เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: พระนาย ที่ 09 เม.ย. 20, 10:33



กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: พระนาย ที่ 09 เม.ย. 20, 10:33
สวัสดีครับหายไปนานได้แต่ติดตามอ่านอย่างเดียว พอดีไปเจอข่าวคุณใบเตยจดทะเบียนกับดีเจแมน



ข้อความในข่าว (หลังจากที่คู่รักดัง ใบเตย สุธีวัน ทวีสิน หรือ ใบเตย อาร์สยาม และ ดีเจแมน พัฒนพล กุญชร ณ อยุธยา ได้จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดย ใบเตย อาร์สยาม ได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น กุญชร ณ อยุธยา ตาม ดีเจแมน สามี พร้อมทั้งโพสต์ภาพบรรยากาศลงไอจีส่วนตัว

โดยบอกว่า "สามีบอกว่าวันนี้วันดี วันมงคล วันเกิดใบเตย นางเลยถือโอกาสพามาจดทะเบียนสมรส ตอนนี้ แม่ใบ เข้าสู่ราชสกุล เปลี่ยนเป็น น.ส. สุธีวัน กุญชร ณ อยุธยา เรียบร้อยแระคร่า 24/03/2020" และมีแฟนๆ เข้ามาคอมเมนต์แสดงความยินดีเป็นจำนวนมาก)

ผมเลยสงสัยว่าปกติราชสกุลนั้นสืบจากฝ่ายชายใช่ไหมครับ แล้วจากข่าวทำไมใบเตยถึงใช้ ณ.อยุธยา ต่อท้ายเพราะจริงๆแล้วน่าจะใช้แค่กุญชรเฉยๆทั้งคู่ หรือไม่งั้นก็ต้องตามนามสกุลคุณพ่อของดีเจแมน เนื่องจากคุณแม่ของดีเจแมน คือคุณพิมพ์แข กุญชร ณ อยุธยา แต่ไม่น่าสืบทางแม่ได้



กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 เม.ย. 20, 11:14
เรื่องนี้เคยมี ปุจฉา-วิสัชนา ดังนี้แล  ;D

ขอเรียนถามผู้รู้ทุกท่านครับ

อยากทราบการใช้ ณ อยุธยา ครับ

ปัจจุบันเห็นแวดวงบันเทิงมีคน นามสกุล ณ อยุธยา มาก บางคนก็มีสิทธิใช้ บางคนก็ยังน่าคลุมเครือ  เช่น อานันท์ทวีป ชยางกูร  สังเกตว่าจะใช้ ณ อยุธยาตลอด  อยากทราบว่า จริงๆแล้ว เขามีสิทธิใช้ ณ อยุธยาหรือไม่  เพราะทราบว่าถ้าจะใช้ได้จะต้องมาจากเชื้อสายทางพ่อเท่านั้น  ดังนั้นจึงอยากทราบจริงๆว่าเขาใช้ได้หรือไม่ครับ (พ่อของเขาคือใคร)  และช่วยบอกได้ไหมครับว่า ทำไมเราจะต้องใส่ใจกับระเบียบการนับราชสกุลครับ เผื่อผมจะได้ไปตอบให้คนไม่รู้ได้ฟังกัน  

ด้วยความเคารพ

เรื่องการใช้เครื่องหมายแห่งราชสกุล "ณ อยุธยา" ต่อท้านนามสกุลนั้น  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำหนดให้ใช้เฉพาะผู้ที่สืบสายสกุลโดยตรงลงมาจากพระบรมราชวงศ์  คือต้องสืบสายทางพ่อโดยตรงเท่านั้น  ในกรณีที่ใช้ราชสกุลเป็นนามสกุลตามมารดาหรือใช้ราชสกุลในฐานะเป็นบุตรบุญธรรมต้องห้ามมิให้ใช้ ณ อยุธยา ตาม ประกาศเพิ่มเครื่องหมายนามสกุลสำหรับราชตระกูล ลงวันที่  ๑  มกราคม  ๒๔๕๘ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2458/D/2320.PDF)  และ ประกาศแก้เครื่องหมายนามสกุลสำหรับราชสกุล  ลงวันที่  ๒๔  มีนาคม  ๒๔๖๗ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2467/D/4619.PDF)  แต่มาเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีมานี้  คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการตีความให้หญิงซึ่งใช้ราชสกุลตามสามีให้ใช้ ณ อยุธยา ต่อท้ายนามสกุลได้  ก็เลยเป็นความนิยมกันว่า  ถ้ามิได้เป็นหม่อมราชวงศ์หรือหม่อมหลวงแล้วให้เติม ณ อยุธยา กันโดยอัตโนมัติไปหมด


