เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Bhanumet ที่ 14 ก.พ. 11, 14:00



กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 14 ก.พ. 11, 14:00
ผมเคยอ่านหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส เมื่อหลายปีก่อน  
พอมาทำงานต่างจังหวัด ไม่ค่อยมีอะไรทำ เลยหยิบหนังสือจากที่บ้านมาอ่านหลายเล่ม
เมื่อคืนนำหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส มาอ่านอีกครั้ง
ยังรู้สึกเหมือนเดิม กล่าวคือ ค่อนข้าง "เชื่อ" และ "เห็นด้วย" กับบทวิเคราะห์ของท่านพุทธทาส
ในบท -พุทธประวัติ -ประเทศสักกะ และ -ความเป็นอยู่ของพวกศากยะ

อย่างไรก็ตาม ผมตั้งข้อสงสัยกับตัวเองว่า ผม "เชื่อ" และ "เห็นด้วย" ง่ายเกินไปรึเปล่า
เพราะผมเองก็ไม่มีความรู้และศึกษาในประเด็นนี้อย่างลึกซึ้ง

อาทิ
-พระเจ้าอุกกากราช (โอกกากราช) ที่เป็นบรรพบุรุษของพวกศากยะ น่าจะครองเมืองสาเกต (อโยธยา) แห่งแคว้นโกศล  
-ศากยะ มาจากคำยกย่องของพระเจ้าอุกกากราช ที่เหล่าโอรสธิดา อาอาจสามารถ ตั้งเมืองได้เองและสมรสกันเองเพื่อรักษาความบริสุทธิ์  ไม่ได้มาจากชื่อป่าไม้สากะ
-แคว้นสักกะ เป็นเมืองขึ้นของแคว้นโกศล - อันนี้มีหลักฐานแน่ชัด เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล่ว น่าเชื่อถือ -
-พวกศากยะ ไม่ได้ปกครองด้วยราชาธิปไตย แต่เป็นสภา (ศากยบริษัท) ประชุมกันที่ สันถาคาร  ถึงจะมีประมุข ก็เป็นเพียงประธานในที่ประชุม ไม่มีอำนาจชี้ขาด (เช่นเดียวกับแคว้นวัชชี และพวกมัลละ)
-พวกศากยะ นิยมมีชายา (ศากยะด้วยกัน) องค์เดียว ยกเว้นเป็นบางกรณี เช่น พระเจ้าสุทโธทนะ ทางนิกายฝ่ายเหนือบางตำราว่ากันว่าไปปราบพวกชาวภูเขา ที่ประชุมในสันถาคาร จึงให้บำเหน็จเป็นพระนางปชาบดีอีกองค์
                                                     ฯลฯ

โดยเฉพาะประเด็นที่ท่านพุทธทาส วิเคราะห์ว่า เทวทหะ เป็นนิคมของพวกศากยะ (ตามที่ปรากฏในพระบาลี (พระไตรปิฎก))
กล่าวอย่างคร่าว ๆ คือ หลังจากที่พระเจ้าอุกกากราช ให้โอรส ๔ ธิดา ๕ ออกไปจากเมือง และท่านเหล่านั้นไปตั้งเมืองกบิลพัสดุ  
และทำการสมรสกันเอง เพื่อไม่ให้พระชาติระคนกับผู้มีชาติต่ำกว่า แต่พระพี่นางองค์โต ยกไว้  
ต่อมา พระพี่นางเป็นโรคเรื้อน จึงถูกนำไปไว้ในป่าไม้กระเบา วันหนึ่งพบเสือโคร่ง ตกใจร้องขึ้น จึงได้พบกับพระเจ้าราม พระเจ้ากรุงพาราณสี ที่เป็นโรคเรื้อน แต่หายเพราะกินพืชในป่า (ไม้กระเบา ว่ารักษาโรคเรื้อนได้)
และได้ทำการสมรสกัน เกิดเป็นโกลิยวงศ์ (โกละ=ไม้กระเบา) ตั้งเมืองรามคาม-หมู่บ้านของพระเจ้าราม (หรือ โกลนคร-เมืองไม้กระเบา หรือ พยัคฆบถ-ทางเสือโคร่ง)
เมื่อมีพระโอรส ก็ให้กลับไปหาพวกศากยะ  ได้สมรสกับธิดาเจ้าศากยะ  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพวกศากยะ  รวมถึงตั้งนิคมขึ้นในแดนของพวกศากยะ  คือ เทวทหนิคม
โดยพวกศากยะแห่งเทวทหะ ก็ได้สมรสกันเองกับพวกศากยะมาโดยตลอด
ส่วนที่รามคาม ยังถือเป็น พวกโกลิยะ

ท่านพุทธทาส ได้ศึกษา ค้นคว้า อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา คัมภีร์ทั้งของนิกายฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้  การค้นคว้าของชาวตะวันตก

ประเด็นที่น่าจะวิเคราะห์ได้ คือ
- ความน่าเชื่อถือของเอกสารหลักฐาน
- บทวิเคราะห์ของท่านพุทธทาส

ไม่ทราบว่ามีท่านได้เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ และมีข้อคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 11, 15:05
ถ้าเกี่ยวกับศาสนาละก็  ขอฟังอย่างเดียวค่ะ

ถ้าคุณ Bhanumet จะเล่าเรื่องพุทธประวัติในหนังสือเล่มนี้ต่อ ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 14 ก.พ. 11, 15:44
ถ้าเกี่ยวกับศาสนาละก็  ขอฟังอย่างเดียวค่ะ

ถ้าคุณ Bhanumet จะเล่าเรื่องพุทธประวัติในหนังสือเล่มนี้ต่อ ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง

ขออนุญาตเสนอแบบคร่าว ๆ แล้วกันนะครับ อาจารย์  เพราะมีคอมใช้เฉพาะที่ทำงาน ... เลยไม่สะดวกพิมพ์ยาว ๆ ... แหะ ๆ   ;D

ข้อมูลจากหนังสือครับ

"... พุทธประวัติ เล่มนี้ไม่เคยพิมพ์เป็นเล่มมาก่อน เป็นความเรียงที่ตีพิมพ์เพื่อเก็บรักษาต้นฉบับไว้ใน น.ส.พ.พุทธสาสนา อันเป็นวารสารเผยแพร่ธรรมของคณะธรรมทานไชยา เป็นเรื่องที่อ่านเข้าใจง่าย ให้ความรู้ในแง่ประวัติศาสน์พุทธศาสนาและเรื่องราวการค้นพบหลักฐานต่างๆทางพุทธศาสนาเป็นพุทธประวัติที่แตกต่างจาก พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ซึ่งเป็นงานแปลจากภาษาบาลีที่ให้อรรถรสทางภาษาศาสตร์และธรรมะ ทั้งยังแตกต่างจากเรื่อง พุทธประวัติสำหรับนักศึกษา (เดิมชื่อพุทธประวัติสำหรับยุวชน) ที่ท่านแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษของภิกษุศีลาจาระที่ให้อรรถรสแบบนิยายปะปนอยู่ แตกต่างจากเรื่อง เกียรติคุณพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพุทธประวัติในเชิงพรรณาโวหาร และเรื่อง พุทธประวัติจากหินสลักยุคก่อนมีพระพุทธรูป ซึ่งเป็นเรื่องทางโบราณคดีล้วนๆที่ท่านได้ทำไว้พุทธประวัติเล่มนี้เป็นการเสนอความรู้อีกแนวหนึ่งต่างจากพุทธประวัติ ๔ เรื่องที่กล่าวมาแล้ว นับเป็นที่น่าเสียดายที่ท่านทำได้ไม่จบสมบูรณ์ แต่กระนั้นก็ตาม พุทธประวัติเล่มนี้ก็ควรจะพิมพ์ให้เป็นเล่มสำหรับผู้ใคร่ต่อการศึกษาค้นคว้าได้เรียนรู้ต่อไป ..."



:: สารบัญ ::

ศาสนา วัฒมธรรมและปรัชญาของอินเดียโบราณ
ศาสนา
วัฒนธรรม
ปรัชญา
เจ้าลัทธิ

พุทธประวัติ
ประเทศสักกะ
ความเป็นอยู่ของพวกศากยะ


พระพุทธคุณที่จารึกอยู่ในประวัติศาสตร์
ก.การปฏิวัติที่เกิดขึ้นแก่ประวัติศาสตร์
ข.การปฏิวัติที่เกิดขึ้แก่ทางสมาคม
ค.การปฏิวัติทางศาสนา


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 14 ก.พ. 11, 16:41
ในหนังสือ เฉพาะตอนที่ว่าด้วย พุทธประวัติ ประเทศสักกะ และ ความเป็นอยู่ของพวกศากยะ

ได้กล่าวถึงประเด็นที่ผมกล่าวไว้ตอนตั้งกระทู้

โดยท่านพุทธทาสแสดงความเห็นว่า

พระเจ้าโอกกากราช เป็นกษัตริย์สุริยวงศ์  ซึ่งทางนิกายฝ่ายเหนือ (อุตตรนิกาย-มหายาน วัชรยาน เป็นต้น) เทียบกับ พระเจ้าอิกษวากุ ในตำนานของพราหมณ์
ได้ครองราชย์ในแคว้นโกศล โดยน่าจะมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองสาเกต (อโยธยา) - พระราม (รามจันทร์) ผู้เป็นรฆุวงศ์ ก็นับเป็นกษัตริย์สุริยวงศ์ ครองราชย์ในอโยธยา แคว้นโกศล -
ทรงมีโอรส ๔ องค์ ธิดา ๕ องค์ กับพระอัครมเหสี  
เมื่อพระอัครมเหสีสิ้น ได้ตั้งองค์ใหม่ และประสูติโอรส ๑ องค์
พระเจ้าโอกกากราช ได้ให้พรให้ขออะไรก็ได้ พระอัครมเหสีองค์ใหม่ ขอราชสมบัติให้แก่ลูกของตน
ตอนแรก พระเจ้าโอกกากราชไม่ยอม แต่ด้วยกษัดริย์ตรัสแล้วมิคืนคำ
จึงเรียกโอรสที่เกิดจากอัครมเหสีเดิม ให้ออกไปจากเมืองพร้อมด้วย อำมาตย์ และเหล่าเสนา

กองทัพเดินทางไปทางหิมพานต์ และตั้งเมืองขึ้น โดยกบิลฤๅษีเป็นผู้แนะนำสถานที่อันเป็นอาศรมของตน
จึงตั้งชื่อเมืองว่ากบิลพัสดุ เป็นที่ระลึกถึงพระฤๅษี

จากนั้น ก็เป็นไปตามที่ผมแสดงไว้เมื่อตั้งกระทู้ครับ


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 14 ก.พ. 11, 16:54
เรื่องเหล่านี้  พอจะหาข้อมูลในเน็ตอ่านกันได้

จะขอยกข้อคิดเห็นของท่านพุทธทาสเป็นประเด็นเลยทีเดียว

(ท่านพุทธทาส ได้เขียนเรื่องนี้เมื่อปี ๒๔๘๓  ผ่านไปกว่า ๗๐ แล้ว  อาจมีข้อมูลหรือหลักฐานที่ได้ค้นพบใหม่)

๑. ท่านใช้หลักฐานทางโบราณคดี และจากบันทึก รวมถึงคัมภีร์เก่า ๆ  ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่า  เมืองของพระเจ้าโอกกากราช คือ เมืองสาเกต (อโยธยา) แห่งแคว้นโกศล
ในสมัยพุทธกาล แคว้นโกศล มีเมืองหลวงคือ สาวัตถี   แต่ท่านสันนิษฐานว่า วงศ์ของพระเจ้าปเสนทิ ไม่ใช่วงศ์ที่สืบทอดมาจาก พระเจ้าโอกกากราช จึงถูกศากยวงศ์ มองว่ามีชาติต่ำกว่า
(ผมมองว่า พระเจ้าปเสนทิ อาจสืบมาจากวงศ์พระเจ้าโอกกากราชก็ได้  แต่อาจไม่บริสุทธิ์ คือ เคยมีการแต่งงานกับผู้มีชาติต่ำกว่า)

๒. ด้วยเหตุที่ พวกศากยะ แยกออกไปจากแคว้นโกศลนี้เอง และคงมีกำลังน้อย จึงเป็นเพียงเมืองขึ้น (หรือเมืองลูกหลวง?) ของแคว้นโกศล มาถึงสมัยสมัยพุทธกาลก็ยังคงเป็นเมืองขึ้นของแคว้นโกศลอยู่
(มีหลักฐานชัดแจ้งอยู่หลายแห่ง)

๓. ท่านพุทธทาส ได้แสดงความเห็นว่า  ในหลักฐานเก่า ๆ มีพระไตรปิฎก และคัมภีร์ทั้งนิกายฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ เป็นอาทิ
ล้วนกล่าวตรงกันว่า ศากยะ มาจากคำเปล่งอุทาน ของพระเจ้าอุกกากราช (โอกกากราช)  มิได้มีกล่าวถึงไม้สากะเลยแม้แต่แห่งเดียว
ที่ว่ามาจากไม้สากะ ปรากฏในชั้นหลังเสียทั้งสิ้น  ท่านจึงสันนิษฐานว่า  อาจเกิดจากการตีความของผู้รจนาท่านใดท่านหนึ่ง และเกิดนิยมแพร่หลายกันขึ้น
(อาจตีความให้เข้ากับ โกลิยะ มาจาก ไม้โกละ (กระเบา) เลยให้ สักกะ (ศากยะ) มาจากไม้สากะ)
ทั้งนี้  ท่านพุทธทาส ยังต้องข้อสงสัยด้วยว่า ไม้สากะ คือ ไม้อะไร จะเป็นอย่างเดียวกับไม้สาละ หรือไม่
- ถ้าผมจำไม่ผิด - ไม้สากะ มีกล่าวถึงเฉพาะในอรรถกถาตอนที่ว่าด้วยการตั้งกรุงกบิลพัสดุ เท่านั้น



กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 14 ก.พ. 11, 17:04
๔. ทางนิกายฝ่ายเหนือ บางแห่งว่า ผู้ที่มีชาติสูง สามารถแต่งงานกับพวกศากยะได้  ยังมี  โกลิยะ และ ลิจฉวี

(ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ศากยะ โกลิยะ เจ้าในแคว้นวัชชี (ลิจฉวี วิเทหา ฯลฯ) และ มัลละ ล้วนเป็นแคว้นเล็ก ใกล้เชิงเขาหิมาลัย  
และถ้าเชื่อว่าศากยะ ปกครองแบบสามัคคีธรรม มีสภา ไม่ใช่ราชาธิปไตย ก็เท่ากับว่า ล้วนมีรูปแบบการปกครองเหมือนกัน
ปราชญ์บางท่าน เชื่อว่า พวกนี้เป็นเผ่ามงโกลด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากไม่ใช่ประเด็นของท่านพุทธทาส จึงไม่ขอลงในรายละเอียด
แต่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยว่าเป็นมงโกล)

เรื่องการปกครอง ท่านพุทธทาส ว่าเป็น สภา มีสันถาคารใหญ่ในกบิลพัสดุ  ในนิคมเล็กก็มีอยู่บ้าง (มีปรากฏในพระไตรปิฎก)

โดยมีหัวหน้าตระกูล เป็นผู้ปกครองตระกูล
(ตระกูล ประกอบด้วยเจ้าศากยะหลายครอบครัว ที่เป็นสายเดียวกัน อยู่ในนิคมเดียวกัน และบ่าวไพร่
-ผมขอเสริมว่าเพราะเจ้าศากยะ มีนา ต้องดูแลนา เช่น เจ้ามหานาม สอนน้อง เจ้าอนุรุทธ เรื่องการทำนา เรื่องพ่อและอาของพระพุทธเจ้า มีนามลงท้ายว่า โอทนะ (ก้อนข้าว)-)
หัวหน้าจากหลายตระกูล ก็จะเป็นทำนองตัวแทนในสันถาคาร ในที่ประชุมศากยบริษัท
(ผมไม่แน่ใจว่าเฉพาะ หัวหน้าตระกูล หรือ เจ้าชายศากยะที่โตแล้ว  แต่ถ้าเอาหมด คงมีจำนวนมากเกินไป)

