เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: chatchawan ที่ 23 มิ.ย. 11, 20:36



กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: chatchawan ที่ 23 มิ.ย. 11, 20:36
เท่าที่ผมทราบผมเห็นแต่เพียงภาพท่าน ใต้ภาพเขียนว่านายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด ศิริสัมพันธ์) พ.ศ.2393-2469
ผมอยากทราบประวัติของท่านว่าเป็นมาอย่างไร เพราะว่าเท่าที่ค้นตามเวปต่างๆก็ไม่เจอ เจอแต่ข้อมูลเล็กๆน้อย มาประกอบกันก็ไม่ได้ใจความมากนักครับ ขอบพระคุณครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: chatchawan ที่ 23 มิ.ย. 11, 21:17
แล้วก็ผมอยากทราบว่า ยศนายพลโท  กับ พลโท ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร ปกติในปัจจุบันผมเห็นมียศแต่ พลโทไม่มีคำว่านายนำหน้า แต่ในรูปของเจ้าคุณสโมสรมีคำว่านายนำหน้าเพราะเหตุใดครับ???


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 มิ.ย. 11, 22:44
ยศนั้นเริ่มมีใช้ในรัชกาลที่ ๕  แต่ก่อนก็เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่น คอลอเนล คือ นายพันเอก  ลุตเตแนลคอลอเนล คือ นายพันโท  ซายันต์เมเยอรฺ คือ จ่านายสิบ


มาเริ่มบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยในราว พ.ศ. ๒๔๓๐  จัดเป็น

จอมพล

นายพลเอก  โท  ตรี

นายพันเอก  โท  ตรี

นายร้อยเอก  โท  ตรี

นายดาบ

จ่านายสิบ

นายสิบเอก  โท  ตรี

พลทหาร


ต่อมาได้ทรงกำหนดข้าราชการพลเรือนโดยเทียบกับยศทหารเป็น

ชั้นที่ ๑ เอก  โท  ตรี  เทียบ นายพลเอก  โท  ตรี

ชั้นที่ ๒ เอก  โท  ตรี  เทียบ นายพันเอก  โท  ตรี

ชั้นที่ ๓  เอก  โท  ตรี  เทียบ นายร้อยเอก  โท  ตรี


ในรัชกาลที่ ๖  ทรงเปลี่ยนชื่อยศข้าราชการพลเรือน เป็นดังนี้

ชั้นที่ ๑ เอก  โท  ตรี  เป็น มหาอำมาตย์เอก  โท  ตรี  เขียนตัวย่อว่า ม.ฮ.ฮ., ม.อ.ท., ม.อ.ต.

ชั้นที่ ๒ เอก  โท  ตรี  เป็น อำมาตย์เอก  โท  ตรี  เขียนตัวย่อว่า ฮ.ฮ.,.อ.ท.,.อ.ต.

ชั้นที่ ๓  เอก  โท  ตรี  เป็น รองอำมาตย์เอก  โท  ตรี  เขียนตัวย่อว่า ร.ฮ.ฮ., ร.อ.ท., ร.อ.ต.

ในรัชกาลนี้ทรงเพิ่มยศ มหาอำมาตย์นายก  เทียบเท่า จอมพล  มีผู้ที่ได้รับพระราชทานยศชั้นนี้เพียง ๒ ท่าน คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ  และเจ้าพระยายมราช  นอดจากนั้นยังได้ทรงเพิ่มยศ ว่าที่รองอำมาตย์ตรี เทียบเท่า ว่าที่นายร้อยตรี  และ ราชบุรุษ หรือ ร.บ. เทียบเท่านายดาบ


นอกจากนั้นยังทรงตั้งยศสำหรับข้าราชในพระราชสำนักเอีก ๓ เหล่า คือ

กระทรวงวัง  มียศเป็น เสวก  อ่านว่า เส-วก คือ

มหาเสวกเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า นายพลเอก  โท  ตรี  ใช้อะกษรย่อ ม.ส.อ., ม.ส.ท., ม.ส.ต.

เสวกเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า นายพันเอก  โท  ตรี

ใชอักษรย่อ ส.อ., ส.ท., ส.ต.

รองเสวกเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า นายร้อยเอก  โท  ตรี   ใช้อักษรย่อว่า ร.ส.อ., ร.ส.ท., ร.ส.ต.

จ่าพันทนาย  เทียบเท่า จ่านายสิบ

พันทนายเอก โท ตรี  เทียบเท่านายสิบเอก โท ตรี

พันทนาย  เทียบเท่า พลทหาร


ยศมหาดเล็ก แบ่งเป็น

จางวางเอก โท ตรี  เทียบเท่า นายพลเอก  โท  ตรี 

หัวหมื่น  เทียบเท่า  นายพันเอก

รองหัวหมื่น  เทียบเท่า  นายพันโท

จ่า  เทียบเท่า  นายพันตรี

หุ้มแพร  เทียบเท่า  นายร้อยเอก

รองหุ้มแพร  เทียบเท่า  นายร้อยโท

มหาดเล็กวิเศษ  เทียบเท่า  นายร้อยตรี

มหาดเล็กสำรอง  เทียบเท่า  ว่าที่นายร้อยตรี

พันจ่าเด็กชา  เทียบเท่า จ่านายสิบ

พันเด็กชาเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า  นายสิบเอก โท ตรี

เด็กชา  เทียบเท่า พลทหาร


ยศพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ดังนี้

พระตำรวจเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า  นายพลเอก  โท  ตรี

ขุนตำรวจเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า  นายพันเอก  โท  ตรี

นายตำรวจเอก  โท  ตรี  เทียบเท่า  นายร้อยเอก  โท  ตรี

จ่านายสิบตำรวจ

นายสิบตำรวจเอก  โท  ตรี

พลตำรวจ

 ;D


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 24 มิ.ย. 11, 06:57
ยศทหาร ตำรวจ แต่เดิมมีคำว่า "นาย" นำหน้า  มาตัดคำว่า "นาย" ทิ้งไปเมื่อเริ่มมีนายทหารหญิงในสมัยท่านผู้นำ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

พระยาสมโสรสรรพการ (ทัด  ศิริสัมพันธ์) นั้น  มีตำแหน่งครั้งสุดท้ายในรัชกาลที่ ๖ เป็น เกียกกายทัพบก  มีหน้าที่หลักเรื่องการเสบียงของกองทัพ  จำแหน่งนี้นับว่าสำคัญมากตำแหน่งหนึ่ง  เพราะ "กองทัพเดินด้วยท้อง"  หากส่งเสบียงไม่ดีมีหวังอดตายทั้งกองทัพ

นอกจากนั้นยังมีบันทึกในจดหมายเหตุงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๖ ความว่า  พระยาสโมสรฯ นั้นเป็นเสียง "โห่" คือ "โห่ " แล้วรับ "ฮิ้ว"ถวายชัยมงคลในการคราวสวนสนามเสือป่าที่สนามเสือป่า  วันที่  ๙  ธันวาคม  ๒๔๕๔


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 มิ.ย. 11, 08:50
อ้อ  ตามหาประวัติ นายทัด กุเรเตอร์  ที่แต่งโคลงรามเกียรติ์
ที่พระระเบียงวัดพระแก้วหรือครับ  ประวัติของท่านที่ท่านเขียนเล่าเองสนุกมาก
ถ้าเจอจะเอามาลงให้อ่านสักครึ่งหนึ่ง ;D


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มิ.ย. 11, 10:35
"นายทัด กุเรตอร์"

ผมเข้าไปเดินเล่นที่วิกิซอร์ซ http://th.wikisource.org/wiki ในเรื่องโคลงภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ห้อง ๒๙-๓๑ มีหมายเหตุไว้ว่า นายทัด กุเรเตอร์ แต่ง

ในหนังสือ "กลอนกล" ของ รศ. วันเนาว์ ยูเด็น ฉบับพิมพ์โดยองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ. ๒๕๔๔ ยกตัวอย่างของกลบทตอนหนึ่งในจารึกวัดพระเชตุพน หมายเหตุว่า นายทัดมหาดเล็ก แต่ง

