เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 69082 นิราศสุพรรณ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 14:06

เลี้ยวทางบางกอกน้อย                 ลอยแล
บ้านเก่าเหย้าเรือนแพ                   พวกพ้อง
เงียบเหงาเปล่าอกแด                   ดูแปลก แรกเอย
รำลึกนึกรักร้อง                            เรียกน้องในใจฯ
 
ยลย่านบ้านบุตั้ง                           ตีขัน
ขุกคิดเคยชมจันทร์                        แจ่มฟ้า
ยามยากหากปันกัน                        กินซีก ฉลีกแฮ
มีคู่ชูชื่นหน้า                                 นุชปลื้มลืมเดิมฯ

 
(๒๑) ๏ เสียดายสายสวาทโอ้            อาวรณ์
รักพี่มีโทษกร                                 กับน้อง
จำจากพรากพลัดสมร                      เสมอชีพ เรียมเอย
เสียนุชดุจทรวงต้อง                        แตกฟ้าผ่าสลายฯ

ความยากในการอ่าน อยู่อย่างหนึ่งคือนิราศสุพรรณไม่"ร้อยโคลง" คือไม่มีสัมผัสระหว่างบทโคลงให้รู้ว่าบทไหนต่อกับบทไหน     ทำให้ถ้ามีใครสลับลำดับโคลงผิดไปเราก็ไม่รู้
เว้นจะแกะรอยได้อย่างเดียวคือแกะรอยเส้นทางเดินทาง ตามที่เรียงไว้ในโคลง  แต่ถ้าโคลงบทไหนโดดออกมาจากเส้นทางเดินทาง เราก็จับไม่ได้ว่าต่อเนื่องเชื่อมกันหรือเปล่า
อย่างกลบทที่แทรกเข้ามาเป็นระยะๆ

ย้อนมาดูข้างบนนี้อีกทีนะคะ   เพื่อแสดงถึง "โฟกัส" ที่ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ของกวีผู้แต่ง
เรือล่องเข้าคลองบางกอกน้อย  และมาถึงบ้านบุที่เขามีอาชีพตีขัน  แต่ท่านกวีก็มิได้สนใจประวัติหรืออาชีพของสถานที่ทั้งสองแห่งแม้แต่น้อย
แต่ไปสนใจตรงที่ว่ามันเป็นสถานที่ของความหลังกับสาวที่เคยรักกัน  คนแรกชื่อแม่จันทร์ คนหลังชื่อแม่สวาท หรือสวาด
สองคนนี่ อ่านแล้วเหมือนไม่ใช่คนเดียวกัน    เพราะความสัมพันธ์เป็นคนละเรื่อง

แม่จันทร์คนแรก เป็นชาวบ้านบุ   เคยรักกันถึงขั้นอยู่กินกันแล้ว  ลำบากยากจนด้วยกันถึงขั้นปลาตัวหนึ่งก็ต้องแบ่งกันกินคนละซีก
แต่ว่าต่อมา แม่จันทร์ได้สามีใหม่ร่ำรวยมีหน้ามีตากว่า ก็เลยลืมผัวเก่า  ไปชื่นบานกับสามีใหม่จนทุกวันนี้

ยนย่านบ้านบุตั้ง                           ตีขัน
ขุกคิดเคยชมจันทร์                        แจ่มฟ้า
ยามยากหากปันกัน                        กินซีก ฉลีกแฮ
มีคู่ชูชื่นหน้า                                 นุชปลื้มลืมเดิมฯ
 
ส่วนแม่สวาท หรือสวาด  คนที่สอง  น่าจะเป็นคนเดียวกับที่เคยเล่นซักส้าวกันที่ท่าน้ำในตอนแรกของนิราศ  เพราะกวีระบุว่า ฝากซากสวาท  ไว้ตรงนั้น
เล่นกับคำว่า สวาท
คนนี้ละที่ได้รับโทษจากการมารักกับสุนทรภู่ จนต้องพลัดพรากจากกัน 
เสียดายสายสวาดโอ้                    อาวรณ์
รักพี่มีโทษกร                              กับน้อง
จำจากพรากพลัดสมร                   เสมอชีพ เรียมเอย
เสียนุชดุจทรวงต้อง                      แตกฟ้าผ่าสลายฯ

