เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: gengkitty ที่ 14 ต.ค. 11, 11:48



กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: gengkitty ที่ 14 ต.ค. 11, 11:48
สวัสดีครับ
ไม่ทราบว่า ท่านใดเคยอ่านพบชื่อ เจ้าพิชัยราชา (ชื่น) หรือ เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น) ที่ไหนบ้างครับ เพราะตอนนี้ทางครอบครับผมได้เชิญอัฐิบรรพบุรุษ-สตรี
เพื่อจะบูรณะช่องอัฐิที่วัดประยุรวงศาวาสใหม่ ปรากฏว่าเจอกล่องอัฐิอยู่ 1 กล่อง ที่เขียนนามเจ้าของอัฐิว่า เจ้าพิชัยราชา (ชื่น) ไว้ ซึ่งทางครอบครัวผมนามสกุล บุรานนท์
จะสันนิษฐานว่า จะเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) บุตรชาย ท่านเฉกอหมัด ก็ไม่น่าใช่ เพราะตอนนั้นท่านยังเป็นมุสลิมอยู่ และระยะเวลาก็นานมากไปที่พอจะพบหลักฐานได้
หากท่านใดมีความเห็นหรือรายละเอียดเพิ่มขอความกรุณาช่วยผมด้วยนะครับ เพราะตอนนี้ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะไปหาข้อมูลที่ไหน หากท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมรบกวนเมล์มาที่ gengkitty@hotmail.com แล้วผมจะส่งรูปไปให้อีกครั้งครับ หรือหากมีข้อมูลด่วนรบกวนโทรมาที่เบอร์ 087-9902120 แล้วผมจะโทรกลับไปนะครับ

ขอบพระคุณครับ
อัศิวญญ์ บุรานนท์


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ต.ค. 11, 15:07

มิบังอาจจะให้ความเห็นใดๆเรื่องกล่องอัฐิได้    แต่ขอคัดลอกข้อความ ในหน้า  ๑๘ - ๑๙

ของ "มุขมาตยานุกูลวงศ์" เล่ม ๑   พิมพ์ครั้งที่ ๑   ๑ พันฉบับ

ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์สยามประเทศ

หน้าวัดราชบพิธถนนเฟื่องนคร  กรุงเทพฯ
เมื่อรัตนโกสินทรศก  ๑๒๔

ราคาเล่มละ ๑๐ บาท    


       "ไม่ช้านานกี่มากน้อยเจ่าพระยาบวรราชนายก(เฉกอะหมัด)  ก็ถึงแก่อสัญญกรรม  อายุได้ ๘๘ ปี

เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น)ที่สมุหนานกผู้บุตรนั้น  จัดการศพบิดาแห่แหน  ยกศพไปฝังที่ป่าช้าแขกที่บ้านท้ายคู

มีฐานปูนปรากฎเป็นเนินใหญ่โต"


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ต.ค. 11, 15:28
อ้างอิงเดิม    หน้า ๑ -  ๓

       หลวงนนทเกตุ(ฉ่ำ)แขกเจ้าเซ็น  ถามเรื่อง เฉกอะหมัด    

นายกุหลาบลำดับวงศ์ตระกูล  สมเด็จเจ้าพระยากรุงเทพ ฯ  ฝ่ายข้างปู่ทวด  แยกออกมาจากวงศ์ตระกูล  พระยาจุฬาราชมนตรี(แขกเจ้าเซ็น)

ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าเป็นปฐมเหตุ


(หน้า ๓)    นายกุหลาบอ้าง

๑.       เฉกอะหมัด   ต้นฉบับเดิมเป็นของ พระยาจุฬาราชมนตรี ชื่อ "เชน"  ผู้เรียบเรียงร้อยกรอง  เรื่องลำดับวงศ์ตระกูลแขกมะหง่น (แขกเจ้าเซ็น)

๒.       ภายหลังพระยาจุฬาราชมนตรีชื่อ "เถื่อน"  เป็นผู้เรียบเรียงต่อมา    จนพระยาจุฬาราชมนตรีได้เลื่อนเป็น พระยาบวรประเทศ

๓.      ต่อมาพระยาจุฬาราชมนตรี "นาม"  บิดาของพระยาราชมยตรี "สิน"  เป็นผู้เรียบเรียงต่อมา

๔.      จนถึงเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ)  เจ้าพระยาพระคลัง  เสนาบดีในกรมท่า  ว่าราชการต่างประเทศในรัชกาลที่ ๔

๕.      ภายหลังเจ้าพระยาภาสกรวงศ์​(พร) ได้เรียบเรียงเรื่องนี้ตัดทอนแต่โดยย่อ ๆ   โดยสังเขบอีกฉบับหนึ่ง

