เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: UP ที่ 24 มี.ค. 06, 18:44



กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 24 มี.ค. 06, 18:44

ด้วยเหตุว่าวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๙ นี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีอายุ ๘๙ ปีนับจากวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๙ ประจวบเหมาะกับการที่ผมได้พบภาพหนังสือแบบเรียนโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งมีวิวัฒนาการต่อมาเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน เลยขออนุญาตนำภาพหนังสือเรียนโรงเรียนมหาดเล็ก และเอกสารอื่นๆ ที่น่าสนใจซึ่งเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยมาให้ชมกันครับ

......

เล่มแรกคือ รเบียบการโรงเรียนมหาดเล็ก

หนังสือเล่มนี้ มหาวิทยาลัยได้นำมาพิมพ์โดยวิธีถ่ายจากต้นฉบับ เผยแพร่เป็นหนังสือที่ระลึกในโอกาสฉลอง ๘๔ ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ๕ ปีก่อน


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 24 มี.ค. 06, 18:45

โคลงพระราชนิพนธ์เฉลิมหลักสูตรของโรงเรียนฯ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 24 มี.ค. 06, 18:49

บรรทึกจัดการโรงเรียนมหาดเล็ก รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

เข้าใจว่าหนังสือรายงานกิจการประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพิมพ์เผยแพร่อยู่ทุกปีนั้น น่าจะมีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาจากบรรทึกจัดการแต่ครั้งกระนั้น


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 24 มี.ค. 06, 18:51

ดูชื่อตำราแล้วน่าเรียนทีเดียว "ลำดับพระบรมราชวงษ์" ชาวเรือนไทยคงอยากลงเรียนวิชานี้กันอยู่ไม่น้อย


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 24 มี.ค. 06, 18:55

วิชานี้ก็น่าเรียนครับ ..."ราชาศัพท์"

เมื่อเห็นพิจิตรเรขาตราพระเกี้ยวที่พิมพ์อยู่บนหนังสือแต่ละเล่มแล้ว รู้สึกว่าจะมีหลากหลายลักษณะ ทั้งองค์พระเกี้ยว พระเขนยรอง และรัศมีก็แตกต่างกันไป ดูงามแปลกตาดีเหมือนกัน ที่สำคัญคือผมรู้สึกว่าตราพระเกี้ยวในยุคก่อนนั้นมองดูเป็นสามมิติมากกว่ารูปตราพระเกี้ยวในปัจจุบัน


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 24 มี.ค. 06, 19:12
 โรงเรียนมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง วิชาเรียนก็คือวิชาอย่างมหาดเล็กของพระเจ้าแผ่นดินพึงเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นราชาศัพท์ การขานพระนามเจ้านาย กิริยามารยาทในราชสำนัก การตั้งเครื่องเสวย การทำหนังสือราชการ ฯลฯ

การรับราชการสมัยก่อนส่วนมากก็เห็นจะเริ่มต้นด้วยการเป็นมหาดเล็ก เพราะมหาดเล็กคือผู้ได้ใกล้ชิดเบื้องพระบรมบาทยุคล มีโอกาสได้เรียนรู้พระราชบริหารของพระมหากษัตริย์ จนรู้พระราชอัธยาศัยและพระบรมราโชบาย พระมหากษัตริย์ก็ทรงไว้วางพระราชหฤทัยได้สนิท เป็นเหตุให้ทรงมอบหมายให้ออกไปปฏิบัติบริหารราชการในแขนงต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา "โรงเรียนมหาดเล็ก" ให้เป็น "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ ผมขอเรียกว่าเป็นทุติยราชกรณียกิจเพื่อการศึกษาของชาติที่ยิ่งใหญ่แห่งรัชสมัย เพราะเมื่อเสวยราชย์แล้วนั้น ปฐมราชกรณียกิจเพื่อการศึกษาเห็นจะเป็นการสถาปนา "โรงเรียนมหาดเล็กหลวง" ซึ่งต่อมาคือวชิราวุธวิทยาลัย ครั้นอีก ๒ วันต่อมา จึงทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ

ต่อมาอีก ๖ ปี จึงทรงประดิษฐานขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๙


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 24 มี.ค. 06, 19:15

เอกสารแผ่นนี้ไม่ใช่ยุคโรงเรียนมหาดเล็ก แต่เป็นข้อบังคับหอสมุดกลาง จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในยุคที่สมาชิกเรือนไทยหลายท่านในที่นี้อาจยังได้ทันเรียนทันเห็นกัน


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 24 มี.ค. 06, 21:04
 ขอบคุณครับคุณ UP


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 24 มี.ค. 06, 22:22
 ขอบพระคุณครับ น่าสนใจจริงๆ  


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 06, 08:31
 ขอบคุณค่ะ
ข้อบังคับหอสมุดกลาง - ไม่เคยเห็นค่ะ  สมัยอ.สุกิจเป็นบรรณารักษ์  ยุคไหนนะนี่
มีกระทู้ที่เกี่ยวข้องกัน เลยขอทำลิ้งค์ให้เข้าไปอ่าน
 http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K4188385/K4188385.html

ความเห็นที่ ๖ ข้อ ๗ ผิดค่ะ
7. เมื่อก่อนชื่อ "จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" ไม่มีการันต์ เป็นคำสมาสที่ไม่ได้อ่าน กะ-ระ-นะ อ่านว่า" กอน " เฉย ๆ แต่มาสมัยจอมพล ป. รัฐบาลชุดนั้นก็ได้มาเปลี่ยนให้มีตัวการันต์ เพราะเขาบอกว่า ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องอ่าน " กะ-ระ-นะ " ก็เลยต้องมีตัวการันต์จนถึงปัจจุบันนี้ -_-"

การใส่การันต์ ไม่ได้ทำในสมัยจอมพล ป.  ทำในสมัยนี้ละค่ะ
แต่จำไม่ได้ว่ารัฐบาลชุดไหน  
เหตุผลก็ไม่ใช่อย่างที่บอกข้างบนนี้  แต่เป็นเพราะเมื่อแรกตั้ง  ชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการันต์ ค่ะ
หลังจากใช้แบบไม่การันต์มาหลายสิบปี  ก็ย้อนกลับไปมีการันต์อีกครั้งเหมือนในชื่อเริ่มแรก

ขอถามสมาชิกเรือนไทยที่ผ่านรั้วสีชมพูมา  สมัยคุณเรียน  จุฬาฯ ใส่การันต์แล้วหรือยังคะ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 25 มี.ค. 06, 09:29
 หลักฐานเรื่องชื่อของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรากฏในกฎหมายจัดตั้งองค์กร มีดังต่อไปนี้ครับ

๑. พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๘๖

๒. พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖

๓. พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๑

๔. พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๗

๕. พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๙

๖. พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๐๒

๗. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๗๖ ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

๘. พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๒๒

จะเห็นได้ว่าสะกด "จุฬาลงกรณ" แบบไม่มีการันต์ ในระหว่างการบังคับใช้ของพระราชบัญญัติฉบับที่ ๔, ๕ และ ๖ ซึ่งคงอยู่ในระหว่างประมาณพุทธศักราช ๒๔๙๗ ถึง ๒๕๑๔

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ผมยังไม่สามารถค้นประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๗๖ มาอ่านได้ จึงไม่ทราบว่าในประกาศดังกล่าวใช้ว่า "จุฬาลงกรณ" หรือ "จุฬาลงกรณ์"

แต่สรุปได้แน่ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแบบมีทัณฑฆาตบน ณ เณร นั้น เพิ่งกลับมาเติมใหม่เมื่อประมาณ ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ใช่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นแน่

สมัยผมเรียนก็มีการันต์เรียบร้อยแล้วแน่นอน แต่น่าแปลกที่ป้ายสำนักอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริมถนนพญาไทในสมัยที่ผมเรียนอยู่นั้นยังไม่มีการันต์เลยครับ สังเกตได้ว่าเพิ่งมาเติมทัณฑฆาตบน ณ เมื่อสองสามปีมานี้เอง


