เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: ติบอ ที่ 19 พ.ย. 09, 08:29



กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 19 พ.ย. 09, 08:29
สืบเนื่องจากกระทู้เจ้าปัญหาเรื่องพระวิหาร
ผมเห็นว่ายังมีคุณasia และคุณvirain
ที่ยังสนใจเรื่องทฤษฎีทางภาษาอยู่
จึงขออนุญาตมาเปิดกระทู้ใหม่เรื่องภาษาไทสยามนะครับ

ก่อนจะเริ่มต้นอะไรทั้งหมด ขอชี้แจงว่า
1. ทฤษฎีทางภาษาที่จะพูดถึง เป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อน
และแปลกใหม่กว่าทฤษฎีที่แบ่งภาษาออกจากกันเป็นสกุลๆ
2. เพื่อความเข้าใจของผู้อ่าน ผมจะไม่ดำเนินเรื่องให้ไวนัก
และอยากให้กระทู้นี้อยู่ในข่าย ถาม-ตอบ
คือ ผมจะโพสต์ข้อความไปทีละท่อน(ไม่เกิน 2 - 3 ความคิดเห็น)
ถ้าท่านผู้อ่านมีอะไรสงสัยก็ขอให้กรุณาถามทันทีนะครับ


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 19 พ.ย. 09, 08:42
ก่อนจะเริ่มเรื่องภาษาขอม-ภาษาไทย
ผมขออนุญาตชวนคุยเรื่องอื่นๆก่อนเพื่อความเข้าใจมากขึ้น



เรื่องแรกที่อยากชวนคุย คือ "พื้นที่ของวัฒนธรรม"

อย่างแรก วัฒนธรรม สืบทอดโดย "กลุ่มคน"
เป็นสิ่งที่เรา "สมมุติขึ้นเพื่อจัดกลุ่ม" ในการศึกษา, เรียนรู้, ทำความเข้าใจ และอธิบายสังคม
ที่จริงเราไม่ต้องสมมุติให้.... สิ่งที่เราเรียกว่า "วัฒนธรรม" ก็จะดำเนินไป
และไปโดยที่เราไม่ต้องไปศึกษามันก็ได้...
โดยสังคมจะย้ายจากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู้อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ก็ได้

ด้วยเหตุนี้ "พื้นที่" ของแต่ละวัฒนธรรมในแต่ละช่วงเวลา
อาจจะมีขนาดไม่เท่ากันได้... เพราะสังคมมีสิทธิ์ "ย้าย" วัฒนธรรมอยู่เสมอ


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 19 พ.ย. 09, 09:02
เรามาดูกันก่อนดีกว่า ว่า "วัฒนธรรมขอม" (ที่เราสมมุติเรียกกัน)
มัน "กว้าง" ซักแค่ไหน "ในประเทศไทย"

ของอย่างแรกที่พูดถึงปุ๊บ คนส่วนมากจะนึกถึงวัฒนธรรมขอมทันที คือ "ปราสาทหิน"
หรือถ้าจะพูดให้ถูกกว่า(เพราะบางหลังก็สร้างด้วยอิฐ)... คือ "ปราสาททรงปรางค์"
เอาเฉพาะปรางค์ที่ "หน้าตาเหมือนในเมืองพระนคร" ก่อนนะครับ

จากหลักฐานทางศิลปะ... ปรางค์ขอมที่หน้าตาเหมือนในเมืองพระนคร
เริ่มผุดขึ้นทั่วภาคกลางและภาคอีสานตอนล่างของประเทศไทยปัจจุบัน
โดยประมาณ คือ ศิลปะ "บาปวน" ต่อด้วย "นครวัด" และ "บายน"
ซึ่งเป็น 3 ศิลปะสุดท้ายของวัฒนธรรมขอมสมัยเมื่องพระนคร
(ตามทฤษฎีวิวัฒนาการทางศิลปะ)



ถ้าพูดถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลายคนคงพอนึกออกบ้างแล้ว
มาดูกันดีกว่า ว่าเราเจอปรางค์ใน 3 ศิลปะนี้ในภาคกลางที่ไหนบ้าง
เหนือสุด.... ศรีเทพ, สุโขทัย
ตะวันตกสุด..... พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในพม่าตอนล่าง
(ปราสาทเมืองสิงห์ หรือ วัดมหาธาติราชบุรีตัดทิ้งนะครับ)
ลงใต้ไปหน่อย คือ วัดกำแพงแลงที่เพชรบุรี

นอกจากนั้นยังเจอทับหลังในศิลปะบาปานที่ถูกทุบ
เอามาเป็นโกลนในของพระพุทธรูปที่วัดพระแก้วเมืองสรรค์ (ชัยนาท)
และที่ขาดไม่ได้ คือ "ละโว้" ซึ่งไปเดินขบวนกับเขาในระเบียงประวัติศาสตร์นครวัดด้วย



คงปฏิเสธไม่ได้.... ว่าทั้งหมดนี่คือพื้นที่ๆ "เป็นเจ้าของ" ภาษา "ไทสยาม" ในภายหลัง
เพราะออกจากนั้นไปจะใช้ภาษาถิ่นอื่นๆที่ห่างจากภาษาไทสยามกันไปหมดแล้วนะครับ




วันนี้ขออนุญาตหยุดเท่านี้ก่อนครับ


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 19 พ.ย. 09, 09:18
1.ทำไมตัดทิ้งล่ะครับ(ปราสาทเมืองสิงห์ หรือ วัดมหาธาติราชบุรีตัดทิ้งนะครับ)
2.ความเร็วขนาดนี้พอไล่ตามไหวครับ
มานิต


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 19 พ.ย. 09, 09:26
ถ้าจะพูดถึง "ขอม" ตัดทิ้งไม่ได้หรอกครับท่านมานิต
หลักฐานจากศิลปะที่เหลือชี้ชัดมาก ว่า 2 แห่งนี้น่าจะสร้างตั้งแต่สมัยเมืองพระนครแล้ว
แต่ตัดทิ้งซะให้เห็นว่า 2 แห่งนี้อยู่ "ตะวันออก" กว่าในพม่าครับ
(ที่จริงคือหมู่นี้ผมมุขแป๊กบ่อยครับ... เลยพิมพ์ไว้เผื่อคนอ่านจะถามครับ ท่านมานิต)



งั้น... ของแถมสำหรับวันนี้ ถ้าผมจะพูดต่อไปว่า
"ถ้าเรานับประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ 'สุโขทัย' เป็นจุดเริ่มต้น....
บรรพชนขอมเขาสร้างปราสาทขอมอยู่เหนือพื้นที่นี้มาแล้วตั้งแต่พระร่วงยังไม่เป็นวุ้น..."
ท่านยังพอไล่ตามทันมั้ยครับ ?


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 20 พ.ย. 09, 10:05
เรื่องที่ 2 ที่จะต้องทำความเข้าใจต่อไป คือ
สกุลทางภาษา "เป็นสิ่งสมมุติ" ครับ
ที่ต้องสมมุติ เพื่อจัดกลุ่ม แบ่งประเภท
เวลาศึกษาจะได้เข้าใจง่ายขึ้น
ว่าอะไรอยู่ในกลุ่มเดียวกัน

และไม่เกี่ยวกับ เชื้อชาติ หรือสัญชาติตามที่ตาเห็น
แต่เกิดจาก "ลักษณะทางโครงสร้าง" ของภาษา
เช่น ในครอบครัวคนแต้จิ๋วที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย
จะถือบัตรประชาชนเชื้อชาติไหนก็ได้ทั้งจีนและไทย
และจะพูดภาษาแต้จิ๋วได้หรือไม่ก็ได้
เพราะสังคมนอกบ้านเป็นสังคมคนพูดภาษาไทย
เขาก็มีสิทธิ์ย้ายภาษา และย้ายวัฒนธรรมเข้าสู่สังคมใหม่ เป็นต้น




ที่ย้ายสังกัดได้ เพราะสังกัดทางการปกครอง ก็เป็นสิ่งที่ถูกสมมุติขึ้นเช่นกัน
และสมมุติขึ้นอย่าง "เข้าใจได้ง่าย" กว่า สังกัดทางสังคม-วัฒนธรรม

เช่น... ลูกครึ่ง มีพ่อเป็นจีน มีแม่เป็นไทย เกิดเมืองไทย
มองจากสังกัดทางการเมือง - การปกครอง
อย่างแรกที่เขาจะได้ คือ "ใบเกิด สัญชาติไทย"
ส่วนเชื้อชาติ พ่อกับแม่ "มีสิทธิ์เลือกให้"
(คิดว่าคนอ่านกระทู้น่าจะเคยเห็นคนไทย แต่ "ใช้แซ่" มาแล้ว เป็นต้น)


ในทางกลับกัน สังกัดทางวัฒนธรรม
เป็นสิ่งที่กำหนดให้คนกลุ่มนี้ได้ยากมาก
เช่น จะกำหนดเป็น "คนจีนในประเทศไทย" หรือเป็น "คนไทยเชื้อสายจีน" ก็ได้...
แต่จะกำหนดลงไปชัดเจนเหมือนสังกัดทางการเมืองการปกครองไม่ได้
เพราะต้องขึ้นกับเกณฑ์ในการศึกษาและการกำหนดแต่ละกรณีไป


