เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: chupong ที่ 25 ส.ค. 11, 16:47



กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 25 ส.ค. 11, 16:47
เรียน ท่านอาจารย์เทาชมพูและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติแห่งเรือนไทยทุกท่านครับ

   เมื่อ คุณ Harn_bing ตั้งกระทู้เกี่ยวกับอาถรรพ์ป่าขึ้นนั้น ผมอยากเข้าร่วมเป็นที่สุด แต่...นึกลักษณะของสิ่งลี้ลับในไพรพงไม่ออกสักที ถามตัวเองว่าเพราะอะไร คำตอบที่ได้ คือมัวไปนึกถึงป่าใหญ่กว้าง โดยมิได้จัดระเบียบความคิดเสียก่อน ปัญหาต่อไปคือ ผมควรจะจัดระเบียบความคิดอย่างไรเล่า คำตอบได้แก่ นึกให้ออกว่าเคยอ่านวรรณกรรมผจญภัยในป่าเรื่องอะไรบ้าง แล้วอาถรรพ์ทั้งหลายแหล่จะผุดขึ้นมา กระทู้นี้ จึงขอเชิญชวนทุกท่านกรุณาสละเวลามาร่วมสนุก ถ่ายทอดความบันเทิงจากวรรณกรรมป่าๆที่ทุกท่านเคยอ่าน เพื่อความหฤหรรษ์ แหละเพื่อบันทึกไว้สำหรับการสอบค้น ศึกษาสืบไปครับ

   พูดถึงวรรณกรรมผจญภัยในดงลึก แม้เพชรพระอุมาจะเป็นเอกอะคร้าว แต่ผมต้องขอคำนับครูมาลัย ชูพินิจ เป็นปฐมครับ เพราะท่าน บรรณพิภพไทยจึงมี “ล่องไพร” ตอนแรกสุดของนวนิยายชุดนี้ มีชื่อว่า “ไอ้เก” ศักดิ์ สุริยัน กับร้อยเอกเรือง ยุทธนา พบกันครั้งแรกก็ตอนนี้เอง

   ไอ้เก... กระทิงฝาแฝดซึ่งใครๆต่างเชื่อว่ามันเป็น กระทิงผีสิง เนื่องจากโหดร้ายใจฉกรรจ์นัก พรานคนไหนๆปราบมันไม่ลงสักคน มิหนำ กลับถูกมันขยี้ยับคนแล้วคนเล่า ถึงคราวเคราะห์ เพื่อนสนิทของร้อยเอกเรือง (หากผมจำไม่ผิด รู้สึกจะชื่อชาตรีกระมังครับ ยศอะไรลืมไปเสียแล้ว) ถูกเจ้ากระทิงมฤตยูสังหาร ประจวบกับเรืองได้ข่าวว่าศักดิ์ สุริยัน ท่องเที่ยวล่าสัตว์อยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียง เขาจึงไปขอความช่วยเหลือ ศักดิ์ตกลงช่วยด้วยความเต็มใจ เมื่อนั้น การเดินทางตามล่าอันเข้มข้น พร้อมๆมิตรภาพอันข้นเข้มก็อุบัติ บุกบั่นฟันฝ่า เผชิญหน้ากับเสือกินคน, โป่งค่าง, โขลงช้าง ไฟป่า (ขนาดย่อมๆ ไม่มหึมาน่ากลัวอย่างกลางทุ่งแฝกในเพชรพระอุมา) ฝนกระหน่ำ ท้ายสุดก็...ไอ้เก

   เท่าที่ยังเหลือมาในความทรงจำของผม ศักดิ์ สุริยันยิงไอ้เกถูก แต่มิใช่ผู้ยื่นมรณะให้มัน จุดจบจริงๆของกระทิงฝาแฝดคู่นี้ มันขวิดกันเองแล้วตกเหวหรือหน้าผาลงไปตายครับ สมดังคำทำนายของพระธุดงค์ ซึ่งกล่าวว่า หากไอ้เกยังไม่ถึงฆาต ใคร หรืออะไรก็ฆ่ามันมิได้ ต่อเมื่อถึงเวลาของมันนั่นแหละ มันจะทำลายล้างกันเอง ไอ้เกฝาแฝด มีอดีตชาติเป็นมนุษย์สองพี่น้อง ทว่า ผมลืมเรื่องอดีตกาลแหละอดีตกรรมของสองคนนั่นไปแล้วครับ ท่านใดพอจะนึกออก โปรดการุณย์ฟื้นความจำให้ผมด้วยเถิดครับ และถ้าท่านมีวรรณกรรมผจญภัยในพงพีเล่มใดยังประทับตราตรึงจิตอยู่ เชิญมาร่วมเปิดบันทึกกันเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

   


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ส.ค. 11, 21:54
ยินดีเข้าร่วมวงสนทนาด้วยครับ ตั้งใจจะเข้ากระทู้เรื่องแบบนี้อยู่แล้ว แต่ยังไม่สบช่อง เวลาและโอกาส และก็ไม่มีโอกาสค้นดูกระทู้เก่าของคุณ Harn_bing ด้วยครับ มัวแต่ไปดูกระทู้อื่นๆทั้งๆที่ตนเองก็สนใจและมีประสบการณ์ในเรื่องนี้อยู่บ้างจากชีวิตการทำงานในป่า

ผมอ่านวรรณกรรมประเภทนี้น้อยมาก เรียกว่าแทบไม่ได้อ่านเลย แต่คิดว่าพอจะสนทนาในเรื่องเหล่านี้ได้บ้างครับ

ผมได้มีโอกาสพบบุคคลหนึ่ง และได้เยี่ยมเยียนสนทนากันตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2514 ไปอีกหลายปี หากจะเอ่ยนามคงไม่ผิดกติกานะครับ ท่านชื่อ สนั่น พงษ์โชติ ช่วงนั้นท่านก็มีอายุประมาณ 60 ปีแล้ว ท่านเป็นแพทย์ประจำตำบลหรือสัตว์แพทย์ประจำตำบลผมจำได้ไม่แน่ชัดแล้ว บ้านก็อยู่ที่ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
ท่านเล่าว่า คุณมาลัย ชูพินิจ ได้เคยพบกับท่านและสนทนากันเรื่องป่าดงพงไพร การสนทนาเป็นไปอย่างถูกคอมาก คุณสนั่น ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับป่าและสัตว์ต่างๆตามประสบการณ์และความเป็นจริงที่ท่านเคยประสบ โดยเฉพาะป่าในเขต อ.ศรีสวัสดิ์ และ อ.บ่อพลอย ถึงขนาดไม่ได้หลับนอนจุดตะเกียงคุยกันทั้งคืน คุณมาลัย ก็สอบถามและจดบันทึกข้อมูลสำคัญเอาไว้ และเพียงคืนเดียวนั้นเอง หลังจากนั้นคุณมาลัยก็ไปเขียนหนังสือเรื่อง "ล่องไพร" ในนามปากกาว่า น้อย อินทนนท์ จำจากคำบอกเล่าได้ว่า หลังจากนั้นก็มีการพบปะกันระหว่างบุคคลทั้งสองนี้บ้าง แต่ละครั้งก็ออกไปสัมผัสกับในสนามด้วยกัน เช่น เกี่ยวกับเรื่องของนกที่ขุดรูอยู่บริเวณตลิ่งของแม่น้ำแควใหญ่เป็นต้น

คิดว่าความจำของผมคงไม่ผิดเรื่องผิดคนครับ

เอาเป็นว่า ผมเชื่อว่าเรื่องทั้งหลายในวรรณกรรมชิ้นนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานตามประสบการณ์จริงที่ผู้เล่าได้พบมา ผมก็พบด้วยตนเองในหลายเรื่องและก็ได้สนทนากับ หมอหนั่นคนนี้แหละครับ ด้วยความสนใจในประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

 


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 ส.ค. 11, 08:41
บทชมธรรมชาติในเสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน
 
… พระสุริยาร่อนเรื่อยลงริมดง      เลี้ยวลงเกือบลับพระเมรุใหญ่
สกุณาร่าร้องระงมไพร      เรไรหริ่งรอบลำดวนดัง
เจ้าพลายแก้วแว่วหวาดชะนีโหย      วิเวกโวยหวี่หวีประหวั่นหวัง
ลูกน้อยเหนี่ยวนิ่งบนกิ่งรัง      เหมือนพิมพี่เจ้าสั่งแต่แรกมา
เห็นค่างเคียงนางอยู่ข้างคู่     พิศดูเตือนใจอาลัยหา
เหมือนพิมน้อยแนบนั่งฟังเจรจา     เจ้าแก้วตาป่านฉะนี้จะอย่างไร...
 


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 26 ส.ค. 11, 10:21
ขอบพระคุณคุณ naitang เป็นอย่างยิ่งครับที่กรุณาแบ่งปันประสบการณ์
 รวมถึงกลอนเพราะๆจากคุณหนุ่มสยามด้วยครับ

   ในชีวิตผม เคยเที่ยวป่าไม่กี่ครั้งเองครับ และก็ย่ำอยู่แถวๆชายดงเท่านั้น หนล่าสุด ประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๐ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยซึ่งผมทำงานอยู่ จัดอบรมเจ้าหน้าที่ ณ ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ผมดึงดันจะเข้าเขตป่าลึกให้ได้ แต่ก็ไม่สมประสงค์ครับ เพราะกิจกรรมสัมผัสป่าจัดขึ้นแค่วันเดียว พวกเราก็เลยได้คลำต้นไม้ไม่กี่ต้น ไอ้ที่หวังจะเจอสัตว์ป่าก็มิได้เจอ ขนาดวิหคไพรอันผมคาดว่าคงจะยินเสียงซ้อแซ้เซ็งแซ่ก็กลับสงัด เจ้าหน้าที่นำชมวนอุทยานอธิบายว่า “แค่ได้ยินเสียงฝีเท้าคน สัตว์เขาก็หลบหน้ากันแล้วหละครับ” เอาเถอะน่า... อย่างน้อยๆ ผมก็ได้คลำรอยเท้าช้างหละครับ

   พูดถึงครูมาลัย ชูพินิจ นอกจาก “ล่องไพร” แล้ว ท่านยังเขียน “ลูกไพร” ขึ้นอีกเล่ม เป็นนวนิยายผจญภัยในป่าที่มีเด็กเป็นตัวละครเอก ตาเกิ้นโด่งดังคู่บารมีล่องไพร เขิ่ง ก็สร้างชื่อเสียง วีรกรรมของพรานรุ่นเยาว์ได้น่าทึ่งไม่แพ้กัน สารคดีชุด “ทุ่งโล่งและดงทึบ” ของครูมาลัยก็น่าอ่าน เสียดายครับ เล่มนี้ยังไม่ได้รับการผลิตเป็นหนังสือเสียง ผมเลยมิมีโอกาสฟัง

   ผมรู้มาเลาๆว่า “ล่องไพร” เคยสร้างเป็นละครทางโทรทัศน์ด้วย มีท่านใดเคยชมบ้างไหมครับ


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 ส.ค. 11, 10:52
สิ่งหนึ่งที่คุณชูพงค์รับรู้ถึงป่าไม้ บรรยากาศเป็นอย่างไรครับ ช่วยเล่าให้ฟังสักหน่อย

พลังแห่งป่า นั้นที่กล่าวว่าลึกลับนั้นเกิดจากพลังแห่งธรรมชาติ ทั้งป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ซึ่งหากเดินเข้าป่านั้น สิ่งที่เราต้องพบเจอคือ การต่อสู้ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ทางร่างกาย และทางจิตใจ

ทางร่างกายได้แก่เหล่าสัตว์มีพิษ แมลง ทากดูเลือด และหนทางที่รก ต้องลุยเข้าป่า ส่วนการต่อสู้ทางจิตใจนั้นก็ออกมาวาดลวดลายตามวรรณกรรม ทั้งสิ่งเร้นรับแห่งป่า ความน่ากลัวแฝงพลังที่มนุษย์หาคำตอบไม่ได้ทำให้เห็นว่า มนุษย์นั้นเล็กน้อยเพียงใดเมื่อเดินมุ่งหน้าเข้าป่าดิบอันน่าอันตรายทุกประการครับ


