เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Hotacunus ที่ 23 ก.ค. 06, 04:40



กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 23 ก.ค. 06, 04:40
 หลังจากที่พบว่า ทางราชบัณฑิตยสถาน กำหนดให้เปลี่ยนการเขียนจาก "ภูฐาน" เป็น "ภูฏาน" โดยอ้างอิงจากการเขียนด้วยตัวเทวนาครีของอินเดีย ผมก็อึ้งไปเล็กน้อยว่า อ๊ะ ที่พูดๆ มาว่า ภูฐาน ไม่ถูกหรือนี่ ก็ไม่เป็นไรต้องใช้ของถูกต้อง แล้วก็เลยทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะลองหัดถอดอักษรเทวนาครีเป็นอักษรไทยดู ก็เลยเริ่มจากพวกชื่อประเทศ และเมืองในอินเดียนั่นแหละครับ ก็พบว่าถ้าถอดคำฮินดี มาเป็นรูปอักษรไทย ก็จะมีรูปคำแปลกๆ ดี เช่น

Thailand เราถอดเป็น ไทยแลนด์ แต่ฮินดีใช้ "ไถแลนฑ์"

แต่ผมสงสัยว่า เมื่อเปลี่ยน ภูฐาน เป็น ภูฏาน แล้วทำไมไม่เปลี่ยนชื่อเมืองหลวงด้วย

เมืองหลวงของภูฏานคือ กรุงทิมพู (Thimphu) แต่ถ้าจะถอดตามตัวเทวนาครีแล้วต้องเป็น "ถิมฺผู" ครับ

ทิมพู vs ถิมผู

มีตัวอย่างเมืองของอินเดีย เช่น

เมือง Pondicherry ราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้เขียน "พอนดิเชอร์รี" ถ้าเป็นรูปเทวนาครีแล้วจะต้องเป็น "ปอณฺฑิเจรี"

พอนดิเชอร์รี vs ปอณฑิเจรี

Andaman และ Nicobar ราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้เขียน "อันดามัน" และ "นิโคบาร์" แต่รูปเทวนาครีเป็น "อํทมาน" และ "นิโกพาร"

อันดามัน-นิโคบาร์ vs อันทมาน-นิโกพาร์

Sikkim ราชบัณฑิตฯ ให้เขียน "สิกขิม" แต่รูปเทวนาครีคือ "สิกฺกิม"

"สิกขิม" vs "สิกกิม"

เมืองหลวงของแคว้นสิกขิม คือ Gangtok ราชบัณฑิตฯ ให้เขียน "กังต๊อก" แต่รูปเทวนาครีเป็น "คํคโฏก"

กังต๊อก vs คังค์โฏก

และยังมีอื่นๆ อีกเช่น

ราชบัณฑิตฯ.......เทวนาครี-ฮินดี
ทมิฬนาฑู............ตมิลนาฑู
ปัญจาบ...............ปัญชาพ
มณีปุระ................มณิปุระ
อัสสัม...................อสัม
กรณาฏกะ............กรรนาฏก
โอริสสา................อุฑิห์สา

ที่เล่าให้ฟังก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนตามทั้งหมดนะครับ ก็เล่าสู่กันฟังสนุกๆ เท่านั้น อิอิ

มาดูชื่อประเทศอื่นๆ กันบ้างดีกว่าครับ

ประเทศใน "ยูโรป" ครับ
โกรเอศิยา
เฑนมาร์ก
พุลคาริยา
ชรมนี
อิฏลี
ปุร์ตคาล

ประเทศใน "เอศิยา" ครับ

ชาปาน
อุตรี โกริยา
ทักษิณี โกริยา
ติพพัต (อันนี้ไม่ใช่ประเทศ เป็นเขตปกครองตนเอง)
มังโคลิยา
กัมโพฑิยา
ปากิสตาน
พังคลาเทศ
อุซเพกิสตาน
ตุร์กเมนิสตาน
ชาร์ฑัน

ทวีป "อเมริกา"
กนาฑา
กฺวยูพา
โกสฏา รีกา
ฑอมินิกา
เอล เสลวฑอร์
สังยุตก์ ราชย์ อเมริกา
อรรเชนฏีนา
พราซีล
โกลัมพิยา
จิลี

เชิญทายกันได้ตามอัธยาศัยครับ (ปล. ถ้าถอดผิดโปรดชี้แนะครับ เพราะยังเป็นมือใหม่)

ปล. อินเดียเรียกตัวเองว่า "คณราชย์ ภารัต" (คณราชฺย ภารต) ผมเข้าใจว่า "ราชย์" เพี้ยนมาจากคำสันสกฤตว่า "ราษฺฏฺร" (บาลี : รฏฺฐ ไทยเราใช้ "รัฐ") คณราชย์ ก็น่าจะเป็น คณะ + รัฐ คือ รัฐหลายๆ รัฐรวมกันเป็นคณะ ซึ่งตามความฮินดีตรงกับคำว่า Republic ไทยเราใช้ "สาธารณรัฐ"


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 23 ก.ค. 06, 11:43
 ผมชอบ สังยุตก์ ราชย์ อเมริกา ครับ ไทยใช้ สห +รัฐ+ อเมริกา

ส่วน คณราชย์ภารต ก็เก๋

ผมสงสัยว่าฮินดีเรียกเมืองจีนว่ายังไง น่าจะมีชื่อเรียกเพราะรู้จักกันมาแต่โบราณแล้ว เหมือนจะจำได้ว่า ภาษาบาลีจะในชินกาลมาลีปกรณ์หรือเล่มไหนก็ไม่รู้ เรียกเมืองจีนว่า จีนะปเทส (ถ้าผิดขออภัยครับ)

