เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 37131 ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 08:32

ก็เป็นได้หนา    เพราะทรงปลากันทั้งพระบิดาและพระโอรส    แต่ในกลอนเรียกพระนามพระเจ้าเสือว่า ขุนหลวงเดื่อ มิใช่ฤๅ?
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
Moderator
นิลพัท
*****
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 15:56

ก็คงจะพอสรุปได้ว่าช่วงอยุธยาตอนปลายมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีตำนานเรื่องศรีปราชญ์เล่ากันอยู่ในช่วงเวลานั้นแล้ว แต่ช่วงเวลานั้นสับสนไม่สามารถระบุได้แน่นอน เรื่องราวก็ไม่ชัดเจน มีลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็น "ตำนาน"

ข้อเท็จจริงที่อาจกล่าวได้ก็คือ กวีนิพนธ์ที่ติดป้ายชื่อศรีปราชญ์นั้น ประพันธ์โดยกวีหลายคนในช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกันนับเป็นร้อยๆปี อีกทั้งหากนำเรื่องราวที่แฝงในบทกวีทั้งหมดมาประมวล ประวัติของศรีปราชญ์ย่อมแตกต่างไปจากหนังสือ "ตำนานศรีปราชญ์" มากนัก แต่ครั้นจะบอกว่าศรีปราชญ์ไม่มีตัวตนจริง ก็ไม่กล้าสรุปได้ถึงเพียงนั้นครับ

ผมเจอข้อเขียนที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง รวบรวมข้อมูลได้น่าอ่านมากทีเดียวครับ
http://www.km.secondary42.com/main/?name=research&file=readresearch&id=168
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 18:07

ถือโอกาสขอลอกจากเว็บนั้นมาลงในนี้ค่ะ   ภายหน้า  เผื่อเว็บนั้นขัดข้องหรือยกเลิกไป  จะได้มีเนื้อหาให้อ่านได้ในกระทู้นี้

 
ศรีปราชญ์?

บทนำ

           
เรื่อง “ศรีปราชญ์” เป็นเรื่องที่น่าสนใจมานานนักแล้ว แต่ยังหาได้มีผู้ใดได้ขบคิดให้แตกหักลงไปไม่ว่าเรื่อราวของศรีปราชญ์นั้นเป็นประการใด ตำนานศรีปราชญ์ที่พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ) ลงพิมพ์ในหนังสือวิทยาจารย์ในกาลก่อนโน้นฉบับเดียวเท่านั้นที่เห็นยึดถือกันอยู่ แม้หนังสือเกี่ยวกับ “วรรณคดี” ชั้น “ตำรา” ที่ออกมา 3-4 เล่ม ในระยะหลังนี้ ก็ได้คัดลอกความคิดเห็นนั้นลงต่อๆกันไป มิได้มีการวิจารณ์ผิดแผกแตกหักลงไปเลย

สำหรับคนไทยทั่วไปแล้ว ถ้าเอ่ยถึงวรรณกรรมเรื่อง กำสรวลสมุทร ในฐานะวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของไทยแล้ว คงจะมีน้อยคนนักที่รู้จัก แต่ในทางกลับกัน ถ้าถามว่า รู้จัก กำสรวลศรีปราชญ์ หรือไม่ ก็คงจะมีน้อยคนที่จะบอกว่า ไม่รู้จัก เพราะนามศรีปราชญ์ได้แพร่หลายผ่านสื่อบันเทิงสมัยใหม่ทั้งในบทเพลงและละครจนถือว่า เป็นนามอมตะไปแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ชื่องานวรรณกรรมที่กลายจาก กำสรวลสมุทร เป็นกำสรวลศรีปราชญ์ เป็นผลมาจากการที่นักศึกษาวรรณกรรมไทยยกฐานะตำนานที่สับสนและขัดแย้งกันขึ้นมาเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพื่อสนับสนุนว่า ศรีปราชญ์เป็นบุคคลจริงผู้ใดในประวัติศาสตร์ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชั้นต้นยืนยันเลย

เมื่อพิจารณา “วรรณกรรม” ว่าเป็นของศรีปราชญ์ เท่าที่ปรากฏว่ามีอยู่ในขณะนี้แล้ว จะเห็นได้ชัดไม่มีใครถกเถียงได้ว่า มีอยู่สามเรื่องด้วยกัน เรื่องที่หนึ่งเรียกกันว่า กำสรวลโคลงดั้น เรื่องที่สองคืออนิรุทธ์คำฉันท์ และเรื่องที่สามไม่ใช่เรื่อง แต่เป็นโคลงบทๆ ว่า ศรีปราชญ์แต่ง ในจำพวกโคลงเหล่านี้บางโคลงที่ว่ากันว่าศรีปราชญ์แต่ง เมื่อไปค้นดูใน “โคลงกวีโบราณ” ที่พระยาตรัง “จ่าไว้ถวาย” ปรากฏว่าเป็นของศรีธนนชัยและคนอื่นๆ ก็มี โคลงที่ว่าศรีธนนชัยแต่งนั้นเป็นโคลงหนึ่งคือ

                        เรียมไห้ชลเนตรถ้วม                ถึงพรหม
         พาหมู่สัตว์จ่อมมจม                                ชีพม้วย
         พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม                              ทบท่าว ลงแฮ
         อักนิฐพรหมฉ้วย                                    พี่ไว้จึงคง

และถ้าหากจะมีผู้เถียงว่า “ศรีธนนชัย” เป็นคนเดียวกับ “ศรีปราชญ์” นั่นก็จนใจ แต่ความเห็นข้าพเจ้าว่าน่าจะไม่ใช่ เรื่องของศรีปราชญ์เท่าที่รู้เห็นกันนี้มีอยู่สามเรื่องดังกล่าวมาแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 18:10

