เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 10, 22:14



กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 10, 22:14
อ่านมาจาก  สยามประเภท เล่ม ๔    ตอนที่ ๑๖    วันที่ ๒๗ มีนาคม  ร.ศ. ๑๑๙



นายฉนัย    สมาชิกเลขที่ ๒๗๕  เงินบำรุงส่งแล้ว ๔ ปี
ขอถามประวัติ พระยาราชมนตรี(ภู่)  ปู่   มาสืบเนื่องมาจากท่านผู้ใด  มีกี่ขั้น  คือผู้ใดบ้าง


ถ้าอาจารย์กุหลาบตอบไม่ได้  ก็จะขอรับรางวัล นาฬิกาพกเรือนเงิน  ราคา ๒๕ บาทตามที่สัญญาไว้
และจะโฆษณา  การเดาสวดอวดดีของท่านที่ไม่รู้จักวงศ์ตระกูลของข้าพเจ้า


จะนำความโง่ของท่านไปลงในสยามออฟเซอร์เว่อร์ และ บางคอกแตม

ถ้าท่านลงถูกต้องตามความเป็นจริงโดยเรียบร้อยแล้ว  มหาชนก็จะพากันสรรเสริญหาที่สุดไม่ได้
ทั้งพวกวงศ์ข้าพเจ้าก็จะสรรเสริญท่านด้วย




กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 10, 22:37
เรา(สยามประเภท)  ขอตอบตามสังเขปดั่งนี้


(เมื่อภาษาโบราณเพราะพริ้งและเข้าใจ ก็จะคัดมาเต็ม ๆ        ถ้าเนื้อเรื่องยืดมาก ดิฉันก็จะย่นย่อตัดทอน แต่พยายามรักษาข้อมูลไว้
เพราะประวัติขุนนางที่สำคัญ  หาอ่านได้ยาก  ข้อมูลซำ้

ตั้งใจจะให้คุณเพ็ญชมพู ที่เคยอ่านนิราศของคุณพุ่มมาด้วยกัน  เห็นญาติสายอื่นๆของคุณพุ่มด้วยค่ะ)


เรื่องสักวาขอเวลาเล็กน้อยเพราะรับงานอ่านมากหมู่นี้




          เมื่อพระเจ้าตากปราบพม่า  ค่ายโพธิสามต้นแตกหมดแล้ว   ได้รับพระราชวงศานุวงศ์กรุงเก่า และข้าราชการ
ลงมาไว้ที่กรุงธนบุรีทั้งสิ้น          ทรงทำนุบำรุงปลูกเลี้ยงตามแบบขนบธรรมเนียมราชการกรุงเก่า


พระยาธิเบศร์บดี(กรุงเก่า)จางวางมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
ตกเป็นเชลยในค่ายโพธิ์สามต้นหลายเดือน   ได้มารับราชการในปีต้นตั้งกรุงธนบุรี
ไม่ทันจะได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกร  ป่วยเป็นวรรณโรคตกโลหิตถึงแก่กรรม

มีบุตรชายหลายคน
คนหนึ่งไม่ทราบชื่อ ได้เป็น พระยาศรีสรราชในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก




กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ม.ค. 10, 23:05
พระยาศรีสรราชมีธิดาชื่อไม่ปรากฏ   ได้สามีไม่ทราบชื่อแต่เป็นพระพี่เลี้ยงในทูลกระหม่อมพระบัณฑูรน้อย
คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์

ในรัชกาลที่ ๒  กรุงเทพ  พระบัณฑูรน้อยได้เป็น กรมพระราชวังบวร
พระพี่เลี้ยงจะได้เป็นอะไรไม่ปรากฏ


ลูกสาวเจ้าคุณศรีสรราชและลูกเขย  มี บุตร ๖ คน

๑.     สาหร่าย    เจ้าจอมอยู่งานในรัชกาลที่ ๒
๒.    นายช้าง  เป็นหลวงศรีสมยัติ ในรัชกาลที่ ๒
๓.    นายนก  ได้เป็นพระยาอภัยภักดี จางวางกรมหมอ  ในรัชกาลที่ ๓
๔.    พลับจีน     ถวายตัวเป็นหม่อมละครในพระบัณฑูรน้อย  เป็นตัวจินตหรา
       ในรัชกาลที่ ๒   หม่อมพลับจีน   มีพระองค์เจ้าองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้ารัชนีกร
       ประสูติปีจอฉอศก จ.ศ. ๑๑๗๖   พระราชบุตรองค์ที่ ๓๕ ในกรมพระราชวังบวร รัชกาลที่ ๒  กรุงเทพ
๕.    นายภู่
       ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก  แล้วได้เป็นจางวาง ในพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  รัชกาลที่ ๒

       บ้านนายภู่จางวางตั้งอยู่ริมน้ำฝั่งตะวันตก  บางยี่ขันเหนือบ้านปูน   ภายหลังยกบ้านสร้สงเป็นวัดคฤหบดี

       ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้เป็นพระยาราชมนตรี  แล้วให้เป็นอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ
       พระราชทานบ้านท่าพระให้พระยาราชมนตรี(ภู่)
๖.    นายปัก(เรื่องราวของนายปักนี้  คงมีโอกาสนำมาคุยกันเป็นหลักฐานสนับสนุนเรื่องสนุกอื่น ๆ ต่อไป)


วางแผนไว้ว่าจะข้ามสายสกุลของพี่บางคนของเจ้าคุณราชมนตรีไป  แต่ทำไม่ได้ เพราะมีความสำคัญ


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ม.ค. 10, 05:23
นายช้างมีธิดาชื่อขำ เป็นภรรยาพระสุนทรพิมล(กระต่าย) เจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพ ฯ

ขำมีลูกชายสองคน
๑.   นายหนู

๒.  นายเปลี่ยน  ครูมโหรี    เดี๋ยวนี้(ร.ศ. ๑๑๙ / พ.ศ. ๒๔๔๓)ยังมีชีวิตอยู่  อายุ ๖๗   บ้านอยู่หลังกระทรวงพระนครบาล



พระอภัยภักดี(นก) มี บุตร ๕ คน

๑.   นายครุฑ  ได้เป็นพระยาไชยยศสมบัติ

๒.   หญิงชื่ออิ่ม  ได้เป็นหม่อมห้ามในกรมหมื่นศรี

๓.   หญิงชื่อแย้  ได้เป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ในรัชกาลที่ ๓  กรุงเทพ ฯ

๔.  นายจั่น

๕.  นายทิม


พระยาราชมนตรี มีบุตรหลายสิบคน

บุตรกับภรรยาหลวง ท่านผู้หญิงกลำ่ (ท่านผู้หญิง เป็นคำยกย่องของ ก.ศ.ร. เอง)
๑.   หญิงชื่อพุ่ม  ได้ทำราชการฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง  เรียกกันว่าคุณพุ่มศักรวาท์ (ตัวสะกดสมัยนั้น)
      ท่านผู้นี้แต่งกลอนดียิ่งนัก

๒.   หญิงชื่ออิ่ม  ได้เป็นเจ้าจอมอยู่งาน  ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  กรุงเทพ ฯ
      (เรื่องน้องแท้ๆของคุณพุ่มเป็นเจ้าจอมนี้  ไม่เคยเห็นข้อมูลมาก่อน
      คุณพุ่มไม่เคยเอ่ยถึง/วันดี)

๓.  นายทองดี


บุตรกับภรรยาหลวงอีกคนหนึ่ง ชื่อท่านผู้หญิงอิน  

หญิงชื่อน้อย    เป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์  พระเจ้าลูกยาเธอที่ ๗ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
มียุตร ๒ คน

๑.   เป็นหญิง  มีพระนามว่า  หม่อมเจ้าสาระพัดเพชร
      (พระนามนี้  ดิฉันสนใจมานานแล้ว   อ่านผ่านมาว่า เมื่อทรงพระเยาว์เสด็จขึ้นอยู่งานพัด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ทรงเครื่องแล้วล้วนด้วยเพชร
        เคยเข้าใจผิดว่า เป็นเพราะขรัวตารำ่รวย    แต่ที่จริง กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ทรงร่ำรวย  และ โปรดหม่อมน้อยยิ่งนัก
        เมื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์รับราชการมีชื่อเสียงมาก    หม่อมเจ้าสารพัดเพชรเคยประทานเงินให้หลายชั่ง เพราะเป็นน้องต่างพ่อ
        พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงบันทึกไว้ว่า  วันนี้โชคดี/วันดี)

๒.    หม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ์   ภายหลังได้เป็นพระองค์เจ้า   มีบุตร
       หม่อมราชวงศ์โนรี  ได้เป็นหลวงนายฤทธิ์

       หม่อมราชวงศ์เล็ก   ได้เป็นเจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์
       ลูกคือ หม่อมหลวงพัวพัน  ได้เป็นหม่อมในหม่อมเจ้าอุดมดิเรกลาภ ในพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นภูธเรศร์ธำรงศักดิ์

ต่อมา หม่อมน้อย ได้เป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม  มีลูก ๑๐ คน

๑.   หม่อมเจ้าชายเปีย

๒.   หม่อมเจ้าชายระเบียบ
      มีบุตรชื่อ ม.ร.ว. จันทร์เป็นนักเรียนกฎหมาย

๓.   หม่อมเจ้าหญิงปุก

๔.   หม่อมเจ้าชายจำเริญ

๕.   หม่อมเจ้าหญิงจรัศ

๖.   หม่อมเจ้าหญิงรศ

๗.   หม่อมเจ้าชายประวิช
      มีหม่อมห้ามชื่อหม่อมเจ้าสาระภี ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
      มีบุตร ชื่อ  ม.ร.ว.ถัด  (ประวัติของท่านน่าอ่านมาก  ทรงต่อสู้ชีวิต  มองโลกอย่างสนุกสนาน  ต่อมาได้เป็น พระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์  
      ครอบครัวของท่านทำอาหารเป็นเลิศ/วันดี)

๘.   หม่อมเจ้าปฤษฎางค์  ต่อมาได้เป็นพระองค์เจ่า
     (คุณนวรัตน์ ได้เขียนเรื่องของท่านอย่างมีรสชาติเป็นที่สุดไว่ใน พันทิปแล้ว)

ที่ ๙ และ ที่ ๑๐  ไม่ปรากฏนาม


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ม.ค. 10, 06:00
คุณพุ่มเมื่อนั่งเรือผ่านวังกรมขุนราชสีหวิกรม    รำพึงว่า คุณน้อยซึ่งเป็นห้ามราชสีห์ ถึงจะเหงาเพราะกรมขุนสิ้นแล้ว
ก็ยังมีลูกอีกหลายคน


พระยากสาปนกิจโกศล(โหมด  อมาตยกุล) ในบันทึกความทรงจำของท่าน  เล่าว่า  หม่อมน้อยร่ำรวยมาก รับจำนำเครื่องเพ็ชรของเจ้านาย


บรรดาศักดิ์ของขุนนางคนสำคัญก็จำได้ถ้าท่านผู้เล่าจะวงเล็บชื่อเดิมไว้  เพราะบางท่านมีหลายบรรดาศักดิ์  ไม่คุ้นก็มาก


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ม.ค. 10, 06:12
พระยาราชมนตรี(ภู่)  มีบุตรด้วยอนุภรรยาหลายคน    จะออกชื่อแต่ผู้มีบรรดาศักดิ์บางคน

จมื่นมหาดเล็ก(อ่ำ)

หลวงเสน่ห์รักษา(เอี่ยม)

ทั้งสองเป็นข้าราชการในรัชกาลที่ ๕  กรุงเทพ ฯ



หญิงชืื่อ นิ่ม  

นวม

ศิลา เป็นภรรยานายสุทธิรักษ์

โหมด เป็นภรรยาเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี(ท้วม)
มีลูกชื่อเปีย  เป็น นายฉันหุ้มแพรในรัชกาลที่ ๕  กรุงเทพ (ต่อมาเป็น พระยาราชานุประพันธ์/สาแหรก สกุลบุนนาค/วันดี)
ลูกอีกคนชื่อ แสละ เป็นภรรยาพระยาสีกาฬสมุด(ข้อมูลไม่ตรงกับสาแหรก สกุลบุนนาค/วันดี)


บุตรพระยาราชมนตรี(ภู่)ยังมีอีก  ไม่จำเป็นจะกล่าว  ด้วยหน้ากระดาษไม่พอรับรอง  ก.ศ.ร. กุหลาบเขียน



กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 10, 09:13
 
อ้างถึง
หญิงชื่ออิ่ม  ได้เป็นเจ้าจอมอยู่งาน  ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  กรุงเทพ ฯ
      (เรื่องน้องแท้ๆของคุณพุ่มเป็นเจ้าจอมนี้  ไม่เคยเห็นข้อมูลมาก่อน
      คุณพุ่มไม่เคยเอ่ยถึง/วันดี)

คิดเล่นๆ  เพราะคงไม่มีวันรู้คำตอบ
สะกิดใจตรงที่คุณวันดีบอกว่า  คุณพุ่มไม่เคยเอ่ยถึง

น้องสาวที่ถวายตัวทีหลัง   สาวกว่า และอาจจะสวยกว่า  หรือเปล่า ทำให้คุณพุ่มถวายบังคมลาสมเด็จพระปิ่นเกล้า กลับไปรับราชการวังหลวงอีกครั้ง

สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ย่อมทรงทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงมีพระราชนิพนธ์
เจ้าช่อมะกอก  เจ้าดอกมะไฟ
เจ้าเห็นเขางาม   เจ้าตามเขาไป
เขาทำเจ้ายับ   เจ้ากลับมาไย
เขาสิ้นอาลัย    เจ้าแล้วหรือเอย


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ม.ค. 10, 10:35
ช่วยทำเชิงอรรถให้คุณวันดี

ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้เป็นพระยาราชมนตรี  แล้วให้เป็นอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ พระราชทานบ้านท่าพระให้พระยาราชมนตรี(ภู่)

บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังเดียวกันกับบ้านของสุนทรภู่สมัยที่รับราชการเป็นหลวงสุนทรโวหาร แพสักวาของคุณพุ่มก็อยู่หน้าบ้านหลังนี้

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์  ต่อมาได้เป็นพระองค์เจ่า (คุณนวรัตน์ ได้เขียนเรื่องของท่านอย่างมีรสชาติเป็นที่สุดไว่ใน พันทิปแล้ว)

ชีวิตดั่งนิยาย-พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังพระปิยะมหาราช?
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/07/K8075368/K8075368.html
            
บุตรพระยาราชมนตรี(ภู่)ยังมีอีก  ไม่จำเป็นจะกล่าว  ด้วยหน้ากระดาษไม่พอรับรอง  ก.ศ.ร. กุหลาบเขียน

ก.ศ.ร.กุหลาบคงลืมเขียนถึงบุตรที่ชื่อ บัว  ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็นพระยามณเฑียรบาล

 พระยามณเฑียรบาล (บัว) ----->  พระชำนาญคุรุวิทย์ (นายพันตรีแย้ม ภมรมนตรี) -----> พลโทประยูร ภมรมนตรี ------> ยอดมนู-ยุรนันท์ ภมรมนตรี

 :)
                                                                        



กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ม.ค. 10, 10:48
พระยาราชมนตรี (ภู่) เปรียบเสมือนดัง ‘บ่อแก้ว’ ของรัชกาลที่ ๓  

