เรือนไทย

General Category => ห้องหนังสือ => ข้อความที่เริ่มโดย: Anna ที่ 29 มี.ค. 10, 13:23



กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 29 มี.ค. 10, 13:23
โคลงของศรีปราญช์ที่ว่า

'ดำแต่นอก  ในแผ้ว  ผ่องเนื้อ   นพคุณ'  แบ่งวรรคยังไงคะ  จะขอเอาไปใช้อ้างอิงค่ะ  จึงต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อน

 ???


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 29 มี.ค. 10, 13:55
เป็นวรรคสี่ของโคลงสี่สุภาพ จัดวรรคตอนดังนี้ครับ

ดำแต่นอกในแผ้ว  ผ่องเนื้อนพคุณ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 29 มี.ค. 10, 14:10
ขอบพระคุณสำหรับความกระจ่างค่ะ

Anna ;D


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 15 ส.ค. 12, 20:22
เผอิญค้นในเน็ต เห็นน่าสนใจสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีความรู้ภาษาไทยอย่างผม จึงมาช่วยเพิ่มผู้เข้าแวะเยี่ยมกระทู้


http://www.gotoknow.org/blogs/posts/405279

ศรีปราชญ์  กวีเอกแห่งกรุงศรีอยุธยา
  
     สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง  นับเป็นยุคทองแห่งวรรณคดี  มีกวีสำคัญหลายท่าน  เช่น  สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  พระมหาราชครู  พระโหราธิบดี  และกวีคนสำคัญแห่งยุคนี้ “ศรีปราชญ์” 
     วรรณคดีเรื่องเด่นที่แต่งในสมัยนี้มีหลายเรื่อง  เช่น  สมุทรโฆษคำฉันท์ (พระมหาราชครูแต่งตอนต้น  สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระราชนิพนธ์ตอนกลาง  ส่วนตอนท้ายของเรื่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระราชนิพนธ์ในสมัยรัชกาลที่  3)   จินดามณี  หนังสือแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก  แต่งโดยพระโหราธิบดี  และโคลงกำสรวลศรีปราชญ์  ผลงานของศรีปราชญ์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าใช้ถ้อยคำสำนวนคมคาย  เป็นแบบฉบับของวรรณคดีประเภทโคลงดั้น
    คำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในยุคนี้  เรียกว่าสามารถเจรจาโต้ตอบกันเป็นโคลงทีเดียว  แม้แต่เด็กชายศรี บุตรชายพระโหราธิบดี ภายหลังได้เป็น "ศรีปราชญ์"ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 7 ขวบ(บางตำราว่า 9 ขวบ บางตำราก็ว่า 12 ขวบ) ยังสามารถต่อโคลงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้
สมเด็จพระนารายณ์              อันใดย้ำแก้มแม่         หมองหมาย
                           ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย         ลอบกล้ำ
ศรีปราชญ์                    ผิวชนแต่จะกราย           ยังยาก
                           ใครจักอาจให้ช้ำ             ชอกเนื้อเรียมสงวน
ครั้งหนึ่งศรีปราชญ์แต่งโคลงกระทู้แล้วได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เมื่อเดินกลับออกมานายประตูก็ทักทายศรีปราชญ์เป็นโคลง  ส่วนศรีปราชญ์ก็ตอบโต้เป็นโคลงดังนี้
นายประตู                        แหวนนี้ท่านได้แต่               ใดมา
ศรีปราชญ์                       เจ้าพิภพโลกา                   ท่านให้
นายประตู                        ทำชอบสิ่งใดนา                 วานบอก
ศรีปราชญ์                       เราแต่งโคลงถวายไท้          ท่านให้รางวัล
             เมื่อครั้งที่ศรีปราชญ์ได้รับพระราชทานนามว่า “ศรีปราชญ์”  ได้เจรจาโต้ตอบกับพระยาแสนหลวงเจ้าเมืองเชียงใหม่ดังนี้
พระยาแสนหลวง          รังศรีพระเจ้าฮื่อ                    ปางใด
ศรีปราชญ์                    ฮื่อเมื่อเสด็จไป                      ป่าแก้ว
พระยาแสนหลวง          รังศรีบ่สดใส                          สักหยาด
ศรีปราชญ์                    ดำแต่นอกในแผ้ว                  ผ่องเนื้อนพคุณ
    การโต้ตอบกันด้วยโคลงระหว่างศรีปราชญ์กับพระเยาวราช  เป็นที่มาของบทเพลงสุนทราภรณ์  เพลงพรานล่อเนื้อ  ที่แต่งในเวลา  300 ปีต่อมา 
พระยาเยาวราช          เจ้าอย่าย้ายคิ้วช่ำ          เมลืองมา
                            อย่าม่ายเมียงหางตา             ล่อเหล้น
                           จะมาก็มารา                            อย่าเหนี่ยว  นานเลย
                           ครั้นพี่มาอย่าเร้น                    เรียกเจ้าจงมา
ศรีปราชญ์                 เจ้าอย่าย้ายคิ้วให้            เรียมเหงา
                           ดูดุจนายพรานเขา                  ส่อเนื้อ
                           จะยิงก็ยิงเอา                           อกพี่  ราแม่
                           เจ็บไป่ปานเจ้าเงื้อ                   เงือดแล้วราถอย
 เพลงพรานล่อเนื้อ
              เจ้ายักคิ้วให้พี่   เจ้ายิ้มในทีเหมือนเจ้าจะมีรักอารมณ์        ยั่วเรียมให้เหงามิใช่เจ้าชื่นชม   อกเรียมก็ตรม ตรมเพราะคมตาเจ้า
            เรียมพะวักพะวง   เรียมคิดทะนง แล้วเรียมก็คงหลงตายเปล่า
ดังพรานล่อเนื้อ เงื้อแล้วเล็งเพ่งเอา    ยั่วใจให้เมา เมาแล้วยิงนั่นแล
            น้าวศรเล็งเพ่งเอาทุกสิ่ง   หากเจ้าหมายยิงก็ยิงซิแม่           ยิงอกเรียมสักแผล   เงื้อแล้วแม่อย่าแปรอย่าเปลี่ยนใจ
           เรียมเจ็บช้ำอุรา   เจ้าเงื้อเจ้าง่าแล้วเจ้าก็ล่าถอยทันใด        เจ็บปวดหนักหนาเงื้อแล้วราเลิกไป   เจ็บยิ่งสิ่งใดไยมิยิงพี่เอย  
 
ครั้งหนึ่งศรีปราชญ์ได้ทักทายพระสนมเป็นโคลงว่า
                         ไยแม่หิ้วนั้นใช่                    จักตก
               เอาพระกรมาปก                            ดอกไม้
              สองมือทาบตีอก                             ครวญใคร่  เห็นนา
              หัวยะยิ้มรอยให้                              พี่เต้าไปหา
พระสนมไม่พอใจจึงตอบโต้ศรีปราชญ์เป็นโคลงเช่นกัน
                       หะหายกระต่ายเต้น               ชมจันทร์
            มันบ่เจียมตัวมัน                                ต่ำต้อย
            นกยูงหากกระสัน                              ถึงเมฆ
            มันบ่เจียมตัวมัน                                ต่ำต้อยเดียรฉาน
ศรีปราชญ์ถูกพระสนมเปรียบเปรยเช่นนั้นจึงใช้โวหารยอกย้อนกลับเป็นโคลง ว่า
                    หะหายกระต่ายเต้น                   ชมแข
           สูงส่งสุดตาแล                                    สู่ฟ้า
          ฤดีฤดูแด                                             สัตว์สู่  กันนา
          อย่าว่าเราเจ้าข้า                                  อยู่พื้นเดียวกัน
                การใช้คารมตอบโต้กับพระสนมในครั้งนั้นทำให้ชีวิตที่กำลังรุ่งโรจน์ของศรีปราชญ์ต้องพลิกผัน   ศรีปราชญ์ถูกเนรเทศไปเมืองนครศรีธรรมราช  และจบชีวิตลงที่นั่น  ฝากไว้เพียงโคลงบทสุดท้ายในชีวิตกวีเอกแห่งกรุงศรีอยุธยา
                    ธรณีนี่นี้                                  เป็นพยาน
         เราก็ศิษย์มีอาจารย์                           หนึ่งบ้าง
         เราผิดท่านประหาร                            เราชอบ
         เราบ่ผิดท่านมล้าง                             ดาบนี้คืนสนอง
 

 


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 15 ส.ค. 12, 21:07
เป็นวรรคสี่ของโคลงสี่สุภาพ จัดวรรคตอนดังนี้ครับ

ดำแต่นอกในแผ้ว  ผ่องเนื้อนพคุณ


ศรีปราชญ์หมายถึงอะไร?



กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ส.ค. 12, 21:24
๏ ขนุนสุกสล้างแห่ง           สาขา
ภายนอกเห็นหนามหนา       หนั่นแท้
ภายในย่อมรสา                เอมโอช
สาธุชนนั้นแล้                  เลิศด้วยดวงใจ ๚ะ๛

โคลงโลกนิติ  (http://www.reurnthai.com/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4) : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร

 ;D


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 16:15
โคลงของศรีปราชญ์ที่คุณ sujitra ยกมาจากเว็บไซต์หนึ่งในอินทรเนตรนั้น  มาจากหนังสือชื่อ ตำนานศรีปราชญ์ เรียบเรียงโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์) ในรัชกาลที่ 5 นี้เองค่ะ   จนบัดนี้ก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงว่ามีตัวตนจริงหรือไม่    อาจไม่มี หรือถ้ามีก็ไม่ใช่คนเดียวกับที่แต่งนิราศเรื่อง กำศรวล  หรือก่อนหน้านี้เรียกว่า กำศรวลศรีปราชญ์
เมื่อดิฉันเรียนอยู่ในคณะอักษรฯ   อาจารย์ให้เอกสารมาอ่าน  เป็นหนังสือเล่มเล็กๆของอาจารย์ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล  วิเคราะห์เรื่องกำศรวลศรีปราชญ์ ซึ่งมีเนื้อหาอย่างที่คุณ sujitra ยกมา   ในข้อวิเคราะห์ของท่านนแสดงความเคลือบแคลงสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับตัวตนจริงของกวีเอกสมัยสมเด็จพระนารายณ์  โดยสอบข้อมูลจากพระราชพงศาวดารต่างๆ    พบว่าไม่มีการสั่งประหารพระยานครศรีธรรมราชในปลายสมัยพระนารายณ์ หรือแม้แต่ในสมัยถัดมา คือพระเพทราชา
นอกจากนี้นักวรรณคดียังมองเห็นความแปลกแยกทางภาษาระหว่างโคลงกำศรวล  ซึ่งใช้โคลงดั้น และโคลงในตำนานศรีปราชญ์ ซึ่งเป็นโคลงสี่สุภาพ   พบว่ากำศรวลใช้ภาษาเก่ากว่ามาก   เป็นคนละยุคคนละสมัยกัน     เนื้อความในกำศรวลก็ไม่ตรงกับเนื้อความในตำนานศรีปราชญ์   กวีผู้แต่งกำศรวล มีภูมิหลังเป็นคนใหญ่คนโต เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาแบบผู้เดินทางอย่างเป็นทางการ มีคนมาส่งมากมาย   ไม่ใช่อย่างข้าราชสำนักที่ถูกเนรเทศ
มีรายละเอียดอีกหลายอย่างค่ะ ทำให้นักวรรณคดีเชื่อกันว่า ศรีปราชญ์ในตำนาน อาจอยู่แต่ในตำนานเท่านั้น  ไม่ได้อยู่ในประวัติศาสตร์


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 16:18
นำบทความคุณสุจิตต์ วงษ์เทศมาให้พิจารณา

ศรีปราชญ์

"ศรีปราชญ์"ไม่มีตัวตนจริง และไม่ได้แต่ง"กำสรวลศรีปราชญ์"

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ศรีปราชญ์แต่งโคลงกำสรวลศรีปราชญ์และอนิรุทธคำฉันท์ ใครๆ ก็เรียนมาอย่างนี้และรู้มาอย่างนี้ ผมเองก็เรียนและรู้อย่างนั้นไม่ผิดเพี้ยน ยังเคยลงไปสำรวจถึง สระล้างดาบ เล่มที่ฆ่าศรีปราชญ์ เมืองนครศรีธรรมราช

ต่อมาอีกนานถึงได้อ่านหนังสื่อชื่อ กำศรวญศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์ โดย พ. ณ ประมวญมารค พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2502 เกือบ 50 ปีแล้ว จนได้เฝ้า หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี "ท่านจันทร์" ถึงได้รู้ว่าเป็นนามปากกาของท่าน แล้วทรงเมตตาให้ถกถามรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นครั้งคราว
บรรดานักปราชญ์กับนักค้นคว้า รวมถึงนักวิชาการเกือบหมดประเทศ ต่างเชื่อถือ แล้วแต่ง "ตำรา" ใช้สอนในสถาบันทุกระดับว่า ศรีปราชญ์แต่งกำสรวลศรีปราชญ์  แต่ พ. ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี) คัดค้านเรื่องนี้ไว้นานแล้วว่าศรีปราชญ์ไม่ได้แต่งกำสรวลศรีปราชญ์ ทรงมีพระนิพนธ์เป็นหนังสือเล่มโต พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 มีความตอนหนึ่งโดยสรุปว่า

"ข้าพเจ้าจะแสดงจากตัวบทกำสรวญว่าปฏิภาณกวีในสมัยพระนารายณ์ ที่เรารู้จักกันว่าศรีปราชญ์ มิได้แต่งนิราศที่เรารู้จักกันว่ากำสรวญศรีปราชญ์"
พ. ณ ประมวญมารค เรียกชื่อวรรณคดีนี้ว่า กำสรวลสมุทร (ตามชื่อในจินดามณี) แทนชื่อเรียกผิดๆ ว่า กำสรวลศรีปราชญ์ โดยมีพยานหลักฐาน และลักษณะกวีวรโวหาร ฉันทลักษณ์ รวมถึงประวัติศาสตร์โบราณคดีที่กรุงศรีอยุธยา สอดคล้องกันว่า กำสรวล เป็นพระราชนิพนธ์ใน สมเด็จพระบรมราชาธิราช (โอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ)
หลังทำพจนานุกรมฉบับมติชนเสร็จแล้ว ผมเลยอาราธนาอาจารย์ ล้อม เพ็งแก้ว และคณะ ช่วยเอาเวลาว่างๆ ชำระกำสรวลสมุทรขึ้นใหม่อีกครั้ง เสร็จแล้วได้พิมพ์เป็นเล่มให้ชื่อ กำสรวลสมุทร หรือ กำสรวลศรีปราชญ์ เป็นพระราชนิพนธ์ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา โดยสรุปว่า "ศรีปราชญ์" ไม่มีตัวตนจริง และไม่ได้แต่ง "กำสรวลศรีปราชญ์" โดยรวบรวมเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานเกี่ยวข้องมาพิมพ์รวมไว้หมด

ความทรงจำเรื่องศรีปราชญ์มีขึ้นจากความพยายามยกย่องของ พญาตรัง กวีสมัยต้นกรุงเทพฯ แผ่นดินรัชกาลที่ 1-3 ที่ประวัติส่วนตัวใกล้เคียงกับ "ตำนานศรีปราชญ์" ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) แต่งขึ้นใหม่เมื่อเรือน พ.ศ.2462 แผ่นดินรัชกาลที่ 6 นี้เอง แต่เราเอามายึดเป็นเรื่องจริงทั้งหมด แล้วบรรจุเป็นตำราว่าถูกต้องทุกอย่างจนปัจจุบัน

สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ควรเผยแพร่แบ่งปันความรู้ที่มีพยานหลักฐานจริงๆ และรอบด้าน ไม่ควร "ยกเมฆ"


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 16 ส.ค. 12, 17:25
โคลงของศรีปราชญ์ที่คุณ sujitra ยกมาจากเว็บไซต์หนึ่งในอินทรเนตรนั้น  มาจากหนังสือชื่อ ตำนานศรีปราชญ์ เรียบเรียงโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์) ในรัชกาลที่ 5 นี้เองค่ะ   จนบัดนี้ก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงว่ามีตัวตนจริงหรือไม่    อาจไม่มี หรือถ้ามีก็ไม่ใช่คนเดียวกับที่แต่งนิราศเรื่อง กำศรวล  หรือก่อนหน้านี้เรียกว่า กำศรวลศรีปราชญ์
เมื่อดิฉันเรียนอยู่ในคณะอักษรฯ   อาจารย์ให้เอกสารมาอ่าน  เป็นหนังสือเล่มเล็กๆของอาจารย์ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล  วิเคราะห์เรื่องกำศรวลศรีปราชญ์ ซึ่งมีเนื้อหาอย่างที่คุณ sujitra ยกมา   ในข้อวิเคราะห์ของท่านนแสดงความเคลือบแคลงสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับตัวตนจริงของกวีเอกสมัยสมเด็จพระนารายณ์  โดยสอบข้อมูลจากพระราชพงศาวดารต่างๆ    พบว่าไม่มีการสั่งประหารพระยานครศรีธรรมราชในปลายสมัยพระนารายณ์ หรือแม้แต่ในสมัยถัดมา คือพระเพทราชา
นอกจากนี้นักวรรณคดียังมองเห็นความแปลกแยกทางภาษาระหว่างโคลงกำศรวล  ซึ่งใช้โคลงดั้น และโคลงในตำนานศรีปราชญ์ ซึ่งเป็นโคลงสี่สุภาพ   พบว่ากำศรวลใช้ภาษาเก่ากว่ามาก   เป็นคนละยุคคนละสมัยกัน     เนื้อความในกำศรวลก็ไม่ตรงกับเนื้อความในตำนานศรีปราชญ์   กวีผู้แต่งกำศรวล มีภูมิหลังเป็นคนใหญ่คนโต เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาแบบผู้เดินทางอย่างเป็นทางการ มีคนมาส่งมากมาย   ไม่ใช่อย่างข้าราชสำนักที่ถูกเนรเทศ
มีรายละเอียดอีกหลายอย่างค่ะ ทำให้นักวรรณคดีเชื่อกันว่า ศรีปราชญ์ในตำนาน อาจอยู่แต่ในตำนานเท่านั้น  ไม่ได้อยู่ในประวัติศาสตร์

