เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 10915 ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 10 ก.ค. 11, 17:54



อ่านมาจากหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ

ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์

วัดเทพศิรินทราวาส

วันเสาร์ที่ ๒๗  ธันวาคม  ๒๕๒๙


       เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงอายุ ๒ - ๓ ขวบที่เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง   เรียนหนังสือกับคุณเฒ่าแก่

ไว้จุกเมื่ออายุ ๖ ขวบตามประเพณี   ถวายตัวแด่สมเด็จพระปิตุฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร

เรื่องที่น่าสนใจมากมายเช่น วิทยาลัยในพระบรมมหาราชวัง    เรื่องขำขันซุกซนเป็นเลิศของท่านผู้หญิง

การไปเล่าเรียนในประเทศอังกฤษ      เรื่องพี่น้องของท่าน    ธรรมเนียมอันเคร่งครัดที่ปกครองความประพฤติของเด็กผู้หญิง

การอบรมให้เป็นผู้ประพฤติดี  มีกตัญญู

      เรื่องราวของท่านผู้หญิงได้เคยอ่านมาหลายครั้งแล้วค่ะ   แต่ไม่มีหนังสือเป็นสมบัติ       สหายนักอ่านหนังสือเก่านำมาให้ยืมอ่าน

หลายเดือนแล้ว  และดูเหมือนจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าทิ้งหนังสือไว้

      อันที่จริงประวัติสกุลวงศ์ของท่านก็มีที่มาที่ไปอันยิ่งใหญ่   จะคุยกันก็จะได้ประโยชน์มากมาย   มิใช่จะเล่าว่าท่านเป็นลูกใคร  หลานใคร

เท่านั้นพอ

      ท่านผู้หญิงพัวเล่าเรื่องของท่านไว้อย่างสนุกสนาน  น่าอ่านมาก

      การคัดลอกมาเล่านั้นไม่อาจจะทำให้ท่านที่ทราบเรื่องมาแล้วพึงพอใจได้ทุกคน  เพราะขาดตกบกพร่อง

เป็นเพียงแต่แนะนำหนังสืออนุสรณ์ที่ดีเล่มหนึ่ง    ให้แก่ผู้ที่สนใจและหาไม่ได้แล้ว

ผิดพลาดประการใดขอเชิญท่านที่มีอุปการะคุณลงมาขยายความ   และสนทนากันให้เป็นที่พอใจ


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 ก.ค. 11, 18:04


แปดสิบห้าปีที่ผ่านมา

       ท่านผู้หญิงเกิดที่บ้านของคุณปู่  พระยาราชภักดี(โค  สุจริตกุล)อยู่ตรงกันข้ามกับวัดปากน้ำ  ตำบลคลองด่าน

จังหวัดธนบุรี   บิดามารดาก็อยู่ในบ้านนี้ด้วย


       เวลานั้นบิดามียศเป็นนายหัสบำเรอ  ทำงานอยู่กระทรวงยุติธรรม  เป็นเนติบัณฑิตคนแรกที่สำเร็จจากอังกฤษ

เป็นอธิบดีศาลต่างประเทศในเวลาต่อมา  และมียศเป็น พระยาพิเชตพิเศษพิไสยวินิจฉัยโกศล

ท่านได้เลื่อนตำแหน่งโดยลำดับ  จนเป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม  สุจริตกุล)

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 ก.ค. 11, 18:33



       ท่านผู้หญิงบรรยายเรื่องธรรมชาติของบ้านริมน้ำไว้อย่างน่าฟัง 

จึงขอคัดลอกมาตรง ๆ  ตามประสานักอ่านที่ดี

 
       "ด้วยเหตุที่เกิดริมน้ำจึงชอบน้ำมาก     จำได้ว่าเมื่อหน้าน้ำ  ทิวทัศน์ในคลองนั้นสดชื่นงดงามมาก         ข้าพเจ้าชอบดู

เรือขนาดต่าง ๆ บรรทุกสินค้านานาชนิด  ตลอดจนเรือจ้างบรรทุกคนโดยสารเต็มลำสวนกันไปมา   เพลินดูจนเรือบรรทุกปลา

เน่าเพื่อจะเอาไปทำปุ๋ย     บ้านเราอยู่ริมน้ำจึงมีกลิ่นต่าง ๆ โชยเข้ามา   และเมื่อเปิดหน้าต่างเรือทุกลำที่ผ่านไปมา  ถ้ามองเข้าไป  ก็จะ

