เรือนไทย

General Category => ชมรมอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 10:29



กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 10:29
ขออนุญาตเปิดกระทู้แรกหลังจากสมัครสมาชิกห้องชมรมอนุรักษ์จิตรกรรมไทยเลยนะครับ สืบเนื่องจากช่วงปีใหม่ผมมีโอกาสได้ไปเที่ยวพม่า ที่คนโบราณท่านเรียก "มรัมเทศ" คู่กับ "รามัญเทศ" คือเมืองมอญ ได้เห็นอะไรหลายต่อหลายอย่าง โดยเฉพาะฝีมือช่างไทยที่ตกค้างมาตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 กระทู้นี้ผมเคยเปิดมาแล้วในพันทิป แต่ไม่ได้ัจัดรายละเอียดมาก เพราะความสนใจที่นั่นค่อนข้างกว้าง ถ้าเป็นบอร์ดเฉพาะกิจอย่างที่นี่ น่าจะลงรายละเอีัยดได้มากกว่าครับ


สำหรับวัดที่ไปชมมาครั้งนี้ ชื่อ มหาเต่งดอจี อยู่ที่เมืองสะกาย (Sagaing) ครับ ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้จิตรกรรมไทย น่าจะเคยรู้จักมาก่อน หลังจากเป็นข่าวโด่งดังมาเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา อันนี้ก็ต้องยกเครดิตให้กับหนังสือของ ม.ร.ว. สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ เรื่อง “ชาวอยุธยาที่เมืองสะกาย” ที่จุดประกายประเด็นเกี่ยวกับจิตรกรรมฝีมือช่างไทยในพม่าขึ้น รวมทั้งรายงานข่าวของคุณอรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล ที่สำรวจพบจิตรกรรมลักษณะแบบสกุลช่างอยุธยา ที่เมืองสะกายและเมืองมินบู เคยลงในวารสารเมืองโบราณมาก่อน โดยได้กล่าวว่า โบสถ์นี้เดิมชื่อ ยวนเต่ง หรือ โบสถ์ของชาวยวน  (ยวนคือ โยนกล้านนานั่นเอง) แต่ฝีมือช่างข้างในเป็นฝีมือแบบกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย อาจจะช้าไปบ้างถ้าเอามารีวิวกันตอนนี้ แต่เห็นใจเถอะครับว่ากว่าจะไปได้ก็ต้องรอว่างเว้นจากงานการเสียก่อน


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 10:30
ทิวทัศน์แม่น้ำเอยาวดี หรืออิรวดี เมืองสะกายครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 10:32
ที่เมืองสะกาย (Sagaing) มณฑลมัณฑะเลย์ มีวัดเล็กๆวัดหนึ่ง ชื่อมหาเต่งดอจี มองข้างนอกก็คล้ายๆกับวัดพม่าทั่วๆไป ถ้าไม่ได้เข้าไปข้างในจะไม่รู้เลยว่า ภายในมีร่องรอยที่เลือนรางของวิญญาณจากกรุงศรีอยุธยาติดค้างอยู่ กว่าจะหาวัดเจอได้ก็นานโขเหมือนกัน เนื่องจากสะกายมีเจดีย์จำนวนมหาศาล แล้วแต่ละวัดแม้จะมีขนาดใหญ่อลังการแค่ไหน ก็มีชื่อซ้ำๆกันไปหมด ก็เหมือนกับบ้านเรานั่นเอง เพราะเขามีชื่อยาวหลุดโลกไว้ชื่อหนึ่ง ปากชาวบ้านจำไม่ได้ เรียกไม่ถนัด ก็ตั้งให้อีกชื่อ เหมือนวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ใครๆก็เรียกวัดโพธิ์กันทั้งนั้น (ซึ่งทั้งชื่อวัดพระเชตุพน และวัดโพธิ์ ก็เป็นชื่อโหลทั้งคู่) เพราะฉะนั้น ใครไปพม่าก็จะเจอวัดชื่อโหลทั้งสิ้น อย่าง จ๊อกตอจี กูบยวกจี ชเวกูจี ยาดานาเซดีย์ ต้องกำหนดให้แน่ว่าอยู่จังหวัดไหน หมู่บ้านไหน มหาเต่งดอจี แห่งนี้ก็เป็นชื่อโหลๆเหมือนกัน พอหาวัดเจอก็ขอให้คนขับรถชาวพม่าไปขอกุญแจโบสถ์ ซึ่งพระคุณเจ้าปองคยีท่านทั้งหลายก็อำนวยให้แต่โดยดี


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 10:35
โบสถ์ ภาษาพม่าคือเต่ง เพี้ยนมาจากคำว่า สีมา เขาออกเสียง ส ไม่ได้จะออกเป็น ท สีมาเวลาเรียกเร็วๆเข้าก็จะกลายเป็ย สิม เหมือนที่ตามภาคอีสานใช้คำนี้เรียกโบสถ์ แล้วทีนี้ พม่าออกเสียงตัวสะกด ม แม่กมไม่ได้อีก จากสิมก็กลายเป็น “เต่ง” จนได้ สำหรับวัดนี้ ชื่อว่า มหาเต่งดอจี แปลไทยพอกล้อมแกล้มได้ว่า วัดมหาอุโบสถาราม เรียกบ้านๆ ก็วัดโบสถ์ใหญ่ อะไรทำนองนั้น


ในพม่า โบสถ์จะมีขนาดเล็ก และมีไม่กี่วัดที่มีโบสถ์ เนื่องจากใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์เท่านั้น บางครั้งหลายๆวัดจะมีโบสถ์สักวัด ถ้าตุ๊เจ้าจะทำสังฆกรรมก็เดินมาจากวัดข้างเคียง มาลงอุโบสถได้ทันเวลา ลักษณะนี้ก็คล้ายๆบ้านเราสมัยก่อน แถวล้านนาหรือสุโขทัย แม้แต่สมัยอยุธยาตอนต้น โบสถ์แทบไม่มีความสำคัญ มีขนาดเล็ก บางวัดก็ไม่มี หรือมีก็โยกย้ายไปอยู่นอกแผนผังหลัก กลับไปให้ความสำคัญกับวิหาร อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เปิดให้สาธุชนกราบไหว้มากกว่า เพราะการสร้างโบสถ์สักหลังนั้น มีพิธีกรรมยุ่งยากซับซ้อนยิ่งนัก กว่าจะผูกพัทธสีมาเรียบร้อย หากผูกไม่เรียบร้อยก็ต้องรื้อแก้ จัดการผูกใหม่อีก บางครั้งมีเจ้ากูนิกายใหม่มา ก็จัดการผูกซ้ำเข้าไป กลายเป็นมีเสมาของหลายนิกายปะปนกันในโบสถ์เดียว

