เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Scopian Kung ที่ 12 ส.ค. 06, 00:39



กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Scopian Kung ที่ 12 ส.ค. 06, 00:39
 สวัสดีครับ ผมสมาชิกใหม่ มีคำถามที่อยากรู้ว่า

เหตุใดรัชกาลที่ 6 จึงตั้งชื่อมหาวิทยาลัยแห่งแรกว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ทำไมไม่ตั้งว่า "พระจุลจอมเกล้ามหาวิทยาลัย" (คล้าย ๆ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) เพราะเห็นว่า จุฬาฯ พัฒนามาจาก โรงเรียนข้าราชกาลฯของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงน่าจะใช้พระนามของ รัชกาลที่ 5 ในขณะที่ครองราชสมบัติอยู่ แต่ทำไมถึงตั้งชื่อมหาวิทยาลัย โดยใช้ชื่อตอนที่ยังคงเป็น "เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์" ที่เห็นว่าเป็นพระนามขณะเป็นเจ้าฟ้า เพราะว่า ชื่อภาษาอังกฤษของ จุฬาฯ อีกชื่อคือ University of Prince Chulalongkorn ซึ่งไม่เหมือนกับ โรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ใช้คำว่า King Chulalongkorn memorial hospital  ดังนั้น จึงสงสัยว่า ทำไมถึงใช้ชื่อขณะเป็นเจ้าฟ้ามาตั้งเป็นชื่อมหาวิทยาลัย มีนัยยะอะไรหรือไม่
ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 12 ส.ค. 06, 12:23
 พระบรมนามาภิไธย จุฬาลงกรณ์ นั้นเป็นพระบรมนามาภิไธยในพระองค์  ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นเปรียบได้กับราชทินนามที่พระราชทานแก่ข้าราชการครับ
การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขนานนามว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ก็มีความหมายว่า มหาวิทยาลัยของพระพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระนามว่า "จุฬาลงกรณ์"  

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เมื่อรัชกาลที่ ๗ โปรดให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  ก็ได้โปรดพระราชทานนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวงว่า โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย  เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในรัชกาลที่ ๖  

ลองหาลายพระราชหัตถ์ดูสิครับ  ไม่เคยปรากฏว่า ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าเจ้าอยู่หัว หรือ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเลย  แต่เวลาลงพระปรมาภิไธยนั้นจะทรงใช้ "จุฬาลงกรณ์" เป็นหลัก  
รัชกาลที่ ๖ ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "วชิราวุธ"  ไม่เคยทรงใช้พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเลย  หรือรัชกาลที่ ๗ ก็ทรงใช้ "ประชาธิปก" ตลอด  

แม้แต่อักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ
รัชกาลที่ ๕ ทรงใช้  จ.ป.ร. ย่อมามาจาก จุฬาลงกรณ์ปรมินทรมหาราชาธิราช
รัชกาลที่ ๖  ทรงใช้ ว.ป.ร.  ย่อมาจาก วชิราวุธปรเมนทรมหาราชาธิราช
รัชกาลที่ ๗  ทรงใช้  ป.ป.ร.  ย่อมาจากประชาธิปกปรมินทรมหาราชาธิราช

ดังนั้นพระบรมนามาภิไธย "จุฬาลงกรณ์" มิได้มีความหมายเฉพาะ "Prince Chulalongkorn" ครับ  ส่วนที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ใช้ King Chulalongkorn memorial hospital  ก็เนื่องมาจากโรงะยาบาลนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอีกทั้งเพื่อให้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงมีคำว่า Memorial อยู่ในชื่อโรงพยาบาล

ส่วนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้านั้น  เดิมโรงเรียนนี้ชื่อว่า โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และมัธยม  แล้วเปลี่ยนเป็นโรงเรียนนายร้อยเทหารบกกับโรงเรียนนายร้อยเท็ฆนิค  เมือเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรเวสต์ปอยท์จึงได้ขอพระราชทานอัญเชิญพระบรมนามาภิไธย "จุลจอมเกล้า" มาต่อท่ายนามโรงเรียนนายร้อยในทำนองเดียวกับที่รัชกาลที่ ๖ เคยพระราชทานนามโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ในอดีต


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Scopian Kung ที่ 12 ส.ค. 06, 15:42
 ขอบคุณครับสำหรับคำตอบครับ ผมพอที่จะทราบเหมือนกันครับ ว่า "จุฬาลงกรณ์ "นั้น  เป็นพระบรมนามาภิไธยในพระองค์ แต่ที่สงสัย คือ ทำไมถึงใช้ว่า University of Prince Chulalongkorn แทนที่จะใช้คำว่า University of King Chulalongkorn

ที่นำเอาชื่อโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาเป็นตัวอย่าง เพราะจะเห็นว่า ชื่อของโรงพยาบาลจุฬาฯ จะใช้คำว่า King Chulalongkorn ไม่ใช่ Prince chulalongkorn

โดยถ้าดูจากหอประวัติจุฬาฯ จะเห้นว่า ชื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น หมายความว่า "มหาวิทยาลัยของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ " ไม่ใช่ King Chulalongkorn

คือ เห็นว่า ตำแหน่ง King และ Prince นั้นต่างกันพอควร ถึงแม้จะเป็นพระองค์เดียวกัน


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 ส.ค. 06, 11:57
 คิดง่ายๆ แล้วกันครับ  ถ้าเป็นชื่อที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งนั้น  ท่านไม่ใช้ King นำหน้า เช่น
Chulalongkorn University  หรือ Vajiravudh College  แต่ถ้าเป็นชื่อที่คนอื่นที่มิใช่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งมักจะเติมคำว่า King นำหน้า  เพราะไม่เป็นการทำเทียมเจ้า

อีกประการ พระบรมนามาภิไธย จุฬาลงกรณ์ หรือ วชิราวุธ ก็มิได้แปลว่า ทรงใช้เฉพาะเมื่อยังทรงเป็น Prince  แม้แต่เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วก็ยังทรงออกพระนนามพระองค์เองว่า จุฬาลงกรณ์  หรือ วชิราวุธ  ในกรณีที่ลงพระปรมาภิไธยเป็นภาษาอังกฤษจะทรงใช้  Chulalongkorn R.  หรือ Vajiravudh R.  หรือแม้แจ่ Queen Elizabeth II ก็ไม่เคยลงพระนามาภิไธยเป็น Queen เลย  แต่ทรงใช้ Elizabeth II R.   R  นั้นมาจากภาษาลาตินว่า Rex.  แปลว่า ราชาธิราช

เวลาดูภาพยนต์ที่ถ่ายทำในอังกฤษ  ลองสังเกตที่เครื่องแบบตำรวจอังกฤษ  ที่ปลายอินทรธนูทั้งสองข้างจะติด EII R  ความหมายก็คือ Elizabeth II R.


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Scopian Kung ที่ 13 ส.ค. 06, 13:37
 ขอบคุณสำหรับคำตอบอีกครั้งครับ

ตามที่อ่านจากหอประวัติจุฬาฯ ทำให้ทราบว่า ชื่อภาอังกฤษของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถเขียนได้ 2 แบบ คือ
1. Chulalongkorn University ซึ่งเป็นแบบที่นิยมใช้ และไม่ได้สงสัยอะไรเกี่ยวกับชื่อนี้เท่าไหร่ครับ
2. University of Prince Chulalongkorn ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่ค่อยได้ยินกันเท่าไหร่ และจากชื่อนี้ จะเห็นว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมายความว่า มหาวิทยาลัยของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์  " ไม่ได้หมายถึง "มหาวิทยาลัยของพระมหากษัตริย์ที่พระนามว่าจุฬาลงกรณ์ "   ถ้าเป็นชื่อพระรานทานจาก รัชกาลที่ 6 จริง แสดงว่า พระองค์ทรงตั้งชื่อจุฬาฯ ตามพระนามของรัชกาลที่ 5 ตอนเป็น "สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์" ไม่ใช่ King Chulalongkorn

จึงเป็นที่มาของคำถามใน 2 ประเด็น คือ
1. รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานชื่อภาอังกฤษทั้ง 2 มาให้ตั้งแต่ตอนสถาปนามหาวิทยาลัยหรือไม่
2. ถ้าใช่ เหตุใด ถึงพระราชทานว่า Prince Chulalongkorn ไม่ใช่  King Chulalongkorn

ในประเด็นที่ 2 นี้ คุณ V_Mee ได้กรุณาบอกว่า
"ชื่อที่คนอื่นที่มิใช่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งมักจะเติมคำว่า King นำหน้า เพราะไม่เป็นการทำเทียมเจ้า"

ซึ่งก็ยังมีข้อสงสัยต่อว่า ชื่อ "โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์" นั้น รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ขนานนามตามพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์" เพื่อเป็นอนุสรณ์ ในพระราชบิดา ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นชื่อพระราชทาน เช่นเดียวกับ "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"  แต่เหตุใด ร.พ.จุฬาฯ ใช้ "King Chulalongkorn" ในขณะที่ จุฬาฯ ใช้ "Prince Chulalongkorn "

ดังนั้น ผมว่ามันคงไม่ใช่เหตุผลตามที่คุณ V_Mee บอกมั้งครับ

ผมจึงสงสัยกลับไปยังประเด็นที่ 1 อีกว่า ตกลง ทั้งชื่อภาษาอังกฤษของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รัชกาลที่ 6 พระราชนามมาเองหรือไม่ แล้วทำไม จุฬาฯ ถึงใช้ Prince แต่ ร.พ.จุฬา กลับใช้ King

อนึ่ง ผมมิได้สงสัยเรื่อง พระบรมนามาภิไธย "จุฬาลงกรณ์" ซึ่งทราบว่า พระองค์ทรงใช้ทั้งในตอนที่เป็นสมเด็จฟ้าฟ้าชายและตอนเสด็จขึ้นครองราชย์  ดังนั้น ชื่อ จุฬาลงกรณ์ นั้น จึงมิได้จำกัดไว้เฉพาะตอนที่เป็นฟ้าชายตามที่คุณ V_mee กล่าวไว้ และที่ต่างประเทศก็รู้จักพระองค์ในนาม King Chulalongkorn เช่นกัน

Prince Chulalongkorn และ King Chulalongkorn นั้น ต่างกันที่ตำแหน่ง Prince และ King นะครับ ไม่ใด้ต่างที่ Chulalongkorn


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 ส.ค. 06, 17:31
 ผมก็เพิ่งทราบว่า มีชื่อ "Prince Chulalongkorn University" ด้วย  ไม่ทราบที่มาว่ามาอย่างไร  แต่เห็นอ้างถึงหอประวัติ  จุฬาฯ  ก็คงต้องรบกวนไปสอบถามอาจารย์สวัสดิ์  จงกล ให้ด้วยครับ  ผมเองก็งงมากที่มีชื่อนี้  คิดว่า ไม่ใช่ชื่อพระราชทานแน่นอนครับ


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Scopian Kung ที่ 13 ส.ค. 06, 23:04
 ไม่ใช่ "Prince Chulalongkorn University"  ครับ แต่เป็น "University of Prince Chulalongkorn " คุณ V_mee ลองอ่านบทความนี้ดูนะครับ

"...จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แปลว่า "มหาวิทยาลัยของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์" ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Chulalongkorn University หรือ University of Prince Chulalongkorn พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งมหาวิทยาลัยนี้ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนกนาถ ผู้มีพระราชปรารถนาจะให้มีมหาวิทยาลัยในรัชสมัยของพระองค์ พระนามาภิไธย จุฬาลงกรณ์นั้น ต้องมีฑัณฆาตที่ ณ เณร เพราะพระนามาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ จุฬาลงกรณ์ เมื่อความหมายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ชื่อของมหาวิทยาลัยจึงต้องเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย..."

 http://www.memocent.chula.ac.th/knowledge/kn06_07.html  


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 ส.ค. 06, 08:46
 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความหมายว่ามหาวิทยาลัยของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นที่สืบเนื่องจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุนี้เมื่อเขียนชื่อมหาวิทยาลัย เป็นภาษาอังกฤษและใช้ University นำหน้าจึงต้องเป็น University of Prince Chulalongkorn

อ่านข้อความข้างต้นแล้วจะเห็นข้อขัดแย้งในตัว  โปรดสังเกตประโยคที่ว่า "สืบเนื่องจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"  แล้วจะมาแปลความหมายเป็น  "มีความหมายว่ามหาวิทยาลัยของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์" ได้อย่างไร  

การตั้งชื่อว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ถ้าแปลไทยเป็นไทย  ไม่ใช่แปลแบบตะแบงกันแล้ว  ก็น่าจะเป็น มหาวิทยาลัยของท่านที่ชื่อ จุฬาลงกรณ์  ซึ่งไม่มีตรงไหนที่บอกว่าเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์  

การที่หอประวัติจุฬาฯ ให้คำจำกัดความไว้อย่างนั้น  น่าจะเป็นการตีความของคนบางคนที่อาจจะไม่เข้าใจหลักภาษาหรือเจตนาจะแปลความหมายให้พิกลพิการไปอย่างนั้นมากกว่า

อีกประการผมก็ไม่เชื่อว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นปราชญ์และทรงเชี่ยวชาญทั้งภาษาไทย  และภาษาอังกฤษ  ถึงขนาดแปลบทละครของเชคส์เปียร์ซึ่งว่ากันว่า เป็นภาษาอังกฤษโบราณที่ยากมากแม้แต่คนอังกฤษเองยังว่ายาก  จะแปลชื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแบบนั้น  คนที่น่าจะให้คำอบนี้ได้ดีน่าจะเป็นคนที่ชอบสร้างราชาศัพท์แปลกๆ ที่เคยเป็น ผอ. หอประวัติจุฬาฯ นั้นแหละครับ


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 ส.ค. 06, 08:51
 ขอแถมอีกประการครับ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้สร้างขึ้นโดยเงินที่เหลือจากการที่ราษฎรไทยได้ร่วมกันออกเงินเรี่ยไรจัดสร้างพระบรมรูปทรงม้าถวายเมื่อคราวพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ๑๑  พฤศจิกายน  ๒๔๕๑  และผู้เป็นประธานจัดการเรี่ยไรครั้งนั้น คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร  จึงเป็นไปได้ที่รัชกาลที่ ๖ ซึ่งเคยเป็นสมเด็จพระบรมฯ จะโปรดให้นำเงินที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้าไปสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์  แทนที่จะเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่เรื่องนี้ผมก็ไม่อาจแก้แทนชาวจุฬาฯ ได้  เพราะถึงทุกวันนี้ชาวจุฬาฯ ก็ยังไม่เคยยอมรับว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 06, 09:26
 ดิฉันเข้าใจว่าคำที่เป็นปริศนาอยู่นี่ ไม่ใช่ชื่อพระราชทานหรือทำนองนั้นหรอกค่ะ
เป็นเพียงคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ(อีกที) ของคำว่า Chulalongkorn University เท่านั้นเอง  โดยใครสักคนที่เขียนคำอธิบาย แล้วเว็บนี้นำมาลง


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Scopian Kung ที่ 14 ส.ค. 06, 11:55
 ผมก็คิดไว้อย่างนั้นว่ มันไม่น่าจะใช่คำพระราชทาน และคงเป็นการตีความของคนสักคงเพื่อจะพยายามอธิบายว่า "ทำไมถึงเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์" ก็เลยเอามาตั้งในเวปนี้เพื่อคลายข้อสงสัย เพราะเห็นว่ามีผู้รู้อย่างมาก และได้คำตอบอย่างที่คิดไว้ไม่ผิดหวังจริง ๆ ที่จริงอ่านเวปนี้มานานแต่ไม่ค่อยมีส่วนรวมอะครับ

คุณ V_mee อ่านบทความแล้วสงสัยเหมือนผมทุกประเด็นเลย และผมเห็นว่ามันขัด ๆ กันระหว่างชื่อภาษาไทยกับชื่อภาษาอังกฤษ ส่วนบทความนี้พึ่งนำมาลงไว้ที่เวปของหอประวัติฯ เมื่อปีนี้เองมั้งครับ ไม่ทราบเหมือนกันว่า เป็นผลงานเขียนของ ผอ.หอประวัติ คนปัจจุบันหรือไม่

ส่วนเรื่องที่คุณ V_mee กล่าวว่า  "แต่เรื่องนี้ผมก็ไม่อาจแก้แทนชาวจุฬาฯ ได้ เพราะถึงทุกวันนี้ชาวจุฬาฯ ก็ยังไม่เคยยอมรับว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ผมไม่เข้าใจในประเด็นนี้ครับ ว่าต้องการสื่ออะไร

แต่ปัจจุบัน ชาวจุฬาฯ ก็ยังถือว่า พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ  "พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เพราะเห็นว่า จุฬาฯ พัฒนามาจาก สำนักฝึกหัดวิชาข้าราชพลเรือน ที่รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งขึ้น และถือว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น "พระผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"  นี่ครับ และถือว่าทั้ง 2 พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อจุฬาฯอย่างสูงสุด  ดังอักษรที่จารึกไว้ที่พระบรมอนุสาวรีย์ 2 รัชกาลที่ประดิษษฐาน หน้า หอประชุมจุฬาฯ

อ้อ ตกลงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานชื่อภาษาอังกฤษไว้ สำหรับจุฬาฯและโรงพยาบาลจุฬาฯหรือเปล่าครับ ไม่ทราบว่า โดยปกติ ชื่อพระราชทานจากพระองค์จะเป็นแค่ภาษาไทย หรือให้มาทั้ง 2 ภาษาครับ

ขอบคุณสำหรับทุกคำตอบนะครับ


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 16 ส.ค. 06, 19:03
 ในประกาศพระราชทานนั้นเป็นภาษาไทย  ส่วนภาษาอังกฤษเข้าใจว่าราชเลขาคงจะเป็นผู้แปลแล้วนำความเรียนพระราชปฏิบัติ

"ส่วนเรื่องที่คุณ V_mee กล่าวว่า "แต่เรื่องนี้ผมก็ไม่อาจแก้แทนชาวจุฬาฯ ได้ เพราะถึงทุกวันนี้ชาวจุฬาฯ ก็ยังไม่เคยยอมรับว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ผมไม่เข้าใจในประเด็นนี้ครับ ว่าต้องการสื่ออะไร"

