เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 11, 20:59



กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 11, 20:59

เรื่องราว และ งานของ  ขุนสุนทรภาษิต (ถนอม  เกยานนท์)


อ่านจาก หนังสืออนุสรณ์  ๒๔๙๖  พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทยเขษม  ถนนเฟื่องนคร  พ.ศ. ๒๔๙๖

และ  พระราชินีวิกตอเรีย ใน หนังสือ นารีเรืองนาม 
หนังสืออนุสรณ์ กระทรวงมหาดไทยพิมพ์ช่วยในงานพระราชทานเพลิงศพ
คุณหญิงวิบูลลักสม์  ชุณหะวัณ   ๒๔๙๘
โรงพิมพ์มหาดไทย     กรมราชทัณฑ์     กระทรวงมหาดไทย






       เมื่อ ๑๒๕ ปีมาแล้ว  ในปี พ.ศ. ๒๔๒๙    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสจังหวัดสมุทรปราการ

ได้ประทับที่ศาลาว่าการตรงข้ามฟากพระสมุทรเจดีย์แล้ว  ได้ทรงทราบว่าในคลองปากน้ำ  ตำบลท้ายบ้าน  มีบ้านผู้คนมั่งคั่งอยู่หลายบ้าน

เพราะทำการประมง      จึงได้เสด็จลงเรือพระที่นั่งแล่นเข้าไปตามคลองปากน้ำ   จนได้เป็นพระราชวโรกาสทรงช่วยแต่งงานให้กับชาวบ้านริมคลองนี้

คือนายใช้ กับ นางเจิ่ง  ลวพันธุ์   ได้พระราชเงินกองทุนให้ ๘๐ บาทด้วย


       ถัดจากบ้านนายใช้ กับ นางเจิ่ง ลวพันธ์ไป ๔ - ๕ หลังก็ถึงบ้านชาวประมงครอบครัวหนึ่ง     บ้านอยู่ริมคลอง  ปลูกสะพานกว้าง

และปักไม้เสาไว้เรียงรายเพื่อตากอวนโป๊ะ       ที่หลังบ้านมีเล้าเป็ดกว้าง   เมื่อเรือหาปลากลับมาเป็ดจะร้องกันเซ็งแซ่   สิบปีให้หลังจากวันเสด็จพระราชดำเนิน

เด็กเล็กๆคนหนึ่งอายุ ๕ ขวบ  สวมเสื้อยืดลายแดง  ปราศจากกางเกง  สวมถุงเท้าสีมอเพราะอากาศเย็นเกะกะอยู่ในบริเวณนั้น



กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 11, 21:30


        เสียงอูดเขาควายถูกเป่าเสียงกระจายมาจากปากคลอง     เป็นเครื่องหมายบอกให้ชาวบ้านรู้ว่า  เช้านี้ชาวประมงจับได้ปลาทูมาแยะทีเดียว

ไม่ช้าเรือจับปลาก็ค่อย ๆ แจวมาตามลำคลอง   ที่สายระโยงเสาเรือติดธงเป็นทิว เขียว แดง เหลือง   

ที่หัวเรือจับปลาก็ประดับประดาด้วยแพรสีต่าง ๆ


       เรือจับปลามาจอดที่ท่าสะพานใหญ่   เพื่อนบ้านนับสิบพากันมาช่วยขนปลาทูขึ้นจากเรือเทลงบนสะพานใหญ่   แล้วช่วยกันไส้เหงือกปลาทู

โดยมิได้จ้างวานมา            ใครไส้เหงือกปลาทูได้มากน้อยเท่าไร  เอาเหงือก ไต ไปทำน้ำปลาหรือไตปลาได้   หรือจะขอตัวปลาทู

ไปบ้างก็ไม่ขัดข้อง          เจ้าของปลาทูเองก็เอาปลาทูที่ไส้แล้วไปดองทำปลาทูเค็ม


        เด็กที่เกะกะอยู่นั้นบั้นเองผูกลูกพริก    แสดงว่าเป็นเด็กชาย       ถึงแม้จะเกะกะขวางทางแต่ก็ไม่มีใครว่าอะไรเพราะเป็นลูกคนที่ ๖  สุดท้อง

พี่ชายสามคน โตแล้ว  ออกไปจับปลาในทะเลได้แล้ว           เด็กคนนี้มีรูปร่างล่ำสัน  แต่ก็ไม่มีแววว่าจะต้องไปจับปลาในทะเล    ขณะนี้

กำลังเรียน ก ข้อ ก กา จากครูพลอยอยู่บ้านใกล้กัน


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 11, 21:59



       ครอบครัวประมงบ้านนี้   แม่บ้านมีความสนใจในการฟังเรื่องประโลมโลกคำกลอนในยุคนั้นมาก

ได้สั่งหนังสือวัดเกาะเพราะหนักหนาจากกรุงเทพฯ แทบทุกเรื่อง        เมื่อเรือเล็กลำเลียงปลาทูสดมา

ขายกรุงเทพฯแล้ว   บุตรชายคนใหญ่ที่เป็นนายท้ายมักซื้อหนังสือคำกลอนไปฝากเสมอ         ในปีที่ท่านเจ้าของประวัติเขียน

เรื่องนี้  หนังสือคำกลอนเหล่านั้นยังมีอยู่นับร้อยเล่ม   พระอภัยมณี  ขุนช้างขุนแผน  อิเหนา  สังข์ทอง  จักรนารายณ์  พระสมุทร ฯลฯ

ก็ยังมีอยู่   สันปกหุ้มด้วยเศษผ้า(เป็นหนังสือรวมเล่มแน่นอน  คนที่อ่านเรื่องนี้ก็ยังมีอยู่บ้าง)


       ยามค่ำคืนตะเกียงลานจะถูกตามสว่างจ้าอยู่ที่ระเบียง    คนในบ้านทำงานเย็บอวน หรืออะไร  ก็นั่งฟังอ่านหนังสือคำกลอน

เด็กชายบุตรสุดท้องก็นอนกลิ้งเกลือกไปตามระเบียงด้วย   จะได้ฟังคำกลอนสนุกสนานประการใดไม่ทราบ    แต่ชื่อสินสมุทร  สุดสาคร