และคนนี้เองที่เคยไปจู๋จี๋ครองคู่กันอยู่ในกระท่อมกลางสวน  สมัยยังวัยรุ่นหนุ่ม
วัดปะขาวคราวรุ่นรู้                          เรียนเขียน
ทำสุนทรสอนเสมียน                      สมุทน้อย
เดินระวางระวังเวียน                       หว่างวัด ปะขาวเอย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย                     สวาดิห้างกลางสวนฯ

ถ้าหากว่ารวมแม่จันทร์เข้าไปเป็นผู้หญิงคนเดียวกันกับแม่สวาท ก็หมายถึงว่าไม่ว่าจะเกิดเรื่องรักโศกโชคร้ายหรือดี  หล่อนรับเละคนเดียวหมด กับกวีเอกของเรา
แต่ถ้าแยกกันเป็น ๒ คนจะเห็นว่า มีแม่จันทร์ที่ได้มีถิ่นฐานอยู่บ้านบุ  ได้รักและแต่งงานกัน ถึงขั้นร่วมเรือนกัน  แล้วต่อมาหล่อนไปได้สามีใหม่
ส่วนแม่สวาทนั้นรักกันตั้งแต่วัยรุ่น แอบหลบไปคบกันกลางสวน   พ่อแม่คงจับได้ถึงลงโทษ ลากตัวลูกสาวกลับไปใส่ตะกร้าล้างน้ำ (รักพี่มีโทษกร กับน้อง = น้องรับโทษ  ไม่ใช่พี่) แล้วก็เลยพลัดพรากกับเจ้าหนุ่มกันไป  ไม่ได้เจอกันอีก

แม่จันทร์(หรือจัน)คนนี้ก็เหมือนกัน เป็นตัวปริศนาตั้งแต่ในนิราศเมืองเพชรแล้วว่าหล่อนเป็นแม่ของหนูพัด ลูกชายกวีได้หรือไม่
เพราะนับพ.ศ. แล้ว  ไม่ลงตัว   ถ้าหนูพัดเกิดในปลายรัชกาลที่ ๑   ล่วงมาถึงค่อนๆไปทางปลายรัชกาลที่ ๓ ต้องเป็นหนุ่มใหญ่อายุเกือบเท่าคุณอาชาผยองแล้ว ไม่ใช่หนุ่มน้อยวัยยังไม่ถึงมีเมีย
 
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 14:25

ตากุหลาบเล่าประวัติสุนทรภู่ว่าบ้านอยู่หลังป้อมอะไรสักอย่าง ตรงวังหลัง
คนที่เชื่อก็ชี้เป้าเลย ว่าตรงสถานนีรถไฟบางกอกน้อยไง...
ผมอยากเถียง เพราะรู้ว่าไม่มีใครเขาอยู่บนบกกัน นอกจากพวกเจ้านาย กับคนชั้นล่างมากๆ
คนทั่วไปเขาอยู่แพ
แต่ก็ไม่รู้จะเถียงทำไม

กวีนิราศสุพรรณ มาเถียงแทนแล้ว
เลี้ยวทางบางกอกน้อย                 ลอยแล
บ้านเก่าเหย้าเรือนแพ                   พวกพ้อง
เงียบเหงาเปล่าอกแด                   ดูแปลก แรกเอย
รำลึกนึกรักร้อง                            เรียกน้องในใจฯ
แกอยู่แพ เหมือนไชยากับชรินทร์ไงครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 14:37

ใช่ค่ะ ข้ามโคลงบทนี้ไป ขออำไพ
กวีนิราศสุพรรณ มีถิ่นเก่าคือเรือนแพในคลองบางกอกน้อย  ญาติพี่น้องก็ชุมนุมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั่น
มีแฟนก็ที่นั่น  แต่ตอนนี้บ้านเก่าคงไม่มีใครอยู่แล้ว  ผ่านไป เรือนแพปิดเงียบเหงา  ภรรยาหย่ากันไปมีสามีใหม่นานแล้ว
บ้านลอยน้ำของกรุงเทพเมื่อต้นๆรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ ๔ เป็นละแวกที่อยู่อาศัยสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
เสียดายไม่เหลือซากให้เห็นอีกแล้ว

