เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 12, 19:52



กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 12, 19:52
จอมพลป.ท่านมีชื่อตัวว่าแปลก    ชีวิตท่านก็เผชิญอะไรต่อมิอะไรที่แปลกไปจากนายกรัฐมนตรีทั้งหมดของไทยสมชื่อ   
ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเก้าอี้ได้ยาวนานที่สุด ๒ ช่วงด้วยกัน ทั้งก่อนสงครามโลกและหลังสงครามโลก     ซ้ำยังคั่นกลางระหว่างสองช่วงนี้ด้วยฐานะอาชญากรสงครามเสียอีก   
นอกจากนี้ท่านยังเป็นนายกฯคนเดียวที่ดวงแข็ง หนังเหนียวคงกระพันชาตรี  ถูกลอบสังหารหลากหลายต่างกรรมต่างวาระ คนนั้นยิง คนนี้ยิง คนโน้นวางยาพิษ  แต่ท่านก็รอดมาได้ทุกครั้ง   
คนที่ถูกกล่าวหาว่าสังหารท่านต่างหากที่ไม่เคยรอด   คือบางคนก็ไม่รอดคุก และบางคนก็ไม่รอดหลักประหาร 

เรื่องจอมพลป. ถูกลอบสังหาร  ถูกเอ่ยถึงสั้นๆในกระทู้ก่อนนี้ เชิญคลิกอ่านได้ในกระทู้ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3025.0)
กับ กระทู้ ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช   หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0)    แต่ว่ายังไม่มีกระทู้ที่รวบรวมเรื่องนี้โดยตรง    จึงขอยกมาเล่าสู่กันฟังในกระทู้นี้นะคะ
ถ้าท่านใดมีความรู้พอจะขยายความ หรือเพิ่มเติม หรืออยากซักถามสิ่งใด ก็ขอเชิญร่วมวง  ด้วยความเต็มใจ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 12, 20:31
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475   จอมพลป.ยังเป็นเพียงนายทหารหนุ่มชั้นนายพัน หลวงพิบูลสงคราม  ไม่ได้เป็นแกนนำในตอนนั้น     แต่ขึ้นสู่อำนาจอย่างรวดเร็วในปีต่อมา เมื่อเกิดกบฏบวรเดช   ได้รับความไว้วางใจจากพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาให้ปราบปรามกบฏ   หลวงพิบูลก็ทำได้สำเร็จอย่างดี

เมื่อจบกบฏบวรเดช   ดวงของหลวงพิบูลสงครามพุ่งแรงขึ้นกว่าใครๆในรุ่นเดียวกันทั้งหมด    ได้เลื่อนยศเป็นนายพันเอก   ก้าวพรวดเดียวขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม    ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477   ท่านไปทำหน้าที่มอบถ้วยรางวัลให้แก่ทีมชนะเลิศฟุตบอลทหารที่สนามหลวง   เสร็จงานแล้ว  ก็เดินกลับมาขึ้นรถท่ามกลางผู้ติดตามและองครักษ์คุ้มกันหลายต่อหลายคนตามแบบของคนใหญ่โต    
จู่ๆโดยไม่มีใครคาดคิด  ก็มีชายคนหนึ่งพรวดพราดแหวกคนเข้ามา ลั่นกระสุน 2 นัดใส่ท่านรัฐมนตรีผู้ก้าวขึ้นนั่งในรถ  

ในช่วงนาทีนั้น หลวงพิบูลฯกำลังเอี้ยวตัวหยิบกระบี่ออกส่งให้พ.ต.หลวงสุนาวินวิวัฒน์  เลขานุการ      หลวงสุนาวินได้ยินเสียงปืนก็เหลียวไปดู    เห็นมือปืนถือปืนมีควันกระจายอยู่ที่ปากกระบอก  กำลังยกขึ้นจะลั่นนัดที่ 3 เข้าใส่รัฐมนตรีอีก      หลวงสุนาวินก็โดดเข้าปัดปืนจนกระสุนพลาดเป้าหมายไป
พร้อมกันนั้นผู้ที่แวดล้อมอยู่ก็กรูกันเข้ามาล็อคตัวมือปืนไว้ทัน    ส่วนรัฐมนตรีกลาโหมถูกส่งตัวด่วนไปโรงพยาบาลทหารบกที่ถนนพญาไท   แพทย์ตรวจพบว่ากระสุนนัดหนึ่งทะลุแก้มซ้ายออกทางต้นคอ   อีกนัดเข้าไหล่ขวาด้านหน้าออกทางด้านหลัง   แต่ไม่ถูกที่สำคัญทั้ง 2 นัด
ผลจากการลอบสังหาร  หลวงพิบูลฯก็ต้องนอนในโรงพยาบาลอยู่ 1 เดือน แต่ว่าปลอดภัย


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 12, 21:35
มือปืนที่บุกเข้ามายิงรัฐมนตรีกลาโหมอย่างอุกอาจท่ามกลางผู้คนมากมายนั้นเป็นใคร?
เขาชื่อนายพุ่ม ทับสายทอง  เป็นนักเลง ชอบดื่มเหล้า ใครอยากจะให้ตีหัวใครก็ขอเหล้าขวดเดียว แล้วเขาก็จะตีหัวให้ หรือชกหน้าให้ตามต้องการ    
ท่านนวรัตนอธิบายไว้ในกระทู้ ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช  ถึงที่มาของคนร้ายว่า

นายพุ่มเป็นนักเลงกิ๊กก๊อกรับจ๊อบอยู่แถวสุพรรณ ติดคุกมาแล้ว7ครั้ง ตำรวจจับเป็นได้ทันทีและให้การว่ามายิงเพราะแค้นพี่ชายอาชีพโจรที่ถูกตำรวจจับตัดคอเสียบประจาน แต่โดนตำรวจใช้วิชามารไม่นานก็เปิดปากสารภาพ ได้ผู้ต้องหาหลายคนส่งฟ้องศาล ที่สุดแห่งคดีนี้ ศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต พันตำรวจเอก พระยาธรณีธิเบศร์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรกลางสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชที่ถูกคณะราษฎร ปลดออกจากราชการ แต่มีเหตุอันควรจึงลดโทษให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต นายพุ่ม ทับสายทองมือปืนรับจ้าง พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ลดเหลือ20ปีเพราะให้การเป็นประโยชน์ต่อคดี

นายพุ่มถ้าไม่บ้าอย่างหนัก  ก็คงจะมีเหล้าย้อมใจจนได้ที่  จึงกล้ารับจ๊อบบุกเข้าไปยิงรัฐมนตรีกลาโหม ตอนไปงานที่สนามหลวงซึ่งผู้คนแห่ไปดูกีฬากันเต็มสนาม   และยิงท่ามกลางบอดี้การ์ดแวดล้อมรอบด้าน     ไม่ยักนึกว่าต่อให้หลวงพิบูลตายไปตอนนั้น นายพุ่มจะหนีรอดไปได้ด้วยวิธีไหน


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 12, 22:08
ความจริงแล้ว ที่ท่านโดนยิงวันนั้นก็ไม่ถึงกับฉกรรจ์ ยังนั่งให้แพทย์ทำแผลได้


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 12, 22:23
ข้อความในประโยคสุดท้ายที่เขียนโดยอ.พิบุลสงคราม หรือ พลตรีอนันต์ พิบูลสงคราม บุตรชายของท่านซึ่งเขียนเมื่อ๔๐ปีให้หลัง ที่จบแบบว่า ตำรวจกำลังสอบสวนอยู่ น่าสนใจนะครับ น่าสนใจมาก


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 12, 22:34
ท้ายของย่อหน้านี้ เป็นการส่งลูกไปปีกที่หลวงอดุล รอรับอยู่ เพื่อจะไปผูกกับเหตุที่จะสร้างขึ้นในสองสามปีต่อมา แล้วนำไปหาเรื่องกำจัดศัตรูทางการเมืองของท่านผู้นำ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ค. 12, 22:37
รูปนี้ถ่ายตอนที่ท่านยังมีสีหน้างงๆอยู่ว่า ไอ้บ้าคนนั้นมายิงข้าพเจ้าด้วยเรื่องอันใด


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 12, 07:16
มาดูประวัติของมือปืนรายนี้กัน


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ค. 12, 07:28
ถ้าเกี่ยวกับคดียิงเป้า 18 ราย   เคยอ่านของ ขุนโรจนวิชัย (พายัพ โรจนวิภาต)
เรื่องทมิฬ ท่านเขียนรายละเอียดไว้ดีมาก ตอนนี้หาเล่มไม่เจอไม่รู้ซุกอยู่ที่ไหน

ส่วนอีกคนที่เคยอ่านนามปากา  เพลิง ภูผา  ไม่รู้ว่าคือใครชอบเขียนแนวนี้


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ค. 12, 07:30
อีกเล่ม


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 12, 07:46
อ่านประวัตินายพุ่มแล้ว แม้จะติดคุกถึง๗ครั้ง แต่นอกจากครั้งแรกที่ติดนานหน่อยแล้ว ที่เหลือก็ดูว่าเป็นคดีเล็กคดีน้อย ไม่ใช่เป็นมือปืนระดับพระกาฬเช่นที่คนสมัยหลังๆเขาจ้างมายิงคู่แข่งกัน

จึงเป็นไปไม่ได้ที่ใครก็ตามที่มีมันสมอง จะไปจ้างคนระดับนี้ไปยิงคนระดับหลวงพิบูล ซึ่งขณะนั้นแม้จะเป็นเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ใครๆก็รู้ว่าคนนี้แหละคือผู้ที่มีอำนาจตัวจริงในแผ่นดิน

ผมเชื่อว่าคนอย่างนายพุ่มต้องเป็นโรคจิต หรืออย่างน้อยก็สติไม่ดี ที่อยู่ๆก็เอาปืนไปยิงรัฐมนตรีโดยไม่คิดว่าตัวเองจะรอดออกมาใช้เงิน(ค่าจ้างยิง)ได้ แต่กระทำไป อย่างที่เจ้าตัวสารภาพ คือแก้แค้นแทนน้องชายที่เป็นโจรแล้วถูกตำรวจตัดหัว โดยนึกแบบคนบ้าว่าหลวงพิบูลคนดังเป็นคนสั่งการ  ซึ่งตอนแรกๆทุกคนก็เชื่ออย่างนี้ แม้หลวงพิบูลก็ปลงๆไปแล้วว่าเป็นความซวยของตน

แต่วันดีคืนดีสันติบาลเกิดนึกขึ้นมาได้ว่าแถวท้องถิ่นที่พำนักของนายพุ่มมีข้าราชการสายเจ้าอยู่ จึงไปจับบุคคลเหล่านั้นมาสอบสวนแล้วตั้งข้อหาส่งฟ้องว่าเป็นขบวนการที่ว่าจ้างนายพุ่มไปยิงบุคคลสำคัญของรัฐบาล ศาลอาญาได้พิเคราะห์ตามหลักฐานของตำรวจแล้วตัดสินประหารชีวิตไป๑ แต่ปรานีลดโทษลงมาเหลือจำคุกตลอดชีวิต นายพุ่มเองโดนไป๒๐ปีเท่านั้น แต่ติดจริงๆเท่าไหร่ ออกจากคุกยังเป็นๆหรือเขาหามออกมา อันนี้ไม่ปรากฏเรื่องราวไว้ให้ติดตามกันเลย

แต่เป็นอันว่า สันติบาลได้จบโครงการทดลองกับหนูตะเภา ต่อไปจะนำไปปรับปรุงให้เนียนยิ่งขึ้นสำหรับจะฆ่าแพะทั้งฝูงต่อไป


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 12, 07:50
อ้างถึง
ถ้าเกี่ยวกับคดียิงเป้า 18 ราย   เคยอ่านของ ขุนโรจนวิชัย (พายัพ โรจนวิภาต)
เรื่องทมิฬ ท่านเขียนรายละเอียดไว้ดีมาก ตอนนี้หาเล่มไม่เจอไม่รู้ซุกอยู่ที่ไหน

ก็เล่มนี้นั่นแหละครับ เขาพิมพ์ใหม่ ปกก็เลยใหม่ ไม่เหมือนเดิม


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 12, 08:14
สงสัยจะพาเข้าซอยไกลเกิน

ขอนำท่านกลับสู่ถนนใหญ่คืนเรื่องให้ท่านเจ้าของกระทู้ครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 12, 08:31
ไม่เข้าซอยหรอกค่ะ  ยังอยู่บนถนนสายใหญ่สายเดิม

สาเหตุจูงใจที่นายพุ่มให้การกับตำรวจแต่แรก ก็คือยิงรัฐมนตรีกลาโหมเพราะเจ็บแค้นที่พี่ชายชื่อเสือผาด ทับสายทอง ถูกตำรวจตัดหัวประจาน
เสือผาดเป็นโจรระดับพระกาฬ เหนือชั้นกว่าโจรกระจอกอย่างนายพุ่มอยู่มาก      ปล้นฆ่าจนเป็นที่หวาดกลัวของราษฎรไปทั่ว แถวนครปฐม  แต่ในที่สุดก็ถูกตำรวจล้อมจับ ถูกกระสุนเข้าหลายนัดแต่หนังเหนียว ไม่มีนัดไหนเข้า   เพียงแต่ทำให้บอบช้ำไปทั่วร่างจึงตัดสินใจยิงตัวตาย  ไม่ยอมให้ตำรวจจับกุมตัว
ตำรวจตัดคอเสือผาดมาแขวนกระจานที่บริเวณด้านข้างกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 7  แต่แขวนประจานได้เพียง  3 วัน  ราษฎรทนมองหัวผีไม่ไหว พากันประท้วง ตำรวจเลยต้องนำลง และให้ลูกของเสือผาดนำส่วนคอของเสือผาดไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณี

ตำรวจก็คงคิดแต่แรกว่านายพุ่มสติไม่ดี    เพราะถ้าเจ็บแค้นตำรวจจริง  แกก็ข้ามตั้งแต่ตำรวจนับสิบคนที่ล้อมวงจับเสือผาด  ไปจนสารวัตรและผู้กำกับตำรวจ  ข้ามผู้บังคับการตำรวจที่สั่งให้ตัดหัวพี่ชายแก  ไปจนอธิบดีตำรวจ   เท่านั้นยังไม่พอ    นายคนนี้ยังข้ามกระทรวงมหาดไทยมายังกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นกระทรวงทหาร    ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการงานของตำรวจในการปราบผู้ร้าย   แล้วเลือกเวลาที่มีผู้คนอยู่กันหนาแน่นหมดทางหนี   บุกเข้ามายิงรัฐมนตรีกลาโหมซึ่งไม่รู้อีโหน่อีเหน่เรื่องเสือผาดสักนิด

แต่ถ้านายพุ่มไม่ได้เสียสติ     ก็แปลว่าให้ปากคำเท็จ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 12, 08:42
อ่านจากหลักฐานที่ท่านนวรัตนสแกนมาให้อ่าน  งงๆว่านายพุ่มยิงกี่นัดกันแน่    นัดที่ ๑ และ ๒ ถูกจอมพลป. นัดที่ ๓ คุณหลวงสุนาวินโดดปัดปืน   เป็นได้ว่ากระสุนจากนัดที่ ๓ แฉลบไปโดนชาวบ้านแถวนั้นบาดเจ็บ
แต่ทีนี้ ชาวบ้านบาดเจ็บตั้ง ๓ คน   นายแสนและนายอุดม เสาวคนธ์ พี่น้อง  โดนหน้าแข้งแตกราวกับนัดกันไว้   คนหนึ่งแข้งขวา อีกคนแข้งซ้าย  
และพลทหารอีก ๑ คนก็บาดเจ็บเล็กน้อย    รายนี้ไม่รู้ว่าเจ็บเพราะกระสุนหรือชุลมุนกันตอนนั้นเลยโดนชนล้ม

จะว่ากระสุน ๒ นัดแรกเมื่อโดนจอมพล ป. บาดเจ็บแล้ว   ก็ยังวิ่งต่อไปโดนนายแสนและนายอุดมหน้าแข้งแตก  ก็ไม่น่าจะใช่
หรือนายพุ่มแกยิงอุตลุด  คุณหลวงสุนาวินปัดปืน  องครักษ์โดดเข้าจับกุม ก็ยังเอาไม่อยู่   นายพุ่มแกยิงกระจายจนหมดแม็ค

ในเว็บไซต์ที่เล่าถึงเหตุการณ์นี้ บอกว่าปืนที่นายพุ่มใช้ยิงชื่อปืนวอลเตอร์      ท่านที่มีความรู้เรื่องปืนคงบอกได้ว่าปืนวอลเตอร์คือปืนอะไร
หมายถึงปืนพก Walther PPK  ที่ผลิตในค.ศ. 1933 อย่างกระบอกข้างล่างนี้หรือไม่


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 12, 08:49
<
โอโห Walther PPK
นั่นปืนของพ่อเจมส์ บอนด์007(ไม่ทราบว่าเป็นอะไรกับคุณsamun007)เลยนะนั่น

ปืนรีวอลเวอร์คือปืนลูกโม่มาตรฐาน บรรจุกระสุน๖นัด
สมัยนั้นคงมีรูปโฉมประมาณนี้นะครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 12, 10:00
^
ที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องปืน ก็เพราะสงสัยว่าสมัยนั้น ปืนลูกโม่มาตรฐานอย่างที่คุณนวรัตนเอามาให้ดู   เป็นปืนที่หาง่ายใช้คล่องในหมู่นักเลงหรือไร
ถ้านักเลงใช้กัน  ไม่เป็นเรื่องแปลก     ตำรวจก็คงนึกว่านายพุ่มเป็นคนไม่เต็มเต็ง     ยิงรัฐมนตรีโดยไม่มีสาเหตุนอกจากบ้าคลั่งขึ้นมา
แต่ถ้าเป็นปืนที่นักเลงสมัยนั้นไม่น่าจะมีใช้    ตำรวจก็อาจจะเพ่งเล็งไปว่า นายพุ่มรับปืนมาจากใครสักคนที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหาร

จะเป็นอย่างไหนก็ตาม   หลวงอดุลเดชจรัสเพื่อนรักของหลวงพิบูลไม่เชื่อว่านายพุ่มเป็นแค่คนบ้า  จึงมีการสอบสวนนายพุ่มและขยายผลสืบสวนต่อไปจนได้ผลอย่างที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้     คือประกาศออกมาว่าได้พุ่มถูกจ้างวานมาอีกทีหนึ่ง   ชื่อบิ๊กคนจ้างวานที่งานเข้าเต็มๆ  โดยท่านอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม   คือนายพันตำรวจเอกพระยาธรณีนฤเบศร์ (พิทย์ ผลเตมีย์)อดีตผู้บังคับการตำรวจกองปราบ

พระยาธรณีนฤเบศร์เป็นใคร  เกี่ยวข้องกับหลวงพิบูลสงครามอย่างไร?


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ก.ค. 12, 10:29
ภาพขณะเป็นหลวงพิบูลสงคราม


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 12, 10:35
ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.  2475  เมื่อคณะผู้ก่อการฯ คบคิดกันอยู่นั้น  เรื่องนี้ไม่ใช่ความลับ  ตำรวจได้สืบทราบระแคะระคายความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว   แน่ใจถึงขั้นที่ว่าพลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ กับ พันตำรวจเอกพระยาธรณีนฤเบศร ผู้บังคับการตำรวจกองปราม ได้ทำหมายจับผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 5 คน  คือ
        1.อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
        2.พันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)
        3.นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย
        4.ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี
        5.ดร. ตั้ว ลพานุกรม
        พระยาอธิกรณ์ประกาศนำความกราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้ลงพระนามเพื่อจะจับกุม  แต่โชคเข้าข้างผู้ก่อการฯ  เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ   ทรงทักว่าดูชื่อแล้วเป็นชั้นผู้น้อยทั้งทหารและพลเรือน   ไม่น่าจะทำการสำคัญได้   จึงทรงยับยั้งการออกหมายจับ   หลวงพิบูลฯก็เลยรอดจากข้อหากบฏต่อแผ่นดิน แผนของคณะราษฎร์จึงลุล่วงไปโดยสะดวก
        หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ  พระยาอธิกรณ์ประกาศก็ถูกเด้งตามระเบียบ   ส่วนพระยาธรณีฯยังอยู่ในราชการ และพยายามจะจับกุมหลวงพิบูลฯอีกครั้งในสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในข้อหากบฏ  แต่ไม่สำเร็จเพราะพระยามโนฯไม่เห็นด้วย 


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 12, 11:00

พันตำรวจเอกพระยาธรณีนฤเบศรผู้บังคับการตำรวจกองปราม ท่านเป็นมือทำงานให้แก่พลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ ในการติดตามขบวนการของผู้ที่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนสุดท้ายได้ออกหมายจับบุคคลทั้ง๕ดังกล่าว แล้วนำความไปกราบทูลจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้ลงพระนาม
จึงไม่แปลกที่จะอยู่ในบัญชีดำขีดเส้นใต้แดงของคู่กรณีย์

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองและเป็นผู้ชนะ ก็ปลดคู้แค้นทิ้ง แล้วยังตามยัดข้อหาเอาเข้าคุกได้อีก

ท่านทั้งหลายก็คิดกันดูเอง คนขนาดเป็นเบอร์หนึ่งของกองปราบ รู้จักลูกน้อง และอาชญากรทุกระดับ ย่อมรู้ว่าเรื่องใหญ่ขนาดคอขาดบาดตาย ควรจะใช้หรือไม่ใช้คนเช่นไร มีหรือจะไปจ้างนักเลงขี้ยาบ้าๆบอๆ ไปยิงคนระดับผู้นำประเทศ

ก็แปลก ที่สมัยนั้นและสมัยนี้ก็มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า นายพุ่มรับงานมาจากฝ่ายเจ้า มาลอบสังหารหลวงพิบูลสงคราม


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 12, 11:18
^
เห็นด้วยค่ะ

นอกจากเรื่องข้างบนนี้  ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่พระยาธรณีฯกับหลวงพิบูลฯ ยืนกันอยู่คนละฟากการเมือง ด้วยค่ะ   แม้ว่าจะไม่ใช่การขัดแย้งกันเป็นส่วนตัวก็ตาม
ก่อนเกิดกบฏบวรเดช  สภาพอึมครึมทางการเมืองเข้าสู่ขั้นตึงเครียด แบ่งกันเป็น 3 ขั้วอำนาจ จะเรียกว่าเป็นสามก๊กทางการเมืองก็พอได้
สามขั้วที่ว่าคือ
1) ขั้วรัฐบาล  ได้แก่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี  พระยาจ่าแสนยาบดี รัฐมนตรีมหาดไทย และ พตอ. พระยาธรณีนฤเบศร์  ผู้บังคับการตำรวจภูธรกลาง    พวกนี้คือพวกอยู่ในอำนาจอย่างถูกต้องตามกฏหมาย
2) กลุ่มทหารเก่าที่พ้นจากอำนาจ เช่นพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ พระยาทรงสุรเดช และเหล่าเพื่อนฝูงผู้ใต้บังคับบัญชาที่รักใคร่นับถือกัน
3) กลุ่มทหารหนุ่ม ที่รวมตัวกันที่บางซื่อ นำโดยหลวงพิบูลย์สงคราม ร.พัน 3 ร.พัน 8 ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารสื่อสาร และทหารเรือ จากกองเรือรบ

ความตึงเครียดเพิ่มขึ้น จนตำแหน่งพระยามโนฯเริ่มง่อนแง่น  พระยาธรณีนฤเบศร์เข้าพบพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่บ้านพักถนนสาธร (ปัจจุบันคือสถานเอกอัครราชทูตพม่า)เพื่อขออนุมัติคำสั่ง  พากำลังตำรวจจับกุมกลุ่มนายทหารหนุ่มที่สืบทราบมาว่าจะยึดอำนาจปลดนายกฯออก   แต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดากลับตัดสินใจเป็นฝ่ายยอมลาออกแทน    เรื่องจับกุมก็เป็นอันว่าล้มเลิกกันไป

แต่หลวงพิบูลฯก็น่าจะรู้เรื่องนี้ดี   มันเป็นความลับไปไม่ได้อยู่แล้ว


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 12, 11:23
^
ผมลืมเรื่องนี้ไปเลย ที่ท่านอาจารย์เทาชมพูยกมานี้ ยิ่งชัดเจนเข้าไปอีกว่าพตอ. พระยาธรณีนฤเบศร์ท่านโดนล้างแค้นโดยชอบด้วยกฏหมาย


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 18 ก.ค. 12, 11:36

พระยาธรณีนฤเบศร์เป็นใคร  เกี่ยวข้องกับหลวงพิบูลสงครามอย่างไร?



เคยได้ยินมาว่า

ท่านเจ้าคุณธรณีฯ เมื่อสมัยยังรับราชการเป็นทหารยศ นายพันโท อยู่ที่พิษณุโลก

มีผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งนามว่า "นายร้อยตรี แปลก ขีตตะสังคะ"


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 12, 11:47
^
อื้อฮือ นี่ก็เรื่องใหม่ แต่การเมืองมันมักจะไม่มีหมู่มีจ่าสักเท่าไหร่


เรื่องที่คุยกันมาถึงตรงนี้ คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ลูกชายจอมพลป.จึงได้เขียนประวัติพ่อตอนถูกนายพุ่มยิงไว้อย่างลักกะปิดลักกะเปิด คงอายอยู่บ้างกระมังหากจะเผยให้คนอ่านรู้ว่า ศาลพิพากษาประหารชีวิตแล้วลดให้เหลือจำคุกตลอดชีวิตศัตรูเก่าทางการเมือง ผู้เป็นนายตำรวจมือระดับA+ของยุคสมัย ในข้อหาจ้างกุ๊ยกระจอกมาฆ่าพ่อของตน

แต่ก็ยังบอกกลายๆไว้ด้วยว่า เรื่องอะไรๆที่เกิดขึ้นภายหลังน่ะ เป็นฝีมือของหลวงอดุลเดชจรัส รองอธิบดีตำรวจเค้านะ จะบอกให้


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 12, 12:27
เราก็คงเห็นแล้วว่า หลวงพิบูลฯเป็นคนดวงแข็งอย่างเหลือเชื่อ    นอกจากรอดคดีกบฏหนักๆมาได้ 2 ครั้ง  โดยฝ่ายเตรียมจับกุมซึ่งมีข่าวสารข้อมูลถูกต้องทำอะไรไม่ได้เลยทั้ง 2 ครั้ง    จากนั้นดวงท่านก็พุ่งแรง พาสชั้นไม่รู้ว่ากี่ชั้น ขึ้นมาเหนือกว่านายพันโทอดีตผู้บังคับบัญชา ชนิดทิ้งช่วงกันมองไม่เห็นฝุ่น    ถูกยิงเข้า 2 แห่งอย่างจังในระยะใกล้  แต่ท่านก็ไม่ได้รับบาดเจ็บกี่มากน้อย  

แต่คนที่เจ็บหนักในเหตุการณ์ต่อจากนั้นคือพันตำรวจเอกพระยาธรณีนฤเบศร์   ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จ้างวานนายพุ่มมาลอบสังหารรัฐมนตรีกลาโหม ด้วยราคา ๑,๐๐๐ บาท   ในสมัยนั้นเงินพันบาทใครมี ก็พอจะกลายเป็นเศรษฐีย่อยๆได้   ก็ไม่รู้ว่าท่านเจ้าคุณจะเอาเงินจำนวนมากขนาดนั้นมาจากไหน  ถ้าเอามาจากที่ท่านเก็บหอมรอมริบเอาไว้ แล้วมาจ้างคนฆ่าหลวงพิบูลฯ  ท่านจะได้อะไรขึ้นมาก็ยังนึกไม่ออก

คนที่โดนหางเลขต่อจากพระยาธรณีฯมีอีกหลายคน  มีรายชื่ออยู่ในค.ห. 10     มีทั้งผู้อยู่ในกรุงเทพ และในต่างจังหวัด
ผู้อยู่ในกรุงเทพ คือ
- หลวงสิทธิบรรณาการ ข้าราชการกระทรวงวัง
- รอ. หลวงวรภักดิ์ภูบาล นายทหารกองหนุน
- หลวงวรสารผจญจักษ์  ทนายความ

ผู้อยู่ในนครปฐม
- นายฉุน ไพทฉันท์ ทนายความ
- นายชุ่ม ใจเด็ด
-นายลิสี  แป้นพุก
- นายสิน เลิศพลอย
- นายชิต จั่นเพชร


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 12, 12:30

ก็แปลก ที่สมัยนั้นและสมัยนี้ก็มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า นายพุ่มรับงานมาจากฝ่ายเจ้า มาลอบสังหารหลวงพิบูลสงคราม


ตรวจสอบรายชื่อผู้โดนหางเลขว่าเป็นก๊วนบงการสังหาร  ไม่เห็นมีใครมีกำลังอาวุธเลยจนคนเดียว    มีนายทหารอยู่คนหนึ่งก็ปลดประจำการเป็นทหารกองหนุนไปแล้ว  อีกสองคนเป็นทนายความ ซึ่งหมายความว่าประกอบวิชาชีพอิสระ ไม่ใช่ข้าราชการ   ย่อมไม่มีกำลังหรือพวกพ้องร่วมรุ่นร่วมสีใดๆ
ถ้าหากว่าจะมีอะไรโยงถึงเจ้า ก็เหลือแต่ข้าราชการกระทรวงวังหนึ่งคน  เป็นระดับกลางๆคือชั้นคุณหลวง   ดูจากราชทินนามก็น่าจะอยู่กับหนังสือราชการมากกว่ามีตำแหน่งใกล้ชิดเจ้านาย
ส่วนนอกนั้นน่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดา 

แต่ผลจากการซัดทอดของนายพุ่ม  ซึ่งในตอนนี้ตำรวจไม่เห็นว่าบ้าอีกแล้ว  แต่เห็นว่าพูดจาน่าเชื่อถือได้   อดีตนายตำรวจใหญ่พระยาธรณีนฤเบศร์ซึ่งเคยเป็นนายของตำรวจที่สืบสวนสอบสวนและจับกุมท่าน   ก็ถูกจับและส่งฟ้องศาล   ศาลตัดสินประหารชีวิต ต่อมาลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
ส่วนนายพุ่มโดนเข้า 16 ปี


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 18 ก.ค. 12, 14:55
ลงทะเบียนเรียนครับ (ยังไม่ได้อ่านนะครับ)
หลังจากที่จบหลักสูตร "จอมพล ป 2 ไม่ผ่ายขึ้น ป 3" + "ชะตากรรมพระยาทรงสุรเดช ฯ" มาอย่างหืดขึ้นคอ แต่ก็สนุกมาก
กระทู้นี้คงจะเป็นภาคต่อที่เปิดปมสงสัยเรื่องประหาร 18 ศพที่เป็นเรื่องสะเทือนขวัญชาวไทยที่สุด
มาลงเรียยนด้วยความกระตือรือร้นอย่างยิ่งทีเดียวครับ

(หลังจากที่ผม re-discover เรือนไทยแห่งนี้ ผมก็ได้นำไปป่าวประกาศให้เพือนๆที่สนใจการเมืองอ่าน ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบและติดกันงอมแงมเลยครับ)


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 12, 15:15
ไม่ทราบว่าคุณผกานิณีได้อ่าน หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป.คู่แค้น  (ftp://หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป.คู่แค้น) หรือยัง ผมถือโอกาสประชาสัมพันธ์ซะเลยว่า ถ้ายังไม่ได้อ่านก็ควรอ่านควบคู่กันไปกับกระทู้นี้นะครับ จะได้เข้าใจบริบทของเกมการเมืองสมัยนั้นอย่างครบถ้วน

ตามนี้เลยครับ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.0


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 12, 15:20
ตามไปอ่านซะดีๆเถอะค่ะ  คุณปสช.คนใหม่ของเรือนไทย     
อ่านกระทู้นั้นจบแล้วค่อยมาอ่านกระทู้นี้   เพราะกระทู้น่าจะสั้น  คุณปากานินีอ่านได้สบายๆ  ไม่เหน็ดเหนื่อยค่ะ 

ออมแรงเอาไว้รอคุณ NAVARAT.C  ตั้งกระทู้มหากาพย์ขึ้นมาใหม่เมื่อใด  คุณปากานินีกับเพื่อนๆ ก็ค่อยวิ่งไล่กวดกันอีกครั้ง

กลับมาที่เรื่องเดิม
พระยาธรณีฯท่านยอมรับสารภาพ    จึงถูกลดโทษจากจำคุกตลอดชีวิตลงมาเหลือแค่ 20 ปี      โดยส่วนตัวแล้วอดคิดเข้าข้างเจ้าคุณไม่ได้ว่าถึงไม่ได้ทำ ก็คงจำต้องสารภาพ   เพราะเป็นทางเดียวที่จะมีโอกาสเดินออกมาสู่อิสรภาพได้ในวัยชรา        เรื่องจะสู้คดีหาหลักฐานมาหักล้างว่าท่านไม่ได้บงการ  ต่อให้มีพยานมีหลักฐาน    นายตำรวจใหญ่อย่างท่านน่าจะดูออกว่าเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าศาลจะเชื่อ   
เจ้าคุณติดคุกอยู่นานเท่าใดไม่ทราบ   ดิฉันไม่มีข้อมูล    รู้แต่ว่าเมื่อเกิดกบฏนายสิบขึ้นมา  ท่านยังต้องโทษอยู่

ความจริงเรื่องกบฏนายสิบ หลวงพิบูลฯไม่ได้ถูกลอบสังหาร    แต่ว่าถูกหมายหัวถึงขั้นสังหารเหมือนกันหากขัดขืน  เมื่อพวกกบฏลงมือได้สำเร็จ    จึงขอเล่าสั้นๆไว้ในที่นี้ด้วย


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 12, 15:22
หลวงพิบูลมีโอกาสหายใจได้โล่งอกอยู่พักหนึ่ง เมื่อกวาดล้างนายพุ่มและคนที่คิดว่าเป็นศัตรูทางการเมืองเข้าไปเก็บตัวในคุกได้แล้ว    แต่พอปีต่อมา ในพ.ศ. 2478  ก็เกิดเรื่องคบคิดทำรัฐประหารขึ้นมาอีก

ผู้คิดการใหญ่โตเกินตัวอย่างน่าประหลาดใจครั้งนี้เป็นทหารชั้นผู้น้อย 8 คนด้วยกัน ล้วนแต่เป็นชั้นนายสิบ  ในกองพันทหารราบที่ 2 ในบังคับบัญชาของนายพันตรีหลวงประหารริปู  ตั้งอยู่ในวังจันทรเกษมหรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน    ไม่ปรากฎว่ามีนายร้อย นายพัน นายพล เข้าร่วมด้วยสักคน
แต่รัฐบาลก็สงสัยอย่างหนักว่าจะมีทหารชั้นผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลัง   เมื่อจับผู้ก่อการได้จึงบีบเค้นให้ซัดทอด  โดยมุ่งเป้าไปที่พันเอกพระยาทรงสุรเดช   แต่ก็ไม่เป็นผล   ไม่มีนายสิบคนไหนตอบว่าเจ้าคุณทรงฯเกี่ยวข้องด้วย   

ผู้ที่เป็นต้นคิดของกบฏนายสิบคือ สิบเอกถม เกตุอำไพ ซึ่งต่อมาก็ได้ขยายวงไปยังกองพันทหารราบที่ 3 และนายทหารอีก 7 คนที่เป็นจุดเริ่มของกบฏครั้งนี้ คือ สิบเอกแช่ม บัวปลื้ม, สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ, สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม, สิบเอกกวย สินธุวงศ์, สิบเอกเข็ม เฉลยทิศ, สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์, สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง

ทั้งหมดนี้แม้เป็นนายสิบ  ก็เป็นนายสิบอาวุโส ทำหน้าที่คุมคลังอาวุธของกองพัน  เป็นทหารที่ใกล้ชิดกับเหล่าพลทหารที่เป็นกำลังหลักของแต่ละกองพัน ซึ่งเหล่านายสิบนี้คาดว่าจะนำกำลังเหล่านี้ออกปฏิบัติการในวันก่อการ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ค. 12, 16:58
คำฟ้องของอัยการ ศาลพิเศษ(ศาลที่รัฐบาลจะแต่งตั้งใครให้เป็นผู้พิพากษาก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฏหมาย และจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีทนายแก้ต่าง คำพิพากษาถือว่าสิ้นสุด ไม่มีอุทธรณ์ฎีกา)

คดีกบฏนายสิบ ประเด็นฟ้องมีดังนี้

1) ภายหลังที่ประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากราชาธิปไตย มาเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญเป็นต้นมา จำเลยต่าง ๆ ซึ่งมีตำแหน่งตามบัญชีท้ายฟ้องนี้กับพวกที่ยังจับตัวไม่ได้ ได้บังอาจสมคบร่วมคิดตระเตรียม โดยมีแผนการทำลายล้มล้างรัฐธรรมนูญและพระมหากษัตริย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยามให้เป็นอย่างอื่น
2) ด้วยเจตนาดังกล่าวแล้วในข้อ 1) ระหว่างเดือนมิถุนายน จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม ศกนี้ จำเลยกับพรรคพวกได้ยุยงเกลี้ยกล่อมส้องสุมผู้คน ตระเตรียมสรรพศัตราวุธในกองทัพสยามและที่ต่าง ๆ กัน แบ่งหน้าที่จำเลยกับพวกเข้ากำกับในการทหาร และที่ทำการต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อยึดอำนาจการปกครองโดยฆ่าผู้บังคับบัญชาและจะได้จับนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรีไว้เป็นประกันก่อน ถ้าขัดขวางไม่ยินยอมหรือจำเลยกับพวกคนใดคนหนึ่งถูกประทุษร้ายก็ให้ฆ่าบุคคลทั้งสองนั้นเสีย แต่หลวงประดิษฐมนูธรรมให้จับตาย แล้วตั้งตนเองและพรรคพวกขึ้นครองตำแหน่งบัญชาการแทน และจัดกำลังไปทำการยึดสถานที่ทำการของรัฐบาลกับรักษาสถานทูตต่าง ๆ
3) เพื่อให้สำเร็จตามความมุ่งหมายของจำเลยกับพวก จำเลยจะประหารชีวิตข้าราชการในรัฐบาลบางจำพวกให้หมดเสี้ยนหนามหรือศัตรูขัดขวางแก่พวกจำเลยต่อไป ทั้งจะปลดปล่อยนักโทษการเมืองเมื่อ พ.ศ.2476 ซึ่งต้องโทษอยู่ในเรือนจำมหันตโทษทั้งหมด
4) ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ จำเลยจะขับไล่พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันออกจากราชสมบัติ และฆ่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ขณะทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระเจ้าอยู่หัวรัชการปัจจุบัน และหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ตลอดทั้งสกุลวรวรรณ แล้วอัญเชิญพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 กลับขึ้นครองราชสมบัติแทนต่อไป
5) การกระทำของจำเลยยังไม่สำเร็จลุล่วงไปตามแผนการทั้งหมดโดยรัฐบาลได้ล่วงรู้เสียก่อน จึงเริ่มทำการจับกุมเมื่อวันที่ 3 เดือนนี้
6) การกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้ว มีความผิดฐานกบฎภายในราชอาณาจักร และประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูล และก่อการกำเริบให้เกิดวุ่นวายถึงอาจเกิดเหตุร้ายในบ้านเมือง แล้วยังทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมและเป็นที่หวาดหวั่นต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ กับทำให้ทหารไม่พอใจเพื่อความกระด้างกระเดื่องไม่กระทำตามคำสั่งข้อบังคับของทหาร หมิ่นประมาทแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้บังคับบัญชา ละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ ทั้งหย่อนวินัยและสมรรถภาพแก่กรมกองทหารให้เสื่อมลง
7) จำเลยทั้งหมดถูกขังในศาลว่าการกลาโหมตั้งแต่วันที่ถูกจับ อัยการพิเศษได้ไต่สวนแล้ว คดีมีมูล จึงส่งจำเลยมาฟ้องยังศาลนี้ เหตุเกิดในกองรถรบ วังปารุสกกวัน กองพันทหารราบที่ 1 ,2,3,4, และบริเวณสนามหลวงกับที่อื่น ๆ ในจังหวัดพระนคร เป็นต้น