     หากจะนำเรื่องทั้งสามของศรีปราชญ์มาวินิจฉัยเทียบกันดูและพิจารณาด้วยปัญญาจริงๆ แล้วจะเห็นได้ว่ากำสรวลโคลงดั้นก็ดี อนิรุทธ์คำฉันก็ดี ตลอดจนประเภทโคลงต่างๆ ที่อยู่ในประวัติศรีปราชญ์ก็ดี หาใช่สำนวนคนๆ เดียวกันไม่ กำสรวลโคลงดั้นนั้นอายุเก่ากว่าอนิรุทธ์คำฉันท์ถึง 200 ปี เพราะกำสรวลโคลงดั้นเป็นหนังสือที่เห็นชัดๆ ว่าอยู่ในสมัยอยุธยาสมัยแรก คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทั้งถ้อยคำสำนวนไม่มีที่เถียงเลยเทียบได้กับยวนพ่าย พระลอ และมหาชาติคำหลวง ซึ่งได้วินิจฉัยไว้แล้วในหนังสือวารสารแห่งสมาคมค้นวิชาประเทศไทย ฉบับภาษาไทยเล่ม 3 เรื่อง “สอบสวนการแต่งลิลิตพระลอ” และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ก็ได้ประทานวินิจฉัยไว้ในเพลงยาวกลบทกลอักษรแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องมาวินิจฉัยกัน ณ ที่นี้อีก แต่ข้อควรนำมากล่าวก็คือหนังสือ “จินดามณี” ที่ว่า พระโหราธิบดี (บิดาของศรีปราชญ์?) แต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น ได้ยกเอาคำโคลง 3 บทต้นกำสรวลโคลงดั้นมาอ้างเป็นตัวอย่างของโคลงดั้นมาอ้างเป็นตัวอย่างของโคลงดั้นบาทกุญชรว่า

            “อยุธยายศยิ่งฟ้า                              ลงดิน
         บุญอำเพอเพรงพระ                              กอบเกื้อ
         เจดีย์ละอออินทร                                 ปราสาท
        ในทาบทองแล้วเนื้อ                              นอกโสรม

            พรายพรายพระธาตุเจ้า                       จยรจันทร์
        ไตรโลกย์เลงคือโคม                              ค่ำเช้า
        รบยงบรรหารสวรรค์                               รจเหมข
        ทุกแห่งห้องพระเจ้า                               น่งงเนือง

             ศาลาเอนกสร้าง                             แสนเสา
        ธรรมาสม์จงใจเมือง                              สู่ฟ้า
        วิหารย่อมฉลักเฉลา                              ฉลุแผ่น ไส้นา
        พระมาศเหลื้อมเหลื้อมหล้า                      หล่อแสง”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 18:11

          หาก “ศรีปราชญ์” เป็นบุตรพระ “โหราธิบดี” ก็แปลกอยู่มิใช่น้อย ที่บิดาผู้แต่งตำราหนังสือไทยอันเป็นรากฐานสำคัญยิ่งเล่มแรกของชาติ ลอกโคลงของบุตรมาอ้าง และถ้าพระ “โหราธิบดี” นี้เป็นพ่อ “ศรีปราชญ์” ผู้แต่งกำสรวลดั้นจริงก็ค่อนข้างจะชอบกลอยู่ เพราะพระโหราธิบดีจะต้องเกิดก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถึง 200 ปี
          เมื่อเทียบกับกำสรวลโคลงดั้นกับจินดามณี หรือแม้แต่สมุทรโฆษคำฉันท์ ตอนที่ว่าพระมหาราชครูแต่ง กับตอนพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนารายณ์ก็จะเห็นได้ชัดว่าสำนวนผิดกันลึกล้ำ ด้วยเหตุนี้ จึงวินิจฉัยไว้ ณ ที่นี้เป็นเบื้องต้นว่า หาก “กำสรวลโคลงดั้น” เป็นโคลงที่ “ศรีปราชญ์” สมัยสมเด็จพระนารายณ์แต่งแล้ว “ศรีปราชญ์” ผู้แต่งกำสรวลดั้นนั้นจะต้องเกิดก่อนพระโหราธิบดีถึง 200 ปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างชัดเจน และหากพระโหราธิบดีนั้นมีบุตรชายเป็นศรีปราชญ์จริง ศรีปราชญ์บุตรพระโหราธิบดีผู้รจนา “อนิรุทคำฉันท์” นั้นอาจอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ไม่มีที่ถกเถียง แต่อนิรุทธ์คำฉันท์กับกำสรวลโคลงดั้นตามความเห็นด้วยความแน่ใจของข้าพเจ้าว่า จะเป็นสำนวนเดียวกันไม่ได้โดยเด็ดขาด !
         ในเมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดปัญหาขึ้นว่า ศรีปราชญ์มิได้มีเพียงคนเดียวดอกหรือ? ความข้อนี้ก็น่าคิด เมื่อคิดไปถึงชื่อคนในสมัยก่อนเท่าที่พอจะหาได้ สมเด็จพระราชชนนีขอพระเจ้ารามคำแหงแห่งนครสุโขทัยทรงพระนามว่า “เสือง” สมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระนามเดิมว่า “ดำ” สมเด็จพระเอกาทศรถว่า “ขาว” ขุนหลวงศรศักดิ์ “เดื่อ” พระยาโกษาธิบดี “ปาน” พระเจ้ากรุงธนบุรี “สิน” ฉะนั้นถ้าจะมีคนชื่อ “ศรีปราชญ์” ในครั้งโน้น ก็ดูออกจะค่อนข้างหรูเกินสมัยอยู่ ทำให้ใคร่วินิจฉัยว่า “ศรีปราชญ์” นั้นหาใช่ชื่อคนไม่ หากเป็นชื่อตำแหน่งของกวีเอกในราชสำนัก ทำนองเดียวกับศรีธนนชัย (ปราชญ์ประจำราชสำนัก?) หาก “ศรีปราชญ์” เป็นชื่อตำแหน่ง “ศรีปราชญ์” ก็มีได้หลายคน ทำนองเดียวกับชื่อ “ศรีสุนทรโวหาร” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หรือชื่อ “สารประเสริฐ” ที่มีในทวาทศมาสครั้งกรุงศรีอยุธยาต้น ดังนี้ เมื่อพิจารณาให้เห็นเช่นนี้แล้ว การที่ศรีปราชญ์จะแต่งกำสรวลโคลงดั้น หรืออนิรุทธ์คำฉันท์ก็หาแปลกไม่ เพราะเป็นศรีปราชญ์คนละคน ซึ่งถ้าจะเถียงว่าต้องเป็นคนเดียวกันแล้ว ศรีปราชญ์คนนั้นจะต้องมีอายุอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 200 ปี!
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 18:13

     โดยเฉพาะผู้แต่งโคลงที่พระยาปริยัติธรรมธาดานำมาอ้างประกอบประวัติศรีปราชญ์นั้น น่าจะเป็น “ศรีปราชญ์” อีกคนหนึ่ง “ถ้ามี” เพราะสำนวนคำโคลงต่างๆ นั้นเป็นสำนวนใหม่มากใหม่กว่า “อนิรุทธ์คำฉันท์” และใหม่เทียบได้ในระหว่างสำนวน “พระยาตรัง” สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กับสำนวนเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งหากผู้แต่งโคลงประกอบประวัติจะเป็นศรีปราชญ์ ข้าพเจ้าขอลงมติให้เป็น “ศรีปราชญ์” อีกคนหนึ่ง รวมความว่าอย่างน้อยๆ พิจารณาจากสำนวนหนังสือที่แต่ง และตามหลักฐานที่กล่าวมาแล้วนี้จะต้อมีศรีปราชญ์ถึง “สามคน”

      ข้าพเจ้าขอคัดค้านความเห็นที่ว่าศรีปราชญ์แต่งกำสรวลโคลงดั้นเมื่อถูกเนรเทศไปเมืองนครศรีธรรมราช ความข้อนี้ หากอ่านกำสรวลโคลงดั้นเท่าที่มีอยู่ให้ละเอียด จะเห็นชัดว่ากำสรวลโคลงดั้นนี้เป็นนิราศที่แต่งจากกรุงศรีอยุธยามาจริง แต่จะไปไกลแค่ไหนนั้นเท่าที่อ่านพบในฉบับทั้งหลายบรรดามีในหอสมุดแห่งชาติ ก็ไม่ไกลที่สุดแค่ปากแม่น้ำเจ้าพระยานี้เอง โดยอ้างโคลงบทนี้ ซึ่งมีทั้งเกาะสีชัง เกาะไผ่ และเกาะครามว่า

            “มุ่งเห็นละล่ายน้ำ                     ตาตก แม่ฮา
       เกาะสระชงงชลธี                           โอบอ้อม
       มลักเห็นไผ่รยงรก                          เกาะไผ่ พู้มแม่
       ขยวสรดิ้วลำย้อม                           ยอดคราม”
         
        และคำโคลงสุดท้ายที่บ่งถึงตำบลที่มีอยู่ก่อนจะจบก็คือโคลงที่ขึ้นต้นว่า “เยียมาบางผึ้งแผ่    รวงรยง”   ซึ่งเป็นการย้อนกลับเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาอีก บางผึ้งเท่าที่สอบสวนหลักฐานทางภูมิศาสตร์ อยู่ระหว่างกรุงเทพฯ กับสมุทรปราการ คือระหว่างราชบูรณะกับพระประแดงนี้เอง หากเป็นโคลงที่แต่งทำนองนิราศนครศรีธรรมราช น่าจะได้มีคำโคลงใดอ้างถึงฝั่งทะเลตะวันตกของอ่าวสยามไว้บ้างดังเช่นนายนรินทร์ธิเบศรอ้าง แต่เท่าที่ค้นไม่พบเลย หากว่าต้นฉบับขาดหายก็จนใจ! แต่อย่างไรก็ดี ที่อ้างกันในประวัตินั้นว่า “กำสรวลโคลงดั้น” นี้เป็นผลงานสำคัญชิ้นสุดท้ายของศรีปราชญ์ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นศรีปราชญ์สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แล้วก็ยังสงสัยอยู่ ออกจะเป็นการแปลกอยู่มิใช่น้อยที่มีหลักฐานชัดเจนบ่งอยู่ว่า “ศรีปราชญ์” เป็นกวีเอกประจำราชสำนักไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลักฐานนี้คือคำให้การชาวกรุงเก่าที่ใช้พระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว เป็นหนังสือที่รัฐบาลอังกฤษได้มาจากหอหลวงในพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินพม่าที่เมืองมัณฑะเลเมื่อ พ.ศ.2429 ในหน้า 126 ว่าเป็นรัชกาลพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระพุทธเจ้าเสือง) มีความว่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 18:15

          “ในรัชกาลนั้นมีชายคนหนึ่งชื่อศรีปราชญ์ ฉลาดในทางโหรศาสตร์และพระไตรปิฎก ชำนาญทางแต่งกาพย์โคลงบทกลอนทั้งปวงด้วย พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีพอพระทัยในทางโหราศาสตร์ นิติศาสตร์ พระไตรปิฎก กาพย์โคลง บทกลอน ทรงทราบว่าศรีปราชญ์เป็นคนฉลาดในทางนั้น ก็ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้ ศรีปราชญ์แต่งกาพย์โคลงบทกลอนต่างๆ ถวายพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีโปรดพระราชทานรางวัลเนืองๆ

         อยู่มาศรีปราชญ์ลอบมีเพลงยาวเข้าไปถึงนางสนมในพระราชวัง พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีจับได้ก็ทรงพิโรธ แต่มิได้ให้ลงอาญาอย่างร้ายแรง เป็นแต่ให้เนรเทศไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ด้วยทรงเห็นว่าศรีปราชญ์เป็นพหูสูตรฉลาดในบทกลอน”

