เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: จ้อ ที่ 19 ก.พ. 04, 16:08



กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 19 ก.พ. 04, 16:08

ขอเกาะกระแสหนังไทยคุณภาพบ้างครับ ยังไม่ได้ไปดูหนังเรื่องนี้เลยเพราะมั่วแต่ยุ่งๆ ช่วงนี้พอว่างงานเลยลองค้นประวัติของ " คีตกวีเทวดา"  ท่านครูเพลงหลวงประดิษฐ์ไพเราะ มาประดับเรือนไทยซะหน่อย ขอลอกเขามาเล่าจากเว็ปนี้ครับ

 http://dnfe5.nfe.go.th/localdata/Rcent/Samutsongkram/Background/per2.html

หลวงประดิษฐ์ไพเราะ  เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2424 ณ. บ้านคลองดาวดึงษ์  อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เดิมชื่อ ศร  ศิลปบรรเลง  เป็นบุตร นายสิน และนางยิ้ม  ศิลปบรรเลง เริ่มเล่นดนตรีตั่งแต่อายุ  5 ขวบ เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่เล่น คือ ฆ้องวง  เริ่มเรียนดนตรีกับบิดา เมื่ออายุ  11 ขวบ  ไม่นานนักก็แสดงฝีมือปรากฏไปทั่ว  จนมีชื่อเสียงโด่งดังว่าเป็นมือระนาดที่หาตัวจับยาก  ได้ตีประชันวงและแสดงฝีมือเป็นที่ปรากฏจนมีชื่อเสียงโด่งดังในกรุงเทพฯ

ต่อมาได้ตีระนาดถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์ฯ  เพียงตีเพลงโหมโรงไอยเรศ ไม่ทันจบก็ได้รับคำชม  และรับประทาน ฉลองพระองค์แพร  ครั้นได้เดี่ยวเพลงกราวถวาย ได้รับแหวนเพชรเป็นรางวัล  และได้เป็นมหาดเล็กตั้งแต่นั้นมา  โดยได้ตำแหน่ง จางวางมหาดเล็กในพระองค์

หลังจากนั้นไม่นานได้มีรับสั่งให้ประชันวงกับนักระนาดฝีมือเอกสมัยนั้นเพราะคำประมาทและความตั้งใจจริง   จึงทำให้บังเกิดเพลง "กราวในทางฝัน"  ขึ้น  ครั้นตีประชันเข้าจริงๆ ก็ชนะในฝีมืออย่างเด็ดขาด  ทำให้ชื่อเสียงโด่งดังที่สุด  จนชื่อ "จางวางศร" ติดปากคนทั่วไป นอกจากฝีมือในการตีระนาดแล้ว  เครื่องดนตรีอื่นๆ ทั้งหลายก็บรรเลงได้อย่างดี  เช่น ซอ และปี่
 
ในด้านการแต่งเพลง ท่านก็แต่งได้รวดเร็ว ไพเราะ มีกลเม็ดเด็ดพรายมากมาย  โดยเฉพาะสมัยรับราชการในวังบูรพาภิรมย์  เพราะในสมัยนั้นมีการประกวดประชันเพลงที่แต่งใหม่กันบ่อยๆ  ทั้งเพลง 3 ชั้น  เพลงเดี่ยว  แม้กระทั้งการประกวดสมอง ในการคิดประดิษฐ์ทางรับ  โดยนำเพลงที่ไม่เคยรู้จักมาร้องส่งให้ปี่พาทย์รับ  ท่านก็นำวงรอดมาได้ทุกครั้ง
 
       นอกจากฝีมือดนตรี และลีลาในการแต่งเพลงที่ดีเยี่ยมแล้ว  คีตกวีผู้นี้ยังได้สร้างผลงานใหม่ๆ ให้แก่ศิลปการดนตรีไทยอย่างมากหาที่สุดมิได้ ท่านมีชีวิตรุ่งเรืองมาตลอดรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และยังได้ประดิษฐ์เพลงประกอบละครเรื่อง  "ผกาวลี"  ของเสถียรโกเศศ ถวายสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล    ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งดำรงพระอริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ประทับทอดพระเนตรอยู่ด้วยทำให้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 8 มีพระดำริทรงศึกษาดนตรีไทยบ้าง  แต่มาด่วนสวรรคตเสียก่อน  หลังจากนั้นไม่นานท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะก็ถึงแก่กรรม  เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2497  เวลา 19.45 น.  อายุ 74 ปี 7 เดือน 7 วัน

เว็ปไซต์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
 http://www.dontrithai.com/people/pradit_sorn.htm
http://www.talkingmachine.org/Luangpraditphairoh.html  


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 23 ก.พ. 04, 19:09
เมื่อตอนเย็นวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีการบรรเลงของวงจุฬาวาทิต (กิตติมศักดิ์) ที่หอประชุมจุฬา โดยสมเด้จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ทอดพระเนตร และยังทรงขับรองเพลงพระอาทิตย์ชิงดวง อีกด้วย

มีนักดนตรีอาวุโส และครูเพลงดนตรีไทยหลายท่านเข้าร่วมแสดง บังเอิญผมโชคดีได้บัตร เลยมีโอกาสได้ชม

นอกจากการที่ได้ชมพระอัจฉริยะภาพทางดนตรีของสมเด็จพระเทพแล้ว ผมยังโชคดีได้ชมการแสดงเดี่ยวระนาดสองราง โดยหลานศิษย์ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะอีกด้วย นับเป็นครั้งแรกที่ได้ฟังดนตรีไทยจากครูดนตรี ประทับใจมากๆครับ

ผมไปดูหนังโหมโรงวันเสาร์ที่ 21 หนังสนุกมากครับ แต่ใครที่คิดว่าระนาดที่ดวลกันในหนัง ไพเราะ และมันส์ รับรองว่าถ้าได้ชมครู้ดนตรีที่แสดงในวันศุกร์ละก็ต้องชอบแน่ๆ ของจริงมันส์กว่าในหนังอีก


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 25 ก.พ. 04, 14:27
 พักนี้ที่นี่เงียบจัง  ไม่เป็นไรเดี๋ยวผมมาทำหนวกหูเอง

ไปดูมาเหมือนกัน ต้องบอกว่าหนังดี การผลิต การเขียนเรื่องดี
แต่ที่น่ายกย่องที่สุดคือการยกย่องเชิดชูอัจฉริยะชาวไทย
โหมโรงเป็นหนังที่ประหลาดมากเพราะคนดูน้อยมากแต่นักวิจารณ์พูดถึงมากที่สุด

อัจฉริยะภาพทางดนตรีของท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะเปรียบเสมือน wolfgang Amadeus Mozart ในดนตรีตะวันตกเพราะท่านฉายแววตั้งแต่เด็ก อายุ 5 ขวบก็ตีฆ้องวงเป็นเพลงแล้วโดยไม่ต้องมีใครสอน ภาษาฝรั่งเรียกว่าเป้น Child Prodigy  นอกจากนั้นท่านยังเล่นเครื่องดนตรีได้ทุกชิ้นอย่างเชี่ยวชาญ
ในด้านการประพันธ์ดนตรี ท่านเป็นคีตกวีในยุคที่ดนตรีไทยรุ่งเรืองถึงขีดสุด เพลงของท่านแต่ละเพลง เรายังได้ยินได้ฟังกันในปัจจุบัน ท่านเป็นผู้ริเริ่มในหลายๆด้าน รวมทั้งฉันทลักษณ์ทางดนตรี
ในด้านการเล่นดนตรี ท่านเป็นหนึ่งทางระนาดเอกเช่นเดียวกับ Nicolo Paganini เป็นเอกทางไวโอลิน เทคนิคพิศดารในการเล่นไวโอลินได้ถูกคิดค้นสร้างสรรค์โดยปากานินี่เพียงผู้เดียวฉันใด  ระนาดเอกของไทยเราก็มีท่านหลวงประดิษฐ์เป็นผู้สร้างสรรค์ฉันนั้น ซึ่งเทคนิคเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่มหัศจรรย์ยากที่จะทำได้ง่ายๆ (เรื่องของปากานินี่ก็มีการดวลไวโอลินเช่นเดียวกัน)