 
มีเรื่องที่ขำไม่ออกอยู่ในตำนานมูลศาสนาวัดป่าแดง เชียงตุงว่า วัดสวนดอก เชียงใหม่ เป็นวัดที่ต้องผูกและแก้พัทธเสมากันถึง 4 รอบ ด้วยเหตุผลต่างๆกัน ผมจำได้แค่เหตุผลประการเดียว คือ มีพระรูปหนึ่งมาลงอุโบสถไม่ทัน เนื่องจากท้องเสีย แล้วปิดบังความอำยวนไว้ถึง 16 ปี จึงสารภาพ ปรากฏว่าสังฆกรรมที่ทำมาตลอด 16 ปีก็ต้องกลายเป็นโมฆะหมด พระที่บวชในโบสถ์นั้นก็ถือว่าเป็นพระไม่สมบูรณ์ไป แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของเจ้ากูสมัยโบราณท่านกระทบกระทั่งกันด้วยต่างนิกาย เราเป็นฆราวาสผู้ครองเรือนไม่พึงไปเกี่ยวข้อง พอแค่นี้ดีกว่าครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 10:37
เอาล่ะ ตุ๊เจ้าท่านเปิดประตูให้แล้ว เข้าไปก็เป็นห้องเล็กๆธรรมดา ก่ออิฐถือปูน แต่ที่ไม่ธรรมดาคือมีตามเพดานเขียนภาพจิตรกรรมโบราณเอาไว้ทั้งสิ้น แม้บริเวณผนังจะลบเลือนไปแล้วตามกาลเวลา ก็ยังเหลือลมหายใจเอาไว้บ้างบนพื้นเพดาน มันน่าประหลาดเหมือนกับว่าเป็นการสื่อสารระหว่างคนสองยุคที่พยายามบอกอะไรบางอย่างแก่เรา น่าเสียดายที่เห็นได้ชัดว่า ช่างที่สร้างสรรค์งานชิ้นนี้ ไม่น่าจะเป็นช่างกรุงศรีอยุธยาแท้ๆแล้ว แต่น่าจะเป็นช่างรุ่นลูกหรือลูกศิษย์มากกว่า เนื่องจากกระบวนลายที่แตกออกมาบางลาย แม้ว่าจะพยายามทำให้เป็นลายกนก แต่ก็ไม่เหมือน ยังแข็งๆและผิดรูปแบบไปบ้าง ขณะเดียวกัน ก็มีลายพม่าปะปนเข้ามามาก แต่เราก็ยังเห็นเชื้อไฟบางอย่างที่แสดงถึงศิลปกรรมเฉพาะของสยามได้เป็นอย่างดี อาจจะเป็นไปได้ว่ามีครูช่างคอยควบคุมอีกที จะเหมือนจะต่างยังไงนั้น ลองมาดูกันครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 10:39
อันแรกเลยที่เป็นไทยแท้ๆพม่าไม่มีแน่ๆ คือยอดปรางค์ครับ เห็นนพศูลชัดเจน เสียดายที่ภาพลบเลือนไปมาก แต่เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ปรางค์ครั้งกรุงเก่าของเรา นอกจากยอดเป็นนพศูลแล้ว ด้านบนสุดยังมีฉัตรวลี ซ้อนชั้นเล็กๆประดับอยู่

ช่างครูท่านคงคิดถึงบ้านครับ ที่เมืองม่านไม่มีปรางค์ให้ไหว้


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 10:44
อันนี้เป็นลายกนกเปลวไหลเลื้อยตามโครงกรอบของเพดานหน้าจั่ว อยู่ด้านหลังพระประธาน ปกติแล้ว เท่าที่เราพบเห็นในประเทศไทย ผนังหลังพระประธาน (สกัดหลัง) มักนิยมเขียนภาพโลกสัณฐาน มีเขาพระสุเมรุ สัตตบริภัณฑ์ สวรรค์ นรก อะไรทำนองนั้น แต่ที่นี่เขียนลายกนกเปลวพลุ่งพล่าน ไม่ใช่ภาพเล่าเรื่อง ทำนองเดียวกับวิหารวัดใหม่ประชุมพล อยุธยา มีแกนกลางเป็นช่อหางโตประกาบลายสิงห์คาบ นกคาบ แต่ที่วัดใหม่ประชุมพลเป็นกนกแบบที่ น.ณ ปากน้ำท่านเรียกว่า กนกไฟพะเนียงแตก พื้นที่วัดใหม่ก็ลงสีแดงฉ่ำ ผิืดกับที่ีนี่ซึ่งเ้ป็นพื้นขาว

ที่กรอบล่าง พยายามทำกระจังเลียนแบบไทย แต่กลิ่นก็เป็นพม่าไปมากแล้ว โดยรวมฉากนี้สวยครับ ยกเว้นกนกบางตัวยังเก้งก้างอยู่บ้าง คงเป็นช่างชั้นศิษย์ที่ไม่เคยเห็นของจริงในเมืองไทย


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 10:47
ดูกันชัดๆนะครับ (หรือไม่ชัดหว่า) ใต้ลายกนกเป็นสังเวียนคั่น พื้นสังเวียนเขียนลายก้านขดทำนองเดียวกับวัดเกาะ เมืองเพชรเลย (แต่คิดว่าที่ไหนๆก็ทำ เพราะมันได้แบบมาจากลายผ้า)


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 10:51
ฉลองครบ 200 anniversary ครับ อิอิอิ

สังเวียนลายก้านขดครับ สังเกตว่าจะมีลายนกหงอน หันหน้าไปทางด้านซ้าย กับกระรอกเงยหัว ซ้ำกันไปซ้ำกันมาทั้งวัด กระรอกตัวไหนก็เงยหัวชูหาง นกก็หันเหมือนกัน สงสัยช่างท่านจะปรุฉลุลายเอาบนกระดาษแล้วค่อยแจกเด็กลูกศิษย์ไปทาบเอาเอง


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 10:59
สุดยอดของที่นี่ครับ บริเวณผนังเหนือประตูทางเข้า เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับในปราสาท 7 ยอด ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลาย โดยเฉพาะยอด 7 ยอดนั้น ดูคล้ายคลึงกับมณฑปพระพุทธบาทก่อนที่จะรวมให้เป็นกระพุ่มยอดเดียวในสมัยพระเจ้าเสือ ปัจจุบันจะหาอาคารทรงอย่างนี้คงมีแต่พระที่นั่งมหิศรปราสาท แต่ก็เป็น 5 ยอด หรือธรรมาสน์ต่างๆตามวัด กับตู้มุกในหอพระมณเฑียรธรรม สังเกตดูฐานแอ่นโค้งเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะอยุธยาตอนปลายทีเดียวครับ