         แล้วศรีปราชญ์ก็ถูกฆ่าเพราะแต่งเพลงยาวให้กับภรรยาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเหมือนกับเรื่องที่เคยได้ยินกันมา และในคำโคลงประกอบประวัติศรีปราชญ์ที่พระยาปริยัติธรรมธาดาเขียนไว้ก็กล่าวถึงโคลงบทสำคัญบทหนึ่งว่า

             “ธรณีภพนี้เพ่ง                           ทิพญาณ หนึ่งรา
         เราก็ศิษย์อาจารย์                            หนึ่งบ้าง
         เราผิดทานประหาร                          เราชอบ
         เราบ่ผิดท่านมล้าง                           ดาบนี้คืนสนอง”

          เมื่อวินิจฉัยมาถึงขั้นนี้ ก็ทำให้เห็นว่า ศรีปราชญ์สมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือจะเป็นศรีปราชญ์ผู้มีประวัติตามความในคำให้การชาวกรุงเก่าได้หรือไม่ หรือจะเป็นศรีปราชญ์คนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เพราะเวลาก็ห่างกันชั่วระยะไม่เกิน 20 ปี แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาโดยสำนวน ศรีปราชญ์น่าจะมีไม่น้อยกว่า 3 คน หรืออาจมีในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งเป็น 4 คน แต่ก็ไม่มีงานตกมาถึงให้วิจารณ์
       
         อกจากแนวความคิดที่ได้นำมากล่าวนี้ ยังปรากฏในประเทศอื่นๆ ที่มีกวีเอก มีประวัติคล้ายคลึงศรีปราชญ์ของไทยอีก ทั้งทางทมิฬ และทางพม่า ทำนองเดียวกันนี้ ศรีธนนชัยก็มีเหมือนกัน ทำให้การสอบสวนไขว้เขวขึ้นว่า ประวัติของศรีปราชญ์นั้น จะเป็นประวัติที่คัดลอกกันมาแบบนิยายอื่นๆ ละกระมัง? อย่างไรก็ตามในการวินิจฉัยขั้นนี้เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า ศรีปราชญ์น่าจะเป็นชื่อ “ตำแหน่ง” ไม่ใช่ชื่อบุคคล เรื่องของศรีปราชญ์ตามวรรณคดีที่ตกทอดมาถึงเราทุกวันนี้มี 3 สำนวน ซึ่งอย่างน้อยน่าจะมีศรีปราชญ์ 3 คนด้วยกันคือ สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ คนหนึ่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์ คนหนึ่ง และอีกคนหนึ่งอาจอยู่ในสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ หรือสมัยสมเด็จพระอยู่หัวบรมโกศ หรืออาจเป็นสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือคนหนึ่ง และสมัยสมเด็จพระอยู่หัวบรมโกศคนหนึ่งก็เป็นได้ ส่วนประวัติของศรีปราชญ์นั้น อาจเป็นประวัติของคนใดคนหนึ่ง หรืออาจเป็นประวัติที่คัดลอกกันมาจากประวัติของกวีเอกของชาติใดชาติหนึ่งทำนองเดียวกับเรื่องรามเกียรติ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ก็ได้ ดังนี้การวินิจฉัยนี้เป็นเพียงชี้ให้เห็นทาง ซึ่งอาจเป็นไปได้ด้วยหลักฐานและเหตุผลดังกล่าวแล้ว และคงจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าหาเรื่องราวของ “ศรีปราชญ์” ต่อไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 18:44

     ปัญหาที่สำคัญในทางพงศาวดารที่ควรนำมาสอบสวนเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยก็คือปัญหาเรื่อง “เจ้านคร” ว่ามีการประหารเพราะ “ดาบนี้คืนสนอง” บ้างหรือไม่ได้ค้นในพระราชพงศาวดารไม่ปรากฏว่ามีในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือสมเด็จพระนารายณ์ในสมัยสมเด็จพระเทพราชามีแต่เกิดขบถขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช เจ้านครหนีไปได้ ให้แต่งตั้งผู้รั้งกรมการอยู่รักษาเมือง กำลังส่วนใหญ่ก็กวาดต้อนมากรุงศรีอยุธยาสิ้น จนสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปรากฏในเรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชในประชุมพงศาวดารภาคที่ 2 ว่าได้ตั้งพระไชยาธิเบศร์เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช แต่ไม่มีเรื่องการประหารเลย จึงทำให้เกิดความไม่แน่ใจในประวัติตอนท้ายของศรีปราชญ์ยิ่งขึ้น

      ความผิดพลาดเป็นของธรรมดาในการศึกษาและค้นคว้า โดยเฉพาะเรื่องศรีปราชญ์นี้ ได้เรียนกันมาแต่ไหนแต่ไรตามตำราของพระยาปริยัติธรรมธาดา ซึ่งผิดพลาดอย่างไม่มีปัญหา เพียงแต่พิจารณาจากโคลงกวีโบราณที่พระยาตรังจ่าไว้ถวายแล้วจะเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ความผิดพลาดในด้านการศึกษาทางวรรณคดีนั้นเป็นความผิดทางใจ แม้จะผิดกันมานานเมื่อรู้ว่าผิดก็มีทางแก้ได้ด้วยการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม อันตรายที่เกิดจากความผิดในทางนี้แม้จะมีบ้างก็เล็กน้อย เวลาอาจช่วยให้แก้ผิดเป็นถูกได้ แต่ความผิดในด้านอื่นๆ นั้นหากดำเนินไปโดยปราศจากความระมัดระวังและขาดหลักวิชาแล้ว อาจพาให้ชาติบ้านเมืองถึงกับล่มจมได้                                       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 18:47