เห็นภายในบ้านเรือนได้ตลอด   ในทำนองเดียวกันคนข้างในจะมองออกไปนอกหน้าต่าง  ก็จะได้ชมทิวทัศน์ในคลองได้ทั่ว  เท่าที่สายตาจะมองเห็น"


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 ก.ค. 11, 23:06



       "บางวันน้ำขึ้นเปี่ยมฝั่ง   คนแจวเรือต้องใช้เทคนิคช่วยในการแจว   คือเขาจะเอาเท้ากันว่องไวของเขา "ถีบ"

บานหน้าต่างที่เปิดอยู่โดยแรง  เพื่อให้เรือเหออกไปมาก ๆ  จะได้แล่นได้สะดวก   นับเป็นความสนุกอย่างหนึ่งสำหรับเด็ก ๆ

ที่ได้เห็นภาพอย่างนี้   ในเวลานั้นเรือที่แสนชอบแลสนใจมากที่สุดเป็นพิเศษคือเรือขายขนม  เพราะคนขายอยู่ในคลองถัด

ไปนั่นเอง      และบางทีบ่อย ๆ ที่ขนมของเราก็คือผลไม้สวนที่ร่วงหล่น  และลอยตามน้ำมาให้เรากิน


       สมัยนั้นคนที่อยู่ฝั่งธนบุรี   ต่างมีความคุ้นเคยกันดี  เพราะรู้จักกันทั้งนั้น  คือตั้งแต่คลองบางหลวงไปจนถึงคลอง

บางมด  คลองบางแคและคลองอื่น ๆ แถบนั้น   ตลอดจนหัวคลองท้ายคลอง  เพราะมีคลองเล็กคลองน้อย  ซอยทะลุถึง

กันหมดเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของจังหวัดธนบุรีในครั้งนั้น       เด็กที่เกิดฝั่งธนมักจะถูกหัดให้ว่ายน้ำเป็นตั้งแต่เมื่ออายุ

๕ ขวบ  หรือว่าก่อนหน้านั้นนิดหน่อยเพื่อความปลอดภัย   เพราะไม่ว่าจะไปไหน  ไปวัด  ไปโรงเรียน  หรือตามบ้านคน

ต้องใช้เรือทั้งนั้น   แม้แต่พระที่มารับบาตรตอนเช้า  ก็ต้องใช้เรือเล็ก ๆ เฉพาะนั่งคนเดียว  พายเองทั้งสิ้น   พวกพี่น้องของข้าพเจ้า

เวลาไปโรงเรียน   ก็ลงเรือสำปั้นข้ามไป  เห็นยืนกันไปไม่ได้นั่งเพราะเรือชนิดนี้ใช้สำหรับแม่ค้าบรรทุกของไปขาย"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 ก.ค. 11, 23:28




เนื่องจากอยากขยายความถึงประวัติบุคคลบางท่าน ที่ ท่านผู้หญิงพัว  อนุรักษ์ราชมนตรีเอ่ยถึง

จึงเตรียมหนังสืออ้างอิงไว้คือ

๑.   ลำดับสกุลสุจริตกุล  ราชินีกุลรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗
      ราชนิกุล  รัชกาลที่ ๘  และรัชกาลปัจจุบัน
      หนังสืออนุสรณ์  ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระพิบูลย์ไอศวรรย์ (เปรียบ  สุจริตกุล)
      วันที่ ๑๘ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๒๒

๒.   พระบรมราชินี และ เข้าจอมมารดา   ของ ส. พลายน้อย
      ๒๕๐๖

๓.   การตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์
      กรมศิลปากร
      ๒๕๔๕


สหายนักอ่านหนังสือเก่าถามเสียงเฉียบว่า   ใช้สุจริตกุลเล่มไหน
วันดี                                             เล่มเล็กจ้ะ
สหาย                                           ใช้เล่มของหม่อมใหญ่  เทวกุล ณ อยุธยาซิ  ดีกว่า
วันดี                                             ไม่มีจ้ะ

       สหายที่เคารพนับถือท่านใดมี หนังสืออนุสรณ์ของหม่อมใหญ่  กรุณาย่อความที่เกี่ยวข้อง

นำมาลงประกอบ          เรื่องที่กำลังคุยกันนี้ก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นค่ะ     แจ้งมาด้วยความหวังอันรำไร

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 ก.ค. 11, 23:53



       มารดาของท่านผู้หญิง  คือ คุณเง็ก  สุจริตกุล   เลี้ยงลูกยาก    หม่อมใหญ่  เทวกุล ณ อยุธยา

ทราบเรื่องนี้แล้วก็ขอคุณพัวไปเป็นบุตรบุญธรรม  เพื่อจะเอาเคล็ดให้เด็กรอดอยู่ได้  เพราะท่านมีบุตรถึง ๑๑ คน

มีชีวิตแข็งแรงดีทุกคน         ท่านได้รับคุณพัวไปอยู่ที่วังสะพานถ่าน   และ "เคล็ดลับ" ในการเลี้ยงเด็กให้รอ  ก็คือการให้เด็กไป "ลอดท้องช้าง"

เพราะฉะนั้นท่านจึงจัดให้ได้ลอดท้องช้าง      ขอใช้ช้างที่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ซึ่งเป็นช้างหลวง  และได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี

โดยมีโรงช้างให้อยู่ด้านนอกของพระที่นั่งจักรี        เนื่องจากการเดินทางจากวังสะพานถ่านเข้าไปในพระบรมมหาราชวังทุกวัน

เป็นระยะไกลมากสำหรับเด็กเล็ก ๆ ในสมัยนั้น   ทั้งยังทำให้เหน็ดเหนื่อยด้วย   ดังนั้นคุณพัวถูกส่งให้เข้าไปอยู่ในการปกครองดูแล

ของเจ้าจอมเพิ่ม  สุจริตกุล  ผู้เป็นคุณอาคนเดียว


(เจ้าจอมเพิ่ม   ธิดาของพระยาราชภักดี(โค  สุจริตกุล)  ต่อมาเป็นท้าว วนิดาพิจาริณี
เกิด พ.ศ. ๒๔๑๒   ถึงแก่อนิจกรรม ๒๔๗๗  อ้างอิง  พระบรมราชินี และเจ้าจอมมารดา ของ ส. พลายน้อย)
 
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 11 ก.ค. 11, 07:42

พระยาพิเชตพิเศษพิไสยวินิจฉัยโกศล
คนในละแวกบ้านปากคลองภาษีเจริญ  ออกนามท่านเจ้าคุณท่านนี้ว่า พระยา สาม พ.  แล้วติดมาจนท่านเจ้าคุณได้รับหิรัญบัฏเป็นเจ้าพระยาแล้ว  ก็ยังเรียกละแวกบ้านท่านว่า ย่าน สาม พ.
บันทึกการเข้า
ritti018
พาลี
****
ตอบ: 210


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 11 ก.ค. 11, 09:36

ตอนแรก ผมนึกว่า ท่านผู้หญิงพัว เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับ พระสุจริตสุดา ซึ่งเกิดจากท่านผู้หญิงกิมไล้เสียอีกนะครับ..........
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 11 ก.ค. 11, 11:42


คุณ ritti081  เข้าใจถูกแล้วค่ะ  พี่น้องต่างมารดา

       คนโบราณระมัดระวังถ้อยคำมาก  และจะไม่นับญาติกับท่านที่มียศและบรรดาศักดิ์สูง

เพราะเกรงว่าจะโดนมองว่ากล่าวอ้างพาดพิงท่านผู้มีบุญวาสนา

ท่านผู้หญิงเมื่ออายุ ๙ ปี โกนจุกพร้อม พระสุจริตสุดา(เปรื่อง  สุจริตกุล)อายุ ๑๓ ปีค่ะ

ท่านผู้หญิงกล่าวว่าพระสนมเอกเป็นธิดาคนโตบองบิดา



การพูดเช่นนี้ในปัจจุบันยังได้ยินอยู่บ้างเมื่อสนทนากับท่านผู้มีอาวุโส  แรก ๆสะดุ้งค่ะ  คิดว่าท่านผู้ใหญ่แบ่งแยกน้องต่างมารดา

แต่หลายครั้งเข้าก็เข้าใจว่าเป็นวิธีพูดเช่นนั้นเอง


ประวัติท่านเจ้าคุณพ่อลงชื่อลูกไว้  แต่ไม่ได้ใส่ชื่อมารดาเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
ritti018
พาลี
****
ตอบ: 210


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 11 ก.ค. 11, 11:52

เรียน คุณ wandee ที่เคารพ

ชื่อของ ท่านผู้หญิงพัว ผมได้ยิน ได้เห็นเป็นครั้งแรกเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ตอนนั้นอายุยังเป็นตัวเลขหลักเดียว

ซึ่งปรากฏชื่อนี้บนหนังสือเล่มนึง และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จุดประกายให้ผมเกิดความสนใจคำว่า ท่านผู้หญิง แปลว่าอะไร

ทำไมถึงใช้คำนี้นำหน้า และทำไม นามสกุลของท่านถึงดูอลังการนัก(อนุรักษ์ราชมณเฑียร)

และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมสงสัย ณ ตอนที่เป็นเด็กๆคือ เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ ด้านหลังจะลงข่าวว่าใครถึงแก่กรรมบ้าง ทำศพที่ไหน

จะสะดุดตาเมื่อเจอชื่อยาวๆ ซึ่งชื่อที่ว่านั้นเป็นนามของภริยาบรรดาขุนนางสมัยก่อน เช่น นางนิติอรรถทะเบียนเขตต์ นางชาติตระการโกศล หม่อม...ฯลฯ

ณ ตอนนั้นไม่ทราบจริงๆว่าทำไมถึงชื่อยาวแบบนั้น แทนที่จะมีชื่อ+นามสกุลเหมือนคนทั่วไป

ด้วยความสนใจในวัยเยาว์ทำให้กลายเป็น ritti018 ณ ปัจจุบัน ในห้องเรือนไทยแห่งนี้

และที่สำคัญคือ ทำให้ผมได้กัลยาณมิตรออนไลน์ที่มากไปด้วยความรู้เช่นคุณ wandee คุณเทาชมพู และอีกมากมาย

ขอนอกเรื่องนิดนึงนะครับ คุณ wandee ที่เคารพ...
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 11 ก.ค. 11, 12:35



ความสงสัย เป็นที่มาของ การค้นหาข้อมูลค่ะ

หลายอย่างที่เคยสงสัยในประวัติศาตร์ว่าแล้วเกิดอะไรขึ้น

ก็ได้คำตอบใหม่ ๆ แล้วค่ะ     คอยให้อาจารย์ให้คะแนนก่อนแล้วจะจิ๊กรายงานของเพื่อน ๆ มาลงค่ะ

อ่านให้สหายบางคนฟัง  ร้องเป็นเสียงต่าง ๆ กันอื้ออึง

ไม่มีใครจะรู้ได้ถ้าไม่ศึกษาค้นข้อมูลเพิ่มเติมหรอกค่ะ

การคุยแบบถูกคอกัน  แก้ไขข้อมูลหรือเพิ่มเติมข้อมูลให้กันและกันเป็นสิ่งที่ดีงาม


เมื่อครู่เขียนกระทู้ไว้ค่อนข้างยาว  แล้วโพส  กระทู้หายวับไป
ตอนนี้แวะไปเล่นเสภา  ที่คุณหลวงเล็กรับไว้ในอ้อมกอดแล้ว

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 11 ก.ค. 11, 20:50



       เจ้าจอมเพิ่มนำคุณพัว  หลานอาอายุ ๒ - ๓ ขวบ ขึ้นเฝ้าเจ้านายบนพระตำหนักเทพดนัย 

ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพันปีหลวง  ต่อจากพระที่นั่งจักรี   ได้เฝ้าทูลกระหม่อมเอียดน้อย (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

และได้รับพระราชทานชื่อ "พัวพันเพิ่ม"  แต่คุณพัวสมัครใจใช้แต่ตัวหน้าตัวเดียว   ในสมัยรัฐนิยมชื่อตัวเดียวเป็นเพศชาย  ท่านเลยเติม "พัวพัน"

เข้าไปใหม่

       พออายุจะเรียนหนังสือได้แล้ว  คุณอาพาไปฝากเรียนกับ คุณเฒ่าแก่ทองสุก(แมว) วิวัฒนานนท์  เพราะอยู่แถวเต๊งใกล้ ๆ กัน

"เต๊ง" คือตึกแถวสองชั้นสำหรับเจ้าจอมและพนักงานชั้นใหญ่อยู่  อาทิเจ้าจอมแป้น  พี่สาวเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี  เสนาบดี

ในรัชกาลที่ ๖  ก็อยู่ที่นั่น


(อ้่างอิงการตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์  หน้า  ๑๘๐ -  ๑๘๓
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี(ม.ร.ว. ปุ้ม  มาลากุล)  ในพระวรวง์เธอกรมหมื่นปราบปรปักษ์
แรกรับราชการในกรมมหาดเล็ก   ในรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น
นายกวด หุ้มแพร  แล้วย้ายมากรมวัง เป็นจมื่นจงภักดีองค์ขวา  แล้วเลื่อนเป็นพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร
ถึงรัชกาลที่ ๖  ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงวัง  เลื่อนเป็นเจ้าพระยา)