ขอบคุณท่านอาจารย์ใหญ่มากครับที่ช่วยชี้แนะ
ผมคิดว่านี่เป็นเส่ห์อย่างมากของเว็บนี้คือช่วยกันพิจารณาวิพากษ์สิ่งที่เข้ามาในเว็บวิชาการนี้


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 18:07
ถ้าคุณ sujittra เจอเรื่องที่น่าสนใจแบบนี้อีก ขอเชิญเข้ามาโพสต์ให้วิเคราะห์วิจารณ์กันอีกนะคะ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 20:03
ชื่อ ศรีปราชญ์ นี้มีอยู่ใน คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม   (http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=rattanakosin225&date=10-08-2007&group=2&gblog=74)

อัน พระสุริเยนทราธิบดี  นั้น พระองค์พอพระทัยเล่นกาพย์ โคลง ฉันท์ ทั้งพระราชนิพนธ์ของพระองค์ก็ดี จึ่งมหาดเล็กคนหนึ่งเปนนักปราชญ์ช่างทำกาพย์โคลงฉันท์ดีนัก พระองค์โปรดปรานแล้วประทานชื่อเสียงเรียกว่า ศรีปราชญ์ เปนสาหรับได้ทำโคลงหลวง ครั้นอยู่มาศรีปราชญ์นั้นทำโคลงให้กับพระสนมข้างใน ครั้นพระองค์ทราบก็ทรงพระโกรธ แต่ไม่ลงโทษทัณฑ์จึ่งส่งไปไว้เมืองนคร

ศรีปราชญ์จึงต้องไปอยู่เมืองนครตามรับสั่ง ศรีปราชญ์จึ่งไปทำโคลงให้กับภรรยาน้อยเจ้าเมืองนคร ครั้นเจ้าเมืองนครรู้ว่าศรีปราชญ์นี้ ทำโคลงให้กับเมียน้อยของตัวนั้น จึ่งขึ้งโกรธแล้วจึ่งเอาตัวศรีปราชญ์ไปฆ่าเสีย เมื่อจักฆ่าศรีปราชญ์นั้น ศรีปราชญ์จึ่งว่าเรานี้เปนนักปราชญ์หลวง แล้วก็เปนลูกครูบาอาจารย์ แต่องค์พระมหากษัตริย์ยังไม่ฆ่าเราให้ถึงแก่ความตาย ผู้นี้เปนแต่เจ้าเมืองนครจักมาฆ่าเราให้ตาย เราก็จักต้องตายด้วยตามเจ้าเมืองนคร สืบไปเมื่อหน้าขอให้ดาบอันนี้คืนสนองเถิด ครั้นศรีปราชญ์ว่าแช่งไว้ดังนั้นแล้ว ศรีปราชญ์ก็ตายด้วยตามเจ้าเมืองนครสั่ง ที่ศรีปราชญ์เขียนแช่งไว้นั้นเปนคำโคลง เขียนกับแผ่นดินให้เปนทิพยพยาน

ครั้นอยู่มาพระองค์มีรับสั่ง ให้เรียกหาตัวศรีปราชญ์ ก็ไม่ได้ดังพระประสงค์ เสนาจึงกราบทูลว่า พระยานครฆ่าเสีย อันว่าศรีปราชญ์นั้นถึงแก่ความตาย แล้วพระองค์จงตรัสถามเสนาว่า ศรีปราชญ์มีโทษประการใด จึ่งฆ่ามันเสีย เสนาจึ่งทูลว่า ศรีปราชญ์ทำโคลงให้กับภรรยาน้อยเจ้าเมืองนคร ครั้งเจ้าเมืองนครรู้ก็โกรธ จึ่งฆ่าศรีปราชญ์เสีย พระองค์ก็ทรงพระโกรธ แล้วจึ่งตรัสสั่งว่าอันศรีปราชญ์นี้เปนนักปราชญ์ แล้วก็เปนสำหรับเล่นกาพย์โคลงกับกู โทษมันแต่เพียงนี้ แต่กูยังไม่ฆ่ามันให้ตาย อ้ายเจ้าเมืองนครมันไม่เกรงกู มันฆ่าศรีปราชญ์เสียให้ตาย มันทำได้จึงมีรับสั่งกับเสนาให้เร่งออกไป แล้วเอาดาบเจ้าเมืองนครที่ฆ่าศรีปราชญ์นั้นฆ่าเจ้าเมืองนครเสียให้ตาย เสนาก็ถวายบังคมลา แล้วจึงออกไปถึงเมืองนคร ครั้งถึงจึงเอาดาบที่เจ้าเมืองนครฆ่าศรีปราชญ์นั้น ฆ่าเจ้าเมืองนครฆ่าศรีปราชญ์นั้น ฆ่าเจ้าเมืองนครเสียตาม มีรับสั่งอันเจ้าเมืองนครนั้นก็ถึงแก่ความตายด้วยพระราชอาญา

  ;D


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 21:05
พระสุริเยนทราธิบดี  หมายถึง พระเจ้าเสือ  ทรงพระนามอย่างเป็นทางการว่าพระบาทสมเด็จพระสรรเพชญที่ 8  เป็นพระราชโอรสของพระเพทราชา ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง พ.ศ. 2246-2251  พงศาวดารไม่ได้บันทึกไว้ว่าโปรดเรื่องกวีนิพนธ์  พระราชกรณียกิจหนักไปทางด้านศาสนา


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 21:31
เนื้อหาเกี่ยวกับศรีปราชญ์ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมตรงกันกับคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด

คุณพุ่มคงทราบตำนานศรีปราชญ์นี้ดีจึงแต่งเอาไว้ใน เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ (http://www.reurnthai.com/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4) ตอนหนึ่งดังนี้

ครั้งแผ่นดินปิ่นอยุธพระพุทธเลิศ         ช้างเผือกเกิดกับสยามถึงสามสาร
เป็นพาหนะพระที่นั่งอลังการ             เกิดอาจารย์ท่านครูภู่สุนทร
แกก็แต่งพระอภัยขึ้นไว้ขาย              เรื่องนิยายขี้ปดสยดสยอน
แผ่นดินทุ่งกรุงเก่าเจ้านิกร               อดิศรสุริยวงศ์ที่ทรงปลา
นามพระศรีสุริเยนทร์นเรนทร์ราช        เกิดศรีปราชญ์ปรากฏไว้ยศถา
ครั้งบุรินทร์พระนารายณ์สู้สายฟ้า        เป็นบิดาขุนหลวงเดื่อเชื้อกวี
เกิดมหาราชครูชูฉลาด                   ได้รองบาทบงกชบทศรี
แต่งพระลอดิลกทรงหลงสตรี            กับพระศรีสมุทโฆษก็โปรดปราน

 ;D


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 22:11
 อดิศรสุริยวงศ์ที่ทรงปลา  ที่คุณพุ่มเรียก หมายถึงพระเจ้าท้ายสระ   พระโอรสของพระเจ้าเสือ   มีพระนามในพระสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙’  แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า  ‘ขุนหลวงท้ายสระ’ บ้าง 'ขุนหลวงทรงปลา' บ้าง  เพราะว่ากันว่าโปรดประทับพระที่นั่งท้ายสระสำหรับทรงตกปลา  โปรดเสวยปลาตะเพียนและเพดานปลากะโห้ด้วย
ไม่ได้หมายถึงพระเจ้าเสือ   ซึ่งในนี้คุณพุ่มเรียกว่า ขุนหลวงเดื่อ     นอกจากนี้เธอยังระบุไว้ด้วยว่าพระมหาราชครู(หรือพระโหราธิบดี)ซึ่งในตำนานบอกว่าเป็นบิดาของศรีปราชญ์ เป็นกวีสมัยสมเด็จพระนารายณ์   ถอยหลังไปอีกถึง 2 รัชสมัย     ถ้านับตามอายุแล้วศรีปราชญ์ไม่น่าจะเป็นหนุ่มอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ  น่าจะวัยกลางคนหรือแก่แล้ว

ความเชื่อเรื่องตำนานศรีปราชญ์มีมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์   นายนรินทร์ธิเบศร์มหาดเล็กวังหน้าของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เป็นคนแรกที่เอ่ยถึงศรีปราชญ์ในฐานะผู้แต่ง "กำศรวล"  และท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในฐานะคนรัก     ทำให้เชื่อกันต่อมาอีกยาวนานกว่านิราศโคลงดั้นเรื่อง "กำศรวล" เป็นผลงานของศรีปราชญ์   ประกอบกับกวีเรียกตัวเองว่า "ศรี" ด้วย  จึงสอดคล้องกันเป็นปี่เป็นขลุ่ยมาอีกนานนับร้อยปีในสมัยรัตนโกสินทร์


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 22:41
อดิศรสุริยวงศ์ที่ทรงปลา นั้น นามพระศรีสุริเยนทร์นเรนทร์ราช  หนา  พระเจ้าเสือก็ทรงโปรดการตกปลามิใช่ฤๅ

เป็นไปได้ว่า "ศรีปราชญ์" ตามตำนานมีตัวตนจริง แต่ไม่ได้แต่ง "กำสรวลศรีปราชญ์"

 ;D
     


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 08:32
ก็เป็นได้หนา    เพราะทรงปลากันทั้งพระบิดาและพระโอรส    แต่ในกลอนเรียกพระนามพระเจ้าเสือว่า ขุนหลวงเดื่อ มิใช่ฤๅ?


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ส.ค. 12, 15:56
ก็คงจะพอสรุปได้ว่าช่วงอยุธยาตอนปลายมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีตำนานเรื่องศรีปราชญ์เล่ากันอยู่ในช่วงเวลานั้นแล้ว แต่ช่วงเวลานั้นสับสนไม่สามารถระบุได้แน่นอน เรื่องราวก็ไม่ชัดเจน มีลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็น "ตำนาน"

ข้อเท็จจริงที่อาจกล่าวได้ก็คือ กวีนิพนธ์ที่ติดป้ายชื่อศรีปราชญ์นั้น ประพันธ์โดยกวีหลายคนในช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกันนับเป็นร้อยๆปี อีกทั้งหากนำเรื่องราวที่แฝงในบทกวีทั้งหมดมาประมวล ประวัติของศรีปราชญ์ย่อมแตกต่างไปจากหนังสือ "ตำนานศรีปราชญ์" มากนัก แต่ครั้นจะบอกว่าศรีปราชญ์ไม่มีตัวตนจริง ก็ไม่กล้าสรุปได้ถึงเพียงนั้นครับ

ผมเจอข้อเขียนที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง รวบรวมข้อมูลได้น่าอ่านมากทีเดียวครับ
http://www.km.secondary42.com/main/?name=research&file=readresearch&id=168 (http://www.km.secondary42.com/main/?name=research&file=readresearch&id=168)


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 18:07
ถือโอกาสขอลอกจากเว็บนั้นมาลงในนี้ค่ะ   ภายหน้า  เผื่อเว็บนั้นขัดข้องหรือยกเลิกไป  จะได้มีเนื้อหาให้อ่านได้ในกระทู้นี้

 
ศรีปราชญ์?

บทนำ

           
เรื่อง “ศรีปราชญ์” เป็นเรื่องที่น่าสนใจมานานนักแล้ว แต่ยังหาได้มีผู้ใดได้ขบคิดให้แตกหักลงไปไม่ว่าเรื่อราวของศรีปราชญ์นั้นเป็นประการใด ตำนานศรีปราชญ์ที่พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ) ลงพิมพ์ในหนังสือวิทยาจารย์ในกาลก่อนโน้นฉบับเดียวเท่านั้นที่เห็นยึดถือกันอยู่ แม้หนังสือเกี่ยวกับ “วรรณคดี” ชั้น “ตำรา” ที่ออกมา 3-4 เล่ม ในระยะหลังนี้ ก็ได้คัดลอกความคิดเห็นนั้นลงต่อๆกันไป มิได้มีการวิจารณ์ผิดแผกแตกหักลงไปเลย

สำหรับคนไทยทั่วไปแล้ว ถ้าเอ่ยถึงวรรณกรรมเรื่อง กำสรวลสมุทร ในฐานะวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของไทยแล้ว คงจะมีน้อยคนนักที่รู้จัก แต่ในทางกลับกัน ถ้าถามว่า รู้จัก กำสรวลศรีปราชญ์ หรือไม่ ก็คงจะมีน้อยคนที่จะบอกว่า ไม่รู้จัก เพราะนามศรีปราชญ์ได้แพร่หลายผ่านสื่อบันเทิงสมัยใหม่ทั้งในบทเพลงและละครจนถือว่า เป็นนามอมตะไปแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ชื่องานวรรณกรรมที่กลายจาก กำสรวลสมุทร เป็นกำสรวลศรีปราชญ์ เป็นผลมาจากการที่นักศึกษาวรรณกรรมไทยยกฐานะตำนานที่สับสนและขัดแย้งกันขึ้นมาเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพื่อสนับสนุนว่า ศรีปราชญ์เป็นบุคคลจริงผู้ใดในประวัติศาสตร์ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชั้นต้นยืนยันเลย

เมื่อพิจารณา “วรรณกรรม” ว่าเป็นของศรีปราชญ์ เท่าที่ปรากฏว่ามีอยู่ในขณะนี้แล้ว จะเห็นได้ชัดไม่มีใครถกเถียงได้ว่า มีอยู่สามเรื่องด้วยกัน เรื่องที่หนึ่งเรียกกันว่า กำสรวลโคลงดั้น เรื่องที่สองคืออนิรุทธ์คำฉันท์ และเรื่องที่สามไม่ใช่เรื่อง แต่เป็นโคลงบทๆ ว่า ศรีปราชญ์แต่ง ในจำพวกโคลงเหล่านี้บางโคลงที่ว่ากันว่าศรีปราชญ์แต่ง เมื่อไปค้นดูใน “โคลงกวีโบราณ” ที่พระยาตรัง “จ่าไว้ถวาย” ปรากฏว่าเป็นของศรีธนนชัยและคนอื่นๆ ก็มี โคลงที่ว่าศรีธนนชัยแต่งนั้นเป็นโคลงหนึ่งคือ

                        เรียมไห้ชลเนตรถ้วม                ถึงพรหม
         พาหมู่สัตว์จ่อมมจม                                ชีพม้วย
         พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม                              ทบท่าว ลงแฮ
         อักนิฐพรหมฉ้วย                                    พี่ไว้จึงคง

และถ้าหากจะมีผู้เถียงว่า “ศรีธนนชัย” เป็นคนเดียวกับ “ศรีปราชญ์” นั่นก็จนใจ แต่ความเห็นข้าพเจ้าว่าน่าจะไม่ใช่ เรื่องของศรีปราชญ์เท่าที่รู้เห็นกันนี้มีอยู่สามเรื่องดังกล่าวมาแล้ว


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 18:10
     หากจะนำเรื่องทั้งสามของศรีปราชญ์มาวินิจฉัยเทียบกันดูและพิจารณาด้วยปัญญาจริงๆ แล้วจะเห็นได้ว่ากำสรวลโคลงดั้นก็ดี อนิรุทธ์คำฉันก็ดี ตลอดจนประเภทโคลงต่างๆ ที่อยู่ในประวัติศรีปราชญ์ก็ดี หาใช่สำนวนคนๆ เดียวกันไม่ กำสรวลโคลงดั้นนั้นอายุเก่ากว่าอนิรุทธ์คำฉันท์ถึง 200 ปี เพราะกำสรวลโคลงดั้นเป็นหนังสือที่เห็นชัดๆ ว่าอยู่ในสมัยอยุธยาสมัยแรก คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทั้งถ้อยคำสำนวนไม่มีที่เถียงเลยเทียบได้กับยวนพ่าย พระลอ และมหาชาติคำหลวง ซึ่งได้วินิจฉัยไว้แล้วในหนังสือวารสารแห่งสมาคมค้นวิชาประเทศไทย ฉบับภาษาไทยเล่ม 3 เรื่อง “สอบสวนการแต่งลิลิตพระลอ” และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ก็ได้ประทานวินิจฉัยไว้ในเพลงยาวกลบทกลอักษรแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องมาวินิจฉัยกัน ณ ที่นี้อีก แต่ข้อควรนำมากล่าวก็คือหนังสือ “จินดามณี” ที่ว่า พระโหราธิบดี (บิดาของศรีปราชญ์?) แต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น ได้ยกเอาคำโคลง 3 บทต้นกำสรวลโคลงดั้นมาอ้างเป็นตัวอย่างของโคลงดั้นมาอ้างเป็นตัวอย่างของโคลงดั้นบาทกุญชรว่า