คำขอท้ายฟ้อง
การที่จำเลยได้กระทำตามข้อความที่กล่าวมาในฟ้องนั้น โจทก์ถือว่าเป็นความผิดล่วงพระราชอาญาตามพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายมทหารมาตรา29,30,31,32,33,41,42, และพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายลักษณะอาญาทหาร พ.ศ.2476 มาตรา 52 กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 97,102,63,64,65, และพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2470 มาตรา 3,4,

ลงนาม นายพันเอกพระขจรเนติยุทธ นายร้อยเอกขุนทอง สุนทรแสง นายร้อยเอกขุนโพธัยการประกิต นายดาบกิม ศิริเศรษโฐ นายดาบไสว ดวงมณี นายสำราญ กาญจนประภา นายทิ้ง อมรส

ศาลพิเศษมีคำพิพากษาในวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2478 ประเด็นสำคัญมีดังนี้

ให้ประหารชีวิต  ส.อ.สวัสดิ์ มหะหมัด จำเลยที่ปฏิเสธตลอดข้อหา
จำคุกตลอดชีวิต 8 คน คือ ส.ท.ม.ล.ทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ส.อ.เข็ม เฉลยทิศ ส.อ.ถม เกตุอำไพ ส.อ.เท้ง แซ่ซิ้ม ส.อ.กวย สินธุวงศ์ ส.ท.แผ้ว แสงสูงส่ง ส.ท.สาสน์ คลกุล จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต
จำคุก 20 ปี 3 คน คือ ส.อ.แช่ม บัวปลื้ม ส.อ.ตะเข็บ สายสุวรรณ ส.ท.เลียบ คหินทพงษ์
จำคุก 16 ปี 1 คน คือ นายนุ่ม ณ พัทลุง

ส.อ.สวัสดิ์ มะหะมัด จึงเป็นนักโทษประหารในคดีการเมืองคนแรกของไทยในสมัยประชาธิปไตย โดยนำไปยิงเป้า ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ในตอนเช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2478


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ค. 12, 17:37
เข้าทำนองที่ว่า อำนาจเป็นสิ่งชั่วร้าย ยิ่งมีอำนาจมากยิ่งชั่วร้ายมาก
power is corrupt ,absolute power is absolute corrupt


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 18 ก.ค. 12, 17:44
ภาพที่คุณหนุ่มสยามนำมาลงไว้ในความเห็นที่ ๑๗ นั้น ยังคงเป็น นายร้อยโท แปลก  ขีตะสังคะ เป็นนายทหารสังกัดกรมเสนาธิการ 
ดูได้จากอินทรธนูถ้ามีแถบเล็กๆ พาดกลางตามทางยาวจะเป็นชั้นนายพันครับ  และจักรที่ติดบนอินทรธนู ๒ จักรนั้นแสดงว่าเป็นนายร้อยโท
ถ้าเป็นนายร้อยเอกจะติดจักรเพิ่มอีกดวงตรงต้นคอ  ในภาพนี้ท่านคล้องสายเสนาธิการที่บ่าขวา  และกลางอินทรธนูข้างซ้ายประดับรูป
คชสีห์เงิน  ความหมายคือเป็นนายทหารสังกัดกรมบัญชาการกระทรวงกลาโหม


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 07:49
การวางแผนผิดพลาดที่นำไปสู่ความหายนะของกบฏนายสิบ ก็คือพวกนี้ไม่มีรถถัง หรือพรรคพวกที่อยู่ในกรมรถรบ    รถถังเป็นอาวุธสำคัญในการรัฐประหาร   ฝ่ายไหนกุมพลังรถถังไว้ในมือได้ก็เท่ากับชนะไปแล้วค่อนตัว     นายสิบผู้ก่อการจึงต้องไปหาสมัครพรรคพวกที่อยู่ในกรมรถรบมาสมทบด้วย   ผู้ที่ทำหน้าที่ทูตเจรจาเกลี้ยกล่อมคือ ส.ท.หม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ที่ข้ามไปฝั่งกองพันทหารราบที่ 3  ซึ่งมีกรมรถรบสังกัดอยู่

นายสิบจากกรมรถรบที่ฝ่ายกบฏนายสิบคิดว่าจะเป็นไม้เด็ดในการยึดอำนาจนี้เอง ที่เป็นผู้เปิดประตูพาพวกเขาเข้าตะแลงแกง

กบฏนายสิบเผลอมองข้ามความจริงไปว่า รถถังหรือรถรบเป็นกองกำลังอารักขาคณะราษฎร์มาแต่แรก  เพราะพวกนี้รู้ฤทธิ์พิษสงของมันดี กลุ่มผู้ก่อการ 2475 จึงมอบหมายให้เฉพาะพรรคพวกในกลุ่มเท่านั้นที่คุมกำลังรถรบเหล่านี้ ไม่ปล่อยให้หลุดมือไปหาฝ่ายตรงข้ามได้ โดยเฉพาะกองพันที่กลุ่มนายสิบไปหาเป็นพรรคพวกนั้นก็ไม่ใช่ใคร  ผู้บังคับกองพันคือนายพันตรีทวน วิชัยขัทคะ อดีตนายร้อยเอกทหารม้าผู้ร่วมขบวนไปจับเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต    เมื่อนายสิบเข้าไปล้วงเนื้อออกจากปากเสือขนาดนั้น จะไปเหลืออะไร


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 08:08
    ในเมื่อได้รับคำชักชวนให้ก่อกบฎ  นายสิบรถถังก็ไม่ได้กระโตกกระตากอะไรให้ไก่ตื่น    ก็ทำเอออวยไปด้วยงั้นๆ  แต่แล้วก็ลอบไปรายงานผู้บังคับบัญชา   พอนายระดับต้นรู้ก็ส่งข่าวตรงขึ้นไปหาหลวงพิบูลฯทันที   ว่าวันที่ 5 สิงหาคม 2478 นี่แหละนายสิบจะยึดอำนาจแล้วครับผม
    นับเป็นเคราะห์สาหัสของกลุ่มนายสิบ  ที่หลวงพิบูลฯมิได้รู้สึกแม้แต่น้อยว่า..เฮ่ย..ข่าวโคมลอยมั้ง    พวกนี้ก็ตัวเล็กๆ กันทั้งนั้น มันจะมีปัญญาทำอะไรของมัน      หรือคิดว่า..ตัดปัญหายุ่งยากไม่ให้บ้านเมืองต้องเจอรัฐประหารซ้ำซาก  เราลาออกดีกว่าเรื่องจะได้จบ    อย่างที่ผู้ใหญ่ในยุคก่อนหน้านี้คิดกัน  เป็นเหตุให้หลวงพิบูลฯรอดมาได้จนเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมือง      
    ตรงกันข้าม   หลวงพิบูลฯเห็นเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ที่จะต้องปราบเสี้ยนหนามให้สิ้นซาก  จึงวางแผนซ้อนแผน  ชิงลงมือจู่โจมจับตัวผู้ก่อการเสียก่อนผู้ก่อการจะชิงลงมือจู่โจมจับหลวงพิบูลฯและพรรคพวก

    ตามแผน   นายสิบผู้ก่อการทุกคนจะมานอนที่กองร้อยตั้งแต่ตอนเย็นวันที่ 5 สิงหาคม เตรียมทหารลูกหมู่พร้อมอาวุธประจำกายและกระสุนที่มีอยู่ตามอัตราปกติในกองร้อย   เมื่อถึงเวลา 03.00 น.ของคืนนั้น  ก็ให้นำหมู่แยกย้าย    จู่โจมเข้าควบคุมตัวผู้บังคับกองพันและนายทหารทุกคนที่บ้านพัก   การจับกุมต้องกระทำแบบเฉียบขาด ใครขัดขืนให้ยิงทันที
    เมื่อควบคุมกองพันได้แล้ว   ขั้นตอนต่อไปคือนำกำลังซึ่งประกอบด้วยหมู่ปืนกลหนักจากกองร้อยที่ 4 และหมวดเครื่องยิงลูก  ระเบิดไปสมทบกับกำลังจากหน่วยอื่นและนำรถรบไปล้อมวังปารุสก์ไว้  เพื่อบังคับให้บุคคลสำคัญมอบตัว    

    แต่เวลาเย็นตามที่นัดหมายกันก็ ไม่มีวันมาถึง  
  


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 08:13
  ทางระดับบน    หลวงพิบูลฯพอได้รับข่าวลับ  ก็เรียกประชุมระดับแกนนำทันที ในฐานะรองผบ.ทบ. ออกคำสั่งลับไปยังผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 และ 3 ให้ชิงลงมือจับนายสิบที่ต้องสงสัยในกองพันของตนได้ในวันที่ 3 สิงหาคม 2478 เวลา 12.00  น. คุมตัวไว้  เพื่อตัดหน้าก่อนที่จะมีการลงมือ
    ส่วนนายสิบประจำกรมรถรบที่เป็นผู้รายงานข่าวลับให้ผู้บังคับบัญชา  ก็ได้รับคำสั่งลับแผนซ้อนแผนกลับมาว่าให้เออออกับฝ่ายกบไปก่อนเพื่อไม่ให้ฝ่ายนั้นรู้ตัว แต่ให้ไปตกลงกับแกนนำกบฏนายสิบว่า เขาสามารถนำรถรบออกมาได้อย่างเดียว ไม่มีอาวุธออกมาด้วย      เพราะมีสิทธิ์ถือกุญแจแค่ที่เก็บรถรบเท่านั้น ไม่มีกุญแจคลังอาวุธ ให้เอาไปแต่รถเปล่า ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการก็ไม่รู้จะทำไงต้องตกกระไดพลอยโจนยอมรับแค่รถถังเปล่าๆ

    นายพันตรีหลวงประหารริปูราบ ผู้บังคับการกองพันทหารราบที 2 เมื่อได้รับคำสั่งลับที่สุด ด่วนมาก จากผบ.ทบ.     แล้วก็เรียกประชุมนายทหารเป็นการด่วน สั่งนายทหารทุกคนเตรียมรับมือ   เพราะแผนของกลุ่มนายสิบกำหนดไว้ว่าจะจับนายทหารทุกคน หากขัดขืนก็จะใช้ความรุนแรงถึงขั้นยิงทิ้ง ไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหม    
  
   เหตุการณ์ตอนนั้นตึงเครียดมาก ทั้งฝ่ายนายสิบที่จะจู่โจมทำรัฐประหาร  และฝ่ายนายทหารที่จะชิงจู่โจมก่อน   หลวงพิบูลฯมองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะระแวงว่าพระยาทรงสุรเดชอยู่เบื้องหลัง  จึงประเมินขีดความสามารถของกบฏไว้สูงมาก เกรงทหารเรือจะหนุนหลัง    
   ต่างฝ่ายต่างระมัดระวังกันเต็มที่  แถมยังต้องทำใจเย็นทำพิรุธกระโตกกระตากไม่ได้อีกต่างหาก อย่างนายร้อยเอกวุฒิ วีรบุตร ผู้บังคับกองร้อย 2 ของกอง    พันทหารราบที่ 2 เตรียมรับสถานการณ์ด้วยการพกปืนถึง 2 กระบอกในกระเป๋ากางเกงทั้งซ้ายและขวา เผื่อเอะอะอะไรขึ้นมาก็กะสู้ตาย เพราะรู้ตัวว่าในฐานะผู้บังคับกองร้อยต้นตอก็น่าจะเป็นเป้าหมายแรกที่กลุ่มนายสิบจะเข้าจับกุมตัว


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 08:21
ทีแรกว่าจะเล่าเรื่องนี้เพียงสั้นๆ  แต่ไปอ่านแล้ว มีฉากเหตุการณ์ตื่นเต้นระทึกใจยิ่งกว่าหนังสงคราม   ก็เลยเก็บรายละเอียดมาเล่าสู่กันฟังทั้งหมด

    บนกองร้อย 2 เวลา 12.30 น.ของวันที่ 3 สิงหาคม 2478 นายร้อยเอกวุฒิ ผู้บังคับกองร้อยได้เรียกประชุมทั้งกองร้อยไม่ให้ใครขาดแม้แต่คนเดียว มีนายทหารผู้บังคับหมวด 3-4 คนและจ่ากองร้อย นายสิบเวรประจำวัน และทหารยามเกร่ไปมาอยู่หน้าห้อง พอได้เวลาก็พากันก้าวตามหลังผู้บังคับกองร้อยเข้าไปในห้อง

   นายร้อยเอกวุฒิหันไปสั่งทหารยามด้วยเสียงดังเฉียบขาดว่า "ยามบรรจุกระสุน" มีเสียงกระชากลูกเลื่อนปืนดังขึ้นจากยาม และนายสิบ 3-4 คน แล้วก็เดินเข้ามาในห้องประชุม ทุกคนตกตะลึงไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น  เพราะบรรยากาศเคร่งเครียดขึ้นฉับพลัน โดยเฉพาะผู้ก่อการที่รู้ตัวแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ทันได้คิดอะไรได้อีกก็มีเสียงคำสั่งของนายร้อยเอกวุฒิดังขึ้นอีก

"สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง ยืนขึ้น" สิ้นเสียงคำสั่ง สิบโทแผ้วก็ยืนตรงขึ้นตามลักษณะทหาร และแล้วคำพูดที่ไม่อยากได้ยินมากที่สุดก็ดังขึ้นประหนึ่งสายฟ้าที่ฟาดลงมากลางกระหม่อมอย่างเลี่ยงไม่ได้
"รัฐมนตรีกลาโหมสั่งให้จับลื้อฐานกบฏ"
สิ้นเสียงคำสั่ง ทหารยามก็เข้ามาควบคุมตัวสิบโทแผ้วไว้ทันที ส่วนที่ยืนอยู่ก็ยกปืนประทับบ่าเตรียมพร้อมหากเกิดอะไรที่ไม่ชอบมาพากลขึ้นก็พร้อมที่จะยิงทันที และเมื่อนายร้อยเอกวุฒิเข้าค้นตัวแล้วไม่พบอาวุธหรือหลักฐานใดในตัว ก็สั่งให้ทหารยามคุมตัวลงมาที่สนามหญ้าหน้ากองร้อย
และที่นั้นเองที่สิบโทแผ้วได้พบกับเพื่อนร่วมคิด ร่วมก่อการที่ถูกจู่โจมเข้าจังพร้อมกันยืนรออยู่ก่อนแล้ว ทั้งสิบเอกถม เกตุอำไพ สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ขาดแต่สิบเอกเข็ม เฉลยทิศ ที่ออกไปทำธุระนอกหน่วย กับสิบเอกกวย สินธุวงศ์ ที่ลาบวชหน้าศพยายที่เมืองนนท์ไปก่อนหน้านั้นไม่นานเท่านั้น

และเมื่อรวบรวมเหล่าผู้เตรียมการกบฏได้ครบหมดแล้ว ก็มีรถบรรทุกพร้อมทหารยามติดอาวุธครบมือคุมขึ้นรถไปทันทีที่ผู้บังคับกองร้อยออกคำสั่ง
"ไปกลาโหม"


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 08:29
   เพียงครึ่งชั่วโมง  กบฏนายสิบชุดแรกก็ถูกส่งตัวเข้าไปในที่คุมขังบริเวณชั้น 3 ของกระทรวงกลาโหม ที่ทำขึ้นเพื่อขังกบฏบวรเดชโดยเฉพาะ   ตกบ่ายกลุ่มที่ 2 ที่ถูกจับจากกองพันทหารราบที่ 3 ก็ถูกส่งตัวมาถึงบ้าง  ผู้ถูกจับรอบนี้ คือ จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด ส่วนกองพันทหารราบที่ 1 ก็จับจ่านายสิบสวัสดิ์ ภักดีและสิบเอกสวัสดิ์ ดิษยบุตรมาเพิ่มเติม
    2 คนหลังนี่นับได้ว่าเป็นแพะ  เพราะไม่ได้ร่วมมือมาแต่แรก   แต่มีรายชื่อพลัดเข้าไปในลิสต์ของสายลับที่รายงานข่าว ทำให้เข้าปิ้งไปด้วยอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรเลย
      ส่วนคนสุดท้ายที่ถูกส่งมาในวันที่ 3 นั้นคือสิบโทสาสน์ คชกุล และอีก 2 วันที่เคยกำหนดไว้ให้เป็นวันดีเดย์ แต่กลับกลายมาเป็นวันที่ถูกกวาดล้างจับกุมแทน ก็มีนายสิบจากกองพันที่ 2 ถูกจับเพิ่มอีก2 คน คือ สิบเอกเข็ม เฉลยทิศ และสิบเอกแช่ม บัวปลื้ม และที่น่าสลดใจที่สุดคือสามเณรสิบเอกกวย สินธุวงศ์ที่ไปบวชหน้าศพยาย   ต้องถูกลากมาจากวัดส่งตัวเข้าคุกทั้ง ๆ ที่ยังครองผ้าเหลืองอยู่ เลยต้องปลดผ้าเหลือง "สึก"ตัวเองในห้องขังนั่นเอง  


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 08:29
     ความระส่ำระสายเกิดขึ้นกับครอบครัวทุกคนที่พักอาศัยอยู่ในเขตทหาร  ถูกคำสั่งให้ย้ายออกไปในทันที  ไม่รู้ว่าจะไปไหนก็ต้องไป    คนที่พลอยโดนหางเลขไปด้วยคือนายร้อยตรีวิสัย เกษจินดา ผู้เห็นใจความยากลำบากของครอบครัวอดีตลูกน้องที่ต้องขนย้ายข้าวของกันทุลักทุเล เลยสั่งให้ลูกน้องของตนไปช่วยขนด้วยจิตเมตตา ทำให้เขาถูกเพ่งเล็งจากผู้บังคับบัญชาว่าเกี่ยวพันกับกบฏกลุ่มนี้    สุดท้ายก็ถูกจับในคดีกบฏเมื่อปี 2481 หรือที่เรียกว่ากบฏพระยาทรง และยังเป็น 1 ใน 18 คนที่ถูกประหารด้วย

      การจับกุมกวาดล้างยังดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง   ผู้ถูกจับเพิ่มขึ้นอีก คือ สิบโทเลียบ คหินทพงษ์ สิบโทชื้น ชะเอมพันธ์ สิบโทปลอด พุ่มวัน จ่านายสิบแฉ่ง ฉลาดรบ จ่านายสิบริ้ว รัตนกุล สิบโทเหมือน พงษ์เผือก พลทหารจินดา พันธุ์เอี่ยม สิบเอกเกิด สีเขียว และพลทหารฮก เซ่ง และพลเรือนคนเดียวของกลุ่ม นายนุ่น ณ พัทลุง ที่เคยเป็นนายสถานีรถไฟในกบฏบวรเดช  อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายทหารทางรถไฟ

      พวกที่ไม่ได้ถูกจับเลยแม้แต่คนเดียว คือนายสิบจากกองร้อยรถรบที่เป็นผู้ส่งข่าวนี้ให้กับผู้บังคับบัญชานั่นเอง ซึ่งเหล่าบรรดานายสิบที่ถูกจับไปแล้วนั้น รู้เรื่องเกลือเป็นหนอนก็เมื่อได้เผชิญหน้ากันในศาลฐานะพยานโจทก์นั่นเอง


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 09:33
พยานโจทก์ที่มาเผชิญหน้ากันในศาล คือ สิบตรีเอื้อม ภาระการมณ์  และ สิบตรีหรั่ง นนทสุตร

เมื่อจับกบฏนายสิบได้   รัฐบาลรีบร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดี  ให้สภาฯประทับตราผ่านโดยเร็ว  ระหว่างรอพ.ร.บ.ผ่าน  ผู้ต้องหาก็ถูกทยอยนำตัวมาสอบสวนทีละคน  นอกจากถูกสอบตามขั้นตอนการสอบสวนปกติแล้ว ยังได้รับคำถามพิเศษอีกคำหนึ่งคือ
"พระยาทรงสุรเดชเป็นหัวหน้าใช่ไหม"
มีเงื่อนไขว่า ใครตอบว่าใช่ จะถูกกันให้เป็นพยานทันที แปลว่ารอดจากคุกไปได้    แต่เมื่อความจริงมันไม่ใช่ ก็เลยไม่มีใครกล่าวซัดทอดเลยแม้แต่คนเดียว นับว่าเป็นทหารที่ใจเด็ดจริง ๆ     ภายหลังที่นักโทษบางส่วนได้รับการอภัยโทษออกมา  ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครมากลับคำกล่าวอ้างว่ามีนายทหารคนไหนอยู่เบื้องหลัง

เพียง 9 วัน  อัยการก็ทำสำนวนเสร็จ ส่งผู้ต้องหาทั้งหมดฟ้องศาลทันที    โดยมีหลักฐานอย่างเดียวคือคำบอกเล่าของพยานโจทก์-นายสิบรถรบที่ถูกกันไว้เป็นพยานนั่นเอง    ไม่มีหลักฐานเอกสาร ไม่มีหลักฐานการกระทำอย่างอื่น


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 09:41
   วันที่ 27 สิงหาคม 2478 เป็นวันไต่สวนที่อัยการกล่าวข้อหาไล่กันรายตัว    ไม่มีทนายจำเลย   จำเลยเกือบทั้งหมดยอมรับสารภาพ เพราะเชื่อว่าคงติดคุกไม่เกิน 10 ปีเท่านั้น    ขืนไม่สารภาพโทษก็จะหนักกว่านี้
   มีรายเดียวที่ยืนกรานปฏิเสธ  คือสิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด  เพราะในข้อกล่าวหา ระบุว่ากบฏกลุ่มนี้ปรึกษาหารือและวางแผนกันในร้านเหล้าในกองพัน   สิบเอกสวัสดิ์เป็นมุสลิม  ตามหลักศาสนาของเขาไม่อนุญาตให้กินเหล้าอยู่แล้ว  เขาจึงเชื่อว่าจะรอดจากถูกกล่าวหาไปได้   ในเมื่อคำปรักปรำขัดกับข้อเท็จจริงดังกล่าว
   สวัสดิ์หารู้ไม่ว่านั่นคือการคิดที่ผิดอย่างมหันต์   เพราะในเมื่อเขาเป็นจำเลยรายเดียวที่ไม่รับสารภาพ  ศาลซึ่งใช้คำให้การของพยานเป็นน้ำหนัก จึงลงโทษขั้นสูงสุด คือประหารชีวิต
   ทำให้หลักฐานชั้นหลังบางแห่ง เมื่อเล่าเรื่องกบฏนายสิบ  บอกว่าสวัสดิ์เป็นหัวหน้ากบฏ เพราะเป็นคนเดียวที่ถูกประหารชีวิต   ความจริงเป็นเพราะเขาไม่ยอมรับสารภาพในสิ่งที่ขัดกับการประพฤติปฏิบัติในศาสนาของเขานั่นเอง



กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 09:56

จำคุกตลอดชีวิต 8 คน คือ ส.ท.ม.ล.ทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ส.อ.เข็ม เฉลยทิศ ส.อ.ถม เกตุอำไพ ส.อ.เท้ง แซ่ซิ้ม ส.อ.กวย สินธุวงศ์ ส.ท.แผ้ว แสงสูงส่ง ส.ท.สาสน์ คลกุล จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต
จำคุก 20 ปี 3 คน คือ ส.อ.แช่ม บัวปลื้ม ส.อ.ตะเข็บ สายสุวรรณ ส.ท.เลียบ คหินทพงษ์
จำคุก 16 ปี 1 คน คือ นายนุ่ม ณ พัทลุง

ส.อ.สวัสดิ์ มะหะมัด จึงเป็นนักโทษประหารในคดีการเมืองคนแรกของไทยในสมัยประชาธิปไตย โดยนำไปยิงเป้า ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ในตอนเช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2478
ฝ่ายจำเลยไม่มีใครคิดว่าจะเจอการลงโทษหนักถึงขนาดนั้น    เพราะจะว่าไปก็ยังไม่มีการกระทำใดๆเกิดขึ้น  ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับฝ่ายใด     แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรได้  ศาลพิเศษไม่เปิดโอกาสให้อุทธรณ์ฏีกา ตัดสินแล้วก็ตัดสินเลย 
ออกจากศาล  นักโทษทั้งหมดถูกส่งไปคุกบางขวาง ซึ่งเป็นคุกมหันตโทษสำหรับนักโทษเด็ดขาด   พอเข้าไปก็ต้องถูกตีตรวนทันที   สวัสดิ์ ที่โดนคำสั่งประหารถูกตีตรวนถึงขนาด 8 หุนแถมต้องถูกส่งตัวไปอยู่แดน 1 ซึ่งเป็นแดนสำหรับนักโทษชั้นเลว ข้อหาฉกรรจ์ทั้งนั้น

เหตุการณ์เล็กๆในตอนหนึ่งที่เล่าไว้ในเรื่องนี้ ที่ขอนำลงในกระทู้  เพราะอ่านแล้วสะเทือนใจ  คิดว่าท่านที่เข้ามาอ่านก็คงรู้สึกคล้ายคลึงกัน  คือกบฏนายสิบเจอนักโทษขังเดี่ยวคนหนึ่งนั่งซึมอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว
คำแรกที่นักโทษผู้นี้ทักทายกลุ่มกบฏก็คือ

"ทนเอาหน่อยน้องชาย ฉันก็ต้องตายที่นี่เหมือนกัน ฉันพระยาธรณีนฤเบศร์"

 ทราบเรื่องราวของนายพันตำรวจเอกพระยาธรณีนฤเบศร์เพียงเท่านี้    จากนั้นก็ไม่พบหลักฐานในบั้นปลายชีวิตของท่านอีก    ไม่ทราบว่าท่านได้รับอภัยโทษกลับมาสู่อิสรภาพได้หรือว่าไม่มีโอกาส
แต่ก็ขอบันทึกถึงท่าน ด้วยความสงสารจับใจ  และเห็นใจในการทำหน้าที่อย่างซื่อตรงและถูกต้อง    อย่าลืมว่าทั้ง 2 ครั้งที่ท่านรายงานต่อผู้ใหญ่  ทั้งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ และพระยามโนฯ นายกรัฐมนตรี    เป็นรายงานที่ถูกต้องตรงตามความจริงทั้งนั้น   
เคราะห์ร้ายเกิดขึ้น เพราะว่าผู้ใหญ่ไม่ได้พิจารณารายงานของท่านอย่างหลวงพิบูลฯพิจารณารายงานของนายสิบรถถัง


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.ค. 12, 10:10
ขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูที่นำมาเผยแพร่ เรื่องราวของกบฏนายสิบหาอ่านได้ยากมาก อาจเป็นเพราะผู้ต้องโทษทุกคนเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย ไม่มีสุ้มเสียงอะไร และรัฐบาลสมัยนั้นก็จัดการอย่างเด็ดขาดเงียบเชียบ เหมือนเรื่องที่ทะเลาะกันในโรงทหารและจบกันไปที่นั่น

สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด หนึ่งเดียวที่ถูกประหารชีวิต ถูกผูกเรื่องให้คนเชื่อว่าเป็นหัวหน้ากลุ่มก่อการกบฏ เขาถูกนำนั่งเรือไปไกลถึงป้อมพระจุล เพื่อประหาร แล้วนำศพใส่เรือกลับมาให้ญาติจัดการฝังตามศาสนาประเพณี


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 19 ก.ค. 12, 10:42

จำคุกตลอดชีวิต 8 คน คือ ส.ท.ม.ล.ทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ส.อ.เข็ม เฉลยทิศ ส.อ.ถม เกตุอำไพ ส.อ.เท้ง แซ่ซิ้ม ส.อ.กวย สินธุวงศ์ ส.ท.แผ้ว แสงสูงส่ง ส.ท.สาสน์ คลกุล จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต



สมัยเรียนมัธยมจำได้ว่ามีเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนหนึ่ง นามสกุล "แสงส่งสูง"

ครั้นเราไปถามว่ารู้จักกับ ผู้หมู่ แผ้ว คราวกบฏนายสิบหรือไม่

เพื่อนคนนั้นก็ตอบว่า "อ่อ ปู่กูเอง"

สืบความได้ว่า พอได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว ผู้หมู่ก็ย้ายสำมะโนครัวกลับบ้านเดิมที่นครไทย เมืองสองแคว

และลูกหลานเหลนก็ยังคงอยู่ที่นั่นสืบมาจน ณ บัดนี้


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 10:52
การเมืองในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีช่วงมืดอยู่หลายครั้งด้วยกัน     กบฏนายสิบก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ

แกะรอยพบอีกนิดหน่อยว่า สองคนในกบฏนายสิบคือสิบโทม.ล.ทวีวงศ์ วัชรีวงศ์  และสิบโทสาสน์ (หรือศาสตร์)คชกุล  เป็นนักโทษการเมืองที่ถูกส่งไปคุมขังที่เกาะนรกตะรุเตา  จนกระทั่งเกิดสงครามแปซิฟิคขึ้น   นักโทษเหล่านี้ก็ถูกย้ายไปเกาะเต่า  สิบโทสาส์นเสียชีวิตที่เกาะเต่านี้เอง    ส่วนม.ล. ทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ยังรอดมาได้
หนึ่งในเพื่อนร่วมชะตากรรมของม.ล. ทวีวงศ์  ที่เกาะเต่า คือม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน

ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2   จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จำต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะแพ้คะแนนเสียงในรัฐสภา เรื่องการสร้างนครเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง  นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
หนึ่งในผลงานแรกๆของคณะรัฐมนตรีใหม่คือ ได้มีมติให้กราบบังคับทูลขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษการเมือง ทั้งในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ.2476 คดีกบฏ พ.ศ.2481 รวมกบฏนายสิบด้วย   ทางการจึงมีการปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 20 ตุลาคม 2487  


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 12:19
ผู้ที่สนใจชะตากรรมของกบฏนายสิบ ติดตามส่วนหนึ่งได้จากคลิปวิดีโอนี้ค่ะ

สารคดีเชิงข่าว "เรื่องจริงที่โลกภายนอกไม่รู้"   โดยอาคเณย์ วัชรีวงศ์ ณ อยุธยา หรือแบ๊ว แซมบ้า ทายาทสิบโท ม.ล.ทวีวงษ์ วัชรีวงศ์ ผู้ให้ข้อมูลแก่ ITV โดยได้รับการบอกเล่าจากคุณพ่อ

http://www.youtube.com/watch?v=oi6JGaIt0Oc


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 19:10
  การลอบสังหารครั้งที่ 2  เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยเช่นเดียวกับครั้งแรก     และน่าหวาดเสียวยิ่งกว่าครั้งแรกตรงที่เกิดขึ้นใต้ชายคาบ้านพักของหลวงพิบูลฯเอง ในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ    
  ตอนนั้นเป็นเวลา 19.00 น.  หลวงพิบูลสงครามอยู่ในห้องชั้นบนของบ้าน   กำลังแต่งตัวจะออกไปงานเลี้ยง   ท่านผู้หญิงละเอียดภรรยาของท่านอยู่อีกห้องหนึ่ง   ชั้นล่างมีนายทหารอยู่อีก 3-4 คน ล้วนเป็นเลขานุการและทหารติดตาม
  จู่ๆเสียงปืนก็ดังขึ้นโดยไม่มีใครคาดฝัน    ตามมาด้วยเสียงหลวงพิบูลฯตะโกนว่า
 "ตาลียิง"
 นายร้อยตรีผล สมงาม นายทหารติดตาม รีบวิ่งขึ้นบันไดไป    พอถึงบันไดชั้นบนก็ได้ยินเสียงปืนอีก 1 นัด    เห็นหลวงพิบูลฯวิ่งออกมาจากห้อง  มีนายลี บุญตาวิ่งไล่หลังมา
   หลวงพิบูลฯร้องบอกอีกว่า "ตาลียิง"    ร้อยตรีผลจึงผลักหลวงพิบูลฯเข้าไปในอีกห้องหนึ่งแล้วโดดเข้าปัดปืนนายลีที่ยกขึ้นจะยิงซ้ำ  ชกนายลีล้มลงก่อนจะเข้าปล้ำแย่งปืน
   พอดีนายทหารอีก 3 คนที่อยู่ในบ้านวิ่งขึ้นบันไดมาถึง     คือนายร้อยเอกเผ่า ศรียานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม   นายร้อยตรีเปล่ง  รุจะศิริ  และพันจ่าตรีทองดี จันทนะโลหิต  ก็เข้าช่วยกันจับตัวนายลีไว้ได้  แล้วส่งตัวให้ตำรวจ
  
   การลอบสังหารครั้งนี้ แม้คนร้ายบุกขึ้นไปยิงในระยะกระชั้นชิดถึง 2 นัด   ก็ไม่ถูกทั้ง 2 นัด หรือแม้แต่ถากผิวหนัง     หลวงพิบูลสงครามแคล้วคลาดปลอดภัย    


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 19:26
นายลี บุญตา เป็นใคร
นายลี เป็นคนรับใช้ภายในบ้าน   ทำงานมายาวนานถึง 7 ปี เป็นที่เมตตาและไว้วางใจของหลวงพิบูลฯและภรรยา  ถึงขั้นให้ขับรถไปรับส่งลูก   วันนั้นนายลีก็ปฏิบัติหน้าที่โดยเรียบร้อย  ไปรับลูกสาวคนเล็กของเจ้าของบ้านกลับจากโรงเรียนประจำในตอนเย็น   พอตกค่ำก็ขึ้นไปสังหารนายถึงในห้องชั้นบน

คุณจีรวัสส์ ปันยารชุน ลูกสาวของจอมพลป. เล่าถึงเหตุการณ์การลอบสังหารว่า

อ้างถึง
จอมพล ป.ในขบวนผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นคนที่ถูกทำร้ายมากที่สุดนะ เป็นคนถูกจ้องทำลายมากที่สุด คุณพ่อถูกวางยา กินข้าวด้วยกันนายพลเยอะแยะ รวมทั้งจอมพลฟื้นด้วย ที่นั่งกินข้าวด้วยกัน คุณพ่อยังถูกวางยา และคุณพ่อถูกยิงอีก ๒ หนที่สนามหลวงเกือบตาย ระยะเผาขนเลย มาอยู่ตรงประตูรถ พอดีก้มลงหยิบกระบี่  ตอนเผาคุณพ่อยังเห็น ข้างหลังกระโหลกยังเป็นรอยกระสุนถากไป อีกหนหนึ่งก็ไอ้ลี (บุญตา) คนสวน ไล่ยิงระยะติด ๆ คุณพ่อกำลังแต่งตัวไปกินข้าวที่สถานทูตอังกฤษ มันเข้าไปยิง คุณพ่อก็วิ่งออกมาห้องพี่ แล้วออกมาอีกห้องหนึ่ง พอดีคุณเผ่าเขาอยู่ข้างล่าง ขึ้นมาล็อกไอ้ลีถึงบันได ดีที่มันยิงไม่ถูกคุณแม่ คุณแม่มาแต่งตัวห้องพี่ โต๊ะเครื่องแป้งยังเป็นรูกระสุนเลย ตอนนั้นลูก ๆ ไม่อยู่บ้าน พี่อยู่โรงเรียนวัฒนา

ความต่อจากบนนั้น

ป้าจีก็รู้จักนายลีเพราะเป็นคนในบ้าน
"มันเป็นคนสวนในบ้าน เป็นคนอุบลฯ วันนั้นนายลีไปรับน้องสาวที่อยู่โรงเรียนประจำด้วยกัน ไปรับยายเล็กกลับบ้าน เคราะห์ดีมันไม่ฆ่า ตกกลางคืนมาไล่ยิงคุณพ่อ"
นายลีโดนยิงเป้า "เขาว่าเวลามันจะตาย มันตะโกนบอกไหนว่าจะช่วยผมไงๆ"
แล้วคิดว่าใครสั่ง "ต้องไปค้นคำสั่งศาล"
เป็นการแย่งอำนาจกันหรือ "พี่ว่าไม่ใช่การแย่งอำนาจ เป็นการตัดคนที่มีอำนาจ"


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 12, 19:38
เมื่อถูกตำรวจสอบสวน  นายลีให้การว่าที่ขึ้นไปยิงนายก็เพราะเมา   แต่ไม่ยอมปริปากพูดว่ามีใครจ้างวานมาหรือเปล่า   อย่างไรก็ตาม มีเกร็ดตามที่คุณจีรวัสส์เล่า  ว่า

"นายลีโดนยิงเป้า "เขาว่าเวลามันจะตาย มันตะโกนบอกไหนว่าจะช่วยผมไงๆ"

ถ้านายลีร้องอย่างนั้นจริง ก็แปลว่านายลีถูกจ้างวานมาให้เป็นมือสังหาร     แต่เป็นมือสังหารที่อ่อนหัดมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติการลอบสังหารของโลก    เพราะนายลีมีโอกาสเข้าไปประชิดตัวเหยื่อในห้องเดียวกัน สามารถจ่อยิงได้เลย  เหยื่อไม่มีอาวุธที่จะต่อสู้   ได้แต่วิ่งหนีลูกเดียว   
ถึงกระนั้น นายลีก็ยังวิ่งตามไม่ทัน  ได้แต่ยิงไปถึง 2 นัดในระยะเผาขน     ผลปรากฎว่าไม่ถูกหลวงพิบูลฯแม้แต่ระคายผิว
ถ้าหากว่านายลีเมาอยู่ด้วยในขณะนั้น ก็มีเหตุควรแก่การเชื่อถือ  ว่าทำไมวิ่งเงอะงะและยิงสะเปะสะปะขนาดนั้น   นี่ยังไม่ต้องพูดว่านายลีอาจไม่เคยจับปืนเลยด้วยซ้ำ

เป็นที่น่าสงสัยว่าคนที่จ้างวานมีความคิดอย่างไร   จะหามือปืนดีกว่านี้สักหน่อยไม่ได้หรือ       หรือว่าเป็นดวงของหลวงพิบูลสงครามที่แข็งแกร่งอย่างเหลือเชื่อ    ถูกลอบสังหารครั้งแรกก็เจอนายพุ่มคนบ้า    ถูกลอบสังหารครั้งที่สองก็เจอนายลีคนเมา    ท่านจึงแคล้วคลาดไปได้ทั้งสองครั้ง


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.ค. 12, 20:45
ผมขอตั้งข้อสังเกตุด้วยประโยคคำถามว่า คนที่นายลีหวังว่าจะมาช่วยในนาทีสุดท้ายไม่ให้ถูกประหารได้นั้น น่าจะต้องเป็นคนใหญ่คนโตคับแผ่นดินเอาการอยู่ คนๆนั้นน่าจะเป็นฝ่ายหลวงพิบูล หรือฝ่ายศัตรูของหลวงพิบูล ?