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 09 เม.ย. 20, 11:22

(https://live.staticflickr.com/65535/49751404333_bb7a350605_b.jpg) (https://flic.kr/p/2iNmXck)



http://www.royin.go.th/?knowledges=%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 เม.ย. 20, 11:40
อธิบายทีละขั้นตอน
1   คุณดีเจแมน มีชื่อและนามสกุล ว่า พัฒนพล มินทะขิน  
2   ต่อมาเปลี่ยนนามสกุล มาใช้ราชสกุล กุญชร ตามคุณแม่ พิมพ์แข กุญชร ณ อยุธยา
3   ตามกฎหมาย คือ พัฒนพล กุญชร
4   บิดาของคุณพัฒนพลไม่ใช่ราชสกุล  คุณพัฒนพลจึงไม่มีสิทธิ์ใช้ ณ อยุธยา   การใช้ ณ อยุธยา กฎหมายอนุญาตเฉพาะคนที่มีพ่อเกิดมาในราชสกุล จากหม่อมหลวงลงมาถึงสามัญชน เท่านั้น
5  ใบเตยจดทะเบียนสมรสกับคุณพัฒพล กุญชร   ตามกฎหมายจึงเป็นนางสุธีวัน กุญชร  ไม่มีคำว่า ณ อยุธยา

คลาวเดีย จักรพันธุ์  ใช้ราชสกุลของคุณแม่  ม.ร.ว. จันทิรา จักรพันธุ์  ก็ไม่ปรากฏว่าเธอใช้ว่า คลาวเดีย จักรพันธุ์ ณ อยุธยา
ฮิวโก้ จุลจักร จักรพงศ์ ใช้ราชสกุลของคุณแม่ ม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์  ก็ไม่ปรากฏว่าเขาใช้ว่า จุลจักร จักรพงษ์ ณ อยุธยา


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 เม.ย. 20, 12:39
เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ดูท่าจะไม่ใคร่จะมีความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบการใช้นามสกุลสำหรับราชสกุลสักเท่าไร  ;D


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: พระนาย ที่ 09 เม.ย. 20, 16:56
ขอบคุณครับสำหรับความเห็นครับ ก็เป็นไปอย่างที่ผมเข้าใจ นึกว่ามีข้อยกเว้นอะไรถึงใช้ได้ แล้วถ้าเป็นไปตามนี้
สรุปแล้วดีเจแมนกับใบเตยไม่สามารถใช้ราชสกุล ณ อยุธยา
ตอนนี้ที่อยากรู้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะปล่อยให้เงียบไหม
จะมีการถอดราชสกุลไหม
ถ้าเป็นความผิด จะมีการเอาผิดคนที่เกี่ยวข้องไหม


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 เม.ย. 20, 17:30
หลายปีมาแล้ว ในเรือนไทย มีเรื่องของผู้ใช้นามสกุล ต่อท้ายว่า ณ อยุธยา   โดยไม่ได้เป็นราชสกุล
แต่บรรพบุรุษสามารถขอให้ทางอำเภอจดทะเบียนนามสกุลของตน มีคำว่า ณ อยุธยา ต่อท้ายได้
ดิฉันหาไม่เจอแล้วว่ากระทู้ไหน และนามสกุลอะไร
ไม่ทราบว่าป่านนี้ท่านไปขอเปลี่ยนกับทางอำเภอหรือยัง

คุณเพ็ญชมพูจำได้ไหมคะ


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 เม.ย. 20, 18:08
หลายปีมาแล้ว ในเรือนไทย มีเรื่องของผู้ใช้นามสกุล ต่อท้ายว่า ณ อยุธยา   โดยไม่ได้เป็นราชสกุล
แต่บรรพบุรุษสามารถขอให้ทางอำเภอจดทะเบียนนามสกุลของตน มีคำว่า ณ อยุธยา ต่อท้ายได้
ดิฉันหาไม่เจอแล้วว่ากระทู้ไหน และนามสกุลอะไร
ไม่ทราบว่าป่านนี้ท่านไปขอเปลี่ยนกับทางอำเภอหรือยัง