ผมเริ่มต้นที่คำว่า นายทัด กุเรเตอร์ โดยกูเกิ้ล มาพบในวรรคหนึ่งของเวปปัญญาไทย http://www.panyathai.or.th หัวข้อโบราณคดี ขออนุญาตคัดลอกข้อความตอนหนึ่งมาลงไว้ ดังนี้
 
   "ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อเกิดคดีนายรัสต์มานน์ ลักลอบตัดพระกรพระเศียรพระศิวะไปเยอรมัน เมื่อตามกลับมาได้ โปรดฯ ให้รวบรวมศิลปวัตถุหัวเมืองมาไว้ในกรุงเทพฯ ทรงจัดตั้งหอมิวเซียมขึ้นที่พระที่นั่งสหทัยสมาคม (หอคอเดเดีย) ตั้งภัณฑรักษ์ (ผู้ดูแลกิจการพิพิธภัณฑ์) คือนายทัด ศิริสัมพันธ์ (พลโท พระยาสโมสรสรรพการ) ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ จึงได้ตั้งกรมพิพิธภัณฑ์ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าไชยานุชิต ทรงเป็นอธิบดี ในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ โปรดฯให้ตั้งโบราณคดีสโมสร เพื่อศึกษาเรื่องราวเก่า ๆ และใช้เอกสารเป็นหลักในการค้นคว้า แต่ไม่มีการสืบทอดแนวการศึกษา โดยใช้หลักฐานโบราณวัตถุและโบราณสถานดังที่เคยทำกันมาในรัชกาลก่อน "

ติดตามเรื่องราวของนายทัด สิริสัมพันธ์ คือนายพลโทพระยาสโมสรสรรพการ จากบทความของคุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ เรื่องราชินิกูล-ราชินิกุล-ราชนิกุล
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=2172&stissueid=2535&stcolcatid=2&stauthorid=13
ความตอนหนึ่งว่า   "ราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ หมายถึงพระญาติวงศ์ ของสมเด็จพระศรีสุลาลัยพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงเป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๒ มิใช่พระอัครมเหสี ราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ ที่มีผู้สืบสายสกุลเป็นที่รู้จักกันดี คือ สายพระยาพัทลุง (ทองขาว) สามีของท่านปล้อง น้านางของสมเด็จพระศรีสุลาลัย และสายสกุล ‘ศิริสัมพันธ์’ สืบมาจาก ท่านสาด น้านางของสมเด็จพระศรีสุลาลัยเช่นกัน หากแต่คนละมารดากับพระชนนีเพ็ง ผู้เป็นชนนีของสมเด็จพระศรีสุลาลัย  
นามสกุล ‘ศิริสัมพันธ์’ นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้สืบสกุล โดยทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า เกี่ยวข้องเนื่องกับสมเด็จพระราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ซึ่งพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าศิริวงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ที่นับว่าเป็นราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ ก็ด้วยเจ้าจอมมารดาของสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ ท่านเป็นหลานสาวแท้ๆ ของสมเด็จพระศรีสุลาลัย"

และจากบทความของคุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์เรื่อง "ศิริ ใช้อย่างไทย"
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stauthorid=13&stcolcatid=2&stcolumnid=3562&stissueid=2623
ความตอนหนึ่งว่า "ทีนี้ นามสกุล ‘ศิริสัมพันธ์’ ผู้ขอพระราชทานนามสกุล คือ พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด)
เมื่อสืบสาวขึ้นไปถึงบรรพบุรุษของพระยาสโมสรสรรพการ (ทัด) แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด) และบรรดาพี่น้องวงศาคณาญาติให้ใช้ร่วมกันว่า ‘ศิริสัมพันธ์"
เนื่องด้วยพระยาสโมสรฯ (ทัด) เป็นบุตรชายของพระยาไกรโกษา (สองเมือง),
พระยาไกรโกษา (สองเมือง) เป็นบุตรชายของพระนนทบุรี (ม่วง),
พระนนทบุรี (ม่วง) เป็นบุตรชายของท่านสาด,
ท่านสาด เป็นน้องนางของพระชนนีเพ็ง และพระชนนีเพ็ง คือ พระชนนีแห่งสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๓
และ เจ้าจอมมารดาทรัพย์ เจ้าจอมมารดาของสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอฯ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์) นั้น ก็เป็นหลาน (ป้า) แท้ๆในสมเด็จพระศรีสุลาลัย และเป็นหลานยายน้อยของท่านสาด
ผู้สืบสกุลลงมาจาก ท่านสาด จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองด้วย  สมเด็จพระบรมราชมาตาฯ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์) ถึงสองชั้น คือทางสมเด็จพระศรีสุลาลัย ๑ และทางเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ๑
ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล อันมีความหมายถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในสมเด็จพระบรมราชมาตาฯ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์) นั่นเอง

และจาก http://www.yimwhan.com/board ความตอนหนึ่งว่า ๒๖.วัดแจ้งศิริสัมพันธ์ ตั้งอยู่เลขที่ ๙๙ ถ.สนามบินน้ำ ม.๕ ต.บางกระสอ อ.เมือง นนทบุรี ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๐ เดิมชื่อ “วัดแจ้ง” ต่อมาพลโทพระยาสโมสรสรรพการ(ทัด) ศิริสัมพันธ์ ได้มาบูรณะใหม่หมด จึงไดชื่อว่า “วัดแจ้งศิริสัมพันธ์” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ เจ้าอาวาส พระครูสุนทรจริยาภิวัฒน์ (ฐิตญาโณ ประจวบ มุตตาฟา)

และจาก http://www.oocities.com/colosseum/bench/6511 เรื่องพลโท พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) "คูเรเตอร์" คนแรกของประเทศไทย

ผมย่อยเรื่องและนำมาปะติดปะต่อเป็นเรื่องเดียวกันไม่ค่อยจะได้ความนัก จึงนำเรียนด้วยข้อมูลดิบให้คุณวันดีพิจารณาและสรุปความครับ อย่าให้คะแนนรายงานของผมจนตกนะครับ หกเต็มสิบคะแนนก็ยังดี

ขอเพิ่มเติมอีกหน่อยเกี่ยวกับท่าน จาก http://www.engrdept.com/tahanchangling/tahanchang1.htm ข้อความตอนหนึ่งว่า  “ ครั้นถึงปี พ.ศ. 2418 โปรดเกล้าฯให้คัดเลือกบรรดาพลทหารมหาดเล็กที่เป็นช่าง จัดตั้งกองทหารอินยิเนีย โปรดเกล้าฯให้พระมหาโยธา(นกแก้ว คชเสนี)แต่เมื่อยังเป็นนายนกแก้ว ทหารมหาดเล็กนั้นเป็นหลวงสโมสรพลการ ผู้บังคับกอง มียศทหารเป็นนายร้อยโท....ทหารมหาดเล็กคือ นายพลโท พระสโมสรสรรพการ(ทัด ศิริสัมพันธุ์)เป็นนายสิบนำทางเรียกว่า ไปโอเนียร์ซายันต์ 1 ...พลทหาร 60 สำหรับกระทำการช่างในกรมนี้ ครั้นเมื่อโปรดเกล้าฯให้จัดหอคองคอเดีย(คือศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวังสมัยนี้ : ผู้เขียน)ทหารช่างพวกนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ทำการแต่เฉพาะวิชาการทหารในกระบวนยุทธวิธี สรรพการช่างเบ็ดเตล็ดสำหรับกรมก็ได้กระทำทั้งสิ้น เช่น เครื่องสาตราวุธยุทธภัณฑ์ และอาภรณ์เบ็ดเสร็จที่ควรกระทำได้ มีการแก้ไขอาวุธ และทำหมวก ทำเข็มขัด คันชีพ เป็นต้น... ”

 ;D


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 มิ.ย. 11, 22:26
ประวัติ  นายพลโท  พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) อย่างสังเขป

เป็นบุตรพระยาไกรโกษา (สองเมือง) กับนางลำใย

เกิดที่เมืองจันทบุรี  เมื่อ วัน ๒ เดือน ๖ แรมค่ำ ๑ ปี ๑๒๑๒ (๒๓๙๓)

ปี ๑๒๑๓  บิดาเดินทางกลับเข้ามารับราชการที่กรุงเทพฯ
จึงได้เดินทางพร้อมกับบิดามาอยู่ที่บ้านเมืองนนทบุรี

ปี ๑๒๑๕  บิดานำไปเข้าเฝ้าฯ ถวายตัวในการพระราชพิธี
ขึ้นพระอู่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
ที่เขตพระราชฐานผ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง

ปี ๑๒๒๑ เด็กชายทัด ได้กลับมาอยู่บ้านบ้าง อยู่ในวังบ้าง

ปี ๑๒๒๒ บิดาได้รับคำสั่งให้ไปทำราชการที่เมืองสระบุรี
แลได้พาเด็กชายทัดไปด้วย

ปี ๑๒๒๓  นางลำใย มารดาถึงแก่กรรม  บิดาได้เป็นที่พระยาไกรโกษา

ปี ๑๒๒๔  บิดาถึงแก่กรรม  เด็กชายทัดไปอยู่วัดเรียนหนังสือขอม

ปี ๑๒๒๕  เด็กชายทัดมาอยู่บ้านพระยาอภัยภักดีใกล้วัดระฆัง

ปี ๑๒๒๖  บวชเป็นสามเณรที่วัดบางไผ่ บางใหญ่

ปี ๑๒๒๗ เด็กชายทัดมาอยู่บ้านใกล้วัดระฆัง

ปี ๑๒๓๐  ท่านป้าที่เด็กชายทัดมาศัยอยู่บ้านด้วยนั้น ถึงแก่กรรม
จึงเด็กชายทัดย้ายมาอยู่ที่บ้านพี่ที่วังหลัง



กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 มิ.ย. 11, 22:35
ปี  ๑๒๓๑  ได้ภรรยาแล้วพากันไปอยู่ที่ตรอกศาลเจ้าครุฑ 
ซึ่งเจ้าบ้านเป็นญาติภรรยา  แล้วออกจากบ้านไปอยู่ที่เมืองพังงา

ปี ๑๒๓๓  กลับจากเมืองพังงา  มาอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่บ้านใกล้วัดระฆัง

ปี ๑๒๓๔  เข้าเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 
ได้เงินเดือนเดือนละ ๒ ตำลึงกึ่ง

ปี ๑๒๓๖  รับยศประทวนเป็นเปซายัน  ทหารช่างมหาดเล็กรักษาพระองค์
(เทียบเท่านายสิบ)  ได้เงินเดือนเดือนละ ๕ ตำลึง 
แลปีนี้ได้กราบบังคมทูลลาอุปสมบทด้วย

ปี  ๑๒๔๐  รับยศประทวนเป็นไปโอเนียเมเยอร์ 
ทหารช่างทมหาดเล็กรักษาพระองค์  (เทียบเท่านายสิบโท)
ได้เงินเดือนเดือนละ ๖ ตำลึง

ปี ๑๒๔๓  รับยศประทวนเป็นกุเรเตอร์หอมิวเซียม 
ในกรมทหารช่างมหาดเล็กรักษาพระองค์  (เทียบเท่านายสิบเอก)
ได้เงินเดือนเดือนละ  ๗ ตำลึงกึ่ง





กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 มิ.ย. 11, 22:44
ปี  ๑๒๔๔  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่หลววงสโมสรสรรพการ
ทหารช่างมหาดเล็กรักษาพระองค์  รับเงินเดือนเดือนละ  ๑๕ ตำลึง

ปี ๑๒๕๐ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายร้อยเอกทหารบก  
รับเงินเดือนเดือนละ  ๑๐๐ บาท

ปี ๑๒๕๑  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายพันตรีทหารบก  
และได้เป็นเจ้ากรมโยธา  กระทรวงโยธิการ  รับเงินเดือน
เดือนละ ๒๔๐ บาท

ปี  ๑๒๕๕  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาสโมสรสรรพการ
รับราชการในตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงโยธาธิการ
รับเงินเดือนเดือนละ ๔๐๐ บาท




กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: chatchawan ที่ 26 มิ.ย. 11, 13:55
ละเอียดมากครับ ขอบคุณครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: chatchawan ที่ 27 มิ.ย. 11, 16:18
ขอถึงตอนท่านถึงแก่อสัญกรรมได้ไหมครับ อยากอ่านอ่าครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 มิ.ย. 11, 17:13
ปี ๑๒๕๗  ออกจากกระทรวงโยธาธิการมาก่อสร้างมหาจูฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
(ตึกแดงหรือตึกถาวรวัตถุ) ต่อมาได้เป็นหอพระสมุด  คงได้เงินเดือนเท่าเดิม

ปี ๑๒๖๔  ย้ายมาเป็นเจ้ากรมแสงสรรพาวุธ  และได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันเอก
รับเงินเดือนเพิ่มอีก เดือนละ  ๑๐๐  บาท

ปี ๑๒๖๖  เป็นเจ้ากรมยุทธโยธา  กระทรวงกลาโหม  และดำรงตำแหน่งผู้รั้งเจ้ากรมแสงสรรพาวุธด้วย
ได้รับเงินเดือนพิเศาชั้นหัวหน้ากรมอีก  ๒๐๐  บาท รวมเป็นเงินเดือนละ ๗๐๐ บาท

ปี ๑๒๗๐  ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรี  รับเงินเดือนเพิ่มอีกเดือนละ  ๑๐๐ บาท
รวมเป็นเงินเดือนละ  ๘๐๐  บาท

ปี ๑๒๗๓  รับเงินเดือนนายพลตรีชั้น ๑  เดือนละ ๙๐๐ บาท  ดำรงตำแหน่งเกียกกายทัพบก

ปี ๑๒๗๘  รับพระราชทานยศเป็นนายพลโท  กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ 
รับพระราชทานเบี้ยบำนาญ  เดือนละ  ๗๒๐ บาท

นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญตราต่างๆ มากมาย
วึ่งไม่จำเป็นต้องนำมากล่าว

และยังได้เคยรับราชการพิเศษ  เมื่อ  ปี ๒๔๓๖  แก๊บชนวนปืนใหญ่เกิดขาดแคลน
ท่านได้คิดทำแก๊บชนวนปืนใหย่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๕  ทำให้มีแก๊บชนวน
ปืนใหญ่เพียงพอใช้ในราชการและทันตามพระราชประสงค์รัชกาลที่ ๕ ในกาลนั้น




กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 27 มิ.ย. 11, 18:26
ปีที่คุณหลวงเล็กให้ไว้เป็นปีจุลศักราช  เมื่อจะคำนวณเป็นพุทธศักราชต้องบวกด้วย ๑๑๘๑


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 มิ.ย. 11, 20:58


คุณหลวงคะ  เอกสารที่ใช้กินตัวพุทธศักราชทั้งหมดเลยหรือคะ

กรุณาคัดลอกให้ครบถ้วนด้วยเทอญ


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 มิ.ย. 11, 08:50
คุณหลวงคะ  เอกสารที่ใช้กินตัวพุทธศักราชทั้งหมดเลยหรือคะ

กรุณาคัดลอกให้ครบถ้วนด้วยเทอญ

เอกสารที่ผมใช้ครบถ้วนสมบูรณ์ดี  ไม่มีแมงมากัดกินเป็นรูเป็นรอย
แต่อยากคัดลอกมาเท่านี้  คิดว่าคนอ่านคงไม่มีปัญหากับเลขปีที่ลงไว้
เพราะเรื่องการคำนวณปีจุลศักศักราชเป็นพุทธศักราชนั้น
เป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้กันแล้ว   เขียนอ่านง่ายก้ไม่ได้อรรถรสในการอ่านสิครับ
ต้องว่อนต้องพรางกันบ้าง  อ่านแล้วจะร่าเริง  และเจ้าของคำถามก็อ่านรู้เรื่องนี่

จากนี้   ผมจะเล่าประวัติการนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ
ตามที่ท่านได้เขียนเอาไว้ก่อนถึงแก่อนิจกรรม  สนุกดีทีเดียว


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 มิ.ย. 11, 14:38
ประวัติการของนายพลโท  พระยาสโมสรสรรพการ  อย่างพิสดาร


พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด  ศิริสัมพันธ์)  มีปู่ชื่อ ม่วง
นายม่วงนี้เป็นน้องของกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย
(เจ้าจอมมารดาเรียมในรัชกาลที่ ๒ และเป็นพระราชชนนีในรัชกาลที่ ๓)
นายม่วงตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา 
ตรงปากคลองตลาดขวัญแง้มใต้

นายม่วงได้รับราชการเป็นมหาดเล็ก  ต่อมา  ได้เป็นที่พระนนทบุรี
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ 

พระนนทบุรี (ม่วง) มีบุตร ๓ คน  ดังนี้
บุตรคนที่ ๑ ชื่อ โต  ไม่ได้รับราชการ  เพราะสติฟั่นเฟือน
ธิดาคนที่ ๑ ชื่อ น้อย  รับราชการเป็นเฒ่าแก่ในพระบรมมหาราชวัง
บุตรคนที่ ๒ ชื่อ สองเมือง  ได้รับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๓

นายสองเมือง ต่อมา เมื่อพระนนทบุรี (ม่วง) ถึงแก่กรรมแล้ว
ได้เป็นที่พระนนทบุรีสืบต่อจากบิดา   แล้วได้เป็นที่พระยาจันทบุรี

ครั้นต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ ๔  พระยาจันทบุรี (สองเมือง)
ได้ย้ายจากเมืองจันทบุรีเข้ามารับราชการในพระนคร
และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาอาหารบริรักษ์
แล้วเลื่อนเป็นพระยาไกรโกษาเป็นบรรดาศักดิ์ที่สุด


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 มิ.ย. 11, 14:49
นายทัด เป็นบุตรคนที่ ๑๐  ในบรรดาบุตรของพระยาไกรโกษา (สองเมือง)
จำนวน  ๑๒ คน  และธิดา  ๙ คน 

นายทัดเกิดเมื่อวันจันทร์  เดือน ๖  แรม ๓ ค่ำ  ปีจอโทศก  ๑๒๑๒
ที่เมืองจันทบุรี  มารดาชื่อ นางลำไย 

ปี ๒๓๙๔  บิดาได้ย้ายเข้ามารับราชการที่เมืองนนทบุรี
จึงได้ย้ายตามบิดามาพร้อมกัน  คุณเฒ่าแก่น้อย ผู้เป็นป้าเห็นนายทัด
ก็มีความรักใคร่จึงออกปากขอไปเลี้ยงไว้ที่เรือนของท่านในพระบรมมหาราชวัง
โดยได้ปล่อยออกมาเยี่ยมบ้านบ้างบางเวลา
และเมื่อเฒ่าแก่น้อยต้องไปรับราชการเป็นเวลานานๆ ก็จะกลับมาอยู่บ้านกับมารดา



กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: chatchawan ที่ 28 มิ.ย. 11, 20:39
ขอบคุณมากๆครับที่เสียสละเวลามาลงให้ครับ  ผมติดตามหาประวัติท่านอยู่รู้สึกว่าคุณป้าจะทำหายมั้งครับที่เหลือก็เห็นมีแต่รูปท่านกับใบพระราชทานนามสกุลไม่รู้ว่าใช้ลายพระหัตถ์ ร.6 หรือเปล่าไม่แน่ใจ


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 มิ.ย. 11, 10:20
พอเด็กชายทัด  อายุได้ ๓ ขวบเศษ  บิดาได้พาไปพร้อมกับพี่ชาย ๑ คนและน้องชาย ๑ คน
เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
ในพระราชพิธีสมโภชขึ้นพระอู่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์

พระยาสโมสรสรรพการ ได้เล่าไว้ด้วยว่า  เมื่อไปเข้าเฝ้าฯ ถวายตัวนั้น
รัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปอยู่ในพระราชฐานฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง
และโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยหวัด ปีละ ๖ บาท

เมื่อไปอยู่ในเขตพระราชฐานฝ่ายใน   คุณเฒ่าแก่น้อย ซึ่งเป็นป้าได้รับหน้าที่เลี้ยงดูหลานทั้ง ๓ คน
อยู่ที่เรือนของท่าน  ซึ่งอยู่ในหมู่ตำหนักหอและตำหนักกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร
ทั้งนี้  เพราะคุณป้าน้อยได้ทำหน้าที่เป็นพระอภิบาลและได้รับพระกรุณาจากเจ้านาย
ผู้มีบรรดาศักดิ์ในสายราชินิกูลนี้หลายพระองค์ 

ต่อมา  คุณป้าน้อย  ได้ส่งพี่ชายและน้องชายของเด็กชายทัดออกมาอยู่ที่บ้าน
คงเหลือแต่เด็กชายทัด คนเดียวที่ยังอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

เด็กชายทัดอายุย่าง ๗ ขวบ  คุณป้าน้อยได้สอนหนังสือให้ตามแต่จะมีเวลาว่าง
คือ  ในเวลาที่ไม่ได้ขึ้นเฝ้าฯ ถวายงาน
และในยามที่เสด็จฯ ไปประพาสที่ต่างๆ นอกพระบรมมหาราชวัง
เด็กชายทัดจึงสามารถอ่านเขียนหนังสือได้บ้าง

แต่บิดาเห็นว่า ถ้าให้คุณป้าสอนหนังสือเช่นนี้  เด็กชายทัดจะรู้หนังสือน้อยนัก
จึงได้ไปขอตัวเด็กชายทัดจากคุณป้าน้อยออกมาอยู่ที่บ้านบ้างบางเวลา
และเมื่อเด็กชายทัดมาอยู่บ้าน  บิดาก็จัดให้พี่รุ่นใหญ่ที่รู้หนังสือดีแล้วสอนหนังสือให้
เมื่อเวลาเข้าไปอยู่วังก็มีคุณป้าสอนหนังสือให้เช่นเดิม

พออายุ ๘ ขวบเศษ  เด็กชายทัดก็อ่านออกเขียนได้  พอพ้นจากเวลาอ่านเขียนแล้ว
บิดาก็ได้สอนให้เด็กชายทัดทำกิจการงานบ้านต่างๆ  ตามแต่กำลังเด็กพอจะทำได้



กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 มิ.ย. 11, 08:34
บิดามักใช้เด็กชายทัดทำกิจต่างๆ มากกว่าบุตรคนอื่น 
ตกว่าไม่ใช่เวลาเรียนหนังสือแล้ว  ต้องไปคอยรับใช้บิดา
หรือไม่ บางทีก็ไปนั่งอ่านหนังสือใกล้ที่บิดานั่ง  ให้บิดาช่วยสอนอ่านหนังสือ
และบิดายังได้สอนให้รู้จักใช้คำพูดสูงต่ำ สำหรับเลือกใช้กราบทูลเจ้านาย
หรือพูดกับขุนนางข้าราชการและผู้ใหญ่   นอกจากนี้ก็ยังได้สอนให้จดจำ
ถ้อยคำที่บิดาและแขกที่มาเยี่ยมบิดาพูดกันเพื่อเป็นตัวอย่าง
ในการเรียนรู้และใช้คำต่อไป  คำพูดใดไม่ดี ไม่สุภาพ คำใดดี สุภาพ
บิดาก็ได้ชี้แจงให้เด็กชายทัดเข้าใจทั้งสิ้น

วิธีการสอนของบิดาเจ้าคุณสโมสรสรรพการ
เป็นการสอนที่เข้าท่าดีมาก  ปัจจุบันเห็นจะหาได้ยาก
เพราะผู้ใหญ่สอนให้เด็กพูดสุภาพ  แต่ตัวผู้สอนกลับพูดแต่คำไม่สุภาพ
กลายเป็นแม่ปูสอนลูกปูเดินไปเสียหมด

เมื่อเด็กชายทัดเจริญอายุมากขึ้น  พอจะทำงานการต่างๆได้
บิดาก็ได้สอนให้ทำงานที่ต้องใช้กำลังมากขึ้น  มีพายเรือ
แจวเรือ  ทำนา เป็นที่สุด




กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 มิ.ย. 11, 08:48
เรื่องบิดาหัดให้เด็กชายทัดทำนา

เจ้าคุณสโมสรสรรพการ  ได้เล่าเรื่องหัดทำนาไว้น่าสนใจดังนี้
ที่บ้านบิดานั้น มีที่นาอยู่ ๑ ไร่  เมื่อถึงฤดูทำนา  บิดาจะหัดให้บุตรทุกคน
ทำนาตามแรงกำลังที่พอจะทำได้  มีตั้งแต่หัดไถ  หว่านกล้า  ดำนา 
ไล่นก  เกี่ยวข้าว  นวดข้าว  ขนและหาบข้าวเข้ายุ้งฉาง  บุตรคนใดมีกำลัง
ทำการแผนกใดได้  ก็แบ่งหน้าที่กันทำทุกคน 
คงมีแต่การนำดคมาเทียมแอกไถนั้นที่ต้องให้ผู้ใหญ่มาเทียมให้
เพราะเกินกำลังเด็ก  เรียกว่าเมื่อถึงฤดูทำนาแล้ว 
ก็มีงานหน้าที่ใก้ทำตลอดหน้านา  เพราะบิดาฝึกให้บุตรทุกคน
ได้ทำเป็นทุกอย่างในการทำนา

การที่ฝึกหัดทำนานี้  บิดาว่า  หัดทำนาไว้แล้วดี   
หากภายหน้า ตกว่าไม่มีวาสนาแล้ว  คือไม่ได้ทำราชการ
จะได้ทำมาหากินเช่นราษฎรสามัญได้

เป็นการสอนที่ดีมาก  คนสมัยนี้คงไม่สอนกันแล้ว
เพราะมุ่งแต่จะสอนให้ทำงานดีๆ  เด็กเดี๋ยวนี้เลยทำงานอื่นไม่เป็น
นอกจากสิ่งที่โรงเรียน มหาวิทยาลัยสอนเท่านั้น



กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 มิ.ย. 11, 12:33
เรื่องบิดาหัดให้เด็กชายทัดทำนา

เจ้าคุณสโมสรสรรพการ  ได้เล่าเรื่องหัดทำนาไว้น่าสนใจดังนี้
ที่บ้านบิดานั้น มีที่นาอยู่ ๑ ไร่  เมื่อถึงฤดูทำนา  บิดาจะหัดให้บุตรทุกคน
ทำนาตามแรงกำลังที่พอจะทำได้  มีตั้งแต่หัดไถ  หว่านกล้า  ดำนา  
ไล่นก  เกี่ยวข้าว  นวดข้าว  ขนและหาบข้าวเข้ายุ้งฉาง  บุตรคนใดมีกำลัง
ทำการแผนกใดได้  ก็แบ่งหน้าที่กันทำทุกคน  
คงมีแต่การนำโคมาเทียมแอกไถนั้นที่ต้องให้ผู้ใหญ่มาเทียมให้
เพราะเกินกำลังเด็ก  เรียกว่าเมื่อถึงฤดูทำนาแล้ว  
ก็มีงานหน้าที่ใก้ทำตลอดหน้านา  เพราะบิดาฝึกให้บุตรทุกคน
ได้ทำเป็นทุกอย่างในการทำนา
...

แก้ไขคำพิมพ์ผิด


เรื่องบิดาหัดให้เด็กชายทัดยิงปืน

การหัดอีกอย่างที่บิดาบังคับให้บุตรทุกคนต้องหัด คือ การหัดยิงปืน
บรรดาบุตรทั้งหลาย  ถ้าใครโตพอจะจับปืนมั่นแล้ว ท่านจะให้หัดปืนทั้งสิ้น
ในครั้งนั้น มีแต่ปืนคาบศิลาเท่านั้น  แต่เลือกเอาปืนขนาดย่อมๆมาใช้หัด

การหัดยิงปืนของบิดาเจ้าคุณสโมสรสรรพการมีขั้นตอนการหัดเป็นลำดับดังนี้

หัดเบื้องต้น  เอาปืนคาบศิลาขนาดย่อมมาถอดศิลาปากนกออกเสียก่อน
แล้วเอาไม้ใส่ไว้แทน   เช้าๆ ให้บุตรมาหัดนั่งเล็งทุกวัน ใช้เวลานานพอสมควร

จากนั้นเมื่อเล็งปืนได้นิ่งพอแล้ว   ก็จะหัดให้ลั่นนกปืน  โดยมีเกณฑ์ว่า
เมื่อลั่นนกปืนแล้ว  ต้องไม่ยวบไหว  ต้องนิ่ง

ถัดจากนั้น  เอาเบี้ยวางบนปืน  แล้วหัดให้ลั่นนกปืน  โดยไม่ให้เบี้ยตกจากปืน

เมื่อลั่นนกปืนโดยเบี้ยไม่หล่นแล้ว  ก็เอาไม้ที่ใส่แทนศิลาปากนกออก
เอาศิลาปากนกมาใส่ตามเดิม  แล้วหัดให้ลั่นนกปืน  ทั้งนี้  เมื่อลั่นนกปืนแล้ว
มีประกายไฟออกมาจากศิลาปากนกแล้ว  ต้องไม่สะดุ้งตกใจ
และเบี้ยที่วางบนปืนต้องไม่หล่นจากปืน  ฝึกไปจนนิ่งดี

จากนั้น  จึงใส่ดินชนวน  ให้หัดเล็งแล้วลั่นนกปืน  เมื่อมีไฟวาบขึ้น
ต้องไม่ตกใจกลัว  ไม่สะดุ้ง   ปืนต้องประทับนิ่งดี

ต่อจากนั้น  หากประทับปืนได้นิ่งดีแล้ว  ก็จะบรรจุดินเปล่า  ไม่ใส่ลูกปืน
ฝึกให้ยิงโดยไม่ใส่ลูกปืน  จนปืนที่ประทับนั้นนิ่งดี

จากนั้น  จะเอาลูกปืนใส่ปืนให้เล็งยิงหมายเป้า ซึ่งอยู่ห่างจากปากกระบอกปืน ๓ วา
มีวงดำเป็นหมายเป้าโต  ขนาด ๑ นิ้ว  หัดยิงให้ถูกวงดำกลางเป้า
เป็นอันสิ้นสุดขั้นตอนการฝึกยิงปืน

ในการฝึกหัดยิงปืนนั้น  บรรดาบุตรได้ฝึกหัดปืนแล้ว
มีบุตรคนที่ ๓ ของบิดา  ที่ดูจะมีฝีมือยิงปืนได้ดีกว่าทุกคน
ซึ่งต่อมาได้เป็นที่หลวงเสน่ห์สรชิต  รับราชการอยู่ในพระราชวังบวร
บุตรคนอื่นนอกนั้น  เป็นแต่พอยิงได้บ้าง  หลวงเสน่ห์สรชิตนี้
ต่อมาได้รับหน้าที่ฝึกหัดน้องๆ ยิงปืนแทนท่านบิดาด้วย


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: chatchawan ที่ 02 ก.ค. 11, 19:42
ประวัติการของนายพลโท  พระยาสโมสรสรรพการ  อย่างพิสดาร


พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด  ศิริสัมพันธ์)  มีปู่ชื่อ ม่วง
นายม่วงนี้เป็นน้องของกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย
(เจ้าจอมมารดาเรียมในรัชกาลที่ ๒ และเป็นพระราชชนนีในรัชกาลที่ ๓)
นายม่วงตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา 
ตรงปากคลองตลาดขวัญแง้มใต้

นายม่วงได้รับราชการเป็นมหาดเล็ก  ต่อมา  ได้เป็นที่พระนนทบุรี
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ 

พระนนทบุรี (ม่วง) มีบุตร ๓ คน  ดังนี้
บุตรคนที่ ๑ ชื่อ โต  ไม่ได้รับราชการ  เพราะสติฟั่นเฟือน
ธิดาคนที่ ๑ ชื่อ น้อย  รับราชการเป็นเฒ่าแก่ในพระบรมมหาราชวัง
บุตรคนที่ ๒ ชื่อ สองเมือง  ได้รับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๓

นายสองเมือง ต่อมา เมื่อพระนนทบุรี (ม่วง) ถึงแก่กรรมแล้ว
ได้เป็นที่พระนนทบุรีสืบต่อจากบิดา   แล้วได้เป็นที่พระยาจันทบุรี

ครั้นต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ ๔  พระยาจันทบุรี (สองเมือง)
ได้ย้ายจากเมืองจันทบุรีเข้ามารับราชการในพระนคร
และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาอาหารบริรักษ์
แล้วเลื่อนเป็นพระยาไกรโกษาเป็นบรรดาศักดิ์ที่สุด


ธิดาคนที่ 2 รับราชการเป็นเฒ่าแก่ในพระบรมมหาราชวัง 
รับราชการเป็นเฒ่าแก่ เฒ่าแก่คือตำแหน่งอะไรหรอครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ก.ค. 11, 22:37
ธิดาคนที่ 2 รับราชการเป็นเฒ่าแก่ในพระบรมมหาราชวัง  
รับราชการเป็นเฒ่าแก่ เฒ่าแก่คือตำแหน่งอะไรหรอครับ

รอยอินท่านอธิบายไว้เท่านี้

เถ้าแก่ น. ตําแหน่งข้าราชการฝ่ายในในพระราชสํานัก.

ตำแหน่ง "เถ้าแก่" หรือ "เฒ่าแก่" หรือ "คุณเฒ่าแก่" เป็นตำแหน่งของข้าราชการในพระราชสำนักใหญ่เป็นอันดับสองรองจากตำแหน่ง "คุณท้าว"

"เฒ่าแก่" มีด้วยกัน ๒ ประเภท คือ

๑. เคยเป็นเจ้าจอมในรัชกาลก่อน ๆ เรียกว่า "เจ้าจอมเถ้าแก่" มีหน้าที่ฝึกหัดข้าราชสำนักฝ่ายใน

๒. มิได้เป็นเจ้าจอม เรียกว่า "คุณเฒ่าแก่" มีหน้าที่ออกไปประสานกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับฝ่ายหน้า

คุณหลวงมาเมื่อไหร่ คงได้คำตอบละเอียดกว่านี้

 ;D




กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 ก.ค. 11, 14:23
คุณเพ็ญฯ ตอบไว้ชอบแล้ว  ผมไม่จำเป็นต้องตอบซ้ำความให้ยาว


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ก.ค. 11, 16:17
พระยาไกรโกษา (สองเมือง) บิดาท่านเจ้าคุณสโมสรสรรพการ
เป็นผู้เคร่งครัดในเรื่องศีลห้าอย่างยิ่ง  ท่านได้เข้มงวดกวดขันเรื่องนี้แก่บุตรทุกคน
หากบุตรคนใดล่วงศีลห้าที่เป็นสำคัญ  มีการเสพสุรายาเมา
หรือล่วงกาเมสุ มิจฉา เป็นต้น  ท่านจะไล่บุตรคนนั้นออกจากบ้านทันที
ปรากฏว่ามีบุตรของพระยาไกรโกษาหลายคนที่ถูกไล่ออกจากบ้าน
หนึ่งในจำนวนนั้นก็มีหลวงเสน่ห์สรชิต พี่ชายเด็กชายทัด รวมอยู่ด้วย

โดยหลวงเสน่ห์สรชิตนี้  เมื่อถูกไล่ออกจากบ้านแล้ว
ได้ไปรับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ในพระราชวังบวร
และได้เป็นที่หลวงเสน่ห์สรชิตเพราะมีฝีมือยิงปืนแม่น

เมื่อบุตรรุ่นใหญ่ถูกบิดาไล่ออกจากบ้านหลายคนเข้า
ภาระในการทำงานบ้านก็ตกอยู่กับบุตรชั้นรองลงมา
ได้แก่ เด็กชายทัด  ซึ่งขณะนั้นอายุได้ ๙ ขวบ  
ต้องทำหน้าที่ภารกิจต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม  
และเป็นที่โปรดปรานของบิดา  มักถูกเรียกใช้หรือให้ติดตามบิดาไปด้วยเสมอๆ



กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ก.ค. 11, 16:38
ในการที่ต้องติดตามบิดานั้น  พระยาสโมสรสรรพการได้เล่าเหตุการณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า

คราวหนึ่ง  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประพาสที่เมืองสระบุรี
เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งผ่านมาประทับที่หน้าเรือนพระยาไกรโกษา (สองเมือง)
ได้มีรับสั่งให้หาพระยาไกรโกษา (สองเมือง)ลงไปเฝ้าในเรือพระที่นั่ง
เมื่อพระยาไกรโกษาเฝ้าเสร็จแล้วขึ้นมาบนเรือนได้มาสั่งเด็กชายทัด
ให้ไปสั่งบ่าวไพร่ในเรือนจัดเตรียมเรือ  เครื่องใช้ที่จำเป็นในการเดินทางไกล
และเสบียงกรังให้พร้อมแล้วให้เด็กชายทัดลงเรือเดินทางตามบิดาขึ้นไปเมืองสระบุรี
เมื่อสั่งดังนี้แล้ว   พระยาไกรโกษาก็ลงเรือพระที่นั่งตามเสด็จไปในขบวนทันที

ฝ่ายเด็กชายทัดได้ฟังบิดาสั่งอย่างนั้นแล้วก็ทำการตามที่บิดาสั่งทุกประการ
แล้วนั่งเรือพร้อมบ่าวไพร่ตามบิดาขึ้นไปสระบุรี   ซึ่งใช้เวลาเดินทางหลายคืน
กว่าจะตามขบวนเสด็จทัน  

เด็กชายทัดนั่งเรือรอนแรมมาจนถึงหาดหน้าเขาแก้ว  ก็ได้พบบิดาที่นั่น
บิดาได้กำลังให้คนทำที่พักแรมอยู่ที่หาดนั้น  เด็กชายทัดได้พักแรมกับบิดาอยู่นั่น
และได้มีโอกาสติดตามบิดาขึ้นเฝ้าด้วยทุกวัน  และได้ตามเสด็จด้วยหลายครั้ง
จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าทรงคุ้นเคย ตรัสทักเด็กชายทัดว่า
"เจ้าหนูมาด้วยหรือ" เช่นนี้อยู่บ่อยๆ  การที่บิดาตามเสด็จในคราวนั้น
เพราะต้องรับหน้าที่เป็นผู้จ่ายข้าวให้แก่ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ



กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ก.ค. 11, 16:54
ในเวลาที่พระบาสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสระบุรีคราวนั้น
พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ ได้เสด็จขึ้นไปประพาสที่นั้นด้วย
โดยได้ดปรดให้ปลุกที่ประทับอยุ่ด้านใต้ของหาดหน้าเขาแก้วนั้น 
ซึ่งห่างกันพอเห็นที่พักของพระยาไกรโกษา (สองเมือง)
เจ้านายพระองค์นั้น ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมบิดาถึงที่พักแรมเพื่อทรงพระปฏิสันถารด้วย
เจ้านายพระองค์นั้นได้เห็นเด็กชายทัดเข้าก็พอพระทัย
ถึงกับรับสั่งว่าจะทรงพาเด็กชายทัดไปเที่ยวเล่นด้วยกัน
หลังจากวันนั้น เมื่อถึงเวลาเสด็จประพาสแห่งใดแล้ว
พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ ก็โปรดให้จัดม้ามีคนจูง
มาพาเด็กชายทัดไปตามเสด็จด้วย

การเที่ยวเล่นของพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ นั้น
มีเกร็ดสนุกดีทีเดียว  ถึงขนาดทำให้เด็กชายทัดจดจำได้
และนำมาเล่าไว้ในอัตชีวประวัติอย่างละเอียดยาวหลายหน้า


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 ก.ค. 11, 16:34
แก้ไขคำผิด

ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสระบุรีคราวนั้น
พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ ได้เสด็จขึ้นไปประพาสที่นั้นด้วย
โดยได้โปรดให้ปลูกที่ประทับอยู่ด้านใต้ของหาดหน้าเขาแก้วนั้น 
ซึ่งห่างกันพอเห็นที่พักของพระยาไกรโกษา (สองเมือง)
เจ้านายพระองค์นั้น ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมบิดาถึงที่พักแรมเพื่อทรงพระปฏิสันถารด้วย
เจ้านายพระองค์นั้นได้เห็นเด็กชายทัดเข้าก็พอพระทัย
ถึงกับรับสั่งว่าจะทรงพาเด็กชายทัดไปเที่ยวเล่นด้วยกัน
หลังจากวันนั้น เมื่อถึงเวลาเสด็จประพาสแห่งใดแล้ว
พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ ก็โปรดให้จัดม้ามีคนจูง
มาพาเด็กชายทัดไปตามเสด็จด้วย

การเที่ยวเล่นของพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ นั้น
มีเกร็ดสนุกดีทีเดียว  ถึงขนาดทำให้เด็กชายทัดจดจำได้
และนำมาเล่าไว้ในอัตชีวประวัติอย่างละเอียดยาวหลายหน้า


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: chatchawan ที่ 25 ก.ค. 11, 20:32
มารออ่านต่อครับคุณ luanglek หายไปนานเลยไม่ทราบว่ายังอยู่หรือเปล่าครับ ;D ;D ;D ;D


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 ก.ค. 11, 09:40
ยังอยู่ครับ  แต่ช่วงนี้ยังไม่ว่างลงต่อครับ  ขอทอดยาวๆ ไปก่อน
แต่รับรองว่าจะไม่ทิ้งแน่นอน 


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 26 ก.ค. 11, 12:49
ยังอยู่ครับ  แต่ช่วงนี้ยังไม่ว่างลงต่อครับ  ขอทอดยาวๆ ไปก่อน
แต่รับรองว่าจะไม่ทิ้งแน่นอน 

นึกว่าตกหลุมบ่อต่อแตน ตำบลบไตรตะกู
แถวเมืองเขมรเสียแล้ว


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 ก.ค. 11, 13:13

นึกว่าตกหลุมบ่อต่อแตน ตำบลบไตรตะกู
แถวเมืองเขมรเสียแล้ว

ไม่ทราบว่า  ตำบลบไตรตะกู แถวเมืองเขมร 
อยู่ใกล้แขวงเมืองอะไร  ช่วยระบุพิกัดให้ชัดเจนด้วย

ส่วนเรื่องตกหลุมบ่อต่อแตนนั้น 
เผอิญว่า  อ่านหนังสือนายกุหลาบมาบ้าง
ถึงแม้ท่องจำได้ไม่หมดทุกบรรทัด
แต่ก็พอจะจำได้   (อย่านึกว่ารู้อยู่คนเดียวนะครับ)


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: chatchawan ที่ 26 ก.ค. 11, 19:03
ยังอยู่ครับ  แต่ช่วงนี้ยังไม่ว่างลงต่อครับ  ขอทอดยาวๆ ไปก่อน
แต่รับรองว่าจะไม่ทิ้งแน่นอน 

ขอบคุณครับนึกว่าจะลืมกระทู้นี้ไปแล้ว


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 27 ก.ค. 11, 11:15

นึกว่าตกหลุมบ่อต่อแตน ตำบลบไตรตะกู
แถวเมืองเขมรเสียแล้ว

ไม่ทราบว่า  ตำบลบไตรตะกู แถวเมืองเขมร 
อยู่ใกล้แขวงเมืองอะไร  ช่วยระบุพิกัดให้ชัดเจนด้วย

ส่วนเรื่องตกหลุมบ่อต่อแตนนั้น 
เผอิญว่า  อ่านหนังสือนายกุหลาบมาบ้าง
ถึงแม้ท่องจำได้ไม่หมดทุกบรรทัด
แต่ก็พอจะจำได้   (อย่านึกว่ารู้อยู่คนเดียวนะครับ)


อันว่า ตำบล "บไตรตะกู" นั้น
มีนามภาษาไทยว่า ตำบล "ลำลาดป่าตะโก"

พิกัดที่แน่ชัดหาทราบได้ไม่ ด้วยมิเคยเดินทางไปถึง
ทราบแต่จากรายงานทัพศึกเพียงว่า ตำบลนี้อยู่ในเส้นทางถอยของกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
จากเมืองโจดก แดนญวน มาถึงเมืองเชิงกระชุม แดนเขมร นั้นแล


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.ค. 11, 16:42
อันว่า ตำบล "บไตรตะกู" นั้น
มีนามภาษาไทยว่า ตำบล "ลำลาดป่าตะโก"

พิกัดที่แน่ชัดหาทราบได้ไม่ ด้วยมิเคยเดินทางไปถึง
ทราบแต่จากรายงานทัพศึกเพียงว่า ตำบลนี้อยู่ในเส้นทางถอยของกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
จากเมืองโจดก แดนญวน มาถึงเมืองเชิงกระชุม แดนเขมร นั้นแล

ตอบมาเช่นนี้ 
แหม  อยากจะให้นายสะอาดเตรียมเสบียงออกเดินเท้าจากพระนคร
ไปเซอรเวย์ระยะทางตามหนังสืออานามสยามยุทธเสียจริงเชียว
ถ้าไม่พบตำบลที่เอ่ยมา  ก็ไม่ต้องกลับเมืองสยาม

โทษฐาน  ชอบแซวผู้หลักผู้ใหญ่


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 27 ก.ค. 11, 20:40
อันว่า ตำบล "บไตรตะกู" นั้น
มีนามภาษาไทยว่า ตำบล "ลำลาดป่าตะโก"

พิกัดที่แน่ชัดหาทราบได้ไม่ ด้วยมิเคยเดินทางไปถึง
ทราบแต่จากรายงานทัพศึกเพียงว่า ตำบลนี้อยู่ในเส้นทางถอยของกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
จากเมืองโจดก แดนญวน มาถึงเมืองเชิงกระชุม แดนเขมร นั้นแล

ตอบมาเช่นนี้ 
แหม  อยากจะให้นายสะอาดเตรียมเสบียงออกเดินเท้าจากพระนคร
ไปเซอรเวย์ระยะทางตามหนังสืออานามสยามยุทธเสียจริงเชียว
ถ้าไม่พบตำบลที่เอ่ยมา  ก็ไม่ต้องกลับเมืองสยาม

โทษฐาน  ชอบแซวผู้หลักผู้ใหญ่


ใจก็อยากเดินทางแสวงหาความจริงในแถบโน้น

แต่ต้องป้อนอาหารนกอยู่เกือบทุกวี่ทุกวัน

ทำให้สละหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ไม่ได้ ;D


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 ก.ค. 11, 19:46
ความเดิม

เด็กชายทัดนั่งเรือเดินทางตามบิดาที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไปเมืองสระบุรี
ในระหว่างที่เด็กชายทัดพักแรมอยู่กับบิดาที่หาดเขาแก้ว  ได้มีโอกาสเฝ้าพระสัมพันธวงศ์เธอ
พระองค์เจ้ามงคลเลิศ ได้เสด็จมาประพาสที่เมืองสระบุรีด้วยเช่นกัน   

พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ ได้ทรงชวนเด็กชายทัดไปเที่ยวเล่นสนุกหลายอย่าง
มีอะไรบ้าง  เชิญรับฟังได้บัดนี้

ล่อจับปูป่า


อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม  มีข้องสำหรับใส่ปู   เชือกสำหรับมัดปู  ไม้ไผ่เหลาเรียวโตเท่าก้านลาน
ปลายข้างหนึ่งผูกขนไก่เป็นพู่โตสักกึ่งนิ้ว  เรียกว่า  ดอกล่อ 

เตรียมอุปกรณ์พร้อมก็ออกเดินหาปูตาทุ่งนา   ตรวจดูตามปากรูที่มีไม่มีอะไรปกปิดปากรู
ปากรูเตียนดี  แสดงว่ามีปูอยู่  เอาดอกล่อแหย่ล่อลงไปลึกสักคืบเศษ  หรือลึกประมาณศอกหนึ่งบ้าง
แล้วดึงดอกล่อขึ้น  ทำอย่างนี้จนปูหนีบดอกล่อ (รู้สึกชักดอกล่อยากขึ้น)  จึงค่อยๆ ชัก
ดอกล่อออกมาช้าๆ  พอใกล้ปากรูให้กระตุกออกโดยเร็ว  ปูไม่ทันวางก้ามที่หนีบดอกล่อ
ก็จะติดออกมา  รีบจับปูใส่ข้อง   ปูป่านี้  มักกินกันสดๆ   จับเดี๋ยวนั้นกินเดี๋ยวนั้น
เขาว่าหวานอร่อยดี   เด็กชายทัดไม่กล้ากินอย่างเขา  เพราะเห็นเป็นของดิบ  ดูไม่สะอาด






กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: chatchawan ที่ 17 ก.ย. 11, 17:43
ผมยังรอติดตามกระทู้นี้อยู่ครับ  หายไปนานเชียว


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 ก.ย. 11, 08:22
รอหน่อยนะครับคุณchatchawan  ช่วงนี้งานเยอะ
เลยไม่รู้ว่าเอาเอกสารไปวางไว้ที่ไหน   ถ้าหาเอกสารเจอ
จะรีบเอามาเล่าต่อให้นะครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: chatchawan ที่ 20 ก.ย. 11, 20:18
ขอบพระคุณอย่างสูงครับ และขออภัยมา ณ ที่นี่ด้วยครับ


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 ก.ย. 11, 14:42
เล่าต่อ 

การล่อปูนี้  สามารถจับปูได้วันละมากๆ หากมีความชำนาญ
แต่บางคนที่ไม่ชำนาญอาจจะล่อผิด  เนื่องจากจะมีสัตว์ชนิดหนึ่ง
ที่มักอาศัยอยุ่ในรูปู  คือ  ตัวบึ้ง  มีลักษณะคล้ายแมงมุม
ตัวมีขนรุงรัง มีก้ามคล้ายปู  ผู้ที่ล่อไม่ชำนาญมักล่อได้บึ้ง
ตัวบึ้งนี้ถ้าหากไปโดนขนพิษของมันเข้า  จะทำให้คันเป็นผื่น

ผู้ที่ล่อปูชำนาญแล้ว  เมื่อตรวจเห็นรูที่มีใยขาวๆ ที่ปากรู
จะไม่ล่อเลย  เพราะรูนั้นเป็นบึ้งอาศัยอยู่



กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 ก.ย. 11, 14:56
ขุดตุ่น
(คำเตือน ผู้ใจขี้มักสงสารสัตว์ ไม่ควรอ่าน)

การขุดตุ่น  เริ่มต้นจากสำรวจหารูตุ่นให้ทั่วเสียก่อน
ตุ่นตัวใหญ่จะขุดรูใหญ่  ผิดกับปูที่ไม่สามารถจะพิจารณา
ขนาดตัวจากรูได้

เมื่อพบรูตุ่นแล้ว  ให้ตรวจดูขุยดินปากรู  ถ้าเป็นขุยเก่า
ไม่มีตัว   ถ้าเป็นขุยดินใหม่จะมีตัว   เมื่อพบรูตุ่นที่มีขุยดินใหม่แล้ว
คราวนี้ให้ตรวจดูปล่องที่ตุ่นขุดไว้สำหรับเข้าออกปล่องอื่นๆ
ซึ่งปกติตุ่นจะขุดรูให้หลายรูสำหรับไว้หนีศัตรู   
ถ้าไปตรวจดูปล่องให้ครบให้รอบคอบ  เวลาที่ลงมือขุดรูตุ่นจริง
ตุ่นจะหนีออกไปไม่ได้ตัว  ขุดเหนื่อยเปล่า

เมื่อพบรูปล่องของตุ่นแล้วให้อุดปล่องที่ตุ่นจะหนีออกได้ให้หมด
เว้นไว้บางรูให้ตุ่นหนีออกมา  โดยวางแร้วด้วงดักไว้ทุกปล่องที่ไม่ได้อุด
เมื่ออุดรูและวางกับดักไว้ทั่วแล้ว  ก็ลงมีขุดรูตุ่นได้

การขุดรูตุ่น  บางทีต้องขุดลึกมาก  แต่ยังไม่พบตัวตุ่น
ก็มีวิธีให้ตุ่นหนีออกมาโดยราดน้ำลงไปในรูให้มากๆ
เมื่อน้ำลงไปท่วมรูตุ่น  ตุ่นทนไม่ได้ก็จะหนีออกมาทางปล่อง
ที่วางกับดักติดแร้วด้วงก็สามารถจับได้   

บางรูขุดไม่ลึกนักก็พบตัวตุ่น  เวลาจับจะต้องเอาผ้าพันมือ
แล้วตะครุบจับตัวตุ่น   บางทีก็ทุบตุ่นตายบ้าง
บางทีก็ขุดเจอตุ่นที่มีลูก  ก็จับเอาลูกตุ่นมาเลี้ยงไว้
ตุ่นตัวใดที่ถูกจับตาย  ก็เอาย่างไฟพอสุก  ถลกหนัง
แล้วเอาเนื้อมาแกงกิน


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.ย. 11, 16:01
ลูกตุ่นที่จับมาได้นั้น  พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ
ได้ประทานแก่เด็กชายทัดให้นำมาเลี้ยงไว้   เด็กชายทัดได้เลี้ยงลูกตุ่นนั้น
จนโตเชื่องดี  สามารถเรียกให้มากินอาหารในมือได้  ถึงกระนั้น
ก็ต้องขังเอาไว้  เลี้ยงปล่อยไม่ได้   เพราะมันจะซุกซนเที่ยวไป
กัดอะไรต่ออะไรทั่วไปหมด  เครื่องที่ใช้ขังตัวตุ่น 
ถ้าเป็นไม้  ตุ่นก็จะกัดเป็นรูหนีออกไปได้  เพราะตุ่นมีฟันคมมาก

เด็กชายทัดจึงเอาตุ่มใบย่อมๆ มาใส่ดินไว้ครึ่งตุ่มขังตุ่นไว้
ตุ่นก็จะขุดรูอยู่ในตุ่มตามนิสัยสันดานของมัน   ถึงกระนั้น
ตุ่นที่เลี้ยงก็ไม่วายจะกัดตุ่มอีกเหมือนกัน  สัตว์อีกชนิดหนึ่ง
ที่มีนิสัยคล้ายกัน  คือ อ้น   รูปร่างเหมือนตุ่น  แต่ขนสีดอกเลา
ตุ่นและอ้นมีลักษณะคล้ายหนูพุก  เพียงแต่หน้าย่น  ตัวสั้น ตัวโตกว่าหนู

ตุ่นที่เด็กชายทัดได้รับประทานจากพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ
เลี้ยงมาได้ระยะหนึ่ง  วันดีคืนดี ตุ่นที่เลี้ยงไว้ก็กัดตุ่มทะลุเป็นรู
หนีออกไปได้   ตามหาเท่าไรก้ไม่เจอ  เด็กชายทัดเสียดายตุ่นนั้นมาก
ถึงกับร้องไห้น้ำตาไหล   มีผู้อื่นเห็นเข้าก็แต่งเป็นกลอนล้อเด็กชายทัดว่า

"โอ้เจ้าตุ่นตุ้นตุ๋นของฉันเอ๋ย   
เสด็จประทานให้หม่อมฉันมาไว้เชย
มาละเลยลอดช่องลงล่องไป"

ยุติเรื่องตุ่นแต่เท่านี้


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.ย. 11, 16:55
จับกระต่าย

การจับกระต่ายต้องใช้คนมาก  เเครื่องประกอบการดักกระต่ายก็มีมาก
ต้องใช้เกราะตีให้เสียงดังๆ หรือถ้าไม่มีเกราะก็ใช้สิ่งอื่นๆ ที่ตีแล้วเสียงดัง
ต้องทำแผงไม้จากกิ่งไม้ขัดกัน  สูงประมาณ  ๒ ศอกเศษ  ยาว ๔ ศอก
หรือ ๕ ศอก  ทำแผงกิ่งไม้ไว้หลายๆ สิบอัน 

เมื่ออกไปถึงทุ่งนาป่าละเมาะ  ที่มีสุมทุมพุ่มไม้   ก็ออกตรวจดูหามูลกระต่าย
ถ้าตรงใดมีมูลกระต่ายมาก  แสดงว่ามีกระต่ายอาศัยอยู่แทบนั้น
ให้ปักแผงที่เตรียมมาเป็นรูปปีกกา หรือรูปปากชะนาง  คล้ายรั้วดักปลาทู
ที่เขาปักกันในทะเล  ที่ท้ายรั้วแผงนั้นให้เว้นไว้เป็นช่อง  เอาตาข่ายดัก
ไว้หลายๆ ผืน


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: chatchawan ที่ 26 มี.ค. 12, 20:45
กระทู้นี้หายไปซะนานเชียว


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 มี.ค. 12, 10:18
ช่วงนี้  งานเยอะครับ   ยังไม่มีเวลาลงต่อครับ    :)


กระทู้: อยากทราบประวัติของนายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)
เริ่มกระทู้โดย: chatchawan ที่ 27 มี.ค. 12, 21:56
ออครับ