เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 27 เม.ย. 10, 03:47



กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 เม.ย. 10, 03:47
เรื่องราวของหนังสือเก่าหายากเล่มหนึ่ง

ตีพิมพ์ คราวแรก ๒๐๐๐ เล่ม
ที่โรงพิมพ์ วิชากร  บ้านหม้อ  ถนนเฟื่องนคร
ปีรัตนโกสินทรศก ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)


การศึกษาของผู้แต่งพงษาวดารอังกฤศ
(หนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม ๔  แผ่นที่ ๒๑  ออกเมื่อวันศุกร  เดือนสิบขึ้นแปดค่ำ  ปีกุน นพศก ๑๒๔๙)

นายเปล่ง  บุตรนายหริ่งมหาดเล็ก  ได้ออกไปเล่าเรียนภาษาอังกฤศ  รู้แตกฉานแล้วได้เรียนกฎหมายอังกฤษ
แลได้ไล่สอบในที่ประชุมแห่งเนติบัณพิตย์  ได้เซอติฟิเกตจากท่านผู้รู้กฎหมาย  ยอมให้เปน บาริสเตอร์แอตลอ
แล้วเปนคนที่ ๑ แห่งชาวสยาม


นายเปล่งนี้เปนบุตรนายหริ่ง  ผู้เปนบุตรที่ ๘ ของเจ้าพระยาพลเทพ(ฉิม)
ได้เรียนหนังสือไทยและภาษาอังกฤษ ที่  โรงเรียนพระราชวังนันทอุทธยาน
เมื่อถึงคราวไล่สอบวิชาในโรงเรียนนั้น  ก็ได้เข้าไล่สอบวิชาเปนชั้นดีในหมู่นักเรียน
ได้รางวัลเปนที่หนึ่งทุกคราวไล่


ในปีจ.ศ. ๑๒๔๔(พ.ศ. ๒๔๒๕) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า  ให้ออกไปเรียนวิชาในประเทศอังกฤษ
ออกไปพร้อมกับทูตานุทูตสยาม   ซึ่งไปประจำรักษาทางพระราชไมตรี ณ กรุงลอนดอน
ได้เล่าเรียนภาษาอังกฤศและวิชาอื่น ๆ  ในโรงเรียน เซาแฮมสะเตตคอลลิคิเอตสกูล ๒ ปีเศศ
ได้รับรางวัลที่ ๑ เมื่อคราวไล่หนังสือด้วย

ต่อมาได้เข้าศึกษาที่ สำนักมิดเดิลเตมเปิล
เมื่อเรียนครบปีหนึ่งแล้ว  ได้เข้าไล่สอบความรู้ในกฎหมายโรมันได้ดีตลอด
ได้รับเซอติฟิเกต


เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาติให้กลับเข้ากรุงสยามแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระมหากรุณาแก่นายเปล่ง  ซึ่งได้อุตส่าห์เล่าเรียนจนได้ไล่ในที่ประชุม
ชื่อว่าเปนผู้รู้กฎหมายดีแล้ว
จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เข้ารับราชการในกรมท่า
และโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเหรียนดุษดีมาลา เข็มศิลปวิทยาที่ได้เรียนรู้
เปนคนที่ ๑  ในชาวสยาม



กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 เม.ย. 10, 04:03
เรื่องราวของหลวงรัตนาญัปติ  ครอบครัว  บิดา  ปู่ และ บรรพบุรุษ
สามารถนำมาเล่าสู่กันฟังได้อีกยืดยาว  มีหลักฐานอ้างอิงครบถ้วน
เนื่องด้วยเป็นสมาชิกของตระกูลขุนนางใหญ่  รับราชการในตำแหน่งสำคัญของบ้านเมือง
ในช่วงเวลาที่มีการบันทึกไว้แล้ว


คุณเพ็ญชมพู และ คุณหลวงเล็ก ผู้ชำนาญการ ก็จะร่าเริงหยิบยกข้อมูลมานำเสนอได้อย่างง่ายดาย