อันนั้นคือชื่อเมืองจีนโบราณ ถ้าเป็นจีนเดี๋ยวนี้ ซึ่งเป็น "สาธารณรัฐประชาชน" จีน จะถอดเป็นฮินดียังไงยังนึกไม่ออก

ชื่อพรรคการเมืองอินเดีย ภารติยา ชนตา ดูเหมือนแปลแล้วมีอะไรประชาชนๆ อยู่ด้วย ไม่รู้ว่าชื่อเมืองจีนจะเป็น ราชย์ ชนตา จีนะ หรืออะไรทำนองนั้นรึเปล่า


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 23 ก.ค. 06, 12:40
 แต่ที่รู้แน่คือ ตำแหน่ง แอมบาสซาเดอร์ อีนี่ภาษาฮินดีเรียก "ราชทูต" น่ะนาย ตรงกับภาษาไทยเป๊ะเลยน่ะ ก็ภาษาไทยได้อินเดียเป็นครูนี่ครับ


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 24 ก.ค. 06, 11:46
 ขอถามว่า สมัยชื่อประเทศไทยแลนด์ยังเป็น "สยาม" รูปเทวนาครีจะเขียนว่าอย่างไรครับ

อุตรี โกริยา ซึ่งอยู่ในทวิปเอศิยา นั้น ผมคิดว่าน่าจะแปลว่า "ประเทศเกาหลีที่อุตริ" ได้ คือเกาหลีมีสองประเทศ เกาหลีที่ปกติ แปลว่าไม่บ้า และเกาหลีที่อุตริ แปลว่าเป็นบ้า...

เข้าใจว่าอุตรี ในที่นี้ แปลว่า "เหนือ" เหมือนคำว่าอุดร "อุตรี โกริยา" จึงแปลว่าเกาหลีเหนือ (เห็นมั้ย ผมบอกแล้วว่าเป็นโกริยาที่ "อุตริ")

แต่ประเทศที่ไม่ปกติประเทศนี้เขา (อุตริ) เรียกตัวเขาเองว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าฮินดีจะเรียกชื่อยาวๆ นี้ว่ายังไงครับ  

ปล. สถานทูตเกาหลีเหนือคงไม่เข้ามาอ่านในนี้หรอกนะ? ถ้าเข้ามาก็โปรดทราบด้วย ว่าพฤติกรรมประหลาดๆ ของท่าน เช่นลักพาคนเขาไปทั่วไม่เว้นแม้แต่นักการทูตของท่านเอง ไม่เว้นแม้แต่สาวไทย ลุกขึ้นมาพัฒนาอาวุธร้ายแรงทั้งๆ ที่ประชาชนยังไม่มีข้าวกิน และอะไรต่างๆ นานาเหล่านี้ ในสายตาชาวโลก เข้าข่ายบ้าครับ


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 24 ก.ค. 06, 11:50
 ทักษิณี โกริยา เดาง่าย คือประเทศเกาหลีของคุณทักษิณ - เอ๊ย - เกาหลีใต้ครับ


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 24 ก.ค. 06, 17:03
 เข้ามาขำวิธีการแปลของคุณนิลกังขาค่ะ แปลน่ารักจัง
อุตรี โกริยา แปลว่า เกาหลีที่อุตริ อิอิ


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: ชายองค์ ที่ 25 ก.ค. 06, 23:09
 อ่านแล้วงงครับ กับวิธีวิทยาครับ...
ระบบการเขียน การอ่านออกเสียงและการปริวรรต...
ชื่อเมือง เขียนตาม เขา แต่การปริวรรตภาษาไทย ราชบัณฑิตย์จะมีกฎกำหนดไว้

พอดีผมไม่มีต้นฉบับ ที่เขียนด้วยอักษรเทวนาครี...

ระบบที่ว่ามาชื่อเมือง อาจจะมี การด้วยอักษรโรมัน บ้าง หรือเขียนตามฝรั่งเรียกว่าบ้าง...ขึ้นอยู่กับเราจะเลือกแบบไหน ? บางเมืองออกเสียงตามรูปเดิมก็มี
สำหรับบางสระเสียงยาวกลับเขียนตัวเดียว เช่น สระอา กลับเขียน a แทนที่จะเป็น aa หรือ a:

ผมว่า น่าสนใจมากครับ...
ในแง่ที่เราต้องศึกษาระดับลึกกว่านี้
เราคงต้องใช้เอกสารโบราณ การเรียกชื่อเมืองต่างๆ ทั้งเราเอง และ ชาติอื่นประกอบ

เราคงต้องดูพลวัต ปริบท ที่ส่งผลต่อการเรียกชื่อ เปลี่ยนชื่อ ด้วยครับ...

ชื่อเมือง Brazil คงเป็น พลาซีล ไม่ได้หรอกครับ เพราะคนละกฎกันกับการปริวรรตจากสันสกฤตเป็นไทย...

คำว่า Thailand คงต้องเป็น  ไถลนฺทฺ มากกว่าครับ


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: ชายองค์ ที่ 25 ก.ค. 06, 23:26
 ปล. ลืมไปครับ
คำว่า ราชย์ ไม่ได้เพี้ยนมาจากคำว่า ราษฺฏฺร นะครับ เขียนตามกฎทางภาษาก็ไม่มีกฎนี้...

