เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 27661 ทำงานกับช้าง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 17 มี.ค. 17, 19:04

ในการทำงานเดินสำรวจในพื้นที่ป่าเขาจริงๆนั้น การเห็นรอยช้างเป็นเรื่องปรกติ แต่จะเริ่มรู้สึกว่าจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษก็เมื่อได้พบรอยกลมรีเดี่ยวๆที่อยู่นอกกลุ่ม และก็จะต้องยกระดับการระวังให้มากขึ้นไปอีก หากพบว่ารอยนั้นๆแสดงถึงการเดินแบบฉวัดเฉวียนไปมา แล้วยิ่งแถมมีรอยถากของเปลือกต้นไม้ ฉีกขาด หรือต้นไม้เอียง  ไม่ผิดแน่ที่จะบอกว่ากำลังอยู่ในพื้นที่ของเจ้าสีดอจอมเกเรแน่ๆ

ในพื้นที่ดังกล่าวนี้ ยังมีสิ่งบอกเหตุอีกหลายๆอย่าง เข่น ร่องรอยการนอนของชาวบ้านพรานไพรที่เข้าไปนอนอยู่ในใจกลางกอไผ่ ระดับสูงของการขัดห้างและขนาดของต้นไม้ที่ใช้ขัดห้าง ฯลฯ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 17 มี.ค. 17, 19:40

เช่นเดียวกัน หากได้เห็นรอยเท้าลูกช้างก็ต้องเพิ่มความตื่นตัวเป็นพิเศษ นอกจากแม่มันจะดุเป็นพิเศษแล้ว  พี่ ป้า น้า อาของมันก็ยังช่วยอีกด้วย ไม่ใช่ตัวเดียวทีจะตะเพิดเราแน่ๆ ดีไม่ดีช่วยกันไล่เราทั้งโขลงเลย

เคยพบรอยของกลุ่มช้างแม่ลูกอ่อนที่ทำให้เคยรู้สึกเสียวสันหลังแทบตาย เป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นมีฝนตกประปราย    พอตั้งแคมป์นอนแบบผ้าเต็นท์สามผืนเสร็จ ก็ออกเดินสำรวจไปรอบๆ   อะฮื้อ พบรอยช้างห่างจากที่พักไปไม่ถึง 100 ม.เต็มไปหมด จะเก็บแคมป์หนีก็ไม่ไหวแล้ว ใกล้ค่ำเต็มที แถมยังไม่มีที่ๆเหมาะสมอีกด้วย  อีกประการหนึ่งก็กำลังหุงหาอาหารกันอยู่ วันนั้นได้ตัวแลนมาตัวหนึ่ง กำลังเผาให้หนังแตกเป็นเม็ดมะขามคั่ว ติดว่าจะแกงให้อร่อยๆ จากแกงเผ็ดก็เลยกลายเป็นแกงจืด  คืนนั้นนอนกอดปืนกันด้วยความระทึกอยู่ทั้งคืน  ตกรุ่งเช้าก็มีกลุ่มนกกะรางหัวหงอกหลายตัวส่งเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว กำลังสนุกกับการบินเข้าโจมตีเห็ดโคนที่กำลังบาน แรกๆที่ได้ยินเสียงนกดังลั่นก็นึกว่าพวกมันกำลังเตือนภัยให้เราว่าฝูงช้างกำลังมา เลิกลั่กอยู่พักหนึ่งก็จึงถึงบางอ้อว่านกมันมาเล่นหมวกเห็ดนั่นเอง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 18 มี.ค. 17, 19:00

นกกะรางหัวหงอกชอบที่จะบินลงมาจิกตีเห็ดป่าพวกที่เมื่อบานแล้วมีรูปทรงคล้ายหมวกกุยเล้ย ยังกับเป็นคู่รักคู่แค้นที่โกรธกันมาแบบฝังอยู่ในสายเลือด     ก็ให้บังเอิญอีกว่าเห็ดนั้นมักจะเป็นเห็ดโคนที่ขึ้นเป็นหมู่ แผ่อยู่เป็นกลุ่มค่อนข้างใหญ่   เราก็ใช้นกกะรางหัวหงอกนี้แหละเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีเห็ดโคนของอร่อยขึ้นอยู่ตรงจุดใหน  หากเป็นช่วงเวลาที่้หมาะสมก็ไม่เคยพลาดเลยสักครั้ง   ปริมาณนกที่บินลงมาจิกตีหรือเล่นกับเห็ดนั้น ก็ยังมีความสัมพันธ์กับปริมาณของเห็ดที่ขึ้นแผ่อยู่ ณ จุกนั้นอีกด้วย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 18 มี.ค. 17, 19:41

ไพล่ไปนึกถึงนกกะรางหัวขวาน  ชื่อกะรางขึ้นต้นเหมือนกัน แต่ลักษณะตัวและสีขนต่างกันลิบลับเลยทีเดียว  นกทั้งสองขนิดนี้พบได้ทั่วไปในพื้นที่ละเมาะและในป่าใหญ่ที่โปร่ง  ต่างกันตรงที่นกกะรางหัวขวานพบมากอยู่ตามชายป่าต่อกับที่ราบ มากกว่าที่จะพบในพื้นที่ส่วนในของผืนป่าใหญ่   

ในประสพการณ์ของผม แหล่งที่พบนกกะรางหัวขวานมากที่สุด ก็คือพื้นที่รอยต่อชายป่ากับพื้นที่เกษตรทางกรรมของ ต.ลาดหญ้า (จ.กาญจนบุรี) บนเส้นทางไปเขื่อนเจ้าเณร  ก็ตั้งแต่สะพานข้ามลำตะเพินก่อนถึงเขาชนไก่ (ค่ายฝึก รด.) ไปจนถึงบริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเขื่อนท่าทุ่งนา   ในพื้นที่นี้ก็ยังเป็นแหล่งที่อยู่ที่สมบูรณ์ของตัวแย้อีกด้วย    ก็คงจะพอเดาได้แล้วนะครับว่า แม้จะดูเป็นพื้นที่ๆแห้ง แล้ง อากาศร้อน ผืนดินเป็นหินเป็นทรายหยาบก็ตาม แต่ก็เป็นพื้นที่ๆที่มีความลงตัวทางนิเวศน์วิทยา มีการผสมผสานของการดำรงชีพ ความเป็นอยู่ และกิจกรรมของทั้งสัตว์และของมนุษย์ในแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันที่ดูจะมีความสมดุลย์ลงตัวอย่างดี
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 19 มี.ค. 17, 18:25

การที่เราจะได้พบกับช้างป่านั้นมันก็ไม่ง่ายนัก พื้นที่ๆเรามีโอกาสพบช้างป่าได้ไม่ยากนัก ที่สำคัญๆก็ได้แก่ บริเวณดงไม้ไผ่ชนิดที่เราเรียกว่าไผ่ผากหรือไม้ผาก    ในห้วยที่มีน้ำไหล โดยเฉพาะบริเวณที่มีหาดทรายแคบๆแผ่อยู่ทั้งสองฝั่ง   ในป่าดิบแล้งในช่วงเวลาที่ผืนป่ายังคงมีความชื้นสูงและในฤดูที่มีฝนตก   และในพื้นที่ชายป่าใหญ่ที่ชาวบ้านเข้าไปทำไร่ทำสวน   เป็นพื้นที่ๆสัมพันธ์กับเรื่องของอาหารทั้งนั้น

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 19 มี.ค. 17, 19:55

ดูๆคล้ายกับว่าพบในป่าที่ต่างกัน แต่ในพื้นที่จริงก็คืออยู่ในผืนป่าเดียวกัน แต่จะมีโอกาสพบในช่วงเวลาที่ไม่เหมือนกัน   ช้างเป็นสัตว์ที่กินพืชได้หลายอย่าง มีพืชที่โปรด กินคละชนิดกันในแต่ละมื้อแต่ละวัน ต้องลงน้ำ เล่นดินเล่นฝุ่น ต้องกินดินโป่ง 

