เรือนไทย

General Category => ทันกระแส => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 06:57



กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 06:57
สืบเนื่องมาจากกระทู้เรื่อง ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านร่วมเปิดบันทึกน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ครับ ของคุณชูพงศ์  ที่ผมเขียนข้อความไว้ตอนหนึ่งไว้ว่า

อ้างถึง
๒๕๒๖ น้ำท่วมอยุธยาและภาคกลางมากกว่าปีอื่นๆก็จริง แต่ไม่หนักหนาสาหัสเหมือนกับพวกอยู่ชานเมืองหลวง เพราะกทม.เล่นสร้างเขื่อนอุดคลองทุกสายที่เมื่อก่อนจะระบายน้ำผ่านกรุงเทพไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา บันทึกหลายแห่งบอกว่าน้ำท่วมคราวนั้น๔เดือน แต่ผมขอยืนยันว่าบริเวณหัวหมาก หรือย่านรามคำแหงของคุณชูพงษ์นั้น น้ำท่วมอยู่๖เดือนครับ

ที่เป็นอย่างนี้เพราะคลองต่างๆที่ตัดเชื่อมคลองแสนแสบไปออกคลองประเวศ และตรงไปออกทะเลแถบสมุทรปราการ เช่นคลองชวดลากข้าว คลองพระองค์เจ้าไชยนุชิต ฯลฯ ที่เคยระบายน้ำฝน ก็น้ำตื้นเขินเพราะมิได้ทำนุบำรุง ผักตบชวาอยู่เต็ม นอกจากนั้นแล้วถนนบางนาตราด ถนนบางปูคลองด่าน ล้วนเป็นกำแพงกันน้ำ คือตอนสร้างถนนเหล่านี้เขาต้องการกันน้ำเค็มไม่ให้เอ่อขึ้นมาทำลายนาข้าว แต่ในทำนองกลับกัน มันก็ป้องกันน้ำหลากไม่ให้ลงทะเลด้วย

หลังน้ำลด พระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกผู้รับผิดชอบทั้งหมดทุกกรมกองไปถวายงานที่พระตำหนักอยู่นานนับปี หนึ่งในหลายๆโครงการที่ออกมาแก้ไขปัญหาสำหรับอนาคต มีการขุดลอกคลองและสร้างประตูน้ำในคลองชื่อต่างๆที่ผมกล่าวมา รู้สึกว่าแก้มลิงก็ทรงแนะนำให้ทำในช่วงนั้นด้วย น้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในปี๒๕๓๘ หัวหมากน้ำท่วมไม่มากและไม่นานก็ลด ปีนั้นพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้ทหารเรือนำเรือยกพลขึ้นบกไปจอดเรียงเป็นตับในคลองที่ผมเอ่ยชื่อไปแล้วเพื่อใช้ใบพัดดันน้ำลงทะเลช่วงน้ำลง

ทำมั้ย ข้าราชการรุ่นนั้นที่อยู่มาถึงสมัยนี้จึงลืมเสียแล้ว ปล่อยให้คลองอยู่ในสภาพเดิมๆ นี่มาสั่งผู้ว่าสมุทรปราการให้ไปขุดลอกคลองเหล่านั้นให้เสร็จภายใน๑๐วัน มันจะเล่นแบบเผาเครื่องมากไปหน่อย

การสร้างสนามบินหนองงูเห่า ก็ไปถมที่ลุ่มผืนหมึมายักษาอันเคยเป็นพื้นที่รับน้ำฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ คลองและลำรางเดิมต่างๆถูกถมหมด พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงทักและนักวิชาการหลายคนก็เตือนดังๆ แต่พณฯท่านทั้งหลายก็ตอบผู้สื่อข่าวว่า เค้าได้สร้างทางระบายน้ำแก้ปัญหาไว้หมดแล้ว

เอาละ แล้วท่านก็คอยดูกันต่อไป อีกไม่นานก็รู้กัน

ผมใช้เวลาว่างช่วงนี้ค้นหาด้วยความอยากรู้ จึงพบว่าสนามบินหนองงูเห่าที่ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่าสนามบินสุวรรณภูมินั้น มีการแก้ปัญหาไว้จริงเฉพาะภายในสนามบินเท่านั้น โดยทำคันกั้นน้ำรักษาพื้นที่ไว้ แล้วกำหนดจะสูบน้ำฝนที่ตกลงมาออกไปข้างนอก เรื่องถึงพระเนตรพระกรรณแล้ว โชคดีที่คนกรุงเทพมีพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ที่ทรงเชื่ยวชาญเรื่องน้ำเป็นที่ยิ่ง สุดท้ายจึงมีการปรับปรุงโครงการใหม่

ขอนำท่านตามไปดูร่วมกับผม ท่านที่รำคาญตัวเลขจะอ่านผ่านๆไปก็ได้ครับ ดูแค่เนื้อหาก็พอ


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 06:58
ข่าวที่๑

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริกับนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กปร. ณ วังไกลกังวลอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปความว่า“การระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ให้พิจารณาขุดลอกคลองระบายน้ำโดยมีขนาดที่เหมาะสมไม่ใช่เพื่อระบายน้ำเฉพาะบริเวณสนามบิน ให้พิจารณารวมบริเวณรอบ ๆ ด้วย”

กรมชลประทานจึงได้ทำการว่าจ้างสถาบันที่ปรึกษา ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดำเนินงานศึกษาสำรวจและออกแบบเบื้องต้น แล้วเสร็จเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2547 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเปิดโครงการเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2547


