เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: pierre ที่ 15 ต.ค. 10, 20:41



กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 15 ต.ค. 10, 20:41
เคยติดตามอ่านเรื่องราวต่างๆในwebsiteนี้มานานแล้วค่ะ แต่เพิ่งจะสมัครสมาชิกเมื่อไม่นานมานี้เอง
ที่เรือนไทยนี่มีคนเก่งๆเยอะมากค่ะ อ่านแล้วได้ความรู้ในหลายๆแขนงและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าในทางวิชาการอย่างมากด้วย
 
สี่แผ่นดินเป็นเรื่องที่ชอบอ่านมากๆค่ะ แต่ในช่วงแรกก็รู้สึกสับสนกับตัวละครที่ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นใคร และมีความสำคัญอย่างไร เพราะบางครั้งผู้ประพันธ์ (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) จะใช้ชื่อที่ชาววังเรียกและรับรู้กันเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว เช่น สมเด็จที่บน สมเด็จพระตำหนัก สมเด็จพระนาง เสด็จอธิบดี หรือใครต่อใครอีกมากมาย ที่ทำให้ผู้อ่านหลายคนไม่เข้าใจว่ากำลังกล่าวถึงใคร และถือเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งในการอ่านเรื่องนี้   กระทู้นี้ตั้งใจรวบรวมชื่อต่างๆที่ปรากฏในเรื่องสี่แผ่นดินมาให้ผู้อ่านได้ทดลองเอาข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการอ่านให้เข้าใจมากขึ้นค่ะ

(หนูเป็นสมาชิกใหม่และไม่เคยตั้งกระทู้มาก่อนเลยค่ะ มีความผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องยังไง ขอความกรุณาท่านผู้รู้ให้คำแนะนำหรือเพิ่มเติมรายละเอียดให้ด้วยนะคะ...)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 15 ต.ค. 10, 20:43
สมเด็จที่บน (สมเด็จรีเยนต์) – สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
สมเด็จพระตำหนัก – สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี (พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
สมเด็จพระนาง – สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
*ท่านองค์ใหญ่ – พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา
(องค์ใหญ่ในพระอัครชายาเธอทั้งสามที่ประกอบไปด้วยพระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค , พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ และพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์)
*ท่านองค์กลาง (พระอัครชายาองค์กลาง) – พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์
*ท่านองค์เล็ก – พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
พระราชชายา – เจ้าดารารัศมี


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 15 ต.ค. 10, 20:45
เสด็จอธิบดี – พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี
เสด็จพระองค์ใหญ่ – พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี
เสด็จพระองค์กลาง – พระองค์เจ้าสุวพักตรวิไลยพรรณ
สมเด็จหญิงพระองค์ใหญ่ – สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์
ท่านชายพระองค์เล็ก – พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร
แมวอิเหนา – เจ้าจอมมารดาวาด (ในรัชกาลที่ ๔)

เจ้าคุณตำหนัก  ได้แก่
-เจ้าคุณตำหนักเดิม คือ คุณนุ่ม {ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยหรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต  บุนนาค)}
-เจ้าคุณตำหนักใหม่ คือ คุณแข {ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ  บุนนาค)}
เจ้าคุณปราสาท – คุณกระต่าย(เจ้าคุณหญิงต่าย) เรียกกันเช่นนี้ เพราะท่านอยู่กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี (พระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) ที่พระที่นั่งพิมานรัตยาในหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ชาววังจึงเรียกสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ ว่า “ทูลกระหม่อมปราสาท” และเรียกเจ้าคุณหญิงต่ายว่า “เจ้าคุณปราสาท”
คุณห้างทอง – เจ้าจอม ม.ร.ว.แป้ม  มาลากุล


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 15 ต.ค. 10, 20:49
ทูลกระหม่อมพระองค์เล็ก – สมเด็จฯเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
ทูลกระหม่อมเอียด – สมเด็จฯเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
ทูลกระหม่อมติ๋ว – สมเด็จฯเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย
ทูลกระหม่อมเอียดน้อย – สมเด็จฯเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่ ๗)

 ;D

มีอะไรเพิ่มเติม เดี๋ยวหนูจะมาเขียนต่อนะคะ
ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากการหาในอินเตอร์เน็ต และได้จากหนังสือหลายๆเล่มมาประกอบกันค่ะ
ขอเวลาเก็บข้อมูลก่อนนะคะ
 :)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 15 ต.ค. 10, 21:28
ขอบคุณ คุณ pierre สำหรับกระทู้ครับ
ดีใจที่ได้เห็นสมาชิกใหม่เข้ามาในเรือน
และมีประเด็นที่คุณได้ตามศึกษามาแล้ว

มีคนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มหลงรักวรรณกรรม
สังคม หรือศิลปะแขนงอื่นๆของไทย
และก้าวต่อไปได้อย่างภาคภูมิในแวดวงของเขา
โดยเริ่มต้นมาจากสี่แผ่นดินเหมือนที่คุณทำอยู่นี่ล่ะครับ

ขอให้มีความสุขกับการเดินทางบนถนนสายวัฒนธรรมไทยนะครับ
เราคงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆกันอีกมาก ยินดีต้อนรับครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 16 ต.ค. 10, 01:27
คุณ Pierre คะ คนที่ดิฉันสงสัยที่สุดว่าน่าจะเป็นใคร ก็คือ เสด็จ พระองค์ที่เลี้ยงแม่พลอยนั่นแหละค่ะ

น่าจะเป็นใครได้บ้างคะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 ต.ค. 10, 09:41
คุณร่วมฤดี ดูที่กระทู้เก่านี้ ครับ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=162.0


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: natadol ที่ 16 ต.ค. 10, 11:01
ผมสงสัยว่า แถวเต๊ง ที่แม่พลอยไปซื้อของ อยู่ตรงจุดไหนของพระบรมมหาราชวัง และใครเป็นคนขายสินค้าเหล่านั้น ใช่บรรดาเจ้าจอมหรือนางสนมในนั้นหรือไม่ครับ ???


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 16 ต.ค. 10, 15:42
มาช่วยเพิ่มเติมอีกนิด

อ้างถึงข้อความ "สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยหรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต  บุนนาค)" จากความเห็นที่ ๒ ของคุณ pierre

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านกล่าวไว้ในคำนำฉบับเมื่ออายุแปดสิบปี หนังสือโครงกระดูกในตู้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ ดังนี้

" อีกอย่างหนึ่งที่เห็นว่าผิดแล้วรำคาญตามาตลอดก็คือ นามเดิมของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติซึ่งใส่ไว้ใต้ภาพของท่าน ความผิดนี้ติดมากับรูปซึ่งเอามาพิมพ์และบอกว่าท่านชื่อทัต บุนนาค ซึ่งความจริงท่านชื่อว่าดั่น บุนนาค ขอได้โปดเข้าใจตามนี้ด้วย

(ลายเซ็น) คึกฤทธิ์ ปราโมช

๒๐ มีนาคม ๒๕๓๔



กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 16 ต.ค. 10, 17:14
ล่าสุดที่ได้อ่านพบจากข้อเขียนของคุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ คือคำว่า "ศรีสำราญ"

ซึ่งก็เป็นความหมายและสถานที่เดียวกับ "อุโมงค์" ที่เอ่ยถึงในเรืองสี่แผ่นดินครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 16 ต.ค. 10, 18:10
นอกเรื่องและนอกประเด็นนิดหนึ่ง แต่ว่าวันนี้ข้าพเจ้าพึ่งแต่งตัวเป็นคุณเปรมจากเรื่องสี่แผ่นดินไปร่วมงานนักศึกษาต่างชาติแห่งมณฑลเจียงซู

เรียกเสียงกรี้ด จากเพื่อนๆชาวต่างชาติมากมาย

แปลกดีเหมือนกันมีเฉพาะคนไทยไม่กล้าแต่งชุดไทย

แต่ชาติอื่นๆแต่งกันมาอย่างภูมิใจ

ลาว เวียดนาม กาน่า ฯลฯ

ไม่ทราบว่าความคิดชาตินิยมจะแบบไหนก็ตามดีหรือไม่

แต่คนไทยก็ไม่ค่อยนิยมไทยเท่าไรนัก

ดีที่มีน้องคนหนึ่งชอบสี่แผ่นดินมาก เลยแต่งตัวมา เป็นแม่พลอยยืนข้างๆกัน

วรรณกรรมชิ้นนี้อย่างน้อยก็ทำให้คนไทยไม่อายสิ่งที่ตัวเองมีและเป็น

ละเรื่องความคิดชาตินิยมหรือมายาคติไว้ละกันเผื่อใครจะไม่เห็นด้วย

สี่แผ่นดินสร้างอะไรได้มากมายจริงๆ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 17 ต.ค. 10, 07:25
มาช่วยเพิ่มเติมอีกนิด

อ้างถึงข้อความ "สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยหรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต  บุนนาค)" จากความเห็นที่ ๒ ของคุณ pierre

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านกล่าวไว้ในคำนำฉบับเมื่ออายุแปดสิบปี หนังสือโครงกระดูกในตู้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ ดังนี้

" อีกอย่างหนึ่งที่เห็นว่าผิดแล้วรำคาญตามาตลอดก็คือ นามเดิมของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติซึ่งใส่ไว้ใต้ภาพของท่าน ความผิดนี้ติดมากับรูปซึ่งเอามาพิมพ์และบอกว่าท่านชื่อทัต บุนนาค ซึ่งความจริงท่านชื่อว่าดั่น บุนนาค ขอได้โปดเข้าใจตามนี้ด้วย

(ลายเซ็น) คึกฤทธิ์ ปราโมช


๒๐ มีนาคม ๒๕๓๔

ตอบกระทู้นี้ไปแล้ว ก็เพิ่งมาพบในหนังสือ เรื่องตั้งเจ้าพระยา ในกรุงรัตนโกสินทร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติอมรพันธ์ ทรงเรียบเรียงไว้ และตรวจชำระโดย พระเจ้าพรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๑ ว่า

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ นามว่า ทัด บุนนาค

เพื่อพิจารณาครับ แต่ภาพของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่เคยเห็น เขียนว่า "ทัต บุนนาค"


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 17 ต.ค. 10, 15:11
จากหนังสือ สี่แผ่นดินกับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม ของคุณศันสนีย์  วีระศิลป์ชัย กล่าวถึงแถวเต๊งไว้ว่า “เป็นที่อยู่ของพนักงานที่ทำหน้าที่ต่างๆภายในเขตพระราชสำนักฝ่ายใน“ มีทั้งบรรดาข้าหลวงในพระองค์ ข้าหลวงเรือนนอก ข้าราชการฝ่ายในและพนักงานระดับล่าง
แถวเต๊งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์สร้างเป็นอาคารแถวทิมชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน (ยังไม่เรียกว่า”แถวเต๊ง” แต่เรียกว่า “แถวทิม”) ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ปรับปรุงใหม่เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นตึก ชั้นบนเป็นไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา แบ่งส่วนเป็นห้องๆ ด้วยฝาไม้ มีระเบียงโปร่งด้านหน้า ชาววังจะเรียกอาคารลักษณะนี้ว่า “แถวเต๊ง” สันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาจากการเรียกของช่างชาวจีนที่เรียกเรือนสองชั้นว่า “เล่าเต๊ง”  :)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 17 ต.ค. 10, 15:14
แถวเต๊งในพระราชสำนักฝ่ายใน ประกอบด้วย
๑.แถวเต๊งด้านทิศตะวันตก       ๒.แถวเต๊งด้านทิศตะวันออก
(แถวเต๊ง ๒ แถวนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนแปลงจากอาคารแถวทิมชั้นเดียวที่มีอยู่เดิม)
๓.เต๊งแถวท่อ – เรียกเช่นนี้เพราะสร้างขึ้นตามแนวท่อที่ชักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาใช้ในพระบรมมหาราชวังผ่านพระราชฐานชั้นในไปลงในสระสวนขวาหรือสวนศิวาลัย
๔.เต๊งแดง –  เรียกเช่นนี้เพราะตัวอาคารทาด้วยสีแดง เป็นเต๊งที่ตั้งขวางจากตะวันออกไปตะวันตกตามกำแพงด้านใต้
๕.เต๊งแถวนอก – อยู่ใกล้ๆกับกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศใต้ เป็นเต๊งที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 17 ต.ค. 10, 15:16
เคยเห็นในหนังสือ โครงกระดูกในตู้ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เช่นกันว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) นามเดิมว่า "ดั่น"

แต่เท่าที่เคยเห็นมาทั้งหมด  อย่างหนังสือ เรื่องตั้งเจ้าพระยา ในกรุงรัตนโกสินทร พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงเรียบเรียงไว้ และตรวจชำระโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๑
ซึ่ง เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ ฯ (ชุมพร หรือ พร บุนนาค) ให้พิมพ์ครั้งแรก

ก็ใช้นามเดิมว่า "ทัด"

และถ้าเข้าใจไม่ผิด (เนื่องจากเอกสารไม่ได้อยู่ในมือ)

ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ซึ่งเรียบเรียงไว้ประมาณปลาย ร. ๔ ถึง ต้น ร. ๕
นามเดิมของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ก็คือ ทัด หรือ ทัต

ที่ว่าเป็น "ดั่น" นั้นน่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดด้วยเหตุผล ๒ ประการ
๑ พี่ชายท่าน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) นามเดิมว่า "ดิศ" ถ้าเป็น ดั่น ชื่อก็จะขึ้นด้วย "ด" เหมือนกัน
๒ เหลนของสมเด็จองค์น้อยท่านหนึ่ง ได้เป็นที่ เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค)

หากผิดพลาดประการใดต้องขออภัยอย่างสูง
ถ้าท่านใดมีหลักฐานที่แน่ชัดก็โปรดแถลงไขด้วยนะครับ
 ;D


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 17 ต.ค. 10, 15:23
เห็นคุณ natadol ถามถึงตำแหน่งของแถวเต๊ง ก็ขอลงภาพให้ดูนะคะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 17 ต.ค. 10, 15:29
(http://)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 17 ต.ค. 10, 15:38
ในหนังสือ หอมติดกระดาน ของคุณศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย  กล่าวถึงแถวเต๊งในแง่ของการเป็นเสมือนสถานที่ช็อปปิ้งของสาวชาววังด้วยในทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาวชาววังในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่มีขอบเขตจำกัดอยู่ภายในรั้ววัง  พนักงานฝ่ายในบางคนที่มีฝีมือและต้องการรายได้พิเศษก็จะมีการประดิษฐ์สินค้าที่ตนชำนาญออกวางขายหน้าห้องของตนในแถวเต๊งนั้น ๆ   สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกขนมและของกินเล่น ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่นตุ๊กตาชาววังหรือของเล่นเล็กๆน้อยๆที่อยู่ในความนิยมของชาววังก็จะมีอยู่บ้างแต่ไม่มากเท่ากับของกิน  ลูกค้าสำคัญก็คือข้าหลวงจากตำหนักต่างๆซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาซื้อและมาพบปะพูดคุยกัน ฉะนั้น ในบริเวณแถวเต๊งจึงเป็นเสมือนแหล่งพบปะสังสรรค์กันของบรรดาข้าหลวงและผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในด้วย

ดูไปแล้วในเขตพระราชฐานชั้นในนี่ก็เหมือนเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งจริงๆ และที่สำคัญยังเป็นเมืองที่มีแต่ผู้หญิงด้วยค่ะ  :P


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 17 ต.ค. 10, 18:03
ในหนังสือ หอมติดกระดาน ของคุณศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย  กล่าวถึงแถวเต๊งในแง่ของการเป็นเสมือนสถานที่ช็อปปิ้งของสาวชาววังด้วยในทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาวชาววังในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่มีขอบเขตจำกัดอยู่ภายในรั้ววัง  พนักงานฝ่ายในบางคนที่มีฝีมือและต้องการรายได้พิเศษก็จะมีการประดิษฐ์สินค้าที่ตนชำนาญออกวางขายหน้าห้องของตนในแถวเต๊งนั้น ๆ   สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกขนมและของกินเล่น ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่นตุ๊กตาชาววังหรือของเล่นเล็กๆน้อยๆที่อยู่ในความนิยมของชาววังก็จะมีอยู่บ้างแต่ไม่มากเท่ากับของกิน  ลูกค้าสำคัญก็คือข้าหลวงจากตำหนักต่างๆซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาซื้อและมาพบปะพูดคุยกัน ฉะนั้น ในบริเวณแถวเต๊งจึงเป็นเสมือนแหล่งพบปะสังสรรค์กันของบรรดาข้าหลวงและผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในด้วย

ดูไปแล้วในเขตพระราชฐานชั้นในนี่ก็เหมือนเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งจริงๆ และที่สำคัญยังเป็นเมืองที่มีแต่ผู้หญิงด้วยค่ะ  :P


เรื่องกิจกรรมประจำวันของสาวชาววัง มีกล่าวถึงค่อนข้างละเอียดและมีชีวิตชีวาในหนังสือ "วังหลวง" ของนางอมรดรุณารักษ์ (อุทุมพร สุนทรเวช) ครับ ลองหาอ่านดู


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ต.ค. 10, 20:43
ขอขยายสถานที่แถวเต็ง ดังนี้  เดิมชื่อแถวทิม มีก่อไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ มีเพียงแถวเดียวคือ ด้านตะวันออก ต่อด้วยเต็งขวางและเต็งตะวันตก เป็นอาคารชั้นเดียว และเปลี่ยนเป็นสองชั้นในรัชกาลต่อๆมา และมีการสร้างแถวเต็งเพิ่มเติมหักมุมลงไปในพื้นที่พระบรมมหาราชวังด้านใต้ ล้อมโรงพักกรมโขลน และแยกระหว่างโรงครัวทหารและโรงทหารแยกจากกัน


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 ต.ค. 10, 08:54
เรื่องแถวเต๊ง  ผมว่าไปหาหนังสือสถาปัตยกรรมในพระบรมมหาราชวังมาอ่านจะไม่ดีกว่าหรือ
อาคารแถวเต๊ง มีการสร้างหลายยุคสมัย  เคยเข้าไปเดินตามผู้ใหญ่มีบรรดาศักดิ์ชมฝ่ายใน
เห็นแถวเต๊งแล้ว  นึกถึงสมัยแม่พลอยขึ้นมาทันที  ท่าทางสนุกวุ่นวายมาก


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 18 ต.ค. 10, 10:16
ภาพแถวเต๊งทิศตะวันออกค่ะ
จาก http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Pid=25445
ก็พอมองความเป็นอยู่ในยุคนั้นได้ลางๆ นะคะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 19 ต.ค. 10, 20:01
แถวเต๊งเป็นสถานที่ที่บรรดาข้าหลวงจากตำหนักต่างๆนิยมไปพบปะพูดคุยสังสรรค์กันตามประสาสาวชาววังเพราะเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างอิสระ ไม่ต้องระวังกิริยามารยาทมากเหมือนเวลาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์เจ้านายของตน เช่นเดียวกับที่ช้อยบอกพลอยเสมอว่า เที่ยวตามตำหนักไม่สนุกเพราะต้องคอยระวังตัว ถ้าเที่ยวตามแถวเต๊งจะสบายใจกว่า อีกทั้งทุกคนก็จะแสดงความเป็นกันเองได้มากกว่าด้วย


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 19 ต.ค. 10, 20:55
อยากหาอ่านเรื่องแถวเต๊งในหนังสือสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวังเหมือนกันค่ะ แต่ไม่สะดวกด้วยอะไรหลายๆอย่าง ในหนังสือเล่มนี้จะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับในรั้วในวังที่ควรค่าแก่การศึกษาอย่างแน่นอน (เป็นหนังสืออ้างอิงที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง)  ใจจริงแล้วอยากได้หนังสือเล่มนี้เก็บไว้เป็นของตัวเองค่ะ แต่เท่าที่รู้มา หนังสือสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวังนั้นพิมพ์ออกมาไม่มากนัก และอีกอย่างคือพิมพ์ตั้งแต่ปี ๓๑ โดยสำนักราชเลขาธิการเป็นผู้จัดพิมพ์ ถ้าจะหากันจริงๆคงต้องหาจากร้านหนังสือเก่ามังคะ ?  :o


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ต.ค. 10, 20:57
สิ่งที่กล่าวไว้ในเรื่องสี่แผ่นดิน คือ อุโมงค์ หรือ เว็จที่ประตูศรีสำราญ หรือส้วม ซึ่งควรตั้งอยู่นอกรั้วกำแพงพระบรมมหาราชวังหรือไม่ครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 19 ต.ค. 10, 20:58
เรื่องแถวเต๊งนี่ก็เป็นไปตามที่คุณ luanglek บอกค่ะว่า มีการสร้างและปรับปรุงกันหลายยุคสมัย เพราะเมื่อระยะเวลาผ่านไป ความทรุดโทรมของสิ่งก่อสร้างต่างๆก็ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา รูปแถวเต๊งจากหนังสือต่างๆที่เราได้พบเห็นในปัจจุบันก็เช่นเดียวกับสิ่งก่อสร้างในอดีต ที่ทำให้เราหวนนึกถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
สมัยนั้น (ร.๕) ถ้าว่ากันตามที่ผู้เขียนเรื่องสี่แผ่นดินบรรยายให้เห็นภาพแล้ว แถวเต๊งนี่คงจะมีคนอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว (ถึงขนาดใช้คำว่า "..เต็มไปหมดไม่มีที่ว่าง..") ฉะนั้นจึงเป็นตัวบอกได้อย่างหนึ่งว่า ฝ่ายในสมัยดังกล่าวต้องอยู่ในช่วงที่เรียกว่า classic เลยทีเดียว ราชสำนักเป็นศูนย์กลางของความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง ครั้นเมื่อ ร.๕ สวรรคต ความร่วงโรยของเขตพระราชฐานชั้นในก็ปรากฏชัดเจนขึ้น บางตำหนักขาดการดูแล บางตำหนักถูกรื้อลงเพราะทรุดโทรมเกินกว่าจะแก้ไข แถวเต๊งก็ไม่ต่างไปจากสภาพของตำหนักอื่นๆในเขตพระราชฐานชั้นในเท่าไหร่นัก ภาพแถวเต๊งบางส่วนที่ปรากฏในหนังสือจึงมีสภาพที่ทรุดโทรม หลังคาผุพัง มีไม้เลื้อยและตะไคร่จับตามผนัง  :'( 


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 19 ต.ค. 10, 21:45
จากหนังสือ สี่แผ่นดินกับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม ของคุณศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ได้กล่าวถึงอุโมงค์ไว้ด้วยค่ะว่า เป็นที่ถ่ายทุกข์ของข้าราชสำนักฝ่ายใน อยู่บริเวณริมกำแพงพระราชวังด้านใต้ใกล้กับประตูศรีสุดาวงศ์ (ไม่ได้อยู่นอกกำแพงพระบรมมหาราชวังค่ะ)
 
อุโมงค์ที่ช้อยพาพลอยไปนั้นเป็นที่ถ่ายทุกข์แห่งใหม่ซึ่งสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕)  ส่วนอุโมงค์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งรื้อทิ้งไปแล้วนั้น ปลูกลงแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อออกจากประตูวัง  จะมีทางเดินเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนทึบไม่มีหน้าต่างพุ่งยาวออกจากประตูวังไปโผล่แม่น้ำเจ้าพระยา  รูปร่างอุโมงค์หรือเรือนถ่ายสมัยนั้นมีลักษณะเป็นเรือนไม้หลังใหญ่กั้นเป็นคอกๆ นั่งถ่ายได้ครั้งละหลายคน

แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างอุโมงค์ขึ้นใหม่ใกล้กับประตูศรีสุดาวงศ์เพื่อความเหมาะสม (ไม่ต้องออกไปถึงแม่น้ำ)  โดยอุโมงค์ที่สร้างสมัยนี้จะมีถังตั้งไว้ข้างล่างตลอดแถวสำหรับรับอุจจาระ และจะมีผู้นำไปเทภายหลัง 




กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 19 ต.ค. 10, 21:50
ขอยกบทความหนึ่งของคุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ในสกุลไทย ฉบับที่ ๒๔๗๗  ปีที่ ๔๘ ประจำวันอังคาร ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๕ ที่ได้กล่าวถึง “อุโมงค์ หรือ ศรีสำราญ” ไว้ดังนี้

“ศรีสำราญ” ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารภาคที่ ๑๓ เรื่องตำนานวังหน้า เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“ลานพระราชวังบวรฯ ด้านใต้กับด้านตะวันตก กระชั้นชิดกำแพงวังชั้นนอก ด้านใต้มีแต่ทางเดิน ด้านตะวันตกก็เห็นจะเป็นเรือนพวกขอเฝ้าชาววัง ทำนองอย่างข้างพระราชวังหลวง มีสิ่งซึ่งควรกล่าวอยู่ข้างด้านตะวันตก แต่ ๒ อย่าง คือ ท่อน้ำอย่าง ๑ ศรีสำราญอย่าง ๑ ท่อน้ำนั้นก็คือประปาในชั้นแรกสร้างพระราชวังบวรฯ ถึงพระราชวังหลวงก็เหมือนกัน ขุดเป็นเหมืองให้น้ำไหลเข้าไปได้แต่แม่น้ำ ตอนปากเหมืองข้างนอกก่อเป็นท่อกรุตารางเหล็ก ข้างบนถมดิน แต่ข้างในวังเปิดเป็นเหมืองน้ำมีเขื่อนสองข้าง ตักน้ำใช้ได้ตามต้องการ
ศรีสำราญนั้น คือเว็จของผู้หญิงชาววัง ปลูกเว็จไว้ที่ริมแม่น้ำ แล้วทำทางเดินเป็นอุโมงค์ คือก่อผนังทั้งสองข้างมีหลังคาคลุมแต่ประตูวังไปจนแล้วที่ถนนข้างนอกวังตรงผ่านอุโมงค์ก็ทำสะพานข้าม ผู้หญิงชาววังลงไปศรีสำราญได้แต่เช้าจนค่ำ เหมือนกับเดินในวังไม่มีผู้ชายมาปะปน”

   เมื่อแรกเข้าใจว่า ‘ศรีสำราญ’ นี้ เป็นคำใช้กันเฉพาะชาววังหน้า เพราะไม่เคยพบในเรื่องของวังหลวง  ในเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ ของอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ได้ทราบแต่ว่าชาววังหลวงเรียกสถานที่ว่า ‘อุโมงค์’ เพราะสภาพเป็นอุโมงค์อย่างเดียวกับในวังหน้า
   เพิ่งอ่านพบในหนังสือ ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาค ๑๗ เรื่องหมายรับสั่งบางเรื่องในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒
   ในหมายรับสั่งเรื่องงานศพเจ้าศรีฟ้าในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (พระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระพี่นางเธอพระองค์น้อยในรัชกาลที่ ๑) พ.ศ.๒๓๕๘ ที่วัดสระเกศมีว่า
    “ด้วยพระยารักษมณเฑียร รับพระราชโองการใส่เกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสั่งว่า...ฯลฯ...
   เมรุสามสร้างพลับพลา ฉนวน แลที่สรง ที่ลงบังคน ที่ศรีสำราญ และโรงข้างในแต่งสำรับคาวหวานนั้น รื้อเสียบ้าง ยังบ้าง ชำรุดหักพังไปบ้าง ให้สี่ตำรวจ สนมตำรวจ รับเลขต่อพันพุฒ พันเทพราช ด้านละ ๑๕ คน ๓ ด้าน ๔๕ คน เบิกไม้ไผ่ จากหวาย กระแชง ต่อชาวพระคลังราชการ แลยืมผ้าขาวต่อพระคลังวิเศษทำขึ้นให้เหมือนอย่างเก่า อย่าให้ขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เป็นอันขาดทีเดียว จงเร่งทำให้แล้วทันกำหนดมานี้เป็นการเร็ว”
   แสดงว่า ‘อุโมงค์’ ของชาววังหลวงนั้น จริงๆ แล้วก็เรียกว่า ‘ศรีสำราญ’ เช่นกัน


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ต.ค. 10, 21:55
ขอบคุณครับคุณ pierre  ที่อธิบายเรื่อง อุโมงค์ ให้ฟัง ซึ่งถ้าเป็นเจ้านายระดับสูง คงมีการสร้างส้วมไว้ภายในตำหนักต่างๆแล้ว และจะเชิญออกไปจำเริญลอยแม่น้ำในเวลา (ไม่รู้เช้า/สาย/บ่าย/เย็น) แต่ที่แน่ๆ ช้อยกับพลอย ต้องซื้อ "ไม้แก้งก้น" พวงละอัฐ ไปใช้เป็นป็นแน่แท้


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ต.ค. 10, 00:21
ในรัชกาลที่ 5   น่าจะมีการสั่งที่ลงพระบังคน แบบฝรั่ง เข้ามาใช้ในตำหนักเจ้านายฝ่ายในแล้วนะคะ

(http://www.oldandinteresting.com/images/moulesearthcloset.jpg)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ต.ค. 10, 00:28
เอามาให้ดูอีกแบบ
ออกแบบกะทัดรัด   หอบหิ้วเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้สะดวก    วิธีทำความสะอาดก็ง่ายคือ เปิดประตูด้านข้าง    ดึงถังที่รองอยู่ข้างในมาล้างให้สะอาด แล้ววางกลับเข้าไปเท่านั้น

(http://www.mrbeasleys.com/store/images/products/6748.jpg)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 20 ต.ค. 10, 16:26
ความหมายของคำว่า "ศรีสำราญ" ค่ะ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ในเรื่อง ‘สาส์นสมเด็จ’
ทรงอธิบายคำว่า ‘ศรีสำราญ’ ไว้ว่า
“คำศรีสำราญ นั้น ได้ทราบความหมายแล้วเป็นคำเขมร เขียนเช่นนี้ ‘สรีสำราล’
สรี แปลว่าผู้หญิง คือคอรัปชั่นมาจากคำว่า ‘สตรี’
สำราล แปลว่าทำให้เบา(ทุกข์) เป็นพวกเดียวกับคำที่ว่า ส่งทุกข์”


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ต.ค. 10, 19:56
"เบี้ยโพล้ง" ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่กล่าวไว้ในเรื่องสี่แผ่นดิน เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการขัดผ้าให้ขึ้นมัน เป็นเงางาม


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ต.ค. 10, 23:09
ตอนต้นเรื่อง คุณสายเล่าถึงคุณสายหยุด แห่งตระกูลบุนนาคบ้านบน  เป็นชาววังตกยาก  เอาหีบหมากทองมาขาย เจ้าคุณพ่อของเธอสั่งจากต่างประเทศ เป็นหีบทอง  ฝารูปตาข่ายมีรูปงูฝังมรกต
ดิฉันอยากรู้มากว่าหีบทองที่ว่า หน้าตาเป็นอย่างไร     เชื่อว่าเป็นหีบทองจากยุโรป  น่าจะเป็นอังกฤษ เพราะสยามติดต่อกับอังกฤษมากกว่าประเทศอื่น   
เลยไปค้นในกูเกิ้ลว่าหีบทองฝรั่งสมัยปลายศตวรรษที่ 19  หน้าตาเป็นอย่างไร   สมัยวิคตอเรียนต้องมีผลิตขายเป็นล่ำเป็นสัน  ลูกค้าที่มีเงินอาจสั่งให้ช่างออกแบบมีรายละเอียดเป็นพิเศษได้   เพราะมันเป็นงานฝีมือ  ทำทีละใบ   ไม่ใช่งานปั๊มจากโรงงาน

ไปหามาได้ใบหนึ่ง  ไม่มีตาข่ายและงูมรกต  แต่หน้าตาก็น่าจะคล้ายๆแบบนี้ละค่ะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: natadol ที่ 20 ต.ค. 10, 23:51
ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลแถวเต๊ง.. บรรยายจนนึกภาพออกเลย ขอถามอีกคำถามครับ คุณสายหยุด แห่งตระกูลบุนนาคบ้านบน  เป็นชาววังตกยาก   เจ้าคุณพ่อของเธอสั่งจากต่างประเทศ  เป็นบุตรของท่านใด และมีตัวตนจริงไม่ ขอบคุณครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 10, 00:11
เมื่อพลอยทูลลาเสด็จออกมาแต่งงาน  เสด็จประทานเครื่องเพชรคือเข็มกลัดรูปช่อกุหลาบ และสร้อยข้อมือเพชรกับทับทิมอีก ๒ สาย
เข็มกลัดเพชรเป็นแบบฝรั่ง   ของไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ไม่มีเข็มกลัดช่อกุหลาบแน่ๆ   ก็เลยไปค้นหน้าตาเครื่องเพชรฝรั่ง สมัยตรงกับรัชกาลที่ ๕ มาให้ดูกัน
เข็มกลัดเพชรแม่พลอย  น่าจะหน้าตาแบบนี้


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 10, 00:48
หรือไม่ ก็แบบนี้


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ต.ค. 10, 07:09
เข็มกลัดเพชร สวยมากครับ อ.เทาชมพู เมื่อกล่าวถึงหีบหมาก ในสมัยนั้นก็มีการสั่งทำควรจะเป็นจากทางอังกฤษ อย่างที่อาจารย์กล่าวไว้ ด้วยมีฝีมือการทำทอง การฝังเพชร ส่วนของไทยก็เพียงลงยาราชาวดี

สำหรับชาววังแล้ว เชี่ยนหมากถือเป็นอุปกรณ์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีไว้ประจำตัว และจะต้องมีการประกวดประชันความงามและความมีค่าของภาชนะ นับเป็นเครื่องยศแสดงฐานะและตำแหน่งของข้าราชการในสำนักฝ่ายใน การได้รับพระราชทานหีบหมากและพานหมากถือเป็นความหวังสูงสุดของสตรีในพระราชสำนักฝ่ายในเพราะถือเป็นหน้าเป็นตาเป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลด้วย ด้วยเหตุนี้สตรีทุกคนที่เข้าวายตัวต่างก็พยายามอย่างยิ่ง ในอันที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามให้เป็นที่พอพระทัย ความหวังที่จะได้รับพระราชทานหีบหมากเจ้าจอม หรือที่เรียกกันว่า “หีบหลวง” ดังมีลำดับของหีบหมากที่มีพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ ๔ ดังนี้

ชั้นพิเศษ สำหรับพระราชทานพระมเหสีเทวี มีทั้งหีบและพานหมากเสวยพร้อมเครื่องในทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี
ชั้นที่ ๑ สำหรับพระราชทานพระสนมเอก ทีทั้งหีบพานและพานหมากพร้อมเครื่องในทำด้วยทองคำ
ชั้นที่ ๒ สำหรับพระราชทานพระสนม มีแต่หีบหมากทองคำลงยาราชาวดี
ชั้นที่ ๓ สำหรับพระราชทานเจ้าจอมอยู่งาน มีแต่หีบหมากทองคำ
ชั้นที่ ๔ สำหรับพระราชทานนางอยู่งาน เป็นหีบหมากเงินกาไหล่ทอง

ยังมีหีบหมากแบบพิเศษประเภทหนึ่ง ซึ่งจะขอนำมาให้ชม เป็นหีบหมากพระราชทาน สำหรับฝ่ายในซึ่งรับใช้สนองพระเดชพระคุณ อยู่งานจนครบ ๒๐ ปี
เป็นหีบหมากทองคำลงยาราชาวดี ด้านฝาประดับพระบรมสาทิศลักษณ์รัชกาลที่ ๕ ทรงอาร์มล้อมเพชร เบื้องบนประดับตราพระเกี้ยวบนหมอนวางสีชมพู พร้อมแพรแถบสีชมพู พื้นในสีน้ำเงิน ตัวทอง "พระราชทาน"

และแพรสีพื้นสีน้ำเงิน ขลิบขาว อักษรสีทอง "ครบ ๒๐ ปี ร.ศ.๑๑๕" นั่นหมายถึงเริ่มรับใช้สนองพระเดชพระคุณมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๙ จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๙

เบื้องขวาล่างประดับอักษร "จปร" ไขว้ประดับเพชร และพื้นที่ว่างประดับด้วยดอกไม้เพชร ใบลงยาสีเขียวสดใส


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ต.ค. 10, 07:16
ในราชสำนักฝ่ายใน เมื่อมีการเล่นหีบพระศรีกัน บรรดาเจ้านายต่างๆก็พากันสรรหา ตกแต่งหีบหมากของตนอย่างไม่น้อยหน้าใคร ต่างนำมาอวดกัน ประชันกัน การพัฒนาฝีมือด้านงานช่างจึงพัฒนาต่อยอดกันไป สำหรับภาพนี้เป็นหีบพระศรี ส่วนพระองค์รัชกาลที่ ๕ เป็นตระกร้าใส่ช่อดอกไม้ พร้อมลูกผลไม้ ประทับเพชรและพลอย บนพื้นเขียนลายสีฟ้ารูปดอกกุหลาบและดอกทานตะวัน


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 10, 08:33
ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลแถวเต๊ง.. บรรยายจนนึกภาพออกเลย ขอถามอีกคำถามครับ คุณสายหยุด แห่งตระกูลบุนนาคบ้านบน  เป็นชาววังตกยาก   เจ้าคุณพ่อของเธอสั่งจากต่างประเทศ  เป็นบุตรของท่านใด และมีตัวตนจริงไม่ ขอบคุณครับ

เพิ่งเห็นคำถาม
คุณสายหยุดเป็นตัวละครสมมุติ   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์แค่เอ่ยชื่อถึง ไม่กี่บรรทัด   ไม่มีบทบาทในเรื่องค่ะ
แต่สายสกุลบุนนาคบ้านบน มีจริง    เจ้าคุณพ่อของแม่พลอยเป็นบุนนาคบ้านล่าง  แยกสายกันตั้งแต่สมัยเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ
คุณวันดีเคยเอ่ยไว้ในกระทู้เก่า   ใครหาเจอบ้างคะ

หีบพระศรีในรัชกาลที่ ๕  งามมากจริงๆ ได้เห็นรูปก็เป็นบุญตา  ปัจจุบันอยู่ที่พระที่นั่งวิมานเมฆหรือเปล่าคะ คุณ siamese


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ต.ค. 10, 09:10
เรื่องสถานที่เก็บรักษา ไม่ทราบจริงๆครับ แต่ของชิ้นน้อย ล้ำค่าขนาดนี้คงไม่เก็บไว้ที่พระที่นั่งวิมานเมฆแน่นอน เมื่อหลายปีก่อนเจ้าหน้าที่เฝ้าพระที่นั่งวิมานเมฆ ยังบอกว่ามีของจัดแสดงสูญหายก็มี หีบพระศรีทองคำประดับเพชร และอัญมณีมีค่าหลายรายการ มีอยู่จำนวนมากคงเก็บไว้ในที่ปลอดภัยครับ

สำหรับเรื่องสถานที่ทำหีบพระศรี เบื้องต้นทราบว่า สถานที่ผลิตมีด้วยกันอยุ่ ๒ แหล่ง คือ ช่างทองไทยแห่งหนึ่งและช่างทองยุโรปอย่างหนึ่ง โดยช่างทองยุโรปจะผลิตจากประเทศอังกฤษเสียส่วนใหญ่ และตามตัวอย่างนี้เป็นเครื่องกระเบื้องอัดภาพ ซึ่งผลิตจากทางโรงงาน Waldenberg แคว้น Silesia ประเทศเยอรมัน ส่วนตัวหีบพระศรี ทำขึ้นจากช่างทองหลวงของไทย

ซึ่งหีบพระศรีที่สั่งจากทางยุโรป เริ่มสั่งเข้ามาเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ทรงว่าให้ช่างทองยุโรปประดิษฐ์หีบรูปทรงต่างๆไว้มากมายครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 10, 09:52
มองเห็นแฟชั่นที่มาของหีบ ที่มีรูปวาดบนกระเบื้อง บนฝา   
หีบนี้คือกล่องใส่เครื่องประดับ สมัยวิคตอเรียน  วาดพระรูปควีนวิคตอเรียนบนฝา

(http://www.mostoriginal.com/images/MD0005.jpg)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 10, 10:18
นอกจากเข็มกลัดเพชรรูปดอกกุหลาบ  เสด็จยังประทานสร้อยข้อมือทับทิมสลับเพชรให้แม่พลอย ข้าหลวงคนโปรด อีก ๒ เส้น
พลอยบอกตัวเองได้ตั้งแต่เห็น ว่าเป็นของมีราคา มิใช่ของเล็กน้อย
พยายามวาดภาพว่าเครื่องเพชรสมัยปลายรัชกาลที่ ๕  น่าจะเป็นแบบไหน  (เป็นแบบฝรั่งแน่นอน แม้ว่าอาจจะทำโดยช่างไทย)
ก็ได้คำตอบออกมาเป็นภาพนี้


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 ต.ค. 10, 10:26
หีบพระศรี พร้อมลูกหีบหรือเครื่องใน เป็นแบบกลมก็มีนะคะ
ในภาพเป็นหีบพระศรีที่ระลึกในงานพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
หีบพระศรีทำด้วยโละหะสีทอง ทรงกระบอก ด้านหน้าทำด้วยกระเบื้องเคลือบลงยา
ขอบหุ้มทองคำ ประดับพระฉายาลักษณ์ จำหลักลายหงส์อยู่ในบึง


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 ต.ค. 10, 10:29
หีบพระศรี ที่ระลึกในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
ทำด้วยนาค ทรงกระบอก ฝาเป็นกระเบื้องเคลือบลงยาเป็นพระฉายาลักษณ์เต็มองค์ประทับนั่ง
ฉลองพระองค์สีชมพู ตัวหีบแกะสลักดุนลายฟันปลารอบตัวหีบ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 21 ต.ค. 10, 11:14
เพิ่งเห็นคำถาม
คุณสายหยุดเป็นตัวละครสมมุติ   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์แค่เอ่ยชื่อถึง ไม่กี่บรรทัด   ไม่มีบทบาทในเรื่องค่ะ
แต่สายสกุลบุนนาคบ้านบน มีจริง    เจ้าคุณพ่อของแม่พลอยเป็นบุนนาคบ้านล่าง  แยกสายกันตั้งแต่สมัยเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ
คุณวันดีเคยเอ่ยไว้ในกระทู้เก่า   ใครหาเจอบ้างคะ

หีบพระศรีในรัชกาลที่ ๕  งามมากจริงๆ ได้เห็นรูปก็เป็นบุญตา  ปัจจุบันอยู่ที่พระที่นั่งวิมานเมฆหรือเปล่าคะ คุณ siamese

อาจารย์เทาชมพูครับ ถ้าผมเข้าใจไม่คลาดเคลื่อน เจ้าคุณพ่อของแม่พลอยน่าจะเป็นพวกบ้านบน (สายสมเด็จองค์ใหญ่ - เจ้าคุณหาบน ใน ร. ๓ เพราะบ้านอยู่ฟากขะโน้น (ฝั่งธน ฯ) ด้านบน) และคุณสายหยุดน่าจะเป็นพวกบ้านล่าง (สายสมเด็จองค์น้อย -บ้านอยู่ฟากขะโน้น แต่ด้านล่าง) นะครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 10, 11:23
เคยเขียนเอาไว้ในหนังสือ พิเคราะห์คึกฤทธิ์ พินิจสี่แผ่นดิน ว่าแม่พลอยเป็นญาติทางไหนของม.ร.ว. คึกฤทธิ์  แล้วก็ลืมไปจริงๆว่าเจ้าคุณพ่อเป็นบ้านบนหรือบ้านล่าง


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ต.ค. 10, 11:26
คุณเทาชมพูเคยเขียนไว้ดังนี้

คนอ่านยุคปัจจุบันคงไม่ทราบว่า คำว่า "ก๊กฟากขะโน้น" หรือ " ฟากข้างโน้น" "บ้านบน" และ "บ้านล่าง" หมายถึงอะไร แต่ถ้าย้อนหลังไปสัก ๕๐ ปี สมัยที่นวนิยายลงพิมพ์เป็นตอนๆในสยามรัฐ ผู้อ่านหลายท่านเข้าใจดีถึงความหมายของคำนี้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็น " ก๊กฟากขะโน้น" ด้วยกัน

"ก๊กฟากขะโน้น" คือสกุลขุนนางที่รุ่งเรืองที่สุดในบรรดาขุนนางรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ มีเชื้อสายวงศ์วานมากมาย ล้วนตั้งนิวาสสถานอยู่ทางฝั่งธนบุรี มาตั้งแต่สมัยเจ้าพระยาจักรี หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังประทับอยู่ฝั่งนั้น แม้ว่าต่อมาเมื่อสถาปนาเมืองหลวงขึ้นทางฝั่งตรงข้าม พวกนี้ก็ยังอยู่ฝั่งธนตามเดิม ไม่ได้ย้ายตามเสด็จมาด้วยทางฝั่งกรุงเทพฯ

เมื่อเมืองหลวงอยู่ฝั่งตะวันออก ฝั่งธนบุรีก็กลายเป็น " ฟากขะโน้น" สำหรับชาวกรุง และเมื่อเอ่ยถึง " ก๊กฟากขะโน้น" ก็เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงพวกไหน แม้ว่ามีขุนนางหลายร้อยหลายพันบ้านอยู่ทางฝั่งธนก็ตาม ก็ไม่มีใครเรียกว่าเป็นพวก " ฟากข้างโน้น"

ใช่ค่ะ " ก๊กฟากขะโน้น" คือพวกบุนนาค ซึ่งหัวหน้าสกุลเป็นเจ้าพระยามาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ขุนนางสกุลบุนนาคได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาถึง ๒ ท่านด้วยกัน คือสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย

บ้านของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่เรียกกันว่า " บ้านบน" ลูกหลานเชื้อสายทางท่านก็เรียกกันว่า " พวกบ้านบน" ส่วนบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยเรียกว่า "บ้านล่าง" ลูกหลานท่านก็เรียกกันว่า " พวกบ้านล่าง" ทำนองเดียวกันค่ะ

พวก " บ้านบน" ที่สำคัญที่สุดในต้นรัชกาลที่ ๕ คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ บุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ท่านได้ขึ้นตำแหน่งสูงสุด คือเป็นถึงผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

พระยาพิพิธเจ้าคุณพ่อของพลอยเป็นตัวละครสมมุติก็จริง แต่เมื่อผู้แต่งระบุว่า "เจ้าคุณเป็นก๊กฟากขะโน้นบ้านบน" ก็หมายความว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตั้งใจให้เจ้าคุณพิพิธ เป็นเชื้อสายทางฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ หรือไม่ก็เชื้อสายทางสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

แม่พลอยก็เป็นหลานเหลนของสมเด็จเจ้าพระยาฯบ้านบน ด้วยความหมายนี้เอง

ส่วนคุณสายหยุดสาวชาววังคนนั้นเป็นพวก "บ้านล่าง" คือเป็นเชื้อสายทางฝ่าย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย


http://www.vcharkarn.com/varticle/104




กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 10, 12:04
ได้คำตอบเร็วทันใจจริงๆ
 ;D


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ต.ค. 10, 12:28
บ้านบน - บ้านล่าง ยึดถือตามอะไรหรือครับ
๑. บรรดาศักดิ์ก่อน - หลังรับตำแหน่ง
๒. ความเป็นพี่น้องร่วมสายเลือด
๓. ตามลักษณะภูมิสถานตั้งบ้านเรือน
     ๓.๑ ถ้าตามแผนที่ นิวาศสถานของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ซึ่งแปลงที่ดินเป็นวัดประยุรวงศาวาส จะอยู่เหนือ    กว่าและตามด้วยและสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ซึ่งแปลงที่ดินเป็นวัดพิชัยญาติ จะอยู่ด้านล่าง
     ๓.๒ ถ้าดูจากการพายเรือ จะถึงบ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ก่อนและลึกเข้าไปในแผ่นดิน จึงถึงสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (จะเรียกบน หรือล่าง)  ??? ???
๔. หรือว่าใกล้แม่น้ำ บ้านบน ไกลแม่น้ำบ้านล่าง


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 21 ต.ค. 10, 13:59
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมบุนนาค เป็นพระยาอุไทยธรรม พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนที่ตรงบริเวณกำแพงวังหลวงด้านใต้ กับกำแพงวัดโพธิ (ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ปัจจุบันนี้เป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนฯ สถานที่นี้มีอ้างในหนังสือเรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์ ว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เกิดที่นี่)

พ.ศ. ๒๓๖๑ ได้มีการขยายพระบรมมหาราชวังลงมาทางใต้ จึงได้รื้อบ้านทุกหลังที่ตั้งอยู่ระหว่างกำแพงวัดด้านใต้กับกำแพงวัดพระเชตุพนฯ พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค โบราณว่า พระยาสุริวงษ์มนตรี ภายหลังคือ สมเด็จองค์ใหญ่) ได้ย้ายบ้านไปอยู่ที่สวนริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ใต้บ้านกุฎีจีน ซึ่งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพุทธยอดฟ้าฝั่งตะวันตกในปัจจุบันนี้

รายละเอียดเพิ่มเติม: http://www.bunnag.in.th/history7-home1.html (http://www.bunnag.in.th/history7-home1.html)



ส่วน บ้านบน -บ้านล่าง ผมเข้าใจเอาเองว่า

นับตามทิศ หรือตามทิศทางแม่น้ำ
โดยบ้านบน อยู่ทางทิศเหนือ หรือตอนต้นแม่น้ำ
ส่วนบ้านล่าง อยู่ทิศใต้ หรือทางท้ายแม่น้ำ (ไม่ทราบว่าใช้คำถูกมั้ย  :-[)

บ้านบน ไม่ได้อยู่เฉพาะบริเวณ วัดประยูรเท่านั้น
และ บ้านล่าง ก็ไม่ได้อยู่เฉพาะตรงวันพิชัยญาติ เท่านั้น



"ตามประวัติของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอม มารดาแพ) พระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงบ้านเรือนของพี่น้องสกุลบุนนาค ว่าอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี สร้างบ้านปลูกเรือนอยู่ ใกล้ๆ กัน ในละแวกนั้น พื้นที่เริ่มจากคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) เลียบตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาจนถึงเขตคลองขนอน (คลองตลาดบ้านสมเด็จ เจ้าพระยา) ที่ดินเหล่านี้ได้รับพระราชทานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ อาจแบ่งเป็นเขตใหญ่ๆ ๒ เขตได้แก่ เขตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สมเด็จองค์ใหญ่ กับเขตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า สมเด็จองค์น้อย พื้นที่ทั้งสองเขตนอกจากเป็นที่อยู่อาศัยของบุตรหลานแล้ว ยังได้ถวายพื้นที่ สร้างวัดของตระกูล คือ วัดประยุรวงศาวาส วัดพิชยญาติการาม วัดอนงคาราม เป็นต้น วัดทั้ง ๓ แห่งนี้เป็นที่บุคคล ในสกุลบุนนาคบรรพชาพระภิกษุ สามเณร ประกอบศาสนกิจ และเป็นสถานที่ศึกษาอักขระเบื้องต้นอีกด้วย

เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรสมเด็จองค์ใหญ่ได้เป็นที่สมุหพระกลาโหม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระราชทานจวนของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งพระนคร ริมคลองสะพานหัน ปัจจุบันนี้ ตรงเวิ้งนครเกษม (จวนนั้นได้ตกเป็นของหลวง เมื่อเจ้าของถึงอสัญกรรมในปลายรัชกาลที่ ๓) ให้เป็นจวนหรือบ้านพักของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และได้พำนักอยู่ ๑ ปี ใน พ.ศ. ๒๓๙๘ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) บิดาของท่านถึงพิราลัย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ขอถวายจวนคืนเป็นที่หลวง เนื่องจากต้องกลับไปดูแลทรัพย์สินของท่านบิดา ดังนั้นได้ย้ายกลับไปอยู่ที่ฝั่งธนบุรี แต่มิได้อยู่ที่จวนของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านได้ยกจวนนั้นให้แก่น้องสาวอยู่ด้วยกันอย่างเดิม และท่านไปสร้างบ้านอยู่ใหม่ที่ บริเวณสวนกาแฟ ริมคลองสานหลังวัดประยุรวงศาวาส
 

คลองสานนี้มีมาแต่เดิม มีความยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ต้นคลองเริ่มจากตรงที่ต่อกับคลองบ้านสมเด็จ (คลองสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) ที่หน้าวัดพิชยญาติการาม ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ป้อมป้องปัจจามิตร คลองสานนี้ตัดผ่านคลองต่างๆ หลายคลองเช่น คลองจีน คลองวัดทองธรรมชาติ คลองวัดทองนพคุณ และคลองลาดหญ้า เป็นต้น เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ต่อเรือกำปั่นจักรข้างขึ้นลำหนึ่ง ชื่อ "อรรคราชบรรยง" โรงต่อเรืออยู่ตรงข้ามกับหน้าวัดพิชยญาติการาม สมเด็จเจ้าพระยาฯ ให้ขุดคลองสานเดิมขยายให้กว้างและลึกเพื่อจะนำเรือลงน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยา การเรียกชื่อคลองสานจะมีต่างๆ กัน บ้างเรียกคลองสานสมเด็จ บางทีเรียกคลองลัดวัดอนงค์ ส่วนบริเวณฝั่งใต้ย่านคลองวัดทองนั้น มีคลองที่ขุดใหม่ใน สมัยเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เรียกว่า คลองสานเจ้าคุณกรมท่า

ส่วนคลองบ้านสมเด็จนั้นอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดอนงคาราม ด้านปากคลอง เป็นที่ตั้งบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ต่อมาท่านได้บูรณะวัดร้างใกล้กับวัดอนงคาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ โดยสร้างขึ้นใหม่ ต้องใช้วัสดุก่อสร้างจำนวนมาก และขนมาทางคลอง บริเวณนั้นเป็นป่าช้าไม่มีบ้านเรือนมาก คลองนี้จึงขุดกว้างพอที่เรือบรรทุกวัสดุก่อสร้างและหินสลักจากเมืองจีน เพื่อมาประดับตกแต่งอารามผ่านเข้ามาได้ ในตอนแรกเรียกว่าคลองตลาดสมเด็จ ต่อมาเป็นคลองสมเด็จเจ้าพระยา ในปัจจุบันเรียกว่าคลองวัดอนงคาราม

ส่วนคลองตอนในบริเวณหน้าวัดที่สร้างใหม่ เรียกว่า คลองวัดพระยาญาติ (ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดพิชยญาติการาม) นอกจากขุดคลองบ้านสมเด็จเพื่อใช้ในการสร้างวัดแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยยังได้ขุดคลองสกัดหลังวัดพิชยญาติการามอีกคลองหนึ่ง ต้นคลองเริ่มจากคลองวัดน้อย (วัดหิรัญรูจี) ปลายคลองไปบรรจบคลองสานเดิม เรียกกันว่า คลองหลัง พระปรางค์เหลือง

คลองในเขตคลองสานส่วนใหญ่จะเป็นคลองที่คนในตระกูลบุนนาคเป็นผู้ขุดเกือบทั้งสิ้น นาวาเอกพระยาชลธารวินิจฉัย (มุ้ย ชลานุเคราะห์) ได้เล่าไว้ในประวัติคลอง เขตหมู่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ขุดขยายคลองในการสร้างบ้านและวัด สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยกับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ขุดขยายคลองในการสร้างวัด สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (เจ้าคุณทหาร) ขุดขยายคลองในการสร้างเรือกำปั่นหลวง และเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี หรือเจ้าคุณกรมท่า ขุดคลองในการสร้างสวนเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ สถานที่ผลิตเรือรบนั้นอยู่ทางฝั่งคลองสานเป็นส่วนใหญ่ อู่เรือบ้านสมเด็จ ซึ่งอยู่หน้าวัดอนงคารามนั้น เป็นอู่เรือที่อยู่ในความอำนวยการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งท่านชอบต่อเรือมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นหลวงนายสิทธิ์ ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ต่อเรือกำปั่นใบแบบฝรั่งได้ คือเรือแกล้วกลางสมุทร (ต่อที่จันทบุรี) อู่เรือที่หน้าวัดอนงคารามอยู่ใกล้กับจวนของท่าน เป็นสถานที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ต่อเรือรบและเรือพระที่นั่งถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเรือสำหรับใช้เป็นการส่วนตัว เช่น เรือฤทธิแรงศร เรือลิ่ว ลอยเวหน และเรือสุริยมณฑล เป็นต้น

เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือเจ้าคุณทหาร บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้อำนวยการต่อเรือหน้าวัดอนงคารามสืบต่อจากสมเด็จเจ้าพระยาฯ เจ้าคุณทหารมีบุตรธิดา ๖๕ คน มีนิวาสถาน อยู่บริเวณพื้นที่ด้านตะวันตก (ของที่ดินเขตสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) พื้นที่ส่วนกลางจะเป็นนิวาสถานของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ส่วน ด้านทิศตะวันออก จะเป็นเขตของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ... "

รายละเอียดตามเว็บเดิม


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ต.ค. 10, 14:52
             คิดเหมือนกันครับ ว่าเรียกตามทิศทางการไหลของแม่น้ำ
ส่วนที่แม่น้ำไหลถึงก่อน(เหนือ) เป็นตอนบน ทางใต้ก็เป็นตอนล่าง
(คล้ายกับ Upper Egypt และ Lower Egypt - อียิปต์บนแต่อยู่ส่วนล่างในแผนที่)

            มหาวิทยาลัยไทยน่าจะมีคอร์ส สี่แผ่นดิน บ้าง นะครับ
ต่างประเทศ(อังกฤษ) มีการเปิดคอร์ส Harry Potter

BBC News August 2010

        Durham University students offered Harry Potter course

        ... the UK's first course focusing on the world of Harry Potter.

        ... to examine prejudice, citizenship and bullying in modern society.

        So far about 80 undergraduates have signed up for the optional module, part of
a BA degree in Education Studies.

ก่อนหน้านั้น 04/2009 clevelandleader.com ก็มีข่าวจากบ้านเกิดสี่เต่าทอง

        Liverpool University Launches Beatles Graduate Degree Program      


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 21 ต.ค. 10, 16:54
จากความเห็นที่ ๒๖ ของคุณ pierre

"แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างอุโมงค์ขึ้นใหม่ใกล้กับประตูศรีสุดาวงศ์เพื่อความเหมาะสม (ไม่ต้องออกไปถึงแม่น้ำ)  โดยอุโมงค์ที่สร้างสมัยนี้จะมีถังตั้งไว้ข้างล่างตลอดแถวสำหรับรับอุจจาระ และจะมีผู้นำไปเทภายหลัง"

จากหนังสือ "วังหลวง" ของนางอมรดรุณารักษ์ (อุทุมพร สุนทรเวช) ท่านผู้ประพันธ์บรรยายไว้ดังนี้

อุโมงค์ท้ายวัง

"อุโมงค์" นี้เป็นชื่อของสถานที่ที่มีการก่อสร้างพิเศษขึ้นไว้สำหรับใช้เฉพาะเหล่าสตรีทั่วไปทั้งหลายทั้งปวงในบรรดาอาศัยพำนักอยู่ภายในกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นใน ลักษณะอุโมงค์นี้เป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูนแบบโบราณหนาทึบคล้ายๆ สถาปัตยกรรมสมัยโรมันที่ค่อนข้างแข็งแรงเป็นพิเศษ หลังคาเป็นรูปจั่วปูนปั้นเป็นแท่งตรงๆ ขึ้นไปเหมือนมีแต่กำแพงตั้งขึ้นไปรับ ตัวอาคารตั้งหันหลังแนบชิดอยู่กับแนวกำแพงพระราชฐานชั้นกลางด้านทิศตะวันตกทางใกล้ๆ กับประตูศรีสุดาวงศ์ ค่อนข้างจะยาวและกว้างใหญ่พอที่จะรับรองผู้ต้องการมาใช้สถานที่เปลื้องทุกข์ได้พร้อมๆ กันคราวละหลายๆ คน มีท่อสำหรับไขน้ำเข้าออกให้ถ่ายเทสิ่งโสโครกลงไปตามท่ออุโมงค์ใต้พื้นดินลอดไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตลอดเวลา

ที่ตรงทางเข้าอุโมงค์นั้นไม่มีประตูปิดเปิด แต่เขาทำเป็นช่องโค้งๆ ไว้แทนช่องประตู มีความลึกตามส่วนความหนาของกำแพงตรงช่องทางเข้า พอที่จะมองไม่เห็นถึงข้างในได้เพราะมีลับแลบังอยู่ตรงกลาง พื้นภายในก่ออิฐถือปูนปูกระเบื้องหน้าวัว มีที่นั่งถ่ายเป็นเหมือนคอกกั้นด้วยฝาไม้เรียงกันเป็นแถวเฉพาะห้องเล็กๆ นั่งได้คนเดียว คอกเหล่านี้มีฝากั้นสองข้างสูงพอมิดศีรษะดังกล่าวมาแล้วโดยตลอด จำนวนคอกส้วมเหล่านี้ยาวไปจนสุดมุมกำแพงทั้งซ้ายขวา ด้านหน้าคอกมีฉากไม้กั้นเป็นบังตากันอุจาดไว้ตลอด เว้นทางเดินเข้าเป็นช่องไว้บ้างเป็นระยะๆ ห่างๆ สำหรับเดินเข้าออก ภายในอุโมงค์นี้เบื้องบนมีช่องลมกว้างมากตลอดแนวก่อนถึงหลังคา ช่วยให้มีแสงสว่างส่องถึงและถ่ายเทอากาศได้สะดวกไม่เกิดกลิ่นเหม็นจัด

อย่างไรก็ดีอุโมงค์ที่ว่านี้ย่อมเป็นเครื่องแสดงและยืนยันได้ว่าการสาธารณสุขสมัยนั้น วิธีการของอุโมงค์ในวังหลวงก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ดีพอสมควรในการใช้วิธีไขน้ำเข้ามาสูบกวาดล้างสิ่งโสโครกได้อย่างสะอาดดียิ่ง ถูกสุขลักษณะและค่อนข้างทันสมัยสำหรับยุคนั้น นับเป็นผสำเร็จอย่างเยี่ยมยอดก็ว่าได้"

แล้วการไขน้ำเข้ามาสูบกวาดล้างสิ่งโสโครก ทำอย่างไร จะรอให้ระดับน้ำขึ้น-ลงในแม่น้ำเจ้าพระยามาชักพาไปคงจะไม่ทันการเป็นแน่




กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 21 ต.ค. 10, 17:10
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น ปรากฏว่าได้มีระบบประปาใช้แล้วในพระบรมมหาราชวัง แต่คงไม่ใช่น้ำประปาที่ผ่านการกรองและสะอาดจน "น้ำประปาดื่มได้" เหมือนปัจจุบันเป็นแน่

"ถัดจากข้างเหนือขึ้นไป ให้ทำท่าสำหรับเรือข้าราชการอีกท่าหนึ่ง โปรดพระราชทานชื่อให้เรียกกันทั่วไปว่า ท่านิเวศน์วรดิฐ"

"อนึ่ง ที่เหนือจากท่านิเวศน์วรดิฐนี้เอง โปรดให้ตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยเครื่องจักรและสร้างถังสูงสำหรับขังน้ำที่สูบขึ้นไปจากแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วฝังท่อไขน้ำเข้าไปใช้ในพระบรมมหาราชวังดังกล่าวมาแล้ว ปรากฎว่าการประปาสมัยโบราณที่ว่านี้ยังคงใช้ได้สะดวกมาตลอดรัชกาลที่ ๕ เพิ่งจะเลิกเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบการประปาแบบใหม่เมื่อสร้างการประปาสำหรับพระนครในรัชกาลที่ ๖ นี้เอง โรงสูบเก่าจึงเป็นอันหมดสมัยไป"

แสดงว่าคงจะมีการวางท่อประปานี้ไปยัง "อุโมงค" ด้วย เพื่อใช้แรงดันของน้ำขับไล่สิ่งโครกออกไป


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 21 ต.ค. 10, 17:49
ท่าราชวรดิฐเป็นท่าเทียบเรือพระที่นั่ง ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง เดิมเป็นที่ตั้งของพระตำหนักน้ำซึ่งสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นตำหนักปักเสาลงในน้ำ ทอดคานเหมือนเรือนแพ มีหลังคามุงกระเบื้อง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักของเดิมเสีย แล้วลงเขื่อนถมที่ขึ้นเสมอพื้นดิน และสร้างพระที่นั่งขึ้นหมู่หนึ่งเป็นพลับพลาสูงตรงกลางองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งชลังคพิมาน" ต่อพลับพลาสูงเข้าไปทางด้านตะวันออก มีพระที่นั่งสูงเป็นที่ประทับองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งทิพยสถานเทพสถิต" พระที่นั่งข้างเหนือลดพื้นต่ำลงมาเป็นท้องพระโรงฝ่ายหน้าองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย" มีพระที่นั่งข้างใต้เหมือนกันกับองค์ข้างเหนือเป็นที่พักฝ่ายใน พระราชทานนามว่าพระที่นั่งอนงค์ในสราญรมย์ ส่วนตรงหน้าพระที่นั่งชลังคพิมานใต้ท่าเสด็จลงเรือ โปรดเกล้าฯ ให้ก่อเขื่อนทำสระเป็นที่สรงสระหนึ่งก่อกำแพงเป็นบริเวณข้างในทั้ง 3 ด้านมีป้อมริมน้ำปลายแนวกำแพงด้านเหนือ พระราชทานนามว่า "ป้อมพรหมอำนวยศิลป์" ป้อมข้างใต้ตรงชื่อ ป้อมอินทร์อำนวยศร และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกรวมกันทั้งบริเวณว่า "ท่าราชวรดิฐ" แปลว่า ท่าอันประเสริฐของพระราชา ข้างเหนือขึ้นไปทำท่าสำหรับเรือข้าราชการอีกท่าหนึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า "ท่านิเวศน์วรดิฐ" ซึ่งปัจจุบันเป็นท่าเรือรับส่งข้าราชการทหารเรือและประชาชนทั่วไปข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรีขึ้นตรงท่าของกรมอู่ทหารเรือ

ข้อมูลจากกระทู้ของคุณ auddy228 http://www.baanmaha.com/community/

ท่าขุนนางในปัจจุบัน - ดังนั้นโรงสูบน้ำประปาคงจะอยู่ในพื้นที่ของสนามกีฬาของสวัสดิการทหารเรือ ท่าช้างในปัจจุบัน





กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ต.ค. 10, 19:33
ประตูช่องกุด และประตูศรีสุดาวงศ์


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ต.ค. 10, 20:38
"....ครั้งหนึ่งช้อยหายไปข้างนอกตำหนัก กลับมาหอบอ้อยที่ตัดเป็นท่อนสั้นๆ มาหลายท่อน ช้อยเรียกพลอยมาดู แล้วแบ่งท่อนอ้อยสั้นๆ นั้นให้ครึ่งจำนวน แล้วบอกให้ช่วยกันเลี้ยง พร้อมทั้งอธิบายว่า ในท่อนอ้อยนั้นมีตัวด้วงมะพร้าว ซึ่งช้อยไปรับอาสาคนที่ห้องเครื่องต้นว่า จะเอามาเลี้ยงให้จนครบกำหนด เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องการด้วงมะพร้าวเหล่านี้ ไปทอดตั้งเครื่อง ก็จะนำไปคืน ช้อยบอกให้พลอยเอาอ้อยฟังที่หู พลอยก็ทำตาม ได้ยินเสียงตัวด้วงกัดกินอ้อยอยู่ข้างในถนัด ช้อยและพลอยเป็นห่วงใยด้วงเหล่านั้นเป็นวักเป็นเวร แม้เวลานอนก็เอาไปวางข้างหมอน เพื่อฟังเสียงด้วงกัดอ้อย จนหลับไปกลับที่ พอครบกำหนดที่จะต้องส่งคืน ที่ห้องเครื่อง ทั้งช้อยและพลอยก็หอบอ้อยไป ช้อยถึงกับร้องไห้ด้วยความอาลัยด้วง ที่จะต้องตายในเวลาเร็ว พอไปถึงห้องเครื่อง พลอยก็เห็นเขาผ่าอ้อยเอาตัวด้วงซึ่งอ้วนกว่าหัวแม่มือและสีขาว เอาลงใส่อ่างซึ่งเต็มไปด้วยหัวกะทิ ปล่อยให้ด้วงกินกะทิต่อไปอีก แต่ช้อยก็ยังไม่ยอกมกลับ ต้องนั่งรอจนเขาจับด้วงเป็นๆนั้น ลงทอดในกระทะน้ำมันร้อนๆ จนตัวด้วงนั้นเหยียดยาวออกไป แล้วก็เอาขึ้นมาหั่นเป็นแว่นๆ พร้อมที่จะจิ้มน้ำจิ้ม ช้อยจึงกลับ ระหว่างที่เดินทางกลับช้อยก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น จนคนที่รู้จักเห็นเข้าถามว่าใครตาย..."



กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 21 ต.ค. 10, 22:12
ระหว่างทางที่แม่แช่มพาพลอยนั่งเรือจากบ้านคลองบางหลวงข้ามแม่น้ำมายังวังหลวงนั้น พลอยเกิดความสงสัยเมื่อเห็นอาคารหลังหนึ่ง หลังคามุงกระเบื้องสี มีช่อฟ้าปิดทองงามระยับริมตลิ่ง เมื่อถามแม่แช่มก็ได้รับคำตอบว่าที่พลอยเห็นนั้น คือ “ตำหนักแพ”
สำหรับตำหนักแพนี้ใช้เป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียก “ท่าราชวรดิฐ”  ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตำหนักแพเป็นหมู่พระตำหนักน้ำ อยู่ด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง เป็นเพียงตำหนักเล็กๆ ที่สร้างยื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ทอดคานเป็นทางเดินเหมือนเรือนแพ จึงเรียกว่า “พระตำหนักแพ” (สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวพระตำหนักทรุดโทรม จึงโปรดให้รื้อและสร้างขึ้นใหม่ ครั้งนี้โปรดให้ลงเขื่อนถมและปรับที่ให้เสมอกัน สร้างเป็นหมู่พระที่นั่งใหม่อย่างงดงาม ประกอบด้วยพระที่นั่งชลังคพิมาน พระที่นั่งทิพยสถานเทพสถิตย์ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย และพระที่นั่งอนงค์ในสราญรมย์ โดยพระราชทานนามบริเวณนั้นทั้งหมดว่า “ท่าราชวรดิฐ”  ;D
***ปัจจุบันเหลือเพียงพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยเพียงองค์เดียว
ภาพนี้ เคยพบในwebใดwebหนึ่งแต่จำไม่ได้ว่าจากที่ไหนขอคำชี้แนะจากท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วยนะคะ ว่าพระที่นั่งใดอยู่ตรงไหน? ???
(http://)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 10, 08:03
ให้ลุงไก่ ... เรื่องน้ำประปา และแถวเต็ง ที่สร้างใหม่

"...ในบริเวณพระราชวังชั้นใน เขื่อนเพ็ชรอันเปนเขตรพระราชวังชั้นใน เดิมทำเปนทิมแถวชั้นเดียว โปรดให้ทำใหม่เปนเล่าเต๊ง ๒ ชั้น ทั้งด้านตวันออกแลตวันตก แต่ด้านใต้นั้นทรงพระราชดำริห์ว่า พระราชวังชั้นในตอนที่ขยายออกไปทางวัดพระเชตุพนเมื่อในรัชกาลที่ ๒ นั้น ยังไม่ได้สร้างสิ่งใดขึ้นเปนที่ว่างร้างอยู่ในพระบรมมหาราชวังกว้างขวางนัก จึงโปรดให้กั้นเขตรข้างในพระราชวังเสียอิก คือให้สร้างเล่าเต๊งเขื่อนเพ็ชร์ขึ้นเปนแนวกำแพงด้านใต้ ๒ ชั้น ชั้นในเรียกว่าเต๊งแถวท่อ เพราะทำตามแนวท่อที่ไขน้ำเข้าในวัง ท่อนี้แต่เดิมเปนท่อเปิดเหมือนกับคลอง เปนทางไขน้ำเข้ามาใช้ในพระราชวัง แลให้น้ำไปลงสระสวนขวา โปรดให้ก่อปิดทำเปนพื้นถนน เปิดเปนปากบ่อไว้สำหรับตักน้ำใช้เปนระยะ..."

ภาพนี้เป็นภาพท่าราชวรดิฐ มีถังน้ำด้วยครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 10, 08:14
เมื่อพลอยตามเสด็จไปบางปะอิน   ชาววังต้องหาของกินติดตัวไปด้วย  ระหว่างทางรถไฟ  และที่บางปะอินไม่มีของขายอย่างในวัง
ของกินเล่น ชั้นดีวิเศษของสมัยนั้น คือขนมปังหมูหยอง

(http://images.nudaoordaoja.multiply.com/image/1/photos/24/600x600/1/pork.JPG)

รองลงมา  คือข้าวเม่าหมี่

(http://www.bloggang.com/data/oley/picture/1222034162.jpg)

และลูกบัวผัด  (หรือเม็ดบัวผัด)

(http://www.thaitambon.com/thailand/Nonthaburi/120604/0484142311/F3847_7906A.jpg)

ในยุคคริสปี้ครีม    ไม่แน่ใจว่าหนุ่มๆสาวๆกี่คนเคยกินของกินเล่นพวกนี้


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 10, 08:14
ขนมปังหมูหยอง ภาพไม่ขึ้น  ต้องลองอีกทีค่ะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 10, 08:25
และอีกจุดหนึ่ง
"...บริเวณว่าท่าราชวรดิฐ ข้างเหนือขึ้นไปให้ทำท่าสำหรับเรือข้าราชการอีกท่า ๑ โปรดให้เรียกว่า ท่านิเวศน์วรดิฐ. ประปา ที่เหนือท่านิเวศน์วรดิษฐ โปรดให้ตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยเครื่องจักรแลสร้างถังสูงสำหรับขังน้ำที่สูบขึ้นไปจากแม่น้ำ แล้วฝังท่อไขน้ำเข้าไปใช้ในพระราชวัง ( ประปาที่ยังใช้มาจนตลอดรัชกาลที่ ๕ พึ่งเลิกเมื่อมีประปาสำหรับพระนคร .."


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 ต.ค. 10, 10:14
         น้ำที่ขึ้นชื่อฮือฮาในยุคนั้น เพราะเป็นของแปลก ของคนรวยคือ น้ำแข็ง
คุณสายเล่าว่า

              " จะมีสายหยุดที่ไหนเสียอีกล่ะ ถือว่าเป็นลูกผู้ดี พ่อเป็นเจ้าพระยา ปู่ย่าตาทวด เป็นเจ้าคุณราชินิกุล
มีเงินจนไม่รู้จะทำอะไรหมด
               แม่แช่มจำได้ไหม เมื่อแม่แช่มยังเด็กๆ ใครเป็นคนเอาขนมปัง เข้ามาเลี้ยงเพื่อนในวังก่อนคนอื่น
ใครที่เจ้าคุณพ่อสั่งน้ำแข็งมาจากสิงค์โปร์ แล้วส่งเข้ามาให้ ตัวเองไม่กล้ากิน ให้บ่าวลองกินดูก่อน
มันร้องสามบ้านเจ็ดบ้านว่าลิ้นจะขาด "





กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 ต.ค. 10, 10:17
              ขนมที่ไม่ค่อยได้เห็นหรือรับประทานแล้ว ครับ

สี่แผ่นดิน เมื่อแรกเข้าวัง

         "นั่นห่ออะไร พลอย"
         "ห่อจันอับ" พลอยตอบ "ฉันได้มาจากบ้านเมื่อเช้านี้ กินด้วยกันซีช้อย"
ว่าแล้วพลอยก็แก้ห่อจันอับออกวางบนตัก
         ช้อยหยิบจันอับไปเคี้ยวกิน โดยไม่พูดไม่จาอะไรอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วถามขึ้นห้วนๆ ว่า
         "คิดถึงบ้านไหม พลอย"

จากมติชน  28 กรกฎาคม 2552 โดยคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ

                         กล่อง“จันอับ” ใส่ขนม“แต้เหลี้ยว”ของจีน


      จันอับ เพี้ยนจากคำจีนแปลว่า กล่องใส่ของ แต่ไทยหมายถึงขนมหวานอย่างแห้งของจีน
มีหลายอย่าง

         อาจารย์เฉลิม ยงบุญเกิด อธิบายว่ามาจากภาษาจีนแต้จิ๋วว่า จิ๊งอั๊บ แปลว่า กล่องถวายหรือกล่องบูชา
ซึ่งในกล่องใส่ขนมจันอับไหว้เจ้า (จากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเฉลิม ยงบุญเกิด
เมรุวัดธาตุทอง วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2518)

        ยุคกรุงศรีอยุธยามีขนมจันอับขายแล้ว มีโรงทำเครื่องจันอับด้วย หนังสือภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา
(เอกสารจากหอหลวง) บันทึกว่า มีพวกจีนตั้งโรงทำเครื่องจันอับ และขนมแห้งจีนต่างๆหลายชนิด
หลายอย่างอยู่ตลาดน้อย ใกล้ประตูช่องกุดท่าเรือจ้างข้ามไปวัดพนัญเชิง

          จันอับสมัยรัชกาลที่ 5 หมายถึงขนม 6 อย่าง มีรายชื่อในพระราชบัญญัติอากรจันอับ ร.ศ. 111
ดังนี้คือ

น้ำตาลกรวด

ฟัก, ถั่วก้อน, ถั่วตัด, งาตัด, โซถึง, ปั้นล่ำ, ก้านบัว, ขิงเคี่ยว, น้ำตาลทราย, ขนมเปี๊ยะ,
ข้าวพอง, ตังเม, ถั่วงา, ขนมโก๋ทำด้วยแป้งขาวแป้งถั่ว

วุ้นแท่ง, ตังเมหลอด, น้ำตาลทรายเคี่ยวหล่อหลอมเป็นรูปต่างๆ

ขนมซาลาเปา ทำด้วยแป้งข้าวสาลี

ไพ่กระดาษจีน

เทียนไขเนื้อ

             แต่เอกสารบางเล่มเรียกขนมจันอับเป็นภาษาจีนว่า“แต้เหลี้ยว”ทำให้รู้ว่าจันอับเป็นชื่อกล่องใส่ขนม
ส่วนขนมในกล่องจันอับเรียกแต้เหลี้ยว มีขนม 58 อย่าง (สูจิบัตรงานนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยใน
พระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. 2425 สำนักพิมพ์ต้นฉบับ พิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2543)
แล้วมีคำอธิบายดังนี้

            “รวม 58 สิ่งนี้จีนเรียกว่าแต้เหลี้ยว ไทยเรียกว่าเครื่องจันอับเปนขนมสำหรับจีนไหว้ เมื่อเทศการตรุษจีน
ศาจจีน ไม่ว่าตรุษศาจอันใด ต้องมีเครื่องแต้เหลี้ยวนี้กำกับทุกตรุษ ทุกศาจ โดยที่สุดแต่วันชิวอิดจับเหงา
ก็ต้องมีเครื่องแต้เหลี้ยวไหว้เจ้าทุกวันๆ แลเครื่องแต้เหลี้ยวนี้เปนของรับประทานกับน้ำร้อนน้ำชาด้วย

              อนึ่ง ไทยจีนจะทำการวิวาหะมงคล ฤาทำการบุญต่างๆ ก็มักใช้เครื่องแต้เหลี้ยวเปนของขันหมาก
แลใส่ปากกระจาดก็มาก

              เครื่องแต้เหลี้ยวนี้ จีนทำขายที่ตำบลสำเพง ราคาซื้อขายที่โรงผู้ทำต้องชั่งน้ำหนักระคนปนกันทุกสิ่ง
หนักห้าชั่งจีนต่อบาท

              ราคาซื้อขายตามตลาดเครื่องแต้เหลี้ยวห่อหนึ่งหนักเจ็ดตำลึงจีนบ้าง แปดตำลึงจีนบ้าง ราคาห่อละเฟื้อง
ที่เปนชิ้นเปนอันก็ขายกันอันละเฟื้อง อันละ 4 อัฐ อันละ 2 อัฐ อันละ 1 อัฐ ก็มี”

สูจิบัตรนี้มีชื่อขนมจำนวนหนึ่งที่ยังบอกไม่ได้ว่าคืออะไร? เช่น

“โซถึง, อิ้วจ๊อ, เม่งถึง, เซียงเต้าถึง, กิมเก๊กโซ, กิมโซเบีย, ฮองหงัน เปีย, เบเตยโซ, กึงกังเปีย,
เกียมโก, จือถึงโก, เบ๋เต้ยโก, ฬ่อใจ, ทึ่งกวย, กิมกวย, กิมหัม, เกยปะโก, เปียโถ, มี่เต๊ก,
เล่งมึ่งเปีย, เง่าฮุนปั้ง, กาเปีย, เตเปีย, บ้วยกี, ตือถึงโก, เปากวน”

ผมจนปัญญา ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เลยป่าวร้องขอความช่วยเหลือแปลหรืออธิบายชื่อขนมที่คัดมาไว้นี้
จะเป็นพระคุณสูงยิ่ง


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 ต.ค. 10, 10:23
ช่วงนี้ติดตามอ่านบทรายการ รู้ รัก ภาษาไทย อยู่ครับ

              หมูหย็อง เป็นของกินทำด้วยเนื้อหมูทำเป็นฝอย ๆ.

          คำว่า หย็อง หมายถึง หยิกเป็นฝอยฟู เช่น ผมหยิกหย็อง. 
หย็อง ในคำ หมูหย็อง อาจมาจากคำว่า ย้ง ในภาษาจีนแต้จิ๋ว บ๊ะย้ง แปลว่า หมูหย็อง.
นอกจากนั้น ในภาษาไทใหญ่มีคำว่า ย้อง เสียงและความหมายใกล้เคียงกับ หย็อง เช่น 
เป๋นย้องเป๋นย้อง มีความหมายว่า เป็นเส้น ๆ. คำว่า เน่อย้อง หรือ ย้องเน่อ แปลว่า เนื้อเป็นเส้น ๆ เป็นอาหารชนิดหนึ่ง
ของชาวไทใหญ่ วิธีทำเน่อย้อง คือเอาเนื้อมาหั่นเป็นเส้น ๆ นวดกับเกลือ แล้วย่างหรือตากแดดจนแห้ง เก็บไว้กินได้นาน

คำว่า หย็อง ในภาษาไทย  ย้อง ในภาษาไทใหญ่ และ ย้ง ในภาษาจีน มีเสียงและความหมายคล้ายกัน.

บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย"  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 10, 10:51
ตอบคุณ SILA  ภาพขนมเม่งถึง เป็นแป้งข้าวเหนียวนุ่มๆคลุกงา


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 ต.ค. 10, 11:09
ขอบคุณคุณ siamese ครับ

อ้างถึง
“โซถึง, อิ้วจ๊อ, เม่งถึง, เซียงเต้าถึง, กิมเก๊กโซ, กิมโซเบีย, ฮองหงัน เปีย, เบเตยโซ, กึงกังเปีย,
เกียมโก, จือถึงโก, เบ๋เต้ยโก, ฬ่อใจ, ทึ่งกวย, กิมกวย, กิมหัม, เกยปะโก, เปียโถ, มี่เต๊ก,
เล่งมึ่งเปีย, เง่าฮุนปั้ง, กาเปีย, เตเปีย, บ้วยกี, ตือถึงโก, เปากวน”

ผมจนปัญญา ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เลยป่าวร้องขอความช่วยเหลือแปลหรืออธิบายชื่อขนมที่คัดมาไว้นี้
จะเป็นพระคุณสูงยิ่ง

เป็นคำถามตอนท้ายที่คุณสุจิตต์ถามไว้ในบทความครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 10, 11:33
เห็นภาษาจีนแล้วต้องขอส่งไม้ต่อให้คุณม้า ค่ะ

สี่แผ่นดิน พูดถึงอาหารการกินของชาววังไว้หลายอย่าง แม่พลอยเข้าวังวันแรก  ก็เจออาหารชาววังที่คุณสายใส่ชามวางไว้กินเล่น  คือกุ้งเชื่อมกับไข่แมงดาทะเลเชื่อม (หรือแช่อิ่ม) 
ไม่เคยกิน  มีแต่รูปไข่แมงดาทะเลมาให้ดู

(http://www.suanlukchan.net/chanruean_image/mangda3.jpg)

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ประหลาดทั้งหลาย คือคุณเพ็ญชมพู  ไม่รู้ว่าเคยกินไข่แมงดาทะเลหรือเปล่า   


ในห้องคุณสายมีชั้นวางขวดโหลใส่ขนมหลายอย่าง   พลอยอดข้าวมาแต่เช้า ได้แต่นั่งมองแล้วท้องร้องจ๊อกๆ   
หนึ่งในนั้นคือขนมอาลัว
ขนมอาลัวเจ้าอร่อยที่เคยกินแล้วยังไม่ลืม  เป็นฝีมือคุณป้าพิศวง  หลานสาวของแม่เกด นางเอกเรื่องราตรีประดับดาว  ท่านอยู่ที่เพชรบุรี   ตอนไปสัมภาษณ์ชีวิตคุณหญิงวิเศษสิงหนาถเพื่อเอามาเขียน  เลยโชคดี  ได้กินขนมชนิดนี้ด้วย

(http://gotoknow.org/file/sukanya1014/552000002599701.jpg)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 ต.ค. 10, 12:23
ข้อความจากหนังสือ ครับ

                 ชั้นเตี้ยๆ ที่วางอยู่ชิดฝาด้านข้างประตู บนชั้นนั้นมีขวดโหลวางเรียงรายอยู่เป็นแถว ในขวดโหลนั้นใส่
                 ข้าวตังกะทิบ้าง น้ำพริกเผาบ้าง หมูหยอง มะขามฉาบ ปลาแห้งผัดพริกกะเกลือ ฝอยทองกรอบ ขนมอะลัว และ
ของอื่นๆ ที่น่าสนใจสำหรับเด็กอายุ ๑๐ ขวบขนาดพลอยเป็นอันมาก

และ

                  ชามใบหนึ่งนั้น ใส่ไข่แมงดาทะเล ซึ่งพลอยเคยเห็นแต่เขาแกงคั่วกับสับปะรด และ
                  ชามอีกใบหนึ่งนั้นใส่กุ้งตะเข็บ ซึ่งพลอยเคยเห็นเขาทำกุ้งเค็ม หรือใช้ผัดใช้แกง
                  แต่ไข่แมงดาทะเลและกุ้งที่เห็นในวังนี้ กลายเป็นของใหม่สำหรับพลอย เพราะทั้งสองอย่างนั้นเชื่อมน้ำตาล
มีน้ำตาลจับจนแข็ง
                  ...เห็นแม่กำลังหยิบกุ้งเชื่อม หรือถ้าจะเรียกให้ถูกก็ต้องเรียกว่า กุ้งแช่อิ่มนั้น ขึ้นใส่ปากเคี้ยวกิน อย่างเอร็ดอร่อย
                  ...พลอยลองเคี้ยว(ไข่แมงดา) ดูแล้วก็ต้องรีบกลืนให้หมด เพราะหวานแสบไส้

และ มื้อแรกของพลอยในวัง

                  พบกับข้าวที่รู้จักแล้วทั้งนั้น เป็นต้นว่า แกงบอน ผัดถั่วฝักยาว ยำไข่ปลาดุก

ตัดต่อจากโพสท์ทูเดย์ เล่าถึง เมนูโปรดรัชกาลที่ห้า โดยสาโรจน์ มีวงษ์สม

         .... ในรัชสมัยของพระองค์เป็นยุคทองของเรื่องอาหารอย่างแท้จริง และยังเป็นยุคสมัยแห่งการผสมผสาน
ของอาหารชาววังกับวัฒนธรรมตะวันตกอีกด้วย โดยในปี พ.ศ.2413 หลังจากเสด็จกลับจากการประพาสสิงคโปร์
ทรงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอาหารไทยที่สำคัญคือ มีการตั้งโต๊ะเสวย และการใช้ช้อนส้อมแบบสากล

            นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเปลี่ยนไปเสวยพระกระยาหารเช้าแบบยุโรป ...

          แต่กระนั้นการเรียนรู้งานฝีมือและการปรุงอาหารชาววังตามแบบประเพณีเดิมก็ยังดำรงอยู่...

            พระตำหนักที่เป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ทางด้านอาหารชาววังที่สำคัญที่สุด คือ ตำหนักพระวิมาดา
กรมพระสุทธาสินีนาฎปิยมหาราชปดิวรัดา หรือ "เจ้าสาย" พระอัครชายา และทรงเป็น "ต้นเครื่องใหญ่"
ผู้ควบคุมการทำพระกระยาหารถวายตลอดรัชสมัย
            ..................................

          ตำรับอาหารเจ้านายในวังสมัยก่อนมักโปรดเสวยหวาน โดยเฉพาะที่จะขาดไม่ได้คือ หมูหวาน
ต้องขึ้นโต๊ะถวายทุกมื้อ อาหารชาววังจริงๆ รสต้องนุ่มนวล ไม่จัด ไม่เข้มข้น หรือมีกลิ่นค่อนข้างแรง
อาหารทุกชนิดต้องหวานนำ

            เมนูโปรดที่ถวายกันเป็นประจำคือ แกงจืดลูกรอก เนื้อปลาช่อนหรือปลาดุกทอดกรอบฟู
ยำไข่ปลาดุก เนื้อทอดชิ้นเล็กๆ โรยหน้าด้วยมะพร้าวทอดกรอบ
            ของหวานที่โปรดมี รังผึ้งสด มะตูมสุกราดกะทิ กระท้อนห่อลอยแก้ว วุ้นแช่เย็น เต้าฮวยน้ำขิง
            อาหารฝรั่งก็มี ซุปข้น ไก่งวงปิ้ง หมูแฮมอบ ถั่วเขียวอบ และขนมเค้ก

            พระกระยาหารที่ทรงโปรดและต้องมีตั้งถวายทุกวัน คือ ปลากุเลาทอด และไข่เค็ม


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ต.ค. 10, 13:51
สี่แผ่นดิน พูดถึงอาหารการกินของชาววังไว้หลายอย่าง แม่พลอยเข้าวังวันแรก  ก็เจออาหารชาววังที่คุณสายใส่ชามวางไว้กินเล่น  คือกุ้งเชื่อมกับไข่แมงดาทะเลเชื่อม (หรือแช่อิ่ม) 
ไม่เคยกิน  มีแต่รูปไข่แมงดาทะเลมาให้ดู

(http://www.suanlukchan.net/chanruean_image/mangda3.jpg)

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ประหลาดทั้งหลาย คือคุณเพ็ญชมพู  ไม่รู้ว่าเคยกินไข่แมงดาทะเลหรือเปล่า 

ไม่เคยรับประทานสักที

แต่พอทราบว่าไข่แมงดาทะเลมีพิษ ถ้าเลือกไม่ดีระหว่างแมงดาจานและแมงดาถ้วย


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 22 ต.ค. 10, 14:03
กุ้งตะเข็บ หน้าตาเป้นอย่างไรคะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 10, 14:28
กุ้งตะเข็บ หน้าตาเป้นอย่างไรคะ

ชื่อไทย      กุ้งกุลาลาย  กุ้งลาย  กุ้งตะเข็บ
ชื่อสามัญ      Green  tiger  prawn
ชื่อวิทยาศาสตร์    Penaeus  semisulcatus
ครอบครัว   Penaeidae
      ลักษณะโดยทั่วไป  หนวดลาย  สันข้างแก้มอยู่ในแนวเฉียงขึ้นไปทางด้านหลัง  สันที่อยู่สองข้างโคนกรียาวเลยฟันกรีอันหลังสุด  ลำตัวสีน้ำตาลปนแดง  (อาจเปลี่ยนสีได้ตามสภาวะสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับกุ้งชนิดอื่น ๆ )  มีจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่เต็ม  และมีแถบสีเข้มพาดขวางลำตัวทำให้เห็นเป็นปล้อง ๆ ด้านบนของกรีมีฟัน  6 – 7  ซี่  ด้านล่างมี  2 – 3  ซี่  ขามีสีนวลสลับกับสีส้ม  ริมขอบขาว่ายน้ำและหางมีขนสีแดงอยู่โดยรอบ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ต.ค. 10, 14:36
ราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามไว้

ตะเข็บ ชื่อกุ้งทะเลขนาดเล็กหลายชนิดในสกุล Metapenaeus วงศ์ Penaeidae ตัวแบน.

