เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 04, 10:59



กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 04, 10:59
 ผู้ที่เคยอ่านประวัติศาสตร์กฎหมายไทย คงเคยได้ยินชื่อเจ้าพระยามหิธร  ท่านเป็นเนติบัณฑิตไทย หมายเลข 1
วันนี้ขอเล่าสู่กันฟังถึงประวัติของท่าน   ซึ่งจะโยงไปถึงเหตุการณ์บางเรื่องในประวัติศาสตร์ไทยสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ด้วย

เจ้าพระยามหิธรมีชื่อเดิมว่า  "ลออ "  เกิดในสกุล "ไกรฤกษ์ " ซึ่งมีลูกหลานสืบเชื้อสายกันมาจนถึงทุกวันนี้
สมัยโน้น ชื่อของคนไทยเป็นชื่อที่ไม่จำกัดเพศ    ไม่เหมือนปัจจุบัน   สมัยนี้ไม่มีนางสาวคนไหนชื่อ ทักษิณ       หรือผู้ชายคนไหนชื่อนายดาวพระศุกร์     ผิดกับสมัยก่อน  ชื่ออะไรผู้ชายผู้หญิงก็ใช้เหมือนกันได้  เพราะงั้นผู้ชายชื่อเดือน ชื่อดาว หรือลออ  ถือเป็นเรื่องปกติ  ผู้หญิงชื่อแม่โชติ ก็ไม่ประหลาด

เด็กชายลออเกิดมาในตระกูลขุนนางไทย  แบบเดียวกับตระกูลผู้ดีไทยอีกมากที่เริ่มต้นจากคนจีนแล้วกลืนเข้าเป็นคนไทยอย่างสนิท   แทบไม่เหลือขนบธรรมเนียมการดำเนินชีวิตแบบจีน   เหลือก็แต่จดจำได้เท่านั้นว่าบรรพบุรุษของตนมาจากแผ่นดินใหญ่

ต้นตระกูลไกรฤกษ์ ที่เดินทางจากจีนมาตั้งถิ่นฐานในสยามสมัยปลายอยุธยา    มีชื่อตัวว่าอะไรไม่ทราบ  รู้แต่ว่าแซ่หลิม  คำว่าหลิม เป็นสำเนียงจีนฮกเกี้ยน    ท่านหลิมคงจะเข้ามาตัวคนเดียวและได้ภรรยาชาวอยุธยาแบบจีนหนุ่มโดยมาก   ลูกชาย 2 คนที่เกิดในอยุธยาจึงมีชื่อไทยว่า "เริก " และ " อิน "

ท่านหลิมถึงแก่กรรมตอนไหนไม่ปรากฏ  แต่ว่าลูกชายสองคนหนีรอดข้าศึกตอนกรุงแตกไปได้ จนถึงสมัยสถาปนากรุงธนบุรี   นายเริกและนายอินก็ได้สมัครเข้ารับราชการกับพระเจ้าตากสินกันทั้งสองคน  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 04, 11:17
 สายตรงของเจ้าพระยามหิธร คือสายของนายเริก บุตรชายคนโตของท่านหลิม
ปรากฏในคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า  พระเจ้าตากสินผู้เป็นเชื้อจีนเช่นกัน ทรงรับนายเริกเข้าเป็นขุนท่องสื่ออักษร เสมียนตรากรมท่าซ้าย มีหน้าที่เป็นล่ามจีนในคณะทูตไทยที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ปักกิ่งเมื่อพ.ศ. 2324  

การเดินทางเรือสมัยนั้นกว่าจะโต้คลื่นไปขึ้นทางใต้ของจีน และขึ้นบกระหกระเหิน เดินทางไปถึงกรุงปักกิ่ง   กินเวลายาวนานขนาดไปปีนี้กลับเอาปีหน้า      ดังนั้นกว่าคณะทูตจะกลับมา ก็สิ้นสุดรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีไปแล้ว   ขึ้นรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

การผลัดแผ่นดินใหม่ไม่ได้มีผลกระทบกระเทือนต่อขุนนางหนุ่มอย่างขุนท่องสื่อ  เช่นเดียวกับขุนนางอื่นโดยมากที่ไม่ได้มี่ส่วนเกี่ยวข้องกับความวุ่นวายสมัยปลายกรุงธนบุรี     เมื่อผลัดแผ่นดินขุนนางเหล่านี้ก็ทำงานไปตามปกติ  แยกย้ายกันสังกัดวังหน้าบ้างวังหลวงบ้าง    
ขุนท่องสื่อเริกก็ได้เข้ารับราชการสังกัดวังหน้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท   แล้วเจริญขึ้นเป็นลำดับจนเป็นถึงเสนาบดีคลัง หนึ่งในจตุสดมภ์วังหน้า   มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาไกรโกษา

บ้านเดิมของพระยาไกรโกษา  อยู่ที่ตรอกพระยาไกรในสำเพ็ง    ก่อนหน้านี้ ตอนปลายธนบุรีท่านคงอยู่ในละแวกชุมชนคนจีน ฟากบางกอกตรงส่วนที่เป็นพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน   เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงย้ายเมืองหลวงข้ามแม่น้ำมาตั้งทางฝ่ายบางกอก  ก็โปรดเกล้าฯให้ย้ายชุมชนคนจีนเดิมจากที่นั้นไปหาที่อยู่ใหม่จากคลองใต้วัดสามปลื้มจนถึงคลองเหนือวัดสำเพ็ง พระยาไกรโกษาจึงย้ายบ้านไปอยู่ที่สำเพ็ง     จนถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ 2

ภาพประกอบ ดูเพิ่มเติมได้จาก
 http://www.postcardman.net  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 04, 11:21
 พระยาไกรโกษา มีบุตรกับภรรยาเอกชื่อคุณหญิงจุ้ย  3 คน  มีบุตรกับภรรยาน้อยอีกหลายคน  แต่ขอข้ามไปเพราะไม่ใช่สายเจ้าพระยามหิธร    ขอพูดถึงคนเดียวคือบุตรชายคนเล็กของคุณหญิงจุ้ยชื่อนายสุด

นายสุดเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก   ได้เป็นหัวหน้ามหาดเล็กตำแหน่งหลวงเดชนายเวร  
สมัยโน้นการเป็นมหาดเล็กไม่ใช่เป็นกันง่ายๆ  ต้องคัดเลือกจากลูกผู้ดีมีตระกูล   นอกจากนี้ต้องหน้าตาดีกิริยามารยาทเรียบร้อยรู้ธรรมเนียมประเพณีไทย และเป็นคนเฉลียวฉลาดฝึกงานได้คล่อง  หัวไว เรียนรู้เร็ว  เพราะอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน ให้ทรงใช้สอย เป็นโอกาสให้ได้รับตำแหน่งสำคัญๆในอนาคตได้ง่าย

เมื่อมาถึงยุคนี้คงจะเห็นว่า  เมื่อถึงชั่วคนที่สาม  หลานปู่ของท่านหลิม ก็ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นลูกผู้ดีมีตระกูลของไทย อย่างสนิทแล้ว  ไม่ได้มีใครเห็นว่าเป็นคนจีนอีก

เรื่องราวของหลวงเดช    กล่าวไว้ในประวัติของตระกูลไกรฤกษ์เพียงสั้นๆว่าท่านมีบุตร 4 คน หนึ่งในจำนวนนี้เป็นชายชื่อโมรา

นายโมราเกิดในรัชกาลที่ 3   แต่กว่าจะโตเป็นหนุ่มอายุ 17 เข้ารับราชการได้ก็ถึงรัชกาลที่ 4   ตำแหน่งแรกของท่านคือประจำกรมตำรวจหลวงวังหน้า ตามบรรพบุรุษที่เป็นเสนาบดีวังหน้ามาก่อน  แล้วเลื่อนขึ้นจนได้เป็นพระยาบริรักษ์ราชา เจ้ากรมพระตำรวจวังหน้า  เมื่อออกจากราชการประจำแล้วจึงเปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเพ็ชรรัตน์
พระยาเพ็ชรรัตน์คือบิดาของเจ้าพระยามหิธร  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 04, 11:35
 ขอหยุดประวัติแค่ตรงนี้ก่อนนะคะ   ต่อไปจะกล่าวถึงระบบศาลยุติธรรมของไทยโบราณ
ตั้งแต่อยุธยามาจนถึงปลายรัชกาลที่ 5 แม้แต่สมัยต้นรัชกาลที่ 5 เองก็ยังยึดถือระบบโบราณอยู่  คือไทยไม่มีกระทรวงยุติธรรมอย่างสมัยนี้  แม้แต่ศาลที่เป็นศาลล้วนๆ อย่างเดี๋ยวนี้ก็ไม่มี  

สมัยโน้น ราชการฝ่ายบริหารและตุลาการไม่ได้แยกจากกัน   เพราะถือว่าการชำระความโดยเฉพาะความอาญา เป็นเรื่องการใช้อำนาจปกครองเพื่อปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิด  
ดังนั้นกรมอะไรๆก็มีหน้าที่ชำระความของตัวเองได้  ข้าราชการสังกัดกรมนั้นก็อาจได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตุลาการชำระความในกรมของตัวเองได้เช่นกัน

หน้าที่ตุลาการสมัยโน้นคือสอบสวนซักถามพิจารณาหาข้อเท็จจริง ส่วนข้อกฎหมายเป็นหน้าที่ของลูกขุน   และผู้ปรับก็คือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย

สิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยจะรู้กัน  รู้แล้วก็รู้สึกว่าตลก   คือข้าราชการหรือขุนนางสมัยโน้น แม้ว่ามีหน้ามีตา  แต่ไม่ค่อยจะมีสตางค์   เพราะระบบราชการไม่มีเงินเดือนให้  มีแต่เบี้ยหวัดซึ่งจ่ายปีละครั้งสองครั้ง  บางทีก็ไม่จ่ายเป็นเงิน แต่จ่ายเป็นผ้าลายบ้าง ทองคำบ้าง แล้วแต่ท้องพระคลังจะมีให้มากน้อยแค่ไหน  
สมัยรัชกาลที่ 2  พบกันว่าท้องพระคลังหาเงินไม่ค่อยได้  ต้องติดเบี้ยหวัดขุนนาง ไปจ่ายเป็นผ้าลายแทนก็มี  จนถึงรัชกาลที่ 3 ทรงคิดระบบเจ้าภาษีนั่นแหละ  พระคลังหลวงจึงค่อยมีเงินทองขึ้นมามากหน่อย

ในเมื่อขุนนางไม่มีสตางค์   แต่มีลูกเมียบริวารต้องเลี้ยงกันมากมายในแต่ละบ้าน ก็มักจะไปร้องเรียนขอความเห็นใจจาก เจ้ากรม  เจ้ากรมก็หาทางหางานพิเศษ ทำ "โอ.ที" ให้ลูกน้อง โดยมอบความแพ่งหรืออาญา ให้ขุนนางผู้นั้นเอาไปเป็นตุลาการชำระความที่บ้าน เป็นรายได้พิเศษ  

รายได้พิเศษยังไงน่ะหรือคะ    ก็เพราะการชำระความไม่ได้กินเวลาแค่ครั้งเดียวจบ  แต่ว่าต้องสืบสวนสอบสวนทวนพยานกันนานเป็นปี   คู่ความทั้งโจทย์และจำเลยตลอดจนพยาน ก็ต้องอพยพกันมาปลูกกระท่อม นอนค้างอ้างแรมในบริเวณบ้านตุลาการ   ต้องหาข้าวปลาอาหารของใช้มาส่งเสียตัวเอง  และเพื่อจะเอาใจตุลาการให้ชำระความเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน  ก็ต้องเผื่อแผ่ของกินของใช้ให้ตุลาการด้วย   ตุลาการก็ค่อยคลายความฝืดเคืองลงได้
จนกว่าจะชำระความเสร็จซึ่งอาจจะกินเวลานานเป็นปี  โจทย์จำเลยถึงจะหอบข้าวของ(ถ้ายังมีเหลือ) ออกจากบ้านตุลาการไปได้ ไม่ต้องเจอกันอีก ส่วนฝ่ายไหนจะแพ้ความไปติดคุก ฝ่ายไหนชนะความได้กลับบ้านก็เป็นอีกเรื่อง
พระยาเพ็ชรรัตน์ในฐานะเจ้ากรม  นอกจากจะแบ่งคดีให้ข้าราชการรองๆลงไปช่วยชำระความ ท่านก็ชำระความของท่านเป็นรายได้พิเศษประจำตัวเองด้วย พอเลี้ยงครอบครัวกันไปได้ไม่ลำบาก

อ่านมาถึงตอนนี้อาจจะมีคนโวยวายด้วยความสงสัยว่า  แบบนี้ลำเอียงกันได้น่ะซิ    ฝ่ายไหนประเคนเงินทองข้าวของอาหารการกินให้มากกว่า  ตุลาการก็ต้องลำเอียงเข้าข้างคนนั้นเป็นธรรมดา     แล้วจะเอาความยุติธรรมมาจากไหน
สุนทรภู่ก็เป็นคนหนึ่งที่โวยขึ้นมาแบบนี้  หาอ่านได้ในกาพย์พระไชยสุริยาตอนหนึ่ง ที่บรรยายเมื่องสาวัตถี ว่า

คดีที่มีคู่.............................คือไก่หมูเจ้าสุภา
ใครเอาข้าวปลามา.............ให้สุภาก็ว่าดี
ที่แพ้ แก้ชนะ.......................ไม่ถือพระประเวณี
ขี้ฉ้อก็ได้ดี...........................ไล่ด่าตีมีอาญา

สุภา ก็คือตุลาการ นั่นละค่ะ    คำเหน็บแนมของสุนทรภู่โดยยกเมือง สาวัตถี เป็นแบบอย่างของความชั่วในเมือง  ในความเหลวไหลต่างๆ มีการกินสินบาทคาดสินบนบวกเข้าไปด้วยอีกอย่างหนึ่ง  

ในความเป็นจริง  ระบบชำระความแบบนี้ ก็ทำกันต่อมาจนกระทั่งมีการตั้งศาลในระบบสากลขึ้น ตอนปลายรัชกาลที่ 5

ถ้าถามว่า โจทย์จำเลยที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจะไปฟ้องร้องกับใครได้  ข้อนี้ก็มีคำตอบให้เหมือนกัน

ข้อลำบากของตุลาการอยู่ที่ว่าเมื่อตัดสินความออกมาว่าใครผิดใครไม่ผิด     โจทย์กับจำเลยยอมรับได้ก็หมดเรื่องไป แต่ถ้ายอมรับไม่ได้ เขาก็สามารถอุทธรณ์ได้  
แต่การอุทธรณ์สมัยนั้นผิดกับสมัยนี้  สมัยนี้จะอุทธรณ์ว่าคำตัดสินนั้นไม่ถูกต้องตรงไหนและแย้งได้ยังไงบ้าง    แต่สมัยนั้น  เวลาอุทธรณ์   เขาจะอุทธรณ์ว่าตุลาการตัดสินไม่ยุติธรรม  เข้าข้างอีกฝ่ายหรือรับสินบน   ยื่นคำร้องให้ตุลาการชั้นสูงขึ้นไปพิจารณา  

พอถึงตอนนี้ ตุลาการชั้นต้นก็กลายมาเป็นจำเลย  มีหน้าที่ต้องแก้คำอุทธรณ์โดยชี้แจงให้ได้ว่าตัวเองตัดสินไปนั้นเที่ยงธรรมดีแล้ว ไม่ได้ลำเอียงเข้าข้างใครหรือว่ารับสินบนใคร    เพราะไม่งั้นถ้าระดับบนเอาเรื่องตัวเองก็ลำบากเหมือนกัน

ทางออกของตุลาการชั้นต้น เผื่อเกิดเรื่องเจอโจทย์จำเลยหัวหมอ ต่อสู้ไม่ยอมแพ้ขึ้นมา แม้ว่าการตัดสินนั้นอาจจะถูกต้องแล้วก็ตาม  ก็จะต้องไม่ประมาทในการรับมือ     ก็คือทำความคุ้นเคยฝากเนื้อฝากตัว ทำตัวเป็นผู้น้อยที่ดี ต่อตุลาการชั้นผู้ใหญ่เอาไว้เสียตั้งแต่แรก    เพื่อจะได้เกิดความเมตตา หรือช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้เวลาถูกโจทย์จำเลยเล่นงานเอา