แต่จะขอเล่าเรื่อง หนังสือเล่มนี้ก่อน  เพราะเป็นงานแต่งที่หาอ่านยากสักหน่อย
เรื่องราวที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือ โรงพืมพ์วิชากร  ที่ตั้งอยู่ในบ่านของ คุณหลวงรัตนาญัปติ
ที่บ้านหม้อ  ถนนเฟื่องนคร  กรุงเทพ ฯ


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 เม.ย. 10, 04:15
เฉพาะข้อมูลในหนังสือเล่มนี้  รายชื่อหนังสือของโรงพิมพ์วิชากร มี


หนังสือธรรมศาสตร์วินิจฉัย  เล่ม ๑       ออกในปี ร.ศ. ๑๑๑(พ.ศ. ๒๔๓๕)      ราคาเล่มละ ๕ บาท

พระราชพงษาวดารอังกฤษ  เล่ม ๑                                                     ราคาเล่มละ  ๕ บาท

กฎหมายสถิตยุติธรรม  เล่ม ๑                                                          ราคาเล่มละ  ๑ บาท

โคลงนิราศสระบุรี                                                                         ราคาเล่มละ  ๒ สลึง

โคลงยอพระเกียรติ์                                                                        ราคาเล่มละ ๒ สลึง

สังข์ศิลปไชย                                                                              ราคาเล่มละ  ๑ บาท

พระมณีพิไชย                                                                              ราคาเล่มละ  ๑ สลึง



     กิจการของโรงพิมพ์เจริญรุ่งเรืองมาก เพราะความรู้ที่คุณหลวงท่านเขียน เป็นสิ่งที่นักศึกษากฎหมายต้องการ



กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 เม.ย. 10, 04:39

        เรื่องราวของนักอ่านหนังสือเก่านั้น    เป็นนวนิยายของการต่อสู้ผจญภัยใฝ่รู้

รักษาไมตรีจิตมิตรภาพกับผู้ขายหรือดีลเล่อร์ของหนังสือเก่าทุกคน  เพื่อโอกาสทองคำที่จะได้ "เห็น" หนังสือ

การตัดสินใจจะเลือกเล่มใดเล่มหนึ่ง  ลำบากใจ  เพราะ มิใช่จะรักพี่เสียดายน้องเท่านั้น  รักทั้งกองนั่นแหละ 

จะกวาดเก็บหนังสือเสียทุกเล่ม  เป็นเรื่องพ้นวิสัย


       ได้หนังสือเล่มนี้มาเพราะเฝ้ากิจกรรมของเจ้าของร้านหนังสือโบราณคนหนึ่งอยู่แบบไม่วางมือ


การที่ได้สนทนาเรื่องหนังสือที่หลุดมือไปแล้วเป็นเรื่องเจ็บปวดทรมานใจไม่อยากเอ่ยถึง



       หนังสือเล่มนี้ หนา ๓๘๘ หน้า  กว้างประมาณ ๖ นิ้ว  ยาว๙ นิ้ว     
กระดาษเป็นสีน้ำตาลอ่อนไปตามกาลเวลา
สภาพดีเยี่ยม  ไม่มีตัวแมลงกัดกิน
มีร่องรอยว่า หนังสือเล่มนี้ ท่านผู้ครอบครองอ่านไปแต่เพียงหนึ่งใน ห้าส่วน เพราะกระดาษฟูจากการสัมผัส


ราคา ๕ บาทนั้นไม่ใช่ของเล็กน้อยในเวลานั้น


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 เม.ย. 10, 04:50
         คุณหลวงรัตนาญัปติ    ได้ออกหนังสือ ธรรมศาสตร์วินิจฉัย ทุกวันอาทิตย์

มีข่าวชำระความในศาลสถิตย์ยุติธรรม  ศาลกงสุลต่างประเทศ

และลงพระราชบัญญัติหมายประกาศและลงข่าวต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพ ฯ และหัวเมือง