ที่่ตลาดบางปะกง โลละ ๕๐

 ;D


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 10, 14:38
กุ้งหวาน หรือกุ้งแช่อิ่ม หรือกุ้งเชื่อม

ปัจจุบันก็ทำกินเองที่บ้าน อร่อยกินได้ทั้งเปลือกเลย ตั้งน้ำให้เดือด ใส่น้ำตาลให้ท่วม ใส่กุ้งต้มนานๆ ให้น้ำตาลรัด พอเปลือกกุ้งใส ก็เสร็จพิธี


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 ต.ค. 10, 14:39
ต่อเนื่อง เครื่องเสวย ล้นเกล้า ร.๕ ครับ

จาก bangkokbiz news วันนี้

              อาหารทรงโปรดอย่างหนึ่ง คือ ปลาทูทอด และต้องเป็นปลาทูจากเพชรบุรี(แม่กลอง) เท่านั้น
ซึ่งฝีมือการทอดปลาทูที่พระองค์ท่านโปรดเสวยที่สุดคือฝีมือของเจ้าจอมเอิบ โดยมีพระราชพัตถเลขาถึงพระยาบุรุษฯ ว่า

              “เรื่องทอดปลาทูอยู่ข้างจะลำบากมาก ถ้าพลาดไปแล้วข้ากลืนไม่ลง ขอให้จัดตั้งเตาที่สะพานต่อเรือนข้างหน้าข้างใน
บอกกรมวังให้เขาจัดรถให้นางเอิบออกไปทอด เตรียมเตาและกระทะไว้ให้พร้อม”

และภาพที่ร้านอาหารเกือบทุกแห่งติดไว้ที่ฝาผนัง นั่นคือภาพที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงกำลังทอดปลาทู
และผู้ฉายพระรูปก็คือ เจ้าจอมเอิบ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ต.ค. 10, 14:44
จาก bangkokbiz news วันนี้

              อาหารทรงโปรดอย่างหนึ่ง คือ ปลาทูทอด และต้องเป็นปลาทูจากเพชรบุรี(แม่กลอง) เท่านั้น
ซึ่งฝีมือการทอดปลาทูที่พระองค์ท่านโปรดเสวยที่สุดคือฝีมือของเจ้าจอมเอิบ โดยมีพระราชพัตถเลขาถึงพระยาบุรุษฯ ว่า

             “เรื่องทอดปลาทูอยู่ข้างจะลำบากมาก ถ้าพลาดไปแล้วข้ากลืนไม่ลง ขอให้จัดตั้งเตาที่สะพานต่อเรือนข้างหน้าข้างใน
บอกกรมวังให้เขาจัดรถให้นางเอิบออกไปทอด เตรียมเตาและกระทะไว้ให้พร้อม”


และภาพที่ร้านอาหารเกือบทุกแห่งติดไว้ที่ฝาผนัง นั่นคือภาพที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงกำลังทอดปลาทู
และผู้ฉายพระรูปก็คือ เจ้าจอมเอิบ


ดร. กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ เขียนเล่าไว้ในหนังสือ “ย้อนรอยเจ้าจอมก๊กออ ในรัชกาลที่ ๕” ว่า

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเสวยปลาทูเป็นอย่างมาก ในสมัยนั้นถือว่าปลาทูเป็นของหรู เสด็จเมืองเพชรคราวใดก็มักจะเอ่ยถึงปลาทูเสมอ บุญมี พิบูลย์สมบัติ จากบทความ “ข้าวต้มสามกษัตริย์”  หน้า ๒๐๕-๒๐๖ ในหนังสือ พระปิยมหาราชกับเมืองเพชร กล่าวว่า

“ปลาทูก็เป็นของกินอร่อย เพราะตัวโต และมีจำนวนมาก”

และอีกตอนว่า

“เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เสด็จมาเมืองเพชรบุรี แต่ละคราวของกินในฤดูกาลปลาทูชุก ก็ทรงโปรดเสวยปลาทูเป็นอย่างมาก เช่น เมื่อคราวเสด็จประพาสเพชรบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ในวันที่ ๑๔ กันยายน ได้เสด็จลงเรือเล็ก ๒ ลำ มีเจ้าพนักงานเตรียมของแห้ง และเครื่องครัวขึ้นไปเที่ยวตอนเหนือลำน้ำเพชรบุรีจนถึงท่าเสน แล้วจอดเรือเสด็จขึ้นไปทำกับข้าวกลางวันกินกันที่ท่าน้ำวัดท่าหมูสี หรือวัดศาลาหมูสี”

พระราชหัตถเลขาจากเพชรบุรี ฉบับที่ ๕ วันที่ ๑๕ กันยายน ร.ศ. ๑๒๘ ที่มีมาถึงมกุฎราชกุมาร หน้า ๓๑ ได้กล่าวถึงเรื่องปลาทูไว้ว่า

“น้ำที่เพชรบุรีวันนี้ขึ้นสูงอีกมาก แต่ถ้าฝนไม่ตกก็น่าจะยุบลงได้อีก อากาศวันนี้แห้งสนิท มีฝนประปรายบ้างในเวลาจวนพลบ แต่ก็ไม่ชื้น มีความเสียใจที่จะบอกว่าปลาทูปีนี้ใช้ไม่ได้ ผอมเล็กเนื้อเหลว และมีน้อย ไม่ได้ทุกวันด้วย”

หรือในพระราชหัตถเลขาจากเพชรบุรีถึงพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ หน้า ๑๐๙ ที่ว่า

“พระยาบุรุษ

วันนี้เห็นปลาทูตัวโต ควรจะมีการเลี้ยงได้เช่นเมื่อปีกลายนี้ เป็นอาหารเช้าเวลาก่อฤกษ์แล้วให้ไปคิดจัดการกับพระยาสุรินทร์และกรมดำรง จะหาปลาได้ฤๅไม่”

หรืออีกฉบับหนึ่งจากเพชรบุรีถึงพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเช่นกัน

“พระยาบุรุษ

ปลาทูที่ได้มา ให้แจกไปตามเจ้านายและขุนนางคนละตัวสองตัว เพราะได้มาไม่ทันเลี้ยง”

หรือสำเนาพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๘ ที่มีมาถึงพระราชชายา เจ้าดารารัศมี จากหนังสือ ราชสำนักสยาม ของ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ หน้า ๖๕ มีพระดำรัสถึงปลาทูไว้ว่า

“หมู่นี้ฝนชุกหาเวลาเที่ยวยาก....ในเดือนสิงหาคมคิดจะไปกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรีสอนกินปลาทูเสียใหม่อีกสักที เพราะเหตุที่หมู่นี้กินไม่ได้ เหม็นคาว....”

บทความเรื่อง “ข้าวต้มสามกษัตริย์” ในหนังสือ พระปิยมหาราชกับเมืองเพชร ของ บุญมี พิบูลย์สมบัติ หน้า ๒๐๖ เล่าถึงการที่ทรงเอาจริงเอาจังมากกับปลาทู ซึ่งเป็นอาหารโปรดเวลาที่เสด็จเมืองเพชร และคนทอดปลาทูที่ถูกใจก็เห็นมีแต่เจ้าจอมเอิบเท่านั้น

“การเสวยปลาทูนั้น ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพิถีพิถันมาก แม้แต่คนทอดปลาทูก็ทรงใช้คนที่มีความรู้ความเข้าใจในการปรุง การทำให้ถูกต้องคือกินอร่อย ใช่สักแต่ว่าทำได้พอเสร็จ โดยเฉพาะทรงเลือกหาคนทอดปลาทูที่ถูกใจ และมีฝีมือตามพระราชประสงค์นั้นคงได้แก่ เจ้าจอมเอิบ ซึ่งเป็นท่านหนึ่งในจำนวนเจ้าจอมจากสกุลเมืองเพชร ๘ ท่านนั่นเอง”

ในงานขึ้นพระตำหนักพญาไท  เมื่อเดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๙ ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาบุรุษในเรื่องการทอดปลาทู โดยให้รถไปรับเจ้าจอมเอิบมาที่พระตำหนักพญาไทเพื่อมาทอดปลาทูโดยเฉพาะ ดังความว่า

สวนดุสิต
๒๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๙

พระยาบุรุษ

เรื่องทอดปลาทูข้าอยู่ข้างจะกลัวมาก ถ้าพลาดไปแล้วข้ากลืนไม่ลง ขอให้จัดตั้งเตาทอดปลาที่สะพานต่อเรือนข้างหน้าข้างใน บอกกรมวังให้เขาจัดรถให้นางเอิบออกไปทอดเตรียมเตาและกระทะไว้ให้พร้อม

นอกจากจะโปรดเสวยปลาทูแบบที่ทอดตามปกติแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงคิดเมนูใหม่โดยนำปลาทูมาทำข้าวต้ม เรียก “ข้าวต้มสามกษัตริย์” ตามที่ บุญมี พิบูลย์สมบัติ เล่าไว้ในบทความเรื่อง “ข้าวต้มสามกษัตริย์” ในหนังสือ พระปิยมหาราชกับเมืองเพชร หน้า ๒๐๗ ความว่า

“ข้าวต้มสามกษัตริย์ ประกอบด้วย ปลาทู หมึก และกุ้ง ที่ได้สด ๆ จากทะเล ปรุงเป็นข้าวต้มอย่างง่าย ๆ ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงคิดคราวเสด็จประพาสทางทะเล ขณะเสด็จจากปากอ่าวแม่กลอง จะมายังปากอ่าวบ้านแหลม มายังจังหวัดเพชรบุรี”


 ;D




กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 10, 14:57
เอาภาพมาให้ชมกันครับ อาหารว่างของโบราณ "ไข่แมงดาทะเลฉาบ" สิ่งที่พลอยทานแล้วหวานแสบไส้ ;)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 10, 15:16
ไม่น่าเชื่อครับ อ.เทาชมพู ขนมอาลัว ชื่อแปลกแบบนี้ เป็นตำรับของท้าวทองกีบม้า สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยาเชียวนะครับ ขนมนี้ผมชอบรับประทานมาก กรอบนอกนุ่มใน หอมควันเทียนอีกด้วย  ;D


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 22 ต.ค. 10, 16:04
...เจ้าจอมเอิบ ผู้ฉายพระรูปทรงทอดปลาทู อันล้ำค่าในประวัติศาสตร์อาหารไทย  และเป็นผู้ทอดปลาทูได้ต้องพระราชหฤทัย...


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 22 ต.ค. 10, 16:16
อีกภาพค่ะ เสด็จประพาสต้น ไม่ทราบว่าที่ไหนนะคะ ที่แน่ๆ ไม่ใช่บางกอก...
ใครเดารายการอาหารที่เห็น ได้บ้างคะ...

(ภาพนี้เก็บไว้นานแล้วจำที่มาของภาพไม่ได้ค่ะ ขออภัยจริงๆ ค่ะ)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 10, 16:22
เมื่อพลอย อยู่ในวังได้ราวสองสามเดือน ความรู้สึกที่คิดถึงแม่ก็เริ่มจางหายไป มีแต่ความระลึกถึง ในขณะที่ถวายงานพัดอยู่ ช้อยก็รีบวิ่งเข้ามาผลัดเวร บอกให้พลอยรีบลงไปห้องคุณสายทันที ...และเมื่อพลอยได้ยินเสียงอันคุ้นเคย พลอยก็ดีใจยิ่งนัก ร้องไห้และดีใจไปพร้อมกับการกอดแม่...แม่มาคราวนี้นำปลาแห้ง ไข่เค็ม ของป่าใส่ชะลอมมาด้วยกว่าสิบชะลอม

"..แล้วแม่ก็หยิบชะลอมเล็กๆ น่าเอ็นดูเป็นที่สุดขึ้นมาหลายชะลอม ของในชะลอมนั้นเมื่อพลอยเห็น ก็เกือบจะลิงโลดด้วยความดีใจ ชะลอมหนึ่งมีปลากรอบตัวเล็กๆเท่านิ้วก้อย เข้าไม้ตับไว้อย่างกับของจริงๆ อีกชะลอมหนึ่งมีมะขามป้อมลูกเล็กๆได้ขนาด อีกชะลอมหนึ่งใส่ไข่เต่าเปลือกขาวสะอาด ส่วนอีกชะลอมหนึ่งนั่นใส่ไข่เค็มทำด้วยไข่นกกระจาบ พอกขี้เถ้าสีดำลูกเล็กๆ ไม่เกินปลายหัวแม่มือ แต่สิ่งสุดท้ายที่แม่ล้วงจากชะลอม ก็คือทุเรียนกวนพวงหนึ่ง ห่อกาบหมากเรียบร้อยเป็นห่อเล็กๆ แต่ละห่อน่าเอ็นดูเพียงจะขาดใจ."

จะเห็นได้ว่านิสัยและความเป็นอยู่ชาววังช่างคิด ประดิษฐ์ทำของเล็กๆน้อยๆไปเสียทุกอย่าง เลยนึกถึงไข่เค็มไข่นกกระจาบ ใครเคยเห็นไข่นกกระจอกคงทราบดี เล็กกว่าไข่นกกระทาเสียอีก เอามาทำไข่เค็ม ช่างเล็กเสียกระไร  :o




กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 10, 13:30
แม่แช่ม มีหัวสร้างสรรค์ของขนาดเล็กย่อส่วน   ถ้ามีชีวิตอยู่อีกยาวนาน เธอคงจะทำของจิ๋วถวายเสด็จแน่ๆ

ตอนที่พลอยรับหมั้นคุณเปรม   คุณนุ้ยเข้าวังมาพร้อมกับเครื่องแก้วเจียระไนชั้นเยี่ยม มากมายหลายชิ้น      พยายามวาดภาพว่าอ่างแก้วและพานฝรั่งพวกนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร   ในที่สุดก็ต้องกลับไปหาของใช้สมัยวิคตอเรียนอีก
ได้อ่าง(หรือชาม) แก้วเจียระไนมาใบหนึ่ง  อาจจะคล้ายๆกับที่คุณนุ้ยถวายเสด็จ

(http://cdn2.ioffer.com/img/item/145/572/815/bcIb.jpg)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 10, 13:38
ถ้าเป็นเครื่องแก้วลายทอง ก็น่าจะเป็นแบบนี้

(http://images.craigslist.org/3k93od3l75O25T05Q2a7g520762865b9f14b0.jpg)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 10, 13:43
ชุดสรงพระพักตร์ น่าจะคล้ายๆอย่างนี้ ประกอบด้วยเหยือกและอ่าง วางบนโต๊ะเล็ก

(http://www.burchardgalleries.com/auctions/2001/sep2301/l001.jpg)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 10, 13:45
พานแก้วเจียระไน

(http://supershopsite.com/product_image/Dinnerware/waterford-crystal-purple.jpg)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 24 ต.ค. 10, 20:14
และอีกจุดหนึ่ง
"...บริเวณว่าท่าราชวรดิฐ ข้างเหนือขึ้นไปให้ทำท่าสำหรับเรือข้าราชการอีกท่า ๑ โปรดให้เรียกว่า ท่านิเวศน์วรดิฐ. ประปา ที่เหนือท่านิเวศน์วรดิษฐ โปรดให้ตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยเครื่องจักรแลสร้างถังสูงสำหรับขังน้ำที่สูบขึ้นไปจากแม่น้ำ แล้วฝังท่อไขน้ำเข้าไปใช้ในพระราชวัง ( ประปาที่ยังใช้มาจนตลอดรัชกาลที่ ๕ พึ่งเลิกเมื่อมีประปาสำหรับพระนคร .."


ไปพบข้อความบางตอนจากเวปของการประปานครหลวง ว่า "กรุงเทพในสมัยก่อนนั้น อาศัยน้ำจากแม่น้ำลำคลอง และน้ำฝนเพื่อการดื่มกิน จากหลักฐานที่ปรากฏระบุว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการตั้งเครื่องสูบน้ำที่เหนือท่านิเวศน์วรดิษฐ์ สูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสู่ถังสูง เพื่อส่งเข้าท่อไปใช้ในพระราชวังโดยนำไปแกว่งสารส้มก่อนใช้ ส่วนที่สำเพ็งย่านคนจีนที่มีฐานะพระยาโชดึกได้ตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไป จำหน่าย ซึ่งแม้ว่าคุณภาพไม่ดีนัก แต่ก็สะดวกไม่ต้องหาบน้ำไกล

ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรป เมื่อปี 2440 ทรงพบเห็นความศิวิไลซ์ของบ้านเมือง มีการผลิตน้ำสะอาดบริการซึ่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตที่ถูกสุขลักษณะ พระองค์จึงได้มี
พระบรมราชโองการฯ ให้กรมสุขาภิบาลรับไปดำเนินการ โดยได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตน้ำจากประเทศฝรั่งเศส เข้ามาทำการสำรวจและรายงานเสนอความเห็นในการจัดหาน้ำมาใช้ในพระนคร"


การประปาในกรุงทพฯ เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๔๕๒

ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า น้ำที่สูบเข้ามานี้คงจะใช้ในเฉพาะพระราชฐานชั้นใน (อาจจะถึงพระตำหนักและตำหนักด้วย) แต่ยังไม่บริการไปถึงเต๊งของนางข้าหลวงและอุโมงค์ด้วย

จากด้านซ้ายของภาพที่มีลักษะคล้ายสะพานท่าเรือทอดออกไป จากลักษณะโครงสร้าง ผมคิดว่าน่าจะเป็นท่อสูบน้ำจากแม่น้ำขึ้นสู่ถังสูง การที่ต้องต่อท่อออกไปให้ไกลจากตลิ่งมากๆ ก็เพื่อกันไม่ให้ตะกอนดินและโคลนถูกดูดเข้าไปในท่อ

เรือลำสีขาวที่จอดทอดสมออยู่นั้น คือเรือพระที่นั่งมหาจักรี ลำที่ ๑ ขึ้นระวางประจำการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ปลดประจำการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙





กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 25 ต.ค. 10, 20:44
ที่บนที่พลอยไม่เคยอาจหาญเข้าไปถึง ก็คือ ห้องน้ำเงิน และบริเวณที่สมเด็จประทับ มีบางครั้งบางคราวที่พลอยเชิญหีบหมากเสวยตามเสด็จขึ้นทางบันไดด้านตะวันออก ข้างที่ที่มีดาดฟ้าและร้านดอกไม้ แต่พลอยก็ได้แต่ส่งเสด็จเพียงอัฒจันทร์ข้างล่าง และนั่งรออยู่จนกว่าจะเสด็จกลับ เพราะการที่จะขึ้นบันไดไปชั้นบนนั้น จะต้องผ่านห้องที่นั่งของ ”คุณท้าว” ผู้ซึ่งมีคนยำเกรงวาสนาทั้งวัง เพียงแต่รู้ว่า ”คุณท้าว” นั่งอยู่ในห้องก็ทำให้พลอยตัวเล็กลงจนเกือบจะเป็นละอองฝุ่นเสียแล้ว  ถ้าอาจหาญล่วงล้ำผ่านขึ้นไป เพียงแต่ ”คุณท้าว” ท่านมองดูเท่านั้น  พลอยก็คงจะละลายหายไปด้วยความกลัวตรงนั้นเอง

“คุณท้าว” ในที่นี้ที่ผู้ประพันธ์เรื่องสี่แผ่นดินกล่าวถึง หมายถึงใครกันแน่คะ? บางตำราก็บอกว่า หมายถึง ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ ๔) ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ห้องที่นั่งของคุณท้าวนี่จะหมายถึงห้องทำงานหรือที่พักอย่างใดอย่างหนึ่งรึเปล่า? แต่เท่าที่ทราบมา เจ้าจอมมารดาวาดในรัชกาลที่ ๔ มีตำหนักที่พักอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในแยกออกมาต่างหากค่ะ
(http://)
ในวิกิพีเดียกล่าวถึงตำหนักนี้เอาไว้ว่า "เรือนคุณท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด) เป็นตำหนักหมู่ทรงไทย ยาว ก่ออิฐปูนทาสีขาว ตั้งอยู่ริมสนามหญ้า เป็นที่พำนักของเจ้าจอมมารดาวาด พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๔"


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 ต.ค. 10, 09:33
         ดูกระทู้เก่าของเว็บวิชาการ ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับ คุณท้าว ด้วย ครับ

http://www.vcharkarn.com/vcafe/4663/3



กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 ต.ค. 10, 09:50
       หลังจากที่แม่มาส่งพลอยเข้าวังแล้วก็จากไปฉะเชิงเทรา เสด็จเมตตาประทานของปลอบใจพลอย
นอกจาก สายสร้อยทองสามสีเล็กๆ สายหนึ่งมีกุญแจเล็ก ฝังทับทิมแขวนไว้ แล้วยังทรง

         หยิบหีบใบเล็กขึ้นมา แล้วทรงไขลานที่ใต้หีบ แล้วก็ทรงเปิดฝาหีบนั้นขึ้น สิ่งที่พลอยเห็น
ทำให้พลอยตาลุกโพลง ด้วยความตื่นเต้นดีใจ เพราะทันใดที่ฝาหีบนั้นเปิดออก นกตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งลงยา
ด้วยสีสวยสดก็พุ่งตัวขึ้นมาจับคอน ขยับปีกร้องเพลงด้วยเสียงอันเจื้อยแจ้ว

         บางทีเสด็จจะไม่ทรงทราบว่า อีกหลายสิบปีต่อมา เมื่อพลอยมีอายุมากแล้ว หีบนกร้องเพลงใบนั้น
ได้ถูกพลอยเก็บไว้ที่หน้าบูชาพระ และเวลาพลอยมีทุกข์ร้อนอันใด พลอยก็มักจะเปิดหีบนั้น เพื่อฟังเสียงนกร้องเพลงเสมอ

         ลองค้นกูเกิ้ลหา music box ที่มีนกร้อง ได้ไม่ตรงแต่พอจะที่ใกล้เคียงเป็น Bontems Musical bird box.
1880s vintage. ราคา $ 7,000.00 ครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 10, 10:17
กล่องดนตรีน่ารักมากค่ะ

เสด็จต้องทรงพระเมตตาพลอยมาก  ถึงประทานของเล่นสวยๆขนาดนี้ให้
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไม่ได้ลืมกล่องดนตรีนี้เลย  มีฉากที่แม่พลอยชราแล้ว ตาอ๊อดต้องจากบ้านไป    พลอยไขกล่องดนตรีฟังเสียงนกร้องเพลง
เสียงเพลงฟังเหมือนเสียงร้องไห้...
สงสารแม่พลอยจับใจ
เป็นฉากเศร้าที่สุดฉากหนึ่ง  ได้อารมณ์โดยไม่ต้องบรรยายให้มากความ

เจอรูปเขาไกรลาศในพระบรมหาราชวัง   
มีเหตุการณ์ตอนพลอยกับช้อยยังเด็ก ไปเที่ยวดูเขาไกรลาศตั้งแต่เริ่มสร้างจนเสร็จบริบูรณ์    ในเรื่องบอกว่าเป็นงานโสกันต์ทูลกระหม่อม    แต่ยังแกะรอยไม่ได้ว่าเป็นเจ้าฟ้าพระองค์ใด
คุณศิลาพอนึกออกไหมคะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ต.ค. 10, 11:50
              งานโสกันต์ อยู่ในแผ่นดินที่ ๑ บทที่ ๔

              นอกจากนั้นยังมีงานต่างๆ ในวังซึ่งทำให้พลอยต้องใจเต้นระทึกอยู่เสมอ ด้วยความหวัง
ว่าจะได้เที่ยวได้สนุก งานที่พลอยเห็นว่าสนุกเป็นหนักหนา และ อีกหลายสิบปีต่อมา ถึงแม้ว่าพลอย
จะมีอายุมากแล้ว แต่เมื่อนึกถึงก็ยังอดใจเต้นไม่ได้ก็คือ

                  งานโสกันต์ทูลกระหม่อมฟ้า พระเจ้าลูกยาเธอ

เขาไกรลาสนั้น บรรยายว่า

               ยิ่งใกล้วันมีงานเข้าไปอีก ทั้งพลอยและช้อยก็อดรนทนไม่ไหว กลางวันว่างๆ ก็ต้องชวนกันเล็ดลอดหนี
จากตำหนักแล้วออกทางประตูย่ำค่ำ ไปดูเขาสร้างเขาไกรลาสที่ข้างๆ พระที่นั่งอัมรินทร์ เริ่มดูตั้งแต่เขาไกรลาส
ยังเป็นโครงไม้ไผ่สาน จนถึงเวลาที่เขาเอาแผ่นดีบุกหุ้ม แล้วทาสีให้เหมือนศิลาจริงๆ
              ทุกครั้งที่ไปดูก็จะเห็นเขาไกรลาส อันเป็นที่สรงน้ำหลังโสกันต์นั้นผิดตาไปทุกครั้ง จนในที่สุด
เมื่อใกล้วันงานเข้า มณฑปใหญ่ยอดเขาก็สร้างเสร็จ บุษบกที่สรงก็เสร็จลงข้างๆ กัน เจ้าพนักงานเริ่มใส่ต้นไม้ต่างๆ
และต่อน้ำพุในเขา และกั้นราชวัตรปักฉัตรโดยรอบบริเวณเขาไกรลาส.....             

               พอตกค่ำถึงเวลาเริ่มจุดไฟ ทั้งช้อยและพลอยก็ไม่มีตาสำหรับจะดูที่อื่น นอกจากเขาไกรลาส
เดินวนกันอยู่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จนนับรอบไม่ถ้วน เพราะเวลากลางคืนและแสงไฟที่ประดับประดาไว้
ได้เปลี่ยนสภาพเขาไกรลาสที่ทำด้วยไม้ไผ่และดีบุก ให้กลายเป็นเขาไกรลาสในเทพนิยายไปจริงๆ
             ต้นไม้ต่างๆ ที่ปลูกไว้บนเขาดูระยิบระยับ ได้ด้วยดอกไม้ที่ถูกแสงไฟและลูกแก้วสีต่างๆ ที่แขวนไว้
รูปภาพต่างๆ ถูกแสงไฟเข้าก็กลับมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นรูปเทวดาหรือรูปสัตว์ ที่เรียงรายอยู่ทั่วไปตามเชิงเขาไกรลาสนั้น
ทำเป็นคูหา แต่ละคูหาก็ตั้งตุ๊กตา ไขกลไกกระดิกตัวเคลื่องไหวได้ เหมือนคนจริงๆ แต่ละคูหาก็แสดงเรื่องต่างๆ
มีรามเกียรติ์บ้าง อิเหนาบ้าง สังข์ทองบ้าง จับเอาตอนใดตอนหนึ่งมาแสดง ซึ่งแสดงเป็นภาพตุ๊กตากล ซ้ำอยู่ไม่รู้จบ
             ...ได้ดูตลอดงานซึ่งกินเวลาหลายวัน พอเสร็จงานแล้วเสด็จถึงกับทรงทักว่า "นังพลอยเที่ยวงานเสียผอม"


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ต.ค. 10, 11:56
         คำถามอาจารย์ต้องขอผ่าน ครับ

แต่พอจะเรียงลำดับเวลา(ทั้งที่ไม่ถนัด) ได้ว่า

           พลอยเกิด พ.ศ. ๒๔๒๕ เข้าวังเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕
จากข้อความบทที่ ๑ ที่ว่า - เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ พลอยมีอายุได้สิบขวบ  

         แม่อยู่ในวังด้วยพักหนึ่งแล้วจากไป เวลาผ่านไป ๒ - ๓  เดือน แม่ก็กลับมาเยี่ยมพร้อมของฝาก
แล้วจึงถึงงานโสกันต์(ในบทที่ ๔)

         แม่มาเยี่ยมอีก ๓ - ๔ ครั้ง (รวมเวลาน่าจะร่วม ๑ ปี) แล้วก็หายไปเพราะตั้งครรภ์ส่งพิศมาแทน
ซึ่งช่วงนี้พอดีตรงกับที่สองเด็กสาวชาววังมีอายุครบโกนจุก - อายุ ๑๑ - ๑๒ ขวบ

          ลำดับเวลาจากนิยายแล้ว งานโสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอ ครั้งนั้นจึงมีขึ้นในพ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๓๖ ครับ

กระทู้เก่าของเรือนไทย  http://www.reurnthai.com/index.php?topic=162.60


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ต.ค. 10, 12:17
ถ้าเป็นระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๓๖
มีพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
และต่อด้วยพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์
จัดขึ้นในเดือนมกราคม ๑๘๙๒ (นับอย่างปีปัจจุบัน เป็นปี ๑๘๙๓)

เป็นพระราชพิธีโสกันต์งานใหญ่ในระยะเวลานั้น ชาววังคงจำได้มาก


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 10, 12:30
เป็นพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้า   เพราะในเรื่องระบุว่า "ทูลกระหม่อม" แต่งพระองค์ด้วยเพชรล้วน   ผู้หมอบเฝ้าข้างทาง ออกปากว่า "งามจริง"
ไม่ใช่พระองค์เจ้า
เสด็จเองก็เสด็จเข้าร่วมขบวนแห่ในกลุ่มเจ้านายฝ่ายในด้วย

ถ้ายึดคำตอบคุณหลวงเล็กเป็นหลัก ก็คงหมายถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

(http://i950.photobucket.com/albums/ad344/jariya_01/Italiani/Gerolamo/art023.jpg)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ต.ค. 10, 14:56
ภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๕ พร้อมด้วยเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ทรงเครื่องโสกันต์ พ.ศ. ๒๔๓๕


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ต.ค. 10, 15:04
เครื่องประดับสำหรับงานโสกันต์ ชายไหว ชายแครง ทองคำประดับเพชร


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ต.ค. 10, 15:16
ปั้นเหน่งเพชร และสายเข็มขัดทองคำฝังเพชร สำหรับพระราชพิธีโสกันต์ สูงส่งและล้ำค่าอย่างมาก เพชรน้ำงามขนาดเขื่อง และเพชรบริวารอีก ๘ เม็ด เม็ดกลางนี่น่าจะมากกว่า ๑๐ กะรัตขึ้นไปนะครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 ต.ค. 10, 15:58
ไม่ค่อยชัดค่ะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 ต.ค. 10, 16:14
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์บรรยายการแต่งกายในงานโกนจุกของพลอยไว้ว่า
"เกี้ยวทำด้วยทองคำประดับเพชรพลอยแวววาม   ผ้ายกทองสีสด  
มีนวมสวมรอบคอ ตรึงเครื่องเพชรต่างๆเข้ากับนวม  มีแหวน สายสร้อย
จี้ และของอื่นๆอีกเป็นอันมาก"
น่าจะประมาณนี้หรือเปล่าคะ....
ถ้าได้ กูรู photoshop ท่าน siamese มาช่วยใส่สีเครื่องแต่งกาย คงงามแวววาวนะคะ
(ประโยคนี้แค่รำพึงนะคะ มิบังอาจมีเจตนาจะให้ท่านต้องมาลำบากแต่อย่างใด  ;D )


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 ต.ค. 10, 16:17
"จนในที่สุดก็ถึงวันที่เฝ้าคอยกันอยู่ทุกคน คือวันที่เจ้านายโสกันต์เสด็จออกฟังสวดวันแรก ช้อยและพลอยไปคอยดูแห่อยู่ตั้งแต่กลางวัน จนตกบ่ายจึงจะได้เห็นกระบวนแห่ ผ่านจากพระราชฐานชั้นใน ออกมายังเขตพระราชฐานชั้นนอก ในระหว่างที่คอยดูแห่อยู่นั้น ทั้งพลอยและช้อยรู้สึกร้อนจนเหงื่อตกเปียกชุ่ม ไปทั้งตัว เพราะไหนจะแดดที่กระทบกับพื้นหิน เป็นไอร้อนกลับขึ้นมา ไหนจะต้องเบียดเสียดกับคน ที่มาคอยดูแห่เช่นกัน ทั้งช้อยและพลอยตกลงว่าจะจูงมือกันไว้แน่น ไม่ยอมให้พลัดกันไปได้ พอพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกส่งทูลกระหม่อมขึ้นพระยานมาศ เสียงประโคมสังข์แตรจากข้างใน บอกให้พลอยรู้ว่า กระบวนแห่จะเริ่ม ความร้อนก็หายไปเพราะความตื่นเต้น ทำให้พลอยลืมทุกอย่าง นอกจากจะดูให้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น

        ต้นกระบวนแห่นั้น เป็นทหารเดินแถวเป่าแตรวง มีทหารแบกปืนเดินก้าวเท้าพร้อมกันได้จังหวะ เดินผ่านไปกองร้อยหนึ่งก่อน เสียงกองใหญ่แตรวงตีเป็นจังหวะเร้าใจ ทำให้หัวใจพลอยเต้นเข้าจังหวะตาม พอเสียงแตรวงไกลออกไป เสียงกลองแขกคู่หนึ่งที่นำขบวนหลังก็ดังใกล้เข้ามา และเสียงปี่ชวาเจื้อยแจ้ว ก็ดังขึ้นแทนเสียงแตรฝรั่ง ที่ค่อยๆเบาลง มีขุนนางเดินประณมมือเป็นคู่เคียงเป็นคู่ๆ ถ้ดจากนั้น ไปถึงคู่แห่มหาดเล็ก เดินเป็นคู่ๆเช่นเดียวกัน แล้วจึงถึงกระบวนเด็กๆ ที่มาเข้ากระบวนแห่ ตามติดๆ มาด้วยหมวดกลองชนะและแตรสังข์ ซี่งเป่าเป็นระยะๆ สองข้างเป็นพวกเครื่องสูง มีคนแต่งเป็นอินทร์พรหม เดินถือเครื่องสูงพวกฉัตรและบังแทรก แลดูสล้างเหมือนกับต้นไม้ที่เดินได้ จากนั้นก็ถึงพวกพราหมณ์ที่เข้ากระบวน มีทั้งพราหมณ์เป่าสังข์และแกว่งกลองเล็กๆ สองหน้ามีเสาปักกลางมีลูกตุ้มแขวน ที่เรียกว่าไม้บัณเฑาะว์ เสียงดังปงปัง และมีพราหมณ์โปรยข้าวตอก ในระหว่างเครื่องสูงที่เชิญมาสลับสลอนนั้น มีมหาดเล็กถือพระแสง เดินแซงอยู่ด้วย ต่อจากนั้นไปพวกผู้หญิงที่มาดูแห่ซุบซิบกันด้วยความสนใจ และสะกิดกันให้ดู จุดที่สนใจก็คือ เด็กผู้ชายเล็กๆ สองคนแต่งตัวสวยงามถือขนนกการเวก เสียงกระซิบกันว่า "น่ารัก" หรือ "น่าเอ็นดู" ดังอยู่ทั่วไป"


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 ต.ค. 10, 10:12
วันนี้ ท่องเน็ท เที่ยวงานโสกันต์กับแม่พลอยและช้อยต่อ ครับ

อีกภาพ เขาไกรลาสในงานพระราชพิธีโสกัณฑ์อย่างใหญ่ เฉพาะพระเจ้าลูกเธอ ที่ดำรงพระยศเจ้าฟ้า