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 06:53
ข้อความนี้ เป็นอารัมภคาถาของศาลพิเศษในการอ่านคำพิพากษา ได้สรุปย่อไว้ พอที่จะทำให้เชื่อได้หรือไม่ว่า "ท่าน"ที่นายลีพร่ำพรรณนาจะให้มาช่วยคือนายทหารยศนายพันทั้งสองคน หนึ่งในนั้นถูกยิงตายในขณะจับกุม อีกหนึ่งก็ต้องโทษประหารพร้อมๆกับนายลี

หรือจะคอยพระยาทรงสุรเดช ที่ศาลตั้งเป้าไว้ว่าเป็นผู้บงการใหญ่ แต่ขณะเดินเข้าสู่หลักประหารนั้น เป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้วว่าพระยาทรงกำลังตกระกำลำบาก ถูกบังคับให้ต้องลี้ภัยไปอยู่เขมร


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 07:19
ต่อ๑


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 07:21
ต่อ๒


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 07:27
ต่อ๓


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 08:27
ละครในเวทีชีวิตจริงบทนี้ จัดให้ พันโทพระสุวรรณชิต เป็นสายลับที่กินเงินเดือนแต่ไม่มีผลงาน จึงสงสัยว่าจะเป็นฝ่ายโน้น กับพันตรีหลวงสงครามวิจารณ์ ผู้ซึ่งเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของพระยาทรงสุรเดช เป็นผู้แสดงนำ

ข้อความโดย: NAVARAT.C
อ้างถึง
ในวันที่ผู้เผด็จการส่งลูกน้องไปจับกุมตัวพระยาทรงสุรเดชที่กรมทหารราชบุรี ได้แยกสายกันจับอดีตนายทหารคนสนิทของท่านในที่ต่างๆกันด้วย พันตรีหลวงราญรณกาจ ได้ต่อสู้จนถูกยิงตาย พันตรีหลวงวรณสฤช ถูกจับที่ปากพนัง เมื่อสันติบาลคุมตัวมาถึงชุมพร ผู้ต้องหารายนี้ได้ฆ่าตัวตาย พันตรีหลวงสงครามวิจารณ์ออกจากราชการไปประกอบอาชีพส่วนตัวอยู่ยะลา ทางราชการแถลงว่าระหว่างทางมีคนร้าย๙คนจะเข้ามาแย่งตัว หลวงสงครามวิจารณ์พยายามจะแย่งปืนจากตำรวจจึงถูกยิงตาย เบื้องหลังนั้นไม่มีใครทราบว่านายทหารทั้งสามเจตนาจะให้ตนเองตาย หรือมีใครจัดให้

ความจริงแล้วพระสุวรรณชิต กับหลวงสงครามวิจารณ์อยู่คนละขั้ว ทางเดินไม่ทับกันอยู่แล้ว ช่วงเกิดเหตุ คนหนึ่งอยู่กรุงเทพอีกคนลาออกไปทำสวนอยู่ที่ยะลา ยังเขียนบทดั้นให้ไปนัดกินข้าวกันได้แถวหน้ากรมทหารบางซื่อ ซึ่งเป็นถิ่นศัตรู ระบุวันที่เสียด้วยคือวันที่๘พฤศจิกายน ๒๔๘๑ การระบุถึงวันที่นี้ทำให้ฝ่ายจำเลยงงเป็นไก่ตาแตกที่จะต้องแก้ว่า วันดังกล่าวนั้น จำเลยไม่ได้อยู่ในร้านนายเซ็งนำที่เกิดเหตุ ก็มันหลายปีมาแล้ว ขนาดตัวจำเลยยังจำไม่ได้ คนรู้จักที่จำเลยขอมาให้การเป็นพยานจะไปจำความละเอียดถึงวันที่นั้นนี้โน้นได้อย่างไร ศาลเลยไม่ให้น้ำหนักและเชื่อว่า ณ วันเวลา และสถานที่ดังกล่าว จำเลยนัดหมายนายลี และ ม.ร.ว.ประยูร (ลูกพี่ลูกน้องของหลวงสงครามวิจารณ์ซึ่งสันติบาลไปตะครุบมาตั้งข้อหา แล้วตอนหลังถูกกันให้เป็นพยานโจทก์) ไปไหว้วานให้คนหนึ่งไปฆ่าหลวงพิบูล อีกคนหนึ่งไปฆ่าพระยาพหล โดยไม่มีค่าจ้างและค่าใช้จ่ายล่วงหน้าแต่ประการใด นอกจากคำมั่นสัญญาว่าถ้าทำสำเร็จแล้วเงินทองจะมาภายหลัง ส่วนจะให้ไปฆ่าเขาอย่างไร สำหรับนายลีก็ไม่ได้บอกหรือมอบเครื่องมือฆ่าให้ ทำให้นายลีต้องไปขโมยปืนนายที่ทิ้งไว้ในรถแล้วขึ้นเรือนไปยิงนายทั้งๆที่ตัวเมา ส่วน ม.ร.ว.ประยูรซัดทอดผู้ที่ตายไปแล้วว่า เอายาพิษใส่ซองส่งให้ตนเอาไปวางยาพระยาพหล แต่ตัวเองใจไม่ถึงจึงเอาทิ้งลงคลองไปแล้ว

ที่ตลกที่สุด เรื่องใหญ่ขนาดนี้ แทนที่จะนัดมาทีละคน แล้วมอบงานกันลับๆ แต่นี่กลับเรียกมือสังหารมาพร้อมๆกัน คนหนึ่งเป็นหม่อมราชวงศ์ อีกคนหนึ่งเป็นคนสวนมาจากอีสาน ต่อหน้าใครก็ไม่รู้อีกสามคน ศาลระบุว่าชาย๒หญิง๑

นายตำรวจสันติบาลเจ้าของคดีที่ทำสำนวนคดีนี้ชื่อพันตำรวจตรี หลวงแผ้วพาลชน ซึ่งได้ดิบได้ดีในราชการการเมืองต่อจากนั้นเป็นต้นมา เพราะทำให้ทั้งอัยการและศาลที่เคารพเชื่อว่าจำเลยผิดจริง ให้ประหารชีวิตทั้งพระสุวรรณชิตและนายลี บุญตา



กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 20 ก.ค. 12, 11:14
<
โอโห Walther PPK
นั่นปืนของพ่อเจมส์ บอนด์007(ไม่ทราบว่าเป็นอะไรกับคุณsamun007)เลยนะนั่น

ปืนรีวอลเวอร์คือปืนลูกโม่มาตรฐาน บรรจุกระสุน๖นัด
สมัยนั้นคงมีรูปโฉมประมาณนี้นะครับ

กระผมเป็นแค่ลูกกะโล่ของบุรุษจากหน่วย MI5 เท่านั้นขอรับ   ;D ;D


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 12, 12:12
ถ้าเรื่องนี้เป็น workshop ของนักฝึกเขียนบทละคร  ครูผู้ตรวจจะสั่งแก้บท รื้อฉากร้านเช็งนำทั้งฉากในค.ห. 51 ทิ้ง     เพราะถ้าเอาไปทำละครเวทีแล้ว   แทนที่จะกลายเป็นเรื่องลึกลับสืบสวนสอบสวน จะกลายเป็นเรื่องฮา ให้นักวิจารณ์สับเละ

ตัวละครเอก 4-5 คนเดินออกมากลางเวที  พากันลงนั่งในร้านอาหารจีนที่มีลูกค้านั่งกันอยู่ตามโต๊ะต่างๆ ใกล้กันพอจะได้ยินเสียงพูดคุยแต่ละโต๊ะได้สะดวก      ตัวละครเอกเริ่มคุยกันโขมงโฉงเฉงด้วยถ้อยคำชวนตื่นเต้นระทึกใจทั้งสิ้น
ตัวละครเอกคนแรก พูดกับตัวละครที่สอง
" เรื่องที่พูดไว้ ลื้อต้องทำให้สำเร็จ   อั๊วจะเลี้ยงดูตลอดชีวิต"
" ครับผม  ผมจะพยายามทำให้สำเร็จ"
ตัวละครตัวแรกหันไปพูดกับอีกคน
" เรื่องที่สั่งไว้ คุณต้องทำให้สำเร็จ   ทำอะไรขอให้พร้อมใจกัน  และต้องทำจริงๆ ทำอย่างเด็ดขาด  ความกล้าหาญหมายความว่าฝืนใจหรือหักใจจึงจะเป็นผลสำเร็จ   ตายก็ตายด้วยกัน  ถ้าไม่ตายเงินทองมาเอง   พวกที่อยู่ทุกวันนี้เป็นเพื่อนร่วมตายกันมาทั้งนั้น"
จากนั้นก็พูดต่อว่า
"จงพยายามทำกันให้หมดความสามารถ( น่าจะพิมพ์บทผิด ควรเป็น 'สุดความสามารถ' )ต้องทำกันเด็ดขาด  เมื่อทำสำเร็จแล้วเงินทองจะมาภายหลัง"
ตัวละครไร้ชื่ออีกคน สนับสนุนขึ้นว่า
" เอาเถอะ  ถึงแม้จะพลาดพลั้ง จะส่งเสีย"
ตัวละครที่สอง ยิ้มแย้มแสดงความพอใจ

บททั้งหมดนี้ หาความสมจริงไม่ได้เลย    เพราะคนดูจะเกิดคำถามว่า  ในเมื่อคบคิดทำอะไรถึงขั้น "ตายก็ตายด้วยกัน" ทั้งที   บ้านช่องไม่มีจะให้นั่งปรึกษากันบ้างหรือ  ถึงต้องแห่กันมาพล่ามในร้านอาหาร  ท่ามกลางลูกค้านั่งตะแคงหูฟังอยู่  
ซ้ำยังซวยเจอลูกค้าที่ความจำแม่นยำปานประหนึ่งเครื่องบันทึกเสียง   บันทึกคำได้ยินลงในสมองเป็นประโยคยาวๆไม่มีพลาด  ใครคนไหนพูดคำไหน  ใครตอบว่าอะไร ใครยิ้มรับคำใคร  จำได้โม้ด...



กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 12, 12:27
มีความเป็นไปได้อย่างเดียวคือ ลูกค้าในร้านที่กลายมาเป็นพยานปรักปรำจำเลยนี้  ถ้าจำได้ขนาดนี้จริง  ต้องตั้งอกตั้งใจจำคำพูดแน่นอน  นอกจากจำแล้วต้องจดด้วย   ถึงจะไม่ลืม
และเมื่อตั้งใจขนาดนี้ ก็แปลได้อีกอย่างเดียวคือเป็นสายลับฝ่ายทางการที่สะกดรอยความเคลื่อนไหวของเป้าหมาย  
ในเมื่อเป้าหมายเป็นคนที่มีสายลับสะกดรอย  พระสุวรรณชิตเองก็เป็นสายลับ  ยังไงก็ต้องระมัดระวังตัว   สายลับที่ไหนจะมานั่งยืนยันแผนสังหารอยู่ในร้านอาหาร  เป็นเป้าสายตาและเป้าหูฟังของฝ่ายตรงข้าม
ทำยังกะตัวเองเป็นเจมส์ บอนด์   ไม่ว่าไปไหนต้องทำตัวเป็นเป้าสายตาสาวๆทุกคนในเรื่อง

นอกจากนี้   ตัวละครเอกของเราก็น่าสงสารเหลือเกิน   หามือปืนไปยิงคนสำคัญขนาดนี้ ปืนสักกระบอกก็ไม่มีให้ไป   ต้องให้นายลีไปหาเอาเองดาบหน้า    นี่ถ้าท่านรัฐมนตรีกลาโหมไม่ละเลยเรื่องอาวุธ ขนาดทิ้งปืนไว้ง่ายๆ ในรถยนต์   แต่เก็บไว้มิดชิดใกล้ตัวอย่างบุคคลสำคัญพึงกระทำ  นายลีจะเอาอะไรไปฆ่าท่าน   มิต้องพกมีดดายหญ้าขึ้นไปบนบ้านพักหรือ
อีกข้อก็อย่างที่ท่านนวรัตนตั้งข้อสังเกตไว้     จากถ้อยคำที่พูดกันไม่มีตอนไหนเลยที่แสดงว่านายลีได้รับเงินค่าจ้างล่วงหน้าตามประสาการจ้างมือปืนทั้งหลาย      มีแต่คำสัญญาว่าถ้าทำได้จะได้เงินทอง   และถ้าพลาดพลั้ง(หมายถึงทำไม่สำเร็จหรือถูกจับได้) ติดคุกก็ไม่ต้องห่วง  ผู้จ้างวานจะส่งเสียเอง


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 12, 12:41
   สรุปว่าบ่าวคนหนึ่งมีนายใจดี อยู่กันมา 7 ปี  เลี้ยงดูลูกเมียพร้อม   ไว้วางใจให้ขับรถรับส่งภรรยาและบุตรของท่าน    ไม่เห็นมีปัญหาอะไรกับนาย  จู่ๆเกิดไปรับจ๊อบฆ่านายเอาง่ายๆ  ทั้งๆคนจ้างวานเองก็ไม่เห็นจะมีอะไรให้สักอย่าง  นอกจากคำพูดสัญญาลมๆแล้งๆ เงินก็ไม่ให้  อาวุธก็ไม่หามา 
   อย่าว่าแต่มาจ้างให้ไปฆ่าคนเลย   ต่อให้จ้างขนส่งสินค้า  คนถูกจ้างก็ยังต้องเรียกร้องวางมัดจำกันบ้าง  ให้รู้ว่าไม่หลอกให้ขนฟรี
   แต่เรื่องคอขาดบาดตายขนาดนี้  แค่พูดลอยๆ    นายลีก็ปลื้มแทบตาย  เต็มใจบุกขึ้นไปยิงนายทันที   จะเป็นจะตายยังไงไม่ว่ากันทั้งนั้น        แสดงว่านายลีจงรักภักดีและเชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์ในตัวผู้ว่าจ้าง   ว่าต่อให้ตัวเองถูกจับได้ ผู้ออกคำสั่งก็จะเหาะมาช่วยให้รอดพ้นได้   ไม่มีใครขัดขวางได้แม้แต่นาย 
    ใครหนอในพ.ศ. ๒๔๘๑  มีอำนาจล้นเหลือยิ่งกว่านายของนายลี    ถ้าจะบอกว่าเป็นพระยาพหลฯ    ก็ไม่ใช่แน่นอน  เพราะในคำให้การก็แสดงว่าพระยาพหลฯเป็นเป้าหมายสังหารอีกคนหนึ่งเหมือนกัน ด้วยการวางยาพิษ   แต่บังเอิญมือวางยาพิษเกิดใจฝ่อไม่กล้าทำ  รับห่อยามาแล้วโยนทิ้งเอาดื้อๆ     ก็เรียกได้ว่าเหลวไหลพอกันทั้งผู้จ้างวานและผู้รับงาน    ต่างคนต่างทำกันเป็นของเล่นทั้งสองฝ่าย  ทั้งๆกล้าคิดขนาดวางยาพิษนายกรัฐมนตรีกันทีเดียว
   บทละครเรื่องนี้ จึงไม่ผ่านเซนเซอร์ของผู้ตรวจ  ด้วยประการฉะนี้



กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 12, 12:53
พันโทพระสุวรรณชิตเป็นใคร
     หาคำตอบได้แต่เพียงว่า พระสุวรรณชิตเป็นนายทหารนอกราชการ  มีอาชีพที่แสดงโดยเปิดเผยว่าค้าขาย   ส่วนอาชีพที่ไม่เปิดเผย เพิ่งมารู้กันตอนขึ้นศาลคือเป็นสายลับของสันติบาล  แต่เป็นสายลับที่ไม่มีผลงานคือไม่เคยรายงานอะไรให้หน่วยทราบเลย  ถึงกระนั้นตำรวจก็ยังจ้างให้กินเงินเดือนอยู่  ไม่ได้ปลดออกจากงาน
    นายลีเองถึงเป็นแค่คนรับใช้ ไม่ได้เป็นทหาร แต่ก็รับใช้นายมา 7 ปี  เห็นนายทหารใหญ่น้อยเข้านอกออกในบ้านอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน    จะไม่รู้ดูไม่ออกทีเดียวหรือว่าใครใหญ่ใครไม่ใหญ่      เหตุใดนายลีจึงคิดได้ลงคอว่าพระสุวรรณชิตนั้นใหญ่กว่านายของตน  มากพอจะสัญญิงสัญญาอะไรมา นายลีก็เชื่อถือยอมทำตามหมด


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 12, 15:00
    คดีนายลีพยายามสังหารหลวงพิบูล แน่นอนว่าหลวงอดุลเดชจรัส รองอธิบดีกรมตำรวจ  เพื่อนรักของหลวงพิบูลฯเข้าคุมคดีเอง    และจะลงมือจับกุมกวาดล้างขบวนการที่อยู่เบื้องหลังอีกเป็นการใหญ่   แต่พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยับยั้งไว้  ไม่อนุมัติให้จับ
    ระหว่างนั้น ก็มีรายงานของตำรวจสันติบาล ว่ามีการเคลื่อนไหวพยายามลอบสังหารหลวงพิบูลฯอีกหลายครั้ง     แต่ล้มเหลวก่อนลงมือทุกครั้ง   คือ
    1   มีผู้ส่งคนมาดักยิงหลวงพิบูลฯ ที่ศรีย่าน    แต่ข่าวรั่ว ตำรวจสันติบาลสืบทราบก่อนจึงไปดักจับ  เกิดการยิงต่อสู้กัน  ผู้ร้ายตายไป 1 ราย
    2   มีมือปืนไปดักยิงหลวงพิบูลฯขณะนั่งรถ   ที่เชิงสะพานมัฆวาน  แต่รถของหลวงพิบูลฯวิ่งเร็วเกินไป  คนร้ายยิงไม่ทัน  ก็เลยล้มเหลวไปอีกครั้ง
    3   หลวงพิบูลฯกับหลวงอดุลฯ  พร้อมทั้งนายปรีดี  ไปส่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์กับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ขึ้นรถไฟ  เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ    ฝ่ายลอบสังหารเตรียมไปสังหารพร้อมกันหมด 3 คน แต่เกิดเหตุขัดข้องอะไรไม่ทราบ     เลยลงมือไม่ได้

    สรุปว่าหลวงพิบูลฯแคล้วคลาด ไม่ระคายแม้แต่เส้นผม 


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 12, 15:17
    พระเอกของกระทู้นี้มาเจอศึกหนักเข้าอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๑  คือ ๑ เดือนจากถูกนายลีลอบยิง     วันนั้นท่านอยู่ที่บ้านพัก   กำลังรับประทานอาหารมื้อกลางวันกับท่านผู้หญิงละเอียด     ผู้ร่วมโต๊ะมีน.ท.หลวงยุทธศาสตร์โกศล   น.ต.หลวงรณนภากาศ  พ.ท. หลวงเตชะเสนา   พ.ต.หลวงประหารริปูปราบ  และร.อ.เผ่า ศรียานนท์
    ขณะกำลังรับประทานกันพลางคุยกันพลาง  จู่ๆหลวงพิบูลก็ร้องว่า
    " ผมท่าจะกินยาพิษเข้าไปแล้ว"
    ทุกคนเห็นสีหน้าท่านซีด  เหงื่อแตก  ตัวสั่น    คนอื่นๆที่ร่วมโต๊ะก็เกิดอาการเหมือนกัน    จึงถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลพญาไทกันเป็นการด่วน  หมอล้างท้องไว้ทัน จนปลอดภัยทุกคน
    ปรากฏว่ายาพิษที่ผสมอยู่ในอาหารคือสารหนู   ซึ่งสมัยนั้นเป็นยาพิษร้ายแรง  ใครอ่านนิยายสมัยนั้นจะพบฆาตกรรมด้วยสารหนูกันบ่อย

    การสอบสวนพุ่งเป้าไปที่แม่ครัวชื่อนางเสงี่ยม ปลุกใจเสือ    นางก็ยอมรับว่าเป็นคนใส่ "ผงสีขาว" ลงในอาหารตามคำสั่งของพันจ่าตรีทองดี  ชู้ของนาง     คนที่ถูกซัดทอดว่าเป็นคนบงการคือร.ท. ณ เณร  ตาละลักษณ์  ส.ส. พระนคร      ร้อยโท ณ เณรจึงตกเป็นผู้ต้องหาของตำรวจทันที   ส่วนนางเสงี่ยมและพันจ่าตรีทองดีกลับรอดไปได้  ไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหา


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 12, 15:26
    ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์ เป็นอดีตนายทหารที่ลาออกจากราชการ เพราะไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของรัฐบาลพระยาพหลฯ   เมื่อออกมาแล้วก็ประกอบอาชีพ ทำหนังสือพิมพ์ "ชุมชน" ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการคัดค้านนโยบายของรัฐบาล ในเวลานั้น มีประชาชนจำนวนมากเชื่อถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์อุดมคติ ทำงานมุ่งมั่นจะให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแท้จริง
    ด้วยความนิยมของประชาชนกรุงเทพ  ร้อยโท ณ เณร จึงได้รับเลือกตั้งในปี 2481 เข้าสภาฯ เป็น ส.ส. พระนครเขต 2 (เวลานั้นกรุงเทพฯกับธนบุรียังแยกเป็น 2 จังหวัด พระนครมี 3 เขต ส่วนธนบุรี มี ส.ส.ได้เพียง 1 คน) เขาเป็นหนึ่งใน ส.ส. ฝีปากกล้า ในการอภิปราย   จนนายกรัฐมนตรีพระยาพหลฯ ยุบสภาดังกล่าว
    ในเวลาต่อมา เมื่อมีการซาวเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่   ร้อยโทณ เณรก็ประกาศตัวสนับสนุนพระยาทรงสุรเดชเป็นนายกฯอย่างแข็งขัน ทั้งในสภาและผ่านทางหนังสือพิมพ์ของเขา
    ด้วยคำซัดทอดของแม่ครัวและชู้ของแม่ครัว     โดยไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใด   ร้อยโท ณ เณรก็ตกเป็นผู้ต้องหาของตำรวจ และจำเลยของศาลพิเศษในเวลาไม่กี่วันจากนั้น


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 15:33
อ้างถึง
คดีนายลีพยายามสังหารหลวงพิบูล แน่นอนว่าหลวงอดุลเดชจรัส รองอธิบดีกรมตำรวจ  เพื่อนรักของหลวงพิบูลฯเข้าคุมคดีเอง    และจะลงมือจับกุมกวาดล้างขบวนการที่อยู่เบื้องหลังอีกเป็นการใหญ่   แต่พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยับยั้งไว้  ไม่อนุมัติให้จับ
    ระหว่างนั้น ก็มีรายงานของตำรวจสันติบาล ว่ามีการเคลื่อนไหวพยายามลอบสังหารหลวงพิบูลฯอีกหลายครั้ง     แต่ล้มเหลวก่อนลงมือทุกครั้ง   คือ
    1   มีผู้ส่งคนมาดักยิงหลวงพิบูลฯ ที่ศรีย่าน    แต่ข่าวรั่ว ตำรวจสันติบาลสืบทราบก่อนจึงไปดักจับ  เกิดการยิงต่อสู้กัน  ผู้ร้ายตายไป 1 ราย
    2   มีมือปืนไปดักยิงหลวงพิบูลฯขณะนั่งรถ   ที่เชิงสะพานมัฆวาน  แต่รถของหลวงพิบูลฯวิ่งเร็วเกินไป  คนร้ายยิงไม่ทัน  ก็เลยล้มเหลวไปอีกครั้ง
    3   หลวงพิบูลฯกับหลวงอดุลฯ  พร้อมทั้งนายปรีดี  ไปส่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์กับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ขึ้นรถไฟ  เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ    ฝ่ายลอบสังหารเตรียมไปสังหารพร้อมกันหมด 3 คน แต่เกิดเหตุขัดข้องอะไรไม่ทราบ     เลยลงมือไม่ได้

    สรุปว่าหลวงพิบูลฯแคล้วคลาด ไม่ระคายแม้แต่เส้นผม  


ตกลงเรื่องที่ตำรวจปั้นแต่งขึ้นเอง เพื่อจับแพะมาฆ่านี่ นับว่าท่านแคล้วคลาดด้วยหรือครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 12, 15:41
อ้าว  ท่าน NAVARAT.C  จนบัดนี้ก็ยังไม่เคยมีใครออกมายืนยันเลยนี่คะว่าจับแพะ   ก็ต้องถือหลักฐานทางการของสันติบาลเป็นหลักน่ะซี   ส่วนเรื่องจริงเป็นยังไง  เราก็กำลังวิเคราะห์ให้เห็นกันในกระทู้นี้
โดยทางการ นับว่าท่านจอมพล แคล้วคลาด  แต่ใครไม่แคล้วไม่คลาด   อ่านได้จากกระทู้พระยาทรงสุรเดชฯ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 16:20
^
ข้อกล่าวหาน่ะสั้น แต่คนแก้ข้อกล่าวหาน่ะยาว

จำเลยเหล่านั้นไม่มีทนายในศาล ผมจะทำหน้าที่ทนายในหน้าเวปให้แพะ แต่ต้องให้เวลาผมหน่อย ๓คดีรวดผมปั่นไม่ทัน


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 17:35
เอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ
 
คือว่าถ้าผมจะแสกนคำพิพากษาของศาลแต่ละคดีๆละร่วม๑๐หน้า กระทู้นี้คงกลายโฉมไปและอาจทำให้คนอ่านส่วนหนึ่งทิ้งกระทู้ เพราะเหนื่อยหน่ายที่จะอ่าน เพราะผมเองยังรู้สึกเช่นนั้น ดังนั้นผมจะลงเฉพาะความเห็นของผมหลังจากวิเคราะห์คำพิพากษาแล้ว แต่หากว่า ยังมีผู้สนใจจะอ่านคำพิพากษาเต็มๆ เมื่อกระทู้นิ่งแล้ว ผมจะเอามาลงให้เป็นภาคผนวก ทั้งนี้และทั้งนั้น ต้องมีแสดงความผู้สนใจด้วย เพราะเปลืองแรงงานผมมาก

อ้างถึง
1มีผู้ส่งคนมาดักยิงหลวงพิบูลฯ ที่ศรีย่าน แต่ข่าวรั่ว ตำรวจสันติบาลสืบทราบก่อนจึงไปดักจับ เกิดการยิงต่อสู้กัน ผู้ร้ายตายไป1ราย

คดีนี้ศาลเกริ่นนำดังนี้ครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 17:38
นายดาบพวง เลิศนาวีจำเลยในคดีนี้นั้น เป็นพี่ชายคุณหญิงทรงสุรเดช ที่พระยาทรงสุรเดชอุปถัมภ์ให้ที่อยู่อาศัยเพราะเป็นแค่พนักงานตรวจตั๋วรถราง ส่วนนายยัง ศาลระบุเองว่ามีชื่อเสียงในด้านโจรกรรมและรับจ้างทำร้าย  พักอยู่ในเรือแถวคลองเปรมประชากร  ต่อมานายยังถูกตำรวจทำวิสามัญฆาตกรรมตาย กลับกลายเป็นว่าที่ยิงต่อสู้กับตำรวจเพราะกำลังจะไปดักยิงหลวงพิบูลตามใบสั่งของ พันตรีหลวงราญรณกาจ ซึ่งเป็นลูกน้องพระยาทรงและนายดาบพวง มีพยานของตำรวจมาเบิกความหลายคนว่าเห็นอย่างโน้น ได้ยินสั่งกันอย่างนี้ จำเลยปฏิเสธตลอดว่าไม่จริง ไม่รู้จัก แต่ศาลไม่เชื่อ ตัดสินพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลย


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 12, 18:15
นายยัง เป็นนักเลงกิ๊กก๊อกถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยฝีมือตำรวจ     ลำพังแต่คดีปลีกย่อยที่เรียกกันสมัยนั้นว่า รับจ้าง"ตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก"ที่ติดตัวอยู่ก็มากพอแล้วที่ตำรวจจะเก็บเสียให้หมดเรื่องไป 1 ราย    แต่ก็ถูกปลุกผีมาตั้งข้อหามือปืนลอบสังหารอีก 1 ข้อหา 
นายพวงเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยที่บังเอิญน้องสาวได้แต่งงานไปกับนายทหารสำคัญ   ไม่ปรากฏว่าเคยรู้เห็นอะไรกับการเมือง แต่ในเมื่อเป็นญาติเกี่ยวดองกับพระยาทรงฯ ก็เลยโดนลากเข้าไปพัวพันกับเรื่องลอบสังหารด้วย
ส่วนนายพันตรีหลวงราญรณกาจเป็นนายทหารระดับกลางๆ  ที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจการปกครองตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475   พยายามไปเตือนผู้บังคับบัญชาให้รู้ตัวว่าอย่าถูกหลอกมาตั้งแถวทหารที่บริเวณลานพระรูป   นอกจากนี้ยังเป็นนายทหารขึ้นกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ  จึงถูกหมายหัวมาแต่แรก   
ข้อหาว่าหลวงราญรณกาจยิงต่อสู้กับตำรวจสันติบาลจึงถูกจับตายนั้น    ตอนถูกยิงตายคุณหลวงยังนุ่งโสร่งอยู่เลย เพราะอยู่ในบ้านพักตอนเช้า   ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ว่าสันติบาลจะไปหา   ท่านถูกยิงอยู่ในห้องนอนขณะกำลังแต่งตัวจะออกไปโรงพักตามที่ตำรวจแจ้งข้อหา


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 18:23
อ้างถึง
2 มีมือปืนไปดักยิงหลวงพิบูลฯขณะนั่งรถ ที่เชิงสะพานมัฆวาน แต่รถของหลวงพิบูลฯวิ่งเร็วเกินไป คนร้ายยิงไม่ทัน ก็เลยล้มเหลวไปอีกครั้ง


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 18:29
จำเลยในคดีนี้คืออดีตแม่ทัพสยามที่สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงเลือกด้วยพระองค์เองให้นำทหารอาสาสมัครไปรบในสมรภูมิยุโรปในสมัยสงครามโลกครั้งที่๑ ในสภานั้น ท่านพูดจาไม่เกรงใจคณะราษฎร์ จึงถูกหมายหัวว่าเป็นพวกเจ้า ร้อยโทเผ่าพงษ์และนายดาบผุดพันธุ์เป็นลูกชายของท่าน ร้อยเอกบุญมากเป็นลูกศิษย์พระยาทรง ถูกลากเข้ามาในคดีแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ร้อยเอกดาว เป็นอดีตพระ ทำงานเป็นอนุศาสนาจารย์ในกรมทหาร มาคุยเรื่องธรรมะธรรโมกับท่านเจ้าคุณเสมอๆ สายลับจึงเขียนรายงานให้นายลากมารวมเข่งด้วย พระสุรรณชิตนั้นตลกกว่าเพื่อน เพราะเป็นสายลับของรัฐบาลปลอมเป็นพ่อค้าเข้าไปติดต่อซื้อขายไม้ซุงกับท่านเจ้าคุณเทพถึงสองครั้งแท้ๆ กลับมาเป็นผู้ต้องหาร่วมกันวางแผนฆ่าหลวงพิบูลกับผู้ที่ตนอุตส่าห์ปลอมตนมาสืบว่ามีแผนล้มล้างรัฐบาลหรือหาไม่ ศาลเชื่อว่าเจ้าคุณพ่อใช้ให้ลูกชายนายทหารทั้งสองไปตามนายชลอ ฉายกระวีนักเลงหัวไม้ในซอยมาจ้างวานด้วยเงินจำนวน๕๐๐๐บาท และมอบปืนสั้นออโตเมติก(แบบที่ท่านอาจารย์เทาชมพูเอาภาพมาลงไว้ตอนต้นๆ) ไปดักยิงหลวงพิบูลที่เชิงสะพานมัฆวานฝั่งวัดมงกุฎ ซึ่งนายชะลอให้การว่าไม่กล้ายิงเพราะรถวิ่งเร็วมาก หลังจากนั้นศาลไม่ได้ระบุว่านายชลอได้กลายมาเป็นพยานให้ตำรวจได้อย่างไร

ผมพิเคราะห์เรื่องนี้โดยใช้ตรรกะเดียวกัน คนอย่างท่านเจ้าคุณเทพ แม่ทัพสยามน่ะหรือจะมอบหมายให้ลูกชายไปพากุ๊ยมารับงานจ้างฆ่าคน แล้วให้เอาปืนพกไปดักยิงหลวงพิบูลในรถที่วิ่งลงสะพานมาด้วยความเร็วสูง ขนาดใช้ปืนกล เผลอๆยังยิงไม่ถูกที่สำคัญ ทำไมเรื่องโง่ๆอย่างนี้จึงเชื่อกันถึงขนาดตัดสินประหารชีวิต๓พ่อลูก และตัวแถมอีก๒ นี่ยังดีที่ยังคิดถึงคุณความดีของท่านแม่ทัพสยามบ้าง จึงลดโทษให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต ส่วนร้อยเอกดาวหลุดไปคนเดียว


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 18:42
อ้างถึง
3 หลวงพิบูลฯกับหลวงอดุลฯ พร้อมทั้งนายปรีดี ไปส่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์กับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ขึ้นรถไฟ เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ฝ่ายลอบสังหารเตรียมไปสังหารพร้อมกันหมด 3 คน แต่เกิดเหตุขัดข้องอะไรไม่ทราบ เลยลงมือไม่ได้


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ค. 12, 18:44
ท่านเจ้าคุณเทพหัสดินนั้นได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์วิธียุทธศาสตร์ยุทธวิธีคนสำคัญของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกในสมัยรัชกาลที่ ๖
ก่อนไปสงครามได้เป็นเป็นผู้บัญชาการมณฑลทบทหารบกที่ ๔  ที่เป็นหน่วยทหารที่ได้ชื่อว่าทันสมัยที่สุด  และมีขีดความสามารถ
การรบสูงสุดในยุคพัฒนากองทัพ  จนเป็นหงพลเดียวที่ขึ้นการบังคับบัญชาตรงต่อเสนาธิการทหารบก  แล้วคนที่ได้ชื่อว่า
เชี่ยวชาญในตำหรับพิชัยสงครามมาตกม้าตายตามข้อกล่าวหาประหลาดๆ แบบนี้  ดูแล้วผู้ที่ตั้งข้อหาให้ท่านเจ้าคุณฯ ช่างเป็น
ผู้มีความสามารถสูงยิ่งในการนนั่งเทียนเสียจริงๆ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 18:45
คดีที่๓นี้เห็นชัดๆว่าเป็นการเหวี่ยงแห เอาบรรดาปลาเล็กปลาน้อยขึ้นมาปิ้งย่างเสียให้หมดบ่อ จำเลยล้วนเป็นนายทหารภายใต้บังคับบัญชาของพระยาทรงสุรเดช ครั้นนายหมดอำนาจก็ถูกย้ายกันไปคนละทิศละทาง สันติบาลยังอุตส่าห์ไปรวบมา แล้วหาพยานกล่าวโทษอย่างนั้นอย่างนี้ รวมแล้วหลายคนหลายหน้ากระดาษ เป๋ไปซัดพระยาฤทธิ์อัคเนย์เข้าให้ด้วย

ผมอ่านคำพิพากษาไปไม่กี่หน้าก็ทนอ่านไม่ไหวจริงๆต้องขออภัย ก็จะหาเรื่องฆ่าเขานั่นแหละ ช่างไม่กลัวบาปกรรมเสียบ้างเลย สรุปแล้วศาลตัดสินประหารชีวิตหมด ใครอยากอ่านสำนวนจริงๆของศาลขอให้บอกมา ผมจะเอามาลงให้ในภาคผนวก


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 12, 18:50
นายชลอนี่ก็แปลก    ลงมือยิงก็ไม่ได้ลงมือ   คืนนั้น หลวงพิบูลฯก็นั่งรถผ่านไปอย่างสะดวกสบาย   ตำรวจก็ไม่รู้ว่านายคนนี้ซุ่มอยู่   ถ้าแกไม่เปิดปากขึ้นมาตำรวจก็ไม่รู้จนแล้วจนรอด    
ยังอุตส่าห์เปิดปากให้ตำรวจกันเป็นพยาน   พาบุคคลสำคัญระดับแม่ทัพในอดีตเข้าปิ้งรวมทั้งลูกของท่านก็ถูกประหารชีวิตไปด้วย
ยังกะจัดฉากงั้นละ

ป.ล.กว่าจะโพสได้ ท่านข้างบนนี้ทั้งสองท่านรุดหน้าไปไกลหลายกิโลเมตรแล้ว   ดิฉันมัวงุ่มง่ามอยู่ที่นายชลอจากค.ห. 70   จะลบทิ้งก็เสียดาย
เป็นอันขอสรุปตามท่านทั้งสองว่า  งานนี้มีแพะฝูงใหญ่ถูกจับขึ้นแท่นสังเวยอำนาจมืด   ซึ่งในยุคนั้นมองไม่เห็นแสงสว่างของประชาธิปไตยที่ตรงไหน   มันเป็นยุคทมิฬโดยแท้   
นึกถึง "พาราสาวะถี   ใครไม่มีปรานีใคร" ในกาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่

ข้อหาอะไรก็ยกเอามาได้ทั้งนั้น  ฟังขึ้นไม่ขึ้นไม่สำคัญ ศาลฟังเสียอย่าง ขอให้เข้าทางที่ผู้เป็นใหญ่ประสงค์  ข้อหาก็เหวี่ยงแหได้ครอบจักรวาล  แม้แต่นักเลงข้างถนนหรือคนทำสวนหรือแม่ครัวก็คิดการใหญ่ขนาดนั้นลอบฆ่านายกรัฐมนตรีได้   คนฆ่าถูกกันเป็นพยานก็ได้   คนไม่ได้ลงมือแค่ถูกซัดทอด หรือไม่ยอมรับสารภาพ ก็ถูกประหารชีวิตได้ 

ขออย่าให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในยุคในสมัยใดอีกเลย   


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 19:07
ผมกระอักกระอ่วนใจเหลือจะกล่าวที่จะเขียนความเห็นของตนลงไป เพราะมีแต่ความเห็นที่ตรงกันข้ามกับศาล เลยต้องขออนุญาตสแกนจากที่อื่นมาลงไว้ดีกว่า อย่างชุดนี้มาจากหนังสือประวัติของพระยาฤทธิ์อัคเนย์ ท่านถูกซัดทอดกับเขาด้วย ดีแต่ว่าพระยาพหลขอไว้ ให้ท่านหนีไปมลายูก่อน มิฉะนั้นคงโดนประหารชีวิตไปกับเขาด้วย


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 19:09
ต่อครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 19:17
คือตำรวจเอาเรื่องที่ตั้งแต่๒๔๗๖ถึง๒๔๘๑มาให้พยานปรักปรำจำเลย โดยระบุวันเดือนปีสถานที่เวลา และพยานวัตถุที่จำเลยไม่เคยเห็น จำเลยถึงกับเข่าอ่อนทุกคน เพราะจำไม่ได้เลยว่าวันนั้นวันนี้จำเลยกำลังอยู่กับใครที่ไหน หรือรู้จักพยานตั้งแต่เมื่อไหร่ ทนายก็ไม่มีให้ปรึกษา

ศาลจึงเลือกเชื่อสันติบาลนั่นแหละ เพราะจำเลยไม่สามารถหาอะไรมาค้านให้ศาลเชื่อได้ นอกจากให็การปฏิเสธโดยอ้างตนเองเป็นพยาน

คดีจึงจบลงด้วย ปุ ปุ ปุ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 12, 19:39
ไม่รู้ว่าตัวเองเข้าใจกระบวนการพิจารณาในศาลพิเศษนี้ถูกต้องหรือเปล่า     เท่าที่อ่านจากที่คุณนวรัตนนำมาลง  ดูเหมือนจะไม่มีใครซักค้านคำให้การของทางฝ่ายพยานโจทก์เลยว่าพูดจริงมากน้อยแค่ไหน   และมีหลักฐานอื่นใดประกอบคำให้การหรือไม่
เท่าที่อ่าน  พยานโจทก์อ้างว่าผู้ใหญ่คนนั้นคนนี้จ้างวานมาให้ฆ่าหลวงพิบูล    เงินก็จ่ายเป็นเงินสด   มีหลักฐานแค่คำบอกเล่าล้วนๆศาลเชื่อ     แต่พอถึงจำเลย มีหน้าที่หาหลักฐานหรือให้การแก้ข้อหาให้หลุด   บอกเล่าเฉยๆศาลไม่เชื่อ

เรียกได้ว่าฝ่ายกล่าวหาไม่ต้องพิสูจน์ว่าตัวเองพูดจริง     ฝ่ายถูกกล่าวหาต้องมีหน้าที่พิสูจน์ว่าตัวเองพูดจริง ให้ศาลเชื่อ ถ้าศาลบอกว่าไม่เชื่อ   ก็เสร็จเรียบร้อยโรงเรียนการเมือง


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ค. 12, 20:03
จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีทนาย แต่ตัวจำเลยสามารถซักค้านพยานได้

ในคดีหนึ่งที่พระแสงสิทธิการเป็นจำเลย พยานมาปรักปรำว่าเห็นจำเลยนั่งรถสามล้อไปพบคนนั้นคนนี้ในวันที่นั้นเวลานี้ ซึ่งพระแสงปฏิเสธว่าไม่ได้ไป ศาลถามว่าจำเลยมีอะไรมาหักล้าง พระแสงตอบว่าในปีดังกล่าว กรุงเทพยังไม่มีรถสามล้อเลย รถสามล้อเพิ่งจะมีปีกว่าหลังจากนั้น แต่ศาลไม่ยอมจด โดยบอกว่าเรื่องมันนานมาแล้ว พยานอาจจะลืมไปบ้าง สุดท้ายพระแสงถูกตัดสินประหารชีวิต