เจ้าเงาะ  สังข์ทอง ฯลฯ    เด็กชายนั้นจำได้ก่อนมาอยู่วัด


       เมื่อพี่ชายอุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดกลาง   น้องสุดท้องอายุ ๑๐ ขวบก็ตามมาด้วย   อยู่ในสำนักของพระครูสุนทรสมุทร(จ้อย  สุวณณโร)

เจ้าคณะและเจ้าอาวาสวัดกลาง(ขณะนั้นยังเป็นพระปลัด)   


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 00:03


       ถนอมอยู่วัดกลางและเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดกลาง(ต่อมาเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด)   เรียนอยู่ตั้งแต่เป็นศาลา

จนสร้างเป็นโรงเรียน   เรียนได้มาจนถึงมัธยมปีที่ ๕     ครูใหญ่และครูประจำชั้นมัธยม ๖  ที่ตอนนั้นเรียกว่าประโยคสอง

ในชั้นสูงสุดของโรงเรียนมีนักเรียน ๓ คน  คือ วงศ์  โน้ม และถนอม  ถึงคราวสอบไล่ โรงเรียนส่งมาสอบ ณ สนามหลวง กรุงเทพ ฯ

เราอ่อนคำณวนและภาษาอังกฤษ         นักเรียนทั้งสามนั้น  วงศ์ คือพระยาลัดพลีธรรมประคัล   โน้มคือ ร้อยตำรวจโท หลวงชิต ฯ

และถนอมคือ ขุนสุนทรภาษิต(ถนอม เกยานนท์)


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 04:09


       ในปี ๒๔๕๐   ถนอมชาวปากน้ำได้ขึ้นมาเล่าเรียนชั้นประโยค ๒ หรือมัธยม ๖ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ

ซึ่งเวลาครั้งนั้นเรียกว่าโรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ

       ถนอมมาอยู่กับภิกษุนวม  ธรรมครองอาสน์ที่วัดคณิกาผล   อยู่ใกล้กับบ้านหลวงธรรมาภิมณฑ์(ถึก  จิตรกถึก)

กวีเอกในรัชกาลที่ ๖  เกิดชอบพอนับถือท่านกวีเอกมาก         ท่านเคยมาสนทนาด้วยภิกษุนวลในเวลาบ่ายและค่ำบ่อยๆ

เมื่อถูกอัธยาศรัยกันมากขึ้น  ท่านกวีเอกมักอ่านฉันท์ทำนองเสนาะบทต่างๆ ให้ฟัง


       บางทีท่านกวีเอกว่าแหล่เทศน์ให้ฟัง  เช่น

                    ตั้งเกณฑ์กองต้น                          เริ่มกลรามเกียรติ์

ทำศึกทศเศียร                                                องค์นเรียนนารายณ์

สรรรูปอสุเรศ                                                 แก้วเกษเบญจกาย

หลานราพณ์เหลือร้าย                                        แปลงกายปลอมกล

สวยดุจสีดา                                                   โสภาเสาวภณ

เหมือนทั่วมณฑล                                             ขุมขนคอคาง

กรแก้มกรรณเกษ                                            ขนงเนตรเนื้อนาง

(เซ็นเซ่อร์!.... )                                             เหมือนอย่างมารยา



บางทีท่านร้องเพลงพื้นเมือง  เช่น เพลงโคราช

         @  ในบาลีโบราณ     พระมาลัยท่านเล่า        ยมพาลนั่งเหงา
ขุดงิ้วกินหงุ่ย             ไม่มีใครไปตก         นรกเป็นขุย-รา


       ถนอมพอใจบทประพันธ์ที่ไพเราะนี้บ้าง     แต่ยังไม่ได้นึกจะศึกษาไว้  เพราะตั้งหน้าตั้งตาจะศึกษาให้สำเร็จชั้นมัธยม ๖

พระภิกษุนวลพระอาจารย์ได้เตือนสติว่า  "หนอม  เรามาเล่าเรียน   จะกินอยู่อย่างไรก็ช่างเถอะ   กินวิชาไว้ให้มากก็แล้วกัน"


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 07:47

       เมื่อสิ้นปีการศึกษา   ถนอมสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ ๖ โดยเรียบร้อย   แล้วไปสมัครเรียนต่อที่โรงเรียน

ฝึกหัดครูบ้านสมเด็จจังหวัดธนบุรีทันที


       เวลานั้นชั้นมัธยมปีที่ ๖ เป็นชั้นสูงสุดของสามัญศึกษา   ใครเรียนสำเร็จแล้วอาจสมัครไปเรียนต่อได้

ทหารบก ทหารเรือ  ตำรวจ ปกครอง  กฎหมายและอื่น ๆ ได้   แต่ถนอมสมัครไปเป็นครู  เพราะท่านพระครูสุนทรสมุทร

(จ้อย สุวณณสโร) บูรพาจารย์ที่วัดกลางจังหวัดสมุทรปราการแนะนำ  "เจ้าไปเรียนอะไรก็เรียนได้  แต่ไม่ถาวร

ดวงชะตาของเจ้าบอกว่าเป็นครูดี   ถ้าอย่างไรก็กลับมาเป็นครูที่วัดกลางก็คงได้"



       ถนอมไปเล่าเรียน ณ โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จ  กินอยู่หลับนอนที่โรงเรียนตลอดระยะเวลา ๒ ปี คือ พ.ศ. ๒๔๕๑ - ๒๔๕๒   

ขะมักเขม้นเหมือนม้าแข่ง  แล้วค่อยๆเร่งฝีเท้าให้ขึ้นหน้าเป็นลำดับตามระยะ

ในระหว่างการเล่าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครู  ถนอมรักวิชาคำนวน  พีชคณิตจัดว่าเยี่ยม  ถัดลงมาก็ประวัติศาสตร์และภูมิศาสร์

ส่วนวิชาภาษาไทยหรือการประพันธ์  ไม่มีท่าทางว่าจะเก่ง   แม้การออกเสียงตัว ร.ล. ก็ไม่สู้ชัดเช่นชาวสมุทรปราการ

อาจารย์สอนภาษาไทยคือพระยาอุปกิตศิลปสาร(นิ่ม  กาญจนาชีวะ  เปรียญ) มีคุณสมบัติเพียบพร้อมในเชิงประพันธ์และสอนดีอย่างยิ่ง

แต่ถนอมก็ได้ความรู้เพียงธรรมดา   ทราบว่าท่านแต่งบทประพันธ์เข้าประกวดในหนังสือพิมพ์วิทยาจารย์ได้ที่ ๑ บ่อย ๆ

เป็นที่นิยมนับถือในหมู่นักเรียนยิ่งนัก


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ม.ค. 11, 22:51


       การอ่านหนังสือมาก  น่าจะเป็นผลให้เกิดนิสัยรักใคร่ในการประพันธ์บ้างกระมัง?     

