เรือนไทย

General Category => ชมรมอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: karnmedia ที่ 29 พ.ย. 10, 06:36



กระทู้: นอกเรื่องกะทู้แรกจากน้องใหม่ "ลายพื้นบ้านภาคใต้" ครับ
เริ่มกระทู้โดย: karnmedia ที่ 29 พ.ย. 10, 06:36
ผมเกิดในชนบทแถวภาคใต้ พังงา กระบี่ ตอนเด็กเคยเขียนลายไทย ทันงานแทงหนก (แทงกนก) กรุกระดาษเยอะหลายงาน ส่วนงานแทงหยวกประดับงานศพ ไม่เกิน 2 งาน จำได้ไม่ถนัดครับ

เรื่องลายพอแทงตามได้  แต่น่องสิงห์กลายเป็นขาสัง (มุดสัง = อีเห็น) ขาดความน่ายำเกรง  และที่สำคัญคือ หยวกบอบช้ำ เพราะแทงอืดช้าไม่เนียน ไม่ทันรุ่นลุงรุ่นปู่...

งานประดับโลงทำกันตอนเช้าสองสามชั่วโมงเสร็จ หามศพไปวัดตอนสาย แทงลายประดับเมรุต่ออีก คนดูได้ความรู้ ช่างได้อวดเชิง ทำเสร็จสวยงามพอแค่พระสวดจบ..
กลายเป็นธรรมเนียมแกมติติงว่าช่างหนกโลง เริ่มวันอาบน้ำศพเสร็จจบวันปลง

แล้วก็เผาทิ้ง

ถึงพ.ศ.นี้ หาดูยาก ความเชื่อประจำถิ่นคือใช้ในงานอัปมงคล ถ้าหาคนแก่ๆแถวบ้านมาแทงหยวกให้ดูได้ ก็คงไม่ง่ายที่จะได้ดู  :D เชื่อว่าพ่อครูส่วนมากยอมแทงให้ดู แต่ผบทบ. ของพ่อครูจะตีหัวเอาตามความเชื่อส่วนบุคคล

ส่วนมากจะเป็นนายหนังหรือแวดวงคนแกะหนัง(ตะลุง)

ส่วนลายพื้นเมืองออกแนวแขก บางส่วนลายคล้ายผ้าปาเต๊ะ วาดคล้ายลายไทยก็มีใบมีดอกแทรกอยู่ชัดกว่าลายภาคกลาง ดูแล้วก็ค่อนข้างลงตัว ถึงตอนนี้จำไม่ได้เสียแล้วว่าลวดลายต้นแบบเป็นอย่างไรบ้าง

เคยดูๆหนังสือหลายเล่มก็มีแต่ลายไทยภาคกลาง ผมแค่คนเคยเล่น ไม่ได้แก่พรรษาพอจะรวบรวมจัดหมู่อ้างอิงเอาเองได้ อีกอย่างลายนั้นมีวิถีของลาย มีเอกลักษณ์หน้าที่ในการใช้ ตามคติของสังคมสมัยนั้นๆ
ไม่ใช่จะใช้ได้ทุกงานทุกลาย ทุกรูป ทุกเวลา ทุกสถานที่

จึงขอรบกวนเพื่อนสมาชิกเรื่อง "แม่ลาย" (ไทยหรือแขก)ทางภาคใต้หน่อยครับ :D


กระทู้: นอกเรื่องกะทู้แรกจากน้องใหม่ "ลายพื้นบ้านภาคใต้" ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 03 ธ.ค. 10, 22:14
ไม่ถนัดเรื่องภาคใต้เลยครับ คงจะต้องอาศัยเพื่อนๆสมาชิกที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้โดยตรง หรือเคยลงไปเยี่ยมเยียนเมืองใต้ดูบ้าง เรื่องอิทธิพลของมลายูก็เป็นเรื่องน่าสนใจครับ เราเรียนแต่ประวัติศาสตร์ลาว เขมร พม่า แต่ไม่ค่อยได้สนใจหัวเมืองฝ่ายใต้เลย ทั้งๆที่มีประวัติศาสตร์มาร่วมกันหลายร้อยปี