กาบล่างของปราสาทหลังนี้ ยังเป็นกาบไผ่อยู่ มิได้สะับัดเป็นเปลวเหมือนกาบพรหมศร ด้านข้างขนาบด้วยเครื่องสูงอย่างไทย ทั้งฉัตร 5 ชั้น กรรชิง บังแทรก ส่วนตุงหรือพระบฏนั่นคงฝีมือมอญ ยอดเป็นหงษ์ด้วย ช่างเขียนองค์ประกอบต่างๆของสถาปัตยกรรมได้ถูกต้อง จนสงสัยว่าพม่าจะยกธรรมาสน์กลับมาด้วยหรือเปล่า แต่ของยังงี้ก็อยู่ในหัวจิตหัวใจช่างครูอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนที่พลัดบ้านพลัดเมืองมาไกลขนาดนี้


โดยปกติ ในพม่าที่ร่วมสมัยกับอยุธยาตอนปลาย นิยมเขียนภาพโลกสัณฐาน (เขาพระสุเมรุ) ไว้ที่ผนังด้านหน้าพระประธาน สลับกับบ้านเราที่นิยมเขียนภาพมารวิชัยหรือกองทัพมาร ที่มหาเต่งดอจีนี้ แม้จะไม่เขียนภาพโลกสัณฐาน ที่มีภาพพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ในพุทธประวัติตอนโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่การเขียนภาพพระพุทธเจ้าประทับในปราสาท ที่มีฐานเป็นชั้นๆ ประดับด้วยครุฑ นาค เทวดา อาจหมายถึงภพภูมิของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ที่อยู่ตีนเขาพระสุเมรุ และแทนปราสาทนี้ในฐานะไพชยนต์ของพระอินทร์ที่อยู่บนเขาพระสุเมรุนั่นเอง


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 11:02
ดูยอดปราสาทชัดๆ มีเหมปลีซุ้มรังไก่หลังคาลาดครบครัน แถมตกท้องช้างอีก


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 11:04
อ๊ะลืม เอาลายไทยๆมาเปรียบเทียบให้ดู ขอแทรกนะครับ วัดไผ่ล้อม ศรีวัชรปุระครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 11:05
ภาพอดีตพุทธประทับนั่งบนฐานบัวผ้าทิพย์ครับ ผ้าทิพย์นี้เราได้แบบอย่างมาจากเขมรตอนปลาย ซึ่งในพม่าไม่มี หน้าตาท่าทางพุทธลักษณะต่างๆเป็นแบบไทยทั้งสิ้น ยกเว้นการขัดสมาธิเพชรเพียงอย่างเดียวที่เป็นแบบพม่า หลังพระเศียรจะเห็นฉพรรณรังสี หรือรังสี 6 สีที่เปล่งออกมาจากพระวรกาย ก็เป็นแบบไทยแท้เช่นกัน


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 11:08
ของพม่ากั้นระหว่างอดีตพุทธด้วยกรรชิงครับ บ้านเราคั่นด้วย ก้านพุ่มข้าวบิณฑ์ในกระโถน (ไม่คิดว่าน่าจะเป็นพัดยศ สมัยนั้นคงยังไม่มีพัดทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ น่าจะเป็นเพียงพัดหน้านาง)

วัดช่องนนทรีครับ ุถ่ายไม่ชัดเลย


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 11:09
เทียบกับพม่าดู จิตรกรรมสมัยนยองยานครับ ก่อนหน้าที่มหาเต่งดอจีนิดนึง เขาใช้กรรชิงคั่น


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 11:19
จบแ้ล้วครับ แต่ร่องรอยศิลปะไทยในพม่ายังมีอีกเยอะเชียว บางอย่างเขาก็รับไปแล้วเปลี่ยนให้เป็นของตัวเอง แต่ก็ดูออกชัดเจนว่าน่าจะมีที่มาจากศิลปะไทย เช่น เีครื่องทรงพระพุทธรูปต่างๆ จิตรกรรมบางอย่างเป็นไทยจ๋าทีเดียว รวมทั้งภาพจับจากเรื่องรามเกียรติ์ด้วย

ลองถามนักโบราณคดีพม่าดู เขาก็ว่าไทยกับพม่ามีคอนเนคชั่นทางวัฒนธรรมกันตลอด (ซึ่งเรื่องนี้ คนไทยไม่ค่อยคิด คิดแต่ว่าเราเกลียดพม่าเพราะเขาเผา้บ้านเมืองเรา หรือไม่ก็คิดว่าอะไรๆในเมืองไทยได้อย่างมาจากเขมร)

นักโบราณคดีคนนี้แกบอกต่อไปอีกว่า แกคิดว่า หลังพุกามแตก คนพม่าก็แตกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งอพยพไปยะไข่ อีกกลุ่มอพยพไปสุโขทัย เพราะฉะนั้น ทั้งสองที่จึงมีอิทธิพลศิลปะพุกามค่อนข้างมาก ซึ่งอันนี้ผมก็เห็นจริงด้วยส่วนหนึ่ง

แกยังแนะนำให้ไปดูเจดีย์ไทยที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ห่างจากเมือง Halin ซึ่งเป็นไซท์ปยู ไปประมาณ 24 กิโล แต่ถนนแย่มาก ต้องใช้รถจิ๊ปไป พวกเราเลยหมดปัญญา


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ม.ค. 10, 11:21
ติดตามเข้ามาดูที่นี่ด้วยครับ

เป็นกระทู้ที่ยอดเยี่ยมจริงๆ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 11:24
ขอบคุณที่ติดตามมานานครับ คุณนวรัตน์


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 09 ม.ค. 10, 11:43
สุดยอดเลยครับ ขอบคุณมากๆที่นำมาให้ชมกับข้อมูลละเอียดๆนะครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 09 ม.ค. 10, 12:28
ดีจังครับผม คิดถึงกระทู้เรื่องเที่ยวพม่าของท่านวิทยากรบางท่าน ครับผม
มานิต


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ม.ค. 10, 13:40
อันนี้เริ่มคล้ายไทยครับ ใช้ก้านพุ่มข้าวบิณฑ์คั่นระหว่างอดีตพุทธ ผมก็ลืมนับจำนวนมาด้วยว่ากี่องค์


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 09 ม.ค. 10, 15:52
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: ฉันรักบางกอก ที่ 11 ม.ค. 10, 11:09
อ่านเพลินเลยค่ะ เคยอ่านเจอในเมืองโบราณ แต่คราวนี้ได้ชมภาพเต็มๆ ขอบคุณมากเลยค่ะ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 11 ม.ค. 10, 12:55
สนใจคห.15 ที่ว่า "หลังพุกามแตก คนพม่าก็แตกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งอพยพไปยะไข่ อีกกลุ่มอพยพไปสุโขทัย" อยากหาความรู้ต่อเรื่อง กลุ่มที่อพยพมาสุโขทัย ครับผม โปรดแนะนำเอกสารด้วยครับผม
มานิต