เมื่อถนอมศึกษาอยู่ในโรงเรียนฝึกหัดครู  ได้อ่านหนังสือต่าง ๆ ในห้องสมุดโรงเรียนแทบหมดสิ้น

จำได้ว่าหนังสือประโลมโลกคำกลอนและกวีนิพนธ์ได้อ่านหมด   หนังสือเรื่องจีนตั้งแต่ไคเภ็กตลอดมาเป็นลำดับ

จนเซียงซุนเล่งหง  ได้อ่านหมด       หนังสือรายเดือน  รายปักษ์   รายคาบ  ทั้งเก่าใหม่ เช่นทวีปัญญา  ลักวิทยา

วิทยาจารย์  ได้อ่านหมด   ยังจำได้ว่า  เรื่องความพยาบาท  เรื่องนิทานทองอิน  ได้อ่านเป็นครั้งแรก 

จะรู้สึกชอบใจว่ามีลักษณะแปลกกว่าหนังสือประโลมโลกคำกลอน


     ถนอมเข้ารับราชการเป็นครูประกาศนียบัตร  และตอนบ่ายเย็น  ได้เข้าเรียนวิชาชุดครูเพื่อสอบไล่เอาชั้นครูมัธยม

ที่สโมสรสามัคยาจารย์     สิ้นปีการศึกษาก็สอบได้วิชาชุดวาดเขียน  ภูมิศาสตร์  ประะวัติศาสตร์  แต่วิชาชุดภาษาอังกฤษ

ยังสอบไม่ได้จึ่งมิได้เป็นครูมัธยม


       ถนอมลาราชการอุปสมบทเป็นภิกษุ ณ วัดกลาง  จังหวัดสมุทรปราการในสำนักท่านพระครูสุนทรสมุทร  บูรพาจารย์

ตลอดพรรษาไม่ได้ท่องสวดมนตร์เลย  แต่ขออ่านหนังสือพระวินัยที่มีในวัดทุกเล่ม  ได้ความรู้ทางพุทธศาสนายิ่งขึ้น

       เมื่อจะลาสิกขาบท   ท่านบูรพาจารย์ได้ดูฤกษ์ยาม  และบอกว่าได้ฤกษ์ยามจันทร์   อธิบายเป็นคำกลอนว่า

              "จันทร์เช้าสายตะวันสูง                 สำราญรอบด้วยฝูงคชสาร
        ชักโยงโขลงคลอเป็นบริวาร                  คชาธารเธอก็ได้เป็นใหญ่โต"


       ถนอมกลับมาเป็นครูต่อไป       ได้เป็นครูใหญ่โรงเรียนประถมวัดอนงค์      ภายใน ๘ เดือนก็ย้ายมาเป็นครูผู้ช่วยปกครอง

โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จ   อยู่ในตำแหน่งนี้เกือบ ๒๐ ปี



กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ม.ค. 11, 00:03


       เมื่อเรียนวิชาชุดมัธยมเวลาเย็นค่ำนั้น      ในวันพุธวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดเรียน  ได้ไปขอเรียนวิชาประพันธ์วรรณคดี

จากหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก   จิตรกถึก)   ทั้งนี้ได้เห็นมาหลายคนว่ามีความรู้ทางวรรณคดี        จึงคิดว่า  เมื่อได้เป็นครูแล้ว

ก็ควรรู้ทางนี้ด้วย   มิได้มาดหมายว่าจะได้เป็นนักประพันธ์สืบไปภายหน้า


       หลวงธรรมาภิมณฑ์  กวีเอกในรัชกาลที่ ๖   ขณะนั้นรับราชการอยู่ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร     ได้เริ่มเรียนด้วยบทกลอน

โคลง  ฉันท์ เป็นลำดับแล้ว   ท่านยังเล่าถึงประวัติของกวีโบราณรวมทั้งยินยอมให้ยืมหนังสือวรรณคดีที่มีอยู่  ให้ไปอ่านและจดจำไว้

เท่ากับได้อ่านหนังสือในหอพระสมุดแทบทุกเล่ม



กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ม.ค. 11, 00:31

       ครูถนอมตั้งใจแน่วแน่ที่จะเป็นครูภาษาไทย       มิได้มุ่งหมายจะเป็นนักประพันธ์โดยตรง

เมื่อได้ศึกษาบทประพันธ์ไว้เพื่อการสอนแล้วมีโอกาสก็ทำแบบฝึกหัดแต่งบทประพันธ์ตามอาจารย์แนะนำบ้าง

แต่งไว้เล่น ๆ เป็นการสนุกเพลิดเพลินบ้าง


หนังสือพิมพ์รายคาบในยุคนั้นมี วิทยาจารย์  หนังสือประตูใหม่   ว่าด้วยบทประพันธ์ต่าง ๆ  และมีหนังสือผดุงวิทยา  ว่าด้วยนวนิยายและอื่น ๆ


       ครูถนอมพยายามเขียนเรื่องทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง   ลงพิมพ์ในวิทยาจารย์  ในการประกวดแต่งบทกวี  ได้ยอดเยี่ยม ๒ ครั้ง

คือบทโคลงว่า


รูป             ทรงศุภลักษณ์ล้ำ                                 เลอสนม   นางเอย
งาม            จริตพิทยสม                                      ศักดิ์ไซร้
นาม           นางนพมาศนิยม                                  ยุคพระ    ร่วงเฮย
เพราะ         ศัพท์ขับเปรอไท้                                   ร่วงท้าวทรงศรี


อีกบทโคลงหนึ่งว่า

รัช             ฎากรเกิดด้วย                                     ราษฎร์มี   มากเอย
ชู              ช่วยส่วยภาษี                                       ส่งให้
ป              เทศจักเจริญทวี                                     มั่งคั่ง
การ           สุขสวัสดิ์จักได้                                      แด่ด้าว   ชาวชน


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ม.ค. 11, 00:41


       หนังสือพิมพ์ประตูใหม่      มีการประกวดแต่งบทกวีทุกปักษ์       ครูถนอมได้แต่งส่งประกวดหลายครั้ง

ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมเพียงครั้งเดียว

คือบทโคลงว่า


ผัว        เมียสาวหนุ่มน้อย                           ได้สมกันแฮ
แก่        กับแก่อบรม                                 ร่วมห้อง
เมีย       หม้ายพ่อหม้ายชม                          ชวนชื่น
สาว       ใหญ่กับทิดต้อง                             โศกสล้างสุขเกษม                             


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ม.ค. 11, 00:49


       หนังสือพิมพ์อะไรลืมเสียแล้ว   ประกวดแต่งบทกวีว่า "อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มากที่สุด"

ครูถนอมแต่งได้เยี่ยมยอดว่า

@  นานามนุษย์ทั้ง                     ทวยโอฆ    ภพเอย
ทุกข์ที่สุดแสนโศก                       สบเศร้า
เหตุเพราะรักแรงโรค                    รุมจิต   ท่านนา
สิ้นรักสิ้นทุกข์เข้า                        เขตนั้นนิพพาน


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ม.ค. 11, 08:05


       หนังสืออนุสรณ์ ขุนสุนทรภาษิต (ถนอม  เกยานนท์)  มีความรู้หลายอย่างแฝงอยู่   

กลอนรำพันถึงสภาพกรุงปารีสเสียแก่เยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ ๑   จับใจเป็นที่ยิ่ง  ที่ครูไทยคนหนึ่ง

สามารถถ่ายทอดความเป็นสากล  สง่างาม 


       @  โอ้ว่าอนิจากรุงปารีส                          เคยปราณีตเจริญจรุงกรุงศรี

สพรั่งพรึบพร้อมประไพโสภี                              ภูมิพื้นธานีงดงาม


       กลอนที่นำมาลงมีอยู่แค่นี้    แต่แสดงความเป็นพหูสูตรของครูถนอม  ที่เขียนไว้ในผดุงวิทยารายเดือน   บรรณาธิการ

คือ น.ส. ลม่อม  สีบุญเรือง    ความหอมหวลของงานของกวีเล็กๆ  ครูใหญ่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งยังมีอยู่    เนื้อกลอนดิฉันอ่านออก

เข้าใจ    และจะไปตามหาผดุงศึกษามาอ่านต่อไป    เล่นหนังสือเก่าทั้งที หาแค่นี้ไม่ได้ให้รู้ไป  จะต้องก้มกราบนักสะสมก็จะทำ

ครูถนอมอ่านหนังสือภูมิศาสตร์    อ่านหนังสือประวัติศาสตร์    เรียนวรรณกรรมมาจากปราชญ์คนหนึ่งของประเทศ

แล้วเขียนสงสารมหานครในภาวะหลังสงคราม



กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 ม.ค. 11, 18:36
เข้ามาอ่านและศึกษาครับ


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ม.ค. 11, 22:39


       มีหนังสือ หลวงธรรมาภิมณฑ์  (ถึก จิตรกถึก) ฉบับพิมพ์ใหม่อยู่แถวๆ นี้ค่ะคุณไซมีส  ที่นับถือ     

อ่านหนังสือแว่บเห็นชื่อท่านก็เกิดสนใจ      อ่านไป ก็เกิดความเลื่อมใส เพราะกลอนท่านคมน่าอ่านทีเดีบว

เพื่อนฝูงบอกว่าหนังสืออนุสรณ์ดี ๆ หาอ่านลำบากแล้วตอนนี้      เกร็ดที่ท่านนำมาเล่าเป็นเรื่องที่ศึกษาและเก็บอยู่ค่ะ


       เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น  เทพหัสดิน  ณ อยุธยา) ได้เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นคนแรก

เมื่อคณะครูบาอาจารย์แห่งโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จ  ไปรายงานตัวต่อท่าน        ท่านได้พยักหน้าแก่ทิดมุ่ย  ปากน้ำ

ครูหนุ่มในคณะ    เพราะท่านได้รู้จักเป็นพิเศษมาก่อน   ด้วยเรื่องแต่งโคลงกระทู้ประกวดในหนังสือพิมพ์วิทยาจารย์

โดยมีกระทู้ว่า      รูป  งาม  นาม  เพราะ


       กระทู้โคลงนี้  มีผู้แต่งส่งเข้าประกวดมากตามเคย  แต่มีสองบทที่กรรมการยกขึ้นเสนอเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

ซึ่งในเวลานั้นท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ     ๒ บทนั้นว่า


รูป     โฉมเสาวลักษณ์ล้ำ                  เลอสนมนางเอย

งาม    จริตพิทยสม                         ศักดิ์ไซร้

นาม    นางนพมาศนิยม                    ยุคพระ  ร่วงเอย

เพราะ  ศัพท์ขับเปรอไท้                     ร่วงท้าวทรงศรี



รูป       ทรงสันทัดป้อ                         คมคาย

งาม     หนวดหน้าสมชาย                     ชาติเชื้อ

นาม    ก้องเกียรติกระจาย                    ลือทั่ว  เทศเอย

เพราะ  ปาฐกะเกื้อ                             นามนี้คือใคร


       สองโคลงนี้ผู้แต่งลงชื่อว่า  "ทิดมุ่ย  ปากน้ำ"           ทิดมุ่ย  ปากน้ำถูกเรียกตัวไปหาเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

ซึ่งถามว่า   "คุณแต่งโคลง ๒ บทนี้หรือ?"

       ทิดมุ่ยชำเลืองดูกระดาษแล้วก็ตอบทันที   "เกล้ากระผมแต่งเองทั้งสองบท"

       เจ้าคุณธรรมศักดิ์ยิ้มน้อย ๆ  "คุณแต่งได้ดีถึงขนาด  เออนี่  คุณเรียนแต่งบทกวีโดยตนเองหรืออย่างไร?"