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 20 พ.ย. 09, 10:08
ที่จริงสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายมาก
เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆตัวเรา
ถ้าเราลองหาเวลาว่างให้ตัวเองสักนิด
แล้วคิดตาม จากตัวอย่างของคนรอบๆตัวเรา
เราจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ สังคมโลกยุคราวๆ 100 ปีที่ผ่านมา
เรายังไม่ทันได้คิดแบบนี้กัน.... และนี่เป็นปัญหาทางสังคมที่น่าตกใจ

เช่น มีคนผิวดำในสหรัฐอเมริกาเป็นล้านคน ที่รักประเทศ
รักษาผลประโยชน์ของประเทศชนิดที่เรียกว่า
เป็น American Nation เหมือนในหนังฝรั่งที่เราได้ดูกัน
บางคนเป็นนักผจญเพลิงที่ยอมเสี่ยงชีวิตไปช่วยคนผิวขาวในหน้าที่
และบางคนเป็นทหารที่ยอมเสี่ยงชีวิตไปสู่สมรภูมิสงครามเพื่อปกป้องประเทศ

แต่เมื่อหลายสิบปีก่อนคนอเมริกันผิวขาวก็เหยียดเขาว่าเป็น "ผิวดำ"... และให้สิทธิกับเขาน้อยกว่าคนขาว



อเมริกันเริ่มรู้ตัวเมื่อราวๆ 50 - 60 ปีที่ผ่านมา
ว่าเพื่อนร่วมชาติของเขากำลัง "ด่ากัน" ด้วย "ชาติพันธุ์" และ "ชื่อชนชาติ"
เช่น ใช้คำว่า Niger (ชาวไนจีเรีย) ด่า "คนผิวดำ" เป็นต้น
ชนชั่นนำของอเมริกันก็เริ่ม "ตกใจ" กับสิ่งที่คนในประเทศของเขาเป็นอยู่...

และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ถ้าใครคุ้นกับหนังสือเด็กของอเมริกา
จะเห็นว่าในหนังสือจะเต็มไปด้วยภาพของเด็กที่หน้าตาไม่เหมือนกัน
บางคนผิวขาว บางคนผิวดำ บางคนเป็นอเมริกันอินเดียน
และบางคนที่แยกไม่ออกว่าไปทางไหน ก็เป็นคนเลือดผสม.... ก็มี

นี่คือวิธีการที่สังคมอเมริกันเริ่ม "เปลี่ยน" โปรแกรมในสมองเด็ก...
เพื่อที่จะได้ "มีผู้ใหญ่" ที่คิดต่างออกไปจากกลุ่มที่ได้ชื่อว่า "เหยียดผิว"
ในที่สุด ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้... อเมริกาก็ได้มีประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของเขา
และถือเป็นจุดที่ประสบความสำเร็จสูงสุดสำหรับจุดหนึ่งในการแก้ปัญหานี้


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 20 พ.ย. 09, 12:13
ลองมาดูกันดีกว่า ว่าอเมริกาเขาแก้ปัญหาได้แล้ว....
เมืองไทยเป็นยังไงบ้าง ?


- ทำตัวลาวๆ
- อีลูกเจ๊ก
- อีกระเหรี่ยง
- อีแขกตัวเหม็น
- อีแหม่มกะปิ
ฯลฯ....

เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ยังเป็นคำด่าที่สังคมไทยพูดกันจนชินปากไม่เว้นแต่ละวัน
แล้วเราตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น... แล้วรึกยัง ???




ถ้ายัง... ก่อนจะอ่านข้อมูลเชิงวิชาการ
เรามาดูเรื่องที่เราควรจะทราบกันก่อนดีกว่ามั้ย ?




ปัญหาประการหนึ่งของคนในแผนที่ประเทศไทยแห่งนี้...
คือ เราใฝ่หา โหยหา และหวงแหน...
ความ"เป็นไทย" กันตลอดเวลา
และคิดว่า "เป็นไทยต้องบริสุทธิ์" กัน

เราเริ่มต้นประวัติศาสตร์กันที่ "สุโขทัย"
หรือถ้าจะให้ก่อนนั้นก็ "พระเจ้าพรหม".....
เราอ้างกันว่าทั้งหมดที่เราพูดถึง "เขาเป็นไทย"
นี่มันจริงหรือ ?

ทุกวันนี้ ที่คนไทยเกือบจะลืมมหาราชองค์นี้แล้ว
ท่านยังทรงเป็นมหาราชของประเทศเพื่อนบ้านเราอยู่
และทรงเป็นอย่างแน่นแฟ้นเสียด้วย....

ประเทศ "ลาว" ครับ
ลาวที่เราพูดว่า "ทำตัวลาวๆ" นั่นแหละครับ


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 20 พ.ย. 09, 12:23
"เราเป็นไทย เพราะเราเป็นแค่ไทย"
เราไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าชาติอื่นๆ
ที่ไม่เคยเสียเอกราชให้ต่างชาติเลย
เพราะทุกวันนี้เราเป็นอาณานิคมทางความคิดของตะวันตก
และก่อนหน้านั้นเราก็เป็นรัฐในอารักขาของจีนมาก่อน

เราต่างจากเขาที่เราสร้างระบบของเรา
สร้างมันมาเองโดยการไปเรียนรู้มาจากเขา
และภูมิใจอย่างคนที่ "สร้าง" มันขึ้นมาเอง....
เหมือนเด็กเล็กๆที่หัดวาดภาพ...
แล้วคิดว่าตัวเองก็เป็นศิลปินได้



ถ้าท่านผู้สนใจจะเข้ามาอ่านกระทู้
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกรับไม่ได้
ผมขอความกรุณาให้หยุดอ่านเถอะครับ

เท่านี้ผมก็ไม่รักประเทศชาติ
และทำร้ายจิตใจท่านมามากพอแล้ว...
อย่าเลื่อนลงไปอ่านต่อเลยนะครับ
ขอให้ผมได้พูดกับเฉพาะคนที่ยังรับได้จะดีกว่า
















เพราะสิ่งที่ผมจะฝากไว้ ก่อนจะทิ้งเรื่องของวันนี้ไว้ไป
คิดว่าหลายท่านที่เจ็บมาแล้วจากข้างบน
ถ้ามาเห็นเข้าคงจะเคืองอีก



เป็นคำพูดจากอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า

"ปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทย คือ
กบที่อยู่ในกะลาเขาไม่ยอมออกจากกะลาหรอกครับ
ถ้าเราจะไปเปิดกะลาเขา คนพวกนี้จะรีบดึงกะลาลงมาครอบหัวตัวเองต้านเราทันที

...เพราะเขาจะรู้สึกว่าเขาไม่เหลืออะไรเลย"


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 21 พ.ย. 09, 06:18
ผมอ่านดูแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร เป็นข้อคิดของนักวิชาการท่านหนึ่ง ที่แสดงออกมา ผมอ่านแล้วก็คิดดาม ไม่ได้อ่านแล้วตาม ผมว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่านะครับ
มานิต


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 21 พ.ย. 09, 09:43
ติดตามคุณติบอมาหลายกระทู้  อ่านแล้วคิดได้ว่า  คนจำนวนมากติดอยู่กับการจำแนก จัดกลุ่ม แยกประเภท จนลืมไปว่า  เราทั้งหมดทุกตัวคนไม่ว่าจะเชื้อชาติวัฒนธรรมใดก็เป็นมนุษย์ปุถุชนเหมือนกันทั้งสิ้น  การจัดจำแนก แยกประเภทก็เป็นไปเืพื่อการเรียก กล่าวขาน ให้หมายรู้ตรงกัน  หรือเพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งเท่านั้นเอง  ไม่ใช่เพื่อยึดมั่นถือมั่นตัวตนนั้น ๆ ซักกะหน่อย  ส่วนคุณติบอไม่ลืมก็มาช่วยกระตุกกระตุ้นให้เราระลึกได้ จำไว้ ใส่ใจกันหน่อย  ใช่ไหมค่ะคุณติบอ

ยังขอตามต่อทุกกระทู้ค่ะ  ชัดเจนและตรงประเด็น  ก็ดูแรง ๆ หน่อย  ธรรมดาค่ะ  ดิฉันก็รักประเทศไทย และคนไทยไม่ขัดข้องขุ่นเคืองใจแต่ประการใด

ขอแถมนิดหนึ่งค่ะ  จำปากคำเขามาค่ะว่า  เราไม่เป็นกบในกะลาแล้ว  เพราะเปลี่ยนไปอยู่ในปี๊บแทน


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 23 พ.ย. 09, 11:04
ขอบพระคุณท่านมานิต และคุณป้ากุนครับที่ยังติดตามกันอยู่
หลังจากที่หายไปสองสามวัน ผมได้ลองหาบทความเก่าๆ
เรื่องเกี่ยวกับสังคมเหยียดผิวในอเมริกันดู...
ในที่สุด หลายเรื่องตรงกับที่คิดไว้ คือ เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้วได้
เขาสรุปว่า ปัญหาแบบนี้ แก้ได้ 2 ทาง คือ