พระยาเพ็ชรรัตน์เองก็ไม่ประมาทที่จะฝากเนื้อฝากตัวให้ผู้ใหญ่เหนือขึ้นไปกว่าให้เมตตาปรานี   ท่านเป็นมิตรที่ดีของตุลาการชั้นสูงอยู่หลายคน  หนึ่งในจำนวนนั้นคือพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนศิริธัชสังกาศ(ต้นราชสกุลศรีธวัช ณ อยุธยา)อธิบดีศาลฎีกา

ลูกชายของพระยาเพ็ชรรัตน์ ทั้ง 3 คน   ต่างคุ้นเคยกับการชำระความของบิดามาตั้งแต่เล็ก  โตขึ้นจึงใฝ่ใจที่จะเป็นตุลาการกันทั้งหมด   หนึ่งในจำนวนนั้นคือเจ้าพระยามหิธร  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: นัยนา ที่ 03 มิ.ย. 04, 20:49
 แวะเข้ามาดูค่ะ อ่านแล้วได้ความรู้ดีมากเลยค่ะ


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 04, 08:31
 เจ้าพระยามหิธรหรือเด็กชายลออ เป็นบุตรคนที่ ๔ ของพระยาเพ็ชรรัตน์ เกิดจากภรรยาคนที่สามชื่อท่านตาล     บ้านเกิดอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลตึกแดง   หลังวัดอนงคาราม ซึ่งเป็นบ้านมรดกตกทอดจากหลวงเดชนายเวรคุณปู่ของท่าน  
คุณป้าของเจ้าพระยามหิธรคือคุณ หญิงจับ ภรรยาพระยามหาอำมาตย์ตั้งชื่อให้หลานชายว่า ลออ

เด็กชายลออเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ    สมัยนั้นเป็นโรงเรียนที่รับแต่เฉพาะเจ้านายและบุตรข้าราชการเท่านั้น  

หลักสูตรการเรียนสมัยต้นรัชกาลที่ ๕  เป็นหลักสูตรง่ายไม่ซับซ้อนอย่างสมัยนี้  ไม่ได้แบ่งเป็นชั้นประถมมัธยม แต่เรียกว่า "ประโยค" มีแค่ประโยค ๑ และประโยค ๒  
ประโยค ๑ เรียนอ่านเขียนและเลข เป็นความรู้ทั่วไป เพื่อจะอ่านออกเขียนได้และรู้จักบวกลบคูณหาร
เรียนจบก็สอบไล่ประโยค ๑   พอสอบไล่ได้แล้ว ความรู้แค่นี้ก็ถือว่ามากพอใช้  ใครจะลาออกก็ได้   ไม่จำเป็นต้องเรียนต่อ  หรือบางคนก็ไปเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเฉพาะทาง  
แต่ถ้าอยากเรียนต่อก็เรียนประโยค ๒ ต่อไป

ประโยค ๒ เป็นวิชาทำงานออฟฟิศ  มีวิชาเรียงความ ย่อความ แต่งจดหมาย เขียนตามคำบอก และเลข(ระดับสูงกว่าประโยค ๑) กับหัดแต่งโคลงกลอนบ้าง ถือว่ากวีนิพนธ์เป็นความรู้ชั้นสูงของคนไทย

เด็กชายลออเรียนอยู่ ๖ ปีก็จบทั้งสองประโยค  ในตอนนั้นกลายเป็นนายลออ ชายหนุ่มอายุ ๑๗ ปี    พระยาเพ็ชรรัตน์นำไปฝากพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนศิริธัชสังกาศ อธิบดีศาลฎีกา  
เสด็จในกรมฯ ก็ทรงรับเข้าทำงานเป็นเสมียนตรีเงินเดือน ๑๖ บาท ประจำศาลฎีกา ซึ่งในตอนนั้นตั้งอยู่ที่ประตูต้นสนในพระบรมมหาราชวัง
แต่ภายในปีเดียว นายลออทำงานเป็นที่พอใจของเจ้านาย  จึงได้เลื่อนเงินเดือนถึง ๔ ครั้ง  รับเงินเดือนเพิ่มถึง ๓๐ บาท

๓๐ บาทในยุคนั้น สงสัยว่ามูลค่าจะมากกว่าสามหมื่นบาทในสมัยนี้เสียอีก

ศาลฎีกาสมัยกรมขุนศิริธัชฯ ไม่ได้มีหน้าที่อย่างศาลฎีกาสมัยนี้   แต่มีหน้าที่ตรวจฎีกาหรือคำร้องทุกข์ของราษฎร  และทำความเห็นประกอบขึ้นไปเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงพระราชวินิจฉัย
พูดอีกนัยหนึ่ง คือแทนที่จะเรียกว่าศาลฎีกา ควรเรียกว่า "กรมตรวจคำร้องทุกข์"จะถูกต้องกว่า
เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อพระเจ้าอยู่หัว เพราะกระทรวงยุติธรรมยังไม่ได้ตั้งขึ้นในไทย

ตอนที่นายลออเข้าทำงาน  วิชาที่เรียนมาถือว่าเป็นวิชาชั้นสูงหายาก   ผู้ใหญ่พอใจใช้สอยว่าเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ คล่องแคล่วรอบรู้การทำงานออฟฟิศเป็นอย่างดี  
เมื่อตั้งกระทรวงยุติธรรม กรมขุนศิริธัชฯทรงย้ายไปเป็นราชเลขานุการฝ่ายกฤษฎีกา   นายลออก็ได้ย้ายตามเจ้านายไปอยู่กรมราชเลขานุการด้วย

ที่ทำงานใหม่นี้เองเป็นเหตุให้นายลออมีโอกาสได้เข้าเฝ้ารับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดจนพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เล็กๆได้บ่อยมาก  
เพราะว่ากรมหรือที่เรียกว่าออฟฟิศหลวงตั้งอยู่บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทด้านตะวันตก  อันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะนั้น    
พระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงมาทำงานที่ออฟฟิศหลวงอยู่เนืองๆ พระราชโอรสธิดาพระองค์เล็กๆก็เสด็จมาเที่ยวที่ออฟฟิศ เล่นหัวกับข้าราชการในออฟฟิศอย่างเป็นกันเอง  

ออฟฟิศนี้ถือเป็นที่สั่งราชการของพระเจ้าแผ่นดิน  แม้นอกเวลาราชการก็ต้องมีข้าราชการเปลี่ยนเวรกันมาอยู่ เรียกได้ว่าไม่ปิดเลยตลอด ๒๔ ชั่วโมง  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มิ.ย. 04, 08:38
 ในวิฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เมื่อฝรั่งเศสเอาเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย   นายลออเป็นเสมียนโท ได้มีโอกาสรู้เห็นบรรยากาศตึงเครียดติดต่อกันหลายวันหลายคืน   ในพระบรมมหาราชวัง

มีเกร็ดเล็กๆน่าขำที่นายลออจำได้ก็คือ ตอนเกิดเรื่องที่เรือรบฝรั่งเศสรุกล้ำอ่าวไทย  เข้ามาจอดลอยลำถึงหน้าสถานทูตฝรั่งเศส    
ผู้บัญชาการทหารเรือไทยในตอนนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์คที่ไทยจ้างมาฝึกทหารเรือ  ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชลยุทธโยธี  ได้รับรายงานเรื่องนี้ก็เดือดดาลมาก  
ถือว่านอกจากฝรั่งเศสดูถูกคนไทยแล้วยังเป็นการสบประมาทถึงเดนมาร์คด้วย

พระยาชลยุทธฯก็ไม่รอช้า  ถือว่าถึงขั้นรบกันก็ต้องรบ
ออกคำสั่งให้ติดไฟเรือพระที่นั่งมหาจักรีซึ่งเป็นเรือรบที่มีอานุภาพมากที่สุดของไทยในตอนนั้น  เตรียมพร้อมรบเต็มกระบวนศึก
แล้วท่านก็แต่งเครื่องรบเต็มที่ รีบลงเรือกรรเชียงจากฝั่งไปขึ้นเรือกลางแม่น้ำ เพื่อจะบัญชาการรบ

พอถึงเรือมหาจักรี   พระยาชลยุทธฯใจร้อนเผ่นจากเรือกรรเชียงขึ้นบันไดเรือรบ  
บังเอิญคืนนั้นมืดมากมองอะไรไม่เห็น   ท่านก็เลยพลาดบันไดเรือ หล่นตูมลงในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งชุดเครื่องรบ  
ทำให้ทหารเรือไทยต้องโดดน้ำตามลงไปช่วยผู้บัญชาการกันจ้าละหวั่น  ฉุดเอาตัวขึ้นมาได้  
การตกน้ำแทนที่จะทำให้พระยาชลยุทธฯใจเย็นลง กลับทำให้โกรธมากขึ้น  
เคราะห์ดีก่อนเรือมหาจักรีจะออกไปยิงกับฝรั่งเศส   เจ้าพระยาอภัยราชา(โรแลง ยัคมินส์) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวเบลเยี่ยม   ได้รับรายงานเข้าเสียก่อน  
เห็นว่าถ้าถึงยิงกันจะเกิดเรื่องลุกลามใหญ่โต  จึงรีบนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอให้มีพระบรมราชโองการห้าม  
พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงห้ามเสียทัน  พระยาชลยุทธฯจึงไม่ได้รบกับฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม  เหตุการณ์ในช่วงนั้นไม่มีใครขำออกเลย    เพราะมีแต่ความตึงเครียดไปทั้งเมืองตั้งแต่พระบรมมหาราชวังถึงชาวบ้านร้านถิ่น    
ภายในพระบรมมหาราชวัง มีการลากปืนใหญ่เข้าประจำที่   หัดทหารกันทั้งวันทั้งคืนและเกณฑ์ทหารใหม่เข้าเพิ่มเผื่อรับมือ
พระเจ้าอยู่หัวและเสนาบดีเข้าประชุมกันตลอดทั้งวันทั้งคืน  ไม่มีใครกลับบ้าน  ออฟฟิศหลวงเปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง  
ข้าราชการประจำรวมทั้งนายลออต้องมาประจำหน้าที่ไม่ได้กลับบ้านติดต่อกันหลายวัน   กินนอนกันอยู่ในออฟฟิศนั่นเอง

พอตกกลางคืน  เจ้านายสำคัญๆและเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ที่มาปรึกษางานกันเคร่งเครียดตลอดวันก็เอาที่นอนหมอนมุ้งไปปูนอนกันตามระเบียงพระที่นั่งจักรี  
ตอนดึก พระเจ้าอยู่หัวบรรทมไม่หลับ  เสด็จออกมา  เจ้านายและเสนาบดีก็ลุกจากมุ้งไปเข้าเฝ้า ประชุมกันต่อไม่เป็นอันหลับนอนจนเช้า

ส่วนเจ้านายฝ่ายในตลอดจนบรรดาข้าหลวงทั้งหลาย  ออกมาประชุมปะปนกับผู้ชายไม่ได้ก็จริง แต่ก็รวบรวมข้าวของและเงินทอง เตรียมพร้อม ทูลเกล้าฯถวายเพื่อเป็นค่าซื้อปืนสู้กับฝรั่งเศส  

ในเหตุการณ์นี้เองที่ได้มีการดำริตั้งสภาอุณาโลมแดงขึ้น  ซึ่งต่อมาคือสภากาชาดไทย  สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินี(หรือสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ)ทรงเป็นนายกสภา  เพื่อจะได้ช่วยรักษาพยาบาลทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม

ทางฝ่ายราษฎรในเมืองหลวงก็ไม่ประมาท   พวกผู้หญิงพากันคั่วข้าวตากทำเป็นเสบียง  เตรียมตัวพร้อมจะอุ้มลูกจูงหลานหลบหนีเข้าป่าเผื่อข้าศึกบุกเข้ามาถึงเมือง
ส่วนผู้ชายก็คึกคักพร้อมรบ  ไม่กลัวฝรั่งเศส   นัดยกพวกแห่กันไปริมแม่น้ำใกล้เรือรบ ด่าว่าท้าทายต่างๆจนฝรั่งเศสไม่กล้าลงจากเรือรบ  ยันกันอยู่อย่างนั้น

ในที่สุดก็อย่างที่ทราบกันคือไทยกับฝรั่งเศสตกลงกันได้ด้วยสันติวิธี  แต่ไทยต้องเสียค่าปรับอย่างมหาศาล   ต้องสละดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส    เรียกได้ว่าฝรั่งเศสได้เปรียบ  แต่ไทยก็จำต้องสละส่วนน้อยไว้เพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ให้คงอยู่

ปีต่อมา เจ้าพระยามหิธรได้เลื่อนขึ้นเป็นเสมียนเอกเงินเดือน ๔๐ บาท  มีอายุครบปีบวชคือ ๒๐ ปี  หลังสึกออกมาแล้วก็ได้สมรสกับนางสาวกลีบ บางยี่ขัน ธิดาหมื่นนราอักษร    
ท่านใช้ครองคู่กันต่อมาจนบั้นปลายชีวิต   คุณนายกลีบได้เป็นท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 05 มิ.ย. 04, 16:50
 ขอบคุณครับผม


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 07 มิ.ย. 04, 07:19
 เป็นประวัติที่น่าสนใจมากเลยค่ะ  ขอบคุณมากนะคะ  คุณเทาชมพูคงสบายดีนะคะ  ดิฉันก็วุ่นเรื่องกิจกรรมของเด็กๆน่ะค่ะ  เลยไม่มีโอกาสแวะมาเรือนไทยเท่าไหร่


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 04, 08:13
 สบายดีค่ะคุณพวงร้อย หลังๆนี้ดิฉันห่างหายไปพักหนึ่งเพราะมีงานที่อื่น  ตอนนี้พอจะว่างเข้ามาเล่าเรื่องได้แล้วค่ะ
เด็กๆเป็นไงบ้างคะ เปิดเทอมหรือยัง  หนุ่มน้อยล่ะโตเป็นหนุ่มแล้วหรือยังปีนี้

ขอเท้าความถึงความเป็นมาของกระทรวงยุติธรรมก่อนนะคะ

ระบบตุลาการอย่างที่เล่าในตอนแรก ดำเนินมาจนถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อถึงการพัฒนาประเทศเป็นการใหญ่ เพื่อการอยู่รอดจากมหาอำนาจล่าอาณานิคม  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงปรับปรุงระบบศาลเสียใหม่   จัดระเบียบการบริหารในรูปของกระทรวงยุติธรรม  

กระทรวงยุติธรรมตามแบบแผนในปัจจุบัน ตั้งขึ้นก่อนหน้าเหตุการณ์ตึงเครียดนี้แล้ว ตั้งแต่ ร.ศ. ๑๑๐    เสนาบดีพระองค์แรกคือพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ  กรมพระสวัสดิวัตน์วิศิษฎ์(ต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา)

กรมพระสวัสดิฯ ทรงเป็นเจ้านายไทยพระองค์แรกๆที่ได้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ทรงศึกษาด้านกฎหมายจากเบลเลียลคอลเลจในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด    ในระยะสองสามปีแรก กระทรวงยุติธรรมอยู่ในระยะการจัดแต่งปรับปรุงกิจการศาลแบบเก่า ให้มาเข้าระบบใหม่  อะไรต่อมิอะไรยังไม่ลงตัวนัก  

กรมพระสวัสดิฯทรงอยู่ในตำแหน่งได้ ๒ ปี ก็ถวายบังคมลาออกเพื่อไปราชการในยุโรป   เจ้านายพระองค์ต่อมาที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีคือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร  (ต้นราชสกุล คคณางค์ ณ อยุธยา) แต่ก็ประชวรบ่อยๆจนต้องถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งไปอีกองค์เมื่อ ร.ศ. ๑๑๕

ต่อจากนั้น เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมพระองค์ที่ ๓ ก็คือพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์   ซึ่งสำเร็จการศึกษาทางกฎหมายจาก Christ Church College มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด   หรือต่อมา เราก็รู้จักกันในนาม"พระบิดาแห่งกฎหมายไทย"  ยังมี "วันระพี" ให้นักกฎหมายรุ่นหลังได้แสดงคารวะกันมาจนทุกวันนี้