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 07:01
ข่าวที่๒

ว่าที่ ร้อยตรี ไพเจน มากสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 9 กรมชลประทาน เปิดเผยที่มาของโครงการว่า พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะและเป็นที่รองรับน้ำตามธรรมชาติ การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิในบริเวณดังกล่าว ทำให้สูญเสียพื้นที่รองรับน้ำไปกว่า 20,000 ไร่ประกอบกับความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ เช่นพื้นที่ในเขตกิ่งอำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ อำเภอบางพลี และอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่บางส่วนของเขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง จังหวัดกรุงเทพมหานคร ทำให้พื้นที่รองรับน้ำและเส้นทางระบายน้ำตามธรรมชาติลดน้อยลง ส่งผลให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำหลากและน้ำท่วมขังจากปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วงฤดูฝนของทุกปี ดังนั้น กรมชลประทานจึงเร่งดำเนินการโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองในยามฤดูแล้งอีกด้วย โดยการดำเนินงานในขณะนี้มีความก้าวหน้าไปกว่าร้อยละ 10 และจะแล้วเสร็จภายในปี 2551
 
สำหรับการดำเนินการโครงการ ประกอบด้วย 1. งานก่อสร้างคลองระบายน้ำ ขนาดคลองกว้าง 48 เมตร ซึ่งใช้เป็นคลองระบายน้ำสายหลักในการระบายน้ำจากคลองสำโรงไปยังชายทะเลโดยตรง 2. งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ 3. งานก่อสร้างอาคารระบายน้ำ จำนวน 22 แห่ง ทำหน้าที่เป็นประตูระบายน้ำในบริเวณที่คลองระบายน้ำตัดกับคลองธรรมชาติ ช่วยในการกักเก็บน้ำบางส่วนไว้ใช้ในการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง 4. งานก่อสร้างถนนคันคลอง ยาว 23.60 เมตร เชื่อมต่อระหว่างถนนสุขุมวิทและถนนบางนา-ตราด จำนวน 2 ช่องทางจราจร 5. งานก่อสร้างอาคารสะพานน้ำยกระดับและอาคารทิ้งน้ำ ทำหน้าที่รับน้ำจากสถานีสูบน้ำให้ไหลผ่านไปตามสะพานน้ำยกระดับข้ามคลองชายทะเลและถนนสุขุมวิทแล้วไหลลงสู่ทะเลโดยตรง มีอัตราการไหล 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 6. งานก่อสร้างสะพานรถยนต์ ประกอบด้วย สะพานทางหลวงข้ามคลองเทพารักษ์ สะพานข้ามคลองชายทะเล และสะพานข้ามคลองสำโรง และ 7. ระบบโทรมาตรอุทกวิทยา ทำหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสภาพน้ำในพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 07:02
ข่าวที่๓


ว่าที่ ร้อยตรี ไพเจน มากสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 9 กรมชลประทาน เปิดเผยรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานก่อสร้างโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิว่า ” เนื่องจากในปี 2550 นี้ กรมชลประทานได้รับอนุมัติงบประมาณค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,790,462,000 บาท จึงทำให้สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แก่ผู้รับเหมาเพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้างแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ มีความก้าวหน้าในการก่อสร้างร้อยละ 28.71 ทั้งนี้การก่อสร้างบริเวณกิโลเมตรที่ 19 ของถนนบางนาตราด ซึ่งเป็นกิโลเมตรที่0 ถึงกิโลเมตรที่ 5 ของคลองระบายน้ำ ในเขตอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างเสาเข็มดินซีเมนต์เพื่อปรับปรุงรากฐาน งานถมดินคันทางเพื่อก่อสร้างถนนบนคันคลอง งานเทคอนกรีตตอม่อสะพานข้ามคลองสำโรง และประตูระบายน้ำเชื่อมกับคลองธรรมชาติ ส่วนบริเวณกิโลเมตรที่ 5 ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 10 ของคลองระบายน้ำ อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างเสาเข็มดินซีเมนต์เพื่อปรับปรุงรากฐาน งานถมดินคันทางเพื่อก่อสร้างถนนบนคันคลอง งานตอกเสาเข็มและก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 14 แห่ง และตั้งแต่บริเวณกิโลเมตรที่ 10 ไปจนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณกิโลเมตรที่ 12 ของคลองระบายน้ำ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ อยู่ในขั้นตอนการออกแบบก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ผลิตเครื่องสูบน้ำ งานก่อสร้างเสาเข็มดินซีเมนต์เพื่อปรับปรุงฐานรากและ งานสะพานข้ามคลองชายทะเล ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2551ตามที่ตั้งเป้าไว้


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 07:05
ข่าวที่๔

ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 6/2554 วันอังคารที่ 13 กันยายน 2554

เรื่อง ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินงานโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ และขออนุมัติขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พร้อมทั้งเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ จากเดิม 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2548 - 2553) เป็น 7 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2548 - 2554) เพื่อสอดคล้องกับระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ รายการค่่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ

2. ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ จากเดิมปีงบประมาณ พ.ศ.2548 - 2553 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ.2548 - 2554 พร้อมทั้งเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณจากวงเงินตามสัญญาเดิม 181,079,009.60 บาท เป็นวงเงิน 213,001,819.60 บาท



กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 07:07

ข่าวที่๕

โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นโครงการสำคัญอีกโครงการหนึ่งที่ กรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 เดิมกำหนดที่จะก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2551 แต่เมื่อดำเนินการก่อสร้างจริงแล้วต้องประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะปัญหาดิน ทรุดตัว ปัญหาเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่จะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ปัญหาการเวนคืนที่ดิน เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงต้องใช้เวลาในการดำเนินการก่อสร้างเพิ่มขึ้น

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ปัญหา จึงได้อนุมัติงบประมาณจาก 8,409 ล้านบาท เป็น 10,465 ล้านบาท และขยายระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จจาก ปี 2551 เป็นปี 2553 ตามที่กรมชลประทานเสนอ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ภายหลังจากเดินทางไปติดตามความก้าวหน้าของการก่อสร้างโครงการระบายน้ำ บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิว่า ขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้ากว่า 66.34% แล้ว เร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้ 6.35% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2553 ตามแผนที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน ทั้งนี้เมื่อการก่อสร้างเสร็จจะสามารถระบายน้ำจากพื้นที่รอบ ๆ สนามบินลงสู่ทะเลได้ถึง 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือวันละประมาณ 8.64 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอที่จะทำให้พื้นที่แอ่งกระทะรอบ ๆ สนามบินไม่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมอีกต่อไปเป็นที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมา พื้นที่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิในอดีตนั้น มักจะประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ เมื่อมีการก่อสร้างสนามบิน สุวรรณภูมิขึ้นมา แม้ภายในบริเวณสนามบินจะมีการก่อสร้างระบบระบายน้ำไว้เรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่พื้นที่โดยรอบก็จำเป็นที่จะต้องก่อสร้างระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกันเพราะเป็นส่วนที่เกี่ยวเนื่อง

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิส์ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 07:10
ข่าวที่๖


วันที่ 29 มิ.ย. 2553
กระทรวงเกษตร

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) รายงานผลการดำเนิน การตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง รายงานผลงานก้าวหน้างานก่อสร้างโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2553 สรุปได้ดังนี้

1. งานจ้างก่อสร้างคลองระบายน้ำและถนน พร้อมอาคารประกอบ ส่วนที่ 1 ได้ผลการดำเนินงานสะสม ร้อยละ 91.38 จากแผนงานสะสมที่วางไว้ร้อยละ 89.54 เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.84
 
2. งานจ้างก่อสร้างคลองระบายน้ำและถนน พร้อมอาคารประกอบ ส่วนที่ 2 ได้ผลการดำเนินงานสะสม ร้อยละ 100 จากแผนงานสะสมที่วางไว้ร้อยละ 100 (ผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานทั้งสัญญาแล้ว)
 
3. งานจ้างก่อสร้างคลองระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ สะพานน้ำยกระดับ พร้อมอาคารประกอบ ส่วนที่ 3 ได้ ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานที่วางไว้

4. ผลการดำเนินงานจ้างก่อสร้างทั้ง 3 สัญญา ได้ผลการดำเนินงานร้อยละ 97.17 จากแผนงานที่วางไว้ ร้อยละ 96.57 เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.60 ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2553 จะสามารถระบายน้ำ ได้สูงสุด 100 ลบ.ม./วินาที

5. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งสิ้น จำนวน 9,680,104,978.36 บาท โดยใช้งบประมาณจากเงินงบ ประมาณปกติ

6. ผลกระทบจากการดำเนินงาน ราษฎรเจ้าของที่ดินบริเวณพื้นที่ก่อสร้างที่คลองระบายน้ำตัดผ่านต้อง สูญเสียที่ดินในความครอบครอง โดยมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,290 ไร่ 3 งาน 18 ตารางวา



กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 07:12
ข่าวที่๗


นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า น้ำจากเขื่อนภูมิพลที่จะปล่อยลงมาจะทำให้วันที่ 13-14 ต.ค.ประมาณน้ำใน จ.นครสวรรค์จะอยู่ที่ 5,500 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที จากเดิมที่อยู่ระดับ 4,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จากนั้นวันที่ 14-15 ต.ค.ปริมาณน้ำจะเริ่มมาถึง จ.ชัยนาท และวันที่ 16-17 ต.ค.จะมาถึง อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

นายธีระ กล่าวต่อว่า หากปริมาณน้ำไหลเข้ามามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้ปริมาณน้ำอาจแผ่กระจายในพื้นที่ 3 ส่วน กลุ่มแรกคือสิงห์บุรี ขึ้นไปข้างบนพื้นที่อาจขยายวงน้ำท่วม กลุ่มสองพื้นที่จังหวัดที่น้ำท่วมอยู่แล้วจะดูแลอย่างไร และส่วนพื้นที่ที่สามคือพื้นที่ชายทะเล ส่วนพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิไม่น่ามีปัญหา เพราะโครงการระบายน้ำรอบบริเวณสุวรรณภูมิเสร็จเรียบร้อยแล้ว


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 07:24
หากเสร็จเรียบร้อยจริงดังว่า  "โครงการระบายน้ำบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิ" หลังจากเริ่มต้นเมื่อปี ๒๕๔๖ แปดปีต่อมาก็จะได้ใช้งานแก้วิกฤตจริงในน้ำท่วมใหญ่นี้  แต่คุ้มค่าก่อสร้างหรือไม่ก็ต้องรอประมินผลอีกครั้ง