1.) สร้างเด็กซะ แล้วรอให้คนที่โปรแกรมในหัวแข็งแล้ว die out ออกไป

2.) สนับสนุนให้สังคมรักการอ่าน ไม่กลัวการอ่านงานเขียนเชิงวิชาการ
และผลิตงานเขียนเชิงวิชาการที่อ่านง่าย เช่น หนังสือเด็ก เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น หนังสือเล่มนึงที่ผมประทับใจมาก ชื่อ "How can they fly to the sky ?"
หน้าปกเป็นการ์ตูนรูปปีเตอร์แพน ซุปเปอร์แมน กับอาละดินนั่งพรมวิเศษ
แต่ข้างในเล่าวว่าความคิดเรื่อง "การบินในนิทาน" ของแต่ละชาติเป็นยังไงบ้าง....
อ่านดูแล้ว... วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกชัดๆครับ แค่เขาเอามาย่อยให้เด็กอ่านเท่านั้นเอง
(เผลอๆ นิสิตที่เรียนวรรณคดีเอาไปใช้เป็นหนังสืออ้างอิงได้ด้วยซ้ำ)

3.) สนับสนุนการท่องเที่ยวต่างประเทศในลักษณะที่เป็นไปอย่างเข้าใจ
เมื่อเราเห็นว่าเขาไม่ต่างจากเรา เรากับเขามีอะไรเหมือนๆกัน
ในที่สุด เราก็จะให้เกียรติเขาขึ้นมาเอง

แต่ดูเหมือนว่า 3 เรื่องนี้ยังไม่ชัดเท่าไหร่ในสังคมไทย...
และที่เกิดขึ้นชัดเจนกว่านั้นคือการ "ทะเลาะกับตัวเอง"... ครับ
แค่ผู้หญิงไทยคนไหนเอาฮิยาบมาคลุมหัว.... หลายคนก็ตั้งแง่เสียแล้ว



แต่สำหรับอเมริกัน เรื่องนึงที่น่าแปลก คือ ทุกวันนี้วัฒนธรรมเขาค่อนไปทางผิวสีครับ
เช่น
- เพลงแนว americanization หลายแนว
เช่น R&B, Jazz, Soul เป็นดนตรีที่พัฒนามาจากคนผิวสีเป็นพื้นฐานครับ...


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 23 พ.ย. 09, 11:38
เริ่มต้นเรื่องทฤษฎีทางภาษา....



เรื่องแรกที่ต้องอธิบายให้เข้าใจ คือ
"ภาษา 2 สกุล ผสมกันได้"


ถามว่าผสมกันได้อย่างไร ?
คำตอบคือ "เพราะคนมันปนกัน"


ตัวอย่างเช่น คนฮ่องกง เป็นต้น
เพราะประเทศมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง
พื้นฐานประชากรหลักเป็น "จีน"
แต่ระบบการจัดการสังคมตั้งต้น (ทั้งการเมืองและการศึกษา)เป็น "อังกฤษ"





มาดูกันดีกว่า เราเห็นอะไรได้บ้างจากคนฮ่องกง ?
อย่างแรก... หน้าตาส่วนมากก็ "อาตี๋ อาหมวย"
พออายุเยอะหน่อยก็กลายเป็น "อาเจ็ก อาแปะ อาม้า อาซิ่ม" ไปตามเรื่อง

มาดูเรื่องอื่นดีกว่า.... ภาษาที่เขาใช้ละ
ส่วนมากคนฮ่องกงอายุซัก 40 หรือ 50 ปีขึ้นไปจะพูด 3 ภาษาครับ
คือ
- ภาษาจีนกลาง
- ภาษาอังกฤษ
- ภาษาจีนท้องถิ่นจากบ้านเกิดของบรรพบุรุษ


แต่ถ้าอายุน้อยกว่านี้ลงมา... เขาพูดกันกี่ภาษา ?
มีบ้างครับ ที่จะยังพูด 3 ภาษาเท่าเดิม
แต่ก็มีอีกหลายคนครับ ที่เหลือแค่ 2...
คือ เลิกพูดภาษาบรรพบุรุษไป 1 ภาษา



แล้วคนฮ่องกงตั้งชื่อตัวเองเป็นภาษาอะไรหว่า ?
ส่วนมาก "ภาษาอังกฤษ" ครับ...
เอาล่ะสิ ทำไมหน้าตี๋ พูดจีนคล่องปรื๋อ...
แต่ตั้งชื่อภาษาอังกฤษล่ะ ?

คำตอบคือ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสำคัญกว่าคนฮ่องกง
ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ ตะวันตกเข้ามาอย่างผู้มีอำนาจเหนือกว่า
แทรกตัวเองเข้าสู่สังคมฮ่องกงทั้งการยึดครองดินแดน การเมือง ศาสนา และการศึกษา
ที่สำคัญ... การใช้ภาษาอังกฤษได้ทำให้คนฮ่องกงรู้สึกว่า
ตัวเองเหนือกว่า "คนจีนอื่นๆ" ในแผ่นดินเกิดของบรรพบุรุษตัวเอง... ครับ

ถ้าดูจากภาษาที่พูดแบบนี้... คนฮ่องกงก็เป็น bilingual หรือคนที่เป็นเจ้าของภาษา 2 ภาษาครับ



เรามาดูดีกว่า ว่าเกิดอะไรกับภาษาอังกฤษ และจีน ของคนฮ่องกงบ้าง
อย่างแรก ภาษาอังกฤษเขาสำเนียงไม่เหมือนตะวันตก... แน่ล่ะครับ
การออกเสียงแบบภาษาจีน ถ้าปนเข้ากับภาษาอังกฤษ.... มันต้องไม่เท่ากันแน่
อย่างที่สอง ภาษาทั้ง 2 ภาษาในปากคนฮ่องกง "ปนกัน" ครับ
การปนกันแบบนี้... เกิดจากความสามารถในการใช้ภาษาทั้ง 2 ภาษา
คำหลายๆคำจะถูกปนเข้าหากันโดยสังคมฮ่องกงก็จะยังเข้าใจภาษาเดิมของเขาอยู่


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 23 พ.ย. 09, 11:58
ทีนี้กลับมามองตัวเราเองบ้าง
เอาขั้นแรก ที่คล้ายกับฮ่องกงหน่อย... "ลูกคนจีนในแผ่นดินไทยก่อน"
โดยส่วนตัว ผมเป็นคนแต้จิ๋ว ก็คุ้นกับภาษาแต้จิ๋วมากกว่าภาษาอื่นๆ
ถ้ายกตัวอย่างเป็นภาษาแต้จิ๋วเป็นหลัก... คนจีนกลุ่มอื่นๆอย่าค้อนเอานะครับ

เรื่องทำนองเดียวกันกับในฮ่องกง...
ก็เกิดกับคนแต้จิ๋วในประเทศไทยเหมือนกันครับ

เพราะเมื่อพูดภาษาไทยมานานๆเข้า
คนแต้จิ๋วก็ "มีชื่อไทย - นามสกุลไทย" นานไปอีกหน่อย
ก็ทั้งไหว้เจ้า ทั้งตักบาตร ทั้งเข้าวัดไทย
แล้วก็กรอกใบเกิดลูกและบัตรประชาชนตัวเองว่า นับถือศาสนา "พุทธ"
ทั้งๆที่ตัวเองนับถือ "ผีบรรพบุรุษ" มาก่อนในอำเภอแต้จิ๋ว

ที่สำคัญ ภาษาแต้จิ๋วในไทยปัจจุบัน "ปนภาษา" กับภาษาไทยด้วย





เช่น เมื่อนานมาแล้วมีการถามกันว่า
คำว่า "หลกท่ง" หรือ "หลกท่งจี" ซึ่งเป็นคำด่าภาษาแต้จิ๋ว
เป็นคำภาษาจีน หรือคำยืมภาษาไทย.... ?
เพราะจะลากให้ไปทางไหนก็น่าจะได้ทั้ง 2 ทาง

ผมลองตรวจดูด้วยวิธีง่ายๆ คือ e-mail คุยกับญาติที่สิงคโปร์
และเพื่อนที่เป็นคนแต้จิ๋วในฮ่องกง.... ปรากฏว่าทั้ง 2 ที่ไม่ใช้ครับ
มีคนแต้จิ๋วในประเทศไทยใช้อยู่ที่เดียว...

สรุปจากข้อมูลพื้นฐานได้ว่า
1.) คำนี้น่าจะเป็นคำยืมจากภาษาไทย

หรือ

2.) เป็นคำภาษาแต้จิ๋วที่เกิดการสร้างคำขึ้นในประเทศไทย
โดยกลุ่มคนแต้จิ๋วที่สร้างคำๆนี้ขึ้น ไปยึดเอาคำว่า "ดอกท_ง" ในภาษาไทยเป็นพื้นฐาน
แล้วตั้งใจให้ความหมายและเสียงตรงกันกับภาษาไทย ครับ



ถ้าถามต่อว่า แล้วคำที่กินความเท่ากับคำๆนี้ในภาษาแต้จิ๋วเดิมมีมั้ย ?
คำตอบคือมีครับ... แต่ปัจจุบันกินความไม่เท่ากันแล้ว
เพราะเมื่อ "คำยืม" ปนภาษาเข้าหากันจนเป็นเนื้อเดียว
แต่ละคำจะไปมีหน้าที่ของมันเอง ต่างกันเล็กน้อย

แต่ถ้าพิจารณาดีๆ ก็อาจจะพอเข้าใจได้ ว่า 2 คำนี้กินความเท่าๆกัน

ลักษณะแบบนี้ ภาษาศาสตร์แบบสังคมวิทยา...
จะไม่เรียกว่า "การยืม" แต่จะใช้คำว่า "การปนภาษา" แทน




ขออนุญาตยกตัวอย่างเป็นภาษาไทยนะครับ (จะได้ไม่งง)
มีคำ 3 คำ ที่กินความเท่าๆกันในภาษาเดิม คือ

- ขวัญ (ภาษาเขมร)
- ผี (ภาษามรดกไทเดิม)
- วิญญาณ (ภาษาบาลี-สันสกฤต)

3 คำนี้ถ้าเทียบกลับไปก็จะได้ความหมายเท่าๆกันในภาษาเดิม
หรือในปัจจุบัน เราก็ยังพอรับรู้ได้ว่าคำ 3 คำนี้กินความเท่าๆกัน


แต่ลองนึกดูว่าถ้าเราเอามาใช้แทนกันในบางกรณี... เช่น
มีนักข่าวท่านหนึ่ง ชื่อคุณ "สู่ขวัญ".... เอาคำอื่นมาใช้แทนได้มั้ยครับ ? ::)




อีกซักตัวอย่างนะครับ
- โรงเรียน (ภาษาเขมร)
- สถานศึกษา (ภาษาบาลี-สันสกฤต)


ถ้าผมให้เลือกว่าอันไหนผิดอันไหนถูก ระหว่าง
- โรงเรียนเป็นสถานศึกษาประเภทหนึ่ง
- สถานศึกษาเป็นโรงเรียนประเภทหนึ่ง


ทั้งๆที่ 2 คำนี้กินความเท่าๆกันเลยครับถ้าแปลกลับไปในภาษาเดิม
แต่คนอ่านก็จะยังแอบๆรู้สึกอยู่ดีว่า 2 ประโยคข้างบน มีที่น่าจะผิด 1 อัน และ ที่น่าจะถูกอีก 1 อัน

ที่เป็นแบบนี้เพราะ "ทั้ง 2 คำเป็นคำไทย" ไปแล้ว
และ "สังคมไทยจัดตำแหน่งใหม่ให้คำ" ไปแล้ว เช่นกัน




แต่ก่อนจะภูมิใจในความเป็นไทยไปกว่านั้น
ต้องไม่ลืมว่า "เราไม่ได้คิดขึ้นเองแต่แรก" อยู่ดีนะครับ


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 23 พ.ย. 09, 12:20
1. ขอบคุณที่เขียนต่อ ผมขอเล่าประสบการนอกเรื่องนิดเดียวครับ ตอนผมโดนเนรเทศไปที่อเมริกา ได้เห็นชีวิตคนผิวสี ได้สัมผัสกับท่วงท่าวาจาของเขา ได้เห็นการแบ่งแยก เช่น บางแห่งเขียนไว้เลยว่า off limit ผิวเหลืองๆอย่างผมก็เข้าไม่ได้ แต่ในสถานที่ที่ผมโดนกักกัน ไม่มีครับ เสมอภาดกัน การแบ่งผิว (เท่าที่เห็นเขาแสดงออก)ไม่เห็นอย่างเด่นชัด ผมก็คลุกอยู่กับทั้งสองผิว เล่นกีฬากับทั้งสองผิว ตอนหลังก็เป็นหัวหน้าทีมของสถานกักกันที่มีลูกทีมเป็นทั้งสองผิวด้วยครับ แสดงว่าเขาแก้ปัญหาของเขาจากเด็กแล้วอีกไม่นานก็จะขยายออกไปยังสังคมอื่น
2.ขอนอกเรื่องอีกนิดครับ คือผมเคยโดนเนรเทสไปบางที่ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่งมาก่อน ภาษาฝรั่งเขาดีกว่าเรา  แต่ที่เห็นชัดๆก็คือ เขาไม่ค่อยเชื่อกับความภูมิใจของเราที่ว่า "ไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใครมาก่อน"
3.ตกลง เราเคยเป็นเมืองขึ้นใครไหมครับ
มานิต


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: asia ที่ 23 พ.ย. 09, 15:12
สวัสดีครับ คุณติบออ่านของคุณติบอ แล้วก้ได้ข้อคิดดีครับ จริงๆไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน ภาษอะไร เขาเหล่านั้น ก็เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบด้วยธาตุ ทั้ง4 ดังที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคท่านตรัสไว้ ครับ เขาเหล่านั้นก็มีเลือดมีเนื้อ ทุกข์สุข
เช่นเราๆท่านๆ เหมือนกัน ให้พิจารณาดูนะครับ แล้วเมื่อไหร่จะได้เนื่อ ๆเกี่ยวกับเรื่องภาษาซะทีละครับ คุณติบอ 
ส่วนตัวผมเองสนใจแต่ภาษาในตระกูลชนเผ่าที่เรียกตัวเองว่าไต ครับ ทีมีอะไรคล้ายคลึงกัน เหมือนกันอะครับ


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 24 พ.ย. 09, 05:53
อยากขออนุญาตถามว่าเนื้อๆเรื่องทฤษฎีทางภาษา
ที่คุณ asia สนใจอยู่ในประเด็นไหนบ้างครับ
จะได้เล่าให้ถูกทิศถูกทางครับผม


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: asia ที่ 24 พ.ย. 09, 10:23
ครับ คุณติบอ ภาษาไทที่สนใจ ก็ตั้งแต่โน้นเลยครับ ว่าด้วยไทยอาหม ไท คำตี่ ไทใต้คง ไทมาว ลื้อ ลาว เขิน ไทดำ และที่มณฑลกวางสีในจีนที่ชายแดนต่อกับเวียดนามที่ยังพูดภาษาไท ผมเคยดูรายการส่องโลกได้พบว่ายังมีพี่น้องชาวไทยพลัดถิ่นที่เมืองมะริด ตะนาวศรีในเมืองพม่าโน้นที่ตกค้างมาตั้งแต่ครั้งเสียเมืองมะริดตะนาวศรีให้กับพม่าครั้งกรุงศรีและคนไทที่ไทรบุรีก็น่าศึกษา ดูแล้วมันทึ่งที่ยังมีพี่น้องไทกระจัดกระจายหลงเหลือ พูดภาษาไทพร้อมยังสื่อสารกับเราได้ทั้งที่ภาษาของเราค่อยข้างจะออกทางวิบัติบ้างแล้วครับหมายถึงในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ๆ ผมเอง อยากได้ไปสัมผัสและพบปะพี่น้องไทเหล่านั้นคงจะดี วันหลังอยากให้คุณติบอจัดทัวร์เดินทางไปพบพี่น้องเล่านั้นบ้างครับ


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 พ.ย. 09, 09:04
ขออนุญาตยกมือแสดงความเห็นครับ ;D

คำว่า "ขวัญ" ไม่ใช่คำภาษาเขมรครับ แม้รูปคำจะทำให้สันนิษฐานว่าน่าเป็นคำเขมร  แต่แท้จริงเป็นคำไท ในภาษาเขมรไม่มีคำว่า "ขวัญ" แต่มีคำในภาษเขมรที่ใช้ในความหมายเท่ากับคำว่า ขวัญ ของไท คือ พฺรลึง (อ่านว่า โปฺรลึง หรือ ปฺรัวลึง) ส่วนคำว่า ขวัน ในภาษาเขมรซึ่งออกเสียงเหมือนคำว่า ขวัญ นั้น เขมรแปลว่าชื่อหม้อขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง  นอกจากนี้ก็มีคำว่า ขฺวาน่นาค ซึ่งเป็นคำเขมรที่ยืมไปจากภาษไทยว่า ขวัญนาค  หรือ ทำขวัญนาค นั่นเอง ตรงนี้พจนานุกรมภาษษเขมรเองก็อ้างที่มาว่ามาจากภาษาไทย  และยังว่าแต่โบราณเขมรเรียกการทำขวัญนาคว่า เหาพฺรลึงนาค  แปลตามคำว่า เรียกขวัญนาค  คำว่าขวัญนี้ พบในภาษาไทถิ่นอื่น เช่น ภาษาไทใหย่ หรือฉาน เขียน ขวัน  ส่วนภาษาไทอื่นยังไม่มีเวลาค้นครับ  แต่คติความเชื่อเรื่องขวัญนี้มีอยู่ในกลุ่มชนที่ใช้ภาษาตระกูลไท-ไตทุกกลุ่ม แม้กระทั่งชาวไทอาหมในอินเดียก็มีคติและพิธีกรรมเกี่ยวกับเรื่องขวัญ  ในกลุ่มภาษามอญ-เขมรก็มีความเชื่อเรื่องขวัญเหมือนกัน  แต่เขามีคำเรียกต่างออกไป อย่างมอญใช้คำว่า ปุง์ขเมา อ่านว่า เปิงคะเขา หรือบางทีก็ใช้ว่า เปิง ก็มี  ส่วนเขมรมี พฺรลึง  หรือบางทีก็ใช้ว่า สิริ หรือ มงคล .

ส่วนเรื่องคำว่า โรงเรียน กับ สถานศึกษา ว่ามีความหมายเท่ากันนั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่

สถานศึกษา มีความหมายกว้างกว่าคำว่า โรงเรียน  สถานศึกษา มีความหมายรวมถึงสถานที่ที่ใช้เป็นที่เรียนทั้งหมดทุกระดับชั้น ได้แก่ โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฏ (สมัยก่อนเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ) สถาบันเทคโนโลยี ฯลฯ

ส่วนโรงเรียน ถือว่าเป็นกลุ่มย่อยของสถานศึกษาที่ใช้ชื่อนำหน้าว่า โรงเรียน เท่านั้น ซึ่งจริงก็ยังแยกย่อยไปอีกมากประเภท แต่กระนั้นความหมายก็ไม่กว้างเท่ากับคำว่าสถานศึกษา  ทั้งคำว่า โรงเรียน และสถานศึกษา เป็นคำไทย คำว่า โรงเรียน เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนคำว่า สถานศึกษา คงเกิดหลังจากนั้น  แม้ดดยพื้นฐานของคำประสม ๒ คำนี้ จะเป็นคำมาจากภาษษอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทย แต่การที่ไทยนำคำเหล่านี้มาปรุงประสมประกอบเป็นคำใหม่  เพื่อใช้ในภาษา  ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงความหมายและขอบเขตของความหมาย  โดยอาจจะไม่ได้ยึดขอบเขตความหมายคำในภาษาเดิมก็ได้  เพราะถือว่าคำที่เกิดใหม่เป็นคำไทยแล้ว

ฉะนั้นที่ว่า ทั้งๆที่ 2 คำนี้กินความเท่าๆกันเลยครับถ้าแปลกลับไปในภาษาเดิม อยากขอความกรุณาให้ช่วยแจกแจงรายละเอียดเพิ่มเติมครับ คุณติบอ

(แม้ว่า โรงเรียน จะสร้างจากคำภาษาเขมรทั้ง ๒ คำ แต่ในภาษาเขมรไม่มีคำว่า "โรงเรียน" เขมรเขาใช้คำว่า สาลาเรียน หรือ สาลา หมายถึง โรงเรียน)



กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 พ.ย. 09, 01:50
ขออนุญาตตอบทีละท่านนะครับ
ตอบคุณ luanglek ก่อน ท่านแรก
เพราะตอบง่ายกว่า มี 2 เรื่อง

เรื่องแรก "โรงเรียน" เป็นภาษาเก่าในจารึกขอมครับ
หมายถึงที่ที่ให้ความรู้ หรือพูดง่ายๆ ที่ที่มีไว้เรียน
มีอีกคำที่พบ คือ โรงแรม หมายถึง ที่สำหรับพักแรม

แต่ภาษาเขมรปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว ทั้งโรงเรียน และโรงแรม
และหันไปใช้คำว่า "สาลาเรียน" และ "สาลาแรม" แทน
มีคำที่ยังใช้อยู่บ้าง คือ "โรงโขน" แปลว่า "โรงภาพยนต์"
(เขมรไม่มีคำว่า "ลคร" ใช้ เพราะ ละคร เป็นคำมาลายูที่ยืมไปจาก "โขน" ในภาษาเขมรอีกทอดนึง)

ผมเคยถามคนเขมร ว่า "โรงแรม" กับ "สาลาแรม" ต่างกันยังไง ?
แกตอบมานัยว่า "สาลามีฝา แต่โรงไม่มีฝา"
แล้วถามผมกลับมาว่า "แต่โรงแรมคนไทยมีฝากใช่มั้ย ?"
ฟังแล้วพอนึกตามได้ทันว่าเรายังเก็บคำว่า "โรง" ในความหมายนี้มาใช้อยู่
เช่น วิหารทรงโรง เป็นต้น



อย่างที่คุณ luanglek อธิบายไว้บ้างแล้ว
คำๆนี้เพิ่งจะมาใช้กันอย่างแพร่ระบาดในสังคมไทย ราวๆ รัชกาลที่ 5
เพราะวิธีคิดอย่างการสร้างโรงเรียนแบบฝรั่งเริ่มแพร่กระจายไปทั่วสังคมไทย

ขออนุญาตอธิบายเพิ่มว่า แรกๆที่ใช้ก็ใช้กับหลายๆความหมายที่ปัจจุบันเราหันไปใช้คำอื่นแทน
เช่น โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนพยาบาล ฯลฯ

แต่ในเมื่อภาษาถูกใช้ต่อมาเรื่อยๆ มีการสร้างคำใหม่ๆขึ้น
"สถาบัน" ที่เคยเป็น "โรงเรียน" ก็ไม่อยากเป็น "แค่โรงเรียน"
และหันไปหาภาษาแขกแทนแล้วก็กลายเป็น "วิทยาลัย" ไปบ้าง เป็นต้น
คำอื่นที่ถูกยกมาใช้ใหม่ก็ต้อง "สูง" กว่าคำเก่า เหมือนที่คุณ luanglek รู้สึกครับ


แต่เมื่อลองแปลกลับไปหาความหมายก่อนจะถูกประสม
(ถ้าคิดว่าการประสมคำพวกนี้ขึ้น มีเหตุมาจากความต้องการใช้ความหมายของคำ)
เราก็จะเห็นได้ง่ายๆว่ามันยังกินความไม่ต่างกันนัก เช่น
โรงเรียน = สถานที่ที่เอาไว้เรียน
วิทยาลัย = สถานที่ที่เก็บความรู้ เป็นต้น

แต่เนื่องจากคำทั้ง 2 คำ เป็น "ภาษาไทย" ไปแล้ว
คำเลย "กินความ" ไม่เท่ากัน เพราะ "มันเป็นคนละคำกัน" ครับ




แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าคำที่มากจาก "ภาษาบาลี-สันสกฤต" มักจะมีศักย์ทางภาษาสูงกว่าอื่นๆ
รองลงมา คือ "ภาษาขอม" ส่วนที่ต่ำที่สุดและถูกทิ้งไปแล้วเสียหลายคำ คือ "ภาษาบรรพบุรุษไทเดิม"






ส่วนเรื่องขวัญ ขอติดไว้ก่อนนะครับ
ค้นเพิ่มได้เมื่อไหร่จะมาอธิบายต่อครับ


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 พ.ย. 09, 02:06
ขอตอบคุณ asia ทีหลังนะครับ
เพราะคำตอบจะช่วยให้ต่อกระทู้ได้ง่ายกว่า

อย่างแรก ภาษาเป็นรหัสที่ "สมมุติขึ้น" เพื่อใช้สื่อสารกับสังคมครับ
ภาษาของแต่ละคน จะ "กินความ" ไม่เท่ากันเองในสมองของเรา
เช่น ถ้าถามว่า "อึ กับ ขึ้" แปลว่าอะไร ? อะไรหยาบกว่ากัน ?
(ขออนุญาตใช้ตัวอย่างนี้นะครับ สกปรกแต่เห็นภาพง่ายครับ)
แต่ละคนก็อาจจะตอบในความหมายที่ไม่เท่ากัน
และอาจจะรู้สึกว่ามีคำนึงที่ดู "น่าพูดมากกว่าอีกคำ"
(ไม่เชื่อลองถามเพื่อนซัก 10 คนดูได้ครับ)
แต่ละคนจะมีความหมายที่ "ไม่เหมือน" ในพจนานุกรม แน่ๆ


อย่างที่สอง เนื่องจากภาษาเป็นรหัสของสังคมนะครับ
การศึกษาทางภาษา ก็เลยเป็นการศึกษาทางสังคมวิทยาอย่างหนึ่ง


ทีนี้... เราก็ต้องมาดูแล้วว่าเราจะ "ศึกษาอะไร" ?
เช่น ถ้าจะศึกษาเรื่องชาติพันธุ์เป็นกลุ่มๆ อย่างที่คุณ asia สนใจ
เราก็อาจจะสมมุติให้ภาษาของเขาเป็นภาษาพิเศษตามชื่อกลุ่มของเขาขึ้นมาได้
เช่น ภาษาไทคำตี่ ไทอาหม เป็นต้น


แต่ถ้าจะ "ศึกษา" รายละเอียดของภาษาใดภาษาหนึ่งลงไป
เช่น รายละเอียดของภาษาไทย (หรือไทสยาม) ว่า
"ทำไมคนไทยเชื้อสายต่างๆกันถึงออกเสียงคำแต่ละคำไม่เหมือนกัน ?"
หรือ "คำๆเดียวกัน ออกเสียงและแปลความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรในแต่ละแหล่ง ?"