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 11 ม.ค. 10, 17:35
ที่บอกว่าหลังพุกามแตกแล้วคนพุกามไปอยู่ที่ยะไข่กับสุโขทัยนั้น เป็นความคิดของนักโบราณคดีท่านนั้นเองครับ แกบอกว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้

ส่วนตัวก็เห็นด้วยเล็กน้อย เพราะในเอกสารทางเหนือยังมีตำนานเกี่ยวกับพญามังรายเสด็จไปได้ช่างจากเมืองพุกามมาสร้างเมืองเชียงใหม่

ทั้งศิลปะสุโขทัยและล้านนาก็มีัอิทธิพลศิลปะพุกามอยู่ไม่ใช่น้อย

ในศิลปะสุโขทัยเห็นได้ชัดๆก็เช่น วัดเก้ายอด ที่ศรีสัชนาัลัย วัดศรีชุม etc. ที่อนันทะเจดีย์ก็มีจารึกสุโขทัย

ในศิืลปะล้านนาก็เช่น วัดอุโมงค์ทั้ง 2 แห่้ง วัดล่ามช้าง วัดป่าสัก วัดสองพี่น้อง etc.


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 11 ม.ค. 10, 20:09
สมชิกชมรมของเราเริ่มมีมากขึ้นแต่โอกาสพบปะกันยังน้อยมาก เพราะต่างมีภาระกิจกันมากมาย แต่หลายๆท่านก็มีของดีของงามมาอวดกันอยู่เสมอๆ รายละเอียดของที่นี่ผมเคยโพสต์จากข้อมูลในหนังสือเมืองโบราณไปแล้ว นี่มาได้จากสมาชิกที่ไปเห็นกับตาถ่ายจากสถานที่จริงด้วยตนเอง ต้องขอชมเชยว่าเยี่ยมยอดครับ ตอนนี้หัวหน้าชมรมการงานรัดตัว หนี้สินรุงรัง555555555555 เลยต้องขอมุ่งหากินก่อน แต่ข้อมูลยังมีอยู่เพียบรอวันว่างเมื่อไร ทริป4คงเกิดขึ้น แต่กำลังงอนๆอยู่ว่าสมาชิกที่เคยไปด้วยกันหนีไปเที่ยวปักษ์ไต้กันมาเงียบเลย อิจฉาๆ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: ฉันรักบางกอก ที่ 12 ม.ค. 10, 04:07
ก็หัวหน้าชมรมทำตัวลึกลับนี้นา....ช่วงนี้เลยกระจายเท่ียวกันเองก่อน

หวังว่าหัวหน้าฯสบายดีนะคะ.

ยังไงก็สวัสดีปีใหม่ย้อนหลังด้วยนะคะ ขอให้ปลดหน้ีได้ไวๆจะได้รวมตัวกันอีกสักทีคะ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 12 ม.ค. 10, 12:23
ขอบพระคุณครับผม ผมขอเข้าสมาคมคนเป็นหนี้ ด้วยคนซิครับ
มานิต


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: asia ที่ 12 ม.ค. 10, 23:35
วันหลัง เราจัดทัวร์ไปเมืองพม่ารามัญมั่งดีมัยครับ จะได้ไปตามหาเชื้อสายชาวกรุงศรี ที่ถูกเทครัวไป


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 10:08
ไปดูกันต่อดีกว่าครับ คราวนี้จะเป็นเรื่องของฝีมือตกทอดของช่างครั้งกรุงเก่า คงไม่ใ่ช่ช่างครูไทยแท้ๆแล้ว แต่เป็นรุ่นลูกศิษย์ที่รับวิชาต่อๆกันมา ยังรักษาเอกลักษณ์บางอย่างที่ดูเป็นไทยไว้ ในพม่าเอง ยังมีศัพท์ที่ใช้เรียกลายไทยเหล่านี้ ว่า กนกโยเดีย ส่วนใหญ่ศิลปกรรมเหล่านี้จะอยู่ในสมัยราชวงศ์คองบอง หลังพระเจ้าช้างเผือกมังระชินพยูชินตีกรุงศรีอยุธยาได้ในพ.ศ.2310 และกวาดต้อนช้างม้าผู้คน รวมทั้งช่างฝีมือกลับกรุงรัตนปุระอังวะ

งานช่างของไทยคงเป็นของประณีตมากในอุษาคเนย์สมัยนั้น จึงปรากฏว่า ศิลปะพม่าหลายแขนงมีอิืทธิพลไทยปรากฏอยู่ ทั้งระบำรำฟ้อน งานเขียนงานวาด งานแกะสลัก หลายๆอย่างยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้

ตามไปดูของคุ้นหูคุ้นตากันดีกว่าครับ


อันนี้น่าจะเป็นของไม่เก่ามากครับ คุ้นๆไหมครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 10:15
ช่างพม่าหรือช่างไทยก็คง represent ฉากธรรมชาติออกมาคล้ายๆกัน


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 10:30
คุ้นๆไหมครับ ช้างกินใบไผ่


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 10:33
รูปสัตว์น้ำ หลายๆตัวเป็นสัตว์ผสมคล้ายๆบ้านเรา จากวัดจ๊อกตอจี เมืองอมรปุระครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 10:34
ฝรั่งนั่งกินเหล้าในเรือ คล้ายๆจิตรกรรมสมัยร.4


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 10:42
แถววิทยาธรถือช่อดอกไม้เหาะอยู่บริเวณด้านบนของภาพ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 10:44
ตอนแรกก็คิดว่ามันจะบังเอิญเหมือนหรือเปล่า เพราะเป็นฉากธรรมชาติทั่วไป


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 10:48
การเอาพระบาทไปไว้บนหลังคาเป็นเอกลักษณ์ของพม่าตั้งแต่สมัยเมืองพุกาม และใช้ต่อๆกันมา ในเมืองไทยเห็นมีแต่ที่วัดบางอ้อยช้าง


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 10:57
พระบาทบนเพดานศาลาการเปรียญวัดบางอ้อยช้างนี้ น่าจะมีอายุประมาณ ร.3-ร.4 เป็นเครื่องไม้เก่าที่ยกมาประกอบใหม่ ก็น่าจะร่วมสมัยกับวัดจ๊อกตอจีที่สร้างโดยพระเจ้าพุกามแมง ในพ.ศ.2390


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 11:04
ถ่ายลำบากเพราะอยู่ค่อนข้างสูงครับ เวลาก็มีน้อย