            “อยุธยายศยิ่งฟ้า                              ลงดิน
         บุญอำเพอเพรงพระ                              กอบเกื้อ
         เจดีย์ละอออินทร                                 ปราสาท
        ในทาบทองแล้วเนื้อ                              นอกโสรม

            พรายพรายพระธาตุเจ้า                       จยรจันทร์
        ไตรโลกย์เลงคือโคม                              ค่ำเช้า
        รบยงบรรหารสวรรค์                               รจเหมข
        ทุกแห่งห้องพระเจ้า                               น่งงเนือง

             ศาลาเอนกสร้าง                             แสนเสา
        ธรรมาสม์จงใจเมือง                              สู่ฟ้า
        วิหารย่อมฉลักเฉลา                              ฉลุแผ่น ไส้นา
        พระมาศเหลื้อมเหลื้อมหล้า                      หล่อแสง”


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 18:11
          หาก “ศรีปราชญ์” เป็นบุตรพระ “โหราธิบดี” ก็แปลกอยู่มิใช่น้อย ที่บิดาผู้แต่งตำราหนังสือไทยอันเป็นรากฐานสำคัญยิ่งเล่มแรกของชาติ ลอกโคลงของบุตรมาอ้าง และถ้าพระ “โหราธิบดี” นี้เป็นพ่อ “ศรีปราชญ์” ผู้แต่งกำสรวลดั้นจริงก็ค่อนข้างจะชอบกลอยู่ เพราะพระโหราธิบดีจะต้องเกิดก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถึง 200 ปี
          เมื่อเทียบกับกำสรวลโคลงดั้นกับจินดามณี หรือแม้แต่สมุทรโฆษคำฉันท์ ตอนที่ว่าพระมหาราชครูแต่ง กับตอนพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนารายณ์ก็จะเห็นได้ชัดว่าสำนวนผิดกันลึกล้ำ ด้วยเหตุนี้ จึงวินิจฉัยไว้ ณ ที่นี้เป็นเบื้องต้นว่า หาก “กำสรวลโคลงดั้น” เป็นโคลงที่ “ศรีปราชญ์” สมัยสมเด็จพระนารายณ์แต่งแล้ว “ศรีปราชญ์” ผู้แต่งกำสรวลดั้นนั้นจะต้องเกิดก่อนพระโหราธิบดีถึง 200 ปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างชัดเจน และหากพระโหราธิบดีนั้นมีบุตรชายเป็นศรีปราชญ์จริง ศรีปราชญ์บุตรพระโหราธิบดีผู้รจนา “อนิรุทคำฉันท์” นั้นอาจอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ไม่มีที่ถกเถียง แต่อนิรุทธ์คำฉันท์กับกำสรวลโคลงดั้นตามความเห็นด้วยความแน่ใจของข้าพเจ้าว่า จะเป็นสำนวนเดียวกันไม่ได้โดยเด็ดขาด !
         ในเมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดปัญหาขึ้นว่า ศรีปราชญ์มิได้มีเพียงคนเดียวดอกหรือ? ความข้อนี้ก็น่าคิด เมื่อคิดไปถึงชื่อคนในสมัยก่อนเท่าที่พอจะหาได้ สมเด็จพระราชชนนีขอพระเจ้ารามคำแหงแห่งนครสุโขทัยทรงพระนามว่า “เสือง” สมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระนามเดิมว่า “ดำ” สมเด็จพระเอกาทศรถว่า “ขาว” ขุนหลวงศรศักดิ์ “เดื่อ” พระยาโกษาธิบดี “ปาน” พระเจ้ากรุงธนบุรี “สิน” ฉะนั้นถ้าจะมีคนชื่อ “ศรีปราชญ์” ในครั้งโน้น ก็ดูออกจะค่อนข้างหรูเกินสมัยอยู่ ทำให้ใคร่วินิจฉัยว่า “ศรีปราชญ์” นั้นหาใช่ชื่อคนไม่ หากเป็นชื่อตำแหน่งของกวีเอกในราชสำนัก ทำนองเดียวกับศรีธนนชัย (ปราชญ์ประจำราชสำนัก?) หาก “ศรีปราชญ์” เป็นชื่อตำแหน่ง “ศรีปราชญ์” ก็มีได้หลายคน ทำนองเดียวกับชื่อ “ศรีสุนทรโวหาร” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หรือชื่อ “สารประเสริฐ” ที่มีในทวาทศมาสครั้งกรุงศรีอยุธยาต้น ดังนี้ เมื่อพิจารณาให้เห็นเช่นนี้แล้ว การที่ศรีปราชญ์จะแต่งกำสรวลโคลงดั้น หรืออนิรุทธ์คำฉันท์ก็หาแปลกไม่ เพราะเป็นศรีปราชญ์คนละคน ซึ่งถ้าจะเถียงว่าต้องเป็นคนเดียวกันแล้ว ศรีปราชญ์คนนั้นจะต้องมีอายุอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 200 ปี!


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 18:13
     โดยเฉพาะผู้แต่งโคลงที่พระยาปริยัติธรรมธาดานำมาอ้างประกอบประวัติศรีปราชญ์นั้น น่าจะเป็น “ศรีปราชญ์” อีกคนหนึ่ง “ถ้ามี” เพราะสำนวนคำโคลงต่างๆ นั้นเป็นสำนวนใหม่มากใหม่กว่า “อนิรุทธ์คำฉันท์” และใหม่เทียบได้ในระหว่างสำนวน “พระยาตรัง” สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กับสำนวนเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งหากผู้แต่งโคลงประกอบประวัติจะเป็นศรีปราชญ์ ข้าพเจ้าขอลงมติให้เป็น “ศรีปราชญ์” อีกคนหนึ่ง รวมความว่าอย่างน้อยๆ พิจารณาจากสำนวนหนังสือที่แต่ง และตามหลักฐานที่กล่าวมาแล้วนี้จะต้อมีศรีปราชญ์ถึง “สามคน”

      ข้าพเจ้าขอคัดค้านความเห็นที่ว่าศรีปราชญ์แต่งกำสรวลโคลงดั้นเมื่อถูกเนรเทศไปเมืองนครศรีธรรมราช ความข้อนี้ หากอ่านกำสรวลโคลงดั้นเท่าที่มีอยู่ให้ละเอียด จะเห็นชัดว่ากำสรวลโคลงดั้นนี้เป็นนิราศที่แต่งจากกรุงศรีอยุธยามาจริง แต่จะไปไกลแค่ไหนนั้นเท่าที่อ่านพบในฉบับทั้งหลายบรรดามีในหอสมุดแห่งชาติ ก็ไม่ไกลที่สุดแค่ปากแม่น้ำเจ้าพระยานี้เอง โดยอ้างโคลงบทนี้ ซึ่งมีทั้งเกาะสีชัง เกาะไผ่ และเกาะครามว่า

            “มุ่งเห็นละล่ายน้ำ                     ตาตก แม่ฮา
       เกาะสระชงงชลธี                           โอบอ้อม
       มลักเห็นไผ่รยงรก                          เกาะไผ่ พู้มแม่
       ขยวสรดิ้วลำย้อม                           ยอดคราม”
         
        และคำโคลงสุดท้ายที่บ่งถึงตำบลที่มีอยู่ก่อนจะจบก็คือโคลงที่ขึ้นต้นว่า “เยียมาบางผึ้งแผ่    รวงรยง”   ซึ่งเป็นการย้อนกลับเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาอีก บางผึ้งเท่าที่สอบสวนหลักฐานทางภูมิศาสตร์ อยู่ระหว่างกรุงเทพฯ กับสมุทรปราการ คือระหว่างราชบูรณะกับพระประแดงนี้เอง หากเป็นโคลงที่แต่งทำนองนิราศนครศรีธรรมราช น่าจะได้มีคำโคลงใดอ้างถึงฝั่งทะเลตะวันตกของอ่าวสยามไว้บ้างดังเช่นนายนรินทร์ธิเบศรอ้าง แต่เท่าที่ค้นไม่พบเลย หากว่าต้นฉบับขาดหายก็จนใจ! แต่อย่างไรก็ดี ที่อ้างกันในประวัตินั้นว่า “กำสรวลโคลงดั้น” นี้เป็นผลงานสำคัญชิ้นสุดท้ายของศรีปราชญ์ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นศรีปราชญ์สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แล้วก็ยังสงสัยอยู่ ออกจะเป็นการแปลกอยู่มิใช่น้อยที่มีหลักฐานชัดเจนบ่งอยู่ว่า “ศรีปราชญ์” เป็นกวีเอกประจำราชสำนักไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลักฐานนี้คือคำให้การชาวกรุงเก่าที่ใช้พระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว เป็นหนังสือที่รัฐบาลอังกฤษได้มาจากหอหลวงในพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินพม่าที่เมืองมัณฑะเลเมื่อ พ.ศ.2429 ในหน้า 126 ว่าเป็นรัชกาลพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระพุทธเจ้าเสือง) มีความว่า


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 18:15
          “ในรัชกาลนั้นมีชายคนหนึ่งชื่อศรีปราชญ์ ฉลาดในทางโหรศาสตร์และพระไตรปิฎก ชำนาญทางแต่งกาพย์โคลงบทกลอนทั้งปวงด้วย พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีพอพระทัยในทางโหราศาสตร์ นิติศาสตร์ พระไตรปิฎก กาพย์โคลง บทกลอน ทรงทราบว่าศรีปราชญ์เป็นคนฉลาดในทางนั้น ก็ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้ ศรีปราชญ์แต่งกาพย์โคลงบทกลอนต่างๆ ถวายพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีโปรดพระราชทานรางวัลเนืองๆ

         อยู่มาศรีปราชญ์ลอบมีเพลงยาวเข้าไปถึงนางสนมในพระราชวัง พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีจับได้ก็ทรงพิโรธ แต่มิได้ให้ลงอาญาอย่างร้ายแรง เป็นแต่ให้เนรเทศไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ด้วยทรงเห็นว่าศรีปราชญ์เป็นพหูสูตรฉลาดในบทกลอน”

         แล้วศรีปราชญ์ก็ถูกฆ่าเพราะแต่งเพลงยาวให้กับภรรยาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเหมือนกับเรื่องที่เคยได้ยินกันมา และในคำโคลงประกอบประวัติศรีปราชญ์ที่พระยาปริยัติธรรมธาดาเขียนไว้ก็กล่าวถึงโคลงบทสำคัญบทหนึ่งว่า

             “ธรณีภพนี้เพ่ง                           ทิพญาณ หนึ่งรา
         เราก็ศิษย์อาจารย์                            หนึ่งบ้าง
         เราผิดทานประหาร                          เราชอบ
         เราบ่ผิดท่านมล้าง                           ดาบนี้คืนสนอง”

          เมื่อวินิจฉัยมาถึงขั้นนี้ ก็ทำให้เห็นว่า ศรีปราชญ์สมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือจะเป็นศรีปราชญ์ผู้มีประวัติตามความในคำให้การชาวกรุงเก่าได้หรือไม่ หรือจะเป็นศรีปราชญ์คนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เพราะเวลาก็ห่างกันชั่วระยะไม่เกิน 20 ปี แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาโดยสำนวน ศรีปราชญ์น่าจะมีไม่น้อยกว่า 3 คน หรืออาจมีในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งเป็น 4 คน แต่ก็ไม่มีงานตกมาถึงให้วิจารณ์
       
         อกจากแนวความคิดที่ได้นำมากล่าวนี้ ยังปรากฏในประเทศอื่นๆ ที่มีกวีเอก มีประวัติคล้ายคลึงศรีปราชญ์ของไทยอีก ทั้งทางทมิฬ และทางพม่า ทำนองเดียวกันนี้ ศรีธนนชัยก็มีเหมือนกัน ทำให้การสอบสวนไขว้เขวขึ้นว่า ประวัติของศรีปราชญ์นั้น จะเป็นประวัติที่คัดลอกกันมาแบบนิยายอื่นๆ ละกระมัง? อย่างไรก็ตามในการวินิจฉัยขั้นนี้เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า ศรีปราชญ์น่าจะเป็นชื่อ “ตำแหน่ง” ไม่ใช่ชื่อบุคคล เรื่องของศรีปราชญ์ตามวรรณคดีที่ตกทอดมาถึงเราทุกวันนี้มี 3 สำนวน ซึ่งอย่างน้อยน่าจะมีศรีปราชญ์ 3 คนด้วยกันคือ สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ คนหนึ่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์ คนหนึ่ง และอีกคนหนึ่งอาจอยู่ในสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ หรือสมัยสมเด็จพระอยู่หัวบรมโกศ หรืออาจเป็นสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือคนหนึ่ง และสมัยสมเด็จพระอยู่หัวบรมโกศคนหนึ่งก็เป็นได้ ส่วนประวัติของศรีปราชญ์นั้น อาจเป็นประวัติของคนใดคนหนึ่ง หรืออาจเป็นประวัติที่คัดลอกกันมาจากประวัติของกวีเอกของชาติใดชาติหนึ่งทำนองเดียวกับเรื่องรามเกียรติ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ก็ได้ ดังนี้การวินิจฉัยนี้เป็นเพียงชี้ให้เห็นทาง ซึ่งอาจเป็นไปได้ด้วยหลักฐานและเหตุผลดังกล่าวแล้ว และคงจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าหาเรื่องราวของ “ศรีปราชญ์” ต่อไป


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 18:44
     ปัญหาที่สำคัญในทางพงศาวดารที่ควรนำมาสอบสวนเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยก็คือปัญหาเรื่อง “เจ้านคร” ว่ามีการประหารเพราะ “ดาบนี้คืนสนอง” บ้างหรือไม่ได้ค้นในพระราชพงศาวดารไม่ปรากฏว่ามีในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือสมเด็จพระนารายณ์ในสมัยสมเด็จพระเทพราชามีแต่เกิดขบถขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช เจ้านครหนีไปได้ ให้แต่งตั้งผู้รั้งกรมการอยู่รักษาเมือง กำลังส่วนใหญ่ก็กวาดต้อนมากรุงศรีอยุธยาสิ้น จนสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปรากฏในเรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชในประชุมพงศาวดารภาคที่ 2 ว่าได้ตั้งพระไชยาธิเบศร์เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช แต่ไม่มีเรื่องการประหารเลย จึงทำให้เกิดความไม่แน่ใจในประวัติตอนท้ายของศรีปราชญ์ยิ่งขึ้น

      ความผิดพลาดเป็นของธรรมดาในการศึกษาและค้นคว้า โดยเฉพาะเรื่องศรีปราชญ์นี้ ได้เรียนกันมาแต่ไหนแต่ไรตามตำราของพระยาปริยัติธรรมธาดา ซึ่งผิดพลาดอย่างไม่มีปัญหา เพียงแต่พิจารณาจากโคลงกวีโบราณที่พระยาตรังจ่าไว้ถวายแล้วจะเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ความผิดพลาดในด้านการศึกษาทางวรรณคดีนั้นเป็นความผิดทางใจ แม้จะผิดกันมานานเมื่อรู้ว่าผิดก็มีทางแก้ได้ด้วยการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม อันตรายที่เกิดจากความผิดในทางนี้แม้จะมีบ้างก็เล็กน้อย เวลาอาจช่วยให้แก้ผิดเป็นถูกได้ แต่ความผิดในด้านอื่นๆ นั้นหากดำเนินไปโดยปราศจากความระมัดระวังและขาดหลักวิชาแล้ว อาจพาให้ชาติบ้านเมืองถึงกับล่มจมได้                                       


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 18:47
วิเคราะห์กำสรวล(ศรีปราชญ์) ในแง่ประวัติศาสตร์และวรรณคดี
         
          ในบรรดากวีของไทยเราคนที่มีชื่อเสียงติดปากผู้คนและมีเรื่องราวอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นหลังเห็นจะไม่มีใครเทียบศรีปราชญ์แต่ประวัติและผลงานของศรีปราชญ์นั้นเราแทบจับต้นชนปลายไม่ถูก สิ่งที่จารึกไว้ก็ดูคล้ายกับเป็นตำนาน
          หนังสือที่หลายต่อหลายคนเข้าใจว่าศรีปราชญ์แต่ง เมื่ออ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ก็ลางเลือน และเรื่องราวเกี่ยวกับตัวศรีปราชญ์เองดูโลดโผนพิสดารเกินสามัญชน
          อย่างไรก็ตามกระแสเสียงที่กล่าวว่าศรีปราชญ์ไม่มีตัวตน และไม่ได้เป็นผู้รจนากำสรวลศรีปราชญ์ นับวันมีแต่จะมากขึ้นในแวดวงของผู้ที่สนใจศึกษาวรรณคดี
ศรีปราชญ์มาจากไหน?