ชาวบ้านที่เดินทางไปใหนมาใหนในป่าจะใช้เส้นทางที่ช้างเดิน (ด่าน) ซึ่งก็มีทั้งแบบที่เราเรียกว่าเดินจนเตียนและแบบเดินบ้างเป็นครั้งคราว  จุดหมายปลายทางของเส้นทางเหล่านี้ ปลายหนึ่งมักจะจบลงที่โป่งที่มีซับน้ำ ส่วนอีกปลายหนึ่งเท่าที่เคยเห็นและพอจะรู้ก็คือในพื้นที่ๆเป็นแหล่งอาหาร  และก็แน่นอนว่าด่านช้างเหล่านี้จะต้องตัดผ่านห้วยต่างๆ ลัดข้ามไปข้ามมา   ที่ประสบพบมา ด่านช้างเหล่านี้เกือบจะไม่พบในพื้นที่ๆมีความลาดชันสูง เช่น ใกล้ส่วนยอดเขา หรือในบริเวณใกล้ขุนห้วยที่มีผนังห้วยค่อนข้างชัน   ภาพรวมง่ายๆก็คือเราจะพบช้างในพื้นที่ๆเป็นพื้นที่รอนคลื่นได้มากกว่าในพื้นที่ส่วนสูงที่ใกล้ยอดเขา       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 20 มี.ค. 17, 18:29

ด่านช้างที่อยู่ในพื้นที่ๆเป็นป่าแพะนั้นไม่ค่อยจะได้พบเห็น  แน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็เพราะมันเป็นป่าโปร่งและมีผืนดินแห้งแล้ง ร่องรอยจึงอาจจะเห็นได้ยาก  และอีกส่วนหนึ่ง ดูเหมือนว่าช้างจะนิยมเดินในพื้นที่ๆมีร่มไม้มากกว่าจะเดินในที่ๆมีแดดเปรี้ยงทั้งๆที่พวกมันจะเดินไปใหนมาใหนกันในเวลากลางคืนและในช่วงเวลาเช้าก่อนที่แดดจะแผดแรงกล้าก็ตาม

ด่านช้างที่เราไม่ค่อยจะนึกถึงว่ามันเป็นด่านช้างและมักไพล่ไปคิดว่าเป็นทางที่ชาวบ้านใช้เดินกันก็คือ ทางเดินตามริมฝั่งห้วย โดยเฉพาะในห้วยที่มีน้ำไหลไม่ตลอดทั้งปี (intermitten stream)    ทางด่านที่เห็นเลาะตามริมห้วยเหล่านี้ เป็นทางสัญจรร่วมของสัตว์หลากหลายชนิด  ดูยากครับว่าสัตว์อะไรเป็นผู้แรกทำขึ้นมา  แต่เรารู้ได้ว่าด่านนั้นด่านนี้มีช้างเข้ามาร่วมใช้ด้วยหรือไม่ และเป็นการใช้เป็นครั้งคราวหรือเป็นการใช้เป็นประจำ               
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 20 มี.ค. 17, 19:08

ข้อสังเกตแรกสุดก็คือ กองขี้ช้าง (ขออภัยที่ไม่ใช้คำว่า มูลช้าง)   

ในพื้นที่ริมห้วยนี้ มีแต่กรวดแต่ทราย (ผืนดินแน่น เหยียบไม่จมโคลน) มีน้ำป่าไหลหลากเป็นครั้งคราว มีพืชต้นสูงระดับประมาณเอวขึ้นอยู่มากมาย มีต้นไม้ไม่สูงใหญ่แต่มีใบหนาแน่น   เมื่ออาหารก็มี น้ำก็มี อากาศก็ดี ก็จึงเป็นสถานที่แห่งความสุขของช้าง   กินไป อึไป อะไรจะมีความสุขไปได้มากกว่านั้น 

กองอึ ก็มีแบบที่เป็นของเก่าและที่เป็นของใหม่   ของเก่าข้ามปีนั้นไม่ควรจะได้พบเห็นแล้ว เพราะจะถูกน้ำป่าที่เอ่อท่วมขึ้นมาไหลพัดพาไปหมดแล้ว แต่ถ้าพบก็แสดงว่าห้วยนี้มีน้ำน้อย  ซึ่งในมุมของผมก็คือ ไม่ควรจะเดินสำรวจแบบค้างแรม เพราะจะไม่มีน้ำกินน้ำใช้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 20 มี.ค. 17, 19:37