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 13 ม.ค. 10, 20:26
สุดยอดครับ  :o
การถ่ายเทรูปแบบของศิลปะในภูมิภาคนี้คงเป็นเรื่องปกติ เรื่อยๆมาตั้งแต่โบราณ ไม่มีกีดกั้นคั่นแบ่งกันให้เป็นปัญหา
เป็นเรื่องที่น่าชื่นใจนะครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 13 ม.ค. 10, 20:50
ขอบคุณสำหรับภาพสวยๆครับ อยากให้สมาชิกนำภาพถ่ายมาลงกันมากๆเพื่อเป็นความรู้ซึ่งกันและกันครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 22:52
จะำพยายามหามาลงเท่าที่ทำได้นะครับ ยินดีที่มีสมาชิกสนใจเรื่องราวของศิลปกรรมต่างๆ

ต่อไปพามาชมจิตวิญญาณศิลปะไทยที่ตกค้างในกรุงรัตนปุระอังวะบ้าง

กรุงอังวะเป็นเมืองหนึ่งในภาคเหนือของพม่า ที่เคยดำรงตำแหน่งราชธานีมายาวนาน กว่าราชธานีแห่งอื่นๆในพม่าเหนือ ไม่ว่าจะเป็น อมรปุระ ชเวโบ มัณฑะเลย์ จนกระทั่งสมัยหนึุ่่ง ใครๆก็รู้จักประเทศพม่าในชื่อของกรุงอังวะ เหมือนที่ใครๆก็รู้จัก สยาม ในชื่อ กรุงศรีอยุธยา แต่ทุกวันนี้ รัตนปุระอังวะ มีสภาพรกร้างยิ่งกว่ากรุงศรีอยุธยา วัดวาก็ปรักหักพัง พระราชวังก็เหลือแต่ซาก ทางจะไปก็ลำบากต้องนั่งเรือข้ามฟากเข้าไป แล้วต่อรถม้า


วัดบะกะยะจอง (Bagaya monastry) เป็นวัดไม่กี่แห่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในกรุงรัตนปุระอังวะ สร้างจากไม้สักทั้งหลัง พม่าเขาถือว่าเป็นคลังที่รวมมรดกของชาติทีเดียว สร้างในพ.ศ.2377 (ร่วมสมัยรัชกาลที่ 3) ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าบาจีดอ โดยใช้เสาไม้สักถึง 267 ต้น ต้นที่สูงที่สุดสูงถึง 60 ฟุต



กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 22:55
นี่เป็นปราสาทหรือปยั๊ดตั๊ดของวัดครับ ไม้แกะหลุดร่วงไปแล้ว


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 22:58
พามาดูร่องรอยศิลปะไทยสกุลช่างอยุธยาที่ร่วมสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เมืองอังวะครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 13 ม.ค. 10, 23:02
ข้างในแสงน้อยมาก ไม่รู้ตุ๊เจ้าท่านอยู่กันได้ยังไง อันนี้ดาวเพดานเหนือพระเศียรพระพุทธรูปครับ คล้ายๆคติบ้านเราที่บางวัดจะทำดาวเพดานเฉพาะห้องที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเท่านั้น อย่างวัดใหญ่สุวรรณาราม หรือวัดนางกุย (อยากเห็นภาพดาวเพดานวัดนางกุยชัดๆจังครับ ใครมีช่วยแบ่งปันกันหน่อย)


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 19 ม.ค. 10, 01:36
เคยไป มัณฑเลย์ มาหนึ่งครั้งนั่งเรือข้ามฝากไป พระราชวังกรุงอังวะ มองเห็นเมืองสกายไกลๆ วิหาร เจดีย์ จำนวนมากมายบนเทือกภูเขา ทอดต้วขนาบแม่นำ้ ในบรรยากาศตอนเช้าๆหน้าหนาว สวยมากๆๆครับ ดูกระทู้นี้แล้วอยากกลับไปเที่ยวอีก
ชอบตรงที่นักวิชาการชาวพม่าท่านนั้นที่บอกว่าในอดีต ไทย เเละพม่ามีความสัมพันธ์ติดต่อเเลกเปลี่ยนกันตลอด เเต่ตอนหลังเรามัวติดภาพความคิดที่ว่าเราแพ้สงคราม ถูกเผาเมือง ที่สำคัญคิดว่า ไทยและพม่า
อยู่ร่วมยุคร่วมสมัยกันมาโดยตลอด นับถือศาสนาพุทธนิกายกัน มีหลายสิ่งที่คล้ายกันมากๆ
ผมเคยไปพุกามสองครั้ง เห็นจิตรกรรมฝาฝนังที่นั่นแล้วอยากจะคลั่งตาย ทั้งเก่าเเก่มาก ทั้งใหญ่โต มีเยอะเห็นได้ทุก วิหาร เจดีย์ เเละสำคัญคือสมบูรณ์เอามากๆ รูปเเบบใก้ลเคียง สมัยสุโขทัย อยุธยายุคต้น ทีเดียว


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 19 ม.ค. 10, 09:46
จิตรกรรมฝาผนังพม่าเป็นของอลังการที่หลงเหลือข้ามกาลเวลามาได้อย่างน่าอัศจรรย์ครับ บางชิ้นร่วมสมัยกับนครวัดแต่ยังสมบูรณ์กว่าในกรุวัดราชบูรณะ ที่เราตื่นเต้นกันเป็นนักหนา อีกหลายพันชิ้นที่ร่วมสมัยกับศิลปะบายน ซึ่งเก่าแก่กว่าสุโขทัยร่วมร้อยปี

ที่สุโขทัยเองมีจิตรกรรมเหลือก็นับชิ้นได้ อย่างวัดศรีสวาย วัดเชตุพน วัดมหาธาตุ วัดเก้ายอด วัดเจ็ดยอด คิดดูก็น่าน้อยใจแทนศิลปะไทยนะครับ

พุกามเคยไปครั้งหนึ่งครับ อารมณ์ตอนนั้นก็คล้ายๆคุณชัยชนะ ตื่นเต้นไปกับจิตรกรรมฝาผนังมาก เสียอย่างเดียวคือเขาไม่ค่อยมีลูกเ่ล่นมาก องค์ประกอบเจดีย์ ปูนปั้น จิตรกรรมส่วนใหญ่ทำตามจารีต ว่าจะไปอีกเดือนเมษานี้ครับ อาจจะอยู่สักสิบวัน จะได้ตามเก็บให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็เหลือกินครับ บางวัดไปยากมาก อยู่บนเขา อยู่ใต้ดิน ถนนแย่ จะไปปั่นจักรยานไปก็ไม่ไหว ว่างๆจะลองเอารูปมาให้ชมกันบ้างครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 19 ม.ค. 10, 09:52
เคยไปพุกามในช่วงออกพรรษาพอดี เขามีงานรับเสด็จพระพุทธเจ้าลงจากดาวดึงส์ คล้ายๆงานของพวกพราหมณ์รับพระรามกลับเมืองเลย ทั้งเมืองมีแต่เสียงสวดมนตร์ เสียงพิณพาทย์ ขบวนแห่ยาวเป็นกิโลๆภายใต้พระจันทร์เต็มดวง ทุกคนมุ่งหน้าไปยังชเวสิกง เจดีย์หลวงของเขา งามเหมือนลอยอยู่กลางอากาศ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 19 ม.ค. 10, 09:55
เขาไหว้พระกัน เนื่องจากพม่าขาดแคลนไฟฟ้า เขาก็ใช้เทียนกัน ให้บรรยากาศโบราณดีแท้


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 19 ม.ค. 10, 09:58
กลุ่มแม่ชีนักสวดรอบเจดีย์ฉปัฏ ตั้งตามชื่อพระเถระที่ไปลังกากลับมา สร้างเจดีย์ทรงลังกาขึ้นในพุกาม เจดีย์องค์นี้ถือกันเป็นธรรมเนียมว่าเป็นต้นแบบเจดีย์วัดอุโมงค์ที่เชียงใหม่


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 19 ม.ค. 10, 10:00
ชเวสิกงอีกสักรูปนะครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 19 ม.ค. 10, 10:07
พุกามในวันฟ้าใส เจดีย์องค์นี้ถ้าจำไม่ผิดจะชื่อจุฬามณี


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 19 ม.ค. 10, 10:09
ไปหน้าหนาว ฟ้าใสมากครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 19 ม.ค. 10, 10:11
ฟ้าลุ่มอิรวดีเวลาสายัณห์


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 19 ม.ค. 10, 10:14
อ๊ะ นอกเรื่อง ไม่มีจิตรกรรมเลย แต่เข้าไปวัดไหนก็มีจิตรกรรมทั้งนั้นครับ เหลือมากเหลือน้อยแล้วแต่ที่


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 19 ม.ค. 10, 10:17
กินรีดีดเพลี้ย (เปี๊ยะ) ซึ่งสืบทอดมาจากศิลปะอินเดียแบบปาละ รูปนี้ไม่ค่อยชัดเลยครับ เขาจะอยู่เป็นคู่กัน อีกตัวหนึ่งจะตีฉิ่ง


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 19 ม.ค. 10, 10:24
พระบาทบนเพดานสมัยเมืองพุกาม วัดนี้ชื่อกู่ยวกจีมยิงกบา เป็นวัดสมัยพุกามตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 17 ติดกลิ่นอายแบบอินเดียมามาก โดยเฉพาะการให้ลายเรขาคณิต ค่อนข้างคล้ายกับจิตรกรรมใบลานสมัยปาละและทิเบตภาคกลางยุคต้น


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 20 ม.ค. 10, 02:38
ภาพสวยๆกับบรรยากาศทำให้น่าศรัทธา มากๆครับ ... (ฟ้าลุ่มอิระวดีสวยมากมาย)

ส่วนภาพเขียนทำให้นึกถึงภาพเขียนในสมัยอยุธยาตอนต้นของเรานะครับ น่าตื่นตาตื่นใจจริงๆ
ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ยังไม่เคยไปต่างประเทศ โลกทัศน์อาจจะยังแคบอยู่ เห็นในทีวีก็เลยมักมองเห็นสิ่งดี
ของบ้านเมืองคนอื่นเขา แล้วก็ประทับใจเป็นธรรมดาครับ

ความรุ่งเรื่องของพม่าในอดีตไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว ไม่ว่าเราหรือเขาก็ต่างผ่านจุดเลวร้ายมา และยังคงต้องต่อสู้ต่อไป

"หากเรามองสายฝนที่ตกลงมาจากท้องฟ้า ก็จะเห็นสายฝนแต่ละสาย ที่ยึดถือแบ่งแยกกัน ว่านี่คือเรา....นี่คือเขา
แต่แท้ที่จริงแล้วก็คือหยดน้ำมากมาย  มี่ตกลงมาจากท้องฟ้าเดียวกัน...และที่สุดก็ไหลไปรวมอยู่ที่เดียวกัน  
ธรรมะของพระพุทธองค์มุ่งสอนให้เห็นถึงความจริงในข้อนี้  เพื่อให้เราเลิกยึดถือแบ่งแยกกัน ว่านี่คือเรา นี่คือเขา
เมื่อไม่ยึดถือแบ่งแยก  ชีวิตก็จะปราศจากความทุกข์ นั่นก็คือนิพพาน.."

ปล.ลักจำมาจากภาพยนตร์ครับ




กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 10:59
สวัสดีครับคุณ virain

คนพม่าเป็นมิตรกับคนไทยมาก เขายังคิดว่าเขาเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับเรา (ไม่รู้โดนยอหรือเปล่า) เรียกว่าเป็น "Brother" เลยทีเดียว เขาว่าสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าบุเรงนองด้วยกันทั้งนั้น

แต่ก็เหมือนกับเรานั่นแหละครับ ที่คิดว่าเราเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับลาว ทั้งๆที่เขาไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย ทั้งหมดเป็นผลมาจากกระบวนการสร้างชาติในยุคหลังอาณานิคมทั้งสิ้น ไม่มีอะไรจะรวมให้คนเป็นหนึ่งเดียวกันได้ง่ายเท่ากับมีประัวัติศาสตร์ร่วมกัน เพราะคนในดินแดนที่ฝรั่งขีดเส้นไว้ให้ มีร้อยแปดพันเก้า ต่างกันทั้งภาษา ชาติพันธุ์ ศาสนา มีจุดร่วมเดียวกันที่เหมือนกันก็แค่อยู่ใน "เ้ส้นเขตแดนแผนที่" เดียวกันเท่านั้นเอง

และเป็นธรรมชาติของคน ที่เมื่อมีศัตรูร่วมกัน ก็จะรวมกันเป็นพวกพ้องกันได้ จึงไม่มีอะไรง่ายไปกว่าจะโยนความเป็นศัตรูให้ประเทศข้างเคียง โดยการสร้างประวัติศาสตร์แบบสงครามขึ้นมา

ดังนั้น "เรา" อันเป็นผลพวงของการศึกษาแบบล้าหลังคลั่งชาติ จึงไม่เคยเรียนประัวัติศาสตร์แบบอื่นเลย นอกจากประวัติศาสตร์สงคราม ราวกับว่าในอดีตไม่มีอะไรทำก็ฆ่ากันเลย ปล้นกัน เผาเมืองกัน ไม่เคยได้รู้จักความเป็นเครือญาติพี่น้อง ทั้งๆที่การแต่งงาน (การเมือง) เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และทั้งเราทั้งเขา ก็ไปมาหาสู่กันได้โดยไม่ต้องมีวีซ่าพาสปอร์ต


หลักฐานงานศิลปะบอกเราได้ครับ เขากวาดต้อนช่างไปก็ไม่ได้เอาไปต้มยำทำแกง แต่ให้เกียรติในฐานะผู้มีฝีมือ ครอบครององค์ความรู้ที่ซับซ้อนประณีตกว่า


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 11:06
ทุกวันนี้ เราก็ยังโดนครอบงำด้วยประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นจากส่วนกลาง ทั้งๆที่ไม่ได้สำเหนียกเลยว่า คนที่มานั่งแค้นเคือง หรือเขียนประวัติศาสตร์เหล่านั้นขึ้นมา มีบรรพบุรุษเป็นเจ๊กโล้สำเภามาจากซัวเถา กวางสีกวางตุ้งเมื่อไม่เกินช่วงต้นรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเสียกรุงอยุธยาสักหนิด

บรรพบุรุษผมเอง สายหนึ่งก็เป็นเจ๊กโล้สำเภา เหมือนกับคน"ไทย" อีกหลายล้าน โดยเฉพาะในกรุงเทพพระมหานคร ผู้ครอบครองประวัติศาสตร์ส่วนกลาง ซึ่งก็ไม่น่าอายสักนิดนึง เพราะไม่เคยเห็นใครสักคน (รอบๆตัวนะครับ) ที่ปู่ย่าอากงไม่ได้มาจากเมืองจีน


เอาอะไรจีนๆปนไทยในเมืองม่านมาให้ชมกัน ลองทายๆกันนะครับว่าอะไรเป็นไทยเป็นจีน (ผมว่าบางอย่างก็เหมือนพวกจามปา)


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 20 ม.ค. 10, 17:25
ครับผม..
ผมเองก็ไม่ได้รู้มากอะไรหรอกครับ ยังคงต้องใช้เวลาศึกษาต่อไปอีกนาน
ขอเข้ามาเดาว่าเขาปั้นลายคล้ายๆลายหน้ากระดานของไทยครับ ...?


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 19:59
ผมว่ามันเหมือนขาสิงห์นะครับ แต่เอาไปดัดๆให้เป็นพม่าแล้ว


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 ม.ค. 10, 20:38
น่าสนใจมากครับ

ขอเอาภาพปากแม่น้ำอิรวดีจากทางอากาศมาแจมครับ เพิ่งจะถ่ายมาช่วงหลังปีใหม่นี้เอง เห็นแล้วไม่สงสัยเลยที่เขาว่ากันว่าพื้นที่นี้มีศักยภาพในการผลิตข้าวสูงกว่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเสียอีก



กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 20 ม.ค. 10, 20:43
ก็ใช่นะครับ แต่รวมๆแล้วก็ดูเหมือนแนวความคิดจะไปแนวๆเดียวกันนะครับ :D ;D



กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 20 ม.ค. 10, 20:50
แม้ว่าทุกวันนี้ จะยังสรุปไม่ได้ว่าขาสิงห์มาจากไหน ทั้งจีน อินเดีย เขมร (ส่วนตัวเชื่อว่าค่อนไปทางเขมร) แต่ก็ไม่มีใครบอกว่ามาจากพม่า ก็เลยเชื่อว่าพม่าน่าจะรับจากไทยช่วงกรุงแตกนี่เอง แต่ก็เห็นอยู่น้อยมาก

สวัสดีครับ คุณ CrazyHOrse ดีใจที่ได้คุยกันอีก พม่ามีศักยภาพปลูกข้าวสูงครับ ในสมัยเมืองพุกามเอง เขาไม่ได้ปลูกข้าวในบริเวณเมืองพุกามครับ เขามีแหล่งปลูกข้าวเฉพาะของเขา ที่เมืองจ๊อกเซ และมินบู ซึ่งอยู่ทางเหนือขึ้นไปอีก 60 กิโล ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำโบราณของพม่า

ที่เมืองมินบูนี่้สำคัญ เพราะมีจิตรกรรมไทยที่คล้ายคลึงวัดช่องนนทรีมาก ถ้ามีโอกาสก็อยากไปสักครั้ง


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 20 ม.ค. 10, 22:40
ภาพจาก คห59 มีความเห็นว่าคล้ายลวดลายพันธ์ุพฤกษาในศิลปะไทยช่วงพุทธศตวรรษท่ี่ 21-22 ซึ่งได้รับความนิยมในศิลปะ ล้านนา อยู่ก่อนโดยมีศิลปะจีนปะปนอยู่ไม่น้อยส่งต่อมาที่  สุโขทัย อยุธยา ตามลำดับ
สรุปเเล้วภาพลายปูนปั้นจากที่ไหน ยุคไหน เเปลกดี
ลายปูนปั้นจาก วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ ต้นพุทธศตวรรษท่ี่ 21ในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช



กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 20 ม.ค. 10, 22:58
ไปถึงพุกามมองไปด้านไหนก็เจอเเต่เจดีย์ วิหาร เเทบทุกเเห่งมีจิตรกรรมอยู่ภายใน มากบ้าง น้อยบ้าง


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 20 ม.ค. 10, 23:09
บางแห่งถึงแม้จะอยู่ไกลสักแค่ไหน เเทบทุกที่ก็จะมีคนเฝ้าดูเเลอยู่ ดอกไม้ไม่เคยแห้งคาเเจกัน เข้าชมภายในต้องถอดรองเท้า เดินเท้าเปล่าทุกที่ และเค้ารักษาสภาพแวดล้อมได้ดีมาก ไม่ให้ปลูกสรร้างบ้านเรือนใกล้ชิด บดบังโบราณสถานเลย


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 20 ม.ค. 10, 23:11
วิหาร และลายปูนปั้น


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 20 ม.ค. 10, 23:20
ซุ้มประตู ประกอบจากวงโค้งวซ้อนกัน (เคล็ก)ประดับด้วยใบระกาทรงสูง ( ฝักเพกา )


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 20 ม.ค. 10, 23:24
ฝักเพกา แทรกลายปูนปั้นรูปเทวดาภายใน



กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 20 ม.ค. 10, 23:29
ปลายกรอบซุ้ม มกร นึกถึง สุโขทัย


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 20 ม.ค. 10, 23:42
เข้าเรื่อง..รูปเเบบดังกล่าวปรากฏอยู่ใน ศิลปะหริภุญชัย อย่างชัดเจนเเสดงว่าทั้งสองอณาจักรมีความเกี่ยวข้องศิลปกรรมร่วมยุคกันอย่างน้อย พุทธศตวรรษที่ 16

ซุ้มจระนัม เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี ลำพูน



กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Chaichana-13 ที่ 20 ม.ค. 10, 23:46
ฝักเพกา....ที่ซุ้มจระนัม (เคล็ก) เจดีย์กู่กุด


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 ม.ค. 10, 00:12
ขอบคุณคุณ Chaichana-13 ที่ช่วยมาแต่งเติมกระทู้กันนะครับ

สำหรับปูนปั้นนั้นมาจากวัดมหาธาตุ เมืองอมรปุระ (จริงๆมันไม่ได้ชื่อมหาธาตุ แต่เป็นวัดประจำเมืองขนาดใหญ่ที่สุด เลยของเรียกมหาธาตุ)

อายุสมัยก็ประมาณอยุธยาตอนปลาย ถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น น่าจะหลังเสียกรุงครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Agonath ที่ 21 ม.ค. 10, 13:59
เข้ามาติดตามชมครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 ม.ค. 10, 20:13
สวัสดีครับคุณ Agonath ดีใจที่เข้ามาชมกันมากๆครับ

อันนี้เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง เครื่องทรงมงกุฏ ชายผ้าหน้านาง มีรัดประคดปั้นเหน่ง คล้ายพระทรงเครื่องไทยมาก (แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว) 8)


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 ม.ค. 10, 20:15
องค์ข้างบนอยู่ที่เมือง Halin เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญของพม่า

เทียบกับพระทรงเครื่องพม่าแท้ๆ อันนี้เป็นพระกรุงอังวะครับ ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะทิเบต ???


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 21 ม.ค. 10, 23:20
โอ้โห.. :o อย่างกับพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนปลายเลยครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 ม.ค. 10, 23:41
ที่พม่ามีหลายองค์ที่เหมือนพระทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่องค์นี้ผมคิดว่าเหมือนสุด เลยเอามาให้ชมกัน


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 03 ก.พ. 10, 23:15
วันนี้มีพาดพิงถึงจิตรกรรมสมัยราชวงศ์ตองอู-นยองยาน ซึ่งเป็นจิตรกรรมร่วมสมัยอยุธยาตอนกลาง-อยุธยาตอนปลาย คือราชวงศ์ของพระเจ้าบุเรงนอง ถึงหลานของบุเรงนอง ที่พม่าส่วนใหญ่จะเหลือแต่สมัยหลังบุเรงนองครับ บางวัดจะมีจารึกว่าสร้างเก่าถึงร่วมสมัยสุโขทัย (ราวๆพญาลิไท) แต่ไม่ทราบว่าจะหมายถึงตัวจิตรกรรมด้วยหรือไม่

จิตรกรรมพวกนี้เอามาลงให้ลองเปรียบเทียบกับจิตรกรรมสมัยราชวงศ์คองบอง ซึ่งตีกรุงศรีอยุธยาแตก และเกิดการปฏิวัติจิตรกรรมขึ้นในพม่าทีเดียว รูปแบบนี้จะสูญไปหมด กลายเป็นเขียนหน้า เขียนมงกุฏแบบไทยแทน (แต่ยังติดเค้าพม่า)

รูปแรก พระเจ้าตรัสใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 03 ก.พ. 10, 23:18
พม่าเขาจัดองค์ประกอบให้สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ปูนปั้น ประติมากรรม สัมพันธ์กันหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่สมัยอยุธยาเคยให้ความสำคัญ แต่ไม่ค่อยพบในสมัยรัตนโกสินทร์

ไม่ทราบว่าเป็นสัตตมหาสถานสัปดาห์ที่เท่าไหร่ อาจเป็นสัปดาห์ที่ 2 พระเป็นเจ้าประทับยืนจ้องต้นโพธิ์


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 03 ก.พ. 10, 23:20
พระพรหมถือแส้ ที่นี่พรหมมีหน้าเดียวครับ คติพรหมในพุทธศาสนามีหน้าเดียว แต่เวลาแสดงออกเป็นศิลปกรรมมักสับสนกับพราหมณ์ พรหมทั้งในพม่าและไทยจึงมีทั้งหน้าเดียวและสี่หน้าปะปนกัน แล้วแต่ยุคสมัย แต่บางสมัยก็ปนๆกัน


ข้างล่างมีคนเป่าแคนด้วยครับ แต่แคนพม่าสูญไปแล้ว ของเรายังพบอยู่ในสมุทรโฆษบ้าง ว่าใช้ในภาคกลางด้วย


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 03 ก.พ. 10, 23:23
พระวิสยันดรหลั่งทักษิโณทกยกรถให้พราหมณ์..


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 03 ก.พ. 10, 23:25
พระเจ้าตัดเกศ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 03 ก.พ. 10, 23:26
ดาวเพดานลายงูไขว้กันเป็นตะแหลว ดูเหมือนพวกอาหรับๆยังไงไม่รู้


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: virain ที่ 03 ก.พ. 10, 23:30
เหมือนการ์ตูนซะจริงด้วย  ก็ดูน่ารักดี  ;D


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: asia ที่ 03 ก.พ. 10, 23:50
แอบมาเที่ยมชม ครับ สนุกมากๆๆ ยังไม่นอนกันหรือครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 04 ก.พ. 10, 02:33
เห็นจิตรกรรมที่โพวินตองแล้วนึกขึ้นได้ว่าเขาลงสีได้เรียบมาก
บางทีแทบจะไม่เห็นรอยทีแปรงเลย ว่าลูบพู่กันยังไง
ในขณะที่จิตรกรรมไทยหลายที่ เช่น วัดเกาะแก้วสุทธาราม
เวลาเข้าไปดูใกล้ๆจะเห็นรอยแปรงเวลาทาสีชัดมาก
เลยสงสัยว่าทำไมรอยพวกนี้ถึงมีมาก-น้อยต่างกัน

แต่โดยส่วนตัวเขียนภาพสีฝุ่นไม่เป็นครับ
เลยขออนุญาตเรียนถามเพื่อนสมาชิกในห้องท่านอื่นๆ
ที่เขียนภาพเป็นแทนจะดีกว่า เพราะคาใจมานานแล้วครับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: ohm md ที่ 19 ก.พ. 10, 18:49
ขาสิงห์มาจากไหน เปอร์เซียโบราณก็มีภาพสลักหิน พระราชานั่งเก้าอี้ แต่ขาเก้าอี้ทำเป็นแข้งสิงห็นะคับ


กระทู้: ไปชมร่องรอยฝีมือช่างครั้งกรุงเก่า ณ มรัมเทศครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 21 ก.พ. 10, 18:22
สวัสดีครับคุณโอม ขาสิงห์ไทยนี้มีวิวัฒนาการมายาวนาน จะบอกว่ามาจากไหนก็ยังยาก (จีนหรือเขมร) แต่ขาสิงห์พม่าที่ยกมานี้ เป็นตัวอย่างที่พบน้อย และมีอายุอยู่ในช่วงราชวงศ์คองบองแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังเสียกรุง ดังนั้น การที่พม่าเพิ่งเริ่มทำขาิิสิงห์ ก็อาจแปลความได้ว่า ได้แบบมาจากไทยนั่นเองครับ