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 26 ส.ค. 11, 15:24
เรียนคุณหนุ่มสยามและทุกท่านครับ

   ก่อนวันเที่ยวป่าห้วยขาแข้ง (แบบผิวเผินเหลือเกิน)ห นึ่งวัน ผมตื่นเต้นมาก ตั้งหวังไว้สูงจะขอลิ้มรสชาติตามที่เคยอ่านมาจากงานวรรณกรรม พอวันจริงมาถึง หัวใจมันโลดลอยตั้งแต่ตรู่ ทุกนาที มีแต่รพินทร์ ไพรวัลย์ อยู่ในสมอง เบื้องแรกที่เท้าสัมผัสพื้นป่า มันเหมือนหัวใจพองคับอกครับ เราเริ่มย่ำกันตั้งแต่บ่ายโมง บรรยากาศค่อนข้างอ้าวอับ ยังดีอยู่หรอกที่ดวงตะวันปรานี ไม่ส่งเปลวแรงร้อนมารอนกำลัง ต้นไม้มีให้ลูบคลำจับต้องมากมาย น่าเสียดายครับ เมื่อเวลาล่วงถึงบัดนี้ ผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าต้นอะไรมีรูปร่างแบบไหน ยามกระทบกับมือ ให้ความรู้สึกเช่นไรบ้าง

   อุปสรรคขนาดเล็กๆซึ่งได้เผชิญ มีอยู่จังหวะหนึ่ง ทุกคนต้องก้าวข้ามขอนไม้สูงเทียมหัวเข่าเพราะเป็นเส้นทางผ่าน นั่นประการหนึ่งหละ กับอีกประการหนึ่งนั้น นี่คือกิจกรรมแฝงนัยให้พวกเรารู้จัก “ก้าวข้าม” สิ่งกีดขวาง ผลลัพธ์สำหรับผมคือ หกล้มครับ (ฮา) น้องผู้หญิงตัวเล็กในฐานะเพื่อนร่วมงานต้องยื่นมือพยุง พลางละล่ำละลัก “พี่ชู ขอโทษขอโทษ เจ็บตรงไหนหรือเปล่า”
   “เปล่า” คำปฏิเสธของผมออกมาจากใจจริงครับ “สนุกดีออก เดินต่อเถอะ” เวลาผ่านไป ผ่านไป แหละผ่านไป ป่ายังคงสภาพดุจไร้ชีวิต
   “อยากเจอโขลงช้างจัง” ผมเปรยอย่างคะนองปาก
   “โอ๊ย” เพื่อนร่วมงานอีกคนร้อง “ถ้าเจอได้วิ่งกันป่าราบ”
   “เราไม่มีทางเจอสัตว์ใหญ่บ้างหรือครับ” ผมไม่หมดหวังง่ายๆ ตั้งกระทู้แก่ผู้นำทาง ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ประจำวนอุทยานนั่นเอง
   “ตั้งแต่ก้าวแรกที่เราเหยียบย่างเข้ามา เขาก็หลบกันแล้วครับ” เขาให้ความรู้ “ตามปกติ สัตว์ป่ามักจะหลีกคน”
   “ว้า...” ผมออกอุทานแสนเสียดาย “งั้น ไอ้ที่เคยอ่านในหนังสือก็อดเจอหมด”
   “ไอ้ที่คุณอยากเจอน่ะ มันอันตรายทั้งนั้นนะครับ” หางเสียงมัคคุเทศก์กลั้วหัวเราะน้อยๆ ทำเอาผมเงียบ จริงสิ... คนตาบอด หากจ๊ะเอ๋กับโพยภัยจังหน้าเข้า จะเอาตัวรอดอย่างไร

   ประมาณเกือบบ่ายสามโมง เมฆฉอุ่มคลุ้มครึ้มเริ่มตั้งเค้า
   “ฝนจะตกแล้ว” ใครอีกคนในประดาพวกเราปรารภ ขณะนั้น เจ้าหน้าที่พาเราเดินทะลุดงเพื่อจะกลับมายังหนทางเก่า สำหรับหลายๆคน ต้องการออกจากป่าก่อนฝนตก ตรงกันข้ามกับผม อยากผจญฝนหนักสักที ใคร่รู้นัก จะน่ากลัวอย่างในงานวรรณกรรมไหม ถ้ามีฟ้าคำรณกระหึ่มปานผืนโพยมจะแยก หรือพายุหวีดหวิวประหนึ่งจะพลิกไพรให้คว่ำหละก็..... อหา! น่าระทึกใจนัก

   เราได้รับน้ำมนต์พระพิรุณก่อนออกพ้นทางเข้าป่าเมื่อขามาครับ เพื่อนๆบ่นกันกระปอดกระแปด ขณะนายชูพงค์ปรบมือร่าเริง ขึ้นรถตู้กลับบ้านพักในลักษณะเปียกโซกทั้งกาย ทว่าฉ่ำชื่นใจเกินพรรณนา ครับผม
   


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 ส.ค. 11, 15:59
เรียนชูพงค์ที่นับถือ

เรื่องเหล่าสรรพสัตว์ใหญ่ที่ท่านต้องการพบเห็น เป็นจินตนาการที่ทุก ๆ คนก็อยากสัมผัส ได้เห็นว่าสัตว์ป่าเหล่านี้ล้วนอยู่ในธรรมชาติตามวิถีแห่งโลก แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่น่ากลัวและอันตรายตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวไว้ทุกประการ สรรพสัตว์ใหญ่นั้นมีวงจรชีวิตของมัน บ้างหากินเช้า กลางคืน ค่ำ ต่างแวะเวียนออกมาหากิน หากแต่ประสาทสัมผัสที่วิเศษเหนือกว่าเราคือ จมูก หู และตา โดยลมนั้นจะพากลิ่นมนุษย์ล่องลอยไปยังจมูก เสียงเหยีบใบไม้แค่กร๊อบเดียว ก็ทำให้สัตว์พวกนี้หยุดการกระทำ และระวังตัวทุกขณะ

ต่อเมื่อคุณชูพงค์อยากเจอะช้างแบบประจันหน้า ช้างจะหวงอาณาเขตที่อยู่รอบ ๆ มาก ถึงขนาดวิ่งเข้าพร้อมเอางวงพาดได้ทุกเมื่อ แต่สัตว์ที่แฝงในป่าใหญ่ที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือ งู และ แมงมุม พวกนี้จะอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับรอให้เหยื่อเข้าใกล้แล้วจึงกัด น่ากลัวกว่ามากครับ

สำหรับพวกนายพรานที่เข้าป่าล่าสัตว์ เขาจะทำที่พักไว้บนต้นไม้ครับ (เรียกว่า ร้าน) และต้องอยู่ใต้ลม ไม่ให้กลิ่นมนุษย์ไปถึงจมูกสัตว์ได้ แถมยังห้ามสูบบุหรี่อีก เพราะมีทั้งกลิ่น ทั้งแสงไฟ และร้านที่อยู่ต้องอยู่บริเวณ "โป่งดิน" เป็นบริเวณดินที่แร่ธาตุพวกเกลือแร่อยู่มาก สัตว์ป่าจะเดินมากินดินเหล่านี้ เพื่อเพิ่มแร่ธาตุให้กับร่างกาย นายพรานก็อาศัยโป่งดินนี้คอยซุ่มจับสัตว์ครับ

และการคลำต้นไม้ของคุณชูพงค์นั้น มัวแต่ตื่นเต้นตั้งแต่เช้า ไม่ทราบว่าได้ยินเสียงเหล่าแมงในป่าบ้างไหมครับ เสียงแมลงร้องเซ็งแซ่นี้ก็เป็นโลกแห่งป่าเช่นกันนะครับ
ลองฟังเสียงป่ากุยบรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=cdL0koq4Fts


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 ส.ค. 11, 16:13
เสียงป่าดิบ ได้ยินพวกนกร้อง และแมลงร้อง บางช่วงเสียงย่ำใบไม้ กรอบ ๆ และกิ่งไม้หัก

http://www.youtube.com/watch?v=DlpZEP1qBRA&feature=related


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 ส.ค. 11, 16:38
ข้าพเจ้าเคยออกค่ายไปทำกิจกรรมในป่าเขาเขียว จ.ชลบุรี เขาจัดไว้เป็นสวนสัตว์เปิดให้ทำกิจกรรมตอนกลางคืน คือ ดูสัตว์ป่าตอนกลางคืนครับ อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่า สัตว์บางประเภทจะหากินตอนกลางคืนและปลอดภัยจากผู้ล่า เจ้าหน้าที่ได้ให้ความรู้ไว้ว่า เมื่อเราส่องไฟฉายไปที่สัตว์ป่าต่าง ๆ ดวงตาจะสะท้อนแสงออกมาให้เราเห็นได้ชัดเจน

สัตว์ที่กินพืชทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์ หากโดนไฟส่องแล้ว ดวงตาจะเป็นลูกแก้วแดงฉาน ส่วนสัตว์กินเนื้อเมื่อไฟต้องดวงตาจะเห็นสีเหลืองหรือเขียว ก็ให้เผ่นได้เลยครับ

อธิบายเสียเกินขอบเขตกระทู้ ขอจบด้วยกลอนแห่งกวี สุนทรภู่ บรรยายป่าชายเลนให้ครับ

"จนออกช่องคลองบางตะบูนใหญ่  ล้วนป่าไม้ตีนเป็ดเสม็ดแสม

นกกะลางยางกรอกกระรอกกระแต    เสียงซ้อแซ้สองข้างทางกันดารฯ"

              (นิราศเมืองเพชร   บทประพันธ์ของสุนทรภู่)



กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 11, 21:00
     ตอนนี้นึกออกแต่เขาใหญ่ เพราะไปปากช่องบ่อย    แต่ในเมื่อไปทางรถยนต์ ไม่ได้เดินเข้าไปไปในตัวป่าจริงๆ ก็เหมือนไม่ได้ไปป่าอยู่นั่นเองละค่ะ
     ตอนไปค้างที่สถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศบนยอดเขาเขียว  นอกจากเจอ "วันเพ็ญ"  ที่เคยเอามาโชว์ในกระทู้สัตว์ประหลาดตอนกลางคืนเขาพาส่องสัตว์   นึกว่าจะเจอเสือเจอหมีบ้างก็ไม่เจอ  เจอแต่กวางซึ่งคงจะเป็นดาราชินกับแสงไฟส่อง  พวกนี้ก็เลยหมอบบ้าง ยืนบ้าง ด้วยท่าทางเฉยๆ ไม่ค่อยไยดีกับรถของมนุษย์ที่แล่นตามกันไป พร้อมสปอตไลท์จ้าบนหลังคา   
อ้อ เจออีกอย่างคือลิงที่วิ่งข้ามถนนมายั้วเยี้ยกันอยู่กลางถนน  คอยรับกล้วยและผลไม้อื่นๆที่โยนลงไปให้จากรถ    ไม่เกี่ยงด้วยค่ะถ้าเป็นขนมหรือคุกกี้

     ไม่ทราบว่าคุณชูพงศ์เคยอ่าน บึงหญ้าป่าใหญ่ ของคุณเทพศิริ สุขโสภาหรือไม่  ใช้อินทรเนตรสอดส่องดูก็พบว่ามีผู้เขียนถึงตัวละครในเรื่องนี้เอาไว้น่ารักมาก  เลยขอลอกมาให้อ่านกันค่ะ
   