พระยาราชมนตรี (ภู่) เป็นบุตรชายของพระยาศรีสรราช ในรัชกาลที่ ๑   พระยาศรีสรราชเป็นบุตรชายของพระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็กในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ พระยาธิเบศร์บดีผู้นี้ว่ากันว่า คุ้นเคยกันกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตั้งพระทัยว่าจะทรงตั้งให้เป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เสนาบดีกรมวัง พอดีพระยาธิเบศร์บดีถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน

หลานปู่ของพระยาธิเบศร์บดี คือ นายภู่ ได้ถวายตัวทำราชการ ได้เป็นจางวางมหาดเล็กในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดปราน ตรัสเรียกว่า “ไอ้ภู่” เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดฯให้เป็นจางวางมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓ ก่อน ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ ว่ากล่าวดูแลสรรพภาษีอากรบ่อนเบี้ย โรงหวย เตาสุรา ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร จึงทรงเปรียบให้เป็น ‘บ่อแก้ว’ ในรัชกาลของพระองค์ พระยาราชมนตรี (ภู่) มีชื่อเสียงในความซื่อสัตย์สุจริต พูดง่าย ๆ ว่าแม้จะดูแลพระคลังก็มิได้กอบโกยเอาเข้าพกเข้าห่อของตน เมื่อสิ้นบุญของท่าน ธิดาจึงมิได้มีมรดกเงินทอง จะเรียกว่าตกยากก็คงได้ ธิดาของพระยาราชมนตรี (ภู่) คือ คุณพุ่ม กวีเอก ผู้มีฉายานามว่า ‘บุษบาท่าเรือจ้าง’

คุณพุ่มบรรยายถึงบิดาของท่านไว้ในกลอนเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๓ ไว้ในตอนแรก ๆ ว่า

ด้วยพระองค์ทรงเลี้ยงไว้เพียงบุตร                        เป็นสุขสุดสมบัติพัสถาน
ถึงพลั้งผิดปลิดโปรดโทษประทาน                        ด้วยการสุจริตของบิดา
คือถือมั่นกตัญญูชูพระเดช                                รักษาเขตคลังสมบัติมนัสา
ไม่ฉ้อหลวงล่วงพระราชอาชญา                           ทำเงินตราขึ้นไว้ในแผ่นดิน
สมพัตสรบ่อนเบี้ยคิดเกลี้ยกล่อม                         รู้เก็บหอมรอมรับซึ่งทรัพย์สิน
เดิมกรุงเก่าเล่าวิบัติปัฐพินทร์                             เป็นราคินครั้งพม่ามันมากวน
สมบัติกรุงยุ่งยับนับเอนก                                 อภิเษกกษัตรารักษาสงวน
ประชาชนจนเซยังเรรวน                                  การเรือกสวนสมพัตสรต้องผ่อนปรน
สืบสยามสามทั้งพระนั่งเกล้าฯ                            เป็นจอมเจ้าจักรพรรดิบำเพ็ญผล
ประชาชีมีทั่วทุกตัวคน                                    ได้ลาภผลพฤกษาเนื้อนาปรัง
ถึงสุธาหากินถิ่นประเทศ                                  คุ้มภัยเพทโจรโขมยได้โดยหวัง
ท่านบิดาราชมนตรีว่าที่คลัง                               จึงแต่งตั้งเจียสัวตัวอากร
ให้เงินหลวงตวงเติมเฉลิมฉลาด                           ฉลองบาทบพิตรอดิศร
คลังสมบัติวัฒนาสถาวร                                   พระนครบริบูรณ์จำรูญรักษ์
เป็นบุรุษสุจริตสนิทนาถ                                   เฉลิมบาทคู่บุญจุลจักร
รู้ถ่ายเทเสน่หาสาพิภักดิ์                                  บำรุงรักษาสมบัติขัติยา

จากบทความเรื่อง ขุนนางฝ่ายหน้า โดย  จุลลดา ภักดีภูมินทร์ นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๔๖๒ ปีที่ ๔๘ ประจำวันอังคารที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๔
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?stcolumnid=1098&stissueid=2462&stcolcatid=2&stauthorid=13

๑  ข้อมูลตรงนี้ของ ม.ล.ศรีฟ้า ไม่ตรงกับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ซึ่งเขียนว่า พระยาราชมนตรี (ภู่) เป็นหลานตาของพระยาศรีสรราช

พระยาศรีสรราชมีธิดาชื่อไม่ปรากฏ   ได้สามีไม่ทราบชื่อแต่เป็นพระพี่เลี้ยงในทูลกระหม่อมพระบัณฑูรน้อย
คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์

ลูกสาวเจ้าคุณศรีสรราชและลูกเขย  มี บุตร ๖ คน

๑.    สาหร่าย    เจ้าจอมอยู่งานในรัชกาลที่ ๒
๒.    นายช้าง  เป็นหลวงศรีสมยัติ ในรัชกาลที่ ๒
๓.    นายนก  ได้เป็นพระยาอภัยภักดี จางวางกรมหมอ  ในรัชกาลที่ ๓
๔.    พลับจีน     ถวายตัวเป็นหม่อมละครในพระบัณฑูรน้อย  เป็นตัวจินตหรา
       ในรัชกาลที่ ๒   หม่อมพลับจีน   มีพระองค์เจ้าองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้ารัชนีกร
       ประสูติปีจอฉอศก จ.ศ. ๑๑๗๖   พระราชบุตรองค์ที่ ๓๕ ในกรมพระราชวังบวร รัชกาลที่ ๒  กรุงเทพ
๕.    นายภู่  ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก  แล้วได้เป็นจางวาง ในพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  รัชกาลที่ ๒
๖.    นายปัก


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ม.ค. 10, 11:07
ขอบคุณมากค่ะคุณเพ็ญชมพู


ขอแก้ คคห  ๓
ข้อ ๓      หญิงชื่อ แย้ม     
ตกตัว ม   ไป


โตีะหนังสือมีเศษกระดาษที่กรอบร่วงสลายตัวจากแผ่น  ร่วงอยู่กระจายเลยค่ะ
เพราะค่อย ๆ เปิดจาก เล่ม จริง
บางครั้งกดหัวแม่มือขวาด้วยความตื่นเต้น  กระดาษแตกเป็นร่องลงไป ๔ - ๕ แผ่น

ไม่เสียดายเพราะหนังสือมีไว้อ่าน  ไม่ได้มีไว้สะสม


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 ม.ค. 10, 11:33
ดีครับ :)    ขออนุญาตตามอ่านไปก่อน  ได้จังหวะดีเมื่อไร จะเข้ามาผสมโรงครับ ;D

(อีกนานไหมหนอ  กว่าถึงประเด็นสักวาของคุณพุ่ม)


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 ม.ค. 10, 15:27
รออ่านนาน  ยังไม่มีใครมาต่อกระทู้  ขออนุญาตผสมโรงดังนี้

แม้คุณพุ่ม  จะได้ชื่อว่าเป็นนักกลอนหญิงฝีปากเอก  แต่ท่านมีผลงานค่อนข้างน้อย  และส่วนใหญ่เป็นผลงานขนาดสั้น   ผลงานของคุณพุ่มมักมีลักษณะเสียดสีเหน็บแนมแบบเพลงปฏิพากย์  ผลงานที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือกลอนสักวาบทที่ว่า


สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม              นี่ฤากรมภูวเนตรเศษสวรรค์
เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน    เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ


กล่าวกันว่ากลอนสักวาบทนี้ คุณพุ่มแต่งโต้อย่างทันควันกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ที่ทรงพระนิพนธ์กลอนสักวาแหย่คุณพุ่มก่อนว่า

สักวาวันนี้พี่สังเกต                      เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา               ................................

และเล่ากันต่อมาว่า สักวาดังกล่าว  เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร)จำไว้ได้บ้าง  จะหาฉบับให้จบยังไม่ได้


ถ้าถือตามที่เคยเชื่อกันมา  ว่าคุณพุ่มแต่งสักวาบทดังกล่าวโต้กับเสด็จในกรมภูวเนตร  แสดงว่า  คุณพุ่มก็ต้องแต่งสักวาบทนี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ หรือ ๔  เพราะเสด็จในกรมภูวเนตร สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ (จำปีพ.ศ. ไม่ได้)   แต่ในฐานะผู้อ่านวรรณคดีสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้น  เจ้าพระยาเทเวศรฯ ท่านจะมีโอกาสได้เห็นการโต้สักวาครั้งนั้นหรือ ถึงได้จดจำสักวาดังกล่าวของคุณพุ่มได้  หรือมิเช่นนั้นท่านคงจะต้องฟังคนอื่นเล่าให้ฟังอีกทอด 

 อ.ล้อม ได้เคยหาหลักฐานมาพิจารณาสักวาบทนี้ใหม่ ว่า คุณพุ่มแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕  และแต่งโต้กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศรธำรงศักดิ์  เจ้านายซึ่งมีพระปรีชาด้านกาพย์กลอนเป็นเอกเหมือนกัน 

ใครจะแย้งหรือสนับสนุนความเห็น  เชิญนะครับ   ;D



กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ม.ค. 10, 15:57
อ.ล้อม ได้เคยหาหลักฐานมาพิจารณาสักวาบทนี้ใหม่ ว่า คุณพุ่มแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕  และแต่งโต้กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศรธำรงศักดิ์  เจ้านายซึ่งมีพระปรีชาด้านกาพย์กลอนเป็นเอกเหมือนกัน

เหตุผลของอาจารย์ล้อมมีดังนี้

สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม                  นี่ฤๅกรมภูวเนตรเศษสวรรค์
เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน         เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ

อะไรอยู่เบื้องหลังสักวาบทนี้ อาจารย์ล้อมท่านว่า เป็นเรื่องที่น่าจะแลลอดไปข้างหลังเป็นอย่างยิ่ง

อาจารย์ล้อมท่านอธิบายว่า นายทิมผู้นี้น่าจะคือ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี ผู้แต่งนิราศหนองคาย  ที่ได้รับการลงพระราชอาญา ทวน (เฆี่ยนหลัง) แล้วจำคุก ดังมีหลักฐานในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ประจำวันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล (ตรงกับวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๑)

เพราะฉะนั้นสักวาบทนี้ควรจะแต่งขึ้นไม่ก่อนเดือน ๙ ปี พ.ศ.๒๔๒๑ หรือหลังจากนั้นไม่นานนัก  และผู้บอกสักวาฝ่ายตรงข้ามคุณพุ่มต้องมีส่วนในการจับนายทิมมาทวน

แต่กรมหลวงภูวเนตรฯ สิ้นพระชนม์ในปีมะโรง พ.ศ.๒๓๙๙ แล้วจะมาบอกสักวาในปี พ.ศ.๒๔๒๑ ได้อย่างไร

ความจริงควรจะเป็นผู้ใด

ท่านว่า เป็นใครก็ได้ที่มีวงสักวา  และมีหน้าที่เกี่ยวกับการชำระความเรื่องนิราศหนองคายในคราวนั้น

จากหนังสือเรื่อง จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ฉบับ พ.ศ.๒๔๖๘ มีคำประกาศตั้งกรมเจ้านายพระองค์หนึ่ง ในปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙  ให้ทรงมีหน้าที่ชำระความฎีกาในศาล เจ้านายพระองค์นี้ก็คือ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์

ดังนั้น จะเป็นไปได้ไหมที่สักวาเดิมของคุณพุ่มจะมีความว่า

สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม                                 นี่หรือกรมภูธเรศเศษสวรรค์
เอาอ้ายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน                        เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ

รายละเอียดมีอยู่ในภาคผนวกหนังสือ ว่ายเวิ้งวรรณคดี ของอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว สำนักพิมพ์พิมพ์คำ ปี พ.ศ.๒๕๔๙



กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 10, 16:01
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมกลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ทรงพระประชวรด้วยพระโรคทุลาวะสะ  สิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง อัฐศก จ.ส. ๑๒๑๘ ตรงกับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๙๙  ศิริพระชันษา รวม ๕๖ ปี ครั้น ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ (วันพฤหัสบดีที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๐)

สักวาที่คุณพุ่มแต่ง  เอ่ยถึงกรมหลวงภูวเนตร   คู่สักวาก็จะเป็นคนอื่นไปไม่ได้นอกจากเจ้านายพระองค์นี้

ส่วนบทนี้
สักวาวันนี้พี่สังเกต                      เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา              

เจ้านายพระองค์ที่แต่ง น่าจะมีพระชนม์มากกว่าคุณพุ่ม หรือไม่ก็ไล่เลี่ยกัน  ถึงกล้าเรียกว่า  พุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
ดูจากถ้อยคำก็แสดงว่าคุ้นเคยกันมาก่อน    เพราะรู้ว่าเธอไม่ได้เล่นสักวามาหลายปี (คงเป็นช่วงที่ไปเป็นหม่อมห้ามของเจ้าฟ้าน้อย)
กรมหลวงภูวเนตรฯ ท่านเป็นกวี    จะมีคารมแบบนี้ย่อมเป็นไปได้
นอกจากนี้เคยอ่านพบว่า ตอนคุณพุ่มเป็นสาวเนื้อหอม อยู่บนแพของเจ้าคุณพ่อ    กรมหลวงภูวเนตรก็เป็นหนึ่งในหนุ่มๆที่แวะเวียนไปเล่นกลอนด้วย

บทที่โต้สักวาตอนคุณพุ่มชราแล้ว มีอีกบทหนึ่ง  อาจจะโต้กับกรมหมื่นภูธเรศก็ได้   ดิฉันจำได้ที่ตอบว่า
อย่าเป็นเมียเลยคะหม่อม ยอมเป็นแม่    ฉันก็แก่รุ่นราวกับคราวป้า

ขอออกนอกเรื่องว่า โรคทุลาวะสะ นี่ใครพอรู้ไหมว่าโรคอะไร   ฟังชื่อน่าจะมาจากภาษาบาลี นะคะ


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ม.ค. 10, 16:10
บทความของอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ในหนังสือว่ายเวิ้งวรรณคดี ที่สงสัยว่า "กรมภูวเนตร" ในสักวาของคุณพุ่มน่าจะเป็น "กรมภูธเรศ" นั้น น่าจะมีข้อแย้งอยู่

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๔ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารตาตลับ ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘   ขณะที่กรมหมื่นภูธเรศฯ ประสูติ คุณพุ่มคงเป็นสาวแล้ว

สักรวาวันนี้พี่สังเกต                                       เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา                                   .............................................