ที่ผมกล่าวเช่นนั้น เพราะทุกครั้งที่ผมได้ยินนิสิตจุฬาฯ ทั้งเก่าและปัจจุบันพูดถึงผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาฯ  ผมมักจะได้ยินแต่ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  พอผมเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นจุฦาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถ  ก็ยังมีการเอาสีข้างเข้าถูว่า ก็ชื่อก็บอกอยู่ทนโท่แล้ว จุฬ่าลงกรณ์ คือ รัชกาลที่ ๕  ไม่ต้องดูอื่นดูไกล  ทุกวันที่ ๒๓  ตุลาคม  สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานวันมหาจุฬาลงกรณ์ อย่างยิ่งใหญ่ทุกปี  แต่พอถึงวันที่  ๒๕  พฤศจิกายน  ชาวจุฬาฯ กลับพร้อมใจกันลืมนึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระมหากรุณาแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียนี่  

การที่ชาวจุฬาฯ สร้างอนุสาวรีย์สองพระองค์ขึ้นนั้น  ในชั้นแรกมีผู้เสนอให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕ ไว้หน้าหอประชุม  และพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๖ ไว้หน้าตึกอักษรฯ แต่ไม่ทราบเหตุผลกลใดเรื่องนี้หายไปพักหนึ่ง  จนวันหนึ่งกรมธนารักษ์จะมายึดที่ดินของจุฬาฯ ไปเป็นที่ราชพัสดุ  จึงมารำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ ๖ กันก็คราวนี้  เพราะที่จุฬาฯ สามารถยืนหยัดอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะสายพระเนตรอันยาวไกลที่จะสร้างจุฬาฯ ให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยแบบ Oxford และ Cambridge  ได้พระราชทานที่ดินไว้กว่าพันสามร้อยไร่ให้มหาวิทยาลัยสามารถเก็บประโยชน์เลี้ยงตัว  เรื่องนี้ชาวจุฬาฯ แม้แต่อาจารย์เองก็ไม่มีเคยมีใครใส่ใจ  มาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ที่ผมมีเวลาแวะไปคุยกับท่านอาจารย์สวัสดิ์  จงกล ที่หอประวัติจุฬาฯ  ชาวจุฬาฯ จึงเพิ่งจะมาตื่นตัวและภาคภูมิใจเรื่องเมืองมหาวิทยาลัย

ขอนกลับไปที่เรื่องการจัดงานในวันที่  ๒๓  ตุลาคม  เรื่องนี้ผมพยายามเสนอให้จุฬาเปลี่ยนมาจัดงานในวันที่  ๑๑  พฤศจิกายน  มาหลายสิบปีแต่ก็ไม่สำเร็จ  ดูเหมือนจะมีแย่ปีหรือสองปีที่มาจัดงานในวันที่  ๑๑  พฤศจิกายน  แต่สุดท้ายก็กลับไปวันที่  ๒๓  ตุลาคมเหมือนเดิม  เหตุผลที่ผมเสนอวันที่  ๑๑  พฤศจิกายนเพราะว่า  เป็นวันฉัตรมงคลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทั้งตรงกับวันที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นผู้แทนปวงพสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระบรมรูปทรงม้าแด่สมเด็จพระปิยมหาราช  และเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางศิลาพระฤกษ์สร้างพระที่นั่งอนันสมาคม  ซึ่งมาแล้วเสร็จในรัชกาลที่ ๖  และได้โปรดใช้เป็นสถานที่พระราชทานเลี้ยงส่งนายทหารก่อนที่จะออกไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งกองทหารนั้นก็ได้นำชัยชนะมาสู่ประเทศไทยในวันที่  ๑๑  พฤศจิกายน  ๒๔๖๑  นับว่าวันที่  ๑๑  พฤศจิกายน เป็นวันอันควรแก่การเฉลิมฉลองยิ่งนัก  แต่นิสิตเก่าจุฬาฯ กลับมาจัดงานเลี้ยงสังสรรกันในวันที่  ๒๓  ตุลาคม  ซึ่งเป็นวันสวคคต  และเป็นวันแห่งความเศร้าสลด  สมควรอยู่หรือ?

ในประเด็นที่ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาฯ โดยถือเอาต้นรากมาจากโรงเรียนมหาเล็กที่ฝึกคนออกรับราชการมหาดไทยนั้น  ตรงนี้ผมมีความเห็นแย้ง  ไม่ใช่ไม่จงรักภักดีนะครับ  แต่ข้เท็จจริงนั้นผู้ที่ก่อตั้งโรงเรียนมหาดเล็กคือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ดำริจัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริที่จะเร่งผลิตคนออกรับราชการ  ในขณะเดียวกันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์  โครงเรียนนายร้อยมหารบก  โรงเรียนนายเรือ จัดเป็นสถาบันอุดมศึกษากระจายกันอยู่ในหลายกระทรวง  

แต่โรงเรียนชั้นอุดมศึกษาสมัยนั้นหาใช้อุดมศึกษาที่เป็นมหาวิทยาลัยอย่างที่เราเข้าใจกัน  เป็นโรงเรียนอาชีวะเสียมากกว่า  เพราะความรู้ของนักเรียนยังไม่ถึงเกณฑ์อีกทั้งยังไม่มีครูที่จะสอนด้วย  และด้วยความต้องการที่จะผลิตคนออกรับราชการนั้น  ผลก็คือ ทางราชการเริ่มตระหนักถงผลร้ายของการเรียนเพื่อไปรับราชการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๙  ได้มีการหยิบเรื่องนี้ขึ้นหารือในที่ประชุมข้าหลวงเทศาภิบาล  เกรงกันว่า สุดท้ายแล้วการศึกษาของชาติจะพังพินาศ  เพราะนักเรียนเรียนจบมาแล้วหางานทำกันไม่ได้  สุดท้ายต้องไปทำงานต่ำกว่าความรู้ที่เรียนมา  เมื่อเรียนแล้วไม่มีงานให้ทำก็จะพากันเลิกเรียน  อีกประการหนึ่งคือ บรรดาลูกหลานชาวไร่ชาวนาพอเรียนหนังสือแล้วก็จะพากันทิ้งไร่ทิ้งนามาทำการเป็นเสมียนกันทั้งหมด  แล้วผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ของเราจะเอาใครมาทำกสิกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาติ

พอถึงรัชกาลที่ ๖ จึงได้ทรงปรับนโยบายยการศึกษาให้เป็นการศึกษาเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ  เว้นแต่ผู้มีสติปัญญาหรือมีกำลังทุนทรัพย์ที่จะเล่าเรียนชั้นสูงก็ให้เรียนจนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ คือ มัธยมปีที่ ๘ หรือปัจจุบันคือ มัธยมปีที่ ๖  เพื่อเตรียมเข้าสู่อุดมศึกษาต่อไป  

มัธยมบริบูรณืเพิ่งมีขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙  พอปลายปีนั้นก็ด)รดให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีก็ได้เล่าไว้ว่า  ก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการนั้นได้มีรับสั่งกับท่านเสนาบดีว่า ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศสยามจะมียูนิเวอร์ซิตี้  เสนาบดีได้ตอบพระราชกระทู้นั้นว่า ยัง  เพราะไม่มีนักเรียนจะเรียน  และไม่มีโปรเฟสเซอร์ที่จะมาเลคเชอร์  แต่ก็มีพระราชกระแสว่า ตั้งเถิด  อย่ารอให้ดีมานด์เกิด  เราต้องสร้างสัพพลายขึ้นล่อดีมานด์  ด้วยเหตุนี้จึงเกิดมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นเมื่อวันที่  ๒๖  มีนาคม  ๒๔๕๙

ก่อนหน้านั้นเมื่อแรกเสด็จเสวยราชย์วันที่  ๒๘  ธันวาคม  ๒๔๕๓  ก็มีรับสั่งให่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีซึ่งเวลานั้นเป็นพระยาไพศาลศิลปสาตร เจ้ากรมตรวจ  กระทรวงธรรมการไปเฝ้าฯ เรียนพระราชปฏิบัติเรื่องนโยบายจัดการศึกษาของชาติ  ในรายละเอียดไม่ได้ทรงบันทึกไว้  ทั้งท่านเจ้าคุณก็ไม่ได้กล่าวถึง  มีแต่ลายพระราชหัตถ์ที่พระราชทานมาภายหลังว่า  เรื่องการศึกษาที่ได้พระราชทานแก่พระยาไพศาลฯ นั้น  เป็นเริ่องที่ทรงคิดมาตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระยุพราช  และทรงหวังให้พระยาไพศาลฯ รับไปดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์  รุ่งขึ้นวันที่  ๒๙  ธันวาคม  พระยาไพศาลฯ ก็สนองพระราชกระแสจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่ในพระบรมมหาราชวัง  ต่อมาวันที่  ๑  มกราคม  ก็ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการยกโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร.  โดยยกเอาโรงเรียนวิชาชีพทั้งหลาย คือ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์  โรงเรียนกฎหมาย  โรงเรียนราชแพทยาลัย  มารวมกันที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร.  พอจัดระเบียบเข้าที่แล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินพร้อมเงินที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้าให้ไปสร้างอาคารหลังใหญ่ที่ตำบลปทุมวัน  เพื่อให้ทันการฉลอง "๓ รอบมโรงนักษัตร"  ในวันที่  ๑  มกราคม  ๒๔๕๙  หลังจากนั้นจึงได้ประดิษฐานขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยนี้จึงเป็นพยานแห่งกตัญูกตเวทีของปวงชนชาวไทยที่พร้อมใจกันถวายเป็นราชพลีแด่สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Scopian Kung ที่ 17 ส.ค. 06, 01:20
 เรื่องนี้ผมไม่ทราบความเป็นมาว่าอะไรหรอก แต่ผมในฐานะที่ไม่เคยรู้จัก จุฬาฯ จนกระทั่งเอนท์ติด รับรู้ตั้งแต่ก้าวเข้ามหาวิทยาลัยว่า

"พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"  คือ พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ "พระผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"  คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งผมก็ได้ยิทั้งนเพื่อนฝูงและรุ่นพี่รุ่นน้อง กล่าวเช่นนี้เช่นกัน และสืบทอดต่อกันมาตลอด

ส่วนเรื่องการจัดงานวันปิยะ 23 ต.ค. นั้น ผมไม่รู้ความเป็นมา แต่ก็คิดแบบตื้น ๆ เลยว่า ถ้าถามชาวไทยสัก 100 คน ว่าวันไหนที่เราจะระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาล ที่ 5 มากที่สุด ผมว่าเกิน 80 เปอร์เซนต์ก็คงตอบว่า วันที่ 23 ต.ค. ถึงแม้จะเป็นวันคล้ายวันสวรรคตก็ตาม แต่วันนี้คือวันที่จะระลึกถึงพระองค์ท่าน คงไม่มีใครมาคิดเล็กคิดน้อยว่าสมควรหรือไม่หรอก (ถ้าคิดแบบนั้น ผมว่า มหาวิทยาลัยมหิดลก็คงผิดที่จัดงานวันมหิดลเช่นกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นวันสิ้นพระชนม์ของพระบรมราชชนก) จุฬาฯจัดงานในวันปิยะก็เห็นจัดงานเพื่อระลึกถึงพระองค์ท่าน มีการไปถวายบังคับที่พระบรมรูปทรงม้า บางปีมีงานปิยมหาราชานุสรณ์ออกทางทีวีเพื่อหาทุนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนของจุฬาฯ  ไม่ได้มาจัดงานเลี้ยงฉลองกันครื้นแครงนี่ครับ ถ้าครื้นแครงก็คงเป็นงานวันสถาปนาจุฬาฯ 26 มี.ค. มากกว่าที่มีงานคืนสู่เหย้าจุฬาฯ

ส่วนวันมหาธีรราชเจ้า 25 พ.ย.นั้น ผมก็เห็นผู้บริหารของจุฬาฯ และนิสิตจุฬาฯไปถวายบังคมต่อหน้าอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 หน้าสวนลุมกันทุกปีเช่นกัน แต่จำนวนคนอาจจะน้อยกว่า 23 ต.ค. ทั้งนี้เพราะสถานที่เป็นตัวกำหนด แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ชาวจุฬาฯและชาวไทย ส่วนหนึ่งไม่ค่อยรู้จักวันมหาธีรราชเจ้ากันจริง ๆ ว่าเป็นวันอะไร

ส่วนเรื่อง "โรงเรียนมหาดเล็ก" ผมไม่ทราบว่ามีความเป็นมาอย่างไร แต่ผมทราบพองู ๆ ปลา ๆ ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน" แล้วต่อมาจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” ผมทราบเพียงแต่ว่า วิวัฒนาการของจุฬาฯ คือ
1. "โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน"
2. “โรงเรียนมหาดเล็ก” (ไม่ใช่ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งตั้งเมื่อรัชกาลที่ 6)
3. โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
4. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนเรื่องที่ดินของจุฬานั้น ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลยจริง ๆ รู้แต่ว่าเรื่องที่ดินนั้น จุฬาฯได้รับโอนที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ จอมพล ป. เป็นนายกมั้งครับ ประมาณรัชกาลที่ 8  กี่ปีมาแล้วไม่ทราบ แต่อนุสาวรีย์สร้างเสร็จ ตอนปี 2530 เรื่องกลัวกรมธนารักษ์ ผมก็ไม่ทราบ แต่มันจะเกี่ยวกับกลัวกรมธนารักษณ์ จนกระทั่งจะมาตั้ง อนุสาวรีย์ ร.6 นั้น ผมว่ามันยังไง ๆ อยู่ชอบกล

ผมว่าคุณ V.mee ก็กล่าวถูกหลายเรื่อง เพราะจะมีคนที่เรียนจุฬาฯสักกี่คนที่จะมาสนใจเรื่องประวัติมหาวิทยาลัยแบบทั้งหมด ตอบเลยว่าไม่มีเยอะหรอก จะให้ทุกคนมาเรียนรู้ประวัติจุฬาฯ คงไม่มีใครมานั่งเรียน ทุกคนรู้เรื่องจุฬาฯตามความสนใจของแต่ละบุคคลเท่านั้นครับ ใครสนมากก็รู้มาก ใครสนน้อยก็รู้น้อย ครับ มหาวิทยาลัยไม่มีทางยัดเยียดประวัติให้นิสิตทุกคนรู้ได้หรอก แต่ผมเห็นเหมือนกับคุณ V mee อย่างหนึ่งวส่า จุฬาฯ ไม่ใคร่ที่จะให้ความสำคัญต่อพระมหากรุณาธิคุณของ ร.6 เท่าไหร่ สังเกตง่าย ๆ เลย สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของจุฬาฯ ไม่มีอะไรทำให้คิดถึง ร.6 มีเพียงอย่างเดียวที่พอจะมี คือ พระบรมรูป 2 รัชกาล

แต่ผมก็ยังแอบคิดปลอบใจว่า ในเมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงตั้ง จุฬาฯ เพื่อระลึกถึง รัชกาลที่ 5 พระองค์คงทรงตั้งพระทัยไว้แล้วว่า ถ้านึกถึงจุฬาฯ ต้องนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 ไม่ใช่รัชกาลที่ 6  เปรียบเสมือนการสร้างอนุสาวรีย์ ผู้สร้างคงคาดหวังให้บุคคลอื่นเคารพและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่ออนุสาวรีย์ ไม่ใช่ให้ระลึกถึงคนสร้างอนุสาวรีย์


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 17 ส.ค. 06, 02:48
 เรื่องการฉลองพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ ๖ นั้น จุฬาฯ ก็ปฏิบัติอยู่เนืองๆ อาคารสถาบันวิทยบริการก็มีนามว่า "มหาธีรราชานุสรณ์" (ในเวลานั้นยังไม่มีตึกใดอาคารใดมีนามเกี่ยวเนื่องกับรัชกาลที่ ๕ เลย) มีพระบรมรูปประดิษฐานอยู่ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จมาทรงเปิดในโอกาสที่มหาวิทยาลัยมีอายุ ๖๖ ปี จริงๆ แล้ว จุฬาฯ สร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๖ และพระบรมรูปรัชกาลที่ ๖ ประดิษฐานไว้ในมหาวิทยาลัย ก่อนอาคารที่มีนามเกี่ยวเนื่องกับรัชกาลที่ ๕ หรือพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ เสียอีกนะครับ

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ไปเฝ้าถวายชัยมงคลแด่ สมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๖ ในวาระคล้ายวันประสูติของทุกปี และราวๆ ๑๐ ปีให้หลังมานี้ ก็พิมพ์หนังสือทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระราชทานแก่ผู้มาร่วมงาน ต่อเนื่องมาโดยตลอด

ถึงเวลาฉลองพระชนมายุพิเศษเช่น ๖ รอบ และ ๘๐ พรรษา ก็มีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติอย่างเอิกเกริก จำได้ว่าเมื่อคราวมีพระชนมายุ ๖ รอบนั้น สถาบันในรัชกาลที่ ๖ ที่จัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ อย่างยิ่งใหญ่ และสมเด็จฯ ก็เสด็จไปทรงเป็นประธานนั้น มีเพียง จุฬาฯ กับ วชิราวุธฯ เท่านั้น

ในโอกาสคล้ายวันสวรรคต ๒๕ พฤศจิกายน ที่หอประชุมจะมีการบำเพ็ญกุศลถวาย (กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง เป็นผู้ตั้งแต่งและปฏิบัติ) มาเป็นประจำทุกปีมิได้ขาด เพียงแต่ไม่ได้มีเจ้านายเสด็จ ไม่ได้ออกสื่อโทรทัศน์ คนเลยไม่ค่อยรับรู้กัน

แต่เรียนตามตรงว่าผมเองก็ยังรู้สึกเหมือนคุณ V_Mee ว่า "กุศลฉันทะ"  ของชาวจุฬาฯ ที่จะเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๖ นั้นยังมีไม่มากเท่าที่ควร

ผมเองก็พยายามวิ่งเต้นผลักดันมาตลอด ก็ดูจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นครับ ทางหอประวัติฯ ก็จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติอยู่เนืองๆ ครั้งหนึ่งในปี ๒๕๔๓ ยังเคยกราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จมาทรงเปิดนิทรรศการ ผมยังรู้สึกชื่นใจและภูมิใจอยู่จนทุกวันนี้ เพราะรู้สึกว่าจะเป็นงานท้ายๆ ที่ทรงพระดำเนินได้เองและมีรับสั่งโต้ตอบได้เป็นอย่างดี

ยังดีที่ในระยะหลัง จุฬาฯ มีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ มากกว่าแต่ก่อน เมื่อมีพระบรมราชานุสาวรีย์ที่หน้าหอประชุม ทำให้คนเกิดความรู้สึกเอาใจใส่เพิ่มขึ้น

แต่ก็คงต้องเข้าใจกระแสอยู่เหมือนกันนะครับ ว่าการที่คนนับถือบูชาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นพิเศษนั้น นอกจากจะเพราะรำลึกถึงพระเดชพระคุณอันมหาศาลแล้ว ยังจะมีน้ำใจโน้มเอียงไปในทางที่เห็นว่าทรงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้สามารถดลบันดาลอะไรๆ ได้ตามที่ร้องขออ้อนวอน เมื่อกล่าวย้ำเตือนปากต่อปากถึงพระคุณวิเศษทางอภินิหารเช่นนี้ เป็นเข้าทางคนไทยดีนักแล

ต่างจากรัชกาลที่ ๖ (เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว) ไม่ได้ทรงมีเรื่องราวอภินิหารมากเผยแพร่สู่ความรับรู้ของสาธารณชนอย่างกรณีรัชกาลที่ ๕ (แม้ว่าผม และเชื่อว่าคุณ V_Mee เอง ก็ทราบว่าเรื่องแบบนี้ในกรณีของรัชกาลที่ ๖ ก็มีไม่น้อย ก็ตามที)

คุณหญิงศรีนาถ สุริยะ วัย ๙๐ ปี ในฐานะนักเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นแรกๆ เคยเล่าว่า เมื่อครั้งยังเป็นนิสิต ในมหาวิทยาลัยไม่เคยมีใครพูดถึงรัชกาลที่ ๖ เลย  แม้ตัวท่านเองสมัยเรียนก็ไม่เคยคิดถึงพระเดชพระคุณในข้อนี้ ทุกคนก็คิดกันแต่เพียงว่ารัชกาลที่ ๕ คือผู้สร้างจุฬาฯ จนมาเมื่อมีพระบรมราชานุสาวรีย์นั้นแหละ ถึงได้รู้กันอย่างแพร่หลายเสียทีว่ารัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างมหาวิทยาลัย

ฉะนั้น ผมคิดว่า อาจจะเป็นเพราะ "กระแส" การถวาย "เครดิต" ได้โน้มไปในทางรัชกาลที่ ๕ มาแต่ต้น ขนาดนิสิตรุ่นเก่าแก่ยังกล่าวเช่นนี้ แล้วจะไม่ให้ความรู้สึกผูกพันกับรัชกาลที่ ๕ เป็นพิเศษนั้น สืบทอดเป็นมรดกจากรุ่นสู่รุ่นมาได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี แนวโน้มในปัจจุบันดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมากนะครับ ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์นิสิตใหม่ปริญญาตรีที่เพิ่งเข้าจุฬาฯ หลายสิบคน คำถามแรกผมจะลองภูมิดูว่า ใครคือผู้สร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ..ทุกคนตอบว่า "รัชกาลที่ ๖" ผมออกจะดีใจอยู่ไม่น้อย แต่ไม่อยากจะพูดให้ใครเกิดเคืองใจเลยว่า ผมสัมภาษณ์นักเรียนเก่าวชิราวุธฯ ที่เข้ามาเป็นนิสิตจุฬาฯ ว่าใครคือผู้สร้างมหาวิทยาลัย นักเรียนเก่าวชิราวุธฯ ทั้ง ๓ คน ตอบว่า "รัชกาลที่ ๕"

คิดอย่างคุณ Scopian Kung ก็จะทำให้สบายใจได้ขึ้นมากครับ พระบรมราชานุสาวรีย์อันถาวรอยู่มิรู้เสื่อมสูญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกาธิราช นั้น ได้สนองพระราชประสงค์ในการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ดีสมพระราชหฤทัยของพระราชโอรสผู้มีพระราชกตัญญุตาธรรมพระองค์นั้นแล้ว


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 17 ส.ค. 06, 03:29
 ยังมีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๖ ซึ่งนิสิตจุฬาฯ โดยวงซียูแบนด์ จัดต่อเนื่องมาทุกปีอีกประการหนึ่ง คือ คอนเสิร์ตวันมหาธีรราชเจ้า ซึ่งจัดในวันที่ ๒๕ หรือ ๒๖ พฤศจิกายน ของทุกปี ที่หอประชุมจุฬาฯ



ไม่ทราบว่าคุณ V_Mee หรือคุณ Scopian Kung เคยไปชมหรือไม่ เป็นฟรีคอนเสิร์ตที่คนไปดูกันแน่นหอประชุมทุกปีนะครับ เพลงที่บรรเลงนั้นส่วนมากเป็นเพลงจากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ รวมทั้งเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลปัจจุบัน เพลงเก่าๆ ทั้งไทยและสากลที่น่าฟังทั้งหลายครับ เมื่องานฉลองพระชนมายุ ๘๐ พรรษา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ที่ผ่านมา ซียูแบนด์ได้ยกวงมาบรรเลงถวายที่วังรื่นฤดี บรรดาข้าราชบริพาร ตลอดจนผู้มาร่วมงานยังกล่าวชื่นชมกันอยู่เลยว่าเล่นเพลงจากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ได้ดี



ส่วนวันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี นั้น ผมไม่เคยเห็นว่าจะมีงานจัดเลี้ยงเฉลิมฉลองอะไรนะครับ ก็เห็นเป็นอย่างที่คุณ Scopian Kung กล่าวไว้ในความเห็นที่ ๑๒ ครับ



ผมคิดว่าการหักรากถอนโคนกระแสความคิดที่ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าพระคุณถึง ๒ พระองค์นั้น โดยให้เหลือเพียงแต่ว่าเมื่อใดคิดถึงมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ให้คิดถึงแต่รัชกาลที่ ๖ เท่านั้นนั้น ไม่น่าจะเป็นประโยชน์นักครับ ผมว่าก็ยังดีกว่าสมัยก่อน ที่ไม่เคยแม้แต่จะคิดถึงรัชกาลที่ ๖ เอาเสียเลย



ก็ต้องไม่ลืมนะครับว่านาม "โรงเรียนมหาดเล็ก" นั้นเกิดใน พ.ศ.๒๔๔๕ อันอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วต่อมารัชกาลที่ ๖ ทรงประดิษฐาน "โรงเรียนมหาดเล็ก" ขึ้นเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือน 'ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว' ฉะนั้น ถ้าจะว่ารัชกาลที่ ๕ ไม่เกี่ยวกับรากฐานที่มาของมหาวิทยาลัยเอาเสียเลย ก็คงจะไม่ตรงกับความจริงนัก



เราน่าจะมาเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๖ ให้ยิ่งขึ้น โดยไม่ทอดทิ้งความสำคัญของการเป็น "พระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ ๕" น่าจะดีกว่านะครับ



ส่วนเรื่องการแปลชื่อภาษาอังกฤษว่า University of Prince Chulalongkorn นั้น ผมก็รู้สึกตงิดๆ เหมือนกัน



หากว่ามาจากพระราชหัตถเลขา ลายพระหัตถ์ หรือเอกสารเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยตอนใดตอนหนึ่ง ก็อาจจะทำให้หายสงสัยกันไปได้



แต่กระนั้น ผมว่าคุณ V_Mee อย่าเพิ่งปักใจไปเลยครับว่าผู้อำนวยการหอประวัติฯ ท่านใดเป็นคนตีความหรือแปลอย่างนั้น ผมเกรงด้วยซ้ำ ว่าจะเป็นการกลับหัวกลับหางกัน โดยการแปลนามเช่นนี้ อาจจะเกิดจากบุคคลท่านใดท่านหนึ่งในหอประวัติฯ นั้นเองซึ่งท่านก็ชอบการตีความเช่นกัน เพราะท่านคือผู้ตรวจตราดูแลข้อมูลเหล่านี้โดยตรง ส่วนผู้อำนวยการหอฯ นั้น เป็นผู้บริหารงานครับ



ข้อสำคัญที่พึงระวังคือการสนทนากับบุคคลหลากหลายนั้น แต่ละบุคคลมีอคติและมีมานะเป็นของตนนะครับ คงไม่สร้างสรรค์เป็นแน่ หากว่าเราฟังความแต่ข้างเดียวจากผู้มีอคติแรงไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้วยรัก โกรธ หรือหลง ด้วยแรงปรารถนาดี หรือแรงหมั่นไส้จากมูลเหตุใดๆ ก็ตาม



เอาเป็นว่าผมรับจะสืบความให้นะครับ อาจจะช้าสักหน่อย แต่หากว่าได้ความอย่างไรก็จะนำมาเรียนให้ทุกท่านทราบ


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 17 ส.ค. 06, 08:01
 ขอบพระคุณคุณ Up ครับที่กรุณามาขยายความให้กระจ่างขึ้น

เรื่องการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  เท่าที่ทราบมา ท่านผู้บริหารจุฬาฯ ในช่วงหลังมานี้ก็ได้เริ่มรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณมากขึ้น  หลายๆ ท่านมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมาก  ก็น่าชื่นใจครับที่พยายามผลักดันมาเกือบยี่สิบปีแล้วได้ผลขนาดนี้  และทำให้มีโอกาสได้ชื่นชมพระบารมีสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ที่ทรงฉลองพระองค์ครุย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

