เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: นรีนันท์ มรรคดวงแก้ว ที่ 07 ก.พ. 08, 18:21



กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: นรีนันท์ มรรคดวงแก้ว ที่ 07 ก.พ. 08, 18:21
ใครมีภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท  บ้างไหมคะ
ขอรบกวนหน่อย


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 08, 18:37
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านวม กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (9 กรกฎาคม พ.ศ. 2351 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2414)
พระราชโอรสลำดับที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต้นราชสกุลสนิทวงศ์


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: violoncello ที่ 07 ก.พ. 08, 21:34
ผมเคยเห็นภาพอีกภาพหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ภาพมุมกว่างกรุงเทพนะครับ
ลองไปดูนะครับ อาจจะได้เห็นภาพอื่นๆที่หน้าสนใจอีกด้วย


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: นรีนันท์ มรรคดวงแก้ว ที่ 10 ก.พ. 08, 14:29
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
[/color]

   พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  พระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้านวม  พระโอรสองค์ที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  และเจ้าจอมมารดาปราง (ใหญ่)  (สายราชินิกุล บางช้าง)  ประสูติเมื่อวันเสาร์  แรม 2 ค่ำ  เดือน 8 ปีมะโรง  จ.ศ. 1170  ตรงกับวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2351    สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2414  ทรงเป็นต้นราชสกุล  “สนิทวงศ์”

   การศึกษาเบื้องต้นเมื่อยังทรงพระเยาว์นั้น  ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัด  แต่สันนิษฐานว่า  ทรงเข้าถวายตัวเป็นศิษย์ในสำนักสมเด็จ พระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส  ศรีสุคตขัตติยวงศ์  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม)  ทรงได้รับการถ่ายทอดกระบวนความรู้ทั้งคดีโลกคดีธรรม  อาทิ  การศึกษาอักขรวิธีทั้งภาษาไทย  ขอม  และมคธ  อีกทั้งความรู้ทางด้านศิลปะศาสตร์วรรณคดี  ตลอดจนวิชาโบราณคดี  และราชประเพณีต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ด้านวรรณคดีนั้นทรงพระปรีชาสามารถแตกฉานในการแต่งคำประพันธ์เป็นอย่างดี

   พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  ได้ทรงเข้าศึกษาวิชาการแพทย์แผนโบราณ  ซึ่งเป็นวิชาประจำตระกูลทางฝ่ายพระมารดา   เจ้าจอมมารดาปราง  (ใหญ่)  ได้รับถ่ายทอดความรู้ด้านการแพทย์แผนโบราณจากท่านบิดาจนเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ  ขรัวตาบุญเกิด  และขรัวยายทองอิน  ท่านบิดา และมารดาเป็นหมอแผนโบราณผู้เชี่ยวชาญการปรุงยา


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: นรีนันท์ มรรคดวงแก้ว ที่ 10 ก.พ. 08, 14:30
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  ทรงเป็นหนึ่งในสามของเจ้านายรุ่นแรกที่เล็งเห็นประโยชน์ของวิทยาการด้านเทคโนโลยีตะวันตก  ทรงเริ่มสนพระทัยศึกษาวิชาการแพทย์แผนตะวันตกจากมิชชันนารีอเมริกันตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 

   ทรงได้รับการยอมรับในด้านพระปรีชาสามารถจากกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์  กลุ่มขุนนาง  และชาวตะวันตกเป็นอันมาก  จึงทำให้ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังเผชิญกับปัญหาการขยายอำนาจของจักรวรรดินิยมตะวันตก  ทรงได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบราชการสำคัญหลายตำแหน่งดังนี้ 
•   ตำแหน่งแม่ทัพหลวงในสงครามเชียงตุง 
•   ทรงเป็นประธานในการเจรจาสนธิสัญญากับชาติตะวันตก 
•   ทรงกำกับราชการกระทรวงมหาดไทย 
•   ทรงกำกับราชการกรมพระคลังสินค้า
•   ทรงกำกับราชการกรมหมอ
•   เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไป 
•   ทรงเป็นพระอาจารย์องค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
•   ฯลฯ





กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: นรีนันท์ มรรคดวงแก้ว ที่ 10 ก.พ. 08, 14:40
ด้านวรรณกรรม

   พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  ทรงเป็นศิษย์ในสำนักของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  จินตกวีเอกสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทรงสนพระทัยและศึกษาทางด้านวรรณคดีจนทรงพระปรีชาสามารถอย่างแตกฉานทั้งด้านการแต่งโคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน  แต่ที่ยังคงปรากฏเด่นชัดอยู่ในปัจจุบันนี้มี 3 เรื่อง  ซึ่งได้ทรงไว้ก่อนที่จะเข้ารับราชการ  คือ  นิราศพระประธม  เพลงยาวสามชาย  และตำรากลบทสิงโตเล่นหาง
งานกวีนิพนธ์ทั้ง 3 เรื่องนี้มีความแตกต่างกัน  นิราศพระประธม  เป็นโคลงนิราศรุ่นแรก ๆ ที่ทรงใช้เวลาในการแต่งประมาณ 2 ปี  ใน พ.ศ. 2377 -  2379  เมื่อพระชันษา  26 พรรษา  ในโอกาสที่ได้เสด็จไปนมัสการพระปฐมเจดีย์  โดยเริ่มตั้งแต่เสด็จออกจากท่าที่ประทับ ณ วังท้ายหับเผย วังที่ 3  โดยทางชลมารค  และได้พรรณนาถึงสถานที่สำคัญ ๆ ในระหว่างทางจนถึงพระปฐมเจดีย์
   