เดินในห้วยที่มีองค์ประกอบดังกล่าว ก็ควรจะต้องมีความระมัดระวังให้มาก

ผมเคยจ๊ะเอ๋กับช้างที่โผล่หัวออกมาจากพุ่มไม้ริมห้วย ในระยะใกล้กันประมาณ 3 ม. ในพื้นที่ของ จ.อุตรดิตถ์ (ตีนดอยของม่อนพญาพ่อ ในเขตของ บ.ผาจุก และ บ.ผาเลือด)   สามคนที่เดินมาด้วยกันรวมทั้งช้างด้วยเกิดอาการนะจังงัง ก้าวไม่ออก วิ่งไม่เป็น ใจหายแว๊บ ขนาดมีปืนลูกซองแฝดก็ยังมีสภาพเหมือนดังท่อนไม้กำอยู่ในมือ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 21 มี.ค. 17, 19:48

อาจจะมีข้อสงสัยว่า เดินไปตามด่านช้างเรื่อยๆจะมีโอกาสได้พบสุสานช้างหรือไม่ 

ก็คงจะเป็นเพียงสถานที่ๆแต่งขึ้นมาในนวนิยายประเภทล่าขุมทรัพย์ในป่าใหญ่      ผมเดินทำงานในพื้นที่ป่าเขามาประมาณ 20+ ปี เคยเห็นหัวกะโหลกช้างในป่าอยู่เพียงครั้งเดียว เห็นอยู่ในพื้นที่ลึกเข้าไปตามห้วยบีคลี่ซึ่งเป็นลำห้วยหลักของต้นแม่น้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี

สำหรับทางด่านต่างๆนั้น ยากที่จะบอกว่าเริ่มต้นจากที่ใหน เคยเห็นแต่ว่ามันมีลักษณะตั้งแต่พอจะเห็นเป็นทาง มีการมาบรรจบและมีการแยกออกไปจากกับอีกเส้นทาง มีพื้นที่ๆมีปริมาณทางด่านค่อนข้างมาก (หนาแน่น) และก็มีมีพื้นที่ๆมีทางด่านหลักอยู่เพียงเส้นเดียวเดี่ยวๆ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 21 มี.ค. 17, 20:35

ทางด่านเส้นเดียวเดี่ยวๆที่เห็นได้ชัดเจนนี้ พอจะรู้แน่ๆว่าปลายทางด้านหนึ่งจบลงที่บริเวณที่เป็นโป่งใหญ่  ซึ่งด่านลักษณะนี้เองที่เราจะเห็นพาดข้ามห้วยไปมา แถมยังมีขั้นบันใดที่ผนังห้วยที่ช้างทำไว้อีกด้วย (รอยเหยียบขึ้นลงห้วย)   ด่านแบบนี้เราเดินได้สบาย เกือบจะไม่มีสิ่งใดมาทำให้ต้องสะดุด เรียกว่าตั้งเต็นท์พักแรมได้  แต่ก็มีกฎอยู่ว่า ห้ามพักแรมหรือนอนคาด่านเป็นอันขาด   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 22 มี.ค. 17, 18:33

กล่าวถึง โป่ง 

โป่งเป็นของคู่กับช้าง  ในสารคดีเขาว่าช้างเป็นผู้บุกเบิกทำให้เกิดเป็นโป่ง ก็น่าจะเป็นไปดั่งนั้น (แต่ก็อาจจะไม่แน่เสมอไป)   โป่งใหญ่ (โป่งขนาดใหญ่) ที่เคยเห็นมานั้น มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ แบบเป็นแอ่งกระทะในที่ราบในพื้นที่ป่าเข่า และแบบอยู่ที่ผนังห้วยด้านหนึ่งในห้วยตรงบริเวณที่มีหุบห้วยกว้าง

โป่งแบบที่เป็นแอ่งกระทะนั้น ที่ก้นแอ่งจะมีน้ำซับหรือมีผืนดินชื้นๆ จะเห็นรอยเท้าช้างและสัตว์อื่นๆเต็มไปหมด   ส่วนแบบอยู่ในห้วยนั้น จะมีแอ่งน้ำขังในห้วยอยู่ใกล้ๆ อาจจะมีช้างมาร่วมกินหรือไม่ก็ได้ เป็นโป่งที่มักจะเป็นของกลุ่มสัตว์เฉพาะบางกลุ่ม 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 22 มี.ค. 17, 18:49