ส่วนเรื่องวันที่ ๑๑ พฤศจิกายนนั้น  อยากจะขอฝากให้ช่วยกันเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันมากกว่านี้ครับ  และหากจุฬาจะกำหนดให้เป็นวันสำคัญในปฏิทินก็จะอนุโมทนาด้วยครับ

ในประเด็นชื่อมหาวิทยาลัยนั้น  ผมเคยได้ยินมานานแล้ว  แต่ไม่ทราบใครเป็นผู้คิด  เรื่อองนี้ก็พยายามพูดที่หอประวัติมาหลายครั้งแล้ว  แต่ผมไม่มีบุญได้เข้าไปเป็นนิสิตจุฬาฯ  จึงอาจจะเป็นเพียงเสียงนกเสียงกาที่ไม่มีน้ำหนักอะไร

สำหรับนักเรียนวชิราวุธ ๓ คนที่เป็นศิษย์คุณ Up นั้น รบกวนช่วยขัดเกลาแทนครูบาอาจารย์ของวชิราวุธวิทยาลัยด้วยครับ  ถึงวันนี้ผมก็ค่อนข้างล้ากับคลื่นโลกาภิวัฒน์ในวชิราวุธวิทยาลัย  ที่ขาดความต่อเนื่องระหว่างรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่  จนวัฒนธรรมและขนบประเพณีต่างๆ ค่อยๆ เลือนหายไปเยอะแล้ว  ผมยังเคยคาดหวังไว้ว่า เมื่อจะรับครูเข้ามาสอนในวชิราวุธ  ผมจะส่งหนังสือ "พระบรมราโชวาท" ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖, ๗ และปัจจุบัน ให้อ่านก่อน  อ่านแล้วค่อยมาคุยกันว่า  ได้อะไรจากพระบรมราโชวาทนั้นบ้าง  ถ้าสามารถเข้าใจแนวพระบรมราโชบายที่พระราชทานไว้  แม้ผลการเรียนจะไม่ดีเด่น  ผมก็จะยินดีรับเข้าเป็นครูที่จะช่วยอบรมกุลบุตรให้สมดังพระบรมราชปณิธานมากกว่าผู้ที่เป็นเลิศทางวิชาการ  แต่ความคิดนี้อาจจะไม่เป็นที่สบอัทธยาศัยท่านผู้ใหญ่บางท่าน  ก็เลนมีเหตุให้ผมต้องไปสนองพระเดชพระคุณในหน้าที่อื่น  ซึ่งก็ได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณมากกว่าที่วชิราวุธวิทยาลัย


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 17 ส.ค. 06, 08:25
 ขอน้อมรับข้อปรารภของคุณ V_Mee ไว้ด้วยความยินดีครับ

ส่วนเรื่องนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ ซึ่งเป็นนิสิตจุฬาฯ ในบัดนี้ สามสี่คนนั้น ไม่ต้องห่วงเลยครับ เป็นเด็กที่ใช้การได้ดีมากทั้งสี่คน ผมเองก็โชคดีที่ได้น้องๆ เหล่านั้นมาติดสอยห้อยตามช่วยเหลืองานการต่างๆ อยู่เสมอ อย่างเมื่องานเฉลิมพระเกียรติ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในโอกาสที่วันประสูติครบ ๑๐๐ ปี ที่ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และงานฉลองพระชนมายุ ๘๐ พรรษา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ที่ผ่านมา ก็ได้นักเรียนเก่าวชิราวุธฯ ซึ่งเป็นนิสิตจุฬาฯ ในปัจจุบัน ๓-๔ คนนี้แหละครับ ช่วยเหลืออย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย

นอกจากนี้ยังมีนิสิตอีกจำนวนไม่น้อยทั้งหญิงทั้งชายทุกชั้นปี ได้มาช่วยกันจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติทั้งรัชกาลที่ ๖ และพระราชธิดา

หากจะพูดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมเห็นว่าขอเพียงแค่มีผู้คอยจุดประกาย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเท่านั้นแหละครับ ผมเชื่อว่านิสิตจุฬาฯ ทั้งหลายไม่รีรอที่จะร่วมกันฉลองพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างเต็มกำลัง


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Scopian Kung ที่ 17 ส.ค. 06, 11:56
 ขอขอบคุณ คุณ UP มากครับ ผมทราบข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และขอรับข้อพึงระวังของคุณ UP ไว้พิจารณาตัวเองด้วยครับผม และขอบพระคุณล่วงหน้า เรื่องการจะสืบหาความจริงเรื่องชื่อมหวิทยาลัยด้วยครับ

เรื่องวันที่ 11 พ.ย. ที่เวปหอประวัติก็มีเขียนไว้เช่นกันครับ ว่ามีความสำคัญยังไง

ผมมีเรื่องจะถามต่อ แต่ออาจจะดูนอกเหนือประเด็นของจุฬาฯ ไม่รู้ว่าจะผิดกฎหรือเปล่า ผมอยากทราบว่า "ใครคือผู้สถาปนามหาวิทยาลัยมหิดล" ครับ เพราะผมเด็กมหิดลที่ผมรู้จัก เกือบทั้งหมด ตอบ ว่า พระบรมมราชชนก เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ผม ก็ งง ๆ เพราะ พระบรมมราชชนก สวรรคต ไปก่อนตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เสียอีก มีใครพอจะทราบเรื่องราวมหาวิทยาลัยมหิดลไหมครับผม


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 17 ส.ค. 06, 16:59
 ผมมีโอกาสได้เรียนถามผู้อำนวยการหอประวัติจุฬาฯ ท่านก่อน ว่าคำว่า University of Prince Chulalongkorn นั้น มาจากไหน ท่านตอบว่าไม่ทราบเลย และไม่เคยได้ยินมาก่อน

ท่านกล่าวเสริมด้วยว่า

นาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย่อมหมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่านั้น จริงอยู่ แม้พระนาม "จุฬาลงกรณ์" จะเป็นพระนามทั้งสมัยเมื่อรัชกาลที่ ๕ เป็น Prince Chulalongkorn และทั้งเมื่อเป็น King Chulalongkorn แต่การที่รัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก็เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงไม่ได้เป็นอนุสรณ์ถึงสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์แต่เพียงเท่านั้นเป็นแน่

ดูแค่นาม โรงเรียนข้าราชการพลเรือน "ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งเป็นที่มาของมหาวิทยาลัยนั้น ก็น่าจะกระจ่างอยู่แล้ว ว่าชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นควรจะเป็น "ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" หรือ "ของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์" กันแน่

เช่นเดียวกันศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็ย่อมเป็นนามเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คงไม่มีใครนึกแปลกๆ ว่าเป็นนามที่เป็นเกียรติยศแด่ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ฯ ฉันใดก็ฉันนั้น

นี้คืออรรถาธิบายของผู้อำนวยการหอประวัติจุฬาฯ ท่านก่อนครับ


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 17 ส.ค. 06, 17:18
 ผมลองค้นหาที่มาของนาม University of Prince Chulalongkorn และการตีความหมายว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าเป็นมหาวิทยาลัยของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ดูแล้ว พบว่าปรากฏอยู่ในบทความเรื่อง “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ของ สวัสดิ์ จงกล แห่งหอประวัติจุฬาฯ ความว่า

“ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามของมหาวิทยาลัยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันหมายความว่ามหาวิทยาลัยของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ชื่อภาษาอังกฤษจึงเป็น Chulalongkorn University หรือ University of Prince Chulalongkorn”

ดูตามลิ้งก์ http://www.memocent.chula.ac.th/knowledge/kn05_02.html

ผมไม่ทราบว่าอาจารย์สวัสดิ์ จงกล ท่านมีหลักฐานอ้างอิงจากที่ใดหรือไม่ ถ้าเป็นการตีความโดยส่วนตัวท่านเอง ผมก็ออกจะอึดอัดใจอยู่

หากว่าคุณ V_Mee มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับท่าน ก็ฝากเรียนถามที่มาและขอคำอธิบายเป็นวิทยาทานด้วยเถิดครับ ถ้าเป็นไปได้ โปรดอธิบายตรรกะและเหตุผลตามความเข้าใจของพวกเรา ที่เห็นว่า Chulalongkorn University ควรหมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ ให้ท่านทราบด้วย เผื่อท่านจะรับแนวคิดของพวกเราไว้พิจารณา


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Scopian Kung ที่ 17 ส.ค. 06, 22:33
 ขอบคุณคุณ UP มากครับ ที่อุตส่าห์หาข้อมูลมาให้

ผมพยายามหาข้ออธิบายอยู่มานานมากเหมือนกัน ว่าทำไมในเวปหอประวัติถึงปรากฏชื่อ University of Prince Chulalongkorn  พยายามอยู่หลายครั้งที่จะนึกว่า เหตุใดผู้แต่งจึงใช้คำว่า Prince ตอนแรกพยายามยัดเยียดความคิดตนเองว่า อาจเป็นเพราะ รัชกาลที่ 5 ตรงตั้งพระทัยให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนขั้นอุดมศึกษาตั้งแต่ดำรงพระยศเป็น "เจ้าฟ้า" แต่นึกยังไงมันก็ไม่ใช่อยู่ดี จนหมดปัญญาที่จะนึกออกว่า Prince Chulalongkorn นั้นมาจากไหน ผมว่าต้องถาม อาจารย์สวัสดิ์ จงกล เท่านั้นแหละครับ ถึงจะรู้ว่าเหตุใดจึงตั้งชื่อภาษาอังกฤษว่า  University of Prince Chulalongkorn  