ตอนนี้  เราไปดูภาพของคุณมอมแมมกัน

โดยโครงการนี้เป็นการขุดคลองความกว้างประมาณ๕๐ เมตร ลึก๓๐ เมตร มีถนนขนาดสองเลน ขนานไปกับลำคลองจากบางนา-ตราด มาเชื่อมต่อกับสุขุมวิท จากถนนบางนา-ตราด กม.๑๙ (ใกล้ๆ ม.หัวเฉียว) มาออกอ่าวไทย ตรงถนนสุขุมวิท(สายเก่า) บริเวณ กม. ๔๗


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 07:26
ทางฝั่งถนนสุขุมวิทมีอาคารโรงสูบน้ำที่ติดตั้งเครื่องดูดน้ำแรงดันสูง เพื่อผันน้ำข้ามสะพานไปออกทะเล  วิศวกรบอกว่า การทำอุโมงค์ระบายน้ำลอดใต้ถนนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า บำรุงรักษายากกว่า และเหตุผลด้านอื่นๆ อีกหลายประการ ทำให้ทางโครงการสรุปออกมาว่า ทำเป็นสะพานข้ามถนนไป ง่ายกว่า


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 07:29
โรงสูบน้ำ มีเครื่องดูดน้ำใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวน 4 เครื่อง ดูดน้ำจากคลองด้านล่าง ขึ้นไปบนสะพานคอนกรีต ความสูง 15 เมตรโดยประมาณ ข้ามถนนสุขุมวิทไปออกทะเล  ดังนั้นข้อหวั่นเกรงว่าน้ำที่ระบายออกมามหาศาลนี้จะท่วมบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ใต้สนามบินจึงหมดไป

แต่ที่ต้องแลกเปลี่ยนกันคือ หากเดินเครื่องดูดน้ำ ๒ เครื่องเป็นเวลา 1 สัปดาห์จะเสียค่าไฟฟ้าประมาณสี่ห้าล้านบาท(ไม่ยืนยันข้อมูลนะครับ เป็นข้อมูลที่ได้จากคนคุมเครื่องเท่านั้น)


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 07:34
หวังว่า ท่านที่มีบ้านเรือนอยู่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพคงจะสบายใจขึ้นบ้างนะครับ
แต่อย่าได้ใจเย็นหรือประมาท ให้เตรียมตัวรับน้ำท่วมหนักไว้

เตรียมแล้วไม่ได้ใช้ ดีกว่าไม่ได้เตรียมแล้วเสียหายอย่างคาดไม่ถึงนะครับ


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 13 ต.ค. 11, 09:22
สมุทรปราการในพื้นที่บางพลี บางบ่อ บางเสาธง ยังมีบ่อปลาสลิดอีกมาก น้ำมา ปลาก็ไปกับน้ำ

ถนนบางนาตราด ถนนเทพารักษ์ ถนนสุขุมวิทสายเก่า ทำหน้าที่เขื่อนกั้นน้ำไหลหลาก ทำให้น้ำจากทางมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบังไหลช้าลง





กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 11, 09:34
^
^
อ้างถึง
ที่เป็นอย่างนี้เพราะคลองต่างๆที่ตัดเชื่อมคลองแสนแสบไปออกคลองประเวศ และตรงไปออกทะเลแถบสมุทรปราการ เช่นคลองชวดลากข้าว คลองพระองค์เจ้าไชยนุชิต ฯลฯ ที่เคยระบายน้ำฝน ก็น้ำตื้นเขินเพราะมิได้ทำนุบำรุง ผักตบชวาอยู่เต็ม นอกจากนั้นแล้วถนนบางนาตราด ถนนบางปูคลองด่าน ล้วนเป็นกำแพงกันน้ำ คือตอนสร้างถนนเหล่านี้เขาต้องการกันน้ำเค็มไม่ให้เอ่อขึ้นมาทำลายนาข้าว แต่ในทำนองกลับกัน มันก็ป้องกันน้ำหลากไม่ให้ลงทะเลด้วย

หลังน้ำลด พระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกผู้รับผิดชอบทั้งหมดทุกกรมกองไปถวายงานที่พระตำหนักอยู่นานนับปี หนึ่งในหลายๆโครงการที่ออกมาแก้ไขปัญหาสำหรับอนาคต มีการขุดลอกคลองและสร้างประตูน้ำในคลองชื่อต่างๆที่ผมกล่าวมา รู้สึกว่าแก้มลิงก็ทรงแนะนำให้ทำในช่วงนั้นด้วย น้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในปี๒๕๓๘ หัวหมากน้ำท่วมไม่มากและไม่นานก็ลด ปีนั้นพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้ทหารเรือนำเรือยกพลขึ้นบกไปจอดเรียงเป็นตับในคลองที่ผมเอ่ยชื่อไปแล้วเพื่อใช้ใบพัดดันน้ำลงทะเลช่วงน้ำลง

ทำมั้ย ข้าราชการรุ่นนั้นที่อยู่มาถึงสมัยนี้จึงลืมเสียแล้ว ปล่อยให้คลองอยู่ในสภาพเดิมๆ นี่มาสั่งผู้ว่าสมุทรปราการให้ไปขุดลอกคลองเหล่านั้นให้เสร็จภายใน๑๐วัน มันจะเล่นแบบเผาเครื่องมากไปหน่อย

มีเพิ่มอีกข่าวนึงครับ

ผู้ว่าปากน้ำ ตรวจความคืบหน้าขุดคลอง 3 สาย รับมือน้ำท่วมตามบัญชานายกรัฐมนตรี มั่นใจเสร็จทันกำหนด ก่อนที่ กทม. จะผันน้ำลงมา...

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 11 ตุลาคม 2554 นายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายชาติชาย อุทัยพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายวรณัฏฐ์ หนูรอด นายประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย นางอนุสรา ยังตรง นางสลิลทิพย์ สุขวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) พรรคเพื่อไทยจังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ องค์การบริหารส่วนตำบลศรีษะจระเข้ใหญ่ ชลประทานจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจการขุดคลองระบายน้ำ 3 สายหลักเพื่อเป็นท่อระบายน้ำขนาดใหญ่รองรับน้ำที่เตรียมผันน้ำมาจากทางเหนือและกรุงเทพมหานคร ลงสู่ทะเลโดยเร็ว บริเวณคลองจระเข้ใหญ่ อ.บางบ่อ คลองบางเสาธงและคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ

โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า หลังประชุมร่วมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทกภัยและความคืบหน้าในการขุดคลองสายหลักทั้ง 3 คลองโดยนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงกลัวประชาชน จะได้รับผลกระทบจึงสั่งการให้เร่งขุดคลองให้เรียบร้อยภายใน 3 วันหลังจากนี้ ซึ่งจากตรวจสอบและรับฟังรายงานจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ พบว่ามีความคืบหน้าไปมากทั้ง 3 คลองประมาณกว่าร้อยละ 50 แล้ว

และวันนี้ ตนก็ได้สั่งให้นำเครื่องจักรกลหนักมาลงเพิ่ม เพื่อขุดให้ทันตามกำหนด ก่อนที่จะมีการระบายน้ำจากทางเหนือและกรุงเทพฯ ลงมาสู่ทะเลในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม หลักจากการลงเรือตรวจระดับน้ำในลำคลองเสาธง พบว่าระดับได้สูงเกือบถึงคันกั้นน้ำ และในบางแห่ง น้ำได้เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมน้ำบางครัวเรือนแล้ว ซึ่งจากการพูดคุยกับชาวบ้าน พบว่าการเอ่อล้นของน้ำเป็นไปตามปกติของฤดูน้ำหลากแต่ในปีนี้น้ำขึ้นเร็วกว่าปกติ บางบ้านก็ได้เตรียมเก็บของเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้บนชั้น 2 แล้ว ส่วนผักตบชวาต่างๆที่ลอยอยู่ตามลำคลองเป็นสิ่งขวางทางน้ำไหลนั้น ทางอำเภอทั้ง 2 แห่งได้เตรียมเรือตัดผักตบชวา และเรือเก็บผักตบชวา ล่องไปตามลำน้ำเพื่อทยอยเก็บขึ้นให้หมดแล้ว คาดว่าเมื่อมีการระบายน้ำลงมาในทุ่งฝั่งตะวันออก ก็จะทำให้การไหลของน้ำเร็วขึ้นและสามารถไหลลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้นด้วย

จากนั้นเวลา 11.30 น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วย นายชลิต ได้เดินทางไปยังฝายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลหารพิจิตร ของกรมชลประทาน ซึ่งเป็นโครงการระบายน้ำของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้หารือกับนายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผวจ.สมุทรปราการ และพล.อ.อดุลย์ รักษ์เผ่า ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองทัพไทย เพื่อสั่งการและติดตามสถานการณ์การระบายน้ำฝั่งตะวันออกของกทม. โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการขุดลอกคูคลองใน จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นคลองที่ใหญ่และมีความสำคัญอยู่จำนวน 5 คลอง ดังนั้นควรขุดลอกคลองขนาดใหญ่ให้สำเร็จภายใน 7 วัน และคลองที่เหลือให้สำเร็จภายใน10 วัน และถ้าทางจังหวัดต้องการความช่วยเหลือ จากทางภาครัฐหรือเอกชน สามารถร้องขอไปทางตนได้ทันที ซึ่งตนก็พร้อมให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 13 ต.ค. 11, 09:51
ระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำภายในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ



กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ต.ค. 11, 10:12
ให้ภาพลักษณะพื้นที่เดิมก่อนการก่อสร้างคลองระบายน้ำสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นท้องนาเก่าแต่ก่อนราคาที่ดินถูกมาก เป็นทุ่งปลูกข้าว ทำนากุ้ง ต่อมาขายเปลี่ยนมือไปมาจนหญ้าขึ้นรก ตอนเป็น ด.ช.หนุ่มสยาม เคยลุยเข้าไปดู ป่าธูปฤาษีสูงท่วมหัว เดินบนคันนาและเลนตม

ภาพนี้เป็นการตากหน้าดินให้แห้ง หลังจากนำรุแทรกเตอร์ไถกวาดเปิดหน้าดิน เพื่อนำเครื่องจักรตัวอื่น ๆ เข้าพื้นที่


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ต.ค. 11, 10:17
ต่อมาก็ปรับหน้าดินด้วยทรายถม ดินถม อีกหลายชั้นจนคลองมีความกว้าง ๔๘ เมตร ลึก ๓.๓๖ เมตร รวมความยาว ๑.๔๔ กิโลเมตร และด้านข้างคลองกระหนาบด้วยถนน ซึ่งใต้ถนนเสริมความแข็งแรงด้วยเสาเข็มตลอดความยาวของถนน


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ต.ค. 11, 10:21
ตัวสะพานยกระดับน้ำก่อนปล่อยลงสู่ทะเล ทำเป็นสะพานยกน้ำโดยระบบสูบน้ำ กว้าง ๒๕ เมตร สูง ๓.๑๕ เมตร ยาว ๒๘๙ เมตร สร้างในลักษณะสะพานลอยเพื่อข้ามถนนครับ


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ต.ค. 11, 10:27
ปลายระบบการระบายน้ำ น้ำทะเลไม่สามารถทะลักเข้ามาได้ เนื่องจากรอบสนามบินมีเขื่อนดินกันล้อมไว้ และทางระบายน้ำก็สูงกว่าน้ำเลมาก จากภาพเป็นการปล่อยน้ำออกทะเล ซึ่งสะพานมีความยาว ๓๐ เมตร


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ต.ค. 11, 10:30
อาคารสูบน้ำติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ๒๕ ลูกบาศ์กเมตร / วินาที จำนวน ๔ เครื่อง


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 11, 13:00
อ่านข่าวจอมเมกกะโปรเจกต์ไอเดียกระฉูด เสนอความคิดข้ามทวีปผ่านกระบอกเสียงในกรุงเทพมาดังนี้

ที่มา-ข่าวสด

พ.ต.ท.ทักษิณยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงว่า เรื่องนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ดูแลอยู่ และพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยช่วงแรกเกิดจากตกใจทำให้สินค้าขาดตลาด แต่จริงๆ แล้วสินค้าไม่ได้ขาดแต่เกิดจากปัญหาการขนส่ง ส่วนผลกระทบจากพื้นที่เกษตรเสียหายไม่มาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นนาปรัง เรายังมีนาปี ไม่ส่งผลกระทบ ส่วนภาคอุตสาหกรรมหลังน้ำลดมีการเตรียมแผนฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมและการแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งตนได้คุยกับนายกฯ แล้ว อาจจะสร้างช่องทางระบายน้ำออกทะเลหรือที่เรียกว่า "ฟรีเวย์" ซึ่งเป็นการศึกษาต้นแบบมาจากสหรัฐอเมริกา โดยหน้าน้ำหลากจะเป็นช่องทางระบายน้ำ ส่วนหน้าแล้งจะเป็นถนน

และข่าวสนองต่อข้อเสนอดังกล่าว อันนี้ลงกันหลายฉบับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อเสนอของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีให้ทำฟรีเวย์ป้องกันน้ำในอนาคต  น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อันนี้เป็นข้อเสนอหนึ่งคงจะรับไว้ซึ่งมีหลายแนว และนี้ก็เป็นหนึ่งในข้อเสนอถือเป็นแนวทางที่ดีคงจะนำเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องที่รู้เรื่องนี้ ให้ศึกษารอบคอบอีกครั้ง

ผมก็งงซีครับ

ในอเมริกา ฟรีเวย์(Freeway)หมายถึงทางหลวงแผ่นดินทั่วไปที่เชื่อมต่อระหว่างรัฐ ซึ่งไม่เก็บเงินค่าผ่านทาง โดยมีโทลเวย์(Toll way)หรือทางด่วนพิเศษที่เก็บเงินค่าเข้า เป็นทางเลือก

ฟรีเวย์ไม่ได้แปลว่า ถนนที่ใช้ร่วมกับทางระบายน้ำ ซะหน่อย


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 11, 13:05
ผมฟลุ๊คไปเจอในคลังไหนของอินทรเนตรก็ไม่รู้ได้ รู้แต่ว่าคอลัมน์ที่ผมลอกมานี้ ตีพิมพ์ในไทยรัฐตั้งแต่ปี๒๕๔๙
แต่ปีนี้ จอมเมกกะโปรเจกต์แอ่นอกว่า ตนเป็นผู้เสนอความคิดซะแล้ว

คลองเจ้าพระยา 2

ไทยรัฐ [1 พ.ย. 49 - 16:41]


วันนี้ผมต้องขอบคุณเจ้าของนามแฝง “ผู้หวังดีต่อประเทศไทยอย่างสุดซึ้ง” และคุณนงค์ พาหาสิงห์ จาก อ.หนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ที่กรุณาถ่ายเอกสารข้อเขียนของผมใน นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 28 กันยายน เมื่อปี พ.ศ.2545 ซึ่งผมเขียนเสนอให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร “ขุดคลองเจ้าพระยา 2” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และจังหวัดรอบๆอย่างถาวร

ปี 2545 ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคกลางตอนล่างเหมือนปีนี้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำสูงถึง 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

พอน้ำท่วมผ่านไปแล้ว ทุกอย่างก็เงียบหายไปกับสายลม ปีที่แล้วมีข่าวเมกะโปรเจกต์ 2 แสนกว่าล้าน พัฒนาแหล่งน้ำ แต่ก็ไม่มีเรื่องนี้ ที่ต้องทำเป็นเมกะโปรเจกต์ก็เพื่อให้ “ผู้รับเหมา”ได้รับเหมาไปเพียงเจ้าเดียวเต็มๆ

โครงการขุด “คลองเจ้าพระยา 2” ที่ผมเสนอไปเมื่อ 4 ปีก่อนนั้น ไม่ใช่โครงการฝันกลางวันหรือนั่งเทียนเขียนขึ้นมาเอง แต่เป็นโครงการที่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ว่าจ้างให้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ศึกษาเรื่องนี้

วัตถุประสงค์ก็เพื่อหาช่องทางที่จะสร้าง Flood Way “ผันน้ำหลาก” ตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ไหลลงสู่อ่าวไทยโดยตรง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาคกลางตอนล่าง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพฯ อย่างที่ประชาชนใน 3 จังหวัดประสบในวันนั้นและวันนี้

การศึกษาโครงการนี้มีการทำวิจัยค่อนข้างละเอียด โดยกำหนดให้ตัว “คลองเจ้าพระยา 2” มีความกว้าง 400-500 เมตร มีความยาว 100 กิโลเมตร โดยเริ่มจากฝั่งตะวันออกของอำเภอบางไทร ผ่านบางไทร วังน้อย ธัญบุรี รังสิตคลอง 13-14 ไปลงที่ คลองไชยานุชิต แล้วไหลไปออกที่ คลองด่าน ลงสู่ อ่าวไทย

มูลค่าโครงการ 100,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น 1-5 ปี ระยะยาว 5-10 ปี

คลองเจ้าพระยา 2 นี้ ระยะแรกจะระบายน้ำได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้วค่อยๆเพิ่มปริมาณการรับน้ำขึ้นไปเรื่อยๆจนถึง 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ถ้าเริ่มขุดตั้งแต่ตอนนั้น วันนี้ก็มีคลองเจ้าพระยาที่จะรับน้ำเหนือหลากได้แล้ว ไม่ต้องท่วมถึงคอ ทรัพย์สินข้าวของเสียหายยับเยินอย่างทุกวันนี้

สิ่งที่ผมชื่นชมในโครงการ “คลองเจ้าพระยา 2” นี้ ไม่ใช่แค่เป็นคลองระบายน้ำเหนือหลากเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาโครงการแบบ “ครบวงจร” เป็นทั้งคลองระบายน้ำหลากในหน้าฝน และเป็นคลองกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง

ที่ผมชอบใจที่สุดก็คือ ข้อเสนอให้สร้าง “มอเตอร์เวย์” ทางด่วนสองสายขนานไปตลอดแนวคลองระยะทาง 100 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมการจราจรและการขนส่งใน 3 จังหวัดที่คลองผ่าน คือ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสมุทรปราการ

สองข้างคลองก็จะพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนสองฝั่งคลอง

หรือจะสร้างเป็น “เมืองบริวาร” เพื่อรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ และสามจังหวัด เพื่อระบายความแออัดของเมืองก็ได้

แม้โครงการนี้จะศึกษาเสร็จมา 4 ปีกว่าแล้ว ผมคิดว่ายังไม่ล้าสมัย รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ น่าจะขอผลการศึกษา จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เจ้าของโครงการมาศึกษาเพิ่มเติมอีกครั้ง ถ้าเป็นไปได้ ผมคิดว่ารัฐบาลน่าจะทำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว

คลองเจ้าพระยา 2 นี้ ไม่เพียงคนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพฯ จะได้ประโยชน์เท่านั้น สนามบินสุวรรณภูมิที่สร้างขวางทางน้ำผ่านก็จะได้ประโยชน์ด้วย

ผม ข้างบนนี้ไม่ใช่ Navarat.Cนะครับ เป็นท่านใดก็ไม่ทราบ ผมค้นหาแล้วไม่เจอ


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 11, 13:11
ความจริง แนวความคิดของการทำคลองขนาดใหญ่ไว้สะกัดน้ำที่ไหลบ่าท่วมทุ่งให้ระบายลงสู่ที่ชอบๆนั้น หลายๆประเทศเขาทำกันมาช้านานแล้ว แต่ในประเทศไทยควรทำที่ไหน อย่างไรนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อวานนี้ ผมว่างอยู่ เด็กๆก็ปิดเทอม ผมเลยชวนลูกหลานไปดูนกนางนวลที่สพานสุขตา บางปู โดยมีวาระซ่อนเร้นอยู่ในใจว่า ผมจะขับอ้อมไปดูคลองระบายน้ำสุวรรรภูมิตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้นายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะประธาน กรป. รับไปดำเนินการเมื่อปี ๒๕๔๙ และต่อมากรมชลประทานได้ออกแบบและดำเนินการจัดสร้างแล้วเสร็จเมื่อเร็วๆนี้ แต่ไม่ค่อยจะเป็นข่าว

ถนนคู่กับคลองระบายน้ำนี้ จะเรียกว่า Flood Way หรือ Drainage Canal ก็คงกลัวว่าบางคนจะจำได้ว่าเมืองไทยเคยทำกันแล้วนี่นา จำต้องหาคำศัพท์ใหม่เพื่อให้ฟังดูว่า ถนนคลองแบบนี้ฉันคิดนะจ๊ะ เรียกว่าฟรีเวย์จ่ะ คงจะลืมศึกษาความหมายแท้จริงว่า Freeway เป็นคำเฉพาะของถนนหลวงธรรมดาที่ไม่ได้เก็บเงินค่าผ่านทางอย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว

มาครับ ตามมาดูกัน คลองระบายน้ำสุวรรรณภูมินี้ ต่อเป็นมุมฉากกับคลองสำโรงที่รับน้ำจากคลองเล็กคลองน้อยทั้งหมด สามารถดึงน้ำจากคลองสำโรงลัดสั้นไปลงทะเล ทำให้พื้นที่ทั้งหมดในอาณาบริเวณของสนามบินแห้งเป็นปกติ


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 11, 13:42
ผมขับรถผ่านสนามบินสุวรรณภูมิไปออกถนนบางนา-ตราด เลี้ยวซ้ายไปทางชลบุรี พอเลยหัวเฉียวไป ก็กลับรถที่สพานเกือกม้าแรก ชิดซ้ายอยู่ในช่องคู่ขนานไว้ ขับตรงมาสักนิด จะเห็นป้ายบอกทางถนนเลียบคลองระบายน้ำไปออกบางปู เลี้ยวซ้ายเข้าไปเลย

สักพักก็ข้ามสพานคลองสำโรง มองไปเห็นน้ำระดับสักครึ่งคลอง ผมถ่ายรูปไม่ได้ มันอันตรายเกินไปเพราะขับรถด้วย แต่ขาลงถ่ายออกไปข้างหน้าเห็นคลองระบายน้ำใหญ่โต


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 11, 13:47
คลองกว้าง๕๐เมตร ลึก๓๐เมตร เท่าที่เห็นยังไม่ได้ออกแรงสู้กับน้ำท่วมครั้งนี้ตรงๆ คงแค่ทำหน้าที่พร่องน้ำในระบบคลองเล็กคลองน้อย ทั้งคลองขุดและคลองธรรมชาติทั้งหลายไว้ หากน้ำหลากมาถึง


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 11, 13:53
รถวิ่งผ่านประตูน้ำขนาดเล็กที่เรียงรายอยู่สองข้างทางมากมาย ประตูน้ำเหล่านี้จะควบคุมการระบายน้ำเข้าออกในคลองเล็กคลองน้อยที่คลองใหญ่นี้ตัดผ่านไป


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 11, 14:03
ช่วงใกล้จะถึงสถานีสูบน้ำ ดูเหมือนปลาจะชุมเป็นพิเศษ มีนักตกปลาทั้งระดับสมัครเล่นและอาชีพมาชุมนุมคับคั่ง บ้างก็ชวนกันมากางเต้นท์แบบปิกนิกเป็นครอบครัว

ผมจอดรถดูชั่วครู่ เห็นเขาได้ปลาสวายตัวใหญ่ๆกัน
ปลาสวายเป็นปลาที่อยู่หน้าท่าน้ำของวัด คนไม่ทำร้ายเลยชุกชุมเกิน บางตัวเลยแตกแถวหลุดมาให้เขาฆ่าจนได้ เวรกรรม


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 11, 14:11
สถานีสูบน้ำที่ปลายคลอง

จะสูบน้ำขึ้นไปบนรางคอนกรีตยักษ์ ที่เขาเรียกว่าสะพานลอย ข้ามถนนสุขุมวิทสายเก่าที่เลียบริมชายฝั่งทะเล แล้วปล่อยลงสู่คลองสั้นๆไปสุดที่ทะเล


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 11, 14:18
เด็กๆตื่นเต้นกับน้ำตกกำมะลอนี้มาก กระแสน้ำไหลแรงวิ่งไปลงทะเล ปลาคงชุม จึงมีมืออาชีพมาดักทอดแหอยู่ เรารอดูแกพักหนึ่ง เห็นแกทอดโครมลงไปแล้วค่อยๆดึงอะไรที่ค่อนข้างมีน้ำหนักเข้ามา เราก็ลุ้นว่าจะเป็นปลาตัวใหญ่ แต่กลายเห็นหินก้อนเบ้อเร่อ


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 11, 14:26
เราเป็นพวกทำบาปไม่ขึ้น อยู่ตรงนั้นสงสัยจะไปขัดลาภเขา เลยบอกเด็กๆว่าไปดูนกดีกว่า

ทัศนศึกษาวันนั้นก็จบลงด้วยความพอใจของคนพาไปและคนถูกหลอกให้ไป

เอารูปมาแบ่งปันกันดู จะได้เข้าใจนักการเมืองเวลาเขาแอะอะไรออกมา


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ย. 11, 15:00

ซึ่งตนได้คุยกับนายกฯ แล้ว อาจจะสร้างช่องทางระบายน้ำออกทะเลหรือที่เรียกว่า "ฟรีเวย์" ซึ่งเป็นการศึกษาต้นแบบมาจากสหรัฐอเมริกา โดยหน้าน้ำหลากจะเป็นช่องทางระบายน้ำ ส่วนหน้าแล้งจะเป็นถนน[/color]

และข่าวสนองต่อข้อเสนอดังกล่าว อันนี้ลงกันหลายฉบับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อเสนอของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีให้ทำฟรีเวย์ป้องกันน้ำในอนาคต  น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อันนี้เป็นข้อเสนอหนึ่งคงจะรับไว้ซึ่งมีหลายแนว และนี้ก็เป็นหนึ่งในข้อเสนอถือเป็นแนวทางที่ดีคงจะนำเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องที่รู้เรื่องนี้ ให้ศึกษารอบคอบอีกครั้ง

ถ้าหากว่าทำฟรีเวย์เป็นทางน้ำในหน้าน้ำหลาก พอน้ำแห้งก็กลับเป็นถนน    คงต้องซ่อมถนนกันทุกครั้ง
ฟรีเวย์อย่างในรูปข้างล่างนี่    ถ้าเป็นทางน้ำหลาก  น้ำตกจากขอบข้างฟรีเวย์คงยาวเหยียด เป็นภาพมหัศจรรย์กว่าน้ำตกไนแอการ่า


กระทู้: ตามไปดู โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
เริ่มกระทู้โดย: nakor ที่ 03 พ.ย. 11, 17:26
ขอบคุณครับ