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 ต.ค. 10, 10:14
เขาไกรลาสในพิธีเกศากัณฑ์ (ผู้เข้าพิธีมีฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า เรียกพิธีว่า พระราชพิธีเกศากัณฑ์
แต่ก็เป็นพิธีหลวงเช่นเดียวกัน จะต่างกันที่ขนาด การแต่งองค์ทรงเครื่องและกระบวนแห่ จะลดลง
ตามลำดับเกียรติยศของเจ้านายผู้จะเข้าพิธี)

http://heritage.blogth.com/4611/%C7%D2%C3%CA%D2%C3+%C1%C3%B4%A1+%A9%BA%D1%BA%B7%D5%E8+4.html


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 ต.ค. 10, 10:17
พลอยเที่ยวงานโสกันต์ เพลินดูการละเล่นต่างๆ หลายอย่าง

                    พลอยและช้อยก็จูงมือกันเตร่ไปทางด้านโรงมหรสพ ที่ตรงสนามหลังวัดพระแก้ว
มีการละเล่นที่น่าดูหลายอย่าง

                    มีไม้ลอย ซึ่งคนปีนไม้สูงขึ้นไปยืนอยู่บนยอด
                    มีไต่ลวดและการแสดงโลดโผนอื่นๆ
                   ที่พลอยชอบมากที่สุดก็เห็นจะได้แก่ กระอั้วแทงควาย มีคนสองคนเข้าไปอยู่ในผ้าคลุม
ถือหัวควายแสดงกิริยาเหมือนควายจริงๆ มีชายคนหนึ่ง เล่นเป็นผัวนางกระอั้ว ถือหอกไล่แทงควาย และ
มีคนแต่งเป็นนางกระอั้ว อย่างตลกน่าหัวเราะ ถือร่มขาด และกระเดียดกระจาดคอยวิ่งตามหลัง
ส่วนควายนั้นก็วิ่งไล่ขวิดคนทั้งสอง ซึ่งหนีบ้างสู้บ้าง ด้วยท่าทางที่ทำให้คนดูต้องหัวเราะ ท้องคัดท้องแข็ง
ดูเท่าไรก็ไม่เบื่อ
                   ส่วนการละเล่นที่เรียกว่า โมงครุ่มและระเบงนั้น ผ่านไปดูได้ประเดี๋ยวหนึ่ง ช้อยก็ชวนไปที่อื่น
บอกว่าเบื่อไม่เห็นมีอะไร ร้องซ้ำๆ ซากๆ อยู่ได้

ไม้ลอย น. ชื่อการเล่นชนิดหนึ่งมีหกคะเมนบนปลายไม้ ใช้เล่นในงานพิธีใหญ่


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 ต.ค. 10, 10:20
การละเล่นหลวงอื่นๆ

กระอั้วแทงควาย (บ้างเรียก กระตั้วแทงควาย)

        กระอั้วแทงควายเป็นการเล่นของทวายหรือของพม่า มอญ มีผู้เล่น ๔ คน คำว่า "กระอั้ว" ไม่ใช่ภาษาไทย
เป็นภาษาทวาย เป็นชื่อสามีของนาง "กะแอ"
        ผู้เล่นชุดนี้มี ๔ คน คือ ตากระอั้ว นางกะแอ และความซึ่งใช้ผู้เล่น ๒ คน อยู่ในชุดควาย คือ
เป็นตอนหัวควาย ๑ คน และตอนท้ายอีก ๑ คน
         ผู้เล่นเป็นกระอั้วใส่เสื้อกะเหรี่ยงยาวชายเสื้อคลุมถึงน่อง หัวใส่ลองเป็นเกล้าผมสูงถือหอกใหญ่ ใบกว้าง
ทำด้วยกระดาษ ผู้ที่เล่นเป็นนางกะแอ แต่งตัวเป็นผู้หญิง ผัดหน้าขาวแต้มไฝเม็ดใหญ่ หัวสวมผมปีก นุ่งผ้าถุง
ใส่เสื้อเอว ห่มผ้าแบสีแดงห้อยบ่า กระเดียดกระทาย ถือร่มในขณะเล่นใช้ร่มคอยค้ำควายไว้เพื่อป้องกันตัว
        การดำเนินการแสดงไม่มีอะไรแสดงว่ายุ่งยากมาหนัก เพราะเป็นการเล่นสนุกๆ ให้เกิดความขบขัน
มากกว่าอย่างอื่น เป็นการแสดงการล่าควาย ในระหว่างที่แสดงก็ทำท่าขบขันต่าง ๆ เช่น การหลอดล่อ หลบหนี
การไล่ติดตามระหว่างควายและตากระอั้ว ประกอบกับการทำท่าทางตกอกตกใจของนางกะแอจนผ้าห่มหลุดลุ่ย
เป็นที่สนุกขบขันเฮฮา และท่าทางดีใจของสองผัวเมียเมื่อควายได้สำเร็จ เป็นต้น


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 ต.ค. 10, 10:22
โมงครุ่ม (มงครุ่ม)

           เป็นการละเล่นมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาการแต่งตัวของผู้เล่นเหมือนกับระเบ็ง มือถือไม้กำพด
คือ กระบองสั้นแต่มีด้ามยาว มีกลองประกอบการเล่น กลองใหญ่เหมือนกลองทัดหน้ากว้าง
ประมาณ ๕๕ เซนติเมตร ผู้เล่นแบ่งออกเป็นกลุ่ม จะมีกี่กลุ่มก็ได้ กลุ่มละ ๔ คน กลุ่มหนึ่งมีกลองโมงครุ่ม ๑ ใบ
อยู่ตรงกลางด้านหน้ามีผู้เล่น ๑ คน มายืนตรงหน้าคอยตีโหม่งบอกท่าทางให้ผู้เล่นทำตาม
            เมื่อผู้ตีโหม่งให้สัญญาณ ผู้เล่นเข้าประจำที่แล้ว คนตีโหม่งจะร้อง "อีหลัดถัดทา" และตีโหม่ง ๒ ที
แล้วบอกท่าต่าง ๆ ผู้เล่นจะยักเอว ซ้ายที ขวาที จะร้อง "ถัดถัดท่า ถัดท่าท่าถัด" จนกว่าคนตีโหม่ง
จะให้สัญญาณเปลี่ยนท่าผู้ตีโหม่งจะรัวสัญญาณให้ผู้เล่นหยุดยืนอยู่กับที่ด้วยวิธีร้องบอกวา "โมงครุ่ม"
ตีโหม่ง ๒ ที (มง ๆ) ผู้เล่นจะใช้ไม้กำพดตีหนังกลอง ซ้ายที ขวาที (ดังครุ่ม ๆ ) ผู้ตีโหม่งจะรัวสัญญาณ
ให้ผู้เล่นหยุด แล้วบอกท่าใหม่ ท่าที่เล่นมีมากมายหลายท่า เช่น ท่าบัวตูม ท่าบัวบาน ท่าลมพัด ท่ามังกรฟาดหาง
พระจันทร์ทรงกลด เมขลาล่อแก้ว รามสูรขว้างขวาน ฯลฯ
           สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ทรงพระนิพนธ์ท่ารำโบราณไว้ในสาส์นสมเด็จ
การเล่นแบบนี้บางท่านเรียก "อีหลัดถัดทา" ที่เรียกว่าโมงครุ่ม สันนิษฐานว่าคงจะเรียกชื่อตามเสียงโหม่ง
และเสียงกลองที่ดัง


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 ต.ค. 10, 10:25
ระเบง  - ระเบ็ง

          เป็นการละเล่นในชุดพระราชพิธีที่แปลกกว่าอย่างอื่น คือแสดงเป็นเรื่องมาจากเทพนิยาย
เนื้อร้องกล่าวถึงเทวดามาบอกให้บรรดากษัตริย์ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนครไปเขาไกรลาสระหว่างเดินทาง
ก็เดินชมนกชมไม้ไปจนพบพระกาลมาขวางทางไว้ กษัตริย์เหล่านั้นไม่รู้จักก็ไล่ให้หลีกทางไปเงื้อธนูจะยิง
พระกาลกริ้วมากจึงสาปให้สลบ แล้วพระกาลเกิดสงสารจึงถอนคำสาบให้ฟื้นดังเดิม แล้วขอร้องให้กลับเมืองดังเดิม
กษัตริย์ก็เชื่อฟังกลับเมือง
          การแต่งกาย ผู้เล่นเป็นกษัตริย์น้อยใหญ่แต่งกายเหมือนกันทุกคน นุ่งสนับเพลา นุ่งผ้าเกี้ยวสวมเสื้อคอตั้ง
แขนยาว ปล่อยชายไว้นอกผ้านุ่ง มีผ้าคาดพุง ศีรษะสวมเทริด มือถือธนู
          ผู้เล่นเป็นพระกาลแต่งกายได้ ๒ แบบ คือ เครื่องแต่งตัวเหมือนผู้เล่นเป็นกษัตริย์น้อยใหญ่
สวมเสื้อครุยทับ ศีรษะสวมลอมพอก (ชฎาเทวดา ตลก สีขาว ยอดแหลมสูง) หรือแต่งตัวยืนเครื่อง
ทรงเครื่องเหมือนกษัตริย์ในละครรำ แต่ไม่สวมเสื้อ
          การเล่นในสมัยก่อนใช้ฆ้อง ๓ ใบเถาเรียกว่า "ฆ้องระเบง" ตีรับท้ายคำร้องทุก ๆ วรรค
โดยตีลูกเสียงสูงมาหาต่ำ จากต่ำมาหาสูง ปรากฏในพระราชนิพนธ์โคลงดั้น เรื่อง "โสกันต์" ต่อมาใช้ปี่พาทย์บรรเลง
เริ่มต้นจะบรรเลงเพลง "แทงวิสัย" ซึ่งเป็นจังหวะที่เหมาะกับการเต้นของผู้เล่นเป็นกษัตริย์น้อยใหญ่
ซึ่งจะมีจำนวนเท่าไรก็ได้ให้พอกับเวทีหรือสนามที่เล่น เมื่อเต้นไปสุดเวที ผู้เล่นที่อยู่หัวแถวจะร้องต้นบทว่า
"โอละพ่อถวายบังคม" ผู้เล่นทั้งหมดจะร้องรับพร้อมๆ กันว่า "โอละพ่อถวายบังคม" ผู้เล่นทำท่าถวายบังคมไปด้วย
เป็นการรำถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดิน
           ต่อจากรำถวายบังคมแล้ว ผู้เล่นจะแปรแถวอย่างเป็นระเบียบ แล้วผู้เล่นก็ร้องบทต่อไปลุกขึ้นเต้น
ปากก็ร้องบทไปเรื่อย ๆ เมื่อยกขาขวาจะทำท่าเอาลูกธนูตีลงไปบนคันธนู วางขาขวายกขาซ้าย เหยียดมือขวาออกไป
ข้างตัวจนสุดแขนเป็นท่าง้างธนู จนกระทั่งมาพบพระกาล
ตัวอย่างบทถวายบังคมตอนหนึ่งมีว่า
          โอละพ่อขอถวายบังคม
          โอละพ่อประนมกรทั้งปวง
          โอละพ่อบัวตูมทั้งปวง
          โอละพ่อบัวบานทั้งปวง ฯลฯ
มีบทเดินดง ชมนก ชมไม้ บทปะทะ พบพระกาล บทพระกาลสาป และบทคืนเมือง

ข้อมูล http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK13/chapter7/t13-7-l6.htm

ภาพสีจาก ผู้จัดการออนไลน์

กระทู้ ประชุมพระรูปพระราชพิธีโสกันต์ เกศากันต์ และโกนจุก
 
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/03/K7650627/K7650627.html


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 29 ต.ค. 10, 00:39
เขาไกรลาส คราวการพระราชพิธีมหามงคลการโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ วันที่ ๒๙ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ (พระราชพิธีเริ่ม ๒๕ ธันวาคม เสร็จสิ้นวันที่ ๓๑ ธันวาคม)

... จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีมหามงคลการโสกันต์ สถาปนาไกรลาสบรรพตขึ้นที่สนามหญ้า น่าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทตรงท้องพระโรงเบื้องบุรพทิศ น่าเขาตรงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ฤๅด้านอัษฏงคต ตั้งตัวเขาทำด้วยไม้ไผ่สาน บุดีบุกเคลือบเปนทองเงินนาค ใช้ไฟฟ้าสำหรับทำให้ที่สว่างงดงามในเวลากลางคืน ดวงไฟฟ้าติดตามทางขึ้นลง แลที่ต่างๆ มีไฟฟ้าดวงใหญ่ที่ไหล่เขาแล ๔ มุมเขา บนเขาไกรลาสมีบุษบกองค์ใหญ่อยู่กลาง ตั้งซุ้มกินนรในบุษบกนี้ รอบบุษบกกลางล้อมด้วยราชวัตรทอง แลมีประตู ๔ ด้านปักฉัตรเครื่งสูงปิดทองแผ่นลาดตามระยะ รอบราชวัตรทองมีเฉลียงทั้ง ๔ ด้าน รายด้วยฉัตรทองเหมือนกัน มุมเฉลียงทั้ง ๔ มุมมีบุษบกเล็กตั้งเทวะรูปทุกมุม แลมีบุษบกขนาดกลางที่ไหล่เขาด้านเหนือใต้ อีกด้านละบุษบก บุษบกทิศใต้ประดิษฐานเทวะรูปนารายณ์ บุษบกด้านทิศเหนือประดิษฐานเทวะรูปพระอิศวรแลพระพิฆเนศวร มีพลับพลาเล็กริมเขาด้านน่า หันหลังตรงอัฒจันทพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเบื้องขวาแห่งทางลงมา น่าพลับพลามีที่สำหรับสรงเมื่อโสกันต์แล้ว เปนสระเล็กมีบัวแลรูปเต่าทองแลรูปสัตว์ต่างๆ มีน้ำพุซึ่งออกจากเขาแลไหลจากปากราชสีห์ ช้างม้า โค นาคราช สมมติเปนสระอโนดาต

ทางที่จะขึ้นเขามีสองทาง บรรไดน่าเขาทางหนึ่ง ข้างเขาด้านใต้ทางหนึ่ง ที่เขามีเทวดา ฤๅษี นารีผล ช้างเครื่องประดับต่างๆ โดยรอบเชิงเขามีตุ๊กตาภาพรามเกียรติแลเรื่องลครต่างๆ มีกลเปนพื้น มีภาพตามธรรมดาบ้าง ซึ่งพระบรมวงษานุวงศ์ประดิดมาตั้งแต่ฉลองพระเดชพระคุณ มีราชวัตรไม้จริงสลักปิดทอง แต้มสีรายรอบเขาไกรลาสเปนด้านๆ แลปักฉัตรปรุทอง, นาก, เงิน, เปนระยะ

(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙ แผ่นที่ ๔๐ วันที่ ๑ มกราคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๑ น่า ๓๓๙)



กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ต.ค. 10, 07:07
ลุงไก่ครับ
ภาพเขาไกรลาศพร้อมเจ้านายด้านบน เป็นงานพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ต.ค. 10, 07:52
"จนในที่สุดก็ถึงวันที่เฝ้าคอยกันอยู่ทุกคน คือวันที่เจ้านายโสกันต์เสด็จออกฟังสวดวันแรก ช้อยและพลอยไปคอยดูแห่อยู่ตั้งแต่กลางวัน จนตกบ่ายจึงจะได้เห็นกระบวนแห่ ผ่านจากพระราชฐานชั้นใน ออกมายังเขตพระราชฐานชั้นนอก ในระหว่างที่คอยดูแห่อยู่นั้น ทั้งพลอยและช้อยรู้สึกร้อนจนเหงื่อตกเปียกชุ่ม ไปทั้งตัว เพราะไหนจะแดดที่กระทบกับพื้นหิน เป็นไอร้อนกลับขึ้นมา ไหนจะต้องเบียดเสียดกับคน ที่มาคอยดูแห่เช่นกัน ทั้งช้อยและพลอยตกลงว่าจะจูงมือกันไว้แน่น ไม่ยอมให้พลัดกันไปได้ พอพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกส่งทูลกระหม่อมขึ้นพระยานมาศ เสียงประโคมสังข์แตรจากข้างใน บอกให้พลอยรู้ว่า กระบวนแห่จะเริ่ม ความร้อนก็หายไปเพราะความตื่นเต้น ทำให้พลอยลืมทุกอย่าง นอกจากจะดูให้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น

        ต้นกระบวนแห่นั้น เป็นทหารเดินแถวเป่าแตรวง มีทหารแบกปืนเดินก้าวเท้าพร้อมกันได้จังหวะ เดินผ่านไปกองร้อยหนึ่งก่อน เสียงกองใหญ่แตรวงตีเป็นจังหวะเร้าใจ ทำให้หัวใจพลอยเต้นเข้าจังหวะตาม พอเสียงแตรวงไกลออกไป เสียงกลองแขกคู่หนึ่งที่นำขบวนหลังก็ดังใกล้เข้ามา และเสียงปี่ชวาเจื้อยแจ้ว ก็ดังขึ้นแทนเสียงแตรฝรั่ง ที่ค่อยๆเบาลง มีขุนนางเดินประณมมือเป็นคู่เคียงเป็นคู่ๆ ถ้ดจากนั้น ไปถึงคู่แห่มหาดเล็ก เดินเป็นคู่ๆเช่นเดียวกัน แล้วจึงถึงกระบวนเด็กๆ ที่มาเข้ากระบวนแห่ ตามติดๆ มาด้วยหมวดกลองชนะและแตรสังข์ ซี่งเป่าเป็นระยะๆ สองข้างเป็นพวกเครื่องสูง มีคนแต่งเป็นอินทร์พรหม เดินถือเครื่องสูงพวกฉัตรและบังแทรก แลดูสล้างเหมือนกับต้นไม้ที่เดินได้ จากนั้นก็ถึงพวกพราหมณ์ที่เข้ากระบวน มีทั้งพราหมณ์เป่าสังข์และแกว่งกลองเล็กๆ สองหน้ามีเสาปักกลางมีลูกตุ้มแขวน ที่เรียกว่าไม้บัณเฑาะว์ เสียงดังปงปัง และมีพราหมณ์โปรยข้าวตอก ในระหว่างเครื่องสูงที่เชิญมาสลับสลอนนั้น มีมหาดเล็กถือพระแสง เดินแซงอยู่ด้วย ต่อจากนั้นไปพวกผู้หญิงที่มาดูแห่ซุบซิบกันด้วยความสนใจ และสะกิดกันให้ดู จุดที่สนใจก็คือ เด็กผู้ชายเล็กๆ สองคนแต่งตัวสวยงามถือขนนกการเวก เสียงกระซิบกันว่า "น่ารัก" หรือ "น่าเอ็นดู" ดังอยู่ทั่วไป"


แม้ว่าช้อยและพลอย จะเป็นเด็กแค่ไหน แต่เมื่อมีกระบวนแห่และผู้คนแออัดเพียงไร ก็น่าที่จะต้องนั่งอยู่กับพื้น ด้วยเจ้านาย เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอยู่เบื้องหน้า บรรนาพนักงานชาววังต่างๆ ต้องนั่งกับพื้นไม่ยืนเกะกะเป็นแน่ จะหยิบยกภาพพระราชพิธีโสกันต์และเฉลิมพระสุพรรณบัตรของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัยและสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ ผ่านหน้าเกยที่ประทับ พ.ศ. ๒๔๓๔


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ต.ค. 10, 08:02
พลอยเที่ยวงานโสกันต์ เพลินดูการละเล่นต่างๆ หลายอย่าง

                    พลอยและช้อยก็จูงมือกันเตร่ไปทางด้านโรงมหรสพ ที่ตรงสนามหลังวัดพระแก้ว
มีการละเล่นที่น่าดูหลายอย่าง

                    มีไม้ลอย ซึ่งคนปีนไม้สูงขึ้นไปยืนอยู่บนยอด
                    มีไต่ลวดและการแสดงโลดโผนอื่นๆ
                   ที่พลอยชอบมากที่สุดก็เห็นจะได้แก่ กระอั้วแทงควาย มีคนสองคนเข้าไปอยู่ในผ้าคลุม
ถือหัวควายแสดงกิริยาเหมือนควายจริงๆ มีชายคนหนึ่ง เล่นเป็นผัวนางกระอั้ว ถือหอกไล่แทงควาย และ
มีคนแต่งเป็นนางกระอั้ว อย่างตลกน่าหัวเราะ ถือร่มขาด และกระเดียดกระจาดคอยวิ่งตามหลัง
ส่วนควายนั้นก็วิ่งไล่ขวิดคนทั้งสอง ซึ่งหนีบ้างสู้บ้าง ด้วยท่าทางที่ทำให้คนดูต้องหัวเราะ ท้องคัดท้องแข็ง
ดูเท่าไรก็ไม่เบื่อ
                   ส่วนการละเล่นที่เรียกว่า โมงครุ่มและระเบงนั้น ผ่านไปดูได้ประเดี๋ยวหนึ่ง ช้อยก็ชวนไปที่อื่น
บอกว่าเบื่อไม่เห็นมีอะไร ร้องซ้ำๆ ซากๆ อยู่ได้

ไม้ลอย น. ชื่อการเล่นชนิดหนึ่งมีหกคะเมนบนปลายไม้ ใช้เล่นในงานพิธีใหญ่

ยังมีภาพหนึ่งซึ่งแสดงถึงเหล่าประชาชนที่มาเฝ้าดูการแสดงในพระราชพิธีโสกันต์กันอย่างเนืองแน่นที่สนามหญ้าหลังวัดพระแก้ว เพื่อชมการละเล่นต่างๆ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 29 ต.ค. 10, 08:28
ลุงไก่ครับ
ภาพเขาไกรลาศพร้อมเจ้านายด้านบน เป็นงานพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ครับ

คือว่าทราบว่าเป็นภาพในงานพระราชพิธีฯ ตามที่คุณ siamese กล่าว แต่เจตนาของผมคือใช้ภาพประกอบคำบรรยายครับ เพราะผมไม่แน่ใจว่าภาพอื่นๆ ที่มีอยู่ ภาพไหนเป็นภาพพระราชพิธีฯ ใน พ.ศ. ๒๔๓๕







กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 01 พ.ย. 10, 11:06
เรื่อง ชื่อบุคคล

พระนามของเจ้านายนั้น มักเป็นภาษาบาลี-สันสกฤต มีสร้อยพระนามยาว ๆ และมีการตั้งให้คล้องจองกัน  
หรือผูกเป็นกลอน เช่น พระนามพระราชโอรส พระราชธิดา ในรัชกาลที่ ๑
อรุโณทัย อภัยทัต ฉัตร ไกรสร
สุริยวงศ์ สุริยา ดารากร
ศศิธร คันธรส วาสุกรี
สุทัศน์ อุบล มณฑา
ดวงสุดา ดวงจักร มณีศรี
ธิดา กุณฑล ฉิมพลี
กระษัตรี จงกล สุภาธร
 
แม้แต่พระนามทรงกรม ราชบัณฑิต ก็ผูกพระนามให้คล้องจองกัน บางครั้ง แม้แต่อ่านทวนจากหลังก็ยังได้ใจความ และมีความคล้องจองกันด้วย
เช่น พระนามทรงกรม พระราชโอรส พระราชธิดา ในรัชกาลที่ ๔
มเหศวรศิววิลาส...วิษณุนาถนิภาธร...สมรรัตนสิริเชษฐ...นเรศวรราชวรฤทธิ์...พิชิตปรีชากร...อดิศรอุดมเดช...ภูธเรศธำรงศักดิ์...ประจักษ์ศิลปาคม...พรหมวรานุรักษ์...ราชศักดิ์สโมสร...ทิวากรวงศ์ประวัติ...ศิริธัชสังกาศ...สรรพศาสตร์ศุภกิจ...สรรพสิทธิประสงค์...เทวะวงศ์วโรปการ...วชิรญาณวโรรส...สมมติอมรพันธ์...วิวิธวรรณปรีชา...พงศาดิศรมหิป...นราธิปประพันธ์พงศ์...ดำรงราชานุภาพ...พิทยลาภพฤฒิธาดา...นริศรานุวัดติวงศ์...มรุพงศ์สิริพัฒน์...ทิพยรัตน์กิริกฎกุลินี...สวัสดิวัตน์วิศิษฎ์...มหิศรราชหฤทัย



ชื่อสามัญชน แต่แรกมักเป็นคำไทย คำโดด  
แต่บางครั้ง ก็มีการเสริมสร้อยนาม คล้ายพระนามเจ้านาย เช่นในวรรณคดี นางพิม มีสร้อยว่า พิลาไลย

อีกตัวอย่าง
ชื่อลูกพระยาศรีสรราช (วัน บุนนาค (วัน เปรียญ))                
พงษ์       สุริยัน                
พันธ์       สุริยา                
พลอย     พรรณราย                
พราย      พรรณา                
พุ่ม         มะลิร่วง                
พวง        มะลิลา
พิณ        เทพเฉลิม                
เพิ่ม        เสนหา                
พี           ยศมูล                
พูน         สมบัติมา


นอกจากการตั้งชื่อให้คล้องจองแล้ว ยังใช้อักษรต้นชื่อของบิดามารดามาตั้งชื่อลูกด้วย
อย่างเจ้านาย เช่น พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระนามขึ้นด้วย "อ"
เพราะเจ้าจอมมารดาเป็นเจ้าจอมก๊กออ (เจ้าจอมมารดาอ่อน และน้องสาว เจ้าจอมเอี่ยม เอิบ อาบ เอื้อน)

เจ้าจอมก๊กออ เป็นธิดาของ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงอู่ (วงศาโรจน์)
บุตร ธิดา ของท่านทั้งสอง ถ้าเป็นชาย จะใช้ "ท" (หรือ  "ถ" เนื่องจากเน้นการออกเสียงเป็นสำคัญ) ตามเจ้าคุณบิดา ส่วนธิดา จะขึ้นด้วย "อ" ตามคุณหญิงมารดา  ดังนี้
เทียน
เอม
เทียม
อ่อน
แถบ
อ่วน
เอี่ยม
อิ่ม
อบ  
เถลิง
เอิบ
อาบ
อาย
เอื้อน

บางครั้ง ทั้งบุตรและธิดา อาจใช้อักษรต้น ตามบิดาทั้งหมด
หรือ บุตรธิดาที่เกิดจากอนุภริยา อาจใช้ตามมารดาทั้งหมด
ฯลฯ

ทั้งนี้ ไม่ใช่หลักตายตัว    บางครอบครัว ก็ตั้งชื่อตามใจชอบ



ในเรื่องสี่แผ่นดิน

คุณเปรม (ป(ปร))
แม่พลอย (พ)    

นำอักษรต้นของชื่อทั้งสอง มาตั้งเป็นชื่อบุตรธิดา คือ
ปร นธ์
ปรพั นธ์
ปร จน์
ปร ะไ

โดยชื่อบุตรนั้น เอาพยางค์หลัง มาเปลี่ยนเป็น "อ" เพื่อตั้งเป็นชื่อเล่น คือ
พนธ์ - อ้น
พันธ์ - อั้น
พจน์ - อ๊อด


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 02 พ.ย. 10, 20:51
สี่แผ่นดินในบทที่ ๑๒ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งถึงการเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังดุสิต "...ภายในพระราชวังสวนดุสิตก็แบ่งออกเป็นสวนต่างๆ พระราชทานนามตามลวดลายเครื่องลายครามกิมตึ๋งซึ่งเล่นกันดาษดื่นในสมัยนั้น พระมเหสีและพระสนมนั้นโปรดให้อยู่ตามสวนต่างๆ สวนสี่ฤดูเป็นที่ประทับสมเด็จที่บน สมเด็จพระตำหนักประทับสวนหงส์ พระนางประทับสวนนกไม้ ท่านองค์เล็กประทับสวนบัว ตำหนักเจ้าดารารัศมีอยู่สวนฝรั่งกังไส นอกจากนั้นก็มีสวนภาพผู้หญิงของเจ้าคุณแพ สวนพุดตาน สวนไม้สน สวนหนังสือเล็ก สวนหนังสือใหญ่ ชื่อสวนเหล่านี้ตรงกับชื่อที่เรียกลวดลายเครื่องลายครามในขณะนั้น..."