จริงๆผมทราบเกี่ยวกับท่าน และชื่นชมท่าน มานานแล้วครับแต่ซาบซึ้งใจมากที่มีคนหยิบยกท่านขึ้นมาเชิดชู ทำให้เราภูมิใจว่าแท้จริงคนในชาติเราก็มีอัจฉริยภาพไม่ด้อยไปกว่าชาติอื่นๆเลย
ดนตรีไทยเป็นสิ่งที่แสดงภูมิปัญญาของชนชาติเราได้อย่างดียิ่ง

จริงๆแล้วขุนอินในเรื่องก็คือ พระยาเสนาะดุริยางค์ หรือ ครูแช่ม  สุนทรวาทิน ซึ่งเป็นอัจฉริยะอีกผู้หนึ่งในประวัติดนตรีไทย ตำนานกล่าวว่าหลังจากการประชันระนาดกับจางวางศร(ที่ตอนนั้นอายุ 19  แต่ครูแช่มอายุ 34 แล้ว) ครูแช่มได้หันไปเอาดีทางด้านการเป่าปี่และเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในทางปี่ชนิดที่ว่าภายหลังได้ประชันกับหลวงประดิษฐ์ฯอีกครั้งในเชิงปี่และหลวงประดิษฐ์ฯไม่สามารถเทียบได้เลย

รายละเอียดอ่านได้ใน

 http://www.thaikids.com/ranad/chap6/fc6s6p2_7.htm

น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้แม้จะดีมากๆ แต่ยังมีส่วนขาดๆเกินๆ ในการดำเนินเรื่องซึ่งน่าจะทำให้ต่อเนื่องกว่านี้  ตัวละครบางตัวดูเหมือนไร้ประโยชน์เช่นแม่โชติตอนสาวๆ  หรือการฝึกฝนมีน้อยไปนิดโดยเฉพาะบทบาทของตาแก่ขี้เมาที่กลายมาเป็นครูเทียนนั่น ผมคิดว่าเขาอาจจะเลียนแบบจากหนังจีนที่มักจะมียอดคนงำประกายแฝงตัวในวงการ แต่หนังไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่าครูเทียนมีอิทธิพลอย่างไรกับนายศร
ในเรื่องจริงเมื่อนายศรได้เข้าวังท่านได้ครูดีมาแนะนำให้ฝีมือก้าวหน้ายิ่งขึ้นคือ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
ซึ่งท่านผู้นี้เปรียบเสมือนสุดยอดปรมาจารย์แห่งดนตรีไทยอีกท่านหนึ่ง

ส่วนดีเยี่ยมของหนังเรื่องนี้ มีมากครับแต่ไว้ค่อยมาเขียนต่อ

อ้อ คุณจ้อ ช่วยผลักดันให้ภารโรงที่นั่งอยู่ห้องข้างๆไปดูสิแกคงจะชอบนะ  แต่ว่าอาจจะต้องเลี้ยงตั๋วแก 555555


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: บ้านายคำเก่ง ที่ 25 ก.พ. 04, 15:49
 แฮ่ๆๆๆๆ.....

ฅนห้องทังข้างอ้ายช้อนิบ่ไช่ภานโรงเนอ... อ้ายเหย ... เปนยามเฝ้าหนังสือแล ... ทักกันมาชะอี้บ่ว่ากันน่อครับ

(แปลเป็นภาษาไทย)... คนข้างห้องพี่จ้อไม่ใช่ภารโรงครับแต่เป็นยามเฝ้าหนังสือครับ...ทักทายกันมาเฉยๆครับ คงจะไม่ว่ากันนะครับ

ข้าม่อนก็บ่ได้ไปผ่อเทื่อเนอย้อนว่าเปนของฅนไธยบ่แม่นตุริยนนถีเมืองล้านนาบ้านข้าม่อน ... หลอนว่าเปนบ้านข้าม่อนเพิ่นร้องกันว่าพาดสะท้านเมืองอี้น่อ ชะไดคอนว่าบุรมีแล้วสะน่อยจักได้ไปก็จักไปผ่อน่อ เจ้าทังหลายเหย

(แปลเป็นภาษาไทย)... ผมก็ยังไม่ได้ไปดูครับ เพราะเป็นดนตรีไทย ไม่เกี่ยวข้องกับดนตรีพื้นเมืองล้านนาบ้านของผม ... หากเป็นดนตรีที่บ้านผมหนังเรื่องนี้จะต้องเรียกว่า พาดสะท้านเมือง(พาด=ระนาด-- อ่านว่า ป๊าด) อย่างไรก็ตามถ้าหากว่ามีบุญสักเล็กน้อยผมก็คงจะได้ไปดูครับ เพื่อนๆทุกคน

ฝากเถิงฅุนเธาชุมพู(ภู)น่อ คึดเทิงหาแท้นา ทังอ้ายนินคังขาทวยนอ ชะไดเรื่องม่านเทื่อลูนเอาไว้ก่อนก็แล้วกันน่อ หว่างนี้งานนักแคเตมธี

(แปลเป็นภาษาไทย) ... ฝากถึงคุณเทาชมพูครับ คิดถึงมากๆเลยครับ และคุณ(พี่)นิลกังขาด้วยนะครับ ส่วนเรื่องพม่าคราวก่อนนั้นขอติดเอาไว้ก่อนครับ เพราะช่วงนี้งานค่อนข้างยุ่งมากครับ


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 25 ก.พ. 04, 17:52
 5555555555
น้องเก่งครับ  ภารโรงที่ว่าไม่ใช่น้องเก่งครับ
พี่หมายถึงห้องที่อยู่อีกด้านนึงน่ะครับ


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: Little Sun ที่ 26 ก.พ. 04, 08:22
 ลิงค์นี้ก็มีคำวิจารย์และความคิดเห็นเกี่ยวกับโหมโลงนะคะ
 http://www.budpage.com/bm41.shtml  


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 04, 11:30
 ได้ยินเสียงกล่าวขวัญกันอึงคะนึงเหมือนกันค่ะ   ถ้าไปดูไม่ทัน
ก็จะซื้อซีดีมาภายหลังแน่นอน

แวะมาทักทายบ้านายคำเก่ง
ตอนนี้ติดหนี้ไว้หลายกระทู้ค่ะ   ไม่มีเวลามาต่อ
มัวไปรับจ๊อบเพิ่มอยู่  คุณจ้อกับคุณเปี้ยวคงรู้ว่าอะไร
เรียบร้อยแล้วจะกลับมาเรือนไทยอีกครั้ง

เดี๋ยวจะไปตามคุณนิลกังขามาให้นะคะ  


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 ก.พ. 04, 13:39
 ต้องดูครับ

ปกติผมดูหนัง(โดยเฉพาะในโรง)น้อยมาก ยิ่งหนังไทยนี่เรียกว่าน้อยกว่าน้อยอีกครับ

ปกติกลัวมาก เพราะดูหนังไทยทีไรออกมารู้สึกเหมือนถูกหลอกไปดูทุกที

ครั้งนี้ไม่ครับ ผมพูดได้เต็มปากเลยว่าเป็นหนังไทยที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยดูมา (ผมไม่ได้ดูมากนัก ถ้าจะข้ามเรื่องดีๆไปบ้างก็ต้องขอโทษด้วยครับ)

ต้องดูจริงๆนะครับ

เอ้อ... คุณ Little Sun... - -! โหมโรง นะครับ บ่ไจ้ โหมโลง

หวาดเสียวครับ  

ว่าแต่ว่าสำนวน "ยอดคนงำประกาย" ของคุณ paganini นี่ดูคุ้นๆแฮะ    


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 ก.พ. 04, 13:41
 แถมอีกหน่อย

คุณ paganini ครับ เสียงซอไทยนี่หวานไม่แพ้เครื่องสายฝรั่งเลยนะครับ ต้องไปหา soundtrack สะแล่ว


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 26 ก.พ. 04, 14:09
 คุณเทาไม่ทักผมเลย  น้อยใจอ่ะ 555555555 ยังไงก็สวัสดีนะครับ ผมว่ายังดูทันครับเพราะกระแสเริ่มกลับมาแล้วครับ คุณเทาฯรับไปดูนะครับจะได้กลับมาคุยกับพวกเราทัน
คุณเครซี่ฮอส ครับ สำนวนหนังจีน แหม  รู้ๆกันอยู่
ซอไทยมี 3 อย่าง แจกแจงตามความรู้อันต้อยต่ำของผม
ซออู้ - เสียงต่ำสุด เหมาะกับเสียงสะอื้น  เล่นเพลงเศร้าได้ดีที่สุด
ผมยังเสียดายอยู่ว่าตอนที่พระเอกเล่นซออู้เพลงคำหวาน ตอนเห็นนางเอกน่ะ  เขาเล่นโดยไม่มีลูกเล่นของซออู้เลย ไม่มีการสั่นคันชัก ไม่มีการพรมนิ้ว กลับไปเล่นเสียงทื่อๆแบบซอฝรั่ง
ขาดลักษณะอันงดงามที่สุดของซอไทยไป

ซอสามสาย -  อันนี้ผมว่าเสียงเพราะที่สุดครับ ระดับอยู่ตรงกลาง
เพลงหวานๆเพราะๆหลายเพลงมาจากเครื่องนี้
ถ้าผมเป็นผู้กำกับผมจะให้พระเอกเล่นซอสามสายแทนที่จะเป็นซออู้ครับเพราะซออู้เหมาะสำหรับเพลงคร่ำครวญ แต่ซอสามสายเหมาะสำหรับเพลงรัก

ซอด้วง - เสียงสูงแหลมจี๊ดเลย ใช้ได้ในหลายๆโอกาส

อ้อ น้อง little sun ขอบคุณสำหรับลิงค์นะครับ


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 26 ก.พ. 04, 17:24
 หายไปนาน งานยุ่ง มาแล้วครับ

ผมทักคุณอัศวะวิปลาส เอ๊ย อัศวะลีลาแทนคุณเทาฯ ก็ได้ ถ้าจะให้เข้ากับบรรยากาศกระทู้นี้ต้องเล่นระนาดเพลงม้าย่องหรืออัศวลีลาด้วย
เตรง เตรงๆ เตรงๆ เตรงเตร๊ง เตรงๆ เตร่งเตรง เตร๊งเตร่ง...

ขอทักทายทุกๆ ท่านด้วยครับ

ผมไปดูโหมโรงมาแล้วครับ เป็นหนังที่ดีมาก มากๆๆๆๆๆ ชอบมาก กะว่าจะไปดูอีก

แต่รู้สึกว่า ยังไม่ "ถึงใจ" คือดีมาก แต่ยังขาดอะไรไม่รู้ไปนิดหนึ่ง ถ้าเพิ่มไปอกนิด จะดีที่สุดเชียว ไอ้ที่ขาดไปนั้นคืออะไรผมก็ยังไม่รู้แน่ ดูเหมือนมีคนที่พูดคล้ายผมหลายคน ที่เห็นเขียนลง นสพ. ก็ดูเหมือนมีคุณ ซูม แห่งไทยรัฐ กับคุณอะไรไม่รู้อีกคนที่วิจารณ์หนังอยู่ที่มติชนสุดสัปดาห์

ผมเองแม้จะรู้สึกคล้ายๆ สองท่านนี้ แต่คนละสาเหตุ ที่คุณซูมกับคุณอะไรที่มติชนยกมาเป็นเหตุว่ายังไม่เต็มอิ่มเต็มที่นั้น ผมกลับไม่รู้สึกมากนัก แต่จะว่าที่ทำให้ผมรู้สึกยังไม่อิ่มคือตรงไหนนั้นผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจ ขอไปดูอีกสักรอบ แต่ถึงยังไงๆ ก็ยังเห็นว่าเป็นหนังไทยที่ดีมาก และเพลงเพราะเหลือเกิน

มีครูระนาดอีกคน รุ่นหลังท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ผมกำลังพยายามนึกอยู่ว่าใครหนอ ท่านได้ไปแสดงฝีมืออวดวัฒนธรรมไทยในเมืองจีน แต่ครั้งท่านนายก ฯ โจวเอินไหลของจีนยังมีชีวิตอยู่ ท่านนายกฯ โจวฟังเพลงระนาดของครูไทยท่านนี้แล้วถึงกับออกปากว่า ระนาดไทยนี่เพราะจับใจ "เหมือนไข่มุกร่วงหล่นบนจานหยก..."

 
ตอบคุณยอดทองบ้านาย เอ๊ย พ่อนายคำเก่ง (ยอดทองบ้านายนั้นเป็นตลกหนังตะลุงทางปักษ์ใต้ บ่ใจ้คนเหนียเจ้า) พาดที่ว่าเป็นคำที่เมืองเหนือใช้เรียกระนาด และออกเสียง ป้าด นั้น ชวนให้ผมคิดถึงคำว่า พิณพาทย์ ปี่พาทย์ ครับ ถ้าพาทย์แปลได้ว่าระนาดด้วยก็น่าสนใจ เพราะแปลว่าเป็นชื่อเครื่องดนตรี เข้าคู่กับพิณและปี่ได้

ดูเหมือนที่จริง พาทย์ วาทย์ จะแปลทำนองว่า ดนตรี ครับ มีบรรดาศักดิ์นักดนตรีไทยเก่าท่านได้รับพระราชทาน เช่น พิณพาทย์พิทยาเภท พาทยโกศล เป็นต้น คอนดักเตอร์ที่โบกไม้นำวงดนตรีฝรั่งก็มีคำเรียกว่า วาทยกร


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 27 ก.พ. 04, 10:11
 ถ้าจำไม่ผิด ครูระนาดที่ไปอวดฝีมือถึงเมืองจีนนั้น คือครูบุญยงค์ เกตุคง ครับ ถ้าผมจำผิดรบกวนท่านผู้รู้แก้ไขให้ด้วยครับ


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 02 มี.ค. 04, 15:23
 ขออภัยครับช่วงนี้หัวเข่าเดี้ยงเนื่องจากไปแตะฟุตบอลมา หมอบอกให้นอนพักเลยไม่ค่อยได้เข้าเว็ปครับ มาตั้งกระทู้แล้วหายตัวไปขออภัยด้วยครับ


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: Little Sun ที่ 06 มี.ค. 04, 14:25
 เอาเสียงเพลง
เพาะๆมาให้ฟังกันคะ
พร้อมภาพสวยๆ
 http://www.bates.co.th/shiroverture.swf  


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 09 มี.ค. 04, 16:15
 ได้ไปดูมาแล้วครับ โรงหนังเล็ก ๆ ใกล้ ๆ บ้าน
อยากไปดูโรงใหญ่เหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสหรือเปล่า
ประทับใจครับ ตอนนี้ กลับบ้านไปซ้อมตีระนาดเกือบทุกวันเลย    


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 15 มี.ค. 04, 19:21
 มีบทความของคุณ มุกหอมวงษ์เทศเขียนไว้ในมิติชนสุดสัปดาห์เกี่ยวกับโหมโรง คิดว่าน่าสนใจเลยคัดบางส่วนมาให้อ่านกันครับ

----------------------------------------------
อันที่จริงแล้ว ปี่พาทย์ไม้แข็งและขนบการให้ระนาดเอกเป็น "พระเอก" ที่ดุดันเกรี้ยวการดทั้งเขื่องและข่มทั้งพลิ้วและไหว ทั้งสะบัดทั้งขยี้อย่างโลดโผนแหวกแนวนั้น (หรือการกลายเป็นการแสดงฝีมืออย่าง Virtuoso) ไม่ได้มีมาแต่โบราณและในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเขมร แต่เริ่มมาในสมัยรัตนโกสินทร์ หรือโดย ครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะนั่นเอง

ทางระนาดอย่างนี้สร้างสรรค์ก็จริง แต่ก็ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อวัฒนธรรมดนตรีไทยหลายๆ อย่างด้วยกัน

เช่นการระนาดไม้แข็งของวงปี่พาทย์ทั่วไปนั้นหากพูดอย่างทางสุนทรียะของเสียแล้ว ต้องถือว่า(ประทานโทษ) หนวกหู และ "กลบ" เสียงดนตรีชนิดอื่นที่ไม่มีพลังทางเสียงและแนวการเล่นที่โดดเด่นเท่า

คนทั่วไปที่ฟังปี่พาทย์ก็จะได้ยินแต่ ระนาดเอกกับปี แทบไม่มีทางจะเงี่ยหูให้ได้ยินฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ระนาดทุ้มได้เลย

การประสมเสียงวงด้วยการคำนึงถึงสุนทรียศาสตร์ของ "การฟัง" จึงหายไป หรือไม่เคยได้รับความสนใจ ปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาต่อไป

การฟังจึงอยู่แต่ในหมู่นักดนตรีและผู้เชี่ยวชาญกันเอง และดนตรีปี่พาทย์ก็จะจำกัดอยู่แต่ในบริบทของการเล่นประกอบการแสดง พิธีกรรม และการประชันขันแข่งในหมู่คนวงในเองเท่านั้นอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆที่ดนตรีจะสืบต่อย่างมีพลังในสังคมได้นั้นต้องมี "ผู้ฟังสาธารณะ" ไม่ใช่มีแต่ผู้เล่น

นอกจากฝู้ฟังรุ่นใหม่แล้ว สิ่งที่วงการดนตรีไทยน่าจะพัฒนาควบคู่ไปด้วยเพื่อมิให้มีแต่วัฒนะรรมระนาดเอกที่ง่ายต่อการล้ำไปเป้นความกร่าง คือวัฒนธรรมระนาดทุ้ม หรือวัฒนธรรมฆ้องวง ซึ่งมีสุ้มเสียงที่เสนาะโสต และแนวทำนองที่มีชั้นเชิงลูกเล่นแพรวพราว ซึ่งถ้าทำให้วงปี่พาทย์เป็นดนตรีเพื่อ "การฟัง" จริงๆได้ ก็อาจจะขยายวัฒนธรรมการฟังดนตรีไทยไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่
--------------------------------------------------
เป็นที่รู้กันว่า นอกจากปัจจัยทางการเมืองภายนอกและขบวนการถ่ายทอดที่เข้มงวดแล้ว สิ่งกีดขวางพัฒนาการของวงการดนตรีไทยอย่างสำคัญคือ ขนบการมี"ครู"ที่"แรง"และ การ"หวง"วิชา ทั้งๆที่ครูหวงประดิษฐ์ฯ เป็นผู้ "แหกขนบ" ที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริงและไม่หวงวิชามิใช่หรือ

ฉากสุดท้ายที่ "ผู้พัน" ล่าถอยไปจากบ้านของ "ท่านครูศร" อย่างยอมจำนนต่อเสียงระนาดอันมหัศจรรย์นั้น เป็นฉากที่มีพลังที่ทิ้งทายต่อผู้ชมว่าในที่สุดตัวแทนของอำนาจรัฐก็จะพ่ายต่อศิลปะ คงมีผู้ชมน้ำตาคลออยู่ไม่น้อย

นี่เป็นพลังของภาษาหนัง แต่ความเป็นจริงคงไม่ใช่


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 15 มี.ค. 04, 19:32
(ต่อ ...)
โหมโรง คงก่อให้เกิดกระแสดื่มด่ำซาบซึ่ง"ดนตรีไทย"พอๆกับที่สุริโยไท ได้ก่อให้เกิดกระแสขวนขวายอยากรู้อยากเห็น "ประวัติศาสตร์ไทย" เพราะทั้งสองสิ่งมีความหมายรวบยอดคือ "ความเป็นไทย" แม้ปรากฎการณ์ภาพยนตร์ไม่ธรรมดาเหล่านี้จะจุดประกายให้มีผู้สนใจอย่างจริงจังได้บ้าง แต่ "กระแส" ก็คือ "กระแส" แปลอีกแบบได้ว่า "แฟชั่น" ที่มีช่วงเวลา "in" และ "out" มาแล้วก็ไป

ส่วนที่มีอยู่ตลอดไม่ยอมไป รอแต่ตัวกระตุ้นให้ปะทุทะลักทลายออกมา กลับเป็นเรื่องที่น่าศึกษษทางการแพทย์ ผู้ที่ปรากฎอาการนี้เรียกมันว่า "ต่อมความเป็นไทย"

"ต่อมความเป็นไทย" ซึ่งเกิดทำงานอย่างเฉียบพลันฉุกละหุก "ต่อมความเป็นไทย" นี้ยังไม่ได้รับการค้นคว้าวิจัยอย่างเพียงพอว่าสถิตอยู่ตรงไหนในร่างกายหรือจิตวิญญาน ประกอบด้วยเนื้อเยื่ออะไรบ้าง มีหน้าที่และทำงานอย่างไร ติดเชื้อชนิดไหนได้ หรือสร้างอาการข้างเคียงอย่างไรกับอวัยวะอื่น ...

... ในกรณีของผู้ปรากฏอาการเหล่านี้หลังจากได้ดูโหมโรงแล้ว จะเกิดอาการฟูมฟาย "ความเป็นไทย" ในลักษระพการระลึกชาติได้ออกมาทั้งทางการพูด การเขียน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจดนตรีไทย หรืเอเรื่องของวัฒนธรรมและอำนาจในสังคมไทยมาก่อน แต่ประสบการณ์เพียงสองชั่วโมงสามารถทำให้หวนระลึกและเข้าถึงความเป็นไทยที่น่าเทิดทูน และมีอยู่ในก้นบึ้งจิตใจตัวเองอย่างไม่รู้ตัวมาก่อนได้สมบูรณ์ไม่บกพร่อง

"ความเป็นไทย"  อย่างนี้ไม่ได้อยู่ในชีวิตปกติของชนชั้นกลาง เพราะจะเข้าถึงได้โดยผ่านตัวกลาง "สื่อ" ที่จำลองภาพเท่านั้น แต่จะว่าไปเกือบทุกสิ่งทุกอย่างในโลกสมัยนี้ก็ถูกรับรู้ผ่าน "สื่อ" แทบทั้งนั้น ...


กระทู้: โหมโรงกันซะหน่อย
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 15 มี.ค. 04, 19:47
 (ต่อ...ลอกเขามาอีกทีจากมติชนสุดสัปดาห์)

... โหมโรง สมควรอย่างยิ่งที่จะเป็น "โหมโรง" สำหรับคนไทยทุกคนและรัฐบาลที่ไม่รู้จักรากเหล้าตัวเองแต่ลุ่มหลงความเป็นไทย และยังเป็นหนังที่กัดกินใจชนชั้นกลางในเมืองที่หูชุ่มโชกหมกอยู่ใน Commercial music หรือ noise pollution ที่เสนอหน้าตัวเองว่าเป็น "music" อยู่ตลอดเวลา

หนังเรื่องนี้อาจไม่จำเป็นอะไรสำหรับชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ไปดูโขน ละคร ลิเก ฟังปี่พาทย์ตามปกติธรรมดาในวิธีชีวิตอยู่แล้ว ไม่มีความเป็นไทยอะไรให้โหยหาโหยหอน เมื่ออยู่ในภาพชีวิตจริงก็ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาอดีตหรือวัฒนธรรมที่ตัวเองไม่รู้จักจากภาพจำลอง

ใครก็ตามอาจรู้สึกว่า "ดนตรี" และ "บท" ในโหมโรงสามารถไปได้ลึกและมีพลังกว่านี้ ฉากจบค่อนข้างอ่อนและยังมีความเป็น melodrama  โหมโรง น่าจะถูกดูชมในแง่ของศิลปะภาพยนต์ ไม่ใช่เป็นเพียง "แถลงการณ์ของความเป็นไทย" ที่จริตคนดูชนชั้นกลางละเมอเพ้อพกกันไปเองอย่างไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ

ไม่ว่าสังคมใด Traditional arts อาจเปลี่ยนแปลงหรือไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ปรับตัว โรยราดับสูญ หรือไม่ "สื่อ" กับคนรุ่นใหม่ แต่ที่แน่ๆนั้นไม่ใช่เรื่องเชย ความรู้สึกหยาบๆ ตื้นๆ ว่า "เชย" กับ "art" ตามประเพณีเป็นปัญหาของคนที่ไม่รู้จักวัฒนธรรมและไม่มีรสนิยมทางศิลปะเอง

ในขณะที่ Commercial music และมิคสิควีดีโอของค่ยเพลงหรือวัฒนธรรม "ทันสมัย" อื่นๆชนิดที่ปรับให้เป็นไทยๆ นั้นเข้าไกล้ความกลวงและไร้รสนิยมมากกว่า ซึ่งเป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่และสังคมไทยที่ยังไม่เคยตระหนักเองต่างหาก