กรมหมื่นภูธเรศฯ คงไม่เรียกตนเองกับคุณพุ่มว่า "พี่"  "เชษฐา" เป็นแน่

นายทิม หรืออ้ายทิม คงไม่ใช่คนเดียวกับผู้แต่งนิราศหนองคาย  หรือถ้าหากเป็นคนเดียวกัน สักวาที่ว่า

สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม                                 นี่หรือกรมภูธเรศเศษสวรรค์
เอาอ้ายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน                        เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ

คงไม่ใช่การตอบบทสักวา "สักรวาวันนี้พี่สังเกต" น่าจะเป็นคนละเหตุการณ์กัน หรือว่าเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ จะจำสับสนลำดับของเหตุการณ์

 ;D



กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 10, 16:19
ขอค้านอาจารย์ล้อม

สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม                  นี่ฤๅกรมภูวเนตรเศษสวรรค์
เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน                       เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ

สักวานี้  เนื้อหาก็บอกอยู่แล้วว่ากำลังเล่นสักวากัน      สำนวนภาษาก็ออกไปทางยั่วเย้า ล้อเลียน  สมัยนี้คือแซว
แล้วคุณพุ่มจะไปพาดพิงถึงการเฆี่ยนหลังเจ้าของนิราศหนองคาย หาอะไร
เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ  แปลว่าไม่เป็นสับปะรด    ใบขี้เหล็กเขานิยมแกงกัน ไม่เอาไปยำ
แล้วยังให้เด็กทำเสียอีก     ก็แปลว่ากลืนไม่ลงแน่นอน
คำว่าทวน  ไม่ได้แปลว่าเฆี่ยนหลังอย่างเดียว  ทวนหนังสือ  คืออ่านหนังสือซ้ำ  หรือบอกหนังสือซ้ำ

ในที่นี้แสดงว่า คนที่มาร่วมวงสักวา  มี "นายทิม" อีกคนหนึ่งด้วย   เล่นสักวากลอนสด  คนบอกสักวาพูดกันปากเปล่า  ก็ต้องอาศัยคน "ทวน" กลอนด้วย เพื่อให้คนฟังตามทัน

ส่วนคนชื่อ ทิม  เป็นชื่อง่ายๆของคนไทยที่ในรัชกาลหนึ่งๆ เห็นจะมีเป็นร้อยเป็นพัน  นับเฉพาะขุนนางก็หลายสิบหรือร่วมร้อยก็เป็นได้
ไม่ได้แปลว่า ชื่อทิมในเรื่องนี้จะต้องเป็นคนเดียวกับทิมในเรื่องโน้น  ถ้าไม่มีบริบทสนับสนุนว่าเป็นคนเดียวกัน

ถ้าไม่มีหลักฐานอื่นมากกว่านี้   มีเท่าที่เห็น  ดิฉันก็จะสันนิษฐานว่าอ.ล้อม จับเอาชื่อทิม ไปเป็นคนเดียวกับเจ้าของนิราศหนองคาย   แล้วก็ดัดแปลงหลักฐานอื่นๆให้เข้ากัน
แม้แต่เปลี่ยนพระนามเจ้านายไปเป็นอีกองค์เสียเฉยๆ เพื่อให้ลงกรอบที่วางเอาไว้    


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ม.ค. 10, 16:24
หรือจะหมายถึงนายทิมที่ไม่ได้ชื่อ "นายทิม"

คำว่า "นาย" นอกจากจะเป็นคำนำหน้าผู้ชายแล้ว ยังหมายถึง ผู้เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าในกิจการนั้น ๆ เช่น นายตรวจ นายทะเบียน, ผู้ควบคุม เช่น นายหมู่  นายหมวด, ผู้ชํานาญในกิจการนั้น ๆ เช่น นายไปรษณีย์ นายช่าง (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒)

"ทิม" แปลว่า น. ศาลาแถวหรือห้องแถวสำหรับเป็นที่พักหรือไว้ของในพระราชวัง เช่น ทิมตำรวจ ทิมกลอง.  ทิมดาบ (โบ) น. ทิมที่พวกขุนนางคอยเฝ้าฟังกระแสราชการ. (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒)

ดังนั้น "นายทิม" อาจจะหมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในโรงทิม หรือผู้ควบคุมโรงทิมก็เป็นได้

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งในสักวาของคุณพุ่มใช้คำว่า "นายทิม" ไม่ใช่ "อ้ายทิม" อย่างที่อาจารย์ล้อมว่าไว้ เนื่องด้วยคำว่า "อ้าย" ในสมัยก่อนมักใช้นำหน้าชื่อผู้ชายมักใช้ในทางไม่ดี เช่น อ้ายดีผู้ร้ายรับเปนสัจให้การซัดพวก เพื่อนถึงอ้ายเชด อ้ายแสน อ้ายคง อ้ายมั้น.(สามดวง). (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒) 

ถ้าหาก "ทิม" เป็นชื่อน่าจะใช้คำว่า "อ้ายทิม" อย่างที่อาจารย์ล้อมอยากได้ยิน

 ;)



กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 ม.ค. 10, 16:27
จริงอยู่ว่า  ว่าบทสักวานั้น เขียนว่า กรมภูวเนตร  แต่ก็เป็นสักวาที่จดมาจากความทรงจำของคนอื่นอีกที  ก็มีโอกาสจะผิดเพี้ยนกันได้อยู่

เพราะ  ในสักวาก็ไม่ได้ระบุไว้ว่า ทรงกรมอะไร กรมหลวง? กรมหมื่น?   ส่วนพระนามทรงกรม  ภูวเนตร  กับ ภูธเรศร  ก็นับว่าใกล้เคียงกันมาก  ถ้าลำพังจำได้เลาๆ ก็อาจจะจำสับสนได้  ในเมื่อเป็นกลอนที่จดภายหลังที่แต่งนานมาก  การสืบทอดแบบปากต่อปาก  โอกาสผิดเพี้ยนมีสูง  ที่สำคัญ ไปจับว่าผิดเพี้ยนกันเมื่อใดก็ไม่เหลือจะสืบได้  

กรมหลวงภูวเนตรฯ ทรงเป็นกวี แต่พระองค์ทรงหนักไปทางละคร    กรมหลวงภูวเนตรเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ที่ทรงสืบทอดการละครมาจากสมเด็จพระราชบิดาเช่นเดียวกับรัชกาลที่ ๓-๔  แต่ที่ว่าทรงสักวานั้นไม่ใคร่เห็นตัวอย่างพระนิพนธ์

กรมหมื่นภูธเรศรฯ  ทรงเป็นกวี  และทรงเล่นสักวา   อีกทั้งยังมีกรณีที่เกี่ยวกับอ้ายทิม (หลวงพัฒนพงศ์ภักดี ทิม สุขยางค์)  โดยตรง  เพราะได้ทรงพิจารณาคดีอ้ายทิมแต่งนิราศว่ากระทบสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)  และอ้ายทิมได้รับโทษทวน (เฆี่ยนหลัง?) ด้วยตามที่สักวาว่าไว้

ถ้าเป็นกรมหลวงภูวเนตร  พระองค์จะทรงมาเกี่ยวกับอ้ายทิมได้อย่างไร  และอ้ายทิมจะโดนโทษทวน เพราะพระองค์ด้วยเหตุใด ก็แลไม่เห็น

ส่วนว่า เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา  น่าเป็นการยั่วล้อโดยโวหารกันในวงสักวามากกว่า  อย่าเพิ่งไปคิดว่า  เป็นการนับถือตามอายุอาวุโส  (ถ้าเคยดูลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เขาก็เล่นกันอย่างนี้)

โรคทุลาวะสะ  ขอเก็บไปเป็นการบ้านนะครับ  พอดีเอกสารอยู่ไกลมือ  ค้นไม่ทัน :)


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 10, 16:30
นายทิม   น่าจะเป็นชื่อมหาดเล็กค่ะ   คุณเพ็ญชมพู
จะมีบรรดาศักดิ์เป็นชั้นหุ้มแพรหรือไม่ก็ตาม  แต่ชื่อนี้คงเป็นที่เรียกกันมาจนคุ้นปากคุณพุ่ม



กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ม.ค. 10, 22:23
เข้ามารายงานตัวว่าเข้ามาอ่าน
และขอบพระคุณคุณวันดีกับคุณเพ็ญชมพูที่กรุณาเอ่ยถึงผลงานเรื่องพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย ที่ผมเคยเสนอไว้ในเวปครับ


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ม.ค. 10, 08:47
กรุณาทำลิ้งค์เรื่องพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ไหมคะ   อยากไปอ่าน
ในเรือนไทย มีการเอ่ยถึงท่านไว้บ้างเหมือนกัน
http://www.reurnthai.com/index.php?action=search2


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ม.ค. 10, 08:50

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์  ต่อมาได้เป็นพระองค์เจ่า (คุณนวรัตน์ ได้เขียนเรื่องของท่านอย่างมีรสชาติเป็นที่สุดไว่ใน พันทิปแล้ว)

ชีวิตดั่งนิยาย-พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังพระปิยะมหาราช?
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/07/K8075368/K8075368.html

ในเรือนไทย

พระองค์เจ้าปฤษฎางค
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=174.0

 ;D


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 ม.ค. 10, 08:56
สักวาวันนี้พี่สังเกต                      เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา    

ตามประวัติของคุณพุ่มว่า    เมื่อสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งชวนให้คุณพุ่มเข้ามารับราชการข้างในวังหลวง  แต่คุณพุ่มกราบบังคมทูลขอตัว   คงจะเป็นเพราะคุณพุ่มเห็นว่าอยู่นอกวังหลวงสบายใจกว่า  

ต่อมาคุณพุ่มได้ไปพึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิศณุนาถนิภาธร  พอเจ้านายพระองค์นี้สิ้นพระชนม์ (๒๔๐๕) ก็ไปพึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ  ต่อมาเจ้านายพระองค์นี้สิ้นพระชนม์ (๒๔๑๐) คุณพุ่มคงจะขาดที่พึ่งอยู่ระยะหนึ่ง  จึงได้เข้าไปอยู่ในวังหลวงกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้านารีรัตนาและเจ้าจอมมารดาดวงคำในรัชกาลที่ ๔   ในระยะนี้คุณพุ่มได้แต่งเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๔ พอมีรายได้เลี้ยงตัว  จากนั้น คนคงเริ่มจำคุณพุ่มได้ในฐานะนักกลอนสักวา  

ต่อมา เมื่อรัชกาลที่ ๕ เริ่มทรงสักวา (ราวปี ๒๔๑๙)คุณพุ่มได้ย้ายเข้าไปรับราชการในสำนักกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร  ในตำแหน่งที่คนบอกสักวา  เจ้านายพระองค์นี้ได้ทรงชุบเลี้ยงคุณพุ่มต่อมาจนสิ้นอายุ        

ในช่วงที่คุณพุ่มระหกระเหิน  ท่านคงจะไม่ได้เล่นสักวาที่ไหน  คนก็ลืมท่าน   แต่ก็ยังมีคนจำได้อยู่บ้าง  คนที่เล่นสักวาสมัยก่อนต้องอาศัยผู้มีบุญบารมีช่วยชุบเลี้ยงให้เป็นคนบอกสักวาในวงของท่าน  ลำพังตัวคนเดียว  นักสักวาอยู่ลำบาก   กวีสมัยก่อนต้องพึ่งพาเข้านายหรือขุนนางที่มียศสูงๆ ชุบเลี้ยง   อนึ่งถึงเจ้านายจะชุบเลี้ยง  แต่ถ้าเจ้านายไม่มีนิสัยรักในการเล่นสักวา  ก็ไม่มีโอกาสแสดงฝีมือ  คงได้แต่รับใช้งานอื่นไปตามถนัด

ฉะนั้น ที่ว่า  "มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา" ก็บ่งบอกว่า  คุณพุ่มว่างเว้นจากวงสักวามานานมาก  


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 ม.ค. 10, 09:25
อ้างถึง
และเล่ากันต่อมาว่า สักวาดังกล่าว  เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร)จำไว้ได้บ้าง  จะหาฉบับให้จบยังไม่ได้

ในเมื่อเจ้าพระยาเทเวศรฯ เป็นคนจดจำบทสักวา "ยำขี้เหล็ก" นี้ได้    ก็ต้องมาดูประวัติของท่านประกอบกับพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ด้วย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
ประสูติ  ๒๔ พ.ค. ๒๓๔๔ ในรัชกาลที่ ๑
ทรงกรม เป็นกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ เมื่อ ๒๓๙๔ ในรัชกาลที่ ๔ (ขึ้นเป็นกรมหลวงทีเดียว ไม่ได้เป็นกรมหมื่นมาก่อน)สิ้นพระชนม์ ๒๘ พ.ย. ๒๓๙๙ พระชันษา ๕๖ ปี  ได้เคยทรงกำกับราชการกรมพระนครบาลอยู่ช่วงสั้นก่อนจะสิ้นพระชนม์

ถ้ากลอนสักวาดังกล่าว  คุณพุ่มแต่งว่า กรมหลวงภูวเนตรฯ จริง  ก็ต้องเป็นช่วงระยะ ๒๓๙๔ - ๒๓๙๙ เป็นระยะเวลาประมาณ ๖ปี  แต่ใน ๖ ปีนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์คงจะทรงประชวรเสียสัก ๑-๒ ปี ซึ่งน่าจะไม่ได้ทรงสักวาได้

เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน  กุญชร)
เกิดเมื่อ ๑๘ พ.ย. ๒๓๙๕
ทำราชการ ถวายตัวทำราชการในปลายรัชกาลที่ ๔
๒๔๑๒ เป็นมหาดเล็กสารถีรถพระที่นั่ง  ๒๔๑๓ เป็นนายกวด มหาดเล็กหุ้มแพร  ๒๔๑๔ เป็นายจ่ายง  ๒๔๒๑ เป็นหลวงเดช นายเวรมหาดเล็ก  ๒๔๒๒ เป็นเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี  ๒๔๓๒ เป็นพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์  ๒๔๔๓ เป็นเจ้าพระยาในราชทินนามเดิม
ถึงแก่อสัญกรรม ๑ ม.ค. ๒๔๖๕ อายุได้ ๗๐ ปี ๑เดือน ๗วัน

ถ้าคุณพุ่มแต่งสักวาว่ากรมหลวงภูวเนตรฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ในระยะ ๒๓๙๔-๒๓๙๙ จริง เจ้าพระยาเทเวศรฯ เพิ่งจะเกิดและมีอายุได้อย่างมากที่สุด ๔ ขวบ และยังไม่ได้เข้ารับราชการ  ท่านจะได้ยินได้ฟังกับจดจำกลอนสักวามาบอกเล่าต่อได้อย่างไร  เว้นเสียแต่ว่า ท่านจะไปฟังคนอื่นเล่าให้ฟังอีกที อาจจะใช่ 

แต่กำลังสงสัยว่า  กลอนสักวาดังกล่าวนี้ คงเล่นเป็นการภายใน  (ส่วนพระองค์) คุณพุ่มจึงกล้าแต่งว่าเจ้านายได้   คนที่อยู่ร่วมฟังสักวาคราวนั้นจึงจดจำได้บ้าง (ไม่จบบท) และไม่มีการจดบันทึก  ถ้าคุณพุ่มเล่นสักวาบทนี้ในรัชกาลที่ ๔ กรมหลวงภูวเนตรฯ ก็มีพระชนม์ ๕๐ ปีเศษ แล้ว นับเป็นเจ้านายผู้ใหญ่  คุณพุ่มน่าจะเป็นสาว แต่อายุคงจะน้อยกว่ามาก  ตีเสียว่าน่าจะตกราว ๒๐ - ๓๐ เศษ  ท่านจะกล้าแต่งว่าเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หรือ  ที่สำคัญคุณพุ่มตอนนั้นสังกัดวงสักวาวังไหน วังหน้า?  คุณพุ่มสักวานี้ที่ไหน วังหน้า?  แล้วเจ้าพระยาเทเวศรฯ ไปทราบได้อย่างไร ใครเล่าให้ฟัง  พวกวังหน้า?