ท่านยังว่า สันถาคารของศากยะ คงเล็กกว่าพวกวัชชีมาก


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 14 ก.พ. 11, 17:21
๕. ในพระไตรปิฎก สุปฺปพุทฺธสกฺกวตฺถุ - เรื่อง เจ้าสุปปะพุทธะศากยะ  กล่าวคือ เรียกพระเจ้าสุปปพุทธะ "พ่อตา" ของเจ้าสิทธัตถะ ว่าเป็น ศากยะ ไม่ใช่ โกลิยะ 
อีกทั้ง เทวทหะ ที่เชื่อกันแพร่หลายว่า เป็น "กรุง" ของโกลิยะ  พระไตรปิฎก ว่า เป็นเพียง นิคม ของศากยะ เท่านั้น 
และมีคัมภีร์ในชั้นหลัง (รู้สึกว่าจะเป็น มหาวงศ์) ล้วนเรียกเจ้าในเทวทหะว่า ศากยะ เสีนทั้งสิ้น (ท่านพุทธทาสว่า อาจเป็นการพรรณนาเชิงยกย่อง หรือเพื่อให้ลงฉันทลักษณ์ก็ได้)
แต่เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทั้งหมด ท่านพุทธทาส ก็ได้สันนิษฐานว่า

โดยเฉพาะประเด็นที่ท่านพุทธทาส วิเคราะห์ว่า เทวทหะ เป็นนิคมของพวกศากยะ (ตามที่ปรากฏในพระบาลี (พระไตรปิฎก))
กล่าวอย่างคร่าว ๆ คือ หลังจากที่พระเจ้าอุกกากราช ให้โอรส ๔ ธิดา ๕ ออกไปจากเมือง และท่านเหล่านั้นไปตั้งเมืองกบิลพัสดุ 
และทำการสมรสกันเอง เพื่อไม่ให้พระชาติระคนกับผู้มีชาติต่ำกว่า แต่พระพี่นางองค์โต ยกไว้   
ต่อมา พระพี่นางเป็นโรคเรื้อน จึงถูกนำไปไว้ในป่าไม้กระเบา วันหนึ่งพบเสือโคร่ง ตกใจร้องขึ้น จึงได้พบกับพระเจ้าราม พระเจ้ากรุงพาราณสี ที่เป็นโรคเรื้อน แต่หายเพราะกินพืชในป่า (ไม้กระเบา ว่ารักษาโรคเรื้อนได้)
และได้ทำการสมรสกัน เกิดเป็นโกลิยวงศ์ (โกละ=ไม้กระเบา) ตั้งเมืองรามคาม-หมู่บ้านของพระเจ้าราม (หรือ โกลนคร-เมืองไม้กระเบา หรือ พยัคฆบถ-ทางเสือโคร่ง)
เมื่อมีพระโอรส ก็ให้กลับไปหาพวกศากยะ  ได้สมรสกับธิดาเจ้าศากยะ  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพวกศากยะ  รวมถึงตั้งนิคมขึ้นในแดนของพวกศากยะ  คือ เทวทหนิคม
โดยพวกศากยะแห่งเทวทหะ ก็ได้สมรสกันเองกับพวกศากยะมาโดยตลอด
ส่วนที่รามคาม ยังถือเป็น พวกโกลิยะ

และในพระไตรปิฎกนั้น  เมื่อกล่าวถึงโกลิยะ ก็เรียก โกลิยะ  แต่ถ้าเนื่องกับเทวทหะ ล้วนเป็นศากยะ เสมอ
อีกทั้ง เมื่อกษัตริย์ มาขอพระบรมสารีริกธาตุจากพวกเจ้ามัลละ หลังจากถวายพระเพลิง
มีเพียงศากยะ ที่อ้างความเป็นญาติ  ส่วนโกลิยะจากรามคาม อ้างความเป็นกษัตริย์ เหมือนเมืองอื่น ๆ

แสดงว่า เทวทหะ นับเนื่องในศากยะ  และ เทวทหะ กะ รามคาม เป็นคนละเมืองกัน (เพราะมีบางแห่งกล่าวว่าเป็นเมืองเดียวกัน)
รามคาม คือ โกลนคร หรือ พยัคฆบถ ดังที่กล่าวแล้ว  ในพระไตรปิฎก มีเรียก ชาวโกลิยะ ว่า พยัคฆปัชชะ

ส่วน เทวทหะ เป็นนิคมของศากยะ สืบเชื้อสายจากโอรสของ พระเจ้ารามแห่งโกลิยะ และพระพี่นางแห่งศากยะ
ซึ่งมาแต่งงานกับธิดาเจ้าศากยะ  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศากยะ และได้รับที่ให้สร้างนิคมขึ้น ดังที่กล่าวมาแล้ว


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 11, 20:05
ดิฉันเคยอ่านปฐมสมโพธิกถา และพุทธประวัติในหนังสืออื่นๆ    ต่อมาอ่านเรื่องศาสนาและลัทธิต่างๆในสมัยพุทธกาล      ก็เลยอยากอ่านพุทธประวัติที่เป็นประวัติศาสตร์บ้าง
ก็ขอฟังคุณ bhanumet เล่าต่อ   ถ้าท่านใดจะมาให้ความรู้ในเรื่องนี้ด้วย   มิให้คุณ bhanumet เล่าคอแห้งอยู่คนเดียว ก็ขอเชิญค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 15 ก.พ. 11, 07:58
ดิฉันเคยอ่านปฐมสมโพธิกถา และพุทธประวัติในหนังสืออื่นๆ    ต่อมาอ่านเรื่องศาสนาและลัทธิต่างๆในสมัยพุทธกาล      ก็เลยอยากอ่านพุทธประวัติที่เป็นประวัติศาสตร์บ้าง
ก็ขอฟังคุณ bhanumet เล่าต่อ   ถ้าท่านใดจะมาให้ความรู้ในเรื่องนี้ด้วย   มิให้คุณ bhanumet เล่าคอแห้งอยู่คนเดียว ก็ขอเชิญค่ะ


ขอตามอ่านด้วยครับ ไม่เคยรู้จักและเห็นหนังสือเล่มนี้เลย
มีพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ก็ยังทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้อ่าน


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 15 ก.พ. 11, 10:45
ในเมื่อคุณลุงไก่ กล่าวขึ้นมา ผมก็ขอเสริมด้วย พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ของท่านพุทธทาส (เล่มนี้ยังอ่านไม่จบนะครับ แหะ ๆ และอยู่ที่บ้าน ไม่ได้นำมาต่างจังหวัดด้วย   :-X)

ซึ่งท่านพุทธทาส รวบรวมพุทธประวัติที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงพระองค์เอง เฉพาะจากพระบาลี คือพระไตรปิฎกเท่านั้น  

เท่าที่จำได้ ที่ผมสนใจมีประเด็น  คือเรื่อง การออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช)
(เนื่องจากหนังสือไม่อยู่ในมือ ขออนุญาตอ้างอิงจากลิงก์อื่น)

...มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง
แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัว (ให้โง่) อยู่อีกเล่า!  
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค อุปริ. ม. มู. ม. ๑๒/๓๑๖/๓๑๖

ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า

เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว เราพึงแสวงหา "นิพพาน" อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด
 
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค มู. ม. ๑๒/๓๑๖/๓๑๖

นอกจากนี้ ในสคารวสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสสรุปสาเหตุที่ทำให้ทรงตั้งพระทัยออกบรรพชาไว้สั้น ๆ ว่า

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง; ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่าย นั้นไม่ได้. ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด
 
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. สคารวสุตฺต พฺราหฺมณวคฺค ม. มู.๑๓/๖๖๙/๗๓๘

ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหลายนี้พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จออกผนวช ซึ่งนักวิชาการพุทธศาสนาบางท่านอ้างว่าการเสด็จออกผนวชตามนัยพระไตรปิฎกนั้น มิได้ทรงหนีออกจากพระราชวัง แต่ทรงเสด็จออกผนวชเฉพาะพระพักตร์พระราชบิดาและพระราชมารดาเลยทีเดียว โดยอ้างจากโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ว่า

...เรายังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย, เมื่อบิดามารดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺต ราชวคฺค ม. มู. ๑๓/๔๔๓/๔๘๙

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าตามพุทธวจนะไม่ได้กล่าวว่าทรงผนวชเฉพาะพระพักตร์พระราชบิดาและพระราชมารดา เพียงแต่ตรัสว่าทรงผนวชขณะทั้งสองพระองค์กรรแสง ซึ่งอาจเป็นเพราะทรงหนีจากพระราชวังแล้วผนวชในตอนเช้า (สอดคล้องกับอรรถกถา) เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงทราบในเช้านั้นจึงเสียพระทัย การผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะและการกรรแสงของพระราชบุพการีจึงเป็นเวลาเดียวกัน แต่ต่างสถานที่

http://th.wikipedia.org/wiki/พระโคตมพุทธเจ้า (http://th.wikipedia.org/wiki/พระโคตมพุทธเจ้า)



๑. ไม่ปรากฏในพระบาลี ว่าพระองค์พึ่งเคยเห็นเทวทูต ๔ (คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะ) เป็นครั้งแรก เมื่อครั้งออกชมเมืองก่อนผนวช  มีแต่ตรัสถึงความรู้สึกนึกคิดของพระองค์ถึงเหตุผลในการออกบวช
ตามความคิดเห็นของผม เจ้าสิทธัตถะ คงเคยเห็น เทวทูต ๔ มาหลายครั้งแล้ว  แต่เป็นการเห็นด้วยตาเนื้อ  ยังไม่ได้พิจารณาด้วยปัญญา  หรืออาจเพราะยังทรงตัดใจออกบวชมิได้  เพราะเคยอ่านรู้สึกจะพระไตรปิฎกทำนองว่า  ก่อนจะออกผนวช ก็ทรงทราบว่ากามคุณ ๕ ไม่ทำให้หลุดพ้น ทำให้เกิดทุกข์ แต่ยังทรงตัดใจออกบวชมิได้

๒. เรื่อง ออกผนวชเฉพาะพระพักตร์พระบิดา พระมารดา (พระมารดาเลี้ยง ซึ่งเป็นพระน้านางแท้ ๆ)  หรือหนีออกผนวช คงต้องให้ท่านผู้เชี่ยวชาญบาลี แปลจากพระบาลีโดยตรง เพื่อพิจารณาว่าจะตีความในลักษณะใดได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม  มิได้ทรงตรัสในเชิงปาฏิหาริย์  ดั่งในพุทธประวัติที่เราหาได้ทั่ว ๆ ไป


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 15 ก.พ. 11, 14:08
ขออนุญาตแวะข้างทางเล็กน้อยครับ

ด้วยการนำเสนอบทความประกอบ

เรื่องอายุของคัมภีร์ต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก

ไม่มีคัมภีร์พุทธศาสนาฉบับใดที่เชื่อได้ว่า  เขียนขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรในครั้งพุทธกาล  แต่ข้อความในคัมภีร์ที่ตกมาถึงเราก็ถือว่าเป็นพุทธวจนะ  ซึ่งบรรดาพระสาวกรุ่นแรกๆ หลายองค์ที่มีความสามารถนำเอาพุทธวจนะมาจำแนกหมวดหมู่  และประพันธ์เป็นคาถาเพื่อให้ง่ายในการทรงจำ

ในการสังคายนาพระไตรปิฎกแต่ละครั้งจะปรากฏว่า  พระพุทธศาสนาแตกแยกเป็นหลายนิกายเพิ่มขึ้น  การสังคายนาครั้งที่ ๔  ในศรีลังกา  จึงมีการบันทึกข้อธรรมะเป็นลายลักษณ์อักษร  เป็นภาษาบาลี  ซึ่งใช้ในพุทธศาสนาเถรวาทเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

พระไตรปิฎกจำแนกออกเป็น  ๓  ปิฎก  คือ

-->>  พระวินัยปิฎก  ประกอบด้วย

ก. สุตตวิภังค์ (มหาวิภังค์, ภิกขุนีวิภังค์,) ถือเป็นรุ่นเก่าที่สุด
ข. ขันธกะ (มหาวรรค, จุลวรรค)
ค. ปริวาร  หรือปริวารปาฐะ  เชื่อกันว่ารวบรวมขึ้นในลังกา

ส่วนสำคัญที่สุดและเก่าที่สุด  คือ  พระปาติโมกข์  ในมหาวิภังค์  ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุสงฆ์

-->>  พระสุตตันตปิฎก  ประกอบด้วย

ก. ทีฆนิกาย
ข. มัชฌิมนิกาย
ค. สังยุตตนิกาย
ง. อังคุตตรนิกาย
จ. ขุททกนิกาย

พระสุตตันตปิฎกสี่นิกายแรก  ประกอบด้วยพระสูตรต่างๆ เป็นพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง  พระสาวกบ้าง 

ส่วนต้นของแต่ละพระสูตรมักจะเล่าถึงสาเหตุของการแสดงพระธรรมเทศนา  บางทีก็เป็นบทสนทนา  พระสูตรมักจะเป็นร้อยแก้ว  มีบางพระสูตรเท่านั้นที่เป็นร้อยกรอง  บางสูตรก็ปนร้อยกรองในระหว่างกลางด้วย

ทีฆนิกาย  ประกอบด้วยพระสูตรขนาดยาว  มักจะเป็นเรื่องโต้แย้งกับความคิดที่มีมาก่อนพุทธศาสนาจะอุบัติ  แสดงให้เห็นว่าน่าจะเป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในระยะต้นของการประดิษฐานพระพุทธศาสนา  และเป็นพระสูตรที่เก่าแก่มาก (เว้นพระสูตรที่มีคำว่า  “มหา” นำหน้า  ซึ่งอยู่ในเล่มที่ ๒  คือ มหาวรรค  บางสูตรเข้าใจว่าเติมเข้ามา)

มัชฌิมนิกาย  ประกอบด้วยพระสูตรซึ่งมีความยาวปานกลาง  ถือเป็นพระสูตรที่เก่าแก่มากเช่นเดียวกับทีฆนิกาย  พระสูตรในมัชฌิมนิกายนี้มีทั้งพระธรรมเทศนาและบทสนทนาธรรม  เนื้อหาจะเกี่ยวกับหลักพุทธปรัชญาที่สำคัญ ๆ เช่นเรื่องอริยสัจ  เรื่องกรรม  นิพพาน  และยังมีการแก้ทิฏฐิที่มีมาก่อน  หรือที่เกิดขึ้นในครั้งพุทธกาลด้วย

สังยุตตนิกาย  ประกอบด้วยพระสูตรที่เรียงตามหมวดบุคคลหรือข้อธรรม  มีเรื่องประกอบ  น่าจะได้รวบรวมขึ้นในสมัยที่พระพุทธและพระธรรมตั้งมั่นแล้ว

อังคุตตรนิกาย  ประกอบด้วยพระสูตรที่เรียงตามจำนวนข้อธรรม  แต่ละพระสูตรเขียนอย่างสั้นๆ เข้าใจว่าอยู่ในสมัยใกล้เคียงกับสังยุตตนิกาย  หรืออาจจะอยู่ในยุคหลังกว่าเล็กน้อย  คือในช่วงที่มีการเริ่มนับถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระสัพพัญญู  ลักษณะการรวบรวมอังคุตตรนิกายคล้ายคลึงกับวิธีการรวบรวมพระอภิธรรม 

ขุททกนิกาย  เป็นนิกายสุดท้าย  มีลักษณะที่ต่างออกไป  คือ  ประกอบด้วยคัมภีร์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาต่างกัน  ๑๕  คัมภีร์  ได้แก่  ขุททกปาฐะ, ธรรมบท, อุทาน, อิติวุตตกะ, สุตตนิบาต, วิมานวัตถุ, เปตวัตถุ, เถรคาถา, เถรีคาถา, ชาดก, นิทเทส, ปฏิสัมภิทามรรค, อปทาน, พุทธวงศ์  และจริยาปิฎก  คัมภีร์เหล่านี้รจนาขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างกัน  กล่าวคือ  สุตตนิบาตและธรรมบทเก่าที่สุดในขุททกนิกาย  ในสุตตนิบาตถือว่าปารายนวรรค  และอัฏฐกวรรคเป็นพระสูตรที่เก่าแก่ที่สุด  อาจจะเขียนก่อนพระสูตรอื่นทั้งหมด(๑) 

ทั้งนี้พิจารณาจากภาษาที่ใช้  รองลงมาได้แก่  อิติวุตตกะ  อุทาน  นิทเทส  ขุททกปาฐะ  เถร-เถรีคาถา  ส่วน อปทาน  พุทธวงศ์  และจริยาปิฎก นั้น  เข้าใจว่าแต่งขึ้นหลังคัมภีร์อื่นๆ (๒) โดยทั่วไปเชื่อกันว่า  แต่งในช่วงระยะเวลาระหว่างการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๒  และ ๓  ในสมัยพระเจ้าอโศก

-->>  พระอภิธรรมปิฎก  มีเนื้อหากล่าวถึงหลักธรรมคล้ายคลึงกับพระสุตตันตปิฎก  แต่อธิบายละเอียดกว่า  ไม่ได้ยกตัวอย่างประกอบธรรมะ  มีลักษณะเป็นตำรา  คือมีการอธิบายและจำแนกศัพท์คล้ายๆ พจนานุกรม  ประกอบด้วยคัมภีร์ ๗ คัมภีร์  คือ  ธรรมสังคณี  วิภังค์  ธาตุกถา  บุคคลบัญญัติ  กถาวัตถุ  ยมก  ปัฏฐานปกรณ์  หรือมหาปกรณ์  เชื่อกันว่าพระอภิธรรมเกิดขึ้นภายหลังพระสูตร  และพระวินัย  เพราะเมื่อมีการสังคายนาครั้งแรกมีกล่าวถึงพระวินัยและพระสูตร  แต่ไม่มีการกล่าวถึงพระอภิธรรม  ในบรรดาพระอภิธรรมทั้งหมด  ถือว่าบุคคลบัญญัติเก่าแก่ที่สุด

ส่วนคัมภีร์อื่นๆ นอกจากพระไตรปิฎกอาจแบ่งได้เป็น  ๓  สมัย  คือ

สมัยแรก  ตั้งแต่ภายหลังการรวบรวมพระไตรปิฎก  ถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑  ก่อนมีอรรถกถาบาลี  มีคัมภีร์ต่างๆ เช่น  เนตติปกรณ์  เปฏโกปเทส  มิลินทปัญหา  และอรรถกถาภาษาสิงหล

สมัยกลาง  ระหว่างพุทธศตวรรษที่  ๑๑  ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗  เป็นสมัยแห่งการรจนาภาษาบาลีในประเทศศรีลังกา  ซึ่งมีอนุราธปุระเป็นเมืองหลวง  คัมภีร์ที่รจนาในยุคนั้น  มีอรรถกถา  ซึ่งไขความในพระไตรปิฎกพอจะแสดงได้ตามตารางดังนี้(๓)

พระไตรปิฎก                            อรรถกถา                                          พระอรรถกถาจารย์
                                           วิสุทธิมรรค(๔)
ก.   พระวินัยปิฎก                     สมันตปาสาทิกา                                  พระพุทธโฆษะ
     พระปาติโมกข์                    กังขาวิตรณี                                        พระพุทธโฆษะ

ข.   พระสุตตันตปิฎก                                   
     ทีฆนิกาย                          สุมังคลวิลาสินี                                    พระพุทธโฆษะ
     มัชฌิมนิกาย                      ปปัญจสูทนี                                        พระพุทธโฆษะ
     สังยุตตนิกาย                     สารัตถปกาสิยี                                     พระพุทธโฆษะ
     อังคุตตรนิกาย                    มโนรถปูรณี                                       พระพุทธโฆษะ
     ขุททกนิกาย
๑.   ขุททกปาฐะ                       ปรมัตถโชติกา                                    พระพุทธโฆษะ
๒.   ธรรมบท                           ธัทมปทัฏฐกถา                                   พระพุทธโฆษะ(๕)
๓.   อุทาน                              ปรมัตถทีปนี                                       พระธรรมปาละ
๔.   อิติวุตตกะ                         ปรมัตถทีปนี                                       พระธรรมปาละ
๕.   สุตตนิบาต                        ปรมัตถโชติกา                                    พระพุทธโฆษะ
๖.   วิมานวัตถุ                          ปรมัตถทีปนี                                      พระธรรมปาละ
๗.   เปตวัตถุ                            ปรมัตถทีปนี                                      พระธรรมปาละ
๘.   เถรคาถา                           ปรมัตถทีปนี                                      พระธรรมปาละ
๙.   เถรีคาถา                           ปรมัตถทีปนี                                       พระธรรมปาละ
๑๐.ชาดก                                ชาตกัฏฐกถา                                      พระพุทธโฆษะ(๖)
๑๑.นิทเทส                              สัทธัมมปัชโชติกา                               พระอุปเสนะ
๑๒.ปฏิสัมภิทามรรค                   สัทธัทมปกาสินี                                  พระมหานามะ
๑๓.อปทาน                              วิสุทธชนวิลาสินี                                ไม่ทราบนามผู้รจนา
๑๔.พุทธวงศ์                            มธุรัตถวิลาสินี                                   พระพุทธทัตตะ
๑๕.จริยาปิฎก                           ปรมัตถทีปนี                                      พระธรรมปาละ

พระอภิธรรมปิฎก
    ธรรมสังคณี                          อัตถสาลินี                                       พระพุทธโฆษะ
    วิภังค์                                  สัมโมหวิโนทนี                                 พระพุทธโฆษะ
    กถาวัตถุ                              ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ
    ปุคคลบัญญัติ                       ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ
    ธาตุกถา                              ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ
    ยมก                                   ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ
    ปัฏฐาน                               ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ

อรรถกถาของพระสูตร  ๔  นิกายแรกถือว่าเก่าที่สุด  คืออยู่ในพุทธศตวรรษที่  ๑๐-๑๑ (ในช่วงชีวิตของพระพุทธโฆษะ)

สมัยปลาย  พุทธศตวรรษที่ ๑๘  เป็นต้นมา  มีการรจนาฎีกาต่างๆ

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

(๑) ดูรายละเอียดเรื่องการเทียบอายุของสุตตนิบาตได้จาก Introduction ของ  V.Fausboll  ในชุด S.B.E. Volume X  Part II  ซึ่งสรุปได้ว่า Fausboll  มีความเห็นว่า  สุตตนิบาต  เก่ากว่าพระสูตรในนิกายต่างๆ ทั้งหมด
(๒) นักปราชญ์บางท่าน  เช่น เอ็ม วินเตอร์นิทซ์  และ วิลเฮลม์  ไกเกอร์  เชื่อว่าแต่งในลังกา
(๓) จากหนังสือ  E.W. Adikaram, Early Hisly of Buddhism in Ceylon (Columbo : M.D. Gunasena Co., Ltd., 1953), p. l.
(๔) ท่านจัดวิสุทธิมรรคอยู่ในบรรดาอรรถกถาด้วย  แต่ไม่ได้เป็นอรรถกถาของคัมภีร์ใดโดยเฉพาะ
(๕) – (๖) กล่าวกันต่อๆ มาว่า  คัมภีร์ทั้งสองเป็นของพระพุทธโฆษะ  แต่ดูจากสำนวนภาษานั้น  ไม่น่าเชื่อว่าเป็นของท่าน  เพราะต่างจากสำนวนในคัมภีร์อื่นของพระพุทธโฆษะ

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  คัดมาจาก

หัวข้อวิทยานิพนธ์    ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อนิสิต                  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
อาจารย์ที่ปรึกษา     ศาสตราจารย์  หม่อมหลวงจิรายุ  นพวงศ์
ภาควิชา                 ภาษาตะวันออก
ปีการศึกษา             ๒๕๒๓

****
http://gotoknow.org/blog/dhammakaya-22/215849?page=1 (http://gotoknow.org/blog/dhammakaya-22/215849?page=1)


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 15 ก.พ. 11, 15:15
แวะข้างทาง ภาค ๒  ;D

พระไตรปิฎกภาษาสันสกฤต

พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทนำ
แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามานาม แต่การศึกษาพระพุทธศาสนานิกายอื่นก็เหมือนจะผิวเผินไม่ลุ่มลึกพอควร ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะทัศนะแบบเถรวาท ที่มองอะไรแบบเคร่งครัดและตามกรอบ หรือเพราะระบบการศึกษาของเรายังคับแคบก็อาจเป็นได้ ดังนั้นเมื่อพูดถึงพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤต ท่านผู้อ่านอาจสับสนงงงวยว่ามีอยู่หรือ เพราะว่าเราทราบแต่ว่า พรไตรปิฎก ท่านเขียนด้วยภาษาบาลี ข้อเขียนนี้เป็นความพยายาม ที่จะปิดโลกทัศน์เรื่องนี้ให้กว้างขวางออกไป โดยนำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาสันสกฤตของ นิกายสรวาสติวาทมาศึกษาเปรียบเทียบกับฉบับภาษาบาลี เท่าที่สติปัญญาและเวลาของผู้เขียนจะพึงมี ด้วยความหวังว่า จะทำให้เราได้แง่คิดเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนและพระไตรปิฎกใหม่ ๆ น่าจะเกื้อกูลต่อวงการศึกษาพระพุทธศาสนาในบ้านเมืองเราอยู่บ้าง

ภาษาคัมภีร์
ความจริงภาษาที่บันทึกพระธรรมวินัยยุคแรก ๆ มิใช่มีแต่ภาษาบาลี แต่โดยทั่ว ๆ ไปเราทราบกันเพียงว่า นิกายเถรวาทหรือหินยาน ได้ใช้ภาษาบาลีเป็นภาษาคัมภีร์ แล้วเชื่อมต่อไปว่าภาษานี้เก่าแก่เป็นภาษาของชาวมคธ เรียกว่า มคธภาสาบ้าง มาคธีภาสาบ้าง มูลภาษาบ้าง1 ตันติภาสาบ้าง เชื่อว่าพระพุทธเจ้า เป็นคนอินเดียเหนือ ตรัสรู้และเสด็จจาริกไปประกาศพระศาสนาในบริเวณแคว้นมคธ คือ รัฐพิหารปัจจุบัน และแคว้น อื่น ๆ ราวเจ็ดชนบท สรุปรวมก็อยู่ในอินเดียตอนเหนือคือรัฐพิหารและอุตตรประเทศในปัจจุบัน
ปัญหาว่า ภาษาบาลี คือภาษาอะไร? และเป็นภาษาของคนพื้นเมืองในแคว้นใดแน่ ก็ยังไม่มีคำตอบที่พอใจของทุกคนได้ เช่นบางท่านบอกว่า บาลีก็คือภาษาปรากฤต ชื่อไปศาจี ซึ่งผู้คนแถบเทือกเขาวินธัย พูดกัน บางท่านว่าคงพัฒนามาจากภาษาของชาวบ้านแคว้นอุชเชนี (หรือ อุชเชน) ในรัฐมัธยมประเท
บางท่านว่า ภาษาบาลีคือภาษาของชาวบ้านแคว้นกาลิงคะ (แคว้นโอริสสาและอานธระปัจจุบัน) เป็นสถานที่ ๆ คณะพระมหินทเถระ เมื่อจะเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในศรีลังกา หลังสังคายนาครั้งที่ ๓ นั้น หรือคณะชาวพุทธอื่น ๆ ได้พากันมาลงเรือกันที่นั่น แต่มีอีกมติหนึ่งแย้งว่า ภาษาบาลีคือ ภาษาเศารเสนี ตระกูลหนึ่งของภาษาปรากฤตเพราะมีเกณฑ์การออกเสียงและสกดคำเหมือนกัน เป็นต้น1
ถ้าสรุปแบบกำปั้นทุบดิน ภาษาบาลีก็คือภาษาบาลีหรือภาษามคธ แต่รูปแบบปัจจุบันกับภาษาดั้งเดิมน่าจะไม่เหมือนกันทั้งหมด คงต้องมีการพัฒนากันอยู่บ้างเมื่อนำมาบันทึกคำสอน หรือมาใช้เป็นภาษาคัมภีร์
มีหลักฐานยืนยันว่า นอกจากภาษาบาลีที่นิกายเถรวาทใช้เป็นเป็นภาษาคัมภีร์บันทึกการสอนแล้วนิกายสรวาสติวาท ซึ่งมีความความเก่าแก่ไล่เลี่ยกับเถรวาท ได้บันทึกคำสอนไว้ด้วยภาษาสันสกฤต นิกายสัมมีติยะ ใช้ภาษา อปพรหมศา ขณะที่นิกายมหาสังฆิกะใช้ภาษาปรากฤต
เมื่อพูดถึงภาษาสันสกฤต มีปัญหาอีกเหมือนกัน เช่น ทำไมพระพุทธศาสนานิกายนี้จึงใช้ภาษาสันสกฤตบันทึกคำสอน ในเมื่อพระพุทธเจ้าก็ทรงให้พระสงฆ์เรียนภาษาพระพุทธพจน์ด้วยภาษของตนไม่ยกกล่าวโดยฉันท์2 ดูเหมือนพระพุทธเจ้าต้องการให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งประชาชนทุกชั้นวรรณะมีสิทธิเท่าเทียมกันให้การแสวงหาความรู้ ไม่เหมือนกับศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาคัมภีร์ ศึกษากันอยู่เฉพาะชั้นสูง ปิดกั้นมิให้คนในวรรณะต่ำ เช่น ศูทรและจัณฑาลได้ศึกษาเล่าเรียน
ข้อนี้อาจเนื่องด้วยความจำเป็นในการปรับตัวของพระพุทธศาสนา ให้โดดเด่นจนสามารถครองใจคนชั้นสูงของสังคมได้
ภาษาสันสกฤตที่พระพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาทใช้นี้ ก็เป็นภาษาสันสกฤตแบบพุทธ คือ สันสกฤตพันทาง (Hybrid Sanskrit) หรือสันสกฤตผสมกับภาษาบาลี (Mixed Sanskrit) มิใช่สันสกฤตมาตรฐาน (Classical Sanskrist) ถ้าเราศึกษาเปรียบเทียบดูดี ๆ กับภาษาบาลีก็คงพอจะเข้าใจได้

ดูเพิ่ม http://th.wikipedia.org/wiki/ภาษาสันสกฤตผสม (http://th.wikipedia.org/wiki/ภาษาสันสกฤตผสม)

ภาษาคัมภีร์
คำว่า "สรวาสติวาท" แปลว่า นิกาย (=วาท) ที่เชื่อว่าทุกสิ่ง (สฺรว) มีอยู่ (อสฺติ) จริง ตรงกับคำว่า "สพฺพตฺถีกวาท" ในคัมภีร์ กถาวตฺถุ พระอภิธัมมปิฎก ฝ่ายบาลี นิกายนี้มีทัศนะว่า "ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ มีอยู่จริงทั้งในอดีต อนาคตและปัจจุบัน เพราะอำนาจแห่งสันตติ คือ การสืบต่อกัน" แต่เถรวาทปฏิเสธทัศนะนี้.
คัมภีร์ทีปวังสะ ว่าสัพพัตถีกวาท (หรือสรวาสติวาท) แตกย่อยมาจากมหิสสาสกะ และมหิสสาเสกะ ก็สืบมาจากเถรวาท ซึ่งนับเป็นนิกายดั้งเดิมอีกทอดหนึ่ง
ส่วนปกรณ์สันสกฤต (คือเภทธรรมมติจักรศาสตร์) ของท่านอาจารย์วสุมิตร ให้ความสำคัญสรวาสติวาท เท่ากับเถรวาท ถือว่าเป็นนิกายเก่าแก่ ซึ่งถือกำเนิดในพุทธศตวรรษที่ ๓ 1
สรวาสติวาทนี้ เดิมทีน่าจะเจริญคู่เคียงกับเถรวาทในแคว้นมคธนั่นเอง เพราะได้อ้างพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นโยมอุปัฏฐากของตนด้วย แต่ต่อมาอาจจะเพลี่ยงพล้ำแก่เถรวาทจึงได้ไปยึดอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ คือ คันธาระ และมถุรา2 เป็นศูนย์กลาง โดยท่านมัธยานติกเถร ศิษย์ของพระอานนทเถร เป็นสังฆปาโมกษ์อยู่มถุรา ท่านอุปคุปตเถรองค์ที่ถวายวิสัชชนาปัญหาใจให้พระเจ้าอโศกจนหันมาสมาทานพระพุทธศาสนา ศิษย์ของท่านศาณวาสิกะ เป็นประมุขอยุ่ในเขตคันธาระ
ท่านมัธยานติกะ และท่านอุปคุปตะ ถูกอ้างว่าเป็นผู้ก่อตั้งนิกายนี้ หรือเป็นประมุขสงฆ์นิกายนี้
แต่ท่านบูสตัน (Bu’ston) ผู้รจนาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดียและทิเบตว่าผู้ก่อตั้งนิกายนี้คือ พระราหุลภัทร ผู้ออกผนวชจากขัตติยตระกูล