   ลักษณะเด่นของ นิราศพระประธมนี้  นอกจากจะเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนไทยช่วงต้นรัตนโกสินทร์แล้ว  ยังชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของวรรณกรรมประเภทนิราศอีกด้วย  กล่าวคือ โคลงนิราศพระประธมคงลักษณะรูปแบบเดิมของการแต่งนิราศไว้ แต่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความคิดของกวีที่ให้ความซาบซึ้งถึงประสบการณ์จริงควบคู่กับการพรรณนาโวหาร  เพราะนิราศแบบดั้งเดิมไม่ได้ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่เป็นจริงเท่าไหร่นัก  และเน้นทางด้านวรรณศิลป์เพียงอย่างเดียว

   พระนิพนธ์ เพลงยาวสามชาย ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งขึ้นเมื่อใด  แต่มีลักษณะเด่นที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีของกวีวัยหนุ่ม  สาวรุ่นเดียวกันทั้ง 4 ท่าน  ในการร่วมกันจรรโลงงานกวีนิพนธ์  คือ  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  พระสุริยภักดี  (สนิท  บุนนาค)  และคุณพุ่ม  โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และ  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ซึ่งเป็นพระสหายสนิทกันมาแต่เยาว์วัย  เนื่องจากเจ้าจอมมารดาปราง (ใหญ่)  ได้ถวายการอภิบาลทั้งสองพระองค์คู่กันมา

   พระนิพนธ์ ตำราเพลงยาวกลบทสิงโตเล่นหาง  เป็นงานกวีนิพนธ์ที่แต่งร่วมกับกวีที่สำคัญในราชสำนักหลายท่าน  เพื่อถวายเป็นพระราชศรัทธาแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในการบูรณะปฎิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ในพ.ศ. 2374 – 2378

             ในปีพ.ศ. 2385  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว    กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงมีพระประสงค์ที่จะพระนิพนธ์แบบเรียนให้การศึกษา  จึงได้ทรงพระนิพนธ์เรื่อง จินดามณี เล่ม 2 ขึ้น  โยทรงนำแบบมาจากำจินดามณีฉบับของ  พระโหราธิบดี  เล่มแรก มาแก้ไขการอธิบายหลักเกณฑ์ภาษาไทยให้กะทัดรัดและ เข้าใจง่ายกว่าเดิม  แต่ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ  ทรงสอดแทรกคำสอนที่เน้นด้านศีลธรรม  ตลอดจนข้อปฏิบัติของผู้ที่จะเข้ารับราชการอีกด้วย 


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: นรีนันท์ มรรคดวงแก้ว ที่ 10 ก.พ. 08, 14:43
ด้านการแพทย์แผนโบราณ
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  ทรงถือกำเนิดจากพระมารดาที่มาจากตระกูลแพทย์แผนโบราณ  ทรงได้รับการอบรมปลูกฝังให้เรียนรู้ด้านการแพทย์แผนโบราณมาแต่เยาว์วัย  ทำให้ทรงตระหนักถึงข้อดีข้อด้อยของวิชาการแพทย์แผนโบราณเป็นอย่างดี  กอปรกับพระอุปนิสัยส่วนพระองค์ที่มีความกระตือรือร้นใฝ่รู้ด้านการศึกษาอยู่เป็นนิจ  เพื่อเพิ่มพูนความรู้  ความสามารถของพระองค์

   
   วิชาการแพทย์แผนโบราณ  เป็นวิชาที่ต้องอาศัยทักษะ  ความชำนาญ  และประสบการณ์เป็นพิเศษ  จึงนิยมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุตรหลานในตระกูลเป็นส่วนใหญ่  เพราะต้องใช้เวลา  และความรู้หลายขั้นตอนเพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บ  ทรงได้รับการถ่ายทอดวิชาแพทย์แผนโบราณจากขวัญตาบุญเกิดผู้เป็นตามาแต่เยาว์วัย  จนทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระบรมราชชนกให้ทรงทำหน้าที่ในการปรุงยาถวายตั้งแต่พระชันษายังน้อย     
   
   ในรัชสมัย  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้านวม  ให้ทรงกรมเป็น  กรมหมื่นวงษาสนิท  เมื่อพ.ศ. 2385  ขณะมีพระชันษา 34 พรรษา  กำกับราชการกรมหมอ  ซึ่งเป็นกรมที่มีบทบาทสำคัญกรมหนึ่ง  เนื่องจากมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการดูแลบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่พระมหากษัตริย์  พระบรมวงศานุวงศ์  ตลอดจนขุนนาง  และข้าราชการชั้นสูงในราชสำนัก 

             ทรงเป็นแพทย์ไทยพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาด้านวิชาแพทย์แผนตะวันตก  จนเป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ  เป็นแพทย์ไทยพระองค์แรกที่นำความรู้ทางการแพทย์แผนตะวันตกมาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในวงการแพทย์ไทย  และได้ถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวสู่สมาชิกในราชสกุลของพระองค์อีกด้วย  ทำให้บุคคลเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมในการสร้างคุณประโยชน์แก่วงการแพทย์  และสาธารณสุขต่อมา





กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: นรีนันท์ มรรคดวงแก้ว ที่ 10 ก.พ. 08, 14:47
ในช่วงเวลานั้นคณะมิชชันนารีได้นำเอาวิชาการแพทย์ตะวันตกเข้ามา กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  ทรงตระหนักถึงคุณประโยชน์ของวิชาการแพทย์ตะวันตกว่า  การรักษาด้วยการแพทย์แผนโบราณแต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามที่เกิดโรคระบาดขึ้นในแต่ละครั้งมีผู้คนเสียชีวิตมากมาย  มิชชันนารีที่มีบทบาทเป็นที่รู้จักได้แก่ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์  (Dr. Dan Beach Bradley)  นายแพทย์ซามูเอล  เรโนลด์ เฮ้าส์  (Dr. Samuel Renold House) 

กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  ทรงเริ่มศึกษาวิชาแพทย์แผนตะวันตกอย่างจริงจังหลังจากที่หมอบรัดเลย์ทำการผ่าตัดและปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  ทรงศึกษาหาความรู้จากหมอบรัดเลย์ และหมอเฮ้าส์  เพื่อพัฒนาความรู้ให้เป็นเหตุเป็นผลในเชิงวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น  และได้ทรงนำวิชาการแพทย์แผนโบราณมาประยุกต์กับการแพทย์ตะวันตกเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของประเทศไทยในขณะนั้น  ด้วยพระปรีชาสามารถจึงทำให้ได้รับประกาศนียบัตรถวายเป็นพระเกียรติยศด้านการแพทย์พระองค์แรกของประเทศไทย  และทรงได้รับเชิญเป็นสมาชิกของสถาบันการแพทย์แห่งนิวยอร์ก  (New York Academy of Medicine)  ประเทศสหรัฐอเมริกา   ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลกระดับหนึ่ง

กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ได้ทรงคิดค้นทดลองสรรพคุณ  “ยาควินิน”  หรือ  “ยาวขาวฝรั่ง”  จากหลักฐานตอนหนึ่งที่กล่าวถึงการใช้ยาควินินของหมอบรัดเลย์ว่า   “...ปลัดเลนำวิชาการแพทย์และยาสมัยใหม่เข้ามาครั้งนั้น  เมื่อหัวทีคนทั้งปวงก็พากันทึ่ง  ลางคนถึงกับไม่กล้าจะกินเข้าไป  เกรงจะไปเกิดโทษร้ายในกายตัว  ครั้นมาเห็นผู้ป่วยที่กินเข้าไปกลับหายสบายตัวจากโรคร้ายมากขึ้น  จึงได้พากันทดลองก็ได้เห็นผลชงัดนัก  เลยเล่าลือกันมากขึ้น... เสียแต่รสขมจับจิตเสียจริง  ด้วยมันคือ ควินนินน้ำ... นับว่าเป็นคราวแรกที่ยาฝรั่งเข้ามาในเมืองเรา  เวลานั้นผู้ที่มีความรู้ในทางยาไทยอย่างสำคัญของบางกอก  ก็มีกรมขุนวงษาธิราชสนิท  (ต้นตระกูลสนิทวงศ์พระองค์หนึ่ง)  เมื่อท่านได้เห็นยาปลัดเล  สรรพคุณชงัดก็เลยเข้าตีสนิทศึกษาเล่าเรียนเอาความรู้  พระองค์ท่านเป็นผู้แสวงวิชาโดยแท้  ผิดกับหมอไทยอื่น ๆ ..”

   เมื่อได้ทรงเล็งเห็นสรรพคุณยาควินินว่ามีประโยชน์เพียงใดแล้ว  ได้ทรงนำมาประยุกต์ทดลองเป็นตำรายาแก้โรคไข้จับสั่น  ดังปรากฎในตำรายาของพระองค์ที่กล่าวถึงประโยชน์ของยาควินินตอนหนึ่งว่า  “...ผู้ใดเป็นโรคไข้จับสั่นก็ให้ถ่ายด้วยดีเกลือไทยก็ได้  ดีเกลือเทศก็ได้  เอายาที่ให้อาเจียนตามที่ชอบใจ  กินใส่ปนดีเกลือสักหน่อยหนึ่ง  ก็ให้อาเจียนออกมาสามหนสี่หน  ถ่ายให้ลงห้าหกหน  ให้อดของแสดง  มีเนื้อสัตว์  น้ำมัน  ข้าวเหนียว  กะปิ  สุรา  เป็นต้น  ให้รักษาดังนี้  สักสองสามวันก่อน  ภายหลังให้กินยาเทศชื่อควินนิน  เอาควินินหนักหุนหนึ่ง  แบ่งเป็นหกส่วน  เมื่อไข้ส่างออกแล้วให้กินส่วนหนึ่งและในสองชั่วโมงกินทีหนึ่งจนถึงเวลากลางคืน  เมื่อตื่นขึ้นแต่เช้ากินเหมือนเก่าอีก  ควินินนี้เดี๋ยวนี้มีขายที่ตึกหันแตรประมาณห้าสิบขวด  เขาว่าถ้าผู้ใดซื้อทั้งหมดจะขายเป็นขวดละสิบเหรียญ  ควินินในขวดเดียว  หนัก 2 บาท  แบ่งรับประทานได้ 480 ครั้ง  พอรักษาคนไข้ให้หายขาดได้ประมาณ 40 คน ดังนี้ราคาไม่ถูกมากแล้วหรือ”

   กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า  “...เมื่อฉันบวชเป็นสามเณรเคยได้ยินกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์  ตรัสว่า  ยาเม็ดแก้ไข้ของกรมหลวงวงศาฯ  ที่นับถือกันนั้นเมื่อผ่าออกดูมี  “ยาขาวฝรั่ง”  (ควินิน) อยู่ข้างในทุกเม็ด...”