ผมว่า คำว่า ราชฺย มาจากคำว่า ราชฺย จากพจนานุกรมของ
Arthur Anthony Macdonell (A Practical Sanskrit Dictionary) ให้ความหมายว่า
a.royal; n. dominion, sovereignty,kingdom,realm

ซึ่งจากความหมายแปลว่า ราชอาณาจักรก็ได้ แปลว่าดินแดนก็ได้ครับ
คำว่า คณ หมายถึง กลุ่มจำนวนมาก ชุมชนก็ได้ สมาคมก็ได้ครับ

ดังนั้น คณราชฺย ภารตฺ หมายถึง สหาณาจักร แห่ง(อาณาจักรแห่ง)พระภรต

คุณนิลกังขาครับ คำว่า สยาม ต้องเขียนว่า สฺยามฺ ครับ


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 26 ก.ค. 06, 05:28
 ตอบคุณชายองค์ครับ

๑. เกี่ยวกับ คณราชฺย
ขอบคุณนะครับที่ช่วยหาคำแปลให้ เห็นด้วยครับ ที่ "ราชฺย" ไม่ได้มาจาก "ราษฺฏฺร"  แต่อย่างไรก็ตาม ผมไปค้นเพิ่มมาได้ว่า ตามความหมายปัจจุบัน เมื่อหมายถึง อาณาจักร หรือ รัฐ (ที่น่าจะมีนัยว่าปกครองด้วยกษัตริย์ ?) ภาษาฮินดีจะใช้ "ราช" แต่สันสกฤตจะใช้ "ราชฺย" ดังนั้น ความหมายที่คุณชายองค์ นำมาจะเป็นตามภาษาสันกฤตโบราณครับ

ราช (ฮินดี) [สันสกฤต : ราชฺย], s.m. Royalty, sovereignty, reign; kingdom, realm, state, dominion, empire, monarchy, government; administration or exercise of government, administration, government, rule, sway, sovereignty

จาก Platts, John T. (John Thompson). A dictionary of Urdu, classical Hindi, and English. London: W. H. Allen & Co., 1884.

นอกจากนี้ ยังไปหามาได้อีกว่า ตามความหมายปัจจุบันแล้ว ภาษาฮินดี "ราชฺย" แปลว่า "State" ครับ ซึ่งหมายถึง "รัฐ" ส่วนคำว่า "รัฐบาล" ภาษาฮินดีก็ใช้ "ราชฺยปาล"
จาก Freelang Dictionary Hindi - English / www.freelang.net

ดังนั้น ถ้าแปลตามภาษาฮินดีนะครับ "คณราชฺย" ก็น่าจะตรงกับ "คณรัฐ" มากกว่าครับ หรือ เอาแบบตรงคำไทยเลยก็ "สาธารณรัฐ" ซึ่งความหมายก็น่าจะเหมือนกันคือ รัฐของหมู่ชน อีกประการหนึ่ง ที่ผมเห็นว่า ราชฺย ไม่ตรงกับอาณาจักร ก็เพราะปัจจุบัน อินเดียไม่ใช่ระบบกษัตริย์ครับ เป็นสาธารณรัฐ ดังนั้น ถ้าชื่อประเทศมีความหมายถึง อาณาจักร (Kingdom) มันก็คงประหลาดอยู่ไม่น้อยครับ นอกจากนั้น ผมยังพบว่า สาธารณรัฐโปรตุเกส ทางฮินดี ก็เรียกว่า "ปุรฺตคาลฺ คณราชฺย" หรือ "เจกฺ คณราชฺย" คือ สาธารณรัฐเช็ก

อันที่จริงคำว่า "สห" ของคุณชายองค์ ก็น่าสนใจครับ แต่ว่า อย่างในกรณีของ "สหรัฐอเมริกา" ทางฮินดีใช้คำว่า "สังยุตก์" ให้ตรงกับ "สห" แล้ว


๒. เกี่ยวกับ การปริวรรต
ที่ว่าอ่านแล้ว งง คือยังไงหรือครับ หมายถึง งง ในวิธีการปริวรรตของผม ?
ถ้า เช่นนั้นจะอธิบายให้ครับ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนครับว่า ผม ปริวรรต เทียบตัวเทวนาครีของภาษาฮินดี (ไม่ใช่ภาษาสันกฤต) กับตัวอักษรไทยครับ เรื่องการออกเสียงไม่เกี่ยวกัน เพราะเป็นที่ทราบกันว่า ตัว "พ ของเทวนาครี" จะออกเสียง "บ" ครับ ดังนั้น เวลาถอด ก็ต้องถอดเป็น "พ" และมีอีกหลายตัวครับที่เป็นเช่นนี้ เช่น ตัว D ของภาษาอังกฤษ ทางฮินดีมีใช้ ๒ ตัว "ท ของเทวนาครี" และ "ฑ ของเทวนาครี"

ตัวอย่างที่คุณชายองค์สงสัยครับ
"ไถลนฺทฺ" ผมคิดว่าคุณชายองค์ ถอดตามคำว่า Thailand ตรงๆ ตามภาษาอังกฤษเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทางฮินดีไม่ได้ถอดตามรูปอักษรโรมันแบบเป๊ะๆ แต่ถอดตามเสียงอ่านด้วย

ไท - แลน - ด ในฮินดี ถอด Th เป็น "ถ" ครับ ส่วน แลน ก็ใช้รูปสระ "แอ" เพราะว่า "a" ในชื่อนี้ ออกเสียง "แอ" ไม่ใช่สระ "อะ" จึงเป็น "ลัน" ไม่ได้ อีกประการหนึ่งตัว D จะถอดเป็น "ฑ" ครับ ดังนั้นจึงถอดเป็นรูปอักษรไทยแบบเป๊ะๆ ได้ว่า

ถารฺอิแลํฑ รูป อารฺ + อิ = ไอ และแปลง "ลํ" เป็น "ลนฺ" จึงออกมาเป็นรูป ไถแลนฺฑ์ ครับ

ถามผมว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น อันนี้ไม่ทราบครับ แต่เท่าที่ปริวรรตชื่อประเทศอื่นๆ ผมสังเกตว่า ตัว D ของภาษาอังกฤษจะถอดเป็น "ฑ" ครับ