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 11, 21:01
     "โทน" พระเอกแห่งบึงหญ้าใหญ่
     โทนเป็นเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่   ไม่ได้กำพร้านะ แต่เหมือนพ่อกับแม่เขาเดินทางไปที่อื่นแล้วยังไม่กลับมาเขาเลยอยู่คนเดียว อยู่บ้านบนต้นไม้ท้ายวัด เอากับเขาสิ ข้าวปลาอาหารรึ โทนก็หาเอาจากในบึงหญ้าใหญ่นั่นแหละ แล้วก็ยังมีแก่ใจเอามาแจกเพื่อน ๆ คนอื่น ที่พ่อแม่ยากจนอีกด้วย ใช่ ... โทนเป็นคนมีน้ำใจ แม้ว่าเขาจะอ่านหนังสือได้ไม่เก่ง แต่เขาก็มี "ผม" อยู่ใกล้ ๆ คอยอ่าน คอยเขียนอะไรให้เขาเสมอ ในขณะที่โทนก็จะคอยปกป้องเวลาเด็กโตกว่ามาแกล้ง "ผม" ซึ่งในเรื่อง เป็นเด็กชายที่ร้องไห้เก่ง พูดจาจ๊ะจ๋าน่ารัก ความสัมพันธ์ของเด็กชายทั้งสองดูจะมีความลึกซึ้งมากกว่ากับเพื่อนคนอื่น ๆ

      ...เขานี่แหละ ที่ทำให้หมู่บ้านของเรากลายเป็นมุมหนึ่งอันงดงามแห่งโลก เขาควรจะเติบโตไปเป็นผู้ถ่ายทอดสิ่งที่มีเสน่ห์มาชูใจคน ความคิดฝันของเขาพิเศษสุดเท่าที่เด็กคนหนึ่งจะเคยมี แผ่นดินทองของไทยนี่แหละที่หล่อหลอมเขา...
      ...เรื่องของเขาเหลวไหลใครว่า เขาทำให้เรารู้จักสายน้ำลำแคว รู้รักแม้หมู่ไม้สายลม เราเข้าใจฟ้าฝนโคลนเหลว ก็เพราะเขาด้วยมิใช่หรือ เราเป็นหนึ่งเดียวเกี่ยวพัน เราเอนอิงกันอยู่ เราเรียนรู้จากกันและกัน...
      บึงหญ้าป่าใหญ่ เป็นเรื่องราวของเด็กชายสองคน ( ผม และ โทน ) ที่รักและผูกพันกัน มีชีวิตในชนบทเมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้อง ที่ช่วยเหลือเกิ้อกูลกัน เวลาผ่านไปเด็กคนหนึ่งมีโอกาสได้ไปเรียนต่อที่อื่น ต้องจากบ้านไป ขณะที่เด็กอีกคนซึ่งโตกว่า  และคอยปกป้องเพื่อนมาตลอด ไม่มีโอกาสจะเรียน ไม่มีโอกาสสัมผัสกับความเจริญใด ๆ คงมีชีวิตอยู่ กับป่า กับบึงเช่นเดิม และยังคงมีความอ่อนโยนในหัวใจ มีมุมมองไม่ต่างจากวัยเยาว์ในขณะที่คนที่จากไปใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ลืมเลือนความคิดเหล่านั้นไปแล้ว
         บึงหญ้าป่าใหญ่ เป็นเรื่องเล่าผ่านประสบการณ์ของ "ผม" เรื่องราวเริ่มต้นในวันที่โลกของ "ผม" กว้างขึ้นกว่าคำว่าบ้าน วันที่ "ผม"เดินไปโรงเรียนในวันแรก จนกระทั่ง "ผม" เดินทางมาเมืองใหญ่ และกลับไปเยือน                     


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 11, 21:03
     เรื่องเล่าในบึงหญ้าป่าใหญ่ เป็นเรื่องเล่า ถึงเรื่องราวใหม่ๆ ที่ "ผม" พบเจอ เล่าถึงครู เพื่อนเด็กเรียน เพื่อนเด็กเกเร เพื่อนเด็กโข่ง เรื่องเล่าของผมค่อยๆขยายใหญ่ขึ้น เหมือนกับโลกของเขาค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นตามวัย จากแค่รอบบ้าน รอบโรงเรียน จนถึงบึงหญ้าใหญ่ ไปจบที่เมืองกรุง
    ฉากหลังของเรื่องเล่าทั้งหมด คือภาพหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ แม่น้ำ บึง สัตย์น้อยใหญ่ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันทั้งหมดนี้คือ ทรัพยากรสำหรับการเลี้ยงชีพของคนในหมู่บ้าน และมันคือ ทรัพยากร เพื่อการเรียนรู้ของเด็กๆ  ฉากหลังที่อาจจะดูเป็นอดีต และค้นหาไม่เจอในปัจจุบัน
     เป็นหนังสือเด็กที่คนอายุรุ่นเราก็อ่านได้อย่างสนุก ต้องบอกว่าอ่านแล้ว หลงรัก โทน ในวัยเด็กนั่นเลยหล่ะ 555
       
     http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=7552.0


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ส.ค. 11, 22:01
ขอแทรกนิดนึงครับ
ลืมบอกไปว่า ตาเกิ้นในล่องไพรนั้น ก็คือ หมอหนั่นคนที่ผมกล่าวถึงนั่นเองครับ ล้อเล่นกับท่านบ่อยๆแต่ท่านก็ไม่เคยปฏิเสธ


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: kui045 ที่ 27 ส.ค. 11, 07:57
เท่าทีอ่านซึมซับและประทับใจ ก็เรื่อง

ขุนช้าง-ขุนแผน
ลิลิตรพะลอ
กาพย์เห่เรือ
ลิลิตตะเลงพ่าย

เพชรพระอุมา
ล่องไพร
บึงหญ้าป่าใหญ่
บ้านเล็กในป่าใหญ่
ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่

อื่นๆ
ซึมซับประทัีบใจ
ในภาษาในการบรรยาย (ขณะอ่าน ณ ตอนนั้น แต่ตอนนี้ลืมหมดแล้ว)

ส่วนเรื่องท่องไพรนั้น
ก็ได้ไปบ้างตามอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า
ไปสัมผัสธรรมชาติแท้ๆที่ยังไม่ผ่านการปรุงแต่ง ตามวิถีเมือง
ถึงได้รู้ว่าคนเรานั้นถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 27 ส.ค. 11, 15:23
ขอขอบพระคุณความรู้ดีๆ ประสบการณ์สนุกๆของคุณหนุ่มสยามครับ ฟังเสียงป่าแล้วอยากเที่ยวขึ้นมาทันใด เคยคิดเล่นๆครับว่า ถ้าผมเกิดบ้าระห่ำเข้าวนอุทยานคนเดียว แล้วขอร้องให้เจ้าหน้าที่นำชม เขาจะยินยอมไหม หรือจะปฏิเสธโดยเห็นเป็นภาระหนักอึ้ง แถมนึกค่อนในใจ “ตาบอดแล้วยังดันอยากเสี่ยงอีก เฮ่อ” มันน่าลองพิสูจน์ดูสักครั้งนะครับ (อิอิ)

   เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   “บึงหญ้าป่าใหญ่” คือหนังสือที่ผมปรารถนาจะฟังอย่างยิ่ง แต่ผิดหวังครับ เพราะแถบเสียงในห้องสมุดสมาคมคนตาบอดมีแบบขาดๆ เดี๋ยวม้วนนั้นหาย เดี๋ยวม้วนนี้ชำรุด ผมฟังได้ม้วนเดียวก็จำเป็นต้องส่งคืน ตั้งใจจะหาหนังสือเพื่อให้ห้องสมุดผลิตเป็นหนังสือเสียงใส่ซีดีเพื่อความเสถียรก็ยังหาไม่พบครับอาจารย์

   


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ส.ค. 11, 16:41
บึงหญ้าป่าใหญ่ ยังมีขายอยู่   ซื้อได้จากทางอินเทอร์เน็ต   เข้าไปตามลิ้งค์นี้ค่ะ

http://www.matichonbook.com/index.php/youth/-555.html

ถ้าคุณอ่านลิ้งค์ลำบาก ขอบอกว่าเป็นของสนพ.มติชน   แจ้งราคาไว้ด้วย


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 27 ส.ค. 11, 18:00
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูอย่างสูงยิ่งครับ ผมเคยสั่งซื้อหนังสือจากมติชนแล้ว คงไม่ยากนักหนา ให้เขาส่งไปรษณีย์มาเลย อหา! ตื่นเต้นครับอาจารย์ ห้องสมุดหนังสือเสียง อาจได้บึงหญ้าป่าใหญ่ฉบับสมบูรณ์ ถ้าผมทำสำเร็จ แหละมติชนยังเหลือสินค้าครับ

ผมพิมพ์ข้อความตอบคุณnaitang เอาไว้ แต่ยังไม่ได้โพสต์ช่วงบ่ายสาม เหตุเพราะ ฝนตกฟ้าคะนองครับ กลัวเข้าเว็บไซต์แล้วเปรี้ยงปร้างขึ้นมา ไฟกระตุกดับวับเซฟงานไม่ทันจะพลันหาย ขออนุญาตพิมพ์ใหม่โพสต์ใหม่แล้วกันขอรับ

   พูดถึงตาเกิ้นนี่ ผมว่า ทักษะเชิงพรานแกออกจะเก่งกว่าตาคำในเพชรพระอุมานะครับ ผมเคยยำใหญ่เล่นๆในห้วงคำนึง จับล่องไพรกับเพชรพระอุมาให้มารวมกันเสีย ทั้งนี้ เพราะอยากรู้ว่า บุคคลในวรรณกรรมทั้งสองเรื่องจะสามารถเดินทางร่วมกันได้หรือไม่ เรื่องพิเรนทร์ของผม ออกมาบ๊องๆแบบนี้ครับ

   ภายหลังจบฉากสุดท้ายในเพชรพระอุมาของท่านพนมเทียน ฉากใหม่เปิดขึ้น ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เชษฐา วราฤทธิ์ ลืมตาตื่นขึ้น สายน้ำเกลือ อุปกรณ์ช่วยหายใจ และสรรพเครื่องมือช่วยชีวิตห้อยระโยงรยาง ชัยยันต์ ดาริน อนุชา นั่งเฝ้าพร้อมหน้า สืบไปสืบมา แท้จริง หม่อมราชวงศ์หนุ่มใหญ่มิได้เดินทาง เหตุการณ์ทั้งหมด เป็นเพียงความฝันยืดยาวขณะดำรงสภาพเจ้าชายนิทราเกือบปี วันที่อนุชาหนีออกจากบ้าน ประกาศว่าชาตินี้จะไม่มีใครในตระกูลวราฤทธิ์เห็นเขาอีกแล้ว เขาจะเข้าป่าไปเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมตามลำพัง เชษฐาได้สติภายหลังจากนั้นมินาน (ก่อนดารินกลับจากอังกฤษ) ก็ออกตามหา เริ่มจากเขตป่าอันเขาแหละน้องชายเคยคุ้น เคยเที่ยวล่าสัตว์ตามประสานักนิยมไพรด้วยกัน โดยตั้งสมมุติฐานว่า อนุชาอาจตั้งต้นจากจุดนั้น แล้วอดีตท่านทูตทหารบกก็บาดเจ็บสาหัสจากฤทธิ์ของสัตว์ป่า แน่หละ.... จะมือฉมัง หรือแม่นยำปานใด สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เชษฐาถูกหามส่งโรงพยาบาลในลักษณะสิ้นสติ เมื่อดวงจิตยึดมั่นอยู่กับความเป็นห่วงน้องชาย มุ่งพะวงกับการติดตาม ดังนั้น ยามสลบหลับ ความฝันจึงดำเนินไปตามอุปาทาน (คล้ายๆคนตายแล้วฟื้น ตื่นขึ้นมาเล่าเรื่องแปลกๆฉะนั้นแหละ)