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: นรีนันท์ มรรคดวงแก้ว ที่ 10 ก.พ. 08, 14:51
บทบาทในการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ

         กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  ทรงเคยมีประสบการณ์เข้าร่วมในการเจรจาสนธิสัญญาตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 3  เมื่อครั้งเจรจากับเซอร์  เจมส์  บรุ๊ค  (Sir James Brooke)  เมื่อปีพ.ศ. 2393  และทรงมีความคุ้นเคยกับชาวตะวันตกซึ่งทำให้พระองค์ทรงมีความรู้ความเข้าใจกับเหตุการณ์การเมืองในต่างประเทศเวลานั้นเป็นอย่างดี  ประกอบกับในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระอนุชาที่มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมากที่สุดพระองค์หนึ่ง  และที่สำคัญทรงเป็นที่เคารพยกย่องในหมู่ขุนนาง  จึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายไทยเข้าร่วมเจรจาพร้อมด้วยขุนนางตระกูลบุนนาคอีก 4 คน  ประกอบด้วย  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ  บุนนาค)  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ  (ทัต  บุนนาค)  เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  (ช่วง  บุนนาค)  และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  (ขำ  บุนนาค)  เป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการเจรจาทำสนธิสัญญากับอังกฤษในปี พ.ศ. 2398  สนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์  ระหว่างจักรพรรดินีอังกฤษ และกษัตริย์แห่งสยาม  (Treaty of friendship and Commerce between Her Majesty and The King of Siam )  เมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) ในรัชสมัยสมเด็จ พระราชินีนาถวิกตอเรีย และ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือที่เราเรียกกันว่า   สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (Bowring Treaty)

หลังจากนั้นได้มีประเทศต่าง ๆ เดินทางมาทำสัญญาในลักษณะเดียวกันอีกหลายประเทศ  เช่น  สหรัฐอเมริกา   ฝรั่งเศส  เดนมาร์ก  โปรตุเกส  ฮอลลันดา  เยอรมัน    สวีเดน  นอร์เวย์  และเบลเยี่ยม  โดยกรมหลวงวงษาธิราชสนิท  ทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการต่อเนื่องตลอดรัชกาล

   เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง  ได้บันทึกถึงกรมหลวงวงษาธิราชสนิท  ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายไทยไว้ตอนหนึ่งว่า  “พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งพระอนุชา คือ  พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  ให้ดำรงตำแหน่งประธานของคณะกรรมการชุดนี้  และพระองค์  (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  )  ไม่อาจจะผู้ใดได้เหมาะสมยิ่งไปกว่านี้แล้ว  เนื่องจากเจ้านายพระองค์นี้ (กรมหลวงวงษาธิราชสนิท)  ทรงติดต่อกับชาวต่างประเทศอย่างมาก  และทรงเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในหมู่ชาวต่างประเทสและชาวสยาม...”     “พระเจ้าน้องยาเธอ  พระองค์นี้ทรงมีชื่อเสียงในด้านความซื่อสัตย์และวิจารญาณที่ดี”





กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: นรีนันท์ มรรคดวงแก้ว ที่ 10 ก.พ. 08, 15:09
กรมหลวงวงศาธิราชสนิท  เป็นภาพเขียนสีน้ำมัน


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ก.พ. 08, 01:19
นำรูปมาช่วยครับ


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: นรีนันท์ มรรคดวงแก้ว ที่ 14 ก.พ. 08, 11:42
ขอบพระคุณต่ะที่ช่วงรูปเข้ามาให้เห็นภาพท่านชัดเจนขึ้น

พอจะทราบเรื่องลิขสิทธิ์การทำภาพต่าง ๆ ไปใช้ไหมคะ

มีคนเคยบอกว่า  หนังสือมีลิขสิทธิ์ 50 ปี

และอีกคนบอกว่าลิขสิทธิ์ภาพเป็นของผู้ที่ครอบครองค่ะ

ได้อ่านกระทู้ของคุณพิพัฒน์ที่เคยเล่าว่าได้แนะนำทายาทของท่านเสนอพระนามท่านกับ unesco

บัดนี้ท่านได้รับการยกย่องเป็นบุคคลดีเด่น  สาขาปราชญ์และกวีค่ะ  (scholar and poet) 

กระทรวงวัฒนธรรม  ร่วมกับราชสกุล "สนิทวงศ์"  และหน่วยงานราชการส่วนต่าง ๆ  จะได้จัดงานเฉลิมฉลอง ในวาระครบ 200 ปี วันคล้ายวันประสูติ  ตั้งแต่ 9 ก.ค. 2550  ถึง  9 ก.ค. 2551