ที่จริงในเวปหอประวัติกับเวปจุฬาฯก็ยังมีอีกเรื่องที่งง เลยขอถามรวบยอดมาด้วยเลย คือ ชุดครุยของจุฬาฯ นั้น ตกลง รัชกาลที่ 6 หรือ รัชกาลที่ 7 เป็นผู้พระราชทานครับ

คือ ตามที่เข้าใจ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกเกิดเมื่อรัชกาลที่ 7 ดังนั้น ครุยก็น่าจะมาจากการพระราชทานของรัชกาลที่ 7(ตามที่หอประวัติได้เขียนไว้) แต่มาอ่านที่เวปชุกครุยของจุฬาฯ กลับกล่าวว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ใช้เสื้อครุยได้ " (http://www.chula.ac.th/chula/th/about/gown_th.html)
ก็เลยคิดว่า ครุยจุฬานั้นตกลงรัชกาลที่เท่าไหร่พระราชทานมาครับ

หรือรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานครุยของอาจารย์ แต่รัชกาลที่ 7 พระราชทานครุยบัณฑิต หรือครับ


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 18 ส.ค. 06, 22:23
 เรื่องเสื้อครุยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้  เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. ขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๕  ในระเบียบนั้นบอกไว้ว่า  เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการสอนถึงชั้นปริญญาแล้ว  ก็จะให้มีเสื้อครุยเป็นเครื่องแสดงวิทยฐานะเหมือนนานาอารยประเทศ

แต่เมื่อเสด็จฯ วางศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ เมื่อวันที่  ๓  มกราคม  ๒๔๕๘ (เนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา) ก็ได้มีการถวายเข็มบัณฑิตแด่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ คุรุบัณฑิต  เนติบัณฑิต และรัฏฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต  

เนื่องจากในเวลานั้นหลักสูตรของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ยังไม่ถึงขั้นปริญญา  นักเรียนที่เรียนจบหลักสูตรส่วนใหญ่จะจบแค่ประโยค ๒ ชั้น ๓ (เทียบเท่ามัธยมปลาย)  แล้วเข้าเรียนตามโรงเรียนต่างๆ คือ โรงเรียนฝึกหัดิจารย์  โรงเรียนกฎหมาย  หรือโรงเรียนปกครอง (โรงเรียนมหาดเล็กเดิม)  จบหลักสูตรของแต่ละโรงเรียนแล้ว  ไปทำงานไม่น้อยกว่า ๓ ปี  และมีคำรับรองจากผู้บังคับบัญชาแล้ว  กลับมาลงทะเบียนรับเข็มบัณฑิต  เพื่อเป็นหลักฐานว่าสำเร็จเป็นบัณฑิตโดยสมบูรณ์แล้ว  เข็มนี้เป็นรูปพระเกี้ยวโลหะสีเงิน  ตอนล่างใต้หมอนรองพระเกี้ยวเป็นแถบเงิน  สลักอักษรย่อ ค = คุรุบัณฑิต  น. = เนติบัณฑิต  ร. = รัฏฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต  ใช้ประดีบที่อกเสื้อเบื้องซ้าย  

ในวันที่วางศิลาพระฤกษ์นั้นได้พระราชทานเข็มบัณฑิตแก่นักเรียนเก่าโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นหลายท่าน เช่น คุรุบัณฑิต - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)  พระยาศรีวรวงศ์ (ม.ร.ว.จิตร  สุทัศน์)  เนติบัณฑิต - พระยาพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย  วณิคกุล)  รัฏฐประศาสศาสตร์บัณฑิต - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น

แต่ก่อนหน้านั้น  ราว พ.ศ. ๒๔๕๕  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเสื้อครุยให้แก่ผู้พิพากษาที่เป็นเนติบัณฑิตไว้ใช้สวมเวลาขึ้นนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี  แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสว่า ขอคิดดูก่อน  

ต่อมาวันที่  ๒๗  ธันวาคม  ๒๔๕๖ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์อาจารย์  เป็นเสื้อครุยผ้าโปร่งสีขาว  มีสำรดพื้นกำมะหยี่สีน้ำเงินแก่ (กรมท่า) ติดที่ต้นแขน  ปลายแขน  และข้างลำตัวต่อจากต้นแขนด้านในลงจรดขอบสำรดที่ชายเสื้อด้านล่าง  บนสำรดติดแถบเงิน  จากนั้นได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเสื้ออาจารย์แก่ กรรมการและอาจารย์ (ครูที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ)  และเสื้อครู แก่ครูของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  เสื้ออาจารย์และเสื้อครูจะมีสำรดเหมือนฉลองพระองค์อาจารย์  แต่ไม่มีแถบที่ข้างลำตัว  และแถบเงินบนเสื้ออาจารย์กับเสื้อครูก็มีลักษณะต่างกัน  ต่อมาได้พระราชทานเสื้ออาจารย์และเสื้อครูแก่ กรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ  อาจารย์และครูโรงเรียนราชวิทยาลัย  มหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และพรานหลวงด้วย  ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังพระราชทานเสื้ออาจารย์และครูนี้แก่ กรรมการ และครูวชิราวุธวิทยาลัยที่สนองพระเดชพระคุณมาครบตามกำหนดเวลา

การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเสื้ออาจารย์และครูของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นนั้น  เข้าใจว่า เป็นการทรงทดลองเพื่อจะทรงมีพระราชวินิจฉัยแบบเสื้อครุยเนติบัณฑิตต่อไป  เพราะเสื้อครุยโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นเสื้อครุยชนิดเดียวที่ไม่มีพระราชบัญญัติหรือกฎหมายใดๆ รองรับ  และผู้ที่มีสิทธิใช้เสื้อครุยนี้ต้องได้รับพระราชทานสถานเดียว  

มีเรื่องแปลกแต่จริงครั้งหนึ่ง  สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย  ในวันนั้นได้พระราชทานเสื้อครุยแก่กรรมการและอาจารย์ของโรงเรียน  เผอิญวันนั้นผมได้เฝ้ารับเสด็จอยู่ด้วย  เห็นแล้วให้ขัดตามากๆ  เลยต้องวิ่งประสานให้โรงเรียนทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์อาจารย์ให้ทรง แล้วก็ได้ชมพระบารมีขณะทรงครุยทุกคราวที่เสด็จมาโรงเรียน  เป็นบุญตาจริงๆ

ฉลองพระองค์อาจารย์ที่วชิราวุธวิทยาลัยถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  ต่อมาได้ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันในคราวแรกที่เสด็จฯ เหยียบวชิราวุธวิทยาลัย  เป็นเครื่องหมายว่า ทรงรับเป็นพระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย  แต่ที่ถวายพระบรมวงศ์พระองค์อื่นเป็นแบบเดียวกับที่พระราชทานกรรมการและอาจารย์


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 18 ส.ค. 06, 22:42
 ภายหลังจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสื้อครุยโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว  รุ่งขึ้นปี พ.ศ. ๒๔๕๗  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสื้อครุยเนติบัณฑิต  เป็นเสื้อครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาว  รูปแบบเหมือนเสื้อครุยโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  แต่เปลี่ยนสำรดเป็นพื้นขาว (สีประจำกระทรวงยุติธรรม)  ติดแถบทอง (เพราะเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ  ต่างจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่เป็นข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักที่เครื่องเงินแทนเครื่องทอง) และได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเสื้อครุย พ.ศ. ๒๔๕๗ ขึ้น  มีสาระสำคัญให้ผู้พิพากษาที่เป็นเนติบัณฑิตสวมเสื้อครุยนี้เวลาขึ้นนั่งบัลังก์  ทั้งยังอนุญาตให้สวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตนี้แทนเสื้อครุยเสนามาตย์ (เสื้อครุยเครื่องยศที่ปักดิ้น) ในเวลาแต่งเต็มยศในพระราชพิธีได้ด้วย

เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยเนติบัณฑิตเป็นองค์ปฐมเมื่อวันที่  ๕  มกราคม  พ.ศ. ๒๔๕๗  ในคราวเสด็จฯ เหยียบศาลสนามสถิตยุติธรรม  ฉลองพระองค์ครุยนั้นมีลักษณะเหมือนฉลองพระองค์อาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  แต่เปลี่ยนสำรดเป็นแพรขาว  และประดับดิ้นทองถักแทนแถบทอง (ท่านที่สนใจสามารถไปดูองค์จำลองที่เหมือนของจริงที่หอวชิราวุธานุสรณ์)  และในเวลาเดียวกันนั้นได้โปรดพระราชทานเสื้อครุยเนติบัณฑิตแก่ผู้ที่สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต  รวมทั้งเนติบัณกิตติมศักดิ์ตลอดมาจนสิ้นรัชกาล (การพระราชทานในโอกาสต่อมา  ผู้รับพระราชทานรับจากพานที่หน้าพระบรมรูป)  เสื้อครุยนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  

ต่อมาในรัชกาลที่ ๗  เมื่อเสด็จฯ เหยียบศาลสถิตยุติธรรมครั้งแรกและทรงรับเชิญเป็นเนติบัณฑิตกิตติมศักดิ์  เนติบัณฑิตสภาฯ ก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์เนติบัณฑิตที่เหมือนกับเนติบัณฑิตทั่วไปให้ทรง  (ที่เนติบัณฑิตสภาฯ ไม่ได้ถวายฉลองพระองค์เนติบัณฑิตเหมือนของรัชกาลที่ ๖  อาจจะเป็นเพราะไม่ทราบพระราชดำริเดิม  หรือไม่ได้ทรงรับเป็นพระบรมราชูปถัมภกเนติบัณฑิตสภาฯ หรือเปล่า  ข้อนี้ผมไม่แน่ใจ)  