            ต้นเค้าที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของนักวรรณคดีก็คือตำนานศรีปราชญ์ของพระยาปริยัติธรรมดา (แพ ตาละลักษมณ์) หรือหลวงประเสริฐอักษรนิติ เจ้าของพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐซึ่ง  “พงศาวดารฉบับนี้ สมเด็จพระนารายณ์มีรับสั่งให้แต่งขึ้นเมื่อ 4 ฯ5 ค่ำปีวอก โทศก จุลศักราช 1042 (พ.ศ.2223) ต้นฉบับเดิมนั้นพระยาปริยัติธรรมดาเมื่อครั้งยังเป็นหลวงประเสริฐฯ ไปพบต้นฉบับเดิมที่บ้านราษฎรแห่งหนึ่งจึงนำมาให้หอสมุดวชิรญาณเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2450...ข้อความของพระราชพงศาวดารฉบับนี้กล่าวย่อๆ มาถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถึงแม้ว่าข้อความจะกล่าวสั้นๆ แต่มีเนื้อเรื่องที่ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับอื่นออกไปอีกมากและที่สำคัญคือศักราชในพงศาวดารฉบับนี้แม่นยำและเชื่อถือได้มากกว่าพงศาวดารฉบับอื่น...”
       จากข้อความนี้มีสิ่งที่น่าฉงนฉงายอยู่หลายประการ ก็คือ
       1. เมื่อพระนารายณ์ทรงมีรับสั่งให้แต่งพงศาวดารฉบับนี้จริงไฉนจึงเรียกชื่อศรีปราชญ์ว่าเป็นตำนานเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นก็เกิดในรัชสมัยนี้ทั้งสิ้น
       2. ในปี พ.ศ.2223 ที่มีรับสั่งให้แต่งตั้งนั้นปรากฏว่าศรีปราชญ์ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นปีเดียวกับที่ พระโหราธิบดีถึงแก่อนิจกรรม ศรีปราชญ์ถูกเจ้าพระยานครฯ ประหารชีวิต ปี พ.ศ.2226 ขณะนั้นศรีปราชญ์มีอายุได้ 33 ปี (เกิด 2193)
       และนี่คืออะไรกันแน่?
       ความผิดพลาดของตำนานหรือการคลาดเคลื่อนของตัวหนังสือ
       3. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2450 หลวงประเสริฐฯ พบต้นฉบับนั้นอยู่ในรัชสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ แต่โคลงของนายนรินทร์ธิเบศร์กับพระยาตรัง กวีสมัย ร.2 (2352 – 2367) แต่งนิราศนรินทร์และนิราศพระยาตรังในปี 2352 ปีเดียวกัน โคลงของทั้ง 2 คนกล่าวอ้างถึงศรีปราชญ์ไว้ดังนี้


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 18:50
            ศรีปราชญ์นิราศท้าว                    จุฬาลักษณ์
        ร่ำเรื่องร่ำรักทุก                              น่านกว้าง
        ทวาทศมาสศักดิ์                            สามปราชญ์ รังแฮ
        ยังไป่ปานเรียมร้าง                          ร่ำไห้หาสมร
                                                                                    (นิ-ตรัง บทที่ 119)

            กำสรวลศรีปราชญ์พร้อง                 เพรงกล
       จากจุฬาลักษณ์ลาญ                          สวาทแล้ว
       ทวาทศมาสสาร                               สามเทวษ ถวิลแฮ
       ยกทัดกลางเกศแก้ว                          กึ่งร้อนทรวงเรียม

                                                                                    (นิ-นรินทร์-บทที่ 124)
      และที่น่าประหลาดใจยิ่ง คือโคลง 2 บทนี้เนื้อความแทบจะพิมพ์เดียวกัน อ้างกำสรวลศรีปราชญ์และทวาทศมาสแค่ 2 เรื่อง และทั้ง 2 กวีเอาคำว่า (กำสรวล) ศรีปราชญ์มาจากไหน?

      อนุมานได้ว่า เรื่องศรีปราชญ์คงเป็นเรื่องเล่ากันมาอยู่ก่อนแล้วและเฉไปเฉมา บ้างตามคำให้การของขุนหลวงหาวัด และคำให้การของชาวกรุงเก่ากล่าวถึงศรีปราชญ์ว่าเป็นเรื่องในสมัยพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) แต่มีใจความคล้ายคลึงกันหมดก็คือ ศรีปราชญ์ลอบเป็นชู้กับพระสนมแล้วถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราช และถูกพระยานครฆ่าตายในที่สุด เพราะเป็นชู้กับภรรยาของเจ้าพระยานครอีก ละความเชื่อนี้ได้ตกมายังกวีรุ่นหลังบ้าง ดังเช่นคุณพุ่มเขียนถึงศรีปราชญ์ใน เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติฯ ว่า

      “...แผ่นดินทุ่งกรุงเก่าเจ้านิกร อดิศรสุริวงศ์ที่ทรงปลา นามพระศรีสุริเยนนเรนทร์ราช เกิดศรีปราชญ์ปรากฏไว้ยศถา...”

      จวบจนกระทั่งเกิดพบศรีปราชญ์ของหลวงประเสริฐฯขึ้นเรื่องราวของศรีปราชญ์ตามตำนานนี้ดูจะได้รับการเชื่อถือมากที่สุด เพราะเป็นเรื่องเป็นราว มีพ.ศ.บอกไว้ค่อนข้างละเอียดและมีความเป็นไปได้มากกว่า


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 18:52
ความเป็นไปไม่ได้ในความเป็นไปได้

        อย่างไรก็ตาม ตำนานศรีปราชญ์แม้จะเป็นเรื่องที่เป็นตำนานและก็ระบุชื่อผู้คนสถานที่ไว้มาก กระนั้นตำนานศรีปราชญ์ก็ยังมีช่องโหว่และความไม่สมจริงมากมายตามลำดับ คือ
        1. ตำนานศรีปราชญ์กล่าวว่า ในราตรีกาลหนึ่งพระนารายณ์ทรงสำราญอยู่ด้วยกวีกีฬากับบรรดานักปราชญ์ราชกวี พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์โคลงขึ้น 2 บทว่า

            อันใดย้ำแก้มแม่                 หมองหมาย
         ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย               ลอบย้ำ

         ทรงแต่งค้างไว้แค่นี้ แล้วโปรดให้พระยาโหราธิบดี ไปแต่งต่อให้จบ เมื่อพระยาโหราธิบดีมาถึงบ้านคิดเท่าไรก็คิดไม่ออก จึงเอากระดานที่มีพระราชนิพนธ์ค้างวางไว้ จนถึงเลาเช้า ก็ออกไปรับประทานอาหาร กลับมาก็พบโคลงต่อจนครบบท ว่า

              ผิวคนแต่จะกราย               ยังยาก
              ใครจะอาจให้ช้ำ                ชอกเนื้อเรียมสงวน

            ครั้งถึงเวลาเข้าเฝ้าจึงนำขึ้นทูลถวาย พระนารายณ์ทอดพระเนตรทรงสงสัยตรัสถามว่าใครแต่ง เพราะดูหนุ่มกว่าวัยพระโหราธิบดี เมื่อทรงทราบว่าลูกพระโหราธิบดีอายุ 9 ขวบ (บางฉบับบางรายว่า 12 ขวบ) เป็นคนแต่งก็ทรงไม่เชื่อว่าเด็กอายุ 9 ขวบ จะแต่งได้...

            โดยธรรมดาของกวีย่อมมีนิสัยอย่างหนึ่งคือทิฐิแรงกล้า ยิ่งพระนารายณ์ทรงเป็นถึงพระมหากษัตริย์ยิ่งทรงมีขัตติยะมานะสูงส่งไฉนพระองค์จึงนำโคลงที่ค้างไว้ให้ผู้อื่นแต่งต่อและทำไมไม่ทรงให้กวีอื่นที่มีฝีมือสูงส่งเช่น พระศรีมโหสถ ผู้แต่งโคลงเฉลิมพระเกียรติ กาพย์ห่อโคลง โคลงอักษรสามหมู่หรือพระมหาราชครูผู้แต่งฉันท์สมุทรโฆษตอนต้น – เสือโคคำฉันท์ ในด้านกวีนิพนธ์พระโหราธิบดีไม่ค่อยปรากฏผลงานนอกจากราวบรวมตำราจินดามณีและคาดว่ามีพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา (ฉบับหลวงประเสริฐฯ) อีกชิ้นหนึ่งทั้งองศ์พระนารายณ์เองก็ทรงมีพระราชนิพนธ์โคลงทางสุภาษิตไว้คือ ราชสวัสดิ์ (63 บท) พาลีสอนน้อง (32 บท) และทศรสสอนพระราม (12 บท ) และในปีที่พระองค์ทรงแต่งโคลงค้างไว้คือปี 2205 ทรงมีพระชนมายุ 30 พรรษา ซึ่งกำลังอยู่ในวัยฉกรรจ์ของวัยหนุ่ม ซึ่งนัยนี้แล้ว งานเพียงแต่งโคลงให้จบบทคงไม่เหลือพระกำลังที่จะทรงแต่ง และยิ่งถ้าศรีปราชญ์เมื่ออายุ 9 ขวบ แต่งจบได้และเชื่อมความสนิทแล้ว งานของศรีปราชญ์ในระยะต่อมาน่าจะมีมากกว่า 2 เล่ม คือ กำสรวลและอนิรุทธ์คำฉันท์ (ตามความเชื่อดั้งเดิม) เพราะนี่คือผลแสดงความเป็นมหากวีอย่างยิ่งเท่าที่กวีไทยจะมีมาในประวัติศาสตร์

            2. ในปี พ.ศ.2208 พระนารายณ์โปรดให้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีที่ 2 เพราะทรงเล็งเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ใกล้ปากอ่าว ง่ายต่อการถูกปิดล้อมและถูกบุกรุกจากต่างชาติ เพราะรัชสมัยนี้มีชาวต่างประเทศ เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, ฮอลันดา ฯลฯ มาติต่อทางด้านการค้าขาย, ศาสนาและพยายามล่าอาณานิคมด้วย...อังกฤษและฮอลันดาถึงกับวางอำนาจเอาเรือรบมาปิดอ่าวไทย จนพระนารายณ์ถึงกับต้องยอมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเซ็นต์สัญญาทางการค้ากับฮอลันดา ซึ่งเป็นการเสียเปรียบอย่างมาก การสร้างลพบุรีเป็นราชธานี ก็เป็นพระราชกุศลอย่างหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปิดล้อมอ่าวโจมตีอีก

            สมเด็จพระนารายณ์โปรดประทับที่พระราชวังลพบุรีมาก เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับเป็นประจำราวปีละ 8 – 9 เดือน คงเสด็จมาประทับ ณ กรุงศรีอยุธยาปีละ 3 – 4 เดือน หรือเฉพาะในเวลามีงานพระราชพิธีเท่านั้น


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 18:55
       โดยนัยนี้เราจะเห็นไดว่าพระนารายณ์จะทรงเอาเวลาเหลือเฟือมาจากไหนในการทรงกวี ณ พระราชตำหนักแห่งกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งมีคำกล่าวว่า รัชสมันของพระองค์เป็นยุคทองแห่งวรรณคดี แม้กระทั่งนายประตูพระราชวังก็สามารถเอื้อนเอ่ยเป็นคำโคลงได้ ฉะนั้นข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งก็คือ พระนารายณ์คงจะทรงขนเอาข้าราชบริพาร ตลอดจนบรรดากวีไปไว้ ณ พระราชวังลพบุรี (นารายณ์ราชนิเวศน์) ริมแม่น้ำลพบุรีในปี พ.ศ.2220 เพราะพระราชวังใช้เวลาสร้าง 12 ปี จึงแล้วเสร็จ และพระนารายณ์ก็สวรรคตที่ลพบุรีนี่เอง
       แต่ข้อความตั้งแต่ต้นๆ ของกำสรวล (ศรีปราชญ์) นั้นกล่าวชมอยุธยาและออกเรือจากพระราชวังอยุธยาทั้งใจความบางตอนก็กล่าวถึงแต่สภาพชาวอยุธยาเท่านั้น หาได้อ้างถึงผู้คนและพระราชวังลพบุรีแต่อย่างใด

      3. มีคำโคลงอยู่บทหนึ่ง ซึ่งตำนานศรีปราชญ์กล่าวว่าเป็นคำโต้ตอบของพระยาแสนเมือง (มหาราชเชียงใหม่) กับศรีปราชญ์คือ

             รังสีพระเจ้าฮื่อ                            ปางใด
       ฮื่อเมื่อพระเสด็จไป                             ป่าแก้ว
       รังสีบ่สดใส                                     สักหยาด
      ดำแต่นอกในแผ้ว                                ผ่องเนื้อนพคุณ

       ในปี 2204 ไทยรบชนะเชียงใหม่ เจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงส์ลงมา และนำตัวเจ้าเมืองเชียงใหม่มาไว้ ณ กรุงศรีอยุธยาด้วย เจ้าเมืองเชียงใหม่นี้ก็คือพระยาแสนเมืองนั่นเองและคงเป็นผู้มีโวหารทางกวีคนหนึ่ง พระนารายณ์จึงทรงโปรดให้ติดตามไปไหนมาไหนด้วยเสมอ และสิ่งที่น่าสงสัยก็คือ เจ้าเมืองเชียงใหม่มาก่อนศรีปราชญ์จะเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กถึงหนึ่งปี ทั้งอยู่ในแวดวงพระราชกวีกีฬาของพระนารายณ์มาก่อน เหตุใดพระยาแสนเมืองจึงไม่รู้ว่าศรีปราชญ์ ได้พระราชทานนามเมื่อใด


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 18:57
         4. ในกำสรวล (ศรีปราชญ์) มีกล่าวถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์อยู่หลายบท บางบทก็ดูคล้ายเป็นการแต่งซ่อมโดยกวีรุ่นหลังและท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในที่นี้คือ แจ่ม ธิดาแม่นมเปรมซึ่งเป็นแม่ของพระเพทราชา และเป็นพี่ของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เกิดปี 2179 มีอายุแก่กว่าศรีปราชญ์ 14 ปีเป็นอย่างน้อย ในปีที่เข้าใจว่าศรีปราชญ์ถูกเนรเทศนั้น อายุศรีปราชญ์  ร่วม 33 ปี และอายุท้าวศรีจุฬาลักษณ์ตกในราว 47 ปี โดยประมาณ เป็นไปได้หรือที่ศรีปราชญ์จะบังอาจรักพระสนมเอกที่มีอายุแก่กว่าตนถึงเพียงนี้

            อีกทั้งโคลงทุกบทที่เพ้อรำพันถึงหญิงสาวที่จาก ผู้แต่งจะเรียกตนเองว่าพี่ทุกวรรค และข้อความในโคลงบ่งถึงความรักและอาลัยอย่างโจ่งแจ้งไม่มีถ้อยคำใดแอบแฝง หญิงสาวที่อ้างถึก็ดูจะมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งลึกล้ำเกินกว่าจะเป็นชู้ธรรมดา    เช่น

                   แม่วีชู้ช้อยชุ่ง                              นอนหลับ แลแม่
            ตื่นมเมอหาศรี                                    แอบข้าง
            ถนอมมือบนนทับหลงง                          โลบลูบ กันนา
            เรียมตื่นซำเจ้าค้าง                               ค่างเชอย

            ความจริงในโคลงทวาทศมาสก็มีการเอ่ยถึงชื่อ ศรีจุฬาลักษณ์ บ้าง คือ

                 อาฒาอาฒาศพ้ยง                         เพ็ญภักตร์
            อกก่ำกรมทรวงถอน                                 ถอดไส้
            ดวงศรีจุฬาลักษณ์                                  เฉลอมโลก กูเออย
            เดือนใหม่มาใดได้                                   โศกสมร


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 18:58
         ดังนั้นผู้เขียนวิเคราะห์ศรีปราชญ์คาดว่า ศรีจุฬาลักษณ์คงเป็นการเรียกชื่อนางที่รักของกวีในทางยกย่องมากกว่า เพราะอาจเอามาจากตำนานท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่เชื่อกันว่าแต่งตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ถวายพ่อขุนรามคำแหง (ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่มีอยู่ปัจจุบัน ไม่ใช่แต่งในสมัยสุโขทัยแน่นอน ซึ่งต้นฉบับจริงอาจสูญไปหรือไม่ก็เป็นตำนานที่ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด เพียงแต่มุ่งหวังที่ฝ่ายปกครองจะแต่งขึ้นเองเพื่อใช้ประโยชน์ทางส่วนตัวอย่างลิลิตโองการแช่งน้ำก็เป็นได้) คำว่าศรีจุฬาลักษณ์ที่ปรากฏในกำสรวล (ศรีปราชญ์) และทวาทศมาสจึงเหมือนกับคำว่าศรีเสาวภาคที่มีปะปนใช้มากพอๆ กัน

            5. ตามตำราจินดามณีที่แต่งรวบรวมโดยพระโหราธิบดีซึ่งเข้าใจว่าเป็นบิดาศรีปราชญ์นั้น เพราะระบุไว้ว่า

            “จินดามณีนี้ พระโหราธิบดี เดิมอยู่เมืองสุกโขทัยแต่งถวายแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าลพบุรีย” มีอยู่ตอนหนึ่งที่กล่าวถึงกำสรวลสมุทรดังนี้ “อนึ่งเมื่อจะทำโคลงสิ่งใดให้เอาคติโคลงนั้นมาเทียบด้วยฉันทให้รู้จักพากยทั้งหลายคือตลุมพรพากย กำภุชพากย สยามพากย สิงหลพากย ภุกามพากย ตเลงพากย ภคธพากย...ผิเอากลอนห้าใส่ให้เอาด้วยกันทั้งสี่บท อย่าได้ลดโคลงต้น คือ อุปทวาทศ คำสวรสมุทร สมุทโฆษ พระนนทกษัตรีสังวาสศรี อุมาธิการย พระยศราชาพิลาป...”