ก็เคยเห็นโป่งเล็กๆอยู่ข้างผนังห้วย พื้นที่ค่อนข้างจะรก  เดาเอาว่าอาจจะเป็นลักษณะเริ่มต้นที่จะพัฒนาไปเป็นโป่งใหญ่ในภายหลังก็ได้  รอยสัตว์ที่มากินเป็นพวกสัตว์รอยเท้าเล็ก ซึ่งเขาก็คงจะมีความสุขกันพอสมควรเพราะใกล้จุดนั้นมีผลไม้ตกอยู่เกลื่อนกลาด   ไดเห็นดังนี้ โป่งต่างๆก็จึงอาจจะไม่ได้เกิดจากช้างเป็นผู้สร้างก็ได้ใช่ใหมครับ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 22 มี.ค. 17, 20:36

โป่ง ที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า salt lick นั้น   หากจะมองในทางวิชาการสำหรับสิ่งที่สัตว์กัดหรือเลียกินเข้าไป  มันมิใช่ salt หรือเกลือเค็มๆที่เราใช้ในการปรุงอาหาร  แต่มันหมายถึงสารประกอบทางเคมีที่เป็นกลางที่เกิดจากปฎิกริยาทางเคมีระหว่างสิ่งที่มีสภาพเป็นกรดกับสิ่งที่มีสภาพเป็นด่าง

salt รสเค็มๆที่เราใช้ในการปรุงอาหารนั้น คือ โซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride_NaCl)  ซึ่งถ้าหากผลิตจากเกลือหิน (rock salt) มันก็จะไม่มีธาตุไอโอดีน (Iodine) ก็จึงมีการเติมเข้าไป   ก็มีสินค้าบริโภคจำนวนมากในปัจจุบันที่บอกว่าลดปริมาณเกลือ ซึ่งโดยความหมายๆถึงการลดปริมาณเกลือโซเดียมคลอไรด์ แล้วใช้เกลือโปแตสเซียมคลอไรด์ (Potassium Chloride_KCl) ทดแทน ซึ่งเกลือนี้จะออกรสขมนิดๆ 

เราใช้โปแตสเซียมคลอไรด์ที่เกิดในธรรมชาติเป็นแร่ที่มีชื่อเรียกว่า Sylvite มาทำเป็นแม่ปุ๋ยโปแตสที่ใช้กันในปุ๋ยสำหรับพวกพืชสวนประเภทให้ดอกให้ผล
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 23 มี.ค. 17, 18:50

จะขอเสียเวลาขยายความเรื่องโป่งหน่อยนึง เผื่อว่าอาจจะเป็นประโยชน์ในทางวิชาการบ้าง

โป่ง แบ่งออกตามชาวบ้านพรานไพร ก็พอจะมีหลักๆอยู่ 3 ชนิด คือ โป่งที่มีแอ่งน้ำหรือดินชื้นๆอยู่ในบริเวณ ที่เรียกกันว่า โป่งน้ำซับ   โป่งที่ไม่มีน้ำอยู่ในบริเวณ ที่เรียกกันว่าโป่งดิน  และโป่งที่อยู่ตามผนังหรือตลิ่งของแม่น้ำหรือลำห้วย ที่เรียกกันว่า โป่งข้างห้วย หรือโป่งในห้วย ซึ่งคิดว่าได้ผันกลายเป็นชื่อของสถานที่ในปัจจุบันที่มีขื่อลงท้ายด้วยคำว่าโป่ง เช่น ท่าโป่ง ห้วยโป่ง  ซึ่งชื่อของสถานที่ดังที่ยกตัวอย่างมานี้มีซ้ำๆกันอยู่ในแทบจะทุกจังหวัด   โป่งอีกลักษณะหนึ่งที่มี (คิดว่ามีอยู่น้อยมาก) ก็คือ โป่งน้ำ  โดยพื้นๆอาจจะเห็นว่าโป่งน้ำก็เป็นเพียงแหล่งน้ำที่สัตว์ลงมากิน  แต่ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจในทางวิชาการอยู่ไม่น้อย
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.039 วินาที กับ 18 คำสั่ง