คำว่า "เครื่องลายครามกิมตึ๋ง" นั้นหมายถึงอะไรคะ? (ข้องใจคำว่ากิมตึ๋งนี่ละค่ะ)
แล้วลวดลายของเครื่องลายครามแต่ละอย่างที่นำไปตั้งเป็นชื่อสวนนั้นมีลักษณะอย่างไร? (เช่น สวนนกไม้ สวนไม้สน สวนฝรั่งกังไส)
รบกวนผู้รู้ทั้งหลายช่วยไขข้อข้องใจให้ด้วยนะคะ... ;D


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 พ.ย. 10, 21:23
กิมตึ๋ง มาจากยี่ห้อของเครื่องลายครามที่นิยมเล่นกันในสมัยนั้นครับ ชื่อเต็มๆ คือ กิมตึ๊งฮกกี่ เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว เขียน 金堂福記 จีนกลางว่า จินถางฝูจี้ ครับ

ใน ลิงก์นี้ (http://tw.myblog.yahoo.com/hiramcheng/article?mid=80) มีรูปให้ดูตราของหลายยี่ห้อ เสียดายว่าไม่มีของกิมตึ๊งฮกกี่ อยู่ด้วยครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 พ.ย. 10, 07:09
ถนนจากเครื่องลายครามจีน

  ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองเต็มไปด้วยความร่มเย็น เป็นสุขเศรษฐกิจของ ประเทศมั่นคงกว่าเดิม ทรงริเริ่มจัดสร้างงานสาธารณูปการและสาธารณูปโภคแผนใหม่ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน เพิ่มขึ้นตามลำดับ ในสมัยนั้นเจ้านาย ข้าราชการ ตลอดจนคหบดีต่าง ๆ นิยมสะสมเล่นเครื่องลายครามของจีน นำมาจัดคุมเป็นโต๊ะประกวดแข่งขันกัน มีข้อบังคับในการ ประกวดการตัดสินให้คะแนนตลอดจนตั้งกรรมการของหลวงขึ้นเป็นกิจจะลักษณะ     
   ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังดุสิตขึ้นเป็นที่ประทับด้านเหนือของพระนคร มีการตัดถนนขึ้น ใหม่ หลายสายห้อมล้อมพระราชวังนั้น จึงพระราชทานชื่อถนน ชื่อคลอง ตลอดจนชื่อสวนต่าง ๆ ในพระราชวัง เป็นชื่อเครื่องลายครามจีน

    นายพิจิตร พูนพนิช อดีตสถาปนิกกรุงเทพมหานครในสมัยนั้น เป็นผู้สนใจศึกษาค้นคว้าประวัติ ของถนนและสะพานเก่าใน กรุงรัตนโกสินทร์ ได้เขียนอธิบายถึงความหมายของเครื่องลายคราม จีนไว้ในคอลัมน์การออกแบบและตกแต่งสวนใน วารสารกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๑๙ ไว้ดังนี้
   ๑. ถนนทับทิม จากเครื่องลายคราม ที่มีภาพทับทิม ประเพณีจีนมีคตินิยมว่าผลทับทิมนั้นมีเมล็ดมาก ย่อมมีพันธุ์มากจึงมีภาพเด็กหลายคน และผลทับทิมอยู่ด้วยกัน หมายถึงให้การสืบแซ่วงศ์ตระกูลมาก ๆ

   ๒. ถนนบ่วย จากเครื่องลายครามที่มีกิ่งช่อดอกบ่วย เขียนเป็นต้นก็มี เป็นรูปปักแจกันไว้ก็มี ดูได้จากบัตรเชิญงานแต่งงานเขียนไว้ที่ปก ถือว่าเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง

   ๓. ถนนมังกรรำ จากเครื่องลายครามที่มีภาพมังกรรำคะนองฟ้า หรือมังกรดั้นเมฆ เป็นสัญลักษณ์ของผู้ยิ่งใหญ่ หรือสัญลักษณ์เพศผู้ คู่กับไก่ฟ้า สัญลักษณ์ของเพศเมีย ซึ่งจะปรากฏรูปมังกรดั้นเมฆกับไก่ฟ้าในบัตรเชิญงานแต่งงานเสมอ

   ๔. ถนนเต๊ก จากเครื่องลายครามที่มีภาพกิ่งไผ่ ต้นไผ่ กอไผ่ ในงานมงคลของจีน จะมีคนถือต้นไผ่ ๒ ต้น เดินนำหน้า เป็นการขับไล่ภูต ผีปีศาจ ทำให้เป็นมงคล เซียนบางองค์มือหนึ่งถือกิ่งไผ่ อีกมือถือคนโทน้ำมนต์ก็มี

   ๕. ถนนส้มมือหนู จากเครื่องลายครามที่มีภาพส้มมือ ผลไม้ของจีนที่ถือว่าเป็นโอสถ รับประทานแล้วอายุยืนเช่นเดียวกับผลท้อ ในการเซ่นไหว้เพื่อให้อายุยืนจึงใช้ผลส้มมือและผลท้อเสมอ ปัจจุบันถนนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนสุพรรณ

   ๖. ถนนเบญจมาศ จากเครื่องลายครามที่มีภาพดอกเบญจมาศ ดอกไม้ชนิดนี้งามมากในเดือน ๕ มีสีสันต่าง ๆ ทั้งแดง แสด ขาว และสีอื่นๆ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนราชดำเนินนอก

   ๗. ถนนซางฮี้ จากเครื่องลายครามที่มีภาพซางฮี้เป็นอักษรจีนเขียนเหมือนกัน ๒ ตัว เป็นคู่กัน แปลว่าสุข สนุก สบาย อักษรซางฮี้ใช้ในพิธี แต่งงาน เช่น ติดหน้ากระจกรถยนต์เจ้าบ่าวเจ้าสาว เขียนบนบัตรเชิญ และใช้ประดับตกแต่งในห้องพิธี เช่น ติดไว้บนม่าน บนฝาห้อง ปัจจุบันถนนนี้ชื่อ ถนนราชวิถี

   ๘. ถนนดวงตะวัน จากเครื่องลายครามของจีนที่มีภาพพระอาทิตย์เต็มดวงโผล่ขึ้นมาจากน้ำทะเล เสื้องิ้วตัวสำคัญ ๆ ปักลายนี้ส่วนลูกคลื่น นั้นเขียน หรือปักซ้อนกันเหมือนเกล็ดปลา ปัจจุบันชื่อถนนศรีอยุธยา

   ๙. ถนนดวงเดือนนอกและถนนดวงเดือนใน จากเครื่องลายครามที่มีภาพดวงเดือน ประเพณีจีนมีการไหว้พระจันทร์ยังทำกันอยู่จนขณะนี้ ปัจจุบันชื่อถนนสุโขทัย

  ๑๐. ถนนดวงดาวใต้ จากเครื่องลายครามที่มีลายดาว นิยายจีนมักกล่าวถึงดาวที่เป็นเซียนต่าง ๆ เช่น ไท้แป๊ะกิมแชแชแปลว่าดาว ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นถนนนครราชสีมาใต้

  ๑๑. ถนนคอเสื้อ จากเครื่องลายครามที่มีลายแบบคอเสื้อของจีน ปัจจุบันชื่อถนนพิษณุโลก

  ๑๒. ถนนฮก จากเครื่องลายครามที่มีภาพค้างคาว ค้างคาวนั้นภาษาจีนว่า เปียนฮก จึงนำรูปค้างคาวมาใช้แทนฮกซึ่งหมายถึงบุญวาสนา ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนนครปฐม

  ๑๓. ถนนลก จากเครื่องลายครามที่มีภาพลก คือขุนนางจีนสวมหมวกงามมีใบพัด ๒ ข้าง บางทีก็มีภาพกวางเขางามยืนอยู่ด้วย คือเทียบ เขากวางกับหมวกเกียรติยศ ภาพลก หมายถึง เกียรติยศ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระรามที่ ๕

  ๑๔. ถนนสิ้ว จากเครื่องลายครามที่มีภาพสิ้ว สิ้ว แปลว่า อายุยืน บางทีทำเป็นรูปคนชรา แป๊ะแก่ ศีรษะล้านและงอกสูงขึ้นไป หนวดเครา ขาวสะอาด ถือผลท้อและไม้เท้ายืนอยู่ใต้ต้นสนใหญ่ รวมความว่า ต้นสนก็ดี ผลท้อก็ดี และความชราก็ดี ล้วนแสดงถึงความ เป็นผู้มีอายุยืน ทั้งสิ้น ปัจจุบันถนนสิ้วเปลี่ยนเป็น ถนนสวรรคโลก

  ๑๕. ถนนประแจจีน จากเครื่องลายครามที่มีภาพเป็นลายประแจจีน ปัจจุบันชื่อ ถนนเพชรบุรี

  ๑๖. ถนนพุดตานเหนือ จากเครื่องลายครามที่มีลายดอกไม้คล้ายดอกพุดตานของไทย ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นถนนพิชัย

  ๑๗. ถนนประทัดทอง จากเครื่องลายครามที่มีภาพต้นประทัดทอง ต่อมาบางคนเรียกเพี้ยนเป็นบรรทัดทอง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระรามที่ ๖

ภาพการจัดเครื่องโต๊ะลายคราม มีหลายประเภท มีทั้งชุดเล็ก ชุดใหญ่ ประกวดประชันกัน


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 พ.ย. 10, 07:30
ชุดโต๊ะกิมตึ๋ง แบบมาตรฐานจัดตามรูปแบบนี้

อ้างถึง "อธิบายเครื่องบูชา" ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้ว่า
"เมื่อเกิดนิยม หาเครื่องโต๊ะจีนให้เป็นลายเดียวกันอย่างว่ามา พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก ต้นสกุลโชติกะพุกกณะ) จึงทูลขอให้กรมราชสีหวิกรม ทรงคิดแบบอย่าง แล้วสั่งเครื่องโต๊ะเข้ามาขายเป็นชุดๆ เรียกว่า "โต๊ะกิมตึ๋ง" แต่นั้นการตั้งโต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีนแกมไทยก็เลยเป็นแบบ และใช้เครื่องถ้วยของจีนเป็นพื้นมาจนทุกวันนี้"

การจัดโต๊ะทำอย่างไร

"โต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีน จัดเป็น ๒ อย่าง เรียกว่า "โต๊ะใหญ่" คือ ตั้งทั้งโต๊ะขวางหลังและโต๊ะหน้าอย่าง ๑ "โต๊ะโขก" คงแต่โต๊ะหน้าตัวเดียวอย่าง ๑"

"บรรดาของที่จัดขึ้นโต๊ะนั้นจำต้องมีหย่องหรือเท้ารองทุกชิ้นไปตามชนิดของชิ้น ยกเสียแต่บางสิ่ง คือ เชิงเทียน กระถางต้นไม้ หรือ ตุ๊กตาที่มีฐานสำหรับตัวแล้ว ถ้าเป็นตุ๊กตาไม่มีฐาน ก็คงค้องมีเท้ารองเหมือนกัน"

"บรรดาชิ้นที่ควรเลี่ยม จำต้องให้เลี่ยมทุกชิ้น เว้นไว้แต่สิ่งที่ไม่ต้องเลี่ยม เช่นตุ๊กตาหรือลับแลที่มีกรอบไม้แล้วเป็นต้น"

"บรรดาชิ้นที่ตั้งโต๊ะ จะต้องดูแลเช็ดให้สะอาด อย่าให้เปื้อนเปรอะโสโครกเป็นปฏิกูล ถึงกี๋หย่องแลเท้าไม้ตลอดจนตัวโต๊ะก็ควรเช็ดให้สะอาด"

"การจัดชิ้นขึ้นโต๊ะ ถ้าเป็นโต๊ะมีขวางหลัง จะขาดลับแลและขวดปักดอกไม้ กระบอกธูป กระถางธูปใน กระถางธูปหน้า ขวดหน้า ชามลูกไม้หน้า เชิงเทียน ทั้ง ๘ อย่างนี้แต่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้"


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 06 พ.ย. 10, 11:59
ขอบคุณมากเลยค่ะสำหรับทุกคำตอบของทุกท่านที่ช่วยไขข้อสงสัยให้กระจ่างยิ่งขึ้น
ในเรือนไทยมีผู้รู้ในหลายๆแขนงจริงๆค่ะ ต้องขอขอบคุณการชี้แนะของผู้รู้ทุกท่านไว้ในที่นี้ด้วยจ้า  :-[


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 06 พ.ย. 10, 12:33
"สาย" เสด็จรับสั่งเรียก "บ่ายนี้มีสวดมนต์บนพระที่นั่ง ข้าว่าจะขึ้นไปสักหน่อย เสด็จตำหนักบนจะขึ้นไปหรือไม่ก็ไม่รู้ ถ้าไปจะได้ไปด้วยกัน"
"หม่อมฉันจะให้ไปทูลถามดูก็ได้มังคะ" คุณสายทูลตอบ แต่พอคุณสายพูดยังไม่ทันขาดคำ ก็มีเสียงคนเดินขึ้นบันไดมา เสียงข้าหลวงที่หมอบอยู่ใกล้ๆ ทางขึ้นทูลว่า
"แม่มาลัยมาจากตำหนักบนมังคะ"  และทันใดนั้นก็มีสตรีวัยกลางคนอีกคนหนึ่งโผล่หน้าขึ้นมากราบเสด็จตรงทางขึ้นและทูลอย่างเร็วปรื๋อว่า "สวดมนต์เย็นบนพระที่นั่งบ่ายวันนี้มังคะ เสด็จให้มาทูลถามเสด็จว่าจะเสด็จหรือไม่เสด็จ ถ้าเสด็จจะเสด็จ เสด็จจะเสด็จด้วย"

คำว่า สวดมนต์บน "พระที่นั่ง" ในที่นี้หมายถึงพระที่นั่งองค์ไหนคะ?
และคำว่า "เสด็จตำหนักบน" หมายถึง "สมเด็จที่บน" ใช่หรือไม่ อย่างไร?
แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่น่าจะหมายถึงสมเด็จที่บนค่ะ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ข้าหลวง(แม่มาลัย)น่าจะเรียกแทนพระองค์ว่า "สมเด็จ" มากกว่า อันนี้หนูเข้าใจถูกต้องมั๊ยคะ...(http://)

ครั้งแรกๆที่อ่านสี่แผ่นดินก็ไม่ได้คิดสงสัยอะไรแบบนี้ค่ะ อาจจะเป็นเพราะมัวแต่ประทับใจกับการใช้คำว่า "เสด็จ" ของท่านผู้ประพันธ์ แต่เมื่อได้อ่านในครั้งหลังๆ (แบบอ่านเก็บรายละเอียด) ก็รู้สึกว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ ข้อสงสัยบางประการก็พยายามหาคำตอบด้วยตัวเองไปบ้างแล้ว แต่บางครั้งก็อยากได้คำชี้แนะจากท่านผู้รู้อื่นๆด้วยค่ะ..^0^   


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 พ.ย. 10, 15:27
พระที่นั่ง  คงหมายถึงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ครับ

ที่บน / เสด็จที่บน / เสด็จตำหนักบน คงไม่มีที่บนหลายแห่งเป็นแน่ครับ นอกเสียจาก "พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร" ครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 พ.ย. 10, 17:26
ตอนหนึ่งในสี่แผ่นดิน พูดถึงหวย ก.ข. ไว้

คุณเชยก้มลงเปิดกระเป๋าหมาก หยิบเงินให้พิศสองบาท แล้วบอกว่า
"เอ้าพิศ เอาไปซื้อของเล่นไป๊ นานๆพบกันที"
นางพิศลงกราบอย่างดีใจ รับเงินไปแล้วบอกว่า
"คุณพลอยคอยกินขนมไว้ให้ดีนะ พรุ่งนี้แหละพิศจะรวยใหญ่ทีเดียว"
"รวยอะไร กะอีเงินสองบาท" พลอยพูดอย่างเห็นขัน
"อ้าวคุณยังไม่รู้อะไร" นางพิศอธิบาย "เมื่อคืนพิศฝันดี๊ดี เห็นนกกระยางบินมาตั้งฝูง วันนี้ต้องแทงหวย ให้เต็มภิกขาทีเดียว"
"แทงตัวอะไรพิศ" ช้อยถามอย่างสนใจ
"แทง ป. กังสือซีคุณช้อย" นางพิศตอบอย่างแน่ใจ
"ไฮ้ ! ฝันเห็นนกกระยางทำไมไปแทง ป. กังสือล่ะพิศ" คุณเชยซัก
"ก็นกกระยางมันกินปลานี่เจ้าค่า" นางพิศตอบอย่างปราศจากสงสัย "ปลาก็ ป. กังสือซีเจ้าค่า"
"ฉันชักจะเลื่อมใสเสียแล้วละ" ช้อยพูดขึ้น "พิศจะออกไปแทงหวยเมื่อไรละก็บอกฉันให้รู้มั่งนะ ฉันจะฝากไปแทงสักเฟื้องหนึ่ง"

เลยเอารูปตัวอักษรที่เล่น หวย ก.ข. มาให้ดูค่ะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 12 พ.ย. 10, 09:23
แล้ว "เล่นโป"  เป็นอย่างไรคะ ???


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 พ.ย. 10, 09:43
คำอธิบายจาก "ประชุมพระนิพนธ์  สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ"

๑. อธิบายกำเนิดการเล่นถั่วโปและหวย

        การเล่นถั่วโป และหวย  เป็นของที่จีนคิดเล่นขึ้นในเมืองจีนก่อน  แล้วพวกจีนที่ไปอยู่ต่างด้าวพาไปเล่น  จึงได้แพร่หลายต่อไปในประเทศอื่นๆ  ข้าพเจ้าได้วานพระเจนจีนอักษร(สุดใจ  ตัณฑากาศ) ศาสตราจารย์ภาษาจีนในราชบัณฑิตสภาให้ช่วยค้นหาเรื่องเหตุเดิมที่จะมีการเล่นนี้ขึ้นในเมืองจีน   ได้ความในหนังสือ ยี่ จับ สี่ ซื้อ อ๋าว หั่ง จือ  เป็นเรื่องพงศาวดารจีน ตอนราชวงศ์ตั้งฮั่น  ว่าเมื่อครั้งราชวงศ์ตั้งฮั่นเป็นใหญ่ในเมืองจีน  แผ่นดินพระเจ้าสูนฮ่องเต้ อันดับเป็นรัชกาลที่ ๗  เสวยราชย์เเต่ พ.ศ. ๖๖๙  จน พ.ศ. ๖๘๘ นั้น  ขุนนางจีนคนหนึ่งชื่อเลียงกี  คิดเล่นการพนันขึ้นอย่าง ๑  เดิมเรียกว่า อีจี๋ แปลว่ากระแปะคิด  วิธีเล่นใช้นับ ๔ เป็นเกณฑ์  คือ เอากระแปะหลาย ๆ สิบกระแปะมากองเข้า  แล้วเอาภาชนะอันหนึ่งครอบกองกระแปะนั้นไว้  ให้คนทั้งหลายที่เล่นด้วยกันทายว่าจะเป็นเศษ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ หรือครบ ๔  เมื่อทายกันแล้วจึงเปิดภาชนะที่ครอบออกแล้วนับกระแปะ ปัดไปทีละ ๔ กระแปะ ๆ    ปัดไปจนกระแปะในกองนั้นเหลือเป็นเศษ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ หรือ ๔  ตรงกับที่ผู้ใดทายผู้นั้นถูก  ใครวางเงินแทงเท่าใดถ้าเจ้าถูก เจ้ามือก็ต้องใช้ให้  ใครแทงไม่ถูกเจ้ามือก็ริบเงินที่แทงเสีย

         ต่อมาถึงสมัยล่ำปักเฉียว เวลาเมืองจีนแตกกันเป็นภาคเหนือกับภาคใต้  ต่างรัฐบาลกัน  ในระหว่าง พ.ศ. ๙๖๓  จนถึง พ.ศ. ๑๑๓๒  ในสมัยนั้นการเล่นที่เรียกว่า อีจี๋ (ทำนองจะเป็นเพราะเอาสิ่งอันใดกองแทนกระแปะให้สังเกตง่ายขึ้น) จึงเรียกแปลงชื่อว่า "ทัวหี่" แปลว่า เล่นแจง

         ต่อมาเมื่อราชวงศ์ถังเป็นใหญ่  ในระวาง พ.ศ. ๑๑๖๑  จน พ.ศ. ๑๔๕๐  มีผู้แปลชื่อการเล่น "ทัวหี่"  มาเรียกว่า "ทัวจี่"  แปลว่าแจงกระแปะ (เพราะกลับเล่นด้วยกระแปะ  แต่ทุกวันนี้เรียกกันเป็นหลายอย่าง  เรียกกันว่า "กิมจี๋ทัว" แปลว่าแจงกระแปะทอง (เพราะเป็นกระแปะที่เล่นนั้นขัดปลั่งเหมือนกับทอง) ก็มี  เรียกว่า "ทัว" แปลว่าแจง เท่านั้น (เพราะใช่แจงด้วยเบี้ยหรือสิ่งอื่นอันมิใช่กระแปะ) ก็มี   เรื่องมูลเหตุการเล่นทัว  ที่เรามาเรียกกันว่า "ถั่ว" มีมาดังนี้  ที่ไทยเรียก "ถั่ว" เห็นจะเป็นแต่เพี้ยนมาจากคำว่า "ทัว" ภาษาจีน  หาใช่เพราะเอาถั่วมากำแทนกระแปะไม่

         เรื่องเหตุเดิมที่จะเกิดการเล่นโป  ซึ่งจีนเรียกว่า "ป๊อ" นั้นยังค้นไม่พบอธิบาย  ได้ความแต่ว่าเป็นของคิดขึ้นที่อำเภอเจี๋ยวอาน ในมณฑลฮกเกี้ยน  และว่ามีขึ้นในสมัยตอนปลายราชวงศ์ใต้เหมง  หรือเมื่อต้นราชวงศ์ใต้เชงเป็นใหญ่ในเมืองจีน  ประมาณราว พ.ศ. ๒๑๐๐  เพราะฉะนั้นโปเป็นของมีขึ้นที่หลังถั่วช้านาน โปมาเล่นในเมืองประเทศสยามนี้มี ๒ อย่าง  ไทยเราเรียกว่า "กำโป" เพราะกำเหมือนถั่ว   ผิดกันแต่วิธีแทง อย่าง ๑  เรียกว่า "โปปั่น"  ใช้ครอบทองเหลืองมีลิ้นรูปเหมือนลูกบาตรข้างใน  ปั่นครอบไปจนได้เหลี่ยมแล้วเปิดฝา  ซีกขาวที่ลิ้นอยู่ตรงแต้มไหนถือว่าออกแต้มนั้น นี้อย่าง ๑  สันนิษฐานว่าที่จีนเรียก "ป๊อ"  เห็นจะได้แก่ โปปั่นอย่างเดียว โปกำจะเป็นขอคิดเอาวิธีเล่นถั่ว กับเล่นโป  ประสมกันปรุงขึ้นต่อภายหลัง  ได้ความในเรื่องมูลเหตุที่จะเกิดการเล่นโปแต่เท่านี้

         ส่วนเหตุเดิมที่จะเกิดหวยนั้น  ได้ความในหนังสือชื่อ ยังว่า    หวยเป็นของเพิ่งคิดขึ้นในแผ่นดินพระเจ้าเตากวาง รัชกาลที่ ๖  ในราชวงศ์ใต้เชง  เสวยราชย์แต่ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๖๔  จนปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๔ (ตรงกับรัชกาลที่ ๒ ต่อรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้)  ว่ามีผู้คิดเล่นที่อำเภอว่างง่าม ในมณฑลเจ๊เกี๋ยงก่อน  จีนเรียก "ฮวยหวย"  ลักษณะการเล่นนั้นทำป้ายเล็ก ๓๔ ป้าย  เขียนชื่อคนโบราณลงป้ายละชื่อ  ชื่อคนโบราณเหล่านั้นคือชื่อว่า "สามหวย" "ง่วยโป" เป็นต้น  ล้วนเป็นคนมีชื่อเสียงครั้งราชวงศ์ซ้องทั้งสิ้น  กระบวนเล่นนั้น  เจ้ามือเลือกป้ายอัน ๑ ใส่ลงในกระบอกไม้ปิดปากกระบอกเสีย  แล้วเอาแขวนไว้กับหลังคาโรง  ให้คนทายว่าจะเป็นชื่อคนไหนใน ๓๔ ชื่อนั้น  ถ้าทายถูก เจ้ามือก็ใช้ ๓๐ ต่อ  ถ้าทายผิดก็ริบเอาเดิมพันเสีย  เรื่องมูลเหตุที่หวยเกิดขึ้นในเมืองจีน  สืบได้ความดังแสดงมานี้

แผ่นดินทอง - ตำนาน อากรบ่อนเบี้ย หวย และเงินตรา
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/03/K4167818/K4167818.html




กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 13 พ.ย. 10, 20:38
เคยได้ยินชื่อ "ข้าวเสียโป"  ขายอยู่หน้า รพ.กลาง
ที่มานั้นต่างกันไป บางคนว่าเป็นคำมาจากภาษาจีน
บางคนว่า  เสียพนันเลยต้องมากินข้าวแบบนี้  แต่ก็ไม่เห็นว่าจะราคาถูกแต่อย่างใด

ไม่แน่ใจเรื่องที่ตั้ง รพ.กลาง ก็อยู่ใกล้โรงหวยเดิมด้วยหรือเปล่า ?


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 14 พ.ย. 10, 19:53
เคยอ่านในเว็บใดเว็บหนึ่ง (คิดว่าน่าจะเป็น bloggang.com) ได้กล่าวถึงเรื่องหวย ก ข ไว้เป็นชุดคำกลอน โดยกลอนที่ว่านี้ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่เป็นชุดที่มีตัวอักษรทั้งสิ้น ๓๖ ตัว คำกลอนที่ว่ามีดังนี้ค่ะ

ก สามหวย

ก เจ้าสวมหมวกสามแฉกเป็นเส้นฉาก
หนวดที่ปากแดงจ้าหน้าเป็นสี
ชื่อสามหวยสวยนักเป็นจักรี
นางชะนีมาเกิดกำเนิดนาม

ข ง่วยโป๊

ข ง่วยโป๊นั้นกำเนิดเกิดเป็นเต่า
แต่เข้าเฝ้าเช้าเย็นไม่เห็นฉัน
อดอาหารได้จริงไม่ยิงฟัน
ถือพระจันทร์ชูไว้มิได้วาง


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 14 พ.ย. 10, 19:57
ฃ เจียมขวย

ฃ เจียมขวยเป็นปลานั้นมาเกิด
พักตร์สวยเลิศคิ้วคางก็คมสัน
ต้องเข้าเฝ้าเช้าเย็นเป็นนิรันดร์
เป็นเขยขวัญท่านไท้เผ็งทรงเมตตา

ค เม่งจู

ค เม่งจูปลาตะเพียนนั้นมาเกิด
บอกสำคัญว่าชาติเก่งเป็นฮูหยิน
มีลูกอ่อนนอนเห็นว่าเล่นจริง
ไม่ประวิงรักบุตรเป็นสุดใจ

ฅ ฮะตั๋ง

ฅ สองแม่ค้าหอยแครงค่อฮะตั๋ง
ดูเนื้อหนังพักตร์นวลอ้วนหนักหนา
ปากก็หวานตั้งร้านขายสุรา
อยากขึ้นมาก็รินกินเอาเอง


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 14 พ.ย. 10, 20:09
ฆ ยี่ซัว

ฆ หลวงจีนเฆาะยี่ซัวนั้นตัวกั่น
กำเนิดนั้นเป็นไก่อยู่ไพรกว้าง
คอยคุ้ยเขี่ยหากินไปตามทาง
ก๊กต่างๆ สั่นหัวกลัวเต็มที

ง จีเกา

ง จีเกาคนเก่งนักเลงเก่า
ทหารเจ้า ธ ไท้เผ็งเก่งหนักหนา
ขี่สิงโตออกชื่อคนลือชา
มีฤทธาคนอ่อนน้อมยอมเกรงกลัว

จ หลวงชี

จ หลวงชีเดิมทีเป็นแมวป่า
สิ้นชีวาขาดใจไปเป็นผี
มาเกิดเป็นอันสือชื่อแม่ชี
เที่ยวราวีตามตลาดบิณฑบาตเอย

ฉ ขายหมู

ฉ ขายหมูแมวลายตายมาเกิด
แสนประเสริฐวิชาค้าขายหมู
ครั้นใกล้รุ่งมันก็เรียกกันเพรียกพรู
ให้จับหมูฆ่าขายกระจายไป     :o


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 14 พ.ย. 10, 20:21
ช ฮกชุน

ช่อ ฮกชุนเป็นสกุลสุนัขขา
ปีนขึ้นเขาหายาไปปะเสือ
ไม่ทันหลบเสือขบลงเป็นเบือ
เลยเป็นเหยื่อพยัคฆ์ร้ายจนวายปราณ

ซ แชหงวน

ซ แชหงวนนั้นเกิดกำเนิดไก่
มาแต่ไพรแมลงมุมนั่งสุมหัว
กางเกงขาดยุงกัดมันหวาดกลัว
คอยซ่อนตัวสุมควันป้องกันภัย

ฌ ฮวยกัว

พักตร์ขาวขำสำอางขุนนางเจ๊ก
เจ้าหนุ่มเด็กฮวยกัวหัวเป็นขอ
กำเนิดนั้นเป็นไก่ฟ้าพญาลอ
ดูลออน่าเชยชมคมสันเอย

ญ ย่องเซ็ง

ญ ย่องเซ็งเดิมกำเนิดเกิดเป็นห่าน
มันดื้อด้านเมื่อเล็กหลานเจ๊กเส็ง
ครั้นเติบใหญ่ไวว่องชื่อย่องเซ็ง
ท่านไท้เผ็งโปรดปรานประทานยศ   :)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 14 พ.ย. 10, 20:38
ด กวงเหม็ง

เจ้าม้าหมอกสีมัวตัวนั้นเก่ง
ชื่อกวงเหม็งหมอดูเป็นครูโหร
ด้วยรู้ชัดจัดเจนไม่เอนโอน
ช่างทายโดนไท้เผ็งว่าเก่งจริง

ต เรือจ้าง

ต เรือจ้างนั้นเกิดกำเนิดหนู
ไม่อยู่รูถ่อเรือจนเหงื่อไหล
มีคนจ้างรับข้ามยังค่ำไป
พอเลี้ยงกายเลี้ยงตัวไม่มัวมอม

ถ พันกุ้ย

..ถ พันกุ้ยนั้นเกิดกำเนิดสังข์
ชาติมังกรไม่สุภาพช่างหยาบจัง
สองมือนั้นถือช่อไม่ขจายจร

มีเมียน้อยกลอยสวาททั้งสองคือ
ชื่อเม่งจู (ตัว ค) และกิ๊มเง็ก (ตัว ร) ดวงสมร
มีบุตรสุดที่รักร่วมอุทร
ทั้งสองนามกรต่างกัน
ย่องเซ็ง (ตัว ญ) นั้นเป็นผู้พี่
ฮกซุน (ตัว ช) น้องนี้คนขยัน
ทั้งสองร่วมเรียงเคียงกัน
อยู่สุขทุกข์นิรันดร์วันคืน


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 10, 06:15
ขอคั่นรายการหวย เล็กน้อย

เมื่อคุณอุ่นตกยากเพราะน้องชายผลาญสมบัติ   ต้องบากหน้าไปพึ่งแม่พลอย    เธอเล่าว่าคุณชิตเมามาขู่เข็ญเอาเงิน เมื่อไม่ได้ก็ยกเข่งบรรจุถ้วยชามลายน้ำทองที่ยังเหลือเป็นสมบัติติดตัวพี่สาว  ขว้างลงหน้าต่างไปทีละเข่งจนแตกป่นปี้หมด

"ลายน้ำทอง "คือเบญจรงค์น้ำทอง  หน้าตาเป็นอย่างนี้

(http://203.172.204.162/web/thaiEnclycropedia/book22/b22p58.jpg)

เบญจรงค์ เป็นถ้วยชามชนิดหนึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  ถือกำเนิดในประเทศจีน   โดยคนไทยสั่งทำเป็นพิเศษ  ช่างไทยออกแบบให้ลาย ให้สี ตามรูปแบบของศิลปะไทย ส่งไปให้ช่างจีนผลิตในประเทศจีน 
     "เบญจรงค์" แปลว่า ห้าสี    คือสีที่ปรากฏบนถ้วยชามเบญจรงค์  แต่ในความเป็นจริง มีสีตั้งแต่ 3 สี ขึ้นไปจนถึง 8 สี สีหลักได้แก่ แดง เหลือง ขาว ดำ เขียว หรือน้ำเงิน และสีอื่นๆ ได้แก่ ม่วง แสด น้ำตาล  นิยมกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2  จนถึงรัชกาลที่ 5
ที่เรียกว่าลายน้ำทองคือมีการเขียนสีทองตัดลงไประหว่างสีอื่นๆด้วย

(http://www.tarad.com/_tarad/_templates/b/_modules/view_image2.php?shopurl=tumtoilet3&picname=http://tumtoilet3.tarad.com/shop/t/tumtoilet3/img-lib/spd_20080325235113_b.JPG)

ป.ล. กำลังรอคุณ siamese มาบอกว่า เบญจรงค์ผลิตในประเทศไทยมานานแล้วครับ ไม่ใช่ผลิตในจีน   ;)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 พ.ย. 10, 09:35
ท่านอาจารย์เทาชมพูส่งไม้มาให้ ก็ต้องรับไว้ก่อน  ;D

เครื่องถ้วยที่ผลิตในประเทศไทยนั้นมีหลักฐานตั้งแต่กรุงสุโขทัย ว่ามีการติดต่อกับประเทศจีน มีการดูงาน ศึกษาการผลิตและตั้งเตาเผาในดินแดนประเทศไทย แต่อนิจจา คุณภาพของดินในประเทศไทยสมัยนั้นขุด ปั้นได้เพียง เครื่องเคลือบดินเผาแกร่ง ไม่มีคุณภาพการผลิตถึงขั้นกระเบื้องเคลือบเนื้อแกร่งแบบพอร์ตเลนระดับเขียนลายห้าสี อย่างประเทศจีนได้ แต่ท้ายที่สุดก่อนเครื่องเบญจรงค์จะลดบทบาทไป สมัยรัชกาลที่ 5 กลุ่มวังหน้าทรงตั้งเตาเผาเพื่อผลิตชามเบญจรงค์

และแน่นอนเครื่องถ้วยทรงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทรงใบบัว ทรงมะนาวตัด ทรงโถ โอคว่ำ หรือ จานเชิง ล้วนกำเนิดมาจากประเทศจีน ไทยรับและปรับแต่งนิดหน่อยจนเข้ากับไทย รวมทั้ง ชามฝา ซึ่งก็มาจากประเทศจีน การเขียนลายแล้วสั่งทำย่อมทำได้ โดยวาดลายจากราชสำนักไทยส่งไปยังประเทศคู่ค้า เช่น กรณีสั่งลายผ้า ลายกนก เทพพนมจากอินเดีย ลายกรวยเชิง ช่างอินเดียสามารถ copy ได้ละม้ายคล้ายต้นฉบับ แต่สำหรับช่างจีนแล้วเห็นท่าจะ copy ลายกนกอยุธยา มงกุฎ สร้อยสังวาลย์ไม่เข้าใจ เลยออกมาเป็นเทวดาจีน พุงพลุ้ย อย่างที่เห็น ส่วนลายในช่องกระจกก็วางกรอบให้เป็นดอกไม้