จะมีใครตอบได้ให้หายข้องใจบ้างหนอ :-\ :-\


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ม.ค. 10, 10:12
กรมหมื่นภูธเรศรฯ  ทรงเป็นกวี  และทรงเล่นสักวา   อีกทั้งยังมีกรณีที่เกี่ยวกับอ้ายทิม (หลวงพัฒนพงศ์ภักดี ทิม สุขยางค์)  โดยตรง  เพราะได้ทรงพิจารณาคดีอ้ายทิมแต่งนิราศว่ากระทบสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)  และอ้ายทิมได้รับโทษทวน (เฆี่ยนหลัง?) ด้วยตามที่สักวาว่าไว้

ขอสรุปมูลเหตุของคดีนิราศหนองคายอีกทีในส่วนที่เกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ด้วยพระชนมพรรษาเพียง ๑๖ พรรษา  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๑๖ จะเห็นได้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านมีความสำคัญและยิ่งใหญ่เพียงใด

มูลเหตุของคดีนิราศหนองคายมาจากความขัดแย้งระหว่างสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าสายตระกูลบุนนาคซึ่งกุมอำนาจไว้ทั้งหมด กับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเกิดสงครามปราบฮ่อ ทั้งสองได้ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในการจัดทัพ ทำให้นายทิมซึ่งเป็นคนของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ฯ ต้องออกมา “เถียงแทนนาย” ผ่าน นิราศหนองคาย โดยหาว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ สั่งเดินทัพในฤดูฝนเป็นการไม่สมควร ทั้งยังเป็นการขาดเมตตาจิตต่อไพร่พล สมเด็จเจ้าพระยาฯ โกรธมาก จึงนำเรื่องเข้ากราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งผลให้มีการสั่งเผา นิราศหนองคาย และลงโทษนายทิมด้วยการโบย ๕๐ ทีและจำคุก ๘ เดือน

ในสักวาของคุณพุ่มตรงที่ว่า

เอานาย (อ้าย) ทิมเข้ามาทวนพอควรกัน                        เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ

ถ้าสมมุติฐานของอาจารย์ล้อมถูกต้อง

ขอถามบ้าง

ใครเป็นคนหั่นใบขี้เหล็ก  ใบขี้เหล็กคือใครหรืออะไร และเด็กที่ยำใบขี้เหล็กเป็นใคร

 ;)




กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ม.ค. 10, 11:17
ขอเปลี่ยนบรรยากาศเรื่องใบขี้เหล็กกลับมาสู่เรื่องของพระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่)

๕.    นายภู่
       ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก  แล้วได้เป็นจางวาง ในพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  รัชกาลที่ ๒

       บ้านนายภู่จางวางตั้งอยู่ริมน้ำฝั่งตะวันตก  บางยี่ขันเหนือบ้านปูน   ภายหลังยกบ้านสร้สงเป็นวัดคฤหบดี

       ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้เป็นพระยาราชมนตรี  แล้วให้เป็นอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ
       พระราชทานบ้านท่าพระให้พระยาราชมนตรี(ภู่)

วัดคฤหบดีเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เหนือซอยบ้านปูน ในซอยวิมลสรกิจ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ๔๔ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

ประวัติของวัดมีคำอธิบายอยู่ในป้าย  ขอให้สังเกตบรรดาศํกดิ์ของสุนทรภู่

พระศรีสุนทรโวหาร ?

 :o


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ม.ค. 10, 11:28
ของดีภายในวัด

หลวงพ่อแซกคำ พระพุทธรูปทองคำแท้จากเวียงจันทน์

ทั้งสองภาพนี้ได้มาจากคุณเสือออย
http://www.pantown.com/board.php?id=12944&area=4&name=board1&topic=126&action=view


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ม.ค. 10, 13:05
สลับมาเรื่องของธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) บ้าง

คุณพุ่มคงจะขาดที่พึ่งอยู่ระยะหนึ่ง  จึงได้เข้าไปอยู่ในวังหลวงกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้านารีรัตนาและเจ้าจอมมารดาดวงคำในรัชกาลที่ ๔   ในระยะนี้คุณพุ่มได้แต่งเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๔ พอมีรายได้เลี้ยงตัว

คุณพุ่มเขียนไว้ในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๔  รำพันถึงชีวิตตนเองว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว เธอก็ลำบากยากจนลง  

ล่วงแผ่นดินปิ่นเกษจอมมงกุฎ              กลับจนรุดเกินริบที่ฉิบหาย
เหลือแต่กลอนกับชีวิตรอยู่ติดกาย         จึงพากเพียรเขียนถวายขายปัญญา
คนที่รู้พระเดชเกษกระหม่อม               เขาก็ย่อมนับถือมักซื้อหา
เอาอ่านเอิ้นเชิญชูขึ้นบูชา                  เดี๋ยวนี้ก็มาขอลอกฉันออกเต็ม
แต่ปัญญาหาไม่ง่ายเหมือนขายของ        ใช่เข้าพองร้องแรกเที่ยวแลกเข็ม
เรียนต่อครูรู้หลักตวงตักเต็ม                ต้องเก็บเลมเลือกคัดอัธิบาย

ชะตาชีวิตของธิดาคฤหบดี

เหลือแต่กลอนและชีวิตรอยู่ติดกาย   จึงพากเพียรเขียนเรื่องถวายขายปัญญา

 :(





กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ม.ค. 10, 13:38
คุณพุ่มไม่ใช่คนสิ้นไร้ไม้ตอก   พี่น้องก็มี    แต่ดูท่าทีว่าเธอจะมีทิฐิ  ไม่หันไปพึ่งใคร
ปกติผู้หญิงตัวคนเดียวในสมัยโน้น  เขาก็อยู่รวมกับพี่น้อง  ให้อุ่นใจ   
โดยมากก็อาศัยในบ้านเดียวกับพี่น้องผู้ชายที่มีบารมี    เพื่ออาศัยให้คุ้มครอง   


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ม.ค. 10, 15:32
คุณพุ่มเขียนไว้อีกในนิราศวังบางยี่ขัน เมื่อตามเสด็จพระองค์เจ้านารีรัตนาไปเยี่ยมพระญาติ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒

พ่อแม่น้ายายตายเหมือนถั่ว                  ยังแต่ตัวเต็มทีออกปี้ป่น
มายอมยากฝากชีวิตด้วยฤทธิจน             อยู่เป็นคนชิดใช้หมั่นไปมา
................................              ........................
โอ้วารียังรู้มีเวลาว่าง                          นิราศร้างแรมทิ้งตลิ่งหมอง
รู้คลาดเคลื่อนเลื่อนลดไปหมดคลอง         ดูทำนองเหมือนในน้ำใจคน
เมื่อคราวดีมีผู้มาสู่หา                         หมายพึ่งพาผูกรักเป็นพักผล
พอถอยยศลดลับฤๅอับจน                   ไม่เห็นคนใครทักรู้จักเลย

ต้องขอบพระคุณคุณวันดีที่กรุณานำมาให้อ่าน

 ;D






กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 ม.ค. 10, 15:55

โอ้วารียังรู้มีเวลาว่าง                          นิราศร้างแรมทิ้งตลิ่งหมอง
รู้คลาดเคลื่อนเลื่อนลดไปหมดคลอง         ดูทำนองเหมือนในน้ำใจคน
เมื่อคราวดีมีผู้มาสู่หา                         หมายพึ่งพาผูกรักเป็นพักผล
พอถอยยศลดลับฤๅอับจน                   ไม่เห็นคนใครทักรู้จักเลย[/color]





กลอนนี้เป็นจริงมาทุกยุคสมัย   สุนทรภู่เองก็เคยประสบเหตุการณ์อย่างนี้   กระทั่ง "ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม"  หรือ "สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา   วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์"

กรณีของคุณพุ่ม  ท่านเคยเป็นหม่อมในเจ้าฟ้าน้อย  เมื่อสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว  ท่านก็เหลือตัวคนเดียว (เป็นหม้าย)   ด้วยความที่เป็นห้ามเจ้านายมาก่อน  จะหาคู่ชีวิตใหม่ก็ใช่ที่  เพราะใครที่หมายหญิงที่เคยเป็นห้ามของเจ้านายมาเป็นคู่ของตนย่อมเกรงอาญาอยู่  ถึงจะมีประกาศรัชกาลที่ ๔ ออกมาภายหลัง  คนก็คงไม่กล้าฝืนธรรมเนียมปฏิบัติ  คุณพุ่มจึงตกระกำลำบาก  เพราะลำพังวิชากลอนที่มีก็ใช่ว่าจะเลี้ยงชีพไปได้ตลอด  เพราะถ้าไม่มีคนอุปถัมภ์ศิลปินก็อยู่ได้ยาก   การเป็นผู้หญิงตัวคนเดียว ไม่มีลูก ไม่มีสามี  ถึงมีญาติพี่น้อง  ก็ดำรงตนลำบาก  เพราะพี่น้องก็อาจจะไม่ได้มีฐานะดีพอที่ช่วยเหลือท่านได้ตลอดไป  ที่สำคัญ  ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว  คุณพุ่มเหลือญาติพี่น้องที่พอพึ่งได้สักกี่คน  ก็ในเมื่อท่านถึงกับรำพันมาว่า  

เมื่อคราวดีมีผู้มาสู่หา                         หมายพึ่งพาผูกรักเป็นพักผล
พอถอยยศลดลับฤๅอับจน                   ไม่เห็นคนใครทักรู้จักเลย

ท่านคงจะได้เห็นนิสัยญาติพี่น้องก็คราวนี้แหละกระมัง :(


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ม.ค. 10, 16:08
คุณพุ่มรำพึงต่อถึงเรื่อง รักเร้นรักร้างจึงจางจร

ถึงท่าพระปะบ้านสถานถิ่น                ยิ่งถวิลหวั่นใจมิได้เห็น
สวาสดิ์แสวงแฝงชีวิตมามิดเม้น          เป็นรักเร้นรักร้างจึังจางจร
จะคงสัตย์ฤๅจะปัดขี้ปดปิด               ฤๅจะคิดลายลักษณอักษร
เห็นบ้านเรือนเตือนใจอาลัยกลอน        ปานนี้นอนอยู่ที่หอแล้วหนอจ๊ะ
.................................        ................................
ที่ทรวงซื่อถือธรรมน้ำพิพัฒน์             โสมนัสสนิทนาถราชการ
หมายเป็นหนึ่งพึ่งเขตพระเดชเสด็จ       เป็นสิ้นเสร็จครองสัตย์อัธิษฐาน
ขอเป็นข้ากว่าจะถึงซึ่งนิพพาน            ไม่โปรดปรานเปรียบเป็นเพียงเอ็นดู
ูนี่เป็นข้ามาพึ่งเพียงครึ่งชาติ              แรมนิราศร้างรสโอ้อดสู
เหมือนสระสุทธิ์บุษบงทรงเรณู           ไร้ที่ผู้รักษาพยาบาล

ไม่โปรดปรานเปรียบเป็นเพียงเอ็นดู

โอ้ละหนอ

เขาสิ้นอาลัยเจ้าแล้วฤๅเอย

 :(


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 31 ม.ค. 10, 12:58
ขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างมากครับ
หลายเรื่องแม้เคยอ่านแล้ว แต่มาอ่านอีกทีก็ยังเพลิดเพลิน และได้รื้อฟื้นความจำไปในตัว
 ;D


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.พ. 10, 08:40
สวัสดีค่ะ คุณ Bhanumet




อ่านมาจาก เจ้าฟ้าจุฑามณี  ของ โสมทัต  เทเวศร์   ที่รักเคารพของนักอ่านหนังสือเก่าทั้งปวง

มีสักวาของคุณพุ่ม ที่เล่นถวายในรัชกาลที่ ๕
เล่นกับอาลักษณ์ หมื่นพจนารถ(ดิศ)



อาลักษณ์

   สักรวาปันหยีครูเจ้าชู้ใหญ่                             แลเห็นไก่แพ้วิ่งนึกกริ่งจิต
อุณากรรณคนนี้เคยมีฤทธิ์                                เมื่อครั้งติดสักรวาที่ท่าช้าง
แต่ยังสาวคราวเป็นบุษบา                                ยังเข้าคร่าดาบอิเหนาเอามาบ้าง
อิเหนาเก่านักเลงแท้ยังแพ้นาง                           นี่อย่าวางเม็ดเหมือนคราวเป็นสาวเอยฯ

คุณพุ่ม

   สักรวาอุณากรรณเทวัญแปลง                         แอบนั่งหลังมุลี่ทำทีเก้อ
ไก้ปันหยีตีแพ้ชะแง้ชะเง้อ                                 คนร้องเออเสียงอึงตะลึงแล
ไก่เป็นรองร้องว่าเรื่องท่าพระ                             พูดเกะกะว่ากล่าวความเก่าแก่
ว่าไปแย่งดาบฝรั่งที่หลังแพ                               พูดให้แน่นะปันหยีข้อนี้ เอยฯ



กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 ก.พ. 10, 08:52
อ้างถึง
ขอออกนอกเรื่องว่า โรคทุลาวะสะ นี่ใครพอรู้ไหมว่าโรคอะไร   ฟังชื่อน่าจะมาจากภาษาบาลี นะคะ

ส่งการบ้านครับ  ;D  ( กว่าจะเจอคำตอบการบ้านของคุณเทาชมพูได้  รื้อหนังสือมาอ่านเกือบหมดกรุ เป็นการบ้านที่ยากจริงๆ )

".....สิทธิการิยะ    พระอาจารย์เจ้าผู้กรุณาแก่สัตวโลกย์ทั้งหลาย  ท่านจึ่งแต่งคำภีร์อันชื่อว่าทุลาวะสา  คือว่าจะแจกออกเปน  ๓๒ จำพวก  คือทุลาวะสา  (๔)  มุตรฆาฏ ๔ มุตรกฤต ๔ สันทะฆาฏ ๔ องคสูตร ๔ ช้ำรั่ว ๔ อุปะทม ๔ ไส้ด้วน ๔ เป็น ๘ ประการด้วยกันดังนี้  ฯ ๑   ทีนี้จะว่าด้วยทุลาวะสา ๔ ประการ คือว่าด้วยน้ำปัศสาวะ ๔ ประการ  คือน้ำมูตรเมื่อออกมานั้นขาวข้นดังน้ำเข้าเชด  ถ้าเหลืองดังน้ำขมิ้นสด  ถ้าเปนโลหิตสดๆ ก็ดีแดงดังน้ำฝางต้มก็ดี  ดำดังน้ำครามก็ดี  ย่อมให้ปวดหัวเหน่าให้แสบองคชาติ  ให้สบัดร้อนสบัดหนาวเปนเวลา  มีประการต่างๆ  แพทย์จะแก้ให้เอา  การะบูร ๑ เทียนดำ ๑ ผลเอน ๑ ลำพัน ๑ แห้วหมู ๑ ขิงแห้ง ๑ สิ่งละเสมอภาค  ทำผงละลายน้ำผึ้งรวง  กินแก้โรคซึ่งปัศสาวฃาวดังน้ำเข้าเชดนั้นหายแล ฯ   แก้ปัศสาวะเหลืองดังน้ำขมิ้น  เอาสมอไทย ๑มหาหิง  เจตมูลแดง๑ สารซ่ม ๑ สุพรรณถันแดง ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ สลึง เทียนดำ ๑ บาท ดอกคำไทย ๒ บาท ตำเปนผงละลายน้ำมะนาวกินแก้ปัศสาวะเหลืองแล  ฯ   แก้ปัศสาวะแดงดังน้ำฝางต้ม  เอาศีศะแห้วหมู ๑ รากมะตูม ๑ เทียนดำ ๑ รากเสนียด ๑ ใบสะเดา ๑ รากอังกาบ ๑ ผลเอน ๑ โกฎสอ ๑ เกลือสินเทาว ๑ ตำเปนผงละลายน้ำอ้อยแดง  กินแก้ปัศาสวะแดง  ดีนักแล ฯ  แก้ปัศสาวะดำดังน้ำคราม  เอารากหญ้านาง ๑ เถาวัลเปรียง ๑ รากกะทุงสุนักข์บ้า ๑ ฝาง ๑ แห้วหมู ๑ ศิศะหญ้าชันะกาด ๑ แก่นมูลเหลก ๑ รากตะไคร้หางนาก ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ ไพล ๑ รากหนามรอบตัว ๑ รากหวายขม ๑ เอาสิ่งละเสมอภาค  ต้ม ๓ เอา ๑ กินแก้ปัศสาวะดำดังน้ำคราม  หายแล ฯ  ยาทั้งนี้กินแก้โรค ๔ จำพวก  ที่กล่าวมาแต่หลังหายสิ้นแล ฯฯ..."

คัดและถ่ายอักษรจาก คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา ในหนังสือตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่ม ๒  (ปกแข็งสีน้ำเงิน) จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒  หน้า ๒๙๔ - ๒๙๕

คำว่า ทุลาวะสา  ดูรูปคำเป็นคำบาลีก็จริง  แต่เมื่อลองตรวจดูในพจนานุกรมภาษาบาลีดูแล้วไม่ปรากฏคำคำนี้  จึงเข้าใจว่าเป็นคำที่โบราณจารย์ทางแพทย์ท่านคิดตั้งขึ้นสำหรับชื่อโรคจำพวกหนึ่ง  รูปคำเดิมเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่  เพราะคงคัดลอกเลื่อนและเลือนกันมาหลายชั้น  ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ของสำนักพิมพ์ต้นฉบับเขียนว่า ธุลาวะสา  ค้นดูก็ไม่พบความหมายตามรูปศัพท์  เป็นอันว่าไม่ทราบความหมายของชื่อโรคตามรูปศัพท์ในภาษาบาลี  

พิจารณาจากข้อมูลที่ยกมาจากตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง  เข้าใจว่า  โรคทุลาวะสา  เป็นโรคที่น่าจะเป็นกันเฉพาะผู้ชาย   ส่วนจะเป็นจำพวกโรคบุรุษด้วยหรือไม่นั้น  ไม่กล้าคาดเดา  แต่อาจจะเป็นจำพวกโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือโรคนิ่วก็ได้   คนไทยสมัยก่อนคงเป็นโรคนี้กันมาก  ไม่เว้นแต้เจ้าฟ้าเจ้านาย   วังหน้ารัชกาลที่ ๑ ก็เสด็จทิวงคตด้วยพระโรคจำพวกนี้เหมือนกัน

ไม่รู้ว่าตอบถูกใจคุณเทาชมพูหรือเปล่า :D


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.พ. 10, 08:59
อื้อฮือ     เวชศาสตร์ฉบับหลวง   เล่มสีน้ำเงิน     นับถือ ๆ


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.พ. 10, 09:10
อาลักษณ์
   สักรวาใช่จะแสร้งกล่าวแกล้งว่า                            ที่เจรจานั้นเป็นแน่อย่าแก้เกี้ยว
บุษบาเขาไม่ปดพูดลดเลี้ยว                                    จริงจริงเจียวความขำข้อสำคัญ
ถึงไก่แพ้ก็อย่าเยาะเคาะแคะพี่                                 ของดีดีมีประจำไว้ทำขวัญ
จะหาตัวอีหนูจ้างมารางวัล                                     เหมือนคราวนั้นนึกลองเถิดน้องเอย


คุณพุ่ม
   สักรวาอุณากรรณไม่หวั่นหวาด                             บรมนาถวังหน้าว่าอิเหนา
ก็ทรงพระสวรรคตหมดสำเนา                                  ช่างเก็บเอาอะไรมาว่าใส่ความ
เพราะไก่แพ้แก้เกี้ยวมาเที่ยวขู่                                  เอาอีหนูมาบอกออกสนาม
เป็นไฉนนั่นจะไม่ให้ก็ตาม                                      แต่อย่าาลามลวนคำให้ช้ำ เอยฯ


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.พ. 10, 09:20
อาลักษณ์
   สักรวาตัวพี่ก็อิเหนา                                     คือองค์เก่าแลมาเกิดกำเนิดใหม่
ไม่ชวนเฉยเลยลืมที่ปลื้มใจ                                พี่คิดไว้หวังจะเลี้ยงเคียงประคอง
อย่าหวนหุนมุ่นมุทำดุดื้อ                                   คิดแข็งมืออึดอัดตุปัดตุป่อง
จงปรานีมีอาลัยในทำนอง                                  อันเงินทองของพี่มีถม เอยฯ



คุณพุ่ม
   สักรวาสมคิดบพิตรพี่                                    คือองค์อิเหนานาถมุ่งมาดหมาย
กลับมาเกิดเลิศหล้าปรีชาชาย                             รักประจำทำให้อายแทบวายชนม์
คิดก็สะพระทัยทำได้ฤา                                     จนเสียชื่อพระบุตรีออกปี้ป่น
อิเหนาเก่าเล่าฉันขู่ก็สู้ทน                                   ไม่เป็นคนบ้ายุดุดันเอย ฯ



น่าคิดจัง     รักประจำทำให้อาย


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 ก.พ. 10, 09:21
อ้างถึง
มีสักวาของคุณพุ่ม ที่เล่นถวายในรัชกาลที่ ๕
เล่นกับอาลักษณ์ หมื่นพจนารถ(ดิศ)



อาลักษณ์

   สักรวาปันหยีครูเจ้าชู้ใหญ่                             แลเห็นไก่แพ้วิ่งนึกกริ่งจิต
อุณากรรณคนนี้เคยมีฤทธิ์                                เมื่อครั้งติดสักรวาที่ท่าช้าง
แต่ยังสาวคราวเป็นบุษบา                                ยังเข้าคร่าดาบอิเหนาเอามาบ้าง
อิเหนาเก่านักเลงแท้ยังแพ้นาง                           นี่อย่าวางเม็ดเหมือนคราวเป็นสาวเอยฯ

คุณพุ่ม

   สักรวาอุณากรรณเทวัญแปลง                         แอบนั่งหลังมุลี่ทำทีเก้อ
ไก้ปันหยีตีแพ้ชะแง้ชะเง้อ                                 คนร้องเออเสียงอึงตะลึงแล
ไก่เป็นรองร้องว่าเรื่องท่าพระ                             พูดเกะกะว่ากล่าวความเก่าแก่
ว่าไปแย่งดาบฝรั่งที่หลังแพ                               พูดให้แน่นะปันหยีข้อนี้ เอยฯ


คุณวันดีครับ   ถ้าคุณพุ่มเล่มสักวาบทดังกล่าวกับอาลักษณ์ หมื่นพจนารถ(ดิศ)  แล้วที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายว่า  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีรับสั่งยุให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ทรงพระนิพนธ์สักวารื้อเรื่องคุณพุ่มแย่งพระแสงดาบจากพระหัตถ์สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ    จะไม่คลาดเคลื่อนกันหรือครับ    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ทรงเป็นเจ้าของวงสักวาวงอาลักษณ์  และว่ากันว่าทรงสักวาเก่งมาก  ขนาดสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ยังทรงเล่าว่า "พวกรุ่นข้าพเจ้าสองสามคนเคยเข้าไปช่วยกันบอกสักวาโต้กรมหลวงบดินทรฯ ครั้ง ๑ คิดไม่ได้เร็วเหมือนท่าน  แพ้ท่านมา  จึงรู้ว่าผู้ที่เล่นสักวากันแต่ก่อนชำนาญกลอนมาก."

สักวาที่คุณวันดียกมาข้างต้น  เล่นในงานฉลองวัดบรมวงษ์อิศรวราราม ที่กรุงเก่า ในคืนที่ ๒ ของงานฉลอง  (เล่นทั้งหมด ๓ คืนด้วยกัน) วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน อ้าย ปีฉลูนพศก จ.ศ. ๑๒๓๙ เทียบวันตามปฏิทินสุริยคติได้ตรงกับวันที่  ๒๐  ธันวาคม  ๒๔๒๐


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 09:35
แล้วที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายว่า  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีรับสั่งยุให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ทรงพระนิพนธ์สักวารื้อเรื่องคุณพุ่มแย่งพระแสงดาบจากพระหัตถ์สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ    จะไม่คลาดเคลื่อนกันหรือครับ  

สักวาที่คุณวันดียกมาข้างต้น  เล่นในงานฉลองวัดบรมวงษ์อิศรวราราม ที่กรุงเก่า ในคืนที่ ๒ ของงานฉลอง  (เล่นทั้งหมด ๓ คืนด้วยกัน) วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน อ้าย ปีฉลูนพศก จ.ศ. ๑๒๓๙ เทียบวันตามปฏิทินสุริยคติได้ตรงกับวันที่  ๒๐  ธันวาคม  ๒๔๒๐

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า


ครั้งเล่นสักรวาในสระบางปอินเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระซิบสั่งกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณให้ทรงสักรวาว่าเย้าคุณพุ่ม หมายจะทรงฟังสำนวนกลอนเวลาโกรธจะว่าอย่างไร กรมหลวงบดินทรฯแกล้งอ้างความขึ้นไปถึงครั้งคุณพุ่มชิงพระแสงดาบพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เย้าอยู่หลายบทสักรวา แต่จะเป็นเพราะคุณพุ่มแก่ชราเสียแล้ว หรือเพราะเกรงพระบารมีด้วยเป็นหน้าพระที่นั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ หาได้โต้ตอบเต็มสำนวนดังแต่ก่อนไม่ บทสักรวาเหล่านั้นปรากฏอยู่ในหนังสือประชุมบทสักราเล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งหอพระสมุดฯพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑

สักวาของกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณเล่นก่อนของที่คุณวันดียกมา ๑ ปี

 ;)




กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 09:45
อ้างถึง
พิจารณาจากข้อมูลที่ยกมาจากตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง  เข้าใจว่า  โรคทุลาวะสา  เป็นโรคที่น่าจะเป็นกันเฉพาะผู้ชาย   ส่วนจะเป็นจำพวกโรคบุรุษด้วยหรือไม่นั้น  ไม่กล้าคาดเดา  แต่อาจจะเป็นจำพวกโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือโรคนิ่วก็ได้   คนไทยสมัยก่อนคงเป็นโรคนี้กันมาก  ไม่เว้นแต้เจ้าฟ้าเจ้านาย   วังหน้ารัชกาลที่ ๑ ก็เสด็จทิวงคตด้วยพระโรคจำพวกนี้เหมือนกัน

ไม่รู้ว่าตอบถูกใจคุณเทาชมพูหรือเปล่า


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.พ. 10, 09:48
ขอบคุณคุณหลวงและคุณเพ็ญค่ะ

ใครมีสักรวาเรื่อง ไกรทอง  บ้างไหมคะ    เคยไปเล่าที่พันทิป  มีคนเอิ๊กอ๊ากบ้างเหมือนกัน


อ่านหนังสือเก่าถ้ามีเวลาต้องทานกับเล่มอื่นๆ  บางทีอ่านไวไปก็ข้ามข้อมูลเหมือนกันค่ะ
ไปอธิบายผิดบุคคลก็มี
ยิ่งหนังสือรุ่นแรก ๆ ที่ บรัดเลพิมพ์     ก.ศ.ร. กุหลาบมาพิมพ์ใหม่ประมาณ ๒๐๐ เล่ม
แล้วเขียนไว้ในคำนำอีกว่า  จะให้บรัดเลพิมพ์ที่เหลือ
ทีนี้หนังสือเล่มแรกไม่สมบูรณ์      ก.ศ.ร.ตัดออก  และไม่มีเป็นตัวอย่าง
บรัดเลพิมพ์อีกที

แล้วใครลอกใครล่ะคะ     ต้องเทียบวรรคตอนกันเลย



กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 ก.พ. 10, 09:57
ครั้งเล่นสักรวาในสระบางปอินเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระซิบสั่งกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณให้ทรงสักรวาว่าเย้าคุณพุ่ม หมายจะทรงฟังสำนวนกลอนเวลาโกรธจะว่าอย่างไร กรมหลวงบดินทรฯแกล้งอ้างความขึ้นไปถึงครั้งคุณพุ่มชิงพระแสงดาบพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เย้าอยู่หลายบทสักรวา แต่จะเป็นเพราะคุณพุ่มแก่ชราเสียแล้ว หรือเพราะเกรงพระบารมีด้วยเป็นหน้าพระที่นั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ หาได้โต้ตอบเต็มสำนวนดังแต่ก่อนไม่ บทสักรวาเหล่านั้นปรากฏอยู่ในหนังสือประชุมบทสักราเล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งหอพระสมุดฯพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑

สักวาของกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณเล่นก่อนของที่คุณวันดียกมา ๑ ปี ;)

 แต่ที่ว่า  บทสักรวาเหล่านั้นปรากฏอยู่ในหนังสือประชุมบทสักราเล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งหอพระสมุดฯพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑    ในหนังสือที่กล่าวอ้างนั้น ในปี ๒๔๑๙ มีการเล่นสักวาถวายในสระพระราชวังบางปอิน สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายว่า

"คราวที่ ๔ เล่นในสระพระราชวังบางปอิน  ในงานเฉลิมพระที่นั่งวโรภาศพิมาน เมื่อเดือน ๑๒ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ บทคราวนี้เสียดายอยู่ที่หาได้ไม่ครบบริบูรณ์ทีเดียว"

ปรากฏแต่บทสักวาที่เล่นถวายแต่ในคืนที่ ๒  คำถามคือ    รัชกาลที่ ๕ มีรับสั่งยุให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ทรงพระนิพนธ์สักวายั่วคุณพุ่มปีไหน ครั้งไหนแน่  เพราะหลักฐานที่ปรากฏกับพระอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ นั้นขัดแย้งกันอยู่ ว่า   ในพระอธิบายว่า เป็นสักวาครั้งปี ๒๔๑๙ ที่พระราชวังบางปอิน แต่บทสักวาที่เหลือมาไม่มีบทสักวาที่ว่าเลย เป็นแต่บทวสักวาเล่นเรื่องสังข์ทองเท่านั้น    ส่วนบทสักวาที่ทรงอ้างว่า  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ทรงพระนิพนธ์ยั่วคุณพุ่มตามรับสั่งนั้น  กลับไปปรากฏในบทสักวาที่เล่นกันในงานฉลองวัดบรมวงษ์อิศรวราราม ที่กรุงเก่า ในคืนที่ ๒ เมื่อ ปี ๒๔๒๐   เอ ตกลง  อันไหน ถูกกันแน่  หรือว่า  จะทรงพระนิพนธ์สักวายั่วคุณพุ่ม ๒ ครั้ง  (รัชกาลที่ ๕ รับสั่งยุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ถึง ๒ ครั้งเชียวหรือ?)  ที่สำคัญ คือ ถ้าอาลักษณ์ หมื่นพจนารถ(ดิศ) เป็นแต่งสักวาบทที่ว่า   ก็สงสัยว่า  ข้าราชการชั้นประทวนในกรมพระอาลักษณ์คนนี้   หรือกรมหลวงบดินทรฯ รับสั่งยุให้แต่ง  ? :-\


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.พ. 10, 10:01
อิเหนา หรือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  มีสักรวาว่าไว้

   สักรวาเวลาก็ดึกดื่น                                      น้ำค้างชื้นเมฆหมอกออกหนาวหนาว
จำจะลาร้องรักไว้สักคราว                                  หนทางบ้านย่านยาวระยะไกล
องค์อิเหนาสักรวาจะลาแล้ว                                ไปทางแถวชลธาชลาไหล
ด้วยกลัวน้ำจะแห้งคลองจึงต้องไป                         ถ้าอยู่ได้ก็จะอยู่จนกรู่  เอย  ฯ


   สักรวาเวลาก็ดึกดื่น                                      น้ำค้างชื้นเมฆหมอกออกหนาวหนาว
เสียงไก่แจ้แซ่ขันกระชั้นช้าว                                จนฟ้าขาวเดือนดับลับพโยม
จะขอลาครรไลไปสถาน                                     ไม่เนิ่นนานก็จะกลับมาชมโฉม
เสียดายนักความรักจะทรุดโทรม                           จะทุกข์โทมนัสหาสุดา เอย ฯ


     มดขึ้นเลย
        


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 10:05
  พิจารณาจากข้อมูลที่ยกมาจากตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง  เข้าใจว่า  โรคทุลาวะสา  เป็นโรคที่น่าจะเป็นกันเฉพาะผู้ชาย   ส่วนจะเป็นจำพวกโรคบุรุษด้วยหรือไม่นั้น  ไม่กล้าคาดเดา  แต่อาจจะเป็นจำพวกโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือโรคนิ่วก็ได้   คนไทยสมัยก่อนคงเป็นโรคนี้กันมาก  ไม่เว้นแต้เจ้าฟ้าเจ้านาย   วังหน้ารัชกาลที่ ๑ ก็เสด็จทิวงคตด้วยพระโรคจำพวกนี้เหมือนกัน

อ่านจากตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงที่คุณหลวงยกมา ยังไม่พบตอนไหนที่ว่าเป็นโรคที่เป็นเฉพาะในผู้ชาย

คุณประเสริฐ พรหมณีเป็นหมอแผนโบราณเขียนถึงโรคนี้ไว้ในนิตยสารหมอชาวบ้าน เรียกชื่อโรคนี้ว่า โรคทุราวสา เป็นโรคน้ำปัสสาวะเป็นพิษ แต่ไม่ใช่โรคนิ่ว โบราณบอกว่าเกิดจากการกลั่นกรองของไตทำหน้าที่ไม่ดี

http://www.doctor.or.th/node/6694


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 ก.พ. 10, 10:40
อ้างถึง
๑   ทีนี้จะว่าด้วยทุลาวะสา ๔ ประการ คือว่าด้วยน้ำปัศสาวะ ๔ ประการ  คือน้ำมูตรเมื่อออกมานั้นขาวข้นดังน้ำเข้าเชด  ถ้าเหลืองดังน้ำขมิ้นสด  ถ้าเปนโลหิตสดๆ ก็ดีแดงดังน้ำฝางต้มก็ดี  ดำดังน้ำครามก็ดี  ย่อมให้ปวดหัวเหน่าให้แสบองคชาติ   ให้สบัดร้อนสบัดหนาวเปนเวลา  มีประการต่างๆ

อนุมานจากคำที่เน้นข้างต้น  ส่วนตัวไม่เรียนมาด้านหมอ  ถ้าผิดพลาดก็ขออภัยด้วยละกัน


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 10:43
อ้างถึง
เรียกชื่อโรคนี้ว่า โรคทุราวสา เป็นโรคน้ำปัสสาวะเป็นพิษ แต่ไม่ใช่โรคนิ่ว โบราณบอกว่าเกิดจากการกลั่นกรองของไตทำหน้าที่ไม่ดี

http://www.doctor.or.th/node/6694


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 11:30
๑   ทีนี้จะว่าด้วยทุลาวะสา ๔ ประการ คือว่าด้วยน้ำปัศสาวะ ๔ ประการ  คือน้ำมูตรเมื่อออกมานั้นขาวข้นดังน้ำเข้าเชด  ถ้าเหลืองดังน้ำขมิ้นสด  ถ้าเปนโลหิตสดๆ ก็ดีแดงดังน้ำฝางต้มก็ดี  ดำดังน้ำครามก็ดี  ย่อมให้ปวดหัวเหน่าให้แสบองคชาติ ให้สบัดร้อนสบัดหนาวเปนเวลา  มีประการต่างๆ

ปวดหัวหน่าวในผู้หญิง และแสบองคชาติในผู้ชาย

 ;)






 
 


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 ก.พ. 10, 11:35
ปวดหัวหน่าวในผู้หญิง และแสบองคชาติในผู้ชาย

ถ้าตีความอย่างที่ว่าก็ได้เหมือนกัน  แต่ตามคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกาดูจะให้ความสำคัญในการอธิบายลักษณะโรคจำพวกนี้หนักไปทางบุรุษมากกว่าสตรีนะครับ :)


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 14:34
ไหนๆคุณหลวงก็รื้อหนังสือลงมาจากชั้นแล้ว  และคุณเพ็ญก็ค้นคว้ามาเพิ่มเติมแล้ว
อยากจะตั้งกระทู้ว่าด้วยชื่อโรคไทยโบราณ แยกออกไปจากกระทู้นี้
เพื่อรวบรวมชื่อโรคไทยโบราณมาเล่าสู่กันฟัง
เป็นความรู้ที่หาอ่านยาก  คงมีคนสนใจนะคะ

ถ้าตกลงจะตั้งวงก็ช่วยบอกด้วย   ดิฉันจะไปหาชื่อโรคมาให้เป็นการเปิดตัว สัก ๒-๓ โรคก่อน


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 14:39
ครั้งหนึ่ง เล่นสักวาเรื่องไกรทอง ขุนธนสิทธิ์กวีเป็นไกรทอง ได้ยั่วคุณพุ่มว่า

      สักวาไกรทองทำลองล่อ           ชักมีดหมอออกมาแพลมแย้มให้เห็น
แล้วหยักรั้งตั้งท่าว่าเนื้อเย็น             นี่หรือเป็นภรรยาชาละวัน
ถ้าแม้ไม่ยอมเสียเป็นเมียพี่              ก็น่าที่ชีวาจะอาสัญ
ด้วยมีดหมอฤทธิ์แรงแสงเป็นมัน       แทงตะบันจนถึงปอดไม่รอดเอย

.          คุณพุ่มซึ่งเป็นตัววิมาลาก็โต้ตอบในทันทีว่า

          สักวาวิมาลาทำตาขาว                    เห็นมีดวาวพลามแพลมวับแวมไส้
     ให้คิดกลัวตัวงอทดท้อใจ                       จึงตอบไปด้วยรสพจนา
     อย่าเป็นเมียเลยคะหม่อมยอมเป็นแม่        ฉันก็แก่รุ่นราวคราวคุณป้า
     เหล่ากุมภีร์ถมไปในคงคา                       จงเหลือบหาตามชอบระบอบเอย

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=128791


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 14:44
อยากฟังเรื่องหม่อมน้อย น้องสาวของคุณพุ่มอีกสักครั้ง ค่ะ


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 14:54
ครั้งหนึ่ง เล่นสักวาเรื่องไกรทอง ขุนธนสิทธิ์กวีเป็นไกรทอง

ทางหนึ่งว่า ขุนธนสิทธิ์กวี อีกทางว่า ขุนนิพนธ์พจนารถ

ใครกันแน่หนอ

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/07/K8068293/K8068293.html#12



กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 ก.พ. 10, 15:07
ไหนๆคุณหลวงก็รื้อหนังสือลงมาจากชั้นแล้ว  และคุณเพ็ญก็ค้นคว้ามาเพิ่มเติมแล้ว
อยากจะตั้งกระทู้ว่าด้วยชื่อโรคไทยโบราณ แยกออกไปจากกระทู้นี้
เพื่อรวบรวมชื่อโรคไทยโบราณมาเล่าสู่กันฟัง
เป็นความรู้ที่หาอ่านยาก  คงมีคนสนใจนะคะ

ถ้าตกลงจะตั้งวงก็ช่วยบอกด้วย   ดิฉันจะไปหาชื่อโรคมาให้เป็นการเปิดตัว สัก ๒-๓ โรคก่อน

ก็ดีครับ ;D   จะให้ดี  อยากได้คุณหมอแผนโบราณมาร่วมวงด้วยจะดีมาก  (กระทู้พระอภัยมณี หมดประเด็นที่น่าสนใจแล้วหรือครับ  เห็นเงียบๆ ไป)


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 15:12
ดิฉันจะตั้งกระทู้โรคโบราณของไทยละค่ะ

เรื่องพระอภัยมณี ยังไม่หมด เหลือฝรั่งและอมนุษย์อีกหลายตน   แต่วันนี้ยังไม่มีเวลาเขียน   
เพราะทิ้งคุณรุ้งไว้ในห้องทำงานรองอธิบดีตำรวจมาหลายวันแล้ว    ไม่ได้กิน ไม่ได้นอน
คงเพลียแย่
คืนนี้ จะต้องกลับไปส่งคุณรุ้งเข้าลาดยาวเสียก่อน
แล้วค่อยกลับมาเกาะลังกา

คุณหลวง คุณเพ็ญ คุณวันดี และท่านอื่นๆ เชิญต่อเรื่องพระอภัยมณีได้ตามสะดวกนะคะ


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 ก.พ. 10, 15:22
อ้างถึง
เพราะทิ้งคุณรุ้งไว้ในห้องทำงานรองอธิบดีตำรวจมาหลายวันแล้ว    ไม่ได้กิน ไม่ได้นอน
คงเพลียแย่
คืนนี้ จะต้องกลับไปส่งคุณรุ้งเข้าลาดยาวเสียก่อน

วันก่อนเห็นโฆษณาเล็กๆ ในหนังสือเนชั่นสุดสัปดาห์ ว่า คุณเทาชมพูจะไปพูดเรื่องอุดมคติอะไรสักอย่างนี่แหละครับ  ไม่ทราบว่า  โยงมาถึงเรื่องคุณรุ้งนี่ด้วยใช่ไหมครับ  เสียดายว่า  วันที่คุณเทาชมพูไปพูด ติดธุระ ไม่เช่นนั้นจะไปฟังด้วย :D


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 15:31
ก็จะไปพูดเรื่องคุณรุ้งนี่แหละค่ะ  แต่เป็นคุณรุ้งตอนหนุ่ม ที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน สร้างขึ้นมา


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.พ. 10, 15:50
เรื่องหม่อมน้อยมีเท่าที่เล่ามาแล้วค่ะ  เริ่มจากหน้า ๕๕๒ เต็มหน้า ไปถึงหน้า ๕๕๓ เกือบเต็มหน้่า

เรื่องท่านผู้หญิงอิน  ก็ไม่มีสายสกุล   และ ไม่ปรากฎชื่อลูกคนอื่น ๆ



เรื่องรับจำนำรัดพระองค์เพชร อยู่หน้า  ๑๔   ของบันทึกความทรงจำของนายโหมด เล่ม ๒๕๒๙ สีชมพู
ขอย่อความเพื่อความเหมาะสมว่า  

            "......ฝากไว้ที่กรมขุนกัลยา ๆ  เอาไปจำนำหม่อมน้อยห้ามราชสีห์
แล้วหม่อมน้อยขายกับกรมหลวงมหิศ "



กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ประสูติเมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๕๕  สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๓๘๒  พระชันษา ๒๘ ปี  
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอาลัยมากเพราะเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่
(ถือโอกาสใส่ชื่อโรคไว้ก่อน ทรงประชวรไข้ป่วง)




กรมหมื่นราชสีหวิกรมนั้น ประสูติ  ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๕๙    เจ้าจอมมารดาเอมใหญ่  ธิดาหลวงอนุชิตพิทักษ์(ทองอยู่)  สิ้นพระชนม์ ๒๔๑๑



กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 16:01
หม่อมน้อยเห็นทีจะรวย  รับจำนำเครื่องเพชรแล้วขายต่อ
ท่านไม่ช่วยเหลือพี่สาวบ้างเลยหรือคะ 
อาจเป็นได้ว่าคุณพุ่มไม่ไปขอความช่วยเหลือเอง


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 ก.พ. 10, 16:03
คุณวันดีครับ  ในบรรดานักกลอนสักวาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ได้เล่นสักวากับคุณพุ่ม  มีพระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ด้วย  ผมอยากทราบว่า พระองค์เป็นญาติกับคุณพุ่มด้วยใช่ไหมครับ เพราะเห็นมีสักวาบทหนึ่ง  บอกว่าพระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์เป็นหลานของคุณพุ่ม

ตามคำประกาศเลื่อนพระอิสริยยศพระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ ว่า

หม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ เป็นพระโอรส ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์  ปี ๒๔๑๒  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศเป็น พระประพันธวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ ทรงศักดินา ๑๕๐๐

เอ...พระองค์เป็นญาติสายไหนกับคุณพุ่มหรือครับ ???


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 ก.พ. 10, 16:08
อ้างถึง
หญิงชื่อน้อย    เป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์  พระเจ้าลูกยาเธอที่ ๗ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
มียุตร ๒ คน

๑.   เป็นหญิง  มีพระนามว่า  หม่อมเจ้าสาระพัดเพชร
      (พระนามนี้  ดิฉันสนใจมานานแล้ว   อ่านผ่านมาว่า เมื่อทรงพระเยาว์เสด็จขึ้นอยู่งานพัด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ทรงเครื่องแล้วล้วนด้วยเพชร
        เคยเข้าใจผิดว่า เป็นเพราะขรัวตารำ่รวย    แต่ที่จริง กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ทรงร่ำรวย  และ โปรดหม่อมน้อยยิ่งนัก
        เมื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์รับราชการมีชื่อเสียงมาก    หม่อมเจ้าสารพัดเพชรเคยประทานเงินให้หลายชั่ง เพราะเป็นน้องต่างพ่อ
        พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงบันทึกไว้ว่า  วันนี้โชคดี/วันดี)

๒.    หม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ์   ภายหลังได้เป็นพระองค์เจ้า   มีบุตร
       หม่อมราชวงศ์โนรี  ได้เป็นหลวงนายฤทธิ์


ขออภัยที่ถามโดยไม่ได้อ่านดูให้ดีก่อน :-[


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 16:25
คุณวิกกี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้

พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ์ เป็นพระโอรสใน สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ประสูติในหม่อมน้อย ธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่ ต้นสกุล ภมรมนตรี) และเป็นพระอนุชาในกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๕

หม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ์ ศิริวงศ์ ประสูติปีใดไม่ทราบ (ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๒ -๒๓๘๔) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนขึ้นเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอพระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๒๔

มีบุตรธิดา จากหม่อมต่างคนหลายท่าน เท่าที่ทราบคือ

หม่อมราชวงศ์เล็ก เป็นบุตรคนใหญ่ มารดาคือ หม่อมพริ้ง เป็นราชนิกุลสายบางช้าง ได้เป็นจมื่นศรีสรรักษ์ ในรัชกาลที่ ๕ (เรียกกันว่าคุณพระนายศรีเล็ก) และเป็นหม่อมที่โปรดเกล้าพระราชทานมีปรากฎในหนังสือราชนิกุลสายบางช้าง
หม่อมราชวงศ์โนรี มารดาคือ หม่อมหุ่น โปรดเกล้าฯ ให้มีศักดิ์เป็นหม่อมอนิรุธเทวา ศักดิ์หม่อมราชนิกุลในรัชกาลที่ ๕ ภายหลังได้เป็นหลวงฤทธิ์นายเวร ข้าราชการกรมมหาดเล็ก
หม่อมราชวงศ์หญิงปลื้ม มารดาคือ หม่อมหุ่น โปรดเกล้าฯพระราชทานเป็นชายาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
หม่อมราชวงศ์สมพูน มารดาคือ หม่อมเจ้าหญิงสนิท สนิทวงศ์ ธิดาในกรมหลวงวงศาธิราชสนิท
หม่อมราชวงศ์หญิงมัจฉา
หม่อมราชวงศ์หญิงสร้อย
หม่อมราชวงศ์ลังกะวาต
หม่อมราชวงศ์หยุด

http://th.wikipedia.org/wiki/พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ (http://th.wikipedia.org/wiki/พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์)