ลองมาฟังกันถึงพระประวัติของพระองค์ท่าน ดูหน่อยนะคะ

พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ ๑๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ    
ทรงเป็นหนึ่งในพระราชโอรสรุ่นใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และเป็นรุ่นแรกๆที่ได้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ  และจบจากออกซฟอร์ดเป็นพระองค์แรก  
ทรงได้ชื่อว่ามีสติปัญญาปราดเปรื่อง เฉลียวฉลาดเป็นที่พอพระราชหฤทัย   จึงได้รับตำแหน่งเสนาบดีเมื่อพระชนมายุแค่ ๒๒ เท่านั้นเอง

กรมหลวงราชบุรีฯทรงเสกสมรสกับพระองค์เจ้าอรพัทธประไพ พระธิดาในพระเจ้าน้องยาเธอกรมพระจักรพรรดิพงษ์    นับเป็นคู่บ่าวสาวที่ถือกันว่า เหมาะสมเป็น "กิ่งทองใบหยก"
เพราะพระบิดาทางฝ่ายเจ้าสาวก็ไม่ใช่ใครอื่น คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ เป็นพระราชอนุชาร่วมพระชนกชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง

อย่างที่เคยเล่าไว้ในกระทู้ "เจ้าวังปารุสก์ "  ทรงมีพระโอรสธิดาหลายองค์มีพระนามคล้องจองกัน ในความหมายว่า "พระอาทิตย์" เหมือนพระนามของพระบิดา คือ
หม่อมเจ้าพิมพ์รำไพ
หม่อมเจ้าไขแสงระพี
หม่อมเจ้าสุรีย์ประภา
หม่อมเจ้าวิมวาทิตย์
หม่อมเจ้าชวลิตโอภาส ต่อมาเป็นพระชายาในเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ
หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง   นักประพันธ์เอกของไทย
หม่อมเจ้าเพลิงนภดล
น่าเสียดายว่ากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระชนม์ไม่ยืนยาวนัก แค่ ๔๗ ปี  สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๓ ในรัชกาลที่ ๖
************************
ส่วนเรื่องที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเสมียนเอกแห่งกรมราชเลขานุการ ให้กลายเป็นเนติบัณฑิตไทยหมายเลข 1 เกิดขึ้นดังนี้ค่ะ

ในระหว่างที่นายลออเป็นเสมียนเอกอยู่ที่กรมราชเลขานุการ  กรมหลวงราชบุรีฯก็เสด็จกลับจากยุโรป ทรงเข้าฝึกหัดราชการที่กรมราชเลขานุการ    
ทรงใช้เวลาศึกษากฎหมายไทยที่มิได้ทรงทราบมาก่อนอย่างขะมักเขม้นเอาจริงเอาจัง  ทรงค้นคว้ากฎหมายไทยเก่าๆ และคำพิพากษาต่างๆด้วยพระองค์เอง    ทำให้ต้องเสด็จไปที่กรมราชเลขานุการฝ่ายกฤษฎีกาเป็นประจำ    

นายลออซึ่งคล่องแคล่วรู้งานเป็นอย่างดี ก็ได้ถวายความสะดวกในการค้นคว้าเรื่องต่างๆให้ จนเป็นที่พอพระทัย   ประกอบกับต่างฝ่ายต่างมีอายุเท่ากัน   พูดจาประสาคนรุ่นใหม่ด้วยกัน  เกิดถูกคอกัน  ถึงกับทรงชวนไปเป็นราชเลขานุการ  
นายลออจึงได้ย้ายจากกรมราชเลขาฯ ตามเสด็จไปอยู่กระทรวงยุติธรรม เมื่อร.ศ. ๑๑๖ทำหน้าที่เลขานุการเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม  เงินเดือน ๘๐ บาท เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี

ในช่วงนั้นเอง  กรมหลวงราชบุรีฯก็ทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น  ผลิตนักกฎหมายรุ่นใหม่เพื่อให้รับกับระบบใหม่ของกระทรวงยุติธรรม

โรงเรียนกฎหมายในระยะแรก อาศัยห้องข้างห้องทำงานเสนาบดีเป็นห้องเลคเชอร์
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงสอนเองทุกวันหลังเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว    ผู้มาช่วยสอนก็คือพระยาประชากิจกรจักร  ขุนหลวงพระไกรสี(เปล่ง เวภาระ)คนไทยคนแรกที่จบเนติบัณฑิตจากอังกฤษ    กรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์  
ส่วนนักเรียนก็คือผู้สนใจกฎหมายและผู้พิพากษาตามหัวเมือง  บางคนก็เป็นถึงอธิบดีผู้พิพากษามณฑลอย่างพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์และพระยาภักดีราช

ต่อมาห้องชักจะคับแคบเพราะเรียนกันมากขึ้นเป็น ๑๐๐ กว่าคน  ก็ย้ายไปที่ตึกสัสดีหลังกลาง หรือที่ทำการบัณฑิตยสภาในระยะหลังจากนั้น  

กฎหมายอาญา ใช้กฎหมายอาญาของอินเดียเป็นหลัก   ส่วนกฎหมายแพ่งใช้ของอังกฤษ  กรมหลวงราชบุรีทรงแต่งตำรากฎหมายขึ้นอีกหลายเล่มด้วยกัน
ในที่สุดก็มีการสอบไล่ความรู้ของนักเรียน   เพื่อได้เป็นเนติบัณฑิต  วิชาที่สอบก็ครอบคลุมความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้พิพากษาสมัยนั้นจนหมด  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 07 มิ.ย. 04, 11:52

ขอบคุณที่ถามถึงค่ะ  เด็กๆใกล้จะปิดเทอมหน้าร้อนเต็มทีแล้วค่ะ  เลยต้องวุ่นหาอะไรให้เค้าทำ  เพราะซนกันเป็นลิง กินเหมือนม้า ถ้าให้อยู่บ้านเฉยๆคงตีกันทั้งวันค่ะ

เพิ่งนึกออกว่า  ทราบแต่ กรมหลวงราชบุรี ในด้านการก่อตั้งระบบตุลาการในเมืองไทย  แต่ไม่เคยได้ยินเรื่องราวของเจ้าพระยามหิธรเลยค่ะ  ขอบคุณที่นำมาเล่าให้ความรู้นะคะ


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 07 มิ.ย. 04, 13:34
 เห็นกาพย์พระไชยสุริยาแล้วระลึกถึงความหลังที่ยังท่องจำได้อยู่บางตอน
ดูท่านสุนทรภู่ช่างมีจินตนาการไกลมากจริง ๆ

ก่อนจะเป็นตาชั่งเอียงมีสาเหตุมาจาก

อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า.............ก็หาเยาวะนารี
ที่หน่าตาดีดี.................ทำมะโหรีที่เคหา
ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ............. เข้าแต่หอล่อกามา
หาได้ให้ภริยา............. โลโภพาให้บ้าใจ
ไม่จำคำพระเจ้า.............เหไปเข้าภาษาไส
ถือดีมีข้าไท................ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา...

แล้วก็ต่อที่คุณเทาชมพูเขียนไว้ในความคิดเห็นที่ 3
ผมดูโฆษณาทางโทรทัศน์แล้วก็รู้สึกไม่ดีโดยเฉพาะพวกเครื่องสำอางค์ เน้นกันแต่เรื่องว่าทำอย่างไรถึงจะสวย ขาว อึ๋ม เท่ หล่อ
เรียกว่าเน้นกันแต่เรื่อง ...เข้าแต่หอล่อกามา...

แล้วถ้าเราไปแย้งอะไรเข้าก็จะกลายเป็น.
...
ที่ซื่อถือพระเจ้า.............ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา
ผู้เฒ่าเหล่าเมธา.............ว่าใบ้บ้าสาระยำ
ภิษุสะมะณะ..................เล่าก็ละพระสะธำ.
คาถาว่าลำนำ................ไปเร่ร่ำคำเฉโก
ไม่จำคำผู้ใหญ่...............ศีษะไม้ใจโยโส
ที่ดีมีอะโข....................ข้าขอโมทะนาไป
(สะกดอาจพลาดไปบ้างเพราะเขียนจากความจำที่เนิ่นนานมาแล้ว)
อ้อ พอจะนึกเรื่องอกสามศอกได้บ้างหรือยังครับ  

ดอกไม้สวยจังครับคุณพวงร้อย
ลูกซน ๆ น่าสนุกออกนะครับ แต่พ่อแม่คงต้องเหนื่อยมากหน่อย

เด็ก ๆ ของผมพ้นวัยซนไปหมดแล้ว ตอนนี้ก็เก็บเอาเรื่องที่พวกเขาซน ๆ มาเผา มันดีครับ


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 04, 15:16
 สวัสดีค่ะอาจารย์นิรันดร์
ดีใจที่แวะเข้ามาในเรือนไทย    ดิฉันหายไปนาน  ยังสงสัยว่าเพื่อนฝูงที่นี่จะพลอยห่างหายไปหรือเปล่า
เห็นคุณพวงร้อยแวะเข้ามาก็ใจชื้น  มีอาจารย์อีกคนแวะเข้ามายิ่งชื้นขึ้นอีก ได้มาช่วยกันคุย

พาราสาวัตถี  ใครไม่มีปรานีใคร...ของสุนทรภู่ น่าจะเป็นการเหน็บแนมสังคมที่ท่านอยู่ด้วยละค่ะ ไม่มากก็น้อย

ขอเล่าต่อค่ะ

ความเอาใจใส่ที่ครูมีต่อนักเรียนกฎหมายในระยะต้นนั้นแน่นแฟ้นมาก   ไม่ใช่ว่าสอนในห้องเรียนเสร็จแล้วก็แล้วกัน    
กรมหลวงราชบุรีฯทรงกวดขันนักเรียน อยากจะให้ใช้วิชาเป็น ไม่ใช่เรียนแต่ตำราในห้อง  ทรงสนับสนุนให้ฝึกว่าความบ่อยๆเพื่อให้รู้วิธีการทำงาน  
คนไหนไม่มีความจะว่า ก็ทรงจัดให้ไปว่าความแทนผู้ต้องหาในเรือนจำ    เป็นการฝึกฝนวิชาและไหวพริบในการปฏิบัติงาน ไม่ใช่รู้แค่ทฤษฎี

เมื่อถึงงานเฉลิมพระชนม์พรรษาก็ทรงจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างดี  พานักเรียนกฎหมายไป "ออกงาน" เพื่อให้ข้าราชการผู้ใหญ่ได้รู้จัก
ว่าพวกนี้แหละจะเป็นข้าราชการกระทรวงยุติธรรมผู้มีเกียรติในอนาคต  ไม่ทรงเสียดายพระราชทรัพย์ว่าจะเปลืองไปในการนี้      

ผลดีก็ตามมาจริงๆ  เพราะเมื่อกระทรวงยุติธรรมตั้งได้มั่นคงแล้ว  บุคคลที่สอบได้เป็นผู้พิพากษาในรัชกาลที่ ๖ และต่อมาถึงรัชกาลที่ ๗ ก็ได้รับการยอมรับในสังคมว่าเป็นอาชีพที่โก้ น่าเคารพยกย่อง  
ผู้พิพากษาในสมัยนั้นได้รับความเชื่อถือว่าเป็นผู้เที่ยงธรรมและยึดถือความสุจริตในหน้าที่อย่างเคร่งครัด

ค.ศ. ๑๑๖  โรงเรียนกฎหมายจัดสอบไล่ความรู้ผู้ที่จะจบไปเป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรก   วิชาที่สอบแบ่งเป็น ๖ วิชา  คือ
๑)กฎหมายอาญา  
๒)กฎหมายสัญญา  
๓)กฎหมายมรดกและประทุษฐ์ร้ายส่วนแพ่ง  
๔)กฎหมายผัวเมีย ทาสและประกาศอื่นๆ
๕)วิธีพิจารณา
๖)กฎหมายระหว่างประเทศ   (วิชานี้ถ้าตก มาสอบใหม่ได้คราวหน้า เพราะว่าตำราเพิ่งจะออกมาล่วงหน้าเดือนเดียว)

การสอบนับว่าหนักเอาการ  เพราะสอบถึง ๖ วัน วันละ ๔ ชั่วโมง   ไปสอบที่ศาลาการเปรียญวัดพระศรีมหาธาตุ  มีอาจารย์ฝ่ายไทยไปนั่งคุมสอบและตรวจกระดาษข้อสอบของนักเรียนไปพลางๆด้วย  คือกรมหลวงราชบุรีฯ พระยาประชากิจกรจักร  และขุนหลวงพระไกรสี  
และยังมีกรรมการฝรั่งไปนั่งคุมให้น่าเกรงขามเพิ่มขึ้นอีกคือเจ้าพระยาอภัยราชาสยามมานุกูลกิจ   และเมอสิเออร์ อาร์.เย.เกิกปาตริก  นักกฎหมายชาวเบลเยี่ยม

ส่วนวิธีให้คะแนน ใช้หลักเกณฑ์ตามแบบมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด  คือให้คะแนนเป็นตัวหนังสือ ไม่ใช่เปอร์เซ็นต์   วิธีให้คะแนน แบ่งตัวหนังสือกันถี่ยิบ    ขอเล่าเพียงบางตัวก็แล้วกันค่ะ
ss  ดีที่สุด
s+  ดีมาก
s    ดี
vvs ยังอ่อน
vvs- ยังอ่อนค่อนเลว
ns  เหลว

ไม่น่าแปลกใจเลยว่า คนที่ผ่านการกลั่นกรองเข้มงวดขนาดนี้ มีเพียง ๙ คน จบเป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรก  แต่ละคนเป็นคนทำงานมาแล้วไม่ใช่นักเรียนหนุ่มไร้ประสบการณ์    
๙ คนนี้ยังแบ่งเกรดเป็น  ๒ ชั้น  ชั้นแรกได้ ๔ คน  ชั้นที่สอง ๕ คน

คนที่สอบได้ที่ ๑ ได้เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา  คือนายลออ ไกรฤกษ์

เพื่อความสมบูรณ์ของเรื่อง  จึงขอยกชื่อมาทั้ง ๙ ท่านว่ามีใครบ้าง ที่เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรกของไทย

ชั้นที่หนึ่ง
๑  นายลออ ไกรฤกษ์ เจ้าพระยามหิธร
๒  นายไชยขรรค์ หุ้มแพร( เทียม บุนนาค)ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นขุนหลวงพระยาไกรสี
ถ้าจำไม่ผิดคือบิดาของคุณมารุต บุนนาค
เรื่องราวของขุนหลวงพระยาไกรสี เป็นเรื่องใหญ่โตเรื่องหนึ่งในสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ จะเล่าในตอนต่อไปค่ะ
๓  นายบุ สุวรรณศร  ต่อมาได้เป็นหลวงอรรถสารสิทธิกรรม
๔  นายถึก  ต่อมาเป็นหลวงนิเทศยุติญาณ
ชั้นที่สอง
๑  นายทองดี  ธรรมศักดิ์  ต่อมาคือพระยาธรรมสารเวทย์วิเชตภักดี
๒  นายจำนงค์ อมาตยกุล  ต่อมาคือพระยาเจริญราชไมตรี
๓ นายสุหร่าย วัชราภัย   ต่อมาคือพระยาพิจารณาปฤชามาตย์
๕  นายโป๋ คอมันตร์  ต่อมาคือพระยาพิพากษาสัตยาธิปตัย บิดาของนายถนัด คอมันตร์ อดีตร.ม.ต. ว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย
๖ ขุนสุภาเทพ (เภา ภวมัย) ต่อมาคือพระยามหาวินิจฉัยมนตรี

ด้วยเหตุที่นายลออ หรือเจ้าพระยามหิธร สอบกฎหมายได้ชั้นที่ ๑ คะแนนสูงเป็นที่ ๑ ในปีที่ ๑  ของการสอบเนติบัณฑิต  ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็น "เนติบัณฑิตหมายเลข ๑ แห่งประเทศไทย" แต่นั้นเป็นต้นมา  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 04, 11:46
 ไม่ยักมีใครเข้ามาช่วยสลับฉากบ้าง   เลยต้องพูดอยู่คนเดียว