ส่วน Brazil ที่คุณชายองค์กล่าวว่า เป็นคนละกฏกับการปริวรรต สันสกฤต-ไทย นั้น เป็นคนละกฏกันแน่นอนครับ และ ยืนยันว่าผมปริวรรตไม่ผิด เพราะผมถอดมาจากตัวเทวนาครีตาม "ภาษาฮินดี" ไม่ใช่สันสกฤตครับ ที่ต่างกันเพราะ รูปอักษรเทวนาครีของสันสกฤต "มีน้อยกว่า" รูปอักษรเทวนาครีของฮินดีครับ

ตัว Z ไม่มีรูปอักษรเฉพาะสำหรับภาษาสันกฤตโบราณครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการที่ผมถอดตัวเทวนาครีเป็นตัว "ซ" ดังนั้น ผู้ที่คุ้นเคยกับการถอดรูปอักษรโรมันของภาษาสันสกฤต หรือ บาลี เป็น อักษรไทย อาจเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ ที่จะถอดเป็น "ซ"

แต่ปัจจุบันนี้อะไรก็เป็นไปได้ครับ อิอิ เพราะอย่าลืมว่า นี่เป็น "ภาษาฮินดี" ครับ เมื่อเจอปัญหาว่า มีตัว Z จะทำอย่างไร เค้าก็คิดวิธีแก้โดยการเติม "จุด" ที่อักษร "ช ของเทวนาครี" ครับ ดังนั้น เมื่อเทียบกับหมวดอักษรไทย ก็จะพบว่า "ชอ ช้างวิ่งหนี, ซอ โซ่ล่ามที" มี ตัว "ซ" อยู่พอดี ดังนั้น จึงถูกต้องแล้วครับที่เป็นตัว "ซ"

"พฺลาซีลฺ" เขียนแบบนี้ แต่ฮินดีเค้าอ่าน "บราซีล" ครับ ยกตัวอย่างคำที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยคือ "รัฐพิหาร" อันนี้เป็นแนวเทียบได้เป็นอย่างดีครับ ภาษาอังกฤษเขียน "Bihar" แต่เราไม่ถอดเป็น "บิหาร" แต่ถอดเป็น "พิหาร"

นอกจากนี้ยังมีอีก ๒ ถึง ๓ ตัว ครับ ที่ใช้การเติมจุด กับอักษรเสียงใหม่ๆ ที่ไม่มีรูปอักษรในภาษาสันกฤตโบราณ ตอนแรกที่ผมปริวรรต ก็งง เหมือนกัน แต่อาศัยเทียบกับอักษรโรมันก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นครับ อย่างเช่น Q ฮินดีใช้ตัว "ก เติมจุด" (ตรงกับ กฺว), F ฮินดีใช้ ผ เติมจุด (ตรงกับ ฝ - ฟ) อาจมีอีก แต่ผมยังไม่เจอครับ


ส่วนการกำหนดชื่อประเทศและเมืองของราชบัณฑิตฯ นั้น ส่วนใหญ่จะอิงกับการออกเสียงของภาษาอังกฤษครับ ยกเว้น ประเทศที่เราเรียกกันมานานแล้ว เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น

แต่ก็มียกเว้นเมืองในอินเดีย และประเทศที่อยู่ใกล้เคียงครับ คือ คำไหนที่เป็นรากมาจากสันสกฤต ทางราชบัณฑิตฯ ก็จะถอดตามรูปอักษรเลย โดยไม่อิงเสียง (อย่างเช่น พิหาร)

ก็ไม่ได้หมายความว่า จะให้เปลี่ยนตามแขกนะครับ แต่ต้องการนำเสนอมุมมองของภาษาฮินดีครับ ซึ่งผมก็เกิดมุมมองที่ว่า ถ้าภาษาไทย ใช้ตัวเทวนาครี หรือ ภาษาฮินดีใช้ตัวไทย เราคงจะเรียนภาษาระหว่างกันได้เร็วขึ้นครับ (หรือ งง กันมากขึ้น อิอิ) ซึ่งก็คงจะคล้ายๆ กับที่หลายประเทศในยุโรปใช้ตัวโรมัน ซึ่งถึงแม้จะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ดูศัพท์แล้วก็พอๆ จะเดาๆ กันได้ หรือ ทำให้นึกถึงความสัมพันธ์เกี่ยวกับรากศัพท์กันได้ง่ายขึ้น และทำให้เรียนภาษาของกันและกันได้เร็วขึ้นครับ

๓. ชื่อประเทศต่างๆ ที่เขียนด้วยตัวเทวนาครี

 http://hi.wikipedia.org/wiki/%E0%A4%B6%E0%A5%8D%E0%A4%B0%E0%A5%87%E0%A4%A3%E0%A5%80:%E0%A4%A6%E0%A5%87%E0%A4%B6

------------------------

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ :)


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 26 ก.ค. 06, 06:21
 ตอบคุณนิลกังขาครับ



๑. จีน และ สาธารณรัฐประชาชนจีน



ฮินดีเรียกจีนว่า จีน ครับ เข้าใจว่าเป็นชื่อที่เรียกกันมาแต่โบราณแล้ว เลยไม่เปลี่ยนแปลง เท่าที่ผมจำได้ จะมีกล่าวถึงอยู่ใน "มิลินทปัญหา" (ราว พุทธศตวรรษที่ ๗ - ๘) ครับ บทที่กล่าวถึงพ่อค้าแล่นเรือไปค้าขายตามเมืองท่าต่างๆ หนึ่งในนั้นมี จีนรฎฺฐ (จีนรัฐ) อยู่ด้วยครับ นอกนั้น ยังนึกไม่ออกครับ ใครนึกเพิ่มได้อีกบอกด้วยนะครับ



ส่วน คำฮินดีสำหรับคำว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีน" นั้น หาไม่เจอครับ อิอิ แต่ไปเจอแบบทับศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยถอดจากคำว่า People's Republic of China เป็น ปิปลฺซ ริปพฺลิก โอฝ ไจนา  



-----------------------------------------



๒. คำว่า สยาม



เทวนาครีตามฮินดี ใช้ว่า สิยามฺ ครับ เข้าใจว่า แปลมาจากรูป Syam (Y เป็นเสียงเชื่อม -อิย-) ซึ่งถ้าจำไม่ผิด รูปคำแบบนี้ มีใช้ในแผนที่โบราณของฝรั่งด้วยครับ อันที่จริง ภาษาในยุโรปนั้น บางครับ ใช้เสียง y แทน i ครับ ดังนั้น จึงพบได้ทั้งรูป Siam และ Syam หรือ แม้กระทั้ง Sion (am = on)



คำสันสกฤตจะมีคำว่า ศฺยาม ซึ่งตรงกับบาลีว่า สาม จำได้ว่าหมายถึงสีเขียวคล้ำ บ้างก็แปลว่าสีดำ



แต่ถ้าถือว่า "สยาม" เป็นชื่อเฉพาะ ก็สามารถเขียนเป็น "สฺยามฺ" ก็ได้ครับ



จำไม่ได้แล้วว่าอ่านมาจากไหน คิดว่าเป็นหนังสือ "ราชอาณาจักรสยาม" ของ เดอ ลาลูแบร์ มั้งครับ เห็นว่า คนไทย (อยุธยา) ไม่เรียกประเทศตัวเองว่า "สยาม" แต่เรียกว่า "เมืองไทย" แล้วได้ฟังต่อมาว่า คำว่าสยามนี้ เป็นคำที่พวก "พะโค" เรียกคนไทย ฝรั่งจึงเรียกตาม เท็จจริงอย่างไรไม่ทราบได้



คำว่า "สยาม" ถูกนำมาใช้เป็นชื่อประเทศอย่างเป็นทางการก็เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ นี่เองครับ โดยพระองค์ทรงผูกคำบาลีขึ้นมาว่า "สยามินทร์" (สยาม + อินทร์ คือ ผู้เป็นใหญ่แห่งสยาม) และคำละตินว่า "Rex siamensis" (ถ้าจำไม่ผิดนะครับ) (ราชา + แห่งสยาม)



------------------------



๓. บางกอก (แถมครับ)



ไปเจอมาว่า ฮินดี เขียน "บางกอก" ว่า "เพนฺคโกกฺ" เข้าใจว่า ถอดจากคำภาษาอังกฤษแบบตรงๆ เลยจาก ba-n-g-ko-k อาจออกเสียงว่า "เบ็งค์โก๊ก" ตามสไตล์แขกๆ นะนายจ๋า อิอิ



อีนี่เรียกเมืองหลวงว่า "ราชธานี" ด้วยนะนายจ๋า



พระมหากษัตริย์ ใช้ "ราชา"

นายกรัฐมนตรี ใช้ "ประธาน มนตรี" (ปฺรธานฺ มนฺตฺรี)

บาท (สกุลเงิน) เขียน "พาฏฺ"


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 26 ก.ค. 06, 10:05
 ขอบคุณครับคุณ Hoฯ และคุณชายองค์

คำว่า "ประธานมนตรี" ซึ่งแปลว่าไพรม์มินิสเตอร์ (และหลังปฏิวัติ 2475 ใหม่ๆ ไทยเราเคยใช้ชื่อเรียกตำแหน่งนี้ว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร") นั้น ตรงกับภาษามาเลย์ ซึ่งเรียกนายกรัฐมนตรีว่า เปอร์ดาน่าเม็นตรี

เห็นท่านผู้รู้ทั้งสองถกเถียงกัน (โดยมีหลักวิชาทั้งคู่) ว่าด้วยคำว่า ราชย ผมผู้รู้น้อยเลยพลอยได้บันเทิงในความรู้ไปด้วย

ขอถามอีกสักคำเถอะน่า ฮินดีเรียกอังกฤษเจ้านายเก่าว่าอะไรครับ อังกฤษซาฮิบ - เอ๊ย หมายถึงชื่อประเทศน่ะครับ สหราชอาณาจักร United Kingdom น่ะครับ (ซึ่งไม่ใช่ United States สหรัฐ) ควรจะเรียกยังไง เห็นจะไม่ใช่สังยุกต์ราชย์แล้วละ ต้องเป็นสังยุกต์ + คำฮินดีอีกคำหนึ่ง ซึ่งแปลว่าราชอาณาจักร


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 26 ก.ค. 06, 10:07
 เพิ่งอ่าน คห. คุณโฮตาฯ โดยละเอียดอีกที
ผมเดาว่า สหราชอาณาจักร น่าจะเป็น สังยุกต์ ราช
ใช่เปล่า?


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 26 ก.ค. 06, 10:09
 เอาให้หมดทั้งตระกูล United เลย ถามต่อว่า สหประชาชาติ United Nations ฮินดีเรียกว่าสังยุกต์อะไรครับ?


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 26 ก.ค. 06, 10:16
 ภาษาขแมร์เรียก UN (หูผมฟังเป็น) ว่า สหประเจียเจียต ตรงกับสหประชาชาติของไทย ส่วนนายกรัฐมนตรีเรียก เนี่ยย็อกเรียฐมนเตรย ตรงกับเราอีก


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 26 ก.ค. 06, 10:27
 จะ"ภูฐาน" หรือ "ภูฏาน" ก็ตามแต่ ผมสงสัยว่าประเทศเขาเรียกตัวเองว่าอะไร

จริงๆแล้วเรายึดตามเสียงเขาไม่ดีกว่ารึ


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 26 ก.ค. 06, 10:35
 ออกจะเห็นด้วย
แต่ใครจะไปบอกราชบัณฑิตยฯ ล่ะครับ?

อีกประการหนึ่ง เมื่อได้เสียงมาแล้ว สมมติว่าเจ้าของประเทศออกเสียงเป็น ตาน ราชบัณฑิตยฯ ก็จะต้องกำหนดอีก ว่า ในภาษาไทยให้เขียนใช้ ต. ไหน เต่าหรือปฏัก ถ้าเขาออกเสียงเป็น ทาน หรือถาน ก็ต้องกำหนดอีกว่า ถ ไหน ถุงหรือฐาน  หรือว่า ท ไหน ทหาร หรือมณโฑ หรือเฒ่า ...


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: ชายองค์ ที่ 26 ก.ค. 06, 12:33
 ผมจำได้ว่า ภาษาฮินดี ที่เคยเรียนแบบห่างไกล ภาษาฮินดีนับเป็นภาษาปรากฤตของสันสกฤตครับ
ศัพท์ที่ว่า มันมีรากศัพท์มาจากคำว่า ราชฺย ไม่ใช่ มาจาก ราษฺฏร ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า รฏฺฐ ครับ ซึ่งสามารถอธิบายด้วยกฎทางภาษาศาสตร์

ผมพยายามค้นหาเอกสารชุดหนึ่ง แต่หาไม่เจอ ดังนั้น ที่ผมจะอภิปรายจึงอาจจะไม่ใช่ข้อสรุปที่ถูกต้องแท้จริง เป็นเพียงความทรงจำเท่านั้นครับ...

ที่ผมบอกว่า "งง" คือหลักการปริวรรต

เท่าที่จำได้ โดยทั่วไป เรามีหลักการปริวรรต หรือหลักที่ใช้อยู่สองระบบ ระบบแรกคือ ระบบ translilertation กับ transcription

ระบบ transliteration เป็นระบบการถ่ายถอดเสียงอักษรพื้นเมืองเป็นอักษรโรมัน หรืออักษรแบบอื่นๆ ซึ่งอยู่ในระบบที่สืบเนื่องมาจากอักษรอินเดียด้วยกัน ดังนั้นระบบนี้จึงไม่คำนึงถึงเสียงอ่าน(ที่ถูกต้องในปัจจุบัน) แต่ใช้การถ่ายถอดตัวต่อตัว...

ระบบ transcription เป็นระบบถ่ายถอดตามเสียง ซึ่งแล้วแต่การกำหนด เช่น การกำหนดการถ่ายถอดเสียงไทยเป็นอักษรภาษาอังกฤษ หรือ การถ่ายถอดชื่อบ้านนามเมืองต่างประเทศที่เขียนด้วยภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย

ประเด็นนี้ ผมมองว่า คุณโฮ ใช้ปะปนกัน ถึงได้รูป พลาซีล มาไงล่ะครับ...

ทั้งนี้เป็นเพราะว่า คำว่า บราซิล เราใช้ระบบหลัง...
แต่ถ้าอินเดียใช้ระบบของเขาในการปริวรรตเป็นอักษรเทวนาครี แล้วเราปริวรรตกลับเป็นไทย ผมว่า มันจะยุ่งไปอีกพิลึก ?

แต่หากทำการศึกษาเปรียบเทียบในแง่ ภาษาศาสตร์ ก็จะทำให้เข้าใจระบบของการใช้ได้มากขึ้นอีกทีเดียว...

ประเด็นคำว่า ภูฏาน เดิม เราออกเสียงกันว่า พู-ถาน (เท่าที่ผมจำได้) และเขียนว่า ภูฏาน มาในระยะหลัง อย่างไรก็ตามยังมีคนที่ออกเสียงว่า พู-ถาน อยู่ ไม่เป็น พู-ตาน ดังที่เจ้าของประเทศเขาออก แม้เราจะเปลี่ยนปรับให้ "เสียงใกล้เคียง" กับที่เขาออกเสียง แต่กระนั้นก็ไม่ตรงกับเสียงที่เขาอยู่ดี ทั้งนี้เพราะระบบเสียงสระและพยัญชนะ ไม่ตรงกัน เสียง ฏ เป็นเสียงที่เกิดแต่เพดานแข็ง แต่เสียง ต หรือ ถ เป็นเสียงที่ปุ่มเหงือก...

เรื่องการออกเสียงที่ไม่ใช่เสียงในภาษาตน กับการเขียน ผมคิดว่า มีการปรับและแก้ในหลายๆภาษาครับ อย่างภาษาไทย ยืมคำว่า milk แล้วเขียนเป็น มิลค์ คนทั่วไปมักออกเสียงว่า มิ้ว แต่คนแก่บางคน อ่านว่า มิ้น (อย่างแม่ผม)

หลายคำในภาษาไทย เดิม เราเขียนตามเสียงที่เราได้ยินและเขียนให้ตรงกับภาษาไทยมากที่สุด ภายหลังเราปรับแก้ก็มีเช่น

ฝาศุภเรศ ซึ่งก็คือ ฟอสฟอรัส
กัดฟันมัน - government

อ่า อีกคำที่น่าขำคือ นาย อองรี มูโอต์ ถ้าคนไทยออกก็จะเป็น นายเฮนรี่ โมอุต...(พอดีจำตัวเขียนภาษาปะกิดมะได้ครับ ขอโทษที)
หรือชื่อ Said มักจะอ่านว่า เศษ ที่จริงต้องเป็น ซา อิด
ชื่อ Steward มักจะออกเสียงว่า สตีวาท แต่จริงต้องออกเสียงว่า สะตวด

ผมลองตามเวปไปแล้วครับ เราต้องใช้คำว่า ภูฏาน ตามรูปอักษรเทวนาครี ครับ และต้องออกเสียงเป็น พู-ตาน ด้วย...

แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า เราออกเสียงว่า พู-ถาน และเขียนว่า ภูฐาน ตั้งแต่เมื่อใด โดยใคร ?

คำว่า คณราชฺย ผมตามดูแล้วครับ คำว่า ราชฺย ก็มีเค้ามาจากคำสันสกฤตโบราณ ตามที่ผมว่า เพราะแปลได้ว่า เป็นอาณาจักร หรือดินแดนเหมือนกัน ครับ...(ต้องขอโทษด้วย เรื่องความสับสนคำในภาษาไทยเรื่อง อาณาจักร สาธารณรัฐ เพราะผมไม่มี sense เรื่องนี้ครับ เวลาแปลงานมักจะผิดประจำ...)

ประเด็นที่ว่า คำเขมรออกเสียงว่า สะหะปรอเจียเจี้ยด ก็เขายืมไทยมานั่นล่ะครับ หลายคำมีการยืมไปใช้ เช่นคำว่า วัฒนธรรม นายกรัฐมาตรี อย่ากังขาเลย คุณนิลกังขา เพราะลาวก็ยืมเราเหมือนกัน เช่น วัฒนธรรม วรรณกรรม เป็นต้น

รูปคำว่า ไถแลนฑ์ ผมตามไปดูแล้วครับ ขอบคุณมาก
ผมเพิ่งรู้ว่า เอศิยา คือ เอเซีย นะนี่... เหอๆๆๆ ถ้าไม่อ่านก็ไม่รู้ครับ ขอบคุณอีกครั้ง...

คำนี้ทำให้ผมนึกว่า ในลาว ออกเป็น อาซี ใน เขมร ก็ออกว่า อาซี ตามฝรั่งเศส ไทย เราออกเอเซีย บ้าง เอเชีย บ้าง ก็มี...

ระบบการปริวรรต จากภาษาฮินดี เป็นอักษรไทย แล้วออกเสียงแบบไทย คงไม่เหมือนกับเสียงจากภาษาฮินดีหรอกครับ ใช่หรือไม่ แต่บันเทิงดีครับ ผมว่า น่าจะลอง ใส่วงเล็บถ่ายถอดเสียงไปด้วย ระบบจะดูสมบูรณ์มากขึ้นครับ (ขอเทียบเท่าที่จะใช้อักษรทำได้ครับ) เช่น
เช่น บังคลาเทศ /บัง-คะ-ลา-เทด,bang-kha-laa-thet/
พังคลาเทศ /บัง-กะ-ลา-เดช,bang-ga-laa-desh/
ผมว่าแทบไม่ต่างกันเลยในเสียงต้นคำ

พูดมายาวเหมือนผมพูดไม่รู้เรื่องเลยเนอะ...
ขอโทษด้วยครับ...
ขอบคุณครับ...


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 26 ก.ค. 06, 14:06
 เอาว่าขอขอบคุณก่อนแล้วกันนะครับ คุณสมาชิกใหม่ที่ชื่อคุณ "ชายองค์" ที่กรุณาบอกผมว่าเขมรเอาคำศัพท์ของเราไปบางคำ ตัวผมเอง ทราบมาก่อนนั้นนานแล้วครับ แต่ก็ขอบคุณแทนสมาชิกคนอื่นในนี้ที่ยังไม่ทราบ เจตนาผม ผมตั้งใจยกมาเล่าเท่านั้น คุณชายองค์อุตส่าห์มายืนยันด้วยอีกเสียงก็ขอบคุณ

แต่ที่คุณชายองค์จะมาบังคับไม่ให้ผม "กังขา" นั้น ขออภัยด้วย เห็นจะไม่ได้ครับ ตั้งแต่ตั้งเว็บวิชาการนี้มา ผมใช้ชื่อนี้มาตลอด เผอิญมันเป็นนามปากกาผมในนี้ครับ ไม่ว่าผมจะเขียนเล่าอะไรเฉยๆ หรือเขียนถาม หรือเขียนแซว ชื่อผมก็จะลงว่านิลกังขาตลอด เป็นมานานแล้วครับ


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 01 ส.ค. 06, 02:51
 โทษทีครับ อิอิ หายไปแว๊บหนึ่ง

ขอบคุณสำหรับความเห็นครับ คุณชายองค์

มาเพิ่มแก้คำผิดนิดครับ

รูปที่ถูกสำหรับ Thailand ในภาษาฮินดีคือ "ถาอีแลํฑ" (รฺอิ = อี) แต่รูปแปลงคงเดิมครับคือ ไถแลนฑ์

-------------------------------

ตอบคุณนิลกังขาครับ

อย่าเรียกว่าเถียงเลยครับ ฟังดูรุนแรง อิอิ เอาเป็นแลกเปลี่ยนความรู้กันดีกว่าครับ เพราะผมก็ได้รับความรู้ และข้อผิดพลาดของผมจากคุณชายองค์ เช่นกันครับ

เอาสหประชาชาติก่อนแล้วกันครับ อย่าตกใจนะครับ คุณนิลฯ อิอิ

๑. สหประชาชาติ

คำนี้แขกเค้าว่า สํยุตฺก ราษฺฏฺรฺ สํฆ

ถ้าถอดเป็นรูปคำไทย คือ "สังโยค รัฐ สงฆ์" กลายเป็น "รัฐสงฆ์" ไปเลย อิอิ

ผมเข้าใจว่า
สังยุตก์ = สห, การประกอบกัน, การอยู่ร่วมกัน, การผูกรัด ตรงกับ บาลี-สันกฤตว่า "สํโยค"
ราษฏฺร = รัฐ, ประเทศ (แขกอ่าน ราสะ-ตฺระ)
สํฆ = หมู่, กลุ่ม (ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า พระ อิอิ)

ก็จะได้คำว่า "สังโยครัฐสงฆ์" หรือ กลุ่มประเทศที่รวมตัวกัน

เก๋ไก๋ไปอีกแบบ

พูดถึงคำว่า "ราษฏร" มีแคว้นโบราณของอินเดียที่คนไทยมักอ่านผิด คืออ่านตามหนังสือเก่าๆ ครับ คือคำว่า "แคว้นคันธารราษฏร์" ที่ผิดก็เพราะว่า คำว่า "ราษฏร์" แปลว่า แคว้นอยู่แล้ว เมื่อกล่าวคำนำหน้าไว้ว่าเป็นแคว้นแล้ว ก็ไม่ต้องกล่าวซ้ำอีก (อาจเป็นกรณีเดียวกับ ชาวอเมริกา vs ชาวอเมริกัน)

สันสกฤตว่า คนฺธารราษฺฏฺร = แคว้นคันธาระ
บาลีว่า คนฺธารรฏฺฐ ตรงกับรูปศัพท์ไทยว่า "คันธาระรัฐ"

ยังสงสัยว่า ราษฎร (ราด-สะ-ดอน) ตามรูปศัพท์แล้ว หมายถึง ผู้ที่อาศัยอยู่ในรัฐ หรือเปล่าครับ ? เพราะสังเกตว่า ราษฏร (รัฐ) กับ ราษฎร (คน) แตกต่างกันแค่การแผลงตัว ฏ เป็น ฎ ผู้รู้ไขความด้วยนะครับ

---------------------------------------------------

๒. สหราชอาณาจักร

หาเจอมา ๔ แบบครับ

สํยุตฺก สามฺราชฺย

สํยุตฺก ราชศาฮี

ยุนาอิเทฑฺ กึคฺฑมฺ อันนี้ ทับศัพท์ครับ "ยุไนเทฑ กิงค์ฑัม"

เครฺฏ พฺริเฏนฺ ทับศัพท์เช่นกันครับ "เครฏ พริเฏน" (เขียนแบบนี้ที่โรงเรียน ครูตีตายเลย ๕๕๕)

สุดท้าย แบบเต็มๆ อย่างเป็นทางการครับ

เครฺฏ พฺริเฏนฺ เอารฺ อุตฺตรี อายรแลํฑ กี สํยุตฺก ราชศาฮี
เกรต บริเตน และ ไอร์แลนด์เหนือ แห่ง สหราชอาณาจักร

------------------------------------


กระทู้: "ภูฐาน" เปลี่ยนเป็น "ภูฏาน" เพราะแปลงตามแขก แล้วชื่อประเทศอื่นๆ ที่เขียนแบบแขกจะสะกด
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 01 ส.ค. 06, 03:25
 เรื่องภูฐาน - ภูฏาน เห็นด้วยกับคุณภูมิครับ ที่ควรจะหาให้ใกล้เคียงที่เค้าเรียกตัวเอง (แต่ทราบมาว่า เค้าเรียกประเทศตัวเองอีกชื่อหนึ่งครับ ว่า  Druk Yul (ดรุก อือ) แปลว่า "ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า")

ส่วนทำไมแต่เดิมเขียน "ภูฐาน" นั้น ผมสันนิษฐานว่า เราคงถอดตามเสียงอ่านของภาษาอังกฤษครับ พยางค์ TAN คงได้ยินเป็น "ถาน" ตามอย่างพวก ปากีสถาน อัฟกานิสถาน (พวก "สถาน" ทั้งหลาย) แต่เพื่อให้ต่างออกไปจึงสะกดด้วย "ฐ" เสียเลย จะได้ดูเป็นแขกๆ หน่อย แต่ใครเป็นคนเขียนแบบนี้คนแรกก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ คิดว่าคงมาจากตำราเรียนภูมิศาสตร์โลกรุ่นแรกๆ ที่ถอดชื่อประเทศต่างๆ จากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย (ตัวอย่างคำว่า ฝรั่งเศษ เห็นในหนังสือเก่าๆ ครับ ปัจจุบันใช้ ฝรั่งเศส)

----------------------------------------------

ต่อไปเป็นเรื่องคิดคนละมุมกับศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตฯ ครับ

คิดว่าทุกท่านคงรู้จักประเทศโมนาโกกันนะครับ ประเทศนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการ ในภาษาอังกฤษว่า Principality of Monaco ส่วนภาษาไทย ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติไว้ว่า ราชรัฐโมนาโก

ข้อที่ผมไม่เห็นด้วยก็คือ ตามรูปศัพท์แล้ว Principality คือ รัฐอิสระขนาดเล็กที่ปกครองโดยเจ้าชาย (Prince) ไม่มีตำแหน่งพระราชา

คำว่า เจ้าชาย ในภาษาไทยมีคำในทำนองเดียวกันคือ เจ้าฟ้า ราชกุมาร แต่ไม่ใช่ "ราช" แน่นอน ดังนั้นจะเป็น "ราชรัฐ" ไม่ได้

ก็สงสัยเหมือนกันครับว่า ทำไมราชบัณฑิตยสถาน จึงบัญญัติเป็น "ราชรัฐแห่งโมนาโก" แทนที่จะเป็น รัฐเจ้าฟ้าแห่งโมนาโก หรือ ราชกุมารรัฐแห่งโมนาโก

การใช้ราชรัฐ ทำให้คนที่ไม่เคยรับรู้เรื่องราวของประเทศนี้ อาจนึกไปได้ว่า ประเทศนี้ปกครองโดยพระราชา  

มาดูฮินดี กับครับ

โมแนโก   กี   ราชกุมารศาฮี
โมนาโก แห่ง ราชกุมารรัฐ (หรือ ราชกุมารรัฐแห่งโมนาโก)