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:00
      พ.ณ. ประมวลมารค (ม.จ.จันทร์ จิรายุ รัชนี) ทรงให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความข้างต้นไว้ใน “กำสวลสมุทร” วารสารศิลปากรปีที่ 7 เล่มที่ 1 พ.ศ.2496 ว่า

      “ธรรมดาบทเรียนย่อมมีการเปลี่ยนแปลงแทรกแซงตลอดเวลาตามแต่ความต้องการของแต่ละสมัย แต่จินดามณีท่อนนี้มีแปลกๆ หลายคำ (กลอนห้าทั้งสี่บท โคลงต้นคำโบราณ- ผิจะดูเยี่ยง..)

       กลอนห้าไม่ได้แต่งกันมาแต่สมัยพระเจ้าเหา เพราะฉะนั้น หากว่าจินดามณีท่อนนี้ไม่ใช่ของเดิม เป็นของท่านเกจิอาจารย์เติมเข้าภายหลังก็รู้สึกประหลาดอยู่หน่อยที่กล่าวถึงกลอนห้า   กำสรวลสมุทรข้าพเจ้าแปลว่านิราศทางทะเล และเหมาเอาง่ายๆ ว่า กำสรวลศรีปราชญ์นั่นเอง”

            ในจินดามณียกหนังสือวรรณคดีมา 6 เล่ม คือ อุปทวาทศมาส คำสวรสมุทรพระนามว่ากษัตรีสังวาสศรี ศรีอุมาธิการย พระยศราชาพิลาป มีข้อน่าคิดอยู่คือ ไม่ได้เอ่ยถึงลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ มหาชาติคำหลวง กาพย์มหาชาติ ซึ่งมีสำนวนและภาษาร่วมสมัยกันอยู่ คงเอ่ยถึงแต่ทวาทศมาส (อุปทวาทศมาส) กำสวรสมุทร (กำสรวลศรีปราชญ์ที่ใครเรียกกันในปัจจุบัน) พิยศราชาพิลาป (ราชาพิลาปคำฉันท์-ไม่ทราบว่าใครแต่งรูปแบบใช้ภาษาเก่าคำประพันธ์ที่ใช้มีกาพย์ฉบัง 16, สุรางคณางค์ 28, อิทรวิเชียรฉันท์ 11, วสันตดิลกฉันท์ 14, มาลินีฉันท์ 15, สัททุล 19) พระนนทกษัตริสังวาสและศรีอุมาธิการย (ค้นคว้ายังไม่ทราบ)

        สิ่งที่น่าคิดยิ่งกว่านั้นก็คือ พระโหราธิบดี แต่งตำราจินดามณีก่อนศรีปราชญ์ ก่อนถูกเนรเทศ ดังได้อ้างถึงมาบ้างแล้วข้างต้นและถ้าศรีปราชญ์ถูกเนรเทศไปนครราชศรีธรรมราชจริง ต้นฉบับกำสรวลก็คงอยู่นครศรีธรรมราชมากกว่า พระโหราธิบดีจะได้อ่านกำสวรสมุทร (ศรีปราชญ์) จากไหน และใส่ลงในตำราได้ทันท่วงทีเช่นนี้

         6. ข้อที่น่าวิเคราะห์โดยสภาวะความเป็นจริงตามตำนานอีกประการก็คือ ขณะที่ศรีปราชญ์จะถูกประหารนั้นถูกมัดมือกับหลักประหาร ยังได้ใช้เท้าเขียนโคลงบนพื้นทราย แช่งพระยานครฯขึ้นว่า

                   “ธรณีภพนี้เพ่ง                            ทิพญาณ หนึ่งรา
            เราก็ลูกอาจารย์                                  หนึ่งบ้าง
            เราผิดท่านประหาร                               เราชอบ
            เราบ่ผิดท่านมล้าง                                ดาบนี้คืนสนอง


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:01
       เป็นไปได้หรือที่มนุษย์ธรรมดาไม่ว่าจะเก่งกาจปานไหนจะเอาเท้าเขียนบทกวีได้ยาวขนาดนี้แม้แต่มือก็ยังแสนยาก ทั้งเนื้อคำเนื้อความของโคลงก็ดูจะใหม่เกินสมัยศรีปราชญ์ไปสักหน่อยม่งที่น่าสืบสาวต่อไปอีกก็คือ “สระล้างดาบ” ที่ตั้งเป็นอนุสรณ์แก่ศรีปราชญ์ตั้งขึ้นอย่างไรและเมื่อไร หนังสือนครศรีธรรมราชของเรา รวบรวมโดย 5 อาจารย์วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชพูดถึงสระล้างดาบว่า

        “แต่เดิมเชื่อกันว่าสระศรีปราชญ์เป็นสระใหญ่ยาวมาก มีอาณาบริเวณตั้งแต่หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงหลังโรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราชทุกวันนี้ ต่อมาเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชถมสระดังกล่าวเพื่อทำเป็นถนน จึงเหลือสระล้างดาบศรีปราชญ์บริเวณหลังโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

        แต่นักประวัติศาสตร์ชาวนครฯ บางคนแย้งว่าว่าสระบริเวณหลังโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชนั้นไม่ใช่สระล้างดาบศรีปราชญ์ที่แท้จริงเป็นสระพึ่งขุดใหม่เมื่อ พ.ศ.2448 ทั้งนี้เพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกลาเจ้าอยู่หัว ส่วนสระล้างดาบศรีปราชญ์ที่แท้จริงอยู่หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือหลังศาลาโดทกเป็นสระใหญ่มาก สระดังกล่าวถูกถมเพื่อสร้างที่ทำการภาค 8 และบ้านพักข้าหลวงภาค 8 นครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ.2486”

        จะเห็นได้ว่าแม้แต่คนนครศรีธรรมราชเจ้าของท้องถิ่นยังขัดแย้งกันเอง พร้อมกันปล่อยให้โบราณสถานที่ควรมีค่ายิ่งถูกทำลายคุณค่าลง ข้อที่น่าจะมองเห็นได้อีกข้อคือสระที่ชื่อล้างดาบอาจมีจริงแต่ไม่ใช่สระล้างดาบที่ชื่อศรีปราชญ์สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความสับสนของเรื่องศรีปราชญ์ ซึ่งจะกล่าวได้ต่อไป


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:03
       
กำสรวล (ศรีปราชญ์) กุญแจอันลี้ลับ

            โคลงกำสรวล (ศรีปราชญ์) เริ่มต้นด้วยร่ายดั้น และตามด้วยโคลงดั้นบาทกุญชร (ที่ไม่ค่อยจะเคร่งฉันทลักษณ์นัก) ประมาณ 130 บทใน 130 บทนี้ แยกเป็นโคลงที่แต่งซ่อมแซมเกือบ 1 ใน 4 เพราะจากสำนวนที่ไม่ปะติดปะต่อ ทั้งข้อความและสัมผัสไม่เชื่อมรับกัน บางฉบับก็เอาตอนท้ายมาไว้ตอนต้น เอาต้นไว้ท้าย บางทีก็มีโคลงแทรกแปลกแยกไปเส้นทางจึงดูวกวนไปมา

            ถ้าจะจับเอาเส้นทางของศรีปราชญ์จากอยุธยาไปนครศรีธรรมราช ก็ดูจะไม่ได้เค้าเงื่อนเท่าใดนัก แต่มีสาเหตุที่น่าศึกษาคือ ในสมัยพระชัยราชา (2077-2089) มีการขุดคลองลัดจากอยุธยามาคลองบางกอกน้อย เหตุใดกำสรวล (ศรีปราชญ์) จึงไม่ใช้เส้นทางนี้ตัดลัดมาธนบุรี กลับใช้เส้นทางเก่าจากแม่น้ำบางกระจะไปเรื่อยจึงเป็นข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ว่าศรีปราชญ์หรือผู้แต่งกำสรวล เรื่องนี้ต้องพ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และต้องก่อนสมัยพระชัยราชาเป็นแน่

            สิ่งที่แน่ชัดก็คือ ถ้อยคำสำนวนและข้อความในบทกวีนี้เอง ทำให้เราจะเข้าใจหรือเป็นข้อสังเกตได้อีกทางหนึ่ง ขอให้เราพิจารณาข้อต่อไปนี้

            ก. ภาษาและรูปแบบ

            โคลงกำสรวล (ศรีปราชญ์) ตามความเห็นของผู้เขียนและผู้วิเคราะห์ยกให้โคลงกำสรวล (ศรีปราชญ์) มีความเก่าแก่ทางภาษารองจากวรรณคดีเรื่องท้าวฮุ่งหรือเจือง ซึ่งเป็นตำนานเจืองที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่ชาวล้านนา ข่า ล้าน ช้าง ลาว และอีสาน

            กวีศรีสยาม  กล่าวไว้ในโคลงห้า...มรดกทางวรรณคดีไทยว่าท้าวฮุ่งเป็นหนังสือแต่งเป็นโคลงดั้นแบบล้านช้างราวห้าพันบาท สำนวนที่ใช้เป็นภาษารุ่น พ.ศ.1800 – 1900 เป็นภาษาลาวระคนกับภาษาไตลื้อ แต่พระมหาสิลา วีรวงศ์ผู้ชำระกล่าวว่า ประพันธ์ด้วยโคลงดั้นวิวิธมาลี และโคลงห้าดั้น และจารุบุตร เรืองสุวรรณ กล่าวไว้ใน “ของดีอีสาน” หน้า 89-90 “หนังสือเจืองนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวประวัติ” มีผู้สันนิษฐานว่า
            “นักปราชญ์ชาวหลวงพระบางเป็นผู้แต่งคำกลอนมีความไพเราะไม่ด้อยกว่าสังขศิลป์ไชยที่นับว่ามีชื่อเสียงที่สุด จุดเด่นของวรรณคดีเองขุนเจืองคือ ท่านผู้ประพันธ์ได้วางระเบียบ กลอนอ่านวิชชุมาลีดั้นภาษาอีสานไว้อย่างดีเลิศถูกต้องตามแบบฉบับโดยแท้จริง แถมยังมีโคลงห้าดั้นและโคลงมหาสินธุมาลีอันเป็นภาษาที่ใช้อ่านทำนองเสนาะได้ด้วย ซึ่งจะหาได้ยากจากวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ภาษาที่ใช้ก็ล้วนแต่เป็นภาษาโบราณชั้นมาตรฐาน มีโวหารแปลกๆ ลึกซึ้งกินใจน่าเรียนรู้มาก”


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:05
        ที่ยกมาให้อ่านนั้น เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าประเด็นของโคลงเรื่องท้าวฮุ่ง เป็นเรื่องเก่าจริงๆ ซึ่งตรงกันตามความคิดของนักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญแต่ที่ไม่ตรงก็คือประเด็นในเรื่องรูปแบบคำประพันธ์
        ทัศนะของผู้วิเคราะห์ ท้าวฮุ่ง แต่งโดยคำประพันธ์โคลงที่มีรูปลักษณะของโคลงดั้นบาทกุญชร (คือคำสุดท้ายของบาทที่ 3 จะสัมผัสกับคำใดคำหนึ่งของแถวแรก ซึ่งเป็นลักษณะโคลงโบราณที่ยังไม่กำหนดฉันทลักษณ์ตายตัว) ในแบบของโคลงลาวผสม (มีสร้อยอยู่ข้างหน้าวรรคใดวรรคหนึ่งก็ได้) ดังตัวอย่าง

            ฮว่านฮว่านฟ้า                           หัวปี
        ลมพานไบ                                   กิ่งค้อม
        จักหนีกอย                                   ไจฮ่อ
       ไจ ฮ่วมฮ้อม                                  ระวังแหนฯ

          หน้าล้านท่อ                               พายหลัง
   แสนนางปะ                                       ไป่ไว้
    คำฮายัง                                         ดั่งเก่า
 จอมไท้หย่า                                        สนเท

(จากท้าวฮุ่งหรือท้าวเจืองตอน 1 พิมพ์โดยภาควิชาภาษาตะวันออกคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ห.38)

       โคลงแบบท้าวฮุ่งนี่เองต่อมากลายเป็นต้นเงื่อนของโคลงห้าในลิลิตโองแช่งน้ำและกำสรวล (ศรีปราชญ์) ส่วนถ้อยคำของกำสรวล (ศรีปราชญ์) นั้นมีความเก่าเทียบได้กับลิลิตโองการแช่งน้ำ (ช่วงที่ไม่ถูกซ่อมแซมโดย ร.4 แห่งรัตนโกสินทร์) คำบางคำเป็นคำตายไปแล้ว

        อย่างไรก็ตามสรุปว่ากำสรวล (ศรีปราชญ์) มีระยะเวลาแต่งหลังลิลิตโองการแช่งน้ำ และน่าจะก่อนหรือไล่เลี่ยกับลิลิตยวนพ่าย (สังเกตได้จากลิลิตยวนพ่ายเริ่มมีรูปแบบของโคลงดั้นบาทกุญชรรัดกุมมากทุกบท ถ้อยคำภาษาก็ปะปนด้วยบาลี-สันกฤตมากมายกว่า)


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:09
       ข. ท่วงทีและลักษณะบางประการ

        ผู้แต่งกำสรวล (ศรีปราชญ์) ได้แสดงท่วงทีบ่งบอกไว้หลายตอนว่า ไม่ใช่คนธรรมดาอย่างศรีปราชญ์ตามตำนานเลย แต่เป็นผู้อยู่ในราชสำนักและตำแหน่งศักดินาก็สูงส่งดังเช่น
             บาศรีจุฬาลักษณ์                    เสาวภาค กูเออย
       เรียมเรียกฝูงเข้าใกล้                       ส่งงเทา

     หรือ

             สรเหนาะนิราษน้อง                  ลงเรือ
สาวส่งงเลวงเต็ม                                 ฝ่งงเฝ้า

     หรือ

            เยี่ยมเศศพี้                           บางพลู
ถนัดเหมือนพลูนางเสวอย                       พี่ดิ้น
เรียกรักษ์เมื่อไขดู                                กระเหนยด นางนา
รศรำเพอยต้องมลิ้น                              ล่นนใจลานใจ

     หรือ

บ่ได้กล้ำเข้าแต่                    วันมา

กลืนแต่ยาคูกวน                            กึ่งช้อน

         เป็นไปไม่ได้ที่ศรีปราชญ์จะเรียกผู้หญิงหรือมีสาวๆ มาส่งเต็มฝั่ง เวลาคิดถึงหญิงที่รักก็ไขดูกล่องหมากพลูที่นางฝากมา หรือกินยาคู (แป้งละลายน้ำผสมน้ำตาลแล้วหุง หรือกวนให้สุก) ซึ่งเป็นของที่ต้องใช้ในราชพิธีสำหรับกษัตริย์บางอย่างเช่น พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น ลักษณะนี้จะพบได้บ่อยครั้งในกำสรวล (ศรีปราชญ์)

         ส่วนลีลาในโคลงกำสรวลฯ นั้น แม้จะแต่งด้วยโคลงดั้นซึ่งมีคำน้อย ลักษณะการแต่งแบบโคลงดั้นนั้นในโคลงหนึ่งๆ มีความเข้มข้น เนื้อความแน่นกระชับ มีลีลารัดกุม ค่อนข้างจะห้วนไม่เยิ่นเย้อ แต่เสียงของคำและลีลาจังหวะอ่อนหวาน อ้อยสร้อย และนุ่มนวลมากกว่าเสียงและลีลาจังหวะของอนิรุทธคำฉันท์ ขอยกตัวอย่างแสดงให้เห็นจริงดังนี้ เช่น

                     เยียมาสํดอกแห้ง            ฤทย ชื่นแฮ
         เครงย่อมถงวลถงํอก                    ค่ำเช้า
         เยียมาเยียไกลกลาย                    บางกรูจ
         ถนัดกรูจเจ้าสระเกล้า                   กลิ่นขจรฯ

              รศใดด้าวหน้าดุจ                   รศผํ แม่เลย
        ผมเทพสาวอับษร                        รูปแพ้
        พระเออยเมื่อสองสํ                      สุเกษ นางนา
        บนขอดกลางเกล้าแก้                   จำเลอยฯ

            ลนนลุงสองฟากฟุ้ง                  ผกาสลา
       โดรละอองอบตาง                         กลิ่นเกล้า
       รอยมือแม่ธารทา                          หอมหื่น ยงงเลอย
       จนนทนกระแจะรศเร้า                     รวจขจรฯ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:12
        ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ผู้แต่งโคลงกำสรวลฯ เป็นคนละคนกับผู้แต่งอนิรุทธคำฉันท์และโคลงเบ็ดเตล็ดในตำนานศรีปราชญ์และในโคลงกวีโบราณผู้แต่งโคลงกำสรวลฯ เป็นคนละคนกับศรีปราชญ์ในตำนานศรีปราชญ์
                 
            ตำนานศรีปราชญ์ของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์)(ม.จ.จันทร์ รัชนี, 2511 : 22-71) กล่าวว่า ศรีปราชญ์เป็นบุตรพระโหราธิบดีผู้แต่งเสือโคคำฉันท์และสมุทรโฆษคำฉันท์ศรีปราชญ์แต่งอนิรุทธคำฉันท์ขึ้นเพื่อแสดงว่ามีฝีมือ ต่อมามีเรื่องกับพระสนมจนถูกเนรเทศไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ไปแต่งโคลงเกี้ยวพาราสีส่งให้ภรรยาเจ้าเมือง เจ้าเมืองนครฯ จึงให้ประหารศรีปราชญ์เสีย ศรีปราชญ์แต่งโคลงแช่งไว้บนทราย ว่า

                     ธรณีภพหนี้                    ทิพญาณ หนึ่งรา
             เราก็ลูกอาจารย์                       หนึ่งบ้าง
            เราผิดท่านประหาร                     เราชอบ
            เราบ่ผิดท่านมล้าง                     ดาบนี้คืนสนอง

            ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่กรุงศรีอยุธยาเรียกหาตัวศรีปราชญ์ ครั้นทรงทราบว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชได้ลุอำนาจประหารศรีปราชญ์เสียแล้ว จึงกริ้วและให้ประหารเจ้าเมืองนครฯ ให้ตายตามสมดังคำในคำแช่งของศรีปราชญ์ ส่วนโคลงกำสรวลฯ นั้น ศรีปราชญ์แต่งขณะถูกเนรเทศ ยังไม่ทันจบก็รีบฝากมาให้หญิงคนรัก ตอนท้ายจึงขาดไป

            ตามประวัติของศรีปราชญ์ เชื่อว่าศรีปราชญ์แต่งโคลงกำสรวลฯ ในขณะถูกนำเนรเทศออกจากกรุงศรีอยุธยาไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนและหญิงที่รักของตนโดยไม่มีหวังจะได้กลับมาอีก แต่ปรากฏว่าผู้นิพนธ์โคลงกำสรวลฯ ได้พรรณนาว่า “ปางจากอยุธยานาน จึงเต้า” หมายถึงว่าการเดินทางครั้งนี้แม้จะต้องจากกรุงศรีอยุธยาไปเป็นเวลานาน แต่ก็จะได้กลับมาอีก เมื่อเรือถูกพายุกระหน่ำอย่างรุนแรง ผู้นิพนธ์ได้อธิษฐานว่า

                เลงแลตลึงแกล้ง                  เกลาสาร แม่ฮา
         นพเทพชํชอมทุก                         ย่านย้งง
         พระเออยจำศรีครวญ                     คืนคอบ สํรา
         อย่ารยกลํให้พล้งง                       พลยกเรืองลงเรือ

                                                                                    โคลงกำสรวลฯ

        โคลงข้างต้นเป็นหลักฐานยืนยันว่า ผู้นิพนธ์หวังอยู่เสมอว่าจะได้กลับคืนมาอยู่ร่วมรักกับนางอีก ฉะนั้นโคลงกำสรวลฯ จึงมิใช่เป็นงานนิพนธ์ของศรีปราชญ์ผู้รับพระราชอาญาให้เนรเทศไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช
        นอกจากนั้นในโคลงกำสรวลฯ พรรณนาความสัมพันธภาพระหว่างผู้นิพนธ์กับนางในฐานะสามีภรรยา มิใช่ชู้ซึ่งลอบรักกันอย่างมิดเม้นในฐานะที่นางเป็นพระสนมของพระเจ้าแผ่นดิน เหมือนสัมพันธภาพระหว่างศรีปราชญ์กับพระสนม (ดูรายละเอียดเรื่อง “หางเสียงของผู้แต่ง” ในบทที่ 3) จึงเป็นหลักฐานแน่ชัดว่าศรีปราชญ์มิได้เป็นผู้นิพนธ์โคลงกำสรวลฯ
       ผู้นิพนธ์โคลงกำสรวลฯ มิใช่ศรีปราชญ์กวีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตามประวัติวรรณคดี


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:14
        ค. ยุคของวรรณคดี

          สำหรับผู้ที่สนใจวรรณคดีแล้วจะจับปรากฏการณ์ของวรรณคดีในยุคต่างๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาจรดปัจจุบันได้ไม่ยากในช่วงรัชสมัยพระนารายณ์ โคลงสี่สุภาพบุรุษและฉันท์ก็คือประพันธ์ที่มีผู้แต่งแพร่หลายมาก และดูตามตำนานศรีปราชญ์แล้วโคลงที่เกี่ยวข้องมีแต่โคลงสี่สุภาพทั้งนั้น ไม่มีโคลงดั้นบาทกุญชรพาดพิงถึงเลย ผิดลักษณะของกำสรวล (ศรีปราชญ์) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้แต่งมีความเชี่ยวชาญไม่น้อย และถ้าจัดยุคของโคลงดั้นแล้วจัดอยู่ในช่วงอยุธยาตอนต้น วรรณคดีที่ปรากฏมีลิลิตโองการแช่งน้ำ, ลิลิตยวนพ่าย, ทวาทศมาส โดยเฉพาะทวาทศมาส มีถ้อยคำบางคำเหมือนกำสรวล (ศรีปราชญ์) และเป็นโคลงดั้นในลักษณะนิราศทำนองเดียวกัน เพียงแต่ทวาทศมาส เป็นโคลงดั้นวิวิธมาลีและภาษาเก่าน้อยกว่ากำสรวล (ศรีปราชญ์)

         การพิจารณาเกี่ยวกับสมัยที่แต่งโคลงกำสรวลนอกจากจะพิจารณาจากการใช้ถ้อยคำสำนวนดังที่กล่าวมาแล้ว ยังได้มีการพิจารณาถึงเส้นทางการเดินเรืออันเป็นเส้นทางการเดินทางของกวีด้วย จากการศึกษาในแขนงนี้ มานิต วัลลิโภดม ได้สันนิษฐานว่า

         1. ถ้าหากโครงกำสรวลแต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทำไมกวีจึงไม่กล่าวถึงพระราชวังบางปะอิน ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ทั้งๆ ที่เป็นทางผ่าน
         2. เรือขทิงทองมิได้ผ่านคลองลัดเกร็ดน้อย ซึ่งขุดขึ้นในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ เมื่อ พ.ศ.2265
         3. เรือขทิงทองมิได้ผ่านคลองลัดที่พระเจ้าปราสาทองโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2178 และคลองลัดที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงขึ้นราว พ.ศ.2081
         4. เรือขทิงทองไม่ผ่านคลองลัดตรงคลองบางกอกน้อยมาบรรจบกับคลองบางกอกใหญ่ ที่วัดอรุณ ซึ่งขุดในสมัยพระไชยราชาธิราช เมือ พ.ศ.2085

            ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์เหล่านี้พอจะสันนิษฐานได้ว่า โคลงกำสรวลน่าจะแต่งขึ้นก่อนสมัยพระไชยราชาธิราช (พ.ศ.2077-2098) แต่จะก่อนเท่าใดนั้นไม่ทราบ (มานิต วัลลิโภดม 2515 : 296-308)

            ในปี พ.ศ.2516 สุนีย์ ศรณรงค์ ได้ทำปริญญานิพนธ์เรื่อง วิเคราะห์วรรณดีเรื่องโคงกำสรวลศรีปราชญ์ ได้ผลสรุปเกี่ยวกับสมัยเวลาที่แต่งและผู้แต่งโคลงกำสรวลไว้ว่า

            1. โคลงกำสรวลแต่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

            2. ผู้แต่งโคลงกำสรวลคือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระอินทราชา)ทรงพระราชนิพนธ์โคลงกำสรวลในคราวที่เสด็จไปวังช้างที่ตำบลไทรย้อย อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ ปีเถาะ พ.ศ.2026 โคลงกำสรวลไม่ใช่ศรีปราชญ์แต่งและไม่มีเหตุการณ์เกี่ยวกับการเนรเทศ

            3. โคลงกำสรวลเป็นวรรณคดีร่วมสมัยกับลิลิตพระลอ ลิลิตยวนพ่ายและโคลงทวาทศมาส ซึ่งเป็นวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น

            4. ผู้แต่งโคลงกำสรวลและโคลงทวาทศมาสน่าจะเป็นบุคคลคนเดียวกัน (สุนีย์ ศรณรงค์ 2516 ก. 200-253) นอกจากนี้แล้ว ชลธิรา สัตยาวัฒนา(กลัดอยู่) ยังได้ให้ความเห็นว่า โคลงกำสรวล โคลงทวาทศมาสและลิลิตพระลอเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยอยุธยาตอนต้น (ชลธิรา สัตยาวัฒนา 2524 : 25-51) รวมทั้งสมุทรโฆษคำฉันท์และอนิรุทธคำฉันท์ด้วย ยังเชื่อว่าผู้แต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ตอนต้น ผู้แต่งลิลิตพระลอ และผู้แต่งอนิรุทธคำฉันท์เป็นบุคคลคนเดียวกัน (ชลธิรา กลัดอยู่ 2519 : 86-90)


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:15
          พ.ณ ประมวญมารค  (ม.จ.จันทร์จิรายุ  รัชนี, 2511 : 126 – 178 ) เข้าใจว่ากำสรวลฯ  เป็นพระราชนิพนธ์ในขณะที่เสด็จพยุหยาตราทัพทางเรือหรือเสด็จประพาสสมุทร  คร่ำครวญถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นสนมเอก  โดยอ้างคำบางคำที่แสดงว่าผู้นิพนธ์เป็นเจ้านาย  ได้แก่คำที่มีเครื่องหมายสัญประกาศในข้อความต่อไปนี้

            -  เพล็จพวงดุจดวงถวาย              ทุกกิ่ง  ไส้แฮ

            -  ถนัดม่วงมือนางฝาน                ฝากเจ้า

          คำประพันธ์ข้างบนนั้น  ใช้กริยา “ ถวาย ” กับผู้นิพนธ์  ใช้  “ เจ้า ” ซึ่ง  พ.ณ ประมวญมารคเข้าใจว่า  หมายถึง “ เจ้านาย”  นอกจากนั้นยังใช้คำว่า  “ พระ ” แทนตัวผู้นิพนธ์หลายแห่ง  และเยกนางว่า  “ ศรีจุฬาลักษณ์ ”  อันเป็นชื่อตำแหน่งสนมนเอก  ทำให้คิดว่าผู้นิพนธ์กำสรวลฯ  เป็นกษัตริย์  จึงกล้ารำพึงถึง “ ศรีจุฬาลักษณ์ ” และตามประวัติของศรีปราชญ์  ศรีปราชญ์เป็นคนที่อารมณ์แรง  ถ้าจะแต่งก็แต่งได้แต่นิราศแสดงอารมณ์  ไม่สามารถแต่งนิราสังวาสประเภทแอลลิกอรี

            ในด้านการเปรียบเทียบสำนวนระหว่างกำสรวลฯ  อนิรุทธคำฉันท์  และโคลงเบ็ดเตล็ดนั้น  พ.ณ ประมวญมารค   เห็นว่าวรณกรรมเหล่านั้นเป็นสำนวนของกวีแต่ละคน  โดยให้ความเห็นว่า  สำนวนของกวีคนเดียวกันต้องสามารถเทยบกันได้  ส่วนเรื่องสมัยที่แต่งกำสรวลฯ นั้น พ.ณ ประมวญมารค  เห็นว่าไม่เห็นผลที่จะยืนยันได้ว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์  หากอ้างเอาเรื่อง  “ แตรบอกเวลา ” เป็นหลักฐาน  เพราะที่ว่า  “ แตร ”  เข้ามาพร้อมกับฝรั่งเศสในสมัยพระรนารายณ์ฯ  นั้นเป็นไปไม่ได้  เพราะทหารฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์ฯ 500  คน อยู่ที่บางกอก 200  คน  มะริด  120  คน  ลงเรือไปไล้โจรสลัด  70  คน  นอกนั้นไปเป็นทหารรักษษพระองค์ที่ลพบุรี  ไม่มีอยู่ที่อยุธยาเลย  สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ  เข้าใจว่าทหารรั่งเศสได้ออกจากประเทศไทยไปหมด  ไม่มีเหลือเป่าแตรบอกเวลาในสมัยพระเพทราชา รวมระยะเวลาที่ทหราฝรั่งอยู่ในประเทศไทยประมาณ 1 ปี  และถ้าหากแย้งว่าทหารไทยเป่าแตรบอกเวลาบ้าง  ก็ไมจำเป็นต้องเรียนจากฝรั่งเศส  อาจเรียนมาจากพวกโปรตุเกสซึ่งเข้ามาก่อนสมัยพระนารายณ์ฯ 100  ปี และในสมัยพระไชยราชาก็มีทหารโปรตุเกสรักษาพระองค์ 120 คน  นอกจากนั้นในลิลิตยวนพ่ายก็มีการกล่าวถึง “ แตร ”ไว้ว่า “ แตรตระหลบท้องหล้า  ส่งเสียง ”


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:15
          พ.ณ ประมวญมารคได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า  ในโคลงกำสรวลฯ กล่าวถึงเขาสามมุขว่า “ สมมุกข์เงื่อนเขามุกด์          เมียงม่าย ”  แสดงว่าเมื่อแต่งกำสรวลฯ เขาสามมุขยังเป็นเกาะหินอยู่ คงจะต้องใช้เวลานานกว่า 250  ปี  จึงเปลี่ยนแปลงไปเป็นป่าไปอย่างปัจจุบันนี้ได้  สมกับคำทำนายที่ว่า  “ สมมุกข์จะเป็นป่า  ศรีราชาจะเป็นฝั่ง  สีชังจะเป็นท่าจอดเรือ ” นั่นคือกำสรวลต้องมีอายุมากกว่า 250 ปี  คือแต่งก่อนพระนารายณ์ฯ

            พ.ณ ประมวญมารค  สรุปความคิดว่า  กำสรวลฯ เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมราชาที่ 3  และทรงพระราชนิพนธ์ในระหว่าง พ.ศ.2025 – 2034 โดยอ้างหลักฐานว่า

            1.  จากเหตุผลทางภาษาและโบราณคดี  ทำให้เชื่อว่ากำสรวลฯ แต่งในระยะกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คือรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถหรือระยะใกล้เคียง

            2.  ถ้าเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 น่าจะมีภาษาเหนือปนอยู่มากกว่านี้  เพราะทั้งสองพระองค์มีพระราชมารดาเป็นเจ้านายทางเหนือ และเคยดำรงพระอิสริยยศเป็นอุปราชที่เมืองพิษณุโลกมาก่อน

            3.  ในกำสรวลฯ กล่าวถึง “ คำหลวง ” ว่า “ ฤากล่าวคำหลวงอ้า  อ่อนแกล้ง เกลาฉันท์”  คำว่า “กล่าว” แปลว่า แต่ง  ฉะนั้นกำสรวลฯ จะต้องแต่งหลังมหาชาติคำหลวง  คือ หลัง พ.ศ. 2025 คำว่า “ เกลาฉันท์ ” คือแต่งฉันท์  การแต่งฉันท์มีมาแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ดังปรากฎในมหาชาติคำหลวง  มิได้เพิ่งมีใรสมัยสมเด็จพระนารายณ์

            4.  เส้นทางการเดินทางในกำสรวลฯ  เป็นการเดินทางไปทางทิศตะวันออก  แล้วไปกล่าวถึง “ กั่นชาววา” ซึ่งอยู่แถวเขาสามร้อยยอด  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ทำให้เข้าใจว่าเดินทางไปทวาย  เพราะการเดินทางไปทวายต้องไปข้ามด่านสิงขรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตามหนังสือของ  “ แซมมวลไว้ท์” ( ม.จ. จันทร์จิรายุ  รัชนี,  2511: 365 – 367) นอกจากนั้นยังได้อ้างข้อความในกำสรวลฯที่ว่า  “ โอยอกครวญเคร่าถ้า  เรือมูล  มากแฮ ”  เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นการไปทัพจริง

            5.  ในกำสรวลฯ มีข้อที่กล่าวถึง  “ บาสรีจุฬาลักษณ์ ” สันนิษฐานว่า “ ศรีจุฬาลักษณ์ ”  เป็นชายาของสมเด็จพระบรมราชาที่ 3  เป็นเชื่อสายราชวงศ์สุโขทัย  ดังปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยจารึกวัดอโศการาม ( คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, 2513 : 41 ) ซึ่งปรากฏชื่อพระมเหสีของพระมหาธรรมราชาลิไท ว่า “ สมเด็จพระราชาเทพศณีจุฬาลักษณ์อัครราชมเหสีเทพธรณีโลกรัตน์” จึงเชื่อว่าชื่อ “ ศรีจุฬาลักษณ์ ”  มีตัวบุคคลจริง  มิได้เป็นนามของนางในนิราศเท่านั้น  ปรากฏว่าในปี  พ.ศ. 2031 อันเป็นปีที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ  “ ศรีจุฬาลักษณ์” จึงมียศสูงขึ้นจาก “ ศรีจุฬาลักษณ์ ” ของลูกหลวง  เป็น “ ศรีจุฬาลักษณ์ ” ซึ่งเป็นพระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์  สมกับความในโคลงที่ 28 ที่ว่า  “ บาศรีจุฬาลักษณ์   ยศยิ่ง  พู้นแม่ ” 


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:18
      จะเห็นได้ว่า  พ.ณ  ประมวญมารค  สันนิษฐานว่า  ผู้แต่งกำสรวลฯ  คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ  พ.ศ. 2031  ในโอกาสที่เสด็จกรีฑาทัพไปตีเมืองทวาย

            ในเมื่อกำสรวล (ศรีปราชญ์) ไม่ได้แต่งโดยศรีปราชญ์ แล้วปัญหาที่ตามมาก็คือ ใครเป็นคนแต่งอนิรุทธ์คำฉันท์ และโคลงที่ตำนานศรีปราชญ์ยกมาตั้งแต่พระนารายณ์ทรงแต่งค้างจนถึงศรีปราชญ์เขียนไว้กับพื้นทรายมาจากไหน?