สรวาสติวาท - ไวภาษิกะ
ในคัมภีร์ว่าด้วยปรัชญาอินเดียนั้น เวลาพูดถึงนิกายพระพุทธศาสนา จะจำแนกออกเป็น ๔ นิกายคือ เสาตรานติกะ ไวภาษิกะ มาธยมิกะ (หรือสุญญวาท) และวิชญาณวาท (หรือโยคาจาร) ในจำนวนนี้ นิกายไวภาษิกะ ซึ่งถือคัมภีร์ภาษยะ (หรืออรรถกถา) พระอภิธรรมซึ่งเรียกว่า (มหา) วิภาษาศาสตร์ ท่านกล่าวว่า คอ นิกายเดียวกันกับ สรวาสติวาท
เป็นเรื่องยืนยันได้ว่า การจัดสังคายนาครั้งที่ ๔ ที่หลักฐานฝ่ายบาลีทั้งมหาวังสะ และสมันตปาสาทิกา มิได้เอ่ยถึงเลยนั้น เป็นสังคายนาของสรวาสติวาท โดยการอุปถัมภ์ของพระภิกษุผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และพหิรวิทยาต่าง ๆ เข้าร่วมพิธีจำนวน ๕๐๐ รูป ท่านบุสตันว่า เวลานั้น ตกปี พ.ศ. ๓๐๐ พระเจ้ากนิษกมหาราช อุปถัมภ์สังคายนาขึ้นในวัดกุวาน เมืองชลันธร มีพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป พระโพธิสัตว์ และศาสนบัณฑิตอีกจำนวนมาก ได้รับนิมนต์ / เชิญ เข้าร่วมกิจกรรมด้วย
ท่านสมณะจีนเฮี่ยนจัง เล่าว่า การสังคายนาครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อร่วมกันร้อยกรองคัมภีร์ แก้ – อธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่า ภาษยะ ปรากฎว่าบรรลุเป้าหมาย คือที่ประชุมได้รจนา คัมภีร์ภาษยะไว้ดังนี้.
- คัมภีร์แต่งแก้ - อธิบาย พระสุตตันตปิฎก ชื่อ อุปเทสศาสตร์ ยาว ๑ แสนโศลก
- คัมถีร์แต่งแก้ - อธิบาย พระวินัยปิฎก ชื่อ วินยภาษาศาสตร์ ยาว ๑ แสนโศลก
- คัมภีร์แต่งแก้ – อธิบาย พระอภิธรรมปิฎก ชื่อ อภิธรรมวิภาษาศาสตร์ ยาว ๑ แสนโศลก
รวมคัมภีร์ภาษยะทั้ง ๓ เข้าด้วยกัน ก็เป็นคาถาถึง ๓ แสนโศลก พระเจ้ากณิษกมหาราชโปรดให้จารึกลงบนแผ่นทองแดง แล้วบรรจุหีบศิลา และโปรดให้ก่อพระสถูปบรรจุหีบศิลาอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ยังโปรดฯ ให้จัดเวรยาม รักษาความปลอดภัยไว้ด้วย
ด้วยอิทธิพลของคัมภีร์ อภิธรรมวิภาษาศาสตร์ หรือคัมภีร์มหาวิภาษาศาสตร์นี้เอง นิกายสรวาสติวาทจึงได้นามใหม่ว่า “ไวภาษิกะ” ในกาลต่อมา

สรวาสติวาทเป็นมหายานหรือเถรวาท
มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแบ่งนิกายเป็นเถรวาทและมหายานมานานแล้ว เพราะเราไปถือปทัฏฐานที่นักปราชญ์ชาวตะวันตกตั้งให้ว่า มหายานมีลักษณะดังนี้คือ
๑. เจริญอยู่ทางอินเดียตอนเหนือ จึงเรียกว่า นิกายฝ่ายเหนือ (Northern School)
๒. ใช้ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาคัมภีร์
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าใจว่า สรวาสติวาท เป็นนิกายสังกัดฝ่ายมหายาน ความจริง สรวาสติวาทเป็นหีนยานหรือเถรวาท แม้จะใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก ก็มิได้ทำให้ความเป็นเถรวาทลดน้อยลงไป ทั้งนี้ เพราะลักษณะคำสอนของสรวาสติวาท มีความเป็นคำสอนยุคแรก (Early Buddhism) มากเหลือเกิน เทียบได้กับคำสอนที่เราพบในพระสูตรใน ๓-๔ นิกายแรกของพระสุตตันตปิฎกผ่ายบาลี ข้อนี้ศึกษาได้จากคัมภีร์อภิธรรมโกศะและคัมภีร์เศษเสี้ยว (Fragments) อื่นๆ อีกประการหนึ่ง เมื่อตรวจดูประวัติการพัฒนาของนิกายนี้จะเห็นว่า สังกัดอยู่ฝ่ายเถรวาทแน่ แม้นักปราชญ์ฝ่ายฮินดู ก็ยังบอกว่า นิกายเสาตรานติกะ และไวภาษิกะ เป็นหีนยาน ส่วนนิกายมาธยมิกะและวิชญาวาทเป็นมหายาน

แหล่งข้อมูล (Sources)
พระพุทธศาสนาถือกำเนิดขึ้นในอินเดีย และแพร่ขยายอย่างมากในช่วง ๕๐๐ ปีแรก โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้รับยกย่องให้เป็นศาสนาประจำชาติ (State Religion) พลเมืองอินเดียเกือบร้อยทั้งร้อย จากเหนือจรดใต้ ตะวันออกถึงตะวันตก ล้วนแต่เป็นชาวพุทธ ประชาชนอ่านออกเขียนได้กว่าร้อยละ ๖๐
อีก ๕๐๐ ปีต่อมา พระพุทธศาสนานิกายมหายานเกิด และเจริญรุ่งเรืองไม่น้อย จะเห็นจากสถาปัตยกรรม – จิตรกรรมวัดถ้ำอชันตะ เอโรลล่า และซากวัดในเขตนาครชุนโกณฑะ รัฐอานธรประเทศ พระอาจารย์สำคัญของฝ่ายมหายาน เช่นท่านอาจารย์นาคารชุน และท่านวสุพันธุ ก็มีชีวิตอยู่ในช่วงนี้
หลัง พ.ศ. ๑,๐๐๐ ปีต่อมา พุทธศาสนาได้ปฏิรูปตัวเองมากขึ้น เพราะอิทธิพลของศาสนาฮินดูที่เริ่มแข็งแกร่งขึ้น มหาวิทยาลัยพุทธสำคัญ ๆ เช่นมหาวิทยาลัยนาลันทา วิกรมศิลา ฯลฯ ก็เกิดในช่วงเวลานี้ อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนายุคนี้ ได้รับการศึกษาในแง่ของปรัชญามาก ส่วนการปฏิบัติล้วนเป็นเรื่องพิธีกรรม เข้าฝ่ายตันตระไปมาก
พระพุทธศาสนาได้ปิดฉากสุดท้ายลง ก็เมื่อมหาวิทยาลัยนาลันทา ถูกกองทัพมุสลิมบุกเข้าทำลาย เข่นฆ่าพระภิกษุไปเป็นจำนวนพัน ส่วนที่เหลือหนีเตลิดเข้าเนปาล ทิเบต จีน เป็นต้น มีบันทึกประวัติศาสตร์เล่าว่า หอสมุดของมหาวิทยาลัยนาลันทา ๓ แห่ง ซึ่งบรรจุคัมภีร์สำคัญ ๆ ของพระพุทธศาสนาและลัทธิอื่น ๆ ไว้มากมาย ต้องใช้เวลาเผาอยู่เป็นเดือน จึงไหม้หมด
เป็นอันว่า คัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายสันสฤตในอินเดียได้สูญหาย และพินาศไปพร้อมกับความเสื่อมของพระพุทธศาสนา และมหาวิทยาลัยนาลันทาถูกเผา หลังจากนั้นอินเดียได้เข้าสู่ยุคมืดอีกครั้งหนึ่ง อย่างว่าแต่เรื่องคัมภีร์เลย ที่คนอินเดียไม่รู้จัก แม้แต่พระพุทธเจ้า หรือพระพุทธศาสนา คนอินเดีย (หลัง พ.ศ. ๑๗๐๐ มาจนถึงราว พ.ศ. ๒๔๐๐ ) ก็ยังสับสนเอามาก ๆ ด้วย
ท่านศาสตราจารย์ พี.วี. บาพัด ปราชญ์ผู้เป็นบรรณาธิการพิมพ์หนังสือ “๒๕๐๐ ปีของพุทธศาสนา” กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาสาบสูญไปจากอินเดียหมด มีอยู่ ๓ ประการคือ
๑. การศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์เหล่านี้ จำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ ของพระภิกษุ – สามเณร ภายในวัดเท่านั้น
๒. คัมภีร์พระพุทธศาสนาเหล่านี้ จะถูกเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดของวัดหรือในกุฏิ ของพระภิกษุ – สามเณร ไม่ยอมแบ่งให้ชาวบ้านได้ช่วยเก็บรักษาไว้บ้าง
๓. เพราะวัดหรือสถาบันการศึกษาถูกทำลาย ด้วยเงื้อมมือของผู้คลั่งศาสนา หรือพวกป่าเถื่อน หรือทรุดโทรมไปเอง ตามกาลเวลา พระคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา จึงพลอยถูกทำลายไปด้วย
โชคดีที่บาลีพระไตรปิฏก ข้ามไปเจริญรุ่งเรืองอยู่ที่เกาะลังกา พม่า ไทย ฯลฯ เสียก่อน จึงรอดพ้นจากการถูกทำลาย ส่วนคัมภีร์สันสกฤต ก็พบในประเทศอื่น ๆ เช่น เนปาล เอเชียกลาง เมืองกิลกิต (Gilgit) ทิเบต จีน ฯลฯ นอกเหนือจากฉบับที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาจีนและทิเบต 
ในส่วนข้อมูลของพระไตรปิฎก ภาษาสันสกฤตของสรวาสติวาทนี้ ได้มีการค้นพบต้นฉบับคัมภีร์พระวินัย และพระสูตรหลายฉบับในที่หลายแห่ง เช่นมีการพบพระปราติโมกษสูตร เขียนด้วยอักษรราชวงศ์คุปตะ บนใบเบิช (Birch) ในเขตเอเชียกลาง , นาย วี.เอ. สมิธ (V.A. Smit) และนาย ดับบลิว.ฮวย (W.Hoey) ได้พบพระไตรปิฎก (บางส่วน) เขียนแผ่นอิฐ อายุระหว่าง ๒๕๐ - ๔๐๐ AD ที่เมืองโคปาลปุระ
นอกจากนี้ ท่านศาสตราจารย์ เอน. ดุทท์ ( N. Dutt) ได้ค้นพบคัมภีร์เศษเสี้ยว (Fragmrnts) ของพระวินัย ที่ในเขตเมืองกิลลิต (Gillit) ในเขตปากีสถาน (บางท่านว่าแคสเมียร์ก็มี)


http://www.mcu.ac.th/mcutrai/menu2/Article/article_22.htm (http://www.mcu.ac.th/mcutrai/menu2/Article/article_22.htm)


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 15 ก.พ. 11, 16:14
โอ้โห คุณภาณุเมศวร์   
ตอนแรก เห็นบอกว่ามาปฏิบัติหน้าที่ภาระกิจที่ต่างจังหวัด คงจะยุ่งน่าดู
แต่ดูๆไป ก็ยังหาเวลามาเพิ่มเติมข้อมูลได้ตลอดเลยนะครับ


อันที่จริง ผมเองกะว่าจะลองดูประเด็นจากหัวกระทู้และความคิดเห็นแรกๆ และรวมไปถึงการถกพุทธประวัติ เทียบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์
เช่น ความสััมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาชนบท ทั้ง ๑๖ แคว้น ซึ่งส่งผลต่อแคว้นเล็กแคว้นน้อย
หรือ การที่พระพุทธองค์ใช้พระชนม์ชีพ หลังจากออกจากราชสำนักพระเจ้าสุทโธธนะ ในอาณาเขตของมหาชนบทเป็นหลัก ฯลฯ


แต่ทว่า เห็นทางคุณภาณุเมศวร์ แวะเสริมบาลี ไปแล้ว
ก็คงต้องถอยตัว หลบลงข้างทางไปก่อน


ปล. คุณภาณุเมศวร์ออกปฏิบัติราชการจังหวัดใหนหรือครับ หากมีโอกาสมาหัวเมืองตะวันออก ก็เชิญแวะมาพบปะกับผมบ้างก็ได้นะครับ
พบกันเมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้คุยเลย


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 15 ก.พ. 11, 16:23
ข้อสันนิษฐานส่วนตัว

คิดว่าเป็นอิทธิพลจาก
"มหากาพย์พุทธจริต" แต่งโดย มหากวี อัศวโฆษ เมื่อราว พุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ทำนองวรรณคดีเช่นเดียวกับมหากาพย์มหาภารตะ และมหากาพย์รามายณะ
http://en.wikipedia.org/wiki/Buddhacarita (http://en.wikipedia.org/wiki/Buddhacarita)
และมหาวัสตุ ราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙
http://th.wikipedia.org/wiki/มหาวัสตุอวทาน (http://th.wikipedia.org/wiki/มหาวัสตุอวทาน)
และคัมภีร์อื่น ๆ ทั้งนิกายฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ เช่น มหาวังสะ (มหาวงศ์) ทีปวังสะ (ทีปวงศ์) ของทางลังกา  เป็นอาทิ

ซึ่งก็มีเรื่องราวในทางปาฏิหาริย์อยู่มาก อันน่าจะเป็นต้นแบบของพุทธประวัติในปัจจุบัน
เพราะแม้แต่ อรรถกถาบาลี ซึ่งเป็นคัมภีร์อธิบายพระบาลี (ไตรปิฎก) ที่เรายึดถือเป็นหลักกันนั้น ก็ยังรจนาเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 15 ก.พ. 11, 16:26
โอ้โห คุณภาณุเมศวร์   
ตอนแรก เห็นบอกว่ามาปฏิบัติหน้าที่ภาระกิจที่ต่างจังหวัด คงจะยุ่งน่าดู
แต่ดูๆไป ก็ยังหาเวลามาเพิ่มเติมข้อมูลได้ตลอดเลยนะครับ


อันที่จริง ผมเองกะว่าจะลองดูประเด็นจากหัวกระทู้และความคิดเห็นแรกๆ และรวมไปถึงการถกพุทธประวัติ เทียบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์
เช่น ความสััมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาชนบท ทั้ง ๑๖ แคว้น ซึ่งส่งผลต่อแคว้นเล็กแคว้นน้อย
หรือ การที่พระพุทธองค์ใช้พระชนม์ชีพ หลังจากออกจากราชสำนักพระเจ้าสุทโธธนะ ในอาณาเขตของมหาชนบทเป็นหลัก ฯลฯ


แต่ทว่า เห็นทางคุณภาณุเมศวร์ แวะเสริมบาลี ไปแล้ว
ก็คงต้องถอยตัว หลบลงข้างทางไปก่อน


ปล. คุณภาณุเมศวร์ออกปฏิบัติราชการจังหวัดใหนหรือครับ หากมีโอกาสมาหัวเมืองตะวันออก ก็เชิญแวะมาพบปะกับผมบ้างก็ได้นะครับ
พบกันเมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้คุยเลย


กำลังจะวกกลับเข้าเรื่องแล้วครับพี่

ส่วน ป.ล. ตอบไปทางข้อความส่วนตัวแล้วนะครับ


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 15 ก.พ. 11, 16:39
ขอเริ่มจากที่พี่ไปตอบไว้ในพันทิปก่อนนะครับ

  ความคิดเห็นที่ 1   

ผมยังไม่เคยอ่านหนังสือ ที่คุณ จขกท แนะนำนะครับ

แต่จำได้คร่าวๆแล้วสืบค้นง่ายๆ จากในอินเทอร์เนทเพื่อยืนยัน จำความได้ว่า
เผ่าโกลิยะ มี ๒ สาย ครับ คือ สายรามะคาม กับสายเทวะทหะ

นอกเหนือไปจากนั้น ในเทวทหสูตร ได้กล่าวไว้ว่า สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมเทวทหะของศากยะทั้งหลายในสักกชนบท.
(พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค หน้า ๕)

และมีข้อมูลนอกพระสูตรอีก
จำได้เลาๆว่า กษัตริย์ศากยะ ได้ขยายอาณาเขต ข้ามแม่น้ำโรหิณีไปทางตะวันออก
และได้ตั้งนิคมขึ้นที่ริมสระน้ำ ใกล้หมู่บ้านชื่อเทวะทหะ (ประมาณ ๓๘ กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกของสวนลุมพินีวัน)
ต่อมาจึงได้เป็นนครใหญ่ขึ้นครับ