และข่าวต่างประเทศทั่วโลก          ราคาเล่มละเฟื้อง


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 เม.ย. 10, 05:03

       คุณหลวงเล่าเมื่อวันที่ ๑ พฤษจิกายน ร.ศ. ๑๑๒   ว่า  ในการเลือกแปล 

ได้ใช้หนังสือประวัติศาสตร์ของ เดวิด ฮูม มากกว่าเล่มอื่น


ท่านแปลและเรียบเรียงตั้งแต่ปฐมแรกประชาชนอังกฤษ  ยังมีความประพฤติเหมือนชาวป่าอยู่

ได้แปลจนถึงแผ่นดิน สมเด็จพระนางเจ้าราชินีวิคตอเรีย  จนจบสมบูรณ์

แต่การตีพิมพ์ล่าช้า   ต้องพิมพ์เพียงเล่ม ๑

     
       คุณหลวงหวังจะได้ตีพิมพ์เล่ม ๒ และ ๓  ต่อไป


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 เม.ย. 10, 05:27
คำวิจารณ์ ของ เจ้าพระยาภาสกรวงษ์         ในปี ร.ศ. ๑๒๖


      ในหนังสือ  สงครามจีนกับยี่ปุ่น  ของ เจ้าพระยาภาสกรวงษ์
ที่ ปอล  ม' กลึง  เดอิเตอร์  พิมพ์ขึ้น  ใน ร.ศ. ๑๒๖(พ.ศ. ๒๔๕๐)
ได้กล่าวถึงหนังสือสำคัญไว้บางเล่ม

     ท่านเล่าว่า บุตรหมอบรัดเล ได้แปลแต่งพงษาวดารฝรั่งเศสแผ่นดินนโปเลียนโปนาปาร์ต
ที่เรียกกันว่า เจ้าน่ำปาด  สำนวนโวหารพอฟังได้


       ต่อมาขุนหลวงพระยาไกรศรี(เปล่ง) ได้แปลแต่งพงษาวดารอังกฤษพิมพ์ขึ้นอีกเล่มหนึ่ง
จับแต่ยุคแรก ๆ       แลยังไม่ตลอดเรื่องค้างอยู่

ท่านผู้อ่านก็ไม่ปรากฎเปนที่ชอบนัก   ในการชักนำเรื่องราวพงษาวดารแลศาสตรอักษรของชาวต่างประเทศทิศตวันตก


เพราะคำวิจารณ์นี้    นักอ่านจึง หยิบเรื่อง พงษาวดารอังกฤษ   มาสนทนากับท่านที่นับถือ ใน เรือนไทย แบบย่อเรื่องต่อไป


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 27 เม.ย. 10, 06:08
หลวงรัตนาญัปติ (เทียม)ท่านนี้ต่อมาได้รับพระราทานบรรดาศักดิ์ ขุนหลวงพระยาไกรสี อธิบดีศาลต่างงประเทศ  กระทรวงยุติธรรม  ท่านถึงแก่กรรมในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  อายุราว ๓๐ ปลายๆ หรือ๔๐ ต้นๆนี่แหละครับ  ในรัชกาลที่ ๖ ทายาทของท่านได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "เวภาระ"


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 เม.ย. 10, 21:08
สารบานเรื่อง

ปฐมเหตุแห่งคนในเกาะบริเตน
ชาวโรมันมาตีเกาะบริเตนได้

แซกซอนเข้ามาตั้งในบริเตน
แผ่นดินพระเจ้าอาเธอ
เกาะบริเตนแบ่งออกเป็น ๗ ราชอาณาจักร  
พระเจ้าเอกเบิด


ชาติเดนซ์มารบ
พระเจ้าเอตเซนเรด
พระเจ้าแอลเฟรด
รบแล้วหย่าทัพ
แอลเฟรดหนี
แอลเฟรดส้องสุมทหาร
ชัยชนะ