วิเคราะห์กำสรวล(ศรีปราชญ์) ในแง่ประวัติศาสตร์และวรรณคดี
         
          ในบรรดากวีของไทยเราคนที่มีชื่อเสียงติดปากผู้คนและมีเรื่องราวอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นหลังเห็นจะไม่มีใครเทียบศรีปราชญ์แต่ประวัติและผลงานของศรีปราชญ์นั้นเราแทบจับต้นชนปลายไม่ถูก สิ่งที่จารึกไว้ก็ดูคล้ายกับเป็นตำนาน
          หนังสือที่หลายต่อหลายคนเข้าใจว่าศรีปราชญ์แต่ง เมื่ออ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ก็ลางเลือน และเรื่องราวเกี่ยวกับตัวศรีปราชญ์เองดูโลดโผนพิสดารเกินสามัญชน
          อย่างไรก็ตามกระแสเสียงที่กล่าวว่าศรีปราชญ์ไม่มีตัวตน และไม่ได้เป็นผู้รจนากำสรวลศรีปราชญ์ นับวันมีแต่จะมากขึ้นในแวดวงของผู้ที่สนใจศึกษาวรรณคดี
ศรีปราชญ์มาจากไหน?

            ต้นเค้าที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของนักวรรณคดีก็คือตำนานศรีปราชญ์ของพระยาปริยัติธรรมดา (แพ ตาละลักษมณ์) หรือหลวงประเสริฐอักษรนิติ เจ้าของพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐซึ่ง  “พงศาวดารฉบับนี้ สมเด็จพระนารายณ์มีรับสั่งให้แต่งขึ้นเมื่อ 4 ฯ5 ค่ำปีวอก โทศก จุลศักราช 1042 (พ.ศ.2223) ต้นฉบับเดิมนั้นพระยาปริยัติธรรมดาเมื่อครั้งยังเป็นหลวงประเสริฐฯ ไปพบต้นฉบับเดิมที่บ้านราษฎรแห่งหนึ่งจึงนำมาให้หอสมุดวชิรญาณเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2450...ข้อความของพระราชพงศาวดารฉบับนี้กล่าวย่อๆ มาถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถึงแม้ว่าข้อความจะกล่าวสั้นๆ แต่มีเนื้อเรื่องที่ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับอื่นออกไปอีกมากและที่สำคัญคือศักราชในพงศาวดารฉบับนี้แม่นยำและเชื่อถือได้มากกว่าพงศาวดารฉบับอื่น...”
       จากข้อความนี้มีสิ่งที่น่าฉงนฉงายอยู่หลายประการ ก็คือ
       1. เมื่อพระนารายณ์ทรงมีรับสั่งให้แต่งพงศาวดารฉบับนี้จริงไฉนจึงเรียกชื่อศรีปราชญ์ว่าเป็นตำนานเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นก็เกิดในรัชสมัยนี้ทั้งสิ้น
       2. ในปี พ.ศ.2223 ที่มีรับสั่งให้แต่งตั้งนั้นปรากฏว่าศรีปราชญ์ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นปีเดียวกับที่ พระโหราธิบดีถึงแก่อนิจกรรม ศรีปราชญ์ถูกเจ้าพระยานครฯ ประหารชีวิต ปี พ.ศ.2226 ขณะนั้นศรีปราชญ์มีอายุได้ 33 ปี (เกิด 2193)
       และนี่คืออะไรกันแน่?
       ความผิดพลาดของตำนานหรือการคลาดเคลื่อนของตัวหนังสือ
       3. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2450 หลวงประเสริฐฯ พบต้นฉบับนั้นอยู่ในรัชสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ แต่โคลงของนายนรินทร์ธิเบศร์กับพระยาตรัง กวีสมัย ร.2 (2352 – 2367) แต่งนิราศนรินทร์และนิราศพระยาตรังในปี 2352 ปีเดียวกัน โคลงของทั้ง 2 คนกล่าวอ้างถึงศรีปราชญ์ไว้ดังนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 18:50

            ศรีปราชญ์นิราศท้าว                    จุฬาลักษณ์
        ร่ำเรื่องร่ำรักทุก                              น่านกว้าง
        ทวาทศมาสศักดิ์                            สามปราชญ์ รังแฮ
        ยังไป่ปานเรียมร้าง                          ร่ำไห้หาสมร
                                                                                    (นิ-ตรัง บทที่ 119)

            กำสรวลศรีปราชญ์พร้อง                 เพรงกล
       จากจุฬาลักษณ์ลาญ                          สวาทแล้ว
       ทวาทศมาสสาร                               สามเทวษ ถวิลแฮ
       ยกทัดกลางเกศแก้ว                          กึ่งร้อนทรวงเรียม

                                                                                    (นิ-นรินทร์-บทที่ 124)
      และที่น่าประหลาดใจยิ่ง คือโคลง 2 บทนี้เนื้อความแทบจะพิมพ์เดียวกัน อ้างกำสรวลศรีปราชญ์และทวาทศมาสแค่ 2 เรื่อง และทั้ง 2 กวีเอาคำว่า (กำสรวล) ศรีปราชญ์มาจากไหน?

      อนุมานได้ว่า เรื่องศรีปราชญ์คงเป็นเรื่องเล่ากันมาอยู่ก่อนแล้วและเฉไปเฉมา บ้างตามคำให้การของขุนหลวงหาวัด และคำให้การของชาวกรุงเก่ากล่าวถึงศรีปราชญ์ว่าเป็นเรื่องในสมัยพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) แต่มีใจความคล้ายคลึงกันหมดก็คือ ศรีปราชญ์ลอบเป็นชู้กับพระสนมแล้วถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราช และถูกพระยานครฆ่าตายในที่สุด เพราะเป็นชู้กับภรรยาของเจ้าพระยานครอีก ละความเชื่อนี้ได้ตกมายังกวีรุ่นหลังบ้าง ดังเช่นคุณพุ่มเขียนถึงศรีปราชญ์ใน เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติฯ ว่า

      “...แผ่นดินทุ่งกรุงเก่าเจ้านิกร อดิศรสุริวงศ์ที่ทรงปลา นามพระศรีสุริเยนนเรนทร์ราช เกิดศรีปราชญ์ปรากฏไว้ยศถา...”