   ดารินบินกลับจากอังกฤษทันทีที่รู้ข่าวป่วยขั้นโคม่าของพี่ชาย วังวราฤทธิ์วุ่นวายโกลาหลยิ่ง ทุกบาท ทุกสตางค์ ท่านพ่อทรงทุ่มรักษา หาก ลูกชายใหญ่ก็ยังไม่ฟื้นตื่นขึ้นสักที อนุชาทราบข่าวก็พลันสิ้นทิฐิ เรื่องอื่นเอาไว้ก่อน เขาต้องกู้ชีวิตพี่ชายคนเดียวให้ได้ คุณชายกลางหวนคืนวัง เข้ากราบขอขมาท่านพ่อ พูดในทำนอง ผมมีส่วนผิด เพราะผม พี่ใหญ่จึงประสบอันตราย จากนั้น อนุชา ชัยยันต์ ดาริน ก็ผลัดกันเฝ้าเชษฐา บางทีก็มาพร้อมๆกัน หวัง หวัง แหละก็หวัง ว่าสักวัน คนไข้หนักจะลืมตา

   แล้ววันนั้นก็มาถึง เชษฐาคืนสมประดี พร้อมๆกับนิยายในความฝันอันโลดโผน ทั้งน้องทั้งเพื่อนอ้าปากค้าง ฟังเขาเล่าอย่างตื่นเต้นระทึกขวัญ

   ข่าวฟื้นของอดีตท่านทูตทหารบกรู้กันทั่ว เพื่อนฝูงมากมายต่างมาเยี่ยม หนึ่งในนั้นคือ เรือง ยุทธนา เขาผู้นี้สนิทกับชัยยันต์เพราะเป็นเพื่อนทหารรุ่นพี่ เรืองมากับศักดิ์ สุริยัน มิตรแท้ผู้ร่วมผจญภัยในป่ากับเขามาเนิ่นนาน ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง พรานไพรชื่อก้องคนหนึ่งก็กำลังนอนหยอดน้ำข้าวต้มอยู่ อันเนื่องมาจากกระทิงขวิด เขาคือรพินทร์ ไพรวัลย์

   ไม่ต้องสงสัยเลย ในเมื่อชื่อเสียงของรพินทร์เกริกก้อง ศักดิ์ สุริยัน ตลอดจนใครก็ตามที่ชอบบุกดงย่อมรู้จักเขา เชษฐาแม้ไม่เคยเห็นตัวจริงของพรานผู้นี้ แต่จากการติดต่อกับนายอำพนสม่ำเสมอ ย่อมต้องเคยยินกิตติศัพท์บ้าง และเมื่อฝันวกวน ก็เอารพินทร์เข้าไปกวนกับความฝันนั่นด้วย

   ช่างบังเอิญอย่างเหลือเชื่อ ที่ความฝันเรื่อง “เทือกเขาพระศิวะ” ของเชษฐา มิใช่เรื่องเลื่อนลอย ภายหลังจากศักดิ์พาพี่น้องตระกูลวราฤทธิ์เข้าเยี่ยมรพินทร์จอมพรานผู้ทระนง ต่างจึงรู้จากปากคำของรพินทร์ว่าเขามีลายแทงอันจะมุ่งหน้าไปเทือกเขาพระศิวะจริงๆ นักนิยมไพรหรือจะไม่อยากทดลอง มันท้าทายหยอกไปเสียเมื่อไหร่เล่า หากผลลัพธ์ปรากฏว่า ดินแดนแห่งความฝันในแผ่นภาพมโนวิถี หรือภวังคจิตของเชษฐากลายเป็นเรื่องจริงจังขึ้นมา

   อาการเชษฐาดีวันดีคืน พอเขาหาย ลูกผู้ชายเลือดข้นทั้งหมด บวกลูกผู้หญิงเลือดเข้มอีกหนึ่ง (คือดาริน) ก็ตกลงจะพิสูจน์ให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลย การเดินทางจึงถูกตระเตรียม แหละเริ่มต้นในเวลาต่อมา คณะของเชษฐา อันมีรพินทร์เป็นมัคคุเทศก์ กับคณะของศักดิ์ สุริยัน อันประกอบด้วยร้อยเอกเรือง ยุทธนา แหละตาเกิ้น (เป็นหลัก) รวมกันเป็นคณะใหญ่คณะเดียว

   ตั้งแต่ผมเห็นหลายๆท่านเล่นเพชรพระอุมาภาคอลเวงในเว็บพันทิพย์ก็เกิดอยากเล่นบ้างครับ แต่เว็บดังกล่าวไม่เอื้อต่อการเข้าถึงสำหรับคนตาบอด ผมจึงขออนุญาตนำจินตนาการเลอะเทอะของตัวเองมาเปิดเผยที่นี่ครับ ผิดพลาดหรือมีสิ่งมิบังควรฉันใด ขอน้อมกราบแทบเท้าท่านครูมาลัย ชูพินิจ ท่านพนมเทียน อีกทั้งทุกๆท่านที่ชื่นชอบล่องไพร เพชรพระอุมา ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
 



กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 11, 14:13
สนุกดีค่ะ สำหรับเพชรพระอุมาภาคพิเศษ     ถ้าศักดิ์ สุริยัน รวมกับรพินทร์ ไพรวัลย์ได้  จะมีการผจญภัยอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านิทรานคร  โลกล้านปี และมรกตนคร ยังนึกไม่ออก
ขอแนะนำผลงานของนักเขียนเรื่องป่า วัธนา บุญยัง
เขาเขียนเรื่องป่าไว้ประมาณ ๒๐ กว่าเล่ม  ส่วนที่นำมาลงให้อ่าน เป็นบทความที่หาเจอผ่านอินทรเนตรนี้เอง
ชื่อ รอยเท้าในราวไพร
ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 42  ฉบับที่ 11  เดือนมิถุนายน 2545

ผมมีโอกาสได้สัมผัสป่าตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ เป็นการตามญาติผู้ใหญ่เข้าไปตัดหวายออกมาขาย เหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านมากว่าสี่สิบปีแล้ว ป่าดงดิบทึบทะมึนแห่งนั้น บัดนี้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ มีแต่โรงงานเต็มไปหมดขับรถผ่านทีไร แม้แต่ซาก คือไม้ใหญ่สักต้นก็ไม่มีให้เห็น

ผลจากการได้เข้าป่าเป็นครั้งแรก ป่าที่เคยได้ยินกิตติศัพท์ ฟังแต่คำบอกเล่าของคนรุ่นเก่ามานับครั้งไม่ถ้วน มันมืดครึ้ม ลึกลับ น่าสะพรึงกลัวจริงสมดังคำเล่าขาน ทุกย่างก้าวเต็มไปด้วยอันตราย ไม่ว่าจากสัตว์ใหญ่อย่างเสือ หมี หรือช้าง ลงมาถึงสัตว์ขนาดเล็กอย่างงู เห็บ และทาก หนทางที่ไปก็แสนยากลำบาก เกวียนเทียมควายสามเล่มที่บรรทุกเสบียงเข้าไปต้องช่วยกันลากบ้าง เข็นบ้าง ตัดกิ่งไม้รกขวางทาง ตัดทางใหม่ อ้อมต้นไม้ล้ม ข้ามห้วย ขึ้นเนินไม่รู้กี่ครั้งกว่าจะถึงที่หมาย

แต่ป่าหามีแต่ความน่ากลัวอย่างเดียวไม่ ตรงกันข้ามมันยังมีความสงบ ร่มรื่น และสวยงามน่าพิศวงอย่างยากที่จะหาที่ใดเสมอเหมือน ไม้ใหญ่แต่ละต้นสูงจนต้องแหงนมองกันเมื่อยคอ ลำต้นใหญ่หลายคนโอบ มีเถาวัลย์และบันไดลิงพันเกี่ยวระโยงระยาง ไม้ผลมีให้เก็บกินหลายชนิด มะไฟป่า ระกำ มะม่วง มะกอก ฯลฯ

ดอกไม้ป่าบานอยู่ดาษดื่น เข็มป่าสีส้ม เครือออนสีชมพูอมม่วงคลุมอยู่บนยอดไม้ ตะแบกประดู่ ยิ่งกล้วยไม้ประเภทช้างกระและกุหลาบม่วง บานส่งกลิ่นหอมเย็นมาเป็นระยะ

ตลอดทางที่ผ่านไป สัตว์ป่าสวยงามอย่างลิง ค่าง บ่าง ชะนี กระรอก กระแต มีให้เห็นและส่งเสียงให้ได้ยินตลอดเวลา โดยเฉพาะนกนานาชนิต ตั้งแต่ขนาดใหญ่อย่างนกเงือกกรามช้าง เหยี่ยวรุ้ง ลงมาถึงนกแก้ว ขุนทอง เขาเปล้า และกางเขนดง

ตลอดทางที่ผ่านไป สัตว์ป่าสวยงามอย่างลิง ค่าง บ่าง ชะนี กระรอก กระแต มีให้เห็นและส่งเสียงให้ได้ยินตลอดเวลา โดยเฉพาะนกนานาชนิต ตั้งแต่ขนาดใหญ่อย่างนกเงือกกรามช้าง เหยี่ยวรุ้ง ลงมาถึงนกแก้ว ขุนทอง เขาเปล้า และกางเขนดง

สัตว์บกก็มีให้เห็นกลางวันแสก ๆ โดยเฉพาะเก้ง วิ่งตัดหน้าขบวนในระยะใกล้หลายครั้ง ไม่ต้องพูดถึงรอยเท้าบนพื้นดิน ตามริมห้วยเต็มไปด้วยรอยหมู เรื่อยขึ้นไปถึงกระทิงและช้าง

แต่ที่ทำให้ทุกคนหนาว ๆ ร้อน ๆ โดยเฉพาะเด็กอย่างผม คือรอยกลมใหญ่เกินฝ่ามือกาง ที่ลุงคนนำทางชี้ให้ดูแล้วบอกว่ารอยเสือ


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 11, 14:14
ได้ยินคำว่าเสือ แทบจะทุกคนก็เกิดอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาวราวกับเป็นไข้ รู้สึกว่าป่ามันเย็นยะเยือกขึ้นมาทันทีทั้งที่เดินกันมาร้อนจนเหงื่อหยด
และทั้งหมดนั่นเอง คือเสน่ห์ที่ทำให้ผมหลงใหลกลายเป็นคนชอบเที่ยวป่ามาจนกระทั่งบัดนี้

แม้จะติดใจจนอยากเข้าไปอีกหลาย ๆ ครั้ง แต่ป่าก็เหมือนห่างไกลเกินไขว่คว้า เพราะการเข้าป่าแต่ละครั้งเป็นเรื่องใหญ่ที่เด็กอย่างผมไม่มีทางจะไปได้เอง

ความโชคดีที่แม้ไม่มีโอกาสได้เข้าป่าอีก แต่ยังมีหนังสือเกี่ยวกับป่าให้อ่าน ผมตามอ่านหนังสือเรื่องป่าทุกเล่มเท่าที่หาได้ในยุคนั้น ยิ่งอ่านก็ยิ่งเกิดภาพพจน์และจินตนาการเพราะทั้งฉากและบรรยากาศ ตัวเองก็ได้รู้ ได้เห็น และสัมผัสมาไม่ใช่น้อย สิ่งใดที่ยังไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น ก็อยากรู้ อยากเห็น กลายเป็นแรงกระตุ้นให้รักป่า อยากเที่ยวป่ามากขึ้นเป็นทวีคูณ

แล้วเมื่อมีโอกาสเข้าป่าได้ด้วยตัวเอง เริ่มจากป่าทางเหนือเมื่อเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่นั่น เชียงใหม่เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วยังมีป่าเหลืออยู่มากพอสมควร โดยเฉพาะเส้นทางลูกรังจากเชียงดาวไปฝาง ฮอดไปแม่สะเรียง หรือแม่ริมผ่านโป่งแยงไปสะเมิง สมัยที่ยังไม่มีรถโดยสารวิ่ง ถนนคือทางเกวียนในหน้าแล้งและกลายเป็นลำห้วยในหน้าน้ำ สองข้างทางคือป่ารกทึบ ถ้าเดินไม่ถึงหมู่บ้านก็มีสิทธิ์อดข้าวตายกลางทาง