(สงสัยจะต้องติดอยู่ที่นี่อีกหลายวัน  จึงขอกล่าวเฉพาะบท)

แผ่นดินฮาโรลเ์ที่ ๒

ชาตินรมันมาเป็นใหญ่

แผ่นดินพระเจ้าวิลเลียมรูฟัสที่ ๒

แผ่นดินพระเจ้าเฮนรี ที่ ๑

แผ่นดินพระเจ้าสติเวน

แผ่นดินสมเด็จพระนางเจ้ามาติลดา

วงษแปลนแตคิเนต

ริชาร์ดที่ ๑

พระเจ้ายอน

เฮนรีที่ ๓



กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 เม.ย. 10, 21:18

       ผู้อาวุโสของดิฉัน  และ สหายอีกคนหนึ่ง  ได้แสดงความสนใจ ที่จะสืบค้นบทความและหนังสือ
ของเจ้าพระยาภาสกรวงษ์

นึกขึ้นมาได้ว่าท่านเจ้าคุณได้เคยเขียนถึง พงษาวดารอังกฤษ  จึงนำมาลง  เพื่อแนะนำหนังสือ
ไม่ให้รายชื่อตกหล่นป๋อมแป๋มไปตามความมักง่าย ชุ่ย ไร้ความรับผิดชอบของสำนัักพิมพ์ใหญ่บางแห่ง
ที่ได้ดูแคลน หนังสือเก่า  บ่อความรู้มหาศาลของประวัติศาสตร์และวรรณคดีของชาติเรา

ยอมรับว่าไม่มีปัญญาหาหนังสือ จะตรงไปตรงมากว่าหรือไม่


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 เม.ย. 10, 17:37
เลี้ยวกลับมาที่ ขุนหลวงพระยาไกรศรี(เปล่ง เวภาระ)  เพราะชีวิตของท่านน่าสนใจ และงานเรื่องการพิมพ์ของท่านมีผู้รู้น้อย
พยายามเก็บงานของท่านเท่าที่มีบันทึกไว้  เพื่อให้ท่านผู้รู้มาอธิบายต่อ


หริ่ง มหาดเล็กหลวง และ แก้ว ภรรยา  พักอาศัยอยู่ที่ บ้านของหม่อมเจ้าหญิงประดับ  ริมวัดบวรนิเวศวิหาร บางลำภู


เปล่ง เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๕
เสียชีวิตใน พ.ศ. ๒๔๔๔  อายุเพียง ๓๘ ปีกว่าเท่านั้น   ด้วยโรค มานกษัย


ศพถูกย้ายจากวัดบวรนิเวศ ไปฝากไว้ที่วัดกัลยาณมิตร  ถึง ๘๑ ปี มิได้เผา
เนื่องด้วยคุณหญิงทองคำไม้ได้แจ้งผู้ใดไว้เลย
(มีคดีมรดกกับมารดาพระยาไกรศรี)


ในปีพ.ศ. ๒๕๒๕  เมื่อมีการค้นพบโลงศพของขุนหลวงพระยาไกรศรี  รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม นายมารุต บุนนาค หลานตาของท่าน
ได้จัดการขอพระราชทานเพลิงศพ  เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๖ จนเรียบร้อย   ถือว่าเป็นผู้มีกตัญญุตา รับใช้บรรพบุรุษตามประเพณี


ในเวลานั้น  คนเป็นอันมาก ไม่รู้จัก ตำแหน่ง ขุนหลวง  เมื่อต่อด้วย บรรดาศักดิ์ พระยา  ก็ ไม่เข้าใจ

การที่เก็บศพเป็นเวลานาน ก็ ทำให้บุคคลร่วมสมัยเสียชีวิตไปหมดแล้ว    บุตรของท่านผู้วายชนม์ก็ถึงแก่กรรมไปตาม ๆ กัน