      จวบจนกระทั่งเกิดพบศรีปราชญ์ของหลวงประเสริฐฯขึ้นเรื่องราวของศรีปราชญ์ตามตำนานนี้ดูจะได้รับการเชื่อถือมากที่สุด เพราะเป็นเรื่องเป็นราว มีพ.ศ.บอกไว้ค่อนข้างละเอียดและมีความเป็นไปได้มากกว่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 18:52

ความเป็นไปไม่ได้ในความเป็นไปได้

        อย่างไรก็ตาม ตำนานศรีปราชญ์แม้จะเป็นเรื่องที่เป็นตำนานและก็ระบุชื่อผู้คนสถานที่ไว้มาก กระนั้นตำนานศรีปราชญ์ก็ยังมีช่องโหว่และความไม่สมจริงมากมายตามลำดับ คือ
        1. ตำนานศรีปราชญ์กล่าวว่า ในราตรีกาลหนึ่งพระนารายณ์ทรงสำราญอยู่ด้วยกวีกีฬากับบรรดานักปราชญ์ราชกวี พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์โคลงขึ้น 2 บทว่า

            อันใดย้ำแก้มแม่                 หมองหมาย
         ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย               ลอบย้ำ

         ทรงแต่งค้างไว้แค่นี้ แล้วโปรดให้พระยาโหราธิบดี ไปแต่งต่อให้จบ เมื่อพระยาโหราธิบดีมาถึงบ้านคิดเท่าไรก็คิดไม่ออก จึงเอากระดานที่มีพระราชนิพนธ์ค้างวางไว้ จนถึงเลาเช้า ก็ออกไปรับประทานอาหาร กลับมาก็พบโคลงต่อจนครบบท ว่า

              ผิวคนแต่จะกราย               ยังยาก
              ใครจะอาจให้ช้ำ                ชอกเนื้อเรียมสงวน

            ครั้งถึงเวลาเข้าเฝ้าจึงนำขึ้นทูลถวาย พระนารายณ์ทอดพระเนตรทรงสงสัยตรัสถามว่าใครแต่ง เพราะดูหนุ่มกว่าวัยพระโหราธิบดี เมื่อทรงทราบว่าลูกพระโหราธิบดีอายุ 9 ขวบ (บางฉบับบางรายว่า 12 ขวบ) เป็นคนแต่งก็ทรงไม่เชื่อว่าเด็กอายุ 9 ขวบ จะแต่งได้...

            โดยธรรมดาของกวีย่อมมีนิสัยอย่างหนึ่งคือทิฐิแรงกล้า ยิ่งพระนารายณ์ทรงเป็นถึงพระมหากษัตริย์ยิ่งทรงมีขัตติยะมานะสูงส่งไฉนพระองค์จึงนำโคลงที่ค้างไว้ให้ผู้อื่นแต่งต่อและทำไมไม่ทรงให้กวีอื่นที่มีฝีมือสูงส่งเช่น พระศรีมโหสถ ผู้แต่งโคลงเฉลิมพระเกียรติ กาพย์ห่อโคลง โคลงอักษรสามหมู่หรือพระมหาราชครูผู้แต่งฉันท์สมุทรโฆษตอนต้น – เสือโคคำฉันท์ ในด้านกวีนิพนธ์พระโหราธิบดีไม่ค่อยปรากฏผลงานนอกจากราวบรวมตำราจินดามณีและคาดว่ามีพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา (ฉบับหลวงประเสริฐฯ) อีกชิ้นหนึ่งทั้งองศ์พระนารายณ์เองก็ทรงมีพระราชนิพนธ์โคลงทางสุภาษิตไว้คือ ราชสวัสดิ์ (63 บท) พาลีสอนน้อง (32 บท) และทศรสสอนพระราม (12 บท ) และในปีที่พระองค์ทรงแต่งโคลงค้างไว้คือปี 2205 ทรงมีพระชนมายุ 30 พรรษา ซึ่งกำลังอยู่ในวัยฉกรรจ์ของวัยหนุ่ม ซึ่งนัยนี้แล้ว งานเพียงแต่งโคลงให้จบบทคงไม่เหลือพระกำลังที่จะทรงแต่ง และยิ่งถ้าศรีปราชญ์เมื่ออายุ 9 ขวบ แต่งจบได้และเชื่อมความสนิทแล้ว งานของศรีปราชญ์ในระยะต่อมาน่าจะมีมากกว่า 2 เล่ม คือ กำสรวลและอนิรุทธ์คำฉันท์ (ตามความเชื่อดั้งเดิม) เพราะนี่คือผลแสดงความเป็นมหากวีอย่างยิ่งเท่าที่กวีไทยจะมีมาในประวัติศาสตร์

            2. ในปี พ.ศ.2208 พระนารายณ์โปรดให้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีที่ 2 เพราะทรงเล็งเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ใกล้ปากอ่าว ง่ายต่อการถูกปิดล้อมและถูกบุกรุกจากต่างชาติ เพราะรัชสมัยนี้มีชาวต่างประเทศ เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, ฮอลันดา ฯลฯ มาติต่อทางด้านการค้าขาย, ศาสนาและพยายามล่าอาณานิคมด้วย...อังกฤษและฮอลันดาถึงกับวางอำนาจเอาเรือรบมาปิดอ่าวไทย จนพระนารายณ์ถึงกับต้องยอมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเซ็นต์สัญญาทางการค้ากับฮอลันดา ซึ่งเป็นการเสียเปรียบอย่างมาก การสร้างลพบุรีเป็นราชธานี ก็เป็นพระราชกุศลอย่างหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปิดล้อมอ่าวโจมตีอีก