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 พ.ย. 10, 09:58
โถปริก ยอดประดับทองคำ ล้อมพลอยแดง หรือ ลงยาราชาวดี เป็นการผสมผสานศิลปะและการตกแต่งเครื่องกระเบื้องจีนกับศิลปะอย่างไทยไว้อย่างลงตัวและสวยงาม ใช้กันในสมัยปลายอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นงานประณีตชั้นสูง แม้ว่าลวดลายของโถปริกจะไม่งามเท่าไร แต่เมื่อถูกประดับด้วยทองคำและอัญมณีก็งามวิจิตรได้


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 พ.ย. 10, 10:12
ในรัชสมัยพระเจ้าเจียะชิง (CHIA CHING) พ.ศ. 2334-2363 และพระเจ้าเต้ากวง (TAO KUANG) พ.ศ. 2364-2393 ซึ่งตรงกับสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1-3 ซึ่งเป็นสมัยที่มีเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทองมาก เครื่องลายน้ำทองเป็นเครื่องกระเบื้องที่ผลิตใช้กันในราชสำนักเท่านั้น ไม่ใช่สินค้าที่จำหน่ายแบบใครซื้อหาได้ง่ายๆ ด้วยเป็นการผสมทองคำกับปรอท และผ่านการเผาเพื่อไล่ปรอทให้ทองคำติดกับเนื้อภาชนะ

ในราชสำนักจีนดังชามที่นำมาลงเป็นของราชสำนักพระเจ้าเจียะชิง จะเห็นว่าการเขียนลายทองจะเดินขอบ ซึ่งเครื่องถ้วยเบญจรงค์ในสมัยรัชกาลที่ 1-2 ก็มีลักษณะเช่นนี้ แต่ภายหลังเห็นว่าลงทองแล้วสวยงาม จึงให้ลงทองไปยังช่องไฟที่ว่าง ถมให้เต็มใบเลยก็สวยไปอีกแบบ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 พ.ย. 10, 10:18
ชามฝาลายน้ำทอง สมัยรัชกาลที่ 1 ลายดอกไม้ ตัวฝา-ช่องกระจกลายเทพพนม พร้อมกนกลายไทย งามวิจิตร เดินลายบนสุดด้วยการหยอดกระจังตาอ้อย พร้อมเดินลายน้ำทอง ส่วนตัวชาม-ช่องกระจกใส่ลายดอกไม้พื้นดำ และพื้นที่เหลือใส่ลายกลีบดอกไม้ สมเป็นชามเพื่อใช้ในราชสำนักสยามยิ่งนัก


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 พ.ย. 10, 10:28
นี่เป็นตัวอย่างเครื่องลายน้ำทอง ที่ถมทองลงในช่องว่างทั้งใบ สีทองคงสุกปลั่งถูกใจคนไทยที่นิยมทองคำไม่แพ้ชาวอินเดีย แม้ว่าลวดลายดอกไม้ ลายกระบวนออกไปอย่างจีน แต่ยังมีการวางรูปแบบของไทยคือ บริเวณปากชามด้านนอก จะเดินลายกระจัง ให้รู้ว่าเป็นเสน่ห์อย่างไทยๆ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 พ.ย. 10, 10:44
การตั้งเตาเผาในพระราชวังบวรสถานมงคล กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่ 5 ทรงสนพระทัยงานศิลป์ และทรงประดิษฐ์สร้าง สรรค์งานศิลป์หลายอย่าง เช่น หุ่นไทย หุ่นจีน และทรงทำเครื่องถ้วยเขียนขึ้นในพระราชวังบวร โดยสั่งซื้อเครื่องถ้วยสีขาวจากต่างประเทศมาเขียนสี และเผาเองเขียนภาพสีเป็นเรื่องรามเกียรติ์ พระอภัยมณี เป็นชามฝา และ กระโถนค่อม สำหรับกระโถนค่อมเขียนภาพ เรื่องรามเกียรติ์ตอนต่าง ๆ เป็นภาพสีสอดเส้นทอง ทรงทำประทานเจ้านายมีจำนวนไม่มากนัก

ดังภาพชามฝาที่นำมาให้ชมเป็นชามวังหน้า เขียนลายพระอภัยมณีอยู่ในเรือ จะเห็นว่าไทย สั่งชามขาวซึ่งก็คือ เครื่องกระเบื้องพอร์สเลน แล้วมาเขียนสี แล้วนำเข้าเตาเผาอบสี เท่านั้นเอง


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 พ.ย. 10, 11:04
ก่อนสิ้นสุดราชวงศ์ชิง จนถึงราชวงศ์ชิงล่มสลายไปใน พ.ศ. 2454 (ค.ศ.1911) ช่วงเวลา 20 ปีก่อนนี้ ประเทศจีนมีภาวะสงครามยืดเยื้อ ทำให้การผลิตเครื่องกระเบื้องด้อยคุณภาพ บางแห่งปิดเตาเผาลงไป เครื่องถ้วยจีนจึงลดบทบาทไป แต่ราชสำนักไทยก็หันไปหาเครื่องกระเบื้องทางญี่ปุ่น ซึ่งมีคุณภาพงามไม่แพ้กัน แต่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ดังเช่น "ชีวิตในวัง ของหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์" เคยเล่าให้ฟังว่า มีร้านชาวญี่ปุ่นมาเปิดท่านกับข้าหลวง หนีไปเที่ยวไปซื้อชามกันมา แต่ก็ไม่ได้ใช้ เพราะงดงามเกินตัว ใครเจอเข้าก็จะหาว่าแอบเอาของเจ้านายมาใช้ ผิดวิสัยบ่าวจะมีของสวยเกินหน้า ซุกซ่อนกันให้วุ่นวาย

หลังจากทางประเทศอังกฤษ สามารถพัฒนาเขียนสีเครื่องลายครามจากจีนได้อย่างเหมือนต้นฉบับแล้ว ก็ถึงเวลาของชาวยุโรปที่จะผลิตเครื่องกระเบื้องเนื้อดี ออกสู่สังคมโลก ด้วยราคาที่ถูกกว่าของจีนไว้ให้หมู่นักสะสมเครื่องลายครามได้สะสมกัน ต่อมามีการพัฒนารูปแบบและเอกลักษณ์อย่างทางยุโรป

ชามฝาก็เช่นเดียวกัน สีหวานๆ ลายดอกไม้ เดินลายทองนิดๆ ติดใจใช้กันในราชสำนักไม่แพ้กัน


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 16 พ.ย. 10, 18:22
มาว่าเรื่องคำกลอนเทียบหวย ก ข กันต่อนะจ๊ะ

ท เซี่ยงเจียว

ท เซี่ยงเจียวเดิมทีนกนางแอ่น
ดูอ้อนแอ้นเอวกลมสมทหาร
ขึ้นขี่ม้าถือทวนกระบวนงาม
ทหารยามตามเกี้ยวออกเพรียวพรู

ธ ไท้เผ็ง

เจ้ามังกรไท้เผ็งเก่งฉกาจ
คนขยาดออกชื่อลือหนักหนา
เป็นเจ้าเมืองเรืองฤทธิ์อิศรา
ชาวประชายอมตัวกลัวฤทธี

น เทียนสิน

หลวงจีนตัวลือชื่อเทียนสิน
ท่าดีดดิ้นหนุ่มน้อยน่าพิสมัย
เมื่อชาติก่อนเป็นปูชอบอยู่ไพร
ไม่พอใจอยู่บ้านรำคาญเมีย


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 16 พ.ย. 10, 18:43
บ แจหลี

หลวงพี่ขรัวแจหลีตะพาบน้ำ
ซัดประคำเสกคาถาจนตาเหลือง
ต่อเมื่อใดหิวข้าวจึงเข้าเมือง
นามประเทืองหลวงพี่แจหลีเอย

ป กังสือ

เจ้ามังกรมีเขาเขาเล่าลือ
ชื่อกังสือบางครูว่างูหงอน
บ้างก็ว่าหอยสังข์กลายมังกร
เมื่อชาติก่อนเป็นไฮ้เล่งอ๋องเอย

ผ เอียวหลี

ผ เอียวหลีผีช้างนั้นมาเกิด
เดินเถิดๆหาเหยื่อนกตกฉลาม
มันกินเหล้าแต่ละทีถึงสี่ชาม
เมาซุ่มซ่ามโงกหงับแล้วหลับไป

ฝ ง่วนกุ่ย

ฝ ง่วนกุ่ยนั้นกำเนิดเกิดเป็นลิง
บางคนอิงว่าเป็นกุ้งดูยุ่งเหยิง
เล่นละครเป็นลิงวิ่งกระเจิง
เที่ยวเซอะเซิงซุ่มซ่ามไปตามกรรม


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 16 พ.ย. 10, 18:54
พ กิ๊ดปิ๊น

พ กิ๊ดปิ๊นนั้นเกิดกำเนิดแกะ
เที่ยวจูงแพะเดินซุ่มซ่ามตามถนน
เที่ยวงอนง้อขอร้องใส่ท้องตน
ด้วยความจนซัดเซพเนจร

ฟ เกากัว

ขุนนางคนนี้เสียจริต
เก็งไม่ผิด ฟ เกากัวของเจ๊กเส็ง
เป็นแซ่เดียวพวกไหหลำอยู่สำเพ็ง
แต่เบาเต็งสักนิดจิตแปรปรวน

ภ คุณซัว

เภาะคุณซัวเสือโคร่งนั้นมาเกิด
เอากำเนิดเป็นทหารกะบาลใส
ทั้งเพลงทวนขวานกระบองก็ว่องไว
เคยมีชัยทุกนัดแสนจัดเจน    :o

ม หันหุน

ม หันหุนกำเนิดควายตายมาเกิด
แสนประเสริฐชาติทหารชาญชัยศรี
พวกข้าศึกก็ไม่กล้ามาราวี
แม่ทัพดีของไท้เผ็งเก่งสุดใจ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 16 พ.ย. 10, 22:41
ย ฮ่องชุน

เจ้านกยูงเกิดมาเป็นฮ่องชุน
มีทั้งบุญทั้งสามารถฉลาดเฉลียว
เป็นขุนนางจอหงวนเหมือนพ่อเจียว
เป็นแซ่เดียวเกี่ยวข้องกับย่องเซ็ง

ร กิมเง็ก

นางผีเสื้อนั้นหรือชื่อกิมเง็ก
น้องคนเล็กร่วมไส้ท่านไท้เผ็ง
แต่อารมณ์หล่อนสมัครรักสำเพ็ง
เจ้าย่องเซ็งเป็นบุตรสุดที่รัก

ล เทียนเหลียง

หลวงจีนหนุ่มร่างน้อยกลอยสวาท
กำเนิดชาติเป็นปลาไหลอยู่ไพรสัณฑ์
พนมมือถือพรตพรหมจรรย์
ถือสัตย์มั่นภาวนาทุกราตรี

ว แชหุน

หลวงจีนวอแชหุนนกกระสา
บางคนว่าเป็นกวางดงยังสงสัย
ถือกั้นหยั่นหรือแส้มาแต่ไกล
สำรวมใจไว้ให้ดีมีปัญญา

ส ฮะไฮ้

เจ้ากบใหญ่มีชื่อคือฮะไฮ้
เป็นลูกชายสามหวยสวยสดศรี
มันเกิดก่อนเกากัวลูกหัวปี
ถึงได้ดีเป็นขุนนางแต่ปางบรรพ์

ห หม้งหลิม

ห้อหม้งหลิมแซ่ปึงเป็นผึ้งปลวก
นั่งสวมหมวกเหมาะเหม็งกางเกงสั้น
ความยากจนข้นแค้นแสนเอาการ
ต้องตัดฟืนเผาถ่านการหากิน

ฬ ง่วนกิ้ด

ฬ ง่วนกิ๊ดเนื้อทรายตายมาเกิด
เป็นกำเนิดง่วนกิ๊ดคิดไฉน
หน้าแข้งโปปุปะคละคลุ้งไป
ทำบ้าใบ้ขอทานเป็นการบุญ

อ บ้วนกิม

ชาติงูดินสิ้นใจไปบังเกิด
แสนดีเลิศทรัพย์มากปากก็หวาน
ชื่อบ้วนกิมเศรษฐีมีบริวาร
คิดแต่การค้าขายหมายร่ำรวย

ฮ เจี๊ยะสูน

ฮ เจี๊ยะสูนหมูป่านั้นมาเกิด
รูปสวยเลิศเป็นเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง
กิริยาแยบคายละม้ายลิง
ทำสุงสิงเกี้ยวสาวพวกชาววัง


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 16 พ.ย. 10, 23:02
การเล่นหวยของคนไทยในปัจจุบันจะว่าไปก็คงไม่ต่างกับสมัยก่อนเท่าไหร่นัก บางคนก็ชอบเก็บเอาความฝันถึงเรื่องราวต่างๆมาตีเป็นเลขนู้นเลขนี้ แทงตัวนั้นตัวนี้กันอยู่เรื่อยไป

และจาก "หวย ก ข" ที่ถือกำเนิดขึ้นในสยามเมื่อราวร้อยกว่าปีก่อน ก็ได้พัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันได้กลายมาเป็น "สลากกินแบ่งรัฐบาล" ในที่สุด (ช่วยราษฎร์ เสริมรัฐ ยืนหยัด ยุติธรรม)  :o


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 20 พ.ย. 10, 09:22
มูลเหตุหลักของการมีหวยรัฐ ก็มาจากการหารายได้จากการเก็บภาษีไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย รัฐจำเป็นต้องหาวิธีการบางอย่างเพื่อหารายได้ให้มากขึ้น

ถ้ามองในยุครัตนโกสินทร์ หวยรัฐก็เริ่มมีตั้งแต่ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้วหละครับ



กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 10, 10:22
"ช้อยไปหอบตุ๊กตาชาววังออกมามากมาย  แล้วชวนพลอยให้เล่นด้วย    ช้อยสะสมตุ๊กตาไว้นาน  จึงมีมาก  ตลอดจนเครื่องใช้ต่างๆสำหรับตุ๊กตา"
สี่แผ่นดิน เล่ม ๑


ตอนดิฉันเล็กๆ จำได้ว่ายังมีตุ๊กตาชาววังขายอยู่ในงานวัด   เป็นตุ๊กตาปั้นด้วยดิน ตัวเล็กๆ ระบายสี   ไว้ผมตัด ห่มสไบ นุ่งโจงกระเบน  อยู่ในอิริยาบถหลายอย่างไม่ว่านั่งหรือยืน  มีเครื่องใช้เช่นเปลตาข่าย  กระจาดผลไม้ ฯลฯ  ต่อมาคงไม่เป็นที่นิยมเท่าตุ๊กตาฝรั่งก็เลยหายไปจากตลาด
กลับมาอีกครั้งเมื่อ  เมื่อปี 2519 โดยฝีมือของชาวบ้านที่หมู่บ้านบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ปั้นขึ้นมาอีก แต่ไม่ได้เป็นของเล่นของเด็ก   แต่เป็นของที่ระลึก  และต่อมาเป็นโครงการในพระบรมราชินูปถัมภ์
คนที่ประดิษฐ์ตุ๊กตาชาววัง คือคุณเถ้าแก่กลีบ  เอ่ยไว้ในสี่แผ่นดินเช่นกัน ว่าช้อยไปซุกซนเล่นอยู่ที่ห้องคุณเถ้าแก่ เพื่อไปดูตุ๊กตาชาววัง

(http://www.thairath.co.th/media/content/2009/10/02/36817/hr1667/630.jpg)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 23 พ.ย. 10, 11:53
ภาพของเล่นชาววัง เป็นเครื่องสำรับคาวหวานย่อส่วนของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล
พระธิดาใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช...
ช่างทำได้น่ารักและมีขนาดจิ๋วมากเมื่อเทียบกับเหรียญ...


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 23 พ.ย. 10, 11:55
ส่วนชุดนี้มีพระนาม เฉลิมเขตร มงคล สลักไว้ที่แว่นขยายด้วยค่ะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 23 พ.ย. 10, 12:03
ถาดน้ำชา ตัวกาสลักลาย "จปร" พร้อมหม้อสลักลายสวยงาม มีที่จับฝาเป็นรูปสิงโตขนาดเท่าปลายนิ้ว
เป็นของเล่นที่ปราณีตงดงามมากๆ เลยนะคะ

ภาพทั้งหมดต้องยกเครดิตให้ คุณหนุ่มรัตนะ จากhttp://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/09/K8324579/K8324579.html
ยังมีอีกเพียบเลยค่ะ งามๆ ทั้งนั้นเลย


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 10, 12:15
 ;D


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 23 พ.ย. 10, 13:18
น่ารักจริง ๆ เลยค่ะ

ชาวเราเล่นแต่ชุดหม้อข้าวหม้อแกงดินเผานะคะ
เดี๋ยวนี้ยังเห็นมีขายอยู่บ้าง 
แต่ถ้าซื้อให้เด็กเล่น มักจะแตกเสียหมด


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 10, 13:48
เคยเล่นหม้อข้าวหม้อแกงดินเผามาแต่เด็กค่ะ  รวมทั้งเตาขนมครกด้วย  ทำขนมครกไข่กับเพื่อนๆ   
ยุคนี้ ใครรู้จักขนมครกไข่บ้างหนอ?

(http://www.siambig.com/shop/photo_product/antiquetoys133172.jpg)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 23 พ.ย. 10, 14:17
เคยเล่นเหมือนกันค่ะ เป็นชุดดินเผาคล้ายๆ ภาพข้างล่างนี่แหละค่ะ
ส่วนขนมครกไข่ ก็เคยเล่น ใช้ไข่ไก่ตีแบบไข่เจียว แล้วใส่น้ำตาลนิดหน่อย
แล้วหยอดในเบ้าขนมครกปิดฝา พอสุกก็แคะมาทานกันเลยค่ะ
ที่เป็นไข่นกกระทาแบบในภาพข้างล่างนี่ก็เคยทำค่ะ พอสุกหยอดซ๊อสแม๊กกี้หน่อยก็อร่อย  ;D


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 พ.ย. 10, 14:47
เห็นตุ๊กตาชาววังของอาจารย์เทาชมพู แล้วนึกถึงเรื่องตุ๊กตาชาววังขึ้นมาในทันที

"ถือกำเนิดขึ้นโดยคุณเถ้าแก่ กลีบ เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น  ตุ๊กตาชาววังในสมัยนั้นจึงเลียนแบบมาจากวิถีชีวิตของชาววังแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา ทรงผม เครื่องแต่งกายรวมถึงท่าทางต่าง ๆ โดยเน้นที่ความอ่อนช้อยงดงาม ... ความนิยมในตุ๊กตาชาววังเฟื่องฟูระยะหนึ่งก็ซบเซาลง  เนื่องจากเป็นงานที่ทำยากเพราะต้องใช้ฝีมือที่ละเอียดอ่อน  อีกทั้งเมื่อข้าราชบริพารบางคนย้ายออกไปจากพระราชวังแล้วก็ทำให้ไม่มีใครสืบทอดต่อ  การทำตุ๊กตาชาววังก็ได้สูญหายไปพักหนึ่ง จนกระทั่งราวปี พ.ศ. ๒๕๑๙"

กระผมเองก็เคยเข้าไปชมตุ๊กตาชาววังขนานแท้ ในพระตำหนักแดง จัดแสดงไว้ในตู้ลายทอง ตัวตุ๊กตานั้นงามอย่างอัศจรรย์ ดูราวมีชีวิตจิตใจ ด้วยทรวดทรง ลีลาพริ้วไหว หมอบกราบ ผ้าแถบ ผ้าสไบชิ้นน้อยบรรจงแต้มติดกับดินเผา สร้อย สังวาลย์ประดับด้วยกากเพชรแพรวพราว วงหน้าขาวดังนางละคร เห็นแล้วขนลุก เลยนำภาพที่ตุ๊กตาหมอบกราบมาให้ชม ไม่ละม้ายแต่ใกล้เคียงในลีลา แต่การปั้นหุ่นนั้นห่างไกลกันมากซึ่งเป็นฝีมือของคุณยายแฉ่ง ข้าหลวงในวังผู้ซึ่งทำตุ๊กตาแบบชาววัง รื้อฟื้นอดีตขึ้นมาให้คนปัจจุบันได้ยลกัน


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 พ.ย. 10, 15:02
ตุ๊กตาชาววังได้มีนักฝีมือเกิดขึ้น ที่จังหวัดอยุธยา ด้วยลีลาการปั้นตุ๊กตาไม่เหมือนชาววังสมัยนี้ หัวกลมๆ มือกลมๆ ปั้นโดยศิลปินพื้นบ้าน "คุณสุดใจ" กว่ากระผมจะให้เธอปั้นตุ๊กตาเป็นสมบัติเชยชมได้นั้น ใช้เวลานานมาก แต่ก็คุ้มค่าที่รอคอย ลีลาไม่ซ้ำกัน ทราบว่าปัจจุบันได้เข้าสังกัดสอนนักเรียนศิลปาชีพพิเศษ บางไทรไปเรียบร้อยแล้ว


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 23 พ.ย. 10, 15:33
สองภาพล่างนี้คุ้นๆ ไหมคะ
ตุ๊กตาชาววังฝีมือช่างจากศูนย์ศิลปาชีพฯ ค่ะ

ที่ว่าคุ้นๆ เพราะได้อวดโฉมทางโทรทัศน์ไปทั่วโลกในการถ่ายทอดสด เนื่องในพระราชพิธี
พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ แด่พระราชอาคันตุกะ จาก 25 ประเทศ
คราวฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เมื่อ 13 มิ.ย.2549 ค่ะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 10, 16:03
เคยเห็นตุ๊กตาแบบนี้(ชุดล่าง)ในงานนิทรรศการของศิลปาชีพ ที่พระที่นั่งอนันต ฯ หลายปีมาแล้ว  ค่ะ  
ชุดบน  เสื้อของตุ๊กตาทำด้วยปีกแมลงทับ  งามเลื่อมพรายเหลือจะพรรณนา


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 พ.ย. 10, 16:48
นำภาพกินรีร่ายรำ ประดับด้วยปีกแมลงทับมาฝาก อาจารย์เทาชมพูและคุณดีดี ครับ หากอยากชื่นชมแบบใกล้ชิดก็ที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ได้เช่นกันครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 10, 17:58
สวยมากค่ะ ดูเท่าไรก็ไม่เบื่อ  ;D

" นั่นห่ออะไร พลอย?"
"ห่อจันอับ" พลอยตอบ   "ฉันได้มาจากบ้านเมื่อเช้านี้  กินด้วยกันซีช้อย"

ชาวเรือนไทยที่เล่นกระทู้นี้คงทันเห็นขนมจันอับ  เคยเห็นใส่ขวดโหลไว้ในร้านคนจีน     รสชาติหวานมาก  ถั่วแผ่นที่มีน้ำตาลเหนียวนั่น เคี้ยวยากและหวานสุดๆ   เลยไม่ค่อยได้กินค่ะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 10, 19:32
"ของที่ทำให้คลั่งกันไปอีกพักใหญ่ก็คือ ตลับงาสำหรับใส่ขี้ผึ้งสีปาก ความจริงนั้นตลับงาใส่ขี้ผึ้งสีปาก เป็นของจำเป็นสำหรับชาววังทุกรูปทุกนามอยู่นานมาแล้ว แต่ต้นเหตุที่จะเริ่มเล่นตลับงากันเป็นการใหญ่นั้น เกิดจากพระราชนิยม เล่ากันว่า วันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นตลับงาใบเล็กของเสด็จอธิบดี ที่ทรงใช้มานานจนงานั้นแดงเป็นมันดูงามดี จึงมีพระราชดำรัสว่า ตลับงานี้ใช้นานไปก็งามเป็นสีแดง พอจะเล่นกันได้อย่างฝรั่ง เล่นกล้องสูบบุหรี่ทำด้วยดินขาว เรียกว่ากล้องเมียร์ชอม ตั้งแต่นั้นมาก็เล่นตลับงากันทั่วไป ของใครๆ ก็ขัดอย่าง ประณีตบรรจงเพื่อให้ขึ้นสีแดงสวยงาม
ตามปกติแต่ก่อนตลับงาทั่วไปนั้น ทำเป็นทรงลูกพลับ แต่พอเริ่มเล่นกันขึ้น ก็มีผู้คิดทรงแปลกๆ ออกไปอีกมาก ทรงของใครคิดขึ้นผู้นั้นก็สงวนมิให้ใครลอกแบบ จนถึงต้องมีเจ้าพนักงาน จดทะเบียนตลับทรงต่างๆ ว่าทรงนั้นทรงนี้เป็นของใคร ตลับทรงลูกพลับแห้ง คือแบนกว่าลูกพลับธรรมดา หน่อยหนึ่ง ตลับทรงจรกา คือทรงลูกพลับแต่กดลงไปจนแบนมาก และทรงลูกรอกข้างแข็งนั้น จดทะเบียนเป็นทรง ของหลวงโดยเฉพาะ นอกจากนั้นก็มี ทรงสะกา ทรงรำมะนา ทรงกลองและทรงหมากดิบสด ตลอดจนตลับรูปร่างอื่นๆ อีกเป็นอันมาก"

ตลับงาทรงจรกา

(http://reocities.com/Athens/Troy/1991/Vim305.gif)

ตลับงารูปลูกพลับสด

(http://reocities.com/Athens/Troy/1991/Vim304.gif)

http://reocities.com/Athens/Troy/1991/Viman442.htm


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 10, 19:33
ตลับงาเถาทรงลูกพลับ และตลับงารูปเงินพดด้วง

(http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2010/10/27/9b6iaa67bjbc7jbgbba9f.jpg)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 พ.ย. 10, 20:52
เข้ามาทานขนมจันอับ หวานลิ้นแล้ว มาชื่นชมตลับงา  ::) ด้วยความวิเศษและงดงาม เจ้านายฝ่ายในต่างนิยมชมชอบ เมื่อเห็นว่าใครมีสวยกว่าตนก็ต่างคิดประดิษฐ์รูปร่าง จ้างทำให้เด่นและงดงามเป็นที่อวด ที่ประชันกัน ดังนั้นตลับงาจึงมีรูปร่างหลากหลาย เช่น ทรงผลลูกจันทน์ ทรงดอกพิกุล ทรงลูกตาล ทรงกลอง ทรงกรอด้าย ทรงลูกพลับ ทรงกลองรำมะนา ทรงมะพร้าวพร้อมจาวภายใน ทรงไข่ไก่เปิดได้ ทรงเงินพดด้วง

ล้วนทุกใบจะทำไล่เรียงลำดับตั้งแต่ใหญ่ จนเล็ก ลดหลั่นขนาดกันไป เป็นเถา ๑๐ เถา ๒๐ แล้วแต่ความวิเศษของฝีมือช่างที่ประดิษฐ์ทำ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 พ.ย. 10, 20:57
ตลับงารูปผลตาล ใบใหญ่มีขนาดเพียง ๖ เซนติเมตร ใบกลางสองใบ ๓.๕ เซนติเมตรและใบเล็กสุด ๒ เซนติเมตร เห็นไหมครับว่าเล็กมากเพียงไร


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ย. 10, 19:22
ต่อมาโปรดเกล้าให้ปลูกเรือนต้นขึ้นที่ริมอ่างหยกอีกด้านหนึ่ง ตรงข้ามกับพระที่นั่งวิมานเมฆ เรือนต้นเป็นเรือนไทยแบบชนบทฝาไม้กระดาน หลังคามุงด้วยจาก มีหอนั่ง เรือนนอน นอกชาน ครัวไฟ และทุกอย่างครบเหมือนเรือนราษฎรธรรมดาตามชนบท พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นหลายครั้งหลายครา เสด็จไปตามจังหวัดต่างๆ ปะปนไปกับหมู่ราษฎร และเสด็จเยี่ยมเยือนราษฎร ถึงบ้านช่อง โดนที่ราษฎรมิได้รู้ว่าพระองค์เป็นผู้ใด ในการเสด็จประพาสแบบนี้ ได้ทรงรู้จักคุ้นเคยกับราษฎร ในชนบทหลายคน โปรดให้เรียกว่าเพื่อนต้น และโปรดเกล้าให้พวกเพื่อนต้นนี้ เข้าเฝ้าแหนได้ทุกโอกาส

เรือนต้น

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/02/K6307530/K6307530-1.jpg)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 พ.ย. 10, 13:54
ทรงพระเกษมสำราญภายในตำหนักเรือนต้น


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 10, 08:29
คืนวันนั้นในสระใหญ่ที่พระราชวังบางปะอิน สว่างไสวไปด้วยแสงไฟ สิ่งที่เรียกร้องความสนใจที่สุดก็คือ กระทงใหญ่ต่างๆ ที่ลอยอยู่ในสระ พลอยลงเรือพายกับช้อยและพวกข้าหลวงตำหนักเดียวกันอีกสองคน เที่ยวพายดูกระทงเหล่านั้นด้วยความตื่นตาตื่นใจ กระทงใหญ่ ที่มาลอยอยู่ในสระนั้นเป็นของเจ้านายข้าราชการ และพ่อค้าคฤหบดีจัดทำมาสนองพระเดชพระคุณ ทุกกระทง จุดไฟสว่างไสวและประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ มีเครื่องยนต์กลไกลอยู่ในนั้น บางกระทงทำเป็นรูปเรือรบ ย่อส่วนจากของจริงลงมาได้ขนาดและมีครบทุกอย่าง อีกกระทงหนึ่งทำเป็นรูปนางธรณีบีบมวยผม มีเครื่องสูบน้ำซ่อนอยู่ข้างใน สูบน้ำจากสระให้ไหลออกมาทางมวยผมได้จริงๆ เลยไปอีกทางหนึ่งเป็นกระทง ทำเป็นรูปพระยานาคจำศีล งดงามวิจิตรด้วยลวดลายสลัก จนดูเหมือนกับว่าพระยานาคนั้นมีชีวิต ถ้าใครไปกระทบ เข้าก็เคลื่อนไหวสำแดงอิทธิฤทธิ์ กระทงของอีกเจ้าของหนึ่ง ทำเป็นรูปกระโจมแตรที่มีของจริงอยู่ในพระราชวังนั้น ย่อส่วนลงมาจนเหลือเล็กน่าเอ็นดู ต่อจากนั้นไปเป็นกระทงแสดงหุ่นภาพเรื่องพระอภัยมณี ตอนสุดสาครเข้าเมืองผีดิบ ทำเป็นผีรูปต่างๆหน้าตาดุร้ายน่ากลัว แล้วยังมีกระทงทำเป็นเรือนขุนช้างขนาดย่อส่วน น่ารักรูปร่างเป็นเรือนแบบไทยเหมือนเรือนต้นที่สวนดุสิต ข้างในนั้นมีกระถางไม้ดัด ตลอดจนเครื่องใช้ และเครื่องตกแต่งพร้อมสรรพ ทุกอย่างเล็กๆ ได้ส่วนกับตัวเรือนไปสิ้น พลอยพายเรือวนเวียนดูกระทงเหล่านั้น อยู่จนดึก ดูเท่าไรก็ไม่รู้จักเบื่อ ในสระนั้นก็เต็มไปด้วยเรือเจ้านายและเรือข้างใน ออกพายเวียนวนดูกระทง อยู่ทั่วกัน เสียงทักทายกันเบาๆ เสียงชมกระทงนั้นเปรียบกับกระทงนี้ดังอยู่ไม่ขาด กระทงที่นำมาลอยในสระนี้ ลอยอยู่จนครบสามวัน อันเป็นเวลาตั้งพระศพบำเพ็ญพระราชกุศล ในคืนต่อมาเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร พร้อมด้วยคณะกรรมการประกวดกระทง กระทงใดที่ได้รับรางวัลที่ ๑ ก็ให้ปักธงเหลืองไว้เป็นสำคัญ



กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 พ.ย. 10, 11:05
^
^


น่าจะเป็นงานพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี

คุณวิกกี้เล่าไว้ว่า

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติแต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ บุนนาค) ก่อนที่พระองค์จะเสด็จฯ ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ

ทรงเป็นพระราชธิดาคู่ทุกข์คู่ยากของรัชกาลที่ ๕ หลังจากการทรงกรมเป็น "กรมขุนสุพรรณภาควดี "ได้เพียง ๑ ปี ก็สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระราชวังบางปะอิน โดยใช้พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์เป็นที่ประดิษฐานพระศพ และโปรดให้จัดงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ ซึ่งถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก จนเป็นที่กล่าวขานในหมู่ชาววังว่า ใครไม่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ถือเป็นคนนอกสังคมชาววัง

ในระหว่างการจัดงานพระราชทานเพลิงพระศพนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร ซึ่งทรงสนิทกับพระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์มาก เกิดทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ ณ วรนาฎเกษมสานต์ ภายในพระราชวังบางปะอินนั่นเอง ซึ่งในนวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ไว้ว่า

"เชิญพระศพพระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่งขึ้นไป แล้วก็กลับต้องเชิญพระศพอีกพระองค์หนึ่งลงมา"

http://th.wikipedia.org/wiki/พระราชวังบางปะอิน (http://th.wikipedia.org/wiki/พระราชวังบางปะอิน)

http://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าบรมวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์_สุนทรศักดิกัลยาวดี_กรมขุนสุพรรณภาควดี (http://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าบรมวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์_สุนทรศักดิกัลยาวดี_กรมขุนสุพรรณภาควดี)

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/11/K7198628/K7198628-13.jpg)

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/11/K7198628/K7198628-14.jpg)



http://th.wikisource.org/wiki/สี่แผ่นดิน_-_แผ่นดินที่ ๑_-_บทที่ ๑๖_(หน้าที่ ๒) (http://th.wikisource.org/wiki/สี่แผ่นดิน_-_แผ่นดินที่ ๑_-_บทที่ ๑๖_(หน้าที่ ๒))

 ;D


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 02 ธ.ค. 10, 19:58
พระเจ้าลูกเธอฯ กรมขุนสุพรรณภาควดี ประชวรด้วยพระโรคพระวักกะพิการ เล่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกห่วงใยในพระอาการของพระราชธิดาพระองค์นี้อย่างใกล้ชิด กรมขุนสุพรรณภาควดีสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๔๗ พระชันษา ๓๗ ปี ทรงอาลัยรักพระราชธิดาพระองค์นี้มาก หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม  ดิศกุล เล่าถึงความโศกเศร้าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จลงพระราชทานน้ำว่า "...ข้าพเจ้าเห็นทรงประชวรพระวาโย เจ้าพระยาสุรวงศ์ (โต บุนนาค) ต้องเข้าพยุง..."   เมื่อจัดงานพระเมรุจึงโปรดให้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยมีพระราชประสงค์จะพระราชทานพระเกียรติยศ โดยโปรดให้สร้างพระเมรุใกล้ต้นโพธิ์ที่ทรงเพาะเมล็ดและนำมาปลูกที่วัดนิเวศธรรมประวัติด้วยพระองค์เองครั้งยังดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า ต้นโพธิ์นี้คือพระชนมายุของพระราชธิดา   :D
(http://)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 02 ธ.ค. 10, 20:02
^
^
ขอยืมภาพของคุณเพ็ญชมพูมาใช้ด้วยนะคะ

ส่วนภาพนี้เป็นภาพพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ ที่พระราชวังบางปะอิน เมื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี

(http://)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 02 ธ.ค. 10, 21:24
“..พวกที่เชิญเครื่องขึ้นมา นำเครื่องไปตั้งตรงพระพักตร์เสด็จ เครื่องนั้นใส่จานเงินวางอยู่บนโตกเงินเล็กๆ พลอยรู้สึกว่าเป็นของเล็กๆ น้อยๆ เหลือเกิน ครั้งหนึ่งพลอยเคยเห็นที่บ้านตั้งข้าวถวายพระพุทธใส่ชามเล็กชามน้อย พลอยยังนึกว่าพระพุทธจะฉันอย่างไรอิ่ม มาเห็นเครื่องเสด็จคราวนี้ก็ดูไม่น่าจะอิ่มเช่นเดียวกัน
เสด็จบ้วนพระโอษฐ์แล้วก็เริ่มเสวย ขณะที่เสวยก็รับสั่งคุยกับแม่และคุณสายถึงเรื่องทางบ้านของแม่บ้าง หรือเรื่องเก่าๆ ที่ทรงนึกขึ้นได้ แต่ส่วนมากแม่เป็นผู้คุย พลอยเห็นเสด็จทรงพระสรวลอยู่บ่อยๆ เสด็จเสวยเรื่อยๆ คล้ายกับไม่สนพระทัยในอาหารที่กำลังเสวยอยู่ พลอยสังเกตเห็นข้าวที่เสวยนั้นดูเหมือนจะมีอยู่ประมาณสองช้อนถ้วย แต่เสด็จเสวยเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักหมดสักที กว่าจะเลื่อนเครื่องคาวออกแล้วตั้งเครื่องหวานก็ดูนานหนักหนา...”