       ทิดมุ่ย ปากน้ำทีแรกหวั่น ๆ อยู่ว่าจะถูกต่อว่าที่แต่งความรำพันตัวท่านเจ้าคุณ   แต่เมื่อยินว่าแต่งได้ดี  ก็ชักใจมาเป็นกอง

รีบตอบว่า   "เกล้า ฯ  เรียนแต่งบทกสีมาจากหลวงธรรมาภิมณฑ์"

       "ครูถึก   จิตรกถึก   กวีเอกที่แต่งกล่อมช้างถวายพระเจ้าอยู่หัวใช่ไหม"
     
       "อ้อ   คุณหมั่นเรียนไว้เถอะ   ครูถึกท่านก็แก่แล้ว   ช่วยกันไปถ่ายวิชาจากท่านไว้   เออ - โคลงบทที่แต่งถึงฉันน่ะ   ขอเสียทีเถอะ

บทที่ว่าถึงนางนพมาศ  กรรมการเขาตัดสินให้เป็นรางวัลที่ ๑"


เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี  ผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน   เมื่อจะกราบทูลเสนอขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่คณะครูอาจารย์แห่งโรงเรียนฝึกหัดครู

ได้เสนอให้ทิดมุ่ย เป็น ขุนสุนทรภาษิต (ถนอม  เกยานนท์)


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 ม.ค. 11, 04:59


       เมื่อรัชกาลที่ ๖  ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างตึกมหาวิทยาลัยขึ้น   แล้วให้รวมโรงเรียน

ชั้นสูงของกระทรวงต่าง ๆ เข้ามารวมเรียนในที่เดียวกัน เรียกว่า "โรงเรียนข้าราชการพลเรือน"

โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาของกระทรวงศึกษาธิการได้ยกมาสมทบด้วย   พระมหาธีรราชเจ้าได้

ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ทรงพระราชนิพนธ์นามบรรดาศักดิ์ไว้ให้ใช้แก่โรงเรียนข้าราชกาลพลเรือนดังนี้  คือ


วิทยาปรีชามาตย์

เทพศาสตร์สถิตย์

เทพวิทย์เสถียร

เพียรพิทยาศาสตร์

พาจพิทยากร

สุนทรภาษิต

วิจิตรภาษา


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 ม.ค. 11, 08:00

       ขุนสุนทรภาษิตมิได้เล่าเรียนเพียงบทร้อยกรองเท่านั้น   ความเรียงหรือร้อยแก้วก็ได้ศึกษาเป็นพิเศษในทางลับ

หนังสือพิมพ์ไทยในสมัยรัชกาลที่ ๖   พระสันทัดอักษรสาร(ฮอก  อักษรานุเคราะห์) เป็นบรรณาธิการนั้น

ขุนสุนทรภาษิตขอเข้าเป็นคณะนอกโรงพิมพ์   คือเป็นผู้เขียนบทความและข่าวสาร  ส่งงานไปเป็นประจำและขอรับเงินเป็นรายเดือน


       หลังจากต้องดุลยภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙   ขุนสุนทรภาษิตได้ไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพ - เดลิเมล์  สมัย

นายหลุย  คีรีวัต เป็นบรรณาธิการ   ทุกวันเขียนข่าว  เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เป็นเวลาเกือบสามปี    ในปี ๒๔๗๐ ได้แต่งบทพากย์

ภาพยนตร์เรื่องไมยราพสกดทัพให้บริษัทพัฒนาการ   เป็นหนังพากย์เรื่องแรกที่ริเริ่มแข่งขันกับหนังพูดที่กำลังแพร่เข้ามาสู่เมืองไทย

เสียงพิณพาทย์บรรเลงตุม ๆ ต้อม ๆ เสมือนมีโขนโรงใหญ่ยิ่ง      บทพากย์โขนเรื่องไมยราพสกดทัพนี้   ต้นฉบับอยู่ที่นายศิลป์  สีบุญเรือง(ทิดเขียว)

ขุนสุนทรภาษิตจำได้เพียงคำร้องตอนนางพิรากวนชมจันทร์


@  ว่าพลางแลชะแง้จันทร์                อันผ่องส่องฟ้าเวหาหน

แสงจันทร์จับพักตร์พิมล                   แล้วส่องต้องต้นลดาวัลย์

แสงจันทร์อันเห็นเช่นนี้                     ยวลใจยวลฤดีให้กระสัน

หนุ่มสาวคราวรักภิรมย์กัน                 พระจันทร์จักเห็นเป็นพยาน


(นักอ่านหนังสือเก่านึกถึงภาพนางพิรากวนขึ้นชั่งในจิตรกรรมฝาผนังรอบระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ห้อง ๕๕    ที่หลวงเจนจิตร์ยง  เขียนใน พ.ศ. ๒๔๗๓

เฟื้อ  หริพิทักษ์  ควบคุมเขียนซ่อม  พ.ศ. ๒๕๑๖ )


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ม.ค. 11, 08:48
หนุมานพบนางพิรากวน


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 ม.ค. 11, 09:05

สงสัยว่านางพิรากวนจะไปชมจันทร์กับใคร


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 17 ม.ค. 11, 09:07
ข้อนี้คุณวันดีต้องถามคุณหลวงเล็ก แกอาจจะรู้คำตอบก็ได้

(อุ๊บๆๆ  :-X ... อย่าเอะไป เดี๋ยวแกเอาไปตั้งเป็นคำถามอีก)


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 ม.ค. 11, 09:26

เรียนคุณ อาร์ตที่นับถือ

  ขอเพลงอะไรที่เนื้อบอกว่า "ในอกข้านี้มีแต่ความแค้น"   

กรุณาอย่าตอบว่า "เกิดไม่ทัน"   เพราะเป็นดิสคริมิเนชั่น


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 ม.ค. 11, 19:54

       ที่หนังสือกรุงเทพ ฯ เดลิเมล์   ขุนสุนทรภาษิต ได้แต่งแหล่ปรามาทนางสามเณรีไว้หลายแหล่

ขอยกมาเป็นตัวอย่าง


@    แกะบายศรีด้วยใบตำแย                            ทำขวัญแม่สามเณรี

เอาอุตพิตใบรีรี                                             มาวางที่เป็นชั้นระบาย

เอาดอกสำโรงที่โรยร่วง                                    มาทำเป็นพวงให้เฉิดฉาย

เอาต้นเถาคันมาทำชั้นชาย                                แล้ววางรายด้วยใบลำโพง

เชิญญาตืมิตรสนิทวงศ์วาร                                พวกคลองสานสิ้นทั้งโขยง

พวกออเหวงหมดทั้งโรง                                   ให้โอ่โถงในนิกาย

เชิญพวกจรจัดถ้วนทุกเกลอ                               เชิญสับปะเหร่อทั่วทั้งหลาย

เชิญขอทานมามากมาย                                   ต่างวุ่นวายมาเข้าประชุม

บ้างถือไม้กวาดและสวิง                                   ต่างก็วิ่งกันมากลุ้ม

เพื่อเวียนเทียนชุมนุม                                      ก็มารุมล้อมนางเณร ฯลฯ

       เข้าใจว่าเป็นที่เลื่องลือ  หาตัวผู้ประพันธ์กันนักว่า  ใครแต่งหนอ?


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ม.ค. 11, 04:34


หนังสือที่ขุนสุนทรภาษิตแต่งไว้

โคลงนิราสปากน้ำ

ต้นฉบับหาย  ไม่ได้พิมพ์   จำได้เพียงบทเดียว


       @  ถึงเสือซ่อนเล็บป้อม                      ปราการ

ระลึกเมื่อซ่อนรักราน                                 แรกชู้

ความลับบ่ไขขาน                                     คำเงียบ

ดุจะป้อมลับสู้                                          เศิกเสี้ยนฤาเห็น



กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ม.ค. 11, 05:38

นางกุนตีคำกลอน

       พิมพ์ในเสนาศึกษา  ๒๔๕๙  เป็นกลอนเจ็ด

       เนื้อเรื่องมีว่า นางกุนตีเป็นราชบุตรีของกษัตริย์   ได้ไปบูชาคารวะแด่พระฤาษีศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง

ท่านได้พิเคราะห์โดยญาณว่า   นางกุนตีมีกรรม  ควรมีมนต์ไว้บท ๑   คืออาจบ่นภาวนาเรียกหาใครมาเป็นสามีก็ได้

นางกุนตีไม่เชื่อถือ    แต่ได้ลองภาวนาเรียกพระอาทิตย์มาเป็นสามี  ก็ได้ดั่งประสงค์   แล้วเกิดบุตรชายคนหนึ่ง


       ภายหลังนางกุนตีได้อภิเษกกับกษัตริย์ปาณฑุ    ขณะเมื่อพากันไปในป่า  กษัตริย์ปาณฑุไปต้องคำสาปของฤาษีศักดิ์สิทธ์ว่า

หากท่านบันดาลกำหนัด                              ปฏิพัทธ์ภรรยาโฉมเฉลา

ร่วมรสสังวาสยุพเยาว์                                 ขออำนาจพระเจ้าสังหารตาย


       ท้าวปาณฑุออกบวชพานางกุนตีกับนางมัทรีมเหษีรองไปด้วย       ท้าวเธออยากให้มีบุตรสืบสกุล  ให้นางกุนตีเชิญเทพยดาลงมา

แถมให้สอนมนต์ให้นางมัทรีอีกด้วย  ได้ราชบุตร ๕ องค์   ไม่มีราชบุตรี


       ท้าวปาณฑุน้อยใจนักที่ไม่ได้สมหวัง          รำพึงว่า


       ตูได้ให้พระมเหษี                                   เพาะนุชบุตรีไม่ได้

ควรเพาะเอาเองเกรงใย                                   ฤาษีสาบไว้นานครัน

เท็จจริงอย่างไรไม่ลอง                                     มาทนหม่นหมองโศกศัลย์

อาจจะอนิจจังหวังกัน                                       ขู่เล่นเห็นขันไม่เข้าที



       อัศจรรย์วันเกิดกำหนัด                               ประวัติสวาทวาบหวาม

ปาณฑุราชรื่นรมย์ซมซาน                                   มัทรีงอนงามเปรมปรีดิ์

พอสิ้นอัศจรรย์บันดาล                                       ชีพปาณฑุกระเด็นเป็นผี

สมคำซ้ำสาปโยคี                                            มัทรีพลอยม้วยด้วยกัน

 
      กุนตีคำกลอนเป็นกลอนประโลมโลก      แต่ได้แทรกความรู้ทางวรรณคดีของอินเดียไว้แทบทุกแห่ง

เช่นรำพันรูปลักษณะของเทพเจ้าไว้แทบทุกองค์

       อัศจรรย์                                               กามเทพคือธรรมความใคร่

มาเสกสมสองทันใด                                          ช่วยให้ได้รสอภิรมย์

กามเทพรูปกายชายหนุ่ม                                     ชวยชุมชุ่มชิดสนิทสนม

รูปงามทรามรักนิยม                                          อุดมด้วยศักดิ์ลักขณา

พาหนะนกแก้วแพรวขน                                       ขี่ขับสับสนใจกล้า

คอยชุมหนุ่มสาวคราวครา                                    สมรสเสน่หาปราณี

มั่นมือถือธนูต้นอ้อย                                            อร่อยรสหวานซ่านศรี

ตัวผึ้งขึงต่อพอดี                                                เป็นสายธนูมีโอชา

ศรใช้ดอกไม้แทนคม                                           ยิงใครให้สมปรารถนา

ถูกศรกามเทพเทวา                                            ปลาบปลื้มลืมสาระทุกข์พลัน

อัปสรเป็นฝูงบริวาร                                             ตามเสด็จขนานขมีขมัน

ธงแดงรูปมังกรพัน                                              ประจำตัวธรรม์กามไท   ฯ



กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ม.ค. 11, 07:12
"อัศจรรย์ ครื้นเคลงดังฟองคลื่น" ครับ  :-[ :-[ :-[


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ม.ค. 11, 10:01

ขอลงรายการหนังสือเท่าที่ท่านบันทึกไว้นะคะ

กลอนนิราสโรงเรียน(ต้นฉบับหาย  ไม่ได้พิมพ์  จำได้เพียงสองคำกลอน)

คำฉันท์โรโมยุเลียด  แต่ง พ.ศ. ๒๔๖๗  พิมพ์ในเสนาศึกษา เล่ม ๕

นางเทวยานีคำกลอน  แต่ง ๒๔๖๙   พิมพ์ในเสนาศึกษาเล่ม ๖

เรื่อง "ฉัน" ความเรียง  ว่าด้วยอนามัย  พิมพ์ในเสนาศึกษา เล่ม ๖ - ๗

ยายสีไพลคำกลอน    พิมพ์ในเสนาศึกษา เล่ม ๘

เห่รถไฟ กาพย์ก่อโคลง  พิมพ์ในเสนาศึกษา เล่ม ๙

มารวิชัย คำฉันท์  พิมพ์ในไทยเขษม  เมษ. ๒๔๖๘

อุบาสก  คำฉันท์  พิมพ์ในศัพท์ไทย  เล่ม ๔ ตอน ๕

วิกตอเรียคำโคลง  พิมพ์ใน "นารีเรืองนาม"

เช็กสเปีย คำโคลง  พิมพ์ในเล่มเรื่อง "บุรุษเรืองนาม"




กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ม.ค. 11, 10:29
(ต่อ)
ทั้งหมดนี้พิมพ์ให้มหาวิทยาลัย เล่ม ๑ - ๒   พ.ศ. ๒๔๖๑

ฉันเป็นตาแดง

เมียของฉัน

ลูกของฉันเป็นไข้

ฉันดูตัวอหิวาต์

ฉันเป็นลมสลบ


       ขุนสุนทรภาษิตเป็นนักประพันธ์  เขียนคำกลอนได้ดี       ขณะที่ผู้ใหญ่ชื่นชอบเรื่อง กุนตีนั้น    หนุ่มนักศึกษาชมชอบเรื่อง "ฉัน"

กันเกรียวกราว        ไปไหนกลุ่มนักศึกษาต่างโจษขานกันว่า  "นี่ไงล่ะ  ฉันล่ะ  ฉันล่ะ"


     @ ฉันดีมีชื่อลือฉาว                              หนุ่มสาวคราวงามถามหา

หลงรักฝักใฝ่ไปมา                                     คบค้าว่าสุขสนุกกาย

ตัวฉันนั้นอยู่สู่สิง                                       แอบอิงกามราคมากหลาย

ใครทำสำส่อนห่อนอาย                                ฉันร้ายกรายเข้าเฝ้าเป็น

เบาแสบแปลบปลาบวาบดวงจิต                      เกิดพิษติดต่อก่อเข็ญ

เบาขัดปัสสาวะกะเซ็น                                  หน้านิ่วคิ้วเต้นตกใจ


       ความจริงขุนสุนทรภาษิตมีความรู้มากในทางอนามัยและสนใจในเรื่องนี้        เรื่อง "ฉัน"  คือเรื่องตัวเชื้อโรค

เป็นผู้พูดผู้เล่าบอกว่า  ตนเป็นอย่างไร     ควรป้องกันอย่างไร   เขียนเพื่อประโยชน์ของสาธารณะในทางรักษาอนามัย

หนังสือชุด ฉันเป็นตาแดง  เมียของฉัน  ลูกของฉันเป็นไข้  ฉันดูตัวอหิวาต์  และฉันเป็นลมสลบ   เป็นหนังสือชุดตัวเอกชื่อ

"ทั้ง  เกยานนท์"  พี่ชายของท่านขุนเอง   เล่าเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยของตนไว้         ดำเนินเรื่องไว้ขบขันเยี่ยงชาวบ้านในจังหวัดสมุทรปราการ


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 ม.ค. 11, 22:29

นวนิยายที่พิมพ์

กรุงแตก

พระตะบอง

พิงคะนคร(เชียงใหม่)ไม่ได้พิมพ์


คำกลอน

พระธาดาสร้างสตรี  พิมพ์ในหนังสือมหาวิทยาลัย

พระอุมาลงสรง      พิมพ์ในหนังสือสารานุกูล

พระอุมาอ่านสาร

นารีลอยฟ้า    พิมพ์ในสารานุกูล

วัลลีย์เล่าความรัก      พิมพ์ในหนังสือวิทยาจารย์

หนังสือกรุงเทพ ฯ คำฉันท์ มีชื่อขุนสุนทรภาษิต กับนายชิต  บุรทัตเป็นผู้ประพันธ์ 

งานชิ้นอื่นๆของท่านยังมีอีกมากแต่กระเดียดไปทางโลน       จะขอข้ามไปเพราะอยากอ่าน  นารีเรืองนามอีกครั้งหนึ่ง


ประวัติส่วนตัว

ภรรยา                            น.ส. แรม  บุรารักษ์

บุตรและธิดา

นาวาตรีสถาปน์

นายสะเสก

เรืออากาศเอก  สมุคค์

แพทย์หญิง  พนิต


ถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ ๒๙ สิงหาคม  ๒๔๙๔ 


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 ม.ค. 11, 07:09

พระราชินีวิกตอเรีย

ในหนังสือ "นารีเรืองนาม"   หน้า  ๓๑ -  ๓๖

อนุสรณ์ คุณหญิงวิบูลลักสม์  ชุณหะวัณ 

กระทรวงมหาดไทย  พิมพ์ชำร่วยในงานพระราชเพลิงศพ  ๑๗ เมษายน  ๒๔๙๘



จะขอคัดลอกมาเป็นบางส่วน

อ้างอิงหนังสือ วิกตอเรียน อีรา


       ในพระราชประวัตินี้                                นำมา

จากวิคตอเรียนอีรา                                       เล่มน้อย

ขุนสุนทรภา                                               ษิตพากย์   ประพันธ์เอย

ผิพลาดขาดเกินถ้อย                                      โปรดเอื้ออวยอภัย



       เพียรเชลงเฉลิมเกียรติ์ก้อง                        กษัตรี

กวีนวิกตอเรียศรี                                          ศักดิ์ไท้

สมเด็จพระราชินี                                          อังกฤษ

เฉลิมราชประวัติไว้                                        เวี่ยแล้วเยินยอ


       ค.ศ. พันแปดร้อย                                  สิบประจบ    เก้าเอย

ยี่สิบสี่พฤศภ                                                มาศอ้าง

วันพระราชสมภพ                                           พระแม่

ณพระราชวังสร้าง                                           ชื่อซร้องเกนซิงตัน


       อันดยุ๊คดัชเชสอ้าง                                   ออฟเคนต์

พระชนกชนนีเป็น                                            ปิ่นเกล้า

ตระกูลขัตติยะนเรนทร์                                       ราชิ  นีนอ

ยอร์ชที่สามผ่านเผ้า                                          พระผู้ไอยกา


       พระบิดาเสด็จคุ้ง                                       คืนสวรรค์

แปดมาศพระชนม์วาร                                        ลุได้

เมื่อสี่สิบสองชัณ                                              ษาพระ  แม่เอย

จึงพระมารดาไท้                                               เสด็จเมื้อแมนผจง



กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 ม.ค. 11, 07:20


       พระผ่านสมบัติได้                                     ด้วยความ  สงบเอย

ยี่สิบสี่มิถุนยาม                                               ย่ำเช้า

ศกพันแปดร้อยสาม-                                         สิบเจ็ด

เป็นพระราชินีเจ้า                                             ภพพื้นผองประชา


       เสวยราชสมบัติได้                                      สามปี

พระอภิเษกศรี                                                  สรุปซร้อง

เจ้าแอลเบอตสวามี                                            มีศักดิ์   สมแฮ

คือพระภาดาพร้อม                                            เผ่าไท้บรมพงศ์                                                   

                                 