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 ก.พ. 10, 20:12
เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ

อ่านมาจาก  นักเขียนไทยในวงวรรณกรรม ของ คุณลุงอาจิณ  จันทรัมพร  พิมพ์ฉบับที่ ๒   ๒๕๔๐

    "แต่พระจอมธรณินปิ่นมงกุฎ                 เป็นที่สุดยังต้องตายทำลายขันธ์
ละพระราชนคเรศขอบเขตรคัน                   ที่ในวันคุรุวาร์นิคาไลย
พระสงฆ์สวดอุโบสถหมดทุกวัด                  เหมือนจะนัดนำจิตรพิศมัย
ให้เหาะเหินเพลินพระหฤทัย                      เสด็จไปดุสิตาเมื่อราตรี"


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ก.พ. 10, 14:59
อยากฟังเรื่องหม่อมน้อย น้องสาวของคุณพุ่มอีกสักครั้ง ค่ะ

อ่านนิราศวังบางยี่ขันตอนที่คุณพุ่มเล่าถึงคุณน้อยให้ฟัง

เห็นวังกรมสีห์ที่นิพพาน                       แสนสงสารพงศ์กษัตริย์วิบัติเป็น
....................................          ..........................
ทิ้งคุณน้อยสร้อยเศร้าเปลี่ยวเปล่าใจ         ให้ร้องไห้โหยหาทุกราตรี
เคยเปรื่องโปรดโสดทรวงจะง่้วงเหงา         แต่ลูกเต้าเล่ายังอยู่กระจู๋กระจี๋
ค่อยสบายคลายคลั่งเพราะมั่งมี              ไม่เหมือนพี่คุณพุ่มซุ่มซุกซน
พ่อแม่น้ายายตายเหมือนถั่ว                  ยังแต่ตัวเต็มทีออกปี้ป่น
มายอมยากฝากชีวิตด้วยฤทธิจน             อยู่เป็นคนชิดใช้หมั่นไปมา


ทิ้งคุณน้อยสร้อยเศร้าเปลี่ยวเปล่าใจ         ให้ร้องไห้โหยหาทุกราตรี

ดูทีคุณน้อยเธอไม่ค่อยแกร่งเท่าพี่สาว

 ;)




กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ก.พ. 10, 15:27
เรื่องสักวาของคุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง 

สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม              นี่ฤากรมภูวเนตรเศษสวรรค์
เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน    เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ

ได้ไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมมา  จนเริ่มแน่ใจแล้วว่า  ข้อเสนอของอ.ล้อม เพ็งแก้ว  มีบางส่วน (เน้น ครับ ว่าบางส่วน) น่าจะพลาดตามที่คุณเทาชมพูได้วิเคราะห์วิจารณ์ไว้   

ส่วนที่ อ.ล้อมน่าจะพลาด คือ การตีความวรรคกลอนสักวาที่ว่า "เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน"  โดยอ.ล้อม ตีความว่า  นายทิม ในสักวาของคุณพุ่ม  คือ  นายทิม สุขยางค์ หรือหลวงพัฒนพงษ์ภักดี ผู้แต่งนิราศหนองคายแล้วถูกสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในขณะนั้น ฟ้องเอาผิดโทษฐานหมิ่นประมาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั้น   

ในช่วงระยะเวลาปี ๒๔๑๘ จนถึงปี ๒๔๑๙ และล่วงมาถึงปี ๒๔๒๑ นายทิม สุขยางค์ ทำหน้าที่ทนายนั่งหน้าแคร่ติดตามเจ้าพระยามหินทรธำรงศักดิ์ ไปทัพปราบฮ่อ และคงรับราชการอยู่กับเจ้าพระยามหินทรฯ จนกระทั่งถูกลงโทษเฆี่ยน ๕๐ ที  ในช่วงนั้น นายทิม สุขยางค์ มียศและราชทินนามเป็นข้าราชการชั้นประทวนในบังคับของเจ้าพระยามหินทรฯ ที่ขุนพิพิธภักดี  ตามที่ประกาศเรื่องเอาตัวนายทิมไปขังคุก ก็ระบุว่า อ้ายทิม ขุนพิพิธภักดี  อันเป็นการเรียกชื่อ ขุนนางที่ต้องโทษสมัยก่อน  (เหมือนกับกรณีอ้ายสำอางค์ พระปรีชากลการ)  แม้เราจะไม่ทราบว่า นายทิม เป็น ขุนพิพิธภักดี ตั้งแต่เมื่อไร  แต่ก็คงก่อนถูกลงพระราชอาญาแน่  ในเมื่อนายทิม สุขยางค์  อยู่ในบังคับเจ้าพระยามหินทรฯ และเจ้าพระยามหินทรฯ ก็ไม่ได้เล่นสักวาในคราวปี ๒๔๑๕ ถึง ๒๔๒๒ (เป็นระยะแรกที่รัชกาลที่ ๕ โปรดการเล่นสักวา  ก่อนจะหยุดไปราว ๒๐ ปี จึงฟื้นขึ้นมาใหม่ราวปี ๒๔๓๘ ในการฉลองสิริราชสมบัติครบหมื่นวัน)  ลำพังตัวนายทิมเอง  น่าจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเล่นสักวาครั้งนั้น  เพราะไม่ได้สังกัดอยู่ในเจ้านายหรือขุนนางผู้ใหญ่คนใดที่มีวงสักวาคราวนั้น  จริงอยู่ว่า นายทิมแต่งกลอนได้  แต่ผลงานของนายทิมก็มีนิราศ ๑ เรื่อง บทละครที่แต่งให้ละครของเจ้าพระยามหินทรฯ เล่น  และกลอนสุภาพกับโคลงอีก ๓-๔ เรื่อง  แต่ก็ไม่ปรากฏว่านายทิมเคยเล่นสักวาหรือผลงานเกี่ยวกับสักวาให้ปรากฏ  อีกทั้งประวัติของนายทิมที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ก็ไม่ได้ทรงกล่าวถึงว่า นายทิมเคยเล่นสักวาหน้าพระที่นั่งในคราวต้นรัชกาลที่ ๕ แม้แต่แห่งเดียว    ฉะนั้น ข้อที่ว่า นายทิม ในกลอนสักวาของคุณพุ่ม จึงไม่น่าจะใช่นายทิม สุขยางค์

ประการต่อมา  อ.ล้อม  ตีความคำว่า ทวน  หมายถึง เฆี่ยน  แล้วโยงความกับนายทิม  เป็นอ้ายทิม ขุนพิพิธภักดี ที่ต้องโทษทวน คือ หลวงพัฒนพงษ์ภักดี ที่แต่งนิราศหนองคาย  ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ได้ทรงเป็นตุลาการศาลรับสั่งได้ทรงชำระความครั้งนั้นตามที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อันที่จริง เมื่อเทียบคำว่า ทวน กับสักวาบทหนึ่งที่แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่า

สักวาอรุณหลานพานต่ำต้อย      เพราะบุญน้อยนักขอรับยับเหมือนเขียง
มิใช่จะขันสู้เปนคู่เคียง              ทั้งสุ้มเสียงบทกลอนไม่งอนงาม
เคยเปนข้าฝ่าลอองฉลองบาท     เกรงอำนาจตรองจิตรให้คิดขาม
ซึ่งนายภู่คนทวนไม่ลวนลาม        หลานสู้ตามงอนง้ออย่าภ้อ เอยฯ

นายภู่คนนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทรงอธิบายว่า เป็นกวีเชลยสักดิ์ บอกสักวาวงหม่อมเจ้าเจริญ  เมื่อมีหลักเทียบเช่นนี้    ทวน ในบทของคุณพุ่ม ซึ่งอยุ่ในบริบทกลอนสักวาอย่างเดียวกันกับกลอนสักวานี้  ก็ควรจะมีความหมายว่า  บอกสักวาให้คนร้องร้องเวลาเล่นสักวา  ไม่ได้หมายความว่า เฆี่ยน ตามที่อ.ล้อม เข้าใจแต่อย่างใด

เมื่อเป็นเช่นนี้  พิจารณาจากฐานะของนายทิม สุขยางค์ ในเวลานั้น กับการเล่นสักวาในราชสำนักช่วงดังกล่าว นายทิม สุขยางค์ ไม่น่าจะได้มาเล่นสักวาในหน้าที่คนบอกสักวาเป็นแน่   

แต่นายทิม  ในที่นี้เป็นใครหนอ?   ในหนังสือ ประชุมบทสักวาเล่นถวายครั้งรัชกาลที่ ๕   มีพระอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวถึงนายทิม คนหนึ่ง  ซึ่งน่าจะเคยเล่นสักวาในครั้งนั้น  คือ พระพินิจสารา (ทิม  บุณยรัตพันธุ์) ดูจากราชทินนาม ท่านน่าจะทำราชการเกี่ยวกับหนังสือ หรือไม่ก็เป็นอาลักษณ์  ผมยังไม่ข้อมูลประวัติท่านผู้นี้ แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า  วงสักวาของทหารมหาดเล็กที่เคยเล่นในยุคแรก  เคยเล่นถวายคราวแรกในงานเฉลิมพระชันษากรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร  รั ชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทสักวาพระราชทานให้วงทหารมหาดเล็กด้วย  ซึ่งพระพินิจสารา (ทิน บุณยรัตพันธุ์ ) จดจำได้ทั้งบท ๑ ว่า

สักวาวงราชวัลลภ      พระจอมภพธิบดินทร์ปิ่นไอสูรย์
ขอโอนเกศอภิวาทบาทมูล   ต้องกราบทูลประทานโทษได้โปรดปราน
แรกฝึกสอนกลอนคิดติดอุธัจ  เคยฝึกหัดแต่ปรีเซนต์เช่นทหาร
พึ่งหัดร้องขึ้นใหม่ไม่ชำนาญ  ขอประทานโทษาข้าบาท  เอยฯ


การที่พระพินิจสารา (ทิม  บุณยรัตพันธุ์ )จำได้ ก็แสดงว่าท่านคงจะอยู่ในการเล่นสักวาครั้งนั้น และคงน่าจะได้เป็นคนบอกสักวาด้วย  จึงยังจดจำบทสักวาดังกล่าวได้ แม้จะล่วงเลยมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม

เป็นว่า ข้อเสนอ อ.ล้อม เรื่อง นายทิม กับ ทวน นั้น  น่าจะตกไป   แต่ข้อเสนอที่ว่า กรมภูวเนตร คือ กรมภูธเรศ  นั้นยังไม่ตก เพราะมีข้อมูลว่า พระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ได้รับการเอ่ยถึงในวงสักวาสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่คุณพุ่มยังเล่นอยู่ด้วย  เหมือนกัน (ในพระนามแฝงว่า ม้าโหว่  และท่านวี) 

 คงต้องให้คุณเพ็ญหรือคุณวันดีช่วยหาข้อมูลพระพินิจสารา  (ทิม บุณยรัตพันธุ์)  ให้แล้วล่ะครับ   :)


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ก.พ. 10, 15:54

แต่ก็ไม่ปรากฏว่านายทิมเคยเล่นสักวาหรือผลงานเกี่ยวกับสักวาให้ปรากฏ  อีกทั้งประวัติของนายทิมที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ก็ไม่ได้ทรงกล่าวถึงว่า นายทิมเคยเล่นสักวาหน้าพระที่นั่งในคราวต้นรัชกาลที่ ๕ แม้แต่แห่งเดียว    ฉะนั้น ข้อที่ว่า นายทิม ในกลอนสักวาของคุณพุ่ม จึงไม่น่าจะใช่นายทิม สุขยางค์

อาจารย์ล้อมคงไม่หมายถึง นายทิม สุขยางค์ มาเล่นสักวาครั้งนี้ดอก แต่หมายว่าคุณพุ่มพูดถึงนายทิม เจ้าของนิราศหนองคาย ซึ่งเป็นคดีดังในขณะนั้น


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ก.พ. 10, 16:14
อ้างถึง
อาจารย์ล้อมคงไม่หมายถึง นายทิม สุขยางค์ มาเล่นสักวาครั้งนี้ดอก แต่หมายว่าคุณพุ่มพูดถึงนายทิม เจ้าของนิราศหนองคาย ซึ่งเป็นคดีดังในขณะนั้น

ตรงนี้ เป็นความคิดของผม ผมพิจารณาจากชื่อ นายทิม (สุขยางค์) สัมพันธ์กับคำว่า ทวน ที่หมายถึง บอกสักวาให้คนร้องสักวาร้องประกอบเพลง  โดยอาศัยกลอนสักวาที่มีคำว่า ทวน ในบริบทเดียวกันดังได้ยกมาเทียบเคียงความหมาย  จึงแลเห็นว่า นายทิม สุขยางค์  คงไม่ใช่คนเดียวกับนายทิมในสักวาของคุณพุ่ม เพราะนั่นเท่ากับว่า นายทิม จะมาบอกสักวาได้ ก็ต้องมาอยู่ในวงสักวาเดียวกับเจ้านายพระองค์นั้น ส่วนที่ อ.ล้อม ว่า ทวน หมายถึง เฆี่ยน นั้น ก็ในเมื่อท่านตีความว่า เฆี่ยนอ้ายทิม ขุนพิพิธภักดีในกรณีคดีนิราศหนองคายแล้ว  ท่านก็ตีความตามความหมายของคำว่าทวนที่ท่านพิจารณาแล้ว   ซึ่งอาจต้องถามเหมือนอย่างที่คุณเพ็ญเคยตั้งคำถามว่า

อ้างถึง
ถ้าสมมุติฐานของอาจารย์ล้อมถูกต้อง ขอถามบ้าง
ใครเป็นคนหั่นใบขี้เหล็ก  ใบขี้เหล็กคือใครหรืออะไร และเด็กที่ยำใบขี้เหล็กเป็นใคร

ตกลงแล้วมันหมายความว่าอย่างไร   แต่ถ้าเป็น "ทวน" ที่แปลว่า บอกสักวาให้คนร้องสักวาร้องประกอบเพลง  ผมพอจะมีคำตอบให้คุณเพ็ญแล้วครับ


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ก.พ. 10, 21:33
เป็นคำอธิบายที่น่าสนใจครับ นั่นหมายถึงเรื่องเอานายทิมเข้ามาทวนนี่ อาจจะไม่ได้มีอะไรในกอไผ่อย่างที่อ.ล้อมท่านคิดไปไกล

แต่สมมติฐานของอาจารย์ล้อมก็คงยังไม่ถูกล้มไปเสียทีเดียว

คุณหลวงเล็กน่าจะเขียนประเด็นนี้ไปลงศิลปวัฒนธรรมนะครับ


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 03 ก.พ. 10, 08:23
คุณหลวงเล็กน่าจะเขียนประเด็นนี้ไปลงศิลปวัฒนธรรมนะครับ

ขอบคุณครับที่สนับสนุนและสนใจ   :)กำลังคิดจะทำอยู่เหมือนกันครับ  ขอเวลาเรียบเรียงสักหน่อย  ช่วงนี้มีงานประจำต้องทำหลายอย่าง   อันที่จริงเมื่อไม่นานมานี้เคยมีคนเขียนจดหมายไปท้วงอ.ล้อม ประเด็นนี้เหมือนกัน  แต่อ่านดูแล้ว ประเด็นที่ค้านมา ยังอ่อนนัก จึงไม่กระเทือนหรือหักล้างข้อเสนอของอ.ล้อม ได้   อันที่จริงถ้าไปตรวจดูในสารบาญชีของกรมไปรษณีย์ ที่ระบุชื่อขุนนางเมื่อ ๒๔๒๖  มีข้าราชการอยู่หลายคนที่ชื่อ ทิม 