เรื่องที่ท่านเสียชีวิตก็เป็นที่สงสัย เพราะก่อนหน้านั้นไม่นาน หลวงรัตนาญัป์ติ(ในเวลานั้น สะกดแบบนี้) เป็นอธิบดีกรมอัยการ
โดยชายสามคนรุมตีด้วยไม้เท้าจนบาดเจ็บสาหัส     ใกล้ถนนเจริญกรุง
สืบเนื่องมาจากหนังสือ ธรรมศาสตร์วินิจฉัย  ราคา ๔๑ อัฐ   ได้ลงพิมพ์เรื่องข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เล่นการพนัน


(รายละเอียดของคดี  เก็บไว้ดีมากเกินไป  ไม่สามารถค้นพบในเวลานี้  เชิญสหายทั้งปวงค้นได้ตามความสามารถ)
 




กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 เม.ย. 10, 22:52

ขอกล่าวถึงงานของขุนหลวงพระยาไกรศรี(เปล่ง) อย่างย่อ ๆ
ขาดตกบกพร่อง ขอน้อมรับ
ประสงค์จะเล่าเพียงงานแปล เรียบเรียง และ การพิมพ์หนังสือของท่านเป็นหลัก



ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕  หลวงรัตนาญัป์ติโอนมารับตำแหน่ง  เจ้ากรมสารบบความ กระทรวงยุติธรรม

ในเวลานั้นมีงานค้างอยู่ถึง ๔,๗๓๐ คดี
เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมพระองค์แรกคือ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์

ในพ.ศ. ๒๔๓๖ คุณหลวงได้รับโปรดเกล้าให้เป็นเจ้ากรม มีหน้าที่ให้คำปรึกษาของกระทรวงหรือกรมต่าง ๆ

ทำงานกับเจ้าพระยาอภัยราชา(โรลัง ยัคมินส์) จัดตั้งโรงเรียนสอนกฎหมาย
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เสนาบดีองค์ที่ ๓  เป็นพระอาจารย์

ได้เรียบเรียงกฎเสนาบดีกระทรวงและพระราชบัญญัติหลายฉบับ

เป็นยกกระบัตรศาลในคดี พระยอดเมืองขวาง

เป็นข้าหลวงพิเศษประจำการจัดการแก้ไขธรรมเนียมศาลยุติธรรมสำหรับหัวเมือง

ได้เป็นสมาชิกปรีวีเคาน์ซิล และ เคาน์ซิลออฟสเตด

พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา

พ.ศ. ๒๔๔๑  เลื่อนขึ้นเป็นขุนหลวงพระยาไกรศรีสุภาวดีศรีมนธาตุราช

ถึงแก่อนิจกรรม ในพ.ศ. ๒๔๔๔  



กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 เม.ย. 10, 05:30
เจ้าพระยาพลเทพ(ฉิม)
(การตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์   กรมศิลปากร  ๒๕๔๕   หน้า ๔๓)


พระยาจันทบุรี ฉิม  เข้ามาเป็นพระยาศรีสรไกร

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เป็น เจ่าพระยาพลเทพ

บุตรหลานที่ทำราชการคือ  พวกพี่น้องพระหฤทัย (นุช)
พระพหลหาญศึก (ยม)
เจ้าจอมน้อย สุหรานากง ซึ่งปฎิสังขรณ์วัดอัปสรสวรรค์

ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนมีนาคม ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๙๘


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 เม.ย. 10, 05:55
พระยาไกรสีห(เทียม  บุนนาค)

เป็นบุตรเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี(ท้วม)  มารดาชื่อเผือก)

มีบทบาท ใน เรื่องคดีพระยาระกา และ กรมหลวงราชบุรี(หาอ่านได้ทั่วไป)


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 10, 07:24
หาอ่านได้ที่กระทู้ เจ้าพระยามหิธร ค่ะ


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 เม.ย. 10, 09:15
พระยาไกรสีห(เทียม  บุนนาค)