ในกระทู้หนึ่งมีเรื่องราวทำนองนี้ แต่เป็นไปในแนวตรงกันข้าม

หลายปีมาแล้ว ในเรือนไทย มีเรื่องของผู้ใช้นามสกุลโดยไม่มี ณ อยุธยา ต่อท้าย  ทั้ง ๆ ที่บิดาสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่เป็นราชสกุล
คุณวีมีแนะนำให้ไปขอให้ทางอำเภอจดทะเบียนนามสกุลของตน มีคำว่า ณ อยุธยา ต่อท้าย
ไม่ทราบว่าป่านนี้ไปขอเปลี่ยนกับทางอำเภอหรือยัง

เรื่องนี้อยู่ในกระทู้ "จรูญโรจน์"
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2863.0
 ;D


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 20, 09:32
กระทู้ที่ดิฉันถาม คนละรายกันค่ะ  เป็นนามสกุลสามัญชน แต่จะด้วยอะไรก็ไม่ทราบ สามารถขอให้ทางอำเภอใส่ ณ อยุธยา ต่อท้ายได้

เรื่องใบเตย กำลังอึงคะนึงอยู่ใน pantip

 https://pantip.com/topic/39776876


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 เม.ย. 20, 10:17
กระทู้ที่ดิฉันถาม คนละรายกันค่ะ  เป็นนามสกุลสามัญชน แต่จะด้วยอะไรก็ไม่ทราบ สามารถขอให้ทางอำเภอใส่ ณ อยุธยา ต่อท้ายได้

น่าจะเป็นเรื่องราวของนามสกุล "อุทรทวิการ ณ อยุธยา"

รบกวนท่านผู้รู้ช่วยบอกถึงข้อมูลราชสกุล อุทรทวิการหน่อยครับ หามาหลายที่แล้วไม่พบข้อมูลเลยครับ  อยากรู้เพราะว่าเป็นนามสกุลของเพื่อน

ดิฉันค้นกูเกิ้ลก็เจอคนนามสกุลนี้เข้าเหมือนกัน    เชื่อค่ะว่ามีตัวจริง
แต่ที่อัศจรรย์ใจคือราชสกุลนี้มาจากไหน ไม่เคยเห็นวี่แววมาก่อนเลย

เลยค้นในกูเกิ้ลอีกที เจอหมายเลขโทรศัพท์ในที่ทำงานของคุณสุนทร  อุทารทวิการ ณ อยุธยา   ก็ลองโทรไปสอบถาม
เท่าที่ได้คำตอบมาจากคุณสุนทร   นามสกุลนี้บรรพบุรุษเป็นหมอตำแยในรัชกาลที่ ๕  เป็นที่มาของชื่อ อุทร (ท้อง) ทวิ(สอง) การ ก็คือการกระทำ

มีบรรพบุรุษอีกคนหนึ่งเป็นเจ้าพระยาพระคลังสมัยรัชกาลที่ ๕  คุณสุนทรไม่แน่ใจเรื่องชื่อ บอกว่าชื่อเจ้าพระยาภิมุขเสนา

ดิฉันถามว่าคุณพ่อและคุณปู่ของคุณสุนทรเป็นหม่อมหลวง หรือหม่อมราชวงศ์อะไรทำนองนี้หรือเปล่า
คุณสุนทรตอบว่าเปล่า  ไม่ถึงขั้นเจ้านาย เป็นขุนนาง  
แต่คุณสุนทรได้ใช้นามสกุลนี้มานานแล้วตั้งแต่สมัยปู่สมัยพ่อ
นอกจากครอบครัวสายคุณสุนทรแล้ว ยังมีอีกสายหนึ่ง เดิมเป็นอุทรทวิการเหมือนกัน แต่เปลี่ยนชื่อสกุลเป็นอย่างอื่น
แต่ยังใช้ ณ อยุธยา

ดิฉันถามย้ำไปสองสามครั้งว่าคุณสุนทรใช้ ณ อยุธยาได้ยังไง  รู้สึกว่าคุณสุนทรก็งงๆ
คงเป็นเพราะใช้กันมาเรื่อยตั้งแต่สมัยปู่จนถึงพ่อหรือไงไม่ทราบ คงไม่นึกว่าใครจะถามแบบนี้ และคงไม่มีข้อมูลพอจะตอบได้

คุณสุนทรบอกว่ามีหลานคนหนึ่งกำลังทำปริญญาโทอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ คงจะรู้เรื่องนามสกุลมากกว่านี้
แต่คุณสุนทรจำชื่อจริงของหลานไม่ได้  จำได้แต่ชื่อเล่นว่า "เมน"

ถ้าใครเข้ามาอ่านแล้วรู้จักคุณเมน  ขอให้เข้ามาตอบสักหน่อยก็จะขอบคุณมาก

ถ้าคำตอบของคุณสุนทรถูกต้องตามความเป็นจริง ก็แปลว่ามีการจดทะเบียนนามสกุลของสามัญชน ต่อท้ายว่า ณ อยุธยาได้ มานานสักสองสามชั่วคนเป็นอย่างน้อย
จะด้วยเหตุผลอะไรที่เจ้าของนามสกุลไปจดคำนี้ต่อท้าย ก็ไม่อาจเดาได้

ส่วนเจ้าพระยาภิมุขเสนา นั้น ไม่เคยได้ยิน   รู้แต่ว่ามีเจ้าพระยามุขมนตรี  อยู่ในสกุลเปาโรหิตย์  คงไม่ใช่คนเดียวกัน
กับออกญาเสนาภิมุขหรือยามาด้า สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ย้อนหลังไปโน่น
คงต้องศึกษากันต่อไปค่ะ


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: พระนาย ที่ 30 เม.ย. 20, 13:13
จากการสอบถามความถูกต้องไปยังสำนักงานเขต เพื่อตรวจสอบ รวมถึงการพูดคุยในราชสกุลเอง สุดท้าย ดีเจแมน และ ใบเตย ยอมไปเปลี่ยนนามสกุล โดยไม่่มี ณ อยุธยา ต่อท้าย


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 20, 14:34
ถูกต้องแล้วค่ะ


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 20, 10:06
ขอฝากประสบการณ์นี้ไว้ที่เรือนไทย
.
.
เรื่องประเภทเดียวกันนี้เคยดังมาครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว เมื่อคนดังในวงการบันเทิงที่มีคุณพ่อเป็นฝรั่งและคุณแม่เป็นหม่อมราชวงศ์แต่หย่าร้างกัน  เมื่อแรกปรากฏชื่อก็มีปัญหาทันที เพราะเธอใช้ราชสกุลของแม่ที่พ่วง ณ อยุธยาไปด้วย แต่เธอก็ยืนยันว่าของเธอถูกต้อง และชอบด้วยกฏหมาย
วันหนึ่งผมมีโอกาสคุยกับคุณแม่ของเธอ ถามขอความรู้ว่า ทำไมลูกของราชสกุลฝ่ายหญิง เขตจึงยอมจดทะเบียนให้มี ณ อยุธยาพ่วงท้ายได้ เธอบอกว่าเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา ตัดสินให้ลูกของหม่อมหลวงหญิงคนหนึ่ง เปลี่ยนนามสกุลจากของพ่อมาเป็นของแม่ แล้วมี ณ อยุธยาด้วย

เหตุเกิดจากตอนแรกที่ผู้เป็นมารดาไปยื่นขอเปลี่ยนชื่อและนามสกุลของบุตร แล้วเขตพระโขนงไม่ยอมจดให้ เธอจึงฟ้องศาล ไปจบที่ฎีกา ซึ่งพิพากษาให้เธอชนะ บุตรสาวทั้งสองคนจึงได้ใช้นามสกุลแม่ แล้วมี ณ อยุธยาพ่วงท้ายตามที่ร้องขอไว้ด้วย

เธอจึงใช้คำพิพากษาศาลฎีกานี้แหละ เป็นใบเบิกทางให้เขตเปลี่ยนชื่อให้ลูกสาวเธอ นอกจากได้ราชสกุลแม่แล้ว ยังได้ ณ อยุธยาพ่วงท้ายด้วย
เธอบอกว่าถ้าผมอยากได้สำเนาคำพิพากษานี้ก็ให้ไปขอเองได้ที่เขตพระโขนง แล้วบอกชื่อหม่อมหลวงหญิงคนนั้นแก่ผม


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 20, 10:17
ผมก็ไม่ได้อยากจะรู้ขนาดต้องแล่นไปทันที  เวลาผ่านไปหลายปี พอดีกับที่ผมมีธุระแถวพระโขนง เสร็จเร็วกว่าที่คิด จึงได้โอกาสเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎร์  ถามถึงเรื่องนี้ และขอสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ว่า เผื่อจะเป็นประโยชน์กับญาติทางฝ่ายหญิงของผม 

เจ้าหน้าที่หายไปนานพอสมควรก่อนจะพาหัวหน้ามาพบ เขาบอกว่าเรื่องนี้เกิดก่อนที่เขาจะมารับหน้าที่ จึงไม่สามารถรื้อค้นเอกสารที่ผมต้องการได้  แต่ถึงหากจะได้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว  เพราะต่อมามีหนังสือของสำนักราชวังถึงกระทรวงมหาดไทย ขอให้ปฏิบัติตามระเบียบของสำนักพระราชวังในเรื่องการจดทะเบียนชื่อบุคคลที่ใช้นามสกุลที่เป็นราชสกุลโดยเคร่งครัด (ประมาณอย่างนี้เท่าที่จำได้นะครับ เพราะระเบียบที่ว่าเขาก็ไม่ให้ผมดูเช่นกัน)  ในส่วนของการใช้ ณ อยุธยา ต่อท้ายนามสกุลสำหรับทายาท  เขาบอกว่า ให้ใช้สำหรับทายาทของผู้สืบราชสกุลมาจากฝ่ายชายเท่านั้น ส่วนทายาทผู้สืบราชสกุลจากฝ่ายหญิง  ถ้าจะใช้ราชสกุลของฝั่งแม่ ให้ใช้ได้ แต่ห้ามมี ณ อยุธยา ต่อท้าย

สำหรับ “บุตรบุญธรรม” ของผู้สืบเชื้อสายราชสกุลทั้งฝ่ายชาย และหญิงที่ยังใช้นามสกุลที่เป็นราชสกุลอยู่ ไม่มีสิทธิ์ใช้ ณ อยุธยาต่อท้ายราชสกุลของตน และต้องขอพระบรมราชานุญาตด้วย ซึ่งโดยทั่วไปจะให้ใช้แค่ชื่อราชสกุล ไม่ให้ใช้ ณ อยุธยา

นั่นก็คือ กลับไปเหมือนเดิมดังที่ผมเข้าใจ


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 20, 10:19
สำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ว่า ถึงเขตจะไม่ได้ให้ผม แต่ผมก็สามารถหาจากสื่อสาธารณะได้จากเว็บของศาลเอง แม้จะเป็นบทคัดย่อ แต่ก็ได้ใจความในทุกประเด็น

ผมขอนำมาให้อ่านเป็นความรู้ครับ



กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 20, 10:27
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1283/2522

โจทก์ – หม่อมหลวง ธ. (นามสกุลราชสกุล) ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของ
โจทก์ – เด็กหญิง น. (นามสกุลสามัญ)
โจทก์ – และเด็กหญิง ศ. (นามสกุลสามัญ)
โจทก์ – โดยนายบ. ผู้รับมอบอำนาจ
จำเลย - กรุงเทพมหานคร ฯ กับพวก

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1561
ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ม. 3
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 182, 183

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 ซึ่งให้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 นั้น เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่บุตร กล่าวคือให้บุตร มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา และในกรณีที่ไม่ปรากฏว่าใครเป็นบิดา บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดาได้ มิได้บังคับว่าบุตรจะต้องใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือมารดา  เมื่อกฎหมายมิได้บังคับไว้ บุตรก็ชอบที่จะใช้ชื่อสกุลอื่นได้ แม้จะปรากฏว่ามีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก็ตาม การที่ ศ. ผู้เป็นบิดาและโจทก์ผู้เป็นมารดายินยอมพร้อมใจกันให้บุตรใช้ชื่อสกุลของมารดา หาเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 วรรค 2 ไม่

เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยาน สละประเด็นข้ออื่นทั้งสิ้น ขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วพ.ศ.2519 มาตรา 1561 บุตรจะใช้ชื่อสกุลของมารดาได้หรือไม่ เมื่อบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลของมารดาเช่นนี้  จึงไม่มีปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าบุตรไม่ต้องการใช้ชื่อสกุลของบิดา หรือต้องการใช้ชื่อสกุลของมารดาหรือไม่ อันจะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์  ไม่ชอบที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยและอ้างเป็นเหตุยกฟ้อง

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลและเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าที่ว่าการเขตพระโขนง โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายกับนาย ภ. มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กหญิง น. กับเด็กหญิง ศ. ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2518 โจทก์และนาย ภ.ได้ตกลงหย่ากันโดยความสมัครใจ โดยโจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูและใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสอง ต่อมาโจทก์และนาย ภ.ได้ตกลงกันเปลี่ยนชื่อสกุลบุตรทั้งสองโดยเปลี่ยนจาก(นามสกุลสามัญ) เป็น (ราชสกุลของมารดา พ่วงด้วย ณ อบุธยา) ตามชื่อสกุลโจทก์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2520 โจทก์และนาย ภ. ได้ร่วมกันยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ขอแก้ไขรายการในทะเบียนบ้านโดยขอเปลี่ยนชื่อสกุล(นามสกุลสามัญ) เป็น (ราชสกุลของมารดา พ่วงด้วย ณ อบุธยา) จำเลยที่ 2 ไม่ยอมจัดการดำเนินการให้โดยอ้างว่าเป็นกรณีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 วรรคสอง ไม่อาจเปลี่ยนชื่อสกุลบุตรทั้งสองให้ได้ โจทก์และนาย ภ. ชี้แจงแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่ยอมจัดการแก้ไขให้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกัน และแทนกันจดทะเบียนแก้ไขรายการในทะเบียนบ้านรายการในช่องชื่อสกุล จาก เด็กหญิง น.และเด็กหญิง ศ. (นามสกุลบิดา) เป็นเด็กหญิง น.และเด็กหญิง ศ. (ราชสกุลของมารดา พ่วงด้วย ณ อบุธยา) หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมจัดการให้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง น.และเด็กหญิง ศ. ไม่มีอำนาจฟ้อง ภายหลังการจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน โจทก์และนาย ภ. มิได้ตกลงกันให้โจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูและใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เปลี่ยนชื่อสกุลของเด็กหญิงทั้งสองนั้น และไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ยอมเปลี่ยนชื่อสกุลเพราะเห็นว่าไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 วรรคสอง การวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ต่อมาทนายจำเลยทั้งสองแถลงรับว่า โจทก์ได้จดทะเบียนหย่ากับนาย ภ. และได้ทำหนังสือตกลงให้โจทก์เป็นผู้อุปการะและใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง น. และเด็กหญิง ศ.จริง มีอำนาจฟ้อง และทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยาน สละประเด็นข้อนี้ทั้งสิ้น  ขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว พ.ศ. 2519 มาตรา 1561 บุตรจะใช้นามสกุลของมารดาได้หรือไม่ แม้บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายยินยอมให้ใช้นามสกุลของมารดา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกัน แก้ทะเบียนบ้านในรายการชื่อสกุลของ เด็กหญิง น.และเด็กหญิง ศ. จาก(นามสกุลบิดา) เป็น (ราชสกุลของมารดา พ่วงด้วย ณ อบุธยา) ตามที่โจทก์ยื่นคำร้องไว้

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาตรา 1561 ซึ่งให้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มีความว่า "บุตรมีสิทธิ - ใช้ชื่อสกุลของบิดา" (วรรคหนึ่ง) "  ในกรณีที่บิดาไม่ปรากฏ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดา " (วรรคสอง)” เห็นได้ว่ามาตรานี้เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่บุตร กล่าวคือให้บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา และในกรณีที่ไม่ปรากฏว่าใครเป็นบิดา บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดาได้ มิได้บังคับว่าบุตรจะต้องใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือมารดา เมื่อกฎหมายมิได้บังคับไว้ บุตรก็ชอบที่จะใช้ชื่อสกุลอื่นได้แม้จะปรากฏว่ามีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก็ตาม การที่นาย ภ. ผู้เป็นบิดาและโจทก์ผู้เป็นมารดายินยอมพร้อมใจกันให้บุตรทั้งสองใช้ชื่อสกุลของมารดา หาเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 วรรคสองไม่

ข้อต่อมาจำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าบุตรมีความประสงค์จะไม่ใช้นามสกุลของบิดา หรือต้องการใช้นามสกุลของมารดา โจทก์กระทำไปโดยไม่มีอำนาจ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ข้อที่จำเลยยกขึ้นฎีกานี้ จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้  ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยโดยเห็นว่าเป็นปัญหาเรื่องอำนาจอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน  ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่สมควรที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัย จำเลยจึงได้ฎีกาขึ้นมา

ศาลฎีกาเห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยาน สละประเด็นข้ออื่นทั้งสิ้น  ขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าบุตรทั้งสองไม่ต้องการใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือต้องการใช้ชื่อสกุลของมารดาหรือไม่ อันจะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะยกขึ้นวินิจฉัย และอ้างเป็นเหตุยกฟ้อง

พิพากษายืน


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 20, 10:37
คดีจึงจบลง เป็นอันว่าในตอนนั้นเขตพระโขนงได้จดทะเบียนให้ เด็กหญิง น.และเด็กหญิง ศ. เปลียนจาก(นามสกุลบิดา) เป็น(ราชสกุลของมารดา พ่วงด้วย ณ อบุธยา) ตามคำพิพากษาดังกล่าว

แต่ความตลกอยู่ที่ว่า คู่คดีไม่ได้ต่อสู้กันเรื่องสิทธิ์  ว่าบุตรจะมีสิทธิ์ใช้ ณ อยุธยาพ่วงท้ายราชสกุลของมารดาหรือไม่
 
กล่าวคือ เมื่อคุณหม่อมหลวงหญิงผู้นั้นไปขอเปลี่ยนนามสกุลให้บุตรทั้งสอง โดยเขียนชื่อนามสกุลที่ต้องการจะเปลี่ยนลงไปในคำร้อง อาจจะเพราะเป็นนักเรียนนอกและใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกตลอด จึงไม่ทราบข้อห้าม แล้วใส่นามสกุลของบุตร เป็นราชสกุล ที่พ่วงท้ายด้วย ณ อยุธยา

เขตไม่ทำให้ แต่ด้วยเหตุผลว่า บุตรจะใช้นามสกุลของมารดาไม่ได้  แม้บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายยินยอมให้ใช้นามสกุลของมารดาก็ตาม

เธอจึงฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ยกฟ้องโจทก์

เธออุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เขตเปลี่ยนชื่อและนามสกุลของเด็กให้ตามที่เธอขอ

จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กฏหมายให้สิทธิแก่บุตร กล่าวคือให้บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา และในกรณีที่ไม่ปรากฏว่าใครเป็นบิดา บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดาได้  แต่มิได้บังคับว่าบุตรจะต้องใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือมารดา เมื่อกฎหมายมิได้บังคับไว้ บุตรก็ชอบที่จะใช้ชื่อสกุลอื่นได้  แม้จะปรากฏว่ามีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก็ตาม

พิพากษายืน
.

และยังตลกต่อไปอีกว่า คำพิพากษาศาลฎีกานี้ มีผู้นำไปอ้างต่อเขต แล้วเขตยอมเปลี่ยนให้ ได้ ณ อยุธยามาพ่วงท้ายหลายคน


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ค. 20, 10:43
ผมใช้อินทรเนตรตรวจสอบสถานภาพปัจจุบันพบว่า ผู้ที่ใช้นามสกุลของมารดาแล้วเคยมี ณ อยุธยาพ่วงท้ายนั้น  บัดนี้ พวกที่ไม่ได้เปลี่ยนนามสกุลไปตามสามี  หรือเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนกลับ จะไม่ปรากฏ ณ อยุธยาพ่วงท้ายเช่นที่เคยแล้ว โดยไม่ทราบสาเหตุ


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 20, 13:46
ขอบคุณค่ะ  อ่านแล้วก็มึนพอใช้
ถ้าไม่ได้คุณ NAVARAT.C  อธิบายไว้ตอนต้นเรื่องก็คงยังมึนไปอีกนาน


กระทู้: สอบเรื่องการสืบราชสกุลครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 20, 15:07
เป็นได้ว่า ทางอำเภอต่างๆได้รับคำชี้แจงอย่างเป็นทางการแล้ว ถึงระเบียบการใช้ ณ อยุธยาต่อท้ายนามสกุล