       
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 11 ก.ค. 11, 21:00



       วันหนึ่ง  คุณพัวซุกซนและไม่กลัวใคร   คุณครูจึงจับตัวลงโทษ  คือเอาไปไว้ใกล้ปากท่อน้ำใหญ่ทำท่าจะโยนลง

ความกลัวจะจมน้ำตาย  เพราะว่ายน้ำยังไม่เป็น   จึงตะโกนเรียกบรรพบุรุษของครู   ครูโกรธมาก  เพราะไม่เคยมีลูกศิษย์คนใดทำเช่นนี้

จึงนำตัวมาฟ้องคุณอาเพื่อให้ลงโทษ      คุณอาเอ็ดเอาว่า เด็กไม่ควรจะล่วงเกินผู้ใหญ่   และท่านให้ทำพิธี "ขอขมา"  ในวันรุ่งขึ้น

คือนำหัวหมูบายศรีไปเคารพครู   ตั้งแต่นั้นมา  ครูกับลูกศิษย์ก็เช้าใจกันดี   ตั้งต้นสอนและเรียนกันต่อไปใหม่

       หนังสือที่ใช้คือ มูลบทบรรพกิจของพระยาศรีสุนทรโวหาร
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 11 ก.ค. 11, 21:46

พระที่นั่งสำหรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นหมู่พระที่นั่ง โดยประกอบด้วย พระที่นั่งต่างๆ ดังนี้
1. พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ด้านตะวันออก ใช้เป็นห้องสำหรับพระราชทานเลี้ยง
2. พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ด้านตะวันออก เดิมใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง และประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และเป็นสถานที่ทรงประกาศพระบรมราชโองการการเลิกทาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระที่นั่งนี้ ตรงบริเวณที่เป็นพระตำหนักชั้นเดียวที่ทรงเสด็จพระราชสมภพ
3. พระที่นั่งดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์ เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ด้านตะวันตก ใช้เป็นห้องเครื่องลายคราม มีชื่อเรียกขานว่า "ห้องผักกาด"
4. พระที่นั่งนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ ด้านตะวันออกเป็นห้องพระภูษา
5. พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ บางครั้งใช้เป็นสถานที่รับรองแขก
6. พระที่นั่งอมรพิมานมณี เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อจากพระเฉลียงด้านหลังพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
7. พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ เป็นห้องประทับสมเด็จพระอัครมเหสี อยู่ด้านตะวันออกของพระที่นั่งอมรพิมานมณี
8. พระที่นั่งบรรณาคมสรนี เป็นห้องทรงพระอักษร อยู่ด้านตะวันตกของพระที่นั่งอมรพิมานมณี
9. พระที่นั่งปรีดีราชวโรทัย เป็นห้องพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ต่อจากพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
10. พระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร เป็นห้องสมเด็จพระราชโอรสและสมเด็จพระราชธิดา ทางด้านเหนือของพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

พิกัดของพระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร หากเดินเข้าท้องพระโรงกลาง  ทะลุไปย้งท้องพระโรงหลัง มุ่งหน้าไปห้องเหลือง เดินไปทางซ้ายทางพระเฉลียงตรงไปยังห้องน้ำเงิน ซึ่งพระที่นั่งดังกล่าวอยู่ติดกับห้องน้ำเงินนั่นเอง
ส่วนห้องเหลอืง เป็นสถานที่องค์เจ้าชีวิต เสด็จผ่านไปยังฝ่ายใน จะมีเข้าจอมต่าง ๆ พากันหมอบกราบเพื่อรับเสด็จ จนบังเกิดคำเย้ยหยัน "เจ้าจอมห้องเหลือง" เกิดขึ้น ซึ่งหมายถึง บรรดาเจ้าจอมที่มาคอยรับเสด็จและไม่มีบุญพอที่จะได้รับใช้เจ้ามหาชีวิตอย่างใดเลย วัน ๆ พากันมานั่งหวังเพื่อจะได้ถวายการรับใช้เป็นพอ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12603



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 11 ก.ค. 11, 22:05

^
^
คำตอบสำหรับกระทู้เสภาฤๅไฉน

 ฮืม

เอารูปมาฝากคุณวันดี




พระสุจริตสุดา ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร และ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ในรัชกาลที่ ๖

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 19 คำสั่ง