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ม.ค. 11, 06:25

       รัชกาลองค์พระเจ้า                                   ราชินี  นี้นอ

อังกฤษเจริญศรี                                              ศุขซร้อง

เศิกภายนอกในหนี                                           หน่ายพ่าย

พระกฤษดานุภาพป้อง                                       ปกเกล้าชาวประชา

 
       แคนาดาเขตขึ้น                                       ขบถ

ไอยคุปต์อินเดียคด                                          รบเร้า

อังกฤษปราบปรามกลด                                     ปลูกศุขให้แฮ

ต่างสงบนบนอบเกล้า                                        ตลอดเบื้องปัจจุบัน


(เล่าเรื่องจลาจลในประเทศ)


       สีมามอญทั้ง                                           มณฑล

อีกฮ่องกลทางหน                                            ออกอ้อม

เกาะไซปรัสกลางชล                                         ก็แพร่  หลายแฮ

ยอมออกมาอ่อนน้อม                                        นอบเบื้องบารมี

     
(เล่าเรื่อง พานิชยกรรม   ภาษี    เป็นอารยะ  มีวิทยาการ    มีพิพิธภัณฑ์มากมาย
 เล่าเรื่องพระเจ้าลูกยาเธอ  พระธิดา   พระญาติ)


       ในพันเก้าร้อยเอ็ด                                     เดือนธันว์

ที่ยี่สิบสองบรร-                                              จบถ้วน

พระราชินีสวรรค์                                             คตสู่     สรวงแฮ

พศกทั่วหน้าล้วน                                             ระลึกพร้องพร่ำพระคุณ


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ม.ค. 11, 06:59
ในหนังสือ นารีเรืองนามนี้   มีบทประพันธของท่านผู้มีชื่อเสียง ดังต่อไปนี้

ท้าวเทพกษัตรี (จันทร์)   ของ  กรมนราธิป(ต้นฉบับเขียนอย่างนี้  จึงลงไว้เป็นตัวอย่าง)

นางนพมาศ   ของ พระยาวิจิตรธรรมปริวัติ

นางแคธริน   ดูกลาส  ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร
(เรื่องของผู้หญิงสกอตที่

       ยันบานทวาเรศด้วย                           แรงตน
แขนสอดแทนดาลทน                                ไป่ท้อ
สัตรูก็กรูพล                                           ผลักแผ่น  ทวารฮือ
ใจเด็ดไป่เข็ดข้อ                                      ตราบข้อแขนสลาย  )

ท่านโม้ (ท้าวสุรนารี)                                พระอุปกิตศิลปสาร

นางอมร(เรื่องของภริยาของมโหสถ)               อ.ท. หลวงพิสัณห์พิทยาภูน  แต่งเป็นฉันท์

นางคะเวลล์ และ นางเพติต์                         ไชยเฉลิม

นางวิสาขา                                            หลวงนิเเพทย์นิติสรรค์

พระมัทรี                                               หลวงวรเวทย์พิสิฐ

นางญันน์ด๊าร์ค  หรือ สาว ออลิอังค์                นายร้อยเอก นวล  ปาจิณพยัคฆ์

โลกะมาตา                                            ของครูเทพ

เจ้าหญิงมเดอะ  ลัมบัลล์                             กีฬา

นางสาวฟลอเรนซ์  ไนททิงเกล                      กระต่าย

พระแม่จันทน์เทวี                                     "ปอ"

      
        หนังสืออนุสรณ์เล่มนี้ แจก เมื่อ  ๑๗ เมษายน  ๒๔๙๘       ผู้ที่ได้รับคงจะพอใจตาม ๆ กัน

และรู้ค่า            มีการเอ่ยถึงในบทความเรื่องหนังสือเก่าหรือการพิมพ์บ้างเป็นระยะ

สหายหยิบยื่นให้โดยไม่มีมูลค่าเพราะเห็นว่าดิฉันชอบอ่านตะลุยไปทุกทิศ       ตั้งใจนำมาฝากเพื่อน ๆ ในเรือนไทย

ไม่ได้เก็บหนังสืออนุสรณ์โดยตรง  แต่พอมีบ้าง



กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ม.ค. 11, 07:08
อ่านแล้วสนุกมาก ขอบคุณครับ :D


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 11, 08:49

ประวัติส่วนตัว
ภรรยา                            น.ส. แรม  บุรารักษ์
บุตรและธิดา
นาวาตรีสถาปน์
นายสะเสก
เรืออากาศเอก  สมุคค์
แพทย์หญิง  พนิต
ถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ ๒๙ สิงหาคม  ๒๔๙๔ 

นาวาตรีสถาปน์ ต่อมาคือพลเรือเอกสถาปน์ เกยานนท์  ผู้บัญชาการยุทธการทหารเรือ  สมัยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ปฏิรูปการปกครองเมื่อพ.ศ. 2519 
พลเรือสถาปน์ เป็นบิดาของพลเรือเอกสถิรพันธ์  เกยานนท์  อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ม.ค. 11, 09:03


ขอบพระคุณค่ะ  คุณเทาชมพู


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทพกร ที่ 20 ม.ค. 11, 11:48
ตระกูล "เกยานนท์" เป็นตระกูลที่ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ มาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ เลยนะครับ :)


กระทู้: อธิษฐาน จงเกิดเป็นครูบาอาจารย์ เชี่ยวชาญเชิงภาษาไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 ม.ค. 11, 12:29


วัดมีส่วนช่วยอย่างมากเลยค่ะ  ทั้งโอกาสศึกษา และการอบรมนำทาง

ความกตัญญูฉายแสงแรงกล้า

ดูท่านจะมีอารมณ์ขัน

ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเราก็มาจากบิดามารดาสามัญชนเช่นนี้ถมไป