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 25 มี.ค. 06, 09:34
 ส่วนคำกล่าวที่ว่ารัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม "เติม" ทัณฑฆาตนั้น ผมเข้าใจว่าผู้กล่าวเช่นนั้นสับสน จึงกลับข้อเท็จจริงให้กลายเป็นตรงกันข้ามเสียสิ้นเชิง

แท้จริงแล้วน่าจะเป็นยุคที่ "ตัด" ทัณฑฆาตเสียมากกว่า เพราะพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ฉบับที่ ๔ นั้นออกในพุทธศักราช ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นสมัยที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 06, 09:36
ตามที่คุณ UP ยกมา ก็แสดงว่าชื่อมหาวิทยาลัย มีการันต์บ้างไม่มีการันต์บ้าง สลับกันเป็นช่วงๆ
การันต์มาก่อน  ต่อมาการันต์หายไป  และก็กลับมามีการันต์อีก

ป้ายสำนักอธิการบดีคงทำขึ้นในยุคไม่มีการันต์    พอการันต์กลับมา ป้ายก็เลยตกยุค ไม่ทันปรับเข้ากับยุคสมัย

ยุคคุณ UP กับคุณจ้อ  เป็นยุคการันต์กลับมาแล้ว
ส่วนยุคคุณ นกข. มีหรือเปล่าไม่ทราบ  ถ้ามีการันต์ก็น่าจะเป็นว่า"การันต์ รีเทิร์นส์"ยุคประมาณนี้


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 25 มี.ค. 06, 11:21
 ดีใจ ยังนับได้ว่าหนูอยู่ยุคเดียวกับน้องจ้อค่ะ อาจารย์    


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มี.ค. 06, 07:49
 เมื่อวานไปงานครบรอบสถาปนาจุฬาฯครบ ๘๙ ปี  ไปถึงตอนหกโมงเย็น    พบด้วยความอัศจรรย์ใจว่าถนนหน้ามาบุญครองว่างเสียยิ่งกว่าเวลาสองยาม    
รถราวิ่งกันฉิวลิ่วโล่ง   เลี้ยวเข้าสยามสแควร์  ผู้คนเดินกันโหรงเหรง  มีที่จอดรถเหลือว่างหลายที่ตามลานจอด  
เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของเย็นวันอาทิตย์ ปกติแน่นเอี้ยดจนบางทีเขาปิดไม่ให้รถเข้า

งานที่จุฬาฯ เงียบเหงา  ผู้คนมาน้อยมากยิ่งกว่าปีไหนๆ    ดิฉันไปถึงตอนหกโมงเกือบจะเปลี่ยนใจกลับบ้านเสียแล้ว
เพราะนึกว่าไม่มีเพื่อนฝูงมาแน่ๆ
พบว่ามาไม่กี่คน  ปกติรุ่นเราจะสปิริตแรง  งานคืนสู่เหย้ามักจะมากันเต็มสามโต๊ะ

เข้าใจว่าส่วนใหญ่ไม่มาเพราะเกรงรถติด เนื่องจากได้ข่าวว่ากลุ่มพันธมิตรไปตั้งขบวนที่สนามกีฬาแล้วเดินไปจนถึงเอมโพเรียม
ในตอนกลางวัน
แต่ถ้ามีเหตุยืดเยื้อถึงเย็น หรือเปลี่ยนเวลามาเป็นเย็น   การจราจรจะติดขัดอย่างหนัก

อีกกลุ่มที่ไม่มา ก็อาจเป็นได้ว่าไปรวมขบวนกับเขาเสียแล้ว

ในงานนี้ไม่เห็นนิสิตเก่าที่อยู่ในวงการเมืองปัจจุบันเลยละค่ะ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 27 มี.ค. 06, 09:41
 ได้แต่หวังว่าบรรยากาศของงาน ๙๐ ปีจุฬาฯ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่น่าจะได้เฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นพิเศษนั้น บรรยากาศจะไม่เป็นอย่างปีนี้ครับ

...เห็นคำว่า "สองยาม" ขอบคุณเทาชมพูแล้วก็สะท้อนใจครับ เพราะที่บ้านผมใช้คำนี้ตลอดเมื่อหมายถึงเที่ยงคืน แต่หลังๆ มาผมพูดกับเพื่อนตลอดจนน้องๆ ไม่ค่อยจะเข้าใจเพราะคำคำนี้ เพื่อนๆ และน้องๆ ทั้งหลายที่ได้ยินมักจะหันมาถามผมว่า "ตีสองเหรอ??"


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 27 มี.ค. 06, 09:41
 ขอแก้ไข "ขอบ" ในความเห็นที่ ๑๕ เป็น "ของ" ครับ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มี.ค. 06, 19:34
 เพิ่งรู้ว่า สองยาม เป็นอีกคำหนึ่งที่ตกหล่นไปกับกาลเวลาเสียแล้ว

เอาเถอะ ยังดีที่เหลือคำว่า "ตีสอง" อยู่   ไม่กลายเป็น
"2 a.m. เหรอ?"


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: (*-*)...βĬĠZ ที่ 27 มี.ค. 06, 19:49
 ชอบข้อมูลเก่าๆ ของจุฬาฯ มากๆครับ
ขอบคุณรุ่นพี่ทั้งหลายที่นำความรู้มาเผยแพร่ครับ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 มี.ค. 06, 10:21
 เพิ่งทราบเหมือนกันว่า เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่เขาไม่เข้าใจว่า สองยาม แปลว่า 24.00 น. เสียแล้วเหรอ?

คำว่า ยามหนึ่ง สามยาม นั้นหายไปจากภาษานานมากแล้ว นี่สองยามก็จะตามไปเสียแล้วหรือ?

ตอนเช้า ดูเหมือนตอนนี้คนรุ่นใหม่ก็พูดกันลงเป็นระเบียบเดียวกันหมด คือ 06.00 น. (โบราณเรียก ย่ำรุ่ง) ก็เป็นหกโมงเช้า แล้วก็เจ็ดโมง แปดโมง .... ไปโดยลำดับ ก็ดีครับ ไม่สับสน

เพราะเด็กรุ่นผมยังทันได้ยินอีกระบบหนึ่ง ที่นับตั้งแต่หกโมงเป็นศูนย์คือจุดตั้งต้น (แต่หกโมงเองไม่เรียกศูนย์โมง) แล้วเรียกเจ็ดโมงว่า โมงเช้า แปดโมงว่า สองโมงเช้า ... จนถึงสิบเอ็ดโมงก็เรียกห้าโมงเช้า พรือเพล เที่ยงก็เป็นเที่ยง ระบบสองระบบนี้ถ้าคนพูดคนฟังไม่เข้าใจกันก็อาจสับสนได้มาก เพราะพอพูด "สี่โมงเช้า" คนพูดก็หมายความว่าสิบโมง คนฟัง ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ อาจนึกว่าเป็นตีสี่ คือ 4 am. แต่คนรุ่นเก่าเขาจะเรียก 04.00 น. ว่าตีสี่ จะไม่เรียกสี่โมงเช้าเด็ดขาด


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: pharmaceutical scientist ที่ 28 มี.ค. 06, 14:07
 เพิ่งรู้นะครับ ว่าทางภาคกลางก็เรียก 8.00 น. ว่า สองโมงเช้า
นึกว่าเป็นภาษาของคนอีสานคนบ้านนอกเสียอีก
เพราะเมื่ีอก่อนผมอยู่ที่บ้าน(ที่อุบล)ก็พูดแบบนี้กันประจำ
พอเริ่มเข้าโรงเรียนเข้ามหาวิทยาลัยก็มีเพื่อนๆหรืออาจารย์ พูดว่า 7.00 น. คือ เจ็ดโมงเช้า
ถ้าพูดว่า หนึ่งโมงเช้่า เขาไม่จะเข้าใจกัน เลยกลายเป็นว่าเราไม่กล้าพูดอีกเลยเวลาคุยภาษากลางกับเพื่อนๆที่ไม่ใช่คนพื้นถิ่น


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Karine!! ที่ 28 มี.ค. 06, 14:23
 ภูมิใจจัง
ขนาดเราต้องอ่านประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัย เพื่อที่จะใช้ตอบคำถามรุ่นพี่ในห้องเชียร์ ยังไม่ทราบถึงขนาดนี้เลย
ขอบคุณนะค่ะ


(อิ อิ กลายเป็นเรื่องการเรียกเวลาไปแล้ว)


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 28 มี.ค. 06, 16:49
 ทางภาคกลางก็ "เคย" เรียก 8.00 น.ว่าสองโมงเช้า ครับ

คือภาคกลางรุ่นเก่าๆ ครับ เดี๋ยวนี้ไม่เรียก หรือที่จริง ไม่เรียกมานานแล้วครับ พอๆ กับที่เลิกเรียกหกโมงว่าย่ำรุ่งไปแล้ว

หลักฐานอยู่ในบทร้อยกรองสอนภาษาไทยรุ่นเก่าเก๋ากึ๊ก อยู่ในแบบเรียนเด็กประถมยุคโบราณด้วย ซึ่งผู้แต่งตำรากระทรวงศึกษาฯ ก็คงเป็นคนกรุงเทพฯ หรือคนภาคกลางนี่แหละ แต่เป็นคนสมัยโน้น ยังเรียก ย่ำรุ่ง หนึ่งโมง สองโมง ฯลฯ

บทกาพย์ยานีสอนเด็กอันนี้ ผมก็จำไม่ได้หมด แต่ที่จำได้เป็นดังนี้

...จงเทียบ เปรียบเอาว่า เราเป็นนา ฬิกาเอง
เข็มบ่ง ชี้ตรงเผง  ... (จำไม่ได้)
ย่ำรุ่ง สะดุ้งตื่น วางหน้าชื่น ลุกขึ้นพลัน
อาบน้ำ ซ้ำสีฟัน  หมดโสมม ผมเผ้าหวี
โมงเช้า เฝ้าแต่งตัว เครื่องเรียนทั่ว ทุกอย่างมี
เตรียมไป ให้ทันที ที่เพื่อนเรา เข้าเรียนกัน...

ซึ่งแปลว่าตามแบบเรียนรุ่นนี้ เจ็ดโมงยังเรียกว่าโมงเช้าอยู่


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 28 มี.ค. 06, 18:04
 ออกตัวก่อนว่าผมเกิดไม่ทันอาขยานรุ่นเก๋ากึ้กของคุณนิลกังขาครับ แต่คุณแม่ชอบท่องอาขยานยุคนั้นให้ฟังเสมอ ตั้งแต่เด็กชนิดที่ว่าฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ก็นับเป็นโชคดี นับเป็นวิธีปลูกฝังให้มีใจรักในร้อยกรองแต่นั้นมา

มีแม้กระทั่งร่ายยาวมหาเวสสันดรฯ บทที่ว่า "โสโพธิสัตโต ปางนั้นสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ตรัสได้ทรงฟังพระลูกน้อย..."  ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่ามาจนถึงรุ่นผมเรียนมัธยม อาจารย์สอนภาษาไทยท่านหนึ่งจะยังให้บังคับให้ท่องร่ายยาวบทนี้ เป็นที่โอดครวญของนักเรียน (ยุคใหม่) อย่างมาก แถมมีสอบด้วย ผิด ๑ คำ หัก ๑ คะแนน พอมาเล่าให้ที่บ้านฟัง คุณแม่ก็พูดทันทีว่าสงสัยครูภาษาไทยที่โรงเรียนนั้นจะเรียนหลักสูตรเดียวกับแม่

เรื่องเวลานั้น ตอนเด็กๆ ผมได้ผู้ใหญ่ยินเสมอครับ คำว่าโมงเช้า สองโมงเช้า แต่รุ่นผมไม่มีใครกล้าใช้ ตกยุคไปเพราะเดี๋ยวเพื่อนล้อว่าแก่...

ขอยืนยันว่าคำว่า "สองยาม" นั้นใกล้ถึงกาลเข้ามาทุกที ลองถามเด็กๆ สมัยใหม่ได้ เชื่อว่าทุกคนจะทำหน้าไม่ค่อยแน่ใจว่าจะตอบว่าคำนี้แปลว่าตีสองหรือเที่ยงคืนดี

ขออนุญาตเติมคำในช่องว่าของคุณนิลกังขาว่า

เข็มบ่งชี้ตรงเผง...พึงเพ่งไว้ให้ทุกวัน


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 28 มี.ค. 06, 18:07
 ขอแก้ไข "ผมได้ผู้ใหญ่ยินเสมอครับ" เป็น "ผมได้ยินผู้ใหญ่พูดเสมอครับ"


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 29 มี.ค. 06, 06:46
 ที่บ้านก็ยังเรียก โมงเช้า สองโมงเช้าค่ะ

แต่ที่บ้านคุณยายที่พัทลุงเรียกเป็น ตี ค่ะ ไม่ว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน เช่น สองโมงเช้า (หรือแปดโมงเช้าที่นิยมเรียกกัน) ก็จะเป็น ตีแปด บ่ายโมง ก็ตีหนึ่ง ค่ะ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Dr Yu ที่ 29 มี.ค. 06, 17:19
 ทำไมสมัยก่อนถึงใช้คำเรียกว่า "นิสสิต" ครับ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 29 มี.ค. 06, 17:58
 เรื่องคำว่านิสิต โปรดดู

 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.ph
p?Cid=19&Pid=17235


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: ออกญาธรรมาธิกรณ์ ที่ 31 มี.ค. 06, 22:24
 ขอบคุณครับผม


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: อากง ที่ 02 เม.ย. 06, 00:53
 ประท้วงข้อมูลใน ความเห็นเพิ่มเติมที่ 5 น่าจะผิดตรงที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกลายเป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยครับ

โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เกิดในสมัยรัชกาลที่ 7 หาได้ที่เราเข้าใจผิดคิดเป็น ร6 ท่านสร้าง แต่เป็นการรวมกันระหว่่าง โรงเรียนราชวิทยาลัย กับ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในกรุงเทพและเชียงใหม่

รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดเกล้าสถาปนาให้เป็นอนุสรณ์ กับรัชกาลที่ 6 ที่ทรงตั้ง โรงเรียนมหาดเล็กหลวง และ นึกถึงพระคุณแห่งพระบรมราชชนกที่ทรงสถาปนาโรงเรียนราชวิทยาลัย แต่ด้วยเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกอบกับเงินในท้องพระคลังได้ร่อยหรอ จึงทรงยุบรวมโรงเรียนและตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ว่า "โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย"

ปัจจุบันได้สถาปนาโรงเรียนราชวิทยาลัยใหม่ได้รับพระราชาทานนามว่า "โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย  ในพระบรมราชูปถัมภ์" ครับ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 02 เม.ย. 06, 10:09
 ขอบพระคุณสำหรับความเห็นแย้งครับคุณอากง

แต่ผมก็ไม่เห็นว่าจะคลาดเลื่อนสักเท่าไหร่ เพราะโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ subset ใหญ่ของกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์โรงเรียนหนึ่งเหมือนกัน

ในเมื่อคุณบอกเองว่าวชิราวุธวิทยาลัยคือการรวมตัวกันระหว่างโรงเรียนราชวิทยาลัย กับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ (บรรดาโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์) ก็เท่ากับวชิราวุธวิทยาลัย มีวิวัฒนาการมาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

จะว่าไปแล้ว แม้ปัจจุบัน ในพระราชสำนักและสำนักพระราชวัง ก็จัดการทั้งปวงโดยต่อวชิราวุธวิทยาลัย คล้ายกับที่จัดการกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๖ ในฐานะโรงเรียนที่ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มากกว่าสถาบันการศึกษาอื่นๆ นั้น

อนึ่ง โปรดสังเกตว่า ผมไม่เคยบอกว่าคำว่า "วชิราวุธวิทยาลัย" เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๖ นะครับ

ความข้อหนึ่งที่คุณอากงคงไม่ประท้วงก็คือ สถานที่ตั้งตลอดจนอาคาร (เก่า) ทั้งหลายในวชิราวุธวิทยาลัยนั้น คือสถานที่ และอาคารของ "โรงเรียนมหาดเล็กหลวง" เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๖ นั่นเอง แม้ตราลัญจกรประจำโรงเรียนก็ใช้พระมนูแถลงสารอย่างของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

เมื่อดูจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของโรงเรียน พบว่ารัชกาลที่ ๗ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัย "ย้ายมาเรียนรวม" กับนักเรียนมหาดเล็กหลวง

ในพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ ๗ เรื่อง "ประกาศวางรูปและการพระราชทานนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวง" ก็ทรงพระราชปรารภ "โรงเรียนมหาดเล็กหลวง" เป็นตัวตั้ง แล้วทรงแสดงพระราชดำริว่า "จะส่งเสริมฐานะของโรงเรียนให้สถาพรพัฒนาการยิ่งขึ้น"

ขนาดประกาศพระราชทานนามว่า "วชิราวุธวิทยาลัย" ยังมีชื่อประกาศว่า "ประกาศฯ พระราชทานนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวง" ดังนี้ จะกล่าวว่าวชิราวุธวิทยาลัยเป็นของใหม่เอี่ยมโดยไม่ได้กลายรูปมาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กระนั้นเชียวหรือครับ

แม้เมื่อแรกรวมโรงเรียนราชวิทยาลัยกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น รัชกาลที่ ๗ ก็ยังโปรดจะให้คงชื่อโรงเรียน "มหาดเล็ก" ไว้ด้วยซ้ำ เพียงแต่เปลี่ยน "หลวง" เป็น "พระราม ๖" เป็น "โรงเรียนมหาดเล็กพระราม ๖" แต่ต่อมาได้ทรงเห็นชอบตามคำกราบบังคมทูลพระกรุณาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้ใช้นามว่า "วชิราวุธวิทยาลัย"

โดยความเห็นส่วนตัว ผมจึงเห็นว่าวชิราวุธวิทยาลัยมีวิวัฒนาการกลายมาโดยตรงมาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

ฉันใดก็ฉันนั้น

แม้เส้นทางประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะไม่ได้เดินตรงแหนวมาจากโรงเรียนมหาดเล็ก แต่จุฬาลงลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มี "วิวัฒนาการ" มาจากโรงเรียนมหาดเล็ก เราก็ถือว่าเรามีกำเนิดมาจากจุดนั้นได้เหมือนกัน

จริงอยู่ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่ผู้ทรงสถาปนา "มหาวิทยาลัย" หากแต่พระองค์คือผู้ทรงก่อกำเนิด "โรงเรียนมหาดเล็ก" ดังนั้น มหาวิทยาลัยนี้จึงนับว่ารัชกาลที่ ๕ คือเจ้าพระคุณในฐานะพระผู้พระราชทานกำเนิดได้เช่นกัน

เหมือนกับที่รัชกาลที่ ๗ ทรงจัดรูปและพระราชทานนามวชิราวุธวิทยาลัย แต่โรงเรียนก็ยังถือว่าโรงเรียนมีกำเนิดมาจากรัชกาลที่ ๖ อยู่ดี

อนึ่ง ผมไม่ใช่นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย อาจจะแสดงอรรถาธิบายได้ไม่กระจ่างนัก คงต้องรอท่านอื่นๆ มีคุณ V_Mee เป็นอาทิ มาร่วมกันอภิปราย


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: (*-*)...βĬĠZ ที่ 05 เม.ย. 06, 13:29
 พี่ครับ แล้วพวกโรงเรียนต่างๆที่ได้ใช้พระเกี้ยว คือต้องเป็นเครือ เตรียม กับ บดินทร ใช่หรือเปล่าครับ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: เจ้าสำราญ ที่ 16 เม.ย. 06, 21:33
 ลองเข้าลิงค์ดูแล้วปรากฏว่าเข้าไม่ได้ครับ

สืบเนื่องจากคห 26 ทำให้นึกถึงข้อสงสัยที่มีมานาแล้วว่าคำว่า"นิสิต" กับ"นักศึกษา"นั้น ต่างกันอย่างไร

และในประเทศไทย เท่าที่ผมทราบ มหาวิทยาลัยที่ใช้คำว่า"นิสิต" มีอยู่ 2 แห่งเท่านั้น คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนที่อื่นจะใช้คำว่า"นักศึกษา" ทั้งสิ้น

ท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมช่วยไขข้อข้องด้วยครับ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Karine!! ที่ 17 เม.ย. 06, 01:37
 "นิสิต" ยังใช้กับนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่แยกตัวออกไปจาก มศว อาทิ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น ด้วยค่ะ

ส่วนเหตุที่ทำไม มศว ใช้นิสิตนั้นไม่ทราบแน่เหมือนกันค่ะ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 17 เม.ย. 06, 03:39
 ลองอีกครั้งนะครับ

 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=19&Pid=17235

หากคุณเปิดไม่ได้จริงๆ ก็ขอให้ copy ไป paste ลงในช่อง address ของคุณแทนกดลิ้งก์เข้าไปนะครับ เชื่อว่าจะเข้าได้


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 06, 08:11
 ยกบางส่วนจากกระทู้ที่คุณ UP ทำลิ้งค์ไว้มาไขข้อข้องใจของคุณเจ้าสำราญ

ความเห็นเพิ่มเติมที่ 13 edit

 http://www.thaiengineering.com/webboard/question.asp?QID=2886
นิสิต นักศึกษา สองคำนี้ต่างกันอย่างไร ใครอยากทราบเชิญทางนี้ครับ

ว่าด้วยข้อถกเถียง นิสิต นักศึกษา
บ่อยครั้งที่กระทู้ในโต๊ะห้องสมุดจะมีข้อถกเถียงเรื่องที่มาของคำว่า “นิสิต” และ “นักศึกษา” โดยมากมักตั้งคำถามกันว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร สถาบันใดที่ใช้คำว่านิสิตบ้าง เป็นต้น
ก่อนจะตอบคำถามเหล่านั้นก็ควรจะมาดูก่อนว่าคำว่า “นิสิต” หมายถึงอะไร และสถาบันใดบ้างที่ใช้คำว่า “นิสิต”
คำว่า “นิสิต” นั้นเป็นภาษาบาลี แปลว่า “ผู้อาศัยกับอุปัชฌาย์” เนื่องจากแต่เดิมสถาบันการศึกษาระดับสูงมักมีหอพักให้ผู้เรียนได้พักอาศัยภายในสถาบัน ประกอบกับความนิยมภาษาบาลีด้วยจึงได้ใช้คำนี้โดยทั่วไป
จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มแรกเป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ ได้สถาปนาขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” และปรากฏใช้คำว่า “นิสิต” สำหรับนิสิตชาย และ “นิสิตา” สำหรับนิสิตหญิง ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “นิสิต” เพียงคำเดียว
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ก่อตั้งขึ้นโดยที่ค่านิยมภาษาบาลีสันสกฤตยังเป็นที่นิยมและมีหอพักให้ผู้เรียนภายในสถาบันเช่นเดียวกัน จึงใช้คำว่า “นิสิต” มาตั้งแต่แรกเริ่ม
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นับเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทย เริ่มต้นจากการเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงถนนประสานมิตร” ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “วิทยาลัยวิชาการศึกษา” นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทยที่สามารถเปิดสอนวิชาชีพครูได้ถึงระดับปริญญา (ก่อนจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย) โดยมีทั้งสิ้น ๘ แห่งทั่วประเทศ และทุกแห่งก็ใช้คำว่า “นิสิต” เหมือนกันหมด
ภายหลังวิทยาลัยวิชาการศึกษาทั้ง ๘ แห่ง ก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ” (อ่านว่า สี-นะ-คะ-ริน-วิ-โรด) และปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (คงสถานะเดิม)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน (ยุบวิทยาเขต)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา (ยุบวิทยาเขต)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน (ยุบวิทยาเขต)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก (ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยนเรศวร)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัย มหาสารคาม)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน (ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยบูรพา)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยทักษิณ)
จนปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒแต่ละแห่งได้มีการเปลี่ยนไปด้วยประการต่าง ๆ แต่ก็ยังคงใช้คำว่า “นิสิต” เหมือนกันหมด
ทั้ง ๓ มหาวิทยาลัย (๗ มหาวิทยาลัย) ใช้คำว่า “นิสิต” ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ มีหอพักให้ผู้เรียนอยู่ภายในสถาบัน
ในสมัยที่ประชาธิปไตยพยายามจะเบ่งบาน มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ธรรมศาสตร์ หมายถึง วิชาว่าด้วยกฎหมาย) เป็นมหาวิทยาลัยเปิด ไม่มีหอพักให้ผู้เรียน จึงสร้างคำใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เป็น “ไทย ๆ” มากขึ้น จึงใช้คำว่า “นักศึกษา”
มหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นภายหลังหลาย ๆ แห่ง แม้จะมีหอพักนักศึกษาอยู่ภายในมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่นิยมใช้คำว่า “นิสิต” เหมือนมหาวิทยาลัย “โบราณ” ที่ก่อตั้งมานานแล้วทั้งหลาย จึงหันไปใช้คำว่า “นักศึกษา” เหมือนกันแทบทุกแห่ง แม้แต่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง แต่เดิมก็ใช้คำว่า “นิสิต” แต่ภายหลังอธิการบดีท่านหนึ่งซึ่งเป็นนายแพทย์ ก็ได้เปลี่ยนคำว่า “นิสิต” มาเป็นคำว่า “นักศึกษา” ดังนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองก็นับเป็นมหาวิทยาลัยที่เคยใช้คำว่า “นิสิต” มาก่อน
ผู้ที่ตอบกระทู้ในโต๊ะห้องสมุดหลายคน ก็ให้เหตุผลต่าง ๆ กัน บ้างก็ว่าถ้าที่ไหนเก่าก็ใช้คำว่านิสิต บ้างก็ว่ามหาวิทยาลัยแห่งใดอยากใช้คำว่านิสิตก็ต้องขอพระราชทานเอา (ก็นับเป็นเหตุผลที่ตลกเหตุผลหนึ่ง) ส่วนเหตุผลที่ไม่เข้าท่าที่สุดก็เห็นจะเป็นเหตุผลที่ว่า “มหาวิทยาลัยใดที่เคยมีเจ้าฟ้าเข้าเรียน ก็จะเปลี่ยนไปใช้คำว่านิสิต”
อาจจริงอยู่ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเคยทรงศึกษาที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต อักษรศาสตรมหาบัณฑิต และเคยทรงศึกษาระดับปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แต่มหาวิทยาลัยดังกล่าวมาแล้วนั้น ปรากฏใช้คำว่า “นิสิต” มาตั้งแต่เดิมแล้ว ไม่ได้เพิ่งมาเปลี่ยนเอาภายหลัง
อีกประการหนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็เคยทรงศึกษาระดับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (จารึกตะวันออก) ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่มหาวิทยาลัยศิลปากรก็ไม่เห็นจะต้องเปลี่ยนคำว่า “นักศึกษา” เป็น “นิสิต” แม้แต่น้อย
อาจจริงอยู่ที่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะเคยทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่สถาบันแห่งนี้ก็ใช้คำว่า “นิสิต” มาตั้งแต่นมนานก่อนที่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ จะเสด็จเข้าทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เช่นเดียวกัน
ดังนั้น ข้อสรุปของบทความนี้ก็ไม่เห็นจะต้องมีอะไรมากมาย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างผู้เขียนบทความได้อธิบายไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว จึงขอทิ้งท้ายบอกผู้ที่ไม่รู้จริงเอาไว้ ณ ที่นี้ว่า
“อะไรที่ตนไม่รู้จริง… อย่าพูด…”

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์

ฌานิศ วงศ์สุวรรณ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 06, 08:14
 http://www.eduzones.com/setupcon/content_nana1/view.php?id=13  
คำว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา สามคำนี้มีความหมายโดยทั่ว ๆ ไปที่คล้าย ๆ กัน คือ เป็นผู้ที่เล่าเรียนวิชาอะไรอย่างหนึ่ง แต่การใช้คำทั้งสามคำนี้ไม่เหมือนกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ควาหมายไว้ดังนี้

นักเรียน หมายถึง ผู้ศึกษาเล่าเรียน
นิสิต มีความหมายสองอย่าง ความหมายแรกหมายถึง ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย บางแห่ง เช่น นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความหมายที่สอง หมายถึง ศิษย์ที่เล่าเรียน อยู่ในสำนัก หรือ ผู้อาศัย
ส่วนคำว่า นักศึกษานั้น ไม่ได้ให้ความหมายไว้เป็นพิเศษ คงอนุโลมได้ว่า หมายถึง ผู้ศึกษา ในทางปฏิบัติจริง เรามักจะใช้คำพูด นักเรียน หมายถึง ผู้ศึกษาเล่าเรียนในระดับต่ำกว่า ปริญญาตรีหรือในระดับโรงเรียน
ส่วนคำว่า นิสิตและนักศึกษานั้น ใช้หมายถึงผู้ศึกษา เล่าเรียน ในระดับตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป หรือในระดับมหาวิทยาลัยนั่นเอง
แต่ความนิยม ที่ใช้เรียกผู้ศึกษา ในระดับมหาวิทยาลัยว่านิสิต หรือ นักศึกษานั้น ก็ยังมีความแตกต่างกัน ออกไปอีก
แต่เดิมมา เมื่อยังมีมหาวิทยาลัยอยู่น้อยแห่งนั้น ผู้ที่ศึกษาอยู่ในจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย จะเรียกกันว่า นิสิต ส่วนผู้ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นจะเรียก กันว่า นักศึกษา ชื่อที่แตกต่างกันนั้นใช้ตามความหมายในทำนองว่า นิสิตจุฬาฯ นั้น เป็นศิษย์ที่เล่าเรียนอยู่ ในสำนัก ซึ่งจะตีความว่าอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยด้วย หรือต้องมาเรียนเป็นประจำก็ ได้
ส่วนนักศึกษาธรรมศาสตร์นั้น จะตีความว่าไม่ได้อยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยหรือมา เรียนตามสะดวกแบบตลาดวิชาก็ได้

ความแตกต่างที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมา อาจจะมีผู้คัดค้านก็ได แต่มีอีกเหตุหนึ่ง ที่อาจจะไม่มีใครค้าน คือ ต้องการเรียกชื่อผู้ที่เรียนอยู่ในสถาบันทั้งสองน ี้ให้แตกต่างกัน ออกไปนั่นเอง
ต่อมาเมื่อมีมหาวิทยาลัยมากขึ้น ก็จะมีการเรียกผู้เรียนไปตามความนิยมของแต่ละสถาบัน เช่น นิสิตเกษตร (อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อก่อนนี้นิสิตปีที่หนึ่งทุกคน ต้องอยู่หอพักของ มหาวิทยาลัย)
เช่น นักศึกษาแพทย์ เป็นต้น ในปัจจุบัน ความหมายโดยนัยที่กล่าวข้างต้น อาจจะเลือนไปแล้วก็ได้
สถาบันใหม่ ๆ ที่เกิดก็มักจะใช้คำว่า นักศึกษา เพื่อแสดงความใหม่ ปล่อยให้สถาบันเก่า ๆ ใช้คำว่า นิสิต กันไปเพียงไม่กี่แห่ง
ทั้งหมดนี้เป็นข้อความที่ ดร. นิตยา กาญจนะวรรณ อธิบายไว้ในหนังสือ ภาษาไทยไฮเทค ซองคำถาม
จำได้ว่าข้างฝ่ายธรรมศาสตร์ก็เคยให้คำอธิบายไว้ว่า เหตุใดจึงเรียกผู้ที่ศึกษา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า นักศึกษา จึงไปค้นหนังสือ สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง ได้คำอธิบายดังนี้
"คำว่า "นักศึกษา" ก็เกิดขึ้นในช่วงแรกนี้เช่นกัน ส่วนหนึ่งอาจเพราะเป็น คำที่เกี่ยวข้องกับความเป็นตลาดวิชาซึ่งทำให้ผู้เรียนมีความแตกต่างจาก "นิสิต" ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงอธิบายว่า มธก. ควรเรียกผู้ เข้ามาศึกษาว่า "นักศึกษา" ไม่ควรใช้ "นิสิต" เพราะคำว่า "นิสิต" ตรงกับ "undergraduate"
ส่วนคำว่า "นักศึกษา" ตรงกับ "student" ซึ่งเหมาะสมกว่า ตามระเบียบของ มธก. ฉบับแรกเป็นที่น่าสังเกตว่า ใช้คำ "นิสิต" และ "นักศึกษา" ทดแทนกันไปมา
จากการบอกเล่า ก่อนหน้านี้ก็มีการใช้คำว่า "นักศึกษา" อยู่ในหมู่ผู้มาเรียนที่ มธก. อยู่ก่อนแล้ว และคณะกรรมการ มหาวิทยาลัย ได้มีมติรับรองให้ใช้คำว่า "นักศึกษา" อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่การประชุมคณะ กรรมการมหาวิทยาลัยครั้งที่ 2 เดือนเมษายน 2477 เป็นต้นไป


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Karine!! ที่ 18 เม.ย. 06, 22:52
   


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: ออกญาธรรมาธิกรณ์ ที่ 21 เม.ย. 06, 11:28
 ตอบ คคหที่ 31 ร.ร.ที่มีสิทธิใช้ตราพระเกี้ยวมีอยู่ ๕ โรงเรียนที่แต่ก่อนจะมีกีฬาที่เรียกว่า กีฬา ๕ พระเกี้ยวคือ
-เตรียมอุดมศึกษา
-หอวัง
-บดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี)
-เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
-เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า

ต่อมาโรงเรียนต่างๆนี้ก็มี แฟรนไชส์สาขาไปอีก ก็ได้ใช้สัญลักษณ์พระเกี้ยวเหมือนโรงเรียนแม่น่ะครับ

บางสาขาตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เช่น โรงเรียนนวมินทราชูทิศ บดินทรเดชา หรือ โรงเรียนนวมินทราชูทิศ หอวัง นนทบุรี ก็จะใช้มงกุฎขัตติยราชนารี เป็นสัญลักษณ์แทน ครับ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 21 เม.ย. 06, 11:43
 มีอีกหนึ่งโรงเรียนครับ แต่ไม่ได้ใช้เข็มพระเกี้ยวกลัดติดหน้าอก ใช้ด้ายสีน้ำเงินปักเป็นตราพระเกี้ยวที่อกเสื้อแทน

คือโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนทดลองภายใต้สังกัดคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ในเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาฯ ก็ใช้ตราพระเกี้ยวของจุฬาฯ เป็นเครื่องหมายโรงเรียนด้วย

ตัวผมเองเผอิญเคยทั้งกลัดเข็มพระเกี้ยวและใส่เสื้อปักตราพระเกี้ยวมาแล้วครับ ตอนย้ายโรงเรียนก็ข้ามถนนพญาไทไปเท่านั้นเอง

แต่ก่อนนี้ นานมากๆ แล้ว โรงเรียนเตรียมฯ หรือ ตอ. เคยเป็นโรงเรียน "เตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" คู่กับ ตมธก. ซึ่งคือโรงเรียน "เตรียมปริญญาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง"

คือว่าสมัยโน้นยังมีมหาวิทยาลัยแค่สองแห่ง และระบบการมัธยมศึกษายังไม่เข้าระบบได้มาตรฐานพอที่จะรองรับการต่อยอดขึ้นไปขั้นมหาวิทยาลัยได้ (อย่างน้อยก็ในความคิดของ 2 มหาวิทยาลัยนี้กระมัง) ดังนั้น 2 มหาวิทยาลัยนี้เลยมีโรงเรียนเตรียมของตัวเอง เตรียมเด็กเข้าเป็นนิสิตและนักศึกษา เทียบกับโรงเรียนเตรียมทหารเดี๋ยวนี้ ซึ่งเตรียมเด็กให้เข้าโรงเรียนนายร้อยนายเรือ 4 เหล่าโดยเฉพาะ

ตมธก. ปิดไปนานแล้ว ส่วน ตอ. ก็กลายเป็นโรงเรียมมัธยมธรรมดา ไม่จำเป็นต้องจบแล้วไปเข้าจุฬาฯ เท่านั้น แต่โรงเรียนเตรียมหทารยังอยู่ครับ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 21 เม.ย. 06, 11:48
อ้อ มีข้อสังเกตนิดหนึ่งว่า นักเรียน นั้นดูเหมือนจะมุ่งเอาเด็กๆ คือประถมมัธยม ส่วนในระดับอุดมศึกษานั้น มีการใช้คำว่า นิสิต และ นักศึกษา ตามที่เถียงกันไปมาในกระทู้ที่ลิ๊งก์มาข้างบนนี้ครับ (ซึ่งผมขอยืนยันอีกคนว่า คำว่านิสิตนั้นไม่เกี่ยวกับการเป็นเจ้านายแต่อย่างใดเลย เพราะใช้มาก่อนนานแล้ว)

แต่มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษากลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกผู้เรียนว่านักเรียน ไม่ใช่นิสิต ไม่ใช่นักศึกษา แต่พอจบมาแล้วก็เทียบให้ได้ปริญญาตรีเท่ากัน คือโรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ครับ ผู้ศึกษาในสถาบันประเภทนี้เป็น "นักเรียน" นายร้อย และ "นักเรียน" นายเรือ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: เจ้าสำราญ ที่ 21 เม.ย. 06, 19:05
 ขอบคุณอาจารย์มากครับที่ช่วยกรุณานำความรู้มาเล่าสู่กันฟัง
ผมคิด(เล่นๆ) ว่าจุฬาฯ น่าจะลองกลับมาใช้คำเรียกว่า "นิสิต" และ "นิสิตา" ดูนะครับ ฟังเพราะดีออก


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 22 เม.ย. 06, 12:35
 ขอเพิ่มเติมความเห็นที่ ๕ ที่ว่า "โรงเรียนมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง"  
โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ที่ตึกริมประตูพิมานไชยศรี  ถ้าเข้าไปในพระมหาราชวังะครับ  ทางขวามือก่อนที่จะเข้าประตูพิมานไชยศรีที่หน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  ที่ปัจจุบันเป็นกำแพงและอาคารสำนักราชเลขาธิการกับสำนักพระราชวังนั้นแหละครับ  คือที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก และโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือเรียกอย่างย่อว่า โรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร.

เรื่องนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ถูกต้องนั้น  ต้องรบกวนคุณ Up ค้นประกาศประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเมื่อวันที่  ๒๖  มีนาคม  ๒๔๕๙ ดูอีกทีครับว่า  ท่านผู้ร่างประกาศ (Charter) ฉบับนี้ท่านใช้ กรณ หรือ กรณ์ กันแน่ครับ

ส่วนประเด็นเรื่องโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยนำมากล่าวนั้น  เป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้ตัดรายจ่ายในพระราชสำนักลง  โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ที่เวลานั้นคงเหลืออยู่เพียง ๓ โรงเรียน คือ มหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ ราชวิทยาลัย และพรานหลวง (รัชกาลที่ ๖ มีพระบรมราชโองการให้ยุบมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ไปก่อนสวรรคตแล้ว) ก็อยู่ในข่ายที่จะต้องถูกยุบทิ้งไปด้วย  แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ และพระยาบรมบาทบำรุง (พิณ  ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้ถวายฎีกาว่า  โรงเรียนมหาดเล็กหลวงนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาล  การที่จะบุบโรงเรียนนี้ก็จะเท่ากับยุบวัดประจำรัชกาล  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  ส่วนชื่อโรงเรียนนั้นทรงรังเกียจว่า  จะชวนให้คนเข้าใจผิดว่า  ผู้ที่จบจากโรงเรียนนี้จะได้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็กหลวงเหมือนในรัชกาลที่ ๖  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คิดชื่อใหม่  ซึ่งเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้คิดว่า มงกุฎเกล้าราชวิทยาลัย  กับวชิราวุธราชวิทยาลัย  เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่โรงเรียนราชวิทยาลัยที่ถูกยุบไป  แต่สุดท้ายได้พระราชทานนามว่า วชิราวุธวิทยาลัย  วชิราวุธวิทยาลัยกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงจึงเป็นโรงเรียนเดียวกันมาตลอด  เพียงแต่เปลี่ยนชื่อและสังกัดในตอนต้นรัชกาลที่ ๗  โดยย้ายจากกรมมหาดเล็กหลวงซึ่งเป็นสังกัดเดิมไปขึ้นกับกระทรวงธรรมการ  ในสมัยรัชกาลที่ ๖ โรงเรียนมีฐานะเป็นโรงเรียนราษฎร์แต่ครูและพนักงานเป็นข้าราชการกรมมหาดเล็กหลวง  ถึงรัชกาลที่ ๗ ยังคงฐานะเป็นโรงเรียนราษฎร์แต่ครูและพนักงานย้ายไปสังกัดกระทรวงธรรมการ  เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วคณะราฏร์มีความเห็นว่า  โรงเรียนราษฎร์แต่มีครูเป็นข้าราชการดูลักลั่นไม่เข้าระเบียบ  จึงปลดครูและพนักงานออกจากราชการทั้งหมด  ในปัจจุบันวชิราวุธวิทยาลัยจึงมีฐานะเป็นโรงเรียนเอกชน ๑๐๐%  แต่ต่างจากโรงเรียนเอกชนตรงที่เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ทุกวันนี้จึงมีสถานะเป็นโรงเรียนหลวงก็ไม่ใช่  โรงเรียนราษฎร์ก็ไม่เชิง


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 22 เม.ย. 06, 13:22
 ขอบพระคุณคุณ V_Mee สำหรับความเห็นเพิ่มเติมครับ



เรื่องชื่อวชิราวุธวิทยาลัยนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงระบุว่า



"ชื่อของโรงเรียนมหาดเล็กนั้นน่าจะเปลี่ยนเสียเล็กน้อย มิฉะนั้นจะเข้าใจกันไปว่า นักเรียนเมื่อออกจากโรงเรียนแล้วจะต้องมีสิทธิที่จะขอเป็นมหาดเล็กหลวง ควรเรียกว่าโรงเรียนมหาดเล็กพระราม ๖ หรืออะไรอย่างนั้น ให้ส่งเรื่องถวายอภิรัฐมนตรีทรงทราบไว้ด้วย"



ต่อมาเมื่อเรื่องถึงอภิรัฐมนตรี มีลายพระหัตถ์ตัวดินสอของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า



"เรื่องชื่อโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งทรงพระราชดำริห์ว่าควรจะหาชื่อใหม่นั้น ข้าฯ คิดเห็นว่า ถ้าเรียกว่า 'วชิราวุธวิทยาลัย' เห็นจะเหมาะดี"



เรื่องสถานภาพของวชิราวุธวิทยาลัยนั้น ผมเห็นว่ามีสิ่งที่แยกแยะเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือเครื่องแบบพิธีการของครูโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่มีลักษณะจำเพาะ ไม่ได้ใช้แบบแผนเดียวกับเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน



หากโรงเรียนนี้ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการเหมือนเช่นโรงเรียนของรัฐอื่นๆ ก็จะต้องแต่งเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน ติดเข็มหมายเสมาธรรมจักรที่คอเสื้อ มีอินทรธนูอย่างข้าราชการพลเรือน



ส่วนเครื่องแบบครูโรงเรียนนี้ไม่มีอินทรธนู แต่จะใช้คอแผงคอประดับอักษรพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ ๖ ประดับแทน และเครื่องแบบนี้ก็สามารถประดับแถบย่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (กรณีแต่งปกติขาว) และประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (กรณีแต่งครึ่งยศ-เต็มยศ) ได้เหมือนชุดข้าราชการ



ทำให้เห็นได้โรงเรียนนี้มีสถานะหลวงก็ไม่ใช่ ราษฎร์ก็ไม่เชิง อย่างที่คุณ V_Mee กล่าวไว้นั้นแล


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 22 เม.ย. 06, 16:00
 ขอบพระคุณคุณUp ครับที่กรุณาไปค้นคว้าเพิ่มเติมมาให้

เรื่องเครื่องแบบครูวชิราวุธนั้น  ขอย้อนกลับไปถึงสมัยรัชกาลที่ ๖  ครูของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ได้รับพระราชทานยศมหาดเล็กทั้งหมด  มีเครื่องแบบเช่นเดียวกับข้าราชการกรมมหาดเล็ก  เวลาปกติแต่งกายนุ่งผ้าม่วงสวมเสื้อราชปะแตนติดดุมเงินตราพระมามงกุฎ  ที่คอติดแผ่นคอเช่นเดียวกับข้าราชการกรมมหาดเล็ก  ถึงสมัยที่โอนไปสังกัดกระทรวงธรรมการนั้น  ครูเปลี่ยนจากแผ่นคอไปติดอินทรธนูขวางบ่าแบบข้าราชการพลเรือน  เมื่อครูถูกปลดออกจากราชการแล้ว  ในยุคนี้เวลาครูกำกับนักเรียนไปในงานต่างๆ จึงต้องสวมชุดสากลซึ่งไม่เข้ากับเครื่องแบบนักเรียนที่ได้พระราชทานไว้  ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไม่นาน  พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ  อิศรเสนา) ในเวลานั้นได้นำความเรียนหารือคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยขอให้มีเครื่องแบบครูขึ้นใหม่  เมื่อคณะกรรมการอำนวยการฯ ให้ความเห็นชอบเครื่องแบบครูที่อิงมาจากเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน  แต่เปลี่ยนอินทรธนูเป็นแผ่นคอเช่นเดียวกับแผ่นคอมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ ๖ หากแต่ไม่มีการประดับดาวหมายยศคงติดแต่อักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร.พระมหามงกุฎที่กึ่งกลางแผ่นคอทั้งสองข้างตามที่พระยาภะรตราชานำเสนอแล้ว  จึงได้บรรจุลงไว้ในข้อบัคับกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย  และได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัยทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทและมีพระบรมราชานุญาตแล้ว  ครูวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้ใช้เครื่องแบบนั้นสืบมาตราบจนทุกวันนี้

ส่วนเครื่องแบบนักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งรวมถึงนิสสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยนั้น  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงกำหนดไว้ในพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) และได้มีการเปลี่ยนแปลมาเป็นลำดับ  จนเมื่อรวมโรงเรียนในรัชกาลที่ ๗ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนอักษรหมายนามโรงเรียนที่แผ่นคอเป็นอักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร.พระมหามงกุฎ ซึ่งได้ช้สืบมาตราบทุกวันนี้
ส่วนเครื่องแบบนิสสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีต้นกำเนิดมาะร้อมกันนั้น  ต่อมาในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีการแก้ไขไปจนเกือบจะไม่เหลือเค้าเดิม  ที่มีเหลืออยู่ก็คือดุมเงิน  แต่เปลี่ยนจากตราพระมหามงกุฎไปเป็นพระเกี้ยว  จะว่าไปแล้วก็อยากจะขอฝากคุณUp ช่วยนำเสนอผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้ทราบด้วยว่า  เครื่องแบบนิสิตจุฬาฯ แต่เดิมมานั้นเป็นเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักสังกัดกรมมหาดเล็ก  ซึ่งคำว่ามหาดเล็กนั้นคุณUp คงทราบดีว่า  ศักดิ์ศรีของมหาดเล็กในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นสำคัญกว่าข้าราชการพลเรือนเพียงไร  แล้วมาเปลี่ยนเป็นหัวมังกุท้ายมังกรเช่นทุกวันนี้ดูแล้วออกจะประหลาดไปสักนิด  ที่ผมเรียนว่าประหลาดก็คือ  แผ่นคอนั้นเดิมสีน้ำเงินแก่คาดแถบเงิน อันเป็นสีสัญลักษณ์ของกรมมหาดเล็ก  ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น ท่านให้สอดสีหมายกรมไว้ใต้แถบเงินเพื่อให้ทราบสังกัดและติดเครื่องหมายประจำการเป็นโลหะสีเงิน  ส่วนข้าราชการกระทรวงวังท่านให้ใช้แผ่นคอพื้นดำคาดแถบทองติดเครื่องหมายสีทอง  แต่ในกรณีของจุฬาลงกรณ์ฯ ในปัจจุบัน  แผ่นคอพื้นสีหมายคณะคาดแถบทองแต่ติดพระเกี้ยวเงิน  จะเป็นไปได้ไหมที่จะเปลี่ยนแผ่นคอเป็นสีน้ำเงินคาดแถบเงินเช่นของเดิม  แล้วสอดแถบสีหมายคณะลงใต้แถบเงิน  ผมว่าจะดูงามกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้  แล้วก็จะไม่เป็นการแบ่งแยกด้วย  ลองดูที่แถบเสื้อครุยของจุฬาฯ ก็ได้ครับ  แถบสีหมายคณะและระดับชั้นปริญญานั้นเป็นแถบเล็กอยู่ที่กลางสำรด  ซึ่งก็ดูงดงามดี


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: อากง ที่ 16 มิ.ย. 06, 02:36
 ขอนุญาต ใน ความเห็นเพิ่มเติมที่ 30  ผมแค่อธิบายถึงโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เหมือนกับช่วยเสริมให้เต็มนะครับ ไม่ใช่มาป่วนความคิดท่าน เพราะดูจากกระทู้นี้น่าจะพูดถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนะครับ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Scopian Kung ที่ 12 ส.ค. 06, 17:36
 เคยอ่านในพระราชกิจจานุเบกษา เขียนว่า ให้สถาปนาขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เขียนแบบมีการันต์นะครับ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 ส.ค. 06, 12:08
 เรื่องนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้  แต่เดิมเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. ขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น มีการันต์ครับ  ต่อมาในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการออกพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๗๙ (จำปีไม่ได้แน่ชัด)  ตอนนี้แหละครับที่การันต์หายไป  เพิ่งมาตราพระราชบัญญัติเพื่อเติมการันต์เข้าไปเมื่อไม่ช้านนานมานี้ครับ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Scopian Kung ที่ 26 ต.ค. 06, 02:30
 แล้วทำไมในพระราชบัญญัติจุฬาฯ บางฉบับ  จึงเขียนว่า "พระราชบัญญัติจุลาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เหอครับ จุลาลงกรณ์ และ จุฬาลงกรณ์ นี่มันต่างกันมาก พะนามของพระมหากษัตริย์นี่ การเขียนเปลี่ยนกันได้ด้วยเหรอครับ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 ต.ค. 06, 12:21
 คุณ Scopian Kung ไปพบมาจากพระราชบัญญัติฉบับไหน และใครพิมพ์ครับ

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็คงต้องบอกว่าพิมพ์ผิดครับ

พระราชบัญญัติต่างๆ นั้นลองค้นจากในราชกิจจานุเบกษานะครับ หากเป็นฉบับพิมพ์ที่อื่นนั้นอาจคลาดเคลื่อนได้ หรือแม้แต่ราชกิจจาฯ เองบางทีก็มีที่พิมพ์ผิด ต้องมีฉบับแก้ไขตามมาเสมอ

แต่ในชั้นต้นนี้ ยึดตามตัวสะกดในราชกิจจาฯ เป็นหลักก่อนครับ ผมเชื่อว่าคงไม่มีฉบับไหนอุตริสะกดว่า "จุลาลงกรณ์"


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: Scopian Kung ที่ 27 ต.ค. 06, 02:15
 ผมไปเจอที่เวปราชกิจจานุเบกษานั่นแหละครับ เป็น พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๘๖ สมัยรัชกาลที่ 8 โดยมี อาทิตย์ทิพอาภา และ ปรีดีพนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ครับ

การเขียนถ้ายึดตามตัวสะกดในราชกิจจาฯ ที่จริงเค้าเขียนว่า "จุลาลงกรน์มหาวิทยาลัย" ต่างหากครับ ต้องขออภัยที่ดูผิด เค้าใช่ "น์"  ไม่ใช่ "ณ์"  แต่เขียนว่า "จุลา" แน่นอนครับ

 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/A/007/198.PDF

แต่ผมไม่รู้ว่าจะมีฉบับแก้ไขตามที่คุณ UP บอกหรือเปล่า ยังไงช่วยตามเรื่องด้วยนะครับ ผมเข้าใจว่าอาจจะเป็นเพราะ เป็นการเขียนแบบ "สมัยนิยม" หรือเปล่าก็ไม่ทราบครับผม เพราะผมได้ตามไปอ่าน พรบ. จุฬาฯ ปี 2477 ซึ่งคงเป็นฉบับแรกของจุฬาฯ ก็ยังคงเขียนว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" อยู่เลยครับ มีเพียง พรบ.ที่ผมบอก ที่เขียนว่า "จุลาลงกรน์มหาวิทยาลัย" ครับผม


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 27 ต.ค. 06, 08:02
 เป็นเพราะอยู่ในสมัยรัฐนิยมครับ อักขรวิธีเลยออกมาพิลึกพิลั่นเช่นนั้น


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 27 ต.ค. 06, 08:25
 ตอนดิฉันยังเด็ก บทเรียนภาษาไทยหัวข้อคำสมาส และสนธิ
จะต้องมีคำว่า จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ให้เรียนเสมอ
และเราก็จำได้ขึ้นใจว่า ชื่อรั้วสีชมพูไม่มีการันต์
เป็นสมาส แต่ยกเว้น
ออกข้อสอบมาทีไร ใครไม่แม่นก็เติมทุกที
คิดว่ารัชกาลที่6ท่านตั้งของท่านอย่างนั้น
ดิฉันเข้าจุฬาฯสมัยมหาวิทยาลัยยังไม่มีการันต์ค่ะ
จึงถือได้ไหมคะว่า เป็นรุ่นโบราณของเว็บนี้


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 27 ต.ค. 06, 08:32
 เข้ามาสนับสนุนคุณ UP ครับ  เป็นยุค รัฐนิยม ของจอมพล ป. ที่บังคับให้เลิกตัวสะกดซะหลายตัว   ธ ก็ไม่มี  ฬ ก็ไม่มี  ใช้ ท กับ ล แทน
คุณเทาชมพูเคยเขียนในบทความชื่อ ยุคไม่ขำ    ไม่รู้ว่าเว็บวิชาการยังเก็บไว้หรือเปล่า


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 27 ต.ค. 06, 14:40
 คุณกุ้งแห้งเยอรมันลองดูความเห็นที่ ๑๐ ในกระทู้นี้ของผมนะครับ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการันต์บ้างไม่มีบ้าง ตามพระราชบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละยุคครับ คุณกุ้งแห้งฯ เข้ามาในยุคที่พระราชบัญญัติจัดตั้งจุฬาฯ ไม่มีการันต์ ซึ่งหมายความว่าเป็นยุคหนึ่งซึ่งผ่านไปพอสมควรแล้ว..แหะๆ...ผมไม่ขอระบุพุทธศักราชที่ล่วงแล้วนะครับ

จำได้ว่าในยุคที่กลับมาเติมการันต์นั้น เพราะมีผู้นำประกาศพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ ๖ มายืนยัน ว่าท่านทรงเขียนทัณฑฆาตไว้บน ณ เป็น จุฬาลงกรณ์ มาแต่ต้นแล้ว แต่กระนั้นผมก็ยังไม่เคยเห็นประกาศพระบรมราชโองการต้นฉบับจริงแก่ตาตนเอง จึงไม่ขอยืนยัน

แต่ที่แน่ๆ ณ บัดนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการันต์ครับ


กระทู้: แบบเรียนของโรงเรียนมหาดเล็ก-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 27 ต.ค. 06, 23:48
 ขอบคุณนะคะที่ชวนให้ไปอ่านซ้ำ
โอ..เลยรู้เลยสิว่าเรารุ่นไหน