เราก็อาจจะต้องหาวิธีการศึกษาอื่นๆ
เพราะการตีขลุมเอา "ชาติพันธุ์" ที่ "ถูกสมมุติขึ้น"
มาเป็นบรรทัดฐานชี้ความว่าทุกอย่างนั่น "เหมือนกัน"
(เหมือนการใช้ "พจนานุกรม")จะไม่สามารถทำงานได้ครับ





ยกตัวอย่างเช่น หลายแหล่งในประเทศไทย
เรายังเรียกรองเท้าว่า "เกือก" และเรียกอย่างชินปากด้วย
ในขณะที่ถ้าพูดว่า "เกือก" กับเด็กกรุงเทพปัจจุบัน
เด็กหลายคนก็ไม่เข้าใจแล้วว่าเกือกแปลว่ารองเท้า
และมักจะไปนึกถึง "เกือกม้า" แทน เป็นต้น

ลักษณะแบบนี้เนื่องมาจากสังคมแต่ละที่ "ใช้คำ" ไม่เหมือนกัน
และ "ปรับตัวกับการใช้คำ" ไม่เท่ากันครับ


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 30 พ.ย. 09, 02:36
ทฤษฎีเดิมที่เรามักใช้กันมาทางภาษา
คือ หาเอาความหมายและที่มาจากภาษาก่อนหน้า(ภาษาเดิม)
แล้วเรียกคำๆนั้นว่า "คำยืม" เพราะมีที่มาจากภาษาอื่น

แต่ถ้าลองมองกันทางสังคม ระดับของ "การยืม" มีหลายระดับครับ...



ผมลองแบ่งง่ายๆ 3 ระดับ



ระดับแรก เรียกว่า "คำยืม" ที่ยืมเพราะเราไม่มีของใช้ เราก็เลยต้องยืมเขาใช้
เช่น เราไม่เคยกิน "โอเลี้ยง" นั่ง "เก้าอี้" กิน "ปาท่องโก๋"
วันนึงคนจีนจำนวนมากอพยพเข้ามาประเทศไทย แล้วทำของพวกนี้ขาย
เราก็มีโอกาสได้รู้จักก็เลยต้อง "ยืม" คำว่า "โอเลี้ยง, เก้าอี้, และ ปาท่องโก๋" มาใช้
คำยืมประเภทนี้จะ "ยืมแล้วยืมเลย ไม่สามารถคืนได้" ครับ
ตัวอย่างอื่นๆ เช่น ศัพท์ทางการแพทย์ และ ศัพท์ IT เป็นต้น





ระดับที่สอง เรียกว่า "การปนภาษา" เพราะเรามีของเราใช้
แต่เราก็ใช้ภาษาเขาได้ เราก็เอาคำของเขามาใช้ด้วย
เช่น เรามีคำว่า "ทันสมัย" ใช้ แต่สังคมไทยส่วนมากพูดภาษาอังกฤษได้
เราเลยไป "เอา" คำว่า "modern" ในภาษาอังกฤษมาใช้ในความหมายเดียวกัน
หรือเราก็มีคำว่า "ฉันรักเธอ" ใช้ แต่เราก็ไปเอาคำว่า "I love you" มาใช้ด้วย
ลักษณะแบบนี้ "ยืมแล้วเลือกใช้ได้ แต่ถ้าคำใหม่กลายเป็นของสังคมไปแล้ว คำอาจเปลี่ยนแปลงได้"





ระดับที่สาม เรียกว่า "การย้ายภาษา" จะเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าของที่ "ยืมมา" เป็นของเราแล้ว
และเมื่อเป็นของเราแล้ว เราจะทำอะไรกับมันก็ได้
เช่น คำว่า "modern" ที่ยืมมา โดนตัดซะเหลือแค่ "เดิ้น" ก็ได้

และเมื่อการ "ย้ายภาษา" เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว
เราอาจจะจัดลำดับใหม่ๆ ให้กับ "คำเดิมๆ" ได้
เช่น อาจรู้สึกว่าคำแต่ละคำอยู่ใน "ระดับ" ที่ไม่เท่ากัน
ตัวอย่างเช่นคำว่า ดอกไม้, ผกา, บุปผา, มาลัย, อัปษร ก็แปลว่าดอกไม้เหมือนกัน
แต่สังคมจะเลือกใช้แต่ละคำในระดับที่ต่างกันออกไป เป็นต้น

นอกจากนั้นสังคมยังอาจสร้างความหมายใหม่ให้คำไปเลยก็ได้
เช่น อนงค์ ในภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า อน + องค์ = ผู้ไม่มีกาย คือพระกามเทพ
แต่ในภาษาไทย อาจจะแปลว่านางฟ้า, นางงาม เป็นต้น





เอาเท่านี้ก่อนครับ ขออนุญาตเรียนถามคนอ่านกระทู้ ว่าพอจะทันมั้ยครับ ?


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 30 พ.ย. 09, 09:17
ขณะนี้ไม่ยากเท่าไร สามารถทำความเข้าใจได้ทัน ครับผม
มานิต


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 01 ธ.ค. 09, 02:11
งั้นขอต่อ 1 ความเห็นก่อนเข้านอนนะครับ มี 3 เรื่องสั้นๆ




เรื่องแรก เหตุ ที่เกิด "การยืม" หรือ "การปรับตัว" ขึ้นกับภาษาได้
เพราะสมดุลย์ทางภาษาเป็นสมดุลย์จลน์ครับ
สมดุลย์ลักษณะนี้ก็เหมือนสมดุลย์ของของเหลว หรือแกส
ที่เกิดการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา และไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปทรงเดิมเสมอ
แต่มีรูปทรงเปลี่ยนไปตามที่สังคมจะพาไป

ถ้าสมดุลย์ลักษณะนี้หยุดลง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงกับภาษา
เหมือนน้ำที่ถูกเอาไปแช่แข็ง... นักภาษาศาสตร์ก็จะอธิบายว่า "ภาษาตายแล้ว"
แม้ว่าจะยังมีการใช้คำในภาษาอยู่บ้าง เช่น ภาษาละตินที่ยังเอามาตั้งชื่อวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง

และตู้เย็นที่จะแช่แข็งภาษาได้ดีที่สุด มี 2 ตู้
ตู้นึง ชื่อ "ไวยากรณ์ภาษาเขียน" และอีกตู้นึงชื่อ "พจนานุกรม"
โดยกระบวนการแช่แข็งลักษณะนี้เกิดขึ้นชัดๆในสังคมไทยก็ราวๆ 70 หรือ 80 ปีมาแล้ว





เรื่องที่ 2 ความหมายของคำในภาษา มี 2 ความหมาย
อย่างแรก คือ ความหมายโดยเนื้อคำ เป็นความหมายกว้างๆ
ถ้าเป็นคำยืมในระดับต่างๆ ควรพิจารณาถึงพื้นฐานของความหมายเดิมด้วย
เช่น รำ มาจากภาษาขอม แปลว่าเต้น จะเติมอาคม(เสียงแทรก) ลงให้เป็น "ระบำ" ก็ได้
หรือ ฟ้อน มาจากภาษามรดกไทเดิม(cognate) แปลว่าเต้นเหมือนกัน

แต่เมื่อทั้ง 3 คำนี้เกิดการย้ายภาษาเข้ามาสู้ภาษาไทสยามขึ้น
และเราเริ่มจะไม่รับรู้วิธีการ "เติมอาคม" แล้ว....
สังคมก็จัดการกับคำเหล่านี้ให้แปลความต่างกันออกไปนิดๆหน่อยๆ
แต่โดยรวมก็ต้องเป็นการเต้นอยู่ดีส่วนอันไหน จะช้ากว่า เร็วกว่า
หรือกระดุ๊กกระดิ๊กกว่าก็แล้วแต่สังคมจะพาไปครับ
ความหมายที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ผมขออนุญาตเรียกว่าความหมายทางสังคม


ตัวอย่างอื่น เช่น คำว่า "พระมเหสี พระเทวี พระราชินี พระราชเทวี พระบรมราชเทวี ฯลฯ"
คำเหล่านี้มีความหมายโดยเนื้อคำเท่าๆกันหมด แปลว่าพระมเหสี (ให้พูดง่ายๆก็เมียหลวงของพระราชา)
แต่เหตุในการปรุงคำใหม่ขึ้นเพื่อให้สูงกว่าคำอื่นๆ หรือไม่น้อยหน้ากว่าคำเก่าที่ใช้อยู่
ล้วนแล้วแต่เป็น "ความหมายทางสังคม" ทั้งสิ้น

เวลาเราเปิดพจนานุกรมเพื่อหาความหมายของคำ
พจนานุกรมจะไม่แยกความหมายทั้ง 2 ประเภทออกจากกัน
แต่จะรวมกันเอาไว้ ถ้าต้องการหาความหมายประเภทแรก ควรเทียบกับภาษาเดิม
ก่อนที่คำจะถูกยืมมาใช้ ปนภาษา และย้ายภาษาในที่สุด