         มีใจความตรงกัน


นายกุหลาบเล่าไว้ในเอกสารอื่น ๆ ด้วยว่า  เขาได้รับต้นฉบับทั้ง ๕ ฉบับนี้ จากคุณเนิน   ราชนิกูลบุตรีสมเด็จเจ้าพระยาพระองค์ใหญ่

ได้คัดความย่อ  นำมาลงแต่พอเป็นสังเขป




กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ต.ค. 11, 15:40


        ก่อนที่จะคัดลอก   มหามุขมาตยานุกูลวงศ์   ต่อไป

หวังว่า จขกท  คงศึกษา  "สกุลบุนนาค"    พ.ศ. ๒๕๔๒   มาเป็นอย่างดีแล้ว

จะพบว่ารายละเอียดคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่


       ได้พยายามอ่านมหามุข ฯ ไปอีกจนจบสายบุนนาค  ก็ไม่พบรายละเอียดอื่นใด

เมื่อ จขกท  ได้แวะมาถึง "เรือนไทย" แล้ว    ก็ขอต้อนรับตามความสามารถอันน้อยนิด

นักอ่านหนังสือเก่า  จะปล่อยให้ท่านยืนอยู่แต่เดียวดายก็กระไรอยู่     ขอเชิญขึ้นเรือนเทอญ


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ต.ค. 11, 16:39


หน้า ๕

        "เฉกอะหมัด"  พี่ชาย และ "มะหะหมัดสะอิด" น้อง   เป็นแขกมะหง่น(แขกเจ้าเซ็น)  ชาวเมืองกุนี 

นำพวกพานิชแขกมาตั้งห้างค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา  ณ ที่ตำบลหน้าเกาะหนองโสน  เมื่อ จุลศักราช ๙๖๔  ปีขาล  จัตวาศก

ต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จ  พระเจ้าบรมราชาทรงธรรม


หน้า ๖

          ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบล ท่ากายี   ใกล้มหานครศรีอยุธยา           ทั้งสองพี่น้องมีเงินทุนมา 

ได้ตั้งห้างรับซื้อสรรพสินค้าของป่า  และบันทุกออกไปขายต่างประเทศ   และเลือกซื้อสิ่งของ

ต้องประสงค์ของชาวสยามและของประหลาดจากนานาประเทศเข้ามาขาย


          ท่านทั้งสองประกอบกิจพาณิชยกรรมมาช้านาน   จนบริบูรณ์ด้วยผลประโชน์มาก   ทรัพย์สมบัติบริบูรณ์เพิ่มพูน

ด้วยเงินทองบริวารมหาสถานเป็นอนันตเศรษฐี         บ้านของท่านเรียกว่า "บ้านแขกใหญ่"  บางทีเรียกว่า "บ้านตึกแขก"   

บางทีเรียกว่า "บ้านรั้วอิฐ"  เพราะก่อกำแพงล้อมบ้านด้วยอิฐถือปูน"       บางทีก็เรียกว่า "บ้านแขกกระดีเจ้าเซ็น"     



หน้า ๗

       มะหะมัดซาอิด   ไม่ชอบใจอยู่ในสยามจึงลาพี่ชายกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของตน   ท่านมีภรรยาเป็นชาวสยาม  รับไปด้วยเพราะมีบุตรด้วยกัน

เฉกอะหมัดมีภรรยาเป็นชาวสยาม   ชื่อ เชย     มีบุตรด้วยกัน ๓ คน       ท่านคุ้นเคยไปมาหาสู่ชอบพอสนิทสนมทั่วไปหลายแห่งในราชการ



หน้า ๘  - ๙

ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็น "พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี  เจ้ากรมท่าขวา"


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ต.ค. 11, 20:38

 หน้า ๙ -  ๑๐

          พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี   ทำราชการสนองพระเดชพระคุณมาช้านาน

วันหนึ่งมีโอกาสอันดีแล้วมีช่องอันสมควร   จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า    ไม่มีบ้านที่อยู่พอเพียง

สำหรับพวกพ้อง   จึงต้องขอรับพระราชทานที่ดินตำบลบ้านท้ายคู    ทรงพระกรุณาโปรดตามคำกราบทูล

พวกแขกมะหง่นจึงสร้างบ้านเรือนเป็นหมู่ใหญ่  ด้วยพวกมาก    สร้างสุเหร่ากะดีเจ้าเซ็นใหญ่โตด้วยอิฐและปูนเหมือนวัดไทย

แล้วสร้างป่าช้าฝังศพด้วย   มีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ         คนไทยเรียกว่า  "กะดีเจ้าเซ็นใหญ่" บ้าง

"วัดแขกใหญ่" บ้าง

       กะดีเจ้าเซ็นน้อย  อยู่ในกำแพงพระนครใกล้กันกับวัดกระเบื้องเคลือบ



หน้า ๑๑             เมื่อเจ้าพระยาพระคลังถึงแก่อนิจจกรรมล่วงชนม์ชีพไปแล้ว    พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี  

ได้เลื่อนยศให้เทียบที่พระคลัง   และให้เป็นเสนาบดีกรมท่ากลาง



กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ต.ค. 11, 21:37
สวัสดีครับ

ส่วนกระผมอยากจะเห็นอักษรนั้นครับว่าจารึกในลักษณะใด ลักษณะตัวอักษรเป็นอย่างไร


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ต.ค. 11, 09:24



เจ้าพระยาบวรราชนายก(เฉกอะหมัด) ป่วยไข้ชราลง 

ภรรยาคนไทยชื่อเชย     มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือ

ชื่น   บุตรชาย

ชม  บุตรชาย   ป่วยเป็นไข้ทรพิษ  เสียชีวิตตั้งแต่เยาว์

ชี  ได้เป็นเจ้าจอมพระสนมเอก


หน้า ๑๙

เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) มีบุตรด้วยท่านผู้หญิง ๒ คน

บุตรสาว  เลื่อน  ได้เป็นเจ้าจอมพระสนมเอก   มีพระองค์เจ้าหญิงองค์หนึ่ง ชื่อ พระองค์เจ้าหญิงแสงจันที์(ประสูติในวันมีจันทรุปราคา)

บุตรชาย  สมบุญ    เป็นมหาดเล็กหลวง  เลื่อนเป็น หมื่นจงภักดีองค์ขวา  กรมวัง     

ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ได้เลื่อนเป็น พระยาบำเรอภักดิ์ปลัดทูลฉลองกรมวัง


จบเรื่องราวของ เจ้าพระยาอภัยราชา(ชื่น) เพียงแค่นี้

เรื่องที่ท่านได้กราบบังคมทูลลาท่านชี  ออกมาแต่งงานกับ  อากามะหะมัด  บุตรของ มะหะมัดสะอิด  นั้น  เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่อไป




เรียนคุณหนุ่ม

เรื่องตัวพิมพ์นั้น   เมื่อมีการประชุมกัน  โปรดเตือนให้ดิฉันนำหนังสือมาแสดงด้วย

มหามุขมาตยานุกูลวงศ์นี้พิมพ์รวบรวมขึ้นเมื่อ  นายกุหลาบอายุ ๗๒

ยังมีหนังสือกฎหมายที่นายกุหลาบพิมพ์หลังสึก เมื่ออายุ ๒๗ ปีด้วย
 


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 ต.ค. 11, 10:37
เรียนคุณวันดี

ข้อมูลที่เข้ามาช่วยนั้นแน่นมาก หากแต่ผมคิดในลักษณะประการหนึ่งอยากจะถามเจ้าของกระทู้ว่า

๑. เมื่อท่านสืบเชื้อสายลงมาใช้นามสกุล "บุรานนท์" นั้นสืบเชื้อสายจากเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา กับ หม่อมจันทร์ (ตามแผนผัง) .ข้อมูลจากเวปสกุลบุนนาค

๒. ใคร่อยากทราบถึงถ้ำอัฐิที่พบอยู่เดี่ยว ๆ หรือรวมอยู่กับอัฐิของท่านอื่นหรือไม่

๓. สำหรับข้อมูลเจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) ที่คุณวันดีกล่าวว่านั้น ผมมีข้อสังเกตุประการหนึ่งว่า ท่านเจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) ดำรงชีวิตอยู่สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อสิ้นชีพลงก็ฝากฝังลงที่กุโบร์ ถือเป็นต้นมหาสาขา ควรจะเป็นที่เคารพแห่งลูกหลานในสาขาต่อมา มิได้ควรนำอัฐิขึ้นมาอีก

๔. การเอ่ยชื่อนามที่กล่าวไว้ที่ถ้ำอัฐิ "เจ้าพิชัยราชา (ชื่น)" จึงใคร่อยากเห็นภาพลักษณะการจารึกลักษณะตัวอักขระนั้น แต่จะเหมาถึงว่าเป็น "เจ้าพระยา" นั้น ผมได้เข้าไปดูการตั้งเจ้าพระยาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่พบชื่อดังกล่าวครับ


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: gengkitty ที่ 16 ต.ค. 11, 15:53
รบกวนขออีเมล์ คุณ Wandee และคุณ Siamese ด้วยครับ


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 11, 16:40
คุณ gengkitty ส่งรูปอัฐิมาให้ดิฉันดูทางอีเมล์   จึงขออนุญาต ก่อนนำมาลงให้ดูกัน


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 11, 16:40
รูปที่ 2


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 11, 16:42
รูปที่ 3


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 11, 16:54
      ดิฉันส่งข้อสันนิษฐานไปให้เจ้าของกระทู้ ว่ามีเจ้าพระยาพิชัยราชาอีกท่านหนึ่ง เป็นเจ้าเมืองสวรรคโลกในสมัยธนบุรี  ปรากฎชื่อในประวัติศาสตร์ แต่ไม่ทราบชื่อตัว และชื่อสกุล