            สมเด็จพระนารายณ์โปรดประทับที่พระราชวังลพบุรีมาก เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับเป็นประจำราวปีละ 8 – 9 เดือน คงเสด็จมาประทับ ณ กรุงศรีอยุธยาปีละ 3 – 4 เดือน หรือเฉพาะในเวลามีงานพระราชพิธีเท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 18:55

       โดยนัยนี้เราจะเห็นไดว่าพระนารายณ์จะทรงเอาเวลาเหลือเฟือมาจากไหนในการทรงกวี ณ พระราชตำหนักแห่งกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งมีคำกล่าวว่า รัชสมันของพระองค์เป็นยุคทองแห่งวรรณคดี แม้กระทั่งนายประตูพระราชวังก็สามารถเอื้อนเอ่ยเป็นคำโคลงได้ ฉะนั้นข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งก็คือ พระนารายณ์คงจะทรงขนเอาข้าราชบริพาร ตลอดจนบรรดากวีไปไว้ ณ พระราชวังลพบุรี (นารายณ์ราชนิเวศน์) ริมแม่น้ำลพบุรีในปี พ.ศ.2220 เพราะพระราชวังใช้เวลาสร้าง 12 ปี จึงแล้วเสร็จ และพระนารายณ์ก็สวรรคตที่ลพบุรีนี่เอง
       แต่ข้อความตั้งแต่ต้นๆ ของกำสรวล (ศรีปราชญ์) นั้นกล่าวชมอยุธยาและออกเรือจากพระราชวังอยุธยาทั้งใจความบางตอนก็กล่าวถึงแต่สภาพชาวอยุธยาเท่านั้น หาได้อ้างถึงผู้คนและพระราชวังลพบุรีแต่อย่างใด

      3. มีคำโคลงอยู่บทหนึ่ง ซึ่งตำนานศรีปราชญ์กล่าวว่าเป็นคำโต้ตอบของพระยาแสนเมือง (มหาราชเชียงใหม่) กับศรีปราชญ์คือ

             รังสีพระเจ้าฮื่อ                            ปางใด
       ฮื่อเมื่อพระเสด็จไป                             ป่าแก้ว
       รังสีบ่สดใส                                     สักหยาด
      ดำแต่นอกในแผ้ว                                ผ่องเนื้อนพคุณ

       ในปี 2204 ไทยรบชนะเชียงใหม่ เจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงส์ลงมา และนำตัวเจ้าเมืองเชียงใหม่มาไว้ ณ กรุงศรีอยุธยาด้วย เจ้าเมืองเชียงใหม่นี้ก็คือพระยาแสนเมืองนั่นเองและคงเป็นผู้มีโวหารทางกวีคนหนึ่ง พระนารายณ์จึงทรงโปรดให้ติดตามไปไหนมาไหนด้วยเสมอ และสิ่งที่น่าสงสัยก็คือ เจ้าเมืองเชียงใหม่มาก่อนศรีปราชญ์จะเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กถึงหนึ่งปี ทั้งอยู่ในแวดวงพระราชกวีกีฬาของพระนารายณ์มาก่อน เหตุใดพระยาแสนเมืองจึงไม่รู้ว่าศรีปราชญ์ ได้พระราชทานนามเมื่อใด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 18:57

         4. ในกำสรวล (ศรีปราชญ์) มีกล่าวถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์อยู่หลายบท บางบทก็ดูคล้ายเป็นการแต่งซ่อมโดยกวีรุ่นหลังและท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในที่นี้คือ แจ่ม ธิดาแม่นมเปรมซึ่งเป็นแม่ของพระเพทราชา และเป็นพี่ของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เกิดปี 2179 มีอายุแก่กว่าศรีปราชญ์ 14 ปีเป็นอย่างน้อย ในปีที่เข้าใจว่าศรีปราชญ์ถูกเนรเทศนั้น อายุศรีปราชญ์  ร่วม 33 ปี และอายุท้าวศรีจุฬาลักษณ์ตกในราว 47 ปี โดยประมาณ เป็นไปได้หรือที่ศรีปราชญ์จะบังอาจรักพระสนมเอกที่มีอายุแก่กว่าตนถึงเพียงนี้

            อีกทั้งโคลงทุกบทที่เพ้อรำพันถึงหญิงสาวที่จาก ผู้แต่งจะเรียกตนเองว่าพี่ทุกวรรค และข้อความในโคลงบ่งถึงความรักและอาลัยอย่างโจ่งแจ้งไม่มีถ้อยคำใดแอบแฝง หญิงสาวที่อ้างถึก็ดูจะมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งลึกล้ำเกินกว่าจะเป็นชู้ธรรมดา    เช่น

                   แม่วีชู้ช้อยชุ่ง                              นอนหลับ แลแม่
            ตื่นมเมอหาศรี                                    แอบข้าง
            ถนอมมือบนนทับหลงง                          โลบลูบ กันนา
            เรียมตื่นซำเจ้าค้าง                               ค่างเชอย

            ความจริงในโคลงทวาทศมาสก็มีการเอ่ยถึงชื่อ ศรีจุฬาลักษณ์ บ้าง คือ

                 อาฒาอาฒาศพ้ยง                         เพ็ญภักตร์
            อกก่ำกรมทรวงถอน                                 ถอดไส้
            ดวงศรีจุฬาลักษณ์                                  เฉลอมโลก กูเออย
            เดือนใหม่มาใดได้                                   โศกสมร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 18:58