เสื้อครุยเนติบัณฑิตนี้คงใช้มาจนถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง  รัฐบาลภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองท่านว่า  เสื้อครุยติดแถบทองแบบนี้ราคาแพง  ทั้งเป็นผ้าโปร่งที่ขาดง่าย  เวลาขาดแล้วดูไม่งาม ไม่สมเกียรติผู้พิพากษา  จึงได้เปลี่ยนไปใช้ครุยดำแบบฝรั่งเศส  โดยย่อสำรดของเดิมมาเป็นแถบพาดบ่า  และได้ใช้กันสืบมาถึงทุกวันนี้

ว่ากันถึงเรื่องเสื้อครุยแล้ว  ขออนุญาตออกนอกเรื่องสักนิด  คือว่า  เมื่อครั้งที่เนติบัณฑิตยสภาฯ กราบทูลเชิญสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นเนติบัณฑิตกิตติมศักดิ์  ในครั้งนั้นเนติบัณฑิตยสภาฯ ได้ถวายย่ามลายแถลเสื้อครุยเนติบัณฑิตให้ทรงแทนเสื้อครุย  ย่ามนี้เป็นอย่างไรผมพยายามสืบหามานานแล้ว  ยังไม่พบเลยครับ

สมัยนี้มหาวิทยาลัยทั้งหลายชอบถวายปริญญาพระภิกษุแล้วก็เอาเสื้อครุยไปถวายท่าน  ในความเห็นผมที่พยายามเสนอผ่านทางจุฬาฯ มาหลายปีแล้ว  น่าจะถวายเป็นย่ามลายแถบสำรดเสื้อครุยหรือพัดปริญญา  สุดแท้แต่จะออกแบบกันนะครับ  จะเป็นเกียรติยศและเป็นประโยชน์สำหรับพระภิกษุที่ได้รับปริญญานั้นๆ มากกว่า


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 18 ส.ค. 06, 23:13
 เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีบัณฑิตรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒  ในสมัยนั้น มหาอำมาตย์ตรี พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ  อิศรเสนา) เป็นผู้บัญชาการ (สมัยนี้เรียกว่า อธิการบดี)  

เนื่องจากท่านเจ้าคุณผู้บัญชาการฯ เคยเป็นอาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  และเป็นหนึ่งในชุดแรกที่ได้รับพระราชทานเสื้ออาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖  

เมื่จุฬาฯ จะสร้างเสื้อครุยสำหรับบัณฑิตขึ้น  จึงได้มีการออกแบบเสื้อครุยจุฬาฯ ขึ้น  โดยอาศัยพื้นฐานจากเสื้อครุยโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  แต่เปลี่ยนพื้นสำรดสีน้ำเงินแก่ (สีประจำพระองค์รัชกาลที่ ๖) มาเป็นสีเขียว ประจำพระองค์รัชกาลที่ ๗  และเปลี่ยนแถบเงินที่เป็นเครื่องหมายของมหาดเล็ก  มาเป็นแถบทองตามสังกัดของจุฬาฯ ซึ่งใช้เครื่องทองมาแต่รัชกาลที่ ๖

เมื่อจุฬาฯ ส่งแบบเสื้อครุยที่ทำขึ้นหลายแบบ  แต่อยู่บนพื้นฐานดังกล่าวข้างต้นนั้นขึ้นไปขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสให้ส่งแบบเสื้อครุยนี้ไปให้อภิรัฐมนตรีสภาพิจารณา  หลังจากที่อภิรัฐมนตรีพิจารณาแล้วได้แก้ไขรูปแบบของสำรดเป็นอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน  และได้กำหนดชั้นของเสื้อครุยไว้ ๔ ชั้น คือ
๑) บัณฑิตพิเศษ  พื้นสำรดสีเหลือง  ติดแถบทองขนาดใหญ่ตรงกลาง  และมีแถบทองที่ริมขอบทั้งสองข้าง  
๒) ดุษฎีบัณฑิต  พื้นสำรดสีแดง  ติดแถบทองเหมือนของเนติบัณฑิต  และมีแถบหมายสีคณะที่จบปริญญาพาดกลาง
๓) มหาบัณฑิต  พื้นสำรดสีดำ  แถบทองเหมือนดุษฎีบัณฑิต  แต่แถบสีหมายคณะย่อมกว่า
๔) บัณฑิต  พื้นสำรดสีดำ  แถบทองเหมือนดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต  แต่แถบสีหมายคณะย่อมกว่า

เนื่องจากต้องรออภิรัฐมนตรีสภาพิจารณาเรื่องเสื้อครุย  เวชชบัณฑิตรุ่นแรกจึงต้องรอมารับปริญญาพร้อมกับรุ่นสองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓  

ในการเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรเวชชศาสตร์บัณฑิตครั้งแรกนั้น  จุฬาฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์บัณฑิตพิเศษแทนการถวายเข็มบัณฑิตพิเศษที่เคยถวายรัชกาลที่ ๖  เป็นสัญญาณว่า ทรงเป็นองค์พระบรมราชูปถัมภกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในวันนั้นได้พระราชทานปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตแก่ ดร.เอลลิส คณบดีคณะแพทยศาสตร์เป็นคนแรก  และวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต แก่ พระยาภะรตราชา เป็นคนที่สอง  แล้วจึงพระราชทานปริญญาแก่บัณฑิต

วันหนึ่งเมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว  ผมแวะไปที่หอประวัติจุฬาฯ  ก็นั่งคุยกันถึงเรื่องเสื้อครุย  ได้ตุยกันถึงเรื่องที่วชิราวุธวิทยาลัยถวายฉลองพระองค์อาจารย์แด่ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  แต่จุฬาฯ ยังไม่ได้ถวายฉลองพระองค์บัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเลย  เท่าที่จำได้วันนั้นได้มีการคุยกันถึงการที่จุฬาฯ มักจะอ้างอยู่เสมอว่า เป็นมหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์เพียงแห่งเดียว  แต่ก็ยังไม่เคยถวายพระเกียรติยศในฐานะองค์พระบรมราชูปถัมภก  หลังจากที่คุยกันวันนั้นแล้ว  ต่อมาในการเสด็จฯ พระราชทานปริญญาในปีถัดมา  จุฬาฯ ก็ได้ถวายฉลองพระองค์พระบรมราชูปถัมภก  และธรรมศาสตร์ก็ได้ถวายฉลองพระองค์ครุยพิเศษเหมือนกันแต่ผมจำไม่ได้ว่า ชื่ออะไร

ในวันที่คุยกันถึงเรื่องเสื้อครุยนั้น  ได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องสีของสำรดขึ้นมาคุยกันด้วย  ซึ่งหลังจากที่วิพากษ์กันอยู่นานก็ได้ข้อสรุปว่า

บัณฑิตพิเศษ  พื้นเหลืองนั้นหมายถึง พระบรมราชจักรีวงศ์หรือองค์พระบรมราชูปถัมภก  เพราะสีเหลืองทองนั้นเป็นสีของสายสะพายมหาจักรีบรมราชวงศ์  และธงมหาราช

ดุษฎีบัณฑิต  พื้นแดง  หมายถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  เพราะทรงใช้สีแดง  สีบานเย็น และสีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ตามแต่กรณี  แต่ปกติมักจะทรงใช้สีแดง  ดังเช่นสีเสื้อนายทหารกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ จ.ป.ร. ที่ทรงเป็นผู้บังคับการกรมด้วยพระองค์เอง  หรือแพรแถบรัตนาภรณ์ จ.ป.ร. ใช้สีแดง-ขาว  หรือแม้แต่ธงจุฑาธุชธิปไตยที่พระราชทานให้เป็นธงประจำกองทัพบกก็โปรดให้ใช้พื้นแดง

มหาบัณฑิตและบัณฑิต  พื้นดำ  หมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเสด็จพระราชสมภพในวันเสาร์  จึงทรงใช้สีดำและน้ำเงินแก่ (ม่วงคราม หรือ ขาบ) เป็นสีประจำพระองค์  ไม่โปรดสีม่วงเพราะเป็นสีแห่งความเศร้าตามคติฝรั่ง

ทั้งหมดนี้คือ เรื่องเสื้อครุยจุฬาฯ ที่ทราบมาครับ


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Scopian Kung ที่ 21 ส.ค. 06, 23:45
 ขอบคุณมาก ๆ ครับ  ได้ความรู้เพิ่มอีกเยอะเลย

แต่ในปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ เป็นมหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยถูกไหมครับ


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: [-Constantine-] ที่ 22 ส.ค. 06, 23:36
 ได้ความรู้มากๆกับกระทู้นี้


กระทู้: สงสัยเรื่อง ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: baezae ที่ 11 ต.ค. 07, 00:49
อ่านแล้วได้ความรู้มาประดับอีกเยอะเลยครับ แล้วทำให้รู้ว่า คุณ V Mee น่าจะเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันครับ (แต่ผมคงอ่อนประสบการณ์กว่าหลายปีนัก)