ส่วนในเรื่องพระเจ้าอุกกากราช นั้น มีอรรถกถาไว้แล้วใน พระไตรปิฎก เล่ม ๙
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑  ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค หน้า ๘๕ -๘๖ ว่าด้วยศากยวงศ์ครับ
เรื่องคำอุทานนั้น น่าจะมาจากบาลีที่ว่า
"อถโข ราชา อุกฺกาโก อุทานํ อุทาเนสิ สกฺยา วต โภ กุมารา ปรมสกฺยา วต โภ กุมาราติ "
กระมังครับ

พอดีว่า ออกมาทำงาน ตจว เหมือนกัน ต้องกลับบ้านไปค้นหนังสือ เพื่อความมั่นใจอีกที
ก็เลยหาคำตอบจากในเนทนี้ก่อน
รอท่านผู้รู้ท่านอื่นมาเสริมบ้างดีกว่า

จากคุณ : Diwali   
เขียนเมื่อ : 15 ก.พ. 54 02:18:01   
ถูกใจ : เจ้าคุณแม่ทัพ


ก่อนจะเข้าประเด็น เทวทหะ และเรื่อง ๑๖ มหาชนบท

ขอทิ้งท้ายเรื่องนาม ศากยะ ไว้หน่อย

บางส่วนจากพระบาลีที่พี่ยกมา

สกฺยา วต โภ กุมารา  ปรมสกฺยา วต โภ กุมารา
กุมารผู้อาจหาญหนอ  กุมารผู้อาจหาญอย่างยิ่งหนอ

สกฺยา (สักยา) จึงกลายเป็นชื่อของพวก ศากยะ (สันสกฤต) - บาลีว่า สักยะ สากิยะ

ที่ว่ามาจาก ไม้สากะ ผมได้แสดง คคห. ของท่านพุทธทาสเอาไว้แล้ว คคห. ๔

นอกจากนั้น บางท่านว่า มาจาก สกสังวาส คือ แต่งงานกันเองในหมู่พี่น้อง
ท่านพุทธทาสก็ว่า ไม่มีในคัมภีร์ทั้งนิกายฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้
ท่านจึงลงมติว่า มาจากการเปล่งอุทานของพระเจ้าโอกกากราช
(อถโข ราชา อุกฺกาโก อุทานํ อุทาเนสิ)


 


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 15 ก.พ. 11, 17:42
มาขอเสริมสักหน่อย ก่อนไปถึงเรื่องอื่นๆ

ที่มาที่ไป ของการยกเอาคำอุทาน "อถโข ราชา อุกฺกาโก อุทานํ อุทาเนสิ สกฺยา วต โภ กุมารา ปรมสกฺยา วต โภ กุมาราติ " ขึ้นมานั้น

ผมขอขมวดเรื่องให้กระชับนะครับ

คือในสมัยพุทธกาลนั้น มีพราห์มผู้หนึ่งคือ "อัมพัฏฐมาณพ" ได้เดินทางพร้อมเหล่ามาณพคณะหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
แล้ว"อัมพัฏฐมาณพ" ไม่รักษามารยาท คือยืนบ้าง เดินบ้าง ในขณะที่สนทนากับพระพุทธองค์

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถาม "อัมพัฏฐมาณพ" ก็กล่าวดูถูกเหยียดหยาม "ศากยวงศ์" หลายครั้ง
โดยเหตุมาจากตอนที่ "อัมพัฏฐมาณพ" ไปทำธุระที่กรุงกบิลพัศดุ ได้รับการต้อนรับที่ไม่ดีจาก"ศากยะวงศ์"

พระพุทธองค์ จึงได้เล่าที่มาที่ไปของ "ศากยวงศ์" ว่าเป็นกษัตริย์ สืบเชื้อสายจาก พระเจ้าอุกกากราช ตามที่ได้สาธกไว้แล้ว

ในขณะที่ "อัมพัฏฐมาณพ"นั้นเป็น กัณหายนะ ผู้สืบเชื้อสายจากกัณหะ
กัณหะ เป็นบุตรของพระเจ้าอุกกากราช กับนางทาสี ชื่อ ทิสา
ซึ่งถือเป็นบุตรที่เกิดจากชนต่างวรรณะ

ดังนั้น เหล่า"ศากยะ" จึงดูถูก "กัณหายณะ" ว่าเป็นเพียงผู้สืบสายจากทาส

เนื้อความของ "เรื่องอัมพัฏฐมาณพ" ในตอน "ว่าด้วยศากยวงศ์" และตอน"ว่าด้วยวงศ์ของอัมพัฏฐมาณพ"
ก็สรุปได้ตามนี้ครับ
ตามอ่านได้ที่   http://84000.org/ พระไตรปิฏก เล่มที่ ๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค หน้า ๘๑- ๙๒ ครับ

ที่ผมยกขึ้นมานี้ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ ที่ถูกใช้สนับสนุนว่า "ศากยะ" นั้น ค่อนข้างจะยึดติดในความสูงส่งของ "โคตร" ของตนอยู่



เหตุการณ์อื่นๆ ที่ปรากฎในพระคัมภีร์ ที่น่าสนใจอีก ก็คือ สงครามแย่งนำ้ ระหว่างศากยะ กับ โกลิยะ
และเหตุการณ์สุดท้ายของวงศ์ ก็คือ พระเจ้าวิฑูฑภะ ยกทัพไปล้างวงศ์ศากยะ


ผมว่า ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการถอดความเป็นพุทธออกก่อน เราก็จะสามารถจะแยกประเด็นมาถกกันได้อย่างกว้างขวางและอาจจะนำไปสู่แนวทัศนะใหม่ๆเพิ่มเติมได้นะครับ
ตัวกระผมเองไม่เคยบวชเรียน  ศีล ๕ ยังรักษาได้แค่ ๓  จึงไม่กล้าอาจเอื้อมขึ้นถกในแนวปรัชญา
แต่ถ้าเอากันเป็นวิเคราะห์เหตุการณ์ หรือประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์  ผมเองอาจจะพอขอร่วมส่งเสียงเล็กๆน้อยๆ ได้บ้าง

แต่ให้คุณภาณุเมศวร์ ฉายเป็นหลัก ไปก่อนแล้วกันนะครับ


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 11, 21:38
แต่ถ้าเอากันเป็นวิเคราะห์เหตุการณ์ หรือประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์  ผมเองอาจจะพอขอร่วมส่งเสียงเล็กๆน้อยๆ ได้บ้าง

แต่ให้คุณภาณุเมศวร์ ฉายเป็นหลัก ไปก่อนแล้วกันนะครับ

เข้ามาติดตามทุกระยะ
ขอต้อนรับคุณ Diwali เข้าร่วมวง    อยากอ่านข้อวิเคราะห์ค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 16 ก.พ. 11, 01:01
มาเพิ่มอีกนิด เกี่ยวกับเรื่อง เผ่าสักกะ กับ วงศ์ศากยะ ครับ

อ้างถึง
ปราชญ์บางท่าน เชื่อว่า พวกนี้เป็นเผ่ามงโกลด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากไม่ใช่ประเด็นของท่านพุทธทาส จึงไม่ขอลงในรายละเอียด
แต่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยว่าเป็นมงโกล)


ประเด็นนี้ โดยส่วนตัวผม เห็นว่าน่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนและเป็นการจับแพะชนแกะ ครับผม
ตามประวัติศาสตร์ของภูมิภาคอนุทวีปนี้

ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ มีการแผ่ขยายอิทธิพลของเผ่าพันธุ์หนึ่ง คือ Indo-Scythians สืบเชื้อสายจากเผ่าที่เขียนเป็นบาลีได้ว่า  "สักกะ"
เผ่าสักกะนี้ยังเป็นข้อถกเถียงว่าเป็นอารยันโบราณเผ่าหนึ่ง
ในขณะที่ ปโตเลมี ได้ลงความเห็นว่า เผ่าสักกะเป็น เผ่า nomads ดั้งเดิม ที่หลบหนีการกวาดล้างโดยเผ่าซงหนู จากแถบมงโกเลีย-เอเชียกลางลงมา
จนในที่สุดก็สามารถดินแดน "สักกะสถาน" อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุได้

ในช่วงประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๔ เผ่าสักกะ จากราชอาณาจักรต่างๆ ก็สามารถต่อกร ทำสงครามกับเผ่าพันธุ์เจ้าถิ่นเดิมจากอาณาจักรอดีต"โสฬสมหาชนบท"ได้สูสี
หากช่วงใด อาณาจักรจากดินแดนภารตะทางตะวันออกเข้มแข็งกว่า เผ่าสักกะบางเมืองก็อาจยอมอ่อนน้อม
ในขณะเดียวกัน ทางตะวันตก ก็มีมหาอาณาจักรเปอร์เซีย ก็คอยคุกคามอยู่เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เผ่าพันธุ์"สักกะ"เหล่านี้ก็ยังดำรงอยู่ได้หลายร้อยปีครับ

ในที่สุด เผ่าสักกะ ตั้งเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งได้ก็ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๙ นั้นก็คือ อาณาจักรคันธาระ โดยมีดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของอนุทวีปนี้ครับ



จากที่เกริ่นร่ายมาคร่าวๆ น่าจะพอเห็นแล้วนะครับว่าทำไมผมถึงกล้าใช้คำว่า "(บางท่าน)จับแพะชนแกะ"
ก็เพราะพระพุทธรูปยุคต้น ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะคันธาระ (โดยเผ่าสักกะ)
พุทธลักษณะ ย่อมถ่ายแบบจากมนุษย์ในเผ่าพันธุ์นั้นๆ
เลยผนวกเอาดื้อๆว่า เผ่าสักกะ ก็คือ เผ่าสักยะ(ศากยะ) จากแคว้นสักกะดั้งเดิม(กบิลพัสดุ์)
และโดยที่ เผ่าสักกะ นี้ อาจจะอพยพมาจากทะเลทรายจากมองโกเลีย  ดังนั้น พระพุทธเจ้า ก็น่าจะมีเชื้อสาย เผ่ามองโกเลีย
หุ หุ หุ ผมว่า ไปกันใหญ่ ครับ  :( :(


ท่านอาจารย์ มีความเห็นอย่างไรบ้างครับ





กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 16 ก.พ. 11, 11:11
เรื่องเผ่าสกะไซเธียนส์ นั้น  บังเอิญชื่อมาพ้องกับ สักกะ (สักยะ-ศากยะ) ทำให้ไขว้เขวกัน  
ทั้งที่ความจริงแล้ว  พวกนี้เข้ามาหลังพุทธกาล ดังที่ คุณ Diwali กล่าวไว้

พวกไซเธียนส์ นั้น  บางท่านก็ว่าเป็นพวกอินเดีย-ยุโรป (Indo-European) หรือที่เรียกกันแบบง่าย ๆ ว่า ชนชาติอารยัน

นอกจากนี้ ฝ่ายที่ว่า ศากยะ เป็นมงโกลนั้น ยังมีเหตุผลว่า

๑. เมื่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้า (และในอรรถกถาเมื่อกล่าวถึงพวกศากยะ) กล่าวว่า สุวัณณะวัณโณ (ผิวดั่งทอง)

ฝ่ายนี้เลยกล่าวว่า ผิวสีทอง ก็ต้องเป็นผิวเหลือง  แสดงว่าเป็น มองโกลอยด์


๒. การปกครองของพวกศากยะ โกลิยะ ลิจฉวี มัลละ ซึ่งมีดินแดนแถบที่ลาดเชิงเขาหิมาลัย ล้วนเป็นแบบสภา มีสันถาคารเป็นที่ประชุม
ถึงจะใช้คำว่า "ราชา" ก็เป็นเพียงประมุขของรัฐ เป็นประธานสภา ไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาด  
หรือมิฉะนั้นก็เป็น ราชา กันทุกองค์ (เช่น พวกลิจฉวี ทำนองว่า หัวหน้าตระกูลก็เป็นราชาในนิคมของตน คล้าย ๆ สมาพันธรัฐ)

แตกต่างจากราชาธิปไตยของ ๑๖ มหาชนบท ซึ่งเป็นอารยัน


๓. พวกศากยะ โกลิยะ แต่งงานกันแต่ในพวกตัว เพราะหวงความเป็นมงโกล ไม่อยากผสมกับพวกอารยัน
ในนิกายฝ่ายเหนือว่า  พวกลิจฉวีก็มีสิทธิ์แต่งงานกับพวกศากยะได้
และพระพุทธเจ้า ทรงเลือกไปปรินิพพานในแดนเจ้ามัลละ น่าจะเป็นการสงเคราะห์ญาติ หรือชนเผ่าพวกเดียวกัน ให้ได้เป็นผู้จัดการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

ดังนั้น ทั้ง ๔ พวก จึงล้วนเป็นมงโกลเหมือนกัน


๔. พวกนี้มีธรรมเนียมหวงตนอย่างยิ่ง  ไม่ยอมร่วมกับวงศ์อื่น แม้เป็นกษัตริย์ด้วยกัน  หรือแม้แต่เป็นอธิราชผู้ยิ่งใหญ่ เพราะรักษาเผ่าพันธุ์ไว้ ไม่ให้กลืนไปกับพวกอารยัน
อีกทั้งมีธรรมเนียมแตกต่างจากพวกอารยันหลายประการ เช่น  พระนางมายา เสด็จกลับพระนครเดิ เพื่อให้พระประสูติกาล  
ทั้งที่ อารยัน ถือว่า สตรีย่อมเป็นสมบัติตระกูลสามี  แต่พวกศากยะนั้น  ปรากฏว่าให้เกียรติแก่สตรีสูงผิดจากอารยันทั่วไป  
และพระอานนท์ ซึ่งเป็นพวกศากยะ ก็เป็นผู้ขวนขวายให้สตรีได้บวชเป็นภิกษุณี

ซึ่งหลังพุทธกาล พระอานนท์ถูกสงฆ์ตำหนิในกรณีนี้  แสดงว่า สงฆ์นั้นโดยมากเป็นอารยัน ที่ไม่ให้เกียรติแก่สตรีมากนัก



ฝ่ายนี้ยังเห็นด้วยว่า  พระเจ้าโอกกากราชนั้น ก็เป็นพวกมงโกล 
ก่อนที่เผ่าพันธุ์มงโกลจะเสียอำนาจให้ชาวอารยัน  และถูกเหยียดเป็น มิลักขะ เช่นเดียวกับพวก นาคา ทราวิฑ


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 16 ก.พ. 11, 11:53
ในประเด็นเหล่านี้ ผมเห็นว่า น้ำหนักยังอ่อนเกินไป  และคล้ายจะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูล เพิ่อให้ได้ผลตามธงที่ต้องกาล
(เพราะคนไทยก็ถือว่าเป็นมองโกลอยด์)

๑. เรื่องผิวดั่งทอง  อาจมองว่าเป็นการยกย่องว่าผิวพรรณงดงาม ผุดผ่อง เปล่งปลั่ง
การถือว่าเป็นพวกผิวเหลืองเป็นการด่วนสรุปที่ลากเข้า คคห.ตนเอง

๒. พวกอินเดีย-ยุโรป (ขอเรียกว่าอารยัน) เป็นพวกเร่ร่อนในทุ่งหญ้ามาก่อน ปกครองแบบชนเผ่า
ซึ่งก่อนจะมีระบบวรรณะ ก็คงมีพวกหมอผี (พัฒนาเป็นพราหมณ์) นักรบ (พัฒนาเป็นกษัตริย์) ชาวบ้านทั่วไป (พัฒนาเป็นไวศยะ)
และในการปกครองแบบชนเผ่านั้น พวกชนชั้นนำ ก็น่าจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทำนองสภานั่นเอง
พวกศากยะ โกลิยะ ลิจฉวี และมัลละ เป็นเพียงแคว้นเล็ก ๆ การปกครองอาจจะยังพัฒนาไปไม่มาก  จึงคงรูปแบบเดิมอยู่

และด้วยการเป็นแคว้นเล็ก ๆ การศึกษาจึงยังไม่น่าพัฒนาไปไกลมาก  น่าจะได้ศึกษาเฉพาะวิชาที่จำเป็นต่อวรรณะ และศึกษาผ่านตระกูล
เจ้าสิทธัตถะ อาจได้เรียนพระเวท ภาษาศาสตร์ กาพย์ ดนตรี นาฏศิลป์ วิชาการทหาร การปกครอง และวิชาที่เป็นประโยชน์แก่การกสิกรรมและการชลประทาน (เช่น วิศวกรรม คำนวณ เรขาคณิต?)
ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของวรรณะกษัตริย์ และเจ้าศากยะที่ต้องดูแลนา
พวกศากยะ จึงไม่จำเป็นต้องไปเรียนถึงตักสิลาเหมือนเจ้าจากรัฐใหญ่ ๆ

๓. เรื่องการหวงเผ่าพันธุ์ เป็นธรรมดาของผู้มีชาติตระกูลสูง ยิ่งในสังคมพราหมณ์โบราณด้วยแล้ว  ยังไม่ควรด่วนสรุปว่า เป็น มงโกล

๔. เนื่องจากเป็นแคว้นเล็ก ๆ ธรรมเนียมอาจยังติดธรรมเนียมสมัยชนเผ่ามา  อีกทั้งการแต่งงานในพวกพ้อง  ทำให้เป็นเหมือนสังคมปิด ไม่ได้รับธรรมเนียมจากที่อื่นมากนัก (อันนี้เดา)

ในสังคมชนเผ่า  ที่ยังไม่ได้พัฒนาเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ขนาดใหญ่  มักจะให้เกียรติแก่สตรีอยู่มาก
เช่น พวกมงโกล  แมนจู  ให้เกียรติสตรี มากกว่าชาวฮั่น
ในอุษาคเนย์ ก่อนรับวัฒนธรรมอินเดีย  ก็เป็นสังคมแม่เป็นใหญ่  ในชนเผ่าให้เกียรติสตรีอาวุโสเป็นผู้นำ ผู้สื่อกับวิญญาณ
(อินเดียนแดง ก็เห็นในหนังว่า เป็นแบบนี้หลายเผ่า  ;D)
 


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 11, 19:28
ลักษณะหนึ่งของอารยัน คือนับถือเทพเจ้าและรูปบูชา    ส่วนพุทธศาสนาไม่มีธรรมเนียมประเพณีในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าหลังปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายก็ยังไม่เคยประชุมกันเพื่อสร้างพระพุทธรูปไว้แทนพระองค์    พระพุทธรูปคันธาระมาเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกนาน  ไม่เกี่ยวกับหลักการใดๆทางพุทธที่นับถือกันมาก่อน

ส่วนเรื่องภิกษุณี   ในสมัยพุทธกาลไม่มีลัทธิในอินเดียยอมให้ผู้หญิงได้เป็นนักบวช     พุทธศาสนาอนุญาตให้ได้ก็ต้องถือว่าขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศไปได้มาก    แต่ถามว่าเสมอภาคกันไหม ก็ไม่เสมอภาคอยู่ดี    เพราะภิกษุณีต้องถือศีลถึง ๓๑๑ ข้อ ขณะที่ภิกษุถือ ๒๒๗ เท่านั้น 
นอกจากนี้ยังต้องรับครุกรรม ๘ ประการคือ
     ๑. ภิกษุณีที่อุปสมบทมาตั้งร้อยพรรษาก็พึงทำการกราบไหว้แสดงความเคารพ  แก่ภิกษุที่อุปสมบทใหม่แม้ในวันนั้น
     ๒. ภิกษุณีจะต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสที่มีภิกษุ
     ๓. ภิกษุณีจะต้องพึงหวังธรรม ๒ ประการจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน คือการถามวันอุโบสถและการเข้าไปฟังโอวาท
     ๔. ภิกษุณีออกพรรษาและพึงปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายคือ ในภิกษุสงฆ์และในภิกษุณีสงฆ์
     ๕. ภิกษุณีเมื่อต้องครุธรรมคือต้องอาบัติหนักก็พึงประพฤติมานัด (ระเบียบปฏิบัติในการออกจากอาบัติหนัก) ๑๕ วัน ในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย (ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณี)
     ๖. สตรีที่ศึกษาอยู่ในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปี (กล่าวคือรักษา ศีล ๑๐ ของสามเณร ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ โดยไม่ขาดตลอดเวลา ๒ ปี) อันเรียกว่า นางสิกขมานา เมื่อได้ศึกษาแล้วดั้งนี้จึงอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่ายได้
     ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุโดยปริยายใด ๆ
     ๘. ภิกษุทั้งหลายสั่งสอนห้ามปรามภิกษุณีทั้งหลายได้ แต่ว่าภิกษุณีทั้งหลายจะสั่งสอนห้ามปรามภิกษุทั้งหลายไม่ได้


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 17 ก.พ. 11, 14:32
ขอออกนอกทาง ด้วยการเสริมลิงก์เรื่องอารยัน เผื่อท่านที่สนใจ

เป็นการพูดคุยกันในพันทิปครับ

มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่พวกเปอร์เซียจะเป็นพวก "อสูร" ในคัมภีร์พระเวท (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/11/K8515200/K8515200.html)

การกระจายตัวของชนชาติอารยัน{แตกประเด็นจาก K8515200} (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/12/K8663299/K8663299.html)

การกระจายตัวของชนชาติอารยันอินเดียสู่ลุ่มแม่น้ำสินธุ และความขัดแย้งกับอารยันอิหร่าน{แตกประเด็นจาก K8663299} (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/01/K8760781/K8760781.html)

[Aryan migration] สู่ดินแดนเปอร์เซีย และความสัมพันธ์ักับฮารัปปา, โมเฮนโจ-ดาโร{แตกประเด็นจาก K8760781} (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/02/K8831710/K8831710.html)


และเรื่องเกี่ยวกับภาษาบาลีครับ

ขอถามเรื่องชาวอารยัน-ภาษามคธ ทีขอรับ (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2011/01/K10116807/K10116807.html)


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 11, 18:44
ขอแยกซอยออกไปอีกหน่อย    เจอบทความนี้ เลยนำมาฝากกันค่ะ

"เรามีหลักฐานอะไรที่ทำให้เชื่อว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่จริง"
โดย
พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส  วัดบวรนิเวศวิหาร

ปุจฉา ... ทำไมจึงทราบประวัติพระพุทธเจ้าได้ ทั้งที่ปรากฏว่า พระองค์ปรินิพพานไปนานแล้ว และเรามีหลักฐานอะไรที่ทำให้เชื่อว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่จริง พระพุทธเจ้าในอนาคตจะมีอีกไหม ? ถ้าจะมี เมื่อไร ?

วิสัชชนา ... ปัญหาที่ถามมีหลายตอน ขอแยกตอบเป็นตอน ๆ ดังนี้

ประเด็น แรกที่ว่า ทำไมจึงทราบประวัติพระพุทธเจ้าได้ ทั้ง ๆ ที่ปรากฏว่า พระองค์ปรินิพพานไปนานแล้วนั้น เราจะเห็นได้ว่าเรื่องอดีตเป็นอันมาก ไม่จำเพาะแต่ประวัติของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่เราได้ทราบและยอมรับกันอยู่ว่า เป็นเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นจริง สิ่งที่ช่วยให้เราได้ทราบ ส่วนมากแล้วก็คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะพระประวัติของพระพุทธเจ้านั้น เราได้ทราบมาหลายทางด้วยกัน เช่น

ก. จากตำรับตำราต่าง ๆ ที่พระโบราณาจารย์ได้รจนาไว้ ซึ่งได้รับการสั่งสอนศึกษาสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะคือ พระไตรปิฎก อันรวบรวมพระพุทธวจนะ คือ คำสั่งและคำสอนแล้ว ยังได้แสดงประวัติของพระองค์ไว้ในพระสูตรต่าง ๆ มากมาย ที่สำคัญก็คือว่า เรื่องราวเหล่านั้นตรงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ตาม ถ้าหากว่าเป็นประเทศพระพุทธศาสนาแล้ว จะลงรอยเป็นอันเดียวกัน เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ที่อาจจะพิสูจน์ได้ และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ส่วนข้อปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้น อาจจะมีแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่หาใช่เป็นประเด็นสำคัญไม่

ข. หลักฐานจากสังเวชนียสถานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เช่น สถานที่ประสูติ แสดงปฐมเทศนา ตรัสรู้ และปรินิพพาน เป็นต้น ซึ่งเราอาจจะดูได้ในประเทศอินเดีย และเนปาล ในปัจจุบันนี้ โบราณสถานเหล่านี้ นักโบราณคดีจะบอกให้เราทราบได้อย่างดีว่า เป็นมาอย่างไร และเกิดขึ้นในครั้งไหน นอกจากนั้น หลักฐานในทางอื่น ๆ เช่น ทางพุทธศิลป์ เจดียสถาน ตลอดถึงวัดวาอารามต่าง ๆ อาจจะช่วยให้เราได้ทราบประวัติของพระพุทธเจ้า ได้ทั้งนั้น

ประเด็น ที่สอง ที่ถามว่า เรามีหลักฐานอะไรที่ทำให้เชื่อว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่จริง เมื่อพูดถึงหลักฐานแล้ว เราก็มีมากเหลือเกิน ที่ทำให้เชื่อเช่นนั้น คือ นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ดังได้กล่าวมาแล้ว สิ่งที่จะช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดี ประการต่อไปก็คือ

๑. ความมีอยู่ของพระธรรม อันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ ข้อนี้อาจจะมีคนแย้งว่า พระธรรม นั้นใครจะแต่งเอาก็ได้ เราจะไปรู้ได้อย่างไร ข้อนี้แหละที่น่าสนใจ คือ คนที่แต่งหรือคำสอนเช่นนี้แหละ ก็เราเรียกว่า พระพุทธเจ้า ซึ่งแปลว่า ผู้รู้ หรือเรียกอีกพระนามหนึ่งว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง โดยเราพิจารณาได้จากคำสอนเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนธรรมดาคงไม่สามารถสอนได้ เช่น หลักอริยสัจ ๔ ประการ หลักอนัตตา หลักพระนิพพาน เป็นต้น ซึ่งเป็นคำสอนที่ละเอียดประณีต และที่เป็นจุดเด่นที่เห็นได้ชัด ในคำสอนของพระองค์ ก็คือว่า ไม่มีแต่เพียงหลักการอันสวยหรูเพียงอย่างเดียว แต่มีวิธีการและขั้นตอนแห่งการปฏิบัติไปถึงขั้นนั้น จะเกิดผลอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเหมือนคนที่เคยเดินทางนั้นฟังว่า ในหนทางแต่ละตอนมีอะไรอยู่บ้าง คนควรจะทำตนอย่างไร เมื่อเดินถึงทางตอนหนึ่ง ๆ และเขาจะได้รับประโยชน์อะไร ขณะที่เดินไปถึงหนทางตอนนั้น ๆ ด้วย

๒. ลักษณะคำสอนที่อัศจรรย์ คือ คำสอนที่พระองค์ทรงสอนไปแล้ว จะไม่มีใครคัดค้านได้ ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ และกาลไหนก็ตาม เช่น พระองค์ทรงสอนว่า ความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นทุกข์ เป็นต้น คนเราที่ต้องทุกข์กันนั้น ก็เพราะตัณหา คือ ความทะยานอยากตัวเดียว ถ้าไม่มีตัณหาเสียได้แล้ว ก็ไม่ต้องทุกข์กัน คำสอนเหล่านี้นานเหลือเกินแล้ว แต่ก็ยังเป็นความจริงที่ใครไม่อาจคัดค้านได้ หรืออย่างที่ทรงสอนว่าคนที่ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น ก็เป็นความจริงที่ใครไม่อาจจะคัดค้านได้ เช่นเดียวกัน แม้คำสอนข้ออื่น ๆ ก็อยู่ในทำนองนี้ทั้งหมด ตรงกันข้าม คำสอนของนักปราชญ์ หรือทฤษฎีของนักวิชาการทั้งหลายในอดีต พอเวลาล่วงเลยมาไม่นานนัก ไม่สามารถทนต่อการพิสูจน์ได้ ต้องล้มไปเป็นจำนวนมากต่อมากแล้ว แต่คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นอัศจรรย์นัก เพราะ ใครไม่อาจคัดค้านได้

ความ อัศจรรย์ประการต่อไป คือ ความบริบูรณ์และกระชับแห่งถ้อยคำ เช่น ทรงสอนว่า สติจะต้องใช้ในการทำงานทั้งปวง คนฟังจะรู้สึกเห็นจริง ๆ และเป็นเช่นนั้นจริงเสียด้วย หรืออย่างที่พระองค์ตรัสว่า มารย่อมไม่พบเห็นทางของผู้มีศีลบริบูรณ์ ไม่ประมาทเป็นปกติ และหลุดพ้นเพราะรู้ชอบ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า แต่ละตอนเป็นคำพูดที่รัดกุม เพราะ ถ้ามีศีลเฉย ๆ ความหมายและผลที่เกิดขึ้น ก็จะบกพร่องไป คนผู้ปฏิบัติอาจจะไม่พ้นจากอำนาจของความชั่วได้ เป็นต้น

ความ อัศจรรย์ประการต่อไป คือ คำสอนอันใดก็ตาม ที่พระองค์บอกว่าดี และให้ผลเป็นความสุขแก่ผู้ปฏิบัติ ก็จะให้ผลจริงเช่นนั้น หรือว่าสิ่งใดที่พระองค์ทรงแสดงว่าไม่ดี ให้โทษแก่ผู้กระทำ สิ่งนั้นก็จะให้โทษจริงเสียด้วย คนที่สอนได้อย่างอัศจรรย์เช่นนี้ หาใช่วิสัยของคนธรรมดาไม่ ท่านผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้นามว่า พระพุทธเจ้า โดยไม่ต้องสงสัย

๓. ความมีอยู่ของพระสงฆ์ ก็เป็นหลักฐานอันหนึ่งที่จะยืนยันได้ว่า มีบุคคลผู้หนึ่งในอดีตกาล ได้ตรัสรู้พระธรรมอันสูงสุด และได้สั่งสอนธรรมอันนั้นแก่โลก จนมีพระสงฆ์สาวกสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เพราะพระสงฆ์จะมีไม่ได้เลย ถ้าขาดพระพุทธเจ้าเสียแล้ว เนื่องจากว่า รัตนะทั้งสามนี้ มีความเกี่ยวข้องกัน อย่างที่ไม่อาจจะแยกกันได้ เพราะ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรม พระธรรมเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ พระสงฆ์เล่า ก็เป็นกลุ่มชนที่รับนับถือคำสอนของพระพุทธเจ้า และมีการศึกษาปฏิบัติสืบต่อกันมา จนถึงปัจจุบันดังได้กล่าวมาแล้ว นี้ก็เป็นหลักฐานอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เชื่อว่า เคยมีท่านผู้หนึ่งได้นามว่า พระพุทธเจ้า เกิดขึ้นในโลก และได้ปรินิพพานไปแล้ว ยังเหลือแต่พระธรรมและพระวินัย เป็นตัวแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกที่ได้นับถือ ปฏิบัติสืบต่อกันมา นี้เป็นหลักฐานซึ่งกล่าวมาโดยย่อ พอเป็นแนวพิจารณา

ประเด็นปัญหาในตอนต่อไป ที่ถามว่า พระพุทธเจ้าในอนาคตจะมีอีกไหม ? ถ้ามีจะมีเมื่อไร ?