ขอขอบคุณคุณพิพัฒน์อีกครั้งที่ที่เป็นอีกท่านหนึ่งซึ่งเห็นความสำคัญของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ก.พ. 08, 12:52
ได้อ่านกระทู้ของคุณพิพัฒน์ที่เคยเล่าว่าได้แนะนำทายาทของท่านเสนอพระนามท่านกับ unesco
จำไม่ได้แล้วครับ ว่าบอกเมื่อไร
-----------------------
สิ่งประดิษฐ์ใดก็ตาม รวมไปถึงงานสร้างสรรค์เช่นศิลปกรรม หรือคำประพันธ์
กฏหมายลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่ รวมถึงของไทยด้วย ให้ความคุ้มครอง 50 ปี นับจากงานนั้น เผยแพร่เป็นครั้งแรก
เช่นกระทู้ที่ผมเพิ่งพิมพ์เสร็จนี้ ลิขสิทธิ์ เป็นของผมต่อไปอีก จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธุ์ ปี 2601
ว้าว....นานจัง

แต่ถ้าข้อความนี้ ผมมิได้ส่งออกเผยแพร่ เก็บไว้ในลิ้นชัก ลิขสิทธิ์จะนับหนึ่ง วันที่ผมตาย

ดังนั้น พระรูปฉายของ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท จึงปลอดลิขสิทธิ์โดยสมบูรณ์
เพราะท่านประสูติเมื่อ 200 ปีมาแล้ว สวรรคตเมื่อพระชนม์ 63 พ.ศ. 2414
หรือ 137 ปีมาแล้ว เกินอายุคุ้มครองไปถึง 87 ปี
นี่คิดว่าพระรูปองค์สุดท้าย ฉายในปีสิ้นพระชนม์นะครับ

หรือคิดอีกอย่างหนึ่งว่า ฟะรันซิศจิต ฉายพระรูปไว้ แล้วเก็บเข้าหีบ ไม่เผยแพร่เลย
ท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว 114 ปี เกินการคุ้มครองไปหลายชั่วคนทีเดียว
พระรูปกรมหลวง จึงเป็นสมบัติสาธารณะ ไม่มีใครอ้างลิขสิทธิ์เหนือผลงานได้อีกต่อไป

แต่เราอาจจะเจอปัญหาแทรกซ้อนเล็กๆ น้อยๆ เช่น
เราไม่มีพระรูปนี้อยู่ในมือ ต้องไปขอจากคนที่มี ถ้าเขาให้เราถ่ายก๊อปปี้ไว้ ลิขสิทธิ์รูปถ่ายนั้น ก็เป็นของเรา
แต่ถ้าเขาส่งมอบรูปที่เขาทำก๊อปปี้ไว้เอง พิมพ์ใส่กระดาษมาให้เรา เขาก็เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เหนือการก๊อปปี้นั้น

ทีนี้ รูปก๊อปปี้อย่างนี้ พิสูจน์ยากครับ ว่าใครเป็นเจ้าของแท้จริง เพราะทำซ้ำไปมา ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงแท้
แหม....ชื่อก็บอกอยู่แล้ว ว่าเป็นการ"ก๊อปปี้" คือการทำซ้ำเหมือนของเดิม
ดังนั้น หากใครจะนำพระรูปนี้ไปใช้ประโยชน์ ก็ทำไปเถอะครับ พิสูจน์ไม่ได้ ก็แปลว่าเอาผิดไม่ได้
ยิ่งมีใครเอาไปลงสีจนสวยงาม ก็ยิ่งกลายเป็นลิขสิทธิ์ใหม่ซ้ำบนของเดิม
จึงไม่มีใครสามารถอ้างลิขสิทธิ์บนรูปถ่ายโบราณได้ เว้นแต่คนนั้นจะสติไม่ดี
ผมเองสติดี จึงประกาศให้สิ้นเรื่องสิ้นราวในสมุดภาพรัชกาลที่ 4 ที่ลงมือทำมาหลายปี
จนสำเร็จเป็นเล่ม พิมพ์เผยแพร่เมื่อ 2547 ว่า ทุกรูปในหนังสือนี้ แม้ผมจะมีลิขสิทธิ์
เพราะได้กระทำการทางดิจิตั้ลมากมาย ให้รูปสวยงามชัดเจน ก็ขอสละสิทธิ์ ยกให้สาธารณะ
ใครอยากนำไปใช้ทำอะไร เชิญครับ ขอขอบพระคุณล่วงหน้า ที่นำงานของผมไปสร้างประโยชน์

หลายท่านเป็นผู้ดี ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ชื่นใจคนยาก
หลายท่านเป็นไพร่ เอาไปใช้ บอกกล่าวสักคำยังไม่ทำ ช้ำใจเสียจริง


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ก.พ. 08, 13:12
ขออนุญาตเดินออกข้างทางนิดนึงนะครับ

เรื่องลิขสิทธื์นี้ Richard Stallman เป็นคนแรกที่ออกมาหาแนวทางใหม่ Stallman เขียนตัวแปลภาษา Lisp เอาไว้ เมื่อบริษัท Symbolics ขอใช้ source code ของเขาเพื่อนำไปปรับปรุง เขาก็มอบให้อย่างเต็มใจโดยยกให้เป็นสมบัติสาธารณะอย่างที่คุณ pipat ทำนี่แหละครับ

ปัญหามันอยู่ที่ว่า เมื่อ Stallman จะขอ Symbolics ใช้ส่วนที่ได้ปรับปรุงเพิ่มขึ้นมาบ้าง Symbolics กลับปฏิเสธ

จุดนี้เองที่ Stallman เห็นความไม่ถูกต้องของระบบลิขสิทธิ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เขาเห็นว่าป่วยการที่จะไปฝืนกระแส ล้มเลิกระบบที่ใช้กันอยู่ เขาจึงได้สร้างสัญญาสิทธิ์แบบใหม่ขึ้นมา โดยอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข ได้ตามสบาย โดยมีเงื่อนไขว่าผลงานที่ได้ออกมาจะต้องเผยแพร่ภายใต้สัญญาสิทธิ์แบบนี้ต่อไป ไม่สามารถนำไป "กักตุน" เป็นสมบัติส่วนตัวได้

ปัจจุบันมีสัญญาสิทธิ์ที่ใช้หลักการนี้อยู่มากมายหลายแบบ โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันบ้างครับ


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ก.พ. 08, 13:58
ปัญหามันอยู่ที่ว่า เมื่อ Stallman จะขอ Symbolics ใช้ส่วนที่ได้ปรับปรุงเพิ่มขึ้นมาบ้าง Symbolics กลับปฏิเสธ
ผมเห็นว่า Stallman มองโลกมุมเดียว คือมุมตัวเอง
เมื่อเรายกของให้คนอื่น ไม่ได้แปลว่าเราจะไปเอาของนั้นกลับมาได้นี่ครับ
เขาได้ของเราไป ของนั้นก็ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป ยิ่งเขาเอาไปพัฒนาต่อ
เรามีสิทธิ์ขอส่วนนั้นมาใช้ครับ แต่เขาก็มีสิทธิ์ปฏิเสธคำขอของเรา

สมมติว่าผลงานของผม ให้กับคนสามคน เด็กอนุบาล นักเรียนศิลปะ และศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์
สามคนนี่ ต้นทุนไม่เท่ากันครับ เด็กอนุบาลอาจจะเอาไปทำของเล่น ศิลปินเอาไประบายสี
ศาสตราจารย์เอาไปวิจัย ต่างคนก็ต่างนำต้นทุนของตัว เติมเข้าไป
ต้นทุนนั้นไม่ใช่ของผม
เติมเข้าในงานของผม งานผมก็ไม่ใช่ของผมอีกต่อไป
เหมือนลูกผม สักวันก็ต้องเป็นพ่อคนอื่น เราก็ได้แต่ร่วมรับรู้ ถ้าเขายอมให้เราเข้าไปยุ่งด้วย เราจึงมีสิทธิ์

หนังเรื่องทวิภพ มาซื้อลิขสิทธิ์ไป เขาไปลงทุนอีกไม่รู้เท่าไรจนกลายเป็นฉากน่าประทับใจ
งานนั้น ก็ไม่ใช่ของผม ต่อให้ผมยกให้เขาฟรีๆ ผมก็ไม่มีสิทธิ์ไปอ้าง
กลับมาที่ Stallman ผมกลับเห็นว่า Symbolics เสี่ยงมากที่ไปใช้ของปลอดลิขสิทธิ์
เพราะนายกอ นายขอ ที่ใหน ก็นำงานของ Stallman มาต่อยอดได้ อาจจะทำได้ดีกว่าด้วย
เพราะ Symbolics ทำตัวอย่างให้เห็นแล้ว ทางออกยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่

ขอย้อนมาที่งานผมอีกที
ส่วนที่ผมยังขอเก็บลิขสิทธิ์ไว้ คือภาพมุมกว้างชุดหนึ่ง ที่ผมประกอบขึ้นจากรูปถ่ายโบราณจำนวนหนึ่ง
รูปเช่นนี้ ใครทำตามถือว่าละเมิด เช่นที่มีสมาชิกท่านหนึ่งทำเล่น(โดยไม่ทราบว่าละเมิด) ก็ได้ชี้แจงไป
หรือวิกิไทย เอาไปเผยแพร่โดยอ้างว่าเป็นสาธารณะ ผมทักท้วงเขาก็แก้ไขในทันที

แต่มีบางคน กล่าวหาว่าผมไปอ้างสิทธิ์เหนือรูปถ่ายโบราณที่กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ (เคยพบในพันทิพ)
ถือว่าเป็นความเขลาของผู้แสดงความเห็นนั้น ไม่เข้าใจว่าแม้แต่กรมศิลป์ ก็ไม่มีลิขสิทธิ์ในรูปเหล่านั้น มีแต่กรรมสิทธิ์
แต่ต้องยอมให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในสิ่งที่ตนมีกรรมสิทธิ์ เพราะกฏหมายสั่งให้ทำเช่นนั้น
(ต้องบริการข้อมูลแก่ประชาชน)

แต่ท่านผู้ใด นึกสนุก หารูปมาประกอบเป็นภาพมุมกว้าง ไม่ซ้ำกับที่ผมเคยเผยแพร่แล้ว
ผมก็จะขอชื่นชม และยินดีในความสำเร็จของท่านผู้นั้น


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ก.พ. 08, 14:16
ปัญหามันอยู่ที่ว่า เมื่อ Stallman จะขอ Symbolics ใช้ส่วนที่ได้ปรับปรุงเพิ่มขึ้นมาบ้าง Symbolics กลับปฏิเสธ
ผมเห็นว่า Stallman มองโลกมุมเดียว คือมุมตัวเอง

ถูกต้องครับ นี่คือมุมมองของ Stallman เป็นหนึ่งในมุมมองที่หลากหลาย ภายใต้ระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ มีทางเลือกให้กับผู้รังสรรค์ ผู้ผลิตซอฟท์แวร์บางรายเปิดทางเลือกให้ผู้นำไปใช้ต่อหลายเงื่อนไข เพราะแต่ละคนย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันได้

ระบบลิขสิทธิ์ก็ดีอย่างนี้เองนะครับ  ;D


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 19 ก.พ. 08, 08:30
ขออนุญาตแสดงความเห็นแย้งกับความเห็นที่ ๑๒ ของคุณ Pipat ที่ว่า

"สิ่งประดิษฐ์ใดก็ตาม รวมไปถึงงานสร้างสรรค์เช่นศิลปกรรม หรือคำประพันธ์
กฏหมายลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่ รวมถึงของไทยด้วย ให้ความคุ้มครอง 50 ปี นับจากงานนั้น เผยแพร่เป็นครั้งแรก"

เรื่อง ๕๐ ปีนั้นถูกต้องแล้วครับ  แต่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของไทยนั้นเริ่มนับอายุลิขสิทธิ์นับแต่ผู้สร้างสรรงานอันมีลิขสิทธิ์สร้างสรรงานนั้นแล้วเส็จ  และลิขสิทธิ์นั้นตงเป็นของผู้สร้างสรรไปจนตลอดชีวิตของผู้สร้างสรร  และกฎหมายยังคุ้มครองต่อไปอรก ๕๐ ปี นับแต่ผู้สร้างสรรงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นถึงแก่กรรมลง  จากนั้นลิขสิทธิ์จึงจะตกเป็นของแผ่นดิน  แต่ในกรณีที่มีการขายลิขสิทธิ์ให้แก่นิติบุคคลหรือบุคคลอื่นตั้งแต่ผู้สร้างสรรงานยังมีชีวิตนั้น  ผมไม่แน่ใจว่ากฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร  คงต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเป็นกรณีไปครับ


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 ก.พ. 08, 09:48
คุณวีคงจะรีบ พิมพ์เพี้ยนหลายคำ
(ปกติไม่เคยเห็นมากขนาดนี้ ...กล่าวเพื่อยืนยันว่าเป็นผู้ติดตามข้อเขียนอย่างเกาะติดนะครับ...ฮิฮิ)
และลิขสิทธิ์ที่พ้น 50 ปีแล้ว ไม่ตกเป็นของใครทั้งสิ้น แม้แต่แผ่นดิน
เป็นของสาธารณะครับ

แต่บางทีรายละเอียดของกฏหมายอาจจะดิ้นได้
ผมจำได้ว่าลิขสิทธิ์ในผลงานนั้น เป็นของเกิดโดยอัตโนมัติ เจ้าของได้มาโดยไม่ต้องประกาศ
ข้อนี้บอกเพื่อให้ทราบกันทั่วว่า แม้เขาไม่แจ้งสงวนลิขสิทธิ์ เราก็ไม่มีสิทธิ์นำมาใช้

แต่ลิขสิทธิ์นั้น นับอายุต่างกัน คือ
ถ้างานนั้นเผยแพร่แล้ว ให้นับ 50 ปีจากวันที่งานปรากฏแก่สาธารณะ
ถ้างานนั้น ไม่เคยเผยแพร่ เช่นเขียนแล้วซุกไว้ในหีบ ไม่เคยมีการเผยแพร่เลย
การนับ 50 ปี จะเริ่มอย่างช้าที่สุด เพื่อให้ประโยชน์แก่ผู้ทรงสิทธิ์นานที่สุด
คือนับวันที่ 1 เมื่อผู้สร้างเสียชีวิต

เคยทราบกรณีหนึ่ง คือหนังสือความไม่พยาบาท ที่ครูเหลี่ยมแต่ง พิมพ์เมื่อ 2457(ถ้าจำไม่ผิดนะครับ)
สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งนำมาพิมพ์ใหม่ โดยขออนุญาตทายาท
ผมกลับมีความเห็นว่า งานชิ้นนี้ เป็น public domain คือปลอดลิขสิทธิ์ ตั้งแต่พ.ศ. 2507 แล้ว
แต่สำนักพิมพ์ไปยึดว่าครูเหลี่ยมเสียชีวิตเมื่อไม่ถึง 50 ปีมานี้ จึงเป็นงานที่ยังมีลิขสิทธิ์คุ้มครอง
(กรณีนี้ ผมขอยกย่องในความใจกว้างของสำนักพิมพ์)

ส่วนคนทำงาน ที่กินเงินเดือน ลิขสิทธิ์เป็นของผู้จ่ายเงินเดือนครับ
อย่างน้อยราชการก็คิดเช่นนั้น จะสั่งเกตได้ว่า การจัดซื้อนั้น มีสองแบบ คือจัดซื้อ และจัดจ้าง
การจัดซื้อ ไม่ได้ลิขสิทธิ์ครับ แต่การจัดจ้าง รัฐได้ลิขสิทธิ์

ใครมีความรู้ เห็นว่าความเห็นของผมผิดพลาด โปรดแก้ไขด้วยครับ


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 08, 11:00
ไม่ใช่ค่ะคุณพพ.
ลิขสิทธิ์ที่มีผู้สร้างสรรค์ อย่างนวนิยายของดิฉัน   คุ้มครองไปอีก ๕๐ ปีหลังดิฉันตายค่ะ  ถึงจะกลายเป็นของสาธารณะที่ใครๆเอาไปพิมพ์ก็ได้

