เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: paganini ที่ 13 ม.ค. 05, 09:23



กระทู้: เรียนถามเรื่อง ศักดินา
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 13 ม.ค. 05, 09:23
 อยากทราบว่าศักดินาที่มีหน่วยเป็นไร่ นั้นผู้มีศักดินาจะมีสิทธิ์ถือครองที่ดินตามหน่วยในศักดินาหรือเปล่าครับ
เช่น ไพร่ มี ศักดินา 5 ไร่  จะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจริงๆ 5 ไร่รึเปล่าครับ


ปล.  ขอแสดงความยินดีกับคุณ รศ.ดร. คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ ครับ ดีใจด้วยมากๆเลยครับ

ปล. 2  ขอชมพี่พวงร้อยหน่อยนะครับว่าเขียนบทความหาข้อมูลมาให้เราอ่านกันได้ดีมากเลยครับ
ขอบคุณครับ


กระทู้: เรียนถามเรื่อง ศักดินา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 05, 09:57
 ศักดินา ไม่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินค่ะ   เป็นวิธีการลำดับ"ศักดิ์"ของบุคคลตั้งแต่ขุนนาง ข้าราชการ ลงไปจนถึงไพร่และทาส โดยกำหนดจำนวนที่นามากน้อยตามศักดิ์ของคนนั้น  สูงสุดของขุนนางคือ ชั้นเจ้าพระยามีศักดินา 10,000 ไร่ คนธรรมดาสามัญมีศักดินา 25 ไร่ ทาสมีศักดินา 5 ไร่ เป็นต้น

ถ้าเทียบกันก็คล้ายๆ ซี ในระบบราชการ  ที่ทำให้รู้ว่าข้าราชการคนนั้นอยู่ในลำดับสูงต่ำกว่ากันแค่ไหน     แต่ศักดินากว้างกว่าคือครอบคลุมทุกคนในราชอาณาจักรเว้นแต่พระมหากษัตริย์
ไม่ได้หมายความว่าคนในระบบศักดินามีที่ดินได้ตามจำนวนศักดินา   ในความเป็นจริง ทาสไม่มีสิทธิ์ครอบครองทรัพย์สินที่ดินใดๆทั้งนั้น

การกำหนดระบบศักดินาขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชน นอกจากนี้ ระบบศักดินายังเกี่ยวพันกับการชำระโทษและปรับไหมในกรณีกระทำผิดอีกด้วย คนที่ถือศักดินาสูง เมื่อทำผิดจะถูกลงโทษหนักกว่าผู้มีศักดินาต่ำ การปรับในศาลหลวง ค่าปรับนั้นก็เอาศักดินาเป็นบรรทัดฐาน

 http://www.parliamentjunior.in.th/junior/knowledge/politics_ayutthaya2.asp
ในสมัยอยุธยา อาจกล่าวได้ว่าเป็นสังคมศักดินา เพราะในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991 - พ.ศ.2031) พระองค์ได้ทรงตราพระราชกำหนดศักดินาขึ้นมาใช้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ.1997 โดยกำหนดให้บุคคลทุกประเภทในสังคมไทยมีศักดินาด้วยกันทั้งสิ้น นับตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่ ลงไปถึงบรรดาไพร่ ทาส และพระสงฆ์ ยกเว้นองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งมิได้ระบุศักดินาเอาไว้ เพราะทรงเป็นเจ้าของศักดินาทั้งปวงนั่นเอง

คำว่า "ศักดินา" หมายถึง การถือเอาศักดิ์ของคนเป็นเกณฑ์แต่อย่างเดียว ทุกคนมีข้อกำหนดศักดินาตามแต่ละบุคคล โดยถือเป็นเครื่องกำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลในสังคม แต่มิได้หมายความว่าศักดินาจะเป็นข้อกำหนดตายตัวเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ใครมีศักดินาสูงก็ต้องมีสิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบสูง ใครมีศักดินาต่ำก็มีสิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบต่ำลดหลั่นกันไปตามลำดับ หน่วยที่ใช้ในการกำหนดศักดินา ใช้จำนวนไร่เป็นเกณฑ์

ระบบศักดินาจะอำนวยประโยชน์ในการควบคุมบังคับบัญชาผู้คนตามลำดับชั้นของศักดินา และการมอบหมายให้คนมีหน้าที่รับผิดชอบที่กำหนดไว้ด้วย เมื่อบุคคลทำผิดต่อกันก็สามารถใช้เป็นหลักในการปรับไหมได้ เช่น ผู้ใหญ่ทำผิดต่อผู้น้อยก็ปรับไหมตามศักดินาของผู้ใหญ่ ถ้าผู้น้อยทำผิดต่อผู้ใหญ่ก็ปรับผู้น้อยตามศักดินาของผู้ใหญ่ เป็นต้น ซึ่งพอจะเป็นหลักการในการป้องกันมิให้ผู้ใหญ่รังแกผู้น้อย และมิให้ผู้น้อยละเมิดผู้ใหญ่เช่นกัน