เมื่อ ว่ากันตามหลักฐานทางบาลี หรือตำรับตำราที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ท่านก็ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ในภัทรกัปนี้ จะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น และสั่งสอนสัตว์โลกถึง ๕ พระองค์ด้วยกัน และได้เกิดมาแล้ว ๔ พระองค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสป และพระโคดม ในอนาคตจะมีอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรย หรือที่เราพูดกันโดยทั่วไปว่า พระศรีอาริย์ จนถึงกับคนเป็นจำนวนมาก หลังจากได้ทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง มีการให้ทานเป็นต้น ก็จะอธิษฐานขอให้ได้เกิดพบศาสนาของพระศรีอาริย์ เพราะท่านเล่าไว้ว่า ในยุคนั้น จะมีอะไร ๆ หลายอย่างดีกว่าในปัจจุบัน ดังนั้น จึงมีคนต้องการไปเกิดกันมาก คงจะคิดว่า น่าสนุกดี แต่การจะพูดเพียงตำราเท่านั้น บางท่านก็อาจจะติงว่า ตำรานั้น ใครแต่งเอาก็ได้ จะจริงเท็จอย่างไร ใครพิสูจน์ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องไกลเหลือเกิน จึงน่าจะพิจารณากันในแง่ของเหตุผล และประเด็นของความน่าจะเป็นไปได้ หรือว่าจะเป็นไปไม่ได้อย่างไรด้วย

เมื่อ ว่ากันตามหลักแล้ว ตำแหน่งหรือฐานะความเป็นทั้งหลายในโลก เช่น เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเศรษฐี เป็นนักปราชญ์ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เป็นตำแหน่งผูกขาดทั้งนั้น ใคร ๆ ก็อาจจะเป็นได้ ถ้าเขามีอุปกรณ์ในการที่จะช่วยให้ได้ตำแหน่งเหล่านั้น เพียงพอ เช่น ถ้าต้องการจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ไม่มีใครหวงตำแหน่งนั้นไว้ ถ้าใครมีความขยันหมั่น และความตั้งใจจริง เขาก็อาจจะเป็นได้เหมือนกันหมด แต่ถึงอย่างนั้น เราก็พบความจริงข้อหนึ่งว่า คนอยากจะเป็นนั้นมีมากจริง แต่คนที่ได้เป็นมีน้อยเหลือเกิน ทั้งนี้เป็นเพราะว่า "การได้เป็นนั้น ไม่ง่ายเหมือนกับอยากจะเป็น" เพราะ ผู้ที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์เป็นต้นได้ จะต้องประกอบด้วยองค์คุณสมบัติหลายประการ มีความขยัน เป็นต้น

ตำแหน่ง พระพุทธเจ้า ก็ทำนองเดียวกัน โดยความเป็นจริงแล้ว ย่อมไม่มีใครผูกขาดไว้สำหรับตนเลย ถ้าหากจะมีการผูกขาด ก็ผูกขาดไว้สำหรับคนที่ได้บำเพ็ญบารมีมาบริบูรณ์ ก็อะไรเรียกว่า บารมีเล่า บารมีนั้นได้แก่ การเก็บ การสั่งสมความดีนานาประการ มี "ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และ อุเบกขา" ขั้นธรรมดาสามัญ จนถึงขั้นที่จะยอมเสียได้ทุกอย่าง แม้แต่ชีวิตของตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ และจะต้องทำมาเป็นเวลาหลายแสนชาติ โดยไม่บกพร่อง เขาผู้นั้นก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้าสมตามปรารถนา จากความจริงข้อนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงลักษณะอันเด่นชัด ของพระพุทธศาสนาว่า เป็นศาสนาที่ถือหลักธรรมาธิปไตย ความเป็นทุกอย่างในพระพุทธศาสนา เปิดโอกาสเพื่อคนทุกคน ที่มีความตั้งใจ อาศัยศรัทธา เป็นต้น เป็นเครื่องมือในการก้าวไปสู่จุดหมายปลายทาง ที่ทุกคนประสงค์  จึงอาจยืนยันได้ว่า พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ยกย่อง และเทิดทูนผู้ที่ช่วยตนเอง มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยว เพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งชีวิต หรืออุดมคติในทางพระพุทธศาสนา ถ้าทำได้แล้ว เขาจะเป็นใคร มาจากไหนก็ตาม ย่อมได้รับผลเสมอกันหมด ไม่มีข้อยกเว้น
การเป็นพระพุทธเจ้าในศาสนา เนื่องมาจากการบำเพ็ญบารมีดังกล่าวแล้ว ให้สมบูรณ์ ซึ่งท่านแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นบารมีธรรมดา ชั้นอุปบารมี และชั้นปรมัตถบารมี เมื่อทำได้ เขาก็จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ แม้พระพุทธเจ้าเอง เมื่อก่อนก็เป็นคนธรรมดาสามัญ แต่ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยบารมีธรรมดังกล่าวมาแล้ว ที่พระองค์ได้บำเพ็ญมาในชาติก่อน และในปัจจุบันชาติ ก่อนการตรัสรู้ ดังนั้น เมื่อว่ากันตามหลักทั้ง ๒ ประการดังกล่าวมา พระพุทธเจ้าในอนาคต จึงมีได้แน่นอน

ปัญหาตอนสุดท้ายที่ถามว่า พระพุทธเจ้าในอนาคต จะมีเมื่อไรนั้น

ว่ากันตามตำนานที่มีปรากฏในตำราทางพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านแสดงว่า เมื่อพระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ ได้เสื่อมหายไปยุคหนึ่ง ในอนาคตอันไม่ใกล้นัก โลกก็จะว่างจากพระพุทธศาสนา ไประยะหนึ่ง ซึ่งก็คงจะเป็นเวลาอีกนานอยู่เหมือนกัน และพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ก็จะมาบังเกิดและตรัสรู้ แล้วสั่งสอนธรรม อย่างที่พระพุทธเจ้าของเราได้ทรงกระทำมาแล้ว ทำไมจึงต้องเป็นอย่างนั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจะตรัสรู้ ย่อมจะตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔ ประการ เหมือนกันหมด ดังนั้น กาลที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติก็ต้องเป็นกาลที่ชาวโลกไม่มีความรู้เรื่องอริยสัจอยู่เลย แม้จะเป็นเพียงการรู้ตามธรรมดา ด้วยการศึกษาเพียงอย่างเดียวก็ตาม

ถ้าไม่ถึงขั้นนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดมา เพราะถ้าสอนตรัสรู้เรื่องอริยสัจ ในขณะที่ชาวโลกทั้งมวลยังทราบหลักอริยสัจ เราก็ไม่เรียกว่าเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากแต่เรียกว่า สัตพุทธ หรือ อนุพุทธ ซึ่งแปลว่า ท่านผู้รู้เพราะฟัง และผู้ตรัสรู้ตาม เท่านั้น ถ้าจะถามว่า ตรัสรู้ตามใคร ก็ตอบได้ว่า ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า เพราะหลักอริยสัจอันนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้มาก่อน และสั่งสอนไว้ คนมาตรัสรู้ทีหลัง ในขณะที่คำสอนของพระองค์ยังปรากฏอยู่ จึงเป็นได้เพียงอนุพุทธ ดังกล่าวมาแล้ว

ขอแทรกข้อคิดเห็นสักเล็กน้อย มีคนเป็นคนเป็นจำนวนมาก ที่ปรารถนาพบศาสนาของพระศรีอาร์ย เชื่อกันว่า จะมาตรัสรู้ในอนาคต เห็นได้ว่า เป็นเรื่องแปลกมาก เพราะ พระศรีอาร์ย หรือ พระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตาม ทรงเป็นเพียงผู้สอนเท่านั้น พระองค์ไม่อาจจะช่วยใครให้เป็นพระอรหันต์ได้ โดยที่ผู้นั้นไม่ได้ใช้ความเพียรพยายามเลย และคำสอนของท่านเล่า ก็หาได้ต่างไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้าของเราไม่ ผู้ที่ปรารถนาพบพระศรีอาร์ย จึงเป็นเสมือนคนป่วยหนักที่พบหมอแล้ว แต่ไม่ต้องการจะรักษา กลับปรารถนาพบหมออีกคนหนึ่ง ซึ่งยังไม่แน่ว่า จะมาเมื่อไร และตนจะได้พบกับหมอนั้นหรือเปล่า

บุคคลผู้ปรารถนาศาสนาพระศรีอาร์ย ทั้ง ๆ ที่ศาสนานั้น ก็ไม่แตกต่างอะไรกับศาสนาในปัจจุบัน เพราะเป็นพระพุทธศาสนเหมือนกัน จึงชื่อว่า เป็นผู้ประมาทโดยแท้ และเขาย่อมได้ชื่อว่า ปล่อยเวลาแห่งชีวิต ให้ล่วงเลยไป โดยไม่ได้รับประโยชน์จากศาสนาเท่าที่ควร ดังนั้น หน้าที่ของศาสนิกที่ดี คือ การพยายามทำตามศาสโนวาท เท่าที่เวลาแลโอกาสจะอำนวยให้ โดยการไม่พยายามใฝ่ฝันที่จะได้รับผลในอนาคต เพียงอย่างเดียว แต่กลับมาให้ความสนใจในปัจจุบัน โดยการดำรงตนอยู่ ด้วยความไม่ประมาทตามพระพุทธโอวาท เมื่อทำได้เช่นนี้ ย่อมได้ชื่อว่า ทำหน้าที่ของตนให้บริบูรณ์ และไม่ต้องเสียใจในกาลภายหลัง 


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 18 ก.พ. 11, 22:51
ขอบพระคุณ อ. เทาชมพู มากครับ

เป็นบทความที่ดีมาก ๆ กล่าวได้ชอบ ได้ถูกต้องนัก
 :-[

ตอนพญามิลินท์ (เมนานเดอร์) ตั้งปุจฉา แก่พระนาคเสน ว่า พระพุทธเจ้า มีจริงหรือไม่ ไม่เคยเห็นจะรู้ได้อย่างไร
พระนาคเสน ถามกลับว่า ปฐมกษัตริย์ต้นวงศ์ของพระองค์มีจริงหรือไม่
พญามิลินท์ ตอบว่า มี
พระนาคเสน ถามว่า ทรงเกิดไม่ทันรู้ได้อย่างไร
พญามิลินท์ ตอบว่า เพราะทรงมีพระบิดา พระบิดาก็มีพระบิดา สืบขึ้นไปเช่นนี้ จึงทราบได้ว่ามีจริง
พระนาคเสน วิสัชนาว่า เช่นเดียวกัน ภิกษุมีอุปัชฌาย์ แล้วก็มีอุปัชฌาย์ของอุปัชฌาย์ ย้อนขึ้นไปดังนี้ จนถึงพระพุทธเจ้า
จึงทราบได้ว่ามีตัวตนจริง ด้วยการอนุมาน

ถ้าจำมาผิด ต้องขออภัยนะครับ
 :-X





กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 18 ก.พ. 11, 23:21
๑. ไม่ปรากฏในพระบาลี ว่าพระองค์พึ่งเคยเห็นเทวทูต ๔ (คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะ) เป็นครั้งแรก เมื่อครั้งออกชมเมืองก่อนผนวช  มีแต่ตรัสถึงความรู้สึกนึกคิดของพระองค์ถึงเหตุผลในการออกบวช
ตามความคิดเห็นของผม เจ้าสิทธัตถะ คงเคยเห็น เทวทูต ๔ มาหลายครั้งแล้ว  แต่เป็นการเห็นด้วยตาเนื้อ  ยังไม่ได้พิจารณาด้วยปัญญา  หรืออาจเพราะยังทรงตัดใจออกบวชมิได้  เพราะเคยอ่านรู้สึกจะพระไตรปิฎกทำนองว่า  ก่อนจะออกผนวช ก็ทรงทราบว่ากามคุณ ๕ ไม่ทำให้หลุดพ้น ทำให้เกิดทุกข์ แต่ยังทรงตัดใจออกบวชมิได้

๒. เรื่อง ออกผนวชเฉพาะพระพักตร์พระบิดา พระมารดา (พระมารดาเลี้ยง ซึ่งเป็นพระน้านางแท้ ๆ)  หรือหนีออกผนวช คงต้องให้ท่านผู้เชี่ยวชาญบาลี แปลจากพระบาลีโดยตรง เพื่อพิจารณาว่าจะตีความในลักษณะใดได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม  มิได้ทรงตรัสในเชิงปาฏิหาริย์  ดั่งในพุทธประวัติที่เราหาได้ทั่ว ๆ ไป

กลับมาบ้าน ได้หยิบพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ มาอ่าน
ไม่ปรากฏในพระบาลี ว่าพระองค์พึ่งเคยเห็นเทวทูต ๔ (คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะ) เป็นครั้งแรก เมื่อครั้งออกชมเมืองก่อนผนวช 
แต่ใน พุทธวงศ์ ขุททกนิกาย กล่าวว่า
"เพราะได้เห็น นิมิตทั้งสี่ เราจึงออกด้วยม้าเป็นพาหนะ ..."

ก็ยังไม่อาจฟันธงได้ว่า เพิ่งเคยเห็น เทวทูต ๔ "เป็นครั้งแรก" เมื่อออกชมเมืองก่อนผนวช
และการที่ออกด้วย "ม้า" เป็นพาหนะ ก็ยังไม่อาจฟันธงได้ว่า ทรงผนวชต่อหน้าพระบิดามารดา หรือหนีออกผนวช 

อย่างไรก็ตาม  ขุททกนิกาย นั้น น่าจะรวบรวมในสมัยหลัง ดังที่กล่าวไว้ใน คคห. ๑๐


โดยใน นวมสูตร เทวทูตวรรค ปฐมปัณณาสก์ ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย
กล่าวถึงการได้รับการบำเรออย่างยิ่ง ทั้งสระบัวทั้ง ๓  ปราสาท ๓ ฤดู 
๔ เดือนฤดูฝน ไม่ลงจากปราสาท แวดล้อมด้วยสตรี ปราศจากบุรุษ
ของใช้ทุกอย่างมาจากกาสี (ถือว่าเป็นของดีเลิศ แคว้นกาสี มีเมืองหลวงคือ พาราณสี ในพุทธกาล เป็นเมิองขึ้นของแคว้นโกศล เช่นเดียวกับแคว้นสักกะ)
มีคนคอยกั้นเศวตฉัตร ทั้งกลางวันกลางคืน ถึงพร้อมด้วยการได้ตามใจตัว ได้รับความประคบประหงมถึงเพียงนี้
แต่ก็ได้พิจารณา จนหมดความมัวเมาในความหนุ่ม (พิจารณาชรา) ความไม่มีโรค (พิจารณาคนเจ็บ) ความเป็นอยู่ (พิจารณามรณะ)

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์นั้น  มีเรื่องทางอิทธิปาฏิหาริย์ น้อยกว่าพุทธประวัติที่เราพบเห็นกันทั่วไปมาก
หากเป็นความจริง มิได้แต่งเติมเข้าไป  ก็ยังพอเชื่อได้ ว่าเป็นธรรมดาของพระโพธสัตว์ เป็นธรรมดาของพระมหาบุรุษ พระพุทธเจ้า

ส่วนพุทธประวัติ ที่แพร่หลายนั้น บางเรื่องออกจะเกินไป เช่น ม้ากัณฐกะ ไปได้ทีเป็นหลายสิบโยชน์ กระโดดทีข้ามแม่น้ำ นายฉันนะแต่เกาะหางไป ฯลฯ


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 11, 15:15
มาดึงกระทู้ขึ้น   
     สาเหตุที่ดิฉันสนใจพุทธประวัติ ในแง่ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ในแง่อิทธิปาฏิหาริย์ ก็เพราะว่าเคยอ่านประวัติของมหาวีระ ศาสดาของศาสนาเชนในอินเดียซึ่งอยู่ร่วมยุคกับพุทธศาสนา   สะดุดใจว่าทำไมประวัติถึงละม้ายคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้าของเรามาก  ก็เลยอยากรู้ว่าพุทธประวัติที่เคยเรียนมา  แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร

 มหาวีระผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนมีนามเดิมว่า  เจ้าชายวรรธมานะ  แปลว่า  ผู้เจริญ  ประสูติ ณ นครเวสาลี แคว้นวัชชี ในภาคเหนือ ของอินเดีย  ในราว 635 ปีก่อนคริสต์ศักราช  เป็นโอรสของพระเจ้าสิทธารถและพระนางตฤศลา
                ในวันประสูติของเจ้าชายวรรธมานะ ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชที่นครเวสารีอย่างใหญ่โต มโหฬาร  พระเจ้ากรุงเวสาลีทรงบำเพ็ญทานโปรดให้แจกจ่ายสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคแก่คนยากไร้อนาถา และให้ประกาศนิรโทษแก่นักโทษที่ถูกจองจำ  ยิ่งกว่านั้นบรรดา นักพรตและเหล่า พราหมจารย์ ต่างก็ได้พยากรณ์ ว่า เจ้าชายจะทรงเป็นผู้มีอนาคตที่ยิ่งใหญ่ โดยมีคติเป็น 2 คือ
                1. ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักพรรดิ
                2. ถ้าทรงออกผนวช จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก
                เจ้าชายเสกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธา  เมื่อพระชนมายุได้ 30 พรรษา ก็ได้ตัดสินพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวออกจากกรุงเวสาลีไป  พร้อมอธิษฐานจิตว่า  “ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปเป็นเวลา 12 ปี จะไม่ยอมพูดจาอะไรกับใครแม้แต่คำเดียว” เมื่อเวลาถือปฏิญาณครบ 12 ปี พระมหาวีระก็ทรงคิดและมั่นพระทัยว่าพระองค์ทรงพบคำตอบ ต่อปัญหาชีวิตครบถ้วนแล้ว จึงเสด็จออกไปเพื่อเผยแพร่ความคิดคำสอนใหม่ของพระองค์ ทรงตั้งศาสนาใหม่เรียกว่า ศาสนาเชน ศาสนาของผู้ชนะตนเอง
                พระมหาวีระใช้เวลาในการสั่งสอนสาวก และประสบผลสำเร็จตลอดมาเป็นเวลา 30 ปีเศษ เมื่อพระชนมายุได้ 72 ปี ทรงประชวรหนัก ทรงทราบว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง จึงเรียกประชุมบรรดาสาวกทั้งหลาย และสั่งสอนเป็นโอกาสสุดท้ายพระมหาวีระดับขันธ์ในเช้าวันต่อมา สรีระของพระมหาวีระได้กระทำการฌาปนกิจที่เมืองปาวา จึงเป็นสังเวชนียสถาน         
           


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 11, 15:22
          หลักคำสอนที่สำคัญพื้นฐานของศาสนาเชน คือปัญจพรตหรือพรต ๕ ข้อ มี
           ๑. อหิงสา การไม่เบียดเบียนกันทั้งกายวาจาใจ
           ศาสนาเชนสอนว่าสิ่งที่มีชีวิตถูกทำลายไม่ได้ ทั้งนี้เพราะ “ทุกชีวิตย่อมเกลียดชังความเจ็บปวด เพราะฉะนั้นอย่าทำร้ายหรือฆ่าใคร” ก็การไม่ฆ่าไม่ทำร้าย นอกจากจะไม่ทำร้ายด้วยตัวเองทางกาย วาจา หรือทางใจแล้ว จะใช้ให้คนอื่นทำตลอดถึงสนับสนุนหรือยินดีที่คนอื่นทำก็ไม่ได้
          เนื่องจากศาสนาเชนเคร่งครัดมากในเรื่องไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบ ดังนั้นพระในนิกายทิคัมพรเมื่อเดินไปไหนจะต้องมีไม้กวาดคอยปัดกวาดทางจะได้ไม่เหยียบย่ำแมลง อีกทั้งมีผ้าปิดจมูกและปากเพื่อปกป้องกันแมลงเล็กๆ และจุลินทรีย์ต่างๆเข้าไปทางปากและลมหายใจอีกด้วย
           ๒. สัตตยะ พูดแต่ความจริง ไม่พูดเท็จ ตลอดทั้งไม่พูดคำหยาบ ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ
           ๓. อัสเตยะ ไม่ลักขโมย ศาสนาเชนสอนว่า ทรัพย์สมบัติเป็นชีวิตภายนอกของคน การลักทรัพย์ผู้ใดก็เสือนว่าได้ทำลายของชีวิตผู้นั้น ศีลข้อนี้ยังรวมไปถึงการไม่หลบหนีภาษี ไม่ปลอมแปลงธนบัตร ไม่ชั่งตวงวัดโกงอีกด้วย
           ๔. พรหมจริยะ ประพฤติพรหมจรรย์ ศาสนาเชนให้ความสำคัญต่อศีลข้อนี้มาก ชีวิตที่ประเสริฐแท้ต้องเป็นชีวิตนักบวช เพราะเป็นชีวิตที่ประเสริฐดุจพรหม ไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยกามรมณ์ ศีลข้อนี้ยังรวมไปถึงการละเว้นสิ่งที่ต้องห้าม เช่น ไม่ดื่มสุราเมรัย ไม่เสพยาเสพติดต่างๆอีกด้วย
           ๕. อปริครหะ ไม่ละโมบมาก อยากได้โน่นอยากได้นี่ไม่มีที่สิ้นสุด ตลอดจนอยากได้สิ่งที่ไม่สมควรด้วย
           ศีล ๕ ข้อนี้เรียกว่ามหาพรต เป็นข้อปฏิบัติของพระ ส่วนคฤหัสถ์ก็ปฏิบัติตามศีลทั้ง 5 นี้ด้วย เพียงแต่ปฏิบัติผ่อนลงมา เรียกว่าอนุพรต        อย่างเช่นศีลข้อ ๑ คฤหัสถ์ก็ละเว้นไม่เบียดเบียนทำร้ายเฉพาะชีวิตที่เคลื่อนที่ได้เท่านั้น ศีลข้อ ๒ ก็งดเฉพาะการพูดเท็จเท่านั้น ศีลข้อ ๔ ยังยินดีในคู่ครองของตนได้ และศีลข้อ ๕ ยังยินดีสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรมหรืออาชีพสุจริตได้

           พรตทั้ง ๕ ข้อนี้เป็นพื้นฐานของคำสอนในศาสนาเชน ส่วนคำสอนอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อขยายหรือสนับสนุนพรตทั้ง ๕

           ศาสนาเชนมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ศาสนิกกำจักกิเลสอาสวะทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด เพื่อบรรลุโมกษะ ภูมิที่พ้นจากสังสารวัฎการเวียนว่ายตายเกิด    ไม่กลับคืนมาเกิดใหม่อีก ในศาสนาพราหมณ์การหลุดพ้นของชีวาตมันจะกลับคืนไปรวมอยู่กับพรหม ในศาสนาเชนเมื่อวิญญาณหลุดพ้นจากอัตตาได้แล้ว วิญญาณจะไปอยู่ในส่วนหนึ่งของเอกภพที่เรียกว่า “สิทธิศิลา” ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความสุขนิรันดร ไม่ต้องกลับมาเกิดให้มีทุกข์อีก   
          แนวความคิดเช่นนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า เป็นแนวความคิดที่สืบเนื่องต่อจากแนวความคิดของพราหมณ์แล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า เป็นแนวความคิดที่มองเห็นวิญญาณและอัตตาเป็นคนละส่วนกันดังนั้น ความพยายามทำให้วิญญาณแยกออกไปจากอัตตาจึงมีวิธีการต่างๆ เช่น ทำให้วิญญาณมีความบริสุทธิ์โดยการบำเพ็ญทุกรกิริยา โดยการปฏิบัตินิชรา และ โยคะ เป็นต้น
          
        ส่วนเรื่องเสมอภาคทางเพศ  ทีแรกดิฉันเข้าใจว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในสมัยพุทธกาลที่อนุญาตให้สตรีเป็นนักบวชได้   แต่มาอ่านเจอว่า ศาสนาเชนให้ความยกย่องและให้เกียรติสตรี   ถึงขั้นถือว่าสตรีมีสิทธิเท่าเทียมกับบุรุษทุกประการทั้งในเรื่องการศึกษาและปฏิบัติธรรม ให้บรรลุธรรมที่สูงขึ้นได้ ด้านสังคมสตรีชาวเชนได้รับเกียรติจากสังคมและสามารถเข้าร่วมพิธีกรรมทาง ศาสนาได้อย่างเสนมอภาค แม้การบวชเป็นนักบวชสามารถกระทำได้ในนิกายเศวตัมพรเท่านั้นโดยเราเรียกท่าน ว่า สาดีพ


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 21 ก.พ. 11, 15:54
ขอบพระคุณครับ

ที่สงสัย คือ "สาดีพ" ไม่ทราบว่า มาจากคำว่าอะไร ?

ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา  (เชื่อกันว่า) เรียก เชน ว่า นิครนถ์  และเรียก มหาวีระ ศาสดาของเชนว่า นิครนถ์นาฏบุตร



พูดถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยแล้ว  นักวิชาการบางท่าน เชื่อว่า พุทธศักราชของเถรวาทนั้น นับเร็วไป ๖๐ ปี กล่าวคือ

พุทธศักราช เริ่มนับเมื่อวันปรินิพพาน คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันวิสาขปุณณมีปูชา)
ถ้านับปีเต็มแบบไทย ก็คือ พ.ศ. ๐ ถ้านับปีย่าง เช่น พม่า ลังกา กัมพูชา ก็เป็น พ.ศ. ๑
(บ้างก็ว่านับปีย่างกันมาโดยตลอด แต่ในสยามมานับพลาดเมื่อ ร.๔    ซึ่งก็มีเหตุผล เพราะจารึกสุโขทัยก็นับปีย่าง ทั้งเวลาพระเทศน์ ท่านก็บอกศักราชเป็นปีย่าง)

ใน ศรีลังกา ยังเปลี่ยนพุทธศักราชในวันวิสาขบูชาอยู่
ส่วนสยาม ร.๖ ทรงใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทร์ศก จึงเริ่มเปลี่ยน พ.ศ.ในวันขึ้นปีใหม่ (๑ เมษายน ๒๔๕๖)
ในสมัย จอมพล ป. ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ในไทยจึงเลื่อนมาเปลี่ยนในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๔

--- นี่ว่าเฉพาะการนับตามแบบเถรวาทลังกาทั่วไปนะครับ เพราะบางตำราเริ่มนับที่วันตรัสรู้ ---



อย่างไรก็ตามมีข้อถกเถียงกันมาก และในวงวิชาการเชื่อกันว่า พ.ศ. (นับจากวันปรินิพพาน) ผิดไปประมาณ ๖๐ ปี (คือประมาณ ๔๘๖-๔๘๓ ปีก่อน ค.ศ.)

ศ. ดร. ประเสริฐ  ณ นคร  ว่าผิดไป ๖๐ ปี คือ ๔๘๓ ปี ก่อน ค.ศ.
(อาศัยวิธีการนับรอบแบบโบราณ (พฤหัสบดีจักร) รอบหนึ่ง ๖๐ ปี  เมื่อเกิดการสับสนว่า รอบที่นับอยู่นั้น นับ "รอบเต็ม" หรือ "รอบย่าง"  เป็นเหตุให้ผิดไป ๖๐ ปี)

นักวิชาการตะวันตก        ว่าผิดไป ๕๘ ปี คือ ๔๘๕ ปี ก่อน ค.ศ.
(อาศัยหลักฐานการบันทึกของกรีกที่เข้ามามีความสัมพันธ์กับอินเดียตั้งแต่สมัยพระเจ้าอเลกซานเดอร์ (อลิกสุนทระ) และการเทียบกับปีรัชกาลพระเจ้าอโศก)

หรืออย่าง " ต่อซัมป๊อกี่ " (บันทึกเรื่องประวัติพระรัตนตรัย) ก็ว่าได้จุดหนึ่งจุดต่อปี นับแต่พุทธปรินิพพาน ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วได้ ๔๘๕ ปี ก่อน ค.ศ.

นอกจากนั้นบางท่านว่าผิดไป ๔๘ ปี ก็มี

ส่วนนิกายที่ว่าผิดไปหลายร้อยปีนั้น ไม่ได้รับความเชื่อถือครับ

ขอแนะนำหนังสือ " ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา " ของ อ.เสถียร โพธินันทะ ครับ


โดยส่วนตัว เชื่อว่า พระพุทธเจ้า ปรินิพพาน เมื่อประมาณ ๔๘๖-๔๘๓ ปี ก่อน ค.ศ.  แตกต่างจากความเชื่อของเถรวาทลังกา ประมาณ ๖๐ ปี
ส่วนที่ไม่สามารถเจาะจงไปได้ว่า  ๔๘๖  ๔๘๕  ๔๘๔ หรือ ๔๘๓ เพราะยังไม่เคยเห็นหลักฐานแน่ชัด
และอาจเป็นปัญหา "ปีเต็ม"  หรือ   "ปีย่าง"   อีกก็ได้นะครับ อิอิ
 :-X


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 11, 16:08
ที่สงสัย คือ "สาดีพ" ไม่ทราบว่า มาจากคำว่าอะไร ?
สงสัยจะผิด  อักษร ด. ไม่มีในภาษาสันสกฤต ค่ะ    ถ้าเห็นตัวสะกดโรมันอาจพอนึกออก


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 21 ก.พ. 11, 16:41
นำลิงก์ พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ มาฝากครับ

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ (http://www.buddhadasa.org/html/life-work/dhammakot/01-buddha/toc.html)


กระทู้: ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 21 ก.พ. 11, 17:12
เรื่องการปกครอง ท่านพุทธทาส ว่าเป็น สภา มีสันถาคารใหญ่ในกบิลพัสดุ  ในนิคมเล็กก็มีอยู่บ้าง (มีปรากฏในพระไตรปิฎก)

โดยมีหัวหน้าตระกูล เป็นผู้ปกครองตระกูล
(ตระกูล ประกอบด้วยเจ้าศากยะหลายครอบครัว ที่เป็นสายเดียวกัน อยู่ในนิคมเดียวกัน และบ่าวไพร่
-ผมขอเสริมว่าเพราะเจ้าศากยะ มีนา ต้องดูแลนา เช่น เจ้ามหานาม สอนน้อง เจ้าอนุรุทธ เรื่องการทำนา เรื่องพ่อและอาของพระพุทธเจ้า มีนามลงท้ายว่า โอทนะ (ก้อนข้าว)-)
หัวหน้าจากหลายตระกูล ก็จะเป็นทำนองตัวแทนในสันถาคาร ในที่ประชุมศากยบริษัท
(ผมไม่แน่ใจว่าเฉพาะ หัวหน้าตระกูล หรือ เจ้าชายศากยะที่โตแล้ว  แต่ถ้าเอาหมด คงมีจำนวนมากเกินไป)

ท่านยังว่า สันถาคารของศากยะ คงเล็กกว่าพวกวัชชีมาก

ในพระบาลี (พระไตรปิฎก) เรียก เจ้าศากยะทุกองค์ ด้วยชื่อและชาติ เท่านั้น เช่น สุทโธทนะสักกะ (สุทโธทนะ ศากยะ) มหานามะสักกะ (มหานามะ ศากยะ)

มีที่เรียกพระเจ้าสุทโธทนะ ว่า ราชา แค่แห่งเดียว ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้าในอดีต  ถ้ามีพระบิดาเป็นวรรณะกษัตริย์ ก็เรียกราชาหมด (พุทธวงศ์ ขุททกนิกาย)
- ผมอ่านพุทธประวัติจากพระโอษฐ์แล้ว เห็นใช้ ราชา อยู่ ๒ ที่ -

นอกนั้น ก็เห็นมีใช้กับ พระภัททิยะ  (ที่ออกบวชพร้อม พระอานนท์ พระภคุ พระกิมพิละ พระอนุรุทธ พระเทวทัตต และ นายอุบาลี) เท่านั้น
ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีตระกูลสูง (ท่านเป็น เอตทัคคะ ด้านผู้เกิดในตระกูลสูง)  และท่านกล่าวว่า เมื่อบวชแล้วมีสุขแม้อยู่ในป่า  ไม่ต้องหวาดระแวงเหมือนอยู่ในวัง

นอกนั้น  ไม่เคยใช้คำว่า "ราชา" กับพวกเจ้าศากยะเลย
ในขณะที่ เมื่อกล่าวถึง พระเจ้าปเสนทิ หรือ พระเจ้าพิมพิสาร (ที่ปกครองด้วยราชาธิปไตย) ล้วนใช้คำว่า ราชา "ทุกแห่ง" ทั้งสิ้น

แต่กลับกล่าวถึงการมี "สันถาคาร" อันเป็นที่ประชุมทำนอง สภา ในปัจจุบัน
ซึ่งจะมีในแคว้นที่ปกครองด้วยสามัคคีธรรมเท่านั้น เช่น วัชชี มัลละ  ซึ่งเป็นแคว้นที่ไม่ใหญ่โตมาก  และอยู่ที่ราบเชิงเขาหิมาลัยด้วยกัน  (บ้างก็ว่าเป็นเครือญาติกันด้วยซ้ำ ดู คคห. ก่อน ๆ)

และในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ก็ต้องประชุมที่สันถาคาร
ทางนิกายฝ่ายเหนือว่า แม้แต่ที่ เจ้าสิทธัตถะ กับ เจ้าเทวทัตต ทะเลาะแย่งหงส์กัน
หรือ เจ้าชายสิทธัตถะ จะแต่งงาน
หรือ พระเจ้าสีหนุ จะขอให้ เจ้าสุทโธทนะ ได้แต่งงานกับนางปชาบดี เพิ่มอีกองค์
ล้วนต้องเข้าประชุมที่สันถาคาร

ส่วนในพระบาลี  ก็กล่าวถึงการประชุมในสันถาคารของพวกศากยะ บ่อยมาก
พอลงมติได้ว่า พวกศากยะ ปกครองด้วย อภิชนาธิปไตย (Aristocracy) หรือประชาธิปไตย(ของเจ้าชายศากยะเท่านั้น)
ปัจจุบัน เรามักเรียกการปกครองแบบนี้ในสมัยพุทธกาลว่า สามัคคีธรรม

ส่วนที่มีการใช้ ราชา กับเจ้าศากยะบางองค์นั้น  ถ้าไม่เป็นไปเพื่อการยกย่อง  หรือโดยบริบทของการสนทนาแล้ว
อาจเป็นได้ว่า ราชา ทำหน้าที่เหมือนเป็นประธานในที่ประชุม
หรือไม่เช่นนั้น ก็เป็นราชากันทุกองค์ คือเป็นราชาในตระกูล ในนิคมของตน
เคยอ่านพบที่ใดจำไม่ได้ว่า เจ้าลิจฉวี ถือเป็น ราชา กันทุกองค์ มีศักดิ์เท่าเทียมกัน ในการประชุมในสันถาคาร