ประวัติศาสตร์และประวัติวรรณคดีที่เราเรียนกันมา สมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีเงา"กุ" ของนายกุหลาบปะปนอยู่มาก
แกจะชี้อะไรก็กลายเป็นหลักฐานพยานให้เชื่อกันต่อๆมา     ไม่เห็นใครตรวจสอบซ้ำแล้วเผยแพร่ให้เห็นแพร่หลาย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 14:44

ผู้หญิงในนิราศสุพรรณ มีแยะเหลือเกิน  บทแรกนี่ก็คนหนึ่ง ไม่รู้ว่าแม่จันทร์ หรือแม่สวาท   
คำว่า "เพื่อนรัก" ในที่นี้ หมายถึงนางที่รัก  ไม่ได้แปลว่า มิตร
เห็นเรือนเพื่อนรักร้าง                  แรมโรย
โอ้อกอาดูรโดย                         เทวษด้วย
ดูสวนป่วนจิตโหย                       หาดอก สร้อยเอย
แลลับกลับชาติม้วย                     ไม่ได้ใกล้กลายฯ

คนนี้ ดูรูปการณ์ว่าพลัดพรากกันไปตลอดชาติ ไม่มีทางกลับมาหากันอีก
บทต่อมาก็ยังคร่ำครวญอยู่ เรื่องการพลัดพรากกันตลอดชาติ  แสดงว่าคนเดิมกับคนเดียวข้างบนนี้   

บางบำรุบำรุงแก้ว                        กานดา
แก้วเนตรเชษฐาชรา                     ร่างแล้ว
ถือบวชตรวจน้ำพา                       พบชาติ อื่นเอย
ชาตินี้พี่แคล้ว                              คลาดค้างห่างสมรฯ

ถ้าคุณอาชาผยองพบนี้ ก็คงตีความว่าเจ้าของเรื่องกำลังบวชอยู่ (ถือบวชตรวจน้ำ) และยอมรับว่าตัวเองอยู่ในวัยชราแล้ว  เกินกว่าจะย้อนกลับไปตั้งต้นกันอีก  ต้องขอพบกันในชาติหน้า
กวีอายุสักเท่าไรกันนะ
 
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1902



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 18:27

มาแล้วครับ เส้นทางนิราศสุพรรณช่วงแรก


บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1902



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 18:30

คำถามแรก ที่ผมถามตัวเองหลังจากทำหมุดตำแหน่งช่วงนี้เสร็จคือ

จากวัดสระเกศถ้าออกไปทางปากคลองด้านเหนือจะลัดไปได้มาก ทำไมต้องอ้อมลงมาทางใต้ ต้องทวนน้ำกลับขึ้นไปอีกด้วย?
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 19:14

ตื่นตาตื่นใจมาก  คุณอาชาจำลองกูเกิ้ลเอิร์ธได้เห็นภาพชัดเจนจริงๆ ปักหมุดให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วย
แต่..ไม่ทราบคำตอบค่ะ  รอคุณพิพัฒน์ อาจจะอธิบายได้ว่าสมัยก่อน เส้นทางคลองเป็นแบบนี้หรือว่าแตกต่างกันตรงไหน
จริงที่ว่า เส้นทางลงทางใต้ แล้วไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวังหลังและวัดแจ้งเพื่อเข้าคลองบางกอกน้อย มันอ้อมว่าเส้นทางเหนือมาก
แต่คลองใหญ่กว่า ไปสะดวกกว่าหรือเปล่า  เหมือนถนนสมัยนี้ที่บางเส้น ทางลัดก็ขับรถลำบาก สู้ไฮเวย์ไม่ได้
หรือว่าเป็นเส้นทางที่มีความหมายทางใจ   คนยุคท่านไม่ต้องรีบร้อนไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง  ถึงเมื่อไรเมื่อนั้น   ก็แวะเวียนอ้อมไปผ่านสถานที่ต่างๆที่ท่านคุ้นเคยในอดีต 
คนแก่ก็มักหวนหาอาวรณ์ความหลัง เป็นธรรมดา
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 19:20

ขอเสริมคุณเครซี่หน่อย
อันคลองคูเมืองชั้นกลางนั้น เราเรียกเป็นสองชื่อ เพราะเดิมน่าจะเป็นสองคลอง
ทั้งสองคลองมาเจอกันที่ป้อมมหากาล
หรือพูดอีกอย่างก็ได้ว่า จากป้อมมหากาล ถ้าออกแม่น้ำเจ้าพระยาทางวัดเลียบ เราจะไปตามคลองคูเมืองที่เรียกคลองโอ่งอ่าง
ถ้าจะไปออกแม่น้ำที่วัดสังเวช เราก็จะใช้คลองที่เรียกว่า คลองบางลำภูครับ
อันที่จริง ต้องแถมอีกเส้นเพราะตรงนั้นเป็นสามแยก คือถ้าจะไปสยามพารากอน เอ้ยวัดปทุมฯ ก็จะไปตามคลองมหานาคครับ

ส่วนที่สงสัยว่า ทำไมไม่ออกแม่น้ำที่ด้านเหนือ ตรงสวนสันติไชยปราการปัจจุบัน
ตอบว่า อาจจะหลายสาเหตุ เช่น ต้องพายทวนน้ำ เหนื่อมาก
สอง ด้านนั้นเปลี่ยว ไม่มีอะไรให้แวะ หากจำเป็นต้องหาเข้าของ
ฯลฯ
สรุปว่า ไม่เคยมีกวีใช้เส้นทางนี้เลย แปลว่าไม่น่าใช้(กระมัง)
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 19:26

สภาพในปัจจุบัน อาจจะบอกอะไรไม่ได้มาก แต่ปากคลองบางลำภูนั้น ยังเป็นป่าแน่ๆ
มีต้นลำพูอยู่เต็ม นี่คงเป็นเหตุหนึ่งที่ไม่มีเรือใหนอยากแหวกกอไม้หนาทึบไปสู่แม่น้ำ
ข้อสอง บางที เพื่อความปลอดภัย ปากทางอาจจะปิด ห้ามเรือเข้าออกในยามวิกาล หรืออะไรประมาณนั้น
เมื่อเลยเที่ยงคืนจึงต้องมาออกทางปากคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเป็นย่านเจริญ ดูแลง่าย

สรุปว่า เป็นคำถามที่ตอบไม่ได้ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 19:29

ดิฉันนึกเส้นทางไม่ออกเลยถ้าไม่เห็นแผนที่ใหญ่
ยังหลงนึกว่ากวีพายเรือออกทางป้อมสันติไชยปราการเสียอีก  แล้วพายเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงพระบรมมหาราชวัง    ต่อไปข้ามไปวัดแจ้งแล้วกลับมาคลองบางกอกน้อย
ตอนนี้เข้าใจแล้ว  น่าจะเป็นเส้นทางใหญ่ที่ไปสะดวกง่ายดายกว่าละมังคะ
ในรัชกาลที่ ๓ ป่ายังล้อมกรุงอยู่หนาแน่น   นั่งเรือลำเดียว ไปตามเส้นทางมืดๆ รกเรื้อสองข้างทาง   อาจจะเจอเสือหรือสัตว์ป่าอื่นๆเข้าบ้างก็ได้  ไม่ต้องพูดถึงโจรปล้นอีกด้วย
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1902



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 19:34

ทิ้งปริศนาข้อแรกไว้ก่อนครับ

ช่วงต่อไปกวีใช้เส้นทางตามคลองบางกอกน้อย ซึ่งช่วงหลังของคลองนี้นิยมเรียกว่าคลองบางกรวย ไปโผล่ตรงคลองอ้มนนท์ที่เป็นเส้นทางเก่าของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วไปทางด้านคลองบางใหญ่ไปเข้าคลองโยงที่จะไปออกแม่น้ำท่าจีน ตามนี้ครับ



บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33596

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 19:51

บางระมาดมิ่งมิตรครั้ง                  คราวงาน
บอกบทบุญยังพยาน                  พยักหน้า
ประทุนประดิษฐาน                     แทนห้อง หอเอย
แหวนประดับกับผ้า                    พี่อ้างรางวัลฯ

บางระมาดอยู่ไหนต้องถามน้องกู๊กของคุณอาชาผยองอีกหน    กวีไม่ได้ให้รายละเอียดสถานที่มากกว่าโยงเข้ากับเรื่องส่วนตัว(อีกแล้ว)
คราวนี้มีชื่อนายบุณยังโผล่ขึ้นมา
ประวัติของนายบุญยังต้องถามคุณพพ.  ดิฉันไม่มีความรู้ นอกจากจำได้ว่าแกเป็นเจ้าของคณะละคร และสร้างวัดละครทำ ฝั่งธนบุรี  

กวีไปทำงานกับนายบุญยัง ในหน้าที่"บอกบท" สมัยนี้เห็นจะเป็น scriptwriter งานนี้ไปค้างอยู่นานที่บางระมาด  เพราะมีเรือประทุนไว้นอนเป็นห้องหอกับเจ้าสาว   ได้ค่าตอบแทนเป็นแหวนกับผ้า     ก็คงเป็นรายได้ที่คุ้มค่าเหนื่อย
แต่เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็อยู่กันไม่รอด   เกิดอะไรขึ้นสักอย่าง เจ้าสาวถูกพรากไปจนได้   รูปการณ์เหมือนฝ่ายชายพาหนีมาอยู่ด้วยกันไม่เท่าไร   ก็ถูกคนทางบ้านมาเอาตัวกลับไป  แต่คงไม่ถึงกับกะทันหันนัก เพราะยังมีเวลาอยู่ด้วยกันทั้งคืนจนรุ่ง  ถึงต้องจากกัน

๏ สงสารสายเนตรน้อง                           นองชล
ลเนตรพี่เพียงฝอยฝน                             เฝ้าน้อง
จวนรุ่งร่ำสะอื้นจน                                 จำจาก แจ่มเอย
คราวเคราะห์เพราะน้องต้อง                      พายุกล้าสลาตันฯ

ดูๆแล้วไม่น่าเป็นประวัติแม่จันทร์   แต่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่าเคยอยู่ครองเรือนกันเลยนี่นา
ถ้าเข้าหอกัน แล้วพรากกันกะทันหัน  แต่ฝ่ายชายไม่เป็นอะไร มีแต่ผู้หญิงเท่านั้นต้องถูกบังคับตัวไป   เหมือนโทษตกอยู่ทางฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว (จากพ่อแม่?)  
ก็ไม่น่ามีโอกาสกลับมาอยู่กันอย่างสามีภรรยาจนมีลูกชาย  ก่อนเธอจะไปมีสามีใหม่  เหมือนประวัติทีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า  ถูกกรมพระราชวังหลังกริ้ว ลงโทษทั้งคู่
เท่าที่เล่า นอกจากเศร้าโศกที่พลัดพราก ก็ไม่เห็นท่านกวีบันทึกถึงการเจ็บเนื้อเจ็บตัว  หรือดิฉันจะยังอ่านไม่ถึง?
 

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1902



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 20:04

ผมคิดว่าเจอหมุดเวลาเล็กๆตรงนี้หมุดหนึ่งครับ

ปี ๒๔๐๒ ร.๔ โปรดเกล้าให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เป็นแม่กองจ้างแรงงานจีนขุดคลองมหาสวัสดิ์ เริ่มจากคลองบางกรวย(ใกล้ๆวัดพิกุล) ไปออกแม่น้ำท่าจีน ขุดเสร็จปี ๒๔๐๓ ครับ