            ประการแรก เกี่ยวกับอนิรุทธ์คำฉันท์ เป็นฉันท์ที่นักวรรณคดีลงความเห็นว่าแต่งแข่งกับสมุทรโฆษของพระมหาราชครูเพื่อใช้สำหรับพากษ์หนังในงานฉลองพระชนมายุครบเบญจเพส (25 พรรษา) ของพระนารายณ์ ซึ่งขณะนั้นศรีปราชญ์ (ตามตำนาน) อายุเพียง 5-7 ขวบเท่านั้น ดูจะเหลือเชื่อเกินไปสักหน่อย

            มีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งในนักวรรณคดี (รุ่นใหม่) ก็คืออนิรุทธ์คำฉันท์ไม่มีบทไหว้ครู และบางตอนก็พูดถึงพฤติกรรมของกษัตริย์ตรงไปตรงมาเหมือนมนุษย์ทั่วๆ ไป คือตอนที่ว่า

            “เสร็จสว่างเสร็จตื่นจากผธมเสร็จเสียอาจม แล้วก็เสด็จโสรจสรงเสาวคนธกำจรธวรทรง พระภูบนพรายผจง มกุฎรัตนบวง...”

          ผู้วิเคราะห์เชื่อว่า อนิรุทธ์คำฉันท์นี้อาจจะมีบทไหว้ครู แต่ต้นฉบับคงขาดหายไป เพราะดูลีลาแล้วไม่น่าเป็นไปได้ว่าอนิรุทธ์คำฉันท์จะโพล่งขึ้นด้วยฉบัง 16 โดยไม่เกริ่นนำเสียก่อน ส่วนบทพฤติกรรมของเจ้านายชั้นสูงวรรณคดีอื่นๆ ก็มีเพียงแต่ไม่ใคร่มีใครคาดคิดหรืออาจผ่านเลยไปเท่านั้นเอง ตัวอย่างบทสังวาส 2 ต่อ 1 อันโลดโผนของพระลอกับพระเพื่อนพระแพง หรือแม้แต่สมุทรโฆษคำฉันท์เองก็ดีจากตอนของพระมหาราชครูแต่ง แสดงให้เห็นถึงบทของนางพิมทุมดีที่ร่านราคะเพียงแรกเห็นสมุทรโฆษก็ยอมให้ประคองขึ้นเตียงเสียแล้ว ดังตัวอย่าง

          “นาภีแนบนาภีมล ทรวงแนบชิดชน บรรทับและเบียดบัวศรี นางน้องในใจเปรมปรีดิ์  กรกรรนฤบดี และนำบ่สู่ขัดขาม...จนถึง นมน้องตราติดอกอร เอวองค์พระกร กระหวัดกระเหม่นกามา”

          ประการที่สอง  เกี่ยวกับบทกวีของตำนานศรีปราชญ์นั้น ถ้าพลิกดูประวัติและผลงานของพระยาตรังแล้ว มีผลงานของพระยาตรังเกี่ยวกับเรื่องการรวบรวมไว้ถึง 127 บท มีเกี่ยวข้องถึงศรีปราชญ์ 13 บท ส่วนใหญ่เป็นโคลงที่ปรากฏอยู่ในตำนานแล้วและเมื่อดูจากประวัติของพระยาตรังแล้วรู้ว่าพระยาตรังผู้นี้ (ดูเหมือนจะถนัดแต่งโคลงดั้นยิ่งกว่าบทกลอนอย่างอื่น สำนวนโคลงพระยาตรังเป็นอย่างเช่น เรียกกันว่า โวหารกล้า ผิดกับกวีคนอื่นๆ แลกล่าวว่าเป็นผู้สัญญากล้าเกือบจวนจะถึงวิปลาส) ว่ากันว่าพระยาตรังเป็นผู้แต่งโคลงแทรกลิลิตยวนพ่ายบทที่ 124 กับ 125 เพราะฉบับเดิมขาดอยู่อีก 2 บทด้วย
         ฉะนั้นพระยาตรังผู้นี้เองคงเป็นผู้แต่งแทรกกำสรวล (ศรีปราชญ์) บางบทและแพร่ขยายเรื่องศรีปราชญ์ออกไปจากการค้นพบต้นฉบับประชุมโคลงกวีโบราณในกรมพระราชวังบวรฯ เพราะพระยาตรังได้เอ่ยถึงศรีปราชญ์ไว้ในผลงานของตน ถึง 2 เรื่องคือ นิราศพระยาตรังและนิราศลำน้ำน้อย กอปรกับพระยาตรังคลั่งไคล้ในโคลงดั้น โดยเฉพาะกำสรวล (ศรีปราชญ์) ทวาทศมาสมาก ถึงกับถอดคำและแต่งโคลงเลียนแบบไว้จำนวนมากในผลงาน จนบางครั้งมีผู้เข้าใจไขว้เขวว่า ศรีปราชญ์นอกจากจะแต่งกำสรวล  (ศรีปราชญ์) แล้ว ยังแต่งนิราศลำน้ำน้อยอีกด้วยถึงกับนำมารวมเล่มไว้ในผลงาน รวมเล่มของศรีปราชญ์


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:20
        ในขณะที่นักวรรณคดี (รุ่นใหม่) มองศรีปราชญ์ด้วยความชื่นชมว่าเป็นกวีคนแรกที่กล้ากบฎต่อกรอบของวรรณคดี และกล้าตอบถ้อยของนางสนมที่ว่า
              ...ฤดูฤดีแด                               สัตว์สู่ กันนา
          อย่าว่าเราเจ้าข้า                              อยู่พื้นเดียวกัน

            กระแสความคิดนี้นับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การมองลึกลงไปในวรรณคดีและการต่อสู้ของประวัติศาสตร์มิใช่แค่ฉาบฉวยเฉพาะหยิบเอาแต่สิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์โดยไม่ไตร่ตรองให้ลึกแล้ว สิ่งนั้นจะกลับมาย้อนแทงตัวเองได้

          ดังได้กล่าวแล้วว่า โคลงบทนี้อยู่ในประชุมโคลงโบราณที่เรียบเรียงโดยพระยาตรัง คำว่าเจ้าข้าเองแปลได้คลุมเครือ เพราะนัยหนึ่งอาจหมายถึงเจ้ากับข้าจริงๆ แยกออกมาได้ แต่ในที่นี้ผู้วิเคราะห์ขอวิเคราะห์ว่าเป็นคำกริยาวิเศษณ์ที่ผู้น้อยร้องบอก กล่าวและเลือนเป็นเจ้าค่ะในภายหลังนั่นเอง

     สิ่งที่ผู้วิเคราะห์ปักใจเชื่อเพราะในสมัยนั้นมาว่าใครที่เกิดมาแล้วเข้ามาอยู่ในรั้วในวังย่อมถูกกฎและสิ่งแวดล้อมครอบจนฝังหัว การที่ศรีปราชญ์ตามตำนานจะเกิดสำนึกขบถขึ้นมาลอยๆ โดยคนเดียวโดดๆ และดูออกจะก้าวหน้าเกิดยุคตามที่ยกย่องกันนั้นมีมูลเหตุน้อยมาก จนยากแก่จะเอนเอียงได้
      มิใช่ว่าการกบฏของคนสมัยก่อนจะไม่มีเลยก็หาไม่ แม้แต่ลาลูแบร์ยังมองเห็นว่า “พลเมืองสยามขณะนั้น (สมัยพระนารายณ์) มีอยู่ประมาณ 1 ใน 9 แสนคน แต่เชื่อว่ายังมีคนหลบหนีไปซุกซ่อนอยู่ในตามป่าเพื่อให้พ้นภัยจากรัฐบาลที่คุกคามบีบคั้นข่มเหงกลายเป็นคนนอกทะเบียนยังมีอีก” แสดว่าคนที่ขบถต่อกฎมณเฑียรบาลอยุธยามีอยู่เป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่การกบฏของผีบุญต่างๆ แถบภาคอีสานซึ่งทนคามคับข้องใจจากกรุงเทพฯ ไม่ได้ก็ดี ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษาใส่ใจเป็นยิ่งนัก


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:21
       และท้ายสุดกำสรวล (ศรีปราชญ์) ก็ยังคงเป็นปัญหาลี้ลับต่อไปว่าใครเป็นผู้แต่ง ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องน่ามหัศจรรย์แต่อย่างใดในวรรณคดีไทย เพราะยังมีอีกหลายต่อหลาเรื่องที่ไม่เคยปรากฏผู้เขียน เช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ เป็นต้น ข้อสำคัญอยู่ที่นักวรรณคดีจะเล็งเห็นถึงเป้าหมายและสิ่งที่น่าจะเป็นปะโยชน์ในทางที่ถูกต้องที่สุดหรือไม่ จากวรรณคดีเรื่องนั้นๆ นั่นก็คือการหยิบเอาข้อเท็จจริงมาถกเถียงพูดกัน เพื่อไม่ให้คนรุ่นหลังต้องตกเป็นเหยื่อทางการศึกษาวรรณคดี เพียงแคสอบได้หรือมองด้านเดียวอย่างที่เป็นมาแต่ก่อน

        เพราะวรรณคดีไม่ใช่อาหารที่คนใดคนหนึ่งจะผูกขาดการเสพไว้แต่เพียงกลุ่มเดียว

       ม.ร.ว. สุมนชาติ  สวัสดิกุล  ( 2527 : 144 – 157 )   เห็นว่ากำสรวลฯ  อนิรุทธคำฉันท์ และโคลงต่าง ๆ ที่อ้างถึงในประวัติของศรีปราชญ์นั้นไม่ใช่สำนวนของกวีคนเดียวกัน  กำสรวลฯ  อายุเก่ากว่าอนิรุทธคำฉันท์ถึง 200  ปี  และกำสรวลฯ เป็นหนังสือที่เห็นได้ชัดว่าแต่งในสมัยอยุทธยาตอนต้น คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  เทียบถ้อยคำสำนวนได้กับลิลิตยวนพ่าย  ลิลิตพระลอ และมหาชาติคำหลวง  กำสรวลฯ  ไม่ใช่ผลงานของศรีปราชญ์บุตรพระโหราธิบดี  เพราะโหราธิบดีได้ยกโคลง 3 บทต้นของกำสรวลฯ  มาอ้างเป็นตัวอย่างของโคลงดั้นบาทกุญชรในหนังสือจินดามณี  ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของบิดาที่จะยกโคลงของบุตรมาเป็นโคลงครูในงานของตน  เมื่อปรากฏว่าผู้แต่งกำสรวลฯ และอนิรุทธคำฉันท์เป็นคนละคนกัน  และประกอบกับความคิดที่ว่าชื่อศรีปราชญ์ฟังดูไพเราะเกินกว่าจะเป็นชื่อของบุคคลในสมัยก่อนโน้น  จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าศรีปราชญ์เป็นชื่อตำแหน่งกวีเอกในราชสำนัก  อาจมีตัวบุคคลที่ได้รับตำแหน่งนี้หลายคน  ผู้แต่งโคลงที่พระยาปริยัติธรรมธาดานำมาอ้างประกอบประวัติองศรีปราชญ์นั้น   น่าจะเป็นอีกคนหนึ่ง  เพราะสำนวนโคลงต่าง ๆ เหล่านั้นใหม่กว่าอนิรุทธคำฉันท์เป็นอันมาก  เทียบกับสำนวนระหว่างเวลาของเจ้าฟ้าธรรมมาธิเบศรกับพระตรังว่า  ฉะนั้นน่าจะมีศรีปราชญ์  3 คน คือ  ผู้แต่งกำสรวลฯ  ในสมัยอยุธยาตอนต้นคนหนึ่ง  ผู้แต่งอนิรุทธคำฉันท์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ  คนหนึ่ง  และผู้แต่งโคลงเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ นั้นอีกคนหนึ่ง  นอกจากนั้นยังปรากฏชื่อศรีปราชญ์ในสมัยพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีหรือพระพุทธเจ้าเสืออีกคนหนึ่ง  ซึ่งกล่าวถึงในคำให้การของชาวกรุงเก่า  อาจจะเป็นศรีปราชญ์คนเดียวในสใยพระนารายณ์ฯ หรือไม่ก็ได้  ถ้าเป็นคนละคนกัน  ก็รวมศรีปราชญ์ถึง 4 คน นอกจากนั้นยังปรากฏในประเทศอื่น ๆ บางประเทศเช่น ทมิฬ และพม่า  มีการกล่าวถึงกวีเอกที่มีประวัติคล้าย ๆ กับศรีปราชญ์ของไทยอีก  ทำนองเดียวกัน เรื่องศรีธนนชัย   ทำให้เข้าใจว่าประศรีปราชญ์อาจจะเป็นประวัติที่คัดลอกกันมาแบบนิยายอื่น ๆ   ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ในพระราชพงศาวดารไม่ปรากฏว่ามรการประหารเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในแผ่นดินพระเพทราชา  มีแต่การกบฏแล้วเจ้าเมืองหนีไปได้  ทำให้เกิดความไม่แน่ใจในประวัติศรีปราชญ์ยิ่งขึ้น


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:22
     ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้เขียนวิจารณ์กำสรวลศรีปราชญ์ไว้ว่า งานของศรีปราชญ์เท่าที่กล่าวถึงกันมีสามเรื่องคือ กำสรวลโคลงดั้น อนิรุทธคำฉันท์และโคลงเบ็ดเตล็ด แต่เฉพาะเรื่องหลังนี้เมื่อสอบกันดูกับโคลงกวีโบราณที่พระยาตรังรวบรวมไว้ปรากฏว่า บางบทที่เคยคิดกันว่าเป็นของศรีปราชญ์กลับเป็นของศรีธนนชัยไป หากนำเรื่องของศรีปราชญ์มาวินิจฉัยจะเห็นได้ว่าไม่ใช่สำนวนของคนคนเดียวกัน โคลงกำสรวลน่าจะมีอายุมากกว่าอนิรุทธคำฉันท์ถึงสองร้อยปี น่าจะเป็นโคลงสมัยอยุธยาตอนต้น คือสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทั้งถ้อยคำสำนวนก็เทียบได้กับยวนพ่าย ลิลิตพระลอและมหาชาติคำหลวง อีกทั้งในหนังสือจินดามณี ซึ่งเชื่อว่าบิดาศรีปราชญ์เป็นผู้แต่งนั้น ก็ได้ยกเอาโคลงกำสรวลนี้เป็นตัวอย่างโคลงบาทกุญชรว่า

                     อยุธยายศยิ่งฟ้า              ลงดิน
           อำนาจบุญเพรงพระ                    กอบเกื้อ
           เจดีย์ละอออินทร์                       ปราสาท
          ในทาบทองแล้วเนื้อ                     นอกโสรม

            พรายพรายพระธาตุเจ้า               จยรจันทร์
          ไตรโลกย์เลงคือโคม                     ค่ำเช้า
           รบยงบรรหารสวรรค์                     รุจเรข
          ทุกแห่งห้องพระเจ้า                     นงงเนื้อ

             ศาลาอเนกสร้าง                      แสนเสา
          ธรรมมาสน์จงใจเมือง                    สู่ฟ้า
          วิหารย่อมฉลักเฉลา                     ฉลุแผ่น ไส้นา
          พระมาสเลื่อมเลื่อมหล้า               หล่อแสง

          (น่าจะเข้าใจผิดเพราะจินดามณีฉบับพระโหราธิบดีนั้นมิได้อ้างโคลงเหล่านี้)  แสดงว่าโคลงกำสรวลจะต้องแต่งก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแน่         เมื่อเทียบสำนวนโวหารระหว่างโคลงกำสรวลและจินดามณีหรือสมุทรโฆษคำฉันท์ตอนที่พระมหาราชครูแต่ง กับตอนพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จะเห็นได้ว่าโคลงดั้นมีสำนวนเก่าแก่กว่าถึงสองร้อยปี ส่วนสำนวนในอนิรุทธคำฉันท์นั้นอาจอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ ถ้าหากจะเชื่อว่างานทั้งสองชิ้นนี้เป็นของศรีปราชญ์ ก็น่าจะเป็นศรีปราชญ์คนละคนกัน กล่าวคือศรีปราชญ์อาจจะเป็นราชทินนามเช่นเดียวกับสุนทรโวหาร ฯลฯ และเมื่อเทียบสำนวนโคลงประกอบประวัติศรีปราชญ์ของพระยาปริยัติธรรมธาดาแล้วปรากฏว่าเป็นสำนวนใหม่เทียบกับสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถ้าจะถือว่าศรีปราชญ์เป็นผู้แต่งโคลงเหล่านี้ ก็ย่อมหมายความว่ามีศรีปราชญ์ถึงสามคน และที่กล่าวกันว่าโคลงกำสรวลเป็นทำนองนิราศนครศรีธรรมราชนั้น เนื้อความในโคลงกำสรวลเท่าที่มีปรากฏอยู่ ปรากฏว่าเดินทางไปไกลสุดแค่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น โดยอ้างถึงเกาะสีชัง เกาะไผ่ เกาะคราม ถ้าเดินทางไปนครศรีธรรมราชจริงก็น่าจะมีโคลงที่อ้างถึงฝั่งทะเลตะวันตกของอ่าวไทยบ้าง แต่ปรากฏว่าไม่มีเลย ข้อที่น่าสังเกตก็คือคำให้การชาวกรุงเก่าว่าศรีปราชญ์เป็นกวีเอกในราชสำนักพระเจ้าเสือและเป็นที่โปรดปรานมาก แต่ศรีปราชญ์ได้ลอบส่งเพลงยาวเข้าไปหานางใน จึงถูกเนรเทศไปอยู่ที่นครศรีธรรมราชและถูกประหารชีวิตที่นั่นด้วยเหตุผลตรงกันกับตำนานศรีปราชญ์ ถ้าเป็นจริงเช่นนั้น ศรีปราชญ์จะมีสี่คน คือศรีปราชญ์ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสมัยพระเจ้าเสือ และศรีปราชญ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับประวัติของศรีปราชญ์ยังมีอีกสองประการคือ ประการแรกทางทมิฬและพม่าก็มีกวีเอกที่มีประวัติคล้ายศรีปราชญ์ ทำนองเดียวกับประวัติของศรีธนนชัย ประวัติของศรีปราชญ์จึงอาจเป็นประวัติที่คัดลอกกันมาแบบนิยายอื่นๆ ประการที่สองในพงศาวดารไม่ปรากฏว่ามีเจ้านครคนใดถูกประหารเลย สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อสังเกตชวนให้ศึกษาค้นคว้าต่อไปว่า ใครเป็นผู้แต่งโคลงกำสรวลกันแน่ (ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล 2490 อ้าอิงมาจาก ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี : 63-71)


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:25
          ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้กล่าวถึงศรีปราชญ์และโคลงกำสรวลไว้ว่า โคลงกำสรวลน่าจะมีอายุมากกว่าอนิรุทธคำฉันท์ถึงสองร้อยปี น่าจะเป็นโคลงสมัยอยุธยาตอนต้น คือสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลก- นาถ และศรีปราชญ์นั้นน่าจะเป็นราชทินนามของข้าราชการ และในสมัยอยุธยานั้นน่าจะมีศรีปราชญ์อยู่สี่คน คือศรีปราชญ์ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยพระเจ้าเสือ และสมัยบรมโกศ (ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล 2450 : 64-70 อ้างอิงมาจาก ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี 2515 : 63-71)

ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ มีความเห็นแตกต่างไปจาก ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล คือกล่าวว่า ศรีปราชญ์เป็นผู้แต่งกำสรวลและมีตัวจริงอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีชีวิตอยู่เรื่อยมาจนถึงสมัยพระเพทราชา แต่ถูกประหารชีวิตีที่นครศรีธรรมราชในรัชสมัยพระเจ้าเสือ (ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ 2501 : 1-37,

193-196)

            ธนิต อยู่โพธิ์ ได้สนับสนุนฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ว่า ศรีปราชญ์แต่งโคลกำสรวลและมีชีวิตอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ถูกประหารชีวิตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นเอง

(ธนิต อยู่โพธิ์ 2521 : 86-94)

            ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี ทรงให้ความเห็นว่า ผู้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงกำสรวลน่าจะได้แกพระบรมราชาธิราชที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ระหว่าง พ.ศ.2025-2035 ปีใดปีหนึ่งในช่วงเวลา 10 ปีนี้ (ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี 2515 : 174)

            มานิต วัลลิโภดม สันนิษฐานว่า โคลงกำสรวลน่าจะแต่งขึ้นก่อนสมัยพระไชยราชาธิราช ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2077-2098 แต่จะก่อนเท่าใดนั้นยังสรุปไม่ได้ (มานิต วัลลิโภดม 2515 : 308)

            สุนีย์ ศรณรงค์ ได้ทำปริญญานิพนธ์ วิเคราะห์วรรณคดีเรื่องกำสรวลศรีปราชญ์ได้ผลสรุปว่า โคลงกำสรวลแต่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระอิทราชา) ทรงพระราชนิพนธ์ในคราวที่สมเด็จไปวังช้างที่ตำบลไทรย้อย อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ ปีเถาะ พ.ศ.2026 ไม่ใช่ศรีปราชญ์แต่ง ไม่มีการเนรเทศ และมีความเห็นว่าผู้แต่งโคลงกำสรวลและโคลงทวาทศมาสน่าจะเป็นบุคคลเดียวกัน (สุนีย์ ศรณรงค์ 2516  ภ. 200-235) นอกจากนี้แล้ว ชลธิรา สัตยาวัฒนา ยังให้ความเห็นว่า โคลงกำสรวล โคลงทวาทศมาสและลิลิตพระลอเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยอยุธยาตอนต้น (ชลธิรา สัตยาวัฒนา 2524 : 25-51) และชลธิรา สัตยาวัฒนา (กลัดอยู่) ยังเชื่อว่า สมุทรโฆษคำฉันท์ อนิรุทธคำฉันท์ เป็นวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น ทั้งยังเชื่อว่าผู้แต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ตอนต้น ผู้แต่งลิลิตพระลอและผู้แต่งอนิรุทธคำฉันท์เป็นบุคลเดียวกัน (ชลธิรา กลัดอยู่ 2519 :86-90)

            ด้วยเหตุที่ประวัติผู้แต่งโคลงกำสรวลและโคลงทวาทศมาสยังคลุมเครือหาข้อยุติไม่ได้ดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้การศึกษาวรรณคดีทั้งสองเรื่องนี้ไม่กระจ่างชัดเท่าที่ควร เพราะผู้ศึกษาไม่สมารถพิจารณาได้แน่นอนว่า ใครเป็นผู้แต่งวรรณคดีทั้งสองเรื่องนี้กันแน่ แต่งในสมัยใด สภาพแวดล้อมทางสังคม รสนิยม ค่านิยมและอุดมคติของสังคมเป็นอย่างไร ภาษาที่ใช้อยู่ในวรรณคดีควร เป็นภาษาที่ใช้อยู่ในสมันใด ผู้แต่งเข้าไปเกี่ยวข้องในวรรณคดีเพียงใด อย่างไร เพราะเหตุใด มีจุดมุ่งหมายในการแต่งที่แท้จริงอย่างไร เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ต้องศึกษาค้นคว้าอยู่ทั้งสิ้น
           ผู้เขียนได้ศึกษาวรรณคดีทั้งสองเรื่องนี้ได้พบว่า การใช้ถ้อยคำ สำนวนโวหาร ในวรรณคดีโบราณทั้งสองเรื่องนี้คล้ายคลึงกันมาก ในบางตอนคล้ายคลึงกันมากจนน่าจะเชื่อได้ว่า เป็นสำนวนโวหารของบุคคลเดียวกัน โดยเฉพาะเนื้อเรื่องหรือเหตุการณ์ในโคลงกำสรวลนั้นมีลักษณะที่สอดคล้อง เชื่อมโยงติดต่อกับเนื้อเรื่องในโคลงทวาทศมาสด้วย ประกอบกับสตรีที่ผู้แต่งโคลงกำสรวลและโคลทวาทศมาสรำพึงถึงคือ “ศรีจุฬาลักษณ์” เช่นเดียวกัน ทำให้น่าเชื่อว่าผู้แต่งวรรณคดีทั้งสองเรื่งนี้เป็นบุคคลเดียวกัน และเมื่อผู้แต่งโคลงทวาทศมาสดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น “พระเยาวราช” ผู้แต่งโคลงกำสรวลก็น่าจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย

            ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี กลับมีความเห็นไม่ตรงกันกับฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ และธนิด อยู่โพธิ์ คือเชื่อว่า โคลงกำสรวลไม่น่าจะแต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและผู้แต่งโคลงกำสรวลก็ไม่ใช่ศรีปราชญ์ โดยให้เหตุผลดังนี้

            1. ในหนังสือจินดามณีมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ผิจะเอากลอนห้าใส่ ให้เอาด้วยกันทั้งสี่บท อย่าได้ลดโคลงต้น คืออุปาทวาทศ คำสวรสมุทร สมุทรโฆษ พระนนท์ กษัตรีสังวาส ศรีอุมาธิการย พระยศราชาพิลาป อย่าได้เอาคำบูราณนั้นมาใส่ ผิจะดูเยี่ยงให้ดูเยี่ยงกลบท” คำสรวลสมุทร(กำสรวลสมุทร) ที่ปรากฏในจินดามณีก็คือโคลงกำสรวลนั่นเอง แสดงว่าแม้แต่ในสมัยพระนารายณ์มหาราชก็ถือว่าโคลงกำสรวลเป็นโคลงโบราณอยู่แล้ว

            2. ข้อความในโคลงกำสรวลที่ว่า “แตรตระหลบข่าวรู้ ข่าวยาม” นั้นไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นแตรของทหารฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะทหารฝรั่งเศสที่เข้ามานั้นไม่ได้อยู่ที่อยุธยาแต่ที่บางกอก มะริดและลพบุรี อีกประการหนึ่งก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มีฝรั่งชาติโปรตุเกสเข้ามาก่อนทหารฝรั่งเศสกว่าร้อยปี ในยวนพ่ายซึ่งแต่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็มีกล่าวว่า “แตรตลบท้องหล้าส่งเสียง” มาก่อนแล้ว

            3. เนื้อความของโคลงไม่ได้กล่าวถึงเหตุของความเดือดร้อนเพราะถูกเนรเทศไม่มีการบ่นถึงนางที่เป็นต้นเหตุ หรือกษัตริย์ที่มีพระบรมราชโองการให้เกิดการพลัดพรากทั้งลักษณะการแต่งก็เป็นโคลงกล มีความคิดลึกซึ้งมากกว่าที่จะเป็นผลงานของปฏิภาณกวีเยี่ยงศรีปราชญ์ โคลงกำสรวลจึงเป็นนิราศธรรมดาของผู้ที่จากคนรักไปเท่านั้น

            4. การใช้คำในโคลงกำสรวลมีการใช้คำราชาศัพท์บางคำ เช่น ถวาย พระ เป็นต้น กับตนเอง แสดงว่าผู้แต่งน่าจะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง กระบวนเรือที่บรรยายไว้ในโคลงนั้น ก็มีลักษณะของขบวนพยุหยาตราทัพทางเรือ หรือขบวนเสด็จประพาสสมุทร ส่วนศรีจุฬาลักษณ์ก็น่าจะเป็นชายาหรือสนมของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้

            5. กษัตริย์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงกำสรวลน่าจะได้แก่ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 และทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในระยะเวลาระหว่าง พ.ศ.2025-2035 ในช่วงเวลา 10 ปีนี้ (ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี 2515 : 132-174)

 


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 19:26
          เอกสารข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์

1.คำให้การขุนหลวงหาวัด เดิมเรียกว่า พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทอำนวยการแปล ต่อมามีผู้อื่นได้ต้นฉบับที่กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงเรียบเรียงนั้นไปแก้ไขตามอำเภอใจ แล้วหมอสมิธได้ไปพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2426 เพิ่งจะมีการค้นพบฉบับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทเมื่อ พ.ศ.2454 คำให้การนี้คล้ายคลึงกับคำให้การชาวกรุงเก่า

2.คำให้การชาวกรุงเก่า หอสมุดวชิรญาณได้ต้นฉบับมาจากเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ.2454 ได้ให้มองต่อแปลเป็นภาษาไทย เมื่อ พ.ศ.2455 เป็นต้นฉบับที่รัฐบาลอังกฤษพบที่หอหลวงในพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินพม่าที่เมืองมันดะเล ตั้งแต่อังกฤษตีพม่าได้เมื่อ พ.ศ.2428

3.คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2482 รวมมากับเอกสารอื่นๆ และกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้สมุดข่อยนี้มาจากกรมราชเลขาธิการเมื่อ พ.ศ.2475 เป็นเอกสารจากหอหลวงของไทยที่เหลือรวมมากับหนังสืออื่นๆ แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นเอกสารที่ทรงคุณค่าวิเศษประมาณค่ามิได้ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยโดยตรง ที่กล่าวถึงสภาพบ้านเมือง สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในเรื่องต่างๆ อย่างละเอียดและเป็นระเบียบ คล้ายคลึงกับคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด แต่ละเอียดและถูกกว่า นายปรีดา ศรีชลาลัย เสนอต่อคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2512 และพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารประวัติศาสตร์คือ แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี เมื่อต้นปี พ.ศ.2512 และลงติดต่อกันหลายฉบับ

 


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 18 ส.ค. 12, 11:02
ขอบพระคุณสำหรับความกระจ่างค่ะ

Anna ;D


กระทู้นี้หยุดไปตั้งแต่ มีนาคม คศ. 2010 บังเอิญผมได้เปิดทบทวนกระทู้เก่าๆ เห็นหลายกระทูที่ถามมาและตอบไปอยู่ 2-3 ท่านแล้วกระทู้ก็ตายไป รู้สึกเสียดายว่าแต่ละกระทู้เป็นเรื่องน่าสนใจแต่ไม่มีคนเติมเต็ม และด้วยกลไกของเว็บทำให้กระทู้นั้นๆถูกทำให้ถอยร่นและหายไปจากความสนใจ ผมเลยค้นในเน็ตเพื่อโพสต์จะได้ต่ออายุกระทู้ ตอนที่โพสต์ลงนั้นยังถูกถามโดยระบบเลยว่าจะโพสต์จริงหรือไม่เพราะไม่มีคนร่วม respond มาตั้ง 150วันแล้ว แต่ก็ตัดสินใจโพสต์ต่อ
นับว่าได้ผลครับเพราะเพิ่มเป็น 3 หน้าแล้ว และทำให้สถิติอาจารย์เทาชมพูใกล้สองหมื่นเข้าไปทุกขณะ เอาใจช่วยครับ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 12, 11:08
ขอบคุณค่ะคุณ sujittra   ดิฉันชอบมากที่คุณนำกระทู้เก่าๆที่คิดว่ายังมีประเด็นน่าสนใจเพิ่มเติม กลับมาหน้าแรกอีกครั้ง
เรื่องของศรีปราชญ์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ไม่สิ้นสุด    ที่สำคัญคือถ้าศรีปราชญ์ไม่ได้แต่งกำศรวล ผู้แต่งตัวจริงคือใครกันแน่
ถ้าคุณเจอกระทู้เก่าที่น่าสนใจแบบนี้อีกก็เชิญดึงขึ้นมาได้นะคะ

สถิติในเรือนไทยนี้ คุณแอดมินทำตัวเลขให้ดูโก้ๆเท่านั้น    ไม่มีรางวัล ไม่มีชิงโชค ไม่ใช้จับฉลาก หรือแม้แต่จะเอาไปซื้อลอตเตอรี่ก็ไม่ได้ทั้งนั้นละค่ะ