เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: ดาวกระจ่าง ที่ 08 ก.ย. 21, 17:50



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 08 ก.ย. 21, 17:50
คือดิฉันไปเจอคำเหล่านี้ที่เป็นคำต่างชาติที่คนไทยภาคกลางรับมาใช้แล้วสงสัยค่ะว่าคำไทยดั้งเดิมที่คนไทยภาคกลางในอยุธยาใช้ก่อนที่จะรับภาษาต่างชาติมาใช้กันจะเป็นคำว่าอะไร เลยจึงอยากขอคำแนะนำจากท่านผู้รู้ในห้องนี้หน่อยค่ะว่าคำที่จัดเป็นคำภาษาไทยดั้งเดิมของคำเหล่านี้ที่คนไทยภาคกลางในอยุธยาใช้ควรเป็นคำไหน

1 เมฆ
2 อร่อย
3 นินทา
4 โกรธ
5 กางเกง
6 เทวดา
7 ไพเราะ



กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.ย. 21, 10:05
ขอเริ่มด้วยคำลำดับที่ ๕ "กางเกง"  เคยวิสัชนาคำนี้ไว้ในกระทู้ ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3201.msg62261#msg62261)

มีเรื่องล้อเล่นกันอยู่เสมอว่า เมื่อมีพระเสื้อเมืองแล้วจะมีพระกางเกงเมืองด้วยหรือเปล่า ถ้าหากคำว่า "เสื้อ" ใน พระเสื้อเมืองมาจาก "เสื้อผ้า" แล้ว คำว่า "ทรง" ในคำว่า "พระทรงเมือง" ก็เป็นไปได้ว่ามาจากคำว่า "ซง หรือ ส่ง" (ในภาษาผู้ไทและไทยอีสาน) ซึ่งเป็นคำไทเก่า ที่แปลว่า กางเกง

คนไทยเรียกชาวไทดำว่า ลาวโซ่ง โซ่งนั้นมีการสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากคำว่า ซ่วง หรือ ซ่ง ซึ่งเป็นภาษาไทดำ แปลว่ากางเกง เพราะว่าชาวไทดำเหล่านี้สวมกางเกงสีดำ  ปัจจุบันเรียกคนเหล่านี้ว่า ชาวไทยโซ่ง หรือ "ไทยทรงดำ"


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.ย. 21, 10:32
คำลำดับที่ ๖ "เทวดา" คุณม้าเคยวิสัชนาคำนี้ไว้ในกระทู้ ลิลิตพระลอ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2524.msg48174#msg48174)

โคลงในหนังสือท้าวฮุ่งกล่าวว่า พระลอก็คือ แถนลอ นั่นเอง เพราะคำว่าแถนก็คือ เทวดา  ไทยเรียก แถน  พระลอนี่เป็นกษัตริย์จึงสามารถใช้ชื่อว่า แถนได้ และก็แถนลอหรือพระลอนี้ อยู่ที่เมืองแมนสรวง ซึ่งมีแม่น้ำกาหลงได้ อาณาเขตนั้นจึงชื่อว่าอาณาจักรกาหลง
 


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.ย. 21, 10:48
คำลำดับที่ ๗ "ไพเราะ" ราชบัณฑิตท่านเสนอคำว่า "ม่วน"


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 11 ก.ย. 21, 09:31
ขอบพระคุณค่ะคุณเพ็ญชมพูค่ะ คำที่ 6 กับคำที่ 7 คนไทยภาคกลางใช้คำว่าแถน กับ ม่วน เหมือนกับภาษาเหนือ อีสานเลยถูกไหมคะ

และถ้ามีเพิ่มเติมอีกก็เชิญแนะนำได้ค่ะ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ย. 21, 09:39
คำไทยแท้ของคำที่คุณดาวถาม ที่พอจะสืบค้นได้และใช้ในปัจจุบันล้วนเป็นคำที่ใช้ทางเหนือและอีสาน ส่วนจะมีใช้ในภาคกลางสมัยอยุธยาหรือไม่ ยังไม่มีหลักฐานปรากฏ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ย. 21, 09:49
คำลำดับที่ ๑ “เมฆ”

ในภาษาเหนือและภาษาอีสานมีคำว่า ฝ้า ซึ่งความหมายเหมือนคำว่า เมฆ นอกจากคำว่า ฝ้า แล้ว ภาษาอีสานยังมีคำว่า ขี้ฝ้า ซึ่งหมายถึง เมฆ อีกด้วย เมื่อคนไทยใช้คำว่า เมฆ ซึ่งเป็นคำยืมภาษาบาลีและสันสกฤตกันมากขึ้น คำว่า ฝ้า ก็ไม่ค่อยมีผู้ใช้ในความหมายว่า เมฆ

จาก  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ (http://legacy.orst.go.th/?knowledges=เมฆ-ฝ้า-๖-กุมภาพันธ์-๒๕๕๖)


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ย. 21, 12:20
คำลำดับที่ ๒ “อร่อย”

คำนี้มีปรากฏในจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๑ ปริวรรตเป็นตัวอักษรไทยปัจจุบันโดยอาจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ ความว่า

“กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดอันอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู”