เป็นบุตรเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี(ท้วม)  มารดาชื่อเผือก

ขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) กระมัง ชื่อนี้หากไม่คุ้นอาจจะสับสนกับขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) เอาง่าย ๆ

นายเทียม บุนนาค ก็มีอยู่อย่างน้อย ๒ ท่าน เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน คือ นายเทียม บุนนาค บุตร เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือขุนหลวงพระยาไกรสี อธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม อีกท่านหนึ่งคือ นายเทียม บุนนาค บุตร เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือ  พระยาสุรินทรฤๅชัย ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี  ทั้งเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) และ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ (เทศ บุนนาค) เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) แต่ต่างมารดากัน

ที่สำคัญ นายเทียม บุนนาค คนที่สองนี้ (เจ้าพระยาสุรินทรฤๅชัย) เป็นพี่ชายของเจ้าจอมก๊กออในรัชกาลที่ ๕ (เจ้าจอมมารดาอ่อน, เจ้าจอมเอี่ยม, เจ้าจอมเอิบ, เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน)

ลูกของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ (เทศ บุนนาค) ถ้าเป็นผู้ชายใช้อักษร ท ทหาร (ตามชื่อพ่อ) ถ้าเป็นผู้หญิงใช้อักษร อ อ่าง (ตามชื่อแม่ - ท่านผู้หญิงอู่)

 ;D




กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 เม.ย. 10, 09:20
เอาบทประพันธ์ของขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) มาฝาก


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 เม.ย. 10, 09:32
คุณเพ็ญชมพู



โปรดตรวจ หน้า ๑๐๐ กับ ๑๐๒  ใน สาแหรกสกุลบุนนาค เล่มยาวสีน้ำเงิน

ขอบคุณสำหรับบทประพันธ์



กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 เม.ย. 10, 09:48
นายเทียม บุนนาค บุตร เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือขุนหลวงพระยาไกรสี อธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม

วันที่  ๒๘  กันยายน  ร,ศ, ๑๒๗  ให้เลื่อน   ขุนหลวงพระไกรสีห์  เป็นขุนหลวงพระยาไกรสี  สุภาวภักดีศรีมนธาตุราชอำมาตย์คณากร  เจ้ากรมแพ่งกลาง  ถือศักดินา  ๓๐๐๐  -  ราชกิจจาฯ เล่ม ๒๕ หน้า  ๗๘๐


ด้วยขุนหลวงพระยาไกรสี  (เทียม)  มีความผิดในราชการ  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกออกจากน่าที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ   แลถอดเสียจากยศบรรดาศักดิ์ตั้งแต่บัดนี้ไป   แจ้งความมาณ วันที่ ๘ มิถุนายน ร,ศ, ๑๒๙  จรูญศักดิ์  รับพระบรมราชโองการ  -  ราชกิจจาฯ เล่ม ๒๗ หน้า ๔๖๖
 


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 เม.ย. 10, 10:04
.


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 เม.ย. 10, 10:07
อ้างถึง

คดีพญาระกา ตั้งแต่ความคิดเห็นที่ ๔๙ ถึง ๕๔
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/08/K8266277/K8266277.html#49

คุณหลวงพอจะช่วยตัดสินได้ไหมว่า คนไหนคือ ขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) ตัวจริง

คนทางซ้ายหรือขวา


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: overhaul ที่ 05 พ.ค. 10, 23:35
 :)คุณเพ็ญชมพูครับ ขออนุญาตตอบได้ไหมครับว่า คนซ้ายหรือคนทางขวา ขออนุญาตคุณหลวงด้วยครับ
คนทางซ้ายคือ นายลออ ไกรฤกษ์ ยศสุดท้ายคือ เจ้าพระยามหิธร ราชเลขานุการ
คนทางขวาคือ นายเทียม บุนนาค นั่นเอง
ส่วนขุนหลวงพระยาไกรสี เปร่ง เป็นอาจารย์สอนกฎหมายของทั้ง 2 ท่านข้างต้นครับ :)
สามารถสืบค้นได้จากหนังสือ 100 ปีโรงเรียนกฎหมายครับ


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 พ.ค. 10, 07:56
ที่มีปัญหาเพราะว่า ในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๐ ลงภาพขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) คือคนที่อยู่ทางซ้ายมือ

 ???