สยามในช่วงปลายรัชกาลที่ 5  กำลังปรับปรุงประเทศด้วยระบบงานใหม่ ในหลายๆด้าน  ด้านการทหารก็มีโรงเรียนนายร้อยผลิตนายทหาร  การศึกษาก็มีกระทรวงธรรมการ(กระทรวงศึกษาธิการ)กระทรวงยุติธรรมก็มีโรงเรียนกฎหมายผลิตเนติบัณทิต    คนซึ่งเป็นที่ต้องการของระบบใหม่คือคนหนุ่มที่เฉลียวฉลาดเรียนรู้งานเร็ว  คนที่มีคุณสมบัติแบบนี้จะก้าวหน้าได้เร็วมาก  
นายลออเป็นตัวอย่างที่โดดเด่น

เนติบัณฑิตใหม่อย่างนายลออ  หลังสอบเสร็จราว ๕-๖ เดือนต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา  เงินเดือนเปลี่ยนจาก ๘๐ บาทเป็น ๒๔๐ บาท คือ ๓ เท่าตัวจากของเดิม
เงินเดือนสมัยนั้นจ่ายเป็นเหรียญบาท    วันไหนเงินเดือนออก  ผู้พิพากษาก็เดินหิ้วถุงเงินใส่เหรียญหนักอึ้งเดินตัวเอียงกลับบ้าน  
อธิบดีผู้พิพากษาในเวลานั้นคือขุนหลวงพระไกรสี(เปล่ง เวภาระ) อาจารย์คนหนึ่งของท่าน  เมื่อรู้นิสัยและฝีมือของผู้พิพากษาใหม่ ก็ใช้ให้ทำงานรอบตัวก็ว่าได้   นายลออก็เป็นคนที่หนักเอาเบาสู้และทำงานขยันตัวเป็นเกลียวเสียด้วย  
นอกจากเป็นผู้พิพากษาเองแล้วยังต้องเป็นอาจารย์สอนกฎหมายให้นักเรียนรุ่นน้องๆควบคู่กันไป    หน้าที่ครูสอนนี้รวมทั้งออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ ตลอดจนไปนั่งเฝ้าคนเรียงพิมพ์ข้อสอบที่โรงพิมพ์ด้วยตนเองจนเสร็จเรียบร้อย เพื่อไม่ให้ข้อสอบรั่วไหลได้  

งานทุกอย่างนายลออทำตามที่ได้รับมอบหมายทั้งหมด ด้วยความเรียบร้อยทุกอย่าง ไม่เคยเกี่ยงไม่เคยบกพร่อง จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์"และปีต่อมาก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เมื่ออายุ ๒๕ ปี  และได้เป็น "พระจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์"เป็นลำดับต่อมา
จนก้าวขึ้นเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงยุติธรรมเมื่ออายุได้แค่ ๒๘ ปี  เงินเดือน ๘๐๐ บาท( สมัยนี้จะราวๆ แปดแสนได้ไหมนี่)

พระจักรปาณีฯ เป็นตัวอย่างข้าราชการที่ทำงานได้รวดเร็วและเรียบร้อยตามมอบหมายของผู้บังคับบัญชา      ท่านจึงเป็นที่ไว้วางพระทัยของกรมหลวงราชบุรีฯ มากกว่าข้าราชการอื่นๆ

เพราะเป็นที่รู้กันว่ากรมหลวงราชบุรีฯทรงเป็นเจ้านายที่ฉลาด  ทรงมีอุตสาหะในการทำงานอย่างมาก ที่สำคัญคือพระทัยเร็ว   ถ้าใครทำงานชักช้าไม่ทันใจ และไม่รู้พระทัยก็ยากจะทำงานกับพระองค์ท่านได้  ส่วนพระจักรปาณีเป็นคนใจเย็น มีปฏิภาณไหวพริบดี รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว  จึงทำงานถวายได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างการทำงานที่ว่องไว เป็นที่สบพระทัยกรมหลวงราชบุรี ก็มีเรื่องหนึ่งที่จะยกมาเล่า คือในบ่ายวันหนึ่ง กรมหลวงราชบุรีฯทรงปรารภกับพระจักรปาณีว่า กระทรวงยุติธรรมจะสร้างที่ทำการศาลมณฑลกรุงเก่า(อยุธยา)ให้สง่างาม    แต่ว่ายังทำไม่ได้เพราะยังหาที่ดินก่อสร้างสถานที่ที่เหมาะสมไม่ได้  ก็ทรงมอบให้ปลัดทูลฉลองไปหาที่ดินผืนเหมาะๆมาเพื่อจะสร้าง

พอเลิกงาน   หลวงจักรปาณีก็ออกจากที่ทำงานขึ้นรถไฟไปอยุธยาทันที   ไปหาคนรู้จักซึ่งเป็นคนกว้างขวางอยู่ในอยุธยา    ซักถามว่ามีที่ดินผืนงามๆเหมาะจะสร้างศาลจังหวัดที่ไหนบ้าง     ได้คำตอบว่ามีที่ดินอย่างที่ต้องการเป็นแปลงติดแม่น้ำแต่ไม่รู้ว่าเจ้าของจะขายหรือไม่   ท่านก็บอกว่าให้ไปตามเจ้าของที่ดิน ให้ไปพบท่านที่ตำหนักของกรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ข้าหลวงเทศาภิบาล( พระอนุชาของกรมขุนศิริธัชสังกาศ)  

ประมาณ ๒ ทุ่มเจ้าของที่ดินไปถึงตำหนัก    ก็เจรจาซื้อขายที่ดินกันทันที   เจ้าของก็ตกลงขายโดยไม่อิดเอื้อน ตกลงราคากัน  ทำสัญญาซื้อขายลงนามเรียบร้อย  พระจักรปาณีฯ นำเงินติดตัวไปประมาณ ๑๐๐ ชั่งเผื่อเหลือเผื่อขาด   ก็จ่ายค่าที่ดินกันต่อเบื้องหน้าข้าหลวงเทศาภิบาล ในฐานะพยานว่าเป็นการซื้อขายที่โปร่งใสสุจริต    ไม่มีนอกไม่มีใน

พอจบเรื่อง  ท่านก็ค้างที่นั่นคืนหนึ่ง  เช้าก็นั่งรถไฟกลับกรุงเทพมาทำงานที่กระทรวงทันเวลา  กราบทูลกรมหลวงราชบุรีฯว่าซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้ว   เป็นที่พอพระทัยอย่างมาก   ต่อมาศาลของอยุธยาก็สร้างขึ้นที่ที่ดินตรงนั้นเอง

พระจักรปาณีฯ ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ ปลัดทูลฉลอง  เมื่ออายุ ๒๙ ปี  
อำนาจหน้าที่ของท่านในกระทรวงยุติธรรม กว้างขวางกว่าในสมัยหลังเมื่อท่านได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสียอีก

เพราะว่ากรมหลวงราชบุรีฯทรงถือว่าเสนาบดีมีหน้าที่แค่คุมนโยบาย  ส่วนงานปฏิบัติงานในกระทรวงเป็นเรื่องของปลัดทูลฉลอง  ทั้งด้านปกครองและธุรการ แต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งข้าราชการในระดับต่ำกว่าเจ้ากรม    แม้แต่เข้าประชุมเสนาบดี  ก็ทรงให้ปลัดทูลฉลองไปแทน  พระยาจักรปาณีฯจึงต้องทำงานรอบตัวตั้งแต่ตรวจเอกสารราชการเรื่องเล็กเรื่องน้อย  ไปจนประชุมกับเจ้านายระดับพระเจ้าลูกยาเธอ

พระยาจักรปาณีฯ เป็นเลขาฯและศิษย์กรมหลวงราชบุรีฯที่สนิทสนมรู้ใจกันประหนึ่งคนเดียวกัน    ในการทำงานก็ประสานงานกันอย่างกลมเกลียวไม่มีข้อขัดแย้ง   เมื่อเลิกงาน ท่านก็ไปเฝ้ากรมหลวงราชบุรีฯบ่อยๆ เพราะมีงานอดิเรกที่ชอบอย่างเดียวกันอีก คือเล่นเรือยนต์  รถยนต์ และถ่ายรูป

ด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดีที่พระยาจักรปาณีฯมีต่อกรมหลวงราชบุรีฯ นี่เอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตราชการที่รุ่งโรจน์ของท่าน เกิดพลิกผันแทบจะล้มคว่ำลงมาในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ นี้เอง
จากเหตุการณ์ที่รู้จักกันในชื่อ  "คดีพญาระกา "  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 08 มิ.ย. 04, 22:14
 เพิ่งได้เข้ามาอ่านต่อค่ะ  เมื่อวานวุ่นๆไปเป็นกรรมการห้ามศึก  จนหัวฟูเลย ฮ่าๆๆ  

คนอย่าง เจ้าพระยามหิธร นี่คงมีน้อยมากนะคะ  ที่ก้าวมาจากสามัญชนคนธรรมดา  มารับราชการได้ศักดินาสูงสุดในชั่วอายุ  โดยเฉพาะเป็นข้าราชการพลเรือน  ถ้าเป็นทหารในยุครบทัพจับศึกกู้ชาติก็ว่าไปอย่าง  คุณเทาชมพูพอจะทราบมั้ยคะ  ว่ามีขุนนางท่านใด(ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช)  ที่ภายในชั่วชีวิตได้ก้าวตามตำแหน่งราชการ  จากต่ำสุดถึงสูงสุดอย่างนี้น่ะค่ะ


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 04, 07:47
 น่าจะมีหลายคนนะคะ   เท่าที่นึกออกตอนนี้ก็คือเจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค) ที่ไต่ระดับจากทนายในบ้านของเจ้าพระยาจักรีขึ้นมาเป็นเสนาบดีกลาโหมในรัชกาลที่ 1    

เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ก็เหมือนกัน   แต่ประวัติตอนต้นของท่านไม่ชัดเจนนัก ทราบแต่ว่าเป็นข้าหลวงเดิม ตั้งแต่สมัยธนบุรี

อ้อ มีเจ้าพระยานิกรบดินทร์ หรือจีนโต  ที่เป็นผู้จัดการค้าขายสินค้าเรือสำเภาให้สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ด้วยความซื่อสัตย์เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย   ในรัชกาลที่ 4 ได้เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์  ต้นสกุลกัลยาณมิตร

ศึกในบ้าน ราบเรียบด้วยฝีมือคุณพวงร้อยแล้วใช่ไหมคะ  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 04, 09:22
 ก่อนถึงเหตุการณ์นี้ ขอปูพื้นเล่าถึงเจ้านายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เสียก่อนนะคะ  

เจ้านายที่มีบทบาทอยู่ในคดี "พญาระกา" องค์แรกก็คือพระองค์เจ้าวรวรรณ  กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์   ท่านเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเขียน ซึ่งเรียกกันว่าเขียนอิเหนา เพราะเป็นละครหลวง รำเป็นตัวอิเหนาได้งดงามไม่มีใครสู้   กล่าวกันว่าเป็นเจ้าจอมที่โปรดปรานท่านหนึ่ง
เมื่อประสูติพระราชโอรส สมเด็จพระจอมเกล้าฯก็พระราชทานกริชแถมมาให้นอกเหนือจากพระแสงดาบที่พระราชทานพระราชโอรสทุกพระองค์  รับสั่งว่า "เป็นลูกอิเหนา"

กรมพระนราธิปฯต้นราชสกุลวรวรรณทรงได้เลือดศิลปินทางเจ้าจอมมารดาเขียนมาไม่น้อย  โปรดนิพนธ์บทละคร บทกวีและการแสดง    พระนิพนธ์สำคัญๆที่เรารู้จักกันก็อย่างเช่น "สาวเครือฟ้า "ซึ่งทรงดัดแปลงจากอุปรากร Madame Butterfly   ทรงเป็นเจ้าของโรงละครนฤมิตร์ ที่ได้เข้าไปแสดงถวายหน้าพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังบ่อยๆ
ในรัชกาลที่ ๖   พระธิดา ๒ พระองค์ในกรมพระนราธิปฯ ได้เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือพระวรกัญญาปทาน พระคู่หมั้น    และพระนางเธอลักษมีลาวัณย์ พระมเหสี   ทั้งสององค์ทรงรับมรดกศิลปินจากพระบิดา  ในพระปรีชาด้านการแต่งบทประพันธ์
แต่เรื่องที่จะเล่านี้เป็นเหตุการณ์ตอนปลายรัชกาลที่ ๕    ซึ่งละครนฤมิตร์กำลังเฟื่องฟู

เช่นเดียวกับเจ้านายในสมัยนั้น  กรมพระนราธิปฯทรงมีหม่อมหลายคน  และในจำนวนนี้ก็มีนางละครโด่งดังในคณะละครนฤมิตร์ที่ได้เป็นหม่อมด้วย ชื่อพักตร์
หม่อมพักตร์(ซึ่งคงเป็นสาวสวย)  ไม่ได้เป็นสุขกับฐานะของตน  จึงทิ้งตำแหน่งหม่อม หนีออกจากวังไปเมื่อปลายเดือนธ.ค. 2452 ไปอาศัยอยู่ที่บ้านฝั่งธนบุรี     แต่กรมพระนราธิปฯเองก็ไม่เต็มพระทัยจะสูญเสียหม่อมพักตร์    จึงทรงติดตามไปเพื่อจะเอาตัวกลับมา   เกิดเรื่องราวกับเจ้าของบ้าน   เป็นเรื่องอื้อฉาวถึงขั้นพวกเขาพร้อมใจกันทำเรื่องถวายฎีกาว่ากรมพระนราธิปฯทรงบุกรุกเข้าไปถึงในบ้าน เอะอะใหญ่โตเป็นที่เดือดร้อนแก่ราษฎร       เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบจากฎีกา ก็มีพระราชดำรัสห้ามกรมพระนราธิปฯไม่ให้ทำอีก

แม้ว่ากรมพระนราธิปฯไม่ได้ตัวหม่อมพักตร์กลับไปอย่างพระประสงค์ แต่เธอก็อยู่บ้านนั้นต่อไปอีกไม่ได้  จำต้องออกจากบ้านฝั่งธน มาอาศัยการอารักขาของตำรวจพระนครบาลทางฟากพระนคร   ซึ่งขึ้นกับเสนาบดีคือเจ้าพระยายมราช  
เจ้าพระยายมราชเห็นผู้หญิงคนเดียวจะเป็นชนวนให้เดือดร้อนกันไปทั้งกรม  ก็เกลี้ยกล่อมให้หม่อมพักตร์กลับเข้าวังสวามีของเธอไปเสียให้หมดเรื่อง   แต่เธอก็ยืนกรานไม่สมัครใจกลับท่าเดียว
เจ้าพระยายมราชเห็นเป็นภาระยืดเยื้อแก่นครบาล  ก็เลยไปทูลปรึกษาเจ้านายที่คิดว่ามีบารมีพอจะคุ้มครองหม่อมพักตร์ได้  คือกรมหลวงราชบุรีฯ   กรมหลวงราชบุรีฯทราบเรื่องก็ทรงต้อนรับและให้การคุ้มครองด้วยดี  เรื่องก็สงบไป
แต่ว่ากรมพระนราธิปฯไม่พอพระทัย  ยังกริ้วหนักและทรงบ่นกับใครต่อใครว่าเสนาบดีนครบาลเป็นใจให้หม่อมของท่านหนี

ดังนั้นแทนที่เรื่องจะจบ  ก็เลยเกิดเป็นเรื่องใหญ่โตวุ่นวายยิ่งกว่าเดิมขึ้นมา

มาถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2453  บทละครเรื่องใหม่ของนฤมิตร์ พระนิพนธ์ในกรมพระนราธิปฯ ที่จะไปแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง มีชื่อว่า "ปักษีปะกรนัม เรื่องพญาระกา"    เมื่อนิพนธ์เสร็จ กรมพระนราธิปฯทรงนำไปให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากร ต้นราชสกุล อาภากร ณ อยุธยา) เพื่อขอให้ทรงแต่งทำนองขับร้องให้    กรมหลวงชุมพรฯทรงอ่านแล้วรู้สึกว่าเนื้อเรื่องพิกลๆ  ก็ไม่ทรงรับทำ  แต่ทรงคัดบทกลอนบางตอนไว้แล้วนำไปหารือกรมหลวงพระจักษ์ศิลปาคม (พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่  ต้นราชสกุลทองใหญ่ ฯ ณ อยุธยา พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4)  กรมหลวงประจักษ์ฯ อ่านแล้วก็นำไปถวายให้กรมหลวงราชบุรีฯ อ่านบ้าง
เนื้อเรื่องของ" พญาระกา" อย่างย่อๆ  มีอยู่ว่า  พญาระกามีเมียมาก  มีเมียตัวหนึ่งเป็นนางไก่ญี่ปุ่นซึ่งไม่พอใจตัวพญาระกา พอได้โอกาสก็แยกฝูงไป  พบไก่ชนที่ปลายนาเกิดรักใคร่เป็นชู้กัน   พอรู้ถึงพญาระกา ก็ตามไปตีไก่ชนจนแพ้และหนีไป  นางไก่ญี่ปุ่นก็หนีเตลิดไปพบตาเฒ่านกกระทุงริมบึง  ตาเฒ่าเอาไปเลี้ยงไว้ แต่ยายเฒ่านกกระทุงหึงหวง  ประกอบกับได้ข่าวว่าพญาระกาผู้มีฤทธิ์กำลังติดตามค้นหา    นกกระทุงจึงไล่นางไก่ญี่ปุ่นไปหาพญาเหยี่ยว   พญาเหยี่ยวเห็นว่ารับไว้จะเกิดปัญหา  จึงส่งนางไปถวายเจ้านกเค้าแมว   เจ้านกเค้าแมวเกิดความปฏิพัทธ์นางไก่ญี่ปุ่น ไม่รังเกียจว่าเสียเนื้อตัวมาแล้ว  เพราะนกเค้าแมวก็กินของโสโครกอยู่แล้ว  จึงได้นางไก่เป็นเมีย
ในบทตอนนี้มีกล่าวติเตียนชัดเจนว่า พญาเค้าแมวเป็นผู้หลงระเริงในราคะ จนลืมความละอายต่อบาป   เอาเมียของอาเป็นเมียได้    ฝ่ายนางนกเค้าแมวมเหสีได้ข่าวก็มาหึง แต่พญาระกากลับเข้าข้างนางไก่ ไล่ตีนางนกเค้าแมวหนีกลับเข้ารังไป
ต่อมาพญาเค้าแมวยกทัพจะไปรบกับพญาระกา   แต่เมื่อเผชิญหน้ากันยังไม่ทันรบพุ่ง ก็พอดีจวนรุ่งเช้า พญาระกาขันขึ้นมา  ส่วนนกเค้าแมวตาฟางเพราะแสงอรุณเลยแพ้ เลิกทัพหนีไป  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 04, 09:27
 กรมหลวงราชบุรีฯ อ่านแล้ว ทรงเห็นว่า เป็นเรื่องแต่งว่ากล่าวกระทบกระเทียบเปรียบเปรยพระองค์ในกรณีหม่อมพักตร์  ก็กริ้วมาก  
ประกอบกับทรงได้ข่าว(ซึ่งรู้ภายหลังว่าไม่จริง)ว่าพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรบทละครแล้ว มิได้ทรงทักท้วงแต่อย่างใด   ซ้ำยังกำหนดจะให้เล่นถวายในวันที่ 3 มิถุนายน เสียอีก    
ถ้าหากว่าเล่นขึ้นมาเมื่อไรก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่โต  พระองค์คงจะได้รับความอัปยศอย่างมาก   ทรงเห็นพระเจ้าอยู่หัวเองก็ไม่ทรงพระเมตตาพระราชโอรสเสียแล้วถึงปล่อยให้ละครเล่นเรื่องนี้ต่อหน้าราชสำนักได้

อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่ากรมหลวงราชบุรีฯทรงเป็นผู้มีพระทัยเร็ว   เมื่อกริ้วเรื่องนี้มาก ก็ถึงขั้นบรรทมไม่หลับทั้งคืน  เช้าก็ทรงประชุมข้าราชการกระทรวงยุติธรรมมาแจ้งเรื่องให้ทราบ  และ ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงเจ้าพระยายมราชเล่าเรื่องนี้พร้อมส่งบทละครไปด้วย    
ทรงเห็นว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นไปถึงขั้นนี้ ก็ทรงโทมนัสเกินกว่าจะอยู่ดูหน้าผู้คนได้    ขอให้เจ้าพระยายมราชจัดการตามแต่เห็นสมควร   แล้วก็เสด็จลงเรือไปแต่ลำพัง  ไปอยู่ที่ศาลเจ้าองครักษ์ที่ปลายคลองรังสิต

ก่อนหน้าเกิดเรื่องนี้ ราววันที่ ๒๐ เมษายน กรมหลวงราชบุรีฯเคยทำหนังสือทูลเกล้าฯถวายขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี    
ทรงแถลงเหตุผลว่า  ประชวร มีอาการปวดพระเศียรเป็นกำลัง   ในสมองร้อนเผ็ดเหมือนหนึ่งโรยพริกไทยระหว่างมันสมองกับกระดูก   คิดและจำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น   ทำงานแม้แต่นิดหน่อยก็เหนื่อย
หมอไรเตอร์ตรวจพระอาการแล้วว่าจำต้องหยุดงานพักรักษาพระองค์    จึงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี
พระเจ้าอยู่หัวทรงเก็บลายพระหัตถ์ฉบับนี้ไว้เฉยๆไม่มีพระบรมราชโองการลงมา   และไม่เปิดเผยให้ผู้ใดทราบ จนเกิดเรื่อง" พญาระกา" ขึ้น
   
วันรุ่งขึ้นหลังจากกรมหลวงราชบุรีฯเสด็จออกจากพระนครไปโดยมิได้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว    ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงยุติธรรมรวม ๒๘ คนก็ประชุมกัน   แล้วลงชื่อถวายฎีกาขอลาออกจากราชการตามกรมหลวงราชบุรีฯ    
ซึ่งถ้าหากว่าออกไปจริงๆ กระทรวงและศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการต่อไปไม่ได้ เพราะขาดข้าราชการสำคัญถึง ๒๘ คน เรียกว่ายกกระทรวงออกไปก็ว่าได้    
ในฎีกานี้ ผู้ลงชื่อเป็นอันดับต้นคือพระยาจักรปาณีฯ ปลัดทูลฉลอง  และอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้คือขุนหลวงพระยาไกรสี(เทียม บุนนาค) อธิบดีศาลต่างประเทศ

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องวุ่นวายที่สุดเรื่องหนึ่งในปีนั้นก็ว่าได้     ประจวบเหมาะกับบ้านเมืองมีเรื่องใหญ่อยู่แล้ว ให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพะวงอยู่ถึง ๒ เรื่อง
 เรื่องแรกคือท่ายดยุคโยฮันน์ อัลเบร็คต์ แห่งเม็คเคล็นเบอร์ก เชวริน กำลังจะเสด็จเยือนสยาม    ทางไทยไม่ต้องการให้มีเหตุขลุกขลักอะไรในบ้านเมืองเมื่อแขกเมืองมาถึง    
 เรื่องที่สองคือคนจีนในพระนครพร้อมใจกันประท้วงหยุดงานตั้งแต่ ๑ มิถุนายน   รัฐบาลกำลังเฝ้าระวังเต็มที่ไม่ให้เกิดเหตุร้ายแทรกแซง
ก็ไม่มีใครนึกว่าจะเกิดเหตุที่สาม คือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงยุติธรรม ลุกขึ้น"สไตร๊ค์" ราวกับจะแข่งกับคนจีนเสียเอง     แล้วสาเหตุเรียกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวก็ว่าได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับระบบงานในกระทรวง

พอฎีกาทูลลาออกของข้าราชการ ๒๘ คนหลุดจากมือไปถึงทางการ  ก็วุ่นวายกันไปทั้งกระทรวงและพระบรมมหาราชวัง    คนกลางในเรื่องนี้คือเจ้าพระยายมราชได้พยายามห้ามปรามไกล่เกลี่ยเท่าไร ข้าราชการทั้ง ๒๘ (ซึ่งว่ากันว่าขุนหลวงพระยาไกรสีเป็นแกนนำ)ก็ยืนกรานจะทำจนได้

ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องฎีกา ก็ทั้งพิโรธและโทมนัสอย่างมาก   ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์รวมทั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ(คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)เข้าเฝ้าด่วนเพื่อสอบสาวราวเรื่อง เพื่อจะนำไปสู่การพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด
ส่วนข้าราชการทั้ง ๒๘ คนนั้น  พระเจ้าอยู่หัวพิโรธมาก ถึงกับทรงเรียกว่า'๒๘ มงกุฎ' และให้เขียนชื่อปิดไว้ที่ปลายพระแท่นบรรทมเพื่อทรงสาปแช่ง    

จดหมายเหตุรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจดพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนนี้ไว้ว่า

'ไม่มีแบบแผนอะไรเลยที่จะทำเช่นนี้  ทั้งในเมืองไทยเมืองฝรั่ง   จะหาอะไรที่จะแก้แทนคนพวกนี้ไม่ได้จนนิดเดียว   เปนอย่างอัปรีย์ที่สุดที่แล้ว   หาอะไรเปรียบไม่ได้   เอาการส่วนตัวมายกขึ้นเปนเหตุที่จะงดไม่ทำการตามน่าที่ราชการ   นับว่าปราศจากความคิด  ปราศจากความกตัญญูต่อพระเจ้าแผ่นดิน   และต่อแผ่นดิน  ถือนายมากกว่าเจ้า'  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 04, 09:35
พระยาจักรปาณีฯ นับว่าโชคดีมากที่มีกัลยาณมิตรแท้จริง  คือกรมขุนศิริธัชสังกาศ ทรงยื่นมือเข้ามาช่วยในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน  ไม่มีใครอื่นช่วยเหลือได้
พอทราบเรื่อง กรมขุนศิริธัชฯก็เสด็จมาที่บ้านพระยาจักรปาณีฯทันทีกลางดึก  ปลุกเจ้าของบ้านขึ้น  บังคับให้เขียนหนังสือสารภาพผิด ขอพระราชทานอภัยโทษ และขอถอนหนังสือกราบถวายบังคมลาออก  
กรมขุนศิริธัชนำหนังสือของพระยาจักรปาณีฯ ทูลเกล้าฯถวายพระเจ้าอยู่หัวทันที  ไม่ให้รอช้าข้ามวัน

ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล  ธิดาของเจ้าพระยามหิธร  เล่าว่าสามีของท่านคือม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้พบหลักฐานที่เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุ  แล้วนำมาให้ท่าน   ท่านบันทึกไว้เกี่ยวกับหนังสือกราบถวายบังคมลาออกจากราชการว่า
" คุณพ่อเขียนหนังสือดี    ไม่มีการหมิ่นพระบรมราชานุภาพแม้แต่น้อย    คุณพ่อเขียนว่าการที่รับราชการอยู่ทุกวันนี้ได้  ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้า  
แต่ในทางวิชาการนั้นต้องพึ่งพระปัญญาของกรมหลวงราชบุรีฯ   เมื่อกรมหลวงราชบุรีฯทูลลาออก   คุณพ่อก็หมดปัญญาที่จะฉลองพระเดชพระคุณต่อไป  
ส่วนหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษนั้น  คุณพ่อเขียนว่า ได้กระทำไปเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา    
และถ้าแม้บังอาจกระทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท  เช่นนี้อีกแล้ว  ก็ขอพระราชทานถวายชีวิต"

กรมขุนศิริธัชสังกาศได้นำหนังสือของพระยาจักรปาณีฯเข้าไปทูลเกล้าฯถวาย  พระเจ้าอยู่หัวก็ค่อยคลายพระพิโรธลง    
ข้าราชการอื่นๆอีก ๒๖ คนก็ได้ทำตามคือทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษหมดทุกคน   เว้นแต่คนเดียวคือขุนหลวงพระยาไกรสี  ซึ่งมีหนังสือกราบบังคมทูลด้วยโวหารว่าตนมิได้เป็นผู้ผิด

บันทึกส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเจ้าพระยารามราฆพ ทรงกล่าวถึงขุนหลวงพระยาไกรสีไว้ว่า

" หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์(กฤดากร) เล่าต่อไปว่า  ขุนหลวงพระยาไกรสีนั้นไม่เรียบร้อยเช่นคนอื่นๆ   แสดงตนกระด้างกระเดื่อง   และว่าได้มีหนังสือทูลเกล้าฯแก้ตัวไปโดยโวหารหมอความ ทำให้พระเจ้าอยู่หัวกริ้วมาก   จะลงพระราชอาญาให้เป็นตัวอย่าง"

เรื่อง ๒๘ มงกุฎที่ว่านี้   ปรากฏว่าคนต้นคิดไม่ใช่พระยาจักรปาณีฯ  แต่เป็นขุนหลวงพระไกรสี   ท่านจึงถูกถอดจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ   และเคราะห์ร้ายซ้ำสอง ถูกถอดจากบรรดาศักดิ์ เพียงคนเดียว   ส่วนคนอื่นๆได้กลับเข้ารับราชการทั้งหมด  แต่ก็แน่ละว่าอนาคตทางราชการไม่มั่นคงเท่าเดิม

เจ้านายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพญาระกา ต่างก็ได้รับผลกระทบคนละอย่าง
กรมหลวงราชบุรีฯกลับเข้ามากราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ  และได้รับพระราชทานอภัยโทษ   แต่โปรดเกล้าฯให้ทรงพ้นตำแหน่งเสนาบดีไปตามที่เคยกราบถวายบังคมลามาก่อน
หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากรขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมแทน  

ส่วนกรมพระนราธิปฯ ทรงถูกลงโทษอย่างเจ้านาย เรียกว่าติดสนมคือต้องเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังออกไปไหนไม่ได้มีกำหนด  ๑ ปี มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล     แต่ว่าหม่อมและพระโอรสธิดาเจ้าไปเยี่ยมได้เป็นเวลาตามสมควร

เจ้านายพระองค์ที่สามคือกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งมีส่วนให้กรมหลวงราชบุรีฯเข้าพระทัยผิด   ถูกห้ามเข้าเฝ้าจนสิ้นรัชกาล    

แต่กรมพระนราธิปฯนั้นติดสนมอยู่ไม่นาน แค่ถึงเดือนกรกฎาคม กรมหลวงราชบุรีก็ทูลเกล้าฯขอพระราชทานอภัยโทษให้  ท่านก็เลยได้พ้นโทษ กลับไปวังของท่าน

เวลาล่วงมาถึงเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 09 มิ.ย. 04, 09:37
 ตอนผมเรียนประวัติศาสตร์ ไม่เห็นมีเรื่องสนุก ๆ เหมือนนิยายจีนกำลังภายในแบบนี้มาให้เรียนบ้างเลย
มีแต่เรียนว่า ปี พ.ศ. ไหนใครยกทัพไปตีกับใคร อะไรทำนองนี้(ลืมไปเกือบหมดแล้ว)
ก็เลยนั่งอ่านที่คุณเทาชมพูเล่ามาเรื่อย ๆ ครับ
น่าจะมีใครเอาไปสร้างเป็นภาพยนต์ เติมสีสันต์เพื่อเพิ่มความสนุกแล้วมีประวัติจริงแจกให้อ่านด้วย แบบโหมโรง
ซึ่งได้ผลดีพอสมควร เด็กไทย หันมาเล่นดนตรีไทยกันมากขึ้น


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 09 มิ.ย. 04, 12:40

เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากเลยค่ะ  คุณเทาชมพู  เรื่องที่ปวดหัวอยู่นั่นไม่ใช่เรื่องเด็กๆหรอกค่ะ  เด็กที่บ้านไม่กล้าหือหรอก ฮ่าๆๆ  คนโตๆด้วยกันนี่แหละค่ะ  พอทะเลาะกันแล้วยิ่งพูดยากกว่าพูดกับเด็กอีกแน่ะค่ะ หึๆๆ

วันนี้โรงเรียนเค้ามีการแสดงประจำปี  คือเด็กๆเค้าหัดดนตรีมาทั้งปี  แล้วก็มาแสดงให้ผู้ปกครองชมอย่างที่มีในเมืองไทยน่ะค่ะ  ดิฉันเลยไม่อยู่บ้านทั้งวัน  กว่าจะกลับมาก็ค่ำมากแล้วค่ะ  ขอบพระคุณ คุณเทาชมพูที่เขียนเรื่องสนุกๆเสียยาวให้อ่านได้จุใจเลยนะคะ


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 04, 15:54
 เรื่องพวกนี้เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ค่ะ อาจารย์นิรันดร์  
ไม่ทราบว่าในวิชาประวัติศาสตร์ มีสอนเรื่องเกร็ดต่างๆด้วยหรือเปล่า  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: น้าชู ที่ 09 มิ.ย. 04, 22:38
 ขอเสริมที่กล่าวถึงเนติบัณฑิตรุ่นแรก 9 คนหน่อยนะครับ
ขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) จริงๆแล้วเป็นคุณตาของคุณมารุต บุนนาค ศพของท่านถูกเก็บไว้ที่วัดโดยไม่มีใครทราบเป็นเวลาถึงเเปดสิบปี
เพิ่งมีการค้นพบโลงศพและสืบจนทราบว่าเป็นใคร และขอพระราชทานเพลิงเมื่อประมาณปี 2525 ในสมัยที่คุณมารุตฯเป็น รมต.ยุติธรรม ตอนนั้นผมยังเด็กๆ ยังได้อ่านข่าวนี้จากหนังสือพิมพ์ที่ลงหน้าหนึ่งอยู่หลายวันทีเดียว
หลังจากท่านออกจากราชการแล้วก็ทำงานเป็นทนายความครับ
ส่วนพระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี (ทองดี ธรรมศักดิ์) ก็คือบิดาของท่านอดีตประธานองคมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์นั่นเอง  
คนอื่นที่เหลือส่วนใหญ่ก็กลายเป็นผู้พิพากษาที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมาทั้งสิ้น
ไม่ทราบว่าเหตุใดคุณเทาชมพูจึงสนใจเรื่องราวในวงการยุติธรรมครับเนี่ย
หรือว่าทำงานอยู่ในแวดวงนี้
อย่างไรก็ดี ในฐานะผู้มีอาชีพทางกฎหมายคนหนึ่ง รู้สึกยินดีมากที่เรื่องราวเหล่านี้มีผู้สนใจ มิได้เล่ากันอยู่แต่ในหมู่นักศึกษากฎหมายเท่านั้น
จาก เนติบัณฑิตสมัยที่ 48


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 04, 07:52
 ขอบคุณมากค่ะ คุณน้าชู ที่ช่วยเพิ่มเติมรายละเอียดให้เรื่องนี้ มีสาระน่าสนใจมากขึ้น
เรื่องโลงศพขุนหลวงพระยาไกรสี  ที่เก็บไว้ตั้ง 80 ปี ลูกหลานไม่ทราบ  มาทราบกันตอนคุณมารุตเป็นใหญ่เป็นโต  งานศพของท่านจึงทำอย่างสมเกียรติ นึกไปก็น่าทึ่งเหมือนกัน

ส่วนคำถามสุดท้าย   ดิฉันไม่ได้ทำงานในวงการยุติธรรมค่ะ     แค่สนใจเป็นส่วนตัว  อาจจะเป็นเพราะเกิดมาในบ้านนักกฎหมาย

ขอเวลาไปพิมพ์ก่อนนะคะ  แล้วจะกลับมาเล่าว่าชีวิตของเจ้าพระยามหิธร หลังพบมรสุมครั้งใหญ่สุดแล้ว ท่านผ่านไปได้อย่างไร  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 10 มิ.ย. 04, 13:16
 พอพูดถึงนักกฎหมายไทยแบบตะวันตก ผมมักนึกถึงแต่เจ้าพระยาสุธรรมมา ต้นสกุลสุจริตกุล ผู้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษท่านแรกของไทย ได้ยินว่าภรรยาเอกของท่านก็เป็นลูกจีน จนมีสำนวนพูดในสกุลนี้ว่า ปู่เจ้าพระยา ตาเจ้าสัว

เรื่องราวของเสด็จกรมหลวงประจักษ์ฯก็น่าสนใจทีเดียว ในแง่ของความเป็นมนุษย์ ประวัติของพระองค์ออกจะมีสีสรรไม่น้อย เพราะแม้จะมีบทบาทในราชการ เคยทรงเป็นถึงแม่ทัพ ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยต่างพระเนตรพระกรรณ ควบคุมดูแลชายพระราชอาณาเขตครั้งมีสถานการณ์ล่อแหลมกับฝรั่งเศส  จนตั้งเมืองขึ้นเป็นจังหวัดอุดรในปัจจุบัน  แต่ก็ดูจะมีเรื่องมีราว สร้างความขัดแย้งให้ปรากฎอยู่หลายประการ

เช่น ความขัดแย้งกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ก็เป็นอีกมินิซีรี่ย์หนึ่งที่ยืดยาวเป็นหนังชีวิตที่ต้องดูกันนานๆ

โชคดีที่เคยเก็บเล็กผสมน้อยจากตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย จนพอทราบประวัติศาสตร์ซ่อนเร้นเหล่านี้บ้าง หากยังไม่มากและกระหายที่จะรู้เพิ่ม อย่างไรก็ต้องขอรบกวนท่านอาจารย์เทาชมพูเมตตาเล็คเชอร์เพิ่มให้ด้วยนะครับ


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 มิ.ย. 04, 13:33
 ลงชื่ออ่านด้วยคนครับ นึกว่าแย่แล้วเชียวครับ แอบเข้ามาดูเป็นระยะๆ เหงาเหลือเกินหนอ


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 04, 14:21
 ดิฉันว่างจากภารกิจอีกบ้านหนึ่ง ก็กลับมาบ้านนี้แล้วค่ะคุณ CH  
ว่าแต่คุณแวะเข้ามาเงียบๆ ไม่ให้สุ้มเสียงอาชาลำพองเสียบ้างเลย ก็เหงาน่ะสิคะ
ต่อไปนี้ ขอเชิญว่าถ้าแวะเข้ามาก็ตั้งกระทู้ด้วยได้ไหมคะ  ดิฉันจะอยู่หรือออกไปข้างนอกบ้าง  ที่นี่จะได้มีเสียงสนทนากัน

คุณถาวภักดิ์คะ  ตั้งแต่คุณเคยขอเมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  ดิฉันก็ไปค้นประวัติเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้มายาวพอสมควร    
แต่ตามนิสัย   บรรจงเก็บไว้อย่างดี มิดชิดถี่ถ้วนจนหาไม่เจอจนบัดนี้  ส่วนเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจจะเก็บ  ก็กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ  จึงเห็นเป็นประจำ
เป็นอย่างนี้บ่อยมาก
ขอไปบนให้เจอก่อน  แล้วจะกลับมาเล่าให้ฟัง

เรื่องกรมหลวงประจักษ์ฯ   เป็นเรื่องที่มีสีสันเข้มข้นสะดุดใจ อย่างที่คุณถาวภักดิ์ว่าไว้   เลยมาต้องบรรจงหั่น ซอย  แบ่ง กรอง  ออกไปมากโข   เพื่อความไม่ประมาท   เหลือเท่าที่เห็นแค่นี้เอง  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 04, 14:45
 พระยาจักรปาณีฯ แม้ว่าจะพ้นผิดจากเรื่องที่ทำลงไป ได้กลับเข้ารับราชการเป็นปลัดทูลฉลองเหมือนเดิม  แต่มรสุมลูกใหญ่ที่ท่านเผชิญก็ยังไม่สงบอยู่ดี

อย่างแรกคือท่านถูกงดความดีความชอบ  ควรจะได้รับพระราชทานพานทอง  ก็เลยไม่ได้

อย่างที่สอง   พระยาจักรปาณีฯ เป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อเจ้านายเดิม เสมอต้นเสมอปลาย    แม้กรมหลวงราชบุรีฯทรงพ้นตำแหน่งเสนาบดีแล้ว  พระยาจักรปาณีฯ ก็มิได้เปลี่ยนแปลงกิจวัตร  เคยเข้าเฝ้าเป็นประจำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นเช่นเดิม    
ถือว่าท่านเคยเป็นทั้งลูกศิษย์และผู้ใต้บังคับบัญชา  ไม่มีสิ่งใดมาทำให้เปลี่ยนแปลง  เรื่องจะตีตนออกห่างนายเก่า โผไปหานายใหม่  คนอย่างท่านไม่ทำ

ก็ด้วยความดีข้อหลังนี้เอง    หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ จึงเห็นว่า ท่านเป็น "คนของกรมหลวงราชบุรีฯ"    ใจอยู่ที่นายเก่า   ทำให้นายใหม่ไม่ไว้วางใจ และผลคือทำงานเข้ากับนายใหม่ไม่ได้    

พระยาจักรปาณีฯเองก็ลำบากใจที่จะทำงานกับหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ผู้มีหลักการแตกต่างจากกรมหลวงราชบุรีฯ
เพราะท่านเคยได้รับการสั่งสอนมาว่า  อย่าให้ตัดสินว่าผู้ใดผิดจนกว่าจะได้พยานหลักฐานหรือมีกรณีแวดล้อมพอที่จะเชื่อได้ว่าผิด   ฉะนั้นเมื่อถูกเกณฑ์ให้เปลี่ยนหลักเป็นตรงกันข้ามจึงกลับตัวไม่ทัน

หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์เองก็เป็นผู้ที่ไม่ง้อคน  เมื่อเข้ากันไม่ได้ ก็เห็นว่าไม่สมควรจะเอาไว้ใช้งานอีก    
ในตอนนั้นตำแหน่งกรรมการศาลฎีกาว่างลงเพราะพระยาอนุชิตชาญชัย(สาย สิงหเสนี) ถูกย้ายไปเป็นจางวางพระตำรวจ     พระยาจักรปาณีฯจึงถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งนี้แทน   และพระยาราชเสนา( เลื่อน ศุภสิริวัฒน์) เจ้ากรมมหาดไทย  ย้ายมาเป็นปลัดทูลฉลอง

ความผันแปรในหน้าที่การงานมีผลกระทบกระเทือนถึงฐานะทางบ้านด้วย    พระยาจักรปาณีปรึกษาคุณหญิงกลีบว่า บัดนี้ฐานะท่านไม่มั่นคงเหมือนเมื่อก่อน   จะหวังพึ่งเงินเดือนราชการอย่างเดียวไม่ได้ เพราะอาจจะเกิดเหตุคาดไม่ถึงในวันไหนก็ได้  
คุณหญิงกลีบ ก็เริ่มทำงานหารายได้ช่วยสามีอีกแรงหนึ่ง ด้วยการทำน้ำอบไทย แป้งนวล น้ำปรุง ขี้ผึ้งสีปาก  พวกเครื่องสำอางอย่างไทยๆ ให้สาวใช้หาบไปขายวันละ 6 หาบ  ตามวังต่างๆ  พอจะเก็บเงินทองเป็นค่าใช้จ่าย  เลี้ยงบุตรธิดาและบริวารกันไปได้

เคราะห์ร้ายอย่างที่สามของท่านคือกรมขุนศิริธัชสังกาศ ผู้มีพระคุณ สิ้นพระชนม์ลงในปี 2454 นั้นเอง  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 04, 14:58
 คุณเปี้ยวเจ้าคะ
ดิฉันขอร้องเรียน เพิ่มขึ้นอีกรายหนึ่งต่อจากคุณพวงร้อยในกระทู้ เกตุกับราหู  
ทำไมเครื่องหมาย    มันถึงโผล่มายุ่มย่ามนักล่ะคะ
ลบเท่าไรก็ไม่ยอมหมด  มีสามตัวลบไปแล้วเหลืออย่างน้อยหนึ่งตัว ไม่ยอมไป  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 04, 09:55
 พายุร้ายเข้ามาในชีวิตพระยาจักรปาณีฯ ได้ไม่นาน ฟ้าก็เริ่มใสขึ้น  เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพอพระราชหฤทัยในการทำงานและอัธยาศัยของท่าน  มิได้ทรงเพ่งเล็งความผิดพลาดที่เกิดขึ้น      
หลังจากเป็นกรรมการศาลฎีกาอยู่ปีเดียว ก็โปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งราชเลขานุการกฤษฎีกาเพิ่มขึ้นอีกตำแหน่ง   เท่ากับท่านได้กลับไปสู่ถิ่นเดิมที่เคยอยู่เมื่อหนุ่ม   และได้รับพระราชทานพานทองซึ่งถูกงดมาตั้งแต่เกิดเรื่อง

การทำงานของพระยาจักรปาณีฯก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ   ได้ถวายงานอย่างใกล้ชิดเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย อย่างเช่นตำแหน่งนายทะเบียนของจิตรลดาสโมสร  และตำแหน่งปลัดพระธรรมนูญเสือป่า    ท่านตามเสด็จพระราชดำเนินไปซ้อมรบเสือป่าที่นครปฐมทุกปี

ส่วนตำแหน่งงานของท่าน ก็ก้าวไปในทางกฎหมายเช่นเดิมแต่ว่าเป็นตำแหน่งใหม่จากหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๖  คือสมุหพระนิติศาสตร์   และต่อมาก็อธิบดีศาลฎีกา และผู้กำกับราชการกรมพระนิติศาสตร์  เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางที่ท่านใช้ความรู้ความชำนาญทางกฎหมายได้เต็มที่  และเป็นเส้นทางที่ราบเรียบมีแต่จะทอดสูงขึ้นทุกที    

ในฐานะสมุหพระนิติศาสตร์  ท่านได้เป็นนายทะเบียนประกอบพิธีอภิเษกสมรสให้เจ้านายหลายพระองค์  รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เมื่อเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสุโขทัยฯ  เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ด้วย

พิธีอภิเษกสมรสในรัชกาลที่ 6  ทำคล้ายพิธีฝรั่ง  ไม่เหมือนการรดน้ำแต่งงานแบบไทยๆอย่างที่เราเห็นในสี่แผ่นดิน     ดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องหายาก ไม่ค่อยมีใครรู้กัน  ก็เลยขอเอามาเล่าสู่กันฟัง

ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงเป็นประธาน   เมื่อเสด็จออกแล้ว    เสนาบดีกระทรวงวังก็กราบบังคมทูลเบิกคู่สมรสออกมาถวายคำนับ  

แล้วสมุหพระนิติศาสตร์ทำหน้าที่คล้ายพระผู้ประกอบพิธีแต่งงานของฝรั่ง  คือตั้งคำถาม ถามคู่สมรส
เช่น
" ฝ่าพระบาทตั้งพระหฤทัยที่จะรับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเป็นชายาด้วยความเสน่หารักใคร่   และตั้งพระทัยจะทะนุถนอมให้มีความสุขสืบไป  จนตลอดฉะนั้นฤา"
พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสุโขทัยฯ  ทรงตอบว่า "ข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น"
สมหุพระนิติศาสตร์ ทูลถามหม่อมเจ้ารำไพพรรณีว่า
"ท่านตั้งหฤทัยจะมอบองค์ของท่าน เป็นชายาในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา  ด้วยความเสน่หาจงรัก  สมัครจะอยู่ในโอวาทของพระสามีสืบไป จนตลอดฉนั้นฤา"
หม่อมเจ้ารำไพพรรณีทรงตอบว่า " ข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น"

ต่อจากนั้น พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำสังข์ ทรงเจิม  แล้วสมุหพระนิติสาสตร์จัดให้คู่สมรสลงพระนาม    พระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย  มีสักขีพยานในพระราชพิธีลงพระนามและนาม  
ต่อจากนั้นจึงพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 11 มิ.ย. 04, 12:40
 ขออนุญาตอาจารย์ทะลุกลางปล้องหน่อยนะครับ เล็คเชอร์เรื่องนี้จบแล้ว  ขอความกรุณาต่อด้วยวิชา กรมหลวงประจักษ์101 ด้วยนะครับ  อยากทราบว่าหลังคดีพญาระกาแล้ว บั้นปลายพระชนม์ชีพท่านเป็นอย่างไร


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มิ.ย. 04, 07:20
 วิชา 101ที่ว่าเห็นทีจะมีเหตุขัดข้อง ไม่น่าเปิดค่ะ
น่าจะไปหาหนังสือนอกเวลาอ่านเอง  มากกว่า


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มิ.ย. 04, 08:17
 แม้ว่าพระยาจักรปาณีไม่ได้กลับมาเป็นปลัดทูลฉลองอีกก็ตาม  แต่ก็กลับดียิ่งกว่า เพราะตำแหน่ง"อธิบดีศาลฎีกา"ของท่าน ก็คือ" ประธานศาลฎีกา" ที่ถือว่าเป็นตำแหน่งประมุขฝ่ายตุลาการ  
ส่วนหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์นั้น บริหารงานในกระทรวงพบความไม่ราบรื่นหลายอย่าง  ในที่สุดก็โปรดเกล้าฯให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงปารีส

ในพ.ศ. ๒๔๖๕    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยาจักรปาณีฯ ขึ้นเป็นเจ้าพระยามหิธร   และพระราชทานเงินจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างบ้านใหม่ให้สมเกียรติด้วย  นับว่าท่านได้ผ่านพ้นอุปสรรคมาถึงจุดสูงสุดของชีวิต

ปลายปี ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ประชวรหนัก     เจ้าพระยามหิธรได้เฝ้าดูพระอาการจนถึงวาระสุดท้าย   การเสด็จสวรรคตนำความเศร้าโศกมาให้ท่านและครอบครัวอย่างยิ่ง

ขึ้นรัชกาลที่ ๗   มีการยุบเลิกหน่วยงานหลายแห่งเพื่อตัดทอนงบประมาณให้พอกับรายจ่าย  แม้แต่กระทรวงมุรธาธร หรือกระทรวงวัง ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นเสนาบดีก็ถูกยุบมารวมกับกรมราชเลขาธิการ  
เจ้าพระยามหิธรจึงได้ดูแลทั้งสองหน่วยงาน มีฐานะเท่าเสนาบดี  เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่าเสนาบดีเท่านั้นเอง    แต่พอถึงพ.ศ. ๒๔๗๕ ก็เปลี่ยนนามราชเลขาธิการว่าเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร

เมื่อคณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. ๒๔๗๕    เจ้าพระยามหิธรอยู่ที่หัวหิน เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  เมื่อรู้ว่าตัดสินพระทัยพระราชทานรัฐธรรมนูญ  ท่านก็ขึ้นรถไฟมากรุงเทพเพื่อแจ้งให้คณะผู้ก่อการฯ ทราบ  
พอทหารที่สถานีรถไฟทราบว่าท่านเป็นใครก็คุมตัวขึ้นรถยนต์  ทหารยืนบนบันไดรถเอาปืนจ่อเข้ามาในรถตลอดทาง จนกระทั่งเข้าไปแจ้งให้คณะราษฎร์รับทราบเสร็จจึงถูกปล่อยตัวกลับบ้านโดยไม่มีปืนจี้อีก

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยามโนปกรณ์นิติธาดานำความมาบอกเจ้าพระยามหิธรเป็นส่วนตัวว่า คณะราษฎร์จะยุบตำแหน่งราชเลขาธิการ   เพราะราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเหลือแต่งานส่วนพระองค์  
ส่วนงานบริหารราชการแผ่นดินจะไปผ่านทางคณะราษฎร์แทน    ถ้าถูกยุบตำแหน่งราชเลขาธิการ ก็จะลดฐานะเจ้าพระยามหิธรลงไปเท่าปลัดทูลฉลอง  เป็นการเสียเกียรติยศ    เจ้าพระยามหิธรก็เห็นด้วย ท่านจึงลาออกจากราชการ  ในวัย ๕๘ ปี

เจ้าพระยามหิธรพักผ่อนอยู่บ้านได้แค่ ๓ ปี  รัฐบาลก็มาเชิญท่านไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม    ท่านทำงานอยู่ ๒ ปี  เมื่อรัฐบาลพระยาพหลพลหยุหเสนาพ้นจากตำแหน่ง   เจ้าพระยามหิธรก็พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี  
นับเป็นการออกจากราชการครั้งที่ ๒ เมื่ออายุได้ ๖๓ ปีเศษ   มาเป็นข้าราชการบำนาญโดยสมบูรณ์

เมื่ออายุ ๗๐ ปีเศษ เจ้าพระยามหิธรเริ่มมีอาการสมองเสื่อม   ร่างกายก็เสื่อมลง  แต่ไม่มีโรคภัยอย่างอื่นรบกวน   ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๙   ด้วยอาการสงบ   สิริรวมอายุได้  ๘๑ ปี  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มิ.ย. 04, 07:39
 บุตรหลายคนของเจ้าพระยามหิธรได้ไปศึกษาต่อที่ยุโรป  ท่านเขียนจดหมายถึงลูกๆเสมอ    มีโอวาทหลายอย่างของเจ้าพระยามหิธรที่คมคาย สมกับเป็นนักบริหาร และไม่ล้าสมัยจนบัดนี้  จึงขอคัดเลือกมาให้อ่านกันค่ะ

"ตามธรรดาที่นิยมว่าเป็นผู้ใหญ่ควรแก่วัยอายุนั้น  คือรู้จักหาทรัพย์ได้ในทางที่ชอบ แล้วใช้ทรัพย์ในทางที่ชอบ   คือไม่เกินกว่าที่หาได้   ผู้ใดประพฤติได้ดังนี้นับว่าเป็นผู้ใหญ่บริบูรณ์ไม่มีใครคัดค้าน    แต่ผู้ที่ยังหาเงินไม่ได้เองเช่นฐานะยังเป็นนักเรียนอยู่   ถึงอายุจะครบกำหนด ก็ยังทำอย่างผู้ใหญ่ไม่ได้ทุกๆประการ     ใครขืนทำ ก็ต้องลำบาก  นัยหนึ่งว่าขาดสติรอบคอบ    ความขาดสติรอบคอบนี้เองแสดงว่ายังไม่เป็นผู้ใหญ่แท้ดังที่ตนเข้าใจ"
 
"เป็นความจริงถึงพ่อชอบใช้มีดคม   แต่รู้สึกอยู่ว่าความรอดตัวของพ่อไม่ได้อยู่แก่คนเหล่านี้เลย   เพราะสำคัญอยู่ที่คนใช้ต่างหาก  ไม่ใช่อยู่ที่มีด     พ่อเคยใช้มีดขี้เท่อบ่อยๆเหมือนกัน  แต่อาศัยเหตุที่รู้จักใช้   การก็สำเร็จได้เท่ากัน"

" สุภาษิตที่ว่าความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดนั้น   ต้องประกอบกับประโยคว่า  ถ้าประพฤติตัวไม่ดี  เป็นประโยคเดียวกัน   เพราะจรรยาก็เป็นสำคัญในชีวิตมนุษย์ซึ่งขาดไม่ได้  ควรเข้าใจดังนี้จึงเป็นสุภาษิต"

" พระยาปฏิพัทธ์(หมายถึงพระยาปฏิพัทธ์ภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) นั้นเป็นเพื่อนชอบกับพ่อมาก    เขาเป็นคนใจคอกว้างขวางตามที่พ่อเห็นฤๅได้เป็นเพื่อนกันมาก    แต่บางคนก็หาความแกอย่างตรงกันข้ามว่าแกดีด้วยแต่บางคนที่พึ่งพาอาศัยได้    ข้อนี้เป็นอยู่สำหรับคนฉลาด    เพราะถ้าหว่านโปรยไปหมด ไม่เลือกหน้า  ก็แย่กันเท่านั้น  พ่อจึงยังเห็นว่าแกถูก"

" สุภาษิตของเรามีว่า ทำแต่งานไม่มีเล่นก็เป็นบ้า   ไม่ทำงานเอาแต่เล่นก็เป็นตุ๊กตา  ไม่ดีทั้งสองอย่าง  สู้กลางๆไม่ได้   คือถึงที่เล่นก็ให้รู้จักการเล่น  ถึงที่ทำงานก็ทำ   ถ้าจะเอาแต่เรียนตะพึดไป  ไม่เล่นสนุกบ้างเลยก็น่ากลัวอันตรายอยู่เหมือนกัน"

"ถ้าหากมีฝีมือทำงานดี  แต่เข้าคนไม่เป็น  ผูกใจคนไม่อยู่   ผู้นั้นต่ำแต้ม    ฉะนั้นการเป็นคนปอบปูล่าควรปลูกนิสัยมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน   จะผัดว่าเมื่อนั่นเมื่อนี่หาได้ไม่"

"ใครมีนิสัยคบเพื่อนเป็น  คนนั้นก็มีเพื่อนได้เร็ว"
 
" ถ้าเราจะนั่งติดกับแขกฤๅพม่า ก็ควรพูดจาปราศรัยกันได้  และดูเหมือนยิ่งเป็นการง่ายกว่าจะทำกับฝรั่ง    เพราะเป็นพวกเอเชียติกด้วยกัน   ฝรั่งมันดูถูกพวกผิวเหลืองผิวดำ   เพราะมันถือว่ามันผิวขาวก็ไปอย่างหนึ่ง   แต่หากผิวเหลืองผิวดำก็กลับดูถูกกันเองด้วย   เป็นการดูถูกซ้อนดูถูก   พ่อไม่เข้าใจว่าเพื่อใด  นอกจากผู้นั้นลืมตัว"  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 04, 10:50
 รอพรรคพวกเข้ามาแจม  ไม่เห็นโผล่เข้ามา  ขอบอกว่าจบเรื่องแล้วค่ะ

หนังสืออ้างอิง
1. บันทึกต้นรัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. เรื่องของคนห้าแผ่นดิน  โดย ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล
3. หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยามหิธร

ตอนนี้กำลังแกะพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีไปถึงเซอร์จอห์น เบาริง  เกี่ยวกับประวัติของบรรพชนต้นราชวงศ์จักรี ที่สืบย้อนไปได้ถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวร
เสร็จเมื่อไรจะเอามาตั้งกระทู้ให้อ่านกันนะคะ  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 22 มิ.ย. 04, 11:54
 ดีครับ อาจารย์เทาฯ อย่างไรก็ดูเทียบกับโครงกระดูกในตู้ของอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์  และตำราเก่าๆขุนวิจิตรมาตราด้วยนะครับ

อาจารย์เทาฯเป็นผู้เผยแพร่ให้รู้จักกันไว้ ดีแล้ว เป็นผู้มีบารมี เป็นที่เคารพเกรงใจ มิฉะนั้นพอมีผู้กล่าวถึง ก็มักมีผู้ออกมาวางตัวเป็นปราชญ์ประจำ net กล่าวจาบจ้วงโจมตี  ทำให้ไม่มีใครอยากพูดกอยากเล่า นิทาน ตำนาน หรือพงศาวดารที่สืบทอดกันมา

เด็กไทยเดี๋ยวนี้ก็นับวันจะพูดภาษาต่างชาติใช้ธรรมเนียมตะวันตกเก่งขึ้น ในขณะที่ความรู้ในวัฒนธรรมประเพณีไทยก็ยิ่งลดลงอย่างน่าใจหาย  มิหน่ำซ้ำยังมีพวกเจ้ากรมกร๊วกมาคอยกระแนะกระแหนตามกระดานสนทนาต่างๆอีก  ไม่รู้มันจะจองเวรทำลายชาติไปถึงไหน

ถ้าเป็นเรื่อง Helen of Troy หรือ King Arthur พวก myth พวกตำนานของยุโรป  คุยกันได้คุยกันดี ไม่มีใครขัด พอคุยเรื่องของไทย อย่างพระเจ้าพรหม ทีไรต้องเป็นเรื่อง ออกมาด่าว่า  กันทุกทีไป

แฮะๆ สงสัยชักเริ่มแก่ ก่นด่าลมแล้งอยู่คนเดียวได้เป็นคุ้งเป็นแคว


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: บ้านายคำเก่ง ที่ 22 มิ.ย. 04, 17:52
 สรีสวีสสดีชาวหมู่ชุผู้ชุฅนที่หนี้น่อ....บ่ได้ปะกันเมินนักแคแล...คึดเทิงหาสะน่อยนอ(สวัสดีครับเพื่อๆทุกๆคนในเวบบอร์ดแห่งนี้...ไม่ได้ทักทายกันมานานแล้ว...คึดถึงทุกๆคนครับ)

ได้อ่านประวัติของเจ้าพระยาฯก็ได้รับความรู้นะครับ....ในส่วนตัวแล้วก็ต้องขอขอบพระคุณคนในตระกูลไกรฤกษ์ที่ทำให้บรรดาญาติพี่น้องของผมได้ทราบสายสาแหรกของบรรพบุรุษ...หากพระยาบุรุษรัตน์ราชวัลลภ(จำไม่ได้ว่าท่านชื่อจริงชื่ออะไร คุ้นๆว่าชื่อนพ ไกรฤกษ์?)ไม่ได้บันทึกเอาไว้ว่าใครชื่ออะไรแต่งงานกับใครบ้างวงศ์สกุลผมคงจะสืบหาปู่ย่าตาทวดไม่ได้แน่และไม่รู้ว่าใครเป็นญาติใคร....วันนี้ได้มาอ่านเรื่องราวของตระกูลไกรฤกษ์บ้างก็มีความยินดี(ภาษาเหนือว่ายินดี ภาษาไทยว่าขอบคุณ)คุณเทาชมพูมากนะครับ.....


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 23 มิ.ย. 04, 01:06
 ออกไปนอกเมืองมาตอนเสาร์-อาทิตย์-จันทร์  ค่ะ  เพิ่งกลับมาเด็ก(คนเล็กสุด)ก็เกิดอุบัติเหตุตกจักรยานแขนหักค่ะ  โกลาหลกันพอสมควร  เลยยังไม่มีโอกาสมาอ่านเลยค่ะ  แล้วจะกลับมาอ่านอีกครั้งนะคะ


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 04, 08:09
 ก่อนอื่นขอส่งดอกไม้เยี่ยมไข้หนุ่มน้อยของคุณพวงร้อย  หวังว่าคงไม่เป็นอะไรมาก   กระดูกคงจะเชื่อมต่อกันได้สนิทอีกไม่นาน   แต่แน่ละว่า  ช่วงนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็คงต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นจนกว่าคนป่วยจะหายดี

คุณถาวภักดิ์คะ   ขอเชิญมาแจมในกระทู้ใหม่ด้วยนะคะ    ท่าทางจะไฟแรง ไม่เรียกว่าก่นด่าลมแล้งหรอกค่ะ   ถ้าหากว่ามีคนเอ่ยถึงแล้วเรารู้สึกว่าผิด ก็เป็นการดีที่จะช่วยกันเสนอสิ่งที่เราเห็นว่าถูกให้คนอ่านเลือกเอาเอง  ดีกว่าเขาไม่มีทางเลือกเสียเลย

คุณบ้านายคำเก่ง   ถ้าสนใจเรื่องของตระกูลไกรฤกษ์ มีเกร็ดเล่าต่ออีกนิดหน่อยค่ะ  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 04, 08:27
 คุณถาวภักดิ์พูดถึง "โครงกระดูกในตู้" ของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  ทำให้นึกได้ว่ามีเกร็ดในหนังสือเล่มนี้ ที่เชื่อมโยงถึงสกุลไกรฤกษ์     จะได้ถือโอกาสเล่าให้บ้านายคำเก่งฟังเสียด้วยพร้อมกันเลย

คงจะจำได้ว่าต้นสกุลไกรฤกษ์ที่ชื่อท่านหลิม นั้นมีบุตรชาย 2 คน คือนายเริก กับนายอิน
เจ้าพระยามหิธรเป็นเชื้อสายทางฝ่ายนายเริก หรือพระยาไกรโกษา  ดิฉันก็เลยเล่าถึงสายสกุลทางฝ่ายนี้ มาโดยตลอด  ไม่ได้เล่าถึงนายอินน้องชายนายเริก

นายอินก็เข้ารับราชการเหมือนกัน  เป็นนายอากร คือเจ้าพนักงานเก็บภาษี (คล้ายๆสรรพากรในสมัยนี้ ) มีบรรดาศักดิ์เป็นพระอินท์อาการ     ท่านทำธุรกิจทำกระทะขาย จนร่ำรวยมาก   จนได้ฉายาว่า "เจ้าสัวเตากระทะ"
บ้านอยู่ที่ตรอกโรงกระทะ ติดกับตรอกพระยาไกร ในสำเพ็ง

ความสำคัญอีกประการหนึ่ง มาจากบุตรชายหญิงหนึ่งในเจ็ดคนของพระอินท์อากร   ชื่ออัมพา   ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาอัมพาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ว่ากันว่าเจ้าจอมมารดาอัมพา เป็นคนสวย  หัดละครเป็นตัวนางกัญจะหนาในเรื่องอิเหนา      จนเรียกกันติดปากในวังว่าอัมพากัญจะหนา     เมื่อเลื่อนฐานะขึ้นเป็นเจ้าจอมก็เป็นที่โปรดปรานมาก  มีพระองค์เจ้าถึง 6 องค์

คือ
1  พระองค์เจ้ากปิตถา  กรมหมื่นภูบาลหริรักษ์  ต้นราชสกุลกปิตถา ณ อยุธยา
2   พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ  ต้นราชสกุล ปราโมช  ณ อยุธยา เป็นเสด็จปู่ของม.ร.ว. คึกฤทธิ์
3   พระองค์เจ้าชายเกยูร  เข้าใจว่าสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
4   พระองค์เจ้าหญิงกัณฐา
5   พระองค์เจ้าหญิงกัลยาณี
6   พระองค์เจ้าหญิงกนิษฐน้อยนารี เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 2  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 24 มิ.ย. 04, 09:57
 นึกถึงคนเลี้ยงที่สิ้นไปเมื่อไม่นานด้วยวัยเกือบร้อยปี เคยเป็นข้าหลวงในวังของพระองค์เจ้าอาทรทิพยอาภา(ถ้าจำพระนามไม่ผิด)  ทราบว่าเมื่อครั้งกบฎบวรเดช ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ บิดาของท่านอดีตรัฐมนตรีโกศล ไกรฤกษ์ วังนี้เป็นที่พักพิงของลูกๆผู้หญิงของอดีตรองประธานสภาฯท่านนี้ ในฐานะพระญาติ

อาจารย์เทาพอจะกรุณาบอกได้ไหมครับว่าพระองค์เจ้าอาทรฯสืบพระวงศ์มาอย่างไร

ด้วยอานิสงส์คนเลี้ยงท่านนี้ จึงได้สัมผัสความปราณีตของฝีมือชาววังมาบ้าง มีอยู่สิ่งหนึ่งที่สูญไปแล้วพร้อมกับการจากไปของท่าน คือ ขนมโอชารส ที่เคยได้กินในวัยเด็กเท่านั้น ไม่เคยพบที่ใดเลย

ดูเหมือนจะใช้เพียงไข่ขาว น้ำตาล และอะไรก็ได้อีกอย่างเล็กน้อยเพื่อให้ มีกลิ่น สี และรส เป็นไปตามนั้น เช่น ผงโอวัลติน น้ำหวาน  แล้วใส่ในภาชนะโลหะกลมพอเหมาะ เช่น ช้อนแกงที่ใช้สำหรับตักแบ่งจากหม้อ นำไปอังไฟพร้อมใช้ตะเกียบไม้คนไปเรื่อยๆ ไม่นานก็จะเริ่มมีอาการฟู ก็ถอดตะเกียบพร้อมยกออกจากไฟ  ขนมที่ได้จะแข็งกรอบ เอร็ดอร่อยอย่างน้อยก็สำหรับเด็กในยุคนั้นอย่างผม

ถ้าท่านใดพบเห็นที่ไหน จะกรุณาบอกกล่าวด้วยก็จะเป็นพระคุณยิ่ง ผมจะได้ไปหาซื้อมาทานรำลึกความหลัง


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 04, 11:25
 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว
ดิฉันทราบพระประวัติเพียงสั้นๆว่า ประสูติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2432  ในเจ้าจอมมารดาชุ่ม ทรงมีพระขนิษฐภคินีอีกองค์หนึ่งคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี  ประสูติเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2433  แต่มาสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 6 พระชันษาได้ 29 ปี  
ส่วนพระองค์เจ้าอาทรฯ พระชนมายุยืนยาวกว่านั้น สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2501

ขนมที่ว่าไม่รู้จักชื่อ   แต่นึกไปถึงขนมที่คุณแม่เคยทำให้กิน ทำด้วยไข่ขาว ผสมน้ำตาลทรายขาว ปั่นด้วยเครื่องตีไข่จนฟูเหมือนไอซิ่งหน้าเค้ก   จะใส่ผงโกโก้หรือกาแฟผงก็ได้ให้มีรสและกลิ่นตามนั้น    เอาเข้าเตาอบ มันก็ออกมาคล้ายขนมเค้กที่แข็งกรอบ อร่อยดีค่ะ  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 24 มิ.ย. 04, 15:03
 แสดงว่าพระองค์เจ้าอาทรฯประสูติแต่เจ้าจอมมารดาในสกุลไกรฤกษ์ใช่ไหมครับ

แล้วขนมของคุณแม่อาจารย์เทาชื่ออะไรละครับ ส่วนผสมคล้ายกัน แต่กรรมวิธีไม่เหมือน  รสชาดอาจต่างกันไปบ้าง น่าประจบอาจารย์ขอลองชิม แฮะๆ  น้ำยายไหย  ซูด....


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 04, 07:32
 เจ้าจอมมารดาชุ่ม   อยู่ในสกุลไกรฤกษ์ แต่ว่าคนละสายกับเจ้าพระยามหิธร  
ท่านเป็นเหลนทวดในสายพระอินท์อากรน้องชายพระยาไกรโกษา

บิดาของเจ้าจอมมารดาชุ่มชื่อพระมงคลรัตน์ราชมนตรี(ช่วง)  ปู่คือพระยาโชฎึกราชเศรษฐี(ทองจีน) ซึ่งเป็นบุตรชายคนสุดท้องของพระอินท์อากร  ค่ะ

ขนมที่ว่ามา คุณแม่หยอดไข่ขาวเป็นรูปเห็ด เลยเรียกว่าขนมเห็ด   เสียใจค่ะ ลูกสาวกินเป็นอย่างเดียว ทำไม่เป็น  พอคุณแม่จากไปตำรับเลยสูญไปพร้อมกับท่าน  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 25 มิ.ย. 04, 14:31
 ขอบพระคุณคุณเทาชมพูมากค่ะ  คนที่แขนหักคือ ลอร่าน้อย ที่คุณเทาชมพูเคยเห็นรูปน่ะค่ะ  เมื่อวานได้ไปหาหมอกระดูกใส่เฝือกถาวร  แทนเฝือกพลาสเต้อร์ชั่วคราวที่หักไปตั้งแต่ยังไม่ทันข้ามคืนแล้วค่ะ  เลยดีขึ้นมากเลยค่ะ

คุณถาวศักดิ์คะ ฟังดูแล้วเหมือน คุกกี้เมอแรง นะคะ  ทำไม่ยากหรอกค่ะ  เดี๋ยวดิฉันมีเวลาหายใจหายคอคล่องหน่อยแล้วจะถ่ายรูปจากหนังสือตำรากับข้าวมาให้ดูว่าใช่หรือเปล่านะคะ  ถ้าใช่หาตำราไม่ยากหรอกค่ะ  ทำง่ายมาก  โดยเฉพาะถ้ามีเครื่องตี(แบบอันเล็กๆใช้มือถือเอานะคะ  ไม่ต้องใช้แบบวิลิศมาหราหรอกค่ะ)  ไม่งั้นก็อาศัยฝึกให้กล้ามใหญ่ๆไว้ละได้กินแน่ค่ะ


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 25 มิ.ย. 04, 16:24
 คุณพวงร้อยคงหมายถึงขนมที่คุณแม่ของอาจารย์เทาฯทำ เป็นของชาติไหนหรือครับ

แต่ขนมโอชารสของผมนี่แปลก ไม่ต้องตีเลย เพียงนำไปอังไฟแล้วใช้ไม้(ตะเกียบหนึ่งข้าง)คนไปเรื่อยๆ  พอน้ำระเหยได้ที่ก็จะฟูขึ้นมาแข็งกรอบเอง  แต่ก็มีบ้างที่ไม่ฟู แห้งแข็งเป็นแผ่นติดอยู่กับภาชนะก็มี ต้องแคะทิ้งไป  พยายามถามหามานานแล้ว ยังไม่เคยพบเสียที


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 26 มิ.ย. 04, 03:12

คิดว่าก็คงใช้หลักการเดียวกันนั่นแหละค่ะ  โปรตีนในไข่ขาวพอถูกความร้อนแล้วจะแข็งกรอบ  เมื่อตีให้ฟองอากาศเข้าไปผสม  ก็ดันพองขึ้นเพราะอากาศร้อนขยายตัวดันผนังโปรตีนที่แข็งกรอบตั้งตัวได้  พอใส่น้ำตาลใส่รสต่างๆมันก็หอมกลิ่นไหม้นิดๆ หวาน มัน ตามสิ่งที่ใส่ไปน่ะค่ะ

ก็ของคุณแค่คนๆเอา  ไม่ได้ตีจนขึ้นฟู ซึ่งก็คือทำให้มีฟองอากาศเข้าไปผสมมากขึ้น  ในขนาดฟองที่เล็กลงมันเลยจะเนียนเนื้อกว่า  แต่คนเบาๆ  จำนวนอากาศเข้าไม่แน่ไม่นอนหรือบางทีก็ไม่พอที่จะดันขึ้น  บางอันมันถึงแฟ่บไปเพราะไข่ขาวก็แข็งกรอบไปตามธรรมชาติของมันเมื่อถูกความร้อน  จะมีฟองข้างในหรือไม่มีมันก็เหมือนกันค่ะ  แต่พอมีฟอง ผนังบางๆมันกรอบ  ทำให้ได้สัมผัสลิ้นต่างกันค่ะ  เพราะมันมี texture ที่ผิดกันมาก

ดูจากชื่อ Meringue น่าจะเป็นภาษาฝรั่งเศสนะคะ  ดิฉันก็ไม่ใช่เด็กศิลป์ ไม่เคยเรียนภาษาฝรั่งเศสเสียด้วย

ตัวอย่างของ คุกกี้เมอแรง จากเว็บนี้นะคะ(มีบอกสูตรด้วยค่ะ) http://www.joyofbaking.com/MeringueCookies.html  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 26 มิ.ย. 04, 03:18
วิธีของพี่เลี้ยงคุณถาวศักดิ์  เป็นภูมิปัญญาไทยที่น่าสนใจนะคะ  เมืองไทยไม่มีเตาอบ  ขนมนมเนยต่างๆที่รับมาจากชาวตะวันตกที่นิยมอบกัน  คนไทยก็คิดหาวิธีทำให้ออกมาได้ใกล้เคียงต้นตำรับโดยไม่ต้องอาศัยเตาอบเอา  

การอบอาหารด้วยเตา  อาศัย การพาความร้อน  ผ่านโมเลกุลของอากาศ  เข้ามาสัมผัสกับเนื้ออาหาร  เมื่ออยู่ในเตาปิดแบบนั้น  อากาศร้อนก็วนเวียนรอบอาหารโดยทั่ว  ถ้าเราไม่มีเตาอบ  เอาตักใส่ช้อนมาอังๆไฟแบบที่พี่เลี้ยงของคุณทำ  ก็อาศัยแรงมือหมุนไปให้ขนมได้รับความร้อนพอทั่ว  และต้องทำทีละอันๆละเล็กๆ  ซึ่งเปลืองเวลากว่าหยอดทีเดียวทั้งถาดไปอบ  แต่เอาละ เมื่อเราไม่มีเครื่องใช้แพงๆ  เอาแรงงานเข้าสู้แล้วได้กินเหมือนกัน  ก็เป็นการคิดค้นที่น่าทึ่งอยู่มากนะคะ  เพราะคนคิดทำขึ้นมา  ต้องเป็นคนช่างสังเกตมากทีเดียว  ถึงจะเข้าใจธรรมชาติของสารพวกนี้ได้น่ะค่ะ


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 04, 08:00
 ชอบวิธีอธิบายการทำขนมในเชิงวิทยาศาสตร์ของคุณพวงร้อยมากค่ะ
เก๋ดีจัง  ไม่เคยอ่านจากใครมาก่อน
ตอนนี้ลอร่าคงค่อยยังชั่วแล้วนะคะ  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 04 มี.ค. 05, 10:00
 เจ้าจอมมารดาชุ่มป็นเจ้าจอมที่ได้สด็จต่างประเทศกับพระพุทธเจ้าหลวง และท่านเป็นน้องของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลพ (บ้านของท่านที่ใช้ถ่ายหนังหลายเรื่องไงอยู่ในสำนักงานตรวจบัญชีกองทัพบก)


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 04 มี.ค. 05, 10:02
 บ้านของท่านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลพ ที่ใช้ถ่ายหนังหลายเรื่องไง


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 04 มี.ค. 05, 10:04
 บ้านของท่านหลังที่2  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 04 มี.ค. 05, 10:13
 บ้านท่านหลังแรกครับ  


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 04 มี.ค. 05, 10:20
บ้านของพระยาบุรุษ เป็นสถาปัตยกรรมแบบสมัยพระเจ้าวิคตอเรียมีลวดลายสวยงาม  ในหน้าต่างเป็นลาปูนปั้นรูปใบผักกาด พอเข้าไปในบ้านจะเห็นบันไดลักษณะวน3รอบ เป็นลายไม้แกะสลัก คล้ายของวังเทเวศน์ มีห้องหลายห้อง และมีห้องที่สวยที่สุดคือห้องรับแขกของท่าน เพดานทำด้วยลวดลายแกะสลักสีสวยงามมาก พออกมาจากห้องจะติดต่อกับสวนไม้ระแนง สมัยปี 2544 ทรุดโทรมมาก สำนักงานตรวจบัญชีกองทัพบก ต้องบำรุงไว้ ภายนอกเสร็จในปี2546 เริ่มบำรุงภายในจนเสร็จปี2548


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 04 พ.ค. 05, 21:09
 รู้สึกว่าเจ้าจอมมารดาชุ่มจะมีเชื้อไขเป็นญาติกับคูณเปรมแน่เลย เพราะเจ้าคุณปู่ของคุณเปรมก็เป็นเจ้าพระยาโชฏึก


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ค. 05, 07:40
 พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เป็นตำแหน่งของเจ้ากรมท่าซ้าย  ใครได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้ากรม   ก็ใช้ราชทินนามนี้  
จึงมีพระยาโชฎึกฯ หลายท่าน   ในหลายสกุล ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5   อย่าง ไกรฤกษ์ โชติเสถียร  โชติกะพุกกะนะ เป็นต้น


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 พ.ค. 05, 10:17
 ขอแก้ไขครับ  จากพระราชบันทึกประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ทรงเล่าว่า เสด็จในกรมราชบุรีฯ ไม่ได้เฝ้าฯ รัชกาลที่ ๕ เลยตราบจนเสด็จสวรรคต  ได้แต่มาเฝ้าเวลาเสด็จออกขุนนางที่พระที่นั่งอภิเศกเสิตแต่เกรงพระราชอาญาจึงไม่ได้เฝ้าตราบจนสิ้นัชกาล  ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ จึงได้โปรดให้กลับเข้ารับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการตราบจนสิ้นพระชนม์

ส่วนกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมนั้น  นอกจากเสด็จในกรมฯ แล้ว  ยังรวมถึงพระโอรสที่ถูกห้าเฝ้า


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: เงินปุ่นสี ที่ 28 ก.พ. 06, 09:12
ขุนหลวงพระยาไกรสีฯ ที่เป็นคุณตาคุณมารุต บุนนาคคือ ขุนหลวงพระยาไกรสีฯ (เปล่ง เวภาระ) ครับ ภริยาท่านชื่อคุณหญิงทองคำ บุตรีคนท่านคนหนึ่งชื่อคุณผ่องศรีเป็นภรรยาของพระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) ซึ่งเป็นบิดาของคุณมารุต บุนนาค

ขุนหลวงพระยาไกรสีฯ (เปล่ง เวภาระ) ท่านนี้ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ส่วนงานพระราชทานเพลิงศพมาจัดในปี พ.ศ.๒๕๒๖ เหตุผลที่ช้าไปกว่า ๘๐ ปี ก็อย่างที่คุณน้าชูได้เขียนไว้ครับ

[ข้อมูลนี้ได้มาจาก หนังสืองานศพของขุนหลวงพระยาไกรสีฯ (เปล่ง เวภาระ), พ.ศ.๒๕๒๖]


กระทู้: เจ้าพระยามหิธร
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 28 ก.พ. 06, 18:37
 ขุนหลวงพระยาไกรศรี (เปล่ง  เวภาระ) นี้  เป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ  เสียดายที่ท่านอายุน้อยมิฉะนั้นคงได้เป็นเจ้าพระยาเสนบดีเป็นแน่ครับ