      ตามประวัติศาสตร์  เจ้าพระยาพิชัยราชาเดิมคือหลวงพิชัยราชา   เป็นหนึ่งในผู้ติดตามพระเจ้าตากตีฝ่าวงล้อมของพม่าจากกรุงศรีอยุธยาออกไปทางวัดพิชัย      ต่อมาทำหน้าที่เป็นทูตนำพระราชสาส์น ไปเกลี้ยกล่อมพระยาราชาเศรษฐีที่เมืองพุทไธมาศให้มาเข้าเป็นพวกได้สำเร็จ     ภายหลังเมื่อพระเจ้าตากตีจันทบุรีได้แล้ว หลวงพิชัยราชามีหน้าที่ควบคุมดูแลการต่อเรือรบ และเป็นกองหน้า รบขับไล่พม่าตั้งแต่ธนบุรีไปจนถึงโพธิ์สามต้น
     หลวงพิชัยราชาเป็นหนึ่งในทหารสำคัญสมัยธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสินฯโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก ครองเมืองสวรรคโลก เมื่อคราวศึกเชียงใหม่  โปสุพลาและโปมะยุง่วน หนีออกจากเมืองไปได้ทางด้านค่ายเจ้าพระยาสวรรคโลก เจ้าพระยาสวรรคโลก จึงต้องโทษโบย 50 ที   เข้าใจว่าคงจะถูกย้ายเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีตั้งแต่นั้น  ท่านถึงอสัญกรรมในราวปี พ.ศ. 2319 คือในสมัยธนบุรีนั่นเอง
      ถ้านับระยะเวลา ก็ใกล้ปัจจุบันมากกว่าสมัยบุตรชายท่านเฉกอะหมัด    แค่สมัยธนบุรี 200 กว่าปีมานี้เอง  หากท่านผู้นี้ถึงแก่อนิจกรรม ลูกหลานก็น่าจะเก็บอัฐิรักษาไว้ที่บ้าน ก่อนจะนำมาเก็บในช่องของวัด
     สังเกตว่าในช่องเก็บ  มีผอบแก้วอยู่เป็นคู่   เข้าใจว่าทำไว้คู่กันเป็นอัฐิของสามีภรรยา ลูกหลานเหลนเก็บรักษาไว้คู่กัน   จึงสันนิษฐานต่อไปว่า ในเมื่อลูกหลานในสกุลบุรานนท์ไม่มีใครรู้เลยว่าสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาท่านนี้    ก็เป็นได้ว่า ท่านอาจเป็นเขยของบุรานนท์   ท่านผู้หญิงพิชัยราชาต่างหากเป็นบุรานนท์    ลูกหลานที่เก็บไว้อาจเป็นเชื้อสายของท่าน ใช้นามสกุลอื่น  แต่นำมารวมไว้กับบรรพชนทางฝ่ายท่านผู้หญิง  จึงปรากฏอยู่ที่วัดนี้   



กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: gengkitty ที่ 16 ต.ค. 11, 17:17
หากท่านใดมีหนังสือที่พระยาราชสมบัติ (เอิบ บุรานนท์) เขียนในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงราชสมบัติ (เยื้อน) รายละเอียดในหนังสือจะบันทึกรายชื่อบุตร - ธิดาของพระยาศรีอรรคราชนารถภักดี (เมือง) และระบุชื่อมารดาของบุตร - ธิดา ด้วย
1. โดยสาแหรกที่พระยาราชสมบัติ (เอิบ) ได้รวบรวมนั้นไล่มาจนถึงชั้นที่ 6 (นับเนื่องในวงศ์บุนนาค - ถึงชั้นคุณพ่อของผม) และรายละเอียดในบันนทึกระบุชัดเจนว่า หากฝ่ายชาย - หญิง แต่งงานกับใครจะระบุว่า วงศ์เดียวกัน หรือ ต่างวงศ์
2. พระยาศรีอรรคราชนารถภักดี (เมือง) เป็นเจ้าคุณปู่ของ พระยาราชสมบัติ (เอิบ) แม้ว่าเจ้าคุณเมืองจะเสียชีวิตตอนที่เจ้าคุณเอิบยังเยาว์ก็ตาม แต่เจ้าคุณเอิบ ยังมีเจ้าคุณป้าอีกหลายคนที่สามารถจำความได้ โดยเฉพาะท่านผู้หญิงพรรณ และท่านผู้หญิงหยาด (ทั้ง 2 ท่านเป็นภรรยาสมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง)
3. หากลำดับชั้นสูงกว่าเจ้าคุณเมือง ก็คือชั้น เจ้าคุณบุนนาค ย้อนขึ้นไป
4. นอกจากนี้เอกสารชั้นต้นที่เจ้าคุณเอิบบันทึกไว้ ในชั้นลูก-หลาน-เขย ของเจ้าคุณเมือง ไม่มีผู้ใดชื่อ ชื่น หรือราชทินนาม พิชัยราชาเลย ในชั้นต่อๆ มาก็ไม่มี
5. จากรูปที่คุณเทาชมพู Post ไว้ เป็นกล่องทองเหลืองที่ระบุชื่น เจ้าพิชัยราชา (ชื่น) นอกจากนี้ยังมีอีก 4 หล่องทองเหลือง ซื่งค้นหาแล้วไม่พบหลักฐานที่สามารถระบุชื่อเจ้าของอัฐิได้ (อาจจะเขียนไว้แต่เสื่อมสภาพไปแล้วก็เป็นได้)
6. ตั้งแต่ยุธยาตอนปลายลงมา บรรดาศักดิ์จะเป็น เจ้าพระยา หรือ พระยา แต่อยุธยาตอนกลางจะระบุ ออกญา หรือ ออกพระ
7. ในที่นี้ระบุเพียงเจ้าพิชัยราชา (ชื่น) เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเป็นเจ้า (เชื้อพระวงศ์) ทางเหนือ หรือ เชื้อพระวงศ์ทางประเทศเพื่อนบ้านเรา

รบกวนขอความเห็นต่อๆ ไปนะครับ


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ต.ค. 11, 07:52
นึกถึงคุณหลวงเล็ก อยากจะพายเรือเชิญร่วมออกมาสู่วังวงแห่งน้ำท่วมด้วยกัน  ;D  เชิญ  ๆ   ๆ


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 ต.ค. 11, 11:27
นึกถึงคุณหลวงเล็ก อยากจะพายเรือเชิญร่วมออกมาสู่วังวงแห่งน้ำท่วมด้วยกัน  ;D  เชิญ  ๆ   ๆ


ทีอย่างนี้ล่ะคิดถึงกัน   เดี๋ยวว่างจากการทำทำนบกั้นอุทกแล้วจะกระโดดมาร่วมวัง เอ๊ย วง
แต่ผมคิดว่า  น่าจะเป็นอย่างที่คุณวันดีสาธยายตามตำรานายกุหลาบนั่น
เอกสารอื่นๆ ภายหลังก็ว่าความตามเอกสารนั้น  จะผิดแก่กันบ้างก็เพียงถ้อยคำที่ใช้เล่าเท่านั้น

แต่ก็ยังติดใจอยู่ที่มีกระดาษเขียนว่า  " เจ้าพ... ยราชาชื่น" หมายความว่าอะไรแน่
กระดาษที่เขียนไว้เปื่อยขาด เลยทำให้ตัวอักษรขาดหาย  ถ้าอ่านคลาดเคลื่อน
ก็จะทำให้กลายเป็นอีกชื่อ  แต่ถ้าว่าตามเอกสาร ควรเป็น เจ้าพระยาอภัยราชา ชื่น
บุตรคนโตของเจ้าพระยาบวรนายก (เฉกอหมัด)

ส่วนอัฐินี้มาอยู่ที่วัดประยุรวงศาวาสได้อย่างไร   เอาไว้ถกเถียงกันต่อไป
ตอนนี้  เอาให้แน่ก่อนว่า  ตกลง เจ้าพิชัยราชา (ชื่น) หรือ เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) กันแน่

ขอตัวไปลาดตระเวนน้ำก่อน   8)


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: gengkitty ที่ 17 ต.ค. 11, 11:34
ตอนแรกที่เอาโถทองเหลืองออกมานั้น บนอัฐิมีผ้าอยู่ครับ ตอนแรกที่เห็นในโถนั้นเขียนว่า เจ้าพิชัยราชา (ชื่น) เมื่อหยิบออกมา ผ้าจึงขาดครับ


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ต.ค. 11, 11:43
ถ้าหากว่าเป็นเจ้าทางเหนือ หรือเจ้าในประเทศเพื่อนบ้าน    ก็ไม่น่าจะมีวงเล็บบอกชื่อตัวไว้นะคะ   
จึงคิดว่า พิชัยราชา เป็นราชทินนาม
ดูจากวิธีการเขียนชื่อ เป็นลายมือหวัดแกมบรรจง อย่างสมัยรัชกาลที่ ๖   ผู้เขียนชื่อคงเป็นชั้นเหลนลื่อ ของเจ้าของอัฐิ


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ต.ค. 11, 13:51
รบกวนถามต่อครับ...โถทองเหลืองนั้นบรรจุอะไรไว้หรือครับ และมีวัตถุร่วมสมัย (เช่นเหรียญกษาปณ์)ถูกบรรจุไว้หรือไม่ครับผม


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: gengkitty ที่ 17 ต.ค. 11, 13:54
โถทองเหลืองทั้ง 5 ใบ ภายในจะบรรจุเงินเฟื้องครับ ตามภาพที่ผมส่งให้คุณ Siamese ดูจาก email


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: gengkitty ที่ 17 ต.ค. 11, 14:07
ไม่แน่ใจว่า เรียกว่าเงินเฟื้องหรือเปล่านะครับ


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ต.ค. 11, 14:24
ไม่น่าจะใช้เงินเฟื้องนะคะ
เหรียญมีรูตรงกลางแบบนี้ สมัยคุณแม่ดิฉันเด็กๆ เป็นเหรียญทองแดงหนึ่งสตางค์  เวลาไปโรงเรียน ท่านได้เงินติดตัวไปซื้อขนม ด้วยการร้อยเหรียญเข้ากับเข็มซ่อนปลายตัวโต กลัดติดเอวผ้านุ่ง     ใครมีเงินเหรียญร้อยในเข็มมากเท่าไร ถือว่าโก้มากเท่านั้น
ใช้กันประมาณรัชกาลที่ 6 และ 7  จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ต.ค. 11, 14:37
ไม่แน่ใจว่า เรียกว่าเงินเฟื้องหรือเปล่านะครับ

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อเงิน และเนื้อดีบุก จะเห็นว่าการเขียนรัฐบาลไทย เขียนว่า "รัถบาลไทย" ด้านหลังเป็น พ.ศ. กำกับไว้

ที่ถามดังนี้เนื่องจากทำให้เราทราบว่า ถ้ำบรรจุอัฐินั้นผนึกครั้งหลังสุดที่ พ.ศ. ใด ซึ่งก็ได้คำตอบว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ตัวเจ้าของอัฐินั้นจะเก่าแก่สักเพียงไรก็ต้องกลับไปดูที่นามแห่งอัฐิ หรือ โกฐ ที่บรรจุว่าตกอยู่ในช่วงใด

หากพบเหรียญ พ.ศ. ๒๔๘๔ ในโถทองเหลืองทั้ง ๓ แห่งก็หมายว่า ได้ทำการบรรจุ ณ ที่แห่งนี้ บวก ลบ ไม่เกินช่วงเวลาดังกล่าว


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 ต.ค. 11, 15:05
อือม์  แสดงว่า  เหรียญนี้ไม่เก่าถอยหลังเกินรัชกาลที่ ๘
เช่นนั้น    ตัวอักษรที่เขียนก็คงจะประมาณเวลาเดียวกัน
เป็นไปได้ว่า  อัฐิ และช่องบรรจุนี้  อาจจะเคยซ่อมแซม
ในช่วงปี ๒๔๘๐-๒๔๙๐ หรืออาจจะล่ากว่านั้นเล็กน้อย
อย่างนี้น่าจะหาบันทึกเรื่องการบูรณะได้กระมัง ???


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: gengkitty ที่ 17 ต.ค. 11, 15:42
ปีพ.ศ. 2454 ในการประชุมญาติครั้งใหญ่ ที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร) เป็นผู้จัดนั้น ได้มีดำริที่จะใช้ช่องรอบเจดีย์ที่มีอยู่ 55 ช่อง เป็นที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษเหล่าเครือญาติในครั้งนั้น พระยาราชสมบัติ (เอิบ - พ.ศ. 2410-2485) เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายสกุลบุรานนท์ ผมเข้าใจว่า ในปีนี้เองที่บรรดาเครือญาติทั้งหลายเริ่มเอาอัฐิบรรพบุรุษมาบรรจุไว้ รวมถึงสกุล บุรานนท์ด้วย ซึ่งเจ้าคุณเอิบ ท่านเกิดทัน ท่านผู้หญิงพรรณ ท่านผู้หญิงหยาด ท่านเงิน พระยาวิเศษโภชนา (จีน) และร่วมในงานศพท่านที่กล่างนามมาด้วย โดยทั้ง 4 ท่าน เสียชีวิตก่อน พ.ศ. 2454 ปมสันนิษฐานว่า เจ้าคุณเอิบ อาจเก็บอัฐิไว้ที่ใดสักทีก่อนที่จะย้ายมาที่เจดีย์นี้ หรือ อาจจะลอยอังคารหมดก็เป็นไปได้ จากคำบอกเล่า เข้าใจว่ามีการบูรณะช่องอัฐิครั้งหนึ่ง โดยสร้าง step ขึ้นมา 2 ชั้น แต่ก่อนพ.ศ. 2474 เพราะพ่อผมเกิดในปีนี้ และเล่าว่า ตอนเกิดมาก็เห็นแท่นวางนี้แล้ว
ไม่มีข้อมูลว่า ได้ทำการโยกย้ายหรือ arrange ลำดับกันใหม่หรือไม่ โดยใต้ step ทั้ง 2 ชั้นในโถทองเหลืองทั้ง 5 โถ มีปริมาณอัฐิไม่เท่ากัน บางโถก็มาก บางโถก็น้อย ความสูงของโถก็ไม่เท่ากัน ช่องซีเมนต์ที่ทำไว้ใส่แต่ละโถในแต่ละช่องก็สูงไม่เท่ากัน หากจะทำการบรรจุลงโถในเวลาเดียวกัน น่าจะใช้โถที่มีขนาดเดียวกัน (ผมพยายามคิดในเชิงเหตุผล) และผมก็ไม่เข้าใจว่า เหตุใดจึงทำความสูงของช่องซีเมนต์ไม่เท่ากันด้วย ซึ่งโถนี้ถ้าเทียบในปัจจุบัน น่าจะเป็นรุ้งที่ใช้เพื่อให้อัฐจมลงก้นแม่น้ำ (เท่าที่เข้าใจนะครับ) ซึ่งหากไม่เจอแผ่นผ้าที่เขียนชื่อใดใดเลยในแต่ละอัฐิ ผมคงจะเข้าใจว่าเป็นบรรพบุรุษทั้งหมด เพียงแต่ไม่ทราบว่า ใครเป็นใครเท่านั้น และหากชื่อที่เขียนเป็น พระยา หรือเจ้าพระยา ต่อด้วยราชทินนามเลย คงไม่เข้าใจเรื่องราวมากกว่านี้


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ต.ค. 11, 16:28
จะเห็นว่าช่องที่บรรจุอัฐินั้น บริเวณด้านบนก่อช่อง ฉาบปูนสีขาวสวยงามทั้งซ้ายและขวา และสอดคล้องกับความสูงของลุ้งทองเหลือง

เป็นไปได้ว่าทางบรรดาเครือญาติได้จัดเตรียมกะเกณฑ์มีขนาดไว้เรียบร้อยแล้ว จึงได้บรรจุทั้งซ้ายและขวาอย่างสวยงาม

ต่อเมื่อชั้นหลัง ๆ ต่อมาจะเห็นว่าการวางเก็บในช่องอัฐินั้นเป็นการต่อยผนังอาคารให้เป็นโพรงแล้วทำการบรรจุ จึงมีสภาพอย่างที่เห็น

ผมจึงมีความคิดว่าหากมองเรื่องโครงสร้างของวัสดุนั้น ลองดูที่ผนังที่ถูกต่อยออกไป มีความสัมพันธ์กับผนังหรือไม่ ผมว่าคงสร้างฉาบปูนปิดกันมาหลายชั้น ๆ ด้วยกัน

ผมสังเกตุว่าบางแห่งมีร่องรอยของปลวกเข้าทำรัง แสดงว่ามีรูเข้าได้ และบางแห่งมีน้ำอยู่ด้วย อีกทั้งวัสดุเช่นทองเหลือง ผ้า โลหะต่างขึ้นสนิม แสดงว่ามีความชื้นเข้าถึงอยู่ตลอดเวลา


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ต.ค. 11, 16:36
ส่วนแท่นที่กรุกระเบื้องสีฟ้า

ผมอยากถามว่า ในจำนวน 55 ช่องของตระกูลอื่นมีเหมือนกันไหม

1. หากมีเหมือนกัน อาจจะใช้ว่างเครื่องบูชา แจกัน ธูปเทียน เป็นต้น

2. หากไม่มี ก็คงหมายถึงการสร้างก่อเพิ่มเติมเนื่องจากผนังทั้งสองข้างมีเจ้าของเจาะช่องอัฐิไว้หมดแล้ว จึงต้องแก้ไจด้วยการก่อแท่นบรรจุอัฐิเพิ่ม

ทั้งนี้ลองสำรวจดูว่าแท่นที่ก่อใหม่นี้ไปปิดทับช่องอัฐิเดิมหรือไม่


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: gengkitty ที่ 17 ต.ค. 11, 16:54
1. ก่อนพ.ศ. 2474 ไม่มีแท่นสีฟ้าครับ (แท่นสีฟ้าขคือ step ที่ผมกล่าวถึง) มาถึงรุ่นพ่อและรุ่นผมเข้าใจว่า แท่นสีฟ้าคือที่วางเครื่องบูชา แต่ว่าหลังจากทุบแล้ว มีการแบ่งเป็นช่องมีอัฐิบรรจุอยู่ 1 อัฐิ นอกจากนีอีก 3 ช่อง มีเถ้าอัฐิอยู่ครับ
2. ช่องรอบเจดีย์ ทั้ง 55 ช่อง แต่เดิมเป็นช่องว่างๆ หลังปี 2454 จึงเริ่มเอาอัฐิมาบรรจุ ดังนั้น เจ้าของช่องแต่ละช่อง ก็ต่างคนต่างออกแบบ ไม่เหมือนกันครับ เพียงแต่ตกแต่งภายใน แล้วทำประตูปิดอีกที


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 ต.ค. 11, 17:53
เอาล่ะสิ  สนุกล่ะงานนี้   การบูรณะช่องบรรจุอัฐินี่แหละ
ที่จะทำให้ไม่สามารถสันนิษฐานได้อย่างแน่นอน
เพราะวัตถุเป็นของเคลื่อนย้ายได้  สร้างใหม่ได้ เสื่อมสลายได้
เข้าหลักไตรลักษณ์  คนที่เขียนพี่ลงผ้าไว้อาจไม่ใช่ผู้ที่รู้ข้อมูลที่ถูกต้อง
ทั้งหมดของสกุลบุนนาคและสาขาสกุลต่างๆ 

อันที่จริงจะว่าไปแล้ว  ตระกูลบุนนาคและสาขายังมีข้อมูลที่ขาดหายไป
อยู่หลายแห่ง   อย่างไรก็ดี  ก็นับว่าเป็นสกุลเก่าแก่ที่มีบันทึกมากกว่า
สกุลอื่นๆ ในประเทศไทย 

สิ่งที่ผมอยากรู้มากๆ คือการบูรณะสิ่งก่อสร้างต่างๆ
ในวัดประยุรวงศาวาสเท่าที่ผ่าน   น่าจะหาเอกสารได้ไม่ยาก
หจช.น่าจะมี   ที่วัดก็น่าจะมี  ส่วนที่ผมไม่มี    ;D


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 17 ต.ค. 11, 18:37

สิ่งที่ผมอยากรู้มากๆ คือการบูรณะสิ่งก่อสร้างต่างๆ
ในวัดประยุรวงศาวาสเท่าที่ผ่าน   น่าจะหาเอกสารได้ไม่ยาก
หจช.น่าจะมี   ที่วัดก็น่าจะมี  ส่วนที่ผมไม่มี    ;D


เมื่อปลายปีที่แล้ว มีโอกาสไปทำงานกับเพื่อนที่เรียนสถาปัตย์เกี่ยวกับวัดประยุรวงศาวาส
ประวัติข้อมูล แผนที่แผนทางเก่าๆ เคยผ่านตาหลายครั้ง

ถ้าเพื่อนยังมีเหลือเก็บอยู่ จะลองนำมาสำแดงในกระทู้นี้บ้าง
เผื่อจักเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ  8)


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 ต.ค. 11, 18:40
^ ดีจัง  จักรออ่านรอดูข้อมูลนั้น
ไม่ทราบว่าต้องรอนานสักกี่เพลาขอรับ :)


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ต.ค. 11, 22:01
อ้างถึงประวัติวัดประยุรวงศาวาส ๑๘๐ ปี

ในส่วนเรื่องพระบรมธาตุมหาเจดีย์

สูง ๖๐.๕๒๕ เมตร มีช่องคูหา ๕๔ คูหา ชั้นบนมีเจดีย์องค์เล็ก ๑๘ องค์

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เป็นผู้เริ่มสร้าง แต่ไม่ทันเสร็จท่านก็พิราลัยไปก่อน ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ก่อสร้างจนเสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๔

พ.ศ. ๒๔๑๔ ฟ้าผ่ายอดพระเจดีย์หัก และไม่ได้รับการซ่อมแซม

พ.ศ. ๒๔๕๐ เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ พระปรากรมมุนี (เปลี่ยน) ได้บูรณะพระเจดีย์เล็กรอบองค์ และซ่อมกำแพงรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่

พ.ศ. ๒๔๖๑ เจ้าอาวาสอยู่ ได้ทำการบูรณะยอดพระเจดีย์

พ.ศ. ๒๕๔๙ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสได้ทำการบูรณะพระเจดีย์ครั้งใหญ่

พ.ศ. ๒๕๕๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานบนพระเจดีย์องค์ใหญ่ และสมโภช ๑๘๐ ปีวัดประยุรฯ


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ต.ค. 11, 22:12
ส่วนที่เกี่ยวกับตระกูลบุรานนท์

พ.ศ. ๒๔๓๙ กรรมการผู้จัดการแบ่งทรัพย์สมบัติของท่านผู้หญิงพรรณ์ คือ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ พร้อมด้วยท่านเงิน บุรานนท์ และพระยาวิเศษโภชนา (จีน บุรานนท์) สร้างโรงเรียน ๒ หลัง และสร้างเมรุปูนหน้าภูเขาไว้เผาศพท่านผู้หญิงพรรณ์ สิ้นทรัพย์ ๒๕๐ ชั่ง จารึกนามว่า "พรรณาคาร ร.ศ. ๑๑๕"


กระทู้: เจ้าพระยาพิชัยราชา (ชื่น)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ต.ค. 11, 22:18
พ.ศ. ๒๔๕๔

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ สร้างศาลาหน้าวัดหลัง ๑ รื้อของเก่าออกแล้วไปนำพระตำหนักในวังหน้ามาสร้างไว้เป็นศาลาแทนของเก่า ... เทลานคอนกรีตบนลานพระเจดีย์องค์ใหญ่