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 10, 10:24
คนทางซ้ายคือเจ้าพระยามหิธร(ลออ ไกรฤกษ์) ค่ะ  มายืนยันอีกคนหนึ่ง


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 พ.ค. 10, 10:35
อีกจุดหนึ่งที่สงสัย

บน  - ภาพหนึ่งในหนังสือของท่านผู้พิพากษานิกร ทัสสโร  เจ้าพระยามหิธร อยู่แถวหลัง คนที่ ๔ จากซ้าย

ล่าง - เจ้าพระยามหิธรน่าจะเหมือนคนทางขวามือมากกว่า


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: overhaul ที่ 06 พ.ค. 10, 16:24
คุณเพ็ญชมพูครับ
ข้อสงสัยของคุณสามารถยุติได้โดยสืบค้นจาก หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยามหิธร หรือก็คือชื่อเรื่องว่า เรื่องของเจ้าพระยามหิธร นั่นเอง ซึ่งคุณหลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์(บุตรชายของท่าน)เป็นผู้เรียบเรียง เล่มนี้อยู่หมัดครับ เพราะไม่ใช่คนทางขวาแน่นอน ;D


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 10, 16:36
อ่านประวัติเจ้าพระยามหิธรได้ที่นี่
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1190.0
ดิฉันมีหนังสือที่คุณ overhaul เอ่ยถึงค่ะ   รูปนี้ก็มาจากหนังสือ


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 10, 16:40
ในรูปกลุ่มผู้พิพากษาที่คุณเพ็ญชมพู นำมาลง   พิมพ์ราชทินนามผิดอยู่ท่านหนึ่งคือ พระยานิมิราชเรืองวุฒิ   ที่ถูกต้องคือ พระยานิมิราชทรงวุฒิ ค่ะ


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 พ.ค. 10, 10:48
คุณเพ็ญชมพูครับ
ข้อสงสัยของคุณสามารถยุติได้โดยสืบค้นจาก หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยามหิธร หรือก็คือชื่อเรื่องว่า เรื่องของเจ้าพระยามหิธร นั่นเอง ซึ่งคุณหลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์(บุตรชายของท่าน)เป็นผู้เรียบเรียง เล่มนี้อยู่หมัดครับ เพราะไม่ใช่คนทางขวาแน่นอน ;D

ภาพจากหนังสือที่คุณ overhaul กล่าวถึง

ข้อผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้เสมอ

ดังเช่นที่คุณเทาชมพูชี้แนะไว้

ในรูปกลุ่มผู้พิพากษาที่คุณเพ็ญชมพู นำมาลง   พิมพ์ราชทินนามผิดอยู่ท่านหนึ่งคือ พระยานิมิราชเรืองวุฒิ   ที่ถูกต้องคือ พระยานิมิราชทรงวุฒิ ค่ะ

ภาพกลุ่มผู้พิพากษานี้อยู่ในหนังสือเล่มเดียวกันกับภาพข้างล่าง

 8)


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 10, 11:25
งง   สรุปแล้วใครถูกกันล่ะนี่ 


กระทู้: พงษาวดารอังกฤศ แต่งโดย หลวงรัตนาญัปติ์(เปล่ง)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ค. 10, 12:33
ผมก็เข้ามารอผลสรุปอีกคนหนึ่งครับ

คุณเพ็ญชมพูชอบเอาตัวปริศนามาทายเรื่อย  สนุกดี
กระทู้พระยาระกาตอนโน้นเรื่องนี้ยังไม่จบ

แล้วกระทู้นี้จะจบยังไง?