         ดังนั้นผู้เขียนวิเคราะห์ศรีปราชญ์คาดว่า ศรีจุฬาลักษณ์คงเป็นการเรียกชื่อนางที่รักของกวีในทางยกย่องมากกว่า เพราะอาจเอามาจากตำนานท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่เชื่อกันว่าแต่งตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ถวายพ่อขุนรามคำแหง (ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่มีอยู่ปัจจุบัน ไม่ใช่แต่งในสมัยสุโขทัยแน่นอน ซึ่งต้นฉบับจริงอาจสูญไปหรือไม่ก็เป็นตำนานที่ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด เพียงแต่มุ่งหวังที่ฝ่ายปกครองจะแต่งขึ้นเองเพื่อใช้ประโยชน์ทางส่วนตัวอย่างลิลิตโองการแช่งน้ำก็เป็นได้) คำว่าศรีจุฬาลักษณ์ที่ปรากฏในกำสรวล (ศรีปราชญ์) และทวาทศมาสจึงเหมือนกับคำว่าศรีเสาวภาคที่มีปะปนใช้มากพอๆ กัน

            5. ตามตำราจินดามณีที่แต่งรวบรวมโดยพระโหราธิบดีซึ่งเข้าใจว่าเป็นบิดาศรีปราชญ์นั้น เพราะระบุไว้ว่า

            “จินดามณีนี้ พระโหราธิบดี เดิมอยู่เมืองสุกโขทัยแต่งถวายแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าลพบุรีย” มีอยู่ตอนหนึ่งที่กล่าวถึงกำสรวลสมุทรดังนี้ “อนึ่งเมื่อจะทำโคลงสิ่งใดให้เอาคติโคลงนั้นมาเทียบด้วยฉันทให้รู้จักพากยทั้งหลายคือตลุมพรพากย กำภุชพากย สยามพากย สิงหลพากย ภุกามพากย ตเลงพากย ภคธพากย...ผิเอากลอนห้าใส่ให้เอาด้วยกันทั้งสี่บท อย่าได้ลดโคลงต้น คือ อุปทวาทศ คำสวรสมุทร สมุทโฆษ พระนนทกษัตรีสังวาสศรี อุมาธิการย พระยศราชาพิลาป...”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:00

      พ.ณ. ประมวลมารค (ม.จ.จันทร์ จิรายุ รัชนี) ทรงให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความข้างต้นไว้ใน “กำสวลสมุทร” วารสารศิลปากรปีที่ 7 เล่มที่ 1 พ.ศ.2496 ว่า

      “ธรรมดาบทเรียนย่อมมีการเปลี่ยนแปลงแทรกแซงตลอดเวลาตามแต่ความต้องการของแต่ละสมัย แต่จินดามณีท่อนนี้มีแปลกๆ หลายคำ (กลอนห้าทั้งสี่บท โคลงต้นคำโบราณ- ผิจะดูเยี่ยง..)

       กลอนห้าไม่ได้แต่งกันมาแต่สมัยพระเจ้าเหา เพราะฉะนั้น หากว่าจินดามณีท่อนนี้ไม่ใช่ของเดิม เป็นของท่านเกจิอาจารย์เติมเข้าภายหลังก็รู้สึกประหลาดอยู่หน่อยที่กล่าวถึงกลอนห้า   กำสรวลสมุทรข้าพเจ้าแปลว่านิราศทางทะเล และเหมาเอาง่ายๆ ว่า กำสรวลศรีปราชญ์นั่นเอง”

            ในจินดามณียกหนังสือวรรณคดีมา 6 เล่ม คือ อุปทวาทศมาส คำสวรสมุทรพระนามว่ากษัตรีสังวาสศรี ศรีอุมาธิการย พระยศราชาพิลาป มีข้อน่าคิดอยู่คือ ไม่ได้เอ่ยถึงลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ มหาชาติคำหลวง กาพย์มหาชาติ ซึ่งมีสำนวนและภาษาร่วมสมัยกันอยู่ คงเอ่ยถึงแต่ทวาทศมาส (อุปทวาทศมาส) กำสวรสมุทร (กำสรวลศรีปราชญ์ที่ใครเรียกกันในปัจจุบัน) พิยศราชาพิลาป (ราชาพิลาปคำฉันท์-ไม่ทราบว่าใครแต่งรูปแบบใช้ภาษาเก่าคำประพันธ์ที่ใช้มีกาพย์ฉบัง 16, สุรางคณางค์ 28, อิทรวิเชียรฉันท์ 11, วสันตดิลกฉันท์ 14, มาลินีฉันท์ 15, สัททุล 19) พระนนทกษัตริสังวาสและศรีอุมาธิการย (ค้นคว้ายังไม่ทราบ)

        สิ่งที่น่าคิดยิ่งกว่านั้นก็คือ พระโหราธิบดี แต่งตำราจินดามณีก่อนศรีปราชญ์ ก่อนถูกเนรเทศ ดังได้อ้างถึงมาบ้างแล้วข้างต้นและถ้าศรีปราชญ์ถูกเนรเทศไปนครราชศรีธรรมราชจริง ต้นฉบับกำสรวลก็คงอยู่นครศรีธรรมราชมากกว่า พระโหราธิบดีจะได้อ่านกำสวรสมุทร (ศรีปราชญ์) จากไหน และใส่ลงในตำราได้ทันท่วงทีเช่นนี้

         6. ข้อที่น่าวิเคราะห์โดยสภาวะความเป็นจริงตามตำนานอีกประการก็คือ ขณะที่ศรีปราชญ์จะถูกประหารนั้นถูกมัดมือกับหลักประหาร ยังได้ใช้เท้าเขียนโคลงบนพื้นทราย แช่งพระยานครฯขึ้นว่า

                   “ธรณีภพนี้เพ่ง                            ทิพญาณ หนึ่งรา
            เราก็ลูกอาจารย์                                  หนึ่งบ้าง
            เราผิดท่านประหาร                               เราชอบ
            เราบ่ผิดท่านมล้าง                                ดาบนี้คืนสนอง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.101 วินาที กับ 20 คำสั่ง