เมื่อป่ายังมีมากขนาดนั้น สัตว์ป่าจึงมีให้เห็นแทบจะตลอดทาง ที่ประทับใจมากที่สุด คือทางหลวงจากแม่สะเรียงไปแม่ฮ่องสอน เลยจากตัวอำเภอไปไม่ถึงกิโลเมตร บนต้นสักสองข้างถนนก็มีห้างดักยิงหมูป่าขัดไว้เป็นระยะ แสดงถึงความชุกชุมของหมูป่า ที่เดินข้ามถนนกันโดยไม่ต้องอาศัยทางม้าลาย


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 11, 14:15
ในระหว่างเรียนก็เที่ยวป่าทางเหนือ พอปิดเทอมผมมีโอกาสกลับมาเที่ยวป่าตะวันออกบ้านเกิดอีกครั้ง ป่าตะวันออกทางด้านเขาอ่างฤาไนเมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้ว ยังมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล กินอาณาเขตครอบคลุมไปหลายจังหวัดและติดต่อข้ามไปถึงฝั่งประเทศเขมร

ความประทับใจจากการเข้าป่าครั้งแรกในวัยเด็กยังมีต่อเนื่องมาถึงวัยหนุ่ม แม้ป่าจะลดพื้นที่ลงไปไม่น้อย ป่าวังเย็นที่ผมเคยเข้าไปตัดหวายกับพ่อแม่กลายเป็นไร่มันสำปะหลังไปหมดแล้ว แต่เลยจากนั้นป่ายังเขียวครึ้ม แมกไม้สูงใหญ่ยืนทะมึนหนาแน่น บริษัททำไม้เพิ่งจะเริ่มกรุยทางเข้าไป ไม้ตะเคียน แดง มะค่า และยาง ที่ถูกโค่นและชักลากมารวมหมอนที่ลาดกระทิงกองเป็นภูเขาเลากา ยางแต่ละต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว่าสองเมตร ไม้ซุงแถวนี้ที่ลากมาวางนอนไว้เวลายืนอยู่คนละด้านต้องตะโกนคุยกัน เพราะสูงเลยหัวทั้งนั้น

โชคดีมหาศาลของผมที่มีคนพาไปรู้จักพรานเก่าแก่ของป่านี้ และฝากฝังให้พาผมเที่ยวป่าให้ทั่ว นั่นเองจึงเป็นที่มาของประสบการณ์อันมีค่า ที่ผมนำออกมาเล่าขานและเขียนถึงอย่างไม่รู้จบ

ป่าใหญ่กับวัยหนุ่มของผมมีพรานเจนป่าเป็นผู้พาบุกเข้าไปในดงลึก นอนกลางดิน กินกลางทราย ใช้ชีวิตแบบพรานพื้นบ้านสมัยก่อนแท้ ๆ อาวุธคือปืนแก๊ปกระบอกเดียว อาหารมีเพียงพริก เกลือ และข้าวสารถุงเล็ก ๆ เอาไปมากก็แบกไม่ไหว อยู่ในป่าได้สองวันข้าวก็หมดแล้ว แต่ก็ไม่เคยอดอยากหิวโหย เพราะฝีมือของพรานบวกกับป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ อาหารมีอยู่รอบตัวถ้ารู้จักหามากิน ทั้งพืชผักผลไม้ป่าและสัตว์บก สัตว์ปีก รวมไปถึงกุ้ง หอย ปู ปลาในลำห้วย จนผมเชื่อสนิทในคำพูดของพรานเฒ่า ที่ว่าป่าคือแหล่งอาหารอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์

ตกมาถึงยุคปัจจุบันนี้ ชักจะเริ่มไม่แน่ใจเสียแล้วว่าคำพูดนั้นจะยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า เมื่อป่าไม่เป็นป่าอย่างแต่ก่อนอีกต่อไป


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 11, 14:17
ในช่วงหลายสิบปีของการเดินป่าที่ผมหลงไหล ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งเต็มไปด้วยความสะดวกสบายราบรื่นไปเสียทั้งหมด ตรงกันข้าม ส่วนใหญ่เป็นการผจญภัยที่บางครั้งแทบจะเอาชีวิตไม่รอด ทั้งจากภัยธรรมชาติประเภทน้ำป่าที่พัดตึงลงมาอย่างไม่รู้ตัว แค่ตะเกียกตะกายเอาตัวรอดมาได้ก็บุญนักหนาแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเต็นท์และเสบียงที่หาซากไม่พบ

หรือบางทีก็โดนไฟป่าล้อมจนผิวเกรียมเนื้อแทบสุกถ้าไม่ใช้ไหวพริบและความรวดเร็วแก้สถานการณ์ไว้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีสภาพเหมือนเต่าภูเขาที่นอนตายให้เห็นเป็นระยะหรือไม่

นอกจากการเดินแบกเสบียงขึ้นเขาลงห้วยสุดแสนทรหด บางเวลาร้อนและกระหายน้ำจนคอแห้งเป็นผง แต่หาน้ำกินไม่ได้ เจอเถาวัลย์น้ำสักต้นเปรียบเหมือนเห็นพระมาโปรด รีบฟันลงมากรอกใส่ปาก ได้น้ำคนละห้าหยดสิบหยดพอรอดตาย

แต่บางครั้งก็เจอฝนกระหน่ำหนัก เสื้อผ้าข้าวของเปียกชุ่มโชก หาฟืนมาก่อไฟไม่ได้ ต้องนั่งสัปหงกหลับนกกันอยู่ตามโคนไม้ ข้าวปลาอาหารหุงไม่ได้ อดเกือบตายอีกเหมือนกัน

มีบ้างเหมือนกันที่ไม่ต้องเดิน อาศัยเส้นทางลากไม้เก่า ใช้รถจี๊ปรุ่นโบราณบุกเข้าไปให้ลึกที่สุดเท่าที่จะไปได้ ทั้งติดหล่ม ชนตอไม้ ยางแตก ติดอกตกร่องลึก ต้องขุดดิน ทั้งเข็น ทั้งลากจนหมดแรง บางครั้งติดค้างวันค้างคืน


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 11, 14:19
ถ้าจะถามว่าแล้วเข้าไปทำไมให้ลำบาก คงจะตอบยากอยู่เหมือนกัน รู้แต่ว่าใจมันอยากจะเข้าไปสัมผัสสรรหาความแปลกใหม่ ความตื่นเต้น กับเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ เป็นรสชาติของชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง

เหนือสิ่งอื่นใด คืออยากพบกับความสงบและงดงามของธรรมชาติที่ยังไม่เคยถูกรบกวนโดยมนุษย์คนใดมาก่อน

ปัจจุบันบรรยากาศและธรรมชาติของป่าดั้งเดิมหมดสิ้นไปแล้ว แต่ผมก็ยังไม่เลิก หรือเบื่อเที่ยวป่า และถ้าให้เลือกก็อยากเลือกเที่ยวป่าแบบเดินบุกเข้าไปมากกว่าใช้รถ แม้ว่าสังขารร่างกายจะอ่อนล้าไม่แข็งแรงเหมือนวัยหนุ่มแล้วก็ตาม

เที่ยวป่าแบบเดิน สามารถซอกซอนเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติของป่าได้อย่างลึกซึ้ง ได้เห็นได้ยินสรรพสำเนียงทุกอย่างชัดเจน ไม่ว่าเสียงนก แมลง แม้กระทั่งสายลมที่พัดผ่านยอดไม้และซอกเขา เดินป่ายิ่งน้อยคนยิ่งได้บรรยากาศ ได้ซึมซับความละเอียดอ่อนของธรรมชาติเต็ม ๆ

ที่สำคัญคือ การเดินเป็นการเบียดเบียนป่าน้อยที่สุด
จริงอยู่ การเดินต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า บางครั้งเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยว บางครั้งน่ากลัว แต่นั่นก็เป็นการฝึกใจให้เป็นสมาธิได้อย่างหนึ่ง ได้อยู่คนเดียวเงียบ ๆ กลางป่า มีเวลาใคร่ครวญถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมา อยู่กับความสงบสงัด ร่มรื่น และสวยงามของธรรมชาติ แล้วอาจจะพบสัจธรรมได้ไม่ยากว่าอะไรคือสิ่งที่เราปารถนาอย่างแท้จริง อาจเป็นแรงผลักดันช่วยให้ช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ดำเนินไปอย่างมั่นคงและมีคุณค่ามากขึ้นก็เป็นได้

ขอฝากไว้สักนิด ถ้าไม่เคยลำบากเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ไฉนจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของความสบาย จริงไหมครับ


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 11, 14:29
     "ป่าไม่ได้ให้ข้าพเจ้าแค่ความรู้สึกร้อนหนาว สนุกสนาน ตื่นเต้นเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หรืออิ่มเอมกับความสดชื่นสวยงามของภาพที่ผ่านตาป่าในความรู้สึกของข้าพเจ้า ไม่ได้มีแค่ต้นไม้และสัตว์ แต่ป่ามีอะไรให้ข้าพเจ้าได้มากว่านั้น ในช่วงชีวิตที่ได้มีโอกาสตระเวนไปในป่าโปร่งและดงดิบด้วยความรัก และประทับใจในความงามและสงบสงัดของป่าเขาลำเนาไพร      มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในป่า แม้บัดนี้กาลเวลาจะล่วงเลยมานานแล้ว   แต่เหตุการณ์เหล่านี้นั้นยังคงแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืม "

      ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่ ถือได้ว่าเป็นนวนิยายแนวป่าชิ้นสำคัญอีกเล่มหนึ่งของเมืองไทย ที่ปลุกเร้าผู้อ่านให้เกิดความรักในธรรมชาติ หวงแหนป่าดงดิบ รักในสรรพสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยป่าซึ่งเป็นบ้านหลังสุดท้ายของมัน ที่มนุษย์กำลังบุกรุงเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งป่าผืนแล้วผืนเล่าหายไปจากแผนที่ของประเทศไทย....

      จาก ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่ ของวัธนา บุญยัง


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 28 ส.ค. 11, 17:17
ผมละเลียดอ่านข้อความทั้งหมดที่ท่านอาจารย์เทาชมพูกรุณานำมาลงไว้ทีละบรรทัดอย่างซาบซึ้งในเสน่ห์แห่งป่าครับ กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างอเนกอนันต์ครับที่เมตตาแนะนำให้ผมรู้จักวรรณกรรมล้ำค่าอีกเล่มหนึ่ง “ใบไม้ร่วงในป่าใหญ่” น่าสนใจยิ่งครับ

   ขออนุญาตเรียนถามเพื่อรับความรู้จากอาจารย์ครับ เพื่อนๆเขาบอกว่า นวนิยายเรื่อง “ร้อยป่า” ก็ฟังสนุก พระเอกรู้สึกจะชื่อ เสือ กลิ่นศักดิ์ หรืออะไรนี่แหละครับ ผมไม่เคยลิ้มลอง หรือแม้แต่รู้เรื่องย่อ จึงไม่ยืมมาฟังครับ เพราะกลัวจะผิดหวัง อาจารย์เคยอ่านหนังสือเล่มนี้บ้างไหมครับ ขอความเห็นอาจารย์สักเล็กน้อยครับผม
   


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 11, 18:02
"ร้อยป่า" เป็นนิยายเกี่ยวกับป่าไม้  ผู้แต่งคือ "อรชร(ศรี ชัยพฤกษ์)" และ "พันธุ์ บางกอก(สมพันธ์ ปานะถึก)"  เป็นนิยายเก่าแก่อายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว
เรื่องย่อ
 เสือ กลิ่นสัก เป็นเด็กกำพร้าจากบ้านป่าภาคเหนือ เป็นเด็กวัดที่เข้ากรุง เรียนจบจากแม่โจ้  แล้วก็กลับสู่ป่าในฐานะพนักงานป่าไม้ผู้รักษาป่าไม้ของชาติ
การทำหน้าที่ของเขาต้องต่อสู้อุปสรรคและความอยุติธรรม การดูถูกเหยียดหยาม การแบ่งชั้นวรรณะทางสังคม ทว่าคำสอนที่หลวงตาพร่ำบอกให้รักษาความดี ให้ยึดมั่นในการทำความดี และความรักระหว่างเพื่อน ที่เรียกว่า เพื่อนแท้ นำพาเขาก้าวผ่านอุปสรรคนานา

เสือ กลิ่นสัก...พนักงานป่าไม้ที่ซื่อสัตย์ ทั้งเก่ง ทั้งดี และสามารถชนะใจสาวด้วยความดี เสือ ยึดมั่น และบูชา ความรักของเขา แก่ธนิษฐา ลูกสาวคุณหลวงคหบดี แต่ธนิษฐา นั้นโชคร้ายมีโรคประจำตัว และต้องตอบแทนครอบครัว โดยรับหมั้นกับ อนิรุทธิ์ บุรษรูปงามแต่หลายหลากน้ำใจ ลูกชายพระยาฯ คหบดีใหญ่
วงจรชีวิต ให้ทั้งหมดพบกันตั้งแต่เด็ก จนกระทั่ง เวียนมาเป็นคู่รักคู่แค้นกัน ทั้งในหน้าที่ปกป้องพิทักษ์ป่าไม้ และคุ้มครองคนรัก



กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 11, 18:03
เสือเฝ้าปกป้อง ธนิษฐา หญิงสาวที่ตนบูชา แม้รู้ว่า ตนนั้นต่ำต้อยเพียงธุลีดิน   เสือมีหญิงสาวผ่านเข้ามาหลายคน   ล้วนแต่หลงรักเสือ แต่เสือไม่รักใครนอกจากธนิษฐา และ แสงทอง" แต่เมื่อถึงเวลาเลือกหนึ่งเดียว เสือก็เลือกธนิษฐา"

เสือ กลิ่นสักเป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้เข้มแข็ง ไม่เคยทรยศต่อหน้าที่การงาน และประเทศชาติ เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหลายๆ คน ในสมัยนั้น อยากจะเป็นพนักงานป่าไม้ และเป็นนักอนุรักษ์ป่า ที่ดี

 การผจญภัยของเสือมีทั้งต่อสู้่กับการลักลอบตัดไม้ การสวมรอยโค่นป่า และต้องต่อสู้กับอิทธิพลของเจ้าพ่อ   แต่เสือเป็นคนจริง ฉลาดรอบคอบ และมีคุณธรรมจึงผ่านปัญหามาได้ทุกครั้ง
ชีวิตต่อสู้นำเสือไปพบเสือเทิ้ม โจรร้าย ที่ตอนหลังกลายมาเป็นผู้ช่วยพระเอกปราบอธรรม

ภาคแรกได้รับความนิยม จึงมีร้อยป่า ภาคสมบูรณ์ตามมา   มีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 11, 18:07
คุณชูพงศ์คงเคยได้ยินเพลง ป่าลั่น  เอาคลิปมาให้ฟังค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=DKHA9aUpfv8


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 29 ส.ค. 11, 11:02
ผมอ่านเรื่องย่อของ “ร้อยป่า” ที่ท่านอาจารย์เทาชมพูกรุณามอบความรู้จบแล้ว กราบขอบพระคุณอย่างสูงยิ่งครับ ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า ถ้าผมจะยืมร้อยป่ามาฟัง ก็คงจะฟังจำเพาะภาคที่ไม่เกี่ยวข้องกับอิทธิปาฏิหาริย์เท่านั้นพอครับ

   เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ นายชูพงค์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ของขวัญที่ได้รับจากคุณพ่อคุณแม่ตลอดจนพี่น้อง คือหนังสือหนึ่งชุด ชุดนี้มีสามเล่ม ได้แก่ “สมิงไพร”, “ไพรมัจจุราช”, “ไพรพยัคฆ์” ผลงานของท่านชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ครับ ก่อนหน้านั้น ตอนเรียนมัธยมปลาย คุณน้าท่านเห็นหลานกำลังติดเพชรพระอุมาขนาดหนัก ท่านเลยซื้อ “ไพรผาดำ” ของท่านชาลีอีกเช่นกัน มาให้ลองสัมผัสดู สิ่งที่ผมขอสารภาพแก่ท่านผู้อ่านกระทู้ทุกๆท่านคือ หนังสืออันได้กล่าวนามมาทั้งหมด ผมเคยฟังเพียง “ไพรพยัคฆ์” เล่มเดียวเท่านั้น เหตุเพราะ มีเป็นหนังสือแถบเสียงอยู่แล้ว เล่มที่เหลือคงต้องรอต่อไปครับ

   ผมค้นข้อมูลจากอินทรเนตร (ขออนุญาตใช้คำนี้ตามท่านอาจารย์เทาชมพูขอรับ ชอบจัง) พบว่า ท่านชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ เป็นนักเขียนนิยายป่าผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่ง งานประพันธ์มีมากมายหลายเล่ม ผมสะดุดกึกเอากับชื่อหนึ่งเข้า คือ “ไพรมหากาฬ” ครับ เพราะไปเหมือนกับชื่อตอนแรกของเพชรพระอุมาภาค ๑ จากข้อมูลที่ค้นได้ “ไพรมหากาฬ” ของท่านชาลีเขียนก่อนเพชรพระอุมาแน่ๆ ในเว็บไซต์wikipedia ระบุว่า เรื่องนี้ ละครวิทยุคณะเสนีย์ บุษปะเกศ นำไปเล่นออกอากาศ พ.ศ. ๒๕๐๐ ก่อนการถือกำเนิดของเพชรพระอุมาถึง ๗ ปี ผมชักอยากอ่าน “ไพรมหากาฬ” ของท่านชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ เปรียบเทียบกับ “ไพรมหากาฬ” ของท่านพนมเทียนขึ้นมาแล้วซีครับ



กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ส.ค. 11, 13:49
เรียนคุณชูพงค์ที่นับถือ

เข้าไปหาข้อมูลเรื่องไพรมหากาฬ มาให้เปิดฟังได้เลยครับ ที่ลิงค์นี้เลย http://www.4shared.com/audio/37AmIWod/__3.html

ผมฟังแล้วตื่นเต้นดีครับ


ส่วนเพชรพระอุมา (หนังสือเสียง โหลดฟังได้ฟรีเช่นกันครับ) http://biftkagird.blogspot.com/2010/08/blog-post.html


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 29 ส.ค. 11, 14:14
เรียนคุณหนุ่มสยามที่รับถือยิ่งครับ

   เพชรพระอุมา ผมยังไม่เบื่อในการเสพครับ  ที่บ้านมีซีดีให้นั่งฟังนอนฟังอยู่เนืองนิตย์ นอกจากความสนุกตื่นเต้นแล้ว ผมยังฟังเพื่อศึกษากระบวนวรรณศิลป์อย่างเพลิดเพลินยิ่ง ท่านพนมเทียนสลักเสลาอักษรเสียจนคนตาบอดหลังคลอดสามเดือนอย่างผมเห็นภาพในหัว ได้ยินเสียงขณะเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนสรรพสำเนียงของป่า พวกเราคนตาบอดมีความเห็นพ้องต้องกันครับ ว่า เพชรพระอุมา เป็นวรรณกรรมที่เข้าถึงคนตาบอด หมายถึง สามารถทำให้คนตาบอดมองเห็นในจินตนาการได้กระจ่าง ฉะนั้น หนังสือยอดนิยมของห้องสมุดหนังสือเสียงสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย  จะประจำหนึ่งเดือน สามเดือน หกเดือน หรือสิบสองเดือนก็ตาม เพชรพระอุมา (ตอนใดตอนหนึ่ง หรือมากกว่านั้น) ไม่เคยตกครับ
     


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 11, 10:35
ไปหาเรื่องป่าของคุณชาลี เอี่ยมกระสินธุ์มาให้อ่านค่ะ  จากโอเคเนชั่น

ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์
นักเขียนเรื่องป่าระดับตำนาน

ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์เคยบันทึกไว้ว่า “ในช่วงระยะเวลากว่าสี่สิบปีที่ข้าพเจ้าใช้เวลาว่างจากงานออกแสวงหาความสุขสงบจากชีวิตกลางแมกไม้และโตรกธาร ท่ามกลางสีเขียวของธรรมชาติ ในป่าสูงที่แน่นขนัดด้วยไม้ใหญ่น้อย  ป่าเริ่มเปลี่ยนสภาพจากรกทึบเป็นโปร่งกว้างมากเข้าทุกปี  การตัดไม้ การเผาป่า การบุกรุกเข้าไปถากถางเพื่อสลายป่าให้กลายเป็นไร่  พฤติกรรมของมนุษย์ผู้บดขยี้ป่าเป็นต้นเหตุของความวิบัติไปถึงดินฟ้าอากาศ  สัตว์ป่าซึ่งมีอยู่ชุกชุมย่อมต้องดิ้นรนหนีเข้าไปอยู่ในป่าที่ลึกเข้าไปอีก  แต่มันจะไปไหนได้ เพราะป่าดงดิบที่มีขุนเขาหยัดยอดยืนตระหง่านเหล่านั้นไม่ใช่ป่าที่มีอาหารให้มันเหมือนป่าที่มันเคยใช้ชีวิตอยู่แต่เดิม
 
ข้าพเจ้าพาท่านผู้อ่านไปพบกับป่าของเราสมัยที่ยังอุดมสมบูรณ์ งดงาม ผ่องแผ้ว และเป็นป่าพรหมจรรย์อันน่าสัมผัสยิ่งนัก  สี่สิบปีที่เที่ยวป่ามานั้นได้ถูกจดไว้ในอนุทินแห่งชีวิต

ตั้งแต่ก้าวแรกที่ข้าพเจ้าก้าวเข้าไปในป่า ข้าพเจ้าต้องการเที่ยวป่าเท่านั้น ไม่ใช่ล่าสัตว์  ข้าพเจ้าได้บอกไว้แล้วว่า ข้าพเจ้าไม่เคยยิงสัตว์อะไรตายสักตัวเดียว ความจริงเรื่องนี้ก็รู้กันดี ในประดาท่านผู้ใหญ่ที่รู้จักข้าพเจ้า  เพราะข้าพเจ้าเป็นนักเขียน  ต้องการเก็บทุกสิ่งทุกอย่างในป่ามาเป็นตัวหนังสือ
 
ข้าพเจ้าค่อนแคะและติเตียนพวกที่ยิงสัตว์อย่างไม่เป็นกีฬาค่อนข้างรุนแรง  ข้าพเจ้าไม่คัดค้านในการที่เพื่อนจะยิงเสือกินคน  หรือสัตว์ที่เป็นอันตรายเมื่อจำเป็นต้องป้องกันตัว  แต่ข้าพเจ้าไม่ต้องการเห็นการยิงอย่างล้างผลาญ  เรื่องนี้พูดมาตั้งแต่แรกเขียนเรื่องป่าลงในหนังสือพิมพ์ไทยรายวันเมื่อปี 2493
 


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 11, 10:35
ป่านั้นมีทั้งเรื่องตื่นเต้น น่าพิศวง เพลิดเพลิน บริสุทธิ์ และงดงามด้วยสีสันอันมีชีวิตชีวาในตัวของมันเอง  สี่สิบปีที่ข้าพเจ้าได้ตระเวนไพร ได้รับความสุขสันต์หรรษาอย่างเต็มเปี่ยม  สิ่งที่ได้เห็นมาจากป่าล้วนฝังในจิตสำนึกอย่างไม่ลบเลือน”
 
บันทึกดังกล่าว ชาลีได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของเขา เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงตัวตนที่แท้ของความเป็นนักเขียน

 นักเขียนที่ไม่ต้องการจับปืน  แต่ต้องการหยิบทุกสิ่งทุกอย่างจากป่ามาเป็นตัวหนังสือ

 ชาลีนำเอาประสบการณ์ของตนจากป่ามาผนวกกับเรื่องเล่าของเหล่าพรานจนกลายเป็นนิยายที่ยิ่งใหญ่หลายต่อหลายเล่ม  ไม่ว่าจะเป็นไพรผาดำ สมิงไพร ดงพญาไฟ รวมทั้งสารคดีอย่างป่าโบราณ ป่าในอดีต ป่าอาถรรพณ์ ป่ามหัศจรรย์ ทุกเล่มได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านอย่างกว้างขวาง

 ชาลีเล่าว่านักอ่านท่านหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การรถไฟ เขียนจดหมายมาถามถึงผลงานเล่มใหม่ของเขาอยู่เสมอ  เคยถึงขนาดเขียนจดหมายมาทวงต้นฉบับให้พิมพ์เป็นเล่ม  เขาต้องการอ่านและเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นใหม่ต่อไป  นักอ่านท่านนั้นเชื่อว่า ต่อไปจะไม่มีป่าเหลืออีกแล้ว  ดังนั้นหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องป่าต้องมีคุณค่านับอนันต์


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 11, 10:40
รายชื่อหนังสือเกี่ยวกับป่า ของคุณชาลี  เท่าที่ใช้อินทรเนตรมองหา
๑  วิญญาณไพร
๒  ป่าสมิง
๓  กระทิงล่าพราน
๔  ป่าสูงและยูงยาง
๕  ดงพญาไฟ
๖  เสือดาวที่เสางาม

ส่วนนวนิยายที่ท่านเขียน  คือ
    ชุมนุมฟ้าผ่า ตีพิมพ์ใน ปิยมิตรรายสัปดาห์
    โป่งผี ตีพิมพ์ใน สกุลไทยรายสัปดาห์
    ไพรมหากาฬ ตีพิมพ์ใน เพลินจิตต์รายวัน นำไปออกอากาศละครวิทยุโดย เสนีย์ บุษปะเกศ เมื่อ พ.ศ. 2500
    เรื่องสมิงไพร ไพรมัจจุราช ไพรพยัคฆ์ ตีพิมพ์ใน เพลินจิตต์สามรส รายวัน
    ไพรผาดำ ตีพิมพ์ใน นครไทยเบื้องหลังข่าว



กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 30 ส.ค. 11, 11:01
ผมเข้ามากราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูอีกคราหนึ่งครับที่ท่านกรุณารวมผลงานเขียนของท่านชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ให้พวกเราได้อ่านกัน สำหรับตัวผมเอง อ่านแล้ว เห็นที ภารกิจเบื้องแรกคือต้องไปเคลียหนังสือสามเล่มในตู้ (สมิงไพร ไพรมัจจุราช ไพรพยัคฆ์) รวมถึงไพรผาดำอีกหนึ่งชุด (สี่เล่ม) ก่อนอื่นใดทั้งสิ้น ซึ่งก็มิรู้เหมือนกันครับว่าอีกเมื่อไรจึงจะจบ จากนั้น ค่อยตามล่าหาขุมทรัพย์หนังสือเล่มอื่นๆครับอาจารย์
 


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 01 ก.ย. 11, 13:44
ผมขออนุญาตทุกๆท่านถ่ายทอดความประทับใจที่ผมมีต่อนวนิยายสองเรื่องอันเกี่ยวกับ “ป่า” และ “เสือ” สักเล็กน้อยครับ

   จริงอยู่ แม้ผมจะชอบนวนิยาย “หุบเขากินคน” ของท่านอาจารย์มาลา คำจันทร์ ฟังกลับไปกลับมาหลายเที่ยว ทว่านิยายจากปลายปากกาของผู้เขียนท่านเดียวกันที่ตราตรึงล้ำลึก คือ “เขี้ยวเสือไฟ” ครับ ซึมซับกับบรรยากาศป่าทางเหนือ เรียนรู้ความเป็นอยู่อันพึ่งพิงอิงอาศัยกันระหว่างคนกับป่า ได้อ่านขนบจารีต คติความเชื่อซึ่งฝังแนบแน่นอยู่ในวิญญาณของชาวบ้าน เหนืออื่นใด ตื่นใจบวกตื่นเต้นกับวีรกรรมของเธอ...อีแก้วเฮือน เด็กหญิงห้าวกล้าผู้ประกาศให้ทุกคนรู้ผ่านการกระทำของเธอว่า เสือไฟยังรู้จักตาย แต่หัวใจเสือไฟไม่มีวันตาย

   เมื่อสองปีก่อนนี้เอง (พ.ศ. ๒๕๕๒) ผมเพิ่งจะได้ฟังนวนิยายเรื่อง “ทางเสือ” ของท่านอาจารย์ศิลา โคมฉาย เป็นครั้งแรก แล้วก็ต้องออกอุทานกับตนเองยามได้ตระหนักรู้ว่าการเขียนถึงตัวละครเอกเพียงตัวเดียว แต่จงใจเล่นกับอารมณ์ผันผวนปรวนแปรแบบตามความคิดในสมองของเขาทุกๆวินาทีมิใช่เรื่องง่ายดายสำหรับนักเขียนเลย พลอยทำเอาผมเครียดไปด้วยครับ แหละเมื่อเขาสบตากับเสือร้ายอย่างตรงๆ ไม่หลบเลี่ยง ไม่หลีกลี้ ช่างน่าแปลกแท้ๆ แววตาเสือกลับเป็นดั่งดวงแก้วส่องสัจจะ เขา ตัวละครเอกได้ค้นพบความจริงของชีวิต เจอทางออกจากป่าและออกจากอุปาทานบางอย่างที่เคยยึดติด ผมก็ผ่อนลมหายใจโล่งอกเช่นกัน ทั้งหมดที่เขียนมา คือเรื่องราวอันอยากเล่าสู่ทุกท่าน ครับผม
 


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: atsk ที่ 05 ก.ย. 11, 15:08
ผมชอบ ล่องไพร ของครู มาลัย ชูพินิจมากๆครับ อ่านแล้ววางไม่ลงจริงๆครับ

ของ ชาลี เอี่ยมกระสินธุิ์ ก็ชอบเรื่อง   เทวรุปงาช้าง 




กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 11, 18:58
กระทู้นี้แยกไปเป็นกระทู้  สัมผัสกับป่าในอดีต (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4769.0) ค่ะ

หรือจะเข้าตามลิ้งค์
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4769.0


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 11, 11:27
ดิฉันมีบทความเรื่องป่าของคุณชาลี  เอี่ยมกระสินธุ์ มาฝากคุณชูพงศ์อีกเรื่องหนึ่ง

แสงไฟในป่าเปลี่ยว
โดย...ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์
จาก นิตยสารต่วยตูน
            เหนือกองไฟที่สุมไว้สว่างรุ่งโรจน์ ช่วยให้ความหนาวเหน็บเหนือป่าลำแม่ประจันต์ในวันนั้นผ่อนคลายไปได้มากทีเดียว พวกพรานใหญ่ๆรุ่นเก่าๆได้เดินทางมาชุมนุมกันเกือบครบถ้วนเพราะเมื่อท่านเจ้าเมืองมาเยี่ยมและมาตระเวนไพรแล้ว ดูเหมือนว่าต่างก็มีความชื่นชมยินดีที่จะได้สนองความต้องการในการเข้าป่าล่าสัตว์ เหมือนทุกครั้งที่พรานอาวุโสบรรดาศักดิ์ของเราเดินทางเข้าไป เนื่องจากเขาจะได้รับทุกสิ่งทุกอย่างนอกเหนือจากเงินบำเหน็จ หยูกยารักษาโรค อาหารการกินที่จะพร้อมบริบูรณ์ซึ่งจะแจกจ่ายกันทั่วไปในหมู่บ้าน
                การเข้าป่าของพวกเราจึงเป็นการช่วยบำบัดทุกข์ โรคร้าย และชีวิตของชาวป่าที่น่าสงสารเหล่านั้นไปในตัวตราบใดที่มีนายแพทย์ใหญ่ทหารบก คุณพระ ศัลย์เวทย์ วิศิษฏ์ ไปด้วยพร้อมโรงพยาบาลสนามของท่านที่เต็มไปด้วยเครื่องมือแพทย์อันจำเป็นได้เคยช่วยชีวิตชาวป่ามามากแล้วหลายคน  รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงที่พาเรือนร่างอันมีโรคร้ายมาให้ท่านรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเสียอะไรทั้งสิ้น กะเหรี่ยงและชาวป่าจะเป็นโรคไข้ป่า โรคทางเดินอาหาร โรคเกี่ยวกับลำไส้เสียเป็นส่วนใหญ่


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 11, 11:28
ไก่ป่า ครับผ๊ม...!

     ชีวิตที่ดับลงไปแล้ว แต่วิญญาณยังอยู่ ชาวกะเหรี่ยงก็มีความเชื่อเช่นนั้น  แม้พรานมือฉมังชาวกะเหรี่ยงก็ยังกลัวผี เรื่องภูตผีปีศาจเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน เพราะดูหมือนว่าวิญญาณที่วอดวายไปแล้วนั้นจะกลับปรากฏร่างอีกครั้งหนึ่งก็ในยามค่ำคืนหรือในยามที่เกิความวิปริตบางอย่าง
     ในเรื่องเกี่ยวกับผีสางนางไม้ เสือสมิง หรือภูตพรายอันเป็นความอ่อนแอของพรานป่าทั้งหลายนั้น เจ้าเพชร์ราชฯรับสั่งกับข้าพเจ้าว่า
     “เป็นเรื่องกลัวกันไปเอง”
     แต่มิได้รับสั่งว่ามันจะเป็นเรื่องจริงตามความหวาดกลัวหรือไม่เพราะ ข้าพเจ้าเองก็ยอมรับว่ากลัวผีป่าผีโป่งแน่นอน
     ใครจะไปกล้าหาญกับสิ่งที่มองไม่เห็นเช่นนั้น ในจิตสำนึกอันลึกล้ำ พวกเราเชื่อกันว่าป่านี้มีอาถรรพณ์ มีเจ้าของที่คอยปกป้องอยู่ และมักจะสำแดงเดชให้เห็นเมื่อถูกลบหลู่หรือดูหมิ่น เนื่องจากพวกเรานั่นแหละที่ชอบแซวเจ้าป่า ชอบยั่วเย้าท้าทายอะไรทำนองนั้น แล้วผลมันก็ออกมาเป็นไปอย่างน่าระทึกใจจริงๆ
     จากป่าทางตอนเหนือไร่ร้าง-ไร่ซาก หรือไร่ผีกินที่พรานกะเหรี่ยงกลัวนั้น เป็นป่าที่เก้งกวางและสัตว์ทั้งหลายชอบเข้ามาหากินจากพืชพันธุ์ธัญญาหารที่หลงเหลือค้างจากการทิ้งไร่อพยพครอบครัวหนีไป   ไร่จึ่งรกร้างเต็มไปด้วยหญ้าพงขึ้นเต็ม แต่ขณะเดียวกันผลไม้อย่างฟักแฟงแตงกวามะเขือ และฟักทองที่ขึ้นมาตามมีตามเกิดเนื่องจากฝนฟ้าดี มันก็งอกงามขึ้นมาให้สัตว์ป่าที่พากันเข้ามากินในยามดึกสงัดหลังจากน้ำค้างตกหนักจนเปียกชุ่มชื้นทั่วไปตลอดทั้งไร่ซากนั้นแล้ว
    ตรงหนองน้ำแห่งหนึ่งนั้น พรานกะเหรี่ยงรายงานให้เรารู้ว่า กวางผู้ตัวหนึ่งถูกเสือกัดตาย หมดไปครึ่งตัว พวกแมลงตอมกันเต็มไปหมด รวมทั้งพวกสัตว์เลื้อยคลาน อย่างตะกวดก็พลอยมามะรุมมะตุ้มกินกันเปรมไปเลย แต่มันอยู่ใกล้กับไร่ซากร้างของกะเหรี่ยงที่ทอดทิ้งไว้นมนานแล้ว จึงไม่มีใครอยากจะไปนั่งซุ้มซุ่มยิงเสือซึ่งน่าจะหวนกลับมากินซากที่มันฆ่าไว้นั้นต่อ
    “คุณชายไม่กลัวผี ป่าผีเขาอยู่แล้วออกไปนั่งซุ้มกับคุณชาลีซี”
   เป็นคำแนะนำของคุณพระศัลยเวทย์ฯ เพราะถ้าท่านแข็งแรงเหมือนก่อนก็คงจะต้องทดสอบเหมือนกัน หากขาของท่านไม่ค่อยดีนัก จึงสมัครทีจะพักผ่อนกับแค้มป์พร้อมพรานใหญ่มากกว่า