แต่กวีนิราศสุพรรณผ่านตรงนี้ไปอย่างไม่เหลียวแล อ้อมไปใช้เส้นทางคลองอ้อมนนท์ ไปเข้าบางใหญ่เสียเวลากับคลองที่คดเคี้ยวและระยะทางที่มากกว่า

คิดว่านิราศสุพรรณต้องแต่งก่อนคลองนี้จะขุดเสร็จแน่นอนครับ



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1902



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 20:08

เพื่อความสะดวกในการติดตาม ผมลงไฟล์หมุดของ Google Earth ที่ทำไว้ตั้งแต่คลองมหานาคไปถึงคลองกระเสียวปลายทางของการเดินทางเลยครับ เพราะช่วงหลังๆบางเล็กบางน้อยชักจะหาตำแหน่งยากขึ้นทุกที

ตำแหน่งบางต่างๆ ใช้สมมติฐานคุณสุจิตต์ วงษ์เทศว่าบางคือตำแหน่งที่คลองแยกออกไปนะครับ พยายามแกะตำแหน่งเต็มที่แล้วแต่ยังอาจผิดพลาดได้บ้างครับ

ท่านใดยังไม่มี Google Earth เชิญ download ได้ฟรี(อย่างถูกต้องตามกฎหมาย) ได้ที่นี่ครับhttp://earth.google.com/

* Nirat Suphan.kmz (5.78 KB - ดาวน์โหลด 597 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 21:03

เรื่องบอกบทบุญยัง เป็นหมุดคาใจดอกใหญ่ครับ ดังที่เคยบ่นมาในกระทู้นี้ก็มี
เราเจอบุญยังในนิราศพระบาท ซึ่งสมเด็จทรงตีความคำว่า"หาบุญยัง..."
เป็นว่า เจ้าพระยาพระคลัง หาบุญยัง คือตาย
แต่เจ้าคุณอนุมาน ขณะนั้นเป็นขุน ท้วงว่าน่าจะแปลว่า หาละคอน นายบุญยังมาเล่นฉลองศาลาที่พระบาท
สมเด็จยอมรับ ทรงมีลายพระหัตถ์เป็นฉบับแรกมาถึงเจ้าคุณ
และชมว่าต่อไปจะเป็นปราชญ์

ปัญหาคือ ท่านก็ยังถือว่า นายบุญยัง เป็นคนครั้งรัชกาลที่ 1 เพราะเชื่อว่านิราศพระบาทแต่งโดยสุนทรภู่ในปี 2350
แต่ตามที่ได้ชำแหละใหม่ นิราศพระบาทมีพิรุธมากจนต้องย้ายมาอยู่สมัยใหม่กว่า(มาก)
นายบุญยังก็ต้องย้ายรัชกาลตามลงมาด้วย(กระมัง)

ผมสอบจากสถาปัตยกรรม ไม่มีอะไรแสดงว่าวัดละคนทำเป็นวัดเก่าแก่
คงต้องถามกลับมายังอาจารย์ว่า เมื่อไรกัน ที่นายโรงละคอนจะร่ำรวย สร้างคณะละคอนที่รับงานตามหัวเมือง
สร้างเนื้อสร้างตัวเป็นคหบดีใหญ่ ถึงมีวัดของตนเอง
ผมนึกตัวอย่างได้ ก็มีแต่วัดใหม่ยายแฟง ที่เข้าสถานะภาพทางเศรษฐกิจแบบเดียวกัน
เป็นชนชั้นอย่างที่นักประวัติศาสตร์บ้านนอกท่านหนึ่งเรียกว่าชนชั้นกระดุมผีประมาณนั้นละครับ

เดาเอาดื้อๆว่า นายละคอนบุญยัง เริ่มรวยหลังเซอร์จอห์นเบาริงมาเปิดตลาดส่วนในของภาคกลาง
ราว 2400 ไม่เร็วกว่านั้นครับ

คลองขุดใหม่กว่าจะมีคนนิยมต้องนานมากครับ การเดินทาง ต้องมีที่พัก และต้องไปตามเส้นทางที่ไม่อดตาย
เวลาในยุคนั้น ถือต่างกับเวลาในยุคเราครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง