่อยู่สบายด้วย มีพายุคลื่นใหญ่ใช้ใบ พอประมาณได้ ๑๒ นอต หรือ ๑๓ นอต...ฯลฯ"

 ทั้งนี้ได้ส่งหนังสือพิมพ์เซาท์แทมตันไทม์ ฉบับวันที่ ๒ มีนาคม ค.ศ.๑๘๗๙ ที่ลงข่าวเกี่ยวกับเรือเวสาตรี แปลไว้บางส่วน ดังนี้

เรือนี้ต่อที่อู่นอแตม ไอรอนเวิคเซาท์แทมตัน ยาว ๑๔๔ ฟุต กระดูกงูยาว ๑๒๐ ฟุต กว้าง ๒๒ ฟุต ๒ นิ้วครึ่ง ลึก ๑๓ ฟุต ๒ นิ้ว หัวเรือกินน้ำ ๘ ฟุต ท้ายเรือกินน้ำ ๑๑ ฟุต ศีศะเรือ มีรูปเทวธิดาปะปิดทองคำ มีลายกนกทั้งสองข้าง ศิศะเรือท้ายเปนรูปไข่ ใบจักรยกออกได้ มีเสาใบอย่างเรือสกูนเนอร์ ต่อด้วยเหล็กสแตฟอรต ฯลฯ"
และมีรายละเอียดเกี่ยวกับการแต่ง เรือบางส่วน คือ "ในห้องแลที่เชิงรบ มีที่ไว้ปืนใหญ่ ปืนมาตินีเฮนรี (ปืนเล็กยาวที่ใช้ในสมัยนั้น-ผู้เขียน) และดาบกระบี่ ในห้องท่านผู้ดีมีที่ไว้ปืนไรเฟอ ดาบ ขวาน แลหอก ที่ศีศะเรือมีปืน วิศเวิศหกเปานด์เตอร์"


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 13, 15:33
   มาต่อเรื่องเรือเวสาตรี
   จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันรัชกาลที่ ๕ กล่าวถึงการเสด็จโดยเรือพระที่นั่งเวสาตรี  การใช้เรือเวสาตรีในราชการอื่น ๆ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๓ เป็นต้นมา  ขอกล่าวเฉพาะตอนที่สำคัญคือ
   - วันอาทิตย์ เดือน ๗ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ.๒๔๒๓ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเวสาตรีมีเรือนฤเบนทร์บุตรี เป็นเรือตามเสด็จ  ในจดหมายเหตุฯ กล่าวว่า
       "ออกกลางคืนนำร่องนำทางผิดเกือบติด เดือน มืดคลื่นใหญ่มาก ไปจดบังคับคลื่นที่อ่าวกระสือถึงเวลาตี ๓"
   - วันจันทร์ขึ้น ๙ ค่ำ ไปเกาะสีชัง จอดอยู่ ๔ วัน วันศุกร์ขึ้น ๑๓ ค่ำ ออกไปอ่างศิลาแล้วกลับกรุงเทพฯ ในวันเดียวกัน ถึงสมุทรปราการเวลาสามโมงเย็น"
        วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๓ เรือเวสาตรี รับพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์ จากตำบลบางพูดมายังท่าราชวรดิฐ
        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเวสาตรีอีกหลายครั้ง ในการพระราชทานผ้าพระกฐินที่สมุทรปราการ พระประแดง และประพาสฝั่งทะเลตะวันออกอีกหลายครั้ง ที่สมควรกล่าวถึง คือ
        วันอาทิตย์ขึ้น ๖ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ.๒๔๒๔ เสด็จประพาสฝั่งทะเลตะวันออกจนถึง เมืองประจันตคีรีเขต เกาะกง วันพุธขึ้น ๙ ค่ำ (๒๘ พฤศจิกายน) สมเด็จเจ้าพระยาบรม มหาศรีสุริยวงศ์ มาด้วยเรือสุริยมณฑล เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เสนาบดี กรมพระคลัง และกรมท่า มาด้วยเรืออุบลบุรทิศ จอดร่วมอ่าวที่ประจันตคีรีเขต และได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 13, 15:36
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเวสาตรีต่อมาอีกหลายปีจนถึง พ.ศ.๒๔๓๐ จึงทรงใช้เรืออุบลบูรทิศ เป็นเรือพระที่นั่ง เพราะเป็นเรือที่ใหญ่กว่าเรือเวสาตรีเกือบเท่าตัว

    วาระสุดท้ายของเรือเวสาตรี

        เรือเวสาตรี ได้ไปเกยหินอัปางในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๓ ระหว่างเดินทางไปเข้าแม่น้ำกลัง
        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เหตุการณ์นี้ไว้ในเรื่อง "ระยะทางเสด็จประพาสทางบก ทางเรือรอบแหลมมลายู ร.ศ.๑๐๙" เล่ม ๒ ดังนี้
        "ออกเรือจากเกาะดินดิง เวลาเช้า ๒ โมง กินข้าวเช้าแล้วนอน กลางวัน พอบ่ายตื่นขึ้นเขียนหนังสือตลอดทาง เวลาที่กะแต่เดิมว่าจะมาถึงแต่เย็น แต่เป็นการ ไปอย่างบาลูน เข้าช่องกังซาไปจนถึงข้างใน ทอดสมอระหว่างทางเวลายามเศษ"
        "ในค่ำวันนี้ เรือเวสาตรีก็ตามมาถึงที่ไลต์เฮาส์ แล่นหนีไลต์เฮาส์ไปเกยหินที่ริมนั้น ทุ่นเขาก็มี เดินบุ่มบ่ามเอง แต่ซัดกันป่นไปว่า นำร่องบอกให้ไปทางโน้น    เห็นว่าอย่างไรก็เป็นความผิดของพระยาวิสูตรทั้งนั้น"

       พระยาวิสูตรสาครดิฐ ที่ว่านี้ ชาวเรือนไทยรู้จักในนามกัปตันจอห์น บุช  ที่มาของตรอกกัปตันบุชแถวโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ลในปัจจุบัน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 13, 16:17
เอาลิงค์มาแปะไว้ครับ เผื่อจะมีใครที่ยังไม่เคยอ่าน

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5389.0


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 13, 16:43
        รายงานของพระยาวิสูตรสาครดิฐ เกี่ยวกับการอับปาง และการกู้เรือเวสาตรี
        ข้างล่างนี้คือรายงานของพระยาวิสูตรสาครดิฐ (จอห์น บุช) อธิบายเรื่องเรือเกยหินและความพยายามกู้เรือเวสาตรี โดยละเอียด   พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัชคัดลอกและแปลสรุปมาบางตอน ดังนี้ (รายงานเป็นภาษาอังกฤษทั้งฉบับ)

        "วันที่ ๒๖ พฤษภาคม เวลาเช้านำร่องชาวมาเลย์ชื่อ AHMET ซึ่งมาจากแม่น้ำกลัง พร้อมกับคนอื่น มาขึ้นเรือเพื่อนำเรือผ่านช่อง ถอนสมอจากเกาะดินดัง เดินเข็มต่าง ๆ ตามเรือ ที่แล่นไปข้างหน้า เวลา ๒๑๐๐ ไฟเกาะปูโลอังซา อยู่ตรงกราบเรือเรือเดินเข็ม ซอ. นำร่องสั่ง เปลี่ยนเข็มไปทางตะวันออกมากขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ถาม ถึงความรู้และความชำนาญ เกี่ยวกับร่องนำร่องยืนยันว่า รู้ร่องน้ำและที่เรือดี    น้ำทางด้านใต้ของร่องตื้นและมีโป๊ะมาก ระหว่างนี้ได้หยั่งน้ำด้วยดิ่งตลอดเวลา ความลึกของน้ำ ๖,๕,๗ ฟาธอม นำร่องจึงเปลี่ยนเข็มเป็น เซาท์บายเวสท์ พอเปลี่ยนเข็มเรือก็เกยหินด้วยความเร็ว ๖ นอตครึ่ง ก่อนเกยหินหยั่งน้ำได้ ๕ วา ๒ ศอก (เรือเวสาตรี กินน้ำลึกหัว ๘ ฟุต ท้าย ๑๑ ฟุต แสดงว่าได้แล่นขึ้นไปบนกองหิน เต็มลำ - ผู้เขียน) ได้ชักโคม ๓ ดวง ระหว่างเสา จุดไฟสีน้ำเงินยิงปืนใหญ่ทุก ๗ นาที หย่อนเรือโบตลงน้ำ  นำสมอกะไปยึดเรือและดึงสายสมอตึง"
        "กัปตันลิงการ์ด นำเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์เข้ามาใกล้ส่งเรือเล็กและเรือกลไฟผูกท้าย และจูงเรือหะเบสสมอกะช่วย แต่เรือเวสาตรีไม่เคลื่อนที่ น้ำยังไม่เข้าเรือ"


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 13, 16:45
     "วันที่ ๒๗ พฤษภาคม เวลา ๐๑๑๕ เรือเวสาตรี เอียงลงทางกราบขวาอย่างกระทันหัน ๔๕ องศา โครมใหญ่ น้ำเข้าเรือจนถึงฝากระจกระบายอากาศเหนือดาดฟ้า  ท่วมห้องหมดต้องขนของ ไปลงเรือมูรธาฯ เรือเคพเคลียร์ เรือบางกอก พยายามโยงเชือกจากปลายเสาใหญ่ทั้งสองไปผูกกับหินเพื่อไม่ให้เรือเอียงมากขึ้น ฯลฯ"
        "วันที่ ๓๐ พฤษภาคม เรือ SUNDA (เข้าใจว่าเป็นเรือจูงจากสิงคโปร์มาถึงพร้อมกับ กัปตันมอสส์ (MOSS) และประดาน้ำ) ประดาน้ำลงดำตรวจท้องเรือพบหินตำเข้าในห้องหม้อน้ำ   ใต้หม้อน้ำหินอีกก้อนหนึ่งตำทะลุท้องเรือตรงห้องกัปตันจนถึงดาดฟ้า เป็นรูโตประมาณ ๓ ฟุต   หินก้อนนี้ทำให้เรือไม่คว่ำ และทำให้ดึงเรือออกไม่ได้ เวลาน้ำขึ้นมีคลื่นใต้น้ำจากทิศเวสท์ เซาท์เวสท์ ทำให้เรือกระแทกอย่างรุนแรง    เมื่อประดาน้ำดำตรวจเรืออีกครั้งหนึ่งปรากฎว่าหินก้อนท้ายตำทะลุมากขึ้น  จนถึงดาดฟ้าทำให้ดาดฟ้าแอ่นขึ้นประมาณ ๖ นิ้วเรือจมลึกยิ่งขึ้น"

        รายงานการกู้เรือมีต่อไปทุกวันคณะกู้เรือได้ทำการต่าง ๆ คือ ตัดเสาใหญ่ออกทั้ง ๒ เสา ขนตะกั่วอับเฉาออกจากเรือเพื่อให้เรือลอยขึ้น นำเรือ TONGKANG (ไม่ทราบว่าเป็นเรือ อะไร - ผู้เขียน) มาจากสิงคโปร์ ๖ ลำ ขนของออกจากเรือจนหมดรวมทั้งถอดใบจักรออก บางวันทะเลเรียบบางวันมีคลื่นลม แต่ไม่ได้ผลดีขึ้น
        "วันที่ ๒๙ มิถุนายน (กู้มาแล้ว ๑ เดือน - ผู้เขียน) เรือเวสาตรี ถูกคลื่นใต้น้ำซัดให้เอียงลง อีกจนหัวเรือจมน้ำลึก ๔ ฟาธอมเวลาน้ำขึ้น เรือจมมิดน้ำ วันที่ ๓๐ มิถุนายน คณะกู้เรือลง ความเห็นว่า ไม่มีทางกู้เรือเวสาตรีได้"
         เรือต่าง ๆ เดินทางกลับในวันที่ ๑ กรกฎาคม


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 13, 16:47
       พระยาวิสูตรสาครดิฐ (จอห์น บุช) ได้กล่าวถึงความรับผิดชอบในการอับปางของเรือ เวสาตรีไว้ในรายงาน ซึ่งผู้เขียนขอคัดลอกมาเป็นภาษาอังกฤษตามต้นฉบับดังนี้

        "CONSCIENTIOUSLY I FEEL THAT I CANNOT ATTACH ANY BLAME TO MYSELF FOR THE LOSS OF THE 'VESATRI,'…etc."
     
       กัปตันบุชอาจเห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัย หรือไม่ก็โทษคนนำร่อง   จึงไม่รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของตัวเอง ในการที่เรือพระที่นั่งอับปางลงไปทั้งลำ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ส.ค. 13, 08:45
ผมพลิกพจนานุกรมทั้งภาษาไทย บาลี สันสกฤตกี่เล่มๆก็ไม่มีคำแปลของ “เวสาตรี” ไม่พบแม้แต่ร่องรอยของความหมายที่อาจจะแผลงมาจากรากศัพท์อื่น คิดว่าจนปัญญาแล้ว ก็หันกลับมาใช้อินทรเนตรสอดส่องหาจากคำว่า “Vesatri” บ้าง อดทนเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ เหมือนคนงมของในน้ำขุ่น ควานหาไปๆสุดท้ายก็เจออะไรติดมือขึ้นมาจนได้

อยู่ใน e-book บันทึกส่วนพระองค์ของเจ้าชายอัลเบิร์ต วิคเตอร์ และ เจ้าชายยอร์จ แห่งเวลส์ ในการเดินทางเยือนตะวันออกโดยเรือหลวง“แบคแชนต์”ของราชนาวีอังกฤษครับ

THE CRUISE OF H.M.S. "BACCHANTE.' 1879—1882.THE PRIVATE JOURNALS, LETTERS, AND NOTE-BOOKS OF PRINCE ALBERT VICTOR AND PRINCE GEORGE  OF WALES


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ส.ค. 13, 08:53
หนังสือเล่มเบ้อเริ่ม แต่มีกล่าวถึงสยามอยู่สองสามหน้า  ระหว่างเสด็จประทับอยู่ในสิงคโปร์ อาณานิคมของจักรภพอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงโปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศเสด็จจากกรุงเทพโดยเรือพระที่นั่งเวสาตรีมาเยี่ยมคำนับ เมื่อวันที่๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๕ (นับแบบปัจจุบัน นับแบบก่อนจะยังไม่เปลี่ยนศักราช)  
ความสำคัญทั้งย่อหน้ามีดังนี้

Then back to Government House by 2.15 P.M. Shifted into uniform and off to the Bacchante to receive Prince Devawongsa, who, with Captain Richelieu, a Danish naval officer in the Siamese service, came on board at 3.30 P.M. We showed him all over the ship : he examined the guns and torpedoes and went down into the hold, the flats, engine-room and stokehole, where he was much pleased with a drink of condensed water which the chief engineer administered.
Afterwards we visited him on board the king's steam yacht, the Vesatri  (" Angel of the East"), a pretty little vessel built at Southampton. She was beautifully clean throughout. His own cabin was fitted up in English style, only with a peacock-feather punkah, and there were many well-used English books all about, Spence Hardy on Buddhism amongst the rest.  

หลังจากนั้นก็กลับมาที่ทำเนียบรัฐบาลตอนบ่ายสองโมงสิบห้า เปลี่ยนเป็นแต่งเครื่องแบบทหารแล้วกลับไปยังเรือหลวงแบคแชนต์เพื่อรับเสด็จในกรมเทววงศ์ พร้อมกับกัปตันริชลิว นายทหารเรือเดนมาร์กที่รับราชการสยาม ทรงมาเยี่ยมชมเรือของเราในเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง เราได้นำเสด็จทอดพระเนตรตลอดทั้งลำเรือ ท่านทรงสำรวจปืนใหญ่และตอร์ปิโดและเสด็จลงปล่องบันไดสู่ชั้นต่างๆ ยังห้องเครื่องจักรกลและเตาไอน้ำ ทรงโปรดมากเมื่อต้นกลนำน้ำดื่มจากไอน้ำกลั่นมาถวายให้เสวย

หลังจากนั้น เราได้ไปเยี่ยมท่านบ้างบนเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชื่อเวสาตรี("เทพธิดาแห่งตะวันออก") เรือเล็กๆที่สวยงามต่อจากอู่ในเซาท์แธมตัน สอาดเอี่ยมอ่องไปตลอดทั้งลำ ห้องบรรทมของพระองค์ตกแต่งแบบอังกฤษทั้งหมดนอกจากปันการ์(พัดโบกแบบแขวนห้อยจากเพดาน)ที่ทำด้วยขนนกยูงเท่านั้น และยังมีหนังสือตำราภาษาอังกฤษทุกเรื่องทุกราวมากมาย เล่มหนึ่งในนั้นคือพระพุทธศาสนาเขียนโดยนายเสปนซ์ ฮารดี้


ตกลงความหมายของ “เวสาตรี” ที่น่าจะทรงอธิบายโดยกรมหมื่นเทววงศ์วโรปการเอง ถวายแด่เจ้าชายอังกฤษทั้งสองคือ บูรพาเทวี หรือเทพธิดาแห่งตะวันออก ครับ
ส่วนรากศัพท์ ขอเชิญท่านอาจารย์ทั้งหลายในห้องนี้โปรดให้ความรู้ต่อไป


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 13, 09:36

Afterwards we visited him on board the king's steam yacht, the Vesatri  (" Angel of the East"),
หลังจากนั้น เราได้ไปเยี่ยมท่านบ้างบนเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชื่อเวสาตรี(เทพธิดาแห่งตะวันออก)

ตกลงความหมายของ “เวสาตรี” ที่น่าจะทรงอธิบายโดยกรมหมื่นเทววงศ์วโรปการเอง ถวายแด่เจ้าชายอังกฤษทั้งสองคือ บูรพาเทวี หรือเทพธิดาแห่งตะวันออก ครับ
ส่วนรากศัพท์ ขอเชิญท่านอาจารย์ทั้งหลายในห้องนี้โปรดให้ความรู้ต่อไป

ยอดเยี่ยม   กูรูนวรัตนหาเจอจนได้   :D
ส่วนรากศัพท์ ขอสารภาพว่ายังมึนงงนึกไม่ออกว่ามาจากคำว่าอะไร    ได้หลังไมค์ไปเรียนถามผู้เชี่ยวชาญทางบาลีแล้ว แต่ยังไม่ได้คำตอบ
ก็จะส่งคำตอบของท่านนวรัตนให้ท่านผู้นั้นอ่าน  เพื่อจะหารากศัพท์ อธิบายกลับมาค่ะ

คิดถึงสมาชิกเก่าเรือนไทย คุณ Hotacunus ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิรุกติศาสตร์     หายเงียบไปเลย    ป่านนี้ น่าจะกลับประเทศไทยแล้ว
ถ้ายังแวะมาอ่านกระทู้อยู่ก็ขอเชิญเข้าร่วมวงคำนี้ด้วยนะคะ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ส.ค. 13, 22:49
ความหมายของชื่อเรือพระที่นั่ง "เวสาตรี"
ข้อความโดย: เทาชมพู
อ้างถึง
คำนี้เหลือความสามารถของดิฉันจะหาคำแปลออกมาได้     จึงได้ติดต่อทั้งโดยตรงและโดยอ้อม (คือผ่านอาจารย์รุ่นพี่ที่เคารพนับถืออีกท่านหนึ่ง) ไปยังกวีผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบาลีและไทย   นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย  อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เพราะท่านเคยเป็นเปรียญ ๙ มาก่อน

อาจารย์ทองย้อยกรุณาส่งคำตอบมาให้  เป็นการสันนิษฐานเชิงวิเคราะห์อย่างเอียดลออ  ให้ความรู้ทางภาษาบาลีอีกด้วย    สมควรที่จะแยกกระทู้มาพิเศษต่างหาก ไม่รวมในกระทู้ริชลิวของเดิม
จึงขอนำลงในกระทู้นี้   และขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ในวิทยาทานที่ให้มา ณ ที่นี้ ด้วยค่ะ
นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งแก่เรือนไทย


http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5733.0


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 13, 17:55
เรื่องหลักใน ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยามคงจบอย่างบริบูรณ์ไปแล้ว เหลือเพียงเก็บตกเล็กๆน้อยๆที่ผมไปหาเจอภายหลังที่เขียนไปแล้วบ้าง หรือไม่มีจังหวะจะแทรกเข้าไปบ้าง แต่อยากรวบรวมไว้ให้หมดเผื่อผู้สนใจจริงๆจะนำไปใช้ต่ออะไรได้

ดังนั้น กระทู้เรื่อง ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม จะมีภาคผนวกเป็นเรื่องๆ หรือเป็นรูปๆ สุดแล้วแต่ผมจะหาอะไรมาได้ หรือท่านผู้ใดจะเข้ามาร่วมด้วยก็ยินดีครับ

เมื่อก่อนหน้าปีร.ศ.๑๑๒ สองปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯท่านทรงเริ่มดำเนินวิเทโศบาย เพราะฝรั่งเศสเริ่มคุกคามทางบกในบริเวณชายแดนลาวต่อกับญวนที่ฝรั่งเศสผนวกเป็นเมืองขึ้นไปแล้ว ทรงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จไปยุโรปหลายประเทศ มีอังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก รัสเซีย เป็นต้น เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีและเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน เยี่ยมคำนับประธานาธิบดี เพื่อนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทานผู้หลักผู้ใหญ่ของเมืองที่ทรงรู้จัก โดยเน้นที่เดนมาร์กและรัสเซียเป็นพิเศษ ที่เดนมาร์กนั้น นำโอรสของพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ไปเรียนวิชาทหารเรือด้วย

ภารกิจพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือให้นายพลริชลิวโดยเสด็จไปในเที่ยวนี้ด้วย เพื่อไปคุยกับอู่ต่อเรือในอังกฤษเรื่องที่จะแก้ไขแบบเรือพระที่นั่งเวสาตรีให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ และให้ดูแลโอรสของพระองค์เจ้าสายที่จะไปเรียนที่เดนมาร์กให้เรียบร้อยในฐานะเจ้าถิ่น

เมื่อเริ่มเดินทางออกจากเกาะสีชัง ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่นั่นเพื่อส่งเสด็จ เรือพระที่นั่งอุบลบูรพทิศเจอคลื่นระหว่างทาง และเพราะความชราของเรือด้วย ทำให้การเดินทางช้ากว่ากำหนดจนพลาดเรือเมล์ที่กะไว้ แต่ยังดี เพราะนายพลริชลิวเกิดป่วยอาการหนัก จึงทรงมิได้จ่ายเงินค่ามัดจำตั๋ว เพราะอาจต้องพักรักษาตัวที่สิงคโปร์ยาว

ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานมาดังนี้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 13, 17:57
อยากให้ท่านดูน้ำพระทัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯที่ทรงแสดงถึงนายพลริชลิว ส่วนเรื่องศาลเจ้าที่ศาลากลางซึ่งทรงกล่าวถึงนั้น หมายถึงในบริเวณพระราชวัง เมื่อก่อนนายพลริชลิวในฐานะทหารเรือ รับธุระเป็นผู้ถวายเครื่องเซ่นมาตลอด
น่ารักเน๊อะฝรั่งคนนี้ สมกับที่ทรงโปรด


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 13, 07:48
เมื่อเสด็จธุระในเรื่องเรือพระที่นั่งแล้ว กรมหมื่นดำรงฯได้ทรงนำพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ที่กำลังศึกษาในประเทศอังกฤษไปราชสำนักเดนมาร์กพร้อมพระองค์ท่าน ตามที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสองค์หนึ่งของพระองค์ไปเรียนวิชาการทหารที่เดนมาร์กนั้น เมื่อทรงมาพบปะพูดคุยกับพระองค์เจ้าจิรประวัติแล้ว  ทุกพระองค์เห็นด้วยกับพระราชประสงค์นั้น เมื่อไปถึงเดนมาร์กพระเจ้าคริตสเตียนที่๙ มิได้ประทับอยู่ในเมืองหลวง เจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมาร และเจ้าหญิงหลุยส์พระชายาผู้ซึ่งเป็นชาวสวีเดน (Crown Prince Frederick and Princess Louise of Sweden) ทรงทำหน้าที่รับรองพระราชอาคันตุกะแทน ครั้นได้ทราบพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงยินดีที่จะเป็นผู้อภิบาลพระราชโอรสของพระองค์ ในการนี้ นายพลริชลิวมีบทบาทอยู่มากในการประสานสายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

คงจำกันได้นะครับ มงกุฏราชกุมารพระองค์นี้เมื่อขึ้นเป็นพระเจ้าเฟรเดอริกที่๘แล้ว ครั้งหนึ่งเคยจะทรงโปรดเกล้าฯให้นายพลริชลิวเมื่อกลับไปเดนมาร์กแล้ว เป็นนายกรัฐมนตรีพระราชทานขัดตาทัพอีกด้วย แสดงว่าทรงรู้จักและไว้พระทัยกันมานาน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 13, 08:03
พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงศึกษาวิชาทหารของเดนมาร์กระหว่างพ.ศ. ๒๔๓๔ - ๒๔๓๗ ภายใต้พระราชานุเคราะห์ เมื่อได้รับพระราชทานพระยศเป็นนายร้อยตรีแห่งกองทัพบกประเทศเดนมาร์กแล้ว ทรงเข้าศึกษาต่อในวิชาทหารปืนใหญ่และฝึกงานภาคสนามอีกสามปี จึงได้เสด็จกลับประเทศไทยในปีพ.ศ. ๒๔๔๐ แล้วเข้ารับราชการในกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ปลัดกองทัพบก เสนาธิการทหารบก และเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ตามลำดับ และได้ทรงเป็นจอมพลพระองค์แรกของกองทัพบกสยาม

จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช สิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนมายุได้เพียง๓๗พรรษาเท่านั้น แต่กระนั้น ผลงานของพระองค์ที่ทรงกระทำไว้ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็น "พระบิดาแห่งกองทัพบกไทย"


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.ย. 13, 06:40
ผมไปเจอหนังสืออนุสรณ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่พิมพ์แจกเนื่องในโอกาสเกิดอาคารสำนักงานใหญ่สมัยที่ย้ายมาอยู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เก็บอยู่ในบ้าน เอามาปัดฝุ่นเปิดดูสะดุดตาที่ภาพนายพลริชลิว ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้าประวัติของธนาคารอันเก่าแก่นี้ด้วย เลยขอมาเติมเต็มให้ภาคผนวกของกระทู้
อ้างถึง
นักประวัติศาสตร์ชาวเดนมาร์กเชื่อว่า การที่กรมหมื่นมหิศรฯ หลังเสด็จกลับจากการศึกษางานแล้ว ทรงแอบตั้งบุคคลัภย์ขึ้นโดยจดทะเบียนเป็นห้องสมุด แต่ดำเนินกิจการคล้ายธนาคารโดยพระเจ้าอยู่หัวทรงรับรู้นั้น เป็นผลพวงมาจากการเริ่มต้นแผนการตั้งธนาคารสยาม-เดนมาร์กในคราวที่แล้ว อย่าว่าแต่คนเดนมาร์กเลย อังกฤษจอมโวยเจ้าเก่าก็เชื่ออย่างนั้น จึงมีหนังสือทักท้วงจากอัครราชทูตปาเจย์(R.S. Paget)ด้วยถ้อยคำแสบๆคันๆไปยังพระยากัลยาณไมตรี(J.I. Westengard) ที่ปรึกษาเชื้อชาติเดนมาร์ก สัญชาติอเมริกันในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวหากรมหมื่นมหิศรฯว่าทรงใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะเสนาบดีกระทรวงพระคลัง ถ่ายโอนเงินฝากของรัฐบาลสยามที่เปิดบัญชีไว้ในธนาคารของคนอังกฤษไปยังธนาคารสยามที่แอบแฝงอยู่ภายใต้ชื่อลวงว่าเป็นสโมสรนักอ่าน(Book Club) เพราะมีการเปิดบัญชีให้สมาชิกฝากเงินและยืมเงินได้ ซึ่งผิดสากลปฏิบัติและหมื่นเหม่ต่อการผิดกฏหมาย กรมหมื่นมหิศรฯทรงปฏิเสธ
 
บทความเขียนโดยคนเดนมาร์กกล่าวต่อว่า เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงแนะนำให้พระองค์ลาออกเพื่อลดแรงกดดัน ซึ่งในที่สุดทรงจำใจทำหนังสือกราบบังคมทูลลาออกเมื่อวันที่๒๔พฤษภาคม๑๙๐๖ โดยอ้างว่าทรงประชวร

โดยข้อเท็จจริง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ทรงประชวรจริง มิอาจจะทรงรับราชการต่อไปได้ หลังการลาออกก็ต้องประทับรักษาพระองค์ที่วัง และสิ้นพระชนม์ในวันที่๑๕เมษายนพ.ศ.๒๔๕๐ หรือค.ศ.๑๙๐๗ ไม่ถึงปีหลังจากที่ทรงลาออก
เป็นที่ยอมรับว่าก่อนการลาออกของพระองค์ กรมหมื่นมหิศรฯได้ทรงปูทางไว้แล้วให้เกิดธนาคารสยามกัมมาจล(The Siam Commercial Bank Ltd)ขึ้นในปี๑๙๐๖  โดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติ และธนาคารนี้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราแผ่นดินเป็นเครื่องหมายของธนาคารด้วย

พระรูปของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เป็นสิ่งที่หายากในเวป จึงขอเชิญพระรูปที่ปรากฏในหนังสือมาเพิ่มไว้ให้ก่อนเป็นปฐม


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.ย. 13, 06:46
ทรงถ่ายร่วมกับเจ้านายและข้าราชการ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง และกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีใครดูออกไหม องค์อาวุโสที่ประทับอยู่ตรงกลางนั้น ใช่กรมหมื่นดำรงราชานุภาพหรือหาไม่

เอาอย่างนี้ดีกว่า ใครเป็นใครกันบ้างในรูปนี้ ช่วยกันเฉลยหน่อยเถิด


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.ย. 13, 06:51
อ้างถึง
บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด เปิดดำเนินการในอาคารที่ทำการของ บุคคลัภย์เดิม ที่ตำบลบ้านหม้อ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยมีพระสรรพการหิรัญกิจ เป็นผู้จัดการฝ่ายในประเทศ และนายเอฟ คิเลียน ตัวแทนผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศ สัญชาติเยอรมัน เป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ ในการเปิดดำเนินกิจการธนาคารขึ้นนี้ คณะผู้จัดตั้งได้ขอพระราชทานตราอาร์มแผ่นดิน มาเป็นตราประจำธนาคารมาตั้งแต่ต้น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.ย. 13, 06:56
อ้างถึง
การที่แบงก์สยามกัมมาจล มีปริมาณธุรกิจสูงขึ้น ทั้งมีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงทำให้จำเป็นต้องแสวงหาที่ทำการใหม่ หลังจากซื้อที่ดินย่านตลาดน้อย ติดกับตำบลสำเพ็งย่านธุรกิจที่สำคัญ และสร้างสำนักงานชั่วคราวขึ้น เมื่อได้ย้ายเข้าไปทำงานในสำนักงานชั่วคราวแล้ว จึงลงมือก่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่จนแล้วเสร็จ แบงก์สยามกัมมาจล จึงย้ายขึ้นไปทำการในตัวตึกสำนักงานตลาดน้อยในพ.ศ. ๒๔๕๓  

ปรากฏรูปนายพลริชลิวในฐานะบุคคลสำคัญของธนาคารตรงนี้ครับ
เป็นภาพ(ตัวแทน)ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นธนาคารต่างประเทศ และกรรมการผู้จัดการแผนกต่างประเทศที่เป็นฝรั่ง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.ย. 13, 07:07
ภาพวันประกอบพิธีเปิดธนาคารสำนักงานตลาดน้อย ผมพยายามเบิ่งตามองว่าที่นั่งเก้าอี้ชั้นผู้ใหญ่น่ะ พระยาชลยุทธโยธินหรือท่านนายพลริชลิวใช่ไหม คงไม่ใช่ เพราะในพ.ศ.๒๔๕๓นี้ท่านอยู่ในโคเปนฮาเกน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 ก.ย. 13, 07:26
ตอบคำถามท่าน Navarat C. เท่าที่ทราบนะครับ
แถวนั่ง ที่ ๓ จากซ้าย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
แถวยืนจากซ้าย  ๑. พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง  วิรยศิริ)  ๒. พระยาสิงหเสนี (สอาด  สิงหเสนี)  ๓. เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิศฐศักดิ์ (เชย  กัลยาณมิตร) 


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.ย. 13, 08:06
  <  ข้อความโดย: V_Mee


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 13, 07:46
ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนสงขลาพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพในปี พ.ศ.๓๔๓๙ พระยาวิเชียรคีรี(ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาเป็นผู้รับเสด็จ นายพลริชลิว(พระยาชลยุทธโยธิน)อยู่ในคณะผู้ตามเสด็จด้วย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 13, 07:46
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรทั่วตัวเมือง ทรงหยุดที่เขาตังกวน  ทรงโปรดเกล้าฯให้นายพลริชลิวเป็นผู้ขึ้นไปเลือกสถานที่สร้างประภาคารบนเขา เมื่อกรมทหารเรือทำเครื่องหมายประดับประกอบตัวโคมแล้ว ให้ข้าหลวงนำแบบมาจัดการก่อสร้าง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.ย. 13, 07:56
ประภาคารตามพระราชดำรินี้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๔๐
ปัจจุบัน เขาตังกวนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในประวัติศาสตร์ของสงขลาเต็มรูปแบบ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 13, 09:20
ในปีพ.ศ.๒๔๕๐(ค.ศ.1907)นั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่๒ เพื่อรักษาพระองค์ แต่จุดมุ่งหมายลับๆก็คืองานการเมืองที่ยังค้างคาพระทัยอยู่
ครั้งนั้น นายพลริชลิวซึ่งกราบถวายบังคมลาออกเพื่อกลับบ้านเกิดแล้ว ได้มารอรับเสด็จถึงซานรีโมในอิตาลี่ และร่วมขบวนเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยตั้งแต่วันที่๑๒พฤษภาคม๑๙๐๗ จนถึงราชอาณาเดนมาร์ก

ในงานพระราชทานเลี้ยงรับรองที่พระเจ้าเฟรเดอริกที่๘(King Frederik VIII) ซึ่งเสด็จขึ้นครองพระราชบัลลังก์เดนมาร์กหลังการสวรรคตของพระเจ้าคริสเตียน ทรงจัดขึ้นถวายพระเกียรติยศแด่พระมหากษัตริย์ไทยในวันที่๑กรกฏาคมนั้น ทรงมีพระราชโองการแต่งตั้งให้นายพลโทริชลิว เป็นขุนนางในพระราชสำนัก(Chamberlain)
 
และคงจะเป็นในโอกาสเดียวกันนั้นเอง ที่ราชวงศ์สยามและเดนมาร์กได้พระราชทานโอกาสให้พระยาชลยุทธโยธินและครอบครัว เดอ ริชลิว ร่วมถ่ายภาพพร้อมกันในพระราชวังแห่งกรุงโคเปนฮาเกน ผมไปพบภาพนี้เข้าในหนังสือของกลุ่มสแกนดิเนเวีย ไม่เคยพบในเอกสารฝ่ายไทยมาก่อนเลย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 13, 09:23
หลังจากเดนมาร์ก นายพลริชลิวเป็นไกด์กิตติมศักด์นำเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสถานที่หลายแห่งในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย แห่งหนึ่งที่เสด็จไปและคนไทยทราบมากที่สุดก็คือที่นอร์เวย์ เพื่อทอดพระเนตรพระอาทิตย์เที่ยงคืนที่แหลมเหนือ

เรื่องราวคราวนั้น ได้มีที่ลงไว้ในกระทู้นี้แล้ว ในภาพจะเห็นนายพลริชลิวตามเสด็จอย่างใกล้ชิด


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 13, 09:33
ไม่ค่อยจะมีใครทราบกันนัก ที่ทรงบากบั่นให้นายพลริชลิวพาเสด็จไปในที่กันดารทางภาคเหนือของนอร์เวย์ มิใช่เรื่องพระอาทิตย์เที่ยงคืนเท่านั้น แต่ไปทรงงานอย่างหนึ่งซึ่งมีความสนพระทัยมานาน ในผลิตภัณฑ์และขบวนการผลิตที่บริษัทของนอร์เวย์คิดค้นขึ้นมาได้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 13, 09:41
ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ทรงบันทึกว่า “บริษัทนี้...เขาทำการแปลก คือจับธาตุไนตริกจากลมในอากาศด้วยแรงไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า ผู้ที่เป็นไดเร็กเตอร์ของกัมปานีนี้ชื่อ เอส ไอเด...พระยาชลยุทธ มีหุ้นส่วนอยู่ในกัมปานีนี้ด้วย จึงได้บอกข่าวคราวมาถึง เขาจึงอยากให้พ่อได้เห็นงานที่ทำ ซึ่งตั้งแต่พ่อได้ยินก็อยากดูเป็นกำลัง...”   
 
สองปีก่อนเสด็จพระราชดำเนิน กลุ่มทุนธนาคารที่นายพลริชลิวมีโยงใยอยู่ได้ปล่อยสินเชื่อก้อนมหึมาให้กับบริษัท นอรวีเยียน ไฮโดรเอเลกตริก ไนโตรเยน กัมปานี ลิมีติค  ( Norsk hydro-elektrisk Kvælstofaktieselskab) บริษัทที่วิศวกรหนุ่มชื่อ แซม อายเด้(Sam Eyde)จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตปุ๋ยเคมีด้วยขบวนการจับไนโตรเจนจากอากาศโดยปฏิกิริยาจากพลังไฟฟ้า  ซึ่งจำเป็นต้องไปหาสถานที่อันไกลโพ้นเพื่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นใช้เองให้ได้ปริมาณมากเพียงพอสำหรับขบวนการผลิต สุดท้ายได้เลือกที่จะลงทุนในเมืองโนโตดเดน เพื่อสร้างทั้งเขื่อน โรงงาน และเคหะชุมชนขนาดใหญ่ที่จะรองรับพนักงานและคนงานทุกระดับ
 
เมื่อนายพลริชลิวมากรุงเทพครั้งแรก คงได้เข้าเฝ้าและกราบบังคมทูลเรื่องนี้ ทำให้ทรงเกิดความสนพระทัย เนื่องจากสยามเป็นประเทศกสิกรรม ที่การปลูกพืชผลทั้งหมดพึ่งพาอาศัยธรรมชาติล้วนๆ        


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 13, 10:18
ความสามารถในการขายของนายพลริชลิวนับว่าระดับเทพทีเดียว จะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์นี้               
“...พ่ออยากจะทดลองเฟอเตอไลเซอในเมืองเราบางทีจะดี จึงให้พระยาชลยุทธคิดอ่านจัดส่งไปลองดูหนึ่งตันก่อน...”             

การผลิตพืชผลของสยามขึ้นอยู่กับสภาพดินเดิม และปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักตามธรรมชาติที่หาได้น้อย ถ้าปุ๋ยเคมีทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยมีต้นทุนที่ต่ำ ก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งไม่ควรมองข้าม ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงสนพระทัยที่จะเสด็จไปทอดพระเนตร ถึงแม้ว่าตำบลโนโตดเดน ที่ตั้งโรงงานของบริษัทจะอยู่ห่างไกลทุรกันดาร ก็มิได้ทรงย่อท้อ

ในคราวนั้นเสด็จพระราชดำเนินลงเรือชื่ออัลเบียน จากท่าเรือเมืองเบอร์เกนเมืองท่าใหญ่ด้านทิศตะวันตกของประเทศนอรเวย์ไปยังเมืองเบรวิก และเสด็จฯโดยรถไฟไปยังเมืองสกีน จากเมืองสกีนเสด็จฯลงเรือกลไฟชื่อวิกตอเรีย เดินเรือผ่านทะเลสาบขึ้นไปในระดับความสูง ๓ ระดับด้วยกัน เมื่อจะเปลี่ยนระดับน้ำเรือต้องเข้าไปในช่องระหว่างประตูน้ำ ๒ ด้าน แล้วปล่อยน้ำจากด้านสูงลงไป เมื่อได้ระดับจึงเปิดประตูให้เรือแล่นออกมา ลองนึกภาพดูว่ากว่าจะถึงตำบลโนโตดเดนซึ่งอยู่ด้านเหนือสุดของทะเลสาบนอร์ดเซอ ต้องใช้เวลาเสด็จฯระหกระเหินถึง ๖ วัน

วันสุดท้ายต้องเสด็จฯโดยรถ ซึ่งทรงเล่าว่า “...หนทางเป็นโคลนเฉอะแฉะไปหมดทั้งนั้น น่ากลัวรถจะลื่น พ่อออกคร้ามๆ ดูมันน่ากลัวจะเลยลงไปในช่องเขา...ถ้าขึ้นสูงทีไรต้องใช้ถึงเกียร์ ๑ และเปิดเต็มแรงจนลั่นตูมๆ ออกจะน่ากลัวอันตราย ควันขึ้นกลุ้มๆแต่กระนั้นแห่งหนึ่งที่สูงชัน คนขับเผลอไปไม่ได้ลดเกียร์ ๑ ...ตกลงต้องลงเข็นส่งขึ้นไปถึงยอด มีติดจริงๆ อยู่แห่งเดียวเท่านั้น นอกจากนั้นก็มาได้แต่เขย่าขย่อนเหลือกำลัง ฟัดโงกเงกกันมาจนตลอดทาง...”  

วันรุ่งขึ้น นายแซม อายเด้  วิศวกรใหญ่และเจ้าของบริษัทได้ขับรถเมอซิเดส เบนซ์มารับเสด็จเองถึงที่ประทับเพื่อนำเสด็จไปยังที่ทำการของบริษัทและเยี่ยมชมโรงงาน ในที่ประทับตอนท้ายนั้น นอกจากพระองค์เจ้าอุรุพงศ์และหม่อมเจ้าทองต่อ ทองแถมแล้ว ยังมีนายพลริชลิวนั่งติดตามไปด้วย     


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 13, 10:23
เสด็จผ่านตำบลโนโตดเดน ซึ่งเป็นชุมชนเมืองขึ้นมาได้จากการสถาปนาของบริษัท


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 13, 10:28
เคหะสงเคราะห์ของพนักงานและคนงาน
ข้างล่างเป็นภาพเขื่อนที่บริษัทลงทุนสร้างขึ้น

มิต้องสงสัยว่าทำไมนายพลริชลิวจึงยิ่งใหญ่ที่นี่ เพราะท่านเป็นผู้จัดเงินกู้มหาศาลให้กับบริษัทนี้นั่นเอง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 13, 10:32
โรงงานของบริษัทในอดีต และโรงงานเดียวกันในปัจจุบัน

เมื่อได้ทอดพระเนตรโรงงานผลิตไนเตรด จากไฟฟ้ากำลังน้ำแล้ว ทรงบันทึกต่อไปว่า... “นั่งสนทนากันถึงเรื่องไฟฟ้าในเวลากินข้าว ใช้ได้เป็นอัศจรรย์มากขึ้นทุกที…..
...คิดจะใช้ยิงปืนใหญ่ไม่ให้ต้องบรรจุดินปืน...
...อีกอย่างหนึ่งนั้นจะทำให้ฝนตกได้...
...ความคิดที่จับไนเตรดและทำปุ๋ยนี้เป็นความคิดของมิสเตอร์ไอเด เขาขอเปเตนท์ทั่วทุกประเทศ
...จะใช้โทรเลขไม่มีสาย...ผิดกับที่ทำกันอยู่แล้วเดี๋ยวนี้ด้วยอาศัยแรงน้ำ
...ทำนายกันได้ว่า นานไปจะมีเครื่องเตเลโฟน สักเท่านาฬิกาพก พกไปไหนๆได้...เพียงในเวลาในอายุพ่อเท่านี้

แต่ก่อนไฟฟ้าดูเป็นแต่ของทดลองเล่น เดี๋ยวนี้เป็นของที่จำเป็นใช้ได้ประโยชน์จริง กว้างขวางนักหนาแล้ว ยิ่งรู้มาก ความคิดก็ยิ่งแตกมากออกไป ความวิเศษขึ้นในการงานของมนุษย์จะหาที่สุดมิได้ ผู้ใดมีชีวิตอยู่ช้าไป ฤาที่เกิดมาใหม่ๆคงจะได้เห็นแต่สิ่งซึ่งวิเศษดีขึ้นร่ำไปไม่มีที่สุด”


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 10:57
...ทำนายกันได้ว่า นานไปจะมีเครื่องเตเลโฟน สักเท่านาฬิกาพก พกไปไหนๆได้...

ทำนายกันได้ว่า นานไปจะมีเครื่องเตเลโฟน สักเท่านาฬิกาพก พกไฟไหน ๆ ได้ เมื่อจะพูดกับใครพูดลงไปที่นาฬิกาพก แล้วเอาหูฟังที่นาฬิกาพกจะรู้กันได้ เว้นไว้แต่ยังไม่แลเห็นว่าจะใช้ได้ทางไกล ถ้าเพียงที่นี่ไปคริสเตียเนีย ทางสักสี่ชั่วโมงโดยรถไฟเห็นจะพูดกันได้

ในเวลานั้นที่กรุงเทพฯมีโทรศัพท์ใช้กันอยู่ไม่ถึง ๕๐๐ เครื่อง แต่ละเครื่องนั้นใหญ่โตมโหฬารและต้องใช้ประกอบกับหม้อแบตเตอรี่เครื่องละ ๔ หม้อ

ทรงทำนายได้ตรงเผงเรื่องขนาดของโทรศัพท์และวิธีใช้ ยกเว้นเรื่องระยะทางการใช้งาน

มหัศจรรย์แท้

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 13, 10:57
ใช่แล้วครับ สิ่งที่ทรงบรรยายในพระราชนิพนธ์ ปรากฏเป็นจริงตามนั้นทั้งหมดแม้เวลาจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง
 
ตามประวัติ โรงงานปุ๋ยของบริษัท นอรวีเยียน ไฮโดรเอเลกตริก ไนโตรเยน กัมปานี ลิมีติค มิได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นอย่างที่ผู้กีอตั้งหวังไว้ แม้จะมีผลงานแตกแขนงธุรกิจออกไปมากมาย สุดท้ายนายแซม อายเด้  วิศวกรใหญ่ถูกกลุ่มทุนบังคับให้วางมือ และส่งผู้บริหารใหม่เข้าคุมกิจการ ตอนนั้นหุ้นของนายพลริชลิวน่าจะด้อยค่าไปหมดแล้วจากการเพิ่มทุนหลายต่อหลายคราว

ในระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง โรงงานนี้ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของอังกฤษตลอด เพราะเยอรมันเข้ายึดครองเพื่อหวังผลิตผลพลอยได้อย่างหนึ่งที่เรียกว่า Heavy Water ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในการผลิตระเบิดมหาประลัยได้

อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้บริษัทยังคงผลิตปุ๋ยเม็ดกลมๆสีฟ้าที่เกษตรกรไทยรู้จักดีในนามว่าปุ๋ยไข่มุกจากนอร์เวย์ แม้เครื่องหมายการค้าตราเรือใบไวกิ้งจะถูกผู้ผลิตรายอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของตัวจริงนำไปใช้จนไม่รู้ว่าอะไรแท้อะไรเทียมก็ตาม


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 11:19
ใช่แล้วครับ สิ่งที่ทรงบรรยายในพระราชนิพนธ์ ปรากฏเป็นจริงตามนั้นทั้งหมดแม้เวลาจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง

แท้จริงแล้วเรื่องเครื่องเตเลโฟนขนาดเท่านาฬิกาพก ไม่ได้ทรงทำนายว่าจะมี "เพียงในเวลาในอายุพ่อเท่านี้"

...ทำนายกันได้ว่า นานไปจะมีเครื่องเตเลโฟน สักเท่านาฬิกาพก พกไปไหนๆได้...เพียงในเวลาในอายุพ่อเท่านี้

แต่ก่อนไฟฟ้าดูเป็นแต่ของทดลองเล่น เดี๋ยวนี้เป็นของที่จำเป็นใช้ได้ประโยชน์จริง กว้างขวางนักหนาแล้ว ยิ่งรู้มาก ความคิดก็ยิ่งแตกมากออกไป ความวิเศษขึ้นในการงานของมนุษย์จะหาที่สุดมิได้ ผู้ใดมีชีวิตอยู่ช้าไป ฤาที่เกิดมาใหม่ๆคงจะได้เห็นแต่สิ่งซึ่งวิเศษดีขึ้นร่ำไปไม่มีที่สุด”


จากบทความเรื่อง รำลึก ๑๐๐ ปี พระราชนิพนธ์ "ไกลบ้าน" ของ ดร. ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ (http://www.gotoknow.org/posts/106771) มีดังนี้

...ทำนายกันได้ว่า นานไปจะมีเครื่องเตเลโฟน สักเท่านาฬิกาพก พกไปไหนๆได้...            

...เพียงในเวลาในอายุพ่อเท่านี้ แต่ก่อนไฟฟ้าดูเป็นแต่ของทดลองเล่น เดี๋ยวนี้เป็นของที่จำเป็นใช้ได้ประโยชน์จริง กว้างขวางนักหนาแล้ว ยิ่งรู้มาก ความคิดก็ยิ่งแตกมากออกไป ความวิเศษขึ้นในการงานของมนุษย์จะหาที่สุดมิได้ ผู้ใดมีชีวิตอยู่ช้าไป ฤๅที่เกิดมาใหม่ๆคงจะได้เห็นแต่สิ่งซึ่งวิเศษดีขึ้นร่ำไปไม่มีที่สุด
 

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)    


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 13, 13:53
...ทำนายกันได้ว่า นานไปจะมีเครื่องเตเลโฟน สักเท่านาฬิกาพก พกไปไหนๆได้...           

...เพียงในเวลาในอายุพ่อเท่านี้ แต่ก่อนไฟฟ้าดูเป็นแต่ของทดลองเล่น เดี๋ยวนี้เป็นของที่จำเป็นใช้ได้ประโยชน์จริง กว้างขวางนักหนาแล้ว ยิ่งรู้มาก ความคิดก็ยิ่งแตกมากออกไป ความวิเศษขึ้นในการงานของมนุษย์จะหาที่สุดมิได้ ผู้ใดมีชีวิตอยู่ช้าไป ฤๅที่เกิดมาใหม่ๆคงจะได้เห็นแต่สิ่งซึ่งวิเศษดีขึ้นร่ำไปไม่มีที่สุด 
 

นั่นสิครับ น่าจะเป็นดังว่า พระราชนิพนธ์นี้ทรงเขียนในช่วงปลายพระชนม์ชีพ ไม่น่าที่จะทรงหวังจะทันได้เห็นอะไรที่ก้าวหน้าล้ำยุคถึงขนาดนั้น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ต.ค. 13, 20:20
อ้างถึง
เมื่อสองปีที่แล้ว ผมได้รับเชิญไปร่วมงาน รำลึกถึงเหตุการณ์“การรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา ร.ศ. ๑๑๒”  ที่กองทัพเรือจัดขึ้นที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ก่อนงานจะเริ่ม ผมได้เดินไปดูที่หลุมปืนคนเดียว และโชคดี ได้เจอนายทหารเรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตัวจริงในการบูรณะปืนที่เป็นวัตถุโบราณไปแล้วให้กลับมาคืนสภาพจนยิงได้อีกครั้งหนึ่ง  เขามีความรู้อัดที่แน่นและยินดีที่จะถ่ายทอดให้ฟัง เมื่อผมคุยกับเขารู้เรื่องจึงต่อความกันสนุก ผมถึงได้ทราบว่าปืนนี้ระบบมันสลับซับซ้อนมากมาย โดยเฉพาะการยกตัวขึ้นยิงที่ใช้ระบบไฮโดรลิก สมัยนั้นเป็นนวัตกรรมใหม่ น้ำมันไฮโดรลิกยังไม่ได้คิดค้นขึ้นแต่ใช้น้ำมันละหุ่งเป็นตัวขับดัน ตอนนั้นเราคิดว่าน้ำมันละหุ่งหีบได้ในเมืองไทย ก็ดี ไม่ต้องง้อของนอก ที่ไหนได้ น้ำมันละหุ่งถ้าไม่บริสุทธิ์จริง มีตะกอนแขวนลอยที่ตาแทบจะมองไม่เห็นนี๊ดเดียว ก็จะทำให้ตัวระบบอุดตัน ยกปืนไม่ขึ้นจนกว่าจะถอดออกล้าง ซึ่งใช้เวลาหลายชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ

ผมฟังนายทหารท่านนี้อธิบายต่อไปว่าปืนแต่ละกระบอกใช้กำลังพล๑๐นาย  เป็นทหารประจำปืน๗นาย ทำหน้าที่บรรจุนัดดินและหัวกระสุน และปรับแต่งปืนให้หันซ้ายขวา หรือกระดกขึ้นลงตามมุมยิง  เสร็จแล้วจึงทำการยิง และยังมีทหารอีก๓นาย วิ่งลำเลียงกระสุนและนัดดินจากคลัง
  
ผมอยู่ในหลุมปืนมองเห็นแต่กำแพงจึงถามว่า แล้วจะเล็งปืนไปยังเป้าได้อย่างไร ไม่เห็นมีศูนย์เล็ง เขาบอกว่าต้องดูสัญญาณธงของนายทหารที่ยืนอยู่ข้างบน ที่จะโบกให้หมุนไปทางทิศไหน หรือให้ยกปากกระบอกขึ้นลงกี่องศา
ผมมองไปที่พวงมาลัยสำหรับหมุนให้ปืนหันไปตามทิศหรือกระดกในมุมที่ต้องการแล้ว คงหนักหนาเอาการที่จะติดตามเป้าหมายที่เคลื่อนที่ได้ทัน จึงถามต่อไปว่า มันช้าอย่างนี้แล้วจะยิงโดนหรือครับ เขาก็ยิ้มแล้วส่ายหน้า

วันนี้เข้าไปเยี่ยมพันทิป ได้คลิ๊ปของคุณ Skyforce โยงไว้ จึงนำมาฝากครับ
http://www.youtube.com/watch?v=K8ULWwDvhow


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ต.ค. 15, 13:24
ข่าวล่า - เรื่องของท่านริชลิวอยู่ในรูปของหนังสือแล้ว  ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 15, 14:31
เดี๋ยวโดนเอ็ดนะครับ นี่มันโฆษณาแฝงชัดๆ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 22 ต.ค. 15, 14:57
อ๊ะ  แบบนี้มันต้องไถ เอ๊ยขอ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 15, 18:18
อ่านข้างบนเลยครับด๊อกเต้อร์ เหมือนราวกับลอกกันมาทั้งดุ้น


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 22 ต.ค. 15, 20:13
มันต่างกันมากกกกก...ตรงที่ข้างบนไม่มีลายเซ็นอาจารย์ค่ะ  ;D

ป.ล.ถ้าฝนตก ก็ขอได้โปรดตกให้ทั่วฟ้าด้วยเทอญเจ้าค่า  :P


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 15, 20:28
ไปซื้อหนังสือของเขานะครับ แล้วผมจะเซ็นต์ชื่อใส่สติกเกอร์ส่งไปให้ปะ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 15, 21:07
อ้อนวอนดีๆเดี๋ยวท่านก็แจกค่ะ

ป.ล.เตือนแล้วว่าอย่าเป็นนักเขียนก็ไม่เชื่อ    ถ้าไม่พิมพ์ ก็ยังรวยอยู่     นี่ยังไม่ทันไร  ท่านเตรียมควักสติ๊กเกอร์แถมตังค์ค่าหนังสือมาแจกทั้งด๊อกเตอร์ทั้งคุณนักเขียนหน้าใหม่แล้ว
ใครไม่อยากน้อยหน้า มาเข้าแถวเร็วๆเข้าค่ะ  


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 15, 22:06
เห...เขียนอะไรผิดหรือเปล่าเนี่ย อัตโน ???


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 15, 22:38

สารคดีกองทัพเรือ

ชลยุทธบุรุษสองแผ่นดิน



รื่องราวส่วนหนึ่งจากเรือนไทย.com ถ่ายทำทั้งในเมืองไทยและเดนมาร์ก
ออกอากาศทาง THAI PBS  เริ่ม 23 ตค 58 เวลา15.05



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ต.ค. 15, 23:57
อ่านข้างบนเลยครับด๊อกเต้อร์ เหมือนราวกับลอกกันมาทั้งดุ้น

เอาตัวอย่าง ๓๐ หน้าแรกมาให้คุณประกอบอ่านพอเป็นกระสายยา  ;D

http://www.yingthai-mag.com/sites/default/files/samplePDF/preview_197.pdf (http://www.yingthai-mag.com/sites/default/files/samplePDF/preview_197.pdf)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ต.ค. 15, 06:56
ช่วยคุณเพ็ญหน่อย ;D

http://www.yingthai-mag.com/sites/default/files/samplePDF/preview_192.pdf (http://www.yingthai-mag.com/sites/default/files/samplePDF/preview_192.pdf)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 23 ต.ค. 15, 09:11
โอวววววว! นี่หมายความว่าอาจารย์ใจดี จะแจกถึงสองเล่มควบเลยรึคะ  ;D ;D ;D
งั้น ขอกราบขอบพระคุณงามๆสามทีล่วงหน้าเลยค่ะ ;D ;D ;D ;D




กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ต.ค. 15, 09:13
ไหนๆก็ไหนๆ   แจกฟรีหมด 3 เล่มเลยท่าน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 23 ต.ค. 15, 09:43
อ่านตัวอย่างแค่คำนิยมจบนี่ถึงกับต้องเดินออกไปเรียกรถรับจ้างไปคิวรถตู้เข้ากรุงเทพ ต่อรถเมล์ไปงานหนังสือ หนังสือดีจริงๆ ติดปัญหาว่ายังไม่ได้เงินเดือนเลยมาสามเดือนแล้ว แต่ที่สำคัญกว่าคือของซื้อย่อมมีคุณค่าทางจิตใจน้อยกว่าของบังคับรีดไถมา ดังนั้นเลยอดใจไว้ก่อนรอของแจก  8)

เห็นแว่บๆ ท่านอาจารย์ใหญ่พูดถึงคุณนักเขียนหน้าใหม่ด้วย สังหรณ์ใจว่าจะได้หนังสือฟรีจากคุณ Anna ด้วย ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 23 ต.ค. 15, 12:09
ไหนๆก็ไหนๆ   แจกฟรีหมด 3 เล่มเลยท่าน

เห็นด้วยกับอาจารย์เทาชมพูค่ะ ไหนๆ ลูกศิษย์มันก็หน้าด้านขอแล้ว อาจารย์นวรัตนแจกประชดมันไปเลยค่ะ ;D ;D ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 23 ต.ค. 15, 12:15
เห็นแว่บๆ ท่านอาจารย์ใหญ่พูดถึงคุณนักเขียนหน้าใหม่ด้วย สังหรณ์ใจว่าจะได้หนังสือฟรีจากคุณ Anna ด้วย ;D

ลูกเจี๊ยบอย่างดิฉัน มิหาญเทียบชั้นพญาอินทรี ด๊อกเตอร์มีงานล้นมืออยู่แล้ว อย่าเสียเวลากับผลงานระดับฝีมือลูกเจี๊ยบเลยค่า


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ต.ค. 15, 15:22

สารคดีกองทัพเรือ

ชลยุทธบุรุษสองแผ่นดิน



เรื่องราวส่วนหนึ่งจากเรือนไทย.com ถ่ายทำทั้งในเมืองไทยและเดนมาร์ก
ออกอากาศทาง THAI PBS  เริ่ม 23 ตค 58 เวลา15.05

วิทยากรคนสำคัญในรายการ ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ต.ค. 15, 15:29
เก่งจริงๆ ทำได้ไงเนี่ย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ต.ค. 15, 15:39
วิทยากรอีกท่านหนึ่ง  ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ต.ค. 15, 15:41
http://www.thaipbs.or.th/live/ (http://www.thaipbs.or.th/live/)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 23 ต.ค. 15, 16:00
วันนี้ไปงานหนังสือได้ซื้อมาแล้วครับ นอกจากลายเซ็น ยังได้รับไมตรีจิตจากอาจารย์นวรัตนมอบหนังสือ 'ศพในพระโกศ' ให้อีกเล่มหนึ่งโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ขอบพระคุณอย่างมากครับ เกรงใจอาจารย์จริงๆครับ :)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ต.ค. 15, 16:27
อ๋าว ความลับแตกอีกแร้วววว


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ต.ค. 15, 17:01
เครดิตท้ายรายการ  ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ต.ค. 15, 18:43
คนดัง(ซ้ายมือ) หน้าคุ้นๆ ในเรือนไทย   ไปแจกลายเซ็น ในงานหนังสือ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NT ที่ 23 ต.ค. 15, 18:57
เสียดายมากครับ มาที่บูธเพื่อขอลายเซ็นท่านอาจารย์ใหญ่ กับท่านอาจารย์นวรัตน ไม่ทันแล้ว  :'(


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 23 ต.ค. 15, 20:51
คนดัง(ซ้ายมือ) หน้าคุ้นๆ ในเรือนไทย   ไปแจกลายเซ็น ในงานหนังสือ

หยุดยาวสามวันนี้ รับจ๊อบเป็นรปภ.ค่ะ เลยไปไหนไม่ได้  :'(   ยังดีที่เจ้าของบ้านอนุญาตให้ดูทีวี เลยได้ดูสารคดีทางPBS
วันที่ 27เจ้านายถึงจะอนุญาตให้ดิฉันออกเวรได้ ไม่ทราบอาจารย์ทั้งสองท่านมีคิวไปแจกลายเซ็นในวันนั้นอีกไหมคะ
จะไปซื้อหนังสืออาจารย์นวรัตนในงาน อยากได้ลายเซ็นสดค่ะ(ไม่เอาสติกเกอร์แปะ) พร้อมทั้งหอบเอา 'เพชรกลางไฟ'ไปให้อาจารย์เทาชมพูเซ็นด้วยค่ะ



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 15, 09:45
ผมไม่มีคิวของสำนักพิมพ์ แต่อยากจะไปซื้อหนังสือเช่นกัน เมื่อวานไม่ได้เดินดูอะไรเลยเพราะคนแน่นราวกับปลากระป๋อง

วันที่ว่านี้จะไปเวลาไหนละครับ จะได้นัดไปเจอกันที่บู๊ธได้


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 24 ต.ค. 15, 10:33
จะต้องไปทำธุระช่วยแถวถนนวิทยุตอนเช้า เสร็จแล้วน่าจะไปถึงศูนย์สิริกิติ์ในราวเที่ยงค่ะ ไม่ทราบอาจารย์จะสะดวกไหมคะ  จะได้ไปซื้อหนังสือที่บูธเตรียมพร้อมเอาไว้รอลายเซ็นอาจารย์ ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 24 ต.ค. 15, 10:43
ทีวี ย้อนหลังเป็นรายการอื่น ครับอาจารย์ นวรัตน
อยากดูรายการของอาจารย์


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 15, 10:47
ดิฉันไม่ได้ไปวันที่ 27 ค่ะ  ไว้พบกันในโอกาสอื่นนะคะ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 15, 11:22
http://www.youtube.com/watch?v=8g2K3NLMgPg (http://www.youtube.com/watch?v=8g2K3NLMgPg)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 15, 11:31
http://cuptv.com/play/2400/68278/ (http://cuptv.com/play/2400/68278/)ชลยุทธ-บุรุษสองแผ่นดิน/23-ตุลาคม-2558-ประวัติผู้บัญชาการกรมทหารเรือชาวต่างชาติคนเดียวของไทยในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง/


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 15, 13:20
ผมได้ดูจากทีวีย้อนหลังตั้งแต่ต้นจนจบบริบูรณ์แล้วครับ บอกได้คำเดียวว่ายอดเยี่ยมมาก โดยเฉพาะท่อนท้ายๆ เป็นที่ตื่นตาตื่นใจผมจริงๆ




ขอบคุณสำหรับผลงานดีๆของกองทัพเรือ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 24 ต.ค. 15, 13:43
ดิฉันไม่ได้ไปวันที่ 27 ค่ะ  ไว้พบกันในโอกาสอื่นนะคะ

ได้ค่ะ นอกจาก'เพชรกลางไฟ'ยังมีหนังสือที่รอลายเซ็นอาจารย์อยู่อีกเพียบเลยค่ะ  ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 24 ต.ค. 15, 17:24
ผมได้ดูจากทีวีย้อนหลังตั้งแต่ต้นจนจบบริบูรณ์แล้วครับ บอกได้คำเดียวว่ายอดเยี่ยมมาก โดยเฉพาะท่อนท้ายๆ เป็นที่ตื่นตาตื่นใจผมจริงๆ




ขอบคุณสำหรับผลงานดีๆของกองทัพเรือ


เข้าไปชมแล้วครับตามที่ระโยงไว้ เยี่ยมครับ ทั้งเน้ือหา การผลิต และวิทยากรทั้งสองท่าน สงสัยจริงๆว่าวิทยากรท่านที่สองหันเหจากวิชาชีพเดิม มาแนวประวัติศาสตร์แต่เมื่อไร เป็นรายละเอียดที่ยังไม่มีใครนำเสนอแบบเจาะลึกมาก่อน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 15, 18:43
มีวารสารรายสัปดาห์เล่มหนึ่ง เพิ่งลงบทสัมภาษณ์ผม เพิ่งวางตลาดอาทิตย์นี้ เหลือเวลาถึงวันจันทร์จึงจะเอาเล่มใหม่มาขึ้นแผง

ผมก็ตอบละเอียดกว่านี้ไม่ได้แล้วละครับ เดี๋ยวจะเป็นโฆษณาแอบแฝง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 15, 19:17
คุณ Jalito เซฟรูปลงมือถือ เอาไปส่องตามแผงหนังสือ อาจจะเจอนะคะ
ลบชื่อนิตยสารออกไปแล้ว จะได้ไม่เป็นโฆษณา


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 24 ต.ค. 15, 19:54
 ดูจบแล้วได้สาระดีมาก ภาพสวยชัดเจน
แล้วอาจารย์นวรัตน  smart  มาก   ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 24 ต.ค. 15, 20:05
ปกงามบาดใจมากครับอาจารย์
ต่างจังหวัดหายากครับ  วางใจชั่วข้ามคืนก็หมดแผงแล้ว
นิตยสารสืบสายเลือดไทยหัวนี้
พรุ่งนี้เช้าจะรีบส่งสายสืบออกไป
ขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาเบาะแส


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 15, 20:23
เอาเรื่องส่วนตัวมาเผยนิดหน่อย  หน้าตาของผมในจอมันดูขรึมๆเครียดๆไปหน่อย เพราะขณะนั้นยังไม่หายขาดจากอาการของอัมพาตครึ่งซีกบนใบหน้า (Bell’s Palsy)

http://www.healthtoday.net/thailand/disease/diisease_133.html (http://www.healthtoday.net/thailand/disease/diisease_133.html)

หน้ายังยิ้มได้สัก ๘๐% แต่ถ้าไม่บอกก็คงจะไม่มีใครทราบ

และอันที่จริงวันนั้นผมพูดมากกว่านี้แยะ แต่ก็บอกท่านนายทหารทั้งหลายไปเลยว่าให้ตัดออกเอาเองนะครับ จะได้ไม่กระทบกระเทือนใครต่อใครมากนัก แต่หากเป็นไปได้ ก็ขอความกรุณาให้ทำอีกสัก version นึง สำหรับห้องสมุดนักเรียนนายเรือ  จะได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งผิดพลาดในอดีต

ได้ไปช่วยงานตัดต่ออยู่บ้าง สุดท้ายผลงานที่ออกมาผมก็พอใจครับ และคิดว่าทางเดนมาร์กก็คงจะยินดีที่สารคดีเรื่องนี้ออกมาอย่างสวยงาม สมความต้องการขอผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ทีมงานไปค้นคว้าและถ่ายภาพถึงบ้านเกิดเมืองนอนของพระยาชลยุทธโยธิน

อย่าเอะอะไปนะครับ ถ้า “ริชิว นักธุรกิจข้ามชาติในมาดของนายพลเรือสยาม” จะออกมาเป็นภาพยนตร์ฮอลิวูด เพราะขณะนี้หนังสือของผมกำลังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษอยู่


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 15, 22:42

อย่าเอะอะไปนะครับ ถ้า “ริชิว นักธุรกิจข้ามชาติในมาดของนายพลเรือสยาม” จะออกมาเป็นภาพยนตร์ฮอลิวูด เพราะขณะนี้หนังสือของผมกำลังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษอยู่

ดวงกำลังไปโลด
เห็นจะต้องเชิญให้ท่านเปิดเรือนไทยเลี้ยงสมาชิกประจำเสียแล้วละค่ะ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 15, 23:14
ต้องขอเวลาไปส่องอินทรเนตรเข้าไปโหลดเมนูจานเด็ดๆมาสต๊อกไว้ก่อนนะครับ ครบรายการคาวหวานแล้วจะเอามานำลงให้เสพย์พร้อมๆกัน

แต่ต้องขอไปเปิดกระมู้ใหม่แล้วกัน เดี๋ยวกระทู้นี้จะเละเทะกู่ไม่กลับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 ต.ค. 15, 00:27
ตัดสินใจแล้ว วันอาทิตย์นี้จะลงทุนเข้ากรุงเพื่อไปคว้าสองเล่มนี้มาให้ได้

แล้วของคุณ  Anna เรื่องอะไร สนพไหน บู๊ตอะไร แอบกระซิบ
ให้หน่อยคร้าบ จะได้ไม่เสียเที่ยว ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 25 ต.ค. 15, 05:18
ของคุณ  Anna เรื่องอะไร สนพไหน บู๊ตอะไร แอบกระซิบ
ให้หน่อยคร้าบ จะได้ไม่เสียเที่ยว ;D

แหม..กระซิบในเรือนไทยนี่ต้องเรียกว่ากระซิบช้างแล้วละค่ะ..ขนาดช้างแมมมอธซะด้วยซี เด้วโดนนนนดุว่าโฆษณาแฝง  :'(
เอาเป็นว่าขอขอบคุณด็อกเตอร์จริงๆค่ะ ที่พยายามจะให้กำลังใจนักเขียนลูกเจี๊ยบอย่างดิฉัน  ;D


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ต.ค. 15, 06:13
ตัดสินใจแล้ว วันอาทิตย์นี้จะลงทุนเข้ากรุงเพื่อไปคว้าสองเล่มนี้มาให้ได้ ;D

รอจะเลี้ยงรับขวานในโอกาสคืนสู่เหย้าอยู่ละหนา ไม่เห็นบอกสักทีว่าจะเอายังไง


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 ต.ค. 15, 07:50
ตัดสินใจแล้ว วันอาทิตย์นี้จะลงทุนเข้ากรุงเพื่อไปคว้าสองเล่มนี้มาให้ได้ ;D

รอจะเลี้ยงรับขวานในโอกาสคืนสู่เหย้าอยู่ละหนา ไม่เห็นบอกสักทีว่าจะเอายังไง

กุ้งฝอยที่เตรียมไว้ตกปลากระพง เช่นชาอังกฤษ ขนม ยังติดค้างอยู่ที่ท่าเรือพร้อมสัมภาระเลยครับ จะไปรับขวานตัวเปล่าก็กระไรอยู่ ทั้งกุ้งแม่น้ำแท้งี้ ปูเผาแบบ 2 ตัวโลงี้ หอยเชลล์ขนาดฝ่ามืองี้ โอยๆๆๆ แค่คิดก็ธาตุไฟเข้าแทรก ลมปราณตีกลับแล้ว

คุณ Anna ไม่ยอมบอกนี่ ไม่กลัวผมเสียใจเหรอ แบบนี้เสียใจจริงๆ นะ :-\


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 25 ต.ค. 15, 07:53

ยินดีด้วยครับ รออุดหนุนอยู่โคราชครับ  :D



กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ต.ค. 15, 08:51

ยินดีด้วยครับ รออุดหนุนอยู่โคราชครับ  :D
ผมได้เจอคุณศรีสรรเพชญ์ไปซื้อหนังสือริชลิวแล้วมาให้ผมเซ็นซ์ให้ด้วยน๊า
แต่ผมยังไม่เปลี่ยนใจหรอก เรื่องเจ้าฟ้ากุ้งนั่นน่ะ ฮ่า ฮ่า


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 25 ต.ค. 15, 08:59
[คุณ Anna ไม่ยอมบอกนี่ ไม่กลัวผมเสียใจเหรอ แบบนี้เสียใจจริงๆ นะ :-\
/quote]

โอ๋ๆๆๆ..อย่าน้อยใจไปเลยนะคะด็อกเตอร์ ดิฉันไม่ใช่คิดเล่นตัวเลยจริงๆ สาบานได้..ขอให้ฟ้าผ่าคนอื่นตายด้วยเอ้า!
แต่ที่ไม่บอกเพราะกลัวโดนนนนนดุคร้าาาา :-X


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 25 ต.ค. 15, 16:32
มีวารสารรายสัปดาห์เล่มหนึ่ง เพิ่งลงบทสัมภาษณ์ผม เพิ่งวางตลาดอาทิตย์นี้ เหลือเวลาถึงวันจันทร์จึงจะเอาเล่มใหม่มาขึ้นแผง

ผมก็ตอบละเอียดกว่านี้ไม่ได้แล้วละครับ เดี๋ยวจะเป็นโฆษณาแอบแฝง

ตามพบแล้วครับ ส.ก.ท.ฉบับที่ ๓๑๘๓
มีบทสัมภาษณ์ชื่อ "ในประวัติศาสตร์มี 'ชีวิต' หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน"
เปิดเผยตัวตนของท่านอาจารย์ใหญ่กว่า ซึ่งคงหาอ่านจากที่อื่นคงลำบาก
เห็นภาพชีวิตของท่านอย่างแจ่มแจ้ง (หลังจากที่พากันงงกับภาพบุรุษปริศนากันอยู่เป็นนาน)


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 25 ต.ค. 15, 16:43
ได้มาแล้ว สกท เหลืออยู่สองเล่มในแผง
ยังไม่ได้อ่านเพิ่งกลับมาถึงต้องทานข้าวก่อน


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ต.ค. 15, 19:35
ครับ ยอมรับว่าหนังสือเขาหาซื้อยากจริงๆ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 25 ต.ค. 15, 21:44
ได้มาเป็นสมบัติแล้วทั้ง ประวัติศาสตร์มีชีวิต ๑ และ ๒ ของอาจารย์NAVARAT.C
แต่เสียดายไม่พบอาจารย์ แต่ไม่เสียเที่ยวที่ได้พบอาจารย์เทาชมพู


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ต.ค. 15, 21:55
ขอบคุณครับ

อยากเห็นใบหน้าที่แท้จริงของคุณชลิโตจัง เผื่อเดินไปชนกันกลางถนนจะได้ทักทาย


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ต.ค. 15, 08:01
เพิ่งจะมีโอกาสไปเดินดูแผงต่างๆในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อวานนี้ พบว่าหนังสือล้วนมีราคาแพงขึ้นมากจริงๆ โดยเฉพาะหนังสือเก่าก็พลอยขึ้นราคาไปด้วยโด่งลิ่วจนต้องยอมวางลงไปหลายเล่ม ซื้อหามาได้ก็แค่สองเล่มนี้ที่พลิกๆอ่านดูแล้ว มีข้อมูลที่ไม่เคยเห็นมาก่อนน่าสนใจ เผลอๆจะต้องมีภาคผนวกในปลายกระทู้ให้อ่านกันต่อน่ะครับ


กระทู้: ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ต.ค. 15, 12:12
http://cuptv.com/play/2400/68278/ (http://cuptv.com/play/2400/68278/)ชลยุทธ-บุรุษสองแผ่นดิน/23-ตุลาคม-2558-ประวัติผู้บัญชาการกรมทหารเรือชาวต่างชาติคนเดียวของไทยในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง

ขอเชิญชมรายการนี้อีกที ที่นี่  ;D

http://www.youtube.com/watch?v=TnenjZpqhF8#ws (http://www.youtube.com/watch?v=TnenjZpqhF8#ws)