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 11, 11:31
         ตามเส้นทางที่เราออกไปทางไร่ผีกินของกะเหรี่ยง แต่พรานตีไม่ยอมพาตัดเข้าไปเหนือไร่ซากนั้นโดยตรง เนื่องด้วยความหวาดผวาต่อวิญญาณของปู่ย่าตายายที่ตายเพราะไข้ทรพิษนั้นยังฝังอยู่ในความทรงจำของเขา ความเชื่อเรื่องนี้ก็คงเหมือนๆ กับกะเหรี่ยงทั่วๆไป
         เรามั่นมุ่งในเรื่องซากกวางที่เสือกัดตายมากกว่าอื่น คุณชายตกรางวัลให้กะเหรี่ยงตีล่วงหน้าเพื่อเป็นกำลังใจในการออกไปล่าเสือเหนือซากกวางกันครั้งนี้ รางวัลจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้พรานกะเหรี่ยงวัยรุ่นของเรานอกเหนือไปจากยาสูบอาหารการกิน และเหล้า
กะเหรี่ยง ตีสะพายปืนแก๊ปกระบอกคร่ำคร่าที่ล่าเก้งกวางมาอย่างโชกโชน แล้วออกเดินนำหน้า กะเหรี่ยงพวกนี้จะล่าแบบหากินชายป่ามากกว่าจะออกไปล่ากระทิงยิงวัวแดงซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตมากกว่าเพราะยังไม่มี ความจัดเจนเพียงพอ
     ซากกวางเริ่มส่งกลิ่นแล้ว ตับไตไส้พุงเรี่ยรายอยู่ตรงโคนต้นไม้นั้น   เราต้องเลือกที่นั่งห่างออกมาและเหนือลมเพื่อป้องกันมิให้กลิ่นของมันเข้ามาในลมหายใจ  อันก่อให้เกิดอาการกระอักกระอ่วนคลื่นเหียนเวียนหัวไปตามกัน
     ห่างออกไปไม่น้อยกว่า 30 เมตรกะเหรี่ยงจัดการตกต่างซุ้มบังไพรไว้อย่างรวดเร็วว่องไว   แม้จะเพียงชั่วคราวแต่ก็มิดชิดพอสมควรทีเดียว ป่าค่อนข้างรกหญ้าบางตอนสูง เนินเขาข้างหน้านั้นครึ้มด้วยแมกไม้ใหญ่ห่มคลุมอยู่อย่างหนาแน่น
     เย็นย่ำลงมากแล้วยังไม่มีวี่แววว่าพยัคฆ์ร้ายจะย่างกรายเข้ามา ข้าพเจ้าเอนหลังพิงย่าม  พร้อมกับเปิดจุกขวดเหล้าใบเล็กออกมาดื่มสองสามอึก    เพื่อระงับความหนาวเย็นที่เริ่มกรายเข้ามาด้วยกระแสลมแรงจัดขึ้นเป็นลำดับ
      “มันคงจะเข้ากินตอนกลางคืน”  คุณชายพึมพำเบาๆ
      “เสือมันระวังตัวกลัวตายเหมือนกัน”
      คุณชายไม่ดื่ม จึงคว้ากระติกที่บรรจุกาแฟขึ้นมาดื่มกลั้วคอ มองท้องฟ้าที่หม่นมัวแล้วถอนใจยาว กะเหรี่ยงตีจุดบุหรี่ใบตองแห้งสูบ ไม่พูดจาแต่อย่างใด มองชะเง้อไปชะเง้อมาเกือบตลอดเวลา แต่ทุกส่งก็เงียบสงบมีแต่เสียงลมที่พัดเสียดสีแนวไม้จนดังเหมือนเสียงคนละเมอ   ป่าซออันหนาแน่นข้างหน้าโน้นเป็นทางเดินของไฟป่า   ที่พรานกะเหรี่ยงบอกว่ามันจะเกิดขึ้นเสมอในยามลมแรง
     ลมที่พัดจัดทำให้ความหวังของเราน่าจะต้องเลิกล้ม แต่กะเหรียงตียังคิดว่าเมื่อลมสงบแล้วสักสองสามทุ่มเสือก็คงจะเข้าหาซากกวาง


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 11, 11:33
     การมองป่าของพวกเรากับพรานป่ามักจะไม่เหมือนกัน เนื่องจากความเคยชินของพราน ทำให้เขาสามารถแยกทุกสิ่งออกได้ต่างกับข้าพเจ้าที่มักจะต้องหวาดผวาเมื่อมองไปในแนวป่ายามตามรอยนั้น ให้รู้สึกว่าจะมีสัตว์ร้ายมาคอยแอบๆอยู่ร่ำไปตามพงไม้ทึบ
     เกือบสองทุ่ม เราเริ่มเอนหลังบ้าง  สนทนากันถึงเรื่องราวของพรานกะเหรี่ยงรุ่นเก่าก่อนสมัยที่ออกนำเจ้าคุณสุรพันธ์สมุห์เทศาภิบาลมณฑลราชบุรีออกป่าล่าสัตว์  พรานเหล่านั้นต่างก็ล้มหายตายจากไปตามอำนาจกฏธรรมดาของโลก แต่พรานกะเหรี่ยงหลายคนได้แสดงความกล้าหาญในการเข้าล่าสัตว์ร้ายอย่างเสือ กระทิง ด้วยปืนเพลิงที่บรรจุกระสุนแต่ละนัดก็ต้องเสี่ยงตายด้วยกัน ทุกนัดที่เขายิงจึงจะต้องเข้าเป้าและเป็นระยะเผาขนที่ล้มสัตว์นั้นให้ตาย   มิฉะนั้น-พรานก็ตาย
     เสียงลมดังอื้ออึงข้างหน้าโน้น หวีดหวิวๆ พริ้วมาจนกระทั่งข้าพเจ้าต้องยันร่างจากที่เอนหลังเพราะเคลิ้มๆไปจากการเดินป่ามาอย่างเหน็ดเหนื่อย
    “เสียงอะไรกัน  ตี?”
    ข้าพเจ้าถามคุณชายขยับตัวพร้อมกับเตรียมไรเฟิล 30/60 พร้อมอยู่เสมอตามวิสัยคนตื่นไวในยามหลับ พรานกะเหรี่ยงระบายลมหายใจหนักๆ เมื่อตอบอึกอักว่า
   “ยังไม่รู้นาย เหมือนมีใครกำลังเดินทางมาที่เรานั่งอยู่กันนี่”
   “ใครถือคบไฟมานั่นน่ะ?”
   คุณชายชี้มือให้กะเหรี่ยงตีดู เพราะแสงไฟที่สว่างไม่ต่างอะไรกับพวกขาวป่าเดินป่าในยามค่ำคืน  จะต้องมีไต้ส่องมาตามทาง   แสงสีแดงวูบวาบไปมาเป็นเส้นตรง  เหมือนต่างเดินเรียงหนึ่งมาตามทางด่านแคบๆ   มันเป็นนาทีระทึกขวัญสั่นประสาทจนกระทั่งพรานกะเหรี่ยง ต้องร้องออกมาเบาๆว่า
   “นั่นไม่ใช่ผู้คนเดินทางมานะ ไม่ใช่แสงไต้.....”


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 11, 11:36
     แสงไฟในป่ามองเหมือนชาวเขาชาวป่ากำลังชูคบเพลิงเดินตามลงมา   พรานกะเหรี่ยงของเราแสดงความสะทกสะท้านอย่างขวัญเสีย เพราะความเชื่อในเรื่องผีโป่งผีป่าเป็นความอ่อนแออย่างยิ่งของพวกเขา   ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว
    “มีเสียงคนพูดกันนี่นะ ตี?”
    คุณชายจับแขนกะเหรี่ยงซึ่งนิ่งขึงตะลึงตะไล  เพราะเห็นแสงไฟในป่าเปลี่ยวที่ทอดยาวมานั้น เป็นแสงไฟที่เป็นเส้นยาวยังสว่าง บางครั้งก็มองเหมือนไฟป่า
    “ไฟป่าอย่างนั้นหรือ?”
    คุณชายแสดงความกังขาอย่างยิ่ง
    “ใครจะเดินทางมาในตอนกลางคืนอย่างนี้? แล้วเป็นแสงไฟยาวต่อกันพิกลอยู่”
    กะเหรี่ยงตีขยับปืนแก๊ปอย่างกระเหี้ยนที่จะยิงเต็มที่ เพราะบอกว่าแสงที่เห็นนั่นเป็นแสงของพวกผีป่าที่แห่พากันมาทั้งนั้น จะเป็นได้ อย่างไร ข้าพเจ้าห้ามกะเหรี่ยงตี คุณชายถอนหายใจลึกๆ
    “มันอะไรกันแน่?”
    แสงไฟจากป่าในยามนั้นเป็นสิ่งอัศจรรย์...
   “คุณชายคอยระวังนะ ผมจะเปิดสปอร์ตไลท์”   ข้าพเจ้าบอก
    ขบวนคบเพลิงที่เห็นนั้นสว่างโรจน์อีกครั้งเมื่อใกล้เข้ามาในระยะประมาณ 200 เมตร ใกล้เข้ามาอีก มีเสียงดังอย่างโกรธแค้นที่เกิดขึ้นระหว่างแสงไต้เหล่านั้น    ข้าพเจ้าเปิดสปอร์ตไลท์สว่างจ้าออกไปทันที แสงไฟส่องไปยังร่างที่เห็นนั้นกลับหมดสิ้นไป มีเสียงร้องราวกับได้รับความโกรธแค้น เพราะเหนือซากกวางนั้น ร่างของเสือลายพาดกลอนกำลังกระโดดข้ามซากไปอย่างรวดเร็ว คุณชายวาดปืนตามไปอย่างทันควันเหมือนกัน เสียง
    “โฮกๆๆ อึมๆ”
    นั้นทำเอาข้าพเจ้าขนลุกเกรียว
   ในป่าเปลี่ยวบางครั้งก็มีประสบการณ์อย่างไม่น่าจะเป็นไปได้แต่มันก็เป็นไปอย่างที่ทำให้เราต้องอกสั่นขวัญแขวน เพราะไม่เข้าใจในสภาพของมายาป่า........
 http://www.o2blog.com/myblog/blog.php?month=&year=&user=assanee1&page=&syear=&smonth=&sdate=&style=1&id=1626


กระทู้: เที่ยวไพรไปกับวรรณกรรม
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 29 ก.ย. 11, 11:50
กำลังสนุกเลยครับท่านอาจารย์เทาชมพู บรรยากาศเข้าด้ายเข้าเข็มทีเดียว ตกลง คณะของท่านชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ จะเจอเสือ หรือเจอภูตพรายก่อนกันแน่ ผมรอลุ้นแบบกลั้นลมหายใจครับ