ตอนนี้ขาดแต่ข้อมูลประวัติของพระพินิจสารา (ทิม  บุณยรัตพันธุ์)  ซึ่งตอนหลังทราบว่า ได้เลื่อนเป็นพระยา  และมีอายุยืนมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ เรื่อยมาผ่านช่วง ๒๔๗๕ ด้วย  ท่านเคยมีชื่อเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานผ้าและสิ่งของพระราชทานในงานเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๗ ในฐานะข้าราชการสูงอายุ อยู่หลายปี ซึ่งตอนนั้นอายุท่านราว ๆ ๘๐ ปีแล้ว    กำลังหาดูว่ามีหนังสืองานศพของท่านหรือไม่


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 11:29
อ้างถึง
ทิ้งคุณน้อยสร้อยเศร้าเปลี่ยวเปล่าใจ         ให้ร้องไห้โหยหาทุกราตรี
แสดงว่าหม่อมน้อยกับกรมขุนราชสีห รักกันมาก   ชีวิตคู่คงจะหวานชื่น   พอฝ่ายหนึ่งจากไป อีกฝ่ายก็ฟูมฟายคิดถึงอยู่ทุกคืน
ขัดกับคำล้อของคุณพุ่ม ที่ว่า  ขออย่าเป็นสวาสดิ์ของพระองค์เจ้าชุมสาย  ที่กรมหลวงประจักษ์ฯ ทรงอธิบายว่า หมายถึงมหาดเล็กคนโปรดที่มักจะถูกเฆี่ยนถ้าทำไม่ถูกพระทัย

ถ้าคุณนวรัตนตีความได้ถูก ว่าสวาสดิ์ในที่นี้หมายถึงหญิงผู้เป็นที่รัก     ดิฉันก็จะขอตีความสืบเนื่องไปว่า  คุณพุ่มคงไม่อยากเศร้าโศกสาหัสอย่างหม่อมน้อย  นานเท่าไรก็ทำใจไม่ได้
ถ้าพระองค์เจ้าชุมสาย ท่านโปรดมหาดเล็ก   หม่อมของท่านคงไม่อาลัยสามีถึงขนาดนี้กระมัง
 


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ก.พ. 10, 11:49
หม่อมน้อยมีหม่อมเจ้าตั้ง ๑๐ องค์    อย่างนี้ก็ต้อง โปรดแน่นอน


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 12:15
อ้างถึง
หม่อมน้อยมีหม่อมเจ้าตั้ง ๑๐ องค์    อย่างนี้ก็ต้อง โปรดแน่นอน


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 03 ก.พ. 10, 12:55
ในสารบาญชีของกรมไปรษณีย์ พ.ศ. ๒๔๒๖ มีข้อความระบุถึง หม่อมเจ้า ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมขุนราชสีหวิกรม  จำนวน ๓ องค์ ว่าประทับอยู่ที่บ้านของพระยาราชมนตรี (ภู่)


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 14:23
ขออย่าเป็นสวาสดิ์ของพระองค์เจ้าชุมสาย  ที่กรมหลวงประจักษ์ฯ ทรงอธิบายว่า หมายถึงมหาดเล็กคนโปรดที่มักจะถูกเฆี่ยนถ้าทำไม่ถูกพระทัย

ถ้าคุณนวรัตนตีความได้ถูก ว่าสวาสดิ์ในที่นี้หมายถึงหญิงผู้เป็นที่รัก     ดิฉันก็จะขอตีความสืบเนื่องไปว่า  คุณพุ่มคงไม่อยากเศร้าโศกสาหัสอย่างหม่อมน้อย  นานเท่าไรก็ทำใจไม่ได้

ฤๅจะหมายว่า คุณพุ่มเธอไม่ต้องการเป็นสวาดิของชายคนเดียวกับน้องสาว

คงจะจำได้ถึงคุณอิ่ม น้องที่คุณพุ่มไม่เคยกล่าวถึง ซึ่งเป็นเจ้าจอมอยู่งานในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งคุณเทาชมพูสันนิษฐานว่าอาจเป็นต้นเหตุให้คุณพุ่มถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า กลับไปรับราชการในวังหลวงอีกครั้ง

 ;)


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 18:56
อ้างถึง
ฤๅจะหมายว่า คุณพุ่มเธอไม่ต้องการเป็นสวาดิของชายคนเดียวกับน้องสาว

ไม่ใช่หรอกค่ะ  ต่อให้คุณพุ่มเธอต้องการ ก็เป็นไปไม่ได้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง
๑  คุณพุ่มเคยเป็นหม่อมของเจ้าฟ้าน้อย     กรมขุนราชสีหวิกรมไม่น่าจะรับมาเป็นหม่อม ตราบใดที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯยังมีพระชนม์อยู่
กรมขุนราชสีหฯ ท่านก็เคยเจอพระอาญาของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯมาก่อนด้วยพระองค์เอง  แค่เสลี่ยงมาประจัญหน้ากัน    เรื่องใหญ่กว่านี้ ท่านไม่น่าจะเสี่ยง

๒ ถ้าค้านข้อ ๑  ก็มีเหตุผลว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต พ.ศ.  2408 พระชนม์ 58   กรมขุนราชสีห สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2411 พระชันษา 53   มีเวลาแค่ 3 ปีที่จะทำได้
แต่คุณพุ่มเป็นสาว รุ่นเดียวกับเมื่อสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯยังหนุ่ม   กว่าจะเสด็จสวรรคตเมื่อพระชนม์ 58  คุณพุ่มก็ห้าสิบกว่าเข้าไปแล้วแน่ๆ   อาวุโสเกินกว่าจะเป็นหม่อมของเจ้านายองค์ไหน  และน่าจะแก่กว่ากรมขุนราชสีห ฯ ด้วย

เมื่อไม่มีความเป็นไปได้   เธอจะมาเขียนว่าไม่อยากเป็นสวาสดิ์ของท่าน ก็ไม่ค่อยจะมีน้ำหนักนัก


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 ก.พ. 10, 08:17
หม่อมน้อยมีหม่อมเจ้าตั้ง ๑๐ องค์    อย่างนี้ก็ต้อง โปรดแน่นอน

แต่ในหนังสือ"พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี" หน้า ๑๑๔  ระบุว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าชุมสาย  กรมขุนราชสีหวิกรม มีพระโอรสพระธิดา เพียง ๗ องค์ คือ ม.จ.ระเบียบ   ม.จ.มาลีวัณ   ม.จ.จำรัส   ม.จ.ประภา   ม.จ.เจริญ   ม.จ.ประวิช   และ ม.จ.ปฤษฎางค์ (พระองค์เจ้าปฤษฎางค์)  แต่ไม่ทราบว่า หม่อมเจ้าทุกพระองค์ประสูติแต่หม่อมมารดาเดียวกันหมดหรือไม่   ถ้าหากว่าหม่อมน้อยมีหม่อมเจ้า ๑๐ องค์ จริงตามที่ว่า  ก็คงจะสิ้นชีพิตักษัยเสียแต่ยังทรงพระเยาว์หลายองค์  

แต่ที่ทราบแน่ คือ หม่อมน้อยคงได้บ้านของพระยาราชมนตรี (ภู่) ตรงท่าช้าง วังหลวง เป็นมรดก และหม่อมเจ้า ๓ องค์ คือ ม.จ.ระเบียบ ม.จ.เจริญ ม.จ.ประวิช ได้ประทับที่บ้านหลังดังกล่าว  ( พระองค์เจ้าปฤษฎางค์  น่าเคยประทับที่บ้านหลังนี้ด้วย  ก่อนเสด็จไปเป็นราชทูตไทยที่กรุงปารีส).


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ก.พ. 10, 08:53
ดู คคห ๓ นะคะ คุณหลวง


อ่านเรื่องพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ไม่มีบ้านจะอยู่  ในกระทู้ ปฤษฎางค์ หรือยังคะ
ตื้นลึกหนาบาง เท่าที่มีหลักฐาน  เราก็มาคุยกัน

มีผู้เมตตาให้ยืมบ้านอยู่ตลอดชีวิต  แค่ไม่ได้บอกว่า ชีวิตใคร  เมื่อท่านสิ้นแล้ว
ลูกหลานก็มาขอบ้านคืน




อ่านมาจาก ประวัติของพระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์(สนุกจริง ๆ)  ๒๕๒๕  บรรณกิจขาย เล่มละ ๑๔ บาท

"ข้าพเจ้าเกิด ตรงกับวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๓  ณ แพจอดอยู่หน้าพระราชวังเดิม  ฝั่งตะวันตกของ
แม่น้ำเจ้าพระยา  ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงค์เธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เสด็จตาของข้าพเจ้า

หม่อมเจ้้าประวิช ชุมสาย เป็นบิดา      หม่อมเจ้าหญิงสารภี สนิทวงศ์เป็นมารดา

.....................................
.....................................
เมื่อมารดาของข้าพเจ้าสิ้นชีพตักษัยแล้ว   หม่อมแย้ม สนิทวงศ์ ยายของข้าพเจ้าก็รับข้าพเจ้าไปเลี้ยงอยู่
ณ แพของท่าน ซึ่งจอดอยู่เคียงแพบิดาข้าพเจ้า

ส่วนบิดาข้าพเจ้าถอยแพย้ายไปจอดที่ตำบลท่าพระ  ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าบ้านของหม่อมน้อย  ชุมสาย ณ อยุธยา
ย่าของข้าพเจ้า"




กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 ก.พ. 10, 09:00
โอเคครับ ขอบคุณ ;D


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 10, 10:35
พระยาราชมนตรี คงจะยกบ้านให้หม่อมน้อย ซึ่งมีฐานะเป็นปึกแผ่น และมีลูกๆหลายคนด้วย จะได้อยู่รวมกันได้สะดวก
ฐานะของหม่อมน้อยก็น่าจะจุนเจือพี่น้องและบริวารได้ง่าย
ที่ว่าคุณพุ่มตกยาก  ต้องเขียนกลอนขายเลี้ยงชีวิต  อาจเป็นได้ว่าท่านไม่ต้องการพึ่งพาใคร


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 ก.พ. 10, 22:53
วันเดือนปีเกิดของคุณพุ่ม  ยังไม่ปรากฏในตำราที่ถืออยู่ในขณะนี้ค่ะ  คุณหลวง



กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: เงินปุ่นสี ที่ 08 ก.พ. 10, 00:11
มาตอบคุณวันดีที่ถามถึงคุณหญิงอิน ว่าเป็นสายสกุลใด
เท่าที่ทราบชื่อเต็มของท่านนั้นคือ ทองอินทร์
ท่านเป็นธิดาของพระรัตนพิมล (ทองอยู่)
ส่วนสายสกุลยังไม่กล้ายืนยัน

ตามที่ระบุไว้นั้น
ท่านมีบุตรธิดากับพระยาราชมนตรี (ภู่) ๒ ท่าน
คือ ท่านหม่อมน้อยและพระสัมภารากร
(ราชทินนามนี้ ยังดูแปล่งฯ เพราะเท่าที่ผ่านตา
จะเป็นราชสัมภารากรมากกว่า)

คุณทองอินทร์ยังมีพี่สาวอีกท่านชื่อคุณทองจันทร์
และคุณทองจันทร์มีบุตรคือพระยาราชภักดีฯ (ทองคำ)
ซึ่งเป็นต้นสกุลของทาง "สุวรรณทัต"
ตามประวัตินั้นนายทองคำได้เข้ารับราชการ
ก็โดยการชักชวนของพระยาราชมนตรี สามีคุณทองอินทร์ นั้นเอง

หวังว่าข้อมูลนี้จะช่วยเพิ่มจิกซอว์ให้คุณวันดีผู้อารีได้นะครับ







กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ก.พ. 10, 09:34
ขอบคุณ คุณเงินปุ่นศรี  พยายามจะโยงอยู่ค่ะ

เมื่อวันเสาร์ที่หอสมุดแห่งชาติ  ได้เห็นแววตาเมตตารักใคร่ของ พี่สมบัติ  พลายน้อย(คุณลุงบอกว่าเรียกพี่กระชุ่มกระชวยกว่า)
ที่มอง คุณหลวงเล็ก และ รีเสริชเจอร์ของดิฉัน     ไม่ต้องแปลเลย   ตัวอักษรที่ว่าเจ้าสำนักมองศิษย์รุ่นหลานแว่บเข้ามาในสมอง
พี่สมบัติยิ้มอาย ๆ และพูดว่า  ไม่นึกเลยว่าจะมีคนหนุ่ม ๆ สนใจเรื่องเก่าขนาดนี้

ฝากบอกศืษย์รุ่นเดียวกันด้วยนะคะ  ว่า เอ่อ...ดิฉันถือโอกาสเลื่อนขั้นตัวเองเป็นศิษย์น้องของท่านเจ้าสำนักไปแล้ว

ดิฉันต่อว่าท่านที่เขียนเรื่อง ฮวยห่วยลัว  ทำให้ดิฉันพลาดโอกาสซื้อ  ท่านชอบใจมากหัวร่ออั่ก ๆ
เราคุยกันเรื่องเนื้อกระดาษ  โรงพิมพ์   

ท่านก็เล่าเรื่องใครก็ไม่รุ เก็บหนังสือหอสมุดกลับบ้านไปใช้คนเดียว
พูดถึงอย่างมีอารมณ์ด้วย

การสนทนานี้ก็จะขยายวงต่อไปในอนาคตอันใกล้


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 ก.พ. 10, 09:55
คุณวันดีครับ  ผมน่ะเก็บเหตุการณ์ที่ได้สนทนากับคุณลุงสมบัติ  พลายน้อย วันนั้นไปนอนฝันทีเดียว     เพราะอ่านงานของท่านมาตั้งแต่เด็กๆ   และด้วยอิทธิพลจากงานเขียนของคุณลุงสมบัตินี่แหละที่เป็นแรงใจให้ค้นคว้าอ่านหนังสือและเริ่มเก็บหนังสือเก่า (เพื่อการค้นคว้า) อีกไม่นานคงได้เจริญรอยตามท่านในฐานะนักเขียนบ้าง   

คุณวันดี  ถ้ายังไม่มีวันเดือนปีเกิดของคุณพุ่ม    อยากทราบว่า  แล้ววันถึงแก่กรรมล่ะครับ มีบ้างหรือไม่   ผมคาดว่า คุณพุ่มน่าจะถึงแก่กรรมหลังปี ๒๔๒๒ เป็นต้นไป  แต่ไม่ทราบอายุที่แน่นอน  น่าจะอยู่ราวๆ ๖๐ เศษๆ กระมังครับ

ผมได้ข้อมูลเพิ่มมาอีกจากหนังสือที่บ้านว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ กับนายทิมตามข้อเสนอของผม  เป็นสายสกุลเดียวกัน  แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นชั้นเดียวกันหรือเปล่า?  (ขอตรวจสอบก่อนครับ) :)


กระทู้: ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ก.พ. 10, 13:19
ขอเวลาสักหน่อยนะคะ
ดิฉันกำลังหมุนอยู่ระหว่างเกร็ดประวัติศาสตร์ใน ร ๓ ถึง ร ๕ และชื่อบุคคลมากมาย

เมื่ออ่านผ่านกรมหมื่นภูธเรศ จะดึงออกมาค่ะ  คงต้องไปที่คุณตาก่อน