เรื่องที่จำเลยซักค้านตก จะไม่ปรากฏในสำนวนของศาล เกล็ดเล็กเกล็ดน้อยดังกล่าวข้างต้นมาจากหนังสือ "ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง" ของม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 12, 11:46
^
ขออภัยครับ เมื่อวานเร็วเกินไปหน่อย ข้อเท็จจริงจึงเพี้ยนไปนิด หนังสือที่นำมาอ้างอิงมีใจความดังนี้ครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 12, 12:10
V_Mee
อ้างถึง
ท่านเจ้าคุณเทพหัสดินนั้นได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์วิธียุทธศาสตร์ยุทธวิธีคนสำคัญของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกในสมัยรัชกาลที่ ๖
ก่อนไปสงครามได้เป็นเป็นผู้บัญชาการมณฑลทบทหารบกที่ ๔  ที่เป็นหน่วยทหารที่ได้ชื่อว่าทันสมัยที่สุด  และมีขีดความสามารถในการรบสูงสุดในยุคพัฒนากองทัพ  จนเป็นกองพลเดียวที่ขึ้นการบังคับบัญชาตรงต่อเสนาธิการทหารบก 
แล้วคนที่ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญในตำหรับพิชัยสงครามมาตกม้าตายตามข้อกล่าวหาประหลาดๆ แบบนี้  ดูแล้วผู้ที่ตั้งข้อหาให้ท่านเจ้าคุณฯ ช่างเป็นผู้มีความสามารถสูงยิ่งในการนั่งเทียนเสียจริงๆ

ต้องขอขอบคุณคุณวีหมีที่กรุณามาช่วยเป็นพยานจำเลยให้พลโท พระยาเทพหัสดินทร์ด้วยครับ

ผู้อ่านจะได้เข้าใจว่าการเมืองสมัยเผด็จการที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยนั้น เขาเล่นกันอย่างไร ด้วยวิธีไหน ในสมัยนั้นคนที่มีความเข้าใจอย่างคุณวีหมีก็ไม่กล้าแสดงความเห็น เพราะกลัวสันติบาลจะมายัดข้อหากบฏเอาเข้าปิ้งไปด้วย บรรดาผู้ที่มาให้การเป็นพยานจำเลยในศาล จึงมีแต่ลูกเมียของจำเลย คนรู้จักที่มาด้วยความเกรงใจก็จะตอบแบบกลัวๆกล้าๆไม่หนักแน่นให้แสลงใจศาล
เมื่อผลของการพิพากษาออกมา คนส่วนใหญ่ของประเทศก็พร้อมจะเชื่อ เหตุผลหนึ่งก็คือหลวงพิบูลตอนนั้นราวกับเทวดา ท่านกำลังนำพาชาติไทยไปสู่มหาอำนาจ ไม่นานเกินรอ ท่านก็ทำให้ไทยชำระแค้นฝรั่งเศสได้ดินแดนกลับมา ดังนั้น ใครที่เป็นศัตรูของหลวงพิบูล ผู้นั้นก็เสมือนเป็นศัตรูของชาติ





กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 21 ก.ค. 12, 17:42
ที่ท่านอาจารย์ใหญ่ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนพิจารณาในศาลพิเศษไว้ในความเห็นก่อนหน้านี้นั้น
น่าจะอธิบายได้ว่า เพราะเมื่อจัดระเบียบการศาลในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕
ทรงตัดสินพระราชหฤทัยให้ศาลใช้ระบบของอังกฤษในการพิจารณาคดี  โดยถือว่าผู้ถูกกล่าวหา
ตงเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าฝ่ายที่กล่าวหาจะนำหลักฐานการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหามาแสดง
ให้ศาลเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดจริง  ซึ่งต่างจากระบบฝรั่งเศสที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องนำหลักฐาน
มาแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์ตนเองว่าไม่ผิด 

เนื่องจากหลวงพิบูลย์และสมาชิกคณะราษฎรส่วนใหญ่ท่านเป็นนักเรียนฝรั่งเศส  จึงคงจะไม่ชื่นชอบ
วิธีดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมที่ยากที่จะเอาผิดผู้ถูกกล่าวหา  ท่านจึงหันไปตั้งศาลพิเศษ
และใช้กระบวนพิจารณาแบบฝรั่งเศส  และเมื่อผู้ถูกกล่าวหาถูกคุมขังในระหว่างพิจารณา  แล้วจะไปหา
หลักฐานที่ไหนมาหักล้างข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์  ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่จำเลยในศาลพิเศษจะถูกตัดสิน
ว่ากระทำผิดตั้งแต่ยังไม่เริ่มสืบพยาน 
 


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ก.ค. 12, 18:02
ศาลสถิตยุติธรรมจักมีความเป็นธรรมต่อโจทก์และจำเลย ไม่ว่าจะโดยหลักการใด แต่ศาลพิเศษของเผด็จการไม่จำเป็น เพียงแต่อ้างคำว่าศาลมาใช้ในการกำจัดศัตรูทางการเมืองให้ดูเหมือนว่ามีอารยะ ความจริงแท้นั้น เหยื่อทั้งหลายถูกกำหนดไว้แล้ว จะให้คนนั้นตาย คนนี้รอด คนโน้นติดคุก

เหยื่อเหล่านี้ไม่มีความผิดร้ายแรงอะไร เพียงแต่เคยหรือถูกเข้าใจว่าเป็นพรรคพวกของศัตรูทางการเมืองของท่านผู้นำ แต่เมื่อจับตัวจริงได้กลับเลือกให้ถูกเนรเทศ ส่วนลูกน้อง ถูกกำหนดให้ตายเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 08:13
ไก่ทั้งหลายถูกเชือดกันหลายวิธี     บางคนถูกผู้มีอำนาจเห็นว่าจับกุมไปก็ยืดเยื้อเสียเวลาพิจารณาโทษ    ดูโหงวเฮ้งแล้วน่าจะอายุสั้น    เหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจคาดคะเน  คือรายงานของสันติบาลแจ้งว่าบุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่คิดสั้น กระทำการต่างๆราวกับนัดกันไว้  ให้ตัวเองพบจุดจบเร็วมากทั้งสิ้น

แถลงการณ์ของรัฐบาลในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๑ (ถ้านับอย่างปัจจุบันน่าจะเป็น ๒๔๘๒  เพราะตอนนั้นมกราคมยังเป็นช่วงปลายปีอยู่) ประกาศออกมาว่า

" ด้วยเมื่อเช้าวันนี้เวลา ๔.๓๐ น.  ทางราชการได้ดำเนินการสั่งจับกุมบุคคลที่คิดจะก่อความไม่สงบแก่ชาติ  และประทุษร้ายต่อสมาชิกคนสำคัญๆ แห่งรัฐบาลนี้หลายท่านด้วยกัน    เพื่อจะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนี้    แต่เนื่องจากในการจับกุมคราวนี้   เท่าที่ทางราชการได้รับรายงานมาแล้วในวันนี้  ได้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง    บางรายถึงแก่ชีวิตและบาดเจ็บ คือ
   ๑ พ.ต.หลวงราญรณกาจ   นายทหารกองหนุน   ได้ยิงเจ้าหน้าที่บาดเจ็บสองคนในขณะเข้าทำการจับกุม    ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ยิงป้องกันตัว    พ.ต.หลวงราญรณกาจได้ถูกยิงถึงแก่กรรม
   


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 08:24
กรณีของหลวงราญรณกาจ อยู่ในกระทู้ หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น

รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามเข้าบริหารราชการได้เพียงเดือนเดียว  ก็เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างเสี้ยนหนามทางการเมืองทันที โดยพันเอกหลวงอดุลยเดชจรัส เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อยของหลวงพิบูล ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีมหาดไทย ออกคำสั่งให้ลงมือปฏิบัติการพร้อมกันทุกสายในเช้ามืด ของวันที่ 29 มกราคม2482 ให้ทำการจับกุมผู้ต้องสงสัย จำนวน 51 คน และจับตายผู้ที่คิดว่าเป็นสายเจ้า หรือสายพระยาทรง3คน

คนแรก พันตรีหลวงราญรณกาจ อยู่บ้านข้างวัดโสมนัส เพิ่งจะตื่นนอนอยู่ในชุดโสร่งเมื่อตำรวจ ภายใต้การนำของร้อยตำรวจเอกหลวงจุลกะรัตนากรไปถึง หลวงราญออกมาเปิดประตูต้อนรับตำรวจด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เมื่อเชิญให้เข้ามาในบ้าน หลวงจุลกะก็ยื่นหมายจับให้ หลวงราญให้นั่งรอในห้องรับแขกก่อน ขอเวลาให้ตนได้เปลี่ยนเสื้อผ้า แถลงการณ์ของรัฐบาลออกมาว่าหลวงราญหายเข้าไปข้างในแล้วกลับออกมายิงตำรวจสองคนได้รับบาดเจ็บ ตำรวจจึงยิงป้องกันตัวด้วยปืนกลมือ ถูกหลวงราญล้มลงขาดใจตาย
อ้างถึง




กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 08:26
ดิฉันเขียนต่อไว้ว่า
มีเกร็ดเล็กๆเกร็ดหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์      ก็รู้กันแต่เฉพาะคนไม่กี่คน    บังเอิญพอจะเกี่ยวกับกระทู้นี้บ้าง จึงขอบันทึกลงไว้
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕   เมื่อคณะราษฎร์นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เรียกทหารที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่มารวมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้  ก็อ่านประกาศปฏิวัติให้ฟัง  แล้วถามความสมัครใจประกอบปืน ชี้ถามนายทหารแต่ละคนว่าจะร่วมด้วยไหม   เจอเข้าแบบนี้ใครจะตอบปฏิเสธ
ในจำนวนนั้นมีนายทหารรักษาพระองค์ยศพันตรีคนหนึ่ง  อยู่แถวหลัง  ไม่ยอมเข้าด้วย  ก็แอบหลบออกจากตรงนั้นไปได้  ออกไปทางสนามเสือป่าแล้วกลับเข้าไปในกรมทหารรักษาพระองค์   รายงานผู้บังคับบัญชาชื่อพันเอกพระยาสุรเดชให้ทราบ
พระยาสุรเดชตั้งใจจะขัดขืน   แต่มาได้ข่าวว่าฝ่ายปฏิวัติจับกรมพระนครสวรรค์ไปคุมขังไว้ได้แล้ว   ก็เลยไม่กล้าทำการโดยพลการ    แต่เมื่อพระยาพหลฯเรียกไปพบในฐานะเพื่อนเก่าด้วยกัน เพื่อเกลี้ยกล่อมให้เป็นพวก
พระยาสุรเดชฯก็ปฏิเสธ   จึงถูกปลดออกจากราชการ
ส่วนนายทหารยศพันตรีคนนั้นยังอยู่ในราชการต่อมาอีกระยะหนึ่งแล้วถูกปลดเป็นทหารกองหนุน    จนถึงเกิดการจับกุมกวาดล้างครั้งใหญ่ ปี ๒๔๘๑ ที่กรมขุนชัยนาทฯโดนร่างแหเข้าไปด้วย     ตำรวจขึ้นลิสต์นายทหารคนนี้ว่าอยู่ในข่ายปรปักษ์ของรัฐบาล     ก็ไปถึงบ้านเพื่อจับกุมเอาตัวไปสอบสวน
ตอนนั้นเช้ามาก ยังไม่ได้แต่งตัว  เขาตอบว่าขอเข้าห้องไปแต่งกายให้เรียบร้อยก่อน    พอเดินเข้าไปในห้อง ตำรวจก็ตามเข้าไป แล้วยิงตายตรงนั้นเอง  ต่อหน้าลูกเมีย   โดยไม่มีการต่อสู้หรือสอบสวนอย่างใดเลย
นายทหารคนนั้นคือ พันตรีหลวงราญรณกาจ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 08:38
แถลงการณ์ของรัฐบาลเป็นอย่างไรก็ตาม     มันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่พันตรีนายทหารกองหนุน ตำแหน่งในกองทัพก็ไม่มี อิทธิพลเส้นสายเงินทองก็ไม่มี    ต้อนรับตำรวจด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เชื้อเชิญเข้าไปในบ้านด้วยดี  แสดงว่าไม่ได้อีโหน่อีเหน่เลยว่าตัวเองเข้าชะตาร้าย
แต่พอรู้ว่าถูกหมายจับ  ก็เปลี่ยนใจควงปืนสั้นกระบอกเดียว มาดวลกับปืนกลมือ ๒ กระบอกของตำรวจ  ทั้งที่นุ่งโสร่งอยู่ผืนเดียวอย่างนั้น


ชื่อของหลวงราญรณกาจถูกอ้างอีกครั้งในศาลพิเศษ    โดยพันจ่าตรีทองดี ผู้ที่สารภาพว่าส่งสารหนูให้แม่ครัวของหลวงพิบูลฯวางยาพิษนาย    โดยซัดทอดไปว่าผู้จ้างวานคือร้อยโทณ เณร   รู้จักกันจากการแนะนำของพันตรีหลวงราญรณกาจ   
ถ้าแปลกันง่ายๆอีกทีก็คือหลวงราญรณกาจเป็นเพื่อนฝูงพวกพ้องของร้อยโทณ เณร

ตามปากคำของพันจ่าตรีทองดี   ร้อยโทณ เณรผู้จ้างวานพันจ่าตรีทองดีส่งห่อกระดาษบรรจุยาผงสีขาวให้ห่อหนึ่ง พร้อมด้วยเงิน ๑๕ บาทให้พันจ่าตรีทองดีไปโรยลงในอาหารให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกิน     พันจ่าตรีทองดีก็รับงานอย่างว่าง่าย  ราวกับอีกฝ่ายวานให้ไปจ่ายตลาด   ไปบอกแม่ครัวซึ่งเป็นแฟนกันว่าให้ใส่ลงในอาหารของนาย    
สรุปว่าด้วยเงิน ๑๕ บาทเท่านั้นก็กล้าวางยาพิษท่านรัฐมนตรีกลาโหม  ไม่ยักกลัวว่าจะถูกลงโทษหนักถ้าถูกจับได้    ก็นับว่าคิดถูกจริงๆคือ  ทั้งแม่ครัวและพันจ่าตรีทองดีวางยาพิษเสร็จก็ไม่ได้หลบหนีไปไหน  ยังอยู่ในบ้านตามปกติ   ตำรวจก็ไม่ได้จับกุมเป็นจำเลย แต่กันไว้เป็นพยานโจทก์    
เมื่อขึ้นศาล ให้การไปอย่างข้างบนนี้ ศาลก็เชื่อ   ตัดสินประหารชีวิตร้อยโทณ เณร   ส่วนคนวางยาพิษรอดไปได้ทั้งสองคน


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 09:03
    หมายเลข ๒ ที่อายุสั้นในคดีนี้   เป็นนายตำรวจชื่อพ.ต.ต. หลวงวรณัสฤชฌ์  หรือในกระทู้เก่าเรียกชื่อว่าหลวงรณสฤษดิ์  ผู้บังคับการกองตำรวจปากพนัง
    เป็นคนที่มีประวัติน้อยมาก  ลุงเกิ้ลเองก็ไม่รู้จัก   รู้แต่ว่าเดิมคุณหลวงท่านนี้ถูกกรมตำรวจเพ่งเล็งด้วยข้อหาอะไรสักอย่าง ทำนองว่าไม่ไว้วางใจ เกรงว่าจะก่อความไม่สงบ  จึงเด้งไปแม่ฮ่องสอน   สมัยนั้นข้าราชการคนไหนถูกย้ายไปแม่ฮ่องสอนก็เหมือนกับถูกย้ายไปนอกฟ้าป่าหิมพานต์   เท่ากับถูกลบชื่อไปจากสารบบราชการ    
    แต่คุณหลวงท่านนี้ไม่ได้ถูกลืมอยู่ที่แม่ฮ่องสอน   ต่อมาท่านถูกย้ายไปรับตำแหน่งที่ปากพนัง   นครศรีธรรมราช    แสดงว่ากรมตำรวจยังหาข้อหาผิดอะไรกับท่านจนถึงให้ออกจากราชการไม่ได้    ท่านยังรับราชการตำรวจอยู่ตามปกติ   แต่มีคำสั่งลับจากระดับสูงของกรมตำรวจ ที่เราอาจจะพอเดาได้ว่าจากใคร  ไปถึงผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต ๘   ว่าห้ามคุณหลวงวรณัสฯ เดินทางออกนอกเขตนครศรีธรรมราช  เว้นแต่จะได้คำสั่งเฉพาะกรมตำรวจ
    เมื่อเกิดเรื่องกวาดล้างฝ่ายปรปักษ์หลวงพิบูลฯ ขึ้นมา    หลวงวรณัสฯผู้อยู่ไกลถึงนครศรีธรรมราช และไม่มีทางกระดิกกระเดี้ยออกนอกจังหวัดมานานแล้ว  ก็มีตำรวจสันติบาลลงไปเชิญตัวขึ้นมากรุงเทพฯ    ระหว่างเดินทางมาถึงจังหวัดชุมพร   ก็เกิดเหตุที่ทางการแถลงทางวิทยุกระจายเสียงเพียงสั้นๆว่า
    " พ.ต.ต.หลวงวรณัสสฤชฌ์ได้ทำลายชีวิตตนเองเสีย"


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 09:18
หมายเลข ๓ ที่อายุสั้นในกรณีนี้อีกคนหนึ่ง คือพ.ต. หลวงสงครามวิจารณ์
คุณหลวงสงครามเป็นนายทหารนอกราชการ ที่หันอาชีพไปทำมาค้าขายตั้งบริษัทยะลาการค้าอยู่ที่ตลาดนิบง จังหวัดยะลา    ถึงอยู่ไกลขนาดนั้น ก็ยังไม่วายโดนคำสั่งทางการจากกรุงเทพให้ไปจับกุม ในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๒ ที่เป็นวันดีเดย์ของทางฝ่ายกวาดล้าง
นายตำรวจที่ไปจับหลวงสงครามฯ เป็นมือปราบคนดัง  หลังจากนั้นอีกประมาณ ๕๐ ปีก็ดังขึ้นมาอีกครั้งจากเหรียญจตุคามรามเทพ  คือร.ต.อ.ขุนพันธรักษ์ราชเดช
หลวงสงครามวิจารณ์ถูกนำตัวจากบ้านมาฝากขังไว้ที่สถานีตำรวจปัตตานีตั้งแต่คืนวันที่ ๒๙    พอตีสาม ก็ถูกนำตัวออกจากห้องขังไปสถานีโคกโพธิ์เพื่อจะไปฝากขังต่อที่สงขลา
เมื่อรถยนต์ตำรวจมาถึงหลักก.ม. ที่ ๑๕     ตามรายงานของหลวงสุนาวินวิวัฒน์   ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี(คงจำได้ว่าท่านนี้คือเลขานุการรัฐมนตรีกลาโหมที่ปัดปืนนายพุ่มให้พ้นนาย) มีมาถึงกระทรวงมหาดไทย ว่า

"ได้มีผู้ร้ายจำนวน ๙ คน  มีอาวุธครบมือเข้าแย่งตัวผู้ต้องหา    พ.ต.หลวงสงครามวิจารณ์ได้ฉวยโอกาสนั้นเข้าแย่งปืนตำรวจ  จึงเกิดการต่อสู้กัน   ผลคือพ.ต.หลวงสงครามวิจารณ์ถูกยิงตาย   ส่วนตำรวจถูกยิงที่เข่า"


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 12, 10:05
บรรดาผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏถูกจับกุมเฉพาะวันแรกวันเดียว จำนวนถึงห้าสิบกว่าคน มีทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือน ผู้ที่ถูกจับเป็นอดีตรัฐมนตรีในสมัยพระยาพหลที่เพิ่งพ้นตำแหน่งหมาดๆหลายคน และบางคนก็ยังเป็นส.ส.ประเภทสองอยู่ เช่น พลโทพระยาเทพหัสดิน พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ พระวุฒิภาคภักดี พวกนี้คือพวกที่เคยอภิปรายตำหนิรัฐบาล พ.อ.พระสิทธิเรืองเดชพล นายทหารสายพระยาทรงสุรเดช พ.ท.พระสุรรณชิต นายทหารสายสืบ ร.อ.หลวงภูมิภาค ร.ท.ชิต ไทยอุบล หลวงสิริราชทรัพย์ ซึ่งผมไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นพวกใคร แต่หลวงพิบูลบอกว่าไม่ใช่พวกกูก็แล้วกัน

เมื่อตำรวจเข้าค้นบ้าน ร.ท. ณ เณร ตาละลักษณ์ ส.ส. จังหวัดพระนคร ในขณะที่เจ้าตัวกำลังอยู่ที่สงขลา ตามข่าวว่าแถลงว่าได้พบขวดเข้าใจว่าจะเป็นยาพิษ ซึ่งความจริงก็เป็นแค่ขวดหมึกแดง ณ เณร เมื่อทราบข่าวก็รีบเดินทางเข้ากรุงเทพ พอถึงบ้านแถวผ่านฟ้า ก็ถูกสันติบาลจับใส่กุญแจมือ นำไปฝากขังใว้ที่สถานีตำรวจบุบผาราม
 
ในวันดีเดย์ออกจับผู้ที่ไม่ใช่พวกกูดังกล่าว หลวงพิบูลได้ออกคำสั่งปลดนายทหารแบบไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ๑๒นาย ตั้งแต่พันเอก พระยาทรงสุรเดช ไปจนนายทหารสังกัดโรงเรียนรบที่ท่านตั้งขึ้น หนึ่งในนี้มีหลานชายพันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์ซื่อ ร.อ. ชลอ เอมะศิริ รวมอยู่ด้วย พวกที่ถูกจับที่กรมทหารราชบุรี ทหารรัฐบาลควบคุมตัวเดินทางโดยรถไฟเข้ากรุงเทพ ส่วนตัวพระยาทรงและร.อ.สำรวจ กาญจนสิน นายทหารคนสนิทนั้น ให้เลยไปเขมรเสียทีเดียว โดยมีตำรวจสันติบาลหลายนายประกบตัวไปส่งถึงชายแดนด้านอรัญประเทศ

ผู้ที่ถูกจับตายทั้งสามคน ล้วนมีประโยชน์ในทางทำคดีของตำรวจการเมืองยิ่งนัก เพราะจะได้โยงใยแพะที่ยังเป็นๆอยู่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยผู้ที่ถูกอ้างถึงนั้นเสียชีวิตแล้ว ไม่สามารถเปิดปากปฏิเสธได้


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 12, 10:45
ศาลพิเศษนั้น คือศาลที่ตั้งโดยรัฐบาล เพื่อฟังคำสั่งของรัฐบาล คราวที่รัฐบาลจัดตั้งศาลพิเศษครั้งแรกเพื่อพิพากษาโทษคดีกบฏบวรเดชนั้น หลวงพิบูลก็ได้เข้าไปเหยียบศาลเพื่อสำแดงอิทธิฤทธิ์ให้ประจักษ์ดังนี้


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 11:19
ผู้ต้องหาที่ถูกกวาดล้างทั้งหลายเป็นเพียงแพะตัวเล็กตัวน้อย ถ้าเป็นหนามก็เพียงเสี้ยนตำเนื้อชิ้นเล็กๆ   แต่ตัวหัวหน้าใหญ่ที่ถูกมองว่าเป็นขวากหนามชิ้นสำคัญคือนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช    ผู้เป็นคู่แข่งทางการเมืองของหลวงพิบูลฯ

หลวงพิบูลฯก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ  มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากพระยาพหลประกาศยุบสภาเพราะแพ้การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากเงื่อนงำที่รัฐบาลเอาที่ดินของพระคลังข้างที่ออกมาขายให้พวกเดียวกันเองในราคาถูกเหมือนแจกฟรี แถมโปรโมชั่นคือผ่อนส่งได้อีกด้วย    ส.ส.ที่มาจากเลือกตั้งจึงยอมไม่ได้   ในจำนวนนี้ร้อยโทณ เณร ตาละลักษณ์ ส.ส.พระนคร เจ้าของหนังสือพิมพ์ชุมชน ประกาศตนเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลอย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพล   มิหนำซ้ำยังออกโรงเชียร์พระยาทรงโดยเปิดเผยว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สุด 
เมื่อเลือกตั้งใหม่เสร็จ เมื่อได้ส.ส.ใหม่เข้าสภาแล้ว ได้จัดให้มีการประชุมลับเฉพาะส.ส.ประเภท 1 เพื่อหยั่งเสียงว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีแทน มีผู้เสนอชื่อพระยาทรงคู่กับหลวงพิบูล ปรากฎว่าคะแนนพระยาทรงชนะขาดถึง 37 ต่อ 5 วันรุ่งขึ้นนสพ.ชุมชนตีภาพพระยาทรงกับหลวงพิบูลขึ้นหน้าหนึ่งคู่กันโดยพาดหัวว่า สภาลงคะแนนลับให้พระยาทรง 37 คะแนน หลวงพิบูล 5 แต้ม

ไม่ต้องสงสัยว่าหลวงพิบูลฯได้อ่านแล้วจะรู้สึกอย่างไรกับร้อยโทณ เณร

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่สภาลงมติจริง กลับไม่มีใครเสนอชื่อพระยาทรง เพราะเห็นว่าท่านไม่เอาด้วย หลวงพิบูลจึงไร้คู่แข่ง พระยาพหลก็ประกาศเสนอชื่อหลวงพิบูลให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่  รวมเสียงส.ส.ประเภท2 หรือที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่าสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นคนของรัฐบาลทั้งนั้น ลงมติรวมกับเสียง ส.ส.ประเภท 1 จากการเลือกตั้ง ปรากฏว่าหลวงพิบูลได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างท่วมท้น


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 11:27
เมื่อร้อยโทณ เณรถูกจับข้อหาหนักว่าจ้างวานให้ผู้อื่นวางยาพิษหลวงพิบูลฯ   พระยาทรงฯหรือจะรอดข้อหาไปได้     แต่ก็ยังดวงดีพอที่จะเอาชีวิตรอดข้ามพรมแดนไปได้เพราะมีสันติบาลอำนวยความสะดวกพาไปส่งพ้นชายแดนไทยทางเขมร      และดวงดีพอที่จะไม่มีโจรจีนหรือพรรคพวกที่ไหนมาชิงตัวกลางทาง  จนเป็นเหตุให้ถูกกระสุนลูกหลงตาย โดยตำรวจไทยปลอดภัย

สาเหตุที่พระยาทรงสุรเดชรอดไปได้   ว่ากันหลายทาง  ทางหนึ่งบอกว่าพระยาทรงสุรเดชก็มีคนนิยมไม่ใช่น้อย   หลวงพิบูลฯจึงไม่จับส่งศาลให้ประหารชีวิต  แต่อีกทางบอกว่าพระยาพหลฯเป็นผู้ขอชีวิตได้    เพราะสาบานกันไว้ในหมู่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกันว่าจะไม่ทำร้ายกันถึงชีวิต

สาเหตุที่ต้องมาสาบานกัน  ก็ต้องย้อนไปถึงเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475  จากบันทึกของพลโทประยูร ภมรมนตรี เมื่อบุกวังบางขุนพรหมเอาปืนไปจี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯเป็นตัวประกันในการยึดอำนาจ



กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 11:29
เวลา 08.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. หลวงพิบูลสงครามและคณะ ได้นำจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์...มาในรถถัง ส่งให้ที่หน้าประตูพระที่นั่งอนันตสมาคม
ข้าพเจ้าถวายคำนับ เชิญเสด็จฯ ทรงจ้องข้าพเจ้าด้วยพระเนตรดุเดือด   ตรัสว่า
"ตาประยูร แกเอากับเขาจริง ๆ พระยาอธิกรณ์ประกาศบอกฉันไม่เชื่อ ฉันตั้งชื่อทำขวัญให้แกเมื่อเกิด ฉันเลี้ยงแกมาตั้งแต่เด็ก โกรธฉันที่ไม่ไปเผาศพพ่อแกใช่ไหม"

ข้าพเจ้าเร่งให้เสด็จลงจากรถถัง ทรงสำทับถาม "จะเอาฉันไปไหน อย่าเล่นสกปรกนะ"
เมื่อเข้าไปประทับในที่ประทับด้านหน้า ข้าพเจ้าสำนึก วางปืนก้มกราบขอพระราชทานอภัย
ทรงรับสั่งถาม "ใครเป็นหัวหน้า พระองค์บวรเดชใช่ไหม?"
"ยังกราบทูลไม่ได้พ่ะย่ะค่ะ" ทรงกริ้ว รับสั่งหนักแน่นว่า "ตาประยูร แกเป็นกบถ โทษถึงต้องประหารชีวิต"
ทรงรับสั่งถามต่อไป "พวกแกที่ยึดอำนาจนี้ ต้องการอะไร มีความประสงค์อะไร ต้องการปาลีเมนต์ มีคอนสติติวชั่นใช่ไหม" ข้าพเจ้ากราบทูลว่า "ใช่"
ทรงนิ่งชั่วครู่ แล้วรับสั่งถามว่า "แล้วมันจะดีกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้หรือ ตาประยูร"
"อารยประเทศทั่วโลกก็มีปาลีเมนต์กันทั่วไป ยกเว้นอาบิสซีเนีย" ข้าพเจ้ากราบทูล
ทรงถามว่าข้าพเจ้าอายุเท่าไร เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลว่า 32 ก็รับสั่งว่า "เด็กเมื่อวานซืนนี้เอง นี่แกรู้จักคนไทยดีแล้วหรือ  แกจะต้องเจอปัญหาเรื่องคน พระราชวงศ์จักรีครองเมืองมา 150 ปีแล้ว รู้ดีว่าคนไทยนี่ปกครองกันได้อย่างไร อ้ายคณะของแกจะเข็นครกขึ้นเขาไหวรึ"
ทรงถามถึงการศึกษา เมื่อกราบทูลว่าเรียนรัฐศาสตร์จากปารีส ทรงสำทับ "อ้อ มีความรู้มาก แกรู้จักโรเบสเปีย มารา และกันตอง เพื่อนน้ำสบถฝรั่งเศสดีแน่ ในที่สุดมันผลัดกันเอากิโยตีน เฉือนคอกันทีละคน จำได้ไหม ฉันสงสาร ฉันเลี้ยงแกมา นี่แกเป็นกบถ รอดจากอาญาแผ่นดิน ไม่ถูกตัดหัว แต่จะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่าตาย แกจำไว้"
ข้าพเจ้ากราบทูลว่า "ตามประวัติศาสตร์ มันจะต้องเป็นเช่นนั้น"


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 12, 12:14
อ้างถึง
สาเหตุที่พระยาทรงสุรเดชรอดไปได้   ว่ากันหลายทาง  ทางหนึ่งบอกว่าพระยาทรงสุรเดชก็มีคนนิยมไม่ใช่น้อย   หลวงพิบูลฯจึงไม่จับส่งศาลให้ประหารชีวิต  แต่อีกทางบอกว่าพระยาพหลฯเป็นผู้ขอชีวิตได้    เพราะสาบานกันไว้ในหมู่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกันว่าจะไม่ทำร้ายกันถึงชีวิต

นอกจากพระยาทรง ยังมีพระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสตร์พิทยายุทธ ผู้ก่อการของคณะราษฎร์ที่ถูกขอให้ปล่อยไปอยู่ต่างด้าวต่างแดน

ส่วนผู้ก่อการอีกคนนึง ตัวเล็กไปหน่อย คือหลวงชำนาญยุทธศิลป์ เขาจึงเอาไว้ติดคุกไม่ให้ไปไหน  เป็น๑ใน๒๑คนที่ถูกศาลพิเศษตัดสินประหารชีวิต แต่ศาลบอกว่าเคยกระทำความดีในอดีต(คือร่วมปฏิวัติ๒๔๗๕) และอีก๒ท่าน คือกรมขุนชัยนาทนเรนทร และพลโทพระยาเทพหัสดิน เคยกระทำความดีคนทั้งแผ่นดินเห็นประจักษ์ ศาลจึงลดโทษประหารชีวิตให้ เหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่ถอดจากยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นนักโทษชายรังสิต(เสด็จในกรมชัยนาท) นักโทษชายผาด(เจ้าคุณเทพ) และนักโทษชายเชย(หลวงชำนาญ)ส่งเข้าคุกบางขวาง

สามท่านหลังนี้ พระยาพหลก็เป็นผู้ขอไว้จากหลวงพิบูลและหลวงอดุล


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 12:29
    เรื่องที่สั่นสะเทือนจิตใจของประชาชนจำนวนมากที่ยังจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็คือการจับกุมเจ้านายชั้นผู้ใหญ่พระองค์เดียวที่ยังทรงอยู่ในสยาม   มิได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปนอกประเทศอย่างพระองค์อื่นๆก่อนหน้านี้   คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร หรือตอนนั้นดำรงพระยศเป็นกรมขุนชัยนาทนเรนทร
    พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 5    เสด็จไปศึกษาชั้นมัธยม ณ เมืองฮัสเบอรสตัด ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2442 จากนั้นทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์กโดยทรงพระประสงค์ที่จะศึกษาวิชาแพทย์ แต่ในระยะแรกทรงศึกษาวิชากฎหมาย ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาจึงทรงเปลี่ยนไปเรียนวิชาการศึกษา และยังทรงเข้าเรียนวิชาที่เกี่ยวกับการแพทย์บางอย่างเป็นส่วนพระองค์กับศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นด้วย
   เมื่อสำเร็จการศึกษา  ทรงกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และอธิบดีกรมสาธารณสุขอยู่ระยะเวลาหนึ่ง แต่ต่อมา  พระอนามัยอ่อนแอลง  มีอาการประชวรเป็นโรคหืด   กำเริบมากจนกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง เพราะทรงเกรงว่าถ้าทรงทำงานต่อไปจะมีผลเสียหายต่องานที่ทรงรับผิดชอบอยู่    จากนั้นก็มิได้ทรงรับราชการอีกทั้งในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7      แต่โปรดที่จะเสด็จไปตามหัวเมืองที่อากาศแห้งและเย็น  ซึ่งเป็นผลดีกับพระโรคหอบหืดเรื้อรัง
    เมื่อเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายเสด็จลี้ภัยการเมืองออกไปนอกประเทศหลัง 2475 เป็นต้นมา   ทีละองค์สององค์จนหมด  ก็เหลือกรมขุนชัยนาทที่เป็นเจ้านายระดับพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นที่ยังทรงอยู่ในสยามตามปกติ      เพราะทรงเห็นว่ามิได้เกี่ยวข้องอย่างใดกับราชการมานมนานเป็นสิบปีแล้ว   พระอนามัยก็ไม่ค่อยดี   อยู่ในเมืองหลวงก็ไม่ค่อยได้อยู่   แต่เสด็จไปอยู่หัวเมืองโดยเฉพาะทางเหนือให้บรรเทาพระอาการของโรค
   ที่ไหนได้    ทรงกลายเป็นหัวหน้ากบฏไปโดยไม่มีใครคาดคิด แม้แต่พระองค์เอง



กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 12:33
  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บันทึกเหตุการณ์วันนั้นไว้ว่า

    “...ในครั้งนั้นเสด็จในกรมทรงว่างราชการ จึงทรงเสด็จประพาสตามต่างจังหวัดต่างๆ จังหวัดทางภาคเหนือเป็นที่โปรดปรานมาก เพราะเป็นที่สูงและมีอากาศแห้งถูกกับพระอาการที่ประชวรอยู่ด้วยโรคหืดเป็นประจำ ... คืนวันหนึ่ง ผู้เขียนนั่งฟังวิทยุจากกรุงเทพฯ อยู่ครู่หนึ่ง เสด็จในกรมก็มาประทับฟังด้วย คืนนั้นมีข่าวผู้ที่ถูกจับกุมทางปักษ์ใต้คนหนึ่ง หลบหนีเจ้าพนักงานแล้วถูกยิงตาย เสด็จในกรมทรงฟังข่าวต่างๆ โดยดุษฎี บางทีจะไม่ทรงทราบเลยเลยว่าในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น พระองค์เองจะกลายเป็นข่าวสำคัญ

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งเป็นวันเสด็จกลับจากกรุงเทพฯ โดยขบวนรถด่วน มีรับสั่งให้ผู้เขียนไปบุ๊ครถนอนถวายไว้ล่วงหน้า วันนั้นรถด่วนขาล่องออกจากสถานีลำปาง เวลาบ่ายโมงเศษ เสด็จในกรมเสวยพระกระยาหารกลางวันราวๆ เที่ยง แล้วก็รับสั่งว่าจะบรรทมพักผ่อนสักครึ่งชั่วโมงก่อนที่จะเสด็จไปสถานี
ในระหว่างที่บรรทมอยู่นั้นเอง เจ้าพนักงานตำรวจสันติบาลที่ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ ก็ขอเฝ้าโดยด่วน เมื่อได้เฝ้าก็ทูลเชิญเสด็จกลับกรุงเทพฯ มีรับสั่งถามว่า
“มีเรื่องอะไร”
นายตำรวจผู้นั้นก็ทูลว่า “ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลจะขอเข้าเฝ้าที่กรุงเทพฯ”
เสด็จในกรมรับสั่งถามต่อไปว่า “ใครเป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล”
นายตำรวจกราบทูลต่อไปว่า “ขุนศรีศรากร”
ในกรมมีรับสั่งว่า “เอ ฉันไม่รู้จัก”
เมื่อนายตำรวจทูลถามว่าทรงมีปืนหรือไม่ ก็รับสั่งตอบว่า “ไม่เคยมีเลยแม้แต่ปืนยิงนก”
แล้วก็เสด็จออกจากพระที่แต่งพระองค์เสด็จไปสถานีรถไฟ มีนายตำรวจนั่งไปหน้ารถและมีผู้เขียนเรื่องนี้ตามไปส่งเสด็จด้วย ตั้งแต่เวลาที่ตำรวจเข้าไปจับหรือเชิญเสด็จ ตลอดจนถึงเวลาที่เสด็จขึ้นรถด่วนเข้าไปในห้อง มีเจ้าพนักงานยืนคุมหัวรถท้ายรถ
เสด็จในกรมมิได้มีพระอาการผิดปรกติหรือสะทกสะท้านแม้แต่น้อย คำว่า “ขัตติยมานะ” นั้น ผู้เขียนเคยได้ยินคนพูดบ่อยครั้ง และตีความหมายกันไปมากมาย แต่ผู้เขียน (มร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) ได้เคยเห็นของจริงก็ในคราวนั้นครั้งเดียว...”


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 12:36
     หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทฯ ทรงเขียนถึงเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็น “เคราะห์กรรม” ของครอบครัวพระองค์ไว้ว่า

     “...พ.ศ. 2482 ปีมหาอุบาทว์ ปีที่มี 9 เดือนเท่านั้น ใกล้เข้ามาแล้ว สองเดือนก่อนถึงวันที่ 1 เมษายน 2482 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยแบบเก่าครั้งสุดท้าย เสด็จพ่อถูกตำรวจของรัฐบาลพลตรีหลวงพิบูลสงคราม จับในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กับเจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน สองผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็ลงชื่อในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ... โดยพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้มีอำนาจตั้งผู้พิพากษาของศาลพิเศษ ทั้งอำนาจตั้งอัยการประจำศาลผู้ทำหน้าที่เป็นโจทก์ (แต่จำเลยไม่มีสิทธิ์ตั้งทนาย)
      ศาลพิเศษนี้ผู้พิพากษาเป็นนายพลเพื่อนนายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่ ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีเดียวคือคดีที่เสด็จพ่อทรงติดร่างแหไปด้วย     นักกฎหมายทุกคนเห็นว่าเป็นการผิดหลักนิติธรรมที่ประเทศซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ มีสภานิติบัญญัติ และอยู่ในภาวะปกติไม่มีสงครามหรือการจลาจลได้ออกกฎหมายพิเศษให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมผู้ที่มีอำนาจตั้งโจทก์ ตั้งผู้ว่าคดี และตั้งผู้พิพากษาเองทั้งหมด เป็นเรื่องซึ่งทำให้คนไทยผู้ไม่ได้กระทำผิด เพียงแต่อาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางประการถูกประหารชีวิต 18 คน ถูกจับคุกหลายสิบคน รวมทั้งเสด็จพ่อด้วย
       ทีแรก “เชิญเสด็จ” ไปที่พระราชวัง(หมายถึงโรงพักพระราชวัง) แล้วลหุโทษ(เดี๋ยวนี้เรียกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือคลองเปรม) แล้วในที่สุด “บางขวาง” เมื่อปลายปี พ.ศ. 2484 ปีที่พอ 1 มกราคม ก็เปลี่ยนเป็น 2483 ให้ตรงกับการขึ้นปีใหม่ฝรั่ง...”
จากพระนิพนธ์ "เกิดวังไม้" ของ ม.จ. ปิยะรังสิต รังสิต


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 12, 13:10
จากชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 13:13
การจับกุมคุมขังพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเรื่องน่าสลดใจอย่างยิ่ง เพราะใครๆก็ย่อมดูออกว่าเป็นไปไม่ได้ที่กรมขุนชัยนาทฯผู้ทรงอยู่นอกราชการมานานหลายปี  ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองมาแต่ไหนแต่ไร    ซ้ำพระอนามัยก็อ่อนแอ  จะกลายเป็นจอมบงการอยู่เบื้องหลัง ทำได้ทั้งก่อกบฎ ลอบยิง จ้างคนยิง จ้างคนวางยาพิษ ฯลฯ  ซ้ำคนที่เป็นเป้าหมายก็มีอยู่คนเดียว คือหลวงพิบูล   ขณะที่บุคคลสำคัญอื่นๆแม้แต่พระยาพหลฯ ก็อยู่กันปลอดภัยดี
แต่ในเวลานั้น  ไม่มีใครกล้าจะหือขึ้นมา  เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นไก่ตัวต่อไปที่ถูกเชือดให้ลิงดู  

เหล่านี้ถูกสงสัยว่าพยายามที่รวบรวมพวกพ้อง และตลอดจนลอบฆ่าหลวงพิบูลฯ แต่พระยาทรงสุรเดชและพวกพ้องต้องได้เงินมาใช้เตรียมการจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ความสงสัยจึงฉวัดเฉวียนไปทางพระราชวงศ์ชั้นสูง อาทิ พระปกเกล้าฯ และกรมพระนครสวรรค์ แต่โดยที่ใครๆ ก็ทราบว่า ... พระยาทรงฯ ไม่เคยมีโอกาสได้เฝ้าเจ้านายชั้นสูงเช่นที่ออกพระนามแล้ว แต่มีเจ้านายชั้นสูงอีกพระองค์หนึ่งที่โปรดเสด็จประพาสในที่ต่างๆ ทั้งในสยามและต่างประเทศ นั่นคือกรมขุนชัยนาทฯ ซึ่งมีโอกาสที่ใครจะพบได้ง่าย ทั้งปรากฏด้วยว่าพระองค์เสด็จประพาสเชียงใหม่ จึงน่าจะเป็นโอกาสให้พระยาทรงฯ ได้เข้าเฝ้า กรมขุนชัยนาทฯ จึงถูกสงสัยว่าได้ประทานอุปการะแก่การคิดกบฏของพระยาทรงฯ...”

จากบันทึกของ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน

เพียงแต่ข้อสงสัยเท่านั้น ก็สามารถส่งพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์หนึ่งไปถึงขั้นประหารชีวิต


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 13:32
นอกจากจะมีแพะรับบาปกันเป็นแถวแล้ว   ยังมีการจับแพะจนแกะกันอยู่อีกหลายเรื่องด้วยกันค่ะ
เห็นได้จากข้อสงสัยที่กลายเป็นข้อกล่าวหาก็คือกรมขุนชัยนามฯเคยเสด็จเชียงใหม่  พระยาทรงฯก็อยู่เชียงใหม่  น่าจะมีโอกาสได้เข้าเฝ้า ดังนั้นจึงน่าจะทรงเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้พระยาทรงสุรเดช  เพราะ น่าจะเป็นว่าทรงอยากได้อำนาจคืนให้สมเด็จพระปกเกล้าฯ





กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 13:37
ถ้าถามว่ากรมขุนชัยนาทฯ เสด็จไปเชียงใหม่ทำไม   คำตอบก็มี ไม่ใช่ไม่มี

จากคำบอกเล่าของหลวงอายุรกิจโกศล เขียนเล่าไว้ว่า

“... ในปี ๒๔๘๑ ระหว่างเดือนสิงหาคม หรือกันยายน จำไม่ได้แน่ เสด็จในกรมได้เสด็จไปจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเสด็จได้มีลายพระหัตถ์ถึงข้าหลวงประจำจังหวัด แจ้งพระประสงค์ว่า เพื่อทรงศึกษาลู่ทาง ที่จะให้หม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์ รังสิต พระโอรสพระองค์เล็กซึ่งทรงศึกษาวิชามนุษย์ไปสอบสวน และศึกษาเรื่องชาวละว้าซึ่งทางเหนือเรียกว่าลัวะเพื่อนำไปทำวิทยานิพนธ์เสนอมหาวิทยาลัยซูริคในประเทศสวิสเซอร์แลนในสิ้นปีหน้า และส่งลายพระหัตถ์ฉบับเดียวกันถึงผู้เขียนด้วยข้อความเดียวกัน กับสั่งให้จองโรงแรมรถไฟให้ด้วยสองห้องสำหรับเป็นที่ประทับ

    เมื่อเสด็จถึง ได้ทรงปรารภเรื่องนี้พร้อมกับข้าหลวงประจำจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง ... รับสั่งว่า ... จะให้ท่านชายเล็กไปพบ ม.ร. ฮัทจิสัน เพื่อขอทราบเรื่องเหล่านี้บ้าง (เรื่องการศึกษาเผ่าละว้า - ผู้เขียน) รับสั่งว่าจะเสด็จกลับกรุงเทพฯ แต่เพียงพระองค์เดียว เพื่อให้ท่านชายได้เดินทางไปบ่อหลวงเพื่อดูลาดเลาเสียครั้งหนึ่งก่อนสักสองสามวัน แล้วจึงกลับไปเตรียมตัวเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการนี้ให้พร้อมแล้ว จึงกลับมาทำการสอบสวนให้เต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง ... เมื่อได้ตกลงเรื่องของท่านชายเล็กเสร็จเรียบร้อยแล้ว เสด็จในกรมก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ หม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์และคณะเดินทางไปฮอด และบ้านบ่อหลวง บ้านบ่อสะหลี เป็นเวลาเกือบ ๒ อาทิตย์จึงกลับเชียงใหม่แล้วกลับกรุงเทพฯ...”
     จากนั้นอีกประมาณ 2 อาทิตย์ ก็เสด็จกลับไปเชียงใหม่อีกครั้ง เพื่อส่งหม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์ รังสิต และเสด็จประพาสที่เชียงใหม่อยู่ระยะหนึ่ง จึงได้เสด็จไปประทับกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ลำปาง ซึ่งก็ทรงไปประทับด้วยอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งถูกจับ โดยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ประกาศในคืนวันนั้นว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลได้ควบคุมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่สถานีรถไฟลำปางเพื่อนำส่งกรุงเทพฯ”


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 13:47
อย่างไรก็ตาม ศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อพิจารณาคดี  มีคณะผู้พิพากษาซึ่งไม่ใช่ผู้พิพากษาอาชีพในกระทรวงยุติธรรมก็ได้ตัดสินว่า

“…คดีเป็นอันฟังได้ว่า จำเลยทั้งหมดในคดีนี้ได้สบคบกันกระทำการประทุษร้ายเพื่อทำลายรัฐบาล มีความผิดฐานกบฏตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 101…
  อาศัยเหตุดังกล่าวแล้ว จึงต้องพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่นายพลโท พระยาเทพหัสดินทร กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป จำเลยทำความดีมาก่อน ประกอบกับเมื่อได้ระลึกถึงเหตุผลที่ว่าๆ ไปแล้ว ควรได้รับความปรานี จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 59 และมาตรา 37 (1) คงให้จำเลยทั้ง 3 นี้ ไว้ตลอดชีวิต…”

  
การพิจารณาในครั้งนี้ได้ตัดสินประหารชีวิตนักโทษการเมือง 21 คน และมี 3 คนที่ได้รับการลดโทษ คือ พระยาเทพหัสดินทร กรมขุนชัยนาทนเรนทร หลวงชำนาญยุทธศิลป
เคยมีผู้สัมภาษณ์จอมพล ป. พิบูลสงครามว่าทำไมไม่ขออภัยโทษให้กับนักโทษที่ถูกตัดสินให้ประหารชีวิต เมื่อท่านอยู่ในฐานะที่ทำได้   จอมพล ป. ตอบว่าหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจไม่ยินยอม  จึงขอได้เพียง 3 คนเท่านั้น   ถ้าเป็นไปตามนี้  หลวงอดุลฯผู้เป็นอธิบดีตำรวจก็ต้องมีอำนาจเหนือนายกรัฐมนตรี     และรับไปผู้เดียวเต็มๆกับชีวิตจำเลย 18 คนที่สูญสิ้นไปกับหลักประหาร

เมื่อถูกพิพากษาตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทฯ ถูกคุมขังในเรือนจำกลางบางขวาง   จากพระอิสริยยศพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน  คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งรวมพระองค์เจ้าอาทิตยทิพยอาภาด้วยก็ถอดฐานันดรศักดิ์ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด   โดยให้ออกนามใหม่ว่า
  “นักโทษชายรังสิต”


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 12, 13:57
คดีเสด็จในกรม ศาลพิเศษโปรยหัวว่าดังนี้


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 12, 13:58
พยานโจทก์ที่ศาลให้น้ำหนักมากที่สุดคือนายอุ๊ เป็นคนขับรถของเจ้าคุณท่านหนึ่งที่อ้างตนว่าเป็นเพื่อนกับนายเพิ่ม (ซึ่งนายเพิ่มปฏิเสธว่าเพียงพูดคุยกันแค่สองครั้ง ตอนที่นายอุ๊ขับรถให้นายมาเฝ้าเสด็จในกรมที่วังเท่านั้น) นายอุ๊ให้การว่านายเพิ่มบอกกับตนว่าได้รับหน้าที่จากกรมขุนชัยนาทให้หาพวกกรรมกรรถยนต์ที่เป็นนักเลงหัวไม้และไว้ใจได้ให้มากๆ เพื่อนำมาใช้เป็นกำลังพาหนะในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายอุ๊อ้างว่านายเพิ่มนำตนเข้าเฝ้าก็ทรงบอกกับนายอุ๊ว่าดีแล้ว ขอบใจขอให้ถือว่าร่วมมือกันกู้ชาติ นายอุ๊จึงไปเล่าให้นายวัน ซึ่งเป็นตำรวจยามของรัฐสภา(และเป็นสายลับให้สันติบาลคอยรายงานพฤติกรรมของนักการเมือง)ฟัง นายวันก็ไปรายงานให้ขุนศรีศรากร ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลทราบ นายอุ๊ยังให้การอีกว่า ต่อมานายเพิ่มมาบอกว่ากรมขุนชัยนาทจะเสด็จไปชวาเพื่อเฝ้ากรมพระนครสวรรค์ เพื่อขอทุนมาดำเนินการ และจะเลยไปเข้าเฝ้าพระปกเกล้าที่อังกฤษเพื่อจะอัญเชิญให้กลับมาครองราชย์หากดำเนินการสำเร็จด้วย (พระองค์เสด็จไปจริงและโดยเปิดเผยเมื่อ๒๔๗๙ สองปีมาแล้ว)

ครั้นเสด็จกลับมาก็มีรับสั่งให้นายเพิ่มมาถามนายอุ๊ว่าหาพวกกรรมกรได้กี่คนแล้ว เพราะรอช้าไม่ได้ หลวงพิบูลกำลังจะขึ้นมาเป็นผู้เผด็จการ พระองค์จะรีบขึ้นไปเชียงใหม่เพื่อเร่งให้พระยาทรงลงมือดำเนินการโดยเร็ว นายอุ๊ ก็พานายวัน และนายสวัสดิ์มาเฝ้า ทรงประทานเงินให้คนละ๑๐๐บาทเป็นค่าดำเนินการ ศาลกล่าวว่าทรงนินทาว่าร้ายรัฐบาลต่างๆนาๆฯลฯ ให้คนพวกนี้ฟังด้วย



กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 12, 14:00
นายวัน นายสวัสดิ์ก็มาให้การทำนองเดียวกันนี้ มีกระทั่งบ้านใกล้เรือนเคียงมาให้การว่ารู้จักกับนายเพิ่ม นายเพิ่มเล่าให้ฟังว่ากรมขุนชัยนาทรับสั่งกับตนว่า พระปกเกล้า ต่อไปจะเป็นพระเวียนเกล้า ซึ่งพยานเข้าใจว่าพระปกเกล้าจะเวียนกลับมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีก เป็นต้น เรื่องบ้าๆอย่างนี้ศาลก็บันทึกไว้ในสำนวน

ทั้งเสด็จนายกรมและนายเพิ่มปฏิเสธว่าไม่เคยรู้จักและพูดจาหรือให้เงินอะไรกับคนเหล่านี้ แต่ศาลหาได้เชื่อจำเลยทั้งสองไม่

ทรงรับว่าในประมาณเดือนตุลาคม ได้เสด็จไปอำเภอเชียงดาวเพื่อพาพระโอรสไปเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์เสนอมหาวิทยาลัยในเยอรมันนี และได้แวะตลาดเพื่อจะถ่ายรูปพวกมูเซอร์ ได้เห็นรถยนต์หลายคันจอดอยู่ก่อนและทรงทราบว่าเป็นรถของพระยาทรงแต่ก็มิได้ใส่พระทัย และไม่พบเห็นตัวพระยาทรงที่นั่น อัยการเบิกตัวคนขับรถของเจ้าแก้วนวรัฐที่ให้ยืมรถในวันนั้น คนขับรถก็ให้การตรงกันทั้งหมด เว้นแต่บอกว่าไม่ทราบว่าเมื่อเสด็จลงจากรถเข้าไปในตลาดแล้วจะทรงพบผู้ใดบ้าง เช่นเดียวกับสัสดีอำเภอ พยานโจทก์อีกคนหนึ่งที่ให้การสอดคล้องว่าเห็นบุคคลทั้งสอง แต่ปฏิเสธคำถามของอัยการว่าไม่ทราบว่าทั้งคู่จะพบกันหรือไม่ เพราะตนขึ้นไปบนอำเภอก่อน มีพยานคนเดียวคืออดีตทหารเก่าชื่อนายตัน ที่เห็นพระยาทรงสุรเดชที่ตลาดก็จำได้ พระยาทรงกำลังคุยกับชายคนหนึ่งซึ่งตนไม่รู้จัก ทราบทีหลังเมื่อเห็นรูปในหนังสือพิมพ์ที่พนักงานสอบสวนมาให้ดู และมาเห็นเมื่อกำลังเบิกความในศาลนี้ว่าคือกรมขุนชัยนาทเรนทร

แต่ในที่สุดศาลก็เชื่ออย่างสนิทใจจากปากเดียวนี้ว่าเสด็จในกรมทรงดั้นด้นไปถึงเชียงใหม่ เพื่อวางแผนการณ์ล้มล้างรัฐบาลกับพระยาทรงสุรเดชกลางตลาดสดของอำเภอเชียงดาวนั้นเอง

เรื่องนี้ถ้าเอาไปทำหนังไทย ก็จะเป็นหนังตลกปัญญาอ่อนสมบูรณ์แบบ ผู้ร้ายเป็นถึงโอรสพระเจ้าแผ่นดิน คิดจะแก้แค้นพวกพระเอกนักปฏิวัติผู้รักชาติ ด้วยการจะยึดอำนาจรัฐคืนโดยคบคิดกับคนขับรถของตน ให้ระดมพลอยู่ปีกว่า ได้ไพร่พลระดับทหารเลวมาตั้งสามคน จ่ายค่าจ้างคนละ๑๐๐บาท เสร็จสรรพก็นัดไปวางแผนปฏิบัติการกับหัวหน้าผู้ก่อการร้ายระดับ๕ดาวอีกคนหนึ่ง โดยอุตส่าห์ดั้นด้นขึ้นไปถึงเชียงใหม่กับลูกชาย แล้วต่างคนต่างนั่งรถคันโก้ไปจอดเป็นขบวนอยู่ที่ตลาดบ้านนอกอย่างที่เชียงดาวที่ชาวบ้านยังขี่เกวียนกัน  แล้วประชุมกันกลางตลาดมันซะเลย ช่างไม่เกรงแม้แต่จะตกเป็นเป้าสายตาของชาวบ้านร้านตลาด หรือเกรงจะเข้าหูสายสืบของรัฐที่หูตาเป็นสับปะรด ในที่สุดก็ให้เสียท่า ถูกหนานตันรายงานข่าวกรองมาให้พวกพระเอกจับได้ นำตัวผู้ร้ายไปขึ้นศาล หลักฐานหนาแน่นฉกาจฉกรรจ์จนศาลตัดสินให้ประหารชีวิต ด้วยความกรุณาของพระเอกก็ลดโทษให้ผู้ร้ายตั้งเยอะ เหลือแค่จำคุกตลอดชีวิต เท่ากับคนขับรถคู่ใจเท่านั้นเอง



กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 14:20
ท่านผูู้อ่านสังเกตไหมคะ  ว่า การปรักปรำจำเลยมักจะลงแพทเทิร์นเดียวกัน   คือได้ยินได้เห็นจำเลยกระทำผิดขณะอยู่กลางแจ้งท่ามกลางผู้คนมากหน้าหลายตา      ทั้งนี้เพราะพยานเหล่านี้  สันติบาลไปได้ตัวมาจากคนที่ไม่ใช่คนใกล้ชิดกับจำเลยในชีวิตจริง    นายอุ๊เองก็ไม่ใช่มหาดเล็กหรือคนขับรถในวังของกรมขุนชัยนาทฯ    มาขึ้นศาลก็มาให้การฉอดๆว่ากรมขุนชัยนาทฯรับสั่งกับตัวเองว่าขอบใจที่มาช่วยกันกู้ชาติ  ทั้งๆในความเป็นจริง  ถ้าทรงกระทำการใหญ่ขนาดนี้จริง จะทรงไว้ใจอะไรได้กับบ่าวขับรถของคนอื่นซึ่งมิได้ทรงรู้จักมาก่อน
ส่วนนายตันนั้นยิ่งแย่ใหญ่   เพราะแกคงเป็นชาวบ้านอยู่ไกลปืนเที่ยง   จึงต้องสร้างฉากว่าเห็นกรมขุนชัยนาททรงทักทายกับพระยาทรงสุรเดชอยู่กลางตลาด  ปานประหนึ่งทั้งหนึ่งพระองค์และหนึ่งท่านนั้นต้องการโชว์ตัวการรู้จักมักคุ้นให้เป็นเป้าสายตาผู้คน    ก่อนจะลงมือทำการใหญ่    ไม่คิดจะปกปิดการคบคิดกันแต่อย่างใด

ช่างเป็นฉากที่ซ้ำซากกับฉากพระสุวรรณชิต ขนาดเป็นสายลับของสันติบาล วันดีคืนดีก็จัดเลี้ยงเชิญคณะพรรคผู้ก่อการ รวมทั้งมีผู้หญิงด้วย ๑ คน  (ช่างไม่กลัวหล่อนได้ยินแล้วจะเอาไปปากโป้งเม้าท์กับเพื่อนบ้านตามประสาผู้หญิง) รวมทั้งมือปืนก็นัดไปให้เห็นพรรคพวกกันพร้อมหน้าว่ามีใครบ้าง    
เมื่อพาทั้งหมดไปกินอาหารจีนอยู่ในร้านยังไม่พอ  ยังคุยโขมงโฉงเฉงเสียงลั่นว่ากำลังเตรียมการทำเรื่องคอขาดบาดตายอยู่    อวดโต๊ะข้างๆให้ได้ยินกันเต็มหูจนไปบอกตำรวจสันติบาลได้     ช่างเป็นสายลับที่ทำงานไม่สมอาชีพเอาเสียเลย
แต่อย่างว่าละค่ะ     ศาลก็ตัดสินแล้วว่าน้ำหนักพยานเหล่านี้น่าเชื่อถือจริงๆเสียด้วย  ส่วนคำปฏิเสธของจำเลยและคนอื่นๆที่ใกล้ชิดกับจำเลย  ที่บอกว่าคำปรักปรำนั้นไม่จริง   ศาลกลับเห็นว่าคำปฏิเสธฟังไม่ขึ้น


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 12, 14:41
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ หลังพระประสูติกาล๑๒ วัน เจ้าจอมมารดาของพระองค์ก็ถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงอุ้มพระราชโอรสมาพระราชทานสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ด้วยพระองค์เอง พร้อมกับตรัสว่า “ให้มาเป็นลูกแม่กลาง”

พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ทรงมีพระชนมายุใกล้เคียงกับเจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช สมเด็จพระพันวสาทรงเลี้ยงดูเหมือนกับพระราชโอรสที่ประทานกำเนิดด้วยพระองค์เอง และพระองค์เจ้ารังสิตก็ทรงมีความรู้สึกผูกพันต่อพระองค์เฉกเช่นเดียวกัน

พระบรมฉายาลักษณ์ข้างล่าง  เสด็จในกรม(ในกระจก)ทรงฉายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระราชอนุชาเสด็จไปเฝ้าสมเด็จย่าของพระองค์ที่วังสระปทุม เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยครั้งแรก

เมื่อยุวกษัตริย์น้อยๆทั้งสองพระองค์เสด็จกลับยุโรปไปแล้วไม่กี่เพลา ความสุขของราษฎรไทยยังไม่ทันจางหาย จอมเผด็จการและสมุนบริวารก็เอาพระญาติผู้ใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ไปเป็นนักโทษของตนซะ ให้รู้กันเสียบ้าง แผ่นดินนี้ใครใหญ่


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 14:57
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5236.0;attach=34106;image)

ดิฉันสะดุดใจนิดหนึ่งตรงที่ศาลพิเศษใช้คำว่า เพื่อเป็นกำลังทำลายล้างรัฐบาล
ความจริงตั้งแต่เริ่มแรก การลอบยิงและวางยาพิษหลวงพิบูลนั้น ถ้าหากว่าเกิดขึ้นจริง ก็เป็นการประทุษร้ายต่อตัวบุคคล   หาใช่รัฐบาลทั้งชุดไม่   การอ้างว่าเตรียมคนไปทำร้ายพระยาพหลฯและนายปรีดี ก็คือประทุษร้ายต่อตัวบุคคลเช่นกัน  
ที่ตลกคือ หลังจากลงมือไม่สำเร็จ  ผู้วางแผนก็ดูเหมือนว่าจะเลิกเอาใจใส่คนสำคัญคนอื่นอีก  ทำหนเดียวเลิกคิดทำไปเลย  หันมาตั้งหน้าตั้งตาประทุษร้ายหลวงพิบูลฯคนเดียว
  
สมมุติว่า  ต่อให้เกิดตายกันขึ้นมาจริงๆ ทั้งพระยาพหลฯ หลวงพิบูลฯและนายปรีดี    ก็มิใช่ว่ารัฐบาลจะล้ม จนต้องกลับสู่ระบอบสมบูรณาฯ   เพราะรัฐมนตรีที่เหลือ กับส.ส.ทั้งสภาเขาก็ต้องหาคนใหม่ในคณะรัฐมนตรีขึ้นมาเป็นนายกฯรักษาการณ์จนได้  ใครจะยอมสละตำแหน่งล้มเลิกรัฐบาลทั้งคณะ และล้มสภากันไปง่ายๆ
ก็ทีประธานาธิบดีลินคอล์นถูกยิงตายเอย  ประธานาธิบดีเคนเนดี้ถูกลอบสังหารเอย  ก็ไม่เห็นรัฐบาลอเมริกันชุดนั้นจะล้มกันสักครั้งเดียว

ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าจึงต้องมีการเสริมข้อหาให้กลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาล  เพราะข้อหามุ่งสังหารหลวงพิบูลฯคนเดียวยังไม่หนักแน่นพอ     จึงมีการกล่าวหาเพิ่มเติม โดยเล็งเป้าหมายที่กรมขุนชัยนาทฯว่า คิดการล้มล้างรัฐบาลชุดนี้ เพื่อจะเชิญเสด็จสมเด็จพระปกเกล้าฯกลับมาแล้วให้พระยาทรงสุรเดชเป็นนายกรัฐมนตรี   ทั้งๆตามคำกล่าวหาและพยานบุคคล ผู้ร่วมมือที่จะลงมือกับเสด็จในกรมฯ ก็มีแต่คนขับรถชาวบ้านกิ๊กก๊อกสองสามคนเท่านั้น  
ราวกับว่าไม่มีหลวงพิบูลฯเสียคนเดียว   ผู้ก่อการทั้งหลายตลอดจนนายทหารและส.ส.ที่สนับสนุนระบบรัฐสภาอีกมากมายก่ายกอง มาตลอดตั้งแต่พ.ศ. 2475 จน 2482  จะปล่อยมือจากบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง   ให้ใครทำอะไรก็ได้ไม่ว่ากัน
แต่ศาลพิเศษก็ยังเชื่อว่าเสด็จในกรมทรงกระทำผิดจริง


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 12, 15:06
พระเอกของผมอีกคนหนึ่งก็คือนายเพิ่ม คนขับรถของเสด็จในกรม ผู้กล้าหาญชาญชัยที่กลับคำให้การในศาลทั้งที่ไม่มีทนายแนะนำ  ท่านต้องไม่ลืมว่ายุคสมัยที่เสรีภาพยังมืดมิดนั้น ผู้ต้องหากบฏที่สันติบาลเอาตัวไปสอบสวนจะถูกทั้งขู่บังคับ ทั้งติดสินบนว่าจะให้งานทำใหม่ดีๆ ถ้ายอมซัดทอดนาย ตำรวจจะกันให้เป็นพยานไม่ต้องติดคุก วิธีนี้จะได้ผลดีสำหรับคนจำพวกหนึ่งที่ถูกจับตามแผนของตำรวจ ซึ่งในชั้นสอบสวนนั้น นายเพิ่มต้องยอมตามที่ตำรวจต้องการ แต่เมื่อถึงเวลาให้การในศาล นายเพิ่มเกิดสำนึกผิดชอบชั่วดี ขอแก้ใขคำให้การที่ปรักปรำนายในขั้นสอบสวน ฉีกหน้าขุนประสงค์สิทธิการ ตำรวจหัวหน้าเจ้าพนักงานสอบสวน โดยนายเพิ่มไม่อาจรู้ได้ว่าเมื่อกลับเข้าตารางไปแล้ววันนั้นตนจะเจอกับอะไร นายเพิ่มยอมแลกกับการที่จะได้รับโทษน้อยหรือปล่อยตัวในชั้นศาล กับยอมที่จะหลุดก็หลุดด้วยกันติดคุกก็ติดด้วยกัน คนอย่างนายเพิ่มถือว่าเป็นคนดีที่น่านับถืออย่างยิ่งคนหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายก็ไม่รอด เพราะศาลไม่เชื่อ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 12, 15:17
^
^
ครับผม

ศาลพิเศษเชื่อว่าเสด็จในกรมทรงกระทำผิดจริง โดยสมคบกับคนขับรถของพระองค์เอง(เพราะจำเลยในคดีของพระองค์มี๒คนเท่านั้น) ซ่องสุมกรรมกรระดับคนขับรถได้๓คน(เพราะศาลไม่ได้ระบุคนที่มารับเงินที่ประทานให้คนละ๑๐๐บาทมากไปกว่านั้น) เพื่อทำการล้มล้างรัฐบาลร่วมกับพระยาทรงแล้วอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯกลับมาครองราชย์ คดีนี้นายเพิ่มถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

ผมเหนื่อยใจกับสติปัญญาของสันติบาลและศาลพิเศษจริงๆที่ช่างไม่มีมันสมองจะคิดว่า พระองค์ท่านเป็นถึงพระองค์เจ้า ระดับการศึกษาสูงถือเป็นปัญญาชนของสยามพระองค์หนึ่ง

โอ้ย อย่าให้ต้องแสดงความเห็นอะไรมากกว่านี้เลยนะครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 15:38
คุณ V_Mee ได้แสดงความเห็นไว้ก่อนหน้า ในกระทู้นี้ว่า ศาลพิเศษอาจใช้วิธีไต่สวนแบบฝรั่งเศสคือเชื่อว่าจำเลยผิดไว้ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์       ก็นับว่าเข้าเค้า
เพราะตัวอย่างกรณีนายเพิ่ม   ศาลเชื่อไปแล้วว่านายอุ๊และพรรคพวกอีก 2 คนพูดจริง    ถ้านายเพิ่มพูดเหมือนนายอุ๊ก็นับว่าพูดจริง  ถ้านายเพิ่มพูดไม่เหมือนนายอุ๊ก็ถือว่าไม่จริง  เป็นพยานเท็จเลยถูกจำคุกตลอดชีวิต  นับเป็นโทษที่ร้ายแรงพอกับโทษล้มล้างรัฐบาลที่เสด็จในกรมฯทรงได้รับทีเดียว

ศาลยังเชื่ออีกว่านายเพิ่มมีสติปัญญาฉลาดเฉลียว  พอจะชวนคนรถของแขกที่มาเข้าเฝ้าเจ้านายไปก่อการล้มล้างรัฐบาลด้วยกัน  ผ่านไปหนึ่งปีกว่า   ได้พรรคพวกมาอีก 2 คนเพิ่มเติมก็พอจะลงมือก่อการได้แล้วกระมัง


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 12, 15:42
พระหัตถเลขาถึงญาติฝ่ายพระมารดาของพระองค์


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 16:02
^


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 12, 16:34
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับคดีนี้ ที่อินทรเนตรช่วยมองหามาให้ได้ค่ะ
- กบฎครั้งนี้ ไม่เคยมีการเคลื่อนกำลังออกมายึดอำนาจให้เห็นเลยสักครั้ง   ไม่มีการค้นพบการซ่องสุมอาวุธในการกบฏ   ไม่ปรากฏขุมกำลังของทหารหรือตำรวจหน่วยไหนเข้าไปเกี่ยวข้อง     
- เป็นกบฏจากปากคำพยานบุคคลกล่าวหาผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด    โดยสันติบาลเป็นผู้หาพยานบุคคลเหล่านี้มาแสดงต่อศาล
- เป็นกบฎครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่มีการลงมือยึดอำนาจ กลับมีผู้ถูกประหารชีวิตถึง 18 คนด้วยกัน   จำคุกตลอดชีวิต 25 คน
- ศาลได้พิพากษาประหารชีวิตเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2481 แต่กรมราชฑัณฑ์ได้มีคำสั่งลับ-ด่วน ถึงผบ.เรือนจำบางขวางให้เตรียมสถานที่เพื่อประหารไว้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.2481 หรือก่อนวันที่จะรู้คำพิพากษาถึง 2 เดือน
- เป็นกบฎที่เริ่มจากการลอบยิงรัฐมนตรีกลาโหม  แล้วไปจบลงที่พยายามล้มล้างรัฐบาล ทั้งๆไม่มีการลงมือ
- ผู้ลอบทำร้ายหลวงพิบูลสงครามได้รับโทษแตกต่างกัน    มีทั้งผู้ไม่ได้รับโทษใดๆ -นางเสงี่ยมและพันจ่าตรีทองดีผู้วางยาพิษ   ไปจนถึงโทรประหารชีวิต -นายลี บุญตา  นายพุ่ม ทับสายทอง   


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ก.ค. 12, 16:54
ขุนศรีศรากร หรือ พล.ต.ต.ชลอ ศรีศรากร อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร์ อดีตผู้บัญชาการเรือนจำบางขวางผู้คุมนักโทษการเมืองรุ่น๒๔๗๖ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลภายใต้บงการของหลวงอดุลเดชจรัส ใช้ชีวิตในบั้นปลายของท่านอย่างสันติ ภายใต้ผ้ากาสาวพัตร์ มีฉายาว่า พระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส

ท่านคงจะเข้าใจในโลกย์แล้วว่า ทุกอย่างเป็นทุกข์ ทุกอย่างไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน และทุกอย่างควบคุมให้เป็นไปตามที่เราอยากไม่ได้ การดิ้นรนจะฝืนสัจจธรรมดังกล่าวรังแต่จะนำมาซึ่งบาปน้อยใหญ่ทั้งหลาย การหยุด และหยุดได้ นำมาซึ่งความสุขอันถาวร

ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อว่าอดีตนายตำรวจสันติบาลผู้จับแพะไปให้ศาลเชือดเลือดสาดแดนประหารจะเป็นผู้รจนากถาธรรมนี้

                  การปฏิบัติใด ๆ ถ้าเกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์แล้ว
                  การปฏิบัตินั้นๆ เป็นวิปัสสนาสมาธิของตถาคต

                 (พระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส, พ.ศ.2526 : 59)

                              สาธุ  สาธุ  สาธุ




กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 12, 16:54
ประชาชนทั่วไปในพ.ศ. 2482 ไม่มีโอกาสจะรู้รายละเอียดของกบฏครั้งนี้มากไปกว่ารู้จากแถลงการณ์ของรัฐบาล     การตัดสินของศาลพิเศษทำอย่างรวบรัด    คำสั่งประหารออกมาก่อนขณะที่เรื่องขอพระราชทานอภัยโทษอยู่ระหว่างการยื่น    ยังไม่ทันรู้ผล   นักโทษก็ถูกส่งเข้าหลักประหารเสียก่อน
ส่วนพวกที่ถูกจำคุก ต้องรอจนถึงพ.ศ. 2487  เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่จึงออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองเป็นอิสระ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงได้รับเคราะห์กรรมน้อยกว่านักโทษจำคุกอื่นๆเล็กน้อย  เพราะในที่สุดรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ตัดสินใจปล่อยท่านให้เป็นอิสระ

     " หลวงอายุรกิจโกศลได้เขียนถึงเวลาหลังจากเสด็จพ่อทรงพ้นภัยการเมืองคือเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2486 ขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าได้ทำผิดพลาดไปจึงเสนอให้คณะผู้สำเร็จราชการฯ ปล่อยพระองค์เสด็จกลับวัง ดังต่อไปนี้
      "วันหนึ่ง  ข่าวที่ไม่มีใครคาดฝันจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยก็ได้ประกาศข่าวที่น่าตื่นเต้นว่า ทางราชการได้ปลดปล่อยเสด็จในกรมเป็นอิสระ ทั้งได้ถวายคืนฐานันดรศักดิ์ พระอิสริยยศทุกอย่างให้ทรงมีพระอิสริยยศเป็นพระบรมราชวงศ์ตามเดิมทุกประการ และได้เสด็จกลับไปประทับที่พระตำหนักถนนวิทยุอย่างเดิมแล้ว ข่าวนี้ได้ทำให้เกิดความปรีดาปราโมทย์แก่ผู้ที่ได้ฟังเป็นอย่างยิ่ง
      หลังจากนั้น 3 วัน ผู้เขียนได้ไปเฝ้าเยี่ยม ... ในขณะที่เฝ้าอยู่นั้นผู้เขียนได้พิจารณาถึงพระวรกายและสุขภาพอนามัยของพระองค์ เห็นคงเป็นปกติอยู่ ไม่ทรงผ่ายผอมซูบซีดแต่ประการใด แต่อยากทูลถามเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่เกรงจะไม่พอพระทัยจึงกราบทูลขอประทานอนุญาตเสียก่อน ซึ่งรับสั่งว่า แกอยากถามอะไรก็ถามได้ จึงทูลถามว่า "ในฐานะที่ใต้ฝ่าพระบาทเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์แต่ได้ทรงรับเคราะห์ ได้รับทุกข์ทรมานเช่นนี้ จึงขอประทานทราบเกล้าฯ ว่าดำรงพระชนม์ชีพมาได้อย่างไร"
     เสด็จในกรมทรงพระสรวลแล้วรับสั่งว่า ถามดี และยังไม่มีใครทูลถามเรื่องนี้   แล้วรับสั่งว่า "ฉันจะบอกให้แก่รู้ว่า ฉันมีชีวิตอยู่มาได้เพราะโพชฌงค์" ..."

จากพระนิพนธ์ "วังไม้" ของหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต

นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2486 นักโทษชายรังสิต จึงกลับคืนสู่ฐานันดรศักดิ์ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์" และคืนสู่พระอิสริยยศ "กรมขุนชัยนาทนเรนทร" นับแต่นั้นมา


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 12, 17:04
บทสวดมนต์ โพชฌังคปริตร ถือเป็นพระพุทธมนต์ซึ่งช่วยให้คนป่วยที่ได้ฟังสามารถหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้   ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหากัสสปะที่อาพาธ พระองค์ทรงแสดงสัมโพชฌงค์แก่พระมหากัสสปะ พระมหากัสสปะก็หายจากโรค
อีกครั้งหนึ่ง ทรงแสดงธรรมบทนี้แก่พระโมคคัลลานะซึ่งอาพาธ หลังจากนั้น  พระโมคคัลลานะก็หายจากอาพาธได้ ในที่สุด เมื่อพระพุทธองค์เองทรงอาพาธ จึงตรัสให้พระจุนทะเถระแสดงโพชฌงค์ถวาย พระพุทธเจ้าก็หายประชวร

พุทธศาสนิกชนจึงนับบทสวดโพชฌงค์เป็นบทสำหรับคนป่วย สวดแล้วช่วยให้หายโรคได้    ความจริงคือการทำใจให้สว่าง สะอาดผ่องใสสามารถช่วยรักษาใจ เพราะใจสัมพันธ์กับกาย  ถ้าใจสงบ มีกำลังใจดีขึ้น  ร่างกายก็แข็งแรงขึ้น   จึงสามารถทำให้หายจากโรคได้

โพชฌงค์ 7 ประการ ประกอบด้วย

1.สติสัมโพชฌงค์(ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง)
2.ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์( ความเฟ้นธรรม,ความสอดส่องค้นหาธรรม )
3.วิริยะสัมโพชฌงค์(ความเพียร)
4.ปีติสัมโพชฌงค์(ความอิ่มใจ)
5.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์(ความสงบกายสงบใจ)
6.สมาธิสัมโพชฌงค์(ความมีใจตั้งมั่น,จิตแน่วในอารมณ์)
7.อุเบกขาสัมโพชฌงค์(ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง)

จากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต)

http://www.youtube.com/watch?v=6NUM-dHhbzg


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ค. 12, 17:49
โพชฌงค์ ๗ เป็นองค์ธรรมในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญ เดือน๖ นั้น

แสดงว่า เสด็จในกรมท่านทรงเป็นนักปฏิบัติภาวนาขั้นสูงมาก่อนแล้ว จึงทรงตรัสได้เช่นนี้

ไม่สงสัยเลยว่า ทรงเข้าใจธรรมะเรื่องวิบากกรรมดี และพระองค์ก็แสดงว่าทรงอโหสิให้กับผู้ที่เคยมุ่งร้ายต่อพระองค์ ราวกับว่าไม่เคยมีการกระทำนั้นๆมาก่อน


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ค. 12, 17:56
แต่เมื่อแรกที่เขาจะเล่นเกมนี้กันให้ได้นั้น กระทั่งพระยาพหลซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ยังเลือกที่จะหลบออกจากกรุงเทพไปตั้งหลักอยู่กับลูกน้องเก่าในกรมทหารปืนใหญ่ที่โคกกระทียม พร้อมด้วยพ.อ.พระสุริยสัตย์ เจ้ากรมการเงิน กระทรวงกลาโหมผู้เป็นเพื่อน และพ.อ.พระศัลยเวชวิศิษฐ์ หมอประจำตัว โดยออกเดินทางเมื่อวันที่๒๗มกราคม เพียงวันเดียวก่อนที่หลวงอดุลเดชจรัส รัฐมนตรีมหาดไทยและอธิบดีกรมตำรวจ จะลงมือปฏิบัติการตามคำเห็นชอบของหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

หลังจากจับแพะมาใส่กรงขังได้เพียงสองสามวันเท่านั้น รัฐบาลก็ได้เสนอพ.ร.บ.การจัดตั้งศาลพิเศษเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวันที่๒กุมภาพันธ์ แต่ในวันนั้นเพื่อนรักทั้งสองศรีคือหลวงพิบูลและหลวงอดุล ก็นัดกันเขินอาย มิยอมมาเข้าร่วมประชุมสภาด้วย หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม จึงเป็นผู้เสนอร่างแทนแต่เพียงผู้เดียว ฝ่ายค้านก็ทำการค้านแบบกลัวๆกล้าๆ ก็มันเห็นๆอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร ณ เณรผู้ไม่กลัวใครก็ถูกจับไปแล้ว ทั้งฒ ผู้เฒ่าและด เด็กก็หัวหด พอลงมติ บรรดาส.ส.ทั้งหลายก็แสดงการกระทำว่ากูก็เป็นพวกมึงนะ ด้วยการออกเสียงยอมรับพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นเอกฉันท์

เมื่อเหตุการณ์ทั้งหลายผ่านไปแล้ว พระยาพหลจึงเดินทางกลับมาในวันที่๙กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒ เท่ากับว่าท่านประกาศกลายๆว่า ฉันไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย  และเป็นที่ทราบกันด้วยว่า ท่านได้ขอชีวิตเหยื่อการเมืองไว้ได้๓ท่าน ที่เหลือเขาไม่ยกให้

เมือศาลพิพากษาแล้ว นักโทษที่ถูกศาลพิเศษตัดสินให้ประหารชีวิต ได้ทำฎีกายื่นขอพระราชทานอภัยโทษต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อันมีพระองค์อาทิตย์เป็นประธาน แต่หลังจากหลับพระเนตรของพระองค์เห็นสายตาอันดุดันของหลวงอดุลจ้องมองถมึงทึงมาที่องค์ท่านแล้ว ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็สั่นระรัวพระหัตถ์ลงพระนามยกฎีกาของนักโทษประหารทั้ง๑๘คนนั้นเสีย

เมื่อฆ่ากันไปเสร็จแล้ว สังคมคนกรุงเทพยังฮือฮาเรื่องนี้กันมาก ในที่สุดสื่อมวลชนถูกกดดันให้กล้าถาม และคำตอบของหลวงพิบูลก็เด็ดขาดมากว่า “ประหารชีวิตเพียง๑๘คนเท่านั้น ไม่มากมายอะไรเลย การปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส เขาตัดหัวใส่เกวียนเป็นแถวๆ”

เป็นอันว่าหมดคำถาม



กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 12, 19:49
บางคนอ่านกระทู้แล้วอาจวาดภาพว่า จอมพลป. คงเป็นคนดุดันน่ากลัว น่าเกรงขาม  ใครๆก็ระย่อไม่กล้าสบตาด้วย    แต่ตัวจริงของท่านจากผู้ที่ประสบพบเห็น เป็นภาพอีกอย่างหนึ่งที่ตรงกันข้าม  

ศ.กนต์ธีร์ ศุภมงคล เขียนไว้ในหนังสือครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า

“ท่านจอมพลเป็นผู้มีเสน่ห์ทางการเมืองเป็นพิเศษ มีเหลี่ยมคูหาเสมอเหมือนมิได้ สามารถใช้ถ้อยคำนุ่มนวล อ่อนหวาน ดูดดึงใจอย่างกว้างขวาง นักการเมืองสมัยท่านต่างพากันเรียงหน้าวิ่งเข้าหา ต่างกับนายกรัฐมนตรีสมัยหลังๆที่ต้องออดอ้อนพะเน้าพะนอนักการเมืองเพื่อคะแนนเสียงสนับสนุนในรัฐสภา แม้แต่ทูตต่างประเทศที่ประจำอยู่ในประเทศไทย อยู่ได้ไม่นานเท่าใดพอใกล้ชิดท่านล้วนถูกโน้มน้าว เกิดศรัทธาในตัวท่าน ทุกคนนิยมติดต่อกับท่านโดยตรง”

หลังจากจับแพะกวาดล้างไปได้หมดแล้ว    คดีกบฎครั้งนี้ก็ถูกลบหายไปจากสังคมเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นเลย   จะมีก็แต่ญาติพ่อแม่พี่น้องลูกหลานของครอบครัวนักโทษการเมืองเหล่านั้นที่จดจำได้  แต่ต้องปิดปากเงียบ เผชิญความทุกข์ระทมไปตามยะถากรรม    โดยไม่อาจจะขอความยุติธรรมจากใครได้
ส่วนประชาชนทั่วไปก็จะได้รับข่าวด้านดีจากรัฐบาลอยู่เสมอ  สิ่งใหม่ในยุคนั้นคือการปลุกใจเรื่องชาตินิยม  ว่าประเทศไทยกำลังจะรุ่งเรืองศรีวิไลเทียบเท่ามหาอำนาจตะวันตก  ก่อให้เกิดความฮึกเหิมและหวังในทางดี    2 ปีต่อมาคนไทยก็ถูกปลุกใจให้เดินขบวนเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงกลับคืนมาเป็นของไทย  แล้วก็ได้คืนมาสำเร็จ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 12, 20:09
แต่ว่าโชคชะตาก็ไม่ได้โหดร้ายถึงขีดสุดกับนักโทษการเมืองที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเสียทีเดียว    เมื่อจอมพลป.พ้นอำนาจไปในพ.ศ. 2487  นักโทษการเมืองทั้งหลายก็ได้รับอิสรภาพจากพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่นายควง อภัยวงศ์เป็นผู้นำเสนอต่อรัฐสภา
นักโทษการเมืองเหล่านั้นบางคนก็กลับคืนสู่ความรุ่งเรืองมีหน้ามีตาอีกครั้ง    บางคนก็กลับถิ่นเดิมไปอยู่กับญาติ   ล้างมือจากการเมืองโดยสิ้นเชิง

กระทู้นี้ก็ขอจบลงเพียงแค่นี้ค่ะ  ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมออกความคิดเห็นและติดตามมาจนถึงค.ห.สุดท้าย
 


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 23 ก.ค. 12, 22:17
ก่อนจะปิดกระทู้นี้ตามคำสั่งของท่านอาจารย์ใหญ่  ท่านที่ได้อ่านเรื่องราวในกระทู้นี้มาคงจะเห็นได้ว่า
ท่านผู้นำได้กระทำไว้กับพลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด  เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อย่างสาหัสสากรรจ์เลยทีเดียว
แต่เมื่อท่านผู้นำกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ กลับแต่งตั้งท่านเจ้าคุณคู่อาฆาต
เป็นรัฐมนตรีคมนาคมร่วมในรัฐบาลของท่าน  นี่คงจะเป็นพยานสำคัญสำหรับประโยคที่ว่า "ม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร
ในแวดวงการเมืองไทย" 

ตกมาถึงรุ่นหลาน  ผมก็ให้เผอิญมีเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นเรียนเป็นหลานปู่ของทั้งท่านผู้นำและท่านเจ้าคุณเทพฯ
แล้วที่แปลกก็คือหลานของท่านทั้งสองนั้นกลับเป็นเพื่อนรักกันโดยไม่มีวี่แววความบาดหมางของบรรพบุรุษเลย


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 12, 22:26
ท่าน V_Mee มาเปิดประเด็นทิ้งท้าย กระทบใจ   ดิฉันเลยปิดไม่ได้ ขอเปิดอีกครั้งค่ะ

พลโท พระยาเทพหัสดิน ได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 20กันยายน2487 และได้รับนิรโทษกรรมในเวลา3ปีต่อมา ในเดือนกันยายน 2490
หลายปีต่อมา พลโท พระยาเทพหัสดิน ได้รับหนังสือขอโทษจากจอมพล ป.พิบูลสงครามที่ได้เข้าใจผิดในเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด และขออโหสิกรรมในสิ่งที่ทำลงไป
แปลอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า นอกจากเอาพ่อเข้าคุกแล้วยังประหารชีวิตลูกชายท่านไปอีก 2 คน   ทั้งๆบุคคลทั้งสามนี้บริสุทธิ์

พร้อมกับมองเห็นได้อีกอย่างว่า คนขออโหสิกรรมไม่ยักใช่คณะผู้พิพากษาที่ตัดสิน    แต่เป็นจอมพลป. ซึ่งเคยกล่าวว่าพยายามขอให้อภัยโทษประหารชีวิตแล้ว แต่หลวงอดุลเดชจรัสไม่ยอม

ต่อมา พระยาเทพหัสดิน ได้รับพระราชทานยศเป็น พลเอก พระยาเทพหัสดิน และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491  แสดงว่าท่านได้ให้อโหสิกรรมแก่จอมพลป. แล้ว

" การรู้จักอโหสิกรรมเป็นยอดแห่งความเป็นผู้ดี"
จากหนังสือ  “จงรักเกียรติยิ่งชีวิต” ของ เนตรเสลา สิงหะ สุตเธียรกุล


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ค. 12, 08:15
เมื่อท่านผู้นำกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ กลับแต่งตั้งท่านเจ้าคุณคู่อาฆาต
เป็นรัฐมนตรีคมนาคมร่วมในรัฐบาลของท่าน  นี่คงจะเป็นพยานสำคัญสำหรับประโยคที่ว่า "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร
ในแวดวงการเมืองไทย" 

ดิฉันเชื่อมั่นอย่างไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเจ้าคุณเทพฯ ท่านให้อโหสิกรรมจอมพลป. ด้วยน้ำใจผู้ดีของท่าน    จึงรับตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคม  และเชื่อต่อมาว่า ตำแหน่งนี้จอมพลป.น่าจะมอบให้เพื่อเป็นการชดเชยการกระทำในอดีต ไม่มากก็น้อย
ส่วนประโยคของคุณ V_Mee ดิฉันก็เห็นด้วย แต่ขอตีความอีกทางหนึ่งว่า ต่อให้ลูกหลานบางท่านในตระกูลยังไม่ลืมอดีต   ก็คงไม่อยากให้เจ้าคุณท่านปฏิเสธตำแหน่งร่วมรัฐบาลอยู่ดี   เพราะจอมพลป. ท่านก็ยังเป็นหัวหน้ารัฐบาล     ดีไม่ดีท่านน้อยใจว่าเจ้าคุณไม่ให้อภัยผมอยู่มั้ง   ผมไม่ถือสา  แต่อธิบดีตำรวจผมน่ะซีเขาไม่ยอม    ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอยก็ได้ 


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ส.ค. 12, 10:24
กระทู้นี้จะขาดข้อมูลทั้งสองด้านไปถ้าไม่มีความเห็นของฝ่ายหลวงพิบูล หรือจอมพลแปลก ซึ่งเขียนโดย อ. พิบูลสงครามบุตรชายของท่าน
ผมขออนุญาตมาลงเพิ่มเติมดังนี้

ที่ขีดเส้นแดง หรือท่านจะบอกเป็นนัยว่าทั้งหมดที่พ่อท่านโดนโจมตีนั้น แท้จริงในครอบครัว ทราบกันดีว่าเป็นฝีมือของคนนี้
(ขอโทษที่บางช่วงไม่ชัด แต่คงพออ่านกันได้นะครับ)


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ส.ค. 12, 10:37
ขีดเส้นใต้ตอนบนไว้ให้เป็นที่สังเกตว่า อะไรที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ พวกก็มักจะอ้างว่าเป็นพระราชกระแส แบบห้วนๆ คนที่อ่านอย่างฉาบฉวยก็จะนึกว่าเป็นพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ใช่ ที่จริงแล้วผู้ที่ใช้พระราชกระแสในขณะนั้นคือรัฐบาลเผด็จการทหาร  ที่บีบบังคับองคมนตรีให้ลงพระนามเป็นตรายางในเอกสารทุกชิ้นที่กฎหมายระบุให้นำเสนอเพื่อลงพระปรมาภิไธย

ขีดเส้นใต้ตอนล่างเพื่อขอโอกาสวิภาคบ้างว่า คุณบิดาปราบเพื่อนร่วมขบวนการ๒๔๗๕ไปหมดแล้วด้วยตนเอง แต่ลูกชายยังเพ้อถึงคณะราษฏรและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอยู่

ผู้ที่ขับไล่จอมพลป.ไปคือจอมพลสฤษฏ์น่ะครับ ตอนนั้นประชาชนเขาเฮกันทั้งเมือง


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 12, 19:31
อ่านแล้วสรุปบางประเด็นว่า
๑ พลต.อ.อดุล คือบุคคลที่อยู่เบื้องหลังคดีนักโทษประหาร
๒ พลต.อ.อดุลมีอำนาจมากกว่าจอมพลป. เสียอีก  เพราะทั้งๆจอมพลป.รู้ว่าตัวเองเป็นแพะรับบาปก็ทำอะไรพลต.อ.อดุลไม่ได้
๓ ผู้เขียนคงไม่ทราบว่าจอมพลป.เองก็มีหนังสือขอโทษบิดาของนักโทษประหารว่าตัวเองเข้าใจผิด
๔ จอมพลป.ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคดีกบฏครั้งนี้
ทุกท่านสามารถรับฟังได้ด้วยวิจารณญาณ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ส.ค. 12, 10:14
จากหนังสือที่เขียนจากฝ่ายผู้ถูกกระทำ ตรงบรรทัดที่ขีดเส้นใต้น่าสนใจนะครับ ใคร และเหตุใดคนผู้นั้น จึงมีอำนาจเหนือจอมพล ป.

สารคดีนี้เขียนและตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ๒๔๗๙ และพิมพ์รวมเล่มต่อมาอีกหลายครั้ง ไม่มีคำปฏิเสธจากผู้ถูกพาดพิงหรือลูกชายของท่าน ก็ต้องแปลว่าใช่ แต่ที่ไม่มีคำอธิบายต่อคำถามข้างต้นอาจเป็นเพราะรู้เห็นเป็นใจกัน แบบผู้กำกับการแสดงกับดารา ละครจะดีหรือจะเลวก็เป็นผลงานของทั้งคู่นั่นแหละ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.0  

ใครยังไม่ได้อ่าน ไปอ่านเสียนะครับ
หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 12, 10:28
ถ้าใครสักคนมีอิทธิพลเหนือใคร   ก็แปลว่าคนแรกต้องมีอะไรเหนือกว่าคนหลัง   ไม่ใช่ว่าใครอยากมีอิทธิพลเหนือใครก็ขอกันได้ง่ายๆ
เพราะผู้ที่ตกเป็นเบี้ยล่างจะต้องอยู่ในภาวะจำยอม     ยังไม่เคยเห็นใครยิ้มแย้มส่งอิทธิพลให้อีกฝ่ายอยู่เหนือตนเองด้วยความสมัครใจ   มันต้องมีเงื่อนไขบางอย่างมาทำให้หือไม่ขึ้น  อีกฝ่ายจะกำหนดทิศทางยังไงก็ต้องยอมหันตามไป   ร้อยทั้งร้อยถึงไม่เต็มใจก็จำต้องหันอยู่ดี
คำถามคือ  สมมุติว่าพลต.อ.อดุลท่านมีอิทธิพลเหนือจอมพลป.จริงๆ   ท่านเอาอะไรมาเหนือ?  หรือพูดอีกทีคือท่านใช้สิทธิ์หรืออำนาจอะไรมาเหนือกว่าได้
จากประวัติที่ลงในกระทู้  "หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น "   พลต.อ.อดุลไม่อยากโอนจากทหารเป็นตำรวจ  แต่เพื่อนรักจะให้เป็นเพื่อให้ช่วยเป็นหูเป็นตาให้ ก็จำใจต้องไป      เรื่องแค่นี้พลต.อ.อดุลยังขัดใจเพื่อนไม่ได้ทั้งๆหมายถึงอนาคตตัวเอง ที่ต้องเปลี่ยนงานเปลี่ยนความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง ยังต้องทำเพราะเป็นความประสงค์ของเพื่อน    
แล้วท่านจะขัดใจเพื่อนได้หรือ  ถ้าเพื่อนขอให้ลดโทษยิงเป้าคนตั้ง 18 คนให้เหลือแค่จำคุกตลอดชีวิต    
เพื่อนคนนั้นก็ไม่ใช่เพื่อนธรรมดาที่ขอกันได้มั่งไม่ได้มั่ง ก็หยวนๆกันไป  แต่เป็นถึงนายกรัฐมนตรีที่จะปลดอธิบดีตำรวจออกจากตำแหน่งเมื่อใดก็ได้
ปลดเมื่อไร เลื่อนรองอธิบดีตำรวจขึ้นมา ก็จบ  เพราะตำรวจไม่มีกำลังจะรัฐประหารอยู่แล้ว

สมมุติต่อไปให้สุดๆว่า  ถ้าหากว่าจอมพลป.ไม่กล้าขัดใจเพราะกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ถูกลอบสังหารอีก      ก็ในเมื่อมือปืนแต่ละคนที่ถูกจ้างมา  ฝีมือระดับเด็กเล่นขนาดไหนก็เห็นกันอยู่แล้ว     ท่านยังจะกลัวอีกหรือว่าคราวหน้าจะมีมือปืนชั้นดีเข้ามาแทน
ตัวท่านไม่มีความสามารถจะเรียกบอดี้การ์ดชั้นเยี่ยมมาใช้งานบ้างหรือ?

คิดได้แค่นี้ค่ะ  ไม่ทราบว่าท่านอื่นๆเห็นอย่างไร



กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ส.ค. 12, 10:52
คนบางคนมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น เพราะกำความลับที่สำคัญบางอย่างของเขาไว้

บางที ความลับนั้นก็เกิดจากการกระทำผิดกฏหมายหรือศีลธรรมร่วมกันนั่นแล


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 12, 11:21
พวกกำความลับ มักจะอายุสั้นค่ะ น้อยคนจะอายุยืนกว่าคนที่ตัวเองกุมความลับอยู่ 


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 12, 17:54
ต้องถามต่อว่า ถ้ามีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการกระทำครั้งนี้จริง   เขาได้รับผลดีอะไรจากการปราบกบฏครั้งนี้บ้าง   
ในการปราบปรามพระยาทรงสุรเดช ลูกศิษย์ลูกหา  บวกกับทหารและพลเรือนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่มีทั้งกำลังคนและกำลังอาวุธ  ใครได้รับผลดีมากที่สุด  ก็คนนั้นแหละ   


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 04 ส.ค. 12, 18:17
เพิ่งอ่านเล่มนี้เกือบจบแล้ว
น่าสนใจอย่างยิ่งกับคณะราษฏร
ที่พยายามหวนกลับมากุมอำนาจอีกครั้ง
แต่สังขารเขาถึงจุดสุดท้าย
น่าสงสารเมืองไทย แม้เขาจะเป็นกลุ่มสุดท้ายของคณะราษฏร
แต่ก็มีลูกหลานของคนเหล่านี้ดำเนินกิจกรรมแบบเดียวกันต่อ

เพื่อ อำนาจ(นำมาซึ่งผลประโยชน์)เป็นแค่สิ่งเดียวที่คนเหล่านี้คิด


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 12, 18:37
^
น่าสนใจว่าอาจารย์ชัยอนันต์เขียนคำนิยมว่าอะไร ในหนังสือเล่มนี้คะ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 04 ส.ค. 12, 19:16
เชิญอาจารย์ลองพิจารณาดู แต่ถ้าได้อ่านทั้งเล่มสนุกครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 12, 19:41
น่าสนใจมากทีเดียวค่ะ  ขอบคุณที่สแกนมาให้อ่านกัน    
จอมพลป.เขียนบอกนายปรีดีว่า การที่นายปรีดีต้องออกไปนอกประเทศเป็นการกระทำของพระยาทรงสุรเดชฯ  คงจะหมายถึงช่วงที่คณะราษฎร์ยังมีอำนาจอยู่     ท่านปรีดีต้องออกนอกประเทศไปครั้งแรก  เพราะนโยบายเศรษฐกิจตามแนวของท่านเป็นพิษขึ้นมา  
ไม่ได้หมายถึงการออกนอกประเทศครั้งสุดท้ายในพ.ศ. 2492 หลังกบฏวังหลวง ซึ่งเป็นการหนีเอาชีวิตรอดจากข้อหากบฏภายในพระราชอาณาจักร   โทษของการทำผิดข้อนี้น่าสะพึงกลัวขนาดไหนดูเมื่อ 10 ปีก่อนเป็นตัวอย่าง

ในบั้นปลายของทั้งสอง  คนหนึ่งอยู่ในยุโรป อีกคนหนึ่งอยู่ในญี่ปุ่น   อำนาจทางการเมืองผ่านไปสู่ผู้นำคนใหม่คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่มีอเมริกาหนุนหลังอย่างแข็งแกร่ง      ญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรดีของจอมพลป. หมดอำนาจไปตั้งแต่พ่ายแพ้สงคราม   ส่วนประเทศจีนคอมมิวนิสต์ที่เคยให้ท่านปรีดีพำนักอยู่ด้วยชั่วระยะหนึ่ง  ก็ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับอเมริกา  และหนุนหลังพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยให้ต่อต้านรัฐบาลไทยแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ  
อดีตผู้นำทั้งสองจะหันมาเป็นมิตรกันในวัยชราก็นับว่าสมควรอย่างยิ่งในฐานะพุทธศาสนิกชน ที่ถือว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

แต่ที่เขียนข้างบนนี้เป็นเพียงความคิดที่ผุดขึ้นมาเมื่ออ่านคำนิยมของดร.ชัยอนันต์ตามที่คุณ visitna เอื้อเฟื้อสแกนมาให้อ่าน   อาจจะสรุปเองเร็วไปหน่อยก็ได้ค่ะ    เพราะจอมพลป. ท่านอาจจะถือว่าท่านไม่ได้ก่อเวรอะไรให้ท่านปรีดีเลยก็เป็นได้    เคราะห์กรรมที่เกิดกับท่านปรีดีนั้น ท่านทราบว่าคนอื่นเป็นผู้ก่อทั้งสิ้น  


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 04 ส.ค. 12, 19:56
หนังสือเล่มนี้เล่าความตั้งแต่เกิดคณะราษฏร์ในฝรั่งเศส
กล่าวถึงความสัมพันธ์ของสอง ป. ป.แปลก กับ ป.ปรีดี
และแทรกด้วยการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับจีน  ในยุคที่ คอมมูนิสต์ ยังฮิต
สุดท้ายท่านทั้งสองยังเจอข้อครหาที่หนักหนาติดตัวไปยังสัมปรายภพ
คือการมาคืนดีกันครั้งสุดท้ายของสองท่านเพื่อสร้าง สาธารณรัฐไทย

อันนี้แหละที่สาหัส

ท่านทั้งสองจะต้องไปแก้ข้อกล่าวหานี้เอาเอง


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 12, 20:13

สุดท้ายท่านทั้งสองยังเจอข้อครหาที่หนักหนาติดตัวไปยังสัมปรายภพ
คือการมาคืนดีกันครั้งสุดท้ายของสองท่านเพื่อสร้าง สาธารณรัฐไทย


อ้าว........เดาผิดหมด  นึกว่ามาคืนดีกันเพื่ออโหสิกรรมให้กันเสียอีกค่ะ
 
จอมพลป. ท่านเกิดเมื่อพ.ศ. 2440  ท่านปรีดีเกิดเมื่อพ.ศ. 2443   จอมพลป.ออกจากประเทศไทยเมื่อพ.ศ. 2500  อายุ 60 ปี  ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2507 อายุ 67 ปี  ส่วนท่านปรีดีอายุ 64 ปีในปีที่ไม่มีโอกาสพบหน้าจอมพลป.อีกแล้ว
คุณเจริญ กนกรัตน์ประสานงานให้ทั้งสองได้พบกัน เพื่อจะสร้างสาธารณรัฐไทย  แปลว่าจอมพลป. จะดำเนินงานการเมืองขั้นยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ต่อไปในวัยใกล้ 70  แต่ถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน   ส่วนท่านปรีดีถ้าเป็นข้าราชการก็เกษียณอายุมาแล้ว 4 ปี

ท่านจะรอเห็นผลงานเมื่ออายุเท่าไหร่ละนี่    เพราะคนอายุ 60 เมื่อครึ่งร้อยปีก่อน  พอเกษียณราชการถ้าไม่ป่วยกระเสาะกระแสะ  ก็เข้าวัดเข้าวา   อยู่บ้านก็เลี้ยงบอนเลี้ยงโกสนแก้เหงา  หรือไม่ก็เลี้ยงหลาน    ไม่มีใครวางโครงการอะไรเพื่ออนาคตของตัวเองอีกแล้ว


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ส.ค. 12, 20:53
ขออนุญาตเรียบเรียงเหตุการณ์ที่อาจารย์ชัยอนันต์ท่านเขียนไว้ตามลำดับที่เกิดขึ้นก่อนหลังดังนี้

๑ การที่นายปรีดีต้องถูกออกไปนอกประเทศครั้งแรก เป็นผลมาจากการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีความเห็นว่าเป็นแบบคอมมิวนิสต์ ดังนั้น เพื่อลดการเผชิญหน้า พระยาทรงสุรเดชจึงขอร้อง(แกมบังคับ)ให้นายปรีดีออกไปอยู่เมืองนอกชั่วคราว ตรงนี้ทั้งสองท่านเป็นพ้องต้องกันว่า พระยาทรงสุรเดชเป็นพวกเจ้า

๒ จากนั้นไม่นาน จอมพลป. ซึ่งยังเป็นพันโทหลวงพิบูลสงคราม ได้ใช้กำลังทหารขู่บังคับให้นายกรัฐมนตรี พระยามโนฯลาออก เพราะเป็นพวกเจ้า แล้วสนับสนุนให้พันเอก พระยาพหลฯเป็นนายกแทน  หลังจากนั้นจึงโทรเลขเรียกนายปรีดีกลับมาเมืองไทย ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชเอาข้อนี้ไปอ้างในการกบฏ พระยาพหลและหลวงพิบูลจึงจับมือกันปราบพวกเจ้าอย่างรุนแรง และเรื่อยมาจนถึงคราวกบฏพระยาทรงที่ไม่มีใครก่อกบฏจริงๆด้วย

๓ ความขัดแย้งภายในยุติลง เกิดความขัดแย้งกับต่างประเทศ จอมพลป.สนับสนุนให้นายปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างสงครามและประเทศตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของญี่ปุ่น แต่นายปรีดีกลับจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นในทางลับ ซึ่งตอนหลังเรียกว่าเสรีไทยสายในประเทศ โดยส่งคนเข้าไปติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านจีน แต่ก็ไม่เป็นมรรคเป็นผลเท่าไร  นายปรีดีเริ่มเพาะความรู้สึกเป็นศัตรูกับจอมพลป.ในช่วงหลังๆที่ญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายรับและทำท่าจะแพ้สงคราม แต่จอมพลป.ยังไม่รู้สึกรู้สา นายปรีดี ตอนนั้นประสานกับเสรีไทยสายนอกประเทศได้แล้ว จึงเดินเกมด้วยการร่วมมือกับ ฝ่ายค้าน สั่งให้ส.ส.ในมุ้งของตนยกมือสวนเมื่อรัฐบาลเสนอพรบ.ย้ายเมืองหลวงไปอยู่เพชรบูรณ์ ทำให้แพ้การลงมติและจอมพลป.ต้องลาออกจากตำแหน่งแบบแค้นเคืองนายปรีดีมาก แถมยังผลักผลักดันนายควงให้เป็นนายกแทนตน

๔ สงครามยุติ ฝรั่งเข้ามาเต็มเมือง ไทยรีบปรับตัวโดยนายควงลาออก เปิดทางให้ม.ร.ว.เสนีย์ หัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกาเป็นนายก เพื่อเจรจาให้ไทยรอดพ้นจากฐานะผู้แพ้ วิธีการหนึ่งที่ทำไปก็คือ จับจอมพลป.แล้วตั้งข้อหาว่าเป็นอาชญากรสงครามเพราะนำประเทศเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่น
จอมพลป.ต้องติดคุกอยู่นานจนบรรยากาศดีขึ้นแล้ว ศาลอาชญากรสงครามของไทยก็พิพากษาให้จำเลยทุกคนพ้นผิด ด้วยเทคนิกทางกฏหมายซึ่งนายปรีดีวางหมากไว้แต่ต้น

๕ นายปรีดีขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือน ในขณะที่คณะทหารอยากให้จอมพลป.กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน
หลังเกิดเหตุการณ์สวรรคต นายปรีดีก็โดนกระทำการรัฐประหารที่เล่นกันรุนแรงจนต้องหนีออกไปตั้งหลักนอกประเทศ คณะรัฐประหารชูคนอื่นมาเป็นนายกแบบขัดตาทัพ เมื่อทุกอย่างปลอดโปร่งแล้ว จอมพลป.จึงได้รับเชิญจากคณะทหารการเมืองให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงต่อไป
เมื่อนายปรีดีเกิดฮึดสู้ แอบกลับมาจะยึดอำนาจคืนบ้าง แต่คราวนี้แพ้ยับและกลายเป็นกบฏไป ลูกน้องคนสำคัญๆก็ถูกตำรวจฆ่าตัดตอนไปหมดสิ้นแบบไม่ต้องถึงศาล

นายปรีดีจึงต้องลี้ภัยไปหลายประเทศก่อนไปปักหลักที่ฝรั่งเศสโดยไม่ได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนอีกเลย


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ส.ค. 12, 21:01
อ้างถึง
สุดท้ายท่านทั้งสองยังเจอข้อครหาที่หนักหนาติดตัวไปยังสัมปรายภพ
คือการมาคืนดีกันครั้งสุดท้ายของสองท่านเพื่อสร้าง สาธารณรัฐไทย

อันนี้แหละที่สาหัส

ท่านทั้งสองจะต้องไปแก้ข้อกล่าวหานี้เอาเอง

 
ข้าพเจ้าอายุ ๓๒ ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ

(ต้องต่อว่า) เพราะเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของข้าพเจ้า ได้แย่งชิงอำนาจของข้าพเจ้าไปเสียแล้ว
 
 


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 12, 21:43
ในวัย 67 และ 64  ท่านทั้งสองจะกลับมาจับมือกันในวัยชรา   เพื่อสานฝันครั้งใหญ่กว่าที่เคยทำมาในตอนหนุ่ม
ข่าวจริงหรือข่าวลือ?


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ส.ค. 12, 22:14
http://www.komchadluek.net/detail/20120411/127661/%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A.html


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 12, 22:32
คัดบางตอนจากข่าวในคมชัดลึกข้างบนนี้

      เบื้องหลังการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ใครก็ทราบว่า มาจากการสนับสนุนของกลุ่มอนุรักษนิยม และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากชนชั้นนำหวั่นไหวในความเปลี่ยนแปลงหลังม่านไม้ไผ่ และหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์
     
      ระหว่างจอมพล ป. ลี้ภัยอยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ ปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เจริญ กนกรัตน์ คนสนิทของ สังข์ พัธโนทัย รับหน้าที่เป็นคนเดินสารเชื่อมความสัมพันธ์ของสองผู้ก่อการ 2475
     
      ภารกิจลับนี้ดำเนินไปอย่างเงียบกริบ เจริญหวังที่จะเพื่อนเก่าได้พบกันอีกครั้ง แต่ความหวังของเขาก็จบสิ้น จอมพล ป.ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อเดือนมิถุนายน 2507
     
      ทั้งที่ก่อนหน้านั้น จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปลายปี 2506 ก็มีข่าวลือแพร่สะพัดในเมืองไทยว่า จอมพล ป.จะกลับเข้าประเทศ
     
      ในบทบันทึกของ เจริญ กนกรัตน์ ตอนที่ชื่อ "ซากามิโอโนะ-กว่างโจว ในความทรงจำ" ได้ถ่ายทอดความในใจของจอมพล ป. ก่อนสิ้นชีวิตไว้ว่า
     
      "ผมถูกสฤษดิ์เขาทำรัฐประหารเพราะเหตุอะไร ผู้สันทัดกรณีก็ย่อมรู้ การเมืองมันลึกลับซับซ้อนแค่ไหน?
     
      "การที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติ นำประชาธิปไตยมาสู่ประชาชนไทยนั้น แม้จะเป็นความสำเร็จก็ตาม แต่เราต้องยอมรับว่า คณะเราส่วนใหญ่ยังมีฐานะเป็นไก่อ่อนสอนหัดอยู่ เราจึงถูกมรสุมซัดเอาถึงขั้นแพแตก คณะราษฎรจึงถูกแบ่งแยกออกเป็นฝักเป็นฝ่าย"
     
      จอมพล ป.ยอมรับว่า คณะก่อการ 2475 มาจากเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความกล้าหาญที่จะร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย
     
      "เราร่วมงานกันได้ ก็เพราะความรักระหว่างเพื่อนฝูงโดยแท้ แต่คณะเราก็ได้ปฏิบัติจนเป็นผลสำเร็จ"
     
      ในบทเดียวกันนี้ "เจริญ" ยังเก็บข้อคิดความเห็นจากปากคำของปรีดี เมื่อครั้งที่พบท่านรัฐบุรุษอาวุโสในกว่างโจว มาถ่ายทอดไว้เช่นกัน
     
      "คำว่าประชาธิปไตยนั้น มักจะเข้าใจความหมายกันผิดๆ ประชาธิปไตยแปลว่า ประชาชนเป็นใหญ่
     
      "ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่ปกครองโดยประชาชน และเพื่อประชาชน ประชาธิปไตยที่เราเห็นอยู่นี้ส่วนใหญ่ก็โดยประชาชน แต่ขาดหลักการ เพื่อประชาชน เพราะพวกชนะเลือกตั้ง มักละทิ้งหลักการเพื่อประชาชนไปเสีย กลายเป็นเพื่อตนเองและเพื่อนพ้องไปฉิบ"
     


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 04 ส.ค. 12, 23:58
เข้ามาลงชื่อว่าตามอ่านอยู่นะครับ

ถ้ามีกระทู้นี้ เมื่อสักประมาณสิบห้าปีก่อน
สมัยเมื่อผมยังเป็นนักเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์
ผมคงตอบข้อสอบได้คะแนนดีๆ ในหลายๆวิชาแน่ๆ

ความรู้ความคิดเห็นจากท่านผู้อาวุโสทุกท่าน ช่วยเปิดสมองเป็นอย่างยิ่ง


ขอบพระคุณคุณครูทุกๆท่านครับผม
 ;D ;D ;D


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 12, 08:23
ดีแล้วที่ไม่ได้อ่านสมัยเรียน    สังหรณ์ว่าคำตอบของดิฉันอาจจะทำให้คุณ Diwali ได้ F ในบางวิชาไปเลยก็ได้นะคะ   :)


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 12, 08:36
ข่าวจากคมชัดลึก ช่วยจุดประกายให้คิดต่อเรื่อยเปื่อยไปอีกค่ะ
สมมุตินะ  สมมุติว่าแผนการณ์นี้วางกันจริง   โดยมีคุณเจริญช่วยประสานงาน ให้ท่านผู้อาวุโสทั้งสองช่วยกันก่อตั้งสาธารณรัฐ    ก็เลยสงสัยต่อว่าวิธีก่อตั้งนั้นจะทำอย่างไร     
อย่างแรกก็คือต้องล้มเลิกระบอบการปกครองที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล  แล้วมีประธานาธิบดีแทน ถูกไหม 
อย่างที่สอง   วิธีล้มเลิกจะทำอย่างไร   สมัยพ.ศ. 2506-2507 แม้จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว  ผู้ขึ้นมาเป็นนายกฯแทนคือจอมพลถนอม  กิตติขจร ก็ไม่เห็นมีท่าทีว่าจะสละตำแหน่ง  ซ้ำท่านยังปฏิวัติตัวเองกลายเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ กวาดส.ส.ออกจากรัฐสภากลับไปอยู่บ้านทั้งหมด
ท่านผู้อาวุโสทั้งสองจะรณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติทั่วประเทศ เลือกระบอบใหม่   ก็ไม่เห็นทางว่าจะทำได้   เพราะประชามติ หรือประชาธิปไตยโดยตรงไม่ผ่านรัฐสภา  ในสมัยโน้นยังไม่มีใครคิดกันเป็น     ถึงคิดกันเป็นก็เจอตอจากรัฐบาล  ทำไม่ได้อยู่ดี   

มันก็เหลือทางเดียว คือเปลี่ยนแปลงด้วยอำนาจ
เอ่อ..แล้วถ้าอย่างนั้น ประชาธิปไตยที่ท่านผู้เฒ่าทั้งสองอภิวัฒน์กันมาตั้งแต่พ.ศ. 2475   ตั้งแต่ท่านอายุสามสิบกว่าๆจนเกือบเจ็ดสิบ   มันก็ยังมาไม่ถึงประเทศไทยอยู่ดีน่ะซีคะ

คิดอย่างนี้แล้ว โดยส่วนตัวดิฉันก็เลยเชื่อว่าบุคคลที่มีจิตวิญญาณต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยย่อมจะไม่ยอมทำตามแผนนี้แน่นอน  ต่อให้ใครกี่คนไปขอก็ไม่ทำ    จึงขอไม่เชื่อเรื่องนี้ค่ะ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 12, 08:48
   
อ้างถึง
"ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่ปกครองโดยประชาชน และเพื่อประชาชน ประชาธิปไตยที่เราเห็นอยู่นี้ส่วนใหญ่ก็โดยประชาชน แต่ขาดหลักการ เพื่อประชาชน เพราะพวกชนะเลือกตั้ง มักละทิ้งหลักการเพื่อประชาชนไปเสีย กลายเป็นเพื่อตนเองและเพื่อนพ้องไปฉิบ"
     
    คำกล่าวนี้น่าจะถูกนำลงในหนังสือพิมพ์เพียงส่วนเดียว   ยังไม่หมด    เพราะเมื่อพูดถึงหลักการเพื่อประชาชนให้หมดจดครบถ้วน  ก็ต้องพูดต่อไปว่า   
    "  พวกที่ปฏิวัติเองก็ทิ้งหลักการเพื่อประชาชน กลายเป็นเพื่อตนเองและเพื่อนพ้องด้วยเช่นกัน   เห็นได้จากเมื่อพระยาพหลแพ้ลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากเงื่อนงำที่รัฐบาลเอาที่ดินของพระคลังข้างที่ออกมาขายให้พวกเดียวกันเองในราคาถูกเหมือนแจกฟรี แถมโปรโมชั่นคือผ่อนส่งได้อีกด้วย    ส.ส.ที่มาจากเลือกตั้งจึงยอมไม่ได้   ในจำนวนนี้ร้อยโทณ เณร ตาละลักษณ์ ส.ส.พระนคร เจ้าของหนังสือพิมพ์ชุมชน ประกาศตนเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลอย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพล   มิหนำซ้ำยังออกโรงเชียร์พระยาทรงโดยเปิดเผยว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สุด "

กลับไปอ่านได้ในค.ห. 92 ค่ะ

ผู้ต้องหาที่ถูกกวาดล้างทั้งหลายเป็นเพียงแพะตัวเล็กตัวน้อย ถ้าเป็นหนามก็เพียงเสี้ยนตำเนื้อชิ้นเล็กๆ   แต่ตัวหัวหน้าใหญ่ที่ถูกมองว่าเป็นขวากหนามชิ้นสำคัญคือนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช    ผู้เป็นคู่แข่งทางการเมืองของหลวงพิบูลฯ

หลวงพิบูลฯก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ  มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากพระยาพหลประกาศยุบสภาเพราะแพ้การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากเงื่อนงำที่รัฐบาลเอาที่ดินของพระคลังข้างที่ออกมาขายให้พวกเดียวกันเองในราคาถูกเหมือนแจกฟรี แถมโปรโมชั่นคือผ่อนส่งได้อีกด้วย    ส.ส.ที่มาจากเลือกตั้งจึงยอมไม่ได้   ในจำนวนนี้ร้อยโทณ เณร ตาละลักษณ์ ส.ส.พระนคร เจ้าของหนังสือพิมพ์ชุมชน ประกาศตนเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลอย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพล   มิหนำซ้ำยังออกโรงเชียร์พระยาทรงโดยเปิดเผยว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สุด 
เมื่อเลือกตั้งใหม่เสร็จ เมื่อได้ส.ส.ใหม่เข้าสภาแล้ว ได้จัดให้มีการประชุมลับเฉพาะส.ส.ประเภท 1 เพื่อหยั่งเสียงว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีแทน มีผู้เสนอชื่อพระยาทรงคู่กับหลวงพิบูล ปรากฎว่าคะแนนพระยาทรงชนะขาดถึง 37 ต่อ 5 วันรุ่งขึ้นนสพ.ชุมชนตีภาพพระยาทรงกับหลวงพิบูลขึ้นหน้าหนึ่งคู่กันโดยพาดหัวว่า สภาลงคะแนนลับให้พระยาทรง 37 คะแนน หลวงพิบูล 5 แต้ม

ไม่ต้องสงสัยว่าหลวงพิบูลฯได้อ่านแล้วจะรู้สึกอย่างไรกับร้อยโทณ เณร

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่สภาลงมติจริง กลับไม่มีใครเสนอชื่อพระยาทรง เพราะเห็นว่าท่านไม่เอาด้วย หลวงพิบูลจึงไร้คู่แข่ง พระยาพหลก็ประกาศเสนอชื่อหลวงพิบูลให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่  รวมเสียงส.ส.ประเภท2 หรือที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่าสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นคนของรัฐบาลทั้งนั้น ลงมติรวมกับเสียง ส.ส.ประเภท 1 จากการเลือกตั้ง ปรากฏว่าหลวงพิบูลได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างท่วมท้น


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ส.ค. 12, 10:18
คิดเรื่อยเปื่อยเหมือนกัน

อ้างถึง
สมมุตินะ  สมมุติว่าแผนการณ์นี้วางกันจริง   โดยมีคุณเจริญช่วยประสานงาน ให้ท่านผู้อาวุโสทั้งสองช่วยกันก่อตั้งสาธารณรัฐ    ก็เลยสงสัยต่อว่าวิธีก่อตั้งนั้นจะทำอย่างไร

 
ผมไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็ไม่อยากจะวิจารณ์ในเนื้อหา แต่เท่าที่เห็นในกระทู้นี้ ดูเหมือนว่า มีคนอยากจะเชื่อมโยงทั้งสองท่านให้มาร่วมมือกันจริง เพราะหากสำเร็จแม้แม้แต่เพียงในนาม ก็จะมีประโยชน์ต่อกลุ่มของตนอย่างมหาศาล

สมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา รัฐบาลไทยเดินแต้มเข้าแอบอิงกับอเมริกันอย่างออกหน้าออกตา ในขณะที่คนไทยอีกส่วนหนึ่ง กำลังประสานขบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินกับคอมมิวนิสต์สายโซเวียต และอีกส่วนหนึ่งก็เข้าอยู่ในร่มเงาของคอมมิวนิสต์สายจีน ทั้งสองสายนี้ไม่ถูกกัน แต่ร่วมมือกันอย่างหลวมๆเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือปลดปล่อยประเทศไทยจากจักรวรรดินิยมอเมริกัน

ในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่กษัตริย์เป็นใหญ่ในประเทศต่างๆนั้น สถาบันกษัตริย์ถูกบ่อนทำลายจนสิ้นความนิยมทั้งจากเจ้าอาณานิคมและอำมาตย์ใกล้ตนที่โกงกิน ชาติไม่เจริญเท่าที่ควร คอมมิวนิสต์จึงเติบโตในหมู่ประชาชนผู้ยากไร้ได้ดี ถึงกระนั้น เมื่อถึงจุดเปลี่ยนแปลงเลือดก็ยังท่วมแผ่นดินทั้งเวียตนาม เขมร ลาว แม้แต่พม่า ส่วนมาเลเซียนั้นรอดไปเพราะแผ่นดินของเขาไม่มีพระมหากษัตริย์ มีแต่สุลต่านแห่งรัฐต่างๆที่ไม่สู้จะเข้มแข็งเท่าองค์กรการเมืองของเอกชนที่อังกฤษหนุนหลังในขณะนั้น
ในช่วงเดียวกัน ประเทศไทยเท่านั้นมีพระมหากษัตริย์ที่เป็นหลักชัยของคนในชาติ สร้างความลำบากใจให้กับพวกนิยมคอมมิวนิสต์มาก เพราะแม้จะสร้างเรื่องราวต่างๆขึ้นมาในทางลบมากมายเพื่อบั่นทอนความนิยมของพระองค์ในหมู่ประชาชน แต่ก็ไม่ได้ผลเท่ากับในประเทศเพื่อนบ้าน

อีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือ ทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคือใครก็ไม่รู้ เพราะไม่มีตัวชูเช่นโฮจิมินห์อย่างเช่นญวน เจ้าสุวรรณภูมาเชื้อพระวงศ์ลาวที่นิยมคอมมิวนิสต์ หรือเจ้านโรดมของเขมรที่โดนนายพลลอนนอลซึ่งซีไอเอหนุนหลังอยู่ทำการรัฐประหาร ทำให้ต้องหนีไปจีนและร่วมมือกับคอมมิวนิสต์ศัตรูเก่า จัดตั้งขบวนการเขมรแดงเข้ามาปลดปล่อยเขมรแบบล้างเผ่าพันธุ์  ดังนั้น จะเป็นไปไม่ได้หรือที่พวกคอมมิวนิสต์ไทยจะไม่นึกถึงนายปรีดีและจอมพลป. จะดูหรูทีเดียวหากว่าทั้งสองยอมจับมือกันเพื่อแสดงตนเป็นหัวหน้าขบวนการล้มเจ้าในประเทศไทย แต่หลังจากนั้นก็ พี่แก่แล้วไม่ต้องน้องแสดงเอง

สมมุติ ถ้าจริงเช่นนั้นผมก็คิดว่า ท่านทั้งสองฉลาดพอที่จะไม่เล่นด้วยกับละครบทนี้
แต่หลักฐานการติดต่อก็คงมีอยู่ พอให้เอามาเขียนหนังสือเป็นเล่มได้ ส่วนทีเด็ดจริงๆคงไม่กล้าเขียนไว้


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 12, 10:26
อ้างถึง
อีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือ ทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคือใครก็ไม่รู้ เพราะไม่มีตัวชูเช่นโฮจิมินห์อย่างเช่นญวน เจ้าสุวรรณภูมาเชื้อพระวงศ์ลาวที่นิยมคอมมิวนิสต์ หรือเจ้านโรดมของเขมรที่โดนนายพลลอนนอลซึ่งซีไอเอหนุนหลังอยู่ทำการรัฐประหาร ทำให้ต้องหนีไปจีนและร่วมมือกับคอมมิวนิสต์ศัตรูเก่า จัดตั้งขบวนการเขมรแดงเข้ามาปลดปล่อยเขมรแบบล้างเผ่าพันธุ์  ดังนั้น จะเป็นไปไม่ได้หรือที่พวกคอมมิวนิสต์ไทยจะไม่นึกถึงนายปรีดีและจอมพลป. จะดูหรูทีเดียวหากว่าทั้งสองยอมจับมือกันเพื่อแสดงตนเป็นหัวหน้าขบวนการล้มเจ้าในประเทศไทย แต่หลังจากนั้นก็ พี่แก่แล้วไม่ต้องน้องแสดงเอง
^
คิดอย่างนี้เหมือนกัน     อาจจะต่างกันในรายละเอียดนิดหน่อย
เดี๋ยวจะต้องลงจากเรือนไทยไปทำกิจกรรมนอกเรือน  ค่ำๆจะกลับมาต่อเรื่องนี้ค่ะ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 05 ส.ค. 12, 17:06
ไม่นานมานี้ผมได้อ่านงานของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งพยายามชี้ชวน โน้มน้าว และในที่สุดก็สรุปว่า สาเหตุสำคัญที่ จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารจอมพล ป ก็คือ การที่จอมพล ป มีความพยายามจะรื้อฟื้นคดีลอบปลงพระชนม์ ร 8 และสมศักดิ์บอกว่า จอมพล ป ถึงกับพยายามติดต่อให้นายปรีดีกลับมาเพื่อรื้อฟื้นคดีด้วย  ที่จริงแกเขียนชี้นำลึกกว่านี้อีก แต่ด้วยความเป็นนักเขียนชั้นเซียน แกเลยสื่อสารให้ผู้อ่านรู้ได้ว่าแกคิดอะไร แต่จะไปเอาผิดกล่าวหาอะไรแกไม่ได้เลย

ผมอยากเรียนถามความเห็นของ อาจารย์นวรัตน์ อาจารย์เทาชมพู และเพื่อนๆนักเรียนในห้องเรียนประวัติศาตร์เรือนไทยแห่งนี้ด้วย 
ว่าถ้าประเมินจากสิ่งที่เกิดขึ้ิน สภาวะแวดล้อมในยุคนั้น รวมไปถึงเรื่องราวที่เกินความรู้นักเรียนอย่างเราแล้ว  ข้อสันนิษฐานของ สมศักดิ์ เจียมฯ เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 12, 17:35
กลับขึ้นเรือนไทย

ขอเท้าความว่า ครั้งแรกที่ดิฉันได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับท่านปรีดีนั้น นานมากแล้วสมัยเรียนจบใหม่ๆ      หนังสือเล่มและข่าวหนังสือพิมพ์ทั้งในและนอกประเทศรื้อฟื้นเรื่องในอดีตของไทยขึ้นมามากมาย   ชื่อของท่านถูกหยิบยกขึ้นมาเชิดชูเหนือกว่าใครๆ   ในฐานะผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  2475     ชื่อของพระยาพหลฯ ถูกเอ่ยไว้นิดหน่อยไม่มากนัก  ชื่อของพระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พระประศาสน์ฯ อยู่ไหนไม่รู้ ไม่ได้ยินเลยสักชื่อเดียว       นโยบายเศรษฐกิจของท่านถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีก ว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของสังคมไทย   
แต่ว่าเรื่องนี้ก็ยังไม่แพร่หลายเท่าอีกเรื่องหนึ่ง คือกระแสที่แพร่สะพัดว่า ท่านปรีดีต้องลี้ภัยออกจากประเทศไทยเพราะถูกใส่ร้ายป้ายสีกรณีสวรรคต    ทำให้ผู้บริสุทธิ์ที่มีคุณค่ายิ่งต่อประเทศชาติกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนไม่ได้    ท่านเองก็รู้อยู่เต็มอกว่าใครใส่ร้ายท่าน แต่ท่านก็ไม่พูด    มีแต่คนอื่นๆพูดแทน  เป็นเดือดเป็นแค้นแทนว่าท่านกลับไม่ได้เพราะถูกใส่ร้ายนี่แหละ   จากนั้นก็ประณามทั้งทางตรงทางอ้อม ถึงตัวการแท้จริงที่ยังลอยนวล
แต่...สังเกตอยู่อย่างว่า  ผู้เป็นเดือดเป็นแค้นแทนท่าน ไม่เคยเอ่ยชื่อจอมพลป.เลย   เหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องในเรื่องนี้

ตอนนั้นดิฉันก็ได้แต่สงสัยไปตามประสา  ว่าคนที่เชิดชูท่านก็รุ่นๆดิฉันนี่แหละ หรือไม่ก็อ่อนกว่าหลายปี    เขาเกิดไม่ทันเห็นท่านปรีดีแน่ๆ  เพราะท่านลี้ภัยการเมืองไปตั้งแต่พ.ศ. 2492   แล้วไม่เคยกลับมาอีก   ก็แปลว่าหลังจากนั้นท่านไม่มีกิจกรรมใดๆในประเทศไทย  ผลงานอะไรต่างๆในไทยก็ย่อมไม่มีโอกาสทำเช่นกัน     
แล้วทำไมคนบางคนที่รุ่นดิฉันหรืออายุน้อยกว่า   จึงพากันรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมยกย่องเชิดชูผลงานก่อนพวกเราเกิดกันนักหนา  แม้งานของท่านจะทิ้งช่วงห่างจากสมัยพวกเราเรียนจบทำงานกันแล้วเกือบ 30 ปี ก็ไม่เห็นจะมีช่องว่างอะไรในความรู้สึกของพวกเขา   งานเหล่านั้นเคยได้ผลหรือไม่ได้ผลยังไงในทางปฏิบัติ  ก็ไม่มีใครประเมินในด้านนี้ออกมาให้ได้อ่านกันชัดๆ 
แต่คนอื่นๆ ที่อยู่ในประเทศไทยมาตลอดตั้งแต่ก่อนพวกเราเกิด   ทำงานในประเทศไทยมาตลอดตั้งแต่พวกเราเล็กจนโตเป็นผู้ใหญ๋  มีผลงานใหญ่น้อยที่ควรจะหยิบยกมากล่าวกันได้   พวกนี้กลับไม่เคยเอ่ยถึงเลย  หรือเอ่ยก็ไม่เคยเอ่ยในทางดี


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 12, 17:51
เมื่อสงสัยขึ้นมาแล้ว  ดิฉันก็หาคำตอบ  ด้วยการไปหาครูบาอาจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์แล้วขอให้ท่านแนะนำหนังสือและเอกสารต่างๆให้   เพื่อจะหาคำตอบให้หายสงสัย   ในที่สุดก็ได้ข้อเท็จจริงมาว่า
๑   กรณีสวรรคตเกิดเมื่อพ.ศ. 2489   เป็นเวลาถึง 3 ปี ก่อนหน้าท่านปรีดีจะออกจากประเทศไทยอย่างถาวร ในพ.ศ. 2492  ไม่ใช่เหตุการณ์ต่อเนื่องกัน ว่าเมื่อเกิดกรณีสวรรคตแล้ว จากนั้นไม่กี่เดือนหรือไม่กี่วันท่านปรีดีก็จำต้องออกจากประเทศไทยไป เพราะถูกใส่ร้ายป้ายสี    ดังที่มีเสียงกล่าวกันทั้งวาจาและลายลักษณ์อักษร ในอีก 30 ปีต่อมา ให้คนรุ่นหลังคือรุ่นดิฉันเข้าใจทำนองนั้น
๒   สาเหตุที่ท่านปรีดีออกไป  มีหลักฐานชัดเจนว่าเกิดจากกบฏวังหลวง  ที่ท่านและผู้ร่วมก่อการได้ยึดพระบรมมหาราชวังเป็นกองบัญชาการ   ใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐบาลของจอมพลป.  แต่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้      ตำรวจทางรัฐบาลตามล่าตัวข้อหากบฏซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต  เป็นใครใครก็ต้องหนี   จึงไม่แปลก และไม่จำเป็นต้องมีเบื้องหลังซับซ้อน  มันมีเบื้องหน้าที่เห็นอยู่โต้งๆแล้วว่าทำไมท่านจึงต้องหนีออกจากประเทศไป 
๓   หัวหน้าฝ่ายรัฐบาลที่เป็นปรปักษ์โดยหน้าที่ ในกบฏวังหลวง คือจอมพลป. พิบูลสงคราม    คนที่สั่งจับกุม สั่งให้ส่งขึ้นศาล  คือนายกรัฐมนตรี  ไม่ใช่ผู้อื่น   เพราะในพ.ศ. 2492  ไม่มีกลุ่มอำนาจอื่นใดนอกจากนายกรัฐมนตรี    หลักฐานทางฝ่ายรัฐบาลมีชัดเจนเพราะกบฏวังหลวงเป็นกบฏที่ลงมือยึดสถานที่และใช้อาวุธ     ไม่ใช่กบฏประเภททางการสืบทราบได้แต่ไม่เคยลงมืออย่างกบฎนักโทษประหาร 18 คน

เอา 3 ข้อแค่นี้ก่อนนะคะ    คุณ paganini คงตอบแทนดิฉันได้ว่าข้อสันนิษฐานที่คุณถาม  ดิฉันเห็นว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ส.ค. 12, 18:17
ผมขอสารภาพว่าผมไม่ได้ติดตามอ่านข้อเขียนของสมศักด์เจียมแบบขาประจำ แต่พอจะรู้ว่าแกออกแนวอะไร

คนอายุเท่าๆกับผม เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างถาวรแล้ว ตั้งแต่เด็ก เรื่องที่เคยได้ฟังฝ่ายตรงกันข้ามโจมตีพระองค์หนักๆก็เป็นเรื่องเดียวกับเรื่องที่สมศักดิ์เจียมและพวกร่วมอุดมการณ์กำลังกระทำอยู่นี่แหละ แต่พระองค์มิเคยทรงโต้ตอบ หากทรงสร้างพระบารมีด้วยการกระทำพระราชกรณียกิจต่างๆเพื่อประชาชน จนเป็นที่ยอมรับของคนไทยทั้งชาติ และทรงผ่านพ้นสถานการณ์อันมิพึงปรารถนามาได้ตลอด ใครที่มาเป็นรัฐบาลก็ย่อมตระหนัก การกระทำใดๆที่เสมือนให้ท้ายพวกที่โจมตีพระองค์ คือการสร้างความแตกแยกของคนในชาติ และรัฐบาลเองนั่นแหละจะอยู่ไม่ได้ ดังนั้นก็จริงของเขาส่วนหนึ่งที่ว่า เมื่อทหารการเมืองจะปฏิวัติ ก็มักจะอ้างว่ากระทำเพื่อปกป้องพระราชบัลลังก์เสมอ ใช่สิ เพราะถ้าไม่อ้างเช่นนั้นก็เท่ากับประกาศตนเป็นศัตรูของประชาชนเท่านั้นเอง

ส่วนเหตุผลที่จอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติจอมพลป. ผมเชื่อว่าเป็นเพราะประชาชนไม่เอาจอมพลป.เพราะเกลียดเผ่า เหมือนที่ไม่เอาจอมพลถนอมเพราะเกลียดณรงค์  ครั้งนั้นประชาชนเชื่อเสียแล้วว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก เมื่อพลังบริสุทธิ์จำนวนมหาศาลทนไม่ไหวถึงกับออกมาเดินขบวนขับไล่รัฐบาล ยังไงๆก็ต้องจบที่การปฏิวัติรัฐประหาร ถ้าจังหวะนั้นสฤษดิ์ไม่ทำ เผ่าก็คงจะทำ

ส่วนคำถามสุดท้ายที่ถามมา
ผมไม่ให้ค่าต่อคนอย่างสมศักด์เจียมครับ ต่างคนต่างอยู่ที่ชอบๆก็แล้วกัน


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 12, 18:31
เมื่ออ่านเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ก็มักมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ เป็นธรรมดาค่ะ  โดยเฉพาะเมื่อบางเรื่องมันขัดต่อสามัญสำนึก   แต่เมื่อเจอแล้ว  ก็เป็นโอกาสดีที่จะทำให้อยากค้นคว้าหาคำตอบ   ที่เคยไม่รู้ก็จะเริ่มรู้ขึ้นมาได้    อย่างเช่นคุณผกานินีก็สงสัยเลยมาถามเรือนไทย   ดิฉันสงสัยก็ไปหาอาจารย์สาขาประวัติศาสตร์   แต่ถ้าไม่เข้าใจ แล้วก็เอาแต่งงงัน ไม่ยอมหาคำตอบต่างหากล่ะคะ  ถึงจะเรียกว่ามืดบอดเท่าเดิม

อาจารย์สมศักดิ์เคยเข้ามาหาความรู้ในเรือนไทยมาก่อน  แต่ท่านไม่ค่อยจะถูกใจในตัวเจ้าของเรือนก็เลยหายไปไม่มาอีก     ล่าสุดได้อ่านข้อสงสัยของท่านใน Facebook  อย่างที่ลงไว้ข้างล่างนี้   ก็ได้แต่เอาใจช่วยให้หาคำตอบปริศนาข้อนี้ได้พบ     เพราะดิฉันเชื่อว่าคุณจีรนันท์และคุณคมทวนได้พบแล้ว  เช่นเดียวกับประชาชนไทยทุกคนที่รักในหลวง     
ส่วนดิฉันนอกจากรัก  ยังเพิ่มอีกข้อหนึ่งคือสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ที่ทรงเมตตาให้ที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากินแก่ปู่ย่าตาทวดของดิฉัน จนอยู่ร่มเย็นเป็นสุขมาทุกชั่วคน  ทำให้ลูกหลานได้มีวันนี้ขึ้นมา  ถ้าไปเกิดในแผ่นดินถิ่นอื่น  ก็คงจะไม่เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้   

https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/374618275924791


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 12, 18:40
คุณผกานินีอ่านบทกวีที่คุณจิรนันท์แต่งเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จทุ่งมะขามหย่องหรือยังคะ  ไพเราะประทับใจมาก  เป็นผลงานชิ้นที่ดิฉันชอบมากที่สุดในผลงานทั้งหมดของคุณจีรนันท์ พิตรปรีชา
ขอนำมาให้อ่านกันค่ะ

ณ ชานกรุงทุ่งกว้าง                อโยธยา 

มะขามหย่องเคยยาตรา            ศึกสู้ 

ยุทธหัตถีหลังคชา                 สละชีพ
ศรีสุริโยทัย
สถิตคู่                  ถิ่นถุ้งทิพย์สวรรค์ 



ณ ชานกรุงทุ่งกว้าง                อโยธยา 

มะขามหย่องยามฝนมา            รับน้ำ 

ชัยภูมิป้องนครา                    กรุงเก่า กลศึก
ทัพใหญ่อริรุกล้ำ                   ท่วมน้ำถอยหนี 



ทุ่งมะขาม ยามศึก จารึกค่า 

ภูมิปัญญา ป้องภัย ให้เมืองหลวง 

ประวัติศาสตร์ ซึมซับ รับผลพวง

เวลาล่วง หลายร้อยปี ที่ลืมเลือน 



ทุ่งมะขาม ยามนี้ ยิ่งมีค่า 

เมื่อถึงครา ป้องภัย น้ำใต้เขื่อน 

เป็นแก้มลิง โอมอุ้ม คุ้มบ้านเรือน 

ครั้นถึงเดือน ร้อนแล้ง เป็นแอ่งธาร



น้ำเลี้ยงนา พานิเวศน์ เกษตรสุข 

ยามท่วมทุกข์ ผันเบี่ยง เลี่ยงเมืองบ้าน

สร้างอาชีพ สร้างชุมชน ดลบันดาล 

ร้อยโครงการ ชุบทุ่งทอง ให้รองเรือง



น้ำพระทัย สองพระองค์ หลั่งลงรด

ให้ปรากฎ แผ่นดินทอง นองสุขเนื่อง

ณ วันนี้ ทุ่งนี้ ที่แก้มเมือง

อีกบทเบื้อง ประวัติศาสตร์ สร้างชาติไทย



เพลงขลุ่ยพลิ้ว ริ้วทุ่ง มะขามหย่อง

ราชานุสาวรีย์ ทอดมอง ส่องสมัย

พสกพร้อม น้อมหมาย ถวายชัย

ใต้ร่มเงา น้ำพระทัย น้ำใจเมือง


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 05 ส.ค. 12, 18:52
สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพครูบาอาจารย์  เรื่องที่มีคนยกย่องหลวงประดิษฐ์มนูธรรมแล้วพยายามป้ายสีดังที่ท่านอาจารย์ใหญ่กล่าวถึงนั้นก็มาจากเหตุผลนี้
เคยได้ยินผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่บิดาของท่านเป็นายแพทย์จบมาจากต่างประเทศ  และเป็นแพทย์ที่สนิทสนมคุ้นเคยกับทั้งหลวงประดิษฐ์ฯ  หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (คง  อภัยวงศ์)
หลวงพิบูลสงคราม  รวมทั้งสมาชิกครธราษฎรที่เป็นนักเรียนนอกทั้งหลาย  รวมถึงท่านอาจารย์สัญญา  ธรรมศักดิ์  ผู้ใหญ่ท่านนี้ท่านเล่าว่า ผู้ที่ออกนามมาแล้วนั้นมีกจะ
แหมุนเวียนมาพบคุณพ่อของท่านและรับประทานอาหารที่บ้านท่าน  โดยตัวท่านซึ่งเวลานั้นยังเป็นเด็กนักเรียนที่มีความสนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้มีโอกาสฟังท่าน
ผู้ใหญ่ท่านคุยกันอยู่เสมอ  โดยเฉพาะท่านอาจารย์สัญญานั้นท่านได้มีโอกาสซักถามหลายเรื่องหลายประเด็นเพราะเวลานั้นท่านเริ่มโตและรู้ความมากขึ้นแล้ว  เสียดายที่
ท่านผู้นี้กลับไปเรียนทางวิศซกรรมศาสตร์และไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศเสียเกือบค่อนชีวิต  เพิ่งจะกลับมาเมืองไทยเมื่อเกษียณแล้ว  เมื่อนำเร่องที่ท่านเล่าให้ฟังผนวกรวม
กับประวัติศาสตร์ของโรงเรียนวชิราวุธแล้ว  ก็พอปะติดปะต่อจิ๊กซอว์เรื่องมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ชัดเจนขึ้น

ผู้ใหญ่ท่านนั้นท่านเล่าถึงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น  เป้นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เสด็จ
ประพาสสิงคโปร์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ เมื่อเสด็จฯ กลับมาแล้วทรงจ้างครูฝรั่งเข้ามาจัดตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้น  เป็นโรงเรียนหลวงสอนภาาาอังกฤษแบบโรงเรียนแรฟเฟิลส์
ที่สิงคโปร์  ต่อมาเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นแล้ว  ก็ทรงขอโรงเรียนราชวิทยาลัยไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม  เพื่อให้นักเรียน
ที่จบจากโรงเรียนราชวิทยาลัยที่เป็นผู้รู้ภาษาอังกฤษดีเข้าเรียนต่อวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย  ถึงรัชกาลที่ ๖ เจ้าพระยาอภัยราชาฯ เสนาบดียุติธรรมเห็นว่า โรงเรียนมาอยู่
ในกระทรวงยุติธรรมนั้นไม่เหมาะ  จึงได้ถวายโรงเรียนนี้แด่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ให้เป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์คู่กับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  สองโรงเรียนนี้เป็นคู่แข่งขัน
กันมาตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ สวรรคต  รัชกาลที่ ๗ โปรดให้ยุบโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  แล้วพระราชทานชื่อให้ใหม่
ว่า "โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย"  

เมื่อนักเรียนราชวิทยาลัยถูกย้ายมาเรียนรวมกับนักเรียนมหาดเล็กหลวงตอนต้นรัชกาลที่ ๗ นั้น  ก็มีการตั้งแง่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นมหาดเล็กหลวง  หากแต่นับว่าตนเป็นนักเรียน
วชิราวุธวิทยาลัยที่เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นใหม่  และเมื่อนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงจัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธขึ้นเพื่อรณรงค์จัดหาเงินทุนจัดสร้างพระบรมรูปล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
ที่แรกว่าจะประดิษฐานที่โรงเรียน  บรรดานักเรียนเก่าราชวิทยาลัยที่รับราชการเป็นผู้พิพากษากันเป็นส่วนใหญ่ก็พากันตั้งสมาคมราชวิทยาลัยขึ้นมา  เรียกว่าไม่ยอมลงให้กันมาตลอด  
ที่สำคัญคือผู้ใหญ่ท่านนั้นท่านเล่าว่า พวกนักเรียนเก่าราชวิทยาลัยนั้นมีความไม่พอใจในหลวงรัชกาลที่ ๗ ที่ไปยุบโรงเรียนของเขาเป็นทุนอยู่แล้ว  เมื่อคณะผู้ก่อการที่เป็นนักเรียน
ฝรั่งเศสมาชักชวนเข้าร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พวกนักเรียนเก่าราชวิทยาลัยเหล่านี้จึงเข้าร่วมกับคณะราษฎร  และมีส่วนผลักดันให้ยกโรงเรียนกฎหมายซึ่งเป็นโรงเรียน
ในพระบรมราชูปถัมภ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตั้งเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  และยกหลวงประดิษฐ์ฯ ขึ้นเป็นผู้ประศาธน์การ
ให้เหมือนกับที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 05 ส.ค. 12, 19:51
แล้วที่ดินที่ตั้งธรรมศาสตร์เอามาจากไหน
ผมไม่รู้จริงๆว่าเดิมเป็นที่ของใคร ใครรู้ช่วยเล่าหน่อย
......เป็นที่ดินราชพัสดุ ของหลวง หรือ ของทรัพย์สินฯ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 05 ส.ค. 12, 20:00
แรกจะตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
แต่เมื่อมีการยุบเลิกหน่วยทหารระดับกองพลและกรมลงเหลือเฉพาะหน่วยระดับกองพัน  ทำให้พื้นที่บริเวณท่าพระจันทร์ที่เป็นที่ตั้งเดิมของกรมทหารบกราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ว่างลง
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจึงได้มาตั้งที่ท่าพระจันทร์แทน ร.๑๑ ร.อ.


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ส.ค. 12, 22:03
ก่อนจะเป็นกรมทหารบกราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ในสมัยรัชกาลที่๕ ที่ตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์ครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 06 ส.ค. 12, 00:09
ขอบพระคุณ อาจารย์เทาชมพูและอาจารย์นวรัตน์ครับ

เป็นอย่างที่ท่าน อจ เทาชมพูว่านั่นแหละ ผมอ่านสมศํกดิ์แล้วตะหงิดๆ ไม่ได้เชื่อตาม เลยมาสอบถามจากผู้รักประวัติศาสตร์หลายๆท่านเพื่อเป็นข้อมูลประกอบ  

เรารู้มาพอสมควรว่า สฤษดิ์ กับ จอมพล ป + เผ่า ต่างระแวงกันมานานแล้ว พอมีเหตุการณ์ที่ นศ ประท้วง (ดังรายละเอียดกระทู้ จอมพล ป 2 ไม่ผ่านขึ้น ป 3) แล้วสฤษดิ์พลิกสถานการณ์เป็นพระเอก อีกฝั่งก็กลายเป็นผู้ร้ายไป  พอความตึงเครียดถึงขีดสุดก็ต้องมีฝ่ายทีชิงลงมือก่อน  ไม่ต่างกับ รปห ในครั้งหลังๆเช่น รสช หรือ คมช   ผมว่าข่าวและข้อมูลเหล่านี้มีเยอะแยะมากจนไม่น่าเชื่อว่า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่นำไปประกอบพิจารณาเลย เอาแต่สรุปว่าที่เกิด รปห 2500 รฐบ จอมพล ป เพราะว่าจะมีการเอาปรีดีกลับมาและรื้อคดีลอบปลงพระชนม์  นี่ยังไม่นับถึงเบื้องหลังการเล่นการเมืองแบบตัวแทน ของประเทศมหาอำนาจอย่างจีนอเมริกาอีก   อีกกระแสที่ผมเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่เปรยๆให้ฟังคือ แต่ละฝ่ายต่างมีแบ๊คเป็นอเมริกาเหมือนกัน แต่ฝ่ายหนึ่งเป็น FBI อีกฝ่ายเป็น CIA ผมจำไม่ได้ว่าใครหนุนใคร แต่ฟังมาลักษณะนี้  ท่านอาจารย์ทั้งหลายมีอะไรจะต่อเติมมั้ยครับ?

อาจารย์เทาชมพูครับ  ผมว่างานที่ทุ่งมะขามหย่อง  กวีทั้งสี่สร้างผลงานสุดยอดในชีวิตในงานนี้แหละครับ ไม่ว่า อ จิรนันท์ อ เนาวรัตน์ อ ธนิสร์ และ แอ๊ด คาราบาว  ผมพอดีฟังจากวิทยุในรถ ขนลุกเลยครับเขียนได้ดีทุกท่านเลย


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 06 ส.ค. 12, 00:39
ผมมองว่า อ. สมศักดิ์แกมีอคติเยอะเกินไป ทำให้งานหรือบทความของแกจะนำเสนออะไรที่เป็นด้านเดียว จึงขาดความเป็นกลาง แต่ในแง่ของข้อมูลดิบ สำหรับผมก็นับว่ารับฟังได้ เป็นข้อมูลที่เราสามารถรับฟังแล้วมาไตร่ตรองด้วยตัวเราเองต่อได้เพื่อให้ภาพรวมของที่มาที่ไปเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตได้อยู่ ผมจึงยังตามอ่านงานต่างๆ ของแก แม้ว่าจะอ่านไปหงุดหงิดไปเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งถึงกับโมโห  แต่การนำเสนอข้อมูลบางอย่างถ้าไม่ตามอ่านจากแกก็ไม่รู้จะไปหาอ่านที่ไหน


การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในบ้านเรามักเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวหรือฝั่งเดียว ให้ภาพของขาวกับดำเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงทุกเรื่องราวมีสีเทาๆ ประทับทั้งนั้น เพียงแต่เทามากหรือเทาน้อย ถูกบังไว้มากแค่ไหน ดังนั้นเราจึงไม่ควรเชื่อฝ่ายใดทั้งหมด และใช้ระบบการกลั่นกรองที่ฝึกจากการศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์มาสอนตัวเราให้รู้เท่าทันและไม่หลงเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อไม่ว่าจากฝ่ายใดๆ เพื่อจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร


นักประวัติศาสตร์บางคน มักใช้อคติความรักความเกลียดมาบดบัง บ้างก็เสนองานวิชาการเพื่อรับใช้กลุ่มอำนาจใดอำนาจหนึ่ง เช่นพวกที่อ้างเป็นนักประวัติศาสตร์อิสระในหนังสือพิมพ์บางฉบับ  ทำให้งานวิชาการหรือบทความต่างๆ ที่ผลิตออกมาพลอยหมดคุณค่าไปด้วย แถมกลายเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปซะฉิบ


เรื่องการล้มอำนาจของจอมพล ป. นี่ผมว่ามันมีที่มาที่ไปลึกซึ้งมากกว่าเรื่องการรื้อฟื้นคดีศวรรคตฯ หรือแค่ความทะเยอทะยานของเผ่าหรือจอมพลสฤษดิ์เยอะ มีทั้งเรื่องการชิงบทบาทระหว่างสถาบันฯ กับตัวจอมพล ป.   ทั้งปัญหาคอมมิวนิสต์ การแทรกแทรงจากมหาอำนาจ ฯลฯ  แต่ ณ ปัจจุบันคงยังไม่ถึงเวลาที่เราจะมาถกกันได้โดยไม่สร้างปัญหาให้ท่านอาจารย์ใหญ่ :-X


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ส.ค. 12, 05:55
อ้างถึง
อีกกระแสที่ผมเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่เปรยๆให้ฟังคือ แต่ละฝ่ายต่างมีแบ๊คเป็นอเมริกาเหมือนกัน แต่ฝ่ายหนึ่งเป็น FBI อีกฝ่ายเป็น CIA ผมจำไม่ได้ว่าใครหนุนใคร แต่ฟังมาลักษณะนี้  ท่านอาจารย์ทั้งหลายมีอะไรจะต่อเติมมั้ยครับ?

ซีไอเอ (CIA -Central intelligence Agency) เป็นองค์การกลางของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่สืบราชการลับ หาข่าวกรองข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งต่อมาได้ขยายบทบาทไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆที่เห็นว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพวกสหรัฐอเมริกา

ส่วนเอฟบีไอ(FBI-Federal Bureau of Investigation) เป็นหน่วยสืบสวนคดีอาญาของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา  เป็นงานต่อต้านอาชญากรรมในประเทศนั้น มากกว่างานต่างประเทศ

ผมคิดว่าเอฟบีไอไม่น่าจะมาจุ้นจ้านสนับสนุนนักการเมืองในประเทศไทย หากจะช่วยเหลือทางวิชาการ และฝึกงานให้แก่กรมตำรวจของเผ่าบ้างก็เป็นได้ แต่ซีไอเอนั้นเข้ามาทำงานในเมืองไทยแน่ ทั้งในรูปองค์กรเช่นแฝงอยู่ในยูซ่อม (USOM-United States Operations Mission)ที่เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพ ให้ความช่วยเหลือไทยด้านต่างๆแบบให้เปล่า และบริษัทเอกชนเช่น Air America รับจ้างขนสัมภาระทางอากาศ เป็นต้น

รัฐบาลจอมพลป.นั้น ระดับบิ๊กทั้งหลายโปรอเมริกันทุกคน ถึงตัวจอมพลป.จะรู้เห็นเป็นใจให้สายของตนติดต่อกับจีนแผ่นดินใหญ่บ้างก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา รัฐบาลประเทศไหนก็ทำกัน ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาทตายถึงกับซีไอเอจะต้องมายุให้สฤษดิ์ปฏิวัติ

เมื่อสฤษดิ์กับเผ่าแข่งกันสะสมอำนาจนั้น อเมริกันเล่นด้วยทั้งสองฝ่าย ใครชนะก็ได้ ไม่เป็นอะไร เพราะทั้งสองคนเกลียดคอมมิวนิสต์เข้ากระดูกดำ ซึ่งช่วงนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่จีนให้ความสนับสนุนเข้ามาแทรกซึมทางอีสานเต็มไปหมดแล้ว


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ส.ค. 12, 06:28
อ้างถึง
มีทั้งเรื่องการชิงบทบาทระหว่างสถาบันฯ กับตัวจอมพล ป.


นั่นเป็นสิ่งที่สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญพึงมีหน้าที่ต่อแผ่นดิน ในการที่จะตั้งคำถามและกรองการกระทำบางอย่างของรัฐบาลไว้บ้าง เพื่อมิให้เหลิงอำนาจแบบเผด็จการ

อย่าลืมว่า ในหลวงตอนนั้นท่านก็ทรงเป็น"นักเรียนนอก" และเป็น"คนหนุ่มไฟแรง" เหมือนที่พวกผู้ก่อการอภิวัฒน์ทั้งหลายเคยเป็นนั่นแหละ เมื่อต้องทรงรับหน้าที่ให้เป็นพระมหากษัตริย์ ท่านจึงมิอาจฝืนพระทัยเหมือนอย่างที่บรรดาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในอดีตที่เคยยอมศิโรราบให้แก่จอมพลป.ได้

นายกรัฐมนตรีไทย ไม่ใช่ประธานาธิบดีนี่ครับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีบทบาทของพระองค์ชัดอยู่ ว่าต้องทำอะไร เพื่อใคร ไม่จำเป็นต้องไป"ชิงบทบาท"กับนายกรัฐมนตรีคนใดที่เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็ไปทั้งสิ้น ท่านประทับอยู่ในหัวใจประชาชนอยู่แล้ว


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ส.ค. 12, 06:53
มีทั้งเรื่องการชิงบทบาทระหว่างสถาบันฯ กับตัวจอมพล ป. 

เรื่องนี้มีขยายไว้ที่ พันทิป (http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K8337465/K8337465.html)

 :)


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 06 ส.ค. 12, 10:23
ผมขลุกกับการเมืองมาตั้งแต่เล็ก เพราะชอบอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ตั้งแต่อยู่ชั้นประถม (เหตุเพราะไม่รู้จะทำอะไร ยูทูบก็ไม่มี มิวสิควีดิโอก็ไม่มี) ไปร่วมชุมนุมวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ที่ธรรมศาสตร์ตั้งแต่อยู่ชั้น ป.6 (วันศุกร์ดิบก่อนวันมหาวิปโยค) ยังจำได้ดีถึงภาพข่าวที่ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่า "...วันนี้คือวันมหาวิปโยค..." 
ในช่วงวัยนั้น ผมเองก็เหมือนคนหนุ่มทุกคนที่อยากเห็นบ้านเมืองดีเหมือนดังประเทศทางตะวันตก (ทั้งที่ยังไม่เคยไปมา ไม่เคยมีข้อมูลเชิงลึกด้านประวัติศาสตร์ของประเทศตะวันตก ได้ยินแต่ข่าวด้านดีด้านความเจริญขอประเทศตะวันตกที่เขาส่งมาให้ด้านเดียว) อยากเห็นความเป็นธรรมในทุกเรื่อง (โดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง) แม้แต่ขณะนั่งในรถเมล์ (ทั้งที่นั่งฟรีไม่เสียเงินเพราะเป็นเด็ก)และต้องจอดนิ่งเพราะเจอขบวนเสด็จ ก็พาลคิดอกุศลว่า "รถติดเพราะขบวนเสด็จ ถาไม่มีขบวนเสด็จรถก็ไม่ติด" (โดยที่ไม่ได้คิดเลยว่า นี่คือระบบความปลอดภัย ไม่ว่าจะปกครองระบอบใด ก็ต้องมีสิ่งนี้ หรือแม้แต่ถ้า "คนอยู่ดูไบ" มาเป็นประธานาธิบดีของสารขัณฑ์ มันก็จะต้องมีระบบนี้อยู่ดี) ความคิดเชิงลบต่อพระราชวงศ์ก็สะสมพอกพูน ยิ่งได้มีโอกาสไปเดินศูนย์หนังสือสนามหลวงในสมัยนั้น (ใต้ต้นมะขามหน้าศาล) ก็ไปพบหนังสือมากมายเกี่ยวกับคดีลอบปลงพระชนม์ (ดูคล้ายเป็นหนังสือลับ หนังสือใต้ดิน ที่เผยแพร่ไม่ได้ ทำให้รู้สึกคล้ายว่าเป็นข้อมูลที่เป็นความจริง) ความคิดเชิงลบก็ยิ่งเตลิดไปใหญ่ ยิ่งประสบกับเรื่องในสมัยก่อนที่มีคนไปทำความผิดโดยไปอวดเบ่งว่าเป็นคนทำงานในรั้วในวังหรือทำงานใกล้ชิด ก็เลยพาลคิดไปถึงว่า "ถ้าไม่มีราชวงศ์ บ้านเมืองคงเจริญกว่านี้" 
  แต่นั่นคือเด็ก คือคนหนุ่มที่อ่อนต่อโลก คือคนที่มองด้านเดียว คือคนที่ไม่มีข้อมูลรวมทั้งไม่มีความรู้จักคิดในเชิงการเปรียบเทียบโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปรียบเทียบอย่างรอบด้านในเรื่องของ "ช่วงเวลา" และการเปรียบเทียบถึงพัฒนาการของแต่ละประเทศรวมทั้งสิ่งที่สูญเสียที่ผ่านมาของประเทศตะวันตกและสิ่งที่จะต้องสูญเสียในอนาคตของประเทศเหล่านี้ ซึ่งในปัจจุบันเราเห็นภาพเหล่านี้อย่างชัดเจนในวิกฤตการณ์ต่างๆในปัจจุบันซึ่งก็คืออนาคตของอดีตที่ผ่านมา และนี่คือต้นทุนของสิ่งที่เรียกว่า "วิวัฒนาการ"
  เมื่อโตขึ้นมีความอยากที่จะพัฒนาตนเอง ผมก็ต้องพัฒนาการรับรู้รับฟังไม่ยึดติด ผมเองก็เริ่มได้คิด ได้มองอย่างรอบด้าน ไม่หลงกับการโฆษณาชวนเชื่อที่มาจากประเทศตะวันตก ก็เริ่มเห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว โลกมีพัฒนาการมานานแสนนานนับแต่สมัยเมโสโปเตเมีย (ระบบการศึกษาของบ้านเราก็สอนแต่คำ "เมโสโปเตเมีย" เพื่อสอบ แต่ไม่เคยอธิบายว่า ที่เรียกเช่นนี้เพราะอยู่ "ระหว่าง" "แม่น้ำ" ซึ่งจะช่วยทำให้เข้าใจและเรียนสนุกขึ้นอีกมาก) สมัยอียิปต์ จีน อิสลาม แต่ฝรั่งชาติตะวันตกก็ฉกฉวยเอาทั้งวิชาการความรู้ปรัชญาไปหาผลประโยชน์ว่าตนเป็นผู้สร้างผู้คิด ก็เลยทำให้คนหนุ่มเทอดทูนบูชาตะวันตก รวมทั้ง "คณะราษฎร์" ยิ่งเมื่อผูกกับความอยากใหญ่อยากโตของตนก็เลยยิ่งทำให้ปัญญาปิดทึบไป
 มาถึงวัยนี้ ความคิดของผมต่อระบบกษัตริย์เปลี่ยนไป ผมกลับคิดว่า ที่เมืองไทยดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุขมาอย่างยาวนาน (ก่อนที่คนมักใหญ่ใฝ่สูงจะมาสร้างความป่นป่วนในบ้านเมืองเราในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมานั้น) ทั้งที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ชาติพันธ์ ระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันมาก ก็เพราะเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์และมีองค์ในหลวงที่ทรงประเสริฐ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้เราอยู่ด้วยกันอย่างรู้จักอภัย 
มีผู้รู้หลายท่าน นักวิชาการหลายคนบอกว่า สังคมไทยต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ก่อน สังคมไทยจึงจะเดินหน้าต่อได้ ผมจึงเขียนบทความเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะ แต่อยากบอกว่า ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้มีในทุกสังคมทั้งในอดีต ปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต เราท่านทำงานก็เพื่อมีรายได้มีความมั่นคงมากขึ้น นั่นมิใช่การเปลี่ยน "กลุ่ม" ของเราท่านหรือครับ นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่า "กลุ่ม" ของรายได้มีอยู่และจะคงอยู่ตลอดไป ซึ่งมิใช่เรื่องแปลกหรือผิดแผกอะไร ตราบเท่าที่คนมียังช่วยคนจนยังคิดถึงคนจน ยังตระหนักว่าครั้งหนึ่งเราก็เคยจน และเราช่วยคนจนก็เพื่อที่ว่าสักวันหนึ่งคนจนที่เราช่วยจะมั่งมีขึ้นมาและจะยังช่วยคนจนคนอื่นต่อไป (คงไม่สามารถบรรยายรายละเอียดที่เขียนได้ ท่านที่สนใจหาอ่านได้ที่ http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000072783 และที่ http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000037495 
ถ้าผิดจริงก็ต้องไม่มีคำว่า "ประเทศพัฒนา" "ประเทศกำลังพัฒนา" ต้องไม่กลุ่ม จี7 จี20
หลายคนเรียกร้องระบบประธานาธิบดี (หนึ่งในนั้นคงรวมทั้ง "กัลยาณมิตร" ผู้ยิ่งใหญ่ด้วย) โดยมีคำโฆษณาชวนเชื่อว่า เพราะ "ประชาธิปไตย" ทุกคนต้องสิทธิเท่าเทียมกัน ถามว่า ถ้าคนๆหนึ่งมาเป็นประธานาธิบดีแล้วนำพาประเทศไปสู่ความเสียหายอย่างรุนแรงจน "ล่มสลาย" (อย่าคิดว่า "ไม่มี" เพราะหลายประเทศที่เคยเกิดมาอยู่โลกผืนนี้และก็หายไปจากแผนที่โลก ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนเช่น มอญ) แล้วเขาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง คำตอบที่ได้ยินเสมอคือ "คราวหน้าก็ไม่ได้รับเลือกตั้งอีก" นี่ไม่ใช่ความรับผิดชอบ นี่คือการสูญเสียโอกาส เปรียบเสมือนแม่จะยกไฟแช็คและน้ำมันให้ลูกเล็กไปเล่น ข้างบ้านถามว่าไม่กลัวว่าเด็กจะไปเล่นจนไฟไหม้บ้านหรือ แม่บอกว่า ไม่เกิดหรอก ถ้าเกิดล่ะก้อ คราวหลังเด็กจะถูกลงโทษโดยไม่ให้เล่นไฟแช็คกับน้ำมันอีก 
อยากจะบอกว่า โดยกลไกของสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบ "สาธารณรัฐ" คือการมีประธานาธิบดีนั้น มีโอกาสสูงมากที่ผู้นำจะขึ้นมาเพื่อ "กอบโกย" เพราะตนเองจะต้องลงจากตำแหน่งในที่สุด มี"เวลา"น้อย ดังนั้นต้องดูดซับผละโยชน์เข้า "ตน" อย่างเต็มที่ในรูปแบบต่างๆ 
  มีบ้างไหมที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะได้ประธานาธิบดีที่ดี คำตอบคือ "มี" แต่นั่นเพราะ "บุคคล" คนนั้น  มิใช่ตัวระบบที่ทำให้ได้ผู้นำดี โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศเพิ่งผ่านศึกสงคราม ผ่านความบอบช้ำ ผ่านความสูญเสีย แต่เมื่อประเทศผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าว "นักบุญ" ก็จะกลายร่างเป็น "ปีศาจ"  เพราะกิเลสมันยั่ว ดังเช่นที่เกิดในทุกมุมโลกในขณะนี้ และคาดเดาได้เลยว่า ด้วยระบบนี้จะทำให้สถานการณ์ทั้งภายในประเทศ ระหว่างประเทศ และต่อโลก จะทวีความรุนแรงและเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ
แต่ความรับผิดชอบของระบบกษัตริย์นั้นในสมัยอดีตคือ การถูกล้างทั้งราชวงศ์ หรือการไม่ได้เกิดอีกเลย ซึ่งเดิมพันสูงกว่าการไม่ได้รับเลือกมากมาย
แล้วถามว่าระบบกษัตริย์สามารถอยู่คู่กับประชาธิปไตยได้หรือไม่ ตอบว่า ประชาธิปไตยคือ "จุดหมาย" ในขณะที่ระบบกษัตริย์คือ "วิธีการ" เช่นเดียวกับระบบประธานาธิบดีซึ่งก็เป็น "วิธีการ" ดังนั้นไม่มีความขัดแย้งระหว่างระบบกษัตริย์กับประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง แต่ระบบกษัตริย์ย่อมที่จะขัดแย้งกับระบบประธานาธิบดี เพราะต่างก็กลุ่มเดียวกันคือเป็น "วิธีการ" ซึ่งประเทศต้องเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่ง จะเลือกสองวิธีไม่ได้

ที่ผมเขียนมาอย่างยืดยาวก็เพราะเท่าที่อ่านในกระทู้นี้ทำให้ผมตระหนักว่าทุกท่านในที่นี้ เป็นวิญญูชน เป็นคนที่รักบ้านรักเมือง และเป็นปัญญาชน ผมดีใจที่สังคมมีคนอย่างพวกท่าน

อยากขอหยิบท่อนหนึ่งของเพลงที่มีผู้ส่งเข้าประกวด ในการประกวดวีดิทัศน์สั้น เป็นเพลงที่กินใจผมมาก ได้เคยเปิดให้ภรรยาที่บ้านฟังสามครั้ง แกร้องไห้ทั้งสามครั้ง
http://www.รวมใจไทยเป็นหนึ่ง.com/vdo_detail.php?id=110


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 12, 10:57
ทำคลิปให้ค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=BWZQuYOOA-U&feature=player_embedded


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 06 ส.ค. 12, 14:26
ขอบคุณท่านเทาชมพูที่ช่วยกรุณาทำลิงค์ให้ครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 12, 14:57
ความคิดอย่างคุณ Sujitra เมื่อสมัยยังเด็ก  ไม่ใช่ความคิดที่ประหลาดหรือผิดอะไรตรงไหน  เป็นธรรมดาที่เยาวชนซึ่งมีสติปัญญา พ้นวัยไร้เดียงสา เริ่มคิดเป็นก็จะเริ่มตั้งปัญหาถึงความไม่ถูกต้องในสภาพแวดล้อม ปรารถนาจะหลุดพ้นจากปัญหากลายเป็นสังคมที่ดีขึ้น ในความรู้สึกของเขา    จากนั้นความไม่พอใจต่ออะไรๆที่ผ่านเข้ามาในสายตาก็เกิดขึ้น    ยิ่งปัญญาดีมากยิ่งคิดแรงมาก   ฝรั่งเขาเรียกคนพวกนี้ว่า angry young man   
แต่พอโตขึ้นกว่านี้ รู้เห็นโลกมากขึ้น สายตากว้างไกลขึ้น    อารมณ์ก็เริ่มเยือกเย็น   ยืดหยุ่นมากขึ้น  ปรับตัวได้มากขึ้น ก็เริ่มทบทวนและมองหาทางออกของปัญหาโดยมองหลายๆด้าน ไม่ได้มองด้านเดียว สามารถอยู่กับความไม่ได้ดังใจได้อย่างสงบมากขึ้น  และค้นพบหนทางที่อยู่ได้อย่างมีคุณภาพ     นี่คือวุฒิภาวะของคนที่เป็นไปตามวัย   เพราะเหตุนี้คนอายุ 40-50 ก็จะไม่คิดอย่าง 15-20 ปี

ถ้าอยู่มาจนแก่แล้วยังคิดฝังใจ หัวปักหัวปำอยู่กับอารมณ์โกรธแค้นไม่พอใจกับอะไรที่เคยเป็นเมื่อหนุ่มๆ  ก็ยังคิดเหมือนเดิม    ตัวเองเกรี้ยวกราดโจมตีคนอื่นได้เสียๆหายๆ   แต่ตัวข้าใครอย่าแตะ    ก็จะกลายเป็น angry old man   ไป   เข้าข่ายโตเพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน แต่ขาดพัฒนาทางความคิด 
มีผลเสียคือเมื่อพัฒนาตัวเองไม่ได้   ก็ไม่อาจหวังว่าจะไปพัฒนาบ้านเมืองได้


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 06 ส.ค. 12, 15:49
ต้องขออภัยท่านอาจารย์นวรัตนที่ผมใช้ถ้อยคำไม่ค่อยเหมาะสมนักด้วยนะครับ ตรงคำว่าชิงบทบาท (หาอีโมรูปไหว้ขอโทษไม่ได้แฮะ)

ตอนเขียนก็ไม่ได้คิดให้ลึกซึ้ง เลยไม่ทันที่จะหาคำที่เหมาะสมกว่านี้ จริงๆ อยากจะหมายความดังนี้ครับ
คือพระมหากษัตริย์เรา แม้จะทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่ไม่ได้ทรงทำตัวเป็นแค่ประมุขของประเทศอย่างเดียว แต่ทรงถือภาระหน้าที่จำกัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฏรเป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่งด้วย
ในขณะที่จอมพล ป. นั้น ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าไม่ชอบเห็นใครเด่นกว่า ไม่ว่าใครก็ตาม ดังนั้นจึงค่อนข้างจะขัดขวางพระราชภารกิจนี้ไม่ให้ทรงกระทำได้โดยสะดวกนัก ดัง link ที่ท่าน อ. เพ็ญชมพูยกมา ตรงนี้ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้จอมพล ป. ล้มไป แต่จะว่าไม่มีส่วนเลยก็อาจจะไม่ได้
ฟ้าก็คือฟ้า  ใครทำตัวเสมอฟ้าก็เห็นตกลงมาคอหักทุกคน บั้นปลายยังไม่เห็นใครได้ดี  ไม่ได้พังเพราะฟ้า แต่พังเพราะคนอื่นๆ ที่อยู่ใต้ฟ้าด้วยกันนั่นแหละ

เรื่องหลักๆ  ที่ล้ม ผมมองว่าน่าจะมาจากความไม่พอใจของคนทั่วไปที่มีต่อจอมพล ป ที่อยู่ในอำนาจยาวนาน แต่จริงๆ แล้วช่วงนั้นอำนาจบารมีต่างๆ ก็ลดน้อยถอยลงไปมาก ถอยตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกแล้ว ยังอยู่ได้เพราะคนรอบข้างยังยกไว้เพราะยังหาใครมายกแทนไม่ได้ แต่ไม่ได้ชี้เป็นชี้ตายได้เหมือนสมัยหนุ่มๆ  ไม่งั้นสมัยกบฏแมนฮัตตั้นคงไม่มีใครกล้าสั่งบอมเรือรบที่จอมพลถูกจับไว้หรอก   แถมบวกกับความกร่างแบบหาดีไม่ได้ของนายเผ่าอีกคน สถานการณ์โลกก็ไม่น่าไว้วางใจ ไม่แปลกที่จะล้มไป

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ผมเพิ่งจะอายุครบบวชไม่กี่ปีนี้เองนะคร๊าบ  ;D


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 12, 16:12
หา emo มาให้เด็กชายประกอบค่ะ

ป.ล. ไม่เคยคิดว่าอะไรเด็กชายประกอบนะคะ   เล็งไปทางอื่น   ทำไมวิ่งมาแอ่นอกรับกระสุนเข้าจนได้
 :-\


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 06 ส.ค. 12, 16:36
เด็กวัยกำลังห้าวก็แบบนี้แหละครับ มีอะไรชอบร้อนตัวไว้ก่อน เลยต้องออกตัวไว้ก่อนว่ายังเด็ก  แหะแหะ  8)

แต่เด็กจริงรึเปล่าก็ไม่รู้


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ส.ค. 12, 18:41
อ้างถึง
ต้องขออภัยท่านอาจารย์นวรัตนที่ผมใช้ถ้อยคำไม่ค่อยเหมาะสมนักด้วยนะครับ ตรงคำว่าชิงบทบาท

ผมไม่ได้คิดว่าคุณประกอบเป็นผู้ประดิษฐ์คำนี้มา เพียงแต่เอาคำที่พวกนั้นประดิษฐ์ขึ้นใช้กันเกร่อขึ้นมาเอ่ยเข้าทางปืนผมพอดี อยากจะซัดสักตูมมานานแล้วเพิ่งจะมีโอกาส แต่คุณประกอบคงทราบได้เองว่าผมไม่ได้เล็งไปที่คุณดังที่อาจารย์ใหญ่ท่านว่าไปแล้ว

ผมประทับใจในสิ่งที่พวกคุณทั้งหลายที่เป็นคนรุ่นหนุ่มแสดงออก คุณผกาและสุจิตรา(สงสัยจะเป็นชื่อคนข้างตัว)ด้วยนะครับ
อันที่จริงผมปลงอนิจจังต่อโลกไปแล้วว่า พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงงานหนักมาตลอดชีวิต โดยเฉพาะเพื่อชาวชนบทที่ทรงใกล้ชิดเสียจนคนกรุงเทพอิจฉา แต่พอถึงช่วงชีวิตที่พระพลานามัยต้องเสื่อมถอย ทรงสมบุกสมบันงานหนักเหมือนเดิมไม่ได้ คนไทย(บางส่วนนะครับ บางส่วน)ก็ลืมท่าน เด็กรุ่นที่อยู่ในวัยก่อนบวชทั้งหลายดูเหมือนจะไม่อินังขังขอบกับพระองค์ท่านเช่นคนรุ่นก่อน และถูกคนกลุ่มหนึ่งปั่นหัวได้ง่ายๆ เห็นที่แสดงออกทางสื่อสมัยใม่กันรุนแรงหยาบคายเกินทน ถ้าไม่เอาธรรมะเข้าข่ม จิตคงตกอกคงไหม้ไปแล้ว

ต้องขอขอบคุณนะครับที่เข้ามาแสดงความเห็นในกระทู้ ปกติที่นี่เขาจะแค่มาเข้าซุ่มอ่านเงียบๆกัน พวกคุณทำให้หัวใจของผมชุ่มชื่นขึ้นมาก



กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 12, 20:32
อ้างถึง
เห็นที่แสดงออกทางสื่อสมัยใหม่กันรุนแรงหยาบคายเกินทน ถ้าไม่เอาธรรมะเข้าข่ม จิตคงตกอกคงไหม้ไปแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรม
เป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมใดไว้ เป็น
กรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

การกระทำของคนเป็นความดีหรือความชั่วอยู่ในตัวของมันเอง  ไม่ได้อยู่ว่าคนอื่นเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรแค่ไหน   ถ้าทำชั่ว  ถึงมีคนจำนวนมากเห็นดีด้วยก็ไม่ได้ทำให้การกระทำชั่วกลายเป็นเรื่องดีไปได้   ถ้าทำดี ต่อให้คนจำนวนมากเห็นว่าเลว ก็ไม่ได้ทำให้ความดีกลายเป็นเลวได้เช่นกัน
ไม่ว่าคุณนวรัตนจะจิตตก หรือปลงได้    พวกนั้นเขาก็ย่อมได้รับผลกรรมจากการกระทำของเขา ดีหรือชั่วตามการกระทำเท่าเดิมอยู่ดีละค่ะ




กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 14, 15:40
ดึงกระทู้นี้ขึ้นมาอีกครั้ง  เพื่อจะบันทึกท้ายกระทู้ว่า เคยมีความพยายามจะนำประวัติศาสตร์ช่วงนี้ไปเป็นภาพยนตร์  โดยคุณยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับหนังน้ำดีคนหนึ่งของไทย
แต่ก็ถูกเบรคโดยทายาทของจอมพลป.   หนังจึงสะดุดลงแค่ภาพถ่ายดาราว่าใครแสดงเป็นใคร
ดูจากความประณีตของการคัดเลือกดาราเจ้าบทบาท การแต่งกาย แต่งหน้าทำผม และการวางท่าในการถ่าย ก็พอมองเห็นความตั้งใจของคุณยุทธนา
จึงน่าเสียดายอย่างยิ่งว่าเราไม่มีโอกาสได้ดูชีวิตของบุคคลในประวัติศาสตร์เหล่านี้ สะท้อนออกมาในจอเงิน

ฉัตรชัยรับบทจอมพลป. พิบูลสงคราม และสปัน เสลาคุณรับบทท่านผู้หญิงละเอียด


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 14, 15:41
สหชัย ชุมนุม  รับบทพลต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส   อธิบดีตำรวจเพื่อนสนิทของจอมพลป.


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 14, 15:42
นพพล โกมารชุน- พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ที่ปรึกษาคู่บารมีของจอมพลป.


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 14, 15:43
สันติสุข พรหมศิริ - ร.ท.เณร ตาละลักษมณ์


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 14, 15:47
ศรัณยู วงศ์กระจ่าง-ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 14, 16:04
ผมเคยเห็นบทภาพยนต์นี้ ซึ่งอ่านแล้วก็งงๆว่านี่เขาตั้งใจจะเอาข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ไปยำใหญ่กับนวนิยายงั้นรึ ยังไม่ทันจะมีปฏิกิริยาอะไรก็ทราบว่าทายาทจอมพลป.ขู่จะฟ้องผู้สร้าง ทำให้ภาพยนต์เรื่องนี้จอดเสียตั้งแต่ยังไม่ได้แจว


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 14, 16:16
มันคงมีพื้นฐานหลักๆอยู่บนข้อเท็จจริง  เช่นเรื่องบุคคลและการเมืองที่เข้มข้นอยู่ในยุคนั้น  แต่คงมีการใส่สีใส่ผงชูรส เช่นมีนางเอกเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นภาพยนตร์สารคดีค่ะ
เห็นดาราแต่ละคนก็อยากดูฝีมือ      น่าเสียดายที่เวลาล่วงเลยมาจนดาราที่เป็นหนุ่มเป็นสาวในยุคนั้น สังขารร่วงโรยไปหมดแล้ว


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 24 ก.พ. 14, 16:17
เดือนพฤศจิกายนที่แล้วไปสวนจตุจักร

ได้หนังสือประวัติ จอมพล ป. มาเล่มหนึ่ง

ชุดนี้มีสองเล่มเหลือแค่เล่มหนึ่งผมซื้อมาแค่ 80 บาท(ค่อยไปหาเล่มสองเอา)

เล่มหนามากประมาณ 600 หน้า อ่านได้แค่ช่วงประวัติตอนเรียนหนังสือ  เวอร์ชั่นนี้เป็นแนวโปร

ทิ้งไว้อ่านที่  กทม   ก็เลยอ่านยังไม่จบ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เชยประดับ ที่ 15 ส.ค. 14, 18:00
มีผู้แนะนำให้หม่อมอลิซาเบธเขียนหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความกรุณาผ่อนผันให้เข้าเยี่ยมสามีได้
แต่ตามที่หม่อมคาดคะเนไว้ คำร้องก็ถูกปฏิเสธกลับมา
ผู้ที่ช่วยหม่อมร่างจดหมายถึงพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้เขียนป.ล. (ซึ่งไม่ได้ส่งไป) ไว้ว่า :

"อิฉันเอาไว้ผมยาว นุ่งถุง ใส่หมวก ไม่รับประทานหมากและได้เปลี่ยนชื่อเป็นอีมรกตแล้วเจ้าค่ะ"

ร่างจดหมายฉบับนี้ยังคงรักษาอยู่ที่ห้องสมุดวังวิทยุ

เก็บความจาก"ไปเมืองนอกครั้งแรก ร.ศ. ๑๑๘"
พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
เรียบเรียงโดย หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เชยประดับ ที่ 15 ส.ค. 14, 18:11

แต่หม่อมเอลิซาเบธมิได้รับความเวทนาจากผู้ใดระหว่างที่เสด็จในกรมทรงถูกจองจำในคุก
คนที่เคยรู้จักกันดีๆ ก็เมินหน้าหนีเมื่อเจอกันกลางถนน ญาติมิตรส่วนใหญ่ก็ไม่กล้ามาเยี่ยม
เพราะกลัวจะติดร่างแหของท่านผู้นำจอมเผด็จการไปด้วย
คงเหลือแต่ผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์ เช่น คุณหญิง คุณนาย และนักธุรกิจบางคนที่กล้ามาหาหม่อมถึงวังวิทยุ
เพื่อมาพูดจาหว่านล้อมว่าจะไป “วิ่งเต้น” กับผู้มีอำนาจในรัฐบาล เพื่อให้ปลดปล่อยเสด็จในกรม
ถ้าหากหม่อมยอมจำนำโฉนดที่ดินกับเขาผู้นั้น เพื่อหาทุนไป “วิ่งเต้น” ดังกล่าว
(จากหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต ในเรื่อง “หม่อมเอลิซาเบธ”)
แต่ด้วยสัญชาติญาณเยอรมันซึ่งเหนียวหนักแน่น และความไม่หูเบาของหม่อม
หม่อมจึงไม่ได้หลงเชื่อหรือทำตามข้อเสนอของผู้ใดเลย 
มิฉะนั้น เสด็จในกรมเมื่อทรงพ้นทุกข์แล้ว อาจไม่มีวังที่ประทับเหลืออยู่ก็ได้


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เชยประดับ ที่ 15 ส.ค. 14, 18:23
เมื่อทรงพ้นทุกข์แล้ว เจ้านายพระองค์แรกที่เสด็จในกรมเสด็จไปเฝ้าฯ คือ
สมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซีงขณะนั้นประทับอยู่ที่ศรีราชาเพื่อทรงหลบภัยจากระเบิดของฝ่ายพันธมิตร
หลังจากที่เสด็จในกรมทรงถูกจับแล้ว สมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโทมนัสมากจนต้องทรงพยายามลืม
จนกระทั่งทรงลืมสำเร็จและเข้าพระทัยว่าเสด็จในกรมเสด็จต่างประเทศ ครั้นเสด็จในกรมไปเฝ้าที่ศรีราชาครั้งนั้น
จึงมิได้เข้าไปเฝ้าที่พระพักตร์เพราะเกรงว่าสมเด็จฯ จะทรงระลึกขึ้นมาได้อีกและจะกระทบกระเทือนพระวรกาย
จึงทรงแอบเฝ้าทอดพระเนตรห่างๆ นอกห้อง ซึ่งทำให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์น้ำตาไหลกันไปหมด
เสด็จในกรมเฝ้าสมเด็จฯ จริงๆ เมื่อเสด็จกลับไปประทับที่วังสระปทุม หลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ในโอกาสนี้สมเด็จฯ ดีพระทัยมาก เพราะทรงคิดว่าเสด็จในกรมเพิ่งเสด็จกลับจากเมืองนอก
(ในตอนนั้นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระชนมายุ ๘๒ ชันษาแล้ว)


เก็บความจาก"ไปเมืองนอกครั้งแรก ร.ศ. ๑๑๘"
พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
เรียบเรียงโดย หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เชยประดับ ที่ 15 ส.ค. 14, 18:24
เก็บเล็กประสมน้อย ไว้ในกระทู้นี้แล้วกัน จะได้รวมไว้ที่เดียวกันครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 17 ส.ค. 14, 10:31
อ่านกระทู้นี้แล้วสะเทือนใจที่สุดกับชะตากรรมของกรมพระยาชัยนาท สงสารท่าน  นั่งอ่านไปโดยที่น้ำตาไหลอย่างไม่รู้ตัว  พออ่านมาถึงค.ห.ของคุณเชยประดับ ก็ขำจนหัวเราะโดยไม่รู้ตัวอีก สะใจกับข้อความในจดหมายของหม่อมเอลีซาเบท ชอบความกล้าของท่าน จนต้อง search หาประวัติของท่านอ่านเพิ่มเติม

เจอข้อมูลในวิกิพีเดีย  ดังนี้

"หม่อมเอลีซาเบท รังสิต ณ อยุธยา (นามเดิม: เอลีซาเบท ชาร์นแบร์เกอร์; เยอรมัน: Elisabeth Scharnberger[1], 15 กันยายน พ.ศ. 2435 — 29 กันยายน พ.ศ. 2516) สตรีชาวเยอรมัน ที่ต่อมาเป็นหม่อมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทั้งสองเสกสมรส ณ ที่ทำการอำเภอเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2445 และมีพระโอรสธิดาสามพระองค์ คือ
    หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต (25 ธันวาคม พ.ศ. 2456 — 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533...."

งงกับข้อมูลค่ะ
เอลีซาเบท ชาร์นแบร์เกอร์  เกิด พ.ศ. 2435  สมรส พ.ศ. 2445  ตอนแต่งงาน ท่านอายุแค่ 10 ขวบ!??   มีลูกคนแรก  ตอนท่านอายุ 11 ขวบ !??

ทำให้ดิฉันชักไม่ไว้ใจข้อมูลในวิกกี้ซะแล้ว เลยต้องขอพึ่งท่านผู้รู้ในเรือนไทยช่วยกรุณาไขข้อข้องใจหน่อยเถอะค่ะ



กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 14, 10:44
วิกิไทยลงพ.ศ. ผิดไป 10 ปีค่ะ 
วิกิพีเดียเป็นสารานุกรมไทยที่ไม่มีการตรวจสอบ ใครจะใส่ข้อมูลอะไรลงไปก็ได้   บางเรื่องก็ผิดพลาดชนิดเชื่อไม่ได้เลย   
ขอให้อ่านเป็นแนวทาง  ถ้าสงสัยอะไร ต้องไปหาที่อื่นอ่านประกอบเพื่อตรวจสอบด้วยค่ะ

เรื่องหม่อมเอลิซาเบธ    ดิฉันไปหาอ่านวิกิภาษาอังกฤษ    ได้ข้อมูลที่น่าจะเชื่อถือได้ว่า

He additionally studied philosophy in 1908. It was during his study that he met his wife, Elisabeth Scharnberger (15 September 1892 - 29 September 1973), a German woman whom he married in London on 28 August 1912.

หม่อมเอลิซาเบธสมรสเมื่ออายุ 20 ค่ะ   เกิดพ.ศ. 2435  แต่งงาน พ.ศ. 2355


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 14, 11:41
เก็บเล็กประสมน้อย ไว้ในกระทู้นี้แล้วกัน จะได้รวมไว้ที่เดียวกันครับ
ขอบคุณค่ะ   ถ้าหากว่ามีข้อมูลเรื่องอะไรอีกไม่ว่ากระทู้ไหน เชิญร่วมวงด้วยนะคะ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 17 ส.ค. 14, 12:49
ขอโทษค่ะ ในค.ห.187 ดิฉันคำนวณผิดไป หม่อมมีลูกคนแรกตอนอายุ 21 ซึ่งนั่นก็โอเค 
ที่ไม่โอเคคือข้อมูลของวิกิเรื่องปีเกิดของท่านเท่านั้น

ขอบคุณอาจารย์เทาชมพูค่ะ  เดี๋ยวจะไปอ่านในเว็บที่อาจารย์แนะนำค่ะ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: Almansos ที่ 16 เม.ย. 15, 23:28
ผมเองบอกตามตรงก็ไม่เคยคิดว่าศาลไทยและกฏหมายไทยมีความยุติธรรมจริงหรอกครับ เรียกว่าอคติด้วยซ้ำ เพราะเจอกับตัวมามาก สมัยนี้กฏหมายก็บังคับได้แต่ตาสีตาสา ชาวไร่ชาวนาและคนจนๆหาเช้ากินค่ำเท่านั้นแหละครับ ไปใช้บังคับคนร่ำรวยมีเงินมีทองล้นฟ้าหรือตระกูลสูงศักดิ์ไม่ได้หรอกครับ เพราะอำนาจเงินซื้อได้ทุกอย่างแม้แต่เปลี่ยนจากผิดเป็นถูก อย่าให้ต้องยกตัวอย่างเลยครับ คนรวยกับคนจนคดีเหมือนกันแท้ๆ ศาลตัดสินคนละแบบเลย (สงสัยน่าจะรับใต้โต๊ะไปไม่น้อย)ทั้งๆที่ผู้พิพากษาเองเงินเดือนก็สูงอยู่แล้ว แถมรัฐก็ประเคนทุกอย่างให้ครบครัน  แต่ก็อย่างว่าแหละครับ เงินทองมันไม่เข้าใครออกใคร สงสัยเขาคงจะไม่พอใช้กระมังครับ เงินทองถึงซื้อได้แม้จรรยาบรรณ ผมนี้เอือมระอาจริงๆครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 17 เม.ย. 15, 09:13
กลายเป็นอย่างนั้นไป


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 เม.ย. 15, 20:28
อย่าเหมารวมเลยค่ะ  สงสารผู้พิพากษาดีๆ ที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานด้วยความสุจริต
ถ้าเห็นนิ้วไหนร้ายก็ตัดแค่นิ้วนั้นดีกว่า


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 20 เม.ย. 15, 00:11
ผมเองบอกตามตรงก็ไม่เคยคิดว่าศาลไทยและกฏหมายไทยมีความยุติธรรมจริงหรอกครับ เรียกว่าอคติด้วยซ้ำ เพราะเจอกับตัวมามาก สมัยนี้กฏหมายก็บังคับได้แต่ตาสีตาสา ชาวไร่ชาวนาและคนจนๆหาเช้ากินค่ำเท่านั้นแหละครับ ไปใช้บังคับคนร่ำรวยมีเงินมีทองล้นฟ้าหรือตระกูลสูงศักดิ์ไม่ได้หรอกครับ เพราะอำนาจเงินซื้อได้ทุกอย่างแม้แต่เปลี่ยนจากผิดเป็นถูก อย่าให้ต้องยกตัวอย่างเลยครับ คนรวยกับคนจนคดีเหมือนกันแท้ๆ ศาลตัดสินคนละแบบเลย (สงสัยน่าจะรับใต้โต๊ะไปไม่น้อย)ทั้งๆที่ผู้พิพากษาเองเงินเดือนก็สูงอยู่แล้ว แถมรัฐก็ประเคนทุกอย่างให้ครบครัน  แต่ก็อย่างว่าแหละครับ เงินทองมันไม่เข้าใครออกใคร สงสัยเขาคงจะไม่พอใช้กระมังครับ เงินทองถึงซื้อได้แม้จรรยาบรรณ ผมนี้เอือมระอาจริงๆครับ


พี่สาวและพี่เขยผมเป็นผู้พิพากษาครับ พี่เขยอีกคน(เป็นสามีของพี่สาวที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง) ก็เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดของสถาบันตุลาการ ผมคุยกับพี่สาวบ่อยมาก โดยเฉพาะเรื่องปัญหาต่างๆ ที่ต้องประสบ ทำให้พอรู้เรื่องราวแวดวงของผู้พิพากษาอยู่มาก รวมทั้งวิธีปฏิบัติของคนที่ดำรงตำแหน่งนี้ส่วนใหญ่ และปัญหาต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องบอกตรงๆ ว่าสิ่งที่คุณพูดมา เป็นอคติมากกว่าข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการเหมารวมว่าปัญหาของกระบวนการยุติธรรมมาจากผู้พิพากษา ถ้าคนรวยตัดสินแบบนึง คนจนแบบนึง ทั้งที่เงินเดือนสูงอยู่แล้ว นี่เป็นวิธีคิดแบบที่ต้องบอกตรงๆ  ว่าใช้แต่อคติ ไม่ได้ใช้สติปัญญามากพอครับ


ผู้พิพากษา เป็นด่านสุดท้ายของกระบวนการพิจารณาคดี ซึ่งกว่าคดีจะมาถึงผู้พิพากษา ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนมาก่อน เช่นถ้าเป็นคดีอาญา ก็ต้องผ่านตำรวจ  อัยการ กว่าจะมีการส่งฟ้อง และยังมีเรื่องของทนายอีก การผ่านขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ สามารถเปลี่ยนแปลงผลของกระบวนการยุติธรรมได้ไม่ยาก การเปลี่ยนแปลงทิศทางของคดีต่างๆ ไม่ต้องรอถึงชั้นศาลครับ เค้าทำกันในชั้นก่อนหน้าแล้ว ผมคงไม่ต้องแจกแจงว่าทำอย่างไร ส่วนผู้พิพากษา มีหน้าที่ตัดสินตามพยานหลักฐานเท่าที่เห็นในขั้นตอนพิจารณาคดีเท่านั้น  ดังนั้นจะพลิกผลการตัดสินไม่ใช่ง่ายครับ  ตัดสินห่วยๆ ผิดๆ ใช่ว่าคนอื่นดูไม่ออก และผู้พิพากษาดีๆ เที่ยงธรรม ไม่ยอมต่ออิทธิพลยังมีอยู่เยอะครับ ผู้พิพากษาเลวๆ ถูกไล่ออกทุกปีมีให้เห็น นอกจากนี้ค่านิยมธรรมเนียมปฏิบัติหลายๆ อย่างในแวดวงตุลาการด้วยกันเอง ทำให้การเข้าถึงผู้พิพากษายากกว่าเจ้าหน้าที่ยุติธรรมในขั้นตอนอื่นมากครับ และคนเป็นตุลาการมักจะเก็บเนื้อเก็บตัวมากกว่ามาก เมื่อเทียบกับข้าราชการอื่นๆ โดยเฉพาะในฝ่ายปกครอง  ถ้าใครรับราชการต่างจังหวัดน่าจะเห็นชัด

ในวงการตุลาการมีปัญหาจริง หลายเรื่องทำให้กระบวนการในการพิจารณาคดีอาจมีปัญหาได้ แต่ไม่ใช่ในแบบที่คุณกล่าวมาคือทำให้ตัดสินด้วยอคติหรือความลำเอียงครับ  นอกจากนั้น ระบบยุติธรรมในแต่ละขั้นตอน การเคารพและรักษากฏหมายของคนไทย รวมถึงการปล่อยให้มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในบ้านเรามีจริง มีมากด้วย แต่ปัญหานี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนทั้งประเทศ ที่เราปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาไป แต่การด่าเหมารวมไปที่ใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยอคติ ไม่ได้ใช้ความเข้าใจจริงๆ  จะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ นอกจากยิ่งเสริมอคติและความคิดผิดๆ ให้มันยิ่งเพิ่มพูนเป็นไฟเผาใจมากขึ้นเท่านั้นครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 15, 05:35
ดร. ประกอบ  เป็นอดีตประธานศาลฎีกานะครับ

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A_%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B9%8C


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 20 เม.ย. 15, 09:14
เกิดคดีจราจร คนรวยขับรถชนคนธรรมดาตาย (เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์)

ตอนแรก ผู้เสียหายให้การกับตำรวจเป็นอย่างดีว่าจำได้ว่ารถคันไหนสีอะไร ใครขับ
หลังเกิดเหตุ คนขับที่ว่า(จำเลย) และแม่ของจำเลยไปหาผู้เสียหาย ร้องไห้ร้องห่ม ขอโทษ แล้วพยายามดูแลพ่อแม่ผู้ตายเป็นอย่างดี ดีอย่างชนิดที่ผู้เสียหายไม่เคยได้รับจากใครมาก่อน พลางขอร้องว่า ให้เรื่องจบได้ใหม สงสารอนาคตของเด็ก ฯลฯ (ไม่เป็นข่าว) 

พอถึงวันนัดสืบพยาน ผู้เสียหายกลับคำให้การเป็นว่า จำอะไรไม่ได้เลย หรือจำได้ว่าเป็นอย่างอื่น สอดคล้องกับคำให้การของฝ่ายจำเลยที่ยืนยันว่า วันเกิดเหตุจำเลยอยู่อีกสถานที่หนึ่ง (ไม่เป็นข่าว)

เมื่อพยานโจทก์มีข้อน่าสงสัย ศาลก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากยกฟ้อง (เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์)

เมื่ออ่านจากในหน้าหนังสือพิมพ์แต่เพียงอย่างเดียว จึงได้ความว่า ศาลยกฟ้องคดีที่คนรวยขับรถชนคนธรรมดาตาย ตอกย้ำว่า คนรวยทำอะไรก็ไม่ผิด

บางเรื่องก็เป็นอย่างนี้แหละครับ


กระทู้: คดีลอบสังหาร จอมพลป. : เงื่อนงำเบื้องหลัง ๑๘ ศพ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 15, 09:35
ผมว่า พอสมควรแล้วละครับ ถ้าใครติดใจประเด็นนี้อีกก็ไปตั้งกระทู้ใหม่ดีกว่า กระทู้นี้จะได้ไม่ตื่นขึ้นมาเข้าซอยยาวในเรื่องที่ไม่เกียวกันโดยตรง