การรับประทานของชาววังจะแตกต่างจากคนทั่วไป ทั้งนี้เพราะหน้าที่และกิจวัตรที่ทำประจำวันไม่เหมือนกัน ชาววังมักใช้เวลากลางคืนทำกิจกรรมต่างๆ เลยนอนดึกและมักจะตื่นสาย ทำให้มื้ออาหารแต่ละมื้อถูกเลื่อนเวลาออกไป

เวลาเสวยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระองค์ทรงงานดึก จึงตื่นบรรทมสาย เวลาเสวยจะเป็นเวลาที่ข้าราชสำนักฝ่ายในเข้าเฝ้าอันได้แก่ พระมเหสีเทวี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม พระราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์และพระราชธิดา ระหว่างเสวยจะทรงงานไปด้วย เช่น ทรงมีพระราชบัญชาให้อาลักษณ์จดบันทึกและนำไปให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติ หรือโปรดให้ราชเลขานุการิณี คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ทรงเขียนหนังสือตามรับสั่ง นอกจากนี้ ยังทรงมีพระราชปฏิสันถารเรื่องต่างๆ กับผู้มาเฝ้า ในการเสวยพระกระยาหารแต่ละมื้อจึงยาวนาน บางครั้งถึง ๓-๔ ชั่วโมงก็มี
มีบางคราวที่เสวยนอกที่ประทับ วิธีการเสวยก็จะมีลักษณะเดียวกัน แต่ไม่มีพิธีรีตองมากเหมือนกับเวลาเสวยในพระบรมมหาราชวัง  ดังที่หมอสมิธเล่าเกี่ยวกับการเสวยที่พระราชวังดุสิตไว้  ความว่า “...เมื่อครั้งที่พระราชวังดุสิตกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง พระเจ้าอยู่หัวมักจะเสด็จฯ ไปที่นั่นเสมอๆ เพื่อทอดพระเนตรการปลูกสร้างและการวางแผนผังโดยทั่วไป การเสวยพระกระยาหารกลางวันในโอกาสนี้จึงดูเหมือนกับการเสด็จฯ ไปปิกนิก ที่แทบจะไม่มีพิธีการใดๆ เลย แต่ก็ยังคงใช้เวลาในการเสวยนานเหมือนเช่นเคย พระองค์มักจะทรงใช้ช่วงเวลาระหว่างนั้น ซักถามความรู้พระราชโอรสและพระราชธิดาเกี่ยวกับเรื่องที่พระองค์กำลังทรงศึกษาอยู่ โดยทรงปฏิบัติราวกับเป็นเกมเล่นอย่างใดอย่างหนึ่ง...”


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 04 ธ.ค. 10, 12:58
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระพันปีหลวง) ก็ทรงมีวิธีการเสวยเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ทรงใช้เวลาในการเสวยยาวนาน เพราะเวลาเสวยจะเป็นเวลาเดียวกับที่ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้ที่มาเฝ้า 

หม่อมศรีพรหมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับการเสวยของสมเด็จพระศรีพัชรินทรฯไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่านว่า  "...ข้าหลวงรุ่นใหญ่ตั้งเครื่อง เครื่องแต่ละถาดใหญ่และหนักมาก มี ๓ ถาด เรียกว่าเครื่องใหญ่ มีกับสารพัดเว้นแต่แกงกับของจิ้ม ถาดเครื่องกลางมีแต่แกง เครื่องเล็กมีเครื่องจิ้มต่างๆ กับผักหรือแกล้มบ้าง..." และเล่าถึงเวลาเสวยว่า "...พระองค์เสวยช้ามากบางที ๒ ชั่วโมง บางทีกว่า ..."

หมอสมิธ นายแพทย์ประจำพระองค์ บันทึกพระจริยวัตรที่เกี่ยวกับการเสวยของสมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ ขณะประทับที่พระราชวังพญาไท ซึ่งหมอสมิธมีความรู้สึกว่าเป็นพระจริยวัตรที่แปลกกว่าคนอื่น คือ จะทรงบรรทมเวลากลางวัน และตื่นเวลากลางคืน ฉะนั้นเวลาเสวยพระกระยาหารจึงมักคลาดเคลื่อนไม่ใช่เวลาปกติของคนทั่วไป ดังที่หมอสมิธได้บรรยายไว้ว่า "...ในบางโอกาสกว่าสมเด็จพระพันปีหลวงจะเสวยพระกระยาหารมื้อหลัก ซึ่งมักจะเป็นมื้อเดียวของทั้งวัน ก็เมื่อเวลากลางดึก พระกระยาหารส่วนใหญ่ก็เหมือนๆ กับที่ชาวสยามทั่วไปนิยมบริโภคคือมีแกงชนิดต่างๆ เป็นหลัก  บรรจุมาในภาชนะเล็กๆ หลายใบ..." และเล่าถึงวิธีการเสวยว่า "...สมเด็จพระพันปีหลวงทรงใช้เวลาในการเสวยพระกระยาหารแต่ละมื้อค่อนข้างนาน ไม่ใช่เพราะเสวยมาก แต่เป็นเพราะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เป็นต้นว่า ทรงให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานภายในราชสำนัก หรือไม่ก็ทรงรับฟังข่าวสารประจำวัน ตลอดจนให้การรับรองผู้คนที่มาเข้าเฝ้าไปด้วยในขณะเดียวกัน จริงๆ แล้ว การเสวยพระกระยาหารถือเป็นภารกิจสำคัญรองลงมา และสามารถดำเนินไปพร้อมๆ กับการสนทนาได้ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระพันปีหลวงทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ดี พระองค์ทรงใช้เวลาในการเสวยพระกระยาหารแต่ละครั้งนาน ๒-๓ ชั่วโมง และช่วงเวลาในการเสวยก็ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่าจะทรงมีพระประสงค์เมื่อใด..."

 :) 


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 04 ธ.ค. 10, 13:17
ส่วนวิธีการเสวยและเครื่องเสวยของเจ้านายพระองค์อื่นๆ ก็คล้ายคลึงกัน จะมีความแตกต่างก็เนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมของแต่ละพระองค์ ดังเช่นวิธีการเสวยและเครื่องเสวยพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งทรงมีวิธีเสวยดังที่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้บรรยายไว้ว่า "...เสวยข้าวสวย ไม่มีอาหารเช้าเหมือนในสมัยนี้ โปรดเปิบข้าว ข้าวต้องสวยกรากร่วงพรูทีเดียว นุ่มเปียกไม่ได้..เวลาท่านประทับเสวย ทรงเปิบข้าวพลางจัดกับข้าวในถาดเครื่องให้เรียบร้อยไปพลาง ดังนั้นเมื่อเสวยอะไรได้มากหรือน้อยไม่ใคร่รู้ เพราะทรงจัดไม่ให้แหว่งอยู่เรื่อย ต้องสังเกตที่ยุบน้อยหหรือยุบมาก ผลไม้ก็โปรดปอกเสวยเอง..."



กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 22 ก.พ. 11, 09:30
"...สองแม่ลูกเดินเลาะกำแพงวังเรื่อยมา มีนางพิศเดินตามหลัง เดินได้สักครู่หนึ่งก็เลี้ยวเข้าประตูชั้นนอก พลอยก็ยิ่งตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้นเพราะภายในบริเวณวังนั้น ดูเต็มไปด้วยตึกรามซึ่งพลอยเห็นว่าใหญ่โตมหึมา ผู้คนที่เดินเข้าออกก็ดูยัดเยียดเบียดเสียดกัน ตลอดจนหาบของขายและของที่วางขายก็ดูมีมากมายเหลือขนาด ตรงหน้าพลอยเข้าไปมีกำแพงสูงอีกชั้นหนึ่งเป็นกำแพงทึบ มีประตูใหญ่เปิดกว้างอยู่ สังเกตดูคนที่เดินเข้าประตูและออกจากประตูดูสับสนกันไปหมด..."

คำว่า ประตูชั้นนอก นี้ ท่านผู้ประพันธ์ หมายความถึง ประตูช่องกุด

(ประตูช่องกุด เป็นประตูขนาดเล็ก เจาะทะลุกำแพงวัง ไม่มีซุ้มประตูเหมือนประตูอื่นๆ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระบรมมหาราชวังระหว่างป้อมภูผาสุทัศน์และป้อมสัตตบรรพต เป็นประตูพระบรมมหาราชวังซึ่งราษฎรสามัญใช้เข้า-ออกติดต่อกับคนภายในวัง)

(http://)




กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 22 ก.พ. 11, 10:20
ส่วนคำว่า ประตูใหญ่เปิดกว้างอยู่ นั้น หมายถึง ประตูศรีสุดาวงศ์ ที่อยู่เยื้องๆกับประตูช่องกุด

(ประตูนี้เป็นประตูที่แม่พลอยเหยียบธรณีประตูตอนเข้าวังครั้งแรกค่ะ)

(http://)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 22 ก.พ. 11, 10:25
ภาพประตูช่องกุด และประตูศรีสุดาวงศ์ที่ลงให้ดูนั้น หนูถ่ายจากกล้องมือถือเมื่อตอนเข้ากรุงเมื่ออาทิตย์ก่อนนี้เอง ภาพอาจไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ค่ะ (ตอนนั้นแดดจ้ามากกกก)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 22 ก.พ. 11, 11:35
ระหว่างประตูช่องกุดกับประตูศรีสุดาวงศ์มีถนนกั้นอยู่สายหนึ่ง คือ ถนนเขื่อนขัณฑ์นิเวศน์ (นอกเขตกำแพงพระราชฐานชั้นในแต่อยู่ภายในกำแพงพระบรมมหาราชวัง)

บริเวณนี้ในสมัยร้อยกว่าปีก่อน ถือเป็นแหล่ง"ช็อปปิ้ง"สำคัญแห่งหนึ่งของบรรดาสาวชาววัง ของที่นำมาขายกันส่วนใหญ่จะเป็นพวกของกินของใช้มากมายหลายอย่าง และนอกจากจะเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าแล้ว ถนนเขื่อนขัณฑ์นิเวศน์ยังถือเป็นสถานที่พบปะพูดคุยของสาวชาววังกับบุคคลภายนอกอื่นๆ ด้วย เนื่องจากเป็นบริเวณติดต่อระหว่างฝ่ายหน้ากับฝ่ายใน ทำให้ฝ่ายชายที่อยากจะรอพบฝ่ายหญิง มาดักดูหญิงที่ตนชอบกันมากในบริเวณนี้ ดังเช่นในเรื่องสี่แผ่นดินที่คุณเปรมมารอดักดูตัวแม่พลอยที่ประตูวังนั่นเอง ^^
(http://)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: thezircon ที่ 08 พ.ค. 11, 18:33
ขออนุญาตถามค่ะ พอดีอ่านกระทู้นี้คู่กับอ่านสี่แผ่นดิน ช่วยให้นึกภาพออกหลายอย่างเลย
แต่มีเรื่องสงสัยนิดหน่อยคือ คำว่า "โซ้ต" หมายความว่าอะไรหรอคะ (ตอนแม่พลอยพูดถึงผู้หญิงยุคใหม่)
แล้วก็เรื่องทรงผมของผู้หญิงสมัยก่อนเป็นผมสั้นหมดเลยหรอคะ แล้วถ้าผมเริ่มยาวขึ้นมาจะทำไง ถ้าต้องตัดเขาใช้อะไรตัดหรอคะ

ปล. เข้ามาผลุบๆโผล่ๆในเรือนไทยสักพักแล้วค่ะ เพิ่งได้ตอบกระทู้คราวนี้เอง ฝากตัวด้วยนะคะ  ;D


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ค. 11, 20:56
ช่วยยกประโยคมาให้อ่านได้ไหมคะ  อยากให้แน่ใจ



กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: thezircon ที่ 09 พ.ค. 11, 13:34
แหะๆ เดี๋ยวขอไปเปิดหาก่อนนะคะ จำหน้าไม่ได้แล้วด้วย แต่เป็นตอนที่แม่พลอยมองประไพและผู้หญิงยุคใหม่น่ะค่ะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 พ.ค. 11, 15:10
ตัวอย่างการใช้

 เรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (http://www.reurnthai.com/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C_%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%87)

(วันที่ ๑๗ สิงหาคม) โบสถ์ที่หรูอยู่นั้นเป็นโบสถ์ทำใหม่ไม่มีฝา หน้าบันเป็นอามมีมงกุฎและราชสีห์ คชสีห์ โซดทำใหม่ทีเดียว  แต่พระเก่ามีหลายองค์ไม่สู้งามทั้งนั้น

(วันที่ ๒๔ สิงหาคม) วันนี้ค่ำล้างรูป และมีละครของมารดาหลวงพิพิธอภัย เล่นเรื่องไชยเชษฐ กรมดำรงเชื่อว่าจะเก่าแท้ ไม่มีโซดขึ้นมาถึง ที่แท้โซดเสียป่นปี้ยับเยินมาก  คือนายโรงแต่งตัวเป็นละคร แต่เสื้อผ้าขาวไม่ปักตะพายแพรอย่างเจ้าพระยามหินทร




กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 พ.ค. 11, 15:42
บทเห่เรือ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

อ่านอ่านรำคาญฮือ         แบบหนังสือสมัยใหม่
อย่างเราไม่เข้าใจ          ภาษาไทยเขาไม่เขียน

ภาษาสมัยใหม่             ของถูกใจพวกนักเรียน
อ่านนักชักวิงเวียน          เขา่ช่างเพียรเสียจริงจัง

แบบเก๋เขวภาษา           สมมตว่าแบบฝรั่ง
อ่านเบื่อเหลือกำลัง        ฟังไม่ได้คลื่นไส้เหลือ

อ่านไปไม่ได้เรื่อง          ชักชวนเคืองเครื่องให้เบื่อ
แต่งกันแสนฝั้นเฝือ        อย่างภาษาบ้าน้ำลาย

โอ้ว่าภาษาไทย            ช่างกระไรจวนฉิบหาย
คนไทยไพล่กลับกลาย    เป็นโซ้ดบ้าน่าบัดสี

หนังสือฤๅหวังอ่าน        แก้รำคาญได้สักที
ยิ่งอ่านดาลฤดี             เลยต้องขว้างกลางสาคร


โซด -โซ้ด  =  เปลี่ยนแปลง, ทำแบบใหม่

 ;D





กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: thezircon ที่ 09 พ.ค. 11, 16:32
อ๋อ ขอบคุณมากค่ะ ตอนแรกคิดว่าจะมาจากภาษาอังกฤษหรือเปล่า เหมือนเปิ๊ดสะก๊าด อะไรแบบนี้  ???

ปล. เคยเห็นคุณเพ็ญชมพูที่พันทิปเหมือนกัน สวัสดีและขอบคุณอีกครั้งนะคะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 30 มิ.ย. 11, 11:02
ที่คุณ thezircon พูดถึงน่าจะเป็นประโยคนี้ค่ะ

"..ฉันดูเขาโซ้ดๆทำตัวเหมือนแหม่ม ผู้ชายพายเรือเขาก็ไม่กระดาก ดูกล้ากันเหลือเกิน สมัยเรานั้นเห็นผู้ชายมีแต่จะคิดวิ่งหนี สมัยนี้ดูเขาเฉย ๆ เห็นเท่ากัน ไม่กระดาก ไม่กลัว ฉันดู ๆ แล้วใจหายใจคว่ำทีเดียว.." (อยู่ในบทที่ 7 ของแผ่นดินที่สองน่ะค่ะ)



กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 30 มิ.ย. 11, 11:28
หนูมีข้อสงสัยอีกอย่างหนึ่งค่ะ คำว่า "วางตัว" กับ "ไว้ตัว" นี่มีความหมายเหมือนหรือแตกต่างกันยังไงคะ?

ขอยกตัวอย่างจากในเรื่องสี่แผ่นดินค่ะ

"..คุณเชยเคยอยู่บ้านที่ใหญ่โต มีข้าทาสบริวารมาก จะทำอะไรหรือไปไหนก้ไปอย่างลูกผู้มีบรรดาศักดิ์ กับพลอยซึ่งเป็นลูกเมียน้อยนั้น คุณเชยวางตัวเป็นผู้ใหญ่ที่โอบอ้อมอารีตลอดมาและไว้ตัวว่าเป็นพี่สาว.."

 ;D





กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 11, 12:22
เข้าไปที่เว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถาน  พิมพ์คำว่า วางตัว และ ไว้ตัว  ลงไป
http://rirs3.royin.go.th/
คุณจะได้คำตอบ

วิธีนี้จะช่วยให้คุณรู้จักการค้นคว้าความหมายของคำอื่นๆ  ประหยัดเวลาได้ด้วยค่ะ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 30 มิ.ย. 11, 13:38
ขอบคุณอาจารย์เทาชมพูมากๆค่ะ  ;D


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 30 มิ.ย. 11, 14:14
ผมร่วมขอบพระคุณ อ. เทาชมพู ด้วยครับ  ผมสงสัยมาตั้งนานแล้วจากการที่ อาจารย์, อ. เพ็ญชมพู และคุณ D.D. อ้างถึง
รอยอินเสมอ  ผมก็เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เอง  นับว่าเป็นประโยชน์กับผมมากจริงๆ   ขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งครับ


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 19 ต.ค. 11, 14:23
ในหนังสือ สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง เล่ม ๒ กล่าวถึงแถวเต๊งไว้ว่า  แถวเต๊งเป็นอาคารแถวสูง ๒ ชั้น ทำหน้าที่เป็นกำแพงพระราชวังชั้นในไปด้วยในตัว โอบล้อมพระราชฐานชั้นในไว้ทั้งด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ แถวเต๊งนี้ในอดีตเป็นที่อยู่ของผู้ปฏิบัติงานในพระราชฐานชั้นใน มีตั้งแต่ข้าหลวงตามตำหนักต่างๆ คุณพนักงาน คุณห้องเครื่อง คุณเฒ่าแก่ ฯลฯ

แต่เดิมแถวเต๊งเป็นอาคารชั้นเดียว เรียกว่า "แถวทิม" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้ยกขึ้นเป็นอาคาร ๒ ชั้น เรียกกันเป็นสามัญว่า "เต๊ง" นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารชนิดนี้ขึ้นอีกสองแถวตามแนวพระราชวังในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่ทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวังไปจนจดทิศตะวันตก  แถวเต๊งด้านทิศเหนือเรียกว่า "เต๊งแถวท่อ" ส่วนแถวเต๊งด้านทิศใต้เรียกว่า "เต๊งแดง"  ระหว่างเต๊งทั้งสองแถวนี้โปรดเกล้าฯ ให้มีประตูเป็นระยะ ๆ ไป โดยทำเป็นประตูสองชั้น มีซุ้มประตูเป็นที่รักษาการของเจ้าหน้าที่   ในการสร้างเต๊งทั้งสองแถวนี้ก็เพื่อแบ่งเขตพระราชฐานชั้นในให้เป็นไปตามลักษณะการใช้สอย พื้นที่บริเวณที่แถวเต๊งนี้โอบล้อมไว้จัดให้เป็นบริเวณที่พักอาศัย ส่วนด้านนอกของเต๊งไปทางทิศใต้ ซึ่งเรียกว่าแถวนอก จัดให้เป็นบริเวณที่ทำกิจกรรมอื่น เช่น โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "อัฐิสถาน" ไว้เป็นที่บำเพ็ญกุศลพระอัฐิเจ้านายฝ่ายใน นอกจากนั้นยังโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างยุ้งฉางไว้ในพระราชฐานชั้นใน อันเป็นธรรมเนียมมาแต่สมัยโบราณ

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ สันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างแถวเต๊งความสูง ๒ ชั้น เพิ่มขึ้นในบริเวณแถวนอกใกล้ๆกับกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศใต้ ทำหน้าที่เป็นกำแพงพระราชวังชั้นในทางด้านทิศนี้  โดยเว้นที่ว่างระหว่างกำแพงชั้นนอกของพระบรมมหาราชวังกับแถวเต๊งไว้เป็นที่อยู่ของทหารรักษาวังที่พระองค์โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งขึ้น  ลักษณะของแถวเต๊งที่สร้างขึ้นใหม่นี้ไม่ได้ขนานไปกับกำแพงพระราชวังโดยตลอด แต่บางช่วงจะหักมุมเป็นข้อศอกเว้นที่ว่างไว้เป็นที่ทำการของทหารรักษาวัง


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 19 ต.ค. 11, 14:33
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของแถวเต๊งด้านทิศตะวันตก – เป็นเต๊งที่ปรับปรุงจาก ”แถวทิม” ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ สันนิษฐานว่าพร้อม ๆ กันกับการเปลี่ยนแปลงตำหนักต่าง ๆ ให้เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน  เต๊งนี้มีลักษณะเป็นอาคารแถวก่ออิฐฉาบปูนสูง ๒ ชั้นยาวติดต่อกันไป แต่ละห้องมีขนาดกว้าง ๒.๖๕ เมตร ยาว ๕.๓๕ เมตร ความสูงระหว่างชั้น ๓.๘๐ เมตร ภายในมีบันไดไม้ทอดเดียวที่สูงชันสำหรับขึ้นสู่ชั้นบน ฝาผนังข้างบันไดเว้าเข้าทำเป็นช่องใส่ของ เต๊งหลังนี้ไม่มีฝ้าเพดาน จะเห็นโครงหลังคาแบบไทยทรงสูง มุงด้วยกระเบื้องดินเผา โครงหลังคาประกอบด้วยจันทันไม้ แปไม้ มีกลอนขอและเดือยไม้เป็นตัวรับระแนงมุงหลังคา แต่ละห้อง ชั้นล่างจะมีประตู ๑ บาน หน้าต่าง ๑ บาน ชั้นบนมีหน้าต่างตรงกับประตูหน้าต่างชั้นล่าง ลักษณะเป็นแบบไทยเดิม คือ เป็นบานไม้แผ่นใหญ่มีอกเลา  ใช้เดือยเป็นบานพับ เปิดเข้าใน มีกรอบเช็ดหน้าเป็นไม้ขนาดใหญ่ มีซี่ลูกกรงไม้ทางตั้ง 


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 19 ต.ค. 11, 15:14
เต๊งแถวท่อและเต๊งแดง - เป็นเต๊งด้านทิศใต้ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ สันนิษฐานว่า แต่เดิมเต๊งทั้งสองหลังนี้มีลักษณะเหมือนกัน วางคู่กัน มีทางเดินกลาง ที่ปลายสุดของทางเดินด้านทิศตะวันตกมีประตูศรีสุดาวงศ์เป็นทางออกที่สำคัญ ลักษณะของเต๊งแดงนั้น เป็นอาคารแถวก่ออิฐฉาบปูน สูง ๒ ชั้น ยาวติดต่อกันไป มีซุ้มประตูคั่นเป็นระยะ ๆ ลักษณะทั่วไปเหมือนกับเต๊งด้านทิศตะวันตก ยกเว้นแต่ขนาดของห้องซึ่งกว้างกว่าเล็กน้อย โดยมีขนาดกว้าง ๓.๗๐ เมตร ยาว ๕.๕๐ เมตร และสูงระหว่างชั้น ๓.๕๐ เมตร

เต๊งแถวท่อเป็นอาคารแถวก่ออิฐฉาบปูนสูง ๒ ชั้น ยาวติดต่อกันไป มีซุ้มประตูคั่นเป็นระยะ ๆ ลักษณะโดยทั่วไปแบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงหน้าเป็นเฉลียงที่ต่อเติมขึ้นใหม่ ช่วงหลังมีลักษณะเหมือนเต๊งแดง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเต๊งแถวท่อโดยเปลี่ยนทางเข้าให้กลับกันกับของเดิม และสร้างเฉลียงขึ้นที่ทางเข้าด้านหน้าซึ่งแต่เดิมไม่มี ย้ายบันไดจากภายในห้องมาไว้ที่เฉลียง และยื่นหลังคามุงด้วยสังกะสีมาคลุมเฉลียงไว้ทั้งหมด  กั้นฝาในส่วนที่ต่อใหม่ โดยฝาที่กั้นห้องเฉพาะส่วนเฉลียงทำเป็นไม้ฉลุลายตามลักษณะที่นิยมกันมากในรัชกาลนี้ ระหว่างห้องกั้นด้วยการก่ออิฐฉาบปูน เซาะร่องในแนวนอน มีประตูหน้าต่างเป็นบานไม้ลูกฟัก ตอนบนเป็นช่องลม ชั้นบนเป็นเฉลียงโล่ง มีลูกกรงทำด้วยไม้ไขว้กันเป็นรูปกากบาท

 


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 19 ต.ค. 11, 15:29
๒ รูปนี้เป็นแถวเต๊งในอีกมุมหนึ่งค่ะ (จากหนังสือราชสำนักฝ่ายในสมัยรัตนโกสินทร์ ของ สาระ มีผลกิจ สำนักพิมพ์มิวเซียมเพลส)


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 19 ต.ค. 11, 15:48
เต๊งด้านทิศตะวันออก - สันนิษฐานว่าแต่เดิมเต๊งด้านทิศนี้คงจะเหมือนกับเต๊งด้านทิศตะวันตกที่ปรับปรุงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเต๊งแถวท่อซึ่งเป็นเต๊งแถวใน จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเต๊งด้านนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อการใช้สอยและความกลมกลืนกันในด้านรูปทรงของอาคาร โดยต่อเติมเฉลียงขึ้นในรูปแบบเดียวกับเต๊งแถวท่อดังที่กล่าวมาแล้ว

เต๊งแถวนอก - สันนิษฐานว่าเต๊งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งนี้อาศัยลักษณะของการจัดแปลนและรูปแบบของอาคารที่แตกต่างไปจากเต๊งหลังอื่นๆที่กล่าวแล้วเป็นสมมุติฐาน เต๊งแถวนอกนี้เป็นอาคารแถวก่ออิฐฉาบปูนสูง ๒ ชั้น มีการจัดผังพื้นโดยมีทางเข้าของแต่ละหน่วยคู่กัน หักเฉียงเป็นมุม ๔๕ องศา แยกทางเข้าเป็นซ้ายและขวา มีพื้นที่โถงเล็กๆ ตรงทางเข้าตอนบนทำเป็นรูปโค้ง แต่ละห้องชั้นล่างมีประตู ๑ บาน หน้าต่าง ๑ บาน ชั้นบนมีหน้าต่าง ๒ บานตรงกับชั้นล่าง มีบันไดขึ้นภายใน พื้นชั้นล่างค่อนข้างเตี้ย ฝาผนังด้านนอกทั้งชั้นบนและชั้นล่างเป็นฝาก่ออิฐฉาบปูน มีการตกแต่งปูนตอนมุมของอาคารเป็นแบบเสาอิงเซาะร่อง มีบัวหัวเสาแบบตะวันตก ตอนหักมุมของอาคารทำเป็นซุ้มประตูรูปหน้าจั่ว ตอนกลางหน้าจั่วทำเป็นลายปูนปั้นรูปวงกลม และมีเส้นสามเหลี่ยมขนาดใหญ่กับเส้นขอบของหน้าจั่วโดยรอบ มีรูปสามเหลี่ยมเล็กประดับข้าง

ภาพเต๊งแถวนอก


กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 19 ต.ค. 11, 16:00
รูปประตูทางเข้าเต๊งแถวนอก (จากหนังสือ สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง เล่ม ๒)



กระทู้: ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 19 ต.ค. 11, 16:04
บัวหัวเสาที่ผนังของเต๊งแถวนอก