ส่วนความหมายประเภทที่ 2 ได้จากการอ่านเอกสารเก่าๆเป็นจำนวนมาก
และวิเคราะห์ดูว่าแต่ละคำถูกปรุงขึ้นเมื่อใด หรือกินความเท่าใดในสมัยแรกๆ
และคำมีการเปลี่ยนแปลงต่อมาอย่างไร
(แต่หลายๆคำที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็หาต้นตอไม่ได้เสียแล้วล่ะครับ)





เรื่องที่ 3 ภาษาเป็นรหัสอย่างหนึ่งครับ
ส่วนที่สำคัญที่สุดแต่เดิม คือ "ภาษาพูด"
คำว่าพูดในที่นี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องพูดกัน 2 คนขึ้นไป
แต่รวมไปถึงการพูดกับตัวเองเวลาที่เรา "คิด" หรือ "อ่าน" สิ่งต่างๆด้วย
เหมือนที่ผมพูดกับตัวเองในสมองเพื่อเรียบเรียงคำในแต่ละประโยค
หรือท่านมานิตอ่านกระทู้ในใจ เป็นต้น

เมื่อจำเป็นต้องพูดหลายๆหนให้เหมือนเดิม หรือพูดกับคนที่อยู่ไกลออกไป
มนุษย์ก็เลยต้องสร้างรหัสที่จะถ่ายเสียงเหล่านี้ขึ้นอย่างเป็นระบบ คือ "ภาษาเขียน"
เพราะฉะนั้น "ระบบ" ที่ถูกสร้างขึ้น จึงเป็นการสร้างเพื่อ "ถ่ายความหมาย" ที่ต้องการ
โดยยึดจาก "เสียง" เป็นหลัก



และเนื่องจากเป็นระบบที่แต่ละสังคมสร้างขึ้น
สังคมจะใช้ระบบไหนก็ได้ เช่น จะใช้แค่จุดกับขีด เหมือนรหัสมอสก็ได้
หรือจะมีพยัญชนะและสระหน้าตาคล้ายๆกัน อย่างภาษาอังกฤษก็ได้
จะมีพยัญชนะและสระต่างกัน เหมือนภาษาไทยก็ได้
หรือจะใช้อักษรภาพแบบคำละภาพเลยเหมือนภาษาจีนก็ยังได้
จะเขียนจากซ้ายไปขวา ขวาไปซ้าย บนลงล่าง หรือล่างขึ้นบนก็ได้
จะมีเสียงวรรณยุกต์แต่ไม่มีรูปวรรณยุกต์ก็ยังได้...
เพราะทั้งหมดเป็นระบบที่สังคมกำหนดมันขึ้นและเป็นอันยอมรับกันในสังคม

ที่สำคัญที่สุดระบบที่ว่านี่คนในสังคมจะเข้าใจหรือไม่ก็ได้
เพราะเป็นคนละระบบกับ "ภาษาพูด"...
และตราบใดที่ยังคุยกันได้ก็ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้


เพราะฉะนั้น เมื่อแรกใช้ ไวยากรณ์ภาษาเขียน
จึงต้องเดินตาม ไวยากรณ์ภาษาพูด
เนื่องจากสังคมรับรู้ภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียนมาก

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้าเราลองเปรียบเทียบสังคมย่อยๆในสังคมใหญ่ๆที่ใช้ภาษาเดียวกัน
เราก็จะพบว่าระหว่าง 2 สังคมอาจมี "การสะกดคำ" และ "การออกเสียง" ที่แตกต่างกันมาก
(กว่าสังคมที่ยึดไวยากรณ์ภาษาเขียน เป็นหลัก)




เช่น ถ้าคนไทยต้องการจะสื่อความหมายของคำว่า "พระ"
เราจะสะกดคำว่า "พระ" ด้วยอักษรไทย และออกเสียงว่า "พระ"
ในขณะที่คนพม่าจะสะกดด้วยอักษรพม่า(ที่ปริวัตรได้ว่า พระ เช่นกัน)
แต่จะออกเสียงว่า "ปย๋า" เป็นต้น


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 ธ.ค. 09, 08:05
ขออนุญาตยกมือซักถามครับ

ที่คุณติบอว่า "...เรื่องแรก "โรงเรียน" เป็นภาษาเก่าในจารึกขอมครับ
หมายถึงที่ที่ให้ความรู้ หรือพูดง่ายๆ ที่ที่มีไว้เรียน
มีอีกคำที่พบ คือ โรงแรม หมายถึง ที่สำหรับพักแรม..."


อยากขอความกรุณาให้คุณติบอช่วยแสดงตัวอย่างข้อความจารึกที่พบคำว่า "โรงเรียน" และ "โรงแรม"  ถ้าระบุชื่อจารึกหรือรหัสจารึกที่ปรากฏคำดังกล่าวได้ด้วย  จะดียิ่ง  เผื่อว่าจะได้นำไปเผยแพร่ต่อครับ


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 05 ธ.ค. 09, 23:21
มาเสริมคุณติบอครับ

คำว่า "ขวัญ" น่าจะเป็นคำไทเดิมครับ คำนี้ อาจารย์ LI Fang-kuei ท่านรวบรวมไว้ใน A Handbook of Comparative Tai

ท่านสังเคราะห์คำจ้วง-ไตเก่า สำหรับคำนี้ไว้ว่า *w(h)ǝ̄n ซึ่งอาจตรงกับคำจีนคือ (กวางตุ้งว่า "หวั่น" = วิญญาณ)

เสียงกล้ำ ขฺว- กับ คฺว- น่าจะเป็นคำไทเดิม มากกว่าคำยืมจากเขมรครับ


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 02 ก.พ. 10, 23:59
หายจากบอร์ดไป 2 เดือนเต็ม... กลับมาถึงเพิ่งจะได้เห็นคำถามของคุณ luanglek
และคำอธิบายเพิ่มเติมของคุณ Hotacunus ขอบพระคุณมากนะครับ

ขอเวลาไปค้นอีกตามเคย (ถ้าไม่ลืมที่จดไว้ทั้งหมดเสียก่อน)
ขอบพระคุณมากนะครับ


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 04 ก.พ. 10, 02:06
เรื่องรหัส กับการยืมคำ ผมก็เล่าไปหมดแล้ว...
ทีนี้เหลือเรื่องที่ทำไมผมถึงกล้าพูดว่า "ภาษาขอมเป็นบรรพบุรุษของภาษาไทย" ได้... ขออนุญาตเล่าให้จบเสียก่อน
เรื่อง "โรงเรียน" และ "โรงแรม" คนอธิบายคนเดิมของผมฝากน้องแมวมาส่งข่าวแล้ว
เดี๋ยวจบส่วนนี้ไปแล้วค่อยตอบคุณ luanglek อีกทีนะครับ


อย่างแรก ถ้าสมมุติว่าเราเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของคน รัตนโกสินทร์ ที่ อยุธยา
ซึ่งเราก็ทราบกันว่าเขาสืบตัวเองมาจาก ทวารวดี แน่ๆ เพราะชื่อเมืองก็ว่าเอาไว้อย่างนั้น
แต่ช่วงเวลาของทวารวดีไม่ได้ต่อเนื่องกับอยุธยาทันทีนะครับ.... มีขอมคั่นอยู่

เอาล่ะ... งั้นตรงนี้คงต้องถามต่อแล้วว่า "แล้วคนทวารวดีพูดภาษาอะไร" ?
จากจารึกที่พบ ภาษาพื้นเมืองที่ใช้ คือ "ภาษามอญโบราณ" แบบทวารวดี
ในขณะที่ "ขอม" ใช้ "ภาษาขอมโบราณ" แน่ๆ....


อ่านมาถึงตรงนี้คงมีคนสงสัยแล้วล่ะครับ ว่า "แล้วอยุธยาพูดภาษาอะไร" ?






ปัญหาอย่างหนึ่งที่จำเป็นจะต้องเข้าใจคือเมืองสมัยตั้งกรุงศรีอยุธยามีสภาพเหมือนเกาะครับ
เมืองแต่ละเมืองจะกระจายตัวกันอยู่ในแต่ละตำแหน่งเมือง สลับไปด้วยทุ่งหญ้า หรือป่าทั้งป่าโปร่งและป่าดิบ
เมืองเหล่านี้มักเชื่อมกันด้วยทางคมนาคม ที่ง่ายที่สุดคือ "ทางน้ำ" แต่ก็มีที่เชื่อมด้วยถนนบ้าง
โดยอาจจะมีชนเผ่า หรือหมู่บ้านขนาดไม่ใหญ่นักอยู่รอบๆเมืองได้

ผลจากการกระจายตัวของเมืองแบบนี้ ทำให้คนในเมืองแต่ละเมือง อยู่กันอย่างค่อนข้างเป็นเอกเทศ
ภาษาที่แต่ละชุมชนใช้จะแตกต่างกันออกไปตามสำเนียงของแต่ละชุมชน และที่สำคัญคือ
ชุมชนมักพูด และเข้าใจภาษาได้มากกว่า 1 ภาษา เพราะการปะปนกันของประชากรอยู่ในระดับสูง

เพราะฉะนั้นนักภาษาศาสตร์ถึงได้จัดให้ ภาษามอญ และภาษาขอม อยู่ในสกุลเดียวกันครับ คือ มอญ-แขมร์
เนื่องจากคนในเครือข่ายนี้ครอบครองพื้นที่บริเวณนี้และเป็นใหญ่มาก่อนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 - 16


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: deawdry ที่ 06 ก.พ. 10, 21:41
สวัสดีครับ
พอดีว่าผมมีโอกาสผ่านเข้ามาพบเว๊ปเรือนไทย และได้สมัครสมาชิกด้วยสนใจใคร่หาความรู้เพิ่มเติมซึ่งมีมาน้อยนิด จึงขอโอกาสฝากเนื้อฝากตัว ณ.ที่นี้ด้วย ผิดถูกกาละเทสะต้องขออภัยด้วยนะครับ ;D

คือว่า

ผมรู้สึกประทับใจต่อเนื้อหาสาระเรื่องภาษาไทยลูกครึ่งมากๆครับ
และผมกำลังทำความเข้าใจเรื่องภาษาแห่งชนชาติอยู่พอดี
จึงอยากถือวิสาสะฝากคำถามต่อท่านติบอและทุกท่าน
ช่วยผมจำแนกที่มาของคำว่า "พาหุยุทธ์" ด้วยครับ
เพราะเท่าที่ผมทราบโดยประมาณถึงที่มา ว่าเป็นภาษาบาลี สันสกฤต แปลว่า การต่อสู้ด้วยแขน, การชกมวย, การปลํ้า
โดยผมเล็งเห็นแล้วว่าทุกท่านในเว๊ปบอร์ดนี้ รู้ทราบภาษาโบราณ ภาษาถิ่นไทย ผมต้องขออนุญาตรบกวนด้วยครับ

ขอบพระคุณมากครับ
หวังว่าคงไม่รบกวนมากเกินไปครับ


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 13 มี.ค. 10, 01:25
ห่างไปสองเดือนกว่า วิ่งมาต่อกระทู้ต่อครับ (ไม่งั้นคงไม่ได้ตอบคำถามคุณหลวงเล็กพอดี)


เมื่อเมืองแต่ละเมืองมีสภาพเป็นเกาะแล้ว ผลที่ตามมาก็คือ...
ภาษาที่ใช้ในแต่ละเขตเมืองอาจมีสำเนียงต่างกันได้บ้างเล็กๆน้อยๆครับ
ชุมชนไหนอยู่ใกล้กัน หรือสัมพันธ์กันมากก็อาจมีสำเนียงที่ใกลักันมากกว่า
เนื่องมาจากความใกล้ชิดและความสัมพันธ์กันทางสังคมครับ


ทีนี้มาถึงจุดเริ่มต้นของผมดีกว่า.... ถ้าชุมชน 2 ชุมชนที่สัมพันธ์กันมากๆ พูดภาษาคนละสกุลกัน.... อะไรจะเกิดขึ้นครับ ?
คำตอบที่ได้ก็คือ.... คนใน 2 ชุมชนนี้ควรพูดได้มากกว่า 1 ภาษา
เนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนที่มีอยู่สูง

อาจารย์ วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ เสนอว่า
ลักษณะเช่นนี้เห็นได้จากวรรณคดีสมัยอยุธยาหลายเรื่อง
ที่มีการนำเอาภาษาขอมมาใช้ปะปนกับภาษาไทยมาก
และมากในระดับที่ถ้าคนอ่านไม่รู้ภาษาขอมแล้วจะอ่านไม่รู้เรื่อง
หรือถึงขั้นที่เขียนด้วยภาษาเขมรทั้งเรื่องก็มี

ตัวอย่าง เช่น ฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง ซึ่งแต่งโดยขุนเทพกวี
ผมขออนุญาตยกตัวอย่างมาจากงานเขียนของอาจารย์วิไลวรรณนะครับ


พระกงงมดนำพลผอง
เตริ่วไพรสรดอง
มิเราะกันลองสบนา

และมีมนุมางสมายอุรา
นักสกลสมนา
บูชาดนูพระไพร

เทียนธูปบุษปนุลาชลมโง
บูชาพระไพร
และไกรและพระผอง



ขออนุญาตอธิบายเพิ่มว่าชนชาติไท-ลาว ไม่ได้รับเอาภาษา บาลี-สันสกฤต จากอารยันโดยตรงครับ
แต่ถ้าลองเปรียบเทียบจารึกภาษาขอมจำนวนมาก จะเห็นว่าการรับเอาภาษาบาลี-สันสกฤตของชนชาติในกลุ่ม ไท-ลาว
เป็นการรับผ่านกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาสกุล มอญ-แขมร์ มาก่อน


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 13 มี.ค. 10, 01:40
จากลักษณะที่พบเช่นนี้ วิไลวรรณ เสนอต่อไปว่า คำภาษามรดกไทเดิม (cognate)
ในภาษาไทยสยาม พบประมาณ 2000 คำ โดยคร่าว
แต่เมื่อเทียบกับงานวิจัยของ อุไรศรีแล้ว จะเห็นว่าภาษา 'สยาม' มีการใช้ ภาษาขอมมากกว่าภาษาไทเดิมครับ

วิไลวรรณยังเปรียบเทียบกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาต่อว่า ที่ไม่เห็นการตั้งหมู่บ้านเขมรชัดเจน
แต่พบการตั้งหมู่บ้านชาติอื่นๆ เช่น หมู่บ้านมอญ แขก ญวน ลาว โปรดุเกส ญี่ปุ่น ฯลฯ
เชื่อได้ว่าความแตกแยกในสังคมระหว่างชน 'สยาม' และ 'เขมร' ยังอยู่ในระดับต่ำครับ
ส่วนที่ค่อยๆแตกแยกกันมากขึ้นเมื่อเขมรเริ่มอ่อนแอลงมาก และไม่มีกำลังจะดูแลเมืองพระนคร
จนในที่สุดเทวาลัยสำคัญๆส่วนมากก็ทรุดโทรมลงและกลายเป็นเมืองที่มีสภาพกึ่งร้างในที่สุด

ถ้าเริ่มนับจากการตีเมืองพระนครสมัยอยุธยาตอนต้น เหตุทั้งหมดนี่กินเวลาราวๆ 200 - 300 ปีเป็นอย่างน้อย
จนในที่สุดพระยาละแวกก็กลายเป็น 'เมืองเขมรเดนเขาเลือก' ไปในราว พ.ศ. 2400







ขออนุญาตหยุดคำอธิบายในกระทู้นี้แต่เพียงเท่านี้นะครับ
ส่วนเรื่องคำถามของคุณ luanglek ผมไม่ได้มีเอกสารต้นฉบับอยู่กับบ้าน
ขออนุญาตรอจนห้องสมุดเปิดทำการแล้วจะรีบนำมาตอบให้ไวที่สุดครับผม


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 มี.ค. 10, 08:32
รอได้ครับ    นานเท่าไรก็จะรอ ;D


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: Thida ที่ 16 มี.ค. 10, 01:14
ดีจังค่ะ ชอบจัง

เห็นบอกว่เปิดจากที่จดไว้ อยากรบกวนถามว่า จดจากอะไรคะ

และขออนุญาตเพิ่มเติมข้อมูลนิดนึงค่ะ คือ ฮ่องกงเพิ่งเริ่มใช้ภาษาจีนกลาง
เมื่อจีนได้ฮ่องกงคืนมาจากอังกฤษ ค่ะ ก่อนหน้านั้นฮ่องกงใช้ภาษากวางตุ้ง
ภาษาของเพลงเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ที่ขึ้นต้นว่าว่า หลองปั๊น หลองเหลา  ;D


กระทู้: ไทสยาม.... ภาษาลูกครึ่ง
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 16 มี.ค. 10, 02:44
ขอบคุณสำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมครับ คุณ Thida
จดที่ว่าคือจดคำถามครับ ผมจดไว้ในสมุดโน้ตเล่มเล็กๆที่หน้าคอมพิวเตอร์ของผม
และที่ต้องจดด้วยเหตุว่าเป็นโรคขี้ลืมครับ


เรื่องคำว่า โรงเรียน และ โรงแรม ของคุณ luanglek
เป็นเรื่องที่ผมได้ยินอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อธิบายไว้
เมื่อมีโอกาสไปเขมรก็ได้ลองถามไกด์เขมรที่นำเที่ยวดูก็ได้คำตอบตรงกัน จึงค่อนข้างมั่นใจว่าใช่

พอถูกคุณ luanglek ถามผมก็ส่ง e-mail ไปเรียนถามท่าน
ท่านก็ตอบชื่อเอกสารที่ควรจะค้นมาให้
แต่เสื้อสีป่วนเมืองครับห้องสมุดมหาวิทยาลัยยังไม่เปิดครับ
คงต้องขอเวลาค้นเอกสารซักพักนะครับผม