คำว่าอร่อยน่าจะใช้พูดกันทั้งในอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา ส่วนทางเหนือใช้คำว่า “ลำ” อีสานว่า “แซบ” (เสียงยาว)  

ปัจจุบัน คำว่า แซบ ได้รับความนิยมใช้ในภาคกลางด้วย โดยออกเสียงว่า “แซ่บ” (เสียงสั้น) มีความหมายกว้างขึ้นคือ นอกจากจะหมายถึง อร่อย แล้ว ยังหมายถึง “เผ็ด” อีกด้วย


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 12 ก.ย. 21, 20:35
ขอบคุณค่ะ น่าเสียดายนะคะคำที่พอจะสืบค้นได้และใช้ในปัจจุบันล้วนเป็นคำที่ใช้ทางเหนือและอีสาน แต่ของภาคกลางกลับไม่ค่อยมีข้อมูลเรื่องคำดั้งเดิมเท่าไรนัก

แล้วคำที่ 3 กับคำที่ 4 คุณเพ็ญชมพูพอทราบไหมคะว่าภาษาไทยดั้งเดิมของภาคกลางมีไหม


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ย. 21, 10:29
คำลำดับที่ ๓ "นินทา"

คำนี้ทางอีสานใช้ว่า เว่าพื้น ทางเหนือว่า เล่าขวัญ

มีคำซ้อนประเภทหนึ่งซึ่งคำหน้าเป็นบาลีสันสกฤตส่วนคำหลังเป็นคำไทยซึ่งแปลความหมายของคำแรก เช่น ทรัพย์สิน, ภูติผี, โจรผู้ร้าย คำว่า นินทาว่าร้าย ก็เป็นคำซ้อนประเภทนี้ เป็นไปได้ว่าคำไทยแท้ซึ่งใช้ในภาคกลางในความหมายเดียวกับ นินทา คือ ว่าร้าย นั่นเอง


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 14 ก.ย. 21, 11:29
ขอบคุณค่ะคุณเพ็ญชมพู


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.ย. 21, 14:25
คำลำดับที่ ๔ “โกรธ”

 ทางอีสานว่า เคียด, สูน  ทางเหนือคือ เกี๊ยด, โขด, มิ่ง

ทางภาคกลาง ท่านราชบัณฑิตเสนอไว้หลายคำให้เลือกใช้เช่น ขึ้ง, เคือง, เคียด, แค้น, ขึ้งเคียด, ขุ่นเคือง, ขุ่นแค้น, ขัดเคือง, ขัดแค้น, เคืองขุ่น, แค้นเคือง, เคียดแค้น


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 16 ก.ย. 21, 17:02
ขอบคุณค่ะคุณเพ็ญชมพู อย่าไงขออนุญาตถามอีกสองคำนะคะ คือคำว่า 1 สงสาร กับ คำว่า โชคดี คุณเพ็ญชมพูพอจะทราบไหมคะว่าไทยภาคกลางมีคำดั้งเดิมสองคำนี้ไหม


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.ย. 21, 07:45
ก่อนจะตอบคำถามที่ ๘ และ ๙  

อยากทราบว่าคุณดาวมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการเลือกคำเพื่อส่งมาให้สืบค้นว่า คำไทยดั้งเดิมที่ใช้ในภาคกลางสมัยอยุธยาของคำนั้น ๆ คือคำใด


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 19 ก.ย. 21, 12:16
ไม่ได้มีหลักเกณฑ์อะไรมากค่ะคุณเพ็ญชมพู เพียงแค่เห็นว่าเป็นคำทั่วไปที่ถูกใช้ด้วยภาษาบาลี-สันกฤต เลยสงสัยน่ะค่ะว่าภาษาไทยดั้งเดิมน่าจะใช้คำว่าอะไร


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ก.ย. 21, 19:13
เพียงแค่เห็นว่าเป็นคำทั่วไปที่ถูกใช้ด้วยภาษาบาลี-สันกฤต

ตัวอย่างคำที่คุณดาวถามมานอกจากจะมาจากบาลีสกฤต ยังมีมาจากภาษาอื่นด้วย เช่น คำลำดับที่ ๗ “ไพเราะ”  ที่มาจากภาษาเขมร


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 22 ก.ย. 21, 09:33
ขอบคุณสำหรับคำชี้แนะค่ะคุณเพ็ญชมพู


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.ย. 21, 09:53
คำลำดับที่ ๘ “สงสาร”

ทางอีสานว่า หลูโตน ทางเหนือคือ เอ็นดู หรืออินดู

ปัจจุบันในภาษากลาง เอ็นดู ราชบัณฑิตท่านให้ความหมายว่า มีใจรักใคร่, ปรานี  เป็นไปได้ว่าในสมัยอยุธยาคำว่า เอ็นดู อาจใช้ในความหมายว่า สงสาร ด้วย


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 21, 10:53
สมัยอยุธยา  คำว่า "เอ็นดู" หรือ "เอนดู"  หมายถึงสงสาร

เอนดูสองนางตกใจกลัว รรัวหัวอกสั่น ลั่นททึกททาว
จาก ลิลิตพระลอ


กระทู้: ขออนุญาตเรียนถามถึงการใช้คำไทยดั้งเดิมของคนไทยภาคกลางในอยุธยาหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 24 ก.ย. 21, 09:26
ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะคุณเทาชมพู