เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 23, 14:59



กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 23, 14:59
ต้นสกุล "รัตนกุล" ในสยาม เริ่มที่เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์  ผู้มีชื่อเดิมว่า "กุน"   
ท่านเป็นลูกจีน เดิมชื่อว่า กุน แซ่อึ้ง หรือเรียกแบบจีนว่า  "อึ้งกุน" เป็นบุตรชายของนายกุ๋ย แซ่อึ้ง หรืออึ้งกุ๋ย พ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋วซึ่งได้อพยพมาค้าขายในสยาม   ตั้งเคหสถานอยู่ที่ตำบลบ้านคลองโรงช้างเหนือ  เมืองราชบุรี  ได้ภรรยาเป็นคนไทย ธิดาของเจ้าพระยาพระคลัง (ฉิม) ขุนนางครั้งกรุงศรีอยุธยา
"จีนกุ๋ย" มีบุตรธิดาหลายคน  "จีนกุน" เป็นบุตรคนที่ห้าของจีนกุ๋ย เมื่อเจริญวัยขึ้น มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านปรก  ปากแม่น้ำแม่กลองฝั่งเหนือ แขวงเมืองสมุทรสงคราม   ดำเนินอาชีพค้าสำเภาอย่างบิดา จนมีฐานะร่ำรวย  ชาวบ้านเรียกกันว่า "เจ้าสัวกุน"

ท่านเข้ารับราชการครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี   มีตำแหน่งเป็นพระราชประสิทธิ์  เจ้ากรมพระคลังวิเศษ จึงได้ย้ายครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนที่หน้าวัดเลียบ กรุงเทพมหานคร และยกที่ดินบ้านเดิมให้เป็นที่สร้างวัดใหญ่ บ้านปรก ปากคลองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 23, 18:34
 พระราชประสิทธิ์น่าจะผูกมิตรทำความรู้จักกับขุนนางใหญ่ๆในกรุงธนบุรีเป็นอย่างดี     มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งในสมัยธนบุรี  ท่านนำฉากมาให้เจ้าพระยาจักรที่บ้าน   คุณแว่น หรือหม่อมแว่น อนุภรรยาของเจ้าพระยาจักรีออกมาต้อนรับแขก   ดธอไม่รู้จักชื่อ   แต่จะถามตรงๆก็เกรงเสียมารยาท  เลยอ้อมค้อมไปมา
"คุณชายฉิม" บุตรชายของเจ้าพระยาจักรีวิ่งเล่นอยู่บนนอกชาน เห็นดังนั้นก็บอกคุณแว่นว่า
" พี่แว่นพูดมากถลากไถล ไปเรียนเจ้าคุณ เถิดว่าจีนกุนเขาเอามาให้"

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2325 ทรงแต่งตั้งพระราชประสิทธิ์ (กุน) ขึ้นเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ จางวางกรมพระคลังสินค้า ต่อมาใน พ.ศ. 2348 เมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถึงแก่อสัญกรรม พระยาศรีพิพัฒน์ (กุน) ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาพระคลัง เสนาบดีกรมคลัง ได้รับสมญานามว่า "ท่านท่าเรือจ้าง" เนื่องจากจวนเจ้าพระยาอยู่ที่ท่าเรือจ้างข้างวัดเลียบ


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 23, 18:35
มื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พ.ศ. 2352 ทรงแต่งตั้งพระยาพระคลัง (กุน) ขึ้นเป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ที่สมุหนายก เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) สร้างวัดขึ้นสามแห่งพร้อมกันได้แก่ วัดหัวเมือง (ปัจจุบันเป็นวัดร้างในโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า) วัดกลางเมือง (วัดกลางบางซื่อ) และวัดท้ายเมือง นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯยังมีพระราชโองการให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์บูรณะวัดนาคที่ริมคลองมอญขึ้นเป็นวัดพระยาทำ และเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ยังได้สร้างวัดที่เกาะเกร็ดคือวัดศาลาเจ้าคุณกุน หรือวัดศาลาจีนกุน กลายเป็นวัดศาลากุลในปัจจุบัน

เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) ถึงแก่อสัญกรรมในรัชกาลที่ 2 สันนิษฐานว่าก่อนวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2357 เนื่องจากเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) ได้ขึ้นมาเป็นสมุหนายกแทน อัฐิของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) บรรจุอยู่ที่เจดีย์วัดใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม



กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 23, 18:27
วัดศาลากุล    ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ต.ค. 23, 10:05
        เคยคุ้นกับ นามสกุล รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ซึ่งอ.คงจะได้ขยายความต่อไป


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ต.ค. 23, 13:16
ใช่ค่ะ  คุณหมอ   อยู่ในแฟ้มแล้ว

รัตนกุลรุ่นที่ 2 นับจากเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่นำมาเล่าในกระทู้นี้ คือบุตรชายคนหนึ่งของท่าน มีนามว่าการเวก  ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็น "พระราชสมบัติ" ท่านรับราชการในรัชกาลที่ 3  และรัชกาลที่ 4

ไม่มีหลักฐานว่าพระราชสมบัติเกิดและถึงแก่กรรมเมื่อใด  ทราบแต่ว่าท่านเข้ารับราชการในกรมพระคลังในซ้าย   ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เดินทางไปเมืองกัลกัตตา  ประเทศอินเดียเมื่อ  พ.ศ.  2402  เพื่อหาซื้อเพชรพลอยที่ต้องพระราชประสงค์  เช่น   พระมหาวิเชียรมณี  ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้นำมาประดับที่ยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ

พระราชสมบัติออกเดินทางโดยเรือกำปั่นใบจากเมืองสมุทรปราการถึงเมืองสิงคโปร์  ต่อไปถึงเกาะหมาก  เมืองไทรบุรี  จากนั้นจึงโดยสารเรือเมล์กลไฟจากเกาะหมาก  แวะเมืองร่างกุ้งจนถึงเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เมื่อเสร็จราชการเดินทางกลับเดินบกจากเมืองไทรถึงเมืองนครศรีธรรมราช  แล้วลงเรือเดินทางต่อจนถึงกรุงเทพมหานคร 
การเดินทางครั้งนี้พระราชสมบัติได้แต่งนิราศเรื่องหนึ่ง ชื่อ "กลอนนิราศเกาะแก้วกาลกัตตา"  บุคคลในตระกูลเก็บรักษาต้นฉบับไว้  มหาอำมาตย์ตรี  พระยารัตนกุลอดุลยภักดี  (จำรัส  รัตนกุล)  ผู้เป็นหลานได้นำมาพิมพ์ครั้งแรกในงานปลงศพสนองคุณมารดาเมื่อ พ.ศ. 2463


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ต.ค. 23, 14:08
     พระราชสมบัติพบเพชรเม็ดใหญ่สุดเท่าที่หาได้ที่เมืองกัลกัตตา มีขนาด  40 กะรัต จึงซื้อกลับมาทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างเจียระไน เพื่อนำไปประดับบนยอดแหลมบนสุดเหนือพระมหาพิชัยมงกุฎ โดยพระราชทานนามเพชรเม็ดนี้ใหม่ว่า "พระมหาวิเชียรมณี"

    พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง เจ้าเมืองฮ่องกงในอาณัติของราชอาณาจักรอังกฤษ เข้าเฝ้าเพื่อชมพระมหาวิเชียรมณี ณ ยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ เพื่อแสดงว่าสยามมีเพชรน้ำงามไม่แพ้กับราชวงศ์อังกฤษ เช่นเดียวกับเพชรโคอินูร์


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ต.ค. 23, 14:19
ถ้าอยากอ่าน นิราศเกาะแก้วกัลกัตตา เข้าไปตามลิ้งค์ค่ะ

https://www.finearts.go.th/storage/contents/file/ZnBMw7cX6JcjFKATs9uHeZkm3g6jhQD7osjxz4sp.pdf


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ต.ค. 23, 09:22
พระราชสมบัติ มีบุตรธิดา 6 คนคือ
1  ขุนธนสิทธิ  (เอี่ยม)
2  หลวงวิเศษสุวรรณกิจ  (ชื่น)
3  หลวงบรรจงสุวรรณกิจ
4  ธิดาชื่อสังวาลย์  รับราชการฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ 4
5  นายแย้ม
6  นายวอน

ประวัติที่ค้นพบมีเพียงหลวงวิเศษสุวรรณกิจ(บางแห่งสะกดว่าหลวงวิเศศสุวรรณกิจ)  ว่าได้สมรสกับนางเผื่อน  ธิดาพระราชพินิจจัย(นาค - ไม่ทราบนามสกุล) มารดาของนางเผื่อนคือพระนมกลิ่นในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
คุณหลวงกับคุณนายเผื่อนมีบุตรธิดาด้วยกัน 5 คน คือ
1   นายร้อยเอกจิตร   ผู้บังคับการกองทหารดับเพลิง
2   ลม้าย
3   พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล)
4   นายจำเริญ มหาดเล็ก
5   นายเปลี่ยน ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แต่บุตร 4 คนอายุสั้น ถึงแก่กรรมไปก่อนมารดา  เหลือแต่พระยารัตนกุลเพียงผู้เดียว


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ต.ค. 23, 09:31
 นายร้อยเอกจิตร  บุตรชายคนโตของหลวงวิเศษฯ สมรสกับนางชื่น  มีบุตรชายคือนายจรูญ รัตนกุล   แต่ร้อยเอกจิตรถึงแก่กรรมเมื่อบุตรยังเยาว์มาก   พระยารัตนกุลฯซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอมรินทรฤๅไชย  จึงรับหลานชายไปอุปการะ  ให้การศึกษาชั้นต้นจนจบชั้นสามัญ  สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกจนสำเร็จการศึกษา  และจัดการหาคู่ครองให้ คือนางสาวเอิบ โกมลวรรธนะ ธิดาพระยาพฤฒาธิบดี (อ่อน โกมลวรรธนะ)
นายจรูญ  ต่อมาคือพลเอกจรูญ รัตนกุล หรือหลวงเสรีเริงฤทธิ์  หนึ่งในคณะราษฎร์ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
เป็นต้นสกุลรัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์   ซึ่งแยกสายจากสกุลรัตนกุล เดิม

ภาพข้างล่าง   หลวงเสรีเริงฤทธิ์


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 23, 09:45
รัตนกุล ชั้นที่ 3
พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส) เกิดในรัชกาลที่ ๔ ตรงกับวันอังคารที่ ๒๒ พ.ศ. ๒๔๐๒ ปีมะแม

เมื่อวัยเยาว์  ท่านศึกษาเล่าเรียนกับญาติๆ แล้วศึกษาต่อในโรงเรียนกรมทหารมหาดเล็ก จนสำเร็จการศึกษา  ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในเวรฤทธิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖
จากนั้นก็ได้ก้าวหน้าขึ้นในราชการเป็นลำดับ
  พ.ศ. ๒๔๒๗      เป็นจ่านายสิบ ทหารมหาดเล็กสังกัดกรมทหารม้าที่ ๒ มีหน้าที่ทำการบาญชี
  พ.ศ. ๒๔๒๘      เป็นขุนวรกิจพิศาล นายเวรพัสดุ กรมศึกษาธิการ
 พ.ศ. ๒๔๓๕       เป็นพระยาวิเศษไขยชาญ  เจ้ากรมรักษาพระราชวังบางปะอิน
 พ.ศ. ๒๔๓๗      เป็นนายอำเภออุไทยน้อย (ปัจจุบัน คือ อำเภอวังน้อย) อีกตำแหน่งหนึ่ง
 พ.ศ. ๒๔๓๙      เป็นผู้รั้งผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง
 พ.ศ. ๒๔๔๐       เป็นผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง
 พ.ศ. ๒๔๔๒       เป็นพระยาอมรินทรฤๅไชยผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี
 พ.ศ. ๒๔๔๕      เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี 
 พ.ศ. ๒๔๔๗     เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ 
 พ.ศ. ๒๔๕๒      ออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญด้วยเหตุเจ็บป่วย

ยศและบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน คือ เป็นจ่านายสิบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นขุนวรกิจพิศาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นหลวงราชภพน์บริหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นพระยาวิเศษไชยชาญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นพระยาอมรินทรฦๅไชย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นมหาอำมาตย์ตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ และเป็นพระยารัตนกุล อดุลยภักดี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 23, 10:08
    เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเข้ารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็ทรงเริ่มการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค  ด้วยการรวมหัวเมืองต่างๆ เข้าเป็นมณฑลเทศาภิบาล   และทรงให้ความสำคัญกับการปกครองระดับตำบลและหมู่บ้าน   เพราะเป็นการปกครองที่ใกล้ชิดกับราษฎรมากที่สุด
     ทรงมีพระดำริจัดระเบียบท้องที่ ตั้งเป็นตำบลหมู่บ้าน  ให้ราษฎรตำบลหมู่บ้านนั้นๆ เลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านของตนเอง เพื่อทำหน้าที่จัดทำทะเบียน ปราบปรามจับกุมโจรผู้ร้าย และระงับข้อพิพาทเล็กๆ น้อยๆ ของลูกบ้าน ตามอย่างการเลือกหัวหน้าหมู่บ้านหรือ “ตักยี” ในประเทศพม่า ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมอังกฤษ
  ทรงเลือกบ้านเกาะ (ปัจจุบัน คือ ตำบลบ้านเลน) บางปะอิน กรุงเก่า (ปัจจุบัน คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เป็นท้องที่ทดลองตั้งตำบลหมู่บ้านและเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านตามพระดำริเป็นครั้งแรก

พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเทศาจิตรวิจารณ์ ได้รับคำสั่งให้เดินทางขึ้นมาที่บางปะอินเพื่อสังเกตุการณ์และจัดระเบียบการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยให้หัวหน้าครอบครัวประมาณ ๑๐ ครัว ที่ตั้งบ้านเรือนใกล้เคียงกัน เลือกใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน จากนั้น กำหนดจำนวนหมู่บ้านตามลักษณะธรรมชาติของท้องถิ่นรวมเข้าเป็นตำบล แล้วให้ผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับเลือกจากหมู่บ้านต่างๆ เลือกผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่งเป็นกำนัน

ราษฎรชาวบางปะอินได้เลือกหลวงราชภพบริหาร (จำรัส รัตนกุล) เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ เมื่อประชุมผู้ใหญ่บ้านเพื่อเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้งหลายก็พร้อมใจกันเลือกหลวงราชภพบริหารเป็นกำนันคนแรกประจำตำบลบ้านเลน นับเป็นกำนันคนแรกของประเทศไทย


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 23, 10:11
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งแต่ยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จขึ้นไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ พ.ศ. ๒๔๔๗ ความว่า

“…พอเข้าเขตรมณฑลนครสวรรค์ ข้าพเจ้าไต่ถามพวกพ่อค้าราษฎรที่พบปะในระยะทางว่า เทศาคนใหม่เปนอย่างไรบ้าง พากันบอกว่ายังไม่รู้จัก แต่ได้ยินว่าท่านใจดี ดังนี้โดยมาก ครั้นใกล้จะถึงเมืองนครสวรรค์พบผู้ที่ได้รู้จักพระยารัตนกุลฯ พากันบอกว่าท่านใจดีไม่ถือตัว ใครมีทุกข์ร้อนจะไปมาหาสู่เมื่อไรก็ได้ดังนี้ เมื่อไปถึงที่จวนเทศา ข้าพเจ้าเห็นฆ้องแขวนอยู่ที่ประตูรั้วใบ ๑ มีหนังสือเขียนป้ายปิดไว้ว่า “ถ้าใครมีทุกข์ร้อน อยากจะพบข้าหลวงเทศาภิบาลเมื่อใดก็ได้ ถ้าเปนเวลาค่ำคืนปิดประตูบ้าน แล้วให้ตีฆ้องใบนี้ขึ้นเปนสำคัญ”
   ข้าพเจ้าเห็นก็เข้าใจว่า พระยารัตนกุลฯ ได้ความคิดมาแต่อ่านศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ได้ความว่ากลางคืนมีคนมาตีฆ้องบ่อยๆ อยู่ฤๅ บอกว่าเปล่า ตั้งแต่แขวนฆ้องแล้ว ยังไม่มีใครมาตีเลยสักคนเดียว ถึงกลางวันก็มิใคร่มีใครไปรบกวนมากมายเท่าใด นึกดูก็ปลาด เพียงแต่ทำให้เกิดอุ่นใจว่าจะหาผู้ใหญ่เมื่อใดหาได้เท่านี้ก็มีผล…”
     ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้วันที่ ๑๐ สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านครั้งแรก ให้เป็นวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน มีการมอบรางวัลแก่กำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีผลงานดีเด่นเป็นประจำทุกปี และยังให้เกียรติพระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล) ว่าเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านคนแรกด้วย


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 23, 10:49
    พระยารัตนกุลมีสุขภาพไม่แข็งแรงนัก    มีโรคประจำตัวคือกระเพาะอาหารพิการเรื้อรัง   เมื่อเป็นสมุหเทศาภิบาลอยู่ได้ 6 ปีมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอมรินทรฤๅไชย ก็ป่วยจนต้องลาราชการรักษาตัว  เมื่อค่อยยังชั่วก็กลับไปรับราชการที่นครสวรรค์อีก แล้วก็ป่วยอีก  เห็นว่าจะทำงานต่อไปไม่ไหว   จึงตัดสินใจกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ รับเบี้ยบำนาญ เมื่อพ.ศ. 2452  กลับมารักษาตัวอยู่ในบ้านที่ตำบลบางกระบือ กรุงเทพ 
    ในระหว่างพักผ่อนรักษาสุขภาพอยู่กับบ้าน  ท่านก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่สร้างงานที่เป็นประโยชน์  คือช่วยงานสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทางด้านหอพระสมุดวชิรญาณ      ท่านได้รวบรวมประวัติสกุลรัตนกุลไว้เป็นหลักฐานให้ลูกหลานรุ่นหลังได้รับรู้  และได้รวบรวมอีกหลายสกุลด้วยกัน   ต่อมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน คือ ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ ๑ และภาคที่ ๒ 
   หลังจากได้พักผ่อนอยู่ระยะหนึ่ง พระยารัตนกุลมีสุขภาพดีขึ้น ไปไหนมาไหนได้ไม่ลำบากเหมือนก่อน จึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสือป่าในรัชกาลที่ 6 ลงสนามฝึกหัด จนได้เป็นนายหมู่ตรี  แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระเมตตาว่าทุพพลภาพ จึงทรงให้มีหน้าที่แค่ควบคุมกองนอก
   ต่อมาเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชบัญญัตินามสกุล   พระยารัตนกุลซึ่งยังเป็นพระยาอมรินทรฤๅไชยอยู่ทูลขอพระราชทานนามสกุล   ทรงมีพระราชดำริว่าสกุลนี้เป็นสกุลสูง สืบต่อมาจากเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ สมุหนายกท่านแรกในรัชกาลที่ 2 จึงพระราชทานนามสกุลว่า "รัตนกุล" และพระราชทานสัญญาบัตรให้พระยาอมรินทรฯ ว่า พระยารัตนกุลอดุลยภักดี  เป็นเกียรติในสกุลวงศ์
  พระยารัตนกุลฯ จึงได้ราชทินนามใหม่ หลังจากเกษียณราชการมาแล้วถึง 10 ปี 


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 23, 10:54
    พระยารัตนกุลมีชีวิตต่อมาจนถึงพ.ศ. 2465   โรคกระเพาะอาหารก็รบกวนเป็นระยะ   ไม่หายขาด  และยังมีโรคไตเข้าแทรก  จนป่วยหนักถึงแก่่อนิจกรรมเมื่อวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2465
    ในประวัติพระยารัตนกุลที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯนิพนธ์ไว้  เล่าว่าท่านไม่มีบุตรธิดา   แต่ในความเป็นจริง  พระยารัตนกุลไม่มีบุตร   แต่มีธิดาซึ่งสมรสไปกับสกุลอื่น   รัตนกุลทางสายท่านจึงไม่มีผู้สืบสายอีก


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 ต.ค. 23, 11:26
           พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส) ได้รวบรวมและเรียบเรียง "ลำดับสกุลเก่าบางสกุล" ภาค ๑ (ซึ่งรวมสกุล รัตนกุล ไว้) และ
ภาค ๒ ที่รวบรวมได้ ๔ สกุลเท่านี้ ท่านก็ล้มป่วยแล้วถึงแก่อนิจกรรม
           ลำดับสกุลภาค ๒ นี้ ได้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพท่าน โดยมีกรมพระยาดำรงราชานุภาพนิพนธ์คำนำ

https://www.finearts.go.th/storage/contents/2020/11/file/yx0qvOJj8JWvwFAWUrktRzOcPii8it7qUC4PcPYl.pdf


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 23, 09:51
     มีเกร็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับอุปนิสัยส่วนตัวพระยารัตนกุล ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงบันทึกไว้อีก2-3 เรื่อง นอกเหนือจากเปิดโอกาสให้ราษฎรในท้องถิ่นได้ร้องทุกข์ได้ไม่จำกัดเวลา สมัยท่านเป็นกำนัน
     เมื่อเริ่มรับราชการ ท่านเป็นชั้นผู้น้อยอย่างคนอื่น  แต่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเร็ว เพราะนิสัยท่านคือทำสิ่งใดก็ทำอย่างประณีต  ผลงานที่ได้รับมอบหมายออกมาเรียบร้อย  และเป็นคนขยันพากเพียร  จึงได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบสูงขึ้นในหน้าที่  จนกระทั่งได้เป็นพระยา
     เมื่อกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ  พระยารัตนกุลไม่อยากอยู่ว่างๆในบ้าน  ก็ไปอ่านหนังสือที่หอพระสมุดเป็นประจำ   ท่านไม่ได้อ่านอยู่่เฉยๆ แต่หาโอกาสช่วยงานเท่าที่จะทำได้   เมื่อมีการย้ายหอพระสมุดออกจากพระบรมมหาราชวัง ท่านก็ช่วยจัดตั้งตู้หนังสือให้เป็นระเบียบเรียบร้อย   แล้วกราบทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงฯว่าอยู่เฉยๆก็รำคาญใจเพราะมีเวลาว่างมาก อยากจะช่วยงานในหอพระสมุดแล้วแต่จะทรงมอบหมาย  จึงทรงมอบให้จัดระเบียบรูปถ่ายต่างๆในหอพระสมุด  ก็ทำจนเสร็จเรียบร้อย
    พระยารัตนกุลได้รวบรวมสาแหรกของสกุลรัตนกุล เสร็จแล้วถวายสมเด็จกรมพระยาดำรงฯให้ทรงตรวจ  เป็นที่พอพระทัย  จึงให้รวบรวมสกุลเก่าอื่นๆมาพิมพ์เป็นเล่มไว้อีก เป็นหลักฐาน   ท่านก็อุตสาหะรวบรวมได้ถึง 11 สกุลด้วยกัน   น่าเสียดายว่าท่านล้มป่วยหลังจากนั้น แล้วถึงแก่อนิจกรรม  ไม่อย่างนั้นคงจะได้รวบรวมอีกหลายนามสกุล
       


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 23, 11:11
  เกร็ดเล็กๆอีกเรื่องก็คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงบันทึกไว้ว่า    พระยารัตนกุลอุตสาหะเดินทางจากบ้านมาทำงานที่หอพระสมุดไม่ได้ขาด  ไม่มีค่าตอบแทน ทั้งยังต้องเสียค่ายานพาหนะมาเอง  จึงทรงเห็นว่ามาออกแรงทำบุญให้หอพระสมุดก็ดีอยู่แล้ว  ไม่ควรจะเสียเงินค่าเดินทางมาเอง  จึงทรงรับจะจ่ายค่าเดินทางให้     (ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงจะเป็นเบี้ยประชุม)
   ขอสแกนข้อความมาให้อ่านข้างล่างนี้ค่ะ


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 23, 09:54
บุคคลสำคัญในสกุลรัตนกุล ในรุ่นต่อมาคือบุตรชายของนายร้อยเอกจิตร รัตนกุล ชื่อพลเอกจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
ท่านผู้นี้เป็นผู้กำหนดคำว่า "เสรีเริงฤทธิ์" อันเป็นราชทินนามเดิมของท่านมาต่อท้ายนามสกุลรัตนกุล สำหรับลูกหลานสายของท่านโดยเฉพาะ   ถ้าเป็นลูกหลานในสายอื่น ใช้นามสกุล รัตนกุล เฉยๆ ไม่มีคำต่อท้าย

เนื่องจากนายร้อยเอกจิตรผู้บิดาถึงแก่กรรมเมื่อพลเอกจรูญยังเป็นทารก   ท่านจึงอยู่ความอุปการะของพระยารัตนกุลผู้เป็นอา    ตอนเล็กๆเข้าเรียนที่โรงเรียนคณิกาผลซึ่งอยู่ไม่ห่างบ้าน  มาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนปทุมคงคา  ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกในปี 2454 จนจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้เข้ารับราชการทหาร เป็นว่าที่นายร้อยตรี ในปี 2460 ประจำกรมทหารบกช่าง ที่ 3
ชีวิตราชการทหารเจริญก้าวหน้ามาด้วยดี ได้เลื่อนยศทางทหาร ได้เป็นนายร้อยโทในปี 2465 และขึ้นเป็นนายร้อยเอกในปี 2470 ส่วนบรรดาศักดิ์ของท่านนั้นท่านได้เป็นขุนเสรีเริงฤทธิ์ ในปี 2468 ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน ปี 2472 ท่านได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงในชื่อเดิม


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 23, 10:06
หลวงเสรีเริงฤทธิ์(คนกลาง) ถ่ายกับเพื่อนในทหาร เมื่อพ.ศ. 2475


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 23, 10:03
    เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นายร้อยเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์ ขณะนั้นเป็นนายทหารสื่อสาร ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎร์  เป็นหนึ่งในคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง   หลังจากนั้นเมื่อ  1 เมษายน ปี 2476  เลื่อนขึ้นเป็นนายพันตรี  ผู้บังคับกองพันทหารสื่อสาร ที่ 1 รักษาพระองค์  

    มีเกร็ดเล็กๆ 2-3 เรื่องเกี่ยวกับการทำงานของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ที่ไม่ค่อยมีใครรู้กันนัก  จึงขอนำมาเล่าไว้ในกระทู้นี้

    เรื่องแรกคือหลวงเสรีเริงฤทธิ์กับคอมมิวนิสต์ในสยาม เมื่อปี 2475

    คนไทยมักจะเข้าใจว่าคอมมิวนิสต์เริ่มมีบทบาทในไทยเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  แต่ความจริงไม่ใช่  คอมมิวนิสต์เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2475 แล้ว    เริ่มจากเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พรรคคอมมิวนิสต์ญวน(หมายถึงเวียดนาม) ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ของพรรคเข้ามาตั้งอยู่ในภาคอีสานอย่างลับๆ  แล้วเริ่มเผยแพร่ขอความร่วมมือจากคนญวน และคนจีนในภาคนั้น  รวมทั้งลูกครึ่งญวน-จีน ด้วย  แทรกเข้าไปในหมู่นักศึกษาด้วยการแจกใบปลิว
   เมื่อคณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ  คอมมิวนิสต์ญวนก็เผยแพร่ใบปลิว  อ้างความดีความชอบว่าคอมมิวนิสต์มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย
    การเผยแพร่นี้ขยายกำลังมาถึงสื่อในยุค นั้น  มีหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับคือ สัจจัง, 24 มิถุนา และ มวลชน  ลงเรื่องราวสนับสนุนความดีงามของลัทธิคอมมิวนิสต์ และประเทศคอมมิวนิสต์    ในขณะที่คณะราษฎร์เองก็มัวยุ่งยากกับการจัดระเบียบแบบใหม่ต่างๆในสังคมไทย  คอมมิวนิสต์ก็ได้โอกาสวางรูปแบบลัทธิของตนลงในสังคมไทยด้วย


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 23, 10:04
นายพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์  เมื่อเป็นผู้บังคับกองพัน


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ต.ค. 23, 09:39
   หลวงเสรีฯได้สืบทราบมาว่า พรรคคอมมิวนิสต์ในไทยจะประชุมกันที่บริเวณถนนตะนาว ถนนข้าวสาร ศาลเจ้าพ่อเสือ แต่ไม่แน่ว่าตรงจุดไหน   จึงจำเป็นต้องสังเกตการณ์คนผ่านไปมาทั้ง 3 ถนน  ท่านก็เลยพาทหารใต้บังคับบัญชาออกไป กระจายกำลังทั้ง 3 แห่ง
   คืนนั้นเอง กองตำรวจพิเศษ(สันติบาล)ก็ได้สืบทราบมาตรงกัน   จึงพาเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมายังบริเวณดังกล่าวเหมือนกัน   แต่ต่างฝ่ายต่างไม่ได้ประสานงานกัน   จึงมองเห็นผู้คนแต่ละฝ่ายดูมีพิรุธน่าสงสัย    จนเกือบจะเกิดปะทะกันขึ้น
  แต่หลวงเสรีเริงฤทธิ์ได้พบกับนายตำรวจกองพิเศษเสียก่อน   เจรจากัน รู้ว่าใครเป็นใคร ก็เลยเข้าใจกันได้  ถอนกำลังกลับกันไปโดยไม่เสียเลือดเนื้อกัน
  
   เรื่องที่สองคือหลวงเสรีฯ ปะทะกับกองกำลังอาจารย์ซิ่ว
   อาจารย์ซิ่วเป็นใคร    คนนี้ไม่ใช่ตำรวจทหารหรือนักการเมือง แต่เป็นมือสักประเภทคงกระพันชาตรี   มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย     อาจารย์ซิ่วเป็นผู้หนึ่งที่ต่อต้านคณะราษฎร์จนถึงกับนัดชุมนุมลูกศิษย์ที่สนามเป้า   เพื่อถือโอกาสจู่โจมแย่งปืนและกระสุนจากทหารที่กำลังยิงเป้า  ได้แล้วจะเอาไปต่อสู้กับรัฐบาล
   แต่ข่าวรั่วไหลไปถึงทหารเสียก่อน   หลวงเสรีฯจึงนัดประชุมนายทหารใต้บังคับบัญชา ปราบปรามกองกำลังของอาจารย์ซิ่ว


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ต.ค. 23, 08:57
    ข่าวกรองที่ส่งมาคือบรรดาศิษย์อาจารย์ซิ่วนัดชุมนุมกันที่สวนฝรั่งใกล้สนามเป้า   คุณหลวงแบ่งกำลังทหารเป็น 4 กลุ่ม  บุกเข้าไปในสวนฝรั่ง    พอพวกลูกน้องอาจารย์ซิ่วเห็นทหารในเครื่องแบบบุกเข้าไปก็แตกฮิอวิ่งหนีกันไปคนละทิศละทาง 
   ทหารกลุ่มที่ 1  ไปประจันหน้ากับอาจารย์ซิ่วและลูกน้องเข้าพอดี    หลวงเสรีผู้นำกลุ่มร้องตะโกนให้หยุด   อาจารย์ซิ่วชี้มือไปที่ศาลเพียงตาซึ่งปลูกไว้นอกสวนฝรั่ง ว่าให้ไปพูดกันที่นั่น   พอไปถึง อาจารย์ซิ่วก็เริ่มด่าทหารอย่างหยาบคาย ทหารจึงเข้าจับกุม   ฝ่ายลูกน้องอาจารย์ซิ่วดึงมีดปังตอออกมาจากเสื้อจะฟัน  ทางฝ่ายทหารควักปืนออกมายิง แต่กระสุนคงจะขัดลำกล้องหรืออะไรสักอย่าง ก็เลยยิงไม่ออก
   พอเห็นทหารยิงไม่ออก ฝ่ายอาจารย์ซิ่วก็ฮีกเหิมได้ใจขึ้นมา รุกเข้าประชิด  ทหารเริ่มถอย   หลวงเสรีดึงปืนพกขึ้นมาจากเอว  แต่ปรากฏว่าปืนดันไปติดพวงกุญแจที่เหน็บเอวไว้  เลยดึงขึ้นมาไม่ได้
  ร.ต.อร่าม เทพานนท์ลูกน้องของหลวงเสรีเห็นท่าไม่ดี  ร้องบอกให้หลวงเสรีหลบ  แล้วตัวเองก็ยิงออกไป 1 นัดถูกลูกน้องของอาจารย์ซิ่ว   ฝ่ายอาจารย์ซิ่วเห็นคาถาตนเองหมดขลังก็หันหลังวิ่งหนีออกไปพร้อมลูกน้อง 
  ร.ต.อร่ามยิงไล่หลังไป  ถูกอาจารย์ซิ่ว เลือดออกมาทะลุเสื้อทางด้านหลัง  แต่ไม่ตาย ยังวิ่งหนีต่อไปอีกได้


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 23, 09:28
     เหตุการณ์เริ่มชุลมุน  รอ.ขุนศุภโยธิน ซึ่งควบคุมอาวุธและกระสุนยิงเป้าอยู่ ถูกลูกน้องคนหนึ่งของอาจารย์ซิ่วบุกเข้าถึงตัว  เอาอีโต้ฟันหัวทะลุหมวกกะโล่ลงมาถึงศีรษะ แต่ไม่ตาย  ขุนศุภฯหนีไปหากลุ่มทหาร พอดีรอ.อร่ามมาถึง ยิงมีออีโต้ที่ไล่ฟัน  ถูกเข้าที่ขา มืออีโต้ก็เลยหันหลังวิ่งกระโผลกกระเผลกหนีไป
     การปะทะกันครั้งนี้ทำให้ฝ่ายลูกน้องอาจารย์ซิ่วหนีกระจัดกระจายออกจากบริเวณนั้น มุ่งหน้าไปขึ้นถนนซึ่งต่อมาคือถนนพหลโยธิน    อาจารย์ซิ่วเองก็ได้รับบาดเจ็บ  ศาลเพียงตาล้มระเนนระนาด   แต่ยังรวบรวมกำลังยกกันขึ้นไปตามถนน    เจอกองทหารของหลวงเสรี ยืนเรียงแถวดักอยู่ พร้อมปืนบรรจุกระสุนจริง ประทับยิง 
     อาจารย์ซิ่วคงตั้งใจจะฮึดสู้แสดงพลัง จึงเดินองอาจเข้าไปหาทหารที่กำลังประทับปืน  เอื้อมมือไปกระชากปืนออกมาโดยแรง  นิ้วทหารที่สอดอยู่ในโกร่งไกปินก็เลยลั่นกระสุนเข้าใส่  อาจารย์ซ่ิวล้มลง คางหายไปทั้งคาง   บรรดาลูกน้องเห็นหัวหน้าไม่ได้คงกระพันชาตรีจริง ก็แตกฮือวิ่งหนีกันไปหมด เป็นอันถึงวาระสุดท้ายของขบวนการอาจารย์ซิ่วเพียงแค่นั้น
    หลวงเสรีฯประสบชัยชนะในการปราบอาจารย์ซิ่วได้สำเร็จ     ด้วยความเมตตาและเป็นห่วงลูกน้องคือรอ.อร่าม ก็ได้นิมนต์พระสงฆ์มาที่บ้าน รดน้ำมนต์ให้รอ.อร่าม  ล้างเคราะห์จากฝ่ายตรงข้ามให้หมดไป


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 23, 13:24
      ฉากชีวิตฉากใหญ่อีกครั้งหนึ่งของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ คือบทบาทที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกบฎบวรเดช

     1 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง   เกิดกรณี "กบฎบวรเดช" ขึ้น จากความไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล     ผู้นำคือพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช ยกทัพจากทางเหนือกรุงเทพเข้าล้อมเมืองหลวง เพื่อบีบให้รัฐบาลยอมจำนน
     กองทหารช่างอยุธยาที่เพิ่งแยกจากกองทหารสื่อสารที่บางซื่อไปประจำอยู่ที่อยุธยา เป็นกองกำลังส่วนหน้าบุกเข้ามาประชิดพระนครที่ทุ่งบางเขนในวันที่ 11 ตุลาคม ปี 2476    ผู้บังคับกองพันชื่อนายพันตรีหลวงลบบาดาล เป็นคนควบคุมมา   หลวงลบบาดาลรู้จักคุ้นเคยกับหลวงเสรีเริงฤทธิ์ดี   นายกรัฐมนตรี  พระยาพหลพลพยุหเสนา จึงสั่งการให้หลวงเสรีฯเดินทางไปเจรจา และเกลี้ยกล่อมให้กลับใจมาเข้าข้างรัฐบาล 
     ในตอนแรก   ทางหลวงลบบาดาลก็ทำท่าเหมือนจะถูกกล่อมได้สำเร็จ แต่เกี่ยงว่าขอยื่นข้อเสนอให้นายกฯออกจดหมายรับรองไม่เอาผิดฝ่ายตนเสียก่อน    หลวงเสรีฯและคณะที่มาเจรจาก็ยินยอม  เดินทางกลับไปพบนายกฯ ได้จดหมายรับรองมาเรียบร้อย ก็กลับออกไปพบอีกครั้ง
     เหตุการณ์กลับตาลปัตร  ถูกหลวงลบบาดาลสั่งจับทั้งคณะทันที   หลวงเสรีฯถูกนำตัวไปพบพระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าฝ่ายกบฎ ก่อนที่จะส่งหลวงเสรีฯและคณะไปคุมตัวรอการตัดสินโทษอยู่ที่อยุธยา
     พ.อ.แสง จุละจาริตต์ หนึ่งในคณะของหลวงเสรีฯ  ได้บันทึกไว้ว่า

        “…คณะของเราถูกคุมตัวไปขึ้นรถไฟและลงสถานีดอนเมือง...พ.ต.หลวงเสรีเริงฤทธ์ ถูกนำไปเฝ้าพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช...จากนั้นประมาณ 2-3 ชั่วโมง พวกเราก็ถูกคุมตัวขึ้นรถไฟไปลงสถานีอยุธยา มีเรือยนต์มารับแล่นจากหลังสถานีรถไฟ ตามลำน้ำรอบเกาะไปขึ้นที่ท่าของกรมทหารช่าง พ.ท.พระวิเศษโยธาภิบาล (ปาน สุนทรจันทร์) ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอยุธยา ผู้อำนวยการเขตหลังของทหารช่าง ได้สั่งกักเราทั้งสี่คนไว้ที่กองรักษาการณ์...”       


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 23, 13:36
      ต่อมา วันที่ 16 ตุลาคม ปี 2476  เรือรบหลวงสุริยะมณฑลของฝ่ายรัฐบาลนำกำลังขึ้นมาที่อยุธยา  ยึดพื้นที่จากฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชได้    หลวงเสรีและคณะอีก 3 คนจึงได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ
      อีก 2 เดือนต่อมา  ถึงเดือนธันวาคม หลวงเสรีฯก็ได้ความดีความชอบ  เข้ารับตำแหน่งทางการเมือง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท ที่ 2 ( เทียบเท่าวุฒิสมาชิกในยุคนี้)
      ดวงของหลวงเสรีฯรุ่งโรจน์ขึ้นเป็นลำดับ  ในสมัยนายกฯ พระยาพหลฯ ท่านก้าวออกจากกองทัพไปรับตำแหน่งสำคัญภายนอกกองทัพ  คือไปรับตำแหน่งอธิบดีกรมรถไฟเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2479
      ดวงและผลงานของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ยังคงพุ่งแรงขึ้นตลอดมา   แม้การเมืองผันผวน เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ท่านก็ไม่ได้กระทบกระเทือนอย่างใด  แต่กลับประสบความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ    เมื่อจอมพลป.พิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกฯ    หลวงเสรีฯ ได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ในปี 2481 เพียงปีเดียวถัดมา  ท่านก็ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเดียวกัน
     เมื่อมีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ หลวงเสรีเริงฤทธิ์จึงใช้ชื่อเดิม คือจรูญ รัตนกุล แต่เติมราชทินนาม "เสรีเริงฤทธิ์" ไว้ท้ายนามสกุล สำหรับใช้กับท่านและผู้สืบสายเลือดโดยตรงจากท่าน     แยกจากสมาชิกอื่นๆของสกุลรัตนกุล  ท่านได้รับยศทางทหารสูงสุด เป็นพลเอก
   


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 23, 13:42
   พลเอกจรูญ รัตนกุลเป็นที่ไว้วางใจของจอมพล ป.พิบูลสงครามอย่างมาก   ต่อมา เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น  ไทยต้องเตรียมตัวเผชิญภาวะสงครามจากการแผ่ขยายอำนาจของญี่ปุ่นไปทั่วเอเชีย   ในวันที่ 4 ธันวาคม ปี 2483 พลเอกจรูญได้รับแต่งตั้งเป็นรองแม่ทัพบูรพา มีหลวงพรหมโยธีเป็นแม่ทัพ
   ยังไม่ถึง 1 ปีต่อมา   ท่านได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม  ควบตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกไปพร้อมกัน
   หลังกองทัพญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านไทยในวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2484 ได้เพียง 15 วัน รัฐบาลก็ตั้งพลเอกจรูญไปเป็นแม่ทัพภาคพายัพ
     ในวันที่ 10 มีนาคม ปี 2485 ท่านพ้นตำแหน่งอธิบดีกรมรถไฟไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการ และต่อมาย้ายไปอยู่กระทรวงคมนาคม
   พลเอกจรูญได้อยู่ร่วมรัฐบาลของจอมพลป. มาอีก 2 ปี จนจอมพลป. ลาออกจากนายกฯในปี 2487   ท่านก็พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีไป
    ดวงของพลเอกจรูญได้ชื่อว่าเป็นดวงแข็งอีกครั้ง เมื่อแคล้วคลาดจากข้อหาที่จอมพลป. เจอ คือข้อหาอาชญากรสงคราม เรื่องนี้มีสาเหตุมาจากหลังสงครามโลกจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น   รัฐบาลไทยซึ่งเป็นพันธมิตรญี่ปุ่นจึงโดนไปด้วย  ท่านเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะจึงโดนเข้าเต็ม ๆ  
    แต่พลเอกจรูญรอดคดี เพราะกฎหมายเป็นโมฆะใช้ย้อนหลังไม่ได้ จึงพ้นคดีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปี 2489


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 23, 11:42
     วันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 เมืองไทยพบรัฐประหารอีกครั้ง   เปิดทางให้อำนาจเก่า คือจอมพล ป. พิบูลสงครามฟื้นคืนชีพทางการเมือง  กลับมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง   
     พลเอกจรูญได้กลับมาสู่ตำแหน่งสำคัญ   แม้จะมิใช่ตำแหน่งทางการเมือง  คือตำแหน่งอธิบดีกรมรถไฟ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 2492   ต่อมากรมรถไฟเปลี่ยนเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงคมนาคม   ท่านก็ได้เป็นผู้ว่าการรถไฟตามชื่อใหม่   เท่ากับเป็นอธิบดีกรมรถไฟคนสุดท้าย และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยคนแรก  ดำรงตำแหน่งจนถึงพ.ศ. 2502 จึงเกษียณราชการ
     ท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ  บริจาคเงินสร้างอาคารเสรีเริงฤทธิ์ และวางโครงการรองรับการขยายตัวของกิจการรถไฟไว้ล่วงหน้าที่บางซื่อและพหลโยธิน
     พลเอกจรูญมีอายุยืนยาวถึง 87 ย่าง 88 ปี จึงถึงแก่อนิจกรรม เมื่อพ.ศ. 2526


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 23, 12:02
พลเอกจรูญ สมรสครั้งแรกกับคุณหญิงเอิบ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ (สกุลเดิม โกมลวรรธนะ) มีบุตรธิดา 5 คน คือ
    1   พันเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
    2   นายจำลอง รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
    3   นางสาวจิรดา  รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์  สมรสกับพล.ต.สนาน รณฤทธิวิชัย
    4   พล.ต.ต. อุดม  รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์  สมรสกับน.ส.สุภัทรา  ทวีติยานนท์  
    5   นายวิจิตร  รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
    หลังจากคุณหญิงเอิบถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. 2492  ท่านได้สมรสใหม่กับน.ส.ประไพ เศรษฐวัฒน์ มีบุตรธิดาอีก 4 คน คือ
      พลเอกจรูญ สมรสครั้งแรกกับคุณหญิงเอิบ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ (สกุลเดิม โกมลวรรธนะ) มีบุตรธิดา 5 คน คือ
    1   พันเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
    2   นายจำลอง รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
    3   นางสาวจิรดา  รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์  สมรสกับพล.ต.สนาน รณฤทธิวิชัย
    4   พล.ต.ต. อุดม  รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์  สมรสกับน.ส.สุภัทรา  ทวีติยานนท์  
    5   นายวิจิตร  รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
    หลังจากคุณหญิงเอิบถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. 2492 ท่านได้สมรสใหม่กับน.ส.ประไพ เศรษฐวัฒน์ มีบุตรธิดา 4 คน คือ
    1 นางสาวจริยวัฒน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ สมรสกับนายสมศักดิ์ ชัชราวรรณ
    2 นางสาวพัฒนาพงษ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
    3 นายพฤฒิรัตน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
    4 นายพีรสันต์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ สมรสกับมิส แมรี่ โจ ฟิลสตรอม


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 23, 12:07
ภาพพลเอกจรูญ คุณประไพ และบุตรธิดา


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ย. 23, 09:08
บุคคลสำคัญลำดับต่อไปในสกุลรัตนกุล คือ บุตรชายคนใหญ่ของพลเอกจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์   ชื่อพ.อ.อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

พันเอก อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์เกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2463 เป็นบุตรคนแรกของพลเอก จรูญ และคุณหญิงเอิบ (สกุลเดิม โกมลวรรธนะ) มีน้องๆร่วมบิดามารดาอีก 4 คน คือ 
1  นายจำลอง
2  นางจิรดา สมรสกับ พลตรีสนาน รณฤทธิวิชัย
3  พลตำรวจตรีอุดม   สมรสกับนางสุภัทรา ทวีติยานนท์
4  นายวิจิตร
และมีน้องๆต่างมารดา ที่เกิดจากคุณประไพ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อีก 4 คน  คือ
1  นางจริยวัฒน์
2  น.ส. พัฒนาพงษ์
3  นายพฤฒิรัตน์
4   พลตรีพีรสันต์


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ย. 23, 09:35
    พ.อ.อร่ามเกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2463  ศึกษาที่ร.ร.ราชบุรีจนจบชั้นสูงสุดคือมัธยมปีที่ 8  จากนั้นไปศึกษาต่อในยุโรป  เข้าเรียนที่ร.ร.เตรียมนายร้อย Michot Mougenast Bruxell ประเทศเบลเยี่ยม  ขณะที่กำลังเรียน  เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นในยุโรป   ท่านจึงต้องย้ายมาศึกษาที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสแทน  ภาวะสงครามที่รุนแรงขึ้นยทำให้ต้องย้ายไปเอยู่ที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  ใช้เวลาเรียนภาษาเยอรมันที่นั่น
   ในปี 2484  เมื่ออายุ 21 ปีท่านย้ายไปเรียนต่อที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์  เปลี่ยนสาขามาเรียนวิชาวิศวกรรมเครื่องกล  4 ปีต่อมาได้เรียนต่อทางวิชาออกแบบก่อสร้างผังเมือง จนสำเร็จ ออกมาทำงานเป็นถสปนิกด้านก่อสร้างอาคารสถานที่และธนาคาร
   เมื่ออยู่ในสวิตเซอร์แลนด์  พ.อ. อร่ามได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8) สมเด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  อยู่เป็นประจำ
   พันเอกอร่ามสมรสกับสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2487 มีธิดาคือท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม  เกิด 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 ที่สวิตเซอร์แลนด์


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 23, 09:39
  เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2491  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯทรงขับรถยนต์พระที่นั่งชยกับรถบรรทุก ที่ทะเลสาบเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์  ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัส   พันเอกอร่ามเป็นบุคคลเดียวที่โดยเสด็จอยู่ในรถยนต์พระที่นั่ง ได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นกัน  
   ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ร้อยเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นราชองครักษ์พิเศษ รับราชการสนองพระเดชพระคุณตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2496 เป็นต้นไป

     เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย พันเอกอร่ามรับราชการเป็นอาจารย์สอนหนังสือ
     เมื่อ พ.ศ. 2500 เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนส่งเสริมอาชีพก่อสร้าง (ปัจจุบันคือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 23, 09:44
ตัวอย่างผลงานออกแบบของพอ.อร่าม


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 23, 09:48
พันเอก อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร   สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2525 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 23, 10:41
สมเด็จฯเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จในงานสวดพระอภิธรรม


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 23, 11:06
บุคคลในสกุลรัตนกุลท่านต่อไป คือคุณจำลอง รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ 
คุณจำลองเป็นบุตรพลเอกจรูญ (หลวงเสรีเริงฤทธิ์)เกิดจากคุณหญิงเอิบ  ภรรยาคนแรก   เป็นน้องชายคนรองลงไปจากพ.อ.อร่าม
คุณจำลองเป็นเด็กหัวดีอีกคนหนึ่งของตระกูล  เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์  เมื่อพ.ศ. 2481  ในปีต่อมาได้ทุนจากกองทัพบก  ไปศึกษาวิชาวิศวกรรมโยธา ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

จากซ้ายไปขวา  พ.อ.อร่าม  คุณจำลอง  พล.ต.ต. อุดม   และคุณวิจิตร


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 23, 11:11
คุณจำลองถ่ายกับบิดามารดา ก่อนเดินทางไปศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 23, 10:08
   หลักสูตรวิชาวิศวกรรมโยธาที่สวิตเซอร์แลนด์ กำหนดให้เรียนภาคทฤษฎี 5 ปี และภาคปฏิบัติ 2 ปีจึงจะได้รับปริญญา  แต่ขณะที่คุณจำลองเรียนอยู่  ยุโรปเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2  ทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้  ต้องอยู่ต่างแดนนานถึง 16 ปี
   ในที่สุดเมื่อสงครามโลกจบลง  คุณจำลองเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนพร้อมปริญญา แต่ก็อยู่ได้เพียงช่วงสั้นๆ ก็ได้ทุนจากกองทัพบกไปศึกษาปริญญาโทสาขาเดียวกัน  แต่ว่าเปลี่ยนประเทศเป็นสหรัฐอเมริกา ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตท   เรียนเกือบ 2 ปีก็จบการศึกษาได้ปริญญาโท
   จากนั้นคุณจำลองกลับมาเป็นอาจารย์สอนวิชาวิศวกรรมโยธา ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สอนนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 5  และ 6
   สอนได้ 2  ปีคุณจำลองก็อำลาชีวิตราชการ มาทำงานเอกชน  เข้าทำงานที่บริษัทก่อสร้างสาธารณูปโภค  ใช้วิชาวิศวกรรมโยธาที่เรียนมา สร้างผลงานใหญ่ๆไว้จำนวนมากด้วยกัน เช่น ก่อสร้างค่ายทหารธนะรัชต์  สนามบินอู่ตะเภา  ถนนเพชรบุรีตัดใหม่  ถนนในเขตอำเภอปราณบุรี  โครงการจัดสรรหมู่บ้านผาสุก เป็นต้น


กระทู้: เรื่องของสกุลรัตนกุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 23, 09:44
   ด้านชีวิตครอบครัว  คุณจำลองสมรสกับนางสาวนันดา กณิษฐสุต  มีบุตรคือนายภูสิต  รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
และสมรสกับนางสาวนวลจันทร์  เลิศธรรมวงศ์ มีธิดาชื่อ จันทร์ทิพย์ (รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์)วานิช
    คุณจำลองมีอายุยืนยาวมาถึง 87 ปีจึงป่วยและถึงแก่กรรม