กฎหมายระบุว่า

อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์

มาตรา ๑๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒     ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลา ห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 19 ก.พ. 08, 11:45
ขอสับสนุนความเห็นของท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

เพราะสมัยหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมค่าลิขสิทธิ์บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  แล้วพระราชทานให้โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ไปสร้างตึกนอนนักเรียนได้ ๑ หลัง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗  ซึ่งนับดูก็เป็นเวลเกือบ ๔๐ ปีนับแต่ล้นเกล้าฯ เสด็จสวรรคต  ฉะนั้นผลของการคุ้มครองจึงน่าจะยืนยาวถึง ๕๐ ปี นับแต่ผู้สร้างสรรงานประพันธ์เสียชีวิตดังที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ครับ


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ก.พ. 08, 13:01
จาก http://www.moc.go.th/opscenter/am/fileser/fileA/lic1.htm
หัวข้อที่ ๗  อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์
โดยทั่วๆ ไป การคุ้มครองลิขสิทธิ์ จะมีผลเกิดขึ้นโดยทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยความคุ้มครองนี้จะมีผลตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และจะคุ้มครองต้อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต หากแต่มีงานบางประเภทจะมีการคุ้มครองที่แตกต่างกันไป โดยสรุปดังนี้
1. ในงานทั่วไป ลิขสิทธิ์ จะมีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และจะมีต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรถึงแก่ความตาย
กรณีเป็นผู้สร้างสรรค์ร่วม ก็ให้นับจากผู้สร้างสรรค์คนสุดท้านถึงแก่ความตาย
กรณีเป็นนิติบุคคล ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ที่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
กรณีผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝง หรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
2. งานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น
3. งานที่สร้างสรรค์โดยการว่าจ้าง หรือตามคำสั่ง ให้มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น
4. งานศิลปะประยุกต์ ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 25 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น
กรณีที่ได้มีการโฆษณางานเหล่านั้น ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่โฆษณาครั้งแรก ยกเว้นในกรณีงานศิลปประยุกต์ ให้ลิขสิทธิ์มีอายุต่อไปอีก 25 ปี นับแต่โฆษณาครั้งแรก


เพิ่มเติมที่นี่
http://www.fpmconsultant.com/htm/advocate_dtl.php?id=841
ข้อ ๓ ค
ในงานสร้างสรรค์ที่ผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝง  หรือไม่ปรากฏตัวผู้สร้างสรรค์นี้  หากต่อมาทราบตัวผู้สร้างสรรค์  ให้กลับไปใช้อายุแห่งการคุ้มครอง ลิขสิทธิ์ตามข้อ 1) (อายุลิขสิทธิ์ทั่วไป)

นั่นคือถ้าใช้นามแฝง แต่ทราบว่าเจ้าของนามแฝงคือใคร ให้คุ้มครองประหนึ่งว่าใช้นามจริงครับ


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 ก.พ. 08, 13:09
ยกตัวบทมาให้อ่านกันดีกว่า
http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._%E0%B9%92%E0%B9%95%E0%B9%93%E0%B9%97
-------------------
มาตรา ๑๙
ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒
ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
ในกรณีที่มีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ร่วม และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี
นับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย
ถ้าผู้สร้างสรรค์หรือผู้สร้างสรรค์ร่วมทุกคนถึงแก่ความตายก่อนที่ได้มีการโฆษณางานนั้น
ให้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น
แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา ๒๐
งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝงหรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์
ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว
ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
ในกรณีที่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ให้นำมาตรา ๑๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๑
ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียงหรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพให้มีอายุห้าสิบปี
นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
-------------------------
ผมสงสัยมากว่าท่านเขียนทำไมให้ข้อความแย้งกัน
มาตรา 19 นั้นชัดเจนว่า ลิขสิทธิ์มีอายุเท่าชีวิตผู้สร้าง บวกไปอีก 50 ปี ตามที่อาจารย์เทายกมา
แต่มาตรา 20 และ 21 ซึ่งเป็นที่มาของการบังคับใช้ ระบุการคุ้มครองแบบที่ผมยึดถือ

นักกฏหมายช่วยด้วย.....


กระทู้: ขอภาพ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ก.พ. 08, 13:28
ผมคิดว่าที่อาจารย์เทาชมพูและคุณพิพัฒน์กล่าวมา ถูกต้องทั้งคู่ครับ

อาจรย์เทาชมพูพิจารณาเฉพาะในส่วนที่ท่านคุ้นเคยคืองานประพันธ์ ซึ่งบังคับโดยมาตรา ๑๙ และ ๒๐ ท่านสร้างสรรค์งานโดยใช้นามจริงและนามแฝง แต่เปิดเผยว่าเป็นนามแฝงของท่าน จึงบังคับใช้ตามมาตรา ๑๙
คุณพิพัฒน์คุ้นเคยกับงานภาพุ่ายที่เข้าเกณฑ์มาตรา ๒๑ ก็ถูกต้องเช่นเดียวกัน เพราะบังคับใช้ต่างกัน เป็นกรณีเฉพาะอย่างที่เว็บกระทรวงพาณิชย์สรุปไว้แล้วผมยกมาให้ดูก่อนหน้านี้ครับ

ว่าแต่ทำไมต้องต่างกันด้วยหนอ?